โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 'สมศักดิ์' จำเลยคดียิงกปปส.ตราด ในข้อหาครอบครองอาวุธ

Posted: 03 Oct 2017 12:04 PM PDT

'ศูนย์ทนายสิทธิ' รายงานศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง สมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ในข้อหาครอบครองอาวุธ จำเลยคดียิงกปปส.ตราด เหตุคำให้การจำเลยในฐานะพยานชั้นสอบสวนใช้ลงโทษจำเลยไม่ได้ 

 

3 ต.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (3 ต.ค.60) ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องสมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ในข้อหาครอบครองและเคลื่อนย้ายอาวุธที่เป็นของ มนัญชยา เกตุแก้ว และ กริชสุดา คุนะแสน ไปส่งต่อให้ จันทนา วรากรสกุลกิจ

เนื่องจากคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนในฐานะพยานในคดีของ จันทนา วรากรสกุลกิจ ไม่สามารถนำมาลงโทษจำเลยได้ เพราะถือเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบ เนื่องจากคำให้การในชั้นสอบสวนที่จะนำมาลงโทษจำเลยได้ พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งสิทธิและแจ้งด้วยว่าคำให้การนั้นจะสามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานเอาผิดบุคคลนั้นได้ในชั้นศาล  แต่สำหรับคดีนี้ คำให้การที่โจทก์ประสงค์ใช้อ้างเป็นข้อสู้ต่อว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น จำเลยได้ให้การไว้ในฐานะพยานเท่านั้น ไม่ได้ให้การในฐานะผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้แจ้งถึงสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด คำให้การดังกล่าวจึงถือเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถนำมาลงโทษจำเลยได้

นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของบุคคลอื่นถือเป็นพยานบอกเล่า จึงต้องมีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอจะรับฟังโดยลำพังมาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ที่ระบุว่า ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซักทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน

เมื่อคำให้การในชั้นสอบสวนของบุคลอื่นดังกล่าวเป็นคำให้การอันเป็นพยานบอกเล่า ไม่มีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอ จึงไม่สามารถนำมารับฟังลงโทษจำเลยได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า สมศักดิ์ถูกทหารจับกุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 57 พร้อมภรรยาที่โรงแรมสวีตอิน อ.เขาสมิง จ.ตราด ในการจับกุมทหารจำนวนหลายนาย พร้อมอาวุธได้ใช้ระเบิดควันยิงเข้าไปในห้องพักของโรงแรมก่อนและดำเนินการพังประตูห้องเข้าไปจับกุมตัวทั้งสองคน จากนั้นถูกใช้ผ้าปิดตาและมัดข้อมือไขว้หลังด้วยสายรัดแล้วถูกนำตัวขึ้นรถ จากนั้นก็ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายทหาร และทหารได้ทำการสอบสวนด้วยการข่มขู่ มีการคลุมศีรษะด้วยถุง และทำร้ายร่างกายจนกระทั่งปัสสาวะราด รวมถึงสร้างสถานการณ์จำลองว่าทหารจะมีเจตนาฆ่านายสมศักดิ์ เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว เพื่อบังคับให้นายสมศักดิ์ยอมให้ข้อมูลและรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุกราดยิงเวที กปปส. ตราดเมื่อเดือน ก.พ. 57 มาก่อน

ในส่วนของคดีนี้อาวุธปืนของกลางในคดีนี้ตามฟ้องระบุว่าถูกเอาไปใช้ในเหตุการณ์ยิงเวที กปปส. จังหวัดตราดเมื่อ ก.พ. 57 ซึ่งเป็นคดีแรกของสมศักดิ์ที่เขาถูกฟ้องว่าได้ร่วมกันก่อเหตุดังกล่าว ทั้งนี้คดีแรกของสมศักดิ์ศาลจังหวัดตราดซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องไปแล้วเมื่อ 27 ม.ค.59 และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยศาลได้พิจารณาจากการที่จำเลยได้ต่อสู้ว่าคำรับสารภาพของจำเลยไม่ได้มาโดยสมัครใจอีกทั้งพยานได้ให้การมีพิรุธจากการจูงใจ นอกจากนั้นพยานหลักฐานแวดล้อมที่มีการตรวจพิสูจน์ DNA ก็ไม่ได้ถูกตรวจยึดจากที่เกิดเหตุและโจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพยานหลักฐานเหล่านี้เกี่ยวกับการก่อเหตุอย่างไร จึงพิพากษาให้ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป. กกต.ขัดหรือแย้งธรรมนูญ

Posted: 03 Oct 2017 11:26 AM PDT

กกต.มีมติเห็นชอบส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 'กกต. สมชัย' เผยอีกว่า 4 ต.ค.นี้ จะไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกทาง

แฟ้มภาพ
 
3 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (3 ต.ค.60) สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเห็นชอบร่างคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่สำนักกฎหมายและคดีของสำนักงาน กกต.ได้เสนอ โดยจะยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัย ตามมาตรา 210 (1) ของรัฐธรรมนูญ  ใน 2 ประเด็น คือ มาตรา 26 ที่ตัดอำนาจ กกต.คนเดียวสามารถระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งได้หากพบว่ามีการกระทำทุจริต และมาตรา 27  ที่ตัดอำนาจ กกต.ไม่ให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง  เนื่องจากเห็นว่า มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนี้ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปรับปรุงข้อความในคำร้อง เมื่อแล้วเสร็จก็จะเสนอต่อประธาน กกต. และกกต.ลงนามก่อนที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยทันทีแต่อย่างช้าจะไม่เกินอังคารที่ 10 ต.ค.นี้
  
สมชัย ยังเปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ ( 4 ต.ค.60) เวลา 13.30 น. จะไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นการยื่นประเด็นไหน แต่คำร้องและเอกสารประกอบที่เตรียมยื่นมีกว่า 200 หน้า 
 
สมชัย ยังกล่าวว่า ที่ประชุม กกต.วันนี้(3 ต.ค.60) ยังมีมติยกเลิกผลการคัดเลือกเลขาธิการสำนักงาน กกต.เมื่อครั้งที่มีมติเลือก อำพล วงศ์ศิริ เนื่องจาก อำพล ขาดคุณสมบัติในเรื่องของอายุที่ ตามมาตรา 55 ของ พ.ร.ป. กกต. ฉบับใหม่ระบุว่า ผู้ที่จะเป็นเลขาธิการกกต. ต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี ในวันที่ได้รับแต่งตั้งและคุณสมบัติเฉพาะตัวที่มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง และเห็นว่าเพื่อไม่ให้การทำงานของสำนักงานหยุดชะงัก จึงมีมติให้สำนักงานไปดำเนินการสรรหาเลขาธิการคนใหม่ โดยให้ไปจัดทำปฏิทิน การสรรหามาเสนอที่ประชุม กกต.โดยเร็ว ทั้งนี้ในที่ประชุม กกต.ชุดนี้ได้แสดงเจตนาร่วมกันว่า เมื่อการสรรหาเลขาฯ  มาถึงกระบวนการในรอบสุดท้ายที่ กกต.จะต้องพิจารณาคัดเลือก กกต.ชุดนี้ ไม่ประสงค์ที่จะเป็นผู้คัดเลือกโดยเห็นควรให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ มาดำเนินการคัดเลือกจากบัญชีที่สำนักงานได้เตรียมไว้ ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานว่าการสรรหา กกต.ชุดใหม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด  แต่หากการสรรหา กกต.ใหม่เกิดปัญหาล่าช้าออกไป กกต.ชุดนี้ก็จะมีการพิจารณากันอีกครั้งว่าจะตัดสินใจคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นที่เลขาฯ กกต.ไปก่อนหรือไม่
 
ต่อคำถามที่ว่าก่อนหน้านี้ กกต.มีแนวทางว่าอาจจะคัดเลือกเลขาฯจากบัญชีเดิมนั้น สมชัย กล่าวว่า ที่ประชุมก็ไม่ได้มีการพูดกันถึงแนวทางนี้ อาจเป็นเพราะเห็นว่าบุคคลที่อยู่ในบัญชีเข้าข่ายขาดคุณสมบัติในเรื่องของอายุจำนวนมาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป้ายกีฬาสีนักเรียน เสียดสีสังคมการเมือง พบข้อความ "กฎหมายจากปลายกระบอกปืน"

Posted: 03 Oct 2017 10:43 AM PDT

กีฬาสีโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ พบป้ายเสียดสีสังคมการเมือง เช่น "กฎหมายจากปลายกระบอกปืน"  "เพราะอิทธิพลทำให้คนเป็นแพะ"  "หรือคุกไทยมีให้ขังแค่คนจน" นักเรียนชี้เป็นมุมมองหนึ่งที่สะท้อนให้สังคมได้รับรู้ว่าเด็กในยุคนี้เค้ากำลังคิดอะไร

3 ต.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ ( 3 ต.ค.60) ที่ โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำชื่อดังจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาสีภายใน ภายหลังจากพิธีเปิด กลุ่มนักเรียนซึ่งแบ่งออกเป็น 8 สี จากจำนวนนักเรียนกว่า 4,000 คน ได้จัดขบวนแห่พร้อมถือป้ายแสดงคำขวัญ แต่สิ่งที่เรียกเสียงฮือฮา จากการขึ้นป้ายการเดินรณรงค์ที่สะท้อนสังคม ปรากฏว่า มีการขึ้นป้ายแซวรัฐบาลทหาร ในด้านต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นแต่ละสี โดยเฉพาะสีน้ำเงินที่มีข้อความที่ทำให้ชาวบ้านตกตะลึงถึงความกล้าหาญของเด็กนักเรียน อาทิ คำว่า "เพราะอิทธิพลทำให้คนเป็นแพะ" "ล้างสีปลดเสื้อเหลือเพียงหน้ากาก" "หรือคุกไทยมีให้ขังแค่คนจน" "ร่วมต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นเพื่อสังคมและบ้านเมืองไทยแลนด์ 4.0" และ "กฎหมายจากปลายกระบอกปืน" รวมทั้งข้อความสะท้อนปัญหาสังคมอื่นๆ เป็นต้น 

ชุติมา ภูยาทิพย์ นักเรียน ม.6/2 ประธานสีน้ำเงิน กล่าวว่า ข้อความทั้งหมดเกิดขึ้นจากความคิดของเพื่อนนักเรียน เพราะในส่วนตัวมองว่าในยุคนี้สังคมมีความอ่อนแอ ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนๆก็เหมือนเดิม ถามว่าไปแซวรัฐบาลทหารกลัวหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่เกี่ยวเพราะประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย 

"การแสดงความเห็นจึงเป็นมุมมองหนึ่งที่สะท้อนให้สังคมได้รับรู้ว่าเด็กในยุคนี้เค้ากำลังคิดอะไรและเมื่อมีอำนาจจะต้องทำอย่างไรให้บ้านเมืองของเรา" ประธานสีน้ำเงิน  กล่าว

วัชรพล เสนาธง ม.6/2 หัวหน้ากลุ่มเดินพาเหรดสีน้ำเงิน กล่าวว่า ป้ายที่เขียนขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายจากปลายกระบอกปืน เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่วันนี้สังคมไม่เท่าเทียมกัน ก็ต้องการให้พ่อแม่ พี่น้องรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร ไม่มีใครสั่งแต่เป็นความต้องการจะแสดงความคิดเห็นของพวกเราที่เป็นเยาวชน

เสน่ห์ คำสมหมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ กล่าวว่า การจัดกีฬาสีเป็นประเพณี เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีความรักความสามัคคีกัน และก็มีการเปิดให้มีการแสดงกิจกรรมในด้านต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีความกล้าในส่วนของโรงเรียนถือเป็นโรงเรียนที่สร้างนักกีฬาระดับประเทศไม่ว่าจะเป็นวอลเล่ย์บอลชายหาดและฟุตบอล ที่จะมีการพัฒนาให้นักเรียนเป็นนักกีฬามืออาชีพต่อไป

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์ และข่าวเวิร์คพอยท์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดอะการ์เดียน: การปราบปรามประชามติกาตาลุญญาคือความพ่ายแพ้ของรัฐบาลสเปน

Posted: 03 Oct 2017 08:10 AM PDT

บทบรรณาธิการของเดอะการ์เดียน ต่อเหตุปราบปรามการทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระในแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน ระบุว่าการใช้กำลังตำรวจปราบปรามผู้ไปลงคะแนนและผู้ประท้วงอย่างสงบในกาตาลุญญาแสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของรัฐบาลกลางสเปนเอง

แฟ้มภาพการชุมนุมเรียกร้องเอกราชกาตาลุญญาเมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 (ที่มา: Ivan McClellan/Wikipedia)

3 ต.ค. 2560 "สเปนอยู่ในภาวะวิกฤต แต่นายกรัฐมนตรีของสเปนก็แสดงออกแบบปฏิเสธสภาพความเป็นจริง" บทบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนระบุถึงการที่ตำรวจปราบจลาจลใช้ไม้กระบองทุบตีผู้ชุมนุมอย่างสงบ ลากดึงเส้นผมของผู้ที่ไปลงคะแนนประชามติแยกตัวเป็นอิสระของกาตาลุญญา โยนผู้ไปลงคะแนนลงจากบันได ยิงกระสุนยางสลายฝูงชน แม้กระทั่งทำร้ายนักดับเพลิงของกาตาลุญญาและปะทะกับตำรวจท้องถิ่นของกาตาลุญญา

นอกจากจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว บทบรรณาธิการเดอะการ์เดียนยังระบุอีกว่าเรื่องนี้ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของผู้คนนอกเหนือไปจากกาตาลุญญาและสเปนเองด้วย ผลที่ตามมาอย่างแทบจะแน่นอนคือชาวกาตาลุญญาที่เคยต่อต้านหรือไม่รู้สึกอะไรกับการแยกตัวเป็นอิสระมาก่อนอาจจะถูกผลักให้มีแนวคิดอยากแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนมากขึ้นเพราะเริ่มตั้งคำถามว่า "ใครกันที่จะอยากถูกปกครองโดยรัฐแบบนี้"

เดอะการ์เดียนระบุต่อไปว่า การที่มาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปนออกมาพูดในทำนองว่าประชามติไม่มีอยู่จริง ไม่มีปัญหาอะไร และอ้างว่าตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ "อย่างเยือกเย็น" นั้น ยิ่งทำให้เป็นการสุมเชื้อเพลิงความไม่พอใจให้กับชาวกาตาลุญญา ฝ่าย "ชาตินิยมกาตาลุญญา" เริ่มรณรงค์ประสบความสำเร็จมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยิ่งเกิดวิกฤตทางการเงินยิ่งทำให้ขบวนการเรียกร้องอิสรภาพจากสเปนได้แต้มต่อ

การปราบปรามอย่างหนักของรัฐบาลกลางมีตั้งแต่การยึดบัตรลงคะแนน จับกุมเจ้าหน้าที่สำคัญๆ เกี่ยวกับการลงประชามติ ปลดเทคโนโลยีที่ใช้เชื่อมต่อสถานีลงคะแนน การนับคะแนน และการลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงสกัดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าคูหาลงคะแนน แต่เจ้าหน้าที่กาตาลุญญาก็โต้ตอบด้วยการบอกให้ผู้คนสั่งพิมพ์บัตรลงคะแนนมาจากบ้านตัวเอง บอกว่าพวกเขาจะลงคะแนนเมื่อใดก็ได้ แต่ในมุมมองของเดอะการ์เดียนก็มองว่านั่นทำให้ผลการลงคะแนนในครั้งนี้ โดยตัวมันเองแล้ว ไม่มีความหมาย

และเมื่อประเมินจากท่าทีจากหลายชาติของยุโรปรวมถึงเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปต่อกรณีการใช้ความรุนแรงกับผู้ไปลงประชามติ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกขัดกันกับท่าทีของรัฐบาลกลางสเปนที่พยายามทำให้ตัวเองออกห่างจากเรื่องนี้ สิ่งนี้เองที่จุดชนวนให้นักชาตินิยมกาตาลุญญากล่าวหาว่ารัฐบาลกลางเป็นเผด็จการและกดขี่บีบคั้นเจตจำนงของชาวกาตาลุญญา

กระนั้นเดอะการ์เดียนก็ระบุว่านั่นไม่ได้หมายความว่าฝ่ายอยากแยกตัวเป็นอิสระของกาตาลุญญษจะชนะโดยสิ้นเชิง พวกเขาชนะเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะการ์เดียนมองว่าชาวกาตาลุญญาส่วนใหญ่ทั้งอยากลงประชามติและอยากอยู่เป็นส่วนหนึ่งกับประเทศสเปนต่อไปพร้อมๆ กัน พวกเขารู้สึกถูกกระทำไม่ดีทั้งจากรัฐบาลกลางและจากขบวนการแยกตัวเป็นอิสระ นั่นทำให้เดอะการ์เดียนมีท่าทีเห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปที่เรียกร้องให้ทั้งฝ่ายเจรจาหารือกัน สิ่งที่จะออกจากปัญหาได้คือการที่เต็มใจรับฟังคนอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะการรับฟังประชาชนชาวกาตาลุญญา

เรียบเรียงจาก

The Guardian view on Catalonia's referendum: the Spanish state has lost, The Guardian, 01-10-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ยืนสั่งปรับ 'จ่านิว' 1,000 กรณีแจกโพสต์อิทให้คนเขียนรณรงค์ ผิด พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

Posted: 03 Oct 2017 06:16 AM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งปรับ 'จ่านิว' สิรวิชญ์ 1000 บาท ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ หลังทำกิจกรรมแจกโพสต์อิทให้คนมาเขียนรณรงค์กิจกรรมโพสต์ - สิทธิ์ เพื่อสื่อว่าประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น

ภาพขณะ สิรวิชญ์ ถูกควบคุมตัว ระหว่างจัดกิจกรรมโพสต์ - สิทธิ์ บริเวณสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรี เพื่อสื่อสารว่า ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เมื่อวันที่ 1 พ.ค.59 (แฟ้มภาพ) 

3 ต.ค. 2560 iLaw รายงานว่า วันนี้ (3 ต.ค. 60) เวลาประมาณ 9.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 8 ศาลแขวงพระนครใต้อ่านคำพิพากษาคดี ในชั้นอุทธรณ์ คดีโปรยโพสต์อิทในกิจกรรมโพสต์ - สิทธิ ของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 32 ที่กำหนดให้ การเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย ลงบนทางบกหรือทางน้ำ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท 

โดย สิรวิชญ์ เคยยื่นอุทธรณ์ โดยให้การว่า ตนไม่ได้มีเจตนาจะทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาจับกุมก็ไมใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย พ.ร.บ. สะอาดฯ ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจจับกุมและอำนาจยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์ ระบุว่า คำให้การของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากถ้าพยานโจทย์หรือผู้จับกุมเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการเชิญตัว ไม่ใช่การจับกุมตัว และเรื่องของกลางซึ่งเป็นถุงใส่โพสต์อิทใช้ประกอบคดีได้เท่านั้น แต่ใช้กับคดีไม่ได้ ซึ่งศาลเห็นว่าถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปขัดขวาง ก็จะมีการกระทำผิดอีก และมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือ ปรัับเป็นเงิน 1000 บาท

iLaw รายงานด้วยว่า ภายหลังคำพิพากษา 'จ่านิว' ให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ควรถูกปรับเพราะไม่ได้ทิ้งขยะ และไม่มีเจตนาโปรยโพสต์อิทลงพื้น แต่ศาลตีความว่าโปรยลงพื้น ซึ่งเขามองว่าศาลมีเจตนาที่จะเอาผิด ทั้งที่ในเหตุการณ์จริง เขายื่นที่ละแผ่น ไม่ได้โปรยแบบกระจัดกระจายเต็มไปหมด เเต่สิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฎในคำพิพากษาเลย

จ่านิว ระบุอีกว่า สาเหตุที่ต้องโยนนั้นก็เพราะ เจ้าหน้าที่เข้ามาขัดขวางการทำกิจกรรมของเขา และก็เป็นการโยนที่ละแผ่นหรือปึกกระดาษโพสอิท อีกทั้ง ไม่มีกระดาษเหลืออยู่บนพื้นด้วยซ้ำเพราะ ได้เก็บทั้งหมด ไม่ได้ทิ้งไว้เกลื่อนกลาดเลย ส่วนว่าจะทำอย่างไรต่อไป จ่านิวบอกว่าคงยื่นฎีกาต่อ เพราะเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางกฎหมานและทางการเมือง แม้จะเห็นว่าทั้งเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่าย ในการต่อสู้คดี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประวิตร' ยันกฎหมายลูกเสร็จ 150 วัน กำหนดวันเลือกตั้งได้ 'มีชัย' ชี้ไม่น่ามีเหตุคว่ำร่างกฎหมายได้

Posted: 03 Oct 2017 05:28 AM PDT

3 ต.ค. 2560 จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกกับโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้านั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ก็นับไปอีก 150 วัน ก็จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้

ส่วนที่มีการมองว่าหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะทำให้เป็นปัจจัยในการเลื่อนการเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิก สนช. และให้รอดูการพิจารณาของ สนช.
 
"ขออย่าคิดว่า คสช.อยากจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งนี้จะอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ภายหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ส่วนผมไม่มีข้อห่วงใยใด ๆ และทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย" พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวอีกว่า การที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ไทยเข้าพบนั้น เมื่อสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศมหาอำนาจ ก็ถือว่าสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่น และประเทศอื่น ๆ ก็จะต้องมีความเชื่อมั่นไทยด้วยเช่นเดียวกัน 
แฟ้มภาพ
 
ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 นั้น จะมีอุบัติเหตุในชั้นการพิจารณาของ สนช. จนอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโรดแมปหรือไม่นั้น มีชัย กล่าวยืนยันว่า กรธ.สามารถจัดทำร่างกฎหมายลูกได้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ แม้ว่ามีเวลาพิจารณากฎหมายค่อนข้างจำกัด ซึ่งขณะนี้ สนช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาร่างกฎหมายลูกควบคู่ไปกับการจัดทำร่างกฎหมายลูกของ กรธ. และได้มีการหารือร่วมกันโดยตลอด ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การคว่ำร่างกฎหมายลูกได้ นอกจากนี้ สนช. มีอิสระในการพิจารณาร่างกฎหมาย และการออกกฎหมายเป็นอำนาจของ สนช. ซึ่ง กรธ.ทำได้เพียงแต่ชี้แจงเหตุผลของการจัดทำร่างกฎหมายลูกให้กับ สนช. รับทราบเท่านั้น และไม่ว่าที่ประชุม สนช.จะมีผลมติออกมาอย่างไร หากกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กรธ. ก็พร้อมยอมรับ
 
มีชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กรธ.เตรียมส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... ให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาเนื้อหาให้สอดคล้องกัน คาดว่า  จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนส่งข้อคิดเห็นกลับมายัง กรธ. โดยจะนำความเห็นของ ป.ป.ช.มาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช. ต่อไป ทั้งนี้ กรธ.ยังคงยึดหลักการจัดทำร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช. ตามที่เคยชี้แจงก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องสถานภาพของ ป.ป.ช.ที่ต้องยึดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติไว้ การนำระบบการไต่สวนโดยตั้งพนักงานไต่สวนมาใช้แทนการตั้งอนุกรรมการที่มีความล่าช้า รวมทั้งต้องจัดทำหลักสูตรอบรมพนักงานไต่สวนให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในวันนี้ กรธ. จะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... โดยคาดว่าจะส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ไปยัง สนช.ได้ในวันที่ 21 พ.ย. และส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... ในวันที่ 28 พ.ย. นี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตรเผยสหรัฐฯยอมขายอาวุธให้ไทยแล้ว หลังถูกระงับเมื่อ รบ.นี้เข้ามา รอชงงบฯ

Posted: 03 Oct 2017 04:58 AM PDT

พล.อ.ประวิตร เผยตอนนี้สามารถกลับมาซื้ออาวุธจากสหรัฐได้แล้ว หลังถูกระงับตั้งแต่รัฐประหาร 57 ระบุสหรัฐจะเอาของเดิมออกมาให้ซื้อขาย เช่น เฮลิคอปเตอร์โจมตี ชี้เป็นการวางแผนของกองทัพตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา

แฟ้มภาพ

3 ต.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 12.30 น. วันนี้ (3 ต.ค.60) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวหลังเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เเทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ติดภารกิจเยือนสหรัฐในวันนี้ ถึงกรณีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา ภายหลังรัฐบาลสหรัฐอนุมัติให้ซื้อขายอาวุธให้ไทยได้อีกครั้ง นับเเต่เคยถูกระงับเมื่อปี 2557

โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นการวางแผนของกองทัพตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา เเละเป็นแผนการซื้ออาวุธที่เป็นไปตามแผนงาน และงบประมาณที่ได้รับ เเต่ตอนนั้นพอรัฐบาลชุดนี้เข้ามาทางสหรัฐ เขาไม่ซื้อขายกับเรา ทำให้ประเทศไทยต้องไปซื้ออาวุธที่อื่น แต่ตอนนี้สามารถกลับมาซื้อได้แล้ว โดยสหรัฐก็จะเอาของเดิมออกมาให้ซื้อขาย เช่น เฮลิคอปเตอร์โจมตี แต่พอเราซื้อมาก็เหลือชั่วโมงบินน้อยมากแล้ว ซึ่งต้องพิจารณากันอีกครั้ง
 
ต่อกรณีคำถามต่อว่าจะมีการพิจารณาซื้อในช่วงใด พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ตนไม่รู้ ทางกองทัพบกจะกำหนดตามงบที่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยเท่านั้นที่จะต้องดำเนินการ รัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้อง รัฐบาลให้แต่งบประมาณที่หน่วยขอมา อันไหนให้ได้ก็ให้ อันไหนให้ไม่ได้ก็ไม่ให้
 
ช่วงเช้าทีผ่านมา คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า คงมีการพูดคุย การร่วมมือเรื่องความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้  ร่วมทั้งพูดคุยเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะสหรัฐฯไม่ให้เราซื้อนานแล้ว ตอนนี้เขาให้เราซื้อได้ และจากการสอบถามนายกฯ ระบุว่าสหรัฐฯให้การต้อนรับอย่างดีมีการพูดคุยระหว่างผู้นำประมาณ 40 นาที โดยไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการจัดซื้ออาวุธ ส่วนสหรัฐฯจะมีข้อเสนออะไร อย่างไรนั้น ตนยังไม่ได้พูดคุยในรายละเอียดกับพล.อ.ประยุทธ์เล่าเพียงบรรยากาศ  แต่ระหว่างการพูดคุยระหว่างผู้นำคงมีการพูดคุยเท่าที่สื่อมวลชนรู้กันอยู่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ทึ่สุดแล้วเพียงเราเถ้าธุลี

Posted: 03 Oct 2017 04:54 AM PDT

เราต่างมา ต่างไป ในพิภพ
เราล้วนมี จุดจบ ที่ไม่ต่าง
ลมหายใจ ยังอยู่ สู้ทุกทาง
เห็นทุกข์สุข ทุกอย่าง ระหว่างวัย

เราผ่านร้อน ผ่านหนาว หลายคราวนัก
ทั้งหน่วงหนัก นักหนา ถาโถมใส่
คิดทำสิ่ง ดีงาม ท่ามเป็นไป
อุดมการณ์ ยิ่งใหญ่ เพื่อมวลชน

เห็นทุกข์แค้น เคืองเข็ญ ของผู้อื่น
เป็นทุกข์ตน ปลุกตื่น หมื่นแสนหน
ถมทุกข์แทน มวลมหา ประชาชน
เห็นทุกข์ปน ล้นทุกข์ อุกระอา

เห็นบ้านเมือง ในมือ ผู้ปกครอง
กุมอำนาจ สนอง กิเลสหนา
เห็นเหลื่อมล้ำ ย่ำเกียรติ เบียดบีฑา
เสรีสิทธิ อิสรา คว้าเพียงเงา

เราต่างมา ต่างไป น้อมใจรับ
เรามิอาจ ย้อนกลับ ไปทางเก่า
เก็บทรงจำ ย้ำเยือน เตือนจิตเกลา
ที่สุดแล้ว เหลือเพียงเรา เถ้าธุลี...

อำลาอาลัย
แด่ คุณลุง 'อุดร ทองน้อย' ผู้วายชนม์
30 กันยายน 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับนายหน้าเก็บค่าหัวคิวตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าว แถมฟ้องบริษัทฯ ตาม พ.ร.ก.ใหม่

Posted: 03 Oct 2017 04:28 AM PDT

3 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้กรมการจัดหางานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีนายหน้าบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวของแรงงานต่างด้าวจากนายจ้างที่มาใช้บริการที่ศูนย์บริการเพื่อการทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จ.สมุทรปราการนั้น กรมการจัดหางานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ศูนย์บริการฯ จากการตรวจสอบพบคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาจำนวน 4 คน กำลังกรอกเอกสาร จัดคิว รับถ่ายเอกสารให้กับคนต่างด้าวที่มาใช้บริการที่ศูนย์ฯ มีหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงาน ตำแหน่งกรรมกร แต่ทำงานไม่ตรงกับนายจ้างและสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน จำนวน 3 คน และไม่มีเอกสารใดๆมาแสดงอีกจำนวน 1 คน เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสำโรงเหนือ และแจ้งข้อกล่าวหาคนต่างด้าว 3 คน ในข้อหา "เป็นผู้รับอนุญาตให้ทำงานทำงานแตกต่างจากประเภทงาน นายจ้าง ท้องที่ หรือเงื่อนไขในการทำงานตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน" ตามมาตรา 70 โดยคนต่างด้าวดังกล่าวให้การรับสารภาพและยินดีเปรียบเทียบปรับ และร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศในข้อหา "ให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน" ตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ส่วนคนต่างด้าวอีก 1 ราย แจ้งข้อกล่าวหาเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขยายผลักดันส่งกลับต่อไป

วรานนท์ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานได้แก้ไขปัญหาคิวยาว และป้องกันการเรียกรับเงินจากนายจ้างโดยได้ประสานทางการเมียนมาเพิ่มคิวและเพิ่มจำนวนเครื่องผลิตเล่มเอกสารรับรองบุคคล (CI) โดยเฉพาะที่ศูนย์ตรวจสัญชาติ จ.ระนอง สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ซึ่งแต่ละศูนย์ฯสามารถผลิตเอกสารรับรองบุคคล (CI) ได้เพิ่มอีกเป็น 1,400 เล่มต่อวัน เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อความรวดเร็ว ขณะนี้มีแรงงานเมียนมากลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) ได้รับใบแทนใบอนุญาตทำงานแล้วจำนวน 45,458 คน นายจ้าง จำนวน 14,930 ราย อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างหรือผู้ใดพบเห็น มีเบาะแสหรือถูกเรียกรับเงินเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ขอให้รีบแจ้งกระทรวงแรงงานทันที เพื่อจะได้ไปตรวจสอบและหากพบกระทำผิดก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยติดต่อสอบถามหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วน 1694

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนรักหลักประกันสุขภาพ' แจงรายประเด็นค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

Posted: 03 Oct 2017 03:03 AM PDT

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดประเด็นค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ความไม่สมดุลของคณะ กก.พิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิยามคำต่างๆ อำนาจหน้าที่ของ บอร์ดหลักประกันสุขภาพฯ จนถึงจำนวนและองค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมฯ

เครือข่าย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาชน แอคชั่นค้านการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  เมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา (แฟ้มภาพ)

3 ต.ค. 2560 จากกรณีที่ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงความคืบหน้าในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าได้รับอนุมัติจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกชี้ประเด็นว่าขัดแย้งยังอยู่ พร้อมเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่าเพิ่งเร่งพิจารณา และเรียกร้องขอเข้าพบรองนายกฯ เพื่อให้ข้อมูลร่วมกันพิจารณาอย่างรอบด้านและแสดงจุดยืนค้านแยกเงินเดือนและกลไกใหม่ในการจัดซื้อยารวมนั้น

ล่าสุดกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้เผยแพร่ประเด็นการคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังกล่าว ตั้งแต่ ความไม่สมดุลของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผู้แทนภาคประชาชนเพียง 2 คนคือ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา และยุพดี  ศิริสินสุข จากทั้งหมด 27 คน

และข้อคัดค้านในด้านสาระสำคัญการแก้ไขกฎหมาย เช่น นิยามคำว่า "บริการสาธารณสุข" ในร่าง พ.ร.บ. ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ระบุว่า เดิมให้ความสำคัญกับการครอบคลุมบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตามที่เป็นนโยบายสำคัญของประเทศในเรื่องการพึ่งตนเอง และ ลดค่าใช้จ่ายได้ รวมไปถึง  นิยามคำว่า "สถานบริการ" "เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" 
 
องค์ประกอบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ เสนอให้  "(5)ผู้แทนหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 2 คนให้คัดเลือกกันเอง" ตามมาตรา 13 นั้น กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ระบุว่า คณะกรรมการหลักประกันทำหน้าที่เป็น ผู้ซื้อบริการ จึงไม่ควรมีส่วนของผู้ให้บริการมาร่วมในการตัดสินใจเนื่องจากจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ทั้งนี้ควรตัดผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกด้วยเช่นกัน
 
นอกจากนี้ยังมีประเด็น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อำนาจหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การเพิ่มเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ การจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร จากกองทุนหลักประกันสุขภาพ การกำหนดหน้าที่การจัดหายา เวชภัณฑ์อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่หน่วยบริการ และจำนวนและองค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมฯ เป็นต้น
 
รายละเอียดมีดังนี้ : 

สรุปประเด็นการคัดค้านการแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพหางชาติ พ.ศ. 2545 ความเห็นของภาคประชาชน, 2 ตุลาคม 2560

1.  ความไม่สมดุลของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ….

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 โดยมี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน และมีกทสธ  และสปสช.เป็นเลขานุการ มีหน้าที่พิจารณาแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จากทั้งหมด 27 ท่าน แต่มีผู้แทนภาคประชาชนเพียง 2 ท่านคือ คุณสุรีรัตน์ ตรีมรรคา และอ.ยุพดี  ศิริสินสุข

2. ข้อคัดค้านในด้านสาระสำคัญการแก้ไขกฎหมาย

2.1 มาตรา 3

1.  นิยามคำว่า "บริการสาธารณสุข"     

นิยามในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

"บริการสาธารณสุข"     หมายความว่า    บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ  การป้องกันโรค  การตรวจวินิจฉัยโรค  การรักษาพยาบาล  และการฟื้นฟู สมรรถภาพ  ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต  ทั้งนี้  ให้รวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทยและ การแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

นิยามที่คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ขอแก้ไขใหม่

"บริการสาธารณสุข"หมายความว่า บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ  การป้องกันโรค  การตรวจวินิจฉัยโรค  การรักษาพยาบาล  และการฟื้นฟู สมรรถภาพ  ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต  ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทั้งนี้หมายความรวมถึงการสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขด้วย

ประเด็นคัดค้าน  นิยามเดิมให้ความสำคัญกับการครอบคลุมบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตามที่เป็นนโยบายสำคัญของประเทศในเรื่องการพึ่งตนเอง และ ลดค่าใช้จ่ายได้

2.      นิยามคำว่า "สถานบริการ

นิยามที่คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ขอแก้ไขใหม่

"สถานบริการ" หมายความว่า สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ  ของเอกชน  และของสภากาชาดไทย หน่วยบริการการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง  ๆ  และสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม  ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย

นิยามที่ภาคประชาชนขอแก้ไขใหม่

"สถานบริการ" หมายความว่า สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ  ของเอกชน  และของสภากาชาดไทย หน่วยบริการการประกอบวิชาชีพและการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง  ๆ  และสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันและควบคุมโรค ตามที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม

ประเด็นคัดค้าน ในการให้บริการที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงยาก จำเป็นต้องให้องค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมในการทำหน้าที่เพื่อเติมเต็มการทำงานของหน่วยบริการภาครัฐที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางเหล่านี้

นอกจากนี้ "หลักการ" ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมให้บริการสาธารณสุขโดยประชาชน ประชาสังคม องค์กรสาธารณะ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่น

3.      นิยามคำว่า "เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"

นิยามที่คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ขอแก้ไขใหม่

"เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หมายถึงเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการตามมาตรา 46 รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 47 และ มาตรา 47/1

ประเด็นคัดค้าน

เนื่องจากการกำหนดนิยามคำนี้ จะเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ระบุในมาตรา 38 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545 ซึ่งให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพไปใช้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

หมวด  4

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

มาตรา  38 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เรียกว่า
"กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"  มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย  สนับสนุน  และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพให้ใช้จ่ายเงินกองทุนโดยคำนึงถึงการพัฒนาการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการเพียงพอหรือมีการกระจายหน่วยบริการอย่างไม่เหมาะสมประกอบด้วย

2.2   มาตรา 5

นิยามในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

มาตรา   5 บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้

คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ  เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ  คงเนื้อหาในมาตรา 5 เดิม

ข้อเสนอที่ภาคประชาชนขอแก้ไขใหม่

มาตรา   5 บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้ให้หมายรวมถึง บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิคนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ

คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ  เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ
ประกาศกำหนด

เหตุผลของข้อเสนอภาคประชาชนคือ

1. เพิ่มผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ให้รวมถึงคนไทยในสถานภาพต่างๆ ได้แก่ คนไทยที่มีปัญหาสถานะและสิทธิคนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ เพื่อให้คนเหล่านี้มีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ตามหลักการของพ.ร.บ.ฉบับนี้

2, ตัดวรรคสองออกทั้งวรรค เนื่องจากหากคงไว้ จะส่งผลให้เกิดการเก็บเงินประชาชนผู้มารับบริการ "ร่วมจ่าย" ในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ  ซึ่งจะกระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยได้ดังเหตุผลต่อไปนี้

 2.1 ไม่สนับสนุนให้มีการเก็บเงินร่วมจ่ายในแต่ละครั้งที่ไปเข้ารับบริการ เพราะจะเป็นอุปสรรคด้านการเงินต่อการเข้าถึงบริการ

2.2 ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐานก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้มารับบริการ

2.3 สร้างให้เกิดระบบการตรวจสอบเศรษฐานะของบุคคล และสถานะของบุคคล ทำให้ลดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

2.3 มาตรา 9, 10

ข้อเสนอที่ภาคประชาชนขอแก้ไขใหม่

ที่ผ่านมาในบทเฉพาะกาลในมาตรา 66 มีเจตนารมณ์ให้ประชาชนทุกคนเข้ามาร่วมในการรับบริการตามพระราชบัญญตินี้ ภายใน 1 ปี แต่เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้จริงตามเจตนารมณ์ดังกล่าว จึงควรให้มีการปรับแก้สาระของมาตรา 9, 10 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยืนยันสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพที่ทุกคนจะได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการรับบริการสุขภาพของประชาชน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ๒๐ ปี ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข

"มาตรา 66 ให้ตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา  ๙  และมาตรา  ๑๐  ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  และหากไม่แล้วเสร็จให้ขยายระยะเวลาได้ครั้งละหนึ่งปี  โดยให้สำนักงานหรือสำนักงานและสำนักงานประกันสังคม  แล้วแต่กรณี  รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ  และจัดให้มีการเผยแพร่รายงานนั้นต่อสาธารณชน"

 มาตรา๙ ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของบุคคลดังต่อไปนี้  ให้เป็นไปตามกฎหมายกฎ  ระเบียบ  ประกาศ  มติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งใด  ๆ  ที่กำหนดขึ้นสำหรับส่วนราชการ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจ  หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ  และบุคคลดังต่อไปนี้ให้ใช้สิทธิดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้

(๑)ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ

(๒)พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๓)พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ  หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ

(๔)บิดามารดา  คู่สมรส  บุตร  หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลโดยอาศัยสิทธิของบุคคลตาม  (๑)  (๒)  หรือ  (๓)

ในการนี้  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่จัดการให้บุคคลดังกล่าวสามารถได้รับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่ได้ตกลงกันกับรัฐบาล  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจ  หรือหน่วยงานอื่นของรัฐแล้วแต่กรณี

การกำหนดให้บุคคลตามวรรคหนึ่งประเภทใด  หรือหน่วยงานใด  ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อใดให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยโดยให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาภายในหนึ่งปีหลังจากพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสามใช้บังคับแล้ว  ให้รัฐบาล  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ  หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ  แล้วแต่กรณี  ดำเนินการจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรับบริการสาธารณสุขสำหรับบุคคลตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกานั้นให้แก่กองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ  และระยะเวลาที่กำหนดตกลงกับคณะกรรมการ

มาตรา   ๑๐ ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมมาใช้สิทธิตามพระราชบัญญัตินี้โดยให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีการภายในหนึ่งปีหลังจากพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม  การขยายบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคม
ตกลงกัน

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับแล้ว  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่จัดการให้บุคคลดังกล่าวสามารถได้รับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐบาล  ดำเนินการจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรับบริการสาธารณสุขสำหรับบุคคลตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกานั้นให้แก่กองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ  และระยะเวลาที่กำหนดให้คณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม  และเมื่อได้ตกลงกันเกี่ยวกับความพร้อมให้บริการสาธารณสุขกับคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว  ให้คณะกรรมการเสนอรัฐบาลเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มให้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตามพระราชบัญญัตินี้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองใช้บังคับแล้ว  ให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน

ให้สำนักงานประกันสังคมยุติเก็บเงินสมทบสำหรับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล และให้ดำเนินการโอนย้ายผู้ประกันตนมาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ประกันตน

2.4 มาตรา 13  องค์ประกอบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ

    "(5)   ผู้แทนหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 2 คนให้คัดเลือกกันเอง"

ประเด็นคัดค้าน

หากต้องการให้คงหลักการแยกบทบาท (Purchaser-Provider Split) ของผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ผู้ให้บริการ (Provider) ที่ระบุในเหตุผลของการแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ซึ่งถือว่า คณะกรรมการหลักประกันทำหน้าที่เป็น ผู้ซื้อบริการ จึงไม่ควรมีส่วนของผู้ให้บริการมาร่วมในการตัดสินใจเนื่องจากจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ทั้งนี้ควรตัดผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกด้วยเช่นกัน

2.5 มาตรา 18 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข้อเสนอภาคประชาชน ให้มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ดังนี้

(4/1) กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีความจำเป็น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการและประสิทธิภาพในการบริหารเงินกองทุน

เหตุผลของข้อเสนอภาคประชาชนคือ

เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยาฯ ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานเชิงประจักษ์ว่าในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นสามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นมูลค่าสูงมากมาโดยตลอด ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ

2.6 มาตรา 26 อำนาจหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข้อเสนอภาคประชาชน เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเพื่อเพิ่มธรรมาภิบาลในระบบตามเหตุผลที่ระบุในการแก้ไขพรบ.นี้ ที่ผ่านมาไม่มีข้อกำหนดในกฎหมายรองรับการทำงานด้านการตรวจสอบของสำนักงานเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินอย่างถูกต้อง และสุจริต

(6)   ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการรวมทั้งการเรียกเอกสารประกอบการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขเพื่อการตรวจสอบตามรูปแบบที่สำนักงานกำหนดหากตรวจพบว่า  หน่วยบริการใดจงใจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริงหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นเหตุให้สำนักงานต้องจ่ายค่าใช้จ่ายแก่หน่วยบริการมากเกินควรแก่กรณีให้สำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามมาตรา 18 (11)

2.7 มาตรา 41 เพิ่มเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

ข้อเสนอภาคประชาชน

"มาตรา 41 ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ  โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้  แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร  ทั้งนี้  การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินเยียวยาความเสียหายดังกล่าวให้จ่ายได้โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ความรับผิดก่อน และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด"

เหตุผลของข้อเสนอภาคประชาชน

เงินช่วยเหลือเบื้องต้นจะไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาของผู้รับบริการหรือผู้ให้บริการในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ จึงจำเป็นต้องเพิ่มเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดยเพิ่มเงินเยียวยาความเสียหาย

2.8 มาตรา 46 การจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ

ข้อเสนอภาคประชาชน ปรับแก้สาระของกฎหมายดังนี้

มาตรา   46    หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตามมาตรา  44  และหน่วยบริการที่รับการส่งต่อผู้รับบริการ  มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในรูปตัวเงิน ยาและเวชภัณฑ์ วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนตามหลักเกณฑ์  วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง  ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา  18  (13)  ก่อน  และอย่างน้อยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข  ดังต่อไปนี้

(1)   อาศัยราคากลางที่เป็นจริงของโรคทุกโรคมาเป็นฐานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานตามมาตรา  50(4)

(2)   ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร

(3)   คำนึงถึงความแตกต่างในภารกิจของหน่วยบริการ

(4)     คำนึงถึงความแตกต่างในกลุ่มผู้รับบริการและในขนาดของพื้นที่บริการที่หน่วยบริการรับผิดชอบ

เหตุผลของข้อเสนอภาคประชาชน

1. เพื่อให้การบริหารกองทุนโดยสปสช.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และลดความเสี่ยงต่อการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประชาชนจึงควรกำหนดให้การชดเชยค่าบริการสาธารณสุขอยู่ในรูปแบบต่างๆนอกจากตัวเงิน ซึ่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ข้อกำหนดยังไม่ชัดเจน

2. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างที่เสนอโดยคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ในกรณี มาตรา 46 (2) ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร เนื่องจากการแยกเงินเดือนจะทำให้การจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรไปยังหน่วยบริการไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่หน่วยบริการต้องให้บริการ ดังนั้นในการแก้ไขมาตรานี้มีนัยยะสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านการเข้าถึงบริการ หากบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้นควรต้องมีการศึกษาด้านวิชาการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณามาตรานี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากการแก้กฎหมายจะส่งผลต่อการปฏิบัติในระยะยาว

2.9 มาตรา 47/1 การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร จากกองทุนหลักประกันสุขภาพ

ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ

มาตรา 47/1 องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ให้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข จากหน่วยบริการหรือจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

ในกรณีที่องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร มีความจำเป็นที่จะรับเงินโดยตรงจากกองทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ก่อนการออกประกาศดังกล่าวจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การับเงินขององค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนโดยตรงจากกองทุนตามวรรคสอง ให้เปิดเผยข้อมูลการรับเงินดังกล่าวต่อสาธารณะด้วย

ประเด็นคัดค้าน

การกำหนดให้การออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข โดย รัฐมนตรีรวมทั้งกำหนดให้ก่อนการออกประกาศดังกล่าวจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เป็นการใช้อำนาจที่ขัดกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ และถือว่าเป็นการแทรกแซงของผู้ให้บริการ (Provider) ต่อการทำหน้าที่ของผู้ซื้อบริการ ขัดกับหลักกการที่ระบุไว้ในเหตุผลของการแก้ไขกฎหมายคือ "หลักการแยกบทบาท (Purchaser-Provider Split) ของผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ผู้ให้บริการ (Provider)

2.10   มาตรา 47/2 การกำหนดหน้าที่การจัดหายา เวชภัณฑ์อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่หน่วยบริการ

ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ

"มาตรา 47/2  เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข และส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่หน่วยบริการได้ ทั้งนี้ ตามรายการที่ได้รับความเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ประเด็นคัดค้าน

ขณะนี้มีการถ่ายโอนอำนาจการจัดหายาฯ จากสปสช. ไปยังเครือข่ายหน่วยบริการ (ไม่ใช่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งสัมฤทธิผลยังไม่เป็นที่แน่ชัด การถ่ายโอนอำนาจไปย่อมมีความเสี่ยงต่อปัญหาคนไข้ขาดยาจำเป็นได้ ส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วย และการสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ นอกจากนี้ในข้อกฎหมายนี้ มีเจตนาจะโอนความรับผิดชอบจัดหายาฯ ไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่น ไม่ใช่หน่วยบริการ และไม่เคยมีประสบการณ์การจัดหายาฯระดับประเทศ และเคยมีคดีทุจริตยาในอดีต ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมากอีกขั้นหนึ่ง ในขณะที่การดำเนินการจัดหายาฯ ภายใต้ สปสช. มีผลงานเชิงประจักษ์ในด้านการประหยัดงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท โครงสร้างการทำงานชัดเจน มีประสบการณ์ดำเนินงานมากกว่า 10 ปี

จึงสมควรกำหนดเพิ่มให้การจัดซื้อยาอยู่ภายใต้บทบาทหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.11 มาตรา 48 จำนวนและองค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมฯ

ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ

"(5)   ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนหนึ่งคน และผู้แทนหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 2 คนให้คัดเลือกกันเอง"

ประเด็นคัดค้าน

หากต้องการให้คงหลักการแยกบทบาท (Purchaser-Provider Split) ของผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ผู้ให้บริการ (Provider) ที่ระบุในเหตุผลของการแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ซึ่งถือว่า คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ทำหน้าที่ในส่วนของ ผู้ซื้อบริการ จึงไม่ควรมีส่วนของผู้ให้บริการมาร่วมในการตัดสินใจเนื่องจากจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้

 

AttachmentSize
ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .....pdf152.5 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

รอบโลกแรงงานกันยายน 2017

Posted: 03 Oct 2017 03:00 AM PDT

พนักงาน McDonald's หยุดงานประท้วงครั้งแรกในอังกฤษ ประท้วงการจ่ายค่าจ้างและสภาพการทำงาน

พนักแมคโดนัลด์ (McDonald's) รวมตัวกันที่นอกร้านแมคโดนัลด์ 2 แห่งในเมืองเครย์ฟอร์ด ทางตะวันออกเฉียงของกรุงลอนดอน และเมืองเคมบริดจ์ ก่อนจะย้ายไปประท้วงที่นอกรัฐสภา โดยได้เรียกร้องค่าจ้างชั่วโมงละ 10 ปอนด์ และให้ทางบริษัทยินยอมให้พนักงานตั้งสหภาพแรงงาน และยุติสัญญาจ้างแบบไม่ระบุชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำที่เรียกว่า 'zero-hours contracts'

ที่มา: theguardian.com, 4/9/2017

จีนตั้งโรงงานสิ่งทอจ้างงานชาวอเมริกันสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

บริษัท Shandong Ruyi ยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งทอของจีน ลงทุนตั้งโรงงานสิ่งทอขนาดใหญ่ ด้วยงบลงทุน 410 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1 หมื่น 4 พันล้านบาท ในเมือง Forrest City ใกล้กับแม่น้ำมิสซิสซิปปี ในรัฐอาร์คันซอ นอกจากจะลงทุนมหาศาลแล้ว บริษัทจะใช้ฝ้ายที่เกษตรกรในรัฐอาร์คันซอผลิตได้เกือบทั้งรัฐในการผลิตสิ่งทอในโรงงานแห่งนี้ทุกปีด้วย

นายกเทศมนตรี Larry Bryant บอกว่าทางบริษัทได้เข้ามาอบรมพนักงานท้องถิ่นในวิทยาลัยชุมชน เนื่องจากในพื้นที่นี้เคยเป็นโรงงานผลิตโทรทัศน์ของญี่ปุ่นมาก่อน และตอนนี้มีชาวสหรัฐฯในพื้นที่ให้ความสนใจยื่นใบสมัครเข้าทำงานในโรงงานสิ่งทอของจีนเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันธุรกิจท้องถิ่นหลายแห่งก็อ้าแขนรับการเข้ามาของโรงงานสิ่งทอจากแดนมังกรนี้อย่างอบอุ่น เนื่องจากทาง Shandong Ruyi ให้คำมั่นว่าจะจ้างแรงงานท้องถิ่น 800 คน ด้วยค่าแรงที่สูงกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง นั่นเท่ากับสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของชาวอเมริกันเสียอีก

ที่มา: voathai.com, 7/9/2017

คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าเวียดนาม 6,000 คน หยุดงานประท้วงนายจ้าง

คนงานราว 6,000 คนของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดแทงฮว้า (Thanh Hoa) ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ได้ร่วมกันนัดหยุดงานเพื่อประท้วงกฎระเบียบของบริษัทที่ไร้เหตุผล สำนักข่าวท้องถิ่นรายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2017 ที่ผ่านมา คนงานอ้างว่าบริษัท S&H Vina จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้า ในอำเภอทาคแถง (Thach Thanh)  ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไร้มนุษยธรรม และกฎระเบียบหลายข้อไม่มีเหตุผลสร้างภาระให้แก่พนักงาน การนัดหยุดงานเริ่มบ่ายวันพุธที่ 6 ก.ย. 2017 จากการสัมภาษณ์ คนงานกล่าวว่าเมื่อรับประทานอาหารกลางวันแล้ว พวกเขากางผ้าเก่า ๆ ปูพื้นนั่งพัก แต่หัวหน้าแผนกกลับยึดผ้าแล้วสั่งให้พวกเขานอนกับพื้นแทน ไม่ช้านักก็มีคนงานกว่า 2,000 คนร่วมหยุดงานประท้วงบริษัท จากนั้นก็มีคนงานเกือบ 4,000 คนทยอยเข้าร่วมเพื่อเรียกร้องให้บริษัทเปลี่ยนแปลงนโยบาย

การนัดหยุดงานมีข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจำนวน 14 ข้อ เช่น ขึ้นเงินเดือนพื้นฐาน เพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูบุตร โบนัสและค่าครองชีพที่ครอบคลุมถึงค่าเดินทาง พวกเขายังเรียกร้องสิทธิลาคลอด ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม และขอให้ยกเลิกบทลงโทษการขาดงานที่เนื่องมาจากการเจ็บป่วยและเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ นอกจากนี้ คนงานยังไม่พอใจกฎระเบียบของบริษัท ณ ปัจจุบันพวกเขาต้องแจ้งบริษัทล่วงหน้า 3 วัน หากประสงค์จะลาป่วยหรือลางานเพื่อฌาปนกิจกิจศพสมาชิกในครอบครัว และจะได้รับค่าจ้างในวันลาเพียง 1 วันต่อเดือน สมาพันธ์แรงงานจังหวัดแทงฮว้าและเจ้าหน้าที่อำเภอทาคแถงได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างพนักงานกับผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ที่มา: vnexpress.net, 7/9/2017

แรงงานฝึกงานชาวกัมพูชาถูกเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นทำร้าย

สหภาพแรงงานเผยแรงงานฝึกงานชาวกัมพูชาตามโครงการฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับชาวต่างชาติของญี่ปุ่น ถูกเพื่อนร่วมงานเจ้าถิ่นกลั่นแกล้งและทำร้ายจนสูญเสียอวัยวะ  รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดโครงการฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับชาวต่างชาติ (Technical Intern Training Program) มาตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายว่าจะถ่ายทอดทักษะสู่ประเทศกำลังพัฒนา แต่โครงการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่ากลับกลายมาเป็นการนำเข้าแรงงานราคาถูก นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวและรายงานการศึกษาหลายชิ้นระบุว่าแรงงานฝึกงานบางส่วนถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ บางคนถูกบังคับให้ทำงานผิดกฎหมายเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

ที่มา: japantimes.co.jp, 13/9/2017

อดีตพนักงานหญิงยื่นฟ้อง 'Google' เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

อดีตลูกจ้างสตรีของบริษัท Google สามคน ยื่นฟ้อง Google ว่าเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อพนักงานหญิง ทั้งในด้านอัตราค่าแรงและการเลื่อนขั้น โจทก์ผู้ยื่นฟ้องนี้ คืออดีตวิศวกรหญิง อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และอดีตผู้จัดการฝ่ายของบริษัท Google สำนักงานใหญ่ ที่เมือง Mountain View รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยทั้งสามคนกล่าวหาว่า Google จ่ายค่าจ้างให้กับผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน และให้ผู้หญิงทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่มีโอกาสเลื่อนขั้นน้อยกว่าผู้ชายด้วย

โดยทนายความฝ่ายโจทก์ระบุว่า "แม้ Google จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่กลับปฏิบัติต่อผู้หญิงไม่สมกับอยู่ในศตวรรษที่ 21" ข้อกล่าวหานี้มีขึ้นขณะที่ Google กำลังถูกตรวจสอบโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ว่าเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายหรือไม่

ที่มา: voathai.com, 15/9/2017

พยาบาลอังกฤษร้องขอขึ้นค่าแรง

คนทำงานในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ทั้งพยาบาล พยาบาลผดุงครรภ์ และพนักงานทำความสะอาด ได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลขอขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9  บวกเงินโบนัสพิเศษอีก 800 ปอนด์ (ประมาณ 35,676 บาท) เพื่อชดเชยรายรับที่พวกเขาสมควรได้ หลังตลอด 7 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด แช่แข็งการขึ้นเงินเดือนไว้ไม่เกินร้อยละ 1 มาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว ทั้งนี้ตัวแทนสหภาพแรงงานยูนิสัน (Unison) ระบุว่าคนทำงานภาคสาธารณสุขของอังกฤษไมได้ขึ้นค่าแรงมานานมากแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตลอดเวลา ซึ่งคนทำงานมีภาระที่ต้องจ่ายค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย และค่าเดินทางสูงขึ้น

ที่มา: theguardian.com, 14/9/2017

คนทำงานภาคเกษตรฝรั่งเศสปิดถนนฌองเซลีเซ่ประท้วงนโยบายรัฐบาล

เกษตรกรฝรั่งเศสประมาณ 250 คนชุมนุมปิดถนนฌองเซลีเซ่ (Champs-Elysées) เพื่อประท้วงนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลประธานาธิบดีเอมานูว์แอล มาครง (Emmanuel Macron) โดยมีการชูแผ่นป้ายประท้วงที่มีข้อความว่านายมาครงกำลังฆ่าเกษตรกร เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลประธานาธิบดีมาครงสั่งห้ามใช้ยาฆ่าแมลง เช่น ไกลโฟเซต (glyphosate) รวมอยู่ด้วย

ที่มา: thelocal.fr, 22/9/2017

ครู-นักเรียนอาร์เจนตินาประท้วงนโยบายฝึกงาน

ครูและนักเรียนในกรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา ได้ยึดโรงเรียนประท้วงแผนปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล สืบเนื่องจากความไม่พอใจการบังคับให้นักเรียนต้องไปฝึกงานกับบริษัทเอกชน

ที่มา: rt.com, 23/9/2017

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุณตาอายุ 100 ปีเซิ้งตามเสียงแคน-อดีต หน.พรรคสังคมนิยม "สมคิด ศรีสังคม" เสียชีวิต

Posted: 03 Oct 2017 02:19 AM PDT

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม คุณตาอายุ 100 ปีผู้โด่งดังจากคลิปเซิ้งตามเสียงแคนของลูกชาย ผู้เป็น ส.ส.ลูกอีสาน อดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเสียชีวิตแล้วเช้าวันนี้ บำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ญาติของดพวงหรีด โดยขอรับบริจาคเพื่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาสแทน

(ภาพซ้าย) พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เซิ้งตามเสียงแคนที่ลูกชายเป่า ภาพเมื่อปี 2559 (ขวา) พ.อ.สมคิด ศรีสังคมในฐานะประธานมูลนิธิ EDF ร่วมงานครบรอบ 30 ปี สหพันธ์กงสุลโลก (World Federation of Consuls) ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอต เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยสมาคมกงศุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) ได้มอบเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาจำนวน 15 ทุนให้แก่เด็กนักเรียนยากจนในโครงการทุนการศึกษา EDF (ที่มา: มติชน/EDFThai)

 

รายงานในมติชนออนไลน์ ระบุว่า นายศักดา ศรีสังคม บุตรชายของ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม อดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย อดีตประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เปิดเผยว่า พ.อ.สมคิด ได้เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อเวลา 04.55 น. วันนี้ (3 ต.ค.) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมอายุ 100 ปี

ทั้งนี้มีพิธีรดน้ำศพ พ.อ.สมคิด ที่ศาลา 16 วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ในวันนี้ เวลา 17.00 น. และสวดอภิธรรมตั้งแต่ 18.30 น. กำหนดสวดวันนี้ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 โดยญาติขออนุญาตงดพวงหรีด และขอรับบริจาคเข้ากองทุนพันเอกสมคิด ศรีสังคม เพื่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาส ผ่านมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ซึ่ง พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นประธานมูลนิธิ

ในรายงานของมติชนนายศักดากล่าวว่า คุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคชรา ท่านอายุมากแล้ว ที่ผ่านมาก็นอนอยู่ที่บ้าน เข้าโรงพยาบาลบ้างตามวัยคนชรา จนกระทั่งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีอาการป่วย โดยเป็นช่วงที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศพอดี พญ.สุดา เย็นบำรุง ลูกสาวอีกคนหนึ่งจึงพาคุณพ่อไปโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งหมอก็บอกว่าน่าจะอยู่ได้อีก 2-3 วัน เขาจึงรีบจัดการธุระและเดินทางกลับมา โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ญาติๆ ก็ได้ไปเยี่ยมคุณพ่อเป็นจำนวนมาก เขาเองก็ได้มีโอกาสเป่าแคนให้คุณพ่อฟัง เหมือนที่เคยทำ หลานๆ ญาติๆ ก็ร่วมกันร้องเพลง ซึ่งคุณพ่อท่านก็กระดิกนิ้ว กระดิกขาตามจังหวะ รับรู้ และจนกระทั่งตี 04.55 น.ของวันนี้ คุณพ่อได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

จากข้อมูลในวิกิพีเดีย พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เกิดเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 ที่ อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ในครอบครัวชาวนา สำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต จาก ม.ธรรมศาสตร์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2492 เดินทางไปศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 8 ปี ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับนางฟรานเซสกา ศรีสังคม มีบุตรธิดา 4 คน

สมคิด ศรีสังคม เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นครูในปี พ.ศ. 2480 ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ต่อมาหลังจบปริญญาวิชากฎหมายแล้ว เขาสอบได้เป็นข้าราชการกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้ช่วยอัยการ แต่ทำงานได้เพียง 6 เดือน ก็สอบแข่งขันได้เป็นทหารในกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2484 จากนั้นเขาได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ และกลับมารับราชการจนมียศสูงสุดเป็น พันเอก หลังจากนั้นเขาจึงลาออกจากราชการไปทำหน้าที่เป็นนักวิชาการ สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2506 โดยการชักชวนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 ในสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่เขาได้รับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ต่อมาเขาได้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519 และต่อมาย้ายมาร่วมงานกับนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร หัวหน้าพรรคแรงงานประชาธิปไตย

สำหรับ "พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย" เป็นการรวมตัวกันกับกลุ่มคนที่ต้องการผลักดันให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับความเป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย อย่างแท้จริง ได้แก่กลุ่มนักการเมืองแนวสังคมนิยม คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม และไขแสง สุกใส นักวิชาการก้าวหน้าอย่าง ดร.แสง สงวนเรือง และผู้นำนักศึกษา ได้แก่ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, จรัล ดิษฐาอภิชัย, ประสาร มฤคพิทักษ์, ปรีดี บุญซื่อ, ธัญญา ชุนชฎาธาร, วิรัติ ศักดิ์จิระพาพงษ์, สมคิด สิงสง, วิสา คัญทัพ และผู้นำระดับท้องถิ่น เช่น วิชัย หินแก้ว, เฉลิมและเลียมละออ กลางสาธร, สุรสีห์ ผาธรรม, อุดม ตะนังสูงเนิน, ศรีศักดิ์ นพรัตน์, กมล กมลตุงวัฒนา และที่มีบทบาทสำคัญคือ ธีรยุทธ บุญมี, ลุงฟัก ณ สงขลา, ลุงแช่ม พนมยงค์ (มุตตาฟา) และบางส่วนจาก "กลุ่มคน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" และ "13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมถึงผู้ที่ลงสมัคร ส.ส. ในนามของพรรค ได้แก่ ประยงค์ มูลสาร, อุดร ทองน้อย, ประเสริฐ เลิศยะโส, ศิริ ผาสุก, สุทัศน์ เงินหมื่น, อินสอน บัวเขียว, อาคม สุวรรณนพ,  ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์, พิรุณ ฉัตรวานิชกุล, พีรพล ตรียะเกษม และสมาชิกกลุ่ม 6 และกลุ่มแท็กซี่ก้าวหน้า โดยมีที่ทำการพรรคแห่งแรก ณ บ้านเลขที่ 20 ซ.ร่วมมิตร ถนนพระราม 6 กทม.

ทั้งนี้ พ.อ.สมคิด ยังเป็นประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย หรือ ครป. ในปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2529

ในช่วงปี 2552-2553 มีการรื้อฟื้นพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย โดยอินสอน บัวเขียว, อุดม ขันแก้ว, ประชา อุดมธรรมานุภาพ, สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, ไม้หนึ่ง ก.กุนที รวมทั้งสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ โดยในงานเปิดตัวพรรคเมื่อ 31 มกราคม 2553 ได้เชิญ พ.อ.สมคิด มาปาฐกถาให้กับสมาชิกพรรคด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ในช่วงก่อนสงกรานต์ พ.อ.สมคิด ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์หลังจากมีการเผยแพร่คลิปของลูกชายคือศักดา ได้เป่าแคนให้ พ.อ.สมคิด ซึ่งนอนป่วยได้ยกมือขึ้นฟ้อนรำ ก่อนที่ต่อมาบรรดาอดีต ส.ส.นำโดย ประจวบ ไชยสาส์น, อดิศร เพียงเกษ, โสภณ เพชรสว่าง, อลงกรณ์ พลบุตร รวมทั้งเทอดภูมิ ใจดี และประเสริฐ เลิศยะโส ได้เดินทางไปให้กำลังใจและเป่าแคนให้ พ.อ.สมคิดฟังด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชกิจจาฯ ประกาศมาตรการคง VAT 7% ไปอีก 1 ปี ถึง 30 ก.ย.61

Posted: 03 Oct 2017 01:53 AM PDT

3 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ.2560 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ 

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวได้ระบุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ด้วยว่า คือ โดยที่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ที่ 65/2559 เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 1 พ.ย.59 ได้กําหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร จากอัตราร้อยละ 10 เป็นอัตรา ร้อยละ 6.3 เป็นการชั่วคราว สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนําเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิด ในการเสียภาษีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 ถึงวันที่ 30 ก.ย.60 และจัดเก็บ เป็นอัตราร้อยละ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับ ภาคเอกชน อันจะส่งผลทําให้ภาพรวมของการบริโภคและการลงทุนของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมั่นคงยิ่งขึ้น สมควรขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 6.3 ออกไปอีก จนถึงวันที่ 30 ก.ย.61 และลดอัตราเป็นร้อยละ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.61 เป็นต้นไป จึงจําเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี

โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรดังกล่าว ด้วยการจัดเก็ยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 7 ออกไปอีก 1 ปี เร่ิ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 สิ้นสุด 30 ก.ย. 2561 หลังจากกระทรวงการคลังประเมินภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว หากปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ชะลอตัว ทั้งการบริโภค การลงทุน ดังนั้น เพื่อช่วยดูแลกำลังซื้อของประชาชนขณะนี้ และการสร้างความเชื่อมั่นกับภาคเอกชน การจัดทำแผนธุรกิจ จึงคงภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก แม้กระทบต่อรายได้รัฐบาล 232,600 ล้านบาท/ปี 

รายละเอียดพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว : 

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา กําหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นเพื่อราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 โดย มาตรา 3 ระบุว่า ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เสียภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นสําหรับสินค้าหรือบริการในอัตราร้อยละ 10 ของภาษี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ร้องสหรัฐฯ ส่งเสริมและแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย

Posted: 03 Oct 2017 12:13 AM PDT

แอมเนสตี้เรียกร้องสหรัฐฯ ส่งเสริมและแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย ในโอกาสนายกฯ ไทยเดินทางเยือนทำเนียบขาว ชี้การเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนอาจกระทบความสัมพันธ์สองชาติในระยะยาว

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

3 ต.ค. 2560 จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 ก.ย. - 5 ต.ค. 2560  พร้อมหารือกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น

ล่าสุดวันนี้ (3 ต.ค.60) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการสหรัฐฯ ให้ส่งเสริมการร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีของไทย พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันดีซี เนื่องจากรัฐบาลทหารของไทยใช้อำนาจกดขี่และละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวาง

แอมเนสตี้ ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์ได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนหลากหลายรูปแบบ มีการออกคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ออกกฎหมายต่างๆ ที่จำกัดการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คุกคามผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนอย่างไม่เป็นธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายและกักขังประชาชนโดยไม่มีหมายศาล ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ขัดต่อมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม

หลังรัฐประหารสามปี มีผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุายชนของรัฐบาลทหารจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักศึกษา นักข่าว นักวิชาการ ผู้ที่ออกมาต่อต้านการคอร์รัปชันและการทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องสิทธิชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ หลายคนถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรม และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว

แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ ระบุด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้พูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมาโดยตลอด แอมเนสตี้จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะรัฐบาลสหรัฐฯ จะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยตอนนี้ไม่มีความยั่งยืน พลเอกประยุทธ์ต้องยกเลิกคำสั่งที่กดขี่ประชาชนและยุติการใช้กระบวนการทางกฎหมายกลั่นแกล้งหรือเอาผิดประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองอย่างสงบ เพราะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในท้ายที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เผยคุยทรัมป์ ปีหน้าประกาศวันเลือกตั้ง ระบุซื้ออาวุธทำตามแผนกองทัพ

Posted: 02 Oct 2017 11:40 PM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ พร้อม หารือร่วมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ 30 นาที ยันปีหน้าประกาศวันเลือกตั้ง ระบุซื้ออาวุธทำตามแผนกองทัพ พร้อมฝากดูเรื่องคุณภาพด้วย

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
 
3 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 ก.ย. - 5 ต.ค. 2560  โดย พล.อ.ประยุทธ์ และนราพร จันทร์โอชา ภริยา เดินทางถึงทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา  เวลา 12.20 น. ของวันที่ 2 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยา ให้การต้อนรับ จากนั้น เวลา 12.40 น. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำนายกรัฐมนตรีเข้าห้องทำงานรูปไข่ เพื่อร่วมหารือสองต่อสอง โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที 
 
พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ลาสเวกัส และพายุเฮอร์ริเคน และเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำพาของประธานาธิบดีทรัมป์  จะทำให้การคลี่คลายปัญหาเป็นไปด้วยดีและรวดเร็ว และว่า การพบกันวันนี้ หารือกันในหลายประเด็น ทั้งด้านความมั่นคง ภัยคุกคาม และประเด็นที่มีความสำคัญในภูมิภาค รวมถึง การค้าการลงทุน การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน  
 
ด้าน ทรัมป์ แสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมพูดถึงความพร้อมในการขยายความร่วมมือทางด้านการค้าระหว่างกัน เพราะเห็นว่าไทยมีศักยภาพด้านทรัพยากรต่าง ๆ และวัตถุดิบ รวมทั้ง ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และว่า จะไปเยี่ยมผู้ประสบเหตุพายุเฮอร์ริเคนในวันที่ 3 ต.ค. และจะเดินทางไปลาสเวกัสในวันที่ 4 ตุลาคม  
 
จากนั้น เวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริการ่วมหารือกับนายกรัฐมนตรี  แบบเต็มคณะ ในรูปแบบการหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน หรือ working Lunch  โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารเข้าร่วม อาทิ สมคิด จาตุศรรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

คนแรกในรอบ 12 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ถึงการเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ว่า เป็นการเยือนของผู้นำประเทศไทยในรอบ 12 ปี ซึ่งรู้สึกประทับใจในการต้อนรับของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นไปอย่างอบอุ่น ผู้นำสหรัฐฯ ได้แสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลก และครองราชย์มายาวนานถึง 70 ปี

ยันปีหน้าประกาศวันเลือกตั้ง

"ในการพบปะหารือกันในครั้งนี้  ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้สอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย แต่ผมได้เล่าให้ฟังถึงการเดินหน้าประเทศไทย ว่าเป็นไปตามหลักสากล โดยจะเดินตามโรดแมปที่ประกาศไว้  โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และในปีหน้า จะประกาศวันเลือกตั้งอย่างแน่นอน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการหารือกันแบบสองต่อสอง  ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายคาดหวังว่า จะมีความร่วมมือกันให้มากขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงภายในประเทศและในภูมิภาค การค้า การลงทุน การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
 
"ในระหว่างการหารือ ไม่ได้ถูกกดดันใด ๆ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้เกียรติกับผมและประเทศไทย จึงถือโอกาสนี้เชิญผู้นำสหรัฐฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อมีโอกาส" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
ส่วนการหารือแบบเต็มคณะระหว่างไทยกับสหรัฐฯ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้พูดคุยกันในรายละเอียดถึงการเสริมสร้างความมั่นคงภายในและในภูมิภาค ทั้งการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึง ภัยในโลกไซเบอร์ ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร โดยเฉพาะความร่วมมือกันด้านข่าวกรอง และการดูแลความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือในทุกประเด็น รวมทั้ง ข้อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ในด้านความมั่นคงด้วย ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้ขัดข้อง
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ยังได้มีการพูดคุยกันถึงการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน  ขณะเดียวกัน  ฝากผู้นำสหรัฐฯ ดูแลนักลงทุนไทยกว่า 20 บริษัทที่มาลงทุนในสหรัฐฯ และสิ่งที่ได้เน้นย้ำในการพูดคุยคือ ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร เพื่อหามาตรการในการเพิ่มราคาให้มากขึ้น ถือเป็นการดูแลเกษตรของไทย

ซื้ออาวุธทำตามแผนกองทัพ พร้อมฝากดูเรื่องคุณภาพด้วย

ต่อกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องการตกลงซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เพราะการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพในระยะ 5-10 ปี ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า จะจัดซื้อยุทโธปกรณ์ใดจากสหรัฐฯ ได้บ้าง รวมทั้งต้องดูในเรื่องงบประมาณ ขณะเดียวกัน ได้ขอให้สหรัฐฯ ดูแลเรื่องคุณภาพที่สูง ในราคาที่จำกัด
 
ส่วนสถานการณ์เกาหลีเหนือนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ยืนยันกับผู้นำสหรัฐฯ ว่า จะดำเนินการทุกอย่างตามพันธกรณี รวมถึง ยืนยันความพยายามที่จะดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยสนับสนุนให้แก้ปัญหาภายในให้ได้โดยเร็วและได้มีการประสานกับผู้นำเมียนมาไปแล้ว

ประวิตร บอกไม่มีการพูดถึงการซื้ออาวุธ

ขณะที่ คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า คงมีการพูดคุย การร่วมมือเรื่องความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้  ร่วมทั้งพูดคุยเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะสหรัฐฯไม่ให้เราซื้อนานแล้ว ตอนนี้เขาให้เราซื้อได้ และจากการสอบถามนายกฯ ระบุว่าสหรัฐฯให้การต้อนรับอย่างดีมีการพูดคุยระหว่างผู้นำประมาณ 40 นาที โดยไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการจัดซื้ออาวุธ ส่วนสหรัฐฯจะมีข้อเสนออะไร อย่างไรนั้น ตนยังไม่ได้พูดคุยในรายละเอียดกับพล.อ.ประยุทธ์เล่าเพียงบรรยากาศ  แต่ระหว่างการพูดคุยระหว่างผู้นำคงมีการพูดคุยเท่าที่สื่อมวลชนรู้กันอยู่

ลดแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ

บีบีซีไทยได้ประมวลท่าทีของสื่อนอกและสื่อไทยด้วย โดบระบุว่า หลายรายมองว่านโยบายด้านการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทรัมป์เริ่มเด่นชัดขึ้นมาก และการผูกสัมพันธ์กับอาเซียนก็เป็นเป้าหมายสำคัญของสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาค ภายหลังจากจีนได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในเขตนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เพราะปกติสหรัฐฯ จะไม่เชิญหรือแสดงความใกล้ชิดกับประเทศที่มีรัฐบาลที่มาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งมีการละเมิดเสรีในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเห็นชัดในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยไม่ราบรื่นนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมา
 
ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ข้อมูลจากระทรวงพาณิชย์ระบุว่าปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น มูลค่าการค้า 2 ฝ่ายในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ปีนี้นั้นมากกว่า 9 แสนล้านบาท

เมื่อเดือน เม.ย. ไทยถูกจัดอยู่ในรายชื่อ 15 ประเทศที่อาจมีพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ เพราะได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจตอบโต้ทางการค้าด้วย ขณะที่ทางการไทยพยายามบอกว่าการเดินทางไปครั้งนี้ เพื่อนำนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ จากปัจจุบันลงทุนอยู่แล้ว 23 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแผนเพิ่มการลงทุนอีกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างงานในสหรัฐฯ อีกมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะสามารถลดแรงกดดันเรื่องการค้าจากสหรัฐลงไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เรื่องการเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับต่างประเทศนั้น มีการขยับมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อ 10 ก.พ.59 ขณะเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าคาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2559 ต่อมา 28 ก.ย.58 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการหารือกับเลขาฯยูเอ็น ว่า คาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น