โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เผย 9 เดือน คนงานไทยส่งเงินกลับประเทศเกือบ 9.5 หมื่นล้าน

Posted: 13 Oct 2017 07:48 AM PDT

กระทรวงแรงงาน เผยแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศปี 60  ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. สร้างรายได้ส่งเงินกลับประเทศโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 94,174 ล้านบาท

ภาพ แรงงานไทยในไต้หวัน (ที่มาภาพ Radio Taiwan International)

13 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจาก กระทรวงแรงงานแจ้งว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากสถิติแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศพบว่า จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศประจำปี 2560 ตั้งแต่มกราคม-กันยายน มีจำนวนทั้งสิ้น 90,277 คน จำแนกตามวิธีการเดินทางที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ 1.ไปทำงานผ่านบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนเป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานกับกรมการจัดหางาน  จำนวน 22,148 คน 2.ไปทำงานโดยการจัดส่งของกรมการจัดหางาน เป็นบริการของรัฐที่ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น จำนวน 9,260 คน 3.การแจ้งเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง จำนวน 6,922 คน 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 7,344 คน 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ จำนวน 3,246 คน ทั้งนี้ มีผู้เดินทางกลับไปทำงานในต่างประเทศ(Re-entry) จำนวน 41,357 คน โดยเดินทางไปประเทศไต้หวันมากที่สุด จำนวน 26,839 คน รองลงมาเป็นสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 9,989 คน ญี่ปุ่นจำนวน 6,863 คน อิสราเอล จำนวน 6,017 คน และมาเลเซีย จำนวน 5,159 คน โดยสามารถสร้างรายได้ส่งเงินกลับประเทศไทยโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 เป็นเงิน  94,174  ล้านบาท

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า คนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ สามารถขอคำแนะนำ ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางาน หรือติดตามข้อมูลการรับสมัครไปทำงานต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม: บทเรียนเรื่องนักกีฬาและการประท้วงในอเมริกา

Posted: 13 Oct 2017 07:46 AM PDT

 

บทนำ

ในช่วงค่ำคืนของวันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ.2560 โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนจะทำในสิ่งที่เขาทำมาตลอดนับตั้งแต่เข้ารับตำแน่งในทำเนียบขาว ในคืนนั้น เขาได้กล่าวสุนทรพจน์เพื่อสนับสนุนตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ลูเตอร์ สแตรงจ์ (Luther Strange) ที่ลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อมวุฒิสภาของมลรัฐอลาบามา สุนทรพจน์ที่ว่านี้ดูจะไม่มีอะไรแปลกใหม่นัก เนื่องจากทรัมป์ก็ยังเป็นทรัมป์ กล่าวคือ เขาได้วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นร้อนๆ  ในทางการเมืองอเมริกันแบบไม่บันยะบันยัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งรอบล่าสุดระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ, เรื่องการสร้าง "กำแพง" ที่ชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯเพื่อกีดกันผู้อพยพ, และเรื่องความพยายามในการล้มเลิกนโยบายประกันสุขภาพของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama) อย่างไรก็ดี ในขณะที่ทรัมป์กำลังปราศรัยสนับสนุนการลงสนามเลือกตั้งของสแตรงจ์อยู่นั้น[1] จู่ๆ ผู้นำสหรัฐฯก็เปลี่ยนประเด็นหันมาพูดถึงเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย นั่นก็คือ เรื่องของสมาพันธ์อเมริกันฟุตบอลแห่งชาติ หรือ NFL (National Football League) โดยทรัมป์ได้กล่าวว่า:

ลูเตอร์กับผม และทุกๆ คนในที่นี้ ต่างก็ถูกรวมกันเป็นหนึ่งด้วยค่านิยมอเมริกันแบบเดียวกัน เราภูมิใจในประเทศของเรา. เราเคารพธงชาติของเรา เวลาที่ใครบางคนไม่เคารพธงชาติของเรา พวกคุณไม่อยากเห็นเจ้าของทีม NFL สักคนพูดออกมาว่า "เอาไอ้ลูกกระหรี่คนนี้ออกไปจากสนามเดี๋ยวนี้  ออกไป! เอ็งถูกไล่ออกแล้ว เอ็งถูกไล่ออก" บ้างหรือครับ?...เจ้าของทีมพวกนี้จะกลายเป็นคนที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศเป็นแน่ เพราะ [การคุกเข่าตอนเพลงชาติดัง] คือการไม่เคารพมรดกตกทอดของพวกเรา มันคือการไม่เคารพสิ่งที่พวกเรายึดถือกันมา ไม่เคารพทุกๆ  อย่างที่เรายึดถือ ผมรู้ว่าเรามีเสรีภาพหลายอย่าง เรามีเสรีภาพในการเลือก เสรีภาพต่างๆ นานา แต่คุณรู้ไหม ยังไงก็ตาม มันก็ถือเป็นการไม่เคารพกับแบบสุดๆ ...คุณรู้ไหม อะไรที่ทำร้ายเกมส์ [อเมริกันฟุตบอล] มากไปกว่านั้น? มันก็คือตอนที่คนอย่างพวกคุณเปิดโทรทัศน์และเห็นว่ามีคนบางคนคุกเข่าตอนที่เพลงชาติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังเปิดอยู่ สิ่งเดียวที่คุณจะทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นได้ก็คือ ถ้าคุณเห็นมัน, แม้ว่าจะเป็นผู้เล่นคนๆ  เดียวก็ตามที่ทำ, ให้คุณลุกออกจากสนามได้เลย ผมรับประกันได้เลยว่าพวกเขาจะหยุดทำสิ่งนั้น พวกเขาจะหยุดแน่ๆ  แค่เก็บข้าวของและเดินออกจากสนามเท่านั้น เก็บแล้วเดินออกเลย เกมส์มันจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่มีทาง[2]

แม้ว่าคำปราศรัยของทรัมป์ดูจะเป็นการออกนอกเรื่องเพื่อพักประเด็นเรื่องการเมืองร้อนๆ  และหันมาพูดถึงเรื่องในแวดวงกีฬาอเมริกันฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐฯ กระนั้นก็ตาม การพูด "นอกเรื่อง" ไม่กี่นาทีในสุนทรพจน์ความยาวเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่งของผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าในการเมืองระดับประเทศขึ้นมาในทันที. เพราะหลังจากที่การด่า "ไอ้ลูกกระหรี่" ผู้ไม่ยอมลุกขึ้นยืนตอนเพลงชาติดังในสนามได้รับการเผยแพร่ในสื่อสหรัฐฯ กระแสต่อต้านทรัมป์ในลีก NFL ก็ประทุขึ้น. โดยเจ้าของทีมและผู้เล่นในลีก NFL---ที่มักจะมีความขัดแย้งกัน ทั้งในเรื่องผลประโยชน์และความแตกต่างทางสีผิว โดยฝั่งแรกมักจะเป็นคนขาวที่แสวงหากำไรให้กับทีมที่ลงทุน ส่วยฝ่ายหลังมักจะเป็นคนดำที่แสวงหาค่าแรงให้กับตัว---ได้สามัคคีชุมนุมออกมาประณามคำปราศรัยของทรัมป์ที่มีต่อวงการอเมริกันฟุตบอลกันอย่างพร้อมเพรียง. ที่สำคัญไปกว่านั้น ปรากฏการณ์ซึ่งถือว่าหาดูได้ยากในสังคมอเมริกัน ได้ผุดขึ้นมาทั่วประเทศเหมือนเป็นดอกเห็ด. ปรากฏการณ์ที่ว่าก็คือ การที่เจ้าของทีม, โค้ช, ทีมงาน, และผู้เล่น ร่วมกันแสดงพลังในสนามอเมริกันฟุตบอลอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว. บางคนคุกเข่าลงกับพื้นพร้อมๆ กันในขณะที่เพลงชาติดังขึ้น (ภาพประกอบที่ 1), บางคนยืนคล้องแขนกับคนข้างๆ อย่างเหนียวแน่น, บางคนเอามือแตะไหล่เพื่อนร่วมทีมที่คุกเข่า, และบางคนก็ชูกำปั้นข้างขวาของตัวเองขึ้นฟ้า. ณ ห้วงเวลาสั้นๆ ที่เพลงชาติบรรเลงในสนามอเมริกันฟุตบอล ภาพการรวมพลังของคนในวงการลีก NFL นี้ ดูจะเป็นเหมือนน้ำทิพย์ที่บรรเทาไฟความขัดแย้งระหว่างคนขาวและคนผิวสีในสหรัฐฯ ที่พวยพุ่งขึ้นในประเทศนี้โดยเฉพาะในรอบสี่ห้าปีที่ผ่านมาลงไปได้บ้าง.


ภาพประกอบที่1: ผู้เล่นหลายๆคนของทีมแชมป์ NFL ปีล่าสุด นิว อิงแลนด์ แพทริออตส์ (New England Patriots) ทำการคุกเข่าขณะที่เพลงชาติกำลังบรรเลงอยู่ ก่อนการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล วันที่ 24 กันยายน 2560 [ภาพจาก Associated Press, ถ่ายโดย Jim Rogash]

กระแสต่อต้านประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ได้หยุดอยู่ที่แวดวงกีฬาอเมริกันฟุตบอลเท่านั้น หากแต่ยังลุกลามเป็นเหมือนไฟลามทุ่งไปยังกีฬาอีกประเภทที่ถือว่าเป็นหนึ่งในสี่ยักษ์ใหญ่ของวงการกีฬาอเมริกัน นั่นก็คือ กีฬาบาสเก็ตบอล[3] โดยกระแสต่อต้านทรัมป์ได้คุกรุ่นมาสักพักใหญ่แล้วในหมู่ผู้เล่นสมาคมบาสเก็ตบอลแห่งชาติ หรือ NBA (National Basketball Association) ซึ่งถือเป็นลีกที่มีนักกีฬาคนดำในสัดส่วนที่สูงที่สุดในหมู่ลีกกีฬามืออาชีพของสหรัฐฯ[4] และนักกีฬาบาสเก็ตบอล NBA ก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาต่อต้านการหาเสียงและการออกนโยบายของทรัมป์ที่มักจะแฝงไปด้วยอคติเหยียดผิว อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่าง นักบาสเก็ตบอล NBA กับผู้นำประเทศของตัวเองก็พุ่งขึ้นถึงขีดสุด เมื่อในวันเดียวกันกับการที่ทรัมป์ได้ "ปล่อยระเบิด" ลูกใหญ่ที่อลาบามา, สตีเฟ่น เคอร์รี่ (Stephen Curry) ผู้เล่นกัปตันทีมโกลเด้น สเตท วอริเออร์ (Golden State Warriors) ซึ่งเป็นแชมป์ NBA ในปีล่าสุด ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เขาและเพื่อนในทีมหลายๆ คนไม่อยากไปเยือนทำเนียบขาว เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน การออกมาแสดงจุดยืนของเคอร์รี่นั้นถือว่า สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับเจ้าของทีมที่เขาเล่นอยู่เป็นอันมาก เพราะเคอร์รี่กำลังท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติในแวดวงกีฬาสหรัฐฯ ซึ่งก็คือ การที่ทีมที่เป็นแชมป์ในทุกๆ ปีจะต้องรับคำเชิญในการเข้าพบประธานาธิบดีที่ทำเนียบขาว เพื่อให้ประมุขของชาติได้แสดงความยินดีและชื่นชม เพียงหนึ่งวันต่อมา ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ไม่รอช้าและได้ "ปล่อยระเบิด" อีกลูกลงในวงการกีฬาอเมริกัน ด้วยการโต้ตอบเคอร์รี่ผ่านการเขียนลงสื่อออนไลน์ ด้วยข้อความว่า "การไปเยือนทำเนียบขาวถือว่าเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่สำหรับทีมที่เป็นแชมป์ สตีเฟ่น เคอร์รี่กำลังลังเล [กับการมาทำเนียบขาว], ดังนั้น การเชิญเป็นอันถูกยกเลิก"[5] โดยในทันทีที่ข้อความของทรัมป์ได้รับการเผยแพร่ ผู้เล่นและโค้ชในลีก NBA ได้ออกมาประณามท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ของทรัมป์เป็นอย่างมาก กรณีที่ร้อนแรงที่สุดก็คือ การที่ เลอบรอน เจมส์ (Lebron James) ซุปเปอร์สตาร์ทีม คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ (Cleveland Cavaliers) ผู้ซึ่งเป็นนักกีฬาที่โด่งดังที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในวงการกีฬาอเมริกัน ได้เขียนลงสื่อออนไลน์โต้กลับทันควันว่า "แก ไอ้คนขี้เกียจ. [สตีเฟ่น เคอร์รี่] เขาได้บอกไปแล้วว่าจะไม่ไป! ดังนั้นมันไม่มีหรอกการชงการเชิญอะไร การไปเยือนทำเนียบขาวเคยถือว่าเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ จนกระทั่งแกโผล่มานี่แหละ"[6] การออกมาโต้ตอบที่เผ็ดร้อนของเจมส์ต่อผู้นำสหรัฐฯ ถือเป็นการแสดงจุดยืนร่วมกันและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจมส์กับเคอร์รี่ สองผู้เล่นซุปเปอร์สตาร์ของลีก NBA ที่ขับเคี่ยวชิงแชมป์กันมาโดยตลอดในฐานะศัตรูตัวฉกาจในสนามบาสเก็ตบอลในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ในแง่นี้ การพูดจาของทรัมป์ที่วิพากษ์วิจารณ์วงการกีฬาอเมริกัน ดูจะก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่นักกีฬา ไม่เพียงแต่ในแวดวงลีกอเมริกันฟุตบอล NFL เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงลีกบาสเก็ตบอล NBA อีกด้วย

ทำไมประเด็นเรื่องกีฬาถึงกลายมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในสหรัฐฯ? ใครคือ "ไอ้ลูกกระหรี่" ที่ผู้นำสหรัฐฯพูดถึง? การพันกันอย่างอีรุงตุงนังของกีฬากับการเมืองในสหรัฐฯ มีที่มาที่ไปอย่างไร? และ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯได้สะท้อนให้เห็นประเด็นปัญหาอะไร หากมันถูกนำมาเปรียบเทียบกับแวดวงกีฬาในประเทศไทย? ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะพยายามตอบคำถามดังกล่าว ผ่านการเรียบเรียงเนื้อหาการนำเสนออกมาเป็นสามส่วน ในส่วนแรก ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับที่มาที่ไปของกระแสการประท้วงด้วยการ "ไม่ยืน" ในหมู่นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้. ในส่วนที่สอง ผู้เขียนจะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับประวัติศาสตร์โดยย่อของการต่อสู้, การประท้วง, การขัดขืน, และการแสดงออกทางจุดยืนทางการเมืองของนักกีฬาอเมริกัน และในส่วนสุดท้าย ผู้เขียนจะลองนำกรณีศึกษาของแวดวงกีฬาสหรัฐฯ มาเปรียบเทียบกับกรณีของไทย ว่ามีความเหมือนหรือความแตกต่างกันอย่างไร โดยผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากอ่านบทความชิ้นนี้แล้ว ผู้อ่านทุกๆ ท่านจะได้ทบทวนไปกระทั่งถึงท้าทายความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า กีฬากับการเมืองมันเป็นคนละเรื่อง และนักกีฬาไม่ควรเอาเรื่องการเมืองเข้ามาปะปนในสนามแข่งขัน
 

I. การเมืองร้อน นักกีฬาแรง

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารการเมืองหรือกีฬาในประเทศสหรัฐฯมาโดยตลอด ย่อมจะรู้ดีว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ใช้คำว่า "ไอ้ลูกกระหรี่"---ซึ่งเป็นคำด่าที่รุนแรงมากในวัฒนธรรมตะวันตก จนกระทั่งสื่ออเมริกันต้องเซนเซอร์คำนี้ทุกครั้งเมื่อรายงานข่าว---เพื่อใช้ด่าผู้เล่น NFL คนหนึ่งที่เป็นคนสร้างตัวอย่างให้กับผู้เล่นคนอื่นๆ ในการไม่ลุกขึ้นยืนเมื่อเพลงชาติอเมริกันดังขึ้นในสนาม ผู้เล่นคนที่ว่านี้ก็คือ โคลิน แคปเปอร์นิคก์ (Colin Kaepernick) อดีตผู้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบ็คประจำทีม ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเออร์ (San Francisco 49ers) โดยเขาได้เป็นผู้เล่นคนสำคัญที่ช่วยพาทีมได้เข้าชิงชนะเลิศเกมส์ซุปเปอร์โบว์ในปี พ.ศ. 2555 และแม้จะพ่ายแพ้ในนัดชิง แคปเปอร์นิคก์ก็ยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญของทีมโฟร์ตี้ไนเออร์ในฤดูกาลต่อๆ มา จนกระทั่งในฤดูกาลปี 2559 จู่ๆ เขาก็ได้กระทำสิ่งที่เพื่อนร่วมทีม, โค้ช, ผู้เล่นทีมอื่นๆ , และคนดูในสนามต้องตกใจ เมื่อในเกมส์กระชับมิตรนัดก่อนเปิดฤดูกาล เขาตัดสินใจนั่งบนม้านั่งข้างสนาม ในขณะที่เพลงชาติสหรัฐฯ ที่ชื่อ "ธงอันแพรวพราวด้วยดารา (The Star-Spangled Banner)" กำลังบรรเลงอยู่ และผู้คนในสนามทุกคนล้วนแต่ลุกขึ้นยืนอย่างพร้อมเพรียงเพื่อเคารพธงชาติ. ในเกมส์ต่อๆ มา เขาก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น หากแต่ยังคงแสดงจุดยืนของตัวเองด้วยการไม่ยืนขึ้นเคารพธงชาติในขณะที่เพลงชาติดังขึ้นในสนาม จะต่างกันก็เพียงแต่ว่า ในเกมส์ต่อๆ มา แคปเปอร์นิคก์เลือกที่จะใช้วิธีคุกเข่าข้างหนึ่งลงบนพื้น เอาแขนข้างเดียวกันวางไว้บนหัวเข่า และเอาแขนอีกข้างประสานไว้ คล้ายๆ กับท่าคุกเข่าเพื่อขอพรทางศาสนาหรือเพื่อรับยศจากบรรดาเจ้าขุนมูลนายในอดีต (ภาพประกอบที่ 2) โดยท่าคุกเข่าแบบนี้เองที่ได้กลายมาเป็นแบบอย่างในการแสดงออกถึงการ "ไม่ยืน" ที่กำลังได้รับความนิยมในวงการอเมริกันฟุตบอล NFL


ภาพประกอบที่ 2: โคลิน แคปเปอร์นิคก์ (ด้านขวาของภาพ/เสื้อหมายเลข 7) และเอริค รีด (Eric Reid) เพื่อนร่วมทีม ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเออร์ คุกเข่าพร้อมกันระหว่างที่เพลงชาติดัง ก่อนการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล วันที่ 18 กันยายน  2559. [ภาพจาก Time, ถ่ายโดย Michael Zagaris]

แม้ว่าท่าทางการคุกเข่าจะกำลังได้รับการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้เล่น NFL ในปัจจุบัน แต่เมื่อตอนที่แคปเปอร์นิคก์ได้ทำท่านี้เป็นครั้งแรกในฤดูกาลปี 2559 การกระทำของเขาถือว่าเป็นเรื่องที่อื้อฉาวเป็นอย่างมากและนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในสังคมอเมริกัน เนื่องจากตามธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมอเมริกันนั้น ในการแข่งขันกีฬาเกมส์ใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ มักจะมีพิธีกรรมที่ทำซ้ำๆ กันจนเคยชิน นั่นก็คือการให้ทหารแต่งเครื่องแบบเต็มยศและอัญเชิญธงชาติสหรัฐฯเข้ามาในสนาม ตามมาด้วยการให้นักร้องดังประจำเมืองท้องถิ่นร้องนำเพลงชาติ และให้แฟนๆ ในสนามยืนขึ้นเพื่อร่วมกันร้องเพลงพร้อมกับเอามือขวาของตนวางไว้บนหน้าอกข้างซ้าย นอกจากนั้น ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ จะมีธรรมเนียมปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนานเรื่องการยืนเคารพธงชาติตอนเพลงชาติดังขึ้น กระทั่งในตัวบทกฏหมายของสหรัฐฯก็มี "ประมวลกฎหมายว่าด้วยธงชาติสหรัฐฯ (The United States Flag Code)" ที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นแนวทางในการทำความเคารพธงชาติและเพลงชาติของตน โดยในบทบัญญัติข้อหนึ่งในกฏกมายฉบับนี้ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่เพลงชาติดังขึ้นพร้อมกับมีธงชาติแสดงอยู่ในที่สาธารณะกลางแจ้ง ประชาชน "ควรจะหันหน้าเข้าหาธงและยืนขึ้นพร้อมกับเอามือขวาวางที่หน้าอก. และผู้ชายที่ไม่ได้เป็นทหาร ควรถอดหมวกออกด้วยมือขวาและวางไว้บริเวณไหล่ซ้าย โดยให้มือของตนวางอยู่บนบริเวณหัวใจ"[7] ด้วยเหตุนี้เองที่การยืนเคารพธงชาติตอนเพลงชาติดังขึ้นเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมทั้งทางธรรมเนียมวัฒนธรรมและทางตัวบทกฎหมาย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การไม่ลุกขึ้นยืนของแคปเปอร์นิคก์จะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่นอกคอกและได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงก่นด่าจากเพื่อนร่วมอาชีพและแฟนๆ อเมริกันฟุตบอลเป็นอย่างมาก

เคราะห์ดีของแคปเปอร์นิคก์ก็คือ แม้ว่าเขาจะได้รับกระแสต่อต้านจากภาคประชาสังคมเนื่องจากเขาได้ท้าท้ายธรรมเนียมที่ปฏิบัติในสังคมมาอย่างยาวนาน แต่กระนั้นก็ตาม หากพูดในแง่ของกฏหมาย การที่เขาไม่ยืนเคารพธงชาติก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด เนื่องจาก "ประมวลกฎหมายว่าด้วยธงชาติสหรัฐฯ" ไม่ได้มีบทลงโทษต่อคนที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม หากแต่เป็นบทบัญญัติที่แนะนำให้คนได้ปฏิบัติเท่านั้น นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิในการแสดงออกทางความคิดและสิทธิในการประท้วงเป็นอย่างมาก กระทั่งการเผาธงชาติในที่สาธารณะก็ได้รับการพิพากษาจากศาลว่าไม่มีความผิดในทางกฏหมายแต่อย่างใด[8] ในแง่นี้ แคปเปอร์นิคก์ยังถือว่าโชคดีกว่าประชาชนในบางประเทศที่การไม่ยืนเคารพเพลงสำคัญของชาติถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และต้องได้รับโทษทางกฏหมายไม่ต่างไปจากการเป็นอาชญากร

แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่ากฏหมายจะไม่ได้ลงโทษลงทัณฑ์กับแคปเปอร์นิคก์  สังคมอเมริกันก็ดูเหมือนจะลงทัณฑ์กับการกระทำที่แสดงถึงความ "ไม่รักชาติ," "ไม่เคารพธงชาติ ทหาร และ เพลงชาติ," และ "ไม่มีความเป็นอเมริกัน" ของเขาในเวลาต่อมา. โดยในฤดูกาลปัจจุบัน แคปเปอร์นิคก์ยังเป็นผู้เล่นที่ว่างงาน เนื่องจากไม่มีทีมใดได้เซ็นสัญญาเอาเขาไปร่วมทีม ซึ่งสื่อกีฬาในสหรัฐฯ ต่างลงความเห็นกันว่า ที่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าแคปเปอร์นิคก์ไม่มีศักยภาพพอในการลงเล่น หากแต่เป็นว่า เจ้าของทีมและผู้จัดการทีมทั้งหลายใน NFL ล้วนมองว่า การแสดงออกทางการเมืองของเขาในสนามฟุตบอลมีแต่จะสร้างปัญหาให้กับทีมในภาพรวมและเป็นการเอาเรื่องกีฬาไปปะปนกับการเมือง[9] และแม้ว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จะมีการประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของ NFL ในมหานครนิวยอร์กของกลุ่มคนที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับแคปเปอร์นิคก์[10] แต่ก็ยังไม่มีวี่แววแต่อย่างใดที่เส้นทางอาชีพอเมริกันฟุตบอลของเขาจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง. พูดง่ายๆ ก็คือ อาชีพของเขาแทบจะดับวูบไปทันทีเมื่อเขาตัดสินใจแสดงจุดยืนด้วยการไม่ยืนต่อหน้าธงชาติในขณะที่เพลงชาติบรรเลงอยู่ในสนาม มาถึงตรงจุดนี้ ผู้อ่านหลายๆ คน อาจเริ่มสงสัยขึ้นมาแล้วว่า อะไรกันเล่าที่ทำให้นักอเมริกันฟุตบอลคนนี้---ซึ่งถือว่าประกอบอาชีพที่ทำเงินให้กับเขาหลายร้อยล้านบาท---ตัดสินใจลุกขึ้นสู้ด้วยการไม่ลุกในสนาม และแทบจะทำลายอาชีพของตนไปโดยปริยาย?

แน่นอนว่า แคปเปอร์นิคก์คงไม่ได้แค่นึกสนุกและอยากทำอะไรพิเรนทร์ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ และตัวเขาเองก็ไม่ใช่เอกบุรุษที่ทำอะไรตามอุดมการณ์ส่วนตนโดยไม่ยึดโยงกับสังคมและโลกแห่งความเป็นจริง เพราะแท้ที่จริงแล้ว การที่แคปเปอร์นิคก์ตัดสินใจไม่ยืนขณะที่เพลงชาติบรรเลงในสนาม ก็มีสาเหตุมาจาก การที่เขาอยากแสดงจุดยืนทางการเมืองเพื่อสนับสนุนผองพี่น้องคนดำและคนผิวสีที่ถูกกดขี่, ถูกทำร้าย, และต้องประสบกับความอยุติธรรมอยู่ในสังคมอเมริกัน โดยแคปเปอร์นิคก์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อเขาตัดสินใจ "ไม่ยืน" เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 2559 เอาไว้ว่า:

ผู้คนไม่ได้ตระหนักเลยว่าประเทศนี้มันกำลังเกิดอะไรขึ้น. มันมีหลายอย่างที่เกิดขึ้นและไร้ซึ่งความยุติธรรม คนบางคนไม่ได้รับการตรวจสอบ และนี่คือบางสิ่งที่จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง ประเทศนี้ยืดหยัดมาตลอดในเรื่องอิสรภาพ, เสรีภาพ, และความยุติธรรมให้กับคนทุกๆ คน แต่กลับเป็นว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใดกับทุกๆ คนในตอนนี้...ผมจะยืดหยัดต่อไปร่วมกับผู้คนที่ถูกกดขี่ สำหรับผมแล้ว มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น, เมื่อผมรู้สึกว่าธงชาติมันเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่ประเทศนี้ได้แสดงออกมาจริงๆ , และเมื่อประเทศนี้เป็นตัวแทนของประชาชนในแบบที่มันควรจะเป็น---ผมจะยืนขึ้นอย่างแน่นอน[11]

นอกจากแคปเปอร์นิคก์จะพูดถึงปัญหาเรื่องการกดขี่และความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมอเมริกัน ในบทสัมภาษณ์ชิ้นเดียวกันนี้ เขายังได้กล่าวถึงความสำคัญของนักกีฬา---ซึ่งถือเป็นอาชีพที่มีอภิสิทธิ์ในสังคมอเมริกันเป็นอย่างมาก---ในการออกมาแสดงบทบาทในทางการเมือง โดยบทบาทที่ว่านี้ก็คือ การออกมายืนหยัดร่วมต่อสู้ รวมไปถึงพูดแทนประชาชนที่ถูกกดขี่และไร้ซึ่งช่องทางในการสื่อสารต่อสังคมในวงกว้าง ในประเด็นที่ว่านี้ แคปเปอร์นิคก์กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า:

เมื่อถูกถามเมื่อไหร่ ผมจะพูดแต่ความจริงเท่านั้น นี่ไม่ใช่เรื่องความโก้เก๋ นี่ไม่ใช่เรื่องการประชาสัมพันธ์ตัวเองหรืออะไรประมาณนั้น นี่คือการทำเพื่อประชาชนคนที่ไม่มีเสียงในสังคม และนี่ก็เพื่อประชาชนที่ถูกกดขี่อยู่และจะต้องได้รับความเท่าเทียมกันในทางโอกาส เพื่อให้พวกเขาได้ลืมตาอ้าปากได้, เพื่อให้พวกเขามีกินมีใช้ในครอบครัว, และไม่ต้องอยู่อย่างอดอยากปากแห้ง...พอมาถึงจุดนี้ของชีวิต ผมถือว่าโชคดีที่มาได้ไกลขนาดนี้และมีอภิสิทธิ์ในการได้มาเล่นใน NFL ซึ่งผมทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำและมีชีวิตที่หรูหรา. [แต่] ผมไม่สามารถมองตัวเองในกระจกและเห็นผู้คนตายบนท้องถนน---ทั้งๆ ที่พวกเขาสมควรได้รับโอกาสแบบที่ผมเคยได้---และได้แต่บอกกับตัวเองว่า "คุณรู้ไหม? ผมขออยู่กับตัวเองดีกว่า"  ผมทำไม่ได้เลย ถ้าให้ผมแค่มองดูอย่างเฉยๆ[12]

"ประชาชนที่ถูกกดขี่" และ "ผู้คนตายบนท้องถนน" ที่แคปเปอร์นิคก์พูดถึงในที่นี้ ก็คือประชาชนคนดำในประเทศสหรัฐฯ ที่มักจะเป็นเหยื่อของการกดขี่ของระบบยุติธรรมและอคติทางสีผิวในสังคม โดยในฤดูกาล 2559 ที่แคปเปอร์นิคก์เริ่มแสดงจุดยืนทางการเมืองด้วยการไม่ยืนเคารพธงชาติเป็นครั้งแรกนั้น ประเทศสหรัฐฯ ในห้วงเวลาดังกล่าว ได้เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีผิว เนื่องจากบนท้องถนนในเมืองใหญ่ๆ ได้มีการประท้วงของขบวนการ "ชีวิตคนดำมีความสำคัญ (Black Lives Matters หรือ BLM)" ที่ต่อต้านความรุนแรง, การเหยียดผิว, และความอยุติธรรมที่มีต่อคนดำอเมริกัน. ขบวนการที่ว่านี้ได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยมีชนวนสำคัญมาจากกรณีที่เด็กชายวัยรุ่นคนดำในมลรัฐฟลอริด้า ชื่อ เทรวอน มาร์ติน (Treyvon Martin) ถูกยิงเสียชีวิตในปี พ.ศ.2555 ในขณะที่เขากำลังเดินกลับบ้านจากการไปซื้อของที่ร้านขายของชำ แต่กลับถูกเข้าใจผิดว่าเป็นขโมยและถูกคนขาวที่ทำตัวเป็นยามเฝ้าหมู่บ้านฆ่าด้วยอาวุธปืน. การประท้วงของ BLM ขยายตัวและกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในระดับชาติในปี พ.ศ. 2557 อันเป็นผลมาจากความอื้อฉาวของคดีอันโด่งดังของ ไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) และของ เอริค การ์เนอร์ (Eric Garner). ในคดีแรก บราวน์ซึ่งเป็นผู้ชายคนดำในมลรัฐมิสซูรี่ ถูกตำรวจคนขาวยิงตายจากการถูกตั้งข้อสงสัยว่าขโมยของในร้านขายของชำ. การที่บราวน์ถูกยิงกระหน่ำจากตำรวจทั้งๆ ที่เขาเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยในคดีลักเล็กขโมยน้อยและเขาก็ไม่มีอาวุธอยู่ในมือด้วยซ้ำ ทำให้ขบวนการ BLM ทำการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในมิสซูรี่ด้วยการชูมือสองข้างขึ้นบนฟ้าและตะโกนว่า "ยกมือขึ้น, อย่ายิง (Hands up, don't shoot)" ซึ่งเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจอเมริกันที่มักจะทำตามแบบหนังคาวบอยด้วยการ "ยิงก่อน, แล้วค่อยถามทีหลัง" ส่วนในคดีหลัง เป็นกรณีของการ์เนอร์ ผู้ชายคนดำในมลรัฐนิวยอร์กที่ขาดอากาศหายใจตายในขณะที่ตำรวจคนขาวหลายคนเข้าล็อคคอเพื่อทำการจับกุม เนื่องจากสงสัยว่าเขากำลังขายบุหรี่ปลีกใต้ดินที่ไม่ผ่านการเก็บภาษี โดยภาพวิดีโอของการ์เนอร์ที่หายใจไม่ออกขณะที่ถูกตำรวจล็อคคอ และการที่เขาเปล่งเสียงซ้ำๆ ออกมาเบาๆ ตอนใกล้ตายว่า "ผมหายใจไม่ออก (I can't breathe)" ได้ถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อทั่วสหรัฐฯ และนำไปสู่ความโกรธแค้นในกลุ่มผู้ประท้วง BLM ที่มองว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจคนขาวกระทำเกินกว่าเหตุด้วยอคติทางสีผิวที่มีต่อคนดำ

ในปี พ.ศ. 2559---อันเป็นปีที่ปัญหาเรื่องเหยื่อคนดำถูกตำรวจคนขาวใช้ความรุนแรงอย่างอยุติธรรมได้พุ่งขึ้นถึงขีดสุด และเป็นปีเดียวกันกับที่แคปเปอร์นิคก์ได้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเป็นครั้งแรก---ก็ได้มีคดีที่อื้อฉาวระดับชาติอีกสองคดีเกิดขึ้นในสหรัฐฯ คดีแรกคือกรณีที่ อัลตัน สเตอร์ลิง (Alton Sterling) ผู้ชายคนดำในมลรัฐหลุยส์เซียน่า ถูกตำรวจคนขาวใช้ปืนยิงรัวในระยะประชิดในขณะที่ถูกล็อคตัวอยู่บนพื้น เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่าขโมยซีดีเพลงจากร้านขายซีดี. ส่วนคดีที่สองก็คือ กรณีที่ ฟิเลนโด แคสติล (Philando Castile) ผู้ชายคนดำในมลรัฐมินิโซตา ถูกตำรวจเชื้อสายละติโนยิงตายคารถ เนื่องจากสงสัยว่าเขาเป็นหัวขโมย. คดีนี้เป็นคดีที่อื้อฉาวและสร้างความสะเทือนขวัญในสังคมอเมริกันเป็นอย่างมาก เพราะในขณะที่แคสติลถูกตำรวจสอบถามและต่อมาถูกยิงรัวนั้น แฟนของเขาซึ่งเป็นผู้หญิงคนดำ ได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายเหตุการณ์ไว้โดยตลอดและนำลงเผยแพร่ในสื่อออนไลน์แบบถ่ายทอดสด. ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในรถคันดังกล่าวก็ยังมีเด็กหญิงคนดำวัยสี่ขวบซึ่งเป็นลูกสาวของแฟนแคสติลนั่งมาด้วย และได้เห็นแคสติลโดนตำรวจยิงตายต่อหน้าต่อตา ในทุกๆ คดีที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯมักจะใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนดำ แต่ความจริงที่น่าเจ็บปวดและฝังอยู่ในใจคนดำนั่นก็คือ ในทุกๆ คดีอื้อฉาวที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นคดีของ มาร์ติน, บราวน์, การ์เนอร์, สเตอร์ลิง, หรือ แคสติล ไม่มีคดีไหนที่คู่กรณีซึ่งใช้ความรุนแรงกับคนดำได้รับผิดในทางกฏหมาย และในบางคดีศาลไม่ได้ทำการฟ้องและดำเนินคดีด้วยซ้ำไป และนี่ คือที่มาที่ไปของการที่แคปเปอร์นิคก์ออกมาบอกว่า

"ผมไม่สามารถมองตัวเองในกระจกและเห็นผู้คนตายบนท้องถนน" และทำให้เขากล้าที่จะไม่ลุกขึ้นยืนเคารพธงชาติเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกับผองพี่น้องคนดำที่เขามีความเห็นอกเห็นใจเป็นอย่างมากนั่นเอง

ในปัจจุบัน เส้นทางอาชีพอเมริกันฟุตบอลของแคปเปอร์นิคก์ดูจะตกต่ำเป็นอย่างมากและคงเป็นการยากที่จะกลับมารุ่งเรืองได้ดังเดิม และคงปฏิเสธได้ยากว่า การที่เขายังคงตกงานอยู่ในทุกวันนี้ ก็คือ "ราคา" ที่เขาในฐานะนักกีฬาชื่อดังจำเป็นต้องจ่าย เมื่อไม่อยากแค่ขายแรงงานไปวันๆ  หากแต่ยังต้องการแสดงออกในทางการเมือง แต่ในความรันทดที่เกิดขึ้นกับชีวิตของแคปเปอร์นิคก์ มันก็ยังมีเรื่องที่น่ายินดีได้เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน อันเป็นผลพวงมาจากตัวอย่างวีรกรรมที่แคปเปอร์นิคก์ได้ทำไว้ กล่าวคือ การคุกเข่าต่อหน้าธงชาติเมื่อเพลงชาติบรรเลง ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันและความยุติธรรมให้กับคนดำในสหรัฐฯ และมันได้กลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากนักกีฬาและคนดังในสหรัฐฯ ต่างก็ออกมาแสดงออกจุดยืนทางการเมืองของตนด้วยท่าคุกเข่าแบบแคปเปอร์นิคก์กันอย่างคึกครื้น


ภาพประกอบที่ 3: เมแกน ราพิโน (คนที่สองจากซ้าย) คุกเข่าในขณะที่เพลงชาติสหรัฐฯ ดังขึ้นในเกมส์กระชับมิตรฟุตบอลหญิง ระหว่าง ทีมชาติสหรัฐฯกับทีมชาติไทย วันที่ 16 กันยายน 2559.[ภาพจาก New York Times, ถ่ายโดย Jamie Sabau]

เริ่มจาก เมแกน ราพิโน (Megan Rapinoe) นักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ตัดสินใจคุกเข่าในขณะที่เพลงชาติสหรัฐฯดังขึ้นในเกมส์กระชับมิตรระหว่าง สหรัฐฯกับไทย ในปี พ.ศ. 2559 (ภาพประกอบ ที่ 3). ส่วนในแวดวงบาสเก็ตบอล บิลล์ รัสเซลล์ (Bill Russell) ตำนานเจ้าของแชมป์ NBA 11 สมัยจากทีมบอสตัน เซลติค (Boston Celtics) ได้ลงรูปตัวเขาเองในสื่อออนไลน์ไม่กี่วันหลังประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาด่า "ไอ้ลูกกระหรี่" โดยรัสเซลล์ซึ่งปัจจุบันอายุ 83 ปี ได้โชว์รูปของเขาที่กำลังนั่งคุกเข่า พร้อมกับเขียนข้อความประกอบว่า "ภูมิใจที่ได้คุกเข่า. และจะยืดหยัดอย่างสูงเด่นเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมทางสังคม."[13] และล่าสุดกระทั่งในแวดวงบันเทิง  นักร้องนักแสดงชื่อดังหลายคน---ไม่ว่าจะเป็น สตีวี่ วอนเดอร์ (Stevie Wonder), จอห์น เลเจนด์ (John Legend), ฟาเรลล์ วิลเลี่ยมส์ (Pharrell Williams), จิลเลี่ยน แอนเดอร์สัน (Gillian Anderson), เดวิด ดูคอฟนี่ (David Duchovny), และ โอลิเวีย์ ไวลด์ (Olivia Wilde)---ก็ได้แสดงจุดยืนร่วมกับแคปเปอร์นิคก์และผู้เล่น NFL ด้วยการแสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยการคุกเข่าเมื่อแสดงคอนเสิร์ต, ถ่ายภาพยนตร์, หรือแสดงละครเวทีกันอย่างพร้อมหน้า[14] ในแง่นี้ กลุ่มดารานักร้องซึ่งถือเป็นกลุ่มอาชีพที่ร่ำรวยและมีอภิสิทธิ์ไม่ต่างจากอาชีพนักกีฬา ก็เริ่มกล้าออกมาแสดงจุดยืนเรื่องความอยุติธรรมที่คนดำอเมริกันต้องประสบ และถึงแม้ว่ากลุ่มดารานักร้องดูจะ "มาช้า" ไปสักนิด แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันก็ยังดีกว่า "ไม่มา" หรือเพิกเฉยต่อประเด็นการเมืองในประเทศของตนไปอย่างสิ้นเชิง
 

II. ประวัติศาสตร์การประท้วงของนักกีฬาอเมริกันฉบับย่อ

แน่นอนเหลือเกินว่า ใช่ว่านักกีฬาอเมริกันทุกคนจะเป็นขบถสังคมอย่างแคปเปอร์นิคก์และหาญกล้าลุกขึ้นมาต่อต้านระบบที่อยุติธรรมไปเสียหมด การเหมารวมเช่นนั้นคงจะเป็นการวาดภาพอันสวยงามและยิ่งใหญ่ให้กับนักกีฬาอเมริกันจนเกินจริง อันที่จริง จะว่าไปแล้ว นักกีฬาก็คือคนที่ทำอาชีพขายแรงงาน และเฉกเช่นกับชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่ในปัจจุบัน การแสวงหาค่าแรงก็คือเรื่องหลักในชีวิต ส่วนการบ้านการเมืองก็คือเรื่องรอง นอกจากนั้น นักกีฬาชื่อดังในสหรัฐฯทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) นักกีฬาบาสเก็ตบอลที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน, โอ.เจ. ซิมป์ซัน (O.J. Simpson) นักอเมริกันฟุตบอลที่เคยเป็นขวัญใจมหาชนก่อนที่จะเกิดคดีฆาตกรรมภรรยาของเขา, หรือ ไทเกอร์ วู้ดส์ (Tiger Woods) นักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรตที่ยี่สิบเอ็ด---ทั้งสามคนที่ว่ามา ต่างพยายามเลี่ยงประเด็นทางการเมืองเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นนักกีฬายอดนิยมขวัญใจอเมริกันชนกันทั้งนั้น ในกรณีของจอร์แดน ซึ่งผันตัวเองจากการเป็นนักกีฬามาเป็นนายทุนมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจกีฬาหลายหมื่นล้าน มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยๆ ว่า เขาสนใจแต่ขายรองเท้าตัวเองมากกว่าเรื่องความเป็นความตายของผองพี่น้องคนดำ เช่นเดียวกับซิมป์ซันที่ถูกมองว่า อยากจะเป็นอย่างคนขาวที่ร่ำรวยมากกว่าที่จะเอาตัวเองไปยึดโยงกับปัญหาความยากจนของคนดำ จนกระทั่งเกิดคดีฆาตรกรรมภรรยาของเขา ซิมป์ซันถึงค่อยมาใช้ความเป็นคนดำในการเรียกความสงสารในการต่อสู้คดี. หรืออย่างในกรณีของวู้ดส์ ซึ่งมีพ่อเป็นคนดำและมีแม่เป็นคนไทย ก็มักจะแสดงความกระอักกระอ่วนในการยอมรับว่าตัวเองเป็นคนดำอเมริกัน โดยเขาได้เคยให้สัมภาษณ์ซึ่งสร้างความคับข้องใจให้กับชุมชนคนดำในสหรัฐฯเอาไว้ว่า เขาคิดว่าเขาเป็นคน "คาบลิเนเชียน (Cablinasian)" อันเป็นคำที่เขาคิดขึ้นมาเองเพื่ออธิบายถึงเชื้อสายคนขาว (Caucasian), คนดำ (Black), คนอินเดียนแดง (Indian), และคนเอเชีย (Asian) ที่ผสมอยู่ในตัวเขา[15] ในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่า นักกีฬาชื่อดังและร่ำรวยหลายๆ คนต่างก็พยายามไม่เอาตัวเข้าไปยุ่งกับการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางสีผิวในสหรัฐฯ แต่กระนั้นก็ตาม ใช่ว่านักกีฬาทุกๆ คนจะอยากเป็นขวัญใจมหาชนและสนใจแต่เรื่องการหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองไปเสียหมด เพราะในประวัติศาสตร์ของกีฬาอเมริกัน มันได้มีการจารึกประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อสู้, การขัดขืน, การประท้วง, และการแสดงจุดยืนทางการเมืองของนักกีฬาอเมริกันชื่อดังหลายๆ คน และก็เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของนักกีฬาเหล่านี้เองที่ได้กรุยทางให้กับนักกีฬารุ่นหลังอย่างแคปเปอร์นิคก์ได้สานต่อการเป็นคน "นอกคอก" ในวงการกีฬาอเมริกันในเวลาต่อมา

ธงของการต่อสู้ทางการเมืองของนักกีฬาอเมริกัน ถือว่าได้รับการปักลงเป็นเรื่องเป็นราวเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2490 เมื่อแจ็คกี้ โรบินสัน (Jackie Robinson) นักเบสบอลคนดำที่ตามหลักแล้วจะต้องเล่นในลีกชั้นล่างของคนดำเท่านั้น ได้เซ็นสัญญาขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดของประเทศที่ตามปกติสงวนเอาไว้ให้กับคนขาว. โดยการแบ่งแยกสีผิวเช่นนี้ไม่ได้ดำรงอยู่แค่ในแวดวงกีฬา หากแต่ยังเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา, กองทัพ, องค์กรราชการ, และการใช้ชีวิตประจำวัน ตามค่านิยมทางสังคมและตัวบทกฏหมายที่เน้นหลักการ "ต่างผิว ต่างอยู่" หลังการเลิกทาสและการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ จากบริบทที่กล่าวมา คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การที่โรบินสันได้เข้ามาเล่นในลีกของคนขาว จะสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงก่นด่าเป็นอย่างมากในสังคมอเมริกัน. โรบินสัน---ซึ่งในวัยหนุ่มเคยรับราชการทหารแต่ถูกปลดออกเนื่องจากไม่ยอมลุกจากเบาะหน้าของรถบัสไปนั่งเบาะหลังที่จัดไว้ให้สำหรับคนดำ---ต้องทนกับกระแสต่อต้านไม่เพียงแต่จากนอกสนาม หากแต่ในสนามเขาก็ต้องทนกับคำด่าที่เต็มไปด้วยอคติทางสีผิวและการเล่นแบบสกปรกรุนแรงของผู้เล่นผิวขาว กระนั้นก็ตาม การที่โรบินสันตัดสินใจก้มหน้าก้มตาเล่นให้กับทีมบรู๊คลีน ดอจเจอร์ (Brooklyn Dodgers) อยู่หลายฤดูกาลโดยไม่ปริปากบ่น อีกทั้งได้เป็นกำลังสำคัญช่วยพาทีมคว้าแชมป์ในปี พ.ศ. 2498 ก็ทำให้คนขาวเริ่มหันมายอมรับในความสามารถทางกีฬาของคนดำมากขึ้น และในเวลาต่อมา นักกีฬาคนดำในแวดวงกีฬาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบสบอล, อเมริกันฟุตบอล, หรือ บาสเก็ตบอลก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดของประเทศที่เคยสงวนไว้ให้แค่นักกีฬาคนขาวเท่านั้น นอกจากนั้น แฟนๆ กีฬาคนดำก็หันมาเข้าชมและติดตามลีกสูงสุดของประเทศกันมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่การยุบลีกชั้นล่างของคนดำและการรวมลีกกีฬาแต่ละชนิดให้เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยกสีผิวในที่สุด ในแง่นี้ การต่อสู้ของโรบินสันถือว่าเป็นการกรุยทางให้กับนักกีฬาคนดำรุ่นหลังๆ อย่างแท้จริง ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ หลังจากที่โรบินสันตัดสินใจยุติอาชีพเบสบอลของตัวเอง เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง (Civil Right Movements) ที่เรียกร้องให้คนผิวสีมีสิทธิเท่าเทียมกับคนขาว และเขายังได้เข้าไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสีแห่งชาติ (The National Association for the Advancement of Colored People หรือ NAACP) อีกด้วย การต่อสู้ทั้งในและนอกสนามของโรบินสันนี้เองที่ทำให้เขาได้รับการระลึกถึงและเชิดชูเป็นอย่างมากทั้งในแวดวงกีฬาและแวดวงการเมืองในปัจจุบัน แม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 แล้วก็ตาม.

หมุดหมายสำคัญต่อมาที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองของนักกีฬาอเมริกันก็คือ กรณีของ มูฮัมมัด อาลี (Muhammed Ali) นักมวยคนดำแชมป์โลกรุ่นเฮวี่เวตที่กำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพ ได้ตัดสินใจทำการขัดขืนอำนาจรัฐในปี พ.ศ. 2509 ด้วยการไม่ยอมรับการเกณฑ์ทหารของกองทัพสหรัฐฯเพื่อไปรบในสงครามเวียดนาม โดยอาลีได้ประกาศว่า การไปรบในสงครามเป็นการขัดแย้งกับความเชื่อตามหลักศาสนาอิสลามที่เขาหันมานับถือในวัยหนุ่ม และตัวเขาเองก็ไม่สนับสนุนสงครามและความรุนแรงที่สหรัฐฯทำกับประเทศแถบอินโดจีนอีกด้วย อาลี---ซึ่งมีชื่อเสียงไม่เพียงจากฝีมือการชกมวยบนสังเวียน หากแต่ยังรวมไปถึงฝีปากในเรื่องการเมืองนอกสังเวียน---ได้เคยให้คำสัมภาษณ์อันน่าจดจำเกี่ยวกับสาเหตุที่เขาขัดขืนอำนาจรัฐด้วยการไม่ไปรบในสงครามเวียดนามเอาไว้ว่า:

จิตสำนึกของผมจะไม่ปล่อยให้ผมไปยิงพี่น้องของผม, หรือผู้คนที่ผิวคล้ำๆ , หรือผู้คนที่ยากจนและหิวโหยอยู่ในตม เพื่อประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจ. และผมจะยิงพวกเขาไปเพื่ออะไรกันเล่า? พวกเขาไม่เคยเรียกผมว่าไอ้มืด (nigger). พวกเขาไม่เคยรุมประชาทัณฑ์ผม. พวกเขาไม่เคยเอาหมามาไล่งับผม. พวกเขาไม่เคยริบสัญชาติของผม, ข่มขืน, และฆ่าแม่กับพ่อของผม. ผมจะยิงพวกเขาไปเพื่ออะไรกันเล่า? จะให้ผมยิงพวกเขาที่แสนจะยากจนได้อย่างไร. เอาผมไปเข้าคุกเข้าตะรางเลยจะดีกว่า.[16]

การขัดขืนอำนาจรัฐด้วยการไม่ยอมถูกเกณฑ์ทหารของอาลี ได้นำไปสู่การจับกุมตัว, การดำเนินคดีในชั้นศาล, รวมไปถึงการยึดเข็มขัดแชมป์และใบอนุญาตชกมวยของเขาโดยสมาคมนักมวยในเวลาต่อมา. นอกจากนั้น การขัดขืนของอาลีต่อกองทัพสหรัฐฯ ยังนำไปสู่กระแสต่อต้านของแฟนๆ นักมวยและผู้คนในภาคประชาสังคมที่มองว่า เขาเป็นพวกไม่รักชาติและไม่รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ชาติในนามชายชาติทหาร. เรียกได้ว่า ณ ช่วงนั้น อาลีคือนักกีฬาที่เป็นที่น่ารังเกียจมากที่สุดในสังคมอเมริกันเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลากว่าสามปีระหว่างที่อาลีร้างลาไปจากสังเวียนมวยและรอคำตัดสินของศาลสูงสุดของสหรัฐฯว่าจะลงโทษจำคุกเขาตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ อาลีได้ใช้เวลาไปกับการพูดในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้องสิทธิคนดำและต่อต้านสงคราม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 ศาลสูงสหรัฐฯตัดสินให้เขาไม่ผิด และนั่นก็ทำให้เขาได้ไฟเขียวกลับมาคืนสังเวียนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การร้างราวงการมวยไปนานทำให้เขาได้สูญเสียช่วงเวลาที่ดีที่สุดของสภาพร่างกายไปเสียแล้ว และนั่นก็ทำให้การกลับมาลงสังเวียนอีกครั้งของอาลีในปีนั้น จบลงด้วยการพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในการเป็นนักมวยอาชีพให้กับ โจ เฟรเช่อร์ (Joe Frazier) ในศึกกำปั้นอันโด่งดังที่ชื่อว่า "ศึกแห่งศตวรรต"

ความพ่ายแพ้บนสังเวียน, ความเชื่องช้าของการออกหมัดและการวิ่งรอบสังเวียน, และสภาพร่างกายที่โรยราลงไปของอาลี ดูจะเป็น "ราคา" ที่อาลีต้องจ่ายให้กับการแสดงออกทางการเมืองของเขา. แม้ว่าในเวลาต่อมา อาลีจะกลับมาทวงเข็มขัดแชมป์เฮวี่เวตได้อีกครั้งจากการเอาชนะ จอร์จ โฟร์แมน (George Foreman) ในปี พ.ศ. 2517 และมีชัยชนะบนสังเวียนที่น่าจดจำอีกหลายๆ ครั้งนับจากนั้น, แฟนๆ มวยหลายๆ คนก็คงอดเสียดายไปไม่ได้ว่า ถ้าอาลีไม่เสียเวลาไปกับการขึ้นโรงขึ้นศาลอันเนื่องมากจาการขัดขืนกองทัพ เขาน่าจะครองความยิ่งใหญ่ในวงการมวยได้มากกว่านี้และนานกว่านี้. กระนั้นก็ตาม อาลีคงไม่คิดว่า การขัดขืนอำนาจรัฐของเขาจะเป็นเรื่อง "เสียเวลา" หรือ ทำลายอาชีพนักมวยของเขาเป็นแน่เพราะเมื่อความรุนแรงในสงครามเวียดนามเริ่มได้รับการวิพากษ์ในสังคมอเมริกันมากขึ้นและลุกลามไปจนถึงการประท้วงบนท้องถนน การขัดขืนของอาลีก็ได้รับการมองจากผู้คนในสังคมด้วยสายตาที่ชื่นชมและด้วยความเคารพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงนักกีฬาคนดำรุ่นหลังๆ ต่อมา เช่น นักบาสเก็ตบอล NBA ผู้ทำแต้มสูงสุดตลอดกาลอย่าง คารีม อับดุล จ้าบบาร์ (Kareem Abdul-Jabbar) ก็ยอมรับว่า อาลีคือวีรบุรุษในวัยเยาว์ของเขา เพราะได้ทำให้เขาเห็นเป็นครั้งแรกว่า นักกีฬาคนดำสามารถลุกขึ้นสู้กับอำนาจของชนชั้นนำที่มีแต่คนขาวได้[17] นอกจากนั้น นิตยสารกีฬาชื่อดังของสหรัฐฯที่ชื่อ "ส่องโลกกีฬา (Sports Illustrated)" ก็ยังจัดอันดับยกย่องให้ อาลีเป็น "นักกีฬาแห่งศตวรรษ"[18] ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผลงานการต่อสู้ทั้งในและนอกสังเวียนอย่างกล้าหาญและสง่าผ่าเผยของอาลี คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาได้ยกย่องในระดับสูงสุดเช่นนั้น


ภาพประกอบที่ 4: ทอมมี่ สมิธ (กลาง) และ จอห์น คาร์ลอส (ขวา) ชูกำปั้นที่ใส่ถุงมือสีดำของตนขึ้นฟ้าในขณะที่รับเหรียญรางวัลบนโพเดี้ยม ณ มหกรรมกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อนปี พ.ศ.2511ที่นครเม็กซิโกซิตี้. [ภาพจาก BT TV, ถ่ายโดย John Dominis]

เหตุการณ์สุดท้ายที่เปรียบเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของนักกีฬาอเมริกันในศตวรรษที่ยี่สิบก็คือ การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของสองนักกรีฑาผิวดำ 200 เมตรทีมชาติสหรัฐฯ---ทอมมี่ สมิธ (Tommie Smith) ผู้ชนะรางวัลเหรียญทองและ จอห์น คาร์ลอส (John Carlos) ผู้ชนะรางวัลเหรียญทองแดง---ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อนปี พ.ศ.2511 ที่นครเม็กซิโกซิตี้. โดยในขณะที่นักกรีฑาทั้งสองคนกำลังขึ้นรับรางวัลบนโพเดี้ยมและหันหน้าหาธงชาติสหรัฐฯที่ถูกชักขึ้นเสาพร้อมกับการบรรเลงเพลง "ธงอันแพรวพราวด้วยดารา" อันดังกระหึ่มไปทั่วสนามอยู่นั้น พวกเขาได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชมทั้งอัฒจันทร์ กล่าวคือ สมิธและคาร์ลอสได้ชูกำปั้นที่ใส่ถุงมือสีดำของตนขึ้นฟ้าเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับขบวนการ "พลังคนดำ (Black Power movement)" ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในสหรัฐฯที่สนับสนุนให้คนดำหันมาภูมิใจในสีผิวของตนเองและต่อสู้ด้วยมือของตนเพื่อผลประโยชน์ของคนดำ (ภาพประกอบที่ 4) นอกจากนั้น นักกรีฑาทั้งสองคนไม่ได้ใส่รองเท้ากีฬาขึ้นรับรางวัล หากแต่ใส่แค่ถุงเท้าสีดำเพื่อเป็นการเรียกร้องให้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาความยากจนของคนดำอเมริกัน. สมิธยังใส่ผ้าพันคอสีดำเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนดำ ในขณะที่คาร์ลอสก็ดึงคอปกเสื้อกีฬาของตนขึ้นเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนคนงานคอปกน้ำเงิน (blue-collar workers) ที่ปากกัดตีนถีบหาเช้ากินค่ำ โดยสมิธได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมา ถึงสาเหตุที่เขาและคาร์ลอสตัดสินใจแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บนโพเดี้ยมรับรางวัลในวันนั้นว่า:

ถ้าผมแข่งชนะ, ผมก็จะถือเป็นคนอเมริกันเต็มตัว, ไม่ใช่คนดำอเมริกัน. แต่ถ้าผมทำอะไรไม่ดีขึ้นมา, คนก็จะบอกว่า ผมมันก็แค่ไอ้นิโกร (Negro) คนหนึ่งเท่านั้น. พวกเราคือคนดำและพวกเราภูมิใจที่เป็นคนดำ. คนดำอเมริกันจะเข้าใจดีถึงสิ่งที่ผมทำไปในคืนนี้.[19]

สมิธอาจจะกล่าวได้อย่างถูกต้องว่า คนดำอเมริกัน---โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวในขบวนการ "พลังคนดำ"---จะเข้าใจดีรวมไปถึงสนับสนุนในสิ่งที่เขาและคาร์ลอสได้ทำไป อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกๆ คนจะเห็นใจและเข้าใจการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักกรีฑาทั้งสองคนไปเสียหมด เพราะในความเป็นจริงแล้ว หลังจากที่สมิธและคาร์ลอสได้แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตนในมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ทั้งสองคนก็ต้องเผชิญกับผลของการกระทำอันหาญกล้าในครั้งนั้น กล่าวคือ คณะกรรมการโอลิมปิคสากลได้ทำการกดดันให้คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งสหรัฐอเมริกา ทำการขับสมิธและคาร์ลอสออกจากการเป็นนักกีฬาทีมชาติ เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของทั้งสองคนเป็น "การละเมิดอย่างรุนแรงและตั้งใจต่อหลักการพื้นฐานแห่งจิตวิญญาณของการแข่งขันโอลิมปิค"[20] เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของลมกรดทั้งสองคน นักเขียนของ "เวลา (Time)" นิตยสารชื่อดังของสหรัฐฯ ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในวันนั้นไว้ว่า "'เร็วขึ้น, สูงขึ้น, แข็งแกร่งขึ้น' คือคำขวัญของมหกรรมกีฬาโอลิมปิค. 'โกรธมากขึ้น, หยาบคายมากขึ้น, อัปลักษณ์มากขึ้น' น่าจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในนครเม็กซิโกซิตี้ในสัปดาห์ที่แล้ว"[21] นอกจากนั้น เมื่อสมิธและคาร์ลอสเดินทางกลับสหรัฐฯ สิ่งที่เขาได้รับจากเพื่อนร่วมชาติหาได้เป็นการต้อนรับในฐานะวีรบุรุษผู้นำเหรียญรางวัลกลับมายังบ้านเกิด หากแต่เป็นคำดุด่าต่อว่าอย่างเผ็ดร้อนจากแฟนๆ กีฬา กระทั่งไปไกลถึงการขู่ทำร้ายร่างกายและการขู่ฆ่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือ "ราคา" ที่นักกีฬาอย่างสมิธและคาร์ลอสจำต้องจ่าย อันเป็นผลพวงจากความหาญกล้าออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับรัฐ, ผู้มีอำนาจทางการเมือง, และมวลชนอนุรักษ์นิยมจำนวนมาก.

อย่างไรก็ดี กว่าสี่ทศวรรษหลังจากที่สมิธและคาร์ลอสได้ชูมือขึ้นฟ้าบนโพเดี้ยมรับรางวัลที่นครเม็กซิโกซิตี้ สังคมอเมริกันก็ดูจะเข้าใจ, ให้อภัย, และเคารพวีรกรรมของลมกรดทั้งสองคนในที่สุด. โดยในการประกาศ "รางวัลประจำปีเพื่อเชิดชูความสามารถอันเป็นเลิศทางกีฬา (Excellence in Sports Performance Yearly Award หรือ ESPY Award)" ซึ่งเป็นการประกาศเกียรติยศทางการกีฬาในประเทศสหรัฐฯ ปรากฏว่าสมิธและคาร์ลอสได้รับรางวัลอันทรงเกียรติที่ชื่อ "เหรียญแห่งความกล้าหาญ" ประจำปี พ.ศ. 2551 นอกจากนั้น ที่มหาวิทยาลัยรัฐประจำเมือง ซาน โฮเซ่ (San Jose State University) ซึ่งเป็นสถาบันที่นักกรีฑาทั้งสองคนเคยเรียน ก็ได้สดุดีวีกรรมของศิษย์เก่าของตัวเองด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ชื่อ "สดุดีชัยชนะ (Victory Salute)"  ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตรงที่ ผู้ชมสามารถขึ้นไปยืนบนโพเดี้ยมจำลองของอนุสาวรีย์และร่วมชูมือขึ้นฟ้าไปกับรูปปั้นจำลองของสมิธและคาร์ลอส ราวกับว่าผู้ชมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางการเมืองที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กีฬาอเมริกัน.

วีรกรรมของ "ผู้มาก่อนกาล" ทั้งหลายที่ได้กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ โรบินสัน, อาลี, หรือ สมิธและคาร์ลอส ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้แฟนๆ กีฬาหันมาตระหนักถึงปัญหานอกสนาม โดยเฉพาะปัญหาความยากจน, ความไม่เท่าเทียมกันทางสิทธิและโอกาส, รวมไปถึงความอยุติธรรมที่คนดำอเมริกันต้องประสบพบเจอซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสหรัฐฯ แม้ว่าวีรกรรมของนักกีฬาชื่อดังเหล่านั้นจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงการต่อต้านจากสังคมโดยรวม หรือกระทั่งนำไปสู่การทำลายอาชีพนักกีฬาของพวกเขาเอง, วีรกรรมเหล่านั้นก็ไม่ใช่เป็นการประทำที่สูญเปล่า เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ไม่ใช่เพียงแต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้อง สิทธิ, เสรีภาพ,ความเสมอภาค, และความยุติธรรมเพื่อคนผิวสี จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการกดกันให้รัฐบาลอเมริกันหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับประชาชนคนผิวสีที่ถือเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ หากแต่คนผิวสีในสนามกีฬาก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กันในการพัฒนาตนเองให้เป็นเลิศในกีฬาที่ในอดีตล้วนแต่ถูกสงวนไว้ให้กับคนขาว ยกตัวอย่างเช่น กีฬากอล์ฟ---ซึ่งถือว่าเป็นกีฬาของคนขาวชนชั้นกลางวัยกลางคนที่มีฐานะดีพอที่จะซื้ออุปกรณ์และเครื่องแต่งกายราคาแพง---ถูกไทเกอร์ วู้ดส์ ครองความยิ่งใหญ่แต่เพียงผู้เดียวในช่วงต้นศตววรษที่ยี่สิบเอ็ดเช่นเดียวกันกับกีฬาเทนนิสซึ่งถือเป็นกีฬา "ผู้ดี" ของคนขาวที่มีฐานะ ได้ถูกสองพี่น้องคนดำตะกูลวิลเลียมส์---วีนัส และ เซเรนา วิลเลียมส์---เปลี่ยนโฉมหน้ากีฬาไปตลอดกาล เนื่องจากการคว้าแชมป์เป็นว่าเล่นของพวกเธอในรอบกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้เป็นตัวอย่างให้กับเด็กผิวสีรุ่นใหม่ในสหรัฐฯได้เห็นว่า ไม่ใช่แค่คนขาวเท่านั้นที่เล่นเทนนิสได้ หรือจะเป็นกีฬายิมนาสติก---ซึ่งเป็นกีฬาที่คนขาวเคยเป็นใหญ่เนื่องจากผู้ปกครองคนผิวสีมักไม่มีต้นทุนในการส่งเสียลูกๆ ให้ได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เด็กๆ ---ก็ปรากฏว่า ทีมชาติสหรัฐฯในหลายๆ ปีที่ผ่านมาก็มีนักยิมนาสติกหญิงผิวสีที่เป็นดาวดังจากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิค ไม่ว่าจะเป็น แก้บบี้ ดักลาส (Gabby Douglas), ซิโมน ไบลส์ (Simone Biles) หรือ ลอรี่ เฮอนานเดส (Laurie Hernandez) โดยการขึ้นมาผงาดของคนดำในแวดวงกีฬาดูจะเกิดขึ้นอย่างพอเหมาะพอเจาะกับการที่คนดำได้ขึ้นมาผงาดในแวดวงการเมืองพอดี เพราะในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด สิ่งที่คนดำในสหรัฐฯฝันไว้เป็นเวลาเนิ่นนานก็เป็นความจริง เมื่อบารัค โอมามาได้ชนะเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีคนดำเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกัน ในปี พ.ศ. 2552 เท่านั้นยังไม่พอ โอบามาไม่ได้บริหารงานในฐานะประธานาธิบดีแค่สมัยเดียว หากแต่เป็นการครองอำนาจถึงแปดปีเต็มๆ ในทำเนียบขาว ในแง่นี้ หากดูกันแค่ผิวเผิน มันอาจไม่ใช่เรื่องเกินเลยหากจะสรุปว่า การต่อสู้ของนักกีฬาคนดำอเมริกันได้มาถึงจุดหมายปลายทางแล้วทั้งในสนามและนอกสนาม เนื่องจากทั้งวงการกีฬาและวงการการเมืองอเมริกันล้วนแต่ถูกครองความยิ่งใหญ่โดยผองพี่น้องคนดำทั้งสิ้น


ภาพประกอบที่ 5: เลอบรอน เจมส์ (แถวหน้า/คนที่สองจากขวา) ร่วมยืนถ่ายภาพกับเพื่อนร่วมทีมที่ต่างก็ใส่เสื้อแจ๊คเก็ตแบบมีฮู๊ดและเอาฮู๊ดคลุมศรีษะ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องความยุติธรรมให้กับความตายของ เทรวอน มาร์ติน. [ภาพจาก Twitter, เผยแพร่โดย Lebron James เมื่อ 23 เมษายน 2555]


ภาพประกอบที่ 6: เลอบรอน เจมส์ ใส่เสื้อสีดำที่มีข้อความ "ผมหายใจไม่ออก" เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องความยุติธรรมให้กับความตายของเอริค การ์เนอร์ ก่อนการแข่งขันบาสเก็ตบอล NBAวันที่ 8 ธันวาคม 2557. [ภาพจาก Time, ถ่ายโดย Kathy Willens]

อย่างไรก็ดี เรื่องตลกร้ายในประวัติศาสตร์อเมริกันก็คือ ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อคนดำ, อุดมการณ์เหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ, และคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลงของคนผิวสี ได้กลายเป็นปัญหาที่รุนแรงและกลายเป็นวิกฤติในระดับชาติในวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนดำคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกันนั่นเอง โดยคดีที่อื้อฉาวทั้งหลายที่คนดำถูกฆ่าอย่างโหดร้ายไม่ว่าจะเป็นคดีของมาร์ติน, บราวน์, การ์เนอร์, สเตอร์ลิง, หรือ แคสติล ล้วนแต่เกิดขึ้นในยุคที่โอบามาดำรงตำแหน่งในสมัยที่สองของการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอยู่ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้การประท้วงของขบวนการ "ชีวิตคนดำมีความสำคัญ" ได้ประทุขึ้นบนท้องถนนและขยายตัวไปทุกเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ ส่วนในสนามกีฬา นักกีฬาชื่อดังก็เริ่มหันมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อประกาศจุดยืนในทางการเมือง โดยก่อนที่ โคลิน แคปเปอร์นิคก์จะก่อวีรกรรม "ไม่ยืน" ในสนามอเมริกันฟุตบอล, นักกีฬาที่โด่งดังที่สุดและร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ อย่าง เลอบรอน เจมส์ ก็ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์อยู่หลายครั้งเพื่อต่อต้านความรุนแรงและความอยุติธรรมต่อคนดำ ในปี พ.ศ. 2555 เจมส์ได้ร่วมยืนถ่ายภาพกับเพื่อนร่วมทีมที่ต่างก็ใส่เสื้อแจ๊คเก็ตแบบมีฮู๊ด และเอาฮู๊ดคลุมศรีษะพร้อมกับก้มหน้าลง (ภาพประกอบที่ 5). โดยภาพนี้ได้รับการเผยแพร่ลงสื่อออนไลน์พร้อมกับข้อความ "#เราทุกคนคือ เทรวอน มาร์ติน #เสื้อฮู๊ด #เหมารวม #เราต้องการความยุติธรรม"[22] นี่คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเจมส์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับความตายของ เทรวอน มาร์ติน เด็กหนุ่มที่ชอบใส่เสื้อฮู๊ดแต่ต้องมาตายก่อนวัยอันควรเพราะอคติทางสีผิว และมันยังเป็นการแสดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเจมส์กับคนผิวดำที่ยากจนในสหรัฐฯซึ่งมักจะถูกเหมารวมว่ามักจะชอบใส่เสื้อฮู๊ดและเป็นพวกเหลือขอขี้ขโมย นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2557 เจมส์ได้เป็นแกนนำของผู้เล่น NBA ใส่เสื้อสีดำที่มีข้อความ "ผมหายใจไม่ออก" เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับความตายของของ เอริค การ์เนอร์ ซึ่งขาดอากาศหายใจจากการถูกจับกุมโดยตำรวจ และเพื่อเป็นการประท้วงความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำกับคนผิวสี (ภาพประกอบที่ 6)


ภาพประกอบที่ 7: ผู้เล่นทีม เซนต์ หลุยส์ แรมส์ วิ่งเข้ามาในสนามด้วยการยกมือสองข้างขึ้นฟ้า ล้อไปกับการตะโกนประท้วง "ยกมือขึ้น, อย่ายิง" เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องความยุติธรรมให้กับความตายของ ไมเคิล บราวน์ ก่อนการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล วันที่ 30 พฤษจิกายน 2557. [ภาพจาก Associated Press, ถ่ายโดย L.G. Patterson]

ส่วนในแวดวงอเมริกันฟุตบอล ก่อนที่แคปเปอร์นิคก์จะจุดกระแส "ไม่ยืน" ในสนาม ก็มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในปี พ.ศ. 2557 ของห้านักกีฬาอเมริกันฟุตบอลทีม เซนต์ หลุยส์ แรมส์ (St. Louis Rams) ที่วิ่งเข้ามาในสนามตอนเปิดตัวนักกีฬาด้วยการยกมือขึ้นสองข้างขึ้นฟ้า ล้อไปกับคำขวัญ "ยกมือขึ้น, อย่ายิง" ที่ผู้ประท้วงบนท้องถนนได้ตะโกนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับความตายของ ไมเคิล บราวน์ (ภาพประกอบที่ 7)[23] การประท้วงของนักกีฬาอเมริกันที่ได้กล่าวมานี้เองได้ชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้ทางการเมืองของนักกีฬาอเมริกัน ยังจะดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นในสนาม และขนานไปกับการประท้วงของขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนนอกสนาม ตราบใดที่ความอยุติธรรมและความรุนแรงต่อคนดำยังดำรงอยู่ในสังคมอเมริกัน และประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น "ดินแดนแห่งเสรีภาพ" ยังไม่ได้เป็นอย่างที่มันได้โฆษณาไว้จริงๆ 

 

III. นักกีฬาไทย ใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

หากเปรียบเทียบกับวงการกีฬาในสหรัฐฯที่กำลังร้อนระอุไปด้วยประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง วงการกีฬาไทยกลับมีบรรยากาศที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ แทบจะนับครั้งได้เลยที่ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองจะกลายเป็นประเด็นร้อนในสนามกีฬา และน้อยครั้งที่นักกีฬาไทยจะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อต้านความอยุติธรรมที่มีต่อชนชั้นล่างในสังคม นอกจากนั้น ในขณะที่นักกีฬาอเมริกันในปัจจุบันมีทัศนคติต่อต้านชนชั้นนำทางการเมือง นักกีฬาไทยยังมีความสัมพันธ์อันดี, เป็นมิตร, และพึ่งพาอาศัย บุคคลสำคัญในแวดวงการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประมุขของชาติ, ผู้นำรัฐบาล, หรือนักการเมือง และที่สำคัญที่สุด ในบริบทวัฒนธรรมกีฬาอเมริกัน การ "ไม่ยืน" คือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่รุนแรง, ก้าวร้าว, และต่อต้านอำนาจรัฐ แต่ในบริบทของวัฒนธรรมกีฬาไทย กลายเป็นว่า ท่าทางของการทำให้ร่างกายของตนขนานไปกับพื้นโลกมากที่สุด---ไม่ว่าจะเป็นการคุกเข่า, การนั่งพับเพียบ, และการหมอบกราบ----คือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ถึงความภักดี, ความเคารพ, และการบูชาอำนาจรัฐไทย ที่ถูกปลูกฝังมาเป็นเวลานานผ่านอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมกีฬาในไทยมีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญกับวัฒนธรรมกีฬาในสหรัฐฯ ซึ่งผู้เขียนเล็งเห็นว่า จำต้องทำการวิเคราะห์และยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมทีละประเด็น ดังนี้:
 

1. น้อยครั้งที่นักกีฬาไทยแสดงจะจุดยืนในทางการเมืองและสะท้อนเสียงชนชั้นล่าง

หากจะกล่าวว่า นักกีฬาไทยไม่สนใจเรื่องการบ้านการเมือง หรือเรื่องทุกข์สุขของประชาชน นั่นก็คงจะเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริงเป็นแน่แท้. เพราะอันที่จริงแล้ว นักกีฬาไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนในอดีต ได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่สนามการเมืองเมื่อยุติอาชีพในสนามกีฬาและขออาสาพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้เข้าไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ยกตัวอย่างเช่น ภราดร ศรีชาพันธุ์ หรือที่รู้จักกันดีในฉายา "ซุปเปอร์บอล" อดีตนักเทนนิสระดับโลกขวัญใจชาวไทย, เยาวภา บุรพลชัย หรือ "น้องวิว" อดีตนักเทควันโดทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิค, หรือจะเป็น ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน หรือที่รู้จักกันในฉายา "เดอะตุ๊ก" อดีตกองหน้าจอมถล่มประตูทีมชาติไทย---นักกีฬาทั้งสามคนที่กล่าวมา ได้ตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี พ.ศ. 2554 ในนามพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินกันอย่างพร้อมเพรียง. นอกจากนั้น ในการเลือกตั้งปีเดียวกัน ก็ยังมีอดีตนักมวยชื่อดังอย่าง สมรักษ์ คำสิงห์ หรือ "เจ้าบาส" อดีตนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิค, สุระ แสนคำ หรือที่รู้จักกันดีในนาม  "เขาทราย แกแล็กซี่" อดีตนักมวยแชมป์โลกขวัญใจชาวไทย, และ มนัส บุญจำนงค์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิคมวยสากลสมัครเล่น ต่างก็ลงสมัครพร้อมกันในนามพรรคชาติไทยพัฒนา อย่างไรก็ตาม การหันมาลงเล่นการเมืองของนักกีฬาไทยก็มีลักษณะเด่นที่น่าสนใจ ในแง่ที่ว่า อดีตนักกีฬาชื่อดังทั้งหลาย มักจะไม่ประกาศว่าตัวเองกำลังหันมา "เล่นการเมือง" หรือสนใจที่จะแก้ปัญหาบ้านเมืองในระดับชาติเสียทีเดียว หากแต่เป็นการประกาศว่า ที่ตนเองลงสมัครรับเลือกตั้งก็เพราะอยากเข้าไปผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนาด้านกีฬาในสภาผู้แทนราษฎร ในแง่นี้ ต่อให้อดีตนักกีฬาชื่อดังของไทยผันตัวเองจากสังเวียนกีฬาเข้าสู่สังเวียนการเมืองแบบเต็มตัว ประเด็นร้อนๆ ทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเหลื่อมล้ำ, เรื่องความยากจน, หรือ เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน มักจะไม่ใช่ประเด็นหลักๆ ที่หลุดออกมาจากปากอดีตนักกีฬาในช่วงระหว่างหาเสียงของพวกเขา และนี่ ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้อดีตนักกีฬาขวัญใจชาวไทยที่ได้เอ่ยชื่อมา ล้วนไม่ได้รับการคัดเลือกหรือพูดง่ายๆ ว่า "สอบตก" ในสนามเลือกตั้งกันอย่างพร้อมหน้า


ภาพประกอบที่ 8: เรวดี ศรีท้าว (ซ้าย) อดีตนักกรีฑาระดับตำนานของทีมชาติไทย ถ่ายภาพร่วมกับเสรี วงษ์มณฑา ในขณะที่ทั้งสองคนร่วมกันกิจกรรมการประท้วงบนท้องถนนของ กปปส. เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง ในช่วงต้นปี 2557 [ภาพจาก ไทยรัฐ]

กระนั้นก็ตาม ในบางครั้ง อดีตนักกีฬาชื่อดังของไทยก็ไม่ได้เมินเฉยต่อประเด็นร้อนๆ ทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคม หากแต่มีความหาญกล้าที่จะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองในที่สาธารณะอย่างชัดเจนแบบไม่ต้องปิดบัง ตัวอย่างเช่น เรวดี ศรีท้าว อดีตนักกรีฑาระดับตำนานของทีมชาติไทย ผู้กวาดเหรียญทองมานับไม่ถ้วนให้กับทีมลมกรดสาวไทย ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมของ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)" ขับไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 (ภาพประกอบที่ 8) โดยเรวดีไม่เพียงแต่ประกาศจุดยืนทางการเมืองว่า ตนเองสนับสนุนการประท้วงบนท้องถนนของ กปปส. หากแต่ยังขึ้นไปปราศรัยบนเวทีการชุมนุมของ กปปส. และวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากกระแสสังคมในตอนนั้นที่กล่าวหาว่า ยิ่งลักษณ์ว่าเป็น "อีโง่" และเป็น "หญิงชั่วขายชาติ."  โดยเรวดีได้กล่าวบนเวทีเอาไว้ว่า:

เคยวิ่งเพื่อชาติมาเกือบ 20 ปี วันนี้มาก็เพื่อชาติ...เมื่อก่อนไปแข่งขันที่ยุโรป เจอกับนักกีฬาต่างชาติ พูดภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง เราก็สเน็คๆ  ฟิชๆ  กับเขาไป แต่ก็พอได้ พอๆ  กับ ยิ่งลักษณ์ แหละว่ะ มันถามว่าบ้านเอ็งยังขี่ช้างอยู่หรือเปล่า บอกเลยว่าไม่ สวยงามยังไง บอกเขาไป บอกประเทศไทยสวยงามมาก แล้วผู้หญิงคนนี้เป็นใคร...เอาประเทศไทยไปขายต่างชาติ...เป็นใคร...ตอนนี้ดิฉันเป็นอดีตนักกีฬาก็ออกมาแล้ว หลายคนยังกลัวอยู่ หลายคนแอบอยู่ ดิฉันเป็นคนแรกที่ออกมา ใครที่ยังกลัวโน่น กลัวนี่ ตัดออกให้หมด สิ่งที่น่ากลัวคือ ประเทศนี้จะอยู่ได้อย่างไร [ถ้า]ไม่มีคนที่รักแผ่นดินอย่างพวกเรา[24]

การขึ้นปราศรัยบนเวที กปปส. ของเรวดีในตอนนั้นได้สร้างกระแสฮือฮาอยู่พอสมควรในสังคม เพราะเธอคืออดีตนักกีฬาชื่อดังคนแรกที่ประกาศจุดยืนว่าจะต่อสู้ทางการเมืองโดยการประท้วงบนท้องถนนร่วมกับ กปปส. อย่างเต็มตัว ซึ่งการเลือกข้างและการต่อสู้ในทางการเมืองเช่นนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ไม่บ่อยนักในแวดวงกีฬาไทย และนั่นก็ทำให้แฟนๆ กีฬาหลายๆ คนสงสัยเหลือเกินว่า อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้ตำนานลมกรดสาวไทยคนนี้ตัดสินใจหันมา "เป่านกหวีด," ประดับร่างกายด้วยสัญลักษณ์ธงชาติ, และขับไล่ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง ข้อสงสัยที่ว่ามา ได้รับการไขกระจ่างด้วยตัวเรวดีเองในเวลาต่อมา เมื่อเธอได้เขียนข้อความลงสื่อออนไลน์กล่าวถึงสาเหตุที่เธอต้องออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองแบบเต็มตัว. ซึ่งข้อความที่ว่านี้ถือว่า สะท้อนภาพรวมของความคิดทางการเมืองไม่เพียงแต่ในหมู่ผู้ชุมนุม กปปส. หากแต่ยังรวมไปถึงในหมู่นักกีฬาไทยหลายๆ คนได้ดี และสมควรที่จะได้รับการอ้างอิงในแบบยาวๆ  มา ณ ที่นี้:

เหตุผลที่ข้าพเจ้าขึ้นเวทีมีดังนี้

1. ข้าพเจ้ารักและเทิดทูนทูลกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี และพระบรมวงศาทุกๆ  พระองค์ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ใครจะมาดูหมิ่นและคิดทำลายไม่ได้

2. ข้าพเจ้าเป็นคนไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย

3. บิดาของข้าพเจ้าทั้งบิดาที่ให้กำเนิดและบิดาที่รับข้าพเจ้าเป็นบุตรบุญธรรมที่ให้ใช้นามสกุลศรีท้าว นั้นเป็นทหารที่รบในสงครามทั้งสองคนและรบเพื่อรักษาแผ่นดินไทย

4. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็นวันทหารผ่านศึก ข้าพเจ้าถือว่าเป็นวันที่ทรงเกียรติสำหรับข้าพเจ้า

5. ข้าพเจ้าได้รับเชิญในฐานะอดีตนักกรีฑาทีมชาติไทยไม่เกี่ยวกับเรื่องใดๆ  ทั้งสิ้น

6. ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการปกครองประเทศโดยระบอบทักษิณ

7. ข้าพเจ้าต้องการปฏิรูปประเทศไทยให้กลับมาสดใสเรืองรองผ่องอำไพโดยลดบทบาทคนชั่วช้าในแผ่นดินนี้ให้มากที่สุด

8. ข้าพเจ้าไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองแต่ข้าพเจ้าทำเพื่อแผ่นดินผืนนี้ที่ให้กำเนิดข้าพเจ้ามา

9. ข้าพเจ้าเป็นกบฏ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงตัดสินใจขึ้นเวทีโดยที่ไม่รู้ว่าจะพูดอะไร จึงมีแต่ความตื่นเต้นไม่ได้เตรียมเนื้อหาเพราะคิดว่าคงเหมือนดาราที่ขึ้นไปแป๊บเดียวแล้วก็ลงมาแต่ปรากฏว่าเขาให้ข้าพเจ้าพูด 20-30 นาที ข้าพเจ้าเลยสติแตกพูดมั่วซั่วมากรู้ตัวดี หากข้าพเจ้าพูดไม่ถูกใจไม่สมกับที่พวกท่านตั้งความหวังว่าคงจะดีข้าพเจ้าก็ขอกราบอภัยมา ณ ที่นี้เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ใช่นักพูด ข้าพเจ้าก็แค่ประชาชนคนหนึ่งที่มีใจรักประเทศไทยอย่างมากมายเช่นเดียวกับพวกท่าน หากทำสิ่งใดให้ไม่ถูกใจข้าพเจ้าขออภัยมา ณ ที่นี้.[25]

ข้อความที่เรวดีได้เผยความในใจถึงสาเหตุที่เธอต้องขึ้นเวทีชุมนุมของ กปปส. ได้สะท้อนมุมมองทางการเมืองที่สำคัญอยู่สามประการออกมา ซึ่งเป็นมุมมองที่ประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน ประการแรกก็คือ เรวดีได้ใช้การประกาศว่าเธอ "เป็นคนไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย," เกิดในตระกูลที่มีประวัติของการ "รบเพื่อรักษาแผ่นดินไทย," และ "รักและเทิดทูน" สถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมในการที่เธอจำต้องออกมาแสดงจุดยืนในทางการเมือง ซึ่งความชอบธรรมอันนี้ตั้งอยู่บนตรรกะที่ว่า สถาบันชาติและสถาบันกษัตริย์ที่เธอรักและหวงแหนกำลังถูกคุกคามจากขั้วตรงข้ามทางการเมือง อย่าง "ระบอบทักษิณ" และ "คนชั่วช้าในแผ่นดิน" ดันนั้นเธอจึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาสู้บนท้องถนน เพื่อ "ปฏิรูปประเทศไทยให้กลับมาสดใสเรืองรองผ่องอำไพ" อีกครั้งหนึ่ง ประการที่สอง เรวดีคิดว่าการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองของเธออย่างโจ่งครึ่ม ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมือง หรือเป็นการเลือกข้างว่าอยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล. ตรงกันข้ามเธอกลับอ้างว่า การกระทำของเธอ "ไม่ได้ฝักใฝ่การเมือง" แต่เป็นการ "ทำเพื่อแผ่นดินผืนนี้ที่ให้กำเนิดข้าพเจ้ามา" ซึ่งมุมมองทางการเมืองเช่นนี้ เป็นมุมมองทางการเมืองที่ถูกผลิตซ้ำกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักการเมือง, ทหาร, ผู้พิพากษา, และนักวิชาการ ในประเทศไทย ที่อ้างว่าตนเองไม่ได้ฝักใฝ่อำนาจทางการเมือง แม้ว่าจะกำลัง "เล่น" หรือแทรกแซงการเมืองอยู่อย่างชัดเจนก็ตาม และประการสุดท้าย เรวดีมองว่าตัวเองเป็น "กบฏ" ต่อต้านผู้ที่กุมอำนาจรัฐ แต่ "กบฏ" ที่ว่านี้ หาได้เป็นการต่อสู้ หรือขัดขืนอำนาจรัฐโดยมีการยึดโยงกับปัญหาของชาวบ้านหรือประชาชนคนชั้นล่างดังที่นักกีฬาอเมริกันมักจะทำกัน ในทางตรงกันข้าม การผันตัวเองของเรวดีจากการเป็นนักกีฬามาเป็น "กบฏ" ล้วนตั้งอยู่บนการยึดโยงตัวเองเข้ากับค่านิยมรักชาติ, ค่านิยมบูชาและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์, และค่านิยมเชิดชูความยิ่งใหญ่ของสถาบันทหาร. พูดง่ายๆ ก็คือ มันไม่ใช่ปัญหาของประชาชนตาดำๆ  หากแต่เป็นปัญหา "ภัยคุกคาม" ของสถาบันเบื้องสูง ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เรวดีออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน

อย่างไรก็ดี การเอากรณีศึกษาของเรวดีมาเป็นมาตรวัดว่า วงการกีฬาไทยไม่เคยยืนหยัดเคียงข้างชนชั้นล่างหรือคนยากคนจน ก็อาจจะเป็นการเหมารวมจนเกินไป. เพราะอันที่จริงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่อาจจะแสดงให้เห็นว่า นักกีฬาไทยไม่ได้เพิกเฉยถึงประเด็นปัญหาของชนชั้นล่าง, ชนชายขอบ, หรือผู้ถูกกดขี่. กรณีว่าก็คือ การที่สมรักษ์ คำสิงห์ ได้ออกมาตอบโต้ อรพิมพ์ รักษาผล หรือที่รู้จักกันในนาม "น้องเบส" เนื่องจากฝ่ายหลังซึ่งเป็นนักพูดในที่สาธารณะได้ตั้งข้อสังเกตุในการพูดหัวข้อ "เกิดอีกกี่สิบชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล" เอาไว้ว่า:

พี่ [อรพิมพ์] จะไม่ถามว่ารักในหลวงไหม รู้อย่างเดียวว่าคนอีสาน…ในหลวงเสด็จฯบ่อยมาก และช่วยคุณเยอะมาก. คนอีสานคะ โปรดฟัง ในหลวงรักพวกคุณ. แปลกนะที่บางที พวกคุณลืมในหลวงเนอะ. แปลกอะ. พี่ไม่ได้ว่านะ. พี่เข้าใจ. เพราะคุณมันเกิดช้าไง?[26]

หากพิจารณากันให้ถ้วนถี่แล้ว คำพูดของอรพิมพ์นั้นไม่ได้ถือว่ามีอะไรใหม่ เพราะมันเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมเดิมๆ ที่แพร่หลายในการเมืองไทยร่วมสมัย นั่นก็คือ วาทกรรมที่ตั้งอยู่บนตรรกะที่ว่า ในเมื่อคนอีสานคือฐานเสียงสำคัญของ "ระบอบทักษิณ" ดังนั้น ถ้า "ระบอบทักษิณ" คือระบอบที่เป็นภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ คนอีสานก็คือคนที่ไม่จงรักภักดี, ไม่รัก, และไม่เคารพต่อสถาบันเบื้องสูงไปโดยปริยาย อย่างไรก็ดี สำหรับสมรักษ์แล้ว การออกมาพูดในที่สาธารณะในครั้งนี้ของอรพิมพ์นั้น ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นดูแคลนศักดิ์ศรีของคนอีสานเป็นอย่างมาก และเขาได้เขียนข้อความลงสื่อออนไลน์โต้กลับอย่างเผ็ดร้อนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานว่า:

โอ้ยๆ ๆ ๆ  บ่อยากสิพากษ์ เว้ามาได้จังได๋ว่ะ
"ว่าคนอีสานบ่ฮักในหลวง"
นักเว้าเอ้ย! มื่อหลังมาเรียนเว้ากับนักมวยแน่เด้อ
ปล.ชื่อเบสท์คือลูกสาวผมเลย ถ้าแม่นลูกสาวสิดีดปากแตกเลย[27]

ในแง่หนึ่ง การที่สมรักษ์ออกมาโต้กลับอรพิมพ์ว่าพูดออกมาได้อย่างไรว่า "คนอีสานไม่รักในหลวง" ถือได้ว่า เป็นการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเพื่อปกป้องคนอีสานซึ่งเป็นประชากรที่มีฐานะยากจนที่สุด, การศึกษาต่ำที่สุด, และได้รับการดูถูกดูแคลนด้วยอคติทางเชื้อชาติและสังคมมากที่สุด เมื่อเทียบกับประชากรในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ในแง่นี้ สมรักษ์---ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมเป็นคนขอนแก่นและเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน---ได้ออกมาต่อสู้เพื่อคนยากคนจน, คนด้อยโอกาส, และคนที่ถูกดขี่ในสังคม ไม่ต่างไปจากนักกีฬาชื่อดังในสหรัฐฯออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิ, ความเท่าเทียม, และความยุติธรรมให้กับคนดำ. นอกจากนั้น สมรักษ์ก็สมควรได้รับคำยกย่องในฐานะที่ทำตัวเป็นตัวอย่างให้นักกีฬารุ่นน้อง---ซึ่งหลายๆ คนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ก็ล้วนแต่มีภูมิลำเนาเดิมเป็นคนอีสานและโตมาจากครอบครัวที่ยากจนทั้งนั้น---ได้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง เพื่อปกป้องคนชนชั้นล่างที่ยังไม่มีเสียงหรือช่องทางในการสื่อสารต่อสังคม กระนั้นก็ตาม ในอีกแง่หนึ่ง การที่สมรักษ์ออกมาแสดงพลังคนอีสานด้วยการบอกเป็นนัยๆ ว่า "คนอีสานรักในหลวงกันทุกคน" ก็ทำให้เราสามารถตั้งคำถามได้เช่นกันว่า หากคนอีสานบางคนมีความรู้สึกในแบบอื่นที่ไม่ใช่ "ความรัก" แบบโรแมนติกตามค่านิยมกระฎุมพีให้กับสถาบันเบื้องสูง สมรักษ์จะออกมาปกป้องสิทธิและเสรีภาพให้กับคนที่ "ไม่จงรักภักดี" พวกนี้หรือไม่? การออกมาโต้กลับคำพูดของอรพิมพ์ในครั้งนี้ของสมรักษ์ ท้ายสุดแล้ว มันเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองเพื่อท้าทายอำนาจรัฐ, ชนชั้นนำทางการเมือง, และอภิสิทธิ์ทางชนชั้น อย่างที่นักกีฬาอเมริกันมักจะทำกัน หรือเป็นการผลิตซ้ำและรักษาลำดับต่ำสูงทางอำนาจและสังคมให้คงไว้ดังเดิม? ตกลงแล้วสมรักษ์และเรวดีมีอุดมกาณ์ทางการเมืองชุดเดียวกันหรือต่างกัน เมื่อพูดถึงสถาบันเบื้องสูงและชาวบ้านชนชั้นล่าง? นี่คือคำถามที่รอให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านได้ลองขบคิดกันให้มากขึ้นทั้งสิ้น


2. นักกีฬาไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกภาครัฐและมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทางการเมือง

สาเหตุหนึ่งที่นักกีฬาไทยมักจะไม่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ หรือเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิ, เสรีภาพ, และความยุติธรรมให้กับชนชั้นล่างที่ถูกกดขี่จากรัฐ นั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่า ในบริบทของวงการกีฬาไทยนั้น  นักกีฬามักจะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกภาครัฐ. กล่าวคือ นักกีฬาที่ยังไม่โด่งดัง, ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ, และมีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่ยากจน มักจะตัดสินใจเข้ารับราชการในองค์กรตำรวจหรือกองทัพ เนื่องจากสถาบันดังกล่าวสามารถให้การสนับสนุนทั้งในแง่ของเงิน, เวลา, สถานที่, และสิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ  ที่เกื้อหนุนให้นักกีฬาสามารถพัฒนาความสามารถของตนเองได้มากกว่าการทำงานในบริษัทหรือห้างร้านของเอกชน นอกจากนั้น เมื่อนักกีฬาพลเรือนคนไหนเริ่มประสบความสำเร็จและโด่งดัง องค์กรตำรวจหรือกองทัพก็จะพยายามเชื้อเชิญให้นักกีฬาคนนั้นเข้ารับราชการ. โดยสิ่งที่นักกีฬาจะได้รับเป็นการตอบแทนก็คือตำแหน่งเกียรติยศทางราชการ, เงินเดือนที่แน่นอน, และสวัสดิการสังคมในฐานะคนของภาครัฐ. ในขณะเดียวกัน สิ่งที่องค์กรภาครัฐจะได้รับจากการรับเอานักกีฬาชื่อดังเข้าสังกัด ก็คือการประชาสัมพันธ์ชั้นเลิศในระดับชาติ เนื่องจากนักกีฬาคนที่ได้รับการติดยศราชการ หาได้ลงแข่งในฐานะพลเรือนสามัญธรรมดาแต่อย่างใด หากแต่เป็นตัวแทนขององค์กรภาครัฐและนำชื่อเสียงมาสู่องค์กรนั้นๆ

ตัวอย่างของกรณีแรกก็คือ วิจารณ์ พลฤทธิ์ เจ้าของฉายา "อิ๊กคิวซัง" อดีตนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย ผู้มีไหวพริบในการชกเป็นเลิศและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิคเป็นคนที่สองในประวัติศาสตร์ไทยต่อจากสมรักษ์ คำสิงห์  วิจารณ์---ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยและเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน---ได้ใช้การชกมวยไทยเพื่อเลี้ยงชีพตั้งแต่ยังเล็กและเข้ามาแสวงหาโอกาสในกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งโปรโมเตอร์ของเวทีราชดำเนินเห็นแววความสามารถจึงสนับสนุนให้วิจารณ์ไปสมัครเข้ารับราชการเป็นตำรวจเพื่อจะได้มีเงินพอเลี้ยงชีพ และก็เป็นการฝึกฝนชกมวยไทยไปพร้อมๆ กับการชกมวยสากลสมัครเล่นในนามของสโมสรตำรวจนี่เอง ที่กรุยทางให้วิจารณ์ติดทีมชาติและกลายเป็นดาวจรัสแสงแห่งวงการมวยในเวลาต่อมา ปัจจุบัน วิจารณ์หันหลังให้กับสังเวียนมวยและรับราชการเป็นตำรวจยศพันตำรวจโท ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจภูธร จังหวัดอุตรดิตถ์[28] ส่วนตัวอย่างของกรณีหลังก็คือ สืบศักดิ์ ผันสืบ เจ้าของฉายา "โจ้ หลังเท้า" นักกีฬาเซปักตระก้อทีมชาติไทยผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยการคว้ารางวัล 6 เหรียญทองซีเกมส์และ 6 เหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ โดยสืบศักดิ์ได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยตั้งแต่การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ปี พ.ศ. 2540 ที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่กว่าที่เขาจะได้เข้าสู่เส้นทางสายกากีก็ต้องรอจนถึงปี พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นปีที่เขาเป็นตัวแทนทีมชาติไปแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศเกาหลี สืบศักดิ์เริ่มรับราชการตำรวจในตำแหน่งพลสำรองพิเศษ และได้ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ ตามความสำเร็จที่ล้นหลามในการรับใช้ทีมชาติแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อ ปัจจุบันสืบศักดิ์ได้ยุติเส้นทางอาชีพกีฬาและรับราชการตำรวจในตำแหน่งสารวัตร สถานีตำรวจท่องเทียว จังหวัดกาญจนบุรี[29]


ภาพประกอบที่ 9: ศักดิ์ศิลป์ วังเอก (คนที่สองจากขวา) หรือ "แหลม ศรีษะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น" นักมวยแชมป์โลกรุ่นซุปเปอร์ฟลายเวตของสภามวยโลก ทำท่าหงายหน้าของตนขึ้นฟ้าหลังจากถูกพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้า คสช. ออกหมัดขวาตรงไปที่ปลายคางแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 [ภาพจาก ไทยรัฐ]

ด้วยเหตุที่นักกีฬาชื่อดังของไทยหลายๆ คนได้มีอาชีพประจำเป็นข้าราชการสังกัดกองทัพหรือสำนักงานตำรวจ มันคงเป็นการยากที่เราจะได้เห็นนักกีฬาเหล่านี้ ออกมาวิพากษ์ความอยุติธรรมที่เจ้าหน้าตำรวจได้กระทำกับประชาชน หรือความรุนแรงที่ทหารได้กระทำกับพลเรือนซ้ำเล้าซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดังนั้น ความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากันระหว่างนักกีฬากับเจ้าหน้าที่รัฐ---ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ---จึงเป็นปรากฏการณ์อันยากยิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ตราบใดที่นักกีฬายังเป็นส่วนหนึ่งและหลอมรวมเข้ากับกลไกของรัฐ ในทางตรงกันข้าม นักกีฬาไทยกลับมีความสัมพันธ์อันดี, ชื่นมื่น, และสยบยอมให้กับผู้นำของรัฐ, นักการเมือง, และ "ผู้หลักผู้ใหญ่" ในบ้านเมือง ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดคือ การที่ วิศักดิ์ศิลป์ วังเอก หรือที่รู้จักกันในนาม "แหลม ศรีษะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น" นักมวยแชมป์โลกรุ่นซุปเปอร์ฟลายเวตคนปัจจุบันของสภามวยโลก ได้เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายทหารผู้ถือครองตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ของประเทศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี, หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทย, และประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยการพบกันระหว่าง วิศักดิ์ศิลป์---ผู้ซึ่งได้รับการบรรจุเข้ารับราชการตำรวจในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษอันเป็นบ้านเกิดของตนหลังจากการคว้าแชมป์---กับประยุทธ์ ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 นั้น เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ, ความชื่นมื่น, และความสนุกสนาน เหตุการณ์ที่น่าจดจำในการพบปะกันของคนดังระดับชาติทั้งสองคนก็คือ ในขณะที่ประยุทธ์กำลังให้กำลังใจและชื่นชมวิศักดิ์ศิลป์ที่สร้างความสุขให้กับคนไทยทั้งชาติ ผู้นำคสช.ก็แสดงออกถึง "ความเป็นชาย" ผ่านการหยอกล้อด้วยการออกหมัดขวาตรง ไปที่ปลายคางของวิศักดิ์ศิลป์แบบแทบไม่ทันได้ตั้งตัว และทำให้ฝ่ายหลังต้องน้อมรับการหยอกล้อดังกล่าวด้วยการทำท่าหงายหน้าของตนขึ้นฟ้า ราวกับว่าท่านผู้นำประเทศประสบความสำเร็จในทำให้แชมป์โลกชาวไทย "หน้าหงาย" ด้วยกำปั้นของตน (ภาพประกอบที่ 9) แม้ว่าวิศักดิ์ศิลป์จะออกมายอมรับทีหลังว่า หมัดที่ประยุทธ์แกล้งต่อยมาที่ปลายคางของตนนั้นทำให้เขา "เกือบกรามหัก [และ] เจ็บเหมือนกัน"[30] เหตุการณ์ที่ว่านี้ ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการที่ผู้นำประเทศดูหมิ่นหรือไม่ให้เกียรตินักกีฬาแต่อย่างไร. ในทางตรงกันข้าม "ผู้หลักผู้ใหญ่" ในวงการมวยที่ร่วมกับวิศักดิ์ศิลป์ในการเข้าพบประยุทธ์ต่างก็หัวเราะกันอย่างครื้นเครงพลางยกมือไหว้ท่านผู้นำราวกับว่า การออกหมัดของฝ่ายหลังคือการให้พรกับนักมวยแชมป์โลกชาวไทยผู้ซึ่งยังถือเป็นผู้น้อยในสังคม บรรยากาศชื่นมื่นและสยบสมยอมเช่นนี้ระหว่างนักกีฬาชื่อดังกับผู้นำทางการเมืองในประเทศไทย อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯคนปัจจุบันเฝ้าดูด้วยความอิจฉาอยู่ก็เป็นได้


3."ไม่ยืน" ไม่ใช่ปัญหาสำหรับนักกีฬาไทย


ภาพประกอบที่ 10: รัชนก อินทนนท์ (ไม่สามารถระบุตำแหน่งในภาพได้) หรือ "น้องเมย์" นำทีมนักกีฬาเยาวชนแบดมินตัน ถวายบังคมแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ณ สนามกีฬาแบดมินตัน โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด กรุงเทพมหานคร วันที่ 16 ตุลาคม 2559. [ภาพจาก ไทยรัฐ]


ภาพประกอบที่ 11: รัชนก อินทนนท์ หรือ "น้องเมย์" นักแบดมินตันหญิงไทย ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรประจำปี พ.ศ. 2557 ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 62 แขวงบางแคเหนือ เขตเลือกตั้งที่ 30 กรุงเทพมหานคร วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557. [ภาพจาก ไทยรัฐ]

ในขณะที่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักกีฬาอเมริกันผ่านการไม่ลุกขึ้นยืนต่อหน้าธงชาติในขณะที่เพลงชาติดังขึ้นในสนาม ได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงการต่อต้านจากประมุขของรัฐและแฟนๆ กีฬาทั้งในสนามและนอกสนาม, การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวงการกีฬาไทยกลับมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากวัฒธรรมอเมริกันอย่างมีนัยยะสำคัญ. กล่าวคือ นักกีฬาไทยดูจะมีความคุ้นชินกับอากัปกิริยาของร่างกายที่ขนานไปกับพื้นโลก---ไม่ว่าจะเป็นการคุกเข่า, การนั่งพับเพียบ, และการหมอบกราบ---และพร้อมจะแสดงอากัปกิริยาที่ว่านี้ หาใช่เพื่อการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านและขัดขืนอำนาจรัฐ หากแต่เป็นการแสดงความเคารพ, สดุดี, และบูชาสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งถือเป็นเสาหลักของประเทศ และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ว่านี้ ไม่ได้นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคม หากแต่นำไปสู่เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญในแง่ที่ว่า นักกีฬาไทยเป็นผู้มีความจงรักภักดีและพิทักษ์สถาบันเบื้องสูง ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมนั้นมีให้เห็นกันอย่างกลาดเกลื่อน เช่น รัชนก อินทนนท์ หรือ "น้องเมย์" นักแบดมินตันหญิงไทยผู้สร้างชื่อเสียงด้วยการคว้าแชมป์ระดับโลก ได้ทำการก้มกราบกลางสนาม เมื่อเธอคว้าแชมป์อินเดีย โอเพ่นในปี พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นการถวายความสำเร็จที่ว่านี้ให้กับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[31] นอกจากนั้น ในปีเดียวกันนี้ เธอยังเป็นผู้นำในการแสดงพลังของนักกีฬาแบดมินตันเยาวชน ผ่านการก้มลงกราบกลางสนามแบดมินตันที่กรุงเทพมหานครเพื่อถวายบังคมแสดงความอาลัยต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (ภาพประกอบที่ 10)[32] การแสดงออกทางสัญลักษณ์ของรัชนกดังที่ได้กล่าวมา ได้สร้างความตื้นตันและการยกย่องสรรเสริญในหมู่แฟนกีฬาไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เธอได้รับเมื่อสองปีก่อนหน้านั้น เมื่อเธอตัดสินใจออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรประจำปี พ.ศ.2557 แต่กลับถูกต่อว่าโดยแฟนๆ กีฬาในสื่อออนไลน์ว่า การกระทำของเธอคือการเลือกข้างทางการเมือง---นั่นก็คือการเลือกอยู่ฝั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่จัดการเลือกตั้ง แทนที่จะ "ไม่เลือกข้าง" ทางการเมืองด้วยการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ที่คว่ำบาตรและขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง (ภาพประกอบที่ 11).[33] ประสบการณ์จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ดูจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้รัชนกได้รู้ว่า ในแวดวงกีฬาไทย การแสดงออกทางสัญลักษณ์เช่นใดถึงจะถือว่าเหมาะสมกับกาละและเทศะทางการเมือง


ภาพประกอบที่12: นักฟุตบอลเยาวชนชายทีมชาติไทย ล้อมวงเป็นวงกลมก่อนจะกราบกลางสนามอย่างพร้อมเพรียง เพื่อถวายบังคมแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  ในการแข่งฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ที่ประเทศบาห์เรน วันที่ 19 กันยายน 2559. [ภาพจาก มติชน]


ภาพประกอบที่ 13: นักกีฬาวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์ตรงบริเวณหน้าโพเดี้ยม รับเหรียญรางวัล เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ณ มหกรรมกีฬาซีเกมส์ปี พ.ศ. 2560 ที่ประเทศมาเลเซีย วันที่ 27 สิงหาคม 2560. [ภาพจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์]

การ "ไม่ยืน" ในสนามกีฬาเพื่อแสดงความเคารพในสถาบันหลักของชาติ ยังพบเห็นได้ในกีฬายอดนิยมของประเทศไทยอย่าง กีฬาฟุตบอล. ตัวอย่างที่เป็นที่จดจำในวงกว้างก็คือ การแข่งฟุตบอลเยาวชนชายชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ที่ประเทศบาห์เรน ในปี พ.ศ.2559 ระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติบาห์เรน ซึ่งหลังจากที่ สิทธิโชค ภาโส กองหน้าทีมไทยทำประตูได้ นักกีฬาทีมชาติไทยได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยล้อมวงเป็นวงกลม, คุกเข่า, และก้มลงไปกราบกลางสนามกีฬา เพื่อแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (ภาพประกอบที่ 12)[34] แม้ทีมชาติไทยจะตกรอบแบ่งกลุ่มในการแข่งขันคราวนั้น แฟนๆ ฟุตบอลชาวไทยก็ให้การต้อนรับนักฟุตบอลเยาวชนไทยอย่างอบอุ่นเมื่อกลับถึงประเทศบ้านเกิด พร้อมกับเสียงสรรเสริญถึงความจงรักภักดีและการรู้จักกาละเทศะของเยาวชนไทย. เหตุการณ์คล้ายๆ กันยังเกิดขึ้นกับกีฬาประเภททีมที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยเช่นกัน อย่าง กีฬาวอลเลย์บอล โดยในพิธีการมอบเหรียญรางวัลกีฬาวอลเลย์บอลชาย ณ มหกรรมกีฬาซีเกมส์ปี พ.ศ.2560 ที่ประเทศมาเลเซีย นักตบลูกยางหนุ่มทีมชาติไทยซึ่งเอาชนะทีมชาติอินโดนีเซียไปได้ในนัดชิงชนะเลิศ ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยต่อหน้าแฟนๆ ในสนามและต่อหน้านักกีฬาชาติเพื่อนบ้านที่ขึ้นรับเหรียญบนโพเดี้ยม กล่าวคือ แทนที่นักกีฬาไทยจะขึ้นรับรางวัลบนโพเดี้ยมชั้นสูงสุดและแสดงอาการดีใจอย่างเต็มที่ พวกเขากลับก้มลงไปกราบกลางสนามต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความอาลัยต่อการจากไปของประมุขของชาติ (ภาพประกอบที่ 13)[35] ในแง่นี้ โพเดี้ยมในการมอบเหรียญรางวัลกีฬาได้ถูกเอามาใช้โดยนักวอลเลย์บอลชายไทยเพื่อเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ต่างไปจากการที่นักกีฬากรีฑาสหรัฐฯได้กระทำเมื่อกว่าห้าทศวรรษที่แล้วในมหกรรมกีฬาโอลิมปิค จะต่างกันก็เพียงแต่ว่า อุดมการณ์ทางการเมืองที่สื่อออกมาจากการแสดงออกทางสัญลักษณ์ในกรณีแรกมีความแตกต่างอย่างสุดขั้วกับกรณีหลัง

การแสดงออกทางสัญลักษณ์บนสนามของนักกีฬาไทยดังที่ได้กล่าวมา อาจจะทำให้เราจำต้องกลับไปทบทวนดูว่า ข้อสังเกตุเรื่องความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมไทยที่ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ได้บรรยายไว้เมื่อตอนที่เขาได้มาเยือนราชอาณาจักรสยาม จะยังฟังขึ้นอยู่หรือไม่ แม้เวลาจะผ่านเลยไปถึงสามร้อยสามสิบปีแล้วก็ตาม. กล่าวคือ ลา ลูแบร์---ผู้ซึ่งเป็นราชทูตจากฝรั่งเศสและคุ้นชินกับการยืนในที่สาธารณะ จนกระทั่งยอมรับว่าตัวเอง "พอใจที่จะยืนกราบทูลพระเจ้ากรุงสยามมากกว่านั่ง"[36]---ได้บรรยายในบันทึกของเขาถึง "มารยาท" ของคนสยามที่ทำให้เขาอดรู้สึกฉงนปนทึ่งไปเสียไม่ได้. กล่าวคือ ลา ลูแบร์ ได้บรรยายถึงธรรมเนียมการ "ไม่ยืน" ของชาวสยามเอาไว้ว่า:

เมื่อตีวงกันอยู่ ชาวสยามจะไม่ลุกขึ้นยืนเป็นอันขาด แต่เขาจะไม่นั่งท่าขัดสมาธิ หากจะยอบกายหมอบลงเพื่อให้ความเคารพซึ่งกันและกัน พวกทาสและพวกบ่าวที่อยู่เบื้องหน้าเจ้าขุนมูลนายของตน และราษฎรสามัญที่อยู่เบื้องหน้าเจ้านาย จะจรดเข่าลงกับพื้นและนั่งทับส้น ศีรษะโน้มมาข้าหน้าเล็กน้อย และพนมมือยกขึ้นเหนือหน้าผาก. ชาวสยามที่เดินผ่านบุคคลที่เขาปรารถนาจะให้ความเคารพนบนอบไป เขาจะเดินก้มตัว พนมมือสูงต่ำตามควร และไม่แสดงการเคารพเป็นอย่างอื่น[37]

บางที มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมเรื่อง "มารยาท" ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาหลายศตวรรษนี้เอง ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้วัฒนธรรมของนักกีฬาไทยต่างไปจากวัฒนธรรมของนักกีฬาอเมริกัน ในขณะที่ในบริบทของวัฒนธรรมอย่างแรก การ "ไม่ยืน" เป็นเรื่องปกติ, เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน, และเป็นการแสดงความนอบน้อมและเคารพโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่ดำรงอยู่ ในบริบทของวัฒธรรมอย่างหลัง การ "ไม่ยืน" คือความผิดแปลก, การขัดขืนอย่างก้าวร้าวต่อขนบธรรมเนียม, และการท้าทายโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่ส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำ, ความอยุติธรรม, และการลดค่าของความเป็นคนให้สยบยอมต่อชนชั้นสูงดั่งบ่าวไพร่.


บทสรุป

แม้ว่าการไม่ลุกขึ้นยืนในสนามของนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล NFL จะสร้างกระแสฮือฮาเป็นอย่างมากในสหรัฐฯ เนื่องจากกระแสการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่ว่านี้ ดูเหมือนจะ "จุดติด" และแพร่ขยายไปยังวงการอื่นๆ เช่น วงการนักร้องและวงการนักแสดง อย่างไรก็ดี การที่คนดังในสหรัฐฯหลายๆ คนทั้งในและนอกสนามกีฬา หันมานั่งคุกเข่าเลียนแบบแคปเปอร์นิคก์ แต่กลับไม่ได้พูดอะไรเป็นเรื่องเป็นราวในประเด็นทางการเมือง หรือการที่นักอเมริฟันฟุตบอล NFL หลายๆ คนเลือกที่จะคล้องแขนหรือแตะบ่าเพื่อนร่วมทีมแทนที่จะคุกเข่าลงตอนเพลงชาติดังในสนาม ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็เริ่มได้รับการตั้งคำถามมากขึ้นในสื่ออเมริกันว่า ตกลงแล้ว การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทั้งหลาย---ไม่ว่าจะเป็นการนั่งคุกเข่า การชูมือขึ้นฟ้า การคล้องแขน หรือการแตะบ่า---ทำไปเพื่ออะไรกันแน่? ตกลงแล้ว ทำไปเพื่อต่อต้านความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อคนดำตามที่แคปเปอร์นิคก์ได้เรียกร้องมาก่อน หรือทำไปเพื่อแสดงความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ผู้เล่น NFL เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีทรัมป์ที่พูดจาไม่เข้าหู? ในตอนแรกที่แคปเปอร์นิคก์ออกมาประท้วง ผองเพื่อนนักกีฬาทำอะไรกันอยู่ถึงปล่อยให้เขาโดนสังคมประณามอยู่เพียงคนเดียว? การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มีข้อจำกัดหรือไม่ หากมันเป็นเพียงแค่การส่งสัญญะให้กับคนในสังคม แต่ไม่สามารถก้าวข้ามโลกเชิงสัญญะและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในสังคม? คำถามที่ว่านี้ยังรอให้คนในสังคมอเมริกันและผู้ที่ติดตามแวดวงกีฬาและแวดวงการเมืองอเมริกันได้ถกเถียงกันต่อไป ตราบใดที่นักกีฬาอเมริกันยังไม่ยอมที่จะเป็นแค่ลูกจ้างขายแรงงานให้กับของเจ้าของทีม และยังพยายามต่อไปในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในสนามเพื่อสะท้อนปัญหาการเมืองนอกสนาม

ส่วนในบริบทสังคมไทย เราอาจต้องหันกลับมาทบทวนถึงธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่นักกีฬาไทยที่มักจะบ่ายเบี่ยงและหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคนชนชั้นล่าง หากแต่เลือกที่จะทำนุบำรุงความสัมพันธ์อันชื่นมื่นและแนบแน่นกับภาครัฐ, ผู้นำรัฐบาล, และชนชั้นสูงในสังคม รวมถึงสนับสนุนและผลิตซ้ำอุดมการณ์หลักของรัฐที่ตั้งอยู่บนสถาบันสำคัญอย่าง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์. ธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่านี้สมควรที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร? อะไรคือข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่ทำให้นักกีฬาไทยไม่ยึดโยงและยืนหยัดกับภาคประชาชน หากแต่ผันตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกภาครัฐ? และ หากอาชีพสำคัญๆ ในสังคมไทย อย่าง นักวิชาการ, ดารานักร้อง, ผู้สื่อข่าว, นักบวช, ข้าราชการ, หรือผู้พิพากษา ต่างได้รับการตั้งคำถามในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมาถึงความมีอภิสิทธ์ในสังคมไม่ต่างไปจากการมีฐานันดรเป็นของตัวเอง รวมไปถึงการละเลยถึงปัญหาความยากจน, ความอยุติธรรม, และความเหลื่อมล้ำที่คนชนชั้นรากหญ้าต้องประสบซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องตั้งคำถามอย่างเดียวกันกับอาชีพที่ได้ชื่อว่าผลิต "ขวัญใจชาวไทย" และ "คืนความสุข" ให้กับคนไทยมาเป็นเวลาเนิ่นนาน? จากที่เคยได้รับการยกเว้นมาโดยตลอด, นักกีฬาไทยสมควรจะได้รับการตรวจสอบ, เพ่งเล็ง, และวิพากษ์ เฉกเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ในฐานันดรเดียวกันสักที.

 

เชิงอรรถ

[1] แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีทรัมป์, ในสัปดาห์ต่อมา สแตรงจ์ได้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมวุฒิสภาในมลรัฐอลาบามา. ดูรายละเอียดได้ใน Eric Bradner. "Roy Moore Wins Alabama Senate GOP Primary Runoff." CNN. September 27, 2017.
[2] Aric Jenkins. "Read President Trump's NFL Speech on National Anthem Protests." Time. September 27, 2017.

[3] กีฬาอีกสองประเภทที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศสหรัฐฯ คือ เบสบอล และฮ๊อกกี้น้ำแข็ง.

[4] กว่า 75% ของผู้เล่นใน NBA เป็นคนดำ ในขณะที่ ลีก NFL ตามมาติดๆ ด้วยการมีผู้เล่นคนดำกว่า 70% ในขณะที่ลีกเบสบอล MSL มีคนดำ 10% คนลาติโน 30% และมีคนขาวถึง 60%. ดูข้อมูลโดยละเอียดได้ใน DiversityInc Staff, "The Measure of Diversity That Only One U.S. Pro Sport Meets." DiversityInc. July 16, 2014. http://www.diversityinc.com/news/measure-diversity-one-u-s-pro-sport-meets/ (accessed October 4, 2017).

[5] Ken Belson and Julie Hirschfeld Davis. "Trump Attacks Warriors' Curry. LeBron James's Retort: 'U Bum.'" New York Times, September 23, 2017.

[6] เพิ่งอ้าง.

[7] The Federal Government of the United States of America. "U.S. Code, Title 36, Subtitle I, Part A, Chapter 3, § 301-National Anthem." The United States Government Publishing Office.

[8] Robert Justin Goldstein. "Flag-Burning Overview." First Amendment Center. November 19, 2002. http://www.firstamendmentcenter.org/flag-burning-overview/ (accessed October 4, 2017).

[9] Les Carpenter. "Kaepernick, Activism and Politics: The NFL Doesn't Know How to Stop This Row." Guardian. August 23, 2017.

[10] Ken Belson. "Kaepernick's Protest Cascades into Protests Over His Job Situation." New York Times. August 23, 2017.

[11] Chris Biderman. "Transcript: Colin Kaepernick Addresses Sitting During National Anthem." USA Today. August 28, 2016

[12] เพิ่งอ้าง.

[13] Scott Gleeson. "Hall of Famer Bill Russell Takes a Knee in Photo." USA Today. September 26, 2017.

[14] Lydia Price. "All the Stars Who Are Taking a Knee in Solidarity with the NFL National Anthem Protest." People. September 28, 2017. http://people.com/celebrity/celebs-take-a-knee-national-anthem-protest/gillian-anderson-david-duchovny (accessed October 4, 2017).

[15] "Woods Stars on Oprah, Says He's 'Cablinasian.'" Associated Press. April 23, 1997.

[16] Krishnadev Calamur. "Muhammad Ali and Vietnam." The Atlantic. July 4, 2016.

[17] Kareem Abdul-Jabbar. "Kareem Abdul-Jabbar: Muhammad Ali Became a Big Brother to Me—and to All African-Americans." Time. June 6, 2016.

[18] "Ali Crowned Sportsman of Century." BBC. December 13, 1999.

[19] "1968: Black Athletes Make Silent Protest." BBC. October 17, 1968.

[20] เพิ่งอ้าง.

[21] "The Olympics: Black Complaint." Time. October 25, 1968.

[22] Xandria James and Kayla Lombardo. "A History of LeBron James's Activism." Sports Illustrated. January 06, 2016.

[23] ปัจจุบันทีมเซนต์ หลุยส์ แรมส์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ลอส แองเจลิส แรมส์ หลังการย้ายเมืองอันเป็นสถานที่ตั้งของทีม ในปี พ.ศ. 2559.

[24] "'เรวดี ศรีท้าว' ไม่ทนขึ้นเวที 'กปปส.' ด่าปูขายชาติ." ASTVผู้จัดการออนไลน์. 5 กุมภาพันธ์ 2557. http://www.manager.co.th/sport/ViewNews.aspx?NewsID=9570000014031 (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 6 ตุลาคม 2560).[25] เพิ่งอ้าง.

[26] "'เบส' โพสต์หลังอีสานฮึ่ม!!" คมชัดลึก. 18 พฤษจิกายน 2559.

[27] "'สมรักษ์ คำสิงห์' จวก 'เบส อรพิมพ์' เว้ามาได้จังได๋ 'ก้อง ห้วยไร่' วอนอย่าดูถูกคนอีสาน." มติชน. วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559.

[28] "'สืบศักดิ์-วิจารณ์' นักกีฬาขวัญใจชาวไทยสู่การรับราชการตำรวจ." ไทยรัฐ. 13 ตุลาคม 2557.

[29] "เปิดใจ 'สารวัตรโจ้ สืบศักดิ์ ผันสืบ' บนเส้นทางสีกากี ในวันที่หันหลังจากวงการลูกหวายไทย." มติชน. 30 พฤษภาคม 2558.

[30] "'เจ้าแหลม' เข้าพบนายกฯ อ้อนขอติดดาว!" ไทยรัฐ. 14 กันยายน 2560.

[31] "'น้องเมย์' ถวายแชมป์แบดอินเดียให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ." มติชน. 4 เมษายน 2559.

[32] "'แม่ปุก-น้องเมย์' นำทีมบ้านทองหยอด ถวายบังคม 'ในหลวงรัชกาลที่ 9.'" ไทยรัฐ. 16 ตุลาคม 2559.

[33] "'น้องเมย์' ไม่โกรธโดนด่าเลือกตั้ง!" คมชัดลึก. 4 กุมภาพันธ์ 2557.

[34] "ทีมชาติไทยรุ่น19 ปี พร้อมใจถวายอาลัย ก่อนพ่ายบาห์เรน 2-3 ศึกชิงแชมป์เอเชีย." มติชน. 20 ตุลาคม 2559.

[35] "เยี่ยมไม่แพ้ฝ่ายหญิง 'ลูกยางหนุ่ม' อัดอิเหนาแชมป์สมัย 7." ASTVผู้จัดการออนไลน์. 27 สิงหาคม 2560.

[36] ซีมง เดอ ลา ลูแบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2552), 182.

[37] เพิ่งอ้าง, 175.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.หอการค้า เผยสำรวจพบหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 2.9 แสน มีคนเป็นหนี้ 91.1%

Posted: 13 Oct 2017 07:32 AM PDT

ชี้สาเหตุมาจากการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเคดิตมาก ขาดรายได้เนื่องจากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ ฯลฯ

13 ต.ค.2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 สำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,191 ตัวอย่าง วันที่ 26 ก.ย. -10 ต.ค. 2560 ว่า ครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซ้ำเดิม 30% พบว่า มีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ 8.9% ซึ่งมีสัดส่วนต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่เริ่มทำสำรวจ และมีคนเป็นหนี้ 91.1% ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปีก่อนซึ่งมียอดหนี้ 298,005 บาท เพิ่มขึ้น 20.2% ปีนี้ในแง่ยอดหนี้สูงสุดรอบ 10 ปี แต่การขยายตัวต่ำสุดรอบ 10 ปี แบ่งสัดส่วนยอดหนี้เป็นในระบบ 74.60% และนอกระบบ 26.40%

"สาเหตุที่ยอดหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะอันดับแรกมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รองลงมารายได้ลดลง ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเคดิตมาก ขาดรายได้เนื่องจากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ และมีหนี้จากการพนันบอลเล็กน้อย" เสาวณีย์ กล่าว

เสาวณีย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ก่อหนี้ อันดับแรกมี 23.3% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, รองลงมา 21.9% ซื้อยานพาหนะ, 11.9% ชำระหนี้เก่า, 10.6% ลงทุนประกอบอาชีพ, 10.6% ซื้อที่อยู่อาศัย และ 8.8% เพื่อการศึกษา จะเห็นว่ายังกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตามรายได้ที่ไม่พอรายจ่าย แต่มีการนำไปใช้หนี้เก่าด้วย เป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ในอนาคตจะลดลง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพยังอยู่ระดับต่ำ ปกติควรจะอยู่ระดับ 20-40% สะท้อนเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่

เสาวณีย์ กล่าวว่า สำหรับการผ่อนชำระเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 15,438 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.69% จากปีก่อน แบ่งเป็นการชำระหนี้ในระบบ 14,032 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 24.41% ชำระหนี้นอกระบบ 5,512 บาทต่อเดือน ลดลง 46.33% ซึ่งนับว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ผลจากมาตรการภาครัฐที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การขูดรีดนอกระบบลดลง และครัวเรือนมีการปรับตัว ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปี 2560 พบว่า 20.7% ไม่เคยมีปัญหา อีก 79.3% เคยมีปัญหา เนื่องจากราคาสินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์อุทกภัยต่างๆ รายได้ลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น

เสาวนีย์ กล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่าง 70.7% ระบุว่าภายใน 1 ปีนับจากปัจจุบันไม่มีความต้องการกู้เพิ่ม อีก 29.3% มีความต้องการกู้เพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการกู้ในระบบ เพื่อนำไปใช้จ่ายทั่วไป ชำระหนี้เก่า ซื้อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ บ้าน เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ/อาชีพ และจ่ายบัตรเครดิต เป็นต้น นอกจากนี้ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีหลังจากนี้ โอกาสที่จะประสบปัญหาการชำระหนี้ พบว่า 4.5% ไม่มีเลย, 43% น้อย, 36.8% ปานกลาง และ 15.8% มาก สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่มองใน 1 ปีข้างหน้า ที่เศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจของครัวเรือนน่าเป็นห่วงในระดับที่น้อย เป็นสัญญาณที่ดีที่จะก่อหนี้น้อยลง สามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น ตามเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นด้วย

เสาวณีย์ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน เช่น ลดค่าครองชีพ ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน อย่างค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุม ช่วยลดอัตราเงินกู้ มีการส่งเสริมรายได้และอาชีพ ดำเนินการและจัดการเรื่องการลงทะเบียนคนจน จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ ลดข้อจำกัดเข้าถึงแหล่งทุน ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหรัฐฯ-อิสราเอลประกาศถอนตัว 'ยูเนสโก' อ้างเพราะมีอคติต่ออิสราเอล

Posted: 13 Oct 2017 06:59 AM PDT

สหรัฐฯ ประกาศจะถอนตัวออกจากสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) โดยอ้างว่ายูเนสโก "มีอคติต่อต้านอิสราเอล" หลังมีมติให้เขตเมืองเก่าในปาเลสไตน์ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ขณะที่อิสราเอลก็จะถอนตัวตามเช่นกัน

ที่มาของภาพประกอบ: Israel Defense Forces/Flickr

13 ต.ค. 2560 เฮเธอร์ เนาเอิร์ต โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าจะส่ง "หน่วยสังเกตการณ์" เข้าไปนั่งแทนที่ตัวแทนที่แต่เดิมเข้าไปนั่งในฐานะสมาชิกขององค์กรยูเนสโก และบอกอีกว่า ควรจะต้องมี "การปฏิรูป" ยูเนสโก ขณะที่นิกกี ฮาลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติก็กล่าวว่ายูเนสโกเป็นองค์กรที่ "ถูกทำให้เป็นการเมืองอย่างสุดโต่ง" และกลายเป็น "สิ่งที่น่าอับอายอยู่เสมอ"

ทางการอิสราเอลแถลงชื่นชมการตัดสินใจของสหรัฐฯ ว่า "กล้าหาญและมีศีลธรรม" และวิจารณ์ยูเนสโกว่าเป็น "โรงละครแห่งความไร้สาระ" นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีองอิสราเอลยังบอกให้กระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลเตรียมการให้อิสราเอลออกจากสมาชิกภาพยูเนสโกตามสหรัฐฯ ไปด้วย

การตัดสินใจออกจากสมาชิกภาพยูเนสโกของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีการเตรียมการมาหลายเดือนแล้ว โดยที่การออกจากสมาชิกจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2561 ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็จะยังมีตัวแทนสังเกตการณ์ในองค์กรนี้โดยกวังว่าจะยังสามารถนำเสนอความคิดเห็นของสหรัฐฯ หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่มีผู้เชี่ยวชาญอย่างด้านเสรีภาพสื่อหรือด้านการคุ้มครองมรดกโลกได้

อย่างไรก็ตามอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกกล่าวว่าการออกจากสมาชิกภาพยูเนสโกของสหรัฐฯ นั้นเป็น "การสูญเสียต่อแนวทางการตกลงร่วมกันจากหลายฝ่าย" โบโกวาบอกอีกว่าในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งฉีกกระชากทำลายสังคมไปทั่วโลก เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์กรของสหประชาติที่ส่งเสริมการศึกษาและคุ้มครองวัฒนธรรมที่กำลังถูกโจมตี

ถึงแม้ว่าการที่สหรัฐฯ ออกจากสมาชิกยูเนสโกจะไม่มีผลต่อสภาพการคุ้มครองมรดกโลกในสหรัฐฯ และไม่ได้จำกัดสิทธิให้สหรัฐฯ ยื่นขอจดทะเบียนมรดกโลกได้ในอนาคต แต่หัวหน้าฝ่ายสื่อของยูเนสโกก็บอกว่ามันทำให้สหรัฐฯ สูญเสียพรรคพวกด้านความมั่นคงในระดับโลก เนื่องจากว่าในขณะที่ยูเนสโกมีบทบาทพยายามต่อสู้กับกลุ่มสุดโต่ง ทำให้เด็กหญิงได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ครูได้รับการฝึกอบรมตามที่ต้องการ แต่น่าผิดหวังที่สหรัฐฯ จะออกจากสมาชิกภาพ

ทางการสหรัฐฯ เองช่วยก่อตั้งยูเนสโกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดเสรีภาพผ่านการถ่ายเทความคิดและการศึกษาอย่างเสรี การออกจากสมาชิกภาพในครั้งแสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลทรัมป์วางตัวออกห่างจากองค์กรระดับโลกอีกครั้ง

สหรัฐฯ เคยมีประวัติถอนตัวจากยูเนสโกมาครั้งหนึ่งแล้วในยุคสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ช่วงปี 2527 อ้างว่ายูเนสโกมีอคติโน้มเอียงเข้าข้างสหภาพโซเวียต จนกระทั่งจอร์จ ดับเบิลยู บุช นำสหรัฐฯ เข้าเป็นสมาชิกอีกครั้งในปี 2545 อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2554 สหรัฐฯ ก็ถอนทุนจากยูเนสโกเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ยูเนสโกยอมรับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ

หลังจากมีการยอมรับปาเลสไตน์เป็นสมาชิกก็ทำให้อิสราเอลรู้สึกผิดใจกับยูเนสโก ความชัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับยูเนสโกในครั้งล่าสุดนี้ก็มาจากความไม่พอใจมติของสหประชาชาติที่ประกาศให้เมืองเก่าแห่งเฮบรอนในเขตเวสต์แบงค์เป็นมรดกโลก โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งมัสยิดสำคัญของชาวมุสลิมและสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวยิว ซึ่งอิสราเอลไม่พอใจมตินี้โดยอ้างว่ามติของยูเนสโกลบเลือนความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมและศาสนาของพื้นที่เฮบรอนที่มีต่ออิสราเอล ทำให้อิสราเอลโต้ตอบด้วยการเถอนทูตออกจากยูเนสโก

เรียบเรียงจาก

US and Israel withdraw from UNESCO, Aljazeera, 13-10-2017

US withdraws from Unesco over 'anti-Israel bias', The Independent, 13-10-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวียดนามเรียกร้องกัมพูชาคงสิทธิความเป็นพลเมืองของคนเชื้อสายเวียดนาม

Posted: 13 Oct 2017 06:32 AM PDT

รมว.ต่างประเทศเวียดนามแถลงต่อกัมพูชาแสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์ของชาวเวียดนามในกัมพูชา หลังจากที่ทางการกัมพูชาประกาศว่ามีชาวเวียดนามราว 70,000 รายเป็น "ผู้อพยพผิดกฎหมาย" ทั้งที่หลายคนมีเชื้อสายเวียดนามแต่เกิดในกัมพูชา และทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศกัมพูชามาตลอด

13 ต.ค. 2560 เวียดนามไรท์นาวซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเวียดนามรายงานว่า ทางการเวียดนามแสดงความกังวลถึงกรณีคนเชื้อสายเวียดนามจำนวนมากที่อาศัยในกัมพูชากำลังถูกทางการกัมพูชาริบสิทธิในความเป็นพลเมืองไป

ทางการกัมพูชาประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่ามีชาวเวียดนามราว 70,000 รายที่ถูกประกาศให้เป็น "ผู้อพยพอย่างผิดกฎหมาย" ถึงแม้ว่าชาวเวียดนามจำนวนมากจะเกิดในกัมพูชา

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเวียดนามเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาคงไว้ซึ่งสิทธิความเป็นพลเมืองของชาวเวียดนามต่อไป โดยที่ชาวเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชาจำนวนมากทำงานประมงอยู่ที่โตนเลสาบซึ่งเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางประเทศกัมพูชา

ชุมชนประมงในโตนเลสาป ทะเลสาปน้ำจืดใจกลางกัมพูชา ภาพถ่ายในปี 2560 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

รัฐมนตรีต่างประเทศของเวียดนามกล่าวอีกว่าคนเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชามีส่วนร่วมทางสังคมในการพัฒนากัมพูชาและช่วยให้เกิดมิตรภาพที่ดีระหว่างสองประเทศ ทางการเวียดนามจึงเรียกร้องให้ชาวเวียดนามยังอาศัยอยู่ในกัมพูชาต่อไปได้ในขณะที่กำลังมีการแก้ไขปัญหาสถานะทางกฎหมาย เวียดนามไรท์นาวระบุว่าถ้อยแถลงของทางการเวียดนามไม่ได้มีลักษณะข่มขู่แต่แสดงออกว่าการปฏิบัติอย่างดีกับชุมชนชาวเวียดนามเป็นปัจจัยหนึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชากล่าวว่ามีการให้สัญชาติแก่ชาวเวียดนาม "อย่างไม่เหมาะสม" ทำให้ในตอนนี้มีคนเชื้อสายเวียดนามราว 70,000 รายถูกจัดให้เป็น "ผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย" แต่ก็ยังไม่มีแผนการส่งตัวพวกเขาออกนอกประเทศและยังอนุญาตให้ผู้คนเหล่านั้นลงทะเบียนเป็นพลเมืองได้กับรัฐบาลในท้องถิ่น

มีชาวเวียดนามจำนวนมากอพยพไปอยู่กัมพูชาในช่วงปลายยุคสมัยที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมอินโดจีน มีบางส่วนที่หนีความรุนแรงในสมัยที่มีสงครามเรียกร้องเอกราชและการรวมชาติ ชุมชนชาวเวียดนามในกัมพูชาเองก็เคยประสบกับการถูกเหยียดเชื้อชาติและถูกใช้ความรุนแรงในสมัยสงครามกลางเมืองกัมพูชา ซึ่งมีกลุ่มเขมรแดงซึ่งนิยมใช้วิธีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เรียบเรียงจาก

Concern for Vietnamese in Cambodia, Vietnam Right Now, 10-10-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทสนทนาลับระหว่างทรัมป์กับประยุทธ์ (ขรรมๆ อย่าคิดมาก)

Posted: 13 Oct 2017 01:58 AM PDT

ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาในช่วงพบปะรอบพิเศษระหว่างผู้นำทั้ง 2 ประเทศซึ่งไม่ได้ถูกบันทึกไว้โดยสื่อมวลชนเพราะเป็นการพูดกันตามลำพัง มีเพียงล่ามของพลเอกประยุทธ์อยู่ด้วยเพียงคนเดียว (เพราะความเป็นเลิศทางภาษาอังกฤษของ ฯพณฯ) 

ประยุทธ์: ท่านประธานาธิบดี ผมรู้สึกดีใจที่ท่านให้โอกาสพิเศษแก่เราทั้งคู่ได้พูดคุยกันอย่างเปิดอกครับ

ทรัมป์: ไม่เป็นไรครับเพราะผมสนใจประเทศท่านมากด้วยมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ดังคำว่า Thailand Only ท่านนายกรัฐมนตรี ถามจริงๆ เถอะ ว่าทำไมท่านถึงรีบบอกกับผมว่าปีหน้าจะประกาศการเลือกตั้งทั้งที่ผมก็ไม่ได้ถามหรือเซ้าซี้จะเอาคำตอบสักหน่อย

ประยุทธ์: คือผมเตรียมเป็นสคริปต์ไว้อะครับ กลัวท่านจะถาม ไปๆมาๆ เพื่อไม่เป็นการเสียเปล่าก็ชิงสร้างภาพอันดีงามว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

ทรัมป์: ถึงผมจะดูโง่หรือไอคิวต่ำสักหน่อย แต่ผมก็ศึกษาการเมืองของท่านมาดีพอใช้นะ เห็นสื่อของไทยหลายสำนักโจมตีว่าท่านพูดอย่างนี้มาหลายครั้งแล้วในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่จัดการเลือกตั้งสักที

ประยุทธ์: ท่านขวานผ่าซากจริงๆ นะ ผมก็ขอตอบตามตรงว่าเพราะหวงอำนาจไง ไปไหนทีก็มีแต่คนกุมเป้ากางเกงพร้อมเลียมือเลียเท้าผมเต็มที่  ที่สำคัญถ้ารีบลงจากตำแหน่ง ไอ้ทักกี้และพวกเกิดได้กลับมามีอำนาจทางการเมือง จะเกิดอะไรขึ้น ก็เลยถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ  แต่ถ้าวันนั้นมาถึง ผมก็จะเตะถ่วงไปได้อีกเพราะประเทศนี้สามารถเกิดอุบัติเหตุได้อีกเยอะแยะในอนาคตครับ

ทรัมป์: ว่าแล้ว ท่านนายกฯ ก็เสพติดเก้าอี้เหมือนผมนั่นแหละ ไอ้สื่อมวลชนบ้านผมบ้า มันบอกว่าถ้าผมลงสมัครลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีในวาระที่ 2 ก็คงจะแห้ว คอยดูเหอะถ้าวันนั้นมาถึงรับรองว่าพวกมันน้ำตาตกในแน่ๆ

ประยุทธ์: (มีเสียงกลั้นหัวเราะ) งั้นผมขอถามท่านตรงๆ บ้างก็แล้วกันว่า ท่านไม่กลัวเสียชื่อหรอกหรือที่ให้การต้อนรับผม ผู้นำที่ถูกตราหน้าว่าเป็นเผด็จการทหารในประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทย

ทรัมป์: ฮะๆๆ ไม่ได้ตราหน้าหรอก เพราะเป็นเรื่องจริง รู้สึกจะมีไทยเพียงประเทศเดียวในโลกที่หัวหน้ารัฐบาลเป็นทหารที่มาจากการทำรัฐประหาร  เอาอย่างนี้ ในฐานะที่ท่านมีความรู้ทางประวัติศาสตร์จำกัดอยู่ที่ภูเขาอัลไต ก็เลยอยากจะบอกว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ นั้นยืดหยุ่นอยู่เสมอตลอดเวลาที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงสงครามเย็น ถึงแม้เราจะภูมิใจในความเป็นประชาธิปไตย และเผยแพร่ลัทธินี้ไปทั่วโลกแต่เพื่อผลประโยชน์และอำนาจ เราก็สามารถจูบปากกับเผด็จการได้เสมอ ไม่ใช่เฉพาะผมหรอก  ดูอย่างอีตาโอบามาสิ แกยังอดทนกับเผด็จการในตะวันออกกลางได้ตั้งหลายปี จนประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วงอย่างที่เค้าเรียกว่า  "อาหรับสปริง"   ที่จริงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ต่างหวาดกลัวอำนาจของประชาธิปไตย เพราะพลังของประชาชนมักจะเข้ากันดีกับพวกฝ่ายซ้ายที่แอนตี้จักรวรรดินิยมอเมริกัน 

ประยุทธ์: อ้าว แล้วไทยละครับ ก่อนหน้านี้ทำไมสหรัฐฯ ถึงคว่ำบาตร กดดันไทยจัง

ทรัมป์: อันนี้ผมเดาเอาว่า ก็เพราะสหรัฐฯ ต้องการเอาประเทศของท่านมาเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพว่าเป็นผู้ยกย่องคุณค่าประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่สลิ่มบ้านท่านยกมาถล่มเมื่อก่อนว่าสหรัฐฯ หน้าไหว้หลังหลอกก็เป็นเรื่องจริงนะ อย่างเช่นการทำรัฐประหารในอียิปต์ไง ที่สหรัฐฯ ทำท่าหลีกเลี่ยงในการประณาม  สำหรับผมก็เคยพูดมาแล้วไงว่าจะไม่กดดันใครหรืออะไรทั้งนั้นเพื่อความเป็นมิตรและผลประโยชน์ของประเทศ

ประยุทธ์: ความจริงท่านก็ทำเพื่อคะแนนความนิยมของท่านด้วยใช่ไหม

ทรัมป์: ใช่ครับ ยิ่งตอนนี้คะแนนความนิยมของผมกำลังต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่ด้วย ที่สำคัญคนอเมริกันโดยเฉพาะฐานคะแนนเสียงของผมไม่ใช่พวกเชิดชูประชาธิปไตยเท่าไรนัก  พวกเขาต้องการให้ America Great Again เสียมากกว่า  ถ้าช่วยให้มีการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผมก็ยินดีทำทั้งนั้น ดูสิ ตอนนี้ไทยกลายเป็นลูกค้าที่แสนดี คือใช้เงินหมดไปกับอาวุธสงครามที่ซื้อจากเราเยอะๆ หรือไม่ก็รับสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ที่ทำให้คนในประเทศท่านงงงวยว่ามันดีจริงๆ หรือไม่ ส่วนงบประมาณด้านอื่นเช่นอุปกรณ์การแพทย์สำหรับโรงพยาบาลก็ให้ไอ้ตูนไปวิ่งขอบริจาคเงินก็แล้วกัน 

ประยุทธ์: (ไอกระแอม) ความจริงประเทศผมก็ได้ประโยชน์อย่างอื่นเหมือนกันจากการกลับมาเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศท่าน ขอสารภาพนะครับว่าเมื่อปีที่แล้ว พวกผมก็หนักใจอยู่มากเพราะเข้าใจว่าคนที่จะชนะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็คือนางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งก็คงมีนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะกับไทยไม่ต่างจากโอบามาเท่าไรนัก เราก็ต้องหาทางในการแปลงประเทศไทยให้เป็นเผด็จการจำแลง เพื่อได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ ให้ได้ แต่พอท่านได้เป็น พวกเราก็โล่งใจเยอะ ไม่ต้องอำพรางอะไรให้มาก นอกจากสัญญาลมๆ แล้งๆ  

ทรัมป์: ตามมุมมองของผมนะ นางคลินตันก็อาจจะไม่ต่างจากผมเท่าไรหรอก นอกจากจะใช้ภาษาตามสไตล์พวกเดโมแครตเช่นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ดูอย่างช่วงโอบามา สหรัฐฯ ก็ไม่ได้กดดันไทยเท่าไร นอกจากเล่นเกมทางจิตวิทยา ถ้านางเป็นประธานาธิบดี พวกท่านคงเหนื่อยต่อไปอีกสักหน่อย และถ้าแผนการของสหรัฐฯ ในโอบล้อมจีนเข้มข้นขึ้น พวกท่านก็เป็นต่อมากขึ้น สหรัฐฯ อาจจะส่งสัญญาณขอคืนดีกับท่านแบบเนียนๆ จนพวกนิยมประชาธิปไตยไม่ทันรู้ตัว

ประยุทธ์: อย่างไง ผมก็รู้สึกสบายใจที่ได้คนซื่อบื้อเอ้ยคนตรงอย่างท่านเป็นประธานาธิบดี เป็นคนที่เหมาะกับการทำธุรกิจด้วย   ท่านยังช่วยทำให้พวก "ควายแดง" หลายตัวถึงกลับเงิบเพราะเคยสบประมาทว่าไม่มีใครคบผม

ทรัมป์: ผมเองก็รู้สึกสบายใจเหมือนกันนะที่ได้คนบ้าอำนาจอย่างท่านเป็นนายกรัฐมนตรี  ถ้าผมกดดัน เล่นเกมกับท่านเหมือนโอบามา ผมคงจะจั๊กกะจี้ ไม่กล้าเชิญผู้นำที่เป็นเผด็จการในดีกรีเดียวหรือยิ่งกว่าไทยอย่าง อียิปต์ ตุรกี เวียดนาม ฯลฯ มาเยือนทำเนียบขาวหรอก  ส่วนพวกควายแดงนั้นอาจจะไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แท้จริงหรอกว่า ผลประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่อุดมการณ์ประชาธิปไตย

ประยุทธ์: เป็นการกลับตาลปัตร นะครับที่ว่าพวกท่านขึ้นมามีอำนาจด้วยระบอบประชาธิปไตย และการเมืองอเมริกันก็เต็มไปด้วยการถ่วงดุลทางอำนาจของสถาบันต่างๆ  แถมยังเน้นลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมที่ให้อำนาจแก่รัฐธรรมนูญมาก แต่ประธานาธิบดีลึก ๆ กลับชอบเผด็จการ

ทรัมป์: เอาตามจริงนะ ประชาธิปไตยสหรัฐฯ ค่อนข้างซับซ้อน ประเทศอื่นๆ ที่เค้าปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดี ประธานาธิบดีมาจาการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่สหรัฐฯ กลับใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้งมาตัดสิน เพราะผู้ก่อตั้งประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญไม่ไว้ใจประชาชน ดูผมสิแพ้คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนเกือบ 3 ล้านเสียงแก่นางคลินตัน ผมยังชนะเลย

ประยุทธ์: ใช่ครับ ถ้าเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย ท่านก็คงแพ้ยับเยิน เลยเป็นบทเรียนสำหรับไทยว่าถ้าผม (หรือเด็กในสังกัด) ลงเลือกตั้งตามแบบรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ผมคงแพ้ลูกน้องทักกี้ด้วยสัดส่วนคะแนนประมาณนี้ ก็เลยให้ลิ่วล้อร่างกฎหมายเลือกตั้งสร้างระบบใหม่ที่ซับซ้อนแบบเยอรมันเพื่อไม่ให้ป้องกันไม่ให้ความนิยมของคนไทยต่อทักษิณหนุนพรรคเพื่อไทยให้เป็นรัฐบาลอีก

ทรัมป์: เท่านั้นยังไม่พอ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ กลายเป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับประธานาธิบดี เพราะประธานาธิบดีจะกลายเป็นเป็ดง่อย เพราะจะมีสถาบันอย่างรัฐสภาและตุลาการที่สามารถขัดขาไม่ให้นโยบายหรือการบริหารรัฐกิจดำเนินไปได้ดีหรือมีประสิทธิภาพ แถมสหรัฐฯ ยังเป็นประเทศแบบสหพันธรัฐ ที่รัฐบาลกลางมีอำนาจจำกัด ประธานาธิบดีจึงต้องพยายามเล่นเกมอำนาจ อย่างโอบามาถือได้ว่าเป็นพวกต่อต้านระบอบสหพันธรัฐเพราะดึงอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลางอย่างมาก  ยิ่งถ้าประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดเหมือนกฎหมายมาตรา 44 อย่างท่านด้วยก็จะเป็นเรื่องดี  พวกท่าน (ผู้นำเผด็จการ) คือบุคคลในฝันสำหรับประธานาธิบดีอย่างผมเลย

ประยุทธ์: เล่นเอาเขินเลยนะครับ ท่าน จริงๆ ม.44 ก็แป๊กหลายครั้งแล้ว เพราะอำนาจแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาดเหมือนกับ ม.17 ของจอมสฤษดิ์ (อดีตสมุนของกรุงวอชิงตัน) ขนาดเอาผู้ต้องสงสัยไปยิงเป้ากันต่อหน้าประชาชนกันเห็นๆ  ผมต้องเผชิญกับอำนาจของระบบราชการ กลุ่มผลประโยชน์ หรือแม้แต่พลังของประชาชนเองที่ไม่ได้ต่อต้านคสช.แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐเสมอไป

ทรัมป์: แต่ที่ผมอิจฉาท่านอย่างหนึ่งคือท่านสามารถเล่นงานสื่อมวลชนได้อยู่หมัด  ผมล่ะแสนเบื่อสื่อมวลชนบ้านตัวเองเต็มทีแล้วโดยเฉพาะซีเอ็นเอ็น หรือไม่ก็เอบีซี  มันโจมตีผมเหลือเกินทำให้คะแนนความนิยมของผมลดลงเรื่อยๆ  เจ้าเสรีภาพของสื่อนี่แหละ ที่ทำให้ประธานาธิบดีพังกันมาหลายคน ดูอย่างนิกสัน กรณีวอเตอร์เกตสิ  ผมจะต้องพยายามอย่างยิ่งในการเอาชนะสื่อเหมือนท่านให้ได้ วิธีการหนึ่งก็คือการใช้ทวิตเตอร์

ประยุทธ์: ว่าไป 3 ปีที่ผมกับพวกยึดอำนาจมานี่ก็เข้าควบคุมสื่อได้อยู่หมัดช่วงต้นๆ โดยใช้ปลายกระบอกปืนเท่านั้นแหละครับ พอคลายลงสักหน่อย เจ้าพวกโซเชียลมีเดียเล่นงานผมซะอ่วมเลย แถมกระแสหลักก็หันมาพยศกับผมเป็นครั้งคราว นี่เลยต้องให้เจ้าสนช.แก้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อให้มากที่สุด

ทรัมป์: ออ ก่อนหน้านี้ ผมเห็นในยูทูบเวลาท่านให้สัมภาษณ์สื่ออย่างกะหมูกะหมาสลับกับมธุรสวาจา (เข้าทำนองตบหัวแล้วลูบหลัง) ทำให้พวกนักข่าวไม่กล้าถามคำถามอะไรเต็มปากเต็มคอนัก ผมว่าผมเป็นคนขวานผ่าซาก แล้วยังไม่ได้ครึ่งของท่านเลย

ประยุทธ์: ไอ้เรื่องการให้สัมภาษณ์นี่ เพราะผมเป็นทหารเก่าที่ขาดความอดทนกับเสรีภาพหรือคำถามอย่างเล่นลีลาแบบพลเรือน ไม่เหมือนกับอีปูหรือไอ้มาร์ค ที่สำคัญ ผมคงรับไม่ได้ที่จะถูกผู้สื่อข่าวรุ่นลูกรุ่นหลานต้อนจนมุมกับเรื่องที่ตอบไม่ได้เลยต้องตวาดเพื่อชิงความได้เปรียบ  ลึกๆ แล้วผมเป็นคนตลกแถมยังอ่อนโยนครับ ไม่เชื่อลองไปถามภรรยาของผมดูสิ 

ทรัมป์: ออเข้าใจล่ะ ผมก็อ่อนโยนไม่แพ้ท่านเหมือนกันนะ พูดถึงการควบคุมสื่อนี่คงต้องชมเกาหลีเหนือเค้าล่ะ  ที่จริงแล้วผมอยากให้สหรัฐฯ เหมือนเกาหลีเหนือเสียจริง เพราะปลูกฝังลัทธิเชิดชูบุคคล  (Cult of Personality) จนชาวบ้านกลายเป็นโรบอตเทิดทูนท่านผู้นำดุจดังเทพเจ้า ที่ผมเล่นสงครามน้ำลายกับไอ้หมูอ้วนคิม จองอุนก็เพราะเป็นเรื่องนิวเคลียร์เท่านั้นนะ ส่วนรูปแบบการปกครองผมชอบเกาหลีเหนือมาก คงจะดีนะครับ คนอเมริกันร้องเพลงสรรเสริญพร้อมกับชูป้ายเชิดชูท่านทรัมป์ๆๆ ท่านทรัมป์เอ่ยเช่นไร สื่อก็รับมาแซ่ซ้องอย่างเทิดทูน

ประยุทธ์: เหมือนกันเลยครับ ไทยเองก็เป็น "เกาหลีเหนือ" แบบเนียนๆ  ผมก็เลยอยู่ในทุ่งหญ้าลาเวนเดอร์ คือออกมาพูดคนเดียวหน้าจอโทรทัศน์โดยเข้าใจว่าเรตติ้งคนดูประมาณเรื่อง "นาคี"  ผมยังเสพแต่สื่อที่สรรเสริญตัวเองหรือไม่ก็เชื่อแต่สำนักโพลกำมะลอที่ผลสำรวจมักเป็นการเชียร์รัฐบาลแบบสุดติ่ง ถ้าใครวิจารณ์รัฐบาลแรงๆ เข้าก็ยัดข้อหาว่ากระทำผิดกฎหมายมาตรา 116 หรือไม่ก็ 112 แถมพ่วงไปเลย แต่ถ้าจะให้ดีประเทศของเราน่าจะเหมือนเกาหลีเหนืออีกอย่างคือประชาชนไม่ค่อยมีอินเทอร์เน็ตใช้ ปิดประเทศเลยก็ดี ไม่มีโซเชียลมีเดีย ประชาชนรับข่าวสารเพียงด้านเดียว

ทรัมป์: (เสียงปรบมือ) พูดผ่าลงกลางใจผมเลยครับ แต่เหลือไว้เฉพาะทวิตเตอร์ก็ดีนะ

ประยุทธ์: เหมือนกันครับ แหมคุยกับท่านแล้วได้ความรู้เกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายเรื่องเลยนะ ไป ๆ มาๆ เราก็ไม่ค่อยต่างกันเท่าไร 

เสียงของผู้หญิง (ซึ่งน่าจะเป็นเมลาเนีย ทรัมป์) แทรกมา: ขอเชิญท่านทั้ง 2 รับประทานอาหารเที่ยงได้แล้วค่ะ ตอนนี้ไม่รู้ว่าฝนหยุดตกหรือยัง

จบบทสนทนา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: บัตรอนาถา

Posted: 13 Oct 2017 12:29 AM PDT



ความจริงใช่สิ่งเพ้อฝันชวนเชื่อ
ใครคือเหยื่อเหลือรัฐประหาร
เหยื่อประชารัฐชัดเพื่อรัฐบาล
เหยื่อชั่วลูกชั่วหลานทั่วบ้านเมือง

บัตรอนาถาประชารัฐบาล
ร้อยพันล้านผ่านทุนขุนทุกเรื่อง
ผลประโยชน์อำนาจอนาถเปลือง
ขุนศึกเขื่องเรืองรองเงินทองชาติ

บัตรเดบิตติดรูดกระฉูดใหญ่
นายทุนได้ร่ำรวยเสร็จเด็ดขาด
ทุกเงินทองกองจ่ายได้ทุกบาท
การตลาดกลไกได้นายทุน

โคตรยัดหาพาเพลินส่วนเกินรวย
เงินฉาบฉวยรวยเกินเพลิดเพลินหมุน
ที่ได้นายห้างใหญ่ได้บังสุกุล
คนจนได้ใบบุญสมุนโจร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น