ประชาไท | Prachatai3.info |
- เสวนา 'แผ่นดินจึงดาลฯ' 20.0.20 | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์-ยุกติ มุกดาวิจิตร
- เรียกร้องรบ.ไทยปกป้องคนงานพม่าหลังถูกฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นฯเพราะร้องเรียนถูกละเมิดสิทธิ
- วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ: เมื่อรัฐ ‘แปรรูปน้ำ’ เป็นสินค้าให้เอกชนจัดการ
- หมายเหตุประเพทไทย #178 ประวัติศาสตร์การพนันจากบ่อนถึงหวย
- ขอ คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง หลังบังคับใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่
- โปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 แล้ว
- เผย ครม.จัดงบกลาง 1,000 ล้านบาท ให้ 'ทหาร' ซ่อมถนนทั่วประเทศ
- 'ศรีสุวรรณ' จี้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจน
เสวนา 'แผ่นดินจึงดาลฯ' 20.0.20 | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์-ยุกติ มุกดาวิจิตร Posted: 08 Oct 2017 09:34 AM PDT เสวนาแนะนำหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ' ในวาระครบรอบ 20 ปี รัฐธรรมนูญ 2540 และการเดินหน้า (ในสภาพบังคับ) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ที่สำนักงานประชาไท วิทยากรโดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ร่วมแลกเปลี่ยนโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชำนาญ จันทร์เรือง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เรียกร้องรบ.ไทยปกป้องคนงานพม่าหลังถูกฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นฯเพราะร้องเรียนถูกละเมิดสิทธิ Posted: 08 Oct 2017 08:46 AM PDT นักสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ ยื่นหนังสือถึงสถานทูตไทยที่ดีซี ในช่วงการเยือนของ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องทางการไทยถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่ฟาร์มไก่ในเครือเบทาโกรฟ้องคนงานพม่า 14 คน หลังไปร้องเรียนการละเมิดสิทธิ โดยที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ฟาร์มไก่ชดเชยคนงาน 1.7 ล้านบาท จากการไม่ยอมจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ และคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา ขณะที่บริษัทฟ้องคนงานกลับข้อหาลักทรัพย์ เนื่องจากนำบัตรตอกเวลามาฟ้องเป็นหลักฐานแก่ตำรวจ เมื่อวันพุธที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่านักสหภาพแรงงานจากสหพันธ์สหภาพแรงงานและสภาแรงงานอุตสาหกรรมแห่งอเมริกา (AFL-CIO) ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 12 ล้านคน ได้รวมตัวกันหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ดำเนินการให้ทางการไทยถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่บริษัทธรรมเกษตรได้กล่าวหาคนงานฟาร์มเลี้ยงไก่จากประเทศพม่าทั้ง 14 คน ว่าทำให้เสี่อมเสียชื่อเสียง จากการที่คนงานได้ยื่นคำร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยในวันดังกล่าว เป็นวันเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริก่า โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อหารือในเรื่องการเจรจาและข้อตกลงทางเศรษฐกิจ และเป็นวันเดียวกับที่ศาลแขวงดอนเมืองที่กรุงเทพฯ มีกำหนดพิจารณาคดีของบริษัทธรรมเกษตรต่อคนงานทั้ง 14 คน นักสหภาพแรงงานกลุ่มดังกล่าวได้ยื่นจดหมายลงนามวันที่ 19 กันยายน 2560 ซึ่งลงนามโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ-ธุรกิจ-สมาชิกรัฐสภา 87 ราย เพิ่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย "ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยทันที" เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิด้านแรงงาน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) โดยทางสถานทูตได้ส่งตัวแทนออกมารับจดหมายดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ศาลแรงงาน ได้มีคำสั่งให้บริษัทธรรมเกษตร ซึ่งมีสัญญาส่งสินค้าประเภทสัตว์ปีกให้กับบริษัทเบทาโกร จ่ายค่าชดเชยแก่คนงานทั้ง 14 คนเป็นจำนวน 1.7 ล้านบาท จากการที่บริษัทจ่ายค่าจ้างคนงานต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และไม่ยอมจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา และต่อมาหลังจากที่บริษัทได้ยื่นฎีกาต่อศาลอุทธรณ์ ศาลได้มีคำพิพากษายืนคำตัดสินดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ยืนยันให้บริษัทต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแรงงานภาค 1 นอกจากนี้ ศาลฎีกายังรับพิจารณาคำอุทธรณ์ของคนงานซึ่งเรียกร้องจากการละเมิดสิทธิแรงงานเป็นจำนวน 44 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทได้ฟ้องคนงานข้อหาหมิ่นประมาท หลังคนงานมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีโทษตัดสินจำคุก 2 ปี โดยคดีดังกล่าวจะเริ่มไต่สวนเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นอกจากนี้บริษัทยังฟ้องคนงาน 2 คน จาก 14 คนในข้อหาลักทรัพย์ เนื่องจากคนงาน 2 รายดังกล่าวนำบัตรตอกเวลาออกมาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าพวกเขาถูกใช้ทำให้งานเกินเวลา ซึ่งถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิด พวกเขาต้องเสียค่าปรับและอาจถึงขั้นจำคุกเป็นเวลา 7 ปี คดีนี้ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยโครงการรณรงค์ Walk Free รวบรวมลายชื่อกว่า 113,000 คน เพื่อยื่นต่อสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้บริษัท เบทาโกรฯ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ให้รับประกันว่าแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คน จะได้รับค่าชดเชยที่ค้างจ่าย และเรียกร้องให้บริษัทเบทาโกรฯ ดำเนินการตรวจสอบสภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ และมิให้ละเว้นความผิดจากการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่ สำหรับบริษัทเบทาโกรฯ เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยเช่นเดียวกับสมาชิกชั้นนำ เช่น CP, GFPT, Cargill, BRF แหลมทองสัตว์ปีก พนัสสัตว์ปีก เซนทราโก และบางกอกแร้นช์ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลกที่ส่งออกไก่เพื่อใช้ในอาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปสหภาพยุโรปและตลาดญี่ปุ่น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ: เมื่อรัฐ ‘แปรรูปน้ำ’ เป็นสินค้าให้เอกชนจัดการ Posted: 08 Oct 2017 07:56 AM PDT แนวคิด 'เก็บค่าน้ำทำนา' เป็นแค่พื้นผิว การแปรรูปทรัพยากรน้ำให้เอกชนเป็นผู้จัดการคือกระดูกสันหลังของการผลักดันกฎหมายทรัพยากรน้ำ ซึ่งวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากไบโอไทยมองประเด็นนี้ว่า คือการเร่งการล่มสลายของภาคการเกษตรไทย ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีการแถลงถึงการจัดทำร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงการเก็บค่าน้ำสำหรับภาคธุรกิจบริการ สนามกอล์ฟ ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วย แต่การรับรู้ของสังคมก็พุ่งไปที่ประเด็น 'การเก็บค่าน้ำเพื่อทำนา' ซึ่งระบุว่าเก็บไม่เกิน 0.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับการทำเกษตรขนาด 50 ไร่ขึ้นไป การเก็บค่าน้ำสำหรับทำการเกษตรไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีการเสนอแนวคิดนี้มามากกว่าหนึ่งครั้ง และทุกครั้งก็มักจะมีเสียงคัดค้านตามมาเสมอ ซึ่งโดยมากมักผูกโยงเชิงความรู้สึกกับภาพลักษณ์ว่า ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และออกลูกดราม่าเป็นหลัก วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย ชวนมองร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำจากมุมมองของผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรแบบยั่งยืนว่า ในรายละเอียด (เท่าที่มีการเปิดเผย) กฎหมายนี้ก็หลักการที่ดีอยู่ แต่ผลกระทบด้านลบนั้นก็เดิมพันด้วยการล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย แปรรูปทรัพยากรน้ำให้เอกชนจัดการ วิฑูรย์ฉายภาพหลักการ 3 ประการของกฎหมายฉบับนี้ โดยประการแรกที่ถือเป็นหัวใจสำคัญจริงๆ คือการแปรรูปทรัพยากรน้ำให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐ "เท่าที่ผมดูคำให้สัมภาษณ์หลังมีเสียงคัดค้าน คนในกรรมาธิการและคนในกรมทรัพยากรน้ำพูดในแง่ที่ว่า กฎหมายมีข้อดีในแง่ที่ว่าจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาจัดการน้ำ อยู่ในมาตราต้นๆ พูดถึงการกำหนดให้ทรัพยากรน้ำเป็นสมบัติสาธารณะ มีหัวข้อหนึ่งระบุว่าน้ำที่อยู่ในแหล่งน้ำ น้ำบาดาล ทะเลสาบที่อยู่ในอาณาเขต ถือว่าเป็นทรัพยากรของชาติ น้ำที่หน่วยงานของรัฐไปพัฒนาในพื้นที่สาธารณะ ก็ถือเป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ" แปลไทยเป็นไทยได้ว่า หากเป็นแหล่งน้ำที่พัฒนาโดยเอกชนไม่ถือเป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ วิฑูรย์มองว่านี่คือแนวคิดการแปรรูปที่ซ่อนอยู่ในกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีข้อความในร่างกฎหมายที่ระบุว่า ทรัพยากรน้ำในระบบชลประทานที่มีอยู่เดิมไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ให้ใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ แม้จะดูเหมาะดูควร แต่เขาก็เห็นว่าบางประโยคที่ตามมายังชวนเคลือบแคลง "ที่ระบุว่าพื้นที่ชลประทานเดิมไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ แต่ก็มีบางประโยคที่ฟังดูแล้วยังสงสัยอยู่คือที่ระบุว่า ในกรณีที่อยู่ภายใต้กฎหมายอื่น จะต้องมีมาตรฐานการดำเนินการไม่ต่ำไปกว่า พ.ร.บ. นี้ด้วย ไม่รู้แปลว่าอะไร เจตนาคืออะไร ถ้าหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเป็นในแง่ที่ว่าคนที่อยู่ในเขตชลประทานหลวงต้องใช้เกณฑ์การใช้น้ำแบบเดียวกันกับแหล่งน้ำที่เอกชนพัฒนาก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตา" ประการที่ 2 คือการกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ ถือเป็นผลักดันให้มีการเก็บภาษีน้ำ ซึ่งเป็นข้อเสนอของหลายฝ่ายก่อนหน้านี้ ทั้งธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลก และกลุ่มล็อบบี้ทางนโยบาย ยกตัวอย่างในการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับอเมริกา กลุ่มล็อบบี้ด้านการเกษตรของอเมริกาก็กดดันว่ารัฐบาลไทยอุดหนุนเรื่องน้ำแก่เกษตรกรไทย "เราอาจยังไม่เห็นปัญหาตอนนี้ชัดเจน เพราะกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดค่าน้ำเราไม่รู้ว่าถึงวันหนึ่งจะตั้งเรทเท่าไหร่ ขณะเดียวกัน หลายเรื่องที่เขากำหนดน่าจะเป็นเรื่องดี เช่น การกำหนดให้มีการเก็บค่าน้ำจากกิจการขนาดใหญ่อย่างสนามกอล์ฟ เป็นต้น ถือเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากร เพราะการผลิตขนาดใหญ่ในสังคมไทยตอนนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฟาร์มขนาดใหญ่ รวมถึงการนำทรัพยากรน้ำไปใช้โดยไม่มีการคิดมูลค่าของน้ำ" ประการสุดท้ายคือความพยายามในการให้บทบาทแก่กรรมการลุ่มน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ให้มีส่วนร่วมในกฎหมาย ซึ่งมีการออกแบบในกฎหมายให้มีตัวแทนจากกรรมการลุ่มน้ำ มีตัวแทนผู้ใช้น้ำ มีตัวแทนเอกชน แต่วิฑูรย์ยังไม่แน่ใจว่าสัดส่วนกรรมการจะโน้มเอียงไปทางใด เพราะในหลายกรณีที่ผ่านมากรรมการทรัพยากรน้ำมักจะอิงรัฐหรือมีการรวมศูนย์ไปอยู่ที่รัฐ เพราะตอนนี้เรายังไม่เห็นร่าง บางร่างที่เห็นตัวแทนจากลุ่มน้ำแทบไม่มีบทบาทเลย เป็นต้น แต่ในนี้เท่าที่เห็น ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นร่างตัวนี้หรือเปล่า ก็เห็นตัวแทนจากปชช. ที่ดูแลทรัพยากรน้ำในส่วนภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมด้วย มีตัวแทนผู้ใช้น้ำด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนนักว่าผู้ใช้น้ำมาจากกลุ่มไหน เช่น มาจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำหรือเป็นรายใหญ่ อาจจะต้องดูต่อ เพิ่มต้นทุนเกษตรกร "สิ่งที่ผมกังวลคือส่วนที่เกี่ยวกับการแปรรูปน้ำให้เป็นสินค้า ถึงแม้ตอนนี้อาจจะยังเห็นไม่ชัด แต่เป็นเรื่องที่ต้องจับตา ผมยกตัวอย่างปัญหาที่จะมีแน่ๆ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งชลประทาน ถ้าวัดจากที่เคยเป็นในพื้นที่ภาคกลาง เราพบว่าเกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินไปเยอะมาก กลายเป็นชาวนาเช่า ซึ่งขนาด 50 ไร่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่เป็นชาวนาไร้ที่ดิน ต้องทำนามากขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ อันนี้จะเป็นปัญหาต่อไป ดังนั้น เกษตรกรรายย่อยหรือเกษตรเพื่อยังชีพอาจมีปัญหาได้บางกรณี เพราะไปคำนวณเงินแล้วไม่ใช่น้อยๆ เลย ตัวเลขที่เราเห็น อยู่ที่ประมาณ 800 บาทต่อไร่ สมมติทำนา 70 ไร่ 50 ไร่แรกไม่ต้องจ่ายหรือจ่ายทั้ง 70 ไร่ ที่พูดนี่คือยังไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง อาจกดดันให้ชาวนาเช่าแค่ 50 ไร่ ถ้าคิดเฉพาะ 20 ไร่ที่เกินขึ้นไปเท่ากับ 16,000 บาทสำหรับค่าน้ำ ที่ชาวนาต้องจ่ายค่าสูบน้ำอีก
"การที่ชาวนาหรือเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของการจัดการทรัพยากรน้ำ การกำหนดค่าใช้น้ำ เป็นต้น จะเป็นปัญหาใหญ่แน่ๆ ในอนาคต เพราะกฎกระทรวงกำหนดได้ง่าย แล้วตอนนี้ฟังดูเหมือนว่าอำนาจในการกำหนดอยู่ที่ระดับกระทรวง ในร่างกฎหมายเขียนไว้อยู่เหมือนกันว่า ต้องมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำเป็นคนกำหนด แต่ในทางปฏิบัติหน้าตาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นการรวมศูนย์ แล้วรัฐมีทิศทางที่จะแปรรูปน้ำแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นมากสำหรับอนาคตของเกษตรกรรายย่อยที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำ" เร่งการล่มสลายของภาคการเกษตร จุดนี้มีประเด็นที่เกี่ยวพันอยู่ 2 ประเด็น ซึ่งมีการกล่าวถึงมานานแล้วต่อสถานการณ์ภาคการเกษตรของไทย หนึ่งคือประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่งและสอง-การลดขนาดภาคการเกษตรลงโดยการดึงเกษตรกรออกจากภาคการเกษตรเข้าสู่ภาคการผลิตอื่นที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า ซึ่งการเก็บค่าน้ำสำหรับการเกษตรก็ดูเหมือนจะตอบโจทย์ 2 ประการข้างต้น ทว่า วิฑูรย์กลับไม่แน่ใจ เขาแสดงทัศนะว่า "ตอนนี้ภาระหนักของเกษตรกรรายย่อยมีอยู่ 2 เรื่อง หนึ่ง-ค่าเช่าที่ดิน การพัฒนาทรัพยากรน้ำ มันมักจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ชาวนาต้องเช่าที่ เขตพื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่เป็นนาเช่า ค่าเช่ากินต้นทุนไปประมาณ 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 3 ตั้งแต่ประมาณร้อยละ 25-35 สอง-ค่าปุ๋ยกับสารเคมีก็ประมาณ 1 ใน 3 ค่าเช่านากับปุ๋ยและสารเคมีรวมกันอย่างน้อยก็ประมาณร้อยละ 60 แล้ว ค่าน้ำจะกลายเป็นต้นทุนสำคัญเพิ่มขึ้นอีก เหมือนในบางประเทศ เช่น อินเดีย ปัญหาการแข่งขันของชาวนาไทยย่ำแย่อยู่แล้ว จะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าไม่มีหลักประกันว่าเกษตรกรสามารถเข้าถึงการใช้น้ำได้ แล้วมีการแปรรูปเป็นการค้าจะยิ่งกดดันเกษตรกร" วิฑูรย์เห็นด้วยว่าต้องสร้างกติกาการใช้ทรัพยากรที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ด้วยเงื่อนไขที่รัดรึง เกษตรกรปัจจุบันถูกบีบให้ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอยู่แล้ว เขาไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกรเพื่อเร่งการปรับตัวแต่อย่างใด เพราะการทำเช่นนั้นไม่ใช่การเร่งการปรับตัว แต่จะยิ่งเร่งการล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย "ผมคาดหมายอยู่แล้วว่า ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่โดยไม่ต้องมีเรื่องการเก็บค่าน้ำ ชาวนาก็ต้องลดลงอย่างรวดเร็วแน่ๆ อยู่แล้ว เราต้องสร้างทางเลือก เมื่อเขาไม่สามารถไปสู่ภาคการผลิตอื่นได้ เขาก็ยังพอมีชีวิตที่ดีอยู่ได้ แต่ถ้าเพิ่มเงื่อนไขนี้เข้ามาจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการล่มสลายอย่างรวดเร็ว คนจำนวนน้อยที่จะเหลือรอด ภาคเศรษฐกิจที่จะรองรับก็จะไม่มี "การบีบให้ชาวนาออกจากภาคเกษตร ไม่มีหลักประกันว่าภาคอื่นจะรองรับและทำให้มีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าได้ อย่างตอนนี้ชาวนาที่ออกจากภาคเกษตรมาอยู่ภาคอื่น เช่น ค้าปลีกสมัยใหม่กำลังโต ซึ่งก็มีปัญหาสองเรื่อง หนึ่ง-ไม่สามารถดูดซับแรงงานได้หมด สอง-ภาคอุตสาหกรรมที่มารองรับจะมีหลักประกันในการสร้างรายได้ที่เพียงพอหรือเปล่า อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะดูจากค่าจ้างขั้นต่ำกับวิถีชีวิตในเมือง มันแทบจะไม่พอ" ชลประทานไทย ประสิทธิภาพเพิ่มไม่ทันต้นทุน วิฑูรย์เล่าตัวอย่างการเก็บค่าน้ำในภาคเกษตรในต่างประเทศว่า ในประเทศกำลังพัฒนามักจะไม่มีการเก็บ ยกเว้นบางประเทศที่ขาดแคลนน้ำจริงๆ เช่นในอินเดียที่ค่าน้ำเป็นสัดส่วนใหญ่ของการเกษตร ส่วนในประเทศอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบการบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพมากกว่า การเก็บค่าน้ำไม่ถือเป็นภาระ เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยทั่วไป ระบบชลประทานสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 เป็นอย่างน้อย การเพิ่มค่าน้ำประมาณร้อยละ 5-10 ของต้นทุน ในประเทศพัฒนาแล้วสามารถเอาชนะได้จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น แต่ในประเทศไทย ระบบชลประทานไม่ได้เข้าสู่พื้นที่นาโดยตรง แต่ต้องเสียค่าสูบน้ำที่ยังสูงมากและน้ำก็ไม่มีให้ตลอดปี การเก็บค่าน้ำเพิ่มขึ้นจึงไม่ทำให้ผลที่ได้เท่ากับในประเทศพัฒนาแล้ว "แต่ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาที่มีการแปรรูปน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาการดึงน้ำไปใช้ในระบบอุปโภคบริโภค โดยให้เอกชนมาดำเนินการแทนรัฐ ทรัพยากรสาธารณะจะถูกส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาพัฒนา ในลาตินอเมริกามีหลายประเทศที่ทำแบบนี้และพบว่าค่าน้ำที่เอกชนเก็บมันสูงมาก ทั้งที่น้ำมาจากแหล่งน้ำสาธารณะ และไปไกลถึงขั้นที่ว่าน้ำฝน ถ้ามีการเอาไปใช้ประโยชน์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย "ส่วนในฝั่งการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ผมยังนึกไม่ออก เพราะมีน้อยมากที่มีการแปรรูปน้ำมาใช้ในภาคเกษตร เพราะส่วนใหญ่เป็นบริการของรัฐที่จะให้แก่เกษตรกร ถ้าประเทศไทยใช้ระบบนี้ก็จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศที่ทำเรื่องนี้" เกษตรกรแบกต้นทุน ภาคธุรกิจเอกชนผลักภาระต้นทุน ข้อสังเกตอีกประการที่วิฑูรย์กล่าวว่าสังคมจะต้องจับตาดู เนื่องจากเขาเห็นร่องรอยในร่างกฎหมายว่าภาคธุรกิจเอกชนคือกลุ่มที่ไม่ต้องรับภาระค่าน้ำ แต่จะผลักภาระนี้ไปให้เกษตรกรรายย่อยจนถึงผู้บริโภครับภาระแทน "ยกตัวอย่างอ้อยซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำมากที่สุด แต่รัฐกลับมีระบบการอุดหนุนให้กับอุตสาหกรรมอ้อย หมายความว่าอุตสาหกรรมอ้อยใช้น้ำได้เต็มที่เพราะมีผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าน้ำแทนอุตสาหกรรมอ้อย ปัจจุบันระบบเกษตรแบบประชารัฐ แบบแปลงใหญ่ นายทุนที่ทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ก็นั่งอยู่ในรัฐบาลในหลายระดับ หรืออย่างข้าว เกษตรกรไม่สามารถผลักภาระให้ใครได้ ราคาต่ำก็คือต่ำ แต่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างข้าวโพดหรืออ้อย มีมาตรการเต็มไปหมดเพื่ออุดหนุนผู้ผลิตกลุ่มนี้ อ้อยใช้น้ำมากจริง คุณทำแปลงใหญ่เหมือนคุณต้องจ่ายน้ำ แต่ในท้ายที่สุดเมื่อเข้าสู่ระบบ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล มันมีการอุดหนุนให้บริษัทเหล่านี้อยู่แล้ว กลายเป็นว่าภาระจะถูกผลักให้กับผู้บริโภค" ขณะที่เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถผลักภาระค่าน้ำออกไปได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจพอในการกำหนดราคาสินค้าเกษตร แนะรัฐต้องสร้างหลักประกันให้เกษตรกรรายย่อย ยังไม่ถึงเวลาเก็บค่าน้ำ วิฑูรย์เสนอว่า การผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะการผลิตที่เป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร รัฐต้องมีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน น้ำ สินเชื่อได้ เพราะความอยู่รอดของเกษตรกรกลุ่มนี้คือความอยู่รอดและความมั่นคงทางอาหารของประเทศโดยรวม "ประการต่อมา เราไม่ได้ผลิตเพื่อความมั่นคงด้านอาหารอย่างเดียว เราผลิตเพื่อขายด้วย แต่คนเหล่านั้นเป็นเกษตรยากจนและมีปัญหาด้านความสามารถทางการแข่งขัน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จะต้องไม่เพิ่มภาระให้กับเกษตรกรที่กำลังปรับตัวเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นเขาจะล่มสลาย "การจะสร้างหลักประกัน ผมคิดว่าต้องสะท้อนมาจากสองสามประการ หนึ่ง-โครงสร้างทางนโยบายต้องออกแบบให้คนเล็กคนน้อยที่ได้รับผลกระทบมีบทบาทกำหนดกลไกราคา สอง-ในฝั่งประชาชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาฐานทรัพยากร การอนุรักษ์ ฟื้นฟูต้นน้ำ แหล่งน้ำ ต้องให้เขามีบทบาท คนสองกลุ่มนี้ต้องมีบทบาทหลักในคกก.ทรัพยากรน้ำ ไม่ใช่รัฐและเอกชนรายใหญ่ คนเหล่านี้ต้องเป็นผู้คุมกติกาหลักเพราะเป็นผู้รักษาฐานรากของทรัพยากรน้ำ ไปจนถึงผู้ใช้น้ำที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีสองกลุ่ม กลุ่มที่ผลิตเพื่อความมั่นคงด้านอาหารกับกลุ่มชาวบ้านที่ยังมีหนี้สิน แม้จะผลิตเพื่อการส่งออกก็ตาม" ประชาไทถามย้ำว่า ควรเก็บค่าน้ำหรือไม่ วิฑูรย์ตอบว่า ควรบริหารทรัพยากรน้ำและระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพโดยไม่เก็บค่าน้ำสำหรับเกษตรกรรายย่อย จนกว่าจะถึงจุดที่สามารถสร้างผลิตภาพได้เกินกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและไม่สร้างภาระให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้ เมื่อนั้นย่อมสามารถเก็บค่าน้ำ แต่ยังไม่ใช่ ณ เวลานี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #178 ประวัติศาสตร์การพนันจากบ่อนถึงหวย Posted: 08 Oct 2017 07:45 AM PDT หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ไล่เรียงลำดับความเป็นมาของการพนันและภาษีการพนัน โดยเฉพาะอากรบ่อนเบี้ยที่เคยเป็นรายได้หลักของรัฐมาตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากนี้ยังถูกใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย อย่างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการแก้ปัญหาเงินตราฝืดเคืองด้วยการให้จีนหง นายอากรสุรา มารับสัมปทานเพื่อออกหวย ก ข จนฮิตไปทั่วพระนคร พอถึงสมัชรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาเริ่มมีการออกหวยล็อตเตอรีในโอกาสต่างๆ เพื่อหารายได้ จนกระทั่งพอถึงสมัยคณะราษฎรจึงมีการออกสลากเป็นประจำกลายเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษ 2470 เริ่มมีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การพนัน ซึ่งนิยามให้การพนันหลายประเภทกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีการพนันหลายชนิดที่ยังถูกกฎหมายอย่างเช่นสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งการแข่งม้า ปลากัด ชนไก่ หรือชนวัว ที่ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานของรัฐ ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ขอ คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง หลังบังคับใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่ Posted: 08 Oct 2017 05:38 AM PDT 'ชาติไทยพัฒนา-เพื่อไทย' ขอ คสช.ปลดล็อคคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมหลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลบังคับ 'ประชาธิปัตย์' แนะนายทะเบียนพรรคการเมืองหารือ คสช. 8 ต.ค. 2560 นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้วันนี้ (8 ต.ค.) เป็นวันแรกว่าเมื่อกฎหมายนี้ออกมาจะมีภารกิจของพรรคการเมืองจำนวนมาก เพราะเปลี่ยนแปลงจากอดีต เสมือนรื้อใหม่หมด จะส่งผลให้การบริหารจัดการภายในพรรคเปลี่ยนแปลงมาก โดยพรรคการเมืองที่จดใหม่ต้องเริ่มตั้งและหาสมาชิกพรรค หาทุนประเดิม ซึ่งทำได้ยากขึ้น แต่สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา แม้มีอยู่แล้วก็ต้องดำเนินการหลายอย่าง เพื่ออนุมัติให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ภายในระยะเวลาที่จำกัด "อันดับแรกจะต้องตรวจสอบจำนวนสมาชิกและแจ้งนายทะเบียนภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท และให้สมาชิก 500 คน จ่ายค่าบำรุงภายใน 180 วัน และภายใน 1 ปี ต้องให้สมาชิกจ่ายค่าสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปี ที่สำคัญคือ จัดให้ประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรค ซึ่งแก้ให้เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบันภายใน 180 วัน และยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่จำเป็นต้องทำอีกจำนวนมาก ภายในระยะเวลาที่จำกัดมาก และในการกระทำส่วนใหญ่ต้องใช้มติพรรค และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการประชุม หรืออย่างน้อยต้องหารือกันเกิน 5 คน ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน" นายนิกร กล่าว นายนิกร กล่าวว่า หากยังมีงานสำคัญของประเทศในช่วงนี้ ก็รองานสำคัญนี้ผ่านไปแล้ว ควรจะพิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน มั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะลำพังการจัดการภายในพรรคให้เป็นไปตามกฎหมาย และเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็หมดเวลาแล้ว ไม่มีเวลาไปทำเรื่องอื่น "สำหรับในส่วนของพรรคได้เตรียมการไว้บ้างแล้ว เพราะเป็นพรรคการเมืองเดิมที่ผ่านการเลือกตั้งมากว่า 10 ครั้ง พอจะประคองตัวไปได้ แต่กฎหมายพรรคการเมืองแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการภายใต้สถานการณ์แบบนี้ และที่สำคัญตัวแปรยังไม่ชัดอีกหลายส่วน โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน จึงยังตั้งหลักไม่ถูกนัก อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าวออกมาโดยเร่งด่วน" นายนิกร กล่าว ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ระบุว่าแม้ทุกอนย่างจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐญธรรมนูญที่ต้องการให้พรรคการเมืองดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่ถูกครอบงำโดยคนภายนอก และมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองได้ไม่เต็มที่นัก รวมทั้งการหาสมาชิกพรรคตามกำหนดเพื่อทำไพมารี่โหวต และยังมีการระดมทุนจากสมาชิกพรรค เสียค่าบำรุงพรรค อย่างน้อย 500คน ซึ่งเรื่องต่างๆล้วนแล้วแต่มีระยะเวลากำหนดไว้ และต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 90วัน นายชูศักดิ์ กล่าวว่าปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการของพรรคการเมืองตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ขณะนี้คือไม่สามารถประชุมพรรคหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เนื่องจากยังติดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคหนักใจมาก และเชื่อว่าเป็นเหมือนกันทุกพรรค เพราะหากไม่ให้ประชุมพรรคก็ไม่สามรถทำอะไรได้เลย หนำซ้ำพ.ร.ป.พรรคการเมืองยังมีเวลากำหนดไว้ และบางเรื่องหากไม่ทำตามเวลาที่กำหนดก็จะมีผลร้ายแรงตามมาถึงขั้นไม่สามารถส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก จึงขอคสช.ให้ปลดล็อคคำสั่งดังกล่าว ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้แล้ว เพื่อจะได้จัดประชุมพรรคเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย" นายชูศักดิ์กล่าว คสช.ยืนยันเลือกตั้งตามโรดแมป ด้าน พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ชี้แจงคำแถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าเกิดความสับสนว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 หรือ 2562 รวมทั้งเกรงว่าทางสหรัฐจะเข้าใจผิด ว่า คสช.ยืนยันว่าการเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามโรดแมปที่ประกาศไว้ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกฎหมายที่จะต้องเดินตามกรอบเวลา โดยเริ่มตั้งแต่การมีรัฐธรรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเสร็จครบทั้ง 4 ฉบับแล้ว จึงจะประกาศวันเลือกตั้งภายในเวลา 150 วัน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้ ขอยืนยันว่าไม่ใช่การขยับวันเลือกตั้งออกไป แต่ทุกอย่างเป็นไปตามตารางเวลาที่เดินตามกรอบกฎหมาย "ตอนนี้กฎหมายลูกยังเสร็จไม่หมด คาดว่าจะน่าเสร็จครบได้ทั้งหมดช่วงปลายปี จากนั้นต้องบวกไปอีก150 วัน จึงจะกำหนดวันเลือกตั้งได้ ที่ผ่านมานายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชี้แจงไปหมดแล้ว เรื่องการเลือกตั้ง ยืนยันว่าไม่ใช่การเลื่อนหรือไม่เลื่อน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและกรอบระยะเวลาที่ถูกบังคับเอาไว้" พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าว ส่วนเรื่องที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อคทางการเมือง เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตามเงื่อนเวลา พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า การจะปลดล็อคหรือไม่ปลดล็อคจะต้องดูสถานการณ์ของบ้านเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้มีงานสำคัญของบ้านเมืองที่ชาวไทยทุกคนร่วมกันถวายความจงรักภักดี กิจกรรมทางการเมืองอาจจะเป็นเรื่องสำคัญรอง ๆ ลงไปในเวลานี้ แนะนายทะเบียนพรรคการเมืองหารือ คสช. ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (8 ต.ค.) ว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมีข้อกำหนดหลายข้อที่พรรคการเมืองที่เคยจดทะเบียนไว้แล้วอย่างพรรคประชาธิปัตย์จะต้องดำเนินการตาม เช่นเรื่องการตรวจสอบและยืนยันสมาชิกที่มีอยู่เดิมของพรรคไปยังนายทะเบียนพรรคการเมือง ในกรณีของสาขาพรรคต้องดำเนินการใหม่ให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย รวมทั้งข้อบังคับพรรคที่จะต้องกำหนดขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่และรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีเรื่องนโยบาย การจัดประชุมใหญ่ในเรื่องการเลือกกรรมการบริหารพรรค เป็นต้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้มีกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองที่จะต้องทำให้เสร็จตามกรอบเวลา 90 วันบ้าง 180 วันบ้าง ประเด็นสำคัญคือข้อกำหนดที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติและเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ถือว่าเป็นการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือไม่ หากถือว่าเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมืองสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะมีคำสั่งคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งเป็นประเด็นที่คิดว่านายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องช่วยให้คำตอบกับพรรคการเมืองว่าสามารถดำเนินการไปตามข้อกำหนดของกฎหมายพรรคการเมืองได้หรือไม่ ในขณะที่ยังมีคำสั่งคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองบังคับใช้อยู่ "สำหรับผม คงไม่เรียกร้องคสช. ว่าจะต้องเปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้เมื่อไหร่ แต่ผมคิดว่าเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองบังคับใช้แล้วก็เป็นเรื่องที่กกต. นายทะเบียนพรรคการเมือง กับคสช.จะต้องหารือกัน เพื่อพรรคการเมืองจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เมื่อพรรคการเมืองต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่มีพ.ร.บ.พรรคการเมืองและคำสั่งคสช.ซึ่งอาจจะแย้งกันอยู่ นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือกกต.กับคสช.ควรหารือกัน เพื่อปฏิบัติได้ถูก" นายจุรินทร์ กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 แล้ว Posted: 08 Oct 2017 01:10 AM PDT เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ลงในพระราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีผลบังคับใช้ 8 ต.ค. เป็นต้นไป กฎหมายฉบับนี้เป็น 1 ใน 4 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญต่อการเลือกตั้ง โดยมีเนื้อหา ให้ตัวบุคคลมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ที่ต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำ หรือชี้นำโดยบุคคล ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง รวมทั้งต้องมีมาตรการกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงสมควรกำหนดวิธีการจัดตั้งพรรคการเมือง และการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับสำคัญที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้ก่อนที่มีการประกาศวันเลือกตั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้ว 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. กำลังอยู่ในระหว่างการร่างของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกำหนดส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในปลายเดือน พ.ย. 2560 นี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เผย ครม.จัดงบกลาง 1,000 ล้านบาท ให้ 'ทหาร' ซ่อมถนนทั่วประเทศ Posted: 07 Oct 2017 11:27 PM PDT 'โพสต์ทูเดย์' อ้างแหล่งข่าวระบุ ครม.จัดงบกลาง 1,000 ล้านบาท ให้ 'กองบัญชาการกองทัพไทย-กองทัพบก' ปูพรมซ่อมถนนในชนบททั่วประเทศ 129 เส้นทาง รับลูกนโยบาย 'ประยุทธ์' 8 ต.ค. 2560 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่าแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน จำนวน 1,013 ล้านบาท ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ เพื่อให้กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบกดำเนินโครงการซ่อมปรับปรุงถนนเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 129 เส้นทาง ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่างบกลางปี 2560 ที่กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรครั้งนี้เป็นส่วนของงบกลางที่มีการโอนมาจากโครงการต่าง ๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานภายในกรอบเวลาที่ ครม.กำหนด ซึ่งงบกลางดังกล่าวก็ได้ถูกจัดสรรไปตามโครงการต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงโครงการที่กระทรวงกลาโหมเสนอเพื่อปรับปรุงถนน 129 เส้นทาง โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบความยากลำบากในการใช้ถนน ปัญหาเดิมที่ไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงที่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมช่วงที่ผ่านมา และให้หน่วยทหารพัฒนาพื้นที่และทหารช่างเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมถนนให้ประชาชนสามารถมีถนนที่ดีใช้ ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2560 ได้โอนงบประมาณรายจ่ายจำนวน 1.18 หมื่นล้านบาท ให้อยู่ในส่วนของงบกลาง เพื่อนำใช้จ่ายในโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน รวมถึงโครงการตามนโยบายของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณลงทุน แต่ไม่สามารถดำเนินตามแผนงานตามนโยบายการเร่งรัดเบิกจ่ายของรัฐบาลได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ศรีสุวรรณ' จี้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจน Posted: 07 Oct 2017 10:30 PM PDT 'ศรีสุวรรณ จรรยา' เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจน ระบุเอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจเจ้าของสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ แต่สินค้าจากชาวบ้าน กลุ่มผู้ผลิตในท้องถิ่น ไม่สามารถขายสินค้าของตนเองได้ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 8 ต.ค. 2560 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ 'ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจน' ระบุว่าตามที่รัฐบาลมีโครงการ "ประชารัฐ" สวัสดิการช่วยเหลือคนจนที่ลงทะเบียน นำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปรูดซื้อสินค้าตามร้านที่กำหนด (มีเครื่องรูดบัตร) โดยคนที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้ 300 บาท/เดือน คนรายได้ 3 หมื่น-1 แสนบาทต่อปี จะได้เดือนละ 200 บาท รวมทั้งได้ส่วนลดค่าซื้อแก๊สหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ได้วงเงินขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า 500 บาท ต่อเดือน รถ บขส. 500 บาท ต่อเดือนและรถไฟ 500 บาทต่อ 1 เดือน รวมผู้มีสิทธิ์กว่า 11.67 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลต้องควักเงินทั้งสิ้น 41,940 ล้านบาทต่อปีไม่ต่างอะไรกับ "นโยบายประชานิยม" ของรัฐบาลในอดีตที่ไม่ได้ช่วยเพิ่มตัวเลขจีดีพีของประเทศแต่อย่างใด การดำเนินโครงการดังกล่าว กลับเป็นการ "เอื้อประโยชน์" ให้กับกลุ่มธุรกิจ "เจ้าสัว" นายทุนใหญ่เจ้าของสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ที่ส่งผ่านสินค้าไปยังตัวแทนผู้จำหน่ายในรูป "ร้านธงฟ้าประชารัฐ" แทบทั้งสิ้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ก็จะมาจากบริษัทใหญ่ไม่กี่ราย ขณะที่สินค้าจากชาวบ้าน สินค้า SME จากกลุ่มผู้ผลิตในท้องถิ่นผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ไม่มีไลน์ธุรกิจที่สามารถดีลซื้อขายกับร้านค้าที่กรมการค้าภายใน-กรมบัญชีกลางกำหนดได้ก็จะไม่สามารถขายสินค้าของตนเองได้เลย ดังนั้นเงินหลวงที่รัฐบาลอ้างว่าช่วยเหลือคนจนก็จะไหลเข้าบริษัทใหญ่หรือกลุ่มเจ้าสัวที่ยืนอยู่ข้างหลังรัฐบาลเท่านั้น การดำเนินโครงการนี้จึงเท่ากับใช้คนจนเป็นข้ออ้างเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจนายทุนหรือเจ้าสัวโดยตรงทุกครั้งที่คนจนไปรูดบัตรแลกสินค้าเงินก็จะไหลจากบัญชีรัฐไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัวมากมายมหาศาลทุก ๆ เดือน โดยที่คนจนไม่มีสิทธิเห็นเงินเลยแม้สลึงเดียวและที่สำคัญร้านธงฟ้าประชารัฐไม่ได้มีสาขาหรือจุดบริการกระจายเป็นการทั่วไปทุกตำบลทุกหมู่บ้านเหมือนร้านโชว์ห่วยของชาวบ้านด้วยกันเองที่มักจะมีอยู่ใกล้บ้านในในเมืองและชนบททำให้ชาวบ้านต้องเสียเงินและเสียเวลาในการเดินทางไปจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างอำเภอตำบล ชนบทห่างไกล นอกจากนั้น การกำหนดให้คนจนต้องทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นมาใหม่โดยไม่ใช้ร่วมกับบัตรประจำตัวประชาชนที่อวดอ้างว่าเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด (Smart card) เป็นการทำงานที่ไม่คุ้มค่า ไม่ประหยัดการใช้จ่ายของภาครัฐเพราะรัฐต้องเสียเงินไปกับการจัดซื้อจัดหาบัตรสวัสดิการที่มีราคามากกว่า 35 บาท ต่อใบเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 11 ล้านใบ อีกทั้งการติดตั้งเครื่องอีดีซีทั่วประเทศทำได้เพียง 5,061 เครื่องจากร้านค้าที่เข้าร่วมมีเพียง 19,500 แห่ง ทั้ง ๆ ที่ผู้ลงทะเบียนคนจนกระจายอยู่ทั่วประเทศใน 7,255 ตำบล 75,032 หมู่บ้าน ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการเลยแต่กลับมาโฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพเร่งรีบให้ใช้บัตรแต่พอเกิดเหตุผิดพลาดกลับโบ๊ยไปให้ร้านค้าและคนจนเสียสิ้น กรณีดังกล่าวจึงสงสัยว่ารัฐบาลเร่งรีบผลักดันโครงการดังกล่าวออกมาเพื่อปูฐานเสียงให้ประชาชนนิยมเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันในการเลือกตั้งในปีหน้ามากกว่าการจะแก้ไขปัญหาให้คนจนหรือไม่และการที่นายกฯออกมาพูดเสมอว่าจะไม่ลงเล่นการเมืองนั้น ณ เวลานี้จะมีคนไทยสักกี่คนที่เชื่อคำพูดนายกฯ ได้เพราะแม้แต่การประกาศให้มีการเลือกตั้งยังตระบัดคำพูดของตนมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วยิ่งกว่าพิน็อคคิโอในนิยายเสียอีก ที่สำคัญการดำเนินโครงการและใช้จ่ายเงินของรัฐตามโครงการดังกล่าวอาจขัดต่อมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบพรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วย "การทุจริตต่อหน้าที่" และ พรป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 อีกด้วย ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลได้โปรดพิจารณาทบทวนและหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจนนี้เสียโดยเร็วและหากมีหลักฐานเป็นที่ชัดเจนเพียงพอเมื่อใดสมาคมฯจักต้องนำความไปร้องเรียนกล่าวโทษต่อผู้ที่ใช้อำนาจในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในกรณีเกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกคนทุกตำแหน่งต่อไปไม่ว่าท่านทั้งหลายจะยังอยู่ในอำนาจหรือไม่ในอนาคต ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ต้องการสินเชื่อที่รวดเร็ว? นี่คือสินเชื่อ Atlas! เพียงกรอกแบบฟอร์มและรับสถานะการอนุมัติสินเชื่อภายใน 30 นาที ทุกอย่างเกี่ยวกับสินเชื่ออย่างรวดเร็ว. info atlasloan83@gmail .com ส่งข้อความ whatsapp +1 (443) 345 9339
ตอบลบ