โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลปกครองสูงสุดชี้ 'มาบตาพุด' มลพิษร้ายแรงจริง

Posted: 18 Oct 2017 11:00 AM PDT

EnLAW รายงาน ศาลปกครองสูงสุดชี้ 'มาบตาพุด' มลพิษร้ายแรงจริง กก.สิ่งแวดล้อมละเลยต่อหน้าที่ ต้องประกาศเป็น 'เขตควบคุมมลพิษ'  แต่ให้จำหน่ายคดี เนื่องจากมีการออกประกาศแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์

18 ต.ค. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW' รายงานว่า  วันนี้ (18 ต.ค. 60) ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน มาบตาพุด ผู้ได้รับผลกระทบมลพิษจากหลายนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางมายังศาลปกครองระยองเพื่อฟังการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวบ้านได้ร่วมกันยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อเดือนตุลาคม 2550 กรณีการละเลยต่อหน้าที่ในการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ และศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2552 เห็นว่า พื้นที่มาบตาพุดมีปัญหามลพิษร้ายแรงจริงในระดับที่ กก.วล. ต้องประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษแต่กลับละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า โดยพิพากษาให้ กก.วล. ดำเนินการประกาศเขตควบคุมมลพิษให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่ กก.วล. ได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด

EnLAW ระบุว่า ผ่านไปกว่า 8 ปี วันนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเรื่องข้อมูลการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนมลพิษ โดยเฉพาะสารโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยที่เป็นสารก่อมะเร็ง ในสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ ดิน น้ำ สัตวน้ำ และข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียง รับฟังได้ว่ามีปัญหามลพิษในระดับร้ายแรงถึงขนาดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เข้าหลักเกณฑ์ที่ กก.วล. ต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินมาตรการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ 
 
โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยวางบรรทัดฐานที่สำคัญว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มร้ายแรงที่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 59 แล้ว กก.วล. ก็มีหน้าที่ต้องประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่อาจอ้างว่าจะประกาศเขตควบคุมมลพิษหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจโดยแท้ของ กก.วล. ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมเรื่อง "การป้องกันไว้ก่อน " (Precautionary Principle) ที่ระบุอยู่ในข้อ 15 ของ ปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) ที่มีสาระสำคัญว่า "ในกรณีที่มีความน่ากลัวว่าจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนดีได้ รัฐจะต้องใช้แนวทางระวังไว้ก่อนอย่างแพร่หลายตามความสามารถของตนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนแน่นอนจะต้องไม่ถูกใช้เป็นเหตุผลในการผัดผ่อนการดำเนินมาตรการโดยยึดหลักการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม" 
 
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดี กก.วล.ได้มีประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2552) ลงวันที่ 30 เมษายน 2552 กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงรวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ อันเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ทำให้เหตุแห่งการฟ้องคดีหมดสิ้นไปโดยที่ศาลไม่จำเป็นต้องออกคำบังคับอีก จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
 
อนึ่ง แม้ในที่สุดแล้วการฟ้องคดีนี้จะส่งผลให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางมาศาลในวันนี้ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมากในมาบตาพุดที่ยังคงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งมีความห่วงกังวลมากขึ้นถึงนโยบายของรัฐที่กำลังผลักดันแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่น่าเชื่อว่าจะเข้ามาซ้ำเติมปัญหามลพิษในพื้นที่ให้หนักขึ้นอีก ในขณะที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฎีกาสั่งจำคุกพ่อมือฆ่า 'เอกยุทธ' 1 ปี 4 เดือน ฐานสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรง

Posted: 18 Oct 2017 09:43 AM PDT

ฎีกายืนจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 5 บิดาขอสันติภาพ ในคดีฆาตกรรม 'เอกยุทธ อัญชัญบุตร' ฐานรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด แต่ไม่ห้ามปราม ซ้ำยังช่วยซุกซ่อนทรัพย์ เป็นการสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรง

เอกยุทธ อัญชัญบุตร 

18 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วันนี้ (18 ต.ค.60) ที่ห้องพิจารณา 709 ศาลอาญารัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดี สันติภาพ เพ็งด้วง หรือบอล กับพวกรวม 6 คน ตกเป็นจำเลยคดีฆาตกรรม เอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดัง ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันข่มขืนใจ, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว กักขัง, ร่วมกันซ่อนเร้นศพ และ พ.ร.บ.อาวุธปืน

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อถึงเวลา จ.ส.อ.อิทธิพล เพ็งด้วง จำเลยที่ 5 บิดาของสันติภาพ ยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 5 ได้รับเงินกว่า 4,000,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด แต่กลับไม่ห้ามปราม ซ้ำยังแบ่งทรัพย์ออกเป็น 2 ส่วน เพื่อช่วยซุกซ่อนทรัพย์ เป็นการสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรง แม้จำเลยจะอ้างว่าไม่เคยกระทำผิดมาก่อนและเคยทำคุณงามความดีมาในอดีต ไม่มีเหตุผลเพียงพอให้พิจารณารอการลงโทษ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำคุก 1 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา

สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต สันติภาพ และ สุทธิพงศ์ พิมพิสาร จำเลยที่ 1 และ 2 และร่วมกันชดใช้ทรัพย์ 1,941,970 บาท แก่ทายาทผู้ตาย ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในส่วน ชวลิต วุ่นชุม จำเลยที่ 3 จำคุก 19 เดือน, ทวากร เกื้อทอง จำเลยที่ 4 จำคุก 8 เดือน พ้นโทษแล้ว ส่วน จ.ส.อ.อิทธิพล และจิตอำไพ เพ็งด้วง บิดา มารดาสันติภาพ ฐานรับของโจร จำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2556 สันติภาพและสุทธิพงศ์ จำเลยที่ 1-2 ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนและมีด ปล้นทรัพย์เอกยุทธ รวม 9 รายการ มูลค่า 6,600,000 บาท โดยใช้อาวุธทำร้ายและหน่วงเหนี่ยวกักขังบังคับให้เอกยุทธ ออกเช็คเบิกถอนเงิน และใช้เชือกรัดคอจนเอกยุทธถึงแก่ความตายก่อนนำศพใส่รถตู้ ไปฝังในไร่นาสวนผสมทิ้งร้าง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เพื่อปกปิดความผิด มีจำเลยที่ 3-4 ช่วยขุดหลุมฝังศพ ส่วนจำเลยที่ 5-6 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บเงินสดของผู้ตายจำนวน 4,242,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 นำไปฝากไว้

สำหรับกรณีการเสียชีวิตของเอกยุทธนั้นเคยถูกนำมาเป็นประเด็นการเมือง โดยมีการกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากเอกยุทธ เป็นผู้มีบทบาทในการทำสื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร ถึงยิ่งลักษณ์ด้วย
 
โดยเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.56 ผู้จัดการออนไลน์ เคยรายงานด้วยว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกายโดยระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า คดีของเอกยุทธถือว่าไม่ได้แตกต่างจากคดีของสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำในปี 2547 ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
"คดีนี้มันก็ไม่ต่างจากกรณีของคุณสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเรายังไม่รู้ประเด็นว่าคืออะไร แต่ผู้ตายไม่ใช่ประชาชนธรรมดาที่ไม่เคยมีเรื่องกับอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดกันตรงๆ คุณเอกยุทธถือเป็นตัวอย่างของคนที่สู้กับอำนาจรัฐ จะเป็นฝั่งอะไรก็ช่าง แต่เมื่อมีการตาย เจ้าหน้าที่รัฐและการเมืองต้องระวัง ระวังต่อการเข้าไปก้าวก่าย ระวังต่อการที่ทำให้เห็นได้ว่ามันมีการดำเนินการไม่สุด" พญ.พรทิพย์ กล่าวขณะนั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อประชาชนถูกยึดกุมอาหารผ่านการยึดเมล็ดพันธุ์

Posted: 18 Oct 2017 06:03 AM PDT

ทำความรู้จักร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ผ่านวงเสวนาหลังฉายสารคดี "Seed: The Untold Story" ท่ามกลางข้อถกเถียงว่ากฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมสิทธิบัตรพันธุ์พืช ต่อยอดการวิจัย หรือจะทำให้เกิดเป็นการผูกขาดสิทธิในเมล็ดพันธุ์ เพราะเมื่อการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อจะถูกนิยามว่าเป็นความผิด เกษตรกรยิ่งต้องพึ่งพาบรรษัทเจ้าของสิทธิบัตรมากขึ้น

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. กรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่เรื่องการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ....ฉบับใหม่ ซึ่งมีหลายจุดที่เปลี่ยนแปลงจากฉบับเดิมในปี 2542 นำมาสู่การถกเถียงในวงสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมาหาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ผ่านและนำมาใช้จริง

15 ต.ค. 2560 - Doc Club Theater จัดกิจกรรมฉายสารคดี "Seed: The Untold Story" ที่ Warehouse30 บอกเล่าความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 12,000 ปีระหว่างมนุษย์กับเมล็ดพืชพันธุ์ที่มีทั้งช่วงเวลาหอมหวานและขมขื่น ความหลากหลายของพืชพันธุ์สูญหายไปไหน และคนธรรมดาๆ จะต่อสู้กับการเก็บรักษาแหล่งอาหารแห่งอนาคตนี้ได้อย่างไร จากนั้นชวนคุยเรื่อง "เก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อคืออาชญากรรม?" กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จาก FTA Watch 

ความสำคัญของเมล็ดพันธุ์

กรรณิการ์ เกริ่นว่า สหภาพยุโรปเมื่อจะไปเจราจาการค้ากับที่ไหนก็ตามเขาไม่ได้สนการซื้อขายสินค้ามากเท่าที่เขาสนใจเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แล้วก็ไม่ได้สนใจในเชิงจะซื้อเมล็ดพันธุ์ แต่สนใจในความเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ จะจดสิทธิบัตรได้ไหม จะบังคับให้เรารับจีเอ็มโอได้รึเปล่า หรือถ้าไม่ได้ ขอให้มีการขึ้นทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชก็ยังดี คุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ก็ยังดี

วิฑูรย์ อธิบายว่า เมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องใหญ่ เป็นอนาคตของโลก ปัญหาคือเมล็ดพันธุ์เหล่านี้สูญหายไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงสองทศวรรษมานี้ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว มีนักวิทยาศาสตร์จากอเมริกามาช่วยไทยเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าว เขาใช้ช่วงเวลาสั้นๆ เก็บรวบรวมตัวอย่าง 35 อำเภอ ได้พันธุ์ข้าวมา 100,000 กว่าตัวอย่างพันธุ์ แต่ปัจจุบันข้าวที่เราปลูกอยู่ในพื้นที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวเพียง 5 สายพันธุ์

ศูนย์กลางพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในโลกมีอยู่ไม่กี่แห่ง ความหลากหลายของโลกนี้มีอยู่ไม่กี่ที่ ไทยก็เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความหลากหลายเหล่านี้ เป็นตรงกลางของความหลากหลาย 3 กลุ่มทั้งจากอินเดีย มลายู และตอนใต้ของจีน ไทยจึงมีความหลากหลายมาก ไทยจึงมีจุดแข็งที่ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย เช่น วัฒนธรรมอาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชและระบบเกษตรกรรม

ระบบพันธุกรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตการเกษตร พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เป็นตัวกำหนดระบบการผลิต ในสารคดี "Seed: The Untold Story" เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) นักวิทยาศาสตร์และนักการทูตชาวอเมริกัน กล่าวว่า "ถ้าจะยึดกุมประเทศให้ยึดแหล่งน้ำมัน ถ้าจะยึดกุมประชาชนให้ยึดกุมอาหาร"

วันดานา ชีว่า (Vandana Shiva) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม บอกว่า "ดังนั้นถ้าจะยึดกุมอาหารให้ยึดกุมเมล็ดพันธุ์"

ปัญหาใหญ่ที่เจอคือ อยู่มาวันหนึ่งพันธุ์พืชที่เราเคยใช้ตกอยู่ภายใต้ระบบการค้าที่บริษัทใหญ่ๆ เข้าไปมีบทบาท มีการออกนโยบายและกฎหมายเรื่องสิทธิบัตร ถ้าดูจากเหตุและผลของเขาก็จะอ้างเรื่องการมีสิทธิบัตรจะสร้างแรงจูงใจให้กับนักปรับปรุงพันธุ์ เป็นหลักประกันให้เราได้อาหารที่ดี แต่เมื่อมีสิทธิบัตรเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกไม่ได้ 

อยู่ๆ การปลูกเมล็ดพันธุ์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายได้ยังไง?

วิฑูรย์กล่าวว่า ภายใต้พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2518 การขายเมล็ดพันธุ์ที่ถูกประกาศว่าเป็นพันธุ์พืชควบคุมคุณภาพ จะต้องไปขอใบอนุญาต (ใบ พพ.) ไม่งั้นจะผิดกฎหมาย เหตุผลที่ใช้อ้างคือเพื่อไม่ให้มีบริษัทหลอกขายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดี ดังนั้นรัฐจึงต้องควบคุม

แต่สิ่งนี้เป็นปัญหาในหลายประเทศเมื่อเกษตรกรรู้สึกว่าเขาไม่ควรจะเป็นเพียงแค่คนบริโภค เพราะในอดีตที่ผ่านมาเขาเก็บรักษาพันธุ์ และขายมัน แต่วันหนึ่งเขาทำไม่ได้ ถ้าทำต้องไปขออนุญาต หลายประเทศในยุโรปคนเริ่มต้นเก็บเมล็ดพันธุ์ขายก็โดนจับ เมืองไทยการบังคับใช้กฎหมายอาจไม่เข้มงวดเท่าไหร่ ก็ยังมีคนขายเมล็ดพันธุ์อยู่ได้

แต่สิ่งเหล่านี้เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน วันที่ 5 ต.ค. 60 กรมวิชาการเกษตรประกาศว่าจะออก พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งเท่ากับว่ากฎหมายฉบับนี้จะไปยกเลิก พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับเก่าปี 2542 และเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นระหว่างวันที่ 5-20 ต.ค. เท่านั้น (แต่ปัจจุบันหลังจากมีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทำให้กรมวิชาการเกษตรขยายเวลารับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 20 พ.ย.)

โดยกรมวิชาการเกษตรระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการร่างกฎหมายเพื่อให้เป็นไป "ตามแนวทางของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(อนุสัญญา UPOV 1991)" และรองรับ "แนวโน้มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) จะผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV1991"

UPOV 1991 คือ?

UPOV (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants) คือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นการตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์พืช โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปกป้องสิทธิ สร้างแรงจูงใจในการค้นพบพันธุ์พืชใหม่ สายพันธุ์ดี และจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรและผู้บริโภค บังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1961 และต่อมามีการปรับปรุงแก้ไขในปี 1972, 1978 จนในที่สุดความตกลง UPOV1991 ก็ใกล้เคียงกับการผูกขาดโดยระบบสิทธิบัตร เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกคือ จะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ แต่การถอนออกจากการเป็นสมาชิกทำได้ยาก และอาจมีผลทำให้ประเทศที่ต้องสูญเสียค่าชดเชยในภายหลัง

นักปรับปรุงพันธุ์

นิยามของ "นักปรับปรุงพันธุ์" ใน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ หมายถึงคนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชหรือค้นพบและพัฒนาพันธุ์พืชจนได้พันธุ์พืชใหม่ ซึ่งมาจากหลักกฎหมายสิทธิบัตรอเมริกา ถ้าพบว่ามีพันธุ์พืชใหม่ที่มีลักษณะพิเศษบางอย่างและนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรได้

ซึ่งอเมริกากำลังทบทวนเรื่องนี้ในหลายกรณี แต่ตอนนี้กฎหมายของไทยกำลังใส่เรื่องนี้เข้าไปด้วย และคำว่า "ค้นพบ" อาจตีความได้ว่า ใครก็ตามสามารถส่งคนเข้ามาดูพันธุ์พืชต่างๆ ถ้าพบพันธุ์ใหม่ๆ ก็ขอขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ได้

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาบรรษัทข้ามชาติ และบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ได้ผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับระบบกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืชตามระบบ UPOV1991 ทั้งที่เป็นการผลักดันโดยตรงและผ่านการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ความตกลง FTA อาเซียน-ยุโรป (Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี)  เป็นต้น แต่ก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จ

ในปี 2557 มีสัมมนาที่สนับสนุนโดยกรมการค้าเมล็ดพันธุ์กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องการเข้าภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV 1991 ดีอย่างไร และผู้สนับสนุนซึ่งประกาศอยู่ในเว็บไซต์ http://www.thasta.com ได้แก่บริษัทเกี่ยวกับพันธุ์พืชขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก เช่น มอนซาโต้ ไพโอเนีย แปซิฟิก อีสต์เวสต์ซีด ซินเจนทรา รวมทั้ง เจียไต๋ ศรแดง และอื่นๆ

โดยได้ชี้แจงผลดีของ UPOV 1991 ว่า

  • ทำให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของประเทศเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า
  • ทำให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาสายพันธุ์มากยิ่งขึ้น และไม่ทำให้เกิดการผูกขาด หรือทำให้ราคาแพงโดยไม่เหมาะสม
  • ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์มากยิ่งขึ้น
  • ทำให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพดีขึ้น เกษตรกรได้ผลผลิตคุณภาพดีขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้
  • ทำให้การแข่งขันเป็นไปโดยยุติธรรม มีกฎกติกาเป็นที่ยอมรับ ที่ชัดเจน
  • เป็นการส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาทั้งอุตสาหกรรม ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งในประเทศ และการส่งออกต่างประเทศ
  • ปกป้องชื่อเสียงของประเทศในประชาคมโลก
  • สนับสนุน และเสริมสร้างให้มีคุณธรรมและจริยธรรม ระหว่างผู้ประกอบการ

และผลเสียหากไม่เข้าเป็นสมาชิกของ UPOV 1991 ว่า

  • ต้องเพิ่มมาตรฐานในการทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ การขโมยสายพันธุ์ ทำไม่ได้ หรือ สร้างความลำบากมากขึ้น
  • เกษตรกรจะยากจนลงมากขึ้น เพราะได้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพมาเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ดี หรืออาจขาดทุน
  • ขาดความน่าเชื่อถือต่อคู่ค้าและประชาคมโลก
  • ทำให้ภาครัฐต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลเกษตรกรมากขึ้น
  • เสียโอกาสในการแข่งขัน กับต่างประเทศ
  • หมดโอกาสในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม (Seed Hub)

แน่นอนว่านี่เป็นการนำเสนอเพียงแค่ข้อดีของ UPOV 1991 เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ที่ประกาศชัดเจนว่าเพื่อให้เป็นไปตาม UPOV 1991 รวมถึงการผลักดันให้ไทยเข้าร่วม UPOV 1991 นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากบริษัทขนาดใหญ่ผู้ครอบครองส่วนแบ่งหลักทางการตลาดเป็นผู้สนับสนุน

อีกด้านของ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช

วิฑูรย์ กล่าวว่า บางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในกฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์ ขยายพันธุ์ และต้องการจะพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ ด้วยตัวเกษตรกรเองจะทำได้ลำบากมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่อยู่ใน มาตรา 35 ในร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่

แม้ทุกครั้งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรจะพูดถึง วรรคแรกของมาตรา 35 ว่า "เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง"

แต่ วรรค 2 ของมาตรา 35 ซึ่งดูเหมือนมีอำนาจมากกว่าวรรคแรก กล่าวว่า "เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้"

หมายความว่าในวรรคแรกคือหลักทั่วไป แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐมนตรีประกาศก็สามารถทำให้วรรคแรกนั้นหมดความหมายได้ และสามารถห้ามไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้ทันที และสิ่งนี้เป็นจุดประสงค์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์มาโดยตลอด กฎหมายใหม่นี้เน้นคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ และวรรค 2 ในมาตรา 35 นั้น ถึงที่สุดจะกระทบต่อเกษตรกร

นอกจากนี้ หากเกษตรกรปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน จะมีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การควบคุมไม่ให้เกษตรกรเอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ

1. ทำให้เป็นลูกผสม

หมายถึง มีต้นพ่อ ต้นแม่ ผสมกันได้ต้นลูก ซึ่งจะมีผลผลิตที่ดีกว่าพ่อและแม่ เป็นเทคนิคที่เลือกพันธุ์แท้สองพันธุ์มาผสม การปลูกข้าวโพดใช้เทคนิคนี้แทบทั้งสิ้น ถ้าเราไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดปัจจุบันที่ขายอยู่กิโลกรัมละ 150-180 บาท เราจะไม่สามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้เพราะเมื่อเอาไปปลูกแล้วผลผลิตที่ได้จะน้อยมากจนแทบไม่มี หรือ "เป็นหมัน" นั่นเอง

ด้านหนึ่งการใช้เทคนิคนี้ได้ผลผลิตที่ดีกว่าพ่อและแม่ แต่อีกด้านเป็นความตั้งใจของบริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วยที่เมื่อเราไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกเราต้องไปซื้อทุกฤดู และเราต้องผูกติดอยู่กับการทดลองของบริษัทว่าเขาจะทำพันธุ์แบบไหนมาให้เรา

2. การทำสัญญากับบริษัท เมื่อคุณซื้อเมล็ดพันธุ์ คุณเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อไม่ได้

(คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ๋)

3. การทำสิทธิบัตร คือการเอาแนวคิดแบบอุตสาหกรรมมาใช้ เมื่อใดก็ตามที่คุณค้นพบสิ่งใหม่และสามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ คุณสามารถจดสิทธิบัตรได้ ยกตัวอย่างสิทธิบัตรตัวหนึ่งของบริษัทมอนซาโต้ (Monsanto - บริษัทมหาชนจำกัดด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรข้ามชาติ) ซึ่งตอนนี้อเมริกามีสิ่งนี้แล้วแต่เมืองไทยยังไม่มี แต่เมืองไทยมีสิ่งที่คล้ายกับสิ่งนี้คือกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่ว่า

(คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่)

 

ผลของกฎหมายสิทธิบัตร

Vernon Hugh Bowman

วิฑูรย์ยกตัวอย่าง Vernon Hugh Bowman เกษตรกรชาวอเมริกา จากรัฐอินเดียน่า ซึ่งความผิดของเขานั้น เป็นสิ่งเดียวกับใน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ของไทยเขียนไว้

ปกติ Bowman จะปลูกข้าวสลับกับถั่วเหลือง แต่ในการซื้อเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเขาไม่ได้ไปร้านขายเมล็ดพันธุ์ แต่ไปซื้อถั่วเหลืองทั่วไปที่นำมาประกอบอาหารเพื่อนำมาเพาะปลูก ท้ายสุดเขาโดนฟ้องจากบริษัทมอนซาโต้ สู้กันหลายปี ในที่สุดเขาแพ้คดี คำตัดสินระบุความผิดของเขา 2 ข้อ คือ หนึ่ง  เขาต้องจ่ายค่าเสียหายที่เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ และสอง เขาทำการละเมิดเมล็ดพันธุ์ โดยเมล็ดถั่วเหลืองที่เขาปลูกมีสิทธิบัตรของมอนซาโต้อยู่ เพราะฉะนั้นถั่วเหลืองที่ผลิตได้ก็ถือเป็นทรัพย์สินของมอนซาโต้ด้วย

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ หากต้องการปลูกต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกเท่านั้น ไม่สามารถซื้อเมล็ดตามท้องตลาดทั่วไปที่เป็นไปเพื่อการประกอบอาหารได้

ทั้งนี้ ในกรณีของอเมริกาเป็นจีเอ็มโอ การรับรองจึงเป็นเรื่องของสิทธิบัตรจีเอ็มโอ ซึ่งดูกันที่ยีนและพันธุกรรม แต่ของไทยยังไม่มีสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ มีแค่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช

จีเอ็มโอ ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Genetically Modified Organisms (GMOs) คือ สิ่งมีชีวิตซึ่งไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ หรือแบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์ ที่ถูกดัดแปลง พันธุกรรม จากกระบวนการทาง พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)โดยจากการตัดเอายีน(gene)ของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มาใส่เข้าไปในยีน (gene )ของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยตามปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรรมชาติ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ที่มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติตามที่ต้องการ

การขยายอำนาจผูกขาด ในร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่

พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชในปี 2542 ก็ให้สิทธิในการคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ ถ้าวิจัยมาแล้วพบว่าเป็นพันธุ์ใหม่ สามารถได้สิทธิผูกขาดการขาย แต่ไม่สามารถห้ามเกษตรกรเอาพันธุ์ไปปลูกต่อ แต่ ณ ปัจจุบัน ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ได้ขยายอำนาจการผูกขาดของนักปรับปรุงพันธุ์ออกไปอีก 4 เรื่อง ได้แก่

1. ขยายเพดานการผูกขาดพันธุ์พืช จาก 12-17 ปี เป็น 20-25 ปี

2. ขยายการคุ้มครองลักษณะพิเศษไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากเมล็ดพันธุ์ไปถึงตัวผลิตผลและผลิตภัณฑ์

ยกตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิมีความหอมเป็นลักษณะสำคัญ แต่นักปรับปรุงพันธุ์พัฒนาจนเป็นข้าวหอมมะลิสีม่วง ปรากฎว่ามีคนเอาข้าวหอมมะลินี้ไปปลูกแล้วกลายพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์จนข้าวหอมมะลินี้มีวิตามินอีสูงมาก จนนำไปใช้เป็นยาเป็นเครื่องสำอางได้ แต่ยังมีสีม่วงอยู่ กฎหมายนี้บอกว่า ถ้ามีลักษณะพิเศษนี้ของบริษัทอยู่ ให้ถือว่าสายพันธุ์นั้นเป็นสายพันธุ์ย่อยของบริษัท

คล้ายๆ กฎหมายของอเมริกา เกษตรกรเอาไปปลูกต่อไม่ได้ แต่ที่แย่กว่าคือ สิทธิบัตรพันธุ์พืชดูกันที่ยีน ซึ่งต้องดูกันในห้องแล็บ ฟ้องร้องกันถึง 4-5 ปี แต่อันนี้ดูแค่ลักษณะคือดูด้วยตาเท่านั้นเอง

3. คุ้มครองสิทธิในการขยายพันธุ์จนไปถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ แต่เดิมถ้าได้รับการคุ้มครองจะมีสิทธิเฉพาะการขยายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ หน่อ กิ่งตอน แต่ร่างกฎหมายใหม่เลยไปถึง ผลิตผล เช่น ถั่วเหลืองที่นำไปทำกับข้าว และผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำเต้าหู้

4. ทำลายหลักการแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรหรือเจ้าของพันธุ์นั้น

แต่เดิมบริษัทเมล็ดพันธุ์ นักวิจัยยาจากต่างชาติ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ นำไปทำยา หรือปรับปรุงเป็นพันธุ์ใหม่ ต่างชาติจะได้สิทธิผูกขาดแต่ไม่เคยทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์จากประเทศเจ้าของทรัพยากร แต่ภายหลังมี ข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ขึ้นมา ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือสิทธิทรัพยากรชีวภาพ หมายความว่าต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม และให้การรับรองบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งหลายประเทศเปลี่ยนกฎหมายจนปัจจุบันกลายเป็นกฎหมายทั่วไปแล้ว

ไทย อินเดีย คอสตาริกา ฯลฯ เป็นแม่แบบของการผลักดันกฎหมายนี้ ใน .ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 จึงเขียนว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ใช้พืชท้องถิ่น ต้องขออนุญาตและแสดงแหล่งที่มา

แต่ปรากฎว่าสิ่งที่เห็นในกฎหมายปัจจุบันได้แก้ไข 2 เรื่อง คือ

 (1.) ตัดข้อความของกฎหมายเดิมที่บอกว่า ถ้าขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มา ว่าใช้สารพันธุกรรมอะไร เปลี่ยนเป็น "ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด" (ร่างพ.ร.บ.มาตรา 18 วรรค 3) หมายความว่าถ้ากฎหมายผ่าน การขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ก็ไม่ต้องบอกที่มา ถ้าต่อมาเราพบว่าเขาใช้สารพันธุกรรมจากที่ใด เราต้องไปพิสูจน์เอาเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

การแก้ไขดังกล่าวมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์

และเมื่อเรามองดูทั่วโลกจะพบว่า การแสดงที่มาเป็นพื้นฐานของกฎหมายทั่วโลก เช่น สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งแทบไม่มีความหลากหลายทางพันธุ์พืชเลย หรือ นอร์เวย์ และจีน ล้วนแต่มีข้อความนี้ปรากฎอยู่ในกฎหมายสิทธิบัตรและคุ้มครองพันธุ์พืช

(2.) เขียนข้อยกเว้น มีการเปลี่ยนแปลงนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปว่า "พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป" หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือ พันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ (ร่างพ.ร.บ.มาตรา4) การแก้คำนิยามดังกล่าวเป็นช่องโหว่มหาศาล ทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ เมื่อมีการนำเอาสารพันธุกรรมหรือพันธุ์พืชไปใช้โดยเพียงแต่เอาพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือ พันธุ์พืชป่า มา "ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์" เสียก่อน เท่านี้ก็ไม่เข้าเงื่อนไขการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์แล้ว

ตัวอย่างเช่น โดยปกติแล้วการปรับปรุงพันธุ์พืชทั่วไปจะต้องใช้หลายสายพันธุ์ สมมติว่าเจตนาจะใช้ยีนความหอมของข้าวหอมมะลิ เอายีนนั้นมาใช้ในพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่อยากแบ่งผลประโยชน์ เขาสามารถเอาข้าวหอมมะลิไปผสมกับข้าวอื่นแล้วค่อยดึงลักษณะที่ต้องการจากพันธุ์ข้าวใหม่นั้นมาใช้ แค่นี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ได้

ถ้ารวม 2 ข้อนี้ เท่ากับว่า กลไกที่เราเคยสร้างมาเพื่อคุ้มครองทรัพยากรของชาติก็จะถูกทำให้ไม่มีความหมายนั่นเอง

ใครจะได้ประโยชน์จากกฎหมายเหล่านี้?

ต้องดูว่าใครถือครองตลาดพวกนี้ไว้ ในระดับโลก 8 บริษัทครอบครองตลาดไว้ 75 เปอร์เซ็นต์ 

จากรูป ตลาดเมล็ดพันธุ์โลก มี 8 บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้จะสนใจการจดทะเบียนพืชไร่ ซึ่งเกษตรกรต้องซื้อปลูกอยู่แล้วทุกฤดูกาล

ในไทย ข้าวโพดซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 3,000 ล้านบาท ซีพีมีส่วนแบ่ง 31.7 เปอร์เซ็นต์ ใช้สายพันธุ์ที่ได้สิทธิบัตรจากมอนซาโต้ มอนซาโต้มีส่วนแบ่ง 22.8 เปอร์เซ็นต์ ซินเจนด้า 12.8 เปอร์เซ็นต์ ดูปองด์เพเนีย 13.9 นั่นแปลว่ากว่าครึ่งหนึ่งของตลาดอยู่ในมือของซีพีและมอนซาโต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรกัน ถ้านักเศรษฐศาสตร์จะใช้คำว่า "กึ่งผูกขาด"

ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักในไทย ส่วนแบ่งตลาด 2,100 ล้านบาท ปัจจุบันมอนซาโต้และอีสเวสต์เป็นพันธมิตร ทำตลาดด้วยกัน  ถือครอง 38 เปอร์เซ็นต์ ส่วนซีพีถือครอง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นอื่นๆ

ตัวเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและผักส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ผสม หมายความว่าเราเก็บพันธุ์ได้ยากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแรงจูงใจสำคัญของกฎหมายในมาตรา 34 วรรค 2 ที่ว่าถ้ามีประกาศเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกต่อไม่ได้ มันจะถูกนำมาใช้กับตลาดที่ใหญ่ที่สุดก็คือตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 20,000 ล้านบาท เขาสามารถห้ามชาวบ้านไม่ให้เก็บเมล็ดข้าวมาปลูกต่อได้เลย

และทันทีที่ใช้กฎหมายแบบนี้ ราคาเมล็ดพันธุ์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราคาสินค้าจะแพงขึ้น?

(คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่)

วิฑูรย์กล่าวว่า มีงานวิจัยเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบกับอเมริกาซึ่งเพิ่งมาเข้าร่วม UPOV 1991 ในปี 1999 พบว่าปี 1999-2007 เมล็ดพันธุ์ราคาสูงขึ้นอย่างชัดเจน แพงขึ้นประมาณ 2.5-3 เท่า ข้อมูลของ UFTA เปรียบเทียบชัดเจนระหว่างต้นทุนของเมล็ดพันธุ์กับต้นทุนของฟาร์มโดยรวม ซึ่งส่วนของเมล็ดพันธุ์นั้นพุ่งสูงขึ้นเหนือกว่าต้นทุนของฟาร์มโดยรวมอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกัน

ดังนั้นชัดเจนว่าการมีกฎหมายนี้ในที่สุดเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้น

ตอนมีการเจรจา FTA (Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี) ไทยกับสหภาพยุโรป ระหว่างเจรจากันอยู่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการบอกว่า จะเจรจาแบบไม่มีความรู้ไม่ได้ อย่างน้อยต้องดูผลกระทบ มีผลดี ผลเสียอย่างไร จึงมีการผลักดันให้เกิดงานวิจัย ซึ่งช่วงนั้นมีงานวิจัยใหญ่ๆ ประมาณ 6-7 ชิ้น มีเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องยา เรื่องอุตสาหกรรมทั้งระบบที่จะได้รับผลกระทบ

ซึ่งการวิจัยคือการเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา มีการศึกษาในเมืองไทยว่าถ้าใช้กฎหมายที่ห้ามชาวบ้านเอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อจะเกิดอะไรขึ้น และเทียบว่าในกรณีที่เป็นพันธุ์พืชทั่วไปถ้าห้ามไปปลูกต่อแบบเดียวกับพันธุ์ลูกผสม ราคาจะเป็นยังไง

โดยงานวิจัยของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พบว่า ตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเดิมอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท จะกลายเป็น 60,000-100,000 ล้านบาท ถ้ากฎหมายนี้เป็นไปแบบที่เขาต้องการ จะสามารถควบคุมชาวบ้านเมื่อไปซื้อพันธุ์จะซื้อแล้วปลูกได้หนเดียว จึงต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกครั้งที่ปลูก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจึงกลายเป็นการผลักภาระให้เกษตรกร

วิฑูรย์ยกตัวอย่าง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีบริษัทขนาดใหญ่ผลักดันการปลูกข้าวลูกผสม ในตอนนั้นเมล็ดพันธุ์ข้าวปกติอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาท แต่ทันทีที่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมที่จะเก็บไปปลูกต่อไม่ได้ ราคาจะขึ้นทันทีเป็น 150 บาทต่อกิโลกรัม โดยเขาอ้างว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิม จากปกติในพื้นที่ชลประทานจะปลูกได้ประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่ จะเพิ่มขึ้นถึง 1,500 กิโลกรัมต่อไร่

แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายของรัฐ ไบโอไทยส่งนักวิจัยไปติดตามเมล็ดพันธุ์ที่บริษัทส่งเสริมให้เพาะปลูก เอาสมุดบันทึกของเกษตรกรแต่ละรายมาดูว่าผลิตได้เท่าไหร่ ปรากฏว่าได้เพียง 800 กว่ากิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น

ตั้งพนักงานของบริษัทเพื่อล่าการละเมิดสิทธิบัตร

ในสารคดี "Seed: The Untold Story" กล่าวว่าด้วยกระบวนการเหล่านี้สิ่งที่เราจะเห็นจะมีการส่งพนักงานของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อล่ารางวัลจากการละเมิดสิทธิบัตร ในอเมริกามีข้อมูลการฟ้องร้องคดีดังนี้

ผลกระทบต่อเราผู้บริโภค

(คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่)

วิฑูรย์กล่าวว่า ท้ายสุดวงจรเรื่องนี้จะมาถึงพวกเราทุกคน เมล็ดพันธุ์แพงขึ้น ต้นทุนอาหารก็แพงขึ้น ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ที่บอกว่าจะสร้างแรงจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์ งานวิจัยในยุโรปบอกว่าหลังการใช้กฎหมาย UPOV พันธุ์พืชหลากหลายน้อยลง บริษัทเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เจ๊งไป และแทนที่จะกระตุ้นให้เกิดการวิจัยเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการแต่กลับไป กระตุ้นให้เกิดการวิจัยพันธุ์พืชบางอย่างที่ให้ผลตอบแทนทางกำไรมากกว่า เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ

หรือข้อดีอีกอย่างที่บอกว่าถ้าใช้กฎหมายนี้เราจะได้พันธุ์ดีจากต่างประเทศเข้ามา แต่อเมริกาวิจัยเรื่องนี้ สำรวจประเทศที่เข้า UPOV ตั้งแต่ UPOV 1978 UPOV 1991 ปรากฏว่าไม่เป็นความจริง หนึ่ง ไม่มีพันธุ์พืชใหม่เข้ามาอย่างที่อ้าง บางประเทศเพิ่ม บางประเทศลด โดยรวมไม่ปรากฏชัดเจน สอง เปลี่ยนจาก UPOV 1978 ซึ่งชาวบ้านยังเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ เป็น UPOV 1991 ไม่อนุญาตให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ ซึ่งให้การผูกขาดมากขึ้น

โดยสรุปคือผู้บริโภคจะเจอเมล็ดพันธุ์ซ้ำๆ ที่บริษัทผลิตขึ้นมาสร้างผลกำไรให้เขา แต่เราอย่าหวังว่าจะได้พันธุ์พืชที่ดีที่หลากหลาย อาหารก็จะแพงเนื่องจากต้นทุนแพงขึ้น ปกติราคาเมล็ดพันธุ์ถ้าเทียบทั้งต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารับระบบนี้ต้นทุนเมล็ดพันธุ์จะมีสัดส่วนประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมดทางการเกษตร และสิ่งนี้จะถูกผลักภาระไปให้ผู้บริโภคทั้งหมด

(อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)

กฎหมายนี้จะกระตุ้นนักปรับปรุงพันธุ์ให้พัฒนา?

กรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่เคยติดตามเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการคุ้มครองพันธุ์พืช กล่าวคือ การให้สิทธิเจ้าของสิทธิบัตรอย่างเข้มข้นมากๆ โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อให้มียามากขึ้น คนจะได้มีกำลังใจในการผลิตยามากขึ้น แต่กลายเป็นว่า ยิ่งผูกขาดมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งจะผูกขาดสิ่งที่เขามีจนไม่คิดค้นยาอื่นๆ ยาที่เป็นโมเลกุลใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นน้อยมากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา

ผู้ฟังเสวนาร่วมเสนอประเด็นว่า ถ้ามันจะนำไปสู่การคุ้มครองพันธุ์พืชจริงๆ ทำไมเราถึงสนใจสิทธิในการครอบครองมากนัก ถ้าพวกเราคิดว่าเรามีสิทธิที่จะใช้พันธุ์พืชร่วมกัน จะทำยังไงไม่ให้สิทธิมันเบียดเบียนกัน สิทธิของเกษตรกร สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ สิทธิของชุมชนที่มีทรัพยากรนั้นๆ ควรเท่าเทียมกัน ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมถกเถียงกันจริงจัง และมาตรา 35วรรค 2 เหมือนเอาสิทธิของเกษตรกรมาทีหลัง แต่พิจารณาสิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์และผู้ว่าจ้างมาก่อน

ที่มาของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช

วิฑูรย์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 16 มี.ค. 59 มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เชิญหลายฝ่ายไปให้ความคิดเห็น เปิดแค่ครึ่งวัน ไม่แจกเอกสารแม้แต่ชิ้นเดียว มีแค่การฉายสไลด์ บางคนได้รับจดหมายในตอนเช้าวันนั้น แล้วก็ต้องมาประชุมเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ไบโอไทยได้รับจดหมายหนึ่งวันก่อนการประชุม ซึ่งรวบรัดมาก เราต่อรองว่าขอส่งจดหมายเพื่อบอกว่ามีปัญหาอะไรบ้างในสไลด์ที่เขาฉาย ปรากฏว่าสิ่งที่เสนอไปไม่ปรากฏเลยในร่างกฎหมายที่เขาประกาศอยู่ปัจจุบัน

จึงเห็นว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้เป็นแค่เพียงพิธีกรรม โดยเจตนาของการร่างกฎหมายเขาเขียนไว้แล้วว่าเขาต้องการร่างกฎหมายให้เป็นไปตาม UPOV 1991 และสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมดอยู่ใน UPOV 1991 เพราะฉะนั้นถ้าเขายืนหลักนี้อยู่ การไปเสนอความเห็นก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย แล้วเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีคนให้ความเห็นกี่หมื่นราย เขาจะพูดตามความเป็นจริงไหม

"ถ้าผมจะเสนอตอนนี้ ทำจดหมายถึงรมว.กระทรวงเกษตรฯ และ cc กรมวิชาการเกษตร และโพสต์จดหมายนั้นในเฟสบุ๊กของพวกเรา ในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง เราจะรวบรวมเรื่องนี้มาผลักดันต่อทางนโยบาย ถ้าสู้ไม่ได้เพราะอยู่ในเวลาเร่งรัด เราต้องสู้ในเวทีใหญ่กว่านั้น คนที่มีอำนาจตัดสินใจมากกว่านั้น ตอนนี้เราก็ทำจดหมายกลางไว้แล้ว" วิฑูรย์กล่าว

จีเอ็มโอจะได้รับการคุ้มครองง่ายขึ้นด้วยไหม?

วิฑูรย์ให้ความเห็นว่า ในกฎหมายเดิมเขียนไว้ว่าถ้าคุณประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ คุณต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน แต่กฎหมายนี้ตัดข้อความนี้ออกไป หมายความว่าถ้าเขาจะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ก็ไม่ต้องทำแบบนั้นแล้ว

แต่ ณ ปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเรื่องจีเอ็มโอ การที่เขาจะขอรับการคุ้มครองอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าวันใดก็ตามรัฐบาลผ่านเรื่องจีเอ็มโอ เขาก็สามารถเข้ามาขอรับการคุ้มครองได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการทดลอง เช่นเดียวกับเรื่องการแสดงที่มาของสารพันธุกรรม

กรรณิการ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้าที่มีจีเอ็มโอ แต่ให้แสดงแค่ 2 ผลิตภัณฑ์เท่านั้นคือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากข้าวโพดและถั่วเหลือง และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ 1 ใน 3 อันดับแรก มีเกิน 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และไม่บังคับว่าตัวจะเล็กขนาดไหน พบว่ามีซีเรียลที่มีผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ แต่เขียนฉลากด้วยตัวหนังสือที่เล็กมาก มูลนิธิผู้บริโภคพยายามผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วที่รัฐบาลบอกว่าจะคุ้มครองผู้บริโภค รัฐมนตรีสาธารณสุขบอกว่าไม่มีปัญหา จะแสดงทุกผลิตภัณฑ์ที่มีจีเอ็มโอ มีปริมาณเท่าไหร่ตามที่สามารถตรวจค้นได้ก็ต้องใส่ตามนั้น 3 เดือนเสร็จ แต่จนป่านนี้ 2 ปีมาแล้วก็ยังไม่เสร็จ

 

อ้างอิง:

www.biothai.net

https://www.facebook.com/biothai.net/

http://www.thaifta.com

http://www.doa.go.th

http://www.thasta.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปตำรวจ [ปฏิรูปตำรวจ – เสียงคนนอกและคนในองค์กร]

Posted: 18 Oct 2017 06:01 AM PDT

เสวนาหัวข้อ ข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปตำรวจ อภิปรายโดย (1) เรืองรวี พิชัยกุล ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (2) พ.ต.ท.พร แก้วช้าง รองนายกสมาคมพนักงานสอบสวน (3) เอกชัย ไชยนุวัติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (4) ร.ต.อ. ดร. สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ดำเนินรายการโดย ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนา เรื่อง ปฏิรูปตำรวจ – เสียงคนนอกและคนในองค์กร พุธที่ 18 ตุลาคม 2560 ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล ถ. ศรีอยุธยา  จัดโดย (1) หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2) กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)

ที่มาของภาพปก: ตำรวจเมืองท่าบ่อ ฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุปล้นธนาคาร 21 มี.ค. 2556/ข่าวออนไลน์หนองคาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรชาติ บำรุงสุข : การปฏิรูปตำรวจ (ต้องเกิดในสถานการณ์การเมืองปกติ)

Posted: 18 Oct 2017 05:32 AM PDT

ชี้การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดในสถานการณ์การเมืองปกติ เหตุการเมืองไม่ปกติไม่มีความชอบธรรมพอที่จะหาเสียงสนับสนุนเพื่อขับเคลือน ชี้ปฏิรูปตำรวจที่นำโดยทหารอาจกลายเป็นเพียงกลไกการควบคุม มากกว่าเปลี่ยนแปลง  เสนอสร้างตำรวจอาชีพและการควบคุมโดยพลเรือน

18 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ต.ค.60) โรงแรม เดอะ สุโกศล หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเสวนา เรื่อง ปฏิรูปตำรวจ – เสียงคนนอกและคนในองค์กร โดยในงานดังกล่าว มี สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อดีตคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) บรรยายพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปตำรวจ 

ปฏิวัติ-ปฏิรูป 

สุรชาติ กล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใน 2 รูปแบบคือ 1 การปฏิวัติ (Revolution) 2 การปฏิรูป (Reform) ความเปลี่ยนแปลงสองรูปแบบนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และตัวแสดงที่เกี่ยวข้อง ถึงที่สุดก็คือ นักปฏิวัติแตกต่างจากนักปฎิรูปโดยสิ้นเชิง แม้จุดสุดท้ายที่พวกเขาต้องการเห็นคือความเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีกระบวนการ ขั้นตอน และจุดจบที่ไม่เหมือนกัน

การปฏิวัติคือการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน นักปฏิวัติจึงมีความชัดเจนที่จะต้องกวาดล้างสิ่งเก่า เพื่อสร้างสิ่งใหม่ หรือกล่าวในทางอุดมคติก็คือ สังคมใหม่จะเกิดขึ้นได้ต้องทำลายสังคมเก่าให้หมดสิ้นไป สงครามของนักปฏิวัติจึงมีความชัดเจนในตัวเอง ความยากลำบากก็คือ พวกเขาจะต้องต่อสู้กับฝ่ายรัฐด้วยการทำสงครามปฏิวัติ และหลักประกันของความสำเร็จก็คือการเข้าร่วมของมวลชนอันไพศาล ดังคำกล่าวของประธานเหมาเจ๋อตุงที่ว่า สงครามปฏิวัติคือสงครามของมวลชน ถ้ามองจากประวัติศาสตร์แล้ว ปีนี้เตือนใจเราให้รำลึกถึงเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกคือ ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติรัสเซียThe Bolshevik Revolution ในปี 1917 และในเส้นทางสายนี้เรายังเห็นถึงการปฏิวัติในจีน ในคิวบา ในเวียดนาม และผลพวงของการปฏิวัติเช่นนี้ เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนเพื่อการสร้างสิ่งใหม่

แต่สำหรับนักปฎิรูปนั้น พวกเขาต่อสู้อยู่ภายในระบบเดิม สังคมใหม่ที่พวกเขาฝันถึงจึงไม่ได้เกิดจากการทำลายล้างเช่นการปฏิวัติ แต่พวกเขาจะต้องสร้างจากระบบเดิมที่เป็นอยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางส่วน และขณะเดียวกันก็หวังว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะมีเวลาพอรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น และก็จะต้องประคองไม่ให้สังคมที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายนั้นล้มลงเสียก่อน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการที่ชนชั้นนำต่างๆเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามแล้ว เกิดความตระหนักรู้ว่า สังคมไม่อาจอยู่อย่างเดิมได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง และพวกเขาพร้อมที่เป็นผู้ผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเอง แทนที่จะต้องรอแรงกดดันจากปัญญาชนและชนชั้นล่าง หรือจากปัจจัยภายนอก ตัวอย่างของการปฏิรูปใหญ่ของเอเชียที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น หรือ The Meiji Restoration 1867 หรือการปฏิรูปโดยราชสำนักสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

ในสภาวะเช่นนี้ ปัญหามักจะเกิดจากชนชั้นนำที่มีอำนาจแต่ขาดวิสัยทัศน์ และไม่เข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง  พวกเขาไม่เพียงแต่ไม่สนับสนุนการปฏิรูป หากแต่พยายามทำลายความหวังของการปฏิรูปที่แท้จริงอีกด้วย สุดท้ายแล้วคำตอบในประวัติศาสตร์ก็คือ ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของประเทศ เมื่อพระนางซูสีไทเฮาตัดสินใจล้มการปฏิรูปร้อยวันของจักรพรรดิกวางสูในปี 1908 แล้ว สิ่งที่รอคอยอยู่ข้างหน้าก็มีแต่เพียงประการเดียวคือ การปฏิวัติของ ดร. ซุนยัตเซ็นในปี 1911 นั่นเอง แตกต่างจากความสำเร็จของราชสำนักที่โตเกียวและที่กรุงเทพอย่างมาก

นักปฎิรูปจอมปลอม

สุรชาติ กล่าวว่า ตนเปิดประเด็นเช่นนี้ก็เพื่อเตือนใจท่านทั้งหลายว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องยาก จนกล่าวกันว่าความสำเร็จของการปฏิรูปในประวัติศาสตร์นั้นแทบจะไม่เกิดขึ้น คำอธิบายที่ชัดเจนก็คือ การปฏิรูปยากกว่าการปฏิวัติ นักปฎิรูปจะต้องมีความสามารถทางการเมืองมากพอที่จะทำให้ความฝันของเขาเกิดเป็นจริงได้ภายใต้ความล้มเหลวของโครงสร้างเดิม หรืออีกนัยหนึ่งคือ นักปฏิรูปจะต้องมีทักษะทางการเมืองมากกว่านักปฏิวัติ เพราะเขาต้องทนทานพอที่จะไม่ถูกทำลายจากอำนาจของปีกอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง และเข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกยั่วเย้าให้หลงไปกับอำนาจและทรัพย์สินจากผู้ปกครองเก่า และขณะเดียวกันก็จะต้องเก่งกล้าพอที่เล่นกับเกมแห่งอำนาจ และสามารถพอที่จะควบคุมความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเช่นนี้ได้อีกด้วย ถ้าไม่เช่นแล้วการปฏิรูปจะล้มเหลวตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ อายุ 100 วันของการปฏิรูปจีนในปี 1898 เป็นข้อเตือนใจที่ดีเสมอ เพราะความล้มเหลวเช่นนี้ตอบด้วยศรีษะของนักปฎิรูป 6 คนกลางตลาดกรุงปักกิ่ง

ความเลวร้ายอีกส่วนที่ต้องเผชิญก็คือ การประกาศตัวของนักปฎิรูปจอมปลอมที่มาในคราบของผู้สนับความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เช่นตัวอย่างของนายพลหยวนซื่อข่าย ที่สุดท้ายแล้วเป็นเพียงนายพลผู้ฉวยโอกาส ขุนศึกนักปฎิรูปจอมปลอมมีให้เราพบเห็นได้เสมอทั้งในประวัติศาสตร์และปัจจุบัน และในอีกด้านหนึ่งเพื่อบิดเบือนการปฏิรูป สาระสำคัญของการปฏิรูปจึงเป็นเพียงการสร้างภาพ การหาเสียง และการหลอกลวง ไม่ต่างจากเมื่อครั้งพระนางซูสีไทเฮาพยายามนำการปฏิรูปเอง หลังการโค่นล้มการปฏิรูปของฮ่องเต้กวางซูแล้ว ผลที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึงก็คือ การขาดความเชื่อถือจากประชาชน และจบลงดวยการสิ้นสุดของระบอบการปกครองในจีนในปี 1911

ปฏิรูปที่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือจุดเรื่มต้นความล้มเหลว

สุรชาติ กล่าวต่อว่า ตนหยิบประวัติศาสตร์มาเป็นข้อเตือนใจท่านทั้งหลายว่า การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งข้อเสนอการปฏิรูปครั้งนี้เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการล้มระบบการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2014 ภายใต้ข้อเสนอ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การปฏิรูปที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างอะไรกับละครการเมือง และไม่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว พวกเขาต้องการการปฏิรูปหรือต้องการล้มการเลือกตั้ง แต่คงต้องตระหนักเสมอว่า การปฏิรูปที่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือจุดเรื่มต้นของความล้มเหลว

ข้อเรียกร้องของการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ก็อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว และชัดเจนมากขึ้นว่า กลุ่มที่เรียกร้องเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยความโกรธแค้นและเกลียดชัง จนไม่ชัดเจนว่าพวกเขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตำรวจ หรือต้องการทำลายองค์กรตำรวจให้สะใจสาสมกับการที่ตำรวจไม่เข้าร่วมขบวนการล้มรัฐบาลพลเรือนกับพวกเขา ข้อเตือนใจที่สำคัญก็คือ การปฏิรูปที่เริ่มต้นด้วยความเกลียดชังมักจะจบลงด้วยความแตกแยกและล้มเหลวเสมอ

ปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริง ต้องเกิดในสถานการณ์การเมืองปกติ 

สุรชาติ กล่าวถึงข้อน่าคิดประการสำคัญด้วยว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริงจะต้องเกิดในสถานการณ์การเมืองปกติ เพราะการเมืองที่ไม่ปกติไม่มีความชอบธรรมพอที่จะหาเสียงสนับสนุนเพื่อขับเคลือนการปฎิรูป เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิรูปตำรวจที่นำโดยทหารอาจจะกลายเป็นเพียงกลไกของการควบคุม มากกว่าจะเป็นกลไกผลักดันความเปลี่ยนแปลงใดๆได้ และอาจเป็นเพียงอีกส่วนหนึ่งของละครการเมืองน้ำเน่าในปัจจุบัน

ตำรวจอาชีพ - ทหารอาชีพ และการควบคุมโดยพลเรือน

สุรชาติ มองว่า ถ้าการปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นจริงก็มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะก่อให้เกิด ตำรวจอาชีพ professional police ไม่แตกต่างจากการปฏิรูปกองทัพที่ต้องการให้เกิด ทหารอาชีพ professional soldiers ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างให้เกิดประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบต่อชุมชน การปฎิบัติที่อยู่ในกรอบของความเป็นนิติรัฐ rule of law และการเคารพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งในรายละเอียดแล้วจะต้องสร้างระบบการเลื่อนยศ ปรับย้ายที่เป็นธรรม ต้องขจัดส่วยโยกย้ายให้ได้เพื่อเป็นจุดเริ่มของการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นในองค์กรตำรวจ ตลอดรวมถึงการสร้างระบบสวัสดิการที่แท้จริงในด้านต่างๆให้กับกำลังพล ไม่ใช่กำลังพลตำรวจต้องซื้ออาวุธปืนพกประจำกายด้วยงบประมาณของตนเอง

แต่ข้อถกเถียงแบบไทยๆในเรื่องนี้กลับพันอยู่เพียงตกลงการแต่งตั้งตำรวจจะอยู่กับนักการเมือง ผู้นำทหาร ผู้บังคับบัญชาตำรวจ (ในฐานะ กตร. ชุดพิเศษ คือชุดที่ถูกยุบโดยคณะรัฐประหาร เรื่องนี้มีประเด็นและข้อสังเกตหลายประการครับ) แต่สิ่งที่จะต้องรำลึกไว้เสมอก็คือ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจในระบอบประชาธิปไตยล้วนอยู่ภายใต้หลักกที่สำคัญเดียวกันก็คือ การควบคุมโดยพลเรือน civilian control เราตอบได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบันได้ว่า หลักการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหารไทย

หรือข้อถกเถียงจะมีเพียง อำนาจการสืบสวนจะอยู่กับใคร หรือจะกระจายอำนาจก็ไม่ชัดเจนว่าจะกระจายอย่างไร หรือเราจะทำตามคนที่สร้างโรงพักให้เรา แต่สร้างไม่เสร็จ หรือเราจะปฎิรูปไปตามข้อเสนอของอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่อกหัก หรือจะเดินไปกับผู้นำทหารที่มีอำนาจ แต่ไม่รู้เรื่องตำรวจ หรือทั้งหมดกำลังบอกเราว่า เราไม่เคยคิดถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังและเป็นไปตามหลักทางวิชาการ เราแทบไม่เคยเห็นข้อเรียกร้องในเชิงหลักการเลยว่า แล้วเราอยากเห็นตำรวจไทยเป็นเช่นไร เราจึงมีเพียงคำด่าทอ คำวิพากษ์กับปัญหาตำรวจบางส่วน แน่นอนว่าเราปฏิเสธพฤติกรรมเชิงลบเช่นนี้ของตำรวจบางนายไม่ได้ แต่โจทย์ชุดนี้ต้องมากกว่าการด่าและความเกลียดชัง และหัวใจของโจทย์ที่สำคัญก็คือ เราจะสร้างตำรวจในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ไม่ใช่ตำรวจในระบอบเผด็จการทหาร

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องรำลึกถึงเป็นหลักการเสมอก็คือ การด่าไม่ช่วยให้สมองเราเปิดกว้าง เท่าๆ กับที่ความเกลียดชังไม่ช่วยให้ใจเราเปิดกว้าง ดังนั้นการปฏิรูปที่เริ่มต้นด้วยความปิดของสมองและความแคบของใจแล้ว คำตอบสุดท้ายก็คือความล้มเหลว หรือถ้าจะตอบจากบทเรียนของการปฏิรูปในมิติทางประวัติศาสตร์ก็คือ จุดจบของพระนางซูสีไทเฮานั่นเอง พระนางคับแคบและไร้วิสัยทัศน์เกินกว่าที่นำประเทศจีนฝ่าข้ามภัยคุกคามของโลกสมัยใหม่ในขณะนั้นไปได้ ประวัติศาสตร์บทนี้เตือนเราเสมอว่า นักปฏิรูปที่คับแคบและไร้วิสัยทัศน์ไม่เคยประสบความสำเร็จ

สุรชาติ กล่าวทั้งท้ายด้วยว่า คงไม่มีอะไรเป็นอื่น นอกจากขอให้ท่านทั้งหลายที่ตัดสินใจเป็นนักปฎิรูป มีแรงที่ฝ่าฟันอุปสรรคของการปฏิรูปไปให้ได้ เพราะการปฏิรูปนั้นมีความยากในตัวเองเสมอ และยิ่งเป็นบริบทของสังคมไทยแล้ว นักปฏิรูปที่แท้จริงจะต้องอดทนและเข้มแข็ง ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางแรงกดดันที่เกิดขึ้นรอบด้านให้ได้ แม้จะไม่มีหลักประกันว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นในยุคสมัยของเราหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยวันนี้ เรามีคำตอบที่ชัดเจนว่า สังคมไทยไม่แข็งแรงพอที่จะเดินไปในอนาคตโดยปราศจากการปฏิรูป และแน่นอนว่าเราต้องการการปฏิรูปทุกด้าน หรือในความเป็นจริงแล้ว เราอาจจะต้องคิดถึงการปฏิรูปภาคความมั่นคงทั้งระบบ Security Sectors Reform มากกว่าจะเป็นเพียงเรื่องปฏิรูปตำรวจเท่านั้น โจทย์เช่นนี้ท้าทายต่อวิสัยทัศน์ของสังคมไทยในการเดินทางสู่โลกในวันข้างหน้าอย่างยิ่ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ้าวเฮ้ย! เฟซบุ๊กแจงไม่มีผู้นำระดับสูงมีแผนมาไทยช่วงนี้

Posted: 18 Oct 2017 03:55 AM PDT

หลัง 'ประยุทธ์' เผย 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' เตรียมเข้าพบหารือการใช้เฟซบุ๊ก - อาชญากรรมข้ามชาติ ล่าสุด เฟซบุ๊กแจงไม่มีผู้นำระดับสูงมีแผนมาไทยช่วงนี้ 

18 ต.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ (17 ต.ค.60) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามจากสื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีการเดินทางเยือนไทยของ มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊กว่า มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทย และเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี โดยจะหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการใช้เฟซบุ๊ก ผลกระทบอันเกิดจากอาชญากรรมข้ามชาติบนเฟซบุ๊ก เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้าพบและหารือของ มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก ครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะมีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย

ล่าสุดวันนี้ (18 ต.ค.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า โฆษกของเฟซบุ๊กแจ้งว่า ในช่วงนี้ผู้นำระดับสูงของเฟซบุ๊กยังไม่มีแผนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวแจ้งว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก ซักเคอร์เบิร์ก ต้องการเดินทางมาไทยเป็นการส่วนตัว แต่มีการประสานงานผิดพลาด และกลายเป็นข่าวขึ้นมา จึงขอยกเลิกการเดินทาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรเพชร ระบุหลังประชุมกก.สรรหา กกต. ยันตัวแทนศาล รธน. ไม่ขาดคุณสมบัติ

Posted: 18 Oct 2017 03:30 AM PDT

ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา กกต. มีมติเป็นเอกลักษณ์ให้ตัวแทน กสม และ สตง. ขาดคุณสมบัติเพราะส่งรายชื่อช้า ส่วนตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อท้วงติจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าขาดคุณสมบัติ ที่ประชุมเห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน เตรียมรับสมัครผู้สนใจเป็น กกต. 19 ต.ค. – 10 พ.ย. 60 พร้อมจะสรรหาให้เสร็จภายใน 90 วัน

พรเพชร วิชิตชลชัย แฟ้มภาพสำนักข่าวไทย

18 ต.ค. 2560 ในการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นการประชุม นัดที่ 2 มีชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานการประชุม ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด และพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

ส่วนกรรมการที่เป็นตัวแทนจากองค์กรอิสระ ได้ปรับเปลี่ยนไปจากครั้งที่แล้ว ที่เป็นการประชุมนัดแรก มีปรีชา บุตรศรี ตัวแทนจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาเข้าร่วมประชุมแทน ธีรภัทร สันติเมทนีดล ที่ขาดคุณสมบัติ ขณะที่ เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกท้วงติงจากสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ว่าขาดคุณสมบัติ วันนี้ ยังคงเข้าร่วมประชุมเช่นเดิม

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ จะพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหา ที่เป็นตัวแทนจากองค์กรอิสระอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด หลังมีผู้ท้วงติงว่า กรรมการบางรายอาจขาดคุณสมบัติ และจะส่งผลกระทบต่อการสรรหากกต.

ทั้งนี้พรเพชร ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ตัวแทนของหน่วยงานที่ส่งรายชื่อเป็นกรรมการสรรหาเกินกรอบเวลา 20 วัน ถือว่าขาดคุณสมบัติ ทำให้ตัวแทนจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 2 คน ต้องถูกตัดสิทธิ์ไป 

ประธาน สนช. กล่าวว่า ส่วนเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ผู้แทนจากศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ออกมาท้วงติงว่าขาดคุณสมบัตินั้น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ดังนั้นจึง เหลือกรรมการสรรหาเพียง 6 คน ซึ่งสามารถทำหน้าที่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญระบุให้ใช้กรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหา ถือเป็นที่สิ้นสุด จึงไม่กังวลว่าจะมีการร้องคัดค้านภายหลัง

พรเพชร กล่าวว่า การรับสมัครจะเริ่มวันที่ 19 ต.ค. – 10 พ.ย. 60 โดยจะต้องสรรหาให้ได้ภายใน 90 วัน ซึ่งหากมีผู้สมัครมา และมีคุณสมบัติครบ ก็จะพิจารณา และเสนอให้ สนช. พิจารณาตามจำนวนที่ได้ไปก่อน และเมื่อได้ครบจำนวนรวมอย่างน้อย 5 คน จาก 7 คน จึงสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เป็น กกต. ได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่า จะมีบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาสมัคร จึงยังไม่มีการพูดคุยถึงการไปทาบทามมารับการสรรหา

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย1 , 2

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนึ่งในผู้สื่อข่าวจอมขุด "ปานามาเปเปอร์" ถูกลอบสังหารที่มอลตา

Posted: 18 Oct 2017 01:33 AM PDT

ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย เหยี่ยวข่าวมอลตาผู้เคยร่วมแฉงานระดับโลกอย่าง "ปานามาเปเปอร์" และเป็นนักข่าวที่วิจารณ์/แฉการเมืองมอลตาแบบไม่ไว้หน้าไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามเสียชีวิตจากวางเหตุระเบิดรถยนต์ใกล้บ้านเธอ ลูกชายของเธอบอกว่ามันไม่ใช่ฆาตกรรมธรรมดา แต่เป็น "สงคราม" ระหว่างประชาชนที่ต้องต่อสู้กับรัฐและแก็งค์อาชญากรรม

ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย (ซ้าย) สภาพรถยนต์ที่เกิดเหตุลอบสังหาร (ขวา) (ที่มา: Indiatoday)

18 ต.ค. 2560 เหตุลอบวางระเบิดรถในประเทศมอลตาเป็นเหตุทำให้ ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย นักข่าวหนึ่งในผู้นำการสืบสวนสอบสวนเรื่อง "เอกสารปานามา" (Panama Papers) เสียชีวิต เหตุเกิดใกล้กับบ้านพักของเธอเอง

กาลิเซียเป็นผู้นำการสืบสวน "เอกสารปานามา" หรือ "ปานามาเปเปอร์ส" ซึ่งเป็นการเปิดโปงการหลบเลี่ยงภาษีและธุรกรรมซ่อนเร้นของเหล่าเศรษฐีและคนดังหลายแห่งทั่วโลก เธอเป็นบล็อกเกอร์ที่ได้รับการขนานนามจากเว็บโปลิติโคว่าเป็น "วิกิลีกส์หญิงเดินได้" เว็บบล็อกของเธอเป็นเสี้ยนหนามของทั้งกลุ่มอำนาจเสาหลักและพวกอาชญากรใต้ดินของมัลตา ประเทศมอลตา เกาะซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลเมดิเตอเรเนียน

กาลิเซียเสียชีวิตจากการระเบิดของรถยนต์เปอโยต์ 108 ที่เธอเป็นเจ้าของ เหตุเกิดในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ต.ค.) ความแรงของระเบิดทำให้ชิ้นส่วนของรถกระเด็นไปตกอยู่ที่สนามใกล้ๆ ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาประกาศความรับผิดชอบในการก่อเหตุครั้งนี้

การเปิดโปงของกาลิเซียมีการชี้ไปถึงนายกรัฐมนตรีของมอลตา โจเซฟ มัสกัต และคนใกล้ชิดเขาอีกสองคนที่มีส่วนเกี่ยวของกับบริษัทนอกอาณาเขตที่เกี่ยวข้องกับคนสามคนผู้ชายหนังสือเดินทางและได้รับเงินจากรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน ตัวกาลิเซียเองบอกว่าเธอไม่อยู่ในฝ่ายการเมืองฝ่ายใด เธอตั้งเป้าโจมตีการกระทำของหลายๆ คนทั้งธนาคารที่ฟอกเงิน ไปจนถึงอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ของมอลตาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรม

มัสกัตแถลงประณามการวางระเบิดรถยนต์กาลิเซียว่าเป็น "การโจมตีที่ป่าเถื่อน" และบอกว่าเขาขอให้ตำรวจขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานความมั่นคงจากนอกประเทศเพื่อหาตัวคนร้ายแล้ว มัสกัตกล่าวอีกว่า "ทุกคนรู้ว่าคารัวนา กาลิเซีย เป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ผมอย่างหนัก ทั้งในทางการเมืองและทางส่วนตัว แต่ก็ไม่มีใครควรจะอ้างความชอบธรรมในการกระทำที่ป่าเถื่อนเช่นนี้"

มารี-หลุยส์ โคเลโร เปรกา ประธานาธิบดีมอลตากล่าวในทำนองเรียกร้องให้เกิดความสงบ แสดงความปรองดอง และอย่าด่วนตัดสิน มัสกัตแถลงอีกว่ามีการขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอช่วยสอบสวนเรื่องนี้แล้ว

เดอะการเดียนระบุว่าหลังจากการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิจำนวนมากในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ก็มีนักวิจารณ์การเมืองกังวลว่าอาจจะมีเหตุรุนแรงทางกาเมืองเกิดขึ้นอีกแบบที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980s มาก่อน

เอเดรียน เดเลีย จากพรรคชาตินิยมมอลตา เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยถูกรายงานข่าวทางลบจากกาลิเซียเช่นกัน แต่เขาก็บอกว่าการสังหารในครั้งนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องราวที่เธอรายงานอีกทั้งยังเป็น "การล่มสลายของหลักนิติธรรมที่ดำเนินมาโดยตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา"

สื่อท้องถิ่นมอลตาระบุว่ากาลิเซียเคยร้องเรียนกับตำรวจเมื่อ 15 วันก่อนเกิดเหตุในเรื่องที่เธอถูกขู่เอาชีวิต

เหตุเกิดเมื่อบ่ายวันที่ 16 ต.ค. หลังจากที่เธอโพสต์บล็อกเมื่อเวลา 14.35 น. มีการแจ้งตำรวจถึงเหตุระเบิดเมื่อเวลาบ่าย 3 โมง เจ้าหน้าที่ระบุว่ายังไม่ได้ระบุตัวตนของร่างที่พบในที่เกิดเหตุ มีลูกชายนหนึ่งของเธอได้ยินเสียระเบิดแล้ววิ่งออกมาดู

แมธธิว คารัวนา กาลิเซีย ลูกชายคนหนึ่งของเธอเป็นนักข่าวและโปรแกรมเมอร์ที่ทำงานให้กับ 'สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ' หรือไอซีไอเจ (The International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่เปิดโปงครั้งใหญ่อย่าง "เอกสารปานามา" แมธธิวกล่าวว่าที่แม่ของเขาถูกสังหารเพราะเธอเป็น "นักข่าวที่เข้มแข็ง" ผู้ยืนขวางทางไม่ให้พวกผู้มีอิทธิพลเข้ามาทำลายหลักนิติธรรมได้ อีกทั้งแมธธิวยังต่อว่าประเทศของเขาเองอีกว่าเป็น "รัฐมาเฟีย" ที่ปกครองโดย "พวกคนหลอกลวง"

มีผู้คนพากันจุดเทียนเพื่อแสดงการรำลึกถึงกาลิเซียและประท้วงการสังหารนักข่าวสืบสวนสอบสวนผู้นี้ แมธธิวบอกว่าเหตระเบิดในครั้งนี้ไม่ใช่การฆาตกรรมธรรมดาทั่วไป แต่มันเป็น "สงคราม" ระหว่างประชาชนที่ต้องต่อสู้กับรัฐและแก็งค์อาชญากรรม

เดอะการ์เดียนระบุว่าในมอลตามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นหลายครั้งแต่ส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นการก่อเหตุห้ำหั่นกันระหว่างแก๊งอาชญากรรม ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุที่ดูมีแรงจูงใจทางการเมืองแบบในครั้งนี้

เรียบเรียงจาก

Malta car bomb kills Panama Papers journalist, The Guardian, 16-10-2017

Murdered Panama Papers journalist's son attacks Malta's 'crooks', The Guardian, 17-10-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัสเซียใช้วิธีใดส่งอิทธิพลต่อ 'เฟซบุ๊ก' ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ

Posted: 18 Oct 2017 12:30 AM PDT

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ รวมไปถึงการเมือง ในกรณีการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาก็เช่นกัน เมื่อมีการพยายามตรวจสอบว่ารัสเซียอาศัยการชักใยโฆษณาในเฟซบุ๊กเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนต่อผู้สมัครเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นเกิดอะไรขึ้นกับการ "ล่อลวง" ทางข้อมูลที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 สื่อ The Atlantic ได้รวบรวมการศึกษาเรื่องเหล่านี้ไว้ตั้งแต่ยุคสมัยที่เฟซบุ๊กเริ่มได้รับความนิยมมาจนถึงช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ 2559 ซึ่งมีทั้งเรื่องของข้อมูลการเมืองทั่วไป การร่วมมือกันสร้างเรื่องหลอกลวงให้เป็น "ไวรัล" และการใช้ข้อมูลเท็จทำลายฝ่ายตรงข้ามที่ต้องสงสัยว่าอาจจะมาจากหน่วยงานข้อมูลข่าวสารของรัสเซีย อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะถึงขั้นเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ แต่ทว่า The Atlantic มองว่ามันส่งผลในทางกัดกร่อนสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ประชาธิปไตยทางข้อมูล"

ตัวอย่างแรกคืองานศึกษาปี 2555 ของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก และงานศึกษาของทีมวิจัยเฟซบุ๊กเองที่ระบุว่าการตั้งปุ่ม "I Voted" (ฉันลงคะแนนมาแล้ว) มีส่วนในการทำให้คนออกมาลงคะแนนมากขึ้นแม้จะไม่มากนักแต่ก็มีนัยสำคัญโดยเฉพาะในหมู่ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่เป็นคนหนุ่มสาว นักวิจัยอีกคนหนึ่งคือรีเบกกา โรเซนถึงขั้นมองว่าข้อความส่งเสริมให้คนออกไปเลือกตั้งมันน่าจะมีส่วนทำให้พรรคเดโมแครตชนะด้วยซ้ำเนื่องจากคนหนุ่มสาวส่วนมากในสหรัฐฯ เลือกพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะถ้ามันส่งผลในรัฐที่มีการแข่งขันสูงในระบบคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ของสหรัฐฯ ที่เน้นให้ผลของการเลือกตั้งระดับชาติมาจากว่ารัฐที่มีการขับเคี่ยวระหว่างสองพรรค

กระนั้นเฟซบุ๊กก็ไม่ได้ส่งผลแต่เฉพาะในเรื่องการออกไปเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น สื่อเดอะเดลีดอตเคยนำเสนอเรื่องที่การใช้เงินลงโฆษณาจนทำให้ผลคะแนนการเลือกตั้งของพวกเขาดีขึ้นและมีการประเมินว่าผู้พบเห็นโฆษณามีโอกาสมากขึ้นร้อยละ 17 ที่จะลงคะแนนไปในทางที่พวกเขาต้องการ

ในยุคสมัยการเลือกตั้ง 2559 ช่วงกลางปีนั้นก็มีบทความของร็อบ เมเยอร์ ที่ประเมินจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ของโจนาธาน ซิตเทรน ที่ตั้งสมมุติฐานไปในอีกทางว่าระบบของเฟซบุ๊กทำให้กลุ่มคนที่ไม่ได้เรียนจบระดับอุดมศึกษาออกมาเลือกตั้งน้อยลง แต่ทว่าเฟซบุ๊กก็ออกมาปฏิเสธในข้อนี้โดยที่โฆษกของพวกเขากล่าวว่า "การลงคะแนนเสียงเป็นคุณค่าของประชาธิปไตยและพวกเราเชื่อว่าการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่สำคัญที่พวกเราจะทำให้กับชุมชนได้" ทางเฟซบุ๊กยังยืนยันอีกว่าพวกเขา "เป็นกลาง" และจะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ในการเป็นผู้ส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมการลงคะแนนของผู้คน

ฟองสบู่ที่กั้นไม่ให้เจอคนเห็นต่าง

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความจะสิ่งที่ส่งอิทธิพลกับการเลือกตั้งจะหมายถึงการโฆษณาผู้สมัครโดยตรงหรือการส่งอิทธิพลกับผู้ลงคะแนนโดยตรงอย่างเดียวเท่านั้น The Atlantic ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เฟซบุ๊กมีอิทธิพลกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ อาจจะมาจากข่าวสารเรื่องต่างๆ ที่ไหลเวียนอยู่บนเฟซบุ๊กและปรากฏบนหน้านิวส์ฟีดของผู้คนต่างกันด้วย

สิ่งที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือเฟซบุ๊กจะพยายามนำเสนอเรื่องราวที่พวกเขาคิดว่าคุณสนใจ ตามการเก็บข้อมูลส่งที่คุณกดไลค์ สิ่งที่คุณแสดงความคิดเห็นบนนั้น หรือการแชร์เรื่องราวของคุณ พวกเขาจะเก็บข้อมูลลักษณะของสิ่งเหล่านี้แล้วนำเสนอสิ่งแบบเดียวกันหรือคล้ายกันให้ปรากฏบนหน้านิวส์ฟีดของคุณ โดยจัดเรียงลำดับสิ่งที่ (พวกเขาตัดสินเอาเองว่า) คุณให้ความสำคัญ นั่นหมายความว่าคุณอาจจะพลาดเนื้อหาของเพื่อนหรือเพจที่คุณติดตามบางเพจได้ถ้าหากเฟซบุ๊กเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ตรงกับประเภทเนื้อหาที่คุณไลค์หรือคอมเมนต์หรือแชร์อยู่บ่อยๆ

แน่นอนว่าทางฝ่ายเทคนิคของเฟซบุ๊กกล่าวว่าพวกเขาพยายามทำให้เกิด "คลื่นรบกวน" ระบบการจัดเรียงลำดับข่าวของพวกเขาให้น้อยที่สุดและเชื่อว่าระบบนิวส์ฟีดของพวกเขาดีอยู่แล้ว แต่ The Atlantic ก็มองว่าถ้าจะเรียกมันว่าเป็นระบบแบบ "หนังสือพิมพ์ที่ถูกทำให้ออกมาในรูปแบบสำหรับบุคคลนั้นๆ" (Personalized newspapers) ก็คงเป็นหนังสือพิมพ์ที่เซนส์ของบรรณาธิการจำกัดมากๆ ทำใหคนเห็นแต่มุมมองแบบจำกัดที่ตัวเองอยากจะเห็นในแบบที่อิไล ปาริเซอร์ เคยเรียกว่าเป็น "ฟองสบู่กรองข่าว" (The Filter Bubble) ที่ทำให้เฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ส่งผลต่อการถกเถียงสาธารณะ

ปาริเซอร์ผู้ที่เอียงซ้ายตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากที่เขาแอดเพื่อนคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็ไม่มีเนื้อหาของเพื่อนคนนี้ปรากฏบนนิวส์ฟีดของเขาเลย มีแต่ได้รับวิดีโอเลดีกาก้ามากขึ้น ซึ่งเขามองว่าการสร้างฟองสบู่เช่นนี้ทำให้เกิดการถกเถียงอภิปรายกันยากขึ้น การตั้งกลุ่มเป้าหมายการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ก็ยากขึ้นเช่นกัน

อเล็กซิส ซี มาดริกัล ผู้เขียนบทความใน The Atlantic ก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเช่นกันจากการที่มีข้อมูลอยู่จำนวนมากเกินไป มีสิ่งรบกวนจากโพสต์ต่างๆ เยอะเกินไป การตั้งเป้าโฆษณาของเฟซบุ๊กที่เน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายก็ไม่สามารถติดตามผลได้ว่ามันเข้าถึงผู้คนที่เราต้องการจะสื่อถึงพวกเขาจริงหรือไม่ คนภายนอกก็ไม่รู้ว่ามีการลงโฆษณาอะไรในเฟซบุ๊กบ้าง ปาริเซอร์เสนอว่าการแก้ปัญหาคือควรมีการให้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการโฆษณาออนไลน์ทั้งหมดและเปิดเผยว่ามีการตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นใครบ้าง

เฟซบุ๊กเริ่มเล่นบทเป็นผู้กระจายสื่อเสียเอง

ทั้งนี้ ยังมีสิ่งที่ปาริเซอร์มองไม่เห็นนั่นคือการที่เฟซบุ๊กกลายเป็นผู้ครอบงำพื้นที่การกระจายข้อมูลข่าวสารเสียเอง เรื่องนี้เฟซบุ๊กไม่เคยออกมายอมรับ แต่ทว่ามันเกิดขึ้นจริงในช่วงปี 2558 ที่พวกเขาเริ่มเปิดโฆษณาสื่อเชื้อชวนให้ผู้ใช้งานเข้าไปกดไลค์เพจสื่อนั้นๆ ทำให้เกิดทราฟฟิกคือการเข้าสู่สื่อนั้นๆ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กมากขึ้นแม้แต่กับสื่อ The Atlantic เอง สื่ออย่าง Buzzfeed และเครือข่ายใกล้เคียงมีการเข้าถึงช่องทางผ่านเฟซบุ๊กมากขึ้นกว่าร้อยละ ุ69

โรบินสัน เมเยอร์ ผู้ช่วยกองบรรณาธิการของ The Atlantic ระบุว่าสาเหตุที่เฟซบุ๊กทำเช่นนี้เพราะต้องการขยี้คู่แข่งอย่างทวิตเตอร์ที่ได้รับความสนใจมากเช่นกัน ทำให้เฟซบุ๊กหันมาจับสื่อ

หลังจากนั้นก็มีเรื่องของการใช้พาดหัวข่าวหวือหวาชวนคลิกให้กลายเป็นกระแส (สิ่งที่เห็นต่อจากนี้จะทำให้คุณตะลึง!) รวมถึงการมาของวิดีโอโดยที่เว็บไซต์ต่างประเทศเช่น Buzzfeed ได้อานิสงค์จากวิดีโอมาก ทำให้เกิดการเข้าถึงเนื้อหามากขึ้นถึง 80 เท่า ซึ่งกลยุทธ์วิดีโอก็เป็นความพยายามของเฟซบุ๊กที่จะห่ำหั่นกับเว็บวิดีโอดังอย่างยูทูบ นั่นทำให้ผู้คนพบเจอวิดีโอในเฟซบุ๊กเต็มไปหมด สื่อต่างๆ ก็กระโดดเข้าร่วมวงการใช้วิดีโอด้วยไม่ว่าจะมีโมเดลธุรกิจแบบใดก็ตาม

การผงาดของสื่อขวาจัด Breitbart

จนกระทั่งในช่วงหนึ่งที่สื่อฝ่ายขวาอาศัยความชุลมุนวุ่นวายสับสนของระบบเฟซบุ๊กผุดขึ้นมาในช่วงก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ หนึ่งในใจกลางสื่ออนุรักษ์นิยมทั้งหลายคือ Breitbart มีการศึกษาบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ 1.25 ล้านบทความพบว่า Breitbart มีลักษณธพิเศษตรงที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นหลักในการส่งสารแบบเอียงข้างสุดโต่งให้โลกรับรู้ และต่อมาก็มีการส่งประธานบริหารหัวเรือใหญ่อย่างสตีฟ แบนนอน ไปช่วยเหลือรณรงค์การเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ 

จากเดิมในปี 2558 Breitbrat เป็นเว็บขนาดกลางที่มีจำนวนไลก์ราว 100,000 ไลก์ พอถึงช่วงเลือกตั้งก็กลายเป็นได้รับไลก์ถึงเกือบ 1.5 ล้านไลก์ มีการปฏิสัมพันธ์จากผู้ใช้งานราว 886,000 จุดซึ่งมากกว่าสื่ออย่างนิวยอร์กไทม์ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กก็มีการแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กับเพจของสือนี้อย่างกระตือรือร้น เทียบกับสื่อซ้ายกลางหรือว้ายจัดที่มีคนติตตามน้อยกว่า

วัฒนธรรม Chanter Culture

ในเดือน ธ.ค. 2558 บทความของโจเซฟ เบิร์นสไตน์ ใน Buzzfeed ระบุว่ากลุ่มโทรลหรือพวกยั่วยุต่อต้านความก้าวหน้าทั้งหลายเริ่มทำให้ตัวเองดูเป็น "ฝ่ายต่อต้านทางวัฒนธรรม" แบบที่เขาเรียกว่าเป็นพวก "วัฒนธรรมจอมสวด" (ChanterCulture) คนกลุ่มนี้ชอบทรัมป์มาก ทำตัวเองอยู่ตรงข้ามกับทั้งพรรคเดโมแครตและคุณค่าความเป็นธรรมในสังคม นอกจากนี้ยังมีเย้ยหยันถากถางคนเห็นต่าง รวมถึงสร้างเรื่องสมคบคิดที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับฮิลลารี คลินตัน ขึ้นเพื่อใส่ร้ายเธอเช่นในกรณี Pizzagate ที่มีคนหลงเชื่อจนไปก่อความรุนแรงทำให้มีผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิต

Fake news ข่าวลวงที่แพร่หลายยิ่งกว่าสื่อหลัก

กระนั้นการสร้างข่าวลวงก็ไม่ได้มีแต่กรณี Pizzagate เท่านั้น เครก ซิลเวอร์แมน จาก Buzzfeed เคยวิเคราะห์ข้อมูลไว้หลังเลือกตั้งว่าในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ เรื่องราวที่มีผู้คนปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุดในเฟซบุ๊กคือข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีมากกว่าสื่อหลักใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ 3 ฉบับอย่างนิวยอร์กไทม์ วอชิงตันโพสต์ และเดอะฮัฟฟิงตันโพสต์เสียอีก

ซิลเวอร์แมนค้นไปไกลกว่านั้นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งทำให้เขาพบว่าการจัดเรียงลำดับข้อมูลของเฟซบุ๊กหรือ "อัลกอริทึม" ทำให้ข่าวปลอมกลายเป็นสิ่งที่ "เป็นที่นิยม" การสร้างข่าวปลอม ข่าวลวงทั้งหลายไม่ใช่เรื่องใหม่ มีเว็บไซต์อย่าง Snopes คอยแก้ความเชื่อผิดๆ มาตั้งนานแล้ว และเฟซบุ๊กก็เคยพยายามจัดการกับข่าวปลอมมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่ในช่วงก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ การที่ผู้คนเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วยก็ทำให้ข่าวปลอมเหล่านี้แพร่สะพัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

แต่เรื่องเหล่านี้รัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่?

มีการพยายามสื่อสวนเรื่องที่รัสเซียมีความเกี่ยวข้องกับการช่วยโหมกระพือข่าวลวงทำลายผู้สมัครลงเลือกตั้งในสหรัฐฯ เอเดรียน เฉิน นักข่าวที่นำเสนอเรื่องนี้ในนิวยอร์กไทม์พูดถึง "สำนักงานวิจัยอินเทอร์เน็ต" ที่มีเหล่าโทรลรัสเซียทั้งหลายทำการยุยงกันอย่าง "เป็นอุตสาหกรรม" พวกเขาคอยติดตามผลสถิติการเข้าถึงอยู่เสมอ เหล่าโทรลรัสเซียพากันไปแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์อเมริกัน และพวกเขาน่าจะทำให้มีการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียเพื่อยึดครองพื้นที่ของยูเครนด้วย จนทำให้มีนักข่าวยูเครนพยายามโต้ตอบด้วยการบันทึกข่าวปลอมไว้ในเว็บ StopFake ที่มีโพสต์อยู่เป็นร้อยโพสต์

นักข่าวเดอะการเดียนเคยศึกษาคู่มือปฏิบัติการสงครามข้อมูลข่าวสารของกองทัพรัสเซียไว้เช่นกัน โดยในคู่มือระบุให้ผู้ที่ใช้วิธีการปฏิบัติการข้อมูลควรทำตัวเป็น "รังสีที่มองไม่เห็น" แผ่ไปบนเป้าหมาย พยายามทำให้ผู้คนไม่เอะใจว่ามีปฏิบัติการอยู่จนทำให้รัฐไม่ต้องปรับมาใช้กลไกป้องกันตนเอง

The Atlantic ระบุว่าถ้ามีปฏิบัติการเช่นนี้จริงก็ถือว่าทำตามคู่มือลุล่วงเพราะสหรัฐฯ ไม่ได้หันมาใช้กลไกป้องกันตัวใดๆ และแม้แต่เฟซบุ๊กเองก็ไม่เอะใจ จำนวนโฆษณา 3,000 ชิ้นที่โยงไปถึงรัสเซียนั้นเป็นแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งของปฏิบัติการเท่านั้นแม้ว่ามันจะแพร่กระจายไปสู่คนจำนวนมากได้ แตยิ่งกว่านั้นคือเพจของปฏิบัติการรัสเซียที่โจนธาน อัลไบรท ผู้อำนวยการวิจัยของศูนย์ทาวเพื่อการข่าวดิจิทัลแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียค้นพบว่าเพจของรัสเซีย 6 เพจสามารถทำให้มีคนเข้าถึงจำนวนมากได้ ถึงขั้นมีคนเแชร์ต่อ 340 ล้านครั้ง และนี่เป็นแค่ข้อมูลจา 6 เพจเท่านั้น มีเพจปฏิบัติกาของรัสเซียอยู่ถึง 470 เพจ

"แม้แต่เฟซบุ๊กเองก็ไม่รู้"

หลังจากการค้นพบในเรื่องนี้ทำให้นักวิจัยด้านความปลอดภัยของเฟซบุ๊ก 3 คนคือ เจน วีดอน, วิลเลียม นูแลนด์ และอเล็ก สตามอส เผยแพร่เอกสารชื่อ "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและเฟซบุ๊ก" (Information Operations and Facebook) โดยระบุว่าพวกเขาพยายามขยายการดูแลความปลอดภัยจากเดิมที่แค่เกี่ยวกับการแฮ็ก การล่อลวงทางการเงินหรือการใช้มัลแวร์ ขยายไปจนถึงการพยายามล่อลวงทางวาทกรรมเป่าหูหลอกลวงผู้คนด้วย

ทางเฟซบุ๊กยังได้พยายามปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับการจ่ายเงินโฆษณาด้วยจากการที่การทุ่มเงินรวม 1,400 ล้านดอลลาร์เพื่อโฆษณาแพร่ข่าวปลอมช่วงก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ทำให้กระแสลมทางอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนทิศจากเดิมที่ช่องทางเหล่านี้เคยให้ความได้เปรียบกับฝ่ายเสรีนิยมมาก่อนกลายเป็นเครื่องมือกระจายแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไปแล้ว จากที่สื่อต่างๆ เคยวิเคราะห์ความสำเร็จของทีมเดโมแครตจากการเลือกตั้ง 2555 ผ่านวิธีการทางดิจิทัล แบรด พาร์สเกล ผู้อำนวยการดิจิทัลของทรัมป์ก็พูดกลบฝังความพ่ายแพ้ของเคโมแครตครั้งล่าสุดว่า ช่องทางโซเชียลมีเดียเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยพวกเสรีนิยมแต่พวกเขาก็หาวิธีเอามันมาใช้เผยแพร่ค่านิยมแบอนุรักษ์นิยม

กลุ่มอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ยังกระทำการกันอย่างเกือบจะลับๆ โดยที่ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมหรือคนที่ถูกโจมตีโดยข่าวปลอมทั้งหลายมองไม่เห็นหรือมองเห็นได้ยาก หนึ่ในนั้นมาจากปัญหาการจำกัดหรือเจาะจงผู้พบเห็นโดยระบบโฆษณาของเฟซบุ๊กเองด้วย ผู้ค้นพบเรื่องนี้คือนักข่าวโจชัวร์ กรีน และซาชา ไอเซนเบิร์ก ที่เรียกวิธีการซื้อโฆษณาแบบจำกัดไม่ให้คนที่พวกเขาต้องการโจมตีพบเห็นจนพวกเขาเรียกว่าเป็น "การเดิมพันที่ประหลาด"

และมันก็ได้ผล การปกปิดเช่นนี้มันสั่นคลอนเสถียรภาพของข้อมูลข่าวสารแบบเดิม สื่อต่างๆ สำรวจโพลล์กันออกมาผิดพลาดไปหมด รวมถึงสะท้อนปัญหาของรากฐานระบบการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เอง 

"ความจริงคือในขณะที่นักข่าวหลายคนรู้ว่ามีอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นกับเฟซบุ๊ก ไม่มีใครเลยที่รู้ไปทุกแง่มุมว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเฟซบุ๊ก แม้แต่เฟซบุ๊กเองก็ไม่รู้ และนี่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของเทคโนโลยีการเมืองนับตั้งแต่สื่อโทรทัศน์ ร่างแรกของประวัติศาสตร์ได้ถูกจารึกด้วยหน้ากระดาษว่างเปล่าและลายเส้นขยุกขยุยดูไม่ออกว่าเป็นอะไร ขณะเดียวกันการเลือกตั้งมิดเทอมในปี 2561 ก็กำลังจะมาถึง" มาดริกัลสรุปในรายงานของ The Atlantic

 

เรียบเรียงจาก

What Facebook Did to American Democracy, The Atlantic, 12-10-2017

In 2015, The Dark Forces Of The Internet Became A Counterculture, Buzzfeed, 23-12-2015

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น