โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หมายเหตุประเพทไทย #179 คำด่ากักขังเพศสถานะยุคต้นรัตนโกสินทร์

Posted: 15 Oct 2017 08:39 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับวรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล เล่าเรื่องคำด่าผู้หญิงในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่หมอบรัดเลย์บันทึกไว้ในพจนานุกรม "อักขราภิธานศรับท์" ซึ่งสะท้อนการควบคุมพฤติกรรมและกดสถานะทางสังคมของเพศหญิง เช่น อีกาก ซึ่งเปรียบหญิงคนนั้นเหมือนของกากทั้งปวง, อีร้อยซ้อน เปรียบหญิงที่มีสามีอยู่แล้วแต่คบชายอีกเป็นร้อยคน, อีแดกแห้ง เปรียบหญิงที่มีสามีตั้งแต่ยังไม่มีประจำเดือน, อีทิ้มขึ้น เปรียบหญิงที่นอนเบื้องบนสามี ฯลฯ

แต่ก็มีบางคำที่มีความหมายต่างไปแล้วจากในปัจจุบัน เช่น อีหน้าสด ที่ไม่ได้แปลว่าไม่ได้แต่งหน้า แต่หมายถึงทำหน้าตารื่นเริงเป็นนิตย์ นอกจากนี้ยังมีการกล่อมเกลาหญิงชนชั้นสูงผ่านคำสอนอย่างเช่นตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ด้วย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พัฒนาการเศรษฐกิจการเมือง 44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

Posted: 15 Oct 2017 08:03 AM PDT



ประเทศไทยประสบปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ค่าครองชีพสูง ช่วงปี พ.ศ. 2516-2517 เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่หนึ่ง ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเท่าตัว เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมาก ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองผูกขาดภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ทำให้ธุรกิจรายกลางรายเล็กไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) นี้ ไทยต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมือง 2 ครั้ง ในช่วง 2 แผนพัฒนาฯที่ผ่านมาเน้นการขยายตัวและเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างของความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการเติบโตและขยายตัวของชนชั้นกลาง จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาและปัญญาชนเพิ่มมากขึ้น มีการเปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นตลาดวิชาเปิดดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 2 ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่3 (พ.ศ. 2515-2519)มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญสองเหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นอกจากนี้ไทยยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่หนึ่งในปี พ.ศ. 2516-2517 จึงมีการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เกี่ยวกับการกระจายรายได้  โดยให้ความสำคัญกับปัญหาทางสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินนโยบายลดอัตราการเพิ่มของประชากร หรือ นโยบาย "คุมกำเนิด" และ ในระยะต่อมา นโยบายนี้ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลจนทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและอัตราการเกิดลดลงตามลำดับ จนกระทั่งได้สร้างปัญหาอัตราการเพิ่มขึ้นประชากรน้อยเกินไป คือ อยู่ที่ 0.5% เท่านั้น สภาวะนี้มีส่วนทำให้ปัญหาโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุอาจจะรุนแรงขึ้น

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ ระบอบเผด็จการทหารคณาธิปไตย ที่อยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน แต่ พลังอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมขวาจัดสุดขั้ว ได้ทำให้ให้ระบอบประชาธิปไตยไทยถอยหลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลสะเทือนของทั้งสองเหตุการณ์ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้นและต้องฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศมากขึ้น สังคมไทยเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น

44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับและมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางโดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงสองช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และ ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ระบอบอำนาจนิยมได้ฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง มีการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 และได้คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปีแต่ก็ยังเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และล่าสุดได้มีการประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนโดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 หากการจัดการเลือกตั้งและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยมีความเรียบร้อยและสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยน่าจะประสบความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งภายใต้การบูรณาการทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน ความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเกิดขึ้นหากไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ รวมทั้งต้องไม่มีรัฐประหารและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้านี้ วิกฤตการณ์ทางการเมืองจะต้องแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภาและยึดถือกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมในการเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความขัดแย้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจะได้รับการแก้ไขภายใต้ระบอบที่ประชาชนและชาวบ้านทั่วไปมีสิทธิมีเสียงและมีการส่วนร่วมในการบริหารประเทศและออกกฎหมายมากขึ้น

ตลอดระยะเวลา 44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ 41 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ความเป็นจริงที่พวกเรารับทราบ ก็คือ ความรุนแรงทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม 2535 หรือ พฤษภาคม 2553 หรือ เหตุการณ์รุนแรงช่วงปี 2551-2552 การรัฐประหารและความพยายามก่อการยึดอำนาจด้วยกำลังยังคงเกิดขึ้นหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในระยะเวลาต่อมา

และเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงขึ้นมาในอนาคตอีก คสช และ รัฐบาลประยุทธ์ ต้องทำตามสัญญาที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน และ คืนระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งภายในเวลาที่ได้สัญญาเอาไว้ นอกจากนี้ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลต้องช่วยกันดูแลให้การร่างกฎหมายลูกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยและสามารถสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้น มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้กับทุกคนในประเทศ อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งเป็นกติกาที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้ กฎหมายลูกที่ดีจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระดับหนึ่ง

ตลอดระยะเวลา 44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้เกิดสายธารของพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยจาก "ทุนศักดินาสยาม" สู่ "ทุนไทยโลกาภิวัตน์" มากขึ้นตามลำดับ ระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งอุปถัมภ์กึ่งผูกขาดคลายตัวลงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม มีการแข่งขันมากขึ้น โครงสร้างระบบทุนนิยมไทยจะยังมีอำนาจผูกขาดดำรงอยู่ทำให้ปัญหาความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นมากนักแม้นเราจะแก้ปัญหาความยากจนได้ดีพอสมควรในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนการเมืองนั้นได้ย้อนยุคกลับไปเป็นระบอบกึ่งเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่าไม่อาจดำรงอยู่ได้นานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เนื่องเพราะระบอบกึ่งเผด็จการเป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์  ในระยะยาวแล้วระบบทุนนิยมเสรีจะเป็นของแปลกปลอมสำหรับระบอบเผด็จการ แม้นทั้งสองสิ่งนี้อาจยังดำรงอยู่ได้ร่วมกันระยะหนึ่ง  เสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ระบบทุนนิยมจึงไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม การอุบัติขึ้นของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์และการแพร่ขยายของลัทธิประชาธิปไตยทั่วโลก เป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างมาก การลดอำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทยสามารถดำเนินการโดยเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มเสรีภาพในการประกอบการ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจรายเล็กรายน้อย เพิ่มบทบาทของกลไกตลาดและบทบาทของภาคเอกชน เพิ่มอำนาจในการรวมกลุ่มของกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และ การรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

การศึกษาและสำรวจพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคมดังกล่าว  โดยในการให้ความเห็นจะไม่กล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองในรายละเอียดแต่สามารถสรุปได้ว่า พัฒนาการทางการเมืองได้พัฒนาจาก ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมใหม่ๆ) สู่ ระบอบเผด็จการครึ่งใบ สู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ สู่ ประชาธิปไตยเต็มใบ ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาให้เข้มแข็ง เมื่อเผชิญเข้ากับการทุจริตคอร์รัปชันในระบบการเมืองและระบบราชการ และการบ่อนทำลายของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยหรือฝ่ายอภิชนาธิปไตย ทำให้เราคงอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองต่อไป และ สิ่งนี้ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความอ่อนแอทางการเมืองและสภาพล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตยไทยทำให้ ประเทศสูญเสียโอกาสในการก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ด้อยกว่าประเทศที่เคยล้าหลังกว่าไทย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น 

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2519 – 2557 ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรี 14 คณะ (นับคณะรัฐมนตรีภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน) ผ่านการรัฐประหาร 3 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญร่างใหม่ (ไม่นับฉบับแก้ไขหรือฉบับชั่วคราว) 3 ฉบับ ( 2521, 2540 และ  2550) และขณะนี้เราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี พ.ศ. 2560 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญในปี  พ.ศ. 2540 ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ถึงปัจจุบัน ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6 ฉบับ ตั้งแต่ ฉบับที่ 7 – 12 ช่วงเวลาดังกล่าว สามารถแบ่งยุคทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย ออกเป็น 6 ยุคสำคัญ คือ ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ (2535-2538) ยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (2539 – 2543) ยุคทักษิโณมิกส์ (2544 – 2549) ยุค คมช หลังรัฐประหาร 19 กันยายน (19 ก.ย. 2549-2550)  ยุคหลัง คมช และวิกฤติการเมืองขัดแย้งเหลืองแดง (2551-2557) ยุค คสช

( พ.ค. 2557-ปัจจุบัน) ประชาชนทุกกลุ่มต้องช่วยกันพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเพื่อให้ ยุคหลัง คสช เป็นยุคสมัยที่ไม่เกิดวิกฤตการณ์ซ้ำรอยอดีตอีก

พัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จนถึงปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสำเร็จจากการกระจุกตัวของการพัฒนาเมือง (Urbanization) การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการ (การเงินและการขนส่ง) ในกรุงเทพมหานครและเขตเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาฯ แต่ล้มเหลวในการกระจายความเจริญสู่เมืองหลัก (Primal Cities) ต่าง ๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลในระดับประเทศเกิดขึ้นแต่เฉพาะในเขตเมืองใหญ่ แม้ว่าคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทยจะดีขึ้น แต่ความสามารถและโอกาสทางธุรกิจกลับกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ จึงเท่ากับว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนทางอุตสาหกรรมที่ต้องการเพียงแรงงานมีฝีมือราคาถูก (Labor-intensive Economy) แต่ล้มเหลวในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้น (Technology-intensive Economy) ความท้าทายสำคัญของประเทศไทยคือ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ระบบฐานความรู้บนพื้นฐานของความยั่งยืนและความพอเพียง (Sustainable & Sufficiency Knowledge-based Economy/Society)

44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นั้น สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกองทัพไทยได้ยุติลงโดยมีนโยบาย 66/23 เป็นเครื่องมือสำคัญ ต่อมาประเทศไทยได้ผ่านช่วงความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2530และได้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์รัฐประหารปี 2534 และกองทัพได้กลับไปเป็นทหารอาชีพและลดบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บทบาททางการเมืองของผู้นำกองทัพจะเป็นเช่นใดต่อจากนี้ไปย่อมมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมือง ซึ่งเราหวังว่าจะมีการปฏิรูปไปในทิศทางที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์สาธารณะมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของประชาชน ของประชาคมโลก และ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม

รายการ

2510

2511

2512

2513

2514

เฉลี่ยแผนฯ 2

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

(ร้อยละ)

5.52

9.00

9.55

7.30

4.90

7.25

เกษตร

(5.90)

7.32

10.11

2.60

4.31

3.69

อุตสาหกรรม

9.87

10.05

10.65

9.50

10.24

10.06

ก่อสร้าง

19.00

8.95

4.50

(0.40)

1.30

6.67

บริการ

10.05

11.11

7.42

7.40

5.84

8.36

อัตราเงินเฟ้อ (ร้อยละ)

4.00

1.80

2.40

0.30

3.40

2.38

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ/ธนาคารแห่งประเทศไทย


 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้นำนักศึกษายุครณรงค์นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ปัจจุบัน ผศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นรองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปฏิรูป อปท. กระจายอำนาจด้านสุขภาพ เหลียวดูเขาแล้วย้อนดูตัวเรา

Posted: 15 Oct 2017 07:53 AM PDT

 

ผมได้ยินข่าวมาว่ากำลังจะมีการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยการยุบ/เปลี่ยนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั้งหมดเป็นเทศบาล การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อไปสู่ประเทศไทย 4.0 แต่ไหนๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแล้ว ก็ควรคำนึงถึงบทบาทที่จะเปลี่ยนไปด้วย บทบาทที่จะกล่าวถึงในบทความนี้คือ บทบาทด้านสุขภาพ โดยนำตัวอย่างของต่างประเทศมาเป็นตัวอย่าง ประเทศที่เลือกมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นประเทศขนาดเล็ก (ประชากรไม่เกิน 10 ล้านคน) 2 ประเทศ ประเทศใหญ่ 2 ประเทศ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค และขอเรียก อปท.ของต่างประเทศว่า "รัฐบาลท้องถิ่น" ข้อมูลต่างๆ แสดงดังตาราง

ประเด็นพึงพิจารณาเกี่ยวกับ อปท.ไทย

1.จำนวนเมื่อเทียบกับประชากร

ในประเทศที่มีขนาดใหญ่ คือ ญี่ปุ่น (127 ล้านคน) และแคนาดา (36 ล้านคน) ต่างก็มีรัฐบาลท้องถิ่น 1,766 และ 3,710 แห่ง เทียบกับประเทศไทยที่มีประชากร 66 ล้านคน กลับมี อปท. สูงถึง 7,853 แห่ง ซึ่งทำให้ อปท.ดูแลประชากรน้อยเกินไป (บางแห่งมีไม่ถึงพันคน) จะทุ่มเทงบประมาณและบุคลากรไปพัฒนา อปท. ให้เจริญ ก็ลำบากเพราะไม่เกิดความประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ดังนั้นการยุบ อบต.บางแห่งที่มีจำนวนประชากรน้อยก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ในข้อเสนอของคณะกรรมการปฎิรูปฯ เห็นว่าจะยุบ อบต.ที่มีประชากรน้อยกว่า 7,000 คน มีรายได้ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ทำให้เหลือ อปท.เพียง 4,000 แห่ง (ซึ่งก็พอๆ กับประเทศญี่ปุ่นแต่เขามีประชากรมากกว่าเป็น 2 เท่า) นี่เป็นข้อเสนอที่เหมาะสม

2.ส่วนภูมิภาคยังจำเป็นหรือไม่

ประเทศที่ยกมาเป็นตัวอย่าง นอกจากประเทศแคนาดาจะบริหารในรูปแบบสหพันธรัฐ (นอกจากรัฐบาลกลาง มีรัฐบาลท้องถิ่นพร้อมสภาฯ) แล้ว นอกนั้นจะเป็นรัฐเดี่ยว แต่จะมีการกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นมาก แต่ไม่มีประเทศใดมีกลไกส่วนภูมิภาคเหมือนประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวประเทศหนึ่งเลย ประเทศไทยมีเขต จังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นกลไกส่วนกลาง (การบริหารส่วนภูมิภาค) ทำงานคู่ขนานกับ อปท. (อบจ. เทศบาล อบต.) เหตุผลที่ต้องมีส่วนภูมิภาคอาจจะเป็น 1) รัฐบาลกลางยังไม่ไว้วางใจใน อปท. จึงต้องมีกลไกกำกับดูแล 2) รัฐบาลทำหน้าที่เตรียมความพร้อมในภารกิจต่างๆ ของ อปท. ถ้าเป็นข้อ 1) และ 2) เมื่อ อปท.มีความพร้อมมากขึ้นแล้วมีแนวคิดที่จะยกเลิกการบริหารส่วนภูมิภาคหรือไม่ หรือจะคงอยู่เพื่อทำหน้าที่อะไร จะยกเลิกจังหวัดแล้วเปลี่ยนเป็นเขตหรือไม่ เพราะปัจจุบันก็มีการใช้โครงสร้างระดับเขตในหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (กสธ.) ฯลฯ

3.สถานพยาบาลรัฐอยู่ที่ไหน

ประเทศที่ยกมาเป็นตัวอย่าง มีรูปแบบการบริหารจัดการสถานพยาบาลรัฐหลากหลายแตกต่างกัน ตั้งแต่โอนให้ท้องถิ่นเลย (เดนมาร์ก) หรือให้ท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่คือ จังหวัด บริหาร (แคนาดา) หรือคงอยู่กับรัฐบาลกลางแต่บริหารผ่านกลไกพิเศษ (นิวซีแลนด์) บางประเทศผู้ให้บริการเป็นเอกชน และบริหารผ่านการเป็นคู่สัญญาระบบประกันสุขภาพ (ญี่ปุ่น) สำหรับประเทศไทยเราเคยถกเถียงในประเด็นนี้มานาน แล้วมีข้อสรุปเบื้องต้นให้โอน รพ.ส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) ไปให้ อบต. แต่ก็สามารถโอนไปได้จำนวนน้อยมาก (51 แห่งจากทั้งหมด 9,780 แห่ง) ส่วน รพ.รัฐ มีแนวโน้มจะให้เป็น รพ.อิสระในกำกับของรัฐ แต่ก็ทำสำเร็จเพียงแค่แห่งเดียว ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร

1) อยู่กับ กสธ. เหมือนเดิม แต่จัดรูปแบบบริหารเป็นกลุ่มองค์การมหาชน (เป็นกลุ่ม รพ.) เหมือนญี่ปุ่น

2) ไปอยู่ที่เขต (หากมีการจัดตั้งเป็น อปท.) แล้วบริหารโดยคณะกรรมการคล้าย DHB ของนิวซีแลนด์

3) ไปอยู่ที่จังหวัด หากมีการจัดตั้งเป็น อปท. และเป็น singer payer เหมือนแคนาดา

การเสนอข้อที่ 1-3 แทนที่จะเสนอให้แต่ละสถานพยาบาลเป็นองค์การมหาชนตามข้อเสนอเดิม เพราะเกรงปัญหาเรื่องการประสานงานระหว่างสถานพยาบาล หากแยกกันเป็นองค์กรอิสระทั้งหมด และที่ไม่เสนอให้ รพ. ทั้งหมดอยู่กับ กสธ. เหมือนเดิม เพราะเป็นรูปแบบรวมศูนย์ที่อ่อนประสิทธิภาพ

4.งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันอยู่ที่ไหน

ประเทศเดนมาร์กและญี่ปุ่น เทศบาลมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่เป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เน้นวิถีชิวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น การดื่มสุราและสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การกินอาหาร ฯลฯ สำหรับญี่ปุ่นเพิ่มเรื่องการขึ้นทะเบียนประชากรและครอบครัว การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน การดูแลและกำจัดของเสียในครัวเรือน ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ แคนาดา และญี่ปุ่นใช้โครงสร้างในระดับสูงขึ้น โดยประเทศนิวซีแลนด์ใช้ District Health Board[1]  ขณะที่แคนาดาและญี่ปุ่นใช้ "จังหวัด" ในการจัดการน้ำสะอาดและกำจัดน้ำเสีย การทำให้อาหารปลอดภัย การควบคุมป้องกันโรค การรักษาสิ่งแวดล้อม การให้บริการสังคมตั้งแต่บริการในในสถานบริการ การเยี่ยมบ้านและการให้เงินช่วยเหลือ การดูแลเด็กที่พิการ การให้บริการสุขลักษณะประจำวัน การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรคและการบาดเจ็บ การปกป้องด้านสุขภาพ การเฝ้าระวังและการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินและโรคระบาด (กิจกรรมแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน)

การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเน้นการเปลี่ยนวิถีชีวิต การรักษาสิ่งแวดล้อม และการดูแลปัจจัย่สังคมกำหนดสุขภาพ (social determinants of health) เป็นเรื่องใหม่ที่สำคัญยิ่งสำหรับสังคมไทย ส่วนหนึ่งผลักดันโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) ขณะที่สถานบริการปฐมภูมิมักจะเน้น "บริการส่งเสริม-ป้องกัน" เช่น บริการวัคซีน ฝากครรภ์ การดูแลพัฒนาเด็ก การฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ ฯลฯ ซึ่งก็มีความสำคัญแต่เป็นการเน้นที่ระดับบุคคลไม่ใช่ประชากรทั้งกลุ่ม

อปท. ไทย(จะเป็น อบต.หรือเทศบาล) ควรจะทำอะไรสำหรับงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

1) การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเน้นการเปลี่ยนวิถีชีวิต การรักษาสิ่งแวดล้อม การดูแลปัจจัย่สังคมกำหนดสุขภาพ

2) สำหรับ อปท. ที่มีหน่วยบริการปฐมภูมิประจำหรือเป็นเครือข่ายฯ ให้ "บริการส่งเสริม-ป้องกัน" แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย และทำตามข้อ 1 (ส่วน อปท. ทุกแห่งควรจะมีสถานพยาบาลหรือไม่ คงต้องแลกเปลี่ยนกัน)

5.เงินรายได้มาจากไหนและใช้อย่างไร

รัฐบาลท้องถิ่นต่างประเทศ และ อปท. ของไทย ต่างมีแหล่งที่มารายได้ไม่แตกต่างกัน (อาจแตกต่างในมูลค่า) คือ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อเสริมความเท่าเทียมระหว่างท้องถิ่น เงินภาษีที่เก็บได้ในท้องถิ่นและอื่นๆ ประเทศไทยมีการโอนเงินส่วนใหญ่เป็น "เงินอุดหนุนทั่วไป" (ใช้อะไรก็ได้) แต่ก็มีอีกส่วนเหนึ่งซึ่งมีเป้าหมายที่เป็นนโยบายชาติชัดเจน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ (600-1,000 บาทต่อเดือน) ค่าตอบแทน อสม. (600 บาทต่อเดือน) แทรกมาเป็น "เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ" ให้กับ อปท. ซึ่งหมายความว่า อปท.ไม่สามารถใช้เงินนี้ไปในกิจการอื่นได้ และเงื่อนไขการใช้เงินต่างๆ ก็มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยมาบังคับ ทำให้การใช้เงินเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง เรียกว่า อปท. แทบไม่มีความมีอิสระ (autonomy) เลย

ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันว่า อปท.จะทำหรือสมควรทำหรือไม่ คือ การที่ สปสช. ชักชวน อปท. จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยการแชร์เงินกันทั้งสองฝ่าย แล้ว อปท. ก็ต้องทำงานตามที่กำหนดไว้ หากล่าช้าก็ถูกติดตาม เหมือนเป็นลูกจ้าง สปสช. แทนที่จะเป็น อปท. ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนในท้องถิ่น แต่เหตุผลที่อธิบายประกอบ คือ

1) เป็นการดำเนินงานโดยสมัครใจ และเงินกองทุนที่ได้ก็สามารถใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ซึ่งกำหนดไว้กว้างๆ ซึ่งครอบคลุมบทบาทหน้าที่ของ อปท. ทั้งหมด

2) เป็นการชักชวนให้ อปท. หันมาสนใจงานด้านสุขภาพมากขึ้น จากเดิมที่อาจใช้งบประมาณไปในกิจการอื่นๆ

3) สนับสนุนการสร้างระบบการอภิบาลแบบเครือข่าย (governance by network) โดยการพิจารณาอนุมัติงบแต่ละโครงการทำโดยกรรมการที่มาจากฝ่ายต่างๆ

ในอนาคต หวังว่า อปท. จะมีงบประมาณของตนเองเพียงพอที่จะดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเห็นว่างานนี้สำคัญ ไม่ควรละเลย เพราะประชาชนจะเดือดร้อน ซึ่งจะกระทบต่อคะแนนนิยมของผู้บริหาร อปท.

 

ประเทศ

ประชากร

การกระจายอำนาจ

(รัฐบาลท้องถิ่น)

สถานพยาบาล

การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลท้องถิ่น

การเงินการคลัง

ปฐมภูมิ/GP

รพ.

เดนมาร์ก

5.7 ล้านคน

5 เขต (region)

98 เทศบาล(municipality)

เป็นภาคเอกชน ให้บริการและรับเงินจากเขต

เขตเป็นเจ้าของรพ.รัฐ รับผิด

ชอบบริหาร

เทศบาลดูแลส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอลล์ การออกกำลังกาย การกินอาหาร จนกระทั่งเป็นโรคอ้วน

ภาษีเงินได้ 8% โดย 75% โอนให้เขต (region)

นิวซีแลนุด์

4.7 ล้านคน

12 สภาเขต (regional council)

73 สภาท้องถิ่น (territorial council)

มีทั้งรัฐ-เอกชน ร้ฐบาลกลางบริหารผ่าน DHB และ 31 primary health organization (PHO) [2]

มีทั้งรัฐ-เอกขน รัฐบาลกลางบริหารผ่าน 20 District Health Board (DHB)

DHB จำนวนหนึ่ง (12 แห่ง) มี public health unit ซึ่งทำหน้าที่สาธารณสุขพื้นฐาน เช่น การกำจัดน้ำเสีย การทำให้อาหารปลอดภัย การเลิกสูบบุหรี่ การควบคุมป้องกันโรค การดื่มสุรา การรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ GP ที่อยู่ในพื้นที่ก็ช่วยในแง่การให้วัคซีน การให้สุขศึกษา

ส่วนที่รับโอนจากรัฐบาลคิดเป็น 24.7% ที่เหลือจัดเก็บโดยท้องถีนเอง (ภาษีทรัพย์สิน 49% ภาษีการค้า 18.3%)

ญี่ปุ่น

127 ล้านคน

47 จังหวัด (prefecture)

1,719 เทศบาล (municipality)

1 ใน 3 เป็นของรัฐ นอกนั้นเป็นเอกชน โดยรับเงินผ่านระบบประกันสุขภาพ

15% เป็นของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น นอกนั้นเป็นภาคเอกชน (non for profit) รับเงินผ่านระบบประกันสุขภาพ

จังหวัดรับผิดชอบให้บริการสังคมตั้งแต่บริการในในสถานบริการ การเยี่ยมบ้าน การให้เงินช่วยเหลือ การดูแลเด็กที่พิการ การให้บริการสุขลักษณะประจำวัน การควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เทศบาลรับผิดชอบขึ้นทะเบียนประชากร/ครอบครัว การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน การดูแลและกำจัดของเสียในครัวเรือน

ส่วนใหญ่รับเงินโอนจากรัฐบาลกลาง (ประมาณ 50%) และภาษีที่จัดเก็บเอง (ประมาณ 45%)

แคนาดา

36 ล้านคน

10 จังหวัด (province)

3,700 เทศบาล (municipality)

ส่วนใหญ่เป็นของเอกชนรับเงินจากจังหวัดที่ดูแล payer system

รพ.รัฐและเอกชนและรับเงินหลักจากจังหวัดและจาก RHA[3]

จังหวัดรับผิดชอบตรวจสุขภาพประชากร การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรคและการบาดเจ็บ การปกป้องด้านสุขภาพ การเฝ้าระวังและการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินและโรคระบาด ส่วนเทศบาลมีหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

ภาษีที่เก็บจากท้องถิ่นบวกด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง

 


เชิงอรรถ

[1] District health board (DHB) เป็นกรรมการที่แต่งตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมทุกพื้นที่ (อาจไม่สอดคล้องกับพื้นที่ของรัฐบาลท้องถิ่น) ทำหน้าที่วางแผนและจัดบริการสุขภาพแก่ประชากรให้ครอบคลุม โดยการทำสัญญาและจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิ และ รพ,

[2] Primary care organization (PHO) เป็นกลไกระดับพื้นที่ที่จะรวม Network of GPS และ primary care providers อื่นๆ PHO ได้รับงบประมาณดำเนินงานจาก DHB

[3] Regional Health Authority (RHA) เป็นโครงสร้างระดับเขตเพื่อทำให้เกิด vertical integration โดยบริหารในขอบเขตที่กว้างขึ้น และเพื่อให้เกิดความประหยัดของขนาด (economy of scale) รับเงินบริหารจากรัฐบาลกลางและจังหวัด

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เขาอันเป็นที่รักของคุณไม่ใช่ของฉัน

Posted: 15 Oct 2017 07:34 AM PDT


เขารักคุณ
เขาบอกให้คุณรักเขา
เขาบอกเขาทำเพื่อนคุณ
เขาบอกว่าคุณต้องทำเพื่อเขา
แต่เขาไม่ได้ลืมบอกคุณ เพียงแต่บอกไม่หมดว่าเขาทำเพื่อพวกพ้องของเขามากกว่ามากกว่าเพื่อคุณแค่ไหน

เขาอยากให้คุณซื่อสัตย์
คุณรักษาความซื่อสัตย์นั้นให้เขาตลอดไป
แต่สิ่งที่เขาหยิบยื่นตอบแทนให้
คือความภักดีที่ไม่มีค่าไปกว่าความสามารถเลือกได้ของคุณเองจริงๆ

คุณว่าคุณเลือกเองแล้วจากทุกสิ่งที่มีให้เลือก
แต่ทุกอย่างที่มีให้เลือกอยู่ใต้เพดานความต้องการแห่งความซื่อสัตย์อันส่งตรงไปยังเขา
คุณคิดว่ามันเป็นความฉลาดและความรักอันยิ่งใหญ่
และคุณยังไม่ใส่ใจไปสู่สุดขอบโลกที่กว้างใหญ่กว่าเพดานนั้น

คุณว่ามันจริงแล้ว
ไม่มีสิ่งใดจริงแท้ยิ่งกว่านี้อีกแล้วเท่าที่คุณรู้มา
คุณหวงแหนความรู้สึกอันเข้มข้นที่หน่วงเนี่ยวนำไว้กับเขาราวกับเป็นเนื้อแน่นเดียวกัน
และคิดว่าความรู้สึกนั้นไม่มีทางสูญสลาย

ต่อเมื่อไฟสาดใส่ดวงตา
คุณก็ยังกล้าปิดตาแน่นหนักหนานั้นไว้ไม่ให้มันส่องผ่าน
คุณภูมิใจ ไม่มีความกล้าหาญอันใดกะเทาะความศรัทธานั้นออกไปจากคุณได้

ไม่มีใครหาญหักความรักความอาลัยนั้นไปจากใจของคุณ
จนกว่าคุณจะรู้ตำแหน่งแห่งที่และทุกสิ่งที่ปกปิดไว้เพื่อให้คุณรัก
จนกว่าคุณจะรู้จักรักที่รักไม่ได้และมีความลวงเคลือบแฝงมากมายในรักนั้น

เราจะไม่พบกัน
จนกว่าวันที่คุณยอมมองผ่านแสงสว่างเพื่อขับไล่ความลวงนั้นด้วยตัวคุณเอง


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฟผ.ย้ำไม่มีการระบายน้ำจาก 'เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์' ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

Posted: 15 Oct 2017 03:31 AM PDT

กฟผ. ยืนยันไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำที่ WATER.EGAT.CO.TH และแอพฯ EGAT Water ตลอด 24 ชั่วโมง ด้าน 'สรรเสริญ' เตือนอย่าแชร์-ส่งต่อ ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับน้ำท่วมอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

 
15 ต.ค. 2560 นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชียลมีเดียระบุว่า จะมีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลอีกกว่าวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้น ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากปัจจุบันเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ได้หยุดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2560
 
ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยและไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมทั้งได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนทั้งสองแห่งอย่างต่อเนื่องสำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ 9,238 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 และ 7,968 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ต.ค. 2560) และยังสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีกเพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งปีหน้า
 
"กฟผ. ขอยืนยันว่าไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใดและเขื่อนทั้งสองยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกโดยเขื่อนภูมิพลยังรับน้ำได้อีกประมาณร้อยละ 30 ของความจุและเขื่อนสิริกิติ์ยังรับน้ำได้อีกประมาณร้อยละ 20 ของความจุ ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือและสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำได้ทางเว็บไซต์ WATER.EGAT.CO.TH และแอพพลิเคชั่น EGAT Waterซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย" นายณัฐวุฒิ กล่าว
 
รัฐบาลขออย่าเชื่อข่าวลือปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลเข้ากรุงเทพฯ
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่า จะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองแสนแสบ เพื่อลงสู่แม่น้ำบางปะกง และจะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ toptenthailand ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2554 จึงไม่ควรแชร์ส่งต่อกันจนเกิดความตื่นตระหนก ส่วนผู้ที่จงใจเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายได้ 
 
"ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ หรือจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือตื่นตระหนกกับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า กรมชลประทานยืนยันว่า ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปิดการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2560 เป็นต้นมา และขณะนี้ยังปิดอยู่ นอกจากนี้ เขื่อนภูมิพลยังสามารถรับน้ำ ได้อีกร้อยละ 30 ของความจุ จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในช่วงนี้ ส่วนน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่จะควบคุมปริมาณน้ำ และผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เก็บน้ำทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำช่วง จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้นไม่เกิน 5 ซม.เท่านั้น
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์ระบุประชาชนอยากให้นักการเมืองปฏิรูปตัวเองก่อนเลือกตั้ง

Posted: 15 Oct 2017 02:55 AM PDT

สำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์เผยผลสำรวจประชาชนร้อยละ 75.9 ระบุยังไม่เห็นการปฏิรูปตัวเองของนักการเมือง และร้อยละ 73.4 ระบุนักการเมืองควรปฏิรูปตัวเองก่อนเลือกตั้ง

 
15 ต.ค. 2560 ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง การเมืองกับการปฏิรูปตัวเอง ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพจำนวนทั้งสิ้น 1,208 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 - 14 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 ระบุ ปัญหาทุจริต คอรัปชั่นของ นักการเมืองไทย หลังการเลือกตั้งจะเหมือนเดิม และที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 20.2 ระบุปัญหาทุจริต คอรัปชั่นของนักการเมืองจะมากขึ้น มีเพียงร้อยละ 10.9 ระบุจะน้อยลง นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.3 ระบุ ความขัดแย้ง รุนแรงของคนในชาติจะกลับมาเหมือนเดิม และ ร้อยละ 27.3 ระบุความขัดแย้งรุนแรงจะมากขึ้น และ ร้อยละ 15.9 ระบุความขัดแย้งรุนแรงจะลดลง
 
เมื่อถามถึงการรับรู้ของประชาชนถึงการปฏิรูปตัวเองของนักการเมือง พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 ระบุยังไม่เห็น ในขณะที่ ร้อยละ 24.1 เห็นแล้ว และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 73.4 ระบุ นักการเมืองควรปฏิรูปตัวเองก่อน เลือกตั้ง เพราะ นักการเมืองต้องแก้ไขตัวเองให้ดีก่อน จะได้มั่นใจมีนักการเมืองที่ดี มีคุณภาพ ไม่โกง กลัวจะได้นักการเมืองทุจริต คอรัปชั่นกลับมาอีก ซื้อสิทธิขายเสียงกลับมา คนไทยยังยอมรับรัฐบาลทุจริตถ้าตัวเองได้ส่วนแบ่ง กลัวความวุ่นวาย ขัดแย้งรุนแรงกลับมา กลัวพวกเผาบ้าน เผาเมือง กลับมา การปฏิวัติยึดอำนาจเกิดขึ้นอีก ถ้านักการเมืองไม่ปฏิรูปตัวเอง บ้านเมืองจะหยุดชะงัก ถอยหลังอีก ไม่หลุดพ้นวงจรเดิม เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 26.6 ระบุ ควรเลือกตั้งก่อน เพราะ เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น จะได้เงินจากพวกหัวคะแนน และอยากเลือกตั้งแล้ว เป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ล้านนาและประวัติศาสตร์นิพนธ์ | คนสามัญ อานันท์ 70 ปี

Posted: 15 Oct 2017 02:55 AM PDT

สัมมนาวิชาการ "มานุษยวิทยา ล้านนาคดี และประวัติศาสตร์นิพนธ์ คนสามัญ อานันท์ 70 ปี" วันที่ 20 - 21 เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ห้องประชุม 1 อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในช่วงบ่ายของวันที่ 20 ก.ย. มีการนำเสนอกลุ่มบทความ "ล้านนาและประวัติศาสตร์นิพนธ์" โดย (1) วราภรณ์ เรืองศรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ "ล้านนาคดีที่หวัง: อานันท์ กาญจนพันธุ์กับการบุกเบิกล้านนาคดี"

(2) กนกวรรณ อู่ทองทรัพย์  วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง หัวข้อ "คนไทยเชื้อสายจีน กับ การครอบครองเศรษฐกิจเมืองนครลำปาง: ค.ศ.1900-1960"

(3) ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หัวข้อ "บ้าน วัด โรงเรียนของหนู"

(4) ธรรศ ศรีรัตนบัลล์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำเสนอหัวข้อ "หมอดูไทใหญ่: บทบาทในสังคมไทย ทศวรรษ 2540-2560"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วัดอ้อน้อย’ แจ้งความฐานเหยียดหยามศาสนา หลังมีคนแวะฉี่ที่ซุ้มประตูวัด

Posted: 15 Oct 2017 02:52 AM PDT

วัดอ้อน้อย แจ้งความเอาผิดหนุ่มยืนฉี่ที่ซุ้มประตูวัด ฐานเหยียดหยามศาสนา และปัสสาวะในที่สาธารณะ ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้ที่ยืนฉี่เข้าแจ้งความถูกการ์ดวัดรุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับการแจ้งว่า วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) โดยธรียุทธ สุวรรเกษร ผู้รับมอบอำนาจ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำบ้านกำแพงแสน ให้ดำเนินคดีกับ บริบูรณ์ เกียงวรางกูร อายุ 54 ปี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า บริบูรณ์ ได้กระทำความผิดฐาน "กระทำการด้วยประการใดๆ แก่วัตถุ หรือสถาบันอันที่เป็นเคารพในทางศาสนา อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา และถ่ายปัสสาวะลงในที่สาธารณะ หรือสถานสาธารณะซึ่งไม่ใช่สถานที่ราชการท้องถิ่นจัดไว้"

โดยในวันที่ 12 ตุลาคม บริบูรณ์ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม บริเวณประตูทางเข้า เวลาประมาณ 03.30 น. ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม บริบูรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ว่า ตนถูกชายฉกรรจ์ 2 ราย คาดว่าอายุประมาณ 35-40 ปี รุมทำร้าย ระหว่างเดินทางจากจังหวัดนครปฐม มุ่งหน้าอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยช่วงที่ผ่านมายังวัดอ้อน้อยรู้สึกปวดปัสสาวะจึงจอดรถปัสสาวะที่กำแพงวัด เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่สว่างมีรถยนต์จอดอยู่หลายเพื่อพักผ่อน แต่ระหว่างนั้นมีผู้ใช้ไม้ไผ่พุงลอดกำแพงมาทิ่มที่บริเวณหน้าอก จากนั้นมีชายสองคนเปิดประตูวัดออกมารุมทำร้าย จึงได้ยกมือไหว้ขอชีวิต แต่ไม่เป็นผล หลังเกิดเหตุจึงได้เดินทางไปแจ้งความที่ สภ.กำแพงแสน และเข้าตรวจร่างการที่โรงพยาบาลกำแพงแสน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชดำเนินเสวนา เตือนสื่อใช้คำพาดหัวข่าว ระวังผิดกฎหมาย

Posted: 15 Oct 2017 02:28 AM PDT

ราชดำเนินเสวนา จัดเวที 'ภาษาไทย-ภาษาสื่อ' ครูลิลลี่แนะวัยรุ่นใช้ภาษาให้ตรงกาลเทศะ 'ราชบัณฑิตยสภา' หนุนสังคมรักษารากเหง้าวัฒนธรรมไทย พร้อมเปิดแอปพลิเคชัน ใช้คำราชาศัพท์ให้ถูกต้อง 'ดร.เรืองชัย' เตือนสื่อใช้คำพาดหัวข่าว ระวังผิดกฎหมาย

 
 
15 ต.ค. 2560 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ภาษาไทย ภาษาสื่อ" โดยมี รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม นางสาวสุปัญญา ชมจินดา โฆษกสำนักงานราชบัณฑิตยสภา "ครูลิลลี่" กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูสอนภาษาไทย โรงเรียนพินนาเคิล สยามสแควร์ และ ดร.เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นวิทยากร
 
ดร.โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวเปิดเวทีเสวนา ว่า ราชบัณฑิตยสภา มี 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ภาคีสมาชิก 2.ราชบัณฑิต และ 3.ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งวัตถุประสงค์ของราชบัณฑิตยสภานั้น เพื่อส่งเสริม ค้นคว้าวิจัย อนุรักษ์ แลกเปลี่ยนความรู้ภาษาไทย เพื่อให้เป็นคุณประโยชน์ให้ประเทศ นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรปราชญ์ทั้งในและนอกประเทศ ส่วนราชบัณฑิตยสภาจะก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อไม่ให้เป็น 0.4 อย่างไรนั้น ราชบัณฑิตยสภา ต่างมีความมุ่งมั่นและตระหนักถึงความสำคัญที่จะร่วมกันนำความรู้ในศาสตร์ที่ตนมีความชำนาญ นำประสบการณ์ที่มีอยู่มารวมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ที่สำคัญจะต้องอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไป โดยเฉพาะจากเยาวชน เพื่อให้เกิดความภูมิใจในภาษาของเราเอง ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินการมาโดยตลอด 
 
"สำหรับการปลูกฝังการใช้ภาษาไทย ที่ต้องทำแต่เด็กๆ นั้น โดยเฉพาะการใช้คำราชาศัพท์ที่ถูกต้อง อาจจะต้องใช้ช่องทางสื่อ เช่น ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่คนส่วนใหญ่ติดตามดู เพื่อให้คนดูเข้าใจได้ง่าย เพราะคนดูจะจดจำได้มากกว่าสื่อต่างๆ ส่วนวัยรุ่นหากจะใช้ละครจักรๆ วงศ์ๆ คงไม่ได้ จะต้องหาวิธีการใช้สื่อผ่านช่องทางอื่นในการเรียนรู้แทน" ดร.โสภา กล่าว
 
รศ.ดร.นววรรณ กล่าวว่า ภาษามีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จำได้ว่าในช่วงที่ตนเป็นนักศึกษาต้องเขียนเรียงความเรื่องภาษาไทยวิวัฒน์หรือภาษาไทยวิบัติ ส่วนการใช้ภาษาออนไลน์ของวัยรุ่นสมัยนี้ เป็นการใช้ภาษาที่ต่างออกไป มีการตัดคำ เปลี่ยนคำ โดยใช้การเขียนแทนการพูด เช่น คำว่า"เค้า" แต่วัยรุ่นไม่ได้เขียนว่า"เขา" จะทำให้ภาษาของเราเปลี่ยนไปหรือไม่ จึงต้องให้เขาตระหนักว่าภาษาต้องใช้ตามกาลเทศะ โดยครูต้องสอนเด็กเหล่านี้ให้มากๆ แต่ถ้าใช้ภายในกลุ่มของเขาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีการนำภาษาของเขามาใช้ในโอกาสอื่นที่เป็นทางการก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ตนเป็นห่วงเรื่องการสะกดตัวการันต์ แต่วัยรุ่นคิดเพียงแค่ว่า ให้ออกเสียงได้เท่านั้น ซึ่งจะมีคนบ่นว่าภาษาไทยยาก เรื่องการสะกดการันต์ หรือมีคนให้ความเห็นว่า เขียนเหมือนการออกเสียงไปเลย แต่กลับไม่มีการแยกเรื่องคำพ้องเสียง ทั้งที่ภาษาไทยเป็นภูมิปัญญาของเรา
 
"อยากให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาไทย ดิฉันคิดว่าบรรพบุรุษมีภูมิปัญญาไทย ท่านได้คิดคำให้เราได้ใช้ ท่านมีวิธีการในการแปลงคำยืมมาและมีวิธีการออกเสียง ถึงแม้คำยืมทั้งหลายเขียนยาก เพราะออกเสียงแบบไทย แต่ได้พยายามรักษารูปคำเดิมเอาไว้ อยากให้เด็กรุ่นหลังเห็นถึงความสำคัญของภาษาไทย แต่ให้เขาได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของไทย แต่ขณะนี้น่าเป็นห่วง สังคมออนไลน์ที่จะเคยชินกับภาษาง่ายๆ ส่วนการเขียนภาษาที่ยากๆ จะมีความรู้สึกว่ายากไปด้วย" รศ.ดร.นวพรรณ กล่าว 
 
ครูลิลลี่ กล่าวว่า ตนถือเป็นครูที่อยู่สมัยกลางเก่าและกลางใหม่ ถึงจะสอนสไตล์ของตัวเองอย่างไร แต่เราต้องไม่ลืมรากเหง้าของภาษาไทย ถ้ารักภาษาไทย จะรักทุกอย่างเกี่ยวกับความเป็นไทย โดยเฉพาะเรื่องกาลเทศะ ต้องดูจังหวะในการใช้ภาษาให้ถูกต้อง ต้องพูดให้ถูกต้อง เขียนให้ถูกต้อง เช่น เขา ต้องเขียน"เขา"แต่ไม่ใช่"เค้า" เราเคยบอกเด็กว่า เราภูมิใจว่าเราไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในภาษาราชการ แต่ก็ต้องใช้ภาษาอย่างไม่พร่ำเพรื่อ ต้องคงไว้ในความเป็นไทยและใช้กฎเกณฑ์ของภาษาให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาตนเป็นครูภาษาไทยมา 25 ปี เราต้องภูมิใจในภาษาของชาติ ถึงเราจะห้ามเด็กให้ใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องไม่ได้ แต่จะบอกเด็กๆ ว่า ถึงจะใช้ภาษาผิดหรือถูก แต่ต้องใช้ภาษาให้ถูกที่ถูกทางและกาลเทศะเท่านั้น
 
"ครูเข้าใจโลก เข้าใจปัจจุบัน แต่ครูก็พยายามดึงเด็กๆ เข้ามาใช้ภาษาให้ถูกต้อง จะสอนให้รุ่นต่อรุ่นใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แต่ครูจะต้องผสมโลกปัจจุบันในการสอนภาษาไทย ให้เด็กไม่รู้สึกเป็นยาขม ซึ่งครูจะคงไว้ในกฎเกณฑ์ของภาษา โดยให้รู้สึกว่ายานี้ต้องมีสรรพคุณเหมือนเดิม แต่ต้องเจือปมความหวานเข้าไป เพื่อให้เด็กรับรู้ความเป็นภาษาของเราได้" ครูลิลลี่ กล่าว
 
ด้าน ดร.เรืองชัย กล่าวว่า ในการทำข่าว ทุกโต๊ะข่าวจะต้องมีพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภาติดไว้ ซึ่งการใช้ภาษานั้นต้องขึ้นอยู่กับยุคสมัย แต่การใช้ภาษาต้องมีกฎเกณฑ์ให้ถูกต้อง ต้องมีรากศัพท์ โดยภาษาสื่อของหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะแตกต่างกับการใช้ภาษาของสื่อทีวี ซึ่งทางทีวีมีการใช้กันผิดใช้กันถูก ตนแนะนำว่าการอ่านข่าวที่ดีให้ฟังกรมประชาสัมพันธ์ ถือเป็นการใช้ที่ถูกต้อง และสิ่งสำคัญที่สุดเรามีหน่วยงานที่ดูเรื่องความถูกต้องของการใช้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสภา ที่ได้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพราะภาษาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้ การพาดหัวข่าวเป็นการใช้สื่ออย่างหนึ่ง ต้องสั้น ง่าย แต่มีความหมาย ซึ่งคนที่ทำหนังสือพิมพ์จะต้องร่ำรวยในการใช้คำ เพื่อให้คนเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น 
 
"ขณะที่ภาษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คนทำงานสื่อจะต้องทราบอย่างดี เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายที่ดูหมิ่นซึ่งหน้า เช่น คำว่ากุ๊ย หรือคำด่าที่ทำให้เสียชื่อเสียง ดังนั้นการใช้คำให้ถูกกาลเทศะ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่เช่นนั้นภาษาจะไม่มีเสน่ห์ ภาษาจะผิดเพี้ยนไป สิ่งสำคัญเราจะทำอย่างไรให้สื่อถ่ายทอดภาษาที่ถูกต้อง นำไปสู่การใช้ที่ถูกต้องให้ได้" ดร.เรืองชัย กล่าว 
 
ขณะที่ นางสาวสุปัญญา กล่าวว่า สำหรับคำราชาศัพท์ที่มีการใช้อยู่นั้น มีการใช้ไม่ถูก เช่น เสวย ไม่ต้องมีทรงนำหน้า การใช้คำศัพท์ให้ถูกต้องเป็นเหมือนการให้เกียรติเจ้านายด้วย ส่วนเรื่องคำว่าสวรรคต ต้องออกเสียงว่า สะ-หวัน-คด ไม่ใช่ สะ-หวัน-นะ-คด หรือคำว่าถวายนั้น เป็นความหมายการให้ของ เช่น ถวายภัตตาหารพระภิกษุ ส่วนหากจะใช้คำว่าถวายกับเจ้านายให้ใช้เป็นเป็นรูปนามธรรรม ส่วนคำว่า"ถวาย"ที่ประชาชนเข้าใจว่าเป็นคำราชาศัพท์ เมื่อจะไปวางดอกไม้จันทน์ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ถ้าใช้แค่คำว่าไปวางดอกไม้จันทน์ ประชาชนจะคิดว่าเป็นการวางดอกไม้จันทน์สำหรับคนทั่วไปหรือไม่ แต่การใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมนั้น สามารถใช้คำว่าไปวางดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงความอาลัยแด่.. หรือวางดอกไม้จันทน์เพื่อถวายแด่.. ซึ่งเราสามารถเรียบเรียงถ้อยคำเพื่อใช้ภาษาให้เหมาะสมได้ 
 
"นอกจากนี้ สำนักงานราชบิณฑิตยสภา ได้เผยแพร่คำถ้อยคำที่เหมาะสมในเว็ปไซต์ สำหรับช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ราชาศัพท์สามารถเปิดดูได้ที่แอปพลิเคชั่น หรือโทรศัพท์ไปสอบถามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เช่นกัน" นางสุปัญญา กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น