โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

Posted: 25 Oct 2017 04:17 PM PDT

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่หมายกำหนดการที่ 25/2560 หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ หมายกำหนดการ ที่ 25/2560 หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ตุลาคม พุทธศักราช 2560 โดยตอนหนึ่งมีรายละเอียดดังนี้

เลขาธิการพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระประชวร สวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที พระชนมพรรษา 89 พรรษา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงทราบว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างก็มีความโศกเศร้าอาดูรอยู่ทั่วหน้า ด้วยตระหนักว่าผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นที่รักและเคารพสูงสุด ได้เสด็จลับล่วงไปแล้ว ได้เชิญพระบรมศพถวายพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลจำหลักลายประดับรัตนชาติ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยพระอภิรุมชุมสายพุ่มดอกไม้ทองเงินและเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายในวาระครบสัตตมวาร ปัณรสมวาร ปัญญาสมวารและสตมวาร ตามลำดับ และทุกสัปดาห์ที่บรรจบวันสวรรคตมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประจำยามตามราชประเพณีแต่กาลก่อน

อนึ่ง ทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยถึงความจงรักภักดีอันมั่นคงของประชาชนที่ต่างอาลัยระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อยู่ไม่เสื่อมคลาย ด้วยที่ผ่านมาตลอดพระชนมชีพนั้น ได้ทรงตรากตรำพระวรกายปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการโดยมิได้ทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยาก เพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญ มั่นคงและประชาชนมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทุกหมู่เหล่า บำเพ็ญกุศล สนองพระเดชพระคุณ ตลอดจนเข้ามาถวายสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

บัดนี้ การเตรียมการเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตามโบราณราชประเพณี พร้อมสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ดังรายการต่อไปนี้

 

พระราชกุศลออกพระเมรุ

เจ้าพนักงานพระราชพิธีตั้งแต่งที่ประดิษฐานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาประสาทในพระบรมมหาราชวัง สำหรับการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุไว้พร้อม

วันพุธ ที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

เวลา 15 นาฬิกา เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ปี่พาทย์ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร แล้วทรงประเคนพัดรองที่ระลึกงานออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะที่จะถวายพระธรรมเทศนา จำนวน 11 รูป และพระราชาคณะที่จะสวดศราทธพรต 30 รูป พระสงฆ์ที่จะสดับปกรณ์ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร พระสงฆ์ที่จะสวดพระอภิธรรม 8 รูป บรรพชิตจีนและญวน 20 รูป แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 แล้ว พระสงฆ์ 30 รูปสวดศราทธพรต จบ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรถวายพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนา และพระสงฆ์ที่สวดศราทธพรต 30 รูป สดับปกรณ์ พระสงฆ์ทั้งนั้นถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วเจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ สวดมาติกา จบ ทรงทอดผ้าไตร และย่ามที่ระลึกงานออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระสงฆ์ 89 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลาแล้ว บรรพชิตจีน 10 รูป และบรรพชิตญวน 10 รูป ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ สวดมาติกา จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตรและย่ามที่ระลึกงานออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรบรรพชิตจีนและญวนสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่แท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมจนถึงเวลา 21 นาฬิกา รุ่งขึ้นรับพระราชทานฉัน และชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประจำ ยามตามราชประเพณี เสด็จพระราชดำ เนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลง

 

อัญเชิญพระบรมโกศโดยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ
ไปยังพระเมรุมาศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ

วันพฤหัสบดี ที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 เจ้าพนักงานเตรียมการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เทียบพระยานมาศสามลำคานที่จะอัญเชิญพระบรมโกศออกพระเมรุมาศ โดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตั้งแต่งพระที่นั่งทรงธรรม พระจิตกาธาน พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ไว้พร้อม

ตั้งขบวนกองทหารเกียรติยศนำ ขบวนกองทหารเกียรติยศตาม และขบวนพระบรมราชอิสริยยศ สำหรับแห่อัญเชิญพระบรมโกศไปบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณี

อนึ่ง ตามแนวราชวิถีที่ขบวนกองทหารเกียรติยศและขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่อัญเชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถ มีราชรถสมเด็จพระราชาคณะนั่งอ่านพระอภิธรรมนำ จัดทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์รายทางถวายพระเกียรติ สลับกับตำรวจนครบาล ยืนรักษาการณ์ไว้พร้อม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

เวลา 7 นาฬิกา เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมศพที่หน้าพระแท่นสุวรรณเบญจดล แล้วทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 30 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง

เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าพนักงานเปลื้องพระโกศทองใหญ่ที่ประกอบพระลองออก

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานสนมพลเรือนเปลื้องพระโกศทองใหญ่ถวายตาดคลุมพระลองแล้ว ตำรวจหลวงอัญเชิญลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล นายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์อัญเชิญพระลองออกพระทวารทางมุขตะวันตก ลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อัญเชิญพระลองประดิษฐานบนพระเสลี่ยงแว่นฟ้า แล้วอัญเชิญไปที่หน้ากำแพงแก้วโดยมีตำรวจหลวงนำทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์อัญเชิญพระลองขึ้นประดิษฐานบนเกยลา แล้วประกอบพระโกศทองใหญ่ แล้วเลื่อนพระบรมโกศเข้าประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน

ขณะที่อัญเชิญพระลองลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดลนั้น ทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ ถวายพระเกียรตินาทีละ 1 นัด ตลอดเวลา จนเมื่ออัญเชิญพระบรมโกศไปเทียบยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงหยุดยิง และเมื่อนายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อัญเชิญพระลองลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดพระทวารมุขเหนือ ไปประทับที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรการอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน เจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นถวายบังคมประคองหน้าหลัง นายทหารราชองค์รักษ์เป็นคู่เคียง

ขณะเปลื้องพระโกศทองใหญ่ ณ ที่ประดิษฐานพระแท่นสุวรรณเบญจดลภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ชาวพนักงานประโคมในริ้วขบวนจะได้กระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ตลอดเวลา และหยุดประโคมเมื่อเทียบพระยานมาศสามลำคานที่เกรินพระมหาพิชัยราชรถ

พร้อมแล้ว อัญเชิญพระบรมโกศโดยพระยานมาศสามลำคานออกจากพระบรมมหาราชวัง มีนายทหารราชองครักษ์เชิญธงมหาราชนำ ขณะนั้น กองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระยานมาศสามลำคานอัญเชิญพระบรมโกศออกทางประตูศรีสุนทร ประตูเทวาภิรมย์ เข้าประจำขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เจ้าหน้าที่ยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร คันดาลถวายกางกั้นพระบรมโกศซึ่งประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน คู่เคียงนายทหารราชองครักษ์ อินทร์ พรหม พระกลด บังพระสูรย์ มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าประจำที่ในริ้วตามลำดับ

เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยศอัญเชิญพระบรมโกศ 4 สาย มีเจ้าพนักงานนำริ้ว ธง 3 ชายคู่แห่นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ ตำรวจหลวงถือหอก มหาดเล็กหลวงคู่หน้า สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร นั่งเสลี่ยงกลีบบัวอ่านพระอภิธรรมนำ คู่เคียง อินทร์ พรหมนาลิวัน ขบวนพระบรมราชอิสริยยศประกอบด้วย พระอภิรุมชุมสาย ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ แห่อัญเชิญพระบรมโกศตามราชประเพณีไปตามถนนมหาราช ถนนท้ายวัง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมโกศไปยังพลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เทียบพระยานมาศสามลำคานแล้วอัญเชิญพระบรมโกศประดิษฐาน ณ ท้ายเกรินบันไดนาค ทรงทอดผ้าไตร 20 ไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์เที่ยวละ 5 ไตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับยังพลับพลายก เจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งท้ายเกรินบันไดนาค ถวายบังคมแล้วประคองพระบรมโกศ เจ้าหน้าที่ผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถถวายบังคมพร้อมกันกับเจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วเลื่อนเกรินอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นสู่บุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ขณะนั้น ขบวนพระบรมราชอิสริยยศกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ถวายความเคารพ วงโยธวาทิตบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบแล้ว ขบวนหน้าทั้งหมดกลับสู่ราชวิถีที่จะเชิญพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมื่อเคลื่อนขบวนทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ถวายพระเกียรตินาทีละ 1 นัด จนกว่าพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแล้วจึงหยุดยิง ขบวนพระบรมราชอิสริยยศมีมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประโคมตลอดเวลา และหยุดประโคมเมื่อได้เปิดพระวิสูตรบนพระเมรุมาศแล้ว

ครั้นประตูหลังขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระบรมโกศผ่านพลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามที่ประทับไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าขบวนตามพระบรมโกศโดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ มหาดเล็กพระราชพิธีเชิญเครื่องพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แซงเสด็จ แล้วต่อด้วยพระราชวงศ์ฝ่ายหน้า ข้าราชบริพาร และหน่วยงานในพระองค์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร พลเรือน

 

พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

ทหารกองเกียรติยศขบวนหน้านำพระบรมโกศ ยาตราไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน เลี้ยวเข้าถนนกลางท้องสนามหลวง แล้วเลี้ยวเข้าตั้งแถวแต่ละกองพันในสนามด้านทิศเหนือ หลังแถวทหารกองเกียรติยศพระบรมศพ หน้าพลับพลายกนอกราชวัติพระเมรุมาศ

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศตอนหน้าพระมหาพิชัยราชรถตรงไปตามถนนกลางท้องสนามหลวง เทียบราชรถพระนำที่มุมราชวัติต่อถนนพระจันทร์ส่งสมเด็จพระวันรัตลงจากราชรถพระนำ ไปพักที่ท้ายพระที่นั่งทรงธรรม แล้วราชรถพระนำเลยไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมด้วยฉัตรพระนำ สมเด็จพระวันรัต คู่เคียง อินทร์ พรหม คู่แห่ นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ นำริ้วธง 3 ชาย มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เดินเข้าไปตั้งแถวในพระเมรุมาศตามแนวริมราชวัติด้านเหนือ ตะวันออก และด้านใต้ พร้อมด้วยฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง

เมื่อพระมหาพิชัยราชรถจะถึงที่เทียบสะพานเกรินบันไดนาคหน้าพลับพลายกนอกราชวัติพระเมรุมาศ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารกองเกียรติยศแห่นำพระบรมโกศถวายความเคารพ เทียบพระมหาพิชัยราชรถที่ประตูราชวัติพระเมรุมาศคู่เคียง อินทร์ พรหม และเครื่องสูงหักทองขวาง มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ นาลิวัน ประตูหลัง เดินชิดขวาเคียงข้างพระมหาพิชัยราชรถริมขอบสนามไปตั้งแถวในราชวัติรวมกับเครื่องสูงขบวนหน้า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปประทับ ที่พลับพลายกพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทอดพระเนตรการอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถไปประดิษฐานเหนือราชรถปืนใหญ่เพื่อเตรียมเวียนพระเมรุมาศ

ขบวนทหารกองเกียรติยศกองหลังเลี้ยวเข้าถนนตัดเข้าพระเมรุมาศ แล้วเลี้ยวซ้ายไป ตั้งแถวตรงประตูราชวัติพระเมรุมาศด้านตะวันออก และด้านใต้ตามลำดับกองพัน

เจ้าพนักงานเชิญเกรินบันไดนาคเทียบพระมหาพิชัยราชรถ และเทียบราชรถปืนใหญ่เรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายบังคมพร้อมกับผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ แล้วเจ้าพนักงานภูษามาลาจะได้เลื่อนอัญเชิญพระบรมโกศเคลื่อนลงทางเกรินบันไดนาคประดิษฐานเหนือราชรถปืนใหญ่ มีทหารปืนใหญ่ฉุดชักราชรถปืนใหญ่ อัญเชิญพระบรมโกศเข้าเวียนพระเมรุมาศ

เลขาธิการพระราชวังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต เชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ราชรถปืนใหญ่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ตามพระบรมโกศเวียนพระเมรุมาศ โดยอุตราวัฏ 3 รอบ แล้ว เสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งทรงธรรม เจ้าพนักงานเทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศด้านเหนือ เจ้าพนักงานเลื่อนพระบรมโกศสู่เกริน อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน ครั้นถึงที่แล้วปิดพระฉาก ปิดพระวิสูตร หยุดประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เปลื้องพระบรมโกศประกอบพระโกศจันทน์ แวดล้อมด้วยฉัตรดอกไม้สด 4 มุม แล้วเปิดพระฉาก เปิดพระวิสูตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระเมรุมาศทางบันไดด้านตะวันตก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะกราบถวายบังคมพระบรมศพ แล้วเสด็จลงทางเดิม ขึ้นพระที่นั่งทรงธรรมไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ระหว่างที่พระบรมศพประดิษฐานที่พระเมรุมาศ พระสงฆ์จะได้สวดพระอภิธรรมประจำซ่าง 4ซ่าง ทั้งกลางวันและกลางคืน จนกว่าจะได้อัญเชิญพระบรมอัฐิกลับ และมีชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ ปี่พาทย์และประโคมยามตามเวลา

 

ถวายพระเพลิงพระบรมศพ

วันนี้เวลาบ่าย เจ้าพนักงานเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพที่พระเมรุมาศ และพระที่นั่งทรงธรรมไว้พร้อม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

เวลา 16 นาฬิกา 30 นาที รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หลังพระที่นั่งทรงธรรม ถนนหน้าพระธาตุ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธนำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ตามเสด็จ ประทับพระราชอาสน์ตรงหน้าอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียน เครื่องทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพทรงธรรมที่พระเมรุมาศ ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะ ถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 แล้ว พระสงฆ์ 50 รูป สวดศราทธพรตจบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตร สมเด็จพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนาและพระสงฆ์ 50 รูป ที่สวดศราทธพรตสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชอาสน์ที่มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ขบวนผู้แทนจิตอาสาเชิญพานดอกไม้จันทน์ จำนวน 9 พาน เดินเข้ามณฑลพิธี เมื่อถึงหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ถวายความเคารพแล้ว ออกจากมณฑลพิธี

เวลา 17 นาฬิกา 30 นาที สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งทรงธรรมไปขึ้นพระเมรุมาศ โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ ทรงวางเครื่องราชสักการะพระบรมศพ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพเป่าแตรเดี่ยวสัญญาณนอน จบแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนดอกไม้จันทน์ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ และปี่พาทย์ กองเกียรติยศทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และยิงปืนเล็กยาว 9 นัด พร้อมกันกับทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ถวายพระเกียรติ 21 นัด

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระเมรุมาศไปประทับ ณ มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพ 3 เหล่าทัพ ที่ในราชวัติพระเมรุมาศเดินแถวกลับ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศ์ พระประมุข ประมุข พระราชวงศ์และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ผู้นำศาสนา ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพตามลำดับหลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับพระประมุข พระราชวงศ์ และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพวงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ จะได้ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตามลำดับ

 

ถวายพระเพลิงพระบรมศพ(จริง)
เวลา 22 นาฬิกา

เจ้าพนักงานภูษามาลาและสนมพลเรือนกองพระราชพิธีสำนักพระราชวังพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมการที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระจิตกาธานบนพระเมรุมาศไว้พร้อม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เสด็จขึ้นพระเมรุมาศปิดพระฉากและพระวิสูตรเพื่อเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

เวลา 22 นาฬิกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระเมรุมาศไปยังพระที่นั่งทรงธรรม ประทับพระราชอาสน์ที่หน้าอาสน์สงฆ์ พระสงฆ์สวดมาติกาทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 30 รูปสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระเมรุมาศพร้อมด้วยพระบรมวงศ์ ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แล้วเสด็จลงจากพระเมรุมาศ ประทับ ณ มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม

เจ้าพนักงานปฏิบัติการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระเมรุมาศ ทรงทอดผ้าไตรที่พระจิตกาธานถวายพระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ครั้งละ 1 รูป เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางศ์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

 

เก็บพระบรมอัฐิ

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 เจ้าพนักงานตั้งแต่งเตรียมการพระราชกุศลเก็บพระบรมอัฐิที่พระที่นั่งทรงธรรม จัดตั้งพระแท่นแว่นฟ้าบุษบกสำหรับประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ และเตรียมโตกสำรับคาวหวาน 3 หาบ ถวายพระสงฆ์พร้อมเครื่องสังเค็ด และเตรียมการจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิด้วยพระที่นั่งราเชนทรยาน และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารด้วยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยคู่แห่ เครื่องสูงมโหระทึกสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศของพระบรมอัฐิไว้พร้อม

เวลาเช้าเจ้าพนักงานจะได้ถวายภัตตาหารพระพิธีธรรมที่สวดพระอภิธรรมประจำซ่างพระเมรุมาศ

ที่พระเมรุมาศทอดพระราชอาสน์ที่ประทับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวข้างพระจิตกาธานเจ้าพนักงานภูษามาลาดับพระเพลิงด้วยน้ำพระสุคนธ์ประมวลพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร ถวายคลุมด้วยผ้าเยียรบับ ที่เพดานเหนือพระจิตกาธานแขวนนพปฎลมมหาเศวตฉัตรถวายกางกั้น ตั้งเครื่องพระสุคนธ์ขันทองคำสำหรับสรงพระบรมอัฐิ พระโกศทองคำลงยาประดับเพชรสำหรับบรรจุพระบรมอัฐิ พร้อมด้วยเครื่องราชสักการะตามพระราชประเพณีไว้พร้อม

เวลา 8 นาฬิกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เทียบรถยนต์พระที่นั่งหลังพระที่นั่งทรงธรรม ถนนหน้าพระธาตุ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัย พระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ตามเสด็จ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระเมรุมาศ พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ โดยมี 8ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ตามเสด็จ ประทับพระราชอาสน์ข้างพระจิตกาธาน เจ้าพนักงานถวายเปิดผ้าเยียรบับ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิแล้ว ถวายน้ำพระสุคนธ์สรงพระบรมอัฐิ เจ้าพนักงานถวายปิดผ้าเยียรบับคลุมพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิบูชาพระสงฆ์แล้วทรงทอดผ้าไตร 3 หาบ บนผ้าเยียรบับที่ปิดคลุมพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ9 รูป ขึ้นสดับปกรณ์ที่พระจิตกาธานครั้งละ 1 รูป จนครบ 9 รูป เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายเปิดผ้าเยียรบับคลุมพระบรมอัฐิ ทรงเก็บพระบรมอัฐิสรงพระสุคนธ์ในขันทองคำแล้วประมวลลงในพระโกศทองคำลงยาประดับเพชร รวม 6 พระโกศพระราชทานพระโกศพระบรมอัฐิแก่พระบรมวงศ์แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากพระเมรุมาศไปยังพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตาม และประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าอาสน์สงฆ์เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานในบุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้า ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร เจ้าพนักงานจะได้ประมวลลงในพระผอบโลหะปิดทอง พักไว้บนพระเมรุมาศ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิแล้วทรงประเคนโตกภัตตาหาร 3 หาบ แด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ 9 รูปที่ได้สดับปกรณ์พระบรมอัฐิแล้วนั้น พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องสังเค็ดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แด่พระสงฆ์ 3 หาบและพระสงฆ์ 30 พระอาราม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์อีก 30 รูป ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์สวดมาติกาจบ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก กลับ

ในระหว่างพระสงฆ์รับพระราชทานฉันภัตตาหาร 3 หาบ เจ้าหน้าที่จะได้ตั้งริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานสำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ และเทียบพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยที่หน้าพระที่นั่งทรงธรรมสำหรับอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากบุษบกแว่นฟ้าไปประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน อัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย

ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศ 4 สาย มีเจ้าพนักงานนำริ้ว ธง 3 ชาย นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ ตำรวจหลวงถือหอก มหาดเล็กหลวง เป็นคู่แห่ ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ นายทหารราชองครักษ์เคียงพระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระโกศพระบรมอัฐิ และอินทร์ พรหม ที่พระที่นั่งราเชนทรยานน้อยทรงพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร มีข้าราชบริพารในพระองค์ และอินทร์พรหม เคียงข้าง พร้อมด้วยเครื่องสูงอภิรุมชุมสายหักทองขวาง พระกลด บังพระสูรย์ พัดโบก เจ้าพนักงานภูษามาลาประคองพระโกศพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศตามราชประเพณี

เลขาธิการพระราชวังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระบรมอัฐิ เข้าพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระที่นั่งทรงธรรม โดยมี 8 ตำรวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นำเสด็จ ตามขบวนอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคาร พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าริ้วขบวนไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

ยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารออกทางประตูพระเมรุมาศด้านเหนือ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเลี้ยวขวาถนนตัดเข้าพระเมรุมาศ ออกถนนราชดำเนินในเลี้ยวขวาเข้าถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี ถนนจักรีจรัณย์ ขบวนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย คู่เคียง อินทร์ พรหม พระกลด บังพระสูรย์ พัดโบก แยกออกไปเลี้ยวถนนหน้าศาลาสหทัยสมาคม เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยที่เกยประตูหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยไปประดิษฐานพักไว้ในพระศรีรัตนเจดีย์

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระบรมอัฐิตรงเข้าไปประตูพิมานไชยศรีเลี้ยวขวา ถนนอมรวิถี ไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงรอรับพระโกศพระบรมอัฐิที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งราเชนทรยาน เข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตาม

เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล ณ มุขตะวันตกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ แล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางศ์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

 

พระราชกุศลพระบรมอัฐิ

วันเสาร์ ที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 เจ้าพนักงานเตรียมการพระราชกุศลพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีออกประดิษฐานบนพระแท่นมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยต้นไม้ทองเงิน เครื่องบรมราชอิสริยยศราชูปโภค เครื่องราชสักการะ เชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิและพระอัฐิพระบรมราชบุพการี พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประดิษฐานที่พระแท่นมณฑลมุก ทอดเครื่องนมัสการไว้พร้อม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

เวลา 17 นาฬิกา 30 นาที เสด็จเข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระแท่นมหาเศวตฉัตรแล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ซึ่งประดิษฐานในบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระแท่นมณฑลมุก ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิแด่พระราชาคณะที่จะถวายพระธรรมเทศนา พระราชาคณะ31 รูป สวดพระพุทธมนต์ พระสงฆ์รับอนุโมทนา 4 รูป และพระสงฆ์สดับปกรณ์ 12 รูป แล้วพระสงฆ์ 30 รูป ส่วนพระพุทธมนต์ จบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย สำหรับพระบรมอัฐิและพระอัฐิพระบรมราชบุพการี และสำหรับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนาภัณฑ์ 1 จบแล้ว ถวายอนุโมทนา พระสงฆ์ 4 รูปรับอนุโมทนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์และทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ที่ถวายพระธรรมเทศนาและรับอนุโมทนารวม 5 รูป สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ 12 รูป สวดมาติกา จบ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่อัญเชิญออกประดิษฐานในการพระราชกุศลนี้ แล้วถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

 

อัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน
ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันอาทิตย์ ที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวังผ่านประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

เวลา 10 นาฬิกา 30 นาที เสด็จเข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรซึ่งประดิษฐานในบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ประดิษฐานบนพระแท่นมหาเศวตฉัตร พระสงฆ์ 30 รูป ที่สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน เสร็จแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 จบ แล้วถวายอนุโมทนา พระสงฆ์ 4 รูป รับอนุโมทนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรพระสงฆ์ที่ถวายพระธรรมเทศนาและรับอนุโมทนารวม 5 รูป สดับปกรณ์ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วเจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ 89 รูป เท่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ สวดมาติกา จบ ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา

ระหว่างพระสงฆ์รับพระราชทานฉันในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เจ้าพนักงานจะได้เทียบพระที่นั่งราเชนทรยานสำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไว้ที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตำรวจหลวง มหาดเล็กเป็นคู่แห่ 4 สาย นายทหารราชองครักษ์เป็นคู่เคียงพระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระโกศพระบรมอัฐิ พร้อมด้วยเครื่องพระอภิรุมชุมสายมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ พระกลด บังพระสูรย์ พัดโบก ภูษามาลาประคอง และมหาดเล็กพระราชพิธีอัญเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ ไว้พร้อม

เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ เชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ไปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ลงจากบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล ออกทางพระทวารพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมุขตะวันออกไปยังเกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตาม

เจ้าพนักงานภูษามาลาประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน ขบวนพระบรมราชอิสริยยศประโคมกระทั่งมโหระทึกสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ พร้อมแล้วยาตราขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตามพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์

เมื่อเทียบพระที่นั่งราเชนทรยานที่อัฒจันทร์ตะวันออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานในพระวิมานแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระสัมพุทธพรรณโณพาศแล้ว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

 

บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร

เจ้าพนักงานเตรียมการพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ไว้พร้อม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ผ่านประตูวิเศษไชยศรี ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

เวลา 17 นาฬิกา 30 นาที เลขาธิการพระราชวังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร เชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยพระราชยานจากพระศรีรัตนเจดีย์ มีตำรวจหลวงนำ ไปออกประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อัญเชิญไปถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ รถยนต์พระที่นั่ง

ยาตราขบวนอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยขบวนกองเกียรติยศทหารม้ารักษาพระองค์ มี พันโทหญิงพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงม้านำ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่งทรงอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารแล้วกองเกียรติยศทหารม้ารักษาพระองค์ขบวนหลังตาม ขบวนอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปตามถนนหน้าพระลาน เลี้ยวขวาถนนสนามไชย เลี้ยวซ้ายถนนกัลยาณไมตรี ข้ามสะพานช้างโรงสี เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายถนนราชบพิธ

ขบวนหน้าทหารม้ารักษาพระองค์แห่นำ รถยนต์พระที่นั่งอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารเทียบที่ประตูวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารเข้าซุ้มประตูวัด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ เสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมราชสรีรางคาร

เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ในพระอุโบสถข้างพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธอังคีรสพระประธานในพระอุโบสถ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 30 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายอดิเรก แล้วทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ทรงวางพวงมาลาของส่วนพระองค์และของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ขณะนั้นชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง ทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารร อีกส่วนหนึ่งเข้าขบวนกองเกียรติยศทหารม้ารักษาพระองค์แห่นำไปยังพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

รถยนต์พระที่นั่งอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารเทียบที่ประตูวัดบวรนิเวศวิหาร ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปยังพระอุโบสถประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ข้างพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธชินสีห์พระประธานพระอุโบสถ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร30 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระวันรัตถวายอดิเรก แล้วทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ทรงวางพวงมาลาของส่วนพระองค์ และของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ขณะนั้นชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

 

โดยรายละเอียดของหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

Posted: 25 Oct 2017 01:10 PM PDT

ในการอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ ซึ่งเรียกว่า "ริ้วขบวน" โดยแต่ละริ้วขบวนมีคนหาม คนฉุดชักจํานวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระอิสริยยศ

แฟ้มภาพ การฝึกซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2560 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

 

โดยในรายงานของคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ชมเว็บ) การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศ จำนวน 6 ริ้วขบวน โดยมีการบูรณะตกแต่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซักซ้อมการเคลื่อนขบวน "ให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์" ริ้วขบวนทั้ง 6 ริ้วขบวน ประกอบด้วย

 

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 เวลา 07.00 น.

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 1

เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านทางประตูเทวาภิรมย์ จากนั้นใช้เส้นทางถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชยเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามรวมระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ใช้การเดินปกติ จัดกำลังพล 965 นาย

อนึ่งในรายงานข่าวเมื่อ 21 ตุลาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภุมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ใช้ประกอบจังหวะการซ้อมเดินในริ้วขบวนที่ 1 เพื่อให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายจากบรรยากาศที่โศกเศร้าและได้ซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี โดยบทเพลงที่นำมาใช้ทั้ง 4 เพลงประกอบด้วย เพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล เพลงมาร์ชราชวัลลภ เพลงยามเย็น และเพลงใกล้รุ่ง เพื่อให้ท่วงท่าการเดินสง่างามสมพระเกียรติ

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ  ริ้วขบวนที่ 2 

เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปทางถนนสนามไชย ยาตราขบวนแห่เชิญพระโกศทองใหญ่ จากถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน โดยกรมดุริยางค์ทหารบกในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 2 จะบรรเลงเพลงพญาโศก เพลงสรรเสริญเสือป่า และเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ ริ้วขบวนที่ 2 มีระยะทางรวม 890 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จัดกำลังพล 2,406 คน

พระมหาพิชัยราชรถ ในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 2 มีลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้เพื่อการอัญเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ออกพระเมรุ เมื่อพุทธศักราช 2339 ต่อมาใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระมหากษัตรย์ และพระโกศพระบรมวงศ์จนถึงปัจจุบัน

พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ด้วยความสูง 11.20 เมตร กว้าง 4.84 เมตร ยาว 18 เมตร เเละด้วยน้ำหนักถึง 13.7 ตัน จึงต้องใช้พลฉุดชักเพื่อเคลื่อนพระมหาพิชัยราชรถทั้งหมด 216 นาย แบ่งเป็นส่วนด้านหน้า 172 นาย ด้านหลัง 44 นาย เเละพลควบคุม 5 นาย

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 3

เชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่

ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศเข้าสู่ราชวัติ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ เวียนพระเมรุมาศครบ 3 รอบแล้ว เทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน รวมระยะทาง 260 เมตรต่อรอบ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จัดกำลังพล 781 นาย

 

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 08.00 น.

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 4

เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยานและเชิญพระบรมราชสรีรางคารขึ้นประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย จากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

โดยเคลื่อนขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคาร ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย แยกเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพักไว้ที่พระศรีรัตนเจดีย์

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน เข้าประตูพิมานไชยศรี เชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งราเชนทรยานเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐานที่บุษบกแว่นฟ้าทอง รวมระยะทาง 1,074 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จัดกำลังพล 834 นาย

 

วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 10.30 น.

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 5

เชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รวมระยะทาง 63 เมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จัดกำลังพล 550 นาย

 

วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 17.30 น.

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6

ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

จากนั้นขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสีรางคาร จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จัดขบวนม้าจำนวน 77 ม้า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำ 25 ต.ค. 60-น้ำท่วม 8 ลุ่มน้ำ 24 จังหวัดทั่วไทย

Posted: 25 Oct 2017 10:27 AM PDT

กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำวันที่ 25 ต.ค. ระบุเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศรับน้ำแล้ว 5.9 หมื่นล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% เทียบปีที่แล้วที่รับน้ำ 68% โดยยังรับน้ำได้อีก 1.2 หมื่นล้าน ลบ.ม. - น้ำท่วมแล้ว 8 ลุ่มน้ำ 24 จังหวัดทั่วประเทศ ลุ่มน้ำชีท่วม 2.9 แสนไร่ 8 จังหวัด ลุ่มน้ำมูล ท่วมอุบลราชธานี 2 อำเภอ บุรีรัมย์ 5 อำเภอ ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาท่วม 7 จังหวัด ลุ่มน้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรีท่วม 6 อำเภอ

(ภาพข่าว) พล.ร.อ. นริศ ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ พร้อมด้วยเจ้ากรมอู่ทหารเรือ อธิบดีกรมชลประทาน และคณะได้เดินทางไปตรวจการดำเนินการผลักดันน้ำของกองทัพเรือในแม่น้ำท่าจีนของพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 24 ต.ค. 2560 โดยมี นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมส่วนราชการให้การต้อนรับ (ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร)

ฝ่ายประมวลวิเคราะห์และสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยแพร่เอกสารสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ตอนหนึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่งทั่วประเทศดังนี้

สภาพน้ำในอ่างเก็บนํ้า

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 63,073 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 39,254 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2559 (51,565 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69) มากกว่าปี 2559 จำนวน 11,508 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯจำนวน 468.33 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 328.45ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 12,763 ล้าน ลบ..

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 59,092 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 35,566 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 75) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2559 (48,146 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68) มากกว่าปี 2559 จำนวน 10,946 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯจำนวน 300.31 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจำนวน 155.23 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 12,283 ล้าน ลบ..

สถานการณ์น้ำท่วม

ลุ่มน้ำโขง

จังหวัดเลย พื้นที่น้ำท่วมรวม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ด่านซ้าย สาเหตุเกิดจากฝนตกหนักในวันที่ 23 ตุลาคม 2560 ทำให้น้ำจากลำน้ำหมันเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ระดับน้ำสูงประมาณ 10-20 ซม. ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในวันนี้

ลุ่มน้ำปิง

จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง และ อ.แม่แจ่ม ซึ่งสาเหตุเกิดจากฝนตกหนักใน วันที่ 24 ตุลาคม 2560 ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

ลุ่มน้ำยม

จังหวัดพิจิตร ยังคงพื้นที่น้ำท่วมรวม 11 อำ เภอ ได้แก่ อ.ตะพานหิน อ.โพทะเล อ.วังทรายพูน อ.โพ ธิ์ประทับ ช้าง อ.สาม ง่าม อ .บึงนางราง อ .สากเหล็ก อ .บางมูลนาก อ. เมือง อ.ดงเจ ริญ แล ะ อ.วชิรบารมี โครงการชลประทานพิจิตรสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่จำนวน 15 เครื่อง

จังหวัดสุโขทัย ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมรวม 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บ้านด่านลานหอย อ.สวรรคโลก อ.คีรีมาศ อ.กงไกรลาศ อ.ศรีนคร อ.ศรีสำโรง อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.ศรีสัชนาลัย โครงการชลประทานสุโขทัยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 10 เครื่อง ปัจจุบันระดับนํ้ายังทรงตัว

ลุ่มน้ำชี

พื้นที่น้ำท่วมรวม 292,785 ไร่ แยกเป็นรายจังหวัดได้ดังนี้

จังหวัดยโสธร พื้นที่น้ำท่วมลุ่มต่ำ ทางการเกษตรในพื้นที่ 4 อำ เภอ ได้แก่ อ.ค้อวัง อ.คำ เขื่อนแก้ว อ.มหาชนะชัย และ อ.เมือง เนื่องจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากแม่น้ำชีเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรประมาณ 113,762 ไร่

จังหวัดร้อยเอ็ด ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมลุ่มต่ำทางการเกษตรในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.พนมไพร เนื่องจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากแม่น้ำชีเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรประมาณ 15,362 ไร่

จังหวัดชัยภูมิ ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.จัตุรัส อ.บ้านเขว้า อ.คอนสวรรค์ อ.เนินสง่า และ อ.เมือง ปัจจุบันมีน้ำไหลเอ่อล้นตลิ่งของแม่น้ำชีทั้งสองฝั่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชุมชน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 21,511 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลง

จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรใน 1 อำเภอ ได้แก่ อ.กันทรารมย์ เนื่องจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งรวมพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 18,969 ไร่

จังหวัดมหาสารคาม ยังคงมีน้ำ ท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำ เภอ ได้แก่ อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และ อ.เมือง และ อ.เชียงยืน ระดับน้ำทรงตัว โครงการชลประทานจังหวัดมหาสารคามได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่จำนวน 30 เครื่อง เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 8 เครื่อง และเครื่องจักรเพื่อเสริมคันกั้นน้ำ

จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง และ อ.เขื่องใน รวมพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 68,400 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

จังหวัดขอนแก่น ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมรวม 16 อำ เภอ ได้แก่ อ.เมืองขอนแก่น อ.แวงใหญ่ อ.แวงน้อย อ.โคกโพธิ์ชัย อ.ชนบท อ.น้ำพอง อ.บ้านแฮด อ.บ้านไผ่ อ.พระยืน อ.มัญจาคีรี อ.หนองเรือ อ.อุบลรัตน์ อ.ชุมแพ อ.ภูผาม่าน อ.ภูเวียง และ อ.หนองนาคำ รวมพื้นที่นํ้าท่วม 71,409 ไร่ สถานีสูบน้ำที่ ปตร.D8 ในเขตส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เดินเครื่องสูบน้ำจำนวน 18 เครื่อง

จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขังรวม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ร่องคำ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 8 เครื่อง

จังหวัดหนองบัวลำภู พื้นที่น้ำท่วมนอกคันกั้นน้ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสัง และ อ.ศรีบุญเรือง รวมพื้นที่น้ำท่วมในเบื้องต้นประมาณ 4,000 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำและพื้นที่ได้รับผลกระทบยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์น้อยกว่าปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่าง

ลุ่มน้ำมูล

จังหวัดอุบลราชธานี ยังคงมีพื้นที่นํ้าท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเอ่อล้นตลิ่งของแม่น้ำมูล กรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 12 เครื่อง ติดตั้งที่สะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่น้ำท่วมรวม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สตึก อ.พุทไธสง อ.แดนดง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ และ อ.คูเมือง เนื่องจากปริมาณน้ำจากจังหวัดนครราชสีมาไหลมาสมทบกับแม่น้ำมูล ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร

ลุ่มน้ำน่าน

จังหวัดพิษณุโลก ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.บางระกำ เมื่อ 17 ตุลาคม 2560 สาเหตุจากเกิดฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำยมเนื่องจากเป็นจุดรับน้ำจากสุโขทัย มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการชลประทานพิษณุโลกได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

จังหวัดนครสวรรค์ ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมรวม 9 อำ เภอ ได้แก่ อ.ชุมแสง อ.พยุหะคีรี อ.โกรกพระ อ.ลาดยาว อ.ตาคลี อ.เมือง อ.ท่าตะโก อ.เก้าเลี้ยว และ อ.บรรพตพิสัย โครงการชลประทานนครสวรรค์ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบนํ้าจำนวน 13 เครื่อง แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น

จังหวัดชัยนาท ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมนอกคันกั้นน้ำ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.มโนรมย์ อ.เมือง อ.สรรพยา อ.หันคา และ อ.วัดสิงห์ โครงการชลประทานชัยนาทได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 9 เครื่องใน อ.สรรพยา ปัจจุบันระดับน้ำยังคงสูงขึ้น ส่วน อ.สรรพยา ปัจจุบันระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น

จังหวัดสิงห์บุรี พื้นที่น้ำท่วมนอกคันกั้นน้ำ 4 อำเภอ 19 ตำบล ได้แก่ อ.เมือง อ.อินทร์บุรี อ.พรหมบุรี และ อ.ท่าช้าง ลักษณะน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว โครงการชลประทานสิงห์บุรีได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 28 เครื่อง

จังหวัดลพบุรี ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขัง 1 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านหมี่ ปริมาณมวลน้ำจากพื้นที่สูงไหลลงมาที่ลุ่มต่ำฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยวันละประมาณ 3 ซม. ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเล็กน้อย

จังหวัดอ่างทอง ยังคงมีพื้นที่นํ้าท่วมนอกคันกั้นน้ำ 5 อำเภอ 27 ตำบล ได้แก่ อ.เมือง อ.ไชโย อ.ป่าโมก อ.วิเศษชัยชาญ และ อ.โพธิ์ทอง ซึ่ง อ.ป่าโมก ระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว โครงการชลประทานอ่างทองได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง ที่ อ. เมือง และกำลังดำเนินการประสานขอเครื่องสูบน้ำเพิ่ม

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมนอกคันกั้นน้ำ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.บางไทร อ.ผักไห่ อ.เมือง อ.เสนา อ.บางปะหัน อ.มหาราช อ.บางปะอิน และ อ.บางซ้าย ระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย โครงการชลประทานจังหวัดได้สนับสนุนรถสูบน้ำจำนวน 4 คัน และเครื่องสูบน้ำจำนวน 87 เครื่อง

จังหวัดอุทัยธานี มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สว่างอารมณ์ อ.ทัพทัน และ อ.เมือง พื้นที่น้ำท่วมรวม 14,322 ไร่ โครงการชลประทานอุทัยธานีได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ อ.เมือง จำนวน 4 เครื่อง ปัจจุบันระดับน้ำยังทรงตัว

ลุ่มน้ำท่าจีน

จังหวัดสุพรรณบุรี ยังคงมีพื้นที่น้ำ ท่วมรวม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เดิมบางนางบวช อ.สามชุก อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง และ อ.อู่ทอง รวมพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 97,956 ไร่ โครงการชลประทานสุพรรณบุรีได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง ปัจจุบันระดับยังคงสูงขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลังเผยฐานะการคลังยังมีความเข้มแข็ง

Posted: 25 Oct 2017 06:36 AM PDT

โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลปีงบประมาณ 60 ระบุยังคงมีความเข้มแข็งโดยมีระดับเงินคงคลังที่มากกว่า 5 แสนล้าน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 8.2 หมื่นล้าน จัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าประมาณการ

25 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สุวิชญ โรจนวานิช ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจําปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 2559 - ก.ย. 2560) ว่ารัฐบาลมีรายได้นําส่งคลังทั้งสิ้น จํานวน 2,348,805 ล้านบาท ในขณะที่มีการ เบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจํานวน 2,890,545 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจํานวน 552,922 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2560 มีจํานวนทั้งสิ้น 523,758 ล้านบาท

"ฐานะการคลังในปีงบประมาณ 2560 ยังคงมีความเข้มแข็งโดยมีระดับเงินคงคลังที่มากกว่า 5 แสนล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 82,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการดําเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลในปีงบประมาณต่อไป โดยกระทรวงการคลังจะเร่งรัดให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้มีเม็ดเงินอัดฉีดลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตาม
เป้าหมายที่วางไว้" สุวิชญ กล่าว
 
โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยด้วยว่า เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 2559 – ก.ย.2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน  2,350,590 ล้านบาท  สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7,590 ล้านบาท  มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น การนำสํงรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญได้แก้ภาษีน้ำมัน ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีรถยนต์
 
สุวิชญ กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องประกอบกับการติดตามผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลของกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2560 เป็นไปตามเป้าหมายโดยกระทรวงการคลังคาดว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2561 จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและจะส่งผลดตี่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผ่นดินจึงดาล Talk | สนทนาประเด็นในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ'

Posted: 25 Oct 2017 03:55 AM PDT

ประชาไทร่วมกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เชิญร่วมรับชมถ่ายทอดสด 'แผ่นดินจึงดาล Talk' สนทนาประเด็นในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ' โดยชูวัส ฤกษ์ศิริสุข และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 ที่ซุ้มฟ้าเดียวกัน S39 โซน C2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ว่าด้วย ‘มรดกคนเดือนตุลาด้านแรงงาน’

Posted: 25 Oct 2017 03:04 AM PDT

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา อภิปรายมรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย ในด้านแรงงาน กับประเด็นมีอะไรเป็นพิเศษ อะไรที่เป็นมรดก อะไรที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อะไรควรฟื้นฟู และอนาคตของขบวนการแรงงานไทย กับชุดความคิดใหม่ จัดตั้งใหม่

ศักดินา คนที่ 2 จากซ้ายมือ

เวทีเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า มรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย" ว่าด้วยมรดกของคนเดือนตุลา ทั้งรุ่น 14 ตุลาและ 6 ตุลา ทั้งที่ถูกรื้อทำลายไปแล้วและที่ยังส่งผลถึงสังคมไทยในปัจจุบัน อีกทั้งความคาดหวังของคนเดือนตุลาต่ออนาคตสังคมไทย โดยจัดที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา จัดโดย พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา

โดยหนึ่งใน วิทยากรคือ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แรงงาน กล่าวถึงมรดกของคนเดือนตุลาในด้านแรงงาน โดยจะพูดใน 4 ประเด็น ประเด็นแรก เวลาพูดถึงคนเดือนตุลากับขบวนการแรงงาน มีอะไรเป็นพิเศษ ประเด็นที่ 2 คือ อะไรคือมรดกของคนเดือนตุลาที่มอบให้กับแรงงาน ประเด็นที่ 3 มีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง และประเด็นที่ 4 อะไรที่ถูกละทิ้งไว้ ตกหล่นไม่ต่อเนื่องมา

มีอะไรเป็นพิเศษ

ศักดินา กล่าวว่า เวลาพูดถึงคนเดือนตุลาปัจจุบันมีทั้งที่อยู่ในวงวิชาการ นัการเมือง ศิลปิน ฯลฯ จริงๆ คนเดือนตุลามีมากกว่านี้ เวลาเราพูดถึงคนเดือนตุลาคือคนที่มีความคิดเป็นฝ่ายก้าวหน้าในยุคนั้น เป็นคนที่ต่อสู้ มีความคิดร่วมกันมีเจตนารมร่วมกัน แต่เมื่อพูดถึงคนเดือนตุลาในมุมแรงงาน จะมีภาพซ้อนๆ กันที่มีทั้งปัญญาชนนักศึกษาและผู้นำแรงงาน มีภาพซ้อนๆ กัน ในยุค 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 เป็นสิ่งที่เรียกว่า 3 ประสาน คือการทำงานร่วมกัน ดังนั้นภาพจะปะปนกัน เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เป็ฯผู้นำนักศึกษา แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเลขาธิการศูนย์ประสานงานกรรมกร ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่มาก หรือ มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ไปอยู่นโรงงานฮาร่า หรือ วงกรรมาชน ก็ไปทำงานกับกรรมกร ดังนั้นเมื่อพูดถึงคนเดือนตุลากับกรรมกรจะมีภาพที่ปะปนกัน ดังนั้นไม่ใช่เรื่องของคนงานทั้งหมด แต่เป็นทำงานร่วมกันของคนที่เรียกว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าในยุคนั้น

ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา

ช่วง 14 ต.ค. 16 - 6 ต.ค.19 ถือเป็นยุคทองของขบวนการแรงงาน เป็นช่วงที่รุ่งเรื่องที่สุด คนยอมรับ ความเดือดร้อนของคนงานถือเป็นความเดือดร้อนใหญ่ที่ทุกคนออกมาร่วม แต่หลังปี 19 ภาพของขบวนการแรงงานถูกทำให้เล็กลง กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่อยู่ในรั้วแรงงาน คนอื่นๆ จะถูกกันออกไป เป็นยุคที่อ่อนแอ ถ้าช่วง ปี 16 - 19 นั้น ขบวนการแรงงานมองภาพใหญ่ เป็นขบวนการทางสังคม ไม่ใช่ขบวนการสหภาพแรงงาน

ในช่วงปี 16 - 19 ขบวนการแรงงานก็มีแบ่งกันอออกไป มีทั้งที่ปฏิเสธระบบทุนนิยมแล้ว ต้องการเปลี่ยนแปลง ทั้งปฏิรูปและปฏิวัติ ส่วนหนึ่งนำโดย เทิดภูมิ ใจดี ประสิทธิ์ ไชโย และ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในนามศูนย์ประสานงานกรรมกร กลุ่มเหล่านี้เมื่อหลัง 6 ตุลา 19 ก็เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนอีกกลุ่มเห็นปัญหาของระบบทุนนิยมเหมือนกัน แต่สามารถประณีประนอมและแก้มันได้ โดยการปฏิรูป นำโดย ไพศาล ธวัชชัยนันท์ อารมณ์ พงศ์พงัน กลุ่มนี้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ก็เปลี่ยไปด้วยสาระของกฎหมายและตัวผู้นำ จนถูกจำกัดไปกลายเป็นกลุ่มขบวนการแรงงานที่เน้นเรื่องของปากท้องในโรงงานมากกว่า

อะไรที่เป็นมรดก

ศักดินา กล่าวว่า อะไรที่เป็นมรดก เป็นสิ่งที่มีค่าที่ควรรักษาไว้ อันหนึ่งที่พูดกันมาก คือเรื่องของการทำงานร่วมกันที่เป็นพลัง 3 ประสาน ระหว่าง นักศึกษา ชาวนาชาวไร่และกรรมกร การหนุนกันนี้ทำให้การเคลื่อนไหวมีพลัง การเคลื่อนไหวช่วงนั้นจึงมีพลังมาก

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝ่ายก้าวหน้าเชิดชูผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นการทำงานกับขวนการแรงงานเป็นสิ่งที่ทุกส่วนเข้าไปสนับสนุน เช่น การต่อสู้ของคนงานโรงแรมดุสิตธานี โรงงานสแตนดาร์ดการ์เม้นท์ คนงานฮาร่า มันมีโลกทัศน์ชีวทัศน์ของคนสมัยนั้น โดยคนงานโรงงานฮาร่ามีการผลิตกางเกงยีนของตัวเอง เป็นโรงงานสามัคคีกรรมกรขายหุ้นที่นักศึกษาซื้อหุ้นรวมทั้งมาขายที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วย หรือวงกรรมาชนที่เป็นวงของนักศึกษาก็มีการพูดถึงเพลงการจับมือของ 3 ประสาน นักศึกษา กรรมกร และชาวนา ด้วย

ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา

การเคลื่อนไหวของกรรมกรในช่วงนั้น ไม่ใช่เรื่องปากท้องของตัวเองเท่านั้น แต่มีการสนับสนุนชาวนาที่รัฐบาลจะเลิกสนับสนุนราคาข้าว จนมีการนัดหยุดงานทั่วไปทั้งประเทศ การเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้รัฐบาลต้องมีการทำข้อตกลงกับผู้นำกรรมกรว่าจะจัดการข้าวอย่างไร ทำให้คนงานสมัยนั้นมีตัวตน โดยตัวเลขการสไตค์หรือนัดหยุดงานสมัยนั้นจำนวนมาก

คนงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คือ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย ที่ปิดโปสต์เตอร์ต่อต้านการกลับมาของ จอมพลถนอม กิตติขจร แล้วถูกแขวนคอ (ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19) นี่เป็นมรดกที่แสดงให้เห็นว่าคนงานต่อสู้เพื่อขับไล่เผด็จการ เป็นมรดกที่ต้องบันทึกไว้

และอะไรที่ไปต่อหรือมีความพยายามที่จะไปต่อ อย่างเพลงโซลิดาริตี้ คนเอามาเผยแพร่คือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเพลงที่แต่งใหม่ โดยสมยศ เป็นผู้ที่มาทำงานเรื่องแรงงานและพยายามฟื้นเรื่อง 3 ประสาน ที่มาเคลื่อนไหวและมีความพยายามจะฟื้นฟูพลัง 3 ประสาน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเหมือนมีความพยายามฟื้นฟูและแสดงให้เห็นคุณค่าของพลัง 3 ประสาน ในยุค 14 ตุลา

ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา

โรงงานสามัคคีกรรมกร ที่คนงานโรงงานฮาร่า ทำในยุคตุลานั้น หลังจากนั้นมีคนงานโรงงานเบสแอนด์บาสที่ถูกเลิกจ้างแล้วก็ไปตั้งโรงงานโซลิดาริตี้ ล่าสุดที่เรารู้จักกันดี ซึ่งนำโดย จิตรา คชเดช จากอดีตคนงานโรงงานไทร์อัมพ์ก็มาตั้งโรงงานทาร์ยอาร์ม ที่เป็นบทเรียนจากสมัยโรงงานฮาร่าเช่นกัน

ภาพกลุ่มสหกรณ์คนงานทาร์ยอาร์ม ปัจจุบันตั้งมาแล้ว 8 ปี (ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา)

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความพยายามที่จะทำเหมือนกับขบวนการแรงงานงานก่อนหน้านั้น มองข้ามกรอบกฎหมายที่จำกัดว่าสหภาพแรงงานจะต้องเป็นการเคลื่อนไหวภายใต้กรอบกฎหมาย สมานฉันท์ฯ มีการรวมเอ็นจีโอ แรงงานนองระบบเข้ามา แต่ก็เป็นความพยายามเฉยๆ อาจมีพลังไม่เพียงพอ แต่ก็เห็นมรดกของเดือนตุลา หรือ วงภารดรที่พยายามสืบทอดดนตรีกรรมกรที่เฟื่องฟูหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือ พิพิธภัณฑ์แรงงาน ที่พยายามบอกถึงช่วง 14 ตุลา 16 เป็นยุคทองของขบวนการแรงงานอย่างไร มีความพยายามที่จะสานต่อ อารมณ์ พงศ์พงัน (ผู้นำกรรมกรในยุคคนเดือนตุลา) โดยการตั้งมูลนิธิอารมณ์ พงษ์พงัน หรือ ไพศาล ธวัชชัยนันท์ ก็มีการตั้งเป็นมูลนิธิเช่นกัน

อะไรที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง น่าจะเป็นมรดกที่ส่งต่อ

ศักดินา กล่าวต่อว่า หลัง 6 ตุลา 19 หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เชื่อในระบบทุนนิยมแล้ว ก็ตัดสินใจเข้าป่า ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนแนวปฏิรูปแบบ ไปศาลและอารมณ์นั้นก็ไม่ไปถึงที่สุด ถูกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 18 และเหตุการณ์ปราบปรามช่วง 6 ตุลา 19 บีบจนไม่ได้ไปต่อ ขณะที่ขบวนการแรงงานที่หัวก้าวหน้า ก็เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พรรคเองสนใจเรื่องแรงงานน้อยมาก เพราะพรรคมองและวิเคราะห์สังคมไทยเป็นแบบกึ่งเมืองขึ้นกึงศักดินา จึงสนใจภาคชนบทมากกว่า ขณะที่ความเพรี่ยงพร้ําของพรรค บวกกับวกฤติศรัทธา ทำให้ประเด็นแรงงานไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจอีกต่อไป คนเดือนตุลาหรือผู้นำแรงงานที่กลับเข้ามาในเมืองก็ไม่ได้สานต่อ วันนี้ขบวนการแรงงานของเราเล็กมาก มีคนอยู่ในขบวน 1.5% ซึ่งต่อมาก จนไปต่อไม่ได้ แต่เดิมขบวนการแรงงานมีความหลากหลาย ตั้งแต่เชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่วันนี้ขบวนการแรงงานถูกบีบให้เคลื่อนแต่เรื่องปากท้อง

อะไรควรฟื้นฟู

อะไรเป็นเรื่องที่จะต้องฟื้นฟู คือขบวนการแรงงานที่มีเป้าหมายทางสังคม ไม่ใช่เป้าหมายเรื่องปากท้องอย่างเดียว ไม่อยู่แต่ในโรงงาน ควรฟื้นฟูขบวนการแรงงานที่ต่อสู่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง ต้องข้ามเรื่องความคิดปัจเจคนิยม เพราะก่อนหน้านี้มีสำนึกทางชนชั้นค่อข้างสูงมากกว่า อีกอันที่ต้องทำคือเสนอชุดความคิดของการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นของฝ่ายแรงงานให้ได้ เพื่อจะทำให้ขบวนการแรงานมีพลัง

อนาคตของขบวนการแรงงานไทย

ศักดินา กล่าวว่า อะไรที่ค้างคาหรือท้าทายกับคนงานไทย มี 4 เรื่องใหญ่ 1. เราอยู่ในยุคโลกาภิวัฒ์ เสรีนิยมใหม่ เป็นโลกที่เชื่อในเรื่องกลไกตลาด  ถ้าย้อนกลับไปช่วงเดือนตุลานั้น คนยังเชื่อว่าต้องมีการแทรกแซงตลาด ขบวนการนักศึกษาประชาชนเรียกร้องให้มีการแทรกแซงตลาด แต่ปัจจุบันทิศทางโลกไปทางขวา สถานการณ์แบบนี้ไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับฝ่ายแรงงาน เพราะว่าเหมือนปล่อยให้นายทุนมือใครยาวสาวได้สาวเอา นี่เป็นสิ่งที่ท้าทาย ประเด็นถัดมา 2. การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่ไม่ใช่แค่ไทยแลนด์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เรื่องของการใช้หุ่นยนต์ เป็นสิ่งที่ท้าทายกับคนงาน คนจะอยู่กระจัดกระจาย อาจไม่เรียกเป็นคนงาน แบบนี้มีปัญหาการจัดตั้งคนที่มีความหลากหลายเหล่านี้ยากขึ้น หลายประเทศสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ อำนาจต่อรองอ่อนแอ แต่ยุโรปเหนือ สแกนดิเนเวียยังจัดตั้งคนงานได้อยู่เป็นสิ่งที่ท้าทาย และมาเมืองไทยเราเป็นประเทศที่มีการจัดตั้งสมาชิกสหภาพแรงงานน้อยอยู่แล้วด้วย ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายขบวนการแรงานไทย

อีกประเด็นเรื่องดุลอำนาจของสังคมเปลี่ยนไป สังคมที่เป็นประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมต้องมีอำนาจต่อรอง มีการจัดตั้งที่กว้างขวาง ภาคประชาสังคมที่ใหญ่ที่สุดคือฝ่ายแรงงาน แต่ขณะนี้ดุลอำนาจไปอยู่กับ 'ประชารัฐ' ที่เป็นการจับมือกันระว่างรัฐกับทุน จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย

ท้ายที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อที่เราอยู่เฉยๆ กับระบอบเผด็จการ อันนี้เป็นเรื่องที่มันไม่ใช่ธรรมดา หากย้อนกลับไป ผลของคนเดือนตุลานั้นเติบโตมากับการต่อสู้กับเผด็จการ แต่วันนี้คนส่วนมากยังถูกกำราบอยู่ และคนจำนวนเยอะที่พอใจอยู่กับระบอบเผด็จการ นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่

ชุดความคิดใหม่ จัดตั้งใหม่ รับไม่ได้กับเผด็จการ

นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า 14 ตุลา 16 ได้ให้มรดกไว้ คือไม่ยอมกรอบความคิดที่ครอบงำสังคมอยู่ ท้าทายอำนาจเผด็จการ และท้าทายระบบทุนนิยม จึงคิดว่าเราต้องเสนอชุดความคิดใหม่ที่ท้าทายกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ นี่เป็นโจทย์ที่ภาคประชาสังคม โดยฌฉพาะฝ่ายแรงงานที่จะต้องไม่ยอมจำนนกับกรอบความคิดแบบเสรีนิยม ต้องเสนอชุดความคิดใหม่ที่เป็นทางเลือกมากกว่าแค่เสรีนิยมใหม่ วิพากษ์ต่อระบบเสรีนิยมใหม่

สำหรับประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้น ถูกใช้ในหลายส่วน ประเทศสหรัฐอเมริกามันพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก แต่ประชาธิปไตยแบบนั้นก็ยังไม่ใช่ ไม่ได้ตอบโจทย์สังคมยุติธรรมเป็นธรรม ช่องว่างของรายได้ สหรัฐฯ พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่ก็จำกัดอยู่แค่สิทธิพลเมืองและการเมือง แต่ละเลยเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ขณะที่ในสังคมยุโรปเหนือคิดอีกมุมหนึ่ง คือแนวคิดแบบสังคมประชาธิปไตย ที่เป็นชุดความคิดที่มีอยู่จริง ที่ถูกใช้ในประเทศยุโรปเหนือและตะวันตก คือความคิดที่ไม่เชื่อในตลาด แต่อาจประณีประนอม โดยที่รัฐเข้าไปแทรกแซง เช่น ทำให้เกิดความยุติธรรม คนงานมีสิทธิที่จะลาคลอดมีหลักประกัน เข้าไปแทรกแซงภาษีในอัตราก้าวหน้า เป็นชุดความคิดที่เป็นทางเลือกที่ควรเสนอมาอย่างชัดเจนของฝ่ายแรงงาน

ขณะนี้มีแรงงานที่อยู่นอกระบบจำนวนมาก กฎหมายแรงงานเราคุ้มครองแรงงานในระบบประมาณ 10 ล้านคน แต่ยังมีคนงานจำนวนมากที่อยู่นอกระบบ โจทย์ของขบวนการแรงงานควรมองตรงนี้ด้วย สมัยปี 16 นั้น ศูนย์ประสานงานกรรมกรไม่มองเฉพาะแรงงานในระบบเท่านั้น ดังนั้นคิดวิธีการจัดตั้งใหม่ ต้องจัดตั้งคนงานนอกระบบเข้ามาด้วย เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีทางที่สังคมจะเป็นธรรมหรือเป็นประชาธิปไตยได้ ต้องมีโจทย์การจัดตั้งใหม่เพื่อครอบคลุม 4.0

เรื่อง ดุลอำนาจทางสังคม สังคมประชาธิปไตยนั้น ภาคประชาสังคมต้องมีอำนาจต่อรองสูง ต้องกลับมาฟื้นฟู ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาภาคประชาสังคมนั้นถูกทำให้แตกแยกด้วยสีเสื้อ ไม่เช่นนั้นดุลอำนาจจะไปตกกับประชารัฐ ต้องฟื้นฟูภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล เราต้องทำอย่างไรให้หลุดพ้นเผด็จการได้ หลังเหตุการณ์พฤษภา ไม่มีใครคิดว่าทหารจะกลับมา แต่ก็กลับมา เราต้องทำให้ตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ ย้อนไปเจตนารมณ์ของเรื่อง 14 ตุลานั้นต่อสู้กับเผด็จการ

ในอนาคตเรื่องใหญ่ๆ อย่างน้อย ที่จะต้องทำ เพื่อต่อกรกับโลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่ ต้องเสนอชุดความคิดใหม่ เพื่อต่อกรกับ 4.0 ที่กำลังเข้ามาและแรง ต้องคิดเรื่องการจัดตั้งใหม่ เพื่อสร้างภาคประชาสังคมให้มีพลังถ่วงดุลในสังคม เป็นเอกภาพมากขึ้น สุดท้ายก็คือ. ต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยเพื่อบอกว่าเรารับไม่ได้กับการปกครองแบบเผด็จการ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาพาดูหนังชูค่านิยมนาซีและชิ้นที่ถูกแบน ถกเส้นทาง ปวศ. ชาตินิยมเยอรมัน

Posted: 25 Oct 2017 02:32 AM PDT

ชวนดูหนังดังที่พรรคนาซีใช้โฆษณาค่านิยมพรรคนาซีและหนังที่ถูกแบน เล่ากลไกครอบงำประชาชนทางวัฒนธรรมตั้งแต่กลุ่มเยาวชนยันวิชาชีพ เส้นทางชาตินิยมเยอรมัน การแพ้สงครามโลก การเมือง กับการเลี้ยวขวาสู่อาณาจักรไรค์ที่สาม

เมื่อ 20 ต.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ภายใต้หัวข้อ "การครอบงำประชาชนภายใต้ระบอบนาซี" โดยมีคัททิยากร ศศิธรามาศ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยปรีดี หงษ์สต้น

คัททิยากร ศศิธรามาศ

คัททิยากรนำเสนอการครอบงำประชาชนในทางวัฒนธรรมโดยพรรคนาซีหลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ แสดงให้เห็นถึงกลไกการครอบงำ การจัดตั้งวัฒนธรรมเยอรมันในแบบฉบับนาซี และกีดกันวัฒนธรรมที่ไม่ใช่นาซีออกไปในเชิงของงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมหรือภาพยนตร์

กลไกการครอบงำประชาชนทางวัฒนธรรม

ฮิตเลอร์ตั้งกระทรวงการให้ความรู้กับประชาชนและกระทรวงโฆษณาการ มีโจเซฟ เกบเบิล มือขวาของฮิตเลอร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ฮิตเลอร์เชื่อว่าการเปลี่ยนให้คนคิดแบบพรรคนาซีได้คือต้องแทรกซึมเข้าไปในทุกส่วน กระทรวงนี้แบ่งเป็น 7 กรมย่อย ได้แก่กรมโฆษณา กรมวิทยุ กรมหนังสือพิมพ์ กรมภาพยนตร์ กรมละคร กรมดนตรี กรมศิลปะและกรมการตอบโต้การโกหก

"นาซีศึกษา" ตีแผ่อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจเพราะคนเบื่อประชาธิปไตย

โจเซฟ เกบเบิล (ที่มา:วิกิพีเดีย)

ฮิตเลอร์เชื่อว่าต้องเปลี่ยนคนก่อนจึงจะเปลี่ยนประเทศ ต้องเปลี่ยนคนให้คิดเหมือนพรรคนาซี ฮิตเลอร์ก่อตั้งกลุ่มยุวชนชายฮิตเลอร์หรือฮิตเลอร์ยูเกน กลุ่มยุวชนหญิง เด็กชาย หญิงอายุ 7 ปีขึ้นไปจะต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้ พรรคนาซี่จะส่งคนไปบรรยายว่าการเป็นนาซีที่ดีคือการเป็นเยอรมันที่ดี และบอกวิธีการเป็นเยอรมันที่ดี ผู้หญิงต้องเอาตัวออกจากการเมือง ดูแลบ้าน ดูแลลูก มีตารางการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน

คนที่ไม่ใช่ยุวชนก็จะมีองค์กรของอาชีพต่างๆ ที่ฮิตเลอร์ตั้งขึ้นเพื่อรองรับทุกอาชีพ ถ้าอยากจะมีงานทำต้องเข้าไปอยู่ในชมรมนั้น ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่มีสิทธิ์ได้รับการจ้างงาน การเข้าไปอยู่ในองค์กรจะถูกตรวจสอบตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะต้องสอนว่ามีชนชั้นคนผิวขาวในฐานะที่มีเลือดสูงที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด ถ้าไม่สอนตามนี้ ก็ต้องถูกจับตัวเข้าค่ายกักกันของพรรคนาซี

ตัวอย่างภาพยนตร์โฆษณาการ

กรมภาพยนตร์อยู่ภายใต้การดูแลของ Ernst Seeger มีหน้าที่สั่งให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ผลิตภาพยนตร์ออกมาตามแนวคิดหรือนโยบายของกรมภาพยนตร์ ซึ่งแนวคิดและนโยบายของกรมภาพยนตร์ ก็จะตรงกับแนวคิดและนโยบายของพรรคนาซี ดังนั้นภาพยนตร์จึงเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ฮิตเลอร์ถือว่ามีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งในการเผยแพร่นโยบายของพรรค โดยขั้นตอนแรกที่กรมภาพยนตร์จะต้องทำก็คือการค่อยๆ ซื้อบริษัทภาพยนตร์เอกชนให้กลายมาเป็นของรัฐบาล จนในที่สุด บริษัททั้งหลายที่ถูกรัฐบาลซื้อมานี้ได้ถูกนำมาจัดตั้งรวมกันกลายเป็นบริษัท Ufa ใน ค.ศ. 1942

WP Leni Riefenstahl by Alexander Binder.jpg

Leni Riefenstahl ถ่ายโดย Alexander Binder (ที่มา:วิกิพีเดีย)

ด้านงานโฆษณาการภาพยนตร์ Leni Riefenstahl เป็นผู้กำกับหญิงจากกรุงเบอร์ลินที่พรรคนาซีไว้วางใจให้ทำหนัง เธอร่วมงานกับฮิตเลอร์และผลิตหนังที่พรรคนาซีให้เงินสนับสนุน ภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดของ Riefenstahl หลังร่วมงานกับฮิตเลอร์ได้แก่เรื่อง Triumph des Willens (ชัยชนะแห่งความต้องการ)

Triumph des Willens

ภาพจาก Triumph des Willens (Triumph of the Will) (ที่มา:Film Reference)

Triumph des Willens (1935) หนังที่โด่งดังที่สุดของ Riefenstahl ภาพยนตร์สารคดีและเป็นการบันทึกเหตุการณ์การชุมนุมของพรรคนาซีที่จัดขึ้นที่เมือง Nuremberg ในปี 1934 เรื่องเปิดฉากด้วยการไว้อาลัยแก่ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และหลังจากนั้นได้แบ่งการชุมนุมออกเป็น 4 วัน หนังเรื่องนี้ถูกวิจารณ์ว่าแสดงถึงการขึ้นครองอำนาจอย่างยั่งยืนของฮิตเลอร์หลังได้รับมอบอำนาจการออกกฎหมายจากฮินเดนบูร์ก

วันที่ 1 ภาพยนตร์เปิดฉากด้วยการถ่ายก้อนเมฆบนท้องฟ้า และหลังจากนั้นกล้องถ่ายให้เห็นเหล่ามวลชนที่มาร่วมงาน หลังจากนั้น กล้องถ่ายให้เห็นฮิตเลอร์ที่เดินทางมาโดยเครื่องบิน และเครื่องบินของฮิตเลอร์ลงจอดที่สนามบิน และฮิตเลอร์ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากฝูงชน และรถที่ฮิตเลอร์นั่งได้เดินทางต่อไปยังโรงแรมที่พัก

วันที่ 2 ภาพยนตร์จะชี้ให้เห็นถึงสมาชิกของพรรคนาซีที่มาร่วมงานประชุมในครั้งนี้ กำลังเตรียมตัวกันอยู่ ภาพยนตร์จะชี้ให้เห็นถึงพิธีเปิด ที่มีบุคคลสำคัญของพรรค เช่น Joseph Goebbels หรือ Alfred Rosenberg ผลัดกันขึ้นมาพูด วันที่ 2 ของการประชุมสิ้นสุดลงด้วยการเดินขบวนของหน่วย SA

วันที่ 3 ฮิตเลอร์กล่าวปาฐกถากับกลุ่มยุวชนฮิตเลอร์และกองทัพ และในตอนกลางคืน ฮิตเลอร์กล่าวปาฐกถากับนักการเมือง ซึ่งมีใจความสำคัญว่า "การเมืองและรัฐต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

วันที่ 4 ฮิตเลอร์วางพวงมาลัยเพื่อรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และก่อนที่งานประชุมประจำปีจะปิดฉากลง ฮิตเลอร์ได้กล่าวปาฐกถาอีกครั้งหนึ่งถึงความยิ่งใหญ่ของพรรคนาซีในประเทศเยอรมนี ในตอนจบ ฮิตเลอร์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า Alle anständigen Deutschen werden Nationalsozialisten. Nur die besten Nationalsozialisten sind Parteigenossen! (ชาวเยอรมันที่ดีทุกคนจะหันมาชื่นชมในนโยบายของพวกเรา และบุคคลที่ดีที่สุดเท่านั้นที่จะได้กลายมาเป็นสมาชิกพรรคของเรา)

Olympia (โอลิมเปีย) กำกับโดย Riefenstahl เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการจัดแข่งกีฬาโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลินในปี 1936 ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายปี 1938 เป็นเวลา 2 ปีหลังเยอรมนีเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก)

ฉากที่โด่งดังของโอลิมเปียคือฉากที่เน้นสัดส่วนนักกีฬา เน้นคอนเซปต์คนที่สมบูรณ์ตามคติของนาซีทั้งหญิงและชาย Riefenstahl ไปถ่ายทำถึงกรีซซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกก่อนที่เยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพในปี 1936 เพื่อถ่ายบทนำที่แสดงให้เห็นอะโครโพลิสในกรุงเอเธนส์ และถ่ายให้เห็นไฟโอลิมปิกที่ถูกถือจากเอเธนส์มาที่ Olympiastadtion หรือสถานที่ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลิน และถ่ายทำรูปปั้นกรีกที่ืจะสื่อว่าอารยธรรมอารยันมีที่มาจากอารยธรรมกรีก มีคนโจมตีว่าเรื่องนี้เป็นหนังโป๊ของพรรคนาซี แต่จริงๆ แล้วมันเป็นหนังที่ต้องการบอกว่าคนเยอรมันที่ดีควรเป็นแบบไหน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ในภาคแรกชื่อว่า Fest der Völker (งานรื่นเริงแห่งมวลชน) ส่วนภาพยนตร์ในภาคที่สองชื่อ Fest der Schönheit (งานรื่นเริงแห่งความงาม) ฉากที่โด่งดังมากได้แก่ฉากกระโดดน้ำในตอนจบของเรื่อง ซึ่งเน้นถึงความงามของร่างกาย

โอลิมเปียภาคแรก: Fest der Völker (งานรื่นเริงแห่งมวลชน) 

โอลิมเปียภาคที่สอง: Fest der Schönheit (งานรื่นเริงแห่งความงาม)

ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ถูกแบน

ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมความเป็นเสรีนิยม คอมมิวนิสต์ อะไรที่ไม่เข้าธีมพรรคนาซีถูกเซ็นเซอร์ และส่งเสริมการสร้างหนังที่โปรโมตอุดมการณ์พรรคนาซี

Kuhle Wampe: Wem gehoert die Welt (Kuhle Wampe: โลกนี้เป็นของใคร)  ออกฉายในปี 1932 ผู้กำกับคือสลาตัน ดูโดว เป็นหนังคอมมิวนิสต์เรื่องแรกๆ ของโลก กล่าวถึงชีวิตกรรมกรในกรุงเบอร์ลินเมื่อปี 1929 ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าปนสารคดี และแสดงถึงความยากลำบากของชีวิตของกรรมกรในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงท้ายของสาธารณรัฐไวมาร์ (ชื่อเรียกเยอรมนีสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1) ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการที่ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน กระโดดหน้าต่างเพื่อฆ่าตัวตาย เนื่องจากเขาได้กลายเป็นคนตกงาน จึงทำให้ครอบครัวของเขาต้องย้ายจากที่อยู่ที่เคยอาศัยอยู่ มาอาศัยอยู่ที่สวนแห่งหนึ่งซึ่งคนว่างงานจำนวนมากนิยมย้ายมาตั้งเตนท์อยู่ที่นี่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Kuhle Wampe

เมื่อเสียบุตรชายไปจากการฆ่าตัวตายแล้ว ครอบครัวนี้จึงเหลือเพียงบุตรสาวอีกคนเดียว ที่ยังมีงานทำและหาเลี้ยงครอบครัวได้ ชื่อ Anni อย่างไรก็ตาม Anni ก็มีปัญหาส่วนตัว เนื่องจากเธอตั้งครรภ์โดยที่แฟนหนุ่ม Fritz ไม่ต้องการที่จะรับผิดชอบการตั้งครรภ์นี้

ต่อมาไม่นาน Anni และ Fritz ก็ปรับความเข้าใจกันได้ และช่วยกันตั้งใจทำมาหาเลี้ยงบุตรที่กำลังจะเกิดมา จุดไคลแม็กซ์ของภาพยนตร์อยู่ที่ฉากที่ Anni และ Fritz และเพื่อนบางคนกำลังนั่งอยู่บนรถรางและเกิดโต้เถียงกับนักธุรกิจที่ร่ำรวยเกี่ยวกับสถานการณ์ของวิกฤติเศรษฐกิจ ในระหว่างที่ยังโต้เถียงกันอยู่นั้น หนึ่งในนักธุรกิจถามว่า "ใครจะเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้" จึงทำให้หนึ่งในเพื่อนของ Anni ตอบว่า "ก็คนที่ไม่ชอบมันน่ะสิ"

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามไม่ให้ฉายเนื่องจากพรรคนาซีมองว่าเป็นภาพยนตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ และก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในเยอรมนีใน ค.ศ. 1932 ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยเข้าฉายที่กรุงมอสโคว์แล้ว ส่งผลให้ดูโดวเองก็ต้องหลบหนีออกจากเยอรมนีไปฝรั่งเศส จนสามารถเดินทางไปยังสวิตเซอร์แลนด์พร้อมภรรยาและบุตรสาวได้ในที่สุด

Kuhle Wampe: โลกนี้เป็นของใคร

Das Testament des Dr.Mabuse ผู้กำกับคือ Fritz Lang โด่งดังมากในยุโรป เป็นหนังสยองขวัญ เนื้อเรื่องคร่าวๆ คือ ดร.มาบูเซอร์เป็นชายโรคจิต อาศัยในโรงพยาบาลบ้า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชื่ออาจารย์วอร์ม มาบูเซอร์เขียนแผนการอาชญากรรมที่โหดร้ายต่างๆ นานา ขึ้นมา และมีกลุ่มอาชญากรขโมยแผนการต่างๆ ไปทำจริงๆ ตำรวจก็ตามรอยจนมาพบว่าเป็นแผนการของมาบูเซอร์ สืบไปสืบมาพบว่ามาบูเซอร์ตายแล้ว แต่เป็นวิญญาณของเขาที่ไปสิงวอร์มที่หนีไปโรงพยาบาลบ้าแล้ว จนกระทั่งตำรวจพบอีกทีว่าวอร์มเป็นผู้ป่วยโรคจิตในโรงพยาบาลอีกที่หนึ่ง หนังจบที่วอร์มนั่งฉีกแผนการก่ออาชญากรรม หนังเรื่องนี้ถูกแบนเพราะเกิบเบลบอกว่าหนังล้อเลียนฮิตเลอร์ เพราะความบ้าของมาบูเซอที่แสดงออกมาละม้ายคล้ายฮิตเลอร์ ทำให้ตัวผู้กำกับชาวเยอรมันที่พรรคนาซีต้องการให้มาร่วมงานด้วย หนีออกนอกประเทศไปเพราะไม่อยากทำหนังรับใช้นาซี

Das Testament des Dr.Mabuse

Westfront 1918 กำกับโดย Georg Wilhelm Pabst ฉายใน ค.ศ. 1930 หรือ 3 ปีก่อนที่ฮิตเลอร์จะยึดอำนาจ เป็นเรื่องของทหารเยอรมันจำนวน 4 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารทั้ง 4 ออกรบพร้อมๆ กัน และได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดเวลา เมื่อทั้ง 4 คนมีเวลาพักบ้าง ทหารหนึ่งคนได้หลงรักสาวชาวฝรั่งเศส และเมื่อสงครามดำเนินต่อไป ทหาร 3 คนเสียชีวิต ส่วนอีก 1 คนเสียสติเมื่อเห็นศพของเพื่อนตนเอง และศพอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ทหาร 1 ใน 4 คนสุดท้ายนี้ก็เสียชีวิตในโรงพยาบาลทหาร ในฉากนี้ ทหารฝรั่งเศสที่นอนอยู่ข้างเขา ก็จับมือเขาขึ้นมาถือไว้พร้อมพูดว่า "ศัตรู ไม่ใช่สิ เพื่อนร่วมชะตากรรม"

เนื้อหาภาพยนตร์ถูกตีความว่ามีจุดยืนต่อต้านสงคราม ซึ่งเยอรมนีขณะนั้นถูกครอบงำด้วยพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่ชูนโยบายต่อต้านชาติตะวันตก และฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ส์ที่เยอรมนีลงนามในฐานะผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากจนถูกสั่งห้ามฉายในปี 1933

Westfront 1918

เล่าเส้นทางชาตินิยมเยอรมัน การแพ้สงครามโลก การเมือง การเลี้ยวขวาสู่อาณาจักรไรค์ที่สามและบทบาทของโฆษณาการ

คัททิยากรเล่าปูมหลังก่อนเยอรมนีกลายเป็นจักรวรรดิไรค์ที่ 3 ใต้การปกครองของพรรคนาซี การสร้างความรู้สึกชาตินิยมที่มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างชาติในสมัยปี 1871 มีการสร้างประวัติศาสตร์ในยุคพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 จักรพรรดิพระองค์แรกของจักรวรรดิเยอรมัน มีการสร้างเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี อนุเสาวรีย์ของกษัตริย์ราชวงศ์ตนเอง มีการสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการสืบเชื่อสายชาวเยอรมันไปถึงชนเผ่าเยอรมานิคที่เคยต่อสู้และเอาชนะทหารโรมันเมื่อศตวรรษที่ 9 นำมาเล่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ภาคภูมิใจ มีอนุเสาวรีย์ของแม่ทัพแฮร์มานที่มีความสูงที่สุดในโลกเมื่อปี 1873 เป็นผลให้คนในชาติรู้สึกว่ามีบรรพบุรุษคนเดียวกัน มีความเชื่อมโยงกัน

นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่าการโยงไปถึงชาตินิยมเมื่อ 1871 อาจจะยาวไป จึงขยับมาดูยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะหลังการเกิดจักรวรรดิเยอรมันในปี 1871 เยอรมนีเองก็สร้างกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่และเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914-1918 ตอนนั้นเยอรมนีอยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง เยอรมนีพ่ายแพ้และนักประวัติศาสตร์หลายคนเคลมว่าเป็นจุดที่ทำให้ฮิตเลอร์ครองอำนาจได้ เพราะหลังจากแพ้สงครามมีการเปลี่นยแปลงที่ยิ่งใหญ่ในเยอรมนี เพราะกษัตริย์วิลเฮล์มที่ 2 ที่ครองราชย์อยู่ก็สละราชสมบัติและลี้ภัยไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ รวมถึงต้องเปลี่ยนระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นสาธารณรัฐเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศแย่มาก เกิดภาวะเงินเฟ้อระหว่างสงครามอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามยังไม่จบ ทำให้มีประชาชนประท้วงและกล่าวโทษพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 2

German emperor Wilhelm II(cropped)(1).jpg

พระเจ้าวิลเฮล์มที่สอง (ที่มา:วิกิพีเดีย)

บทบาทพรรคการเมืองในเยอรมนีมีนานแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งประเทศเยอรมนี พรรคที่มีบทบาทในการเรียกร้องในสงคาม คือพรรคคาเพเด (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเยอรมนี) เป็นพรรคที่ใหญ่มากกว่าของรัสเซียเสียอีก และเป็นที่หวาดกลัวของประชาชนว่าเยอรมนีจะเปลี่ยนการปกครองไปเป็นแบบรัสเซียที่เปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ก็จะมีพรรคที่ค้านก็คือพรรคเอสเพเด (โซเชียลเดโมแครต - SPD) ที่เป็นพรรคใหญ่มาตั้งแต่ปี 1800 กว่าๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นพรรครัฐบาลอยู่ พรรค SPD มีความสำคัญในฐานะผู้ผลักดันให้มีการปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐซึ่งชาวเยอรมันสมัยนั้นก็ยอมรับ จะมีก็แต่กลุ่มทหารที่ไม่ยอมรับ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงปลายสงคราม เยอรมนีเสียเปรียบในสงครามแล้วหลังสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมสงครามในปี 1917 ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีกำลังในการสู้รบมากขึ้น พอประเทศเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว รัฐบาลสาธารณรัฐเราจะเรียกเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่า สาธารณรัฐไวมาร์ ได้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ที่เยอรมันทำกับประเทศที่ชนะสงครามทางฝ่ายตะวันตก มีผลหลายด้านที่ทำให้ต่อมาพรรคนาซีได้เอามาใช้ในการโฆษณาสร้างความเข้มแข็งและความน่านับถือให้กับพรรค สนธิสัญญาแวร์ซายส์ส่งผลกระทบหลายด้าน เนื้อหาหลักๆ คือการกำหนดให้เยอรมนีเสียอาณานิคมโพ้นทะเลทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีเยอะเพราะเพิ่งเกิดใหม่ มีแค่ 3 ที่ในแอฟริกา ในชิงเต่าที่จีนและเกาะแถบโอเชียเนีย ทั้งยังกำหนดให้เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามถึง 132 พันล้านมาร์กซ์ ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก ถ้าจะใช้กันจริงๆ ก็คงจะเพิ่งหมดเมื่อไม่นานมานี้ ข้อสำคัญที่สุดคือมาตรา 131 ที่กล่าวว่า เยอรมนีต้องยอมรับผิดว่าตัวเองเป็นผู้ก่อสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่สร้างความไม่พอใจกับฮิตเลอร์ที่เคยเป็นทหารที่ภาคภูมิใจในความเป็นอารยันของเยอรมนี

สังคมเยอรมันแตกเป็นสามกลุ่มหลังสงคราม หนึ่ง กลุ่มซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ทั้งหลายที่เสียดายว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสหภาพโซเวียต ทำไมไม่ปฏิเสธสนธิสัญญาแวร์ซายส์ สอง กลุ่มเสรีนิยมที่มีขนาดไม่ใหญ่เท่าพรรค SPD ที่คิดว่าต้องร่วมมือกับผู้ชนะกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ แต่มาตราที่ 131 นั้นไม่เป็นที่พอใจกับทุกกลุ่มเพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมกับเยอรมนี เพราะ และเป็นมาตราที่ฮิตเลอร์เอามาใช้รณรงค์กับพรรคนาซีในภายหลัง สาม กลุ่มขวาจัด ที่อยากปฏิเสธสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เอากษัตริย์กลับมาและประกาศทำสงครามกับประเทศตะวันตกอีกครั้ง เช่นพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เช่นพรรคนาซีและพรรคที่ก่อตั้งโดยทหาร เป็นต้น

เหล่าทหารก็มีความฝังใจเพราะเชื่อว่าแพ้ด้วยการถูกชาวเยอรมนีประท้วง ทำให้ประเทศอ่อนแอและพ่ายแพ้ไปในที่สุด ขณะนั้นเยอรมนีวุ่นวายมาก รัฐบาลไม่มั่นคงเอาเสียเลยเพราะรัฐบาลเสรีนิยมแทบจะประคองตัวเองไม่ได้ ทุกวันจะมีการกบฏเล็กๆ น้อยๆ จากกลุ่มฝ่ายซ้ายที่พยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่ดำเนินมาจากช่วงสงครามยิ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นอึก จนนักประวัติศาสต์เยอรมันเรียกว่าเป็นเงินเฟ้ออย่างหนักในช่วง 1920-1923 เพราะสินค้าขาดแคลนมาก ยิ่งทำให้กลุ่มฝ่ายขวาได้ทีวิจารณ์รัฐบาลว่าไร้น้ำยา

นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่ารัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐไวมาร์ทำให้ฮิตเลอร์ครองอำนาจได้ เพราะมีจุดโหว่เยอะ ทำให้ฮิตเลอร์ใช้ที่จะสถาปนาอำนาจของตัวเอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจประธานาธิบดีในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ สอง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีมอบอำนาจให้นายกฯ ออกชุดกฎหมายกฤษฎีกาฉุกเฉินที่ให้อำนาจรัฐบาลออกกฎหมายใดๆ ก็ได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา กฎหมายนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญก็ได้แต่ต้องได้เสียงในสภา 2 ใน 3

นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ก็จะเชื่อว่าฮิตเลอร์ครองอำนาจเพราะเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ช่วงที่ทั้งซ้าย ขวา กลางสู้กัน สุดท้ายฝ่ายเสรีนิยมเป็นฝ่ายที่ชนะด้วยการพลิกนโยบายมุ่งตะวันตก คือทำตามความต้องการของผู้ชนะสงครามในหลายๆ เรื่อง เช่นค่าปฏิกรรมสงคราม ทำให้ได้รับเงินก้อนช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทุกปี ตั้งแต่ 1924 เป็นต้นมา ทำให้วิกฤติเงินเฟ้อหายไป มีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ มาช่วยปฏิรูปค่าเงินและเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายโจมตีรัฐบาลเสรีนิยมว่าไปผูกประเทศกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฮิตเลอร์ใช้ด้วย พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1929 เมื่อเศรษฐกิจอเมริกาล่ม ก็ทำให้เยอรมนีแย่ตามไปด้วยเพราะผูกเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ด้วย เงินช่วยเหลือก็หายไป ทำให้การผลิต ภาคอุตสาหกรรมชะงักงัน คนตกงานถึง 9-16 ล้านคน ทำให้พรรคฝ่ายขวาและซ้ายมีเรื่องที่จะโจมตีฝ่ายเสรีนิยม

ปี 1930 เป็นช่วงที่พรรคฝ่ายขวาและซ้ายเริ่มหาเสียง ฝ่ายซ้ายก็ชูนโยบายแรงงานทั้งหลายแหล่ มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด ฝ่ายเสรีนิยมก็พยายามหาเสียงด้วยความสงบสุข ร่วมมือกับสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็คือผู้ชนะสงคราม แต่ก็ลำบากในการหาเสียงเพราะสภาพเศรษฐกิจและการเมืองโลก ส่วนฝ่ายขวาก็ชูว่าจะนำเยอรมนีกลับมายิ่งใหญ่อย่างช่วงการรวมชาติใหม่ๆ ชูว่าจะทำสงครามกับผู้ชนะสงครามเพื่อปลดแอกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ไม่จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ทำลายคอมมิวนิสต์ และชูนโยบายเศรษฐกิจเหมือนกันด้วยความที่มีภาคธุรกิจสนับสนุน

สถานการณ์ในเยอรมนีเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ในทางเศรษฐกิจ 1932 เกิดการเลือกตั้งกลางปี พรรคนาซีที่เป็นฝ่ายขวาที่ค่อนข้างใหญ่ ได้รับเสียงถึงร้อยละ 37 ฮิตเลอร์ยังไม่ได้เป็นนายกฯ แต่พอปี 1933 นักธุรกิจที่สนับสนุนพรรคนาซีได้กดดันประธานาธิบดีให้แต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์ยึดอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย เพราะมีคนสนิทที่ให้คำแนะนำว่ายึดอำนาจเสียเลยในช่วงที่เป็นนายกฯ แล้ว เพราะพรรคนาซีก็มีกองกำลังทหารประจำพรรคอย่าง SA และ SS อยู่ แต่ฮิตเลอร์ก็ปฏิเสธ บอกว่าทุกขั้นตอนต้องทำหลักประชาธิปไตย จากนั้นก็ใช้ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยใช้โฆษณาการเข้ามาช่วย

วันแห่งพอทสดัม (Tags von Potsdam) แสดงภาพฮิตเลอร์ก้มศีรษะต่อประธานาธิบดีฟอน ฮินเดนบูร์ก (ที่มา:วิกิพีเดีย)

ภาพโฆษณาการชิ้นแรกเป็นภาพที่ชื่อว่าวันแห่งพอทสดัม เป็นภาพแรกที่ถูกนำมาใช้โฆษณา (Tags von Potsdam) ในวันดังกล่าวโฆษกอธิบายท่าทางต่างๆ ของฮิตเลอร์ผ่านวิทยุกระจายเสียงด้วย พรรคนาซีจัดงานนี้ขึ้นเพื่อทำให้มีกฎหมายมอบอำนาจดังที่ระบุเอาไว้ในชุดกฎหมายกฤษฎีกาฉุกเฉิน

โจเซฟ เกิบเบล เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านโฆษณาการทั้งหมด เป็นเจ้ากระทรวงการให้ความรู้กับประชาชนและกระทรวงโฆษณาการ เขาจัดวางท่าทางและคิดงานทั้งหมดเพื่อจัดการโหวตมอบอำนาจทั้งหมด ภาพและงานในวันแห่งพอทสดัมทรงพลังมากจนกฎหมายการมอบอำนาจได้รับการรับรองในเวลาต่อมา จากนั้นฮิตเลอร์ก็ออกกฎหมายมาแบนพรรคอื่น ยุบรวมพรรคฝ่ายขวาอื่นเข้ากับพรรคนาซี กลายเป็นพรรคการเมืองเดียวในเยอรมนีในปี 1933 ยุบตำรวจ ยุบตำแหน่งทางการเมืองในทุกรัฐจาก 16 รัฐและตั้งคนของพรรคนาซีเข้าไปแทน

ภาพครอบครัวสุขสันต์ของเกบเบิล (The Goebbels family) ในปี 1942 เป็นหนึ่งในโฆษณาการสนับสนุนให้มีลูก 3 คนขึ้นไป ผู้หญิงที่มีลูกไม่ได้ถือว่าไร้ค่า คนที่ใส่ชุดทหารเป็นลูกที่ติดมาจากภรรยาเก่าของเกบเบิล (ที่มาภาพ:วิกิพีเดีย)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจงเยียวยาผู้ป่วยจิตเวชฆ่าตัวตายใน รพ. ไม่ถือเป็นมาตรฐาน-ดูเป็นรายเคสเกิดจากโรคหรือระบบ

Posted: 24 Oct 2017 11:57 PM PDT

ประธานบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช.เผยมติจ่ายเงินเยียวยาผู้ป่วยจิตเวชฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลตามมาตรา 41 เพราะกรรมการเสียงส่วนใหญ่ใช้ดุลยพินิจว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยของระบบ ยันไม่ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป  

25 ต.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ป่วยจิตเวชได้ฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ มีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิในระบบสาธารณสุขบางรายที่มองว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากโรคของผู้ป่วย และการจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ที่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดย นพ.ชาตรีระบุว่า กรณีนี้เป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย แต่โดยกฎหมายแล้วให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ และกรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้จ่ายเงินเยียวยา อย่างไรก็ดี ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ไม่ได้ถือเป็นมาตรฐานว่าจะต้องจ่ายเงินทุกรายแต่อย่างใด

ชาตรี กล่าวว่า หลักการของมาตรา 41 เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดและต้องไม่เป็นไปตามพยาธิสภาพ หมายความว่าหากเป็นเหตุที่เกิดจากโรคหรือโดยพยาธิสภาพของผู้ป่วยจะไม่สามารถให้เงินเยียวยาตามกฎหมายได้ เช่น คนไข้เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ได้รับการรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่ที่สุดก็เสียชีวิตไป แบบนี้ถือเป็นพยาธิสภาพ

"กรณีที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ต้องเป็นเหตุที่เรียกว่าเหตุสุดวิสัย ไม่ว่าจะเป็นสุดวิสัยจากระบบหรือสุดวิสัยจากการรักษาพยาบาล เช่น ผู้ป่วยแพ้ยาโดยที่ทางผู้ให้การรักษาได้ระมัดระวังเต็มที่แล้วหรือด้วยสาเหตุอื่นๆ ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันมากจะเป็นประเด็นก้ำกึ่งว่าเป็นพยาธิสภาพหรือเป็นเหตุสุดวิสัย เช่น ทำหมันแล้วเกิดตั้งท้องขึ้นมา ตรงนี้ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่" ชาตรี กล่าว

ชาตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรณีผู้ป่วยจิตเวชฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลนั้น หากมองในมุมหนึ่ง ผู้ป่วยก็เจตนาฆ่าตัวตายซึ่งเป็นเหตุที่ผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนเห็นว่าเกิดจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยเอง แต่อีกมุมก็อาจมองได้ว่าเมื่อไปอยู่ในโรงพยาบาลแล้วก็น่าจะมีระบบป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย แต่ด้วยความที่โรงพยาบาลเองก็มีงานเยอะ บุคลากรไม่เพียงพอที่จะดูแลเป็นรายบุคคลทั้งหมด ก็อาจเกิดเหตุผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจอยู่แล้วไปฆ่าตัวตาย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกมุมมองว่าเป็นเรื่องของระบบ

"ก็เป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถบอกว่านี่คือถูก 100% หรือผิด 100% ความเห็นเรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะตอบว่าอันไหนถูกอันไหนผิดมันก็พูดยาก ซึ่งตามกฎหมายก็ให้เป็นดุลยพินิจ ทีนี้ดุลยพินิจก็อาศัยดุลยพินิจของกรรมการเสียงข้างมากที่เห็นว่ากรณีนี้น่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยของระบบได้ ก็เลยมีผลการพิจารณาออกมาเป็นอย่างนี้ แต่ก็เข้าใจคนที่เห็นต่างทั้งเรื่องการทำหมันและการฆ่าตัวตาย เพราะมันมีเหตุที่สามารถถกเถียงกันได้ ดังนั้นก็คงต้องดูเป็นรายกรณีไป เหตุที่เกิดมันไม่เหมือนกันหมดหรอก มันมีกรณีที่อาจใช้ดุลยพินิจไปในทางหนึ่งทางใดและบางครั้งก็ต้องอาศัยมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการ ไม่ใช่ว่าถ้าผู้ป่วยมาฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลแล้วต้องจ่ายเยียวยาทุกเคสเป็นมาตรฐาน ถ้าเป็นกรณีที่ได้ดูแลอย่างเต็มที่แล้วและเป็นเหตุที่ผู้ป่วยได้พยายามตั้งใจโดยหลีกเลี่ยงการดูแลที่โรงพยาบาลจัดให้อย่างเต็มที่แล้ว อันนั้นก็อาจมองได้ว่าเป็นเหตุจากพยาธิสภาพ" ชาตรี กล่าว

ขณะเดียวกัน การพิจารณาให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นก็ไม่ได้หมายความว่าทางผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิด เพราะอย่างที่บอกว่าหลักการของมาตรา 41 ไม่มีพิสูจน์ถูกผิด เพียงแต่ที่ยังมีข้อกังวลเกิดขึ้นเพราะมีมาตรา 42 พ่วงไปด้วยว่ากรณีที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ สปสช.อาจจะไปไล่เบี้ยเอาจากผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็ได้ แต่ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมายังไม่เคยมีการไล่เบี้ยเกิดขึ้นเพราะในทางปฏิบัติก็ไม่ได้พิสูจน์ถูกผิดอยู่แล้ว การจ่ายเงินเป็นเพียงการเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้น

  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.แรงงาน ชี้ปรับเพดานเงินสมทบ ประโยชน์สูงสุดจะตกกับผู้ประกันตน-ครอบครัว

Posted: 24 Oct 2017 10:58 PM PDT

พล.อ.ศิริชัย แจงปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคม ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานไม่เคยปรับฐานเงินเดือนเพดานขั้นสูงสุดที่ใช้ในการคิดอัตราเงินสมทบเลย ระบุจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน

แฟ้มภาพ

25 ต.ค. 2560 จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมขยายเพดานเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จาก 15,000 เป็น 20,000 บาท โดยเก็บร้อยละ 5 ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท โดย สปส. จะนำเสนอกระทรวงแรงงานเพื่อพิจารณาเสนอเข้า ครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไปนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมตั้งคำถามถึงรัฐบาลที่ยังค้างจ่ายเงินสมทบในส่วนของภาครัฐกว่า 56,000 ล้านบาท 

ล่าสุดวันนี้ (25 ต.ค.60) วิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงต่อสาธารณะ ว่า การที่กระทรวงแรงงาน จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ...เพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533  ซึ่งตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน เคยปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่เคยปรับฐานเงินเดือนเพดานขั้นสูงสุดที่ใช้ในการคิดอัตราเงินสมทบเลย ในขณะที่กระทรวงแรงงานได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมาโดยตลอด ดังนั้น ในการพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงได้มีแนวคิดที่จะปรับฐานค่าจ้าง เพื่อนำมาคิดอัตราเงินสมทบ ให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่จะปรับเพิ่ม

ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยจะพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นสูง จากเพดานเดิม 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท แต่ยังคงคิดเงินสมทบในอัตราเดิมคือ ร้อยละ 5 ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า กรณีที่ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 9,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบ 450 บาท  กรณีที่ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 10,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบ 500 บาท กรณีที่ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 15,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบ 750 บาท กรณีที่ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 17,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบ 850 บาท นั่นหมายความว่า เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 1,000 บาท การจ่ายเงินสมทบจะเพิ่มขึ้น 50 บาท ซึ่งก็คือการคิดอัตราเงินสมทบที่ร้อยละ 5 เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

วิวัฒน์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า การเพิ่มเงินสมทบทุกๆ 50 บาท จากฐานเงินเดือนขั้นละ 1,000 บาท จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน โดยได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก เดือนละ 2,500 บาท ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้ประกันตนที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย จะได้รับเงินทดแทน 6 เดือน จากเดิมที่ได้รับเดือนละ 7,500 บาท ก็จะได้รับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 10,000 บาท หรือในกรณีทุพพลภาพ ที่ได้รับเงินชดเชยไปตลอดชีวิต จากเดิมเดือนละ 7,500 บาท อัตราใหม่เพิ่มเป็น 10,000 บาท หรือในกรณีที่เสียชีวิต นอกจากจะได้รับค่าทำศพ เป็นเงินจำนวน 40,000 บาทแล้ว ทายาทโดยชอบก็ยังได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่ม จากเดิมที่ได้รับเดือนละ 7,500 บาท  เป็นเดือนละ 10,000 บาท อีกด้วย และในกรณีที่เจ็บป่วยโดยแพทย์มีความเห็นให้หยุดงานและมีใบรับรองแพทย์  จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ จากเดิมเดือนละ 7,500 บาท ก็จะได้รับเพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า การปรับเพดานเงินเดือนเพื่อใช้ในการคิดอัตราเงินสมทบ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับกลับคืน มีมากกว่าถึงร้อยละ 33.33

วิวัฒน์ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่า แนวทางการพิจารณาปรับปรุงเพดานเงินเดือน เพื่อนำไปคิดอัตราเงินสมทบ จะเป็นประโยชน์กลับคืนต่อผู้ประกันตนและครอบครัว ในอัตราที่สูงกว่าเงินสมทบที่จ่ายเพิ่มอย่างแน่นอน และขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องแรงงาน และผู้ประกันตนว่า การพิจารณานำแนวทางการเพิ่มเพดานเงินเดือน เพื่อใช้คิดคำนวณอัตราเงินสมทบนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับด้านการคลังของรัฐบาลแต่อย่างใดทั้งสิ้น หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถาม สามารถติดต่อได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0 2956 2345 หรือสายด่วนประกันสังคม 1506 หรือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาวิศวกร เผย 69 วิศวกรจีนรุ่น 2 ผ่านเกณฑ์ พร้อมออกใบรับรองทำงานรถไฟความเร็วสูง

Posted: 24 Oct 2017 10:43 PM PDT

สภาวิศวกร เผยผลคะแนนอบรมวิศวกรจีนรุ่น 2 จำนวน 69 คน ผ่านเกณฑ์ พร้อมออกใบรับรองเข้าทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช เตรียมทดสอบรุ่นที่ 3 ที่นครเทียนจินในวันที่ 27-30 ต.ค.นี้

25 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจาก สภาวิศวกร แจ้งว่าอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยถึงผลการอบรมและทดสอบวิศวกรจีนรุ่นที่ 2 ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา ว่าการจัดอบรมและทดสอบวิศวกรจีนเป็นไปตามคำสั่ง คสช. ที่ 30/2560 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งหัวข้อการอบรมและทดสอบเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไทยและสภาพท้องที่ ภูมิประเทศ ลุ่มน้ำ และภัยธรรมชาติ ในประเทศไทย ที่วิศวกรจีนจำเป็นต้องรู้ก่อนที่จะเข้ามาในปฏิบัติงานในประเทศไทย สำหรับการอบรมและทดสอบนั้น ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 มีวิศวกรจีนเข้าร่วม 77 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย. 2560 และ รุ่นที่ 2 จำนวน 69 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 ต.ค. 2560 ที่นครเทียนจิน ประเทศจีน

อมร กล่าวต่อว่า วิศวกรที่จีนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 รุ่น ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรออกแบบระดับหัวหน้า (chief engineer) ในแต่ละสาขา โดยมีผู้จัดการโครงการ (project manager) และผู้จัดการฝ่ายออกแบบ (design manager) เข้าร่วมอบรมและทดสอบในรุ่นที่ 2 และในรุ่นที่1 ยังมีวิศวกรจีนที่จะร่วมออกแบบและก่อสร้างช่วงระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ระหว่างสถานีกลางดง-ปางอโศกเข้าร่วม

สำหรับผลการทดสอบวิศวกรจีนทั้ง 2 รุ่นนั้น ต้องแถลงแยกกันเนื่องจากใช้ข้อสอบคนละชุด โดยมีผลการทดสอบดังนี้ รุ่นที่ 1 วิชากฎหมาย วิศวกรจีนได้คะแนนเฉลี่ย 44 จาก 50 คะแนน เกณฑ์ผ่านที่ 30 คะแนนส่วนวิชาสภาพท้องที่นั้น วิศวกรจีนได้คะแนนเฉลี่ย 82.4 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เกณฑ์ผ่านที่ 60 คะแนน ส่วนรุ่นที่ 2 นั้นวิชากฎหมาย วิศวกรจีนได้คะแนนเฉลี่ย 42.9 จาก 50 คะแนน และวิชาสภาพท้องที่ได้คะแนนเฉลี่ย 73.8 จาก 100 คะแนน ถือว่าวิศวกรทั้งสองรุ่น 146 คนผ่านการทดสอบ สภาวิศวกรจะออกใบรับรองเข้ารับการอบรมและผ่านการทดสอบ โดยจะมีพิธีมอบใบรับรองในงานอบรมและทดสอบวิศวกรจีนรุ่นที่ 3 ที่นครเทียนจินในวันที่ 27-30 ต.ค. 2560 นี้

เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า ภาพรวมการอบรมและทดสอบวิศวกรจีนทั้งสองรุ่นถือว่าเรียบร้อยดี วิศวกรจีนที่ผ่านการทดสอบ 146 คนคิดเป็นประมาณ 60% ของวิศวกรออกแบบทั้งหมดประมาณ 250 คน วิศวกรออกแบบส่วนที่เหลือจะเร่งอบรมและทดสอบให้แล้วเสร็จในรุ่นที่ 3 ส่วนในรุ่นที่ 4 จะเป็นการอบรมและทดสอบวิศวกรจีนที่จะเข้ามาควบคุมการก่อสร้างเป็นหลัก เมื่อจบการอบรมครบทั้ง 4รุ่นแล้วสภาวิศวกรจะแถลงให้ทราบผลอีกครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เราควรจะคบหากันด้วยป้ายชื่ออยู่ไหม

Posted: 24 Oct 2017 10:29 PM PDT

หลักการในการแขวนป้ายชื่อของรุ่นน้องที่รุ่นพี่มักจะอ้างกันก็คือการให้รุ่นพี่สามารถจำชื่อน้องได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่ต้องถามน้องให้วุ่นวาย

ผมเชื่อว่าในหลายคณะทุกวันนี้นักศึกษาปีหนึ่งก็ยังจะต้องห้อยป้ายชื่ออยู่ โดยที่รุ่นพี่ก็ยังจำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม (จะจำได้ก็ด้วยความสนิทส่วนตัวหรือสาขาวิชานั้นมีจำนวนหยิบมือเดียว)

เหตุผลก็คือสภาพสังคมไม่ได้เอื้อให้เราปฏิสัมพันธ์กันเท่าไหร่นัก เพราะแต่ละบุคคลก็มีหน้าที่เฉพาะตนอยู่แล้ว เช่น ปี 4 ก็ทำสัมมนาวิจัย และต้องไปฝึกงานต่างๆ ปีสามก็ต้องเร่งงานวิจัยและภาระอีกมากมาย โน่นนี้นับประการ ซึ่งก็จะมีเพียงปีสองเท่านั้นที่เป็น ผู้สร้างกิจกรรมที่ชัดเจนซึ่งมีรุ่นพี่มาเป็นตัวประกอบบางส่วนเท่านั้น นี่ยังไม่รวมวัฒนธรรมของมหา'ลัย สภาพแวดล้อม การนอนหอพักนอก-ในต่างๆ ที่จะทำให้ การรวมหมู่สร้างปฏิสัมพันธ์ไม่ค่อยได้มีโอกาสนัก แต่นั้นก็เป็นเรื่องปกติของสังคมที่กว้างออกไป

การสร้างมิตรควรเกิดจากการเดินเข้าไปทำความรู้จัก ถามชื่อพูดคุยต่างๆ มากกว่าที่จะมาบอกว่าเห้ยคุณต้องห้อยป้ายนะ ไม่งั้นเดี๋ยวผมจำคุณไม่ได้ เพราะอะไรที่มันง่ายคนมักไม่จำ

ส่วนตัวผมคนนึงแหละไม่เคยมองป้ายชื่อรุ่นน้องเลยว่ามันชื่ออะไร เพราะผมไม่เคยใส่ใจและไม่ใช่สาระอะไร คนเราทักทายต้องมองหน้าไม่ใช่มองนม และหากสนใจมากๆมันดันส่งผลทางจิตวิทยาด้วย ไม่ต้องอะไร คุณลองให้ใครก็ได้ ตามมองคุณทั้งวัน คุณจะรู้สึกว่าโดนคุกคามแน่ๆ (โดยเฉพาะป้ายชื่อแปลก เบ้นเอ๋อ,หมีหมา,มาโนช,และป้านขนาดมหึมาต่างๆที่เดินผ่านแทบไม่เห็นเสื้อปี1เลยเพราะป้ายบังไว้)

ป้ายชื่อจึงเป็นสัญลักษณ์ของมิติในทางอำนาจการสยบยอมต่าง มันเป็นการลดความเป็นปัจเจกบุคคล สิทธิความเป็นส่วนตัวลง นี่คือผลที่ทางจิตวิทยา

ทำไมเราจะต้องลดความเป็นส่วนตัวของเราด้วยการประกาศชื่อให้คนหมู่มากรู้ด้วย และทำไมรุ่นพี่จึงไม่แขวนอย่างเราบ้าง ทั้งที่เราก็อยากรู้จักเขาอยู่ไม่น้อย

มันจึงเกิดข้อสงสัย ทำไมเราต้องแบกรับความไม่เป็นส่วนตัวกับแค่การอยากรู้จักเราของใครบางคน มันรู้สึกไม่เป็นธรรมไปหน่อยถ้าเราจะต้องนำเสนอตัวเองตลอดเวลานะ เพื่อที่เขาจะได้รู้จักเฉพาะช่วงตอนที่เขาอยากจะรู้จักเรา

เมื่อความเป็นปัจเจกลดน้อยลงการแขวนป้ายชื่อหมู่มากจึงเป็นการไปสร้างเอกภาพเล็กๆ ซึ่งให้ความสามัคคีที่อยู่ใต้มิติของอำนาจ ทุกคนเสมอเหมือนกันหมด ความแตกต่างทางความคิด ก็จะถูกลดระดับลงในเบื้องต้น เมื่อกิจกรรมอื่นๆ มาผนวกซ้ำเข้าไปอีก ก็จะค่อยๆ ลดตัวตนลงไปอีกเรื่อยๆ จนเหลือแค่ภาพของความเป็นเอกภาพของรุ่น สาขาและคณะต่อไป.

ในหนังสือ"ก็ไพร่นี่คะ" ของลักขณา ปันวิชัย ได้บอกไว้ว่า มีแต่สัตว์ในฟาร์มเท่านั้นแหละที่มีซีเรียลนัมเบอร์ห้อยติดอยู่ นั่นก็อาจเป็นการให้เหตุผลเชิงประชดประชันมากกว่าถึงแม้ปัจจุบันการห้อยป้ายจะมีบริษัทต่างๆ ในพนักงานคล้องไว้ นั่นก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของการทำงาน ที่นายจ้างมิได้มีปฏิสัมพันธ์ชิดเชื้อ ส่วนใหญ่จะใช้ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ หรือการออกอีเวนท์จัดงานภายนอก ที่สะดวกต่อการทำงานและประหยัดเวลา แต่ในลักษณะนี้ก็ย่อมแตกต่างกันสิ้นเชิงในกระบวนการทำความรู้จักกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในสถานศึกษา 

บางมหาวิทยาลัยจะไปซื้อข้าวเดินตลาดหรือแม้แต่เข้าห้องสอบก็ยังจะต้องให้นักศึกษารุ่นน้องแขวนป้ายชื่อ หากเจอใครที่ไม่แขวนป้ายชื่อ รุ่นพี่จะเข้าไปกดดันทันที คือต้องแขวนตั้งแต่ตื่นนอน ยันเข้านอนในวันวันหนึ่ง

คำถามก็คือเรื่องแบบนี้มันยังอยู่ในจุดมุ่งหมายของการอยากให้รู้จักกันจริงๆหรือเปล่า

หากพิจารณาดูแล้ว การอยากจะรู้จักใครของใครสักคนนั้นต้อง เป็นหน้าที่ ของคนที่อยากจะรู้จักเองในการเข้าหา คนที่ตนอยากรู้จักด้วย เรื่องแบบนี้จริงๆแล้วไม่น่าจะมาพูดกันเลย มันเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ด้วยซ้ำไป หากแต่สังคมมนุษย์ในมหาวิทยาลัย อาจจะผิดแปลกไปจากมนุษย์ เพราะดันไปลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น เรียกสั้นคือตามประสาชาวบ้านคือ (สังคม) ผิดมนุษย์มนา ถ้าพูดทางวิชาการคือ เป็นสังคมแห่งการสร้างทาส

ผมสมมติเพื่อให้เห็นภาพว่าถ้าผมจะผู้หญิงสักหนึ่งท่าน หากผมอยากรู้จักก็จะต้องเข้าไปทักทาย

เธอชื่ออะไร มีเบอร์ไหมมีไลน์ไหม คุณน่ารักจังผมชอบคุณ มันก็มีโอกาสจะสานต่อ หากไม่ได้เป็นแฟนอย่างน้อยก็เป็นการสร้างสัมพันธ์ในมิติอื่นๆได้

แต่มันอาจจะดูแปลกพิลึกไปหน่อย ถ้าเราอยากรู้จักเขาแล้วไปบอกว่า เธอๆ รบกวนห้อยป้ายชื่อหน่อยได้ไหมเราอยากรู้จักเธอหน่ะ

ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมถึงยกตัวอย่างอะไรที่มันไม่เกิดขึ้นจริง ก็รู้กันอยู่ว่า ไม่มีใครเขาไปจีบสาวแบบนั้นหรอก ยกตัวอย่างแบบนี้เห็นภาพได้อย่างไร อยากให้ท่านพินิจต่ออีกสักหน่อย. ในเมื่อท่านไม่สามารถ ไปทำกับใครที่ท่านนิยมสนใจได้ แล้วรุ่นน้องที่ว่านั้น มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนที่ท่านเลือกจะนิยมชมชอบหรือไม่ ท่านถึงให้เกียรติเขาไม่เท่ากัน

หากจริงแล้วการแขวนป้ายชื่ออาจมีประโยชน์ในกิจกรรมเล็กๆ ในระยะเวลาสั้นๆสองสามวัน ที่จะทำให้คนหมู่มากรู้จักกันง่ายขึ้น (อย่างผิวเผิน) เพื่อความสนุกและความราบรื่นในการดำเนินกิจกรรม

การแขวนป้ายชื่อแบบนั้นจึงแทบไม่มีมิติทางอำนาจอยู่เลย แต่การบังคับให้แขวนเป็นรายเดือนรายปี ในทุกที่ทุกสถานนั้น เป็นเรื่องที่ ละเมิด ไม่เคารพ ซึ่งไม่น่ายินดีเท่าไหร่

หากรุ่นพี่เขาจะมาถามว่าทำไมเราไม่แขวนป้ายชื่อ ผมก็เห็นควรจะต้องถามเขาว่า เขายังรู้จักเราไม่พออีกหรอก หลายเดือนที่ผ่านมา ห้อยกันอยู่ทุกวันหากเขาจะจำเราไม่ได้ มันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่เป็นความผิดของเขา ที่เขาไม่ได้เอาใจใส่เราอย่างที่เขาอ้างว่าจะเอาใจใส่เลย คือถ้าไม่เอาใจใส่แล้วต่างคนต่างใช้ชีวิตก็โอเค

แต่ถ้าบอกว่าจะมาดูแลกัน แล้วให้เรานำเสนอตัวเรามาเป็นเดือนแล้ว แล้วยังจำกันไม่ได้อีก เราอาจจะต้องพิจารณาในการคบหาสมาคมดูเสียแล้ว กระมัง

สุดท้ายนี้ป้ายชื่อที่ห้อยคออยู่นั้น มันไม่ได้ทำหน้าที่เดียวในตัวของมัน เพราะนอกจากที่มันกำลังทำหน้าที่ในการประกาศอะไรสักอย่างออกมา มันยังทำหน้าที่รอง (แต่ส่งผลทวีคูณ) ในการ ปิดกั้น กดทับ สยบยอม และสร้างมิติทางอำนาจอีกมากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อ ตัวบุคคลที่แขวน ไปถึงกลุ่มคน สภาพสังคม และ/หรือ การศึกษาด้วย

สุดท้ายแล้ว เรายังจะคบหากันด้วยป้ายชื่อได้อีกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายจะต้องพิจารณาดู

 

อ้างอิง: คำผกา. (2554). ก็ไพร่นี่ค่ะ. สำนักพิมพ์อ่าน : กรุงเทพฯ.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาสังคมกับบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

Posted: 24 Oct 2017 08:21 PM PDT


 

ประชาสังคม คือพื้นที่ที่เป็นการรวมตัวของภาคประชาชน หรือองค์กร ที่มีแนวคิดและทัศนคิร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการการจัดการเรื่องต่าง ๆ  ร่วมกัน หรือเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล สร้างเอกลักษณ์และความเห็นร่วมกัน ผลักดันแนวคิดหรือนโยบายบางอย่างร่วมกัน เพื่อเพิ่มพูนหรือพิทักษ์ผลประโยชน์ของสังคม

โดยหลักการแล้วภาคประชาสังคมเป็นภาคที่แยกออกมาจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ และเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่มีเป้าหมายในการเข้ามาควบคุมการกำหนดนโยบายของรัฐ ดังนั้นในคำจำกัดความนี้พรรคการเมืองจึงไม่ใช่ประชาสังคม เพราะพรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์ที่จะเข้ามาบริหารประเทศหรือเข้ามาควบคุมการกำหนดนโยบายของประเทศ

การให้ความสำคัญกับประชาสังคมในเวทีระหว่างประเทศ หมายความถึงการให้ความสำคัญกับตัวแสดงในระดับหน่วยย่อยของสังคม ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของประชาคมโลกมีความยุติธรรมและมีความชอบธรรมมากขึ้น 

ในความหมายที่กว้างที่สุดที่เราจะนำมาใช้ศึกษาเรื่อง "ประชาสังคมกับบทบาทในเวทีระหว่างประทเศ" นั้นเราจะให้ความหมายว่าประชาสังคมคือ พื้นที่ที่อยู่นอกรัฐบาล ครอบครัว และ ตลาด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ "ปัจเจกบุคคล"และ "องค์กรที่มีความสนใจร่วมกัน" ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ตัวอย่างขององค์กรประชาสังคมในปัจจุบัน เช่น กลุ่มชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน การเคลื่อนไหวทางสังคม สหภาพแรงงาน กลุ่มเชื้อชาติดั้งเดิม องค์กรการกุศล องค์กรทางศาสนาหรือความเชื่อสื่อมวลชนแวดวงการศึกษา กลุ่มคนพลัดถิ่น ที่ปรึกษา สถาบันศึกษาวิจัย สมาคมวิชาชีพ และมูลนิธิต่างๆ

ในอดีตประชาสังคมมีบทบาทเคลื่อนไหวอยู่ภายในรัฐ แต่โลกาภิวัตน์ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของการจัดการการปกครองโลกในรูปแบบใหม่ โดยเปิดพื้นที่ให้กับตัวแสดงใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non state actor) ที่สนใจการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดและดำเนินนโยบายของรัฐ ควบคู่ไปกับการขยายตัวของตัวแสดงที่เป็นบรรษัทข้ามชาติและตัวแสดงที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งตัวแสดงที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ เหล่านั้น

โดยปัจจุบันองค์กรประชาสังคม มีช่องทางอย่างเป็นทางการในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการการกำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นการช่วยทำให้ช่องว่างระหว่างรัฐบาลและประชาชนเข้ามาใกล้ชิดมากขึ้น  รัฐบาลประเทศออสเตรเลีย และประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เคยเชิญองค์กรประชาสังคมเข้าไปนั่งอยู่ในเวทีของสหประชาชาติในฐานะตัวแทนของประเทศ นอกจากนี้ภาคประชาสังคมหลายองค์กรมีที่นั่งของตัวเองในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเช่นพรรคสมัชชาแห่งชาติอาฟริกา (The African National Congress-ANC), คณะกรรมการการชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross) และ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (The Palestine Liberation Organization) เป็นต้น

มุมมองทางทฤษฎีที่มีความแตกต่างกันตีความบทบาทของประชาสังคมโลกไว้แตกต่างกัน เช่น กลุ่มเสรีนิยมมองประชาสังคมโลกไว้ว่า ช่วยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย โดยเป็นการให้แนวทางจากล่างขึ้นบนเพื่อให้การจัดการปกครองโลกมีประสิทธิภาพและมีความชอบธรรม เพราะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง กลุ่มสัจนิยม ตีความประชาสังคมว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้โดยประเทศมหาอำนาจเพื่อที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ  ด้วยเหตุนี้กลุ่มสัจนิยุมจึงมองกลุ่มประชาสังคมโลกไว้ว่าเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจ ส่วนกลุ่มมาร์กซิสม์ มองประชาสังคมโลกในฐานะพลังทางการเมืองที่สามารถท้าทายระเบียบที่วางรากฐานอยู่ในสังคม ส่วนบางกลุ่มก็มองข้ามแนวคิดประชาสังคมโลกว่าเป็นแนวคิดที่มาจากโลกตะวันตกซึ่งไม่สามารถนำมาประยุกต์กับสังคมตะวันออก หรือสังคมที่ยังไม่ทันสมัยว่าไม่สามารถแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างครอบครัวรัฐและตลาดเหมือนอย่างสังคมตะวันตกได้

อะไรคือสิ่งที่ส่งผลต่อการขยายตัวของประชาสังคมโลก

1)  สภาพแวดล้อมใหม่ที่มาจากโลกาภิวัตน์

โลกาภิวัตน์ได้เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมใหม่ที่ทำให้กิจกรรมต่างๆของประชาสังคมสามารถขยายตัวไปได้อย่างกว้างขวางและมีพลังมากขึ้น องค์กรประชาสังคมหลายองค์กรได้สร้างเครือข่ายข้ามชาติ และได้ทำงานในระดับระหว่างประเทศเพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นที่ประจักษ์ชัดงานเครือข่ายข้ามชาติอาจจะเป็นงานถาวรที่เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประชาสังคมหลายกลุ่มที่มีฐานอยู่ที่หลายๆประเทศและมีประเด็นในระดับโลกที่เฉพาะเจาะจงเช่นโครงการ

นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัตน์ได้เชื่อมโยงประชาชนในที่ต่าง ๆ ให้รับรู้สภาวะต่างๆ  ร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการแพร่กระจายของอินเตอร์เน็ต และการแพร่กระจายของวัฒนธรรมของโลก ได้ทำให้กลุ่มประชาสังคมโลกในหลายๆบริเวณของโลกสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นต่างๆในการทำงานร่วมกันซึ่งได้ทำให้กลุ่มประชาสังคมที่อยู่ในหลากหลายบริเวณของโลกได้เพิ่มความรู้ทักษะและแนวทางในการต่อรองทางการเมืองเพื่อที่พวกเขาจะได้มีบทบาทในสังคมมากขึ้น ซึ่งได้สร้างความรู้สึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกลุ่มประชาสังคมที่ทำงานแบบเดียวกันในหลายๆบริเวณของโลกซึ่งได้ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเป็นพวกเดียวกันที่ต้องการรถผลกระทบด้านลบที่มาจากโลกาภิวัตน์

2) การลดการผูกขาดจากภาครัฐ และเพิ่มบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่กระจายของโลกาภิวัตน์การตัดสินใจของรัฐได้ผูกขาดไว้ที่รัฐบาล และ องค์กรระหว่างประเทศที่มีรัฐบาลเป็นสมาชิกหลัก  แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ โลกาภิวัตน์ได้ทำให้การจัดการการปกครองโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยการบริหารการปกครองเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่มีหลายชั้น (multi layer) ในการกำหนดนโยบายหรือกำหนดการตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้ในการตัดสินใจในนโยบายต่างๆของรัฐจึงไม่ใช่การตัดสินใจที่มาจากคำสั่งโดยตรงของผู้มีอำนาจรัฐหรือผู้บริหารประเทศเท่านั้น แต่การบริหารการปกครองได้กลายเป็นการตัดสินใจที่จะต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ประชาสังคมเท่านั้นที่เป็นองค์กรที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐ แต่ยังมีตัวแสดงอื่นๆ อีก เช่น เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ องค์กรระหว่างประเทศ ท้องถิ่น สื่อมวลชนและชุมชน ที่เข้าไปเจรจาต่อรองเพื่อให้ผลประโยชน์ของกลุ่มของตนได้รับพื้นที่ในเวทีนโยบายสาธารณะ เช่นองค์กรเพื่อสตรีหลายองค์กรที่พยายามเข้าไปมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของสหภาพยุโรป หรือสหภาพแรงงานหลายแห่งพยายามเข้าไปมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และองค์การการค้าโลก

ในช่วงปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ประเทศต่างๆได้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานของรัฐในกิจการบางอย่างให้เป็นเอกชน (Privatisation) ซึ่งได้ทำให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรที่บริหารจัดการโดยรัฐหลายหลายแห่งได้ถูกขายไปยังบริษัทเอกชน ด้วยเหตุนี้ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบยุโรปตะวันตก บทบาทของรัฐในกิจการสาธารณะจึงลดน้อยลงไปโดยปริยาย ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ประชาสังคมได้มีบทบาทมากขึ้นในการเข้าร่วมกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ หรือแนวทางการทำงาน ของกิจการต่างๆเหล่านั้น โดยองค์กรหลายๆองค์กรของรัฐได้ให้ประชาสังคมได้นำหลายๆนโยบายไปทำเอง เช่นกลุ่มประเทศ OECD ได้ให้เงินผ่านประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชนให้ไปทำงานต่างๆให้กับรัฐ

3) บทบาทที่มากขึ้นของภาคประชาสังคมในองค์การระหว่างประเทศ

องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรให้การสนับสนุนประชาสังคมโลกในกระบวนการตัดสินใจระหว่างประเทศเช่นในปี พ.ศ. 2535 ในการประชุม UN Earth Summit ที่นคร Rio de Janeiro ได้มีช่องทางและวิธีการในการทำให้กลุ่มประชาสังคมต่างๆพบปะกันและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน นอกจากนี้สหภาพยุโรปที่ได้ใช้วิธีการเดียวกันกับการประชุม UN Earth Summit ในการบูรณาการประชาสังคมกลุ่มต่างๆเข้าไว้ในกลไกการบริหารของรัฐ ในปัจจุบันองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กรได้จัดทำกลไกที่มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพกับประชาสังคม  ซึ่งการที่องค์กรระหว่างประเทศได้มีพื้นที่ให้กับประชาสังคมโลกได้ทำให้องค์กรระหว่างประเทศเหล่านั้นมีความชอบธรรมมากขึ้นในการนำเสนอนโยบายของตน

ตัวแทนจากภาคประชาสังคมมีพื้นที่ในระดับนานาชาติมากขึ้น  เช่น สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union - IUCN) ให้พื้นที่ภาคประชาสังคมในการเข้าไปเป็นตัวแทนเจรจาต่อรองกับตัวแทนรัฐบาล โดยประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 83 ประเทศ ตัวแทนรัฐบาล 108 กลุ่ม และมีองค์กรภาคประชาสังคมในองค์กรนี้ถึง 766 กลุ่ม  นอกจากนี้ในที่สำนักงานกิจการการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disarmament Affairs -UNODA) ยังให้บทบาทและเห็นคุณค่าขององค์กรภาคประชาสังคมในการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์  (UNODA, 2017) โดยการทำรายงานบทบาทของภาคประชาสังคมที่มีส่วนในการลดอาวุธ นอกจากนี้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora-CITES) ยังได้กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ปี พ.ศ. 2551-2563 ในความพยายามที่จะต้องขยายบทบาทในความร่วมมือกับภาคประชาสังคม (CITES, 2017) และ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees) ที่เห็นความสำคัญมากขึ้นในการเพิ่มบทบาทกับภาคประชาสังคม (UNNGLS, 2017)

สรุป

ในยุคปัจจุบัน ประชาสังคมกลายไปเป็นตัวแสดงที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยกลายไปเป็นตัวแสดงมีความสำคัญและมีอิทธิพลมากขึ้นในเรื่องการกำหนดแนวทางในการสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ แนวปฏิบัติระหว่างประเทศ และการติดต่อกันทางการทูต นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการติดตามและนำประเด็นระดับโลกไปปฏิบัติอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่การค้า การพัฒนา การลดความยากจน การส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การส่งเสริมสันติภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการส่งเสริมความมั่นคง บทบาทต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เองทำให้เวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะละเลยไม่ให้ความสำคัญกับ "ประชาสังคมโลก" ไม่ได้เลย


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: มองอาเจะห์ มองไทย

Posted: 24 Oct 2017 08:12 PM PDT




เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมและคณะทำงาน "ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทย (Transitional Justice,Thailand) "ได้มีโอกาสไปร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการของ Transitional Justice Asia Network เกี่ยวกับเรื่อง The Role of Truth in Strengthening Peace in Asia ที่อาเจะห์ อินโดนีเซีย โดยมีผู้เชียวชาญจากประเทศต่างๆที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการปัญหาความขัดแย้ง เช่น ติมอร์ตะวันออก,ฟิลิปปินส์,ศรีลังกา,เกาหลีใต้,พม่า,อินโดนีเซียและอดีตผู้เชี่ยวชาญประจำสหประชาชาติมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

ผมอยากไปอาเจะห์มานานแล้วด้วยเหตุสำคัญในสองเรื่อง เรื่องแรกคืออาเจะห์ถูกคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมื่อ 26 ธันวาคม 2004 จนมีผู้เสียชีวิตกว่าสองแสนคน เรื่องที่สองคือการที่อาเจะห์มีความขัดแย้งกับรัฐบาลอินโดนีเซียจนถึงขั้นการใช้อาวุธและมีผู้เสียชีวิตเกือบสามหมื่นคนแต่สามารถยุติปัญหาจนสามารถจัดการตนเอง (self determination) ได้สำเร็จ

อาเจะห์มีอธิปไตยเป็นของตนเองมาตั้งแต่ปี 840 โดยการประกาศของSayyed Maulana Abdul Aziz Shah อาเจะห์ผ่านความรุนแรงมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การต่อสู้กับดัชท์ที่พยายามใช้กำลังเข้ายึดครองอาเจะห์ให้เป็นอาณานิคมของตนแต่ไม่สำเร็จ แต่หลังจากที่อินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชเมื่อ 17 สิงหาคม 1945 อินโดนีเซียได้ถือโอกาสผนวกรวมเอาอาเจะห์ไปเป็นส่วนหนึ่งของตน และในปี 1976 ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ (Free Aceh Movement หรือ Gerakan Aceh Merdeka-GAM) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธได้ประกาศปลดปล่อยอาเจะห์ในสมัยของรัฐบาลทหารซูฮาร์โต ต่อมาในปี 1989 กองทัพอินโดนีเซียประกาศให้อาเจะห์เป็นเขตการปฏิบัติการทางทหาร(daerah operasi militer-DOM) ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการสังหารเข่นฆ่า จับกุมคุมขังและทรมานประชาชนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามได้มีการพยายามเจรจากันมาตลอดจนสุดท้ายได้มีการลงนามระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับGAMเรียกว่าข้อตกลงเฮลซิงกิ(Helsinki MOU)ในปี 2005 ซึ่งเกิดภายหลังที่เกิดสึนามิ โดยหลายฝ่ายเข้าใจว่าเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้สำเร็จ ซึ่งแท้ที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้น แต่เหตุการณ์สึนามิก็เป็นส่วนสำคัญที่เป็นตัวเร่ง(catalyst)ทำให้ให้การตกลงทำได้เร็วและง่ายขึ้น

ข้อตกลงเฮลซิงกิตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายที่จะยึดหลักสันติวิธีและหลักประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีการนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับGAMทั้งหมดและกำหนดให้อาเจะห์เป็นเขตปกครองตนเองที่มีอำนาจในการบริหารปกครองกิจการสาธารณะของอาเจะห์ในทุกด้าน ยกเว้นด้านการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ การเงิน และเสรีภาพในการนับถือศาสนา

นอกจากนั้นยังกำหนดให้รายได้ที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเลของท้องถิ่นนั้นจะจัดสรรให้แก่อาเจะห์ในอัตราส่วนร้อยละ 70 ซึ่งคล้ายคลึงกับร่าง พรบ.ระเบียบบริหารเชียงใหม่มหานครฯหรือร่าง พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเองฯ ที่เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองได้รณรงค์กันมาโดยตลอด

อีกทั้งยังมีข้อตกลงในการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน (Human Rights Court) และคณะกรรมการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) การปฏิรูปสถาบัน (Institutional Reform) ขึ้นมาอีกด้วย ส่วนการที่อาเจะห์ใช้กฎหมายชารียะห์ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงตั้งแต่แรกแต่อย่างใดแต่เป็นการขยายความมาใช้ในภายหลัง

เหตุที่ทำให้อาเจะห์กลับคืนสู่สันติภาพได้สำเร็จ

1) ผู้นำต้องมีความมุ่งมั่นในการเจรจา

ประธานาธิบดียุทโธโยโนและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่างมุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อที่ยุติสงครามที่เกิดขึ้นให้ได้ด้วยสันติวิธี โดยพยายามโน้มน้าวกองทัพให้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วยตนเอง ซึ่งแม้ทางกองทัพจะลังเลในช่วงแรกแต่ก็เห็นด้วยในท้ายที่สุด

2) ผู้นำต้องมีความจริงใจ

รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มจากการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ทุกฝ่ายมีช่องทางแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกต่างๆ อย่างอิสระ เพื่อให้ฝ่ายที่มีความคับข้องใจได้รู้สึกว่ารัฐบาลได้ยินเสียงของตน หรือส่งสัญญาณว่าต้องการจะพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่สนใจจะคุยโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะและต้องไม่มองว่าคู่เจรจาคือศัตรู แต่เป็นเพื่อร่วมชาติที่แตกต่างในด้านความเชื่อหรือมีเป้าหมายที่แตกต่างจากเรา

3) ตัวกลางต้องมีประสิทธิภาพ

การเจรจาที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคู่เจรจา ต้องเป็นประเทศที่มีประสบการณ์และมีความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดความสำเร็จอย่างแท้จริงโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและต้องอยู่ห่างไกลกับพื้นที่ที่ทำการเจรจา ซึ่งในกรณีนี้เริ่มที่เจนีวาและมาสำเร็จที่เฮลซิงกิ แต่ของไทยเราทำที่มาเลเซียซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันมาเลเซียมีประชาชนที่มีเชื้อสายมลายูเช่นเดียวกับคู่เจรจาของรัฐไทย ย่อมเป็นการยากที่จะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งผู้แทนของอาเจะห์ที่มาร่วมประชุมฯให้ข้อสังเกตแบบขำๆแต่ผมเห็นว่าเป็นความจริงคือ "อย่าเจรจาในเขตพื้นที่อาเซียนด้วยกัน"

4) ต้องมีการนำ "ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน(Transitional Justice)"มาใช้เป็นเครื่องมือ

การค้นหาความจริง(Truth Seeking) การเยียวยา(Reparations) การสอบสวน(Prosecutions)และการปฏิรูปสถาบัน(Institutional Reform) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของ "ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน"ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่อาเจะห์อย่างเหมาะสม

แม้ว่าในบางเรื่องอาจจะยังทำไม่สำเร็จเพราะตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเล็กน้อย เช่น เรื่องธง(flag)ที่จะใช้เป็นธงประจำอาเจะห์ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกลางเห็นว่ารูปแบบออกไปทางกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายมากไปหน่อยหรือเรื่องเพลง(Hymn)ก็ยังไม่ได้ทำ เป็นต้น แต่จะเห็นได้ว่ากว่าที่อาเจะห์จะอยู่ในสภาพปัจจุบันได้ ต้องผ่านประสบการณ์มาอย่างยาวนาน กอรปกับได้เกิดเหตุการณ์สึนามิเข้ามาเป็นตัวเร่งให้การเจรจาสำเร็จด้วยเหตุที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าไม่มีทางที่จะเกิดสันติได้หากตราบใดยังมีการใช้กำลังอาวุธเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน

เมื่อมองอาเจะห์แล้วหันมามองบ้านเรา จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้เราแทบจะไม่แตกต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ก่อนที่จะเกิดสันติภาพเลย ฉะนั้น จึงควรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้หันมาพิจารณากันจริงจัง ลดทิฐิมานะ ลดความระแวงซึ่งกันและกัน นำบทเรียนที่เกิดขึ้นในอาเจะห์และประเทศอื่นที่ผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วมาปรับใช้ เช่น กรณีบังสาโมโรในฟิลิปปินส์และกรณีศรีลังกาที่จบลงด้วยการเจรจา หรือกรณีติมอร์ตะวันออกที่มุ่งแต่ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามจนจบลงด้วยการเสียดินแดนไปในที่สุด

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น