โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'สรรเสริญ' ย้ำ ห้ามสื่อเฟซบุ๊กไลฟ์ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

Posted: 11 Oct 2017 09:39 AM PDT

อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ระบุไม่ให้สื่อมวลชนไลฟ์สดผ่านโซเชียล และไม่ให้แชร์ไลฟ์จากประชาชนมาในเพจตัวเองด้วย ทำได้เพียงดึงสัญญาณทีวีพูลเท่านั้น ประชาชนสามารถไลฟ์สด และบันทึกภาพได้ เพียงแต่บางจุดจะมีการตัดสัญญาณ

ภาพจาก armypr_news‏ 

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ต
.ค.นี้  ว่า ขณะนี้มีสื่อลงทะเบียนทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ แล้วทั้งหมด 1,687 คน โดยเตรียมเปิดให้สื่อออนไลน์ลงทะเบียนขอรับบัตรเข้าปฏิบัติงานหลังจากนี้ได้เพิ่มเติม

ส่วนกรณีเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการสอบถามเรื่องอุปกรณ์การถ่ายภาพ ที่ประชุมเห็นชอบให้อนุญาตให้ใช้ขาตั้งกล้องแบบสามขาได้ จากเดิมที่อนุญาตให้ใช้ได้เพียงขาตั้งกล้องแบบขาเดียว หรือ โมโนพอด ได้เพียงชนิดเดียว ส่วนกล้องถ่ายภาพ ให้อนุญาตให้ใช้กล้องแบบ DSLR ได้ แต่ต้องใช้ตามที่ลงทะเบียนเท่านั้น คือ วิดีโอหรือภาพนิ่งเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้กรมประชาสัมพันธ์ จัดทำคู่มือสื่อมวลชนไว้ 15,000 ชุด แบ่งเป็นภาษาไทย 10,000 ชุด และภาษาอังกฤษ 5,000 ชุด ซึ่งจะแจกในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้สามารถดาวน์ไฟล์อีบุ๊ค ได้ที่ www.kingrama9.th

พล.ท.สรรเสริญ ย้ำด้วยว่า ไม่ให้สื่อมวลชนไลฟ์สดผ่านโซเชียล และไม่ให้แชร์ไลฟ์จากประชาชนมาในเพจของตัวเองด้วย ทำได้เพียงดึงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเท่านั้น แต่ประชาชนสามารถไลฟ์สด และบันทึกภาพได้ เพียงแต่บางจุดจะมีการตัดสัญญาณ โดยสื่อมวลชนสามารถอยู่ได้เพียง 2 จุด ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ คือ หอประชุม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบนอัฒจันทร์ ที่จัดไว้เท่านั้น

สำหรับประชาชนที่จะเดินทางมาที่สนามหลวง มีพื้นที่อยู่ทั้งหมด 150,000 ตารางเมตร รองรับประชาชนได้ประมาณ 250,000-300,000 คน เพียงแต่จะมีเพียง 40,000 คนเท่านั้น ที่จะได้เห็นริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เบื้องต้นมีการเตรียมสถานที่อำนวยความสะดวก ทั้งห้องน้ำภายในสถานที่ราชการ รถสุขาเคลื่อนที่ และขอให้เตรียมตัวทั้งอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคต่างๆ เนื่องจากจะต้องอยู่รอริ้วขบวนพระราชอิสริยยศตั้งแต่ช่วง 05.00 น. ของวันที่ 25 ต.ค. ไปจนถึงวันที่ 26 ต.ค. อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถเดินผ่านเข้า-ออก จุดคัดกรองได้ แต่ถ้าหากออกไปแล้ว จะต้องเสียพื้นที่ให้กับประชาชนคนอื่นไป  ทั้งนี้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป จะมีการประชุมกอร.พระราชพิธีฯ ที่กระทรวงกลาโหมทุกวัน ในเวลา 10.00 น. และจะแถลงข่าวหลังการประชุมทุกวัน เวลา 13.00 น.

ที่มา :  จส.100

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลุก ‘ปีศาจ’ กับ กิตติพล สรัคคานนท์

Posted: 11 Oct 2017 09:36 AM PDT

คุยกับ กิตติพล สรัคคานนท์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี ผู้ก่อตั้ง 'รางวัลปีศาจ' รางวัลวรรณกรรมหน้าใหม่ ที่สนับสนุนแนวคิดที่ก้าวหน้า มีมาตรฐานอย่างต่ำคือความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน กับแนวคิดของรางวัลที่ "ผู้มอบรางวัลรู้สึกขอบคุณที่คุณทำสิ่งนี้ด้วยใจจริง และผู้รับไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ หรือต้องค้อมตัวลงไปรับ"

ชวนมองวงการวรรณกรรมไทยจากจุดเริ่มต้นของรางวัลซีไรต์ ความเป็นซีไรต์ที่ควรถูกตั้งคำถาม ด้วยพิธีการรกรุงรังไม่จำเป็นเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล กระบวนการตัดสินที่ปิดลับ โครงสร้างของคณะกรรมการที่มีความเป็นพวกพ้อง กรรมการที่ไม่จำเป็นต้องอ่านงานเขียนในการตัดสินผู้ได้รางวัล ความเป็นสถาบันของซีไรต์ที่ในที่สุดก็หนีไม่พ้นการสนับสนุนค่านิยมกระแสหลัก อันเป็นที่มาของรางวัลปีศาจ ที่กิตติพลบอกว่า เป้าหมายหลักอาจไม่ใช่การท้าทายซีไรต์ แต่เป็นการทำ "สิ่งที่ควรมีมาตั้งนานแล้ว" ให้เป็นรูปธรรมสักที

กิตติพล สรัคคานนท์


วงการวรรณกรรมกับจุดเริ่มต้นของรางวัลซีไรต์ เมื่อไหร่ที่เราเริ่มตั้งคำถามกับความเป็นซีไรต์?

ในความรู้สึกผม ซีไรต์มันเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ มันมีนัยสำคัญทางการเมือง เป็นที่รู้กันว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ภายหลังการหนีเข้าป่าของนักศึกษา ภายหลังการเคลื่อนไหวของพคท. มันส่งผลกับความคิดและแน่นอนส่งผลกับวรรณกรรม ซีไรต์เกิดขึ้นมาอย่างน่าคิด เพราะมาพร้อมๆ กับการโปรโมทรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ซึ่งคำนี้มีนัยสำคัญยังไงบ้าง หลายคนบอกว่าวรรณกรรมที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะเป็นรัฐหรืออะไรก็ตามไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ก็คือวรรณกรรมเพื่อชีวิต หรือพูดง่ายๆ ว่าวรรณกรรมฝ่ายซ้าย

วรรณกรรมเพื่อชีวิตเหล่านี้สำหรับผม โอเค มันมีความเชย มันมีการเทศนา สั่งสอนอยู่ก็จริง แต่เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นนักเขียนคนหนึ่ง ตั้งคำถามว่าทำไมชาวนาต้องพูดภาษามาร์กซิส หรือทำไมต้องพยายามพูดเรื่องการขูดรีดทางชนชั้น ทำไมถึงต้องถูกโจมตีว่า นี่มันเชยว่ะ ไม่สมจริงเลยให้ชาวนามาพูดเรื่องพวกนี้ ปรากฎว่ามันสมจริงเพราะชาวนาก็สนใจจริงๆ ในช่วงเวลานั้นที่แนวความคิดนี้มันแพร่หลาย (พ.ศ. 2518-2519)

คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรียังพูดอยู่เลยว่าเขาใช้เวลาทั้งชีวิตต่อสู้กับวรรณกรรมที่ 'ตกหล่มเพื่อชีวิต' ซึ่งสำหรับผม ผมรู้สึกว่า โห ทำไมไม่ต่อสู้กับอำนาจแต่ไปต่อสู้กับวรรณกรรมที่คิดเรื่องการต่อสู้กับอำนาจ

สำหรับผม ทำไมชาวนาต้องพูดแนวคิด ปรัชญาแบบมาร์กซิส หรือเหมาอิส เพราะมันเป็นความคิดหรือปรัชญาเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เขาตระหนักได้ว่ามีเท้าที่เหยียบเขาลงมา ทำให้รู้สึกถึงน้ำหนักที่กดลงมาบนหัวเขาหรือตัวเขาได้ เพราะเวลาที่เขาพูดภาษาพวกนี้ พูดกับคนอื่นว่าวันหนึ่งเราจะเท่ากัน วันหนึ่งเราจะไม่ต้องเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่การเทศนาสั่งสอนทั่วไป แต่มันคือภาษาที่ทำให้เขาตระหนักได้ถึงจุดที่เขายืนอยู่

เพราะฉะนั้นถ้าเราจะโจมตีเรื่องอุดมคติว่ามันไม่ซับซ้อนเพียงพอที่จะอธิบาย หรือจะบอกว่ากลวิธีการเขียนแบบนี้มันไม่แนบเนียน ก็ว่าไปเรื่องๆ

แต่ทีนี้สิ่งที่วรรณกรรมสร้างสรรค์มันพยายามเข้าไปโจมตีวรรณกรรมเพื่อชีวิตเพื่อให้มันเข้ามาแทน คือมันโจมตีเรื่องความเป็นน้ำเน่า พูดแต่เรื่องซ้ำๆ ซึ่งผมคิดว่าถ้าโลกยังไม่เปลี่ยน ความคิดทางสังคมยังต้องต่อสู้กันไปแบบนี้ ความเป็นน้ำเน่าไม่ใช่เหตุผลที่เราจะโจมตี เพราะถ้าสิ่งที่เราพูดมันเป็นความจริง และความจริงต้องพูดแบบนี้ มันก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

การพูดว่าน้ำเน่าจึงเป็นการโต้แย้งที่ผิดประเด็น แต่เพราะฉะนั้นวรรณกรรมสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นมาด้วยความคิดว่า โอเคเราจะไม่พูดแบบเดิม ด้านหนึ่งมันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี เราจะหาวิธีที่สร้างสรรค์ แล้วสร้างสรรค์ยังไงดีล่ะ ก็อาจจะไปพูดเรื่องนายทุน นักการเมือง หรือวิธีการอื่นที่สร้างสรรค์ขึ้น ไม่ใช่ตกหล่มเพื่อชีวิต ดังนั้นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับการขับเคลื่อนแนวคิดบางอย่าง และน่าสนใจว่าบุคคลกรที่เข้าไปขับเคลื่อนส่วนหนึ่งก็เป็นซ้ายเก่า

คุณวัฒน์ วรรลยางกูร ตั้งข้อสังเกตว่า ซีไรต์ คือการคืนดีกันระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย คือการต้อนนักเขียนฝ่ายซ้ายกลับมาเข้าคอก คุณไม่ต้องเป็นนักเขียนคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องเขียนงานเพื่อชีวิต หรือซ้ายแบบเดิม คุณมาเขียนงานที่มันสร้างสรรค์ และสามารถให้เงิน ให้ฐานะทางสังคมแก่คุณได้ รางวัลซีไรต์จึงเกิดขึ้นมาในลักษณะที่เป็นการเมืองมาก

และที่สำคัญกรรมการที่จัดงานกับกรรมการที่คัดเลือกคือคนละชุดกัน กรรมการที่จัดงานส่วนใหญ่จะมีบรรดาศักดิ์ เป็นชนชั้นสูงมาตั้งแต่ต้น มันเลยยากจะมีข้อถกเถียง

วรรณกรรมสร้างสรรค์ด้านหนึ่งมันไม่ใช่อาเซียนทั้งหมดหรอก พูดง่ายๆ เป็นแค่ประเทศเราด้วยซ้ำ ถึงแม้จะมีการพยายามจะทำร่วมกัน แต่สำหรับผมผมมองว่ามัน local และมีความเปลี่ยนแปลงในตัวมันเองด้วย เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นการให้ทุกคนส่งประกวด มันเป็นลักษณะการคัดเลือก แต่ตอนคุณคมทวน คันธนูปฏิเสธที่จะรับรางวัล ก็เลยเกิดการปรับเปลี่ยนกติกาอีกครั้งคือจะไม่ใช่วิธีการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอีกแล้ว แต่จะใช้วิธีให้ทุกคนส่งเข้ามาประกวด

สำหรับผมซีไรต์มีงานที่แปลกที่ล้ำก็จริง แต่ว่าด้านหนึ่งมันก็จะมีงานที่ไม่ค่อยเป็นภัยทางการเมือง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่ประนีประนอมทางความคิดบางอย่างอยู่เสมอ ซึ่งผมคิดว่าคนที่รับรางวัลเองก็เช่นกัน เขารู้ว่าถ้าเขายอมที่จะรับเขาก็ต้องไม่มีปัญหากับอะไรบางอย่างที่เป็นใจกลางของปัญหาทั้งหมดในประเทศนี้

และบังเอิญว่ารางวัลนี้ก็เป็นรางวัลเดียวที่จัดมาต่อเนื่องยาวนาน และเป็นรางวัลเดียวที่ทำให้หนังสือถูกบรรจุเข้าไปในระบบการศึกษา เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา มันจึงเกิดเป็นอำนาจบางอย่าง คุณได้ตราอันนี้คุณสามารถขายผลงานของคุณได้ บรรดาสายส่งก็ต้องการส่งหนังสือที่เป็นซีไรต์เพราะรู้ว่า volume (ปริมาณ) มันเยอะในหลายๆครั้ง ไม่ได้หมายความว่านักเขียนจะรวยขึ้น แต่การมีหนังสือได้ซีไรต์ก็เป็นเครื่องประกันว่าคุณจะขายงานคุณได้ คนจะอ่านไม่อ่านไม่รู้แต่ก็จะมีคนซื้อไปเรื่อยๆ

โครงสร้างของกรรมการคัดเลือกและกรรมการตัดสินก็มีความเกี่ยวข้องกับสมาคมนักเขียน สมาคมผู้จัดพิมพ์ คล้ายๆ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ – ที่มีทหารนั่งเก้าอี้อยู่จำนวนมาก) นั่นหมายความว่ามันจะมีอำนาจบางอย่างที่สามารถกำหนดกรรมการอะไรพวกนี้ได้ แต่ถึงเวลาตัดสิน คิดว่ามันก็มีช่วงที่เสียงแตกเหมือนกัน ไม่ได้สอดคล้องกันทั้งหมด

ยุคหนึ่ง เรื่องเงาสีขาว ของแดนอรัญ แสงทองถูกเสนอให้ได้ แต่ก็ไม่ได้ มาได้หลังจากนั้นที่เป็นงานที่ซอฟท์ลงมา เชิงศาสนา เชิงนิทาน อย่างเรื่องอสรพิษ ก็เลยคิดว่าในจุดหนึ่งซีไรต์เป็นรางวัลที่สร้างสรรค์ในเชิง conservative ทางความคิดมาตั้งแต่เริ่มแรก

งานวรรณกรรมในความรู้สึกคุณต้องเป็นงานที่ไม่ประนีประนอมกับอำนาจ?

ผมไม่ได้พยายามจะเข้าใจวรรณกรรมในเชิงที่เป็นปรัชญาความคิดแบบลึกซึ้งมาก่อน จนกระทั่ง 4-5 ปีที่ผ่านมาพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิยาม คอนเซปต์เกี่ยวกับการเขียน วรรณกรรม เวลาที่ฝรั่งคิดเขาคิดแบบซีเรียสจริงๆ มันเลยทำให้เห็นว่าแนวคิดที่เรามาพูดกันเล่นๆ อย่าง นักประพันธ์ตายแล้ว อำนาจของการอ่านอยู่ที่นักอ่านผู้ตีความ นักอ่านคือนักเขียนอีกครั้งหนึ่ง ทฤษฎีที่เราเพิ่งมาพูดกันจริงๆ มันก่อตั้งขึ้นก่อนหน้า โรล็องด์ บาร์ตส์ อีก (Roland Barthes – นักวิพากษ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส ผู้เสนอแนวคิดความตายของผู้ประพันธ์)

โลกตะวันตกถกเถียงเรื่องวรรณกรรมกันแบบรุนแรงมากๆ ในขณะที่บ้านเราเซ็ตเพดานการเขียนไว้ค่อนข้างต่ำในเชิงความคิด พอไปอ่านจึงรู้สึกมีหลายแนวคิดที่เราจะไม่เห็นในงานเขียนของบ้านเรา

แต่ในโลกตะวันตกเอาการเขียนไปผูกกับการปฏิวัติ ให้เหตุผลการมีอยู่ของวรรณกรรมหรือรากฐานของวรรณกรรมว่าเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มันอยู่กับที่ไม่ได้

นวนิยายคือสิ่งที่จัดประเภทไม่ได้ในตอนต้น เพราะมันก่อกวน ปั่นป่วนคนอ่าน เหมือนงานของ แดเนียล เดอโฟ (Daniel Defoe) เรื่อง โรบินสัน ครูโซ (Robinson Crusoe - เรื่องราวเกี่ยวกับการติดเกาะร้างอยู่ 36 ปี บนเกาะเขตร้อนชื้นอันไกลโพ้น) ตอนที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้แต่ง มันคืองานที่บอกไม่ได้ว่าคือเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงของคนที่ไปติดเกาะ มันปั่นป่วน ทำให้รู้สึกว่านี่แหละคือความหมายของวรรณกรรม ทำจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ให้มีอยู่ แล้ววันหนึ่งมันก็รื้อและทำใหม่ไปเรื่อยๆ

ผมรู้สึกว่าเราแทบไม่เคยเข้าไปเรียนรู้เรื่องพวกนี้เลย เพราะในเวลาที่เราสถาปนางานเขียนไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น ร้อยแก้วก็ดี เราถกเถียงแต่เรื่องว่าเราควรได้ตังค์ไหม มันควรเป็นวิชาชีพได้ไหม ซึ่งโลกตะวันตกมันถกเถียงไปถึงขั้นว่า เวลาคุณตั้งใจเขียนให้คนอ่าน คนอ่านไม่ได้อ่านหรอก เพราะงานเขียนทุกชนิดเมื่อคุณโยนมันลงไปมันตัดขาดจากผู้เขียนแล้ว ผู้อ่านเป็นผู้กำหนดความหมายของมัน เพราะฉะนั้นเวลาคุณจะเขียนอะไรขึ้นมาคุณต้องทำในสิ่งที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง มันต้องสร้างความปร่าแปร่งไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

งานเขียนก็จะมีพลังขับเคลื่อนในเรื่องพวกนี้ไป เพราะฉะนั้นงานเขียนมันจึงไม่เคยเหมือนเดิม วันนี้สิ่งที่เรียกมันว่านวนิยายก่อนหน้านี้อาจไม่ใช่นวนิยาย นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจและวางนิยามใหม่ โดยที่เราต้องไม่ลืมด้วยว่า โลกของการเขียนการอ่านไม่ได้อยู่ในสิ่งพิมพ์อย่างเดียวอีกแล้ว มันมีมิติต่างๆ ในโลกโซเชียล ซึ่งเป็นอีกหลายช่องทางที่เราต้องเริ่มเรียนรู้

เพราะฉะนั้นรางวัลวรรณกรรมที่ทำกันอยู่อย่าง 'ปีศาจ' ถึงมองว่าหนังสือมันเป็นแค่ฟอร์มอันหนึ่งเท่านั้นเอง มันไม่ควรจะเอาแค่ฟอร์มอันนี้มาส่งประกวด แต่เราควรจะกลับไปที่ต้นทาง ความเป็นต้นฉบับ คนที่ไม่พิมพ์เป็นหนังสือเลยก็ยังประกวดได้ เพราะถ้าเชื่อว่างานเขียนมีศักยภาพของมันก็ไม่ควรจำกัดรูปฟอร์มแค่ความเป็นหนังสือที่ผ่านสำนักพิมพ์ อันนี้ก็คือคำตอบที่ว่าทำไมงานเขียนจึงต้องเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลง ต้องท้าทายกับอำนาจข้างบนด้วย ในที่นี้อำนาจข้างบนก็มีหลายรูปแบบมาก

แต่วรรณกรรมสร้างสรรค์เรามักจะติดว่า พอพูดถึงเรื่องการเมืองปุ๊บ พอวรรณกรรมตกหล่มการเมืองปุ๊บ มันก็เชย บางทีกูรูหรือผู้รู้ทางด้านวรรณกรรมก็หวาดกลัวที่จะตกหล่มนู้นนี้นั่นเกินไป จนลืมนึกว่ามันไม่มีหรอกอะไรแบบนั้น ไอ้สิ่งที่เรียกว่าหล่มเพื่อชีวิต เพราะบางอย่างถ้ามันเป็นความจริงผมว่ามันก็พูดได้ไม่กี่แบบ และยังต้องพูดซ้ำๆ อยู่ และผมคิดว่ารูปแบบของวรรณกรรมที่ท้าทายอำนาจมันก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ ผู้ตีความกฎหมายเป็นผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ตีความกฎหมายเป็นผู้มีอำนาจในเวลานี้ เราก็ไม่มีอำนาจ เราก็ต้องระมัดระวังเท่านั้นเอง ในฐานะผู้สร้างวรรณกรรมเราก็ต้องสร้างวรรณกรรมเพื่อไปต่อสู้

วรรณกรรมไทยถูกจำกัดด้วยผู้อ่านและผู้ตีความทางกฎหมาย?

ตอนนี้มีสองเรื่องที่ซ้อนกันอยู่ เวลาเราพูดถึงเสรีภาพ โลกปกติมีความน่าสนใจตรงที่มันมีหลายๆ สูตร แม้กระทั่งสมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ก็ยังเสนอสูตรว่ามีการเลือกตั้งไม่พอ ต้องมีการตรวจสอบอำนาจได้ด้วย ในขณะเดียวกันต้องมีเสรีภาพการแสดงออก แต่ของเราแม้กระทั่งช่วงที่เรามีเสรีภาพที่สุดเราก็มีแค่เลือกตั้ง การตรวจสอบแทบทำไม่ได้

แต่วรรณกรรมมีข้อได้เปรียบ นักเขียนมีข้อได้เปรียบ รวมทั้งผู้ทำงานสร้างสรรค์อีกหลายประเภทมีข้อได้เปรียบ ตรงที่ในโลกที่คุณถูกจำกัด แค่จัดวางบางอย่างที่ถูกห้ามแต่ในลำดับขั้นตอนที่เรารู้สึกว่ามันสื่อความหมายบางอย่างได้ ก็พูดในเรื่องที่ถูกห้ามพูดได้แล้ว หน้าที่ของศิลปินหรือนักเขียนก็คือการเข้าไปเขย่าสิ่งที่ถูกจำกัดไว้

แน่นอนบางเรื่องคุณพูดไม่ได้ ถ้าคุณพูด ไม่ได้เดือดร้อนแค่ตัวคุณ คนพิมพ์ บก. ของคุณ ก็จะเดือดร้อน แต่คุณเป็นนักเขียน คุณสามารถพูดได้ แต่ต้องคิดว่าจะพูดมันยังไง และสิ่งที่ทำให้นักเขียนได้เปรียบนักวิชาการก็คือนักวิชาการต้องพูดบนฐานของความจริง แต่นักเขียนแต่งได้ สร้างได้ บางอย่างที่คุณขาด คุณใช้ทริคบางอย่างได้ แต่สิ่งที่วินทร์ เลียววาริณทำมันคือการใช้ทริคบางอย่างเพื่อไปซับพอร์ทบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องมีการซับพอร์ทในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งสำหรับผมมันไม่ท้าทาย

จุดเริ่มต้นและความเป็นไปของ 'ปีศาจ'?

กิจกรรมหลายๆ ปีทำให้ผมพบปะผู้คนมากขึ้น การจัดงานเสวนาล่าสุดทำให้พบกับนักวิชาการบางท่านที่คิดตรงกันว่า ทำไมเราไม่สถาปนารางวัลสักอย่างที่ไม่ต้องอิงกับอำนาจที่มีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดแต่ยังไม่มีเวลาริเริ่ม เขามีงบประมาณให้ในระยะยาว อาจจะถึงสิบปี และหลังจากที่ได้คุยกับพี่จอย (ศราพัส บำรุงพงศ์-ปทุมรส, ลูกสาวของเสนีย์ เสาวพงศ์) เพื่อขออนุญาตอ้างชื่อ 'ปีศาจ' ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เขาก็เห็นว่ามันมีความเป็นไปได้ เราก็กล้าที่จะทำตามแผนต่อไป

รางวัลปีศาจมีบทเรียนมาจากซีไรต์หรืออีกหลายอย่าง คือแม้สำหรับผมกรรมการบางท่านก็น่าสนใจและเลือกตัดสินอะไรได้บ้าง แต่เรามองว่ารางวัลนั้นมีข้อปัญหาสำคัญคือ มีนักเขียนกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่สบายใจที่จะขึ้นรับรางวัล เขาอยากจะจอยกับนักเขียนอาเซียน แต่เขารู้สึกไม่สบายใจและไม่รู้จะวางตัวยังไงกับการขึ้นรับรางวัล อันนี้สำคัญเพราะบางคนถึงขั้นไม่อยากประกวดเพียงเพราะไม่อยากรับรางวัล

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเรื่องพิธีการพิธีกรรมเขาคิดกันค่อนข้างมาก สำหรับผม เราควรจะตัดตรงส่วนนี้ เพราะเราก็ทราบข้อเท็จจริงบางอย่าง เรารู้ว่าเวลาที่มีพิธีการระดับนั้น สปอนเซอร์ล้านหนึ่งก็ใช้ไม่พอ พิธีการมอบรางวัลมีทุกอย่างตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ เชิญแขกเหรื่อต่างๆ จัดเลี้ยง มอบรางวัล เป็นผมผมเอาเงินสองแสนสามแสนใส่มือนักเขียน ตัดพิธีการออกจะดีกว่าไหม แต่ซีไรต์ไม่เคยปัดฝุ่นตรงนี้

สำหรับเรา รางวัลของเราต้องมีมาตรฐานที่แข็งแรง ลืมเรื่องของพิธีการไปได้เลย เราตัดออกไป ไม่มีค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยตรงนั้น แล้วเราก็โฟกัสเรื่องของการคัดเลือกต้นฉบับ ไม่ใช่นักเขียนทุกคนที่ได้พิมพ์หนังสือ พลัง เพียงพิรุฬห์ เท่าที่ทราบเขาก็พิมพ์หนังสือของเขาเองแล้วส่งประกวด หลายคนกับซีไรต์ก็ต้องออกตังค์พิมพ์หนังสือเอง

สำหรับเรามันตัดโอกาสงานอีกหลายประเภทที่ไม่ผ่านตาบก. หรืออาจถูกเขี่ยทิ้งตอนที่พิมพ์ไม่ทัน หรืออะไรก็ตาม หมายความว่ารางวัลของเราก็จะได้คนทั่วไปที่ไม่ได้บิ๊กเนม ไม่เป็นที่รู้จักเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง มันก็อาจจะมีช้างเผือกที่น่าสนใจปะปนเข้ามาจำนวนหนึ่ง

ความอึดอัดอัดอั้นในช่วงเวลานี้ทำให้คนรู้สึกว่าต้องทำอะไร จากที่เขาอาจจะแค่โพสต์เฟสบุ๊ก หรือเขียนใน fictionlog storylog หรือคิดจะเอามาทำเป็นต้นฉบับส่ง ผมคิดว่ามันน่าจะมีอยู่ไม่น้อย

การมีคนเข้ามาช่วยซับพอร์ทเยอะมันดี แต่ก็ต้องขอเลือกว่าใครจะเข้ามาแค่ไหนยังไง เพราะยังอยากให้รางวัลปีศาจเป็นอิสระ ไม่มีพันธะของสำนักพิมพ์หรืออะไรเข้ามาผูกมากนัก อยากให้ทุกสปอนเซอร์ที่เข้ามาเข้าใจและอยู่ในฐานคิดเดียวกัน

กติกาของเราคือ งานเขียนประเภทเรื่องแต่งไม่จำกัดรูปแบบ ความยาว มีลักษณะเป็นนวนิยาย แต่ถ้าคุณมีความสามารถแต่งเป็นพระอภัยมณี เราก็ไม่จำกัด หรือถ้าคุณเขียนเรื่องสั้น 16 หน้าแต่มันมีพลังเท่ากับนวนิยาย เราก็ไม่มีปัญหา

รางวัลเราคัดเลือกมา 4 เล่ม เป้าหมายเราเล่มที่เข้ารอบน่าจะหาช่องทางทางการพิมพ์ เป็นรายได้กับเขา ซึ่งตรงนี้ต้องมานั่งคุยกันเพื่อให้เกิดความแฟร์กับทุกฝ่าย มอบรางวัล 6 ตุลาปีหน้า

ใครเป็นกรรมการ วิธีคัดเลือก?

อย่างของซีไรต์จะมีกรรมการคัดเลือกเรื่องทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีก็มี 100-200 เรื่อง กรรมการคัดเลือกก็จะเลือกมาเป็น long list แต่กรรมการตัดสินจะไม่ได้อ่านจาก long list เขาจะได้รับบรีฟจากกรรมการคัดเลือกแล้วคัดเลือกเป็น shot list และเขาอาจจะไม่ต้องอ่านเลยก็ได้ กรรมการบางคนไม่ได้อ่านเพราะไม่มีเวลา แต่กรรมการที่อ่านเขาก็ต้องหาวิธี convince (เชื้อเชิญ, โน้มน้าว) คนให้ได้ว่าในจำนวนนี้มีงานที่ดีอยู่ แต่ส่วนใหญ่แทบไม่ต้องอ่าน

รางวัลปีศาจ กรรมการที่ตัดสินจะต้องอ่าน เพราะเราเลือกให้เหลือแค่ 4 เล่มและกรรมการตัดสินก็มีเวลา กรรมการคัดเลือกก็มีงานหนักพอสมควรที่ต้องทำ และความแตกต่างของเรา เราทำเหมือนเปเปอร์วิชาการหรืองานที่มีมาตรฐาน คือ มีกองกลางที่รับเรื่อง ซึ่งจะเป็นคนดึงชื่อผู้แต่งออกทั้งหมด เพราะฉะนั้นกรรมการคัดเลือกจะได้รับไฟล์ที่มีแค่เนื้อหากับชื่อเรื่อง ซึ่งกรรมการคัดเลือกตอนนี้ก็มี บก.หนังสือ นักวิชาการด้านวรรณกรรม อาจารย์สอนปรัชญา และผม

ส่วนกรรมการตัดสิน ตอนนี้ที่ติดต่อทาบทามไปมีอ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งไม่มีใครรู้หรอกว่าอ.วรเจตน์อ่านวรรณกรรมเยอะแค่ไหน แกเป็นคนอ่านวรรณกรรมเยอะมาก โช ฟุกุโทมิ เป็นคนอ่านวรรณกรรมไทยแตกฉานมาก และเลือกงานไทยหลายอันไปแปล เป็นคนค่อนข้างเปิดกว้าง ถือว่าเป็นสายของนักแปล มีคุณก้อง ฤทธิ์ดี หลายคนคงทราบว่าแกอ่านวรรณกรรมเยอะมาก และอ.วริตตา ศรีรัตนา ผู้แปล ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน (Too Loud a Solitude) อันนี้แกก็จะเชี่ยวชาญงานพวกโมเดิร์นนิสต์ เพราะฉะนั้นสายตาแกก็จะคม และค่อนข้างวิจารณ์รุนแรง เราคิดว่าเราก็ได้บุคลากรค่อนข้างครบ ทั้งหญิงชาย เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับสายวรรณกรรมโดยตรง

ที่น่าสนใจเราไม่ปิดรับ รีวิวที่เราคอมเมนต์ทั้งหมดจะเอามาเผยแพร่ และผมคิดว่ากรรมการตัดสินช่วงที่เขาประชุมกันอาจจะมีการถ่ายทอดด้วยซ้ำเพื่อให้เห็นว่าเขาคุยอะไรกัน เวลาที่เขาเสนอความคิด แลกเปลี่ยน เพราะกรรมการตัดสินต้องเลือกเล่มที่ชอบมาหนึ่งอัน แล้วเสนอไอเดียเกี่ยวกับเล่มนั้นเพื่อคุยกัน ซึ่งแน่นอนมันต้องไม่ตรงกันอยู่แล้ว

มันมีโจทย์อันหนึ่งที่กรรมการท่านหนึ่งเขาโยนมาว่า แม้มาตรฐานขั้นต่ำของเราคือต้องเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เราสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้างานมันดีมาก ล้ำมาก แต่ตัวอุดมการณ์หรือความคิดทางการเมืองมันล้าหลังมาก conservative มาก เชื่อในประวัติศาสตร์กระแสหลักอยู่ จะเป็นยังไง ผมก็บอกว่ามันเป็นหน้าที่ของกรรมการตัดสินนั่นแหละที่คุณต้องถกเถียงกัน แล้วมันจะเห็นลักษณะของการที่ไม่ได้ไปทิศทางเดียวกันทั้งหมดหรอก และเราก็ใช้ระบบเสียงข้างมากเพื่อตัดสิน

แล้วเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมืองเลยส่งได้ไหม?

คิดว่าก็ควรมีพื้นที่ให้กับงานจำพวกนี้ด้วยเหมือนกัน ถึงไม่ใช่งานที่มีแนวคิดก้าวหน้าทางการเมือง แต่ถ้ามันสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการเขียนหรือพูดง่ายๆ ทำลายฟอร์มบางอย่างของการเขียนเพื่อสร้างสิ่งใหม่แล้วมันน่าสนใจ ก็ควรมีที่ให้งานจำพวกนี้ด้วย

สมมติวันข้างหน้ารางวัลปีศาจกลายเป็นสถาบัน เราให้รางวัลไป แล้วเกิดกรณีแบบคุณไพฑูรย์ ธัญญา จะเอารางวัลคืนไหม?

พูดตรงๆ ว่าเรื่องพวกนี้มันไม่มีการการันตีนะ แต่ผมคิดว่าถ้าสามารถเซ็ตกติกาบางอย่างไว้ ก็สามารถบอกได้นะ ว่าถ้าวันหนึ่งคุณทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่คุณพยายามเขียนไว้ในงานคุณ อย่างสุดโต่งด้วย ผมคิดว่าการลบหรือทวงคืนรางวัลเป็นเรื่องปกติในสังคมที่รางวัลคือสิ่งที่พิสูจน์อุดมการณ์ ขึ้นอยู่กับกติกาที่เราจะวาง เป็นโจทย์ที่ผมต้องรับไปคิด

จากรัฐประหารปี 49 ถึงปัจจุบัน วงการวรรณกรรมไทยมีพลวัตรยังไง?

อย่างคุณไม้หนึ่ง (ก. กุนที) มีนักเขียนกี่คนเป็นแบบเขา มีน้อยมากนะ แล้วไม้หนึ่งเป็นเหมือนตัวตลกด้วยซ้ำที่พูดในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักเขียนทั่วไปไปเชียร์พันธมิตร แน่นอนในโลกวิชาการก็เป็นแบบนั้นด้วยเหมือนกัน เขาคิดว่ามีบางอย่างที่ต้องเคลื่อนไหวผลักดัน แต่ผมว่านักเขียนช้ากว่ากลุ่มนักวิชาการ อย่างตอนนั้นมีการเสนอนายกฯ มาตรา 7 ก็ถอยกันมาหลายคน แต่นักเขียนยังเดินหน้ากันอยู่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการนักเขียนที่ออกมาเป็นฝ่ายประชาชนตอนนี้ก็ออกมาทีหลังเกือบทั้งนั้น

อะไรหลายอย่างทำให้รู้สึกว่าโลกของวรรณกรรมมันไม่ได้เฉื่อยแค่ตัวรูปแบบนะ ความคิดมันก็เฉื่อย ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเลือกจุดยืนทางการเมืองที่ถูกต้อง หรือถกเถียงเรื่องทางการเมืองกันได้อย่างแม่นยำ แต่เมื่อเทียบกับโลกตะวันตกนักเขียนจะไม่ช้า จะมีความคิดบางอย่างที่ไปได้อย่างรวดเร็ว ตัดสินใจในโมเมนต์สำคัญได้ ในโมเมนต์ที่สำคัญก็มีทั้งคนที่พลาดและไม่พลาด แต่ของเราบังเอิญว่าคนที่พลาดมันเยอะกว่าคนที่ไม่พลาด

ตั้งแต่ปี 49 ความเปลี่ยนแปลงของนักเขียน ผมว่าตอนนั้นนักเขียนยังมึนๆ อยู่นะ ไม่ได้ออกมาแล้วบอกว่าไม่เอาบิ๊กบัง (สนธิ บุญยรัตกลิน) มีความขยับช้า หวาดระแวงคนเสื้อแดงอยู่ หรือบางครั้งก็สุดโต่งไปเลย เสื้อแดงถูกหมด พูดง่ายๆ เหมือนพยายามจะไถ่บาป และบางครั้งนักเขียนยังต้องการการค้ำยันบางอย่างอยู่ โดยเฉพาะสถาบัน ทุกคนก็จะไม่ฉีกออกไป และยังมองว่าเป็นอะไรที่บริสุทธิ์หรือแยกจากการเมืองอยู่

ทำไมนักเขียนไทยช้า เฉื่อย?

สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เขาด่าเจ็บ เขาบอกว่านักเขียนไทยอ่านเฉพาะภาษาไทย นั่นคือปัญหา แล้วหนังสือพวกนี้มันแปลช้าและมันไม่ไปไหน แล้วความคิดมันก็วนอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นคนพูดอีสานได้พูดลาวได้อาจจะรู้ความจริงบางอย่างที่มากกว่านักเขียนภาคกลาง หรือนักเขียนที่ไม่รู้ภาษาท้องถิ่น และนักเขียนไทยพอห่างจากชีวิตที่เป็นชีวิตจริง โลกของตัวบทโลกของหนังสือก็อ่านเฉพาะที่เขาเคี้ยวแล้วเอามาป้อนให้ มันก็ได้เท่านั้น และความกระตือรือร้นมันไม่มี รู้แค่สองแต่พูดเหมือนรู้สิบ

และผมคิดว่านักเขียนไทยเขาพยายามจะนำเสนอความคิดแบบปรัชญา แบบคุนเดอร่า (มิลาน คุนเดอร่า) แต่มันไม่ใช่ จะเรียกว่าเป็นคุนเดอร่าซินโดรมก็ได้ คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเขียนอะไรลงไป ความคิดมันไม่นำเสนออย่างที่เขาตั้งใจด้วยซ้ำและมันขัดกัน แทนที่จะรู้สึกว่ากำลังแสดงปรัชญาอยู่ มันล้มเหลว หลายครั้งเวลาที่เขาจะถกประเด็นยากๆ เรื่องยากๆ ผมกลับรู้สึกว่า ถ้างั้นคุณไปลอกหนังสือมาใส่ไปเลยทั้งดุ้น แบบที่บางที ภู กระดาษ ทำ แบบนั้นยังจะซื่อสัตย์มากกว่า แต่คุณพยายามจะเป็นคุนเดอร่าแล้วมันล้มเหลว ไม่ใช่เฉพาะนักเขียนรุ่นใหม่ๆ นักเขียนรุ่นใหญ่ๆ ก็พลาด

สำหรับผม ผมคิดว่าคุณไม่จำเป็นต้องเป็นแบบคุนเดอร่าที่เขาสามารถประคองความคิดเขาไปจนสุดได้แต่คุณทำไม่ได้ นักเขียนไทยมีแค่ฟอร์ม ซึ่งมันทำให้เป๋ไปหมด

นักเขียนไทยเลือกที่จะใช้โวหารกลบเกลื่อนความคิดที่มันกระพร่องกระแพร่ง สำหรับผมมันย้อนกลับไปได้ถึงกวีในสมัยรัตนโกสินทร์ พวกนี้มีโวหารเยอะมาก แต่เรื่องความคิดยังไม่เฉียบคมพอ ซึ่งการจะมีความคิดเฉียบคมพอผมไม่ได้บอกว่าเขาต้องอ่านหนังสือเยอะ แต่เขาต้องอ่านให้แตก

เราอาจจะยังไม่ได้ใช้ศักยภาพการเขียน ไม่ได้ทดสอบหรือท้าทาย มันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

โดยส่วนตัวผมคิดว่านักเขียนเหล่านี้มีความน่ารัก แต่ผมคิดว่าไม่มีใครกล้าพูดเรื่องพวกนี้ สำหรับผมนักเขียนอินโดฯ หรือนักเขียนเพื่อนบ้านยังแม่นกว่าเรา โดยที่เขาอาจจะไม่ต้องเยอะเท่านี้ จริงๆ แล้วมันไม่มีใครโง่ใครฉลาด และนักเขียนก็ไม่จำเป็นต้องฉลาดตลอดไปด้วยซ้ำ การที่ผมคัดเลือกกรรมการคัดเลือกเหล่านี้มาทำรางวัลปีศาจ ผมรู้สึกว่ามาทางเดียวกัน เราอ่านเชิงบรรณาธิการด้วย ถ้ามาแบบน้ำท่วมทุ่งแต่เนื้อหาไม่มีก็คงไม่ผ่าน

เหมือนเราอยากเขียนงานแบบแฮมมิ่งเวย์ แต่เราไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่แฮมมิ่งเวย์เขียน ภาษาแบบโทรเลข มันมีนัยสำคัญยังไงบ้าง นักเขียนไทยแค่คิดว่ามันเป็นรูปแบบ แต่ภาษาแบบโทรเลขของแฮมมิ่งเวย์มันมีอิมแพคมาก เพราะจริงๆ ถามว่าคนต้องพูดสั้นขนาดนั้นมั้ย อาจจะไม่ แต่เขาเลือกที่จะใช้วิธีการเขียนแบบนี้ กับเรื่องบางเรื่องมันกลายเป็นนวัตกรรม สำหรับเราเราก็แค่ ฉันอยากจะเขียนแบบแฮมมิ่งเวย์ แบบคลีนๆ สะอาดๆ น้อยๆ แต่เราอาจไม่ได้สนใจว่าที่มาที่ไปของภาษาพวกนี้คืออะไร และเราก็ใช้มันอยู่ตลอดตั้งแต่แฮมมิ่งเวย์ โกวเล้ง กิมย้ง มุราคามิ เราอยากจะเขียนด้วยฟอร์มแบบนั้น

การพิมพ์หนังสือ?

เรากำลังเลือกอยู่ว่าใครมาผลิตให้แล้วดูเป็นกลางที่สุด รางวัลปีศาจไม่ได้อิงกับสำนักพิมพ์ ซึ่งจริงๆ รางวัลมีคุณภาพหลายๆ รางวัลในโลกนี้สปอนเซอร์หลักเป็นสำนักพิมพ์ เช่น รางวัลอะกุตางาวะ ของญี่ปุ่น รางวัลกองกูร์ ของฝรั่งเศส

พูดได้ไหมว่ารางวัลปีศาจเกิดมาเพื่อท้าทายรางวัลอื่นๆ?

สำหรับเรามันคือการเซ็ตสิ่งที่ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว ควรจะเป็นจริงตั้งนานแล้ว แต่เป้าหมายว่ารางวัลเราจะไปแย่งบทบาทความสำคัญเขามาได้ไหมคงไม่ใช่เป้าหมายหลัก เป้าหมายหลักแค่ประคองให้รางวัลนี้มันได้มาตรฐาน

เซ็ตระบบที่มันแข็งแรงจริงๆ ให้ทำได้จริง และมีผลงานที่น่าสนใจออกมาในทุกครั้ง มีงานที่ก้าวหน้าทางความคิด การเมือง มีรูปแบบที่น่าสนใจ เปิดโอกาสให้นักเขียนที่ไม่ได้ตีพิมพ์

รางวัลปีศาจสะท้อนความขัดแย้งทางการเมือง?

ผมคิดว่ามันไม่ได้สะท้อนแค่ความขัดแย้ง แต่มันสะท้อนความเป็นจริงทางการเมือง ความเป็นจริงที่มันไม่ค่อยโอเค ไม่ค่อยปกติ

เพราะมันจะมีกี่รางวัลในประเทศนี้ที่เรารับแล้วเราไม่ต้องลงไปกราบ ลงไปหมอบ มันมีรางวัลไหนบ้างที่ผู้มอบรางวัลรู้สึกขอบคุณที่คุณทำสิ่งนี้ด้วยใจจริง และผู้รับไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ หรือต้องค้อมตัวลงไปรับ

วันที่ประกาศผล ทำไมถึงเลือกวันที่ 6 ตุลา ไม่เป็น 14 ตุลา?

เพราะ 6 เราแพ้ เพราะฉะนั้นเรามอบชัยชนะในวันที่เราพ่ายแพ้ และเราก็ถูกทรีตเหมือนปีศาจด้วยในเวลานั้น คิดว่าคงเป็นวันที่ดี

 

โพสต์จากเฟสบุ๊กของกิตติพลเกี่ยวกับที่มาและกติกาของรางวัลปีศาจ (วันที่ 10 ต.ค. 60)

คร่าวๆ สำหรับรางวัลปีศาจ (ขอบคุณน้องๆ พี่ๆ ที่ช่วยแก้ไขปรับปรุงครับ) ท่านใดสนใจเริ่มเขียนได้เลยครับ เช่นเดียวกับกรรมการ จะมีการรับสมัครเพิ่มเติมด้วยครับ จะแถลงอย่างเป็นทางการพฤศจิกายนนี้ครับ
_______________

ที่มา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรางวัลทางวรรณกรรมจำนวนมากกำเนิดขึ้น แต่ละรางวัลยึดโยงคุณค่ากับตัวบุคคล สถาบันหรือหน่วยงานผู้มอบให้ กระทั่งมุ่งรักษาสถานะของสถาบันหรือหน่วยงาน โดยอ้าง "ความสร้างสรรค์" ที่มักจะถูกจำกัด ตีกรอบแบบผูกขาดโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทบจะชุดเดียวกันโดยตลอด คำถามที่ตามมาก็คือ มีรางวัลใดบ้างที่สถาบันหรือหน่วยงานที่มอบตระหนักถึงคุณค่าของงานประพันธ์และผู้รับเองไม่ต้องถูกกดข่มให้หมอบราบลงไปรับรางวัลทั้งหลายเหล่านี้ มิหนำซ้ำยังต้องสำนึกในบุญคุณอันสุดประมาณ ทั้งที่จริงๆ แล้วนักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันยอดเยี่ยมไม่จำเป็นต้องรู้สึกติดค้างผู้มอบรางวัลแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม ผู้มอบรางวัลหรือตัวแทนของรางวัลนั้นเสียอีกที่ควรขอบคุณนักเขียนผู้กอปรด้วยวิริยภาพในการสร้างผลงาน ดังนั้นถ้าจะมีรางวัลวรรณกรรมสักรางวัลหนึ่งมอบให้ผู้ประพันธ์ผลงานชิ้นยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะบทกวี เรื่องสั้น หรือนวนิยาย ฯลฯ เขาก็ควรยืนรับรางวัลนั้นอย่างภาคภูมิใจ มิใช่ต้องค้อมตัวลงแนบพื้นราวกับยอมตนเป็นเบี้ยล่าง

ด้วยเหตุนี้ "รางวัลปีศาจ" จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซึ่งมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง เพราะเราเชื่อว่าหัวใจหรือรากฐานความเป็น "วรรณกรรม" คือการเปลี่ยนแปลง งานเขียนคือการปฏิวัติ หรือการแตกหักกับอดีตอันหมายถึงกรงขังของประเพณีที่แฝงเร้นมาพร้อมโซ่ตรวนอำนาจนิยม เท่าที่ผ่านมานานหลายทศวรรษ เราตระหนักถึงความหมายและความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้น้อยเกินไป เรากำหนดเพดานของความเป็นนักเขียนและงานเขียนไว้ต่ำเตี้ยเกินไป ทำให้การสร้างสรรค์มีความหมายเท่ากับอยู่กับที่ หรือถอยเข้าไปหากรอบมาตรฐานที่ผูกขาดโดยกรรมการไม่กี่คน

"รางวัลปีศาจ" ได้ชื่อมาจากนวนิยายเรื่องเยี่ยมของเสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่อง ปีศาจ โดยมุ่งหมายให้เป็นรางวัลที่สนับสนุนผลงานที่มุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงรูปแบบ ความคิด และวิธีการ เพื่อต่อต้านและช่วงชิงความหมายและพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ

"รางวัลปีศาจ" มีรากฐานมาจากประชาชน ความเป็นคนสามัญ จึงกล่าวได้ว่าเราสนับสนุนวรรณกรรม ส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเท่าเทียมที่เรายึดถือเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุด

เกณฑ์การคัดเลือกผลงาน

-เป็น "นวนิยาย" ที่ไม่จำกัดความยาว รูปแบบ และวิธีการนำเสนอ
-ต้นฉบับเป็นภาษาไทย และไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน
-สามารถส่งผลงานในรูปของ PDF หรือต้นฉบับพิมพ์ A4

โครงสร้างของคณะทำงาน

-เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงาน รับต้นฉบับ จัดเตรียมต้นฉบับที่ไม่มีชื่อผู้แต่งส่งให้คณะกรรมการคัดเลือก
-กรรมการคัดเลือกผลงาน จำนวน 5-10 คน ประกอบด้วย บรรณาธิการ นักวิชาการ นักวิจารณ์ นักเขียน และประชาชนทั่วไป ซึ่งทำหน้าที่อ่านและคัดเลือกผลงานให้เหลือ 4 เรื่อง 
-กรรมการตัดสิน จำนวน 5-7 คน ประกอบด้วยนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ นักวรรณคดีศึกษา นักแปล และประชาชนทั่วไป อ่านและพิจารณารางวัลชนะเลิศ

ระยะเวลาในการทำงาน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานเริ่มรับต้นฉบับ และจัดเตรียมเพื่อส่งมอบให้กรรมการคัดเลือกนับจากเดือนแรกที่ประกาศ

กรรมการคัดเลือกใช้เวลา 3 เดือน อ่านและพิจารณาผลงาน มีการเผยแพร่บทวิจารณ์และข้อคิดเห็นต่อผลงานทางออนไลน์และช่องทางอื่นๆ

กรรมการตัดสินใช้เวลา 3 เดือนในการอ่านผลงานเข้ารอบสุดท้าย

กำหนดการเบื้องต้น

ปิดรับต้นฉบับเมษายน 
ประกาศชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 24 มิถุนายน 2561
ประกาศรางวัลในวันที่ 6 ตุลาคม 2561

รางวัลปีศาจ

ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท

ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 4 ชิ้น จะได้รับการผลักดันและสนับสนุนเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือและได้รับค่าตอบแทนตามมาตรฐานงานที่ได้รับการตีพิมพ์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี ส. ศิวรักษ์หมิ่นพระนเรศวรบอกอะไร

Posted: 11 Oct 2017 09:22 AM PDT

"ผมอยากจะเตือนให้ทุกคนมีความกล้าหาญ อย่าสยบยอมกับเผด็จการ
ต้องมีความกล้าหาญที่จะทำและต้องกล้าพูดความจริง
แม้จะต้องสูญเสียอิสรภาพก็จำเป็น
เพราะถ้าบ้านเมืองไหนไม่มีสัจจะ ไม่มีความกล้า
บ้านเมืองนั้นก็เป็นที่อยู่สำหรับปศุสัตว์ไม่ใช่สำหรับมนุษย์"
- ส. ศิวรักษ์ -

(ทีมา Facebook iLaw)

ข้อความข้างบนเป็นคำกล่าวของ ส. ศิวรักษ์ หลังจากพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามแจ้งว่า มีความเห็นสั่งฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐาน "หมิ่นพระนเรศวร" และนำตัวเขาไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อส่งสำนวนฟ้องให้แก่อัยการศาลทหาร เมื่ออัยการตรวจสำนวนคดีเสร็จ จึงนัดหมายให้มาฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 7 ธันวาคม 2560

เหตุการณ์ที่นำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว เกิดจากกรณีที่ ส. ศิวรักษ์ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 โดยเขาได้แสดงความเห็นเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร

แต่ถามว่า การวิพากษ์วิจารณ์บุรพกษัตริย์ไทยในทางวิชาการเคยมีหรือไม่ คำตอบคือดูเหมือนเรื่องเช่นนี้จะเป็นเรื่องปกติในในการศึกษาประวัติศาสตร์ ดังบทความชื่อ "ความไม่มั่นคงของกองทัพไทย" ของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ได้อ้างถึงข้อความในหนังสือ "ประวัติโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า" เล่ม 1 หน้า 33 ดังภาพ


(ที่มา prachatai.com/journal/2014/10/56079)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ  พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 2 พรรณนาเหตุการณ์ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) หน้า 187 ความตอนหนึ่งว่า


(ที่มา www.car.chula.ac.th/rarebook/book/cl52_0132)

จะเห็นว่าในขณะที่หนังสือ "ประวัติศาสตร์แบบทางการ" วิพากษ์วิจารณ์บุรพกษัตริย์ในเชิงลบได้ แต่ ส. ศิวรักษ์กลับวิจารณ์ประวัติศาสตร์บุรพกษัตริย์ในเชิงตั้งคำถามไม่ได้ จึงเกิดปัญหาในเรื่อง "ความชัดเจน" ในทางกฎหมายว่า มาตรา 112 คุ้มครองถึงกษัตริย์ในอดีตหรือไม่ ถ้าคุ้มครองต้องคุ้มครองทุกพระองค์หรือไม่ และ "ขอบเขต" ของคำว่า "หมิ่น" กว้างแคบแค่ไหน อย่างไร เป็นต้น

หากเพียงแต่เราใช้  "วิจารณญาณ" อย่างปราศจากอคติ ย่อมจะเห็นได้ชัดเจนว่าการที่พระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวเขียนไว้เช่นนั้น ย่อมสอดรับกับหลัก "ความมีเหตุผล" (justification) ที่ว่า การที่สังคมมนุษย์จะศึกษาเรียนรู้ "บทเรียน" จากประวัติศาสตร์เพื่อนำมาปรับปรุงสังคมปัจจุบันและอนาคตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถพูดถึงทั้งด้านบวกและด้านลบของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริงเท่านั้น

ทำให้ผมนึกถึงเหตุผลของจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ใน "On Liberty" ที่เสนอหลักเสรีภาพทางความคิดเห็น โดยมิลล์ปฏิเสธการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพียงเพราะเราตัดสินจากมุมมองของตนเองและ/หรือมุมมองของคนส่วนใหญ่ว่า ความเห็นของใครก็ตามจะสร้างความเสื่อมเสียแก่สังคม

มิลล์ชี้ให้เห็นว่า การลงโทษคนอื่นเพียงเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าความคิดเห็นของเขาอาจเกิดความเสียหายแก่สังคมได้ก่อให้เกิดความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรงมามากแล้ว ดังบุคคลผู้ทรงปัญญาและคุณธรรมที่มีคุณค่าแก่โลกอย่างมหาศาล อย่างเช่นโสเครตีสถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะข้อกล่าวหาว่าไม่เคารพเทพเจ้าของรัฐ บูชาเทพเจ้าองค์ใหม่ และชักนำเยาวชนไปในทางเสื่อมเสีย พระเยซูถูกผู้นำศาสนาชาวยิวกล่าวหาว่าหมิ่นพระเจ้า แต่เพื่อให้ถูกลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายโรมันได้จึงยัดข้อหากบฏฐานประกาศตนเป็นกษัตริย์ กาลิเลโอถูกศาลศาสนาพิพากษาให้กักบริเวณตลอดชีวิต เพียงเพราะเขาพูดความจริงที่ขัดแย้งกับความเชื่อของศาสนจักรและคนสวนใหญ่ในยุคสมัยของเขา

ดังนั้น ตามทัศนะของมิลล์เพื่อให้หลักประกันเสรีภาพทางความคิดเห็นเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ จึงไม่ควรมีกฎหมายหมิ่นศาสนา หมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ในความหมายใดๆ เพราะการมีกฎหมายเช่นนั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความผิดพลาดดังที่เกิดกับโสเครตีส พระเยซู กาลิเลโอ และบุคคลอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมหาศาลที่ถูกล่าแม่มดในยุคกลาง และถูกตัดสินให้เป็น "นักโทษทางความคิด" ในยุคสมัยของเรา

ยิ่งกว่านั้นมิลล์ยังเห็นว่า การที่เราจะยืนยัน (หรือพิสูจน์) ได้ว่าความเชื่อหรือความเห็นใดๆ ของเราจริงหรือถูกต้อง เราจำเป็นต้องยอมรับเสรีภาพที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้งจากคนอื่นๆ ที่คิดต่าง มีข้อมูลแตกต่าง หรือตรงกันข้ามกับเรา

นอกจากนี้มิลล์ยังโต้แย้งตรรกะที่ว่า "ความจริงไม่อาจถูกทำลายได้ การที่คนพูดความจริงถูกลงโทษอย่างอยุติธรรม ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ความจริงจำต้องผ่านการทดสอบ" เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า สังคมมนุษย์อยู่ภายใต้อำนาจกดขี่คนที่พูดความจริงมายาวนานมากกว่าที่จะได้ประโยชน์จากความจริงที่เขาพูด เช่นกว่าที่สังคมเราจะได้ประโยชน์จากความจริงที่โสเครตีสพูดก็หลังจากที่โสเครตีสถูกประหารชีวิตไปแล้วยาวนาน มันจึงไร้เหตุผลที่จะต้องให้คนพูดความจริงต้องถูกลงโทษเพื่อทดสอบความจริงที่เขาพูดอยู่ตลอดไป แต่มันมีเหตุผลอย่างยิ่งว่าสังคมจำเป็นต้องสร้างหลักประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อที่จะให้คนพูดความจริงไม่ต้องตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการถูกลงโทษ และสังคมส่วนรวมก็ได้ประโยชน์จากความจริงที่เขาพูดตามที่ควรจะเป็น แม้ว่าเมื่อมีเสรีภาพแล้วคนอาจแสดงความเห็นจริงบ้าง เท็จบ้าง หรือแสดงความเห็นใดๆ ที่เราชิงชัง ไม่อยากฟัง แต่สุดท้ายแล้วการมีเสรีภาพจะทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้ที่จะแก้ไขข้อบกพร่องด้านต่างๆ และพัฒนาก้าวหน้าได้ดีกว่าการปิดกั้นเสรีภาพ

คดีหมิ่นพระนเรศวร (และคดี 112 อื่นๆ เช่นกรณี "ไผ่ ดาวดิน" เป็นต้น) คือสิ่งที่บ่งบอกว่าสังคมเรายังห่างไกลจากการมีเสรีภาพตามกรอบคิดเสรีนิยมดังที่มิลล์เสนอ หรือห่างไกลจากการมีเสรีภาพตามหลักเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะสะท้อนว่าสังคมเราย้อนยุคไปไกลสู่ระบบการลงโทษต่อความคิดเห็นที่อำนาจรัฐสามารถกำหนดความผิดได้อย่างไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนและแน่นอนแบบยุคกลางย้อนไปจนถึงยุคโสเครตีสเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว

พูดอีกอย่างคือ แม้สังคมเราจะอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางสังคมโลกที่มีเสรีภาพแบบที่มิลล์เสนอมากว่าร้อยปีแล้ว แต่สังคมเรายังมีระบบการลงโทษเกี่ยวกับแสดงความคิดเห็นแบบยุคก่อนสมัยใหม่ ข้อเรียกร้องของ ส. ศิวรักษ์ที่ว่า "...ต้องมีความกล้าหาญที่จะทำและต้องกล้าพูดความจริง แม้จะต้องสูญเสียอิสรภาพก็จำเป็น..." ก็คือข้อเรียกร้องแบบที่โสเครตีสเคยเรียกร้อง ทั้งๆ ที่ในยุคนี้สังคมเราควรจะเป็นสังคมที่มีเสรีภาพ และทุกคนควรใช้เสรีภาพทางความคิดเห็นได้อย่างไร้ความหวาดกลัวใดๆ แล้ว

แต่ในเมื่อความเป็นจริงสังคมเรายังไม่มีเสรีภาพ ความกล้าหาญที่จะต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันที่มั่นคงแก่การมีเสรีภาพ เพื่อให้เรามีความเป็นมนุษย์ที่ต่างจากปศุสัตว์ ย่อมเป็นเรื่องจำเป็น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาชี้ทางแก้ปัญหาคนจนติดคุก แนะใช้ระบบประเมินความเสี่ยงแทนการเรียกเงินประกันตัว

Posted: 11 Oct 2017 07:59 AM PDT

วงเสวนาปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม เผยข้อมูลมีผู้ถูกขังอยู่ในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีทั่วประเทศหกหมื่นกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นคนจนไม่มีเงินประกันตัว พร้อมชำแหละเงินประกันไม่ใช่สิ่งจำเป็น แนะควรใช้ระบบประเมินความเสี่ยงหลบหนี เพื่อปล่อยตัวชั่วคราว

11 ต.ค. 2560 ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานแถงข่าว และเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม: ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณาคดี" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เฮนนิ่ง กลาซเซอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ (CPG) , บุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 1 และมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ทั้งนี้งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทำแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Chang.org ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด (11 ต.ค. 2560) 10,482 รายชื่อ

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ชี้ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ศาลต้องมองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

บุญรอด ระบุว่า เริ่มเป็นผู้พิพากษามาตั้งแต่ปี 2518 ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวมาพอสมควร ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นไม่ใช่เรื่องของศาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ทั้งนี้เมื่อกระบวนการต่างๆ มาถึงศาลแล้ว เรื่องการขังระหว่างพิจารณาคดี สิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายจะทำให้ดูเหมือนว่าผู้ที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีนั้นมีความแตกต่างกับผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินคดีแล้ว แต่ในสภาพความเป็นจริงการขังทั้งสองสถานะก็เป็นการจำกัดอิสรภาพไม่ได้แตกต่างกัน แม้จะมีการแยกแดนผู้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี มีการดูแลอีกแบบ ไม่เสียประวัติ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเป็นการจำกัดอิสรภาพเหมือนกัน

"ที่มันร้ายกว่านั้น คือปกติเวลาศาลตัดสินจำคุกคน มันยังเห็นกำหนดกี่ปี กี่เดือนก็ว่ากันไป แต่ถามว่าการถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมันมีกำหนดไหมว่าจะถูกขังไปถึงเมื่อไหร่ เราก็ไม่รู้ว่าการพิจารณามันจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส โดยหลักแล้วถือว่าเป็นการขังที่ไม่จำเป็น" บุญรอด กล่าว

บุญรอดกล่าวต่อไปว่า ข้อเสียของการขังระหว่างพิจารณาคดีไม่ได้มีเพียงเรื่องอิสรภาพของผู้ต้องหา แต่ยังเป็นภาระให้กับรัฐในเรื่องของการดูแล โดยรัฐต้องจัดสถานที่ให้ผู้ต้องหาที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี และต้องเลี้ยงดู

เขากล่าวต่อไปถึงหน้าที่ของศาลว่า ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเฉพาะสิทธิในการต่อสู้คดี ศาลมีหน้าที่รักษาสมดุลของการเป็นคดีความ ศาลต้องดูแลให้มันได้ดุลกับความเสียหาย ทำให้เกิดการได้รับการเยียวยากับทางฝั่งผู้เสียหาย ประกอบการพิจารณาในเรื่องความมั่นคง ความสงบสุขของสังคม ฉะนั้นบทบาทของศาลจึงอยู่ที่การรักษาสมดุลด้วย จึงเป็นไปได้ที่ในเรื่องที่คล้ายๆ กันบ้างคนอาจจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และบางคนไม่ได้รับการปล่อยตัว

บุญรอด กล่าวต่อไปว่า 40 กว่าปีที่ทำงานมาเห็นว่าพัฒนาการในเรื่องหลักประกันได้เปลี่ยนแปลงไปพอควร โดยช่วงแรกๆ หากเกิดคดีความขึ้น และผู้ต้องหารต้องการของปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องเขียนใบคำร้องเอง ไม่มีใครมาให้คำแนะนำ แต่หลังจากนั้นไม่นานศาลยุติธรรมก็ได้ให้บุคคลากรของศาลมาช่วยให้คำแนะนำ และปัจจุบันก็ได้มีการขยายขอบเขตหลักประกันให้กว้างขวางออกไปคือสามารภให้ตำแหน่งข้าราชการเป็นหลักประกัน และมีกองทุนยุติธรรมเข้ามาช่วยดูแล แต่การเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของผู้ต้องคดียังถือว่าอยู่ในจำนวนน้อย

บุญรอด กล่าวต่อไปว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นคือ 100 เปอร์เซ็นต์ของคดีอาญามีคนที่ขอปล่อยตัวชั่วคราว มีเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่ศาลก็ไม่ประกันตัว แต่ทั้งหมดเป็นการปล่อยตัวชั่วคราวที่มีหลักประกัน แต่ปัญหาคือ 60 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือทำไมจึงไม่ขอปล่อยตัวชั่วคราว คำตอบคือส่วนหนึ่งอาจจะไม่ต้องการขอประกันตัว และต้องการรับผิด แต่ถึงแม้ผู้ต้องหาจะสำนึกผิดก็ตาม การพิจารณาคดีที่ใช้ระยะเวลานานโดยที่เขายังไม่รู้แน่ชัดว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐก็ต้องเลี้ยงดูผู้ต้องหา และผู้ต้องหาก็จะถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ดี แต่ใน 60 เปอร์เซ็นต์นั้นเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูล และไม่มีใครเข้าไปให้ข้อมูลหรือดูแล ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร

บุญรอดกล่าวต่อไปว่า การปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ศาลเป็นผู้ดำเนินการในเชิงรับ คือหากไม่มีคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมา ศาลก็จะไม่พิจารณาเอง เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้อง และไม่มีการเขียนคำร้องขอประกันตัว ศาลก็ออกหมายขังระหว่างพิจารณาคดี จนกว่าคดีจะจบ แต่เมื่อมีคำร้องขอประกันตัวมาศาลจึงจะพิจารณา

"ผมเชื่อว่าไม่น้อย เวลาที่ผมพิจารณาคดี คนที่อยู่ตรงหน้าผมคือคนที่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้ บางคดีผมต้องให้เวลาเพราะยายมาตามหาหลานจนเจอในห้องพิจารณา ผมต้องให้เวลายายกอดหลานอยู่นาน เพื่อที่จะชดเชยตรงนี้ เพราะทุกคนรู้ดีว่าไม่มีใครมาจัดการเรื่องการประกันตัวให้เขา ระหว่างพิจารณาคดีจะมีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นประจำ" บุญรอด

บุญรอดกล่าวว่า บทบาทของศาลในเชิงรับดังกล่าวทำให้ผู้ต้องหาคดีอาญา ซึ่งไม่สามารถนำหลักทรัพย์มาขอประกันตัวถูกทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่ศาลจะทำบทบาทในเชิงรุกได้สิ่งที่สำคัญคือ เครื่องมือ และข้อมูล โดยปัจจุบันจากการศึกษาอย่างจริงจังสามารถสรุปได้แล้วว่า เงิน ไม่ใช่หลักประกันที่บอกว่าผู้ต้องหาที่ขอประกันตัวไปแล้ว จะไม่หลบหนี เวลาคนจะหลบหนีไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่วางไว้ว่ามาก หรือน้อย นอกจากนี้เวลาที่ศาลจะพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวข้อมูลที่ศาลเห็นได้มีเพียงแค่พฤติกรรมแห่งคดี ซึ่งเห็นได้จากคำฟ้อง และคำฟ้องต่างๆ ที่เขียนยื่นฟ้องกันเข้ามาเป็นไปไม่ได้ที่จะเขียนว่าจำเลยไม่มีความผิด ทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคิดว่าเป็นความผิดก็จะถูกนำมาใส่ในคำฟ้อง หากผู้ต้องหาคิดว่าไม่ผิดก็ต้องมาสู้คดีเอง ฉะนั้นพฤติการณ์จริงๆ ศาลยังไม่เห็น เห็นแต่สิ่งที่เขียนไว้ในคำฟ้องซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงทั้งสิ้น

โครงการประเมินความเสี่ยงให้กับผู้พิพากษาศาลที่กำลังมีการทดลอง และดำเนินการกันอยู่นี่ บุญรอดเห็นว่าเป็นเครื่องมือ และเป็นข้อมูล ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา ประกอบกับเรื่องเครื่องมือในการติดตามตัว ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนได้มาก

"คิดดูสิว่า ปีหนึ่งเรามีคดีมากถึงครึ่งล้านคดี 60 เปอร์เซ็นต์เป็นจำนวนคนเท่าไหร่ ฉะนั้นเครื่องมือพวกนี้อย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้หยิบยกขึ้นมาระหว่างการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราว คือศักดิ์ความเป็นมนุษย์ เราควรหยิบขึ้นมาทำให้เป็นรูปธรรมสักที ในแง่ของการศึกษาบุคคลที่ใช้วิถีชีวิตเป็นกิจวัตรประจำวัน มีภาระหน้าที่การงานประจำ คือคนที่มีความเสี่ยงในเรื่องการหลบหนีน้อยที่สุด มีลูกที่ต้องดูแล เช้าต้องทำกับข้าวให้ลูกกิน พาไปส่งโรงเรียน ส่งเสร็จไปขายของ เป็นแม่ค้าขายผัก ตอนเย็นไปรับลูก คนพวกนี้แหละครับเป็นคนที่มีศักดิ์ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบที่สุด แต่เรื่องเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมามอง และก็ไม่มีกระบวนการไหนที่จะลงไปดูแลคนเหล่านี้" บุญรอดกล่าว

หัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา แนะใช้การประเมินความเสี่ยงแทนเงินประกันตัว

มุขเมธิน เริ่มต้นด้วยการระบุว่า ได้ทำหน้าที่วิจัยให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่วิจัยเพื่อการพัฒนาของศาล โดยได้โจทย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับการเข้าถึงการปล่อยตัวชั่วคราว จึงได้หาแนวทางแก้ไขจากโมเดลในหลายๆ ประเทศ ที่สุดพบว่าประเทศที่มีปัญหาคล้ายกันกับประเทศไทยคือ สหรัฐอเมริกาในอดีต ซึ่งมีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินเป็นหลักสำคัญ แต่เรื่องดังกล่าวได้มีการปฏิรูปไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว โดยใช้แบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชัวคราวเป็นตัวชี้วัดว่าจะมีการปล่อยหรือไม่ แทนการใช้หลักทรัพย์ประกันตัว ทั้งยังมีมาตรการติดตามหลังการปล่อยตัวอีกทีหนึ่ง

มุขเมธิน ระบุบว่า หลักการคิดของสหรัฐอเมริกา ในเวลานั้นคือการนำเอาสำนวนคดีทั้งหมดที่มีการปล่อยชั่วคราวมาดูว่า คดีไหนที่มีการหลบหนีบ้าง และนำเอาสำนวนที่มีการหลบหนีมาค้นหาว่ามีอะไรที่เหมือนกันบ้างในบรรดาผู้ที่หลบหนี ปรากฎว่า เขาสามารถหาปัจจัยที่เหมือนกันได้ 10 ปัจจัย และเห็นว่าทั้ง 10 ปัจจัยนี้เป็นตัวทำนายผลว่าพฤติกรรมของคนที่มีแนวโน้มว่าจะหลบหนีเป็นอย่างไร และก็มีการนำโครงการดังกล่าวทดลองใช้ซึ่งได้สำเร็จ เพราะทำให้คนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำนวนมากได้ออกไป ทำให้รัฐประหยัดต้นทุนมากกว่าเดิม และหลังจากที่มีการปล่อยออกมาแล้วอัตราการหลบหนีที่เกิดขึ้นมีเพียง 7-8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และก็ได้มีการติดตามจับกุมกลับมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่สามารถจับกุมตัวได้

มุขเมธิน กล่าวต่อไปว่า จึงมีแนวคิดที่จะนำระบบดังกล่าวมาใช้ในประเทศ แต่ทราบดีว่าบริบททางสังคมระหว่างสหรัฐอเมริกา กับไทยแตกต่างกัน ดังนั้นจึงได้ให้สถาบันวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของมนุษย์มาช่วยพัฒนางานวิจัย โดยมีการค้นคว้าข้อมูลคดีในศาลอาญา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งหมด 3 ศาล จำนวน 1 พันกว่าสำนวนเพื่อศึกษาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เหมือนกันในบรรดาคนที่หลบหนีคดี และปัจจัยอะไรบ้างสำหรับคนที่ไม่หลบหนีคดี

"ปรากฎว่า เราได้ปัจจัย 14 ปัจจัยที่สามารถทำนายผลได้ และสิ่งที่น่าสนใจซึ่งสามารถพูดได้บางอย่างคือ ปัจจัยที่เป็นจำนวนเงิน ที่เราเคยคิดว่าจะเป็นทำนายว่า จะมีการหลบหนีหรือไม่หลบหนี แต่จริงแล้วข้อมูลในทางสถิติบอกว่าไม่ใช่ ประกันด้วยเงินน้อยก็มีอัตราการหนีจำนวนหนึ่ง ประกันด้วยเงินจำนวนมากก็มีอัตราการหนีเหมือนกัน ข้อมูลเรื่องการหลบหนีไม่สามารถสะท้อนได้จากจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทำนองเดียวกันกับอัตราโทษ ซึ่งไม่สัมพันธ์กันกับการหลบหนี แต่สิ่งที่เราค้นพบคือบางอย่างสามารถทำนายได้ เช่นคนที่เคยหนีมีความเสี่ยงที่จะหนีอีกมากกว่าคนที่ไม่เคย 17 เท่า ปัจจัยความผูกพันกับท้องถิ่น เกิดและเติบโตในท้องถิ่น มีอายุพอสมควร ทำงานในท้องถิ่น คนเหล่านี้ไม่หนีง่ายๆ ซึ่งวแบบพยานกรณ์เรากำลังพัฒนา และเห็นว่ามันเป็นเรื่องน่าสนใจ"มุขเมธิน กล่าว

ทั้งนี้ มุขเมธิน ระบุว่า แบบประเมินความเสี่ยงการหลบหนีที่มีการใช้กันในต่างประเทศนั้นจะมีการพัฒนาทุก 2 ปี เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน โดยระบบการทำแบบประเมินหากมีชาวบ้านถูกจับมาวันแรก ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบถาม และสังเกตดูตามปัจจัยที่มีการศึกษาว่า และนำปัจจัยดังกล่าวมาคำนวน และเสนอเป็นคะแนนความเสี่ยงให้กับศาล ซึ่งจะประกอบไปด้วยความเสี่ยงมากที่สุด ควรจะขัง ระดับความเสี่ยงมากก็อาจจะมีการควบคุมโดยให้มีการใส่กำไรอิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงปานกลางก็จะให้มีการปล่อย และมารายงานตัวต่อศาลเป็นระยะ และเสี่ยงน้อยกับน้อยมาก ก็จะให้มีการสาบานตัวต่อศาล และปล่อยเลย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาเป็นหลักประกัน

"เราค่อยๆ ทดลองใช้นำร่องใน 5 ศาล คือศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธ์ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จนเวลานี้เนื่องจาการทดลองจริงเรามีข้อจำกัดอันหนึ่งคือ เนื่องจากการสอบถามมันต้องใช้คน และเราไม่สามารถเพิ่มคนไปทำหน้าที่สอบถามในศาลได้ เพราะโครงการนำร่อง ซึ่งบุคลากรของศาลไม่เพียงพออยู่แล้ว ปัญหาก็คือเราต้องคัดเลือกเฉพาะคดีที่ชาวบ้านสมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนที่ไม่มีเงินหลักทรัพย์มาประกันตัวทั้งนั้น โดยวิธีนี้เราได้ปล่อยไปได้ 700 คน และมีอัตราการไม่มาศาลเพียง 5 เปอร์เซ็นต์แต่ส่วนใหญ่ 600 กว่าคนมาศาลจนจบคดี และทั้งหมดเป็นคนที่ไม่มีเงิน ซึ่งตามปกติพวกเขาจะต้องถูกขังไว้หากไม่มีเงินประกันตัว" มุขเมธิน กล่าว

เยอรมันจะสั่งขังระหว่างพิจารณาคดีก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขให้ขัง ส่วนเรื่องเงินประกันคิดตามฐานะของจำเลย

กลาซเซอร์ กล่าวด้วยว่า ระบบกฎหมายของประเทศเยอรมันมีความแตกต่างจากกฎหมายในระบบ common Law คือต่างจากระบบของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ในแง่ที่ว่าการขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นข้อยกเว้น เพราะโดยหลักปฏิบัติจริงๆ แล้วจะปล่อยผู้ถูกกล่าวหาทุกคน โดยจะขังผู้ถูกกล่าวหาก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือมีข้อสงสัยอย่างหนักแน่นว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดจริงๆ และต้องมีลักษณะที่จะเข้าไปยุ่งเหยินกับพยาน และหลักฐาน และเป็นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งหากผู้ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมเข้าตามเงือนไขดังกล่าวก็จะสั่งขังระหว่างพิจารณาคดี และไม่ปล่อยแม้จะร้องขอประกันตัวก็ตาม นอกจากเงือนไขดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องของหลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นการพิจารณาดูว่า การจะสั่งขังใครสักคนหนึ่งระหว่างพิจารณาคดีนั้นได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ และการคุ้มครองสิทธิของประชาชนคนอื่นๆ หรือไม่

กลาซเซอร์ กล่าวด้วยว่าในกรณีตัวอย่างที่มีการเรียกเงินหลักประกัน ศาลของประเทศเยอรมันก็จะมีการเรียกหลักประกันเป็นคดีไป ไม่มีการวางธงเงินประกันตัวไว้ล่วงหน้า โดยศาลจะพิจารณาถึงสถานะภาพทางเศรษฐกิจของผู้ถูกกล่าวหาด้วย และกำหนดหลักประกันให้เหมาะสมกับฐานะของจำเลย

สุรศักดิ์ ย้ำกฎหมายแม้จะดี แต่ถ้าทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมแย่ ก็ก่อให้เกิดปัญหา

สุรศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการระบุถึง สภาพปัญหาในกระบวนการประกันตัว หรือการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว่ามียี่ต๊อก (เกณฑ์ที่ยึดเป็นมาตราฐานของศาลและปฎิบัติตามๆ กัน) อยู่ในทุกระดับทั้งในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ และศาล และสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือการขังคนไว้โดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาจำนวนมาก ปัจจุบันทักเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องหาที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีประมาณ 6 หมื่นคน ด้วยความที่ว่าเราจะลงโทษเขาได้ โดยที่เขาเหล่านั้นจะไม่หลบหนี

สุรศักดิ์ ชี้ว่า ประเด็นปัญหาคือ เมือเรามีหลักสันนิษฐานว่า ทุกคนคือผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา แต่ตัวเลขในเรือนจำกลับไม่ได้สะท้อนหลักการที่เราเชื่อว่าเรามี ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาทีละเรื่อง ทีเรื่อง แต่ไม่มีการแก้ปัญหาในเชิงระบบ อย่างกรณีปัญหาที่มีผู้ต้องหาล้นเรือนจำ วิธีการแก้ปัญที่มักใช้กันบ่อยๆ คือการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเพื่อปล่อยผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งออกจากเรือนจำ

"เช็คเอาท์ (อภัยโทษ) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม (2559) เหลือผู้ต้องขังอยู่ในเรื่อนจำประมาณ 1 แสนกว่า ตอนนี้มีผู้ต้องขัง ผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำทั้ง 3 แสนกว่า เช็คอินเข้าไปใหม่หมดเลย เดี๋ยวก็คงรอเช็คเอาท์กันอีกที มันก็จะเป็นโยโย่กันไปอย่างนี้ เราไม่เคยมองปัญหากันจริงจังว่าเราจะแก้มันอย่างไร" สุรศักดิ์ กล่าว

สุรศักดิ์ ชี้ให้เห็นปัญหาอีกข้อหนึ่งว่า กฎหมายของประเทศไทย กับวิธีการปฎิบัตินั้นไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งเรื่องลักษณะนี้เป็นปัญหาจากทัศนะของคนในกระบวนการยุติธรรม โดยจะมีความเชื่อผิดๆ ว่า หากมีการปล่อยตัวโดยไม่มีเงินประกัน แล้วคนที่ได้ปล่อยตัวชั่วคราวหนีไป คนที่พิจารณาปล่อยจะถูกเพ่งเล็ง ซึ่งในความเป็นจริงมีน้อยมาก

"ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องการเปลี่ยนกฎหมายเท่าไหร่ แต่คิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมซึ่งยากกว่ามาก ในหลายปีที่ผ่านมาผมไปฟังเรื่องการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม เรามักจะทำกับแค่เรื่องของการแก้กฎหมาย ซึ่งมันทำให้ดูดีหมดเลย แต่ทำไมปัญหามันยังเยอะอยู่ อย่างเรื่องยาเสพติด อาจารย์สังศิต (พิริยะรังสรรค์) ทำวิจัยตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2559 งบประมาณเป็นแสนล้าน แต่ทำไมยาเสพติดกลับไม่ลดลง" สุรศักดิ์ กล่าว

ปริญาญา ขอหกหมื่นรายชื่อ เตรียมเสนอคกก.ปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมนำไปปฎิบัติ

ปริญญา กล่าวถึงที่มาของ เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนว่า  เครือข่ายฯ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในประเทศไทยจากเดิมที่ใช้เงินเป็นตัวตัดสิน ไปสู่ระบบใหม่ที่ทำการวิจัยมาแล้วว่ามีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ด้วย "ระบบประเมินความเสี่ยง" ที่ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจนก็ต้องใช้แบบตรวจวัดเดียวกัน โดยเครือข่ายฯ ต้องการผลักดันประเด็นนี้ยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อบรรจุเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ

"จากเดิมที่ระบบการประกันตัวของไทยในปัจจุบันนั้นใช้เงินเป็นตัวติดสินว่าใครจะต้องรอในคุก ระหว่างที่รอการพิจารณาคดี ซึ่งเฉลี่ยเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ทำให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยไม่มีโอกาสในการซื้ออิสรภาพ ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ผิดเลย นี่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่เห็นได้ชัดเจน ทำให้มีวลีติดปากที่คนนำมาใช้กันบ่อยๆ ว่า คุกมีไว้ขังคนจน จากการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม พบว่าที่ผ่านมาระบบการใช้เงินเพื่อประกันตัวนี้ทำลายชีวิตและโอกาสของคนจนกว่า 60,000 คนต่อปีคิดเป็นตัวเลขความเสียหายราว 8,500 ล้านต่อปี เนื่องจากเรือนจำจะมีค่าใช้จ่าย เช่น ผู้คุม ​อาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆ กว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี รวมถึงคนที่ต้องเสียโอกาสในการทำงานสร้างรายได้ คำนวณแล้วมากถึง 6,000 ล้านบาทต่อปีและที่สำคัญการเรียกหลักประกันเป็นเงินไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงในการหลบหนี หรือกระทำผิดซ้ำได้อีก" ปริญญากล่าว

จากการศึกษาและวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรมในเรื่อง "วิธีประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว" โดยนำแนวคิดมาจากหน่วยงานศาลในต่างประเทศ ได้แก่ การศึกษาจากศาลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้แบบตรวจวัดความเสี่ยงดังกล่าวในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวตัวนี้ ซึ่งเปลี่ยนจากการใช้เงินเพื่อประกันตัวเป็นการใช้ความเสี่ยงในการหลบหนี โดยจะมีขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแล ดังนี้ 1.สอบถามข้อมูลตามแบบฟอร์ม ในการสอบประวัตินั้นทำโดยกรอกข้อมูลลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งจะปรินท์ออกมาเป็นกระดาษอีกทีเพื่อให้ผู้ต้องหา/จำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่บันทึกถูกต้อง จากการทดลองใช้ระบบมาระยะหนึ่ง การสอบประวัติต่อคนใช้เวลาคนละไม่เกิน 20 นาที  2.ตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูล เช่น ประวัติอาชญากรรม ประวัติยาเสพติด คดีค้างพิจารณา มาวัดความเสี่ยงในหารหลบหนี ซึ่งด้วยวัตถุประสงค์ของการประเมินความเสี่ยง คือ พิจารณาว่ามีความเสี่ยงจะหนีหรือกระทำความผิดซ้ำ มิใช่การแก้ไขบำบัดฟื้นฟู หรือกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสม การตรวจสอบจึงไม่จำเป็นต้องละเอียดถึงขนาดลงพื้นที่ไปตรวจสอบอย่างคุมประพฤติ และด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของศาลที่ต้องสั่งปล่อยชั่วคราวโดยเร็ว และ 3.ประเมินความเสี่ยงและทำรายงานเสนอศาล ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กรอกลงในโปรแกรมจะถูกนำมาคำนวณคะแนนความเสี่ยงที่สังเคราะห์จากงานวิจัยเชิงสถิติและพฤติกรรมศาสตร์  โดยมีมาตรการกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง ถ้ามีความเสี่ยงต่ำให้สาบานตัวแล้วปล่อย เสี่ยงปานกลางรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือผ่านแอปพลิเคชัน เสี่ยงสูงจำกัดบริเวณผ่านกำไลข้อมือ/ข้อเท้า ติดตามตัว หรือถ้าหากมีความเสี่ยงสูงมากจะขังทันทีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว   

ปริญญายังได้กล่าวเสริมว่า "เพื่อให้เกิดการใช้แบบประเมินความเสี่ยงดังกล่าวในทุกศาลทั่วประเทศ เครือข่ายฯ ได้จัดทำแคมเปญ "ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน" ผ่านช่องทาง Change.org/BailReform โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่เห็นด้วยในการนำแบบประเมินความเสี่ยงไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จำนวนกว่า 10,000 รายชื่อ แต่การผลักดันครั้งนี้ยังต้องการผู้สนับสนุนอีกมาก ทางเครือข่ายฯ ตั้งเป้าจะไปให้ถึง 66,000 รายชื่อเท่ากับจำนวนผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีต่อปีของประเทศไทย โดยจะนำเอาผลสำเร็จที่ได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ไปยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สธ.ชี้ 'ตูน บอดี้สแลม' วิ่งเป็นตัวอย่างของแนวทาง 'ประชารัฐ'

Posted: 11 Oct 2017 06:44 AM PDT

สาธารณสุข ชี้กิจกรรม 'ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 รพ.ทั่วประเทศ' ของ 'ตูน บอดี้สแลม' เป็นตัวอย่างประชารัฐ  เผยปี 60 สธ.ได้งบครุภัณฑ์การแพทย์ 2.7 พันล้าน ด้าน ผบ.สส.แจงปมเทียบเงินซื้อยุทโธปกรณ์

11 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรม "ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" ที่ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ "ตูน บอดี้สแลม" นักร้องชื่อดังได้จัดขึ้นเพื่อระดมทุนจากประชาชน ที่ยินดีร่วมสนับสนุนบริจาคกับศิลปินที่ตนเองชื่นชม นำไปมอบให้โรงพยาบาลภาครัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหมรวม 11 แห่ง เพื่อพัฒนาและจัดหาเครื่องมือแพทย์นั้น เป็นตัวอย่างของแนวทางประชารัฐ ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนพัฒนาและสนับสนุนดูแลโรงพยาบาล ซึ่งประเทศไทยมีโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดมากกว่า 10,000 แห่งที่สร้างจากภาษีของประชาชนและรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณทุกปีในการจัดบริการประชาชนทั่วประเทศกว่า 65 ล้านคน

"โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากประชาชนผู้มีจิตกุศล รวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาเติมเต็มระบบสุขภาพมาโดยตลอด และการจัดกิจกรรมของคุณตูน ในครั้งนี้ ได้มีการพบปะและหารือกันกับผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งโรงพยาบาล 10 แห่งในสังกัด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ขอบคุณชื่นชมและพร้อมสนับสนุนกิจกรรมอย่างเต็มที่ ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมสนับสนุน ให้กำลังใจชื่นชมการจัดกิจกรรมครั้งนี้ด้วย นอกจากจะได้ความสุขจากการเป็นผู้ให้แล้ว ท่านยังได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยอีกด้วย" โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

พรรณพิมล กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) พ.ศ.2560-2564 โดยจัดสรรบุคลากร สิ่งก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดที่มีมากกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ตามความจำเป็นด้านสุขภาพที่แท้จริงในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนคนไทย ได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ ทันสมัยได้มาตรฐาน ตามเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ได้รับการจัดสรรงบลงทุนครุภัณฑ์การแพทย์ จำนวน 2,702,568,000 ล้านบาท

ผบ.สส.แจงปมเทียบเงินซื้อยุทโธปกรณ์

ขณะที่ ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวชี้แจงกรณี ดราม่าในโลกโซเชียล กรณีกองทัพใช้เงินซื้อยุทโธปกรณ์จนทำให้ 'ตูน'บอดี้สแลม วิ่งการกุศลหาเงินช่วยเหลือโรงพยาบาล ซึ่งหนึ่งในนั้นมีโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ว่า ประเทศไทยมีองค์ประกอบการทำงานในหลายๆ ด้านพร้อมกัน ทั้งด้านความมั่นคง การสนับสนุน การสร้างขวัญ การเตรียมกำลังแบบมีตัวตนและไม่มีตัวตน ซึ่งเราได้เฉลี่ยงบประมาณไปทั้งหมดแล้ว ไม่สามารถทุ่มงบประมาณไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

"ขั้นตอนการเตรียมการแต่ละอย่างประกอบด้วยเวลา เช่น ถ้าเราจะซื้ออาวุธครั้งเดียวพร้อมๆกัน ต้องใช้เวลาและกระบวนการคิดเท่าไหร่ ก็เช่นเดียวกับการสร้างโรงพยาบาลต้องคิดเกี่ยวกับอัตราประชากร หมอ พยาบาล ซึ่งแต่ละส่วนคงมีองค์ประกอบอีกมากมาย ส่วนเรื่องดราม่าในโซเชียลถือเป็นปัจจัยหนึ่งและต้องถามคนที่พูด" พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าว

ที่มา : สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ และข่าวสดออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำนำเสนอ ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา: ความเคลื่อนไหวของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นของ อานันท์ กาญจนพันธุ์

Posted: 11 Oct 2017 05:44 AM PDT


หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2527 เวลาล่วงมากว่า 30 ปี แต่แนวคิดและวิธีวิทยายังสามารถอธิบายสังคมภาคเหนือได้อย่างลึกซึ้ง ท่ามกลางการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีข้อมูล และการเข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายกว่าในอดีต แต่ทว่าการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรมล้านนา (ภาคเหนือ) ยังมีปริมาณที่จำกัด ซึ่งเราอาจถือเอางานชิ้นนี้เป็นหมุดหมายของการศึกษา และการกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งอาจจุดประกายให้เกิดการศึกษาแนวทางนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ผู้เขียนในเพิ่มบทความใหม่อีกสี่ชิ้น เพื่อให้เกิดการอธิบายประวัติศาสตร์สังคมภาคเหนือให้กว้างและลึกกว่าเดิม แต่กระนั้น หนังสือเล่มนี้วางอยู่บนฐานของการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา ที่มีความคิดและทฤษฎีบางอย่างอยู่เบื้องหลังการอธิบาย ซึ่งอาจไม่คุ้นเคยนักสำหรับประวัติศาสตร์บางสำนัก ทั้งที่ก็ผ่านมากว่า 30 ปี


ปกหน้า

หนังสือเล่มนี้มีสองส่วนที่อาจต่อกัน หรือไม่ต่อกัน แล้วแต่ว่าผู้อ่านแต่ละคนจะใช้แว่นชนิดใดในการมอง

ในส่วนแรกงานชิ้นนี้ผู้ถึงตำนาน แล้วสร้างประวัติศาสตร์สังคมผ่านตำนาน อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เสนอว่าตำนานไม่ใช้ข้อเท็จจริง หรือความจริง แต่คือ วิธีคิด การไปค้นหาความจริงจากตำนานเลยไม่สามารถหาได้ ซึ่งแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ที่อ่านตำนานเพื่อหาข้อเท็จจริง จึงเห็นว่าตำนานเป็นสิ่งที่หาแก่นสารไม่ได้  อ. อานันท์ เสนอว่า [2]"เอกสารประเภทตำนานเหล่านี้แม้จะสร้างภาพอดีตของล้านนาให้อุดมไปด้วยรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ แต่เนื่องจากลักษณะของตำนานผสมผสานเอาเรื่องราวที่เป็นอภินิหารและความเชื่อในนิยายปรัมปราเข้าไว้มาก ทำให้ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าที่ควรในฐานะเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แท้ที่จริงนักประวัติศาสตร์ล้านนาในปัจจุบันอ่านตำนานเพียงเพื่อจะค้นเอารายละเอียดของเหตุการณ์โดยปราศจากความเข้าใจในความหมาย วัตถุประสงค์และลักษณะความคิดพื้นฐานที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตำนาน จึงไม่อาจเห็นคุณค่าของตำนานได้ ตำนานนั้นมีลักษณะเป็นผลิตผลของจินตนาการที่เกิดจากความคิดและความเชื่อที่ต้องการความเข้าใจแบบหนึ่งโดยเฉพาะแตกต่างจากปัจจุบัน เพราะการแสดงออกของตำนานมักจะเป็นไปในรูปของสัญลักษณ์ ที่สร้างขึ้นมาจากลักษณะความคิดในสังคม ดังนั้นการที่จะเข้าใจหรือ "แปล" สัญลักษณ์นั้นๆได้จำเป็นจะต้องสนใจลักษณะความคิดและระบบคุณค่าของสังคมล้านนาซึ่งเปรียบเสมือน "ไวยากรณ์" หรือสื่อช่วยให้เข้าใจภาษาของสังคมการทำความเข้าใจกับ "ไวยากรณ์" ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสัญลักษณ์ของตำนานเท่ากับเปิดโอกาสให้สามารถอ่านตำนานจากทัศนะหรือภาษาของตำนานได้เอง

...เนื้อหาของตำนานไม่อาจจะแยกออกจากลักษณะความคิดพื้นฐานของผู้เขียนตำนานนั้น (Content และ form) ก่อนที่จะดึงเอาเนื้อหาของตำนานมาสร้างประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์จึงควรระลึกถึงคำถามที่ควรถามเอกสารอันเป็นหลักฐานของเขาอยู่เสมอว่า ทำไมจึงมีผู้เขียนเอกสารนั้น และทำไมเขาจึงเขียนเช่นนั้น คำตอบที่ได้จะเป็นแนวทางในการวิเคราะห์เนื้อหาของเอกสารนั้น ทำให้ทราบความหมายที่แท้จริงของเนื้อหา ..." (อานันท์ 2560 บทที่ 3 ในเล่มนี้)

นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้พยายามทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของชุมชนล้านนาตั้งแต่อดีต ผ่านเรื่องเล่าของพระญาเจือง ในฐานะวีรบุรุษร่วมของคนไท ลาว กินอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน รวมถึงการอธิบายความสัมพันธ์ตำนานพระญาเจืองผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ที่เป็นต้นกำเนิดของเมืองในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป

ดังนั้น ตำนานในความหมายของ อ.อานันท์ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือความจริงที่จะไปค้นหาอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่คือ วิธีคิด ที่สะท้อนโลกทัศน์ ชีวทัศน์ จักวาลทัศน์ และบริบทของยุคสมัยที่มีการเขียน แก้ เปลี่ยนตำนานนั้น ๆ เราจึงไม่อาจมองตำนานแบบทื่อ ๆ ได้

ส่วนที่สองของหนังสือเล่มนี้ อ.อานันท์ ให้พื้นที่มากที่สุด เพราะส่วนหนึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ในระดับปริญญาเอก [3] และเป็นงานที่อาจารย์ให้ความสนใจหลังจากศึกษาปริญญาเอกแล้ว โดย อ. อานันท์ต้องการที่จะค้นหาความสัมพันธ์ทางการผลิตผ่านสำนักคิดแบบมาร์กซิสต์ [4]  ที่อาจารย์ใช้เป็นกรอบคิดในการมอง ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมล้านนาหลายประการด้วยกัน


ปกหลัง

ประการแรก อาจารย์พบว่าความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนแรงงานและกลไกของการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรในพื้นที่ปลูกข้าวในภาคเหนือของประเทศไทย ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าที่ดิน ผู้เช่า ชาวนาเล็ก และกลาง ท่ามกลางการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมภาคเหนือ โดย อ. อานันท์ อธิบายให้เห็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ คือ เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่จำนวนน้อยได้กลายมาเป็นเกษตรกรนายทุน เกษตรกรบางส่วนต้องศูนย์เสียที่ดินและถูกขับไล่ออกจากที่ดินและกลายมาเป็นแรงงานรับจ้างอิสระ ความซับซ้อนที่หลากหลายของการจัดการในการผูกมัดแรงงานได้ปรากฏขึ้น มีการเกิดขึ้นของเกษตรนายทุนที่มีข้อบังคับที่หลากหลายและสามารถทำให้พวกเขามีความพยายามมากขึ้นที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมแรงงานของผู้เช่าที่ดินและควบคุมแรงงานรับจ้าง

ที่ดิน แรงงาน ถูกทำให้อยู่ในระบบตลาด สามารถซื้อขายได้อย่างไม่มีการควบคุม แม้ว่านโยบายของรัฐที่ออกมาจะเป็นการย่นระยะให้ทุนและเทคโนโลยีไหล่บ่าเข้าในพื้นที่ชนบท รวมถึงความพยายามของชาวบ้านที่ยากจนในการยื้อที่ดินที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยในการยังชีพ เกษตรกรปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กันภายในชุมชน ด้านหนึ่งเป็นการต่อสู้ที่ชุมนุมเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของผู้เช่าที่ดินและชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินในจังหวัดเชียงใหม่และทั่วประเทศในกลางทศวรรษ 1970 (2513) และในระดับท้องถิ่นมีการเคลื่อนไหวเรื่องค่าจ้าง และท่ามกลางการเคลื่อนไหวสองเรื่องนั้น นพมามาสู่การสร้างองค์กรและความสัมพันธ์ในชุมชน

ประการที่สอง ความเคลื่อนไหวนี้เกิดในช่วงเวลาที่มีเสรีภาพทางการเมือง จาก พ.ศ. 2516 – พ.ศ.2519 เกิด "สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาแห่งประเทศไทย" รัฐบาลจึงเห็นชอบให้ผ่านเรื่องเช่าที่ดิน คือสัญญาเช่าจะมีระยะเวลา 6 ปี การจ่ายเงินค่าเช่า ผู้เช่าต้องจ่ายเป็นประจำทุกปีโดยไม่สนใจผลผลิตที่ได้และจำกัดการแบ่งให้เช่าของที่ดินให้มากที่สุดของครึ่งหนึ่งของผลผลิต นำมาสู่การตั้ง "กลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกัน" ซึ่งรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ 27 หมู่บ้านการรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นผลมาจากการมีสหพันธ์ฯ หลังจากไม่มีสหพันธ์ฯ ก็ไม่มีการต่อสู้เรื่องกฎหมายการควบคุมการใช้ที่ดิน ประสบการณ์ที่เป็นแบบอย่างขององค์กรที่ต่อต้านโดยผู้เช่า เกษตรกรที่ยากจน เกษตรกรไร้ที่ดินในเชียงใหม่ ไม่ได้หายไปไหนแต่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินในภายหลัง และเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาต่อมา

ประการที่สาม การเกิดชนชั้นของเกษตรกรนายทุน ในปี ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) เจ้าของพื้นที่ปลูกข้าวที่มีระบบชลประทานในหมู่บ้านมีแนวโน้มที่จะเป็นชาวบ้านที่ร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของชนชั้นเกษตรกรนายทุน เกษตรกรนายทุนเป็นคนกลุ่มหนึ่งในจำนวนไม่กี่คน ควบคุมพื้นที่ปลูกข้าวที่มีการชลประทานขนาดใหญ่รวมถึงความสัมพันธ์ของการมีเครือข่ายอย่างกว้างขวางกับผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นและอำนาจ

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ภาครัฐได้นำนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนจากธนาคารโลกมาใช้แทนที่จะลงมือเรื่องการปฏิรูปที่ดิน นโยบายของธนาคารโลกได้ก่อให้เกิดปัญหาการเช่าที่นา การไร้ที่ดินทำกิน และรัฐบาลไทยเองก็มุ่งเพียงแต่ที่จะถ่ายโอนเรื่องเทคโนโลยีและทุนเข้ามาในชนบท นโยบายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เกษตรกรอยู่ติดกับที่ดินในฐานะที่เป็นทรัพยากรของค่าแรงราคาถูก สำหรับการผลิตอาหารต้นทุนต่ำ และสินค้าการเกษตรอื่น ๆ มีนโยบายหลัก ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือ เช่น นโยบายเงินผัน ที่สนับสนุนโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนโยบายทำนองนี้ก็ได้สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน และไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้

ประการที่สี่ ระบบทุนนิยมได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ของการผลิต และทำให้เกิดแรงงานรับจ้าง ผ่านค่าจ้างแรงงานในภาคการเกษตร แทนการจัดความสัมพันธ์แรงงานที่เคยทำมาในอดีต จึงถูกทำให้กลายเป็นการไม่มีอำนาจในการต่อรอง เนื่องจากกลัวว่าจะไม่มีใครจ้างงาน ทำให้มีแรงงานรับจ้างมากขึ้นทั้งที่อยู่ในหมู่บ้านและไปรับจ้างนอกพื้นที่ เช่นไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ บางส่วนที่เป็นลูกของคนมีฐานะจะออกไปเรียนหนังสือ ชาวนากลางจึงหางานทำอยู่บ้าน

การแลกเปลี่ยนแรงงานได้เปลี่ยนแปลงไป โดยการเอามื้อเอาวันจะทำเฉพาะช่วงการถอนกล้า ดำนา ซึ่งต้องใช้แรงงาน ขณะที่ในช่วงเก็บเกี่ยวจะไม่มีการเอามื้อ แต่ชาวนารวยจะใช้การจ้างงานแทนซึ่งจะได้เปรียบในการใช้แรงงาน การแลกเปลี่ยนแรงงานที่จะความสัมพันธ์ของคนในลักษณะเอามื้อเอาวัน จึงเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขในระบบการผลิต ที่การถือครองปัจจัยการผลิตได้เปลี่ยนไปสู้เจ้าของที่ดิน และเกิดการปรับเปลี่ยนสถานภาพจากผู้เช่าที่ มาเป็นผู้รับจ่ายแทน ส่วนเจ้าของที่ดินกลายเป็นนายทุนที่ดินในการจ่ายและดูแลผลผลิต

การเปลี่ยนระบบการแลกเปรียบแรงงานที่พบในพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างใหม่ คือ จ้างร้อยถอน เป็นการจ้างแบบไม่ใช้เงิน แต่ให้เป็นผลผลิตตอบแทนโดยจะมีการตกลงกันในการให้ค่าตอบแทนในการทำงานในพื้นที่ในร้อยละเท่าไร ซึ่งเจ้าของนาจะให้กับผู้ที่มาช่วยทำนา โดยจะคิดในอัตราที่เทียบกับค่าจ้างต่อวันเท่าไร และนำไปคำนวณกับค่าข้าวในช่วงปีนั้นว่ามีราคาเท่าไร และจ่ายเป็นข้าวตามจำนวนที่มาใช้แรงงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นของการปรับตัวของชาวนา

ประการที่ห้า เผยให้เห็นถึงปริมาณการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนในความสัมพันธ์ทางการผลิตและยุทธศาสตร์ของการเพิ่มผลผลิตและการผลิตเพื่อยังชีพ การปลูกพืช ปีละ 3 ครั้ง ที่ใช้ทุนมาก และเริ่มมีการใช้เครื่องจักรเพื่อการเกษตรนั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วลักษณะที่ปรากฏของบริบททั้งหมดนี้ รวมถึงการเข้าใกล้รุกเข้าไปในท้องถิ่น การลดลงของอัตราการเพิ่มประชากร และการอพยพออกนอกพื้นที่ มิติทางการเมืองก็มีความสำคัญ รวมถึงอัตราพิเศษทางการเงินจากรัฐ และการสนับสนุนทางด้านกฎหมายสำหรับเจ้าของที่ดินที่มีฐานะกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการจัดการที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ความหลากหลายของการทำสัญญา ขึ้นอยู่กับพืชที่ปลูก สถานะทางเครือญาติ และผู้ว่าจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นการจัดโครงสร้าง หรือความสัมพันธ์ใหม่ของผู้คนในชนบทภาคเหนือ

ประการที่หก คนที่อยู่ของความสัมพันธ์ทางการผลิตนี้ได้รับผลของความเปลี่ยนแปลง แตกต่างตามผลประโยชน์ ข้อตกลง และอำนาจที่ไม่เท่ากัน นำมาสู่การต้านทาน ความขัดแย้ง ต่อรอง และผสานประโยชน์  และฉายให้เห็นชีวิตหมู่บ้านภาคเหนือ ในฐานะการต่อสู้ทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่น การควบคุมแรงงานการมีเครือข่าย เป็นปฏิบัติการของอำนาจและการควบคุมทางสังคมผ่านชีวิตของผู้คนธรรมดา

ในระยะที่ชาวบ้านต้องพบกับกระแสไหลบ่าเข้ามาของทุนและการผลิตเพื่อการค้าอย่างเข้มข้นใน ชาวบ้านไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการผลิตแบบเดิม แต่ชาวบ้านเองก็ได้มีการต่อสู้ ขัดแย้งในการใช้ที่ดิน แรงงาน เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับระบบตลาดและรัฐในลักษณะต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

แม้หนังสือเล่มนี้จะให้พื้นที่ต่อการถกเถียงเรื่องการเข้าสู่ระบบตลาด และการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมภาคเหนือ แต่ในส่วนของบทที่ 1, 10, 11 และ 12 ที่เพิ่มมาใหม่ในการพิมพ์ครั้งนี้ อ.อานันท์ พยายามถกเถียงและฉายภาพให้เห็นถึงโครงสร้างของระบบทุนนิยมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชนบทภาคเหนือ ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้พยายามทำให้เห็นพลังของระบบทุนนิยม ที่สำนักอื่น ๆ มักปฏิเสธและเชื่อว่าชุมชนสามารถเลี้ยงตนเองได้ [5] (บทที่ 10, 11) แต่ อ.อานันท์ เสนอว่าชุมชน ผู้คนไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวและหยุดนิ่ง ทั้งยังมีความขัดแย้งอย่างเข้มข้นในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยน รวมถึงการที่ อ. อานันท์ พยายามอธิบายว่าการเกิดทุนนิยมไม่ได้เกิดลอย ๆ หรือเกิดบนฐานของสุญญากาศ แต่เกิดภายใต้เงื่อนไขของวัฒนธรรมเดิม หรือระบบอุถัมภ์ที่กลุ่มทุนและระบบทุนนิยมเกิดใหม่ใช้เป็นเครื่องมือทำให้ระบบทำงาน ผ่านระบบการผูกขาดทุน แรงงาน และการจัดการ (บทที่ 11) ซึ่งเราจะเห็นว่าในปัจจุบันความสัมพันธ์แบบนั้นก็ยังคงทำงานอยู่ และยิ่งจะเข้มข้นขึ้นด้วย

ในส่วนของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อ.อานันท์ พยายามจะทบทวนและเสนอว่าประวัติศาสตร์ถิ่น คือ การศึกษาความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นและเวลา ไม่ใช่การศึกษาที่ผูกโยงกับหน่วยที่ใหญ่กว่าอย่างชาติ แล้วท้องถิ่นเป็นแค่ติ่ง การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องอาศัยความสัมพันธ์ในหลายระดับเพื่อเข้าพื้นที่ เวลา และผู้คน รวมถึงการศึกษาล้านนาคดีก็ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ บริบทในหลายระดับ ไม่ควรยึดติดกับคู่ตรงข้ามซึ่งจะทำให้เราตกอยู่ภายใต้กับดักที่ไม่สามารถอธิบายอะไรได้ (บทที่ 1 และ 12)

ท้ายที่สุดหนังสือเล่มนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเข้าสู่การค้าของภาคเกษตรกรรมในภาคเหนือ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐกิจของกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ที่นำแนวความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมเกษตรของ Mare Bloch [6] แนวความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบกรมสิทธิ์ และการถือครองที่ดินของ Max Weber [7] ผสมกับการศึกษาด้านมานุษยวิทยาเศรษฐกิจสำนักมาร์กซิสต์ที่ เน้นความสัมพันธ์ทางการผลิต และกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยม ทั้งนี้เพื่อได้แย้งว่าแนวการศึกษาหมู่บ้านไทยที่มักจะให้ภาพของหมู่บ้านในเชิงอุดมคติว่ามีความเป็นอิสระ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระแสจากการพัฒนาของรัฐหรือจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ได้เข้ามาบ่อนทำลายความเป็นชุมชนของชนบทลง รวมทั้งได้เข้ามาทำลายเศรษฐกิจในชุมชนที่เป็นการผลิตแบบยังชีพของชุมชนลงซึ่งการมองลักษณะดังกล่าวจะทำให้มองหมู่บ้านที่มีลักษณะหยุดนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวภายในด้วยตนเอง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้วนมาจากกระแสภายนอก และที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับปฏิบัติการของผู้คน ที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้โครงสร้าง แต่มีความเป็นผู้กระทำการในฐานะมนุษย์ด้วย

หนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ตอเมื่อเกิดการถกเถียงและวิพากษ์ เพื่อให้เกิดความคิดและวิธีวิทยาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการให้เกิดวิวาทะ เพื่อให้แวดวงทางวิชาการก้าวหน้า ซึ่งต้องเกิดจากความเห็นที่แตกต่างหลากหลายมากกว่าเห็นไปแนวทางเดียวกันหมด
 

เชิงอรรถ

[1] คำนำเสนอในการพิมพ์ครั้งที่ 2 ครั้งแรกเขียนโดย อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ดูในตัวเล่ม

[2] Anan Ganjanapan.  (1976).  Early Lan Na Thai historiography : an analysis of the fifteen and sixteenth century chronicles.  New York : Cornell University.

[3] Anan Ganjanapan.  (1984).  The Partial Commercialization of Rice Production in  Northern Thailand (1900-1981).   Ph.D. Dissertation, Cornell University, USA.

[4] ดูเพิ่มใน, Giddens, Anthony.  (1971).  Capitalism and modern social theory : an analysis of the writings of Marx, Durkheim and Max Weber.  Cambridge [Eng.] : Cambridge University Press.

[5] อานันท์ กาญจนพันธุ์.  (2539).  สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โครงการศึกษา "เมืองไทยในความใฝ่ฝันของนักคิดอาวุโส".  กรุงเทพฯ:  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

[6] Marc Bloch.  (1966).  French Rural History: An Essay on Its Basic Characteristics.  Univ. of California Press,

[7] Calavan, Micheal M.  (1977).  Decisions Against Nature : An Anthropological Study of Agriculture in Northern Thailand, Center for Southeast Asian Studies, Northern IIINOIS univ.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ ‘หุ่นยนต์-AI’ เข้ามาแทนที่คน ‘ผู้หญิง’ เสี่ยงตกงานมากกว่า ‘ผู้ชาย’

Posted: 11 Oct 2017 05:24 AM PDT

ที่สหรัฐฯ พบผู้หญิงเสี่ยงตกงานมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าจากการปฏิวัติหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ บ้านเรา 'สิ่งทอ-ชิ้นส่วนยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์' ที่มีสัดส่วนการจ้างงานแรงงานฝ่ายผลิตหญิงสูง ก็มีความเสี่ยงสูญเสียงาน หากมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอนาคต

งาน 'แคชเชียร์' หรือ 'พนักงานเก็บเงิน' เป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในปีต่อ ๆ ไป ถึงร้อยละ 97 และในสหรัฐฯ ในปี 2016 ร้อยละ73 ของพนักงานเก็บเงินคือผู้หญิง ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

นอกจากข้อถกเถียงที่ว่า 'ระบบอัตโนมัติ' จะสร้างหรือทำลายตำแหน่งงานของมนุษย์ ก็ยังมีคำถามสำคัญอีกอย่างคือคนกลุ่มใดที่จะได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) นี้มากที่สุด จากรายงานของสถาบันการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์เชิงพื้นที่ (ISEA) เมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ระบุว่าความก้าวหน้าของระบบอัตโนมัตินอกจากจะทำให้แรงงานในสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการสูญเสียงานกว่าล้านตำแหน่งแล้ว ก็ยังมีประเด็น 'ความเหลื่อมล้ำทางเพศ' แฝงอยู่ เพราะผู้หญิงเสี่ยงที่จะตกงานมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า

ผู้หญิงในสหรัฐฯ ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่ต้องสูญเสียงานให้กับระบบอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น งาน 'แคชเชียร์' หรือ 'พนักงานเก็บเงิน' มีการประเมินว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในปีต่อ ๆ ไป ถึงร้อยละ 97 และในสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2559 ร้อยละ 73 ของพนักงานเก็บเงินคือผู้หญิง

ผู้หญิงไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวที่ ISEA ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบด้านการจ้างงานจากการเพิ่มขึ้นของระบบอัตโนมัติ แรงงานเชื้อสายฮิปสแปนิชและเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานอยู่ที่ร้อยละ 13 และร้อยละ 25 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานผิวขาว ส่วนแรงงานเชื้อสายเอเชียมีความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 11 นอกจากนี้คนที่ไม่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายมีโอกาสเสี่ยงที่จะตกงาน 6 เท่า เมื่อเทียบกับคนจบปริญญาเอก เพราะงานใช้ทักษะน้อยก็ที่มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติได้มากกว่า

ในอนาคตการจ้างงานมนุษย์ที่จะเพิ่มขึ้นก็เห็นจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหุ่นยนต์และ AI อย่างงานประเภท STEM [ย่อมาจากงานสายวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)] แต่กระนั้นก็พบว่าผู้จบการศึกษาสาย STEM นี้ทุก ๆ 4 คน จะเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว และถึงแม้ผู้หญิงจะเข้าไปอยู่ในสายงาน STEM แล้วก็ยังพบว่าโอกาสการก้าวในอาชีพของพวกเธอนั้นมีน้อยกว่าผู้ชายมาก

ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยผลวิจัยของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (World Economic Forum) เมื่อเดือน ม.ค. 2559 ได้คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีการเพิ่มจำนวนของแรงงานหุ่นยนต์และ AI จะส่งผลให้มีคนตกงานประมาณ 5 ล้านคนภายใน 5 ปีข้างหน้าใน 15 ประเทศที่มีสัดส่วนการจ้างงานประมาณร้อยละ 65 ของแรงงานทั่วโลก (อาทิเช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย และอิตาลี) รายงานชิ้นนี้ยังระบุว่าผู้หญิงจะเป็นกลุ่มที่สูญเสียงานมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการจัดการเอกสารอย่างงานพนักงานออฟฟิศและพนักงานภาครัฐ ซึ่งงานทั้งสองประเภทนี้เป็นงานที่ผู้หญิงมีบทบาทมากกว่าผู้ชาย

ข้อมูลจากเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ยังได้ระบุถึงสัดส่วนผู้หญิงในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไว้ว่ามีสัดส่วนผู้หญิงทำงานในภาคออฟฟิศและพนักงานรัฐมากที่สุดคือร้อยละ 54 ตามมาด้วย บันเทิง, กีฬาและสื่อร้อยละ 48 พนักงานขาย ร้อยละ 41 บริหารจัดการร้อยละ 25 คอมพิวเตอร์และการคำนวณ ร้อยละ 23 การผลิต ร้อยละ 20 สถาปนิกและวิศวกร ร้อยละ 11 ก่อสร้าง ร้อยละ 10 และติดตั้งและซ่อมบำรุง ร้อยละ 8

 

ตัวอย่างประเภทงานของผู้หญิงที่มีความเสี่ยง

นอกเหนือจากพนักงานเก็บเงิน พนักงานออฟฟิศ และพนักงานภาครัฐ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ก็พบว่ายังมีงานในอีกหลายประเภทที่ผู้หญิงมีบทบาทมากกว่าผู้ชาย และพวกเธอกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียงานให้กับหุ่นยนต์และ AI ตัวอย่างเช่น

พนักงานทำความสะอาด

หุ่นยนต์ทำความสะอาดนอกจากงานในบ้านแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็นตามโรงแรมหรือที่สาธารณะต่าง ๆ มากขึ้น (ที่มาภาพ: lgnewsroom.com)

พนักงานต้อนรับ

โรงแรมเฮนนะโฮเทล (Hen'na Hotels) ในญี่ปุ่นมีการนำหุ่นยนต์มาทำงานพนักงานต้อนรับ (ที่มาภาพประกอบ: experienceluxury.co)

พนักงานดูแลลูกค้าและให้บริการทางโทรศัพท์

อีกไม่นานนักระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่งานดูแลลูกค้าและให้บริการทางโทรศัพท์ (ที่มาภาพประกอบ: techrepublic.com)

พนักงานธนาคาร

ธนาคาร Mizuho ในญี่ปุ่นเริ่มนำหุ่นยนต์มาให้บริการลูกค้าตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีแผนการจะเพิ่มหุ่นยนต์ในอีกหลายสาขา (ที่มาภาพประกอบ thefinancialbrand.com)

 

สถานการณ์ในอาเซียนและไทย

สำหรับบ้านเราแรงงานในอุตสาหกรรม 'สิ่งทอ-ชิ้นส่วนยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์' ที่มีสัดส่วนการจ้างงานแรงงานฝ่ายผลิตหญิงสูง ก็มีความเสี่ยงสูญเสียงานสูง หากมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอนาคต ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าภายในอีก 20 ปี แรงงานร้อยละ 56 ในภูมิภาคอาเซียน อย่าง ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียงานโดยเฉพาะแรงงานทักษะน้อย เนื่องจากหุ่นยนต์มีความสามารถมากขึ้น มีราคาถูกลง และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้น อย่างในประเทศเวียดนามที่หลายโรงงานเริ่มทยอยนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนคน และในอนาคตมีการประมาณการว่าแรงงานเวียดนามทุก 300 คน จาก 1,600 คน จะต้องสูญเสียงานให้หุ่นยนต์ (อ่านเพิ่มเติม: เวียดนาม 4.0 เลิกจ้าง 'แรงงาน' แล้วแทนที่ด้วย 'หุ่นยนต์' บ้างแล้ว)

สำหรับภูมิภาคอาเซียนข้อได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูกจะไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีแรงงานมากถึง 9 ล้านคน เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากแรงงานจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีหลายประเภท เช่น เทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เทคโนโลยีการสแกนร่างกาย เทคโนโลยีช่วยในการออกแบบ เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ นาโนเทคโนโลยี และการใช้เครื่องจักรใหม่ ๆ ในการผลิต ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอนี้ก็คือผู้หญิง สำหรับประเทศไทยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะในไลน์ผลิตมีความเสี่ยงสูญเสียงานมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้แรงงานหญิงอยู่ในสายการผลิตมากกว่า และไม่ได้เป็นหัวหน้างานแบบผู้ชายมากนัก (อ่านเพิ่มเติม: ค่าแรงเราไม่เท่ากัน: อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ค่าแรงหญิงยังน้อยกว่าชาย)

ILO ยังเคยระบุว่าแม้เอกชนในภูมิภาคอาเซียนซึ่งรวมถึงไทย จะพยายามควานหาแรงงานในภาค STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) แต่คนรุ่นใหม่ในภูมิภาคกลับไม่เลือกศึกษาในภาค STEM นี้ โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งมีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่เลือกศึกษาภาคส่วนดังกล่าว

ล่าสุดในเดือน ต.ค. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ระบุว่าภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ECC) พบข้อมูลว่ามีโรงงานประมาณ 300-400 แห่ง มีความสนใจขยายการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาเป็นระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ทั้งนี้ส่วนใหญ่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีสัดส่วนการจ้างงานแรงงานหญิงสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานสูงด้วยเช่นกัน หากมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอนาคต

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

Five Million Jobs by 2020: the Real Challenge of the Fourth Industrial Revolution (World Economic Forum, 18/1/2016)
ILO: Robots threaten millions of jobs in Southeast Asia (Deutsche Welle, 9/7/2016)
Women are twice as likely than men to lose their jobs to robots (Kate Taylor, Business Insider, 26/6/2017)
Without Workplace Reforms, Robots Could Replace More Women Than Men  (REBECCA HENDERSON, Morning Consult, 11/5/2017)
100 Women: Who's going to lose out from automation? (BBC, 6/10/2017)
30 บริษัทในนิคมเหมราชสนใจใช้หุ่นยนต์ในสายผลิต (Money Channel, 10/10/2560)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กลัว

Posted: 11 Oct 2017 05:05 AM PDT

บทกวีโดย Ngaesai

 

ความกลัวก่อตัวเกิด
กลัวสิ่งทูนเทิดจะสูญหาย
กลัวสิ่งที่เคยเชื่อถูกทำลาย
กลัวสายยึดใจจะไม่มี

กลัวเสียอำนาจผู้ปกครอง
กลัวว่าทองจะลอกสี
กลัวถูกรื้อขื่อคานนานนับปี
กลัวพบภาพความดีไม่ดีจริง

กลัวว่าอภิสิทธิ์ชนของตนเปลี่ยน
กลัวโลกหมุนเวียนไม่หยุดนิ่ง
กลัวว่าสิ้นเสาหลักพึ่งพักพิง
กลัวต้องทิ้งสิ่งเก่าให้เฉาตาย

กลัวความตื่นรู้สู่รากหญ้า
กลัวพลังก้าวหน้าจะขยาย
กลัวระบอบครอบร่างพังทลาย
กลัวสุดท้ายกะลาแตกแยกแผ่นดิน


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. ห้ามขึ้น 'โดรน' ฝืนโดนคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน จนกว่าลงทะเบียน

Posted: 11 Oct 2017 04:46 AM PDT

มติ กสทช.ห้ามโดรนใช้งานจนกว่าจะมาลงทะเบียน ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเปิดให้ลงทะเบียนที่สำนักงาน กสทช. สถานีตำรวจ หรือสำนักงานการบินพลเรือนฯ ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป

11 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค.60) มติที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษได้มีการพิจารณาเรื่องการใช้งาน Drone เนื่องจากขณะนี้มีการใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเพียง 350 ลำ ดังนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือป้องกันราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ประชุม กสทช. จึงมีคำสั่ง ดังนี้

1.ห้ามการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ยกเว้น มีการขึ้นทะเบียนเพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าว หรือมีการขึ้นทะเบียนตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) พ.ศ. 2558 หรือเป็นเครื่องบินเล็กซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวงคมนาคมซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548

2.การขึ้นทะเบียนเพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก(Drone)ให้ดำเนินการ ดังนี้ 2.1 เอกสารและข้อมูลการลงทะเบียน - กรณีบุคคลซึ่งครอบครองการใช้งาน ให้แจ้ง ชื่อ-สกุลผู้ครอบครอง หมายเลขเครื่องหรือ Serial Number ยี่ห้อเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก(Drone)และอื่นๆ ตามแบบฟอร์มของสำนักงาน กสทช. ภาพถ่ายของ Drone ที่ลงทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ครอบครอง - กรณีบุคคลซึ่งครอบครองเพื่อจำหน่าย (ร้านค้า) ให้แจ้งบัญชีแสดงรายการเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ตามแบบฟอร์มของสำนักงาน กสทช. ภาพถ่ายของ Drone ที่ลงทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ครอบครอง

2.2 สถานที่ลงทะเบียน ได้แก่ สำนักงาน กสทช. ถนนพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) พญาไท กรุงเทพฯ สำนักงาน กสทช. ภาค และสำนักงาน กสทช. เขต ทั่วประเทศ สถานีตำรวจทั่วประเทศ หรือที่สำนักงานการบิน   พลเรือนแห่งประเทศไทย

3.ในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก(Drone) ให้ถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) พ.ศ. 2558 ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง การบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ระหว่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

4.ให้ผู้ครอบครองเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ดำเนินการขึ้นทะเบียนภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันนี้ (11 ต.ค. 2560)

5. ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมูสยามกับพญาอินทรี (ในมุมมองสัจนิยมใหม่)

Posted: 11 Oct 2017 04:38 AM PDT

ถ้าไม่มุ่งสอพลอเยินยอกันเกินไป นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะพบว่า การเยือนสหรัฐของหัวหน้าคณะรัฐประหารไทยไม่ได้มีอะไรเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากเท่ากับประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายสหรัฐ

ถ้าแนวคิดสัจนิยมใหม่คือการมองระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและดุลแห่งอำนาจแบบอนาธิปัตย์แล้วไซร้ เราจะเห็นว่า ภูมิศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันนั้น สหรัฐยังมีกำลังทางทหารอย่างล้นเหลือเกินกว่าใครจะต้านทานได้อยู่แล้ว แต่อิทธิทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้นลดลงอย่างมากอันเนื่องมาจากการเติบโตของจีน สิ่งที่สหรัฐในสมัยทรัมป์จะต้องทำคือ "จำกัด" การเติบของจีนไม่ให้กลายเป็นภัยคุกคามกับอิทธิพลของสหรัฐ ดังนั้นทรัมป์จึงเรียกหา "พันธมิตร" ที่จะเสริมอิทธิพลของสหรัฐ การเชิญผู้นำจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปวอชิงตันนับแต่เขาขึ้นสู่ตำแหน่งจึงเป็นการบอกกับจีนกลายๆว่า สหรัฐยังมีอิทธิพลและพรรคพวกในย่านนี้ (ควรจะเกรงใจกันหน่อย)

แต่ทรัมป์เป็นพ่อค้า แทนที่เขาจะให้รางวัลกับพันธมิตรที่ไปเยือนเขาในรูปของความช่วยเหลือต่างๆเหมือนอย่างที่เคยๆในยุคกลางศตวรรษที่ 20 เขากลับขายของให้ผู้นำเหล่านั้นราวกับว่า ชาวอุษาคเนย์ไปเที่ยวอเมริกาแบบทัวร์ศูนย์เหรียญก็ไม่ปาน

ตอนที่นายกเหวียนวันฟุกไปเยือนสหรัฐในเดือนพฤษภาคมนั้นเวียดนามเซ็นสัญญาธุรกิจกันมีมูลค่าถึง 8,000 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งคำนวนเป็นการจ้างงานในสหรัฐได้ถึง 23,000 ตำแหน่ง และในนั้นเวียดนามต้องซื้อสินค้าอเมริกันเป็นมูลค่า 3,000 ล้านดอลล่าร์ และเวียดนามก็ได้ชื่อว่า มีสหรัฐเป็นพันธมิตรคานอำนาจกับจีนในปัญหาทะเลจีนใต้ (จริงหรือไม่ก็คอยดูกันต่อไป)

ตอนนายกนาจีปแห่งมาเลเซีย ไปเยือนสหรัฐสองสัปดาห์ก่อนหน้านายกประยุทธ์เขาต้องสัญญาว่ามาเลเซียแอร์ไลน์ซื้อและจะซื้อเครื่องบินโบอิ้งรวมๆแล้วกว่า 50 ลำ เป็นเสมือนของฝากติดไม้ติดมือไปให้ทรัมป์ ผู้ซึ่งก็ไม่ได้ให้อะไรกับผู้นำมาเลย์มากไปกว่าให้ไปเยือนทำเนียบขาวในระหว่างที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังพิจารณาดำเนินคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตในกองทุน 1MDB อันฉาวโฉ่ของนาจีป

ทรัมป์โทรมาเชิญนายพลของไทยไปเยือนทำเนียบขาว เพราะรู้ว่า คนพวกนี้โหยหาวันชื่นคืนสุขสมัยสงคราม (ทั้งร้อนและเย็น) แน่นอนทรัมป์ต้องการให้ไทยอยู่ในอ้อมแขนสหรัฐต่อไปในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ในแบบ treaty ally เพราะนายพลไทยเอาไพ่จีนมาต่อรอง แต่เขาก็รู้กันทั่วโลกแล้วว่า ไทยต้องจ่ายค่าไพ่ใบนั้นจนจะกระเป๋าแห้งแล้ว อีกทั้งสหรัฐก็ไม่ใช่เจ้าบุญทุ่มที่จะเอาเงินมาสปอยทหารไทยได้อีกแล้ว สิ่งที่พวกนายพลไทยต้องทำเพื่อแลกกับความฝันเสมือนจริง (อย่าได้แปลกใจว่าทำไมนายกไทยพูดเรื่องถนนมิตรภาพขึ้นมาในระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำกับนักธุรกิจสหรัฐ เพราะมันคือความฝันของแก) คือช่วยส่งเสริมนโยบาย America First ด้วยการซื้อสินค้าสหรัฐเหมือนคนอื่นๆ

แต่นายพลของไทยทำอะไรน้อยหน้าเพื่อนมิตรในอาเซียนไม่ได้ พวกเขาจึงเลือกซื้อสินค้าตกยุคคือถ่านหินซึ่งทรัมป์เพิ่งประกาศฟื้นฟูการใช้พลังงานฟอสซิลที่สกปรกอันนี้ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เมื่อเขาถอนตัวจากสนธิสัญญาปารีสที่เป็นสัญญาร่วมมือแก้ปัญหาโลกร้อน

แน่นอนว่าบริษัทเอสซีจีย่อมคิดว่าในทางธุรกิจซื้อของก็ได้ของเป็นธรรมดา แต่การซื้อถ่านหินจากสหรัฐนั้นกระทบต่อระเบียบใหม่ของโลก 2 อย่างคือ ความร่วมมือเรื่องโลกร้อนและแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะใครๆก็กำลังรณรงค์ให้ซื้อขายกันในกลุ่มให้มากเพื่อทำให้การผนึกประสานของประชาคมอาเซียนเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่ไทยต้องลดการซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซียเพื่อไปขนมาจากสหรัฐด้วยข้ออ้างว่าของคุณภาพดีกว่า

ยิ่งไปกว่านั้นการสัญญาว่าจะปรับดุลการค้ากับสหรัฐก็เป็นการตอกย้ำว่า พันธสัญญาที่อาเซียนเคยมีให้ต่อกันว่าจะค้าขายกันมากขึ้น เป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ เพราะต่อไปนี้ไทยจะซื้อของพื้นๆจำพวกหมูเห็ดเป็ดไก่จากสหรัฐมากขึ้นทั้งๆที่ของพวกนี้ก็มีอยู่อย่างล้นเหลือแล้วในภูมิภาคนี้

โลกได้กลับตาลปัตรกันแล้วในเวลานี้ ก่อนหน้านี้เวลาผู้นำจากประเทศด้อยพัฒนาไปเยือนสหรัฐจะต้องกลับมาประกาศว่า ขายสินค้าอะไรได้บ้าง ได้รับความช่วยเหลืออะไรมาบ้าง จะมีนักลงทุนที่ร่ำรวยขนเงินมาลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งในบ้านเราเพียงใด

แต่ในถ้อยแถลงของรัฐบาลไทยนั้น แจ้งให้ประชาชนในประเทศโลกที่สามทราบว่า "ขณะนี้ นักลงทุนไทยมีการลงทุนในสหรัฐฯทั้งหมด 23 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแผนเพิ่มการลงทุนอีกรวม 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะสามารถสร้างงาน (ในสหรัฐ) ได้มากกว่า 8,000 ตำแหน่ง"

ผู้นำสหรัฐไม่พูดสักคำเดียวว่า จะให้อะไรแก่ไทยเป็นการแลกเปลี่ยนกันบ้าง (แม้แต่ในเชิงธุรกิจก็ไม่มี) จึงเป็นเรื่องชวนขันมากที่ไปพูดว่า "นโยบาย America First ของนายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สอดคล้องและเชื่อมโยงกับ นโยบาย Thailand 4.0 ของไทย" ความจริงถ้าอยากพูดให้ถูกต้องก็ควรว่า "สหรัฐมาก่อนส่วนไทยถ้ามาเป็น (ลูกน้องอันดับ) ที่สี่ได้ก็นับว่าวาสนาดีไม่น้อย" แต่เกรงว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น

ตรงกันข้ามนายพลของไทยกลับรู้สึกว่าเป็นบุญเป็นคุณมากที่สหรัฐยอมขายอาวุธให้ ทั้งๆที่ก็รู้อยู่แก่ใจ เพราะเคยโพสต์มาหลายครั้งแล้วในที่นี้ว่า สหรัฐขายอาวุธให้ไทยไม่เคยหยุดหย่อน มีเงินก็ซื้อได้ ไม่ต้องหมอบคลานเข้าไปง้องอนอะไร หลายปีมานี่กองทัพไทยซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนมากก็จริง แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทยก็ไม่น้อยเหมือนกัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 960 ล้านดอลล่าร์ ในนั้นมีเฮลิคอปเตอร์ UH60 แบลกฮอร์ค UH 72 ลาโกตา ขีปนาวุธ (ESSM) ปรับปรุงเครื่องบิน F-16 เรือเอนกประสงค์และตอปิโดว์

เรียกได้ว่าขายไม่หยุดเลยก็ว่าได้ แม้แต่ตอนเกิดรัฐประหารแล้วมีการตัดความช่วยทางทหารส่วนหนึ่งและสมัยโอบามาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างหนัก แต่เชื่อหรือไม่ หลังปี 2014 สหรัฐขายยุทโธปกรณ์ให้ทหารไทยผ่าน Foreign Military Sale (FMS) มีมูลค่ามากถึง 380 ล้านดอลล่าร์ เฉพาะปีนี้ ไทยและสหรัฐทำความตกลงซื้อขายอาวุธกันไปแล้วมูลค่าถึง 133 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รวมทั้ง ขีปนาวุธ Harpoon Block II และเฮลิคอปเตอร์แบลกฮอร์คที่พูดกันอยู่ในเวลานี้ด้วย ไม่รู้ว่าหมูสยามเอาอะไรมาพูดว่าเขาไม่ขายให้เพราะเป็นรัฐบาลทหาร

สิ่งที่นายพลของไทยได้ในการเยือนสหรัฐคือ มีโอกาสพาภรรยาไปกินข้าวเที่ยงที่ทำเนียบขาว แน่นอนไม่ใช่นายกรัฐมนตรีของไทยทุกคนจะได้โอกาสแบบนี้มาง่ายๆ เพราะมันต้องจ่ายด้วยราคาทางยุทธศาสตร์และผลประโยชน์แห่งชาติมากมาย

ความขุ่นเขืองใจที่โดนรัฐบาลโอบามาวิพากษ์วิจารณ์และหมางเมินถูกระบายออกมาจนหมดเปลือก รวมทั้งเล่ห์เพทุบายเกี่ยวกับแนวทางในการสืบทอดอำนาจก็ได้ประกาศออกไปจนหมดสิ้น ด้วยความเข้าใจผิดว่า สหรัฐนั้นจะต้อนรับเฉพาะแต่ผู้นำที่เป็นประชาธิปไตยหรือมีแผนจะเป็นประชาธิปไตย

ทรัมป์ต่างจากโอบามา เพราะระหว่างการสนทนา เขาไม่สนใจจะถามสักคำว่า ประเทศไทยจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เขาสนใจว่าไทยจะซื้ออะไรจากสหรัฐมากกว่า การไปประกาศแผนประชาธิปไตยจึงดูเป็นอะไรที่ผิดที่ผิดทางอย่างมาก "การยอมรับ" (recognition) ที่เชื่อว่าได้ติดมือกลับมาจากวอชิงตัน จึงไม่ได้มีความหมายอะไรกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย เพราะในโลกนี้ไม่มีใครเชื่อว่า คนอย่างทรัมป์จะเป็นนักประชาธิปไตยอยู่แล้ว คนสหรัฐจำนวนมากเริ่มรู้สึกว่า เขาไม่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้นำสหรัฐด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่จะเป็นผู้นำประชาธิปไตยเลย


เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Supalak Ganjanakhundee

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทนายวิญญัติ' เร่งอัยการสูงสุดคนใหม่สั่งฟ้อง 'สุเทพ-กปปส.' หลังกว่า 3 ปีคดีไม่คืบ

Posted: 11 Oct 2017 03:32 AM PDT

ทนายวิญญัติ เร่งอัยการสูงสุดคนใหม่ ตามผลสั่งคดีกบฏ กปปส. หวังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอัยการสูงสุด หลังกว่า 3 ปีคดีไม่คืบ

แฟ้มภาพ

11 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เข้ายื่นหนังสือต่อ เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อขอให้เร่งพิจารณาสั่งคดี กรณีกลุ่ม กปปส. ซึ่งมี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ กปปส. กับพวกรวม 58 คน ข้อหาฐานร่วมกันกบฏ และกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง รวม 9 ข้อหา สำนวนคดีพิเศษที่ 261/2556 ที่คณะทำงานได้มีความเห็นสั่งคดีแล้ว

ซึ่งขณะนี้สำนวนคดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสั่งของอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน โดยมี ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือแทน

วิญญัติ กล่าวว่า คดีนี้ อัยการได้ยื่นฟ้อง สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม สกลธี ภัททิยกุล สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และเสรี วงษ์มณฑา ต่อศาลอาญา เพียง 4 คน ในความผิดฐานร่วมกับกบฏ และกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง คณะทำงานอัยการได้มีความเห็นสั่งคดีแล้วและสำนวนคดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสั่งของอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน จึงต้องการพิสูจน์การทำงานของอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาประชาชนตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของอัยการสูงสุดในหลายคดี โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับ กปปส.

วิญญัติ กล่าวด้วยว่า อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน เป็นทั้งทนายแผ่นดินและอาจารย์สอนกฎหมาย สิ่งที่ท่านได้แสดงจุดยืนต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า จะสั่งคดีด้วยความเป็นธรรมนั้น ที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่า ไม่เชื่อมั่น ไม่ศรัทธาต่อองค์กรนี้ เพราะหลายคดี มีความล่าช้าในการดำเนินการอยู่พอสมควร

โดยเฉพาะคดีของกลุ่ม กปปส. ในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา มีข้อสังเกตชัดหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 มีความเกี่ยวพันกันหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนจับตามอง ซึ่งตนเห็นว่า อัยการสูงสุด ควรจะนำพาองค์กรอัยการให้กลับมาสู่ความเชื่อมั่นได้ จึงขอให้ท่านเร่งพิจารณาสั่งฟ้องคดี ซึ่งไม่ได้เป็นการขอตามอำเภอใจ เพราะเป็นไปตามพยานหลักฐาน การสอบสวนทำความเห็นของคณะทำงานอัยการ ที่ทราบว่า ได้ส่งถึงอัยการสูงสุดแล้ว และย้ำว่าเป็นการมายื่นครั้งสุดท้าย หลังจากที่ตนได้ติดตามเรื่องมากกว่า 5 ครั้งแล้ว หากการดำเนินการสั่งคดีไม่คืบหน้าภายใน 30 วันนับแต่นี้ ตนจำเป็นที่จะต้องดำเนินการร้องกล่าวหา ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนผลพิจารณาของคณะทำงานอัยการเป็นอย่างไร วิญญัติ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่เปิดเผย แต่สันนิษฐานได้ว่ามีการสั่งคดีไปในทางคณะทำงานเดิมที่มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้วจำนวน 4 ราย ที่เหลือก็ต้องดำเนินการให้หมด พยานหลักฐานที่สมบูรณ์จะนำไปสู่การสั่งฟ้องได้เช่นกัน ตนไม่ยืนยันว่าคณะทำงานอัยการสั่งอย่างไร แต่น่าจะมีการเปิดเผยจากอัยการสูงสุดเร็วๆ นี้

ด้านรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า จะรีบนำเรียนต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา : ปริงนิวส์, TV24สถานีประชาชน, โลกวันนี้และเฟซบุ๊ก วิญญัติ ชาติมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิธีกรรม ความคิด และชีวิตในล้านนา | คนสามัญ อานันท์ 70 ปี

Posted: 11 Oct 2017 02:51 AM PDT

สัมมนาวิชาการ "มานุษยวิทยา ล้านนาคดี และประวัติศาสตร์นิพนธ์ คนสามัญ อานันท์ 70 ปี" วันที่ 20 - 21 เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ห้องประชุม 1 อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ช่วงนำเสนอบทความ "พิธีกรรม ความคิด และชีวิตในล้านนา" ดำเนินรายการโดย เสาวรีย์ ชัยวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวข้อการนำเสนอประกอบด้วย (1) อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: การเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการประดิษฐ์พิธีเซ่นเมืองกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม วิเคราะห์ถึงบทบาทปัญญาชนไทและเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นในภาคกลางตอนเหนือของเวียดนาม"

(2) สุวิภา จำปาวัลย์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอหัวข้อ "คติจักรวาลกับโลกทัศน์ของคนล้านนา"

(3) พิสิษฏ์ นาสี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอหัวข้อ "โลกาภิวัตน์ ครูบาสมัยใหม่ และการสร้างเครือข่ายในสังคมพุทธร่วมสมัยของประเทศไทย"

(4) กิติมา ขุนทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำเสนอหัวข้อ "เดือนสาม การกลับมาของตู้เพีย: การสถาปนาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกาลในวัฒนธรรมเฮ็ดเกลืออีสาน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้นำกาตาลุญญาลงนามประกาศเอกราชแต่ยังไม่บังคับใช้ หวังเปิดโต๊ะเจรจา รบ. กลาง

Posted: 11 Oct 2017 02:34 AM PDT

ประชามติมอบอาณัติให้รัฐบาลท้องถิ่นแยกตัว แต่ขอเลื่อนการแยกตัวออกไปอีกไม่กี่สัปดาห์เพื่อเปิดโต๊ะเจรจา รองนายกฯ สเปนลั่น จะไม่ร่วมเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น ฝ่ายค้านประณามการแยกตัวคือรัฐประหาร ไม่มีชาติไหนในยุโรปยอมรับการแยกตัวและประชามติ

(ล่าง)การ์เลส ปุกเดมอนด์ แถลงเรื่องการประกาศตัวเป็นเอกราชในรัฐสภากาตาลัน (ที่มา: Parliament de Catalunya)

10 ต.ค. 2560 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ของสหราชอาณาจักรและยูโรนิวส์ รายงานวา การ์เลส ปุกเดมอนด์ หัวหน้ารัฐบาลท้องถิ่นแคว้นกาตาลุญญาประกาศเอกราชจากสเปนหลังตนและผู้นำในแคว้นกาตาลุญญาลงนามในเอกสารประกาศเอกราช แต่ได้ประกาศเลื่อนผลบังคับใช้ออกไปอีกเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลกลาง ณ กรุงมาดริด ร่วมโต๊ะเจรจาในวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

ผลโหวตร้อยละ 90 หนุนกาตาลุญญาแยกตัว หลายฝ่ายกังวลปะทะเดือดวันลงคะแนน

ปุกเดมอนด์แถลงในที่ประชุมสภาท้องถิ่นกาตาลันเมื่อคืน โดยกล่าวว่า ประชามติที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาเป็นอาณัติแก่สภาท้องถิ่นให้แยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐเอกราช แต่เขาจะไม่ผลักดันให้กาตาลุญญาแยกตัวจากสเปนในตอนนี้

"เราได้มาถึงวาระอันเป็นประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ ผมขอแสดงความรับผิดชอบในฐานะของประธานรัฐบาลกาตาลุญญาและตัวแทนของพวกคุณ และพลเมืองทั้งหมด ผลประชามติและประชาชนได้ให้อาณัติแก่กาตาลุญญาให้มีเอกราชในฐานะสาธารณรัฐ" ปุกเดมอนด์ กล่าว

"เราเสนอให้เลื่อนการประกาศเอกราชออกไป เป็นอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อเปิดให้มีเวลาในการพูดคุย"

"ภายในสัปดาห์หน้า พวกเราจะเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยหาทางออก เราจะแสดงเจตจำนงที่จะเจรจา การพูดคุยกันนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอยากจะให้ข้อมูลว่า กระบวนการที่จะนำไปสู่การพูดคุยนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 2 วันหลังการลงประชามติแล้ว...เราแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเราต้องการการเจรจาและหลีกเลี่ยงความรุนแรง"

"ถ้าทุกคนปฏิบัติตัวอย่างมีความรับผิดชอบ ความขัดแย้งนี้สามารถแก้ไขได้อย่างสงบและสามารถตกลงกันได้" ผู้นำแคว้นกาตาลุญญากล่าว

ปุกเดมอนด์ใช้เวลาแถลงกว่า 30 นาที เล่าถึงประวัติศาสตร์อันขมขื่นของกาตาลุญญาภายใต้การรวมอยู่กับสเปน รวมถึงส่งข้อกังวลดังกล่าวถึงคนอื่นๆ ในสเปนด้วย

"ผมอยากจะส่งข้อความแห่งเจตจำนงต่อการพูดคุยและหาข้อตกลงอย่างสันติวิธีและด้วยความเคารพ" ผู้นำแคว้นกาตาลุญญากล่าว

"พวกเราไม่ใช่อาชญากร พวกเราไม่ได้บ้า พวกเราไม่ได้ออกมาทำรัฐประหาร พวกเราคือคนธรรมดาที่ต้องการจะออกเสียงและเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมกับทุกๆ การพูดคุยที่จำเป็นในการเกิดข้อตกลงร่วมกัน"

"เราไม่ได้คัดค้านสเปนหรือคนสเปน ในทางกลับกันเราต้องการที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันให้ดีกว่านี้" ปุกเดมอนด์กล่าว

ปุกเดมอนด์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าความสัมพันธ์ระหว่างสเปนกับกาตาลุญญาไม่ลงรอยกันมาหลายปีแล้ว  และไม่มีการหาหนทางแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวเลย

ถ้อยแถลงของปุกเดมอนด์ถูกประณามจากรัรฐบาลกลางสเปนและหัวหน้าฝ่ายค้านในรัฐสภากาตาลันอย่างรวดเร็ว โดยรองนายกรัฐมนตรีสเปน โซรายา เซนซ์ เด ซานตามาเรีย ได้กล่าวหาปุกเดมอนด์ว่าเขาได้นำพาภูมิภาคไปสู่ความไม่แน่ไม่นอน และระบุด้วยว่าถ้อยแถลงของปุกเดมอนด์นั้นเป็นคำพูดของคนที่ "ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนหรือไม่รู้ว่าจะไปถึงที่นั่นกับใคร"

เธอกล่าวว่าคณะรัฐมนตรีจะไม่นัดประชุมฉุกเฉินในเช้าวันพุธนี้และมีท่าทีว่าจะไม่เข้าร่วมการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น "การพูดคุยกันของผู้เป็นประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขกฎหมาย เป็นไปอย่างเคารพกติกาและไม่สร้างเรื่องขึ้นมาเพียงเพราะสถานการณ์เอื้ออำนวย"

อิเนส อาริมาดาสจากพรรคซิวดาดาโนส หรือพรรคพลเมืองซึ่งเป็นฝ่ายค้านมองว่าคำพูดของปุกเดมอนด์ที่บอกว่าตนได้รับอาณัติมาให้แยกตัวออกจากสเปนเป็นการ "รัฐประหาร" และจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนใดๆ จากในยุโรปในการแยกตัว และไม่มีชาติไหนในยุโรปยอมรับการทำประชามติแยกตัวที่เพิ่งเกิดขึ้น

อิเนส อาริมาดาส แถลงคัดค้านการแยกตัวหลังจากการ์เลส ปุกเดมอนด์แถลงจบ(ที่มา: Parliament de Catalunya)

"ชาตินิยมคือความแตกแยก หนทางของพวกเราคือสหภาพยุโรป คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายถึงการเป็นมิตรกันทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ"

"ชาตินิยมของคุณมองหาการแยกตัว สหภาพยุโรปมองหาการรวมกันเป็นหนึ่ง ในขณะที่ชาตินิยมของพวกคุณมองหาความยิ่งใหญ่ สหภาพยุโรปมองหาความเท่าเทียม"

รัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันระบุว่า มีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวน 2.26 ล้านคน ถือเป็นร้อยละ 42 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และผลประชามติครั้งนี้มีผู้ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวจากสเปนถึงร้อยละ 90 ถึงแม้จะถูกปิดกั้นการออกมาลงคะแนนเสียงด้วยไม้กระบองและกระสุนยาง รวมถึงการประกาศจากรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดว่าการประชามติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็ตาม 

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขสเปนระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 450 รายแล้ว จากการปะทะในหลายพื้นที่ทั่วแคว้นกาตาลุญญา กระทรวงกิจการภายในของสเปนระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 11 ราย ในขณะที่ทางการท้องถิ่นของกาตาลันระบุว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 800 คน

กาตาลุญญาตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน มีประชากรทั้งสิ้น 7.5 ล้านคนหรือราวร้อยละ 15 ของประชากรสเปนทั้งหมด มีผลผลิตทางเศรษฐกิจเป็นร้อยละ 20 ของทั้งประเทศ 

แรงกดดันที่อยากเป็นอิสระมีตั้งแต่ศตวรรษ 15 และรุนแรงมากขึ้นทุกที การรัฐประหารโดยนายพลฟรังโก้ เมื่อ ค.ศ.1936  ตามมาด้วยการรวมสเปนกลายเป็นหนึ่งเดียว ทำให้อิสรภาพของกาตาลุญญาภายใต้การรวมกับสเปนลดลง ต่อมา รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 บัญญัติว่าสเปนต้องเป็นหนึ่งเดียว แต่ยังเปิดให้แคว้นต่างๆ มีอิสระเสรีแม้ไม่ได้ปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ แคว้นกาตาลุญญามีเสรีภาพด้านการศึกษา มีการสอนภาษากาตาลัน มีรัฐบาลและผู้นำท้องถิ่น

มีความพยายามทำให้กาตาลุญญามีอิสระมากกว่าเดิมในปี ค.ศ.2006 เมื่อมีการลงประชามติรับรองรัฐบัญญัติว่าด้วยการปกครองตนเองที่จะทำให้เสรีภาพในการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญามีมากขึ้น แต่ก็มีพรรคปาร์ติโด ปอปูลาร์ (พีพี) ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบัญญัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 และใน ค.ศ. 2010 ศาลก็ตัดสินว่าขัดแย้งจริง ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาก็ไม่ผ่าน ภาวะใกล้ได้อิสระแต่ไม่ได้ทำให้กระแสแยกตัวในกาตาลุญญายิ่งร้อนแรง นำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ในเมืองบาร์เซโลนาเมื่อปี ค.ศ. 2010 ทั้งยังมีแรงผลักทางเศรษฐกิจจากวิกฤติเงินยูโรที่ส่งผลกระทบกับสเปนทั้งประเทศที่ทำให้กาตาลุญญาที่มีผลผลิตทางเศรษฐกิจเยอะรู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากสเปนน้อยกว่าที่ให้ไป

แปลและเรียบเรียงจาก

Catalan leaders sign and suspend declaration of independence, Euronews, October 11, 2017

Catalan government suspends declaration of independence, The Guardian, October 10, 2017

LIVE: Puigdemont speaks in Catalan parliament, Youtube/RUPTLY, October 10, 2017

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กกต.-สนช.-กรธ.' รับลูกประยุทธ์ ประสานเสียงยันปั่นงานทันประกาศเลือกตั้ง มิ.ย.61

Posted: 11 Oct 2017 02:00 AM PDT

กกต.รับลูก ประยุทธ์ พร้อมจัดเลือกตั้ง  รองประธาน สนช. ยืนยันพิจารณากฎหมายลูกเสร็จทันประกาศเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.61 ขณะที่ประธาน กรธ.ยืนยันจัดทำร่างกฎหมายลูกแล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ระบุไม่มีความกดดันจากรัฐบาล

11 ต.ค. 2560 ภายหลังจากวานนี้ (10 ต.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่าในเดือน มิ.ย. 61 จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนในเดือน พ.ย. 61 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป นั้น

กกต.พร้อมไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ล่าสุดวันนี้ (10 ต.ค.60) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานกกต.ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งไว้ตลอด รวมถึงการร่างระเบียบและประกาศ เพื่อรองรับกับกฎหมาย ดังนั้นไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด กกต.ก็มีความพร้อม และเพื่อเป็นการป้องกันการตีความหรือมีปัญหาทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับเงื่อนเวลา 150 วันจะรวมประกาศรับรองผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่นั้น  เบื้องต้นทาง กกต.จะพยายามดำเนินการจัดการเลือกตั้ง  และประกาศผลการเลือกตั้งให้อยู่ภายในกรอบ 150 วันสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า

รักษาการเลขาธิการสำนักงาน กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ก่อนที่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สำนักงาน กกต.ก็ได้เตรียมความพร้อมในการยกร่างระเบียบดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากระเบียบเดิม  ทำให้สอดรับกับกฎหมายใหม่ เบื้องต้นไม่มีปัญหาอะไรและได้นำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.เมื่อวานนี้ ( 10 ต.ค.60)  โดยที่ประชุมพิจารณาและได้มอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับกกต.และสำนักงาน กกต. กลับไปตรวจเช็คความถูกต้องและความเรียบร้อย ว่ายังมีข้อผิดพลาดอะไรอีกหรือไม่  ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ให้พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากเรียบร้อยก็สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทันที

สนช.ยัน พิจารณากฎหมายลูกเสร็จทันประกาศเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.61 

ขณะที่ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูกว่า ยืนยันว่า สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้งหมดแล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด และจะไม่มีปัญหา ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าในเดือน มิ.ย.61 ก็จะสามารถประกาศวันเลือกตั้งได้ แต่ทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ด้วย เพราะกรอบเวลาอาจช้าหรือเร็วกว่าตามที่กระบวนการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีความเข้าใจและเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง

สุรชัย กล่าวถึงกรณีปัญหาความไม่ชัดเจนของกรอบระยะเวลาการจัดการเลือกตั้ง 150 วันจะรวมถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่นั้นว่า เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็กำหนดตลอดและทุกฝ่ายก็สามารถทำงานได้ เชื่อว่า น่าจะนำกฎหมายเดิมมาเทียบเคียงกันได้ ส่วนกรณีข้อเรียกร้องของ กกต. ให้ตรวจสอบคณะกรรมการสรรหา กกต. ชุดใหม่ที่มีบางคนอาจขาดคุณสมบัติว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ สนช. โดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับองค์กรอิสระที่ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาต้องรับผิดชอบ และต้องรู้ว่าใครมีคุณสมบัติหรือไม่มีคุณสมบัติอย่างไร อย่างไรก็ตาม ความเป็นองค์กรอิสระน่าจะการันตีต่อสังคมในระดับหนึ่ง จึงเชื่อว่า เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา

กรธ.ยันจัดทำร่างกฎหมายลูกแล้วเสร็จตามกรอบเวลา

เช่นเดียวกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย.61 ว่า เป็นการนับกำหนดการตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติไว้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า กรธ.จัดทำร่าง พ.ร.ป.หรือกฎหมายลูกได้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลา 240 วันอย่างแน่นอน และเมื่อส่งร่างกฎหมายลูกไปยัง สนช. แล้วก็มีเวลาพิจารณากฎหมายตามกรอบเวลา 60 วัน และที่ผ่านมาไม่มีความกดดันจากรัฐบาล เพราะดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายลูกตามกรอบเวลาอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะพิจารณาปลดล๊อคคำสั่งของ คสช. ที่ห้ามมีการชุมนุมทางการเมือง ภายหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเดือนตุลาคม 2560 นั้น ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องที่ คสช. เป็นผู้พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีรับทราบกรอบเวลาการจัดทำกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ต่อข้อถามถึงกรณี สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. แสดงความเห็นว่า การพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งอาจเกิดความล่าช้า หาก สนช.ลงมติไม่รับหลักการ แล้ว กรธ. ต้องปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาอาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็นเดือนมกราคม ปี 2562 นั้น มีชัย กล่าวว่า หากนับตามรัฐธรรมนูญก็จะไม่เกินกรอบเวลาดังกล่าว และเมื่อกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ทั้ง 4 ฉบับ กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน

ขณะที่การสรรหากรรมการ กกต.ชุดใหม่ นั้น ต้องมีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติไว้ ซึ่งคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และเมื่อกรรมการ กกต.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ส่วนตัวเห็นว่าการทำงานจะมีความต่อเนื่อง เพราะเจ้าหน้าที่ กกต. ก็ได้มีการเตรียมการไว้ในเบื้องต้นแล้ว โดย กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้แล้วเสร็จก่อน หลังจากนั้นจึงจะมีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ดังนั้น การที่ กรธ. จัดทำร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ก่อน จึงไม่ใช่การถ่วงเวลาการเลือกตั้งให้ล่าช้าอย่างแน่นอน

 

ที่มา : วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.แรงงาน ลั่นต้องไม่มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ ในกระทรวง

Posted: 11 Oct 2017 01:26 AM PDT

รมว.แรงงาน ลั่นต้องไม่มีข้าราชการของกระทรวงไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ขณะที่แรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่เกาหลีจนครบกำหนดตามสัญญา แต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินประกันค่าใช้จ่ายเดินทางกลับประเทศให้รีบติดต่อขอรับเงิน

11 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานระบุว่า วิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงตรวจสอบข่าวที่เกี่ยวกับเจ้าแม่ค้ามนุษย์ ในกระทรวงแรงงาน ซึ่งทุกคนยืนยันกับรัฐมนตรีฯ ว่าตั้งแต่ คสช.และรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ไม่มีข้าราชการของกระทรวงแรงงานไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยเฉพาะเจ้าพ่อ เจ้าแม่นั้น ทุกหน่วยยืนยันว่า ไม่มีอย่างแน่นอน

วิวัฒน์ ได้กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้คาดโทษผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานทุกคนว่า หากพบว่ามีข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างคนใดของกระทรวงแรงงาน ไปเรียกรับผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ จะไม่มีการแค่จับย้ายอย่างแน่นอน ต้องลงโทษสถานหนักอย่างเดียว เนื่องจากกระทรวงแรงงานได้กำหนดวาระปฏิรูปกระทรวง 8 +1 ไว้ ซึ่งหนึ่งในวาระปฏิรูป ที่สำคัญ คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ด้วยการยึดถือนโยบาย Zero Tolerance (No Corruption / No Illegal Migrant Worker / No Labour Exploitation and No Child labour) อย่างเคร่งครัด และให้ติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดข้อครหา หรือร้องเรียนในเรื่องการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์โดยเด็ดขาด    

กรณีที่มีข่าวการเรียกรับค่าคิวในกระบวนการตรวจสัญชาติของแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ของกรมหรือกระทรวงแรงงาน  เข้าไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากศูนย์ตรวจสัญชาติเป็นความรับผิดชอบของประเทศต้นทางที่เข้ามาดำเนินการเอง แต่อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางานได้บูรณาการกับหน่วยงานความมั่นคงจัดชุดเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบริเวณโดยรอบของศูนย์ตรวจสัญชาติแล้ว พร้อมกับได้จับกุมดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดประเภทที่ทำการจัดคิวให้กับแรงงานที่จะเข้ารับการตรวจสัญชาติ ไปแล้ว 4 ราย 

กระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ และแรงงานต่างด้าวว่า หากพบเห็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้องหรือร่วมเรียกรับผลประโยชน์จากกระบวนการตรวจสัญชาติหรือการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ขอให้แจ้งได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกระทรวงแรงงาน  โทรศัพท์  0 2232 1003 ในวันและเวลาราชการ

แรงงานไทยกลับจากเกาหลี รีบขอคืนเงินประกัน (เทจิกึม) ด่วน 

วานนี้ (10 ต.ค.60) รายงานข่าวจากกรมจัดหางาน ระบุด้วยว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน แจ้งว่า แรงงานไทยที่เคยเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีจนครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้วเดินทางกลับประเทศไทย แต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินประกันค่าใช้จ่ายเดินทางกลับประเทศ (ค่าตั๋วเครื่องบิน) หรือประกันการออกนอกประเทศ (เทจิกึม) คืนจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี  ขอให้ตรวจสอบรายชื่อแล้วดาวน์โหลดเอกสารคำร้องขอยื่นเงินประกันคืนได้ที่เว็บไซต์ www.hrdkoreathailand.com หรือ www.doe.go.th/oversea พร้อมทั้งกรอกเอกสารคำร้องและแนบเอกสารต่างๆ ได้แก่ ใบคำร้องขอเงินประกัน สำเนาหนังสือเดินทาง ฉบับที่อยู่เกาหลี 1 ฉบับ สำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้มีสิทธิ์รับเงินประกัน 1 ฉบับ โดยส่งเอกสารดังกล่าวมาที่สำนักงานแรงงานจังหวัดใกล้บ้านท่าน หรือที่สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี ประจำประเทศไทย กระทรวงแรงงาน ตึกประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ชั้น 12 ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400 
 
วรานนท์ กล่าวอีกว่า แรงงานไทยที่ยังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วหรือเทจิกึมคืน ขอให้รีบตรวจสอบสิทธิ์ทางเว็ปไซต์ดังกล่าวข้างต้น แล้วดำเนินการยื่นเรื่องโดยด่วน ซึ่งขณะนี้มีผู้มีสิทธิ์รับเงินคืนจำนวนทั้งสิ้น 1,605 คน มูลค่ากว่า 700 ล้านวอน หรือกว่า 20 ล้านบาท ทั้งนี้ แรงงานไทยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินประกันการทำงานครบสัญญาจ้าง หรือเงินเทจิกึม จะต้องเป็นแรงงานไทยที่ทำงานกับนายจ้างรายเดียวติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แล้วเปลี่ยนงานหรือเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะมีสิทธิ์ได้รับเงินประกันเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน สำหรับผู้ที่ทำงานครบ 1 ปี และจะได้รับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของเวลาที่ทำงานเกิน 1 ปี สอบถามรายละเอียดการยื่นขอเงินประกันได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด , ทาง E-mail : hrdkoreathai@gmail.com , line : epsthaicenter หรือโทร. 0 2245 9433, 06 2452 8871
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น