ประชาไท | Prachatai3.info |
- จันทนา ผีที่ไม่เคยหลับไหลแม้คืนที่ไร้แสงดาว
- คุยกับเอกชัย หงส์กังวาน หลังถูกทหารตำรวจจับตัวไปเที่ยว
- องค์กรแรงงานเรียกร้องสิทธิ ‘แม่บ้านโรงแรม’
- ถนนทางหลวงชนบทยังเจออุทกภัย 17 จังหวัด
- นโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ บนความทุกข์ยากของคนจน ‘อุทยานแห่งชาติไทรทอง’
- จับผู้ฝ่าฝืนบินโดรนถ่ายภาพเหนือพระเมรุมาศจำลอง
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2560
จันทนา ผีที่ไม่เคยหลับไหลแม้คืนที่ไร้แสงดาว Posted: 28 Oct 2017 09:15 AM PDT ข้าพเจ้าจำแทบไม่ได้ว่าข้าพเจ้าไปเจอ "น้าซี" จันทนา วรากรสกุลกิจ นักโทษคดีอาวุธสงคราม ได้อย่างไรและ โดยการแนะนำของใครกันแน่ในหมู่นักโทษการเมืองด้วยกัน แต่ข้าพเจ้าจำสายตาและท่าทีหวาดระแวง แคลงใจในตัวข้าพเจ้าของร่างผอมเกร็ง จนเห็นกระดูกปูดโปนผ่านผิวหนังสีขาวเหลืองที่ซีดเซียว ดวงตาเล็ก คล้ำลึก และผมที่ขาวจนเกือบหมดหัวของน้าซีได้ดี "เธอเป็นใคร , ติดเข้ามาได้ยังไง , ต้องการอะไรจากพวกเรา ++++" คำถามเหล่านี้ถูกยิงเข้าหาข้าพเจ้าที่ดวงตาเปียกชุ่มน้ำตาเพราะความขี้แงของข้าพเจ้าขณะอยู่ในคุกนั่น ข้าพเจ้าไร้เรี่ยวแรงจะอธิบายตัวเองกับใครๆ มาจนถึงตอนนี้ ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่ได้มายากเย็นในหมู่นักโทษการเมือง โดยเฉพาะ กับน้าซี แกแทบจะไม่ไว้ใจใครเลย มีเพียงเพื่อนบางคนที่แกรู้จักที่มาที่ไปเท่านั้นที่แกจะให้ความไว้ใจ แต่ก็เพียงระดับหนึ่ง
น้าซีบอกข้าพเจ้าหลังจากที่ลดระดับความหวาดระแวงในตัวข้าพเจ้าลงแล้ว แกคงเห็นแล้วว่า ข้าพเจ้าไม่มีพิษภัยอะไรกับใคร วันๆก็หมกมุ่นอยู่กับการเยี่ยมญาติและถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปพบแทบทุกวัน แกคงเห็นแล้วว่าข้าพเจ้าไม่สามารถจะปกป้องตัวเองได้เลย สิ่งที่แกทำคือ ทุกๆครั้งที่มีการประกาศเรียกชื่อข้าพเจ้า แกจะออกมายืนอยู่ตรงหน้าหน่วยงานของแก ซึ่งเป็นทางข้าพเจ้าจะเดินผ่าน ให้ข้าพเจ้าได้เห็นหน้าของแก แม้ว่าจะต้องโดนด่า หรือโดนทำโทษ เพราะเขาไม่อนุญาตให้นักโทษยืน หรือเดินโดยพลการ แต่ที่น้าซีทำไปก็เพราะว่า อยากให้ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ายังมีแกอยู่ บางครั้งข้าพเจ้าก็หันไปมอง บางครั้งข้าพเจ้าก็หลงลืมกำลังใจนั่น
แกจะย้ำทุกๆครั้งที่เห็นความทุกข์ยากผ่านสีหน้าและดองตาเปียกๆของข้าพเจ้า ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข้าไป น้าซีถูกขังอยู่ในคุกนั่นมาก่อนแล้ว …. และญาติก็มาบ้างไม่มาบ้าง เงินขาดพร่องบัญชีอยู่เนืองๆ จนวันหนึ่งแกเดินเข้ามาหาข้าพเจ้า เพื่อจะฝากให้ข้าพเจ้า ตีไก่ต้มน้ำปลาให้แกสักตัว
เรารับปากก่อนจะตีไก่ต้มน้ำปลาซึ่งเป็นอาหารโอชะและหรูหราในคุกนั่นมาให้แก ก็ราคามัน 200 กว่าบาทนี่นะ นักโทษปกติจะมีเงินที่ไหนไปซื้อกิน แถมยังต้องสั่งจากการเยี่ยมญาติเท่านั้นอีกด้วย น้าซีเดินถือไก่ไปขอยืมฝาปลาทูน่ากระป๋องจากพวกแกงค์ เพื่อตัดแบ่งไก่เป็นส่วนๆ ก่อนจะแบ่งมาให้ข้าพเจ้าส่วนหนึ่ง ให้ตัวเองส่วนหนึ่ง ที่เหลืออีกครึ่งตัว แกหิ้วไปให้นักโทษชาวพม่าหลายสิบชีวิตที่โดนกวาดจับมาได้แบ่งกันกิน ข้าพเจ้าบอกแกว่าต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะตีไก่ให้กินอาทิตย์ละครั้ง แกดีใจมากแต่ก็แอบหนักใจว่าจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ข้าพเจ้าเพราะว่าญาติไม่มา ข้าพเจ้าเลยบอกแกไปว่าข้าพเจ้าไม่คิดเงินหรอก แต่แกก็ไม่ยอม จนข้าพเจ้าต้องเสนอเงื่อนไขให้แลกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น น้าซีไม่เคยอยู่นิ่ง แกจะรับจ้างทำโน่นทำนี่ด้วยความกระตือรือร้น พอได้กำไรมาบ้างก็เอามาแบ่งปันให้กับเพื่อนๆคนอื่นๆ ทุกๆครั้งที่มีนักโทษการเมืองเข้ามาใหม่แกจะตามหา แล้วให้การช่วยเหลือ หางานให้รับจ้าง แบ่งปันอาหารที่แอบซ่อนออกมาจากกองเลี้ยงบ้าง เลือกหยิบของบริจาคมาให้ก่อนบ้าง เดิมทีน้าซีนอนอยู่ห้อง 1/4 ส่วนข้าพเจ้าอยู่ 1/6 ห้องของพวกเราไม่มีกำแพงกั้น มีก็แต่ลูกกรงกั้นเท่านั้น เราจึงมองเห็นกันและกันได้ … น้าซีมีปัญหากับระบบและกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมอยู่เสมอ แม้จะอยู่ในคุก ทั้งในห้องนอน หรือในหน่วยงาน แม้แต่ในโรงอาหาร แกก็จะต่อต้านความไม่เป็นธรรม และคอยปกป้องคนที่อ่อนแอกว่าเสมอ จนหลายๆครั้งก็ถูกเป่าหูจากคนที่ร้ายกาจ หวังใช้แกเป็นเครื่องมือเพื่อการต่อรอง แม้ว่าข้าพเจ้าและหลายๆคนจะเตือนก็เปล่าประโยชน์ จนสุดท้ายแกก็เข้าใจได้เอง และตอบโต้คนเหล่านั้นอย่างสาสม แต่พอถึงเวลาที่แกได้รับความอัดอั้นตันใจจากความคาดหวัง จากอดีต จากสิ่งที่ต้องเผชิญ และร้ายที่สุดคือจากการถูกทอดทิ้ง
แกก็จะมานั่งระบายให้ข้าพเจ้าฟัง บางครั้งข้าพเจ้ารับฟัง แต่บางครั้งประสาทหูของข้าพเจ้าก็ดับไป ข้าพเจ้าไม่อยากฟัง ไม่อยากรับรู้ความเจ็บปวดใดๆของนักรบคนใดอีกต่อไป หลายครั้งที่ข้าพเจ้า ตวาด เดินหนี และ ไม่ยอมคุยกับน้าซี จนแกน้อยใจ หลายครั้งที่ใบหน้าเศร้าหมองกับน้ำตาใสๆ ไหลออกมาจากตาของน้าซีเพราะความเอาแต่ใจและร้ายกาจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหวังเพียงว่าวันหนึ่งแกจะเข้าใจความอ่อนแอของข้าพเจ้า น้าซีมักจะเอ่ยถึงสิ่งที่แกได้ทำลงไป ภาพที่แกเดินคล้องแขนกับพี่น้องเสื้อแดงของแกเพื่อประจันหน้ากับทหาร ไปจนถึงคลิปวีดีโอที่นักข่าวคนหนึ่งที่ต่อมากลายเป็นคนที่แกเรียกว่า "เพื่อน" ได้ถ่ายไว้ แกอยากเก็บภาพนั้นไว้ แกอยากเก็บคลิปวีดีโอนั้นไว้ให้ลูกหลานได้ดู มันคือความภูมิใจมากมายในชีวิตของแก ข้าพเจ้ายิ้มและรับปากว่าจะพยายามหาและเก็บไว้ให้ แน่นอนที่สุดว่า....คนในห้องไม่ค่อยชอบแกนัก ด้วยท่าทีที่โผงผางและตรงไปตรงมาคงขัดตาหลายต่อหลายคน พื้นที่หลังห้องจึงเป็นพื้นที่ของน้าซี แกถูกเขี่ยให้ไปนอนหลังห้อง ติดห้องน้ำ ด้วยเหตุผลว่าแกขายาวจะได้พอเหยียดขาได้ แต่ใครๆก็รู้ว่าพื้นที่หลังห้องเป็นพื้นที่ที่ถูกกันไว้ให้พวกที่ปัญหาเยอะ ไม่มีญาติ ไม่มีเงิน ผิดกับข้าพเจ้าที่ถูกอุ้มชูให้อยู่หน้าห้อง ใกล้หูใกล้ตาผู้ช่วยงานและเจ้าหน้าที่ มีทั้งญาติ มีทั้งเงิน ในสายตาของพวกเขา แม้จะโดนเอาเปรียบบ้างแต่น้าซีไม่เคยปล่อยให้อะไรผ่านไปอย่างง่ายดาย แกเรียกสิทธิ์คืนให้กับนักโทษหลังห้องทุกๆคน ข้าพเจ้าจะเดินมานั่งเล่นที่หลังห้องในบางวัน เพราะหมอนวดมือดีอยู่ที่นั่น พลางได้เงี่ยหูฟังน้าซีคุยกับเพื่อนนักโทษหลังห้องอย่างออกรส
แต่หลังจากรอยยิ้มนั้นจางหาย คำถามที่ประเดประดังเข้ามาคือ
ข้าพเจ้าเองก็ตอบอะไรไม่ได้ … พูดอะไรไม่ออก ช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ประจำเรือนนอนและผู้ช่วยงานที่คอยเป็นห่วง เรียกข้าพเจ้าและเพื่อนนักโทษการเมืองไปพูดคุยให้คอยช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมที่อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายของน้าซี ใช่....น้าซีคิดแน่ๆ ว่าจะฆ่าตัวตาย สายตาที่แปลกไป ทำให้พวกเรากลัว หลายคนในห้องที่เคยไม่ดีกับน้าซีก็เริ่มเห็นใจและคุยกันด้วยความเป็นมิตรมากขึ้น หลังจากฟังคำตัดสินราวหนึ่งอาทิตย์...แกก็เริ่มชวนคนอื่นๆ คุย ผู้คนที่อยู่รอบข้าง ล้วนได้รับข้อมูลทางการเมือง สถานการณ์ต่างๆ ภายนอกถูกบอกเล่าให้เพื่อนผู้ต้องขังฟังอย่างออกรส แม้จะดึกดื่นแค่ไหนน้าซีก็ยังคงนั่งคุยให้ความรู้และให้ข้อมูลมากมายกับคนรอบๆข้าง จากแรกๆมีคนนั่งฟังแกแค่ 2 คน เพิ่มเป็น 4 เป็น 6 แต่ก็เพิ่มมากไปกว่านั้นไม่ได้เพราะที่ไม่พอ ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ว่าแกไปเอาข่าวสารจากข้างนอกมาจากไหน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เยี่ยมญาติเลย แต่ก่อนจะเอาไปเล่าให้คนอื่นฟัง แกก็จะมาเช็คความถูกต้องกับข้าพเจ้าเสมอ พอข้าพเจ้าถามว่ารู้เรื่องนี้มาจากไหน ก็ได้คำตอบเพียงว่า
หลายครั้งที่ข้าพเจ้าเดินไปเข้าห้องน้ำตอนตี 2 ในสภาพงัวเงีย แต่ต้องตกใจเมื่อเห็นน้าซีนั่งอยู่ริมขอบทางเข้าห้องน้ำอันคับแคบ พร้อมด้วยสมาชิกอีก 6-7 คน ที่นั่งฟังข้อมูลมากมายจากแก …
ข้าพเจ้ายิ้ม....ด้วยดวงตาปรือก่อนจะปฏิเสธการร่วมวง "หนูปวดฉี่ ขอฉี่หน่อย" น้าซีขยับให้ทางข้าพเจ้า พอฉี่เสร็จข้าพเจ้าก็เดินเปะปะ ออกไปจากที่ตรงนั้นก่อนจะโดนแกเรียกให้ร่วมวงเป็นครั้งที่สอง ยามเมื่ออากาศเย็นเยือกผ่านลูกกรงและพื้นกระเบื้อง น้าซีก็ยังคงนั่งปราศรัยข้อมูลต่างๆให้คนที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปมาในคุกนั่นได้รับฟัง
น้าซีบอกกับข้าพเจ้าราวกับว่าตัวเองเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หรือ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ในยามที่ผู้คนเริ่มป่วยไข้เพราะอากาศและสภาพคุกที่ไม่เอื้อให้สุขภาพของใครดีขึ้นแม้นิดเดียว ข้าพเจ้ากลายเป็นหนูลองยาของแกในที่สุด เมื่อข้าพเจ้าเจ็บคอจนไม่มีเสียง น้าซีปรุงยาบางอย่างจากสิ่งที่หาได้ในคุก คือ เกลือ ยาเขียว มะนาว บดรวมกันใส่กระปุกพิมเสนใบเล็ก แล้วบังคับให้ข้าพเจ้าอ้าปากเพื่อกวาดคอ แม้มันจะทรมานในขั้นตอนการกวาด แต่ไม่น่าเชื่อว่าข้าพเจ้าจะหายขาดได้ในสามวัน หลังจากนั้นสูตรยานี้ได้แพร่กระจายไป จนข้าพเจ้าต้องเป็นผู้สนับสนุนยาเขียวและส่วนผสมอื่นมาให้น้าซีเพื่อจะได้ปรุงยาช่วยคนอื่นต่อไป คนมากมายต่อแถวให้น้าซีกวาดคอที่หน้าล๊อคเกอร์ในทุกๆเช้าและเย็น พอขึ้นห้องนอนแกก็รับจ้างถูพื้น เอาค่าแรงเป็นยาเพื่อเอาไปรักษาคนอื่นต่อ พอดึกก็วนเวียนปราศรัยแทบทุกคืน น้าซีทำตัวเป็นผีที่ไม่เคยหลับจนตัวเองเริ่มไม่สบาย มีอาการถ่ายเป็นเลือด อ่อนเพลีย และ ตัวร้อน ถึงได้หยุดการปราศรัยในยามค่ำคืนของแกลง แกให้ข้าพเจ้าพยายามติดต่อกับน้องสาว และ ลูกชาย เพื่อแจ้งข่าวให้เขามาเยี่ยมเยียนเวลาที่ไม่สบาย แต่การติดต่อสื่อสารจากในคุกถึงคนข้างนอกนั้นไม่ง่ายเลยจริงๆ แกรอคอยเสมอ รอคอยน้องสาว รอคอยลูกชายคนเดียว รอคอยจดหมายจากคนรัก และรอคอยทนาย ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าระหว่างรอนั้นแกมีความหวังหรือเปล่า แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแกหยุดพูด หยุดคุยกับเยาวชนที่ติดอยู่ในคุกนี้สักวันเดียว แม้ว่าจะย้ายมาอยู่แดนนอกหลังจากที่ฟังคำตัดสิน ยืนตามศาลชั้นต้นจากศาลอุทธรณ์แล้ว น้าซีก็เขียนคำร้อง ขอย้ายออกมาอยู่แดนนอก เพื่อจะได้ทำงานและได้รับเงินปันผลน้อยนิด และน้าซีก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าห้องนอนจะไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่พูดคุยได้อีกต่อไป แต่แกมีลานต้นโพธิ์ที่กว้างขวางกว่าริมรั้วในแดนแรกรับและห้องนอนเป็นไหนๆ ทุกๆวันจะมีเด็กวัยรุ่นที่ติดคดีเล็กๆน้อยๆมานั่งคุยกับแก หลายต่อหลายคน ข้าพเจ้าเองก็ไม่แน่ใจนักว่าพวกเขามาเพราะอยากรู้เรื่องที่น้าซีจะเล่า หรือ แค่อยากได้ขนมที่น้าซีจะแจก จากเงินปันผลเดือนละ 17 บาทของแก สมทบด้วยค่าจ้างถูห้องอีกเล็กน้อยก็ตาม แต่หลังจากที่ข้าพเจ้าได้รับอิสรภาพข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ติดต่อน้าซีทางจดหมายและโปสการ์ดเป็นประจำ มีเพื่อนบางคนอาสาไปเยี่ยมแก และเด็กๆหลายต่อหลายคนที่เคยนั่งฟังน้าซี ได้เดินออกมาจากหลังกำแพงสูงนั่นแล้วติดต่อมาหาข้าพเจ้า เพื่อจะฝากบอกไปถึงน้าซีว่า
ข่าวแบบนี้ทำให้น้าซีมีกำลังใจเสมอ จนข้าพเจ้ามารู้ข่าวการถูกย้ายเรือนจำของแก จึงได้รุดไปเยี่ยม สรุปความว่า น้าซีเขียนคำร้องขอเช็คหมายอายัดตัวจากเจ้าหน้าที่ จึงรู้ว่าตัวเองมีหมายอายัดตัว ที่จังหวัดตราด และ ลพบุรี ด้วยความที่อยากให้ทุกๆ อย่างจบลงโดยเร็วที่สุด ไม่อยากให้หมดโทษคดีแรกแล้วจะต้องมาโดนอายุดตัวต่อในคดีที่ 2 จึงได้เขียนคำร้องผ่านเรือนจำไปที่กระทรวงยุติธรรมและศาล เพื่อขอให้ดำเนินคดีโดยเร็ว โดยอ้างอิงถึงหลักสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนควรจะได้รับ ในกระบวนการยุติธรรม จึงมีคำสั่งย้ายน้าซี ด่วน เพื่อไปดำเนินการในชั้นศาลที่จังหวัดตราด และ คงเป็นความชื่นใจอย่างหนึ่งในชีวิตข้าพเจ้า หลังจากได้รับจดหมายฉบับหนึ่งที่น้าซีเขียนมาบอกว่าเสียใจที่เคยไม่ไว้ใจข้าพเจ้า เพราะตอนนี้ข้าพเจ้ากลายเป็นคนที่แกพึ่งพาได้มากที่สุด ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่มีความมั่นคงใดจะให้แกพึ่งพา แต่อย่างน้อยๆข้าพเจ้าก็เชื่อว่าเวลาที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้จักผู้หญิงคนนี้ คนบ้าบิ่น คนกล้าหาญ คนที่จะปกป้องคนอื่นเสมอ และข้าพเจ้าปล่อยให้เธอโดดเดี่ยวไม่ได้ ไม่ใช่เพื่อน้าซี แต่เพื่อตัวข้าพเจ้าเองจะยังมั่นใจในตัวเองอยู่ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุยกับเอกชัย หงส์กังวาน หลังถูกทหารตำรวจจับตัวไปเที่ยว Posted: 28 Oct 2017 04:46 AM PDT เกิดอะไรขึ้นระหว่างถูกตำรวจทหารจับตัวไปเที่ยว คุยกับชายผู้ประกาศตัวว่าจะใส่เสื้อแดงในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 จนเป็นเหตุให้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 11 นายบุกเข้าจับที่บ้านในช่วงเช้าของวันที่ 24 ตุลาคม 2560 พร้อมกับยื่นข้อเสนอว่าจะไปเที่ยวหรือจะเข้าค่ายทหาร สดๆ ร้อนๆ หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ประชาไทได้พูดคุยกับเอกชัย หงส์กังวาน ถึงเหตุการณ์การถูกบุกเข้าควบคุมตัวนอกกฎหมายเป็นเวลา 5 วัน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงเวลาถูกควบคุมตัว เหตุเกิดขึ้นอย่างไร เดินทางยังไง วันที่ 27 เขาบอกว่าจะพาไปสะพานมอญ แต่ขับรถไปได้ครึ่งทาง หัวหน้าเขาโทรมาบอกให้พาผมเข้ามาในอำเภอเมือง ขับไปจะถึงอยู่แล้วก็เลยต้องตีรถกลับ วันนั้นก็เลยไม่ได้ไปไหนอีก แต่ตอนเย็นก็ไปแวะสะพานข้ามแม่น้ำแควหน่อยนึง ระหว่างการควบคุมตัว ถูกคุกคามถูกขู่ไหม คุยอะไรกันบ้าง คุยกันเสร็จเขาเอาเอกสารมาให้ผมเซ็น 4-5 แผ่น ว่าผมไปอย่างเต็มใจ แล้วเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผมอย่างดี ผมก็เถียงเขา ตำรวจน่ะโอเค ไม่มีปัญหา แต่ไอ้ทหาร 3 คนแรกที่เข้ามาลากผมออกมาจากบ้านเนี่ยจนเป็นแผล ผมก็เปิดแผลให้เขาดู มีรอยแผลเต็มไปหมดเลย ผมไม่ยอมรับ เขาก็บอกว่า เอาน่า หยวน ๆ ไปเถอะ ก็ได้เที่ยวแล้วไม่ใช่เหรอ ผมบอกว่า ได้เที่ยวก็ส่วนได้เที่ยวซิ ไม่ได้เต็มใจเที่ยวซะหน่อย ยังไงผมก็จะเอาปากกาเติมลงไปว่า ผมยกเว้นทหาร 3 คนที่ใช้ความรุนแรงกับผม เขาก็ไม่ยอม เขาไม่พอใจ บอกว่า มึงนี่หัวหมอนักนะ งั้นก็ไม่ต้องเซ็น ผมบอกว่า ไม่เซ็นก็ไม่เซ็น ตำรวจพูดว่า ไม่เซ็นก็ไม่ได้กลับ ไม่กลับก็ไม่กลับ อยู่ก็ได้ ผมถูกยึดโทรศัพท์ตั้งแต่โทรแจ้งข่าวทนายอานนท์ตอนทหารไปที่บ้าน เพิ่งจะได้คืนตอนเขามาส่งที่บ้าน แล้วเขาก็ปิดเครื่องตลอด ถอดแบตออกด้วย เพราะวันที่ไม่เดินเลย พอผมเปิดเครื่องมา เครื่องโชว์วันที่ 24 อยู่ แสดงว่าเขาถอดแบตโทรศัพท์ออกเลย การรายงานข่าวเรื่องการถูกจับกุมตัวทำให้ผมปลอดภัย พออานนท์โพสต์ว่า ทหาร 11 คน มาถึงบ้าน ให้ผมเลือก ตำรวจโทรมาหาผมเลย บอกให้ช่วยโทรบอกอานนท์หน่อยได้มั้ยว่าผมเลือกที่จะไปกาญจน์ ถ้าไม่มีคนรายงานข่าว เรื่องเงียบ ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอาผมไปปู้ยี่ปู้ยำที่ไหนไม่รู้ ตำรวจบอกเองเลยว่า พอเป็นข่าวก็เลยไม่กล้าทำอะไรเลย เมื่อก่อนนี้จะมีการอุ้มเข้าค่าย หรือจับตัวแจ้งข้อหาดำเนินคดี เดี๋ยวนี้ทหารเปลี่ยนมาใช้วิธีการแบบนี้ คิดว่ามันดัีขึ้นไหม ชอบไหม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
องค์กรแรงงานเรียกร้องสิทธิ ‘แม่บ้านโรงแรม’ Posted: 28 Oct 2017 02:53 AM PDT องค์กรแรงงานสากล IUF จัดกิจกรรม 'สัปดาห์เรียกร้องสิทธิคนทำงานแม่บ้านในโรงแรมทั่วโลก' เรียกร้อง เช่น สิทธิที่จะมีงานที่มั่นคง-การจ้างงานแบบเต็มเวลา และเรียกร้องให้คนทำงานสามารถทำงานเป็นคู่ได้เพื่อแบ่งภาระงานที่หนักและลดความเสี่ยงในการถูกคุมคามทางเพศในการทำงาน 28 ต.ค. 2560 เว็บไซต์ effat.org รายงานเมื่อกลางเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าสมาคมสหภาพแรงงานอาหาร เกษตรกรรม โรงแรม ภัตตาคาร การบริการอาหาร ยาสูบและแรงงานพันธมิตรระหว่างประเทศ (International Union of Food, Agricultural, Hotel, Restaurant, Catering, Tobacco and Allied Workers' Associations หรือ IUF) ได้จัดกิจกรรม 'สัปดาห์เรียกร้องสิทธิคนทำงานแม่บ้านในโรงแรมทั่วโลก' ระว่างวันที่ 9-15 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีคนทำงานแม่บ้านในโรงแรมและสหภาพแรงงานจากทั่วโลกมาร่วมจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อยกระดับการรับรู้ปัญหาของคนทำงานแม่บ้านในโรงแรมและนำไปสู่สภาพการทำงานที่ดียิ่งขึ้น ในการรณรงค์ครั้งนี้ได้มีขอเรียกร้องให้นายจ้างต้องมีความผิดชอบในการรับประกันว่า คนทำงานต้องมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและเหมาะสมใน ซึ่งมีการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ อาทิเช่น การเรียกร้องเสรีภาพในการก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงานและการรวมตัวเพื่อต่อรองกับนายจ้าง, สิทธิที่จะมีงานที่มั่นคงและการจ้างงานแบบเต็มเวลา, สิทธิที่จะได้เงินค่าจ้างอย่างเพียงพอในการดำรงชีวิตและได้ค่าจ้างที่สมเหตุสมผลกับงานที่ทำ, สิทธิที่สามารถก่อตั้งคณะกรรมการความความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน, เรียกร้องให้มีกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศรับรองให้งานแม่บ้านโรงแรมเป็นลักษณะงานที่เป็นงานใช้ความสามารถ รวมทั้งมีมาตรการปกป้องคนทำงานเหมาช่วง (outsource) ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับพนักงานประจำ นอกจากนี้ยังภาระงานต้องเหมาะสมกับเงื่อนไขทางสุขภาพของคนทำงานและป้องกันคนทำงานจากอันตรายต่าง ๆ , ภาระงานต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงาน โดยเฉพาะภาระงานต้องสัมพันธ์กับขนาดของห้องหรืออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้อง, มีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมในการทำงาน และมีมาตรการป้องกันที่เพียงพอในการปกป้องคนทำงาน, ให้การศึกษาและการฝึกฝนแก่คนทำงานอย่างเพียงพอนอกจากนี้ยังเรียกร้องให้คนทำงานสามารถทำงานเป็นคู่ได้เพื่อแบ่งภาระงานที่หนักและลดความเสี่ยงในการถูกคุมคามทางเพศในการทำงาน รวมทั้งมีพาหนะรับส่งคำทำงานที่ปลอดภัยสำหรับคนทำงานที่ต้องปฏิบัติงานในช่วงนอกเวลางานหรือทำงานในกะดึก หากสถานที่ทำงานนั้นไม่มีขนส่งสาธารณะเข้าถึง นอกจากนี้ในสัปดาห์แห่งการรณรงค์ที่ผ่านมา IUF ได้ชวนทุกคนเข้ารวมกันรณรงค์โดยการแชร์ภาพกิจกรรมรณรงค์หรือความคิดเห็นอื่นๆ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค "Make my workplace safe" พร้อมด้วยติดแฮซแท๊ก #Fairhousekeeping และ #makemyworkplacesafe อีกด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ถนนทางหลวงชนบทยังเจออุทกภัย 17 จังหวัด Posted: 28 Oct 2017 02:17 AM PDT ทางสายรองของกรมทางหลวงชนบท ยังประสบอุทกภัยครอบคลุม 17 จังหวัด มีภาวะน้ำท่วมสูง ข้อมูลสะสมตั้งแต่ 1 ก.ค. -27 ต.ค. 2560 ถนนของ ทช. ประสบอุทกภัย 47 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 341 สายทาง, เข้าสู่ภาวะปกติ 288 สายทาง คงเหลือที่ได้รับผลกระทบ 53 สายทาง 28 ต.ค. 2560 กรมทางหลวงชนบท โดยสำนักบำรุงทาง รายงานสถานการณ์ถนนในการกำกับดูแลของ ทช.ปัจจุบันพบว่า ปัจจุบัน ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด โดยมีสายทางได้รับผลกระทบ 53 สายทางรวม 65 แห่งเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย แต่เส้นทางผ่านได้ 37 สายทาง (48 แห่ง), ผ่านไม่ได้ 16 สายทาง (17 แห่ง) จำนวนดังกล่าวมีภาวะน้ำท่วมสูง 16 สายทาง (17 แห่ง) ได้แก่ ทางหลวงชนบทสาย นว.3041 แยกทางหลวงหมายเลข 117-บ้านหัวถนน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์,ทางหลวงชนบทสาย นว.3102 แยกทางหลวงหมายเลข 117-บ้านเนิน เก้าเลี้ยว,ชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ทางหลวงชนบทสาย นว.016 สะพานนิมมานรดี อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์,ทางหลวงชนบทสาย นว.3099 แยกทางหลวงหมายเลข 333-บ้านยางขาว พยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์,ทางหลวงชนบทสาย อน.5002 เทศบาลเมืองอุทัยธานี-บ้านหาดทนง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี,ทางหลวงชนบทสาย สพ.2004 แยกทางหลวงหมายเลข 33-บ้านสุด อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี,ทางหลวงชนบทสาย 3001 แยกทางหลวงหมายเลข 347 -บ้านโคก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,ทางหลวงชนบทสาย 4016 แยกทางหลวงหมายเลข 3263 -บ้านป้อม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา -ทางหลวงชนบทสาย 4038 แยกทางหลวงหมายเลข 3412 -บ้านสวนถั่ว อำเภอบางบาล,เสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,ทางหลวงชนบทสาย 5034 แยก ทช.อย.3006 -บ้านทองดอน อำเภอลาดบัวหลวง,เสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,ทางหลวงชนบทสาย มค.3062 แยกทางหลวงหมายเลข 208-บ้านหนองผือ โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม,ทางหลวงชนบทสาย ขก.2063 แยกทางหลวงชนบทสาย 12-บ้านท่าเรือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น,ทางหลวงชนบทสาย ขก.2079 แยกทางหลวง – บ้านหนองแสง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ทางหลวงชนบทสาย ขก.1004 แยกทางหลวงหมายเลข 2-บ้านโนนดงมัน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น,ทางหลวงชนบทสาย ขก.1027 แยกทางหลวงหมายเลข 2-บ้านโคกท่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น,ทางหลวงชนบทสาย นภ.6011 บ้านโนนสัง-บ้านโนนยาว อำเภอโนนสัง จ.หนองบัวลำภู ขณะที่ข้อมูลสะสมตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค. – 27 ต.ค. 2560 ถนนของ ทช. ประสบอุทกภัย 47 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 341 สายทาง,เข้าสู่ภาวะปกติ 288 สายทาง คงเหลือที่ได้รับผลกระทบ 53 สายทาง ทั้งนี้ ได้ดำเนินการติดตั้งป้ายเตือนประชาชนในการสัญจรด้วยความระมัดระวังแล้ว และดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นเพื่อให้ใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้ชั่วคราว ได้แก่ หมวดบำรุงทางหลวงชนบทแม่สะเรียง ได้นำเครื่องจักรพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเปิดทางหลวงชนบทสาย มส.4003 แยกทางหลวงหมายเลข 1194-บ้านหม้อเหล้า ช่วง กม.ที่ 8+200 จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้ ชลประทานเตือนอย่าเชื่อข่าวลือน้ำท่วมลุ่มน้ำท่าจีน นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงข่าวลือใน Social Media ว่า มีการออกหนังสือแจ้งเตือนจากภาครัฐให้ประชาชนในลุ่มน้ำท่าจีนเก็บข้าวของหนีน้ำท่วมเนื่องจากมีการแบ่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาทางฝั่งตะวันตก เพื่อออกทะเลทางฝั่งตกและมีการส่งต่อข้อความว่า หน่วยงานรัฐเตือนระวังระดับน้ำ และให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเพราะน้ำจะท่วม รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยทางจังหวัดมีการออกหนังสือแจ้งเตือนจริง แต่เป็นการแจ้งเตือนตามปกติเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำ และคลองอาจสูงใกล้เคียงความจุของลำน้ำ อาจมีผลกระทบเฉพาะชุมชนที่ลุ่มต่ำ หรือที่รุกล้ำในเขตลำน้ำเท่านั้น โดยขณะนี้กรมชลประทานและกองทัพเรือได้ใช้เครื่องผลักดันน้ำและเรื่อผลักดันน้ำตลอดลำน้ำท่าจีนจนถึงปากอ่าวที่สมุทรสาครเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนแล้ว ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 17 จังหวัด นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 10-28 ตุลาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 78 อำเภอ 473 ตำบล 2,785 หมู่บ้าน 42 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 125,372 ครัวเรือน 325,212 คน ผู้เสียชีวิต 10 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 17 จังหวัด รวม 60 อำเภอ 403 ตำบล 2,409 หมู่บ้าน 112,827 ครัวเรือน 296,318 คน อพยพ 20 ครัวเรือน นายชยพล กล่าวว่า แยกเป็น ลุ่มน้ำยม 1 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย น้ำท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคีรีมาศ อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสำโรง และอำเภอกงไกรลาศ รวม 5 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 92 ครัวเรือน 221 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน 1 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง อำเภอโพทะเล อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอตะพานหิน อำเภอวังทรายพูน และอำเภอบางมูลนาก รวม 38 ตำบล 241 หมู่บ้าน 3 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,168 ครัวเรือน 27,920 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย นายชยพล กล่าวอีกว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก รวม 48 ตำบล 474 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,787 ครัวเรือน 41,122 คน จ.อุทัยธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุทัยธานี และอำเภอทัพทัน รวม 7 ตำบล 35 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,788 ครัวเรือน 2,923 คน จ.สิงห์บุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง รวม 19 ตำบล 84 หมู่บ้าน 6 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,295 ครัวเรือน 16,367 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย จ.ลพบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ รวม 9 ตำบล 60 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,643 ครัวเรือน 22,231 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย จ.อ่างทอง น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอไชโย รวม 30 ตำบล 92 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,595 ครัวเรือน 6,747 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 6,017 ไร่ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางบาล อำเภอเสนา อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร และอำเภอบางปะหัน รวม 99 ตำบล 589 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,463 ครัวเรือน 97,403 คน จ.ปทุมธานี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก รวม 21 ตำบล 67 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,352 ครัวเรือน 11,315 คน นายชยพล กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน 1 จังหวัด ได้แก่ จ.ชัยนาท น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรพยา อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ และอำเภอหันคา รวม 23 ตำบล 114 หมู่บ้าน 4 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,151 ครัวเรือน 10,377 คน ลุ่มน้ำท่าจีน 1 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า อำเภอสองพี่น้อง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และอำเภอเดิมบางนางบวช รวม 37 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,523 ครัวเรือน 43,035 คน นายชยพล กล่าวอีกว่า ลุ่มน้ำชี 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ผลกระทบจากน้ำเขื่อนอุบลรัตน์หนุนและไหลเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอโนนสัง และอำเภอเมืองหนองบัวลำภู รวม 23 ตำบล 162 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,164 ครัวเรือน 10,826 ครัวเรือน จ.ขอนแก่น น้ำท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออุบลรัตน์ อำเภอน้ำพอง และอำเภอเมืองขอนแก่น รวม 20 ตำบล 157 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,610 ครัวเรือน 5,687 คน จ.มหาสารคาม น้ำท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม รวม 19 ตำบล 122 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 516 ครัวเรือน 1,341 คน อพยพ 20 ครัวเรือน จ.กาฬสินธุ์ น้ำท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฆ้องชัย และอำเภอกมลาไสย รวม 6 ตำบล 24 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15 ครัวเรือน 39 คน จ.ร้อยเอ็ด น้ำท่วมพื้นที่อำเภอจังหาร รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 159 ครัวเรือน 548 คน ลุ่มน้ำมูล 1 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี น้ำท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ รวม 18 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 64 ครัวเรือน 906 คน นายชยพล กล่าวด้วยว่า ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแผนเผชิญเหตุ รวมถึงให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ทั้งเต็นท์ที่พัก รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังสู่ลำน้ำสายหลัก ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ บนความทุกข์ยากของคนจน ‘อุทยานแห่งชาติไทรทอง’ Posted: 28 Oct 2017 01:59 AM PDT รายงานพิเศษ เล่าเรื่องราวปมคดีและความเดือนร้อนจากนโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' บนความทุกข์ยากของคนจน กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง เพราะความจนจำต้องดิ้นรนจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาเป็นสาวโรงงานเย็บผ้าในเมืองหลวง หลังจากบริษัทล้มละลาย เธอเป็นหนึ่งในอีกจำนวนหลายพันคนที่ถูกนายจ้างลอยแพ เมื่อหวนคืนสู่ถิ่นอีสาน ยึดอาชีพเกษตรกร เมื่อลุกขึ้นสู้เรียกร้องสิทธิจากผลกระทบนโยบายทวงคืนผืนป่า ความทุกข์ยากจากการถูกคดีความได้ซ้ำเติมเธอและครอบครัวอีกครั้ง นิตยา ม่วงกลาง หรือกบ อายุ 34 ปี เล่าว่า ในช่วงเดือน พ.ค. 2549 หลังจากถูกเลิกจ้าง กบได้ตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดที่บ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งผู้เป็นแม่(ทองปั่น ม่วงกลาง) มีที่ดินทำกินที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จำนวนกว่า 60 ไร่ และได้แบ่งที่ดินทำกินให้กบกับน้องสาวอีก 2 คนล่ะจำนวน 10 ไร่ ต่างยึดอาชีพทำการเกษตรกรไร่มันสำปะหลังเพื่อทำรายได้หาเลี้ยงครอบครัว นิตยา บอกว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2558 มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประมาณ 25 คน เข้ามาแม่ในไร่และบอกว่าครอบครัวทำผิดกฎหมาย บุกรุกพื้นที่ของอุทยาน พร้อมกับให้แม่เซ็นเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ทำกินทั้งหมด เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการข่มขู่บังคับว่าหากไม่เซ็น จะถูกจับกุมดำเนินคดีหมดทั้งครอบครัว และจะไม่ให้เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่ปลูกไว้ ซึ่งตอนนั้นมีแม่อยู่คนเดียว ด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต และจะไม่มีเงินใช้หนี้ จึงตัดสินใจยอมเซ็นคืนพื้นที่ให้กับทางอุทยานแห่งชาติไทรทอง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ให้แม่เซ็นเอกสารแทนน้องสาวอีกสองคนรวมกบด้วย เป็น 4 คน "เพราะความจนจึงต้องไปเป็นลูกจ้างสาวโรงงานเย็บผ้ามานับปีแต่ปี 2542 ก็มีความลำบากเกินทน ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2556 เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาหาแม่ในไร่มันสำปะหลัง เพื่อขอคืนพื้นที่ทำกินไปแล้วครั้งหนึ่ง แม่ก็ให้ไปจำนวน 3 ไร่ โดยมิได้กลับเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ที่คืนให้อีก แต่กลับมาถูกผลพวงจากการทวงคืนป่ามาซ้ำเติมชีวิตอีก ครั้งนี้จะมาทวงคืนที่ทำกินทั้งหมด แล้วชีวิตกบกับครอบครัวจะเป็นยังไง ถ้าไม่ต่อสู้เรียกร้อง ก็ต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ชีวิตในอนาคตของครอบครัวต้องกลับไปเป็นลูกจ้างแรงงานทั้งหมดอีกนั้นหรือ" นิตยา กล่าวพร้อมเผยความรู้สึกต่อคำถามของตัวเองว่าต้องสู้เพื่ออนาคตในสิทธิที่ดินทำกิน ด้วยความกังวลต่ออนาคตของครอบครัวที่จะต้องสูญเสียที่ดินทำกิน รวมทั้งในละแวกบ้านของเธอ ก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาข่มขู่ในเซ็นเอกสารในลักษณะเดียวกันรวมกว่า 70 ราย กบจึงได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชนเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินของตนและของเพื่อนบ้าน และเข้าร่วมกลุ่มกับอีก 5 ชุมชน 2 ตำบล ประกอบด้วย ต.ห้วยแย้ และ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ด้วยการเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างถูกต้องเป็นธรรม เพื่อไม่ให้ทางเจ้าหน้าที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน นิตยา บอกอีกว่า เริ่มจากครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2559 ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เนื่องในวันสตรีสากล พร้อมกับเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้อำนวยการสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี) และเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์เขต 7 (นครราชสีมา) และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ ตำรวจเรียก 3 แม่ลูกรับทราบข้อหารุกป่า ทั้งกบ และน้องสาวคือ นางสาวนริสรา ม่วงกลาง รวมทั้งแม่ เป็น 3 รายแรกที่ได้รับหมายเรียกให้เข้าพบ ร.ต.ท.เนาวรัตน์ ซ้ายเขว้า พนักงานสอบสวนเวรสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ ต. วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อหา ในวันที่ 18 ก.ค.2559 ตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง แจ้งข้อหาร่วมกันบุกรุกเขตพื้นที่อุทยาน เข้ายึดถือครอบครอง เพื่อตนเองหรือผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และต่อมาช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2559 คือวันที่ 23 ต.ค.ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 9 คน และเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหาอีก 2 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 14 ราย ทั้งหมดได้เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อแสดงตนและรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งให้การปฏิเสธโดยยืนยันในความบริสุทธิ์ใจ เพราะชาวบ้านอาศัยทำกินมาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน นิตยา บอกอีกว่า หลังจากถูกฟ้องดำเนินคดีได้ร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดชัยภูมิ และได้ขออนุญาตให้เลื่อนระยะเวลาในการยื่นส่งฟ้องศาลออกไปถึง 3 ครั้ง กระทั่งวันที่ 20 ก.ค.2560 อัยการจังหวัดชัยภูมิได้ยื่นฟ้องศาลจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 14 ราย 18 คดี (ครอบครัวของกบถูกฟ้องคนละ 2 คดี) และช่วงบ่ายในวันเดียวกันผู้ถูกคดีทั้งหมด ได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดชัยภูมิ เพื่อยื่นหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 1,900,000 บาท ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 14 ราย ในระหว่างการพิจารณาคดี นิตยา กล่าวเพิ่มอีกว่า เมื่อถึงกำหนดศาลจังหวัดชัยภูมินัดพร้อม คือ 23 ส.ค.2560 ศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งว่า เนื่องจากจำเลยเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ และในวันที่ 24 ส.ค.2560 จะมีการประชุมร่วมกันของคณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐกับตัวแทนของชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดพร้อมออกไปในวันที่ 22 ก.ย.2560 เมื่อถึงกำหนดนัดพร้อม ศาลให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อให้จำเลยกับโจทก์ร่วมกันลงตรวจสอบพื้นที่เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหากับทางอุทยานแห่งชาติไทรทอง "ศาลนัดพร้อมทั้งโจทก์และจำเลยอีกครั้งในวันที่ 6 พ.ย.นี้ และจะมีการนัดสืบพยานคดีดังกล่าว " นิตยา กล่าวเพิ่มเติม กระบวนการติดตามและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า ด้านนายไฟโรจน์ วงงาน แกนนำชุมชนบ้านหินรู ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เพิ่มเติมว่า หลังจาก มีนโยบายทวงคืนผืนป่า แต่การดำเนินการกลับเข้ามาแย่งยึดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนคนยากจน สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนทั่วภูมิภาค รวมทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง กว่า 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ ได้รับผลกระทบหนักขึ้น เช่น ห้ามมิให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และถูกบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านก็ต้องยอมเซ็นไปก่อน เนื่องจากกลัว เพราะเจ้าหน้าที่มากันเยอะและประกบตัวต่อตัว จึงได้รวมกลุ่มกันเดินทางเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอเพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณา ดังนี้ 1.ให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่พิพาทอุทยานแห่งชาติไทรทอง 2.ให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อน กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน โดยมีสัดส่วนของราษฎรที่เดือดร้อนในจำนวนที่เท่ากัน และ 3.ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อราษฎรในพื้นที่ และผ่อนผันให้สามารถทำประโยชน์ตามปกติสุข ไพโรจน์ เพิ่มเติมอีกว่า จากที่เคยยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงาน และร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง อาทิ เมื่อวันที่ 31มีนาคม 2559 ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ มอบหมายให้นายนิพนธ์ สาธิสมิตพงษ์ (รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ) เป็นประธานในที่ประชุม และที่ประชุมมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ได้ตามปกติสุข ต่อมาวันที่ 17 พ.ค.2559 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ประธานที่ประชุม) พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (กกล.รส.จว.ชย.),รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ, นายอำเภอหนองบัวระเหว, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดชัยภูมิ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง เข้าร่วมประชุมที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน "หลังจากได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมีการลงตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวแทนชาวบ้านมาหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งถือว่าเป็นความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ส่งผลให้ชาวบ้านถูกคุกคาม และถูกดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนมองว่าหากกระบวนการแก้ไขปัญหายังคงล่าช้าไปมากกว่านี้จะมีชาวบ้านถูกฟ้องดำเนินคดีตามมาอีกหลายราย" ไพโรจน์ กล่าว ที่ดินของชาวบ้านนั้นคือชีวิต เป็นมรดกที่บรรพบุรุษตกทอดมาให้เพื่อดำรงชีพหารายได้มาเลี้ยงปากท้องของคนทั้งครอบครัว แต่ผลพวงจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และจากความล่าช้าในการร่วมกันไขปัญหาปัญหา ส่งผลกระทบให้ชาวบ้านต้องเผชิญอุปสรรคและการถูกข่มขู่ คุกคาม ในรูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งเมื่อถูกดำเนินคดี กลับยิ่งซ้ำเติมคนจนต้องผจญความทุกข์ยากหนักขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นความปกติสุขของชีวิตจากหายไป สุขภาพจิตที่สูญเสียและรายจ่ายในระหว่างการเดินทาง ค่าน้ำมันไปโรงพักหรือไปศาล รวมทั้งเสียเวลาทำมาหากิน ดังนั้นรัฐควรมีหน้าที่ในการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ท้ายที่สุดแล้วหวังอย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมอาจจะพิจารณาว่าชาวบ้านเข้ามาอยู่โดยไม่มีเจตนาบุกรุก อาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับการดำเนินคดี เพราะปมคดีในพื้นที่พิพาทนั้น ชาวบ้านมีการตั้งถิ่นฐานมานานก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองเมื่อปี 2535 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จับผู้ฝ่าฝืนบินโดรนถ่ายภาพเหนือพระเมรุมาศจำลอง Posted: 28 Oct 2017 01:43 AM PDT จับชายอายุ 50 ปี บินโดรนถ่ายภาพงานพระราชพิธีเหนือพระเมรุมาศจำลอง จ.นครสวรรค์ อ้างไม่รู้ประกาศห้ามแค่บินทดสอบเฉย ๆ ก่อนโดนแจ้ง 2 ข้อหาหนัก เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่ากองอำนวยการร่วมประจำส่วนภูมิภาค ซึ่งรักษาการในงานพระราชพิธีที่พระเมรุมาศจำลองประจำจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการควมคุมตัวผู้กระทำความผิดลักลอบนำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน บินถ่ายภาพเหนือบริเวณพระเมรุมาศจำลอง ทราบชื่อ นายไกรวุฒิ ตันติวุฒิ อายุ 50 ปี อาชีพผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้ที่บริเวณตลาดศรีนคร ซึ่งอยู่ห่างจากพระเมรุมาศจำลอง ประมาณ 2 กิโลเมตร พร้อมกับยึดของกลางโดรนที่ใช้บินถ่ายภาพ 1 เครื่อง จากการสอบสวนในเบื้องต้น นายไกรวุฒิ ให้การอ้างว่า เพิ่งกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น และซื้อโดรนกลับมาด้วย แต่ไม่ทราบว่ามีการประกาศห้ามใช้โดรนขึ้นถ่ายภาพในงานพระราชพิธีจึงได้มีการนำโดรนที่ซื้อมาใหม่บินทดสอบถ่ายภาพในงาน จนกระทั่งมาถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัว พร้อมส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครสวรรค์ ดำเนินคดีตามกฏหมาย 2 ข้อหาในฐานความผิด พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 24 +78(1) จำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 10000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6+23+ป.อาญา มาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ นายไกรวุฒิได้ใช้เงิน 70,000บาท ยื่นขอประกันตัว อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับส่งของกลางโดรนที่ยึดได้ ไปตรวจสอบที่ กสทช.เขต6 จ.พิษณุโลก ว่ามีการขอและได้รับอนุญาตจากทาง กสทช.หรือไม่ แต่ในส่วนการขออนุญาตนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้กำหนดแล้วว่า ไม่ว่าจะมีการขออนุญาตและได้อนุญาตแล้วก็ตาม โดยในส่วนของ จ.นครสวรรค์ ไม่มีการอนุญาตให้หน่วยงานใด หรือบุคคลใด ใช้โดรนขึ้นบินถ่ายภาพในช่วงงานพระราชพิธีได้ทั้งสิ้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2560 Posted: 27 Oct 2017 09:21 PM PDT เมียนมาพิสูจน์สัญชาติทะลุ 5.3 แสน ก.แรงงานย้ำประมงต่ออายุก่อน 1 พ.ย. นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวลือว่าทางการเมียนมาจะปิดศูนย์ตรวจสัญชาติจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่าศูนย์ฯ ยังคงให้บริการตามปกติ และเตรียมจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งเป็น 11 ศูนย์ ที่จังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะทำให้การตรวจสัญชาติของเมียนมาเสร็จเร็วยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีแรงงานเมียนมาเข้ารับการตรวจสัญชาติและได้รับหนังสือรับรองบุคคล (CI) แล้วจำนวน 531,059 คน แบ่งเป็นกลุ่มบัตรสีชมพู จำนวน 413,048 คน กลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) จำนวน 118,011 คน ปัจจุบันศูนย์ตรวจสัญชาติเมียนมามี 9 ศูนย์คือ 1. ศูนย์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร (แห่งที่ 1) ข้างโรงแรมนิวเฟรนด์ ต.ท่าจีน อ.เมือง 2. ศูนย์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร (แห่งที่ 2) สถานีขนส่งจังหวัดสมุทรสาครเก่า ข้างตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.เมือง 3. ศูนย์ฯ จังหวัดสมุทรปราการ เลขที่ 1467 หมู่ 1 ถ.เทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ อ.เมืองสมุทรปราการ 4. ศูนย์ฯ จังหวัดเชียงราย เลขที่ 889/6-7 หมู่ 9 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย 5. ศูนย์ฯ จังหวัดตาก เลขที่ 298 หมู่ 2 ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด 6. ศูนย์ฯ จังหวัดระนอง เลขที่ 89/150 ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง 7. ศูนย์ฯ จังหวัดเชียงใหม่ อาคารปรับปรุงคุณภาพ ศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ เลขที่ 230 หมู่ 1 ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ 8. ศูนย์ฯ จังหวัดนครสวรรค์ เลขที่ 135 หมู่ 2 ต.กลางแดด อ.เมืองนครสวรรค์ และ 9. ศูนย์ฯ จังหวัดสงขลา ตลาดฟุกเทียน เลขที่ 99 หมู่ 3 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ "แรงงานเมียนมาสามารถไปจ่ายค่าธรรมเนียม CI จำนวน 310 บาท ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น อีเลฟเว่น) ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยขณะนี้สามารถเลือกศูนย์ตรวจสัญชาติได้ที่ศูนย์ฯ จังหวัดเชียงราย สงขลา และนครสวรรค์ ส่วนศูนย์ฯในจังหวัดที่ปิดบริการชั่วคราวเนื่องจากคิวล้นเกินจำนวนรับได้จนต้องเคลียร์คิวที่ค้างให้จบก่อนนั้นจะเร่งเปิดให้เร็วที่สุด และขอย้ำให้กลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ใบอนุญาตการทำงานจะหมดในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ให้รีบมาดำเนินการตรวจสัญชาติให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากมาดำเนินการทันเวลาที่กำหนดก็จะสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้อีก 2 ปี จนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562" นายวรานนท์กล่าว ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/10/2560 กนอ. แจงเหตุนิคมฯอมตะนคร สารเคมีรั่วไหล สั่งปิด 30 วัน จัดทำแผนปรับปรุง-ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 ต.ค. 2560 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครได้รับแจ้งเหตุสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานของ บริษัท ไทยเมกิ (2012) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี เมื่อเวลา 10.15 น. จึงเร่งเข้าพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบโดยเบื้องต้นพบว่า โรงงานดังกล่าวประกอบกิจการชุบโลหะมีพนักงานอยู่จำนวน 100 คน ซึ่งเหตุการณ์สารเคมีคือ กรดไนตริกเกิดปฏิกิริยาเป็นกลุ่มควันลอยขึ้นจากปล่องระบายอากาศของโรงงาน เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทางบริษัทฯ รวมถึงหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัย จากนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และเทศบาลดอนหัวฬ่อ ได้เร่งทำการควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้ภายใน 45 นาที "เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลดังกล่าว กนอ. ได้ส่งรถตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศของพื้นที่โดยรอบโรงงาน นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครยังมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สามารถรายงานผลคุณภาพอากาศแบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งผลจากการตรวจสอบคุณภาพอากาศดังกล่าวพบว่าอยู่ในภาวะปลอดภัย สารเคมีที่รั่วไหลมีปริมาณน้อยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ โรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียง ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการเข้าระงับเหตุควบคุมสถานการณ์จากศูนย์ควบคุมและบรรเทาสาธารณะภัยอมตะนคร เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ สิ่งแวดล้อมภาค 13 สิ่งแวดล้อมจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยรวดเร็ว อีกทั้งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในการเข้า ระงับฉุกเฉินขั้นวิกฤต" นายวีรพงศ์ กล่าว ทั้งนี้ กนอ. ใช้มาตรา 39 ตาม พ.ร.บ. โรงงาน สั่งการให้บริษัท ไทยเมกิ (2012) จำกัด หยุดประกอบกิจการ 30 วัน เพื่อตรวจสอบความเสียหายและปรับปรุง ซ่อมบำรุงระบบการผลิต ให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งบริษัทจะต้อง ชี้แจงรายละเอียดสาเหตุการเกิดเหตุ พร้อมทั้งจัดทำแผนปรับปรุงระบบให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย ต่อ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาก่อนอนุญาตให้เปิดดำเนินการในระยะต่อไป นอกจากนี้ ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและนิคมฯอมตะ จะนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่รอบโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ชุมชนต่อไป 'นายกฯ' แจง รบ.ยังไม่ไฟเขียวปรับเพดานเงิน 'กองทุนประกันสังคม' นายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อน แจงเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่ม เป็นเพียงการหารือ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เตรียมเรียกเก็บเงินเพิ่มเข้ากองทุนประกันสังคมจากสูงสุด 750 บาท เป็น 1,000 บาท ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้น เพราะเป็นเพียงการหารือ และที่ผ่านมามีการหารือมากว่า 15 ปีแล้ว ดังนั้นต้องมีความเข้าใจให้มากขึ้น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ยืนยันรัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร แต่รับฟังปัญหานำมาแก้ทุกปัญหา แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเป็นจำและสาเหตุ และขอให้เข้าใจรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช.ยังหารือถึงการรับฟังความเห็นของผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเกี่ยวกับการรับเบี้ยประกันที่มีอยู่ 2 ทาง คือ 1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และ2. กองทุนประกันสังคม ซึ่งได้เห็นชอบร่วมกันเพื่อร่างคำสั่งให้เลือกได้ตามความสมัครใจ โดยให้ระยะเวลา 1 ปีในการตัดสินใจ กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครชายไทยไปฝึกงานญี่ปุ่น 3 ปี มีเบี้ยเลี้ยง-เงินเดือน กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM Japan ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี มีเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงาน ฝึกครบได้รับใบประกาศนียบัตร และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพ 600,000 เยน สมัครฟรี 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560 นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกงานปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM Japan ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี โดย IM ประเทศญี่ปุ่น จะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ (กรุงเทพฯ – โตเกียว – กรุงเทพฯ) และได้รับเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงาน โดยในเดือนแรกได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณกว่า 23,000 บาท และรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ยกเว้นค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะฝึกปฏิบัติงานเทคนิคภายใต้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานญี่ปุ่น ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคจะต้องรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าประกันสังคม รวมทั้งค่าภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อสำเร็จการฝึกปฏิบัติงานแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน พร้อมเงินสนับสนุนในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยอีกจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณกว่า 175,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2560) คุณสมบัติเป็นเพศชาย อายุ 20 – 30 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 160 ซม. สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ สายตาปกติ และตาไม่บอดสี พ้นภาระการรับราชการทหาร ไม่มีรอยสัก หรือความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสียหาย และไม่เคยเข้าเมืองหรือทำงานโดยผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่น ๆ และไม่เคยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่าประเภท Technical lntern มาก่อนหรือเป็นผู้ต้องห้ามในการเข้าประเทศญี่ปุ่น นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจสามารถสมัครได้ด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้แก่ ใบสมัครสอบคัดเลือก รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานการศึกษา หลักฐานการพ้นภาระการรับราชการทหาร ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าสุขภาพแข็งแรง สายตาปกติและตาไม่บอดสี ประวัติส่วนตัว ใบผ่านงาน (ถ้ามี) ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติ ข้อใดข้อหนึ่งจะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการทันที สมัครตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น สมัครได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 8 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 245 1186 หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 25/10/2560 กสร.เตือนลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับสารเคมีต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยฯ นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 กำหนดให้นายจ้างจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามลักษณะอันตรายและความรุนแรงของสารเคมีอันตราย หรือลักษณะของงานให้ลูกจ้างสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกายและสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายเมื่อนายจ้างได้จัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้แล้วต้องสวมใส่ทุกครั้งเมื่อปฏิบัติงาน ทั้งนี้หากลูกจ้างไม่ปฏิบัตินายจ้างมีสิทธิสั่งให้ลูกจ้างหยุดการทำงานทันทีจนกว่าลูกจ้างจะได้ใช้หรือสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว หากนายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่กองความปลอดภัยแรงงาน โทร.0 2448 9128-39 หรือที่หน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 25/10/2560 ประกาศแล้ว! ม.44 ผู้พิการประกันสังคม มีสิทธิเลือกรับบริการสาธารณสุขบัตรทองหรือไม่ก็ได้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 โดยที่สมควรปฏิรูประบบการช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วย การประกันสังคมให้สามารถเลือกรับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ได้โดยสะดวกตามความสมัครใจ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจน ไม่เกิดอุปสรรคในการดํารงชีวิต การประกอบอาชีพ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 1 และข้อ 2 ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน "ข้อ 1 นอกจากประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางานตามมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 แล้ว ให้คนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ ให้คนพิการดังกล่าวแสดงความประสงค์ใช้สิทธิเลือกรับประโยชน์ทดแทนหรือรับสิทธิบริการสาธารณสุขได้เพียงสิทธิเดียวในการเลือกรับสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สํานักงานประกันสังคมกําหนด โดยให้แสดงความประสงค์เลือกใช้สิทธิหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิที่เลือกได้เป็นรายปีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคสอง ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ข้อ 2 ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขที่จ่ายให้สําหรับคนพิการที่เลือกรับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้จ่ายจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงการคลังประกาศกําหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ โดยมิให้นํามาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคมมาใช้บังคับกับการจ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายสําหรับคนพิการที่เลือกรับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมให้เป็นไป ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม" ข้อ 2 ให้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ออกตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคําสั่งนี้ จนกว่าจะมีประกาศที่ออกตามข้อ ๒ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งนี้ใช้บังคับ ข้อ 3 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ, 25/10/2560 เปิดแล้ว ! ศูนย์ OSS เมียนมา ที่ปทุมธานี -นนทบุรี เริ่ม 1 พ.ย. นี้ ทางการเมียนมาเปิดให้บริการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งที่ ศูนย์การค้าเดอะสแควร์ บางใหญ่ จ.นนทบุรี และที่ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จ.ปทุมธานี เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นี้ โดยสามารถรองรับคิวที่ตกค้าง 20,000 คน ได้ประมาณ 500 คิวต่อวัน แรงงานเมียนมากลุ่มผ่านการคัดกรองฯ รีบไปจองคิวได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2560 นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า ทางการเมียนมาพร้อมเปิดจุดให้บริการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งที่ ศูนย์การค้าเดอะสแควร์ บางใหญ่ เลขที่ 99 ม.12 ถ.ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และที่ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ถ.พหลโยธิน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นี้ ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์จะสามารถให้บริการได้ศูนย์ละประมาณ 500 คนต่อวัน โดยในช่วงแรกจะดำเนินการให้กับแรงงานเมียนมากลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) ที่จ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือรับรองบุคคล (CI) ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น อีเลฟเว่น) และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแล้ว แต่ยังไม่ได้คิวเข้าไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติและขอใบอนุญาตทำงานที่ศูนย์บริการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติเมียนมา (OSS) ที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว 9 แห่งได้เนื่องจากคิวเต็ม ซึ่งมีจำนวนประมาณ 20,000 คน ให้ไปติดต่อเพื่อลงนัดคิวการพิสูจน์สัญชาติและขอใบอนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2560 โดยเลือกศูนย์ OSS ที่จังหวัดปทุมธานี หรือนนทบุรี ทั้งนี้ เมื่อแรงงานที่ลงนัดคิวแล้วขอให้ไปเข้ารับบริการตรงตามกำหนดวันนัด ซึ่งขณะนี้ มีแรงงานเมียนมาไปจ่ายค่า CI แล้ว จำนวน 295,000 คน คงเหลืออีกจำนวน 125,000 คน กระทรวงแรงงานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้แรงงานเมียนมาเร่งไปดำเนินการชำระเงินค่า CI และค่าใบอนุญาตทำงานที่เซเว่น อีเลฟเว่น และเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยสามารถเลือกศูนย์ OSS ได้ทุกศูนย์ นายวรานนท์ กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น