โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ครม.ผ่าน หลักเกณฑ์การกำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย

Posted: 17 Oct 2017 12:00 PM PDT

ครม.มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการยกเลิกการประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม และการกำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย 

17 ต.ค. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (17 ต.ค.60)  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยประเด็นหนึ่งคือ ครม.มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการยกเลิกการประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม และการกำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้                       

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น มีดังนี้

1. กำหนดบทนิยามคำว่า "สถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ" หมายความว่า สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง สลับซับซ้อน หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อเอกราช อธิปไตยหรือที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ

2. กำหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเป็น 2 ระดับ ได้แก่ (1) ภัยคุกคามระดับเฝ้าระวัง ในกรณีสถานการณ์ที่การก่อการร้ายมีโอกาสเกิดขึ้นสูงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศอย่างมาก และ (2) ภัยคุกคามระดับเฝ้าระวังพิเศษ ในกรณีสถานการณ์ที่การก่อการร้ายมีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุดหรืออย่างแน่นอนและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศอย่างร้ายแรง

3. กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและประเมินระดับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ประกอบด้วย 3.1 เจตนา ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ของผู้ก่อเหตุ และความมุ่งมั่นที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นั้นของผู้ก่อเหตุ 3.2 ขีดความสามารถ ประกอบด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้ก่อเหตุ และทรัพยากรของผู้ก่อเหตุ 3.3 สภาพแวดล้อม ประกอบด้วยระดับความดึงดูดของพื้นที่ เป้าหมาย มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของพื้นที่เป้าหมาย และผลกระทบจากการก่อการร้าย

4. กำหนดขั้นตอน วิธีการ เงื่อนไขการประกาศและการยกเลิกประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคาม 4.1 ให้ สมช. ประชุมหารือกับหน่วยงานด้านการข่าวและความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์ตามหลักเกณฑ์ และให้ข้อเสนอแนะการประกาศระดับภัยคุกคามพร้อมทั้งความเห็นและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ  4.2 พิจารณาการประเมินสถานการณ์เพื่อประกาศระดับภัยคุกคาม  4.3 ให้หน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการรองรับและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสอดคล้องกับระดับความร้ายแรงของภัยคุกคาม

5. ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามเมื่อสิ้นสุดห้วงระยะเวลาหรือมีประกาศยกเลิก หรือมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

6. การพิจารณาสถานการณ์ใดเข้าข่ายเป็นการก่อการร้ายให้เป็นไปตามความหมายของการก่อการร้ายตามมาตรา 135/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง หนุ่มนักดนตรีชาวอุบล คดีไม่รายงานตัว

Posted: 17 Oct 2017 10:21 AM PDT

อัยการศาลทหารกรุงเทพ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ฤทธิ์นรินทร์ อดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองวัย 31 ปี เหตุเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะดำเนินคดี ไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. 

17 ต.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 60 พฤทธ์นรินทร์ อดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองวัย 31 ปี ถูกอายัดตัวจากเรือนจำกลางอุบลราชธานี หลังจากได้รับการปล่อยตัวในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ก่อนถูกนำตัวมาถึงยังกองบังคับการกองปราบ กรุงเทพฯ  ด้วยหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2557 ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรียกให้ไปรายงานตัว โดย พฤทธ์นรินทร์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการกองปราบ และได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่กองบังคับการปราบปรามเป็นเวลาหนึ่งคืน เช้าวันถัดมา (2 ก.ย.60) เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการกองปราบ ได้นำตัวนายพฤทธ์นรินทร์ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อขออำนาจศาลฝากขังในระหว่างชั้นพนักงานสอบสวน โดยที่ญาติและทนายความของพฤทธ์นรินทร์ เข้ายื่นขอประกันตัวต่อศาลทหารกรุงเทพฯ และศาลทหารกรุงเทพฯได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว พฤทธ์นรินทร์ ด้วยเงินสดจำนวน 30,000 บาท และให้มารายงานตัวต่อศาลทหารกรุงเทพฯทุกๆ 12 วัน

ล่าสุดวานนี้ (16 ต.ค.60) iLaw รายงานว่า อัยการศาลทหารกรุงเทพนัด พฤทธิ์นรินทร์ให้มาฟังคำสั่งฟ้องคดีดังกล่าว โดยอัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเพราะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะดำเนินคดี

หลังทราบคำสั่ง พฤทธิ์นรินทร์ เปิดเผยว่า เขารู้สึกสบายใจที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี เพราะหลังจากนี้จะได้วางแผนชีวิตได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคดีความอีก พฤทธิ์นรินทร์เล่าว่า เขาเดินทางกับแม่จากบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อคืนนี้เพื่อมาฟังคำสั่งอัยการที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยจองตั๋วขามาเที่ยวเดียวเพราะไม่แน่ใจว่าอัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีหรือไม่ แต่เมื่ออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องก็จะเดินทางกลับบ้านคืนนี้เลย 

พฤทธิ์นรินทร์ ระบุด้วยว่า การถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารทำให้ที่บ้านมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการเดินทางมากรุงเทพแต่ละครั้งเขากับแม่จะต้องเสียค่าเดินทางไปกลับราวสองพันบาท และยังต้องเสียค่าโรงแรมและค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก เมื่ออัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องและคดีถึงที่สุดก็คงทำให้ภาระตรงนี้เบาขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: มรดก 14 ตุลา ทางออกจากเผด็จการ ความสุกงอมต่อการปฏิรูปการเมือง

Posted: 17 Oct 2017 09:58 AM PDT

เล่าเรื่องราวต่อสู้การเมืองของคน 5 รุ่น เล่าเรื่องเดือนตุลาผ่านโลกทัศน์ ชีวิตจิตใจคนในเหตุการณ์ มรดกอุดมการณ์ เป้าหมายการเมืองกับ 30 บาทรักษาทุกโรค วอนคนไทยสู้ในระบบ ยอมรับความจริง ไม่เอาทางลัดรัฐประหารอีกแล้ว แจง 3 ปัจจัยสุกงอมสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชนที่แท้จริง

(ซ้ายไปขวา): สุขุม เลาหพูนรังษี ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ณัฏฐา มหัทธนา

เมื่อ 14 ต.ค. 2560 มีเวทีเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า มรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยพรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

การเสวนาประกอบด้วยหัวข้อย่อยดังนี้ (1) "มรดกคนเดือนตุลาด้านการเมือง" โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (2) "มรดกคนเดือนตุลาด้านแรงงาน" โดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แรงงาน (3) "มรดกคนเดือนตุลาด้านศิลปวัฒนธรรม" โดย คุณสุขุม เลาหพูนรังษี อดีตประธานชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) สำหรับการเสวนา ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรรายการโทรทัศน์ ครู และนักกิจกรรม

ประชาไทถอดใจความของสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคนเดือนตุลาที่มาเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ในช่วงเดือนตุลาผ่านสายตาของเขาในสมัยที่เป็นนักศึกษา มรดกจากเดือนตุลาที่ทำให้เป็นหมอเลี๊ยบอย่างทุกวันนี้ ความฝัน ความหวังเกี่ยวกับการเมืองใหม่ การถีบตัวออกจากบรรยากาศของเผด็จการ ความสุกงอมของเงื่อนไขในปัจจุบันต่อการสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชน และความคาดหวังสังคมไทยที่ไม่ควรอัญเชิญทหารมาทำรัฐประหารเพื่อหวังทางลัดลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป

ช่วงเปลี่ยนผ่านกับนักเคลื่อนไหว 5 รุ่น

เรารู้สึกว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์สำคัญครั้งหนึ่งของการเมืองไทย การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงวันนี้ก็ 85 ปี ผมคิดว่าคนยุคต่างๆ ที่ผ่านมาถึงวันนี้ 85 ปี อาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็นคน 5 ยุค

ยุคแรก เป็นยุคของคนรุ่น 2480 ที่มีบทบาทสำคัญในยุคนั้นในฐานะตอนเริ่มต้นของคณะราษฎร เช่น พ.อ. สมคิด ศรีสังคมที่เพิ่งเสียชีวิตไป ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นต้น

ยุคที่สอง สมัย 2500 เปรียบเหมือนยุคแห่งความเงียบ ความมืด ความแสวงหา เรามีคนที่ผ่านยุคนั้นเป็นคนที่อายุ 15-30 ณ ตอนนั้น และจนถึงวันนี้ก็มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้จุดความคิดให้เราเสมอ อย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จอน อึ๊งภากรณ์ หรือนักวิชาการ นักต่อสู้อย่างจิตร ภูมิศักดิ์

ยุคที่สาม ช่วง พ.ศ. 2520 ซึ่งเราพูดเสมอว่าเป็นยุคคนเดือนตุลา คนเดือนตุลามีบทบาททางการเมืองและสังคมในไทยยุคนั้น เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คุณเกรียงกมล ( เลาหไพโรจน์ ) คุณจาตุรนต์ (ฉายแสง) ธงชัย (วินิจจะกูล) สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เกษียร (เตชะพีระ)

ยุคที่สี่ 2540 เป็นยุคที่มีการเคลื่อนไหวในช่วงพฤษภาทมิฬ มีอาจารย์ นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวได้รับคนอิทธิพล ปริญญา เทวานฤมิตรกุล วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หรือชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เป็นต้น

ยุคที่ห้า ปัจจุบัน คือยุคที่ผมเรียกว่ายุคจุดไฟในสายลม เป็นยุคที่ต้องอาศัยความตั้งใจ ความใฝ่ฝัน พลังที่จะฝ่ากระแสลมที่พัดแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้ คนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นไผ่ ดาวดิน รังสิมันต์ โรม เนติวิทย์ เพนกวินหรือแม้แต่จ่านิวก็ตาม

ที่ไล่เรียงมาให้ดูเพราะว่าคนเดือนตุลาเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งในสายธารประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่ากลุ่มอื่น เราคือคนหนุ่มสาวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว วันนี้ยังมีความห่วงใยว่าบ้านเมืองจะขับเคลื่อนไปอย่างไร

ความพิเศษของการเมืองไทย การเมืองโลก และชีวิตจิตใจคนเดือนตุลาในทศวรรษ 2520

ทศวรรษ 2520 มีความพิเศษหลายอย่าง หนึ่ง เป็นช่วงรอยต่อของสงครามเย็นที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การทำลายกำแพงเบอร์ลิน การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจีน รอยต่อเช่นนี้กระทบต่อสังคมไทยอย่างมากมาย เราอยู่ในช่วงรอยต่อของประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์การเมืองของไทย

นอกจากนั้น เราอยู่ในช่วงรอยต่อของคนในสังคม จากที่เคยรับรู้ ความสนใจการเมืองในกลุ่มเล็กๆ ของปัญญาชน สื่อมวลชนก้าวหน้า แต่พอเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2519 เราเห็นความเปลี่ยนแปลงและความตื่นตัวอย่างมากมายของสังคมไทย ความคิดขยายตัวไปจนถึงขบวนการแรงงาน กลุ่มชาวนาชาวไร่ สหภาพแรงงาน และเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่เคลื่อนไหวกันเข้มแข็งมาก วิธีการสื่อสารจากหนังสือพิมพ์ ทีวีขาวดำ คอมพิวเตอร์และมือถือในรุ่น 2520 เราเห็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มือถือ นำไปสู่ม็อบมือถือในช่วงพฤษภาทมิฬ

คำถามคือ ผมและเราเรียนรู้อะไรบ้างจากยุคนั้น การทำงานของคนเดือนตุลาถูกสะท้อนผ่านโลกทัศน์และชีวทัศน์ เรามีโลกทัศน์ที่มองว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำ เอารัดเอาเปรียบ แต่การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นก็ต้องเปลี่ยนชีวทัศน์ของตัวเองด้วย สมัยนั้นตอนเรียนคณะแพทยศาสตร์ก็เรียนไปทำกิจกรรมไป บ้านไม่ค่อยได้กลับ นอนอยู่ที่ตึกสโมสรและชมรมนักศึกษา ม.มหิดล สื่อสารการนัดชุมนุม นัดกิจกรรมด้วยการติดโปสเตอร์ตามตึกแถว ตามอาคารต่างๆ กิจกรรมอย่างหนึ่งที่แตกต่างคือมีการศึกษาพัฒนาตนเอง มีการวิจารณ์ตนเอง กิจกรรมไม่ได้ทำให้เพียงแค่งานสำเร็จ แต่เรายังหวังให้ตัวเองดีขึ้น รับผิดชอบดีขึ้น มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ชีวทัศน์เยาวชน ที่คนรุ่นนั้นถือเป็นหนังสือประจำตัวเพื่อสำรวจว่าจะต้องมีชีวทัศน์อย่างไรจึงจะช่วยเหลือคนอื่นได้ การพูดเรื่องสหายโดมก็มีพูดเรื่อง 3 ช้า คือ ถ้าไม่มีรัก ก็อย่าเพิ่งรัก ถ้ามีรักแล้วก็อย่าเพิ่งแต่งงาน ถ้าแต่งงานแล้วก็อย่าเพิ่งมีลูก มีการวิจารณ์ตนเองเสมอในนักศึกษายุคนั้น สมัยนั้นถ้ามีคู่ไหนที่จะรักกันเราก็จะทัดทานว่า ช้าหน่อยได้ไหม เพราะถ้ารักกันก็จะไม่มีเวลาช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ หรืออย่างการที่บอกว่า ถ้าหากเราจะมองเรื่องความเป็นอยู่ ให้มองคนที่ด้อยกว่าเรา ถ้ามองเรื่องการงานให้มองคนที่สูงกว่า เก่งกว่าเรา เพื่อทำตัวให้ติดดิน มองคนที่ด้อยโอกาสกว่า แต่ในแง่การกางานคือต้องมองคนที่ทุ่มเทกับการทำงาน ก็เป็นการพัฒนาตัวเอง นักศึกษามหิดลที่เป็นเพื่อนผมบางคนดรอปเรียนเพื่อไปอยู่ช่วยชาวนา 3 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง

มรดกอุดมการณ์ เป้าหมายทางการเมืองกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในส่วนของผม เมื่อเรียนจบ ในช่วงหลัง 6 ตุลา 2519 เพื่อนบางคนก็หายไป บางคนกลับมาเรียนต่อหลังจากนั้น ตัวผมมีเงื่อนไขไม่สามารถไปไหนได้ ก็ถือว่ามีหน้าที่ที่ต้องทำให้บ้านเมืองของเราเดินหน้าต่อไปอย่างถูกต้อง มีประชาธิปไตย หลัง 6 ตุลาก็มีการสร้างกลุ่มนักศึกษา สโมสร 18 สถาบัน หลังจากจบการศึกษาเราก็รู้สึกว่าเราเข้าถึงอำนาจรัฐได้ยาก เราก็ทำหน้าที่ส่วนของเราให้ดีที่สุด เช่น เป็นแพทย์ท้องถิ่นอย่างนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ทุ่มเทเรื่องการดูแลผู้ป่วย คิดหาวิธีแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะกลับมาทำงานการเมือง คิดว่าเป็นแพทย์หรืออาจารย์แพทย์ให้ดีที่สุด สามารถสอนให้นักศึกษาเข้าใจระบบสาธารณสุข เข้าใจผู้ป่วย ไม่เคยคิดถึงว่าจะมาทำเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคเลย

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ 6 ต.ค. 2539 เราจัดงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา ที่เป็นหมุดหมายสำคัญว่า ถึงเวลาของคนรุ่น 6 ตุลา จะออกมาพูดสิ่งที่เกิดขึ้น ผลกระทบต่อชีวิตและบ้านเมือง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พูดที่สนามหญ้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น ผมยืนฟังอยู่ตรงนั้น ห่างออกไป 4-5 เมตรคือจาตุรนต์ ฉายแสง ตอนนั้นยังไม่รู้จักกัน สิ่งที่เสกสรรค์พูดคือ เราเคยลุกขึ้นเพื่อทวงถามความเป็นธรรม เพื่อทำให้บ้านเมืองดีขึ้นเื่อ 20 ปีที่แล้ว มาวันนี้คนเดือนตุลา พวกเราอยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่ ออกจากมุมมืดที่พวกเรารู้สึกสบายใจ ออกมาปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ได้แล้ว เพราะช่วงนั้นมีการพูดถึงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ ซึ่งออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ผมฟังวันนั้นแล้วก็ตัดสินใจว่าจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ วันรุ่งขึ้นผมเดินไปหาคุณสุธรรม แสงประทุม ที่ทำงานอยู่พรรคพลังธรรม ณ ขณะนั้น แล้วบอกว่าอยากมาช่วย สุธรรมบอกว่า อย่ามาเลยน้อง กระแสพรรคตอนนี้กำลังแย่มาก มาแล้วก็คงอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ผมเลยตอบไปว่า พี่ครับ ถ้าไม่มาตอนนี้แล้วจะมาตอนไหน มาตอนนี้จะได้ช่วยกันเต็มที่จะได้เดินหน้าไปด้วยกันได้ สุธรรมเลยบอกว่างั้นลุยเลย ลงสมัครรับเลือกตั้งคู่กับพงษ์เทพ เทพกาญจนา ในเขตคลองสานเมื่อปี 2539

45 วันของการเดินหาเสียงเป็นเวลาที่รู้สึกขัดแย้งกับตัวเองมากที่สุด เพราะการเดินหาเสียงคือการแจกบัตรย้ำเบอร์ แล้วไหว้ แล้วบอกว่าเลือกผมด้วยครับ เดินทั้งซอยพูดอยู่แค่นี้ เอกสารนโยบายก็ไม่มี ถามว่า พรรคพลังธรรมจะทำอะไรให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่านโยบายพรรคคืออะไร ก็เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ทำให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่การเมืองที่เราอยากเห็น 45 วันนั้น นับถอยหลังว่าเมื่อไหร่จะจบเสียที อยากกลับบ้าน

เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 มีการจัดตั้งพรรคไทยรักไทย ก็มีการติดต่อมาจากหมอพรหมมินทร์ เลิศสุริเดช เป็นรุ่นพี่ที่มหิดลติดต่อมาถามว่า สนใจทำประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณสุขไหม ผมตอบว่าสนใจ เพราะตอนทำพรรคพลังธรรมแล้วผิดหวังกับระบบการเมืองของพรรคการเมืองยุคนั้น ถ้าตั้งใจว่าอยากทำพรรคการเมืองแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ที่ชูนโยบายก็พร้อมจะคุยด้วย ทำไปๆ ก็รู้ว่านโยบายสาธารณสุขที่ทำมามันเล็กน้อยมาก ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เลยตัดสินใจว่าจะกลับไปคุยกับหมอสงวน ถามเขาว่า พี่หงวน ชีวิตนี้มีความฝันอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้บ้าง พี่หงวนบอกว่ามีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรก อยากทำ สสส. คือกองทุนสร้างเสริมสุขภาพที่ตอนนั้นใกล้ทำสำเร็จแล้ว และเรื่องที่สองคือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไม่เคยได้รับควา่มสนใจจากคนที่มีบทบาทหน้าที่ตัดสินใจ ก็เลยชวนมาคุยกันกับหัวหน้าพรรคไทยรักไทยแล้วนำเสนอเรื่องนี้ไป

หลังจากนั้นก็นำไปสู่การพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคจนได้รับการเลือกตั้ง ทุกวันนี้ผมถามตัวเองว่า การเมืองที่เราทำอยู่มันมาถึงในจุดที่เราพึงพอใจไหม ตอนที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 6 ม.ค. 2544 ได้เสียง 248 จาก 500 เสียง หลายคนบอกว่านี่คือปาฏิหาริย์ หลายคนยังจำการอภิปรายนโยบายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 28 ก.พ. 2544 ได้ ส่วนใหญ่ สส. บอกว่าเป็นปาฏิหาริย์ ผมก็บอกไปว่า ปาฏิหาริย์เมื่อ 6 ม.ค. 2544 จะมีประโยชน์อะไร ถ้ามันไม่สามารถสร้างปาฏิหาริย์ในชีวิตประชาชนและบ้านเมืองให้ก้าวต่อไปได้ดีขึ้น มาวันนี้ก็ต้องถามว่า เรื่องของการเมือง เรื่องของคนเดือนตุลา ถ้าคนเดือนตุลารู้สึกว่าความใฝ่ฝันในวัยหนุ่มสาวถึงโลกที่ดีกว่า ชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ดีกว่า เราจะหยุดยั้งความฝันไว้ที่ตรงนี้ได้หรือไม่ เราจะส่งผ่านมรดกเดือนตุลาให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร คำถามคือ คนรุ่นใหม่เขาอยากได้ไหม คิดเหมือนเราหรือเปล่า ถ้าเปรียบเทียบกับธุรกิจ คนเดือนตุลาที่ทำธุรกิจทั้งใหญ่โตหรือไม่ขนาดย่อม สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้เสมอคือ บางทีลูกหลานไม่ได้อยากรับมรดกธุรกิจจากเราเลย คนที่จะมารับช่วงต่อก็จะมีเรื่องที่ต้องเถียงกันเพราะคิดไม่เหมือนกัน การเมืองก็เช่นกัน ผมเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่มีเรื่องที่ต้องคิดมากมายเพราะสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก ความคิดความเชื่อแบบเราถ้าไม่ได้อัพเดท ไม่ทันสมัยก็อาจแนะนำเขาไม่ได้เต็มปาก มรดกของคนเดือนตุลาไม่ใช่คำชี้แนะ ไม่ใช่การมาบอกว่าให้ทำอย่าง่นั้ยอ่างนี้ มรดกคนเดือนตุลาที่สามารถส่งผ่านได้มีอย่างเดียว และเป็นสิ่งที่ถูกส่งผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2480 คือเจตนารมณ์ ความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาว ความรักในเสรีภาพ ความยุติธรรม และอยากเห็นความเสมอภาคของทุกคนในบ้านเมือง เจตนารมณ์นี้ถ้าเทียบเหมือนดีเอ็นเอ เราส่งผ่านไปให้ แต่คุณต้องใช้ปัญญาและเทคโนโลยีของคุณเพื่อทำให้เจตนารมณ์นี้เป็นจริง

เจตนารมณ์เดือนตุลาที่อ่านแล้วกินใจที่สุด ชอบที่สุดเป็นบทแปลจากหนังสือชื่อ เบ้าหลอมวีรชน สิ่งทีมนุษย์เราหวงแหนที่สุดคือชีวิ และเป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้เพียงครั้งเดียว เขาจะต้องดำรงชีวิตเพื่อที่ว่า จะไม่้ตองทรมานใจด้วยความโทมนัสว่า วันเดือนที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย แต่ต้องไม่มีความรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้อยคุณค่า ชีวิตเช่นนี้เมื่อตายลงก็จะพูดได้ว่า ชีวิตขอ่งฉัน พลังกาย พลังใจทั้งหมดของฉันได้อุทิศแก่อุดมการณ์ที่ดีที่สุดในโลกนี้ก็คือการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์

4 ตัวอย่างการเมืองใหม่ในต่างประเทศ ย้ำคนไทยไม่มีทางลัดทางการเมือง อย่าอัญเชิญรัฐประหารอีก

ทำอย่างไรจะหลุดจากบรรยากาศเผด็จการแบบทุกวันนี้ ถ้าถือหลักอิทัปปัจยตาคือ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ ต้องย้อนดูว่าบรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้เกิดเอง แต่เกิดเพราะเราลืมแล้วว่าบรรยากาศเผด็จการเป็นอย่างไร เพราะมันนานมาก โดยเฉพาะคนรุ่นหลังที่ไม่เคยรู้ว่าก่อน 14 ต.ค. 2516 เป็นอย่างไร หลัง 6 ต.ค. 2519 เป็นอย่างไร คนที่ต้องออกสัญจรหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ไม่รู้ว่าบรรยากาศในมหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร ผมอยากจะเรียนว่าจริงๆ แล้วมันก็คล้ายๆ กัน ไม่ได้ต่างกันเลย ตอนนั้นอาจจะหนักกว่าขณะนี้ด้วยซ้ำ แต่บรรยากาศก็ใกล้เคียงกัน คนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นหลัง พ.ค. 2535 หรือปฏิรูปการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2540 อาจจะยังเด็กมากและไม่รู้ว่าบรรยากาศเผด็จการเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นอันนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งว่าอยากได้ข้อเสนอที่เป็นทางลัดเพื่อให้บ้านเมืองไปในทิศทางที่เราอยากได้อยากเห็น อยากจะเรียนว่าการเมืองไม่มีทางลัด ต้องเรียนรู้และยึดหลักการเบื้องต้นของประชาธิปไตย จะดีจะชั่วให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ในบรรยากาศประชาธิปไตย เรายังพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงกัน คนไหนที่เราไม่ชอบก็ไม่เลือกเขาอีก เรียนผิดเรียนถูกแบบนี้ ติดต่อกันต่อเนื่องว่าเราจะให้เราเข้าสู่ทิศทางที่มั่นคงยั่งยืนมากขึ้น เรื่องประชาสังคม เราจะต้องส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง ผมคิดว่าเป็นบทเรียนที่ภาคประชาชนเองต้องเรียนรู้ว่า ความไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ของที่มาที่ไปทางการเมือง ทำให้ภาคประชาชนอยากได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม มีเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ในสายการแพทย์และสาธารณสุข ถึงขนาดเคยให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดีๆ มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐบาลเผด็จการ ตอนนี้ผมเชื่อว่าเขาเปลี่ยนความคิดไปแล้ว อันนี้เป็นภาพสะท้อนที่อยู่ในใจภาคประชาสังคมบางส่วนว่า เราต้องปรับความคิดให้มั่นเลยว่าประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้ไทยก้าวไปอย่างยั่งยืน ทุกคนมีส่วนร่วมได้ อย่าไปคิดหาทางลัดอีก

คำถามก็คือ เราจะหลุดจากบรรยากาศเผด็จการได้อย่างไร มีปรากฏการณ์น่าสนใจหลายประการในต่างประเทศที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในรุ่นผมต้องเรียนรู้ รุ่นคนเดือนพฤษภาก็ต้องเรียนรู้ แต่คนรุ่นใหม่อาจจะค่อยๆ เข้าใจบ้าง คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3-4 ประเทศ ปรากฏการณ์แรกเกิดในสหรัฐฯ เมื่อเลือกตั้งขั้นต้นก่อนจะเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้วที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะ มีนักการเมืองคนหนึ่งอายุ 70 กว่า เป็นนักการเมืองสายสังคมประชาธิปไตย ไม่ได้สังกัดพรรคเดโมแครต สังกัดอิสระ มีคนเคยเอาเทปของเขาที่พูดในสภาของสหรัฐฯ ตลอด 30 ปี พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องเรียนฟรี เรื่องประกันค่าแรงมาตลอด 30 ปี นักการเมืองคนนี้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งขั้นต้นกับพรรคเดโมแครต ชื่อของเขาคือเบอร์นี แซนเดอร์ส เขาประกาศว่าจะลงแข่งกับฮิลลารี คลินตัน ซึ่งขณะนั้นทุกคนเชื่อว่าเป็นคู่แข่งที่ล้มไม่ได้เลย คะแนนนิยมหลังแซนเดอร์สประกาศว่าจะแข่งขันนั้นสำรวจแล้วมีเพียงร้อยละ 5 ถ้าเปรียบเทียบกันคลินตันที่มีคะแนนนิยมมากกว่าร้อยละ 50 ก็คิดว่าสู้ไม่ได้แน่ๆ แต่ด้วยความเป็นแซนเดอร์ส เขาเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับความนิยมสูงสุด คะแนนเสียงในรัฐของเขาคือรัฐเวอร์มอนต์ เลือกเขาถึงร้อยละ 80 เป็นมาตลอด เรียกว่าลงเมื่อไหร่ก็ชนะเมื่อนั้น เพราะเขาคือนักการเมืองในฝันของรัฐเวอร์มอนต์ เมื่อเขาประกาศแข่งขันก็มีผู้คนมากมายมาร่วมเป็นอาสาสมัคร มีผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย ดิจิตัลประกาศว่าจะระดมทุนให้ ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีคนให้เงินทุนแซนเดอร์สถึง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทันที หลังจากนั้นก็รณรงค์มาเรื่อยๆ บรรยากาศการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะไม่เหมือนบ้านเราเท่าไหร่ เวลาออกไปหาเสียงตามที่ว่าการหรือที่เรียกว่า Town Hall Meeting ไปจับมือ พบปะกับคน 500-1,000 คน แต่ของแซนเดอร์ส มีคนมาฟังปราศรัยครั้งแรกของเขาจำนวน 5,000 คน จากนั้นขยับไปเป็นหมื่น สองหมื่น สองหมื่นกว่าซึ่งไม่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน วันเลือกตั้งก็มีคนหนุ่มสาว คนที่อยากได้ประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า ปัญญาชนเข้ามาเข้าคิวถึง 7-8 ชั่วโมงเพื่อมาลงคะแนนเสียง แต่ที่แพ้คลินตันเพราะว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคเดโมแครตบอกว่า แซนเดอร์สจะชนะไม่ได้ จะอย่างไรฮิลลารีก็ต้องชนะ จึงพยายามให้กระบวนการลงคะแนนเสียงของแซนเดอร์สหยุดชะงักลง ตั้งแต่คนที่เข้าคิวรอลงคะแนนเสียง ให้บอกว่าบัตรหมด ลงคะแนนไม่ได้ ไม่ให้ลงคะแนนถ้าไม่ลงทะเบียนมาตั้งแต่ปีก่อนหน้านั้น เพราะ ณ วันนั้นที่มีการลงทะเบียน ไม่มีใครรู้ว่าแซนเดอร์สมีนโยบาย มีความคิดอย่างไร สุดท้ายแซนเดอร์สก็แพ้ไปแบบไม่มากนัก แล้วก็เกิดการแข่งขันกันระหว่างทรัมป์กับฮิลลารี

เบอร์นี แซนเดอร์ส (ที่มา: flickr/Gage Skidmore)

 

คนรีพับลิกันหลายคนก็บอกว่าไม่ชอบทรัมป์ ถ้าแซนเดอร์สได้เป็นตัวแทนก็จะเลือกแซนเดอร์ส น่าเสียดาย ถ้าการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้วเป็นทรัมป์กับแซนเดอร์ส เราอาจจะเห็นผู้นำสหรัฐฯ เป็นอีกคนหนึ่ง ณ วันนี้ ปรากฏการณ์แซนเดอร์สยังไม่หยุด พรรคเดโมแครตที่กำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมของรัฐสภาสหรัฐฯ ประกาศตัวว่าจะเริ่มใช้แนวทางของแซนเดอร์สในการหาเสียง สิ่งที่เสนอไว้แล้วคนใหญ่โตในเดโมแครตสนใจคือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแบบที่เหมือนไทย คือมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสิ่งที่พรรคเดโมแครตใฝ่ทำมากจนถึงขั้นว่าปี ค.ศ. 2020 การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะใช้นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง  บทเรียนจากสหรัฐฯ คือ มีความอึดอัดใจของคนสองขั้ว ฝั่งรีพับลิกันที่เป็นคนผิวขาวที่กดดัน คับแค้นก็หาทางระบายด้วยการเลือกทรัมป์ แต่ปัญญาชน นักศึกษาที่มีความฝันที่อยากเห็นสังคมอเมริกันดีขึ้นก็เลือกแซนเดอร์ส

บทเรียนอีกประเทศหนึ่งคืออังกฤษ อังกฤษมีการเลือกตั้งที่เทเรซา เมย์ ประกาศเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคแรงงานได้คะแนนกลับมาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อ 20-30 ปี พยายามหานักการเมืองหนุ่มหน้าตาดีมาเป็นผู้นำแข่งกับนายกฯ คาเมรอน ก็แพ้ทุกครั้ง ล่าสุดพรรคแรงงานเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นคนแก่อายุเกือบ 70 เอียงซ้าย ไม่หล่อเลย ชื่อเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายพอสมควรแต่ไม่พอที่จะเป็นเสียงข้างมากให้จัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองในอังกฤษงงมาก

ประเทศที่สามคือฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง อายุ 38 ปี ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหลังจัดตั้งพรรคใหม่หนึ่งปีก่อนการเลือกตั้งชื่อกลุ่ม อองมาร์ช โดยมีความตั้งใจว่า ไม่เอากับการเมืองแบบเก่า ต้องการนักการเมืองใหม่ การเมืองใหม่ที่จะขับเคลื่อนฝรั่งเศสให้เดินหน้าต่อไป ภายในช่วงเวลา 1 ปี มาครงชนะการเลือกตั้ง แล้วยังสามารถชนะการเลือกตั้งในสภาฝรั่งเศสด้วย กลุ่มนักการเมืองในกลุ่มอองมาร์ชที่ชนะ หลายคนเป็นหน้าใหม่ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นศิลปิน อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ ชนะไป 300 กว่าเสียงจาก 500 กว่าเสียง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือประเทศญี่ปุ่นที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง นายกฯ ชินโซ อาเบะที่ยุบสภาและเลือกตั้งกระทันหันเพราะเชื่อว่าถ้าเลือกตั้งตอนนี้ตนจะชนะ วันที่อาเบะประกาศเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีกรุงโตเกียวที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยของโจอิจิโร่ โคอิซูมิ เป็นผู้ว่าการนครโตเกียวที่ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ประกาศตั้งพรรคใหม่ชื่อ Party of Hope หรือพรรคแห่งความหวัง ระดมคนหน้าใหม่เตรียมลงสมัคร

สังคมจำนวนไม่น้อยรู้สึกเบื่อหน่ายการเมืองเก่า ผู้เล่นเก่าๆ เราต้องการคนใหม่ ผู้เล่นใหม่ กลุ่มการเมืองแบบใหม่ที่จะสามารถขับเคลื่อนประเทศนี้ต่อไปได้ ผมย้อนกลับมาถามว่า ทำไมการเมืองสำคัญ เรามีความฝันมากมายเมื่อ 44 ปีที่แล้ว อยากทำโน่นนี่ ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามฝัน เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการบรรจบของจิ๊กซอว์ 3 ตัวที่เข้ามาพร้อมกัน หนึ่ง ความเรียกร้องต้องการจากภาคประชาสังคม เครือข่ายพัฒนาชุมชน อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ สนใจและทำเรื่องนี้และผลักดันมาตลอด ตัวที่สองคือองค์ความรู้ เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องมีความรู้เรื่องระบบบริการ ต้องมีทรัพยากร แต่จิ๊กซอว์สองตัวนี้จะทำไม่ได้ถ้าไม่มีการตัดสินใจเชิงนโยบายของผู้บริหารระดับประเทศ ถ้าไม่มีตรงนี้ก็จะได้แต่ฝันไปเรื่อยๆ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องที่เราจะบอกว่ารังเกียจ ไม่อยากยุ่ง เป็นไปไม่ได้ ถ้าอยากให้คนในประเทศนี้มีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ มีหลักประกันเรื่องการศึกษา สุขภาพต่างๆ จะต้องสนใจว่าการเมืองจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญที่สุด วันนี้ เราต้องหยุดฝันของเราคนเดียว หยุดโพสท์ในเฟซบุ๊กคนเดียวแล้วพอใจว่าเราได้แสดงความเห็นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำ แล้วก็ต้องทำประเภทแบบเป็นกลุ่มก้อน คนหมู่มาก เรื่องสามประสาน นักศึกษา กรรมกร ชาวนาคือสามประสานเมื่อ 44 ปีที่แล้ว วันนี้สามประสานที่อยากเรียนเสนอคือ คนรุ่น พ.ศ. 2520 รุ่น 2540 และคนรุ่น 2560 เอาประสบการณ์ของคนเดือนตุลา เอาความสามารถของคนที่อายุ 40-50 ที่อยู่ในช่วงพฤษภา เอาพลังของนักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่มีพลัง ต้องประสานกัน สร้างอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าจะเป็นทิศทางที่นำไปสู่การเมืองใหม่

ผมคิดเร็วๆ ว่า หนึ่งปีข้างหน้าที่จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างน้อยผม หรือจะเรียนเสนอทุกท่านว่าเรามีภารกิจอยู่สามอย่าง หนึ่ง เขาบอกว่าเขากำลังจะร่างยุทธศาสตร์ 20 ปี จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ผูกพันรัฐบาลและทุกคนไปอย่างน้อย 5 ปี  เราไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์จะออกมารูปแบบไหน แต่เรารู้แน่ๆ ว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นเรื่องที่ทำนายได้ยากมาก ถ้าเรายืนอยู่ในปี 2540 ก็คงมองไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2560 ดังนั้นยุทธศาสตร์ 20 ปีเป็นอะไรที่ทำนายได้ยากมาก สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ในปัจุบันคือ ตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นไปคือต้องร่างยุทธศาสตร์ 5 ปีขึ้นมาโดยพวกเราหลายๆ คนผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เอายุทธศาสตร์มาเปรียบเทียบกันเลยทั้งในด้านคุณภาพชีวิต ความมั่นคง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผมเชื่อว่ามีคนมีความรู้ความสามารถมากมายในประเทศนี้อยากมาร่วมทำยุทธศาสตร์ด้วยกัน ไม่ใช่คนราว 70 คนในคณะกรรมการร่างยุทธศาสตร์

สอง ท่านนายกฯ บอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. 2561 และวันเลือกตั้งจะอยู่ในเดือน พ.ย. 61 เราก็หวังว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามนี้ หรือเร็วกว่านี้ สิ่งหนึ่งที่พวกเราต้องช่วยกันทำคือ ทำให้กำหนดการนี้เป็นจริงให้ได้ ท่านประกาศแล้ว เราพร้อมสนับสนุนให้เดินหน้าให้เร็วที่สุด ให้ สนช. กรธ. ทำภารกิจตามปฏิทินอย่างเร็วที่สุด ภาวนาให้สุขภาพของ กกต. กับ กรธ. มีสุขภาพแข็งแรง

สาม เป็นภารกิจที่ยกบทเรียนมาจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษหรือฝรั่งเศส คือ เราต้องการการร่วมมือร่วมใจเพื่อที่จะผลักดันองค์กรทางการเมืองให้เดินหน้า และทำงานให้ดีที่สุดไม่ว่าจะใต้กติกาใดเพื่อให้บรรลุความฝันของเราให้ได้ การผลักดันเช่นนี้ต้องการอย่างน้อย ถ้าไม่ปฏิรูปองค์กรเก่าที่มีอยู่ เช่น ให้พรรคเพื่อไทยปฏิรูปอย่างจริงจังเพื่อเป็นพรรคการเมืองของประชาชน เรียกร้องให้ นปช. ปฏิรูปแนวร่วมของ นปช. ให้ทำงานอย่างเป็นแนวร่วมอย่างแท้จริง ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จก็คงต้องมีกลุ่มก้อนใหม่ อย่างที่เกิดขึ้นกับอองมาร์ช หรือพรรคแห่งความหวัง ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ ผมคิดว่าบรรยากาศ ณ วันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 ตุลา ก็เป็นความรู้สึกที่หดหู่ ไม่รู้จะเดินต่อไปหรือไม่ ตอนผมเป็นนักศึกษา ช่วงหลัง 6 ตุลา เราก็นั่งประชุมกันในที่ประชุมสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันที่ตึกจักรพงษ์ของจุฬาฯ แต่ละครั้งเราก็ท้อ ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ วันหนึ่งก็มีคนบ่นกันว่า 18 สถาบันทำไปๆ แบบนี้จะทำให้กิจกรรมนักศึกษาเดินต่อไปได้หรือไม่ มีเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งพูดขึ้นว่า เขาเชื่อมันในคนหนุ่มคนสาว เชื่อมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาประเทศนี้ ถ้าพวกเราทำงานกันจริงจัง ไม่ว่าอะไรเราก็จะทำได้ เรามีความสามารถทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียว คือยอมก้มหัวให้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและอุปสรรคทั้งมวล

วอนสู้ในระบบ โซเชียลมีเดีย บรรยากาศเผด็จการ ความต้องการการเมืองใหม่หนุนสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชน

สุรพงษ์ บอกว่า ตอบคำถามแทนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อนในพรรคเพื่อไทยก็มีและได้พูดคุยกันว่ามีความพยายามปฏิรูปพรรคให้เป็นของประชาชนอยู่ ส่วนมติพรรคเพื่อไทยนั้นไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในช่วงทำประชามติ ท่าทีพรรคเพื่อไทยจึงไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ท่าทีต่อไปว่าจะทำอย่างไรนั้นยังไม่รู้ แต่ขออย่าให้แสวงหาทางลัดกันอีก และไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการทำรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่เห็นด้วยที่จะใช้มาตรา 44 การอยากได้แบบไม่เลือกวิธีการจะทำให้เกิดเรื่องเดิมๆ อย่างไม่มีสิ้นสุด เมื่อวันที่ลงประชามติเราไม่สามารถรณรงค์ให้คนไทยส่วนใหญ่เชื่อได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่เหมาะสม เราก็ต้องยอมรับ แล้วจะทำอย่างไร คิดว่าวันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของคนอายุ 60 อาศัยความรู้ความสามารถของคนอายุ 40 อาศัยพลังของคนหนุ่มสาวอายุ 20 คงยังไม่เห็นประชาธิปไตยเบ่งบานในรุ่นของตน แต่อย่างน้อยก็ยังมีคนรุ่นต่อไปที่จะผลักดันให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้สิ่งที่ฝันเอาไว้เป็นดังหวัง แต่ไม่ว่าอย่างไรเราต้องยืนยันว่าจะต่อสู้ด้วยสันติวิธีและยึดหลักสิทธิมนุษยชน ยึดสองหลักหนีให้มั่นแล้วค่อยปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ นักวิชาการหลายคนก็บอกว่ารัฐธรรมนูญชุดนี้อยู่ไม่นานแน่ เพราะจะมีปัญหาในการบริหารบ้านเมืองไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ก็ตาม ผมก็เชื่อเช่นนั้น ก็จะนำไปสู่โกลาหล มีการระดมความคิดที่จะนำไปสู่การแก้ไขต่อไป ต้องสู้ในระบบ ถ้าหากบางท่านคิดว่าอยากตั้งเป็นกลุ่มก้อนเพื่อตรวจสอบ เป็นองค์กรที่คอยตรวจตรา เป็นหมาเฝ้าบ้าน ทำไปเลย เรามีบทบาทต่างกันในปัญหาบ้านเมืองก็ต้องแบ่งกันทำ ช่วยกันทำ

ถามว่าบรรยากาศแบบนี้จะเดินไปได้แค่ไหน สมัย 14 ตุลา 6 ตุลา มีคำพูดว่า สงครามมันไม่จบเร็วหรอก มันต้องยืดเยื้อ ต้องอดทน เรื่องปัญหาบ้านเมืองก็เหมือนกัน ต้องอดทน ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ยึดหลักเหตุผล อธฺบายให้คนอื่นได้ ได้ประโยชน์ ทำให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลง รู้จักประมาณว่าวันนี้ทำได้แค่ไหน เราไม่มีทางสร้างกรุงโรมได้ภายในวันเดียว เราไม่มีทางทำให้ประชาธิปไตยเบ่งบานได้ภายในหนึ่งปี ปัญหาตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันนี้ 12 ปี ส่วนหนึ่งก็เกิดจากพวกเรากันเองที่อยากได้เร็ว อยากได้ทางลัด ต้องเตือนตัวเองว่าทำให้มีการรัฐประหารรัฐธรรมนูญที่เราไม่ชอบ งั้นที่พรรคใต้เตียง ถ้าสมัยก่อนปี 2516 หรือ 2519 ผมก็นึกไม่ออกว่าจะตั้งชื่อพรรคอย่างนี้ได้อย่างไร เมื่อก่อนต้องพลังธรรม ยูงทอง นี่จึงเป็นความแตกต่างระหว่างรุ่นนั้นกับรุ่นนี้ ผมเรียนได้เลยว่า ในฐานะที่สัมผัสกับการเมืองตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะสถานการณ์เป็นใจ คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยสัมผัสบรรยากาศคับข้องใจ แสดงความเห็นได้อย่างไม่เต็มที่ ไม่มีเสรีภาพ ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ช่วงนี้โซเชียลมีเดียเฟื่องฟูมาก วันนี้ใครอยากแถลงข่าวก็แถลงเลย อยากแสดงความเห็นวันนี้เดี๋ยวนี้ข่าวก็ออกไปทั่ว เมื่อก่อนคุณจาตุรนต์ ฉายแสงอยากแถลงข่าวทีหนึ่งต้องจองโรงแรม นัดนักข่าว พูดประเด็นต่างๆ ถ้าไม่คมนักข่าวก็ไม่ลงให้ โซเชียลมีเดียเป็นผลพวงนำมาสู่ความตื่นตัวมากมาย

กระแสอยากได้คนหน้าใหม่ ต้องการความเปลี่ยนแปลงมีมานานแล้ว ในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ม.ค. 2544 เมื่อมองย้อนกลับไปมีช้างล้มในหลายเขตเลือกตั้ง นักการเมืองที่เคยได้รับการเลือกตั้งทุกสมัยแพ้การเลือกตั้ง อย่างเขตหนึ่งในนครราชสีมา คนที่ชนะเลือกตั้งเป็นพยาบาล ตอนนั้นพรรคประเมินแล้วว่าโอกาสชนะมีน้อย ให้เงินไปติดป้ายก็พอ ค่าป้ายประมาณ 2 แสนบาท แกก็ติดของแกไป เดินไปตามบ้านชาวบ้านไป เราก็คิดว่าไม่มีโอกาสชนะ แต่ปรากฎว่าคนนี้ชนะมากมายพอสมควร ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านคิดเป็น วิเคราะห์เป็น การซื้อเสียงจะยังมีอยู่หรือไม่ผมไม่ทราบ อยู่ที่ความเข้มงวดของ กกต. แต่รับเงินแล้วไม่เลือกมีและเกิดขึ้นนานแล้ว ใครที่บอกพรรคเพื่อไทย ไทยรักไทย พลังประชาชนชนะเพราะซื้อเสียงเป็นความเชื่อในวิธีคิดแบบเดิม ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ฉะนั้นผมเรียนว่า อย่าหมดหวัง คำถามคือ เราพร้อมจะลงมือทำหรือยังแทนที่จะบ่นเฉยๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขอนแก่น: ศาลทหารสั่งฟ้องคดีพูดเพื่อเสรีภาพส่งเรือนจำทันที ด้านนักวิชาการเร่งยื่นเงินประกันตัว

Posted: 17 Oct 2017 07:34 AM PDT

ศาลทหารขอนแก่นรับลูกอัยการ สั่งฟ้อง 5 นักศึกษา 3 นักสิทธิมนุษยชนคดี "พูดเพื่อเสรีภาพ" ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. 3/2558 และส่งเรือนจำทันทีหลังรับฟ้อง ทนายและนักวิชาการยื่นเงินสด 70,000 บาท ที่ได้รับมาจากการบริจาคขอประกันตัวทันที นัดอ่านฟ้องถามคำให้การ  21 ธันวาคม 2560

17 ตุลาคม พ.ศ.2560 เวลา 10.00 น. จำเลยในคดีกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ" ทั้ง 7 คน  และทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ไปรายงานตัวกับอัยการตามนัดหมาย โดยอัยการศาลทหารได้ทำการส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ในช่วงเช้าต่อศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น โดยทันที ในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากนั้นศาลได้ลงประทับรับฟ้อง เวลาประมาณ 14.00 น. พร้อมกับสั่งให้ขังจำเลยทั้ง 7 คนในระหว่างการพิจารณาคดี โดยให้นำตัวไปขังไว้ที่ทัณฑสถานพิเศษ จ.ขอนแก่น  และได้นัดอ่านฟ้องถามคำให้การในวันที่ 21 ธันวาคม 2560  

จากนั้น ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความ และ เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น นายประกันได้ยื่นคำร้องพร้อมเงินสดที่ได้รับจากการประกาศขอรับบริจาคทางเฟสบุ๊ค ขอประกันตัวจำเลยทั้ง 7 คนๆ ละ 10,000 บาท ในทันที จากนั้นเวลา 16.30 น.ศาลจึงได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 7 คนตามคำร้องของจำเลย เวลาประมาณ 18.00 จำเลยทั้ง 7 คน จึงได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานพิเศษ จ.ขอนแก่น  (สำหรับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้ต้องขังอยู่แล้วจากข้อหา ม.112)

จากคำฟ้อง สรุปได้ว่าจำเลยทั้ง 8 คน ได้แก่ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 1 นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ จำเลยที่ 2 นายอาคม ศรีบุตตะ จำเลยที่ 3 น.ส.ณัฐพร อาจหาญ จำเลยที่ 4 น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ จำเลยที่ 5 น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ จำเลยที่ 6 นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ จำเลยที่ 7 และนาย ชาดไท น้อยอุ่นแสน จำเลยที่ 8 ได้ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ว่ามีพฤติกรรมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกิจกรรม 'พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?' เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในกิจกรรมได้มีการเชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมโหวตโนและร่วมกันอ่านแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559
 

จากรายงานข่าว นสพ.ไทยรัฐ พาดหัวข่าวว่า "7 แกนนำดาวดินรอดคุก หลังศาล มทบ.23 ให้ประกันตัว ถึงกับน้ำตาร่วง" และในเนื้อข่าวของไทยรัฐ ข่าวสด และมติชนระบุว่า " ทันทีที่ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว ได้โผเข้ากอดกัน บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว" จำเลยทั้ง 7 คน ยืนยันว่าเป็นการรายงานข่าวที่ไม่เคารพต่อข้อเท็จจริง  เนื่องจากจำเลยทั้ง 7 คน เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดินเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น ได้แก่ นายอาคม ศรีบุตตะ และ นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์  สำหรับนายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และนาย ชาดไท น้อยอุ่นแสน เป็นสมาชิกกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ในขณะที่ น.ส.ณัฐพร อาจหาญ, น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ และ น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรม และจากพาดหัวข่าวและเนื้อข่าวที่ระบุว่ามีการร้องไห้ ก็ไม่ได้มีใครร้องไห้ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างไร แถมข้อความที่เป็นปัญหาผิดข้อเท็จจริงในข่าว ก็เหมือนกันกันหมดทั้งสามสื่อ

สำหรับกิจกรรม 'พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?' ได้จัดขึ้นโดยกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ร่วมกับกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ที่ศาลาจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศการลงประชามติที่ 'Free and Fair' คือทุกฝ่ายแสดงความเห็นได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกัน โดยให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ คสช.และการลงประชามติ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559  หรือในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา  แต่มีกิจกรรมนี้เพียงกิจกรรมเดียวที่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วม ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดี


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ยันรัฐบาลไม่มีเจตนาให้เกิดการทุจริตในโครงการระบายข้าว

Posted: 17 Oct 2017 06:58 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันรัฐบาลไม่มีเจตนาให้เกิดการทุจริตในโครงการระบายข้าว พร้อมตรวจสอบ ทำทุกอย่างตามกฎกติกา

17 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ (17 ต.ค.60) เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการระบายข้าวในสต๊อคของรัฐบาลว่า รัฐบาลมีแผนระบายข้าวให้หมดสต๊อค เพราะเป็นการลดภาระงบประมาณในการบริหารจัดการของรัฐบาล แต่ปัญหาการร้องเรียนก็ต้องตรวจสอบ โดยจะทำทุกอย่างตามกฎกติกา ทั้งนี้ รัฐบาลมีเจตนามุ่งมั่นไม่ให้กระทบต่อราคาข้าวฤดูกาลใหม่ และทุกอย่างทำงานตามแผนงานที่วางไว้ รวมถึงสินค้าเกษตรต่าง ๆ ต้องทำอย่างเหมาะสม พร้อมกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น ขอความร่วมมือทุกคนให้ช่วยกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' เผย 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' เตรียมเข้าพบหารือการใช้เฟซบุ๊ก - อาชญากรรมข้ามชาติ

Posted: 17 Oct 2017 06:39 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เผย มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊กมีกำหนดการเดินทางเยือนไทย พร้อมหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการใช้เฟซบุ๊ก ผลกระทบอันเกิดจากอาชญากรรมข้ามชาติบนเฟซบุ๊ก 

17 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ (17 ต.ค.60) เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามจากสื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีการเดินทางเยือนไทยของ มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊กว่า มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทย และเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี โดยจะหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการใช้เฟซบุ๊ก ผลกระทบอันเกิดจากอาชญากรรมข้ามชาติบนเฟซบุ๊ก เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้าพบและหารือของ มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก ครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะมีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อ 27 ก.ค. 2560 ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า จากการรายงานของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็ตเวย์ระหว่างประเทศ (ไอไอจี) ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมทางอินเทอร์เน็ต ตามคำสั่งศาลระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-16 ก.ค. 2560 ภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้เชิญไอเอสพีและไอไอจีมาประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 เพื่อขอความร่วมมือไอเอสพี ช่วยประสานในการส่งสำเนาคำสั่งศาลไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ และให้รายงานความคืบหน้าภายในวันที่ 7 ส.ค. 2560 พบว่า จนถึงวันที่ 26 ก.ค. 2560 นั้น จากคำสั่งศาลที่ให้ปิดเพจที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายทั้งหมด 2,907 URL เป็นของเฟซบุ๊ก 2,082 URL ยูทูบ 672 URL และเพจอื่นๆ 153 URL โดยเฟซบุ๊กจากเดิมที่มีการปิดไป 899 URL มีการปิดเพิ่มเป็น 1,076 URL ยูทูบจากเดิมที่มีการปิดไปเพียง 180 URL มีการปิดเพิ่มเป็น 401 URL และเพจอื่นๆ จากเดิมที่มีการปิดไปเพียง 36 URL ได้มีการปิดเพิ่มเป็น 132 URL

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ไม่กำจัดมลพิษ

Posted: 17 Oct 2017 05:55 AM PDT

ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ร้องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดโดยกรมควบคุมมลพิษ ไม่เป็นการกำจัดมลพิษให้หมดไป และไม่มีเป้าหมายให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างกลับไปใช้ชีวิตโดยปราศจากมลพิษได้เมื่อใด

17 ต.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ร้องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดโดยกรมควบคุมมลพิษ ไม่เป็นการกำจัดมลพิษให้หมดไป และไม่มีเป้าหมายให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างกลับไปใช้ชีวิตโดยปราศจากมลพิษได้เมื่อใด

รายงานข่าวระบุว่า ตามที่บริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรทส์ประเทศไทย จำกัด ที่ทำกิจการโรงแต่งแร่ตะกั่ว ปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เจ็บป่วยล้มตาย  จนกรมควบคุมมลพิษซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่เดือนเมษายน 2541  และมีแผนในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ  แต่ต่อมากลับไม่ดำเนินการต่อโดยอ้างว่าจะปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟู  เป็นเหตุให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างโดยความช่วยเหลือของสภาทนายความ ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครอง

วันที่ 10 ม.ค.2556 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟุ  ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาล อย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง  จนกว่าจะพบค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ไม่เกินค่ามาตรฐานเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี  และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 ราย เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท โดยกำหนดให้ดำเนินการภายใน 90 วัน

ต่อมาวันที่ 20 ก.ย. 2560 กรมควบคุมมลพิษได้เริ่มการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยจ้างบริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) ในการดำเนินการฟื้นฟูโดยใช้งบประมาณกว่า 460 ล้านบาท  ซึ่งได้ลงนามสัญญาจ้างไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2560 โดยมีระยะเวลาการดำเนินการ 1,000 วัน  มีกิจกรรมการดำเนินการประกอบด้วย การขุดลอกลำห้วยคลิตี้  การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรอบโรงแต่งแร่เดิม การก่อสร้างหลุมฝังกลบ และการก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติม


สุรพงษ์ กล่าวว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจะสั่งให้กรมควบคุมมลพิษเร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยภายใน 90 วัน แต่กว่ากรมควบคุมมลพิษกลับใช้เวลากว่า 4 ปี จึงเริ่มการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งแผนในการดำเนินการฟื้นฟูก็ไม่อาจกำจัดมลพิษออกจากลำห้วยคลิตี้จนให้ชาวบ้านกลับมาใช้น้ำในลำห้วยโดยปราศจากมลพิษดังเดิม เนื่องจาก 1. ไม่มีการขุดลอกลำห้วยตลอดลำห้วย คงขุดลอกเพียงไม่กี่จุด ทำให้มลพิษอีกจำนวนมากยังตกค้างอยู่ในลำห้วย  2. ไม่มีการกำจัดมลพิษ แต่เป็นการเพียงย้ายมลพิษไปฝังกลบเท่านั้น ซึ่งยังมีสภาพเป็นมลพิษอยู่ แต่เดิมกรมควบคุมมลพิษเคยดำเนินการกำจัดมลพิษเหล่านี้จำนวน 8 กองแบบมลพิษอุตสาหกรรม โดยการขุดนำไปกำจัดมลพิษโดยโรงงานภายนอกพื้นที่ เมื่อไม่เป็นมลพิษแล้วจึงให้บริษัทรับกำจัดของเสียฝังกลบในพื้นที่ของบริษัท 3. การฝังกลบแทนที่จะขนออกไปกำจัดภายนอกและฝังกลบเมื่อกำจัดมลพิษแล้วในพื้นที่ของบริษัทรับกำจัด  กลับนำมาฝังกลบมลพิษซึ่งยังเป็นมลพิษอยู่เนื่องจากไม่มีการกำจัดมลพิษ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เหนือลำห้วยคลิตี้และหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งหากมีการรั่วไหลก็จะลงสู่ลำห้วยคลิตี้และมาหมู่บ้านคลิตี้ล่างอีกครั้ง  4. ไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าลำห้วยคลิตี้จะมีค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ไม่เกินค่ามาตรฐานตามคำพิพากษาของศาลเมื่อใด

สุรพงษ์กล่าวว่า การทำไม่ครบถ้วน การไม่กำจัดมลพิษและการฝังกลบในพื้นที่ป่า จะทำให้ลำห้วยคลิตี้ไม่ปราศจากมลพิษ  ความล่าช้าที่ผ่านมาจะไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านคลิตี้ล่าง หรือชาวจังหวัดกาญจนบุรี เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว  น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯและคนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ ซึ่งคนกรุงเทพฯและปริมลฑล อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และแม่น้ำแม่กลองก็จะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศ

สุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนคดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 151 ราย ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรทส์ประเทศไทย จำกัด และกรรมการบริษัท รวม 7 ราย  ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2560 ให้จำเลยทั้งเจ็ดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องทั้ง 151 ราย เป็นเงิน 36,050,000 บาท และให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ จนปัจจุบันจำเลยทั้งเจ็ดยังไม่ติดต่อเพื่อชดใช้ค่าเสียหายและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แต่อย่างใด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: การเริ่มต้นของลมหนาว

Posted: 17 Oct 2017 03:02 AM PDT

ลมหนาวหวนคืนอีกครา...
ขณะข้าพร่ำความงามของความเศร้า
เสียงกระซิบยินแว่วเพียงแผ่วเบา
สายลมบอกเล่า กาลเวลา

ฤดู พบพาน เพื่อผ่านเลย
ลมหนาวเฉลย ปริศนา
ความรู้สึกแห่งหัวใจในน้ำตา
ช่างเหว่ว้า ยับเยิน จนเกินทน

ลมหนาวหวนคืนอีกครั้งแล้ว...
เสียงแว่ว ของท้องฟ้า หลังซาฝน
เสียงกระซิบอันอ้างว้างจากใครบางคน
ใครได้ยินความหมองหม่น...หมุนวนไป

ในมุมมองอีกมุมของหนุ่มสาว
ลมหนาวเอยลมหนาวเจ้ารู้บ้างไหม
หนทางสู้ ช่างหนาวเย็นยะเยียบใจ
ใครต่อสู้เพื่อใคร ใครไม่รู้

ลมหนาว-หนุ่มสาว และกองไฟ
เขยื้อน ยุคสมัยเพื่อไปสู่
การข้ามพ้นฤดูกาลเพื่อหว่านฤดู
แล้วพรั่งพรู เล่า-แชร์ ให้แก่กัน

หนุ่มสาว...
ลมหนาว ที่พัดมา หอบพาความฝัน
ที่เราร่วมแต่งเติมในคืนวัน
เป็นสัมพันธ์ แห่งพันธะ ระหว่างเรา



หมายเหตุ: เขียนเนื่องในโอกาสที่อัยการได้ทำการส่งฟ้อง 7 นักกิจกรรมทางสังคมต่อศาลทหารในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.3/58 จากการจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ ที่ศาลาจตุรมุข ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิทธิการตายดีตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ไขข้อข้องใจตายที่บ้านต้องผ่าศพหรือไม่

Posted: 17 Oct 2017 02:26 AM PDT

ระบุการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาของบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ถือเป็นสิทธิผู้ป่วยในการยอมรับสิทธิที่จะเลือกวิธีการรักษาที่ตนเองประสงค์เมื่ออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต 

17 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้  สช. ร่วมกับ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดงานเสวนาวิชาการ "สิทธิการตายดีตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และแนวปฏิบัติกรณีการเสียชีวิตที่บ้าน" เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ สาระสำคัญในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) รวมทั้งประเด็นการดำเนินการเมื่อเลือกวาระสุดท้าย จากไปอย่างสงบที่บ้าน ณ โรงแรมเอบีน่าเฮ้า หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิของประชาชน ตำรวจ ฝ่ายปกครอง นักกฎหมาย บุคลากรทางการแพทย์กว่า 200 คนเข้าร่วม

พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาของบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ถือเป็นสิทธิผู้ป่วยอย่างหนึ่ง ซึ่งในหลายประเทศมีกฎหมายที่ให้การรับรองสิทธิในเรื่องนี้มาเป็นเวลานานกว่า 20-30 ปี โดยแนวคิดสำคัญในเรื่องนี้คือ การยอมรับสิทธิของบุคคลที่จะเลือกวิธีการรักษาที่ตนเองประสงค์เมื่ออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งบุคคลนั้นไม่สามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นได้แล้ว ทำให้คนในครอบครัวหรือญาติ พี่น้องสามารถทราบความต้องการของผู้ป่วย ลดความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทำให้บุคลากรในระบบสุขภาพสามารถวางแผนการรักษาล่วงหน้า โดยมีการพูดคุยกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสาธารณสุข อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่มีความจำเป็นลงเป็นอย่างมาก และช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

"ในอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ 'สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์' (complete aged society) กล่าวคือ จะมีประชากรสูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรจะเป็นผู้มีอายุ 60 ปี ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจผู้ยากลำบากในชุมชนของเครือข่ายจิตอาสาประชารักษ์ที่สะท้อนสังคมสูงวัย พบว่ามีจำนวนประมาณ 7 หมื่นคน มีจำนวนผู้ยากลำบากที่เป็นประเภทติดบ้านติดเตียงมากที่สุด ดังนั้น การเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาวาระท้ายของชีวิตและการเตรียมตัวตายดีจึงเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายมาก" เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

โดยภายในงาน มีการเสวนา "ตายที่บ้าน ต้องผ่าศพด้วยหรือ ?" ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องหลังเมื่อมีผู้แสดงเจตนาที่จะจากไปอย่างสงบและเรียบง่ายที่บ้าน แต่ในทางปฏิบัติยังพบปัญหา อาทิ เจ้าหน้าที่บางส่วนขาดความเข้าใจเรื่องการเสียชีวิตที่บ้าน มีการดำเนินการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพ แม้ว่าจะเป็นการตายจากอาการเจ็บป่วยหรือตายตามธรรมชาติก็ตาม

"ประเทศไทยใช้กฎหมายฉบับเดิมมาหลายสิบปีโดยไม่มีการแก้ไข กำหนดว่าเมื่อเกิดการตายต้องแจ้งตำรวจเป็นคนแรก ขณะที่กฎหมายเยอรมันกำหนดว่าแพทย์ต้องไปดูศพเป็นคนแรก แต่หากมีความผิดปกติหรือเกี่ยวข้องกับตำรวจค่อยให้ตำรวจเข้ามา" วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ และกรรมการกฤษฎีกา ฉายภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ดาราพร ถิระวัฒน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ย้อนถึงการจากไปของบิดาซึ่งนอนหลับไปด้วยอาการสงบอย่างเรียบง่าย แต่หลังจากนั้นกลับพบขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะเจ้าหน้าตำรวจต้องการนำร่างของบิดาไปผ่าพิสูจน์ โดยระบุว่าเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ

"นี่เป็นการตายที่เป็นธรรมชาติที่สุด เรียบง่ายที่สุด คำถามคือเหตุใดการตายที่บ้านกลับต้องมีความซับซ้อนยุ่งยากและขัดกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ตาย" ดาราพร ตั้งประเด็น

พล.ต.ต.โสพรรณ ธนะโสธร รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบายถึงสาเหตุที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องด้วยตำรวจและแพทย์ต้องมาร่วมกันวินิจฉัยสาเหตุการตายว่าเป็นการตายโดยธรรมชาติหรือตายผิดธรรมชาติ รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการการตายตามขั้นตอน

สมคิด ขวัญดำ สำนักงานการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า นายทะเบียนมีหน้าที่ออกใบมรณะบัตร โดยไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การตาย จึงจำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานและพยานอื่นประกอบเพื่อออกเอกสาร ซึ่งหากเป็นการตายตามธรรมชาติจะสามารถออกใบมรณะบัตรได้ทันที แต่หากตายผิดธรรมชาติก็ต้องมีการผ่าพิสูจน์

พ.ต.อ.พัฒนา กิจไกรลาศ นายแพทย์ (สบ.ถ) กลุ่มงานพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับบุคคล สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เสนอว่า หากมีผู้เสียชีวิตไม่ว่าที่บ้านหรือที่ใดก็ตาม ถ้าญาติไม่ต้องการให้มีการผ่าศพ แนวทางแรกคือ ควรให้ผู้นำชุมชนมาช่วยยืนยันกับนายทะเบียน แต่ถ้าเรื่องถึงแพทย์นิติเวชแล้ว ก็จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการชันสูตร ซึ่งต้องได้รับการยืนยันจากญาติว่าไม่ติดใจสาเหตุการตาย และหากจำเป็นต้องผ่าจริงๆ อาจขอร้องแพทย์ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หวั่นผิด กม.แรงงาน สาธารณสุขระนองเลิกจ้าง พนง.สาธารณสุขต่างด้าว ส่งผลขาดล่ามพม่าคุยคนไข้

Posted: 17 Oct 2017 02:01 AM PDT

รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลใน จ.ระนองเผยได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ ไม่สามารถจ้างพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวได้ ทำให้ขาดล่ามช่วยสื่อสารกับคนไข้พม่า ยอดผู้มารับบริการลดฮวบแถมทำงานเชิงรุกเยี่ยมชุมชนลำบากมากขึ้น

17 ต.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า สันติ กาญจนนิยม สาธารณสุขอำเภอเมืองระนอง เปิดเผยว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการในพื้นที่ อ.เมือง จ.ระนอง ที่ต้องให้บริการแรงงานข้าวชาติจากพม่า เนื่องจากไม่สามารถจ้างพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ชาวพม่ามาช่วยเป็นล่ามแปลภาษาและช่วยประสานงานเมื่อออกเยี่ยมชุมชนได้ ทำให้การทำงานยากลำบากมากขึ้น

สันติ กล่าวว่า แต่เดิมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจ้าง พสต. แต่เวลาปฏิบัติงานจริงจะอยู่ประจำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งใน พ.ร.ก.ฉบับใหม่ มีข้อกำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต หรือทำงานผิดประเภท อีกทั้งกำหนดบทลงโทษไว้ค่อนข้างแรง ทำให้ สสจ.หยุดการสนับสนุนงบประมาณจ้าง พสต.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการรายงานให้ส่วนกลางได้รับทราบปัญหาและขอข้อแนะนำเพื่อหาทางออกแล้ว

กนกวรรณ คุ้มเพชร ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการ รพ.สต.มิตรภาพ ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง กล่าวว่า รพ.สต.แห่งนี้มีสัดส่วนแรงงานชาวพม่ามารับบริการจำนวนมาก เฉลี่ยคนไข้ OPD วันละ 20 คน วันที่มีการฉีดวัคซีนเด็กครั้งละประมาณ 95-100 คน และวันที่มีคลินิกฝากครรภ์จะมารับบริการครั้งละ 25-30 คน ซึ่งการให้บริการคนกลุ่มนี้จะให้ พสต. เป็นล่ามช่วยสอบถามอาการ ประวัติ และสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพในด้านต่างๆ โดยมีประจำ รพ.สต. 2 คน แต่หลังวันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นมา สสจ.ก็ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณมาอีก ทำให้ขณะนี้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยชาวพม่าได้ รพ.สต.ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยพาล่ามมาด้วยเมื่อมารับบริการ หรือหากมาคนเดียวก็ต้องปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะสื่อสารไม่เข้าใจจนให้รักษาไม่ถูกต้องและจะแนะนำให้ไปโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยชาวพม่ทาไม่กล้ามารับบริการและไปคนินิกเอกชนแทน

กนกวรรณ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ตามมาคือ รพ.สต.จะไม่เห็นข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ ไม่ทราบว่าคนไข้ที่เคยมารับบริการไปอยู่ที่ไหน และที่จะเป็นปัญหาในเร็วๆนี้คือกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มาฝากครรภ์ที่รพ.สต. ซึ่งขณะนี้ไม่กล้ามากันแล้ว จะมาอีกครั้งก็ตอนคลอดทีเดียวเลย ส่วนงานฉีดวัคซีนยังพอที่จะดำเนินการได้เพราะมีคนมารับบริการมาก ก็จะมีผู้ป่วยบางคนที่พอจะพูดภาษาไทยและช่วยสื่อสารได้

"ตอนนี้ยอดแรงงานเมียนมาร์ที่มารับบริการลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมวันละ 20 คนลดลงมาเหลือ 5-6คน" กนกวรรณ กล่าว

ด้าน สมปอง ชัยณรงค์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปากคลอง ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง กล่าวว่า ผู้รับบริการของรพ.สต.แห่งนี้มีสัดส่วนเป็นแรงงานชาวพม่าถึง 90% ที่ผ่านมามี พสต.ช่วยเป็นล่ามและยังออกเยี่ยมบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากวันที่ 1 ต.ค. ก็ไม่มี พสต.แล้ว ทำให้เกิดปัญหาในการให้บริการเพราะสอบถามประวัติและอาการป่วยอย่างละเอียดแต่เจ้าหน้าที่พูดพม่าได้เพียงบางคำเท่านั้น

สมปอง กล่าวอีกว่านอกจากงานเชิงรับแล้ว ที่น่าหนักใจอีกอย่างคือการทำงานเชิงรุกหรือออกเยี่ยมชุมชน ที่ผ่านมา พสต.จะเป็นตัวเชื่อมกับชุมชนพม่าเมื่อออกเยี่ยมบ้าน อีกทั้งช่วยให้ความรู้ด้านสุขศึกษาและการป้องกันโรค ช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ได้ดีมาก แต่เมื่อขาดคนคอยประสานก็ทำให้สื่อสารกันไม่เข้าใจ ส่งผลต่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแน่นอน

จรัญ ผดุงสุนทร หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ สสจ.ระนอง กล่าวว่า เดิมที สสจ.ระนอง เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจ้างพสต.โดยให้ไปประจำในแต่ละหน่วยบริการ แต่เนื่องจากตามกฎหมายใหม่ ผู้จ้างและลูกจ้างต้องตรงกัน ทางสสจ.จึงไม่สามารถจ้างต่อไปได้ จึงตกเป็นภาระหน่วยบริการในการใช้เงินบำรุงมาจ้าง ซึ่งทางจัดหางานจังหวัดได้เพิ่มอาชีพผู้ประสานงานภาษามาให้ดำเนินการแล้ว แต่ยังติดขัดที่ต้องรับสมัครคนไทยก่อน หากไม่มีคนไทยมาสมัครภายใน 15 วันแล้วถึงจะรับสมัครคนต่างด้าวได้ และต่อให้เดินมาถึงขั้นตอนการรับสมัครคนต่างด้าวแล้ว ก็ยังติดขัดที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่มีระเบียบรองรับ ซึ่งหน่วยบริการเกรงว่าจะผิดกฎหมายจึงรอความชัดเจนจาก สธ.ก่อน โดยขณะนี้ทาง สสจ.ได้ทำหนังสือสอบถามไปแล้วเพื่อขอคำแนะนำว่าจะจ้างอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: 'บัตรคนจน' อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่เป็นอยู่

Posted: 17 Oct 2017 01:36 AM PDT



"บัตรคนจน" เป็นโครงการที่ภาครัฐให้การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ด้วยการให้วงเงินเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน คนละ 200 บาทหรือ 300 บาทต่อเดือน แล้วแต่รายได้ บวกกับให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มอีก 45 บาทต่อคน ต่อ 3 เดือน และยังให้วงเงินช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อคนต่อเดือน เป็นค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาท, ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท โครงการนี้เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา และกำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย

เริ่มจากข่าวความไม่รัดกุม มีช่องโหว่ โดยผู้มีรายได้น้อยเอาบัตรสวัสดิการไปแลกเป็นเงินกับร้านธงฟ้าประชารัฐในพื้นที่ โดยไม่เอาสินค้า ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไข หากมีการตรวจสอบว่าทำผิดจริง จะต้องถูกลงโทษ คือ ร้านธงฟ้าจะถูกถอดออกจากทะเบียนร้านธงฟ้ากับกระทรวงพาณิชย์ และยึดเครื่องรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) คืน ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการจะถูกระงับวงเงินในบัตรทันที

ขณะเดียวกัน มีร้านธงฟ้าบางแห่งที่ยังไม่ได้มีการติดตั้งเครื่องอีดีซี แต่มีการติดป้ายหน้าร้านว่าพร้อมรับบัตรสวัสดิการ และสามารถมารับสินค้าออกไปก่อนได้ในวงเงิน 200 บาท โดยทางร้านจะทำการยึดบัตรสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อยไว้ก่อน

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่แสดงว่ายังมีความไม่พร้อม ไม่ทั่วถึงอยู่มาก โดยหน่วยงานภาครัฐก็ออกมาบอกว่าจะพยายามเร่งติดตั้งเครื่องอีดีซี อย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกตำบล ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งไปแล้วกว่า 5,061 เครื่อง

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่โครงการใหม่ๆของรัฐ ที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีการเตรียมพร้อมเพียงพอ เมื่อเริ่มดำเนินการก็จะมีปัญหา มีข้อติดขัด มีความสับสน ต้องปรับปรุงและแก้ไขกันต่อไป แต่โครงการนี้มีประเด็นที่ต้องฉุกคิดและตั้งคำถามหลายเรื่อง เช่น

- ความครอบคลุมของการให้บริการ บัตรคนจนสามารถใช้ได้เฉพาะกับร้านธงฟ้าที่ติดตั้งเครื่องอีดีซีเท่านั้น แต่ร้านธงฟ้ามีอยู่กี่แห่ง? แถมบางร้านยังไม่มีเครื่องอีดีซี จากข้อมูลทางการล่าสุด มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 19,500 แห่ง ติดตั้งเครื่องอีดีซีไปแล้ว 5,061เครื่อง นั่นคือมีร้านค้าอีกจำนวน 14,000 กว่าแห่ง ที่ยังไม่มีเครื่องนี้ และยังต้องถามต่อว่า แล้วร้านค้ารายเล็กรายน้อยในประเทศไทยมีกี่ร้าน ร้านธงฟ้า 19,500 ร้าน คิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของร้านค้าทั้งหมดที่มีอยู่ และกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศหรือไม่ แล้วคนที่ถือบัตรจะเข้าถึงร้านธงฟ้าได้อย่างสะดวกจริงหรือ

- ความพร้อมของระบบเทคโนโลยีการสื่อสารในการรองรับเครื่องอีดีซี ภาครัฐมีเป้าหมายจะติดตั้งเครื่องอีดีซีให้ครอบคลุมทุกตำบล ณ ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมี 7,255 ตำบล 75,032 หมู่บ้าน เท่ากับว่าที่ติดตั้งไปแล้วก็ยังไม่ครบทุกตำบล และจะมีกี่ตำบล กี่หมู่บ้านที่มีความพร้อมในการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องรับบัตรในลักษณะแบบบัตรเครดิตที่ต้องมีระบบสื่อสารออนไลน์เชื่อมกับระบบโทรศัพท์และฐานข้อมูล

- ความไม่เท่าเทียมของประโยชน์ที่ได้รับ คนรายได้น้อยใน 7 จังหวัด คือ กทม., นนทบุรี, ปทุมธานี, อยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม จะได้วงเงินช่วยค่าเดินทางโดยรถเมล์และรถไฟฟ้า ส่วนในจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 7 จังหวัดนี้ จะได้เฉพาะเงินช่วยเหลือค่ารถ บขส. และค่ารถไฟ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ทั้ง 7 จังหวัดดังกล่าวโดยเฉพาะ กทม. มีความเจริญก้าวหน้ากว่าหลายๆจังหวัดที่เหลืออยู่มาก ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน การให้สวัสดิการกับคนใน 7 จังหวัดนี้มากกว่าที่อื่น ยิ่งไปทำให้ความเหลื่อมล้ำห่างออกจากกันมากขึ้นอีก

"บัตรคนจน" ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโครงการแรกของรัฐบาลนี้ ก่อนหน้านั้นในปี 2559 ก็มีโครงการคล้ายกันแบบนี้ โดยให้คนรายได้น้อยมาลงทะเบียน เพื่อรับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาท และ 3,000 บาท แล้วแต่รายได้ว่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนั้นมีคนมาลงทะเบียนทั้งหมด 8.3 ล้านคน พอมาปีนี้ก็เปิดลงทะเบียนเหมือนกันอีก โดยมีคนมาลงทะเบียน 14.2 ล้านคน ต่อมาเป็นข่าวว่ากรองเหลือ 11 ล้านคน จะสังเกตได้ว่าตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 ล้านคน

ส่วนในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้ในโครงการปี 2559 เป็นการแจกเงินให้แต่ละคนเป็นก้อนและให้ครั้งเดียว ใช้งบประมาณรวมไปทั้งหมด 19,290 ล้านบาท ส่วนของปีนี้การให้สิทธิประโยชน์ซับซ้อนขึ้น มีทั้งเงินช่วยเหลือค่าของกินของใช้ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่ารถเมล์/รถไฟ โดยจ่ายให้เป็นวงเงินผ่านบัตรในทุกเดือน และทุก 3 เดือน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐจะจ่ายเงินให้นานแค่ไหน ต่างจากโครงการที่แล้ว ที่ให้ครั้งเดียวจบ จึงทำให้ไม่ทราบว่า โครงการบัตรคนจนนี้ จะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งหมดเท่าไหร่ และใช้ไปอีกกี่ปี

ล่าสุด มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลจะเพิ่มวงเงินบัตรคนจนขึ้นไปอีก 500 บาทเป็น 700-800 บาท

โครงการที่ให้เปล่าอย่างนี้ เมื่อทำแล้วจะลดลงไม่ใช่เรื่องง่าย หากมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นในเร็วๆนี้ด้วย คนที่เข้าหลักเกณฑ์เป็น"คนจน"อาจจะยิ่งมากขึ้น ซึ่งก็ได้เห็นตัวเลขเบื้องต้นแล้วว่า คนจนที่ลงทะเบียนจาก 8.3 ล้านคนในปี 2559 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11 ล้านคนในปีนี้ ถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน จะขึ้นภาษีหรือไม่ ภาษีอะไร

มีการวางแผนป้องกันไม่ให้ "บัตรคนจน"กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ถือบัตรไม่อยากพ้นจากการเป็นคนจนหรือไม่ มีการวิเคราะห์หรือไม่ว่าโครงการนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอย่างไร

ที่ตั้งคำถามเช่นนี้ ไม่ใช่มีอคติต่อโครงการนี้ แต่เนื่องจากเห็นว่าในหลายประเทศที่มีระบบดูแลคนยากจนนั้น เขาต้องคอยคิดปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ

"บัตรคนจน" นี้เริ่มต้นจากโครงการที่ไม่ใหญ่นัก ต่อมาก็เพิ่มโน่นเติมนี่จนใหญ่พอสมควร แล้วเราก็มาได้ยินชื่อเป็นทางการว่า"บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ซึ่งสะท้อนแนวคิดของผู้ที่ผลักดันโครงการนี้ว่าอาจกำลังต้องการสร้าง"ระบบรัฐสวัสดิการ"ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

ขนาดเรื่องเทคนิควิธีการก็เป็นปัญหาสับสนอลหม่านพอดู สะท้อนว่าไม่ได้เตรียมการมาสักเท่าไร แล้วจู่ๆจะสร้างระบบรัฐสวัสดิการขึ้นอย่างปุบปับ จะไม่ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่หรือ

ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการนั้น มักจะเก็บภาษีสูงมาก คือ รายได้ของรัฐในรูปของภาษีอยู่ที่มากกว่า 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือสูงกว่านั้นมาก เช่น เดนมาร์ก 46.6%, ฟินแลนด์ 44.0%, สวีเดน 43.3%, เยอรมนี 36.9% และอังกฤษ 32.5% ขณะที่ประเทศไทยเรา รัฐมีรายได้จากภาษีอยู่ที่ประมาณ 15-17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเท่านั้น

นั่นหมายความว่า ถ้าจะใช้ระบบรัฐสวัสดิการกันจริงๆ จะต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีกันครั้งใหญ่ สังคมไทยพร้อมแล้วหรือไม่ ยิ่งในช่วง 3-4 ปีมานี้รัฐบาลขาดดุลการคลังปีละมากๆ ทั้งยังใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์อยู่เนืองๆด้วย การตั้งคำถามอย่างนี้ก็ดูจะน่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอยู่ไม่น้อย

โครงการ"บัตรคนจน"หรือ"บัตรสวัสดิการของรัฐ"นี้ เริ่มต้นด้วยความสับสน มีข้อห่วงใยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ถ้ามองปัญหาให้กว้างและไกลออกไปดังที่วิเคราะห์มา ก็จะเห็นว่าปัญหาที่พูดถึงกันอยู่นั้น แม้จะเป็นเรื่องใหญ่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาเพียงบางส่วนเท่านั้น

การกำหนดนโยบายที่เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ไม่ควรทำกันแบบเพิ่มนั่นเติมนี่ไปตามใจชอบ โดยไม่รู้ว่ากำลังจะเดินไปสู่อะไร แต่ควรจะมีกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์นโยบายอย่างเป็นระบบ ที่ต้องเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่อย่างที่ทำกันอยู่



เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Chaturon.FanPage 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ความเชื่อถือ

Posted: 17 Oct 2017 01:23 AM PDT

 

น้ำท่วมโทษใครดี โทษผู้นำโง่ อย่างไอดอลคนชั้นกลางเมื่อปี 54 หรือโทษฝนพันปี ร้อยปี 30 ปี ทำให้กระทั่งอดีตผู้นำอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังโดนน้ำท่วมบ้านรถพังแบบไม่ทันตั้งตัว

ปัดโธ่ ก็ฝนตกไม่ลืมหูลืมตาซะขนาดนั้น จะโทษใครได้ ก็ต้องโทษ "น้ำรอระบาย" ไม่มีใครรับมือทัน ไม่ว่ารัฐบาลหรือ กทม. รัฐบาลนี้ทำดีที่สุดแล้ว อย่าตำหนิ ไม่เหมือนปี 54 มีอะไรโทษ "อีปู" ได้ น้ำมาเห็นๆ ยังบอก "เอาอยู่" ดีเท่าไหร่ ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปล่อยน้ำท่วมประเทศไทย

เพียงแต่ขำๆ ก่อนหน้านี้ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เพิ่งเตือนว่าอาจมีพายุ 3 ลูกพัดเข้าใน 2 สัปดาห์ กรมอุตุนิยมวิทยาแย้งว่าไม่จริง ไปออกทีวีถกกัน รองอธิบดีกรมอุตุฯ บอกว่าถ้าเป็นเมืองนอกจะไม่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนภัยแข่งกับรัฐ แต่ประเทศเราไม่มีกฎหมายให้ฟ้องคนที่แจ้งเตือน ซึ่งทำให้สังคมตื่นตระหนก

เพิ่งพูดแค่ข้ามวัน ฝนก็กระหน่ำโครมๆ กรมอุตุฯ ยอมรับเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะมีพายุชื่อขนุน 

ก็ไม่ได้คิดว่า ดร.เสรีถูกหมด จะมีพายุ 3 ลูกจริงไหมต้องรอดูกัน และเห็นว่าการที่นักวิชาการออกมาพยากรณ์อากาศแข่งกับรัฐนี่มันก็ทำให้สับสนจริงนะครับ แต่บังเอิญ หน่วยงานรัฐเสียรังวัดอยู่บ่อยๆ ไม่งั้นคงไม่มีใครเชื่อนักวิชาการที่มีเครื่องไม้เครื่องมือไม่เท่ารัฐ

ที่จริงเรื่องนี้ถ้ามองให้กว้างออกไป ในทุกสาขาวิชา เราจะพบว่าหน่วยงานรัฐและข้าราชการ มักได้รับความเชื่อถือน้อยกว่านักวิชาการมหาวิทยาลัย หรือผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน ข้อแรก เห็นกันอยู่ว่าคนเก่งๆ มักไม่อยากอยู่ในระบบราชการ ข้อสอง อาจมีคนเก่งแต่ติดขัดระบบราชการ ระบบบังคับบัญชา

ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็ชี้แจงว่า ไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ตามข่าวที่เผยแพร่กันในโลกออนไลน์ เพราะหยุดระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.

โฆษกไก่อูกล่าวเรื่องนี้ว่า อย่าเชื่อข่าวลือ ซึ่งเอาข่าวเก่าปี 54 มาแพร่ใหม่ ใครจงใจแพร่ข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ 

ก็ใช่นะ โลกโซเชียลตื่นตระหนกง่าย สังคมไทยชอบข่าวลือ สมัยก่อนข่าวลืออาจใช้เวลาหลายวัน สมัยนี้พริบตาเดียวจากเหนือจดใต้ แต่ข่าวลือก็มักมีเหตุจากความไม่เชื่อไม่ไว้วางใจ คิดว่ามีการปกปิดข้อมูล

น่าสังเกตว่าระยะนี้รัฐบาลเจอข่าวลือข่าวกระพือจนชาวบ้านตื่นตระหนกอยู่บ่อยๆ เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการประกาศว่าปีหน้าจะเก็บ 10% เป็นภาษากฎหมายที่ใช้มาตลอด 20 ปี ประกาศทุกปีก็เขียนอย่างนี้ แต่คนทั่วไปไม่เคยสังเกต กระนั้นก็ไม่ใช่ชาวบ้านตื่นตระหนกโดยไม่มีมูล อ้าว ใครละเพิ่งบอกประชาชนให้เสียสละเสียแวต 8%

รถถังจีน VT4 ก็ยังเจอข่าวลือในโลกโซเชียล ว่าซื้อแพงคันละ 200 ล้าน จีนขายประเทศอื่น 103 ล้าน โฆษก ทบ.ต้องโต้วุ่นว่าราคาจริง 172 ล้าน และจีนไม่เคยขายให้ใคร ข้อนี้กองทัพก็น่าจะเข้าใจว่ามันมีความไม่ไว้วางใจจากเรื่อง GT200 และเรือเหาะ

การเจอเรื่องแบบนี้บ่อยขึ้น สะท้อนอะไร ก็น่าจะรู้กัน อย่ามัวไปจ้องเอาผิดว่ามีคนปล่อยข่าว ถ้าชาวบ้านเชื่อถือรัฐบาลข่าวลือก็ไม่มีความหมายหรอก

 

ที่มา: kaohoon.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงาน ชาติพันธุ์ ผู้คน ชาวนา ในสังคมที่แปรเปลี่ยน | คนสามัญ อานันท์ 70 ปี

Posted: 17 Oct 2017 12:25 AM PDT

สัมมนาวิชาการ "มานุษยวิทยา ล้านนาคดี และประวัติศาสตร์นิพนธ์ คนสามัญ อานันท์ 70 ปี" ระหว่างวันที่ 20 - 21 เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ห้องประชุม 1 อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ช่วงบ่ายวันที่ 20 ก.ย. เป็นการนำเสนอกลุ่มบทความ "แรงงาน ชาติพันธุ์ ผู้คน ชาวนา ในสังคมที่แปรเปลี่ยน" แนะนำหัวข้อและดำเนินรายการโดย สืบสกุล กิจนุกร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง การนำเสนอประกอบด้วย

(1) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "การปกครองโดยเอกสาร: วงศาวิทยาการควบคุมประชากรโดยรัฐไทย" (2) ไพบูลย์  เฮงสุวรรณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "งานวิจัยกับการสร้างพื้นที่ความรู้ของผู้หญิง (ที่ขาดหายไป)" และ (3) เนตรดาว เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี "Contract Farming of Hybrid Seeds: Its Contribution and Consequence in Northeastern Thailand"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานกกต. ระบุ หาก คสช. ปลดล็อคพรรคการเมืองช้า ก็ไม่ส่งผลต่อวันเลือกตั้ง

Posted: 16 Oct 2017 11:04 PM PDT

ศุภชัย สมเจริญ ระบุยังพิจารณาระเบียบที่ต้องออกตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่เสร็จ ซึ่่งคาดว่าเสร็จทัน คสช. ปลดล็อคพรรคการเมือง แต่หาก คสช. ปลดล็อคช้าก็ไม่เป็นไร เพราะสามารถขยายเวลาการดำเนินงานของพรรคการเมืองได้ เชื่อไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง พ.ย. 61

ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แฟ้มภาพสำนักข่าวไทย

17 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างระเบียบที่ต้องออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดยเลื่อนการพิจารณาไปในการประชุมกกต. สัปดาห์หน้า ทางกกต.จะเตรียมร่างระเบียบต่างๆ ไว้ให้พร้อม เมื่อ คสช. ประกาศปลดล็อคพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมได้ จะประกาศใช้ระเบียบดังกล่าว คาดว่า คสช. คงจะปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้หลังงานราชพิธีผ่านพ้นไป 

ประธานกกต. กล่าวว่า ในส่วนของพรรคการเมืองต้องเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด สิ่งที่สามารถดำเนินการได้เลยคือการแจ้งยอดสมาชิกพรรคกับ กกต. ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนด รวมถึงการเตรียมขั้นตอนไพรมารี่โหวตไว้ล่วงหน้า ส่วนการเรียกประชุมสมาชิกยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ 

ศุภชัย กล่าวว่า หากคสช. ปลดล็อคล่าช้าจนทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดได้ทันตามกรอบเวลา 180 วันก็จะไม่เกิดปัญหา เพราะในกฎหมายเขียนเปิดช่องให้พรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองคือเลขาธิการ กกต. ขอขยายเวลาดำเนินการได้ ตามกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรีประกาศต่อสาธารณะ คือจะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่กรอบเวลาที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำกิจกรรมภายใน 180 วัน จึงน่าจะดำเนินการได้ทัน

"หากพรรคการเมืองเห็นว่าการปลดล็อคล่าช้าจะเป็นอุปสรรค ก็ต้องหารือไปยังคสช. กกต.คงไม่เป็นเจ้าภาพดำเนินการให้ เพราะอาจถูกตำหนิว่าไม่ใช่หน้าที่แล้วจะหน้าแตกเปล่าๆ และไม่อยากให้คาดการณ์ล่วงหน้าในทางร้ายว่ากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว.และส.ส.จะมีปัญหาถูกสนช.คว่ำ เนื่องจากทาง สนช.ยืนยันแล้วว่าไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว อีกทั้งนายกรัฐมนตรีประกาศแล้วว่าจะเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ผมจึงมั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมป" ประธานกกต. กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น