โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คุยกับผู้รายงานพิเศษ UN ปัญหา แนวทาง เป้าหมายอาเซียนกับเสรีภาพการแสดงออก

Posted: 09 Oct 2017 12:58 PM PDT

เล่าเรื่องเสรีภาพการแสดงออกที่ติดลบในอาเซียน แนะรัฐเลิกใช้กฎหมายล้าสมัยอย่างยุยงปลุกปั่น กฎหมายหมิ่นฯ สังคมควรยอมรับความเห็นต่าง สังคมที่แข็งแรงต้องคุยกันได้ทุกเรื่อง เปรย รัฐบาลไม่เอาด้วยเพราะกลัวเสียอำนาจ เสนอเส้นแบ่งเฮทสปีชกับเสรีภาพการแสดงออก บทบาทเอกชนในโลกยุคอินเทอร์เน็ต

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิจารณ์การเมืองชื่อดังในข้อหา ม.112  ปมกล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวรและกรณียุทธหัตถี โดยกล่าวว่า การทรงกระทำยุทธหัตถีไม่มีจริง และมีอีกหลายถ้อยคำที่เข้าข่าย "หมิ่นเบื้องสูง"

คดีของ ส.ศิวรักษ์ เป็นเพียงหนึ่งเสี้ยวของการถูกกฎหมายควบคุมการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยอย่างที่เป็นมาช้านาน หากขยับการมองในระดับภูมิภาคอาเซียน ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาภูมิภาคนี้ก็พบกับปรากฏการณ์ที่รัฐบาลจำกัดไม่ให้ประชาชนแสดงออกซึ่งความเห็นในด้านต่างๆ เราเห็นรัฐบาลกัมพูชาทยอยปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหลายหัว เห็นการแสดงความคิดเห็นต่อชาวโรฮิงญาอย่างดุเดือดทั้งในอินเทอร์เน็ตและนอกอินเทอร์เน็ตจากกลุ่มพุทธหัวรุนแรง รวมถึงการจับกุมซีแลน ปาเลย์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวสิงคโปร์โดยตำรวจสิงคโปร์หลังแสดงออกทางสัญลักษณ์รำลึกถึงการถูกควบคุมตัว 32 ปีโดยไม่ถูกตั้งข้อหาของอดีต ส.ส.สิงคโปร์ เชียะไทปอ

พระวีระธูปราศรัยโจมตีโรฮิงญา-เอ็นจีโอต่างชาติ ร้อง ร.บ. พม่าประกาศกฎอัยการศึกยะไข่ตอนเหนือ

ศิลปินถือกระจกสะท้อน 32 ปีการจองจำนักโทษการเมืองสิงคโปร์-ก่อนถูกรวบตัว

2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากกัมพูชาเล่าวิกฤติ รบ. ปิดสื่อ ห่วงต่อไปแตะต้องรัฐบาลไม่ได้

จากภาวะที่รัฐบาลในอาเซียนทยอยจัดการกับการแสดงออกของภาคพลเรือนอย่างต่อเนื่องจนอาจจะเรียกได้ตามภาษาข่าวกีฬาว่า 'ท็อปฟอร์ม' เหลือเกิน ทำให้มีคำถามเรื่องภาพรวมเสรีภาพการแสดงออกในภูมิภาค จุดเริ่มต้นในการสร้างภาวะที่เอื้อต่อการมีเสรีภาพการแสดงออก แนวทางการสื่อสารกับคนที่คิดว่าการปล่อยให้พูดอะไรก็ได้ก็รังแต่จะทำให้สังคมวุ่นวาย บทบาทของสหประชาชาติในเรื่องเหล่านี้ และคำถามต่อภาคเอกชนในการสร้างเสรีภาพการแสดงออกในยุคอินเทอร์เน็ตครองเมือง

ประชาไทได้รับเกียรติจาก ศ.เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติในประเด็นการสนับสนุนและปกป้องสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกและการแสดงความเห็น และศาสตราจารย์คลินิกในวิชากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ มาร่วมพูดคุยต่อประเด็นคำถามข้างต้น

สัมภาษณ์ David Kaye ผู้รายงานพิเศษองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก

สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกในอาเซียนเป็นอย่างไร

เดวิด เคย์

ในภาพรวม สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกของทั้งภูมิภาคอยู่ในระดับที่ต่ำ มีแรงกดดันจากรัฐบาลที่เลือกให้มีการแสดงออกหรือไม่แสดงออกอะไร รวมถึงการทำให้การการพูด การรายงานข่าวที่สื่อถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลกลายเป็นอาชญากรรม

สหประชาชาติทำหน้าที่สนับสนุนการมีเสรีภาพการแสดงออกอย่างไรบ้าง

หน่วยงานหลักในด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติคือคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) มีหน้าที่รับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต ความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการแต่งตั้งผู้รายงานพิเศษ เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ติดตามการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่างๆ ในโลก ผู้รายงานพิเศษมีอยู่หลายคน อย่างผมก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออก ผมติดต่อกับรัฐบาลโดยตรงเวลาที่มีข้อกังวลเรื่องการนำข้อบังคับด้านการปกป้องเสรีภาพการแสดงออกไปใช้ เราส่งจดหมาย ออกแถลงข่าวในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรง นอกจากนั้นเรายังมีหน้าที่เยี่ยมเยือนประเทศต่างๆ ผ่านการเชิญของรัฐบาล การเยี่ยมแต่ละครั้งนานหนึ่งสัปดาห์ถึงสิบวัน ระหว่างการเยี่ยมเยือน พวกเราก็จะไปพบรัฐบาล นักกิจกรรม นักวิชาการ นักข่าว จากนั้นจะรายงานกับคณะมนตรีฯ สหประชาชาติเองก็ทำหน้าที่รายงานและติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลในประเด็นการคุ้มครองเสรีภาพด้านการแสดงออก

การทำงานจริงมีอุปสรรคบ้างไหม

การค้นหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นไม่ยาก สิ่งที่ยากคือการที่รัฐบาลในหลายประเทศสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นภัยต่อเสรีภาพการแสดงออก ผมคิดว่าแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะแพ้ภัยตนเองเพราะประเทศเหล่านั้นมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ ดูอย่างกรุงเทพสิ ที่ตอนนี้เป็นเมืองที่กำลังโตและมีชีวิตชีวา จะมองสิงคโปร์ในแบบเดียวกันก็ได้ ทั้งภูมิภาคกำลังมีการพัฒนา แต่เมื่อคุณไปปิดกั้นไม่ให้คนแสดงความเห็นในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือไปทำให้การวิพากษ์วิจารณ์กลายเป็นอาชญากรรมมันก็ทำให้คนคิดอะไรใหม่ มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและชะตากรรมของประเทศได้ยากขึ้น ผมคิดว่าการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดมันอันตรายและเป็นเรื่องที่ผิดทั้งยังมีผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาด้วย เพราะกฎหมายสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของทุกคนในการได้รับและส่งต่อข้อมูลทั้งหลาย รวมถึงข้อมูลของรัฐบาลด้วย ถ้านักข่าว ฝ่ายค้านหรือคนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นยากหรือถูกทำให้หวาดกลัวที่จะให้ความเห็นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหรือการเมืองก็จะไปบ่อนทำลายการพัฒนาตัวเองของรัฐบาล หลักของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ก็ระบุถึงความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เอาไว้เช่นกัน

มีความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรมในภูมิภาคนี้ที่อยากพูดถึงหรือเปล่า

ผมไม่คิดว่าตอนนี้เรามีความสำเร็จในภูมิภาคนี้มากนัก แม้ว่าจะมีพัฒนาการในด้านบวกบ้าง แต่ว่าภาพรวมก็ติดลบ ภูมิภาคนี้มีภาคประชาสังคมที่ร่ำรวย มีนักกิจกรรม นักข่าว กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เก่งๆ รวมถึงประชาชนที่กระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วมซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีถ้ารัฐบาลจะลดภาวะปิดกั้นการแสดงออกที่ในความเป็นจริงไม่มี ตัวอย่างที่เราคิดว่าจะประสบความสำเร็จก็คือพม่า หลายปีที่แล้วการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองทำให้มีการเคลื่อนไหวในอินเทอร์เน็ตมาก มีเสรีภาพในการรับข่าวสารมากขึ้น แต่สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันคือการทำการวิพากษ์วิจารณ์ทหารเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รัฐบาลได้บ่อนทำลายโอกาสในการทำสำเร็จไป

การถกเถียงเรื่องเส้นแบ่งระหว่างการพูดเพื่อสร้างความเกลียดชัง (เฮทสปีช) กับเสรีภาพการแสดงออกเดี๋ยวนี้ไปถึงไหนกันแล้ว

คุณจะห้ามไม่ให้มีการใช้เฮทสปีชได้ต่อเมื่อมันสร้างการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงและการมุ่งร้าย ต้องเป็นระดับนั้นถึงจะห้ามกันได้ ผมว่าสิ่งที่เราเห็นรอบโลกและในภูมิภาคนี้คือการวิพากษ์วิจารณ์ชุมชนอื่นอาจจะกลายเป็นเฮทสปีชได้ แต่นั่นควรจะจำกัดอยู่ในระดับอย่างที่บอกไป การปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงไม่มีที่ยืนในสังคมประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่นในพม่า เราเห็นการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงแต่ก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำอะไรนอกไปจากห่วงภาพพจน์ของทหาร มากไปกว่าการปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยที่จะได้รับความปลอดภัยจากความรุนแรง

ในทางกลับกันพวกเขา (รัฐบาล) กลับไปจัดการการวิพากษ์วิจารณ์ทหาร จำกัดสิทธิการแสดงออกของชาวโรฮิงญาและไม่ทำอะไรกับกลุ่มสุดโต่งที่ปลุกปั่นให้เกลียดชังชาวโรฮิงญาเลย มันเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งและรัฐบาลก็ไม่ได้จริงจังกับปัญหาความเกลียดชังทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ตมากพอ

ภูมิภาคอาเซียนควรเริ่มต้นจากตรงไหนก่อน

 ทั้งไทยและมาเลเซียต่างมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความเคารพในตัวรัฐบาลและราชวงศ์อย่างลึกซึ้งโดยไม่เอาโทษกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน อย่างน้อยผมอยากให้รัฐบาลอดทนกับการเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวจากประชาชน หลังจากนั้นรัฐบาลสามารถเดินหน้าต่อด้วยการยกเลิกกฎหมายที่บ่อนทำลายการแสดงออกเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่นักข่าวรู้สึกปลอดภัยที่จะรายงานข่าวโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องปิดปากหรือถูกคุกคาม

ภูมิภาคนี้ควรเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ก้าวแรกคือการหยุดใช้กฎหมายที่ล้าสมัยดำเนินคดีกับประชาชน ยกตัวอย่างในประเทศมาเลเซียที่มีกฎหมายยุยงปลุกปั่น (Sedition acts) ไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้นำมาเลเซียบอกว่าจะยกเลิกกฎหมายนี้ แต่สุดท้ายก็นำมันมาใช้กับนักเขียนการ์ตูน บุคคลทั่วไป นักกฎหมายและนักศึกษา ส่วนในไทยก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทั้งไทยและมาเลเซียต่างมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความเคารพในตัวรัฐบาลและราชวงศ์อย่างลึกซึ้งโดยไม่เอาโทษกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน อย่างน้อยผมอยากให้รัฐบาลอดทนกับการเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวจากประชาชน หลังจากนั้นรัฐบาลสามารถเดินหน้าต่อด้วยการยกเลิกกฎหมายที่บ่อนทำลายการแสดงออกเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่นักข่าวรู้สึกปลอดภัยที่จะรายงานข่าวโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องปิดปากหรือถูกคุกคาม นอกจากนั้นยังสามารถสนับสนุนให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษากระตือรือร้นในการสร้างและพัฒนาสังคมอีกด้วย สรุปข้อเสนอสองข้อคือ หนึ่ง รัฐบาลในภูมิภาคนี้ควรหยุดดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความเห็น สอง ยกเลิกกฎหมายที่อนุญาตให้พวกเขาทำเรื่องดังกล่าวได้

มีแนวทางหรือวิธีการสื่อสารกับคนที่คิดว่าการแสดงออกอย่างเสรีนำมาซึ่งความวุ่นวายและการโต้เถียงกันไหม

การพูดคุยทำให้เกิดการโต้เถียงอยู่แล้ว แต่เราจะกลัวอะไรในเมื่อการถกเถียง การเห็นต่างเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความคิดที่ดีกว่า ถ้าการถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะต้องมีพื้นที่ร่วมกันมันก็ควรเป็นเรื่องของความต้องการในการสร้างสังคมสำหรับคนทุกคนอย่างไม่แบ่งแยก และความเห็นที่ไม่ตรงกันก็เป็นหนทางสู่แนวคิด หนทางที่จะทำให้เกิดสังคมแบบนั้น แต่ปัญหาที่พวกคุณมีตอนนี้คือมีรัฐบาลที่ต้องการอยู่ในอำนาจต่อ และอำนาจนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการพัฒนาหรือสังคมที่เข้มแข็ง สังคมที่เข้มแข็งคือสังคมที่เปิดให้มีการถกเถียงความคิดทั้งที่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตย ให้ความคิดเหล่านั้นเติบโตไปพร้อมกันผ่านการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน การโต้เถียงเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ว่ามันมักถูกมองจากรัฐบาลว่าเป็นตัวการที่บ่อนทำลายพวกเขาจากอำนาจที่มี

คนควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้แม้กระทั่งประเด็นศาสนาและความเชื่อ เพราะนั่นคือหนทางที่ปัจเจกชนและสังคมเติบโต ถ้าไม่มีสิทธิเหล่านั้นสังคมในภาพรวมก็จะอันตราย 

เวลาคุณคุยกันคุณไม่อยากพูดแค่ว่า ใช่ครับ เห็นด้วยครับ ขอบคุณครับ แต่ส่วนหนึ่งที่สังคมสามารถหาแนวคิดที่นำมาใช้แก้ปัญหาคือการปล่อยให้คนถกเถียงกัน บางครั้งก็เถียงกันหนัก แต่รัฐบาลควรสนับสนุนประชาชนให้มีการถกเถียง แน่นอนว่ารัฐบาลหนึ่งจะมีอำนาจไปตลอดไม่ได้ นั่นไม่ใช่สิ่งที่ประชาธิปไตยเป็น แต่รัฐบาลอาจจะพบว่ามันคือการทำสิ่งที่ดีให้กับประชาชน ประชาชนควรมีสิทธิในการค้นหาความเชื่อและความเป็นตัวของตัวเอง คนควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้แม้กระทั่งประเด็นศาสนาและความเชื่อ เพราะนั่นคือหนทางที่ปัจเจกชนและสังคมเติบโต ถ้าไม่มีสิทธิเหล่านั้นสังคมในภาพรวมก็จะอันตราย ขอให้ยอมรับการถกเถียง ยอมรับการโต้แย้ง แล้วเมื่อเวลาผ่านไปสังคมก็จะเห็นคุณูปการที่ใหญ่หลวง

ภาคส่วนเอกชนเหล่านี้มีบทบาทในการสร้างเสรีภาพการแสดงออกแค่ไหนในวันที่อินเทอร์เน็ตและธุรกิจโซเชียลมีเดียแพร่กระจายเครือข่ายไปทั่วโลก

ในภาพรวม อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลผ่านการค้นหาและพาตัวเองออกไปเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ปัญหามีอยู่สองข้อ หนึ่ง รัฐบาลพยายามปิดกั้นการแสดงออกในพื้นที่โซเชียลมีเดีย ประชาชนถูกดำเนินคดีจากการโพสท์เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ หรืออะไรก็ตามแต่ สอง ตัวบริษัทที่ควบคุมพื้นที่ดังกล่าวก็มีกฎของพวกเขาเองว่าผู้ใช้งานพูดอะไรได้หรือไม่ได้ บางครั้งกฎดังกล่าวก็ไม่ชัดเจน ความไม่ชัดเจนรวมไปถึงระบบการลบเนื้อหาโดยอัตโนมัติด้วย ปัจจัยทั้งสองสร้างสภาวะที่ผู้ใช้ไม่ค่อยแน่ใจว่าอะไรพูได้หรือไม่ได้ บริษัทที่ดูแลพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวจากการสอดส่องของรัฐรวมถึงการเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกด้วย

(ความเคลื่อนไหวในภาคเอกชน)ก็มีที่เริ่มไปบ้างแล้ว มีผู้ใช้งานเริ่มแสดงข้อกังวลให้กับทางเจ้าของพื้นที่ บริษัทจำเป็นที่จะต้องตอบสนองต่อข้อกังวลของผู้ใช้ ส่วนรัฐบาลเองก็ยกวาระเรื่องข่าวปลอมมา บริษัทจึงต้องรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการเซนเซอร์ข่าวหรือข้อมูลใดๆ พวกเรา (สหประชาชาติ) เองก็พยายามจะเข้ามามีส่วนในบทสนทนานี้โดยทำการศึกษาเรื่องความรับผิดชอบของโซเลียลมีเดียและบริษัทเครือข่ายค้นหาในประเด็นการควบคุมเนื้อหา เราหวังว่าจะมีรายงานในเรื่องนี้ออกมาในปีหน้าเพื่อสนับสนุนการถกเถียงในเรื่องนี้ บริษัทพบเจอปัญหาที่ค่อนข้างชัดเจนทั้งในทางภัยคุกคามจากทางรัฐบาล การสร้างข้อบังคับที่เหมาะสม และปกป้องสิทธิมนุษยชนของลูกค้า บริษัทเอกชนไม่สามารถ หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรจะเป็นหนึ่งในวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอ เปิดสูตรความร่วมมือทางสังคมที่หวังผลได้ของไทย

Posted: 09 Oct 2017 12:52 PM PDT

ทีดีอาร์ไอ เสนอ 'SIP Model' นวัตกรรมความร่วมมือทางสังคมที่หวังผลได้สำหรับไทย เปลี่ยนมุมมองใช้เงินลงทุนเพื่อสังคม ทั้งงบรัฐ ซีเอสอาร์เอกชน และเงินบริจาคของคนไทย ที่อยู่ในภาวะแยกส่วน กระจัดกระจาย ไม่ต่อเนื่อง ไม่เห็นผล มาเป็นการร่วมคิด ร่วมทำ มีองค์กรกลางบริหาร ตรวจสอบและวัดผลได้ 
 
9 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แจ้งว่า บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษารูปแบบของการสร้างความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม (Social Impact Partnership Model : SIP Model)  โดยระบุว่า ภาพรวมของการให้บริการทางสังคมของไทยในปัจจุบันนั้น ภาครัฐซึ่งมีบทบาทหลักและดำเนินงานหลายด้าน ส่งผลให้บริการที่ให้ไปส่วนมากเป็นไปในรูปแบบเหมาแข่งและตั้งรับ ขณะที่ภาคเอกชนมีเงินทุนซีเอสอาร์ในการทำโครงการเพื่อสังคมแต่บางครั้งยังขาดความต่อเนื่อง ส่วนภาคประชาสังคมซึ่งทำงานใกล้ชิดกับประชาชนและเข้าใจสภาพที่แท้จริงของปัญหา ก็มักขาดแคลนทุนดำเนินงาน การให้บริการทางสังคมของไทยจึงยังเป็นลักษณะ แยกส่วน  บางโครงการไม่ต่อเนื่อง จึงไม่เห็นผล ทั้งที่เงินลงทุนเพื่อสังคมมีมากในแต่ละปี   เฉพาะเงินบริจาคของคนไทยมีถึงปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนมีงบประมาณทำ CSR ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท หากนำสองส่วนนี้มารวมกันเราจะมีเงินมหาศาลที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม  ประเทศไทยจึงมีความพร้อมที่จะลงทุนเพื่อสังคม แต่ยังขาดเครื่องมือในการลงทุนที่จะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
 
บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ 

ความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม (Social Impact Partnership ) คือ ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการออกแบบ ดำเนินการ และให้ทุนสนับสนุนโครงการที่เน้นเชิงป้องกัน และให้ความช่วยเหลือแต่แรกเริ่ม เพื่อให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อสังคมที่เป็นรูปธรรม  SIP model  หรือที่รู้จักกันในชื่อพันธบัตรเพื่อสังคม (Social impact bond) หรือ Pay for success  เกิดขึ้นแล้วใน 19 ประเทศทั่วโลก และกำลังเป็นที่สนใจในประเทศกำลังพัฒนา เช่น โคลัมเบีย  โดยมีแนวคิด คือ นักลงทุนลงทุนในโครงการระยะยาวที่มีเป้าหมายชัดเจน  โดยมีองค์กรกลางที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการเงินนี้ไปสู่ผู้ให้บริการทางสังคม รวมทั้งติดตามการดำเนินงานของผู้ให้บริการทางสังคม ซึ่งก็จะมีการประเมินผลเป็นระยะ  หากโครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย  ผู้จ่ายเงินซึ่งส่วนใหญ่คือภาครัฐซึ่งมีภาระหน้าที่ในการดำเนินโครงการทางสังคมนั้นๆอยู่แล้ว จึงจะจ่ายคืนเงินต้นพร้อมผลตอบแทนให้กับนักลงทุนตามที่ตกลงกันไว้  ภาครัฐก็จะประหยัดงบประมาณได้ โดยจ่ายเงินให้กับโครงการที่ประสบผลสำเร็จเท่านั้น

ตัวอย่าง การนำ SIP Model มาใช้ เช่น อังกฤษ มีปัญหาผู้ต้องโทษจำคุกระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี มีอัตราการกลับเข้าสู่เรือนจำสูงถึง 60% จึงมีการนำรูปแบบ SIP มาใช้แก้ปัญหาอัตราการกลับเข้าคุกซ้ำของนักโทษระยะสั้น ที่เรือนจำ Peterborough โดยมีนักลงทุน 17 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรเพื่อการกุศลร่วมกันระดมทุนได้ 5 ล้านปอนด์  แล้วมี Social Finance เป็นองค์กรกลางที่จัดสรรเงินทุนให้กับผู้ให้บริการทางสังคม 7 องค์กร ซึ่งรวมตัวกันเรียกว่า  One Service จัดบริการช่วยเหลือด้านที่พัก การเงิน ฝึกทักษะและจัดหางาน บริการสุขภาพกายและจิต  และ ให้คำปรึกษาครอบครัวผู้พ้นโทษ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้พ้นโทษระยะสั้น 2,000 คน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ผลประเมินพบว่า อัตราการกลับเข้าคุกลดลงถึง 9%  เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับบริการ  ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ 7.5% กระทรวงยุติธรรมฯจึงจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทน 3% ให้กับนักลงทุนตามที่ตกลงกันไว้   

สำหรับประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้เลือกศึกษาบริการทางสังคม4 ด้านที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย คือ การพัฒนาการศึกษา การให้บริการส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรค การเพิ่มผลิตภาพ SMEs และการฝึกอาชีพหรือส่งเสริมการจ้างงาน    โดยบริการทั้ง 4 ด้านมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรภาคสังคมที่มีการดำเนินงานจำนวนมาก ภาคเอกชนหรือนักลงทุนสนใจช่วยเหลือ เช่น การให้ทุนการศึกษา การบริจาคเงินหรือสิ่งของให้ รพ.  การพัฒนา SMEs และการฝึกอาชีพและการจ้างงานเป็นผลประโยชน์โดยตรงของภาคเอกชน   

SIP Model  มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1. ด้านการเงิน จะใช้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย นักลงทุนมีหลายรูปแบบ เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือรูปแบบอื่น ๆ การจ่ายผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่กลุ่มเป้าหมาย  มักมีการกำหนดเพดานการจ่ายผลตอบแทนไว้ เพื่อให้ผู้ประเมินหรือภาครัฐสามารถประเมินเพื่อเตรียมงบประมาณที่ต้องใช้ได้ 2. ด้านการบริหารจัดการ ส่วนมากจะเป็นองค์กรกลางหรือทำข้อตกลงกับผู้ลงทุนโดยตรงก็ได้ ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลามากกว่า 1 ปีเนื่องจากต้องใช้เวลาในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา 3.การประเมินผลที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ SIP model แตกต่างจากเงินบริจาคทั่วไป  การริเริ่ม SIP model  ในประเทศไทย  ต้องเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ  จัดตั้งโครงการ   ดำเนินการ  การประเมิน และการจ่ายผลตอบแทน 

แม้ปัจจุบันยังมีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ อาทิ การออกพันธบัตรโดยรัฐ อาจไม่สามารถทำได้ ณ ขณะนี้เพราะไม่เข้าเงื่อนไขการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน  ขณะที่การจัดตั้งกองทุน ทำได้แต่ต้องออกกฎหมายที่ชัดเจนและมีการกำกับดูแล ส่วนการใช้เงิน CSR ของภาคเอกชน เพื่อลงทุนในโครงการความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบันเป็นการนำมาลดหย่อนภาษีที่ผูกกับเงินให้เปล่า ดังนั้นถ้าหากนำมาเป็นเงินตั้งต้นในการทำ SIP Model  ก็จะไม่ใช่เงินให้เปล่าและไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ จึงอาจไม่จูงใจเอกชนเท่าไหร่  นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐจ่ายเงินให้เอกชนในฐานะนักลงทุนซึ่งจะเป็นปัญหาตอนจ่ายเงินคืนเมื่อโครงการประสบผลสำเร็จ  ส่วนการใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี ปัจจุบันทำได้ตามระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ.2534 แต่ไม่ควรเกิน 5 ปี  

อย่างไรก็ตาม  หากเห็นประโยชน์และต้องการดำเนินโครงการSIP Model จริง ๆ กฎระเบียบเหล่านี้ก็สามารถแก้ไขได้  และหากจะผลักดันให้เกิดโครงการ SIP Model  สิ่งที่ทำได้เลยทันที คือ รัฐบาลควรเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก จัดตั้งเวทีที่เปิดกว้างสำหรับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการ ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ หน่วยงานของรัฐควรเริ่มจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสังคมที่ตนเองรับผิดชอบ รวมถึงการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม(SROI) ของโครงการที่ผ่านมา ภาครัฐควรจัดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการนำร่องในเชิงลึก ที่มีรายละเอียดที่พร้อมสำหรับการดำเนินโครงการต่อไป โดยโครงการนำร่องควรเป็นโครงการขนาดเล็กที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่มาก และสุดท้าย เร่งประชาสัมพันธ์แนวคิดโครงการความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม  แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เน้นการเปลี่ยนแนวคิดจากการบริจาคที่ไม่หวังผล เป็นการลงทุนเพื่อสังคมที่วัดผลได้

ในระยะยาว รัฐบาลควรมีการศึกษาเพื่อแก้ไขและเพิ่มเติมกฎระเบียบที่จะเอื้อให้เกิดโครงการความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีการจัดตั้งองค์กรกลางที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นกลไกขับเคลื่อนในระยะยาวเช่น Social Finance ซึ่งทำในหลายประเทศ โดยเป็นองค์กรที่มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

บุญวรา กล่าวด้วยว่า โดยสรุป SIP Model สามารถทำได้ในประเทศไทย โดยอาจทำเป็นโครงการเล็ก ๆ ในระดับพื้นที่   และเมื่อเชื่อมโยงโครงการเล็ก ๆ ในระดับพื้นที่เข้าด้วยกันก็จะเห็นผลลัพธ์ในระดับประเทศไทยได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เผยงบกองทุนบัตรทอง 11 เดือน ปี 60 เบิกจ่ายให้ รพ.ในระบบไปแล้ว 94%

Posted: 09 Oct 2017 12:30 PM PDT

สปสช.รายงานผลเบิกจ่ายงบกองทุนบัตรทอง 11 เดือนปี 60 เบิกจ่ายเป็นค่าบริการสาธารณสุขให้ รพ.ไปแล้ว 116 แสนล้านบาท จากงบที่ได้รับ 123 แสนล้านบาท คิดเป็น 94 %

9 ต.ค .2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ขอรายงานงานงบการเงินในส่วนของงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2560 สำหรับงวด 11 เดือน (ตุลาคม 2559-สิงหาคม 2560) มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขให้หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปแล้วทั้งสิ้น 116,281,721,967.56 บาท จากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2560 ที่ได้รับ 123,465,780,400 บาท (ไม่รวมเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐ) คิดเป็นร้อยละ 94 ซึ่งเหลืออีกร้อยละ 6 เป็นในส่วนงบที่รอแต่ละโรงพยาบาลส่งข้อมูลการให้บริการสาธารณสุขในเดือนกันยายน 2560 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2560 เพื่อเบิกจ่าย โดย รพ.สามารถส่งข้อมูลได้ภายใน 3 เดือนหลังสิ้นสุดปีงบประมาณ ก็จะมีการเบิกจ่ายได้ครบตามจำนวน

เลขาธิการ สปสช กล่าวต่อว่า ผลการเบิกจ่ายดังกล่าวเป็นไปตามตัวชี้วัดของกรมบัญชีกลางที่ สปสช.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงผลการดำเนินงาน (Pre-Position Paper) ประจำปีบัญชี 2560 ในส่วนของด้านการเงินคือ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินกองทุน โดยหน่วยงานมีการเบิกจ่ายเป็นไปตามที่กำหนดและตามแผนการเบิกจ่ายที่ได้รับอนุมัติ และหน่วยบริการได้รับการโอนเงินกองทุนตรงตามเวลาที่กำหนด และด้านปฏิบัติการ คือ การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล/กระทรวงการคลัง

ศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจพึงพอใจบัตรทองปี 60 ชี้ ปชช.หวงแหน

ศสธ. เปิดเสียงสะท้อนคนอีสานกับการแก้กฎหมายบัตรทอง

ค้านแยกเงินเดือนงบรายหัวบัตรทอง หวั่นชนบทวุ่น - ขาดแพทย์ปฐมภูมิ

ทั้งนี้ สปสช.ได้รายงานงบการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในแต่ละเดือนให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบเป็นประจำทุกเดือนแล้ว รวมถึงรายงานให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการตรวจสอบการบริหารเงินและการดำเนินการของสำนักงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนที่เกี่ยวข้อง มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯถอดยศ ร.ท.หญิง รัตติยา ทหารมหาดเล็กฯ เหตุประพฤติผิดวินัยทหาร

Posted: 09 Oct 2017 12:18 PM PDT

โปรดเกล้าฯถอดยศ ร.ท.หญิง รัตติยา ทหารมหาดเล็กฯ ประพฤติผิดวินัยทหาร ขาดวิจารณญาณในการปฏิบัติหน้าที่ ถวายงาน และไม่ได้มาตรฐานนายทหารสัญญาบัตร หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

9 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศให้นายทหารสัญญาบัตร ออกจากยศทหาร ระบุว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ร้อยโทหญิง รัตติยา สิทธิสมบูรณ์ นายทหารสัญญาบัตร ตําแหน่ง รักษาราชการ ประจําฝ่ายกิจการวัง กองบังคับการโรงเรียน ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ออกจากยศร้อยโทหญิง คงเป็น สิบเอกหญิง ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2560 เนื่องจากประพฤติผิดวินัยทหาร กล่าวคือ มีความหย่อนยาน ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ แต่งกายเครื่องแบบพระราชฐานไม่เรียบร้อย ไม่สวมหมวก ไม่มีอาวุธ ประจํากาย ไม่ถวายความเคารพตามแบบธรรมเนียมทหาร หรือตามมารยาท ราชสํานัก หลบหนี หลีกเลี่ยง หลังจากกระทําความผิด ขาดวิจารณญาณในการปฏิบัติหน้าที่ ถวายงาน และไม่ได้มาตรฐานนายทหารสัญญาบัตร หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทักษิณ' ทวีตไม่เกี่ยวข้องกลุ่มล่วงเกินสถาบันเบื้องสูง ลั่นจะเอาเรื่องจนถึงที่สุด

Posted: 09 Oct 2017 09:38 AM PDT

ทักษิณ โพสต์ทวิตเตอร์ ระบุไม่เคยรู้จัก พร้อมประณามบุคคลอ้างชื่อตนล่วงเกินสถาบันเบื้องสูง ยันที่จะเอาเรื่องจนถึงที่สุด และจะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดีกับทุกคน

9 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำของวันนี้ (9 ต.ค.60) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ทวิตเตอร์ @ThaksinLive โดยระบุว่า "ผมได้ทราบข่าวเรื่องข้อความจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง โดยมีการกล่าวอ้างถึงชื่อผม ด้วยความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ผมขอยืนยันว่าไม่เคยรู้จักบุคคลดังกล่าว และไม่เคยแม้แต่จะคิด ที่จะล่วงเกินสถาบันฯ เลยแม้แต่น้อย ผมขอประณามในวิธีการดังกล่าว และยืนยันที่จะเอาเรื่องจนถึงที่สุด ในการที่นำชื่อผมเข้าไปเกี่ยวข้อง ผมขอประกาศให้ทราบไว้ ณ ที่นี้ว่า ไม่ว่าใครที่ผมจะรู้จักหรือไม่ก็ตาม หากมีการแอบอ้างหรือพาดพิงถึงตัวผม โดยมีการก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูงอีก ผมจะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดีกับทุกคน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวหนังสือ 'ศาลรัฐประหาร: ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร' [คลิป]

Posted: 09 Oct 2017 08:11 AM PDT

เสวนาจาก "ตุลาการภิวัตน์" สู่ "ศาลรัฐประหาร" ปัญหาตุลาการกับการเมืองในระบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2560 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเป็นการเสวนาในวาระเปิดตัวหนังสือ "ศาลรัฐประหาร: ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร" จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ช่วงแรกอภิปรายโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล และอธึกกิต แสวงสุข

อภิปรายและนำเสนอโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล พร้อมการถามตอบ

อภิปรายโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์นามปากกา "ใบตองแห้ง", ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชัยธวัช ตุลาธน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภูมิใจไทยขอคสช.ปลดล็อคหลังเสร็จพระราชพิธีสำคัญ มีชัยเชื่อพิจารณา 1-2 วันนี้

Posted: 09 Oct 2017 07:03 AM PDT

ภูมิใจไทยขอคสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรมบางเรื่องตามที่พ.ร.ป.ว่าด้วนยพรคการเมืองกำหนด หลังเสร็จพระพิธีสำคัญ วิษณุ ขอพรรคการเมืองอดทน  เชื่อคสช.จะพิจารณาเรื่องปลดล็อค ยืนยันทันเวลา พร้อมระบุอัยการสูงสุดรื้อคดีทักษิณได้ มีชัยเชื่อพิจารณาปลดล็อก 1-2 วันนี้ 

 

9 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว ว่า ขณะนี้พรรคกำลังศึกษาตัวพ.ร.ป.อยู่หลายเรื่อง เพราะดูแล้วอาจจะเกิดผลกระทบ ถ้าไม่เปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เนื่องจากติดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในที่สุดจะมีปัญหาเพราะไม่สามารถทำตามที่พ.ร.ป.กำหนดไว้ได้

"ยกตัวอย่างพรรคภูมิใจมีสาขาพรรคอยู่ 4 สาขา อาจจะครบตามที่กฎหมายกำหนด แต่ยังต้องทำกิจการภายในสาขา คือต้องมีกรรมการแต่ละจังหวัด หากพรรคจะส่งผู้สมัครทั่วประเทศ ต้องเตรียมกรรมการอีก71-72 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ให้ผ่านช่วงเวลาอันสำคัญช่วงนี้ก่อนค่อยปลดล็อกก็ได้ หากไม่ต้องการให้กระทบต่อความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องปลดล็อกทั้งหมดตามที่คสช.เป็นห่วง ฝากถึงคสช.ว่าจำเป็นต้องปลดล็อกพรรคการเมืองในบางเรื่อง เพื่อให้ทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ปลดล็อกเท่าที่จำเป็น" ศุภชัย กล่าว

วิษณุ เชื่อเสร็จพระราชพิธีสำคัญ คสช.จะพิจารณาเรื่องปลดล็อค

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ประกาศใช้ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีกรอบเวลาให้พรรคการเมืองสำรวจสมาชิกพรรคและจัดประชุมพรรคภายใน180 วัน  ซึ่งพรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงนี้เพราะติดคำสั่ง คสช. จะปลดล็อคพรรคการเมืองหรือไม่ ว่า ขอให้รออีกระยะ ซึ่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ต้องดำเนินการสิ่งใดภายใน 90 180วัน หรือ 1 ปี แต่พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่สามารถนำคน 500 คนมารวมกันแล้วจดทะเบียนได้ ซึ่งต้องมีกิจกรรมประชุมเลือกหัวหน้าพรรค 

"เวลานี้อาจติดขัดคำสั่งคสช.ที่  3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทำกิจกรรมทางการเมืองเกิน 5 คน รัฐบาล คสช.ทราบ และกำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไร แต่เดือนตุลาคมมีพระราชพิธีสำคัญ ขอให้อดกลั้นรอสักนิด เชื่อว่าไม่ทำให้เสียหาย ต่อการบังคับใช้พ.ร.ป. อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่พร้อมบางอย่าง ต้องเตรียมการเช่นกัน มีคนที่ต้องดำเนินการหลายฝ่าย เช่น กรมสรรพากร  กกต กระทรวงมหาดไทย แต่เมื่อมาถึงงจุดหนึ่ง คสช.ต้องคิดว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่ออย่างไร ผมยังพูดต่อไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบ" วิษณุ กล่าว 

ส่วนกรณีพรรคการเมืองกลัวว่าจะดำเนินการเรื่องต่างๆ ไม่ทัน วิษณุ กล่าวว่า ทันเพราะระยะเวลาที่สั้นที่สุดคือ 90 วัน และไม่มีอะไรยุ่งยาก วุ่นวาย ส่วนกรณี สุรชัย เลี้งบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ระบุว่าพรุ่งนี้(10 ต.ค.) จะประชุมคสช.และคณะรัฐมนตรี(ครม.) และอาจจะหารือเรื่องนี้หรือไม่นั้น อาจจะเป็นไปได้ แต่ไม่ทราบรายละเอียด  

ระบุอัยการสูงสุดรื้อคดีทักษิณได้ 

วิษณุ กล่าวถึงกรณี เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดเตรียมใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 เพื่อรื้อคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำหน่ายคดีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกชั่วคราวเนื่องจากไม่สามารถนำตัวจำเลยมาขึ้นศาลได้ว่า  เรื่องนี้ต้องให้อัยการเป็นผู้ชี้แจง แต่เคยพูดกันหลายครั้งแล้วว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาไม่สามารถย้อนหลังได้ แต่กฎหมายวิธีพิจารณาการดำเนินคดีถือว่า ย้อนได้

"ยกตัวอย่างกรณีกระทำผิดแล้วคดีต้องขึ้นศาลชนิดหนึ่ง ต่อมากฎหมายเปลี่ยนแปลงให้ขึ้นศาลอีกชนิดหนึ่ง ไม่ว่ากระทำผิดเมื่อใดก็ตาม แบบนี้สามารถย้อนหลังได้ เพราะเป็นวิธีพิจารณาไม่ได้ทำให้เสียความเป็นธรรมอะไร" วิษณุ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า คดีของนายทักษิณถือว่าย้อนได้ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า หลักมันมีว่าอย่างนั้น เมื่ออัยการสูงสุดบอกว่าได้ ให้ไปถามอัยการสูงสุด

มีชัยเชื่อคสช.พิจารณาปลดล็อก 1-2 วันนี้ 

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ คสช. ผ่อนคลายคำสั่ง คสช.ในเรื่องการห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ภายใน 1-2 วัน คสช.น่าจะมีการพิจารณาปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ยกเว้นการชุมนุมทางการเมือง แต่ในระหว่างนี้ แม้ คสช.จะยังไม่ปลดล็อก พรรคการเมืองก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง และหาสมาชิกเพิ่มเติมได้ แต่การประชุมใหญ่พรรคการเมือง อาจยังติดขัดอยู่ ต้องรอ คสช.พิจารณา

มีชัย ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ยืนยันยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง แต่ยอมรับว่า อาจจะกระทบกรอบเวลาการดำเนินการของพรรคการเมือง ที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

 

ที่มา สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอีอีซี วอทช์ ยื่นหนังสือนายกฯ ถอนร่างอีอีซี เริ่มกระบวนการใหม่

Posted: 09 Oct 2017 12:49 AM PDT

กลุ่มอีอีซี วอทช์ ยื่นหนังสือนายกฯ เสนอความเห็นต่อกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรียกร้องให้แก้ปัญหาเดิมก่อนเร่งเดินหน้าโครงการ หวังรัฐบาลถอนร่างและเริ่มกระบวนการใหม่ ดักคอ ไม่ควรเร่งดำเนินออกกฎหมายฉบับใดในช่วงเดือนตุลาคมนี้

วันนี้ (9 ตุลาคม 2561) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทางกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี วอทช์ (EEC Watch) ได้เดินทางไปยื่นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) และความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... ต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีอิทธิพล ช่างกลึงดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชน (สสร.) ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ

กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงาน กลุ่มอีอีซี วอทช์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แก่พื้นที่ 3 จังหวัด-ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ตัวแทนจากกลุ่มอีอีซี วอทช์ ซึ่งมีประชาชนจากชลบุรี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้วที่ร่วมเดินทางมาด้วย จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 43(3) เสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ ดังนี้

1.รัฐต้องมีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมและมีแนวทางจัดการปัญหาในระยะยาวอันเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ดได้สร้างปัญหาหลายประการ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การแย่งชิงทรัพยากร ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะต้องเตรียมนโยบายแผนงานแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเดินหน้าอีอีซี

2.รัฐจะต้องไม่เร่งรัดโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อผลกระทบในวงกว้างที่ปัจจุบันมีการคัดค้านกันอยู่ เช่น โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 โครงการนิคมอมตะนครแห่งที่ 2 เป็นต้น

3.รัฐต้องมีการปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยสมบูรณ์ด้วยในกระบวนการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซี กล่าวคือ ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน เป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน

4.รัฐต้องจริงจังกับความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของประชาชนในภาคตะวันออก

นอกจากนี้ ทางกลุ่มอีอีซี วอทช์ ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... ว่า

1.การพัฒนาอีอีซีเป็นแนวนโยบายต่อเนื่องจากอีสเทิร์น ซีบอร์ดที่ก่อผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาวะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment) ของอีอีซีก่อนการดำเนินการใดของรัฐหรือก่อนที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ

2.การจัดให้มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรเพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบการ จะต้อองไม่เป็นการลดหย่อนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและลดหย่อยหลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดๆ

3.การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง หรือมีกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การพัฒนาอีอีซีมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว ต้องปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างเคร่งครัด

4.การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ให้ชัดเจนแน่นอน โดยเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหัวใจที่สำคัญยิ่ง เพราะฉะนั้นจะยกเว้นการนำกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองมาใช้บังคับในระหว่างการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงการพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และคณะกรรมการนโยบายจะมีมติให้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนิการตามนโยบายและแผนตามมาตรา 29 ในเรื่องใดไปพลางก่อนไม่ได้ โดยต้องให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการจัดทำผังเมืองขึ้นใหม่ ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองไม่แล้วเสร็จ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามผังเมืองที่มีการประกาศบังคับใช้อยู่

5.ขอให้พิจารณาทบทวนกระบวนการจัดหาที่ดินเพื่อการพัฒนาอีอีซี ไม่ควรนำที่ดิน ส.ป.ก. ที่ราชพัสดุ ที่ดินของรัฐอื่นใด หรือที่ดินที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศหรือวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอีอีซี หากจะมีการจัดหาที่ดินต้องให้เอกชนเป็นผู้จัดหาเอง

6.ประชาชนในภาคตะวันออกที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินควรได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและทำกินด้วย นอกจากนี้ การได้รับสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดต้องมีเงื่อนไขเป็นไปเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธิยุติธรรมสิ่งแวดล้อหรือเอ็นลอว์ กล่าวกับประชาไทว่า เราหวังว่าควรจะถอนร่างฉบับนี้ออกมา แล้วดำเนินกระบวนการและประเมินอย่างถูกต้องตามมาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญก่อนเดินหน้า

"เราคิดว่ารัฐบาลไม่ควรเร่งรีบเพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาเพียงมองเรื่องอุตสาหกรรมหรือจีดีพีเท่านั้น เราคิดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงคนในพื้นที่ด้วย เราคาดว่ารัฐบาลคงฟังเสียงภาคประชาชน ดีที่สุดคือถอนออกมาและอย่าเร่ง โดยเฉพาะในเดือนนี้ ไม่ควรเร่งดำเนินการใดๆ ทั้ง พ.ร.บ. ฉบับนี้และ พ.ร.บ. ฉบับอื่นใดที่กระทบกับสิทธิของประชาชน เพราะสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมและตรวจสอบเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงคาดหวังว่าเราก็เป็นเสียงส่วนหนึ่งของประชาชนในภาคตะวันออก อยากให้ทบทวนและถอนร่างออกมาดำเนินการใหม่อีกรอบหนึ่ง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานนอกระบบหญิงเกาหลีใต้ ผู้ต่อสู้กับทั้งสัญญาจ้างไม่เป็นธรรมและกับแนวคิดชายเป็นใหญ่

Posted: 09 Oct 2017 12:45 AM PDT

แม้จะเคยถูกผู้หญิงระดับสูงในภาครัฐตราหน้าพวกเธอออกสื่อว่าเป็น "กะหรี่บ้า" แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบในโรงเรียนรัฐเกาหลีใต้ที่มีสัญญาจ้างไม่มั่นคงก็ยังคงยืนหยัดเรียกร้องให้คนทำงานแบบเดียวกับพวกเธอมีสภาพการจ้างที่ดีขึ้น รวมถึงมีค่าแรงที่ดีขึ้น และต่อสู้กับแนวคิดชายเป็นใหญ่กดทับมาตลอดว่า งานทำครัว งานปัดกวาดเช็ดถูของพวกเธอนั้นเป็นไม่สำคัญเท่างานอื่นที่ถูกอ้างว่าเป็น "งานผู้ชาย"

9 ต.ค. 2560 กลุ่มแรงงานหญิงนอกระบบในเกาหลีใต้กำลังมีการรวมตัวกันภายใต้การจัดตั้งแรงงานหน้าใหม่นำโดยหญิงที่เคยถูกจ้างงานแบบนอกระบบมาโดยตลอด 16 ปี โดยมีการจัดประท้วงหยุดงานกันเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยสมาพันธ์แรงงานเกาหลีใต้ (KCTU) เพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระดับประเทศ โดยมีคนทำงานสัญญาจ้างนอกระบบหลายหมื่นคนประท้วงด้วยการเดินออกจากที่ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงที่ทำงานด้านการดูแล การทำความสะอาด และคนทำงานโรงอาหาร ในโรงเรียนของรัฐร้อยละ 27 ของประเทศ

แรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้หรือ (Irregular worker) หมายถึงแรงงานล่วงเวลาหรือแรงงานที่มีสัญญาระยะสั้นโดยที่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานและไม่ได้รับสวัสดิการ แม้จะเป็นแรงงานนอกระบบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอจะทำงานน้อยกว่าคนอื่น จากกระดานข่าวของสหภาพแรงงานนอกระบบของโรงเรียนรัฐเกาหลี (NSIWU) มีรายหนึ่งเล่าว่า เธอต้องทำงาน "อาบเหงื่อต่างน้ำ" อยู่หน้าเตาไฟร้อนๆ ตลอดทั้งวัน บางทีแทบจะไม่มีเวลาไปดื่มน้ำ พอมีเวลาพักบ้างเล็กน้อยหัวหน้างานก็คิดว่าพวกเธออู้งานเพราะไม่มีอะไรทำโดยไม่ได้มองเห็นเลยว่าพวกเธอทำงานหนักอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่แล้วสมาพันธ์แรงงาน KCTU มักจะนำโดยผู้ชาย แต่การประท้วงในคราวนี้นำโดยแรงงานหญิงอย่าง ปากกึมจา เธอทำงานในโรงอาหารที่โรงเรียนของรัฐในเมืองซุนชอนมาเป็นเวลา 16 ปี แล้ว เธอต้องทำงานในสภาพที่มีเสียงดังมากจนทำให้เธอสูญเสียการได้ยิน งานของเธอหนักจนทำให้เป็นแผลร้อนในในปาก แต่เธอได้เงินน้อยกว่า 500,000 วอนต่อเดือน (ราว 14,000 บาท) เธอคิดจะลาออกมาหลายครั้งแล้วแต่ก็ทำไม่ได้เพราะมีเด็กต้องคอยดูแลสองคน จนกระทั่งในปี 2553 เธอก็ทนไม่ไหว จึงลุกขึ้นพยายามรวมตัวคนทำงานโรงอาหารในพื้นที่เดียวกับเธอและมีความคิดจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา

แรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้มีอยู่ราว 9 ล้านคนและเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้นายจ้างจ้างงานได้ยืดหยุ่นขึ้น และลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน โดยที่แรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ในสหภาพแรงงาน NSIWU นั้นมีการรวบรวมทั้งคนงานที่เป็นคนทำงานโรงอาหาร แผนกผู้แลจัดการ บรรณารักษ์ ผู้ช่วยด้านคอมพิวเตอร์ คนทำงานดูแล รวมถึงครูพิเศษและที่ปรึกษา โดยปากกึมจาเป็นผู้ที่จัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2553

เธอเล่าว่าเธอตื่นขึ้นมาทำกับข้าวในตอนเช้าตรู่ ซักเครื่องแบบโรงเรียนให้ลูกก่อนไปทำงาน พอเสร็จงานแล้วก็จะใช้เวลาในช่วงเย็นในการขับเคลื่อนทำงานร่วมกับแรงงานนอกระบบ ภายในเวลา 40 วันเธอและเพื่อนร่วมงานของเธอก็สามารถรวบรวมคนงานนอกระบบที่ทำงานในโรงเรียนรัฐได้ 1,700 คน และจัดตั้งสหภาพได้ในเดือน ต.ค. 2553 พอถึงปี 2554 กระทรวงแรงงานก็ยอมรับ NSIWU ว่าเป็นสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการ ในปัจจุบัน NSIWU มีสมาชิก 50,000 คน เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีในการนัดหยุดงานเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

เมื่อแนวคิดชายเป็นใหญ่กดขี่แรงงานหญิง

สื่อโคเรียเอ็กโพสส์ระบุว่า การประท้วงวอล์กเอาท์ของกลุ่มแรงงานหญิงเหล่านี้ยังถือเป็นประเด็นสตรีนิยมด้วย แต่หญิงที่อยู่ในระดับสูงบางคนกลับไม่ยอมเข้าถึงหัวอกของผู้หญิงด้วยกัน ลีออนจู นักการเมืองจากพรรคพีเพิลปาร์ตีเรียกแรงงานหญิงเหล่านี้ว่าเป็น "พวกกะหรี่บ้า" จากการให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ลีออนจูถูกบีบให้ออกมาขอโทษในวันต่อมา แต่สิ่งที่เธอพูดก็สะท้อนว่ามีอคติห่วยๆ แพร่กระจายอยู่ในระดับรากฐานกดสภาพการทำงานของผู้หญิงในเกาหลีใต้ให้ยังคงย่ำแย่

ที่ต้องใช้แนวคิดสตรีนิยมด้วยเพราะว่าหนึ่งในสิ่งที่ครอบงำอยู่คือแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ที่คิดเอาเองว่างานบ้านหรืองานที่เกี่ยวกับการดูแลไม่ถูกจัดเป็นแรงงานที่จำเป็นโดยทั่วไปจึงทำให้มีการเอื้อให้เกิดการจ้างงานแบบที่สัญญาจ้างยึดหยุ่นในงานจำพวกงานบริการหรืองานส่งเสริมการศึกษาที่ส่วนใหญ่คนทำงานจะเป็นผู้หญิง จึงไม่แปลกที่เกาลีใต้จะถูกจัดเป็นประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศสูงสุดในหมู่ประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

ในช่วงเผด็จการปาร์คจุงฮี เกาหลีใต้ขยายเศรษฐกิจของตัวเองบนแผ่นหลังของผู้หญิงรุ่นเยาว์ที่เข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งสิ่งทอและอิเล็กโทรนิค แต่ผู้หญิงเหล่านี้ก็ไม่ยอมให้ตัวเองกลายเป็นแค่เครื่องมือทางเศรษฐกิจ มีการวมกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มสหภาพแรงงานชองกเยที่เคยถูกบริษัทจ้างคนมาโจมตีด้วยการปาอุจจาระใส่และถูกตำรวจทำร้ายรวมถึงจับกุมจากการที่พวกเธอเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งผู้นำสหภาพตัวเอง

แรงงานเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประท้วงหยุดงานปี 2528 ที่นิคมอุตสาหกรรมกูโรในกรุงโซลที่มีแรงงานหญิงเรือนแสนจากหลายโรงงานออกมาเรียกร้อง สภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น มีการจ้างพวกอันธพาลมาสลายการชุมนุม มีแกนนำ 44 รายถูกจับขังคุก มีแรงงานจำนวนมากถูกไล่ออกจากงาน แต่การประท้วงของกูโรก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและแรงงานในอีก 2 ปีต่อมาจำทำให้เผด็จการในยุคนั้นลาออกจากตำแหน่ง

การต่อสู้ของแรงงานหญิงในยุคก่อนหน้านี้กลายมาเป็นรากฐานให้กับการต่อสู้ของแรงงานในยุคต่อมาหลังจากนั้น แรงงานหญิงทั้งหลายผู้ไม่ได้มีชื่อเสียงเรียงนามในยุคก่อนหน้านั้นต่างก็ต่อสู้นอกจาประเด็นการกดขี่แรงงานแล้วยังต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศในที่ทำงานด้วย

"พวกเราไม่ได้ต้องการความสงสาร พวกเรากำลังจะบอกว่าขอให้ลดใช้แรงงานหนักกับพวกเราบ้าง ให้ค่าแรงเราสักครึ่งหนึ่งของข้าราชการก็ยังดี พวกเราทำงานมากกว่าข้าราชการอีก แต่ทำไมค่าแรงของพวกเรายังไม่ถึงครึ่งของพวกนั้นเลย" นี่คือหนึ่งในข้อความที่แรงงานในโรงเรียนของเกาหลีใต้ต้องการสื่อความทุกข์ร้อนของตัวเอง

แรงงานนอกระบบเกาหลีใต้ได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ยร้อยละ 54 ของแรงงานเต็มเวลา ยิ่งอายุการทำงานของพวกเธอนานขึ้นก็ยิ่งทำให้มีช่องว่างรายได้ระหว่างแรงงานสัญญาจ้างสองแบบมากขึ้นเรื่อยๆ

ปากกึมจาบอกว่าการผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมของเธอไม่ใช่เรื่องง่าย การต่อสู้ของเธอเริ่มจากตั้งแต่ในบ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอต้องพูดกับสามีและลูกๆ ของเธอพร้อมกันว่า "ตลอดหลายปีมานี้ฉันมีชีวิตเพื่อครอบครัวมาโดยตลอด ฉันไม่ได้มีชีวิตของตัวเองเลย ฉันต้องการสัก 1 ปี ที่จะมีชีวิตเป็นของตัวเอง ดังนั้นมาแบ่งงานบ้านกันทำเถอะ"

ความสำเร็จของแรงงานนอกระบบหญิง

แต่การต่อสู้ของเธอกับขบวนการแรงงานก็ส่งผลลัพธ์ ในกรุงโซลที่มีผู้นำฝ่ายการศึกษามีความคิดก้าวหน้าประกาศเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าจะการันตีให้มีความมั่นคงในการจ้างงานสำหรับแรงงานนอกระบบ รวมถึงให้มีการขึ้นค่าแรง เปลี่ยนสัญญาจ้างคนงานเหมาในโรงเรียนช่วงให้กลายเป็นพนักงานบริการในสัญญาจ้างทั่วไป และขยายโอกาสให้มีการต่อรองเพิ่มเติมในอนาคตแก่คนงานในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

การที่ได้เข้าไปเจรจาต่อรองกับกระทรวงศึกษาธิการระดับประเทศถือเป็นความสำเร็จของการนัดหยุดงานในครั้งนี้ มีการคำนึงถึงสภาพการจ้างที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่โดยวิธีการรับฟังเสียงสะท้อนจากแรงงานในเมืองหรือในจังหวัดอื่นๆ การร่วมมือกันต่อรองในระดับชาติทำให้ลดภาระแรงงานในระดับประเทศไม่ให้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

อย่างไรก็ตามซองจองริมประธานสหภาพ NSIWU ก็บอกว่าการต่อสู้นี้ยังเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขาต้องการต่อสู้เพื่อขจัดสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคงให้หมดไปจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนทางอันยาวไกล

หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในช่วงคริสต์ทศวรรษ 90s ก็ส่งผลกระทบถึงเกาหลีใต้ ทำให้เกิดช่องว่างทางชนชั้นในเกาหลีใต้มากขึ้น รวมถึงนโยบายแบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เองก็ทำให้ทั้งรัฐบาลอนุรักษ์นิยมและรัฐบาลเสรีนิยมทำให้การคุ้มครองแรงงานแย่ลง ทำให้ชนชั้นกลางในเกาหลีใต้ลดลง เอื้อประโยชน์ต่อพวกนักธุรกิจใหญ่ไม่กี่คนเท่านั้น ขณะที่แย่งชิงขูดรีดเอาจากแรงงานนอกระบบ

 

เรียบเรียงจาก

The "Mad Bitches" of S. Korea's Irregular Workforce Fight Back, Korea Expose, 07-09-2017

Women Workers and the Fight to Eradicate Precarious Labor in South Korea, Zoom in Korea, 28-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.มีความเห็นควรสั่งฟ้อง 'ส.ศิวรักษ์' ข้อหา ม.112 กรณีพูดพาดพิงพระนเรศวร

Posted: 09 Oct 2017 12:03 AM PDT

พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี 'ส.ศิวรักษ์' ข้อหา ม.112  ปมกล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวรและกรณียุทธหัตถี ส่งพนักงานอัยการศาลทหารพิจารณาคดีต่อ พร้อมนัดให้มาฟังคำสั่งวันที่ 7 ธ.ค.นี้ 

แฟ้มภาพ

9 ต.ค.2560 จากกรณี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิจารณ์การเมืองชื่อดัง ถูก พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน เข้าแจ้งความให้เจ้าพนักงาสอบสวน สน.ชนะสงคราม  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2557 จากรณีที่ สุลักษณ์ ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยคณะสภาหน้าโดม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 โดยกล่าวหาว่าในการอภิปรายดังกล่าวสุลักษณ์ได้กล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยกล่าวว่า การทรงกระทำยุทธหัตถีไม่มีจริง และมีอีกหลายถ้อยคำที่เข้าข่าย "หมิ่นเบื้องสูง"

ล่าสุดวันนี้ (9 ต.ค.60) พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของสุลักษณ์ เปิดเผยว่าวันนี้ พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีดังกล่าวเสร็จแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จึงนำสำนวนพร้อมตัวสุลักษณ์ส่งพนักงานอัยการศาลทหารให้พิจารณาคดีต่อไป โดยหลังจากนี้จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการ และนัดให้มาฟังคำสั่งวันที่ 7 ธ.ค.นี้ 10.00 น.

สำหรับสุลักษณ์ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเคยถูกฟ้องด้วยคดี 112 สองครั้ง ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ ระบุว่า คดีแรกเกิดขึ้นจากกรณีเมื่อ 17 ธ.ค.47 สุลักษณ์ได้รับเชิญไปอภิปรายเรื่อง "สังคมไทยทางรอดที่ควรเลือก เหลียวหลังแลหน้าจากราชดำเนินถึงตากใบ" ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างการอภิปรายผู้ต้องหาได้ประชาสัมพันธ์หนังสือวารสาร Seeds of Peace ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2548 ซึ่งเป็นวารสารภาษาอังกฤษนำมาวางจำหน่ายหน้าห้องอภิปราย ในวารสารดังกล่าวมีบทความเรื่อง SIAM of the Forgotten Monarch: The True Life Sequel to the King and the Land of Smile ที่เขียนโดยผู้ใช้นามแฝงว่า บี.พี. มีเนื้อหากล่าวถึงการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติที่ไปฟังการเสวนาได้ซื้อวารสารมาอ่านพบบทความดังกล่าว จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาและแจ้งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ มีการตั้งคณะทำงานสอบสวน ผลการสอบสวนพบว่าวารสารฉบับดังกล่าวนี้มิได้มีการจดแจ้งต่อนายทะเบียนการพิมพ์กรุงเทพมหานคร และข้อความในวารสารเข้าข่ายหมิ่นมาตรา 112 จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เนื่องจากพิจารณาเห็นแล้วว่า จากคำให้การของพยานบุคคลจำนวนหลายคนที่อ่านบทความ แสดงความคิดเห็นไม่ยืนยันไปในทางเดียวกันว่า บทความดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบกับไม่มีพยานยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เขียนบทความ เป็นเพียงผู้เสนอขายวารสารที่ปรากฎบทความเท่านั้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหามีเจตนากระทำผิดตามข้อกล่าวหา 

คดีที่สอง เกิดจากกรณีที่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.50 สุลักษณ์ได้กล่าวที่อาคารศาลาพระราชทานปริญญาบัตรหลังเก่า ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาวันที่ 6 พ.ย.51 พ.ต.อ.คัชชา ธาตุศาตร์ รอง.ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น พร้อมกำลัง ได้จับกุมสุลักษณ์ ตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น เลขที่ 431 / 2551 ลงวันที่ 22 ก.ย.51 ในข้อหามาตรา 112 โดยบุกจับกุมที่บ้านพักในกรุงเทพฯ แล้วนำตัวไปจังหวัดขอนแก่น  สุลักษณ์ได้ยื่นขอประกันตัว โดยมี กิตติบดี ซึ่งเป็นคณะบดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ตำแหน่งประกันตัว สุลักษณ์ ยังไม่ทราบความคืบหน้าของคดี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาวิศวกรเผยวิศวกรจีนรุ่นแรกสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านเกณฑ์กฏหมายไทย

Posted: 08 Oct 2017 11:01 PM PDT

ทดสอบวิศวกรจีนรุ่นแรกสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านเกณฑ์กฏหมายไทย เดินหน้าเสริมความรู้สภาพพื้นที่ภูมิประเทศของไทยต่อครบ 4 รุ่น พร้อมเปิด 2 ประเด็น บทเรียนเหตุคอสะพานแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาทพังถล่ม

(แฟ้มภาพ) สภาวิศวกรจัดอบรมและทดสอบวิศวกรจีนในโครงการรถไฟไทยจีน รุ่นที่ 1 จำนวน 77 คน ที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน  ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา

9 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากสภาวิศวกร แจ้งว่า อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร แถลงผลการดำเนินงานอบรมและทดสอบวิศวกรจีนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ว่า การอบรมและทดสอบวิศวกรจีนในโครงการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 30/2560 โดยมีวิศวกรจีนที่จะเข้ารับการอบรมและทดสอบโดยสภาวิศวกรไทย จำนวน 400 คนโดยประมาณ ประกอบด้วยวิศวกรระดับ Professor professional, Senior professional และระดับ Professional ครอบคลุมสาขาวิศวกรรมโยธา ไฟฟ้า เครื่องกล และ อื่นๆ

อมร กล่าวต่อว่าการจัดอบรมและทดสอบวิศวกรจีนแบ่งออกเป็น 4 รุ่นดังนี้ รุ่นที่ 1 วันที่ 22-25 ก.ย.ที่ผ่านมา รุ่นที่ 2 วันที่ 12-15 ต.ค. รุ่นที่ 3 วันที่ 27-30 ต.ค. และรุ่นที่ 4 วันที่  10-13 พ.ย. โดยทั้ง 4 รุ่นจัดที่นครเทียนจิน ประเทศจีน

สำหรับหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบวิศวกรจีน นั้น เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า มิได้เป็นการอบรมเรื่องรถไฟความเร็วสูงแต่เป็นการอบรมความรู้ในเรื่องที่วิศวกรจีนจำเป็นต้องรู้ก่อนเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย และ สภาพท้องที่ (local conditions) ของประเทศไทย เช่น สภาพทางธรณีวิทยา ชั้นดิน ลุ่มน้ำและน้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว และ ลมพายุ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการออกแบบและก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง

ส่วนการอบรมและทดสอบวิศวกรจีนรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น มีวิศวกรจีนเข้ารับการอบรมและทดสอบจำนวน 77 คน ในส่วนของการทดสอบนั้นประกอบด้วยข้อสอบ 2 ชุด โดยชุดที่ 1 เกี่ยวข้องกับกฎหมายและจรรยาบรรณ มี 50 ข้อ เกณฑ์ผ่านพิจารณาที่ 60% หรือ 30 ข้อ ส่วนข้อสอบชุดที่ 2 เกี่ยวข้องกับด้านเทคนิคและสภาพท้องที่ของประเทศไทย มี 100 ข้อเกณฑ์ผ่าน 60% หรือ 60 ข้อ

สำหรับผลการทดสอบวิศวกรจีน 77 คนในรุ่นที่ 1 นั้น เลขาธิการสภาวิศวกร พิมานมาศเปิดเผยว่า วิศวกรจีนทั้ง 77 คนผ่านการทดสอบข้อสอบชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2 ทั้ง 77 คน โดยข้อสอบชุดที่ 1 คะแนนต่ำสุด 39 คะแนนสูงสุด 48 และคะแนนเฉลี่ย 44 คะแนนซึ่งผ่านเกณฑ์ 30 คะแนนทุกคน และสำหรับข้อสอบชุดที่ 2 คะแนนต่ำสุด 76 คะแนนสูงสุด 89 และคะแนนเฉลี่ย 82 คะแนน ซึ่งผ่านเกณฑ์ 60 คะแนนทุกคน จากนี้ไป สภาวิศวกรจะออกใบรับรองผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ให้แก่วิศวกรจีนในรุ่นที่ 1 นี้ เพื่อให้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

2 ประเด็น บทเรียนเหตุคอสะพานแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาทพังถล่ม

จากเหตุการณ์คอสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.ขัยนาท ได้พังถล่มลงมาทับคนงานที่กำลังก่อสร้างจนได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายรายเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า โครงสร้างสะพานดังกล่าวเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง (prestressed concrete box viaduct) ก่อสร้างด้วยระบบคานยื่นสมดุล (balanced cantilever) ช่วงกลางแม่น้ำมีความยาว 120 ม. สำหรับบริเวณที่พังถล่มไปนั้นเป็นส่วนที่เรียกว่า คอสะพาน (approach slab) มีความยาวประมาณ 14 ม. ก่อสร้างระบบหล่อในที่มีนั่งร้านเหล็กรองรับ ซึ่งพบว่านั่งร้านเหล็กที่รองรับคอสะพานดังกล่าววิบัติ จึงทำให้คอสะพานถล่มลงมาบนพื้นดิน

 ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ต.ค. สภาวิศวกรได้ส่งคณะผู้ชำนาญการพิเศษ เข้าตรวจสอบสาเหตุการวิบัติของนั่งร้านเหล็กที่รองรับน้ำหนักของคอสะพานดังกล่าว ร่วมกับวิศวกรจากกรมทางหลวงชนบท และจากบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งจากการสำรวจ สภาวิศวกรได้ตั้งข้อสันนิษฐานสาเหตุของการพังถล่ม ไว้ 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. การก่อสร้างนั่งร้านเหล็กรองรับคอสะพานอาจไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมเนื่องจากตรวจพบข้อบกพร่องหลายจุด เช่น การเชื่อมต่อขานั่งร้าน และ การยึดโยงค้ำยันนั่งร้านไม่ได้มาตรฐาน และ 2. ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้างสะพานเป็นไปตามแบบหรือไม่ เนื่องจากพบตำแหน่งรอยต่อขยายตัวไม่เป็นไปตามแบบ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการพังถล่มได้ อย่างไรก็ตามต้องมีการตรวจสอบว่าได้มีการขออนุญาตปรับเปลี่ยนแบบที่ใช้ก่อสร้างหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า ในส่วนของสภาวิศวกร นั้นมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องเรียกตัววิศวกรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูล เนื่องจากโครงสร้างสะพานดังกล่าวมีช่วงยาวถึง 120 ม. ซึ่งจัดเป็นวิศวกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 ดังนั้นสภาวิศวกรจะมีการดำเนินการทางจรรยาบรรณกับวิศวกรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุการวิบัติที่แท้จริง และหากพบว่า มีวิศวกรที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการ อาจจะมีโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต

สำหรับมาตรการที่สภาวิศวกรจะดำเนินการต่อไปนั้น เลขาธิการสภาวิศวกร  เปิดเผยว่า การพังถล่มของนั่งร้านเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต สภาวิศวกรจะเชิญวิศวกรโยธามาเข้ารับการฝึกอบรมในวันที่ 21 ต.ค.นี้ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค โดยใช้บทเรียนจากการพังถล่มของคอสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ. ชัยนาท ให้วิศวกรได้เรียนรู้ และระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต อีกทั้งสภาวิศวกรกำลังจะเร่งจัดทำมาตรฐานและคู่มือสำหรับออกแบบและก่อสร้างนั่งร้านและโครงสร้างชั่วคราว เพื่อให้วิศวกรมีแนวทาง คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำประมาณ 6 เดือน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น