ประชาไท | Prachatai3.info |
- ผาสุก ชี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสร้างความยุติธรรม แนะปฏิรูปเพิ่มในอัตราก้าวหน้า
- วงเสวนาระบุ ต้องหาจุดลงของสิทธิส่วนบุคคลกับการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ
- มหาดไทยกำชับนายทะเบียนทั่วประเทศทำบัตรประจำตัวให้คนไม่มีสัญชาติไทย
- กวีประชาไท: ยุคด้อยพัฒนามาถึงยุคกำลังพัฒนา
- ชำนาญ จันทร์เรือง: เมื่อพระราชบัญญัติขัดแย้งกับคำสั่งหรือประกาศ คสช.
- สุรพศ ทวีศักดิ์: ทำไมศาสนาเป็นอุปสรรคของศีลธรรมสมัยใหม่
- เมื่อรัฐขยายอำนาจให้ทุน กรณี มาตรา 44 ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี
- คำสั่งหัวหน้า คสช. แก้กฎหมายเพิ่มงบฯ-งานด้าน 'บรรเทาสาธารณภัย' ให้ กอ.รมน.
- คุมตัว 'วรรณา' ผู้ต้องหาเอี่ยวบึ้มราชประสงค์ปี 58 'ศรีวราห์' สอบเอง หลังส่งตัวจากตุรกี
- กสทช. สั่งดีแทคปรับปรุงบริการ 'ไลน์โมบาย' เตือนไม่ปรับเจอมาตรการบังคับทางปกครอง
- รายงาน: ‘แก้ กม.สิ่งแวดล้อม’ ยัดไส้ ม.44 เมื่ออีไอเอไม่มีความหมาย
- ชีวิตไม่ยอมสิ้นหนทางของประชากรข้ามชาติชายแดนไทย-พม่า (ตอนที่ 1)
- ชี้ ‘ท้องถิ่นจับมือ รพ.’ ปัจจัยความสำเร็จดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ฯ
- ถอดบทเรียนน้ำท่วม กทม.60 นักวิจัย สกว. ชี้ สาเหตุหลักจากปัญหาท่อระบายน้ำ
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: คุณค่าอื่นนอกจากรบไม่ขลาด (1)
ผาสุก ชี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสร้างความยุติธรรม แนะปฏิรูปเพิ่มในอัตราก้าวหน้า Posted: 22 Nov 2017 10:53 AM PST นักเศรษฐศาสตร์ ถกงานวิจัย "ปฏิรูปภาษี" ชี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไทยมีศักยภาพ ที่เพิ่มได้อีกมาก เป็นภาษีที่ส่งเสริมความยุติธรรม แนะค่อยๆ เพิ่มจำนวนผู้ชำระและในอัตราก้าวหน้า ชี้ยกเลิกยื่นลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน LTF ช่วยรัฐประหยัด 9 พันล้าน 22 พ.ย.2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัด Policy Forum ประเด็น "แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : ผลงานจากโครงการวิจัย" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลจากกรมสรรพากร ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวทีดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจและเป็นแนวทางในการ "ปฏิรูปภาษี" ที่สำคัญของไทย โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" (Personal Income Tax หรือ PIT) ไว้ว่า PIT ถือเป็นภาษีที่มีคุณูปการต่อการเงินของรัฐบาล คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้รวมของรัฐ PIT ของไทยมีศักยภาพ ที่เพิ่มได้อีกมาก เป็นภาษีที่ส่งเสริมความยุติธรรม เพราะเป็นภาษีที่ก้าวหน้าเล็กน้อยในกรณีรายได้ จากการทำงาน จะเป็นช่องทางให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เป็นธรรมมากขึ้นในอนาคตได้โดยค่อยๆ เพิ่มจำนวนผู้ชำระภาษีในแต่ละขั้นเงินได้ในอัตราก้าวหน้า ซึ่งภาษีนี้แสดงฉันทามติของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการเงินของประเทศแบบมีน้อยจ่ายน้อยมีมากจ่ายมาก ผาสุก กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรประสบความสำเร็จสูงในการบริหารการเก็บภาษีจากเงินได้ประเภทเงินเดือนประจำ จำนวนลูกจ้างที่กรอกแบบ ภ.ง.ด.ที่ชำระภาษี เท่ากับจำนวนผู้มีเงินเดือนที่มีรายได้ ถึงเกณฑ์ที่จะต้องกรอกแบบ ภ.ง.ด.ในสถิติจากการสำรวจแรงงานทั้งประเทศแล้ว ทั้งนี้การขยายฐานภาษี ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นไปได้ยาก เว้นแต่จะมีการจ้างงานเพิ่มในกลุ่มผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น การเก็บภาษีจากการลงทุนและทรัพย์สินนั้น ผาสุก กล่าววาา ยังเก็บได้น้อยกว่าที่ควร มูลค่าของรายได้จากทรัพย์สินที่รายงานใน PIT ที่ 420,000 ล้านบาท น้อยกว่ารายได้จากทรัพย์สินภาคครัวเรือน ในประมาณการของบัญชีรายได้ประชาชาติที่ 730,000 ล้านบาท การเก็บภาษีจากรายได้ประเภทอื่น เช่น รายได้จากธุรกิจทรัพย์สิน มีรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้ลดทอนหลักการความเป็นธรรมและรายรับภาษีที่จัดเก็บได้ ต่ำกว่าที่ควร ผาสุก กล่าวด้วยว่า การบรรเทาภาระภาษีในรูปการลดหย่อน การยกเว้นต่างๆ เปรียบเสมือนการสร้างรายจ่าย ผ่านมาตรการภาษี (Tax Expenditure) ที่มีขนาดใหญ่ ช่วยลดรายรับภาษีที่จัดเก็บได้ ทั้งนี้สาเหตุที่จัดเก็บภาษีที่ PIT ต่ำกว่าที่วางไว้ ไทยควรมองจากกรอบเล็กของผู้เสียภาษีในระบบปัจจุบันในประเด็นดังนี้ 1. เก็บจากเงินเดือนได้ดีแล้ว แต่รายได้จากทรัพย์สินและธุรกิจยังเก็บได้ต่ำกว่าที่ควร 2. การเก็บภาษีรายได้ทรัพย์สินและธุรกิจแต่ละประเภท มีหลายรูปแบบ หลายอัตรา ไม่เป็นธรรมและส่งผลลดรายรับภาษี 3.การบรรเทาภาระภาษีในรูป การลดหย่อน การยกเว้นต่างๆเปรียบเสมือนเป็นการสร้างรายจ่ายผ่านมาตราการภาษี ที่มีขนาดใหญ่ ส่งผลร้ายให้กับภาษีลดต่ำลงไป และ 4.ในภาพใหญ่ของประเทศผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยกว่า 10 % ของประชากรวัยทำงาน ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ด้วยว่า มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือจุดอ่อนอันเกิดจากกฎหมายและระเบียบ เช่น การยกเว้นรายได้สำคัญบางประเภท รวมทั้งรายได้จากต่างประเทศ การเก็บภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราต่ำและการหักใช้จ่ายแบบเหมา คือ การหลีกเลี่ยงภาษีโดยการรายงานรายได้ต่ำกว่าจริงหรือไม่ครบถ้วน หรือการที่ผู้มีรายได้น้อยไม่กรอกแบบภาษีเลย คือ เป็นผู้ที่หลุดออกจากระบบโดยสิ้นเชิง อาจมีทั้งผู้มีฐานะดีและสมาชิกครอบครัวที่ได้รับรายได้จากการขายสินทรัพย์หรือค่าเช่าโดยปัจเจกบุคคล หรือ รายได้ที่ได้รับผ่านนอมินี และยังมีกลุ่มรายได้ระดับกลางๆที่ทำงานส่วนตัวและไม่กรอกแบบภาษีด้วย ดวงมณี เลาวกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลประเด็นที่คณะนักวิจัยทีมดังกล่าวที่เห็นควรให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เนื่องมาจากมาตรการลดหย่อน LTF มุ่งเน้นเป้าหมายในการส่งเสริมตลาดทุน มากกว่าการสร้างความเป็นธรรม ดังนั้นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ข้อเสนอยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อ LTF นอกจากจะทำให้ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรมมากขึ้นแล้ว ยังไม่ส่งผลกระทบตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย หากมีการยกเลิกการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน LTF จะทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่าย ได้เกือบ 9,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ด้อยโอกาสและยากจนได้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาถึงรายจ่ายผ่านมาตรการภาษี รวมทั้งวิเคราะห์ผลของมาตรการทางภาษีต่อผู้เสียภาษีในแต่ละขั้นเงินได้เพิ่มเติม สำหรับประเด็นการลดหย่อนภาษี การซื้อกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF นั้น ดวงมณี กล่าวว่า แม้ว่ากลุ่มที่ประโยชน์จะเป็นกลุ่มรายได้สูงมากกว่ารายได้น้อย แต่นับได้ว่าเป็นการออมในระยะยาว เพื่อการสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมในอนาคต ประกอบกับหากยกเลิกการลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้ รัฐบาลประหยัดรายจ่ายภาษีได้เพียง ประมาณ 4,000 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลยังคงสามารถคงมาตรการลดหย่อนนี้ไว้ได้ ด้านมูลค่าเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการบริจาคทั่วไปมากกว่ารายจ่ายภาษทีที่รัฐสูญเสียไปจากการลดหย่อนการบริจาค ดังนั้นการให้หักลดหย่อนการบริจาคยังคงเป็นประโยชน์ต่อสังคม ในแง่ที่เงินบริจาคเหล่านี้ถูกส่งไปยังหน่วยที่ต้องการงบประมาณได้โดยตรง อย่างไรก็ดีควรมีมาตรการตวรจสอบว่าการบริจาคดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง เพื่อมิให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น เพราจะทำให้ไม่เกิดประโยช์ที่แท้จริงกับสังคม สำหรับมาตรการระยะปานกลาง นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้วา ยังมีผู้มีเงินได้ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น เงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่หลากหลายสำหรับเงินได้แต่ละประเภท ควรมีการทำการศึกษาในเชิงลึกว่า อัตรการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและมีมาตรฐานของดงอนได้แต่ละที่ประเภทควรจะเป็นเท่าใด และมุ่งไปสู่แนวทางการหักค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งสนับสนุนให้กำหนดรายการที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนว่า รายการได้บ้างที่สมควรเป็นรายการที่สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมนั้นๆได้ ในเวทีเดียวกัน อธิภัทร มุทิตาเจริญ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงประเด็น การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่นับเป็นรายจ่ายซ่อนเร้นของรัฐว่า โดยปกติเมื่อรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่าง ทางเลือกที่เราคุ้นเคย คือการจัดสรรงบประมาณลงไปในรูปของการใช้จ่าย หรือการให้เงินอุดหนุนต่างๆ แต่อีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลนิยมใช้ แต่เรามักไม่ได้ตั้งคำถามมากนัก คือการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านระบบภาษีตัวอย่างของการให้สิทธิประโยชน์ในกรณีของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น การอนุญาตให้นำเงินลงทุนใน LTF และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ค่าซื้อสินค้าและบริการในช่วงเวลาที่กำหนด มาหักลดหย่อนภาษีได้ การหักลดหย่อนเหล่านี้ส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ลดลง แน่นอนว่าการให้สิทธิหักลดหย่อนแต่ละอย่างมีเหตุผลรองรับ เช่น มาตรการ LTF ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน และส่งเสริมธุรกิจกองทุนฯ หรือมาตรการที่ให้นำค่าที่พักในโรงแรมมาหักลดหย่อนภาษีก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จุดอ่อนที่สำคัญของมาตรการเหล่านี้คือ การสร้างต้นทุนซ่อนเร้นให้แก่ภาคการคลังของประเทศ สาธารณชนแทบไม่ทราบว่าต้นทุนของการหักลดหย่อนเหล่านี้มีมากน้อยขนาดไหน และใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ทั้งที่ข้อมูลด้านต้นทุนเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการประเมินความเหมาะสมของมาตรการต่างๆ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วงเสวนาระบุ ต้องหาจุดลงของสิทธิส่วนบุคคลกับการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ Posted: 22 Nov 2017 09:38 AM PST จุดประเด็น รัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้มากขนาดไหนเพื่อผลประโยชน์สาธารณะและชาติ คำตอบอยู่ในคำถามว่าสิทธิส่วนบุคคลสำคัญแค่ไหนในกระบวนการกฎหมาย ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเข้าถึงข้อมูลกับความสาหัสของภัยคุกคาม ควรมีเงื่อนไขจำกัดการใช้ข้อมูลและโปร่งใสให้เจ้าของข้อมูลติดตาม แสดงความยินยอมและเพิกถอนสิทธิการเข้าถึงได้ (ซ้ายไปขวา): ลาสส์ ชุลท์ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล เซียวฮงโก๊ะ เมื่อ 22 พ.ย. 60 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดซีรีส์เสวนาเรื่อง "ความปลอดภัยไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของพลเมืองในไทย" ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. มีลาสส์ ชุลท์ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. และเซียวฮงโก๊ะ ผู้อำนวยการด้านนโยบายระดับโลกของบริษัทซิสโก บริษัทด้านไอทีและระบบเครือข่ายทั่วโลก oooooooooo ลาสส์ กล่าวว่า ต่อคำถามที่ว่ารัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลของบุคคลได้มากและลึกขนาดไหนเพื่อที่จะป้องกันภัยคุกคามและใช้สืบสวนอาชญากรรม ซึ่งสุดท้ายคำตอบอยู่ในคำถามที่ว่า แล้วสิทธิและความเป็นส่วนตัวมีบทบาทในระบบกฎหมายมากน้อยขนาดไหน ส่วนตัวมาจากเยอรมนีซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) เป็นที่ๆ ความเป็นส่วนตัวถูกให้ความสำคัญมากซึ่งจุดนี้นำไปสู่การออกแบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แต่ถ้าภายใต้บริบทหนึ่งซึ่งความเป็นส่วนตัวไม่ถูกศาลคำนึงถึงก็จะมีผลลัพธ์แตกต่างออกไป อาจารย์ชาวเยอรมนีกล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ว่า เป็นการเชื่อมโยงความปลอดภัยไซเบอร์เข้ากับความมั่นคงของชาติ ลักษณะของกฎหมายเป็นรูปแบบของการป้องกันไม่ให้เกิด ในขณะที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นกลไกที่ถูกใช้หลังเกิดอาชญากรรมแล้ว ลาสส์ระบุว่าการหาสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับการเข้าถึงสิทธิส่วนบุคคลต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม สิ่งที่จำเป็นไม่ใช่มุมมองของรัฐบาลที่บอกว่าต้องปกป้องผลประโยชน์สาธารณะด้วยทุกสิ่งที่มี แต่เรากำลังพูดจากมุมมองของปัจเจกที่เห็นว่าควรมีหนทางรักษาผลประโยชน์สาธารณะให้ได้ในขณะที่ไม่ได้ควบคุมความเป็นส่วนตัวมากจนเกินไป กฎหมายต้องอธิบายเป้าหมายตัวเองให้ชัดเจน เพื่อให้พวกเราดำเนินกระบวนการอื่นๆ ไปให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อีกประการหนึ่งคือ มีวิธีไหนที่ใช้งานได้ดีกว่ามาตรการที่ใช้หรือไม่ เช่นการเก็บข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ 90 วันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นอะไรที่ร้ายแรงเพราะไม่ใช่การหาข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยแต่เป็นการเก็บข้อมูลของทุกคน "มาตรา 26 ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินสองปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้" แล้วจะมีวิธีการอื่นมากไปกว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ แล้วถ้าวิธีการดังกล่าวมีราคาแพงต้องดูว่ามันได้สัดส่วนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ถ้าแพงจนรับไม่ได้ก็ควรต้องมาคิด แต่ถ้าราคาแพงจะทำให้การปกป้องความเป็นส่วนตัวและสิทธิของประชาชนมันก็เป็นสิ่งที่จำเป็น คำถามต่อมาของลาสส์คือ จำเป็นต้องมีข้อมูลมากเท่าไหร่ และข้อมูลไหนที่จำเป็นต้องมี อาจมีแค่ข้อมูลการจราจรของข้อมูล (ทราฟฟิค) หรือจะลงลึกจนถึงเนื้อหาต่างๆ ที่คนเผยแพร่หรือไม่ ขอบเขตความจำเป็นมีผลกับระดับความเป็นส่วนตัวของประชาชน นอกจากนั้น และใครที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเช่นว่าได้ จำเป็นต้องมีการจำกัดการเข้าถึง ไม่ใช่ว่าให้ข้อมูลไปให้รัฐบาลแล้วรัฐบาลจะส่งเวียนข้อมูลไปให้ใครก็ได้ ต้องมีการจำกัดขอบเขตด้วยว่าข้อมูลจะถูกใช้ในเรื่องไหน แล้วเรื่องหนึ่งๆ ใครจะเป็นคนเข้าถึงข้อมูลนั้นได้บ้าง นอกจากนั้นเราควรมีกระบวนการบรรเทาและปกป้องบุคคลต่อผลกระทบการถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล กระบวนการนั้นอาจเป็นคำสั่งจากศาล หรือมีข้อบังคับให้คนต้องยินยอมว่าจะถูกเก็บข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นการแจ้งเตือนให้คนทราบด้วยว่าจะมีการเก็บข้อมูล ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาเวลาเดือดร้อนอันเป็นผลจากการถูกเก็บข้อมูล หรือข้อบังคับว่าข้อมูลต้องถูกลบหลังใช้งานเสร็จแล้ว คำถามที่ว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้ได้นานเท่าไหร่ และสิทธิต่อข้อมูลที่ถูกเก็บไป ลาสส์ยังระบุว่า จุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับสิทธิส่วนบุคคลนั้นอาจถูกพิจารณาจากความสาหัสและความจวนตัวของภัยคุกคาม ถ้าภัยคุกคามจวนตัวและรัฐบาลต้องการปกป้องความมั่นคงของรัฐ หรือต้องการสืบสวนคดีร้ายแรง คำสั่งจากรัฐบาลอาจบุกรุกความเป็นส่วนตัวของประชาชนมากกว่าภัยคุกคามที่ไกลตัวและอาชญากรรมขนาดเล็ก ทั้งนี้ทั้งหมดจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ถึงความจำเป็นในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลว่าสมควรแก่เหตุจริงหรือไม่ และยกตัวอย่างกรณีของอียูว่า ในอียูนั้นการเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการทุกคนเอาไว้แทบจะทำไม่ได้ ยกเว้นไว้แต่การสืบสวนคดีที่ร้ายแรงมาก ในกรณีเยอรมนีนั้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถยึดไดอารี่ของประชาชนด้วยซ้ำ เนื่องจากถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ใครก็ไม่สามารถเข้าไปล่วงรู้ได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ (Intimate Sphere) oooooooooo ฐิติรัตน์ กล่าวว่า หากพูดถึงเศรษฐกิจดิจิตัล หรือประเทศไทย 4.0 พื้นฐานที่ต้องมีคือการไหลของข้อมูลอย่างอิสระ เพราะมีผลกับการแข่งขันของภาคเอกชน เป็นผลดีกับประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการและใช้ข้อมูล แต่ในทางกลับกันเสรีข้อมูลก็มีความเสี่ยงตรงที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเจอการจู่โจมตามเครือข่ายไซเบอร์และอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงและเก็บข้อมูลของผู้ใช้ และอาจพบปัญหาที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจเรื่องภัยคุกคามไซเบอร์ยากเพราะว่าเป็นภัยที่มองเห็นยาก อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุว่าสิ่งสำคัญเมื่อพูดถึงเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์คือการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของบุคคลซึ่งมิตินี้บางครั้งถูกมองข้ามไปในบริบทของประเทศไทยและประเทศในเอเชียแม้จะถูกบัญญัติเอาไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากลก็ตาม อย่างไรก็ตาม ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอาจจำเป็นต้องยินยอมให้รัฐเข้าถึงได้ เช่น การให้เข้าถึงบันทึกข้อมูลสุขภาพเพื่อนำไปใช้กับการวิจัยทางการแพทย์หรือการให้รัฐเข้าถึงข้อมูลเพื่อป้องกันการก่อการร้าย แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานข้อมูลควรจำกัดเอาไว้ว่าจะใช้กับอะไร ไม่ใช่ได้ข้อมูลมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ ความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายไซเบอร์มีอยู่ 4 ประการ หนึ่ง กระบวนการจัดเก็บข้อมูลซึ่งมีข้อกังวลว่าบุคคลควรได้รับการแจ้งเตือนและต้องยินยอมเสียก่อน และบุคคลควรมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลได้ สอง กระบวนการใช้และประมวลผลข้อมูลว่าควรจะจำกัดขอบเขตการใช้ข้อมูลว่าจะใช้ทำอะไรบ้าง สาม การแชร์ข้อมูล ควรจำกัดว่าข้อมูลสามารถถูกแชร์ให้ใครได้บ้าง สี่ ความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลที่มีข้อกังวลเรื่องความโปร่งใส บุคคลควรมีสิทธิในการเข้าถึงว่าบริษัทเอกชนและรัฐบาลเอาข้อมูลของพวกเขาไปทำอะไรบ้าง ผู้ใช้บริการอาจเจอปัญหาด้านนโยบายความเป็นส่วนตัวจากบริษัทเอกชนผู้ให้บริการ สิ่งนี้เรียกว่าความย้อนแย้งด้านความโปร่งใส (Transparency Paradox) ทุกวันนี้มีใครที่อ่านข้อตกลงการให้บริการก่อนที่จะใช้งานแอพพลิเคชั่นบ้าง บริษัทเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราผ่านการคลิกตกลงเงื่อนไขการให้บริการแม้จะไม่ได้อ่าน เขาเพียงแค่ต้องการความยินยอมเท่านั้น ส่วนนี้จึงเป็นทางสองแพร่งของความยินยอมที่มีปัญหาว่า เราควรทำให้กระบวนการรับรู้และสร้างความยินยอมควรเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่าย (comprehensible) ย่อเงื่อนไขให้คนอ่านง่าย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียใจความสำคัญของเงื่อนไขไป หรือจะทำให้การให้ความยินยอมนั้นมีลักษณะครอบคลุม (Comprehensive) ฐิติรัตน์ตั้งคำถามว่า แล้วไทยควรจะเปลี่ยนจากการควบคุมสิทธิส่วนบุคคลตัวเองเป็นแบบรวมศูนย์ คือให้รัฐบาลออกแบบเองไหมซึ่งเธอเห็นว่าไม่ควร เพราะเราควรมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเอง แต่ละคนมีทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันสังคมควรหาบรรทัดฐานร่วมกันในบางประเด็น เช่น ความเป็นส่วนตัวของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ระบบการสั่งการจากรัฐบาลอาจไม่ใช่การสั่งให้ทำเพียงอย่างเดียว อาจออกแบบให้เป็นการทำให้คนคิดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวกันเองว่าอะไรคือทางออกที่ดีที่สุดก็ได้ oooooooooo เซียวฮงโก๊ะให้คำจำกัดความคำที่คนมักใช้สลับและผสมกันไปมาคือคำว่าความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) อาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime) ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และเนื้อหา (Content) ความปลอดภัยไซเบอร์คือกิจกรรมที่ทำเพื่อป้องกันตัวเองจากการจู่โจมทางไซเบอร์ โดยจุดมุ่งหมายหลักคือการป้องกันและหยุดยั้งการจู่โจม ส่วนอาชญากรรมไซเบอร์นั้นหมายถึงการตามหาตัวผู้ก่อเหตุ บริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายดังกล่าวเพราะหน้าที่ตนคือรับผิดชอบด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบส่วนของอาชญากรรม คำว่าความเป็นส่วนตัวหมายถึงข้อมูลส่วนบุคคลและการปกป้องข้อมูลดังกล่าว คำนี้สามารถเชื่อมโยงกับความปลอดภัยไซเบอร์และอาชญากรรมไซเบอร์ได้หากมีการเจาะและถึงข้อมูลดังกล่าว ส่วนคำว่าเนื้อหานั้นคือข้อมูลต่างๆ ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต หมายรวมถึงข้อมูลทั้งที่เป็นเท็จและเป็นจริง ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราถูกเจาะ เพราะว่าสิ่งแวดล้อมและรูปแบบภัยคุกคามทางไซเบอร์ในวันนี้แตกต่างจากอดีตอย่างมาก และระบบปฏิบัติการป้องกันแบบเดิมๆ ไม่สามารถรับมือกับภัยใหม่ได้ การทำงานของระบบป้องกันมีลักษณะเหมือนกับเกมตีตัวตุ่น (Whack a mole) ที่ต่อให้ตีเก่งแค่ไหนก็ยังต้องพลาดอย่างน้อยหนึ่งถึงสองตัว ในการจู่โจมไซเบอร์ก็เป็นลักษณะเดียวกัน ผู้จู่โจมจะใช้จำนวนเข้าสู้และต้องการให้หลุดเข้าไปเจาะได้แค่ตัวเดียวก็พอ ในขณะที่ฝ่ายป้องกันนั้นต้องป้องกันให้ได้ทั้งหมด องค์กรต่างๆ มีความลำบากในการบริหารเช่นกันเพราะพวกเขาใช้หลายซอฟต์แวร์ในการป้องกันการโจมตีไซเบอร์ แต่ซอฟต์แวร์ต่างๆ ไม่มีระบบสื่อสาร ประสานงานกัน ตอนนี้จึงมีการพูดถึงการสร้างซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพในการสื่อสารระหว่างซอฟต์แวร์ที่ต่างกัน รวมถึงการรับมือการโจมตีด้วยการมีระบบป้องกันหลายชั้นมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทเอกชนควรจะมีบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในการใช้งานระบบป้องกันความปลอดภัย เพราะการมีแค่ซอฟต์แวร์อย่างเดียวแต่ไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่และถูกต้องก็เหมือนไม่มี ทั้งนี้บุคลากรระดับผู้บริหารควรตระหนักถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ด้วย ผู้อำนวยการด้านนโยบายระดับโลกของบริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ชั้นนำของโลกระบุถึงปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายด้านอาชญากรรมไซเบอร์และการจู่โจมไซเบอร์ว่ามีปัญหาตรงที่กฎหมายสามารถใช้ได้ต่อเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ตำรวจสามารถออกปฏิบัติการได้ต่อเมื่อมีอาชญากรรมเกิดขึ้น จึงควรมีมาตรการที่เอาไว้ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นด้วย กฎหมายควรมีความยืดหยุ่น ไม่ตึงเกินไปเพราะจะเป็นการยับยั้งการเกิดนวัตกรรม และไม่หย่อนเกินไปจนใครจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง การควบคุมไม่ควรจะไปฉุดรั้งการพัฒนาองค์ความรู้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มหาดไทยกำชับนายทะเบียนทั่วประเทศทำบัตรประจำตัวให้คนไม่มีสัญชาติไทย Posted: 22 Nov 2017 09:08 AM PST สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือเรื่อง "การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย" กำชับนายทะเบียนทุกจังหวัดซักซ้อมทำความเข้าใจเรื่องทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยสามารถขอมีบัตรได้ทุกกรณี ยกเว้นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตเข้ามาอาศัยในประเทศไทยที่มีหนังสือเดินทางหรือวีซ่า ไม่บังคับให้ต้องทำบัตร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือที่ มท. 03091/ว 74 เรื่อง การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เรียน นายทะเบียนจังหวัด ทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังนี้ 000 ที่ มท 0309.1/ว 74
15 พฤศจิกายน 2560 เรื่อง การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามที่สำนักทะเบียนกลาง ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เพื่อให้แจ้งสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นถือปฏิบัติไว้แล้วนั้น ปัจจุบัน ปรากฏว่าสำนักทะเบียนกลางได้รับการสอบถามปัญหา หารือแนวทางปฏิบัติ และร้องเรียนขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยอ้างเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทำไม่ได้ ไม่มีระเบียบหรือหนังสือสั่งการหรือระบบคอมพิวเตอร์ไม่เปิดให้ดำเนินการ ดังเช่นกรณีของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยโดยขณะที่เกิดบิดาหรือมารดาเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ มีเลขประจำตัวเป็นบุคคลประเภท 00 ซึ่งปัจจุบันถูกจำหน่ายรายการทะเบียนแล้ว เป็นต้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อน กรณีดังกล่าว สำนักทะเบียนกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. 2551 โดยมีหนังสือสั่งการของสำนักทะเบียนกลางกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ชัดเจนแล้วได้แก่ หนังสือที่ มท 0309.1/ว 13 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2560 ตามที่อ้างถึง อย่างไรก็ดี เพื่อให้การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติอย่างถูกต้อง จึงขอให้สำนักทะเบียนจังหวัดและสำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร แจ้งสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการดังนี้ 1. ให้ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นทุกคน โดยคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีหลักฐานการทะเบียนราษฎรและเลขประจำตัว 13 หลัก อายุตั้งแต่ 5 ปี จนถึง 70 ปีบริบูรณ์ สามารถขอมีบัตรประจำตัวได้ทุกกรณี ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือเป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยก็ตาม โดยยกเว้นเฉพาะคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (มีหนังสือเดินทางหรือวีซ่า) เท่านั้นที่ไม่บังคับให้ต้องมีบัตรปรจำตัว แต่หากบุคคลดังกล่าวประสงค์จะขอมีบัตร ก็ให้นายทะเบียนดำเนินการให้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน 2. ให้ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมถึงการชี้แจงในการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน หรืออื่นๆ ในประเด็นต่อไปนี้ 2.1 การจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร อันมีสภาพบังคับให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดต้องปฏิบัติ การฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้มีความผิดและมีโทษตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 2.2 อัตราค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. 2551 3. ขอให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่น ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ไม่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระมัดระวังมิให้เกิดการเรียกรับหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือโดยทุจริตจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการรับคำขอ ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ จนถึงการมอบบัตรประจำตัวให้กับเจ้าของบัตร จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการต่อไป ขอแสดงความนับถือ ร้อยตำรวจโท อาทิตย์ บุญญะโสภัต หนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 74 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560
หนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 13 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2560 000 โดยสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี (SAW) กล่าวถึงหนังสือของสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ว่า คนทุกคนต้องมีเอกสารแสดงตัวตน ต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคล โดยเป็นไปตามสถานะของเขา ที่ผ่านมารัฐมีการเก็บข้อมูลบุคคลไว้ในฐานข้อมูลทั้งคนสัญชาติไทย และคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดจากกรณีว่าคนบางคนซึ่งมีชื่อในระบบทะเบียน โดยเฉพาะคนที่ได้รับการแจ้งเกิดตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฉบับที่ 2 ที่กฎหมายกำหนดให้รับแจ้งเกิดทุกคนที่เกิดในประเทศไทย โดยรัฐจะออกเลขประจำตัว 13 หลัก มีการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนประวัติ และรัฐออกเลขประจำตัว 13 หลักให้ กรณีอายุถึงเกณฑ์ก็สามารถทำบัตรประจำตัวได้ตามสถานะของแต่ละบุคคล โดยเด็กสัญชาติไทยทำบัตรเมื่ออายุ 7 ปี ส่วนเด็กไร้สัญชาติหรือไม่มีสัญชาติไทยทำบัตรเมื่ออายุครบ 5 ปี อย่างไรก็ตามมีกรณีที่เมื่อเด็กจำนวนหนึ่งเมื่ออายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัว เจ้าหน้าที่บางคนบางพื้นที่ไม่ยอมทำบัตรให้ จึงต้องมีการออกระเบียบยืนยันว่าทางราชการมีการเก็บข้อมูลบุคคลแล้ว เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่ก็ต้องออกเอกสารเพื่อการแสดงตัวสำหรับบุคคลนั้น ส่วนกลุ่มที่ไม่ต้องทำบัตร ตามรายละเอียดของหนังสือของสำนักทะเบียนกลางฉบับนี้ ถือว่าคนที่ถือหนังสือเดินทางของรัฐอื่นไม่ต้องทำ เพราะมีรัฐรับรองอยู่แล้ว มีเอกสารแสดงตัวอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ไม่มีรัฐรับรอง แต่มีการลงบันทึกข้อมูลไว้แล้ว รัฐต้องออกเอกสารแสดงตัวให้กับบุคคลนั้น โดยการมีบัตรประจำตัวจะระบุวันเดือนปีเกิด สถานะทางสัญชาติของบุคคลนั้น รวมทั้งถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้จะช่วยเรื่องการแสดงตัวบุคคล ฐานข้อมูล ลายพิมพ์นิ้วมือ ใบหน้า เมื่อถูกปลอมแปลงตนก็จะสามารถช่วยตรวจสอบได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: ยุคด้อยพัฒนามาถึงยุคกำลังพัฒนา Posted: 22 Nov 2017 08:11 AM PST
ด้อยพัฒนาในคุณค่าสารพัน ท้าประชันขันแข่งแซงบุญกรรม ครั้งรู้เรียนเขียนอ่านสารสารพัด โรงเรียนวัดจัดสอนมาอยู่คลาคล่ำ เขียนอ่านใบลานกระดานชนวนนำ รากฐานทำ เป็นกำลังพัฒนา อยากให้เป็นเขตประเทศพัฒนาแล้ว ไยนอนแซ่วซมไข้ในปัญหา จากด้อย เป็นกำลังยังใช้เวลา ศตวรรษหน้าพัฒนาแล้วแจวถึงยัง
โรงเรียนวัดคัดกระดานสอนท่านดัง โลกยังตั้งเป็นคนสำคัญด้านวรรณกรรม นับบัดนั้นจนบัดนี้มี " กูเกิ้ล " เรายังเพลิน " กำลังพัฒนา " พาลุกคว่ำ การศึกษาพาอัจฉริยะหรือคะมำ อะไรทำศักยภาพพังพาบลง คิดถึงโรงเรียนวัดคัดใบลาน โลกนักอ่านอยู่ใต้กะลากากับหงส์ พัฒนามาตั้งไกลคงไร้ธง ? ท่องจำหลงในเหลื่อมล้ำหลุมดำเอย.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชำนาญ จันทร์เรือง: เมื่อพระราชบัญญัติขัดแย้งกับคำสั่งหรือประกาศ คสช. Posted: 22 Nov 2017 08:05 AM PST
สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าต่อผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้เป็นอย่างยิ่งก็คือการที่ได้มีพระราชบัญญัติ (พรบ.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ออกมาบังคับใช้แล้วใน 2 เรื่องใหญ่ๆก็คือการประกาศใช้พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา โดยที่ก่อนหน้านั้นก็ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 และได้มีการประกาศใช้พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2560 โดยที่ก่อนหน้านั้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2557 ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ ฝ่ายรัฐบาลหรือ คสช.ก็ยังยืนยันที่จะบังคับใช้คำสั่งและประกาศของตนเองต่อไปทั้งๆที่มีพรบ.และพรป. ประกาศใช้แล้วโดยอ้างว่าบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหาสำหรับนักกฎหมายว่าตกลงจะเอาอย่างไรกัน เพราะที่ร่ำเรียนเขียนอ่านกันมาจากครูบาอาจารย์และตำหรับตำราก็บอกว่าถ้ากฎหมายในเรื่องเดียวกันที่มีลำดับศักดิ์เท่ากันก็ให้ถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าไปโดยปริยาย ตามหลัก "กฎหมายใหม่ย่อมเลิกกฎหมายเก่าซึ่งมีเนื้อหาอย่างเดียวกัน" นั่นเอง แต่บางคนก็แย้งว่าคำสั่งหรือประกาศ คสช.นั้นมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมก็บอกว่าทั้ง พรบ.การชุมนุมสาธารณะฯและ พรป.พรรคการเมืองฯ ก็มาจากรัฐธรรมนูญเช่นกันและมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเท่ากันกับคำสั่งและประกาศ คสช.ทั้ง 2 ฉบับเหมือนกัน ปกติแล้วกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว ย่อมมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการยกเลิกกฎหมายนั้น ซึ่งมีหลักการ ดังนี้ 1) การยกเลิกโดยตรง 1.1 มีการกำหนดเวลายกเลิกกฎหมายไว้ในกฎหมายฉบับนั้นเอง เช่น ให้กฎหมายนี้สิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนด 3 ปี 5ปี เป็นต้น 1.2 มีกฎหมายฉบับใหม่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันระบุยกเลิกไว้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน หรือกฎหมายอื่น ๆ หรือกฎหมายฉบับต่อ ๆ มาได้บัญญัติยกเลิกไว้ ซึ่งในการยกเลิกนี้อาจเป็นการยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ หรือเป็นการยกเลิกเฉพาะบางบทบางมาตราก็ได้ โดยการจะยกเลิกอย่างไรต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนั้น 1.3 เมื่อพระราชกำหนดได้ประกาศใช้แต่ต่อมาสภาฯไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้น มีผลทำให้พระราชกำหนดนั้นถูกยกเลิกไป ทั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างที่บังคับใช้พระราชกำหนดนั้น 2) การยกเลิกโดยปริยาย หมายถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอย่างชัดแจ้งให้ยกเลิก แต่เป็นที่เห็นได้จากเนื้อหาของกฎหมายฉบับใหม่ว่าเป็นการยกเลิกกฎหมายเก่าไปโดยปริยาย เช่น 2.1 กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีข้อความขัดแย้งหรือไม่ตรงกัน คือ กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีการบัญญัติข้อความไว้ไม่เหมือนกัน จึงถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าโดยปริยาย 2.2 กรณีที่กฎหมายเก่ามีข้อความขัดกับกฎหมายใหม่ คือ ข้อความที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่นั้นบัญญัติไว้ตรงข้ามกัน ทั้ง ๆที่เป็นเรื่องเดียวกัน จึงถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าโดยปริยาย 2.3 กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีบทบัญญัติในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นอย่างเดียวกัน กรณีนี้ยังต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าในกรณีเช่นเดียวกัน โดยกฎหมายใหม่ไม่ประสงค์จะให้ใช้หรืออ้างอิงกฎหมายเก่า แม้ว่าจะมีข้อความเดียวกับกฎหมายใหม่ก็ตาม มิเช่นนั้นจะออกกฎหมายใหม่มาทำไม 2.4 เมื่อยกเลิกกฎหมายในลำดับที่สูงกว่าแล้วกฎหมายในลำดับรองที่ออกโดยอ้างอิงอำนาจตามกฎหมายที่สูงกว่าย่อมถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เช่น เมื่อยกเลิกพระราชบัญญัติแล้ว พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอำนาจของพระราชบัญญัตินั้นจะถูกยกเลิกไปในตัวด้วยเพราะพระราชบัญญัติเป็นกฎหมายแม่บท เมื่อกฎหมายแม่บทถูกยกเลิกไปแล้ว พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกมาเพื่อจะให้มีดำเนินการให้เป็นกฎหมายแม่บทก็จะถูกยกเลิกไปด้วย ฯลฯ แต่ในเรื่องของรัฐธรรมนูญเมื่อถูกฉีกหรือถูกยกเลิกแล้วไทยเรายังมีความลักลั่นกันอยู่อย่างมาก เช่น เมื่อประชาชนจะยื่นเสนอร่างกฎหมายก็อ้างว่ารัฐธรรมนูญเก่าถูกยกเลิกไปแล้วรัฐธรรมนูญใหม่ (ชั่วคราวปี 57) ไม่มีเรื่องนี้จึงเสนอไม่ได้ แต่ในกรณีองค์กรอิสระทั้งหลายที่ตั้งขึ้นโดยพรป.ทั้งปี40และ50 กลับยังคงอยู่ต่อหน้าตาเฉยโดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปก็จริงแต่พรป.ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วยนี่ อย่างนี้ก็มี จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าเมื่อมี พรบ.การชุมนุมสาธารณะฯ ออกมาบังคับใช้แล้วคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปย่อมสิ้นผลไปโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมาแล้ว และในทำนองเดียวประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ในส่วนของการห้ามดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมืองย่อมสิ้นผลไปโดยปริยายเช่นกัน กอปรกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 279 วรรคแรก บัญญัติให้การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งของ คสช.หรือหัวหน้าคณะ คสช.ให้กระทำได้โดยทำเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งทั้งสองกรณีก็มี พรบ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะฯ และ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ออกมาบังคับใช้แล้วอีกด้วยเช่นกัน แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการเลือกปฏิบัติหรือการเลือกบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่ยังลักลั่นในเรื่องของการชุมนุมสาธารณะ เดี๋ยวใช้พรบ.ชุมนุมฯ เดี๋ยวใช้คำสั่ง คสช.ฯ และการไม่กล้าดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมืองของพรรคการเมืองตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ (ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงแล้วพรรคการเมืองมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยพฤตินัยกันอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นจะมีแถลงการณ์ในนามของพรรคฯออกมาได้อย่างไรหากไม่มีการประชุมกัน) เพราะเกรงจะถูกดำเนินคดีหรือถูกดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด ผมอยากเรียกร้องให้นักกฎหมายได้ใช้ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและความกล้าหาญที่จะยืนหยัดและยืนยันความถูกต้องตามหลักวิชาการในการตีความกฎหมายเพื่อที่จะให้บ้านเมืองกลับสู่ทำนองคลองธรรมตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ผู้มีอำนาจมาแล้วก็ไป แต่ผู้ปฏิบัติหรือเจ้าหน้าที่ยังคงอยู่พร้อมด้วยพยานหลักฐานต่างๆ สิ่งที่ทำผิดทำนองคลองธรรม ผิดหลักวิชาการในตอนนี้อาจจะยังไม่ได้ส่งผลต่อผู้ปฏิบัติเพราะคิดว่า "เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เสียงกฎหมายก็เงียบลง" แต่อย่าลืมนะครับว่า "เมื่อเสียงปืนเงียบลง เสียงกฎหมายก็ดังขึ้น" ได้เช่นกันครับ ใครทำเลอะๆ เทอะๆ ไว้ก็รอรับผลแห่งการกระทำนั้นนะครับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุรพศ ทวีศักดิ์: ทำไมศาสนาเป็นอุปสรรคของศีลธรรมสมัยใหม่ Posted: 22 Nov 2017 07:48 AM PST
เราเชื่อตามๆ กันมา (อย่างขัดหลักกาลามสูตร) ว่า "ศีลธรรมมาจากศาสนาเท่านั้น" และ "ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี" จึงสรุปว่า ศาสนาไม่มีปัญหาในตัวมันเอง หากจะมีปัญหาย่อมเกิดจากคนใช้ศาสนาในทางที่ผิด ว่าแต่ "ศีลธรรม" ที่มาจากศาสนาคืออะไร? หากสำรวจดูจะพบว่าศีลธรรมศาสนาเป็นศีลธรรมที่กำหนดขึ้นจากอำนาจนิยามความจริงและความดีของชนชั้นนำสองกลุ่มหลักๆ ที่มักจะเป็น "พันธมิตร" กัน คือ ชนชั้นปกครองและนักบวชหรือผู้นำทางศาสนา ปัญหาพื้นฐานที่ชนชั้นนำสองกลุ่มนี้ต้องการหาคำตอบคือ จะจัดการปกครองอย่างไร และบุคคลแต่ละคนควรจะดูแลจิตใจหรือจิตวิญญาณของตนเองอย่างไร สังเกตว่า ศาสนามักจะถือกำเนิดและรุ่งเรืองในสังคมเผด็จการ และอันที่จริงคือศาสนานั่นเองที่สร้างแนวคิด ความเชื่อรองรับและสนับสนุนการสถาปนาระบบสังคมการเมืองแบบเผด็จการขึ้นมา เห็นได้จากอารยธรรมที่ศาสนารุ่งเรืองอย่างเมโสโปเตเมีย, อียิปต์, ตะวันออกกลาง, ยุโรปยุคกลาง, อินเดีย, จีน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนถือว่าผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาดในฐานะผู้นำศาสนา หรือไม่ก็เป็นโอรสของเทพ โอรสสวรรค์ เทพอวตาร สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว สัญญะที่แสดงอำนาจและความรุ่งเรืองคือ วังกับวัดหรือศาสนสถาน ซึ่งจำลองแบบสวรรค์วิมานตามคติความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้ ภาษา ประเพณี วัฒนธรรมของสังคมแถบนี้ ล้วนแต่มีความหมายเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาทั้งนั้น การที่ศาสนารุ่งเรืองในสังคมที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการ แปลว่าศาสนาไม่ได้ต่อต้านเผด็จการ นอกจากไม่ได้ต่อต้านแล้ว ศาสนายังทำหน้าที่ให้คำตอบว่า อำนาจเผด็จการนั้นมาจากกฎศีลธรรมของพระเจ้าหรือเทวสิทธิ์ และธรรมะ (ราชธรรม) แน่นอนว่าผู้ปกครองที่มีอำนาจเช่นนั้น ย่อมมีหน้าที่อุปถัมภ์และสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนา รวมทั้งให้อำนาจศาสนจักรลงโทษ "พวกนอกรีต" และบางครั้งต้องทำสงครามเพื่อบังคับอาณาจักรอื่นๆ ให้มานับถือศาสนาตัวเอง บางครั้งก็ทำสงครามเพื่อปกป้องศาสนา ทำสงครามอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างศาสนาและระหว่างนิกายศาสนา หน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ก็คือ "ศีลธรรม" ของผู้ปกครองในระบบเผด็จการที่สถาปนาขึ้นโดยศาสนา ส่วนศีลธรรมของผู้ใต้ปกครอง ก็คือ "ความจงรักภักดี" และเชื่อฟังอำนาจของผู้ปกครอง เพราะว่าผู้ใต้ปกครองจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากผู้ปกครอง และการได้รับการคุ้มครองเช่นนั้นก็เสมือนได้รับการคุ้มครองจากพระเจ้า เพราะอำนาจผู้ปกครองเป็นอำนาจที่พระเจ้าประทานมา หรืออีกนัยหนึ่ง การได้รับการคุ้มครองจากผู้ปกครอง ย่อมเสมือนถูกคุ้มครองโดยโอรสของเทพ เทพอวตาร สมมติเทพ ที่มีอำนาจสูงส่งเหนือสามัญมนุษย์ ในยามบ้านเมืองสงบ ผู้ใต้ปกครองย่อมถูกเกณฑ์แรงงานมาสร้างปราสาทราชวังและศาสนสถาน ยิ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ใหญ่โตและวิจิตรอลังการมากเท่าใด ยิ่งแสดงถึงบารมีหรือบุญญาธิการของผู้ปกครองที่จักนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่มวลไพร่ ทาส ส่วนในยามสงคราม เหล่าไพร่ ทาส ก็ย่อมถูกเกณฑ์ไปฝึกทหารเพื่อเป็นนักรบที่พร้อมจะพลีชีพด้วยความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง แน่นอนว่าบรรดาไพร่ ทาส ย่อมไม่ถูกนับเป็น "วีรชน" ผู้ปกป้องแผ่นดินและสร้างบ้านแปงเมือง เพราะสถานะสูงส่งเช่นนี้ย่อมคู่ควรกับผู้สูงส่งคือชนชั้นปกครองเท่านั้น ด้วยความหมายของสถานะ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ ศีลธรรมของผู้ปกครอง และศีลธรรมของผู้ใต้ปกครอง รวมทั้งกฎหมายที่บัญญัติขึ้นบนฐานความเชื่อทางศาสนา ที่ชนชั้นปกครองและผู้นำศาสนาร่วมกันกำหนดขึ้นดังกล่าว จึงทำให้ระบบเผด็จการในสังคมที่ศาสนารุ่งเรืองดำรงอยู่อย่างยาวนานหลายพันปี เมื่อชนชั้นปกครองและผู้นำศาสนาร่วมกันสถาปนาสถานะ อำนาจ ศีลธรรมของผู้ปกครอง และศีลธรรมของผู้ใต้ปกครองแล้ว พวกเขาก็สอนศีลธรรมในความหมายของ "หน้าที่" อันควรปฏิบัติตามสถานภาพทางสังคม เช่นหน้าที่ระหว่างพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ลูก ลูกศิษย์ สามี ภรรยา เพื่อนกับเพื่อน นายกับทาส นักบวชกับฆราวาส ควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร ส่วนศีลธรรมอีกชุดหนึ่ง เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อจิตวิญญาณของตัวเอง นั่นคือ แต่ละคนต้องรักษาศรัทธาต่อพระเจ้า ควบคุมจิตใจตัวเองให้มุ่งมั่นปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการมีชีวิตนิรันดร์บนสวรรค์ของพระเจ้า สำหรับศาสนาที่ไม่นับถือพระเจ้า แต่ละคนก็ต้องมุ่งขัดเกลากิเลสตนเอง เพื่อความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ น่าสังเกตว่า ขณะที่ศาสนาสถาปนาสถานะ อำนาจ ศีลธรรมของผู้ปกครองและศีลธรรมของผู้ใต้ปกครองซึ่งมีลักษณะของการสร้าง "ระบบชนชั้น" แบบศักดินา ไพร่ ทาสอย่างตายตัว แต่เมื่อศาสนาเสนอศีลธรรมส่วนบุคคลหรือศีลธรรมเกี่ยวกับการดูแลจิตวิญญาณของตนเอง ศาสนามักจะชี้ว่า ความจริงทางโลก (ซึ่งศาสนานั่นแหละสร้างขึ้น) เป็น "มายา" ไม่ควรยึดติด ควรเข้าถึงความจริงที่แท้จริงคือพระเจ้า,สวรรค์, นิพพาน เป็นต้น จึงเท่ากับว่า ศาสนาได้ทำให้สถานะ อำนาจของชนชั้นปกครองและระบบชนชั้นทางสังคมเป็น "ความจริงที่ตายตัว" ในสำนึกของชนชั้นปกครองและความทรงจำร่วมทางสังคม เพราะเป็นความจริงที่กำหนดมาโดยพระเจ้า และกำหนดขึ้นบนการอ้างอิงธรรมะ แต่ขณะเดียวกันศาสนากลับสอนให้บุคคลแต่ละคนที่มุ่งขัดเกลาจิตวิญญาณเพื่อเข้าถึงความจริงแท้คือพระเจ้าหรือนิพพานมองว่า ความจริงทางสังคมและการเมืองเป็นเพียง "มายา" หรือ "สิ่งสมมติ" ที่ไม่มีคุณค่าเทียบได้กับความจริงแท้ของพระเจ้าหรือนิพพานได้เลย สภาวะย้อนแย้งดังกล่าวนี้เองที่ ทำให้ระบบการปกครองแบบเผด็จการกับความเจริญด้านจิตวิญญาณดำรงอยู่คู่ขนานกันมายาวนาน ในสังคมที่ศาสนามีอำนาจให้คำตอบทั้งศีลธรรมทางสังคมและศีลธรรมส่วนบุคคล เพราะภายใต้ระบบศีลธรรมทางสังคมและศีลธรรมส่วนบุคคลเช่นนี้ ย่อมยากที่จะก่อให้เกิดสำนึกในความเป็นปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิและอำนาจเปลี่ยนแปลงระบบสังคมการเมือง เพราะระบบสังคมการเมืองถูกกำหนดมาจากอำนาจเบื้องบนที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าใครจะกล้าตั้งคำถามหรือต่อกรได้ หากไม่พอใจระบบสังคมการเมืองเช่นนี้ สิ่งที่ทำได้ก็คือ "ลดค่าของมันลงให้กลายเป็นเพียงมายา" และถือว่า คุณค่าทางจิตวิญญาณสูงส่งกว่าเสมอไป เพราะชีวิตในโลกนี้แสนสั้น การดูแลจิตวิญญาณเพื่อชีวิตนิรันดร์ในโลกหน้า หรือเพื่อความหลุดพ้นไม่กลับมาเกิดใหม่ทนทุกข์ในโลกมายา ย่อมสำคัญกว่า ดูเหมือนจะเห็นได้เพียงอารยธรรมกรีก ที่สถาปนาระบบการเมืองแบบทางโลก ถือว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของอำนาจเด็ดขาดของผู้ปกครองเพียงคนเดียวที่มีสถานะเป็น "อภิมนุษย์" แต่การเมืองเป็นเรื่องของ "การต่อรองระหว่างพลเมืองที่เสมอภาค" เช่นการบัญญัติกฎหมายมาจากการใช้เหตุผลถกเถียงในสภาของพลเมืองที่เสมอภาค แต่การเมืองเช่นนี้ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะพัฒนามาสู่การให้กำเนิดการเมืองแบบทางโลกขึ้นในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการเมืองที่หลุดพ้นจากการเมืองแบบศาสนายุคกลางของยุโรป และการเมืองแบบทางโลกเช่นนี้ก็ขยายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลกในเวลาต่อมา พลังทางความคิดที่ทำให้เกิดระบบการเมืองแบบทางโลกคือ "ศีลธรรมโลกวิสัย" หรือ secular morality ที่เป็นคุณค่าหรืออุดมคติแบบยุคสว่าง (Enlightenment) ซึ่งเกิดจากแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม มนุษยนิยมที่ถือว่า "ศีลธรรม-เสรีภาพ-ความเป็นมนุษย์" ไม่อาจแยกจากกัน คุณมีศีลธรรมไม่ได้ ถ้าหากคุณไม่มีอิสระในการการกำหนดตนเอง (autonomy) ด้วยการใช้ความคิดของตนเองพิจารณาว่าอะไรถูก อะไรผิด ควรทำ ไม่ควรทำ และอะไรคือกฎศีลธรรม (moral law) ที่อธิบายได้ว่า "free and fair" ในการอยู่ร่วมกันระหว่างตัวเราเองกับคนอื่นในฐานะคนเท่ากัน เมื่อมีอิสระที่จะใช้ความคิดตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรมและสร้างกฎทางศีลธรรมด้วยตนเองได้ ก็แปลว่า มีเสรีภาพเลือกการมีมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีได้ นัยสำคัญของศีลธรรมแบบ secular จึงหมายถึง "การมีเสรีภาพจากศีลธรรมศาสนา" ซึ่งเป็นศีลธรรมแบบข้อผูกมัด กฎ คำสั่ง หรือข้อบังคับของพระเจ้า หรือศีลธรรมที่มาจากความเชื่อทางศาสนาใดๆ มนุษย์จึงไม่ควรถูกบังคับให้ทำตามศีลธรรมศาสนาแบบยุคกลาง และยุคโบราณอีกต่อไป ถ้าหากใครจะเชื่อและปฏิบัติตามศีลธรรมศาสนา ก็ถือเป็น "เสรีภาพส่วนบุคคล" หรือเป็นเรื่องที่แต่ละคนสมัครใจเลือกเอง อำนาจรัฐหรือศาสนจักรจะมาบังคับกะเกณฑ์ไม่ได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้การเมืองการปกครองจึงต้องแยกเป็นอิสระจากศีลธรรมศาสนา ไม่มีการใช้อำนาจรัฐ, การบัญญัติกฎหมายที่อิงความเชื่อเฉพาะของศาสนาใดๆ อีกต่อไป อำนาจรัฐและการบัญญัติกฎหมายเป็นเรื่องทางโลก หรือเป็นข้อตกลงร่วมกันของพลเมืองที่มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ศีลธรรมโลกวิสัย หรือ secular morality จึงกลายเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำให้ศาสนาในปัจจุบันไม่อาจสร้างรากฐานของศีลธรรมทางสังคมได้แบบยุคกลางและยุคโบราณอีกต่อไป ความพยายามของศาสนาที่จะรักษาสถานะและบทบาทเดิมไว้ หรือต้องการสถาปนาระบบการเมืองการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย ให้ความชอบธรรมกับอำนาจรัฐ หรือต้องการเป็นศาสนาของรัฐ ต้องการให้รัฐอุปถัมภ์และส่งเสริมการเผยแพร่ความเชื่อแบบในอดีตที่ผ่านมา ย่อมขัดกับหลักการพื้นฐานของศีลธรรมโลกวิสัย คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ดังนั้น ภาพการเฆี่ยนคนรักร่วมเพศต่อหน้าสาธารณชน การมีกฎหมายประหารชีวิตคนรักร่วมเพศ หรือการใช้ความเชื่อทางศาสนาใดๆ ละเมิดสิทธิเท่าเทียมทางเพศ การใช้อำนาจรัฐบนฐานความเชื่อทางศาสนาที่ขัดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการละเมิดหลักเสรีภาพทางศาสนาด้วยการบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในระบบการศึกษาของรัฐ จนทำให้พลเมืองไม่รู้จักศีลธรรมในความหมายอื่น หรือ secular morality นอกจากศีลธรรมแบบศาสนา ทั้งหมดนี้ (เป็นต้น) คือปรากฏการณ์ที่ศาสนาเป็นอุปสรรคต่อการสร้างศีลธรรมทางสังคมในโลกสมัยใหม่ ยิ่งกว่านั้น การทำให้ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ ให้ศาสนามีอำนาจสถาปนาศีลธรรมของรัฐ นอกจากขัดกับหลักการพื้นฐานของศีลธรรมโลกวิสัย หรือขัดกับการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังส่งผลให้มิติด้านจิตวิญญาณและอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาที่ควรงอกงามขึ้นภายใต้สังคมที่มีเสรีภาพทางความเชื่อ กลายเป็นมิติที่หายไปหรือ "ตาย" ไป เนื่องจากศาสนากลายเป็นเรื่องของอำนาจบังคับครอบงำและสร้างพันธนาการ มากกว่าที่จะเป็นพลังในการปลดปล่อยและสนับสนุนให้มนุษย์เติบโตทางความคิดและจิตวิญญาณ คำถามสำคัญคือ ทำไมเราเห็นร่องรอยความงอกงามในมิติด้านจิตวิญญาณของศาสนาในสังคมยุคเผด็จการแบบโบราณและยุคกลาง แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่ยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นหลักการพื้นฐานของศีลธรรมทางสังคมแทนที่ศีลธรรมแบบศาสนา นอกจากศาสนาในสังคมอนุรักษ์นิยมแบบบ้านเราและอีกหลายประเทศ จะไม่พยายามปรับตัวหรือไม่มีวิสัยทัศน์ในการปรับตัวไปในทางที่เคารพศีลธรรมทางสังคมในโลกสมัยใหม่ดังกล่าวแล้ว ยังมีการพยายามบังคับยึดเยียดศีลธรรมศาสนาให้เป็นศีลธรรมทางสังคม แต่กลับละเลย หรือปล่อยให้มิติด้านจิตวิญญาณเลือนหายหรือตายไป พูดอีกอย่างคือ ศาสนาไม่สามารถเสนอมิติด้านปัญญาและกรุณา หรือความรักความเมตตาอย่างมีนัยสำคัญต่อการสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และภราดรภาพ ตรงกันข้ามศาสนาในบ้านเรากลับเรียกร้องการค้ำจุนจากอำนาจรัฐมากขึ้น สร้างทัศนะแบ่งแยกและเกลียดชังภายในศาสนาเดียวกันเองและระหว่างศาสนามากขึ้น มีแนวโน้มไปในทางเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น คือดำเนินไปในทิศทางที่ "เป็นภาระ" ของสังคมมากขึ้น ภายใต้การสร้างมายาคติว่า ศาสนามีบุญคุณต่อ "ชาติ(?)" มายาวนานจวบปัจจุบัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เมื่อรัฐขยายอำนาจให้ทุน กรณี มาตรา 44 ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี Posted: 22 Nov 2017 07:36 AM PST
เจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมือง ที่เกิดขึ้นก็เพื่อดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประชาชนและควบคุมอำนาจรัฐและทุนไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ของประชาชน อาทิ การกำหนดโซนนิ่งพื้นที่อยู่อาศัย การกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม การกำหนดพื้นที่ทำเกษตรกรรมและการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน เป็นต้น ในการจัดทำผังเมืองรวมปัจจุบัน ได้มีการจัดทำขึ้นโดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แม้ว่ากระบวนการจัดทำผังเมืองรวมจะออกมาไม่สมบูรณ์แบบตามที่ประชาชนต้องการก็ตาม แต่ก็ถือว่ากฎหมายผังเมืองประชาชนยังสามารถใช้คุ้มครองสิทธิของตนเองได้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ประกาศใช้มาตรา 44 ออกคําสั่ง ยกเลิกการบังคับใช้ผังเมืองของจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor : EEC และให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ เท่ากับทำให้ความคุ้มครองพื้นที่เหล่านี้หมดไป และโรงงานอุตสาหกรรมสามารถก่อสร้างได้ในเขตพื้นที่อาศัยของประชาชนได้ทันที แม้ว่ารัฐบาลจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่สิ่งที่ประชาชนกังวลก็คืออุตสาหกรรมจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้จริงหรือไม่ ตามที่รัฐบาลได้พยายามบอกกับสื่อเพื่อให้สังคมเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลประกาศไป แต่บทเรียนในสังคมไทยกลับพบว่ากิจกรรมของโรงงานอุตอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบด้านมลพิษต่อชุมชนและภาครัฐมัก ละเลย ไม่สามารถที่จะจัดการแก้ไขปัญหาได้ จนประชาชนต้องพึ่งตัวเองโดยการ ประท้วง ชุมนุม หรือใช้กระบวนการยุติธรรมฟ้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต จังหวัดระยอง กรณีเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย และพิจิตร กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นต้น ปัญหาจึงอยู่ที่การกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ ที่ประชาชนขาดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือรัฐบาลไม่รับฟังเสียงประชาชน รูปธรรมพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันออก รัฐบาลได้เน้นการลงทุนโดยลดเงื่อนไขให้กับกลุ่มทุน และออกคำสั่ง คสช. เพื่อดำเนินการ ดังนี้ 1) คำสั่ง คสช.ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สาระสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2560, 2) คำสั่ง คสช.ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการในเขตอีอีซีเป็นการเฉพาะ) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 , 3) คำสั่ง คสช.ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2560 สาระสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันออกที่รัฐบาลลดเงื่อนไขให้ คือ การทำโรงงานอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( EIA) บทเรียนที่สังไทยพบคือ การจัดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เป็นแค่เวทีรับฟังความคิดเห็นจอมปลอม เอาเฉพาะผู้สนับสนุนโครงการเข้าร่วมเวทีและกีดกันประชาชนกลุ่มคัดค้านออกไป และมีทหาร ตำรวจ เฝ้าล้อมเวทีรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าของโครงการฯ ถ้าจะให้การพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพื้นชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นในการกำหนดนโยบายสาธารณะและรัฐบาลต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนออกแบบการพัฒนาในพื้นที่ของตนเองโดยเอาพื้นที่นิเวศน์และความต้องการของประชาชน เป็นตัวตั้ง จึงจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งการแย้งชิงทรัพยากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรมในอนาคต รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศยกเลิกการบังคับใช้ผังเมือง จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ต้องตอบคำถามกับสังคมและประชาชนในพื้นที่ให้ได้ว่า 1. การออกคำสั่ง ม. 44 ประกาศยกเลิกการบังคับใช้ผังเมือง สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ได้จริงหรือไม่ 2. ประชนชนในพื้นที่มีสิทธิในการปกป้องคุ้มครองชุมชน บนพื้นฐานประชาธิไตย สิทธิในการพัฒนาและสิทธิมนุษยชน ได้หรือไม่อย่างไร 3. รัฐมีกระบวนการคุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. มีประเด็นสำคัญ คือ การให้อำนาจจัดทำแผนนโยบายและแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินขึ้นใหม่ในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่หลัก 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และ ใช้บังคับแทนที่ผังเมืองเดิม หากมองความคุ้มค่าในเรื่องการลงทุนด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลย่อมมองเห็นตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติ มากกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องทนทุกข์อยู่ใกล้มลพิษโรงงานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายเพราะกิจกรรมของอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันประชาชนได้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการออกมาคัดค้านโครงการต่างๆหรือเรียกร้องขอความเป็นธรรมเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอำนาจรัฐบาลทหาร ด้วย คำสั่ง ประกาศ ของ คสช .หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงเป็นคำถามที่คนในสังคมอดจะสงสัยไม่ได้ว่าการใช้ ม.44 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ในครั้งนี้ใครได้ประโยชน์และการใช้คำสั่ง ม.44 มีความชอบธรรมกับประชาชนในพื้นที่จังหวัด ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทราหรือไม่ หรือเป็นคำสั่งที่ เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่มโดยละเลยสิทธิชุมชนของคนในพื้นที่ไป. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คำสั่งหัวหน้า คสช. แก้กฎหมายเพิ่มงบฯ-งานด้าน 'บรรเทาสาธารณภัย' ให้ กอ.รมน. Posted: 22 Nov 2017 05:20 AM PST ประยุทธ์ ใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. แก้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพิ่มนิยาม-อำนาจหน้าที่ - งบประมาณ ด้านป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยให้ กอ.รมน. พร้อม อธิบดี ปภ.นั่ง เป็นกรรมการ กอ.รมน. ด้วย 22 พ.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดย อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีคําสั่ง แก้ไข พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หลายมาตรา โดยเพิ่มนิยามของการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้รวมถึงในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย ด้วย ให้ กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและดําเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยแผนและแนวทางนั้นต้องคํานึงถึงความสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้ ให้สํานักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ ให้เป็นไปตามแผนและแนวทางนั้นด้วย และเพิ่มอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ กอ.รมน. เป็นต้น รายละเอียดคำสั่ง : ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุมตัว 'วรรณา' ผู้ต้องหาเอี่ยวบึ้มราชประสงค์ปี 58 'ศรีวราห์' สอบเอง หลังส่งตัวจากตุรกี Posted: 22 Nov 2017 03:34 AM PST ตร.คุมตัว 'วรรณา สวนสัน' ผู้ต้องหาเอี่ยวระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ ปี 58 หลังได้รับการส่งตัวจากตุรกี พล.ต.อ.ศรีวราห์ คุมสอบเอง ขณะที่เดือนที่แล้วญาติปรึกษายุติธรรมจังหวัดพังงา เรื่องกระบวนการการต่อสู้คดี 22 พ.ย.2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม วรรณา สวนสัน หรือ ไมซาเราะห์ 1 ในผู้ต้องหาเกี่ยวข้องเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2558 ฐานร่วมกันมียุทธภัณฑ์และครอบครองวัตถุระเบิด โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะนี้อยู่ระหว่างนำตัวมาสอบปากคำ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้น 7 โดยมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง สอบปากคำด้วยตนเอง โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า อิบรอเหม คมขำ ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านห้วยทรัพย์ ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา พร้อมด้วยญาติ ๆ ของ วรรณา เดินทางเข้าพบ ศักย์ ดิษฐาน ยุติธรรมจังหวัดพังงา เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม หลังจาก วรรณา ได้ติดต่อกับทางญาติว่าจะได้รับการส่งตัวจากประเทศตุรกีกลับมาประเทศไทย เพื่อมาต่อสู้คดี จึงอยากรู้ขั้นตอนเพื่อหาหนทางช่วยเหลือทางคดีของ วรรณา ต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพังงา เบื้องต้น นายสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพังงา ได้ให้คำปรึกษากับทางญาติว่า สามารถยื่นขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม หรือยื่นขอทนายอาสาเพื่อมาต่อสู้คดี เอมอร สวนสัน พี่สะใภ้ กล่าวว่า สาเหตุที่ตนเดินทางมายุติธรรมจังหวัดก็เพื่อมาปรึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม หลังนางวรรณา ติดต่อกลับมาว่าทางประเทศตุรกี ได้ประสานเพื่อส่งตัวกลับมาประเทศไทยแล้ว เพื่อหาทางต่อสู้คดีในไทยต่อไป และเป็นที่น่าพอใจมากที่ทางยุติธรรมจังหวัดให้คำปรึกษา ทางครอบครัวรู้สึกสบายใจขึ้นมากอย่างน้อยก็ยังมีที่พึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2558 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยนั้นว่า มีรายงานว่า สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีนี้ได้เพิ่มเติม มีทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ขณะนี้ยังอยู่ในความควบคุมในต่างประเทศ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประสานงานของอัยการ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะเป็นคดีความมั่นคงและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ คดีระเบิดแยกราชประสงค์ หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมสองผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุระเบิดคือ อาเดม คาราดัก (บิลาล มูฮัมหมัด) และยูซูฟู เมียไรลี ผู้ต้องสงสัยทั้งสองคนเป็นชาวอุยกูร์ หลังจากที่ทั้ง 2 คน ถูกจับกุมคุมขังที่เรือนจำพิเศษภายในค่าย มทบ.11 ตามอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ฝั่งเจ้าหน้าที่ไทยเปิดเผยว่า ทั้งสองคนให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน โดยที่อาเดมถูกดำเนินคดีภายใต้ข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับกรณีระเบิดและเดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมายรวม 10 ข้อหา ส่วนยูซูฟูเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายและประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายโทรศัพท์ เขาถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับระเบิดร่วมกับอาเดมรวม 9 ข้อหา ซึ่งในวาระครบรอบเหตุการณ์ 2 ปี ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ ได้เผยแพร่รายงานความคืบหน้าและการตั้งข้อสังเกตต่อคดีนี้ เช่นประเด็นการสืบพยานที่ต้องรอล่ามแปลสามภาษาและความล่าช้าของการพิจารณาคดี ซึ่งล่าสุดศาลทหารกรุงเทพได้เริ่มสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 แล้ว แต่ยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะกลับมาสืบพยานปากดังกล่าวต่อในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 8.30 น. ขณะที่ฝ่ายอัยการทหาร ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน แสดงความจำนงต้องการสืบพยานทั้งสิ้นถึง 447 ปาก ทนายจำเลยคาดการณ์ว่า คดีนี้อาจจะไปเสร็จสิ้นในปี 2565 หรือใช้เวลาประมาณ 7 ปี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสทช. สั่งดีแทคปรับปรุงบริการ 'ไลน์โมบาย' เตือนไม่ปรับเจอมาตรการบังคับทางปกครอง Posted: 22 Nov 2017 02:10 AM PST กสทช.สั่งดีแทคปรับปรุงบริการไลน์โมบายให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของ กสทช. ทั้ง ลงทะเบียนซิมการ์ด ปรับพฤติกรรมให้ผู้บริโภคเข้าใจโดยชัดแจ้งว่า บริการไลน์ โมบายเป็นการให้บริการของดีแทค เตือนไม่ดำเนินการเจอมาตรการบังคับทางปกครองแก่บริษัทต่อไป 22 พ.ย.2560 สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิ กรณีการให้บริการไลน์ 2. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงการให้ 3. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการให้ ฐากร กล่าวว่า สำหรับผลการประชุม กสทช. ที่สำคัญในวันนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาแนวทางการจัดให้มีบริ แนวทางที่ 2 ดำเนินการตามขอบเขตงานและเงื่ 1 . เนื่องจากมาตรา 50 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2. ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการดิ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงาน: ‘แก้ กม.สิ่งแวดล้อม’ ยัดไส้ ม.44 เมื่ออีไอเอไม่มีความหมาย Posted: 22 Nov 2017 02:10 AM PST 14 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนจากทั้ง 4 ภาค เดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... เอาไว้ก่อน หากรัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง วันที่ 6 ธันวาคม พวกเขาจะกลับมาใหม่และปักหลักคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาล 21 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และส่งร่างให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการทักท้วงของเครือข่ายประชาชนฯ เบาหวิวเกินกว่าจะรับฟัง 'ประสิทธิ์ชัย หนูนวล' หนึ่งในเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวว่า สรุปได้ว่าแม้ทางประชาชนจะมีการทักท้วงและยื่นหนังสือถึง 3 รอบ แต่เสียงของประชาชนก็ไม่มีผล เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเป็นการเห็นชอบที่รวดเร็วมาก ทั้งที่ ครม. ยังมีเวลาถึงวันที่ 2 ธันวาคม สอดไส้ ม.44 ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เปิดช่องเดินหน้าโครงการโดยไม่ต้องมีอีไอเอประเด็นหลักที่ต้องหยุดกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อนคือปมเรื่องการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA) ที่นอกจากไม่พยายามยุติปัญหาความบกพร่องของกลไกการทำอีไอเอที่ดำเนินมาตลอด 25 ปี ตรงกันข้าม ร่างแก้ไขกลับลดธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมลง เปิดทางให้รัฐและเอกชนเดินหน้าโครงการไปก่อนโดยยังไม่ต้องทำอีไอเอ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อระบบการทำอีไอเอที่ภาคประชาชนเห็นว่าควรถูกยกเครื่องใหม่ เครือข่ายประชาชนฯ ยังเปิดโปงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังยัดไส้คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามคำสั่งที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ระบุว่า 'ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 'ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดําเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้' คำสั่ง คสช. ในย่อหน้าข้างต้นทั้งหมด (อาจ) แปรสภาพเป็นกฎหมายถาวร เมื่อมาตรา 50 วรรค 4 ของร่างกฎหมายของกฤษฎีกาที่ผ่าน ครม. เป็นการนำคำสั่งนี้ใส่ลงไป 'มาตรา 50 วรรค 4 ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่งเป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย หรือความมั่นคงทางพลังงาน ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้นได้' นอกจากนี้ มาตรา 48 วรรค 1 ของร่างกฎหมายฉบับกฤษฎีกายังระบุว่า 'ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 47 หรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใดที่มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการในประเภทและขนาด หรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันได้ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอาจประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการในทำนองเดียวกันถือปฏิบัติโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานกาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้' กฎหมายวรรคนี้ชัดเจนในตัวเองโดยไม่ต้องขยายความ ชาวบ้านยันอีไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาฯ ไม่ตรงกับความจริงในพื้นที่บ้านคลองประดู่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) วางแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ บนเนื้อที่ 2,850 ไร่ กำลังเป็นอีกเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับโครงการขนาดใหญ่ที่มีให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อปี เรียกว่าจับไปภูมิภาคไหนของประเทศไทยเป็นต้องเจอ โครงการพัฒนาใหญ่ๆ อย่างโรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก เขื่อน เหมือง โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ถ้าว่ากันตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จะต้องผ่านการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA) แต่กลับปรากฏข่าวคราวโครงการใหญ่ๆ ถูกต่อต้านและชาวบ้านไม่ยอมรับอีไอเอ เพราะนอกจากข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้ว การได้รายงานอีไอเอมาเพื่ออ่านก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ มิพักต้องพูดถึงว่าเนื้อหาที่อยู่ในรายงานไม่ได้เขียนขึ้นให้ชาวบ้านอ่านเข้าใจ "เรื่องอีไอเอ เขาก็ไม่ได้สำรวจอะไรนะผมว่า คือข้อมูลมันผิดพลาดตั้งแต่บอกว่าในคลองมีปลากระดี่ ที่จริงแล้วในคลองมันเป็นน้ำกร่อยกับน้ำเค็ม ปลาพวกนี้ไม่สามารถอยู่ได้ เขาบอกว่าทะเลร้าง ไม่มีปลา มีแค่ปลา 4 ชนิด ก็หมายความว่าเขาไม่ได้ศึกษาจริง เขาไม่ได้ลงมาศึกษาพื้นที่จริง "พื้นที่จริงอุดมสมบูรณ์ มีปลาเป็นร้อยชนิด ที่ไปถามเขาที่ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เขาบอกว่าข้อมูลผิดพลาดบางส่วน คือปลามีหลายชนิด แต่เขาก็แบ่งๆ ออกไป เราก็ไม่ได้ดูว่าเขาแบ่งกันยังไง แต่ที่ชัดเจน ที่เราเห็น คือเขาบอกว่าทะเลร้าง ไม่มีปลา มีแค่ 4 ชนิด เราจับติดเลยว่าเท็จแน่นอน แล้วในคลองที่มีป่าโกงกาง เขาบอกว่าไม่มีป่าโกงกาง มีแค่พันธุ์ไม้ 4 ชนิด ซึ่งมันขัดแย้งกับในพื้นที่ พื้นที่นี้เป็นป่าโกงกาง เป็นป่าสงวน พอเห็นที่เขาแก้มา เขาบอกว่าพื้นที่โรงไฟฟ้าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าโกงกาง มันก็ใช่ แต่มันอยู่ติดกับกำแพงของโรงไฟฟ้า ซึ่งมันปล่อยน้ำเสียลงในคลองป่าโกงกาง" ริมทะเลเทพา ณ ตือโละปาตานีหรืออ่าวปัตตานี 'มัธยม ชายเต็ม' บอกเล่าถึงการทำอีไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่เขาอยู่กิน เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ประกอบอาชีพประมงและเพาะปลูกเป็นหลัก มีเรือประมงพื้นบ้านเกือบ 300 ลำที่หากินบริเวณที่จะมีการก่อสร้างสะพานขนถ่านหินของโรงไฟฟ้า อีไอเอจึงกลายเป็นปมปัญหามาโดยตลอด แทนที่จะเป็นเครื่องปกป้องสิ่งแวดล้อม มันกลับเป็นตราประทับความชอบธรรมให้กับโครงการต่างๆ |
ชีวิตไม่ยอมสิ้นหนทางของประชากรข้ามชาติชายแดนไทย-พม่า (ตอนที่ 1) Posted: 22 Nov 2017 02:01 AM PST สนทนากับชุมชนชาวพม่าเชื้อสายมุสลิมที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งได้รับผลกระทบจากพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าวฯ ฉบับใหม่ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยกวดขันจับกุมพวกเขา ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่พม่าก็ไม่อำนวยความสะดวกในการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องติดอยู่ใจกลางปัญหาที่ยากจะหาทางออก ด้านผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแนะให้คำนึงสิทธิเด็กและไม่ผลักดันกลับ ขณะที่ทนายกฎหมายสัญชาติแนะแก้ไขพระราชกำหนดฯ ก่อนบังคับใช้ปีหน้า
พลันที่มีการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม) ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายหมื่นคนที่ไม่มีเอกสารติดตัวเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือถูกนายจ้างลอยแพ เพราะกลัวถูกดำเนินคดีตามโทษที่ระบุในกฎหมายใหม่ สภาพหวาดวิตกเช่นนี้ดำเนินไปสัปดาห์เศษ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (อ่านเพิ่มเติม) โดยมาตรการหนึ่งก็คือ ให้เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราในพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ จนกว่าจะถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 รวมทั้งเปิดช่องให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย จากการเก็บข้อมูลที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.แม่สอด จ.ตาก คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) พบว่า หลังบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน จนถึง 3 กรกฎาคม 2560 มีแรงงานจากพม่าเดินทางกลับที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ตรงข้ามเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่าแล้ว 27,000 ราย และหากนับจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ตัวเลขอาจสูงถึง 30,000 ราย รวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ซึ่งสังเกตการณ์การเดินทางกลับของแรงงานพม่าที่ด่านแม่สอด-เมียวดี หลังการบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ เปิดเผยว่าแรงงานที่เดินทางเพื่อข้ามแดนมีทุกเพศ ทุกวัย ส่วนมากเดินทางกลับเพราะกลัวผลกระทบจากการออกพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ นอกจากกระเป๋าเสื้อผ้าแล้ว พวกเขายังนำสิ่งของที่พอนำกลับไปได้ เช่น พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้า และบางคนก็มีนำสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นแมวกลับไปด้วย เท่าที่สอบถามมีทั้งผู้ที่ถือบัตรอนุญาตทำงานฯ แต่ไม่ได้ต่ออายุบัตร หรืออยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตทำงานตามช่องทาง MOU รวมทั้งผู้ที่ไม่มีเอกสารทำงาน ในจำนวนนี้มีบางรายที่เดินทางกลับ หลังจากนายจ้างบอกให้กลับภูมิลำเนาเพื่อให้กลับมาทำเอกสารให้ถูกต้อง และมีหลายรายที่เดินทางกลับเพราะญาติที่บ้านโทรศัพท์มาบอกให้รีบกลับหลังทราบข่าวว่าทางการไทยใช้กฎหมายฉบับใหม่ แรงงานที่เดินทางกลับหลายรายระบุว่าหลังจากทราบข่าวต้องการเดินทางกลับไปตั้งหลัก หรือดำเนินการเรื่องเอกสารให้เรียบร้อยแล้วกลับมาทำงานเมืองไทยใหม่ แต่ก็มีหลายรายบอกว่าจะไม่กลับมาแล้ว โดยจะกลับไปทำนาที่บ้าน บ้างก็ระบุว่าจะไปหางานทำในย่างกุ้ง ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวหลังพม่าเปิดประเทศ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้คนจำนวนมากที่แม้จะได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ แต่ก็ไม่คิดจะกลับไปอีก เพราะไม่อาจเรียกสิ่งที่เรียกว่า บ้านเกิด ได้อย่างเต็มปากอีกแล้ว 000000 ไม่ขอย้ายไปที่ไหนอีก: เสียงจากแรงงานชาวมุสลิมพม่าปลายเดือนสิงหาคม ถนนคอนกรีตคดเคี้ยวพาเรามุ่งสู่ชุมชนหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก บ้านเรือนมุงหลังคาสังกะสีสองข้างทาง ยกพื้นใต้ถุนพอให้พ้นน้ำขัง บ้างประกอบฝาเรือนด้วยแผ่นไม้ บ้างใช้สังกะสี บ้างใช้ผ้าใบพลาสติกปกคลุมพอกันฝน ที่นี่ถูกเรียกว่าชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศ โดยเป็น 1 ใน 6 ชุมชนย่อยของแรงงานเชื้อสายมุสลิมจากพม่าที่ตั้งอยู่ในชุมชนอิสลามบำรุง ในเมืองแม่สอด ชื่อของชุมชนแห่งนี้เรียกตามที่ตั้งซึ่งอยู่ข้างมัสยิดนูรู้ลอิสลาม 2 แต่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อมัสยิดบังกลาเทศ เนื่องจากเมื่อ 35 ปีที่แล้วมีชาวบังกลาเทศมาค้าขายที่แม่สอดและได้บริจาคที่ดินส่วนหนึ่งในการสร้างมัสยิดเพื่อเป็นสถานที่ละหมาดของชาวมุสลิมในชุมชนและสร้างห้องแถวให้ชาวบ้านเช่า ประชากรในชุมชนเริ่มแรกเป็นชาวพม่ามุสลิมที่อพยพมาจากบ้านวังผา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ชายแดนไทย-พม่าตรงแม่น้ำเมย ซึ่งมีการสู้รบบ่อยครั้ง ต่อมาเริ่มมีชาวพม่ามุสลิมอพยพมาอยู่มากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดในชุมชนอิสลามบำรุง ข้อมูลจาก องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ระบุว่าจากการสำรวจช่วงเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอน พบว่าชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศมีครัวเรือนทั้งสิ้น 280 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 1,526 คน ในจำนวนนี้มีเด็ก 775 คน เราเดินไปตามถนนคอนกรีตผ่านบ้านเรือนหลายหลัง จนมาหยุดอยู่กลางลานกว้างที่คนนำทางอธิบายว่าเคยเป็นที่พักอาศัยของแรงงานเชื้อสายมุสลิมจากพม่า 23 ครัวเรือน แต่ปัจจุบันได้ปลาสนาการไปเกือบสิ้น เหลือเพียง 3 ครอบครัวที่อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิต หน่ายวิน อายุ 40 ปี ชาวพม่ามุสลิมจากย่างกุ้ง ซึ่งในบัตรประชาชนพม่าระบุว่าเขามีเชื้อสายสุระตี อันหมายถึงผู้คนที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากรัฐคุชราต รัฐบ้านเกิดของมหาตมะ คานธี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอินเดียติดกับปากีสถาน ที่ในบัตรประชาชนพม่ายังคงระบุเช่นนี้เพราะนโยบายของรัฐบาลพม่ายังยึดการจำแนกเชื้อชาติของประชากรตามต้นกำเนิดของบรรพบุรุษ ไม่ว่าครอบครัวของเขาจะย้ายถิ่นฐานมากี่ชั่วคนแล้วก็ตาม นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อประชากรที่ไม่ได้มีเชื้อชาติพม่าอย่างถึงราก หน่ายวิน เล่าว่า เขาจากบ้านเกิดที่ย่างกุ้งมาอยู่ที่ชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศได้สิบกว่าปีแล้ว โดยเขาเคยมีบัตรอนุญาตทำงานจากนายจ้างคนเก่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระเบียบขั้นตอนที่ยุ่งยาก เมื่อเขาเปลี่ยนงานก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อนายจ้างตามที่ระบุในบัตร และหากบัตรอนุญาตทำงานของเขาหมดอายุ การต่ออายุบัตรก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทางการพม่าไม่ออกเอกสารรับรองบุคคลหรือ CI ให้กับประชากรพม่าเชื้อสายมุสลิม งานปัจจุบันของหน่ายวิน คือการปั่นสามล้อตระเวนเก็บของเก่าและรับจ้างทั่วไปตามแต่จะมีคนจ้าง "ถ้ามีคนจ้างยกของ ย้ายบ้าน ก็จะไปรับจ้างรายครั้ง รายได้ไม่มีทุกวัน" เขากล่าว โดยเมื่อรวบรวมสิ่งของได้มากพอเขาจะนำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่าของเถ้าแก่ โดยขายของเก่าได้ครั้งละ 400-500 บาท เมื่อคิดคำนวณรายได้แต่ละเดือนจึงไม่แน่นอน ตกราว 3,000-4,000 บาท หรือน้อยกว่านั้น โดยเขาต้องเลี้ยงดูภรรยาคือ ปัทมะจี วัย 33 ปี ที่คอยดูแลลูกๆ และไม่ได้ออกไปทำงานที่ไหนเนื่องจากไม่มีบัตรไม่มีสถานะใดๆ สองสามีภรรยามีลูก 4 คน เลี้ยงลูกเอง 3 คน ได้แก่ ไฟซาล ลูกชายคนโต อายุ 12 ปี และเหม่าง์ลินลิน ลูกชายคนที่ 3 อายุ 8 ปี ทั้งคู่เรียนอยู่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด โดยเรียนชั้น ป.3 และชั้นอนุบาล 3 ตามลำดับ ส่วนลูกชายคนสุดท้องคือดูวามิยะ อายุ 2 ขวบ ปัทมาจีเป็นคนเลี้ยง ขณะที่มาลินี ลูกสาวคนที่ 2 อายุ 10 ปี ซึ่งเรียนอยู่ชั้น ป.1 แล้วแต่สุขภาพไม่แข็งแรงทั้งคู่เลยฝากฝังให้ญาติที่ฝั่งพม่าช่วยเลี้ยง อย่างไรก็ตาม สภาพครอบครัวที่ต้องกระเสือกกระสนอยู่แล้วต้องลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ โดยในเวลาเช้ามืดวันหนึ่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ทหารและตำรวจได้เข้าล้อมจับกุมแรงงานพม่าเชื้อสายมุสลิมที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ บ้างถูกส่งกลับฝั่งพม่า บ้างถูกปล่อยตัวและขอกลับมาอยู่ที่ชุมชนต่อเพราะไม่รู้จะไปที่ไหนอีก กรณีของครอบครัวหน่ายวินและปัทมะจี ตำรวจปล่อยตัวหน่ายวินเพราะมีบัตรอนุญาตทำงานฯ แต่ควบคุมตัวภรรยาและลูกเอาไว้ จนเขาต้องไปขอครูที่โรงเรียนประถมของลูกๆ มาช่วยพูดคุยให้ว่าเด็กๆ ที่ถูกจับเป็นนักเรียนที่โรงเรียน ส่วนภรรยาของเขาก็เป็นผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเลยยอมปล่อย แม้จะเป็นอิสระจากกรงขังในที่สุด แต่หลังจากนั้น เจ้าของที่ดินก็ยื่นคำขาดกับคนที่เช่าปลูกบ้านในละแวกนี้ว่าขอให้ย้ายออกภายในเดือนกันยายน เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาอีกแล้ว หลังมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเข้ามาในพื้นที่บ่อยมาก โดยหน่ายวินบอกว่าปกติทุกๆ เดือนก็มีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเข้ามาตรวจตราความเรียบร้อยในชุมชนอยู่แล้ว แต่เมื่อเจ้าของที่ดินต้องการให้ย้าย เดือนหน้าเขาคงย้ายเรือนไปปลูกในที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหม่ อย่างไรก็ตาม ชุมชนที่อยู่ละแวกนี้คงกระจัดกระจายเนื่องจากเจ้าของที่ดินใหม่รับให้คนมาเช่าอยู่เพียงแค่ 10 ครอบครัวเท่านั้น ปัทมะจีบอกว่านั่งคิดกังวลอยู่ตลอดเวลาถึงเรื่องที่จะต้องย้ายออก และเนื่องจากอยู่ในช่วงที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้มงวดกวดขันต่อแรงงานข้ามชาติ หน่ายวินเองก็ไม่กล้าออกไปเก็บของเก่าไกลๆ ทำให้ครอบครัวของพวกเขาขาดรายได้ไปจากที่เคยได้ ดังนั้นพวกเขาจึงให้ลูกๆ ที่ไปโรงเรียนหยุดเรียนชั่วคราว อย่างไรก็ตาม พวกเขาตัดสินใจว่าจะไม่กลับพม่า เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนมุสลิมในพม่าไม่สู้ดีนัก และหากกลับพม่า ลูกๆ ก็คงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนอย่างที่อยู่ในเมืองไทย ภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง: ประชากรย้ายถิ่นจากรัฐฉานและนโยบายสัญชาติ หลังใช้ ม.44 ยังไม่ชัดเจนว่าจะหยุดการไหลกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่ เด็กเคลื่อนย้าย: ผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กรณีที่ลูกๆ ของหน่ายวิน ต้องหยุดเรียนกลางคัน ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายกรณีของ 'เด็กเคลื่อนย้าย' หรือประชากรเด็กข้ามชาติและไร้สัญชาติใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ตัวเลขในเดือนสิงหาคม 2560 ของสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดตาก ระบุว่ามีประชากรเด็กข้ามชาติอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 18 ปี อยู่ที่ 71,690 คน และเมื่อรวมพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนของ จ.ตาก ได้แก่ อ.แม่ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง จะมีจำนวนเด็กข้ามชาติรวม 2.1 แสนคน เครือข่ายคุ้มครองเด็กอำเภอแม่สอด (Child Protection Network Mae Sot-CPN) ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก แสดงข้อห่วงใยว่าหากไม่มีกลไกคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้าย ก็จะทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงต่อความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบต่างๆ ความเสี่ยงด้านสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค การตกอยู่ในสถานการณ์ที่เด็กถูกแสวงประโยชน์และการค้ามนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนย้ำสิทธิเด็กต้องไม่กักตัวเด็กและไม่ผลักดันกลับ
ต่อประเด็นการควบคุมตัวเด็กๆ ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า ต่อเรื่องนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายและนโยบายที่เอื้ออยู่แล้วที่น่าจะใช้เป็นแนวปฏิบัติคือ หนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก สอง พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดี โดยทางเลือกจากกฎหมายนี้ก็คือ หนึ่ง ต้องไม่กักตัวเด็ก สอง ต้องไม่ผลักดันกลับ จนกว่าจะหาวิธีที่ดีกว่าได้อย่างชัดเจน สาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับช่วงด้วยกัน เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เอ็นจีโอที่เกี่ยวข้อง หรือเครือข่ายแรงงานที่เอื้อเฟื้อในเรื่องนี้ นี่คือลู่ทางที่น่าจะเป็นไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสวัสดิการ ไม่ใช่เรื่องคนเข้าเมือง แต่ทั้งหมดนี้ถูกกระทบโดยพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ซึ่งมาแทน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ที่มีการชะลอไว้ก่อน ยังไม่บังคับใช้เต็มที่ก็เป็นแนวทางที่ดี แต่ตัวพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ เปลี่ยนโฉมของนโยบายและกฎหมายพอสมควรซึ่งก่อให้เกิดข้อท้าทาย ทั้งนี้กฎหมายฉบับใหม่ค่อนข้างจะเข้มงวดในการลงโทษฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้จัดการหางาน นายจ้าง นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีกรอบการลงโทษอย่างหนักหนา รวมทั้งลงโทษลูกจ้างด้วย "เพราะฉะนั้นมีข้อฝากคิดว่าในเรื่องการบริหารจัดการต้องมีอะไรชั่วคราวทีละขั้นเสียก่อน ไม่อย่างนั้นทุกคนอาจจะเป็นคนผิดไปหมด กลายเป็นว่าอาจจะไปผลักดันกลับคนที่บริสุทธิ์ รวมทั้งตัวเด็กที่น่าจะได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ" วิทิต ซึ่งเป็นอดีตผู้รายงานพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) กล่าว วิทิตเสนอให้พิจารณานโยบายด้านการศึกษาของไทยที่เปิดกว้างและไม่ควรได้รับผลกระทบจากการตีความในการใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ว่า ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรีปี 2548 ที่รับรองสิทธิให้ใครก็ตามไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไม่ ทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาได้อย่างไม่มีค่าใช้จ่าย และนโยบายนี้ไม่ได้เอื้อเฉพาะโรงเรียนของรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้โรงเรียนพิเศษ ที่อาจจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย ที่สอนภาษาอื่นด้วยรวมทั้งภาษาพม่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีในการเคารพวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเป็นช่องทางที่เราน่าจะใจกว้างและเปิดลู่ทางให้เอื้อต่อทั้งโรงเรียนที่เป็นทางการและโรงเรียนที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่ควรได้รับผลกระทบโดยการตีความพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ทั้งนี้ต้องคำนึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก และยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเด็ก และการคุ้มครองเด็กทุกคน โดยยึดเรื่องความจำเป็นพื้นฐานและสิทธิพื้นฐาน "ที่เชิญชวนให้มองก็คือให้มองครบวงจร อย่ามองกฎหมายและนโยบายหนึ่งอย่างเท่านั้น เราก็เคารพนโยบายกฎหมายว่าด้วยแรงงาน แต่สิ่งนี้ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ต้องมองกฎหมายและนโยบายแรงงานในกรอบที่กว้างกว่านั้น จริงๆ เรามีพันธกรณีภายใต้ภาคีอนุสัญญาสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นข้อตกลงสากล คือต้องมองแบบรวมและกว้าง คือต้องมองกฎหมายและนโยบายว่าด้วยเด็กโดยทั่วไปด้วย รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง" ศาสตราจารย์กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนย้ำ ทนายกฎหมายสัญชาติแนะแก้ไขพระราชกำหนดฯ ก่อนบังคับใช้ใหม่ปีหน้า
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี (SAW) กล่าวถึง กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร เข้าไปจับกุมชาวบ้านในชุมชนข้างมัสยิดบังกลาเทศหลังประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ว่า เท่าที่เข้าไปดูในชุมชน พบว่าชาวบ้านหลายคนอยู่มานานแล้ว เป็นชนกลุ่มน้อยหนีความยากลำบาก หนีความตายมา ที่สำคัญพบว่าเป็นชาวพม่าเชื้อสายมุสลิม ซึ่งที่ผ่านมามีการละเมิดโดยรัฐบาลพม่า ทำให้เขาหลบหนีมา จึงต้องถือว่าเขาหนีจากภัยสงครามมา ต้องมองว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย เมื่อเป็นผู้ลี้ภัยต้องให้เขาอยู่ชั่วคราวได้และดำเนินการดูแลแบบผู้ลี้ภัย สุรพงษ์เสนอวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ว่าต้องมองตามความเป็นจริง จะมองผู้ลี้ภัยเป็นแรงงานข้ามชาติไม่ได้ เพราะที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน แรงงานข้ามชาติเข้ามาเมืองไทยเพื่อทำงาน และสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ แต่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาเพื่อทำงาน แต่หนีความตายมา "งานมีหรือไม่ ไม่รู้ แต่หนีมาตายดาบหน้า และเพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตรอดเขาจึงต้องไปทำงาน งานเป็นเรื่องทีหลัง งานไม่ใช่เป็นเรื่องแรก มูลเหตุจูงใจที่เข้ามาประเทศไทยไม่ได้มาเพื่อทำงาน" สุรพงษ์เน้นย้ำว่า เพราะคนในชุมชนแห่งนี้มีที่มาคนละกลุ่ม ดังนั้นจึงต้องดำเนินการต่างออกไป การดำเนินการแบบผิดฝาผิดตัวจะทำให้เกิดปัญหา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่จะเกิดกับพวกเขาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของสังคมไทยด้วย เพราะไปจับกุมแล้วส่งกลับ เขาอยู่ฝั่งพม่าไม่ได้ก็กลับมาประเทศไทยใหม่ เสียเวลาเจ้าหน้าที่ไล่จับ ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ส่วนปัญหาของพระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 นั้น สุรพงษ์เห็นว่ามีบทกำหนดโทษสูงเกินจริง ทั้งที่โทษตามกฎหมายต้องเขียนให้เหมาะสม ทั้งนี้การออกกฎหมาย หากกำหนดโทษน้อยเกินไปคนไม่เกรงกลัว โทษมากเกินไปคนแตกตื่น กรณีที่เกิดขึ้นคือโทษมากเกินไป การกำหนดโทษที่สมควรคือมีสัดส่วนที่พอดีกันระหว่างโทษจำคุกกับโทษปรับ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากฎหมายจำนวนมากจะเขียนเลยว่าโทษจำคุกไม่เกินกี่ปีหรือปรับไม่เกินกี่บาท จะกำหนดเคียงคู่กันได้สัดส่วน ขณะที่โทษของนายจ้างกับลูกจ้างก็ต้องกำหนดให้เหมาะสม หลักการก็คือ นายจ้างเป็นผู้ควบคุมดูแลลูกจ้าง ถ้าเกิดการจ้างงานผิดกฎหมาย นายจ้างต้องรับผิดมากกว่าลูกจ้าง เหมือนกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขับรถ ผู้ควบคุมรถอาจคาดเข็มขัด แต่คนนั่งด้วยไม่คาดเข็มขัด ปรากฏว่าแทนที่จะปรับคนที่ไม่คาดเข็มขัด กฎหมายปรับคนขับรถมากกว่าเพราะถือเป็นผู้ควบคุมรถ "เรื่องของการทำงานก็เช่นเดียวกัน นายจ้างต้องมีโทษมากกว่าลูกจ้าง ปรากฏว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ลูกจ้างมีโทษจำคุก แต่นายจ้างไม่มีโทษจำคุกเลย มีแต่โทษปรับ ซึ่งสิ่งนี้ผิดหลักการกฎหมายแล้ว หรือปัจจุบันนี้นายจ้างโดนปรับมหาศาล แต่ไม่มีโทษจำคุกเลย โทษปรับต้องลดลงมาให้เหมาะสม โทษจำคุกต้องปรับลงมาให้ได้สัดส่วน" ข้อเสนอต่อพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ที่ชะลอการใช้นั้น สุรพงษ์เสนอว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องแก้ไขส่วนที่ใช้แล้วเกิดปัญหา ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ใช่ชะลอการใช้แต่พอถึงสิ้นปีก็ใช้กฎหมายเหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก จึงควรถือโอกาสในช่วงนี้พิจารณาแก้ไข เพื่อให้มีกฎหมายใช้บังคับที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและสามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่ออกกฎหมายมาแล้วสร้างปัญหา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชี้ ‘ท้องถิ่นจับมือ รพ.’ ปัจจัยความสำเร็จดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ฯ Posted: 22 Nov 2017 12:35 AM PST เลขาธิการ สปสช. ระบุ 2 ปีที่ผ่านมาและปีงบฯ 61 นี้ มีการพัฒนาและทดลองในบางพื้นที่ มีทั้งทำได้ดีและติดปัญหาบางอย่าง ย้ำต้องพัฒนาต่อไป แต่เห็นว่าท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นฐาน ตอบโจทย์สังคมไทยได้ สอดคล้องกับบริบทในพื้น 22 พ.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ อบต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุ สุวรรณี นิยมจิต พยาบาลวิชาชีพ รพ.คีรีรัฐนิคม กล่าวว่า ความสำเร็จของการดูแลผู้สูงอายุ ธีรนันต์ ปราบราย ปลัด อบต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ อบต.บ้านทำเนียบดูแลผู้สูงอายุ ธัญญาทิพ สุขปาน พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ รพ.สต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตี "ถือว่าประสบความสำเร็จ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเปลี่ยนจากผู้ป่วยติดเตี นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุ "ท่านรัฐมนตรีว่ เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ในส่วน 2 ปีที่ผ่านมาและปีงบประมาณ 2561 นี้ เป็นปีที่ 3 ก็มีการพัฒนาและทดลองดำเนิ ด้าน พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธาน อปสข.เขต 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนิ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน LTC ในเขต 11 ที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด (ชุมพร, ระนอง, กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และภูเก็ต) มีกองทุนหลักประกันสุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ถอดบทเรียนน้ำท่วม กทม.60 นักวิจัย สกว. ชี้ สาเหตุหลักจากปัญหาท่อระบายน้ำ Posted: 21 Nov 2017 10:39 PM PST นักวิจัย สกว. ถอดบทเรียนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชี้ สาเหตุน้ำท่วมในปี้นี้ เพราะปัญหาจากท่อระบายน้ำ แนะ กทม.ทบทวนมาตรการลอกท่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเสนอเสริมท่อทางด่วนต่อตรงถึงคลองเพิ่มทางเดินน้ำ สุจริต คูณธนกุลวงศ์ รองศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัย สกว. 22 พ.ย.2560 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ หลังฝนถล่มเกิดน้ำท่วมขังในพื้น การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สกว. ได้เสนอข้อมูลจาก สุจริต คูณธนกุลวงศ์ รองศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัย สกว. โดย สุจริต กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯในปีนี้ "จากที่ได้ดูข้อมูลระดับน้ำในคลอ สุจริต กล่าวว่า อาจเพราะไม่มีการขุดลอกท่อระบาย สุจริต ยังได้แนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำ ซึ่งแนวทางนี้ นักวิจัย สกว. ระบุว่า แม้จะไม่ได้เป็นกา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นิธิ เอียวศรีวงศ์: คุณค่าอื่นนอกจากรบไม่ขลาด (1) Posted: 21 Nov 2017 05:56 PM PST การที่คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกดำเนินคดีหมิ่นสมเด็จพระนเรศวร นอกจากสะท้อนปัญหาในการมีและ/หรือการใช้ม.112 แล้ว ผมคิดว่ายังมีปัญหาความลักลั่นในเรื่องที่สำคัญไม่น้อยอีกสามเรื่อง คือการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในเมืองไทยหนึ่ง คติเกี่ยวกับวีรบุรุษของไทยหนึ่ง และชาตินิยมไทยอีกหนึ่ง หวังว่าผมจะสามารถอธิบายปัญหาลักลั่นเหล่านี้ให้เข้าใจได้ ขอเริ่มจากเรื่องง่ายสุดก่อน คือปัญหาที่มาจากการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยในเมืองไทย นับตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบตะวันตกในเมืองไทย ก็ดูเหมือนนักประวัติศาสตร์จะให้ความสำคัญแก่การสงครามมาแต่ต้น สงครามมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของทุกประเทศจริง เพราะสงครามสะท้อนอะไรอื่นอีกหลายอย่างเช่นระดับเทคโนโลยี, สังคม, เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเมือง ฯลฯ แต่นักประวัติศาสตร์ไทยสนใจสงครามอยู่เรื่องเดียวคือการรบ และใครแผ่อำนาจไปถึงไหนได้บ้าง เนื้อหาสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่โบราณมาจนถึงรัชกาลที่ 4 จึงเป็นสงครามตลอด น่าเบื่อเข้าไส้แก่ทุกคน เพราะมองไม่เห็นว่าสงครามโบราณเหล่านั้นจะช่วยให้เข้าใจชีวิตจริงในอดีตหรือปัจจุบันได้อย่างไร ซ้ำร้ายยังช่วยส่งเสริมบทบาทครอบงำทางการเมืองของกองทัพเสียอีก คนไทยจำนวนมากยอมรับทันทีเมื่อกองทัพบอกว่าตนคือแนวหน้าในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะเขาถูกประวัติศาสตร์สอนมาว่า ชาติคือการรบ และเมื่อจะรบกันแล้ว ใครจะไปสำคัญกว่ากองทัพเล่าครับ แต่หากชาติมีความหมายมากกว่าการรบ เช่นศาลซึ่งอ้างว่าพิพากษาในพระปรมาภิไธยมีความยุติธรรม โปร่งใสจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างแท้จริง นั่นคือการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พระบรมเดชานุภาพ ในฐานะสัญลักษณ์อธิปไตยของปวงชน ซึ่งทหารไม่เกี่ยว ที่ผมสงสัยก็คือ เอ๊ะ นักประวัติศาสตร์สมบูรณาญา¬สิทธิราชย์ไม่น่าจะตั้งใจศึกษาเพื่อส่งเสริมอำนาจทางการเมืองของกองทัพ (แม่ทัพเก่งๆ นั้นเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์ทั้งในเมืองไทย และในรัฐอื่นๆ ทั่วโลก) เหตุใดจึงต้องเน้นเรื่องการสงคราม ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้หรอกครับ แต่พยายามจะเดาอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่สุดได้ว่า สงครามคือการขยายอำนาจ การขยายอำนาจคือการแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นประเทศราช ซึ่งกำลังถูกพรากออกไปด้วยอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าของฝรั่ง แม้ว่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยสงครามอาจเอื้อต่อการครอบงำทางการเมืองของทหาร แต่เนื้อหาประวัติศาสตร์แบบนี้ก็ทำอันตรายแก่ทหารอย่างมากเหมือนกัน ประวัติศาสตร์สงคราม (อันเป็นวิชาบังคับของโรงเรียนทหารทั่วโลก) ที่สอนในโรงเรียนทหารไทยนั้น กลายเป็นประวัติศาสตร์สงครามที่ตื้นเขิน เพราะประกอบด้วยศาสตร์ของการรบต่างๆ เช่นเทคโนโลยี, กำลังคน, ผู้นำทัพ, ยุทธวิธี (มากกว่ายุทธศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะเป้าหมายของสงครามนั้นย่อมกว้างใหญ่ไพศาลกว่าการรบ เช่นชิงเมืองท่าของข้าศึกเพื่อกีดกันการค้ามิให้มาแข่งขันได้ เช่นที่อยุธยาเคยทำแก่จตุรพักตร์หรือพนมเปญ และหงสาวดีทำแก่เมืองท่าฝั่งตะวันตกของอยุธยา และส่วนนี้แหละที่ประวัติศาสตร์สงครามแบบไทยไม่ได้สอน) สงครามก็เหมือนกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ของมนุษย์ เช่นการปกครอง, การปฏิบัติศาสนา, การค้าขาย, การขนส่ง ไปจนถึงการเลือกคู่ และการทำมาหากิน กล่าวคือไม่ใช่อากัปกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่โดดๆ แต่เป็นการกระทำที่เชื่อมโยงไปถึงด้านอื่นๆ เกือบทุกด้านของสังคม ถ้าเราย่นย่อประวัติศาสตร์สงครามให้เหลือเพียงมิติเดียวคือการรบ เรากำลังสอนเทวปกรณัมที่เทวดาองค์ต่างๆ ทำสงครามกันเท่านั้น ไม่สามารถสร้างนายทหารที่รบเป็นขึ้นมาได้ ไม่พักต้องพูดถึงแม่ทัพใหญ่ที่สามารถนำชัยชนะมาสู่กองทัพได้ ภาษิตอังกฤษบทหนึ่งมีว่า ใครที่มีค้อนย่อมมองทุกอย่างเป็นตะปูไปหมด นั่นคือเหตุผลว่า เพราะเราสอนประวัติศาสตร์กันแบบนี้ นายทหารไทยจึงเป็นแค่คนถือค้อน ผมขอยกตัวอย่างจากกรณีสมเด็จพระนเรศวรนี่แหละครับ ไม่ว่าพระนเรศวรจะได้ทรงทำยุทธหัตถีหรือไม่ หรือทรงทำในลักษณาการใด พระนเรศวรก็เป็นกษัตริย์ที่สำคัญพระองค์หนึ่งของอยุธยาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะทรงมีพระชนมชีพในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของราชอาณาจักรอยุธยา ในช่วงเวลาที่อยุธยาอาจพัฒนาไปเป็นราชอาณาจักรขนาดใหญ่ หรือถอยกลับไปเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย (principalities) เหมือนรัฐไทยอื่นๆ เช่นล้านช้าง, ล้านนา, รัฐชานในพม่า, รัฐไทในสิบสองจุไท, ฯลฯ และเป็นเพราะสมเด็จพระนเรศวรนี่แหละที่ทำให้อยุธยาไม่มีวันถอยกลับไปเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยได้อีกแม้ว่ากษัตริย์ก่อนหน้าสมเด็จพระนเรศวรพยายามสร้างราชอาณาจักรขนาดใหญ่ โดยการปราบปรามหรือผนวกแคว้นเล็กแคว้นน้อยมาไว้ในอำนาจ แต่แว่นแคว้นที่ขึ้นอยุธยาไม่เคยประสานกันได้สนิท การเสียกรุงแก่พระเจ้าบุเรงนองเป็นพยานให้เห็นว่าหัวเมืองเหนือหรือแคว้นสุโขทัยเดิม พร้อมจะแยกตัวกลับไปเป็นรัฐอิสระ (ที่อาจเปลี่ยนนายได้ตามจังหวะ) ในช่วงที่อยุธยาตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีภายใต้รัชกาลพระมหาธรรมราชา ไม่เฉพาะละแวกเท่านั้นที่ยกกำลังมาโจมตีกวาดต้อนผู้คนถึงอยุธยา แต่หัวเมืองในเขตที่เคยขึ้นต่ออยุธยาเองก็ทำอย่างเดียวกัน เช่นเพชรบุรี, ญาณพิเชียรได้กำลังคนจากลพบุรีก่อกบฏ และเจ้าเมืองพิชัยและสวรรคโลกเลือกจะขึ้นหงสาวดีแทนอยุธยา (นี่ว่าเฉพาะเท่าที่มีหลักฐานบอกให้รู้ได้) นี่คืออาการล่มสลายของราชอาณาจักรใหญ่ของพวกไทย-ลาวซึ่งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่สมเด็จพระนเรศวรสามารถหยุดยั้งกระบวนการนี้ได้ ซ้ำเสริมสร้างให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม มหายุทธนาการที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐต่างๆ ในช่วงนี้ เป็นไปได้ก็เพราะความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งมีผลต่อเทคโนโลยีทางทหาร สรุปได้สามอย่างคือ หนึ่งปืนไฟ (ทั้งปืนใหญ่และปืนประจำกายทหาร) ซึ่งฝรั่งพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีจีน สองทหารจ้าง ซึ่งกลายเป็นกำลังหลัก (elite force) ของกองทัพ ทหารจ้างเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญ¬การรบยิ่งกว่าทหารเกณฑ์ในกองทัพชาวพื้นเมือง เพราะวิถีชีวิตในวัฒนธรรมหรืออาชีพก็ตาม และสามคือความสามารถที่จะเกณฑ์ช้างและม้าและผู้คนจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเพื่อใช้ในการสงครามได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเต็มที่ ทรงเสริมสร้างให้กำลังทหารและกำลังการบริหารของอยุธยาแข็งแกร่งเหนือหัวเมืองทั้งหมดอย่างเทียบกันไม่ได้ ปราศจากพลังกดดันอย่างใหญ่จากอำนาจภายนอก ก็ยากที่ราชอาณาจักรอยุธยาจะแตกสลายลงได้ ทรงกวาดต้อนผู้คนในแคว้นสุโขทัยเดิมลงมาไว้ในภาคกลางภายใต้อยุธยา เพื่อรวบรวมกำลังในการป้องกันตนเองจากทัพหงสาวดี ทำให้รอยแยกระหว่างสุโขทัยและอยุธยาสลายไปหมดในทางปฏิบัติ การเมืองเรื่องแย่งอำนาจระหว่างราชวงศ์ที่ครองอยุธยากับราชวงศ์ท้องถิ่น ต้องย้ายมาอยู่ในราชสำนักอยุธยาเพียงจุดเดียว การเอาคนที่ยังวางใจสนิทไม่ได้จำนวนมากมาไว้ใกล้ตัว ด้านหนึ่งก็ทำให้ควบคุมได้ง่าย แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจก่ออันตรายให้แก่ตนเองได้ง่ายด้วย กวาดต้อนจึงไม่ใช่แค่เรื่องใช้กำลังทหาร แต่ต้องใช้วิธีอื่นๆ อีกมากที่จะทำให้ภัยใกล้ตัวไม่เกิดขึ้น สงครามจึงไม่ใช่เรื่องการรบอย่างเดียวดังที่สอนกันในโรงเรียนทหาร มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ทหารไม่ชำนาญอีกมาก ที่จะทำให้กองทัพประสบชัยชนะได้ การที่ทรงยกทัพไปปราบหัวเมืองใกล้เคียงและทำสงครามกับหงสาวดีเกือบตลอดรัชกาล ทำให้กองทัพจากส่วนกลางเหยียบย่ำไปทั่วพระราชอาณาจักร สะกดหัวเมืองให้สยบยอมต่ออยุธยาสืบต่อมาอีก 200 ปี ก็เป็นผลให้อยุธยาเข้มแข็งขึ้นและใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เหนือหัวเมืองทั้งหมดได้อย่างมั่นคง จริงอยู่ กษัตริย์นักรบที่ทำสงครามตลอดรัชกาลย่อมนำบ้านเมืองสู่หายนะ (อย่างเช่นกษัตริย์ราชวงศ์ตองอูระยะแรก ราชอาณาจักรอันไพศาลล่มสลายลงในพริบตาเมื่อสิ้นพระเจ้าบุเรงนอง) แต่ก็บังเกิดผลในระยะยาว หากผู้นำต่อๆ มารู้จักใช้ประโยชน์จากอำนาจครอบงำที่เกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์ เช่นสร้างระบบปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางยิ่งขึ้น แต่สงครามขยายดินแดนอย่างเดียวไม่มีความหมายมากนัก ว่ากันที่จริงแล้ว การสถาปนาตนเองเป็น"มหาจักรพรรดิ"ตามคติของพุทธศาสนาเถรวาทสายลังกา ทำให้พระเจ้าบุเรงนองก็ตาม สมเด็จพระนเรศวรก็ตาม ต่างขยายดินแดนออกไปเกินกำลังทางเศรษฐกิจ, การเมืองทั้งภายในและต่างประเทศ, และสังคม,ของหงสาวดีและอยุธยาเอง เมื่อสิ้นรัชกาล ทั้งสองรัฐก็ไม่สามารถรักษาการครอบงำของตนไว้เหนือดินแดนส่วนใหญ่นอกเขตแกนกลางได้มากนัก นี่ไงครับ การรบอย่างเดียวอธิบายประวัติศาสตร์สงครามไม่ได้ สงครามคืออะไรที่มากกว่าการรบเสมอ ซ้ำสำคัญกว่าการรบเสียด้วยซ้ำ(ความเข้าใจประวัติศาสตร์อยุธยาตอนนี้ของผมคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่อาศัยความรู้และข้อมูลจากหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาที่ดีที่สุดในทุกภาษาของโลก คือ A History of Ayutthaya ของอาจารย์คริส เบเคอร์และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร น่ายินดีที่หนังสือเล่มนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิมพ์ออกเป็นภาษาไทย) แต่ความสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรที่เรียนและสอนกันในประวัติศาสตร์ไทย เหลืออยู่แค่เรื่องชนช้าง จนทหารบางคนเดือดร้อนที่มีคนพูดว่าท่านไม่ได้ชนช้าง ต้องไปฟ้องร้องให้เป็นคดีความว่าหมิ่นพระนเรศวร ซึ่งไม่รู้ว่าผิดกฏหมายข้อไหน (กลับไปอ่าน ม.112 ให้ดี ไม่ว่าจะยืดความหมายอย่างไร ก็คลุมไม่ถึงพระนเรศวรอยู่นั่นเอง) ในแง่นี้แหละที่ผมเห็นว่าพระนเรศวรทรงเป็นพระมหากษัตริย์อยุธยาที่อาภัพที่สุดพระองค์หนึ่ง บางคนพูดว่า พระนเรศวรไม่ได้กู้ชาติ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีชาติให้กู้ ฟังดูเหมือนเป็นการเล่นคำสนุก แต่ที่จริงแล้วมีความสำคัญมาก เพราะชาติไม่ได้หมายถึงดินแดนหรือบุรณภาพทางดินแดน เมื่อชาติไทยหรือสยามถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่แล้ว ก็หาได้มีดินแดนตรงกับดินแดนราชอาณาจักรอยุธยาสมัยพระนเรศวรไม่ เราอาจพูดอย่างนี้ได้กับแทบทุกชาติในโลกเวลานี้ คือหาได้มีดินแดนตรงกับสมัยที่ยังไม่เกิดชาติขึ้นทั้งสิ้น ชาติเป็นหน่วยการเมืองการปกครองอันแรกที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ทั้งจากการกดขี่บีฑาของอำนาจภายนอกและของอำนาจภายใน ชาติไทยพยายามทำอย่างนี้ให้ได้อย่างน้อยก็โดยทฤษฎีนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ไม่ว่าดินแดนของชาติจะเหลืออยู่เท่าไร หรือขยายออกไปอีกสักเท่าไร หลักการพื้นฐานของความเป็นชาติดังกล่าวต้องดำรงอยู่ ความสิ้นชาติจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราละทิ้งหลักการพื้นฐานดังกล่าวไปสิ้นเชิงนั่นเอง เพราะไปสอนและเรียนประวัติศาสตร์มาอย่างผิดๆ นี่แหละ ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยไปเข้าใจว่าชาติคือดินแดน แล้วปล่อยปละละเลยให้พี่น้องร่วมชาติถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างหนัก ในนามของการรักษาดินแดนไว้ให้ได้ทุกตารางนิ้ว พระนเรศวรนั้นเป็นวีรบุรุษของอยุธยาแน่ ขนาดคนสมัยนั้นสร้างพระรูป (เข้าใจว่าพระพุทธรูปฉลองพระองค์) ขึ้นไว้ในโรงแสง สำหรับกราบไหว้บูชา ชาวกรุงเก่าเชื่อว่าเสด็จลุกขึ้นกระทืบพระบาทเมื่อก่อนจะเสียกรุงในค.ศ.1767 (ดังนั้นหากเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ก็น่าจะเป็นปางป่าเลไลยก์) แต่พระองค์จะทรงเป็นวีรบุรุษของชาติไทยหรือไม่ คงเถียงกันได้ ไม่ใช่เพียงเพราะสมัยนั้นยังไม่มีชาติเท่านั้นนะครับ แต่เพราะพระราชกรณียกิจของพระองค์ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเลย อย่างไรก็ตาม จะให้เกี่ยวโดยอ้อมก็พอจะลากไปได้ พระนเรศวรเป็นกษัตริย์สำคัญองค์หนึ่งของอยุธยา ที่ช่วยทำให้อยุธยาสามารถรวมอำนาจเข้าศูนย์กลางในทางปฏิบัติได้จริง ราชอาณาจักรอยุธยาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ซึ่งคือท้องที่ภาคกลางและใต้ในทุกวันนี้) นี้แหละที่เป็นแกนกลางให้เกิด"ชาติไทย"ขึ้นในภายหลัง แต่ก็เป็น"ชาติ"ในทางดินแดนเท่านั้น ไม่ใช่"ชาติ"ในเชิงหลักการ เราอาจพูดอย่างเดียวกันได้กับพระเจ้าชาลมาญของฝรั่งเศส (หรือเยอรมัน?) ราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลของท่านไม่ได้ทำให้เกิดดินแดนของรัฐชาติใดในปัจจุบัน แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระดับหนึ่ง ทำให้เกิดรัฐอีกชนิดหนึ่งซึ่งรวมแว่นแคว้นต่างๆ ไว้ภายใต้กษัตริย์ฝรั่งเศส และจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งในพระราชประวัติคือผู้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างร้ายกาจ แต่ก็ทิ้งมรดกดินแดนจักรวรรดิจีนไว้ให้แก่"ชาติ"จีนในเวลาต่อมา จะนับว่าเป็นวีรบุรุษของ"ชาติ"จีน (อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอยากให้นับ) ก็มีเหตุผล จะไม่นับก็มีเหตุผล เรื่องวีรบุรุษของ"ชาติ" และชาตินิยมนั้นมีอะไรที่สับสนพอสมควร เพราะไม่ว่าจะ"ชาติ"อะไร ก็ต้องสร้าง"ประวัติ"ของ"ชาติ"ขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ดินแดนและประชาชนซึ่ง"ชาติ"ครอบครองอยู่ทั้งสิ้น ผมจะขอยกเรื่องนี้ไปคุยกันในตอนหน้า (ยังมีต่อ) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น