ประชาไท | Prachatai3.info |
- โรเบิร์ต มูกาเบยอมลาออก-ปิดฉาก 37 ปีผู้นำซิมบับเว คาดเลือกตั้งปีหน้า
- ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- รัฐบาลกัมพูชาเผยกำลัง 'จับตา' องค์กรประชาสังคม กล่าวหาวางแผนปฏิวัติ
- อียูออกทุนสร้างวิดีโอเกมให้เด็กเรียนรู้รับมือการถูกรังแกจากอคติ
- ครม.ประกาศ 'สิทธิมนุษยชน' ร่วมเคลื่อน Thailand 4.0 เป็นวาระแห่งชาติ
- กวีประชาไท: ดาวสิ้นแสง ลมแปลงกาย
- ใครคือเจ้าของพุทธศาสนา?: ถอดรื้อความคิดเรื่องการสังคายนาเพื่อแก้ปัญหาภิกษุณีไทย
- แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานสถานการณ์โรฮิงญา หนักถึงขั้นอาชญากรรมต่อมวลมนุษย์
- ‘ถึงเวลาเผือก’ ชี้กว่า 1 ใน 3 ของทุกเพศ ถูกคุกคามทางเพศบน ‘ขนส่งสาธารณะ’
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: เสื้อแดงจากอีกมุมมองหนึ่ง
- ต.ค. 2560 ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง 21,873 คน ว่างงาน 144,590 คน
- พูดไม่เหมือนกัน! อ่านคำให้สัมภาษณ์ ผบ.สส. กับ ผบ.รร.เตรียมทหาร กรณีศพไร้อวัยวะภายใน
- นักรบ RECON ให้กำลังใจครูฝึกหลังทหารนอกราชการบุกโวย ลูกชายซี่โครงหัก จนไม่ผ่านหลักสูตร
- ศรีสุวรรณ ค้าน MRT ถอดเก้าอี้โดยสาร ชี้เอาเปรียบผู้บริโภค ถามทำไมไม่เพิ่มขบวน
- คนจนทั้งประเทศ
โรเบิร์ต มูกาเบยอมลาออก-ปิดฉาก 37 ปีผู้นำซิมบับเว คาดเลือกตั้งปีหน้า Posted: 21 Nov 2017 01:47 PM PST ประธานรัฐสภาอ่านจดหมายโรเบิร์ต มูกาเบ แถลงลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งนี้ทหารยึดอำนาจตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ขณะที่รัฐสภากำลังเริ่มกระบวนการถอดถอน โดยคาดว่าอดีตรองประธานาธิบดีที่ถูกมูกาเบปลดจะได้รับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ก่อนจัดเลือกตั้งปีหน้า โดยมูกาเบ้ในวัย 93 ปี ปกครองประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 37 ปีที่แล้ว ก่อนถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตร เพราะบังคับยึดที่ดินคนขาว นอกจากนี้ยังบริหารประเทศจนเกิดภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวดจนต้องเลิกใช้เงินสกุลดอลลาร์ซิมบับเว ขณะที่ข้อมูล 'บัวแก้ว' เผยมูกาเบ้เยือนไทยส่วนตัวหลายครั้งเพราะลูกชายเคยเรียนเอแบค โรเบิร์ต มูกาเบ อดีตผู้นำซิมบับเว ภาพถ่ายปี 2554 ธนบัตรราคา 100 ล้านล้านซิมบับเวดอลลาร์ พิมพ์ออกมาในปี 2552 ช่วงภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ก่อนที่ซิมบับเวจะเลิกใช้สกุลเงินซิมบับเวดอลลาร์แล้วหันไปใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินต่างประเทศแทน (ที่มา: Reserve Bank of Zimbabwe/Wikipedia) ประธานาธิบดีซิมบับเว โรเบิร์ต มูกาเบ วัย 93 ปี ยอมลาออกแล้วหลังปกครองประเทศซิมบับเวมาตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2523 ทั้งนี้เขาไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องให้ลงจากอำนาจเป็นเวลาเกือบสัปดาห์ หลังจากที่กองทัพยึดอำนาจและไล่เขาออกจากพรรครัฐบาลคือพรรคสหภาพชาวแอฟริกันแห่งชาติซิมบับเว-แนวร่วมแห่งชาติ (The Zimbabwe African National Union) หรือพรรค ZANU-PF นอกจากนี้ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อคืนวันอาทิตย์ (19 พ.ย.) เขาก็กล่าวว่าจะไม่ลาออกและจะทำหน้าที่หัวหน้าพรรครัฐบาลต่อไป ทั้งยังกล่าวว่าพร้อมเป็นประธานในการประชุมสมัชชาพรรคที่จะมีขึ้นในเดือนหน้าด้วย อย่างไรก็ตามมีการแถลงลาออกในวันอังคารนี้ (21 พ.ย.) หลังจากที่เมื่อเวลา 14.30 ตามเวลาท้องถิ่น รัฐสภาซิมบับเวเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้นำซิบบับเวไปได้ไม่กี่ชั่วโมง โดยเมื่อเวลา 17.53 น. ตามเวลาท้องถิ่นซิมบับเว (22.53 น. ตามเวลาประเทศไทย) ประธานรัฐสภา จาค็อบ มูเด็นดา ได้อ่านจดหมายลาออกของมูกาเบ "ข้าพเจ้า โรเบิร์ต กาเบรียล มูกาเบ ตามมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญซิมบับเว มีผลรับรองการลาออกของข้าพเจ้า ซึ่งการลาออกนี้จะมีผลทันที" ประธานรัฐสภาอ่านข้อความในจดหมาย ฮารู มูกาซา ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา รายงานว่ามีผู้คนออกมาแสดงความยินดีตามท้องถนน มีหลายคนที่ไม่เชื่อสายตาตัวเองว่ามูกาเบได้ประกาศลาออก ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นและหวังว่าจะพบกับอนาคตที่ดีกว่านี้ โดยที่ตึกเรนโบว์ทาวเวอร์ ในกรุงฮาราเร เมืองหลวงประเทศซิมบับเว ฝูงชนได้ตะโกนโห่ร้อง พร้อมกับถอดรูปภาพมูกาเบที่ติดอยู่ในย่านธุรกิจแห่งนี้ออก ขณะเดียวกันที่โยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อนบ้านทางใต้ของซิมบับเว ชาวซิมบับเวในแอฟริกาใต้ก็ออกมาแสดงความยินดีตามท้องถนนเมื่อได้ทราบข่าวการลาออกของมูกาเบเช่นกัน บรรยากาศฉลองในกรุงฮาราเร หลังทราบข่าวโรเบิร์ต มูกาเบ ลาออก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน (ที่มา: The Herald Zimbabwe) ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 พ.ย.) กองทัพซิมบับเวได้ทำการยึดอำนาจ และแทรกแซงพรรครัฐบาลซิมบับเว หลังจากเมื่อ 6 พ.ย. มูกาเบ ปลดรองประธานาธิบดี อีเมอร์สัน มนังกากวา วัย 68 ปี และพยายามจะสืบทอดอำนาจไปยังภรรยาวัย 52 ปีคือ เกรซ มูกาเบ ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกลุ่ม G40 ภายในพรรค ZANU-PF คาดหมายว่ามนังกากวา หรือฉายา "จระเข้" ผู้เคยเป็นมือไม้ของมูกาเบ้ก่อนที่จะถูกปลดดังกล่าว จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้นำซิมบับเว ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปถูกกำหนดไว้ในปีหน้า "เราคาดหวังว่ามนังกากวาจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา" แพดดิงตัน จาปาจาปา สมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านกล่าวกับอัลจาซีา เขากล่าวด้วยว่า หากไม่เป็นเช่นนั้นเราก็จะจัดการเขาเช่นกัน เราเหนื่อยหน่ายแล้วกับการปกครองของพรรค ZANU-PF ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ซิมบับเวได้รับเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่ปี 2523 โดยยมูกาเบ เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2523-2530 หลังจากนั้นได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมูกาเบได้ยึดที่ดินมาจากชาวซิบบับเวผิวขาว ส่วนมากเป็นคนเชื้อสายอังกฤษ คิดเป็นร้อยละ 75 ของที่ดินทั้งประเทศ มาจัดสรรใหม่ให้กับชาวซิมบับเวพื้นเมือง เพื่อเรียกความศรัทธาและความนิยมของประชาชน เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2543 เมื่อเริ่มมีการใช้นโยบายปฏิรูปที่ดินแบบ "ฟาสต์แทร็ก" ส่งผลทำให้เกษตรกรผิวขาวต้องอพยพออกจากที่ดิน และอีกจำนวนมากต้องยุติการเพาะปลูก นโยบายปฏิรูปที่ดินนี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ข้อมูลในวิกิพีเดีย ระบุว่า ได้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในซิมบับเว มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 และเกิดภาวะเงินเฟ้อหนักในปี 2551 ก่อนที่ในปี 2552 ซิมบับเวจะเลิกพิมพ์ธนบัตรและเลิกใช้เงินสกุลดอลลาร์ซิมบับเว และยอมให้ใช้สกุลเงินต่างชาติแทน โดยข้อมูลในปี 2559 ปริมาณเงินหมุนเวียนในซิมบับเว ร้อยละ 90 เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และร้อยละ 5 เป็นเงินสกุลแรนด์ของแอฟริกาใต้ ประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้มีมาตรการ Smart/Targeted Sanctions เพื่อต่อต้านและกดดันรัฐบาลของมูกาเบตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ประกอบด้วยการเพิกถอนสมาชิกภาพของซิมบับเวในเครือจักรภพชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด การห้ามการเดินทางเข้าประเทศและการอายัดทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศตะวันตก ของมูกาเบ รวมทั้งพรรคพวกและเครือญาติ อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า การกดดันของประเทศตะวันตกไม่อาจทำให้วิกฤตการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซิมบับเวบรรเทาลงได้ ซิมบับเวได้ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพในเดือนธันวาคม 2546 และฝ่ายรัฐบาลซิมบับเวได้ใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุมผู้นำฝ่ายต่อต้านและนักเคลื่อนไหวกว่า 40 คน เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ในเดือนมิถุนายน 2550 เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อโน้มน้าวให้ไทยร่วมดำเนินมาตรการ Smart Sanctions ห้ามการเดินทางเข้าไทยกับมูกาเบและพวก แต่ฝ่ายไทยได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการใช้มาตรการกดดันที่ไม่ได้อยู่ภายใต้มติของ UN โดยฝ่ายไทยเชื่อมั่นในการที่จะบรรลุข้อยุติของปัญหาบนพื้นฐานของการเจรจาร่วมกันอย่างตรงไปตรงมาและเท่าเทียมกัน ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเห็นว่ามาตรการกดดันเพื่อโดดเดี่ยวซิมบับเวนั้นจะไม่ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหา เนื่องจากได้รับแรงต่อต้านจากประเทศตะวันตกอย่างสูง รัฐบาลซิมบับเวจึงดำเนินนโยบาย Look East แสวงหามิตรประเทศจากภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ในส่วนของไทย รัฐบาลซิมบับเวพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทย โดยได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ซิมบับเวประจำประเทศไทย และได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าซิมบับเวในกรุงเทพฯ โดยที่ผ่านมา มูกาเบและภริยา เดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัวบ่อยครั้ง บุตรชายของมูกาเบเคยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อนึ่งไทยและซิมบับเวได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2528 โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ มีเขตอาณาครอบคลุมซิมบับเว เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐซิมบับเวคนปัจจุบันคือ นนทศิริ บุรณศิริ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย ส่วนซิมบับเวมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตซิมบับเวประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐซิมบับเวประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ ลูคัส พันเด ทาวายา มีถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และแต่งตั้งเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ซิมบับเวประจำประเทศไทย
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก BREAKING NEWS: President Mugabe resigns! . . . Announcement of a new leader tomorrow, The Herald, November 21, 2017 Robert Mugabe resigns as Zimbabwe's president, Aljazeera, November 22, 2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา Posted: 21 Nov 2017 08:38 AM PST ส่ง สนช. พิจารณาต่อ ระบุช่วยผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ให้ได้รับการศึกษา ตั้งเป้า 43 ล้านคน ใน 6 กลุ่มช่วงวัยตั้งแต่อายุ 0-18 ปี ตามการศึกษาภาคบังคับ เงินทุนประเดิมเบื้องต้น 1,000 ล้าน แฟ้มภาพ 21 พ.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยประเด็นหนึ่งคือ ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป MGR Online รายงานเพิ่มเติมว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า กองทุนดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ให้ได้รับการศึกษา โดยตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมาย 43 ล้านคน ใน 6 กลุ่มช่วงวัยตั้งแต่อายุ 0-18 ปี ตามการศึกษาภาคบังคับ ส่วนเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยมีเงินทุนประเดิมเบื้องต้น 1,000 ล้านบาท สำหรับ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามสรุปของ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุไว้ดังนี้ 1. กำหนดให้มี "กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา" มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ และเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม รวมทั้งมีศักยภาพที่จะดำรงชีวิตโดยพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง 2. กำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ได้แก่ เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิมจำนวนหนึ่งพันล้านบาท เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของเงินงบประมาณแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ ตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นต้น โดยเงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน 3. ผู้เสียภาษีเงินได้มีสิทธิแสดงเจตนาให้รัฐนำเงินที่ตนได้เสียภาษีไว้ไปอุดหนุนกองทุนได้ปีละไม่เกินห้าพันบาท และผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินบริจาค ในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่ไม่เกินห้าแสนบาทสำหรับบุคคลธรรมดาและไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิสำหรับนิติบุคคล 4. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนหนึ่งคน เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนหกคน เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รัฐบาลกัมพูชาเผยกำลัง 'จับตา' องค์กรประชาสังคม กล่าวหาวางแผนปฏิวัติ Posted: 21 Nov 2017 08:28 AM PST กระทรวงกิจการภายในของกัมพูชาเผยต่อศาลว่าพวกเขากำลังจับตาดูองค์กรบางองค์กรโดยกล่าวหาว่าพวกเขา "วางแผนปฏิวัติ" ขณะที่ทุกองค์กรภาคประชาสังคมต่างให้การปฏิเสธว่าพวกเขาก็แค่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพไม่ได้ต้องการโค่นล้มรัฐบาล และมองว่าการที่รัฐบาลกล่าวหาพวกเขาเช่นนี้เป็นวิธีการข่มขู่คุกคามอย่างหนึ่ง 21 พ.ย. 2560 ในการไต่สวนคดีของศาลสูงสุดกัมพูชาเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชาให้การว่าทางการได้ "จับตามอง" กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและสมาชิกบางส่วนหลังจากที่พวกเขาถูกกล่าวหาเรื่องมีแผนการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล หลังจากที่มีการสั่งยุบพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (The Cambodia National Rescue Party หรือ CNRP) ในการไต่สวนอีกกรณีหนึ่งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ทนายความของรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชากล่าวหาว่ามีกลุ่ม 4 กลุ่มกับบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่สมรู้ร่วมคิดกันในการพยายามก่อการปฏิวัติที่พวกเขาเรียกว่า "ปฏิวัติดอกบัว" ซึ่งทุกกลุ่มปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (CCHR) ถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับสหรัฐฯ ในแผนการจะโค่นล้มรัฐบาลซึ่งมีการตั้งเป้าข้อหาเดียวกันนี้กับเข็ม โสกา คนที่อาจจะได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค CNRP คนต่อไป แต่ในตอนนี้เขาถูกคุมขังก่อนการไต่สวนดำเนินคดีอีกข้อหาหนึ่งคือข้อหา "กบฏ" อีกองค์กรหนึ่งที่ถูกกล่าวหาคือคณะกรรมการเพื่อการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรม หรือ Comfrel ถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านในการทำลายการเลือกตั้งในปี 2556 นักรณรงค์เพื่อสื่ออิสระ ปา งวน เทียง (Pa Nguon Teang) ถูกกล่าวหาเรื่องเป็นผู้ริเริ่มจัดการประท้วงที่เรียกว่า "วันจันทร์สีดำ" ที่เป็นการประท้วงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุมขัง เขียว โสเพียก โฆษกกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชากล่าวว่าในตอนนี้ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นทางการแต่ก็มีการ "จับตามอง" กลุ่มคนเหล่านี้เพื่อดูว่าพวกเขาจะเลิกแผนการปฏิวัติหรือไม่ เขาบอกอีกว่าถ้าหากคนเหล่านี้ไม่ยอมยกเลิกแผนการหรือจุดยืนการปฏิวัติก็จะมีปฏิบัติการอะไรบางอย่างกับพวกเขา นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่วิดีโอกรณีที่นักสหภาพแรงงาน วร โปฟ นำการประท้วงช่วงหลังการเลือกตั้ง 2556 อูนเซน นายกรัฐมนตรียังพูดถึงข่าวลือว่าโปฟหนีออกจากประเทศไปแล้ว อ้างว่าได้ใช้โปรแกรม WhatsApp พูดคุยกับโปฟบอกให้กลับมาโดยอ้างว่าจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับเขา ทางด้านโปฟโต้ตอบว่าเขาไม่ได้หนี แค่ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้วยแถวชายแดนไทยกัมพูชา เขาบอกว่ายินดีถ้าหากฮุนเซนจะไม่เอาผิดเขา แต่ก็ยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่การพยายามปฏิวัติ แต่เป็นแค่การพยายามปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานนอกระบบเท่านั้น ทางด้านจักร โสเพียบ ผู้อำนวยการ CCHR กล่าวว่าเขารู้สึกกังวลต่อการถูกกล่าวหาซึ่งไม่น่าแปลกใจนี้ แต่ก็ยืนยันว่าพวกเขาเป็นกลางจากพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งหมดและหวังว่า CCHR จะสามารถทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาต่อไปได้อย่างอิสระ เยือง โสเทียรา เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายที่ Comfrel กล่าวว่าทางองค์กรของพวกเขาไม่ได้รับรู้เลยว่ามีการพูดถึงในชั้นศาลสูงสุดด้วย อีกทั้งยังกล่าวโต้ตอบว่าพวกเขาไม่ได้อคติทางการเมือง ข้อกล่าวหาถึงพวกเขาไม่มีมูลความจริง พวกเขาแค่ต้องการให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสระและเป็นธรรมไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะก็ตาม โสเทียรากล่าวอีกว่าการถูกกล่าวหาในครั้งนี้อาจจะเป็นวิธีการข่มขู่คุกคามจากรัฐบาลเนื่องจากพวกเขารู้ดีว่า Comfrel เป็นหนึ่งในเอ็นจีโอที่ยืนอยู่แถวหน้าในการวิจารณ์รัฐบาล ศูนย์เพื่อสื่ออิสระกัมพูชา (CCIM) ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาวางแผนปฏิวัติเช่นกัน รักษาการผู้อำนวยการขององค์กรบอกว่าพวกเขาแค่ต้องการส่งเสริมเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยวิจารณ์รัฐบาลแต่พวกเขาก็ทำงานอย่างมืออาชีพ ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์สาขาเอเชียกล่าวว่า การคุกคามเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปิดกั้นปราบปรามคนต่อต้านรัฐบาล โดยที่เขายังเรียกร้องให้นักการทูตทั้งหลายออกตัวปกป้องกลุ่มหรือบุคคลที่ถูกรัฐบาลกัมพูชากล่าวหา นาลี พิลอจ จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน Licadho กล่าวว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกมากที่การทำงานของภาคประชาสังคมกัมพูชาในประเด็นต่างๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรรม
เรียบเรียงจาก Government 'monitoring' civil society organisations named in CNRP hearing, Phnom Penh Post, 21-11-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อียูออกทุนสร้างวิดีโอเกมให้เด็กเรียนรู้รับมือการถูกรังแกจากอคติ Posted: 21 Nov 2017 07:34 AM PST 21 พ.ย. 2560 สหภาพยุโรป (อียู) ให้ทุนพัฒนาวิดีโอเกมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแกกันในเด็กอันเกิดจากการเหยียดเพศสภาพหรือเพศวิถีรวมถึงจากการเหยียดเชื้อชาติ ผู้ที่ได้รับทุนพัฒนาเกมดังกล่าวจากอียูคือมหาวิทยาลัยเวสต์ออฟสกอตแลนด์ (UWS) ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาผลของเทคโนโลยีเกมในเชิงสาระที่มีต่อการจำกัดปัญหาการข่มเหงรังแกด้วยอคติในหมู่เด็ก" โครงการนี้มีการพัฒนาเกมสำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี เพื่อท้าทายความคิดแบบ "เหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ ความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ อย่างไม่มีเหตุผล" โดยหวังว่าจะช่วยให้เด็กสำรวจอคติในตัวเอง รวมถึงเห็นอันตรายเมื่อมันนำไปสู่การข่มเหงรังแก UWS ระบุอีกว่าเกมที่พวกเขาพัฒนาจะเป็นการให้เด็กเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบโรงเรียนเสมือนจริง มีการข่มเหงรังแกกันด้วยสาเหตุเรื่องอคติ และสามารถให้ผู้เล่นเลือกได้ว่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร โดยมีการวางแผนว่าจะจัดให้มีเกมนี้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อประเมินผลในช่วงต้นปี 2562 และในปลาย 2562 จะจัดให้มีเกมนี้ทั่วประเทศในยุโรป 4 ประเทศ ผู้นำโครงการนี้คือมาเรีย ซาปัวนา อาจารย์ด้านอาชญวิทยาและกระบวนการยุติธรรมจากวิทยาลัยสื่อ วัฒนธรรม และสังคม ประจำ UWS เธอกล่าวว่า กลุ่มเด็กที่ถูกข่มเหงรังแกจากอคติมักจะเป็นกลุ่มเด็กที่ถูกกีดกันซึ่งมีการประเมินว่าอาจจะส่งผลต่อผลการเรียน ทำให้เกิดการออกจากโรงเรียน ส่งผลต่ออนาคตของเด็ก ซาปัวนาบอกอีกว่า เคยมีงานวิจัยที่ระบุว่าครูหลายคนยังไม่รู้วิธีแก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแกจากอคติอย่างได้ผล พวกเขาหวังว่าโครงการนี้จะช่วยเสริมส่วนที่ขาดหายไปโดยพัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้ครูสามารถระบุถึงประเด็นอคติทางเชื้อชาติและทางเพศกับการข่มเหงรังแกในหมู่เยาวชนได้ UWS ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเปิดแห่งเนเธอร์แลนด์ มหาวิทยาลัยพาตราสในกรีซ และมหาวิทยาลัยนักปรัชญาคอนสแตนตินในสโลวาเกีย ทำโครงการนี้เป็นเวลา 28 เดือน เคที ราฟเฟอร์ตี ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านการข่มเหงรังแก respectme กล่าวว่าการข่มเหงรังแกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ไม่ว่าจะโดยรูปแบบใดๆ โรงเรียนเป็นสถานที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโดยการท้าทายอคติผ่านการศึกษาและเตรียมพร้อมให้เยาวชนกลายเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจึงหวังว่าโครงการวิจัยนี้จะสามารถเสนอวิธีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแกบนฐานของอคติได้อย่างยั่งยืน" สื่อ Pink News ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีวิดีโอเกมกระแสหลักที่เปิดกว้างให้มีตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เช่น การยกเลิกการแบ่งแยกเครื่องแต่งกายเป็น "แบบหญิง" หรือ "แบบชาย" แต่ให้ตัวละครแต่งกายแบบใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ของเกมออนไลน์บางแห่งก็ยังคงมีการเหยียดเพศอยู่เช่นในเกมรูนสเคป (Runescape) เคยมีกลุ่มผู้เล่นต่อต้านหลังจากที่ผู้พัฒนาเกมนี้ประกาศจะมีการเฉลิมฉลอง "ไพรด์" สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีการต่อต้านผ่านการวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวแสดงความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล
เรียบเรียงจาก EU funds video game teaching kids to tackle homophobic bullying, Pink News, 20-11-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ครม.ประกาศ 'สิทธิมนุษยชน' ร่วมเคลื่อน Thailand 4.0 เป็นวาระแห่งชาติ Posted: 21 Nov 2017 07:27 AM PST ชูกลยุทธ์ "4 สร้าง + 3 ปรับปรุง + 2 ขับเคลื่อน + 1 ลด = Goal" สร้างจิตสำนึกในการเคารพสิทธิฯ ปรับปรุงฐานข้อมูลและสถานการณ์การละเมิดสิทธิ พร้อมลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ที่มาภาพ : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล 21 พ.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. โดยมีประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ครม.มีมติเห็นชอบและประกาศใช้วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (วาระแห่งชาติฯ) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนำวาระแห่งชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติฯ ตามที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดภายในเดือนพฤศจิกายนของปี 2561 และปี 2562 และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป และให้ กระทรวงยุติธรรมนำประเด็นที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุได้ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) และข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศมากำหนดเป็นตัวชี้วัดด้วย โดยกระทรวงยุติธรรมควรชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ถึงแนวทางการดำเนินงานและการจัดทำรายงานตาม ตัวขี้วัดดังกล่าวด้วย เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงาน สาระสำคัญของวาระแห่งชาติ วา มีเป้าหมายให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อนำไปสู่สังคมสันติสุข โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญภายใต้รหัสชื่อว่า "4 สร้าง + 3 ปรับปรุง + 2 ขับเคลื่อน + 1 ลด = Goal" ดังนี้ 1) 4 สร้าง ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกในการเคารพสิทธิผู้อื่น สร้างระบบการติดตามการละเมิดสิทธิ สร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน และสร้างเสริมการพัฒนาเครือข่ายทุกภาคส่วน 2) 3 ปรับปรุง ได้แก่ การปรับปรุงฐานข้อมูลและสถานการณ์การละเมิดสิทธิ การปรับทัศนคติ ของเจ้าหน้าที่รัฐ และการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย 3) 2 ขับเคลื่อน ได้แก่ การขับเคลื่อนองค์กรหรือจังหวัดต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน การขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสู่การปฏิบัติ และ 4) 1 ลด คือ การลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: ดาวสิ้นแสง ลมแปลงกาย Posted: 21 Nov 2017 07:07 AM PST เขาฝันใฝ่ในฝันอันเจิดจ้า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ใครคือเจ้าของพุทธศาสนา?: ถอดรื้อความคิดเรื่องการสังคายนาเพื่อแก้ปัญหาภิกษุณีไทย Posted: 21 Nov 2017 06:15 AM PST
1. บทนำ บทความนี้ปรับปรุงจากบทความชื่อ "การปกป้องสุทธิภาวะของสังคายนากับศาสนาอนุรักษนิยม" ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบการบรรยายในการอบรมประจำปีของสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทยเมื่อนานมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์มาก่อน การนำมาเผยแพร่ครั้งนี้สืบเนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดบางประการที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพิจารณาถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีในสังคมไทย แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีผู้นำเสนอความคิดไว้หลายแนวทางทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดูเหมือนว่าการถกประเด็นดังกล่าวนี้ยุติลงด้วยข้อสรุปที่ว่า สตรีไทยไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้หรือคณะสงฆ์ไทยไม่สามารถยอมรับการบวชภิกษุณีได้เนื่องจากพระวินัยบัญญัติกำหนดไว้ว่า การบวชภิกษุณีต้องกระทำในสงฆ์สองฝ่ายคือ ทั้งฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายภิกษุสงฆ์ แต่วงศ์ของภิกษุณีขาดสูญไปแล้วจึงไม่อาจรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ได้อีก ความคิดที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดจากชาวพุทธไทยได้แก่ ความคิดของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในหนังสือ "ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี" (2544) ท่านชี้ให้เห็นว่าหลักพระธรรมวินัยต่างหากที่ไม่อนุญาตให้คณะสงฆ์บวชภิกษุณีได้ตามอำเภอใจและมันก็ไม่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาอื่น ๆ ที่คนมักหยิบยกมาปนกัน คำตอบของท่านช่วยให้ประตูบานนี้ถูกปิดและอาจจะตลอดไปสำหรับการบวชภิกษุณีในประเทศไทย บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีเกี่ยวเนื่องกับการสังคายนาครั้งที่ 1 ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พุทธศาสนายุคแรก (หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า 3 เดือน) เนื่องจากการสังคายนาครั้งดังกล่าวนี้มีมติสำคัญที่คณะสงฆ์ในประชุมสังคายนาดังกล่าว มติที่ว่าก่อให้เกิดกลุ่มพระสงฆ์ผู้มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม และความเป็นอนุรักษนิยมอันเป็นผลสืบเนื่องจากมติสังคายนาดังกล่าวนี้เองเป็นดั่งเครื่องพันธนาการอันแน่นหนาที่คณะสงฆ์ไทยซึ่งถือตนเองว่าสืบทอดเจตนารมณ์คณะสงฆ์เถรวาทไม่สามารถปลดเปลื้องได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคณะสงฆ์หรือชาวพุทธย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์และมองประวัติศาสตร์พุทธศาสนาอันเกี่ยวเนื่องกับพระธรรมวินัยและการสังคายนาใหม่ ก็จะเห็นว่าปัญหาเรื่องการบวชภิกษุณีที่แก้ไขไม่ได้เพราะพระวินัยบัญญัติกำหนดเงื่อนไขบางอย่างไว้นั้นอาจไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป ปัญหาอยู่ที่ชาวพุทธไทยมีความกรุณามากพอหรือไม่ที่จะเปิดรับการมีภิกษุณี หากมีความกรุณามากพอ ย่อมมองเห็นวิถีทางที่จะเปิดประตูแก่เหล่าสตรีที่ปรารถนาจะเข้าสู่พื้นที่ทางจิตวิญญาณในศาสนาอย่างเต็มที่ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าจะเปิดประตูบานนี้ได้อย่างไร 2. ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการสังคายนา2.1 ความหมายของการสังคายนา การสังคายนาคืออะไร นักวิชาการชาวต่างประเทศได้ศึกษาการสังคายนาที่ปรากฏในคัมภีร์ต่าง ๆ ของลังกา พม่า และไทย แล้วสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่พบเห็นเกี่ยวกับการสังคายนานั้น เป็นเพียง "แนวคิด" (Idea) กล่าวคือ พบแต่ (1) นิทานหรือเรื่องราวก่อนสังคายนา (2) รายละเอียดบางประการเกี่ยวกับการสังคายนา เช่น นำโดยใคร ใครเป็นผู้อุปถัมภ์ จำนวนพระสงฆ์ที่ร่วมกันทำ จัดขึ้นที่ไหน ใช้ระยะเวลาเท่าใดในการทำแต่ละครั้ง และ (3) เหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากการสังคายนาแล้ว แต่ไม่พบรายละเอียดของการทำสังคายนาแต่ละครั้งว่ามีวิธีการทำอย่างไร (Hallisey, Charles 1991 : 146-147) ข้อสรุปนี้มีมูลความจริงไม่น้อย ในพระไตรปิฎก (ปัญจสติกขันธกะ และ สัตตสติกขันธกะ) มีรายละเอียดของวิธีการทำสังคายนาเพียงเล็กน้อยและเฉพาะการทำสังคายนาครั้งที่ 1-2 เท่านั้น ส่วนความพิสดารจะปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาที่เรียบเรียงขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่10* การสังคายนา แปลตามรูปศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำนำสืบกันต่อ ๆ มา ในชั้นเดิม การสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏมีการถือผิดตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำสังคายนา โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์ จัดระเบียบใหม่บางข้อบ้าง ในชั้นหลัง ๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น (สุชีพ ปุญญานุภาพ 2539 : 6-7) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) กล่าวว่า สังคายนาคือ การรวบรวม ประมวลคำสอนของพระศาสดาไว้อย่างซื่อสัตย์ที่สุด ให้บริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่รู้หรือสืบทราบได้ว่า เป็นคำตรัสคำสอน ของพระองค์แท้ ๆ ในการสังคายนานั้น เราจะต้องพยายามตรวจสอบรักษาคำสอนเท่าที่พบเท่าที่หาหลักฐานได้ ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ให้ดีที่สุด ถ้าเราไปวินิจฉัยแล้วทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและตัดคำสอนบางอย่างทิ้งไปถ้าทำกันอย่างนี้ สิ่งที่บรรจุเข้าไปในพระไตรปิฎกจะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่จะกลายเป็นคำสอนของคณะบุคคลที่สังคายนาไป ฉะนั้น ในการสังคายนานั้น หลักการจึงอยู่ที่การพยายามจะนำสิ่งนั้น เท่าที่สืบมา ให้สืบต่อไปอย่างบริสุทธิ์ ให้ได้หลักฐานที่เป็นตัวคำพูดของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด ไม่ไปแทรกแซงและไม่ไปวินิจฉัย (พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) 2532 : 43-44) ในหนังสือ "รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้" พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) 2543: 6 กล่าวว่า "สังคายนา คือการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันได้แก่พระธรรมวินัย มาจัดวางไว้เป็นแบบแผนให้ทรงจำไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักของพระพุทธศาสนาสืบมา" (พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) 2543: 67) และได้อธิบายวิธีการสังคายนาไว้ว่า การสวดพร้อมกันนั้นเรียกว่า สังคายนา เพราะคำว่า "สังคายนา" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สังคีติ" แปลว่า สวดพร้อมกัน คายนา หรือ คีติ แปลว่าการสวด สํ แปลว่า พร้อมกัน สังคายนา ก็คือ สวดพร้อมกัน วิธีการสังคายนา ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือ การนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงในที่ประชุม แล้วก็ชักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใดก็ให้สวดพร้อมกัน การสวดพร้อมกันนั้นแสดงถึงการลงมติร่วมกันด้วยและเป็นการทรงจำกันไว้อย่างนั้นเป็นแบบแผนต่อไปด้วย หมายความว่า ตั้งแต่นั้นไป คำสอนตรงนั้นก็จะทรงจำไว้อย่างนั้น เมื่อจบเรื่องหนึ่งก็ให้สวดพร้อมกันครั้งหนึ่ง อย่างนี้เรื่อยไป (เรื่องเดียวกัน : 30–31) อันที่จริงการทำสังคายนาพระธรรมวินัยนั้นมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร ไม่ปรากฏชัดเจนนักเมื่อศึกษาจากบันทึกเรื่องราวการสังคายนาในพระไตรปิฎก (จุลลวรรค) เราจะพบแต่เหตุการณ์การแวดล้อมในตอนเริ่มต้นและตอนท้ายหลังการสังคายนาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ระหว่างการสังคายนานั้น ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก 2.2 การสังคายนากับพระไตรปิฎก การสังคายนา คือ การรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า จัดระบบหมวดหมู่เพื่อให้สามารถจดจำได้ง่าย และนำสืบทอดกันต่อมาในหมู่พระสงฆ์ยุคแรก ๆ โดยการท่องจำ หรือวิธีการที่เรียกว่า "มุขปาฐะ" ในช่วงแรก ๆ ของประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ยังไม่มีคำว่า "พระไตรปิฎก" แต่เรียกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า "พระธรรมวินัย" คำว่า พระไตรปิฎก เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เข้าใจว่ามีการใช้คำนี้ในสมัยการสังคายนาครั้งที่ 3 ของฝ่ายเถรวาทเป็นต้นมา พระไตรปิฎกเกี่ยวข้องอย่างไรกับการสังคายนาพระธรรมวินัย เราอาจลำดับความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันได้ดังนี้ว่า พระธรรมวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยนี้เดิมยังไม่มีการรวบรวมจัดระบบ พระสงฆ์จึงได้ประชุมกันเพื่อรวบรวมพระธรรมวินัยเท่าที่มีอยู่นั้นมาจัดระบบเป็นหมวดหมู่ การทำเช่นนี้เรียกว่า การสังคายนา และมีการจัดระบบออกเป็น 3 หมวดใหญ่หรือ 3 คัมภีร์จึงเรียกว่า พระไตรปิฎก ปัจจุบันเรารู้จักกันในฐานะเป็นชื่อของคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีการสังคายนารวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาจัดเป็นหมวดหมู่ก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระไตรปิฎก การจัดหมวดหมู่ที่กลายมาเป็นพระไตรปิฎกนั้นมีระบบการจัดดังนี้
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
พระธรรม วินัย (วินัยปิฎก) พระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงตามกาละเทศ ตรัสแก่บุคคลต่าง ๆ ตามสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่อง ๆ ไป (พระสูตร/สุตตันตปิฎก) ธรรมที่แสดงไปตามเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ เอาเนื้อหาของธรรมเป็นหลัก เป็นข้อธรรมล้วน ๆ (พระอภิธรรม/อภิธัมมปิฎก)
ชาวพุทธถือว่าพระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมวินัย ที่เป็นสาระหรือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา และเป็นคัมภีร์สูงสุดของพระพุทธศาสนา พระธรรมปิฎกกล่าวถึงความสำคัญของพระไตรปิฎกไว้ (เรื่องเดียวกัน : 68–70) ดังนี้ 1. พระไตรปิฎกเป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งพระพุทธวจนะคือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง เท่าที่ตกทอดมาถึงเรานั้นมีมาในพระไตรปิฎก เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก 2. พระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่พระเถระสมัยเริ่มแรกรักษาไว้ในพระไตรปิฎก 3. พระไตรปิฎกเป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำราที่อาจารย์หรือนักปราชญ์ทั้งหลายพูด กล่าวหรือเรียบเรียงไว้ ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมา และเป็นไปตามคำสอนแม่บทในพระไตรปิฎก ที่เป็นฐานหรือแหล่งต้นเดิม 4. พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนาจะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงสุดท้ายสูงสุด 5. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใด ๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก 6.พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใด ๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาดเป็นพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน โดยสรุป การสังคายนาพระธรรมวินัยมีความสำคัญในฐานะที่มาของคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่รักษา/สืบทอดคำสั่งสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า จะเห็นว่าข้อ 1และ 2 ในข้อสรุปของพระธรรมปิฎกนั้น สะท้อนทัศนะสำคัญของชาวเถรวาทที่มีต่อการสังคายนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังคายนาครั้งที่ 1 การสังคายนาเป็นเครื่องรับประกันว่าพระธรรมวินัยที่นิกายยึดถืออยู่นั้นเป็นเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุด บริสุทธิ์ ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) 2542 : 34) ทัศนะเช่นนี้มาจาก (1) ความเชื่อมั่นในกระบวนการสังคายนาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท (2) ความเชื่อมั่นในพระเถระผู้กระทำสังคายนาในยุคเริ่มแรก และจารีตการสืบทอดพระธรรมวินัยที่กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
2.3 การสังคายนาในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เนื่องจากการนับสังคายนาของประเทศที่นับถือพุทธศาสนามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องนี้ ผู้เขียนจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ การสังคายนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย กับการสังคายนาที่เกิดนอกประเทศอินเดีย ควรเข้าใจไว้ในเบื้องต้นนี้ว่า การสังคายนาเกือบทั้งหมดที่กล่าวถึงเป็นการสังคายนาของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท การให้ความสำคัญต่อการสังคายนาเช่นนี้สะท้อนเจตนารมณ์สำคัญของการเป็นเถรวาท เจตนารมณ์ที่ว่านี้คืออะไร จะได้เห็นกันข้างหน้า
การสังคายนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียมีทั้งหมด 5 ครั้ง กล่าวคือ การสังคายนาครั้งที่ 1 และ 2 ที่รับรู้กันโดยทั่วไป กับการสังคายนาที่จัดขึ้นโดยพระสงฆ์ฝ่ายมหาสังฆิกะ(พุทธศตวรรษที่ 2) การสังคายนาของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พุทธศตวรรษที่ 3) และการสังคายนาของนิกายสรวาสติวาทิน (สัพพัตถิกวาท) ในสมัยพระเจ้ากนิษกะ (ราวพุทธศตวรรษที่ 6) 2.3.1.1 การสังคายนา ครั้งที่ 1 (หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน) กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้ซักถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามด้านพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามด้านหลักธรรม มีพระอรหันต์ประชุมกัน 500 รูป ทำอยู่ 7 เดือนจึงสำเร็จ หลักฐานของเถรวาทเล่าว่า เมื่อพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นสัทธิวิหาริก(ศิษย์) ของพระมหากัสสปเถระได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุปุถุชนเกิดความเศร้าโศกเสียใจร้องให้ พระหลวงตาชื่อสุภัททะจึงกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่าไม่ต้องเสียใจ แต่ควรจะดีใจ เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าไม่อยู่ก็ไม่มีใครมาคอยห้ามปรามไม่ให้อย่างนั้นไม่ให้ทำอย่างนี้อีกต่อไป อยากทำอะไรก็จะได้ทำตามใจชอบ พระมหากัสสปเถระได้ฟังก็เกิดความสลดใจ จึงนำเรื่องนี้เสนอในที่ประชุมสงฆ์ แล้วชักชวนให้ทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งมคธรัฐทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งนี้ หลังการสังคายนา พระสงฆ์ 500 รูปมีมติร่วมกันว่า สงฆ์จะไม่บัญญัติสิกขาบทใด ๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติไว้ และจะไม่ถอนสิกขาบทใดๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว จะคงสมาทานประพฤติปฏิบัติตามนั้น คณะสงฆ์เถรวาทได้ยึดถือมตินี้อย่างเคร่งครัดมาจนปัจจุบัน 2.3.1.2 การสังคายนา ครั้งที่ 2 (ประมาณ พ.ศ. 100) การสังคายนาครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่วาลิการาม เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย มีพระสงฆ์จำนวนทั้งหมด 700 รูปร่วมทำสังคายนา ทั้งนี้ได้ปรารภเหตุภิกษุชาววัชชีบุตรประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนในวินัย 10 ประการ เช่น ถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันชายเกินเที่ยง 2 นิ้วแล้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินและทองได้ เป็นต้น พระยสะ กากัณฑกบุตร เดินทางไปประสบเหตุ จึงชักชวนพระเถระทั้งหลายช่วยกันวินิจฉัย แก้ไขความถือผิดครั้งนี้ มีชื่อพระเถระผู้ใหญ่ร่วมสังคายนาทั้งหมด 8 รูปคือ 1. พระสัพพากามี 2. พระสาฬหะ 3. พระขุชชโสภิตะ 4. พระวาสภคามิกะ 5. พระเรวตะ6. พระสัมภูตะ สาณวาสี 7. พระยสะ กากัณฑกบุตร 8. พระสุมณะ โดยพระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางพระวินัย ทำอยู่ 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ* 2.3.1.3 การสังคายนาของฝ่ายมหาสังฆิกะ (พุทธศตวรรษที่ 2) หลักฐานของฝ่ายบาลีกล่าวว่า เมื่อพระสงฆ์ฝ่ายพระยสะ กากัณฑกบุตรชักชวนพระสงฆ์จำนวน 700 รูปร่วมกันทำสังคายนาครั้งที่ 2 พร้อมทั้งกล่าวโทษและชำระความผิดของบรรดาภิกษุชาววัชชีบุตรที่ละเมิดสิกขาบท 10 ประการแล้ว ภิกษุชาววัชชีบุตรไม่พอใจจึงร่วมกับภิกษุอื่นอีกจำนวน 10,000 รูป ทำสังคายนาของตนเองที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ได้ชื่อว่า มหาสังคีติ คือการสังคายนาครั้งใหญ่กว่า ทำให้คณะสงฆ์กลุ่มนี้ได้ชื่อว่า มหาสังฆิกะ หลักฐานของฝ่ายสันสกฤตกล่าวว่า การเกิดขึ้นของนิกายมหาสังฆิกะเกี่ยวเนื่องกับข้อเสนอ 5 ประการของพระมหาเทวะ แต่ไม่กล่าวถึงภิกษุชาววัชชีบุตรว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของนิกายนี้ นิกายมหาสังฆิกะเป็นกลุ่มแรกที่มีแนวความคิดแบบเสรีนิยม อันเป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดแบบมหายาน แต่เป็นคนละนิกาย การสังคายนาของฝ่ายมหาสังฆิกะไม่มีรายละเอียดมากนัก หลักฐานของฝ่ายบาลีกล่าวว่า ในการสังคายนาครั้งนี้ นิกายมหาสังฆิกะเปลี่ยนแปลงคำสอนเดิมในหลายเรื่อง และแต่งพระสูตรขึ้นใหม่ด้วย* 2.3.1.4 การสังคายนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนานิกายเถรวาท ถือการสังคายนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ในพระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกภาษาบาลี) ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่จะปรากฏรายละเอียดในอรรถกถา การสังคายนาครั้งที่ 3 ของเถรวาท จัดขึ้นที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย หลังพุทธปรินิพพานประมาณ 234 หรือ 235 พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระเป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์ประชุมกัน 1,000 รูป ทำอยู่ 9 เดือนจึงแล้วเสร็จ หลักฐานของฝ่ายเถรวาทกล่าวว่า สมัยนั้น พวกเดียรถีย์ (คนนอกศาสนา) จำนวนมากปลอมบวช แสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นออกจากพระพุทธศาสนาแล้วจึงชักชวนคณะสงฆ์ทำสังคายนา ในครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ และบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของพระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เป็นคัมภีร์ที่เรียบเรียงขึ้นในลักษณะของการสนทนาโต้แย้งกันเกี่ยวคำสอนของพระพุทธศาสนา มีคำถามคำตอบ 500 ข้อ คำสอนของพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ที่แยกตัวออกไปจากคณะสงฆ์เดิม รวมทั้งข้อเสนอ 5 ประการของพระมหาเทวะที่ฝ่ายเถรวาทเห็นว่าไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยก็ถูกรวบรวมไว้ในกถาวัตถุนี้ด้วย อาจถือได้ว่า การตีความพระธรรมเป็นประเด็นปัญหาหลักที่ทำให้คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาททำการสังคายนาในครั้งนี้ ฝ่ายมหายานไม่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ 2.3.1.5 การสังคายนาของนิกายสรวาสติวาทิน (สัพพัตถิกวาท) การตีความคำสอนเรื่องความมีอยู่ของสรรพสิ่งของนิกายสรวาสตวาทิน (ภาษาบาลีเรียกสัพพัตถิกวาท) ปรากฏอยู่ในคัมภีร์กถาวัตถุที่แต่งขึ้นในการสังคายนาครั้งที่ 3 ตามการนับของฝ่ายเถรวาทด้วยในฐานะเป็น "ความเห็น" หรือ "การตีความคำสอน" ที่ฝ่ายเถรวาทถือว่าเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" นิกายสัพพัตถิกวาทหรือสรวาสตวาทินแตกออกไปจากเถรวาทเมื่อพุทธศตวรรษที่ 2 เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 5-6 เนื่องจากพระเจ้ากนิษกะ ทรงมีอำนาจอยู่ในอินเดียตอนเหนือ ได้ทรงเลื่อมใสนิกายสรวาสตวาทิน จึงได้ทรงสนับสนุนให้มีการสังคายนาขึ้น การสังคายนาครั้งนี้มีพระภิกษุฝ่ายมหายานเข้าร่วมด้วย ในหนังสือจดหมายเหตุของหลวงจีนเฮี่ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) เล่าว่า พระเจ้ากนิษกะทรงหันมาสนใจพระพุทธศาสนา จึงให้อาราธนาพระภิกษุ 1 รูป ไปสอนธรรมทุกวัน เนื่องจากภิกษุแต่ละรูปที่ไปสอนก็สอนแตกต่างกันไป บางครั้งก็ถึงกับขัดกัน พระเจ้ากนิษกะทรงลังเลไม่รู้ว่าคำสอนของภิกษุรูปใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จึงปรึกษากับพระเถระนามว่า ปารสวะ เมื่อพระเถระให้คำแนะนำแล้ว พระเจ้ากนิษกะจึงตกลงพระทัยจัดให้มีการสังคายนา ภิกษุนิกายต่าง ๆ ได้รับอาราธนาเข้าร่วมประชุม จึงเป็นการสังคายนาที่หลายนิกายร่วมกันทำ พระเจ้ากนิษกะทรงโปรดให้สร้างวัด ที่พักสำหรับสงฆ์ 500 รูปผู้ที่จะเขียนคำอธิบายพระไตรปิฎก ในการสังคายนาครั้งนี้มีการแต่งคำอธิบายหรืออรรถกถาสุตตันตปิฎก100,000 โศลก อรรถกถาวินัยปิฎก 100,000 โศลก และอรรถกถาอภิธรรมมีนามว่า อภิธรรมวิภาษา 100,000 โศลก เมื่อสังคายนาเสร็จแล้ว ก็ได้จารึกลงในแผ่นทองแดง เก็บไว้ในหีบศิลา แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ อักษรที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้แก่ สันสกฤต พระถังซำจั๋งกล่าวไว้ในบันทึกว่า (พระเถระผู้ทำสังคายนา) ได้อรรถาธิบายพระไตรปิฎกอย่างละเอียดพิศดารทั้งส่วนที่เป็นหลักและส่วนที่ปลีกย่อย ทั้งที่ลึกซึ้งสลับซับซ้อนและที่เห็นได้ชัด และง่ายต่อการเข้าใจ หลักธรรมที่สำคัญได้รับการแจกแจงอย่างชัดแจ้งอีกครั้ง วจนะอันลึกซึ้งได้ปรากฏชัดเจนขึ้นใหม่ เป็นที่รู้จักกันทุกครัวเรือนและแพร่หลายออกไปกว้างขวาง คนข้างหลังได้อาศัยเป็นคู่มือศึกษาเรียนรู้ (ซิว ซูหลุน 2547 : 146) 2.3.2 การสังคายนานอกประเทศอินเดีย การสังคายนานอกอินเดียที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นของฝ่ายเถรวาททั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นใน 3 ประเทศได้แก่ ลังกา พม่า และไทย 2.3.2.1 การสังคายนาในศรีลังกา พุทธศาสนาในลังกาเป็นนิกายเถรวาทที่สืบทอดพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์ลังกาพระนามว่าเทวานัมปิยติสสะ คณะสงฆ์ลังการับรองการสังคายนาในอินเดีย 3 ครั้งที่จัดโดยฝ่ายเถรวาทเท่านั้น ได้แก่ สังคายนาครั้งที่ 1 ที่พระมหากัสสปเถระเป็นหัวหน้า สังคายนาครั้งที่ 2 ที่พระยสะ กากัณฑกบุตรและพระสัพพกามีเถระ เป็นหัวหน้า และการสังคายนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นหัวหน้า (ไม่นับการสังคายนาของนิกายมหาสังฆิกะ) 2.3.2.1.1 การสังคายนาครั้งที่ 1* การสังคายนาครั้งที่ 1 ของลังกาเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 238 หลังจากพระมหินทเถระเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในลังกาได้ไม่นาน ทั้งนี้เพื่อวางรากฐานการท่องจำพระพุทธวจนะ จึงมีการประชุมชี้แจงแสดงพระพุทธวจนะตามแนวที่ได้จัดระเบียบไว้ในสังคายนาครั้งที่ 3 (ของเถรวาท) ในประเทศอินเดีย 2.3.2.1.2 การสังคายนาครั้งที่ 2 การสังคายนาครั้งที่ 2 ในลังกา (ลังกาและไทยนับเป็นครั้งที่ 5 พม่านับเป็นครั้งที่ 4 ) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 433 (หลักฐานบางแห่งบอกว่า พ.ศ. 450) ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฎฎคามณีอภัย ที่โลณกสถาน ณ มตเลชนบท ประเทศลังกา มีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน เนื่องจากพระสงฆ์ในขณะนั้นมีความเห็นว่า หากใช้วิธีการท่องจำพระพุทธวจนะต่อไปก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง* จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน กล่าวกันว่า ได้จารึกอรรถกถาไว้ด้วย การสังคายนาครั้งนี้ได้รับการรับรองกันโดยทั่วไป การสังคายนาครั้งนี้สำคัญมากในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท เพราะมีการจารึกพระไตรปิฎกหรือพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรภาษาบาลีครั้งแรก หลังจากมีการสืบต่อกันมาโดยวิธีท่องจำเป็นเวลานานกว่า 400 ปี 2.3.2.1.3 การสังคายนาครั้งที่ 3 การสังคายนาครั้งที่ 3 ของลังกาเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2408 (ลังกานับ 2409) ค.ศ. 1856 ที่รัตนปุระ ในลังกา พระเถระชื่อหิกขทุเว สิริมังคละ เป็นหัวหน้า กระทำอยู่ 5 เดือน การสังคายนาครั้งนี้ไม่มีใครรู้จักมากนักนอกจากชาวลังกา ลังกานับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา
2.3.2.2.1 การสังคายนาครั้งที่ 1 (พม่านับเป็นครั้งที่ 5) การสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นที่เมืองมันดเล ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) พระมหาเถระ 3 รูปคือ พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้ผัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติร่วมประชุม 2,400 ท่าน ทำอยู่ 5 เดือนจึงสำเร็จ หลังการประชุมสังคายนาครั้งนี้มีการจารึกพระไตรปิฏกลงในแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น 2.3.2.2.2 การสังคายนาครั้งที่ 2 พม่านับเป็นครั้งที่ 6 จึงเรียกการสังคายนาครั้งนี้ว่า ฉัฏฐสังคายนา (การสังคายนาครั้งที่ 6) เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 จนถึงวันที 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 เพื่อเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษด้วย โดยมีวัตถุประสงค์จัดพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และแปลเป็นภาษาพม่า จึงชักชวนให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ ลังกา ไทย ลาว เขมร เข้าร่วมด้วย เมื่อสังคายนาเสร็จก็ได้มีการแจกจ่ายพระไตรปิฎกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยด้วย 2.3.2.3 การสังคายนาในประเทศไทย 2.3.2.3.1 การสังคายนาครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ (อาณาจักรล้านนา) ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎก ในวัดโพธาราม เป็นเวลา 1 ปีจึงสำเร็จ อักษรที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกครั้งนี้เป็นอักษรไทยล้านนา ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องแล้วก็ควรถือว่าครั้งนี้เป็นการสังคายนาของพระสงฆ์ล้านนาหรือของอาณาจักรล้านนาโดยเฉพาะ สมเด็จพระพนรัตผู้รจนาหนังสือ สังคีติยวงศ์ ได้นับการสังคายนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ในประวัติศาสตร์การสังคายนาของเถรวาท นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาของไทยถือว่าการสังคายนาครั้งนี้เป็นครั้งแรกของไทย 2.3.2.3.2 การสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2331 เนื่องจากทรงทราบว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา มีข้อผิดเพี้ยนมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทรงอาราธนาพระสงฆ์มีพระสงฆ์ 218 รูป ร่วมกับราชบัณฑิต (อุบาสก) จำนวน 32 คน ชำระพระไตรปิฎก ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฏิ์ ท่าพระจันทร์) มีการแบ่งงานชำระออกเป็น 4 กอง สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเศษ (ตำราไวยากรณ์และคำศัพท์ต่าง ๆ ) ทำอยู่ 5 เดือน จึงแล้วเสร็จ เมื่อสำเร็จแล้วได้จ้างช่างจารจารึกลงในใบลาน ให้ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้า ปกหลัง และกรอบทั้งสิ้น เรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหม แพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษร บอกชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์ 2.3.2.3.3 การสังคายนาครั้งที่ 3 ในประเทศไทย การสังคายนาครั้งนี้ดำเนินการในช่วงเวลาปี พ.ศ. 2525-2529 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครอบ 5 รอบนักษัตรในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2528 สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นทรงบัญชาการแต่งตั้งสังคีติการกสงฆ์ (พระสงฆ์ผู้ทำการสังคายนา /คณะกรรมการรวมที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบรับรองการตรวจชำระพระไตรปิฎก) ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ รองสมเด็จพระราชคณะ พระราชาคณะชั้นธรรม ชั้นเทพ ชั้นราช ทุกรูปทั่วราชอาณาจักร จำนวน 188 รูป โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน โดยแบ่งคณะกรรมการทำงานออกเป็น 3 คณะคือ 1. คณะกรรมการปาลิวิโสธกะ พระวินัยปิฎก (คณะกรรมการตรวจชำระพระวินัยปิฎก) ประกอบดวยคณะภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวินัยปิฎก จำนวน 28 รูป มีสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นประธานสังฆปาโมกข์ 2. คณะกรรมการปาลิวิโสธกะพระสุตตันตปิฎก (คณะกรรมการตรวจชำระพระสุตตันตปิฎก) ประกอบด้วยพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านพระสุตตันตปิฎกจำนวน 81 รูป มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) เป็นประธานสังฆปาโมกข์ 3. คณะกรรมการปาลวิโสธกะพระอภิธรรมปิฎก (คณะกรรมการตรวจชำระพระอภิธรรมปิฎก) ประกอบด้วยพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระอภิธรรมปิฎกจำนวน 40 รูป (มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เป็นประธานสังฆปาโมกข์ 2.4 การสังคายนากับพุทธศาสนาแบบอนุรักษนิยม การสังคายนาที่เป็นจุดกำเนิดของพุทธศาสนาแบบอนุรักษนิยม มีการสืบทอดแนวความคิดและจารีตต่าง ๆ ต่อกันมาอย่างเคร่งครัดจนกระทั่งในประเทศไทยปัจจุบันก็คือ การสังคายนาครั้งที่ 1 จารีตนิยมแนวนี้ถือว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการรวบรวมพระธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ที่สุดที่พุทธศาสนาจึงพึงมีได้ เพราะทำโดยพระอรหันตเถระที่เคยมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า พุทธศาสนาแบบอนุรักษนิยมในปัจจุบันก็คือ พุทธศาสนาเถรวาทนั่นเอง นี่คือตัวอย่างทัศนคติของชาวเถรวาทที่มีต่อการสังคายนาครั้งที่ 1 การสังคายนาที่สำคัญที่สุดก็ครั้งแรกที่เรียกว่าปฐมสังคายนา ทั้งนี้เพราะเป็นการเริ่มต้นรวบรวมพระธรรมวินัยไว้เป็นหลักฐานโดยผู้ที่ทันรู้ทันเห็นองค์พระบรมศาสดา ซึ่งสามารถรับรองยืนยันได้แน่นอนว่า พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้อย่างไร อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นวินัย ท่านเหล่านั้น ไม่ต้องคอยฟังจากครูอาจารย์ถ่ายทอดกันมาเป็นทอด ๆ หากแต่ได้ฟังมาจากพระโอษฐ์เองโดยตรงทีเดียว ผลงานการรวบรวมพระธรรมวินัยโดยการสังคายนาครั้งแรกนี้จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการวางรากฐานงานสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาจากต้นแบบโดยตรง (ทองย้อย แสงสินชัย 2546 ก : 17) ชาวเถรวาทเชื่อว่าคณะสงฆ์ที่ทำสังคายนาเป็นพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นพระอรหันต์ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ปราศจากความโน้มเอียงใด ๆ ไว้ ท่านเหล่านั้นรวบรวมพระธรรมวินัยไว้อย่างซื่อสัตย์ซื่อตรงที่สุด ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่า วิธีการรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ของพระอรหันต์น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าวิธีสืบทอดพระธรรมวินัยด้วยการท่องจำหรือมุขปาฐะเป็นวิธีการสืบทอดที่แม่นยำที่สุด ดังทัศนะของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ดังนี้ . . . การสังคายนาในพระพุทธศาสนา เป็นการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติม จะมาทำให้ตกหล่นก็ไม่ได้ ต่อเติมก็ไม่ได้ ต้องรักษาไว้ให้แม่นยำที่สุด เราเพียงตรวจทาน มาซักซ้อมทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อนหรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของแท้แต่เดิม (พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) 2543: 49) เป็นอันว่าการรักษาด้วยวิธีเดิมคือ การทรงจำด้วยการสาธยายนั้น เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด เพราะรักษาโดยส่วนรวมที่สวดพร้อมกัน พร้อมกันนั้นแต่ละองค์ก็มีหน้าที่ต้องท่องจำอยู่แล้ว โดยจะต้องมีการซักซ้อมและทบทวนอยู่เสมอซึ่งปรากฏแม้แต่ในสมัยนี้ (เรื่องเดียวกัน : 41) การที่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทกลายเป็นอนุรักษนิยมก็เพราะว่าสังคายนาครั้งที่ 1 มีมติที่สำคัญ กล่าวคือ พระเถระผู้สังคายนาตกลงรับญัตติของพระมหากัสสปเถระที่ว่า "คณะสงฆ์จะไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ ไม่พึงถอนสิกขาบทใด ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว" ในแง่หนึ่งมติที่ประชุมนี้ขัดแย้งกับพระพุทธดำรัสก่อนจะทรงดับขันธปรินิพพานที่ตรัสไว้ว่า "หากสงฆ์จำนงอยู่ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้"(มหาปรินิพพานสูตร) เมื่อเมตตานันโท ภิกขุ ได้เขียนหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 1 เล่ม 2 และวิจารณ์การสังคายนาครั้งที่ 1 อย่างเป็นระบบ ฝ่ายจารีตก็มีคำอธิบายและมีจุดอ้างอิงที่ดูมีเหตุผลเช่นกัน นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย เขียนไว้ดังนี้ ญัตติของพระมหากัสสปะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ท่านคิดขึ้นเองเลย แต่เป็นแนวทางการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอปริหานิยธรรมสำหรับภิกษุหลายชุด เฉพาะชุดที่ท่านนำมาเป็นบัญญัตินี้ตรัสไว้เป็นชุดแรกในมหาปรินิพพานสูตร … มติไม่ถอนสิกขาบทตั้งอยู่บนพื้นฐานอปริหานิยธรรมข้อที่ 3 หมายความว่า ที่ประชุมปฐมสังคายนามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามอปริหานิยธรรม จึงมีมติไม่ถอนสิกขาบทใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากไม่ถอนแล้วยังจะไม่บัญญัติสิกขาบทใด ๆ ขึ้นมาใหม่ แต่จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว มติเช่นนี้ย่อมสอดคล้องกับอปริหานิยธรรมข้อที่ 3 และสนองวัตถุประสงค์ของปฐมสังคายนาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมแต่ละข้อย่อมมีอานิสงส์ดังที่ตรัสไว้ว่า "พึงหวังซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม" ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งปฐมสังคายนาที่มุ่งจะรวบรวมพระธรรมวินัยไว้เป็นแบบแผน เพื่อป้องกันอธรรมวาที อวินยวาทีที่จะเกิดขึ้นย่ำยีหลักธรรมวินัยให้เสื่อมในอนาคต ในทางตรงกันข้าม ถ้าที่ประชุมมีมติให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ มติเช่นนี้ย่อมจะขัดแย้งกับอปริหานิยธรรมข้อที่ 3 ทันทีและความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นทันทีเหมือนกัน นั่นคือสิกขาบทหรือศีลของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งจะถูกยกเลิกเพิกถอนทันที (ทองย้อย แสงสินชัย 2546 ข: 108–109) ไม่ว่าการรับมติดังกล่าวนี้จะขัดแย้งกับพุทธดำรัสหรือสอดคล้องกับพุทธดำรัส แต่มตินี้ได้รับการยึดถือในฐานะที่เป็นมติมาจากสภาพระอรหันต์ ชาวเถรวาทปัจจุบันเชื่อว่ามติดังกล่าวนี้ได้รับการยึดถือเป็นจารีตสืบทอดต่อมาอย่างเคร่งครัดโดยคณะสงฆ์เถรวาทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สังคายนาครั้งที่ 2 และ 3 ในอินเดียก็ดี เมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทแพร่ไปยังศรีลังกา พม่า ไทย การสังคายนาครั้งที่ 4 (ครั้งที่ 2 ในประเทศศรีลังกา) ที่ได้จารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรภาษาบาลีเป็นครั้งแรกก็ดี เจตนารมณ์ที่จะรักษาความบริสุทธิ์แห่งพระธรรมวินัยก็ยังเป็นหัวใจสำคัญของการสังคายนา และแม้หลังจากจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว รูปแบบการสังคายนาจะเปลี่ยนไปเป็นเพียงการตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำในเอกสารก็ตาม เจตนารมณ์ก็ยังเหมือนเดิมคือเพื่อจะรักษาถ้อยคำในภาษาบาลีให้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน ตรงกันมากที่สุด ความเป็นอนุรักษนิยมของเถรวาทไม่ใช่เฉพาะในเรื่องสืบทอดรักษาตัวคัมภีร์หรือเนื้อหาคัมภีร์พระไตรปิฎกอย่างเคร่งครัดเท่านั้น หากการตีความพระธรรมวินัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ของชาวเถรวาทยังมีลักษณะอนุรักษนิยมด้วย กรณีต่าง ๆ ที่เกิดในสังคมไทย กรณีธัมมนันทาสามเณรี (รศ. ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) กรณีของพระเมตตานันโท ภิกขุก็ดี ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า การตีความเรื่องราวในพระไตรปิฎก หลักคำสอนหลักพระวินัยในบางลักษณะ หรือการจะเปลี่ยนแปลงหลักการแห่งพระวินัยบางข้อเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงศาสนาแก่ฝ่ายสตรี ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ จารีตอันเคร่งครัดเช่นนี้ เป็นผลโดยตรงจากมติการสังคายนาครั้งที่ 1 ที่มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน การสังคายนาครั้งที่ 1 จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจกระทบกระเทือนหรือลบล้างได้ สำหรับชาวเถรวาท การทำลายความน่าเชื่อถือของการสังคายนาครั้งที่ 1 เท่ากับการทำลายพุทธศาสนา เพราะแสดงถึงการไม่ยอมรับความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของพระธรรมวินัยที่รวบรวมไว้โดยสังคายนาครั้งนั้น
4. การสังคายนากับปัญหาเกี่ยวกับภิกษุณีเมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทเผชิญกับปัญหาสิทธิสตรี เนื้อหาบางส่วนในพระไตรปิฎกก็ได้ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาท มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเสื่อมสลายไปของภิกษุณีเถรวาท และเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับความเสื่อมดังกล่าวว่ามาจากสาเหตุสำคัญคือ ภิกษุณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในสถาบันสงฆ์ สิ่งบ่งชี้ดังกล่าวนี้ปรากฏเด่นชัดในครุธรรม 8 ประการ ปิดกั้นไม่ให้ภิกษุณีมีบทบาทสำคัญในทางศาสนา และพระพุทธดำรัสที่แสดงความรังเกียจต่อสตรีเพศก็ดี การบวชเป็นภิกษุณีซึ่งมีเงื่อนไขพิเศษที่ทำได้ยากก็ดี ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภิกษุณีไม่ได้รับยกย่องในชุมชนชาวพุทธ และสูญสลายไปจากพุทธศาสนาเถรวาทในที่สุด เมื่อนักวิชาการฝ่ายสตรีนิยมอย่างฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ วิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องส่วนนี้ของพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ก็ได้เสนอว่า ในพระไตรปิฎกมีเนื้อหาบางส่วนไม่สอดคล้องกับจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนาที่มองเห็นศักยภาพในการบรรลุธรรมอย่างเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษกับสตรี พระไตรปิฎกมีเนื้อหาส่วนหนึ่งยกย่องและสนับสนุนสิทธิสตรี ขณะเดียวกันก็มีเนื้อหาอีกส่วนหนึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้าม (กดขี่สตรี) ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ วินิจฉัยว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการจารึก (การเขียน) พระไตรปิฎกที่เกิดขึ้นในสมัยหลังพุทธกาลนานถึง 400 กว่าปีนั้นทำโดยบุรุษซึ่งมีความคิดแบบปิตาธิปไตย และได้รับอิทธิพลความคิดจากวัฒนธรรมพราหมณ์ นอกจากนี้สิทธิในการตีความคำสอนก็มักตกอยู่ในมือของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นได้รับอิทธิพลดังกล่าว สตรีเพศจึงได้รับการเน้นย้ำในแง่ที่ว่า "สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์" ก่อนการบวชเป็นสามเณรีของ ร.ศ. ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ นั้น การชี้แนะในเชิงวิชาการว่าพระไตรปิฎกมีของแปลกปลอมเจือปนอยู่นี้ ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสถาบันพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียกร้องหลังจากได้บวชเป็นสามเณรีในลังกามาแล้ว ข้อเสนอที่กระทบต่อสถาบันพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย (และพุทธศาสนาเถรวาททั่วไป) มากที่สุดได้แก่ ข้อเสนอของเมตตานันโท ภิกขุ ในหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 1 เล่ม 2 เมตตานันโท ภิกขุไม่เพียงแต่เสนอว่ามีบทบัญญัติต่าง ๆ ที่ถูกบรรจุเข้าไปในพระไตรปิฎกและเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ภิกษุณีเสื่อมสูญไปเท่านั้น หากได้เสนอข้อพิจารณาที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์แห่งการกีดกั้นและการสูญสลายของภิกษุณีสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นที่ว่านี้คือปฐมสังคายนา หรือการสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นอันเดียวกันกับจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาเถรวาทนั่นเอง เมตตานันโท ภิกขุได้ศึกษาเรื่องการสังคายนาครั้งที่ 1 ด้วยมุมมองที่ต่างออกไปจากจารีตเดิมของเถรวาท ท่านนำเสนออย่างมีรายละเอียดที่น่าตื่นเต้น เร้าใจ ผลสรุปของการศึกษาเรื่องนี้ก็มีผลกระทบอย่างมากและหากว่าข้อสรุปต่าง ๆ ที่ให้ไว้เป็นจริง ก็จะส่งผลกระทบกระเทือนโดยตรงต่อพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยเฉพาะข้อสรุปที่ว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งดำเนินการโดยพระมหากัสสปเถระนั้น เป็นการชำระ พระวินัย โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือ การกำจัดภิกษุณีสงฆ์ออกไปจากพระพุทธศาสนา มิใช่การชำระ พระธรรมวินัย อย่างที่ชาวเถรวาททั่วไปยึดถือ ในการเสนอหลักฐานและเหตุผลประกอบการพิจารณาเรื่องนี้ เมตตานันโท ภิกขุได้เริ่มต้นตั้งแต่การตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับมูลเหตุสำคัญของการชักชวนพระสงฆ์ 499 รูปทำสังคายนา โดยให้ข้อสรุปว่า คำพูดของพระหลวงตาสุภัททะที่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยนั้นไม่ใช่มูลเหตุสำคัญของการสังคายนาครั้งที่ 1 เพราะในที่ประชุมไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นไปพิจารณาแต่อย่างใด มูลเหตุสำคัญนั้นน่าจะอยู่ที่การกำจัดภิกษุณีสงฆ์ออกไปจากพระพุทธศาสนานั่นเองทั้งนี้อาจพิจารณาได้จากการปรับอาบัติพระอานนท์ การปรับอาบัติพระอานนท์ทั้ง 5 ประการนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัยโดยตรง และในจำนวนอาบัติที่ท่านถูกคณะสงฆ์ปรับนั้น มี 2 ข้อเนื่องด้วยสตรี โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่ว่า เป็นผู้ขวนขวยให้สตรีได้รับการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชวนสงสัยได้ว่า มูลเหตุของปฐมสังคายนาน่าจะมาจากเรื่องความเห็นของสงฆ์ที่ไม่ตรงกันในเรื่องภิกษุณีมากกว่าจะเป็นเรื่องการพูดจากของพระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่ และสาเหตุเดียวเท่านั้นที่พระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่าทำให้พระสัทธธรรมและพรหมจรรย์ตั้งอยู่ได้ไม่นานคือ การเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ (เมตตานันโท ภิกขุ 2545: 99) สิ่งที่เมตตานันโท ภิกขุได้กระทำต่อมาก็คือการตรวจสอบคุณสมบัติของพระสงฆ์ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะชาวเถรวาทถือว่า พระเถระที่ร่วมในการสังคายนาครั้งนี้ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากกิเลสแล้วทั้งสิ้น แต่เมตตานันโท ภิกขุได้นำเสนอข้อมูลในลักษณะตรงกันข้ามกับความเชื่อดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การตั้งข้อสงสัยในความบริสุทธิ์ใจของพระมหากัสสปเถระ โดยชี้ข้อมูลบางอย่างที่นำไปสู่การตีความว่า พระเถระที่ได้รับการชักชวนมากประชุมสังคายนาส่วนใหญ่นั้นเป็นพรรคพวกของพระมหากัสสปะนั่นเอง และไม่เพียงแต่เท่านั้น เมตตานันโท ภิกขุยังยกหลักฐานบางประการที่ชวนให้เห็นว่า พระมหากัสสปะและคณะสงฆ์ที่เป็นพรรคพวกของตนนั้นได้รับอิทธิพลความคิดที่รังเกียจสตรีเพศจากจารีตความคิดของพราหมณ์ โดยสืบจากประวัติชีวิตของพระมหากัสสปะเอง อิทธิพลของพราหมณ์แสดงออกผ่านการปรับอาบัติพระอานนท์ในตอนท้ายของการสังคายนา การเปรียบเทียบการปรับอาบัติพระอานนท์ในการสังคายนาครั้งนี้ กับคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระเถระที่ดำเนินการสังคายนาทั้ง 499 รูปเหล่านั้น เป็นผู้ยึดมั่นในกฎหมายพระธรรมศาสตร์ . . . มากกว่าหลักการในพระพุทธศาสนา การวิเคราะห์ด้วยหลักการแห่งมหาปเทศ แสงดงให้เห็นบุคลิกของพระมหากัสสปะ ประธานแห่งปฐมสังคายนานี้ เข้าได้กับค่านิยมของพราหมณ์ผู้เคร่งครัดในจารีตแห่งกฎหมายพระธรรมศาสตร์เช่นเดียวกัน (เรื่องเดียวกัน : 225) ส่วนพระอานนท์นั้นต้องรับเข้ามาร่วมด้วยเพราะความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดคำติเตียนจากคณะสงฆ์ส่วนใหญ่เท่านั้น พระมหากัสสปะนั้นเป็นปฏิปักษ์กับพระอานนท์ในเรื่องทัศนคติต่อสตรีเพศและการบวชภิกษุณี พระมหากัสสปะดูจะไม่ชอบใจที่พระอานนท์ขวนขวายให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา วิธีการสังคายนาที่กระทำกันในการสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งชาวเถรวาทเชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือและให้ความเคารพโดยไม่ตั้งข้อสงสัยนั้น เมตตานันโท ภิกขุก็ได้เสนอว่าไม่มีความน่าเชื่อถือหรือถูกต้องด้วยพุทธประสงค์แต่ประการใด ทั้งนี้โดยการพิจารณาจากองค์ประกอบสำคัญที่ขาดหายไปในการสังคายนา กล่าวคือ ในทัศนะของเมตตานันโท ภิกขุ การประชุมสังคายนาที่ถูกต้องจะต้องมีองค์ประกอบของพุทธบริษัทครบทั้ง 4 คืออุบาสก อุบาสิกา ภิกษุและภิกษุณี แต่ในการสังคายนาครั้งที่ 1 ไม่เป็นไปตามพระพุทธประสงค์ ท่านจึงตั้งคำถามว่า เมื่อพุทธประสงค์ในการจัดสังคายนานั้นชัดเจนถึงขนาดนี้ เหตุใดพระมหากัสสปะจึงไม่ดำเนินการสังคายนาให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ ? เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 นี้เป็นการสังคายนาที่ไม่มีภิกษุณีแม้แต่รูปเดียวเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่พระอุบาลีได้วิสัชชนาแจกแจงพระวินัยของทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แม้แต่ธรรมะในส่วนของฝ่ายคฤหัสถ์นั้นก็ไม่มีตัวแทนของอุบาสกและอุบาสิการ่วมด้วยเลย เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุใดจึงไม่มีภิกษุรูปใดคัดค้านความชอบธรรมของการสังคายนาครั้งนี้ ? (เรื่องเดียวกัน : 87) นอกจากนี้เมตตานันโท ภิกขุยังได้เสนอหลักฐานว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 ไม่ใช่การสังคายนาพระธรรมวินัย เป็นแต่เพียงการสังคายนาพระวินัย หมายความว่า ในการสังคายนาครั้งนี้จะต้องมีวาระซ่อนเร้นที่สำคัญ กล่าวคือ น่าจะมีการเพิ่มเติมข้อความบางอย่างเข้าไปในพระวินัย ซึ่งก็ได้แก่ ประวัติการเกิดขึ้นขงภิกษุณีสงฆ์และ ครุธรรม 8 ประการ อันเป็นข้อความที่นำไปสู่การกีดกันภิกษุณีสงฆ์ออกไปจากพระพุทธศาสนานั่นเอง เมตตานันโท ภิกขุ ไม่ได้ระบุชัดว่าครุธรรม 8 ประการนั้นถูกบรรจุเข้าไปเมื่อครั้งปฐมสังคายนา แต่ก็ได้ให้ข้อสรุปไว้หลายตอนซึ่งสามารถตีความวัตถุประสงค์ของเมตตานันโท ภิกขุ ตัวอย่างเช่น การบัญญัติครุธรรม 8 ประการนี้เกิดขึ้นภายหลังการเกิดของภิกษุณีสงฆ์ระยะหนึ่งแล้ว และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ในระยะดังกล่าว ภิกษุณีสงฆ์นั้นกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ภิกษุผู้มีอำนาจในการบริหารและมีอคติต่อสตรีอย่างรุนแรงเห็นว่าภิกษุณีสงฆ์เป็นภัยกับพระพุทธศาสนานั่นเอง การบัญญัติครุธรรมเหล่านี้ทั้งชุดขึ้นจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำลายภิกษุณีสงฆ์ให้หมดไป โดยอาศัยอำนาจของพุทธโอษฐ์ ทำให้เหมือนกับว่าเป็นพุทธดำรัส แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการบัญญัติของพระเถระที่มีอำนาจในคณะสงฆ์สมัยหลังพุทธปรินิพพานรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในคณะสงฆ์เพียงพอที่จะทำให้ภิกษุทั้งหลายรับฟังไว้ในฐานะพุทธวจนะได้ (เรื่องเดียวกัน : 126) "ภิกษุผู้มีอำนาจในการบริหารและมีอคติต่อสตรีอย่างรุนแรง" ในที่นี้จะเป็นใครไม่ได้นอกจากพระมหากัสสปะ ผู้เป็นประธานการสังคายนาครั้งที่ 1 นั่นเอง และข้อสรุปเกี่ยวกับเจตนารมณ์เบื้องหลังของปฐมสังคายนาในบทส่งท้ายหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 1 ของเมตตานันโท ภิกขุ ที่นับว่ามีอันตรายต่อสถานภาพของพุทธศาสนาเถรวาทอย่างยิ่งก็คือ เจตนารมณ์ที่แท้จริงของปฐมสังคายนาจึงมิใช่อยู่ที่การรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อป้องกันความเสื่อมต่อพระศาสนา ดังคำปรารภของพระมหากัสสปะ แต่เป็นการกำจัดภิกษุณีสงฆ์ให้หมดไปอย่างรวดเร็ว โดยเนื้อหาสาระของการสังคายนาในครั้งนี้จึงเป็นการปฏิรูปพระวินัย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภิกษุณีทั้งหมด การสังคายนาพระธรรมนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว ภายใต้การนำของพระสารีบุตร จึงทำให้เกิดแหล่งข้อมูลเปรียบเทียบกับหลักฐานในพระวินัยปิฎกได้ ผลของปฐมสังคายนาสามารถเห็นได้จากการยุติลงอย่างสิ้นเชิงของการประพันธ์ของภิกษุณีและพระเถรีทั้งหลาย ซึ่งเคยมีปรากฏจำนวนมากในเถรีคาถา อันน่าจะเป็นเครื่องระบุได้อย่างดีถึงความแตกต่างของการปกครองในสมัยที่พระศาสดายังทรงพระชนม์กับยุคหลังพุทธปรินิพพาน ซึ่งสิทธิของนักบวชสตรีในพระพุทธศาสนาถูกจำกัดจึงเป็นยุคแห่งการกดขี่ (เรื่องเดียวกัน : 226–227) ถ้าหากสิ่งที่เมตตานันโท ภิกขุ ยกขึ้นมาโต้แย้งมีหลักฐานน่าเชื่อถือได้จริง ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิวัติความเชื่อใหม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจะต้องได้รับการแก้ไขเสียใหม่ เพราะข้อเสนอของท่านเท่ากับเป็นการถอนรากเหง้าของพระพุทธศาสนาตามแบบที่ถือสืบทอดกันมาในหมู่นิกายเถรวาท ดังนั้น ในหนังสือ "เหตุเกิด พ.ศ.2545" ของ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย จึงปรากฏการโต้แย้งโจมตีการกระทำของเมตตานันโท ภิกขุ อย่างรุนแรงเช่นกล่าวหาว่าพระเมตตานันโท ภิกขุ "ต้องการจะดิสเครดิตผลการสังคายนานั่นเอง" (ทองย้อย แสงสินชัย 2546ก :17) ในทัศนะของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย หนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 1 ของเมตตานันโท ภิกขุ มีนัยสำคัญอย่างยิ่งเพราะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ที่มาของพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้ ซึ่งก็เท่ากับเป็นข้อสรุปว่า พระไตรปิฎกก็ย่อมจะเชื่อถือไม่ได้ด้วยนั่นเอง เมื่อพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้เสียแล้ว การจะเอาพระไตรปิฎกมาเป็นมาตรฐานตัดสินความถูกผิดของคำสอนก็ตาม ของการกระทำต่าง ๆ ก็ตาม ที่สงฆ์หมู่นั้นหมู่โน้นสอนและประพฤติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็จึงเชื่อถือไม่ได้ไปด้วย เท่ากับชี้นำเป็นนัยต่อไปว่า คำสอนและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เห็นกันว่าวิปริตผิดเพี้ยนนั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้ว อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ก็ได้ เพราะเมื่อเอาพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานไม่ได้เสียแล้ว ก็เป็นอันไม่มีอะไรเป็นข้อพิสูจน์ว่าคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นคืออะไร คืออย่างไร เมื่อถึงตอนนั้นก็อาจจะมีพระไตรปิฎกฉบับธรรมกาย พระไตรปิฎกฉบับสันติอโศก พระไตรปิฎกฉบับอะไรต่อมิอะไร รวมทั้งพระไตรปิฎกฉบับอ่านใหม่ของพระมโน เกิดขึ้นสะพรั่งไปหมด และทุกฉบับล้วนแต่อ้างหลักวิชาการที่ถูกต้องแม่นยำว่า ฉบับของตนถูกต้องตามพุทธประสงค์ที่สุดในโลก และเมื่อนั้นก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาได้ถูกเกลื่อนกลืนกลายสลายร่างสูญสิ้นสภาพไปจากโลกสมตามมโนปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้าทุกประการ. (เรื่องเดียวกัน :18) และอีกตอนหนึ่ง จะเห็นว่า ถ้าหลักวิชาการของพระมโนที่แสดงไว้ใน เหตุเกิด พ.ศ.1 เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เราก็ต้องล้มเลิกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องล้มเลิกพระไตรปิฎก และต้องล้มเลิกพระพุทธศาสนาด้วย รวมทั้งจะต้องเขียนประวัติพระพุทธศาสนากันใหม่ทั้งหมด. (เรื่องเดียวกัน :42) ข้อวิพากษ์ที่มีต่องานเขียนของเมตตานันโท ภิกขุของ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ในหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 2545 เล่ม 1 และ 2 ถือเป็นการค้นคว้าข้อมูลหลักฐานและการนำเสนอข้อโต้แย้งที่น่าศึกษาอย่างยิ่งในฐานะผู้ที่ยืนยันความถูกต้องและความบริสุทธิ์ของการสังคายนาครั้งที่ 1 โดยความเห็นส่วนตัว ข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ที่นำเสนอและตีความเพื่อโต้แย้งพระเมตตานันโท ในหนังสือ "เหตุเกิด พ.ศ. 1 เล่ม 2" หากผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวไม่ใช้วาทศิลป์มากเกินไป ตัดข้อความที่แสดงอารมณ์เสียดสีบุคลิกภาพของเมตตานันโท ภิกขุ ออกไปบ้าง ข้อมูลหลายอย่างที่ท่านผู้เขียนนำมาแสดงและหักล้างข้อเสนอของเมตตานันโท ภิกขุ จะน่ารับฟังมากกว่านี้ เพราะมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือไม่น้อย
การสังคายนาและพระไตรปิฎกมีความสำคัญมากในทัศนะของชาวเถรวาทดังสะท้อนในงานเขียนของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ชาวเถรวาทเชื่อว่าประวัติศาสตร์สังคายนาโดยเฉพาะครั้งที่ 1 นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เพราะกระทบถึงรากเหง้าของศาสนา ชาวเถรวาททั่วไปไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสังคายนาครั้งที่ 1 และไม่คิดจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เพราะถือว่ามีความสมบูรณ์พร้อมในตัวเองอยู่แล้ว การทำให้เปลี่ยนความเชื่ออย่างแรงดังที่เมตตานันโท ภิกขุ พยายามนำเสนอนั้นมีผลกระทบมากเกินไป การโต้กลับต่อข้อเสนอดังกล่าวจึงดำเนินไปทั้งในรูปของวิชาการและนอกขอบเขตวิชาการ เถรวาทยึดมั่นในเจตนารมณ์การสังคายนาครั้งที่ 1 อย่างเคร่งครัดนั่นคือ ยืนยันมติที่ว่า "จะไม่เพิ่มเติมสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติ และจะไม่เพิกถอนสิกขาบทใด ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว" ซึ่ง "สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ" ในที่นี้หมายถึง "ข้อความที่รวบรวมไว้โดยการสังคายนาครั้งที่ 1 นั่นเอง" ในทัศนะของเถรวาท ประวัติศาสตร์การสังคายนาที่กำหนดตนตัวของเถรวาทไม่มีปัญหา ความเป็นอนุรักษนิยมที่เป็นผลพวงจากการสังคายนาครั้งที่ 1 ก็ไม่มีปัญหา หากแต่เป็นความดีงาม เพราะทำให้รักษาความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาไว้ได้ แต่จากแง่มุมของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มักจะถูกกันให้อยู่นอกขอบของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เชื่อว่าความเป็นอนุรักษนิยมของเถรวาทไทยเป็นปัญหา และที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนมากมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ เรื่องของนักบวชสตรีหรือภิกษุณี ปัญหาภิกษุณีเกิดขึ้นเนื่องจากความประสงค์ที่จะให้เถรวาทไทยยอมรับสถานภาพของภิกษุณีของรองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ แต่กระแสตอบรับจากเถรวาทในประเทศไทยเป็นไปในทางตรงกันข้าม เหตุผลที่อ้างก็คือ ภิกษุณีของฝ่ายเถรวาทขาดสูญไปแล้ว และไม่สามารถจะดำเนินการให้มีขึ้นมาใหม่ได้ด้วยเหตุที่ขัดกับพระวินัยบัญญัติที่ว่า การบวชภิกษุณีจะต้องกระทำในสงฆ์สองฝ่ายคือ ภิกษุณีสงฆ์ และพระภิกษุสงฆ์ จึงจะเป็นสำเร็จได้ตามพระธรรมวินัย เนื่องจากประวัติศาสตร์ภิกษุณีขาดตอนเสียแล้วจึงไม่อาจดำเนินการให้เป็นไปตามพระวินัยได้ ถ้าหากจะให้ยอมรับการบวชก็ต้องสืบให้ได้ว่ามีภิกษุณีเถรวาทยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หรือคณะสงฆ์อาจจะต้องยอมเปลี่ยนแปลงพระวินัยบางข้อที่เป็นอุปสรรคในการบวช การหาทางออกด้วยวิธีหลังนี้ดูจะเป็นไปได้ง่ายกว่าวิธีแรก แต่การเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้นของเถรวาทหรือคณะสงฆ์ไทยทำให้การบวชภิกษุณีหรือการยอมรับนักบวชสตรีเป็นไปไม่ได้ ในที่นี้ผู้เขียนมีข้อเสนอบางประการที่น่าจะช่วยให้เถรวาทลดความเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้นลงโดยมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า การเป็นอนุรักษนิยมน้อยลงจะช่วยให้มีการแก้ปัญหาที่เกี่ยวพระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อเสนอดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับการสังคายนาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ประการแรกที่อาจทำได้แต่ไม่มีใครอยากทำก็คือ การนำประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามาพิจารณาใหม่เพื่อเพิกถอนลักษณะอนุรักษนิยมแบบสุดขั้วของเถรวาทนั้นเสียก่อน โดยพิจารณามติสังคายนาครั้งที่ 1 และพระพุทธดำรัสก่อนดับขันธปรินิพพานที่ว่า "หากสงฆ์จำนงอยู่ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้" อย่างจริงจัง แทนที่จะให้ "มติสังคายนาครั้งที่ 1" อยู่เหนือ "พุทธดำรัส" ก่อนเสด็จปรินิพพาน ก็อาจจะต้องเปลี่ยนให้มติสังคายนามีอำนาจกดทับน้อยลง ให้มติดังกล่าวมีอำนาจรองจากพุทธพจน์ การเปลี่ยนประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้จะมีผลทำให้เถรวาทมีความเป็นอนุรักษนิยมน้อยลงไป และอาจจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสิกขาบทที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมสมัยใหม่ เถรวาทอาจต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า "อำนาจ" ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แก่สงฆ์ในการรับสมาชิกเข้าสู่ชมชน (การอุปสมบท) และสังฆกรรมต่าง ๆ นั้น ครอบคลุมถึงอำนาจที่จะตราข้อความใด ๆ ให้อยู่เหนือพระพุทธดำรัสได้หรือไม่ พระสงฆ์ในการสังคายนาครั้งที่ 1-3 เท่านั้นหรือที่มีอำนาจในการกำหนดรูปแบบพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ในปัจจุบันมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนมติใด ๆ ที่คณะสงฆ์ในประวัติศาสตร์ตกลงกันไว้ได้หรือไม่ ข้อเสนอของผู้เขียนดังกล่าวนี้แตกต่างจากข้อเสนอของเมตตานันโท ภิกขุ เพราะท่านได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสังคายนาครั้งที่ 1 แบบถอนรากถอนโคน โดยแสดงให้เห็นว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 ไม่มีความชอบธรรม แต่ผู้เขียนเสนอให้พิจารณาทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเสียใหม่ในประเด็นที่เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งหากแต่เป็นคณะสงฆ์เถรวาททั้งหมด หรืออาจจะเฉพาะพระสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย กล่าวคือจะต้องพิจารณาและตัดสินโดยมติคณะสงฆ์เถรวาททั้งมวล ปัญหาก็คือว่า คณะสงฆ์ในปัจจุบันสามารถจะมีสิทธิและสถานะใดที่จะเสนอให้เปลี่ยนแปลงมติของสังคายนาครั้งที่ 1 หรือไม่ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับสถานภาพของ "ความเป็นสงฆ์" กล่าวให้ชัดเจนก็คือ "สมมติสงฆ์" ในปัจจุบัน สามารถจะมีมติให้ยกเลิกมติของ "อริยสงฆ์" ในสังคายนาครั้งที่ 1 ได้หรือไม่ ซึ่งในการตกลงเรื่องนี้ คณะสงฆ์จะต้องพิจารณาประเด็นสำคัญที่ว่า การเปลี่ยนแปลงมติของสังคายนาครั้งที่ 1 จะก่อให้เกิดผลอะไรตามมา จะนำไปสู่การเสื่อมสลายของพระพุทธศาสนาหรือไม่ การลดความเข้มข้นแบบอนุรักษนิยมลงไปดูเหมือนว่าจะพอมีทางทำได้ โดยพิจารณาจากบทวิเคราะห์ในหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. 2545 ของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย เรื่อง "สิกขาบทเล็กน้อย" ท่านได้ตอบปัญหาว่าเมื่อคณะสงฆ์ในการสังคายนาครั้งที่ 1 ลงมติไม่ถอนสิกขาบทเล็กน้อย สงฆ์อื่น ๆ ในเวลานั้นก็ดี สงฆ์ในอนาคตก็ดี จะมีสิทธิในการถอนสิกขาบทเล็กน้อยหรือไม่ ซึ่งท่านให้คำตอบว่ามีสิทธิแน่นอน หากสงฆ์ที่ว่านั้นลงมติเห็นชอบพร้อมกันให้ถอดถอนเปรียบเหมือนรัฐในเวลาต่อมาย่อมมีสิทธิเสนอต่อสภาให้ยกเลิกกฎหมายเดิมทุกฉบับไม่ว่าจะบัญญัติมาตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินองค์ไหน ถ้าสภาเห็นชอบร่วมกัน (ทองย้อย แสงสินชัย 2546ข : 123) พร้อมกันนี้ก็ได้ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์คือ กรณีพระวัชชีบุตรยกเลิกสิกขาบท 10 ประการอันนำไปสู่สังคายนาครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา แต่ตัวอย่างที่นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ยกมานั้นจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนัก เนื่องจากในกรณีนี้ พระสงฆ์ที่ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยครั้งนั้นเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของการสังคายนาครั้งที่ 1 ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว กรณีประเทศไทยเล่า สมมติว่าสงฆ์ในประเทศไทยในปัจจุบันนี้จะใช้สิทธิตามพุทธานุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้หรือไม่ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ยอมรับว่า โดยหลักการก็สามารถทำได้ (เรื่องเดียวกัน : 124) แต่ในทางปฏิบัติย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะ เพราะสงฆ์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในพุทธศาสนาเถรวาทเป็นพวกที่ถือหลักตามปฐมสังคายนา เพราะฉะนั้นสงฆ์นิกายนี้จึงไม่ถอนสิกขาบทใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าสงฆ์หมู่ไหนในประเทศไทยคิดจะถอน ก็จะต้องออกไปจากนิกายเถรวาท เพราะการถอนสิกขาบทไม่ใช่หลักการของเถรวาท จะอยู่เป็นเถรวาทด้วยแล้วก็ใช้สิทธิถอนสิกขาบทนั่นนี่ไปด้วยหาได้ไม่ (เรื่องเดียวกัน : 124) ชัดเจนว่า หากสงฆ์จะเปลี่ยนแปลงสิกขาบทบางอย่างโดยหลักการก็สามารถทำได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ปัญหาอยู่ที่ความเป็นเถรวาท ปัญหาที่ว่า "คณะสงฆ์ที่เคยยอมรับมติสังคายนาครั้งที่ 1 สามารถมีมติยกเลิกมติดังกล่าวได้หรือไม่" ก็น่าจะทำได้เช่นกัน แต่การไม่ยอมรับมติสังคายนาครั้งที่ 1 ย่อมแสดงถึงการปฏิเสธการเป็นเถรวาท ผู้เปลี่ยนแปลงเช่นนั้นจะสิ้นสภาพการเป็นเถรวาทไปกลายเป็นคณะนิกายอื่นไปโดยปริยาย สมภาร พรมทา วิจารณ์ว่า การที่คณะสงฆ์ไทยหรือเถรวาทไทยปฏิบัติต่อพระวินัยซึ่งเป็นสมมติสัจจะในฐานะที่เป็นกฎอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้นั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับลักษณะอเทวนิยมของพุทธศาสนา ก็ยังเป็นที่เข้าใจได้ ถ้าหากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจากความประสงค์จะให้ความเคารพต่อพระพุทธเจ้าในฐานะองค์ศาสดา แต่สิ่งที่เข้าใจไม่ได้ก็คือ การปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ต่อผู้อื่นที่ไม่ใช่พระศาสดา กล่าวคือ พระอรหันต์ 500 รูปที่มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ว่า คณะสงฆ์อาจถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ พระอรหันต์ก็ได้ลงมติไม่ให้เพิกถอนสิกขาบทใด ๆ ซึ่งอาจตีความได้ว่าขัดกับพระพุทธประสงค์นั้น สิ่งที่สมภาร พรมทา ตั้งคำถามคือ ไฉนคณะสงฆ์จึงปฏิบัติต่อมติของสังคายนาเทียบเท่าพระพุทธบัญญัติ ไฉนคณะสงฆ์ปัจจุบันจึงปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ในสังคายนาครั้งที่ 1 เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาเสียเอง ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตั้งผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าของแห่งพุทธศาสนา (สมภาร พรมทา 2547: 1–3) ยังมีปัจจัยอื่นด้วยที่ทำให้นิกายเถรวาทจะไม่เปลี่ยนแปลงมติหรือสิกขาบทใด ๆ คือ ชาวเถรวาทเชื่อที่ว่านิกายตนเป็นฝ่ายที่รักษาพระธรรมวินัยที่บริสุทธิ์มาแต่ดั้งเดิม ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะการยึดถือมติสังคายนาครั้งที่ 1 อย่างเคร่งครัดนั่นเอง และเมื่อใดก็ตามที่ละทิ้งมติดังกล่าว พระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ก็จะถูกทำลายไป มายาคติเช่นนี้ปลูกฝังและถ่ายทอดกันมาในกลุ่มเถรวาท ดังปรากฏในคำชี้แจงของ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ที่ว่าหากยอมให้มีการถอนสิกขาบทเล็กน้อยเพื่อสนองพุทธประสงค์ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว "ความฉิบหายก็จะเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการเหลือจะคาดคะเนได้" เพราะการถอนนั่นเองมีค่าเท่ากับไม่สมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ เมื่อทำตรงกันข้ามกับอปริหานิยธรรม ผลที่เกิดขึ้นย่อมจะตรงกันข้ามไปด้วย คือแทนที่จะพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่เสื่อม ก็จะต้องเป็นพึงหวังได้ความเสื่อมอย่างเดียวไม่มีความเจริญ นอกจากนั้น เมื่อ "สามารถตราเงื่อนไขและบัญญัติ" ได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ย่อมเป็นข้ออ้างอิงให้มีการตราเงื่อนไขและบัญญัติกันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในที่สุดสิกขาบททั้งสิ้นอาจถูกตีความโดย "สงฆ์" ในอนาคตให้เป็นสิกขาบทเล็กน้อยแล้วเพิกถอนเสีย และแม้แต่ตัวพระพุทธศาสนาทั้งศาสนาก็อาจถูกหมู่สงฆ์หมู่ใดหมู่หนึ่งที่เป็นฝ่ายอธรรมวาทีอวินยวาทีลงมติเลิกเพิกถอนออกไปจากสาระบบของศาสนาเสียก็ได้ (เรื่องเดียวกัน : 110) การใช้เหตุผลของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัยดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยาเท่านั้น โดยยึดข้อความของอปริหานิยธรรม ข้อที่ 3 เป็นเสมือนกฎ การกระทำใด ๆ ก็ตามที่สอดคล้องกับกฎเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนการกระทำใดที่ขัดแย้งกับกฎย่อมนำไปสู่ผลตรงกันข้าม มายาคติสำคัญอีกประการหนึ่งที่ถ่ายทอดกันมาในหมู่เถรวาทก็คือ ความเชื่อที่ว่าพุทธศาสนานิกายอื่นไม่ใช่พุทธศาสนาที่แท้จริง ขอให้พิจารณากรณีตัวอย่างที่ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อ้างถึง นี่คือปรากฏการณ์จริงที่อาจเป็นไปได้ ถ้ามีการปฏิบัติตามพุทธานุญาต. . . คือมีการถอนสิกขาบทเล็กน้อยกันจริง ๆ และของจริงที่เกิดมีขึ้นแล้วก็ไม่ต้องดูอื่นไกล-ก็พระภิกษุในนิกายมหายานทุกวันนี้นั่นยังไง ถ้าเปรียบเทียบกับพระภิกษุนิกายเถรวาท ก็แทบจะเป็นคนละศาสนาอยู่แล้วมิใช่หรือ นั่นแหละเป็นผลงานของสงฆ์ฝ่ายที่ปฏิบัติตามสิ่งที่พระมโนอ้างว่าเป็นพุทธประสงค์ล่ะ (เรื่องเดียวกัน : 116) เป็นอันว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เถรวาทจะดำรงความเป็นอนุรักษนิยมเช่นนี้ เพราะเชื่อว่าการเป็นอนุรักษนิยมถูกต้องและจะทำให้พระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ดำรงมั่นตลอดไป อีกประการหนึ่งที่เป็นข้อเสนอของผู้เขียนก็คือ การเปลี่ยนทัศนะเรื่องการทำสังคายนาใหม่ กล่าวคือ แทนที่จะมองว่า การสังคายนาเป็นการรวบรวมพระพุทธวจนะ หรือการรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์โดยการชุมนุมสงฆ์ที่ทรงจำพระพุทธวจนะมาสวดร่วมกัน หรือการชำระข้อความพระไตรปิฎก (พระธรรมวินัย) ที่ท่องจำสืบกันมาหรือการแก้ไขข้อบกพร่องตัวอักษรที่จารึกไว้ในใบลานหรือหนังสือ ก็ขยายมุมมองให้กว้างกว่านั้น ผู้เขียนเคยได้เสนอไว้หลายปีแล้วว่า การสังคายนาน่าจะเป็นกระบวนการหาข้อตกลงร่วมกันของสงฆ์เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย การสังคายนาในแง่นี้เป็นทั้งกระบวนการชำระพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ เป็นทั้งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย กล่าวคือ เมื่อมีการถือผิดเกี่ยวกับพระธรรมวินัย หรือมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการนำพระธรรมวินัยไปปฏิบัติในสังคมสงฆ์หรือชุมชนชาวพุทธ การหาทางออกด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยจะเป็นวิธีการที่น่าสนใจที่สุด เพราะกระบวนการนี้อาศัยการตกลงร่วมกันของสงฆ์ทั้งหมด มิใช่ของปัจเจกบุคคล* ตัวอย่างเช่น กรณีวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท การแก้ปัญหานี้จะไม่เพียงแต่อ้างอิงพระไตรปิฎกเท่านั้น เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็อ้างจุดที่เป็นช่องว่างในพระไตรปิฎกมาสนับสนุนข้ออ้างของตนได้อย่างมีเหตุผลเช่นเดียวกัน ในประเด็นที่หาทางออกไม่ได้ด้วย "ตัวอักษร" เนื่องจากไม่มีข้อความใดกล่าวเรื่องนี้ไว้โดยตรงหรือชัดเจนเพียงพอที่จะตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปได้ ปัญหาดังกล่าวนี้จะยกขึ้นสู่การพิจารณาของคณะสงฆ์โดยรวม การพิจารณาของสงฆ์และมติร่วมกันของสงฆ์จะถือเป็นข้อยุติ ในบางกรณีอาจเป็นการยุติชั่วคราว จนกว่าคณะสงฆ์ในสังคายนามีมติร่วมกันเป็นอย่างอื่น หรือกรณีปัญหาภิกษุณี เราจะเห็นว่าการถกเถียงปัญหาเรื่องนี้กระทำต่อกันโดยบุคคลหรือคณะบุคคลบางกลุ่มที่เห็นขัดแย้งกัน ข้อสรุปต่าง ๆ ที่ปรากฏออกมาจากความเห็นหรือข้อถกเถียงของฝ่ายที่อ้างอิงพระธรรมวินัยจากบาลีพระไตรปิฎกนั้น มิอาจกล่าวได้ว่า เป็น "มติสงฆ์" ที่ชาวพุทธทั้งหมดจะยอมรับร่วมกัน แต่เป็นมติของบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของความถูกต้อง คน ๆ หนึ่งซึ่งอาจจะมีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากกว่าคนอื่น ๆ มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นของตนเกี่ยวกับพระธรรมวินัยได้ แต่ย่อมมิใช่ผู้เดียวที่จะตัดสินความถูกต้องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย แม้จะอ้างอิงหลักฐานจากพระไตรปิฎกก็ตาม แต่บางเรื่องก็เห็นชัดว่าฝ่ายที่เห็นแย้งสามารถจะอ้างพระไตรปิฎกมาสนับสนุนมุมมองของตนได้อย่างมีเหตุผลเช่นกัน แต่ที่เป็นอยู่มักจะมีฝ่ายหนึ่งที่คิดว่าตนเองกุมความถูกต้องไว้คนเดียวโดยอ้างคัมภีร์ อ้างความชอบธรรมในการรับมรดกแห่งพระธรรมวินัยไว้ฝ่ายเดียว ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกมองหรือกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายความถูกต้อง เป็นฝ่ายที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสลายไปจากโลกนี้ การมองสังคายนาว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการแก้ปัญหาพระธรรมวินัยนั้นต้องอาศัยทัศนคติที่ดีต่อ "ความเป็นสงฆ์" เช่นเดียวกันกับที่เถรวาทมีทัศนคติที่ดีต่อ "ความเป็นสงฆ์" ของพระเถระที่ทำปฐมสังคายนา เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับสงฆ์ในฐานะผู้รักษาพระธรรมวินัย หากสงฆ์คือชุมชนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับธรรม ซึ่งเป็นความจริงแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ประสบการณ์ร่วมของคณะสงฆ์ก็น่าจะสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่ชาวพุทธจะยอมรับได้ ประสบการณ์เช่นนี้อาจจะหาไม่ได้ใน "ตัวอักษร" ที่ชำระกันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ หากเชื่อมั่นในความเป็นสงฆ์ ประสบการณ์ร่วมเช่นนี้จะปรากฏขึ้นมาได้ขึ้นมิใช่โดยอ้างการบรรลุธรรมของปัจเจกบุคคล หากเกิดจากบุคคลที่ประชุมร่วมกัน พิจารณาไตร่ตรองพระธรรมวินัยร่วมกันโดยอาศัยประสบการณ์และความรู้ที่สืบทอดมาจากอดีตเป็นองค์ประกอบสำคัญ การมองเช่นนี้น่าจะช่วยให้ไปพ้นจากความเป็นอนุรักษนิยมที่ยึดมั่นกับอดีตจนแข็งตึง จนไม่สามารถสนองตอบต่อสังคมหรือประเด็นปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม หรือการตอบสนองด้วยวิธีการเดิม ๆ
6. ใครคือเจ้าของพุทธศาสนา ?เถรวาทในประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ตระหนักว่า การเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้นจะเป็นปัญหาสำหรับคณะสงฆ์หรือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ในทางตรงกันข้าม ชาวไทยควรจะดีใจที่คณะสงฆ์ไทยดำรงความเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้นเรื่อยมาจนปัจจุบัน เพราะชาวโลกได้รู้จักพระพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์จากความพยายามธำรงรักษาพระธรรมวินัยที่รับมาจากการสังคายนาครั้งที่ 1 ให้บริสุทธิ์นั่นเอง ในทัศนะของผู้เขียน การเป็นอนุรักษนิยมของเถรวาทเป็นสิ่งที่ดีในแง่ที่มีเจตนารมณ์มุ่งมั่นรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ และเราก็ไม่ควรจะคาดหวังให้ลักษณะดังกล่าวนี้หายไปจากพุทธศาสนาเถรวาทโดยสิ้นเชิง ความหลากหลายทางความคิดและจารีตปฏิบัติเป็นสิ่งงดงามเพราะในที่สุดแล้ว มนุษย์ก็จะได้เลือกแนวทางตามความเหมาะสมของอุปนิสัย ความเป็นอนุรักษนิยมโดยตัวมันเองไม่ได้มีปัญหา แต่เมื่อชาวเถรวาท (1) เชื่อมั่นว่าฝ่ายตนกุมความจริงสูงสุดเอาไว้และเข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา (2) สถาปนาตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ ถือว่ารัฐดังกล่าวเป็นรัฐพุทธ และ (3) พยายามรักษาความเป็นเจ้าของพุทธศาสนาไว้โดยใช้อำนาจรัฐ ก็จะเกิดปัญหาขึ้น ยิ่งเมื่อสถาบันทางศาสนาถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง มุ่งพิทักษ์รักษาอุดมการณ์ของตนโดยเชื่อว่ากลุ่มบุคคลอื่นเป็นผู้ทำลายอุดมการณ์ดังกล่าว การจัดการข้อขัดแย้งทางศาสนาโดยอาศัยอำนาจรัฐแทรกแซง ก็ ไม่ว่าการถือว่าตนเองเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาจะสมเหตุสมผลหรือไม่ การยึดกุมอำนาจความจริงทางศาสนาก็เกิดขึ้นแล้วในสถาบันพุทธศาสนาเถรวาทของไทย ดูเหมือนว่าผู้กุมอำนาจความจริงเท่านั้นมีสิทธิจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้คนอื่นเข้ามีส่วนร่วมในประสบการณ์ทางศาสนาของพระพุทธเจ้าได้ ตัวอย่างการผูกขาดความจริงก็คือ การถือว่ากลุ่มนิกายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตหรือในปัจจุบันก็ดี เป็นความเสื่อมทางศาสนา เป็นผู้ทำลายความบริสุทธิ์ ทัศนคติของชาวเถรวาทต่อมหายานในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นเดียวกันกับทัศนคติที่มีต่อชาวอโศก คือเป็นความเสื่อมแห่งศาสนธรรม มิใช่ความก้าวหน้า เมื่อสตรีต้องการจะเข้าร่วมประสบการณ์ทางศาสนากับเถรวาทในประเทศไทยในระดับที่ "เกินปกติ" ที่เคยปฏิบัติมา เถรวาทไทยก็ได้ขีดเส้นกั้นที่ไม่อาจก้าวย่างเข้าไปร่วมประสบการณ์นั้นได้ นี่คือลักษณะที่เรียกว่า Exclusivism ซึ่งเป็นผลตามมาจากความเชื่อมั่นว่า ตนเองเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ในอดีต การกีดกั้นกลุ่มศาสนาอื่นๆ อาจดำเนินไปภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันรัฐกับสถาบันศาสนา ข้อหาที่ใช้ก็คือการทำลายพระพุทธศาสนาและความมั่นคงของชาติ เพราะฉะนั้นกลุ่มทางศาสนาดังกล่าวจึงอาจถูกทำลายด้วยอำนาจรัฐที่มีสถาบันศาสนาหนุนหลัง ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า รัฐคือกษัตริย์ กษัตริย์คือรัฐ ทุกสิ่งในพระราชอาณาจักรล้วนเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนาที่พระมหากษัตริย์ทรงนับถือต้องถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจประทุษร้ายได้ การประทุษร้ายต่อศาสนาจะเท่ากับการไม่ภักดีต่อองค์ประมุข การจัดการกับความแตกต่างทางศาสนาโดยอำนาจรัฐในระบอบดังกล่าวนี้มีเหตุผลของมันเองรองรับอยู่ ครั้งหนึ่ง เมื่อประเทศไทยต้องการให้วันวิสาขบูชาเป็นงานระดับโลก รัฐบาลจึงต้องการให้งานวันวิสาขบูชาเปิดกว้างแก่ชาวพุทธทุกกลุ่ม ศูนย์พิทักษ์พุทธศาสนาได้กดดันไม่ให้ขบวนการทางพุทธศาสนากลุ่มอื่นที่มีแนวทางแตกต่างจากตนเองในแง่ประวัติศาสตร์และการตีความศาสนธรรมเข้าร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชาครั้งนั้น มหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรบริหารสูงสุดของพุทธศาสนาในประเทศไทยมีมติไม่ให้ "คนนอก" เข้ามีส่วนร่วมในการจัดงานดังกล่าว "ใครเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา?" น่าจะเป็นคำถามที่ชาวพุทธเถรวาทควรสนใจ และตอบให้กระจ่าง อย่างน้อยที่สุด การถามคำถามเช่นนี้กับตัวเองก็เป็นการตรวจสอบไตร่ตรองตัวเอง เพื่อแสวงหาแนวทางที่ถูกที่ควร แต่หลังจากตั้งคำถามเช่นนี้แล้ว จะยังเป็นอนุรักษนิยมอยู่เช่นเดิมหรือไม่ก็เป็นสิทธิโดยเสรี
เอกสารอ้างอิงกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.2514. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง. เล่ม 7, 10, 37. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา. กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า.(ทรงชำระ).2538. ธรรมสมบัติ (หมวดที่ 2) สังคีติกถา (สำนวนเก่า). กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย. ชาญณรงค์ บุญหนุน.2543. "การสังคายนาในมุมมองใหม่ : หนทางสู่การแก้ปัญหาคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน" วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7, 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2543) : 5-29. ชาญณรงค์ บุญหนุน.2545. "ความสำคัญของพระวินัยในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท : จากสังคายนาครั้งที่ 1 ถึงธัมมนันทาสามเณรี." วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9, 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2545) : 7–30. ซิว ซูหลุน. 2547. พระถังซำจั๋ง : จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. เทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต), พระ., 2532. สัจจธรรมกับจริยธรรม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม. ทองย้อย แสงสินชัย,นาวาเอก.2546 ก. เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.2545. เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม. ทองย้อย แสงสินชัย,นาวาเอก. 2546. เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.2545. เล่ม 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม. ธรรมปิฎก, (ป.อ. ปยุตฺโต), พระ. 2541. นิติศาสตร์แนวพุทธ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม, ธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พระ. 2542. กรณีธรรมกาย ฉบับขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: พิมพ์อำไพ. ธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต), พระ. 2543. รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม. ธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต), พระ. 2547. " ความเห็นต่อวารสารพุทธศาสน์ศึกษา" วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11,1 (มกราคม-เมษายน 2547) : 63–88. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2530. พระไตรปิฎก : ประวัติและความสำคัญ. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2525. พระไตรปิฎก และอรรถกถา กถาวัตถุภาคที่ 1. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย. มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, วินัยปิฎก เล่ม 1 ภาค 1 มหาวิภังค์ ปฐมภาค และอรรถกถา. (จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสครบ 200 ปีแห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2425.) กรุงเทพฯ : เฉลิมชาญการพิมพ์, มปพ. เมตตานันโท ภิกขุ. 2545. เหตุเกิด พ.ศ. 1 เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงพระอาทิตย์. สมภาร พรมทา. 2547. "ใครคือเจ้าของพระพุทธศาสนา" วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11, 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2547) : 1–3. สุชีพ ปุญญานุภาพ. 2539. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. เสถียร โพธินันทะ. 2522. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : บริษัทสร้างสรรค์บุ๊ค จำกัด. Conze, Edward.1993. A Short History of Buddhism. Oxford: Oneworld Publication. Hallisey, Charles. 1991. "Councils as Ideas and Events in the Theravada." The Buddhist Forum II. (Seminar Papers 1988-1990): 133-148. School of Oriental and African Studies, University of London.
เชิงอรรถ* โปรดดูใน มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, วินัยปิฎก เล่ม 1 ภาค 1 มหาวิภังค์ ปฐมภาค และอรรถกถา. (จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสครบ 200 ปีแห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2425.) กรุงเทพฯ : เฉลิมชาญการพิมพ์, มปพ. หน้า 19-172 * บันทึกของพระถังซำจั๋งระบุว่า การสังคายนาเกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน 110 ปี พระอริยสงฆ์ที่ร่วมกันทำสังคายนา เป็นศิษย์ของพระอานนท์เถระ สาเหตุของการสังคายนากล่าวไว้ตรงกันกับหลักฐานในพระไตรปิฎกภาษาบาลี (ซิว ซูหลุน 2547 : 293) หลักฐานของฝ่ายบาลี (ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา) ไม่กล่าวถึงการถามและการวิสัชชนาพระธรรมในการสังคายนาครั้งนี้ * ใน "จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง" โดยพระถังซำจั๋ง กล่าวว่า ผู้ร่วมประชุมสังคายนามีทั้งพระสงฆ์ทั่วไป อริยสงฆ์ กุลบุตร และผู้มีสติปัญญา ที่เป็นเสขบุคคลและอเสขบุคคล ที่ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสังคายนาครั้งที่ 1 ที่มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน (ซิว ซูหลุน 2547 : 377) ข้อมูลนี้ดูจะสับสนอยู่ เพราะถ้ายึดถือตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง การสังคายนาของมหาสังฆิกะจะเกิดขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสังคายนาครั้งที่ 1 ส่วนหลักฐานของฝ่ายบาลีกล่าวว่า สังคายนามหาสังฆิกะเกิดขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ 2 * คณะสงฆ์ลังกาและไทยนับเป็นสังคายนาครั้งที่ 4 ของพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่พม่าไม่นับเป็นการสังคายนา * ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ช่วงดังกล่าวนี้มีเหตุการณ์แย่งชิงราชบัลลังก็กันของกษัตริย์ลังกาอยู่เรื่อย มีความไม่สงบเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน พระสงฆ์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับการแย่งชิงอำนาจของบรรดากษัตริย์ต่าง ๆ โดยตั้งใจบ้างไม่ตั้งใจบ้าง จนยากจะหาคนมีเวลาท่องจำพระไตรปิฎก จึงเกรงว่าพระพุทธวจนะจะเสื่อมสูญด้วยไม่มีคนท่องจำ * การตีความสังคายนาแนวนี้ผู้เขียนเสนอไว้เป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง "การสังคายนาในมุมมองใหม่ : หนทางสู่การแก้ปัญหาคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน" วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7, 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2543) : 5-29.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานสถานการณ์โรฮิงญา หนักถึงขั้นอาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ Posted: 21 Nov 2017 03:04 AM PST รัฐบาลพม่าเป็นเจ้าภาพระบบแบ่งแยกเชื้อชาติตั้งแต่เชิงนโยบายถึงการใช้ความรุนแรง โรฮิงญาโดนกีดกันการเข้าถึงสถานะพลเมือง การศึกษา สาธารณสุข ทำพิธีทางศาสนา เรียกร้องนานาประเทศร่วมกันหยุดยั้ง คว่ำบาตรอาวุธให้พม่า อัด ความคิดว่าโรฮิงญาสมควรโดนแล้วเป็นความคิดที่ไม่มีสามัญสำนึก ซ้ายไปขวา: ลอร่า เฮห์ อันย่า นีสตัต เจมส์ โกเมซ 21 พ.ย. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงข่าวเปิดตัวรายงานระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาในพม่าในรายงานชื่อ "กรงขังที่ไร้หลังคา" นำเสนอรายงานโดยลอรา เฮห์ นักวิจัยของแอมเนสตี้ฯ อันย่า นีสตัต ผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิจัย แอมเนสตี้ฯ และเจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก งานวิจัยใช้เวลา 2 ปีเก็บข้อมูลจากพื้นที่รัฐยะไข่ที่มีความรุนแรง ได้แก่ มองดอว์ พูทิดอง ก็อกตอว มะรัคอู และชิตตเว เมืองหลวงรัฐยะไข่ ชุมชนราเทดองไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ก็ได้รับข้อมูลมา มีการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญากว่า 200 คน กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ผู้นับถือศาสนาคริสต์ พุทธ มุสลิมและฮินดู รวมทั้งกลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ ทั้งยังศึกษาข้อมูลจากฝ่ายนิติบัญญัติ นักวิชาการและเอกสารอื่นๆ จำนวนมาก อันย่ากล่าวว่า รัฐยะไข่กลายเป็นคุกไร้หลังคากับชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะโรฮิงญา ระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติถูกออกแบบให้ชาวโรฮิงญาเสื่อมเกียรติและสิ้นหวังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ชาวโรฮิงญาถูกกีดกันออกจากโลกภายนอก ต้องมีอนุญาตให้เดินทาง ถูกละเมิดตามด่านตรวจ บางที่ใช้ถนนไม่ได้ด้วยซ้ำ หลายโรงพยาบาลถูกแยกเป็นหอผู้ป่วยมุสลิมและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าตรวจตราตลอด อันย่ายังกล่าวว่าระบบดังกล่าวของทางการพม่ามีความรุนแรงเทียบเท่ากับอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (Crime against humanity) ในประเด็นการแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งอธิบายได้จากการที่มีคนเชื้อชาติหนึ่งสร้างระบบการกดขี่หรือการทำให้การกดขี่คนอีกเชื้อชาติหนึ่งกลายเป็นสถาบัน ระบบหรือสถาบันดังกล่าวไม่ได้หมายความแค่ความรุนแรง การฆ่า การข่มขืน ฯลฯ แต่รวมไปถึงกระบวนการนิติบัญญัติและบริหารที่กีดกันไม่ให้คนเชื้อชาติหนึ่งมีส่วนร่วมในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศ รวมทั้งการปฏิเสธไม่ให้คนกลุ่มดังกล่าวมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ชำนาญ จันทร์เรือง: มายาคติเกี่ยวกับโรฮิงญา ถกโรฮิงญา: ทางเลือกน้อยนิดของ รบ.พลเรือน เล่า ปวศ.โรฮิงญา กับมุสลิมในอาระกันที่หายไป โรฮิงญากับสังคมไทย #1: ความรุนแรงผลักผู้ลี้ภัยผิด ก.ม. หวั่นปัญหาขยายสู่ศาสนา โรฮิงญากับสังคมไทย #2: เปิดชีวิตโรฮิงญาในยะไข่ วาทกรรมเกลียดชังมาแรงขายได้ ลอร่ากล่าวว่า ชาวโรฮิงญาเกิดมาอย่างไร้สถานะ มีความลำบากตลอดชีวิตในการอธิบายว่าเป็นใคร มาจากไหนเพราะว่าเอกสารทางราชการหรือบัตรชั่วคราวโดนยกเลิกหรือไม่ก็ถูกยึดไป ถ้าไม่อยู่บ้านในขณะสำรวจสำมะโนประชากรนั่นหมายความว่าชาวโรฮิงญาคนนั้นจะไม่มีตัวตนในพื้นที่เลย การขาดสถานะพลเมืองจะส่งผลกับชาวโรฮิงญาตลอดชีวิต จะเดินทางก็ต้องมีใบอนุญาต การขอใบอนุญาตต้องใช้เวลาและผ่านหลายขั้นตอนมาก ระหว่างเดินทางก็อาจโดนเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจทำร้ายร่างกายหรือไม่ก็ถูกคุมขัง การไม่มีสถานะและเงื่อนไขการขอใบอนุญาตเดินทางทำให้เข้าถึงบริการสาธารณะลำบากขึ้นด้วย เด็กชาวรัฐยะไข่กับเด็กชาวโรฮิงญาอาจไม่เคยเจอกันเลยตลอดชีวิต เด็กชาวโรฮิงญาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนตรงพื้นที่ๆ ยังมีครูได้ ถ้าเด็กเข้าถึงโรงเรียนได้ ต่อให้ผลการเรียนดีก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนมหาลัยในเมืองซิตตเว นอกจากนั้นยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางด้วย มาตรการของทางการพม่าทำให้คนโรฮิงญาสิ้นหวังในการมีชีวิต มัสยิดในรัฐยะไข่ที่ถูกทำลาย (ที่มา: Amnesty International) ชาวโรฮิงญาพบเจอการกีดกันในทางการเมือง พวกเขาไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ และยากมากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร นอกจากนั้นยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งด้วย "มันคือประสบการณ์ของชาวโรฮิงญาทั้งกลุ่มที่ไม่มีเหตุผลอื่นในการถูกกดดันอย่างเป็นระบบนอกจากว่าพวกเขาเป็นใคร มีชาติพันธุ์อะไรและนับถือศาสนาอะไรแค่นั้น" ลอร่ากล่าว นักวิจัยของแอมเนสตี้ฯ ยังกล่าวว่า ทางแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายกเลิกระบบการแบ่งแยกชนชาติ ทบทวนข้อบังคับ นโยบายและการกระทำอย่างเลือกปฏิบัติบนฐานของเชื้อชาติและการนับถือศาสนา รัฐบาลพม่าต้องออกมารับผิดชอบด้วยการเยียวยาความสูญเสียต่อเหยื่อและครอบครัวของพวกเขา ถ้าหากรัฐบาลพม่าทำไม่ได้ ทางแอมเนสตี้ขอให้ประชาคมนานาชาติมีส่วนร่วมในการหยุดยั้งวิกฤติการณ์ครั้งนี้ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการคว่ำบาตรการค้าอาวุธหรือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการพัฒนา ทั้งนี้ การเข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาจากประชาคมระหว่างประเทศจะต้องอยู่บนฐานของการไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อไม่เป็นการเติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้ง ทั้งนี้ หลักความผิดสากล (Universal jurisdiction) ควรถูกนำมาประกอบใช้ในวิกฤติการณ์ครั้งนี้ที่ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ลอร่ากล่าวว่า สำหรับไทย ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกประชาคมระหว่างประเทศไม่ควรมองวิกฤตโรฮิงญาว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ "เรากำลังพูดถึงอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติซึ่งเป็นอาชญากรรมตามความผิดสากล เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและทุกรัฐก็เกี่ยวข้อง ไทยไม่ควรจะมองว่าเป็นเรื่องอธิปไตยของรัฐ เรื่องฉันทามติ เรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ไทยเองก็เป็นบ้านให้กับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่หนีออกมาจากระบอบดังกล่าว ถ้าไทยต้องการจะตั้งคำถามกับต้นตอปัญหาของผู้ลี้ภัยในอาเซียน ไทยจำเป็นที่จะต้องกระแทกประเด็นพม่าที่แสดงให้เห็นถึงการกีดกันเชื้อชาติที่ทำโดยรัฐ" ต่อความคิดที่เห็นว่าโรฮิงญาสมควรเจอชะตากรรมเช่นนั้น ลอร่ามองว่าเป็นความคิดที่ไม่มีสามัญสำนึก "ความคิดที่ว่าคนๆ หนึ่งสมควรโดนข่มขืน โดนฆ่า หรือโดนเผาบ้านเพียงเพราะว่าพวกเขามีชาติพันธุ์อะไรหรือนับถือศาสนาอะไรเป็นความคิดที่ไม่มีสามัญสำนึก กลับมาในเรื่องพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ว่ามีมนุษย์ถูกรัฐบาลพม่าคุกคาม และมันไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นมาหลายทศวรรษและเราเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการหยุดยั้งมัน" รัฐยะไข่: คุกกลางแจ้งในขณะที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบที่รัฐสนับสนุนในพม่าเป็นเวลาหลายทศวรรษ การสืบสวนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ให้เห็นว่าการปราบปรามเช่นนี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากนับแต่ปี 2555 ตรงกับช่วงที่เกิดเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมทั่วประเทศ แท้จริงแล้ว ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ถูกปิดกั้นจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง และต้องเผชิญกับข้อจำกัดร้ายแรงต่อเสรีภาพในการเดินทาง ส่งผลให้ถูกกักอยู่ในหมู่บ้านและชุมชนของตน มาตรการจำกัดสิทธิเหล่านี้ปรากฏในกลไกที่ยึดโยงกฎหมายระดับชาติ "เทศบัญญัติ" และนโยบายต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือแสดงพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติอย่างเปิดเผย ระเบียบที่มีผลบังคับใช้ทั่วรัฐยะไข่กำหนดชัดเจนว่า "ชาวต่างชาติ" และ "เบงกาลี [ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกดูถูกชาวโรฮิงญา]" จำเป็นต้องได้รับอนุญาตพิเศษเมื่อจะเดินทางไปต่างอำเภอ ในตอนเหนือของรัฐยะไข่ซึ่งเคยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาจนกระทั่งการอพยพลี้ภัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้แต่การเดินทางไปอีกหมู่บ้านหนึ่งยังถูกจำกัดอย่างเข้มงวด ชาวบ้านต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนเดินทาง ทั้งนี้ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา การประกาศเคอร์ฟิวโดยพลการเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงและต่อเนื่องในพื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญา . ในตอนกลางของรัฐยะไข่ ชาวโรฮิงญาถูกควบคุมอย่างเข้มงวดให้อยู่แต่ในหมู่บ้านและในที่พักพิงชั่วคราว อีกทั้งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ถนนในการเดินทางในบางพื้นที่ แต่ต้องเดินทางทางน้ำและเป็นการเดินทางไปหมู่บ้านมุสลิมอื่นด้วยกันเท่านั้น สำหรับชาวโรฮิงญาที่มีใบอนุญาตจากทางการให้เดินทางในตอนเหนือของรัฐยะไข่ พวกเขาต้องประสบความยากลำบากเมื่อเจอด่านตรวจจำนวนมากของเจ้าหน้าที่ตำรวจพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Police - BGP) พวกเขามักถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม ถูกบังคับให้จ่ายค่าสินบน รวมถึงถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกจับกุม
ระหว่างการทำวิจัยเพื่อเขียนรายงานนี้ เจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบเห็นตำรวจพิทักษ์ชายแดนเตะชายชาวโรฮิงญาที่ด่านตรวจแห่งหนึ่ง พร้อมทั้งเก็บข้อมูลวิสามัญฆาตรกรรมได้อย่างน้อยหนึ่งกรณี เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพิทักษ์ชายแดนยิงสังหารชายอายุ 23 ปีขณะเดินทางในช่วงเวลาที่ประกาศเคอร์ฟิว ในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงเมื่อปี 2555 ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ในเขตเมืองของรัฐยะไข่ โดยเฉพาะจากเมืองซิตตเวซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ ปัจจุบันยังมีชาวโรฮิงญาอีกประมาณ 4,000 คนอาศัยอยู่ในเมืองนี้ พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในสภาพที่เหมือนค่ายกักกันที่มีรั้วลวดหนามกั้นและมีด่านตรวจ พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและเผชิญความรุนแรงจากชุมชนใกล้เคียงหากพยายามหลบหนีออกไป ชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายข้อจำกัดของเสรีภาพในการเดินทางส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีวิตประจำวันของชาวโรฮิงญาหลายแสนคน ถึงขั้นที่มีความเสี่ยงต่อการอยู่รอด ในขณะที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วไปในรัฐยะไข่มีบริการที่ค่อนข้างแย่อยู่แล้ว ชาวโรฮิงญายังถูกปิดกั้นการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งส่งผลให้มีอันตรายถึงชีวิต ชาวโรฮิงญาถูกกีดกันไม่ให้ใช้บริการในโรงพยาบาลซิตตเว ซึ่งถือเป็นสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานบริการสูงสุดในรัฐยะไข่ ยกเว้นเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการสาหัสร้ายแรง อย่างไรก็ตาม แม้กรณีเช่นนี้ก็ต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากทางการรัฐยะไข่ และต้องมีตำรวจคุมขณะเดินทางไปโรงพยาบาล ชาวบ้านหลายคนในตอนเหนือของรัฐยะไข่จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลเมื่อจำเป็นในบังคลาเทศ แต่การเดินทางเช่นนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยมากเท่านั้นจึงจะเดินทางได้ คลินิกในค่ายโรฮิงญาพลัดถิ่น (ที่มา: Amnesty International)
ชายอายุ 50 ปีเศษคนหนึ่งกล่าวว่า "ผมอยากไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลซิตตเว แต่พวกเขาห้ามไม่ให้ไป เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบอกว่าผมไปที่นั่นไม่ได้เพราะอาจจะไม่ปลอดภัย และบอกให้ผมไปรักษาตัวที่บังคลาเทศแทน ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก พี่ชายผมต้องขายนาข้าวและวัวบางส่วนเพื่อจ่ายค่าเดินทางให้ผม นี่ถือว่าผมยังโชคดี....ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินจ่ายแบบนี้ได้ พวกเขาได้แต่รอความตาย" ในพื้นที่อื่นนอกจากตอนเหนือของรัฐยะไข่ ชาวโรฮิงญาเข้าถึงสถานพยาบาลได้เพียงไม่กี่แห่ง คนไข้โรฮิงญาเหล่านี้จะถูกกักให้อยู่ในเฉพาะ "หอผู้ป่วยมุสลิม" ซึ่งมีตำรวจคุมอยู่ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์คนหนึ่งเปรียบเทียบว่าหอผู้ป่วยนี้ไม่ต่างจาก "โรงพยาบาลที่เป็นเรือนจำ" ชาวโรฮิงญาหลายคนกล่าวว่า พวกเขาต้องจ่ายค่าสินบนให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและตำรวจผู้คุม หากต้องการโทรศัพท์ติดต่อสมาชิกครอบครัว หรือต้องการซื้ออาหารจากภายนอก ส่วนคนอื่น ๆ หลีกเลี่ยงไม่ไปโรงพยาบาลเลยเพราะกลัวการปฏิบัติโดยมิชอบของแพทย์และพยาบาล หรือคิดว่าพวกเขาคงไม่ได้รับการรักษาดูแล "การปฏิเสธไม่ให้ชาวโรฮิงญาเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่น่าชิงชังมาก เราได้พูดคุยกับผู้หญิงหลายคนที่กล่าวว่า พวกเธอยินดีคลอดบุตรที่บ้านในสภาพที่ขาดสุขอนามัย มากกว่าเสี่ยงเจอการปฏิบัติโดยมิชอบหรือถูกรีดไถในโรงพยาบาล" อันย่ากล่าว นับตั้งแต่ปี 2555 ทางการพม่าเพิ่มมาตรการจำกัดการเข้าถึงการศึกษาของชาวโรฮิงญา ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ เด็กชาวโรฮิงญาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้โรงเรียนเปิดรับเด็กจากหลากหลายเชื้อชาติ นอกจากนี้ ข้าราชการครูมักปฏิเสธไม่เดินทางไปสอนในพื้นที่ของชาวมุสลิม ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่มักไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นอุดมศึกษา หลายคนที่พูดคุยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงความท้อใจและสิ้นหวังต่ออนาคตของตนเอง
"อาวุธที่รุนแรงที่สุดของทางการคือการจำกัดการศึกษา ถ้าผมไม่ได้เรียน ไม่มีวุฒิแล้วจะมีอนาคตอะไร น้องชายของผมที่ไม่เห็นเป้าหมายว่าจะไปเรียนทำไมจะมีอนาคตแบบไหน แล้วครูที่ไม่สามารถใช้และขยายการศึกษาของตัวเองจะมีอนาคตแบบไหน การทำดีไม่มีรางวัลตอบแทน การตัดการศึกษาของพวกเราคือการตัดอนาคตของพวกเรา" ชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งจากตอนเหนือของรัฐยะไข่ที่ไม่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดในปี 2555 กล่าว เด็กชาวโรฮิงญา (ที่มา: Amnesty International) การควบคุมการเดินทางที่เข้มงวดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อการหาเลี้ยงชีพของชาวโรฮิงญา และทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารการกิน มีการตัดขาดเส้นทางการค้าไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าเดินทางไปตลาด ขณะที่เกษตรกรถูกห้ามไม่ให้ทำไร่ไถนา ภาวะทุพโภชนาการและความยากจนเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในชุมชนโรฮิงญาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และมีสถานการณ์รุนแรงขึ้นเนื่องจากทางการจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม "เป็นเรื่องที่ท้าทายมากทุกวันนี้ เพราะพวกเราไม่มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค ไปติดคุกเสียยังดีกว่า อย่างน้อยพวกเรายังมีข้าวกินทุกมื้อ แต่ชีวิตทุกวันนี้ก็เหมือนอยู่ในคุกอยู่แล้ว" ชายชาวโรฮิงญาวัย 25 ปีกล่าว คำสั่งห้ามชุมนุมของบุคคลกว่าสี่คนขึ้นไปมีผลบังคับใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทั้งยังส่งผลให้ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ถูกห้ามไม่ให้ทำละหมาดด้วยกันโดยปริยาย ทางการพม่ายังสั่งปิดมัสยิด ส่งผลให้ศาสนสถานของมุสลิมเสื่อมโทรม การปฏิเสธไม่ให้สัญชาติการปฏิเสธสิทธิตามกฎหมายของพวกเขาในพม่าถือเป็นรากฐานของการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา หัวใจของการเลือกปฏิบัตินี้ คือกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะเหยียดเชื้อชาติิ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2525 ซึ่งปฏิเสธไม่ให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญา โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของพวกเขา งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเผยให้เห็นว่า ทางการพม่าจงใจมีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อยกเลิกบัตรประจำตัวของชาวโรฮิงญาซึ่งมีอยู่จำกัดอยู่แล้ว นับแต่ปี 2559 รัฐบาลสร้างกฎเกณฑ์ยุ่งยากเพื่อกีดกันไม่ให้ชาวโรฮิงญาลงทะเบียนทารกแรกเกิดใน "ทะเบียนบ้าน" ซึ่งเป็นหลักฐานเดียวที่ยืนยันถิ่นที่อยู่ของครอบครัวชาวโรฮิงญาในพม่า ขณะที่ในตอนเหนือของรัฐยะไข่คนที่ไม่กลับมาบ้านระหว่าง "การนับหัวประชากร" ประจำปีเสี่ยงถูกตัดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อของทางการโดยสิ้นเชิง การรณรงค์นี้ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกนอกประเทศแล้วแทบจะไม่สามารถกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิดได้อีก นับเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารในปี 2559 และ 2560 ยังส่งผลให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คนหลบหนีไปยังบังคลาเทศ และต้องอยู่อาศัยตามค่ายผู้ลี้ภัยในสภาพที่ยากลำบาก "การคืนสิทธิและสถานภาพทางกฎหมายให้กับชาวโรฮิงญา และการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัญชาติที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับทั้งชาวโรฮิงญาที่ยังอยู่ในประเทศและคนที่ต้องการเดินทางกลับเข้ามา เราไม่อาจขอให้ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีการปราบปรามในพม่าเดินทางกลับมาอยู่ในระบบที่ยังมีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติได้" อันย่ากล่าว ขจัดระบบการแบ่งแยกทางเชื้อชาติจากการวิเคราะห์หลักฐานเชิงกฎหมายอย่างละเอียด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบข้อสรุปว่า การปฏิบัติของทางการพม่าต่อชาวโรฮิงญาถือเป็นการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ตามคำจำกัดความของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ พม่ามีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องยกเลิกระบบการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในรัฐยะไข่ และต้องรับประกันว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ตนกระทำ "รัฐยะไข่กลายสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นนานก่อนหน้าการปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณของทหารในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ระบบการเลือกปฏิบัติและการแบ่งแยกอันน่ารังเกียจนี้ส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมชีวิตของชาวโรฮิงญา หากไม่มีมาตรการขจัดระบบนี้อย่างเร่งด่วน ระบบจะดำรงอยู่ต่อไปแม้ภายหลังทหารยุติปฏิบัติการแล้ว" อันย่า กล่าว "ทางการไม่อาจอ้างเหตุผลที่มีช่องโหว่นี้เกี่ยวกับความจำเป็นต้องรักษา "ความปลอดภัย" หรือจำเป็นต้องต่อสู้กับ "การก่อการร้าย" ในการสนับสนุนการจำกัดสิทธิของชาวโรฮิงญาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม การกดขี่ที่เป็นอยู่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้สัดส่วนอย่างสิ้นเชิง ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่อาจนำมาใช้สนับสนุนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นการอ้าง "มาตกรการรักษาความปลอดภัยหรือสาเหตุใด ๆ ก็ตาม" "ประชาคมระหว่างประเทศต้องตื่นจากฝันร้าย และเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรัฐยะไข่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าการพัฒนาอาจเป็นทางออกที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่การพัฒนาไม่อาจเกิดขึ้นได้ในลักษณะที่ยิ่งตอกย้ำการเลือกปฏิบัติ ประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบรรดาประเทศผู้ให้ทุน ต้องรับประกันว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดเหล่านี้เมื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับพม่า" ข้อมูลพื้นฐาน: การแบ่งแยกทางเชื้อชาติคืออะไร?ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามและการลงโทษอาชญากรรมการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ การแบ่งแยกทางเชื้อชาติถูกจำแนกว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งครอบคลุมการกระทำหลายประการ เกิดขึ้นในบริบทที่มีการกดขี่และครอบงำเชิงโครงสร้างที่กระทำอย่างเป็นระบบ โดยกลุ่มเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง เหนือกลุ่มเชื้อชาติกลุ่มอื่นหรือหลายกลุ่ม และมีเจตนาเพื่อธำรงระบบเช่นนั้นไว้ต่อไป การกระทำบางประการที่เกิดขึ้นในบริบทเช่นนี้ และที่ถือเป็นความผิดทางอาญาฐานการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ครอบคลุมตั้งแต่การใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย ซึ่งรวมถึงการสังหาร การข่มขืน การทรมาน ไปจนถึงการใช้มาตรการทางกฎหมาย ทางปกครอง หรืออื่น ๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้กลุ่มเชื้อชาติกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มมีส่วนร่วมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ พร้อมทั้งปฏิเสธไม่ให้พวกเขามีสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตัวอย่างชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้ทั้งมาตรการควบคุมจำกัดและการกระทำรุงแรงในรัฐยะไข่ คือกรณีข้อจำกัดร้ายแรงต่อเสรีภาพการเดินทางของชาวโรฮิงญา ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมของ "การลิดรอนอิสรภาพทางกายอย่างร้ายแรง" ตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญกรุงโรม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘ถึงเวลาเผือก’ ชี้กว่า 1 ใน 3 ของทุกเพศ ถูกคุกคามทางเพศบน ‘ขนส่งสาธารณะ’ Posted: 21 Nov 2017 02:05 AM PST 45% ของผู้หญิงใน กทม. ถูกคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ แคมเปญ 'ถึงเวลาเผือก' จัดเสวนา ชี้ต้องเปลี่ยนพลังเงียบเป็นพลังเผือก ขอทุกคนเป็นหูเป็นตา-ช่วยเหลือ-เก็บหลักฐาน กระตุ้นรัฐ-หน่วยงานรับผิดชอบต้องตื่นตัว สร้างมาตรการว่องไว เป็นมิตร เป็นกลาง มีบทลงโทษ ส่วนกฎหมายควรแบ่งลำดับขั้นความผิดให้ชัดเจน 21 พ.ย. 2560 วันนี้ องค์กรแอ็คชั่นเอด (ActionAid) ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง (Safe Cities for Women) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ "ถึงเวลาเผือก" เพื่อยับยั้งปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ "เราจะสามารถยุติการคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะได้อย่างไร" รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ มีผู้ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะจำนวนไม่น้อย แต่ผู้โดยสารอาจไม่ตระหนักว่าการคุกคามทางเพศคืออะไร จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำโครงการเพื่อ หนึ่ง อยากสร้างความตระหนักให้ประชาชน สอง การลดการคุกคามทางเพศได้ เพื่อนร่วมทางต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา และต้องเผือก คือเข้าไปแทรกแซงหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น สาม การมีมาตรการกลไกจากภาครัฐ ช่องทางการร้องเรียนขอความช่วยเหลืออย่างมีระบบ ทางรัฐตอบสนองอย่างรวดเร็วว่องไว หรือเครื่องมือ เช่น กล้องวงจรปิด เปิดงานวิจัยการถูกคุกคามทางเพศในระบบขนส่งสาธารณะรุ่งทิพย์กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางโครงการจึงจัดทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่าคนโดนคุกคามมีจำนวนเท่าไหร่ ลักษณะแบบไหน พฤติกรรมแบบใด ใครเป็นเป้า ทำให้เห็นว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น เป็นตัวสะท้อนว่ามีปัญหานี้อยู่ และน่าจะได้รับการแก้ไข โดย วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า การคุกคามทางเพศในขนส่งสาธารณะไม่ค่อยเป็นข่าว คนมักมองเป็นเรื่องเล็กน้อย ปล่อยให้ผ่านไป ไม่กล้าไปแจ้งความ ไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ ปีนี้เลยร่วมกันเก็บข้อมูลโดยมีทีมนักวิชาการช่วยเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เก็บผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกเพศ เพื่อดูว่าสถานการณ์ปัญหาเป็นอย่างไร ในภาพรวมพบว่า คนทุกเพศ 35 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 1 ใน 3 บอกว่าตัวเองเคยเจอเหตุการณ์ขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ แต่ผู้หญิงเป็นเป้าการคุกคามทางเพศมากที่สุด โดยมีผู้หญิงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งถูกคุกคามทางเพศ เมื่อถามถึงเหตุการณ์เกิดเมื่อไหร่ มากกว่าครึ่ง คือ 52 เปอร์เซนต์ ตอบว่าเป็นเหตุที่เกิดในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นปัญหากระทบคนจำนวนมาก ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในงานวิจัยเมื่อถามว่าเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์การถูกคุกคามมากน้อยแค่ไหน 1 ใน 3 ตอบว่าเคย และเมื่อถามว่าพบแล้วทำอย่างไร 13 เปอร์เซ็นต์บอกว่านิ่งเฉย หลีกเลี่ยง เดินหนี แต่ก็มี 28 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่าแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำรถ เปลี่ยนพลังเงียบเป็นพลังเผือกรุ่งทิพย์เห็นว่า ถึงแม้เรามีกลไกการป้องกันก็ยังมีช่องว่าง ความปลอดภัยจะเกิดได้จริงถ้าทุกคนร่วมกันเป็นหูเป็นตา พลังเงียบเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการคุกคามทางเพศในระบบขนส่งสาธารณะ และจะต่อยอดไปไกลถึงการคุกคามทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วย รัฐยิ่งต้องเผือกรุ่งทิพย์เสนอว่า รัฐกำกับดูแลนโยบาย มีงบประมาณในการจัดอุปกรณ์ต่างๆ มีมาตรการสอดส่องดูแล มีบทลงโทษที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเหล่านี้รัฐต้องเผือก ถ้ารัฐเผือกประชาชนก็จะยิ่งตื่นตัว รุ่งทิพย์ยกตัวอย่างสถานการณ์ในหลายประเทศที่ภาครัฐลุกขึ้นมาออกมาตรการ เช่น ในออสเตรเลีย รัฐส่งเสริมให้ประชาชนรายงานเหตุการณ์คุกคามทางเพศ ติดตั้งกล้องวงจรปิดกว่า 9,000 จุดในรัฐวิกตอเรีย ขณะที่ฝรั่งเศสก็ส่งเสริมการรายงานเหตุเช่นเดียวกัน มีมาตรการแจ้งความ และจับปรับได้โดยทันที ประเทศแอฟริกาใต้ก็มีการรณรงค์ความปลอดภัยในแท๊กซี่ ซึ่งสามารถรายงานให้กับตำรวจได้ทันที นอกจากนี้ยังมีการใช้แอปพลิเคชัน เช่น ในประเทศญี่ปุ่น มีแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ใช้จีพีเอส ร้องขอความช่วยเหลือได้ หรือถ้าไปอยู่ในที่เคยเกิดเหตุ ก็จะมีข้อความแจ้งเตือนให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง หรือแม้กระทั่งอินเดียหรือปากีสถานก็มีแอปพลิเคชันแบบนี้เช่นกัน ขณะที่เทคโนโลยีของไทยเองก็สามารถพัฒนาเรื่องแอปพลิเคชันได้ถ้าจะทำ และตอนนี้ก็มีเรื่องของกล้องวงจรปิด โดย ขสมก.เป็นต้นแบบที่ดี เพราะมีกล้องวงจรปิดติดบนรถโดยสารเกือบทุกคัน ทำให้สามารถใช้ภาพเป็นหลักฐานได้ ขณะที่หน้าจอก็ให้ความรู้เรื่องการคุกคามทางเพศ อยากให้ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ในไทย นำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ เพื่อให้ทุกคนเดินทางอย่างปลอดภัย "ปัจจุบันเรามีเครื่องมือมากมายให้ช่วยกันร่วมเผือก แจ้งภาครัฐ ประเทศอื่นเห็นความสำคัญตรงนี้ แต่ประเทศเราจะทำยังไงให้มีช่องทางร้องเรียน ขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และขณะเดียวกันเราเองก็ต้องอย่าคิดว่าไปยุ่งเรื่องคนอื่น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน" รุ่งทิพย์กล่าว หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตื่นตัววราภรณ์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศแสดงความเห็นว่า หน่วยงานที่กำกับดูแล จัดบริการขนส่ง ต้องเห็นความสำคัญของปัญหาก่อน วิธีคิดของผู้บริหารหน่วยงานต้องเปลี่ยนก่อนว่ามันเป็นปัญหาสำคัญ ถ้ายังไม่เห็นก็จะผลักประเด็นต่อยาก "หลักจากวันนี้เราก็จะรวบรวมข้อเสนอที่เราทำการสำรวจ ผู้ใช้บริการต้องการหน่วยงานไหนทำอะไรในการแก้ปัญหา และเอาข้อเสนอเหล่านี้ไปยื่นให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ" วราภรณ์กล่าว
ช่องว่างกฎหมายไม่สามารถเอาผิดจรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า กฎหมายอาญาระบุเพียงเรื่องการกระทำอนาจาร บอกว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะโดนปรับเท่าไหร่ จำคุกเท่าไหร่ แต่การตีความอนาจารก็ยังเป็นปัญหา มีการถกเถียงในเรื่องการตีความ ขณะที่ตัวเลขการถูกคุกคามเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จรีย์เสนอว่า กฎหมายควรมีการแบ่งลำดับขั้นของความผิดให้ชัดเจนมากขึ้น มีตั้งแต่การใช้วาจา สายตา สัมผัส กฎหมายต้องนิยามให้ชัดเพื่อนำไปสู่การใช้ที่มันได้ผลจริงๆ แต่กระบวนการแก้ไขกฎหมายก็ยากพอสมควร ต้องใช้ระยะเวลา ระยะสั้นที่จะทำได้จำเป็นต้องมีทีมเผือก อย่างน้อยช่วยเก็บหลักฐานเพื่อให้เป็นเครื่องมือเอาผิด คนในสังคมต้องปรับทัศนคติเช่น ไม่ตั้งคำถามว่าเพราะกลับดึก แต่งตัวโป๊ เพราะปัญหามันมาจากรากของผู้กระทำผิดที่มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ ขณะเดียวกันจากกล้องวงจรปิดของ ขสมก.จะต้องขยายไปสู่ขนส่งสาธารณะอื่นด้วย และมีอย่างเดียวไม่พอต้องใช้ได้ด้วย ไม่ใช่กล้องเสีย หรือเป็นมุมอับ ถ่ายไม่เห็น จรีย์ชวนคิดว่า ทำอย่างไรจึงไม่ผลักภาระไปที่ผู้ถูกกระทำ ต้องมีกลไกในการร้องเรียน ไม่ผลักภาระให้ผู้ถูกกระทำไปหาหลักฐาน "เราต้องไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นปัญหา หรือถูกกระทำ ต้องกล้าออกมา อยาก empower ให้คนที่โดนใช้กลไกเหล่านี้ เพื่อให้ตำรวจเห็นว่ามันมีปัญหาแบบนี้จำนวนไม่น้อย แต่จะกล้าออกมาก็ต้องมีวิธีการรองรับที่เป็นมิตร เป็นกลาง ให้เขาสบายใจที่จะออกมาบอกว่าถูกกระทำ "เราเคยโดนแล้วก็กลับมาโทษตัวเองว่าเพราะเรานั่งไม่ดีหรืออะไร การแก้ปัญหามันต้องอาศัยทุกส่วนร่วมมือกัน การตั้งคำถามควรไปตั้งกับผู้กระทำมากกว่า เพื่อแก้ไขที่ฐานราก" จรีย์กล่าว จะตัดสินยังไงว่าอะไรคือการคุกคาม?
วราภรณ์ให้ความเห็นว่า ถ้าไปเจอพฤติกรรมการคุกคาม คนถูกคุกคามจะบอกได้ เรื่องเจตนานั้นมองกันออก ผลการกระทำทำให้คนที่ตกเป็นเป้ารู้สึกอึดอัดไม่ปลอดภัย พบบ่อยสุดคือการลวนลามด้วยสายตา เช่น มองช้อนใต้กระโปรง ตั้งใจจ้องมองหน้าอก มองเข้าไปในอกเสื้อ ซึ่งผู้เห็นเหตุการณ์รอบข้างเองสามารถบอกได้ อันดับสองคือการแต๊ะอั๋ง ถูกเนื้อต้องตัว จงใจเข้ามาเบียด สามคือ ผิวปากแซว สี่คือพูดจาแทะโลม และห้าคือการชวนคุยเรื่องเพศ เรื่องลามก นอกจากนี้ยังมีการคุกคามรูปแบบอื่นเช่น การโชว์อวัยวะเพศ การถูอวัยวะเพศเสียดสีสำเร็จความใคร่ จนกระทั่งการสะกดรอยตาม ผู้กระทำไม่เยอะแต่กระทำซ้ำ ถ้ามีคนเข้าแทรกแซงจะหยุดพฤติกรรมวราภรณ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศผู้กระทำจำนวนไม่เยอะแต่กระทำซ้ำๆ เพราะไม่มีใครเข้าไปยุ่งเวลาเขากระทำ ผู้ถูกกระทำก็รู้สึกช็อก ทำอะไรไม่ถูก คนเห็นก็ไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ถ้ามีคนเข้ามายุ่ง คนจำนวนไม่น้อยจะหยุดพฤติกรรม ของไทย ขสมก.ก็มีหลักสูตรอบรมพนักงานการรับมือกับการคุกคามทางเพศ ดังนั้นจึงสามารถแจ้งพนักงานได้ อย่างไรก็ตาม หลายครั้งเวลาไปแจ้ง ตำรวจอาจบอกไม่มีหลักฐาน ฉะนั้น ถ้าผู้เห็นเหตุการณ์พบก็อาจใช้มือถือบันทึกหลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดต่อผู้กระทำต่อไป เผยประสบการณ์ตรง ถูกกรีดกระโปรงในบีทีเอส แต่เอาผิดใครไม่ได้ เหตุไร้กล้องวงจรปิดวรวรรณ ตินะลา ผู้มีประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในรถโดยสารสาธารณะ เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า ตนใส่ชุดแม็กซี่เดรส นั่งบีทีเอสจากสถานีเพลินจิตไปจตุจักร คนเยอะมาก พอถึงสถานีสยาม คนลงเปลี่ยนขบวน มีคุณป้าคนนึงสะกิดตน จึงเห็นว่ากระโปรงขาด เป็นรอยถูกกรีด ยาวประมาณเมตรกว่า ตนก็รู้สึกตกใจ แต่คนในขบวนช่วยกันหาเข็มกลัดมาช่วยกลัดกระโปรง จำนวนเข็มกลัดสี่สิบกว่าตัว "พอตัดสินจะเดินออกไปหาเจ้าหน้าที่ประจำสถานี เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีกล้องวงจรปิด ความรู้สึกคือโดนดับฝันมาก จบ ไม่มีหลักฐาน ทำได้อย่างเดียวคือยอมรับ แล้วกลับบ้านไป ตอนนั้นเราไม่รู้จริงๆ ว่าจะต้องรับมือยังไง" วรวรรณกล่าว "เราถามคนรอบตัว กลายเป็นว่าคนรอบตัวเจอเหตุการณ์แบบนี้เยอะ แต่ไม่มีใครบอก มีเพื่อนบางคนเจออวัยวะเพศถูไถเห็นเป็นคราบติดกระโปรง ทำให้เขาไม่อยากนั่งรถสาธารณะ สุดท้ายเขาไปซื้อรถขับเอง "ตอนนั้นเราคิดว่าจะทำยังไงไม่ให้เกิดกับตัวเอง แต่ไม่ได้คิดไปไกลว่าทำไงไม่ให้เกิดกับสังคมนี้ เรามองว่าสาเหตุที่เกิดปัญหาเพราะเขาไม่ได้รับโทษ สื่อนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิด แต่ไม่ได้นำเสนอว่าจะต้องทำยังไงต่อไป "เป็นเรื่องที่อยู่แล้วว่าเกิด แต่ไม่เห็นมาตรการการแก้ไข ภาครัฐควรเข้ามาดูแล ภาคเอกชนเข้ามาแก้ไขส่งเสริม และตัวของทุกคนด้วย ทุกฝ่ายเอาจริง ทำพร้อมกัน มันจะกลายเป็นสังคมที่น่าอยู่มากกว่านี้" วรวรรณกล่าว พนง.เก็บค่าโดยสารเผยผู้หญิงนั่งเบาะเดี่ยว-ด้านในมีโอกาสโดนคุกคามบ่อยกว่านั่งที่อื่นยงค์ ฉิมพลี พนักงานเก็บค่าโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เคยเจอว่า เมื่อก่อนตอนเป็นผู้โดยสารก็เจอเหตุยืนประชิดตัว เราหนีเขาก็ยังตาม พอเป็นพนักงาน เราก็คอยสังเกตว่ามีใครมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็เจอ เช่น เบาะเดี่ยวของรถเมล์ที่เป็นผู้หญิงนั่งจะถูกคุกคามมากสุด ผู้ชายจะยืนประชิดตัว ส่วนไหล่ของผู้หญิงที่นั่งกับอวัยวะเพศของผู้ชายที่ยืนจะเสมอกันพอดี เราก็สังเกตว่าผู้หญิงนั่งเบียดตัว ซึ่งถ้าเป็นสามีภรรยาจะดูออกและจะไม่ใช่ท่าทางแบบนี้ เราเลยใช้เสียงดังเพื่อหาพันธมิตรที่อยู่รอบข้าง บอกผู้ชายว่า "ขอโทษนะคะคุณพี่จะลงไหนคะ ถ้ายังไม่ลง ด้านในว่างกระเถิบไปก่อนนะคะ" เพื่อไม่ให้มีคนบอกว่าเราไปไล่เขาลง ซึ่งอาจทำให้เราเดือดร้อนได้ หรืออีกแบบที่เจอคือ เบาะคู่ ผู้หญิงนั่งด้านใน ชายนั่งด้านนอก ชายก็จะเบียดเหมือนกัน เราก็จะบอกน้องผู้หญิงที่นั่งด้านในว่า "น้องขยับไปนั่งด้านนู้นไหม ด้านนี้แดดมันร้อน" ยงค์เล่าให้ฟังถึงวิธีการอบรมของพนักงาน ขสมก.ว่า เดิมเราไม่ได้อบรม เพียงแต่อบรมเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารตอนขึ้นลง แต่เมื่อเราถูกคุกคามมาก่อน และตอนอยู่ในองค์กรก็ถูกคุกคาม เราก็ตั้งทีมงานขึ้นมาทำวิจัยเรื่องการคุกคามทางเพศ นำเสนอผู้บริหาร เขาก็ให้เรื่องผ่าน มีแต่งตั้งคณะกรรมการ อบรมพนักงานประจำรถ ว่าการคุกคามทางเพศหมายถึงอะไร รูปแบบลักษณะเป็นอย่างไร วิธีช่วยเหลือที่ไม่ให้ถูกรายงานเป็นไง ปัจจุบันมีคณะกรรมการทั้ง 8 เขต ซึ่งเป็นเขตทั้งหมดของขสมก.ในกทม. "เราสร้างความมั่นใจกับผู้โดยสาร ถ้าถูกคุกคามพนักงานช่วยเหลือได้ สามารถจอดรถนำผู้โดยสารไปแจ้งความที่สถานีใกล้ที่สุดได้" ยงค์กล่าว ข้อเสนอเรื่องเลดี้บัสยงค์ ฉิมพลี พนักงานเก็บค่าโดยสาร ให้ความเห็นว่า ขสมก.เคยลองรถเลดี้บัส แต่พอมีสามีภรรยาขึ้นด้วยกัน แล้วต้องแยกคันเขาก็ไม่ยอมและไปร้องเรียน สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ในขณะที่จรีย์ จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า มันควรปลอดภัยทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะเลดี้บัส แม้กลุ่มคนข้ามเพศก็ต้องได้รับความปลอดภัย หรือถ้าทำได้จริง มันอาจเป็น 1 ชั่วโมงมาคันหนึ่ง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต
แถลงการณ์เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง 21 พฤศจิกายน 2560 กรุงเทพมหานคร เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงรณรงค์ไม่ยอมรับพฤติกรรมการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลปี 2560 เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง นําโดยองค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ตระหนักถึงความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในพืนทีสาธารณะ โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง จึงได้สนับสนุนให้มีการวิจัยสํารวจความชุกของปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะขึ้น โดยมีนักวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดําเนินการสํารวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 1,654 คน ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่นๆ นับเป็นการสํารวจเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวครังแรกในไทย ผลการวิจัยพบว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสํารวจทุกเพศ ระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยผู้หญิงมีอัตราการถูกคุกคามทางเพศสูงสุด กล่าวคือ 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิงระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ พฤติกรรมการคุกคามทางเพศทีพบมากทีสุดบนขนส่งสาธารณะ 5 อันดับแรกได้แก่ 1. การลวนลามด้วยสายตา เช่น การมองใต้กระโปรง มองจ้องลงคอเสือ 18.8% 2. การเบียดชิด ต้อนเข้ามุม แต๊ะอัง ลูบคลํา 15.4% 3. การผิวปากแซว 13.9% 4. การพูดจาแทะโลม 13.1% 5. การพูดลามก ชวนคุยเรืองเพศ 11.7% การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ที่ประสบเหตุโดยตรง และต่อผู้ที่เห็นเหตุการณ์ โดยอาจทําให้รู้สึกอึดอัด หวาดกลัว หรือไม่ปลอดภัยในการเดินทาง บางคนอาจถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยน พฤติกรรมบางประการของตัวเอง เช่น การแต่งกาย การหลีกเลียงทีจะเดินทางในบางช่วงเวลา เพื่อลดความ เสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ ทั้งที่พวกเขาและเธอควรมีสิทธิที่จะใช้บริการขนส่งสาธารณะได้อย่างปลอดภัย ผลการสํารวจยังพบด้วยว่า เมื่อเกิดเหตุคุกคามทางเพศกับตนเอง ผู้ที่ประสบเหตุมักรับมือกับสถานการณ์ด้วยการเดินหนีมากที่สุด มีเพียงส่วนน้อยที่กล้าแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ และใน จํานวนผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยพบเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับผู้โดยสารอื่น มีเพียงจํานวน หนึ่งเท่านั้นทีตัดสินใจแจ้งเจ้าหน้าที่ มีบางส่วนทีใช้โทรศัพท์บันทึกเหตุการณ์ หรือส่งเสียงดังเพื่อแสดงให้ เห็นว่ามีการคุกคามเกิดขึ้น เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงเชื่อว่า หากผู้เห็นเหตุการณ์ไม่อยู่นิ่งเฉยและเข้าไปแทรกแซงการกระทําการคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ จะช่วยยับยังความรุนแรงทางเพศที่กําลังเกิดขึ้นตรงหน้า และยังเป็นการสร้างการรับรู้ในสังคมว่าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ ซึงนับว่าเป็นสิ่งสําคัญที่ผู้ร่วมเดินทางทุกคน สามารถทําได้ นอกจากนี้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการขนส่งสาธารณะทังภาครัฐและภาคเอกชน อันได้แก่ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (รถไฟฟ้าบีทีเอส) บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจํากัด (รถไฟฟ้ามหานครหรือเอ็มอาร์ที) บริษัทเอกชนที่ให้บริการรถโดยสารประจําทาง รถตู้ รถแท็กซี่ และบริษัทเรือโดยสาร เป็นต้น สามารถประกันให้การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศได้โดย ● การสอดส่องดูแลความปลอดภัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ จัดให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในยานพาหนะโดยสาร รวมถึงป้ายรถ ท่าเรือ และสถานีรถโดยสาร เพื่อเป็นเครื่องมือสําหรับพนักงานขับ พนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมกล้องวงจรปิด ในการสอดส่องป้องกันเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ รวมทั้งการคุกคามทางเพศ ที่อาจเกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะ และในกรณีที่เกิดเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น ผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้มีหลักฐานในการดําเนินคดีกับผู้กระทําผิด ● การแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศ ให้หน่วยงานทีรับผิดชอบดูแลการบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ จัดให้มีช่องทางรับแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศหรือความไม่ปลอดภัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะ โดยเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย และตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และติดตามผลได้ โดยเมื่อมีการแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตํารวจควรปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทําอย่าง เหมาะสม โดยการรับฟังข้อเท็จจริงอย่างปราศจากอคติ และเสาะหาหลักฐาน ติดตาม และดําเนินการเอาผิดกับผู้กระทําผิดอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทําในลักษณะดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก ● การอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานทีรับผิดชอบการดูแลบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ จัดให้มีการอบรมพนักงานของหน่วยงาน โดยเฉพาะพนักงานประจํายานพาหนะและผู้ดูแลท่ารถ ท่าเรือ และสถานีรถโดยสารให้สามารถสังเกตพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมีแนวทางการปฏิบัติ และการฝึกทักษะที่จําเป็นในการเข้าแทรกแซงเพื่อยับยังเหตุการณ์ หรือแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นิธิ เอียวศรีวงศ์: เสื้อแดงจากอีกมุมมองหนึ่ง Posted: 21 Nov 2017 01:03 AM PST
น่ายินดีที่มีผู้แปลและพิมพ์หนังสือ Revolution Interrupted ของอาจารย์ Tyrell Haberkorn ออกมาเป็นภาษาไทย (การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน คุณเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว และคุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ แปล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันพิมพ์เผยแพร่) น่ายินดีก็เพราะ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนทำให้สามารถมองขบวนการเสื้อแดงได้ในอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากมุมมองขบวนการเสื้อแดงที่ผ่านมา แทนที่จะเห็นขบวนการเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่โผล่ขึ้นมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศ เราอาจนำขบวนการเสื้อแดงกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสายธารประวัติศาสตร์ ที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับรากหญ้ามาตลอด เพียงแต่ไม่เคยถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลังกระแสธาร ที่อาจเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์ได้ … มากหรือน้อยตามวาระโอกาสต่างกัน เหมือนการปฏิวัติที่ถูกสกัดด้วยความรุนแรงทั้งหลายมันหยุดลง แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันหายไป อันที่จริง โดยตัวของมันเองแล้ว ความเคลื่อนไหวของชาวนาไร้ที่ดินในภาคเหนือในนามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ระหว่าง ค.ศ.1973-76 ก็เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ในประวัติศาสตร์ หรือถูกทำให้เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ในเหตุการณ์ซึ่งถูกจัดให้ "เล็กๆ" นี้ ถูกสกัดให้ชะงักงันลงด้วยการลอบสังหาร, อุ้มหาย, และลอบทำร้าย ผู้นำชาวนาถึง 46 คน นับเฉพาะคนที่ครอบครัวกล้ารายงานแก่ทางการ ส่วนที่ครอบครัวตัดสินใจไม่รายงานอาชญากรรมยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ทราบตัวเลขแน่ชัด จนถึงทุกวันนี้ยังจับมือใครดมไม่ได้สักราย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าที่ดิน, กองกำลังกึ่งรัฐที่ถูกรัฐร่วมกับเจ้าที่ดินสร้างขึ้น, หรือเจ้าหน้าที่รัฐเอง กฎหมายควบคุมอัตราการเช่าที่ดินซึ่งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เคลื่อนไหวจนกระทั่งผ่านออกมาได้ ไม่เคยถูกนำมาใช้จริงในระหว่างนั้น ตัวเลขของ "เหยื่อ" เฉพาะที่มีหลักฐานทางการรองรับมากกว่าตัวเลข "เหยื่อ" ที่เป็นทางการในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯเสียอีก ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหว "เล็กๆ" แน่ และหากมองเหตุการณ์นี้ในมุมของ "การปฏิวัติ" ก็ไม่น่าจะเหมือนกับคลื่นกระทบฝั่ง "การปฏิวัติ" คืออะไร? อ.ไทเรลอาศัยแนวคิดเชิงทฤษฎีของนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่จำนวนมาก เพื่อชี้ให้เห็นว่าความหมายถึง "การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" ด้วยการยึดอำนาจรัฐ เป็นความหมายที่แคบเกินกว่าจะอธิบายปรากฏการณ์หลายต่อหลายอย่างที่เกิดขึ้นในต่างสังคมของโลกปัจจุบัน และสรุปลง (ตามความเข้าใจของผม) ว่า แก่นแท้ของการปฏิวัติคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนกลุ่มต่างๆ นั่นเอง (เช่นตัวอย่างของผมเอง การกระทำของคุณเนติวิทย์ก็ตาม คุณเพนกวินก็ตาม คือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างครู-โรงเรียนกับศิษย์-นักเรียนนักศึกษา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทางการศึกษาซึ่งดำเนินในประเทศไทยมานานพอสมควรแล้ว การศึกษาแผนตะวันตกที่เริ่มขึ้นในสมัย ร.5 เป็นการเปลี่ยนเนื้อหาและรูปแบบของการศึกษา แต่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ครู-ศิษย์แบบเดิม) (ขออนุญาตนอกเรื่องด้วยว่า "ปฏิวัติ" ไม่จำเป็นต้องหมายถึง "หมุนกลับ" ไปสู่สถานะเดิมก็ได้ แต่หมายถึงหมุนความสัมพันธ์ทางสังคมกลับกับที่เคยมีมา) การปฏิวัติจึงไม่จำเป็นต้องหมายถึงการจับอาวุธขึ้นล้มอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ความเคลื่อนไหวของชาวนาภาคเหนือในช่วงสั้นๆ (1973-76) นั้น คือใช้รัฐเป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าที่ดินและลูกนาเสียใหม่ เคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมขึ้น พยายามเผยแพร่เนื้อหาของกฎหมายให้ชาวนาเช่าที่ดินทั่วไปรับรู้ แต่ไม่บังเกิดผลตามต้องการ เพราะเจ้าที่ดินร่วมมือกับรัฐและองค์กรกึ่งรัฐในการละเมิดกฎหมายเสียเอง นับตั้งแต่ "ดื้อแพ่ง"จนถึงฆาตกรรม และยึดรัฐด้วยการทำรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 1976 จากมุมมองเกี่ยวกับการปฏิวัติเช่นนี้แหละ ที่ทำให้เราสามารถมองขบวนการเสื้อแดงได้จากอีกความหมายหนึ่ง การต่อสู้ของประชาชนระดับรากหญ้าที่ไม่อาจตั้งกองกำลังติดอาวุธได้ ไม่มีเครื่องมือการต่อสู้ของตนเองในระบบ และถูกทำให้เป็นคนนอกเวทีของการต่อสู้ทางการเมืองตลอดมา จะมีความปลอดภัย และทำได้โดยไม่ถูกปราบปรามอย่างเฉียบขาดฉับพลัน ก็โดยช่องทางที่มีอยู่หรือพอหาได้จากกฎหมาย ขบวนการเสื้อแดงก็เช่นเดียวกับสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ คือเคลื่อนไหวภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงอยู่ในบางกรณี อาจเป็นการยืดความหมายของกฎหมายออกไปในทิศทางคนละด้านกับการยืดกฎหมายที่ชนชั้นนำเคยทำมา คือยืดไปในทางให้เสรีภาพแก่ประชาชนทั่วไปมากกว่าที่ชนชั้นนำตีความ แต่ยุทธวิธีสำคัญของฝ่ายเสื้อแดงคือการยืนอยู่บนกฎหมายเสมอ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่งซึ่งติดตามขบวนการเสื้อแดงมาอย่างใกล้ชิดแรมปี บอกผมว่าขบวนการเสื้อแดงมีปีกที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ปฏิปักษ์ของตนอย่างได้ผล แต่ปีกที่ใช้ความรุนแรงนี้ทำงานประสานกับปีกที่ใช้กฎหมายหรือไม่ และเพียงใดนั้น เขาไม่ทราบ ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่ผมยืนยันว่าแกนกลางของความเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนระดับรากหญ้าอย่างกว้างขวางนั้น ไม่ต่างจากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ คือยืนอยู่บนสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายอนุญาต อย่างน้อยก็ตามความเข้าใจของแกนนำ ยุทธวิธีเชิงรุกที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ายุทธวิธีเชิงรับของกฎหมายก็คือ การข้ามเส้น (transgression ซึ่งผมขอแปลว่า "การข้ามเส้น" ขอประทานโทษที่ไม่มีเวลาตรวจสอบฉบับภาษาไทยว่าท่านใช้คำแปลว่าอะไร) ในทุกสังคม มีเส้นที่ถูกขีดขึ้นไว้ด้วยกฎหมาย, ประเพณี, ค่านิยม, การปลูกฝัง, ทัศนคติทางการเมืองและสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป ฯลฯ อันเป็นเส้นที่ขีดไว้เพื่อประกันความมั่นคงปลอดภัย และความได้เปรียบของชนชั้นนำ "ปฏิวัติ" ของประชาชนระดับรากหญ้าเลือกจะยืนอยู่หลังเส้นกฎหมาย แต่ใช้การข้ามเส้นอื่นๆ เพราะการข้ามเส้นย่อมก่อให้เกิดความเรรวนในหมู่ผู้มีอำนาจ จะใช้กลไกอำนาจรัฐที่รุนแรงผลักดันให้กลับไปหลังเส้นตามเดิม อาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากชนชั้นนำทั้งหมด ยิ่งจำเป็นต้องหากลวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความรุนแรงในการรักษาเส้นไว้ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเรรวนในหมู่ชนชั้นนำยิ่งขึ้น เพราะยากที่จะมีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ มองจากยุทธวิธีการข้ามเส้น ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวข้ามเส้นของฝ่ายเสื้อแดงในทุกๆ ด้าน ซึ่งก็ไม่ใช่ยุทธวิธีที่ใหม่ทั้งหมด อาจเป็นสิ่งที่ความเคลื่อนไหว "ภาคประชาชน" ได้ใช้มาก่อน เป็นแต่เพียงเสื้อแดงอาจขยายมาตรการข้ามเส้นให้แรงขึ้นไปอีก "เส้น" ของเวลาและพื้นที่ถูกข้ามกันมาโดยสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มาแล้ว การยกขบวนมาประท้วงในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ คือการข้ามเส้นของพื้นที่ กรุงเทพฯและเขตเมืองไม่ใช่พื้นที่ของชาวนาหรือคนบ้านนอก แต่เป็นพื้นที่ซึ่งกำหนดพฤติกรรมที่เป็นไปได้สำหรับชาวนาและคนบ้านนอกไว้แล้ว เช่นเข้ามารับบริการของรัฐ (มาโรงพยาบาล เป็นต้น) เข้ามาหางานทำ หรือเข้ามาขายแรงงานซึ่งต้องแยกชีวิตตนเองไปจากชีวิตของคนอื่นในเมือง ฯลฯ เป็นต้น ไม่ใช่พื้นที่กำหนดนโยบายสาธารณะของพวกเขา และเช่นเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับชาวนาชาวไร่ ก็ข้ามเส้นพื้นที่เช่นเดียวกัน เพราะชนบทไม่ใช่พื้นที่ของนักศึกษา ไม่มีอะไรให้ต้องเรียนรู้ในท้องไร่ท้องนา แต่นักศึกษารุ่นนั้นกลับอ้างว่าเขาได้เรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่าเป็นอันมากนอกห้องเรียนและในท้องไร่ท้องนา แม้การปฏิวัติของชาวนาชาวไร่ต้องถูกสกัดหลังปี 1976 แต่ยุทธการข้ามเส้นพื้นที่กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนระดับรากหญ้าใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ตลอดมา ที่มีชื่อเสียงมากคือการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน ขบวนการเสื้อแดงข้ามเส้นพื้นที่มาตั้งแต่อย่างน้อยในปี 2009 และข้ามอีกเส้นหนึ่งไปพร้อมกัน นั่นคือตั้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ คือให้รัฐบาลยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนรากหญ้าข้ามเส้นพื้นที่มานานแล้ว เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของเขา หรือเรียกร้องค่าชดเชยที่ทำให้เสียโอกาสในการทำมาหากิน แต่การเมืองระดับชาติเป็น "พื้นที่" ซึ่งอยู่นอกเส้นที่ประชาชนระดับนี้จะเข้ามามีส่วนร่วมได้ ข้อเรียกร้องและการชุมนุมของเสื้อแดงจึงเป็นการข้ามเส้นพื้นที่ซ้อนกัน 2 ชั้น และนั่นคือเหตุที่การข้ามเส้นพื้นที่ของขบวนการประชาชนทั้งหลายที่ผ่านมา มักใช้สถานที่ชุมนุมหน้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ขบวนการเสื้อแดงใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและราชประสงค์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ของการประท้วงมาตั้งแต่ 14 ตุลาคม 1973 หลังจากนั้นก็มีกลุ่มนักศึกษาและกระทิงแดงใช้พื้นที่นี้ในการประท้วงหรือแสดงออกทางการเมืองเสมอมา แต่ขอให้สังเกตว่าภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมคือชนชั้นกลางในเมือง และประเด็นหลักของการชุมนุมคือการเมืองระดับชาติ การที่ขบวนการเสื้อแดงที่เสนอตัวเองเป็นคน "บ้านนอกคอกนา" ตั้งเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี 2010 จึงเป็นการข้ามเส้นของพื้นที่ในตัว และเพียงการข้ามเส้นนี้ก็ส่งสารถึงผู้คนได้ดังและชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนสี่แยกราชประสงค์นั้น ยิ่งเป็นการ "ข้ามเส้น" ที่ดังและชัดเจนกว่าเสียอีก ข้อเรียกร้องของคนบ้านนอกคอกนาเป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งเลยเส้นที่คนบ้านนอกได้รับอนุญาตให้เข้ามาเกี่ยวข้อง ซ้ำยังข้ามเส้นเข้ามาใช้พื้นที่ซึ่งถูกชาวกรุงจัดให้อยู่นอกเวทีการเมือง การข้ามเส้นเหล่านี้สร้างความเรรวนในหมู่ชนชั้นนำกว้างขวางกว่าเฉพาะในแวดวงผู้ถืออำนาจรัฐ แต่รวมถึงคนชั้นกลางในเมืองซึ่งบางส่วนกลับสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ผมไม่มีเนื้อที่จะบรรยายการข้ามเส้นอื่นๆ ของขบวนการเสื้อแดง ซึ่งน่าจะรู้และมองจากมุมนี้ได้เองอยู่แล้ว แต่นี่คือการปฏิวัติในความหมายที่พยายามผลักดันให้เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกลุ่มคน และดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การปฏิวัติของคนเสื้อแดงถูกสกัดให้ต้องถอยกลับไปอยู่หลังเส้น ที่น่าสนใจก็คือวิธีการสกัดต้องใช้วิธีการนอกกฎหมาย บังคับให้ความเรรวนกระจายไปยังกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ หากคิดจากแง่ของชนชั้นนำ นับเป็นต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะคุ้มทีเดียว กล่าวโดยสรุป แม้แต่กฎหมายอันเป็นเส้นที่ขบวนการเสื้อแดงเลือกจะไม่ข้าม ก็เรรวนไปจนเท่ากับบ้านเมืองก็ถูกสกัดให้ชะงักงันไปพร้อมกับการปฏิวัติ และในที่สุดของที่สุด แม้แต่ความรุนแรงนอกกฎหมายก็ยังไม่อาจสกัดการปฏิวัติไว้ได้ จึงต้องอาศัยมาตรการนอกกฎหมายอีกครั้งหนึ่งด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจ ชนชั้นนำกลับเป็นฝ่ายข้ามเส้นกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีกเสียเอง เช่นเดียวกับที่เคยทำกับการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มาแล้ว การที่ขบวนการเสื้อแดงใช้ยุทธการ "ข้ามเส้น" ที่ขบวนการประชาชนเคยใช้มาแล้วนับตั้งแต่ 14 ตุลาฯเป็นต้นมา แม้ว่าการ "ปฏิวัติ" ของภาคประชาชนแต่ละครั้งจะถูกสกัดด้วยวิธีรุนแรงนอกกฎหมายเสมอมา ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าการปฏิวัติไม่อาจถูกสกัดให้สูญสลายลงได้ นี่เป็นอีกคำตอบหนึ่งที่มีผู้ถามเสมอว่า อนาคตของขบวนการเสื้อแดงจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบคำถามนี้ได้ แต่หากเปลี่ยนคำถามว่า "การปฏิวัติ" ที่ผ่านมาจะลงเอยอย่างไร ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของ "ภาคประชาชน"คงชี้ให้เห็นอย่างค่อนข้างแน่ชัดว่า ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไร ก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้วที่จะตัดตอนการปฏิวัติให้สิ้นซาก อย่างมากก็เพียงสกัดการปฏิวัติไว้ได้ชั่วคราว "นักปฏิวัติ" รุ่นหน้าจะสวมเสื้อสีแดงหรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้ แม้ว่าสีแดงโดยตัวของมันเองก็เป็นการข้ามเส้นอย่างหนึ่ง
ที่มา: www.matichon.co.th "ขบวนการชาวไร่ชาวนากับการสร้างพื้นที่ทางการของภาคประชาชน"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ต.ค. 2560 ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง 21,873 คน ว่างงาน 144,590 คน Posted: 21 Nov 2017 12:40 AM PST เดือน ต.ค. 2560 พบแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน ม.33 ถูกเลิกจ้าง 21,873 คน ว่างงาน 144,590 คน มีแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น 255,884 คน 21 พ.ย. สำนักเศรษฐกิจการแรงงานเปิดเผยตัวเลข ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงานประจำเดือน ต.ค. 2560 พบว่าด้านสถานการณ์การจ้างงานจากข้อมูล ณ เดือน ต.ค. 2560 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,695,748 คนมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนต.ค. 2559) ซึ่งมีจำนวน 10,439,864 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือน ต.ค. 2560 เทียบกับเดือน ก.ย. 2560 พบว่าในเดือน ต.ค. 2560 มีอัตราการขยายตัว (YoY) อยู่ที่ร้อยละ 2.45 ชะลอตัวจากเดือน ก.ย. 2560 (YoY) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.86 สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ ด้านสถานการณ์การว่างงานจากข้อมูล ณ เดือน ต.ค. 2560 มีผู้ว่างงานจานวน 144,590 คน มีอัตราการชะลอตัว (YoY) อยู่ที่ร้อยละ -2.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือน ต.ค. 2559) ซึ่งมีจำนวน 147,542 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือน ก.ย. 2560) พบว่ามีจำนวน 146,471 คน โดยมีอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.28 (MoM) และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เดือน ต.ค. อยู่ที่ร้อยละ 1.35 มีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ก.ย. 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.36 ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือน ต.ค. 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 มีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้าง อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน ต.ค. 2560 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 21,873 คน คิดเป็นร้อยละ 0.20 เท่ากับเดือน ก.ย. 2560 ที่ร้อยละ 0.20 แต่ลดลง จากปีที่แล้วที่ร้อยละ 0.30 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พูดไม่เหมือนกัน! อ่านคำให้สัมภาษณ์ ผบ.สส. กับ ผบ.รร.เตรียมทหาร กรณีศพไร้อวัยวะภายใน Posted: 21 Nov 2017 12:09 AM PST ผบ.รร.เตรียมทหารเผย ไม่ทราบมาก่อนว่าครอบครัวนำศพไปซันสูตรรอบสอง ย้ำอวัยวะที่หายไปถือเป็นเรื่องทางการแพทย์ ขณะที่ ผบ.สส. เผยอวัยวะภายในไม่ได้หายไปตามที่กล่าวอ้าง มีเพียงการตัดบางส่วนไปพิสูจน์ ทั้งทราบว่าหลังซันสูตรรอบแรก ญาติได้นำศพไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ภาพนักเรียนเตรียมทหาร ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจกองพันนักเรียนที่ 3 กรมนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร สืบเนื่องจากกรณี พิเชษฐ และสุกัลยา ตัญกาญจน์ ร้องต่อสื่อมวลชนว่า ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย ลูกชายซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังกลับเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเพียง 1 วัน และไม่ได้รับคำชี้แจงที่ละเอียดจากผู้เกี่ยวข้อง ได้รับเพียงใบมรณบัตรชี้แจงสาเหตุการตายจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จากนั้นได้นำพร้อมนำศพนายภคพงศ์ไปชันสูตรหาสาเหตการเสียชีวิตพบว่า อวัยวะภายในทั้งตับ ไต ไส้ พุง หายไปทั้งหมด ส่วนกะโหลกศีรษะมีกระดาษทิชชูยัดไว้ สมองหายไป นอกจากนี้ยังตรวจพบกระดูกซี่โครงหัก 4 ซี่ และมีรอยช้ำภายในช่องท้องด้านขวา ด้านหลังภายในซีกซ้ายมีรอยช้ำ ไหปลาร้าหักทั้ง 2 ข้าง ซึ่งแพทย์ระบุว่า สาเหตุซี่โครงหักไม่น่าเกิดจากการปั๊มหัวใจ และรอยช้ำน่าจะเกิดจากการถูกกระแทกอย่างแรง ผบ.รร.เตรียมทหารเผย ไม่ทราบมาก่อนว่าครอบครัวนำศพไปซันสูตรรอบสอง ย้ำอวัยวะที่หายไปถือเป็นเรื่องทางการแพทย์ ล่าสุดวันนี้ ประชาชาธุรกิจออนไลน์ เผยแพร่เมื่อเวลา 13.37 น. ระบุว่า พล.ต.กนกพงษ์ จันทร์นวล ผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหารเปิดเผยว่า พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้เรียกตน ให้เข้าไปชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดในวันนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมทั้งจะชี้แจงให้สังคมทราบโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นที่มีข้อสงสัย ส่วนกรณีที่อวัยวะภายในของผู้เสียชีวิตหายนั้น ถือเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ และตนได้เตรียมข้อมูลดังกล่าวด้วย พล.ต.กนกพงศ์ กล่าวต่อว่า ในวันที่น้องเมย เสียชีวิต ตนอยู่กับบิดามารดา และได้พูดคุยกับคุณพ่อมาโดยตลอด ซึ่งการที่คุณพ่อนำศพไปชันสูตรอีกครั้ง ก็ไม่ได้แจ้งกับตนให้รับทราบ อีกทั้งการเสียชีวิตครั้งนี้ เป็นการเสียชีวิตที่ผิดตามธรรมชาติ เราก็ได้แจ้งให้ทางตำรวจนำศพของน้องเมยไปชันสูตรและทางคุณแม่ก็รับทราบ โดยในขณะนั้นมีแพทย์ทางโรงพยาบาล มี ตนและคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยกันในช่วงเวลาประมาณ 3-4 ทุ่ม ซึ่งคุณแม่ก็ก็เต็มใจที่จะให้มีการชันสูตร "ผมได้บอกกับทางคุณพ่อคุณแม่ว่าต้องเรียกตำรวจมาชันสูตรพลิกศพ และเมื่อได้รับความยินยอมจากครอบครัว ตำรวจจึงได้ส่งศพไปชันสูตร ซึ่งถือเป็นความเข้าใจร่วมกันอยู่แล้ว ทั้งโรงเรียน ครอบครัวของเด็ก รวมถึงตำรวจ ซึ่งตรงนี้สามารถตรวจสอบได้ ส่วนกรณีที่ทางคุณพ่อคุณแม่นำศพไปชันสูตรอีกรอบนั้นผมไม่ทราบ เพราะผมไปร่วมงานศพทุกคืนจนถึงวันเผาศพ มีทั้งเพื่อนนักเรียนและอาจารย์ ไปร่วม" ผบ.รร.เตรียมทหาร กล่าว พล.ต.กนกพงศ์ กล่าวอีกว่า ตนพึ่งมาทราบทีหลังว่าทางคุณพ่อคุณแม่ได้นำศพของน้องไปชันสูตรอีกครั้งและทางครอบครัวของน้องเมย เดินทางมาพบตน เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวมันเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้หลังจากพบผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้วคงจะทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าในส่วนกรณีที่ทางพ่อแม่น้องเมย ติดใจเรื่องการทำโทษบุตรชายนั้น ยืนยันว่าขั้นตอนของการลงโทษเป็นไปตามขั้นตอนทางทหาร คือห้ามแตะเนื้อต้องตัวกัน เพราะผิดกฎหมาย ผบ.สส. เผยไม่มีการขโมยอวัยวะภายใน เพียงตัดบางส่วนไปพิสูจน์ และทราบว่าจากนั้นญาติได้นำศพไป รพ.ธรรมศาสตร์อีกครั้ง ขณะที่ เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ รายงานเมื่อเวลา 14.09 น. ระบุว่า ล่าสุด พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่เป็นไปตามที่ทางญาติกล่าวอ้าง เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุทางโรงเรียนเตรียมทหารได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ และมีการตัดอวัยวะบางส่วนนำไปผ่าพิสูจน์ แต่เป็นเพียงชิ้นเล็กน้อยเท่านั้น จากนั้นทางญาติ ได้นำร่างกลับไปแล้วนำไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์อีกครั้ง พล.อ.ธารไชยยันต์กล่าวว่า ขณะเดียวกันทางโรงเรียนเตรียมทหารได้ร่วมจัดงานศพภคพงศ์ กับทางญาติ และดำเนินการช่วยเหลือทุกอย่าง โดยที่ผ่านมาก็ได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และยืนยันไม่ได้มีขโมยอวัยวะแต่อย่างใด ทั้งนี้กรณีทีมีผ้าพันแผลอยู่ในอวัยวะ น่าจะเกิดจากการตรวจพิสูจน์ก่อนหน้านี้ของทางโรงพยาบาล และทางโรงเรียนก็ได้ร่วมจัดงานพิธีบำเพ็ญกุศลศพ และทำการฌาปนกิจเรียบร้อย และเป็นการฌาปนกิจโลงเปล่า ไม่มีศพ ซึ่งทางโรงเรียนได้ให้การช่วยเหลือ อย่างเต็มที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักรบ RECON ให้กำลังใจครูฝึกหลังทหารนอกราชการบุกโวย ลูกชายซี่โครงหัก จนไม่ผ่านหลักสูตร Posted: 20 Nov 2017 10:54 PM PST อดีตนักเรียนหลักสูตรการรบพิเศษ RECON เข้าให้กำลังใจครูฝึก หลังถูกนายทหารนอกราชการ บุกด่าทอ ทำลายแท่นรับการเคารพ พร้อมชิงอาวุธปืน M16 ไป เหตุไม่พอใจลูกชายไม่ผ่านการฝึก เนื่องจากซี่โครงหัก 7-8 ซี่ ด้าน ผบ.ทร. และผบ.นย. เผยตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมกำชับศูนย์ฯ ให้ระวังการฝึก ภาพการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษแขนงการลาดตระเวน สะเทินน้ำสะเทินบกและจู่โจม นาวิกโยธิน หรือ รีคอน (RECON) ที่มาภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ แผนกวิชาการรบพิเศษ นาวิกโยธิน เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2560 อดีตนักเรียนหลักสูตรการรบพิเศษแขนงการลาดตระเวน สะเทินน้ำสะเทินบกและจู่โจม นาวิกโยธิน หรือ รีคอน (RECON) ซึ่งเป็นหลักสูตรรบพิเศษ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้ร่วมพบปะและให้กำลังใจครูฝึกหลักสูตรรีคอน และพร้อมใจกันกล่าวทบทวนคำปฏิญาณว่า จะยืนหยัดทำหน้าที่และรักษามาตรฐานการฝึก ของนักรบ RECON ก่อนแยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจตามปกติ เรื่องราวดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณี พล.ร.ต. เบญจพร บวรสุวรรณ นายทหารนอกราชการ ได้ขับรถเข้าไปที่แผนกวิชาการรบพิเศษ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อบ่ายวันที่ 17 พ.ย. แล้วด่าทอเจ้าหน้าที่ในแผนก ก่อนทำลายแท่นรับการเคารพ พร้อมทั้งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 ของหน่วยไปด้วย เนื่องจากไม่พอใจที่ ร.ต.ตถาพร บวรสุวรรณ หรือ โบกัส อายุ 23 ปี บุตรชาย ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษ RECON และพ้นสภาพการเป็นนักเรียนหลักสูตรรีคอน เพราะอาการบาดเจ็บไม่สามารถฝึกต่อตามเกณฑ์ที่กำหนด บน: ภาพ ร.ต.ตถาพร บวรสุวรรณ ขณะพักรักษาตัวที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ล่างซ้าย: ภาพบาดแผลที่ได้รับจากการฝึก ด้าน พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยให้ตรวจสอบขัอมูลทั้งสองฝ่ายอย่างรอบด้าน ขณะที่พล.ร.ท. รัตนะ วงษาโรจน์ ระบุว่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับกรณีดังกล่าวแล้ว พร้อมสั่งให้ศูนย์ฝึกค่อยระวังป้องกัน และแก้ไขสถานการณ์ ขณะที่ เฟซบุ๊ก แผนกวิชาการรบพิเศษ นาวิกโยธิน ได้เปิดเผยว่า นักเรียนรบพิเศษ หมายเลข 78 ร.ต.ตถาพร บวรสุวรรณ ถูกให้ออกจากการฝึกนั้นมีสาเหตุจาก ได้รับบาดเจ็บที่หน้าอกข้างซ้าย และได้เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2560 แพทย์ลงความเห็นว่ากล้ามเนื้อกระดูกซี่โครงอักเสบ แต่สามารถเข้ารับการฝึกต่อได้ และได้กลับเข้ามารับการฝึก จนกระทั่งถึงหลักสูตรการฝึกปัญหาต่อเนื่อง 60 ชั่วโมง ร.ต.ตถาพร ได้รับบาดเจ็บเป็นครั้งที่ 2 ทางหลักสูตรได้ส่งตัวเข้าทำการรักษาพยาบาล แพทย์ลงความเห็นว่า กระดูกซี่โครง ซี่ที่ 7-8 ขวาหัก และมีภาวะเป็นลมแดด กล้ามเนื้ออักเสบ ขณะปฏิบัติการฝึก จึงไม่สามารถเข้ารับการฝึกต่อไปได้ สำหรับ พล.ร.ต.เบญจพร เคยถูกร้องเรียนกรณีนำโซ่มาผูกเอวทหารเกณฑ์ซึ่งเป็นทหารบริการประจำบ้านพักนายทหารไว้กับยางรถยนต์ เมื่อปี 2558 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:'ทหารเกณฑ์' ร้อง 'ประยุทธ์' หลังถูกนายทหารนอกราชการจับล่ามโซ่ ก่อนต้นสังกัดมารับกลับ) เรียบเรียงจาก: แนวหน้าออนไลน์ , ผู้จัดการออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศรีสุวรรณ ค้าน MRT ถอดเก้าอี้โดยสาร ชี้เอาเปรียบผู้บริโภค ถามทำไมไม่เพิ่มขบวน Posted: 20 Nov 2017 10:46 PM PST สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลง คัดค้าน MRT ถอดเก้าอี้โดยสารในขบวนรถไฟฟ้าเอาเปรียบผู้บริโภค ถามทำไม่ยอมจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเข้ามาให้บริการเพียงพอกับความต้องการ พร้อมจ่อฟ้องศาล ภาพจากเพจ MRT Bangkok Metro 21 พ.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (20 พ.ย.60) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพิ่มพื้นที่ว่างในขบวนรถไฟฟ้า สายเฉลิมรัชมงคล โดยถอดเก้าอี้นั่งผู้โดยสารออกเฉพาะที่นั่งแถวกลาง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้มากขึ้น ทั้งนี้จะเริ่มทดลองให้บริการขบวนแรก ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2560 เป็นต้นไป ต่อมาวันนี้ (21 พ.ย.60) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รั แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนู "การที่ รฟม.อนุญาตให้ BEM ดำเนินการได้เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อรั ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 20 Nov 2017 09:31 PM PST
พลันที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศ "ปีหน้าคนจนหมดประเทศ" โลกโซเชียลก็ฮาสนั่น บ้างย้อนถาม แปลว่าคนจนจะหมดจากประเทศไทย หรือคนจะจนหมดทั้งประเทศไทย บ้างก็ล้อว่าอาจเป็นจริงได้นะ ถ้ารัฐบาลสั่งให้ใช้คำว่า "ผู้มีรายได้น้อย" แทน "คนจน" เหมือนน้ำท่วมให้เรียกว่า "น้ำรอระบาย" แหม เพิ่งขึ้นทะเบียนคนจน 14 ล้านคน บอกปีหน้าคนจนจะหมดไป เก่งอะไรปานนั้น แค่แจกตังค์เดือนละ 2-300 หายจนได้ พูดอย่างนี้ไม่ใช่ปรามาสว่าไม่มีทางแก้ปัญหา ว่าที่จริง รัฐบาลก็มุ่งมั่นตั้งใจ เพียงแต่คำคุยนั้นเว่อร์ไป สวนความรู้สึกชาวบ้าน ที่กำลังฝืดเคืองเรื่องปากท้อง จึงกลายเป็นตลกร้าย ให้เหน็บแนมกันไปทั่ว บ้างก็ว่าใช่เลย เรากำลังจะเป็นสังคมไร้เงินสด เพราะไม่มีเงินใช้ นี่เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนไม่ทราบ ของทีมสมคิด ซึ่งมักจะคุยโอ่เกินผลงาน สมคิดจบเอกบริหารธุรกิจด้านการตลาด เช่นเดียวกับสุวิทย์เมษินทรีย์ผู้ชูจุดขายไทยแลนด์ 4.0 นักการตลาดรู้ดีว่าถ้าสามารถสร้างความรู้สึกจำแลงที่ดีขึ้นในหมู่ผู้บริโภค ก็สามารถกระตุ้นตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าเว่อร์ไป ก็ย้อนกลับเช่นนี้แล เศรษฐกิจไทยฟื้นจริงไหม ฟื้นสิ ก็ตัวเลขดี๊ดี ทั้งจีดีพี ส่งออก ท่องเที่ยว แต่ภาคเกษตรยังฟุบไม่ฟื้น และคงไม่ฟื้นไปอีกนาน เศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนโครงสร้าง ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี แบบ AI อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ ลดการใช้แรงงาน คนเดือดร้อนจึงได้แก่เกษตรกรและลูกจ้าง กระทั่งเด็กจบปริญญาก็หางานยาก มันจึงเกิดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย หรืออันที่จริงคือ ไปโลดเฉพาะบางภาค ที่เหลือลำบากถ้วนหน้าแถมมองไม่เห็นอนาคต นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงทั้งโลก โทษรัฐบาลไม่ได้ แต่รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยพยุง ประคับประคองแต่ละภาคส่วนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าช่วยถูกจุดหรือไม่ ทำไมช่วยกลุ่มนั้น ไม่ช่วยกลุ่มนี้ ฯลฯ ทั้งด้านนโยบายและท่าที เช่นนโยบายส่งเสริมการลงทุน ไทยแลนด์ 4.0 กระตุ้น EEC ถูกภาคประชาสังคมโวยว่ารัฐยอมลดภาษีให้ถึง 2 แสนล้านบาท ทั้งที่มีการจ้างงานเพียง 55,000 คนขณะที่ชาวสวนยางก็ไม่พอใจที่ถูกไล่ไปขายดาวอังคาร เอาแกนนำเข้าค่ายทหาร เห็นใจนะว่าการบริหารความขัดแย้งในภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องยาก ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งอาจถูกไล่ไปแล้วหลายรอบ แต่พอเป็นรัฐบาลทหาร มีอำนาจเบ็ดเสร็จ คนเห็นต่างไม่มีปากเสียง มันก็สั่งสมความอึดอัด ขนาดชาวบ้านตั้งตารอการปรับคณะรัฐมนตรี หวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นบ้าง ท่านก็ยังห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ม.หอการค้าไทยเพิ่งสำรวจนักธุรกิจภูมิภาค ชี้ว่ากว่าจะรับรู้การฟื้นตัว ก็คงปลายไตรมาสสองปีหน้า นั่นขนาดพ่อค้า แล้วเมื่อไหร่ชาวบ้านจะรู้สึกดีขึ้น ภาวะอย่างนี้ ระวังอารมณ์คนจะทวีขึ้นด้วย 2 สาเหตุ หนึ่งคือความรู้สึกเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย รวมทั้งการใช้มาตรการแยกคนจนออกจาก "คนเฉียดจน" แบบจบปริญญาโทได้บัตรคนจน แต่คนเงินเดือน 9 พันถูกตัดสิทธิใช้รถเมล์รถไฟฟรี สองคือความหงุดหงิดต่อรัฐราชการ ทั้งความมีอภิสิทธิ์ การใช้อำนาจ ความไร้ประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใส แต่เป็นใหญ่จนชาวบ้านไม่สามารถมีปากเสียง คนจนหมดประเทศไหม ไม่รู้เหมือนกัน แต่มีความเป็นไปได้ ที่จะหงุดหงิดกันทั้งประเทศ
ที่มา: คอลัมน์ทายท้าวิชามาร www.kaohoon.com/ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น