ประชาไท | Prachatai3.info |
- เปิดประชุมประชาสังคมอาเซียน-เรียกร้องรัฐสมาชิกตั้งกลไกการมีส่วนร่วม
- 'ทราย เจริญปุระ' ฟ้อง 'สปริงนิวส์' ปมพาดหัวข่าว 'ลูกทรพี?'
- เกรด (ต้องไม่) เป็นทั้งหมดของชีวิต (2)
- 'สนธิญาณ' ลั่นหยุดจัดรายการตลอดชีวิต หลัง กสทช.สั่งระงับ ยันพร้อมสู้หากถูกคดี 112
- มีชัย ระบุ คสช. สนับสนุนพรรคการเมืองเป็นสิทธิที่ทำได้ ด้านเจษฎ์ห่วง เลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ
- ‘ลูกผู้ชาย’ ต้องก้มหัวให้อำนาจและยอมสูญเสียโอกาสในชีวิต บทพิสูจน์ระบบเกณฑ์ทหาร
- ร้อง ผู้ตรวจฯ ชงศาล รธน.พิจารณา พ.ร.บ.หอพัก เหตุห้ามผู้เช่าอายุเกิน 25 ปี เข้าอยู่
- เกรด (ต้องไม่) เป็นทั้งหมดของชีวิต
- เตือนใจ ดีเทศน์ ชี้ทางออกปัญหาข้อพิพาทกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ
- ศาลสั่งจำคุก 6 เดือน วิชาญ เหตุตะโกนชวนคนโนโหวต ผิด พ.ร.บ.ประชามติ
- 'เรืองไกร' ร้องศาลรัฐธรรมนูญ สั่งคสช. ปลดล็อคพรรคการเมือง เลิกขวางสิทธิเสรีภาพทางการเมือง
- อีกกี่ ‘ก้าว’ จะถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (จบ) ระบบสวัสดิการทำให้ไม่สูญเสียความเป็นคน
- ซีเรียลงนามข้อตกลงโลกร้อน-ขณะที่สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศเดียวที่จะถอนตัว
- ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีไฟเขียวให้ระบุเพศอื่นได้นอกจากหญิง-ชาย
- รัฐศาสตร์เสวนา: บ้านพี่เมืองน้องแบบอำนาจนิยม: ทุนไทยในพม่าและลาว
เปิดประชุมประชาสังคมอาเซียน-เรียกร้องรัฐสมาชิกตั้งกลไกการมีส่วนร่วม Posted: 10 Nov 2017 09:44 AM PST เปิดประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์-คู่ขนานประชุมผู้นำอาเซียน ด้านประธานผู้จัดการประชุมคาดหวังให้รัฐบาลชาติอาเซียนเห็นความสำคัญภาคประชาชน สถาปนาการมีส่วนร่วมให้เป็นสถาบัน ตั้งเป้าผลักดัน 5 ประเด็น 1) สิทธิ 2) การคุ้มครองทางสังคม 3) สันติและความมั่นคง 4) ย้ายถิ่น และ 5) การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม วอนรัฐบาลอาเซียนทบทวนหลักการไม่แทรกแซง เพื่อจะได้แก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนกันได้ พิธีเปิดเวทีประชุมภาคประชาชนสังคมอาเซียน ACSC/APF2017 11 พ.ย. 2560 เมื่อ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ ดิลิมาน มีการจัดพิธีเปิดเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนขึ้น (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum: ACSC/APF) โดยงานประชุมจะมีไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2560 นี้ มีภาคประชาสังคมจากทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศติมอร์ เลสเต เข้าร่วมงานในพิธีเปิดจำนวนหลายร้อยคน เจเลน แพคลาริน ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน เจเลน แพคลาริน ประธานคณะกรรมการอำนวยการกล่าวกับประชาไทว่า คณะกรรมการอำนวยการมีความมุ่งหวังให้รัฐบาลอาเซียนสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมให้เกิดขึ้นในลักษณะการสถาปนาให้เป็นสถาบัน และยังมุ่งผลักดันประเด็นทั้งห้าที่จะไดู้พูดคุยกันในที่ประชุมให้เป็นพื้นที่ที่ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในอาเซียนได้ "พวกเราหวังว่าการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายจากภาคประชาสังคมจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอาเซียน" "พวกเราหวังว่าประเด็นปัญหาที่เราได้เสนอไปห้าประเด็น ได้แก่เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การพัฒนา การย้ายถิ่น งานสังคมสงเคราะห์และประเด็นสันติภาพและความมั่นคงจะได้รับการพิจารณาจากส่วนของรัฐบาลอาเซียน ท้ายที่สุด เราหวังว่ารัฐบาลอาเซียนจะมองเห็นความพยายามของเวทีประชาชนอาเซียนในเรื่องการหลอมรวมประชาชนด้วยกัน" ต่อประเด็นปัญหาที่เธอกังวลที่สุดในฐานะที่อาเซียนก่อตั้งมาถึงครึ่งศตวรรษแล้ว เป็นปัญหาในเชิงหลักการใหญ่ว่าด้วยหลักการชาติสมาชิกไม่แทรกแซงกิจการภายในชาติสมาชิกอื่น "พวกเราต้องการให้อาเซียนทบทวนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่นเพราะว่าตัวหลักการมันไปขัดขวางไม่ให้ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าไปดูการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ทั่วภูมิภาค ถึงแม้ว่าเราจะเห็นแล้วว่ามีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคจำนวนมาก แต่ถ้าประเทศคุณไม่ได้ตอบสนองกับปัญหานี้ แล้วคุณจะหันหน้าไปพึ่งใครถ้าไม่ใช่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ดังนั้น ทางที่ง่ายที่สุดคือเราต้องจัดการเรื่องนี้ในภูมิภาคกันเอง เราหวังว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะกลายเป็นปัญหาที่อาเซียนเห็นว่าสำคัญ" เจเลนกล่าว พิธีเปิดเวทีประชุมภาคประชาชนสังคมอาเซียน ACSC/APF2017 เวทีภาคประชาชน หรือเวทีภาคประชาสังคมอาเซียนได้รับการริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีข้อครหาว่าเวทีความร่วมมืออาเซียนเป็นเวทีความร่วมมือของรัฐบาลเท่านั้น ในช่วงแรกเริ่มเป็นการประชุมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประชาชน ต่อมาในปี 2549 ในปีที่มาเลเซียเป็นเลขาธิการอาเซียน จึงได้มีการจัดตั้งเวทีภาคประชาชนอาเซียนในลักษณะที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยปรกติ ในการประชุมทุกปี แต่ละชาติจะส่งตัวแทนภาคประชาชนไปกล่าวแถลงการณ์กับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน แต่ในปีนี้จะไม่มี เพราะว่าเลยรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนรอบแรกมาแล้ว โดยในรอบต่อไปจะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนร่วมกับชาติอื่น (อาเซียนพลัส) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ทราย เจริญปุระ' ฟ้อง 'สปริงนิวส์' ปมพาดหัวข่าว 'ลูกทรพี?' Posted: 10 Nov 2017 08:19 AM PST 'ทราย เจริญปุระ' เผยฟ้องหมิ่นประมาท 'สปริงนิวส์' จากกรณี พาดหัวข่าว 'ลูกทรพี?' พบทีนิวส์ก็พาดหัวเหมือนกัน แต่ลบไปแล้ว ขณะที่ เพจ 'จุลสาร ราชดำเนิน' วิจารณ์พฤติกรรมสื่อ ถามความเป็นธรรมของตัวแหล่งข่าว กับยอดไลก์-ยอดแชร์ อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน ? บันทึกจากอินสตาแกรม ของ "ทราย เจริญปุระ" 10 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 พ.ย.60) จากกรณีสำนักข่าว สปริงนิวส์ พาดหัวข่าวเกี่ยวกับ ทราย เจริญปุระ หรือ อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงชื่อดัง "ความในใจจากลูกทรพี? เปิดค่ารักษาแม่ "ทราย เจริญปุระ" ต้องเล่นละครกี่เรื่องถึงจะจ่ายไหว?" จนถูกว่าจารณ์ถึงความเหมาะสม และทางสปริงนิวส์ ได้ลบข่าวนั้นออกไปนั้น ต่อมาช่วงค่ำ ทราย เจริญปุระ หรือ อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงชื่อดัง โพสต์ภาพผ่าน อินสตาแกรม พร้อมข้อความ สรุปว่าฟ้องหมิ่นประมาท สำนักข่าว สปริงนิวส์ ทราย ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้เราเคยแจ้งตำรวจแล้วว่าโดนใส่ร้ายหมิ่นประมาทสารพัดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฟ้องเลยละกัน จบๆ ไป นอกจากนี้ในเฟซบุ๊กของทราย ยังรายงานข่าวคืบหน้าด้วยว่า คนที่อ้างว่าเป็นคนเขียนข่าวโทรมาหา ขอโทษและบอกว่าเดินไปขอโทษกับหัวหน้าฝ่ายแล้ว ลบข่าวแล้ว สำนึกผิดแล้ว ขออภัย ตนได้ไปว่าอย่างน้อยก็ควรลงขอโทษ ตนติดต่อทนายแล้ว ความเสียหายมันเกิดแล้ว ขณะที่ เกิดผล แก้วเกิด ทนายความ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อสักครู่ ได้คุยกับ ทราย มอบหมายให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญา และฟ้องร้องคดีส่วนแพ่ง กับสปริงนิวส์ ทนายเกิดผล ระบุด้วยว่า สำนักข่าว สปริงนิวส์ เขียนข่าว และพาดหัวข้อข่าว ว่า "ความในใจจาก #ลูกทรพี... เขียนอย่างนี้ หมิ่นประมาท ทราย เจริญปุระ หรือไม่ แม้คนเขียนข่าวจะใช้เครื่องหมายคำถาม เพื่อเลี่ยงบาลี แต่คนที่อ่านหัวข้อข่าว ย่อมเข้าใจว่า ทราย เจริญปุระ คือลูกทรพี ทั้งนี้ นอกจาก สปริงนิวส์ จะพาดหัวข่าวดังกล่าวแล้ว ทีนิวส์ก็ลงข่าวและพาดหัวข่าวในลักษณะเดียวกัน url : www.tnews.co.th/contents/377149 โดยขณะนี้ได้ลบโพสต์ดังกล่าวไปแล้ว แต่ระบบการค้นหาของกูเกิลยังแสดงผลอยู่ ข่าวของทีนิวส์ที่ระบบการค้นหาของกูเกิลยังแสดงผลอยู่ แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว เมื่อเวลา 21.00 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ จุลสาร ราชดำเนิน ของ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความวิจารณ์พฤติกรรมสื่อมวลชนที่มีลักษณะนี้ด้วยว่า ที่ผ่านมา สื่อจำนวนหนึ่ง มักเลือกใช้วิธีพาดหัวโดยใช้ คำแรงๆ กับแหล่งข่าวเพื่อเรียกให้คนเข้ามาดูมากๆ แต่คำบางคำก็มี ความหมายเชิงลบ และอาจเป็นการตัดสินแหล่งข่าวไปในพาดหัวนั้นเลย นอกจากคำว่า "ลูกทรพี" ก็ยังมีอาทิ "เนรคุณ" "อกตัญญู" "โจรใจบาป" "ฆาตกร" "เลือดเย็น" ฯลฯ ซึ่งแม้ภายหลัง แหล่งข่าวบางคนจะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตัวเองได้สำเร็จ และสื่อนั้นๆ อาจจะลงข่าวแก้ให้ไปแล้ว แต่ถามว่า ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่รวมถึงธรรมชาติของคนที่มักจะเลือกเชื่อกับข่าวที่มาเป็นลำดับแรกๆ ไว้ก่อน "คำถามก็คือ นี่คือสิ่งที่ผู้เสพข่าว คาดหวังจากคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อมวลชนหรือ ? สื่อที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ควรใช้วิธีการเช่นนี้ในการนำเสนอข่าวหรือไม่ ? และความเป็นธรรมของตัวแหล่งข่าว กับยอดไลก์-ยอดแชร์-ยอดแชร์ อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน ?" เฟซบุ๊ก จุลสาร ราชดำเนิน โพสต์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เกรด (ต้องไม่) เป็นทั้งหมดของชีวิต (2) Posted: 10 Nov 2017 06:44 AM PST 'อรรถพล' ชี้ ปัญหาการศึกษาไทยต้องแก้ที่ต้นเหตุ 'เป้าหมายการศึกษา' ต้องชัด การเปลี่ยนแปลงโดยครูในระดับปัจเจกมีพลังน้อย ต้องรวมตัวสร้างเครือข่าย เกรดอาจไม่ใช่ตัวร้าย แต่การให้คุณค่ากับเกรดของไทยต่างหากที่กำหนดชี้ชะตาเด็ก แนะการสอนแบบ active learning ครูต้องพร้อมเรียนรู้ไปกับเด็ก เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ที่ Warehouse 30 มีงานเสวนา "เกรดเปลี่ยนชีวิต" โดยมีวิทยากรคือ ทัศนวรรณ บรรจง จากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท (FES) ปราศรัย เจตสันติ์ ครู รร.บางปะกอกวิทยาคม และอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินรายการคือโสภิดา วีรกุลเทวัญ นักเขียนอิสระ งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล จัดโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center), Documentary Club และ Warehouse 30 อรรถพล อนันตวรสกุล (ภาพจากเพจ แจ่ม) เป้าหมายของการจัดการศึกษาอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า แม้จะเป็นการศึกษาฝรั่งเศส แต่มันสะท้อนมาถึงเราด้วย มีคำสำคัญหลายคำ เช่น การศึกษาต้องเริ่มจากสังคมมีความเชื่อเรื่องอะไรร่วมกันก่อน ไม่เฉพาะฝรั่งเศสแต่ทั่วโลกก็มีคำถามเดียวกันว่าเป้าหมายของการจัดการศึกษาคืออะไร ที่มาของเป้าหมายควรจะมาจากอะไร มีงานวิจัยหลายชิ้นคุยเรื่องนี้ จริงๆ การศึกษาถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ 3 เรื่อง 1. ความคาดหวังของสังคม 2. วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ 3. ความรู้เชิงวิชาการ ตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องปัญหาการศึกษาเราไม่ค่อยถามเรื่องเป้าหมายการศึกษา เราไปติดภาพเฉพาะในห้องเรียน การเรียนในห้องเรียนเป็นปลายสุดของการออกแบบ เพราะมันมีกระบวนการขั้นตอนก่อนหน้านั้น การเปลี่ยนแปลงโดยครูระดับปัจเจกมันเกิดขึ้นได้เฉพาะในห้องเรียนของครูคนนั้น เพราะฉะนั้นพลังค่อนข้างน้อย แต่อาจเริ่มต้นได้ด้วยพลังของครูที่มองว่าตัวเองเป็นเจ้าของห้องเรียน ออกแบบห้องเรียนให้ตรงตามเป้าหมายการศึกษาแท้จริงที่ตัวเองเชื่อ แต่ถ้าจะให้การศึกษาทั้งระบบมันเปลี่ยน มันจะต้องคิดภาพใหญ่ และต้องมีเครือข่ายครู หลายประเทศที่มาจากประเทศที่มีสหภาพอาจเคลื่อนไหวผ่านสหภาพครู เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่บางประเทศที่มีบริบทคล้ายคลึงกับเราเช่น ญี่ปุ่น ครูก็เป็นข้าราชการเหมือนกับเรา เขาก็จะขัดนโยบายรัฐไม่ค่อยได้ แต่เขาสามารถทำเครือข่ายครูในโรงเรียนได้ บทเรียนของประเทศญี่ปุ่นที่ไทยเรียนรู้และเอามาทำอยู่ตอนนี้คือ PLC เครือข่ายครูชุมชนเรียนรู้ทางวิชาชีพ เขาบอกว่าเป็นการปฏิวัติเงียบทางการศึกษาของครู ที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันในโรงเรียนเดียวกันเพื่อทำให้โรงเรียนมีคุณภาพ และส่งเสียงสะท้อนกลับไปหาคนในกระทรวง ตอนนี้กระแสการปฏิรูปด้วยตัวเองของครูภายใต้ห้องเรียนกำลังไปทั่วทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และมาที่เวียดนามกับอินโดนีเซียแล้ว บ้านเราก็เริ่มมี เกรดอาจไม่ใช่ตัวร้าย แต่การให้คุณค่ากับเกรดของไทยต่างหากที่กำหนดชี้ชะตาเด็ก อรรถพลกล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญเรื่องการพูดเรื่องเกรด อย่ามองว่าเกรดเป็นตัวร้าย เกรดมันเป็นตัวเลขไม่กี่ตัวที่จะบอกว่าคนคนนั้นเป็นยังไง แต่การให้คุณค่ากับเกรดต่างหากที่เป็นปัญหา และที่มาของการได้เป็นตัวเกรดต่างหากที่เป็นปัญหา ว่าเราเชื่อเรื่องการประเมินผลอย่างไร ประเมินผลไม่ใช่แค่สรุปรวมว่าคนคนหนึ่งเป็นยังไง แต่ต้องดูพัฒนาการเขา ตอนนี้กระบวนทัศน์ใหม่เรื่องการประเมินผลก็จะเน้นเรื่องการประเมินเพื่อการเรียนรู้ มากกว่าประเมินผลของการเรียนรู้ เพราะเชื่อว่าการประเมินเพื่อการเรียนรู้ช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้ครูกับเด็กเดินไปพร้อมๆ กัน ครูทำหน้าที่ให้ข้อมูลป้อนกลับมาครูสังเกตเห็นอะไรบ้างจากการเรียนรู้ของเด็ก เขาจะได้เห็นตัวเองและชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งตัวเลขเหล่านั้นก็จะเป็นแค่ตัวเลข วันหนึ่งก็จะไม่มีความหมาย แต่การให้คุณค่ากับตัวเลขตอนนี้ของสังคมไทยกำลังมีปัญหา เพราะมันกลายเป็นตัวชี้ชะตาชีวิตเด็ก พอเรียนได้คะแนนดีหน่อยก็มักจะถูกดันไปเรียนสายวิทย์กัน เพราะเชื่อว่าจะมีทางเลือกมากกว่า แล้วก็ทำให้เด็กหลงทางเยอะมาก
การที่ครูตัดเกรดเด็กตกเยอะๆ ไม่ได้แปลว่าครูเก่ง แสดงว่าการเรียนรู้ของเด็กมีปัญหา แสดงว่าการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของครูยังไม่ดีเพียงพอ เพราะฉะนั้นเด็กคะแนนไม่ดีส่วนหนึ่งเป็นบทบาทครูต้องรับผิดชอบ คุณต้องแกะรอยให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในตัวเขา ทำไมพัฒนาการเขาถึงช้า ทำไมมีบางเรื่องเขายังติดขัดไม่เข้าใจ ครูก็ต้องเป็นคนหนึ่งที่เรียนรู้ผ่านกระบวนการประเมินผลด้วย ครูต้องเปลี่ยนมุมมองในการมองตัวเองไปเลย เราไม่ได้เป็นกูรูที่อยู่หน้าห้องอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องพร้อมเป็นเพื่อนเรียนไปกับเขาและเติบโตไปด้วยกัน วิธีการรับมือกับห้องเรียนแบบ active learner ครูต้องมีวิธีการเตรียมตัวตอบคำถามเด็กอย่างไรทัศนวรรณ บรรจง จากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท เล่าว่า ในฝรั่งเศสเมื่อเด็กถามมาแล้วครูอาจจะตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า ทำไมคุณถามแบบนี้ อาจจะต้องชวนเขาคิดก่อนว่าทำไมเขามีคำถามแบบนี้ เราไม่ให้คำตอบเขาก่อน การเป็น active learner มาจากให้เด็กสะท้อนความคิดตัวเองได้ ทำไมตัวเองถึงคิดแบบนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เด็กถามว่าทำไมฉันต้องมาโรงเรียน ถ้าเราเป็นคนที่ต้องตอบ เราอาจจะชวนคุยว่า แล้วทำไมเธอคิดว่าเธอต้องไปโรงเรียน หลังจากนั้นก็มีการถามตอบกัน คิดว่านี้เป็นกระบวนการของ active learner และในทางเดียวกัน นี่เป็นทักษะ media literate หรือการรู้เท่าทันสื่อ ต้องเริ่มจากการไม่ยึดติดกับความจริงอันใดอันหนึ่ง ต้องตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้นตลอด ปราศรัย เจตสันติ์ ครูสังคมศึกษา รร.บางปะกอกวิทยาคม กล่าวว่า เราจะต้องไม่รู้สึกว่าห้องเรียนคือจุดหาคำตอบของเด็กๆ แต่ห้องเรียนเป็นที่ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเกิดกระบวนการคิดบางอย่างเพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามอีกก็ได้ ไม่ใช่เด็กรู้สึกว่าถามแล้วรอฟังคำตอบจากครู เพราะคำตอบของครูคือสิ้นสุด เขาไม่ต้องถามต่อ แต่หัวใจของ active learner เราคุยกันโดยไม่ต้องสรุปก็ได้ เพราะคำตอบอาจหลากหลายก็ได้ในบริบทที่ต่างกัน ในกระบวนการ active learning ครูเองก็ต้องเป็น active learner ไปกับเด็กอรรถพล อธิบายว่า active learning ไม่ใช่แค่มีกิจกรรม มีใบงาน มีการเล่น มีแต่การเร้าความสนใจแล้วจบ ไม่เกิดการเรียนรู้ active learning คือการกระตือรือร้น การมีแรงจูงใจในการจะพัฒนาตัวเองทั้งของครูและเด็ก เวลาเราพูดเรื่อง active learning เราไม่ได้พูดในฐานะผู้เรียน หรือ active learner เท่านั้น ใน active learning คนสำคัญที่ต้องเป็น active learner คือครูต้องเรียนไปกับเด็ก แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ mind-set ครูเปลี่ยน เชื่อว่าตัวเองก็เป็นผู้เรียนคนหนึ่งในห้องเรียน เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก
อย่างผมเริ่มต้นชีวิตครูจากการสอนเด็กสาธิตฯ ผมก็จะอยู่กับเด็กที่ถามคำถามตลอดเวลา แล้วเขามาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับบนที่มีประสบการณ์ต่างประเทศ บางเรื่องเขารู้มากกว่าเราเยอะมาก มันทำให้ท้าทายตัวเองว่า ต้องยอมรับว่าเรารู้ไม่เท่าเขาหรอก เพราะครึ่งหนึ่งของลูกศิษย์ในโรงเรียนเป็นลูกหลานครูในมหาวิทยาลัยหมด เด็กทุกคนก็จะแอคทีฟมาก จริงๆ ไม่ใช่แค่เด็กกลุ่มนี้หรอก เด็กทั่วไปเขาก็มาโรงเรียนด้วยความกระตือรือร้น แต่เขาถูกบรรยากาศโรงเรียนทำให้เขาอยากถามน้อยลงเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งเขาก็เลยจะไม่ถาม เขาจะเป็นผู้ฟังที่ดี แล้วพอวันหนึ่งเราอยากจะเปลี่ยนเขาให้เป็น active learner แต่ครูยังเป็นคนคอยบังคับเขาอยู่ ความอยากรู้ก็จะไม่เกิดขึ้น และบางครั้งความรู้มันเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็ก แต่ครูก็เอาความรู้เดิมที่มีมาสอนตลอดเวลา ทำหน้าที่เป็นกูรูถ่ายทอดตลอดเวลา มันก็ไปครอบความคิดเขา เพราะฉะนั้นในกระบวนการ active learning ที่สังคมไทยกำลังตื่นตัว ก็อยากให้มองบทบาทครูเป็นคนหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ อย่างผมสอนคณะครุศาสตร์ วิชาที่เด็กทำโปรเจคท์ มีหลายเรื่องที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน แต่ผมเรียนรู้ไปกับเด็ก แล้วสนุกมากเพราะเราอ่านหนังสือไปควบคู่กับเขา เขาจะอ่านค้นแล้วมาคุยกับเรา เราก็อ่านค้นไปคุยกับเขา ต่างคนต่างกระตือรือร้นในการพัฒนาตัวเอง สุดท้ายเราคาดหวังว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ในโรงเรียนมันจะกลายเป็นวัฒนธรรม
PLC คืออะไร? ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC คือ การรวมตัว ร่วมใจร่วมพลัง ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา บนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร มีวิสัยทัศน์ คุณค่า เป้าหมาย และภารกิจร่วมกัน โดยทำงานร่วมกันแบบทีม เรียนรู้ที่ครูเป็นผู้นำร่วมกัน และผู้บริหารแบบผู้ดูแลสนับสนุน สู่การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพเปลี่ยนแปลงคุณภาพตนเอง สู่คุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความสำเร็จหรือประสิทธิผลของผู้เรียนเป็นสำคัญและความสุขของการทำงานร่วมกันของสมาชิกในชุมชนการเรียนรู้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'สนธิญาณ' ลั่นหยุดจัดรายการตลอดชีวิต หลัง กสทช.สั่งระงับ ยันพร้อมสู้หากถูกคดี 112 Posted: 10 Nov 2017 05:52 AM PST สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ได้ประกาศหยุดจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ตลอดชีวิต หลัง กสทช.ห้ามจัด 1 เดือน ลั่นพร้อมสู้หากถูกคดี ม.112 ปมใช้คำพูดในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ 10 พ.ย.2560 จากกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งระงับออกอากาศรายการ "สนธิญาณฟันธงตรงประเด็น" ช่องสปริงนิวส์ 1 เดือน พร้อมส่งเรื่องให้ และเห็นสมควรส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ล่าสุด สปริงนิวส์ รายงานว่า สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ได้ประกาศหยุดจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ตลอดชีวิต หลัง กสทช.ห้ามจัด 1 เดือน โดยได้ให้สัมภาษณ์ ผ่าน คลุกวงในอินไซต์ข่าว สถานีข่าวจริงเรดิโอ FM 98.5 วันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า มีหลายคนที่ติดตามชมรายการได้สอบถามเข้ามาทางเฟซบุ๊กไลน์ โทรศัพท์ อย่างมากมาย เนื่องจากการประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 8 พ.ย.60 มีมติให้บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด หรือช่องสปริงนิวส์ ระงับการออกอากาศ รายการ "สนธิญาณฟันธงตรงประเด็น" เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยวันที่ สนธิญาณ จัดรายการนั้นเป็นวันที่ใกล้ช่วงเวลาที่จัดพระบรมศพ ซึ่งประเด็นในการจัดรายการวันนั้น ชื่อรายการราชาแห่งราชาทั้งปวง โดยระหว่างจัดรายการตนได้จัดไปร้องไห้ไป ที่ร้องไห้ไปเพราะสำนึกในมหากรุณาธิคุณของ ร.9 ที่ทรงงานเพื่อคนไทยมาตลอด 70 ปี เมื่อถามว่า ภายใต้ความตื้นตันใจ ตนจึงได้ลำดับความภายใต้ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่านได้รับการโจษขานยอมรับประกาศเกียรติคุณไปทั่วทั้งโลก ชีวิตของพระองค์ท่านนั้นมีความเจ็บปวดรวดร้าว จากนั้นได้เปิดเพลงชะตาชีวิต โดยตนได้บรรยาย ว่า พระองค์ท่านได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2489 ซึ่งการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ท่านนั้นเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่อยากจะทำ เพราะว่าพระองค์ท่านจะต้องสูญเสียพระเชษฐา ไม่มีใครอยากจะขึ้นครองราชย์ สนธิญาณ ระบุว่า ได้เล่าต่อว่าพระองค์ท่านได้มีพระราชนิพนธ์เอาไว้ในบันทึกส่วนพระองค์ระบุว่าไม่เคยคิดอยากจะเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินเลย คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าพี่น้องรักใคร่ผูกพันกัน ในความเป็นจริงมีกลุ่มที่คอยสร้างข่าวสารที่จะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตลอด พระองค์ท่านเป็นลูกกำพร้ามีแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงในฐานะสามัญชน ทั้งๆที่พระองค์ท่านเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงซึ่งขณะนั้นยังไม่มีสถานะที่จะสืบราชสมบัติแต่อยู่ในลำดับสืบสันติวงศ์ พี่น้องอยู่ด้วยกันมาด้วยความรัก ความผูกพัน เป็นความลึกซึ้งของลูกกำพร้า ถูกเลี้ยงมาอย่างเด็กธรรมดาและเมื่อขึ้นครองราชย์นั้นยังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นอายุ 18 ปีเศษ นี่แหละที่ กสทช. บอกว่า ตนไม่ทำอันสอดคล้องจริยธรรม ไม่เป็นไรเลิกผังปิดรายการตน เรียนท่านผู้ชมซึ่งทราบดี ชีวิตตนเป็นคนที่กล้าประกาศว่าเป้าหมายของชีวิตไม่อยากมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว ธุรกิจที่มีในวันนี้ก็ขายหมด ช่วยทำงานอยู่ที่สปริงส์ก็ช่วยด้วยหัวใจ อยากเห็นสื่อที่ดีๆ ทำไมต้องทุกข์แบบนี้ กสทช.ระงับรายการ และจะส่งเรื่องให้ตร.พิจารณาดำเนินคดีนั้น จะดำเนินคดีกับตนด้วยมาตรา 112 ตนยินดี แต่คนที่พิจารณาหรือดำเนินการเรื่องตนก็ต้องเตรียมก็ต้องสู้กันในศาล สนธิญาณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่ได้สู้ในฐานะจำเลยอย่างเดียวแต่จะสู้ในฐานะโจทก์ไม่ใช่เพื่อตอบสนองอารมณ์ของตัวเอง แต่จะให้เห็นว่าความบ้องตื้นหรือความคิดอันตื้นเขินในการพิจารณาเรื่องนี้ มันกระทบกระเทือนและเสียหายต่อประเทศชาติและผู้คนที่จงรักภักดีทั้งสิ้น บอกว่าตนขยายผ่านสื่อ แล้ว กสทช.คิดบ้างไหมว่าสื่อทุกวันนี้ที่ กสทช. คิดไม่ได้ ทั้งในเฟซบุ๊กที่มีคนโพสต์ประเด็นในความจงรักภักดีที่ใช้ภาษาสามัญชนซึ่งบุคคลเหล่านั้นโพสต์ไปด้วยความรักความภักดี ซึ่งให้กลับมาทบทวนดูว่า ใครมีความจงรักภักดีมากกว่ากัน และรักประเทศชาติมากกว่ากัน การที่ตนเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะการขอร้องของผู้คนและถูกดำเนินคดีกบฏ จนติดคุกไม่เคยทุกข์และตั้งรับกับสิ่งเหล่านี้ แต่ในสิ่งที่ กสทช.ทำคือการทำลายชาติบ้านเมือง ใครกันแน่ที่ทำร้ายสถาบัน ใครกันแน่ที่จ้องโค่นล้มสถาบัน โดยใช้กรณีของตนไปขยายความว่าเป็นการใช้ มาตรา 112 และให้ไปเรียงรายชื่อมากับสนธิญาณ ในเมื่อสั่งระงับโทรทัศน์ก็ต้องระงับวิทยุด้วย นี่นะหรือคือสติปัญญาของ กสทช. และตนขอยืนยันว่าจะไม่ก้มหัวต่อความไม่ถูกต้อง สำหรับคำสั่ง กสทช. ดังกล่าว ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 60 มีมติให้บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด หรือช่องสปริงนิวส์ ระงับการออกอากาศ รายการ "สนธิญาณฟันธงตรงประเด็น" เป็นระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามข้อ 19 ของประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 เนื่องจากพบว่า การออกอากาศรายการสนธิญาณฟังธงตรงประเด็น เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2560 มีเนื้อหาซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้คำพูดในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ เป็นการขัดต่อ ข้อ 14(10) ของประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 และเห็นสมควรส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มีชัย ระบุ คสช. สนับสนุนพรรคการเมืองเป็นสิทธิที่ทำได้ ด้านเจษฎ์ห่วง เลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ Posted: 10 Nov 2017 05:32 AM PST เจษฎ์ โทณะวณิก ระบุการตั้งคำถามของ ประยุทธ์ เป็นถามตรงๆ ว่าประชาชนจะเลือกรัฐบาลแบบคสช. หรือนักการเมือง ติงหาก คสช. สนับสนุนพรรคการเมืองจะทำให้การเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ เห็นว่าสนับสนุนได้เพราะเป็นสิทธิ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเตรียมเปิดให้ประชาชนตอบคำถาม 13 พ.ย. 10 พ.ย. 2560 เจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงนัยทางการเมืองต่อการตั้งคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรี โดยมองว่า เป็นการถามตรง ๆ ว่าประชาชนจะเลือกรัฐบาลในแบบคสช. หรือรัฐบาลแบบนักการเมือง ส่วนเจตนาของการตั้งคำถาม หากประชาชนต้องการรัฐบาลแบบ คสช.จะมีทางเลือกแบบไม่ต้องรัฐประหารและไม่ต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่อาจจะมาในลักษณะแฝง คือได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลในอนาคต อย่างไรก็ตาม เจษฎ์ ไม่เห็นด้วยกับคำถามข้อ 2 ที่ระบุว่าหาก คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด เนื่องจากที่ผ่านมาคสช.รับบทบาทในฐานะกรรมการที่ยุติความขัดแย้ง ในการอาสาเข้ามาทำงาน แต่หากจะตัดสินใจเลือกข้าง ในอนาคตใครจะเชื่อมั่นให้เป็นกรรมการ และมั่นใจว่าหากคสช.จะสนับสนุนพรรค ก็น่าจะเป็นพรรคทหารในอนาคต "ถามง่ายๆ กรรมการตัดสินฟุตบอล ผมเชียร์ทีมนี้ได้ไหม ผมไม่ได้เป็นคนเล่น แล้วถ้ากรรมการออกมาแบบแสดงจุดยืนนี้ ใครจะเชื่อมั่นให้เป็นกรรมการต่อไป ตลอดเวลาที่ผ่านมาบอกเป็นกรรมการ ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เป็นกลาง ต้องการแยกคนเหล่านี้ แต่กลับมาถามว่าจะเชียร์พรรคไหน" เจษฎ์ กล่าว ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการตั้งคำถาม 6 ข้อของพลเอกประยุทธ์ ที่ถามว่า หาก คสช. หรือนายกรัฐมนตรีจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นสิทธิส่วนตัวหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้วว่า คำถามดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีจึงมีเจตนาเพียงแต่ต้องการสอบถามประชาชนว่ามีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไรแต่ไม่ได้ระบุว่าจะสนับสนุนใคร และเมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง สื่อโซเชียลมีเดียจะเป็นสื่อที่ชี้นำประชาชนได้มาก เพราะแต่ละคนจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี เช่นเดียวกับการนำเสนอความเห็นของสื่อมวลชน ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดนั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้แต่ต้องไม่ครอบงำกิจกรรมของพรรคการเมือง คำถามทั้ง 6 ข้อ จึงไม่ขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 แต่อย่างใด ส่วนการที่ คสช. ระบุว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดถือเป็นการทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือไม่ ประธาน กรธ. กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคสนับสนุนลูกพรรคนั้นก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ที่เป็นรัฐบาลก็จะบอกให้ประชาชนสนับสนุนให้พรรคตนเองทำงานต่อ แต่ผู้ที่เป็นฝ่ายค้านในเชิงการเมืองอาจจะมองว่าเสียเปรียบ ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวถึง การตั้งคำถาม 6 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี นั้นมีนัยยะที่สะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้หรือไม่ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ตนไม่ทราบความในใจของนายกรัฐมนตรี แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับ นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะดำรงตำแหน่งต่อหรือสืบทอดอำนาจ เพราะหากจะทำเช่นนั้นแล้วก็คงไม่มีการตั้งคำถามดังกล่าวกับประชาชน ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อคำถาม 6 ข้อเกี่ยวกับอนาคตการเมืองไทยว่า กระทรวงมหาดไทยจะเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านศูนย์ดำรงธรรมประจำอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไปในวันและเวลาราชการ "ประชาชนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนมายืนยันตัวบุคคล จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะแจกแบบฟอร์มให้ตอบคำถาม ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกันกับแบบฟอร์ม 4 คำถามของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว ที่มาจาก : สำนักข่าวไทย 1 , 2 , 3 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘ลูกผู้ชาย’ ต้องก้มหัวให้อำนาจและยอมสูญเสียโอกาสในชีวิต บทพิสูจน์ระบบเกณฑ์ทหาร Posted: 10 Nov 2017 04:12 AM PST สำรวจการสร้างพลเมืองให้เป็นพลทหาร พบใช้การปกครองโดยการลงทัณฑ์และการสร้างความหวาดกลัว ทำให้ลูกผู้ชายต้องก้มหัวให้อำนาจ วิพากษ์ระบบเกณฑ์ทหาร เมื่อคนหนุ่มวัยทำงานสูญเสียโอกาสในชีวิต นักวิชาการชี้แรงงานหนึ่งแสนคนในค่ายทหารเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าของรัฐไทย 1 "ฉันมารอพี่ที่ท่าน้ำทุกวันเลยนะ" นี่คือประโยคหนึ่งที่มักได้ยินจากละคร และภาพยนตร์เรื่อง 'นางนาก' ที่แม้จะมีการรีเมคนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็มักจะเห็นฉากหญิงนุ่งกระโจมอกอุ้มลูกเหม่อมองออกไปที่แม่น้ำ รอคอยผัวกลับมาจากการเป็นทหาร ซึ่งถูกเกณฑ์ไปรบกับอริราชศัตรู ตำนานเล่าขานรุ่นสู่รุ่นจากทุ่งพระโขนง ยังมีเรื่องชวนให้ถกเถียงเชิงข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่เราได้รับรู้มีความจริงมากน้อยเพียงใด ผีนางนากที่คอยหลอกหลอนชาวบ้าน วิญญาณที่ติดบ่วงความรัก และการรอคอย เรื่องราวความผลัดพราากจากลูกเมียเพื่อปกปักรักษาบ้านเมือง แต่เสร็จศึกกลับมาพบโศกนาฎกรรมความรัก เมียคลอดลูกตายทั้งกลม หรือแท้จริงแล้วเรื่องราวของนางนากนั้นเป็นเพียงการผสมผสานเติมแต่งจนกลายมาเป็นตำนานแห่งความศรัทธาดังเช่นปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่เห็นได้ก็คือการดำรงอยู่ของ 'ศาลย่านาค' ริมคลองพระโขนง ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของวัดมหาบุศย์ ที่ซึ่งผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างแวะเวียนมากราบไหว้ และบนบานขอให้อำนาจอิทธิฤทธิ์ของผีแม่นากช่วยให้รอดพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์ แม้ไม่แน่ชัดว่าเรื่องราวของนางนากเป็นจริงมาน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่เป็นจริงอย่างหนึ่ง และยังคงร่วมสมัยมาจนถึงปัจจุบันคือ 'การเกณฑ์ทหาร' ซ้ำร้ายมากกว่านั้นเมื่อย้อนดูตัวเลขความต้องการทหารเกณฑ์หรือเรียกอีกอย่างว่าทหารกองประจำการของประเทศไทย พบว่า มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี ในปี พ.ศ.2547 มีความต้องการทหารเกณฑ์ทั้งสิ้น 80,345 นาย ขณะที่ปี พ.ศ.2560 มีความต้องการทหารเกณฑ์ทั้งสิ้น 103,097 นาย ซึ่งนั่นหมายความว่ามีอีกแสนชีวิตที่อิทธิฤทธิ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ไม่อาจบันดาลให้หลุดพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์ 2 สำหรับสังคมไทยในแต่ละปีมักปรากฎข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับทหารเกณฑ์อยู่เรื่อยๆ แน่นอนว่าเรื่องราวข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ได้มีเพียงแค่ข่าวของคนดัง ดารา นักร้อง หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เข้ารับการตรวจคัดเลือกซึ่งถูกสื่อทำให้กลายเป็นสีสัน (ซึ่งแท้จริงแล้วกลายเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์) ขึ้นมาในช่วงวันที่ 1-12 เมษายนของทุกปี โดยละเลยที่จะพูดถึงความถูกต้อง ความชอบธรรม หรือปัญหาต่างๆ ของระบบการบังคับเกณฑ์ทหาร หากแต่ข่าวที่ปรากฎอยู่บ่อยครั้งนั้นคือ ความสูญเสียหรือความตายของเหล่าทหารเกณฑ์ ที่น่าตกใจมากไปกว่าความตายความสูญเสียเหล่านี้คือสถานที่ที่เกิดเหตุ ทหารเกณฑ์จำนวนหนึ่ง อย่างน้อย 5 คน (ที่ปรากฎเป็นข่าว) ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ถูกทำให้เสียชีวิตภายในค่ายทหารที่ตนสังกัดอยู่ นอกเหนือไปจากเรื่องร้ายแรงอย่างความตายแล้ว ข่าวคราวที่พบเห็นอยู่เป็นประจำคือ การนำทหารเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ในบ้านพักของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งข่าวการคอร์รัปชันที่มักปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันไม่ได้กันสิ่งที่กองทัพป่าวประกาศโฆษณาว่า การเป็นทหารเกณฑ์คือการรับใช้ชาติและเป็นการตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน แต่ตลกร้ายที่เรื่องราวต่างๆ กลับไปด้วยกันได้ดีกับคำโฆษณาที่ว่า 'การเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด' เรื่องราวกิจวัตรประจำวันหรือหน้าที่ของทหารเกณฑ์ ในช่วงหลังๆ มานี้มีการรายงานนำเสนอให้เห็นเพิ่มมากขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งจากสื่อมวลชนเองหรือจากตัวปัจเจกบุคคลที่เคยผ่านช่วงเวลาของการดำรงสถานะทหารเกณฑ์มาก่อน ผ่านการบอกเล่าในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นกลับดำเนินต่อไปเรื่อยๆ วนเวียนกันไปทุกปี โดยไม่มีทีท่าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง จากสภาพที่เป็นอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่ยังคงมีระบบบังคับเกณฑ์ทหารอยู่เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งสำหรับกองทัพและสถาบันทหารว่า จะสามารถมีกำลังพลภายใต้การบังคับบัญชาจำนวนมาก โดยอาศัยสภาพบังคับของกฎหมาย 3 อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับเรื่องราวของการเกณฑ์ทหาร คือการประกอบสร้างความเป็นพลทหารและย่อยสลายความเป็นพลเรือนให้กับทหารใหม่ทุกคนที่ได้เข้ารับการฝึก งานวิทยานิพนธ์เรื่อง ทหารกับคน: บนเส้นทางการสร้างระเบียบวินัยและการต่อต้าน ของอิทธิพงษ์ ทองศรีเกตุ ได้ศึกษาถึงกระบวนการดังกล่าว โดยเขาเห็นว่าค่ายทหารเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งอำนาจได้เข้ามามีส่วนในการจัดการกับชีวิตของปัจเจกบุคคล โดยเครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือการลงทัณฑ์ผ่านการซ่อมและการสร้างความกลัว งานวิจัยชิ้นดังกล่าวเผยให้เห็นกระบวนการอันแยบยลของการใช้อำนาจในค่ายทหารตั้งแต่การกำหนดตารางกิจกรรมในแต่ละวันของทหารใหม่ ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กรอบและกติกาเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเคารพ เชื่อฟัง และการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าพลเรือนที่เข้ามาในค่ายทหารแต่ละคนจะมี ฐานะทางสังคมแตกต่างหรือมีความหลากหลายเพียงใด แต่เมื่ออยู่ในค่ายทหารทุกคนถูกจัดอยู่ในสถานะใหม่คือ 'พลทหาร' หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างในทางลบว่า 'ไอ้เณร' ซึ่งเป็นสถานะที่ต่ำที่สุดในกรมกอง
ทั้งนี้ นอกจากการฝึกร่างกายให้มีความพร้อมและเหมาะสมสำหรับการเป็นทหารในช่วง 10 สัปดาห์แรกของการฝึกแล้ว สิ่งที่มีการปลูกฝังอยู่ตลอดเวลาคือการสอนให้มีวิธีคิดในแบบของทหาร โดยในแต่ละคืนหลังจากเสร็จกิจวัตรประจำวัน ทหารใหม่ทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรม มีการสอนเรื่องระเบียบวินัย ความสามัคคี และความรักชาติ ประกอบกับการดูวิดีโอ รูปภาพ และฟังเพลงปลุกกำลังใจในการเป็นทหาร ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงเกี่ยวกับความเป็นชาติ ความรักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงภัยที่เป็นเป็นอันตรายต่อสังคม เช่น การก่อการร้าย ภัยยาเสพติดการ รวมทั้งปลูกฝังความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์การเสียดินแดน กล่าวได้ว่างานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้เผยให้เห็นทั้งการควบคุมในแง่ของเรือนร่างและมีการสร้างความรู้ชุดใหม่บรรจุเข้าไปในการรับรู้ เพื่อสร้างให้ปัจเจกบุคคลกลายเป็นทหาร หรือเรียกได้ว่ายอมรับในสถานะของการเป็นทหารเกณฑ์ โดยการอาศัยเทคนิคการบังคับ ในสภาวะเงื่อนไขที่บีบให้จำยอม ซึ่งที่สุดแล้วได้ทำให้ผู้ที่เข้าไปอยู่ในสถานะนั้นกลายเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งที่พร้อมจะปฏิบัติความคำสั่ง
4 สิ่งที่ชวนตั้งคำถามต่อไปจากงานของอิทธิพงษ์คือ หากค่ายทหารหรือการฝึกทหารเกณฑ์คือการหล่อหลอมบุคคลให้กลายเป็นวัตถุที่พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว ในกรณีที่ผู้ที่เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์หรือรับการฝึกทหารเกณฑ์เป็นผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านระบบเกณฑ์ทหารตั้งแต่ต้น ทั้งยังปฏิเสธระบบอำนาจนิยม หรือเผด็จการ การจัดการของผู้ฝึกจะมีวิธีการอย่างไร และในฐานะของบุคคลที่ถูกเกณฑ์เข้าไปนั้นจะมีวิธีการปรับตัวอย่างไร หรือต่อรองกำอำนาจที่กดทับเขาอย่างไรเพื่อที่จะอยู่รอดได้ภายใต้ระบอบระเบียบที่เขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ 1 อดีตทหารเกณฑ์ของกองทัพบกและอีก 1 ทหารเกณฑ์สังกัดกองทัพเรือถึงเรื่องราวดังกล่าว สาม (นามสมมติ) ปัจจุบันอายุ 28 ปี เข้ารับการตรวจคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2558 เขาผ่านการตรวจร่างกายโดยแพทย์ทหารพบว่าร่างการสมบูรณ์ จัดอยู่ในเกณฑ์ดี 1 ประเภท 1 คือบุคคลที่มีร่างกายและจิตใจปกติ โดยคนในกลุ่มนี้จะได้จับฉลากคัดเลือกเป็นกลุ่มแรก และเมื่อถึงเวลาที่ต้องวัดดวงระหว่างใบดำกับใบแดง ผลที่เขาได้รับจากการยื่นมือไปควานหาอนาคตคือ ทบ.ผลัดที่ 2 สังกัดค่ายทหารแห่งหนึ่งในภาคกลาง ก่อนหน้านี้ หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ไม่นานนัก สามพบว่าตนเองมีชื่ออยู่ในรายชื่อที่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานเฝ้าติดตามอยู่ เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและมักร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ประสบปัญหาผลกระทบจากการรัฐประหาร ผ่านไปได้เพียงปีกว่า 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 เป็นวันแรกที่ สามจะต้องเปลี่ยนสถานะจากพลเรือนผู้ต่อต้านการทำรัฐประหาร สู่การเป็นพลทหารอย่างเต็มตัว
เขาให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในตอนแรกเขาตกสังกัดอยู่ที่กองพันบริการ แต่เนื่องจากกองพันทหารม้าขาดกำลังพลสำหรับการฝึกซ่อม รายชื่อเขาจึงถูกส่งเข้าไปฝึกร่วมกับกองพันดังกล่าวตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ของการฝึกทหารใหม่ เขาเล่าต่อไปว่ากิจกรรมในแต่ละวันส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่การฝึกร่างกาย ส่วนในช่วงกลางคืนจะเป็นการอบรมเรื่องต่างๆ ตามแบบของทหาร ส่วนกิจกรรมในวันอื่นๆ ที่มีเพิ่มเติมเข้ามาหลังจากผ่านการฝึกไปแล้วสองสัปดาห์คือการเปิดให้เยี่ยมญาติทุกวันอาทิตย์ สำหรับวันที่เป็นวันหยุดฝึก ส่วนใหญ่ทางกองพันที่เขาสังกัดอยู่จะพยายามไม่ทำให้พลทหารได้มีเวลาว่าง โดยมักจะนำทหารเกณฑ์ไปลอกคูคลองอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อถามถึงเรื่องของการซ้อมพลทหารภายในค่าย สามเล่าว่า ปีที่เขาเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์นั้นถือว่าโชคดี ที่มีข่าวพลทหารถูกซ้อมจนเสียชีวิตเป็นข่าวดังขึ้นมา ทำให้ปีนั้นกองทัพมีนโยบาย ห้ามซ้อมพลทหารเด็ดขาด ห้ามแตะเนื้อต้องตัวพลทหาร ถ้าจะซ่อมก็ให้ทำได้เพียงสั่งให้ออกกำลังกายเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีนโยบายตรงนี้ลงมาที่ค่ายที่เขาสังกัด แต่เขาก็ยังคงเห็นครูฝึกทหารใหม่ทำร้ายร่างกายทหารเกณฑ์อยู่บ้าง เช่น การเตะ การถีบ และตบ แต่จะทำในที่ลับตาคน ซึ่งส่วนมากคนที่โดนกระทำในลักษณะดังกล่าวจะเป็นทหารเกณฑ์ช่วงวัยรุ่น อายุราว 20 ต้นๆ ที่ไม่ยอมทำตามคำสั่ง เมื่อถามต่อไปว่า การที่เคยทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร หรือแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือไม่ยอมรับในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมนั้นมีผลต่อการฝึกหรือชีวิตความเป็นอยู่ในค่ายทหารหรือไม่ สามเล่าว่า อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องพอสมควร เนื่องจากภายหลังการฝึก 10 สัปดาห์เสร็จสิ้นแล้ว ทหารทุกคนจะได้พักและกลับบ้าน 10 วัน โดยปกติในช่วงเวลานี้ใครที่พอมีเส้นสายอยู่บ้างก็จะสามารถออกจากค่ายทหารก่อนกำหนดครบผลัดได้ โดยยกเงินเดือนให้กับผู้บังคับบัญชา แต่จะต้องกลับมาเซ็นต์ชื่อเดือนละครั้ง เขาเองก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้เขาได้ขอให้ลุงติดต่อกับผู้ใหญ่ในค่ายที่สังกัด แต่เมื่อถึงเวลาเข้าไปพูดคุยกับผู้กอง กลับได้รับคำตอบว่า ปีนี้ผู้พันไม่มีนโยบายปล่อยก่อน อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่เขาไม่ได้รับการปล่อยก่อน แต่กลับมีเพื่อนทหารเกณฑ์ทั้งในกองพันเดียวกันและคนละกองพันได้รับการปล่อยให้กลับบ้านได้ สามเชื่อว่านี่อาจเป็นเพราะทางค่ายที่เขาสังกัดอยู่รู้ว่าเขาเคยทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหาร สาม เล่าต่อไปว่าหลังจากที่ไม่สามารถออกจากค่ายทหารก่อนครบกำหนดได้ เมื่อกลับมาที่ค่ายทหารอีกครั้งก็พบว่า ยังไม่รู้ว่าจะถูกจับไปอยู่หน่วยไหนหลังจากฝึกเสร็จ วันแรกเขาถูกส่งให้เป็นอยู่ที่ตึก บก.พัน หนึ่งคืน แต่เช้าวันถัดมาเขาถูกส่งให้เป็นอยู่อย่างเอกเทศในสถานที่ที่มีนายทหารยศจ่าดูแลเพียง 1 คน และมีเพื่อนทหารเกณฑ์เพียง 1 คน เท่านั้นที่อยู่ด้วย งานที่เขารับมอบหมายให้ทำภายในระยะเวลาที่เหลืออีก 10 เดือน คือการเฝ้าสระว่ายน้ำของค่ายทหารแห่งนั้น
แม้จะดูเหมือนเป็นงานที่สบายที่สุดสำหรับชีวิตทหารเกณฑ์ แต่เมื่อช่างตวงวัดดูแล้ว สามเห็นว่าการเป็นทหารเกณฑ์แม้จะไม่ได้ทำให้ตัวตนของเขาเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ไม่เห็นด้วยกับระบบการเกณฑ์ทหาร หลังจากออกจากค่ายทหารมาก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้าม แต่การเป็นทหารเกณฑ์สำหรับเขาคือการเสียโอกาสที่จะได้ทำอะไรตามที่ตัวเองต้องการจะทำจริงๆ ชีวิตหนึ่งปีที่เสียไปเขาพยามมองว่ามันเป็นบททดสอบหนึ่งที่จะต้องผ่านมันไปให้ได้ แม้จะไม่เต็มใจที่จะยอมรับบททดสอบนี้เท่าไหร่นักก็ตาม
5 ในส่วนเรื่องทางฝากฝั่งทหารเรือ แม็ค (นามสมมติ) ปัจจุบันอายุ 26 ปี เป็นรุ่นน้องกลุ่มเดียวกันกับ สาม เขาเพิ่งเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์สังกัดกองทัพเรือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และปัจจุบันยังคงประจำการอยู่ที่ค่ายทหารเรือแห่งหนึ่ง ทั้งนี้เรื่องราวของเขาแตกต่างออกไปจากสาม เนื่องจากไม่มีใครรู้มาก่อนว่าเขาเคยทำกิจกรรมอะไรก่อนหน้านี้ ในเรื่องการฝึกของทหารเรือนั้น ในทุกๆ ปีทหารใหม่ทุกคนจะต้องมาฝึกรวมกันที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ที่สัตหีบ ก่อนจะแยกย้ายกันไปตามหน่วย กรม กอง ที่ตนเองได้สังกัด แม็คเล่าว่าการฝึกของทหารเรือจะไม่หนักเท่ากับทหารบก แต่ก็ยังเป็นเรื่องปกติที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างไม่ต้องสงสัยหรือตั้งคำถาม การฝึกจะแบ่งออกเป็นสองช่วงโดยช่วงแรกจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นทหาร เช่น การฝึกท่าบุคคลต่างๆ ส่วนช่วงที่สองจะเป็นการเตรียมร่างกายสำหรับการเป็นทหาร ซึ่งจะมีการออกกำลังกายที่หนักขึ้น แต่ถือว่ายังเบากว่าทหารบก หลังจากฝึกเสร็จเขาได้ไปประจำการอยู่ที่ฐานทัพเรือแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นเขาไม่ได้รับการฝึกอีกแล้ว แต่จะเป็นการเข้าสู่สภาวะของการทำงานอย่างจริงจัง ช่วงแรกเขาถูกส่งให้ไปอยู่หน่วยโยธา แต่ด้วยความที่เขาไม่มีความถนัดด้านช่าง หน้าที่ของเขาจึงมีเพียงแค่การแบกหาม ต่อมาไม่นานนักเขาถูกย้ายไปอยู่ในกองกิจการพิเศษ สถานที่ทำงานของเขาคือโรงครัว แม็คบอกว่า แม้งานทำครัวจะเหมือนเป็นงานเบา แต่เขาต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อทำงานแล้วเลิกงานในเวลา 5 โมงเย็นทุกวัน เพราะต้องทำกับข้าวเลี้ยงกำลังพลทั้งฐานทัพเรือ และบางครั้งจะต้องทำให้งานเลี้ยงของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ด้วย จากนั้นเขาก็ถูกย้ายอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้มาอยู่หน่วยบริการ งานที่เขาต้องทำคือการทำทุกอย่างตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง เช่น ออกไปขุดลอกคูคลอง ลอกท่อระบายน้ำ เสิร์ฟอาหารในงานเลี้ยงของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ถ่ายภาพการทำกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพเรือ เพื่อที่จะนำภาพไปเป็นผลงานของกองทัพเรือ
แม้จะดูไม่มีเรื่องให้เดือดเนื้อร้อนใจเท่าไหร่นักสำหรับการเป็นทหารเรือ แต่สิ่งหนึ่งที่แม็ครู้สึกคือ แม้ตัวตนความคิดของเขาจะไม่เปลี่ยนไป แต่ด้วยสภาพบังคับ เขาไม่สามารถมีชีวิตในแบบเดิมได้ จากที่เคยสนใจปัญหาบ้านเมือง ปัจจุบันสิ่งที่ต้องสนใจเป็นอย่างแรกคือ ชีวิตของตัวเอง จะทำอย่างไรให้รอดไปได้ในแต่ละวัน จะทำอย่างไรให้งานเสร็จ จะทำอย่างไรไม่ให้โดนซ่อม
6 หากดูจากกิจกรรมชีวิต และภาระงานของเหล่าทหารเกณฑ์ สิ่งหนึ่งที่ชวนตั้งคำถามต่อไปคือ คุ้มค่าหรือไม่ที่คนหนุ่มเรือนแสนคนจะต้องเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 พงศธร อดีตทหารเกณฑ์รายหนึ่งได้โพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คส่วนตัวหลังจากปลดประจำการได้เพียงหนึ่งวัน และหลังจากเขาได้เขียนแสดงความคิดเห็นไปได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเขา แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ทหารชั้นผู้ใหญ่ในค่ายที่เขาเคยสังกัดได้โทรมาหาครอบครัวเขา และขอเชิญเขาเข้าไปพูดคุยเพื่อขอความร่วมมือในปิดโพสต์ดังกล่าว เขาเห็นว่า ระยะเวลาที่เสียไป 1 ปี เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกถึงการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และเป็นช่วงที่เสียเวลามากที่สุดในชีวิต ประสบการณ์ต่างๆ ในค่ายทหารเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นที่ต้องมาเผชิญ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมาฝึกระเบียบวินัยในค่ายทหาร เพราะในสถานะของพลเรือนก็สามารถสร้างระเบียบวินัยให้กับตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับย่ำยี
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาปิดการเข้าถึงโพสต์ดังกล่าว เขาย้ำอีกครั้งในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ข้อความที่ได้ปิดไปนั้นยังเป็นความรู้สึกและความคิดที่เห็นเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยอย่างมากที่สุดคือ ตัวระบบการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากเกิดขึ้นจากการบังคับในนามของกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความสามารถทางด้านอื่นๆ ที่ทำให้เขาไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ รวมทั้งการละเลยข้อจำกัดทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่การบังคับการเกณฑ์ทหารแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ และทำลายโอกาสทั้งของประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก
ประเด็นเรื่องความไม่คุ้มค่าของการเป็นทหารเกณฑ์ ได้รับการยืนยันอีกครั้งจากจาก สาม และ แม็ค ซึ่งเผยให้เห็นการวางแผนชีวิตหลังจากเรียนจบซึ่งแต่ละคนวางที่ทางที่ต้องการจะเดินไป แต่สุดท้ายเส้นทางชีวิตของพวกเขากลับถูกลิขิตด้วย "ใบแดง" สาม ให้ข้อมูลว่า หลังจากเรียนจบได้ไม่นานเขาได้ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานอยู่กับประเด็นปัญหาข้อพิพาทระหว่าง รัฐ ทุน และชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน แม้งานที่เขาทำจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงนัก แต่เขาเลือกที่จะทำมันเพราะเห็นว่า งานเหล่านนั้นคือชีวิต
เช่นเดียวกันกับ แม็ค ซึ่งวางแผนชีวิตหลังจากเรียนจบว่าจะสอบข้าราชการ หรือไม่ก็สอบตั๋วทนายความ เพื่อที่จะมีอาชีพการงานที่มั่นคง และได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ แต่ยังไม่ได้จะได้เตรียมตัวสอบ ใบแดง ก็พาเขาเข้ามาเป็นทหารบริการภายใต้สังกัดกองทัพเรือ 7 สำหรับเรื่องของงบประมาณรายจ่ายที่รัฐต้องสูญเสียกับการเกณฑ์ทหาร หากคำนวนจำเงินเดือนที่รัฐต้องจ่ายให้กับทหารเกณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีเงินเดือนให้ 10,000 บาทต่อเดือนต่อคน คำนวนจากยอดทหารเกณฑ์ปีล่าสุดซึ่งมีจำนวนทั้งสิน 103,097 นาย จำนวนเงินที่รัฐจะต้องจ่ายจะเท่ากับ 1,030,970,000 ต่อเดือน หากคิดเป็นรายปีเท่ากับ 12,371,640,000 ต่อปี นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการเรียกเกณฑ์ทหาร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ กองสัสดี คือ -ค่าใช้จ่าสำหรับคณะกรรมการตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วยเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทน -ค่าใช้จ่ายสำหรับการปฐมนิเทศการตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วยเบี่ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าอาหาร ค่าวัสดุ และค่าจัดสถานที่ -ค่าใช้จ่ายในการสังเกตการณ์ตรวจคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ -ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกองอำนวยการประสานงานตรวจคัดเลือกฯ -ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงสถานที่สำหรับการตรวจคัดเลือกฯ -ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบัญชีเรืยกคัดเลือก และการรับรองผลการตรวจคัดเลือก -ค่าใช้จ่ายสำหรับการนำทหารใหม่ส่งเข้ากรมกอง -ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ช่วยคณะกรรมการตรวจคัดเลือกฯ ซึ่งประกอบด้วย ค่าพาหนะเดินทาง และค่าอาหาร จากการค้นหาข้อมูล พบว่า ในปี 2558 มีการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ ยกเว้นค่าใช้จ่ายสำหรับการนำทหารใหม่ส่งเข้ากรมกอง ทั้งหมดจำนวน 66,444,367 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการนำทหารใหม่ส่งเข้ากรมกองในผลัดที่ 1 ปี พ.ศ. 2558 จำนวน 15,217,618 บาท ซึ่งรวมแล้วเท่ากับว่าในปี 2558 มีการใช้งบประมาณของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเกณฑ์ทหารประมาณ 82 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินเดือนที่รัฐจ่ายให้กับทหารเกณฑ์แล้วคือ 1.24 หมื่นล้านบาทต่อปี ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตกับการเกณฑ์ทหารว่า รัฐและประชาชนอาจจะเสียโอกาสสำหรับการนำงบประมาณจำนวนมากมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น หากนำมาเพิ่มให้กับงบประมาณของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราความต้องการทหารกองประจำการลงก็จะสามารถนำเอาค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นมาใช้ในส่วนที่จำเป็นมากกว่าได้ ขณะเดียวเขามองว่า การเกณฑ์คนเข้าไปเป็นทหารปีหนึ่งราวแสนคน ย่อมส่งผลกระทบกับตัวบุคคลที่จะสามารถมีโอกาสในการทำงานอื่น และสร้างมูลค่าที่มากกว่าการเป็นทหารเกณฑ์ได้ สำหรับความคุ้มค่าในเชิงบุคคล หากลองคำนวนดูด้วยตัวเลขที่ต่ำที่สุดคือคิดจากฐานค่าแรงขึ้นต่ำวันละ 300 บาท เท่ากับว่าคนหนึ่งจะมีเงินเดือน 9,000 บาท แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ซึ่งได้มีการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 บาทแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วทหารเกณฑ์หลายรายเผยว่าไม่เคยได้รับเงินเต็มจำนวน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ถูกหักไป โดยเงินได้รับจากการเกณฑ์ทหารประกอบด้วยเงินสามส่วนคือ เงินเบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาทต่อวันซึ่งเงินในส่วนนี้จะถูกหักเป็นค่าประกอบอาหารในแต่ละวันซึ่งขึ้นอยู่กับกองร้อย กองพันที่สังกัดว่าจะหักงบส่วนนี้เป็นค่าอาหารจำนวนเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือเป็นเงินเดือน และเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ทั้งนี้นอกจากการหักค่าเบี้ยเลี้ยงที่จัดไปเป็นค่าอาหารแล้ว ค่าชุด ค่ารองเท้า ค่าเครื่องแบบ ทหารใหม่ทุกคนจะต้องถูกหักจากเงินเดือนด้วย ทำให้ในช่วงสองเดือนแรกรายได้จากการเป็นทหารเกณฑ์จะเหลืออยู่แค่ 3,000-5,000 เท่านั้น แน่นอนว่าย่อมแตกต่างกับการทำงานอยู่นอกค่ายทหารซึ่งอาจจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนมากกว่า ทั้งยังสามารถหาอาชีพเสริมได้และที่สำคัญที่สุดตัวเลข 9,000 บาทเป็นการคิดจากฐานที่ต่ำที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจมีหลายคนที่มีโอกาสได้รับเงินเดือนมากกว่านั้น ษัษฐรัมย์ ให้ความเห็นว่า การที่คนหนึ่งคนได้ทำงานในฐานะทหารเกณฑ์กับการได้ทำงานในระบบแรงงานทั่วไป มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มมากที่สุด ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วจะสร้างให้คนเข้าไปในภาคเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือกำไรได้มากกว่าที่จะลงทุนโดยไม่มีมูลค่าเพิ่ม
เช่นเดียวกันกับ กานดา นาคน้อย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเน็คทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ความเห็นว่า การเกณฑ์ทหารโดยการบังคับเป็นการดึงแรงงานออกไปจากระบบการผลิต ซึ่งจะทำให้ประเทศมีรายได้ลดลงจากที่ควรจะเป็น และเป็นการเพิ่มภาระให้แรงงานคนอื่นๆ ที่อยู่นอกกองทัพซึ่งเป็นผู้เสียภาษี
ขณะที่สรุชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว TCIJ ไว้ว่า การเกณฑ์ทหารที่เป็นอยู่อาจจะไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกองทัพสมัยใหม่ และยังสร้างปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เพราะสุดท้ายแล้วอาจมีแต่ลูกหลานของคนจนที่เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ ขณะที่คนชั้นกลาง หรือลูกหลานคนรวย นอกจากนี้ เขายังตั้งคำถามต้องไปด้วยว่าเพราะเหตุใดกองทัพจึงต้องการกำลังคนจำนวนมาก ในขณะที่ทั่วโลกหลังสงครามเย็นได้มีปรับลดกองกำลังทหารลง และหันมาเพิ่มศักยภาพของกองทัพโดยการเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแทน เพื่อทำให้สอดรับกับโจทย์ความมั่นคงรูปแบบใหม่ แต่กองทัพไทยยังคงคิดสร้างกองกำลังอยู่ภายใต้โจทย์ความมั่นคงแบบเก่า สำหรับข้อเสนอ กานดาเสนอว่า ประเทศไทยควรที่จะยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันอัตรากำลังพลของกองทัพต่อประชากรของไทยก็สูงกว่าอัตรากำลังพลของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางการทหาร แต่สหรัฐฯ ยกเลิกทหารเกณฑ์ไปเกิน 40 ปีแล้ว หันมาใช้ทุนการศึกษาและสวัสดิการดึงดูดให้คนอายุน้อยรับราชการทหารและใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มศักยภาพของกำลังพล เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ร้อง ผู้ตรวจฯ ชงศาล รธน.พิจารณา พ.ร.บ.หอพัก เหตุห้ามผู้เช่าอายุเกิน 25 ปี เข้าอยู่ Posted: 10 Nov 2017 03:38 AM PST ปริญญา พร้อมตัวแทนผู้ประกอบกิจการหอพัก ร้อง กทม.- ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา พ.ร.บ.หอพัก ระบุทำเดือดร้อน ติดข้อกำหนดอายุห้ามเกิน 25 ปี และระดับการศึกษา ทำให้ผู้เช่าลดลงเหลือแค่ 60% 10 พ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (9 พ.ย.60) ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนผู้ประกอบกิจการหอพัก ผู้แทนนักศึกษา ผู้แทนมหาวิทยาลัยเอกชน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. 2558 มาตรา 4 และมาตรา 36 ที่กำหนดให้หอพักเอกชน หรือหอพักในมหาวิทยาลัยเอกชนรับผู้พักได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี และอายุไม่เกิน 25 ปี มีโทษปรับ 1 แสนบาท ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการ ผู้พักที่ศึกษาอยู่ระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี หรือศึกษาปริญญาตรี แต่อายุเกิน 25 ปี และมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, 27, 40 เรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจัดระเบียบอาชีพเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ และไม่ให้ความเท่าเทียมในการให้การศึกษาของระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐกับเอกชน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นเรื่องต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว แต่ได้รับเพียงการผ่อนผันยังไม่ได้รับการแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา ต่อมาวันนี้ (10 พ.ย.60) ปริญญา พร้อมด้วย ะผู้ประกอบการหอพักเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใชักฏหมายตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.58 เป็นต้นมา เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. ในประเด็นปัญหา คือ 1. ปัญหาข้อกฎหมายและผลกระทบที่เกิดจากการกำหนดให้หอพักเอกชน ต้องรับผู้พักเฉพาะผู้พักที่อยู่ในระดับการศึกษาที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี และอายุไม่เกิน 25 ปี ซึ่งทำให้หอพักไม่สามารถรับผู้พักที่ศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีและอายุเกิน 25 ปีได้ รวมถึงไม่อาจรับบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ทั้งที่มีอายุเกินหรือไม่เกิน 25 ปี เข้าพักได้ ทำให้ผู้เช่าลดลงเหลือพักได้แค่ร้อยละ 60 เท่านั้น 2.ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะกับหอพักเอกชนที่จดทะเบียน โดยไม่บังคับใช้กฎหมายเฉพาะกับหอพักที่ไม่จดทะเบียน จึงเสนอหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับหอพักอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน จึงได้หารือกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ประกอบการหอพักเอกชน ได้เดินทางไปร้องเรียนที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า สำหรับปัญหาข้อกฎหมายและผลกระทบที่เกิดจากการกำหนดให้หอพักเอกชนที่อยู่ในระดับการศึกษาไม่สูงกว่าปริญญาตรีและอายุไม่เกิน 25 ปี ตามมาตรา 4 และมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 นั้น กทม.ไม่สามารถผ่อนผันหรือละเว้นได้ เนื่องจาก กทม.มีความจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.ย.60 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบกิจการธุรกิจหอพัก โดยมีมติที่ประชุม เห็นควรปรับปรุงกฎหมาย มาตรา 4 และมาตรา 36 ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักจะดำเนินการตามขั้นของการแก้ไขกฎหมายต่อไป ส่วนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะกับหอพักเอกชนที่จดทะเบียนโดยไม่บังคับใช้กฎหมายกับหอพักที่ไม่จดทะเบียน ตามมาตรา 82 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.2558 นั้น กทม.ได้รับถ่ายโอนภารกิจเมื่อวันที่ 19 ส.ค.58 โดยมีหอพักทั้งสิ้น 986 แห่ง ที่จดทะเบียน จำนวน 426 แห่ง ไม่จดทะเบียน 560 แห่ง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นตรวจสอบหอพัก แต่ประสบปัญหาเรื่องการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้ได้รับการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วตามประกาศกระทรวงมหาดไทย จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานเขตดำเนินการตรวจสอบหอพักทุกแห่งในพื้นที่และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่มา : Voice TV และ เดลินิวส์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เกรด (ต้องไม่) เป็นทั้งหมดของชีวิต Posted: 10 Nov 2017 02:41 AM PST แลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษาระหว่างไทยและฝรั่งเศส ไทยแม้พยายามทำระบบโควตาให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่เกรดคือตัววัดคุณค่าและตัดสินการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ด้านฝรั่งเศสเน้นประเมินทักษะการใช้ชีวิต การเป็นพลเมืองตื่นตัว ฝึกเด็กโต้เถียงในห้องเรียน ข้อสอบส่วนใหญ่ให้เขียนแสดงความเห็น ถ้าเด็กไม่พอใจเกรดสามารถโต้แย้งกับครูได้ เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ที่ Warehouse 30 มีงานเสวนา "เกรดเปลี่ยนชีวิต" โดยมีวิทยากรคือ ทัศนวรรณ บรรจง จากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท (FES) และปราศรัย เจตสันติ์ ครูสังคมศึกษา รร.บางปะกอกวิทยาคม และผู้ดำเนินรายการคือโสภิดา วีรกุลเทวัญ นักเขียนอิสระ หลังเสวนามีการฉายภาพยนตร์สารคดี The Graduation ถ่ายทอดเหตุการณ์การสอบเข้าสุดโหดของโรงเรียนสอนภาพยนตร์ชื่อดังของฝรั่งเศส "La Fémis" โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล จัดโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center), Documentary Club และ Warehouse 30 จากซ้ายไปขวา ปราศรัย เจตสันติ์, ทัศนวรรณ บรรจง, โสภิดา วีรกุลเทวัญ ระบบการเรียนการสอนของประเทศฝรั่งเศสทัศนวรรณ บรรจง จากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท เล่าว่า เราเรียนที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ป.1 จนจบปริญญาโทเพราะครอบครัวไปอยู่ที่นู้น ตอนแรกที่เข้าเรียนพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เลย เขาให้ผ่านกระบวนการการเรียนภาษาก่อน ซึ่งเรียกว่า integration process ทำให้เราได้ปรับตัวเข้ากับระบบของการศึกษา การศึกษาของฝรั่งเศสมี 2 ช่วงหลักๆ คือ ป.1-ม.3 พอจบม.3 เด็กทั้งประเทศจะต้องเข้าสอบวิชาพื้นฐาน วิชาที่สำคัญคือประวัติศาสตร์ และอีกวิชาคือภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศส เพราะเราต้องเรียนภาษาอื่นเพิ่ม ถ้าสอบไม่ผ่านก็เลื่อนไปม.ปลายไม่ได้ ส่วนอีกช่วงคือหลังจบม. 6 ก็ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบเข้าโรงเรียนเฉพาะ ตั้งแต่จบ ม.3 เด็กสามารถเลือกโรงเรียนวิชาชีพ (vocational) ได้ พบจบแล้วสามารถเข้าไปอยู่ในตลาดแรงงานได้เลย หรือจะต่ออีก 2 ปี เรียนเฉพาะด้านหรือที่เรียกว่า technical university เช่น การเป็นผู้ช่วยหมอ ส่วนคนที่เรียนสายสามัญจบม.6 ไม่จำเป็นต้องสอบเข้า แต่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับเรา เพราะมันเป็นสิทธิของเราที่จะเข้าถึงการศึกษา และเรียนฟรี มีค่าใช้จ่ายนิดหน่อยเรื่องการลงทะเบียน เรียนฟรีจนถึงปริญญาเอก ยกเว้นพวกโรงเรียนใหญ่ๆ ดังๆ เช่น La Fémis ในหนังที่ผลิตคนในแวดวงหนัง หรือโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนศิลปะ พวกนี้ต้องสอบเข้าและสอบเข้ายากมาก ระบบการเรียนการสอนของประเทศไทยปราศรัย เจตสันติ์ ครูสังคมศึกษา รร.บางปะกอกวิทยาคม ให้ภาพระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันระบบการเข้ามหาวิทยาลัยของไทยคือระบบ TCAS โดยจำแนกการเข้ามหาวิทยาลัยหลักด้วยกัน 3 วิธี 1. การเข้าแบบโควตา ซึ่งแต่ก่อนมีอยู่แล้วแต่ปัจจุบันก็จะขยายมากขึ้นไปอีก 2. การสอบเข้าด้วยวิธีการปกติ ซึ่งใช้ข้อสอบส่วนกลาง ที่เราได้ยินชื่ออย่าง O-net หรือ 9 วิชาสามัญ 3. การสอบเข้าด้วยวิธีการรับตรง ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีข้อสอบของตัวเอง เป็นการเปิดรับซึ่งเป็นความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น การสอบรับตรงคณะรัฐศาสตร์ ข้อสอบก็จะมีความเกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งแยกออกจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ระบบที่ค่อนข้างแตกต่างในปัจจุบันคือระบบโควตา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อปีที่แล้ว แต่ก่อนเราอาจคุ้นเคยกับระบบโควตาแบบนักกีฬา นักดนตรี หรือนาฏศิลป์ แต่ปัจจุบันระบบโควตาขยายไปครอบคลุมเนื้อหาส่วนอื่นด้วย เช่น มหาวิทยาลัยจัดประกวดแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ในหลายโรงเรียน ทีมที่ได้รับรางวัล 1 2 3 ก็มีสิทธิได้เข้ามหาวิทยาลัยทั้งทีม ส่วนใหญ่จะเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการที่เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา เห็นได้ว่ามีการพยายามปรับตัวของการศึกษาไทยเหมือนกัน พยายามเปิดรับไอเดียจากต่างประเทศมากขึ้น ไม่จำกัดตัวเองแค่การสอบอย่างเดียว เกรดกับระบบการศึกษาไทยปราศรัยกล่าวว่า เกรดมีความสำคัญอยู่ แม้จะมีการขยายระบบโควตา แต่เด็กส่วนใหญ่ก็ยังเข้าระบบด้วยการสอบ และคะแนนส่วนหนึ่งก็ยังเป็นเกรด ระบบของเรามีวิธีการสอบเข้าด้วยหลากหลายคะแนน ผมจะไม่มองเฉพาะเกรด แต่ความหมายในเชิงเกรดจะหมายถึงการแข่งขันเชิงวิชาการทั้งหมดด้วยการใช้ข้อสอบ ถ้าตีความอย่างนี้นอกจากเกรดในโรงเรียนแล้ว การทำข้อสอบที่ใช้วัดเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันเหมือนกัน เด็กในทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ทำเกรดในโรงเรียนให้ดี แต่ต้องมีการทำข้อสอบให้ได้ด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาเราไม่ว่าจะผ่านวิธีการอะไรมามากมาย ทั้งการคิดการสร้างกระบวนการเรียนการสอน แต่พอปลายทางมาถึงคอขวดคือการสอบ แล้วขวดก็บีบเข้าไป เด็กทุกคนก็ต้องผ่านการทำข้อสอบไปให้ได้ บางโรงเรียนถึงกับไม่สนใจการเรียนการสอน แต่ติวตั้งแต่ม.4 ม.5 ม.6 เพื่อทำข้อสอบปากขวดนี้ให้ได้
เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เกรดจึงมีความหมายกับเด็กมากๆ ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐนอกจากเกรดจะส่งผลกับเด็ก เกรดยังส่งผลต่อครูและโรงเรียนด้วย หากโรงเรียนไหนมีเกรดของเด็กดีขึ้น ครูทั้งหมดจะได้รับอานิสงค์บางอย่าง เช่นเดียวกันผู้บริหาร จากการประเมินคุณภาพครู ผู้บริหาร และโรงเรียน เกรดกับระบบการศึกษาฝรั่งเศสทัศนวรรณกล่าวว่า ในการเรียนของฝรั่งเศสไม่มีโรงเรียนกวดวิชา ไม่มีการติว ถ้าเลิกเรียนก็คือเลิกเรียน ปิดเทอมก็คือปิดเทอม เพราะถ้าครูดีจริงเราก็ไม่ต้องมีการติวเพิ่ม
เธออธิบายว่า ปรัชญาการศึกษาของฝรั่งเศสมี 4 หลักการ คือ 1. ระบบการศึกษาฝรั่งเศสต้องอยู่บนพื้นฐานของความคิดความเชื่อเรื่องสาธารณะ เราแชร์อะไรกัน ภาษา หลักการการปกครองเพื่อประชาชน โดยประชาชน 2. ไม่ให้ศาสนามายุ่งเกี่ยวกับการศึกษา ในโรงเรียนจะสอนศานาแต่ในเชิงหลักการหรือประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แต่ไม่ได้สอนว่าตอนเช้าต้องไปนั่งทำสมาธิ เนื่องจากสังคมมีความหลากหลาย ถ้าเราเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งมามันก็ไม่เท่าเทียมกันแล้ว 3. เรื่องประชาธิปไตย 4. เรื่องความเท่าเทียมในสังคม "ถ้าเรามีปรัชญาพื้นฐานแบบนี้เราก็ต้องออกแบบเกรดเพื่อให้เด็กโตมาเป็นพลเมืองตามหลักการพื้นฐานแบบนี้ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีปัญหากับเกรดของไทย ทำไมเด็กต้องติว แล้วสุดท้ายได้เกรดดีออกมาแล้วยังไงต่อ ความรู้ทักษะชีวิต ความรู้ด้านอื่นๆ เกรดทำให้คุณดำเนินชีวิต หรือให้คุณสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ยังไง" ทัศนวรรณตั้งคำถาม เธอเล่าต่อว่า ที่ฝรั่งเศสก็มีเกรด แต่เกรดไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเรามีคุณค่าหรือไม่ คุณค่าเราไม่ได้ขึ้นกับเกรด แต่การประเมินของครูจะเกี่ยวกับเรื่องว่าเด็กคนนี้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี เข้าใจเรื่องสังคม มีทักษะในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้เด็กยังสามารถตั้งคำถามกับเกรดของตัวเองได้ ว่าทำไมฉันได้เท่านี้ มีระบบที่ตั้งมาไม่นานในปี 2013 ทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมด พ่อแม่เด็กก็สามารถเข้าไปดูเกรดได้ ถ้าเขามีคำถาม คิดว่าไม่ควรได้แบบนี้ สามารถไปหาครูได้ เรียกร้องได้ ทัศนวรรณยกตัวอย่างเพิ่มเติมที่เยอรมัน การประเมินเกรดในโรงเรียนหนึ่ง เขาประเมินเสร็จแล้วเขาเอาเกรดมานั่งคุยกับเด็กทีละคน ถามว่าคุณโอเคไหม แล้วเขาก็อธิบายด้วยว่าข้อสอบคุณข้อนี้ผิดนะ หรือถ้าครูมีมุมมองการให้คะแนนแบบหนึ่ง แล้วเด็กเข้าไปอธิบายมุมมองของตัวเองอีกรอบ ครูก็อาจจะยอมรับและอาจเปลี่ยนเกรดก็ได้ เกรดทำให้ชีวิตนักเรียนไทยเป็นยังไง?ปราศรัยอธิบายว่า เกรดเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผล ซึ่งการประเมินผลและวัดคุณค่าของเด็กว่าเขาเรียนรู้แล้วได้อะไรบ้าง จุดประสงค์แรกคือการติดตามว่าเขามีพัฒนาการอย่างไรในการเรียนรู้ เขาเข้าใจมากขึ้นรึเปล่า เขายังติดปัญหาอะไรไหม และอีกจุดประสงค์คือใช้ในการตัดสินว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ปัจจุบันเราให้ค่ากับจุดประสงค์แรกลดลงไปเยอะมาก แต่ให้คุณค่ากับการตัดสินว่าเด็กอยู่ในขั้นไหน เราพยายามจะจัดคลาสเด็กว่าเด็กอยู่ในส่วนไหนของชั้น ของสังคม ความจริงหัวใจของเกรดมันถูกสร้างขึ้นมาให้เด็กเขารู้ตัวเองว่าเขาถนัดวิชานี้หรือไม่ มีทักษะตรงนี้หรือไม่ ทำให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเขาจะไปไหนต่อ
แล้วการประเมินของฝรั่งเศสล่ะ?ทัศนวรรณกล่าวว่า หลังจากม.3 เราก็จะพยายามดูว่าเด็กสนใจอะไร เหมาะกับสายสามัญหรืออาชีพ ดูว่าเด็กคนนี้ถนัดอะไร จะมีการเน้น 3 แบบ คือ literature เน้นเรียนปรัชญา วรรณกรรม ภาษา แบบที่ 2 คือ economic and science และแบบที่ 3 คือ scientific เน้นเรียนความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ การประเมินของฝรั่งเศสคือการตั้งคำถาม และให้เด็กเรียนรู้วิธีการ argument ตั้งแต่เด็กๆ มีวิธีการตอบคำถามแบบมีเหตุผล Thesis, antithesis, synthesis เราต้องทำให้ได้ นี่คือวิธีการวัดประเมินของเขาส่วนมาก - Thesis คือ ทฤษฎี หรือองค์ความรู้หลักที่ใช้เป็นฐานในการพิสูจน์ - Antithesis คือขั้นตอนการสรุปผลที่ได้ว่าขัดแย้งหรือสอดคล้องกับทฤษฎี (หากเป็นการตรวจสอบทฤษฎีจะได้ผลยืนยันทฤษฎี) ต้องกล้าคิดตอบโต้ไว้ก่อน - Synthesis คือขั้นตอนการสังเคราะห์ วิเคราะห์ คิดและตีความ
เธอเล่าว่า ตอนม.6 เหมือนการสอบโอเน็ตในไทย แต่ทุกวิชาจะมีเวลา 4 ชั่วโมงในการเขียน argumentation ซึ่งทำให้ครูต้องมีวิธีการสอนอีกแบบในห้องเรียน ไม่ได้สอนท่องจำเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนมากจะสอนให้เด็กถกเถียง สร้างเหตุผลของตัวเองขึ้นมาได้ รู้ว่าทำไมตัวเองคิดแบบนี้ รู้ว่าทำไมเราไม่เห็นด้วยกับคนอื่น และฟังคนอื่นว่าทำไมเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรา การให้เกรดแบบนี้ ประเมินผลแบบนี้มันส่งผลต่อวิธีการที่เราเรียน เราต้องสอนให้เขามีทักษะในการไปตอบคำถามพวกนี้ให้ได้ ในขณะที่ไทยเป็นปรนัยส่วนมาก แล้วก็ไม่ถามในเปเปอร์ด้วยว่าทำไมคุณตอบแบบนี้ ขณะที่ปราศรัยอธิบายถึงแนวคิดการเป็นปรนัยของไทยว่า ส่วนหนึ่งเพราะระบบการศึกษาไทย แต่ละห้องเรียนมีนักเรียนเยอะมากประมาณ 50 คน การใช้วิธีให้เด็กสอบแบบเขียน essay ก็ต้องใช้เวลาในการตรวจนานมาก และระบบครูของไทย ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐจะเห็นชัด คือ มันไม่เอื้อให้ครูใช้เวลากับห้องเรียนเยอะ มันจะมีงานอื่นๆ ในโรงเรียนที่พรากเวลาครูไป เพราะฉะนั้นครูไม่มีเวลามานั่งตรวจงานอ่าน essay เด็กทีละหน้า ทั้งที่จริงๆ มันควรเป็นงานหลักของครู เพราะการที่เด็กเขียนแล้วเราตอบกลับไปมันคือช่องทางเดียวที่เราจะสื่อสารกับเด็กได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเปิดเผยให้เพื่อนรับรู้ เราสามารถวิจารณ์เขาได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งช่องทางมันมีน้อย การออกแบบโครงสร้างการศึกษาที่คุมเนื้อหาจนครูต้องกังวลว่าจะสอนไม่ครบหลักสูตรปราศรัยได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยว่า เป็นการควบคุมโครงสร้างในเชิงของรัฐ รัฐจะควบคุมทั้งหมดว่ามีความรู้ 7-8 ก้อน ต้องเรียนอะไรบ้าง การคุมเนื้อหาเช่นนี้ ทำให้ครูทุกคนที่ต้องออกแบบการสอนต่อจากโครงสร้าง ต้องมานั่งพะวงกับเนื้อหาวิชาพวกนี้ ว่าจะสอนทันไหม แต่สิ่งที่ออสเตรเลียทำคือการวัดในเชิงความสามารถของเด็ก ว่าเด็กมีทักษะเช่นนั้นรึเปล่า มีทัศนคติเช่นนั้นรึเปล่า สื่อสารได้ แก้ปัญหาได้ รู้จักการการวิเคราะห์และถกเถียง ถ้ามีเช่นนี้แล้วรัฐถือว่าโอเคแล้ว ส่วนวิชาแต่ละวิชาแต่ละโรงเรียนจะสอนยังไง คุณปรับเอาได้เลย ดังนั้นครูก็จะเปิดกว้าง ไม่ต้องกลัวว่าจะสอนไม่ครบตามหลักสูตร ทัศนวรรณเสริมว่า เช่นเดียวกัน ฝรั่งเศสก็เป็นแบบนี้ จะวัดในเชิงสมรรถนะเป็น 7 หมวด ไม่ได้วัดเชิงความรู้หรือเนื้อหาในส่วนมาก อย่างสมรรถนะ digital intelligent เป็นสมรรถนะหนึ่งที่สำคัญมากในหลักสูตรของฝรั่งเศส เน้นเรื่องการตระหนักเท่าทันสื่อ เน้นการนำสื่อมาสร้างเป็นโปรเจคท์ของตัวเองได้ ความสัมพันธ์ของครูนักเรียนปราศรัยอธิบายว่า ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของครู และวัฒนธรรมของโรงเรียน ถ้าเป็นโรงเรียนชั้นนำ ชื่อเสียงเยอะ ประวัติยาว ก็จะมีการทรีตเด็กแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีพื้นฐานมาจากวัด จากในชุมชน ก็จะอีกแบบหนึ่ง สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ทุกวันนี้เด็กเป็นเจน Z เขาใช้โซเชียลมีเดียเป็น เขารับรู้ข้อมูลข่าวสาร สำคัญคือระบบการศึกษาเตรียมที่จะรองรับพวกเขารึยัง ถ้าระบบยังเป็นแบบเดิม มันก็จะขัดแย้งกับตัวเด็ก ทัศนวรรณกล่าวว่า ถ้าพูดถึงความสัมพันธ์ของครูกับเด็ก ต้องคำนึงว่า แล้วครูมาทำอาชีพครูเพื่ออะไร เราก็เคยเจอครูที่เขาแก่แล้ว หมดไฟ และสอนไปเพื่อให้มันหมดคาบ แต่เราก็เจอครูที่ให้แรงบันดาลใจ ครูประเภทนี้ก็จะเป็นครูที่มุ่งมั่นในการสอน มีอุดมการณ์ เขาอยากเปลี่ยนสังคม และเขารู้ว่าการศึกษาช่วยเปลี่ยนสังคมได้ ถ้าเจอครูแบบนี้ปฏิสัมพันธ์กับครูก็จะเป็นว่า เขาให้ความสำคัญกับความรู้ของเรามากกว่าเกรดของเรา เข้าเน็ตมากขึ้น เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น?ปราศรัยกล่าวว่า ศูนย์กลางความรู้มันต่างจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนครูคือศูนย์กลางความรู้ เพราะไม่อาจหาความรู้จากที่อื่นได้ ถ้าครูพูดเด็กก็ต้องรีบจด ปัจจุบันความรู้มันกระจายไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น เพราะฉะนั้นเด็กหลายคนอ่านและเรียนรู้เรื่องราวบางอย่างก่อนเข้าชั้นเรียนด้วยซ้ำ หน้าที่ครูจึงไม่ใช่ผู้ให้ความรู้ เพราะเด็กบางคนรับรู้เรื่องราวในอีกแบบด้วยซ้ำไป ห้องเรียนที่ครูปรับตัวได้เขาจะใช้โอกาสนี้ชื่อมโยงความรู้จากโลกในชีวิตจริงเข้ามาสู่ห้องเรียนให้มากขึ้น เปลี่ยนพื้นที่ในห้องเรียนจากพื้นที่ "ให้" อย่างเดียว เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนกัน อาจมีมุมมองที่ต่างกันจากเรื่องราวเดียวกัน และมันแตกต่างจากการแสดงความเห็นในโลกดิจิทัล การไม่เผชิญหน้ากันในการแสดงความเห็นนั้นต่างจากการเผชิญหน้ากันในการแสดงความเห็น ดังนั้นมันเป็นโอกาสดีมากที่ครูจะหยิบฉวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองกันของเด็กและครู การเรียนการสอนก็จะเปลี่ยนไป ผมเป็นครูในเครือข่าย civic education ก็นำแนวคิดการสร้างประชาธิปไตยเข้าไปในห้องเรียน ผมเปลี่ยนรูปแบบการเรียน จากเดิมที่ให้เขารับข้อมูลอย่างเดียว ให้เด็กได้เรียนแบบ active learning มากขึ้น ใช้วิธีการต่างๆ มากมาย
ปราศรัยกล่าวต่อว่า การใช้ข่าวสารหรือเรื่องราวในชีวิตจริง และทำให้เกิดการถกเถียง ทำให้เด็กรู้สึกว่านี่คือการเรียนรู้ การเตรียมพร้อม ทักษะ ความคิด จิตใจ ฝึกการตั้งคำถาม เพื่อออกไปเผชิญโลกในชีวิตจริง เพราะหน้าที่ของครูไม่ใช่การถ่ายทอดวิชาการความรู้ แต่คือการเตรียมเขาให้พร้อม ทั้งทักษะและการรู้เท่าทันบางสิ่งทั้งสื่อและชีวิตจริง และเขาจะได้ปรับตัวกับบางสิ่งที่ต้องเจอในอนาคตได้ ทัศนวรรณเสริมว่า การสร้างพลเมืองควรเป็นจุดมุ่งหมายทางการศึกษา เพื่อให้เขาเป็นพลเมืองที่เปลี่ยนแปลงสังคม สร้างสังคมที่เขาอยากอยู่ เราควรรวบรวมแนวคิดนี้ให้เข้าไปในทุกวิชาได้ มันขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเรา เพราะสังคมเผด็จการเขาก็มีเรื่องการสร้างพลเมืองเหมือนกัน แต่เป้าหมายก็อาจต่างกัน
นอกจากนั้น ทัศนวรรณเห็นว่า สื่อก็ไม่ได้มีแค่สื่อดิจิทัล มีสื่ออื่นๆด้วย เช่น ศิลปะ ทุกวันนี้ในห้องเรียนก็เห็นเขาทำกิจกรรมเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยหรือการอยู่ร่วมกัน หลักการความหลากหลาย จะคุยยังไงกับเด็ก ยกตัวอย่างก็มีครูให้เด็กทำงานศิลปะขึ้นมาเพื่อสื่อกับเรื่องนี้ แล้วเด็กก็ต้องอธิบายผลงานของเขาว่ามันสื่อถึงความหลากหลายยังไง มันอาจไม่ได้เป็นวิธีการนอกกรอบอะไร แต่ก็เป็นวิธีการที่ทำให้เด็กมีความสนใจกับตรงนี้มากขึ้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เตือนใจ ดีเทศน์ ชี้ทางออกปัญหาข้อพิพาทกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ Posted: 10 Nov 2017 02:21 AM PST กรรมการสิทธิฯ เสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหา แนะ ครม.-กทม.ดำเนินการตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ภายใต้กรอบข้อตกลงร่วม 3 ฝ่าย ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งหรือพิพิธภัณฑ์มีชีวิต 10 พ.ย. 2560 จากกรณีปัญหาข้อพิ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อพิ แนวทางที่ 1 คณะรัฐมนตรีและกรุ แนวทางที่ 2 กรณีมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาปรับปรุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลสั่งจำคุก 6 เดือน วิชาญ เหตุตะโกนชวนคนโนโหวต ผิด พ.ร.บ.ประชามติ Posted: 10 Nov 2017 12:23 AM PST ศาลสั่งจำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท 'วิชาญ' เหตุตะโกนชวนคนในตลาดพิบูลมังสาหาร จ.อุบลฯ ไม่ให้ออกไปลงประชามติ ผิด พ.ร.บ.ประชามติ ลดโทษเหลือโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี ภาพ วิชาญ ขณะถูกคุมตัวที่ สภ.พิบูลมังสาหาร เมื่อวันที่ 27 ก.ค.59 (แฟ้มภาพ) 10 พ.ย. 2560 ความคืบหน้าคดี วิชาญ ภูวิหาร อายุ 48 ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2 จากกรณี 26 ก.ค.59 เจ้าหน้าที่อ้างว่าเขายืนตะโกนเชิญชวนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ไม่ให้ออกไปลงประชามติ นั้น ล่าสุด iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดวิชาญฟังคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดยที่วิชาญและทนายจำเลยได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา นอกจากนี้ยังมีประชาชนทั่วไปสนใจมาฟังคดีราว 15 คน ต่อมาเวลา 10.20 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และพิพากษาให้วิชาญมีความผิด ลงโทษจำคุกหกเดือน ปรับเป็นเงิน 30,000 บาทแต่วิชาญให้การเป็นประโยชน์ในชั้นศาล จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี iLaw รายงานสรุปคำพิพากษาว่า วิชาญ เบิกความสอดคล้องกับที่อัยการโจทก์ได้ฟ้องมาว่า วิชาญกระทำความผิดจากการตะโกนชวนคนไม่ไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ 7 สิงหาฯ ขณะที่พยานจำเลยที่นำสืบในศาลทั้งสามปากคือ ตัววิชาญเอง, ภิเศก อาจทวีกุล ทนายจำเลยและสมาน ศรีงาม เพื่อนของวิชาญ ก็ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์จริงว่า ในวันเกิดเหตุวิชาญได้ไปแสดงออกอย่างไร ที่บริเวณหน้าตลาดสดพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงเป็นไปตามที่พยานโจทก์เบิกความว่า วิชาญได้ไปพูดที่ตลาดสดพิบูลมังสาหาร คำพูดของเขามีลักษณะชักจูง ปลุกระดม มุ่งหวังให้ประชาชนออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ออกเสียง ในระหว่างที่เขาพูดมีประชาชนเดินผ่านไปผ่านมาที่หน้าตลาดสด ขณะที่การที่วิชาญอ้างว่า เขาพูดให้คนไม่กี่คนฟังนั้นฟังไม่ขึ้น เพียงไม่กี่คนฟังก็ถือว่าวิชาญได้กระทำผิดแล้ว การกระทำของวิชาญจึงเข้าข่ายการยุยง หรือมุ่งหวังไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ มีความผิดตามมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ประชามติฯ สำหรับเหตุของคดีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 26 ก.ค. 59 เวลาประมาณ 7.30 น. วิชาญปั่นจักรยานมาที่ตลาดสดพิบูลมังสาหาร จากนั้นก็พูดกับประชาชนที่มาซื้อของว่าตนเองเป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ พร้อมกับชูเอกสารของพรรคและพูดจาปลุกระดมให้ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นไม่ไปใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.59 ทั้งนี้ภายหลังจากที่ วิชาญ ถูกจับกุมเขาปฏิบัติการอดข้าวในทันที่ ก่อนที่จะถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี โดย อดมาประมาณ 12 วัน และถูกปล่อยตัวชั่วคราวในภายหลัง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสงสัยพฤติกรรมของ วิชาญ คล้ายคนมีจิตบกพร่อง จึงส่งตัว วิชาญ ให้แพทย์โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง ตรวจสอบสภาพจิตใจ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นมีสภาพจิตปกติ จึงแจ้งข้อกล่าวหา วิชาญ ดังกล่าว คุมตัวดำเนินคดี สำหรับ วิชาญ เขาเป็น รองประธานคณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยในกรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา และสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ เมื่อปี 56 ได้ร่วมกับกลุ่มธรรมยาตราปืนรั้วข้ามเข้าไปในเขตทหารกัมพูชาที่เข้าพระวิหาร เพื่ออดข้าวประท้วงกรณีศาลโลกตัดสินให้กัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบตัวปราสาทเขาพระวิหารมาแล้วด้วย และเมื่อวันที่ 28 ก.ค.58 ผู้จัดการออนไลน์ เคยรายงานด้วยว่า วิชาญ ร่วมกลุ่มนี้ โดยมี สมาน ศรีงาม เป็นแกนนำกลุ่มธรรมยาตราและสภาประชาชน เดินเท้าจากเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษมุ่งหน้าเข้ากรุง เพื่อถวายฎีกาในหลวง ทวงคืนแผ่นดินไทยเขาพระวิหาร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'เรืองไกร' ร้องศาลรัฐธรรมนูญ สั่งคสช. ปลดล็อคพรรคการเมือง เลิกขวางสิทธิเสรีภาพทางการเมือง Posted: 09 Nov 2017 10:25 PM PST 'เรืองไกร' ร้องศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า หัวหน้า คสช. ไม่ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 57/57 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดขวาง พรรคการเมือง ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย 10 พ.ย.2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (10 พ.ย.60) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นคำร้องใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 57 /2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดขวาง ไม่ให้พรรคการเมือง นักการเมือง ดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาตรา 45 และเป็นการกระทำตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เรืองไกร กล่าวว่า นับแต่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีผลใช้บงคับเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2560 และมีการกำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แต่หัวหน้า คสช.กลับมีท่าทีที่จะยังไม่ต้องการให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ และมีการให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า หากพรรคการเมืองดำเนินการไม่ทันตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะขยายเวลาให้ โดยได้พิจารณาแล้วว่าไม่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด "ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพทางการเมือง บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 45 โดยให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายนั้นก็คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่คุ้มครองให้พรรคต้องทำกิจกรรมตามห้วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนด แต่หัวหน้า คสช. หรือท่านนายกฯ กลับมาบอกว่าตรงนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ ทำให้ต้องมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการกระทำต้องห้าม ตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ จึงต้องมาร้องต่อศาล เพราะผมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถือเป็นผู้ที่รับผลกระทบโดยตรง เพราะการที่ไม่ปลดล็อก ถือว่าขัดต่อเสรีภาพของบุคคล จึงขอให้ศาลวินิจฉัยแล้วสั่งให้หัวหน้า คสช. หรือนายกรัฐมนตรี หยุดและเลิกกระทำนั้นเสีย แล้วให้พรรคการเมือง หรือคนที่ประสงค์จะตั้งพรรคการเมืองได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด" เรืองไกร กล่าว เรืองไกร กล่าวด้วยว่า การที่หัวหน้า คสช. อ้างว่า ประกาศ คสช.ที่ 57 /2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ได้นั้น ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 3 กำหนดไว้อยู่แล้วว่า หากกฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ กฎหมายอื่นใดที่ขัดหรือแย้งก็ให้สิ้นสภาพไป ดังนั้นจะต้องถือว่าทั้ง 2 คำสั่ง คือ คำสั่งที่ 57 ที่ออกโดย พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 2550 และคำสั่งที่ 3 เป็นคำสั่งที่ห้ามเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมาตรา 3 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง บัญญัติว่ากฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายนี้ให้สิ้นสภาพไป ดังนั้นคำสั่งที่ 57 ก็ไม่สามารถที่จะมาบังคับใช้ได้อีก ขณะเดียวกันคำสั่งที่ 3 ก็ไม่น่าจะมาใช้ได้ เพราะคำสั่งที่เป็นเรื่องการชุมนุม ไม่เกี่ยวกับการประชุมพรรคการเมือง อีกทั้งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ที่ 12/52 ที่เคยวินิจฉัยเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไว้ว่าในการประกอบกิจการที่ประกาศคณะปฎิวัติห้ามไว้ หากรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ ก็ให้ประกาศนั้นสิ้นสภาพไป รายงานระบุด้วยว่า สำหรับคำวินิจฉัยที่ เรืองไกรอ้าง เป็นกรณีที่ผู้ประกอบกิจการร้านข้าวต้ม ไอ-เฮีย ถูกจับกุม ฐานขายอาหารและเครื่องดื่มในเวลาห้าม ขัดประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 252 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2515 ซึ่งผู้ประกอบกิจการได้ร้องต่อศาลยุติธรรม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศฉบับดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 29 และ 43 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้หรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ คสช. ทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 โดยระบุว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัตินั้น ล้วนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการจัดทำนโยบายพรรคนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนและสมาชิกพรรคด้วย พรรคการเมืองคงจะต้องลงไปยังพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นมาประกอบการจัดทำนโยบาย การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองจึงอาจเป็นช่องทางหรือข้ออ้างให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกดังเช่นได้มีข้ออ้างมาแล้วหลายครั้งหลายหน ทำให้สังคมมองได้ว่า คสช.เล่นการเมืองและเอาเปรียบทางการเมือง เพื่อเปิดช่องให้หัวหน้า คสช.ปูทางไปสู่การเป็นนายกฯ คนนอกตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ หรือเปิดทางให้พรรคการเมืองที่ คสช.หนุนหลังมีความพร้อมในการเลือกตั้งให้มากที่สุด รายละเอียดแถลงการณ์ : แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้ คสช. ทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557ตามที่ได้มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาพรรคการเมือง และนักวิชาการบางส่วนให้ คสช. ปลดล็อค หรือยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ประกาศใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ซึ่งเดิมหัวหน้า คสช.ได้ระบุว่าจะพิจารณาหลังเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม และวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คสช. ได้ให้เหตุผลใหม่ที่ยังไม่ยกเลิกข้อห้ามพรรคการเมืองว่า บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย โดยมีบางฝ่ายยังโจมตีกันและบิดเบือนอยู่ กฎหมายลูกอีกสองฉบับยังไม่เรียบร้อย การสรรหา กกต. 7 คนยังไม่เสร็จสิ้น และอ้างว่า คสช. อาจใช้มาตรการพิเศษและมาตรการอื่นๆ ทางกฎหมายคลี่คลายปัญหาอุปสรรคที่จะมีขึ้นกับพรรคการเมืองในอนาคตได้ พรรคเพื่อไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่พรรคการเมืองรวมถึงนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองจัดการประชุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น มิได้เป็นการขออะไรจาก คสช. เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่เป็นการขอให้ คสช. ขจัดอุปสรรคเพื่อให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น จึงเป็นการเรียกร้องให้ คสช. และหัวหน้า คสช.ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายพรรคการเมืองนั่นเอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 45 บัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ บัดนี้เมื่อมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองบังคับใช้ กำหนดให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง และบังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ ให้ดำเนินการหลายประการโดยมิได้มีข้อยกเว้นใดๆ ไว้ จึงเป็นหน้าที่ของ คสช. และหัวหน้า คสช.ที่จะต้องปฏิบัติให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียเอง ข้อสำคัญคือ สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัตินั้น ล้วนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งเรื่องการจัดทำข้อบังคับ การตรวจสอบสมาชิก การจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หากทำไม่ครบถ้วนก็อาจไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ เรื่องสำคัญคือในการจัดทำนโยบายพรรคนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนและสมาชิกพรรคด้วย พรรคการเมืองคงจะต้องลงไปยังพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นมาประกอบการจัดทำนโยบาย การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองจึงอาจเป็นช่องทางหรือข้ออ้างให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกดังเช่นได้มีข้ออ้างมาแล้วหลายครั้งหลายหน ทำให้สังคมมองได้ว่า คสช.เล่นการเมืองและเอาเปรียบทางการเมือง เพื่อเปิดช่องให้หัวหน้า คสช.ปูทางไปสู่การเป็นนายกฯ คนนอกตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ หรือเปิดทางให้พรรคการเมืองที่ คสช.หนุนหลังมีความพร้อมในการเลือกตั้งให้มากที่สุด เมื่อได้พิจารณาเหตุผลข้ออ้างของ คสช.ที่ได้แถลงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนตามที่ระบุไว้ข้างต้นนั้น ถือเป็นข้ออ้างที่ไร้เหตุผลและไม่เกี่ยวข้องหรือมีน้ำหนักให้ คสช. ต้องคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองในการทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะการรักษาความสงบเรียบร้อยมีกฎหมายให้อำนาจ คสช. และรัฐบาลในการดำเนินการอยู่แล้ว ที่ผ่านมา คสช.ก็ใช้อำนาจนี้อย่างเต็มที่มาโดยตลอด จึงไม่ควรนำเรื่องที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กับข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยมาปะปนกัน ส่วนกฎหมายลูกอีกสองฉบับที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็เป็นคนละเรื่องกับกฎหมายพรรคการเมืองที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ สำหรับข้ออ้างเรื่องการสรรหา กกต. ชุดใหม่ด้วยแล้วก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะปัจจุบัน กกต. ชุดเดิมก็ทำหน้าที่อยู่ ทั้งยังได้ยกร่างระเบียบต่างๆ ไว้จนจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จากการแถลงของ คสช.ว่าอาจใช้มาตรการเสริม ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ในอนาคต แสดงให้เห็นว่า คสช.เองก็เล็งเห็นได้ว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้จากการไม่ยินยอมอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงเห็นว่าข้ออ้างของ คสช.ทั้งหลายนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน และต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไป เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง พรรคเพื่อไทยเห็นว่าในขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง จึงไม่ควรที่ คสช. จะยกข้ออ้างต่างๆ เพื่อหวังอยู่ในอำนาจให้ยาวนานต่อไป การเร่งรัดรีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว จึงเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด พรรคเพื่อไทยเห็นว่า คสช.ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้พรรคการเมืองได้ทำเรื่องต่างๆ ที่กฎหมายบังคับ ให้ต้องทำ คสช.ได้เรียกร้องมาโดยตลอดให้ทุกคนเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย จึงควรที่ คสช.จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย มิฉะนั้นแล้วอาจมองได้ว่า คสช.ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียเอง จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน พรรคเพื่อไทย 8 พฤศจิกายน 2560
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อีกกี่ ‘ก้าว’ จะถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (จบ) ระบบสวัสดิการทำให้ไม่สูญเสียความเป็นคน Posted: 09 Nov 2017 09:42 PM PST เพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือระบบที่ช่วยให้มนุษย์ไม่สูญเสียความเป็นคน เป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดหาและทำให้ยั่งยืน มิใช่บั่นทอนหรือแปรเปลี่ยนเป็นระบบสงเคราะห์ผ่านการพิสูจน์ความจน ทำไมการบริจาคไม่ช่วยแก้ปัญหาในเชิงระบบ ซ้ำยังจะเพิ่มความชอบธรรมให้แก่รัฐในการลดทอนสวัสดิการของคนในประเทศ ทำไมงบประมาณสาธารณสุขของไทยจึงเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทำไมต้องมีบัตรคนจน อะไรคือฐานคิดที่อยู่เบื้องหลังความพยายามบ่อนทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำไมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงสำคัญและเป็นสิทธิที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐ โดยที่รัฐไม่อาจบ่ายเบี่ยง นั่นเพราะ "ระบบสวัสดิการที่ก้าวหน้าที่สุดคือระบบที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นคนน้อยที่สุด" ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว 1 "กลไกการบริจาคเพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชน นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ยังจะเป็นการทำให้เกิดผลที่แย่กว่าเดิม มองในมิติการรักษาพยาบาล มันไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ ก่อนมีระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค เราผ่านระบบการสังคมสงเคราะห์ เป็นระบบผู้ป่วยอนาถา ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้การสงเคราะห์เป็นทางการ ถูกต้อง และได้รับการชื่นชม แต่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หายไปเมื่อประชาธิปไตยพัฒนา แต่ปัจจุบันเราเห็นแนวโน้มที่จะทำให้สิทธิถูกลดทอนและถูกทดแทนด้วยกลไกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือกระแสอาสาสมัครและการบริจาค สิ่งเหล่านี้จะทดแทนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือ ทุกคนก็ทราบว่าไม่ได้ แต่ความรู้สึกแบบนี้จะทำให้เกิดความชอบธรรมในการยกเลิกสวัสดิการต่างๆ และแปรสภาพสู่การบริจาคมากขึ้น" 2 "การจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล การบริจาคอยางเดียว ต่อให้มีตูนเพิ่มอีกกี่สิบคน งบประมาณก็ไม่พอ เทียบบุคคลากรทางการแพทย์ เรามีหมออยู่ 5 หมื่นคนทั้งประเทศ ไม่ขยับไปกว่านี้ จากปี 57 แต่ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และยิ่งหมอเฉพาะทางก็อยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นปัญหาเชิงนโยบายที่ต้องได้รับการแก้ ถามว่าคนทั่วไปแก้ไขอะไรได้ ในเงื่อนไขในปัจจุบัน คือกดดันให้มีการเลือกตั้ง ผลักดันให้พรรคการเมืองมีนโยบายเหล่านี้" 3 "ยิ่งประเทศมีประชาธิปไตยมาก ความคาดหวังกับการบริจาคจะน้อยลง ลองเทียบดูสัดส่วนว่ายิ่งท้องถิ่นได้รับงบประมาณมาก รัฐบาลมีนโยบายตอบสนองต่อประชาชนมาก กระแสการบริจาคจะน้อยลง ในช่วง 5-6 ปีมานี้ต้องยอมรับว่ามีนโยบายที่ลงไปตอบสนองต่อประชาชนน้อย เกิดความรู้สึกว่าเราก็ทำได้ในส่วนเท่านี้ อีกด้านเห็นว่าเป็นการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม ทำให้รู้สึกเติมเต็มว่าชีวิตเราก็มีความหมาย ได้ช่วยเหลือดูแลกัน มันเป็นภาพของสังคมเสรีนิยมใหม่ สังคมทุนนิยมที่มีการแข่งขันเต็มที่ ชีวิตประจำวันของเราอยู่ได้ด้วยการรับผิดชอบชีวิตตนเอง 100 เปอร์เซ็นต์ การที่เราบริจาคและทำความดีเป็นการเติมเต็มคุณค่าศีลธรรมที่หายไป แต่มันเป็นการแก้ปัญหาไหม ยืนยันว่าไม่ใช่" 4 "การพยายามปรับลดสวัสดิการ การมีวินัยทางการคลัง มาจากกระแสเสรีนิยมใหม่ มันเกิดขึ้นทั่วโลก คุณหาเงินเท่าไรก็ต้องใช้เงินเท่านั้น ซึ่งในศตวรรษที่ 20 ไม่ได้เป็นแบบนั้น คุณจัดสวัสดิการก่อน รัฐบาลมีหน้าที่กระตุ้นให้คนมีชีวิตที่มั่นคง ให้หลักประกันแก่คน และคนจะไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่วนในศตวรรษที่ 21 รัฐบาลต้องลดบทบาทและเพิ่มบทบาทกลุ่มทุนมากขึ้น รัฐมีหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ทุน สามารถลงทุนได้ สร้างมูลค่าได้ เป็นเศรษฐกิจแบบไหลริน เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ไม่ต้องทำอะไร" 5 "งบประมาณสาธารณสุขควรเพิ่มขึ้นทุกปีเพราะคนมีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น ปริมาณประชากรเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เมื่อพูดถึงตามสัดส่วนจีดีพี สวัสดิการสาธารณสุขควรเพิ่มขึ้นและควรถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก แต่ที่เราเห็นคือให้ความสำคัญน้อยลง เพดานการอุดหนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเพิ่มขึ้นๆ แต่เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อจะเห็นว่าอัตราการเพิ่มน้อยมาก ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ต่ำกว่าเงินค่าครองชีพในมิติอื่นๆ ถ้าเทียบกับงบประมาณส่วนอื่นๆ จะเห็นแนวโน้มอัตราการเพิ่มน้อยกว่า และมีความพยายามดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัด" 6 "เรื่องโรงพยาบาลเจ๊งเป็นปัญหาเทคนิคเรื่องการจัดการ เราต้องมองด้วยหลักคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ๊งไม่ได้ เทียบตัวอย่างจากนอร์เวย์ ไม่ใช่แค่เรื่องโรงพยาบาล แต่เป็นเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น มีกฎหมายว่าโครงการที่เขียนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ๊งไม่ได้ เพราะมันคือจิตวิญญาณของประชาธิปไตยที่คนต้องมีอำนาจกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้นคุณขาดทุนเท่าไร แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ รัฐบาลต้องไปหามาเพิ่ม นี่คือหลักวิธีคิดของหลักประกันสุขภาพ" 7 "ถ้าตัดงบกลาโหมออกครึ่งหนึ่งจะสามารถจ้างหมอเพิ่มด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงได้แทบจะทันที เราไม่ต้องเห็นภาพหมอเข้าเวรจนตาย จนเจ็บป่วย การที่หมอทำงาน 8 ชั่วโมง ดูแลคนไข้อย่างดีและเต็มที่ ซึ่งในเงื่อนไขปัจจุบันมันทำไม่ได้ มันกลายเป็นหมอต้องมาอุทิศตน เพราะผลประโยชน์จริงๆ ที่หมอต้องการคือค่าแรงที่เหมาะสม เชื่อว่าถ้าได้แปดหมื่นจริงๆ หมอก็คงไม่ต้องการไปนั่งคลินิก หมอมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการกระจายตัวของแพทย์ก็จะดีขึ้นด้วย" 8 "ผมเคยเขียนงานชิ้นหนึ่งพูดถึงระบบสวัสดิการที่แบ่งระบบฐานคิดเป็น หนึ่ง-สวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชน คือคุณต้องเป็นคนเก่งคนดีคุณถึงจะได้ เป็นฐานความคิดของข้าราชการ สอง-ฐานความคิดแบบเพดานต่ำคือ ประกันสังคม คุณเป็นคนจนคุณก็จะได้แบบจนๆ และสาม-สังคมสงเคราะห์ ถ้าคุณจนมากๆ คุณก็พิสูจน์ความจนไป นี่คือสามขาหลักที่ทำลายสวัสดิการไม่ให้ก้าวหน้า" 9 "ถ้าเราพูดถึงในแง่อุดมการณ์ตั้งแต่สมัยของหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ที่ว่า คนจน คนด้อยโอกาสควรได้รับสิทธิ เราไม่ควรทิ้งคนเหล่านี้ แต่สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันและชุดต่อๆ ไปพยายามจะยกขึ้นมาคือเราจะดูแลคนจนที่ควรได้รับสิทธิต่างๆ เหล่านี้ เชื่อว่าถ้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกทำลายไป ก็จะถูกใส่ในบัตรคนจนนี้ แต่มันก็ไม่ใช่สิทธิอีกต่อไป จะเป็นเรื่องของการสงเคราะห์" 10 "โจเซฟ สติกลิตซ์ตั้งข้อสังเกตว่า การกระจายเงินตรงไปที่คนจนลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เผลอๆ งบประมาณที่ลงไปอาจสูญเปล่า ไม่ได้ทำให้สังคมพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น เปรียบเทียบกับประเทศร่ำรวยด้วยกัน สหรัฐฯ ใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลสูงมาก แต่การเข้าถึงกลับต่ำ เพราะงบประมาณไปอยู่กับกระบวนการการพิสูจน์ความจน รวมถึงการเอากลไกตลาดเข้ามา ทำให้ราคายาสูง งบบานปลาย แต่การเข้าถึงครอบคลุมแค่คนจนที่ต้องมานั่งพิสูจน์ความจน" 11 "ข้อสังเกตของ Gosta Esping Andersen นักวิชาการชาวเดนมาร์ก บอกว่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปแบ่งประเภทสวัสดิการตามลักษณะงบประมาณที่ใช้ แต่หัวใจของสวัสดิการจริงๆ คือดูว่ามันทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นคนมากน้อยแค่ไหนเมื่ออยู่ในระบบทุนนิยม ระบบสวัสดิการที่ก้าวหน้าที่สุดคือระบบที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นคนน้อยที่สุด นั่นคือระบบที่ใช้ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย คือการมองว่าสวัสดิการเป็นสิทธิ คุณจะได้สิทธิเมื่อคุณเกิดในประเทศนี้ เป็นพลเมือง ไม่ใช่ว่าได้สิทธินี้เพราะไปทำงานและเก็บเงิน ไม่ใช่ว่าได้สิทธินี้เพราะเป็นเมียข้าราชการคนนี้ หรือทำงานในองค์กรนี้" 12 "รัฐคงอยู่เพื่อจัดสวัสดิการให้กับประชาชน คุณไม่ควรต้องตาย ถ้าในโลกใบนี้ยังมียาที่จะรักษาคุณได้ มันเป็นหน้าที่ของรัฐ เมื่อคุณมองแบบนี้เป็นจุดตั้งต้น สิ่งอื่นๆ ค่อยว่ากัน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ มันจะมาจากการดูแลคนในประเทศให้ดี ความเป็นมนุษย์ของเขามีอยู่อย่างเต็มที่ เราจะเห็นว่าประเทศพวกนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองต่ำ กลไกทางรัฐสภาสามารถจัดการได้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจสูงและคนสามารถสร้างนวัตกรรม คนไม่ต้องทำงานที่ตัวเองที่ไม่อยากทำ ปัญหาทางสังคมก็ต่ำ ปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาระหว่างเชื้อชาติก็ต่ำ ในสังคมทุนนิยมมีความขัดแย้งแตกแยกอยู่ แต่กลไกวัสดิการเหล่านี้มันสามารถลดทอนปัญหาได้" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ซีเรียลงนามข้อตกลงโลกร้อน-ขณะที่สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศเดียวที่จะถอนตัว Posted: 09 Nov 2017 08:57 PM PST ในขณะที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการออกจากความตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อน ประเทศที่มีปัญหาสงครามกลางเมืองของตัวเองอย่างซีเรียกลับเป็นประเทศล่าสุดที่ลงนามเข้าร่วม แฟ้มภาพโรงงาน Bethlehem Steel ที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ภาพถ่ายเมื่อปี 2550 (ที่มา: Jschnalzer/Wikipedia/CC BY-SA 3.0) 9 พ.ย. 2560 ประเทศซีเรียเป็นประเทศล่าสุดที่ลงนามในข้อตกลงโลกร้อนปารีส แม้ว่าประเทศของพวกเขาจะยังคงมีสงครามกลางเมือง เรื่องนี้จึงคล้ายเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่าย และผลจากการลงนาม ทำให้เหลือเพียงสหรัฐอเมริกา อีกประเทศเดียวเท่านั้นที่จะไม่ได้ร่วมลงนาม ถ้าหากทำตามกระบวนการออกจากการลงนามตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศไว้ หลังจากที่สหประชาชาติทำการเจรจาหารือมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี ในที่สุดก็ทำให้มีผู้ลงนามในความตกลงปารีสปี 2558 ได้จำนวน 197 ชาติ ความตกลงดังกล่าวสหรัฐฯ ได้ลงนามในสมัยของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา อย่างไรก็ตามพอถึงสมัยของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เริ่มดำเนินกระบวนการพยายามจะออกจากความตกลงนี้โดยต้องใช้เวลาถึงปี 2563 กระบวนการถอนตัวจากการลงนามถึงจะมีผล ซึ่งพอถึงจุดนั้นก็จะมีการเลือกตั้งในสมัยถัดไปแล้ว สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน กลุ่มภาคประชาสังคมของสหรัฐฯ วิจารณ์การถอนตัวของสหรัฐฯ ว่าในตอนนี้สหรัฐฯ กำลังถูกโดดเดี่ยวออกจากเวทีโลกแล้ว "ราวกับว่ามันยังแสดงให้เห็นไม่ชัดเจนมากพอ จะบอกก็ได้ว่าทุกประเทศอื่นๆ ในตอนนี้กำลังเดินหน้าร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ขณะที่ทรัมป์โดดเดี่ยวสหรัฐฯ ในจุดยืนที่ชวนให้รู้สึกอับอายและอันตราย" ไมเคิล บรูน ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มสิ่งแวดล้อมเซียร์ราคลับกล่าว "การเคลื่อนไหวอย่างเอาเป็นเอาตายของทรัมป์ที่ช่วยเหลือบรรษัทจอมสร้างมลภาวะโดยการไม่ยอมรับว่ามีวิกฤตโลกร้อนจิงแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับการเป็นผู้นำหรือเข้าใจเรื่องความเป็นผู้นำเลย" บรูนกล่าว อย่างไรก็ตามมีผู้สังเกตการณ์บอกว่าต่อให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสแล้ว แต่เมืองหรือรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ก็ยังคงมีปฏิบัติการกับประเด็นโลกร้อนได้ เช่น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน นอกจากนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสยังแถลงอีกว่ารัฐบาลทรัมป์ถูกคัดออกจากรายชื่อเชิญชวนเข้าร่วมประชุมเรื่องโลกร้อนในเดือนหน้าที่จะมีผู้นำระดับโลกมากกว่า 100 คนเข้าร่วม เพื่อดำเนินการต่อในความตกลงปารีส ในความตกลงปารีสปี 2558 มีการตกลงร่วมกันว่าจะพยายามควบคุมไม่ให้สภาพอากาศของโลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึงนักวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นระดับที่ปลอดภัย ถ้าให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้อาจจะกลายเป็นหายนะและไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ เช่นจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน และทำให้เกิดภัยแล้งในหลายที่ของโลกและทำให้พื้นที่หลายแห่งทำการเกษตรไม่ได้ ขณะที่พื้นที่บางแห่งก็จะเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก และจากพฤติกรรมของชาวโลกในปัจจุบันปีนี้ก็อาจจะเป็นปีที่มีระดับอุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยวัดมา องค์กรสิ่งแวดล้อมยุโรประบุว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังดำเนินการตามแนวทางในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ถึงระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2563 โดยที่ในปีที่แล้วพวกเขาปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเล็กน้อย แต่ยังต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อให้ลดระดับกาปล่อยก๊าซลงได้ตามเป้าหมายปี 2573
เรียบเรียงจาก Syria signs Paris climate agreement and leaves US isolated, The Guardian, 07-11-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีไฟเขียวให้ระบุเพศอื่นได้นอกจากหญิง-ชาย Posted: 09 Nov 2017 08:36 PM PST ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีอนุญาตให้ประชาชนระบุเพศของตัวเองเป็นเพศแบบที่สามนอกจากชายหรือหญิงได้ โดยพูดถึงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่คนที่มีสิทธิจะนิยามเพศได้คือตัวคนๆ นั้นเองเท่านั้น ถือเป็นการขยายสิทธิให้กับคนที่มีสองเพศ/เพศกำกวม (Intersex) และคนข้ามเพศ (Transgender) อาคารศาลรัฐธรรมนูญกลางแห่งเยอรมนี ที่เมืองคาร์ลสรูห์ (ที่มา: Tobias Helfrich/Wikipedia/CC BY-SA 3.0) 10 พ.ย. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีตัดสินให้ทางการเยอรมนีควรรองรับประเภทของเพศแบบที่สามไว้ด้วยสำหรับคนที่อยากระบุตัวตนของตัวเองเป็นเพศอื่นนอกจากหญิงหรือชาย หรือสำหรับผู้ที่เกิดมามีลักษณะทางเพศกำกวม ศาลยังตัดสินอีกว่าการเจาะจงเพศให้เป็นชายหรือหญิงตามระบบสองเพศโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2556 เยอรมนีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่อนุญาตให้พ่อแม่จดทะเบียนสูติบัตรของเด็กโดยไม่ระบุเพศว่าเป็นชายหรือเป็นหญิงได้ ถ้าหากเด็กที่เกิดมามีลักษณะของทั้งสองเพศ กระทั่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีก็ตัดสินเพิ่มในเรื่องที่ก้าวหน้าไปกว่าเดิมอย่างการกำหนดให้ระบุตัวตนของเพศในแบบที่สามได้ โดยจะนำเสนอเรื่องนี้ในสภาเยอรมนีปี 2561 นิวยอร์กไทม์ระบุว่าการตัดสินในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ทั้งสังคม การแพทย์ และกฎหมาย เริ่มยอมรับว่าเพศสภาพเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นและไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดตายตัวหรือคงอยู่แบบเดิมไปตลอดชีวิต องค์กรแลมดาลีกัลซึ่งเป็นองค์กรสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในสหรัฐฯ ระบุด้วยว่าขณะนี้มีอยู่อย่างน้อย 8 ประเทศที่ยอมรับให้ระบุตัวตนของเพศสภาพเป็นอย่างอื่นนอกจากชายหรือหญิงในบัตรประจำตัวประชาชน คือออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, เยอรมนี, อินเดีย, มอลตา, เนปาล, นิวซีแลนด์ และปากีสถาน ขณะที่แคนาดานั้นมีการออกบัตรสาธารณสุขโดยไม่ระบุเพศได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาก็อนุญาตให้มีการออกหนังสือเดินทางเพศแบบที่สามได้ ส่วนในสหรัฐฯ ก็มีบางรัฐที่ให้ตัวเลือกระบุ "เป็นกลางทางเพศ" ไว้ในใบขับขี่ได้ รัฐแคลิฟอร์เนียก็เพิ่งออกกฎหมายอนุญาตให้คนที่มีลักษณะของทั้งสองเพศ/เพศกำกวม (Intersex) และคนที่นิยามตัวเองไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศ (nonbinary) นอกจากสิทธิจะเอื้อต่อคนข้ามเพศแล้วยังเอื้อต่อผู้มีลักษณะของทั้งสองเพศหรือเพศกำกวมแต่กำเนิดด้วย จากรายงานของสหประชาชาติในปี 2556 ระบุว่า เด็กที่เกิดมาโดยมีลักษณะทางเพศแตกต่างจากลักษณะทั่วไปมักจะถูกระบุเพศในแบบที่ย้อนกลับไปไม่ได้เช่นการตอนหรือผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศแบบที่ไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจเพื่อให้เป็นเพศใดเพศหนึ่ง การทำให้คนเพศกำกวมเหล่านี้เป็นหมันสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจของพวกเขาอย่างมาก เฮย์ลีย์ โกเรนเบิร์ก ที่ปรึกษาทั่วไปของแลมดาลีกัลกล่าวถึงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีว่า เป็นการทำให้เด็กที่มีลักษณะของทั้งสองเพศสามารถรอจนเมื่อโตพอที่จะตัดสินใจได้ว่าเขาอยากจะเป็นเพศใด หรือแม้กระทั่งจะนิยามตัวเองว่าไม่เป็นเพศใดเลยก็ได้ ตามความคิดเห็นของเฮย์ลีย์แล้วคำสั่งนี้เยอรมนีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่ไม่ควรบีบให้คนๆ หนึ่งถูกแปะป้ายว่าเป็นเพศใดโดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้นิยามตนเอง และเพศสภาพก็เช่นเดียวกับคุณลักษณะของตัวบุคคลอย่างอื่นคือมันมีลักษณะเป็นแถบที่มีหลายสีและบางคนก็ไม่ได้จัดประเภทตัวเองเป็น "ชาย" หรือ "หญิง" ได้ ผู้ที่ริเริ่มเรียกร้องเรื่องนี้ในเยอรมนีคือกลุ่มรณรงค์ที่ชื่อ "ทางเลือกที่สาม" (Dritte Option) ในเยอรมนีที่สนับสนุนโจทก์ชาวเยอรมนีผู้เกิดในปี 2532 ที่เรียกตัวเองว่า "วานจา" ชาวเยอรมนีคนนี้เป็นโจกท์เรียกร้องต่อศาลเมื่อปี 2557 ว่าเธออยากเปลี่ยนการระบุเพศตัวเองจาก "หญิง" เป็น "หลากเพศ" (Inter/diverse) แต่ที่จดทะเบียนไม่ยอมให้เธอเปลี่ยน โดยอ้างว่าการระบุเปลี่ยนแพศของเธอไม่มีระบุไว้ตามกฎหมาย ศาลท้องถิ่นไม่ยอมรับข้อรองเรียนของวานจาจนกระทั่งมีการนำเรื่องนี้พิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาในลักษณะที่ยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของวานจา โดยระบุว่าการการกำหนดเพศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล มันเป็นกุญแจสำคัญทั้งเรื่องภาพลักษณ์ที่ตัวคนนั้นมองตัวเองและเรื่องที่ว่าเขาถูกมองจากคนอื่นๆ อย่างไร การแทรกแซงบุคคลนั้นๆ ในการกำหนดเพศของตัวเองรวมถึงการกำหนดให้มีแค่สองเพศจึงเป็นการเหยียดหรือกีดกันชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญเยอรมนีว่าด้วยสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลยังระบุคุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศด้วย ในปี 2556 กฎหมายของเยอรมนีอนุญาตให้พ่อแม่มีสิทธิไม่ต้องกำหนดเพศชายหรือหญิงก็ได้ โดยทางสภาจริยธรรมของเยอรมนีระบุว่าผู้ที่จะกำหนดเพศได้ควรจะเป็นตัวบุคคลคนนั้นเอง มอริตซ์ ชมิดต์ โฆษกขององค์กรทางเลือกที่สามกล่าวแสดงความยินดีที่กฎหมายเยอรมนีคุ้มครองคนที่ไม่ระบุว่าเป็นชายหรือหญิง พวกเขาหวังว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะนำไปใช้ต่อสู้เพื่อขจัดการเหยียดหรือกีดกันคนที่มีลักษณะของทั้งสองเพศ/เพศกำกวม กับคนข้ามเพศด้วย ซูซาน สไตรเกอร์ ผู้ช่วยศาตราจารย์จากเพศสภาพและสตรีศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งแอริโซนาและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคนข้ามเพศกล่าวว่ามันเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นที่รัฐยอมรับว่าร่างกายของมนุษย์มีความหลากหลาย การจัดประเภทของคนเป็นสองเพศมีโอกาสเป็นสาเหตุไปสู่ความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามมันอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของการปลดแอกเพศสภาพ เพราะการตัดสินประเด็นนี้ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์เสียเป็นส่วนใหญ่ สหประชาชาติระบุว่ามีประชากรที่เป็นคนที่มีลักษณะของทั้งสองเพศ/เพศกำกวมอยู่ราวร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 1.7 ของประชากรโลกทั้งหมด
เรียบเรียงจาก Germany Must Allow Third Gender Category, Court Rules, New York Times, 08-11-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รัฐศาสตร์เสวนา: บ้านพี่เมืองน้องแบบอำนาจนิยม: ทุนไทยในพม่าและลาว Posted: 09 Nov 2017 08:10 PM PST 9 พ.ย. 2560 ที่ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการประชุมวิชาการ "รัฐศาสตร์เสวนา: ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย" ครั้งที่ 5 หัวข้อ Authoritarian brotherhood บ้านพี่เมืองน้องแบบอำนาจนิยม: ทุนไทยในพม่าและลาว โดยมีการนำเสนอ 2 บทความได้แก่ (1) Public Spheres and Thai Hydropower Dams in Laos นำเสนอโดย Carl Middleton คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ (2) รัฐอำนาจนิยมแบบรวมศูนย์และการเมืองของความไม่แน่นอน (แบบไทยๆ) นำเสนอโดย นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น