โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ICJ-แอมเนสตี้ฯ แนะรัฐบาลปรับ ร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการทรมานฯ ชี้มีช่องโหว่หลายประการ

Posted: 23 Nov 2017 12:05 PM PST

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะให้ปรับเปลี่่ยนแก้ไขบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

23 พ.ย.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) จัดทำข้อเสนอแนะให้ กระทรวงยุติธรรมแก้ไขร่างกฎหมายใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ พันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อเสนอแนะนี้จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ต่อกระทรวงยุติธรรม

ICJ และแอมเนสตี้ฯ ยินดีที่รัฐบาลไทยรับผูกพันว่าจะบัญญัติให้การทรมานและ การกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา แต่เนื่องจากร่างพระราชบัญญัตินี้ ชี้ให้เห็นช่องโหว่หลายประการในระบบกฎหมายไทย ทางองค์กรของเราจึงมีความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจัดการ กับข้อบกพร่องสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้และเพื่อรับประกันว่ารัฐบาลไทยจะสามารถปฏิบัติตาม สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงตาม มาตรฐานสากลอื่น ๆ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ข้อเสนอแนะที่รวบรวมโดย ICJ และแอมเนสตี้ฯ มีดังต่อไปนี้
  • ร่างพระราชบัญญัติฯ ขาดองค์ประกอบสำคัญของอาชญากรรมการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามนิยามของกฎหมายระหว่างประเทศ
  • การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
  • การขาดบทบัญญัติเรื่องการไม่รับฟังคำให้การหรือข้อมูลใดที่ได้มาจากการกระทำการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีอาญา
  • การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับรูปแบบการรับผิดต่ออาชญากรรมตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ และ
  • ข้อบกพร่องเกี่ยวกับหลักประกันเพื่อป้องกันการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ICJ และแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ขอเรียกร้องให้ประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก กับการพิจารณาข้อกังวลเหล่านี้และอื่น ๆ และเมื่อมีการแก้ไขปรับปรุงแล้ว ควรดำเนินการผ่านเป็นกฎหมาย โดยเร็วที่สุด ความจำเป็นในการปรับปรุงแก้ไขและผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้โดยเร่งด่วนนั้นถูกเน้นย้ำโดย รายงานขององค์กรพัฒนาเอกชนหลายฉบับที่ได้เก็บข้อมูลว่ามีการกระทำการทรมานและการประติบัติที่ โหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐอยู่เสมอ และความล้มเหลวต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการนำตัว ผู้กระทำผิดมารับผิดต่อการกระทำการทรมาน การประติบัติที่โหดร้าย และการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ICJ และแอมเนสตี้ฯ ย้ำว่ายังคงมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่รัฐบาลไทยใน การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงดำเนินการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายใน ประเทศไทย

ในจดหมายที่แนบมากับข้อเสนอแนะ ทาง ICJ และแอมเนสตี้ฯ ขอเน้นย้ำ ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการคงไว้ซึ่งมาตราในร่างพระราชบัญญัตินี้ ที่กำหนดห้ามการทรมานและการกระทำ ให้บุคคลสูญหายในทุกสถานการณ์ รวมถึงระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการห้ามการส่งบุคคล ใดออกไปยังอาณาเขตที่มีความเสี่ยงว่าบุคคลดังกล่าวจะถูกกระทำทรมานหรือถูกกระท าให้สูญหาย (หลักการ ห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย – Non-refoulement)

จดหมายเปิดผนึกร่วมถึงรัฐบาลไทย 'ประเทศไทย: ผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้การกระทำให้บุคคลสูญหาย และการทรมานเป็นความผิดอาญาโดยไม่ล่าช้า' https://www.icj.org/thailand-pass-legislationcriminalizing-enforced-disappearance-torture-without-further-delay

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผสานวัฒนธรรม' ร้องประยุทธ์ ทบทวนระบบ 'ซ่อมทหาร' ร.ร.เตรียมทหาร ที่ละเมิดสิทธิฯ

Posted: 23 Nov 2017 11:49 AM PST

แนะตั้งกลไกที่เป็นอิสระและมีอำนาจตรวจตรา รับเรื่องราวร้องเรียนและตรวจสอบกรณีที่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมานทหารชั้นผู้น้อย การตรากฎหมายชันสูตรพลิกศพ ให้เกิดความโปร่งใน ตรวจสอบได้ 

24 พ.ย.2560 จากกรณี การเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ เมย นักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งข้อสงสัยจากทางญาติและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมากนั้น ล่าสุดวานนี้ (23 พ.ย.60) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีทบทวนระบบ "ซ่อมทหาร" โรงเรียนเตรียมทหาร ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นที่คลางแคลงใจของสังคมอย่างยิ่ง สมควรที่ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงอย่างถูกต้องด้วยท่าทีที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังได้เสนอ 6 ข้อ เพื่อแก้ปัญหา เช่น การจัดตั้งกลไกที่เป็นอิสระและมีอำนาจในการดำเนินการ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการตรวจตรา รับเรื่องราวร้องเรียน และตรวจสอบกรณีที่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมานทหารชั้นผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ "ซ่อม" โดยไม่ถูกต้อง การตรากฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ให้เกิดความโปร่งใน ตรวจสอบได้ และให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งค้างการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภามากกว่า 5 ปีแล้ว เป็นต้น
 
รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เรียกร้องนายกรัฐมนตรีทบทวนระบบ "ซ่อมทหาร" โรงเรียนเตรียมทหาร ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

จากกรณีที่ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม2560 ที่โรงเรียนเตรียมทหาร โดยไม่มีคำชี้แจงที่ละเอียดจากผู้เกี่ยวข้อง เพียงแต่มีใบมรณบัตร ระบุสาเหตุการเสียชีวิตต่อบิดามารดา (นายพิเชษฐ และนางสุกัลยา ตัญกาญจน์) ว่าเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทั้งที่ครอบครัวยืนยันว่านายภคพงศ์มีร่างกายแข็งแรงดีก่อนเสียชีวิตจากนั้นครอบครัวได้นำศพนายภคพงศ์ไปชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบว่า อวัยวะที่สำคัญภายใน และสมองหายไป มีการยัดแทนด้วยสำลี โดยไม่มีเอกสารชี้แจงจากทางโรงเรียนเตรียมทหาร หรือแจ้งให้ญาติทราบแต่อย่างใด

ต่อมาพลเอกประวิตร เรืองสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาพูดต่อสื่อมวลชนให้เหตุผลของการตายก่อนทราบผลการชันสูตรพลิกศพว่าเป็นการตายที่ไม่ได้มาจากการทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมานและการ "ซ่อม" หนักเป็นเรื่องปกติของโรงเรียนเตรียมทหาร ทั้งยังได้แสดงความเห็นกับนักข่าวถึงการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดซ้ำอีกว่า "ก็ไม่ต้องเข้ามาเรียน ไม่ต้องมาเป็นทหาร เราเอาคนที่เต็มใจ"เป็นคำพูดของรองนายกรัฐมนตรีที่คนในสังคมตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหมาะสมหรือไม่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า ประเด็นการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ฯ ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของโรงเรียนเตรียมทหารกรณีนี้ เป็นที่คลางแคลงใจของสังคมอย่างยิ่ง สมควรที่ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงอย่างถูกต้องด้วยท่าทีที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ จึงและขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้

1. ขอให้มีการเปิดเผยการชันสูตรพลิกศพของสถาบันนิติเวชอย่างตรงไปตรงมา ให้มีการตรวจสอบอย่างอิสระ เพื่อให้ความกระจ่างต่อสาธารณชน ให้ความเป็นธรรมต่อครอบครัวนายภคพงศ์ และหากเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเตรียมทหาร หรือผู้ใดต้องยอมให้มีการนำคนผิดมาลงโทษ และชดเชยเยียวยาความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

2. แม้ว่าโดยระเบียบแล้วห้าม ผู้ฝึก หรือผู้ "ซ่อม" แตะเนื้อต้องตัว หรือกระทำการในลักษณะทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ที่ถูกลงโทษ แต่ในทางปฏิบัติ มีทหารเสียชีวิต หรือบาดเจ็บสาหัส จากการถูกลงโทษทางวินัยด้วยการ "ซ่อม" ปรากฎเป็นข่าวอยู่เสมอ ดังนั้น จึงขอให้ทางการทหารทบทวนการฝึกซ้อมที่ไร้เหตุผล และการลงโทษที่เกินเหตุ โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนต่อทหาร โดยเฉพาะให้มีการเปลี่ยนวิธีการซ่อมทหารที่รุนแรงและอาจนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต

3. ให้จัดตั้งกลไกที่เป็นอิสระและมีอำนาจในการดำเนินการ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการตรวจตรา รับเรื่องราวร้องเรียน และตรวจสอบกรณีที่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมานทหารชั้นผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ "ซ่อม" โดยไม่ถูกต้อง และเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และจิตใจของทหารชั้นผู้น้อยหรือผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งมีหน้าที่ทบทวนกฎหมายระเบียบ และการปฏิบัติ ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย และจิตใจดังกล่าว

4. ให้ตรากฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ให้เกิดความโปร่งใน ตรวจสอบได้ เช่นให้ญาติมีส่วนร่วมและรับรู้ในกระบวนการชันสูตรพลิกศพ รวมทั้งการผ่าชันสูตรศพ รวมทั้งการขอความเห็นชอบ หรือแจ้งให้ญาติทราบก่อนที่จะนำอวัยวะของผู้เสียชีวิตไปกระทำการใดๆ ในกระบวนการชันสูตรดังกล่าว

5. ขอให้กำชับบุคคลในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ให้ระมัดระวังการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ให้มีความรับผิดชอบ สร้างสรรค์ ไม่มีลักษณะลักษณะเป็นการปกป้องหรือให้ท้ายเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดก่อนที่จะได้รับข้อมูลหรือผลของการตรวจสอบที่ชัดเจน ไม่พูดด่วนสรุปตัดสิน  ไม่มีลักษณะชี้นำก่อนการพิสูจน์ความจริงในทุกกรณี ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต และเป็นแบบอย่างแก่บุคคลในสังคมและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลสาธารณะและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ

6. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งค้างการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภามากกว่าห้าปีแล้ว เพื่อให้มีผลในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญโดยเร็ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ.ท่าศาลา ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุ เปลี่ยนสูงวัยติดบ้านติดเตียง เป็นติดสังคม

Posted: 23 Nov 2017 11:38 AM PST

ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เปลี่ยนสูงวัยติดบ้านติดเตียง เป็นติดสังคม

23 พ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (Long Term Care: LTC) ในพื้นที่ อ.ท่าศาลา แลกเปลี่ยนสถานการณ์การทำงาน

พงศ์เทพ ฟุ้งตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลท่าศาลา กล่าวว่า เทศบาลตำบลท่าศาลา เข้าร่วมตั้งกองทุนสุขภาพตำบลร่วมกับ สปสช.ตั้งแต่ปี 2552 ในส่วนของกองทุนบริการสาธารณสุขผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงหรือกองทุน Long Term Care : LTC นั้น เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2559 ปีแรกได้รับงบประมาณ 7.5 หมื่นบาท สำหรับการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง 15 คน ซึ่งการทำงานทั้งกองทุนสุขภาพตำบลและกองทุน LTC มีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน ในส่วนของกองทุนสุขภาพตำบลนั้นการทำงานเกือบ 10 ปี ก็ลงตัว มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งความเข้มแข็งของกองทุนสุขภาพตำบลก็ช่วยสนับสนุนงาน LTC ได้ดี อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาเรื่องระเบียบการเบิกจ่ายที่ยังไม่ชัดเจน เช่นเดียวกับกองทุน LTC แต่ทั้ง 2 งานนี้มีประโยชน์กับประชาชนของเทศบาลตำบลท่าศาลาอย่างมาก

ราตรี ฤทธิรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.ท่าศาลา กล่าวว่า ภาพรวมของการดูแลผู้สูงอายุใน อ.ท่าศาลานั้น มีการทำงานที่ดีขึ้น ที่นี่เริ่มเป็นพื้นที่นำร่องตั้งแต่ปี 2559 ทั้งอำเภอมีผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงที่ต้องดูแล 118คน อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลท่าศาลาและ อบต.ท่าศาลาในพื้นที่ อบต.ท่าศาลาจะดูแลผู้สูงอายุประมาณ100 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เราพยายามทำให้ผู้สูงวัยจากติดบ้านติดเตียง เปลี่ยนเป็นติดสังคมให้มากขึ้น ในส่วนของมีผู้ดูแลหรือ Care Giver (CG) ก็มีการอบรมให้ความรู้และใช้ช่องทางสื่อสารทาง LINE เพื่อปรึกษาการทำงานระหว่างกัน และพยายามให้มีบันทึกการทำงาน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

"ในส่วนของปัญหาที่พบตอนนี้คือ ความไม่เพียงพอของเครื่องมือที่ CG ต้องใช้ เช่น เครื่องเจาะน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดความดัน ความไม่ชัดเจนของระเบียบการเบิกจ่าย การใช้จ่ายตามชุดสิทธิประโยชน์รายบุคคล การจ่ายค่าตอบแทน CGประชากรสูงอายุมีจำนวนมาก มีข้อเสนอว่าในส่วนการเบิกจ่าย ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้ง่ายในการปฏิบัติสอดคล้องกับระเบียบ และให้คณะอนุกรรมการ LTC ในพื้นที่สามารถวางระบบและดูแลการใช้จ่ายเงินได้ตามบริบทของพื้นที่" ราตรี กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ความสำเร็จของ อ.ท่าศาลา คือมีกองทุนสุขภาพตำบลที่เข้มแข็งและเกื้อหนุนกองทุน LTC นโยบายตรงนี้ก็ต้องดูว่าการดำเนินงานเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง เพื่อแก้ไขให้เดินหน้าได้มีประสิทธิภาพ การดูแลผู้สูงอายุระยะยว หัวใจคือบ้าน ใช้เตียงผู้ป่วยดูแลดีกว่าเตียง รพ. ใช้ญาติผู้ป่วยช่วยดูแลแทนพยาบาล ออกมาในทิศทางของการดูแลในชุมชน ชุมชนและครอบครัวเข็มแข็ง ตามคำขวัญของเทศบาล บริหารจัดการให้คนของท่าศาลาได้รับบริการสาธารณสุขที่ดี ท้องถิ่นเป็นเจ้าของที่จะดูแลคนกลุ่มนี้ ก็ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ในการดูแลคือ รพ., สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด อบรมให้ความรู้ CG เพื่อไม่ให้เกิดผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ถูกทิ้งไว้

"วันนี้มาดูว่า กองทุนตำบลที่ทำมา 10 ปีแล้ว มีปัญหาอะไรบ้าง อีกอันคือ LTC ที่เพิ่งเริ่ม มีปัญหาอย่างไร และจะแก้อย่างไร เพื่อให้คนของท่าศาลาได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ทางท่าน รมว.สธ.ก็ติดตามเรื่องนี้เพื่อให้ปัญหาอุปสรรคที่มีหมดไป และเดินหน้างานเพื่อประชาชนได้อย่างเต็มที่" ศักดิ์ชัย กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีสุวรรณ จ่อร้อง กสม. สอบกรณีนักเรียนเตรียมทหารตาย - กรรมการสิทธิฯ ยันพร้อมสอบ

Posted: 23 Nov 2017 11:31 AM PST

ศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมร้อง กสม. สอมกรณีการเสียชีวิตของ  เมย นักเรียนเตรียมทหาร 24 พ.ย.นี้  ขณะที่ อังคณา ยันกรรมการสิทธิฯ พร้อมสอบ ชี้จะทำให้คนรู้รักษาวินัย มีวิธีการการอื่นๆอีกมากมาย 

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

23 พ.ย. 2560 จากกรณี การเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ เมย นักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งข้อสงสัยจากทางญาติและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมากนั้น วันนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งว่า วันศุกร์ที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 10.30 น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ สนง.กสม.ชั้น 6 อาคารศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม. ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบการกระทำและปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั้งระบบ เพื่อนำความจริงมาชี้แจงต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงก่อนที่ กสม.ชุดนี้จะหมดวาระไป

ศรีสุวรรณ ระบุว่า กรณีนี้มีลักษณะการพิสูจน์ที่ผิดธรรมชาติกลายเป็นที่ครหาของสาธารณชนและกระทบต่อภาพลักษณ์ของโรงเรียนทหารและระบบการเรียนการสอนจนถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารสูงสุดของประเทศที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอาจขัดหรือแย้งต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วยโดยตรงโดยเฉพาะการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) แม้กระทั่งจนบัดนี้ก็ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวไม่ได้

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เห็นว่าด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 247 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ (1) ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง (2) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และอื่น ๆ

กสม.พร้อมตรวจสอบกรณี 'นตท.เนย'

ขณะที่วันเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานว่า อังคณา ลีนะไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ว่า รู้สึกตกใจและแปลกใจกับการที่แพทย์ออกมาระบุ  ในทำนองว่าสามารถเอาอวัยวะภายในของน้องเมยออกไปได้ตรวจได้ โดยไม่บอกญาติให้ทราบชัดเจนก่อน  ซึ่งต้องทำเป็นเอกสารให้เซ็นยินยอม   เพราะการเสียชีวิตผิดธรรมชาติที่จะต้องมีการชันสูตร  และหากญาติยังมีความข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต  ก็เป็นสิทธิที่จะผ่าศพพิสูจน์อีกกี่ครั้งก็ได้  เหมือนกับกรณีของ ห้างทอง ธรรมวัฒนะ ที่ก็มีการผ่าพิสูจน์หลายครั้ง และต้องสรุปชัดเจนก่อนว่าน้องเมย ตายเพราะอะไร หากเสียชีวิตเพราะถูกบังคับให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนร่างกายรับไม่ไหว   ก็ต้องถือว่าเสียชีวิตโดยการที่มีคน  ซึ่งมีอำนาจบังคับให้ต้องทำแบบนั้น  คนที่มีอำนาจคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามในส่วนของญาติผู้เสียหาย หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ กสม.พร้อมจะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง  

"จะตรวจสอบได้ว่ามีการละเมิดหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความจริงได้ง่าย  เพราะผู้ที่เห็นเหตุการณ์  คือนักเรียนนายร้อยด้วยกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าจะพูดหรือไม่ เพราะก็อาจจะอ้างเรื่องวินัย  พูดไม่ได้  เป็นความลับราชการ  ก็ยากจะหาหลักฐาน  นอกจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่ น่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร  แต่ก็อาจจะฟันธงไม่ได้ชัด ถ้าพยานที่เห็นเหตุการณ์ไม่พูดจริงๆ   เรื่องนี้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ระดับสูงคิดว่า เป็นเรื่องที่ควรจะเยียวยาครอบครัวเขา ก็ควรบอกความจริงกับเขาดีกว่า" อังคณา กล่าว

ส่วนที่ทหารอ้างว่าเรื่องธำรงวินัย เป็นเรื่องปกติที่จะฝึกวินัย ความอดทนของนักเรียนใหม่ อังคณา กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านทรมานแล้วทั้งปี 50 และปี 52  ประเทศก็มีภาระผูกพันที่ต้องทำตามอนุสัญญานี้   และอนุสัญญาต่อต้านทรมานของสหประชาติก็ระบุไว้ว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด  รวมถึงสภาวะสงคราม การทรมานไม่สามารถเอามาใช้เป็นเหตุผลที่จะกระทำกับบุคคลอย่างไรก็ไม่ได้ อีกทั้งปัจจุบันมีร่างกฎหมายทรมานสูญหาย  ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการแก้ไขของกระทรวงยุติธรรม   หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้นำกลับไปปรับปรุงเนื้อหา  ซึ่งตามร่างกฎหมายนี้ การทรมานจะกระทำไม่ได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ  และการทรมานตามนิยามไม่ได้หมายถึงการทรมานด้านร่างกายอย่างเดียว  แต่หมายรวมถึงการทรมานด้านจิตใจ การบังคับขู่เข็ญด้วย  ฉะนั้นการธำรงวินัย เช่น การชกท้อง หรือบังคับให้ทำอะไรหนักๆ เกินกว่าร่างกายจะรับไหว มันก็เข้าข่ายเป็นการทรมานเช่นกัน  

อังคณา กล่าวด้วยว่า การจะทำให้คนรู้รักษาวินัย มีวิธีการการอื่นๆอีกมากมาย  และประเพณีวัฒนธรรมอะไรที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องก็ควรจะปรับปรุง  รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน หากรัฐบาลจะประกาศเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ  ควรจะปฏิรูประบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สช.ค้านต่อใบอนุญาตใช้พาราควอต ชี้เป็นสารเคมีอันตราย ขัดมติสมัชชาสุขภาพ

Posted: 23 Nov 2017 11:09 AM PST

เลขาฯ กก.สุขภาพ ไม่เห็นด้วยกับกรมวิชาการเกษตร ต่ออายุการใช้ "พาราควอต" ทั้งที่รู้เป็นสารเคมีอันตราย ขัดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งทุกภาคส่วนร่วมกำหนดและขับเคลื่อน อนุฯขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ปลุกสังคมไทยลุกขึ้นต้าน 

23 พ.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตรต่ออายุการใช้ "พาราควอต" ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายต่อไปอีก 6 ปี แม้ว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เคยเสนอให้ยกเลิกการใช้และนำเข้าพาราควอตไปแล้ว เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคนั้น

พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การต่ออายุใบอนุญาตใช้สารเคมีเกษตร "พาราควอต" จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างมาก ซึ่งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่มีภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันผลักดันนโยบายเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในการปลูกพืช และพัฒนาแนวทางอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี จึงไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ใช้พาราควอตอีกต่อไป

"ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ต้องการเห็นมาตรการแก้ปัญหาสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ประเทศไทยซึ่งเคยมีความอุดมสมบูรณ์ในอดีต ปัจจุบันกลับถูกมองว่าเป็นแผ่นดินอาบยาพิษ เพราะใช้สารเคมีการเกษตรกันมากมายและแพร่หลาย แม้รายการสารเคมีที่เป็นอันตรายจริงๆ อาจมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่หนึ่งในนั้นก็คือพาราควอต จึงมีมติให้หน่วยงานที่รับผิดชอบยกเลิกการนำเข้ามาใช้ ขึ้นทะเบียน และจำหน่ายพาราควอต เพื่อดูแลสุขภาวะของประชาชนและผู้บริโภค รวมถึงตลาดสินค้าเกษตรส่งออกด้วย"

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้มี มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้อง 3มติ ได้แก่ มติในปี 2551 เรื่อง เกษตรและอาหารในยุควิกฤต และมติในปี 2555 อีก 2 เรื่อง คือ ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร หลังจากมีมติแล้ว คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้บูรณาการทำงานกับหลายหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนมติสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในการทำงานขับเคลื่อนก็มีทั้งผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน และกลุ่มประชาสังคมร่วมทำงานมาด้วยกันโดยตลอด จนถึงขั้นมีการจัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติควมคุมสารเคมีการเกษตร พ.ศ. .... เพื่อเสนอให้แยกการควบคุมวัตถุอันตรายประเภทสารเคมีการเกษตรออกจากวัตถุอันตรายทั่วไป และต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นความสำคัญของปัญหาความไม่ปลอดภัยของอาหารต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างมาก จึงให้กระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งแต่งตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง" โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานด้วยตนเอง  มีองค์ประกอบที่หลากหลาย และมีผู้แทนกรมวิชาการเกษตรร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วยเช่นกัน ในที่สุดคณะกรรมการฯ ได้มีมติเสนอให้ยกเลิกการใช้พาราควอต เมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา เพราะมีข้อมูลด้านที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

"สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะทำหนังสือยื่นคัดค้านเรื่องนี้อย่างเป็นทางการไปยังกรมวิชาการการเกษตร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เป็นผู้ต่ออายุพาราควอตต่อไป เพื่อยืนยันว่าการกำหนดนโยบายใดๆ ของรัฐต้องคำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหลักสำคัญ" พลเดช กล่าวย้ำ

จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหาร กล่าวว่า การเสนอให้ยกเลิกการใช้พาราควอตเพราะมีข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และได้มีการหารือกันหลายครั้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนของกรมวิชาการเกษตรเองก็มีส่วนร่วมโดยตลอด จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงได้ประกาศให้ต่ออายุใบอนุญาตสารเคมีพาราควอตให้บริษัทเอกชนออกไปอีก ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับสุขภาพประชาชนทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างยิ่ง

"การตัดสินใจต่ออายุการใช้พาราควอต เป็นการส่งสัญญาณให้สังคมเห็นว่า การดำเนินนโยบายใหม่ๆ เพื่อสุขภาพของคนไทยเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะอุปสรรคที่เกิดจากหน่วยงานซึ่งมีอำนาจตัดสินใจ ได้กลายเป็นปัญหาที่สะสมต่อไปอีก ผลลัพธ์สุดท้ายคือสุขภาพและประโยชน์ที่ประชาชนสูญเสียไป" จิราพร กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ธ.ค. นี้ คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหาร ก็จะรายงานผลการทำงานเพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้รับรู้ผ่านทางนิทรรศการและเวทีเสวนาต่างๆ ให้สังคมตื่นตัวและร่วมกันแสดงพลังต่อต้าน และหาทางออกต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: ไทยกับสังคมนิยม ปชต. เลือกตั้งต้องเลิก 3/2558 ปชช. คือผู้ชี้ชะตา

Posted: 23 Nov 2017 10:07 AM PST

สังคมนิยมประชาธิปไตยต้องค่อยเป็นค่อยไป ไทยเริ่มที่ติดลบ เลือกตั้งปีหน้าลูกผีลูกคน กฎตั้งอย่างไรก็ได้แต่ประชาชนเป็นคนตัดสิน เลือกตั้งหน้าต้องยกเลิก คสช. 3/2558 เพื่อปลดล็อค อนาคตความคิดต่างควรแข่งขันบนสนามที่แฟร์กับทุกฝ่าย ตัวแทนแรงงานระบุ ขบวนแรงงานยังแตกแยก หวังฟ้าใหม่ร่วมงานนักศึกษา เกษตรกร

(ซ้ายไปขวา): สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ บุญสม ทาวิจิตร

23 พ.ย. 2560 มูลนิธิฟรีดิช เอแบร์ จัดงานเปิดตัวหนังสือเรื่อง "ความคิดพื้นฐานว่าด้วยสังคมประชาธิปไตย" และมีงานเสวนาในประเด็นอนาคตของประเทศไทยว่าสังคมจะก้าวไปอย่างไร มี ผศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงาน พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ จากเวทีเอเชียว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (FORUM-ASIA) เป็นวิทยากร และศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยาเป็นผู้ดำเนินรายการ

สังคมนิยมประชาธิปไตยต้องค่อยเป็นค่อยไป ไทยเริ่มที่ติดลบ เลือกตั้งปีหน้าลูกผีลูกคน กฎตั้งอย่างไรก็ได้แต่ประชาชนเป็นคนตัดสิน

สิริพรรณกล่าวว่า เชื่อว่าคนไทยไม่ถึงร้อยละสิบที่เข้าใจความหมายของคำว่าสังคมนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยมประชาธิปไตยจริงๆ เป็นสิ่งที่ไปไกลกว่าประชาธิปไตย ประเด็นที่ว่าสังคมไทยจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะถ้ามองสังคมไทยตอนนี้ในการที่จะไปสู่การเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ดิฉันมองว่าตอนนี้ไทยไม่ได้ตั้งต้นอยู่ที่ศูนย์ แต่ติดลบและไม่ใช่ลบหนึ่งด้วย ดังนั้นเราจึงต้องใช้พลังเยอะมากที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดนั้น

สังคมนิยมประชาธิปไตย คือรูปแบบการปกครอง ทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ สามารถคิดค้นด้านการมีส่วนร่วมในหลายรูปแบบ ในส่วนที่เรียนรู้ปฏิบัติตาม หรือ ลอกเรียนแบบตามกันมาคือให้มีการเลือกตั้งโดยใช้ระบบเลือกตัวแทนเข้ามาบริหารประเทศ ส่วนรายละเอียดนั้นก็จะแตกต่างกันไป ในเงื่อนไขของการพัฒนาที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศให้มากที่สุด หลายประเทศคิดถึงระบบการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลจัดการตนเอง

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้น ใช้รูปแบบสังคมนิยม ระบบสังคมนิยมในจินตนาการตั้งอยู่บนความคิดที่ต้องการให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยุติธรรม ทุกคนร่วมกันทำงานเพื่อสร้างผลผลิตส่วนรวม และได้รับ สวัสดิการ พยายามกระจายรายได้โดยรัฐให้ประชาชนให้ทั่วถึงทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีรัฐสวัสดิการที่ควรมีอยู่พอสมควร ระบบสังคมนิยมไม่จำเป็นที่จะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการหรือระบอบใดระบอบหนึ่งแต่สามารถอยู่ได้ทุกระบอบเพราะเป็นเพียงระบบเศรษฐกิจเท่านั้นไม่ใช่ระบอบการปกครอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: สังคมนิยมประชาธิปไตย ทางออก หรือ ทางเลือก

แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยจะเกิดได้คือ หนึ่ง รัฐต้องเข้มแข็งมากพอที่จะเข้ามาก้าวก่ายระบบเศรษฐกิจเพื่อจัดการระบบเศรษฐกิจให้สร้างความเป็นธรรมในสังคม ถ้ารัฐอ่อนแอจะทำไม่ได้ แล้วทำไมต้องประชาธิปไตย เพราะการก้าวก่ายเพื่อสร้างความเป็นธรรม เสมอภาคและภราดรภาพ ต้องได้รับความชอบธรรมอย่างสูง รัฐเผด็จการ รัฐที่ไม่มีความชอบธรรมทำไม่ได้ รัฐที่ชอบธรรมจึงเป็นรัฐที่ต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม หลักของแนวคิดนี้คือต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป หลายคนอาจจะอยากปฏิวัติ (Revolution) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นของสังคมตะวันตกในการเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นได้มาผ่านการวิวัฒนาการ (Evolution)

ประเด็นคือเราจะไม่มีทางไปสู่ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมประชาธิปไตยถ้าแรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง จริงๆแล้วประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีพลังที่สุดคือผู้ใช้แรงงาน แต่ถูกทำให้นิ่งมานาน เพราะเวลาเราไปเลือกตั้งผู้ใช้แรงงานถูกทำให้ไปเลือกตั้งในฐานะภาคเกษตรกร คือเวลาทำงานไปทำที่อื่น แต่ไปเลือกตั้งต้องกลับภูมิลำเนา เสียงแรงงานจึงไม่เคยถูกสะท้อนผ่านพรรคใดๆ ตราบใดที่แรงงานถูกกดทับแบบนี้ ประเทศจะไม่มีทางไปสู่การเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย

สิริพรรณเสนอว่า ควรแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งให้แรงงานเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานได้ อย่าลืมว่ารัฐและอำนาจรัฐที่เป็นองคาพยพที่ใหญ่ เวลาเขาคิดการทั้งหมดตั้งแต่ 2549 ถึงวันนี้ เขาได้ต่อจุดเอาไว้ และจุดของเขามันเยอะมาก เขากดปุ่มหลายปุ่มพร้อมกัน แล้วฝ่ายที่ทำงานเพื่อประชาธิปไตยได้ทำอย่างนั้นไหม นอกจากไม่ได้ทำงานร่วมกันแล้วยังแซะกันไปแซะกันมา ถ้าจุดที่จะต้องทำร่วมกันคืออย่างน้อยรณรงค์ให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการลงทะเบียนเลือกตั้งในเขตที่ตัวเองทำงานเพื่อให้พลังแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีอำนาจต่อรอง ถ้าคุณรวมกันได้สองหมื่นเสียง พรรคการเมืองจะฟังคุณไหม ที่ผ่านมามีแต่นโยบายตอบโจทย์เกษตรกร แต่ไม่มีนโยบายตอบโจทย์แรงงานเพราะเสียงเหล่านี้ไม่เคยรวมกัน

ในประเด็นการเลือกตั้งครั้งหน้าของไทย อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งของไทยครั้งหน้าต้องใช้คำว่าอาจจะเกิดหรือไม่เกิด (Contingent) เพราะไม่มีทิศทางชัดเจนที่จะบอกได้ เราได้ยินพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณเดือน พ.ย. ปีหน้า แต่สัญญาณที่ออกมาจากทางรัฐบาลเองก็คิดว่าไม่น่ามี แต่ถ้าดูจากลางสังหรณ์คิดว่าไม่มีเลือกตั้งในปีหน้า ถ้าถามว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้เห็นอะไร ส่วนตัวคิดว่าหลายคนคิดว่าเป็นการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญที่ไม่มีประชาธิปไตยที่สุดท้ายก็จะได้นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนอาจไม่ได้เลือก ส่วนตัวคิดว่า อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งหน้าจะน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นเรื่องที่ท้าทายกฎระเบียบและพลังประชาชนจำนวนมาก เพราะเรารู้ว่ากลไกการเลือกตั้งถูกออกแบบมาทำให้พฤติกรรมการเลือกตั้งเปลี่ยน จากเลือกพรรคเป็นคน ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้พรรคลดความเป็นระบบพรรคการเมืองลง แต่ละเขตพรรคเดียวกันก็จะมีเบอร์ต่างกันไป ทั้งหมดเป็นการออกแบบกลไกกติกาเพื่อมุ่งสู่การทำลายระบบพรรคการเมือง ลดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรคการเมือง ลดทอนประสิทธิภาพประชาชนในกรณีที่ประชาชนอาจไม่ได้เป็นคนเลือกนายกฯ เอง แต่ประสบการณ์ทั่วโลกก็บอกว่าระบบเลือกตั้งไม่สามารถทำได้อย่างที่ผู้ร่างคิดเสมอไป พลังที่จะท้าทายกลไกนั้นคือพลังประชาชน ทว่า จะท้าทายและลดทอนกลไกดังกล่าวได้หรือเปล่า นอกจากนั้น ทุกการเลือกตั้งสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนจะได้ขับเคลื่อน มีการสนทนาและมีการแลกเปลี่ยนของกลุ่มต่างๆ ตรงนี้คือประกายสำคัญที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งโดยธรรมชาติมันทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทำได้ด้วยเราก็ควรจะทำ เช่นการเชื่อมโยงจุดต่างๆ เคลื่อนไหวในมุมของตัวเอง และถ้าแต่ละคนสามารถทำงานร่วมกันได้จะเป็นอะไรที่ดีมาก

การเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยอาจจะอยู่อีกไกล แต่เราควรมีเป้าหมาย และสังคมนิยมประชาธิปไตยควรเป็นอีกเป้าหมายที่ควรไปถึง แต่ตอนนี้เราไม่ได้แค่สู้กับระบบการเมือง แต่กำลังสู้กับระบบเศรษฐกิจด้วย ปรเด็นที่สู้คือ รัฐกับทุนกำลังร่วมมือกัน แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหน วันนี้เราอยากเห็นประชาชนไม่ได้มองตัวเองเป็นราษฎรอีกต่อไป แต่เป็นพลเมืองที่ตระหนักในความเป็นพลเมืองของเรา และได้รับการปฏิบัติต่อในฐานะพลเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นการขับเคลื่อนอย่างอื่นจะตามมา

เลือกตั้งหน้าต้องยกเลิก คสช. 3/2558 เพื่อปลดล็อค อนาคตความคิดต่างควรแข่งขันบนสนามที่แฟร์กับทุกฝ่าย

พิมพ์สิริกล่าวว่า ความน่าสนใจของแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยในแง่ประวัติศาสตร์คือกระบวนการที่เป็นลักษณะของการปฏิรูปมากกว่าการปฏิวัติที่สะท้อนว่ามีการประนีประนอมแล้วกับระบบทุนนิยม รัฐสวัสดิการต่างๆ มีไว้เพื่อไม่ให้มีความตึงเครียดระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคม กลับมาถึงคำถามสังคมนิยมปะชาธิปไตยว่าเหมาะกับสังคมไทยไหม ท้ายที่สุดคำตอบคือเราต้องการอะไร เราต้องการไปสู่สังคมในอุดมคติที่เราต้องการหรือไม่ ตอนนี้ก็เชื่อว่าหลังวาทกรรมระบบตลาดเสรีนิยมใหม่ก็ยังมีคนบางกลุ่มอยากเห็นสังคมนิยมสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเอาฉันทามติคนในสังคมมองก็มองว่าระบบตลาดคือที่สุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม สังคมนิยมประชาธิปไตยคือทางออกที่ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ห่างจนเกินไป

แนวทางในอนาคตอย่างแรกต้องเริ่มจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ถึงจะทำให้มีการพูดคุย มีบรรยากาศพูดคุยที่เปิด คิดว่าภาคประชาสังคมต้องชัดเจนด้วยว่าถ้าจะไปสู่การเลือกตั้งอย่างน้อยคำสั่งที่ 3/2558 ต้องถูกยกเลิก นี่ถือว่าเป็นอย่างน้อย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการเลือกตั้งที่คุยกันเรื่องการเมืองไม่ได้ ชุมนุม หาเสียงเปิดเผยไม่ได้

คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่มีหน้าที่ปราบปรามคดีการเมือง ได้แก่

หนึ่ง มีอำนาจ "ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว" ต่อเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามหรือมาให้ถ้อยคํา หรือส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับนี้

สอง มีอำนาจ "จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า" และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป

สาม มีหน้าที่ "ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวน" ในความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับนี้ และหากเข้าร่วมการสอบสวนคดีใดก็ให้ถือว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย

สี่ มีอำนาจ "ตรวจค้นเคหสถาน, บุคคล หรือยานพาหนะ" เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดย "มีหลักฐานตามสมควร" ว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจดังกล่าว ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากการรอเอาหมายค้นมา บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

ห้า มีอำนาจ "ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน" ที่ค้นพบจากการตรวจค้นตัวบุคคล เคหสถาน หรือยานพาหนะ

หก กระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

เจ็ด มีอำนาจ "ควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวัน" ในกรณีที่เรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล และการสอบถามยังไม่เสร็จ โดยต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหาไม่ได้

แปด การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัว เช่น ในกรณีที่บุคคลถูกควบคุมตัวเจ้าพนักงานจะปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีก็ได้ เช่น การกำหนดพื้นที่ห้ามเข้า การเรียกประกันทัณฑ์บน การห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง การห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หรือ การระงับธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น

ที่มา: iLaw

วิทยากรจาก FORUM-ASIA กล่าวว่า อนาคตของไทยเป็นไปได้สองทาง หนึ่ง ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งตลอดสิบปีที่จริงๆ ตั้งใจดีกับประเทศทั้งสองฝั่ง แต่อาจจะมีประเด็นหลักไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งอาจต่อต้านคอร์รัปชั้น ธรรมาภิบาล อีกฝั่งหนึ่งเน้นการมีส่วนร่วม แต่ถ้ามีคนตรงกลางที่ผสานสองฝ่ายได้ก็อาจจะสวยงาม แต่ปัญหาคือใครจะเป็นคนนั้น สอง อุดมการณ์ไม่จำเป็นต้องบรรจบกันตรงกลาง ต่างคนก็ต่างเดิน เป็นการแข่งขันไปเลย แต่ละฝ่ายเน้นประเด็นหลักของตนเป็นประชาธิปไตยแบบแข่งขัน

ทุกภาคส่วนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน คิดว่าสะดวกใจมากกว่าที่คนจะคิดไม่เหมือนกันและแต่ละคนรณรงค์ในแนวทางของตัวเอง แต่ต้องยอมรับร่วมกันว่าจะต้องทำให้สนามแข่งขันเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเท่าๆ กัน คุณจะไม่เอาประชาธิปไตยก็ไม่เอาก็ได้ จะตั้งพรรคการเมืองที่ชูธงเรื่องธรรมภิบาล ปกครองแบบอำนาจนิยมก็ได้ ฝ่ายที่อยากได้ประชาธิปไตย อยากได้การมีส่วนร่วมก็รวมตัวกันมา

ตัวแทนแรงงานระบุ ขบวนแรงงานยังแตกแยก หวังฟ้าใหม่ร่วมงานนักศึกษา เกษตรกร

บุญสม กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในคนไทยที่ไม่รู้เรื่องสังคมนิยมประชาธิปไตย อาจจะด้วยข้อจำกัดของการเป็นแรงงาน ส่วนใหญ่คนงานและสหภาพแรงงานจะมุ่งหน้าสู่การทำงานเพื่อปากท้องของครอบครัว เขาจะไม่รูู้ว่าแนวคิดเหล่านี้เป็นอย่างไร คนงานไม่เคยเห็นหนังสือลักษณะนี้ ถึงเคยเห็นแต่การศึกษาก็น้อยมาก อย่างที่เข้าใจว่านายจ้าง นายทุนกับการให้การศึกษาเกี่ยวกับหลักคิดสังคมนิยมและความเท่าเทียมมันเป็นเรื่องที่อยู่บนเส้นขนานระหว่างกันอยู่แล้ว และตนคิดว่าถ้าคนงานรู้จักหนังสือประเภทนี้ พวกเขาอาจจะมีแนวคิด ทฤษฎีในการจัดตั้งกับคนงานมากขึ้นและอาจจะนำไปสู่การมีทางเลือกในการเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยที่คนงานจะใช้สิทธิ์ทางอ้อมได้

สิบปีที่ผ่านมาแรงงานแตกเป็นเสี่ยง จากกลุ่มที่จับมือกันมาพอเจอสถานการณ์แบบนี้ทำให้แบ่งขั้วกันชัดเจน จึงไม่แน่ใจถึงความเป็นไปได้ที่จะผสาน ประนีประนอมให้เป็นหัวขบวนในการต่อสู้ทางการเมืองและสังคม ถ้ามีการเลือกตั้งอนาคตจะเป็นอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของแรงงานที่จะต้องผสานความร่วมมือกันให้ได้ เมื่อช่วงบ่ายๆ วันนี้ก็ได้ไปคุยกันในรายการวิทยุไทยพีบีเอสว่า ตอนนี้กระบวนแรงงานถูกกระทำเยอะแยะมากมาย แล้วจะทำอย่างไรในสถานการณ์ที่รัฐบาลเผด็จการครอบงำ หลายคนก็บอกว่าให้รอไปก่อน ให้ฟ้าใหม่มาค่อยออกมา เพราะถ้าเคลื่อนไหวตอนนี้ก็ไม่รู้เลยว่าจะท้าทายอำนาจที่มีล้นฟ้าได้อย่างไร แต่ส่วนหนึ่งก็มีการพูดคุยในองค์กรว่า การรอเวลาเลือกตั้งเป็นท่าทีที่อาจจะเปลี่ยนได้

ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตอยากเห็นเครือข่ายสามประสาน คือนักศึกษา กรรมกรและชาวนา แต่แรงงานเองก็คิดว่าต้องรอฟ้าใหม่ หวังอย่างยิ่งว่า เมื่อฟ้าใหม่แล้วจะได้ร่วมมือกับชาวนาและนักศึกษาก็ ก็เป็นคำถามว่าขบวนแรงงานเองจะสร้างความเข้มแข็งอย่างไรในอนาคต และต้องปรับขบวนตัวเองให้ไวที่สุด มีการต่อสู้ทางความคิดไม่เช่นนั้นก็จะเป็นผู้ถูกปกครองตลอดไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รบ.แจงแก้กฎหมาย กอ.รมน.ไม่ใช่คำสั่งคุม ปชช. วางแนวสอดคล้องพัฒนาภูมิภาค

Posted: 23 Nov 2017 09:27 AM PST

23 พ.ย.2560 จากกรณี วานนี้ (22 พ.ย.60)ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หลายมาตรา โดยเพิ่มนิยามของการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้รวมถึงในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับ กอ.รมน. ในส่วนงานการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และ ให้สํานักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ ให้เป็นไปตามแผนและแนวทางนั้นด้วย พร้อมทั้งเพิ่มอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ กอ.รมน. เป็นต้น

ล่าสุดวันนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ตามคำสั่งนี้ เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการกระทําของบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากภัยจากธรรมชาติที่เป็นสาธารณภัยด้วย

"คำสั่งดังกล่าวจึงต้องการสร้างความชัดเจนว่า การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรก็คือ การป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย ซึ่งเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคล รวมถึงสาธารณภัยต่าง ๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย ธรณีพิบัติภัย ฯลฯ ให้กลับสู่สภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ไปควบคุมหรือก่อให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนแต่อย่างใด"

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ผู้รับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับเดิมอยู่แล้ว ทั้ง กอ.รมน.กลาง กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด เพียงแต่เพิ่มเติมงานด้านสาธารณภัยเข้าไป และสร้างกลไกให้การทำงานในระดับภาคและจังหวัดมีความชัดเจนมากขึ้น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เช่น ทหาร ตำรวจ อัยการ ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ ผอ.สำนักงาน ปปส.ในพื้นที่ เป็นต้น

"นายกฯ ระบุว่า นอกจากงานด้านความมั่นคงแล้ว รัฐบาลและ คสช. ยังให้ความสำคัญกับการนํานโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยให้แต่ละภูมิภาคกําหนดมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ และมีความเชื่อมโยงกันทั้งในระดับภาคและจังหวัด สอดคล้องกับทิศทางการบริหารงบประมาณใหม่ที่มุ่งพัฒนาภูมิภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด อย่างตรงจุด" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และประชาชาติธิรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. สั่งปิด ‘TV24’ 30 วัน อ้างเสนอข่าวไม่เป็นกลาง-ไม่รอบด้าน

Posted: 23 Nov 2017 09:14 AM PST

กสทช.คำสั่ง ให้ TV24 ยุติการออกอากาศ 30 วัน ระบุเหตุมีเนื้อหาบางรายการที่มีความไม่เป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลต่างๆให้ครบถ้วนรอบด้าน 

23 พ.ย. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ TV24 สถานีประชาชน โพสต์ข้อความวันนี้ เมื่อเวลา 20.30 น. ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน ยุติการออกอากาศในเที่ยงคืนนี้ (เวลา 0.01 น. ของวันที่ 24 พ.ย. 2560) เป็นเวลา 30 วัน เนื่องจาก "รายการคมข่าว" และ "รายการ ไฟเขียวความคิด" ขัดต่อเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการ

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ กสทช.ได้นำคำสั่ง กสทช. ระงับการออกอากาศ ช่องรายการ TV24 เป็นเวลา 30 วัน มายื่นที่สำนักงาน TV24 ชั้น5 อาคารอิมพีเรียล ลาดพร้าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า หนังสือระบุถึงสาเหตุที่ระงับการออกอากาศว่า มีเนื้อหาบางรายการที่มีความไม่เป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลต่างๆให้ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งที่เคยได้รับการกำหนดโทษทางปกครอง และใช้มาตรการทางปกครอง เช่นการเตือนหรือการสั่งระงับการออกอากาศบางรายการ และขอความร่วมมือในการนำเสนอเนื้อในรายการต่างๆ มาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อ 10 เม.ย. 2558 ถึง 16 เม.ย. 2558 ก็ถูกคำสั่ง กสทช. ปิดไป 7 วัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.เห็นชอบร่าง ก.ม.ลูกศาล รธน. เพิ่มเกราะวิจารณ์ อาจคุก 1 เดือน ปรับ 5 หมื่น

Posted: 23 Nov 2017 08:56 AM PST

สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพิ่มอำนาจออกมาตรการชั่วคราวบังคับหน่วยงานดำเนินการได้ และไม่รีเชตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ iLaw ชี้วิจารณ์ศาลฯ อาจคุก 1 เดือน ปรับ 5 หมื่น

23 พ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 และ 3 โดยที่ประชุม สนช. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้วยคะแนน 188 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สำหรับขั้นตอนต่อไป ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ ไปให้ กรธ. และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีประเด็นใดขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนจะส่งความเห็นกลับมายัง สนช. เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย หรือหากทั้ง 2 หน่วยงาน เห็นว่าไม่มีประเด็นใดขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประธาน สนช. ก็จะส่งร่างกฎหมายไปให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนการลงมติ รายงานข่าวระบุว่า สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถออกมาตรการชั่วคราวได้ เพื่อป้องกันความเสียหายและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น โดยคำร้องของผู้ร้อง จะต้องมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะวินิจฉัย เพื่อออกคำสั่งไปยังหน่วยงานรัฐ ให้ปฏิบัติตามในกรอบเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ซึ่งมาตรการชั่วคราวนี้ จะต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบ และภายใน 30 วัน หาก ส.ส. มีการเสนอญัตติ และมีมติรับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ศาลดำเนินการตามมตินั้น  และกมธ.ปรับแก้สถานะการคงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ครบวาระให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แม้ว่าจะมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะ ตุลาการฯปัจจุบัน เข้ามาทำหน้าที่และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว แต่อยู่รักษาการตามคำสั่ง คสช. นั้น ให้อยู่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่

อุดม รัฐอมฤติ กรธ. ซึ่งกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการ เพิ่มอำนาจให้ศาลฯออกมาตรการชั่วคราวได้ เพราะถือเป็นการให้อำนาจศาลเกินขอบเขต และเกรงจะเกิดวิกฤตทางการเมือง เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตุลาการที่ดูแลอำนาจหน่วยงานที่ใช้อำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศ หากให้อำนาจนี้อาจเกิดปัญหาตามมา และอาจถูกมองว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ทางการเมือง เช่น หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตดำเนินการสิ่งใด แต่ศาลออกมาตรการชั่วคราวให้ระงับ จะทำให้ศาลถูกครหาได้  อีกทั้งตามหลักสากล ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวางตัวเป็นกลาง 

บรรเจิด สิงคเนติ กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ยังคงยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องมีอำนาจการออกมาตรการชั่วคราว เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคำร้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้สิทธิประชาชน สามารถยื่นคำร้องฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้โดยตรง แต่หากศาลไม่มีอำนาจ หรือเครื่องมือไประงับยับยั้ง หรือออกมาตรการใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยประชาชนได้ จึงมีความจำเป็น และจะต้องมีมาตรการนี้ ขณะเดียวกัน หลังการออกมาตรการ ก็จะต้องส่งเรื่องไปให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบอยู่แล้ว จึงถือเป็นมาตรการทั่วไป สำหรับทั่วโลกที่มีศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กังวลว่า การส่งคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ มาให้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ส.ส. ตรวจสอบ อาจเป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายตุลาการ จึงเสนอให้ตัดขั้นตอนที่ต้องส่งมาให้ ส.ส. ตรวจสอบ เพราะในอนาคตหากรัฐบาลมีเสียง ส.ส. ข้างมากในสภา ส.ส. อาจโหวตคว่ำมาตรการชั่วคราวนั้น โดยเฉพาะกรณีที่ศาลวินิจฉัยไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และเห็นว่า การบัญญัติให้ ส.ส. ตรวจสอบการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่รับรองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันหน่วยงานรัฐ

ส่วนประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ.ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วย และยืนยันให้รีเซตตุลาการที่ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่ง  เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด การทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการ จึงจะต้องมีความน่าเชื่อถือและมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ถูกโต้แย้งการทำหน้าที่ ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่รักษาการตามคำสั่ง คสช. ก็ควรให้ทำหน้าที่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่

ด้านสมาชิก สนช.เสนอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 4 คน และที่อยู่รักษาการอีก 5 คน อยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ และเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ จนกว่าจะมีคณะกรรมการสรรหาครบองค์ประกอบ เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ มีความสง่างาม และป้องกันประเด็นทางการเมือง จากนั้น กรรมาธิการฯ ยอมปรับแก้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ที่ทำหน้าที่รักษาการตามคำสั่ง คสช.นั้น จะเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ หลังการเลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว. เพื่อให้มีคณะกรรมการสรรหาครบองค์ประกอบ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช. ก็มีมติเสียงข้างมากตามที่กรรมาธิการฯ แก้ไข โดยกระบวนการสรรหา การตรวจสอบคุณสมบัติ การลงมติของ สนช. และขั้นตอนทูลเกล้าฯ น่าจะใช้เวลาระยะเวลารวมประมาณ 200 วัน

iLaw ชี้วิจารณ์ศาลฯ อาจคุก 1 เดือน ปรับ 5 หมื่น

iLaw สาระสำคัญๆ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ "สิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ" และ "การห้ามละเมิดอำนาจศาล"

"สิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ" มาจากมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ว่า "บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ" 

iLaw อธิบายเพิ่มเติมว่า พ.ร.ป ฉบับนี้ได้กำหนดรายละเอียดเรื่องสิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้

การฟ้องให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหมวด 5 

ประชาชนสามารถยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่รัฐไม่ปฏิบัติตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ อำนาจนี้ปรากฎอยู่ในมาตรา 7 (3/1) ซึ่งเป็นมาตราที่กมธ.วิสามัญได้พิจารณาเพิ่มขึ้นมาจากร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 

โดยวิธีการยื่นคำร้องตามหมวด 5 อยู่ในมาตรา 44/1 แต่ประชาชนจะฟ้องต้องยื่นร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน หากหน่วยงานรัฐปฏิเสธ ไม่ดำเนินการภายใน 90 วัน ให้ประชาชนยื่นหนังสือโต้แย้งต่อหน่วยงานนั้นภายใน 30 วัน และให้ยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน หลังยื่นหนังสือโต้แย้งต่อหน่วยงานรัฐ และหากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไม่ครบถ้วน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสั่งการ เเต่ถ้าหากผู้ร้องเห็นว่าคณะรัฐมตรีปฏิบัติไม่ถูกต้อง จึงจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้

การฟ้องคดีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ

ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพสามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฎอยู่ในมาตรา 7 (10) ซึ่งกมธ.วิสามัญได้แก้ไขมาตรา 46 บัญญัติเพิ่มเติมว่า การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นต้องเป็นการละเมิดสิทธิอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจของรัฐ และจำกัดว่าต้องไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล

โดยวิธีการยื่นคำร้อง อยู่ในมาตรา 47 ให้ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน โดยให้แจ้งผลให้ผู้ร้องทราบภายใน 10 วัน หลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ผู้ร้องจะต้องทราบผลภายใน 70 วัน แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องหรือไม่ทำตามเวลาที่กำหนด ผู้ละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง

"การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" ปรากฏอยู่ในมาตรา 38-39 ของร่างฉบับนี้

โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว

นอกจากนั้น มาตรา 38 วรรคสาม กำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำสั่งและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย ซึ่งกมธ.วิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความจากร่างฉบับเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่กำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น

การละเมิดอำนาจศาลมีบทลงโทษตามมาตรา 39 ตั้งเเต่ การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ กมธ.วิสามัญฯ ยังได้แก้ไขมาตรา 39 ด้วยการเพิ่มเติมวิธีการตัดสินลงโทษการละเมิดอำนาจศาล โดยการสั่งลงโทษนั้นต้องมีมติสองในสามจากตุลาการฯ ซึ่งเท่ากับตุลาการฯ 6 คน จากทั้งหมด 9 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำพิพากษาภายใต้เจตนารมณ์ “เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี” และข้อสังเกตคดี 7 นักศึกษา

Posted: 23 Nov 2017 08:01 AM PST


…ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลบัญญัติไว้โดยเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยราบรื่น ไม่ถูกรบกวน มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น การทำหน้าที่ของศาลและตุลาการต้องเป็นอิสระ โดยหลักความอิสระของศาลมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย โดยเหตุที่ศาลเป็นองค์กรหนึี่งของรัฐ ทำหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดี จึงต้องไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจใด ๆ มาแทรกแซง เพื่อให้การตัดสินคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ มีความเปิดเผย โปร่งใส ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ และเมื่อมีคำพิพากษาคู่ความต้องยอมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามลำดับ การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาสามารถกระทำได้ โดยเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครอง การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวย่อมกระทำมิได้ แต่การแสดงความเห็นหาใช่ไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัดไม่ แต่ต้องกระทำโดยสุจริต ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อบุคคลอื่น ไม่ขาดเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ทำด้วยอารมณ์ความรู้สึก…

เป็นคำกล่าวถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น นายบุญธรรม ตุกชูแสง ยกขึ้นมาอธิบายไว้ในคำพิพากษา ก่อนที่จะวินิจฉัยถึงพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา ในคดีที่ 7 นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลว่า

พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 กับพวกที่นำสัญลักษณ์ตราชั่งที่มีรองเท้าบูทแขวนมาแสดง เป็นการกระทำที่ทำต่อเนื่องกันทันทีกับการพิจารณาคดีของจตุภัทร์ อันเป็นการสื่อความหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่า ศาลเอนเอียงไปทางรองเท้าบูท ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 กับพวก ต้องการกดดันการใช้ดุลพินิจของศาล เป็นการนำมวลชนมากดดัน โดยประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือศาล เพื่อให้ศาลตัดสินตามใจตน พฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาล อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความหลงผิดว่า ศาลทำหน้าที่โดยไม่เป็นอิสระ กระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสถาบันศาล หาใช่การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตไม่ แต่เป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 ให้การว่า การกระทำของพวกตนเป็นเพียงมาให้กำลังใจนายจตุภัทร์ และกระทำที่นอกบริเวณศาล ไม่ได้ขัดขวางหรือแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี และนำสืบว่า อุปกรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ตาชั่งและรองเท้าบูทหมายถึง สิทธิเสรีภาพที่ถูกลิดรอนโดยทหาร ไม่ได้หมายถึงศาล หากมีเจตนาเช่นนั้นจริงแล้ว เหตุใดจึงจัดกิจกรรมที่หน้าป้ายศาล และเลือกทำในวันที่มีการพิจารณาคดีของจตุภัทร์ นอกจากนี้ จากการไต่สวนได้ความว่า ในวันดังกล่าวมีนักข่าวเสนอข่าว บ่งชี้ว่า มีการนัดหมายกันมาทำกิจกรรม หาใช่การแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจไม่ ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิด

ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 กล่าวอ้างว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 ตนเพียงเดินทางมาให้กำลังใจจตุภัทร์ ได้มีคนเรียกตนไปถ่ายรูปพร้อมยื่นหน้ากากรูปหน้าไผ่ให้ เนื่องจากต้องการสื่อสารว่า "เราทุกคนคือไผ่" จากนั้น หลังการพิจารณาคดีของจตุภัทร์เสร็จแล้ว ตนทราบว่าจะมีกิจกรรมของนักศึกษาสี่ภาค และกลุ่มดาวดิน จึงได้เดินไปดู มีคนแจกดอกกุหลาบสีขาวเพื่อให้คนนำไปวางให้กำลังใจจตุภัทร์ ตนจึงนำดอกกุหลาบไปวางเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์เท่านั้น แต่จากการไต่สวนเห็นว่าภาพถ่ายที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ร่วมถ่ายภาพนั้น มีข้อความ "Free Pai" เป็นการสื่อความหมายให้ศาลให้ประกันนายจตุภัทร์ จึงเป็นการใช้มวลชนมากดดันศาล แทรกแซงการวินิจฉัยของศาล หาใช่การให้กำลังใจนายจตุภัทร์โดยบริสุทธิ์ใจไม่ ดังนั้น ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จะมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 หรือไม่ ก็ถือว่า ประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงพิพากษาว่า

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) และมาตรา 33 พิเคราะห์พฤติการณ์และรายงานการสืบเสาะเห็นว่า มูลเหตุในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล ประกอบกับอยู่ในวัยเยาว์ด้อยประสบการณ์ จึงตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี บิดเบือนข้อมูลว่า ศาลมีกระบวนการพิจารณาคดีขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หรือวางตัวไม่เป็นกลาง หากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 ได้ศึกษา ย่อมเข้าใจบริบทของศาล ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เป็นผู้ใหญ่ จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีแล้ว ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นอย่างดี

จากการสืบเสาะของเจ้าพนักงานคุมประพฤติพบว่า แต่ละคนมีแนวคิดและอุดมการณ์ส่อไปในทางที่ดี หากได้รับการอบรมเชื่อว่า จะสามารถปรับปรุงความคิดตนเองได้ จึงเห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 เป็นเวลา 2 ปี และผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี ให้คุมประพฤติผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 ไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง กับทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชม. ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก

คดีนี้สืบเนื่องจาก ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้กล่าวหา ได้จัดทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ในวันดังกล่าว เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีกลุ่มคนที่สนับสนุนนายจตุภัทร์ หรือไผ่ บุญภัทรรักษา จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 301/2560 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น โจทก์ นายจตุภัทร์ หรือไผ่ บุญภัทรรักษา จำเลย ในความผิดเรื่อง หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ประพฤติตนในลักษณะไม่พอใจการพิจารณาของศาลในคดีดังกล่าว โดยกล่าวปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจในการพิจารณาคดีของศาล เหตุเกิดบริเวณป้ายศาลอุทธรณ์ภาค 4, ศาลจังหวัดขอนแก่น และศาลแขวงขอนแก่น บริเวณประตูรั้วทางเข้าบริเวณศาล ผู้กล่าวหาเห็นว่า การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลจังหวัดขอนแก่นได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน

ศาลได้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงจากผู้กล่าวหา และพยานของผู้กล่าวหา แล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงได้หมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-7 มาไต่สวน

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 ยอมรับว่า เป็นบุคคลที่ได้มาทำกิจกรรมบริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 จริง แต่ให้การปฏิเสธในทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้เป็นการรบกวนกระบวนการพิจารณาคดีของศาล เป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต ที่ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นปกติ ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ไม่ได้ก่อความรุนแรงหรือก่ออันตรายใด ๆ อีกทั้ง ไม่ได้กระทำในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยอันถึงกับเป็นการละเมิดอำนาจศาล

0000

คดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งประชาชน โดยเฉพาะนักศึกษา/นักกิจกรรม ถูกดำเนินคดีและพิพากษาว่า มีความผิด จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่พึงกระทำได้ ด้วยข้อหาที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันทั้งในแง่ของความชัดเจนว่า การกระทำใดบ้างจะเป็นความผิด ทั้งวิธีพิจารณาคดีและการลงโทษสอดคล้องหลักวิธีพิจารณาคดีอาญาสมัยใหม่ที่ต้องประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ โดยคดีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และจับตามองจากประชาชนทั่วไปนับตั้งแต่ศาลมีหมายเรียกนักศึกษา 7 คน ไปไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหา จนกระทั่งเมื่อศาลมีคำพิพากษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอบันทึกข้อสังเกตต่างๆ ทั้งในและนอกห้องพิจารณา โดยไม่ได้ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล ซึ่งจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป

 

14 ข้อสังเกตคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล

  1. ผู้ถูกกล่าวหา 6 ใน 7 คน เคยถูกดำเนินคดี และอีก 1 คน เคยถูกเรียกรายงานตัวในค่ายทหารมาแล้วก่อนหน้านี้ จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหลังรัฐประหาร และทั้ง 7 ยังคงทำกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง คัดค้านการใช้อำนาจเผด็จการของ คสช. อยู่เป็นระยะ แน่นอนว่า นักศึกษา มข. ทั้ง 6 มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังของฝ่ายความมั่นคง จ.ขอนแก่น อยู่แล้ว ส่วน 'นิว' สิรวิชญ์น่าจะมีรายชื่อเฝ้าระวังของฝ่ายความมั่นคงทุกจังหวัดที่นิวเดินทางไป ไม่ยากที่จะระบุชื่อทั้ง 7 คนเป็นถูกกล่าวหาในคดีนี้
     
  2. ศาลจังหวัดขอนแก่นมีหนังสือถึง ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น ลงวันที่ 20 ก.พ. 60 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ส่งแผ่นซีดีหรือดีวีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหวและตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น มีหนังสือตอบกลับศาลจังหวัดขอนแก่น ลงวันที่ 23 ก.พ.60 เรื่องส่งแผ่นดีวีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหว พร้อมรายชื่อบุคคลและภาพนิ่ง โดยหนึ่งในสิ่งที่ส่งมาด้วยคือรายชื่อบุคคลที่จัดกิจกรรม (ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรินท์มาจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของ สตช. โดยระบุวันที่ปรินท์คือ 15 ก.พ.60 (ก่อนที่ศาลฯ จะมีหนังสือถึงตำรวจ)
     
  3. ศาลได้วางหลักไว้ในคำพิพากษาฎีกาว่า ในกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นต่อหน้าศาลสามารถสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดได้โดยทันที ไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวนหรือรับฟังพยานหลักฐานจากผู้ถูกกล่าวหาอีก ส่วนกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล แม้ศาลต้องไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อน จึงจะพิจารณาลงโทษได้ แต่ศาลสามารถค้นหาความจริงได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเหมือนในคดีอาญาทั่วไป และไม่จำเป็นต้องรับฟังพยานจากผู้ถูกกล่าวหาอีก (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) เหตุการณ์ในคดีนี้ เป็นกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล จึงต้องมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อน อย่างไรก็ตาม ศาลได้สอบถามผู้ถูกกล่าวหาว่า มีทนายความหรือไม่ และเมื่อทนายของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 ประสงค์ที่จะถามค้านพยานฝ่ายผู้กล่าวหา ศาลก็อนุญาต พร้อมทั้งให้พยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาเข้าเบิกความ ซึ่งน่าสนใจว่า คดีนี้ศาลได้นำหลักการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีอาญามาใช้ ไม่ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดวินิจฉัยคดีตามที่ศาลฎีกาได้วางหลักไว้
     
  4. ศาลกำหนดวงเงินประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาสูงถึงคนละ 50,000 บาท (ดูที่นี่) ทั้งที่คดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท  ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจปล่อยผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่ต้องมีประกันเลยก็ได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 วรรค 2) ดูตัวอย่างคดีที่ศาลปล่อยโดยไม่ต้องมีประกัน
     
  5. ข้อกล่าวหาในคดีนี้คือ "ประพฤติตนในลักษณะไม่พอใจการพิจารณาของศาลในคดีดังกล่าว โดยกล่าวปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจในการพิจารณาคดีของศาล" แต่การไต่สวนฝ่ายผู้กล่าวหา ไม่มีการกล่าวถึงเนื้อหาของการปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง ว่าแสดงความไม่พอใจการพิจารณาคดีของศาลอย่างไร ผอ.ศาลยังตอบคำถามทนายว่า ถ้อยคำที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวพูดนั้นไม่ค่อยชัด แต่ไม่ได้แสดงหรือพูดถึงศาลจังหวัดขอนแก่น และเพลงที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวร้องนั้น ตนเองจับใจความไม่ได้ อีกทั้งระบุว่า เหตุการณ์ที่บันทึกอยู่ในวีดิโอนั้น ไม่มีการถอดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ใครพูดหรือแสดงเนื้อหาอย่างไรบ้าง
     
  6. ผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่า การกระทำของตนอยู่ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงออก ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งระบุในข้อ 19 ว่า "1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง 2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท…" และยืนยันว่า ความคิดเห็นของตนไม่อาจมีอิทธิพลเหนือความคิดของบุคคลอื่นได้ เนื่องจากประชาชนทุกคนมีเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพทางความเชื่อ สามารถใช้วิจารณญาณของตนได้อยู่แล้ว (อ่านเนื้อหาคำคัดค้านคำกล่าวหา)
     
  7. กระแสการรณรงค์ 'Free Pai' มีขึ้นนับตั้งแต่จตุภัทร์ถูกถอนประกันในคดีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 นักกฎหมาย ประชาชน ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ต่างเผยแพร่ความเห็นหรือแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องรัฐบาลและศาลให้คืนสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ ICCPR และรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ให้แก่จตุภัทร์ แม้กระทั่งมีการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาทั่วประเทศ โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันกฎหมายถูกใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ และเรียกร้องให้ศาลทบทวนการถอนประกันนายจตุภัทร์ เพื่อคืนสิทธิอันพึงมีให้กับนายจตุภัทร์ และฟื้นฟูความปกติให้กระบวนการยุติธรรม (ดูเพิ่มเติมที่นี่) ซึ่งถือเป็นการแสดงใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม หรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชน ที่ปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นปกติในสังคมประชาธิปไตย ไม่ต่างไปจากกิจกรรมหน้าป้ายศาลจังหวัดขอนแก่นในวันเกิดเหตุ
     
  8. วิทยาพนธ์เรื่อง "ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล" โดย น.ส.วรรณวิสาข์ สุทธิวารี ซึ่งศึกษาวิธีพิจารณาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ มีข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรของไทยข้อหนึ่งว่า …การแสดงความเห็นโดยวิธีใด ๆ โดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน ศาล คู่ความ หรือพยานแห่งคดี ซึ่งจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป ไม่ควรเป็นความผิดฐานนี้ ควรมีการแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องนี้ ซึ่งบัญญัติขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2477 ให้สอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยใช้ระบบผู้พิพากษาอาชีพซึ่งต้องมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
     
  9. ในคดีละเมิดอำนาจศาลที่ผ่านมา มีบางคดีที่ศาลฎีกาตีความคำว่า "ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) อย่างแคบ ให้เฉพาะการกระทำที่เกิดในบริเวณศาลเท่านั้นที่ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หากการกระทำไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แม้จะมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาคดีในศาล ก็ไม่อาจลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ แต่ก็มีบางคดีที่ศาลฎีกาขยายความคำว่า "ในบริเวณศาล" ให้กว้างออกไปโดยมักระบุว่า แม้การกระทำจะไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แต่มุ่งให้เกิดผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล จึงถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล (ดูที่นี่) คดีละเมิดอำนาจศาลของ 7 นักศึกษานี้ ศาลเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทำกิจกรรมดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของจตุภัทร์ จึงเป็นการ "ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล" โดยศาลตีความให้คำว่า "ในบริเวณศาล" ครอบคลุมถึงบริเวณป้ายศาลที่อยู่นอกรั้วศาลด้วย หากการจัดกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นที่อื่นก็อาจจะไม่เป็นความผิด ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุชัดเจนในคำพิพากษา แต่ศาลอธิบายต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เข้าใจคำพิพากษาซึ่งระบุในตอนท้ายว่า "ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก" ว่าหมายความว่า ไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหามาจัดกิจกรรมที่บริเวณศาลหรือป้ายศาลอีก ให้ไปจัดที่อื่น
     
  10. คดีละเมิดอำนาจศาล เป็นเรื่องระหว่างศาลและผู้ถูกกล่าวหา แต่ปรากฏว่า ในนัดไต่สวน พ.ท.พิทักษ์ ชูศรี ผบ.ร้อยรักษาความสงบ มทบ.23 ได้มาปรากฏตัวที่หน้าห้องพิจารณาคดี ต่อมา ในนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา มีเจ้าหน้าที่ซึ่งแจ้งภายหลังว่า มาจากหน่วยงานความมั่นคง สังกัดศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เข้ามาฟังการไต่สวน และใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปในห้องพิจารณาคดี โดยระบุว่า เพื่อรายงาน 'นาย' (ดูที่นี่)
     
  11. แม้ว่าคดีละเมิดอำนาจศาลของ 7 นักศึกษานี้ จะเป็นเรื่องระหว่างศาลจังหวัดขอนแก่นและผู้ถูกกล่าวหา และเป็นเรื่องที่ศาลใช้อำนาจเพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยราบรื่น แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ด้วยคือฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งไม่ต้องการให้ประชาชนรวมตัวหรือแสดงออกใด ๆ เลย อย่างน้อยตั้งแต่ศาลมีหมายเรียก 7 นักศึกษาไปไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหา คนที่เดินทางมาให้กำลังใจไผ่และนักศึกษาในวันพิจารณาคดีก็มีจำนวนน้อยลง และไม่มีการจัดกิจกรรมใด ๆ อีกเลย
     
  12. ศาลลงโทษจำคุก 'นิว' สิรวิชญ์ 6 เดือน ปรับ 500 บาท จากการที่นิวร่วมถ่ายภาพกับป้ายข้อความ "Free Pai" ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นการสื่อความหมายให้ศาลให้ประกันนายจตุภัทร์ จึงเป็นการใช้มวลชนมากดดันศาล แทรกแซงการวินิจฉัยของศาล โทษดังกล่าวเป็นโทษสูงสุดในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แม้โทษจำคุกจะรอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี
     
  13. ก่อนหน้าคดีนี้ วันที่ 9 มิ.ย.57 ศาลแพ่งรัชดาฯ มีคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมีพฤติการณ์ในคดีที่ใกล้เคียงกันนี้ โดยผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลแพ่ง กล่าวหานางดารุณี กฤตบุญญาลัย, อ.สุดสงวน สุธีสร และนายพิชา วิจิตรศิลป์ ว่า ละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่มีกลุ่มคนมาวางพวงหรีดและถือป้ายข้อความ "แด่ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง" ร้องเพลงและตะโกนว่า "อยุติธรรม" รวมทั้งมีผู้นำตาชั่งและปลัดขิกมาถือและถ่ายภาพที่หน้าศาลแพ่ง ภายหลังจากศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมของ กปปส. โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล พิพากษาจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ 3 คนละ 2 เดือน  รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่มาศาล)  ศาลอุทธรณ์ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือน และศาลฎีกาพิพากษากลับให้ลงโทษ อ.สุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ตามศาลชั้นต้นคือ จำคุก 1 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นำคณะบุคคลมากดดันดุลพินิจของศาล ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาล ด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของตุลาการให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ โดยไม่เคารพกติกาของกฎหมายแห่งบ้านเมือง ทั้งที่ตนมีความรู้ทางกฎหมาย (ดูเพิ่มเติมที่นี่)
     
  14. ในคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดี ซึ่งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ถูกกล่าวหา โดยเลขานุการศาลอาญาว่า ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่บริเวณหน้าอาคารศาลอาญาพาดพิงถึงการตัดสินคดี ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเสียหาย และเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของสถาบันศาลยุติธรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยถ้อยคำอันแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินคดี โดยศาลถูกครอบงำจากอิทธิพลของพันตำรวจโททักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจอิสระในการตัดสินคดี ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้จำคุก 1 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และศาลฏีกาพิพากษาให้จำคุก เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี (คำพิพากษาฎีกาที่ 1821/2557 ดูเพิ่มเติมที่นี่)

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน ศูนย์ข้อมูลทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การวิเคราะห์เปรียบเทียบ ข้อยกเว้นลิขสิทธิ์ ,“fair use”,“合理使用”

Posted: 23 Nov 2017 07:36 AM PST


 

1. บทนำ

"ทรัพย์สินทางปัญญา" คืออะไร? ทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) หมายถึงผลงานการสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ หรือการมีส่วนร่วมในผลงานสร้างสรรค์ทางปัญญา หรือในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม โดยทั่วไปแล้วหลักการของทรัพย์สินทางปัญญา มักจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ที่ประกอบด้วย ทรัพย์สินอุตสาหกรรมและลิขสิทธิ์  แม้วัตถุแห่งสิทธิ์จะไม่มีตัวตนแต่กฎหมายได้รับรองสิทธิเหนือผลงานการสร้างสรรค์ทางปัญญานั้นให้เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย สิทธิทางศีลธรรม(Moral rights) และสิทธิทางเศรษฐกิจ (Economic rights)

ในยุคโลกาภิวัตน์ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว สาเหตุมาจากมีปัจจัยข้ามพรมแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความขัดแย้งในหลายประเด็นปัญหา รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เป็นผลให้ทุกประเทศทั่วโลกเกิดความห่วงใยในระบบทรัพย์สินทางปัญญา  ในปี1886 หลายประเทศได้มีการลงนาม ในข้อตกลง"อนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม"  (Berne Convention for Protection of Literary and Artistic Works) เพื่อ คุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งดำเนินการโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก อนุสัญญานี้ถือได้ว่าเป็นอนุสัญญาลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศฉบับแรกของโลก อนุสัญญากำหนดมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับของประเทศส่วนใหญ่ให้คุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โดยอนุสัญญา อนุญาตให้รัฐมีอำนาจในการอนุญาตให้สาธารณะชนใช้ผลงานในงานอันมีลิขสิทธิ์ ได้อย่าง"ยุติธรรมและเป็นธรรม" การใช้งานลิขสิทธิ์อย่าง "ยุติธรรมและเป็นธรรม" ใช้อย่างไร? เนื่องจากจุดประสงค์ที่สำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาคือกลไกการกระตุ้นให้มีการแสดงออกทางปัญญาในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกของความคิด ความรู้และการสื่อสาร นอกจากนี้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญากำหนดให้ผู้สร้างสรรค์ต้องได้รับผลตอบแทนอย่างเพียงพอ โดยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาบัญญัติให้เฉพาะผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้นมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว(exclusive right)ในผลงานการสร้างสรรค์นั้น และบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิไม่มีสิทธิจะได้รับหรือใช้สิทธินั้น ยกเว้นโดยความยินยอมของผู้ทรงสิทธิหรือตามกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นสิทธิพิเศษเฉพาะตัวหรือการผูกขาดที่ได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมาย  อย่างไรก็ตามในขณะที่กฎหมายปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์ทางปัญญา อีกด้านหนึ่ง กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายังทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารให้แพร่หลาย เพื่อส่งเสริมอารยะธรรมทางสังคมให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานและคุ้มครองสาธารณะชนผู้ใช้งานไปพร้อมกัน  ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาคือ เมื่อเกิดความขัดแย้ง กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะทำหน้าที่ในการประสานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในผลงานการสร้างสรรค์นั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลของผลประโยชน์โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทุกๆด้าน และเพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น นี่คือวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

วันนี้เราทุกคนต้องยอมรับว่าปัญหาของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นขยายตัวอย่างกว้างขวางและมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วไม่เพียงแต่เกิดความไม่สมดุลระหว่างผลประโยชน์ของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและสาธารณะชนเท่านั้น ความไม่สมดุลระหว่างผลประโยชน์ของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ยังอยู่ในขั้นขัดขวางความก้าวหน้าของการถ่ายทอดเทคโนโลยีอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบทรัพย์สินทางปัญญากำลังถูกทำลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดจาก ลิขสิทธิ์ในความหลากหลายของความขัดแย้งที่โดดเด่นที่สุดคือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับประชาชนผู้ใช้ผลงานลิขสิทธิ์นั้น นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนาถูกเอารัดเอาเปรียบจากประเทศที่พัฒนาแล้ว สาเหตุมาจากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ผลงานลิขสิทธิ์ได้อย่างยุติธรรมและเป็นธรรม แม้ว่าลิขสิทธิ์ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวหรือสิทธิพิเศษภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองทันทีตราบใดที่สร้างสรรค์ผลงาน ถ้าเป็นเช่นนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์ถือสิทธิในผลงานนั้นแต่เพียงผู้เดียวแล้วผูกขาด ซึ่งถือว่าไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งผ่านงานตามปกติไม่เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมอื่นๆ ที่สำคัญคือไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาต่อยอด ให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถสร้างผลประโยชน์ของตนเองได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้วิธีการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิ์ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของทรัพย์สินทางปัญญา

ปีที่ผ่านมาปัญหาลิขสิทธิ์กลายเป็นหัวข้อที่ร้อนแรงที่สุดในโลก ประเทศไทยก็เช่นกัน แม้ว่าคนไทยจะตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น แต่การตื่นตัวของคนไทยและชาวต่างชาตินั้นดูเหมือนจะแตกต่างกัน นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยบางคนเห็นว่า รัฐบาลไทยขาดความเข้าใจในเนื้อแท้ของทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญายังมีความไม่ยุติธรรม ทำให้การบังคับใช้และการตีความในเนื้อหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยผิดแผกแตกต่างไปจากนานาอารยะประเทศ โดยนโยบายของรัฐบาลมุ่งคุ้มครองเฉพาะเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น ซึ่งเห็นได้จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของรัฐบาลไทยไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับการใช้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรมได้ตามกกหมาย แต่ยังปล่อยปะละเลยให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง "ห้าม" ประชาชนละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของข้อตกลงระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังปล่อยปะละเลยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนใช้อำนาจอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบธรรม คุกคาม ข่มขู่ รีดไถ ประชาชน ผู้ซึ่งขาดความรู้ความใจในสิทธิของตนเองที่สามารถใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น โดยชอบด้วยกฎหมาย จากมุมมองของนักวิชาการด้านลิขสิทธิ์ของประเทศไทยมองว่า ประชาชนไทยถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้ผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เป็นอย่างมาก ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับระบบความเป็นธรรมภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศไทยโดยเปรียบเทียบกับประเทศสาธารรัฐประชาชนจีนและประเทศสหรัฐอเมริกา


2. แนวคิดหลักการใช้อย่างเป็นธรรมภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์

2.1 แนวคิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์

เนื่องจากการใช้งานอย่างเป็นธรรม เป็นหลักข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าลิขสิทธิ์นั้นคืออะไร และกฎหมายคุ้มครองด้านใดบ้าง ปัจจุบันประเทศต่างๆเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย เราจึงต้องผูกพันตามพันธะสัญญาภายใต้ความตกลงต่างๆ ของ WTO ที่จะต้องปฏิบัติตาม  ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง ประเทศต่างๆ จึงต้องผูกพันตามข้อตกลง "อนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม" ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับอนุสัญญา เช่นเดียวประเทศจีน "กฎหมายลิขสิทธิ์" มาตรา 1 บัญญัติว่า "โดยเจตนาของระบบสังคมนิยม เพื่อส่งเสริมอารยะธรรม การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ และ ต้องส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาของความร่วมมือทางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์" ภายใต้ มาตรา 11 บัญญัติว่า "กฎหมายลิขสิทธิ์สาธารณรัฐประชาชนจีน คุ้มครองลิขสิทธิ์ของผู้แต่งที่ประกอบด้วยงานวรรณกรรมศิลปกรรมและวิทยาศาสตร์ตลอดจนสิทธิต่างๆที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์" [1]

ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกามาตรา 17 U.S. Code § 106 บัญญัติว่า "ลิขสิทธิ์ถือเป็นสิทธิพิเศษของผู้ประพันธ์"[2]และภายใต้พะราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศไทย มาตรา 4 บัญญัติว่า "ลิขสิทธิ์เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ" [3]

จึงเห็นได้ว่าทุกประเทศนั้น ความหมายของลิขสิทธิ์ (copyright) หมายถึงสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษโดยเฉพาะของผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยสองสิทธิ์คือสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิทางศีลธรรม

สำหรับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้น ภายใต้อนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ และวัตถุประสงค์ของหลักการของการป้องกันโดยอัตโนมัติ ก็เพื่อให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์มีความแตกต่างจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ นั่นคือ ภายใต้หลักการนี้พลเมืองของประเทศสมาชิกของอนุสัญญาและบุคคลอื่นที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐสมาชิกมีสิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติในช่วงเวลาของการสร้างสรรค์ผลงานนั้น พลเมืองของประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกซึ่งไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศสมาชิก ซึ่งงานของตนได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในประเทศสมาชิก [4]

2.2 แนวคิดเกี่ยวกับหลักความสมดุล

ธรรมชาติโดยทั่วไปในชีวิตประจำวันมนุษย์มักจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระบบทรัพย์สินทางปัญญาก็เช่นเดียวกัน ยังมีความขัดแย้งในหลายๆ ประเด็นปัญหา แม้ว่ากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังมีจำนวนมากของปัญหาที่ได้รับการแก้ไขอย่างไม่ยุติธรรม เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรม กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงต้องบัญญัติหลักการสมดุลขึ้นมาเพื่อใช้บังคับ ซึ่งในการวิเคราะห์ความสมดุล (Balance Analysis) โดยทั่วไปนั้นใช้วิธีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน โดยการชั่งน้ำหนัก ทั้งสองด้านหรือมากกว่านั้นโดยไม่ให้เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือการรักษาความสมดุล ที่คนไทยนิยมเรียกว่า "ตราชั่ง"ในการหยิบยกประเด็นความขัดแย้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้มีอำนาจบังคับใช้กกหมายภายใต้หลักการนี้ ต้องใช้อย่างมีสติโดยคำนึงถึงกฎของความเป็นเอกภาพ ที่จะไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาหลักการนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ก็เช่นกันการแก้ไขปัญหาจะต้องตระหนักถึงความสมดุลและเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นในด้านการคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ และในด้านของผู้ที่ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยให้ทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์อย่างสมดุลโดยความเป็นธรรม[5]

2.3 แนวคิดหลักความเป็นธรรมและความยุติธรรม

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความแตกต่างกันของมนุษย์ ทำให้เกิดการแสวงหาอย่างไม่หยุดยั้งของการอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ในความขัดแย้งที่พวกเขาการแสวงหาความสามัคคีร่วมกันนั้น พวกเขาค้นพบว่าหลักการของ"ความเป็นธรรมและความยุติธรรม"เท่านั้นที่จะประสานความขัดแย้งเหล่านั้นได้[6]

2.3.1 แนวคิดความเป็นธรรม

ความเป็นธรรมเป็นศัพท์ทางสังคมวิทยา ในกฎหมายความเป็นธรรมเป็นหนึ่งในค่านิยมพื้นฐานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความเป็นธรรมหมายถึงประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมและเสมอภาค นั่นคือ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน

2.3.2 ความยุติธรรมแนวคิด

เรื่องความยุติธรรมนั้นมีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ หลังจากที่คนโบราณเริ่มอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เมื่อเกิดความขัดแย้งหรือมีข้อพิพาท พวกเขายุติปัญหาเหล่านั้นด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งแนวคิดเรื่องความยุติธรรม มาจากเรื่องความเป็นธรรมและความเสมอภาคที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีทรัพย์สินส่วนตัว ในอดีตนั้นการแบ่งชนชั้นทางสังคมทำให้เกิดการตีความของ คำว่า "ความยุติธรรม" แตกต่างกันออกไป แต่ก็ยังอยู่ในความหมายของความเป็นธรรม                                                                                                                                                   
ตัวอย่างเช่นในหนังสือของอุดมคติเพลโตระบุว่าประเทศที่เป็นเหมาะสม จะต้องยืนอยู่บนรากฐานสี่ประการ ได้แก่ ภูมิปัญญา ความกล้าหาญ ความยับยั้งชั่งใจ และความยุติธรรม     

ส่วนกฎของพระเจ้า เรื่องความยุติธรรมและเป็นความธรรมนั้น พระเจ้ากำหนดให้ "ความยุติธรรม" อยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์ภายใต้กฎธรรมชาติ ประกอบด้วย ความยุติธรรมทางสังคม ความยุติธรรมทางการเมืองและความยุติธรรมทางกฎหมาย                                                                                                                                                            ในศาสนาคริสต์จริยธรรมของคริสต์เตียน ชี้ให้เห็นว่าเนื้อควรมีค่าเท่ากับจิตวิญญาณ นั่นหมายความว่าในศาสนาคริสต์ ทุกสรรพสิ่งมีค่าเท่าเทียมกัน คือ "ความยุติธรรม"                                                                                                                      ในมุมมองของศาสนาพุทธ "ความยุติธรรม" คือการมีศีลธรรม มีจริยธรรม และมีคุณธรรม     เช่นในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 บัญญัติว่า "การใด มีวัตถุประสงค์ เป็นการ ขัดต่อ ศีลธรรมอันดี ของประชาชน การนั้น เป็นโมฆะ"[7]

มุมมองส่วนใหญ่เห็นว่าความเป็นธรรม คือ "ความยุติธรรม" และพยายามสอดแทรกความเป็นธรรม เข้าไปในทุกสถานการณ์ของการแก้ไขปัญหา ส่วนในเรื่องความเป็นธรรมและความยุติธรรมของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้น หน้าที่ทั่วไปของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาคือการประสานงานด้านต่างๆของผลงานสร้างสรรค์ทางปัญญาที่เกิดจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความยุติธรรมโดยการพิจารณาความสมดุลทุกด้านของผลประโยชน์ที่ควรได้รับ โดยจะต้องพึ่งพาหลักความเป็นธรรมและยุติธรรม                                                                         ในขณะเดียวกันในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาหลายประเทศก็ได้ตระหนักถึงความเป็นธรรมและความยุติธรรมหลายประเทศได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสาธารณะและคำนึงถึงประโยชน์ในทุกๆ ด้าน ในกระบวนการยุติธรรมก็ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมและความยุติธรรม ซึ่งรวมถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้พิพากษา ที่ควรทำนั่นคือการประเมินผลด้วยคุณธรรม จริยธรรมบนพื้นฐานของความเป็นธรรมและความยุติธรรม

สำหรับประเทศไทยในการบริหารประเทศนายกรัฐมนตรี มักจะอ้างหลักธรรมภิบาล ซึ่งหลักสำคัญข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ หลักนิติธรรม ซึ่งหมายถึงหลักการปกครองประเทศโดยกฎหมาย และกฎหมายนั้นต้องเป็นธรรมและยุติธรรม

2.4. แนวคิดการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอย่างเป็นธรรม

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1886  ของข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ใน"อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม" (The Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works )ปัจจุบันมีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมจำนวนถึง 174 ประเทศและในปี พ. ศ. 2474 ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามการเป็นสมาชิกอนุสัญญาฯ [8]ภายใต้อนุสัญญาฯ มีข้อตกร่วมกัน โดยได้วางหลักการใช้งานอย่างเป็นธรรม ไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ หมายถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ที่เผยแพร่แล้ว ผู้สร้างหรือเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิพิเศษหรือสิทธิ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ในบางกรณีที่กฎหมายต้องอนุญาตให้บุคคลอื่นสามารถใช้งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย นั่นคือการใช้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่ต้องชำระค่าตอบแทน แต่ควรจะอ้างอิงโดยการระบุชื่อผู้สร้างสรรค์หรือชื่อผลงาน จะไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้นภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของทุกประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก จึงจำเป็นต้องบัญญัติหลักการใช้ที่เป็นธรรมภายใต้หลักการดังต่อไปนิ้[9]

2.4.1 ต้องใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น

งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นคืออะไร?"ลิขสิทธิ์" หมายถึงสิทธิแต่เพียงผู้เดียว หรือสิทธิพิเศษเฉพาะของผู้แต่งหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งประกอบด้วยสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิในทรัพย์สิน อันเป็นผลมาจากการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมศิลปกรรมและวิทยาศาสตร์ และกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองโดยอัตโนมัติเมือสร้างสรรค์ผลงาน

งานอันมีลิขสิทธิ์คืองานที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ ยกตัวเช่นประเทศไทย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 6 บัญญัติว่า "งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด "

ดังนั้นผู้ใช้จะต้องใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่บัญญัติให้การคุ้มครองไว้เท่านั้น ถ้าหากไม่ใช่งานตามที่กฎหมายลิขสิทธิ์บัญญัติไว้ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นหลักการใช้อย่างเป็นธรรม

ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 15 บัญญัติว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้

(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

(4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

(5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3)

อธิบายได้ตามตัวอย่างเช่นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6  นั้นโดยหลักทั่วไป ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์มาตรา 15 ถือเป็นสิทธิเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียว แต่ภายใต้"ระบบการใช้อย่างเป็นธรรม"หมายถึงประชาชนทั่วไปภายใต้กฎหมายกำหนดให้ใช้งานของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทน โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ [10]

ทั้งนี้ "ระบบการใช้อย่างเป็นธรรม"เป็นไปตามมาตรฐานสากลของข้อตกลง ระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า"หลักการทดสอบสามขั้นตอน " (three-step test) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับการวัดข้อ จำกัด หรือข้อยกเว้น ด้านลิขสิทธิ์ ที่รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและจะต้องนำไปบัญญัติเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธ์ภายในประเทศของตน และต้องสอดคล้องกับ"หลักการทดสอบสามขั้นตอน "นี้ นั่นคือ มาตรฐานในการพิจารณา "กรณีที่มีการใช้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการใช้งานตามปกติ และใช้โดยสมเหตุสมผลไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิ์และผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์" แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์แต่ละประเทศจะมีข้อจำกัดหรือข้อยกเว้น ซึ่งแตกต่างกันในขอบเขตบางประการของ "ระบบการใช้อย่างเป็นธรรม" แต่ทุกประเทศยังคงมีจุดยืนร่วมกันที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานคือการใช้งานนั้น เน้นความสมดุลระหว่างผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือเจ้าของลิขสิทธิ์และประชาชนทั่วไป

[11]ตัวอย่างเช่น บทบัญญัติใน"ระบบการใช้อย่างเป็นธรรม"ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน" มาตรา 22 บัญญัติ 12 วิธีที่เฉพาะเจาะจงของการใช้งานอย่างเป็นธรรมหรือใช้ได้โดยชอบธรรมโดยบัญญัติว่า "ภายใต้ การใช้งานในกรณีต่อไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน แต่ควรระบุชื่อผู้เขียนชื่อของผลงานและจะต้องไม่ละเมิดสิทธิอื่น ๆ อันเป็นสิทธิเฉพาะของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนี้ : (1) สำหรับการศึกษาส่วนบุคคลวิจัยหรือติชม มีสิทธิการใช้ผลงานที่ตีพิมพ์แล้ว (2) เพื่อแนะนำ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานหรืออธิบายปัญหา หรือนำผลงานที่เผยแพร่โดยคนอื่นแล้วไปการอ้างอิงที่เหมาะสม (3) จำเป็นต้องทำซ้ำหรือตีพิมพ์ผลงานตีพิมพ์ในสื่อต่างๆเช่นหนังสือพิมพ์วารสารวิทยุและสถานีโทรทัศน์เพื่อรายงานข่าวในปัจจุบัน (4) หนังสือพิมพ์วารสารวิทยุและโทรทัศน์และสื่ออื่น ๆ เผยแพร่หรือเผยแพร่บทความเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเศรษฐกิจและศาสนาที่เผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์อื่นวารสารวิทยุและโทรทัศน์และสื่ออื่น ๆ เว้นแต่ ผู้เขียนงานนั้นไม่อนุญาตให้เผยแพร่หรือออกอากาศ (5) หนังสือพิมพ์วารสารวิทยุโทรทัศน์และสื่ออื่น ๆ ที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่หรือการแสดงสุนทรพจน์ในที่สาธารณะ เว้นแต่ ผู้เขียนงานนั้นไม่อนุญาตให้เผยแพร่หรือออกอากาศ(6) สำหรับการเรียนการสอนในชั้นเรียนหรือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แปลหรือคัดลอกผลงานที่ตีพิมพ์จำนวนไม่มาก หรือเพื่อใช้สำหรับการสอนหรือเจ้าหน้าที่วิจัย แต่ไม่ใช่สำหรับสิ่งตีพิมพ์ (7) พนักงานของรัฐ ใช้ผลงานที่ตีพิมพ์แล้วภายใต้ขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ (8) ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ อนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์หอศิลป์และอื่น ๆ ต้องการแสดงหรือบันทึกและคัดลอกจากต้นฉบับผลงานที่ตนเองจัดเก็บ (9) เผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์แล้วโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่สาธารณชนในการเข้าชมและไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้แสดง(10) คัดลอกวาดรูป ถ่ายและบันทึกผลงานศิลปะซึ่งแสดงในสถานที่สาธารณะกลางแจ้ง   (11) แปลผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาจีนโดยพลเมืองจีนบุคคลตามกฎหมายหรือองค์กรอื่น ๆ เข้าสู่งานของชนกลุ่มน้อยและภาษาที่จะเผยแพร่และเผยแพร่ในประเทศ (12) เปลี่ยนงานที่ตีพิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ "[12]

ในสาธารณรับประชาชนจีนได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าการใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นจะต้อง"ระบุชื่อผู้แต่งและชื่อของผลงาน"   นั่นคือสิทธิของผู้สร้างสรรค์ต้องได้รับการเคารพ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นการใช้งานภายใต้ระบบการใช้งานที่เป็นธรรมหรือไม่  เพราะอะไรจึงต้องระบุชื่อของผู้สร้างสรรค์ หรือชื่องาน?  เนื่องจากปัจจุบันมีการเผยแพร่ผลงานอย่างกว้างขวางบนโลกอินเทอร์เนท ผู้สร้างสรรค์ มีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะเผยแพร่ผลงานของตนภายใต้ชื่อจริงนามแฝงชื่อเล่นหรืออื่น ๆ อย่างไรก็ได้ เพื่อปกป้องงานของผู้สร้างสรรค์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายลิขสิทธิ์ของสาธารณรับประชาชนจีน สิทธิในการเป็นผู้สร้างสรรค์ คือภายใต้การระบุอัตลักษณ์ของผู้สร้างสรรค์ และลงนามในงานเท่านั้น  กฎหมายลิขสิทธิ์จีนได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าการนำงานของผู้สร้างสรรค์ไปใช้ต้องเคารพในสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วย ยกตัวอย่างคำพิพากษาในคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ ระหว่างนักเขียนการ์ตูน นางสาว Lu ยื่นฟ้องบริษัท Guangzhou New Home Network Technology จำกัด ศาล Haidian ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า การ์ตูนพิพาทเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของนางสาว Lu และนางสาว Lu ก็ยอมรับว่า เธอใช้"ตัวการ์ตูนแตงโมง" เป็นสัญลักษณ์ในการเผยแพร่ผลงานของเธอในอินเทอร์เนต ศาลเห็นว่า การที่บริษัทจำเลยใช้ผลงาน "ตัวการ์ตูนแตงโมง" มาทำเป็นลายน้ำเพื่อเผยแพร่ผลงานของตนเอง บนอินเทอร์เนตภายใต้สมมติฐานว่าผลงานทั้งหมดมีลายเซ็น "ตัวการ์ตูนแตงโมง" กำกับอยู่ นั้นไม่น่าจะถูกต้อง ในคำตัดสินของผู้พิพากษาพบว่า ศาลแยกการตัดสินออกเป็นสองประเด็น ประเด็นแรก เรื่องชื่อ ศาลเห็นว่าการใช้งานของผู้สร้างสรรค์คนอื่น ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีชื่อจริงของพวกเขา จึงจะได้รับการรับรองว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ อาจเป็นนามแฝงหรือชื่ออื่นๆ ก็ได้ และการแก้ไขหรือการลบลายมือชื่อของผู้สร้างสรรค์ ในผลงานนั้นก็ไม่ถูกต้อง ควรจะเคารพในลายเซ็นของผู้สร้างสรรค์ จึงจะถือว่าไม่ละเมิดสิทธิของผู้สร้างสรรค์                                                                              

ส่วนการทำลายน้ำนั้นเป็นเพียงให้ทราบว่าใครเป็นผู้เผยแพร่เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของการลงนามในงานและไม่ทำให้ผู้ใช้ออนไลน์สับสนกับ อัตลักษณ์ของผู้สร้างสรรค์ ดังนั้นไม่ถือว่าบริษัทจำเลยละเมิด จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์   ส่วนประเด็นการเผยแพร่ "ตัวการ์ตูนแตงโมง" เพื่อแสวงหาผลกำไรโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นถือเป็นการละเมิด สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของผลงาน ควรต้องได้รับโทษ[13]

สำหรับประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ยังมีเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนสับสน ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 4 บัญญัติว่า "ลิขสิทธิ์ หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น" เป็นที่ชัดเจนว่า กฎหมายกำหนดให้ผู้สร้างสรรค์มี สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ต่อผลงานการสร้างสรรค์ของเขา  และ มาตรา 18 บัญญัติว่า "ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว และมีสิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใด แก่งานนั้น จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ และเมื่อผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้สร้างสรรค์มี สิทธิที่จะฟ้องร้อง บังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร" จึงเห็นได้ว่า แม้ว่าลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน แต่สามารถบังคับได้ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยทรัพย์  ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติว่า " เจ้าของทรัพย์สิน มีสิทธิ ใช้สอย และ จำหน่าย ทรัพย์สิน ของตน และ ได้ดอกผล แห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิ ติดตามเอาคืน ซึ่ง ทรัพย์สินของตน จากบุคคล ผู้ไม่มี สิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิ ขัดขวาง มิให้ผู้อื่น สอดเข้าเกี่ยวข้องกับ ทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย" [14]

ดังนั้นผู้สร้างสรรค์จึงเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น  สรุปในเนี้อหาของบทบัญญัติก็คือ ทรัพย์สินทางปัญญาแม้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตามกฎหมายบัญญัติไว้ จำเป็นต้องมีเจ้าของ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบทบัญญัติของ มาตรา 20 บัญญัติว่า "งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝง หรือ"ไม่ปรากฏ ชื่อผู้สร้างสรรค์" ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ในกรณีที่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ให้นำมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" นั่นหมายความว่าในบทบัญญัตินี้ งานนั้นจะมีผู้สร้างสรรค์ หรือไม่มีผู้สร้างสรรค์ก็อาจเป็นได้ บทบัญญัตินี้สร้างความสับสนเกี่ยวกับสิทธิของผู้สร้างสรรค์เป็นอย่างมาก โดยทั่วไปสิทธิของผู้สร้างสรรค์ หมายถึงสิทธิในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงงาน สิทธิในการปกป้องความสมบูรณ์ของงาน แต่งานที่ไม่มีเจ้าของกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองผู้ใด บทบัญญัติเหล่านี้ดูเหมือนว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไทยจะบัญญัติไว้เพื่อให้ผู้พิพากษานำมาตีความ เกี่ยวกับความเป็นเจ้าผลงาน เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย  เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากผลงานการสร้างสรรค์ทางสติปัญญาของเจ้าของ ถ้าหากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าผลงาน ในการตีความเกี่ยวกับสิติปัญญาของมนุษย์นั้น กฎหมายจะอธิบายได้อย่างไรว่าคนไหนคือผู้ที่สมควรมีความสามารถทางปัญญาในการคิดสร้างสรรค์ ตามหลักทั่วไปแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนมีสติปัญญามาโดยกำเนิด มีสติปัญญาและความสามารถหลากหลายแตกต่าง มีความกระตือรือร้นที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้การสร้างสรรค์ผลงานของแต่ละคนยังมีความสามารถ ทักษะ ความรู้ในการใช้หลักในการสร้างสรรค์ รวมถึงวิธีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันอีกด้วย ทั้งหมดนี้คือสิ่งสำคัญที่มนุษย์ทุกคนมี ขณะนี้เราพูดถึงปัญหาคือ การตีความของกฎหมายถ้าไม่มีการระบุชื่อเจ้าของงาน จะตีอย่างไรให้รู้ว่า งานนี้เป็นของใคร จะตีความได้อย่างไรว่าใครโง่ ใครฉลาด ใครคือผู้สร้างสรรค์ผลงานที่แท้จริง ถ้าหากไม่รู้แล้วจะตีความอย่างไรให้เกิดความยุติธรรม  บทสรุปที่สำคัญคือทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน กฎหมายลิขสิทธิ์ระบุว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้นจำเป็นต้องมีผู้เป็นเจ้าของเหนือทรัพย์สินนั้น เพื่อเข้ามาจัดการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และในความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มีสิทธิ์เข้าครอบครอง การใช้ และได้รับกำไรและมีสิทธิ์จำหน่าย จ่ายโอนทรัพย์สินของตนเอง โดยเฉพาะ ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่ประกอบด้วยสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิในทรัพย์สินทั้งสองสิทธิได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ในการทำนิติกรรม ตัวอย่างเช่นการโอนลิขสิทธิ์ ปกติมักจะผ่านการทำนิติกรรมการซื้อขาย การแลกเปลี่ยน การให้หรือแม้กระทั่งการรับมรดก การกระทำเหล่านี้เพื่อปกป้องสิทธิตามกฎหมายและผลประโยชน์ของคู่สัญญา จำเป็นต้องมีหลักฐานในการทำนิติกรรมสัญญา ซึงกฎหมายกำหนดให้ การลงนาม การประทับตราและการพิมพ์ลายนิ้วมือมีผลผูกพันตามกฎหมายทั้งหมด ดังนั้นในงานอันมีลิขสิทธ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักฐานการเป็นผู้สร้างสรรค์ นั่นก็คือชื่อของผู้สร้างสรรค์ สำหรับการใช้งานภายใต้หลักการที่เป็นธรรมนั้น จะต้องเป็นการใช้งานที่มีชื่อของผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นการใช้งานภายใต้หลักการนี้[15]

2.4.2 ต้องใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ต้องจ่ายเงิน

โดยทั่วไปสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์เป็นสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว แต่ประชาชนสามารถใช้งานลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนนั้นต้องใช้งานอย่างถูกต้องนั่นคือการใช้ลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ " การทดสอบสามขั้นตอน "ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของข้อ จำกัดหรือข้อยกเว้น ในประเทศไทยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รวบรวมหลักการของ "การทดสอบสามขั้นตอน" เป็นข้อยกเว้นลิขสิทธิ์ไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์มาตรา 32 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จาก งานอันมีลิขสิทธิ์ ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ข้อยกเว้นการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทย ไม่เพียงแต่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับหลักการทดสอบสามขั้นตอนของกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังบัญญัติกระจัดกระจายตั้งแต่มาตรา 32วรรคสองจนถึงมาตรา 43 เมื่อเราลองเปรียบเทียบหลักข้อยกเว้นลิขสิทธิ์ ของประเทศไทยกับหลักการใช้งานอย่างเป็นธรรม ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในประชาคมโลกเห็นว่าประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาในหลายด้าน เช่น ด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ [16]

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรมของสหรัฐอเมริกาบัญญัติไว้เพียง 4 ขั้นตอนเท่านั้นที่เรียกว่า "fair use"ซึ่งเป็นการสะสมประสบการณ์ในการตัดสินคดีของผู้พิพากษาในอดีต มาบัญญัติไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์มาตรา 107  ในกรณีการใช้อย่างเป็นธรรมตามกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐอเมริกา ต้องพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้:                                                                                                                                         

1 วัตถุประสงค์ของการใช้งาน ไม่ว่าจะใช้งานดังกล่าวในเชิงพาณิชย์หรือ เพื่อการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไร                                                                                                                                 
2 ลักษณะธรรมชาติงานที่มีลิขสิทธิ์                                                                                                                                           
3 จำนวนและปริมาณงานที่ใช้                                                                                                                                                          
4 ผลกระทบต่อตลาดที่มีศักยภาพหรือผลกระทบของมูลค่างาน[17]

เพราะเหตุใดหลักการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรมของสหรัฐอเมริกาบัญญัติไว้เพียง 4 ขั้นตอนเท่านั้น?

เนื่องจากต้นกำเนิดของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นการแยกตัวเป็นอิสระจากอาณานิคมของอังกฤษดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงได้รับมรดกทางกฎหมายมาจากอังกฤษในระบบคอมมอนลอว์ ปัจจุบันเพื่อถ่วงดุลอำนาจ  ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติการแบ่งแยกอำนาจชัดเจนเป็นสามอำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ในการพิจารณาคดีตามกฎหมาย ตุลาการ จะมีดุลพินิจอย่างมากในการตีความกฎหมาย ทั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ในการตีความของผู้พิพากษาจะตีความตามตัวบทกฎหมายและตามคำพิพากษาที่เคยตัดสินไว้แล้วเป็นบรรทัดฐาน ดังนั้นในการศึกษากฎหมายของสหรัฐอเมริกาไม่เพียง แต่จะต้องศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยังต้องศึกษาหลักนิติศาสตร์ที่ผ่านมาของกฎเกณฑ์เหล่านี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการตีความอีกด้วย   ตัวอย่างเช่นการใช้ลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรมในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากศาลจะต้องใช้ดุลพินิจของในการตีความและแปลความหมายตามกฎหมาย ดังนั้น ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ศาลจะใช้หลักการตามคำพิพากษาของศาลที่เคยตัดสินไว้แล้วหรือระเบียบปฏิบัติของประชาชนที่เป็นจารีตประเพณี ภายใต้การใช้ดุลยพินิจในการตีความโดยการชั่งน้ำหนัก ในขณะที่สังคมกำลังพัฒนาและสิ่งใหม่ ๆ ยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลาทำให้ผู้พิพากษาสหรัฐต้องปรับบรรทัดฐานทางกฎหมายอย่างสม่ำเสมอในการจัดการกับกรณีใหม่ ๆ ดังนั้นกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจึงมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าข้อตกลงระหว่างประเทศจะกำหนด มาตรฐานการทดสอบ สามขั้นตอนของหลักการใช้งานอย่างเป็นธรรม และเน้นให้ประเทศสมาชิกตีความภายใต้ความยุติธรรม โดยการชั่งน้ำหนักอย่างสมดุลระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ต้องจ่ายเงิน สำหรับประเทศไทยของเรานั้นการตีความกฎหมาย ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง [18] [19]เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้บัญญัติแบ่งแยกอำนาจชัดเจน โดยแบ่งเป็นสามอำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ระบบกฎหมายของประเทศไทย เป็นระบบ civil law หรือระบบประมวลกฎหมาย ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำกฎหมายและข้อบังคับต่างๆมาบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า ประมวลกฎหมาย ซึ่งระบบประมวลกฎหมายนี้เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากที่สุดในโลก เหตุใดระบบกฎหมายของไทยจึงต้องใช้ระบบ ประมวลกฎหมาย  เพราะวัตถุประสงค์ของรัฐคือต้องการให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายและแนวคิดทางกฎหมายและสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายได้จากประมวลกฎหมาย และหวังว่าการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาทุกคนจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย จุดสำคัญของการตีความตามประมวลกฎหมายนั้นมาจากข้อกำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่า "กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบท บัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมาย ของบทบัญญัตินั้น ๆเมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตาม จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัย คดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งและถ้าบทกฎหมาย เช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"[20]ส่วนจารีตประเพณีที่จะนำมาปรับใช้นั้นต้องเป็นจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่ดีงาม ที่ปฏิบัติสืบเนื่องมานานและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชน" เป็นที่แน่นอนว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติชัดเจนว่า ระบบการตัดสินของศาลไทยต้องไม่ยืนยันคำพิพากษาเดิม แต่ ณ ปัจจุบันนี้กระบวนการตัดสินของศาลไทยไม่เพียงแต่ใช้ประมวลกฎหมายในการพิจารณา แต่ยังต้องใช้คำพิพากษาที่ตัดสินไว้แล้วมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินอีกด้วย ทำให้บรรทัดฐานของคำตัดสินไม่ชัดเจน เห็นได้จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ในสถานการณ์เดียวกันคำพิพากษาของศาลไทยยังมีความแตกต่างกัน อาจเป็นผลมาจากการที่ผู้พิพากษามีอิสระในการตีความทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า คำพิพากษาของศาลไทยนั้นมีสองมาตรฐาน

แม้ว่าข้อตกลงระหว่างประเทศจะสร้างบรรทัดฐานมาตรฐาน "การทดสอบสามขั้นตอน" ไว้เพื่อสำหรับให้ตุลาการตีความกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในลิขสิทธิ์และความสมดุลของผลประโยชน์ของสาธารณะชนก็ตาม  แต่เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยและของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับบรรทัดฐานการยุติข้อพิพาททางสังคมนั้นยังมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาเป็นระบบการตัดสินโดยคณะลูกขุน โดย มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญคือ เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่มีมาตรฐาน ภายใต้ระบบกฎหมายแองโกล – อเมริกัน คณะลูกขุนซึ่งประกอบด้วยพลเมืองสามัญที่ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายจะเป็นผู้พิจารณาข้อเท็จจริงของคดี ส่วนความรับผิดชอบของผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณาการใช้กฎหมาย การดำเนินงานของระบบคณะลูกขุนเป็นการคานอำนาจเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พิพากษาใช้อำนาจตุลาการอย่างผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะคณะลูกขุนมีการก่อตัวชั่วคราวสมาชิกมาจากการสุ่มเลือกบุคคลภายนอกที่จะเข้าร่วมในการพิจารณาคดี หลังจากได้รับการคัดเลือกแล้วก็จะต้องเก็บตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก แม้ว่าสมาชิกในกลุ่มคณะลูกขุนจะไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายแต่ประชาชนสหรัฐอเมริกาเห็นว่า การมีประสบการณ์ชีวิตทางสังคมของคนธรรมดาสามัญที่มีจิตสำนึกทางศีลธรรม จริยธรรม ก็เพียงพอจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นการทดแทนข้อบกพร่องของผู้พิพากษามืออาชีพในเรื่องประสบการณ์ชีวิตทางสังคมนับว่าเป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดมากที่สุดระหว่างระบบคณะลูกขุนและระบบอื่น ๆ วิธีการข้างต้นที่กล่าวมาก็คือภายใต้การพิจารณาคดีผู้พิพากษาไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินข้อเท็จจริงเพียงแต่ได้รับการยืนยันจากคณะลูกขุนเท่านั้น

ทั้งนี้ไม่ว่ากฎหมายใดๆ การประยุกต์ใช้และการตีความทางกฎหมาย เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้  ดังนั้นข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์จึงวางบรรทัดฐานการทดสอบสามขั้นตอน เพื่อให้รัฐสมาชิกใช้เป็นหลักในการตีความโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกคำนึงถึงความสมดุลของผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด และให้นำหลักการนี้ไปบัญญัติไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของทุกประเทศอีกด้วย เมื่อรัฐบาลไทยเข้าผูกพันตามข้อสัญญา สภานิติบัญญัติแห่งชาติไทยควรตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความขัดแย้งของลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เนื่องจากในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันนั้น กุญแจสำคัญคือ ด้านหนึ่งกฎหมายจะต้องป้องกันการผูกขาดของเจ้าของลิขสิทธิ์ อีกด้านหนึ่งกฎหมายจะต้องมีวิธีการควบคุมการใช้งานของประชาชน และควรตระหนักว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ใช่ "วิธีการป้องกันการใช้งาน" แต่ เป็น"วิธีการควบคุมการใช้งาน" ถ้าหาก กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย หมายถึง วิธีการป้องกันการใช้งาน ซึ่งป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ นั่นหมายถึง กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศ กำลังปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของข้อตกลงที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนาม ซึ่งภายใต้เป้าหมายสูงสุดของข้อตกลง การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทุกประเทศจะต้องแสวงหาความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน และเพื่อประโยชน์ของชาติสภานิติบัญญัติแห่งชาติไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ให้มีความยุติธรรมโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้


3. ความเป็นมาของหลักการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม

ในอดีตที่ยังไม่ปรากฏกฎหมายลิขสิทธิ์ ภายใต้ "พระราชบัญญัติใบอนุญาต" ของสหราชอาณาจักร บริษัทเครื่องเขียน และสมาคมเครื่องพิมพ์ พวกเขาได้รับสิทธิพิเศษผูกขาดด้านการพิมพ์โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการทบทวนผลงานวรรณกรรม และการตรวจสอบเซ็นเซอร์งานเขียนทุกชนิดของประเทศ ทำให้สาธารณะชนไม่พอใจและนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรมและความยุติธรรมตลอดเวลา ความกดดันนี้เป็นผลทำให้ ในปี 1694 รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรปฏิเสธที่จะขยายเวลา "การออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชน" ดังนั้นจึงสิ้นสุดการผูกขาดของเอกชน เมื่อการเผยแพร่ผลงานไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ และรัฐก็ไม่สามารถควบคุมได้ทำให้มีการคัดลอกงานและเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง

จนกระทั่งในปีค.ศ.1710 เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรจึงได้บัญญัติกฎหมาย"The Statute of Anne" ซึ่งเป็นครั้งแรกในการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานแต่ไม่ได้คุ้มครองผู้จัดพิมพ์ หรือสำนักพิมพ์ นอกจากนี้ "The Statute of Anne" ยังมีบทบัญญัติเรื่องผลประโยชน์สาธารณะต่าง ๆ เช่นแผนการฝากเงินตามกฎหมายอีกด้วย ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ"The Statute of Anne" ครั้งนี้ถือเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกและเป็นต้นแบบกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ "The Statute of Anne" ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่พระราชบัญญัติตระหนักถึงสิทธิตามกฎหมายของผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ แม้ว่า "The Statute of Anne"จะคุ้มครองผู้เขียน แต่ก็ยังไม่ได้อธิบาย ชัดเจนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของผู้เขียนหรือสิทธิของหรือผู้ประพันธ์อย่างชัดเจน นอกจากยังมีข้อบกพร่องในเรื่องอายุการคุ้มครอง ภายใต้"The Statute of Anne" ผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ มีสิทธิ์เพียง 21 ปีสำหรับงานที่เผยแพร่แล้ว หลังจาก ปีที่ 21 ยังน่าเป็นห่วงว่าลิขสิทธิ์นั้นยังเป็นของผู้จัดจำหน่ายหรือสำนักพิมพ์ไม่ใช่ของผู้เขียนแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองผู้เขียนเพียง 21 ปี เป็นผลทำให้นักเขียนส่วนใหญ่ยังคงขายงานของตนต่อผู้จำหน่ายหนังสือโดยตรง ทำให้ผู้สร้างสรรค์หรือนักเขียนขาดจากความเป็นเจ้าของผลงานของตนเช่นเดิม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการบัญญัติกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เพื่อต่อยอดความรู้ซึ่งถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ และควบคุมการค้าการผูกขาดการขายหนังสือ แต่ข้อดีของกฎหมาย "The Statute of Anne"ที่มีต่อผู้เขียนคือเป็นความบังเอิญที่ได้รับการคุ้มครอง 21 ปีเท่านั้น จะเห็นได้ว่าตลอดศตวรรษที่สิบแปด"ลิขสิทธิ์"เป็นการสนับสนุนผู้จัดจำหน่ายหนังสือมากกว่าการให้กำลังใจของผู้เขียน บางคนอ้างว่าลิขสิทธิ์เกิดขึ้นจากสิทธิของผู้เขียนในผลิตภัณฑ์แรงงาน แต่บางคนคิดว่าวัตถุประสงค์หลักของลิขสิทธิ์คือการปกป้องสิทธิของผู้เขียน แทนที่จะสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของนโยบายอันแท้จริง สำหรับ"The Statute of Anne"ที่ถือว่าเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก ยังมีข้อให้ชวนคิดว่า "The Statute of Anne" ปกป้องนายทุนหรือเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ผลงานของนักเขียนเหล่านั้น [21]

อย่างไรก็ตามในยุโรปและอเมริกาได้มีการพัฒนาและเผยแพร่ผลงานการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ด้านสาธารณะชนก็มีการพัฒนาข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมและความยุติธรรมในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนกระทั่งในปี ค .ศ 1740 ในคดีของ Gyles v. Wilcox โจทก์ Gyles ยื่นฟ้องจำเลยโดยกล่าวหาว่า ภายใต้กฎหมาย"The Statute of Anne"สิทธิของเขาถูกละเมิด เนื่องจากจำเลยได้ว่าจ้างให้ Barrow ซึ่งเป็นนักเขียนคนหนึ่งคัดย่อ และตัดทอนหนังสือของเขา คดีนี้ศาลสหราชอณาจักรวิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้ย่อหนังสือที่ตีพิมพ์จริง แต่ถือได้ว่าผลงานที่ย่อออกมานั้นเป็นผลงานใหม่ที่เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ ศาลเห็นว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ควรให้ประโยชน์ต่อสาธารณชนโดยการส่งเสริมการสร้างผลงานการศึกษาและในการให้บริการเผยแพร่ต่อยอดความคิดที่ดีขึ้นโดยสนับสนุนการผลิตงานใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน คดีนี้ถือเป็นข้อยกเว้นกฏหมายลิขสิทธิ์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "การใช้งานอย่างเป็นธรรม" ที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการอ้างอิงถึงในคดีอื่น ๆ อีกหลายคดีซึ่งท้ายที่สุดก็สร้างแนวคิดเรื่องการใช้งานอย่างเป็นธรรม ของกฏหมายลิขสิทธิ์[22]

 ในปี1803 ใน กรณี "Cory v. Kearsley" ผู้พิพากษาอังกฤษเป็นครั้งแรกใช้ระบบ"fair dealing" อย่างเป็นทางการ ในการตัดสิน และต่อมาก็เริ่มใช้แนวความคิดเรื่อง "fair dealing" เรื่อยมาจากปี 1807 จนถึง 1839 ผู้พิพากษาชาวอังกฤษยังคงพัฒนาแนวคิดในการใช้งานที่เป็นธรรม อย่างต่อเนื่องในหลายกรณี สำหรับสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่องการใช้งานอย่างเป็นธรรมนั้นเริ่มขึ้น ในปี ค.ศ 1841 กรณี " Folsom v Marsh" คดีนี้ Jared Sparks โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเอกสารส่วนตัวและเป็นทางการของ ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันยื่นฟ้อง บาทหลวง Charles Upham ในฐานะนักเขียนและกวีนิพนธ์ จำเลย โดยกล่าวหาว่าจำเลยได้คัดลอกผลงานของเขา ในหนังสือ  The Life of Washington in the Form of an Autobiography เป็นจำนวน 353 หน้า ผู้พิพากษา Story มีความเห็นว่า โดยทั่วไป การแก้ไข ตัดทอน เปลี่ยนแปลงงานของผู้อื่นนั้น ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์  แต่ในกรณีนี้ศาลใช้ปัจจัยสี่ขั้นตอนเป็นหลักในการพิจารณา ในการชั่งน้ำหนักศาลพิจารณาเปรียบเทียบปริมาณและมูลค่าของงานที่ใช้ และ พิจารณาถึงขอบเขตของความเสียหายของโจทก์ และประโยชน์ที่สาธารณะชนจะได้รับ โดยอ้างว่างานใหม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน และไม่ทำให้มูลค่างานเดิมลดลง เนื่องจากงานใหม่ไม่ได้มาแทนที่งานเดิมของโจทก์แต่อย่างใดและไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์  ถือเป็น "การใช้งานที่เหมาะสมอย่างเป็นธรรม" กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรก ของระบบการใช้งานที่เป็นธรรมของสหรัฐฯ ต่อมาปี 1976 ได้นำหลักการใช้อย่างเป็นธรรมมารวมอยู่ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 17 U.S.C.§107[23]

สำหรับประเทศอื่นๆ เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ การไหลข้ามประเทศของสินค้า ทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งมากมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ หลายประเทศเกิดความห่วงใยในปัญหานี้ จนกระทั่งในปี ค. ศ 1886 หลายประเทศได้มีการลงนาม ในข้อตกลง"อนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม" (Berne Convention for Protection of Literary and Artistic Works) อนุสัญญานี้ คืออนุสัญญาลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศฉบับแรกของโลกซึ่งดำเนินการโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นการกำหนดมาตรฐานสากลให้เป็นที่ยอมรับ โดยอนุสัญญา อนุญาตให้รัฐมีอำนาจในการอนุญาตให้สาธารณะชนได้ใช้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์อย่าง"ยุติธรรม"การดำเนินการในส่วนนี้ของสนธิสัญญาได้บัญญัติไว้กว้าง ๆ ของหลักการใช้งานที่เป็นธรรมและการจัดการที่เป็นธรรม เพื่อให้แต่ละประเทศได้นำไปยุกต์ใช้ภายในประเทศของตน[24]

สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ในอดีตประเทศไทยปกครองด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองและมีสิทธิ์เด็ดขาดในการบริหารประเทศ ในระบอบการปกครองนี้ พระมหากษัตริย์ก็คือกฎหมาย กล่าวคือ พระมหากษัตริย์คือที่มาของกฎหมายทั้งปวง คำสั่ง คำประกาศ แถลงการณ์ หรือแม้กระทั่งความต้องการต่าง ๆ ล้วนมีผลเป็นกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง "ประกาศจัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435)" และมีคำประกาศ ห้ามคัดลอกหนังสือในหอสมุด  นักนิติศาสตร์ไทยเห็นว่า คำประกาศนี้ ถือเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของประเทศไทย และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย เริ่มใช้ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์[25] ลิขสิทธิ์ในหนังสือทั้งหมดเป็นของหอสมุดวชิรญาน นอกจากคำประกาศห้ามแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ประกาศ หลักการใช้อย่างเป็นธรรม โดยมีข้อยกเว้นอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงถือได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยเกิดขึ้นมาและพร้อมกันนี้ยังมีข้อยกเว้น ที่เรียกว่า "หลักการใช้อย่างเป็นธรรม"เกิดขึ้น อีกด้วย

หลังจากนั้นในปีพ.ศ. 2444 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้แต่งหนังสือเป็นการทั่วไป รัฐบาลไทยจึงได้ตราพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร. ศ 120 พ.ศ. 2444 ขึ้นและในปีพ.ศ. 2457 ได้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือพ.ศ. 2457 ออกมาแก้ไขปรับปรุงต่อมาในปีพ.ศ. 2477 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาเบอร์นเห็นควรปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเบอร์นซึ่งเป็นอนุสัญญาด้านลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศรัฐจึงได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2477 ออกใช้บังคับโดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือร. ศ 120 และพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือพ.ศ. 2457 ต่อมาในปีพ.ศ. 2521 สภานิติบัญญัติได้เล็งเห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้วบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงล้าสมัย ให้ความคุ้มครองไม่กว้างขวางเพียงพอ อัตราโทษต่ำมาก ทำให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายอยู่เสมอจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ขึ้นมาใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลป์กรรม 2477 ทั้งนี้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 บัญญัติกำหนดประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์กว้างขวางกว่ากฎหมายเดิมโดยให้ครอบคลุมงานประเภทวรรณกรรมนาฏกรรมศิลปกรรมดนตรีกรรมโสตทัศนวัสดุภาพยนตร์งานแพร่เสียงแพร่ภาพหรืองานอื่นอันเป็นงานในแผนกวรรณคดีแผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ รวมทั้งมีบทบัญญัติให้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศด้วย ต่อมาในปีพ.ศ. 2537รัฐบาลไทยเล็งเห็นว่าบทบัญญัติในพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการพัฒนาการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศและระหว่างประเทศสมควรปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น                                                        

ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ 2 ฉบับ เหตุผลในฉบับแรก ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือโดยที่ปัจจุบันมีการนำข้อมูลและการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยีมาใช้ในการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงสมควรกำหนดให้มีการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ์และมาตรการทางเทคโนโลยีรวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงเพิ่มขึ้นอีกทั้งสมควรกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงที่ทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงเข้าถึงโดยสาธารณะชนได้อย่างแพร่หลายต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นและสมควรกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือทำลายสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดและสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงได้ด้วยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เหตุผลในฉบับที่สองเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือเนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาการทำซ้ำโดยการบันทึกเสียงหรือภาพหรือทั้งเสียงและภาพจากภาพยนตร์ในระหว่างการฉายในโรงภาพยนตร์ทั้งภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วนำไปทำซ้ำในสิ่งต่างๆเช่นแผ่นซีดีหรือแผ่น DVD เป็นต้นออกจำหน่ายสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นอย่างมากซึ่งเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์และอาศัยข้อยกเว้นการใช้การละเมิดตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ในปัจจุบันโดยอ้างว่าเป็นการทำซ้ำเพื่อประโยชน์ของตนเองจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 โดยกำหนดให้การกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในลักษณะดังกล่าวเป็นความผิดเฉพาะและมีอัตราโทษเช่นเดียวกับการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า นอกจากนี้สมควรกำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของคนพิการทางการมองเห็นคนพิการทางการได้ยินคนพิการทางสติปัญญาและคนพิการประเภทอื่นที่กำหนดให้พระราชกฤษฎีกาที่จะสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ตามความจำเป็นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้[26]

ดูเหมือนว่าเนื้อหาของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี 2558 จะเป็นการแก้ไขเพื่อปกป้องเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ทุกสาขาโดย เพื่อเสริมสร้างอาระธรรมที่ดีงามโดยการสนับสนุนให้สาธารณชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ ประเทศไทยของเราเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เนื่องจากในอดีตประเทศไทยของเรานั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์เสด็จกลับจากการประพาสยุโรปพระองค์ทรงพบว่าพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนตะวันตกนั้นมีพัฒนาการที่ดีกว่าของคนไทยเป็นอย่างมาก ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า "แต่เดิมประชาชนไม่เคยมีโอกาสได้เรียนหนังสือ หากประชาชนไม่มีความรู้ ต่อไปก็จะไม่มีประเทศเป็นแน่แท้ ดังนั้นในสมัยรัชกาลของพระองค์ ไม่ว่าลูกเจ้าลูกนายหรือลูกคนธรรมดาสามัญต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน"  ทรงมีพระราชดำรัสต่ออีกว่า "ในแผ่นดินสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรส่งเสริมคือการศึกษา "[27]ในสมัยของพระองค์แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกจะห้ามคัดลอก แต่เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาจึงมีข้อยกเว้นอนุญาตให้ประชาชนที่ต้องการเข้าไปในหอสมุดแห่งชาติ Vachirayan เพื่ออ่านหนังสือได้   ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน วันนี้ภายใต้การตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พบว่าเนื้อหายัง มีข้อ จำกัดที่กีดกันสิทธิมนุษยชน เสรีภาพส่วนบุคคล ฯลฯ  ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าพระองค์ทรงพระราชดำรัสว่า: "กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษา และอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย" พระมหากษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์ทรงพระราชทานคำแนะนำวิธีแก้ไขไว้แล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติไทยท่านคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?[28]


4. ข้อบกพร่องของรัฐบาลไทยในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

ในสังคมยุคใหม่ที่เทคโนโลยีสื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ละชนิดและจำนวนผลงานลิขสิทธิ์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การสร้างผลงาน การเผยแพร่และใช้งานอันมีลิขสิทธิ์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายดิจิตอล ซึ่งช่วยให้คนจำนวนมากมีส่วนร่วมและเข้าถึงผลงานการสร้างสรรค์และการเผยแพร่งานของตนเองต่อสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญในเครือข่ายดิจิตอลกำลังเป็นที่นิยม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเครือข่ายดิจิตอล ทุกคน อาจเป็นได้ทั้งผู้สร้าง ผู้สื่อสาร และผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ ปัญหาด้านการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้เทคโนโลยีเครือข่ายดิจิตอลได้กลายเป็นเรื่องที่โดดเด่นมากขึ้น จนกลายเป็นความกังวลร่วมกันในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในหลายประเทศทั่วโลก การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีผลกระทบหลายๆด้าน ทั้งด้านกฎหมาย โดยไม่ต้องสงสัยใด ๆ ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง  ในปีที่ผ่านมาลิขสิทธิ์สภาพแวดล้อมเครือข่ายดิจิตอลได้กลายเป็นหัวข้อที่ร้อนแรงที่สุดในโลกประเทศไทยก็เช่นกัน ปี พ. ศ 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ รวม สองฉบับ การแก้ไขที่เสร็จสมบูรณ์ คือการขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของสภาพแวดล้อมเครือข่ายดิจิตอลในประเทศ อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องอยู่เป็นจำนวนมาก ที่เห็นชัดเจนก็คือ ประชาชนทั่วไปขาดความรู้ความเข้าใจในการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ในการใช้งานลิขสิทธิ์เครือข่ายในระบบดิจิตอล รัฐบาลขาดการประชาสัมพันธ์ ขาดการส่งเสริมความรู้ที่ถูกต้อง ประชาชนยังไม่เข้าใจวิธีการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ใช้อย่างถูกกฎหมายควรใช้อย่างไร  และใช้อย่างไร ใช้แล้วผิดกฎหมาย กรณีดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือของผู้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายไม่เป็นที่ชัดเจนว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขนี้ ซึ่งแก้ไขเป็นการเพิ่มคำนิยาม และเพิ่มโทษเท่านั้น                                                                 
อีกด้านหนึ่งของรัฐบาล ในการสัมมนาเรื่อง"โอกาสประเทศไทย" จัดขึ้นที่กรุงเทพฯเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาล ยังแจ้งในที่ประชุมว่าประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการค้าและอุตสาหกรรมของอาเซียน [29]ยุทธศาสตร์แห่งชาติของประเทศ เป็นที่คาดว่าจะช่วยให้สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ (1) ความมั่นคง (2) ความสามารถในการแข่งขัน (3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) การมีส่วนร่วมทางสังคม (5) ความอุดมสมบูรณ์พื้นที่สี่เขียว (6) การปรับสมดุลและการพัฒนาภาครัฐ  "เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้ประกาศนโยบายให้สิทธิพิเศษแก่ บริษัท เทคโนโลยีชั้นสูงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเช่นเทคโนโลยีชีวภาพนาโน เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิตอล ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย สำหรับปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศ จะต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรร่วมกับองค์กรต่างๆของต่างประเทศในเวลาเดียวกัน เพื่อรองรับการถ่ายโอนเทคโนโลยี เทคโนโลยีขั้นสูง ฯลฯ โดยการฝึกอบรมพนักงาน เรียนรู้ ประสบการณ์การจัดการจากต่างประเทศ ดูเหมือนว่า รัฐบาลไทยกำลังโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในความเป็นจริงนั้น วันนี้ประชาชน ยังคงขาดความเข้าใจในวัตถุประสงค์ การแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ขาดการซึมซับความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและขาดการยอมรับการคุ้มครองสิทธิในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะ ปัญหาลิขสิทธิ์ การที่รัฐบาลไทยโฆษณาชวนเชื่อ ว่าประเทศไทยนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการค้าและอุตสาหกรรมของอาเซียน โดยการประกาศนโยบายสิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเช่นเทคโนโลยีชีวภาพนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิตอลเพื่อให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่อีกด้านยังปล่อยปละละเลยในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางห้ามประชาชนละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ นักวิชาการทรัพย์สินทางปัญญาบางคนเชื่อว่า ประชาชนไทย กำลังถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิที่ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองในการใช้งานอย่างเป็นธรรมภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ รัฐบาลไทยมักจะอ้างถึง หลักธรรมภิบาลในการปกครองประเทศ จะเพื่ออะไรก็ตาม ซึ่งหลักธรรมภิบาลเป็นกระบวนการบริหารจัดการทางสังคมที่เน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนโดยสาระสำคัญคือการบริหารจัดการกิจการสาธารณะ โดยหลักการที่สำคัญในการบริหารคือ หลักนิติธรรม ซึ่งหมายถึง การปกครองประเทศโดยกฎหมาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านกฎหมาย แทนการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และการปกครองประเทศ ภายใต้หลักนิติธรรมกำหนดให้การดำเนินงานทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมทุกรูปแบบต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะแทรกแซงขัดขวางหรือทำลายได้  ในหลักธรรมภิบาลยังเน้นหลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งมีส่วนสำคัญ ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ วันนี้ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายดิจิตอลที่ทันสมัย เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในกระแสที่ไม่มีวันสิ้นสุดและความขัดแย้งก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ การปกป้องลิขสิทธิ์ออนไลน์ยังคงต้องประสบปัญหาใหม่ๆ อย่างแน่นอน รัฐบาลควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยชี้แจงสิทธิของประชาชนในการใช้งานและขณะเดียวกันก็ต้องชี้แจงการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนรัฐบาลจำเป็นต้องเสริมสร้างการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสร้างจิตสำนึกในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นอย่างยุติธรรมและชอบธรรม  สร้างระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิ์เพื่อให้ประชาชนและ องค์กรสังคมแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เหล่านี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงหลักนิติธรรม และจริยธรรมของรัฐบาลภายใต้หลักคุณธรรม ที่มีความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ สุจริตและความเป็นมิตรต่อประชาชาชน วันนี้รัฐบาลไทยทำได้หรือยัง?[30]


5. ความเข้าใจของประชาชนไทยต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญา

ก่อนพูดคุยเรื่องนี้เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าทำไมประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกับองค์การการค้าโลก?  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เพราะจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นกว่าปิดประเทศ  การเข้าร่วมองค์การการค้าโลกทำให้ประชาชนไทยได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติกับบุคคลในทุก ๆ คน ซึ่งเงือนไขภายใต้หลักสากลที่ใช้บังคับคนทั่วไปโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและสีผิว ในเวลาเดียวกันยังนำไปสู่สันติภาพและการพัฒนาโลกอีกด้วย ดังนั้นทุกคนมีสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมกันภายใต้โลกใบนี้ และในระบบการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ทุกประเทศสามารถใช้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภายใต้ผลประโยชน์จากเศรษฐกิจโลก มีสิทธิออกเสียง มีความสามารถในการชั่งน้ำหนักมากขึ้น ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของประเทศ สามารถเพิ่มการจ้างงานเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้มากขึ้น การเข้าร่วมองค์การการค้าโลกทำให้ทุกประเทศได้รับเกียรติศักดิ์ สิทธิที่เท่าเทียมกัน ช่วยรักษาระดับเสียงของประเทศในเวทีเศรษฐกิจโลกและสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยและองค์การการค้าโลกของความร่วมมือ การเข้าร่วมองค์การการค้าโลกเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทยในสภาวะที่เท่าเทียมกันในการเข้าร่วมการแข่งขันระดับสากลโลกจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตลาดทุนไทย และสามารถเข้าถึงตลาดที่คาดการณ์ได้และขยายตัวส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมส่งเสริมการพัฒนาและการปฏิรูปทางเศรษฐกิจทั้งหมดนี้เป็นโอกาสที่หาได้ยากสำหรับประเทศที่พร้อมจะอุทิศตนเพื่อการสร้างและพัฒนาระบบเศรษฐกิจตลาดของประเทศ

แต่ปัจจุบันประชาชนประเทศไทยยังคงไม่เข้าใจระบบทรัพย์สินทางปัญญา หลายคนกลัวการละเมิดลิขสิทธิ์ หลายคนขโมยความคิดของคนอื่นอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย  นอกจากนี้หลายคนมักสับสนกับประเภททรัพย์สินทางปัญญา เช่นความสับสนระหว่างลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร และไม่ทราบว่าลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแตกต่างกัน แต่ทั้งสองสิทธินี้ยังมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด  โดยทั่วไปแนวคิดเกี่ยวกับวัตถุของทรัพย์สินทางปัญญาคือวัตถุที่เป็นสิทธิ หมายถึงสิทธิในส่วนได้เสีย และกฎหมายกำหนดเพื่อคุ้มครอง สิทธิของเจ้าของ เนื่องจากคนไทยได้รับข้อมูลและข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง คนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจว่าอะไรคือลิขสิทธิ์ ไม่เข้าใจว่าทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมคืออะไร? ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เคยเข้าใจวิธีการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น ใช้อย่างไรโดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ในการอภิปรายเรื่องนี้ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในเรื่องการจำแนกประเภทของทรัพย์สินทางปัญญากันก่อน เพราะคิดว่าคนไทยหลายๆคนยังไม่เข้าใจวิธีการคุ้มครองของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยทั่วไปทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ลิขสิทธิ์หมายถึงสิทธิพิเศษของบุคคลธรรมดาหรือองค์กรอื่น ๆ ในความเป็นเจ้าของผลงานในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ ส่วนสิทธิบัตรหมายถึงสิทธิพิเศษของผู้ทรงสิทธิที่จะได้รับสิทธิในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์แบบอรรถประโยชน์และการออกแบบตามกฎหมาย ความแตกต่างระหว่างลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรคือช่วงเวลาของการคุ้มครองจะแตกต่างกัน วัตถุที่ได้รับการคุ้มครองต่างกัน ตามกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองการแสดงออกถึงอารมณ์ความคิดและความคิดเห็นของผู้เขียนที่แสดงออกมา กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองความคิดอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ภายในของตัวเอง โดยการคุ้มครองผ่านการสร้างผลงาน เมื่อเสร็จสิ้นการทำงานจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ในสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิในทรัพย์สินทันที ดังนั้นบุคคลใดก็ตามที่ใช้ผลงานลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นอาจได้รับอนุญาตหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้ และไม่ต้องชำระเงินค่าตอบแทนก็ได้ ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิอื่นของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย ภายใต้หลักการใช้งานที่เป็นธรรม ทั้งนี้ควรระบุชื่อผู้แต่งชื่องาน ซึ่งลิขสิทธิ์ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้เดิม ส่วนสิทธิบัตร (patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่นการประดิษฐ์ของทีวี หรือวิธีการผลิตโคมไฟ การ ออกแบบขวดที่ไม่ซ้ำกัน Coca-Cola สิทธิในสิทธิบัตรรวมถึงสิทธิในการดำเนินการสิทธิในการอนุญาตให้บุคคลอื่นสิทธิ์ในการโอนและสิทธิในทรัพย์สินอื่น ๆ ไม่รวมถึงเนื้อหาของสิทธิส่วนบุคคล การยื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการได้รับสิทธิบัตรและผู้ทรงสิทธิบัตรเรียกรวมกันว่าเจ้าของและผู้ถือสิทธิบัตร นั่นคือเมื่อได้รับการอนุมัติการขอรับสิทธิบัตรผู้ขอสิทธิบัตรจะได้รับสิทธิบัตร ผู้ทรงสิทธิอาจเป็นหน่วยหรือบุคคลธรรมดา การใช้สิทธิอย่างเป็นธรรมภายใต้กรณีตามกฎหมายกำหนด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ต้องจ่ายค่าสิทธิแก่ผู้ทรงสิทธิและการใช้เทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการคุ้มครองโดยสิทธิในเครื่องหมายการค้าเป็นลักษณะเด่นที่โดดเด่นซึ่งแยกแยะแหล่งที่มาของสินค้าหรือบริการ วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองคือการส่งเสริมผู้ผลิตเพื่อให้แน่ใจว่าคุณภาพของสินค้าและรักษาความน่าเชื่อถือของเครื่องหมายการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยทั่วไปมีวัตถุและขอบเขตที่แตกต่างกันเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิเครื่องหมายการค้าอยู่ภายใต้การอนุมัติเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของการใช้สินค้า ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากวัตถุลิขสิทธิ์เป็นงานวรรณกรรมศิลปกรรมและวิทยาศาสตร์ที่ผู้สร้างสรรค์แต่งไว้หากคำที่เป็นเครื่องหมายการค้ามีความหมายทางศิลปะและข้อความต้นฉบับลิขสิทธิ์ของแบบอักษรจะได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงมีอยู่สองประเภทในการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ดังนั้นการละเมิดลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์ความต้องการในการผลิตยาของคำขอสิทธิบัตรยาหากไม่มีสิทธิบัตรยาถือเป็นการละเมิดสิทธิบัตรภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรหากไม่ได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่มีตราสินค้าเป็น "การละเมิดเครื่องหมายการค้า" ภายใต้กฎหมายเครื่องหมายการค้า

หลายปีที่ผ่านมาสาเหตุหลักของปัญหาลิขสิทธิ์ในประเทศไทยเกิดจาก ความสับสนในวัตถุของทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากรัฐบาลไทยขาดความเข้าใจในการบริหารจัดการกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ประชาชนคนไทยจำนวนมากรับรู้แต่เพียงการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่พวกเขาไม่เข้าใจระบบและวิธีการในการใช้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง ว่าใช้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย การที่รัฐบาลมีความตั้งใจจะพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สภาวะของเศรษฐกิจแนวใหม่ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลด้วยการสร้างความมั่งคั่งผ่าน กลไกขับเคลื่อน เศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ แล้วนั้น

ถ้าหากประชาชนไทยยังคงไม่เข้าใจระบบทรัพย์สินทางปัญญา หลายคนยังกลัวการละเมิดลิขสิทธิ์ หลายคนยังคงขโมยความคิดของคนอื่นอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย  หลายคนยังสับสนกับประเภททรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้ผลประโยชน์จากเศรษฐกิจโลก สถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ จากประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อเอารัดเอาเปรียบประเทศไทย ในระบบการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยขาดความสามารถในการใช้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ในการเจรจาต่อรองขาดความสามารถในการชั่งน้ำหนัก จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตลาดทุนไทย ดังนั้น  คำตอบที่ดีที่สุดคือการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาควบคู่ไปด้วย ในด้านหนึ่ง การพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับผลงานสร้างสรรค์ทางปัญญา อีกด้านหนึ่ง ควรส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการทำความเข้าใจในการเรียนรู้และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงการใช้ระบบสำหรับวิธีการใช้อย่างถูกต้องโดยไม่ผิดกฎหมาย ระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ใช้ ให้พัฒนาอย่างกว้างขวางโดยเร็ว


6. กรณีศึกษาข้อยกเว้นหรือการใช้อย่างเป็นธรรมภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย

"การใช้งานที่เป็นธรรม" แนวคิดนักวิชาการแต่ละประเทศมีลักษณะแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป เช่น เรียกว่า "การใช้งานที่เป็นธรรม" หรือที่เรียกว่า "การใช้งานฟรี." แต่ส่วนใหญ่ของหลักการเหล่านี้ต้องสอดคล้องกับข้อตกลง ภายใต้อนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม มาตรา 9 (2) การป้องกันการคัดลอกงานและในกรณีพิเศษบางอย่างที่มีเงื่อนไขว่าการคัดลอกนั้นถ้าไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ตามปกติของการทำงานของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและผลประโยชน์ที่ถูกต้องของผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ "อย่างสมเหตุสมผล "ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศ ซึ่งกฎหมายจะต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางสังคมและสาธารณชนให้มากที่สุด บนความสนใจของสาธารณชน และในฐานะเป็นผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นหลัก ต้องพิจารณาการใช้ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความสมดุลและยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ในบทความนี้เราจะเปรียบเทียบข้อยกเว้นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้วโดยผ่านหลักการดังต่อไปนี้

6.1 วัตถุประสงค์ในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น

มาตรฐานสากลของข้อ จำกัด และข้อยกเว้นลิขสิทธิ์สากล "การทดสอบขั้นตอนที่สาม" เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานการงานอย่างเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศไทย

หลักเกณฑ์เหล่านี้ประเทศไทยได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์มาตรา 32 วรรคแรก"การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์"

มาตรา 32 วรรคสองบัญญัติว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่า เป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท

(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร

(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

(9) ทำซ้ำ หรือดัดแปลง เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ทั้งนี้ รูปแบบของการทำซ้ำหรือดัดแปลงตามความจำเป็นของคนพิการและองค์กรผู้จัดทำรวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเพื่อทำซ้ำหรือดัดแปลงให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ยังบัญญัติกระจัดกระจาย อยู่ในมาตรา 33 ถึง 43 อีกด้วย[31]

แม้ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันในขอบเขตของบทบัญญัติของระบบการใช้งานที่เป็นธรรม แต่ในการพิจารณาคดีของศาล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นการใช้งานอย่างสมเหตุสมผลของความเป็นธรรม ศาลจะพิจารณาวัตถุประสงค์หลักของการใช้งานที่เหมาะสม ซึ่งพื้นฐานวัตถุประสงค์หลัก ที่ประเทศสมาชิกนำมาพิจารณาในการตัดสินคดีนั้นมีเพียงสองกรณีคือ

1 วัตถุประสงค์ในการใช้โดยไม่แสวงหาผลกำไร                                                                                                                                           
2  วัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ

วัตถุประสงค์ในการใช้โดยไม่แสวงหาผลกำไรจะได้รับการยอมรับว่าเป็นการใช้อย่างเป็นธรรมมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่า วัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ จะไม่สามารถนำมาพิจารณา ภายใต้หลักเกณฑ์การใช้อย่างเป็นธรรมได้

ตัวอย่างเช่น ในคดี Sony Corp. of America v. Universal City Studios, Incหรือที่เรียกว่า "Betamax"  ในเวลานั้นคำตัดสินของศาลสูงสหรัฐ ประชาชนใช้เทคโนโลยี" Betamax" อัดเทปรายการโทรทัศน์ไว้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนเวลาการชม นั่นหมายความว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิส่วนบุคคลในการบันทึกรายการโทรทัศน์ เพื่อเก็บไว้ดูในเวลาว่างได้โดยไม่ผิดกฏหมาย สำหรับ Betamax หรือเครื่องบันทึกวิดีโอ และเครื่องมืออื่น ๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เนื่องจากการใช้เพื่อวัตถุประสงค์การใช้งานส่วนบุคคล บริษัทผู้ผลิตBetamax หรือเครื่องบันทึกวิดีโออื่น ๆ ก็ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์。[32]

 ผลจากคำพิพากษาในคดี Sony Corp. ทำให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์อย่างผิดกฎหมาย เช่น Napster เป็นซอฟต์แวร์ที่คุณสามารถดาวน์โหลดไฟล์ MP3 ที่คุณต้องการบนเว็บไซด์ นอกจากนี้ยังช่วยให้เครื่องของตัวเองกลายเป็นเซิร์ฟเวอร์สำหรับผู้ใช้รายอื่นที่ดาวน์โหลดได้เช่นกัน ในโลกดนตรีและผลิตภัณฑ์ของ บริษัทผู้ผลิตได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์  

 แต่ Napster สามารถทำให้การแพร่กระจายของเพลง ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ยิ่งกว่านั้นประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน ทำให้บริษัท แผ่นเสียงได้รับผลการละเมิดจากการที่ Napster ทำให้ผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ลดลง จึงนำไปสู่การฟ้องร้อง ในกรณีของ A & M Records Inc. V. Napster, Inc. ศาลสหรัฐในขณะนั้นตัดสินชี้ขาดให้ Napster ยุติการละเมิด นั่นหมายความว่า Napster ต้องหยุดให้บริการซึ่งหมายความว่าซอฟต์แวร์ Napster ไม่ชอบด้วยกฎหมาย [33]เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสองคดีนี้ คู่กรณีไม่ใช่สาธารณะชนแต่อย่างใด แต่เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ และ บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือในการละเมิด ส่วนใหญ่แล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้ฟ้องสาธารณะชนโดยตรง เนื่องจากว่า ประเทศเหล่านี้ ตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา นั่นคือ ด้านหนึ่งปกป้องงานของพวกเขาจากการถูกละเมิด แต่อีกด้านหนึ่งปกป้องสาธารณะชนในการใช้งาน ถ้าหากฟ้องสาธารณชนในการใช้งาน ก็คงไม่เป็นผล เช่น ประเทศไทย มีประชากร เจ็ดสิบล้านคน ถ้าฟ้องคดีก็ต้องล้นศาล และไม่มีทางชนะคดี เพราะกฎหมายคุ้มครองประชาชน ในการใช้สิทธิส่วนตัวอย่างเป็นธรรม

6.2 ลักษณะธรรมชาติของงานอันมีลิขสิทธิ์

การใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม เกี่ยวกับลักษณะของงานที่ใช้นักวิชาการชาวอเมริกันศาสตราจารย์แพตเทอร์สันระบุว่า "ลักษณะธรรมชาติของงานลิขสิทธิ์" ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบของการใช้เหตุผลที่ว่างานควรให้ประโยชน์สาธารณะโดยไม่คำนึงถึงผลงานจะออกมาในรูปแบบใดงานนี้น่าจะสามารถให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะได้หรือไม่ สาธารณะชนได้ประโยชน์จากการใช้หรือไม่ องค์ประกอบของชิ้นงานถ้าการใช้งานของบุคคลอื่นและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ก็น่าจะเข้าเงื่อนไข การใช้อย่างเป็นธรรม [34] ด้านล่างต่อไปนี้เราจะมาวิเคราะห์ลักษณะธรรมชาติของงานอันมีลิขสิทธิ์

6.2.1 งานที่ไม่ได้ตีพิมพ์

สำหรับงานที่ไม่ได้ตีพิมพ์ จะถือเป็นการใช้งานอย่างเป็นธรรมได้หรือไม่? ตัวอย่างเช่น ในปี 1987 Salinger v. Random House, Inc.เป็นคดีของสหรัฐอเมริกา โดยนักเขียนชาวอเมริกัน  ซึ่งเกี่ยวกับผลงานที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ [35]ศาลพิจารณาการใช้เหตุผลของสี่องค์ประกอบสำคัญ โดนเน้นไปที่ลักษณะของงาน ศาลเห็นว่า แม้ว่าวัตถุประสงค์ของการใช้งานคือการวิพากษ์วิจารณ์การเรียนและการศึกษา แต่ในกรณีจดหมายของ D.D. Salinger ที่ยังไม่ได้เผยแพร่ ผู้พิพากษาพิจารณาองค์ประกอบสำคัญของความเป็นจริง กรณีงานไม่ถูกเผยแพร่ที่ไม่ได้ตีพิมพ์ควรจะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่เนื่องจากผู้เขียนมีสิทธิ์สามารถควบคุมสิทธิของตนจากการใช้ที่เป็นธรรม ได้มากกว่า ในกรณีนี้ศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ปฏิเสธจำเลย ที่จะพิจารณาการใช้งานที่ไม่ได้เผยแพร่ว่าเป็นการใช้โดยถูกต้องเหมาะสม

ต่อมาในปี 1991 กรณีของ Wright v. Warner Books ศาลพิจารณาการใช้อย่างเป็นธรรมในองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการเช่นกัน ซึ่งยืนยันว่านักวิจัยเพื่อการศึกษาสามารถใช้งานและเผยแพร่เนื้อหาหรือตีความผลงานเหล่านี้ได้ ตราบเท่าที่พวกเขาใช้ผลงานของผู้อื่นและใช้ในระบบความเป็นธรรมอย่างสมเหตุสมผล [36]ในการวิจัยค้นคว้า ศาลเห็นว่า วอล์คเกอร์ ใช้ตัวอักษรเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ Wright แต่เป็นงานที่สร้างขึ้นจากข้อเท็จจริงของชีวประวัติซึ่งมักอาศัยการติดต่อส่วนตัวของเธอกับผู้ประพันธ์ นอกจากนี้ Wright ก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว และไม่สามารถปกป้องความเป็นส่วนตัว ผลจากกรณีนี้มีความสำคัญมากกับการอนุญาตให้ใช้ สิทธิพิเศษของห้องสมุดเพื่อการวิจัยทางวิชาการได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในปี1992 สภาครองเกรสได้มีการปรับปรุงระบบการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดการทำซ้ำของผลงานที่ไม่ได้เผยแพร่ 

สรุปก็คือ ในกรณีจดหมายของ D.D. Salinger ที่ยังไม่ได้เผยแพร่ ถือเป็นสิทธิส่วนตัว ของเจ้าของผลงาน ซึ่งผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ ส่วนในคดี Wright เป็นเพียงการเผยแพร่ชีวประวัติของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ที่เป็นข้อความจริงไม่ใช่ผลงานการสร้างสรรค์ ไม่ถือว่าละเมิด

สำหรับประเทศจีนภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์มาตรา 2 บัญญัติว่า "ผลงานของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลไม่ว่าจะได้รับการตีพิมพ์หรือไม่ ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายลิขสิทธิ์นี้" มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการดำเนินการของกฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดว่าจะต้องมีการสร้างสรรค์ ลิขสิทธิ์จากวันที่สร้างงานเสร็จสิ้น เห็นได้ชัดว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีหลักการป้องกันอัตโนมัติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผลงานดังกล่าวจะได้รับการตีพิมพ์หรือไม่ เป็นเงื่อนไข  แต่เมื่อสร้างสรรค์ผลงานเสร็จสมบูรณ์ผู้สร้างสรรค์จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติทันที ดังนั้นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ยังไม่ได้เปิดตัวก็เป็นผลงานสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์ที่ ได้รับการคุ้มครอง อาจกล่าวได้ว่าการสร้างสรรค์ลิขสิทธิ์ กับการตีพิมพ์ผลงานยังมีข้อแตกต่างกัน  แม้ว่างานที่ตีพิมพ์ และงานที่ไม่ได้เผยแพร่ ทั้งสองชนิดนี้ จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์  แต่ก็ยังมีความแตกต่างบางประการในกฎหมาย ตัวอย่างเช่นตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของมาตรา 22 ของกฎหมายลิขสิทธิ์" งานที่เผยแพร่แล้วสามารถใช้อย่างมีเหตุผลและเป็นธรรมได้ แต่งานที่ไม่ได้เผยแพร่ไม่สามารถใช้อย่างเป็นธรรมได้ " ดังนั้นตราบเท่าที่ผลงานลิขสิทธิ์ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ข้างต้น จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แม้ว่าจะไม่ได้ตีพิมพ์งานนั้น แต่ผลของการใช้งานอย่างเป็นธรรมนั้นแตกต่างกัน

6.2.2 งานที่ได้ตีพิมพ์แล้ว

ลักษณะธรรมชาติของงานอันมีลิขสิทธิ์ งานที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วไม่คำนึงถึงผลงานจะออกมาในรูปแบบใด จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์อัตโนมัติทันทีภายใต้หลักและเหตุผลของ การคุ้มครองดังต่อไปนี้                                                                                                                        
1 หลักการพัฒนา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การเผยแพร่ผลงานการสร้างสรรค์ บนหลักการ ของการทำงานที่ดี

2 หลักการของการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้สร้างสรรค์           

3 คำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณชน ผู้ใช้งานที่ได้เผยแพร่นั้น หลักการ ถ้าคุณใช้งานลิขสิทธิ์ของคนอื่นทำงานสำหรับการใช้งานโดยชอบธรรม ควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย นั่นคือสำหรับการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์โดยใช้อย่างเหมาะสม ได้อย่างเป็นธรรม ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายรับรอง                                                                                        

สำหรับการตีความการใช้งาน ต้องตีความภายใต้ลักษณะธรรมชาติของงานอันมีลิขสิทธิ์ ที่ชัดเจน ว่างานนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่  ยกตัวอย่างเช่น ผลงานการสร้างสรรค์การ์ตูน Superman ที่สร้างขึ้นโดย Jerry Siegel และศิลปิน Joe Schuster ในปี 1933 เมื่อเขาอาศัยอยู่ในคลีฟแลนด์โอไฮโอ และต่อมาใน ปี พ. ศ. 2481 เจ้าของผลงาน Superman ได้ขายให้กับ บริษัท การ์ตูนนักสืบ ปี 1938 เปิดตัวซูเปอร์แมนใน "โลกการ์ตูน"  Superman พัฒนาเผยแพร่บนความหลากหลายของสื่อเช่นวิทยุหนังสือพิมพ์ การ์ตูน รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวิดีโอเกม ซูเปอร์แมนเป็นฮีโร่ที่สวมบทบาทซูเปอร์ฮีโร่ที่ปรากฏในการ์ตูนดีซีและโดยทั่วไปถือว่าเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกา จากความสำเร็จของซูเปอร์แมน กลายเป็นสิ่งสำคัญของเขาในการสร้างบรรพบุรุษของซูเปอร์ฮีโร่และสร้างการ์ตูนอเมริกัน การปรากฏตัวของซูเปอร์แมนทุกครั้ง จะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกลักษณ์ Superman มักจะสวมเครื่องแบบสีฟ้า, เสื้อคลุมสีแดง มีสีเหลืองรูปโล่ "S" โลโก้และกางเกงในสีแดงคลาสสิก ลักษณะนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสื่อที่นับไม่ถ้วน หนังสือการ์ตูน Superman ในการโต้แย้งเรื่องลิขสิทธิ์  เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2013 US Federal Circuit Court of Appeals ได้ตัดสินว่าครอบครัวของซีเกลและการ์ตูนดีซีตกลงทำสัญญาสองฉบับปี พ.ศ. 2544 ที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นการยกเลิกการตัดสินใจของซีเกล ในปี พ. ศ. นั้น สิ่งนี้รับประกันได้ว่าการ์ตูน Superman ของ DC Comics ได้รับการรับรองว่าคือผลงานอันมีลิขสิทธิ์[37] สำหรับสถานการณ์ Superman ในประเทศไทยที่เกี่ยวกับการใช้งานลักษณะธรรมชาติของงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 368/2512 [38]ศาลพิพากษาว่าซูเปอร์แมนไม่ได้เป็นงานศิลปะการที่จำเลยใช้ซูเปอร์แมนเป็นเครื่องหมายการค้าไม่ก่อให้ การละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ข้อความเครื่องหมายการค้าที่มีศิลปะ แบบอักษรภาพกราฟิก เครื่องหมายการค้าจะเกี่ยวข้องกับงานศิลปะและอื่น ๆ ในข้อความเครื่องหมายการค้านั้นจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา สองประเภทด้วยกันคือ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าและ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การคุ้มครองทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างเป็นอย่างมาก

ภายใต้อนุสัญญา Berne เพื่อการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปะได้ลงนามเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2429 ในปี พ.ศ 2474 ประเทศไทยได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประชุม ข้อความฉบับปัจจุบันซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในกรุงปารีสในปี พ. ศ. 2514 ส่วนใหญ่ให้หลักการพื้นฐานในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศขอบเขตของงานที่ได้รับการคุ้มครองมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการป้องกันและการปฏิบัติพิเศษเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและ เมื่อประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมประเทศไทยควรเพิ่มความเข้าใจในกรอบความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของโลก โดยการสนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศด้วย

6.3 จำนวนปริมาณการใช้งานลิขสิทธิ์เมื่อเทียบกับจำนวนปริมาณที่เป็นสาระสำคัญหรือคุณค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น

ปริมาณและเนื้อหาของการใช้งานที่มีลิขสิทธิ์หมายถึงสัดส่วนของส่วนที่ใช้และมูลค่าที่แท้จริงต่อสัดส่วนของงานที่ใช้ ปริมาณและเนื้อหาในการใช้งานที่มีลิขสิทธิ์เทียบกับผลงานที่มีลิขสิทธิ์ทั้งหมดการใช้เนื้อหาและเนื้อหาบางส่วนของเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญ โดยปกติขั้นตอนนี้ จะมีความเป็นธรรมน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีนกฏหมายกำหนดให้งานกวีนิพนธ์อ้างอิงไม่เกิน 2,500 คำหรือ 1ส่วน 10 ของงานที่อ้างถึงถ้าการอ้างอิงเดียวกันกับความยาวเท่ากันของงานที่ไม่ใช่บทกวีจำนวนคำทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 10,000 คำบทกวีที่อ้างถึงทำงานได้ไม่เกิน 40 บรรทัด หรือ 1ส่วน 4 ของบทกวีทั้งหมด ยกเว้น บทกวีโบราณซึ่งจำนวนรวมของการอ้างอิงงานหนึ่งชิ้นหรือมากกว่าต้องไม่เกิน 1ส่วน10 ของจำนวนทั้งหมดของงานที่สร้างขึ้นยกเว้นคำอธิบายพิเศษ นอกจากนี้ชิ้นงานที่ตีพิมพ์ถูกยกมาในรายการวิทยุไม่เกินหนึ่งนาทีรายการโทรทัศน์หรือบันทึกข่าวประกอบด้วยชิ้นงานที่ตีพิมพ์ซึ่งไม่เกิน 30 วินาที

ในสหรัฐอเมริกา ปี 1985ในคดี Harper & Row v. Nation Enterprises จำเลย Nation Enterprises [39]ยืนยันว่าการใช้หนังสือเล่มนี้ได้รับความคุ้มครองโดยหลักการของการใช้งานที่เป็นธรรม ศาลเห็นว่าการใช้งานที่ไม่ได้ตีพิมพ์อย่างถูกต้องนั้นเป็นผลมาจากการคุ้มครองผลงานที่ไม่ได้ตีพิมพ์อย่างเคร่งครัด  แม้ว่าในบันทึกความทรงจำในการตัดสินใจของประธานาธิบดี ฟอร์ด ที่ให้อภัยอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯริชาร์ดนิกสัน ออกมาจาก "มิตรภาพลึก ๆ " และข้อความในบันทึกอาจเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนได้ก็ตาม  แต่ข้อความต้นฉบับในการตัดสินใจของฟอร์ดที่จะให้อภัยนิกสัน นิตยสาร "National" ในการอ้างอิงได้สร้างกระแสให้มีความร้อนแรง จงใจใช้นิตยสาร "Time" ตีพิมพ์เนื้อหาที่เป็นอัตชีวประวัติของ ฟอร์ด ก่อนที่เจ้าของผลงานจะมีการตีพิมพ์ จาก400 คำใน 200,000 คำของบันทึกความทรงจำของประธานาธิบดีฟอร์ด ไม่เพียงพอที่จะใช้เหตุผลในขั้นตอนที่สามในการชั่งน้ำหนักตามคำให้การของจำเลย เพราะ จำเลยใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นซึ่งถือเป็น "หัวใจของงาน" ไม่ถือเป็นการใช้งานอย่างเป็นธรรม     

ดูเหมือนว่าขั้นตอนนี้จำเลยจะได้รับความไม่เป็นธรรมมากที่สุด อย่างไรก็ตามปัจจัยนี้กำหนดให้เราต้องวัดการใช้งานโดยรวมของการทำงานของข้อเท็จจริงคือ "ต้องสมเหตุสมผล"

ปัญหาการคัดลอกในปัจจุบันได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของระบบการใช้งานที่เหมาะสม ในแต่ละประเทศ ข้อเท็จจริงของปัญหา ก็มักจะแตกต่างกัน เช่นปัจจุบันประเด็นเรื่องการถ่ายเอกสารนับเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของระบบการใช้งานที่เป็นธรรมแต่ละประเทศมีวิธีการถ่ายเอกสารที่แตกต่างกัน และ ในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐฯญี่ปุ่น แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ใช้วิธีการถ่ายสำเนาโดย  Coursepacks    

Coursepacks คืออะไร?  Coursepacks หมายถึงวิธีการทางเทคโนโยลีในการจัดเก็บเอกสาร และการเรียกเอกสารในไฟล์ ที่มีเนื้อหา ของชุดวิชาต่าง ๆ ที่รวบรวมโดยครูผู้สอน เพื่อเสริมหลักสูตรการศึกษาของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย  โดย Coursepacks จะเป็น "การจัดเก็บเอกสาร"ทั้งหมด ที่มีอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย และเอกสารคำบรรยายของอาจารย์ผู้สอนที่ได้รวบรวมไว้ โดยจัดเก็บเป็นไฟล์อีเล็คโทรนิค และใช้เทคโนโลยีในการดึงข้อมูลที่ต้องการมาใช้ ซึ่งเป็นการจัดเก็บควบคู่ไปกับการเก็บเอกสารหนังสือในห้องสมุด นักเรียนนักศึกษาสามารถเลือกใช้อย่างหนึ่งอย่างหนึ่งได้ ตามต้องการ Coursepacks เป็นการบริการเพื่อแสวงหาผลกำไรจากนักศึกษา และนักศึกษาจำเป็นต้องจ่ายเงินทุกครั้งในการคัดลอกเอกสารCoursepacks หรือหลักสูตรแพคเกจนี้จะทำหน้าที่หลักในการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดทำสำเนาเอกสารที่พิมพ์ออกมา เมื่อการใช้งานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยได้เริ่มเปลี่ยนไปใช้การจัดการเก็บเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถลงทะเบียนเรียนในชั้นเรียนโดยเฉพาะได้[40]

เมื่อเวลาผ่านไปครูจะเริ่มรวบรวมเอกสารประกอบคำบรรยายตอนต้นของชั้นเรียนหรือให้ผู้บริหารโรงเรียนรวบรวมและเรียกเก็บเงินนักเรียนให้เพียงพอเพื่อคืนค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป ในขณะที่ร้านคัดลอกเช่น Kinko เริ่มเจริญขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นปี 1980 พวกเขาพัฒนาตลาดเพื่อทำชุดหลักสูตรเหล่านี้โดยเสนอความหลากหลายของการผูกขาดและอื่น ๆในกรณีศึกษา "case study" หลายกรณีศาลสหรัฐฯพบว่าบริการเชิงพาณิชย์ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมไม่ได้รับการคุ้มครองโดยการใช้อย่างเป็นธรรมเช่น คำพิพากษาในปี 1991 คดี Basic Books v. Kinko's Graphics Case,และในปี 1996, คดี Princeton University Press และ Michigan Document Services

สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เอกสารและหนังสือเรียนจะได้รับการออกแบบมาสำหรับนักเรียนในระดับต่างๆและสาขาวิชาที่แตกต่างกัน   นอกจากนี้ "เอกสารประกอบคำบรรยาย" ถือว่าเป็นการเสริมหลักสูตรเท่านั้น และ"เอกสารประกอบคำบรรยาย" ขึ้นอยู่กับการเรียนการสอนของอาจารย์  การค้นหาเอกสารหนังสือ ไม่ได้เป็นการเก็บรวบรวมโดยครูผู้สอน นักเรียนแต่ละคนต้องค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง สำหรับร้านถ่ายเอกสารในประเทศไทยเป็นตัวแทนของนักเรียนในการถ่ายเอกสารเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจาก Coursepacks สำหรับประเทศไทยนั้นมีผลคำพิพากษาสำหรับเรื่องนี้ใน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5843/2543 จำเลยเปิดร้านถ่ายเอกสาร เล็ก ๆ ไม่ได้เป็นร้านขายหนังสือ หรือแผงขายหนังสือ มีเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ 4 เครื่องในร้านถ่ายเอกสาร จำเลยถ่ายเอกสารจากหนังสือของโจทก์ เล่มแรกถ่าย 25% ของปริมานหนังสือทั้งหมด เข้าเล่มแล้วจำนวน 20 ชุดเล่มที่สอง ถ่ายจำนวน 20.83% จากปริมาณทั้งหมดของหนังสือ เข้าเล่มจำนวน 19 ชุด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่า จำเลยเป็นตัวแทนของนักศึกษา  ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามศาลฎีกาในประเทศไทยไม่เห็นด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเปิดร้านถ่ายเอกสารใกล้กับมหาวิทยาลัยและมีความเป็นไปได้ที่นักศึกษาต้องการใช้หนังสือเหล่านี้ พฤติกรรมของจำเลยคัดลอกไว้เพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ริบเครื่องถ่ายเอกสารและชดใช้ค่าเสียหาย  ทั้งนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ระบบการใช้อย่างเป็นธรรมไม่เพียง แต่พิจารณาการใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ทั้งในด้านปริมาณและเนื้อหาที่เปรียบเทียบกับงานลิขสิทธิ์ทั้งหมด แต่ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายด้วย โดยคำนึงถึงความสมดุล

วัตถุประสงค์ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อการควบคุมและจัดการความขัดแย้ง จึงต้องคำนึงถึงหลักการการใช้งานที่เป็นธรรมของความสมดุลทั้งสองฝ่าย ภายใต้การใช้เหตุผลของระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่เพียง แต่ จะต้องวิเคราะห์ จำนวนปริมาณและการใช้งานอันเป็นสาระสำคัญของงานที่มีลิขสิทธิ์ เมื่อเทียบกับงานที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ทั้งหมด แต่ยังต้องพิจารณาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย  การวิเคราะห์ฝ่ายโจทก์เช่นการวิเคราะห์ปัจจัยและการเปรียบเทียบในแต่ละปีนักศึกษามีความต้องการในการใช้หนังสือของโจทก์มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ต้องวิเคราะห์ศักยภาพของตลาด ผลกระทบต่อตลาดของโจทก์ และการสูญเสียตลาด

ในการวิเคราะห์จำเลย  โดยทั่วไปจำเลยเปิดร้านถ่ายเอกสาร รายได้ต่อหน่วยของการถ่ายเอกสารเมื่อเปรียบกับราคาขายเอกสารที่จำเลยคัดลอก มีลักษณะแสวงหาผลกำไรจากการขายเอกสารหรือหนังสือหรือไม่ หรือเพียงแต่คิดคำนวณราคาจากราคาถ่ายเอกสารปกติ และเป็นไปได้หรือไม่ว่า ถ้าไม่มีนักศึกษาต้องการใช้เอกสารชุดวิชานั้นจำเลยต้องขาดทุน เพราะการคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความสนใจร่วมกัน บนมือข้างหนึ่งเพื่อป้องกันการผูกขาดของเจ้าของลิขสิทธิ์ของงาน ในมืออื่น ๆ จะต้องมีวิธีการที่จะควบคุมการใช้และแสวงหาความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์ของผู้ถือลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ชื่อก็บอกชัดเจนว่าคุ้มครอง เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่ "วิธีป้องกันการใช้ "แต่" วิธีการควบคุมการใช้ " สาระสำคัญของกฎหมายลิขสิทธิ์คือกลไกในการควบคุมการใช้งาน ถ้า "กฎหมายลิขสิทธิ์" หมายถึง "วิธีการป้องกันการใช้งาน" นั่นคือ ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์บัญญัติขึ้นมาเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมเท่านั้น


6.4  ผลกระทบต่อคุณค่าของงาน และตลาด

สำหรับการใช้งานอย่างสมเหตุสมผล ผลกระทบต่อคุณค่าของงาน และผลกระทบต่อตลาด     องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดเพื่อใช้ในการตรวจสอบการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม เนื่องจากการตรวจสอบการใช้ใช้เพียงขั้นตอนเดียวที่จะทำให้ตัดสินได้ว่า การใช้งานนั้นเหมาะสมหรือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งนี้ในขั้นตอนสุดท้ายนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะวิเคราะห์และตัดสินตามผลของพฤติกรรม ผลกระทบต่อมูลค่าของงานและผลกระทบต่อตลาดของโจทก์ ศาลไม่เพียงตรวจสอบเฉพาะการใช้งานโดยจำเลยเท่านั้น แต่ยังต้องตรวจสอบว่าการกระทำของจำเลยทำให้ตลาดของลิขสิทธิ์เสียหายอย่างแท้จริง และเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าพฤติกรรมของจำเลยนั้นอาจทำให้เกิดผลกระทบและเกิดความเสียหายแก่ตลาดที่มีศักยภาพในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้หรือไม่ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นกรณีของ Sony Corporation v. Universal City Studios Universal ไม่ได้ให้หลักฐานเชิงประจักษ์ใด ๆ ว่าการใช้ Betamax ทำให้ผู้ชมลดลงหรือส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขา   อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาลฎีกาในกรณี Campbell v. Acuff-Rose Music Inc, ศาลเห็นว่า ต้องวิเคราะห์การชั่งน้ำหนัก ทั้งสี่ปัจจัยโดยเน้นการตีความ ให้สมดุล ภายใต้วัตถุประสงค์ของกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง

ในการประเมินปัจจัยที่สี่ศาลมักจะพิจารณาเปรียบเทียบความเสียหายและผลกระทบต่อตลาด งานเดิมของเจ้าของลิขสิทธิ์ สองประการคือ

ประการแรก ศาลจะพิจารณาว่าผลจากการใช้งานทำให้งานชิ้นใหม่นี้เป็นการทดแทนโดยตรงสำหรับงานต้นฉบับหรือไม่ ในคดีนี้ศาลฎีกาชี้ให้เห็นว่า "เมื่อการถ่ายสำเนาจากงานเดิมทั้งหมดมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ เป็นที่ชัดเจนว่า งานใหม่จะแทนที่งานเดิมและเป็นทางเลือกในการตลาดทำให้เกิดความเสียหายต่อตลาดให้กับผลงานเดิมอาจจะเกิดขึ้นได้

ประการที่สองศาลยังพิจารณาด้วยว่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากตลาดจะทำให้ความเสียหายในตลาดเกิดขึ้นจากการแทนที่งานเดิมโดยตรงหรือไม่ เช่นการออกใบอนุญาตให้ผู้ค้าปลีก การพิจารณานี้จะถูกเปรียบเทียบกับร้านค้าที่คัดลอกเชิงพาณิชย์ (Coursepacks) ที่ทำสำเนาคัดลอกของบทความในชุดหลักสูตรของนักศึกษามหาวิทยาลัยและขออนุญาตคัดลอกสำเนาของหลักสูตรที่มีอยู่แล้วในตลาดว่าตลาดได้รับความเสียหายหรือไม่ และศาลยอมรับว่าสำหรับการใช้งานที่สมเหตุสมผล ความเสียหายในตลาดบางประเภทไม่สามารถปฏิเสธได้ ตัวอย่างเช่น การล้อเลียน เลียนแบบ หรือการเซ็นเซอร์เชิงลบ ซึ่งทำลายงานต้นฉบับ  ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ไม่สามารถป้องกันการทำงานจากการวิจารณ์ที่ไม่ดี


7. บทสรุป

ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึงผลงานสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งประกอบกิจกรรมการสร้างสรรค์ทางปัญญาหรือกิจกรรมนวัตกรรม จุดประสงค์สำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาคือการกระตุ้นกลไกในการนำเสนอและเผยแพร่ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ความสามารถทางปัญญา วัตถุประสงค์ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาคือการปกป้องคุ้มครองทั้งสองฝ่าย ด้านหนึ่งเพื่อปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ในทางกลับกันปกป้องประชาชนผู้ใช้งานนั้น ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ลิขสิทธิ์หมายถึงสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว (สิทธิ) ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานด้านวรรณกรรมศิลปะและผลงานทางวิทยาศาสตร์ เพียงผู้สร้างหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิ์ในช่วงเวลาที่กฏหมายกำหนด ซึ่งประกอบด้วย สิทธิส่วนบุคคลของผู้สร้างสรรค์ และ สิทธิทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นสิทธิ์เกี่ยวกับทรัพย์สิน ภายใต้วัตถุประสงค์ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องการปกป้องทั้งสองฝ่ายดังนั้นในปี  1886  ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ลงนามใน "Berne Convention"ว่าด้วยการคุ้มครองงานศิลปกรรมและวรรณกรรม" ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ถือว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่เพียง แต่ปกป้องผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น ภายใต้ "Berne Convention" รัฐยังได้รับอนุญาต ให้บัญญัติการใช้งานที่มีลิขสิทธิ์ "การใช้งานอย่างเป็นธรรม" ประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ในการปฏิบัติตามบททดสอบ "การทดสอบสามขั้นตอน" ที่มีความมุ่งมั่นให้เกิดการใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม "การทดสอบสามขั้นตอน" ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานสากล สำหรับข้อจำกัด และข้อยกเว้นลิขสิทธิ์ หมายความว่าภายใต้สถานการณ์พิเศษบางอย่างที่สามารถใช้งานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานปกติของการทำงานหรือไม่มีเหตุอันสมควรกระทบกระเทือนผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์                                                                                                                             สาธารณรัฐประชาชนจีน"กฎหมายลิขสิทธิ์สาธารณรัฐประชาชนจีน" มาตรา 22 ได้บัญญัติวิธีการเฉพาะ สิบสอง ชนิดของการใช้งานอย่างมีเหตุผลและเป็นธรรม,การใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของและไม่ต้องชำระค่าตอบแทน แต่ควรระบุชื่อของผู้เขียน และจะไม่ถือว่าละเมิดสิทธิ์ และสิทธิอื่นใดของจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนี้

ระบบการใช้งานที่ยุติธรรมของสหรัฐฯ ประกอบด้วย สี่ขั้นตอนที่ เรียกว่า "Fair use"  ภายใต้มาตรา 107 ของกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐฯระบุว่า "ในกรณีใด ๆ โดยเฉพาะการพิจารณาว่าการใช้งานเป็นไปอย่างยุติธรรมแล้วหรือไม่ควรผ่านการพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้:

(1) วัตถุประสงค์ของการใช้งานดังกล่าวมีลักษณะทางการค้าหรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่ไม่หวังผลกำไร

(2) ลักษณะของงานที่ใช้และมีลิขสิทธิ์

(3) สัดส่วนของปริมาณและมูลค่าที่แท้จริงของส่วนที่ใช้ในการใช้งาน

(4) ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงาน

ในประเทศไทยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รวบรวมหลักการ "การทดสอบสามขั้นตอน" ไว้ในมาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จาก งานอันมีลิขสิทธิ์ ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ปัจจัยเหล่านี้ที่ส่งผลต่อคำตัดสินการใช้ที่เป็นธรรมควรรวมถึงและระบุถึงการใช้ทั้งหมดและศาลควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันเพื่อกำหนดว่าการกระทำนั้นเป็นการใช้ที่เหมาะสมหรือไม่

 

เชิงอรรถ 

[1]百度百科/中国著作权法                                  

[2] Rochelle Cooper Dreyfuss, Roberta Rosenthal Kwall, (2004) Intellectual Property Cases and Materials on Trademark ,Copyright and Patent Law, Foundation press

[3] พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ ๒๕๓๗

[4]百度百科/引用自动保护原则

[5]百度百科/平衡分析

[6]百度百科/公平正义概念

[7] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

[8] Http://www.mfa.go.th/business/th/cooperation/252/16262-องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก-(-WIPO-).html

[9]百度百科/合理使用

[10] พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ. ศ ๒๕๓๗

[11] 李国新 张陈果

[12]中华人民共和国著作权法 第22条

[13]法院判决不侵害署名权作者:王多

[14] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

[15] พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ ๒๕๓๗

[16] พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ ๒๕๓๗

[17] intellectual property by Philips IP Academy p 412                                    

[18]百度百科

[19] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

[20] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

[21] Jeremy norman's (1709) History of Information at http://www.historyofinformation.com/expanded.php?id=3389<The Statute of Anne: The First Copyright Statute> 

[22] Barnardiston (1741). "Gyles v. Wilcox (1741) Barn C. 368". London. Archived from the original on 25 July 2011. Retrieved 24 September 2009

[23] Patterson, L. Ray (1998-04-01). "Folsom v. Marsh and Its Legacy" (PDF). Journal of Intellectual Property Law. 5 (2): 431–452. Retrieved 2017-10-06.

[24] intellectual property cases and materials on copyright by Philips IP Academy p 212-220 ,411-430

[25] นายอนุชาติ คงมาลัย : กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง พ.ศ. ๒๕๓๗ และ พ.ศ. ๒๕๕๘  

[26] นายอนุชาติ คงมาลัย : กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง พ.ศ. ๒๕๓๗ และ พ.ศ. ๒๕๕๘  

[27] https://baike.baidu.com/item/朱拉隆功/4384052?fr=aladdin

[28] The Government Public Relations(2006)  at Department ,http://thailand.prd.go.th/ewt_news.php?nid=3426

[29] "Opportunity Thailand" ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "โอกาสกับประเทศไทย 4.0"

[30] 何哲,善治概念的核心分析 ——一种经济方法的比较观点,理论与改革,2011年第5期

[31] พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์. .ศ.๒๕๓๗

[32] Sony Corp. of America vs. Universal City Studios, Inc

[33] A&M Records, Inc. v. Napster, Inc.

[34]郭晓雨

[35] Salinger v. Random House, Inc

[36] Wright v. Warner Books, Inc.

[37] http://www.baike.com/ wiki/超人

[38] ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 368/2512

[39] Harper & Row v. Nation Enterprise

[40] https://en.wikipedia.org/wiki/Coursepacks


เกี่ยวกับผู้เขียน: นางสาวกรกาญจน์ มุ่งพาลชล ป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยชนชาติส่วนกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.แพทย์ชนบทชี้หากแยกเงินเดือนจากงบรายหัว ต้องแยกค่าจ้างลูกจ้าง-พนง.สาธารณสุขด้วย

Posted: 23 Nov 2017 05:50 AM PST

ประธานชมรมแพทย์ชนบทชี้หากจะเดินหน้าแยกเงินเดือนจากเงินเหมาจ่ายรายหัว ต้องรวมไปถึงเงินเดือนลูกจ้างชั่วคราว-พนักงานกระทรวงสาธารณสุขด้วย ไม่ใช่แยกแค่เงินเดือนข้าราชการหรือลูกจ้างประจำเท่านั้น และต้องคำนวณค่าใช้จ่ายจากรายได้ทุกประเภท ไม่ใช่เอารายจ่ายทุกอย่างมาหักผ่านเงิน UC อย่างเดียว

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท 
 
23 พ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้ความเห็นถึงผลการจำลองสถานการณ์การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวและพบว่าโดยภาพรวมเงินจะไหลไปอยู่กับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปมากขึ้นขณะที่โรงพยาบาลชุมชนได้เงินลดลงว่า การแยกเงินเดือนเป็นประเด็นที่ชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านมาตั้งแต่ต้นเพราะเป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC)
 
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ค่าแรงเป็นต้นทุนสำคัญในระบบการให้บริการ ถ้าที่ผ่านมามีการกระจายทรัพยากรที่เหมาะสมและเป็นธรรม การจะแยกหรือไม่แยกเงินเดือนคงไม่เกิดปัญหา แต่เนื่องด้วยระบบการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขมี 2 ระบบ คือกลุ่มที่รับเงินเดือนจากรัฐบาลผ่านสำนักงบประมาณ กับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) สมมุติโรงพยาบาลภาคกลางมีสัดส่วนต้นทุนข้าราชการอยู่ที่ 90% ของค่าใช้จ่าย การรวมเงินเดือนไว้กับงบเหมาจ่ายรายหัวจะทำให้ผู้บริหารโรงพยาบาลมีความใส่ใจทางการเงิน (cost conscious) โรงพยาบาลใหญ่ต้องระมัดระวังว่าบุคลากรจะเยอะเกินไปหรือไม่ ทำให้ในภาพรวมก็จะเหลือบุคลากรที่ไปทำงานในโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือพื้นที่ชนบทมากขึ้น แต่ถ้าแยกเงินเดือนออกไป โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็ไม่ต้องรับผิดชอบต้นทุนส่วนนี้ ยิ่งรับคนมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นประโยชน์ ขณะที่โรงพยาบาลขนาดเล็กหรือในชนบทก็จะถูกดูดคนไปอยู่โรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลในภาคกลางมากขึ้น
 
"ปกติค่าแรงจะอยู่ที่ 55-60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด สมมุติโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีต้นทุนค่าแรงที่ 1,500 บาท/หัว ส่วนโรงพยาบาลเล็กมีต้นทุนที่ 700 บาท/หัว ถ้าแยกเงินเดือนแล้วได้งบรายหัวมา 2,000 บาท ก็เท่ากับโรงพยาบาลใหญ่ได้เงิน 3,500 บาท/หัว ส่วนโรงพยาบาลเล็กได้ 2,700 บาท/หัว แล้วมันจะเกิดความเป็นธรรมได้อย่างไร และถ้าแยกเงินเดือนจริงจะวุ่นวายแน่นอนเพราะที่ผ่านมาเรารวมเงินเดือนมานับ 10 ปี โรงพยาบาลต่างๆ ก็ปรับตัวให้เข้ากับระบบ โรงพยาบาลไหนที่ขาดแคลนหมอ-พยาบาล ก็จ้างเพิ่มเป็นลูกจ้างชั่วคราว แต่วันดีคืนดีไปตัดตรงนี้ออกแล้วเขาจะทำอย่างไร" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
 
ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวต่อไปว่า หากยืนยันที่จะแยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว จะแยกก็ได้แต่ต้องนำค่าจ้างเงินเดือนของบุคลากรทุกประเภทมารวมกันให้หมด ไม่ใช่แยกเฉพาะเงินเดือนข้าราชการหรือลูกจ้างประจำอย่างเดียว นอกจากนี้ต้องนำรายได้ทุกประเภทมารวมกันด้วย ปกติโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆจะมีสัดส่วนรายได้จากระบบ UC ประมาณ 50% ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนมีรายได้จาก UC ประมาณ 90% ดังนั้นการจะมาหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างผ่าน UC หมด ถามว่าเป็นธรรมหรือไม่ ภาครัฐก็จะเสียประโยชน์ เมื่อโรงพยาบาลขนาดเล็กอยู่ไม่ได้สุดท้ายรัฐก็ต้องเอาเงินมาอุดหนุนอยู่ดี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไร้เสียงค้าน สนช. ผ่านร่าง ก.ม.ขึ้นอัตราเงินประจำตำแหน่งทหาร หวังเป็นขวัญกำลังใจผู้สอน

Posted: 23 Nov 2017 04:44 AM PST

ที่ประชุม สนช. มีมติประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย เพิ่มบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหาร ประเภทวิทยฐานะ  หวังสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการสอน <--break- />

แฟ้มภาพ

23 พ.ย.2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีมติประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 193 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหารประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยไม่นำชั้นยศทางทหารมาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานทางวิชาการของข้าราชการทหารผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และเพิ่มบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหาร ประเภทวิทยฐานะ เพื่อให้ข้าราชการทหารผู้ปฏิบัติงานด้านการสอนมีสิทธิได้รับเงินวิทยฐานะ ซึ่งจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเป็นไปโดยสอดคล้องกับภาระหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.นี้ สนช. เพิ่งมีมติรับหลังการณ์ไปเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ กม.ชันสูตรมีช่องโหว่ แนวปฏิบัติไม่ชัด ทำแพทย์ไม่ต้องแจ้งญาติหากเก็บอวัยวะไว้

Posted: 23 Nov 2017 02:14 AM PST

สาวตรี สุขศรี อาจารย์นิติศาสตร์ ระบุกฎหมายไทยมีช่องโหว่เอื้อให้แพทย์เก็บอวัยวะของศพไว้ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ญาติทราบ พร้อมตั้งข้อสังเกตกรณีน้องเมย เมื่อมีใบมรณบัตรระบุสาเหตุการตายแล้ว ทำไมจึงมีการเก็บอวัยวะไปชันสูตรอีกโดยไม่แจ้งให้ญาติทราบ ด้านผู้ทรงคุณวุฒินิติเวชฯ ระบุตามหลักปฏิบัติต้องแจ้งให้ญาติทราบก่อนหากมีการเก็บอวัยวะไปพิสูจน์


ดูจะเป็นคำถามที่ยังคงค้างคาใจสำหรับสังคมไทย ว่าที่สุดแล้วการที่แพทย์ผู้ชันสูตรศพได้เอาอวัยวะภายในออกจากร่างของศพนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแจ้งให้กับญาติของผู้ชีวิตได้รับทราบ และจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องได้รับการอนุญาตจากญาติก่อน

คำถามดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของ เมย ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ซึ่งภายหลังจากเสียชีวิตทางโรงเรียนเตรียมทหารได้แจ้งให้ครอบครัวทราบว่าจะมีการนำศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ เพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิต

หลังจากนั้นทางโรงเรียนได้มอบใบมรณบัตรให้กับครอบครัวซึ่งมีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจาก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" พร้อมกับได้รับแจ้งจากทางโรงเรียนว่าแพทย์ได้ตัดเก็บอวัยวะเล็กๆ น้อยๆ บางส่วนไปเพื่อทำการพิสูจน์เพื่อเติมซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน

แต่ทางครอบครัวกลับเลือกที่จะไม่เผาศพของเมย ในวันฌาปนกิจและได้นำศพไปส่งที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อขอให้มีการชันสูตรอีกครั้ง โดยเมื่อมีการผ่าชันสูตรกลับพบว่าอวัยวะภายในคือ หัวใจ สมอง และกระเพาะอาหารหายไป จึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยไว้ว่าเกิดจากสาเหตุใด แม้ว่าถึงวันนี้เรื่องราวดังกล่าวจะได้คลี่คลายลง เมื่อทางกองทัพได้ออกมาแถลงข่าวว่า แพทย์ผู้ชันสูตรนั้นได้เก็บอวัยวะทั้งหมดไว้เพื่อทำการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิต เพียงแต่ไม่ได้แจ้งให้ญาติได้ทราบก่อนเนื่องจากตั้งแต่ได้รับศพมาก็ไม่มีโอกาสที่จะติดต่อญาติได้เลย

บ่ายวันนี้ (23 พ.ย.) ญาติและพนักงานสอบสวนได้เดินทางไปรับอวัยวะทั้ง 3 ชิ้นกลับไปส่งชันสูตรอีกครั้งที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินสิ้นเดือนพฤศจิกายน จึงจะทราบว่าผลตรวจทั้งการตรวจดีเอ็นเอ และสาเหตุการเสียชีวิตนั้นออกมาตรงกันหรือไม่ ขณะที่ทั้งครอบครัวและสังคมไทยกำลังเฝ้ารอความกระจ่างกับเรื่องดังกล่าวอยู่ ก็ยังคงมีคำถามที่ค้างคาที่ตั้งไว้ในตอนต้นว่า สรุปแล้วการที่แพทย์ผู้ชันสูตรศพได้เอาอวัยวะภายในออกจากร่างของศพนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแจ้งให้กับญาติของผู้ชีวิตได้รับทราบ และจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องได้รับการอนุญาตจากญาติก่อน

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า โดยปกติ การชันสูตรนั้นมีสองลักษณะคือ การชันสูตรภายนอก กับการชันสูตรภายใน ซึ่งตามกฎหมายไทยกรณีของการชันสูตรภายนอก ในกรณีที่มีการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ จะต้องมีการชันสูตรเสมอ โดยจะต้องมีแพทย์ และพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่พบศพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 โดยเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้ญาติทราบว่ามีการชันสูตร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 150 

แต่ในกรณีพิเศษเช่นกรณีที่อาจจะเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือเกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม จะต้องมีการชันสูตรโดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 ฝ่าย คือ อัยการ พนักงานฝ่ายปกครองเทียบเท่าปลัดอำเภอ พนักงานสอบสวน และแพทย์นิติเวชฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้ญาติทราบเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 150 วรรคสาม

สาวตรี กล่าวต่อว่า หากแพทย์สามารถหาสาเหตุการตายได้จากการชันสูตรภายนอกก็ไม่จำเป็นต้องผ่าเพื่อชันสูตรภายใน แพทย์ก็จะมีรายงานการชันสูตรออกมาว่ามีการเสียชีวิตด้วยเหตุใด และหากไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เป็นการเสียชีวิตเองโดยที่ไม่มีผู้กระทำความผิด เรื่องก็จะสิ้นสุดตรงนั้น อัยการก็จะส่งเรื่องไปให้พนักงานฝ่ายปกครองให้มีการออกใบมรณบัตร แต่หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องของการดำเนินคดีต่อไป และสำนวนการชันสูตรก็จะกลายเป็นสำนวนการสอบสวนด้วย

"หากการตรวจภายนอกไม่พอ ตรงนี้กฎหมายเขียนไว้ว่าให้อำนาจเจ้าหนักงานสอบสวนสั่งให้มีการผ่าศพ หรือแยกธาตุ ซึ่งในทางปฏิบัติการกระทำตรงนี้จะมาจากคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจเสนอว่าเคสนี้คงต้องผ่าเพื่อพิสูจน์ ทีนี้เมื่อถามว่าญาติจะเข้ามาตอนไหน ในกฎหมายไทยระบุว่าญาติจะต้องรับรู้ตั้งแต่แรกว่าจะมีการตายเกิดขึ้น และจะมีการชันสูตรพลิกศพ เพราะเป็นการตายที่ผิดปกติแล้วกฎหมายบังคับว่าจะต้องชันสูตร โดยตรงนี้จะต้องมีการแจ้งญาติอย่างเคร่งครัด" สาวตรี กล่าว

ต่อกรณีของเมย สาวตรีกล่าวว่า ทราบข้อมูลจากข่าวว่าได้มีการแจ้งให้ญาติทราบว่าจะมีการชันสูตรแล้ว แต่ในกรณีที่การตรวจชันสูตรภายนอกยังไม่ทำให้ทราบสาเหตุการเสียชีวิตได้ แพทย์จำเป็นต้องผ่าเพื่อชันสูตรภายใน ตามกฎหมายไทยไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีการแจ้งให้ญาติทราบ เพียงว่าหลังจากผ่าเสร็จแล้วชันสูตรเสร็จแล้วแพทย์จะต้องมีรายงานการชันสูตรออกมา

"เมื่อผ่าเสร็จ มีการรายงานผลออกมาเรียบร้อย มีการออกใบมรณบัตรมาแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ว่าเคสนี้จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้เลยว่าเขามีการชันสูตรกันกี่ฝ่าย ส่วนกรณีที่แพทย์เก็บอวัยวะไว้ก่อนไม่ได้ส่งคืน ตรงนี้เราเห็นว่ามีแพทย์นิติเวชฯ เขียนในเฟสบุ๊คว่า ในทางปฏิบัติเวลาผ่าเสร็จ แพทย์จะมีการเก็บอวัยวะไว้ก่อนคืนยังไม่ส่งคืน และจะนำมาแช่ในฟอร์มาลีน เผื่อมีปัญหาในอนาคต และก็จะส่งเฉพาะศพคืนไป ทีนี้เมื่อมาเทียบกับกฎหมายดูก็พบว่าเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้บังคับอะไรไว้เลย แพทย์จะทำอะไรก็ได้ แต่ในกรณีทั่วไป หากจะให้เราตีความว่าเพราะอะไรแพทย์ถึงเก็บอวัยวะไว้อีก ก็คงเป็นลักษณะที่คาดการณ์ว่าอาจจะมีการฟ้องคดีกัน ศาลก็อาจจะมีข้อสงสัยแล้วขอให้แพทย์กลับไปชันสูตรอีกครั้ง" สาวตรี กล่าว

"แต่เมื่อกลับมาที่กรณีของน้องเมย เมื่ออ่านจากคำแถลงของแพทย์ที่ออกมาแถลงข่าว เราคิดว่ามันไม่ค่อยเมคเซนส์ เพราะว่า หนึ่ง คุณให้ใบมรณบัตรเรียบร้อย คุณแจ้งสรุปเคสไปแล้วว่า เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวเอง และส่งศพคืนเรียบร้อย อันนี้มันย่อมคาดหมายหรือเปล่าว่าไม่มีการฟ้องคดี เพราะเหมือนทุกอย่างมันเสร็จเรียบร้อย เพราะฉะนั้นแพทย์จะเก็บอวัยวะไว้ด้วยเหตุผลอะไร เพราะคุณสรุปทุกอย่างไปหมดแล้ว สอง ถ้าสังเกตหรืออ่านจากการแถลงข่าวของแพทย์ เขาไม่ได้ชี้แจงในกรณีที่ว่าจะต้องเก็บเอาไว้เผื่อคดีมีปัญหา แต่พูดในทำนองที่ว่าเก็บเอามาเพื่อตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตอีก และก็จะส่งให้ตรวจอีกครั้ง มันเลยดูขัดกับข้อเท็จจริง เพราะเขาพูดเหมือนกับว่ากระบวนการชันสูตรมันยังไม่เสร็จ" สาวตรี กล่าว

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ เปิดประเด็นต่อไปถึงเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมายว่า การที่กฎหมายไม่ได้บอกอย่างละเอียดว่าแพทย์จะต้องแจ้งให้ญาติทราบว่าจะมีการเก็บอวัยวะของศพไว้ ก็ถือว่าการกระทำนี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันมา แต่เมื่อเกิดกรณีของเมยเกิด สังคมไทยก็อาจจะต้องมาทบทวนกันว่า กระบวนการที่เป็นอยู่นี้ควรมีการปรับแก้ไข ทบทวนอีกครั้งหรือไม่ ว่าควรจะต้องแจ้งญาติด้วย และควรจะให้อำนาจแพทย์วินิจฉัยว่าจะต้องเก็บอวัยวะไว้ก่อนเพราะอะไร และจะให้อำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้เก็บไว้หรือไม่เก็บไว้เป็นอำนาจตัดสินใจของใคร

ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติเวชและกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการต่างคนต่างคิด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ว่า คำว่าชันสูตรพลิกศพ นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการผ่าทั้งหมด แต่กรณีที่จะมีการผ่านั้นเป็นไปเนื่องจากแพทย์ผู้ชันสูตรเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องหาสาเหตุของการเสียชีวิตก็จะมีการผ่าชันสูตร ซึ่งในการผ่านั้นเป็นการผ่าเพื่อจะดูว่าอวัยวะภายในต่างๆ นั้นมีพยาธิสภาพอะไร หากว่าดูแล้วไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุได้ แพทย์อาจจะทำการตัดชิ้นเนื้อนิดหน่อย เพื่อที่จะนำไปพิสูจน์ในกระบวนการทางการแพทย์ต่อไป

นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า โดยปกติการจะจัดเก็บอวัยวะของศพไว้ แพทย์จะต้องบันทึกไว้ในรายงานการชันสูตรซึ่งจะระบุว่าจะเก็บส่วนไหนไว้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีการเก็บอวัยวะทั้งชิ้น แต่จะเก็บเพียงชิ้นเล็กๆ ประมาณปลายนิ้วก้อย โดยจะเลือกเก็บเฉพาะส่วนที่มองเห็นว่ามีพยาธิสภาพเท่านั้น ส่วนกระเพาะอาหารอาจจะมีการเก็บไว้มากกว่าอวัยวะอื่นๆ เพื่อที่จะนำสารต่างๆ ในกระเพาะไปวิเคราะห์ว่ามีสารพิษหรือไม่

นพ.วิฑูรย์ ระบุต่อไปด้วยว่า กรณีที่มีการเก็บอวัยวะไว้ทั้งชิ้น หลายๆ ชิ้นนั้น อาจจะเกิดจากการวิเคราะห์ของแพทย์ว่าผู้เสียชีวิตอาจเสียชีวิตโดยมีสาเหตุมาจากยาพิษ หรือสารพิษต่างๆ เช่นอาจจะต้องนำตับไปสกัดเพื่อวิเคราะห์หาสารพิษต่อไป ส่วนสมองนั้นอาจจะมีการเก็บไว้ทั้งชิ้นได้ เพื่อที่จะนำไปฟิกฟอร์มาลีน เพื่อที่จะหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดว่าภายในสมองมีเลือดออกหรือไม่ ซึ่งเมื่อเสร็จกระบวนการทุกอย่าง แพทย์จะต้องส่งอวัยวะกลับคืนให้ญาติ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายวัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วญาติจะต้องรับรู้ว่ามีการเก็บอวัยวะใดไว้บ้าง

อย่างไรก็ตาม จากการแถลงข่าวของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ วานนี้ (22 พ.ย.) พญ.ปานใจ กล่าวว่าตอนหนึ่งว่า สำหรับการเก็บชิ้นอวัยวะทางแพทย์สามารถเก็บได้โดยไม่ต้องแจ้งญาติ แต่จะดูความสำคัญในขณะนั้นเป็นอันดับแรกว่าแพทย์จะนำไปตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีแผนปฏิบัติว่าจะต้องแจ้งญาติทุกครั้ง แต่เพื่อให้สบายใจทุกฝ่ายก็ควรแจ้งให้ญาติทราบ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ราโชมอน’ ความจริงที่ต่างกันของกองทัพ หมอ และครอบครัว กรณี นตท.เสียชีวิต

Posted: 22 Nov 2017 09:13 PM PST

รวมข้อเท็จจริง คำพูด การให้สัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ กรณีการเสียชีวิตและอวัยวะที่หายไปของนักเรียนเตรียมทหาร พบหลายคนพูดไม่ตรงกัน ตอนแรกบอกไม่ได้เอาอวัยวะไปทั้งหมด ตอนหลังบอกเอาไปทั้งหมดแต่ติดต่อญาติไม่ได้ รองนายกฯ เชื่อเสียชีวิตเพราะป่วย เป็นฮีทสโตรก ผบ.รร.ตท.แจงเด็กไม่เป็นฮีทสโตรก ครอบครัวยันลูกสอบพละได้ 944/1,000

'เมย ภคพงศ์ ตัญกาญจน์' เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี เป็นหนึ่งในจำนวนเด็กหนุ่มหลายหมื่นคนที่มีความฝันคือการได้เป็น 'รั้วของชาติ' เขาสมัครสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมทหารทั้งหมด 3 ครั้ง จนประสบความสำเร็จสอบผ่านและได้เข้าเรียนในปีการศึกษา 2560 แต่หลังจากเข้าเรียนได้ไม่ถึงปี ขณะที่ความฝันกำลังก่อตัว เมย เสียชีวิตอย่างกะทันหัน

17 ตุลาคม 2560 ช่วงเวลาประมาณ 16.00 – 17.00 น ครอบครัวของเมยได้รับโทรศัพท์จากโรงเรียนเตรียมทหาร ให้รีบไปพบลูกชายที่โรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ แต่เมื่อไปถึง สิ่งที่ครอบครัวพบคือ ร่างที่ไร้วิญญาณของลูกชาย

จากนั้นทางโรงเรียนได้บอกกับครอบครัวว่าจะนำศพของเมยไปชันสูตรที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต โดยในเวลาต่อมาแพทย์ระบุในใบมรณบัตรว่าสาเหตุของการเสียชีวิตเกิดจาก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" แต่สิ่งที่ครอบครัวยังคงสงสัยคือ "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" เกิดขึ้นได้อย่างไร หลังจากการซันสูตรในเบื้องต้นเสร็จสิ้นครอบครัวของเมยได้นำศพกลับมาประกอบพิธีทางศาสนา โดยก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งจากโรงเรียนฯ ว่า ทางแพทย์ขอตัดชิ้นส่วนอวัยวะภายในบางส่วน เพื่อนำไปตรวจพยาธิสภาพที่จะทำให้ทราบสาเหตุว่าเสียชีวิตจากอะไร ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะทราบผล

24 ตุลาคม 2560 เป็นวันฌาปนกิจศพของเมย มีนักเรียนเตรียมทหารกว่า 400 คนเดินทางมาให้ความเคารพศพ พร้อมกับผู้ใหญ่ในโรงเรียนเตรียมทหารอีกหลายราย ขณะเดียวกันโรงเรียนเตรียมทหารได้ให้การสนับสนุน และช่วยเหลือเรื่องการจัดพิธีศพมาโดยตลอด เรื่องราวดูเหมือนจะจบลงเพียงแค่นั้น ทว่าพิเชษฐ ตัญกาญจน์ พ่อของเมยกลับเลือกที่จะเก็บศพของลูกชายเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะนำศพไปชันสูตรอีกครั้งในวันถัดไป และปล่อยให้การฌาปนกิจครั้งนั้นเป็นการเผาโลงศพเปล่า โดยที่ไม่มีใครทราบนอกจากครอบครัว ด้วยเหตุที่ว่าพวกเขายังข้องใจถึงสาเหตุของการเสียชีวิต และเห็นว่า "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" ไม่ใช่คำตอบ

20 พฤศจิกายน 2560 เรื่องราวของครอบครัวตัญกาญจน์ กลับมาเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนหันมาให้ความสนใจอีกครั้ง หลังครอบครัวจัดแถลงข่าวและให้ข้อมูลว่า มีการนำศพของลูกชายไปชันสูตรอีกครั้งที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และพบว่าอวัยวะภายในคือ หัวใจ กระเพาะอาหาร และสมอง หายไปทั้งหมด

หลังจากนั้น พิเชษฐได้ติดต่อไปยังโรงเรียนเตรียมทหารเพื่อสอบถามถึงเรื่องดังกล่าว รวมทั้งสาเหตุของการเสียชีวิตแต่กลับได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนว่า สาเหตุของ "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก อีกทั้งปลายสายยังพูดว่า "ใครจะไปรู้ว่าคุณจะเอาศพไปชันสูตรรอบสอง" อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ได้ผ่าชันสูตรศพรอบที่สองได้ประสานกับทางโรงพยาบาลพระมุงกุฎฯ ว่ามีอวัยวะหลายส่วนที่หายไป แต่ก็ยังไม่ได้การติดต่อกลับมาจนกระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจออกมาแถลงข่าวของครอบครัว

เรื่องราวดังกล่าวนำมาซึ่งความสงสัย และการตั้งคำถามที่พุ่งตรงไปยังบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และทั้งหมดที่จะได้อ่านต่อไปคือ การพูด "ความจริง" ในมุมมองของแต่ละหน่วยงาน และของแต่ละบุคคล ท่ามกลางช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการหา "ความจริง" หรือ "การออกมายอมรับความจริง"
 

ผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร

21 พฤศจิกายน เวลา 13.37 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าวว่า พล.ต.กนกพงษ์ จันทร์นวล ผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหารเปิดเผยว่า พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้เรียกตนให้เข้าไปชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดที่กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมทั้งจะชี้แจงให้สังคมทราบโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นที่มีข้อสงสัย ส่วนกรณีที่อวัยวะภายในของผู้เสียชีวิตหายนั้น ถือเป็นขั้นตอนทางการแพทย์

พล.ต.กนกพงศ์ กล่าวต่อว่า ในวันที่เมยเสียชีวิต ตนอยู่กับบิดามารดา และได้พูดคุยกับคุณพ่อมาโดยตลอด ซึ่งการที่คุณพ่อนำศพไปชันสูตรอีกครั้ง ก็ไม่ได้แจ้งกับตนให้รับทราบ อีกทั้งการเสียชีวิตครั้งนี้ เป็นการเสียชีวิตที่ผิดตามธรรมชาติ เราก็ได้แจ้งให้ทางตำรวจนำศพของเมยไปชันสูตร และทางคุณแม่ก็รับทราบ โดยในขณะนั้นมีแพทย์ทางโรงพยาบาล มีตนและคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยกันในช่วงเวลาประมาณ 3-4 ทุ่ม ซึ่งคุณแม่ก็ก็เต็มใจที่จะให้มีการชันสูตร

"ผมได้บอกกับทางคุณพ่อคุณแม่ว่าต้องเรียกตำรวจมาชันสูตรพลิกศพ และเมื่อได้รับความยินยอมจากครอบครัว ตำรวจจึงได้ส่งศพไปชันสูตร ซึ่งถือเป็นความเข้าใจร่วมกันอยู่แล้ว ทั้งโรงเรียน ครอบครัวของเด็ก รวมถึงตำรวจ ซึ่งตรงนี้สามารถตรวจสอบได้ ส่วนกรณีที่ทางคุณพ่อคุณแม่นำศพไปชันสูตรอีกรอบนั้นผมไม่ทราบ เพราะผมไปร่วมงานศพทุกคืนจนถึงวันเผาศพ มีทั้งเพื่อนนักเรียนและอาจารย์ไปร่วม" ผบ.รร.เตรียมทหาร กล่าว

พล.ต.กนกพงศ์ กล่าวอีกว่า ตนเพิ่งมาทราบทีหลังว่าทางคุณพ่อคุณแม่ได้นำศพของน้องไปชันสูตรอีกครั้งและทางครอบครัวของน้องเมยเดินทางมาพบตน เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวมันเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้หลังจากพบผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้วคงจะทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กรณีที่ทางพ่อแม่น้องเมยติดใจเรื่องการทำโทษบุตรชายนั้น ขอยืนยันว่าขั้นตอนของการลงโทษเป็นไปตามขั้นตอนทางทหาร คือห้ามแตะเนื้อต้องตัวกัน เพราะผิดกฎหมาย

ต่อมาในเวลา 16.30 น. ที่ กรมกิจการพลเรือน กองบัญชาการกองทัพไทย ได้เปิดแถลงข่าวกรณีดังกล่าว โดยผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

"วันก่อนเกิดเหตุวันที่ 17 ตุลาคม น้องเป็นลม และมีการพามาส่งห้องพยาบาล ส่วนวันจันทร์ (16 ตุลาคม) ก็มีการทำกิจกรรมตามปกติ มีการวิ่งก่อนรับประทานอาหาร พบว่าน้องหายใจเร็วกว่าปกติ จึงส่งไปที่กองแพทย์ โดยมีกล้องวงจรปิดว่าอยู่ที่กองแพทย์ในช่วงเช้า เที่ยงมีการโทรศัพท์คุยและอยู่กับเพื่อน ตอนบ่ายมีการเดินคุยโทรศัพท์ช่วง 15.00 น. เมื่อเวลา 16.00 น. ก็เกิดอาการขึ้น โดยพบว่าน้องโทรศัพท์คุยกับครอบครัว และระหว่างที่ครอบครัวโทรกลับมาหา เจ้าหน้าที่ได้นำโทรศัพท์ไปให้ที่ห้องพักในบริเวณกองแพทย์ น้องก็ทรุดตัวลง มีการเข้าช่วยเหลือ และนำส่งโรงพยาบาลทันที"
 

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

21 พฤศจิกายน เวลา 14.09 น. เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ล่าสุด พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่เป็นไปตามที่ทางญาติกล่าวอ้าง เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุทางโรงเรียนเตรียมทหารได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ และมีการตัดอวัยวะบางส่วนนำไปผ่าพิสูจน์ แต่เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น จากนั้นทางญาติได้นำร่างกลับไปแล้วนำไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์อีกครั้ง

พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันทางโรงเรียนเตรียมทหารได้ร่วมจัดงานศพเมย กับทางญาติ และดำเนินการช่วยเหลือทุกอย่าง โดยที่ผ่านมาก็ได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และยืนยันไม่ได้มีการขโมยอวัยวะแต่อย่างใด ทั้งนี้กรณีที่มีผ้าพันแผลอยู่ในอวัยวะ น่าจะเกิดจากการตรวจพิสูจน์ก่อนหน้านี้ของทางโรงพยาบาล และทางโรงเรียนก็ได้ร่วมจัดงานพิธีบำเพ็ญกุศลศพ และทำการฌาปนกิจเรียบร้อย และเป็นการฌาปนกิจโลงเปล่า ไม่มีศพ ซึ่งทางโรงเรียนได้ให้การช่วยเหลือ อย่างเต็มที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ

ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน หลังจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เมยป่วยเป็นโรคฮีทสโตรก พล.อ.ธารไชยยันต์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอีกครั้ง โดยระบุว่า เมยไม่ได้มีสภาวะการเป็นโรคฮีทสโตรก ทางแพทย์ที่ดูแลชี้แจงแล้ว คาดว่าน้องน่าจะมีโรคประจำตัว แต่ไม่ได้ร้ายแรง และไม่ขัดต่อการเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ทั้งนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่มีไลน์ของเด็กหลุดและระบุว่าถูกรุ่นพี่ซ่อม เพื่อหาข้อเท็จจริง 

"บางครั้งการซ่อมเป็นเรื่องของการธำรงวินัย ซึ่งนักเรียนเตรียมทหารเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องมีการซ่อม เพราะเป็นการสร้างวินัยในการแปรสภาพจากพลเรือนไปสู่การเป็นทหาร แต่ไม่สามารถซ่อมเกินกรอบที่กำหนดเอาไว้ได้ หากเป็นเช่นนั้นถือว่ามีความผิด และจะต้องมีการสอบสวนและลงโทษ ซึ่งในส่วนของนักเรียนเตรียมทหารคนดังกล่าว ผู้ปกครองระบุว่ามีการโดนซ่อมด้วย ซึ่งเราก็จะสอบสวนตรงนี้ทั้งหมด ขณะนี้เราต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะข้อข้องใจของครอบครัวเราก็จะชี้แจงทั้งหมด ซึ่งจะมีขั้นตอนทางการแพทย์ ระเบียบวินัย รวมถึงเพื่อนๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์" พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าว 

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวอีกว่า ในส่วนของการขอคืนอวัยวะภายในนั้นเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการโดยญาติจะต้องประสานมายังพนักงานสอบสวน แต่กรณีนี้ญาติไม่ได้ขอมา และเมื่อวานนี้ทางแพทย์ถึงได้รับการประสานมาเพื่อขอคืน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทุกอย่างเรามีเอกสารเป็นหลักฐาน ซึ่งทางโรงพยาบาลพระมงกุฎก็พร้อมที่จะส่งเอกสารเหล่านี้ 
 

รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

22 พฤศจิกายน ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของเมยว่า ทางกองบัญชาการกองทัพไทยชี้แจงไปหมดแล้ว รวมถึงมีกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน และแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ทุกอย่างว่าไปตามระเบียบ และกฎหมาย อีกทั้งทางแพทย์ได้ประสานไปยังผู้ปกครองให้รับอวัยวะภายในคืนแล้ว ภายหลังการพิสูจน์ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ผ่านมา 1 เดือน และทางโรงเรียนเตรียมทหารได้ติดต่อพูดคุยกับครอบครัว รวมถึงการช่วยเหลือจัดงานฌาปนกิจศพ ซึ่งตนเห็นใจกับครอบครัว เพราะลูกชายเพียงคนเดียวพ่อแม่ก็ต้องเสียดาย ทั้งยังเป็นนักเรียนเตรียมทหารด้วย 

พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าเรื่องชิ้นส่วนอวัยวะที่ถูกตัดไปพิสูจน์นั้นไม่ได้เป็นการปกปิดข้อมูล และทางพนักงานสอบสวนก็ได้รายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว ถือเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ และทางพ่อแม่ไม่ได้แจ้งมาเช่นกันว่ายังไม่ได้รับชิ้นส่วนดังกล่าวคืน

"ผมยืนยันว่าเด็กเสียชีวิต เนื่องจากสุขภาพของเด็กเอง ไม่มีการซ่อมอะไรทั้งสิ้น เขาป่วย และเชื่อว่าทางโรงเรียนไม่ได้ปิดบังข้อมูล แม้ว่าบริเวณที่เด็กล้มลงจะไม่มีภาพวงจรปิดก็ตาม เพราะหากเสียชีวิต ใครจะมาปิดบังสาเหตุก็ไม่ได้" พล.อ.ประวิตร กล่าว 

เมื่อถามว่า หากเด็กสุขภาพไม่ดี ทำไมถึงเข้าเรียนเตรียมทหารได้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนอยากทราบเช่นกัน ตอนรับสมัครก็มีแพทย์ตรวจคัดกรองแล้ว แต่อาจมาเป็นช่วงตอนเข้าเรียน ซึ่งเด็กเป็นโรคฮีทสโตรก

"ส่วนที่เปิดบันทึกประจำวันของเด็กที่ระบุว่าเขาโดนซ่อมนั้น ผมคิดว่าก็โดนซ่อมกันทุกคน ผมก็เคยโดนมาเหมือนกัน เช่น วิดพื้น วิ่ง สก็อตจั๊มพ์ ไม่ต้องถูกตัวกัน และการซ่อมไม่ได้มากมายอะไร ขณะเดียวกันประเด็นที่เด็กเคยโดนซ่อมจนหยุดหายใจไปครั้งหนึ่งนั้น เพราะเขาเป็นโรคฮีทสโตรก ซึ่งการเป็นโรคนี้เกิดจากการฝึก หรือแม้แต่ยืนตากแดดเฉยๆ ก็เป็นเพราะอากาศร้อน ใครจะไปรู้ว่าลูกเขามีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน พร้อมทั้งยืนยันว่าการซ่อมไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

เมื่อถามต่อว่า หากการซ่อม เกินกำลังคนจะรับได้ จะทำอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ผมก็เคยโดนซ่อมจนเกินกำลังจะรับได้ จนสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย เรื่องเหล่านี้ก่อนจะรับเด็กเข้ามาต้องตรวจเช็กร่างกายเป็นอย่างดี แต่เข้ามาแล้วเป็นโรคฮีทสโตรกก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ที่ผ่านมาสัดส่วนนักเรียนเสียชีวิตจากโรคนี้จะน้อย แม้ว่าจะโดนซ่อม แต่ร่างกายแข็งแรง"

เมื่อถามอีกว่าจะแก้ไขปัญหาพวกนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ไม่ต้องเข้ามาเรียน ไม่ต้องมาเป็นทหาร เราเอาคนที่เต็มใจ เมื่อถามย้ำว่า การเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ต้องเตรียมใจเรื่องการธำรงวินัย ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ใช่ 
 

ทีมแพทย์ผู้ทำการชันสูตรในครั้งแรก

พ.ท.นรุฏฐ์ ทองสอน ทีมแพทย์ผู้ชันสูตรศพ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงประเด็นการชันสูตรศพ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ว่า ได้รับร่างของเมย มาในคืนวันที่ 18 ตุลาคม และลงมือชันสูตรตอนเช้า ไม่พบบาดแผลตามร่างกายภายนอก จึงผ่าเปิดภายใน พบว่ากระดูกซี่โครงซี่ที่ 4 ข้างขวาหัก มีรอยช้ำชายโครงข้างขวาและซ้าย พบความผิดปกติเพียงเท่านี้ โดยกระดูกและรอยช้ำดังกล่าว ไม่สามารถเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้รอยที่บริเวณชายโครง เกิดจากของแข็งไม่มีคมมากระแทก ซึ่งยังไม่สามารถตัดประเด็นเรื่องการเกิดรอยระหว่างซีพีอาร์ช่วยชีวิต หรือประเด็นของแข็งอื่นกระแทกได้ จึงต้องมีการผ่าเพื่อส่องทางกล้องจุลทรรศน์ โดยวิธีการจะต้องเก็บอวัยวะไว้ครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุจะอยู่ที่สมองและหัวใจ โดยสมองจะนิ่มมาก จึงต้องฟิกฟอร์มาลีน จึงได้เก็บสมองและหัวใจทั้งหมดไว้เพื่อทำสไลด์ ส่วนผลทางพิษวิทยา มี 3 ทาง จะต้องเก็บผลทางเลือด กระเพาะ กระเพาะปัสสาวะ ได้ผ่าเพื่อตรวจสารพิษ แต่ตอนตรวจพบว่ามีการหดเล็กมาก ไม่มีฉี่ในกระเพาะปัสสาวะ ได้เก็บคืนไป อาจจะสังเกตไม่เห็น ส่วนในกระเพาะไม่พบเศษอาหาร

"สรุปในส่วนของอวัยวะที่ได้เก็บไว้ทั้งหมด คือ สมอง หัวใจ กระเพาะอาหาร และสุ่มตัวอย่างอวัยวะไว้ทำสไลด์ เพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติงาน จึงได้ออกรายงานให้เจ้าพนักงาน เมื่อตรวจ รายงานมีแนวโน้มไปทางหัวใจ จึงลงรายงานว่าหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทั้งนี้ หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดได้หลายสาเหตุ แต่มีการเก็บตัวอย่างพบว่ากายภาพของหัวใจปกติ จึงต้องตรวจระดับลึก จากการส่องกล้องจุลทรรศน์ พบเซลล์บางตัวที่ไม่ควรพบในคนอายุ 19 ปี แต่อาจพบได้เมื่อหัวใจมีพยาธิสภาพผิดปกติ ส่วนเรื่องการเต้นของหัวใจ สารไฟฟ้านำหัวใจทำให้หัวใจเต้นพริ้ว หัวใจเต้นผิดปกติ การผ่าชันสูตรไม่สามารถตอบคำถามในส่วนดังกล่าวได้ ต้องใช้วิธีการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าระหว่างการมีชีวิต อย่างไรก็ตาม เด็กที่แข็งแรง เมื่อล้มลงจำเป็นต้องหาสาเหตุให้ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร" พ.ท.นรุฏฐ์ กล่าว

ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้แจ้งให้ญาติทราบก่อนว่ามีการนำอวัยวะออกไปจากศพของเมย พ.ท.นรุฏฐ์ ระบุว่าเป็นเพราะไม่สามารถติดต่อญาติได้โดยตรง และตั้งแต่รับศพมายังไม่ได้มีโอกาสได้พบญาติเลย
 

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หน่วยงานที่ทำการชันสูตรครั้งที่สอง

22 พฤศจิกายน เวลา 12.00 น. สมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะโฆษก และ พญ.ปานใจ โวหารดี ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะรองโฆษก ร่วมแถลงข่าวกรณีการผ่าพิสูจน์ชันสูตรศพเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิต หลังพนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ ได้ส่งเรื่องให้ทำการผ่าชันสูตรรอบที่ 2

สมณ์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ จ.นครนายก ให้ช่วยตรวจผ่าชันสูตรศพ นตท.ภคพงศ์ เป็นครั้งที่ 2 ต่อมา วันที่ 27 ต.ค. จึงรับเรื่องดังกล่าวไว้ จากนั้นวันที่ 30 ต.ค.ก็มีการตั้งคณะทีมแพทย์เชี่ยวชาญ 3 คน ดำเนินการตรวจผ่าศพ ถัดมาวันที่ 1 พ.ย. ทีมแพทย์ลงมือทำการผ่าพิสูจน์ปรากฏว่าไม่พบอวัยวะภายในร่างกายบางส่วน ประกอบด้วย สมอง หัวใจ และกระเพาะอาหาร กระทั่งวันที่ 3 พ.ย.ได้ประสานให้พนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ ดำเนินการติดตามหาอวัยวะเพื่อนำมาตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปผลการผ่าพิสูจน์ได้เนื่องจากอวัยวะร่างกายยังไม่ครบ เพราะสมองและหัวใจ สามารถบอกสาเหตุการเสียชีวิตได้ จึงต้องนำอวัยวะทั้งหมดมาตรวจสอบก่อน ถึงจะสรุปผลการผ่าพิสูจน์ได้

"อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ทางสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้าจะนำอวัยวะทั้ง 3 ชิ้นดังกล่าวที่ไม่ครบส่งกลับมาให้ตรวจผ่าพิสูจน์และคาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์จะทราบสาเหตุการเสียชีวิตได้ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องผ่าตรวจร่างกายของ นตท.ภคพงศ์ ซ้ำอีกครั้งเพราะได้ผ่าตรวจไปหมดแล้ว ยืนยันให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมทั้งให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้ามาดูการผ่าพิสูจน์ด้วย" นายสมณ์กล่าว

นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตมี 2 ลักษณะ คือ 1. การเสียชีวิตตามธรรมชาติจากสาเหตุการป่วยตาย หมอจะวินิจฉัยเพิ่มโดยผ่าชันสูตร ซึ่งต้องมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางญาติ แต่การผ่าพิสูจน์อาจยังวินิจฉัยไม่ได้ทันที อาจขออวัยวะบางส่วนมาตรวจสอบให้ละเอียด ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอน และ 2.การเสียชีวิตโดยไม่ใช่แบบธรรมชาติ เช่น ถูกคนอื่นฆ่าให้ตายหรือโดยสัตว์ทำ อุบัติเหตุ หรือไม่ปรากฏเหตุ โดยแพทย์สามารถผ่านำชิ้นเนื้ออวัยวะไปตรวจสอบได้ ซึ่งหากอวัยวะใดน่าจะมีประโยชน์ต้องมีการขออนุญาตจากญาติเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ซึ่งแนวทางปฏิบัติของแพทย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน ในความจริงแล้วสามารถนำอวัยวะไปตรวจสอบได้ตามหลักการ ขณะเดียวกัน ทางสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้าเป็นสถาบันที่มีนักเรียนแพทย์ศึกษาอยู่ด้วย เมื่อเกิดกรณีการตายผิดธรรมชาติแบบพิเศษอาจจะมีการเก็บชิ้นส่วนอวัยวะเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษาต่อไป

นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนสภาพร่างกายและอวัยวะของผู้เสียชีวิตนั้นยังเป็นปกติดีในตอนผ่า เพราะมีการแช่ฟอร์มาลีน สภาพก็ยังอยู่เหมือนเดิม รวมถึงประเด็นการนำอวัยวะของผู้ตายออกไปโดยไม่แจ้งญาตินั้น ตรงนี้ทางสถาบันไม่สามารถตัดสินตอบเองได้ แต่จะมีสภาองค์กรวิชาชีพ หรือแพทยสภา สามารถบอกได้ว่าผิดจรรยาบรรณหรือไม่ นอกจากนี้ กรณีที่สื่อมวลชนถามว่ามีการปั๊มหัวใจ หรือ CPR ผู้เสียชีวิต 4 ชั่วโมงจนกระดูกซี่โครงหักไม่สามารถตอบได้ แต่ขึ้นอยู่กับเคสของผู้ป่วยที่ต้องทำจนกว่าจะฟื้นขึ้น การทำ CPR มีหลายแบบ เช่น การให้ท่ออากาศหายใจ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องปั๊มหัวใจอย่างเดียว

พญ.ปานใจกล่าวว่า สำหรับการเก็บชิ้นอวัยวะทางแพทย์สามารถเก็บได้โดยไม่ต้องแจ้งญาติ แต่จะดูความสำคัญในขณะนั้นเป็นอันดับแรกว่าแพทย์จะนำไปตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีแผนปฏิบัติว่าจะต้องแจ้งญาติทุกครั้ง แต่เพื่อให้สบายใจทุกฝ่ายก็ควรแจ้งให้ญาติทราบ


ครอบครัวตัญกาญจน์

ครอบครัวตัญกาญจน์ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2560 เมย ถูกนำตัวส่งเข้าโรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า  เนื่องจากถูกรุ่นพี่สั่ง "ธำรงวินัย" (ซ่อม) โดยให้ทำท่าหัวปักพื้น ลำตัวโค้งโดยที่ขายังยืนอยู่ ซึ่งหัวอยู่ที่บริเวณตะแกรงท่อระบายน้ำในห้องน้ำนายทหาร จนหมดสติ และชีพจรหยุดเต้นไปชั่วขณะ จนทำให้ทีมแพทย์ต้องปั้มหัวใจเพื่อช่วยชีวิตกลับมา

พิเชษฐ เล่าด้วยว่า เขาต้องเค้นถามลูกชายว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงขั้นต้องพูดว่า "ครั้งนี้คุณเกือบตายคุณจะไม่บอกอะไรเลยไม่ได้" เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วัฒนธรรมภายในโรงเรียนเตรียมทหาร มักจะเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนไว้เป็นที่รับรู้กันเฉพาะคนภายใน โดยไม่ยอมเปิดเผยเรื่องราวให้คนภายนอกทราบ แม้แต่ครอบครัวก็ตาม ทั้งนี้เมยยังเคยบอกให้ครอบครัวทราบว่า อย่าเชื่อผู้พัน

ครอบครัวให้ข้อมูลต่อว่า วันที่ 12 ตุลาคม เมยได้กลับมาที่บ้าน และวันที่ 15 ตุลาคม ครอบครัวได้พาเมยไปส่งที่โรงเรียนตามกำหนดอีกครั้ง ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม เวลาประมาณ 15.00 น. เมยได้โทรศัทพ์มาหาแม่ โดยบอกว่าตัวเองยังป่วยอยู่ และระบมไปทั้งตัว เมื่อถามถึงสาเหตุเมยไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยพิเชษฐให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้ว่าอาจเป็นเพราะความกลัว เนื่องจากการใช้โทรศัทพ์ติดต่อกับภายนอก นักเรียนเตรียมทหารจะต้องขออนุญาตนายทหารก่อน และในการพูดคุยทุกครั้งจะมีนายทหารยืนเฝ้าอยู่ด้วย ต่อมาเวลาประมาณ 16.00-17.00 น. ได้รับแจ้งจากโรงเรียนว่าให้รีบมาที่โรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ

ทั้งนี้ครอบครัวให้ข้อมูลเพื่อเติมว่า ได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลว่า ขณะที่ไปรับตัวเมยมายังโรงพยาบาลนั้น ตรวจไม่พบการเต้นของชีพจรแล้ว

ส่วนเรื่องอวัยวะที่หายไปนั้นทางครอบครัวยืนยันว่า ไม่ได้รับการแจ้งใดๆ ว่าจะมีการนำอวัยวะไปตรวจพิสูจน์ ทราบเพียงแค่มีการขอตัดชิ้นส่วนเล็กๆ ไปตรวจสอบเท่านั้น

สำหรับเรื่องโรคประจำตัวนั้น ทางครอบครัวยืนยันว่า เมยไม่มีโรคประจำตัว และมีร่างกายแข็งแรง และในการสอบเข้าเรียนซึ่งมีการสอบวิชาพละนั้น เมยได้คะแนน 944/1,000

นอกจากนี้ทางครอบครัวยังยืนยันด้วยประวัติการเข้ารับการรักษาของเมย ระหว่างที่อยู่โรงเรียนด้วยว่า เหตุที่เขาห้องพยาบาลบ่อยครั้งนั้นเกิดจากมีอาการไอ เจ็บคอ และปวดขาซึ่งเกิดจากการวิ่ง เท่านั้นไม่ได้มีโรคร้ายแรง ทั้งยังได้เปิดเผยบันทึกของเมย ซึ่งเขียนไว้ในวันที่ 26 พฤษภาคม โดยเมยได้เขียนไว้ว่า วันนี้ถูกต่อยท้องหนึ่งครั้ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น