โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศรีสุวรรณ ตอบ 6 คำถามประยุทธ์ ติงหมดเวลาสร้างวาทะกรรมกลบกระแสขาลงแล้ว

Posted: 08 Nov 2017 10:00 AM PST

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์ ตอบคำถามที่ไม่ควรถาม 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ ติงหมดเวลาที่จะมาสร้างวาทะกรรมเพื่อกลบเกลื่อนกระแสขาลงของตนเองแล้ว

9 พ.ย. 2560 จากรณีวานนนี้ (8 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจกเอกสารคำถาม 6 ข้อ ให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนตอบผ่านช่องทางกระทรวงมหาดไทย นั้น

ล่าสุด ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของสมาคมฯ เรื่อง ตอบคำถามที่ไม่ควรถาม 6 ข้อของ "บิ๊กตู่" หรือ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าเสียสัตย์เพื่อชาติก็แล้วกัน โดยระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้โยนหินตั้งคำถามถึงอนาคตการเมืองไทย 6 ข้อเมื่อวานนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอติงว่า "บิ๊กตู่" หมดเวลาที่จะมาสร้างวาทะกรรมเพื่อกลบเกลื่อนกระแสขาลงของตนเองที่สะท้อนผ่านโพลที่เคยมีกระแสนิยมจาก 78.4 % เหลือเพียง 52 % อยู่ในขณะนี้ เพราะผลงานตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการเข้ามายึดอำนาจและบริหารราชการแผ่นดินแทบทุกด้านไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหาก "บิ๊กตู่" อยากรู้จริงๆ เกี่ยวกับอนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรนั้น

สมาคมฯ ขอตอบคำถามเป็นข้อ ๆ ให้ดังนี้ คำถามที่ 1 การที่จะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ หรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่าการเป็นนักการเมืองต้องกล้าเปิดเผยตัวเองออกมาให้ประชาชนได้เลือก ดีกว่ามีนักการเมืองพวกอีแอบที่ไม่ยอมรับความจริงว่าเป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองถึงจะชั่วจะดีประชาชนก็สามารถตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์ได้

คำถามที่ 2 คสช.ไม่มีสิทธิที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ต้องวางตัวเป็นกลางเท่านั้น เพราะ คสช.และแม่น้ำ 5 สายเป็นผู้วางกฎ ระเบียบใหม่ของสังคม หาก คสช. อยากจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะก็ขอให้ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดเสีย ณ บัดนี้ อย่างทำตนเป็นอีแอบต่อไป

คำถามที่ 3 สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประชาชนมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติเลย ดังนี้ การแก้ไขปัญหาที่อ้างว่าหมักหมมมานาน ด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่ การวางแผนงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระยะสั้น กลาง ยาว อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU , ICAO ฯลฯ นั้นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ใช้ประชาชนเป็นข้ออ้างเท่านั้น แต่กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนใกล้ชิดรัฐบาลแทบทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มมากกว่าเดิม ทั้งการแก้ IUU, ICAO และไม่เห็นด้วยกับการให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ที่ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง แค่เริ่มต้นจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศก็ขาดธรรมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนจะไปคาดหวังการเมืองไทยในอนาคตที่มีประสิทธิภาพที่มาจาก คสช. หรือรัฐบาลนี้ได้อย่างไร

การทำงานของทุกรัฐบาล แน่นอนว่าต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ ทุกจังหวัด แต่นโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันด้วย ส่วนยุทธศาสตร์ชาติหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เพราะไม่มีการะบวนการการมีส่วนร่วม ก็เป็นสิทธิของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่จะแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ประชาชนต้องการ

คำถามที่ 4 ตลอดระยะเวลากว่า 85 ปีของระบอบประชาธิปไตยของไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่หรือฉันทามติของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่มีมือที่สามหรืออำนาจแฝงมาคอยควบคุมการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลในยุคใด พ.ศ.ใดก็สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้เพราะนิสัยคนไทยชอบรักสงบ เว้นแต่พวกที่อยากจะมีอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ที่มักชอบใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นใหญ่ โดยเอาประชาชนมาเป็นข้ออ้าง อ้างขจัดความขัดแย้ง อ้างปราบปรามคอรัปชั่น ฯลฯ ณ วันนี้ดัชนีคอรัปชั้นของไทยทำไมจึงตกจาก 76 ไปอยู่ที่ 101

คำถามที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย แม้จะขาดประสิทธิภาพ ขาดธรรมาภิบาลไปบ้าง แต่เมื่อถึงเวลาครบวาระประชาชนก็สามารถที่จะใช้สิทธิในการเลือกตัวแทนของตนขึ้นไปเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและตรวจสอบได้ คนไหนดีประชาชนก็เลือกกลับมาได้ คนไหนไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือกเข้ามา แต่การพัฒนาประเทศที่ไม่มีความต่อเนื่องที่ผ่านมาเพราะคนที่อยากมีอำนาจไม่อยากผ่านการเลือกตั้งต่างหาก

คำถามที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุที่พรรคการเมืองนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรีบิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกตินั้น ก็เพราะประชาชนขาดความเชื่อถือ เชื่อมั่น คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรีต่างหาก นายกรัฐมนตรีต้องหันกลับไปทบทวนตัวเองบ้างว่าเคยสัญญิงสัญญาอะไรไว้กับประชาชนแล้วทำไม่ได้บ้าง เคยลั่นวาจาว่าจะจัดการเลือกตั้งในปี 58 ก็เลือนมาเป็นปี 59 ก็เลือนมาเป็นปี 60 ก็เลือนไปเป็นปี 61 และก็ไม่แน่ใจว่าในปี 62 จะมีรัฐบาลใหม่หรือไม่ เช่นนี้ยังคิดจะมาถามประชาชนอยู่อีกหรือ การใช้อำนาจโดยขาดการตรวจสอบนั้นชอบหรือไม่ การแทรกแซงองค์กรอิสระนั้นมีหรือไม่ การใช้เงินภาษีของประชาชนไปใช้ซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลในขณะที่ข้าวยากหมากแพงนั้นเหมาะสมหรือไม่ การออกกฎหมายหรือยกเว้นกฎหมายเพื่อเอื้อนายทุนนั้นชอบหรือไม่ ฯลฯ

"ท่านนายกฯ ไม่ต้องมาถามประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร แต่ควรกลับไปศึกษาอดีตเมื่อปี 2535 ว่า "การเสียสัตย์เพื่อชาติ" นั้นมันคุ้มหรือไม่ต่างหาก" แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ทิ้งท้าย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ อธิบายกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ฉ.ใหม่ – ใครได้ประโยชน์

Posted: 08 Nov 2017 09:24 AM PST

ผอ.วิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ อธิบายกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ฉ.ใหม่ ระบุเดิมให้สิทธิเฉพาะที่เกี่ยวกับส่วนขยายพันธุ์ เช่น เมล็ด หน่อ หัว ฯลฯ แต่ฉบับใหม่จะให้สิทธิครอบคลุมผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้สำหรับการบริโภคด้วย ซึ่งผู้คัดค้านมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร

 

9 พ.ย. 2560 จากกรณี หน่วยงานของรัฐประสงค์จะแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อทำให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูปอฟ 1991 (UPOV 1991) นั้น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่บทความชื่อ 'กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ – ใครได้ประโยชน์' เพื่ออธิบาย ว่า กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับปัจจุบันของไทย จัดทำขึ้นตามอนุสัญญายูปอฟ ฉบับปี ค.ศ. 1978 พร้อมทั้งผสมผสานกับหลักการสำคัญของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ

จักรกฤษณ์ ชี้ว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูปอฟ 1991 (UPOV 1991) นั้น มีข้อที่ควรทำความเข้าใจว่า กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับปัจจุบันของไทย จัดทำขึ้นตามอนุสัญญายูปอฟ ฉบับปี ค.ศ.1978 พร้อมทั้งผสมผสานกับหลักการสำคัญของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ อนุสัญญายูปอฟฉบับปี ค.ศ. 1991 แตกต่างจากอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1978 หลายประการ ที่สำคัญคือ จะให้สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ที่กว้างกว่า คือผู้ทรงสิทธิจะไม่ได้มีสิทธิเฉพาะในส่วนขยายพันธุ์ (propagating material) ตามอนุสัญญายูปอฟ 1978 และตามกฎหมายปัจจุบัน หากแต่จะมีสิทธิที่ครอบคลุมไปถึงทุกส่วนที่เป็นผลผลิตของพันธุ์พืช (harvested material) 

ผอ.วิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า กล่าวง่าย ๆ ก็คือ กฎหมายเดิมให้สิทธิเฉพาะที่เกี่ยวกับส่วนขยายพันธุ์ เช่น เมล็ด หน่อ หัว ฯลฯ แต่กฎหมายใหม่จะให้สิทธิครอบคลุมผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้สำหรับการบริโภคด้วย ซึ่งตรงนี้แหละที่ผู้คัดค้านเขาบอกว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนี้ ผู้ทรงสิทธิจะยังมีสิทธิเหนือ "พันธุ์พืชที่ได้มาจากพันธุ์คุ้มครอง" (essentially derived varieties) อีกด้วย ซึ่งอธิบายง่าย ๆ ได้ว่า หากมีนักวิจัยหรือนักปรับปรุงพันธุ์รายอื่น นำเอาพันธุ์พืชคุ้มครองไปทำการศึกษาวิจัยหรือปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นพันธุ์พืชใหม่ แม้นักวิจัยดังกล่าวจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ ตามข้อยกเว้นที่ว่า Breeders' exemption แต่อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1991 และร่างกฎหมายที่เสนอขึ้นมาใหม่ กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชคุ้มครองที่ถูกผู้อื่นนำไปศึกษาวิจัย สามารถอ้างสิทธิในผลงานการวิจัยหรือในพันธุ์พืชใหม่ที่พัฒนขึ้นนั้นได้ หากพิสูจน์ได้ว่าพันธุ์พืชใหม่ที่ได้ มิได้มีความแตกต่างอย่างสำคัญจากพันธุ์พืชคุ้มครอง พันธุ์พืชใหม่ที่เกิดจากการวิจัยก็จะตกเป็นสิทธิของผู้ทรงสิทธิเดิม ในฐานะที่เป็น "พันธุ์พืชที่ได้มาจากพันธุ์พืชคุ้มครอง" (essentially derived varieties)
 
ซึ่งบทบัญญัติในอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1991 เช่นนี้ มิได้เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยหรือนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็คือนักปรับปรุงพันธุ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งทั่วไปจะไม่มีศักยภาพที่จะปรับปรุงต่อยอดพันธุ์พืชของผู้อื่นให้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญได้ จะคงมีก็แต่บริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ ที่จะสามารถสร้างความแตกต่างอย่างสำคัญในพันธุ์พืชปรับปรุงเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากหลักการ Essentially derived varieties ในอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ค.ศ. 1991 และอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ค.ศ. 1991 ยังจำกัด "สิทธิพิเศษของเกษตรกร" (Farmers' privileges)
 
จักรกฤษณ์ ระบุว่า กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยในปัจจุบัน อนุญาตให้เกษตรกรเก็บและใช้พันธุ์พืชคุ้มครองที่เป็นผลผลิตในแปลงของตนเอง เพื่อใช้ในการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ แต่อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1991 จำกัดสิทธิดังกล่าวลงให้กลายเป็นข้อยกเว้นสิทธิที่รัฐสมาชิกจะให้การรับรองหรือไม่ก็ได้ (UPOV Convention 1991, Article 15) โดยร่างกฎหมายใหม่ที่เสนอนั้น ได้จำกัดสิทธิพิเศษดังกล่าวของเกษตรกรโดยบัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช มีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้"
 
ระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้อนุสัญญายูปอฟได้สร้างอำนาจตลาดให้กับบรรษัทเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ แต่ลดและจำกัดโอกาสของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและเกษตรกร ระบบดังกล่าวจึงส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเกษตรกรรม และการดำรงชีวิตของเกษตรกรในประเทศ ซึ่งระบบเกษตรกรรมของประเทศไทยเป็นระบบการเกษตรขนาดเล็กที่ทำโดยเกษตรกรรายย่อย การเก็บ รักษา และแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ถือเป็นธรรมเนียมประเพณีที่เกษตรกรถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต
 
ผอ.วิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ มองว่า ประเทศสมาชิกของอนุสัญญายูปอฟส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีฐานการปรับปรุงในระดับอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก การปรับปรุงมีอยู่อย่างจำกัด หรือหากจะมีอยู่บ้างก็เป็นการปรับปรุงพันธุ์ที่อาศัยการลงทุนของภาครัฐและศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชนของประเทศดังกล่าว ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ และการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญายูปอฟ 1991 จึงนับว่ามีความสุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเกษตรกรรม และต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ในฐานะนักศึกษาการสื่อสารฯ “ ข้าพเจ้าอยากเลือกตั้ง ”

Posted: 08 Nov 2017 08:56 AM PST



 

"…นักหนังสือพิมพ์นั้นก็เหมือนคนผู้ถือสาสตราวุธอยู่ในมือ คนถืออาวุธที่มีเกียรติยศจำเป็นต้องมีจรรยาและธรรมะในการใช้อาวุธ นักหนังสือพิมพ์ก็เช่นเดียวกัน มีปากกาเปนอาวุธ จะใช้ปากกาเปนคุณและโทษแก่ผู้ใดย่อมจะใช้โดยมีจรรยาและธรรมะ ตามที่รับนับถือกันในวงการหนังสือพิมพ์ที่มีอารยะธรรม นักหนังสือพิมพ์ใดใช้ปากกาของตนโดยปราศจากจรรยาและธรรมะก็เป็นผู้ไร้เกียรติยศ และเป็นผู้ทำลายเกียรติยศของวงการหนังสือพิมพ์ส่วนรวม..."

กุหลาบ สายประดิษฐ์

คำกล่าวของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา นักคิดและนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในสังคมไทย สะท้อนให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนนั้นเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น  ความดีหรือความไม่ดีทั้งหลายจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากสื่อ แต่เกิดขึ้นจาก "คน" ที่ทำงานด้านสื่อ และยิ่งสื่อมีผลกระทบต่อสังคมมากเท่าไหร่ คนที่ทำงานด้านสื่อก็ยิ่งต้องตระหนักในการทำหน้าที่และจริยธรรมการสื่อสารมวลชนมากขึ้นเท่านั้น

หากเรายอมรับ เปาโล เฟรเร (Paulo Freire) ที่เคยพูดในทางศึกษาศาสตร์ไว้ว่า "ครูคือผู้กระทำทางการเมืองแทนรัฐ" ได้ เราก็อาจจะพูดในทางการสื่อสารมวลชนว่า "นักสื่อสารคือผู้ประกอบสร้างทางการเมือง" ได้ด้วย จากวิธีคิดของ แมค ลูแอ้น (Marshall McLuhan) ที่ว่า " Medium is the message "

ผมในฐานะนักศึกษาการสื่อสารมวลชน ย่อมรู้และตระหนักดีว่า การสื่อสารเป็นเครื่องมือทางการเมือง และยุคหนึ่งของไทยเคยเป็นวิชาในคณะรัฐศาสตร์ด้วยซ้ำ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า การที่จะศึกษาวิชาการสื่อสารมวลชนจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิชาทางการเมืองด้วย และการจะบรรลุเป้าหมายของการศึกษาการสื่อสารมวลชนได้นั้น ต้องตระหนักให้ได้ว่า "สาร" ไม่สามารถอยู่ได้หรือแพร่สู่มวลชนได้ด้วยตัวของมันเอง ฉะนั้น "นักสื่อสาร" จะต้องพึงระลึกเสมอว่าตนนั้นกำลังกระทำทางการเมืองอยู่

การที่จะศึกษาทำความเข้าใจการสื่อสารมวลชนที่ผ่านๆ มา เพื่อทำความเข้าใจการสื่อสารมวลชนในปัจจุบันนั้น กรณีศึกษาจึงเป็นกรณีทางการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น กรณีสงครามโลกครั้งที่ 1 กรณีการโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์ หรือแม้แต่กรณีการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย เป็นต้น

การหยิบประสบการณ์ร่วมในชั้นเรียนมาทำความเข้าใจ เทียบเคียง หรืออธิบายกระบวนการและทฤษฎีการสื่อสารมวลชนจึงสำคัญมาก พอๆ กับการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในวงการการผลิตสื่อ

ในคาบเรียนวิชาทฤษฎีการสื่อสารมวลชน (Theories of Mass Communication) อาจารย์ท่านหนึ่งสอนเรื่องผู้รับสารที่กลายเป็นผู้นำทางความคิด (opinion leaders) ในการส่งต่อข้อมูล เลยยกกรณีศึกษา "การเลือกตั้ง" เป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นประสบการณ์ร่วมในชั้นเรียน อาจารย์ท่านนั้นถามขึ้นมาว่า "...มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าตอนคุณอายุ 18 แล้วได้เลือกตั้งครั้งแรก พวกคุณจะเลือกพรรคการเมืองตามพ่อแม่ ใช่หรือไม่…" นั้นแหละคือการทำให้ผู้รับสารกลายเป็น opinion leaders แล้วส่งต่อข้อมูล เป็นการสื่อสารบุคคลที่ทรงประสิทธิภาพ

คำถามธรรมดาๆ แต่กลับทำให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลายสิบคน เงียบกริบ ตอบคำถามไม่ได้ว่า ใช่ หรือ ไม่ มีนักศึกษาคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า "ตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึงตอนนี้ ยังไม่เคยเลือกตั้งเลย"

ผมเองก็ตกอยู่ในภวังค์นี้เช่นกัน ตอนนี้อายุ 22 อย่าว่าแต่การเลือกตั้งระดับชาติเลย ระดับท้องถิ่นผมก็ยังไม่เคยได้เลือกเลยสักครั้งครับ (หลังจาก พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ก็แช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา) ผมจับปากกาในคูหาครั้งแรกและครั้งเดียวก็ตอนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งก็ไม่ใช่การเลือกตั้งที่จะต้องใช้ความต้องการทางนโยบายในการเลือกตัดสินใจอนาคตของตัวเองเลย

จากเหตุการณ์เล็กๆ ในชั้นเรียน สะท้อนปัญหาทางการเมืองระดับชาติ ผมเลยถือโอกาสได้ทบทวนว่าเราเลือกตั้งครั้งสุดท้ายกันเมื่อไหร่? ถ้าจะนับตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศ ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 27 และเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ต่อต้านขัดขวางการเลือกตั้งทำให้บางท้องที่ของกรุงเทพฯและภาคใต้ ไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศแบบไม่เป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประมาณ 20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 45.84 เท่านั้น หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประกาศให้มีการลงคะแนนอีกครั้ง (การเลือกตั้งชดเชย) ในวันที่ 1-2 มีนาคม 2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้เลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั่วประเทศได้ภายในวันเดียวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง และเมื่อพระราชกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย และถูกเพิกถอนหลังจาก กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์วิชากฎหมายสื่อสารมวลชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ควรยกเลิกการเลือกตั้ง

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ออกมาชี้แจงถึงแนวปฏิบัติภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ (หรือเสมือนไม่เคยเกิดขึ้น) แต่ถือว่าการเลือกตั้งได้เกิดขึ้นแล้ว 1 ครั้ง

เราจะนับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นการเลือกตั้งหรือไม่ ผมและเพื่อนร่วมยุคสมัยก็ไม่ได้เข้าคูหาเลือกตั้งอยู่ดี ไม่ใช่เพราะขาดจิตสำนึกทางการเมืองแต่อย่างใด กลับเป็นเพราะเข้าไปใช้สิทธิ์ในคูหาไม่ได้ต่างหาก ทำให้ผมไม่สามารถตอบคำถามอาจารย์ในคาบเรียนวิชาทฤษฏีการสื่อสารมวลชน (Theories of mass communication) ได้ว่า รสชาติของการเลือกตั้งเป็นเช่นไร

หากนับกลับไปถึงการเลือกตั้งก่อนหน้าอีกครั้ง ก็คือเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ตอนนั้นผมก็ยังไม่สามารถมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ แต่ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเราอายุ 18 ปี และมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ในปี 2554 ตอนนี้เราก็จะอายุ 24 ปี น่าสนใจที่ว่า 7 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเราไม่เคยได้เลือกตั้งเลย

ทั้งๆ ที่ผ่านมาเหมือนจะได้เลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้เลือกสักที เพราะรัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ย้อนกลับไปตั้งแต่ คสช. ทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ เราก็ได้ยินคำว่า "โรดแม็ป" เรื่อยมา ซึ่งในโรดแม็ปที่ว่าก็ได้ระบุถึงการเลือกตั้งไว้ว่าจะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2560 แต่พอเดือนกุมภาพันธุ์ 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็ออกมาแถลงว่าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นปี 2561

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือว่า เราจะได้เห็น "ราคาค่างวดแห่งสัจจะ" ทุกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเดินทางไปเยือนอารยะประเทศหรือพบผู้นำสำคัญระดับโลก เพราะเหมือนนายกรัฐมนตรีจะรับปากและประกาศการเลือกตั้งอยู่เนื่องๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่พูดเลย เช่น ต้นปี 2558 นายกเดินทางเยือนญี่ปุ่นและพูดคุยกับ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2559 แต่พอมาช่วงปลายปีเดียวกันนั้น นายกไปพบ บัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นกลางปี 2560 สุดท้ายก็ไม่ได้ทำตามคำพูดแต่อย่างใด

และล่าสุดนายกเดินทางไปเยือนทำเนียบขาวพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พล.อ.ประยุทธ ก็ได้พูดคุยกับคนไทยในสหรัฐว่าการเลือกตั้งจะประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2561 จากนั้นนับอีก 150 วัน ก็จะเป็นวันเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งก็หมายความว่าลองคำนวณดูแล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2562

จาก "ราค่าค่างวดแห่งสัจจะ" ที่เสียไป ไม่มีอะไรจะรับรองได้เลยว่าเราจะได้เลือกตั้งกันเมื่อไหร่ จะถูกเลื่อนอย่างง่ายดายอีกหรือไม่ ผมก็ได้แต่ภาวนาไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ ไปเยือนที่ไหนหรือเข้าพบใครอีก กลัวว่าจะเสียสัจจะไปมากกว่านี้

เมื่อได้ทบทวนตัวเองแล้ว ผมก็ได้คำตอบว่าทำไมถึงอยากเลือกตั้ง คงเป็นเพราะอยากมีส่วนร่วมทำหน้าที่พลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจากผลการเลือกตั้ง ประชาชนอย่างผมไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร หรือวิธีการใดก็แล้วแต่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และที่สำคัญที่สุดก็เพื่อตัดสินใจอนาคตของเป็นเทศเองบนทางเลือกใหม่ๆ

ผมจึงอยากให้ความต้องการในการ "อยากเลือกตั้ง" ของผมเหล่านี้ เป็นข้อเสนอถึงรัฐบาลเพื่อเดินหน้าประเทศไทยต่ออย่างเป็นธรรมว่า ประการแรก พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กลไกทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป และเพื่อรับผิดชอบต่อการทำรัฐประหารที่ผ่านมา (ยอมรับผิดอย่างกล้าหาญให้สมกับเป็นชายชาติทหารอย่างที่กล่าวอ้างเรื่อยมา) มีการจัดเลือกตั้งโดยเร็ว และเปิดให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในขณะที่นักศึกษาการสื่อสารอย่างผมและเพื่อน กำลังจะออกไปใช้กระบี่ทำภารกิจ แต่เรากลับไม่ได้ฝึกฝนวิทยายุทธ์ในการใช้กระบี่เลย มิหนำซ้ำเรายังไม่เคยได้จับกระบี่เลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่กำลังจะเรียนจบอยู่แล้ว คำถามก็คือว่า เราจะฝึก "คน" อย่างไรในยุคนี้ ยุคที่ความไม่ปกติเป็นปกติไปเสียแล้ว


 

อ้างอิง
กุหลาบ สายประดิษฐ์. มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ. กรงเทพมหานคร : สำนักงานคณะอนุกรรมการฝ่าย ประสานงานโครงการ 100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) , 2548.

นันทนา นันทวโรภาส. สื่อสารการเมือง: ทฤษฏีและการประยุกต์ใช้. กรุงเทพมหานคร :  สำนักพิมพ์แมสมีเดีย, 2549.
Griffin Emory A. A first look at communication theory. Boston : McGraw-Hill, 2006

เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย (Nontawat Machai) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / สมาชิกกลุ่มลานยิ้ม (LANYIM creative group)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

Posted: 08 Nov 2017 05:54 AM PST

คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ระบุดอกเบี้ยในปัจจุบันเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจับตาอัตราแลกเปลี่ยนใกล้ชิด

8 พ.ย. 2560 รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า จาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้ (8 พ.ย.60) คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

โดยมีรายละเอียดคำแถลงดังนี้

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมิน ไว้เดิมตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมี ทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีแต่มีความเสี่ยงในบาง จุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่ เป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและ การท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อาจยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ต่อเนื่องตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับ เศรษฐกิจแม้ชะลอลงบ้างตามการเบิกจ่าย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและ ภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงาน ต่างด้าว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่่า รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ทั้งนี้ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการ จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมีต่อค่าจ้างแรงงานในระยะข้างหน้า

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่อง ในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่่า และภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่องทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุน ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน ส่วนเงินบาทเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้ เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยส่าคัญ ส่าหรับในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจาก ความไม่แน่นอนในต่างประเทศจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการด่าเนินนโยบายการเงิน ของประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการฯ เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่ อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหา ผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่่าเป็นเวลานาน ซึ่งอาจน่าไปสู่การประเมิน ความเสี่ยงต่่ากว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการช่าระหนี้ของ ภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิง โครงสร้างและรูปแบบการท่าธุรกิจ

มองไปข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจาก ปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมถึง พัฒนาการเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้ เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพ ระบบการเงินของประเทศ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาชำแหละหวยแพง แก้ปัญหาล้มเหลว กทม.ปริมณฑล พุ่งใบละ 130

Posted: 08 Nov 2017 05:05 AM PST

วงเสวนาชำแหละสลากราคาแพง ความล้มเหลวในการแก้ปัญหา กรุงเทพฯ ปริมณฑล พุ่งใบละ 130 เลขรวมชุดแตะ 180 แนะสนง.สลากหยุดขายชั่วคราว เพื่อจัดระเบียบใหม่ ตามที่นายกฯ เคยดำริไว้

8 พ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้(8 พ.ย.60) เมื่อเวลา10.00น.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์  ในเวทีเสวนา "สลากแพงแก้ไม่สำเร็จ ถึงเวลา Reset หรือยัง?" จัดโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก 

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า สาเหตุที่แก้ปัญหาสลากแพงไม่สำเร็จเป็นเพราะสำนักงานสลากเลือกวิธีแก้ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์เป็นหลัก คือ พิมพ์สลากเพิ่ม เพราะเชื่อว่าเมื่อสลากมีมากราคาน่าจะถูกลง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล เพราะต้นเหตุหลักที่ทำให้สลากแพงมาจากปัญหาพ่อค้าคนกลางหรือ"ปั๊ว"ที่เอากำไรเกินควร นี่คือสิ่งที่ต้องแก้  แต่ก็เข้าใจว่าแก้ไม่ง่าย   เพราะมาถึงวันนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำให้ราคาสลากแพงอย่างแทบจะกู่ไม่กลับ เช่น  ผู้ที่ได้โควตาก็เอาสลากไปขายต่อให้ปั๊ว  ปั๊วก็เอามารวมชุดแล้วปล่อยต่อราคาแพง  ผู้ค้ารายย่อยก็สมคบกันรวมชุดกับเขาด้วย  ทั้งยังมีผู้แสวงประโยชน์จากการปล่อยข่าวเลขเด็ดให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค  แล้วผู้ค้าก็มาร่วมกันโก่งราคาสลากเลขเด็ดนั้นแพงๆ  ขณะที่ผู้ขายบางรายแม้จะได้โควตามาและสามารถขายในราคา80บาทได้แต่ก็ไม่ทำ กลับมาขายแพงไปกับเขาด้วยเพื่อเอากำไรมากๆ  ส่วนผู้บริโภคเองก็ยอมซื้อในราคาแพงเพราะเป็นเลขเด็ดเลขดังเลขที่ตัวเองต้องการ 

"ถ้าทุกฝ่ายจะเอาแต่ได้ไม่มีใครยอมเสีย โดยไม่มีใครคำนึงถึงความถูกต้อง ก็อยากสนับสนุนให้รัฐบาลทำตามแนวคิดที่ท่านนายกฯได้เคยประกาศไว้ คือ หยุดขายสลากชั่วคราว แล้วจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด โดยมีการบ้านที่ต้องทำอย่างน้อย 5 ข้อ คือ 1.จัดระเบียบโควตาองค์กรต่างๆใหม่ทั้งหมดให้เหลือเฉพาะองค์กรที่ขายสลากจริงๆเท่านั้น2.จัดระเบียบผู้ค้ารายย่อยใหม่ โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ค้าให้เป็นเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น แล้วขึ้นทะเบียนผู้ค้าทั้งหมด หากใครขายสลากโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนมีความผิด ที่สำคัญคือต้องทำให้ระบบการกระจายสลากตรงไปยังผู้ค้ารายย่อยเป็นจริง  และลดความจำเป็นในการพึ่งระบบคนกลางให้น้อยที่สุด3.จำกัดจำนวนสลากที่เหมาะสม โดยรัฐบาลต้องชัดเจนว่าแต่ละปีรัฐต้องการรายได้จากกิจการสลากเท่าไร และไม่ต้องการให้ประชาชนเล่นพนันสลากเกินงวดละเท่าไร  4.ขอให้ตรวจสอบว่ามีการทุจริตใดๆหรือไม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้สลากแพง  และ5.ต้องปฏิรูปการทำงานประชาสัมพันธ์และรณรงค์ ให้เกิดการทำงานอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง สร้างค่านิยมการเล่นพนันที่ถูกต้องแก่ประชาชน และประชาชนต้องไม่ยอมซื้อสลากราคาแพง" เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าว     

ราเมศร ศรีทับทิม เครือข่ายประชาชนปฎิรูปสลาก กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายฯได้ออกสำรวจตลาดการค้าสลาก 12 พื้นที่ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งตลาดการค้าสลากออนไลน์ พบว่า สลากขายเกินราคาแพงที่สุดใบละ 130 บาท ขณะที่สลากรวมชุดมากที่สุดอยู่ที่ชุด 15 ใบ ขายในราคา 2,700 บาท เฉลี่ยใบละ 180 บาท ส่วนสลากขายยกเล่มพบราคาขายอยู่ที่ 8,100 บาทต่อเล่ม

"ช่วงที่ผ่านมาสำนักงานสลากมีมาตรการการลดเวลาการรับสลากไปขาย หวังจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการรวมชุด จึงทำให้บรรยากาศการซื้อขายสลากในช่วง2-3วันนี้ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร  เพราะสลากยังไม่เริ่มวางจำหน่าย  และการลดเวลารับสลากจะทำให้ผู้ค้าสลากรายย่อยมีเวลาขายน้อยลง  และเสี่ยงต่อการขายสลากไม่หมด และอาจเป็นเหตุให้ต้องขายสลากแพงมากขึ้นเพื่อเฉลี่ยต้นทุนสลากที่ขายไม่หมด สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสลากแพงได้" ราเมศร กล่าว

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเล่นหวยของคนไทยถือว่ารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่ง ขณะที่ปัญหาสลากแพงเกินราคาก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวเอาไม่อยู่ และไม่มีวิธีไหนที่จะนำมาแก้ปัญหาได้ เช่น การเพิ่มปริมาณสลาก การใช้ม.44  เพิ่มโทษปรับ จำคุก การริบโคต้า ซึ่งคิดว่าจะหมดไป จะเข็ดหลาบ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

"มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อีกทั้งมีเรื่องแรงจูงใจกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง และการสมยอมระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ดังนั้นเราต้องนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาปรับใช้ ต้องถามรัฐบาลว่าสลากเป็นสินค้าเพื่อหารายได้เข้ารัฐ หรือเป็นสินค้าเพื่อสร้างความบันเทิงของประชาชน ส่วนกองทุนที่ตั้งขึ้นมาดึงงบไป3%  เหตุใดจึงไม่ยอมทำงาน เดินไม่เต็มสูบ รัฐบาลต้องกลับไปตั้งหลักให้มั่นๆ ต้องยอมรับความจริงว่ามันเกินความสามารถของสำนักงานสลากในการแก้ปัญหา" ดร.วิเชียร  กล่าว

สนิท สังคพงศ์ ผู้ค้าสลากฯ กล่าวว่า  ตนในฐานะผู้ค้าสลากซึ่งเป็นผู้พิการ ที่ผ่านมาได้ขายสลากจากการกดผ่านตู้ธนาคารกรุงไทย หลายครั้งต้องไปรับมาจากหน้าสำนักงานสลากในราคา80-90 บาท จึงจำใจต้องขายในราคาที่สูงขึ้น ยอมเสี่ยงต่อการถูกจับดำเนินคดี  เพราะต้องหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ทั้งนี้หากผู้พิการที่ยังทำอาชีพนี้อยู่ ก็ต้องมีทุนก้อนใหญ่จริงๆ อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลจัดสรรสลากให้กับผู้พิการโดยตรง  เพื่อให้ขายได้ตามราคา 80 บาท ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกจับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สันติวิธี (หรือความรุนแรง) เริ่มที่ครอบครัว?!

Posted: 08 Nov 2017 04:11 AM PST

จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้ง ความรุนแรงทั้งในระดับครอบครัว หรือในระดับประเทศ ที่ไทยเรากำลังเผชิญอยู่นี้ หลายฝ่ายยังมองว่า 'สันติวิธี' ยังคงมีความจำเป็น มีความสำคัญต้องนำไปปรับใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะใช้ได้จริงและเกิดผล เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงนั้น ประเทศไทยก็ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้

"ครอบครัวคือความรัก"

"ครอบครัวคือความอบอุ่น"

"ความรัก ความเข้าใจ คือสายใยของครอบครัว"

"สันติวิธี เริ่มที่ครอบครัว"

หลายประโยค หลายคำพูดเหล่านี้ ล้วนทำให้เรามองเห็นภาพของครอบครัวที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักความเข้าใจ แต่ในความเป็นจริง ที่หลายคนได้สัมผัสรับรู้กัน กลับพบว่า ปัจจุบัน ทุกวันนี้ หลายๆครอบครัวในสังคมไทยเรานั้นกำลังแตกร้าว หลายครอบครัวอยู่ด้วยความเกลียดชัง หวาดระแวง ขัดแย้ง และทำร้ายซึ่งกันและกัน อยู่ทุกห้วงขณะ

จากข้อมูลผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในเว็บไซต์ www.violence.in.th ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – 2558) มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าผู้ชายเฉลี่ยร้อยละ 86.63 และข้อมูลการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่มาขอรับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ความรุนแรงต่อเด็กเป็นความรุนแรงทางเพศมากที่สุด คือร้อยละ 62.55 รองลงมาคือความรุนแรงทางกาย ร้อยละ 22.92 ในขณะที่ความรุนแรงต่อสตรี เป็นความรุนแรงทางกายมากที่สุด คือร้อยละ 67.18 รองลงมาคือทางเพศ ร้อยละ 22.56

สถิติดังกล่าว สะท้อนให้เราเห็นว่า ครอบครัวไทยยังคงนิยมใช้ความรุนแรง

และความรุนแรงนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ นั้นยังคงมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่ในสังคมไทยค่อนข้างมาก

ดังจะเห็นว่ามีการใช้อำนาจและกระทำความรุนแรงในลักษณะต่างๆ กับสมาชิกในครอบครัวที่อ่อนแอกว่า ดังจะเห็นได้ว่าผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและผู้หญิง ซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้กระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชายและเป็นบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว อาทิ สามี พ่อ พ่อเลี้ยง หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยในเรื่องของค่านิยม วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวในปัจจุบันแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวอีกมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อมในชุมชน ปัญหาการใช้สุรายาเสพติดปัญหาการพนัน ความหึงหวง ฯลฯ โดยเฉพาะสังคมไทยเราในขณะนี้นั้นต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชนทั้งเขตเมืองและชนบทค่อนข้างมาก นำมาซึ่งปัญหาความเครียดสะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวชั้นดีเลยทีเดียว

'ธีรเชนทร์ เดชา' นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงปัญหาความรุนแรงในสังคมในขณะนี้ว่า จากการทำงานด้านความรุนแรงนั้น พบว่า ในระดับชุมชนนั้น คนในสังคมมักมองว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวบุคคลภายนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ตีกันเดี๋ยวก็ดีกันเองได้ ยิ่งตีกันลูกยิ่งดก ถ้าคนอื่นเข้าไปยุ่งมากๆ จะกลายเป็น "หมาหัวเน่า" หากคู่กรณีกลับมาคืนดีกัน ในขณะที่ผู้ถูกกระทำเองก็ไม่กล้าเปิดเผยเพราะอับอายที่จะให้ใครรู้ว่าครอบครัวตัวเองมีปัญหา

"ซึ่งทัศนคติดังกล่าวนั้น ควรได้รับการปรับเปลี่ยนมุมมองว่า ความรุนแรงในครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่มันคือปัญหาสังคม ที่คนในชุมชนจะต้องร่วมกันแก้ไข เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น โดยวิธีการนั้น อาจมีทั้งการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัวตนเอง ครอบครัว และต่อสังคม รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2551 เพื่อให้ประชาชนในชุมชนรู้ช่องทางในการขอรับความช่วยเหลือคุ้มครองตามกระบวนการทางกฎหมาย สามารถมีที่พึ่งในการขอรับคำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือต่างๆและช่วยในการชี้เป้าเฝ้าระวังเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวขึ้นในชุมชน"

จากการทำงานลงพื้นที่ หลายเคส หลายกรณีศึกษานั้น สะท้อนให้เห็นภาพปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทยเรานี้ได้เป็นอย่างดี

"เคสที่ผมพบเจอส่วนใหญ่ มักจะเป็นเคสสามีทำร้ายร่างกายและจิตใจภรรยา และเคสบุคคลในครอบครัวทำร้ายร่างกายจิตใจกัน อาทิ บุตรทำร้ายบิดามารดา พี่ชายทำร้ายน้องสาว ลุงทำร้ายหลาน เป็นต้น รองลงมาก็จะเป็นรูปแบบของการใช้ความรุนแรงทางเพศ กับเด็กและสตรีโดยผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่ที่พบมักจะมีสาเหตุการใช้ความรุนแรงมาจากการบันดาลโทสะ มีการใช้สุรา และยาเสพติดเป็นประจำ และพฤติกรรมหึงหวง นอกใจคู่สมรส"

ธีรเชนทร์ ยังได้หยิบยกปัญหาที่พบเจอ เมื่อครั้งเคยทำงานนักสังคมสงเคราะห์ ในเรือนจำแห่งหนึ่งให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว ทำไมหลายคนต้องมาอยู่ในเรือนจำ แล้วปัญหาความรุนแรงเหล่านี้ สาเหตุแท้จริงมาจากอะไร…

"ผมมองว่า ปัญหาครอบครัว นั้นไม่ใช่ความผิดของใครคนเดียวนะ แต่ทุกคนในครอบครัวมีส่วนในการทำให้เกิดปัญหา เพราะอะไรฝ่ายหนึ่งจึงเริ่มทำ เพราะอะไรอีกฝ่ายจึงจำทน ซึ่งสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีค่อนข้างหลายหลายดังที่กล่าวมาแล้ว ที่พบบ่อยๆ คือ จากความโกรธ ความเมาสุรา การใช้ยาเสพติด การพนัน ความหึงหวง การนอกใจ และจากความเครียดที่สะสมนี่แหละ แต่สาเหตุที่แท้จริงนั้น เราต้องมองลงไปที่รากเหง้าของสภาพปัญหาของแต่ล่ะเคสที่ต้องศึกษาในเชิงลึก ซึ่งแต่ล่ะเคสจะมีปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวอีกมากมาย เหมือนกับที่เขาพูดกันว่า...อสูรร้ายไม่ได้ถูกสร้างในวันเดียว แต่ถูกสร้างขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยนานนับปี"

ซึ่งจากประสบการณ์การทำงาน ด้านสังคมสงเคราะห์ทั้งในเรือนจำ และนักสังคมสงเคราะห์ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ผ่านมาของเขา พบว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ธีรเชนทร์ บอกเล่าให้ฟังว่า ผู้ประสบปัญหาทางสังคมที่เราพบเจอ ตลอดจนนักโทษแต่ละคนที่เคยมีโอกาสสัมภาษณ์ถึงภูมิหลังของพวกเขาเหล่านั้น จะพบว่าส่วนใหญ่จะมีเงื่อนปมเกี่ยวกับปัญหาชีวิตและครอบครัวที่ส่งผลต่อแนวคิดและการใช้ชีวิตของพวกเขา อาทิ บางคนบ้านแตกสาแหรกขาดไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่มานานหลายปีแล้ว บางคนอาศัยอยู่กับตายาย หรือปู่ย่าที่มีอายุมากแล้วเกิดช่องว่างระว่างวัยและความไม่เข้าใจกันขึ้นในครอบครัวจนต้องหนีออกมามั่วสุมอยู่กับเพื่อน และบางคนเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีพ่อขี้เมาที่ชอบใช้ความรุนแรงกับแม่เป็นประจำ นำมาซึ่งพฤติกรรมเลียนแบบและซึมซับลักษณะนิสัยการใช้ความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว และนำพฤติกรรมใช้ความรุนแรงไปใช้กับผู้อื่นต่อในอนาคต เป็นต้น

"ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มันเป็นสัญญาณที่ล่องหนในสายตาของคนในครอบครัวและสังคมที่ถูกมองข้ามไป และไม่ได้รับการแก้ไขในแนวทางที่ถูกต้อง จนกระทั่งเมื่อนำไปสู่คดีสะเทือนขวัญต่างๆ เกิดความรุนแรงกับผู้คนในสังคมขึ้นมาก่อน ถึงวันนั้นสังคมที่เกี่ยวข้องจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับผลผลิตทางสังคมที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคือการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และบางครั้งสิ่งนั้นมันสายเกินไปที่จะแก้ไขแล้ว"

และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนี้ ถ้าปล่อยไว้มากเข้า นานเข้า ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม ปัญหาในระดับชาติได้เลย

"ใช่ครับ เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเท่าที่พบเจอนั้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบทางตรงต่อตัวผู้ถูกกระทำ ทั้งในเรื่องของการได้รับบาดเจ็บทางกาย ทางใจ ทำให้ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวที่ไม่ดี เกิดการหย่าร้าง ครอบครัวขาดความรักความอบอุ่นแล้ว ยังนำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงทางอ้อมอื่นๆ ตามมาอีก เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การทำแท้ง โรคติดต่อ สุขภาพจิตและการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงผลกระทบทางอารมณ์และพัฒนาการของเด็ก เป็นต้น ซึ่งถ้าหากมีปัญหาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ย่อมมีสร้างปัญหาต่อสังคมและประเทศชาติตามมาอย่างแน่นอนในอนาคต ทั้งในเรื่องของคุณภาพของคนที่จะเป็นพลังผลักดันการพัฒนาประเทศ และปัญหาสังคมด้านอื่นๆ" เขาบอกย้ำเช่นนั้น

เช่นเดียวกับ 'พรพรรณ วรรณา' นักเขียน นามปากกา 'เปีย วรรณา' ปัจจุบัน เป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ก็บอกเล่าให้ฟังถึงปัญหานี้ว่า สาเหตุหลักที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในครอบครัว นั้นมาจาก โครงสร้างสังคมที่ชนชั้นนำผูกขาดเกือบทุกอย่างมากกว่า ซึ่งดูเหมือนว่า อยากทำให้ชนชั้นล่าง หรืออาจจะมีชั้นกลางบ้างรู้สึกเครียด โดยเฉพาะชนชั้นล่างที่ต้องหาเช้ากินค่ำนี่ยิ่งเครียดหนัก ต้องทำมาหากิน ต้องเลี้ยงลูก สารพัด สวัสดิการการศึกษา และสวัสดิการอื่น ๆ จากรัฐก็พอมีบ้าง แต่คนก็ต้องการสิ่งอื่น ๆ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีกัน พอไม่ได้ ไม่มีเหมือนสิ่งที่เห็นผ่านสื่อ ผ่านการโฆษณาต่าง ๆ ก็ยิ่งเครียด

"ยิ่งในปัจจุบันนี้ ความเป็นธรรมในสังคมนี่มันไม่มีเลย ไม่ถูกนำมาใช้ และที่สำคัญ มันยังมีแต่การเลือกปฏิบัติอยู่มาก คนให้ความสำคัญกับหน้าตา ตำแหน่ง ฐานะ มากกว่าคุณงามความดี คนก็อยากสะสมสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติ ทำให้สังคมผลักให้คนเล็ก ๆ ในครอบครัว เครียดและมีทางเลือกน้อย ความรุนแรงต่าง ๆ มันเลยดูจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทำงานหนักๆ เหนื่อย ๆ แค่ไหน ก็ไม่ได้อย่างที่คนอื่นๆ ที่เป็นชนชั้นนำ ชนชั้นกลางได้"

เธอพยายามจะบอกว่า สังคมไหนมีชนชั้น ความไม่เป็นธรรมย่อมเกิดขึ้น และประเทศไหนไม่มีประชาธิปไตย ประเทศนั้นก็ยิ่งสะสมความเครียดและถูกกดดันมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งรุนแรงตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสังคม ประเทศได้

"ไม่อยากบอกเลยว่า ตอนนี้ เราคงต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด เพราะรัฐก็หวังพึ่งยาก ศาสนาก็ร้อนไหม้ คนห่มเหลืองหากินกันเยอะ รัฐก็ตัดสวัสดิการต่าง ๆ เท่าที่จะมีโอกาส เอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ถ้ารัฐเผด็จการยังอยู่ ไม่มีความหวังเลยละ ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ เพราะทำอะไร ก็ตรวจสอบอะไรก็ไม่ได้ ไล่เขาออกก็ไม่ได้ บางครั้งก็อดนึกไม่ได้ว่า หรือว่าความเดือดร้อน ความลำบาก ความรุนแรง และปัญหาต่าง ๆ ของชนชั้นล่างที่เกิดขึ้น นั้นดูเหมือนว่ามันถูกออกแบบให้เป็นแบบนี้หรือเปล่า ไม่ต้องมีประชาธิปไตย ยิ่งคิด ยิ่งเศร้า และไร้ความหวัง มองไม่เห็นเลยเรื่องสันติวิธี ทั้งศรีบูรพา, จิตร ภูมิศักดิ์, ไผ่ ดาวดิน หรือนักต่อสู้เรียกร้องคนอื่น ๆ อีก ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เขาก็จัดการ จะตายอีกกี่คน จะถูกจับอีกกี่คนไม่มีใครรู้ ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ยาก ถ้ามันจะเปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะการกระทำที่พวกเขาได้ทำไว้ ทำให้ล้มครืนลงมาเองนั่นแหละ"

ในขณะที่ 'สร้อยแก้ว คำมาลา' นักเขียน คนทำงานเพื่อสังคม และคุณแม่ลูกหนึ่ง ก็บอกเล่าถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ในสังคมไทยเราว่า กรณีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ในมุมของตนเอง ส่วนมากมักเกิดจากอารมณ์โกรธ เจ็บแค้น มันคงไม่มีใครที่ไม่เคยมีเรื่องแล้วอยากทำร้ายคนอื่น ทีนี้หากจะมองว่า จะทำให้คนเราไม่ใช้ความรุนแรงได้อย่างไร มันคงยาก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ สัตว์เวลามันต้องการอะไรมันก็ต่อสู้แย่งชิงเป็นปกติ นักเลงสมัยก่อนดวลกันด้วยมีดเล่มเดียว มีบาดเจ็บ มีสาหัส แต่พอแพ้แล้ว เขาถอย เลิกแล้วต่อกัน ถามว่า แบบนี้คือความรุนแรงไหม สำหรับเรามันก็รุนแรง แต่เราโอเคนะ

"แต่สิ่งที่เราว่ามันน่ากลัวกว่าคือ ความโหดเหี้ยม สิ่งที่เรียกว่าความเหี้ยม เพราะสัตว์นี่ถ้ามันอิ่มแล้วมันจบ มันแย่งคู่ได้แล้ว มันจบ แต่กับคน เราคงเคยเห็นว่า ขนาดตายไปแล้วมันยังไม่จบ มันยังมีความเจ็บแค้นไม่หาย ดังนั้น สิ่งที่เราคิดว่ามันน่ากลัวกว่าความรุนแรงคือรากเหง้าของอารมณ์เหล่านี้ ทำอย่างไรให้คนเรารู้จักความรักที่แท้จริง การให้ การให้อภัย การละ การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น"

แล้วเราจะเริ่มต้น สันติวิธีที่ครอบครัว หรือที่ตัวเด็กก่อน ได้หรือไม่?

สร้อยแก้ว บอกว่า ถามว่าเราจะสอนเด็กๆ อย่างไรเรื่องสันติวิธี มันต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ปฏิบัติให้เห็นก่อนดีกว่า ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่พากันสร้างภาพตนเองเป็นคนดีแต่กลับปฏิบัติอีกอย่าง อย่างนี้ต่อให้เราสอนกันแทบตาย รณรงค์แค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ เด็กๆ เรียนรู้เร็ว พวกเขาฉลาด รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง และเขาควรจะเชื่ออะไร ถ้าทุกคนมีลูกจะรู้ว่า ลูกๆ มีความคิดของเขา สิ่งที่เราเรียกว่า ดื้อนั่นล่ะ เขาไม่ได้เชื่ออะไรง่ายๆ

"ดังนั้น เรื่องสันติวิธีถ้าอยากสอน ผู้ใหญ่ก็ทำให้เขาเห็นก่อน ทำให้เห็นว่าการเคารพคุณค่าความเป็นคนที่เท่าเทียมนั้นทำอย่างไร ให้เรารู้สึกจากใจที่แท้จริงก่อน ไม่ใช่แอบคิดว่า พวกนั้นโง่ พวกนั้นไม่สมควรได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะว่าได้ไปก็มองไม่เห็นค่า แล้วไปรู้สึกว่าตัวเองดีกว่า เหนือกว่า แค่นี้ก็ยากแล้ว เพราะถ้ารู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่า ก็จะกดขี่คนอื่นไปโดยไม่รู้ตัว การสอนให้มีน้ำใจก็เช่นกัน การรักคนอื่น มีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่ต้องมากมายแบบไปสงเคราะห์คนอื่นตลอดเวลา เอาแค่สอนให้เขารู้ว่า เวลาที่เห็นคนลำบากเราจะสอนให้ลูกช่วยเหลือคนอย่างเหมาะสมถูกต้อง ช่วยอย่างให้เขามีศักดิ์ศรีด้วย ไม่ใช่ช่วยแล้วกดข่มจนเขาไม่เหลือศักดิ์ศรีอะไรเลย หรือ เวลาที่คนอื่นทำผิดต่อเรา เราจะให้อภัยได้อย่างไร หรือถ้าคนอื่นกำลังจะเข้ามาทำร้ายเรา ถูกแล้วที่เราจะไม่ปล่อยให้เขาเข้ามาทำร้ายเราได้ แต่เรา หรือวิธีปกป้องตนเองอย่างไรที่ปลอดภัยทั้งเราทั้งเขา คือเรื่องนี้ถ้าลงรายละเอียดคงจะยาว แต่ว่า เอาคร่าวๆ ว่า ถ้าอยากสอนเด็ก ผู้ใหญ่ทำให้เห็นก่อนว่าสันติวิธีคืออะไร จะเป็นการดีที่สุด" สร้อยแก้วบอกทิ้งท้าย

รศ.ดร. มารค ตามไท อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ  และอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้เคยพูดถึงเรื่องความขัดแย้งและเรื่องสันติวิธี เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว ทุกคนปรารถนาสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบและอยู่เย็นเป็นสุข การที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เข้าใกล้สภาพดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ จะต้องคำนึงถึงจุดที่สังคมไทยเป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะว่าเราไม่ได้กำลังเริ่มสร้างสังคมใหม่จากจุดศูนย์ คำถามที่สำคัญจึงต้องเป็นคำถามว่าจากสภาพปัจจุบันของสังคมไทย สังคมที่พึงปรารถนามีลักษณะอย่างไรได้บ้าง และควรจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไปสู่สังคมเช่นนั้น

"สมมติว่ามีการเสนอให้สังคมไทยกลับไปสู่สังคมเกษตรกรรม 100% ก็จะต้องถามว่าจากสภาพปัจจุบันทำเช่นนี้ได้หรือไม่ โดยรักษาความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน นอกจากการคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันแล้ว การแสวงหาทิศทางการพัฒนาของสังคมไทยยังต้องยอมรับว่า คงมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ระหว่างคนต่าง ๆ ในสังคม ความเห็นต่างกันนี้อาจจะเป็นความเห็นต่างกันเฉพาะในวิธีการไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา โดยที่ลักษณะสังคมที่พึงปรารถนาเป็นอย่างไรนั้นเห็นเหมือนกัน กรณีเช่นนี้ เหมือนกับการที่คนสองคนต้องการเดินทางไปที่เดียวกัน เพียงแต่มีความเห็นไม่ตรงกันว่าควรจะขึ้นรถเมล์สายไหน แต่อาจเกิดอีกกรณีหนึ่งขึ้นได้นั่นก็คือ การที่คนสองคนนั้น ต้องการเดินทางไปคนละที่หรือการที่กลุ่มคนในสังคมมีความเห็นต่างกันว่าสังคมไทย ที่พึงปรารถนาเป็นอย่างไร ในเมื่ออาจเกิดความเห็นต่างทั้งสองแบบนี้ขึ้นได้ ประชาชนทั้งหลายต้องมีคุณค่าร่วมกันเกี่ยวกับวิธีจัดการกับความเห็นต่างเช่นนี้ ถ้ายังต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ และอยู่เย็นเป็นสุข"

มารค บอกว่า คุณค่าร่วมกันนี้ มีชื่อเรียกกันต่าง ๆ นานา ชื่อหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายก็คือ 'ประชาธิปไตย' เมื่อคนในสังคมมีความเห็นต่างกันและไม่สามารถหาจุดร่วมได้หลังจากพูดคุยเจรจากันพอสมควร ก็ดูเหมือนว่าเดินไปพบกำแพงและไม่รู้ว่าจะเดินต่ออย่างไร วิธีหนึ่งที่อาจใช้ก็คือเดินชนกำแพงไปเลย ฆ่าฟันกัน ฝ่ายใดมีกำลังมากกว่าก็ชนะ แต่วิธีนี้ (ซึ่งใช้กันมาในทุกสังคมเป็นเวลานาน) เป็นวิธีที่ให้ผลในระยะสั้นเท่านั้น และเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาสิ่งอื่น ๆ ที่มนุษย์ปรารถนา

ดังนั้น ก็จึงเกิดคุณค่าใหม่ซึ่งไม่ใช่คุณค่าของโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออก คุณค่านั้นคือ "การอยากอยู่ร่วมกัน โดยไม่ฆ่ากันตายเมื่อมีความเห็นต่าง" คุณค่านี้คือ คุณค่าใหม่ของโลก แต่บังเอิญประเทศต่าง ๆ ในโลกเริ่มต้นส่งเสริมและพัฒนาคุณค่านี้ในเวลาที่ต่างกัน และด้วยความเร็วที่ต่างกัน บางคนชอบกล่าวว่าแนวความคิดประชาธิปไตยซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานคุณค่านี้เป็นความคิดแบบตะวันตก แต่แท้จริงแล้วแนวความคิดประชาธิปไตยเป็นของแปลกสำหรับทั้งคนตะวันตกและตะวันออกเท่า ๆ กัน เพราะเป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะใช้สติปัญญาเอาตัวออกจากเงื่อนไขที่เคยถูกธรรมชาติบังคับไว้เหมือนกับสัตว์อื่น ๆ ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะเห็นว่า ทุกครั้งที่สังคมหนึ่งจะเริ่มพัฒนาคุณค่านี้ก็จะมีคนบางคนเยาะเย้ยว่าเป็นไปไม่ได้ ผิดธรรมชาติ แต่แนวความคิดประชาธิปไตยสะท้อนความฝันของมนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ชาวตะวันตกหรือตะวันออก เป็นความฝันของมนุษย์ที่ต้องการอยู่ร่วมกันโดยวิธีอื่น นอกจากการใช้กำลังฆ่าฟันกัน ความฝันนี้ คือความฝันที่พยายามพัฒนาให้เกิดเป็นจริงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้อาจไม่มีวันที่จะถึงจุดนั้นในแต่และสังคม เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป ปัจจุบันก็ไม่มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในทุกส่วนของสังคม แต่ก็เป็นความฝันว่าจะไปให้ถึงสักวัน ถึงแม้ว่าทุกสังคมเข้าสู่ประชาธิปไตยด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน

"ปัญหาของสังคมไทยก็คือว่า ไม่มีโอกาสเหมือนสังคมตะวันตกบางแห่งที่สามารถใช้เวลา 100-200 ปีในการปรับตัว สังคมไทยต้องเร่งการปรับตัวเพราะถ้าปรับช้าก็จะเผชิญกับปัญหาอื่นที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจและทางสังคม ขณะเดียวกันถ้าปรับตัวเร็วเกินไปก็จะไม่ยั่งยืน เพราะจะเป็นการปรับตัวอย่างผิวเผิน โดยแค่ทำให้เร็วเพื่อหลอกให้ได้เงินมาลงทุนโดยที่ฐานรองรับข้างใต้ยังไม่มีอะไร อาจสามารถสร้างภาพที่ดีโดยการมีองค์การต่าง ๆ มีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่แนวความคิดของประชาชนยังไม่เปลี่ยน แนวคิดแบบประชาธิปไตยยังไม่เข้าไปอยู่ในใจ ซึ่งสิ่งหลังนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลา ดังนั้นสังคมไทยจึงต้องรวมสติปัญญาช่วยกันให้เกิดวิธีคิดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันแบบนี้ แทนที่จะรอให้เกิดขึ้นเองตามเวลาการวิวัฒนาการของสังคม"

แต่ก็นั่นแหละ มารค ตามไท มองว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ รวมทั้งพฤติกรรมของคน ในการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นธรรมดาที่จะเกิดความขัดแย้งต่าง ๆ มากกว่าปกติ เนื่องจาก มีการปรับตัว ปรับทัศนคติ จากฝ่ายต่าง ๆ ทั้ง ประชาชน และหน่วยงานของรัฐในอัตราไม่เท่ากัน รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพก็ยากขึ้น ในเมื่อหลายปัญหาอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้นจึงเพิ่มความซับซ้อนของปัญหามากยิ่งขึ้น การอยู่ร่วมกันอย่างใหม่บนสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งท้าทายสังคมประชาธิปไตยในทศวรรษหน้าอย่างมาก

"แต่จากการทุ่มเท ช่วยกันศึกษาและพัฒนารูปแบบ ต่าง ๆ ของการจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น สังคมไทยก็จะสามารถผ่านพ้นช่วงการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ โดยไม่บอบช้ำ หรือเกิดความเจ็บปวดแก่สังคมมากจนเกินไป อย่างเช่น ที่เคยเกิดกับสังคมอื่นที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ในอดีต หรือที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเรา มีบางคนที่มีทัศนะว่าคงยากที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรง หรือเชื่อว่าต้องมีความรุนแรงจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่อาจไม่ต้องเป็นเช่นนี้ก็ได้ ถ้าสังคมไทยใช้ปัญญาให้มากขึ้น เมื่อเรามุ่งมั่นที่จะทำให้สันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การปรับหางเสือของสังคมไทย และนี่แหละที่จะเป็นหน้าเป็นตาของชาติ "หน้าตา"ของชาติไทย ไม่ใช่ตึกสูงงดงาม หรือเทคโนโลยีทันสมัยที่ใช้อยู่ "หน้าตา"ของชาติไทย คือ คนไทย สังคมไทย ที่เผชิญกับความขัดแย้งโดยที่คู่กรณีเริ่มต้นแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเข้าใจซึ่งกัน และกัน การที่จะปลูกฝังทัศนคติสันติวิธีให้ลงลึกนั้น สถาบันศึกษาทั้งพลเรือน ทหาร ต้องบรรจุเรื่องนี้ในหลักสูตร แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การปรับหางเสือของสังคมไทย"

จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้ง ความรุนแรงทั้งในระดับครอบครัว หรือในระดับประเทศ ที่ไทยเรากำลังเผชิญอยู่นี้ หลายฝ่ายยังมองว่า 'สันติวิธี' ยังคงมีความจำเป็น มีความสำคัญต้องนำไปปรับใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะใช้ได้จริงและเกิดผล เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงนั้น ประเทศไทยก็ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน ไม่ใช่ตกอยู่ในสภาพสถานการณ์สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้.

 

ที่มาข้อมูล : วารสาร ผู้ไถ่ :วารสารเพื่อนำเสนอข่าวสารด้านสิทธิมนุษยชน สังคม ศาสนาและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 103 มกราคม – เมษายน 256

ข้อมูลประกอบ

(1) มารค  ตามไท, "ปัจจัย และเงื่อนไขแห่งความสำเร็จของสันติวิธีในสังคมไทย",บรรยาย ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า,๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗ อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/326323

(2) สัมภาษณ์ ธีรเชนทร์ เดชา,นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย, กุมภาพันธ์ 2560

(3) สัมภาษณ์ สร้อยแก้ว คำมาลา,นักเขียน,นักกิจกรรมสังคม,เคยทำงานขับเคลื่อนสื่อให้กับ พอช. ปัจจุบัน เขียนหนังสือและเลี้ยงลูก, กุมภาพันธ์ 2560

(4) สัมภาษณ์ พรพรรณ วรรณา ,นักเขียนนาม 'เปีย วรรณา' เจ้าของหนังสือความเรียง "สาวเครือฟ้าศตวรรษที่ 21"ได้รับรางวัลหนังสือแนะนำจากรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ปี 2558, กุมภาพันธ์ 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต. เตรียมออกระเบียบพรรคการเมืองไม่รอปลดล็อค วิจารณ์กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ล่าหลัง

Posted: 08 Nov 2017 03:22 AM PST

สมชัย ศรีสุทธิยากร เผย กกต. พร้อมออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ธ.ค. นี้ แม้ คสช. ยังไม่ปลดล๊อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองก็ตาม พร้อมวิจารณ์กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะทำให้การเลือกตั้งวุ่น ชี้หากเกิดข้อผิดพลาดไม่ใช่ปัญหาจาก กกต.

แฟ้มภาพ

8 พ.ย. 2560 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงการประชุมกกต. ของเมื่อวานนี้ซึ่งไม่ได้หารือเรื่องการประกาศระเบียบ กกต. ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เนื่องจากมีวาระการประชุมจำนวนมาก และตอนนี้การทำงานยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ไม่ได้เห็นว่า ไม่ควรพิจารณาก่อนที่ คสช. จะปลดล็อคพรรคการเมือง เพราะเมื่อถึงเวลาอย่างไรก็ต้องประกาศระเบียบ คาดว่าจะประกาศในต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งจะครบ 60 วัน ตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด

"ไม่ว่าจะปลดล็อคพรรคการเมืองหรือไม่ กกต. ต้องประกาศระเบียบ แต่พรรคการเมืองอาจจะยังทำอะไรไมได้ เพราะมีคำสั่งคสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมอยู่ อย่างไรก็ตาม ในบ่ายวันนี้ ผมจะแถลงข่าวเพื่อชี้แจงสิ่งที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการภายในกรอบ 90 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวต่อถึงกรณีที่ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มีแนวคิดตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกิบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้ม่าซึ่ง ส.ว. เพื่อให้การพิจารณากฎหมายเร็วขึ้น ว่า ตามกระบวนการ กรธ. ต้องส่งร่างกฎหมายลูกให้ สนช. พิจารณา ทาง สนช.ต้องตั้งกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งมีตัวแทนกรธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นร่วมพิจารณา เมื่อกระบวนการพิจารณาของ กมธ. เสร็จ จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุม สนช. เมื่อ สนช.พิจารณาเสร็จ จะต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่ามีประเด็นหรือมีความเห็นขัดแย้งหรือไม่ภายในเวลา 14 วัน ถ้าไม่มีประเด็นโต้แย้งกฎหมายจะเข้าสู่กระบวนการที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ 

"จากการที่ผมติดตามร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่เห็นมีประเด็นที่จะต้องโต้แย้ง เพราะเนื้อหาไม่มีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้กระบวนการร่างกฎหมายล่าช้า การที่ผมเสนอความเห็นเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วงนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ตีรวน แต่ต้องการนำเสนอให้ประชาชนสนใจ และติดตามการร่างกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้อยู่ในสายตาของประชาชนและพรรคการเมือง รวมทั้งสะท้อนให้ สนช. ที่จะพิจารณาเรื่องนี้รับทราบด้วย" สมชัย กล่าว

ต่อมาในช่วงบ่าย สมชัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า ในการออกระเบียบและประกาศ กกต. ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ขณะนี้สำนักงาน กกต. ได้เตรียมพร้อมไปเกือบ 100% แล้ว โดยจะนำเข้าที่ประชุม กกต.ในวันจันทร์ที่ 13 พ.ย. เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย 

ทั้งนี้ นายสมชัย ยังแสดงความกังวลใจ ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเฉพาะในมาตรา 141 ที่กำหนดกรอบระยะวลาให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งใน มาตรา 141 (1) กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรค

"พรรคการเมืองต้องแจ้งว่า มีสมาชิกเหลืออยู่แตกต่างไปจากเดิมอย่างไร โดยจะต้องแจ้งภายในวันที่ 5 มกราคม 2561 ที่จะครบ 90 วัน หากไม่สามารถแจ้งได้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด พรรคการเมืองจะต้องทำหนังสือขอขยายเวลามาที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งจะขยายเวลาได้ไม่เกิน 3 ปี และในระหว่างขยายเวลา จะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง และเมื่อครบกำหนดเวลา พรรคการเมืองใดไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรค กกต. ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป"สมชัย กล่าว

สำหรับเรื่องของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น สมชัยได้แสดงความเห็นว่า มุมมองการร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ชุดนี้กลับมีด้านที่ล้าหลัง ไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถป้องกันทุจริต และทำให้ประชาชนเกิดความยากลำบากในการใช้สิทธิ ซึ่งเห็นว่ามีข้อเสนอที่พิลึกพิลั่นมากมาย คือ

1.ให้หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเป็นคนละเบอร์ แทนที่จะใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศให้ประชาชนจดจำได้ง่าย และส่งเสริมระบบพรรคให้เข้มแข็ง

2.การกำหนดให้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องใช้บัตร และกำหนดเงื่อนไขปิดกั้นการใช้วิธีการอื่นที่ทันสมัยและสะดวกต่อประชาชน

3.การกำหนดวิธีการรับสมัครให้ใช้วิธีการสมัครด้วยตนเองและให้ย้ายสถานที่รับสมัครได้หากเกิดความวุ่นวาย ทั้งๆที่เคยมีประสบการณ์การถูกปิดล้อมจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

4.การเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเป็น 1,000 คน ต่อหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง ทำให้จำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศลดลง ประชาชนต้องเดินทางไกลขึ้น และจำนวนผู้รอในแถวเพื่อขอใช้สิทธิจะยาวขึ้นกว่าเดิม

5.การลดจำนวนกรรมการประจำหน่วยให้เหลือไม่น้อยกว่า 5 คน จากเดิมใม่น้อยกว่า 9 คน การดูแลจัดการจะยากขึ้น การทุจริตซื้อกรรมการยกหน่วยง่ายขึ้น

6.การให้บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิหน้าหน่วย ไม่ต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชน เพิ่มความยุ่งยากในการจัดพิมพ์ เนื่องจากบัญชีในหน่วยยังต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชน ทำให้ต้องพิมพ์สองรอบ และ เปิดช่องให้ทุจริตส่งผีเข้าบ้านเลขที่ปลอมได้โดยง่าย

7.การห้ามทำโพลล์ที่มีผลต่อการตัดสินใจการใช้สิทธิ ซึ่งเป็นการปิดกั้นสื่อและสถาบันการศึกษาในการใช้หลักวิชาการเพื่อส่งเสริมการเลือกตั้ง

"หลักการที่หยิบยกขึ้นมาทั้ง 7 เรื่อง ถือเป็นความล้าหลังของกฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องของการออกแบบวิธีการจัดการเลือกตั้งที่ลงรายละเอียดมากเกินไป และไม่ได้รับฟังความเห็นจากฝ่ายปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการโต้แย้งโดยการตั้งกรรมาธิการร่วม อย่างไรก็ตามขอเสนอแนวคิดบันทึกไว้หากมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นและเกิดปัญหาต่างๆตามมา เพื่อให้ประชาชนรับทราบไว้ว่าปัญหานั้นมาจากผู้ออกแบบ คือ กรธ. และผู้ผ่านกฎหมาย คือ สนช. ไม่ใช่ ผู้ปฏิบัติ อย่าง กกต." สมชัย กล่าว

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย 1 , 2 , เดลินิวส์ออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาอีก 6 คำถาม ประยุทธ์ ฝากประชาชนตอบผ่านช่องทางมหาดไทย

Posted: 08 Nov 2017 02:18 AM PST

พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งอีก 6 คำถาม ให้ประชาชนตอบผ่านช่องทางกระทรวงมหาดไทย ถาม คสช. จากสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของ คสช. ใช่หรือไม่ หรือ 3 ปี ที่ผ่านมาประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่ ฯลฯ

 

8 พ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (8 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจกเอกสารคำถาม 6 ข้อ ให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนตอบผ่านช่องทางกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย

คำถามที่ 1 วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือ นักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่  การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิมนักการเมืองหน้าเดิมๆแล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

คำถามข้อที่ 2 การที่ คสช. จากสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของ คสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้ว

คำถามที่ 3 สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

คำถามย่อย : เห็นด้วยกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลานานด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่ , การวางแผนงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นระยะสั้น-กลาง-ยาว อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU, ICAO ฯลฯหรือไม่

- เห็นด้วยกับการให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อให้การเมืองไทยในอนาคต มีประสิทธิภาพ  มีธรรมาภิบาล เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศหรือไม่ 

- การทำงานของทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ ทุกจังหวัด มิใช่ทำแต่ตามนโยบายพรรค ที่ได้หาเสียงไว้ หรือดูแลเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงที่สนับสนุน รวมทั้งจะต้องทำงานตามยุทธศาสตร์ให้เกิดความต่อเนื่องใช่หรือไม่

คำถามที่ 4 การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนที่ คสช. และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้งความรุนแรง การแบ่งแยกประชาชนเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่

คำถามที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจนเพียงพอหรือไม่

คำถามที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมือง จึงออกมาเคลื่อนไหวด้อยค่า คสช.  รัฐบาล นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ  ฝากถามพี่น้องประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร 

หัวหน้า คสช. ระบุในตอนท้ายว่า  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ อยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้เป็นผู้พิจารณาตัดสิน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถที่จะตอบคำถามทั้ง 6 ข้อ ผ่านช่องทางของกระทรวงมหาดไทยเหมือนที่ตอบคำถาม 4 ข้อที่ผ่านมา  พร้อมย้ำว่า คำถามครั้งนี้ต้องการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ไม่ใช่กลุ่มการเมือง จึงขออย่านำไปเป็นประเด็นให้เกิดปัญหาขึ้นอีก 

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า ทราบเรื่องนี้จากนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งจะใช้กลไกเดิมในการรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ ก่อนจะสรุปข้อมูลรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ และไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องดำเนินการถึงเมื่อไร

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 4 คำถามจากนายกรัฐมนตรีที่มีมาก่อนหน้านี้ ยังดำเนินการอยู่ รวมถึงมีการสรุปผลต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นครั้งที่ 9 และมีประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 1 ล้านคน

ที่มา: สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อาบอบนวด-คาราโอเกะ' ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปช่วยชาติได้

Posted: 07 Nov 2017 11:49 PM PST

รองอธิบดีกรมสรรพากร ระบุรายจ่ายที่นำมาหักลดหย่อนได้ต้องซื้อจริงและใช้บริการในช่วงระหว่างวันที่ 11 พ.ย.– 3 ธ.ค.60 เท่านั้น ยกตัวอย่างใช้บริการอาบอบนวด คาราโอเกะหากมีการออกใบกำกับภาษีถูกต้องก็สามารถลดหย่อนได้

8 พ.ย.2560 จากกรณีวานนี้ (7พ.ย.60 )ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2560 โดยจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างวันที่ 11 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งประเมินว่าจะรัฐสูญเสียรายได้ภาษี 2,000 ล้านบาท นั้น

ล่าสุด สื่อหลายสำนัก เช่น เดลินิวส์ Voice TVและเนชั่นทีวี แพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สรรพากรประเมินว่าจะมีผู้มาหักลดหย่อนภาษีจากมาตรการช้อปช่วยชาติประมาณ 22,500 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่หักลดหย่อน 15,000 ล้านบาท โดยรัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายที่นำมาหักลดหย่อนได้จะต้องมีการซื้อจริง และใช้บริการในช่วงระหว่างวันที่ 11 พ.ย.– 3 ธ.ค.60 เท่านั้น

รองอธิบดีกรมสรรพากร ระบุตัวอย่างว่า กรณีสมัครฟิตเนตหากทำสัญญารายปีจะใช้หักลดหย่อนไม่ได้ แต่หากซื้อสินค้าและผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตเป็นรายเดือนจะใช้หักลดหย่อนได้  รวมถึงการใช้บริการอาบอบนวด คาราโอเกะหากมีการออกใบกำกับภาษีถูกต้องก็สามารถลดหย่อนได้ ขณะที่ตั๋วเครื่องบินจะหักภาษีได้เฉพาะสายการบินที่คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องเป็นเที่ยวบินในประเทศพร้อมกับซื้อและบินในช่วงดังกล่าว โดยการให้สิทธิลดหย่อนภาษี กรมจะยึดรายจ่ายตามใบกำกับภาษีเท่านั้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน ตุลาคม 2560

Posted: 07 Nov 2017 11:44 PM PST

ศาลสืบพยานถึงเที่ยงคืน คดี 16 ส.อบต. ฟ้อง 6 ชาวบ้านฅนรักษ์บ้านเกิด ฐานข่มขืนใจ

Posted: 07 Nov 2017 11:29 PM PST

ศาลจังหวัดเลย สืบพยานคดีข่มขืนใจ ที่ 16 สมาชิก อบต.เขาหลวงยื่นฟ้อง 6 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กรณีมีความวุ่นวายในการประชุมสภา อบต. ในวาระพิจารณาต่ออายุการขอใช้พื้นที่ป่าไม้-ส.ป.ก. สืบพยาน 5 ปากใช้เวลาถึงเที่ยงคืน

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 นักข่าวพลเมือง TPBS รายงานว่า เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเลยเพื่อไปร่วมรับฟังศาลนัดสืบพยานโจทก์ ในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเลยเป็นโจทก์ ฟ้องพรทิพย์ หงชัย กับพวกรวม 6 คน โดยมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง (ส.อบต.เขาหลวง) 16 คน เป็นโจทก์ร่วม จากเหตุการณ์ "ปาเก้าอี้" ในที่ประชุมสภา อบต.เขาหลวง เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 จากความขัดแย้งกรณีเหมืองทองขอต่ออายุหนังสืออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก.

ชาวบ้าน 6 คน ถูกยื่นฟ้องในฐานความผิดร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้ผู้อื่นกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญและใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ 5 ปาก จากทั้งหมด 16 ปาก ให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลา 16.33 น. ยังเหลือสืบพยานโจทก์อีก 4 ปาก ผู้พิพากษาจึงมีความเห็นว่าจะสืบพยานโจทก์ต่อจนถึงเที่ยงคืนของวันนี้ ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งทยอยกลับบ้านเพื่อไปเตรียมอาหารมาให้ชาวบ้านที่ยังอยู่ที่ศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ว่าชาวบ้านหลายสิบคนยังคงปักหลักอยู่ร่วมฟังการสืบพยายานโจทก์ของศาลจนถึงเวลาเกือบเที่ยงคืน โดยบางคนทนไม่ไหวต้องหาเสื่อและผ้ามาปูนอน บางคนก็ฟุบหลับอยู่กับเก้าอี้

เวลา 23.40 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลสืบพยานโจทก์ทั้ง 5 ปากในวันนี้เสร็จสิ้นแล้ว ด้านชาวบ้านทะยอยออกจากตัวอาคารมารวมตัวที่สนามเพื่อฟังการสรุปผลจากทนายความ

เวลา 23.47 ทนายสรุปคดีในวันนี้ว่า สืบพยานฝ่ายโจทก์ไป 5 ปาก เหลือพยานโจทก์อีก 11 ปาก ผู้พิพากษาจะสืบพยานโจทก์พรุ่งนี้ให้เสร็จ แล้ววันต่อไปจะเริ่มสืบพยานฝ่ายจำเลย

จากที่ก่อนหน้านี้ ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 7-10 พ.ย. 2560 และสืบพยานจำเลยวันที่ 21-24 พ.ย. 2560

สำหรับชาวบ้าน 6 คน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ ประกอบด้วย
มงคล ไชยจำเริญ
วุต แก้วกัณหา
วุฒิศักดิ์ มะโหรี
ทองพูล สุทธิสอน
พรทิพย์ หงชัย และ
ภัทราภรณ์ แก่งจำปา

สมาชิก อบต.เขาหลวง เขตโซนบน ทั้ง 16 คน ประกอบด้วย
1. ปัดใจ ศรีทุมสุข ส.อบต. บ้านแก่งหิน หมู่ 4
2. แตง ตองหว้าน ส.อบต. บ้านแก่งหิน หมู่ 4
3. วัชรพงษ์ บัวบานบุตร ส.อบต บ้านนาซำแซง หมู่ 5 และรองประธานสภา
4. ทนงศักดิ์ พรหมศรี ส.อบต. บ้านนาซำแซง หมู่ 5
5. สุระศักดิ์ ดวงจำปา ส.อบต. บ้านนาซำแซง หมู่ 6 และเลขานุการสภา
6. นิกร ศรีโนนสุข ส.อบต. บ้านนาซำแซง หมู่ 6
7. กรรติการ มุลทา ส.อบต. บ้านขอนแก่น หมู่ 7
8. ทรงวุฒิ บัวระพันธ์ ส. อบต. บ้านขอนแก่น หมู่ 7
9. กิตติพงษ์ นิพวงลา ส.อบต. บ้านน้ำทบ หมู่ 8
10. อ็อด บุตรศรี ส.อบต. บ้านน้ำทบ หมู่ 8
11. วิษณุ บัวบานบุตร ส.อบต. บ้านนาหลวง หมู่ 9
12. รวยล้น สอนสุภาพ ส.อบต. บ้านนาหลวง หมู่ 9
13. บัญเทา สิงมะทาพรม ส.อบต. บ้านยางเดี่ยว หมู่ 10
14. ศักดิโชติ เรือนยศ ส.อบต. บ้านยางเดี่ยว หมู่ 10
15. วีระพล กัตติยะ ส.อบต. บ้านโนนสวรรค์ หมู่ 11
16. ขุนเที่ยง มหาพรม ส.อบต. บ้านโนนสวรรค์ หมู่ 11

ทั้งนี้ ตามคำฟ้องในคดี ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง นัดประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2559 ในวันที่ 12-13 พ.ค. 2559 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมสภาอบต.เขาหลวง โดยจำเลยทั้ง 6 ได้รับอนุญาตให้ร่วมรับฟังการประชุมดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 6 ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิด และจำเลยที่ 2 ได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฏหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

(ก) จำเลยทั้ง 6 ได้บังอาจร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายทั้ง 16 เจ้าพนักงานตามกฏหมายดังกล่าวในฟ้องที่ 1 โดยทำให้เกิดความกลัว ต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ขณะที่ผู้เสียหายทั้ง 16 กำลังประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปี พ.ศ 2559 ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง วาระที่ 4 เรื่องเสนอให้ความเห็นชอบในการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและยื่นขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรในเขตปฏิรูปที่ดินมาใช้ประโยชน์ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ด้วยการกล่าววาจาข่มขู่ ตะโกนว่า "บุก" และเอะอะโห่ร้อง โวยวายส่งเสียงดังในลักษณะขู่เข็ญทำให้ผู้เสียหายทั้ง 16 เกิดความกลัวและตกใจจากการขู่เข็ญนั้นและร่วมกันขัดขวางผู้เสียหายทั้ง 16 เจ้าพนักงานพึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โยนเก้าอี้ ขว้าง ปา กระดาษสิ่งของ ขวดพลาสติกใส่ผู้เสียหายทั้ง 16

จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้ง 16 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอัตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำจากจำเลยทั้ง 6 ตามที่ข่มขู่ ใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ดังกล่าว จนผู้เสียหายทั้ง 16 ต้องจำยอมกระทำการยุติการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปี พ.ศ 2559 ในวาระที่ 4 ดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนกฏหมาย

(ข) จำเลยที่ 2 ได้บังอาจใช้กำลังประทุษร้าย ทรงวุฒิ บัวระพันธุ์ ผู้เสียหายที่ 10 โดยใช้มือทุบตี ผู้เสียหายที่ 10 หลายครั้ง แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ

ถือว่าเป็นความผิดต่อกฏหมาย และบทมาตราดังนี้ ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 58,83,91,138,140,309,391,392

000000

คดีชาวบ้านเหมืองทองเลยในเดือนพฤศจิกายนประกอบด้วย

1. ศาลจังหวัดเลยนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 7 พ.ย. 2560 ในคดี ส.อบต.เขาหลวง เขตโซนบน 16 คน ฟ้องคดีข่มขืนใจกับพรทิพย์ หงชัย กับพวกรวม 6 คน กรณีเหตุวุ่นวายในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ปมเหมืองขอใช้พื้นที่ป่าไม้-ส.ป.ก.เพื่อทำเหมืองทอง

2. วันที่ 17 พ.ย. 2560 ฟังศาลปกครองอุดรนัดฟังคำพิพากษาคดีเพิกถอนใบรายงานไต่สวนภูเหล็ก

3. วันที่ 28 พ.ย. 2560 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเลยนัดสืบพยานโจทก์ในคดีชาวบ้านฟ้องกลับเหมืองทองข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายจากกรณีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องตัวเเทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากการทำป้าย "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" ที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย "ปิดเหมือง ฟื้นฟู" ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักพระราชวังสั่งไล่ออก 'ดิสธร วัชโรทัย' ระบุประพฤติชั่วร้ายแรง

Posted: 07 Nov 2017 10:43 PM PST

สำนักพระราชวัง สั่งไล่ออก 'ดิสธร วัชโรทัย' รองเลขาธิการพระราชวัง กรณีสั่งออกเอกสารรับรองบุคคลภายนอกบริจาค 25 ล้านบาท และเสนอขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทั้งที่เป็นส่วนลดซื้อสินค้า แอบอ้างพระปรมาภิไธย เลี่ยงภาษีรถยนต์ รวมทั้งชู้สาวกับหญิงอื่นบังคับให้ทำแท้งถึงสองครั้ง ก่อนบังคับแต่งงานกับชายอื่น 

ที่มาภาพ เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

 

8 พ.ย.2560 หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักพระราชวังออกคำสั่ง เรื่อง ลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการ ระบุว่า ด้วย ดิสธร วัชโรทัย ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งประจำสำนักพระราชวังพิเศษ เลขที่ตำแหน่ง 650 สังกัดราชการบริหารส่วนกลาง อัตราเงินเดือน 76,800 บาท ได้กระทำผิดวินัย ฐานกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยมีกรณีความผิดกล่าวคือ ดิสธรซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ อีกหน้าที่หนึ่ง ได้ใช้อำนาจของตน สั่งการให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ แสดงเอกสารรับรองว่าบุคคลภายนอกได้บริจาคเงินให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เป็นจำนวนเงินยี่สิบห้าล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าตามปกติ โดยไม่ได้มีการบริจาคเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด และ ดิสธร ได้นำเอกสารรับรองการบริจาคดังกล่าว เสนอต่อกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นทุติยดิเรกคุณาภรณ์ ให้แก่บุคคลภายนอก อันเป็นการฉ้อโกงเครื่องราชอิสริยาภรณ์

คำสั่งสำนักพระราชวังระบุต่อว่า ดิสธร ในฐานะรองเลขาธิการพระราชวัง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลกองพระราชพาหนะ ได้นำรถยนต์ในพระปรมาภิไธยไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุ และแอบอ้างพระปรมาภิไธย เพื่อยกเว้นภาษีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ แล้วนำรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศไปใช้ทดแทนรถยนต์คันเดิมที่ประสบอุบัติเหตุ โดยไม่ปรากฏหลักฐานการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถยนต์คันใหม่ และไม่มีหลักฐานการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเดิมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ดิสธร ได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาของตนเอง เมื่อหญิงตั้งครรภ์กลับพาหญิงดังกล่าวไปทำแท้ง นอกจากนั้นเมื่อหญิงคนดังกล่าวตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สอง ดิสธร ก็ยังบังคับข่มขืนใจเพื่อให้ไปทำแท้งอีกครั้ง แต่หญิงคนดังกล่าวไม่ยินยอม ดิสธร จึงบังคับหญิงคนดังกล่าวให้แต่งงานกับชายอื่น ซึ่งไม่เคยมีสัมพันธ์กัน

อีกทั้ง ดิสธร ได้นำดินที่ขุดทิ้งจากโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ซึ่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ขอรับบริจาคจากสภาสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ แต่ดิสธรกลับนำดินกล่าวไปขายให้แก่โครงการหมู่บ้านจัดสรร และยังนำดินส่วนหนึ่งไปถมในพื้นที่ของครอบครัวตัวเอง ซึ่งมิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอรับบริจาค

"พฤติกรรมดังกล่าวของดิสธร เป็นการกระทำผิดราชสวัสดิ์และเป็นความผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงเห็นสมควรได้รับโทษไล่ออกจากราชการ"

สำนักพระราชวังพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของดิสธร วัชโรทัย เป็นความผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วร้ายแรง จึงเห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 มาตรา 15 และมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 จึงลงโทษไล่ ดิสธร วัชโรทัย ออกจากราชการ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2560 เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 6 พ.ย. 2560 จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวัง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค.60 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้สํานักพระราชวังดําเนินการปรับปรุงการกําหนดตําแหน่งและย้าย ดิสธร วัชโรทัย ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตําแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ราชการบริหารส่วนกลาง ไปแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง ประจําสํานักพระราชวังพิเศษ ตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ราชการบริหารส่วนกลาง สํานักพระราชวัง เป็นพิเศษเฉพาะราย ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2559 ประกาศ ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2559 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

ดิสธร เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ภูมิ ชื่นบุญ เขียนไว้ใน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อ ธ.ค. 54 ว่า ดิสธร ยืนถวายการรับใช้อยู่เบื้องหลังของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" (ร.9) เพราะนั่นคือหน้าที่ที่เขาเฝ้าปฏิบัติมาอย่างยึดมั่นด้วยความภาคภูมิตลอด24 ปี จนเรียกตัวเองว่าเป็น "บุรุษไปรษณีย์ประจำพระองค์" และเปรียบ "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์" เป็นดั่ง "ไปรษณีย์" คำว่า "บุรุษไปรษณีย์" ของดิสธรในที่นี้คือ บุคคลที่คอยทำหน้าที่นำพาความห่วงใย และความปรารถนาดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปสู่ประชาชนในประเทศไทย และนั่นก็คือหน้าที่หลัก ๆ ของคุณใหม่ใน 24 ปีที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนเซ็นเซอร์ถ้อยคำ-คุมเข้มโลกโซเชียลช่วงสมัชชาใหญ่ พคจ. ครั้งที่ 19 อย่างไร

Posted: 07 Nov 2017 08:48 PM PST

ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ถูกมองว่าเป็นวาระให้ 'สีจิ้นผิง' กระชับอำนาจพรรค หลังผ่านครึ่งเทอมแรกในการเป็นผู้นำประเทศ ด้านซิติเซ็นแล็บเผยว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีการควบคุมและจำกัดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมใหญ่ของ พคจ. โดยยิ่งใกล้วันประชุมก็ยิ่งบล็อกมากขึ้น

พิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 19 เมื่อ 19 ตุลาคม 2017 ที่มา: VOA/Wikipedia

8 พ.ย. 2560 โดยซิติเซ็นแล็บพบว่ามีการเซ็นเซอร์เนื้อหาเกี่ยวกับการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 หรือที่ใช้อักษรย่อว่า NCPC19 ถูกจากระบบของ WeChat แอปพลิเคชันการสนทนาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในจีน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการบล็อกคำสำคัญบางคำในช่วงหนึ่งก่อนการประชุมใหญ่และมีการอัพเดทการเซ็นเซอร์ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการประชุมใกล้เข้ามา

ประเด็นการเซ็นเซอร์มีตั้งแต่เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ การคาดคะเนเกี่ยวกับสภา เหล่าผู้นำ และการช่วงชิงอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้กระทั่งคำที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของยุคสีจิ้นผิงอย่าง "นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) และวลีเชิงแนวคิดอุดมการณ์อย่าง "สังคมนิยมลักษณะแบบจีน"

ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการพูดคุยเกี่ยวกับหลักการอุดมการณ์พรรคในรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ แต่ทว่าสภาพการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจเช่นนี้ทำให้พวกเขารู้สึกอ่อนไหว หวาดกลัวความไม่มั่นคงแน่นอน ซิติเซ็นแล็บระบุว่าการสั่งบล็อกคำสำคัญ ทั้งด้วยความหวาดกลัวข่าวลือและกลัวเสียภาพลักษณ์เช่นนี้กลับส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถพูดถึงแม้แต่ในแง่การพูดเพื่อสนับสนุนรัฐบาลจีนไปด้วย

สาเหตุหนึ่งที่น่าจะทำให้เกิดการเซ็นเซอร์คือ มีการคาดการณ์ว่าสีจิ้นผิงอาจจะใช้เวทีประชุมใหญ่เป็นที่แผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของตัวเองมากขึ้นไปอีกโดยอ้างุถึงอุดมการณ์อย่าง "สังคมนิยมลักษณะแบบจีน" นอกจากสีจิ้นผิงจะเป็นผู้นำคนที่สามที่มีชื่อตัวเองใส่ลงในรัฐธรรมนูญแบบเหมาเจ๋อตุงและเติ้งเสี่ยวผิงแล้วในคณะกรรมการระดับสูงก็ดูไม่มีใครที่ชัดเจนว่าจะได้เป็นผู้สืบทอดของสีจิ้นผิง ทำให้มีคนสงสัยว่าสีจิ้งผิงจะพยายามอยู่เกินวาระ 10 ปี ตามธรรมเนียมของพรรค

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าลักษณะของการเซ็นเซอร์ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ก่อนหน้าการประชุมใหญ่นั้นมีลักษณะแบบเป็นการควบคุมที่แทรกซึมไปเป็นรายบุคคลมากขึ้นแทนที่จะเน้นควบคุมบริษัทให้บริการไอทีแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเข้มงวดด้านการให้ใช้ชื่อจริงลงทะเบียนในกระดานข่าวมากขึ้น หรือการออกกฎให้ใช้ "ระบบเครดิต" อย่างการให้คะแนนความคิดเห็นต่างๆ ในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ผู้ให้บริการใดไม่ทำตามจะถูกขึ้นบัญชีดำ โดยที่ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ฝ่ายควบคุมอินเทอร์เน็ตของจีนประกาศว่าบริการอย่าง ซินาเว่ยป๋อ, เทนเซนต์ และไป่ตู้ ต่างก็ถูกสั่งปรับจากการที่ไม่มีการจัดการกับเนื้อหาต้องห้าม รวมถึงในช่วงวันที่ 17 ต.ค. หนึ่งวันก่อนการประชุมของพรรคโซเชียลมีเดียต่างๆ ของจีนก็ประกาศว่าผู้ใช้งานจะไม่สามารถเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ชื่อผู้ใช้ หรือประวัติของตัวเองได้โดยอ้างว่า "กำลังปรับปรุงระบบ"

ซิติเซนแล็บยังตรวจสอบการเซ็นเซอร์คำสำคัญของ WeChat โดยที่ผู้ใช้เองก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการเซ็นเซอร์คำสำคัญใดบ้างและผู้ใช้งานเองก็จะไม่รู้ตัวว่าคำของเขาถูกเซ็นเซอร์มีแต่ผู้รับสารเท่านั้นที่จะไม่เห็น โดยที่ไม่มีการแจ้งว่าคำของพวกเขาถูกบล็อกหรือแจ้งสาเหตุที่คำของพวกเขาถูกบล็อก

พวกเขาทดลองพบว่าในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 ถึงสิงหาคม 2560 มีคำสำคัญ 51 ชุดที่ถูกบล็อก เทียบกับช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2560 มีคำสำคัญที่ถูกบล็อกอีก 194 ชุด รวมเป็น 241 ชุดเมื่อคิดรวมทั้งสองช่วง โดยมีการบล็อกคำว่า "การประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 19" ในภาษาจีน หรือคำที่ระบุถึงการประชุมวงปิดของสมาชิกพรรคระดับสูงที่รีสอร์ทริมชายหาด โดยจากการทดลองแล้วผู้ที่พูดถึงคำหรือวลีเหล่านี้ในประโยคจะไม่ขึ้นปรากฏให้คู่สนทนาฝ่ายตรงข้ามเห็น

การเซ็นเซอร์อื่นๆ ที่ซิติเซนแล็บค้นพบคือเรื่องการวิจารณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนขาดตัวแทนที่เป็นผู้หญิง โดยมีการบล็อกคำที่ใช้ในประเด็นนี้อย่างคำว่า "เพดานแก้ว" โดยการเซ็นเซอร์คำเหล่านี้มีการอัพเดทเพื่อโต้ตอบการนำเสนอข่าวประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประชุม

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเซ็นเซอร์ชื่อของสีจิ้นผิง เซ็นเซอร์คำขวัญอย่างเช่นคำว่า "ความฝันแบบจีน" มีการเซ็นเซอร์คำที่เกี่ยวข้องกับการคาดคะเนว่าสีจิ้นผิงจะพยายามยืดวาระการดำรงตำแหน่งตัวเองไปอีกหรือเรื่องการควบรวมอำนาจพรรค หรือกรณีอื้อฉาวอื่นๆ ของรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น กรณีการปิดกั้นภาพยนตร์ หรือการสั่งถอดรายการโทรทัศน์ในฮ่องกง

"จากคำสั่งที่รั่วไหลออกมาและจากการค้นคว้าในครั้งก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทโซเชียลมีเดียในจีนถูกรัฐบาลกดดันมากขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์อ่อนไหว" ซิติเซ็นแล็บสรุปในรายงาน

"จากการศึกษาวิจัยเรื่องการเซ็นเซอร์ซินาเว่ยป๋อในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 เจสัน คิว เอ็งพบว่าหลังจากการประชุมจบลงปริมาณการเซ็นเซอร์บนพื้นที่ก็ลดลง" ซิติเซนแล็บระบุในรายงาน

เรียบเรียงจาก

MANAGING THE MESSAGE : What you can't say about the 19th National Communist Party Congress on WeChat, The Citizen Lab, 06-11-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: ตอบข้อสงสัยการไม่นับถือศาสนา

Posted: 07 Nov 2017 06:50 PM PST

 

สิ่งที่สงสัยและเป็นข้อถกเถียงกันมาโดยตลอดว่าคนที่เลือกจะไม่นับถือศาสนาใดๆนั้นมีเหตุผลอะไร ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป เช่น บางคนอาจเห็นว่าการนับถือศาสนาเป็นเครื่องผูกมัดให้แก่ชีวิตตนเองมากขึ้น บางคนเกิดความรู้สึกต่อต้านเพราะเห็นว่าศาสนามาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวการพูด การกระทำและความคิดของเขามากเกินไป บางคนเห็นว่าศาสนาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัวได้ เชื่อว่าตนเองสามารถทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ได้โดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

บางคนเห็นว่าพิธีกรรมทางศาสนาทำให้คนงมงาย เสียเงินและเสียเวลา เป็นเพียงสิ่งทำสืบต่อๆกันมา บางคนทำพิธีกรรมนั้นโดยไม่รู้ความหมาย บางคนเสื่อมศรัทธาในผู้สืบศาสนา เช่น พระหรือนักบวชประพฤติตัวไม่เหมาะสม ทำธุรกิจโดยอาศัยศาสนสถานบังหน้า และยังมีข่าวในแง่ไม่ดีอยู่เป็นประจำ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด ฯลฯ จึงเลือกไม่นับถือศาสนาใดๆ

จากเหตุผลดังกล่าวจึงตามมาด้วยข้อสงสัยมากมาย ซึ่งผมได้รวบรวมทั้งคำถามคำตอบมาเพื่อนำเสนอ และขอเรียนว่าผมไม่ได้ตอบแทนผู้ไม่นับถือศาสนาทั้งหมดนะครับ เพราะในบรรดาผู้ที่ไม่นับถือศาสนานั้นอาจมีเหตุผลที่แตกต่างจากที่ผมอธิบายต่อไปนี้ก็ได้

1.ถาม - ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ความดีต่างๆนั้นมาจากคำสอนของศาสนา เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่นับถือศาสนาจึงไม่สามารถเป็นคนดีได้

ตอบ - เรื่องความดีความชั่วเป็นเพียงมุมมองส่วนบุคคล ซึ่งแต่ละศาสนามีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างกัน ความดีความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอตามกาลและเทศะ

2.ถาม - ถ้าไม่มีศาสนา มนุษย์เราก็ไม่ต่างอะไรไปจากสัตว์เดรัจฉานที่ห้ำหั่นเข็ญฆ่ากันด้วยสัญชาติญาน การเอาตัวรอด นึกจะฆ่าใครก็ฆ่าเพราะไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษว่าเป็นอย่างไร สังคมจะเกิดความวุ่นวายโกลาหลแล้วในท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นสังคมสัตว์ป่าที่ปกครองกันด้วยกำลัง ซึ่งนั่นก็คือการสิ้นสุดของอารยธรรมของมนุษย์

ตอบ - เราต้องแยกให้ออกว่านั่นหมายถึงจริยศาสตร์ ไม่ใช่ศาสนา เพราะศาสนากินความรวมไปถึงพิธีกรรม และองค์ประกอบปลีกย่อยหลาย ๆ ด้านรวมไปด้วย มันไม่จำเป็นเลยที่การไม่นับถือศาสนาแล้วจะทำให้ไม่มีจริยธรรมตามไปด้วย ตัวจริยธรรมเองก็สามารถมีอยู่ในมนุษย์ได้โดยเป็นอิสระจากศาสนา การกล่าวว่าหากไร้ศาสนาแล้วมนุษย์จะมีความเสื่อมลงเป็นเดรัจฉาน เป็นการสรุปความที่เกินไปจากขอบเขต

3.ถาม - ที่ผู้ไม่นับถือศาสนาไม่สามารถรับรู้ถึงสัจธรรมของศาสนาได้ เป็นเพราะไม่ยอมเปิดใจรับหรือไม่ยอมเชื่อก่อน

ตอบ - การพิสูจน์โดยต้องเชื่อก่อนถึงจะรับรู้ได้เป็นสิ่งที่ชักนำไปสู่การหลอกตัวเอง (placebo effect) นอกจากนี้สิ่งที่มีอยู่จริงนั้นต้องสามารถพิสูจน์ให้ผู้ที่ไม่เชื่อนั้นเชื่อได้ ไม่ใช่เชื่อก่อนแล้วถึงค่อยพิสูจน์

4.ถาม - ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาคือคนที่ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

ตอบ - ในขณะที่บางคนต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่บางคนอาจจะไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น นอกเหนือจากศาสนาคนเราอาจจะใช้หลักปรัชญาหรือแนวคิดทางสังคมเป็นหลักในการตัดสินใจก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องศรัทธาในสิ่งนั้นในระดับศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

5.ถาม - ถ้าไม่เชื่อในชีวิตหลังความตาย ตายแล้วสูญ จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ทำไมไม่ฆ่าตัวตายมันจบๆไป

ตอบ - หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า "การไม่เชื่อในชีวิตหลังความตาย" และ "การฆ่าตัวตาย" นี้ไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีโลกหน้าไม่มีจริงน่าที่จะใช้ชีวิตที่ เหลืออยู่ให้คุ้มค่ามากกว่า เนื่องจากไม่เชื่อว่าตายไปแล้วก็จะได้กลับมามีชีวิตอีก

6. ถาม - ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาทำอย่างไรกับงานแต่งงานหรือพิธีศพ

ตอบ - พิธีกรรมเหล่านี้สำหรับผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆแล้วเป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นตามความพอใจส่วนบุคคล ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละคนหรือคู่สมรสตกลงกัน ส่วนพิธีศพของผู้ที่ไม่นับถือศาสนานั้นจะไม่ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษสุดแล้วแต่ผู้ที่ยังอยู่จะดำเนินการหรือดำเนินการตามพินัยกรรมหรือคำสั่งเสียที่ให้ไว้ และส่วนหนึ่งก็บริจาคร่ายกายของตนเองไปแล้วจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดพิธีศพเป็นการเฉพาะ

7.ถาม - : การไม่นับถือศาสนาก็ถือได้ว่าเป็นการนับถือศาสนาชนิดหนึ่ง เพราะมีความเชื่อบางอย่างเหมือนๆกัน

ตอบ - ศาสนา คือ ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์ในระดับปรมัตถธรรมและในระดับศีลธรรม รวมถึงพิธีกรรมที่ทำตามความเชื่อถือนั้นๆ แต่การไม่นับถือศาสนานั้นไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ไม่มีมาตรฐานเรื่องบุญบาป และไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับพิธีการใดๆเลย จึงไม่สามารถนับเป็นศาสนาได้ ฉะนั้น การบอกว่าการไม่นับถือเป็นศาสนาอย่างหนึ่ง ก็เหมือนการบอกว่าการไม่เล่นกีฬาเป็นกีฬานั่นเอง

8.ถาม – ผู้ไม่นับถือศาสนาไม่มีสิทธิวิจารณ์ศาสนาถ้ายังไม่ศึกษาจนรู้จริงและไม่มีสิทธิวิจารณ์ศาสนาถ้ายังไม่ได้เป็นศาสนิกชน

ตอบ - จริงๆแล้วในสังคมมนุษย์ เราสามารถวิจารณ์ผลงานของผู้อื่นได้โดยไม่ต้องมีอาชีพหรือความเชี่ยวชาญเหมือนเขาเหล่านั้นเช่น เราสามารถวิจารณ์อาหารได้โดยไม่ต้องเป็นเชฟ(chef) เราสามารถวิจารณ์การเมืองได้โดยไม่ต้องเป็นนักการเมือง และแน่นอนศาสนาก็เช่นกันเพราะศาสนามีความสัมพันธ์กับจารีตและกฏหมาย โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมไปถึงผู้ที่มิได้นับถือในศาสนานั้น เมื่อได้รับผลกระทบย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิ์วิจารณ์ในสิ่งที่ตนมีส่วนได้เสียนั้น ยิ่งเป็นศาสนาที่ครอบคลุมไปถึงกฏหมายยิ่งต้องถูกวิจารณ์ได้

สุดท้ายพึงระลึกไว้เสมอว่าในเรื่องของศาสนาถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนตามข้อ 18 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะทุกคนย่อมมีเหตุผลของตนเองว่าจะเลือกนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ



หมายเหตุ

1) เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2560
2) อ่านเพิ่มเติมเรื่อง "ไม่มีศาสนา"ได้ที่   http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/518907

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายน้ำจะนำไปสู่ตลาดซื้อขายน้ำ

Posted: 07 Nov 2017 05:54 PM PST


 

หลักการและเหตุผลประกอบ 'ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....' หรือ 'ร่างกฎหมายน้ำ' ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คณะรัฐมนตรีชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เสนอต่อสภานิติบัญญัติ (สนช.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของ สนช. โดยเห็นชอบในหลักการเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 และแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายไปได้เกือบครบทุกมาตราแล้ว มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วมเป็นหลัก โดยอ้างว่าประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในหลายด้าน การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้กระทำโดยหลายหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาขาดความเป็นเอกภาพ จึงต้องการให้มีกฎหมายเดียวและหน่วยงานเดียวเพื่อบูรณาการในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำให้มีเอกภาพ 

หลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่วันเวลาล่วงเลยจนมาถึงรัฐบาลประยุทธ์ก็ยังตั้งอยู่บนฐานคิดเดียวกันในความพยายามกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วมที่เป็นปัญหามาตลอดทุกยุคสมัยที่ไม่สามารถบูรณาการหลายหน่วยงานและหลายกฎหมายให้เกิดเอกภาพได้ มีภาวะต่างคนต่างทำ ไร้ทิศทาง สะเปะสะปะ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากความล้มเหลวของการบริหารจัดการน้ำท่วมจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา 

ร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ก็ตั้งอยู่บนฐานคิดนี้ที่พยายามรวบอำนาจการบริหารจัดการน้ำจากหลายหน่วยงานและหลายกฎหมายเข้ามาอยู่ภายในหน่วยงานเดียวและกฎหมายเดียวเพื่อบูรณาการให้เกิดเอกภาพและทิศทางเดียวกันให้ได้

แต่แค่เริ่มต้นก็ไปไม่ถึงเป้าหมายนั้นเสียแล้ว ก็เพราะว่าในมาตรา 3 ของร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ระบุว่า "การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายใดกำหนดเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟืื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น" นั่นก็เท่ากับว่าร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ได้ยกเว้นให้กรณีของการใช้น้ำบางประการ เช่น การใช้น้ำเพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการใช้น้ำบาดาล เป็นต้น ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ ซึ่งกรณียกเว้นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วมจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ทั้งสิ้น กล่าวคือ ความลังเลใจและสับสนที่สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำของ 2 เขื่อนใหญ่เป็นอย่างน้อย คือ เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ยังไม่นับรวมเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก และประตูระบายน้ำสำคัญอีกหลายแห่ง ที่ต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นด้านหลักโดยต้องบริหารจัดการน้ำร่วมไปกับวัตถุประสงค์อื่นซึ่งเป็นความสำคัญลำดับรองลงมาเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับภาคการผลิตอื่น ๆ ในฤดูแล้งและฤดูฝน จึงทำให้เกิดความผิดพลาดในการพยากรณ์ปริมาณน้ำสะสมของเขื่อน กว่าจะพยากรณ์ คาดการณ์และคิดคำนวณ รวมทั้งใคร่ครวญได้ว่าปริมาณน้ำปี 2554 เป็นปริมาณน้ำมหาศาลที่คาบเกิดซ้ำในรอบไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาเฉลี่ยที่คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์ผิดปกติซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ก็อืดอาด เชื่องช้า สะท้อนภาพของระบบราชการของไทยได้เป็นอย่างดี เหล่านี้เป็นสาเหตุการกักเก็บน้ำจนเกือบล้นความจุในสองเขื่อนใหญ่ดังกล่าว ที่ไม่พยายามทยอยปล่อยระบายออกมาตั้งแต่ช่วงต้นของฤดูฝน

ถ้ารวมความลังเลสับสนที่สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อนดังกล่าว ร่วมกับเขื่อนอื่น ๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยาและป่าสัก และประตูระบายน้ำในระบบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อการตัดสินใจกั้นน้ำไว้เพื่อไม่ให้ไหลเข้าสู่กรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ ประกอบด้วยเมืองและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง จะเห็นภาพของต้นเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วมจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ชัดเจนขึ้น เพราะมันทำให้มวลน้ำมหาศาลถูกโยกไปมาในทุ่งตั้งแต่ใต้เขื่อนชัยนาทลงมา ถ่วงรั้งและฝืนไม่ให้มวลน้ำไหลลงต่ำตามธรรมชาติของมัน จนก่อเกิดเป็นมวลน้ำมหาศาลที่มีปริมาณมากและหนัก โดยเริ่มแรกกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหลผ่านปริมณฑลรอบนอกกรุงเทพฯที่เป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมและเมืองรอบนอก เมื่อต้านทานไม่ไหวก็ยังมีความพยายามกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหลผ่านกรุงเทพฯชั้นนอก และเมื่อต้านทานไม่ไหวอีกคำรบหนึ่งก็ยังมีความพยายามกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหลผ่านกรุงเทพฯชั้นในอีก

จากข้อเท็จจริงดังที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะทำให้ร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้เป็นกฎหมายแม่บทด้านทรัพยากรน้ำนั้นล้มเหลวตั้งแต่ต้น (ล้มเหลวตั้งแต่ยังเป็นร่างกฎหมาย) เหตุเพราะภายใต้ 'กฎหมายน้ำ' (หากร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ถูกประกาศใช้บังคับ) ก็ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับและอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำที่มีวัตถุประสงค์หลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมใช้บังคับซ้ำซ้อนอยู่ร่วมไปกับกฎหมายน้ำ 

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สมควรเพิ่มเติมลงไปเพื่อทำให้เห็นภาพของความล้มเหลวของร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ ในขณะที่ สนช. กำลังพิจารณาร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ที่มีภาวะล้มเหลวตามที่ได้อธิบายไว้ การกระทำอีกด้านหนึ่งของ คสช. ด้วยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 46/2560 เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เพื่อต้องการให้หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานเดียวและกฎหมายเดียวในการบังคับบัญชา หรือ Single command เผชิญเหตุกับปัญหาภาวะน้ำท่วมรุนแรงในปีนี้ แต่กลับให้หน่วยงานนี้อิงอยู่กับพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เป็นหลัก โดยไม่รอให้ร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ประกาศเป็นกฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับเสียก่อน ยิ่งสะท้อนความล้มเหลวของร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ในประเด็นที่ต้องการให้เป็นกฎหมายแม่บทด้านทรัพยากรน้ำให้มากยิ่งขึ้นไปอีก 

ก็ในเมื่อล้มเหลวในประเด็นนี้แล้ว ร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ต้องการอะไร ?

ประเด็นแรก การรวบอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสาธารณะเข้าสู่ศูนย์กลาง ในมาตรา 7 และมาตรา 8 ได้วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะไว้ โดยระบุไว้ชัดว่าทรัพยากรน้ำสาธารณะเป็นของส่วนรวม บุคคลมีสิทธิใช้หรือเก็บกักน้ำได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือในที่ดินของตน โดยไ่ม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งอาจใช้น้ำนั้น แต่กลับเปิดช่องให้สามารถทำลายสาระสำคัญนี้ได้ด้วยการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบให้บัญญัติเป็นอย่างอื่นได้ ในมาตรา 6 จะเห็นความย้อนแย้งได้ชัดเจนขึ้น โดยให้รัฐมีอำนาจพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อควบคุมและจัดการการใช้น้ำในแหล่งทรัพยากรน้ำสาธารณะได้ ในมาตราเดียวกันนี้ดูเผิน ๆ เหมือนจะดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลและบำรุงรักษาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะได้ แต่กลับขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าจะอนุญาตให้ อปท. ควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะหรือไม่ อย่างไร ดังนั้น โดยสภาพหรือโดยอัตโนมัติ นั่นเท่ากับว่าทรัพยากรน้ำสาธารณะถูกรวบอำนาจการบริหารจัดการเข้าสู่ศูนย์กลางเอาไว้ทั้งหมด จะกระจายอำนาจสู่ อปท. และชุมชนท้องถิ่นควบคุมดูแลและบำรุงรักษาได้ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีฯจะออกประกาศอนุญาตให้

ไม่เพียงเท่านี้ การรวบอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสาธารณะเข้าสู่ศูนย์กลางปรากฎชัดขึ้นในหมวด 3 ที่สร้างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมาสามองค์กรเพื่อสร้างอำนาจบังคับบัญชาในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสาธารณะจากมากไปหาน้อย ดังนี้ (1) คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) (2) คณะกรรมการลุ่มน้ำ และ (3) องค์กรผู้ใช้น้ำ โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำจะต้องขึ้นตรงต่อ กนช. ที่โครงสร้างส่วนใหญ่จากทั้งหมด 23 คน ล้วนเป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำระดับปลัดกระทรวง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีเพียงแค่ตัวแทนประชาชนจากองค์กรผู้ใช้น้ำเพียง 2 คน เท่านั้น ลักษณะผูกขาดอำนาจหรือรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากเกินไปของ กนช. ที่ควบคุม ก้าวก่ายและล้วงลูกคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำเสียจนขาดความเป็นอิสระและไม่สะท้อนการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นปรากฎอยู่ในมาตรา 17 เฉพาะประเด็นสำคัญมาก ๆ ได้แก่

(1) ควบคุมแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำจะต้องเสนอมาให้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ

(2) กำหนดกรอบและแนวทางการปฎิบัติงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และกำหนดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำสำหรับกิจการประเภทต่าง ๆ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปพิจารณาในการจัดสรรน้ำ

(3) การเข้าไปล้วงลูก อปท. ให้ตรากฎหมายหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำให้สนองตอบต่อความต้องการของส่วนกลางได้ อาทิเช่น อปท. อาจจะออกกฎระเบียบเพื่อกำหนดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำสำหรับกิจการประเภทต่าง ๆ ให้สนองตอบต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรกก่อนการใช้น้ำเพื่อการยังชีพในภาคครัวเรือนและภาคเกษตรกรรมก็ย่อมได้ เป็นต้น

ประเด็นที่สอง นอกจากการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในประเด็นแรกแล้ว อีกหนึ่งสาระสำคัญของร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้อยู่ที่การจัดสรรน้ำตามมาตรา 39 ที่แบ่งประเภทการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

(1) การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย

(2) การใช้น้ำประเภทที่สอง การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น

(3) การใช้น้ำประเภทที่สาม การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

ปัญหาใหญ่ของการใช้น้ำทั้งสามประเภทนี้ก็คือใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะในแหล่งเดียวกัน และเปิดโอกาสให้การใช้น้ำประเภทที่สองและสามเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำสาธารณะต่าง ๆ ได้อย่างเสรีโดยใช้มาตรการด้านความสามารถในการจ่ายค่าน้ำเป็นตัวกำหนดหรือควบคุม มิหนำซ้ำการใช้น้ำประเภทที่หนึ่งซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและควรถูกจัดไว้เป็นความสำคัญลำดับแรกเพื่อคำนึงถึงการดำรงชีพที่สามารถอยู่รอดได้ของประชาชนทั่วไป กลับต้องฝากชะตากรรมไว้กับรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการลุ่มน้ำและโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้น้ำประเภทที่หนึ่งสำหรับแต่ละลุ่มน้ำได้

การออกกฎกระทรวงดังกล่าวคงจะไม่มีปัญหาอะไรหากเป็นไปเพื่อการจัดสรรน้ำระหว่างผู้ใช้น้ำประเภทที่หนึ่งด้วยกันเอง แม้มาตรา 40 วรรคสองจะระบุไว้ชัดว่าการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้น้ำประเภทที่หนึ่งสำหรับแต่ละลุ่มน้ำนั้นให้คำนึงถึงการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนทั่วไปเป็นสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่กฎหมายนี้เปิดช่องให้การใช้น้ำทั้งสามประเภทสามารถใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะในแหล่งเดียวกันได้ และยังเปิดช่องให้นำทรัพยากรน้ำสาธารณะในแหล่งต่าง ๆ ไปหารายได้ได้

แม้มาตรา 41 เรื่อยไปจนถึงมาตรา 53 ได้กำหนดให้การใช้น้ำประเภทที่สองและสามต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเสียก่อน โดยต้องเสียทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำและ 'ค่าน้ำ' รวมถึงกำหนดเงื่อนไขอ่อนที่ไม่มีบทลงโทษเอาไว้ในมาตรา 43 มาตรา 49 และมาตรา 51 เพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำประเภทที่สองและสามโดยให้คำนึงถึงความสมดุลของน้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมทั้งลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมความสมดุลของลุ่มน้ำ และต้องคำนึงถึงว่าจะเป็นต้นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของทรัพยากรน้ำสาธารณะในลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ อย่างไร ถึงแม้จะนับรวมมาตรา 76 ที่มีบทลงโทษตามมาตรา 89 ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อผู้กระทำการ (ซึ่งอาจจะมีความหมายรวมถึงหรือไม่รวมถึงผู้ใช้น้ำประเภทที่สองและสามก็เป็นได้) ในกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ และถึงแม้จะนับรวมมาตรา 80 และมาตรา 81 ในหมวด 8 ว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะที่ลงโทษผู้กระทำละเมิดให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อรัฐ ไ่ม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ การทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ หรือใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย แต่กรณีเหล่านี้ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ต้องการใช้น้ำในประเภทที่สองและสามแต่อย่างใด ตราบใดที่มีเงินจ่ายค่าน้ำก็สามารถผลักภาระในการพิสูจน์ความเสียหายไปให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้ รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐก็คงจะปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้น้ำที่มีเงินจ่ายค่าน้ำเป็นหลัก

มิพักต้องพูดถึงหมวด 3 ที่แบ่งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นสามลำดับให้มีอำนาจบังคับบัญชาตามลำดับชั้นลดหลั่นลงไปยิ่งกลับเป็นการสร้างโครงสร้างขึ้นมาเพื่อประกันสิทธิให้แก่การใช้น้ำประเภทที่สองและสามมากขึ้้้น ดังจะเห็นได้ชัดในมาตรา 17 (7) และมาตรา 34 (3) ว่า กนช. และคณะกรรมการลุ่มน้ำคือสององค์กรผู้ใช้น้ำที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาปริมาณการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำสำหรับกิจการประเภทต่าง ๆ ในเขตลุ่มน้ำ และควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามที่ได้รับการจัดสรรจาก กนช. มันบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ไม่ได้วางลำดับการจัดสรรน้ำเป็นประเภทที่หนึ่ง สองและสาม ตามลำดับ ซึ่งเป็นการจัดสรรน้ำที่ให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้น้ำประเภทที่หนึ่งซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย ก่อนเป็นลำดับแรก แต่กลับเปิดช่องให้สามารถวางลำดับการจัดสรรน้ำกลับหัวกลับหางโดยให้ความสำคัญแก่การใช้น้ำในประเภทที่สามและสองก่อนการใช้น้ำประเภทที่หนึ่งได้

ตรงนี้เอง จะนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่าน้ำในแหล่งทรัพยากรน้ำสาธารณะแหล่งต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งผู้ใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง สองและสาม จะตอบสนองแก่ผู้ใช้น้ำประเภทใดมากกว่ากัน ?  

ในประเทศชิลี หนึ่งในเป้าหมายหลักของกฎหมายน้ำคือการสร้างตลาดซื้อขายน้ำ ซึ่งทำให้เกิดการถ่ายโอนหรือเปลี่ยนมือสิทธิในน้ำจากสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเข้าถึงได้เป็นสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจแก่เอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้ามาควบคุมแหล่งทรัพยากรน้ำสาธารณะส่วนใหญ่ของประเทศ จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงไปทั่ว ถึงแม้องคาพยพของกฎหมายทั้งหมดในบ้านเมืองเราจะไม่เป็นเหมือนประเทศชิลีที่องคาพยพของกฎหมายทั้งหมดถูกบังคับให้เป็นห้องทดลองของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายลูกทั้งหลายที่บัญญัติในทำนองว่า "น้ำเป็นทรัพยากรที่เอกชนสามารถนำไปใช้หาประโยชน์ได้" จนกระทั่งกฎหมายลูกฉบับต่าง ๆ ที่บัญญัติให้สามารถซื้อขายน้ำกันได้อย่างโจ่งแจ้ง แต่ร่างกฎหมายน้ำฉบับนี้ของบ้านเมืองเรามีกลิ่นอายราง ๆ ของภาวะการนำไปสู่ตลาดซื้อ-ขายน้ำ หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำใช้ในประเภทที่หนึ่งซึ่งเป็นน้ำใช้เพื่อการดำรงชีพของประชาชนส่วนใหญ่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค จะนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงอย่างแน่นอน เพราะรัฐจะมุ่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อตอบสนองสำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่สองและสามซึ่งเป็นผู้ที่มีเงินจ่ายค่าน้ำเป็นหลัก 

ความขัดแย้งนี้จะกระจายตัวกว้างขวางออกไปทั่วทุกภูมิภาคมากกว่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออกที่กรมชลประทานขายทรัพยากรน้ำสาธารณะในอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานหลายแห่งที่ก่อสร้างขึ้นมาด้วยภาษีประชาชนที่เคยมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดหาน้ำแก่ภาคเกษตรกรรมไปให้แก่เอกชนในนามบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสต์ วอเตอร์ เพื่อเอาน้ำไปขายให้กับการใช้ในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหลายแห่งแทน


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น