โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เกษียร เตชะพีระ: สิ่งที่ทำให้เห็นว่าปรัชญาการเมืองยังไม่ตายอาจเป็นความตายของนักปรัชญา

Posted: 03 Nov 2017 12:46 PM PDT

เสวนาเปิดตัวหนังสือ "ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา" เกษียร เตชะพีระ ระบุทุกสังคมมีกรอบโอกาสความเป็นไปได้ทางการคิดที่กำหนดว่าอะไรที่คิดได้ และคิดไม่ได้ ครอบอยู่โดยที่อาจไม่รู้ตัว แต่ปรัชญาการเมือง คือสมรรถนะในการตั้งคำถามลงไปที่รากฐานเหล่านั้นของสังคม ภาพสะท้อนที่ทำให้เห็ว่าปรัชญายังไม่ตาย อาจเป็นความตายของนักปรัชญา

 

 

3 พ.ย. 2560 ที่ห้อง ร 102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา" (Political Philosophy: A very short introduction) โดยมีการเสวนาในหัวข้อ ปรัชญาการเมืองตายแล้ว ร่วมเสวนาโดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยงานเสวนาครั้งนี้ร่วมจัดโดยสำนักพิมพ์ open worlds และศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม

เกษียรเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงคำถามนำของประจักษ์ว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แห่งศตวรรษที่ 21 ปรัชญาการเมืองจะมีน้ำยาหรือไม่ ปรัชญาการเมืองมีคุณค่าและความหมายอย่างไรในโลกสมัยใหม่ และทำไมเราต้องอ่านปรัชญาการเมือง และในยุคสมัยที่ความเชื่อทางการเมืองทั่วโลกเริ่มสั่นคลอน อาจถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาสำรวจปรัชญาการเมืองกันอีกครั้ง

เกษียร กล่าวว่ารู้สึกติดใจกับประโยคประโยคสุดท้าย เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้อ่านบทความชิ้นล่าสุดของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเว็บไซต์มติชน (ยุคสมัยแห่งความหงอยเหงาโดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์) ซึ่งเป็นเรื่องที่เสนอให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับความคิดที่มีพลังทางการเมืองในสมัยอดีต

เกษียร ยกเนื้อหาในบทความของนิธิมาอ่านเสริมมีรายละเอียดว่า

"จะด้วยเหตุใดไม่ขอกล่าวถึง โลกเราเวลานี้เป็นโลกที่ขาดพลังขับเคลื่อน อุดมการณ์ที่เคยขับเคลื่อนผู้คน – ชาตินิยม, ประชาธิปไตย, วิทยาศาสตร์, เสรีนิยม, ทุนนิยม, สังคมนิยม, ท้องถิ่นนิยม, ศาสนา, ลัทธิพิธี (cults), การพัฒนา, เสรีนิยมใหม่ ฯลฯ – หมดพลังขับเคลื่อนอย่างที่เคยมีมาแล้ว ตัวบุคคลที่เคยเป็นพลังขับเคลื่อนนับวันก็ร่อยหรอลง เพราะสิ้นอายุขัย

เหลือแต่คนอย่างทรัมป์, ปูติน, สีจิ้นผิง, อาเบะ, ดอว์ซู, หรือประยุทธ์ จันทร์โอชา

เราทุกคนบนโลกใบนี้ กำลังเคลื่อนเข้าไปมีชีวิตในรัฐที่ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากระบบราชการ ซึ่งไม่มีแม้แต่พลังที่จะทำหน้าที่ของตนเองคือกำกับควบคุม หรือ regulate

นี่คือยุคแห่งความหงอยเหงาที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าประชากรโลกจะหลุดพ้นออกไปได้"

เกษียร กล่าวต่อว่า มีคำอธิบายความหงอยเหงาที่เหมือนจะสอดรับกับข้อคิดของนิธิ และคำถามนำของประจักษ์ โดยผู้ที่เสนอไอเดียดังกล่าวเป็นนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ Alain Badiou ซึ่งเสนอถึงความพยายามของมนุษยชาติที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น เช่น อุดมคติยูโทเปีย โครงการสังคมศาสตร์เพื่อพลิกเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดฝันกันไว้ในศตวรรษที่ 19 อย่างประชาธิปไตย สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ แต่เอามาทำจริงในศตวรรษที่ 20 ซึ่งลงเอยด้วยความเลวร้ายบัดซบ

เกษียร กล่าวต่อไปว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นจากความคิดของ Badiou คือ 1. หลักความวิปริต หมายถึงการกระทำใดที่ตั้งใจปรับปรุงระเบียบการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจบางอย่างในด้านที่ดีขึ้น รังแต่จะทำให้เรื่องที่ต้องการจะแก้ไขเยียวยากลับยิ่งเลวร้ายลง

"สมมติเราคิดว่า 2475 เป็นโครงการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างหนึ่ง ทำไมมันวิปริต ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ่องกัญชา ขึ้นต้นดูเหมือนจะเป็นความฝันอันดีงาม แต่พอเหลาลงไปฉิบหายทุกที หรือพูดในภาษาหลัง 2475 ก็คือ อันนี้เป็นความหมายของคนที่วิจารณ์ 2475 นะครับ คือเปลี่ยนจากกษัตริย์องค์เดียว เป็นระบบกษัตริย์หลายองค์ ก็คือมันวิปริต มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด" เกษียร กล่าว

สาเหตุที่ 2 คือความเหลวเปล่า หมายถึงการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมมีแต่เปล่าประโยชน์ ไม่ทำให้เกิดความก้าวหน้าใด หากคิดแบบไทยๆ ก็คือการเข็นครกขึ้นภูเขา และสาเหตุสุดท้ายคือ เภทภัย หมายถึงต้นทุนต่อการเปลี่ยนแปลง หรือการปฏิรูปที่เสนอนั้นแพงเกิดไป เพราะเป็นภัยต่อความสำเร็จที่ทรงคุณค่าแต่เก่าก่อน ข้อสรุปของ Badiou คือการมองเห็นว่า ศตวรรษที่ 20 ราวกับไม่เคยเกิดขึ้นเลย ทั้งนี้ความพยายามที่จะทำโครงการในศตรวรรษที่ 19 จนถึงตลอดศตวรรษที่ 20 มีผู้คนล้มตายไปจำนวนมาเพื่อสังคมนิยม เพื่อประชาธิปไตย หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือการนำไปสู่ค่ายกักกันแรงงานในรัสเซีย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ เราจะเชื่ออะไรต่อ เกษียรเห็นว่าในช่วงหลังมานี้ มีความพยายามที่จะนำเอา ศาสนาเข้าไปเชื่อมกับอุดมการณ์ชาตินิยม ประชานิยม ลัทธิบูชาตัวบุคคล

"ของพวกนี้ผมรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ถูกเอามาแก้หงอย ในขณะที่อดุมการณ์หลักกำลังพัง ซึ่งในแง่หนึ่งมันเป็นปฏิกิริยาตอบกลับ ต่อความล้มเหลวของอุดมการณ์ที่ต้องการจะเปลี่ยนสังคม" เกษียร กล่าว

 

เกษียร กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นการคิดจากโจทย์ที่ประจักษ์ตั้ง ซึ่งหากจะคิดต่อจากนี้จะต้องใช้เครื่องมือคิดอย่างอื่น นั่นก็คือ ปรัชญาการเมือง แม้สำหรับหลายคนปรัชญาการเมืองอาจจะเป็นปริมณฑลที่ไม่เคยเดินเข้าไปมาก่อน แต่สิ่งที่หนังสือ "ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา" ให้คือ แผนที่ และเข็มทิศ และงานชิ้นดังกล่าวไม่ได้เป็นการพูดถึงปรัชญาลอยๆ แต่มีการเชื่อมกับความรู้ทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมีการยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองของโลก

เขาอธิบายต่อว่า ในสังคม สังคมหนึ่ง จะมีโครงสร้างโอกาสทางการคิด และวัฒนธรรมครอบอยู่ ซึ่งทำหน้าที่บอกว่าอย่าคิดเรื่องนั้น อย่าหมกมุ่นไปทางนั้น เพราะมันไม่พึงประสงค์ มันจะบอกปัด กีดกันความเป็นไปได้ และทางเลือกของการคิด และความเป็นไปได้ของทางเลือกทางวัฒนธรรมออกไปตั้งแต่ต้น ซึ่งทุกสังคมเป็นแบบนี้ และสิ่งที่หล่อเลี้ยงโครงสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางความคิด โอกาสความเป็นไปทางวัฒนธรรมคือ สมมติฐาน ซึ่งปกติแล้วเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันอยู่ลึก และเราทึกทักว่ามันจริงตั้งแต่ต้น โดยที่เราไม่รู้ว่ามันมีอยู่ ฉะนั้นปรัชญาการเมืองคือ สมรรถนะในการถามลงไปตรงฐานรากของสังคม ซึ่งหากมีการถามลงไปกระทบโอกาสทางการคิดของสังคมได้ ก็จะมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งสิ่งนี้คือพลัง และหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของปรัชญา

"ถ้าพูดในความหมายนี้แล้ว อะไรคือความหมายของ สมมติฐาน ที่เราใช้มันอยู่ รองรับมันอยู่ และทำให้เราไม่คิดบางอย่าง เพราะเรารู้สึกว่าอย่างไปคิดมันเลยดีกว่า เพราะว่ามันผิด หรือเราไม่ทำบางอย่างเพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ วัฒนธรรม และสถาบันทั้งหลาย ดังนั้นในความหมายนี้ปรัชญาการเมืองคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมและสถาบัน ทันทีที่คุณกระตุกใช้ปรัชญาการเมือง มันถามซักลงไปตรงวัฒนธรรม ทันที่ที่คุณกระตุกมันถามซักลงไปที่สถาบัน" เกษียร กล่าว

เขาอธิบายต่อไปว่า ปรัชญาการเมืองคือการฝึกคิดที่ฝืนวัฒนธรรม และสถาบัน เป็นการฝึกคิดในสิ่งที่ปกติแล้วเราจะไม่คิด และหากมีการฝึกคิดนั้นเท่ากับว่าเป็นการเดินสวนกระแสวัฒนธรรม และสถาบัน จนที่สุดจะก้าวไปสู่จุดที่เราคิดเองเป็น เลิกเชื่อเป็น จะมองเห็นความเป็นได้และทางเลือก และความเป็นไปได้ทางการคิด และความเป็นได้ทางวัฒนธรรมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เขายกตัวอย่างถึง การปะทะกันระหว่างปรัชญากับวัฒนธรรม คือกรณีของ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล วิจารณ์ผู้สื่อข่าว BBC ว่าไร้จริยธรรมจากกรณีสัมภาษณ์ หม่อมราชวงศ์ นริศรา ว่าไม่รู้ขนบทำธรรมเนียมประเพณีของประเทศไทย และเห็นว่าควรทำความเข้าใจกับประเพณีไทยเสียก่อนที่จะมาทำข่าวในประเทศไทย และขอให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านตนเองเสียก่อน ขณะที่โจนาธาน เฮด ได้ตอบกลับว่าสิ่งที่เขาได้ถามนั้น เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติซึ่งไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมไทยต้องการจะรู้ ซึ่งผู้คนข้างนอกจะต้องอยากถามอยู่แล้วว่า ความรักนี้เป็นสิ่งแท้จริงหรือไม่

"ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญข้างจากตัวคำถามคือ เขาถามแทนคนไม่ไทย เขาถามแทนคนที่ไม่ได้อยู่วัฒนธรรม และสถาบันของสังคมนี้ พูดอีกอย่างคือ การถามคำถามเชิงปรัชญาการเมืองคือ การมีสายตาของคนนอกหรือการมีสายตาของเด็กที่ไร้เดียงสา  เพราะถ้าคุณเดียงสา คุณเสร็จความเป็นไทยแล้ว คุณจะไม่สงสัยอีกต่อไป"เกษียร กล่าว

อีกเรื่องที่เขายกตัวอย่างคือ การตั้งคำถามในเชิงปรัชญาการเมือง กับรัฐธรรมนูญปี 2550 ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐในบทความของประชาไท (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่หลายคนไม่เคยถามมาก่อน เช่นเรื่อง ทำไมจึงไม่เขียนว่าประชาธิปไตยได้มาจากการต่อสู้ของประชาชน ทำไมไม่เขียนว่าประเทศไทยเป็นองค์ประกอบของกลุ่มชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา แต่มารวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้รัฐไทย ทำไมไม่เขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยประชาชนใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  

เกษียร อธิบายต่อไปว่า ปรัชญาเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับวัฒนธรรม และสถาบัน เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ปฏิบัติจนคุ้นชินโดยไม่ทันคิดไม่ทันถามด้วยซ้ำไป แต่ทำโดยอัตโนมัติเหมือนถูกกดปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็น แล้วเราก็โต้กลับ ขณะที่สถาบันคือแบบแผนการประพฤติปฏิบัติ ที่ทำซ้ำมาอย่างตั้งมั่น ยืนนานลงร่องลงตัว สถาปนาเป็นแบบธรรมเนียมเป็นที่ยอมรับนับถือและได้รับการปกป้องจากระเบียบอำนาจ ดังนั้นปรัชญาจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมและสถาบัน เพราะมันรื้อคิดตั้งคำถามลงไปตรงฐานรากที่รองรับวัฒนธรรมและสถาบันทั้งหลาย ว่าจริงไหม?  ทำไม?  เพื่ออะไร? เป็นอย่างอื่นได้ไหม?  

"ดังนั้นการตั้งคำถามพวกนี้มันก่อปัญหา เพราะมันเหมือนกับโดนกดปุ่มที่คุณปู่คุณทวดปลูกฝังติดตั้งไว้กลางหลังเรา ดังนั้นคุณลูกคุณหลานย่อมยัวะ หรือบันดาลโทสะโดยอัตโนมัติทันที การทำงานของปรัชญาจึงเสี่ยงอันตรายต่อความยัวะ ความเข้าใจผิด แต่ถ้าปรัชญาไม่ทำงาน ปรัชญาเงียบเสียง หรือตายแล้ว สังคมก็จะถูกคุมขัง หรือแช่แข็งไว้กับฐานคิดที่เป็นอยู่ชั่วกาลปาวสาน มิใยว่าฐานคิดนั้นจะไม่สมเหตุสมผล ฝืนขัดทวนกระแสความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปของโลก ผิดยุคผิดสมัย หรือใช้การไม่ได้เลยก็ตาม เราคิดไม่ออก ทั้งๆ ที่โลกมันเปลี่ยนแล้ว เราคิดไม่ออกถึงความเป็นไปได้และทางเลือกอื่นเพราะเราอยู่ในกรอบโครงสร้างโอกาสการคิดและวัฒนธรรม" เกษียร กล่าว

"ตราบใดที่สังคมหนึ่งๆ ยังถามฐานคิดทางการเมืองของตัวเองเป็น คิดเองเป็น เลิกเชื่อเป็น ปรัชญาการเมืองก็ยังไม่ตาย และสังคมนั้นก็ยังหวังได้ว่าจะค้นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ ทางการเมือง แต่ที่น่าเศร้าและหดหู่ หรือสัญญาณหมายที่บอกให้เรารู้แน่ว่าปรัชญาการเมืองยังไม่ตาย ปรัชญาการเมืองยังทำงานอยู่อย่างขะมักเขม้นขันแข็งก็คือ การเสี่ยงภัยที่จะถูกโกรธเกลียด ขับไล่ให้ออกไปจากที่นี่ซะ และพิพากษาลงโทษให้ถึงตาย" เกษียร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้อง ปธ.ศาลฎีกา ใช้มาตรการอื่นแทนขัง 'สุภาพ คำแหล้' หญิงสูงอายุ คดีบุกรุกป่าฯ

Posted: 03 Nov 2017 08:58 AM PDT

46 องค์กรเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ร้องใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังเนื่องจากเป็นหญิงสูงอายุผู้กระทำผิด ยกกรณี 'สุภาพ คำแหล้' คดีบุกรุกป่าฯ หวังเป็นแนวนโยบาย ย้ำหลายคนทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพังของผู้กระทำนั้น แต่มีองค์ประกอบทางสังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ 

สุภาพ คำแหล้
 
3 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสายของวันนี้ที่สำนักงานประธานศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 46 องค์กร ยื่นหนังสือถึง ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังเนื่องจากเป็นหญิงสูงอายุผู้กระทำผิด จากกรณีศาลฎีกาพิพากษา จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา สุภาพ คำแหล้ หญิงสูงอายุวัย 67 ปี   เมื่อวันที่ 27  ก.ค.ที่ผ่านมา คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม  เมื่อวันที่  1 ก.ค. 2554  ร่วมกับ เด่น คำแหล้ สามีของสุภาพ ซึ่ง เด่น ผู้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน ที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2559 
 
คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า อรนุช ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงปกป้องที่ดินทำกิน และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เปิดเผยว่า สุภาพเป็นราษฎรที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและถูกศาลพิพากษาจำคุก ซึ่งมีอายุมากแล้ว แต่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยกรณีหญิงในที่คุมขัง ให้พิจารณามาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังและแก้ไขสาเหตุรากเหง้าของการกระทำผิดกฎหมายของผู้หญิง และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง จึงมายื่นหนังสือเพื่อให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาบทลงโทษทางเลือกแทนการจำคุก มีความจำเป็นที่น่าจะพิจารณาทบทวนการลงโทษผู้สูงอายุที่มิใช่คดีอุกฉกรรจ์ คดีที่ สุภาพ ได้รับเป็นคดีเชิงนโยบายและเป็นคดีที่ถูกละเมิดสิทธิ อาจจะใช้บทลงโทษทางเลือกอื่นๆ เช่น การทำงานสาธารณะในชุมชนหรือบำเพ็ญประโยชน์ เพราะสำหรับผู้สูงอายุ เรื่องสุขภาพและจิตใจมีผลพอสมควร
 
อรนุช กล่าวถึงความเป็นมาของคดีนี้ว่า กรณีพิพาทเกิดตั้งแต่ปี 2554 ที่ชุมชนโคกยาว นายเด่นและนางสุภาพได้ตกเป็นจำเลย ชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน และมีกระบวนการแก้ไขปัญหามาหลายรัฐบาล ซึ่งหลังจากที่ถูกจับดำเนินคดี นายเด่นและนางสุภาพได้ต่อสู้คดี จนศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้น  แต่สภาพความเป็นจริงนายเด่นถูกทำให้หายไปและเสียชีวิต สุภาพถูกจับกุมคุมขังและไม่มีบุตร สิ่งที่เป็นภาระคือไม่มีผู้ดูแลบ้าน ไม่มีใครช่วยเหลือนอกจากคนในชุมชน เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากนางสุภาพอยู่มาก่อน ส่วนกรณีนายเด่นนั้น ผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอออกมาแล้วว่าวัตถุพยานที่พบคือนายเด่นเสียชีวิตแล้ว แต่สถานะยังเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี เป็นความไม่เป็นธรรม 
 
ความคืบหน้าคดีของ เด่นที่ถูกอุ้มหาย อรนุช เปิดเผยว่า ยังไม่มีความคืบหน้า ตำรวจพยายามสรุปไปว่าถูกสัตว์ป่าทำร้าย ทางเครือข่ายฯ ก็มองว่าไม่ใช่แน่นอน เพราะวัตถุพยานและข้อสังเกตพบว่ามีข้อสงสัยมากมาย เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องติดตาม เราได้ประสานกับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ก็บอกว่าต้องมีการสืบค้นสืบสวนหาวัตถุพยานเพิ่มขึ้นอีก เพราะเราพบชิ้นส่วนของกะโหลกอย่างเดียว แต่ชิ้นส่วนอื่นยังไม่เจอ จึงเป็นไปไม่ได้ที่บอกว่าสัตว์ป่าทำร้าย
 
ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม ปานจิตต์ แก้วสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ กล่าวถึงการยื่นข้อเรียกร้องในวันนี้ ศาลฎีกามีผู้แทนฝ่ายกฎหมายและระเบียบมารับข้อเรียกร้อง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะว่า ศาลจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาและทำความเข้าใจกรณีอื่นๆ เพราะว่าบางครั้งศาลไม่มีข้อมูลทั้งหมดในการพิจารณา โดยตัวแทนจะนำข้อเรียกร้องนี้ไปส่งต่อยังประธานศาลฎีกา พร้อมทั้งมีคณะที่จะพิจารณาเนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะถูกบันทึกลงไปในคดีนี้ด้วย จะเป็นข้อมูลการทำงานของศาลต่อไป 
 
เนื่องจากคดี สุภาพ ถึงที่สุดแล้ว ปานจิตต์ กล่าวว่า เรื่องการปรับลดโทษ ทางผู้รับเรื่อง แจ้งว่า อาจไม่สามารถก้าวล้ำในการพิพากษาไปได้แล้ว แต่ให้ทางเรายื่นทางกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาเป็นแนวนโยบายการขอลดโทษหรือหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การคุมขัง พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในช่วงระหว่างดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นต้นถึงฎีกา ทนายความสามารถที่จะยื่นเรื่องขอบรรเทาโทษไปได้ตลอดด้วย 
 
ปานจิตต์ อธิบายถึงข้อเรียกร้องลงโทษอื่นนอกจากคุมขังว่า การกระทำความผิดไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพังของผู้กระทำนั้น แต่มีองค์ประกอบทางสังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ มันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ข้อกำหนดกรุงเทพเช่นกัน โดยใช้ทางเลือกโดยการดูแลโดยชุมชน มีพื้นที่ที่จะให้ผู้หญิงไม่ถูกคุมขังในเรือนจำ รวมทั้งการคุมประพฤติ เป็นต้น
 
ปานจิตต์ กล่าวย้ำด้วยว่า ไม่ได้เรียกร้องเฉพาะ สุภาพ แต่จะรณรงค์ต่อเนื่องโดยหวังให้เป็นแนวนโยบายของกระบวนการยุติธรรมในอนาคต ทั้งหญิงและชาย โดยหวังว่าศาลจะนำการลงโทษอื่นมาพิจารณาได้หากเข้าเงื่อนไขความผิดจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือความไม่เป็นธรรม ตามหลักการสิทธิมนุษยชน 
 

หนังสือถึงประธานศาลฎีกา : 

 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวเมือง กิน คน: คุณค่าผังเมือง แนวคิดผู้บริหาร ภาวะลูกเมียน้อยของท้องถิ่น

Posted: 03 Nov 2017 04:03 AM PDT

เข้าใจผังเมืองในฐานะรัฐธรรมนูญของท้องถิ่นและการเมืองของเมืองเมื่อคนกินกันเพื่อมีชีวิตที่ดี "กรุงเทพฯ เป็นการปกครองที่ล้าหลังที่สุดในประเทศไทย" กับทัศนคติผู้บริหาร โครงสร้างอำนาจที่ไม่ให้ค่าการมีส่วนร่วม สะท้อนภาวะลูกเมียน้อยของการปกครองท้องถิ่นและผังเมืองผ่านเรื่องผู้ว่าฯ แต่งตั้ง และกำแพงเมืองเชียงใหม่

จากซ้ายไปขวา: วสันต์ เหลืองประภัสร์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นิรมล กุลศรีสมบัติ ธเนศวร์ เจริญเมือง ส่วนทวิดา กมลเวชชได้รับการนำเสนอผ่านวิดีโอ

เมื่อ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา มีงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "เมือง กิน คน แถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องนคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมืองและสุขภาวะของไทย" เขียนโดย  ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ศ.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ทวิดา กมลเวชช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบและพัฒนาเมือง (UDDC) ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานจัดขึ้นที่ห้อง 103 อาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เข้าใจผังเมืองในฐานะรัฐธรรมนูญของท้องถิ่นและการเมืองของเมืองเมื่อคนกินกันเพื่อมีชีวิตที่ดี

พิชญ์กล่าวว่า ผู้คนพบหลักสูตรที่ผมเรียนมาเคยอธิบายคำๆ หนึ่งที่ผมหยิบมาใช้ เขาพูดว่าผังเมืองคือรัฐธรรมนูญของท้องถิ่น ผังเมืองคือกระบวนการจัดสรรอำนาจในท้องถิ่น ไม่ใช่ผังสี โซนนิ่งเป็นเพียงผลสะท้อนการต่อรองทางอำนาจของคนในท้องถิ่น ไม่ใช่มีเทวดามาสร้างให้คุณ แต่มันคือผลของการคุยกัน ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ทั้งการเมืองชาติและท้องถิ่นมันแก้ไม่ได้หรอก ถ้าอยากอธิบายให้คนไทยฟังเข้าใจว่าผังเมืองคืออะไร ผมอธิบายให้มันง่าย ผังเมืองคือหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เป็นจิตวิญญาณของเมืองที่จะหลอมรวมใจรวมกัน ไม่ใช่กระดาษ มันคือสิ่งที่จะปกป้องคุณจากภัยอันตราย เป็นสิ่งหลับตาดูแล้วรู้ว่ามันมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ในเมือง ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะแก้ไขเมื่อไหร่ก็ได้เพราะคุณมีอำนาจหรือมีเงิน ถ้าไปยกเลิกผังเมืองง่ายๆ มันเจ็บปวดเพราะมันทำลายวิญญาณของชุมชน มันทำลายชีวิตคุณ ผังเมืองไม่ใช่แค่เรื่องทางเทคนิคหรือแฟชั่นที่มาตามเวลา เช่นวันนี้พูดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) วันต่อไปพูดเรื่องการคืนกลับ (Resilience) แต่ในแต่ละยุคผังเมืองมันคือจุดหลอมรวมจิตวิญญาณ ถ้าไม่มีจุดนี้ยึดมั่น คุณจะร่างรัฐธรรมนูญทำไม

ผมว่าการเมืองของเมือง (urban politics)มันขนานไปกับเรื่องการศึกษาท้องถิ่น แต่เวลาเราพูดเรื่องท้องถิ่นเราจะไปโฟกัสที่กรอบกฎหมาย หน้าที่ ระบบราชการ ผมชวนคิดเรื่องเมืองเพราะมันเป็นอีกมุมหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องความเหมือนแบบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่นต้องศึกษาทั้งโครงสร้างอำนาจ การบริหารและธรรมชาติของพื้นที่ที่ต่างกันไป การเมืองของเมืองในโลกนี้คุยกันเรื่องการใช้อำนาจในเมือง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเชิงโครงสร้าง อำนาจเชิงอคติในชนชั้น สีผิว เพศ ไม่ใช่แค่เทคนิคการบริหารเมือง แต่เรียนเพื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ ให้มองว่าถ้าทำอะไรในจุดหนึ่งแล้วมันจะไปสะเทือนกับชีวิตคนอื่นมากแค่ไหน

ผมอยากจะขยับไปอธิบายว่า ถ้าเราจะพัฒนาประชาธิปไตย เราจะต้องขยายความจากการปกครองของเสียงข้างมากไปสู่สิ่งที่สำคัญคือการตัดสินใจร่วมกัน (Collective decision making) ไม่ใช่การปกครองโดยคนบ้าคลั่ง สิ่งที่ประชาธิปไตยมีเหนือกว่าปกครองทุกแบบคือความเป็นกลุ่มก้อน ถ้าคุณเชื่อว่าเรารวมกันแล้วเราแก้ปัญหาได้คุณก็ต้องไปสู่ประชาธิปไตย เพราะไม่ว่าจะเป็นราชานักปราชญ์ จอมอหังการ์หรือการปกครองแบบชนชั้นสูง ไม่ใช่การตัดสินใจร่วมกันในระดับใหญ่ ศิลปะในการทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันก็คือประชาธิปไตย ถ้าคุณศรัทธาในการตัดสินใจแบบรวมหมู่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยมีส่วนร่วมแบบผู้ใหญ่ลีเรียกชาวบ้านมาพบ สิ่งที่เห็นในการเมืองระดับเมืองคือการตัดสินใจแบบรวมหมู่ ไม่ใช่การปกครองเสียงข้างมาก แล้วการตัดสินใจรวมหมู่มันจะไปตอบโจทย์รากฐานของประชาธิปไตยคือสิ่งที่เรียกว่าการปกครองตนเอง สิ่งที่ท้าทายคือเราจะปกครองตนเองอย่างไร ถ้าคุณต้องการปกครองตนเอง เชื่อว่ามากหัวดีกว่าหัวเดียวคุณก็ต้องเดินไปกับประชาธิปไตยแล้วสร้างสถาบันอะไรให้ประชาธิปไตยมันทำงานได้ บิ๊กดาตาของคุณมีไว้ให้กูเกิลเอาข้อมูลของคุณไปขาย หรือมีไว้ให้คุณสามารถตัดสินใจแบบรวมหมู่ได้ มันต้องมีตัวเราเข้าไปอยู่ในนั้น แล้วฐานของประชาธิปไตยต้องคือการปกครองตนเอง เหมือนกับตอนเป็นเด็กที่เราบอกพ่อแม่เราว่าผมโตแล้ว ผมจะปกครองตัวเอง เราเรียนการปกครองท้องถิ่นเราไม่เน้นคำว่าการปกครองท้องถิ่นด้วยตัวเองเลย ดังนั้นการเถียงเรื่องกระจายอำนาจมันเถียงกันไม่จบหรอก เพราะมันคือการย้ายอำนาจไปมา อำนาจในการปกครองมันต้องผลิตอำนาจเอง ข้อมูลใหม่ๆ มันทำให้เราผลิตอำนาจเองได้ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เมือง กิน คนเริ่มจากเรื่องสุขภาวะเมือง เวลาพูดถึงเมืองที่มีสุขภาวะแล้วคุณพูดถึงใคร ผมพยายามอธิบายว่า เมือง กิน คนเป็นชื่อที่เรียงกันสามคำ คือคำว่า เมือง กิน คน สิ่งสำคัญเวลาเรียนรู้เรื่องเมืองคือการกินชีวิตกันในเมือง คำนี้พีฒนาจากทฤษฎีฝ่ายซ้ายว่าด้วยวิภาษวิธี (dialectic) มนุษย์สัมพันธ์กับคนอื่นและมีชีวิตที่ดีได้ด้วยการกินชีวิตคนอื่น แล้วการกินในพื้นที่หนึ่งๆ มันมีรูปแบบอย่างไร เรานั่งในห้องแอร์เย็นๆ แล้วเราเห็นใจคนที่ร้อนไหม เราอยากได้เมืองที่สวยแล้วเราต้องขับไล่คนจำนวนหนึ่งออกจากเมืองไหม ทำอย่างไรเราจะออกแบบเมืองที่เราอยู่ด้วยกันได้

"กรุงเทพฯ เป็นการปกครองที่ล้าหลังที่สุดในประเทศไทย" กับทัศนคติผู้บริหาร โครงสร้างอำนาจที่ไม่ให้ค่าการมีส่วนร่วม

พิชญ์กล่าวว่า ปัญหาของ กทม. มีสองข้อ หนึ่ง การทำงานเต็มที่ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ เขามีปัญหากับการสื่อสารกับประชาชนว่าทำอะไรบ้าง ปัญหาที่สองคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำได้เท่านั้น โครงสร้าง กทม. คือการปกครองท้องถิ่นที่ล้าหลังที่สุดในประเทศไทยจากแต่เดิมเคยเป็นที่ๆ ก้าวหน้าที่สุด แต่ตอนนี้ก้าวหน้าอันเดียวคือมีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่ล้าหลังคือเขตทั้ง 50 เขตไม่มีภาระความรับผิดชอบกับประชาชนเลย ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ กทม. คือเขต ถ้าไม่รื้อระบบเขตก็ไม่สามารถพัฒนา กทม. และประชาธิปไตยของประเทศได้ ผมยกตัวอย่างเรื่องน้ำท่วม บ้านผมน้ำท่วมผมยังไม่รู้เลยว่า ผอ. เขตบางนาเป็นใคร ประเด็นคือ ข้ามจากลาซาลไปแบริ่ง น้ำท่วมเท่ากันแต่ผมเห็นรถเทศบาลออกไปประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบว่าน้ำท่วมครับ ขอโทษนะครับ จะรีบทำให้น้ำลงภายในกี่วันๆ ออกมาให้ด่าจริงๆ เพราะรู้ว่าทำอะไรไม่ได้ ผมยังไม่เคยรู้เลยว่าตัวแทนสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) บ้านผมเป็นใคร และ ส.ข. ไม่มีอำนาจอะไรเลย เขตไม่มีความรับผิดกับประชาชนเลย ถ้าเทียบกับเทศบาลที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า

นิรมลเล่าถึงโครงการยานนาวา ริเวอร์ฟรอนท์ ที่มีวัตถุประสงค์ให้พื้นที่ริมน้ำตั้งแต่สะพานกรุงธนบุรีถึงกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สาธารณะ เราเจอพื้นที่หนึ่งคือยานนาวา แถวๆ รถไฟฟ้า BTS ตากสิน ความยาวประมาณ 1 กม. เป็นจุดๆ เดียวที่รถ รางและเรือมาต่อกัน มีโรงเรียน โรงแรม และชุมชนแออัดที่สุดแห่งหนึ่งของ กทม. เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ที่เจ้าของจำนวนร้อยละ 85 เป็นศาสนสถาน หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่เป็นพื้นที่กลางเมืองและเป็นพื้นที่ริมน้ำแต่ก็ไม่มีพื้นที่ทางกายภาพให้คนมาคุยกัน จึงเริ่มมีเวิร์คชอปเมื่อปี 2556 มีการหยั่งเสียงแล้วพบว่ามติส่วนมากเห็นด้วยที่จะพัฒนาพื้นที่ จึงค่อยๆ มีการประชุมเจ้าของที่ดิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายก็มีการตั้งทีมงานพัฒนาพื้นที่ริมน้ำตามที่ทุกคนตกลงกันได้อย่างฉันทามติจากเจ้าของที่ดินและคนที่เกี่ยวข้องในปี 2558 เส้นทาง 1 กม. มีการออกแบบตามความสอดคล้องกับเจ้าของที่ดินแต่ละราย

แต่หลังจากที่เราบรรลุข้อตกลงกับเจ้าของที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการก็หยุดชะงัก เพราะ กทม. ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลที่มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ 14 กม. ทาง กทม. เลยให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าวมากกว่า ทำให้โครงการของเราเป็นดาวค้างฟ้า แม้จะเดินหน้าจนถึงขั้นได้ฉันทามติแล้ว โครงการยานนาวาตอนนี้ก็ยังหยุดนิ่งอยู่ กทม. ให้น้ำหนักกับโครงการของรัฐบาลมากกว่า เลยย้อนกลับมาที่ประเด็นที่พิชญ์และธเนศพูดไว้ คือ เวลาคนมองว่า กทม. สภาพแย่ ไม่น่าอยู่ ไม่ใช่ว่าเพราะประชากรไม่ตื่นตัว แม้เราจะมีพื้นที่ให้คนออกมาต่อรอง มีส่วนร่วมแล้วแต่โครงสร้างอำนาจไม่เอื้อ ผลมันจึงไม่เกิด

นิรมลยังได้กล่าวว่าตนเรียนการออกแบบพื้นที่ทางกายภาพเป็นหลัก ยิ่งทำงานที่่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDC) ยิ่งเห็นบริบทประเทศของเราก็ยังไม่เห็นมรดกในการบริหารจัดการเมืองที่ดี ถ้าเราไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้ โอกาสการสร้างกายภาพเมืองที่ฝันกันมันยากมาก เวลาเราทำผังแต่ละผัง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เราจะถามเสมอว่าเราทำไปให้ใคร เรื่องที่พิชญ์บอกเรื่องโครงสร้างอำนาจก็พยายามเข้าใจว่าในพื้นที่นี้ใครมีและไม่มีอำนาจ แล้วเราจะทำให้คนไม่มีอำนาจมีพื้นที่ในการต่อรองได้อย่างไร

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสมีขนาดเมืองเล็กกว่ากรุงเทพฯ 15 เท่า แต่แบ่งย่อยเป็นเขตการปกครองเยอะมาก มีการเลือกตั้งสองระดับทั้งนายกเทศมนตรีปารีสและระดับเขต กรุงโตเกียวเองในปี 80 ก็เห็นว่ามหานครโตเกียวใหญ่เกินกว่าที่ผู้ว่าคนเดียวจะปกครองหมด จึงมีการซอยย่อยเป็นเขตพิเศษ แต่ของกรุงเทพฯ เขตทั้ง 50 เขตเป็นเหมือนส่วนท้องถิ่นที่รอคำสั่งจากผู้ว่าฯ กทม. เพียงคนเดียว หน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นของปารีสก็ครบเครื่องตามมาตรฐาน คือมีหน้าที่พัฒนาเมือง สร้างสรรค์คุณภาพแวดล้อมเมืองและพัฒนาพื้นที่สาธารณะ นอกจากนั้นอาจมีอะไรที่เป็นเชิงรูก เช่น พัฒนา ฟื้นฟูพื้นที่ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ ช่วงหนึ่งปารีสทำการสำรวจพบว่าด้านตะวันตกมี การเคหะเพื่อสังคม (social housing) ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เพราะเป็นพื้นที่คนรวย ทางเมืองปารีสจึงมีนโยบายที่จะไปแทรกแซงเขต 16 ในปารีส ปรากฏว่าคนประท้วงกันจนเป็นข่าวใหญ่โตเพราะคนรวยไม่อยากให้คนจนมาอยู่ในเขตของตน นายกเทศมนตรีเขต 16 ให้สัมภาษณ์ว่าเขตจะฟ้องเมืองกลับโทษฐานจัดนโยบายขัดกับคนในพื้นที่ วิธีคิดแบบนี้มันไม่มีในสมการของคนในกรุงเทพหรือแม้แต่เมืองไหนก็ตาม

สะท้อนภาวะลูกเมียน้อยของการปกครองท้องถิ่นและผังเมืองผ่านเรื่องผู้ว่าฯ แต่งตั้ง และกำแพงเมืองเชียงใหม่

ธเนศวร์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดในเล่มนี้คือเมืองเป็นที่อยู่ของคน ทุกเรื่องของเราเกี่ยวพันกันไปหมด เช่นประโยชน์ของหนึ่งที่ก็ไปกระทบกระเทือนคนอื่นด้วย ปัญหาน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นผลของความใช้ไม่ได้ของระบบผังเมือง เราต้องการพื้นที่เรียบๆ เราก็ถม เรากลัวน้ำจะท่วมเราก็ถมให้สูงขึ้นไปอีก ที่บ้านผมที่เชียงใหม่ การขยายบ้านและเขตราชการรอบดอยสุเทพทำให้ร่องน้ำและลำห้วยกว่า 70 กว่าลำห้วยถูกปิดด้วยเหตุผลนานัปการ พอฝนตกลงมาเยอะๆ มันก็ไหลสู่ที่ต่ำที่สุดก็เลยกลายเป็นคลองระบายน้ำขนาดใหญ่บนถนนสุเทพและหลายๆ จุด

ทำไมสิ่งที่พิชญ์พูดในหนังสือว่าเมืองมันเหมือนจะไม่มีกิจกรรมเรื่องกินเรื่องอยู่ เหมือนจะเอาของชนบทมากินตลอด ก็ศูนย์อำนาจที่เกิดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ล้วนเกิดมาจากเมืองทั้งนั้น มนุษย์เริ่มต้นรวมตัวกันก่อน สร้างบ้านเมือง สร้างกำแพง ชาวนากระจอกๆ ให้ออกไปอยู่ข้างนอก เราไม่ได้ความสำคัญ ที่ผ่านมาความเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจมากมันกระจุกที่เมือง ที่ผ่านมาเราสังเกตจะพบว่า ที่ผ่านมา ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา เราศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เมืองไหม เรามีวิชาประวัติศาสตร์ไทย แต่เรามีวิชาประวัติศาสตร์ปักษ์ใต้ สงขลา ขอนแก่น อีสานไหม ถ้ามีก็น่าจะช่วยให้คนเข้าใจท้องถิ่นได้มากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของผังเมือง เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ผมก็เสนอว่า การปกครองท้องถิ่นหรือการปกครองเมือง การบริหารจัดการท้องถิ่นคือมรดกที่สำคัญของโลก นี่คือสิ่งที่เราต้องเสนอขึ้นมาว่า เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันแล้วสร้างระบบบริหารที่ดี มันจึงเป็นระบบที่สำคัญ ผังเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญแต่เราให้ความสำคัญน้อย ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ควรเป็นที่ๆ สงบและดีที่สุดในเมืองกลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมราคาถูกที่สุด คำถามคือทำอย่างไรกับกระบวนการผังเมืองจนทำให้พื้นที่ที่ดีที่สุดของเมืองเป็นพื้นที่โรงแรมราคาถูกที่สุด

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังกล่าวว่า การที่เราไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นใครที่ไหนในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่มีปัจจัยมากระแทกสังคมไทยให้เราตระหนักว่าอะไรคือปัญหา พอตะวันตกเข้ามาพัฒนาในแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ เราก็กลายเป็นเมืองที่โตขึ้น แต่รัฐที่กลัวสูญเสียที่ดินและรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป เมื่อคอมมิวนิสต์บุกก็หวาดกลัวคอมมิวนิสต์อีก รวบอำนาจสู่ส่วนกลาง เขม็งเกลียวมากขึ้นด้วยการเอาอำนาจส่วนภูมิภาคมาครอบส่วนท้องถิ่นเอาไว้อีกที การทับซ้อนของอำนาจระหว่างภูมิภาคกับท้องถิ่นก็แบ่งกันอย่างที่เห็นในเวลานี้ ก็แบ่งแยกกันไป แย่งชิงกันมา ระบบการศึกษาไม่ให้ความรู้เรื่องท้องถิ่น แต่ถ้าไม่ให้อำนาจเขาลงมาดูแลจริงๆ ยังให้คนที่อื่นมาเป็นผู้ว่าฯ ไม่นานเท่าไหร่แล้วก็ย้าย ในเมื่อคนอื่นมาทำให้เราหมดแล้วเราก็อยู่ๆ ของเราไป

อีกเรื่องคือ ยังไม่เคยเห็นบทบาทของกลุ่มธุรกิจมาพูดเรื่องสิทธิการปกครองตนเองของท้องถิ่นอย่างจริงจัง ความคิดอันนี้ก็คงเปลี่ยนไปเยอะ มีคนจำนวนมากขึ้นที่อยากมีส่วนตรงนี้ สมัยที่รณรงค์เรื่องขอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่เชียงใหม่เมื่อสิบปีกว่าปีก่อนก็โดนตัวแทนกระทรวงมหาดไทยบอกว่าไม่ได้ เพราะเชียงใหม่ติดกับพม่า กลัวว่าจะมีคนหาเสียงแล้วชูนโยบายแยกตัวไปอยู่กับพม่า เราก็ถอยให้สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานีเริ่มก่อน แต่จนบัดนี้ก็ไม่มี

เมื่อมีผู้ว่าฯ กทม. แบบเลือกตั้งเมื่อปี 2522 ก็ไม่มีการเรียกร้องให้มี แต่คิดว่าเป็นเพราะไปดูงานจากต่างประเทศแล้วพบว่ามีผู้ว่าฯ ที่เข้มแข็ง มาจากการเลือกตั้ง แต่ในต่างจังหวัดที่อยากได้ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งกลับไม่ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โอริสะ ฮิราตะ: จาก Tokyo สู่ Bangkok Notes “หน้าที่เราไม่ได้ทำละครออกมาเพื่อสั่งสอนคนดู”

Posted: 03 Nov 2017 03:40 AM PDT

1.

"คนในภาพวาดของเฟอร์เมียร์ ทุกคนหันหน้าเข้าหาหน้าต่าง แสงที่สาดจากหน้าต่างทำให้เรามองเห็นสิ่งในห้องเท่าที่แสงส่องถึงเท่านั้น บางทีมันก็เหมือนกับชีวิตเรานี่แหละ มีทั้งที่แสงส่องถึง และส่องไม่ถึง"

นี่คือบทสนทนาตอนนึงของละครเรื่อง "Bangkok Notes สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ"

ลองจินตนาการว่าคุณกำลังนั่งอยู่ในหอศิลป์สักแห่งที่กำลังจัดแสดงผลงานของเฟอร์เมียร์ (Vermeer) จิตรกรชาวดัทช์ที่คุณเองก็ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าแวนโก๊ะ หรือปีกัสโซ่ พื้นที่นั่งคอยในโถงนั้นหนาวเย็นเล็กน้อย อันที่จริงคุณไม่ได้สนใจผลงานศิลปะเท่าใดนัก แต่คนที่คุณมาด้วยเขาพาคุณเข้าไปยังโลกนั้น โลกที่คุณไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเข้าไป

เมื่อคุณพิจารณาภาพเหล่านั้น ก็น่าแปลกที่คุณกลับเข้าใจมัน อาจเพราะประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่งผ่านมาของคุณ มันไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนมีแต่ความสดใส ไร้เดียงสาอีกต่อไป คุณรู้ว่าในหัวใจของมนุษย์ทุกคนล้วนมีที่ที่แสงส่องไปไม่ถึง ที่ที่อยากปกปิด

คุณยิ้มสดใสให้กับเรื่องตลกขำขันที่คนอื่นเล่าให้ฟังในโถงของหอศิลป์นั้น ท่ามกลางเสียงแว่วดังมาของผู้คนที่คุยกันเรื่องสงครามในแถบยุโรปเป็นระยะ คุณแทบไม่ได้ใส่ใจ ในความรู้สึกคุณ สงครามนั้นอยู่ห่างไกลจากตัวคุณมากเกินไป จนคุณไม่อาจเข้าใจว่าเพราะเหตุใดคนหนุ่มบางคนถึงตื่นเต้นและอยากเข้าร่วมนัก หรือทำไมบางคนที่เคยอยู่ในชมรมเพื่อสันติภาพก็ละทิ้งถอนตัวออกจากความยึดมั่นในอุดมการณ์นั้นไป เพราะแก่เกินไป หรือไม่ก็เพราะเห็นโลกมามากเกินไป คุณไม่อาจแน่ใจ

แต่แน่ล่ะ สิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากคุณได้มากที่สุดตอนนี้ก็คือปัญหาชีวิตของคุณเอง คุณมาถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจากนี้จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป และไม่ว่าทางเลือกไหนก็ดูจะโหดร้ายกับคุณไปทั้งหมด

และแม้กระทั่งคุณกำลังนั่งดูละครเรื่องนี้อยู่ เป็นผู้ชมร่วมบรรยากาศในฉากโถงจัดแสดงงานของหอศิลป์แห่งหนึ่ง ใจของคุณก็อาจจะไม่ได้จดจ่ออยู่กับละครตลอดทั้งเรื่อง คุณอาจเผลอคิดไปถึงปัญหาของคุณเองในชีวิตจริงที่คุณต้องเผชิญนอกโรงละครบ้างสักแวบหนึ่งในใจ แม้คุณจะรู้ว่าละครเรื่องเรียกร้องให้คุณต้องจดจ่ออยู่กับมันอย่างมาก

มีตัวละครทั้งหมด 21 คน และแต่ละคนอาจไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเลยทั้งเรื่อง เพียงแต่อยู่ในเวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกัน แต่คุยในเรื่องที่ต่างกัน คุณอาจเริ่มสับสนว่าควรจะฟังคนกลุ่มไหนพูดถึงเรื่องอะไรดี จนจบเรื่องคุณก็ยังรู้สึกว่ารายละเอียดมันเยอะเสียจนคุณเก็บไม่หมด แต่หลังจากนั้นคุณจะเริ่มตั้งคำถาม และบางประโยคที่ตัวละครพูดก็จะยังดังก้องอยู่ในหัวของคุณ— แม้ไม่ใช่ประโยคเป๊ะๆแบบที่ตัวละครพูดก็ตาม

"ในเรื่องเจ้าชายน้อย เขาพูดเรื่องการใช้หัวใจมอง สุนัขจิ้งจอกบอกเจ้าชายน้อยว่า สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา แต่จริงๆแล้วหัวใจคนเรามองได้ด้วยเหรอ หัวใจไม่ได้เกิดมาเพื่อการมองนี่ คนเราจะเห็นสิ่งต่างๆ จากการใช้ใจมองจริงเหรอ ในเมื่อใจคนเราก็ยังไม่เหมือนกันเลย"

 

2.

เมื่อละครจบ นักแสดงออกมาโค้งขอบคุณ เหล่าผู้ชมแยกย้ายออกจากโรงละคร ถึงคิวของนักแสดง และทีมงาน รวมตัวประชุมเพื่อฟังคอมเมนต์ของผู้กำกับ โอริสะ ฮิราตะ

แม้ฉันจะมาทันแค่ช่วงท้ายๆ ของการคอมเมนต์ แต่ก็ทันฟังการคอมเมนต์ละเอียดยิบเกี่ยวกับคิวนักแสดง ไปจนถึงการพูดประโยคต่างๆ ของนักแสดง ให้เสียงเบาลง หรือดังขึ้นกว่าเดิม รวมถึงเห็นถึงความละเอียดอ่อนของอาจารย์ฮิราตะ เมื่อเขาบอกทีมงานว่า ก่อนหน้าที่จะเริ่มแสดง เมื่อผู้ชมนั่งดูฉากว่างเปล่าไร้นักแสดง ให้เปิดแอร์จนผู้ชมรู้สึกหนาวประมาณ 10 นาที และเมื่อนักแสดงหลักเข้ามาแล้ว ขอให้ดับแอร์ไปประมาณ 20 นาที ก่อนเปิดใหม่อีกครั้ง

เป็นประสบการณ์แรกที่ทำให้ฉันเห็นการกำกับทุกอย่างในโรงละครแม้กระทั่งอุณหภูมิ

หลังจากอาจารย์ฮิราตะคอมเมนต์นักแสดงและทีมงานเสร็จ เรานั่งคุยกันพร้อมกับล่ามแปลภาษา ในหัวของฉันยังปั่นป่วนกับละครที่เพิ่งจบลงไป ผสมรวมกับการพยายามเตรียมคำถามที่สงสัยใคร่รู้เท่าที่เป็นไปได้ในตอนนั้น เป็นเวลาสี่ทุ่มกว่าแล้ว ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังยินดีตอบทุกคำถามด้วยรอยยิ้มใจดีบนใบหน้าของเขา

โอริสะ ฮิราตะ

บริบทในละครทำไมถึงต้องเป็นช่วงที่มีสงครามในยุโรป?

ตอนเขียนบทครั้งแรกคือปี 1994 ก่อนหน้านั้นก็มีสงครามอ่าวเปอร์เซีย และสงครามกลางเมืองที่บอสเนีย ซึ่งตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ดูการถ่ายทอดสดสงครามผ่านทีวี รู้สึกเป็นประสบการณ์ที่ช็อคมากๆ มันคือการที่เราได้ดูสงครามที่เกิดขึ้นในที่ไกลๆ ณ ขณะเดียวกับที่มันเกิดขึ้น ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสงครามรูปแบบใหม่ รู้สึกว่าระยะห่างระหว่างตัวเองกับสงครามมันเปลี่ยนไป ตอนแรกมันก็เข้าใจยาก แต่ทำให้ผมรู้สึกอยากบรรยายความรู้สึกนั้นผ่านผลงาน

ในละคร ความรู้สึกของคุณที่มีต่อสงครามก็ยังเป็นระยะห่างอยู่ดีรึเปล่า เพราะในละคร แม้สงครามถูกพูดถึงบ้าง แต่ก็ยังทำให้เรารู้สึกห่างไกลจากสงครามนั้นอยู่ดี?

ก็รู้สึกเหมือนกันว่าสงครามในยุคปัจจุบันก็เป็นลักษณะนั้น ในความเป็นจริงถ้าเราไม่ได้อยู่ในสมรภูมิสงครามนั้นจริงๆ เราก็ยังใช้ชีวิตแบบปกติอยู่ดี ซึ่งผมรู้สึกว่านั่นเป็นจุดที่น่ากลัวนะ โดยเฉพาะตอนสงครามกลางเมืองของบอสเนีย สงครามกระจุกตัวอยู่ที่เดียวในเมืองเดียว แต่พอออกไปนอกเขตนั้นทุกคนก็ใช้ชีวิตปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพวกเราเองจะกลายไปอยู่ในสภาวะแบบนั้นเมื่อไหร่ ก็อาจจะคล้ายๆ เมืองไทยที่มีสงครามเวียดนามในตอนนั้น

แต่ในละครก็มีทั้งคนหนุ่มที่อยากเข้าร่วมสงคราม และมีคนที่ดูเหมือนจะรักสันติภาพแต่ก็ไม่จริงจังนัก?

จริงๆ ตอนนี้ความเกี่ยวข้องของแต่ละคนต่อสงครามมันก็ซับซ้อนมากๆ โดยเฉพาะในหมู่รัฐอิสลามที่มีสงครามเกิดขึ้น มันแทบแยกไม่ออกแล้วว่าใครเป็นศัตรูใครเป็นพันธมิตร ใครดีใครไม่ดี มันแยกไม่ออกแล้ว หรือบางครั้งกองกำลังสันติภาพของยูเอ็นเขากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องรึเปล่าเราก็ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่ผมทำมันคือมุมมองที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรถูกอะไรผิด อย่างตอนสงครามเวียดนามเราอาจเห็นชัดว่ามีกลุ่มที่ต่อต้านการออกทัพของกองกำลังอเมริกา แต่ตอนนี้ความคิดก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นที่เราจะไปต้านอะไรเป็นขาวดำ คู่ที่ปะทะกับเราไม่ได้เป็นประเทศใดประเทศหนึ่ง มันแปรเปลี่ยนเป็นกองกำลังต่างๆ กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ มันก็เลยยิ่งยาก

โดยส่วนตัว หน้าที่ของผมในฐานะคนเขียนบทและคนทำละคร มันไม่ใช่หน้าที่เราที่ทำละครออกมาเพื่อสั่งสอนคนดูว่าสงครามเป็นสิ่งไม่ดี ในทางกลับกันผมคิดว่าหน้าที่ของคนที่ทำบทละครและทำละครคือการสร้างภาพให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นสงครามมันจะเป็นแบบนี้ แล้วมันจะมาหาเราแบบนี้นะ

 

เวลาเราถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัล ภาพในกล้องดิจิทัลมันเป็นการรวมจุดออกมาเป็นภาพหนึ่ง ยิ่งมีจุดเยอะก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัด แต่บางครั้งเราไม่สามารถทำอะไรชัดเจนขนาดนั้นได้ เราต้องทำอะไรที่คลุมเครือ บางครั้งการเถรตรงเกินไปมันเสพยาก คนดูจะผลักมันออก เราต้องทำอะไรให้มันคลุมเครือเพื่อให้คนรับเข้าไปได้มากขึ้น

เป็นปกติที่เวลาคนดูจบจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจบางอย่าง หน้าที่คนทำละครคือการทำให้คนเห็นอะไรบางอย่างที่ปกติเราจะไม่เห็นหรือไม่อยากรับรู้

 

คิดไหมว่าตอนที่เขียนบทเมื่อปี 1994 มันจะยังทันสมัยมาจนทุกวันนี้?

ตอนเขียนครั้งแรกก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะสามารถร่วมสมัยมาถึงทุกวันนี้ได้ ซึ่งจริงๆ ตอนแรกที่ผมเขียนก็ยังไม่ได้ออกไปต่างประเทศเท่าไหร่ ไม่คิดเหมือนกันว่าผลงานชิ้นนี้จะถูกนำไปปรับและแสดงในหลายๆ ที่ทั่วโลก

บริบทความเป็นครอบครัวที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Tokyo Story (1953) ว่าด้วยเรื่องของลูกๆ ที่เกี่ยงกันดูแลพ่อแม่ในยามแก่ ดูจะเป็นปัญหามาตั้งแต่ในยุคนั้น จนผ่านมา 60 กว่าปี เมืองไทยก็ยังอินกับเรื่องนี้ได้ และที่ญี่ปุ่น รวมถึงที่อื่นๆ ที่นำละครเรื่องนี้ไปดัดแปลงก็เป็นแบบนี้ด้วยหรือเปล่า?

Tokyo story ของ ยาสึจิโร โอสุ (Yasujiro Ozu)  ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่และทำหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้ไม่ได้รับการตอบรับจากต่างประเทศสักเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ มันเกิดจากโปรดิวเซอร์ญี่ปุ่นเองที่คิดว่าด้วยบริบทของหนังโอสุซึ่งมีความญี่ปุ่นสูง ถ้าไปขายในต่างประเทศต้องขายไม่ออกแน่ๆ เป็นสิ่งที่โปรดิวเซอร์คิดไปเอง ฉะนั้นช่วงปี 50 60 หนังที่มีซามูไร อย่างของคุโรซาว่า ก็จะถูกขายออกไปต่างประเทศมากกว่า แต่จริงๆ เรื่องของครอบครัวมันเป็นเรื่องมนุษย์มากๆ ซึ่งมันทำให้สั่นคลอนใจของคนได้ทั่วโลก กลายเป็นกลับกันตอนนี้โอสึได้รับความนิยมมากว่าคุโรซาว่าในแถบยุโรป ซึ่งพอถูกทำออกมาเป็นบรรดาโน้ตส์ต่างๆ เรื่องใครจะดูแลพ่อแม่ หรือความต่าง ระยะห่างระหว่างเมืองหลวงกับเมืองต่างจังหวัดเป็นเรื่องที่ไม่ว่าประเทศไหนก็เข้าถึงได้ เข้าใจได้

จุดมุ่งหมายในการนำประเด็นเรื่องสงครามกับครอบครัวมาไว้ด้วยกันคืออะไร?

คนเรา แน่นอนว่าปัญหาระดับโลกมันมีผลกระทบต่อตัวเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งนั้นสิ่งที่อยู่ในใจเรามีความละเอียดยิบย่อยกว่านั้นมาก เช่นปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าในการทำละครออกมาให้เข้าถึงได้ทุกที่ในโลก ผมจะเน้นเรื่องการสร้างโครงสร้างสองชั้นนี้ให้มันอยู่ด้วยกัน Tokyo Story ถึงแม้จะพูดถึงเรื่องครอบครัวเป็นเส้นเรื่องหลักอย่างเดียว แต่เซทติ้งของเขาเกิดหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามประมาณ 9 ปี ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแบคกราวด์จึงเป็นสภาพสังคมที่สงครามเพิ่งจบไป

ทำไมจึงนำภาพวาดเฟอร์เมียร์มาเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของเรื่อง?

ส่วนหนึ่งคือผมชอบเฟอร์เมียร์ ตัวศิลปินอาจไม่ได้เป็นศิลปินที่เด่นดังเท่าแวนโก๊ะ ซึ่งประจวบเหมาะที่การใช้ผลงานของเฟอร์เมียร์ก็ง่ายต่อการจัดเซทติ้งว่ามีทั้งคนรู้จักและไม่รู้จัก เฟอร์เมียร์เป็นศิลปินประเภทที่ถ้าคนที่รู้จักและเข้าใจผลงานเขาก็อยากจะอธิบายให้คนที่ไม่รู้จักเข้าใจ สิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างภาพของเฟอร์เมียร์กับเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง จริงๆ ตัวละครก็อธิยายไว้แล้วบ้างว่า

ภาพของเฟอร์เมียร์มันมีทั้งส่วนที่แสงส่องถึงและไม่ถึง บางครั้งเราก็จะเลือกมองแค่ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนที่เป็นเรื่องสงคราม ความยากจน หรือปัญหาอะไรก็แล้วแต่ บางครั้งเราก็เลือกที่จะเก็บมันเอาไว้ในที่มืด

 

เพราะแบบนั้นเลยต้องเลือกเล่าเซทติ้งที่เป็นแกลเลอรี?

จริงๆ เป็นความคิดแรกก่อนหน้าทั้งหมด ว่าอยากใช้พื้นที่นั่งพักในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ อยากทำละครที่มีฉากแบบนี้

ก่อนหน้าที่จะคิดเรื่องครอบครัว เรื่องสงครามอีก?

ในหนัง Tokyo Story จะมีฉากหนึ่งที่ตัวละครไปเที่ยวห้างกัน ซึ่งสมัยก่อนเวลาคนต่างจังหวัดมาโตเกียวก็จะพากันไปเดินห้างกัน พอในยุคที่เขียนเรื่องนี้คนก็ไม่ได้เดินไปเที่ยวห้างกันแล้ว ผมเลยไปสัมภาษณ์หลายๆ คนว่าเข้าเมืองแล้วจะไปไหนกัน ก็เลยได้ไอเดียว่าเซ็ทติ้งคือหอศิลป์ เลยคิดเป็นพล็อตแรกคือพี่สาวชอบงานศิลปะแต่อยู่ต่างจังหวัด และทุกๆปีจะเข้าเมืองเพื่อมาเจอพี่น้อง

 

ทำงานกับคนไทยเป็นยังไงบ้าง?

ผมมีโอกาสได้ทำงานมาหลายประเทศทั่วโลก โดยหลักๆ จะดูว่าแต่ละประเทศทำงานยังไง แล้วผมก็จะมีการทำงานแบบของผม เหมือนผสมผสานการทำงานไปด้วยกัน สิ่งด้วยหน้าที่ของผู้กำกับส่วนใหญ่ก็คือการกำกับ แต่สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารและพูดกันให้เข้าใจถึงที่สุด

ข้อดีข้อเสียของคนไทย?

จริงๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าอะไรเป็นข้อดีข้อเสีย แค่บางอย่างมันมีวิธีการทำงานที่ต่างกัน

ในเมืองไทยดูเหมือนคนจะสนใจข่าวในแง่ของการเมืองหรือสังคมมากกว่าข่าวด้านศิลปะ ที่ญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง และจริงๆแล้วข่าวหรือเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมยังจำเป็นต่อคนเราอยู่ไหม?

จริงๆ ที่ญี่ปุ่นก็ไม่สนใจศิลปะและวัฒนธรรมเท่าการเมืองและสังคม แต่ตอนนี้ปัญหาสังคมที่หนักหนาที่สุดของญี่ปุ่นก็คือเด็กเกิดน้อย ประชากรลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด ทางภาครัฐต้องหามาตรการอะไรบางอย่างที่จะทำให้แรงงานที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงกระจายกลับสู่ท้องถิ่น และสิ่งที่จะดึงดูดคนเหล่านี้คือวัฒนธรรมและการศึกษา

ถ้าเป็นความคิดคนที่ล้าสมัยหน่อยก็จะบอกว่า ถ้าไม่มีแรงงานในพื้นที่ก็สร้างโรงงานสิ คนจะได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด แต่จริงๆ มันไม่เวิร์ค และพอเขารู้ว่ามันไม่เวิร์ค แทนที่เขาจะสร้างโรงงานเขาก็เลยสร้างโรงละครบ้าง มหาวิทยาลัยบ้าง ที่ยุโรปก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ที่เขาผลิตศิลปะมาเยอะๆ จะเป็นพื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรม แต่สิ่งเหล่านั้นก็ได้ตายหายจากไป สิ่งที่จะมาทดแทนก็คือศิลปะ

ในเมืองไทยเองก็กำลังเติบโตไปในแง่อุตสาหกรรมในเชิงนั้น แต่เวลาเราก้าวไปเป็นประเทศพัฒนาเราก็ไม่รู้ตัวหรอกว่าหนทางมันจะเป็นยังไงต่อ มันอาจเป็นคำตอบที่สิ้นหวังนิดนึง แต่บางเคสที่ไม่เป็นแบบนั้นก็มีอยู่ เช่นประเทศเกาหลีในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วก็เป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านศิลปวัฒนธรรมมากที่สุดประเทศหนึ่ง ประเทศเกาหลีใต้การพัฒนาเศรษฐกิจของเขาจะอยู่ที่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นการเติบโตมันใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

ประเทศเกาหลีใต้ได้ศึกษาวิจัยช่วง 25 ปีของญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจที่โตขึ้นๆๆ จนถึงจุดสูงสุดแล้วก็ตกลงมา เขาพบว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นขาดไปและทำให้ตกลงมาคือการขาด Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) คนที่วิจัยเขาเลยบอกรัฐบาลเกาหลีว่าลองดูว่าประเทศญี่ปุ่นถูกนำด้วยคุณลุงที่คิดแต่เรื่องการเมืองเศรษฐกิจ จนมันโตขึ้นๆ แล้วตกลงมา เราควรจะเรียนรู้ตรงนี้และอัดฉีดสิ่งที่เป็นศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นขาดหายไปเราจะได้ไม่เป็นแบบนั้น       

 

3.

"Bangkok Notes" หรือในชื่อภาษาไทย "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" เป็นการร่วมงานกันระหว่างเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และโครงการศิลปะการละครนานาชาติ (World Performances @ Drama Chula) ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทและกำกับการแสดงโดย โอริสะ ฮิราตะ (Prof. Oriza Hirata) นักการละครผู้มีอิทธิพลต่อวงการละครญี่ปุ่นและทั่วโลก นอกจากนี้ "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ยังเป็นกิจกรรมในวาระครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์การทูตไทย-ญี่ปุ่น และได้รับเกียรติจากเครือข่ายละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Network) ให้เป็นการแสดงเปิดเทศกาลละครกรุงเทพ 2560 (Bangkok Theatre Festival 2017: "Sharing Moments") ในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมลอีกด้วย

ละคร "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ("Bangkok Notes") ดัดแปลงบทจาก "Tokyo Notes" ("โตเกียว โน้ตส์") โดย สาวิตา ดิถียนต์ นักเขียนบทละครเวทีและโทรทัศน์ และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ปรับบริบทเรื่องราวและบทสนทนาให้มีความเป็นละครเวทีไทย โดยมีนักแสดงทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่จากหลากหลายคณะละคร เช่น สุมณฑา สวนผลรัตน์ (จุ๋ม) เจ้าของรางวัล IATC Thailand Award สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ปี 2555 ดวงใจ หิรัญศรี (เพียว) คณะละครอนัตตา ธีรวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) ผู้ก่อตั้งคณะละคร B-Floor เจ้าของรางวัล Bangkok Theatre Festival Award สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม ปี 2557 ณัฐ นวลแพง ผู้ก่อตั้งคณะละครเสาสูง และ วรัฏฐา ทองอยู่ (แอน) เจ้าของรางวัล IATC Thailand Award สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ปีที่แล้ว เป็นต้น

ละครบรรยายให้ผู้ชมเห็นการค่อยๆ สลายตัวของความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม ผ่านการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่ง ละครเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ทั้งในญี่ปุ่นและนานาชาติ  "Tokyo Notes" ("โตเกียว โน้ตส์") ได้รับการแปลมาแล้ว 10 ภาษา และจัดแสดงมาแล้ว 23 เมือง ใน 16 ประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโครงการละครความร่วมมือระหว่างประเทศมาแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ "Seoul Notes" ณ ประเทศเกาหลีใต้ในปี 2546 "Taipei Notes" ในเทศกาล Taipei Arts Festival ประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (บัตรจำหน่ายหมดทุกใบภายใน 2 ชั่วโมง) "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ("Bangkok Notes") ในเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ และ "Manila Notes" ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ในปีหน้า

 

รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดง

[วันและเวลาที่แสดง]

วันพฤหัสบดีถึงวันเสาร์ที่ 2 – 4 และ 9 -11 พฤศจิกายน 2560

เวลา 19.30 น. (วันเสาร์เพิ่มรอบบ่ายเวลา 14.00 น.)

[สถานที่]

ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[ราคาบัตร]

บุคคลทั่วไป 600 บาท

นักเรียน นักศึกษา 300 บาท

ศิลปินและผู้ชมอายุไม่เกิน 27 ปี 400 บาท)

[วิธีจองบัตร]

จองบัตรที่ www.BangkokTheatreFestival.com

หรือ 08 1559 7252 และ 0 2218 4802

*แสดงเป็นภาษาไทย มีคำแปลภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษฉายประกอบ*

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ย้ำ รมว.แรงงาน ลาออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ยันจะไม่ปรับ ครม.ในช่วงนี้

Posted: 03 Nov 2017 03:11 AM PDT

ประยุทธ์ ย้ำ รมว.แรงงานออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ยันจะไม่ปรับ ครม.ในช่วงนี้ แกนนำแรงงานหวัง รมว.ใหม่ เข้าถึงง่ายกว่านี้ ด้านวงการตำรวจเด้ง พ.ต.อ.ศิริพล เซ่นปมวิจารณ์ปฏิรูปตำรวจ

แฟ้มภาพ

 

3 ต.ค. 2560 จากกรณีที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่ากาารกระทรวงแรงงาน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีฯ พร้อมด้วยทีมข้าราชการการเมือง ประกอบด้วย พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน อารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน พล.ท.ธนิต พิพิธวนิชการ เลขานุการ รมว.แรงงาน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งทุกคน หลังจากที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยอาศัยมาตรา 44 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ปลด วรานนท์ ปีติวรรณ พ้นจากอธิบดีกรมการจัดหางาน มาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน นั้น

วานนี้ (2 พ.ย.60) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รัฐมนตรีลาออก โดย พล.อ.ศิริชัย ได้ขอลาออกจากตําแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2560 ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ศิริชัย จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 2560 ตามความในมาตรา 170 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ประยุทธ์ ย้ำ รมว.แรงงานออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว 

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนแบบพิเศษและเปิดนิทรรศการวิชาการไทยแลนด์ 4.0 ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ว่า ขอสื่ออย่าถามปัญหากระทรวงแรงงานอีก และไม่ต้องเป็นห่วง เพราะ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุลได้ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปประกอบธุรกิจส่วนตัว 

ยันจะไม่ปรับ ครม.ในช่วงนี้

"ตามกฎหมายมีผู้รักษาการอยู่แล้วในแต่ละกระทรวง ไม่ต้องกังวล" พล.อ.ประยุทธ์  กล่าว พร้อมระบว่าขณะนี้ให้รักษาการตำแหน่งที่ว่างลงได้ไปก่อน ขอไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องการทำงาน ยังจะไม่ปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ 

"การปรับครม.คาดว่าจะทำภายในปีนี้ กรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่าจะปรับลดสัดส่วนของทหารลง และจะปรับเล็กหรือปรับใหญ่ ขอคิดดูก่อน จะมีรัฐมนตรีลาออกเพิ่มอีกหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ ต้องไปถามรัฐมนตรีเอง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า พล.อ.ศิริชัยลาออก ไม่ได้มีปัญหาในการทำงาน แต่ต้องการไปประกอบธุรกิจส่วนตัว และเป็นเรื่องปกติที่เลขานุการ ที่ปรึกษาและทีมงานรัฐมนตรีจะต้องลาออกตามกันไป ยืนยันว่าการลาออกไม่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งมาตรา44 ที่โยกย้าย วรานนท์ ปีติวรรณ อดีตอธิบดีกรมการจัดหางานไปเป็นรองปลัดกระทรวงแรงงาน เพราะคนทำงานจะน้อยใจไม่ได้

แรงงานหวัง รมว.ใหม่ เข้าถึงง่ายกว่านี้

Voice TV รายงานด้วยว่า ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์ กล่าวว่า ปัญหาของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานาน  แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือภาพรวมของสถานการณ์แรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะปัญหาแรงงานไทยที่ถูกละเมิด ข่มขูหรือเลิกจ้างไม่ได้รับการดูแลจากกระทรวงเท่าทีควร 

ชาลี ระบุด้วยว่าอยากเห็นรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ที่เป็นเข้าใจปัญหาแรงงานและเข้าถึงง่ายมากกว่ารัฐมนตรีแรงงานคนที่ผ่าน ซึ่งผู้นำแรงงานเข้าพบได้น้อยมากเนื่องจากไม่ค่อยเปิดโอกาสในการรับฟังปัญหาแรงงานมากนัก

เด้ง พ.ต.อ.ศิริพล เซ่นปมวิจารณ์ปฏิรูปตำรวจ

มติชนออนไลน์ เดลินิวส์และไทยโพสต์ รายงานตรงกันด้วยว่า 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.เดชา กัลยาวุฒิพงศ์ รองผบก.ฯ ปรท.ผบก.ทพ. มีหนังสือบันทึกข้อความ เลขที่ 0009.232/5637 เรื่องข้าราชการตำรวจปฎิบัติราชการในสังกัด ตร. ใจความว่า ด้วยตร.มีบันทึกลงวันที่ 31 ต.ค.60 อนุมัติเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายให้ พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผบก.คด. ปฏิบัติราชการที่ กต.1เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ผบก.กต.1 มอบหมาย เป็นครั้งคราวไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม มีกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. เป็นต้นไป

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น มีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ข้าราชการตำรวจว่าสาเหตุของการสั่งย้าย พ.ต.อ.ศิริพล น่าจะมาจากสาเหตุที่ พ.ต.อ.ศิริพล ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปตำรวจผ่านเฟซบุ๊ก ในประเด็นที่มีการเสนอให้พนักงานอัยการเข้ามากลั่นกรองสำนวนการสอบสวนก่อนแจ้งข้อหาและร่วมตรวจที่เกิดเหตุ หลังเผยแพร่ข้อความออกไปมีข้าราชการตำรวจเข้ามาให้กำลังใจจำนวนมาก

ไทยโพสต์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า จากการสอบถาม พ.ต.อ.เดชา รอง ผบก.ทพ. กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ผมไม่ทราบว่าสาเหตุของคำสั่งดังกล่าวมาจากเรื่องอะไร แต่เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับสูงใน ตร.ให้ดำเนินการเรื่องนี้"

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เฟซบุ๊กชื่อ 'Siriphon Kusonsinwut' ของ พ.ต.อ.ศิริพล ได้ปิดการใช้งานแล้ว โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ศิริพลได้โพสต์ความเห็นคัดค้านประเด็นการให้พนักงานอัยการเข้ามากลั่นกรองสำนวนการสอบสวน ก่อนแจ้งข้อหาและร่วมตรวจที่เกิดเหตุด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: มนูธรรม & มโนธรรม

Posted: 03 Nov 2017 01:04 AM PDT


 

หลังสงครามตามเก็บศพพบหลายสิ่ง          เห็นความจริงว่าการตายมีหลายท่า

สยองโหดโกรธเกลียดเบียดบีฑา          ใครโหดกว่าน่าทึ่งตลึงงัน

แต่ใครผู้มีชัยในการรบ          ผู้แพ้จบสงบกลบพรึงพรั่น

ฝ่ายมีชัยใจคะนองก้องแก่กัน          เสียงดังลั่นบรรเลงเพลงในใจ

เมื่อมีชัยให้หลงใหลได้ปลื้ม          ดังกระหึ่มไปทั่วฟ้าน่าหลงใหล

ต้องต่อสู้จึงจะรู้ผู้มีชัย          ต้องเสี่ยงภัยเลือกทาง  เอาข้างชนะ


คนถึงนิยมชมชอบชื่อ" มีชัย "          ข่มขวัญหัวใจปัจจามิตรจะคิดฉะ

รบครั้งใดแพ้ไม่ได้ไร้สาระ          ทำไมจะตั้งเลขาแค่นี้มีใครแย้ง

เพื่อรักษาลับลวงพรางอย่างเคร่งครัด          ใช้ลูกจัดการให้ไม่กลัวแกว่ง

เงินเดือนหมื่นไม่เท่าไหร่ไม่ได้แพง          กันกลั่นแกล้งแทงข้างหลังระวังไว้

คุณมีชัยคนดีมีวาทะ          ลูกสาวประชาปริญญาตรีมีว่างไหม

ตั้งลูกสาวเป็นเลขาไม่น่าผิดอะไร          แต่ผิดในหัวใจพี่น้องประชาชน

                                                                 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ปริญญา' ชวนลงชื่อปฏิรูประบบประกันตัว ย้ำต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

Posted: 03 Nov 2017 12:47 AM PDT

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล โพสต์ชวนร่วมลงชื่อ 'ปฏิรูประบบประกันตัว' ย้ำต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน หวัง 66,000 ชื่อ เท่ากับจำนวนคนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว จากนั้นจะเสนอต่อ กก.ปฏิรูป ด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป

3 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (2 พ.ย. 60) ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Prinya Thaewanarumitkul' ในลักษณะสาธารณะ รณรงค์ปฏิรูประบบการประกันตัว #ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

ปริญญา โพสต์ว่า ทราบไหมครับว่าในบรรดาผู้ต้องขัง 300,000 คน มีอย่างน้อย 66,000 คน ที่ต้องติดคุก ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่พิพากษา เหตุเพราะว่าไม่มีเงินประกันตัว คดีที่มีโทษประหารชีวิต วงเงินประกันคือ 800,000 บาท จำคุกตลอดชีวิตคือ 600,000 บาท โทษจำคุกปีละ 20,000 บาท ถ้าข้อกล่าวหานั้นมีโทษสูงสุด 20 ปี ก็ต้องมีเงิน 400,000 บาท 

"คำถามคือ เงินประกันเป็นหลักประกันได้จริงหรือว่าจำเลยจะไม่หนี คำตอบคือไม่ใช่ ถ้ามีเงินประกันตัวได้ ก็หนีได้ ผลคือคนจะติดคุกหรือไม่อยู่ที่มีเงินหรือไม่ ทั้งๆ ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติไว้เลยว่าต้องใช้เงิน ในบรรดาความเหลื่อมล้ำทั้งหลายในสังคมไทย ไม่มีเรื่องใดจะเลวร้ายไปกว่าเรื่องการประกันตัวที่ต้องใช้เงินอีกแล้ว" ปริญญา ระบุ พร้อมเชิญชวนให้ผู้สนใจร่วมกันปฏิรูประบบประกันตัว ให้ใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่เงิน โดยร่วมลงชื่อใน change.org ให้ได้ 66,000 ชื่อ เท่ากับจำนวนคนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว จากนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อใน https://www.change.org/p/เปลี่ยนระบบเงินประกัน-ต้-องไม่มีใครติดคุกเพราะจน-อีกต่-อไป จำนวน 15,660 คน แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: โลกที่อ่านไม่หมด กับโลกที่ไม่ต้องอ่าน

Posted: 03 Nov 2017 12:46 AM PDT



ผมเคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักต้มตุ๋นทางตรรกะ วันหนึ่งเขาบอกผมขณะนั่งอ่านหนังสือว่า ไม่ว่าเอ็งจะอ่านไปสักกี่เล่ม ก็ไม่ถึงจุดศูนย์ ศูนย์ ศูนย์ ศูนย์ ฯ ฯ ฯ ฯ ฯ …หนึ่งของหนังสือที่มีในโลก พูดเสร็จเขาก็นั่งอมยิ้มอยู่อีกฝั่งหนึ่งของหลุมพรางที่ขุดล่อเอาไว้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าผมจะกระโดดลงไป

ข้าไม่ได้คิดจะอ่านหนังสือทั้งโลกนี่หว่า ข้าอ่านเฉพาะที่ข้าอยากรู้

ถ้าอย่างนั้น สมมติให้เอ็งอ่านตั้งแต่บัดนี้จนวันตาย ความรู้ที่เอ็งได้มาก็เป็นเพียงกระผีกริ้นของความรู้ของโลก ที่ไม่มีใครสังเกตเห็นเลย ตรงกันข้าม หากเอ็งเริ่มตีปิงปองตั้งแต่วันนี้จนถึงวันตาย เอ็งจะเป็นนักปิงปองที่ทั่วทั้งโลกรู้จักและยอมรับ

แล้วเราก็กอดคอกันไปตีปิงปอง

อันที่จริง นอกจากผมแล้ว ผมเข้าใจว่าไม่มีใครสักคนทั้งโลกคิดจะอ่านหนังสือให้หมดโลก อย่าว่าแต่หมดโลกเลย หมดทุกเล่มในภาษาใดภาษาหนึ่งก็ไม่มี ถึงมีก็อ่านไม่ทันหนังสือใหม่

ผิดจากคำตอบของเด็กหนุ่มเพิ่งแตกพานอย่างที่ผมและเพื่อนคุยกัน เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อให้โลกสังเกตเห็นเรา แต่เราอ่านเพราะมันสนุก ได้รู้อะไรที่ไม่เคยรู้ หรือที่สำคัญกว่านั้นคือรู้ว่าที่เรารู้นั้นมีปัญหา เพราะมองจากมุมอื่นก็ได้ หรือมองให้ไกลไปกว่านั้นก็ได้ หนังสือไม่ได้ให้แต่ความรู้เท่านั้น ยังให้ความไม่รู้ด้วย ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่า หรืออาจจะมากกว่าความรู้

เหนือกว่าความรู้หรือความไม่รู้คือความสนุก หนังสือเป็นการสื่อความที่แสดงระเบียบวิธีคิดที่รัดกุมที่สุด กว่าสื่อทุกชนิดที่มีในโลก ทั้งยังต้องแสดงกระบวนการของระเบียบวิธีคิดไว้อย่างสลับซับซ้อน อย่างชัดเจนก็ได้ อย่างคลุมเครือเพื่อให้คิดเองก็ได้ อย่างสะเทือนอารมณ์จนทำให้คิดและรู้สึกอะไรอื่นได้อีก ยังไม่พูดถึงคำ, รูปประโยค และการลำดับความ ที่ทำให้การแสดงระเบียบวิธีคิดเป็นไปตามความตั้งใจของผู้เขียน อย่างมีศิลปะ, ประสิทธิภาพ หรืออย่างสะกดผู้อ่านเหมือนต้องมนต์

เคยใช่ไหมครับที่อ่านหนังสือบางเล่มแล้ว งันกับข้อถกเถียงจนคิดอะไรอื่นไม่ออก ต้องรอเวลาอีกหลายวันกว่าจะค่อยๆ ฟื้นสติกลับมาไตร่ตรองข้อสรุปของเขาได้กระจ่าง หรือนวนิยายบางเล่มที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกท่วมท้นจิตใจจนไม่ทันเห็นนัยยะของอารมณ์ความรู้สึกนั้นได้กว้างเพียงพอ จึงไม่เห็น "ปัญหา" หรือ "ประเด็น" ที่ต้องใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองด้วย ใช้แต่อารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียวไม่เพียงพอ

นี่คือความสนุกที่ได้จากการอ่านหนังสือ เป็นความสนุกที่ไม่มีอะไรเทียบได้ แตกต่างจากการตีปิงปองซึ่งก็สนุก แต่สนุกไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือ เอามาเปรียบกันหรือแม้แต่แทนกันก็ไม่ได้

ผมคิดว่า ที่เราประสบความล้มเหลวในการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กของเราตลอดมาก็เพราะเหตุนี้แหละครับ คือไม่ให้ความสำคัญสุดยอดแก่ความสนุกในการอ่านหนังสือ ไปเน้นแต่ความรู้เพียงอย่างเดียว จึงทำให้หนังสือ "ศักดิ์สิทธิ์" กว่าความเป็นจริง การอ่านหนังสือกลายเป็นความเครียด จนหมดสนุก

เมื่อผมเป็นเด็ก โรงเรียนห้ามอ่านเสือใบ เสือดำ ที่เราติดกันงอมแงม ต้องแอบอ่าน และแอบซ่อนหนังสือด้วย ก็เหมือนโรงเรียนทั้งโลกนะครับ ส่วนใหญ่แล้วมีอันตรายต่อการเรียนรู้ของเด็ก มากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนประจำอย่างที่ผมผ่านมา ก็เป็นอันตรายครบร้อยเลย (ผมไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนไม่ให้อะไรที่ดีๆ เลย แต่ก็ให้ภัยอันตรายด้วย อยู่ที่ว่าใครจะเห็นว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม)

แต่คนที่อ่านหนังสือมากโดยไม่ได้รับรสสนุกจากการอ่านคงมี ที่ผมนึกออกทันทีคือคนมีอาชีพทางกฎหมาย นับตั้งแต่ทนายความ, อัยการ, ไปจนถึงผู้พิพากษา เคยได้ยินข่าวใช่ไหมครับว่า เอกสารบางคดีมีถึง 125 กล่อง ต้องใช้ปิกอัพในการขนส่งกันทีเดียว จะอ่านกันอย่างไร อัยการคงมีชั้นผู้น้อยแบ่งกันอ่านแล้วสรุปประเด็นเสนอให้อัยการสูงสุดตัดสินใจว่า จะส่งฟ้องหรือไม่ แต่ทนายความและผู้พิพากษาล่ะครับ จะหาใครมาช่วยอ่านได้

แม้แต่มีคนช่วยอ่านอย่างอัยการสูงสุด ก็ต้องตัดสินใจบนการวิเคราะห์ของคนอื่นมาทั้งนั้น และทุกคนคงทราบว่าเราไม่อาจวิเคราะห์อะไรได้โดยไม่มีบรรทัดฐานบางอย่างในใจ บางคนอาจอ้างว่าบรรทัดฐานดังกล่าวคือกฎหมาย แต่จะเป็นกฎหมายข้อไหน และแง่ไหน ต้องอาศัยวิจารณญาณของตนเองทั้งนั้น แม้แต่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ (ที่เก่งๆ) ยังยอมรับว่า มาจากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์เองด้วย ไม่มองทิศนี้ก็ไม่เห็นอย่างนี้ โดยสรุปก็คือไม่มีบรรทัดฐานอะไรในโลกนี้ที่เป็นภววิสัยร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ส่วนหนึ่งก็เป็นคำง่ายๆ ที่ชาวบ้านใช้คือ "อคติ" ประกอบอยู่ด้วยเสมอ

ถ้ารอจนกว่าเราจะมีการวิเคราะห์หรือประเมินอะไรอย่างภววิสัยเต็มร้อย มนุษย์คงสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว เพราะพ่ายแพ้แก่สัตว์อื่นที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว

ผมคิดว่านอกจากอาชีพทางกฎหมายแล้ว โลกปัจจุบันยังผลิตอาชีพอื่นๆ อีกมากที่ "อ่านไม่หมด" ในฐานะที่เคยเป็นครู-อาจารย์มานาน ก็อาชีพนี้อย่างหนึ่งล่ะครับ ผมสงสัยว่าส่วนใหญ่ของแพทย์ก็น่าจะใช่ เพราะวารสารทางการแพทย์ แม้แต่แพทย์เฉพาะทาง ออกมามากจนแพทย์ทั่วไปที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์น่าจะตามไม่ทัน แม้แต่ที่เป็นอาจารย์ก็เถอะ คงไม่ต่างจากอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไปนักหรอก ดังนั้น จึงน่าจะรวมนักโน่นนักนี่ซึ่งทำงานด้านปฏิบัติวิชาชีพในหน่วยงานเอกชนและราชการทั่วไปด้วย

Ha-Joon Chang นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เล่าว่า (Economics : The User"s Guide) เขาได้เคยพบนายธนาคารคนหนึ่งที่สารภาพว่า ไม่เคยอ่านสัญญาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ซึ่งมีความยาว 2-300 หน้าเลย แต่ก็อนุมัติเงินกู้หรือตัดสินใจให้ธนาคารลงทุนตลอดมา ผอ.ของฝ่ายความมั่นคงด้านการคลังของธนาคารชาติอังกฤษเคยกล่าวว่า นักลงทุนที่จะลงทุนกับ CDO (ตราสารอนุพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งเอาหนี้ที่มีหลักทรัพย์ประกันจำนวนหนึ่งมารวมเป็นก้อนเดียวกัน แล้วเอาไปขายต่อ) สักหน่วยหนึ่งอย่างปลอดภัย จะต้องอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ CDO กองนี้ เป็นเอกสารประมาณหนึ่งล้านล้านหน้า ซึ่งไม่มีนายทุนหรือผู้บริหารกองทุนรวมคนไหนรวยเวลาพอจะทำได้ แต่ก็มีการซื้อขาย CDO กันเป็นมูลค่าหลายหมื่นหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐในตลาดเงินทั่วโลกอยู่ทุกวัน

แปลว่าเราอยู่ในโลกที่มีการตัดสินใจเรื่องสำคัญ (เสรีภาพหากเป็นคดีอาญา, เงินและทรัพย์สินหากเป็นธุรกิจการเงิน, ชีวิตหากเป็นเรื่องสุขภาพ, อนาคตหากเป็นเรื่องการศึกษา ฯลฯ) ทั้งเกี่ยวกับตัวผู้ตัดสินใจ หรือคนอื่นซึ่งไปซื้อบริการของเขา ด้วยข้อมูลที่ไม่พร้อม ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจหรือไม่รับผิดชอบนะครับ แต่เพราะการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และประเมินให้พร้อมนั้น เกินขีดความสามารถของมนุษย์จะทำได้

พูดอีกอย่างหนึ่ง คืออ่านไม่หมด

แต่โลกก็ไม่พังนะครับ เราก็อยู่กันมาได้จนทุกวันนี้ แม้อย่างทุลักทุเลไม่น้อยไปกว่าบรรพบุรุษของเรา เสี่ยธนินท์, เสี่ยเจริญ ก็ยังเป็นเสี่ยเหมือนเดิม ตระกูลโสภณพนิช, จิราธิวัฒน์ หรือล่ำซำ ก็ยังไม่ได้มีรายได้และทรัพย์สินลดน้อยลง แสดงว่าความรู้รอบจนหมดเปลือก อาจไม่จำเป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้รอบจนหมดเปลือกหรืออ่านหนังสือหมดโลกเลย เราจึงไปสมมติให้หมอนั่นมีอิทธิฤทธิ์เกินคนธรรมดา เหมือนสร้างสวรรค์ขึ้นจากส่วนที่ไม่มีวันเป็นจริงของโลกมนุษย์

บางคนไม่ปลงตกง่ายๆ เหมือนผม แต่คิดหาทางเพิ่มสมรรถนะของมนุษย์ในการอ่าน วิชาอ่านเร็ว เป็นวิชาที่เสนอสอนในมหาวิทยาลัยอเมริกันหลายแห่ง ผมไม่เคยเรียนจากครูคนไหน แต่เคยลองเรียนด้วยตนเอง ตำราที่ผมใช้เขาสอนให้มองตรงกลางหน้ากระดาษเป็นแถบเล็กๆ แถบหนึ่ง แล้วอ่านจากบนลงล่าง จับความให้ได้จากประโยคที่ขาดวิ่นเหล่านั้น ก็ทำได้นะครับ แต่เหนื่อยเสียแทบขาดใจ เพราะต้องใช้สมาธิจนเครียดเกินกว่าจะอ่านได้ไม่กี่หน้า เลยไม่รู้ว่าจะอ่านไปทำไม หาความสนุกไม่ได้เลย ผมไม่ต้องการรู้ว่านาย ก. พูดอะไร แต่ผมอยากรู้และรู้สึกว่านาย ก. พูดอะไรและอย่างไร

ไม่นานมานี้เห็นนักอ่านเร็วอีกคนหนึ่ง ใช้นิ้วกวาดหนังสือไปทีละหน้า ไม่กี่นาทีก็อ่านจบเล่ม ถามเนื้อความก็ตอบได้หมด ดูน่าประทับใจ แต่ผมมีประสบการณ์ย่ำแย่กับเทคนิคการอ่านเร็วมาแล้ว จึงอดถามไม่ได้ว่า จะอ่านไปหาพระแสงอันใดวะ

แม้ด้วยสมรรถนะอ่านเร็วเช่นนี้ ผมก็ให้สงสัยว่า อย่างไรเสียก็อ่านไม่หมดอยู่นั่นเอง อย่างที่ ผอ.ของธนาคารชาติอังกฤษพูดแหละครับ อ่านเอกสารหนึ่งล้านล้านหน้า เพื่อตัดสินใจลงทุนกับ CDO หน่วยเดียว ชีวิตนี้ทำอะไรถึงจะพอกินล่ะครับ

ถ้าอย่างนั้น เราจะหวังจากเครื่องจักรเครื่องกลได้แค่ไหน

สักวันหนึ่งในอนาคต (อาจไม่ไกลนัก) คอมพิวเตอร์อาจอ่านข้อมูลหนึ่งล้านล้านหน้าแทนมนุษย์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แล้วประมวลผลออกมาเป็นอินโฟกราฟิกไม่กี่หน้า มนุษย์เพียงแต่ดูอินโฟกราฟิกนั้นแล้วตัดสินใจ จะบอกการตัดสินใจนั้นแก่ปัญญาประดิษฐ์ก็ได้ เพราะมันจะเรียนรู้จนในภายหลังมันบอกเลยว่า กรณีอย่างนี้ต้องตัดสินใจอย่างไร

แต่ถึงเครื่องไม่ได้บอกเราให้ตัดสินใจอย่างไร เครื่องก็บังคับเราไปเกินครึ่งหนึ่งของการตัดสินใจแล้ว เพราะเพื่อจะทำอินโฟกราฟิก เครื่องต้องวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อมองหาความสัมพันธ์ว่า เรื่องนี้สัมพันธ์กับเรื่องโน้นอย่างไร แม้ว่าคนเขียนซอฟต์แวร์อาจเขียนความสัมพันธ์มาแล้วสักล้านอย่าง แต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ใหม่ได้ไม่สิ้นสุด ดังนั้น อินโฟกราฟิกที่เครื่องยื่นให้แก่มนุษย์ จึงจำกัดทางเลือกของการมองความสัมพันธ์แก่มนุษย์ไปพร้อมกับแก่เครื่อง

ผมไม่ทราบหรอกครับว่าปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ได้หรือไม่ สมมติว่าได้และได้ดีกว่ามนุษย์ ผลที่สุดก็เหมือนกันคือ เครื่องกลายเป็นพระเจ้าที่ตัดสินใจแทนมนุษย์ เป็น The Brave New World ที่มนุษย์เคยใฝ่ฝันจะไปให้ถึง

หนังฮอลลีวู้ดมักแสดงว่าเครื่องจักรหลุดจากการควบคุมของมนุษย์ และกลายเป็นทรราชที่กดขี่มนุษย์เสียยิ่งกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง พระเอกและพรรคพวกคือคนที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปปิดเครื่องได้สำเร็จ แต่ที่น่ากลัวกว่าหนังฮอลลีวู้ดก็คือ มนุษย์เองนั่นแหละพร้อมใจกันที่จะไม่ปิดเครื่อง

เพราะมนุษย์เคยชินเสียแล้วที่จะไม่ต้องตัดสินใจ จึงเห็นการตัดสินใจของเครื่องจักรถูกต้องดีงามทุกทีไป และในยุคนั้น คงไม่มีใครอ่านอะไรอีกแล้ว เพราะการอ่านทำให้ต้องรวบรวมข้อมูลเอง, วิเคราะห์เอง และประเมินเอง อันเป็นสมรรถนะที่ไม่จำเป็นในชีวิตอีกเลย

 

 

ที่มา: www.matichonweekly.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

#MeToo สะเทือนถึงศาสนา ผญ.หลายคนเปิดโปงล่วงละเมิดทางเพศในคริสตจักรอังกฤษ

Posted: 03 Nov 2017 12:09 AM PDT

จากกรณี ฮาร์วี่ย์ ไวน์สไตน์ ผู้อำนวยการสร้างชื่อดังของวงการฮอลลีวูดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ส่งผลสะเทือนไปถึงคริสตจักรแห่งอังกฤษซึ่งสมาชิกระดับสูงคนหนึ่งของศาสนจักรเปิดโปงว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมากในทุกระดับชั้นแม้แต่ในสถาบันที่ดูมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำมาตรฐานทางศีลธรรมในสังคมอย่างศาสนจักรก็ตาม

The Church of England logo Version 2 (full colour)

โลโกของคริสตจักรแห่งอังกฤษ (ที่มา:Church of England)

3 พ.ย. 2560 มีนักบวชหญิงและบุคคลทั่วไปที่ทำงานในคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England หรือ C of E) พากันเปิดเผยเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศพร้อมติดแฮชแท็ก #MeToo ผ่านทางทวิตเตอร์ รวมถึง โจ ไบลีย์ เวลส์ บิชอปแห่งดอร์คิง พวกเธอยังเรียกร้องให้มีปฏิบัติการในเรื่องนี้อย่างเป็นอิสระเพื่อตอบสนองต่อกรณีการกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดและทารุณกรรมทางเพศ พวกเธอบอกอีกว่าการเปลี่ยนวัฒนธรรมและการปรับปรุงตัวเองของศาสนจักรมีความสำคัญกว่าการพยายามปกป้องชื่อเสียงของศาสนจักรเอง

เรเชล ทริวีค บิชอปแห่งกลูเชสเตอร์ บิชอปหญิงคนแรกที่ได้นั่งในสภาขุนนางของอังกฤษระบุว่าในขณะที่มีการพูดถึงกรณีการล่วงละเมิดทางเพศกันอย่างกว้างขวางพวกเขาเองก็ควรจะต้องพูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในหมู่ศาสนจักรเองด้วย การคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นใน C of E เลยถือเป็นเรื่องอันตราย ทริวีคจึงสนับสนุนให้มีคนเปิดเผยเรื่องนี้และควรมีการรับฟังอย่างจริงจัง

เจย์น โอซานน์ สมาชิกระดับสูงของสภาสงฆ์คริสตจักรแห่งอังกฤษเขียนจดหมายถึงสื่อเดอะการ์เดียนระบุว่าถ้าหากโครงสร้างอำนาจในศาสนจักรยังเป็นแบบเดิมรวมถึงถ้ายังห่วงแต่การปกป้องชื่อเสียงตัวเองก็จะไม่มีการแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศได้ และการก่อเหตุแบบนี้เกิดขึ้นในทุกลำดับขั้น มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงในศาสนจักรมากขึ้นแต่พวกเธอก็ไม่ได้รายงานเรื่องนี้

โอซานน์ยังเปิดเผยเรื่องราวของเธอเองว่าเธอก็เคยถูกนักบวชล่วงละเมิดทางเพศในช่วงราว 20-30 ปีก่อนหน้านี้แต่บิชอปก็แนะนำเธอว่าอย่ารายงานเรื่องนี้ เธอก็เชื่อตามและด้วยความรู้สึกอับอายกับความรู้สึกผิดก็ทำให้เธอปิดเงียบเรื่องนี้มาหลายปี

บาทหลวงชาร์ลอตต์ แบนนิสเตอร์-ปาร์กเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเชิร์ชออฟเซนต์มารีเดอะเวอร์จินในอ็อกฟอร์ดกล่าวว่ามีผู้หญิงที่เล่าเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศให้เธอฟังด้วยน้ำตา ในฐานะที่ศาสนจักรเป็นผู้นำมาตรฐานศีลธรรมในสังคมควรจะเป็นผู้นำในการยอมรับและแก้ปัญหานี้

มีหญิงที่ใช้นามสมมุติว่า "เฮเลน" เปิดเผยว่าเธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนักบวช 2 คน และรู้จักนักบวชอีกคนหนึ่งที่ล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงจำนวนหนึ่งมาเป็นเวลาหลายปี อาจจะมีอีกจำนวนมากนอกจากนี้ เธอะบุว่าจากประสบการณ์และการสังเกตในศาสนจักรเองก็มีคนแบบไวน์สไตน์อยู่ มีตั้งแต่นักบวชที่พูดจาแทะโลมผู้หญิงอย่างไม่เหมาะสมในแบบที่ทำให้พวกเธอรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเข้าร่วมพิธีกรรม บางครั้งก็มีการแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่ได้รับการยินยอม ไปจนถึงกรณีการล่วงละเมิดหรือข่มขืน มีการฉวยโอกาสล่อลวงคนที่ชีวิตกำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่และล่วงละเมิดทางเพศคนเหล่านั้น

นอกจากผู้หญิงแล้วเฮเลนยังบอกอีกว่าแม้แต่ผู้ชายจำนวนมากก็ต้องเผขิญปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน และเธอก็ได้เข้าใจว่าเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดถูกปฏิบัติแย่ๆ โดยผู้คนพยายามทำให้พวกเธอ "ก้าวข้ามมันให้ได้" แต่พวกเธอไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย

โฆษกทีมคุ้มกันระดับชาติของ C of E กล่าวว่าพวกเขาจะดำเนินการในเรื่องที่มีการกล่าวหานี้อย่างจริงจังและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มตวามสามารถ แม้ว่าจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นถึงเป็นรายกรณีได้แต่พวกเขาก็มีพันธะในการทำให้ศาสนจักรเป็นพื้นที่ปลอดภัยและจะรับฟังข้อเสนอที่จะช่วยพัฒนาพวกเขาได้ พวกเขายังแนะนำว่าถ้าหากมีกรณีการล่วงละเมิดทางเพศอย่างร้ายแรงควรมีการติดต่อขอความช่วยเหลือทางทางแพทย์และมีการแจ้งความกับตำรวจด้วย

เรียบเรียงจาก

Church of England urged to tackle sexual abuse within its ranks, The Guardian, 01-11-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสเปนฝากขัง 8 สมาชิกรัฐบาลกาตาลุญญาแล้ว ตัวผู้นำยังอยู่เบลเยียม

Posted: 02 Nov 2017 11:53 PM PDT

ระหว่างนี้ศาลสอบสวนคดีกบฏ ยุยงปลุกปั่น ใช้งบหลวงในทางมิชอบ ปุกเดมอนต์และพวกรวม 5 คน ที่เบลเยียมรับรู้แล้วว่ามีหมายแต่ยังไม่กลับ ผู้เชี่ยวชาญชวนดูรูโหว่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของอียู ชี้ ถ้าทีมกฎหมายเก่งสามารถยืดเยื้อ เตะถ่วงกระบวนการออกไปท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะตึงเครียดขึ้น

Audiencia-Nacional-141115.jpg

อาคารศาลสูงสเปน (ที่มา:วิกิพีเดีย)

เมื่อวานนี้ (2 พ.ย. 60) สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ของสหราชอาณาจักร รายงานว่า ผู้พิพากษาศาลสูงสเปนมีคำสั่งให้สมาชิกรัฐบาลท้องถิ่นประจำแคว้นกาตาลุญญาที่ถูกปลดออกไปหลังรัฐบาลกลางรวบอำนาจปกครองแคว้นมาอยู่ในมือด้วยมาตรา 155 ให้มารับการคุมขังเพื่อรอพิจารณาคดีหลังจากเป็นส่วนหนึ่งในการประกาศเอกราชของแคว้นกาตาลุญญาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

 

อาคารของรัฐบาลแคว้นกาตาลุญญา ที่เมืองกีโรนา ธงชาติสเปนถูกปลด และแทนที่ด้วยธงลา เอสเตลาดาของกาตาลุญญา

การ์เมน ลาเมลา ผู้พิพากษาศาลสูงสเปนสั่งฝากขังอดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลแคว้นเก่าทั้ง 8 จาก 9 คน ในจำนวนนี้รวมถึงโอริโอล ฆุนเกราส รักษาการแทนประธานาธิบดีแคว้น การ์เลส ปุกเดมอนด์ ที่เดินทางไปอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาพร้อมรัฐมนตรีอีกสี่คน โดยระหว่างนี้จะทำการสอบสวนความผิดที่เป็นไปได้ตามข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก ข้อหากบฏ และการใช้งบหลวงไปในทางมิชอบ

ลาเมลาระบุว่ารัฐมนตรีคนที่เก้าที่ได้ลาออกไปก่อนที่รัฐสภากาตาลุญญาจะลงมติประกาศเอกราชเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาสามารถได้รับการประกันตัวได้ด้วยหลักประกันจำนวน 5 หมื่นยูโรหรือประมาณหนึ่งล้านเก้าแสนสามหมื่นบาท ทั้งนี้ ทนายความของผู้ต้องสงสัยระบุว่า ผู้ต้องสงสัยจะอุทธรณ์คำตัดสินของศาลเพราะเห็นว่าเป็นการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม เกินเหตุและเป็นคำตัดสินที่ตัดสินเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

ส่วนปุกเดมอนต์ที่ตอนนี้พำนักอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ก็ถูกศาลเรียกตัวมาเพื่อส่งมอบหลักฐานในช่วงวันพฤหัสบดีและศุกร์นี้ ในเอกสารคำร้องของโจทก์ที่ส่งให้กับลาเมลานั้นระบุว่าปุกเดมอนต์และสมาชิกรัฐบาลอีกสี่คนทราบแล้วว่ามีคำสั่งให้มาให้การแต่กลับเลือกไม่ที่จะไม่มา

ผู้นำกาตาลุญญาหลบหนีไปเบลเยียมแล้วหลังอัยการสูงสุดขอศาลฟ้องสามข้อหา

เอล กลาซิโกการเมืองระอุ รัฐบาลมาดริดปลดรัฐบาลและ ผบ.ตร.กาตาลุญญาแล้ว

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

"มีความพยายามทั้งการส่งหมายเรียกตัวไปที่บ้านและโทรศัพท์หาอีกหลายครั้งแต่ทั้งหมดกลับไม่ได้รับการตอบรับ" "ในส่วนของปุกเดมอนต์นั้นได้แสดงเจตจำนงของตัวเองต่อสาธารณะแล้วว่าได้ตัดสินใจไม่ปรากฏตัวตามหมายศาลและได้เรียกร้อง...ให้ออกแถลงการณ์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยไม่ให้ข้อมูลว่าตัวเองอยู่ที่ไหน" คณะอัยการที่ทำหน้าที่โจทก์กล่าว

ในวันอังคารที่ผ่านมา พอล เบเคิร์ด ทนายความชาวเบลเยียมของปุกเดมอนต์ได้กล่าวกับ VRT ที่เป็นสื่อของเบลเยียมว่าปุกเดมอนต์และสมาชิกรัฐบาลอีก 4 คนทราบแล้วว่ามีหมายเรียก ทั้งยังระบุว่าอดีตผู้นำแคว้นกาตาลุญญาจะยังคงอยู่ในเบลเยียมต่อไป

"ปุกเดมอนต์จะอยู่ที่นี่ต่อ เขาบอกว่าเขาจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเบลเยียมอย่างเต็มที่ในระหว่างกระบวนการ" เบเคิร์ดกล่าว อย่างไรเสีย แหล่งข่าวจากศาลสเปนได้ออกมาระบุกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง

คำตัดสินฝากขังของลาเมลาที่มีขึ้นเพราะกลัวผู้ต้องสงสัยจะหลบหนีได้รับเสียงประณามจากนักการเมืองและกลุ่มภาคประชาสังคมในแคว้นกาตาลุญญาและที่อื่นๆ อากุสตี อัลโกเบโร รองประธานกลุ่มสมัชชาแห่งชาติกาตาลัน (เอเอ็นซี) กลุ่มที่ผู้นำของพวกเขา ฆอร์ดี ซานเชซ ถูกศาลสเปนสั่งจำคุกพร้อมกับฆอร์ดี กุยซาร์ต ประธานกลุ่มโอมเนียม คัลเจอรัลเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ออกมาระบุว่าเหล่าผู้นำที่ถูกจับตัวไปมีสถานะเป็นนักโทษการเมือง ทั้งยังทวีตผ่านทวิตเตอร์ว่า "(ถึง)รองประธานาธิบดีและเหล่ารัฐมนตรี พวกเราจะไม่หยุดจนกว่าพวกคุณจะได้รับเสรีภาพ"

อาดา โกเลา นายกเทศมนตรีบาร์เซโลนา เมืองหลวงของแคว้นกาตาลุญญากล่าวถึงการจับกุมดังกล่าวว่าเป็นวันที่มืดมนของกาตาลุญญา "รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างเป็นประชาธิปไตยตอนนี้อยู่ในคุก" เธอกล่าว "แนวรบที่(เรา)มีร่วมกันคือการทำให้นักโทษการเมืองเหล่านั้นได้รับเสรีภาพ"

ปุกเดมอนต์และพวก ผู้ร้ายข้ามแดน กับบททดสอบความเชื่อมั่นระหว่างสองชาติอียู

โอเวน โบว์คอตต์ นักข่าวด้านกฎหมายของเดอะ การ์เดียน รายงานว่า การปฏิเสธหมายเรียกของปุกเดมอนต์และการตัดสินใจที่จะอยู่เบลเยียมต่อไปอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างเบลเยียมและสเปนซึ่งอาจกินเวลายาวนานหลายเดือนไปจนถึงหลายปี

การ์เลส ปุกเดมอนต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่เพิ่งถูกรัฐบาลสเปนปลดไป (ที่มาภาพ:วิกิพีเดีย)

คำขอของคณะอัยการที่ทำหน้าที่โจทก์ในการฟ้องร้องที่จะให้ปุกเดมอนต์ถูกควบคุมตัวภายใต้หมายจับของยุโรป (European arrest warrant-EAW) จะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการเร่งรัดการส่งตัวผู้ต้องสงสัยระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไรเสีย คำตัดสินใดๆ ก็ตามทีมาจากศาลระดับล่างของเบลเยียมสามารถถูกจำเลยอุทธรณ์อันจะนำไปสู่การเกิดกระบวนการทางกฎหมายที่ยืดเยื้อที่จะดำเนินไปบนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียด

เป้าหมายของระบบ EAW คือการขจัดการแทรกแซงทางการเมืองในกรณีผู้ร้ายที่จะถูกส่งตัวข้ามแดนเป็นผู้ร้ายในคดีที่เป็นที่ถกเถียง โดยเงื่อนไขการใช้กระบวนการดังกล่าวมีแค่โทษจำคุกสุทธิอย่างน้อยหนึ่งปีตามข้อหาของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กว้างมาก ทั้งกระบวนการดังกล่าวยังไม่มีเงื่อนไขทางกฎหมายล่วงหน้าว่าประเทศคู่กรณีจะต้องมีข้อหาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันบัญญัติไว้ และไม่ได้ให้สิทธิผู้ต้องสงสัยที่จะปฏิเสธการส่งตัวในกรณีที่เจ้าตัวมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ระบบ EAW อนุญาตให้ประเทศปฏิเสธการส่งตัวผู้ต้องสงสัยหากการตามหาตัวเกิดจากเหตุผลด้าน "เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ สัญชาติ ภาษา ความเห็นทางการเมืองและรสนิยมทางเพศ"

กระบวนการ EAW จะต้องผ่านการรับรองจากผู้พิพากษาของเบลเยียมเสียก่อนว่าการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้นมีความได้สัดส่วนกับข้อหาและต้นทุนของการนำตัวปุกเดมอนต์และพวกกลับไป

แอนดรูว สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากสำนักกฎหมายคอร์เกอร์ บินนิง ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า สองโจทย์ที่สำคัญของศาลเบลเยียมคือหนึ่ง การพิจารณาว่าการขอตัวปุกเดมอนต์และรัฐมนตรีอีกสี่คนกลับนั้นมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ สอง ทางการสเปนมีการกระทำที่ดูเป็นอันตรายหรือไม่

"ความไว้วางใจต่อกันเป็นแกนกลางการทำงานของระบบ EAW ระหว่างชาติสมาชิกอียู แต่ว่ากรณีอันโดดเด่นนี้เหมือนจะเป็นเครื่องทดสอบขีดจำกัดของความเชื่อใจ" แอนดรูว กล่าว

ในทางเทคนิค หากปุกเดมอนต์และพวกมีทีมกฎหมายที่มีความคิดสร้างสรรค์ดี กระบวนการทางกฎหมายสามารถถูกเตะถ่วงได้จากการยื่นอุทธรณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก จูเลียน อาซซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีคส์ก็สามารถปกป้องตัวเองจากหมายจับยุโรปเป็นเวลาเกือบสองปีขณะที่อยู่ในสหราชอาณาจักรก่อนที่เขาจะหลบหนีไปอยู่ที่สถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอนจนถึงทุกวันนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ภายใต้บริบทของสหราชอาณาจักรที่ตอนนี้ยังไม่ได้ตกผลึกจุดยืนของตัวเองต่อระบบ EAW ภายหลัง 'เบร็กซิท' จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่าผู้ลี้ภัยชาวกาตาลันในอนาคต

เหตุการณ์ในปัจจุบันมีชนวนจากการที่รัฐสภากาตาลุญญาประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนฝ่ายเดียว โดยอ้างผลประชามติเรื่องการแยกตัวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมาที่มีผู้ออกมาออกเสียงร้อยละ 43 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ท่ามกลางการปิดกั้นการออกมาลงคะแนนเสียงด้วยไม้กระบองและกระสุนยางของตำรวจจากส่วนกลางที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บราว 750 คน รวมถึงการประกาศจากรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดว่าการประชามติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ผลปรากฎว่าร้อยละ 90 ของผู้มาออกเสียงเห็นสมควรว่าต้องแยกตัวจากสเปน

เมื่อ 10 ต.ค. เหล่าผู้นำท้องถิ่นในแคว้นลงนามในคำประกาศเอกราช การ์เลส ปุกเดมอนต์ ประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญา ณ ขณะนั้น ประกาศเอกราชในวันเดียวกัน แต่ยังไม่บังคับใช้เนื่องจากต้องการให้มีการเจรจากับรัฐบาลสเปนในเรื่องการแยกตัว รัฐบาลสเปนตอบโต้ท่าทีดังกล่าวด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 155 เข้าปกครองแคว้นกาตาลุญญาโดยตรงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ล่าสุด มีคำสั่งจากรัฐบาลกรุงมาดริด ปลดรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันทั้งชุด รวมถึงผู้บัญชาการกองตำรวจท้องถิ่นหรือตำรวจโมสโซสด้วย ทั้งยังประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้

ปัจจุบัน กาตาลุญญาถูกสเปนปกครองโดยตรงตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้วหลังวุฒิสภาสเปนอนุมัติให้รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอย ใช้อำนาจตามมาตรา 155 แห่งรัฐธรรมนูญสเปนได้ โดยมาตรา 155 ให้อำนาจรัฐบาลกลางบริหารระบบราชการพลเรือน กองกำลังตำรวจ การเงินและสื่อสาธารณะของกาตาลุญญาได้

หลายพรรครัฐสภายุโรปกังวลกาตาลุญญาแยกตัว ชี้ถ้าออกจากสเปนคือออกจากอียูด้วย

กาตาลุญญาถึงไทย: เข้าใจการเมืองเรื่องแคว้น บทเรียนของไทยจากสังคมที่โตแล้ว

คนหนุนกาตาลุญญาอยู่กับสเปนต่อ 3 แสนคนชุมนุมในบาร์เซโลนา

เปิดโผ 11 แข้งตัวจริง 'กระทิงดุ-กาตาลุญญา' หากแยกประเทศสำเร็จ

แปลและเรียบเรียงจาก

Spanish judge jails eight members of deposed Catalan government, The Guardian, October 2, 2017

Will Belgium hand Carles Puigdemont over to Spain?, The Guardian, October 2, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จันทนา ผีที่เฉือนเนื้อหนังตัวเองให้ผู้หิวโหย

Posted: 02 Nov 2017 11:28 PM PDT

"ให้แค่เดือนละไม่เกิน 3,000 นะ จะได้มีใช้นานๆ " ข้าพเจ้ารีบตะครุบมือดึงเอาโทรศัพท์จากผู้ร่วมเยี่ยมคนงาม ก่อนจะกรอกเสียงลงไปในสายเพื่อสื่อสารกับคนที่อยู่อีกฝั่งของกระจกลูกกรง

น้าซีพยักหน้าหงึกๆ  ก่อนจะตอบปนขำว่า "กลัวเจ้เอาไปแจกชาวบ้านใช่ไหม" ข้าพเจ้าขำก่อนจะส่งโทรศัพท์คืนให้คนงามที่อ้ำอึ้งค่อยๆ บอกเล่าเรื่องราวและการมาถึงของเธอให้น้าซีฟัง ข้าพเจ้าเห็นน้าซีร้องไห้ต่อหน้าคนแปลกหน้าที่เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก การอ่านปากผ่านกระจกกั้น พอจะเดาได้ว่า แกกำลังพร่ำพรูความเจ็บช้ำน้ำใจที่ต้องเจอและความตื้นตันกับการช่วยเหลือในครั้งนี้ ให้ผู้ร่วมสนทนาฟัง ทั้งคนในคนนอกน้ำตาคลอปิ่มว่าจะร้องไห้ออกมา

ใช่สิ ผู้คนมากมายตั้งคำถามว่า ก็ในเมื่อน้าซีเป็นนักโทษการเมืองคนเดียวที่นั่น ทำไมเราจะต้องซื้อของไปบริจาคให้นักโทษทั้งเรือนจำ

"เธอก็รู้ว่าการให้จะสร้างคุณูปการให้ชีวิตเรามากมายแค่ไหน พวกเขาก็ถูกกดขี่เหมือนๆ กันกับเรานี่แหละ ยิ่งเป็นนักโทษ เป็นคนผิด ยิ่งโดนกดขี่" น้าซีอธิบายให้ข้าพเจ้าฟัง ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าเข้าใจอยู่แล้ว แต่แกก็ยังจะย้ำให้ข้าพเจ้าฟังอีกครั้ง คงเพราะกลัวว่าข้าพเจ้าจะใจแข็งจนไม่ยอมช่วยเพื่อนๆ ของแกด้วย

ทันทีที่เข้าเยี่ยม ก่อนที่ใครต่อใครจะเข้าให้กำลังใจ ข้าพเจ้าตั้งสติอธิบายความคืบหน้าทางคดีของน้าซีให้แกฟัง

"สรุปแล้ววันที่ 7 พฤศจิกายนนี่ คดีที่ตราดก็จะยังไม่จบ ทั้งๆ ที่เจ้ถูกขังอยู่ที่นี่มาจะครบ 84 วันแล้วนะ"น้าซีทวนถามข้าพเจ้าพร้อมกับพรั่งพรูความเจ็บช้ำน้ำใจอีกยกใหญ่

ใช่แล้ว แม้น้าซีจะถูกขังอยู่ที่เรือนจำตราดนี่มาจนจะครบกำหนดฝากขังสูงสุดคือ 7 ฝาก ฝากละ 12 วัน แล้วแต่การจำคุกที่ตราดนี่ ยังอยู่ภายใต้การจำขังและนับโทษตามคดีที่ 1 (คดีแรก) แม้ว่าน้าซีจะทำเรื่องขอย้ายไปที่ตราดเพราะต้องการจะให้มีการพิจารณาคดีที่ 2 ของตนโดยเร็ว

"ถ้างั้นการย้ายมาที่นี่ก็ไม่มีความหมาย ทำไมกระบวนการยุติธรรมมันถึงเป็นแบบนี้ เจ้จะเขียนจดหมายร้องเรียนไปที่อธิบดี ทำไมคุณย้ายเรามาแล้วไม่ประสานงานอะไรเลย นี่อัยการก็ยังไม่รู้เรื่องคดีเจ้อีก นี่มันอะไรกัน เจ้จะเขียน เจ้จะร้องเรียน คุณทำแบบนี้กับประชาชนได้ยังไงเจ้ไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว….เจ้ทนไม่ได้ที่ต้องเห็นความไม่เป็นธรรมแล้วทำอะไรไม่ได้  ถ้าพวกมันจะให้เจ้ผิด เจ้ก็จะสารภาพ จะได้หมดเวลาทรมาณสักที จะได้จบสักที " ก่อนที่น้าซีจะพูดแล้วโมโหมากกว่านี้ ข้าพเจ้ารีบตัดบทให้แกได้คุยกับคนที่มาให้กำลังใจ ก่อนที่เวลาอันจำกัดจำเขี่ยจะหมดลง สีหน้าโกรธเกรี้ยวผ่อนคลายลง ชื่นตา ชื่นใจ มากขึ้นอีกหน่อย

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ทำได้ ในที่สุดข้าพเจ้าก็ทำให้ภาพที่ข้าพเจ้าอยากเห็นเกิดขึ้นได้จริงๆ ภาพที่โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นกับนักโทษที่มีชื่อเสียงในสังคมฝ่ายประชาธิปไตย ในโลกออนไลน์ ในการเคลื่อนไหว ขณะนี้มันเกิดขึ้นกับชีวิตของนักโทษ ที่เป็นเพียงคนเล็กคนน้อยจริงๆ  

0000

"ถ้าหนูออกไปแล้ว หนูจะหาคนมาเยี่ยมเจ้เยอะๆ " ข้าพเจ้าเคยบอกกับน้าซีขณะนั่งกินไข่พะโล้ที่แกแอบเอาออกจากกองเลี้ยงมาให้ อยู่ริมรั้วตาข่ายกั้นเขตหน่วยงานขณะที่เรายังอยู่ด้วยกันในเรือนจำ

"ขอบใจมากไอ้น้อง แต่ พวกเขาจะไม่มาหรอก เจ้เป็นแค่ผู้หญิงบ้าคนหนึ่ง" แกพูดปนน้อยใจขณะที่ข้าพเจ้าตักไข่เข้าปากตุ้ยๆ 

แต่ตอนนี้น้าซีเห็นแล้วว่าข้าพเจ้าทำได้ แม้ว่าจำนวนคนจะไม่ได้มากเท่า  แต่กำลังใจที่ส่งไปพร้อมกับข้าวของที่บริจาคเผื่อแผ่ไปถึงนักโทษคนอื่นๆ ก็ทำให้น้าซีรับรู้ได้ถึงกำลังใจที่ส่งไปให้แก

"หนูจะเอาเงินมาฝากให้เจ้ ด้วยนะ แต่หนูจะหาเงินเอง จะไม่ขอรับบริจาคจากใครหรอก หนูกลัวคนเขาด่า มีคนหากินกับเงินบริจาคของนักโทษเยอะแยะข้างนอก แต่มันอาจจะน้อยหน่อยนะเดือนละ 200 พอไหมละ"  ข้าพเจ้าบอกน้าซี หลังกลืนไข่ลงคอ

แกขยี้หัวข้าพเจ้าพร้อมกับบอกว่า "เอาไว้เธอรวยเธอค่อยส่งเงินให้เจ้"

0000

นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้ายังทำไม่ได้ ข้าพเจ้ายังไม่รวย ทั้งยังต้องขอให้คนอื่นช่วยบริจาค ก็สิ่งที่น้าซีต้องการมันใหญ่ขนาดนี้ เดือนละ 200 คนไม่พอแน่ๆ  น้าซีคงเอาไปช่วยคนจนหมดไม่เหลือไว้ดูแลตัวเองแน่ๆ เลย แต่จะรอให้รวยก่อนก็ไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน เผลอๆ  น้าซีพ้นโทษออกมาแล้วข้าพเจ้าจะรวยได้หรือเปล่าก็ไม่รู้แต่สิ่งเหล่านี้สอนข้าพเจ้าว่า กำลังใจจากคนมากๆ  นั้นย่อมดีกว่ากำลังใจจากคนคนเดียว

"น้าซีๆ  แล้วถ้ามีคนเค้าจะทำของขายระดมทุนมาให้เจ้อีกหละเนี่ยมีคนอยากช่วยเยอะแยะเลย" ข้าพเจ้าแทรกถามขณะที่ผู้เยี่ยมใหม่ยังเก้กังที่จะพูดคุยกันเพราะเพิ่งเห็นหน้าคาตากันเป็นครั้งแรก

"พวกเขาเป็นใคร? เจ้รู้จักไหม?" น้ำเสียงแห่งความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นทันทีทันใด

ใช่สิ คนในโลกการเมือง คนที่เห็นอะไรต่อมิอะไรมามากมายย่อมจะหวาดระแวงสงสัย และกลัวถูกใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินมากที่สุด

"ให้พวกเขามาคุยกับเจ้เอง เจ้ไม่ใช่ตุ๊กตา"

ข้าพเจ้าเข้าใจคำตอบห้วนๆ อันนั้นดี คนอย่างน้าซีไม่ใช่คนที่จะขอรับความช่วยเหลือจากใครง่ายๆ  แกเคยเล่าให้ฟังว่าก่อนจะติดคุกแกเป็นผู้หญิงที่ทำมาหากิน ต่อสู้ด้วยตัวเองมาตลอด ทำงานเป็นเสาหลักของครอบครัวมาเสมอ สิ่งที่แกจะขอก็ไม่เคยขอเพื่อตัวเอง แต่เป็นการขอเพื่อคนอื่น เหมือนที่แกขอให้เราช่วยเหลือเพื่อนนักโทษในคุกเดียวกันนี้นี่แหละ และข้าพเจ้ารู้ว่าสิ่งที่แกต้องเผชิญก่อนหน้านี้คือความรู้สึกว่าตัวเองถูกใช้เป็นเครื่องมือ ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข้าไปติดคุกกับแก มีใครสักคนเอาเงินไปฝากให้แกใช้ทุกๆ เดือน โดยไปขอรับเงินมาจากใครอีกหลายๆ คน แต่แล้ววันหนึ่งคน คนนั้นก็หายไป "เขาเอาอิสรภาพของเจ้ไปขายกิน …..เธออย่าทำแบบนั้นกับเจ้นะ มีอะไรเธอบอกกับเจ้นะ" ขณะที่เราถูกขังอยู่หลังกำแพงสูงนั่น เราไม่รู้หรอกว่าคนข้างนอกมีเหตุจำเป็นอะไร ทำไมพวกเขาหายไป ทำไมพวกเขาไม่มาเยี่ยม พวกเขามีอันตรายไหม พวกเขาปลอดภัยหรือเปล่า ความมืดบอดของกรงขังทำให้เรามองทุกอย่างในแง่ร้ายได้เสมอ

หวังว่าคนข้างนอกจะเข้าใจ ความมืดบอดของเรา

.… เดือนหนึ่งเรายังยิ้มได้ สามเดือน เรายังอดทนได้ หกเดือน เราจะค่อยๆ เข้าใจว่ากำลังถูกทิ้ง จนครบปี เราจะรู้โดยกระจ่างว่า จะต้องอยู่ในนั้นโดยปราศจากความช่วยเหลือจากโลกข้างนอก

อย่างที่ข้าพเจ้าเคยบอก ความไว้วางใจคือกำแพงสูงใหญ่ของน้าซี เพราะมันถูกทำให้มั่นคงแข็งแรงด้วยประสบการณ์อันเลวร้ายที่แกต้องเผชิญ   ทั้งจากศัตรูและคนที่เชื่อว่าคือมิตร

การจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนที่ถูกหักหลังมานับครั้งไม่ถ้วนอย่างน้าซีจึงจำเป็นต้องใช้เวลายาวนานและต่อเนื่อง ในเมื่อรัฐไม่ได้รับผิดชอบต่อความบอบช้ำของนักโทษการเมืองคนไหน พวกเราจึงต้องมาดูแลกันเอง

บทสนทนาของข้าพเจ้ากับน้าซีถูกสลับกับคนใหม่ที่ไปเยี่ยม ให้น้าซีได้คุยกับคนอื่นๆ บ้าง

"เนี่ย…มีคนถามมาเรื่องลูกชายเขาเยอะมาก ว่าอยากช่วยลูกชายน้าซี แต่พอถามน้าซีแกก็บอกว่า ลูกแก 19 แล้ว และทำงานส่งตัวเองเรียนได้ ฉันจะไปตอบสาธารณชนยังไงละ" 

คนงามผู้นำพาข้าวของและส่งต่อเรื่องราวของน้าซีจากข้าพเจ้าให้สาธารณชนเปรยขึ้นด้วยความหนักใจ ขณะเดินออกจากห้องเยี่ยม หลังจากที่พะวงกับประโยชน์สูงสุดที่น้าซีควรจะได้รับจากการช่วยเหลือครั้งนี้อยู่ตั้งแต่เช้า

"ไม่ต้องห่วงลูกชายพี่นะคะ ลูกชายพี่เขาเก่ง ทำงานด้วยเรียนไปด้วย" 

คำตอบที่น้าซีตอบผู้เยี่ยมใหม่ หลังจากที่หล่อนเอ่ยถามเรื่องราวของลูกชาย (อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่)

"ไม่มีลูกที่ไหนอยากได้เงินจากการติดคุกของแม่ตัวเองหรอก บอกพวกเขาเท่านี้ พวกเขาจะเข้าใจ" ข้าพเจ้าปลอบใจหล่อน ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะเข้าใจสิ่งที่นักโทษและครอบครัวต้องเผชิญหรือไม่

"ภรณ์ทิพย์ นี่ๆ มาดูรูปลูกชายเจ้ หล่อมากเลย แสตมป์ใส่ชุด ร.ด.เขาส่งรูปมาให้เจ้ดู" น้าซีวิ่งกระหืดกระหอบมาหาข้าพเจ้าในบ่ายวันหนึ่งพร้อมรูปถ่ายใบเล็กในมือ

"โอ้โห หล่อนะเนี่ย" ใช่สิ ลูกชายน้าซีหน้าตาดีจริงๆ  แต่หลังจากข้าพเจ้าเปิดปากเอ่ยประโยคนั้นออกไปแล้ว น้าซีก็พูดถึงความเก่งกาจและรักศักดิ์ศรีของลูกชายไม่หยุดพร้อมกับเอารูปไปอวดเพื่อนๆ ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่กำลังแต่งตัวเตรียมเก็บขัง จนผู้คนหันมาสนอกสนใจรูปนั้น ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำธุระของตัวเอง  "ขี้อวดจริงๆ "  ข้าพเจ้านึกในใจ

"เขาไม่เห็นด้วยหรอกที่เจ้เป็นเสื้อแดง แต่เจ้ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเจ้เป็นเสื้อแดงเพราะอะไร ไม่ต้องเห็นด้วยหรอก แค่เข้าใจเหตุผลก็พอแล้ว"แกเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

"ตอนนี้ลูกชายเจ้ ทำงานที่ปั้มน้ำมัน ส่งตัวเองเรียนด้วยนะ เขาเก่งมาก เขารู้ว่าแม่เสียสละเพื่อคนอื่น เขาเลยต้องดูแลตัวเอง เจ้เป็นแม่ที่แย่จริงๆ  มัวแต่สู้เพื่อคนอื่น แต่ไม่เคยดูแลลูกตัวเองเลย แต่พอเขาโตเขาจะเข้าใจ"

ก่อนที่น้ำตาจะท่วมตาข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารีบลุกจากตรงนั้น ไปไหนก็ได้ เดินออกไป โดยอ้างว่าลืมของ น้าซีพยายามเรียกถามว่าลืมอะไรแต่ข้าพเจ้าก็วิ่งหนีออกมาจากตรงนั้น ก่อนที่น้ำตาจะหยดออกมา

เพราะข้าพเจ้าเองก็เอาแต่ทำโน่นทำนี่จนไม่สนใจครอบครัวเหมือนกัน เพียงแต่เราอยู่กันคนละสถานะเท่านั้น

"เธออย่าลืมไปเยี่ยมพี่น้องเราคนอื่นๆ เหมือนที่มาเยี่ยมเจ้นะ"

น้าซีตะโกนเพิ่มงานให้ข้าพเจ้าผ่านกระจก หลังจากเจ้าหน้าที่ปิดไฟ ตัดสายโทรศัพท์แล้ว

"อย่าดื้อนะ อดทนอยู่ที่นี่ไปก่อน พวกเราจะได้มาเยี่ยมได้"

ข้าพเจ้าฝากคำจากพี่สาวอีกคนที่พ้นคุกไปจากการประกันตัว ในคดีทางการเมือง ให้น้าซีมีกำลังจะอยู่ที่นั่นต่อไป

แต่ข้าพเจ้าจะเอาปัญญาที่ไหนไปเยี่ยมทุกๆ คนที่น้าซีพูดถึง ไม่มีใครสนใจคนตัวเล็กตัวน้อยหรอก ดูจากที่พวกเขาถูกทิ้งอยู่ในคุกมืดๆ นั่นสิ ไม่มีทั้งญาติ ไม่มีทั้งเพื่อน ทั้งๆ ที่ยอมได้แม้กระทั่งให้ตัวเองตายเพื่อจะให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีขึ้น

เอาเท่าที่ข้าพเจ้ารู้จักและถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน ทั้ง

สุภาพร มิตรอารักษ์ คดีปาระเบิดศาลอาญา

อัญชัน ตรีเลิศ  คดี 112

ณัฐธิดา มีวังปลา หรือพี่แหวน

และอีกหลายต่อหลายคนที่ข้าพเจ้าอ่านเรื่องราวของพวกเขาเพียง "ผ่านๆ " จากมิตรสหายที่ยังคอยช่วยเหลือกันและกันอยู่ ในต่างจังหวัด ข้าพเจ้าแอบคิดเอาว่า ถ้าแม่คนงามคนนี้พาคนไปเยี่ยมให้กำลังใจคนอื่นๆ ได้ก็คงจะดีไม่น้อย แต่ก็ต้องรีบดึงสติตัวเองกลับมา นี่ มันไม่ใช่หน้าที่อะไรของทั้งข้าพเจ้าและหล่อน เราเพียงแต่ช่วยคนที่เรารู้จัก คนที่เราอยากช่วย ก็เท่านั้น

"ฉันช่วยน้าซี เพราะฉันรู้จักเธอ และฉันก็อยากให้คนอื่นๆ ได้รู้จักเธอกับน้าซีเหมือนกัน" เจ้าของร่างเล็กๆ นั่นให้เหตุผลของการที่หล่อนลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างที่ตัวไม่เคยทำมาก่อนให้ข้าพเจ้าฟัง

มันคือความจริงที่ว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่ไปติดคุก ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้พบพวกเขา คงไม่รู้ว่ามีคนมากมายที่ไม่ได้อยู่ในกระแสถูกจองจำคุมขังอยู่ที่นั่นเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองของเขา นี่คงเป็นเหตุผลของสรรพสิ่งที่ส่งข้าพเจ้าไปที่นั่นกระมัง

และข้าพเจ้าจะต้องบอกท่านแต่ตามตรงว่า ต่อไปนี้ การขอรับบริจาคให้กับน้าซีของข้าพเจ้าและเพื่อนๆ  ก็จะจบลง เราได้เงินมากระดับหนึ่งแล้ว และยังมีผู้คนอีกมากมายต้องการความช่วยเหลือของท่าน  เอาไว้ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้ท่านฟังทีหลัง

ในวันนี้ ตราบใดที่น้าซียังอยู่ที่เรือนจำตราด ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ก็ยังเดินทางไปเยี่ยมแกได้ ฝากเงินให้แกได้ เดือนละไม่เกิน 3,000 บาท น้าซีไม่ได้ต้องการเงินก้อนใหญ่มากมาย เงินที่ได้มาคงไม่พอจะช่วยแกได้จนครบกำหนดโทษ แต่ก็อาจจะช่วยซื้อเวลาให้ข้าพเจ้าได้พยายามรวยจนสำเร็จ จะได้ฝากเงินให้แกด้วยตัวข้าพเจ้าเอง เพราะข้าพเจ้ารู้ว่ามีคนอีกมากมายที่ต้องการการดูแลจากสาธารณชน ขอเวลาให้ข้าพเจ้าสักหน่อยนะน้าซี

แต่ถ้าใครจะฝากเงินให้น้าซีด้วยตัวเองก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ท่านควรจะทราบเสียก่อนว่า

1.เรือนจำมีกฎ ห้ามนักโทษมีเงินในบัญชีเกิน 9,000 บาท ไม่ใช่ฝากได้เดือนละ 9,000 บาท นั่นแปลว่า ไม่ว่าจะโทษนานแค่ไหน ก็มีเงินในบัญชีได้ไม่เกิน 9,000 บาท หากเกินเรือนจำจะส่งคืนญาติ

2.ท่านสามารถส่งธนาณัติให้นักโทษได้ แต่ถ้านักโทษมีเงินในบัญชีอยู่แล้ว 9,000 บาท เงินที่ท่านส่งไปจะถูกตีกลับ

3.ท่านไม่สามารถส่งของกินหรือของใช้ใดๆ ไปให้นักโทษในเรือนจำได้ ทำได้เพียงให้นักโทษนำเงินไปซื้อของที่มีขายอยู่ภายในเรือนจำเท่านั้น

4.การฝากเงินให้นักโทษจะต้องเข้าเยี่ยมนักโทษก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถฝากได้

ท่านสามารถเขียนจดหมาย และ ส่งธนาณัติไปให้น้าซีได้  นอกเหนือจากที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบเงินจำนวนหนึ่งอยู่(แต่อาจจะต้องทำใจหากมีการส่งชนกันแล้วยอดเงินเกิน)

จันทนาวรากรสกุลกิจ
เรือนจำจังหวัดตราด 81 หมู่ 8 ถนน วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด 23000

ข้าพเจ้าหวังเพียงว่าทุกกำลังที่ช่วยน้าซีลงไป จะช่วยซ่อมแซมเลือดเนื้อที่พร่องไปเพราะการฉีกเฉือนตัวเองให้เป็นอาหารแก่ผู้คนที่หิวโหยได้บ้าง และหวังอีกเพียงว่า คดีที่เหลือของน้าซีจะจบลงโดยเร็วที่สุด อย่าให้คุกกลืนกินความหวังและความฝันของใครไปมากกว่านี้ และอย่าให้ความหวังบดขยี้ชีวิตของใครไปมากกว่านี้เลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยังไม่เคลียร์ 'ศรีสุวรรณ' ร้องนายกฯ ตั้ง กก.อิสระที่ไม่มีทหาร สอบ ปม 'อมเบี้ยเลี้ยงทหาร'

Posted: 02 Nov 2017 11:14 PM PDT

สมาคมฯพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ร้องนายกฯ ตั้งคณะกรรมการอิสระจากบุคคลภายนอก(ที่ไม่มีทหาร) ตรวจสอบ ปม 'อมเบี้ยเลี้ยงทหาร' เผยหากไม่ทำจะร้อง สตง. และ ป.ป.ช. สอบสวนและไต่สวนกรณีดังกล่าว ด้านโฆษก ทบ. ยันเบี้ยเลี้ยงทหารเกณฑ์ไม่เกี่ยวนายพล 

ภาพจากเพจ "God Of War V.3" 

 

3 พ.ย. 2560 จากกรณีมีการโพสต์ข้อความเผยแพร่ทางโซเชียล เรื่องการหักเงินเบี้ยเลี้ยงทหารชายแดนภาคใต้มีข้อความ "ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ได้รับใช้ชาติ ถูกเอาเปรียบจากนายพลใหญ่  จนทำให้เหลือเงินเดือนเพียงหลักสิบและหลักร้อยบาทเท่านั้น"

วันนี้ (3 พ.ย.60) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของสมาคมฯ เรื่อง ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการพิเศษจากบุคคลภายนอกตรวจสอบปัญหาการจ่ายเบี้ยเลี้ยงทหารในพื้นที่ภาคใต้ว่ามีการ "อมเบี้ยเลี้ยงทหาร" จริงหรือไม่

แถลงการณ์ระบุว่าถึงกรณีกระแสข่าวดังกล่าวนั้น กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ แม้โฆษกกองทัพบก ได้ออกมาแถลงแก้ต่างความว่า "ปกติเรื่องของเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนทหาร ในระดับหน่วยปฏิบัติส่วนใหญ่จะมีผู้บังคับบัญชาในระดับพันโท พันเอก เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่ในระดับชั้นนายพล ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องสิทธิประโยชน์ของทหารนั้น ทางผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญ โดยเน้นย้ำให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมโปร่งใส" รวมทั้งรองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าก็ได้ออกมาแถลงแก้ต่างด้วยในทำนองว่าผู้บังคับบัญชาทุกระดับได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิกำลังพลมาโดยตลอดนั้

แถลงการณ์ของสมาคมฯ ระบุด้วยว่า การออกมาแถลงแก้ต่างของกองทัพบกยังไม่สร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับการรับรู้และการสร้างความเข้าใจกันของสังคมไทยได้ ยังมีข้อปลีกย่อย ข้อสงสัยอื่น ๆ อีกมากมายที่โฆษกกองทัพบกยังไม่อรรถาธิบายและสังคมไทยยังสงสัย เช่น งบทหารในแต่ละปีโดยเฉพาะภาคใต้มีเยอะมาก งบซื้ออาวุธของกองทัพก็ได้เพียบ แต่ทหารชั้นผู้น้อยที่อยู่ในพื้นที่สีแดงได้เบี้ยเลี้ยงตอบแทนกลับน้อยมาก และทำไมการตั้งเบิกจ่ายจึงล่าช้า ก็ไหนว่าเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 แล้ว และทำไมต้องหักยิบหักย่อย แม้แต่ค่ารถยังถูกหักเหมารวมเท่าๆ กันเป็นไปได้อย่างไร กรณีมีนายทหารชั้นใหญ่ ๆ ทั้งหลายถอยรถใหม่เอี่ยม ทำบ้าน ทำรถกันมากนั้นจริงหรือไม่

กรณีมีข้อครหาว่ามีการลาพักของทหารแต่ยังมีการตั้งเบิกและเซ็นต์รับเบี้ยเลี้ยงกันอยู่นั้นจริงหรือไม่ และเงินเหล่านั้นไปตกอยู่ที่ใครหรือไม่ ร้านค้าสวัสดิการใครเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นร้านค้าส่วนรวมได้มีการปันผลกำไรให้กับทหารชั้นผู้น้อยเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่มีใครได้ประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้ และกรณีที่เกิดขึ้นหากไม่มีปัญหาจริง ทำไมข้อมูลข่าวสารในทำนองนี้จึงเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ทั้งทหารชั้นผู้น้อยและทหารพราน ฯลฯ

แถลงการณ์ของสมาคมฯ ระบุอีกว่า กรณีดังกล่าว ถ้าไม่มีควันย่อมไม่มีไฟ สมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายออกมาพูดความจริงกันเพื่อนำไปสู่การป้องปรามและการสร้างขวัญกำลังใจของทหารบกและทหารพรานชั้นผู้น้อยในพื้นที่ และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระจากบุคคลภายนอก(ที่ไม่มีทหาร)เข้าไปตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีเหตุหรือพฤติการณ์ต่างๆ ตามที่สังคมครหาอยู่หรือไม่ เพื่อความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในกองทัพและที่สำคัญจะได้ป้องกันปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวกกันอีกด้วยและหากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการใด ๆ ตามคำร้องนี้ สมาคมฯ จำต้องนำความไปร้องเรียนต่อ สตง. และ ป.ป.ช. สอบสวนและไต่สวนกรณีดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไปด้วย

ผบ.ทบ.ยันเป็นเรื่องเข้าใจผิด 

Voice TV รายงานว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ชี้แจงว่า ทราบตัวทหารที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้องเรียนว่าถูกตัดเบี้ยเลี้ยงบนโลกออนไลน์แล้ว เป็นการโพสต์ข้อความที่ไม่ครบถ้วน และขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับทหารนายนี้แล้ว

สำหรับค่าตอบแทนของทหารในภาคใต้ ผบ.ทบ. ชี้แจงว่า จะเแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เงินเดือนประจำและเบี้ยเลี้ยงปกติ กับเบี้ยเสี่ยงภัยหรือเบี้ยสนาม ซึ่งเบี้ยเสี่ยงภัยจะได้รับทุกๆ 25 วัน แต่กำลังพลชุดนี้ เพิ่งลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานได้เพียง 20 กว่าวันเท่านั้น อีกทั้งเดือนตุลาคม เป็นช่วงเริ่มปีงบประมาณ ค่าเบี้ยเสี่ยงภัยจึงยังไม่ได้รับ

โฆษก ทบ. ยันเบี้ยเลี้ยงทหารเกณฑ์ไม่เกี่ยวนายพล 

ขณะที่วานนี้ (2 พ.ย.60) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. กล่าวถึง กรณีดังกล่าวว่า ปกติเรื่องของเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนทหาร ในระดับหน่วยปฏิบัติส่วนใหญ่จะ มีผู้บังคับบัญชา ในระดับพันโท พันเอก เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่ในระดับชั้นนายพล ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องสิทธิประโยชน์ของทหารทางผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญโดยเน้นย้ำให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมโปร่งใส

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ต่อกรณีดังกล่าว ต้องไปดูข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีเกิดขึ้นจริงกับใครหน่วยไหนอย่างไร. เพราะในอดีตเคยมีทหารเหลือเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงน้อย แต่เมื่อมีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของเจ้าตัวขณะอยู่ภายในหน่วย. ซึ่งกรณีนี้หากดูจากบัญชีจ่ายเบี้ยเลี้ยงในภาพประกอบยังไม่พบความผิดปกติ  จะเห็นตัวเลขรับมาเท่าไร หักค่าใช้จ่ายอะไรไป เหลือเท่าไหร่ ก็ตามมาตรฐานเกณฑ์กติกาที่ยอมรับกัน

"ขอเรียนว่าสำหรับพลทหารที่ปฏิบัติงานใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับค่าตอบแทนอยู่หลายส่วนนอกเหนือจากเบี้ยเลี้ยงแล้ว คือเงินเดือน เบี้ยเสี่ยงภัย เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว. รวมอีกราว 8,000-10,000 บาท  ซึ่งในประเด็นนี้อาจยังไม่ได้มีกล่าวถึง  ซึ่งข้อมูลที่ถูกหยิบนำเสนอนั้นยังไม่ครบถ้วนเป็นเพียงเฉพาะส่วนของเบี้ยเลี้ยงอย่างเดียว ขอยืนยันว่าหน่วยดูแลทหารอย่างดีที่สุดตามนโยบายของกองทัพ และพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บังคับบัญชาการทหารบก." พ.อ.วินธัย กล่าว

พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามต่อกรณีนี้ ทุกหน่วยจะได้มีการตรวจสอบ ว่าประเด็นที่มีการถูกหยิบมานำเสนอนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร. เกิดขึ้นกับใครหน่วยไหนจริงหรือไม่อย่างไร. ยิ่งถ้าพบว่ามีการกระทำใดๆ ที่ดูไม่เป็นธรรมกับกำลังพลระดับพลทหารจริง ทางผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบ ตามลำดับชั้น คงจะต้องดำเนินเอาเรื่องให้อย่างแน่นอน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น