โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กรณียุบพรรค CNRP ในกัมพูชา

Posted: 17 Nov 2017 07:37 AM PST

เรื่องยุบพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (The Cambodia National Rescue Party) ไม่มีอะไรเกินความคาดหมายเพราะฮุนเซนเตรียมการมานานก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยซ้ำไป แต่เหตุการณ์นี้ก็สะท้อนพัฒนาการในกัมพูชาคือ

หลักนิติรัฐในกัมพูชายังไม่เกิด เพราะรัฐบาลออกกฎหมายมาเล่นงานพรรคนี้โดยเฉพาะ ประธานศาลฎีกาที่ตัดสินคดีนี้คือ ดิท มนตรี (Dith Munty) คือสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคประชาชนกัมพูชา ระบบยุติธรรมกัมพูชาเหมือนของไทยและประเทศอื่นในย่านนี้ (แม้ว่าจะพัฒนามาต่างกัน) คือตุลาการอยู่ภายใต้การกำกับของชนชั้นนำ ยังแยกตัวเป็นอิสระไม่ได้อย่างแท้จริง

ระบอบการเมืองแบบพหุนิยม (หลายพรรค) ยังไม่สามารถสถาปนาได้อย่างมั่นคงในกัมพูชา แม้ว่าจะมีการวางรากฐานจากสหประชาชาตินับแต่การเลือกตั้งปี 1993 มาแล้วก็ตาม

กระแสการเมืองแบบอำนาจนิยมในโลกและภูมิภาคนี้ เป็นแรงส่งสำคัญให้ฮุนเซนสร้างความมั่นคงทางการเมืองให้กับตัวเองด้วยวิธีการนี้ เขาสามารถอ้างว่าสหรัฐบ่อนทำลายความมั่นคงของเขาได้โดยทรัมป์ไม่ว่าอะไร

ประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะจะแทรกแซงการเมืองกัมพูชาได้อีกต่อไป เพราะนอกจากสายสัมพันธ์ตั้งแต่รุ่นสงครามเย็นแล้ว ชนชั้นนำไทยยุคหลังๆไม่ค่อยรู้จักเขมรเท่าไหร่ คนรุ่นใหม่ที่ใกล้ชิดกับชนชันนำไทยนั้น อยู่ในสายฮุนเซน เสียเป็นส่วนใหญ่ เครือข่ายสม รังสี และเขม สุขา นั้นส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป ไม่มีข้อมูลว่าพวกเขาสนิทสนมกับชนชั้นนำกลุ่มใดในประเทศไทย ในกองทัพยิ่งไม่น่าจะมี แม้ว่าจะเป็นประจักษ์ชัดว่า พวกอีลิทในกองทัพไทยจะไม่ค่อยชอบขี้หน้าฮุนเซนสักเท่าไหร่ (หน้าฉากก็ทำตัวอี๋อ๋อหนิดหนมไปอย่างนั้นแหละ) แต่ดูเหมือนไม่คิดจะหาทางเลือกอื่น

แต่สังคมเขมรทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ครองอำนาจ (เกิดยุคหลังเขมรแดงอายุ 35 ปีลงมาเป็นส่วนใหญ่) พวกเขาไม่ได้เกลียดฮุนเซน แต่ไม่ได้คลั่งไคล้เท่าไหร่ ที่สำคัญมองหาอะไรใหม่ๆ เสมอ โดยที่พรรคซีพีพีนั้นไม่ค่อยจะมีอะไรใหม่มานำเสนอให้ถูกใจได้แล้ว ไม่แน่ว่ายุบ CNRP แล้วจะทำให้คะแนนนิยมซีพีพีสูงล้ำอยู่พรรคเดียว

 

 

ภาพประกอบ: ย่ำสนธยาที่พนมเปญ 2017

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจรจาข้อพิพาทแรงงาน สร.ไทรอัมพ์ฯ - นายจ้าง รอบที่ 11 ยังไม่ได้ข้อยุติ นัดใหม่ 24 พ.ย.นี้

Posted: 17 Nov 2017 06:44 AM PST

หลังยื่นข้อเรียกร้องสวนกันระหว่าง สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ - นายจ้าง จนเกิดเจรจาข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 11 ยังไม่มีข้อยุติ นัดใหม่ 24 พ.ย.นี้ กรรมการสหภาพฯระบุปีนี้เรียกร้องน้อยมาก แต่บริษัทประกาศแช่่แข็งค่าจ้าง 3 ปี แม้มี OT ตลอด

 
ภาพสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เดินทางมาให้กำลังใจและฟังผลการเจรจา ที่ สำนักงานสวัสดิการฯ จ.สมุทรปราการ เย็นวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา
 
17 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าวานนี้ (16 พ.ย.60) เวลา 10.00 - 17.00 น. ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 11 ระหว่างผู้แทนบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กับ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย โดยเวลาประมาณ 16.30 น. มีสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ประมาณ 50 คน เดินทางมารอให้กำลังใจตัวแทนเจรจาและฟังความคืบหน้าด้วย 
 
ภายหลังเจรจา ผู้สื่อข่าวสอบถาม กรชนก ธนะคุณ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ฝ่ายการศึกษา เปิดเผยว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 11 ยังไม่สามารถตกลงกันได้ และมีการนัดเจรจาอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ย.นี้ โดยสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีการเจรจาภายในโรงงานกัน 4 ครั้งก่อนเข้าสู่กระบวนการพิพาทแรงงานเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา 
 
กรชนก กล่าวด้วยว่า พอเรายื่นข้อเรียกร้องไป ทางบริษัทก็ยื่นข้อเรียร้องสวนกลับมา หลายอย่าง โดยสรุปคือไม่จ่าย และใช้คำว่า แช่่แข็งค่าจ้าง 3 ปี เพื่อให้บริษัทมีความมั่นคงและอยู่รอด ขณะที่ข้อเรียกร้องของสหภาพฯ มีประเด็น ค่าจ้าง สวัสดิการ ค่าครองชีพ โบนัส กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพิ่มเงินเกษียณอายุ ปีนี้สหภาพฯ ยื่นข้อเรียกร้องไปน้อยมาก โดยขอขึ้นค่าจ้างไปที่ 2.18% เท่านั้น
 
กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า การเจรจาที่ผ่านมายังไม่สามารถที่จะตกลงกันได้เลย ซึ่งทุกครั้งที่บริษัทยื่นลับมาก็จะมีข้อเรียกร้องสวนกลับซ้ำมาตลอด โดยเป็นการปรันขึ้นแบบมีเงื่อนไข เช่น หากต้องการขึ้นเงิน 1% ก็ต้องทำให้ให้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเรารับไม่ได้
 
อย่างไรก็ตาม กรชนก ยืนยันว่าในปีนี้บริษัทยังมีการทำงานล่วงเวลา (OT) เพราะว่าช่วงเจรจาบริษัทก็จะให้ทำ OT ตลอด วันที่มีการเจรจาบริษัทก็ยังมีการชวนให้คนงานไปทำ OT อยู่ ขณะที่การยื่นขอปรับสภาพการจ้างของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จะยื่น 3 ปีครั้ง 
 
กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยัง แสดงความกังวลจากคำสั่ง คสช. เรื่องการห้ามชุมนุม โดยระบุว่า มันเป็นผลเสียกับคนงานที่ไม่สามารถมาร่วมตัวจัดกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น การชุมนุม 
 
 
สำหรับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2523 ในอดีตเป็นพนักงานบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด จนปี 2533 มีการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อการผลิตโดยใช้ชื่อว่า  บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ และอื่นๆ ตั้งอยู่ นิคมอตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ แลต่อมาได้ขยายโรงงานผลิตเพิ่มเติมที่ จ.นครสวรรค์ 
 
จากเอกสารคำชี้แจงของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ระบุว่า การต่อสู่เรื่องสภาพการจ้างงานมีมาอย่างยาวนาน จนมีการเลิกจ้างคนงานครั้งใหญเมื่อปี 2552 เปลี่ยนแปลงผู้บริหารรวมทั้งรูปแบบการทำงาน จนปัจจุบันมีคนงานอยู่ที่บางพลี 1,400 คน จ.นครสวรรค์ประมาณ 1,200 คน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาเซียนไม่ใช่ของเรา #1: รัฐแสดงนำ ภาคประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วม และเอ็นจีโอปลอม

Posted: 17 Nov 2017 04:46 AM PST

ส่วนร่วมภาคประชาชนภาพรวมที่น้อยนิด ผลักดันประเด็นไม่ได้ และข้อสังเกตด้านพัฒนาการ โครงสร้างอาเซียนไม่เอื้อการมีส่วนร่วม ชาติสมาชิกปิดประเด็นจากประชาชนเอง GONGO (กองโก้) - เอ็นจีโอปลอม (?) ตัวแทนรัฐในเวทีประชาชน ความท้าทายของประชาสังคมในการเดินหน้าไปด้วยกัน

เรา บรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทน

รับทราบด้วยความพึงพอใจในความสําเร็จอย่างสูงและการขยายตัวของอาเซียน นับตั้งแต่มี การก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน

"เรา ประชาชน (We, the people)" เป็นคำแรกของประโยคแรกในอารัมภบทหน้าแรกของกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่รับรองกันเมื่อปี 2540 ท่ามกลางการรวมกลุ่มภายของสิบชาติในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปีนี้เป็นวาระดิถีครบรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งกรอบความร่วมมือภูมิภาคขึ้นมาตั้งแต่ปี 2510

ในเดือน พ.ย. ปีนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 31 ที่มีเวทีพูดคุยกับประเทศคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ รัสเซีย และองค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังมีแคนาดา และสหภาพยุโรปเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกรับเชิญพิเศษของฟิลิปปินส์ผู้เป็นเจ้าภาพที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินไปจนเสร็จสิ้นตามกรอบเวลา ถึงแม้จะพบเจอกับการประท้วง ต่อต้านจากกลุ่มประชาชนจนถึงกับมีการปะทะกันระหว่ามวลชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงมะนิลาก็ตามที

ภาพการจับมือในเวทีสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาเมื่อวันที่ 13-14 พ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มา: flickr/The ASEAN Secretariat)

ณ เมือง เกซอน ห่างจากกรุงมะนิลาไปราว 20 กม. ภาคประชาชนของอาเซียนก็มีการจัดเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนขึ้น (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum: ACSC/APF) เป็นการประชุมภาคประชาสังคมจากทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศติมอร์ เลสเต เข้าร่วมงานในพิธีเปิดจำนวนหลายร้อยคน คู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำ  

เปิดประชุมประชาสังคมอาเซียน-เรียกร้องรัฐสมาชิกตั้งกลไกการมีส่วนร่วม

ตลอด 50 ป่ีของการก่อตั้งอาเซียน การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการร่วมกำหนดชะตากรรมของภูมิภาคนั้นถือว่ามีน้อย นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกทั้งหลายยังมีแนวโน้มเพิกเฉยต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของ "เรา ประชาชน" แห่งอาเซียนอยู่เป็นระยะ

เมื่อเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ทวงถามความจริงให้บิลลี่และชัยภูมิ

แอมเนสตี้ฯ เปิดภาพ-พยาน ชี้กองกำลังเมียนมา 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ชาวโรฮิงญา

ไม่พอใจถูกตรวจสอบฆ่าตัดตอน-สภาฟิลิปปินส์หั่นงบกรรมการสิทธิฯ เหลือ 1 พันเปโซ

ศิลปินถือกระจกสะท้อน 32 ปีการจองจำนักโทษการเมืองสิงคโปร์-ก่อนถูกรวบตัว

สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทยยกเลิกงานแถลงสถานการณ์สิทธิฯในเวียดนาม

คำถามที่ตามมาคือ ภาคประชาชน ประชาสังคมของอาเซียนประสบกับความล้มเหลวในการส่งเสียงของประชาชนที่ถูกกดขี่และสะท้อนปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิต่างๆ ประเด็นสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองทางสังคม ฯลฯ หรือไม่ อะไรเป็นปัญหาที่ทำให้ท้ายที่สุด อาเซียนกลับกลายเป็นของรัฐบาลไป

อาเซียนไม่ใช่ของเรา ตอนที่ 1 พาผู้อ่านสำรวจภาพรวมพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเวทีอาเซียน สภาพการก่อตัวของประชาสังคมที่ก่อร่างช้ากว่าอาเซียนของรัฐ ข้อสังเกต บทบาทของภาคประชาสังคมที่สนับสนุนโดยรัฐบาลในเวทีภาคประชาชนที่ส่งผลให้เกิดคำถามต่อความทุลักทุเลของขบวนภาคประชาสังคม

ส่วนร่วมภาคประชาชนภาพรวมที่น้อยนิด ผลักดันประเด็นไม่ได้ และข้อสังเกตด้านพัฒนาการ

ศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์ จากมูลนิธิส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการอำนวยการภาคประชาชนอาเซียน (Regional Steering committee) จากประเทศไทย กล่าวว่าส่วนร่วมบทบาทภาคประชาชนอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก อันเป็นผลมาจากทัศนคติของประเทศสมาชิกที่ไม่ยอมรับภาคประชาสังคม ต้นเหตุของปัญหามาจากโครงสร้างกระบวนการของอาเซียนในภาพรวมที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจทิศทางในประเด็นต่างๆ และโครงสร้างการสื่อสารในอาเซียนยังไม่มีการพูดคุยกันที่ดีพอ และไม่มีพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุย

ศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์

"(ส่วนร่วมภาคประชาชน) น้อยมาก โดยเฉพาะอาเซียนโดยรวม เราก็รู้ว่า บางประเทศไม่เปิดรับอยู่แล้ว อาเซียนเวลามีส่วนร่วมใหญ่ๆ อย่างเช่นการพบกับผู้นำเพื่อหารือก็มีบางประเทศที่ไม่ยอมรับภาคประชาสังคม" ศันศนีย์ กล่าว

"ในกระบวนการทำเอกสารต่างๆ ของอาเซียนไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาหรือข้อตกลงจะไม่ผ่านการหารือกับภาคประชาสังคม หรือบางครั้งมีการจัดบ้าง แต่เอกสารไม่มีการแชร์ เวลาร่างแล้วก็อาจจะมีการจัดบ้างบางประเทศ แต่ในระดับภูมิภาคเกิดขึ้นได้น้อย จะมีก็แต่เมื่อตอนร่างกฎบัตรอาเซียนที่มีการพบปะ ปรึกษากับภาคประชาสังคม แต่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารรายย่อย รายเสานั้นไม่มี เขาก็บอกว่าไม่เปิดเผยเพราะเอกสารนั้นเป็นร่าง จะเปิดเผยก็ต่อเมื่อลงนามแล้ว"

กระบวนการของเวทีภาคประชาชนอาเซียนจะเริ่มต้นจากการหารือกันถึงประเด็นปัญหาต่างๆ จากประชาสังคมที่เข้าร่วม จากนั้นจะไปสู่การร่างแถลงการณ์ร่วมกัน และหาตัวแทนจากภาคประชาชนแต่ละประเทศไปแถลงในประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งเป็นที่ๆ พวกเขาจะได้พบกับผู้นำจากชาติสมาชิก กระนั้น ศันศนีย์ระบุว่า การแถลงถึงปัญหาต่างๆ ยังไม่นำไปสู่พูดคุยต่อยอด และติดตามแก้ไขปัญหานั้นๆ ต่อไปในอนาคต การพบกันเพื่อแถลงจึงเป็นไปในลักษณะพิธีการเท่านั้น แต่ทางภาคประชาสังคมก็พยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือให้เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี แต่ก็มีความคืบหน้าเพราะอย่างน้อยในส่วนการแถลงการณ์ก็มีการขยายเวลาแถลงการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นระยะๆ

กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ประเด็นเขื่อนปากมูล หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีภาคประชาชนอาเซียนครั้งนี้ให้ความเห็นว่าการก่อร่างสร้างตัวของภาคประชาชนในอาเซียนเกิดขึ้นช้ากว่าการรวมตัวของอาเซียนในระดับรัฐต่อรัฐเป็นสาเหตุที่ทำให้อำนาจต่อรองยังน้อย แต่หากมองจากมุมของประเทศไทยก็พบว่ารัฐบาลพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีภาคประชาชน ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญ แต่กระนั้นภาคประชาชนยังไม่ถึงจุดที่จะผลักดันข้อเสนอให้อาเซียนทำตามได้

 

กฤษกร ศิลารักษ์

"ผมถือว่าภาคประชาชนรวมตัวกันค่อนข้างช้า เท่าที่รู้คือเพิ่งรวมกันไม่น่าจะเกินสิบปี ในขณะที่อาเซียนของรัฐรวมกันห้าสิบปีแล้ว การก่อรูปของภาคประชาชนที่จะสร้างอำนาจต่อรองต่อฝ่ายอาเซียนของรัฐย่อมน้อยเป็นธรรมดา ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเอกภาพยังไม่เกิดขึ้น อำนาจต่อรองย่อมน้อยอยู่แล้ว แต่ปฏิกิริยาของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะไทย ที่หันหน้ามาจับตาการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) ที่มาเข้าร่วมเวที ACSC/APF แทบทุกครั้งการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐก็ถือว่าเขาให้ความสำคัญ และกรณีอย่างเช่นการรับรองคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) กระทรวงการต่างประเทศก็เคยถามมาที่เวที ACSC/APF ว่ามีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าเหล่านี้คือการทีรัฐเริ่มให้ความสำคัญกับท่าทีของเวทีภาคประชาชนพอสมควร อย่างเช่นกรณีข้อเสนอปีที่แล้วที่ภาคประชาชนรับรองให้ติมอร์ เลสเตเป็นสมาชิกภาคประชาชนประเทศที่ 11 ก็ถูกนำไปถกเถียงในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ผมก็คิดว่ามันเริ่มมีการตระหนักถึงบทบาทของเวทีภาคประชาชนอาเซียนอยู่ระดับหนึ่ง เพียงแต่ข้อเสนอที่แหลมคมที่จะกระทุ้งให้อาเซียนทำตาม มันยังไม่ถึงขั้นนั้นก็จริง แต่มันก็เริ่มเป็นพัฒนาการที่รัฐก็จะนิ่งเฉยต่อเสียงทักท้วงเรียกร้องของประชาชนไม่ได้ ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพอยู่นะ" กฤษกรกล่าว

โครงสร้างอาเซียนไม่เอื้อการมีส่วนร่วม ชาติสมาชิกปิดประเด็นจากประชาชนเอง

อีกหนึ่งปัญหาที่ถือเป็นจุดตั้งต้นการของความล้มเหลวของภาคประชาชนอาเซียนในการผลักดันให้รัฐบาลและภูมิภาคหันมารับฟังเสียงของพวกเขามาจากหลักการใหญ่ของอาเซียนสองหลักการ หนึ่ง หลักการที่ชาติสมาชิกจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่น และหลักการตัดสินใจระดับภูมิภาคด้วยระบบฉันทามติ (ทุกชาติเห็นตรงกันหมด) ที่ให้อำนาจกับรัฐบาลชาติสมาชิกในการปกปิดปัญหาและเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนไว้ใต้หลักการดังกล่าว

"สองหลักการว่าด้วยการไม่แทรกแซงเรื่องของประเทศอื่น (Non Inteference) และหลักการตัดสินใจแบบฉันทามติ (Consensus) นี้ถือเป็นปัญหาในการทำงาน นอกไปจากเรื่องเจตจำนงทางการเมืองของประเทศต่างๆ เราเรียกร้องได้แต่ว่าการที่อาเซียนจะเอาไปทำได้มันไปขึ้นอยู่กับหลักการใหญ่ว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ ถ้าถามว่าแล้วถ้าประชาสังคมในประเทศนั้นพบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ภาคประชาสังคมไม่สามารถมีปากเสียงในระดับประเทศหรือเรียกร้องถึงรัฐบาลได้ แต่ถ้าจะเรียกร้องไปทางอาเซียนในเวทีอาเซียนก็ไม่ได้รับการตอบสนองเพราะหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในจึงให้แต่ละประเทศจัดการกันเอง" ศันศนีย์อธิบาย

ตัวแทนคณะกรรมการอำนวยการเวทีภาคประชาชนจากประเทศไทยยังระบุว่า กระบวนการรับฟังข้อคิดเห็นและนำไปปฏิบัติของอาเซียนในภาพรวมนั้นไม่มี แต่อาจจะมีบางประเด็นย่อยๆ เช่นการคุ้มครองทางสังคม จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานส่วนมากมาจากชาติสมาชิกเป็นสำคัญแล้วจากนั้นจึงเข้าสู่ความเห็นร่วมในเวทีอาเซียนแล้วจึงมีการลงมติร่วมกัน "เราพยายามผลักดันเรื่องมาตรฐานคนทำงานในภาพรวมของอาเซียน เราก็พยายามผสานกับทางกระทรวงแรงงานเพื่อให้เขาผลักประเด็นนี้เข้าอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกันเราก็ผลักดันจากข้างนอกให้ประเด็นมันเคลื่อนไปได้ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีการตอบรับ"

ศันศนีย์ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาอาจมาจากความอ่อนแอของภาคประชาชนเองด้วยที่ตามประเด็นของภาครัฐบนกรอบความร่วมมืือของอาเซียนไม่ทันจนกลายเป็นฝั่งรัฐเป็นคนจัดตั้งประเด็นแล้วภาคประชาสังคมวิ่งตามอย่างเดียว "ถ้าถามว่ามีใครบ้างอ่านพิมพ์เขียวอาเซียน ถามว่ารู้ไหมว่าอาเซียนจะพัฒนาอะไร เมื่อไหร่ เราอาจจะไม่ได้ตามเอกสารเท่าใดนัก การเคลื่อนไหวของเรา เราก็มีความร่วมมือกันอยู่ เช่นประเด็นการสร้างเขื่อน ปัญหาที่ดิน ก็มีการพูดคุยร่วมกันบ้างอยู่ แต่ถ้าจะตามให้ทัน เราก็ต้องรู้ว่าเขาจะทำอะไรเมื่อไหร่ ตอนนี้เหมือนเราวิ่งตามแก้ปัญหา บางทีเราต้องศึกษาเพื่อไปดักหน้าว่า ถ้ามันจะมีจะทำให้เกิดอะไรก่อน เรียกว่าหยุดยั้งหรือชะลอมันก่อน"

GONGO (กองโก้):เอ็นจีโอปลอม (?) ตัวแทนรัฐในเวทีประชาชน ความท้าทายของประชาสังคมในการเดินหน้าไปด้วยกัน

สภาวะการรวมตัวของภาคประชาสังคมเองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ขบวนภาคประชาสังคมอาเซียนยังขยับไปได้ไม่ไกล สิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาในเวทีภาคประชาชนคือภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอที่จัดตั้ง หรือได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ (Government Non Government Organization - GONGO - กองโก้) ที่หลายคนเรียกไปจนถึงขนาดว่าเป็น "เอ็นจีโอปลอม" การปรากฏตัวและปฏิบัติการของกองโก้มีผลกับบทบาทของเวทีภาคประชาชนอาเซียนมาก และยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงต่อไปว่าใครกันแน่คือกองโก้ และกลไกการตัดสินใจในเวทีภาคประชาชนอาเซียนที่จะใช้รวบรวมความเห็นที่แตกต่างออกมาทิศทางการดำเนินงานจะทำได้อย่างไร

ศันสนีย์ กล่าวว่า GONGO คือเอ็นจีโอที่จัดตั้งโดยรัฐ หรือรัฐควบคุม ในเวที ACSC/APF จะเห็นได้ชัดเจนจากลาวและเวียดนาม จะมีปัญหาหน่อยหนึ่ง เพราะว่าพี่น้องที่ลาวที่ทำงานเรื่องทรัพยากร ที่ดิน แบบสมบัด สมพอน เขาก็ไม่สามารถมานำเสนออะไรได้เพราะกลัวว่ากลับไปแล้วจะมีผลกระทบอะไรกับเขาหรืออาจจะถูกจับตามอง เข้าประเทศไม่ได้ ทำให้ทำงานลำบาก

"ปัญหาของลาวกับเวียดนามก็มีความซับซ้อนระดับหนึ่ง อย่างเช่นในการประชุมครั้งนี้ที่มี NOC ของเวียดนามที่เขาบอกว่าเป็น GONGO แล้วก็มีเวียดนามที่มาจากต่างประเทศ ก็จะมีข้อขัดแย้งบนเวทีนิดหน่อย อย่างประเด็นการร่างแถลงการณ์ก็มีเนื้อหาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็คุยกับ NOC ของเวียดนามเขาบอกว่าคนเวียดนามกลุ่มมาจากต่างประเทศไม่ใช่คนสัญชาติเวียดนาม พี่ก็เลยถามว่า แล้วคุณยอมรับไหมว่ามีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นจริงในเวียดนาม เขาก็ยอมรับ แต่ก็บอกว่ามันไม่แฟร์ที่จะใส่เอาไว้ในแถลงการณ์"

"ในการขับเคลื่อนของเราก็อยากให้เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สำหรับไทยเองก็ต้องมองดูว่ามูลนิธิสภาสังคมสงเคราะห์ หรือมูลนิธิใดๆ ที่ลงท้ายด้วยคำว่าในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นประชาสังคมหรือเปล่า แล้วเขาเป็น GONGO หรือเปล่า พี่คิดว่าเราอาจจะต้องกลับไปนั่งคุยกัน"

กฤษกรเล่าประสบการณ์การพบเจอกับประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐว่า "ปีนี้การประชุม APF คนที่เข้าร่วมมีมาจาก 10+1 ประเทศ 1 คือติมอร์ เลสเต แต่ภาคประชาชนรับเป็นสมาชิกภาคประชาชนอาเซียนแล้ว แต่ทางการยังไม่มีการรับรอง ในกลุ่มคนที่มาจะมีอยู่สองส่วนภายใต้ความต่างระหว่างการทำงานและความเป็นอิสระของคนที่ทำงาน ภาคประชาชนในความหมายที่นิยามคือคนที่ทำงานพัฒนาที่ไม่ใช่รัฐ แต่เนื่องจากความหลากหลายของประเทศสมาชิกภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่ต่างกันทำให้คนทำงานภาคประชาชนไม่ได้แยกขาดจากรัฐ เป็นเอ็นจีโอที่ทำงานกับรัฐ ในความต่างตรงนี้ก็ทำให้ข้อเสนอที่เป็นข้อเท็จจริงที่นำมาถกเถียงกันมันมีข้อขัดแย้งกัน เช่น เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่มีการคุยกลุ่มย่อยเรื่องเหมืองแร่และพลังงาน ครั้งนั้นก็จะมีเอ็นจีโอจากกัมพูชาที่ทำงานกับรัฐ นำเสนอว่าเขื่อนมีประโยชน์และบริหารจัดการได้ ภายหลังก็มีตัวแทนชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นมาตอบโต้ว่าข้อมูลที่คุณพูดมาไม่เป็นความจริง คนท้องถิ่นไม่เห็นเช่นนั้น"

"เอ็นจีโอที่ทำงานกับรัฐเราเลยเรียกว่าเป็นภาคประชาชนของรัฐ ไม่ใช่ภาคประชาชนที่บริสุทธิ์จริงๆ เลยเรียกขาน ตั้งสมญานามว่า GONGO ทีนี้ GONGO ที่เห็นเป็นปรากฏการณ์จะมีอยู่สามประเทศ ได้แก่กัมพูชา ลาวและเวียดนาม อย่างกรณีเวียดนามชัดเจนมาก ตอนร่างแถลงการณ์ในห้องประชุมใหญ่ก็จะมีภาคประชาชนที่ได้รับผลจากการละเมิดสิทธิฯ จนครอบครัวเขาต้องลี้ภัยในต่างประเทศ เขาก็พยายามอธิบาย เรียกร้องสิทธิ ที่เขาถูกรัฐบาลละเมิดว่ารัฐบาลเวียดนามละเมิดสิทธิเขา แต่ในขณะเดียวกัน เอ็นจีโอที่มาจากเวียดนามเองก็มองว่าเขาเป็นคณะกรรมการตัวจริง คนที่พูดไม่ได้ฟังเสียงจากคนที่อยู่ในเวียดนาม ความต่างตรงนี้ทำให้เรามองว่าพวกนี้เป็นเอ็นจีโอที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งมันไม่ใช่บทบาทของเอ็นจีโอที่ทำกัน หน้าที่เอ็นจีโอคือการสะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งที่รัฐเข้าไปละเมิดสิทธิของชุมชน คนที่ออกไปปกปิดข้อมูลส่วนนี้แล้วมองว่ารัฐบาลทำดีแล้ว สวยงามแล้ว คนเหล่านี้ก็ไม่น่าจะทำในฐานะที่เป็นเอ็นจีโอหรือประชาสังคมอย่างแท้จริง เราไม่ได้มาฟังคำชื่นชมรัฐบาล แต่เรามาพยายามที่จะสะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมีผลกระทบอะไรกับชาวบ้านบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีความพยายามที่จะปกป้อง (รัฐบาล)"

(ยืน)ประชาสังคมจากเวียดนามจะบันทึกภาพและวิดีโอทุกครั้งที่มีสมาชิกคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นแสดงความเห็นในเวทีหารือเพื่อร่างแถลงการณ์ร่วมกัน

กลุ่มประชาสังคมเวียดนามที่ออกมาเคลื่อนไหวในเวทีประชาชนอาเซียนเพื่อตามหานักกิจกรรมที่ถูกรัฐจับไป ประชาสังคมเวียดนามที่ทำงานเหล่านี้บางคนก็กลับเข้าเวียดนามไม่ได้แล้ว

"อย่างกรณีของลาว คนที่จะเป็นเอ็นจีโอหรือคนที่จะมาร่วมประชุมคือคนที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาล จึงไม่มีโอกาสเลยที่ข้อมูลจะสะท้อนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ โดยรัฐ จะถูกนำมาเสนอในที่ประชุม ทุกข้อมูลที่นำเสนอก็จะพยายามบอกว่ารัฐบาล สปป. ลาว ทำนู่นนี่ดีตลอด การทำดีตลอดเป็นสิ่งที่เราควรต้องรับฟัง แต่เบื้องหลังการทำดีมันมีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ถูกนำมาเสนอ"

"มันเป็นเรื่องน่าเบื่อ คือจริงๆ แล้วรากหญ้าไม่มีพื้นที่สะท้อนการถูกละเมิดโดยรัฐบาลอยู่แล้ว แต่คนที่เอาข้อมูลมานำเสนอกลับพยายามปกป้องรัฐบาล พยายามเสนอข้อมูลสวยหรู ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่ว่าพื้นที่เลห่านั้นคือพื้นที่ของรัฐบาล ไม่ใช่พื้นที่ของภาคประชาชน คุณไม่พูดรัฐบาลก็พูดอยู่แล้ว น่าเสียดายโอกาสที่พวกเราจะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงจากพื้นที่ของภาคประชาชนจากเวียดนาม ลาว กัมพูชา รวมทั้งที่จะคิดค้นหาทางออกร่วมกันในฐานะพลเมืองอาเซียนมันก็ไม่เกิดขึ้น เป็นที่น่าเสียดายโอกาส"

"ขณะนี้ผมยังไม่ได้อยากจะคิดไปว่าอันนี้คือการวางแผนมาเพื่อที่จะคว่ำบาตร แทรกแซงภาคประชาสังคม แต่พฤติกรรมหลายๆ อย่างก็ทำให้เราต้องคิดเหมือนกันว่า หรือสิ่งที่เกิดขึ้นคือการตั้งใจมาเพื่อไม่ให้เกิดข้อสรุปในขบวนของภาคประชาชนหรือเปล่า ตรงนี้น่าเป็นห่วงมากเพราะมันจะสร้างรอยปริในขบวนการภาคประชาชนเอง อย่างไรก็ตาม ความเห็นต่างซึ่งบางครั้งมันหาจุดร่วมยาก แต่ผมว่าตรงนี้เป็นพัฒนาการของการเรียนรู้จากความแตกต่างทางวัฒนธรรมการทำงาน ในช่วง 2-3 ปีที่ได้เข้าร่วมขบวนการก็ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ตลอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคณะกรรมการที่รับผิดชอบการจัดงานได้คิดค้นเครื่องมือในการหาจุดร่วมถึงข้อขัดแย้งของประเทศนั้นๆ แต่ทำให้มติเอกฉันท์ ฉันทานุมัติไม่เกิด มันมีความพยายามหาจุดจบของเรื่องนี้ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้อยู่ เพราะอย่างไรก็ตามแต่ ไม่น่าจะมีใครกล้าถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาคประชาชนอาเซียน การที่เขาไม่กล้าถอนตัวน่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ฝ่ายที่เป็น GONGO เองต้องเปลี่ยยนท่าที เพราะถ้าคุณหลุดขบวนไป การที่จะกอบกู้กลับเข้ามาอย่างมีศักดิ์ศรีเป็นเรื่องยาก ผมคิดว่ายังมีโอกาสอยู่ว่าความเป็นเอกภาพอย่างพร้อมเพรียงกันจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะปีสองปี ซึ่งก็ถือเป็นพัฒนาการของการรวมตัวภาคประชาชนที่คิดว่าไม่นานเกินไป"

กฤษกรตั้งข้อสังเกตต่อเงื่อนไขและบริบทของไทยในฐานะเจ้าภาพเวทีภาคประชาชนอาเซียนในปี 2562 ว่าตอนนี้ไทยยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้เกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันจนกลายเป็นปฏิปักษ์กัน "แต่อาจเป็นรูปแบบขบวนที่เห็นต่างกันเวที ACSC/APF มีจุดยืนที่มีท่วงทำนองในการถนอมและประสานงานกับฝ่ายรัฐ เป็นหลัก ซึ่งในไทยเองก็มีกลุ่มที่มีสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างจะเป็นลักษณะของการเคลื่อนไหวมวลชน สองรูปแบบก็มีเป้าหมายเดียวกันคือปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนคนเล็กคนน้อย ความต่างของรูปแบบและวิธีการไม่น่าจะมีเหตุผลหรือปัจจัยเพียงพอที่จะทำให้เกิดการปะทะกันเอง แต่อาจจะมีความต่างของการแสดงออกในทางสัญลักษณ์ในการประชุมที่จะเกิดขึ้น ยังไม่กังวลถึงขนาดทีี่จะมี GONGO ที่สนับสนุนรัฐบาลได้"

"เรามีเวลาสองปีในการเตรียมตัว สิ่งที่คณะกรรมการต้องคิดหนักคือไม่ควรที่จะใจดีเกินไปว่าไทยไม่มีปัญหาอะไร ควรที่จะสร้างความเข้าใจที่จะดึงทุกภาคส่วนมาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ผมคิดว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รื้อคดีปี 53 จับเสื้อแดงอุบลคดีเผาโลงจำลองหน้าราชธานีอโศก

Posted: 17 Nov 2017 02:25 AM PST

ดักจับดีเจเสื้อแดงขณะนัดเจรจาซื้อขายที่ดิน โดนข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ประกันหกหมื่น เจ้าตัวเผยทำหน้าที่ดูแลเครื่องปั่นไฟและเครื่องเสียงในที่ชุมนุม ไม่ได้ร่วมเผาโลงจำลอง ขณะถูกควบคุมตัวถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารและถูกขอพาสเวอร์ดเข้าไลน์และเฟสบุ๊ค

<--break- />

มีรายงานว่าวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 13.30 น. บริเวณศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.วารินชำราบ ได้เข้าทำการจับกุมนายพงษ์ศักดิ์ ตุ้มทอง (ดีเจอึ่งอ่าง) วัย 46 ปี ด้วยข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองมากกว่า 10 คนขึ้นไป และต่อมาได้ทราบว่า นายพงษ์ศักดิ์ได้รับการประกันตัวออกมาแล้วด้วยเงินสดจำนวน 60,000 บาท ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ระบุว่าเป็นเงินที่ญาติต้องขอกู้ยืมมาหลังจากที่ถูกจับ
 
วันนี้ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามไปที่ ผู้ถูกจับกุมจึงได้ทราบรายละเอียดการจับกุมว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2553 นายพงษ์ศักดิ์กับพวกซึ่งเป็นคนเสื้อแดงได้ไปชุมนุมที่ราชธานีอโศก ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์สาขาของสันติอโศกในจังหวัดอุบล โดยกิจกรรมที่ได้ทำวันนั้นนอกจากการกล่าวปราศัยแล้วได้มีกิจกรรมเผาโลงศพจำลอง เพื่อเป็นการประท้วงท่าทีทางการเมืองของสมณะโพธิรักษ์ และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง  
 
พงษ์ศักดิ์ได้เล่าถึงรายละเอียดการทำกิจกรรมในการชุมนุมวันนั้นว่า วันนั้นตนได้รับหน้าที่ดูแลเครื่องเสียงและเครื่องปั่นไฟในงาน ไม่ได้ไปเป็นผู้ก่อเหตุเกี่ยวข้องกับการเผาโลงจำลองแต่อย่างใด สำหรับการเผาโลงก็ทำไปพอเป็นพิธีพอมีภาพโลงมีไฟลุกแล้วผู้ชุมนุมก็ดับไม่ได้ปล่อยให้ลุกไหมสร้างความเสียหายแต่อย่างใด 
 
พงษ์ศักดิ์เล่าต่อว่า หลังจากการชุมนุมในครั้งนั้นไม่นาน ได้เคยมีหมายเรียกเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ตนก็ได้ไปเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาโดยมิได้ขัดขืน และจากนั้นมาก็ไม่เคยมีการติดต่อจากทางเจ้าหน้าที่อีกเลยทั้งๆ ที่ก็ได้พักอยู่ในจังหวัดอุบลมาโดยตลอด ไม่ได้หลบหนีไปไหน แต่เรื่องก็เงียบหายไป ถ้ามีหมายเรียกมาก็จะไปพบเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ไม่รอให้ถูกหมายจับ 
 
ชายชาวอุบลวัย 46 ปี เล่าถึงเหตุที่ถูกจับกุมว่า ตนมีอาชีพเป็นนายหน้าค้าที่ ประกาศขายที่ดิในสื่อออนไลน์เช่นเฟสบุ๊คและไลน์ ก่อนการถูกจับกุม ได้มีผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Tawan... ติดต่อแสดงความจำนงว่ต้องการที่จะซื้อที่ดินที่ตนเป็นผู้ประกาศขาย และเมื่อติดต่อโทรนัดหมายจนได้มายังสถานที่นัดพูดคุยก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงตัวเข้าจับกุม เมื่อถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.วารินชำราบ ตนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาล 
 
พงษ์ศักดิ์กล่าวต่อว่าการจับกุมไม่ได้มีความรุนแรงใดๆ มีการแสดงหมายจับเป็นที่เรียบร้อย แต่หลังจากถูกควบคุมตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต โดยได้ขอพาสเวอร์ดเปิดแท็บเล็ตที่ล็อกอินเฟสบุ๊ค ไลน์และแมสเซนเจอร์ไว้ โดยที่ในขณะนั้นไม่ได้มีทนายความหรือนักกฎหมายให้คำปรึกษา แต่ตนได้ให้ความร่วมมือด้วยดี  และหลังจากได้ประกันตัวและได้รับมอบอุปกรณ์สื่อสารคืนในวันที่ 16 พฤศจิกายน แล้ว พบว่านอกจากที่จะได้มีการเข้าไปดูการสื่อสารในเฟสบุ๊ค แมสเซนเจอร์และไลน์แล้ว ยังได้มีการลบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Tawan... ออกจากโทรศัพท์ด้วย
 
พงษ์ศักดิ์กล่าวว่าไม่แน่ใจว่า การติดต่อซื้อขายที่ดินครั้งนี้จะเป็นการล่อซื้อหลอกมาจับหรือไม่ 
 
สำหรับในกระบวนการต่อไป เจ้าหน้าที่ได้นัดหมายพงษ์ศักดิ์ไปรายงานตัวที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากเป็นวันครบกำหนดฝากขัง 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ‘มวลชนจัดตั้ง’ ของทหารในยุคต้านประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาอยู่รอบตัวเรา

Posted: 17 Nov 2017 02:24 AM PST

พวงทองเปิดประเด็นจากบทเริ่มต้นงานวิจัยเรื่องกิจการพลเรือนของทหาร ชี้หลังสงครามเย็น กอ.รมน. ยังมีส่วนในการจัดตั้งมวลชนอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้จัดตั้งเฉพาะมวลชนในต่างจังหวัด แต่มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ไปจนถึงผู้ขับขี่รถบิ๊กไบค์-รถออฟโรด เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ราชาชาตินิยม


25 พ.ค. 2557 กรุงเทพฯ (แฟ้มภาพ)
 

สองวันก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่ชื่อว่า "กฎอัยการศึก" เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ ในช่วงสองวันดังกล่าวไม่ได้มีเพียงการเรียกตัวนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งแกนนำเสื้อแดง และแกนนำ กปปส. เข้าพูดคุยเจรจา โดยมีท่าทีเสมือนว่าเป็นการหาทางออกให้กับประเทศในภาวะวิกฤติที่ถูกดันจนมาถึงทางตันเพียงเท่านั้น หากแต่กลไกการทำงานของทหารยังกว้างขวางออกไปในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือด้วย

ขณะที่มีการปิดห้องประชุมพูดคุยที่สโมสรกองทัพบกที่กรุงเทพฯ ช่วงเวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารหลายจังหวัดได้เข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านสีแดง เพื่อที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ พร้อมกับเชิญตัวแกนนำเสื้อแดงหลายคนเข้าไปในค่ายทหารเพื่อ 'ปรับทัศนคติ' ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร บางคนโชคดีได้นอนค้างคืนในค่ายทหาร แต่บางคนโชคร้ายไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว เพียงถูกเรียกไปพูดคุยและได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้าน พร้อมกับการติดตามสอดส่องอย่างใกล้ชิด

ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อน 'พวงทอง ภวัครพันธุ์' อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคำถามสำคัญไว้ในงานเสวนาที่ใช้ชื่อหัวข้อว่า "กิจการพลเรือนของทหาร: จากยุคต้านคอมมิวนิสต์ สู่ยุคต้านประชาธิปไตย" คำถามที่ว่าคือ เจ้าหน้าที่ทหารรู้ได้อย่างไรว่าต้องไปยุติความเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ไหนบ้าง และรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นแกนนำคนเสื้อแดงในระดับพื้นที่ และเป็นไปได้หรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และหากเป็นเช่นนั้นคำถามที่ตามมาคือ เมื่อไหร่กันที่พวกเขาเริ่มต้นการทำงานในลักษณะนี้ และนี่คือภาพสะท้อนหรือไม่ว่า ทหารได้ทำกิจการพลเรือนอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

งานดังกล่าวจัดในช่วงเย็นของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางผู้ฟังทั้ง นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน สื่อมวลชน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เข้ามารับฟัง พร้อมบันทึกภาพวิทยากร และผู้ร่วมฟังเสวนาตลอดงาน สำหรับงานนี้เป็นการนำเสนองานวิจัยชิ้นบทเริ่มต้นงานวิจัยของพวงทอง ซึ่งเป็นงานที่สืบเนื่องมาจากการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ICTS 2017 จัดขึ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่

 

สุรชาติ บำรุงสุข: บทบาทที่ไม่หายไปของ กอ.รมน. และการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

 

ความเป็นมาของกิจการพลเรือนมาจากอะไร บริบทความขัดแย้งทางการเมืองแบบไหนที่ทำให้กองทัพเข้าไปมีบทบาทในกิจการพลเรือน อะไรคือความชอบธรรมทางการเมือง และความชอบธรรมทางกฎหมายที่ถูกเอามาใช้เพื่อขยายอำนาจหน้าที่ของกองทัพ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พวงทอง กำลังจะพาเราไปค้นหาคำตอบ

00000

จุดเริ่มต้นการขยายบทบาทในกิจการพลเรือนของทหาร

พวงทองชี้ให้เห็นว่า กิจการพลเรือนของกองทัพนั้นเกิดขึ้นและเด่นชัดที่สุดในยุคสงครามเย็น หรือสงครามการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย โดยในช่วงเวลานั้นได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วความหมายของคำว่ากิจการพลเรือนของทัพนั้น หากจะจำกัดความก็พอจะให้ขอบเขตกับมันได้ว่าเป็น กิจการของทหารที่ไม่ใช่การต่อสู้โดยให้กำลังอาวุธแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการแทรกซึมเข้าไปในชุมชน หมู่บ้าน ผ่านการจัดตั้งมวลชนให้กลายมาเป็นกลไกที่ทำงานให้กับรัฐ เช่น หมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน, ไทยอาสาป้องกันชาติ, กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ อาสาสมัครรักษาดินแดน รวมทั้งกลุ่มนวพล กระทิงแดง และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีข้อครหาว่า กอ.รมน. เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้ง


คลิปประชาสัมพันธ์การทำงานของ ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2556

 

คำถามที่น่าสนใจซึ่งพวงทองชี้ชวนให้คิดต่อไปคือ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการสิ้นสุดลงของสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แม้จะมองเห็นว่าบทบาทของ กอ.รมน. และมวลชนจัดตั้งกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะนวพล กับกระทิงแดง ค่อยๆ หายไป แต่นั่นอาจไม่ได้หมายความการทำงานภายใต้โครงสร้างเดิมจะยุติไปด้วย พร้อมกับตั้งคำถามต่อไปว่าด้วยว่า หากไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะเท่ากับว่ากองทัพไม่ได้มีการทำงานในลักษณะที่เป็นการแทรกแซงการเมืองหรือไม่

"ถ้าเรามองกองทัพเพียงในแง่ของการกุมกองกำลังอย่างเดียวเท่านั้นก็จะทำให้มองข้ามบทบาทของกองทัพในมิติอื่นๆ ในด้านการเมือง และด้านอุดมการณ์" พวงทอง กล่าว

พวงทอง อธิบายต่อไปว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่กระตือรือร้นที่สุดสำหรับการทำกิจการพลเรือนของทหาร แม้การเกิดขึ้นมาของ กอ.รมน. ในช่วงแรกจะมีภารกิจหลักเพียงอย่างเดียวคือการใช้กำลังเข้าปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทว่าสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นไม่ได้ทำให้สงครามสิ้นสุดลงได้ในเวลาอันสั้น จนถึงที่สุดรัฐไทยเริ่มตระหนักได้ว่าปัญหาที่ถูกเรียกว่า "ภัยคอมมิวนิสต์" ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยในยุคสงครามเย็นที่ส่งอิทธิพลเข้ามาในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากความคับแค้นของผู้คนในประเทศเอง ซึ่งถูกกดขี่ให้อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างทางเศรษฐกิจ ประกอบการเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมเป็นเวลานานต่างหากที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คอมมิวนิสต์แผ่ขยายอย่างน่ากังวลสำหรับรัฐไทย

"ฉะนั้นการจะแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ได้ก็จะต้องมุ่งให้เกิดการพัฒนาขึ้นในประเทศ รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติ ควบคู่ไปกับการใช้กำลังทหาร กลายเป็นการเพิ่มบทบาทให้กับทหารในด้านการพัฒนา และในเรื่องทางอุดมการณ์ เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ในเวลานั้น" พวงทอง กล่าว

ในช่วงที่ยังมีสงครามคอมมิวนิสต์ ทหารมีบทบาทในการสร้างถนนหนทาง ขุดลอกคูคลอง สร้างฝายในท้องถิ่นให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ทหารเองก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการในพระราชดำริ ด้านหนึ่งเพราะกองทัพมีกองกำลังอยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกแทรกซึมโดยพรรคคอมมิวนิสต์  พร้อมกันกับการเข้าไปเพื่อการพัฒนา กอ.รมน. เองก็ยังมีส่วนในการเข้าไปอบรมจัดตั้งมวลชน เป้าหมายนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประชาชนในท้องถิ่นให้มีความจงรักภักดีกับรัฐ พยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการจับตามองของรัฐในพื้นที่ เปลี่ยนประชาชนให้เป็นดวงตาให้กับรัฐ

"เมื่อเข้าไปดูเนื้อหาการอบรมพบว่ามีการตอกย้ำประชาชนเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลพื้นที่ และรายงานเรื่องราวผิดปกติให้กับรัฐ และบทบาทที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ การส่งเสริม สนับสนุนอุดมการณ์ของรัฐ ซึ่งคือ อุดมการณ์ราชาชาตินิยม" พวงทอง กล่าว
 

ความชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญ และความชอบธรรมตามกฎหมายอื่นๆ ที่เอื้อต่อการขยายกิจการพลเรือนของทหาร

พวงทองอธิบายต่อไปถึงความชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญที่มารองรับหน้าที่กว้างขวางออกไปของทหารโดยชี้ให้เห็นว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ระบุหน้าที่ของทหารไว้เพียงแต่ว่า รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราช และประโยชน์แห่งชาติ แต่ภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2516 ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2517 ได้มีการขยายบทบาทของกำลังเพิ่มขึ้นอีก โดยระบุให้ กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบ หรือการสงคราม เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อการปราบปรามกบฏ การจราจล เพื่อรักษาความมั่นของรัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ และหลังจากนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ไม่ได้มีการแก้ไขบทบาทของทหารอีกเลย

ขณะที่ความชอบธรรมตามกฎหมายอื่นๆ นั้น พวงทองชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีการขยายบทบาทในด้านกิจการพลเรือนของทหารจาก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66/2523 และ 65/2526 ซึ่งแผนทางการเมืองเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด มีการชูธงว่าจะมีใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งปลูกฝังความรักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ กำจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะเดียวกันก็มีการใช้ปฏิบัติการด้านจิตวิทยาข่าวสารด้วย

"นโยบายทั้งสองเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาลพลเอกเปรม ซึ่งประกาศเป็นนโยบายแห่งชาติที่หน่วยงานรัฐทั้งหลายต้องนำไปปฏิบัติ โดยมี กอ.รมน. เป็นองค์กรประสานงาน ผลักดัน เสนอแนะแนวทางในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ หรือสามารถที่จะเข้าไปทำงานในด้านอื่นๆ ได้" พวงทอง กล่าว

ต่อมาพวงทองได้ ระบุถึง พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ. 2551 ซึ่งถูกผลักดันโดยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังจากรัฐประหารปี 2549 แม้ว่าจะมีชื่อเรียกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงกว้างๆ แต่เนื้อหาที่ถึงเขียนนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. ทั้งหมด และเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจกับ กอ.รมน. อย่างมหาศาล จนถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ยืนยันการมีอยู่ของสภาวะรัฐซ้อนรัฐได้อย่างชัดเจน โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกประกาศไม่กี่วันก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ 

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ แม้จะไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลในเวลานั้นทำคือการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบังคับบัญชาภายใน กอ.รมน. โดยกำหนดให้ กอ.รมน. จังหวัดหันมาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. โดยตำแหน่ง แต่หลังจากมี พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ได้กำหนดให้ กอ.รมน. จังหวัดกลับไปขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. ภาคเช่นเดิม ซึ่งหมายความว่า ทหารมีอำนาจในการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดได้


กอ.รมน. และกิจการพลเรือนในยุคสมัยปัจุจบัน

ที่ผ่านมานโยบาย 66/2523 และ 65/2526 ถูกขนานนามว่าเป็น การปักธงชัยยืนยันชัยชนะเหนือพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นศัตรูที่สำคัญของรัฐไทยภายใต้การปกครองของทหาร ล่าสุดช่วงต้นปี 2560 พลเอกประยุทธ์ ผู้นำคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการเตรียมกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไปว่าการหวนกลับมาพูดถึงนโยบายดังกล่าวอีกครั้งนั้นสื่อความหมายถึงอะไร

ขณะที่กระบวนการพูดคุยเพื่อเตรียมสร้างความปรองดองเดินหน้าไปจนสิ้นสุด จนได้ผลลัพท์ออกมาเป็นสัญญาประชาคม 10 ข้อที่รัฐบาลได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. ในการนำเสนอสัญญาข้อตกลงเหล่านั้นกับประชาชน เมื่อย้อนกลับมามองกลไกพูดคุยเพื่อเตรียมสร้างความปรองดองอีกครั้ง พวงทองชี้ให้เห็นว่า กอ.รมน. ได้เป็นกลไกหลักในการดำเนินการดังกล่าว เช่นมีหน้าที่ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียก หรือเชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ตัวแทนกลุ่มการเมือง มาให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการมอบหมายหน้าที่ให้ กอ.รมน. รับผิดชอบในการประสานงานผลักดันการร่างแผนปฏิรูปประเทศด้วย

นับได้ว่า กอ.รมน. เข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด พวงทองยังชี้ให้เห็นต่อไปว่า ในช่วงเวลาก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 มีการรายงานข่าวว่าจะมีการระดมคนกว่า 5 แสนคน ภายใต้การจัดตั้งของ กอ.รมน. ให้ออกมาช่วยรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ
 




 

 

นอกจากนี้ พวงทองพบว่าในช่วงเวลานับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา มีความพยายามรื้อฟื้นโครงการจัดตั้งมวลชนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมกับขยายขอบเขตของมวลชนจัดตั้งที่เดิมเป็นประชาชนในต่างจังหวัด ไปสู่มวลชนที่อยู่ในเมือง และมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้นำทางศาสนา กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ และรถออฟโรด ขณะที่ตัวอย่างซึ่งเห็นได้ชัดคือ การออกมายอมรับว่า เบส อรพิมพ์ เป็นนักพูดของ กอ.รมน. ซึ่งรับงานเดินสายพูดให้กับข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปทั่วประเทศฟัง
 


เบส อรพิมพ์ รักษาผล พูดสร้างแรงบันดาลในหัวข้อ "เกิดอีกกี่สิบชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล"


ทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลบางส่วน และกรอบการมองปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยชิ้นใหม่ของพวงทอง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่า กระบวนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่อะไร แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยที่กระบวนการจัดตั้งมวลชนของ กอ.รมน. ยังคงทำงาน หรือถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในยุคสมัยปัจจุบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ขณะเดียวกันหลังจากการนำเสนอจบลง ได้มีผู้ร่วมเสวนาตั้งคำถามถึงกระบวนการจัดตั้งของ กอ.รมน. ว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะนำไปสู่อะไร พวงทองได้ให้ความเห็นว่า ยังไม่ปักใจเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือกระบวนการดังกล่าวคือ การสถาปนาและตอกย้ำค่านิยมหลักของสังคมไทย และอุดมการณ์ของรัฐ ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่พูดได้ อะไรคือสิ่งที่ห้ามพูด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง คดีผู้บริหาร อปท.เป็นพยานเท็จช่วย ตร.ที่ซ้อมทรมาน 'ฤทธิรงค์' ปี 52

Posted: 17 Nov 2017 01:45 AM PST

ศาลจังหวัดปราจีนบุรี ชี้ข้อความที่จำเลยให้ต่อ ป.ป.ท. ยังไม่พอฟังได้ว่ามีเจตนา จึงพิพากษายกฟ้อง คดีที่ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร และบิดา ฟ้องผู้บริหาร อปท. เป็นพยานที่ให้การเท็จต่อเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยกลุ่มตำรวจที่ซ้อมทรมานตน

17 พ.ย.2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า ศาลจังหวัดปราจีนบุรี พิพากษายกฟ้อง คดีที่ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร และสมศักดิ์ ชื่นจิตร (บิดาของฤทธิรงค์) ฟ้อง ฟ้องผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนหนึ่ง ซึ่งได้เข้าเป็นพยานให้การเท็จต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท้จจริง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมาน ฤทธิรงค์ 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เพิ่มเติมว่า หลังจาก ฤทธิรงค์ และ สมศักดิ์ ได้นำพยานเข้าเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจนแล้วเสร็จศาลจังหวัดปราจีนบุรีจึงได้นัดฟังคำสั่ง หรือ คำพิพากษาไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา และในวันนัดดังกล่าว ผู้พิพากษาพิจารณาแล้วเห็นว่า "ข้อความที่จำเลยให้ไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นการรับฟังมาจากบุคคลอีกครั้งหนึ่ง และเล่าให้การไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยรู้เห็นมา มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใดประกอบกับการให้การของจำเลย ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าว มิได้เป็นการแจ้งข้อความให้ผิดไปจากความจริงที่ตนพบเห็นมา พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองไต่สวนมา จึงยังไม่พอฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะให้อนุกรรมเป็นผู้กระทำตามหน้าที่ จดข้อความเป็นเท็จโดยมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน อันเป็นการแจ้งข้อความเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายแต่อย่างใด คดีจึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง"

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า ฤทธิรงค์ และ สมศักดิ์ จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวนี้ต่อศาลเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ตนต่อไป

สำหรับรายละเอียดของคดีนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เหตุสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560 ฤทธิรงค์ และ สมศักดิ์ ยื่นฟ้องผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนหนึ่ง ซึ่งได้เข้าเป็นพยานให้การเท็จต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท้จจริง ป.ป.ท. เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมาน ฤทธิรงค์ ในคดีที่ ฤทธิรงค์ ร้องเรียน กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนฯ 5 คน ที่ซ้อมทรมานตน โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1009/2560 ในข้อหา ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร กล่าวคือ เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย และเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,172 และ 267  โดยกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2556 พยานคนดังกล่าวได้เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ท.ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อช่วยเหลือตำรวจทั้ง 5 ราย ให้พ้นข้อกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมาน เป็นผลทำให้ ป.ป.ท. มีคำสั่ง ที่ 40/2556 ชี้มูลว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาของ ฤทธิรงค์ ทำให้ ฤทธิรงค์และ สมศักดิ์ โจทก์ทั้งสอง ได้รับความเสียหายจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไผ่ ดาวดิน เผยถูกผู้คุมเรือนจำตบหัว 3 ครั้ง และถูกชักอวัยวะเพศขึ้นลงเพื่อตรวจหายาเสพติด

Posted: 17 Nov 2017 01:40 AM PST

ศูนย์ทนายฯ เผยศาลจังหวัดภูเขียวนัดสืบพยาน คดีไผ่ ดาวดินและเพื่อนแจกเอกสารประชามติ เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้ไผ่เปิดเผยระหว่างมาขึ้นศาลว่า หลังจากถูกย้ายตัวมาที่เรือนจำภูเขียวได้ถูกผู้คุมตบหัวอย่างรุนแรง 3 ครั้ง และถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจหายาเสพติด ถูกแหวกทวาร และชักอวัยวะเพศขึ้นลง 5 ครั้ง

ไผ่ ดาวดิน ในขุดนักโทษ ที่ศาลทหารขอนแก่น(แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดภูเขียวนัดพร้อมเพื่อหยิบยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่และนัดตรวจพยานหลักฐานคดีประชามติ ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายวศิน พรหมณี นักศึกษาคณะวิศวกรรมธรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรค 2, วรรค 3 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ.2549 จากกรณีที่ทั้งสองคนทำกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์เกี่ยวกับการประชามติและร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนที่ตลาดสดภูเขียว เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 59 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

จำเลยทั้งสองและทนายจำเลยมาศาล โดยจตุภัทร์ จำเลยที่ 1 ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำอำเภอภูเขียว หลังจากที่ถูกส่งตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาขังที่เรือนจำภูเขียว ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 60 เพื่อมาพิจารณาคดีนี้ที่ศาลจังหวัดภูเขียว ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการประกันตัว มาศาลตามนัด

ทนายจำเลยทั้งสองแถลงว่า จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย

โจทก์อ้างส่งพยานเอกสารจำนวน 6 ฉบับ และมีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบรวม 7 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท. อร่าม ประจิตร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภูเขียว ผู้กล่าวหา, เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม 3 ปาก, ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิ และพนักงานสอบสวน 2 ปาก ส่วนจำเลยอ้างส่งพยานเอกสารจำนวน 9 ฉบับ และมีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบรวม 6 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้งสอง รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านนิติศาสตร์ และด้านรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ศาลให้คู่ความกำหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่องเป็นคดีสามัญพิเศษ โดยนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13-16, 20 ก.พ. 61 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 21, 27-28 ก.พ. 61

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 16 มี.ค.60 ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียวนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล เนื่องจากถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ในคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยศาลจังหวัดขอนแก่นปฏิเสธที่จะส่งตัวจตุภัทร์มาพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดภูเขียว จนกว่าศาลจังหวัดขอนแก่นจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จ โจทก์และฝ่ายจำเลยจึงแถลงร่วมกัน ขอให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราว ศาลจังหวัดภูเขียวจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ชั่วคราว หากศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาคดีแล้วเสร็จให้คู่ความแถลงต่อศาลเพื่อให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

บรรยากาศการพิจารณาคดีในนัดนี้ ไผ่ถูกนำตัวมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยมีกุญแจเท้าล่ามข้อเท้าทั้งสองไว้ด้วยกัน แตกต่างไปจากเมื่อถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานฯ ขอนแก่น เป็นที่สนใจของประชาชนราว 20 คน ที่เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี ไผ่ได้เล่าเหตุการณ์ในวันที่เขาย้ายมาเรือนจำอำเภอภูเขียววันแรกว่า เขาถูกผู้คุมคนหนึ่งตบหัวแรงๆ 3 ครั้ง และถามว่าเมื่อไหร่ญาติจะมาเอาของ ซึ่งหมายถึงของใช้ รวมถึงจดหมายและการ์ดที่ไผ่เอามาจากทัณฑสถานฯ ขอนแก่น ผู้คุมคนเดิมกล่าวอีกว่า ถ้าญาติไผ่ไม่มา เขาจะเอาของทิ้ง

ไผ่เล่าอีกว่า ในการตรวจรับเข้าเรือนจำภูเขียว เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นยาเสพติด โดยให้เขาถอดเสื้อผ้า แหวกทวาร ชักอวัยวะเพศขึ้นลง 5 ครั้ง และลุกนั่ง รวมทั้งเมื่อถูกเบิกตัวมาศาลเช่นในวันนี้ ก่อนออกจากเรือนจำเจ้าหน้าที่ก็ให้เขาถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจหายาเสพติด

ไผ่ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ต้องตรวจค้นร่างกายอย่างละเอียดเหมือนเขาเป็นนักโทษคดียาเสพติด และเขาก็ถูกย้ายมาจากอีกเรือนจำหนึ่ง ไม่ใช่ผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำใหม่ รวมทั้งในเวลาที่ถูกเบิกตัวมาศาลทำไมต้องตรวจหายาเสพติดอีก ในเมื่อเขาก็ถูกขังอยู่ในเรือนจำตลอดเวลา

หลังพิจารณาคดีเสร็จ ศาลได้สั่งห้ามทุกคนไม่ให้ออกจากห้องพิจารณาคดี จนกว่าจตุภัทร์และตำรวจศาลจะเดินถึงห้องขังใต้ถุนศาล นอกจากนั้น เพื่อนและคนที่มาให้กำลังใจไม่สามารถเข้าเยี่ยมไผ่ที่ห้องขังใต้ถุนศาลได้ ทั้งนี้ ตำรวจศาลชี้แจงว่า ต้องยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตเข้าเยี่ยมก่อน จึงจะสามารถเข้าเยี่ยมได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ตลาดน้อยสตอรี่’ สารคดีโฮมวิดีโอ ครอบครัว บาดแผล ความรัก และการประนีประนอม

Posted: 17 Nov 2017 01:10 AM PST



ลี้–จิราพร แซ่ลี้ คือบัณฑิตหมาดๆ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 'ตลาดน้อยสตอรี่' สารคดีชนะเลิศรางวัลดุ๊ก รางวัลประเภทสารคดี ในเทศกาลหนังสั้น ซึ่งจัดโดยมูลนิธิหนังไทย ประจำปี 2560 โฮมวิดีโอเล่าเรื่องครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนขนาดใหญ่ของเธอเอง ที่อาศัยอยู่ในร้านค้าเหล็ก ณ ตลาดน้อยมายาวนาน ซึ่งมีตัวละครหลักในหนังคืออาม่าของเธอ

เช่นเดียวกับครอบครัวของใครอีกหลายคน ครอบครัวของลี้ไม่ได้สมบูรณ์ สารคดีของเธอถ่ายทอดทั้งมุมมองที่เจ็บปวดและอ่อนโยนของครอบครัวออกมาได้อุ่นกำลังดีและปวดร้าวในบางที

เมื่อรวมกับความสนใจในวรรณกรรมของเธอ สารคดีโฮมวิดีโอเรื่องนี้จึงเหมือนการเล่าประวัติศาสตร์ของครอบครัว ประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้เป็นบุคคลยิ่งใหญ่ แต่บางร่องรอยก็อาจมีจุดเชื่อมโยงกับผู้ชมได้อย่างคาดไม่ถึง

วิธีเล่าเรื่องในช่วงต้นคือการเขียนเล่าภูมิหลังของครอบครัวเธอ ก่อนเข้าสู่ตัวหนังที่ถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันภายในครอบครัว เรื่องราวการสูญเสีย การตาย การเกิด การเจ็บป่วย ความเปราะบางของห้วงอารมณ์ ทั้งสุขและเศร้า ทั้งรักและชัง

 

อาม่า

วันหนึ่ง วันที่ฉันกลับมาจากไปต่างประเทศสามเดือน ฉันเดินขึ้นบ้าน เจออาม่านั่งอยู่ที่เดิม โซฟาสีส้มอ่อนตัวเดิม พัดลมหมุนเหนือศีรษะ เสียงทีวีเป็นฉากหลัง วอลเปเปอร์ลายดอกไม้สีส้มมีปฏิทินได้รับแจกมาแขวนอยู่ รูปรับปริญญาลูกๆ ของอาม่าที่แขวนเต็มผนังคู่กับนาฬิกา ทุกอย่างเหมือนเดิม พออาม่าเห็นฉันโผล่ขึ้นมาเท่านั้นแหละ แกร้องเสียงหลง อาหนิงกลับมาแล้วๆ อาหนิงกลับมาแล้วๆ ปรบมือด้วย มือก็ดึงฉันไว้

อาม่าคนเดิม ตัวอ้วนท้วน เนื้อหนังเหยาะแหยะ ผิวเต็มไปด้วยกระจุดสีน้ำตาล ถุงใต้ตาใหญ่ แก้มสองข้างหย่อนคล้อย แววตาที่คงเหลือความเศร้า เหมือนเดิมเลย แล้วอาม่าก็ร้องไห้ออกมา ไหงคิดถึงแหนจะตาย แล้วก็พูดวน อาหนิงกลับมาแล้วๆ

ฉันก็อดร้องไห้ออกมาไม่ได้เลย

-บางส่วนจากสารคดี 'ตลาดน้อยสตอรี่'

*ไหง = ฉัน, แหน = เธอ ภาษาจีนแคะ


ภาพจาก Doc Club Theater  

อาม่าของลี้ วัย 76 ปี คือคนสำคัญในครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของลี้และลูกหลานคนอื่น ผู้คุมกิจการการค้าของครอบครัวมายาวนานกว่า 30 ปี ก่อนจะให้ลูกหลานสืบทอดต่อ ขณะที่อากงของลี้เป็นอัมพฤกษ์เมื่อ 22 ปีก่อน

เมื่อไปเยี่ยมลี้ที่บ้าน อาคาร 4 ชั้น 2 คูหา ติดริมถนนโยธา เลี้ยวจากถนนเจริญกรุงเข้ามา ไม่ไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา ชั้นล่างเป็นร้านขายเหล็กและอะไหล่ อาม่านั่งเฝ้าร้านอยู่ที่ชั้นล่าง ระหว่างที่ลี้ออกไปซื้อบัวลอยไข่ยางมะตูมเจ้าอร่อยที่ขายเพียงอาทิตย์เดียวในรอบหนึ่งปี อาม่าก็ชวนคุย ชี้ให้ดูรูปถ่ายครอบครัว มีลี้ตอนเด็กๆ นั่งอยู่ในภาพนั้น อาม่าเรียกลี้ว่า 'อาหนิง' ซึ่งเป็นชื่อเล่นจริงๆ ของเธอ แม้เธอจะชินกับการที่คนอื่นเรียกเธอว่า 'ลี้' ไปแล้วก็ตาม

"นั่นอะ อาหนิงอีตอนเด็กๆ พ่ออีเสียไปนานแล้ว อาโกว (ป้า) อาหนิงอีขอร้องทางนู้นให้หลานสาวอีมาอยู่ที่นี่

"อาหนิงอีไม่ค่อยพูด เป็นคนเฉยๆ ไม่ค่อยพูด น้องสาวอีพูดเก่ง"

อาม่าเล่าประวัติลี้สักพัก ลี้กลับมาพร้อมบัวลอยอร่อยสมคำร่ำลือ อาม่าบ่นว่าปวดเข่า ตั้งแต่ตกบันไดเมื่อ 2 ปีก่อน อาการปวดก็ไม่เคยหายไป ได้แต่ทายาบรรเทาอาการ

 

อาม่าเคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ฉันเกิดไม่ทันหรือจำไม่ได้นี่แหละ ช่วงที่อาม่าป่วยมาก มีแค่เรื่องเล่าที่รับฟังมาว่า อาม่าเคยกระโดดแม่น้ำเจ้าพระยาหลังบ้าน มีคนไปเจอ เลยช่วยไว้ทัน พอถาม อาม่าบอกว่ามาว่ายน้ำเล่น!

- บางส่วนจากสารคดี 'ตลาดน้อยสตอรี่'

 

ปัจจุบัน ยามว่างอาม่าชอบดูเปาบุ้นจิ้น ดูมาปีหนึ่ง ดูทุกวัน ดูแล้วดูอีก จั่นเจารูปหล่อ อาม่าบอก รู้สึกสบายใจทุกครั้งที่ได้ดู

โกวของลี้มาพอดีพร้อมข่าวคราวสารพัด ทั้งเรื่องบ่อนเปิดใหม่และอาเฮียที่รู้จักเปิดผับใหม่หลังจากที่ถูกสั่งปิดไป พร้อมจ่ายค่าต๋งไปมหาศาล เสียงตะโกนคุยงานเริ่มดังโช้งเช้ง

ลี้พาขึ้นไปชั้น 4 ของบ้าน เป็นระเบียงไว้ตากผ้า มองลงมาเป็นถนนกลางของย่านตลาดน้อย แต่เพราะสายมากแล้ว คนไม่ค่อยคึกคัก

ฉันมองลงมา ฟังลี้เล่าถึงชุมชนและครอบครัว ตระหนักได้ว่าประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ประวัติศาสตร์ของครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง มีอะไรน่าสนใจและพร้อมจะเป็นเรื่องที่ดีในตัวมันเองได้ เมื่อใครสักคนในครอบครัว ใครสักคนที่รู้สึกและอินกับมัน หยิบยกขึ้นมาเล่า

 

ตัวตน ครอบครัว 'ตลาดน้อยสตอรี่' และความฝันต่อจากนี้

คืนหนึ่งฉันกลับมาจากโรงเรียน เหนื่อยก็วิ่งเข้าไปตากแอร์ในห้องอาม่า ล้มตัวลงนอนข้างๆ อาม่า อาม่ายังไม่หลับ ก็ถามฉันว่าฉันกลับมาแล้วเหรอ ใช่ ฉันตอบ อาม่านอนลืมตาโพลงในความมืดบอกกับฉันว่า อาม่าน้ำตาไม่ไหลมาปีกว่าแล้วนะ มันไหลออกไปหมดแล้ว แล้วอาม่าก็พูดต่อ พูดกับฉันเบาๆ ว่า อาม่ากำลังจะตายแล้วนะ

- บางส่วนจากสารคดี 'ตลาดน้อยสตอรี่'
 

 

"ทำไมครอบครัวถึงมีอิทธิพลมาก?"

"เราไม่รู้ว่าคนอื่นโตมาไม่ใช่แบบนี้รึเปล่า แต่เราโตมากับเรื่องแบบนี้เป็นปกติ ถามว่าทำไม มันตอบยาก เราก็ถามตัวเอง ทำไมเราอินกับเรื่องครอบครัวมาก หรือคนอื่นก็จะมองว่าเรารักครอบครัว มันเหมือนเราโดนปลูกฝังมา และคนที่ปลูกฝังเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำเพราะเขาก็โดนปลูกฝังมาอีกที แล้วมันก็เป็นไปด้วยระบบอัตโนมัติ เหมือนคุณค่าหลัก เราว่าน่าจะเพราะเราอยู่ในโครงสร้างแบบนี้ ตัวเราถึงเป็นแบบนี้"

"การจะทำหนังแบบนี้ได้ เหมือนกับเราต้องรักทุกคนในครอบครัวจริงๆ เพราะมันดูมีทุกคนอยู่ในหนังหมดเลย"

"เราก็ไม่ได้แฮปปี้กับทุกคนทุกเรื่อง การที่เราจะเลือกนำเสนอแบบฟีลกู้ด ไม่รู้ใช้คำนี้ได้ไหม มันคือความรักล้วนๆ เพราะมันคือการประนีประนอมกับตัวเราเองด้วย และกับทุกคนในบ้านด้วย เราเลือกที่จะไม่เสนอความจริงที่โหดร้าย หรือทำร้ายจิตใจใคร เราทำไม่ได้ เลยขอครึ่งๆ ที่เราจะแฮปปี้แซดของเราไป และเขาก็เฉยๆ อาชีพการงานมึงก็ทำไป เขาไม่เข้าใจหรอก แต่เขาก็ซับพอร์ตเราอยู่ดี"

"หนังเวอร์ชั่นอื่นเป็นไง?"

"เวอร์ชั่นดาร์กๆ ก็เคยมีนะ พูดเรื่องที่เราโกรธเรื่องนั้นเรื่องนี้มาก ไม่เหมือนในหนังเวอร์ชั่นนี้เลย แต่พอคิดดู ก็ไม่ดีกว่า เราทำไม่ได้ ทำไม่ได้ในการปะทะกันแรงๆ คนที่เราไม่ชอบเราก็อิ๊กนอร์ คือมันถูกซ่อนอยู่ข้างใต้ มีคนมาบอกว่าหนังน่ารักดี แต่ข้างใต้คือการที่เราต้องต่อสู้กับอะไรบางอย่างด้วย บางเรื่องเรารู้สึกด้านลบมากๆ แต่เราคิดว่าไม่เอาออกมาดีกว่า เพราะเราเป็นคนในครอบครัว เราทำได้แค่นี้"

"เราเพิ่งคิดได้ว่าข้อจำกัดของการทำหนังส่วนตัวสำหรับเรามันคือ ความรู้สึกเรามันเยอะมาก เป็นเหมือนน้ำแกลลอน แต่คนอื่นอาจจะเห็นแค่น้ำแก้วเดียว เพราะเราไม่เลือกที่จะนำเสนอความดาร์กนั้นออกมาด้วย"

"เราอาจเริ่มจากการทำหนังไปพร้อมกับการตั้งคำถามก็ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร ช่วงระหว่างที่ทำหนังก็เหมือนเป็นการตอบคำถามไปในตัวด้วย กับอาม่าที่เป็นตัวละครหลักในเรื่อง ไม่แน่ใจใช้คำว่า tender กับอาม่าได้ไหม เราแสดงออกด้วยความรู้สึกที่มันซอฟต์ลง เราเคยไม่ชอบ เคยเบื่อบ้าง แต่พอทำหนังไปเราก็พบว่าการที่อยู่ในครอบครัวนี้มันก็มีความสุขนะ เรารักอาม่านะ เรารักทุกคนและเขาก็รักเรา เราเดินต่อไปได้นะ"

"ฟีดแบ็กเป็นไงมั่ง?"

"ตอนที่ให้ที่บ้านดูครั้งแรก ก็มีคนร้องไห้ แต่ตอนที่ฉายหนังครั้งแรก พี่ที่มาเป็นกรรมการเขาบอกว่าหนังไม่ผ่านความเป็นสารคดีเลย เอาง่ายๆ มันไม่เห็นในสิ่งที่ต้องเห็น เช่น เราพูดเรื่องอาม่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในหนังไม่เห็นตอนอาม่าเป็นโรคซึมเศร้า มันไม่เห็นในสิ่งที่ควรต้องให้คนเห็น ไม่ได้ลงลึกไปถึงด้านมืดของมนุษย์ หลายคนก็บอกว่าดูแล้วมันยังไม่ถึง"

"ตอนแรกเราเฟลมากที่โดนด่าหนัก หนังแม่งไม่ผ่านเลย ก็คุยกับครู ครูก็บอกว่า ก็เคยเสนอไปแบบอื่นแล้วแกก็ไม่เอาเอง จะให้มาเปิดเผยการเป็นโรคซึมเศร้าของอาม่าเยอะๆ เราก็ไม่เอา เราไม่ได้เลือกทางที่คนเขาอยากเห็น ทางที่มันโหดๆ มีการปะทะกันอย่างเรื่อง Mother ของพี่บิลลี่ (วรกร ฤทัยวาณิชกุล) ครูบอกว่า ก็เราเป็นคนแบบนี้ จะให้ทำแบบอื่นก็ทำไม่ได้ เราอ่อนแอเกินไปที่จะทำ"

"เราว่ามันก็จริงเลย เราทำไม่ได้ การทำให้หวือหวาต่อคนดู ทำให้นักวิจารณ์ชอบ สำหรับเรามันทำไม่ได้ เราทำได้แค่แบบนี้ เพราะเราเป็นห่วงความรู้สึกของครอบครัวและเราก็ไม่ได้เข้มแข็งแบบคนทำหนังคนอื่นๆ พอครูปลอบมาเราก็โอเค เข้าใจล่ะ"

"หนังที่ดีที่นักวิจารณ์ชอบ หรือคนมาตัดสินว่าเป็นหนังที่ดี เราพอแล้ว ตอนแรกเราไม่ได้ทำหนังเพื่อให้ได้รับคำชมด้วยซ้ำ แค่คนดูหนังเรา เราก็รู้สึกแปลกมากแล้ว การที่พี่มาสัมภาษณ์เรา เราก็รู้สึกแปลกมาก การที่มัน personal มาก แล้วให้คนดู เราคิดแค่ให้คนที่รู้จัก เพื่อน พี่ น้องๆ ที่เราไม่แคร์ในการพูดเรื่องส่วนตัวในระดับหนึ่ง คือจริงๆ เราก็มีระดับที่ เฮ้ย ไม่ต้องเข้ามาตรงนี้นะ"

"รู้สึกโป๊มากเวลาเห็นรูปครอบครัวตัวเองที่เป็นการโปรโมทหนังในอินเทอร์เน็ต การที่คนเห็นรูปครอบครัวเรา เห็นในบ้านเรา มันเป็นความรู้สึกที่แปลกดี หรืออย่างนักวิจารณ์เขียนถึงหนังในเฟสบุ๊ค ก็อ่านได้ แต่ไม่ได้ต้องการ ซึ่งมันไม่ดีเลยนะ รู้สึกว่าเราควรทำหนังแล้วก็ต้องรับฟีดแบ๊กมาด้วย แต่คงเป็นหนังเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องนี้"

"เห็นชอบอ่านวรรณกรรม และบอกว่าได้อิทธิพลจากหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวด้วย มันมีผลต่อการทำหนังยังไง?"

"เรามองว่ามันเป็นพระเจ้า แล้วเราก็เป็นสาวก มันเป็นอภิมหาเรื่องเล่า แล้วคนเล่าก็เล่าไปเรื่อยๆ อย่างนั้น แต่มันทรงพลังมาก มันเล่าทั้งหมดทั้งชีวิต เล่าทุกคน ครอบคลุมเวลาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำได้ไงอะ เราเลยพยายามเดินรอยตาม เราอยากเล่าทั้งหมดบ้าง อยากเล่าให้ครบทุกอย่าง ทุกคน แต่ตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้

"แล้วทำหนังนี่เคยคิดอยากทำเรื่องอื่นนอกจากเรื่องครอบครัวมั้ย?"

"เคยคิดแหละ แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคย อาจารย์จะสั่งงานไหนมาก็จะคิดถึงเรื่องครอบครัว เหมือนมันหาเรื่องอื่นไม่ได้ มันเหมือนมีเรื่องนี้อยู่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่ใหญ่สุดของเรา แต่ถ้าทำหนังเล่นๆ อะคิดนะ บางทีก็แบบ อยากทำหนังหว่องอะไรแบบนี้ หรืออยากทำหนังรักโง่ๆ บ้าง คือหลังจากนี้ก็คงทำแล้วแหละ เพราะเราก็คงคิดอะไรไม่ออกเกี่ยวกับครอบครัวแล้ว เพราะคิดกับมันมาเยอะแล้ว คือก็มีแหละ แต่พักบ้าง"

"เราชอบหนังฟิคชั่นมากๆ หนังที่ชอบก็หนังฟิคชั่น ผู้กำกับที่ชอบก็เป็นผู้กำกับฟิคชั่น สารคดีไม่ได้อินมากขนาดนั้น เลยอยากทำหนังที่เราได้กำกับ แล้วก็ชอบคิดตัวละครมาก แต่เรื่องครอบครัวมันก็ยังเป็นอิทธิพลสำคัญมาก อย่างเราทำหนังอย่างน้อยมันต้องมีคนแก่ หรือต้องมีเด็ก รู้สึกว่าเป็นตัวละครประเภทที่เราอินกับมันมาก เวลาดูหนังที่เป็นคนหนุ่มสาว หรือทำหนังเกี่ยวกับคนหนุ่มสาว หรือเอาตัวเราเป็นตัวละครหลัก ก็ไม่อิน ไม่อยากทำเรื่องพวกนี้"

"เราชอบดูหนังเอเชียเก่าๆ อย่างโหวเสี้ยวเสียน (Hou Hsiao-hsien) กำกับดีมาก เป็นธรรมชาติ คิดว่าถ้าทำหนังเราก็ต้องทำให้ได้แบบนี้ แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำได้ไหมนะ อยากรู้ว่าเขาทำได้ไง เขาได้นักแสดงที่เก่งมาก หรือนักแสดงคือคนธรรมดาที่ผู้กำกับกำกับเก่ง"

"ที่อยากทำต่อจากนี้"

"ตอนทำธีสิสรู้สึกมันเป็นเรื่องโชคดีของวัยเรียนมากในการทำสิ่งที่อยากทำ มีเวลาทุ่มได้เต็มที่ เงินก็มี ทุกอย่างมันสบายมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องจะขอเงินได้ แต่ตอนนี้มันงง จะไปทางอาร์ตเลยแล้วจะพูดกับที่บ้านยังไง เลี้ยงกูต่อไป เราก็ไม่กล้าพูด หรือไปเรียนต่อ เราก็ยังพิสูจน์ไม่ได้เลยว่าเรียนจบแล้วมึงจะมีงานไหม มีเงินไหม"

"แต่กำลังคิดว่าจะหันเหไปทางคิดโปรเจกต์ คือคิดทิ้งไว้หลายๆ อัน แล้วค่อยไปขอทุน อีกอย่างคืออยากเป็นนักข่าว มีไอเดียแรกคือจะเอามาทำหนังนี่แหละ เพราะเราฝึกงานเขียนบท การเข้าถึงไอเดียหรือบทคือการสัมภาษณ์ ซึ่งความยากคือสัมภาษณ์แล้วได้อะไรมาทำหนัง ให้ได้อะไรพีคๆ การที่ถามจนได้อะไรพีคมันต้องใช้สกิล ใช้โชค ใช้อะไรมากมาย เอาเป็นเหตุการณ์หรือโมเมนต์หรือการกระทำมา หรืออะไรที่เห็นเป็นแบบภาพและเสียงมาให้ได้ แล้วมาจับจุดว่าอะไรควรเป็นหนัง เป็นรายละเอียด เป็นเมนไอเดีย ตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้ การเป็นนักข่าวสำหรับเรามันก็คือการศึกษาคน เราว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย"

 

ตลาดน้อยสตอรี่ จะฉายวันที่ 24-25 พ.ย. เวลา 17.00 น. ที่ Warehouse30 บัตรที่นั่งละ 100 บาท ซื้อได้ที่หน้าโรง และ วันที่ 19-21 ม.ค. 61 ที่หอภาพยนตร์อีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Doc Club Theater (https://www.facebook.com/docclubtheater/)




-  Behind the Scene -

 


ชุมชนตลาดน้อย

ลี้มองไปข้างล่าง ชี้ให้ดูรถขนอะไหล่ที่ไม่ค่อยได้เห็นที่ไหน เรายืนคุยกันริมระเบียง ท่ามกลางบทสนทนาที่ไหลไป ลี้เล่าให้ฟังถึงชุมชนตลาดน้อยในมุมมองของเธอ

"เราชอบถนนเส้นนี้มาก เวลามองลงไป เหมือนหนัง Always: Sunset on Third Street เลย"

"จริงๆ มันก็เหมือนซอยทั่วไปแหละ มอเตอร์ไซค์วิ่งสวนได้ แต่รถวิ่งได้ทางเดียว คนก็เดินไปเดินมา ฝรั่งก็มาเที่ยว อย่างเนี่ย 4 คนแล้ว" ลี้ชี้ให้ดูนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินลัดเลาะตามซอย

"เราว่าถ้าลองนับดูตกวันละร้อยเลย คือเยอะมาก เขาคงคิดว่าเป็นของแปลกสำหรับเขา แต่คือชุมชนก็ไม่ได้ปรับตัวเป็นเมืองท่องเที่ยว ไม่ได้มีของขายเอาใจฝรั่ง เขาก็อิ๊กนอร์ไป ไม่มีการพูดคุยหรือปฏิสัมพันธ์กัน เพราะคุยไม่ได้ แต่ว่ามีเกสต์เฮาส์เยอะ มีหน้าตลาด มีต้นซอย แล้วก็มีติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา"

"คนที่มาอยู่ตลาดน้อยเริ่มเยอะขึ้น บางทีคนนอกก็เข้ามาอยู่ ก็เป็นเรื่องปกติ เราว่าทุกอย่างมันก็ดีนะ เราเคยชินด้วยแหละ ความอะไหล่อะไรแบบนี้ มันก็ไม่ดีนะ มันดูสกปรก แต่มันเคยชิน"
 


"เหมือนชนบทในกรุงเทพฯ ในแง่ที่มันมีความเป็นชุมชน มีความรู้จักกันหมด คุยทักทาย ไม่ต่างคนต่างอยู่" แม้จะไม่เห็นประกายตาหลังแว่นของลี้ แต่ก็มั่นใจว่าลี้รู้สึกรักที่นี่จริงๆ

"อย่างคนนั้นรู้จักไหม?" ฉันชี้ให้ดูหญิงกลางคนที่ขายของที่รถเข็นริมทางเดิน

"คนนั้นไม่รู้จักนะ น่าจะเป็นคนนอกที่เข้ามา แต่ถ้าคนนี้รู้" ลี้ชี้ให้ดูหญิงอีกคนที่ขายของหน้าบ้านถัดมาประมาณ 3-4 หลัง "ส่วนคนนั้น" ลี้ชี้ไปที่อาม่าที่เดินอยู่ริมถนน "ก็เป็นอาม่าของบ้านหนึ่ง เคยเห็นๆ กันอยู่"

"แล้วแม่งก็สวยดีนะ หรือเพราะเราชอบ หรือเพราะเราติดอยู่กับที่นี่ เราเลยมองว่าทุกอย่างมันก็สวยดี"

"มาอยู่ตั้งแต่กี่ขวบ?"

"ก็เกิดแหละ ที่บอกว่ามันเป็นชุมชนเพราะมันจะมีข่าว อย่างเช่นลงไปข้างล่าง ถ้าเป็นลักษณะเฉพาะที่เราชอบคือข่าวว่าใครตาย บ้านนั้นตาย บ้านนี้มีคนตาย มันเป็นประเด็นที่ส่งถึงกัน ถ้าใครเป็นอะไรหรือมีอะไรก็จะรู้เรื่องกันหมด มันมีการส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่จะไม่ค่อยมีประเด็นว่า ขยะเหม็นมาก ไปร้องเรียน ไม่เคยมี แต่ถ้าเรื่องชาวบ้านๆ คือแพร่กระจายมาก เคยมีเรื่องหนึ่งในตลาด ผัวมีเมียน้อย ก็เลยยิงกัน ติดคุกแล้วเขาก็ออกมา อย่างเราทำอะไรเราก็ยังรู้สึกว่าคนแม่งรู้หมดเลย"

"อย่างทำหนังเขาก็รู้?"

"ทำหนังเขาไม่ค่อยรู้ อะไรที่เกินความสนใจเขาก็จะไม่สน อย่างหนังมันก็อาร์ตไป แต่ที่เขาจะรู้ก็เช่น เรียนจุฬา เพิ่งจบ หรือแบบเป็นเด็กขี้เกียจ ที่บ้านชอบด่า เขาก็จะรู้กัน คือเขาขี้เม้าท์มาก"

 "แล้วทำไมถึงชอบฟังข่าวคนตาย?"

"เราว่ามันรู้สึกว่าเป็นข่าวของชุมชนนี้ดี ลงไปแล้วโกวพูดกับอาม่าว่าแบบ อาม้ารู้มั้ย บ้านอาสุ่ย อาเจ็กอีล้มลงตกบันไดตาย แล้วอาม่าก็จะแบบ เหรอ จริงเหรอ เพิ่งเห็นกันหลัดๆ อะไรยังงี้ คือมันก็แค่นี้แหละ แต่เจอบ่อย เฉลี่ยก็เดือนละครั้ง ก็เลยรู้สึกว่าการที่ใครเกิดใครตายมันสำคัญเฉยเลยโดยที่ไม่รู้ว่าทำไม

"เนี่ยเห็นมั้ย มีฝรั่งอีกแล้ว" ลี้มองลงไปข้างล่าง ชี้ให้ดูนักท่องเที่ยวขาจรอีกกลุ่ม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กัมพูชาในวันที่ไร้พรรคฝ่ายค้าน-หลังศาลยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ

Posted: 17 Nov 2017 12:51 AM PST

ศาลฎีกากัมพูชายุบพรรคสงเคราะห์ชาติ ตัดสิทธิการเมือง 118 แกนนำ 5 ปีนับเป็นการปราบฝ่ายค้านครั้งใหญ่ก่อนจัดเลือกตั้งปีหน้า ทำให้ในสภาผู้แทนราษฎรกัมพูชาเหลือพรรครัฐบาลพรรคเดียวคือพรรคประชาชนกัมพูชา ด้านนายกรัฐมนตรีกัมพูชา 'ฮุนเซ็น' พูดออกทีวีชวนสมาชิกพรรคฝ่ายค้านสละเรือแตกมาเข้ากับรัฐบาลโดยให้เวลา 2 สัปดาห์

ป้ายพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่หน้าสำนักงานสาขาพรรคย่านบึงกัก กรุงพนมเปญ ภาพนี้ถ่ายในเดือนพฤศจิกายนปี 2555 ทั้งนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นพรรครัฐบาลที่ครองอำนาจในกัมพูชามาอย่างยาวนานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ขณะที่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเคยประกาศว่าจะครองอำนาจไปอีก 30 ปี (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ฉบับวันที่ 17 พ.ย. ลงข่าวยุบพรรคสงเคราะห์ชาติหน้าแรก (ที่มา: The Phnompenh Post) 

 

17 พ.ย. 2560 สภาผู้แทนราษฎรของกัมพูชาถูกยึดครองโดยพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) พรรครัฐบาลที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 อย่างเบ็ดเสร็จ ภายหลังจากศาลฎีกาของกัมพูชาตัดสินยุบพรรคฝ่ายค้าน "พรรคสงเคราะห์ชาติ" (CNRP) เมื่อวานนี้ (16 พ.ย.) ทำให้ในขณะนี้สมัชชาแห่งชาติของกัมพูชา หรือ "รัฐสภา" ซึ่งทำหน้าที่เป็นสภาล่าง เหลือเพียง ส.ส.พรรคประชาชนกัมพูชา 68 ที่นั่ง ส่วนที่นั่งของพรรคฝ่ายค้าน 55 ที่นั่ง ในขณะนี้กลับต้องว่างลง

โดยในการปราศรัยผ่านโทรทัศน์ เช้าวันนี้ (17 พ.ย.) ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่าเขายึดมั่นที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค และเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบเรียบร้อย เขาอ้างด้วยว่าคำตัดสินของศาลฎีกาเป็นการยึดมั่นในหลักนิติธรรม ทั้งนี้เขาเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาของพรรคสงเคราะห์ชาติ ให้ย้ายมาอยู่พรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งเป็นพรรครัฐบาล โดยขยายเวลาให้ "สละเรือแตก" เป็นเวลา 2 สัปดาห์

อนึ่งในรายงานของพนมเปญโพสต์ คำตัดสินของศาลฎีกามีผลยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ ผู้แทนพรรคสงเคราะห์ชาติเสียที่นั่งในสภาทั้งในรัฐสภาระดับชาติ และระดับท้องถิ่น นอกจากนี้มีผลทำให้แกนนำพรรค 118 คน รวมทั้ง กึม สุขขา หัวหน้าพรรค ซึ่งถูกคุมขัง และ สม รังสี ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ถูกห้ามเล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

คำตัดสินของศาลฎีกากัมพูชา เกิดขึ้นหลังรัฐบาลฮุนเซ็นกล่าวหาพรรคสงเคราะห์ชาติว่าเตรียมการทำ "ปฏิวัติสี" (colour revolution) โดยกล่าวหาว่าได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา โดยภายใต้กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อต้นปี 2560 มีผลทำให้พรรคสงเคราะห์ชาติสูญเสียที่นั่งในระดับท้องถิ่น 489 ที่นั่ง และ 55 ที่นั่งในรัฐสภา

โฆษกพรรคฝ่ายค้าน ยิม โสวัณณ์ แถลงหลังทราบคำตัดสินยุบพรรคว่า "พวกเขาไม่สามารถทำให้พรรคสงเคราะห์ชาติหายไปจากหัวใจประชาชนได้"

"นี่คือยุคสิ้นสุดของประชาธิปไตยกัมพูชา เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พวกเขาได้เข่นฆ่าเจตนารมณ์ของประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนในกัมพูชา"

แห่ศพ 'กึมเลย์' นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชาถูกมือปืนยิงเสียชีวิต

สถานการณ์สื่อ-ประชาสังคมกัมพูชาเสี่ยงถูกปราบปราม มอง 'ฮุนเซน' พยายามกุมอำนาจ

ทหาร-ตำรวจกัมพูชาปิดล้อมพรรคฝ่ายค้าน หลัง 'ฮุนเซ็น' สั่งเล่นงานหนัก

หลายองค์กรประณามกรณีกัมพูชาจับกุมฝ่ายค้านกลางดึก 'ล้าหลังอย่างวิบัติ'

 

กวาดล้างฝ่ายค้านก่อนจัดเลือกตั้งปี 61

ทั้งนี้รัฐบาลกัมพูชาได้กวาดล้างสื่อมวลชนและพรรคฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปี 2561 โดยมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจนทำให้หนังสือพิมพ์ The Cambodia Daily ประกาศปิดตัวหลังดำเนินงานในกัมพูชากว่า 24 ปี

นอกจากนี้ยังมีการจับกุมตัวผู้นำพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา "กึม สุขขา" ในข้อหาทรยศชาติ ด้านสมาชิกรัฐสภาของพรรคสงเคราะห์ชาติกว่าครึ่งหนึ่งจากที่มีอยู่ 55 คน ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศแล้ว ส่วนสม รังสี ลี้ภัยไปตั้งแต่ปี 2559 หลังถูกฮุนเซ็นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและปลุกระดม เนื่องจากเขากล่าววิจารณ์รัฐบาลฮุนเซ็นเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนักวิจารณ์การเมือง "กึม เลย์" เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 ขณะที่มีสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติในระดับต่างๆ ย้ายเข้าพรรครัฐบาลแล้ว 200 คน

สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และในปี 2556 ฮุนเซ็น เคยประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 ก่อนที่จะถูกศาลฎีกากัมพูชายับพรรคดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.ก้าวสู่ปีที่ 16 รุกงานเข้าถึงสิทธิสุขภาพ ขยาย ‘ประชากรกลุ่มเปราะบาง’

Posted: 17 Nov 2017 12:32 AM PST

ครบ 15 ปี สปสช. สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชน พัฒนาสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพครอบคลุมและทั่วถึง ลดความยากจนจากภาวะเจ็บป่วย พร้อมเปิดงานสู่ปีที่ 16 เดินหน้าขยายการเข้าถึงสิทธิสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขัง ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มคนไร้บ้านมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน   

17 พ.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานพิธิเปิดงาน "วันสถาปนา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งครบรอบวันที่ 19 พ.ย. ของทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 15 และก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 16 ของการก่อตั้ง สปสช.

ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.เป็นองค์กรของรัฐที่ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2545 ตามพันธกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชนไทย 48.78 ล้านคน ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าคนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า และคนไทยเข้าถึงการรักษามากขึ้น

เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า มีอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยจาก 2.45 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2546 เพิ่มเป็น 3.59 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2559 และอัตราการใช้บริการผู้ป่วยในเพิ่มจาก 0.094 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2546 เป็น 0.120 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2559 ซึ่งนอกจากการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพครัวเรือนอย่างสัมฤทธิ์ผล ครัวเรือนยากจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากร้อยละ 2.36 ในปี 2540 เหลือเพียงร้อยละ 0.34 ในปี 2558 จากการพัฒนาสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ สปสช.ยังคงร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพืท่อมุ่งมั่นพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งแต่ละปีพบผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทุกชนิด การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี เน้นกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน "คลินิกหมอครอบครัว" (Primary Care Cluster: PCC) เป็นปีแรกเพื่อเพิ่มบริการ ลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมถึงมุ่งเป้าหมายการเข้าถึงบริการกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ต้องขัง ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มคนไร้บ้าน และคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน เป็นต้น ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564)

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้บรรยากาศในวันสถาปนา สปสช. ในช่วงเช้า ศักดิ์ชัย ได้วางพวงมาลัยรูป นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ณ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด ซึ่งเป็นเลขาธิการ สปสช.คนแรกและเป็นผู้ผลักดันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่ภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างกิจกรรมชื่นชมคนดี "ปิดทองหลังพระ", สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ ที่ได้รับรางวัลทีมเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี 2560 จากมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม, การเสวนากลุ่มผู้ป่วยเพื่อสะท้อนมุมมองต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาทิ ธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย, พล.อ.ต.กิจจา ชนะรัตน์ ประธานชมรมเครือข่ายโรคหัวใจ รพ.โรคทรวงอก และ สุภาวดี เชื้อสิงห์โต เลขานการชมรมเครือข่ายโรคหัวใจฯ ซึ่งได้ชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ช่วยให้ผู้ป่วยในประเทศเข้าถึงการรักษา รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้ถึงปัจจุบันและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ต.ค.60 อัตราการว่างงาน 1.3% ก.แรงงาน คาดเดือนนี้ลดเหลือ 0.8%

Posted: 16 Nov 2017 11:52 PM PST

กระทรวงแรงงานเผย ต.ค. 60 อัตราการจางงานในระบบ 10.69 ล้านคน ขยายจากปีก่อน 2.45% อัตราการวางงาน 1.3% คาดเดือนนี้เหลือ 0.8% ระบุพร้อมดันฝึกอาชีพช่วยผู้มีรายได้น้อย เน้นงานเชิงรุก สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายผ่านกลไกประชารัฐ

แฟ้มภาพ ประชาไท

17 พ.ย. 2560  กระทรวงแรงงานรายงานว่า วันนี้ เวลา 11.00 น. เพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงผลการประชุมกระทรวงแรงงานครั้งที่ 9/2560 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยเปิดเผยถึงสถานการณ์การจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือนตุลาคม 2560 ว่า อัตราการจ้างงานในระบบประกันสังคม มีผูประกันตน (มาตรา 33) จํานวนทั้งสิ้น 10,695,748 คน เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2559 พบว่ามีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 2.45 สำหรับอัตราการวางงานอยูที่รอยละ 1.3 เมื่อวิเคราะห์ประมาณการว่างงานเดือนพฤศจิกายน 2560 จะลดลงเหลือรอยละ 0.8 ทั้งนี้

รองปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงด้วยว่า กระทรวงแรงงานได้เปิดช่องทางให้นักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่กำลังหางานทำ เข้าใช้บริการหางานทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านทาง Mobile Application "Smart Job Center" ซึ่งผู้สมัครงานและนายจ้างสามารถส่งข้อความโต้ตอบหากัน เพื่อนัดสัมภาษณ์งานได้ด้วยตนเอง อันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สมัครงานและนายจ้าง ที่ทำให้การหาคนและหางานรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ (ต.ค.59 – 60) มีจำนวนทั้งสิ้น 114,984 คน แบ่งเป็น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศอิสราเอล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, คูเวต, กาตาร์ และบาห์เรน จำนวน 16,540 คน กลุ่มประเทศแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้, แอลจีเรีย, มาดากัสการ์, ซูดาน และโมซัมบิก จำนวน 3,511 คน กลุ่มประเทศเอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน, สาธารณรัฐเกาหลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และสิงคโปร์ จำนวน 80,186 คน กลุ่มประเทศอเมริกาและอื่นๆ จำนวน 4,014 คน แรงงานมีรายได้ส่งกลับผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 125,731 ล้านบาท

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะบูรณาการร่วมกับองค์กรเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมถึงการประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน ในการสำรวจความต้องการด้านอาชีพ เพื่อดำเนินการฝึกทักษะอาชีพแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย  ให้ตรงกับความต้องการ และมีกำหนด Kick-Off พร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 14 ธ.ค. 2560 เป้าหมาย 61,849 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งยังดำเนินกิจกรรมสร้าง "ช่างชุมชน" จิปาถะ ต่อยอดโครงการสานสร้างศูนย์ช่างประจำชุมชน เทิดไท้องค์ราชัน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนในชุมชนที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

"ส่วนนโยบายด้านคุ้มครองแรงงานในปีงบประมาณ  2561 กระทรวงแรงงานจะขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานตามนโยบาย Safety Thailand ซึ่งจะเน้นย้ำเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้เกิดมาตรการเชิงป้องกัน สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายผ่านกลไกประชารัฐ รวมทั้งการขับเคลื่อนความปลอดภัยในการทำงานสู่แรงงานนอกระบบ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ รวมไปถึงการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่น ผลักดันให้สถานประกอบกิจการจัดทำ GLP TLS การพัฒนา e - service และการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น นำสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน" เพชรรัตน์ฯ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช.ประเมินคุณธรรม 422 หน่วยงานรัฐ พบ 5 องค์กรอิสระ ป.ป.ช.คะแนนสูงสุด

Posted: 16 Nov 2017 10:14 PM PST

สำนักงาน ป.ป.ช. เผยผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส 422 หน่วยงานภาครัฐ พบส่วนองค์กรอิสระ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้คะแนนสูงสุด ขณะที่ ต่ำสุดคือ สำนักงานผู้ตรวจกำรแผ่นดิน ส่วนกองทัพบก ได้ 77.94 คะแนน 

อ่านประกาศผลทั้งหมดได้ที่ https://www.nacc.go.th//images/article/freetemp/article_20171117092622.pdf

17 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 พ.ย.60) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(สำนักงาน ป.ป.ช.) ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ซึ่งจัดทำโดย ป.ป.ช. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อประเมินผลด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน และเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐจำนวน 422 หน่วยงาน 

สำหรับการประเมินนี้ แบ่งออกเป็น 5 ดัชนี 1.ดัชนีความโปร่งใส 2.ดัชนีความพร้อมรับผิด 3.ดัชนีความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน 4.ดัชนีวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร และ 5.ดัชนีคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน โดยคะแนนประเมินระหว่าง 80 – 100 ถือว่า อยู่ในเกณฑ์คุณธรรมและความโปร่งใสในระดับที่สูงมาก 60 – 79.99 อยู่ในระดับสูง 40 – 59.99 อยู่ในระดับปานกลาง 20 – 39.99 อยู่ในระดับต่ำ 0 – 19.99 อยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งไม่พบว่า มีหน่วยงานใดได้คะแนนในเกณฑ์ต่ำและต่ำมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงาน ศาล (เฉพาะหน่วยงานธุรการ) 3 หน่วยงาน นั้น สำนักงานศายุติธรรมได้คะแนนสูงสุดที่ 92.37 คะแนน ขณะที่องค์กรอิสระ 5 หน่วยงาน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้คะแนนสูงสุด ที่ 90.44 คะแนน ต่ำสุดคือ สำนักงานผู้ตรวจกำรแผ่นดิน 71.20 คะแนน ส่วนอัยการพบว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ 78.98 คะแนน หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา 2 หน่วยงานคือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้คะแนนใกล้เคียงที่ 82.70 และ 82.94 ตามลำดับ ขณะที่รัฐวิสาหกิจ คะแนนสูงสุดตกเป็น ธนาคาราคารสงเคราะห์ 97.97 คะแนน 

กองทัพบก ได้ 77.94 คะแนน กองทัพเรือได้ 88.91 คะแนน กองทัพอากาศได้ 83.99 คะแนน ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยได้ 86.12 คะแนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ 73.87 คะแนน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อปีที่แล้ว 29 ก.ย. 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ผลจากโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 115 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย สำนักงานศาล (เฉพาะหน่วยงานธุรการ) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานสังกัดรัฐสภา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน นั้น ซึ่งปรากฏว่า สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ในอันดับที่ 100 ได้เพียง 73.52 คะแนนเท่านั้น โดยขณะนั้น สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า สำหรับ สำนักงาน ป.ป.ช. สังคมอาจจะมองเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับการขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลทางคดีอันนี้จึงอาจเป็นจุดที่ทำให้ได้คะแนนประเมินในปีนี้ไม่สูง แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช. มีความจำเป็นเนื่องจากข้อมูลทางคดีมีผลต่อการพิจารณา มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในคดี ทำให้บางครั้งไม่อาจให้ข้อมูลหรือเปิดเผยได้ซึ่งก็คงต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

LGBTQ กลุ่มย่อยในสหรัฐฯ แต่งซอมบี้ประท้วง 'LGBTQกระแสหลัก' จับมือบริษัทการเงินกดขี่คน

Posted: 16 Nov 2017 07:42 PM PST

17 พ.ย. 2560 ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่ม LGBTQ ระดับรากหญ้าในสหรัฐฯ ที่ชื่อ "No Justice, No Pride"* ประท้วงกรณีที่ฮิวแมนไรท์แคมเปญ (HRC) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิ LGBTQ ที่ก่อตั้งมายาวนานในสหรัฐฯ จัดงานดินเนอร์ระดมทุนในเรื่องการคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในงานดังกล่าวกลับมีการเชิญเวลส์ ฟาร์โก บริษัทด้านการเงินและการธนาคารเข้าร่วมด้วย ทำให้ No Justice, No Pride ไม่พอใจ เนื่องจากถึงแม้ว่าเวลส์ ฟาร์โก จะมีภาพลักษณ์ภายนอกแสดงออกว่าสนับสนุน LGBTQ แต่นโยบายและการกระทำของบริษัทนี้ก็กดขี่คนชายขอบ ซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่ชายขอบในขบวนการ LGBTQ เองด้วย

No Justice, No Pride ระบุถึงจุดยืนของกลุ่มว่า ต้องการเสริมพลังให้กับกลุ่มคนที่พวกเขามองว่าถูกกีดกันให้เป็นชายขอบภายในขบวนการ LGBTQ กระแสหลักที่มักจะให้ความสำคัญกับคนที่มีเพศตรงกับเพศกำเนิด มีมุมมองแบบรักต่างเพศเป็นบรรทัดฐาน (heteronormative) และเน้นแต่คนขาว กลุ่ม LGBTQ ระดับรากหญ้ากลุ่มนี้ยังเคยสร้างปรากฏการณ์ให้ตัวเองด้วยจัดขบวนไปสกัดกั้นการเดินขบวนของงาน 'แคปปิตอล ไพรด์' เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยพวกเขาบอกว่างานแคปปิตอลไพรด์เป็นงานที่ถูกครอบงำโดยบรรษัทและถูกทำให้เป็นแค่ของคนขาว

ในงานเลี้ยงระดมทุนของ HRC มีคนดังๆ เข้าร่วมอย่างฮิลลารี คลินตัน ผู้แทนจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 2559 คามาลา แฮร์ริส วุฒิสมาชิกจากแคลิฟอร์เนีย และอูโซ อาบูดา ดาราหญิงคนดำจากซีรีส์ Orange is the New Black อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าชาว LGBTQ ทุกคนจะรู้สึกได้รับการต้อนรับในงานนี้ หนึ่งในปัญหาที่ทำให้ No Justice, No Pride ไม่พอใจคือการที่ HRC ไปร่วมมือกับบริษัทการเงินที่กดขี่อย่างเวลส์ ฟาร์โก

ทำให้ในครั้งนี้ No Justice, No Pride ร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมขาวเควียร์ (ผู้ที่ไม่ยึดติดกับเพศสภาพชายหญิง) อีกกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ "ทรานส์วูแมนออฟคัลเลอร์คอลเลคทีฟ" (Trans Woman of Color Collective) ชุมนุมปิดทางเข้างานของ HRC ด้วยรถจักรยานยนต์และท่อพีวีซี รวมถึงประท้วงด้วยการแต่งกายเป็นซอมบีอิงกับใกล้กับช่วงเทศกาลฮัลโลวีนที่เพิ่งผ่านมาและเป็นการแสดงถึงความน่าสยดสยองจากการที่ HRC มีสายสัมพันธ์กับบริษัทเวลส์ ฟาร์โก

อย่างไรก็ตาม HRC ยืนยันว่าการร่วมมือกับบริษัทใหญ่ๆ ก็มีความสำคัญต่อการต่อสู้กับการออกกฎหมายกีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศ พวกเขาบอกว่ามีการอาศัยความร่วมมือจากบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้จนทำให้ต่อต้านการออกกฎหมายกีดกันคนข้ามเพศในรัฐเท็กซัสและนอร์ทแคโรไลนาได้ ในช่วงเวลาที่รัฐบางส่วนกลางพยายามบีบเค้นกดขี่ชาว LGBTQ อย่างชัดเจนตั้งแต่ในสถาบันกองทัพ ในสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งในชีวิตประจำวันทุกวันแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องใช้ทุกวิถีทางในการที่ดำเนินกิจกรรมให้สำเร็จลุล่วงไปได้

สื่อ Vice สัมภาษณ์ เอมเมลเลีย ทาลาริโก ประธานขับเคลื่อนของ No Justice, No Pride ถึงเรื่องการประท้วง ทาลาริโกกล่าวว่าถึงแม้หลายคนจะมองพวกเขาอย่างเย็นชาและจองหองแต่ก็มีผู้เข้าร่วมงานของ HRC บางส่วนที่สนใจข้อวิจารณ์ของพวกเขาและมีคนทำงานให้ HRC บางส่วนที่รับฟังพวกเขาแม้ว่าจะยังไม่มีการพูดคุยตอบกลับในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

ทาลาริโกกล่าวอีกว่าการประท้วงของพวกเขามีการเตรียมการหลายสัปดาห์และได้รับการสนับสนุนจากชุมชน LGBTQ ในท้องถิ่น กลุ่มคนข้ามเพศและชาวเควียร์โดยเฉพาะที่ไม่ใช่คนขาวรู้สึกไม่พอใจกับการที่ HRC ปฏิสัมพันธ์กับบรรษัทที่กดขี่ผู้คน และผู้คนก็รู้สึกตื่นเต้นที่มีชาว LGBTQ ปฏิบัติการบางอย่างกับ HRC

ทาลาริโกมองว่าการที่ HRC มีสายสัมพันธ์กับเวลส์ ฟาร์โก ส่งสารให้คนที่ได้รับผลกระทบทางลบจากบริษัทการเงินนี้ได้เห็นว่า HRC ไม่ได้มองพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ HRC ต้องการจะเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนข้ามชาติที่ไม่ได้มีเอกสารรับรองจากรัฐบาล ชาวเปอร์โตริโก และใครก็ตามที่ถูกกดขี่จากนโยบายและการหลอกลวงของเวลส์ฟาร์โก ทาลาริโกบอกอีกว่า "มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยคนข้ามเพศและเควียร์ออกจากการต่อสู้กับความอยุติธรรมในระดับกว้างๆ"

นอกจากนี้สมาชิกของกลุ่มคนข้ามเพศและชาวเควียร์ยังบอกว่าการ "ทำให้มีส่วนร่วม" ในแบบของ HRC นั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาสนใจ แต่พวกเขาสนใจมากกว่าถ้าหาก HRC จะสร้างพื้นที่ให้กับผู้นำที่มาจากชุมชนของคนชายขอบเพื่อให้พวกเขาได้ไล่ตามเป้าหมายและวาระของตัวเอง

HRC เคยถูกวิจารณ์ว่่ามีบรรยากาศในที่ทำงานที่ไม่เปิดกว้าง ชอบตัดสิน และไม่ทำให้มีส่วนร่วมมากพอและมีวัฒนธรรมการนำที่ "เน้นแต่เกย์ชายคนขาว" เหล่าคนข้ามเพศเคยวิจารณ์ HRC ในเรื่องกฎหมายการห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน (ENDA) ว่ามีแต่การคุ้มครองทางเพศวิถี (เช่น เกย์ เลสเบียน ไบ) แต่ไม่ได้คุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและการแสดงออกทางเพศสภาพ (เช่น คนข้ามเพศ ผู้ไม่นิยามตัวเองในระบบสองเพศ) ไปด้วย

ทาง No Justice, No Pride ให้สัมภาษณ์อีกว่าจากที่พวกเขาถูกกีดกันเป็นชายขอบมานาน พวกเขาก็อยากให้พื้นที่ของขบวนการเป็นพื้นที่สำหรับคนข้ามเพศและชาวเควียร์ยุคใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้นและมีเป้าหมายในการปลดแอกทางเพศสภาพไปไกลมากกว่าเดิม พวกเขาไม่เพียงแค่วิจารณ์หรือต่อต้าน แต่ยังเคลื่อนไหวให้มีรัฐบาลท้องถิ่นทำตามสัญญากับคนข้ามเพศและออกนโยบายในเชิงต่อต้านการเหยียดการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังร่วมกับกลุ่มส่งเสริมชีวิตคนทำงานบริการทางเพศในวอชิงตันดีซีให้การขายบริการทางเพศไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอีกต่อไปในพื้นที่เขตวอชิงตัน

Vice ถามว่าถ้ามีคนมองว่าหากการเคลื่อนไหวต่อต้าน HRC ของพวกเขาเป็นสิ่งที่ขัดขวางพวกเดียวกันเองพวกเขาจะตอบอย่างไร ทาลาริโกบอกว่าในบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้มันสำคัญที่จะมีความชัดเจนว่าใครที่สนับสนุนพวกเขาจริงหรือใครที่ไม่ได้สนับสนุนพวกเขาที่เป็นคนชายขอบ มันไม่ใช่การ "กัดกันเอง" แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าขบวนการมีความผิดพลาดล้มเหลวตรงไหนบ้าง มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังบ้าง เพื่อให้พวกเขาเคลื่อนไหวได้อย่างเข้มแข็งและไปไกลมากขึ้น

 


* ชื่อขบวนการ "No Justice, No Pride" แปลว่า "ถ้าไม่มีความยุติธรรมก็ไม่มีความทรนง" คำว่า Pride หรือความทรนงในที่นี้ยังเป็นคำสำคัญที่ชาว LGBTQ มักจะนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวโดยทั่วไปด้วย



เรียบเรียงจาก

LGBTQ Activists Organize a 'Zombie' Protest Against HRC's Wells Fargo Ties, Vice Impact, 03-11-2017
https://impact.vice.com/en_us/article/8x55z4/lgbtq-activists-organize-a-zombie-protest-against-hrcs-wells-fargo-ties

No Justice, No Pride Is the Revolutionary Spirit of the Stonewall Riots, Vice Impact, 20-06-2017
https://impact.vice.com/en_us/article/59zaax/no-justice-no-pride-is-the-revolutionary-spirit-of-the-stonewall-riots


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Human_Rights_Campaign

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมถึงต้องกล่าวโทษ “เหยื่อทางด้านสุขภาพ”

Posted: 16 Nov 2017 04:45 PM PST


 

เมื่อพูดถึง "เหยื่อ" ซึ่งตามพจนานุกรมไทย แปลว่า "ตัวรับเคราะห์" แล้วอาจไม่เข้าใจความหมายนัก ต้องไปดูในภาษาอื่นแทน ซึ่งแปล "เหยื่อ (Victim)" ว่า "บุคคลที่ถูกทำร้ายหรือฆ่าให้เสียชีวิตด้วยอาชญากรรม อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์อื่นๆ" สรุปแล้วเหยื่อจะต้องเป็น "ผู้ถูกกระทำ"

ส่วนเหยื่อทางด้านสุขภาพน่าจะนิยามว่าหมายถึง "ผู้ที่ถูกกระทำโดยมีผลกระทบต่อสุขภาพ" ตัวอย่างเช่น คนที่เดินอยู่ตามท้องถนน แล้วก็ถูกรถชนหรือโดนคนทำร้ายจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คนที่ต้องดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ (ควันบุหรี่มือสอง) จนกระทั่งตัวเองต้องป่วยเป็นโรคทางระบบหายใจ บางครั้งก็กลายเป็นมะเร็งปอดไป ฯลฯ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่น่าสงสารเห็นใจและสังคมควรให้ความช่วยเหลือเพื่อเยียวยาความสูญเสียให้มากที่สุดที่จะทำได้

ในต่างประเทศนั้นรวมเหยื่อทางด้านสุขภาพว่าหมายถึง บุคคลที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้านสุขภาพ และได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากพฤติกรรมดังกล่าว กล่าวคือ "บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำเสียเอง" ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกกล่าวโทษมากที่สุด


การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim blaming) ทางด้านสุขภาพ

การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim blaming) หมายถึง การกระทำที่ลดคุณค่าของเหยื่อจากภัยอาชญกรรมหรืออุบัติเหตุ เมื่อเหยื่อนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ (ทั้งหมดหรือบางส่วน) ต่อเหตุการณ์นั้น และสอดคล้องกับนิยามของเหยื่อทางด้านสุขภาพของต่างประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีเด็กหญิงคนหนึ่งป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง ด้วยอาการไข้สูง ปวดหัว ซึ่งแพทย์สงสัยว่าเป็นปอดบวม ได้ให้การรักษาไป 3 วัน ไข้ไม่ลด ต่อมามีอาการทรุดหนัก มีอาการชักในบางครั้ง แพทย์คนที่ 2 จึงทำการเจาะไขสันหลัง และสงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูฟิลม์เอ็กเรย์ ก็ยืนยันว่าเป็นวัณโรค จึงรักษาวัณโรคตั้งแต่นั้นมา พร้อมทั้งถูกส่งตัวไป รพ.ที่ใหญ่ขึ้น

ประเด็นปัญหาอยู่ตรงที่บิดาของเด็กหญิงดังกล่าวได้ป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งติดต่อถึงบุคคลข้างเคียงได้ และไม่ได้ให้ประวัติแก่แพทย์ จนกระทั่งแพทย์คนต่อมาวินิจฉัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบและสงสัยจากเชื้อวัณโรค (บวกกับผลจากการดูฟิลม์เอ็กเรย์) แล้วกลับไปสอบถาม จึงได้พบกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

มีผู้กล่าวโทษเหยื่อ (และครอบครัว) ว่า "…พ่อแม่ไม่รักษาสุขภาพลูก และตัวเองเมื่อไปโรงพยาบาลแล้วไม่บอกประวัติให้ละเอียด ตรงนี้พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย"

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะไม่ทำอาหารเอง มักจะไปซื้ออาหารสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ตามท้องถนนหรือตลาด ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพน้อยมาก น้ำมันที่ใช้ทอดก็ไม่รู้ว่าใช้มาแล้วกี่ครั้ง ผัก เนื้อหมู เนื้อปลา ฯลฯ ก็ไม่รู้ว่าจะสดหรือไม่ หรือมีปนเปื้อนด้วยยาปฏิชีวนะ บ้างก็ไปซื้ออาหารขยะ (Junk food) และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากมาดื่ม ทั้งหมดนี้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่เป็นท้องเสีย (เพราะอาหารไม่สะอาด) หรือทำให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง ฯลฯ ที่เราเรียกรวมๆ ว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs (Non communicable diseases) เพราะกินน้ำตาล ไขมัน สารปรุงรส สารเกลือแร่ และสารเคมีต่างๆ เข้าไปเป็นจำนวนมาก

นี่อาจจะกล่าวโทษว่า "นี่เป็นเพราะกินแบบนี้ จึงเจ็บปวยเสาะแสะ เดี๋ยวก็เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคมะเร็ง"

ทั้งสองกรณีมีบุคคลได้รับภัยทางด้านสุขภาพ และบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบ (ทั้งหมดหรือบางส่วน) ต่อเหตุการณ์นั้น


ทำไมถึงกล่าวโทษเหยื่อทางด้านสุขภาพ

เราจะกล่าวโทษเหยื่อทางด้านสุขภาพไปทำไม มันจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่เป็นซ้ำอีกหรือไม่ ในทางทฤษฎีพบว่ามันเป็นระบบความเชื่อ (belief system) เป็นชุดของความคิดที่ใช้ในการมองโลก ความคิดมีการบิดเบือนไปจากความจริงอย่างเป็นระบบ (systematic distortion of reality) การบิดเบือนเป็นไปโดยไม่สำนึก (unconscious) หรือไม่ตั้งใจ (unintentional) และความคิดนั้นมีเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง


ความคิดและความเชื่ออะไร เพื่อวัตถุประสงค์ใด

ความคิดหลักของการกล่าวโทษคือ สภาพปัญหาเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล โดยที่บุคคลนั้นเลือกปฏิบัติเอง และอาจเป็นเพราะความบกพร่องของบุคคลนั้น (individual defect) ทำให้บุคคลนั้นโชคร้าย (unfortunate) หรือประสบอุบัติเหตุ แต่เมื่อบุคคลมีสิทธิเลือกก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลการเลือกนั้น วัตถุประสงค์ของแนวคิดนี้คือ การที่บุคคลจะไม่ทำอย่างเดิมอีกเพราะจะถูกกล่าวโทษ (Exceptionalism หรือ Freedom model)

การมองปัญหาสุขภาพว่าเป็นเรื่องของบุคคล ส่วนหนึ่งเกิดจาก "แนวคิดชีวการแพทย์ (biomedical model)" ที่มองร่างกายมนุษย์เหมือนเครื่องจักร และอธิบายโรคภัยไข้เจ็บว่า เกิดจากชิ้นส่วนของเครื่องจักรนั้นชำรุด การวิเคราะห์เจาะลึกโดยการแยกร่างกายให้เป็นส่วนที่เล็กลงไปเรื่อยๆ เป็นอวัยวะ เซลล์ โมเลกุล ยีน ฯลฯ จนกระทั่งได้ชิ้นส่วนที่เป็นสาเหตุของโรคและแนวทางการรักษา การรักษาก็จะเป็นยา เทคโนโลยี และการผ่าตัดต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

Robert Crawford กล่าวว่า แนวคิดการกล่าวโทษเหยื่อทางด้านสุขภาพเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในบริบทที่มีความคาดหวังสูงทางการแพทย์และการได้รับสิทธิ การตระหนักถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ การกล่าวโทษเหยื่อเป็นการตอบสนองทางการเมืองและแนวคิด ซึ่งมองเห็นว่า พฤติกรรมและวิถีชีวิตเฉพาะบุคคลมีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยและปัญหาด้านสุขภาพ มากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง การโทษเหยื่อมีผลทางอ้อมทำให้ค่ารักษาพยาบาลลดลง เพราะเหยื่อมักต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง (บางส่วนหรือทั้งหมด) เพราะตนเองเป็นฝ่ายผิด กรณีผู้ป่วยในประเทศไทย การกล่าวโทษเหยื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ด้วย


ความถูกต้องและสิ่งที่ควรจะทำ

ปัจจุบันเราทราบกันดีว่า สุขภาพของประชาชนไม่ใช่ความรับผิดชอบส่วนบุคคลอีกต่อไป สุขภาพขึ้นกับบริบทที่ใหญ่กว่านั้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยและทำงานอยู่ เรียกว่ามีปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social determinants of health) ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย หากกล่าวถึงปัญหาโภชนาการ จะพบว่าความจริงแล้วปัญหาด้านโภชนาการเกี่ยวเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ครอบครัวยากจนก็มีปัญหาในการซื้อหาอาหารมาบริโภค มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (ทำให้บริโภคอาหารไม่เป็น) วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ปัจจุบันการซื้ออาหารกินนอกบ้านและซื้ออาหารสำเร็จรูปการกินที่บ้านเป็นทางเลือกที่สะดวก และกลไกตลาดเสรีที่กระตุ้นการบริโภคการบริโภคอาหารขยะ และเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสมทั้งหลาย

สำหรับการกล่าวโทษเหยื่อที่มารับการรักษาพยาบาลโดยผู้ให้บริการนั้น ผู้ให้บริการควรจะตระหนักว่า ผู้ป่วยนั้นมีข้อจำกัดด้านข้อมูล/ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล (Asymmetry information) จะหวังให้ผู้ป่วยหรือญาติเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ดีเท่าผู้ให้บริการไม่ได้ สิ่งที่น่าจะทำมากที่สุดคือ ให้ข้อมูลทุกด้านจนกระจ่าง เพื่อความเข้าใจที่ดีต่อกัน (กรณีที่จะกลายเป็นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล)


โดยสรุปมีข้อเสนอคือ

1.เมื่อพบผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใดก็ตาม ท่าทีที่ถูกต้องต่อพวกเขาเหล่านั้นคือ "ความเห็นอกเห็นใจ" และ "ความเอาใจใส่" เพราะปัญหาสุขภาพที่พวกเขาต้องประสบ นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม พวกเขาต้องการกำลังสนับสนุนทางจิตใจและสังคมช่วยเยียวยา เพื่อให้สามารถกลับมามีบทบาททางสังคมตามเดิมให้เร็วที่สุด

2.การกล่าวโทษบุคคลด้วยข้อมูลและเหตุผลใดๆ ก็ตาม ข้อมูลนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงและเหตุผลนั้นก็ต้องเป็นเหตุผลที่มองรอบด้าน ไร้อคติ และถูกต้องตามตรรกะที่ควรจะเป็น ที่ต้องไม่ลืมคือ ผลอย่างหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากเหตุหรือปัจจัยหลายอย่าง หรือเหตุอย่างหนึ่งอาจให้ผลหลายอย่าง ที่สำคัญคือ การกล่าวโทษบุคคลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากมิใช่การกล่าวโทษที่มีผลตามกฏหมายแล้ว ก็ควรที่จะทำให้การกล่าวโทษดังกล่าวมีน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด เพราะการกล่าวโทษมีแต่จะทำให้ผู้คนเกลียดกัน

3.การกล่าวโทษเหยื่อทางด้านสุขภาพด้วยเหตุที่บุคคลมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพ บุคคลนั้นจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลของพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการมองปัญหาไม่รอบด้าน เพราะพฤติกรรมใดๆ ที่บุคคลกระทำและอาจมีผลกกระทบต่อสุขภาพนั้น ล้วนเกี่ยวของกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ) ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของบุคคล การกล่าวโทษเหยื่อจึงไม่ชอบด้วยเหตุผล นอกจากนี้การกล่าวโทษเหยื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโยนความผิดและความรับผิดชอบ (เช่น ค่ารักษาพยาบาล) ให้เหยื่อ และละเลยที่จะดำเนินการใดๆ ที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรจะให้เกิดขึ้น

4.ด้วยปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การจะแก้ไขปัญหาจึงต้องดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยไม่ต้องมีการกล่าวหาว่าใครเป็นผู้ผิด (อาจกล่าวว่าผิดที่ระบบ)

 

 

หมายเหตุ: อ่านเพิ่มเติมจาก "แนวคิดการกล่าวโทษเหยื่อ และหน้าที่ด้านสุขภาพ" สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 2559

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น