โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กองกำลังว้า UWSA ยึดที่ดินทำกินชาวบ้านไทใหญ่

Posted: 18 Nov 2012 11:06 AM PST

กองกำลังว้า UWSA ใช้หลากหลายวิธีบังคับซื้อและยึดที่ดินไร่นาชาวบ้านไทใหญ่ในพื้นที่อำเภอเมืองโต๋น เผย นับตั้งแต่เกิดเหตุกระทบกระทั่งระหว่างกองกำลังว้าและไทใหญ่ SSA ทำชาวบ้านในพื้นที่ประสบความลำบากในการเดินทาง เพราะถูกกองกำลังว้าเข้มงวด

มีรายงานจากแหล่งข่าวในพื้นที่ว่า ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กองกำลังว้า UWSA สังกัดหน่วยพื้นที่ 171 หรือ ว้าตอนใต้ ของเหว่ยเซียะกัง ได้ทำการบังคับซื้อและยึดเอาที่ดินชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเมืองโต๋น รัฐฉานภาคตะวันออก ตรงข้ามชายแดนไทยด้านอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง โดยทหารกองกำลังว้า UWSA ใช้หลากหลายวิธีบังคับซื้อเอาที่ดิน เช่น หากเป็นที่นาจะขอซื้อแปลงที่อยู่หัวน้ำก่อนซึ่งหากซื้อได้แล้วจะทำการปิดกั้นน้ำเพื่อไม่ให้ชาวบ้านที่มีนาอยู่ลุ่มน้ำสามารถทำนาได้ จากนั้นจะติดต่อขอซื้อเอาในราคาถูก ซึ่งเจ้าของที่นาจำต้องขายให้เพราะไม่มีน้ำให้ทำนาได้

หากเป็นที่ดินไร่สวนทางกองกำลังว้า UWSA จะกว้านซื้อเอาแปลงที่อยู่ต้นทางผ่านโดยจ่ายให้ในราคาเต็มตามที่เจ้าของต้องการ จากนั้นจะหาทางบังคับซื้อที่ดินไร่สวนที่อยู่ด้านในโดยทำการปิดกั้นถนนต้นทางไม่ให้เจ้าของไร่สวนด้านในผ่านเข้าไปทำไร่สวนของตัวเอง จากเหตุนี้ทำให้ชาวไร่สวนจำต้องขายที่ดินทำกินให้กองกำลังว้าจำนวนมาก และเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งที่บ้านเมืองหาง บ้านห้วยอ้อ ปุ่งป่าแขม และนากองมู ในพื้นที่อำเภอเมืองโต๋น โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเนิ่นนาน

นอกจากนี้ มีรายงานว่า เมื่อในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านในปุ่งป่าแขม 3 ราย ได้แก่ นางคำจิ่ง, นายแลง และนางมาด ได้ถูกกองกำลังว้า UWSA ยึดเอาที่ดินซึ่งอยู่ติดกันในพื้นที่ระหว่างเขต 5 และบ้านใหม่ รวมเนื้อที่ 5 เอเคอร์ แม้ผู้เสียหายจะร้องเรียนถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจพม่าในท้องที่ ให้ช่วยเจรจาขอที่ดินคืนให้ แต่จนถึงขณะนี้พวกเขายังไม่ได้คืนแต่อย่างใด

ด้านจายวินเมียดอู สส.พรรคชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย SNDP หรือ พรรคเสือเผือก ซึ่งเป็นสส.ในพื้นที่เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตนเคยได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านเหตุถูกกองกำลังว้า UWSA ยึดที่ดินหลายครั้ง ซึ่งตนได้รายงานเรื่องไปยังพรรคและผู้เกี่ยวข้องทั้งในเมืองตองจี และเมืองเนย์ปิดอว์ เพื่อให้มีการหารือในประชุมสภา และทราบว่าในเร็วๆ นี้ จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบผู้สูญเสียที่ดินและจะมีการสำรวจตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย

โดยระหว่างปี 2542 - 2544 กองกำลังว้า UWSA ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ ได้ทำการบังคับอพยพโยกย้ายประชาชนว้าอย่างน้อย 126,000 คนจาก 'ปางซาง' ติดชายแดนจีน ลงมายังรัฐฉานใต้หลายพื้นที่ และมาสร้างเมืองใหม่ชื่อ 'เมืองยอน' ติดกับชายแดนภาคเหนือของไทย โดยมากระจายกันอยู่แบบจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ทั้งในพื้นที่เมืองยอน เมืองตุม เมืองกาน ตรงข้ามจังหวัดเชียงราย เมืองโต๋น นากองมู ปุ่งป่าแขม เมืองจ๊อต เมืองเต๊าะ เมืองทา ตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อยลงไปถึงบ้านคายโหลง ค่างปลา ใกล้กับดอยไตแลง ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นมาได้เกิดมีการแย่งชิงและยึดเอาที่ดินทำกินชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่มีรายงานว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA เข้าไปสร้างฐานในพื้นที่เคลื่อนไหวกองกำลังว้า UWSA ในพื้นที่อำเภอเมืองโต๋นและถูกกองกำลังว้าควบคุมตัว 19 นาย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างต้องประสบกับความลำบากในการออกไปทำงานในไร่นา ซึ่งหากทหารว้าพบเห็นจะเรียกไปตรวจสอบซักถามอย่างเข้มงวด เนื่องจากหวั่นชาวบ้านจะเป็นสายและสนับสนุนกองกำลังไทใหญ่ SSA นอกจากนี้มีชาวบ้านหลายคนที่ถูกสงสัยว่าอยู่ในสายกองกำลังไทใหญ่ SSA ได้ถูกตรวจค้นบ้านพักด้วย ซึ่งทำให้ชาวบ้านต่างต้องอยู่กันอย่างระมัดระวังและไม่กล้าออกนอกบ้านในยามค่ำคืน

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: นักวิชาการ ASEAN Watch ระบุ ท่าทีไทยต่ออาเซียน ตื่นตูม มากกว่าตื่นตัว

Posted: 18 Nov 2012 10:56 AM PST

 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ระบุ อนาคตอาเซียนมีปัญหาขาดผู้นำและยังมีความขัดแย้งระหว่างประเทศ ด้านนักวิชาการ ASEAN Watch ชี้ไทยตื่นตูมกับกระแสอาเซียนมากเกินไป รวมทั้งมีความคาดหวังต่ออาเซียนเกินจริงไปมาก ขณะทีป ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนเชื่อเปิดเสรีการค้าสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์

18 พ.ย.55 ในงานรัฐศาสตร์วิชาการ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในฐานะเขตการค้าเสรีอาเซียน" ซึ่งจัดโดย มีผู้ร่วมเสวนา ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬา ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข จากโครงการ Asean Watch สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จาก กป.อพช และ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

คนไทยตื่นตูมอาเซียนมากกว่าตื่นตัว ตระหนกมากกว่าตระหนัก

ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้วาทกรรมอาเซียน จะอบรมสัมมนาอะไรก็ต้องพ่วงท้ายด้วยคำว่า เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และสังคมไทยตื่นตัวกับกระแสอาเซียนมากเกินไป รวมทั้งมีความคาดหวังต่ออาเซียนเกินจริงไปมาก

ผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch กล่าวว่า คนไทยได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอที่ทำกับจีนมากกว่าอาฟต้า ที่เห็นได้ชัดคือ ผักผลไม้เมืองหนาวจากจีน เช่น แอปเปิ้ล เข้ามาแทนที่ผลไม้ไทยในห้างสรรพสินค้าต่างๆ และตั้งคำถามว่าสังคมไทยกำลังหลงประเด็นกับการมองไปที่อาฟต้าหรือไม่ ทั้งที่เอฟทีเอกับจีนส่งผลต่อไทยแล้ว เช่น การเข้ามาของผัก ผลไม้ เสื้อผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ส่วนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (ASEAN Free Trade Area - AFTA) ที่ลดภาษีลงให้เหลือร้อยละ 0 นั้น เสร็จสมบูรณ์มาตั้งแต่ 1 ม.ค.2553 ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนเก่า คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ สำหรับในปี 2558 จะเป็นส่วนของประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม

สำหรับความกังวลต่อเรื่องแรงงานจากเพื่อนบ้านจะหลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch กล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยอยู่แล้ว 2 ล้านกว่าคน ส่วนการไหลออกของแพทย์ไทยเพื่อไปทำงานต่างประเทศ น่าจะเป็นลักษณะการไปทำงานระยะสั้น แต่ก็มีส่วนของแพทย์ที่ไหลออกไปต่างประเทศแล้ว เช่น ในลาว ก็คือธุรกิจเสริมความงาม

กิตติ มองว่า ต่อไปวิชาชีพพยาบาลน่าจะออกไปต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการไม่ได้รับบรรจุให้เป็นข้าราชการประจำ หากมาเลเซียและสิงคโปร์เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็มีโอกาสที่พยาบาลไทยจะออกไปทำงานนอกประเทศมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็มีคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์ที่สามารถผลิตพยาบาลได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

ส่วนความเปลี่ยนจากอาฟต้าที่เห็นได้ชัด คือ การนำเข้ารถยนต์จากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และการเข้ามาทำตลาดในไทยของรถยนต์มาเลเซีย แต่ความเป็นจริง อาฟต้าไม่ได้เปิดเสรีเต็มที่กับสินค้าทุกประเภท ยกตัวอย่าง ข้าวและน้ำตาลจะเป็นสินค้าที่แต่ละประเทศจะสงวนเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการกีดกันกาค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี เช่น การกำหนดการใช้ท่าเรือของอินโดนีเซียในการขนถ่ายผักผลไม้จากไทยออกไปให้ไกลขึ้น จากจาร์กาตาร์ ไปเป็นที่สุราบายาซึ่งไกลออกไปแทน ซึ่งทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบ

กิตติ กล่าวว่า ส่วนที่ได้รับประโยชน์จากอาฟต้าจริงๆ คือ บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายการผลิตกระจายไปในหลายประเทศ มีการแลกเปลี่ยนการนำเข้าชิ้นส่วนกัน และนำไปประกอบในอีกประเทศหนึ่ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ ส่วนธุรกิจขนาดเล็กยังไม่ได้ประโยชน์จากอาฟต้ามากนัก บริษัทที่ได้ประโยชน์จากอาฟต้าคือบริษัทจากญี่ปุ่น ส่วนของไทยคือบริษัทปูนซีเมนต์ ปตท. และซีพี

กิตติ กล่าวสรุปว่า สังคมไทยมีความตื่นตัวเรื่องอาเซียนมากขึ้น แต่ยังไม่พ้นกับดักการตื่นตัวแบบกลวงๆ ยังไม่มีความรู้อย่างแท้จริง เป็นความตื่นตูมมากกว่าตื่นตัว และเป็นความตระหนกมากกว่าตระหนัก โดยทั้งนี้จึงได้มีการจัดทำเว็บไซต์ aseanwatch.org ที่มีความข้อมูลความรู้ บทความต่างๆ และความคืบหน้าเกี่ยวกับอาเซียนเป็นภาษาไทยเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน

ภาคประชาชนชี้ เปิดเสรีการค้าเป็นปัญหา มากกว่าเป็นประโยชน์

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช.กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนยังอยู่ในอารมณ์ของการแข่งขันและการปกป้องผลประโยชน์ของชาติของมากกว่าการอยู่รวมกันเป็นสังคมหนึ่งเดียว และมองว่าขณะนี้อาเซียนยังไม่พร้อมที่จะเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียว

ตัวแทน กป.อพช.กล่าวว่า เสาหลัก 3 ประการของประชาคมอาเซียนนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างประชาคมทางด้านสังคมและวัฒนธรรมเท่าที่ควร แต่เน้นความสำคัญไปที่การเดินหน้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจ ซึ่งการพูดถึงประชาคมอาเซียนจะต้องดูไปถึงสังคม วัฒนธรรม สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคด้วย

 

สุนทรี กล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาชนกังวล คือนโยบายเรื่อง เมดิคัล ฮับ เนื่องจากปัจจุบัน จำนวนหมอและพยาบาลยังไม่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน จึงไม่ต้องการแบ่งุบุคลากรทางการแพทย์ให้กับคนมีฐานะที่หลั่งไหลมาจากต่างประเทศ และความกังวลอีกประการหนึ่งคือ การลงนาม TTP การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลย ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนยากจน โดยเฉพาะกรณีสิทฺธิบัตรยาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ทำให้ราคายาสูง และจำนวนปีที่ยาวนานในการให้ความคุ้มครองสูตรยาหลัก ทำให้ไม่สามารถผลิตยาคาถูกได้ ซึ่งส่งผลต่อผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยเอช ไอ วี

สุนทรีมองว่า การเปิดเสรีการค้าการลงทุน จะกระทบต่อโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และสำหรับการลงนามในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ได้มีมติในการประชุมของภาคประชาชนอาเซียนเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ขอให้เลื่อนการลงนามออกไปก่อน เนื่องจากร่างปฏิญญาฉบับนี้ยังต่ำกว่ามาตรฐานสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

อาเซียนในภาวะความขัดแย้ง และการขาดผู้นำ

ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยและภูมิภาคนี้คือ การขาดความกระตือรือร้นในความรู้เรื่องอาเซียน ซึ่งต้องโทษในภาครัฐที่ขาดความมุ่งมั่นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่จะนำไปสู่การสร้างประชาคม เนื่องจากยังไม่เห็นนโยบายหรือวิธีที่นำไปสู่การสร้างชุมชน และสิ่งนี้เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาภายในอาเซียนเองคือ การขาดความเชื่อมั่นต่อกัน ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอาเซียนในปี พ.ศ.2510

ปวิน กล่าวว่า อาเซียนในหลายยุคสมัยเคยนำด้วยผู้นำต่างความคิดต่างมุมมองกัน เช่น มหาเธร์ โมฮัมหมัด, ลี กวนยู หรือซูฮาร์โต แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่ขาดความเป็นผู้นำ เคยมีคนบอกว่าคุณทักษิณอาจจะได้เป็น แต่ก็โดนรัฐประหารไปก่อน ซึ่งตอนที่เขาเป็นนักวิจัยอยู่สิงคโปร์ ได้เห็นการแข่งขันกันอย่างสูงระหว่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียในการเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างประชาคมอาเซียน

ปวิน กล่าวว่า สิ่งที่เป็นการเสียดเย้ยอย่างหนึ่งคือ เราต้องการจะก้าวไปเป็นชุมชน แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะสละส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของเรา บางประเทศอยากจะประนีประนอมเรื่องอำนาจอธิปไตยเพื่อจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นภูมิภาค แต่บางประเทศยังหวงอำนาจอธิปไตยมากกว่าประเทศอื่น ทำให้จุดยืนของแต่ละประเทศต่างกัน และสิ่งนี้ก็ส่งผลกระทบย้อนกลับมาที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาพิพาทด้านพรมแดนไทย-กัมพูชา ปัญหาโรฮิงยาในพม่า การที่ไม่ยอมใช้กลไกของอาเซียนในการแก้ปัญหา เป็นการสะท้อนปัญหาภายในอาเซียนว่าชาติสมาชิกไม่ยอมรับกลไกการแก้ปัญหาที่มีอยู่

ปัญหาต่อมาที่กระทบต่อการรวมตัวด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งปวินมองว่า เป็นเรื่องการเชื่อมโยงกันในหลายประเด็นในอาเซียน เช่น ปัญหาที่มาจากความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional security) ยกตัวอย่างปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซีย ที่กระทบต่อสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่งผลให้สิงคโปร์งดการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากอินโดนีเซียเพื่อเป็นการตอบโต้ ปัญหาผู้ก่อการร้าย ซึ่งปวินกล่าวว่า หากช่องแคบมะละกาต้องปิดตัวลง ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยธรรมชาติ โรคระบาด รวมทั้งปัญหาความมั่นคงแบบเดิม เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็ล้วนส่งผลต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเช่นกัน

ปวิน สรุปในตอนท้ายว่า เรื่องที่น่ากังวลก็คือ อีก 4-5 ปีจากนี้จะเป็นประชาคมอาเซียน เรากลับไม่มีผู้นำด้านประชาธิปไตย และผู้นำเป็นเสาหลักให้กับอาเซียน มาเป็นผู้นำอาเซียนเลย ตำแหน่งประธานอาเซียนของกัมพูชากำลังจะหมดลงในปีนี้ ปีหน้าเป็นบรูไน ปี พ.ศ. 2557 เป็นพม่า ซึ่งน่าจับตาเพราะพม่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

เปิดเสรีแรงงาน ไม่ต้องกลัวคนไทยถูกแย่งงาน

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการเปิดประเทศอาจไม่ทำให้เกิดการส่งเสริมทางด้านการค้า (Trade creation) เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะทำให้เกิดปัญหาการบิดเบือนการค้า (Trade diversion) ได้ เช่น แทนที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ถูกที่สุด กลายเป็นการนำเข้าสินค้าและบริการจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้เนื่องจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอ ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งเป็นผลเสียของเอฟทีเอ

ส่วนเรื่องการเปิดเสรีแรงงาน เขากล่าวว่ายังมีความเข้าใจผิดอยู่ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเสรีแรงงาน มีเพียงการพูดคุยกันเฉพาะใน 7-8 สาขาอาชีพ และความกลัวเรื่องสมองไหลของแพทย์ไทย ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นการไหลออกต่างไปต่างประเทศ แต่เป็นการไหลออกไปสู่อาชีพอื่น เช่น ไปเป็นนักธุรกิจ หรือนักการเมือง จากข้อมูลล่าสุดพบว่าใน 1 ปีพม่าสามารถผลิตแพทย์ได้ประมาณ 3,000 พันคน แต่ความต้องการแพทย์ในประเทศมีเพียงปีละ 500 กว่าคน ทำให้มีหมอเกินความต้องการเฉลี่ย 2,500 คน และในปีที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์ในอาเซียน ได้จัดตอบปัญหานิสิตแพทย์ ปรากฏว่าประเทศที่ชนะเลิศคือพม่า เมื่อเทียบกับหมอจากสิงคโปร์พบว่า แพทย์สิงคโปร์ตอบตามตำราเก่ง แต่ฝีมือในการรักษาหรือผ่าตัดด้อยกว่าหมอในประเทศอื่นในอาเซียน ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นประเทศเล็ก มีเคสให้ศึกษาน้อยกว่าประเทศอื่น

ปิติเห็นด้วยกับปวินที่ว่า คนไทยยังตระหนักในเรื่องอาเซียนน้อยมาก จากการทำวิจัยเรื่องความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนพบว่า มีคนไทยแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ที่รู้จริงว่าอาเซียนคืออะไร นอกจากนี้ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในประเทศไทยพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า จำเป็นต้องทำให้เกิดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่วิธีการต้องค่อยเป็นค่อยไป ส่วนค่าแรงจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องทำวิจัยต่อไปว่าควรเป็นเท่าไร

เขาตั้งคำถามกับการเปิดเสรีแรงงานว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ที่ประเทศไทยจะเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือ (semi-skilled labour) เนื่องจากปัจจุบันมีงานหลายอย่างที่คนไทยไม่ทำแล้ว การเปิดให้แรงงานจากนอกประเทศเข้ามาทำงานเหล่านี้ อาจจะมีคำถามต่อมาเรื่องความกังวลต่อปัญหาอาชญากรรม เขากล่าวว่า ถ้าเทียบจำนวนข่าวจากอดีตถึงปัจจุบัน ข่าวอาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่ทำร้ายแรงงานด้วยกันเองและทำร้ายคนไทยมีไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของอาชญากรรมที่แรงงานไทยกระทำต่อกันเอง

ส่วนประเด็นเรื่องการแข่งขันกันของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เขามองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนา และเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการที่อาเซียนไม่ใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทที่เป็นทางการในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับใช้การพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ เขามองว่านี่เป็นวิถีอาเซียน หรือ Asean Way เช่น การคุยกันระหว่างพักทานกาแฟ หรือระหว่างเข้าห้องน้ำ ซึ่งหากมีการตั้งอนุญาโตตุลาการอย่างจริงจัง อาเซียนอาจมาไม่ถึงวันนี้ก็ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แฟลชม็อบ "เทศกาลแช่แข็งประเทศไทย" บน BTS ล้อข้อเสนอเสธ.อ้าย

Posted: 18 Nov 2012 09:03 AM PST

วันอาทิตย์สีแดง แฟลชม็อบ "เทศกาลแช่แข็งประเทศไทย" BTS สยาม-หมอชิต ล้อ ปธ.องค์การพิทักษ์สยาม บก.ลายจุด ชี้เป็นข้อเสนอที่ไปแช่แข็งตัวผู้เสนอเอง ยันไม่เห็นด้วยประกาศ พรบ.ความมั่นคง

18 พ.ย.55 เวลา 12.00 น. กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง นำโดย บก.ลายจุด หรือ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ "เทศกาลแช่แข็งประเทศไทย" สวมชุดกันหนาว หมวก ถุงมือและผ้าห่ม โดยสารรถไฟฟ้า BTS ไป-กลับ สถานีสยามและถานีหมอชิต พร้อมทั้งร่วมกันรับประทานไอศกรีม โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน เพื่อล้อเลียนโมเดลแช่แข็งประเทศไทย ของ "เสธ.อ้าย" หรือ  พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ที่จะมีการชุมนุมใหญ่เพื่อไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกครั้งในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวถึงโมเดลแช่แข็งประเทศไทยของประธานองค์การพิทักษ์สยาม ว่า การหยุดไม่ให้มีการเลือกผู้แทนประชาชนถึง 5 ปี และแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบที่ตนเองอยากจะทำ โดยตั้งตัวแทนตัวเองมาบริหารประเทศที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เป็นข้อเสนอที่ไม่สอดคล้องกับสังคมโลกและไทยเลย

"ประชาธิปไตยไทยมันเดินทางมาไกลแล้ว การที่เสธ.อ้าย เสนอแบบนี้คิดว่าแกไม่เข้าใจ แกอาจจะหลงอยู่ในยุคน้ำแข็งก็ได้ ที่คิดว่านึกจะทำอะไรก็ได้ คิดว่าตัวเองมีกำลังสามารถเรียกทหารมาได้ อะไรทำนองนี้ จริงๆเราไม่ได้อยู่ในยุคน้ำแข็ง เราอยู่ในยุคของสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม" บก.ลายจุด กล่าว

สมบัติ บุญงามอนงค์

สมบัติ กล่าวด้วยว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างเป็นสิ่งที่มีได้ แต่เขาถ้าคิดจะเปลี่ยนแปลงจะต้องสู้กันผ่านเวทีรัฐสภา อย่างไรก็ตามตนเคารพสิทธิการชุมนุม ไม่คัดค้านการชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้งขององค์การพิทักษ์สยาม แต่ขอคัดค้านข้อเสนอ เพราะเห็นว่าข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอที่รับได้ยากในสังคมไทย

"วาทกรรมเรื่องแช่แข็งประเทศไทย เป็นวาทกรรมที่ไปแช่แข็ง เสธ.อ้าย เรียบร้อยแล้ว" สมบัติ กล่าวย้ำ

นอกจากนี้ บก.ลายจุด ยังฝากถึงประธานองค์การพิทักษ์สยาม ด้วยว่า ควรจัดอภิปรายข้อเสนอเรื่องการแช่แข็งประเทศกับมวลชนด้วย เพราะคิดว่ามวลชนหลายคนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับความคิดของประธานองค์การพิทักษ์สยาม รวมถึงแสดงความห่วงใยถึง เสธ. อ้าย ด้วยว่าข้อเสนอและการเคลื่อนไหวบางอย่างอาจจะสุ่มเสียงต่อข้อหากบฏจึงอยากให้ระวัง

สมบัติ ยังกล่าวด้วยว่าไม่เห็นด้วยหากจะมีเสื้อแดงหรือกลุ่มที่ต่อต้านการชุมนุมขององค์กรพิทักษ์สยามที่จะเคลื่อนไปกดดันหากมีการปิดล้อมทำเนียมหรือรัฐสภา คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะเผชิญหน้า เนื่องจากการเคลื่อนไหวของ เสธ.อ้าย ไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว สังคมไม่สนับสนุน การเข้าไปเผชิญหน้าอาจกลายเป็นการเข้าทางเขา ควรอยู่เฉยๆ หรือเคลื่อนไหวอยู่รอบนอกดีกว่า สื่อสารกับสังคมว่าข้อเสนอแบบนั้นทำประเทศล้าหลัง การจัดมวลชนไปเผชิญหน้านั้นคิดว่าหากมีคนทำ เสื้อแดงส่วนใหญ่ก็จะไม่สนับสนุน บก.ลายจุดยังยืนยันอีกว่าไม่สนับสนุนให้รัฐบาลประกาศ พรบ.ความมั่นคง เพื่อรับมือการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม เพราะยังไม่มีเงื่อนไข มองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยอยู่แล้ว

การเคลื่อนไหวครั้งต่อไปนั้น บก.ลายจุด เปิดเผยว่ายังต้องรอดูท่าทีของ องค์การพิทักษ์สยามชุมนุมก่อน

สำหรับวาทะกรรม "แช่แข็งประเทศไทย" นั้น ถูกกล่าวถึงหลังจากบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.บุญเลิศ โดยโพสต์ทูเดย์ ในชื้อบทสัมภาษณ์ว่า "โมเดล"เสธ.อ้าย"แช่แข็งประเทศ5ปี" ได้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ต.ค.55 ซึ่งมีตอนหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์ถามย้ำด้วยว่า แช่แข็งประเทศไทย?  พล.อ.บุญเลิศ ยืนยันว่า "ถูก...หยุดและให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้" อย่างไรก็ตามสำนักข่าวทีนิวส์ ได้เผยแพร่คำชี้แจงของ พล.บุญเลิศ ถึงวาทกรรมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า "ไปแก้ข่าวให้ที ผมไม่เคยพูดแช่แข็งประเทศไทยนะ แต่พูดว่าแช่แข็งนักการเมือง แต่คนเสื้อแดงพยายามนำไปขยายต่อ นี่เป็นการกระทำของคนชั่ว ผมไม่เคยพูดว่าแช่แข็งประเทศไทย มันจะแช่แข็งได้ยังไงประเทศไทย แช่แข็งนักการเมืองในความหมายของผม หมายถึง ไม่ให้นักการเมืองมาเล่นการเมืองสักระยะหนึ่ง ซึ่งระยะเวลา อาจจะปี หรือ 2 ปี หรือ 10 ปีก็เป็นไปได้ ส่วนรูปแบบจะเป็นยังไงนั้น ค่อยว่ากัน เอาให้คนมาชุมนุมวันที่ 24 พ.ย.นี้กันเป็นล้าน หรือ เก้าแสน ก่อน" 

ภาพบรรยากาศกิจกรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวไอร์แลนด์ชุมนุมร้องทบทวนกฏหมายทำแท้ง หลังมีคนเสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด

Posted: 18 Nov 2012 07:53 AM PST

สาวิตา ฮาลาปันนาวา สตรีเชื่อสายอินเดียในไอร์แลนด์ถูกปฏิเสธไม่ยอมให้ทำแท้งหลังถูกวินิจฉัยว่าบุตรในครรภ์ของเธอไม่สามารถอยู่รอดได้ ต่อมาเธอก็คลอดก่อนกำหนดและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวไอร์แลนด์ ประชาชน 10,000 คน จึงออกมาประท้วงในดับลินเรียกร้องให้ปฏิรูปกฏหมายทำแท้ง

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2012 ประชาชนชาวไอร์แลนด์ราว 10,000 คน ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลไอร์แลนด์ทบทวนกฏหมายทำแทงค์ หลังเหตุเสียชีวิตของ สาวิตา ฮาลาปันนาวา หมอฟันชาวอินเดียในเมืองกัลเวย์ จากอาการติดเชื้อในกระแสเลือดหลังคลอดก่อนกำหนด (miscarriage) เนื่องจากถูกปฏิเสธไม่ให้ทำแท้งก่อนหน้านี้

ที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ประชาชนราว 10,000 คน ออกมาเดินขบวนพร้อมตะโกนว่า "อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก" ก่อนที่จะสงบนิ่งจุดเทียนไว้อาลัยสาวิตา นอกสำนักงานของนายกรัฐมนตรี เอนดา เคนนี่

สำนักข่าว The Independent กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า มีความไม่พอใจเกิดขึ้นทั่วประเทศไอร์แลนด์หลังจากที่สาวิตาเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด 17 สัปดาห์หลังจากที่เธอแท้งบุตรโดยธรรมชาติ (miscarriage)

ปราวีณ สามีของสาวิตากล่าวว่า ร่างกายของภรรยาเขาเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ หลังจากที่ถูกปฏิเสธการทำแท้งหลายครั้ง แม้ว่าทารกของพวกเขาไม่สามารถอยู่รอดได้ในครรภ์ก็ตาม

กรณ๊ของสาวิตาได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลก เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการไต่สวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความยุ่งยากของคดีนี้อยู่ที่ว่า การเสียชีวิตของสาวิตา มีสาเหตุมาจากตัวกฏหมายโดยตรง หรือมีสาเหตุจากการตีความกฏหมายของพนักงานโรงพยาบาล

The Independent ระบุว่า รัฐบาลไอร์แลนด์จำต้องยอมรับความเห็นของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด มีรมต.ท่านหนึ่งยอมรับว่าจะต้องมีการดำเนินการทางรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไอร์แลนด์ยังตกอยู่ภายใต้การกดดันจากศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปที่ตัดสินโดยวิพากษ์วิจารณ์กฏหมายทำแท้งของไอร์แลนด์ในปัจจุบัน

เอกอัครราชทูตอินเดียประจำไอร์แลนด์ เดบาชีช จักรวาติ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของไอร์แลนด์เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อกดดันให้มีการสิบสวนที่โปร่งใสและเป็นอิสระในกรณีของสาวิตา


ความเห็นของผู้ชุมนุม

กลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวกันบนถนนใกล้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยกัลเวย์แสดงความโกรธออกมาอย่างชัดเจน หญิงสูงวัยคนหนึ่งชื่อ ฟราน ฮอสตี แสดงความหงุดหงิดออกมาเมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้ เธอบอกว่า"ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เลวร้าย พระเจ้าทรงโปรดเถิด ในปี 2012 แล้วยังมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อยู่ เรื่องที่ทำให้ผู้หญิงอายุยังน้อยต้องทุกข์ทรมานเช่นนี้ ฉันไม่อยากคิดถึงมันเลย"

ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ริต้า แบรดดี้ กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่แย่มาก ฉันไม่ได้เห็นด้วยเรื่องการทำแท้งทั้งหมด แต่ในกรณีเช่นนี้ฉันเห็นด้วย ให้เธอเสียชีวิตไปแบบนั้นทำให้ฉันอยากร้องไห้"

เด็กนักเรียนผู้หญิงอายุ 19 ปี คนหนึ่งมองต่างออกไป "ฉันไม่ยอมรับการทำแท้ง ฉันแค่ไม่เห็นด้วยกับมัน แม้ฉันจะแน่ใจว่าเพื่อนๆ ฉันจะยอมรับมันก็ตาม" แต่นักเรียนอีกคนหนึ่งประกาศว่า "ฉันไม่เคยรู้สึกว่าประเทศฉันน่าอับอายมากเท่านี้มาก่อนเลย"

20 ปีก่อนหน้านี้ มีการระบุในตัวคำวินิจฉันว่าสามารถดำเนินการทำแท้งได้หากมารดาอยู่ในภาวะเสี่ยงชีวิต แต่รัฐบาลไอร์แลนด์ 6 สมัยที่ผ่านมาก็หลบเลี่ยงในประเด็นนี้ โดยสูตินารีแพทย์อาวุโสบอกว่าจากความสับสนดังกล่าวส่งผลให้เหล่าแพทย์กลัวถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย


เรียบเรียงจาก

Irish demand reform to abortion law, 18-11-2012, The Independent
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โอบามาร่วมแถลงทวิภาคี มุ่งขยายความร่วมมือด้านศก.-การค้าเสรี

Posted: 18 Nov 2012 06:47 AM PST

ในการแถลงหลังการหารือทวิภาคีไทย-สหรัฐ ปธน. โอบามา กล่าวถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐในการขยายความร่วมมือด้านการค้าเสรีและการลงทุนในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงด้านความมั่นคง-การพัฒนา พร้อมกล่าวชื่นชมผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบปชต.

18 พ.ย. 55 - เวลา 19.10 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการแถลงข่าวร่วมหลังการหารือทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวาระที่ปธน. สหรัฐได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะเดินทางไปเยือนประเทศพม่าและกัมพูชาต่อในวันที่ 19- 20 พ.ย. นี้ โดยการแถลงข่าวดังกล่าว ผู้นำทั้งสองประเทศได้กล่าวถึงความร่วมมือที่จะขยายต่อไปในอนาคต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค หรือ ทีพีพี รวมถึงด้านความมั่นคงในภูมิภาค เช่น ความมั่นคงทางทะเล การค้ามนุษย์ และการก่อการร้าย 

 
ประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบามา กล่าวว่า เนื่องจากสหรัฐมีนโยบายที่หันเข้าหาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่จึงมีความสำคัญมาก โดยในปีนี้นับเป็นปีที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 180 ปีและความร่วมมือด้านการทหารเกือบ 60 ปี โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะสร้างโอกาสและงานให้กับชาวอเมริกันและประชาชนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 
 
"เมื่อเร็วๆ นี้ ประชาชนไทยได้ร่วมแรงเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย และเราชื่นชมกับความพยายามต่างๆ ที่ได้บรรลุขึ้น ก่อนหน้าในวันนี้ ผมได้เข้าพบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้นำแห่งปัญญาและศักดิ์ศรีซึ่งเป็นศูนย์รวมของเอกลักษณ์และเอกภาพของชาติ และวันนี้ ผมยินดีที่ได้มายืนเคียงข้างผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศไทย เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการยึดถือในประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล นิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทราบว่าท่านนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้ง" ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าว
 
ในด้านความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โอบามากล่าวถึงการร่วมฝึกทหารระหว่างทหารไทยและสหรัฐ ซึ่งจะทำให้กองทัพของไทยมีความเข้มแข็งและมีความรับผิดชอบต่อกิจการต่างๆ ในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย การให้ความช่วยเหลือทางภัยพิบัติ การป้องกันอาวุธทำลายล้างขนาดใหญ่ (Weapon of Mass Destruction) และกล่าวชื่นชมที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมในความริเริ่มด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Proliferation Security Initiative) ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาพนี้ได้
 
ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ เขากล่าวถึงการขยายช่องทางและโอกาสในการลงทุนและการค้า โดยเฉพาะช่องทางของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (APEC) และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค หรือ ทีพีพี (TPP) ซึ่งมุ่งผลักดันการค้าเสรี ลดการกีดกันทางการค้า
 
ในด้านความร่วมมือด้านการพัฒนา และในวาระการครบรอบ 50 ปีของพีซคอร์ปในประเทศไทย ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวว่า จะมุ่งพัฒนาในประเด็นสุขภาพสาธารณะและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในบริเวณแถมลุ่มแม่น้ำโขง เช่น การพัฒนาวีคซีนต้านเอชไอวี/เอดส์ การลักลอบค้ามนุษย์ และการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยและชายแดนใกล้เคียง เขากล่าวต่อว่า ประเทศไทย ในฐานะการกลายเป็นประเทศผู้บริจาค จะสามารถทำงานร่วมกับสหรัฐอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหาโรคมาลาเรียในบริเวณชายแดนไทย-พม่า รวมถึงการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปในพม่า การให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลพม่า และผู้ลี้ภัยด้วย 
 
และประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศร่วมก่อตั้งอาเซียน โอบามากล่าวว่า หวังว่าประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศกัมพูชา เพื่อพูดคุยถึงเรื่องประเด็นสำคัญๆ เช่นเรื่องความมั่นคงทางทะเล และขอขอบคุณประเทศไทยสำหรับการสนับสนุนสหรัฐในการะประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่จะถึงนี้ด้วย 
 
ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวเรื่องสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ยังคงมีนักโทษการเมือง และการปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่าพึงพอใจหรือไม่กับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ตอบว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องยึดลักษณ์ความเสถียรภาพของประชาธิปไตย และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงหลักนิติรัฐและสันติวิธี ในขณะที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา 
 
"สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แต่เรา, ในฐานะพลเมือง, จำป็นต้องทำให้แน่ใจว่ามันครอบคลุมถึงทุกๆ คน และให้แน่ใจว่าเสรีภาพที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนาถูกยึดถือและนำไปปฏิบัติ ฉะนั้น งานของประชาธิปไตยไม่เคยจบสิ้น สำหรับประเทศไทย สิ่งที่คุณเห็นก็คือผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามประชาธิปไตย เชื่อมั่นต่อประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อและการชุมนุม" โอบามากล่าว
 
"แต่ก็ชัดว่า, ซึ่งก็จริงทั้งในไทยและในสหรัฐ, พลเมืองทุกคนต้องกระตือรือร้นและมันมักจะมีสิ่งที่ปรับปรุงได้เสมอๆ และกระผมขอแสดงความยินดีกับท่านนายกรัฐมนตรีต่อความตั้งใจของเธอที่มีต่อประชาธิปไตย และการปฏิรูปหลายๆ อย่างที่เธอจะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งยิ่งขึ้น" 
 
ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวเรื่องความร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค โอบามากล่าวว่า ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับหนึ่งเนื่องจากเป็นการสร้างโอกาสและสร้างงานให้กับชาวสหรัฐและประชาชนในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมช่องทางในการลงทุนเพื่อเป็นโอกาสให้นักธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่จะเกิดขึ้น
 
เขายังกล่าวถึงความร่วมมือด้านความมั่นคง อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคนี้ ที่ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเขาหวังว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศจะทำให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทางด้านการพัฒนา จะมุ่งเน้นด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ และทำงานร่วมกันในฐานะประเทศที่ให้บริจาค เพื่อพัฒนาบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงให้ดีและมั่นคงยิ่งขึ้น 
 
 
 
 
ที่มาภาพทั้งหมด จาก เฟซบุ๊กทางการของนายกรัฐมนตรี Yingluck Shinawatra 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

Posted: 18 Nov 2012 03:27 AM PST

"ผมไม่เคยเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยจะดีตรงไหนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เช่น ถ้าคุณเป็นคนดีของจังหวัด แต่ไม่มีเงิน ลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้รับเลือก แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ลองอธิบายหน่อย.."

18 พ.ย.2555, ประธานองค์การพิทักษ์สยาม

'เสื้อแดง ตจว.' เตรียมจัดเวทีต้าน 'องค์การพิทักษ์สยาม'

Posted: 18 Nov 2012 02:40 AM PST

'ขวัญชัย'จ่อระดม 5 หมื่น ต้าน เสธ.อ้าย ปธ.เสื้อแดงอุตรดิตถ์ยันพร้อมในที่ตั้ง แต่พร้อมลุย หากมีการปฏิวัติ ด้านแดงเชียงใหม่จะระดม  5 หมื่นคน แรลลี่เคลื่อนขบวน 180 ก.ม. แสดงพลังปกป้องรัฐบาล

 
"ขวัญชัย ไพรพนา" แกนนำคนเสื้อแดงอีสานและประธานชมรมคนรักอุดร นัดชุมนุมเช็กกำลังคนเสื้อแดง ต้านม็อบ เสธ.อ้าย เชื่อมีคนเข้าร่วมกว่า 5 หมื่นคน
 
18 พ.ย. 55 - เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่ากรณีนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ได้กล่าวหาการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่มี เสธ.อ้าย หรือ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นแกนนำ ว่าการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 24 พ.ย. จะมีการเกณฑ์คนจาก 11 จังหวัดภาคใต้ จ่ายหัวละ 1,500 บาท มีพรรคการเมืองเก่าแก่ และกลุ่มอำมาตย์อยู่เบื้องหลัง มีการลงขัน 6 พันล้านบาท เพื่อล้มรัฐบาล โดยจะมีการปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมเพื่อเป็นเงื่อนไขในการปฏิวัติ ยึดทำเนียบ เผารัฐสภา จับตัวนายกฯ เพื่อจัดระเบียบประเทศใหม่ ให้ทหารขึ้นมาบริหารประเทศ เป็นการแช่แข็งประเทศไทย จึงระดมคนรักภาคอีสาน 20 จังหวัด หรือกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมต้านม็อบ เสธ.อ้าย ที่สนามทุ่งศรีเมือง อุดรธานี ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 
 
ต่อมาเมื่อ 18 พ.ย. นายขวัญชัยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนรักภาคอีสาน หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ก็เพื่อแสดงพลังต่อต้านองค์การพิทักษ์สยาม ที่ชุมนุมเพื่อล้มรัฐบาล หลังประชุมเสร็จแกนนำทั้ง 20 จังหวัด ได้กลับไปเช็กความพร้อมของสมาชิกแต่ละจังหวัด ต่างก็ได้ตอบรับการเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้เป็นอย่างดี โดยนายขวัญชัยคาดว่าจะมีคนเสื้อแดงเข้าร่วมชุมนุมแสดงพลังประมาณ 5 หมื่นคน
 
"การชุมนุมครั้งนี้เป็นการเตือนสติประชาชนที่กำลังหลงผิด คิดจะเข้าร่วมกับม็อบเสธ.อ้าย ได้ฉุกคิด มีสติยั้งคิดว่า ไม่ควรแช่แข็งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยภายใต้การนำของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง ภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ โดยวันที่ 23 พฤศจิกายน จะมีแกนนำเสื้อแดงจากกรุงเทพฯ มาร่วมชุมนุมด้วย ไม่ว่าจะเป็นคุณจตุพร พรหมพันธุ์ อดิศร เพียงเกษ สุทิน คลังแสง และอีกหลายท่าน ซึ่งได้ตอบรับมาแล้วว่าจะมาร่วมชุมนุมด้วย" นายขวัญชัย กล่าว
 
ปธ.เสื้อแดงอุตรดิตถ์ยันพร้อมในที่ตั้ง แต่พร้อมลุย หากมีการปฏิวัติ
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานวันเดียวกันนี้ (18 พ.ย.) ว่านายปัณณวัฒน์ นาคมูล ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า นปช.และคนเสื้อแดง จ.อุตรดิตถ์ จะอยู่ในที่ตั้งเพื่อเตรียมความพร้อม จะไม่มีเคลื่อนไหว แต่ถ้าหากคนเสื้อแดงส่วนกลางเรียกรวมพล กลุ่มจะเคลื่อนไหวทันที ส่วนการเคลื่อนไหวของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนั้น ตนไม่เห็นด้วยที่จะแช่แข็งประเทศและไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว เพราะคนเสื้อแดงไม่ต้องการความวุ่นวาย
 
"นปช.และคนเสื้อแดงจะมีการเคลื่อนไหวอย่างหนัก ถ้าหากเกิดมีการปฏิวัติ รัฐประหารขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดทั้งสิ้น นปช.และคนเสื้อแดงอุตรดิตถ์มองว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีตั้งใจทำงาน มีผลงานชัดเจน เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งในประเทศและอารยประเทศ อีกทั้งสามารถนำพาประเทศชาติฝ่าผ่านวิกฤตต่างๆ ของประเทศมาได้ด้วยดี ดั้งนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยามจะออกมาเคลื่อนไหว เพื่อแช่แข็งประเทศไทย และเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เหลวไหลมาก" นายปัณณวัฒน์กล่าว
 
 
แดงเชียงใหม่เตรียมรวมตัวจัดงาน "นักรบแดงปราบกบฎ" คาดมีแนวร่วมไม่ต่ำกว่าครึ่งแสนคน
 
เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 55 ที่บริเวณด้านหน้าเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ด.ต.พิชิต ตามูล นายศรีวรรณ จันทร์ผง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการเชียงใหม่ หรือกลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน"เตรียมพร้อมนักรบแดงปราบกบฏ" ขึ้น โดยมีกลุ่มตัวแทนคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 30 คนพร้อมตัวแทนกลุ่มอื่นๆ มาร่วมการแถลงข่าวเพื่อเตรียมเข้าร่วมงานดังกล่าว
 
โดย ด.ต.พิชิต ตามูล กล่าวว่างานดังกล่าวจะจัดขึ้นเวลา 16.00 น.ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่โดยในงานจะมีกลุ่มคนในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 50,000 คน รูปแบบงานตั้งแต่เช้าจะมีการจัดขบวนแรลลี่ลาวาสีแดงเริ่มต้นที่อำเภอฝาง และเคลื่อนขบวนระยะทาง 180 ก.ม. เข้าในตัวเมืองเชียงใหม่ระหว่างทางจะมีการรับมวลชนจากอำเภอต่างๆ ทั้งจาก จ.แม่ฮ่องสอน เชียงดาว แม่แตง ไชยปราการ แม่ริม และจากอำเภออื่นทั่ว จ.เชียงใหม่ที่จะมาสมทบ และมุ่งหน้าจากทุกทิศทางเข้าสู่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่  ก่อนจะมีการขึ้นเวทีปราศรัยของแกนนำคนเสื้อแดงต่างๆ เพื่อแสดงพลังชาวเสื้อแดงและคนเชียงใหม่ต่อต้านเผด็จการรัฐประหารทุกรูปแบบ ซึ่งทุกคนพร้อมที่จะปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปกป้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากประชาชน และพวกเราจะแสดงพลังและจุดยืนที่จะเอา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนดีของแผ่นดิน ที่ถูกรังแกกลับสู่มาตุภูมิ รวมถึงจะปกป้องพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
ด.ต.พิชิต กล่าวว่าการจัดงานดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่จะมีกลุ่มคนชุมนุมเพื่อแช่แข็งประเทศไทย โดย ด.ต.พิชิต กล่าวหาว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นกบฏ ต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และว่าทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีการปรึกษาหารือกันและนักชุมนุมพลทั้งจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมและรอสัญญาณเพื่อจะเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับคนเสื้อแดงจากทุกจังหวัดในประเทศไทย เพื่อต่อสู้เคียงข้างรัฐบาลปกป้องสถาบันต่อไป

ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศเยอรมนี: สู่สังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร The 2000 Watt per Capital Society

Posted: 18 Nov 2012 02:05 AM PST

 

ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป จึงมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานมาก อย่างไรก็ตาม ประเทศเยอรมนีกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรต่ำ ก่อมลพิษต่ำ โดยเยอรมนีตั้งเป้าว่าจะลดการใช้พลังงานต่อหัวประชากรเหลือเพียง 2,000 วัตต์เท่านั้น โดยพลังงานเท่านี้คือพลังงานเพียง 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานต่อหัวประชากรของยุโรปเท่านั้น เรามาดูกันว่าประเทศใหญ่อย่างเยอรมนีจะทำได้อย่างไร

ยุทธศาสตร์หลักของการพัฒนาของเยอรมนีอันเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวใหญ่ของประเทศ คือยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ (National Strategy for Sustainable Development: NSSD) เป็นแผนยุทธศาสตร์สู่ปี ค.ศ. 2020 ของเยอรมนี

ยุทธศาสตร์ประกอบด้วยแนวทางสู่ความยั่งยืน 4 ประการที่สำคัญ คือ

· คุณภาพชีวิต 

· ความเท่าเทียมของประชาชนในปัจจุบันกับคนรุ่นต่อไป

· ความสมานฉันท์ทางสังคม และ

· ความรับผิดชอบต่อชุมชนระหว่างประเทศ

โดยมีประเด็นนโยบาย 21 สาขาครอบคลุมประเด็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปกป้องสภาพภูมิอากาศ พลังงานหมุนเวียน การใช้ที่ดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วยดัชนีชี้วัดในเชิงปริมาณ 35 ตัว ได้แก่

· ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านความเท่าเทียมระหว่างรุ่น ตัวชี้วัดเชิงปริมาณครอบคลุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณของรัฐ นวัตกรรมและการศึกษา

· ประเด็นยุทธศาสตร์คุณภาพชีวิต ตัวชี้วัดครอบคลุมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพของสิ่งแวดล้อม สารอาหาร การเคลื่อนย้ายคน สุขภาพและอาชญากรรม

· ประเด็นยุทธศาสตร์ความสมานฉันท์ในสังคม ตัวชี้วัดครอบคลุมการจ้างงาน โอกาสความเท่าเทียมกันและครอบครัว

· ประเด็นยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อชุมชนระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดครอบคลุมงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา และการเปิดตลาดของสหภาพยุโรป

ตัวชี้วัดที่ 1 คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีเพื่อขับเคลื่อนประทศให้ไปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

โดยมีตัวชี้วัดย่อย 1A คือ ผลิตภาพการใช้พลังงาน และตัวชี้วัดย่อย 1B ผลิตภาพการใช้ทรัพยากรเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ

เป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติเน้นเพิ่มผลิตภาพการใช้พลังงาน (ปีฐาน 1990) และผลิตภาพการใช้ทรัพยากร (ปีฐาน 1994) ให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2020 และได้บูรณาการแผนงานด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศ (Integrated Energy and Climate Programe: IECP, 2007/2008) เข้ากับยุทธศาสตร์ในปี 2007 เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2020 โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนให้เป็นร้อยละ 30 ของพลังงานไฟฟ้าและร้อยละ 10 ของพลังงานขั้นต้น และการประหยัดพลังงานทุกสาขาโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานโดยมุ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 40 ในปี 2020

 

ตัวชี้วัดที่สำคัญตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติของเยอรมนี

ประเด็น

เป้าหมายปี 2020

สถานะปี 2009/2010

การคุ้มครองทรัพยากร

 

 

ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 1990

เพิ่มขึ้น 40.5%

ประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ

เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 1994

เพิ่มขึ้น 39.6%

การคุ้มครองสภาพภูมิอากาศ

 

 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ลดลง 40% เทียบกับปี 1990-1995

ลดลง 22.4%

พลังงานหมุนเวียน

 

 

สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการบริโภคพลังงานขั้นต้น

เพิ่มขึ้นเป็น 10% (จาก 1.3%)

8.9%

สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการบริโภคไฟฟ้า

เพิ่มขึ้นเป็น 30% (จาก 3.1%)

16.1%

การใช้ที่ดิน

 

 

การใช้ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการขนส่ง

จำกัดการใช้ที่ดินไม่เกิน 30 เฮกตาร์/วัน

95 เฮกตาร์/วัน

ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

จำนวนนก 59 สปีชีส์ที่เป็นตัวแทนในการวัดความหลากหลายทางชีวภาพ

รักษาให้อยู่ในระดับสูงสุดภายในปี 2015

บรรลุผล 69% ของเป้าหมาย

การเกษตร

 

 

ส่วนเกินไนโตรเจน (nitrogen surplus) จากที่ดินเพื่อการเกษตร

ลดลงเป็น 80 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ภายในปี 2010

103 กิโลกรมต่อเฮกตาร์

ฟาร์มออแกนิก

สัดส่วนของพื้นที่ที่เป็นฟาร์มออแกนิกเท่ากับ 20%

5.4%

คุณภาพอากาศ

 

 

ระดับมลพิษทางอากาศ โดยวัดจากระดับ SO2, NOx, VOC, NH3

ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลง 70% ภายในปี 2010 (หรือเท่ากับดัชนี 30 เทียบจาก 100)

ลดลง 55.3 % (หรือเท่ากับดัชนี 44.7 จาก 100)

 

ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนียังได้วางวิสัยทัศน์สู่ "สังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร" (The 2000 Watt per Capital Society) โดยได้แนวความคิดมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์

เนื่องจากเยอรมนีเห็นว่าสังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากรเป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะได้รวบรวมวิสัยทัศน์ด้านประสิทธิภาพของพลังงานเข้ากับด้านประสิทธิภาพของวัสดุ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวมีการถกเถียงกันอย่างมากในเยอรมนี โดยพลังงาน 2,000 วัตต์ต่อประชากร เทียบเท่ากับ 65 จิกะจูลต่อประชากร (GJ per capita) ซึ่งถือเป็นระดับหนึ่งในสามของการใช้พลังงานต่อประชากรของยุโรปเท่านั้น  ซึ่งสถาบันวิจัยของเยอรมนีได้ศึกษาและแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ทางเทคนิคของวิสัยทัศน์นี้

ทั้งนี้ โลกมีการบริโภคพลังงานเฉลี่ยเมื่อสองทศวรรษที่แล้วเท่ากับ 70 จิกะจูลต่อประชากร ดังนั้น การมุ่งสู่เป็นสังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร หรือ 65 จิกะจูลต่อประชากรจะสามารถทำให้ระบบพลังงานของโลกยั่งยืนเหมือนกลับไปใช้พลังงานในระดับ 20 ปีที่แล้วในขณะที่สามารถรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้

เงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญก่อนที่จะทำให้สังคมก้าวไปสู่สังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร คือ การมุ่งเพิ่มผลิตภาพการใช้พลังงานและผลิตภาพของวัสดุ การเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรมให้ส่งเสริมผลิตภาพด้านพลังงานและวัสดุ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในรูปแบบการบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืนขึ้น

วิสัยทัศน์ในการเข้าสู่สังคมที่ใช้พลังงานที่ยั่งยืนได้รับความสนใจและมีความพยายามปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้น เยอรมนีมีฐานข้อมูลที่ละเอียดและมีภาพสถานการณ์ที่พร้อมใช้ ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่ดีด้านการวิจัยเพื่อรองรับการบูรณาการยุทธศาสตร์ คือ กระทรวงพลังงานของเยอรมนีและสถาบันพลังงานแห่งเยอรมนีได้มีโครงการวิจัย 4 ปีในเรื่องประสิทธิภาพวัสดุและการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยร่วมกับเครือข่ายสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย อุตสาหกรรม จำนวน 30 แห่ง โดยเหตุผลหลักของแผนงานนี้คือการมุ่งบูรณาการ 3 ประเด็นคือ

1. บูรณาการ 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ การสร้างตลาดที่ยั่งยืน การสร้างสถาบันและเครือข่ายที่แข็แกร่งเพื่อแพร่กระจายเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนโดยใช้แนวคิดจากอู่สู่อู่ (Cradle to Cradle approach) การใช้พลังทางการตลาดของภาครัฐ การสร้างแนวคิดใหม่ผ่านการศึกษาและฝึกอบรม เช่น แนวคิดมหาวิทยาลัยด้านทรัพยากร (Resource University)

2. บูรณาการนโยบายรายสาขา โดยการบูรณาการเป้าหมายเชิงนโยบายของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงวิทยาศาสตร์และการศึกษา กระทรวงการขนส่งและอาคาร และกระทรวงทรัพยากรที่ควรมีความร่วมมือกัน

3. บูรณาการเทคโนโลยีและวัฏจักรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัสดุและพลังงาน

UNEP ได้สรุปบทเรียนของเยอรมนีในการพยายามเข้าสู่สังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพว่า

"เยอรมนีถือเป็นตัวอย่างประเทศที่มีหลักฐานโดยประจักษ์ของการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรในระยะยาว ในลักษณะที่นำไปสู่ผลประโยชน์สุทธิให้ภาคเอกชน สร้างธุรกิจและงานใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความตึงเครียดทางสังคมจากการใช้ทรัพยากร (win-win-win situation)"

หันกลับมามองประเทศไทยแล้ว การขับเคลื่อนการพัฒนาในขั้นตอนต่อไปจะอยู่บนฐานความสิ้นเปลืองของทรัพยากรและพลังงานไม่ได้อีกต่อไป เพราะทรัพยากรและพลังงานของประเทศและของโลกได้ลดน้อยและเสื่อมโทรมลงไปมาก ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องกลับมาคิดกันอย่างจริงจังที่จะหาทางที่จะมุ่งไปสู่พัฒนาประเทศบนฐานการใช้ทรัพยากรและพลังงานต่ำแต่ให้ประสิทธิผลหรือสร้างผลผลิตได้สูง ซึ่งการพัฒนาในขั้นตอนนี้จะต้องใช้ความรู้ สมองและภูมิปัญญามากขึ้น และต้องเริ่มคิดถึงนโยบายระยะยาวของประเทศอย่างจริงจัง นอกเหนือไปจากการแก้ไขปัญหาไปแบบวันต่อวัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.อิสลามยะลาและองค์กรสิทธิประณามคนยิงอิหม่ามยะหาดับ

Posted: 18 Nov 2012 01:48 AM PST

 

คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาและองค์กรสิทธิฯ แถลงประณามผู้ก่อเหตุยิงอิหม่ามอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา พร้อมเรียกร้องรัฐมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยต่อผู้นำศาสนา

 
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2555 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (SPAN) เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (Deep Peace) เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (IN south) และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบในคดีความมั่นคง ได้ร่วมกันแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุยิงนายอับดุลลาเต๊ะ อิหม่ามมัสยิดบ้านอูเบง อำเภอยะหา จังหวัดยะลาและเรียกร้องให้รัฐมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยต่อผู้นำศาสนา
 
นายอับดุลลาเต๊ะ อายุ 50 ปี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา นอกจากมีตำแหน่งเป็นอีหม่ามมัสยิดบ้านอูเบงแล้ว  เขายังเป็นประธานชมรมอิหม่าม อ.ยะหา เป็นครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาใน อ.ยะหา  และคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ยะลาอีกด้วย  เขาถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 11 มม. บนถนนสายยะหา-กาบัง อ.ยะหา จ.ยะลา   เหตุเกิดขณะที่นายอับดุลลาเต๊ะ ได้ขับรถยนต์ออกจาก อ.ยะหา เพื่อเดินทางไปรับภรรยาและบุตรสาวที่รักษาอาการหอบหืดอยู่ที่โรงพยาบาล แต่เมื่อขับมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเวลากลางวัน ทั้งยังมีผู้คนพลุกพล่าน บริเวณใกล้กับโรงพยาบาลพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลาได้มีคนร้าย จำนวน 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังมา จากนั้น คนนั่งซ้อนท้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ นายอับดุลลาเต๊ะ ส่งผลให้รถเสียหลักตกลงข้างทาง เป็นเหตุให้นายอับดุลลาเต๊ะเสียชีวิต
   
ใบแถลงการณ์ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและเครือข่าวระบุ นายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 รายในพื้นที่ม. 6 บ.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 
 
ก่อนหน้านี้ นายอับดุลลาเต๊ะ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแก่ชาวบ้าน และเป็นสมาชิกเครือข่ายชาวบ้านของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งถือว่านายอับดุลลาเต๊ะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสังคมตลอดมา 
 
"เหตุการณ์ลอบสังหารในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและมาตรการทางกฎหมายในการนำคนผิดมาลงโทษ" แถลงการณ์ระบุ
 
นอกจากนี้ แถลงการณ์ได้ระบุด้วยว่าการที่คนร้ายมิได้มีความยำเกรงต่อกฎหมายย่อมทำให้ผู้นำศาสนาในพื้นที่มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตเพราะมีหลายเหตุการณ์ในห้วงระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา ที่ผู้นำด้านศาสนามักจะตกเป็นเป้าหมายในการถูกคุกคามหรือถูกลอบสังหาร และการก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบโดยสันติวิธีในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง
 
แถลงการณ์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และองค์กรเครือข่ายขอแสดงความเสียใจต่อญาติพี่น้องและครอบครัวของผู้เสียชีวิต และประณามผู้ก่อเหตุและขอให้ทุกท่านได้ตระหนักต่อสิทธิของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข และเรียกร้องให้รัฐเร่งติดตามหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย รวมทั้งจัดให้มีมาตรการป้องกันความปลอดภัยต่อผู้นำศาสนาซึ่งเป็นผู้ที่ประชาชนเคารพและศรัทธา เพื่อดึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐในการปกป้อง และคุ้มครองประชาชนและสร้างค่านิยมของการไม่ใช้ความรุนแรงประหัตประหารต่อกัน" 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โชเล่ย์บอมบ์กลางเมืองยะลาเช้าตรู่ ดับ 1 เจ็บ 29

Posted: 18 Nov 2012 01:36 AM PST

 

บอมบ์จักรยานยนต์พ่วงข้างกลางเมืองยะลา  ชาวบ้านดับ 1 เจ็บ 29 ช่วงเย็นคนร้ายยิงอส.ที่กะพ้อ ดับ 1 ก่อนฉกปืน 9 มม. 1 กระบอก หนีไปได้

 
เมื่อเวลา 07.15 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน  2555 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้รับแจ้งเหตุว่าเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดในรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง (รถโชเล่ย์) ที่หน้าร้านแสงไทย เลขที่ 520 ถ.สิโรรส เขตเทศบาลนครยะลา
 
เหตุเกิดขณะที่ชุดปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจอโณทัยซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บกู้วัตถุระเบิดกำลังเดินทางด้วยรถยนต์กระบะเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ เพื่อตรวจค้นหาสิ่งผิดปกติผิดกฎหมาย/และวัตถุต้องสงสัย บริเวณตลาดพิมลชัย  เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดขึ้น  แรงระเบิดส่งผลให้มี ผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงไม่ทราบชื่อ และผู้ได้รับบาดเจ็บ 29 ราย ประกอบด้วย
 
 
1. หญิงไม่ทราบชื่อ
2. ส.อ.ขวัญชัย ดีด้วยชาติ สังกัด ร้อย.สท.ฉก.อโณทัย
3. จ.ส.ต.สันติ ศิริปัญญา สังกัด ร้อย.สท.ฉก.อโณทัย
4. ส.ท.ยุทธชัย เจียมคน สังกัด ร้อย.สท.ฉก.อโณทัย
5. ส.ต.ปรีชา งาจันทึก สังกัด ร้อย.สท.ฉก.อโณทัย 
6. ส.ท.ประยูร โพธาราม สังกัด ร้อย.สท.ฉก.อโณทัย
7. จ.ส.อ.วิเชียร บุญยะบุญญา ตาแหน่ง พลขับ สังกัด ฉก.ยะลา ๑๑
8. นายชาริด มาหะมะ
9. นายสุทธิลักษณ์ จิตร์แกว
10. นายสกุล จงจิตร
11. นายคมสันต์ บัวศรี
12. นายโชคดี คะแนสม
13. นายไพศาล ว่องภาณุสกุล
14. นายสมพงษ์ อินทร์ทอง
15. ด.ต.วิรุณ ศรีสุวรรณโณ
16. ด.ช.ธนกร บัวศรี
17. น.ส.จริยา บุญธรรักษา
18. น.ส.นราวดี บัวไชย
19. น.ส.ฉวีวรรณ วิทยารัตน์
20. น.ส.สุภาพร ศรีใส
21. น.ส.ประนอม สาอางศรี
22. น.ส.อัซฮา สะอุ
23. นางจิรพรรณ หลักฉั่ว
24. นางรงมือล๊ะ สาอุ
25. น.ส.นวรัตน์ เชษฐ์ชัยวงศ์
26. น.ส.นูรมารี ดอเลาะ
27. น.ส.ซูไรยา เจ๊ะอิง
28. น.ส.นูรีซัน นาแว
29. น.ส.นางเตือน เอียดเหลือ
 
จากการตรวจสอบ เป็นระเบิดแสวงเครื่อง โดยคนร้ายได้นำระเบิดซุกซ่อนไว้ในรถจักรยานยนต์ ดัดแปลงพ่วงข้าง ซึ่งเป็นของนางฉวีวรรณ วาทอง ซึ่งได้แจ้งหายไว้ที่ สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2555
 
ทั้งนี้แรงระเบิดยังทำให้บ้านเรือนบริเวณดังกล่าวถูกเพลิงไหม้ โดยยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ โดยการก่อเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
 
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้รับแจ้งเหตุว่าเมื่อเวลา 17.40 น. คนร้ายจำนวน  6 - 7 คน ขับรถยนต์กระบะเป็นพาหนะใช้อาวุธปืนสงครามประกบยิง อส.ซากิบารากรี เด็งรา อายุ 24 ปี
 
เหตุเกิดขณะที่ อส.ซากิบารากรี ขับขี่รถรถจักรยานยนต์ เพื่อไปบ้านญาติ เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุบนถนนภายในหมู่บ้าน บ.โลทู ม.6 ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี คนร้ายจำนวนประมาณ 6 - 7 คน ขับรถยนต์กระบะ ตามประกบ แล้วใช้อาวุธปืนสงคราม ยิงใส่ ส่งผลให้อส.ซากิบารากรี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
 
โดยหลังก่อเหตุคนร้ายได้นำอาวุธปืนพก ขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก ของผู้เสียชีวิต หลบหนีไปด้วย จากการตรวจสอบพบปลอกกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม. จำนวน 24 ปลอก ตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ สำหรับการก่อเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคมไทยพิสูจน์ใจ ‘ยิ่งลักษณ์’ หวังไม่พลิกลิ้นนำ TPP หารือ ‘โอบาม่า’ เย็นนี้!!

Posted: 18 Nov 2012 12:12 AM PST

ภาคประชาสังคมไทยเผย หวังเห็นนายกฯ เป็นต้นแบบนักการเมืองรุ่นใหม่ ไม่โกหกประชาชน พลิกลิ้นนำ TPP เข้าหารือกับโอบาม่า เย็นนี้ พร้อมทำจดหมายเปิดผนึกถึงโอบาม่า ร้องอย่าใช้ชีวิตคนไทยสังเวยบรรษัทข้ามชาติ ตอบแทนเงินช่วยเลือกตั้ง

 
 
 
วันนี้ (18 พ.ย.55) ตัวแทนภาคประชาสังคมประกอบไปด้วย กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch), เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และมูลนิธิสุขภาพไทย เปิดการแถลงข่าวคัดค้านการประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) และจัดกิจกรรมต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามาในการมาเยือนประเทศไทย ที่ด้านหน้าสนามบินดอนเมือง เมื่อเที่ยงที่ผ่านมา
 
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับทราบถึงความห่วงใยของภาคส่วนต่างๆ ต่อความตกลง TPP จึงได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ยืนยันว่า ในเย็นนี้จะไม่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
 
 
"เราเชื่อมั่นว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ไม่พลิกลิ้น ไม่พูดอย่างทำอย่าง เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีประสบการณ์กับการที่นักการเมืองไม่ว่าพรรคใดต่างก็มีพฤติกรรมที่เชื่อไม่ได้ การรับปากของนายกฯครั้งนี้ที่จะจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อการเจรจาความตกลง TPP อย่างรอบด้าน ซึ่งนี้จะเป็นมติใหม่ของกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
เราหวังว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะมีวิจารณญาณในการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของ TPP และการเจรจาการค้าเสรีในกรอบอื่นๆให้อยู่บนฐานประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่แค่การส่งออกหรือการยื่นหมูยื่นแมวเพื่อคงสิทธิพิเศษ GSP ให้แก่ธุรกิจเท่านั้น"
 
อย่างไรก็ตาม สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า ภาคประชาชนจะเดินหน้าตรวจสอบติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
 
"เราเป็นห่วงและเข้าใจว่า นายกฯเผชิญแรงกดดันจากกลุ่มธุรกิจส่งออกเยอะมากซึ่งพยายามทำให้การเจรจาไม่โปร่งใส ไม่มีส่วนร่วม จึงต้องติดตามให้ภาควิชาการ หน่วยงานที่กำกับดูแลต่างๆ สื่อมวลชน เข้ามาร่วมตรวจสอบและศึกษาอย่างเต็มที่ให้เป็นจุดยืนของประเทศเพื่อใช้ในความตกลงต่างๆที่มีลักษณะเดียวกัน"
 
 
ทั้งนี้ ภาคประชาสังคม 14 องค์กร ยังได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีใจความว่า
 
"พวกเราภาคประชาสังคมไทยยินดีต้อนรับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของท่านครั้งนี้ เราทราบดีว่า ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านให้สัญญาประชาคมว่า จะเข้ามาจัดการเอาผิดกับพวกวอลล์สตรีทและให้ความสนใจกับเมนสตรีทที่ไม่ใช่พวกคนรวย 1% ขณะเดียวกัน คนอเมริกันมากกว่า 50 ล้านคนเข้าไม่ถึงการรักษา สหรัฐฯเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งท่านก็รับปากว่าจะใช้ Obama Care ทำให้พวกเขาเข้าถึงการรักษา
 
อย่างไรก็ตาม การที่ท่านพยายามผลักดันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) โดยชักชวนประเทศไทยให้เข้าร่วมด้วยนั้น สวนทางกับสิ่งที่ท่านรับปากไว้กับประชาชนอเมริกันโดยสิ้นเชิง มิหนำซ้ำยังทำให้ประชาชนในประเทศต่างๆที่อยู่ในความตกลงนี้ต้องรับชะตากรรมเช่นเดียวกับอเมริกันชน
 
จากเนื้อหาการเจรจาที่หลุดรอดออกมาสู่สาธารณะ ชี้ให้เห็นว่า ความตกลง TPP จะก่อให้เกิดผลกระทบดังนี้
 
- จะช่วยอุตสาหกรรมยาข้ามชาติถีบราคายาทั้งในและต่างประเทศให้สูงขึ้น และผูกขาดทำกำไรแต่เพียงเจ้าเดียวอย่างยาวนานยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีบทว่าด้วยยาที่จำกัดการต่อรองราคายาและทำลายความพยายามในการควบคุมการใช้ยาอย่างเหมาะสมในระบบสุขภาพ
 
- เพิ่มอำนาจบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ให้ไปจัดการทำลายกฎหมายภายในประเทศต่างๆและนโยบายสาธารณะต่างๆที่ทำหน้าที่คุ้มครองสุขภาพประชาชนจากสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และการรักษาสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากรด้วยการฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการ
 
-  บ่อนทำลายความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ด้วยการจำกัดสิทธิของประเทศในการใช้มาตรการและนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค
 
- ทำลายเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตด้วยการสอดไส้เนื้อหาจำกัดสิทธิประชาชนในนามของการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านความตกลงนี้
 
- ทำลายหลักการว่าด้วยความโปร่งใสด้วยการปิดหูปิดตาสาธารณชน ไม่ให้ล่วงรู้เนื้อหาและผลกระทบที่จะเกิดจากความตกลงฯ แต่กลับอนุญาตให้ตัวแทนธุรกิจเข้าไปร่วมการเจรจา
 
เราตระหนักดีว่า PhRMA และอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ รวมทั้งบรรดาผู้ร้ายทางการเงินในวอลล์สตรีทเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ในการเลือกตั้งของท่าน พวกเขาให้เงินสนับสนุนท่านในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้มากเสียยิ่งกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2008 ท่านจึงต้องตระบัดสัตย์ต่อคนอเมริกันด้วยการเอาภาษีของประชาชนอุ้มธุรกิจของพวกเขา และสร้าง ObamaCare ที่อุตสาหกรรมยายังคงทำกำไรได้ต่อไปโดยที่อเมริกันชนได้ประโยชน์น้อยมาก
 
แต่จงอย่าใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศของเราเป็นเสมือนเสื้อชูชีพให้กับเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของอเมริกัน หรือเป็นบรรณาการตอบแทนอำนาจเงินของทุนเหล่านี้ที่ทำให้ท่านกลับมาทำเนียบขาวอีกครั้ง ทั้งๆที่ไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้แม้แต่เรื่องเดียว
 
จงกลับไปทำตามคำมั่นสัญญาที่ท่านให้ไว้กับประชาชน สร้างงานให้คนอเมริกัน ไม่ใช่ด้วยเลือดเนื้อของคนในชาติอื่น กำกับและควบคุมสถาบันการเงินและวาณิชธนกิจทั้งหลาย ไม่ใช่ปล่อยให้พวกมันมีอำนาจล้นฟ้า ควบคุมพฤติกรรมบริษัทยาให้มีจริยธรรมและแสวงหากำไรแต่พอควร และสร้างความโปร่งใส เลิกปิดหูปิดตาประชาชน และที่สำคัญที่สุด จงเลิกคุกเข่ารับคำสั่งทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเรียกของพวกบรรษัทขนาดใหญ่ (Stop hitting your knees on the floor when corporations knock on your door)"
 
 
นอกจากนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้จัดกิจกรรมการแสดงให้บุคคลสวมหน้ากากนายกรับมนตรีไทย และประธานาธิบดีสหรัฐฯ เซ็น TPP ร่วมกันจากนั้นคนที่อยู่รอบข้างผู้นำทั้งสองก็ทยอยล้มตาย โดยมีป้ายข้อความว่า TPP ชำเราประชาชนด้วยข้ออ้างเศรษฐกิจ และ US Hand off our medicines และแจกจ่ายเอกสาร "เหตุผล 9 ข้อว่าทำไมถึงไม่เอาข้อตกลง "TPP" ของสหรัฐฯ" มีเนื้อหา ดังนี้
 
 
 
เหตุผล 9 ข้อว่าทำไมถึงไม่เอาข้อตกลง "ทีพีพี" ของสหรัฐฯ
 
1.     ทีพีพี เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีรูปแบบใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดยาเพียงไม่กี่บริษัท และขยายการผูกขาดตลาดให้ยาวนานเกินกว่า 20 ปี ซึ่งจะมีผลทำให้ยามีราคาแพงขึ้นอย่างมหาศาล
 
2.     ทีพีพี จะผูกมัดไม่ประเทศคู่ค้าสามารถต่อรองราคายาได้ และไม่ยอมให้มีกลไกควบคุมราคายาและการใช้ยาอย่างเหมาะสมที่จะกระทบผลกำไรของบรรษัทยาข้ามชาติ
 
3.     ทีพีพี จะทำให้ประเทศคู่เจรจาไม่สามารถนำมาตรการยืดหยุ่นด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ซีแอล มาใช้เพื่อปกป้องหรือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นในราคาที่เหมาะสมของประเทศได้
 
4.     ทีพีพี จะทำให้บรรษัทข้ามชาติสามารถแทรกแซงหรือยับยั้งนโยบายหรือการออกกฎหมายภายในประเทศที่คุ้มครองสุขภาพประชาชนจากสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และการรักษาสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร
 
5.     ทีพีพี เป็นการริบรอนอธิปไตยทางศาลของประเทศคู่ค้า เพราะบรรษัทข้ามชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือให้มีการยกเลิกนโยบายหรือกฎหมายที่ทำให้ผลกำไรของบรรษัทฯ เสียหาย ถึงแม้ว่านโยบายหรือกฎหมายเหล่านั้นจะมีเพื่อคุ้มครองสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ตาม ซึ่งจะตัดสินโดย "คณะอนุญาโตตุลาการ" ภายนอกประเทศ
 
6.     ทีพีพี เป็นข้อตกลงการค้าที่บ่อนทำลายความมั่นคงทางการเงิน เพราะจะจำกัดสิทธิของประเทศในการใช้มาตรการและนโยบายควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการคลังและทางเศรษฐกิจของประเทศ
 
7.     ทีพีพี จะทำให้ต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสูงขึ้น เพราะมีการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ได้ ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์สัตว์ของบรรษัทยักษ์ใหญ่และไม่สามารถใช้ขยายพันธุ์ต่อได้
 
8.     ทีพีพี จะจำกัดสิทธิ์ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างเสรีอีกต่อไป
 
9.     ทีพีพี เป็นการเจรจาที่ไม่โปร่งใส เพราะกำหนดให้การเจรจาจะต้องกระทำอย่างเป็นความลับ ไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาการเจรจาให้ภายนอกได้รับรู้ก่อนการเจรจาจะเสร็จสิ้นหรือมีการตกลงกัน
 
ทีพีพี คือ ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) ที่มีประเทศสหรัฐฯ เป็นแกนนำริเริ่มและผลักดันให้เกิดการเจรจา  หรืออีกนัยหนึ่ง ทีพีพี คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement, FTA) หรือ เอฟทีเอ ที่สหรัฐฯ เคยพยายามกดดันให้ไทยเจรจาและเซ็นข้อตกลงด้วยแต่ไม่สำเร็จ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิเคราะห์ TPP (1): ไทยกลาง ‘เขาควาย’ 2 ขั้วอำนาจ ‘จีน-สหรัฐ’

Posted: 17 Nov 2012 02:31 PM PST

เสวนาวิชาการ 'วิเคราะห์ TPP ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร' ผอ.อาเซียนศึกษา มธ.ชี้ สหรัฐฯ ถูกสั่นคลอนจากทางเศรษฐกิจจาก 'จีน-อาเซียน' TPP คือการรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่สู่การครองผู้นำเศรษฐกิจ ผอ.ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ เตือนไทยเตรียมแสดงท่าที หวั่นปมปัญหาทะเลจีนใต้ปะทุได้ทุกขณะ

 
 
นับจากการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อคัดค้านความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐ ช่วงปี 2549 ซึ่งในที่สุดการเจรจาดังกล่าวก็เข้าสู่ภาวะชะงักงัน กรณีนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐสหรัฐฯ จะแถลงข่าวร่วมในการประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ (TIFA JC) ในวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย.นี้ นำมาสู่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ด้วยว่านี่คือการรื้อฟื้น 'FTA ไทย-สหรัฐ' ครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม รวมทั้งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมด้วย
 
เพื่อทำความเข้าใจต่อรายละเอียดของข้อห่วงใยต่างๆ วันนี้ (17 พ.ย.55) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ 'วิเคราะห์ TPP ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร' ณ ศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
สหรัฐฯ ในวันที่อำนาจถูกสั่นคลอนจากการเติบโตของ 'จีน-อาเซียน'
 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนายการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็น TPP ในสังคมไทยไม่ตื่นตัวนักรวมทั้งในส่วนของนักวิชาการเองด้วย แต่โดยส่วนตัวเล็งเห็นว่าตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ และถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ หลังจากที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสหรัฐฯถดถอย GDP ซึ่งเคยอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โลก เมื่อปี 1950 ขณะนี้ได้ลดลงมาเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ญี่ปุ่นและจีนได้ผงาดขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในเอเชีย และมีการทำนายว่าในอนาคตจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐฯ
 
นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังต้องการครองความเป็นผู้นำทางการทหารในภูมิภาคเอเชีย โดยการดำเนินนโยบายล่าสุดคือการปิดล้อมจีนซึ่งไม่ยอมสยบให้และกำลังจะมาท้าทายสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน
 
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการผงาดขึ้นมาของเอเชีย ซึ่งในอนาคตศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายฐานจากตะวันตกมาตะวันออกนั่นคือเอเชียตะวันออก เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้จึงกลายมาเป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญของสหรัฐฯ ที่ไม่อาจละเลยได้ และในช่วง 10 ที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าประเทศในเอเชียจะมีการรวมตัวกันโดยไม่มีสหรัฐฯ เกิดการทำ FTA ในกรอบอาเซียน เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย และกำลังจะมีการทำเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area: EAFTA) หรือ FTA อาเซียน+3 คือ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะเป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และจะกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ ปีละ 25,000 ล้านเหรียญ ซึ่งผลกระทบตรงนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
 
"สหรัฐฯ มองวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อย่างวิตกกังวลว่าแนวโน้มเหล่านี้จะทำให้สหรัฐฯ ลดบทบาทลงเรื่อยๆ แล้วสหรัฐฯ จะถูกกีดกันจากปฏิสัมพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะ FTA ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ และจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อผลประโยชน์ทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น TPP จึงเกิดขึ้น" รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าว
 
 
 
TPP การรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ของสหรัฐฯ สู่การครองเจ้าเศรษฐกิจ
 
ผู้อำนายการศูนย์อาเซียนศึกษา มธ.กล่าวด้วยว่า TPP คือความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มและทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของกรอบที่ใหญ่กว่า คือเป็นส่วนหนึ่งของ TPP โดย TPP เริ่มจากสมาชิก 9 ประเทศ ประกอบด้วยชาติอาเซียน 4 ประเทศ คือ บรูไน เวียดนามมาเลเซีย สิงคโปร์ และอีก 6 ประเทศประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่มีทีท่าจะเข้าร่วมประกอด้วย ญี่ปุ่น แคนนาดา และแม็กซิโก โดย TPP มุ่งจะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดยกเว้นจีนซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญ
 
"สหรัฐฯ เล็งเห็นว่า TPP จะเป็นกลไกสำคัญในการที่จะใช้แข่งกับ FTA ของอาเซียน จะใช้ในการที่จะปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ จะใช้ในการที่จะเปลี่ยนขั้วจากการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของ FTA ให้สหรัฐฯ กลายมาเป็นแกนกลางเสียงเอง TPP มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้อเมริกากลับมาผงาดทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง" รศ.ดร.ประภัสสร์ วิเคราะห์ถึงยุทธศาสตร์การเดินหน้า TPP ของสหรัฐฯ
 
 
ดู 'ผลดี' เทียบ 'ผลเสีย' หากไทยเดินหน้าร่วม TPP
 
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวด้วยว่า การตัดสินใจของรัฐบาลทั้งที่มีท่าทีรีรอมานานร่วม 3-4 ปีครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นเพราะต้องการเอาใจโอบามาในโอกาสที่มาเยือนไทย และรัฐบาลก็หวังว่าไทยจะได้ประโยชน์ในแง่การค้า-การส่งออก และหวังผลจากการเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ ซึ่งยังถือเป็นผู้คุมเกมโลกอยู่
 
อย่างไรก็ตาม ในแง่ประโยชน์จากการส่งออกหากมองประเทศสมาชิก TPP จะพบว่า 4 ประเทศอาเซียนนี้เราจะไม่ได้อะไร เพราะกำลังจะมีการรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อยู่แล้ว ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็มีการทำ FTA กับไทยอยู่แล้ว ชิลีและเปรูเราก็กำลังทำ FTA กันอยู่ แล้วการค้าขายก็น้อยมาก สำหรับญี่ปุ่นเรามี FTA อยู่แล้ว ขณะที่แคนนาดากับแมกซิโกก็ค้าขายกันน้อยมาก สรุปแล้วการเข้าร่วม TPP ของไทยในที่สุดก็จะไปได้ที่สหรัฐฯ
 
นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลไทยกังวลใจคือกลัวตกรถไฟขบวน TPP หากประเทศอื่นเข้าร่วมแต่ไทยไม่เข้าเราจะเสียเปรียบ และหากเข้าร่วมช้าจะต้องมีกระบวนการเช่นเดียวกับ องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) ซึ่งต้องมีการเจราจากับประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะเข้าร่วมได้
 
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวต่อมาถึง ผลกระทบในเชิงลบที่น่ากังวลซึ่งทำให้ต้องคิดอย่างรอบคอบ อาทิ การที่ TPP ซึ่งมีมาตรฐานสูงจะมีผลกระทบต่อสาขาเกษตร การค้าภาคบริการ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในประเด็นสิทธิบัตรยา อีกทั้ง อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในอาเซียน ลดบทบาทของอาเซียนลง ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างสมาชิกในอาเซียน ทำให้เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกรวมกลุ่มไม่สำเร็จ และกระทบต่อ FTA ที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน
 
"อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า TPP คือยุทธศาสตร์การโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นการที่ได้เข้าร่วม TPP นั้นก็แสดงให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจนว่าไทยเราเองเข้าข้างอเมริกา แล้วกำลังจะเป้นพวกเดียวกับอเมริกาในการโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ไทยจีน" รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว
 
 
ไทย-จีน การเดินหน้าสู่ความสัมพันธ์อันเปราะบางหลัง TPP
 
วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเจรจาการค้าเสรีแต่สิ่งเหล่านี้มันต้องเกิด และเกิดอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 มาจนถึงฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีมาตราหนึ่งที่ระบุว่าให้รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนการค้าเสรี ดังนั้นไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลจะขัดขวางการค้าเสรีไม่ได้ ดังนั้น หากจะมีการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศใดก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเสรีแล้วประเทศไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และสำหรับTPP นั้นส่วนตัวถือว่าเป็นกลไกหนึ่งของการค้าเสรีซึ่งขยับขึ้นมาอีกก้าวหนึ่งจากที่มีมาแต่เดิมแล้ว โดยมีสหรัฐฯ เป็นฝ่ายรุก หลังจากใน 10 ปีที่ผ่านมาปล่อยให้จีนเป็นฝ่ายรุกในภูมิภาคนี้
 
อาจารย์สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงสิ่งที่ไทยควรคำนึงถึงด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมา การเปิดการค้าเสรีของจีนที่รุกคืบเข้ามาในอาเซียน จีนได้ทำหลายๆ สิ่งที่เป็นเสรีจริงๆ และเป็นประโยชน์ไม่น้อย ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณว่าจะถดถอยเมื่อปี 2552 จนกระทั้งประสบปัญหา ในปีนั้นจีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่อลังการ ส่วนตัวคิดว่านั่นคือสัญลักษณ์ของมหาอำนาจใหม่ที่จะมีพฤติกรรมระหว่างประเทศที่แตกต่างไปจากมหาอำนาจตะวันตก และการดำเนินการเสรีของจีนในอาเซียน จีนก็ได้เตรียมพร้อมในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะต่อการเตรียมรับ AEC อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคมนาคมขนส่ง ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่สหรัฐต้องคิดหนัก
 
 
ขณะที่ จีนก็มีปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งมีการประทะกันเกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา และจีนยังมีความขัดแย้งกับญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก กรณีหมู่เกาะเตียวหยู หรือเซนกากุ ตรงนี้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางการทหารอย่างชัดเจน และอาจเป็นปมปัญหาให้สหรัฐฯ เข้ามาอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามเห็นชอบ และถึงจุดหนึ่งไทยอาจต้องแสดงท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ในฐานสมาชิกอาเซียน
 
"สำหรับผมแล้ว เรื่องของ TPP ที่สหรัฐเป็นโต้โผใหญ่ในครั้งนี้นี่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแท้ที่จริงแล้วคือนโยบายที่ต้องการปิดล้อมจีน" วรศักดิ์กล่าว
 
วรศักดิ์ประเมินด้วยว่า ในมิติทางการเมืองจีนนั้นพร้อมที่จะทำสงคราม แม้จะเมินแล้วว่ามีแสงยานุภาพด้อยกว่า ขณะที่ในทางการทูตจีนจะบอกว่าไม่ต้องการการสู้รบ ส่วนการที่ TPP จะไม่เอาจีนเข้าร่วมนั้น เหมือนละครที่ขาดตัวแสดงหลัก และจีนจะออกมาพูดอย่างสวยงามว่าพร้อมที่จะเข้าร่วม TPP ซึ่งจะทำให้สหรัฐต้องคิดหนักว่าจะตัดจีนออกไปหรือไม่ และในส่วนประเทศอาเซียนที่เข้าร่วม TPP ก็ต้องคิดตรงนี้ด้วย
 
 
แจงแม้แถลงข่าวร่วมไม่เข้า ม. 190 แต่ผูกพันทางการเมือง ทั้งสร้างเงื่อนไขปิดปากคนเห็นต่าง
 
จักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) กล่าวว่า TPP มีนัยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งในเรื่องฐานการผลิตและทรัพย์สินทางปัญญา การที่ ครม.มีมติที่จะแถลงว่าจะแสดงเจตจำนงร่วมเจรจา TPP จึงเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจ เพราะยังไม่เคยมีการทำความเข้าใจ ไม่เคยมีการหารือ การศึกษาที่รัฐบาลใช้มีอยู่เพียงชิ้นเดียว จากการที่กระทรวงพาณิชย์จัดจ้าง บริษัทไบรอัน เครฟ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนให้ทำการศึกษาความคุ้มค่าทางธุรกิจ สำเร็จไปเมื่อตอนเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่ทราบว่าในการประชุมครม.ที่ผ่านมามีผู้ศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ก่อนหรือไม่
 
ตัวแทนจากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนากล่าวด้วยว่า เครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ เรายืนยันว่าประเทศไทยไม่ควรหยุดหยุดนิ่งในเรื่องประเด็นทางการค้า เราไม่ควรหยุดนิ่งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราควรมีความกล้าหาญในการร่วมตัดสินใจที่จะร่วมเข้าเป็นภาคีใดภาคีหนึ่งในกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการค้าหรือความมั่นคง แต่ทั้งหลายทั้งมวลนี้จะเป็นต้องยืนอยู่บนหลักการธรรมาภิบาล และยืนอยู่บนองค์ความรู้ ถ้ามีกระบวนการที่ดี ถ้าเรามีองค์ความรู้เพียงพอ เราตัดสินใจร่วมกัน คิดว่าประชาชนพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาล
 
"ณ ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน ไม่ให้เกียรติแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งเราจะไปหารือด้วย ถ้าเกิดว่าเราจะกลับคำหลังจากนี้อีกไม่กี่เดือนว่าเราจะไม่เดินหน้า ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะเสียหาย"จักรชัยกล่าว พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้ความกล้าหาญที่มีทบทวนและชะลอเรื่องดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะมีกระบวนการที่เหมาะสมเพียงพอ
 
จักรชัย กล่าวว่า แม้ขณะนี้การดำเนินการของรัฐบาลยังไม่เข้ามาตรา 190 เพราะยังไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย แต่ก็จะมีผลผูกพันทางการเมือง อีกทั้งรัฐบาลยังตัดตอนกระบวนการตามมาตรา 190 มัดปากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา สร้างความกังวลหากจะทำการคัดค้าน เนื่องจากการแสดงเจตนารมณ์นั้นเป็นการประกาศในฐานะตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ หากเหตุการณ์ต่อมาไม่ได้เป็นไปตามที่แถลงการณ์ร่วมแล้วอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศได้
 
ทั้งนี้ ตามมาตรา 190 คือ กระบวนการภายในประเทศเมื่อรัฐบาลริเริ่มกรอบการเจรจาแล้วจะมีการนำไปหารือกับประชาชน จากนั้นจะนำเข้าสู่สภาเพื่อให้ความเห็นชอบ จึงนำไปเริ่มกระบวนการนอกประเทศจนได้ร่างการเจรจา แล้วนำกลับมาในประเทศเพื่อผ่านการให้ความเห็นชอบกระบวนการเจรจามีผลผูกพัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น