โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สมเกียรติ อ่อนวิมล

Posted: 24 Nov 2012 08:21 AM PST

เขาบอกให้มาชุมนุมก็มา เขาบอกให้เลิกชุมนุมก็เลิก มาทำไมก็ไม่รู้ เลิกทำไมก็ไม่ทราบ ตื่นขึ้นมาพรุ่งนี้เช้าก็ไม่รู้ว่าเมื่อวานชุมนุมเรื่องอะไร?

24 พ.ย.55, โพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัว @somkiatonwimon

สหภาพแรงงานอเมริกันทั่วสหรัฐฯ หนุนคนงานวอลมาร์ทประท้วงขึ้นค่าแรง

Posted: 24 Nov 2012 08:02 AM PST

พนักงานห้างวอลมาร์ท (Walmart) จากสาขาต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ได้ทำการประท้วงขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสภาพการจ้าง โดยมีสหภาพแรงงานหลายองค์กรให้การสนับสนุน

การประท้วงทั่วสหรัฐฯ ของคนงานวอลมาร์ท (ที่มา: cbsnews.com)

การประท้วงใน Dearborn เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มา: DetNewsVideo)

การประท้วงใน Chicago เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มา: huffingtonpost.com)

 

24 พ.ย. 55 - สำนักข่าว AFP รายงานว่าพนักงานห้างวอลมาร์ท (Walmart) จากสาขาต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ได้ทำการประท้วงขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสภาพการจ้าง โดยมีสหภาพแรงงานหลายองค์กรให้การสนับสนุน

ทั้งนี้การหยุดงานประท้วงของพนักงานวอลมาร์ทวานนี้ (23 พ.ย.) ซึ่งเป็นวัน "แบล็กฟรายเดย์" (Black Friday) ซึ่งในวันนี้ของทุกปี ห้างใหญ่อย่างวอลมาร์ทจะลดราคาสินค้าจำนวนมาก เพื่อเริ่มต้นเทศกาลจับจ่ายของขวัญแห่งปีก่อนวันคริสต์มาสและปีใหม่จะมาถึง และวอลมาร์ทสามารถทำรายได้มหาศาลในวันแบล็คฟรายเดย์นี้ (อ่านเพิ่มเติม: ทุนนิยาม: ความสำเร็จ (และความเปราะบาง) ของวอลมาร์ท)

Mary Kay Henry ประธานสหภาพแรงงานภาคบริการนานาชาติ (Service Employees International Union - SEIU) ระบุว่าการประท้วงของคนงานวอลมาร์ททั่วประเทศนั้น ได้ทำให้เห็นถึงพลังที่ยิ่งใหญ่ของแรงงานที่ร่วมกันเรียกร้องหาค่าแรงและสวัสดิการที่เป็นธรรม

ด้านสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers - UAW) ระบุว่าวอลมาร์ทซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เมื่อเกิดการประท้วงจึงเป็นพลังมหาศาลที่ไม่เพียงส่งผลต่อวอลมาร์ทและอุตสาหกรรมบริการเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งระบบด้วย

ขณะที่ Robert Reich อดีตรัฐมนตรีแรงงานในสมัยประธานาธิบดี Bill Clinton ก็ได้ออกมาสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้ โดยเขาระบุว่าความไม่เท่าเทียมที่สะท้อนจากช่องว่างระหว่างค่าแรงของคนงานวอลมาร์ทกับผลกำไรที่เกิดขึ้นกับนักลงทุน รวมถึงครอบครัววอลตัน เป็นสิ่งที่หลอกหลอนเศรษฐกิจอเมริกัน โดยเขาใช้หัวข้อเรื่องว่า เหตุใดจึงไม่ควรซื้อสินค้าวอลมาร์ทในวันศุกร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 สมาคมสื่อออกแถลงการณ์ชี้ ตำรวจคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ จับกุมช่างภาพ

Posted: 24 Nov 2012 06:54 AM PST

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และสมาคมนักข่าววิทยุฯ ออกแถลงการณ์ร่วมชี้ตำรวจใช้กำลังควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่

 
24 พ.ย. 55 - เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยมีรายระเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
 
เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง
 
จากกรณีที่ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ได้เกิดเหตุการณ์ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ขณะพยายามฝ่าแนวกั้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเข้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า จนเกิดเหตุวุ่นวายกระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุม ตำรวจ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและถูกควบคุมตัว โดย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงสาเหตุที่มีการควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชน โดยอ้างว่ามีการถ่ายภาพขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น
 
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่า
 
1.การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย
 
2.การนำเสนอข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สื่อมวลชนทุกแขนงต้องเสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้สาธารณชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้านมากที่สุด และไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำมาเป็นข้ออ้างในการยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรง
 
3.เพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ภาคสนาม สมาคมวิชาชีพทั้ง 2 สมาคม ได้ประสานงานกับแกนนำผู้ชุมนุม และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อใช้ปลอกแขนสีเขียวมีตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
 
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
24 พฤศจิกายน 2555
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอ.รส.แถลงสรุปผู้ชุมนุมโดนจับ 137 รายจ่อแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.มั่นคงฯ

Posted: 24 Nov 2012 06:40 AM PST

ศอ.รส.แถลงสรุปสถานการณ์ผู้ชุมนุมเจอจับกุม 137 ราย จ่อแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.มั่นคงฯ 'อดุลย์' สั่งเร่งสอบสวนก่อนปล่อยตัวชั่วคราว ด้านศูนย์เอราวัณเผยยอดผู้บาดเจ็บเหตุชุมนุมรวมทั้งสิ้น 61 คน

คลิปแถลงสรุปสถานการณ์โดยศูนย์อำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)
 
24 พ.ย. 55 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงในนาม ศูนย์อำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยระบุว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ในวันที่ 24 พ.ย. ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีจำนวนทั้งสิ้น 137 ราย แบ่งออกเป็นชาย 113 ราย หญิง 24 ราย
 
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมอีก 10 รายถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ดุสิต แบ่งเป็นฐานความผิด พกพาอาวุธมีด 8 ราย ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน 1 ราย และมีวิทยุสื่อสารในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 1 ราย
 
พล.ต.อ.เอกกล่าวว่าเจ้าหน้าที่จะมีการสอบสวนกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อจำแนกฐานความผิด แบ่งเป็น กลุ่มแกนนำซึ่งมีพฤติกรรมร้ายแรง ที่ก่อเหตุขับรถชนตำรวจระหว่างที่มีการปะทะ และ กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานความผิดฝ่าฝืนข้อกำหนดพื้นที่ห้ามเข้า ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปีปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
 
ทั้งนี้ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ได้สั่งกำชับให้พนักงานสอบสวนยึดหลักนิติรัฐในการสอบสวน โดยให้คำนึงถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูยของประชาชนในการเข้าร่วมชุมนุมอย่างสงบ รวมทั้งให้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะภาพจากกล้องต่างๆมาประกอบการสอบสวน
 
"ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สบ.10) เข้าไปอำนวยการสอบสวน โดยแนวทางในการดำเนินการได้กำชับเน้นให้เร่งการสอบสวนสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งหมด จากนั้นจะเร่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน"พล.ต.อ.เอกกล่าว
 
นอกจากนี้สถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาต้องจัดให้มีความสะวดสบายตามสมควร พร้อมทั้งจัดอาหาร น้ำดื่ม น้ำอาบให้เพียงพอ รวมทั้งประสานให้ญาติของผู้ที่ถูกควบคุมตัวเข้ามาเยี่ยม และติดต่อทนายความได้อย่างสะดวก 
 
ศูนย์เอราวัณเผยยอดผู้บาดเจ็บเหตุชุมนุมรวมทั้งสิ้น 61 คน
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่าเมื่อเวลา 17.30 น. นพ.เพชรพงษ์ กำธรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ เปิดเผยว่า ยอดผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ชุมนุมรวมทั้งหมด 42 คน อยู่ตามรพ.ต่างๆ ดังนั้น วชิรพยาบาล  31 คน  รพ.ตำรวจ 3 นาย รพ.กลาง 2 คน รพ.รามาธิบดี  1 คน  รพ.ราชวิถี 2 คน  รพ.มิชชั่น 2 คน และรพ.จุฬาฯ 1 คน  นอกจากนี้ได้นำส่งรพ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 17 คน รวมทั้งหมด 61 คน  ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่จะแสบตาและตามใบหน้า ศีรษะแตก  
 
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า มีตำรวจ 7 นาย ได้รับบาดเจ็บจากเหตุชุมนุม  สธ.ร่วมกับหน่วยแพทย์ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เข้าไปในจุดที่มีการชุมนุม เป็นพยาบาลเคลื่อนที่ของ รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี เข้าไปประจำที่วัดเบญจมบพิตรฯ  ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผู้บาดเจ็บตัวเลขยังไม่นิ่ง  สธ.ประสานกับศูนย์เอราวัณเป็นระยะ และเมื่อเวลา 18.00 น. รวม 61 คน  ส่วนใหญ่กระจายตาม รพ.ต่างๆ วชิรพยาบาลมากที่สุด ส่วนที่ รพ.คลองหลวงเพิ่มเป็น 17 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ถูกควบคุมตัวและมีบาดแผลจากการชุมนุม  ศีรษะแตก ตาแสบร้อนจากแก๊ส ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงมียอด 7 นาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพการชุมนุม 'องค์การพิทักษ์สยาม' 24 พ.ย. 55

Posted: 24 Nov 2012 04:42 AM PST

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ชุมนุมชี้รับไม่ได้รัฐบาลปล่อยให้หมิ่นเบื้องสูง

Posted: 24 Nov 2012 03:51 AM PST

ผู้สื่อข่าวประชาไทสัมภาษณ์ความรู้สึกของผู้ชุมนุมที่มาร่วมว่า มีแรงจูงใจในการมาชุมนุมที่หลากหลาย บางส่วนมองว่า จำเป็นต้องยุติระบอบทักษิณเพื่อหยุดการโกงและคอร์รัปชั่น ในขณะที่บางส่วนมองว่ารัฐบาลนี้ปล่อยให้มีการจาบจ้วงเบื้องสูงมากเกินไป

24 พ.ย. 55 - ผู้สื่อข่าวได้รายงานถึงความคิดเห็นของผู้ชุมนุมที่มาร่วมว่า มีแรงจูงใจในการมาชุมนุมที่หลากหลาย บางส่วนมองว่า จำเป็นต้องยุติระบอบทักษิณเพื่อหยุดการโกงและคอร์รัปชั่น ในขณะที่บางส่วนมองว่ารัฐบาลนี้ปล่อยให้มีการจาบจ้วงเบื้องสูงมากเกินไป โดยชายหนุ่มคนหนึ่งในวัยราว 30 ปี กล่าวว่า ตนเดินทางมาร่วมชุมนุมจากมีนบุรีคนเดียว เนื่องจากยอมรับไม่ได้ที่รัฐบาลนี้ปล่อยให้มีการหมิ่นเบื้องสูง โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ตที่มีการโพสต์หมิ่นประมาทที่เพิ่มขึ้นมาก 
 
เช่นเดียวกับลุงวัย 60 ปี ทำงานอยู่โรงงานน้ำมันบางจาก ที่จังหวัดสระบุรี เล่าว่า ตนได้เดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมกลุ่มพิทักษ์สยามตั้งแต่คืนวานนี้ และอยู่ในเหตุการณ์ปะทะกันและใช้แก๊สน้ำตาเมื่อเช้าวันนี้ราว 8.30 น. โดยลุงบอกว่า ที่มาเข้าร่วม ไม่กลัวอะไรแม้แต่น้อย ตนได้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรตั้งแต่ปี 2548 แล้ว และหวังจะเห็นการสิ้นสุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์รวมถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร   
 
ในขณะที่คู่สามี-ภรรยาวัยกว่า 70 ปี จากเขตลำลูกกา กทม. ที่ได้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ กล่าวว่า สาเหตุที่ออกมาชุมนุม เป็นเพราะทนไม่ไหวกับเศรษฐกิจที่สินค้าต่างๆ มีราคาแพงขึ้น ทำให้ดำรงชีพลำบาก ตนเห็นว่า ควรต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ รวมถึงระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ
 
รูปบรรยากาศบางส่วนจากการชุมนุมของกลุ่มพิทักษ์สยามในวันนี้ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เสธ. อ้าย' ประกาศยุติการชุมนุม ระบุไม่ต้องการให้เกิดการเสียชีวิต ย้ำไม่ใช่ความพ่ายแพ้ เตรียมเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง

Posted: 24 Nov 2012 02:59 AM PST

24 พ.ย. 55 - เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.ของวันที่ 24 พ.ย.2555  พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม  อพส.  ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ยังไม่พอใจกับจำนวนผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมเนื่องจากยังไม่เข้าเป้าเนื่องจากถูกสกัด จึงต้องดูสถานการณ์ต่อในวันที่ 25 พ.ย.อีกครั้ง หากไม่เข้าเป้าจริงๆก็จะยุติการชุมนุมทันที

ต่อมาเวลา 17.15น. พล.อ.บุญเลิศได้ขึ้นเวทีปราศรัยว่าเสียใจที่รัฐบาลทำแบบนี้ ทั้งที่ที่องค์การพิทักษ์สยามยืนยันแล้วว่าจะชุมนุมสงบ ไม่ยืดเยื้อ ไม่ยึดสภา หากตนไม่มีเกียรติยศ คงพามวลชนบุกเข้าสภาไปนานแล้ว โดยที่ผ่านมามีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจำนวนมาก แต่ทางตำรวจไม่ควรทำร้ายประชาชนมือเปล่า รวมถึงจับมวลชนไปอีกหลายคนด้วย ซึ่งตนไม่อยากให้คนรักชาติมาเสียชีวิตจากการกระทำของตำรวจแบบนี้ นอกจากนี้ ยังมีการสกัดกั้นทำให้มวลชนไม่สามารถเข้ามาร่วมชุมนุมได้

ประธานองค์การพิทักษ์สยาม  กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนขอกราบเท้ามวลชนที่เข้ามาร่วมชุมนุม  แต่เพื่อเป็นการรักษาชีวิตของทุกคน ตนขอประกาศยุติการชุมนุม บัดนี้เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทำให้มวลชนได้ลุกขึ้นยืนปรบมือพร้อมส่งเสียงเชียร์ ซึ่งเป็นขณะเดียวกันกับที่มีสายฝนตกลงมาในพื้นที่ลงมาอย่างหนักด้วย

หลังจากพล.อ.บุญเลิศประกาศยุติการชุมนุม แต่ประชาชนที่มาชุมนุมยังไม่ยอมเดินทางกลับ ทำให้พล.อ.บุญเลิศ จึงกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงอีกครั้งเมื่อเวลา 17. 40 น. ว่า  "อยากจะกล่าวว่าเสียใจ และพล.อ.บุญเลิศ มันได้ตายไปแล้ว"

แกนนำเตรียมยื่นฟ้องรัฐบาล ต่อศาลปกครอง วัน 26 พ.ย.
 
เมื่อเวลา 17.31 น. เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.)ประกาศยุติการชุมนุม โดย พล.อ.บุญเลิศ กล่าวว่า เสียใจอย่างสุดซึ้ง ที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา เราชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ยึดทำเนียบ รัฐสภา ทั้งที่ตำรวจรักษาการฝั่งสภาบางมาก ถ้าจะบุกสภาก็ทำได้ แต่ไม่ทำ และยังมีการปิดกั้นคนต่างจังหวัดไม่ให้มาชุมนุม อพส.ไม่มีเงินไปจ้างใครมาชุมนุม แต่ทุกคนที่มา ล้วนแต่รักชาติเทิดทูนราชบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่น่าจะทำกับประชาชนมือเปล่า มีการทำร้ายร่างกายหลายคนและจับไปอีกหลายคน ผมไม่อยากให้พ่อแม่พี่น้องเสียชีวิต ถึงจะมีการสกัดกั้น คนก็มาเกิน 5 หมื่น แต่ก็ไม่ถึง 1 ล้าน เพราะถูกสกัดกั้น ขอกราบแทบเท้าทุกท่านที่ให้เกียรติ ขอประกาศยกเลิกการชุมนุมเพียงเท่านี้
 
ขณะที่ แกนนำ อพส. ได้กล่าวย้ำว่า การประกาศยุติการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่ความพ่ายแพ้  และจะไปยื่นฟ้องรัฐบาล ต่อศาลปกครอง วัน 26 พ.ย. ในความผิดที่รัฐบาลประกาศพ.ร.บ. มั่นคงฯ และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุม.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมประกาศ ศอ.รส. ฉบับที่ 1-4 และแผนปฏิบัติการ ศอ.รส.

Posted: 24 Nov 2012 12:54 AM PST

รวมประกาศ ศอ.รส. ฉบับที่ 1-4 ลงนามโดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอ.รส.)


ประกาศ ศอ.รส.ฉบับที่ 1/2555
เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด
ลงวันที่ 22 พ.ย.55
1. ห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด เข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ และอาคารทำเนียบ รัฐบาล และรัฐสภา เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาต หรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 
2. ห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด เข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาต หรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 

ก.ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สะพานมัฆวาน ถึงแยกถนนศรีอยุธยา
ข.ถนนลูกหลวงตั้งแต่สะพานวิศุกรรมนฤมาณ ถึงสะพานเทวกรรม 
ค.ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกวังแดง ถึงแยกพาณิชย์
ง.ถนนนครปฐม ตั้งแต่สะพานอรทัย ถึงแยกวัดเบญจมบพิตร 
จ.ถนนพระราม 5 ตั้งแต่แยกพาณิชย์ ถึงถนนลูกหลวง
ฉ.ถนนลิขิต
ช.ถนนราชวิถี ตั้งแต่แยกการเรือนถึงแยกราชวิถี ซ.ถนนพิชัย ตั้งแต่แยกขัตติยานี ถึงถนนราชวิถี
ญ.ถนนอู่ทองใน  ตั้งแต่แยกอู่ทองใน ถึงลานพระราชวังดุสิต ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า

3.ให้ ผอ.รมน. ผอ.ศอ.รส. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้


ประกาศ ศอ.รส. ฉบับที่ 2/2555 
เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ
ลงวันที่ 22 พ.ย.55
1. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมดังนี้  เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ 
ก.ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สะพานมัฆวาน ถึงแยกถนนศรีอยุธยา
ข.ถนนลูกหลวงตั้งแต่สะพานวิศุกรรมนฤมาณ ถึงสะพานเทวกรรม 
ค.ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกวังแดง ถึงแยกพาณิชย์
ง.ถนนนครปฐม ตั้งแต่สะพานอรทัย ถึงแยกวัดเบญจมบพิตร 
จ.ถนนพระราม 5 ตั้งแต่แยกพาณิชย์ ถึงถนนลูกหลวง
ฉ.ถนนลิขิต
ช.ถนนราชวิถี ตั้งแต่แยกการเรือนถึงแยกราชวิถี
ซ.ถนนพิชัย ตั้งแต่แยกขัตติยานี ถึงถนนราชวิถี
ญ.ถนนอู่ทองใน  ตั้งแต่แยกอู่ทองใน ถึงลานพระราชวังดุสิต ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า


2.ห้ามใช้ยานพาหนะใดๆ กระทำการอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แก่ประชาชน หรือกระทำการยั่วยุหรือปั่นป่วนการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่หรือความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ตามข้อ 1

3.ห้ามนำรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส สารเคมี หรือวัตถุอัตรายใดๆ เข้าไปในพื้นที่ตามข้อ 1 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 

4.ให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊สในพื้นที่ตามข้อ 1  ควบคุมการเก็บรักษาน้ำมัน แก๊ส และรถบรรทุกสิ่งดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ปลอดภัย

5.ห้ามมิให้จอดยานพาหนะกีดขวางการจราจรในพื้นที่ตามข้อ 1

6.ให้ผอ.รมน. ผอ.ศอ.รส. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้

      
ประกาศ ศอ.รส.ฉบับที่ 3/2555
เรื่องห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
ลงวันที่ 22 พ.ย.55
1.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
2.ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนำสิ่งใดที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธ เช่นหนังสติ๊ก ลูกเหล็ก ท่อนเหล็ก ดอกไม้เพลิง หรือสิ่งอื่นใดทำนองเดียวกันที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ของบุคคลใด รวมถึงเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน หรือทางราชการ ในพื้นที่ ที่ประกาศเป็นพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (เขตดุสิต พระนคร และป้องปราบศัตรพ่าย)
3.ให้ ผอ.รมน. ผอ.ศอ.รส. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้ โดยให้ประกาศมีผลตั้งแต่ออกประกาศ (22 พ.ย.55)


ประกาศ ศอ.รส. ฉบับที่ 4/2555
เรื่องห้ามการใช้ยานพาหนะในเส้นทางคมนาคม
ลงวันที่ 23 พ.ย.55

ตามที่ได้มีการประกาศให้เขตพื้นที่ดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555และมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่ง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควรนั้น

เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ในพื้นที่ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประสิทธิภาพ สามารถป้องกันและควบคุมไม่ให้สถานการณ์ขยายลุกลาม จนเกิดความารุนแรงเกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ  อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และวรรคสามของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพ.ศ. 2551 ผู้อำนวยนการศูฯย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจึงออกประกาศกำหนดดังนี้

1. ห้ามการใช้ยานพาหนะในเส้นทางคมนาคมดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ก.ถนนศรีอยุธยาตั้งแต่สะพานวัดเบญจมบพิตร ถึงแยกกองพล 1
ข.ลานพระราชวังดุสิต

2. ห้ามมิให้จอดยานพาหนะทุกชนิดกีดขวางการจราจรในพื้นที่ตามข้อ 1
3. ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้
4. ประกาศกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

 

แผนปฏิบัติการ "ศอ.รส." รับมือการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม

มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และเลขาธิการ ศอ.รอ. แถลงแนวทางการปฏิบัติของ ศอ.รส.ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน โดยเนื่องจากการชุมนุมในครั้งนี้ ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่ใช้แผนกรกฎ 52 แต่ ศอ.รส.ได้ออกแผนปฏิบัติการที่ 1/2555 เป็นหลักในการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

1.ขั้นเตรียมการจะเป็นขั้นที่ดำเนินการก่อนการชุมนุม โดยดำเนินการด้านการข่าว การเตรียมการด้านกำลังพล การจัดเตรียมสถานที่ควบคุมกรณีเหตุการณ์บานปลาย การเตรียมการด้านแผนต่างๆ ที่สำคัญ

2.ขั้นการเผชิญเหตุจะเป็นขั้นที่ดำเนินการขณะชุมนุม โดยยึดถือแนวทางตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุให้ตำรวจท้องที่เข้ารักษาความสงบบริเวณที่ชุมนุมและใกล้เคียง ดำเนินการรักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ ใช้ศูนย์ปฏิบัติการทุกระดับ ในการติดตาม ควบคุม และสั่งการ ชี้แจงทำความเข้าใจต่อแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมให้ทราบถึงขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดำรงการเจรจาต่อรอง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์

3.ขั้นการใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์จะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ 22-30 พฤศจิกายน โดยแจ้งเตือนและเจรจากับผู้ชุมนุม เพื่อป้องกันการปลุกระดมและสร้างความวุ่นวาย พร้อมทั้งปฏิบัติการข่าวสารควบคู่กับการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน เมื่อการเจรจาต่อรองหรือการปฏิบัติการอื่นใดไม่เป็นผล สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์และรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ทราบทันที และการใช้กำลังให้ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชน

4.ขั้นการฟื้นฟู เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการหลังการชุมนุม โดยจะดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด การฟื้นฟู เยียวยาการจัดทำรายงานภายหลังการปฏิบัติ และบทเรียนจากการปฏิบัติงาน และชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน

สำหรับกฎการใช้กำลังตำรวจต้องพึงระลึกและยึดถือรัฐธรรมนูญว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายโดยมีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้ 1.ต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมในการใช้กำลังตามที่กฎหมายกำหนด 2.ยึดหลักในการคุ้มครองเสรีภาพและหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อย 3.การใช้กำลังตามกฎนี้ให้หมายความรวมถึงการใช้อุปกรณ์หรืออาวุธประกอบการใช้กำลังด้วย และ 4.การจัดการเมื่อมีการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ตำรวจจะต้องดำเนินการจัดการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ หลักการใช้กำลังของตำรวจที่ควบคุมฝูงชนที่มีผลต่อชีวิตร่างกายตำรวจต้องคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ หลักแห่งความจำเป็นให้ตำรวจใช้กำลังเท่าที่จำเป็น พยายามใช้วิธีการอื่นเท่าที่สามารถทำได้ก่อน เลือกวิธีการใช้กำลังที่เบาที่สุด (เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมน้อยที่สุด) และหากผู้ชุมนุมลดหรือยุติความรุนแรง ต้องลดระดับหรือยุติระดับกำลังด้วย หลักแห่งความได้สัดส่วน ให้ใช้วิธีการและกำลังที่เหมาะสม สอดคล้องกับภยันตรายที่คุกคามเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น หลักความถูกต้องตามกฎหมายให้พิจารณาใช้กำลังและเครื่องมือ หรือยุทโธปกรณ์ตามที่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือตามหลักสากลกำหนด และหลักความรับผิดชอบให้พิจารณาถึงผลที่เกิดจากการใช้กำลังโดยต้องมีผู้รับผิดชอบในการสั่งการ

ตำรวจต้องใช้กำลังตามระดับความรุนแรงของผู้ชุมนุมหรือได้สัดส่วนกับความรุนแรงที่คุกคาม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิผล ตามภัยคุกคามหรือความรุนแรงของผู้ชุมนุมดังนี้ 1.ผู้ชุมนุมโดยสงบ ให้ตำรวจดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ด้วยการแสดงกำลัง การเจรจา ให้ข้อมูลข่าวสาร หรือชักจูงแนะนำ 2.ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของตำรวจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่มีพฤติการณ์ก้าวร้าวหรือก่อเหตุ หรือกระทำผิดกฎหมายเล็กน้อย ให้ตำรวจแสดงกำลัง หรือใช้วิธีการในการเจรจาหรือดำเนินกลยุทธ์กดดันผู้ชุมนุม (Offensive Movement) ที่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดเล็กน้อย หรือการก่อเหตุนั้นๆ หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ประกอบก็ให้ใช้อุปกรณ์ที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต 3.สถานการณ์การชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธหรือมีการก่อเหตุวุ่นวาย ทำร้ายตำรวจหรือบุคคลอื่น ให้ตำรวจพิจารณาใช้กำลังและเครื่องมือที่เหมาะสมในรูปแบบที่เป็นระดับที่สูงขึ้นเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ การใช้กำลังที่อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม ได้แก่ การใช้แก๊สน้ำตา หรือเครื่องเปล่งเสียงความถี่สูง การใช้กำลังผลักดัน การใช้น้ำฉีดแรงดันสูง และการยิงกระสุนยาง ต้องมีการประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุมก่อนทุกครั้ง และให้เวลาพอสมควรเพื่อให้ ผู้ชุมนุมสามารถปฏิบัติตามคำเตือนได้ทันเว้นแต่ไม่สามารถประกาศเตือนได้ก่อนหรือหากไม่ใช้กำลังเช่นว่านั้นในทันทีทันใดจะเกิดภัยอันตรายต่อบุคคล สถานที่ หรือทรัพย์สิน

แนวทางการปฏิบัติหลังการใช้กำลัง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะต้องดำเนินการ คือ 1.การช่วยเหลือทางการแพทย์ โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการปฐมพยาบาล และรีบส่งไปรับการรักษาพยาบาลตามความจำเป็นรวมทั้งแจ้งญาติให้รับทราบ 2.การบันทึกและการรายงาน หน่วยจะต้องบันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งหมดและรายงานตามสายการบังคับบัญชาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 3.การปฏิบัติต่อพื้นที่เกิดเหตุ ให้ปิดกั้นบริเวณพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ ไว้จนกระทั่งมีการดำเนินการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรวบรวมหลักฐานสำหรับใช้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 4.โดยถือปฏิบัติด้วยความมีมนุษยธรรมและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ศอ.รส.มีข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คือ 1.ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ มีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการ เพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

2.ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายในระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น

3.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน 4.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะหรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด

5.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามชนิด ประเภทลักษณะการใช้หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชป.จี้ รบ. รับผิดชอบเหตุรุนแรง ส.ว.-ครป.ซัดรัฐใช้แก๊สน้ำตาลุยม็อบเกินกว่าเหตุ

Posted: 24 Nov 2012 12:41 AM PST

ชวนนท์ จี้ นายกฯ-เฉลิม  รับผิดชอบกรณีตร.ใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม คำนูณ ไม่เข้าใจตำรวจบล๊อกพื้นที่ม็อบเข้าลานพระรูปฯ  ประสาร ระบุรัฐพลาด อาจเป็นน้ำผึ้งหลายหยด แนะเปิดทางม็อบเข้า ปล่อยตัวคนถูกจับ ด้านเลขาฯ ครป.ยันเกินกว่าเหตุชัด รัฐสถานการณ์ให้รุนแรง สับตำรวจมองประชาชนเป็นศัตรู ฉะทำเหมือนเอาใจ รบ.

 
24 พ.ย. 55 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนั้นออกมาแสดงความรับผิดชอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาปาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงเช้าที่ผ่านมา 
          
เนื่องจากในขณะนี้ข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับสื่อมวลชนนั้นไม่ตรงกัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นอ้างว่าได้มีการประกาศเตือนตามขั้นตอนสากล แต่สื่อมวลชนหลายแขนงที่อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันว่าไม่มีการประกาศเตือนใด ๆ จากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กลับมีการปาแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมทันที ทำให้เกิดผู้บาดเจ็บมากมาย และเกิดเหตุชุลมุนขึ้น 
          
ดังนั้น นายกรัฐมนตรี  ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ต้องเลิกหลบอยู่หลังข้าราชการ แต่ต้องออกมายืดอกรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา และนายกรัฐมนตรี ควรชี้แจงเหตุดังกล่าว กับประชาชนด้วยตัวเอง เพื่อแสดงถึงความจริงจังของตัวนายกฯ ในการแก้ไขปัญหาและเพื่อยืนยันกับประชาชนว่า จะไม่ใช้ความรุนแรง หรือไม่ปล่อยให้เหตุการณ์อย่างเช่นในช่วงเช้าที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นอีก รวมทั้งต้องตอบคำถามสังคมว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
 
ด้าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามว่า ตนไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลถึงเลือกใช้วิธีการบล็อกพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมจะใช้เป็นช่องทางที่จะเข้าไปร่วมชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และถึงบล็อกพื้นที่โดยรอบ โดยประเด็นนี้ทำให้คิดไปได้ว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดการปะทะหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ตำรวจตัดสินใจใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมถือว่าเป็นการกระทำที่รุนแรง
       
"เหตุการณ์นี้ เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนโกรธแค้นและออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น ขณะนี้รัฐบาลถือว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบทางการเมืองแต่ทำไมถึงไม่ใช้ความได้เปรียบดำเนินการทางสันติวิธี อาทิ ประกาศรับฟังปัญหาจากแกนนำองค์การพิทักษ์สยาม หรือพบปะ พูดคุยเพื่อแก้ปัญหา" นายคำนูณ กล่าว
       
นายคำนูณ กล่าวว่า ตนกังวลว่าการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งทับซ้อนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของพรรคฝ่ายค้าน ในวันที่ 25 พ.ย. จะทำให้กลายมาเป็นประเด็นที่อภิปรายกันในสภาฯ และอาจทำให้การอภิปรายซักฟอกรัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าได้
       
ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเนชั่นว่า เป็นการตัดสินใจผิดพลาดของรัฐบาล ที่มีการปิดกั้นการชุมนุมของประชาชนซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่าเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวจะกลายเป็นเหตุการณ์น้ำผึ้งหลายหยด ที่จะนำไปสู่ปัญหาและเกิดการบานปลายอย่ารุนแรง ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลอำนวยความสะดวก ด้วยการเปิดทางให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม รวมถึงเยียวยาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วเช้าด้วย นอกจากนั้นขอให้ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกจับ ไม่เช่นนั้นตนกังวลว่าจะเป็นเหตุที่นำไปสู่ความหายนะ
       
"กลุ่มสยามสามัคคีเห็นว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนุญ มาตรา63 ดังนั้นขอให้รัฐบาลเคารพสิทธิดังกล่าว" นายประสาร กล่าว
       
ขณะที่ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การชุมนุมโดยสงบตาม รธน. ม.63 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลความสงบเรียบร้อย แต่การสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตาเป็นการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้การชุมนุมจะยืดเยื้อหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะการชุมนุมที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบบประชาธิปไตย ตำรวจมีหน้าดูแลความเรียบร้อย และภาพที่ปรากฎตำรวจกลับมองผู้ชุมนุมเป็นศัตรูเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นทัศนะคติแบบเก่าและการสกัดกั้นการชุมนุมก็ไม่สามารถทำได้ ปฎิบัติการครั้งนี้เหมือนตำรวจไม่ใช่ตัวของตัวเอง เหมือนกำลังทำงานเพื่อเอาใจรัฐ
       
นายสุริยันต์ กล่าวอีกว่า ไม่ว่าการชุมนุมจะเรียกร้องอะไรและการชุมนุมจะบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ จะได้รับการยอมรับจากสังคมเองไม่จำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้ความรุนแรงในการปราบปราม แต่ตำรวจกลับคิดเองว่าการชุมนุมจะรุนแรงจึงใช้กำลังสลาย นอกจากนี้การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ของรัฐบาลมองว่าไม่มีความจำเป็น แต่ถ้ารัฐจะหาเครื่องมือมารับมือดูแลการชุมนุมก็ทำได้แต่ไม่ควรนำมาเพื่อใช้ในการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แลกเปลี่ยนกับสมภาร พรมทา “ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลึกกว่าความเห็นต่าง”

Posted: 24 Nov 2012 12:06 AM PST

 

ผมฟังอาจารย์สมภาร พรมทา พูดเรื่อง "ชีวิตกับการเมือง" ในรายการ "สุขทุกข์ของชีวิต" ดำเนินรายการโดย "ท่านจันทร์" แห่งสันติอโศกทาง http://www.youtube.com/watch?v=LaGOvSjkpNI เนื้อหาเป็นการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่มีชาวสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมด้วยในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน มีบางประเด็นที่ผมอยากแลกเปลี่ยนด้วย คือ

1) อาจารย์สมภารเปรียบเทียบว่า "ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย (อันนี้ผมเห็นด้วย) เช่นในสหรัฐอเมริกาเขาก็มีความเห็นต่างแบ่งเป็นสองขั้วหลักๆ แต่เขาก็ไม่มีปัญหาแบบบ้านเรา ความเห็นต่างนั้นไม่ลดทอนความสุขเหมือนบ้านเรา"

ผมคิดว่าข้อเปรียบเทียบนี้มีปัญหาให้วิจารณ์ได้มาก เพราะความเห็นต่างในอเมริกาเป็นความเห็นต่างภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ความเห็นต่างในบ้านเราเป็นความเห็นต่างภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย มันจึงเป็นความเห็นต่างระหว่างฝ่ายที่พยายามคงไว้ซึ่งระบบสังคมการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (และแสดงออกว่าต้องการเพิ่มความเข้มข้นของระบบนี้) กับฝ่ายที่พยายามต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนระบบให้เป็นประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ 2475

การเปรียบเทียบแบบอาจารย์สมภาร (ซึ่งมีการเปรียบทำนองนี้มาก จากคนที่ยืนยันว่าตนเองไม่เลือกข้าง) มันเป็นการสร้าง "มายาคติ" (เข้าใจว่าอาจารย์ไม่เจตนา) ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองของบ้านเรากว่า 5-6 ปีมันเป็นแค่เรื่อง "ความเห็นต่างระหว่างสี" ซึ่งอาจทำให้เกิดมุมมองเบี่ยงเบนจากข้อเท็จจริงสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) โครงสร้างหรือระบบอันเป็นสาเหตุของปัญหาขัดแย้ง (2) เกิดมุมมองอย่างผิดพลาดว่า กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเพียงพวกไม่ยอมรับฟังความเห็นต่าง แค่เห็นต่างกันก็ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่รู้จบ ทำให้ละเลยที่จะพิจารณาว่าคนเหล่านั้นต่อสู้ด้วยอุดมการณ์อะไร และ (3) เมื่อมองไม่เห็น หรือไม่ยอมมองว่าคนเหล่านั้นออกมาต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ ก็ละเลยที่จะนำอุดมการณ์ของพวกเขามาวิเคราะห์อย่างชัดแจ้งว่าจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร เช่น ระหว่างการเชิดชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยมกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย อย่างไหนคือทางเลือกที่ควรจะเป็นมากกว่า เป็นต้น

2) อาจารย์สมภารอ้างถึงหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งที่พูดถึงประชาธิปไตยในอเมริกาว่า "ในที่สุดแล้วประชาธิปไตยก็นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ หรือช่องว่างทางเศรษฐกิจอย่างน่าตระหนก อาจารย์บอกว่านั่นคือ necessary evil หรือความชั่วร้ายที่จำเป็น/หลีกเลี่ยงไม่ได้ของประชาธิปไตย" ผมคิดว่าปัญหานี้ควรอภิปรายในรายละเอียดกันมากพอสมควร

แต่ผมขอพูดสั้นๆ ตรงนี้ว่า ผมรู้จักอาจารย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งเขาก็มองเห็นปัญหานี้ในประเทศของเขา เขาต้องการเห็นระบบสวัสดิการที่ก้าวหน้ามากขึ้น แต่ปัญหาที่เขาพบคือพวกนายทุนใหญ่ๆ ต่างบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงไม่ยอมออกกฎหมายที่กระทบต่อนายทุน เช่นการเก็บภาษีพิเศษมาสนับสนุนระบบสวัสดิการสังคมเหมือนในยุโรปหลายประเทศเป็นต้น (อีกอย่างมันถูกมองว่าขัดต่อหลักเสรีนิยมที่สังคมเขายึดถือกันอยู่ด้วย) แต่เขา (อาจารย์คนนั้น) ก็ยังเชื่อว่าโดยระบบประชาธิปไตยของอเมริกาที่เปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบทุกอำนาจได้ มันจะทำให้สังคมเขาตรวจสอบตัวเอง และด้วยกระบวนการประชาธิปไตยมันจะค่อยๆ แก้ปัญหาของตัวมันเองไปเรื่อยๆ

สำหรับช่องว่างทางเศรษฐกิจของบ้านเรา ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากความเป็นสังคมประชาธิปไตย (เพราะสังคมเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย) เรารู้ว่าทุนที่เอาเปรียบนั้น ไม่ใช่เฉพาะทุนของฝ่ายนายทุน  หรือนักการเมืองเท่านั้น ยังมีทุนเครือข่ายอำมาตย์ที่ตรวจสอบไม่ได้อีกด้วย ปัญหามันจึงซับซ้อนกว่านั้นมาก (เช่น ปฏิรูปที่ดินเพื่อช่วยให้คนยากจนมีที่ทำกิน ทำไมทำไม่ได้? ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นโยบายรับจำนำข้าวชาวนา ฯลฯ ทำไมถูกต่อต้าน ด้วยเหตุผลเรื่อง "ทุจริต" อย่างเดียวจริงๆ หรือ? เพราะเห็นนักเศรษฐศาสตร์จุฬาฯบอกเองว่า "จะเอาเงินชนชั้นกลางที่เสียภาษีไปช่วยชาวนาที่ไม่เสียภาษีได้อย่างไร" โดยลืมไปว่าทุกวันนี้ใครซื้อมาม่า 1 ซอง ก็จ่ายภาษีแล้ว เป็นต้น)

3) อาจารย์สมภารอ้างคำพูด พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ "เสธ.อ้าย" ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ที่ว่า "ผมไม่เคยเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยจะดีตรงไหนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เช่น ถ้าคุณเป็นคนดีของจังหวัด แต่ไม่มีเงิน ลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้รับเลือก แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ลองอธิบายหน่อย…"(http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMU16SXhOVEl5Tmc9PQ%3D%3D)

แล้วบอกว่า "คำพูดของ เสธ.อ้าย เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครเถียงได้" แต่ผมเห็นว่าคำพูดของ เสธ.อ้ายนั้นเถียงได้และจำเป็นต้องเถียง เพราะ (1) จากข้ออ้างว่า "คนดีไม่มีเงินลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้รับเลือก" แล้วสรุปว่า "ประชาธิปไตยไม่ดี" ย่อมไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าแม้จะปรากฏว่าการดำเนินการตามกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยมีข้อบกพร่องอยู่จริง ก็ไม่ได้หมายความว่า "ระบบประชาธิปไตยไม่ดี" (2) ทัศนะแบบ เสธ.อ้าย ที่มองแค่ข้อเท็จจริงว่า เพราะการเลือกตั้งใช้เงินซื้อเสียง เข้ามาเป็นรัฐบาลทุจริตถอนทุนคืน แล้วก็สรุปว่านี่ "เท่ากับ" ความไม่เป็นประชาธิปไตย และเสนอว่า "ควรปิดประเทศใช้ระบบอื่นแทน"

ถามว่า "ทำไมทัศนะที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นนี้จึงมีความชอบธรรมรองรับข้อเสนอปิดประเทศ และให้ใช้ระบบอื่นแทน?" เพราะเท่ากับเป็นข้อเสนอยกเลิกระบอบประชาธิปไตย (จะชั่วคราวหรือถาวร ตามรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว) นี่มันหมายความว่าอะไรที่ในประเทศนี้มีคนเสนอให้ "ยกเลิกระบอบประชาธิปไตย" ได้ แล้วระดมมวลชนมาสนับสนุนอย่างเปิดเผยได้ โดยที่เราแทบจะไม่รู้สึก "สะเทือนใจ" ขณะที่ถ้ามีใครเสนอให้ "ยกเลิกสถาบันบางสถาบัน" คนเสนอนั้นจะต้องไม่มีแผ่นดินอยู่

สังคมประชาธิปไตยอะไรกันครับ เสนอยกเลิกระบอบประชาธิปไตยได้ แต่เสนอให้ยกเลิกสถาบันบางสถาบันไม่ได้ แถมยังอ้างการปกป้องบางสถาบันออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยได้อีกด้วย!

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สมภารก็พูดในตอนท้ายว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ปิดประเทศของ เสธ.อ้าย และเห็นว่าควรยอมรับระบอบประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นในความมีเหตุผลของประชาชน ให้ประชาชนเรียนรู้แก้ไขปัญหาต่างๆ ไป แม้ว่าประชาธิปไตยมันจะมีปัญหา necessary evil อยู่ก็ตาม

4) อาจารย์สมภารอ้างถึงบางคอมเมนท์ท้ายบทความในประชาไทว่า "มีเสื้อแดงบางคนไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสันติอโศก แต่ก็ยอมรับว่าสันติอโศกเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่มีอะไรแอบแฝง"

ตรงนี้ผมเห็นต่าง เพราะสันติอโศกแยกไม่ออกกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และสำหรับผู้ติดตามการเมืองย่อมทราบว่า พล.ต.จำลองมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายอำมาตย์ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน อีกทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พล.ต.จำลองในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ผ่านมา เช่นเหตุการณ์พฤษภา 35 ในด้านหนึ่งเขามีภาพนักต่อสู้ที่ยึดสันติวิธี แต่ในอีกด้านเขามีเพื่อนที่คอยช่วยเหลือในทางลับคือ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เช่นเดียวกันในฐานะแกนนำพันธมิตรเขาก็มีภาพนักสันติวิธี แต่ผมจำได้อย่างติดตาว่าเขาให้สัมภาษณ์ ASTV เสนอให้ใช้ "กฎอัยการศึก" จัดการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ปี 53 เขาบอกว่า "คนเพียงหมื่นสองหมื่นคน ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็เรียบร้อย" จริงอยู่เขาไม่ได้เสนอให้ฆ่าประชาชน แต่โดยประสบการณ์ เขาย่อมรู้ดีว่าหากทำเช่นนั้นจะเกิดการบาดเจ็บล้มตายมากเพียงใด ข้อเสนอของเขาจึง "อำมหิตมาก" ไม่มีจิตวิญญาณของนักสันติวิธีแต่อย่างใด

ฉะนั้น สันติอโศกที่ผูกติดกับวาระทางการเมืองของ พล.ต.จำลอง ไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ที่ไม่มีอะไรแอบแฝงจริง ผมเห็นด้วยว่า พวกเขามีสิทธิ์แสดงออกทางการเมืองภายใต้กฎหมาย แต่ปัญหาที่พวกเขาอธิบายไม่ได้คือ พวกเขาอ้างแนวทางสันติวิธี ทว่ากลับสนับสนุนอุดมการณ์และโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรม เช่นอุดมการณ์ชาตินิยมล้าหลังกรณีพิพาทกับเขมร และอุดมการณ์ประชาธิปไตยภายใต้กำกับของระบบอำมาตย์ และยิ่งออกมาสนับสนุนการปิดประเทศให้งดใช้ระบบประชาธิปไตย ให้ใช้ระบบอื่นแทนชั่วคราว ยิ่งเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วนร่วมสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง

จริงอยู่ สันติอโศกอาจบอกว่าพวกตนชุมนุมอย่างสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นสันติวิธีที่น่าสรรเสริญ ในเมื่อมันเป็นสันติวิธีเพื่อสนับสนุนโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมและการสร้างเงื่อนไขความรุนแรง (เงื่อนไขสนับสนุนความไม่เป็นประชาธิปไตย)

หากคิดตามหลัก "พุทธมรรคา" หรือไตรสิกขา ผมคิดว่าในแง่ "สีลสิกขา" สันติอโศกกำลังละเมิดและ/หรือสนับสนุนการละเมิดศีลธรรมทางสังคม หรือหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยคือหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค เพราะสิ่งที่พวกเขากระทำมันเป็นการสนับสนุนโครงสร้างอำนาจที่ขัดต่อหลักการดังกล่าว ในแง่ "จิตสิกขา" สันติอโศกอาจมีเจตนาดี (เช่น เจตนาทำเพื่อประเทศชาติ ฯลฯ) แต่พวกเขาขาดสติตระหนักรู้ว่าพวกตนกำลังใช้เจตนาดีนั้นสนับสนุนเงื่อนไขความรุนแรง ในแง่นี้สะท้อนว่าลึกๆ พวกเขาขาดจิตเมตตากรุณาตามนัยพุทธศาสนาด้วย และในแง่ "ปัญญาสิกขา" นั้น พวกเขามองไม่ทะลุปัญหาเชิงโครงสร้าง มองอย่างอคติ เห็นแต่ความเลวร้ายของนักการเมือง ไม่เห็นความเลวร้ายของระบบเครือข่ายอำมาตย์ซึ่งก็ฉ้อฉลไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่า ฉะนั้น วาระทางการเมืองที่พวกเขาสนับสนุน จึงเป็นการสนับสนุนการลดทอนอำนาจประชาชน ลดทอนอำนาจนักการเมืองที่ประชาชนเลือก แล้วไปสนับสนุนอำนาจพิเศษที่ไม่โยงกับประชาชนและตรวจสอบไม่ได้

สุดท้าย ผมเห็นว่าเป็นการดีที่อาจารย์สมภารเปิดใจรับฟังและพยายามเข้าใจเหตุผลของทุกฝ่าย ประเด็นอื่นๆ ที่อาจารย์พูดผมก็เห็นด้วย ที่เห็นต่างมีเพียงที่ว่ามานี้แล (ขออภัยหากวิเคราะห์ความเห็นบางอย่างไม่ตรงกับเจตนาที่อาจารย์ต้องการสื่อ)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอ.รส.แถลงยัน ไม่มีนโยบายสลายการชุมนุม-พบ CCTV ถูกทำลายหลายจุด

Posted: 23 Nov 2012 11:46 PM PST


(14.15น.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก สตช. แถลงข่าวว่า นครบาลได้ยึดหนังสติ๊ก-ลูกแก้ว 200 ชิ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้ทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือสร้างสถานการณ์ ทั้งนี้ พบว่า มีการทำลายทรัพย์สินราชการ กล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานครและตำรวจนครบาลหลายจุด แสดงให้เห็นว่ามีการพยายามสร้างสถานการณ์

ในส่วนของผู้ที่ถูกควบคุมตัว 132 คน ศอ.รส.ได้ให้พนักงานสอบสวน สอบสวนอย่างเป็นธรรม ดูแลที่พัก น้ำ อาหาร และระบบสุขอนามัยอย่างเต็มที่

กรณีมีการประกาศว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปสลายนั้น ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายสลายการชุมนุมหรือทำร้ายผู้ชุมนุม โดยเหตุการณ์เมื่อเช้าไม่ใช่เหตุการณ์ปะทะ แต่เป็นการรักษาแนว โดยผลักดันให้ออกจากพื้นที่


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.เสนอปรับปรุงยุติธรรมแรงงานให้ศาลมีหน้าที่ค้นหาความจริง - ผู้พิพากษาสมทบทำหน้าที่เต็มเวลา

Posted: 23 Nov 2012 11:15 PM PST

 

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 55 ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย - นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอเรื่อง กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานและร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ....เสนอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง โดยระบุ ความจำเป็นแรงด่วน เนื่องจากจากปัญหากระบวนการพิจารณาคดีแรงงานและการยกร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.... เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการร่างกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ร่างข้อกำหนดศาลแรงงานฯดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงาน
 
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.... โดยในเรื่องการไกล่เกลี่ยในข้อ 28 ที่ระบุ "ในระหว่างการพิจารณาเพื่อผลประโยชน์ในการประนีประนอมยอมความ ศาลแรงงานอาจสั่งให้คู่ความไปพบผู้ประนีประนอมหรือบุคคลอื่นตามที่ศาลแรงงานมอบหมายก็ได้" เป็นการนำหลักการไกล่เกลี่ยในคดีแพ่งมาใช้บังคับคดีแรงงานตามแนวนโยบายการปริมาณคดี อาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 38
 
ขณะเดียวกันคปก.มีความเห็นว่า วิธีพิจารณาของศาลแรงงานที่ปฏิบัติยังไม่ใช่ระบบไต่สวนอย่างแท้จริง เนื่องจากบทบาทหลักในการนำสืบข้อเท็จจริงและพยานยังเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริง ดังนั้นกระบวนการพิจารณาคดีแรงงานจึงต้องให้ศาลมีหน้าที่ค้นหาความจริง(ระบบไต่สวน)เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมากกกว่าใช้ระบบผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นพิสูจน์ คปก.จึงเห็นว่าร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ....ควรกำหนดให้ชัดเจนในเรื่องบทบาทหน้าที่หลักและขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงที่กระทำโดยศาลแรงงาน
 
นอกจากนี้ คปก.มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงการยุติธรรมด้านแรงงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาลแรงงานและในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมและพัฒนาและการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงาน โดยคปก.เห็นว่า ศาลชำนัญพิเศษด้านแรงงาน จำเป็นต้องมีผู้พิพากษาที่มีองค์ความรู้และทักษะเฉพาะ ตลอดจนมีการส่งเสริมบทบาทและก้าวหน้าแก่ผู้พิพากษาที่มีความสนใจ หรือมีความสามารถด้านแรงงานให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในศาลแรงงานได้อย่างต่อเนื่อง
 
สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงาน ควรพัฒนาบทบาทหน้าที่และศักยภาพของผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ทุกขั้นตอนของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อให้ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาศาลแรงงานเป็นศาลชำนัญพิเศษ นอกจากนี้ควรจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานกระบวนพิจารณาคดีแรงงาน ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่เป็นข้าราชการตุลาการและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายละเท่ากัน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะเฉพาะด้านแรงงานให้แก่ผู้พิพากษาในศาลแรงงาน
 

เริ่มใช้แก๊สน้ำตาอีกรอบบริเวณมัฆวาน-มิสกวัน

Posted: 23 Nov 2012 10:57 PM PST



ผู้ชุมนุมถอยร่นจากบริเวณสะพานมัฆวาน

 

เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการปิดกั้นประตูทางเข้าบริเวณสะพานมัฆวาน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊ซน้ำตาเพื่อควบคุมผู้ชุมนุม (คลิปโดยประชาไท)


(14.00น.) ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า บริเวณสะพานมัฆวาน เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา 6-7 ลูก ทำให้ผู้ชุมนุมถอยร่นลงมา เนื่องจากมีเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ด้านแยกมิสกวัน สำนักข่าวสปริงนิวส์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผู้ชุมนุมถอยร่นจากจุดรั้วลวดหนามแบร์บิเออร์ ไปรวมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ขณะที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เวทีกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ประกาศจะขยายพื้นที่ชุมนุมจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปสะพานมัฆวานรังสรรค์ ในเวลา 14.00 น. พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดพื้นที่

เวลา 14.06 น. เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า สมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศก ได้ถูกแก๊สน้ำตาทางกองทัพธรรมจึงนำตัวมาปฐมพยาบาลที่ด้านหลังเวที

เวลา 14.09 น. สำนักข่าวสปริงนิวส์ รายงานว่า เสธ.อ้ายลงจากจากเวทีเดินหายไปด้านสะพานมัฆวานรังสรรค์ หลังประกาศยอมตาย ผู้ชุมนุมเริ่มเก็บของเตรียมพร้อมย้ายที่ชุมนุมรอฟังสัญญาณแกนนำ
 
เวลา 14.15 น. สำนักข่าวสปริงนิวส์ รายงานว่า โฆษกสตช.แถลงย้ำตำรวจตรวจยึดอาวุธหลายชนิดจากผู้ชุมนุมและพบการทำลายกล้อง CCTV ปาขวดน้ำกรวด และลูกแก้ว มีผู้ถูกควบคุมตัว 132 ราย ส่งไปคลองหลวง ยืนยันให้ความเป็นธรรมในการสอบสวนและดูแลอย่างเต็มที่
 
เวลา 14.17 น. สำนักข่าวสปริงนิวส์ รายงานว่า พนักงานสอบสวนเริ่มเข้าไปเตรียมสอบผู้ชุมนุมที่ถูกคุมตัวไปที่กองบัญชาการ ตชด.ภาค1 คลอง5 อ.คลองหลวง ปทุมธานี
 
14.22 น. สำนักข่าวสปริงนิวส์ รายงานว่า ตัวแทนกองทัพธรรมยื่นหนังสือขอเข้าเยี่ยมพวกถูกจับที่คลองหลวง เจ้าหน้าที่รับหนังสือแต่ยังไม่ให้เข้าเยี่ยม
 
14.43 น. สำนักข่าวสปริงนิวส์ รายงานว่เสธ.อ้ายประกาศรับผิดชอบ อ้างขอพระบรมเดชานุภาพในหลวงหากถูกระบุหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากนั้นเปิดคลิปแฉเวทีนปช.ปราศัยหมิ่นเบื้องสูง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.สิทธิห่วงจุดสกัดสะพานมัฆวานฯ ชี้ผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดไม่รู้ทางเข้า

Posted: 23 Nov 2012 10:14 PM PST

(12.55น.) ปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่การชุมนุมขององค์การพทักษ์สยาม ให้สัมภาษณ์สปริงนิวส์ว่า ไม่ทราบว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง จะมีผลไหม เพราะที่ผ่านมา การประกาศของรัฐบาลทั้งสองขั้วไม่มีผลต่อการบังคับใช้และปราบปรามมากนัก เพราะเกรงกระทบต่อผู้ชุมนุม ทำให้ประกาศเป็นหมัน ส่วนตัวห่วงใยในความน่าเชื่อถือของต่างประเทศต่อประเทศไทย

กรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลมีประสบการณ์จากการถูกปฏิวัติทำให้ระวังพอสมควร ตำรวจเองก็ระวังมาก โดยหน่วยในพื้นที่ที่ได้พูดคุยด้วย มีระดับผู้ใหญ่ในการกำกับตัดสินใจ มีการตรวจอาวุธ และดูแลประชาชนด้วยความสุภาพ

ทั้งนี้ ปริญญา แสดงความเป็นห่วงว่า บริเวณสะพานมัฆวานที่มีการบล็อค ประชาชนจำนวนมากมาจากต่างจังหวัดไม่ทราบว่าจะต้องผ่านไปทางใด รู้แต่ว่าต้องเข้าไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แม้ตำรวจพยายามประกาศ แต่ผู้ที่มาจากต่างจังหวัดนั้นนึกภาพไม่ออก

สำหรับมาตรการใช้แก๊สน้ำตา ปริญญา กล่าวว่า ตำรวจบอกว่าจะมีลำดับขั้นตอนการใช้ ไม่แน่ใจว่าตำรวจจะสลับขั้นตอนหรือไม่ ทั้งนี้ แต่ละขั้นควรใช้เวลาพอสมควร แต่ตำรวจก็บอกว่าอาจจะรวบรัดได้

อย่างไรก็ตาม ปริญญา มองว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้รับสิทธิสูง เนื่องจากรัฐบาลกลัวและระวังมาก ขณะที่จากการเข้าพูดคุยกับแกนนำในพื้นที่ชุมนุมก็ระวังเช่นกัน ทั้งนี้ หากเทียบกับการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มา มองว่าต่างกัน และการชุมนุมพัฒนาไปมากทั้งสองฝ่าย สมัย นปช.ตนเองก็ไปสังเกตการณ์ วันนั้นการยั่วยุจากบนเวทีสูงมาก ทำให้เกิดความฮึกเหิม วันนี้การยั่วยุมีบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ และมีการตรวจอาวุธทั้งจากฝั่งการ์ดและตำรวจ

สำหรับการมาสังเกตการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากอาจมีการร้องเรียนมาที่ กสม. ซึ่งถ้าไม่มาดู ก็จะนึกภาพไม่ออก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

Posted: 23 Nov 2012 08:27 PM PST

ประชาชนคืออาวุธของผม

ประธานกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม กล่าวบนเวทีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล, 24 พฤศจิกายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น