โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา: ดูการเมืองอเมริกันอย่างไรให้มันส์ ตอนที่ 4 (ตอนจบ)

Posted: 03 Nov 2012 11:01 AM PDT

ตอนสุดท้ายของซีรีย์ "ดูการเมืองอเมริกันอย่างไรให้มันส์" พบกับการพูดคุย วิเคราะห์วิจารณ์การเมืองสหรัฐอเมริกาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดี ยังอยู่กับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมาวิเคราะห์ถึงผลการดีเบตรอบที่ 3 ซึ่งเป็นสุดท้ายของ 2 ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดอเมริกัน บารัค โอบามา และมิต รอมนีย์ และมาดูโพลล์ของสำนักต่างๆ ที่สำรวจคะแนนนิยมของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งแนะนำเว็บไซต์ของสองว่าที่ประธานาธิบดีใหม่ ของสหรัฐอเมริกาว่ามีอะไรเด็ดๆ กันบ้าง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระเบิด 2 จุดกลางเมืองรือเสาะ ตาย 2 เจ็บ 17

Posted: 03 Nov 2012 10:59 AM PDT

วางคาร์บอมบ์และระเบิดรถโชเล่ย์ในเขตเทศบาลอำเภอรือเสาะ ตาย 2  รวมเด็กอายุ 3 ขวบ  เจ็บ 17

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ได้รับแจ้งเหตุว่าเมื่อเวลา 18.05 น. คนร้ายลอบวางระเบิดภายในพื้นที่เขตเทศบาลอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส 2 จุด  จุดที่ 1 เป็นระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนอยู่ในรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง เหตุเกิดที่บริเวณสามแยกทางเข้าโรงเรียนบ้านยะบะ หมู่ที่ ๒ ต.รือเสาะ อ. รือเสาะ จ.นราธิวาส   จุดที่ 2 เป็นระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนไว้ในรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน สภาพเก่า บรรทุกไม้ยาง หมายเลขทะเบียน น – 4145 นราธิวาส ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นทะเบียนปลอม  เหตุเกิดที่บริเวณสี่แยกหลังสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ 

ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุแรกกับจุดที่สองห่างกันประมาณ 500 เมตร

จากเหตุระเบิด 2 จุด ซึ่งห่างกันประมาณ 1 นาทีทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย คือ นางเลียบ หมื่นโคตะ อายุ 64 ปี และ ด.ญ.ศศิกานต์ สูเริง อายุ 3 ปี ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวน 17 ราย  ดังนี้ ด.ช.เวสดาพร อ่อนบรรจง นางกรรณิกา ชาติวัฒนา  ด.ช.ภานุรุจน์  ชาติวัฒนา  นางสาวอาซิตา อาเจเลาะ นางไพรจัล นางจันทร์  นายอับดุลรอแม เพ็ญศรี  ด.ช.เขตสดาพร อ่อนบรรจุ นายนัชชานนท์ พงศ์ศรี ชายพม่าไม่ทราบชื่อ  และมีผู้บาดเจ็บที่ยังไม่ทราบชื่ออีก 8 คน สาเหตุคาดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องผ่านสภาตาม ม. 190 หรือไม่

Posted: 03 Nov 2012 10:37 AM PDT

ชื่อ บทความเดิม
การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อ 12(3) ต้องผ่านสภาตามมาตรา 190 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ข้อความเบื้องต้น
ประเด็นเรื่องการทำคำแถลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม) ตามข้อที่ 12 (3) นั้นกำลังเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่นางฟาทู เบนซูดา (Fatou Bensouda) อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ มาเยือนประเทศไทยและเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น เชื่อแน่ว่าจะต้องเกิดคำถามตามมาว่า การทำคำแถลงหรือคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 หรือไม่อันจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน  สำหรับประเด็นดังกล่าวผู้เขียนมีความเห็นทางกฎหมายดังต่อไปนี้

1. มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญาซึ่งตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ 1969 เป็น "ความตกลงระหว่างประเทศ" (international agreement) ส่วนการทำ "คำประกาศ" (Declaration) ยอมรับเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ตามข้อที่ 12(3) นั้นเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ (unilateral act) แม้ในข้อที่ 12 (3) จะมิได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำฝ่ายเดียวก็ตาม แต่โดยลักษณะของคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลนี้ย่อมเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐอยู่ในตัวแล้ว คำตอบยืนยันว่าคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเป็นการกระทำฝ่ายเดียวปรากฎอยู่ในคดี Fisheries case ระหว่างประเทศ Spain กับประเทศ Canada ศาลโลกเห็นว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกตามมาตรา 36 วรรค 2 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นการกระทำฝ่ายเดียว โดยศาลย้ำอย่างชัดเจนว่า "a declaration of acceptance of the compulsory jurisdiction of the Court, whether there are specified limits set to that acceptance or not, is a unilateral act of State sovereignty." [1] และศาลโลกกล่าวอีกว่า "since a declaration under Article 36, paragraph 2, of the Statute, is a unilaterally drafted instrument," [2]

ฉะนั้น ถ้าหากการทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจ "ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ" (International Court of Justice: I.C.J) เป็นการกระทำฝ่ายเดียว การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" (International Criminal Court: I.C.C) ก็ต้องมีลักษณะเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐเหมือนกันเพราะต่างก็เป็นศาลระหว่างประเทศเหมือนกันและทั้งสองศาลก็ยอมรับการทำ "คำประกาศ" ว่าเป็นวิธีการยอมรับเขตอำนาจศาล เหมือนกันด้วย [3] ผู้เขียนยังมองไม่เห็นเหตุผลทางกฎหมายที่จะมาอธิบายว่าคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกเป็น "การกระทำฝ่ายเดียว" แต่พอคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศกลายเป็น "สนธิสัญญา"

นอกจากคำพิพากษาของศาลโลกที่ยืนยันว่าคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเป็นการกระทำฝ่ายเดียวแล้ว ในรายงานของนาย Victor Rodríguez-Cedeño ซึ่งเป็น Special Rapporture ของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ  (International Law Commission) เรื่อง Unilateral act ก็ได้ยกตัวอย่างเรื่องคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล (ระหว่างประเทศ)  ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ [4] ซึ่งเรื่องนี้ใช่เรื่องใหม่ ทั้งศาลโลกเก่าและใหม่ต่างก็ยอมรับช่องทางในการเสนอให้ศาลโลกพิจารณาไว้ถึง 3 ทางและหนึ่งในนั้นก็คือ คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล [5]  ยิ่งกว่านั้นในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกมีเขตอำนาจศาลก็เป็นเพราะประเทศไทยทำคำประกาศฝ่ายเดียวนั่นเอง  ยังไม่เคยมีหลักฐานว่าประเทศไทยทำสนธิสัญญายอมรับเขตอำนาจศาลโลกแต่อย่างใด

2.  การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลอาญาระหว่างประเทศขาดคุณลักษณะหรือองค์ประกอบของหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา เนื่องจากว่าสนธิสัญญาต้องเป็นความตกลงระหว่างรัฐกับรัฐหรือรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ แต่การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลนั้น ศาลมิได้แสดงเจตนาตอบรับหรือตอบสนองคำประกาศของรัฐแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวโดยลำพังของรัฐที่จะยอมรับเขตอำนาจศาลเท่านั้น ศาลมิได้มาร่วมเจรจาตกลงหรือลงนามในคำประกาศนั้นแต่อย่างใด คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลนั้นลงนามแต่เฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่มีอำนาจเท่านั้น ศาลหาได้มาร่วมลงนามด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อขาดองค์ประกอบของคู่ภาคีเสียแล้ว คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลจึงมิใช่เป็น "ความตกลงระหว่างประเทศ" แต่อย่างใด

3. ส่วนข้ออ้างที่ว่า คำประกาศตามข้อ 12 (3) นั้นก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายหรือความผูกพันฉะนั้นจึงเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญา ข้ออ้างนี้ปราศจากเหตุผลทางกฎหมายรองรับเนื่องจากพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องมาจากสนธิสัญญาอย่างเดียว การกระทำฝ่ายเดียวของรัฐก็ก่อให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายได้ดังเช่น ที่ศาลโลกเคยตัดสินในคดี Ihren Declaration และคดี Nuclear Test case ซึ่งทั้งสองคดีต่างก็เป็นคำประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและศาลก็ตัดสินว่าคำประกาศดังกล่าวเป็นการกระทำฝ่ายเดียวที่ก่อให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในตราสารระหว่างประเทศที่เรียกว่า "Guiding Principles applicable to unilateral declarations of States capable of creating legal obligations" ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ก็ใช้คำว่า "capable of creating legal obligations" อย่างชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้งในในข้อแรกของ Guiding Principles ก็บัญญัติว่า "1. Declarations publicly made and manifesting the will to be bound may have the effect of creating legal obligations….." นอกจากนี้นักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงอย่างศาสตราจารย์ Paul Reuter ก็ยังเห็นว่า กากระทำฝ่ายเดียวเป็นที่มาพันธกรณีสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ[6]

สรุปก็คือ คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อที่ 12 (3) เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ ไม่ใช่หนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญาตามกรุงเวียนนา ค.ศ.1969 แต่ประการใด หากจะยกคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญมาหักล้างเหตุผลข้างต้น

4. การทำคำประกาศฝ่ายเดียวเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว โดยข้อ 4 ของ Guiding Principles applicable to unilateral declarations of States capable of creating legal obligations" ระบุชัดเจนว่า " 4. A unilateral declaration binds the State internationally only if it is made by an authority vested with the power to do so. By virtue of their functions, heads of State, heads of Government and ministers for foreign affairs are competent to formulate such declarations….." การทำคำประกาศดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องได้รับการมอบหมายจากผู้ใดอีกหรือไม่จำเป็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมอบหมายให้ผู้ใดกระทำแทนตน

5. ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเคยมีคำวินิจฉัยในคดีหนังสือแสดงเจตจำนงขอรับความช่วยเหลือที่เรียกว่า Letter of Intent ที่รัฐบาลไทยมีไปยังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 เพราะว่า การทำหนังสือดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแสดงเจตจำนงฝ่ายเดียวของประเทศไทยโดยที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศไม่ได้มีการเสดงเจตนาตอบรับอันจะเข้าข่ายเป็นควาตกลงระหว่างประเทศ [7] กล่าวอีกนัยหนึ่ง การทำหนังสือ LOI เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐบาลไทย

บทสรุป
การทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อที่ 12 (3) เป็น "การกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ" ไม่ใช่เป็นการ "ทำหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา" ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 เพราะฉะนั้นจึงไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 190 แต่อย่างใดย่อมหมายความว่า รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารสามารถทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติตามมาตรา 190

 

เชิงอรรถ

[1] Fisheries Jurisdiction (Spain v. Canada), I.C.J. Reports 1998, para. 46

[2] Ibid., para. 48

[3] ในมาตรา 36 วรรค 2 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้คำว่า "declare." และใช้คำว่า "The declarations" ถึง 3 ครั้ง ส่วนมาตรา 12 (3) แห่งธรรมนูญกรุงโรม ใช้คำว่า "acceptance" และ " by declaration" 

[4] Declarations made under Art. 36 (2) Statute of the International Court of Justice related to the acceptance of the jurisdiction of the court …. are unilateral acts…" โปรดดู Víctor Rodríguez Cedeño, Max Planck Encyclopedia of Public International Law, www.mpepill.com

[5] โปรดดูมาตรา 36 วรรค 2 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

[6] Reuter, "Principes de droit international public", Collected Courses ..., vol. 103 (1961-II), p. 531 อ้างโดย Victor Rodríguez-Cedeño, First report on unilateral acts of States, A/CN.4/486,1998, หน้า 13

[7] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/542 หน้า 10

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เจ้าขุนมิ้น" อดีตนายทหารกองทัพแห่งชาติไทใหญ่ถึงแก่กรรม

Posted: 03 Nov 2012 10:30 AM PDT

เจ้าขุนมิ้น อดีตนายทหารกู้ชาติไทใหญ่ตั้งแต่ยุคสมัยกองกำลัง SNA นายทหารอาวุโสและหนึ่งในผู้ร่วมตั้งกองกำลังเมืองลา NDAA ถึงแก่กรรมแล้ว ณาปนกิจ 5 พ.ย. นี้

เจ้าขุนมิ้น (ที่มาของภาพ: สำนักข่าวฉาน)

เจ้าขุนมิ้นเป็นหนึ่งในผู้นำกองทัพแห่งชาติไทใหญ่ (SNA) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961 (ที่มาของภาพ: สำนักข่าวฉาน)

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าขุนมิ้น รองผู้นำและที่ปรึกษาอาวุโสของกองกำลังพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กองกำลังเมืองลา NDAA  ซึ่งเป็นผู้นำผ่านประสบการณ์การต่อสู้กู้ชาติไทใหญ่ในภาคตะวันออกรัฐฉาน ตั้งแต่ยุคสมัยกองทัพแห่งชาติฉาน (Shan National Army - SNA) ผ่านยุคพรรคคอมมิวนิส์พม่า (CPB) และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกองกำลังเมืองลา NDAA ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราที่บ้านพักในเมืองลา ภาคตะวันออกรัฐฉาน รวมอายุได้ 86 ปี

ทั้งนี้ เจ้าขุนมิ้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีใจรักชาติรักแผ่นดินไทใหญ่ ในปี คศ.1961 เขาเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ในกองกำลังแห่งชาติไทใหญ่ (Shan National Army-SNA) ภายใต้การนำของเจ้างาคำ หลังจากเจ้างาคำ ถูกลอบสังหารเมื่อปีคศ.1965 ในปีคศ. 1971 กองกำลัง SNA เข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน SSA (สมัยนั้น) เปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพรัฐฉานภาคตะวันออก SSA-E มีเจ้าขุนส่า (ท่าก้อ) เจ้าขุนหลาวคำ (หนุ่มปัน) เป็นผู้บังคับบัญชา โดยเจ้าขุนมิ้น ได้รับตำแหน่งเป็นผบ.กองพลที่ 3 ต่อมาผู้นำเข้าร่วมเป็นพันธมิตรพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ตั้งเป็นกองพล 768 โดยเจ้าขุนมิ้น ได้รับมอบหมายดูแลด้านการปกครองเขตพื้นที่หัวเตา-สะลือ ในภาคตะวันออกรัฐฉาน ซึ่งเจ้าขุนมิ้น ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำแบบอย่างดีน่ายกย่อง มีความกล้าหาญ รักลูกน้อง และเป็นที่รักใคร่ของบรรดาเพื่อนร่วมอุดมการณ์

โดยระหว่างเข้าร่วมในพรรคคอมมิวนิสต์พม่านั้น เจ้าขุนมิ้น ไม่ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในพรรคเช่นผู้นำคนอื่นๆ เหตุเนื่องจากเขามีอุดมการณ์ตรงข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ที่อยู่ภายใต้การนำของ ป๊ะเต็งติ่น กระทั่งในปีคศ.1989 เจ้าขุนส่า (ท่าก้อ) เจ้าขุนหลาวคำ (หนุ่มปัน) นำกำลังกองพล 768 แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งเจ้าขุนมิ้น ได้แยกออกมาด้วย โดยมาร่วมกับกองพล 815 ภายใต้การนำของเจ้าจายลืน (ผู้นำกองกำลังเมืองลา NDAA ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเช่นเดียวกัน โดยร่วมกันตั้งเป็นกองกำลังเมืองลา NDAA และเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ได้รับสิทธิตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษที่ 4 เจ้าขุนมิ้น มีตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกลาง หลังจากเจ้าขุนส่า (ท่าก้อ) และ เจ้าขุนหลาวคำ (หนุ่มปัน) ถึงแก่กรรม เจ้าขุนมิ้น ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในรองผู้นำและที่ปรึกษากองกำลังเมืองลา NDAA มาจนกระทั่งถึงแก่กรรม

สำหรับประวัติ เจ้าขุนมิ้น เกิดเมื่อปี คศ. 1926 ที่เมืองมาง เมืองแจ้ สิบสองปันนาในประเทศจีน บิดาชื่อ หยางกวางโถ่ว มารดาชื่อ นางก๋องคำ มีพี่น้อง 4 คน ชาย 2 หญิง 2 เป็นบุตรคนที่ 2 ครอบครัวย้ายเข้าอยู่ในรัฐฉานภาคตะวันออก ที่บ้านห้อใต้ เมืองยาง ขณะเจ้าขุนมิ้น มีอายุ 5 ขวบ โดยเขาถูกส่งเข้าเรียนหนังสือในวัด ในปีคศ.1961 เขาได้เข้าร่วมขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ ในกองกำลังแห่งชาติฉาน SNA ภายใต้การนำของเจ้างาคำ (กาดเต่า เชียงตุง) และผ่านประสบการณ์นักรบในหลายกองกำลัง ซึ่งเจ้าขุนมิ้น ถือเป็นนายทหารคนสุดท้ายของกองกำลังแห่งชาติไทใหญ่ SNA ที่ยังเหลืออยู่ในกองกำลังเมืองลา NDAA

ศพของเจ้าขุนมิ้น ตั้งบำเพ็ญกุศลตามแบบประเพณีไทใหญ่ ที่บ้านพักของเขาในเมืองลา มีกำหนดฌาปนกิจในวันที่ 5 พ.ย. 55 นี้  โดยทางกองกำลังเมืองลา NDAA ได้เชิญกลุ่มกองกำลังพันธมิตร รวมถึงองค์กรของไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานพิธีฌาปนกิจด้วย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ต่างประเทศ แถลงรับรองอำนาจศาลโลก 5 พ.ย.

Posted: 03 Nov 2012 12:05 AM PDT

"สุรพงษ์" เตรียมแถลง 5 พ.ย. สรุปผลกระทบข้อดีข้อเสียการรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ภายหลังตัวแทนไอซีซีเข้าพบอธิบายความ

 
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เข้าพบเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตัวแทนไอซีซีได้มาอธิบายความว่า ถ้ารัฐบาลจะรับเขตอำนาจต้องทำอะไรบ้าง โดยตนเองต้องไปคุยกับกระทรวงยุติธรรมว่าเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้ได้มอบหมายกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้ทำบันทึกสิ่งที่ไอซีซีได้หารือ เอาไว้และไปสรุปถึงผลกระทบข้อดีและข้อเสียในการรับเขตอำนาจ  และในวันจันทร์ที่ 5 พ.ย. จะแถลงเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าน่าจะรับรองเพื่อให้พิจารณาเรื่องการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อ แดง 98 ศพได้ ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เป็นการนำองค์กรภายนอกมาแทรกแซงเรื่องภายในประเทศ และไม่น่าจะเป็นประเด็นร้อน เพราะเราให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต โดยสมมติว่าเรารับเขตอำนาจของไอซีซี เขาก็จะมาทำการศึกษาเบื้องต้น ภายใต้ 4 เรื่อง ใหญ่ๆ คือ อาชญากรรมมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม รุกราน และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่หากเรื่องไหนอยู่ภายในการพิจารณาของศาลภายในประเทศแล้วเขาจะไม่ยุ่ง หรือถ้าศาลในประเทศตัดสินว่าจบก็คือจบ แต่ถ้ามีมูลว่าสิ่งที่อยู่ในศาลนั้นไม่ได้ให้ความเป็นธรรม หรือปล่อยปละละเลย เขาอาจเข้ามาได้ ส่วนการเอาผิดจะดำเนินการคนที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการกับผู้ที่สั่งการเท่า นั้น
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจจะมีการโยงถึงเรื่องปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่อง เราจะมาโยงกันไม่ได้ เพราะสามารถระบุว่า จะเอาเหตุการณ์ไหน ช่วงไหน บอกชื่อเหตุการณ์เฉพาะกรุงเทพฯ ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการกดดันจากคนเสื้อแดง

 

ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทกวีการเมืองแห่งตอแหลแลนด์: ตอแหลธิปไตย

Posted: 02 Nov 2012 07:49 PM PDT

สร้างระบอบอันชอบธรรมตามกำหนด
เขียนเป็นกฎกติกามาเกื้อหนุน
จ้างจริยธรรมมาค้ำจุน
อ้างพระคุณเหนือไพร่ในแดนดิน

เป็นระบอบบ้าใบ้เหมือนไร้หลัก
เพียงจงรักแลภักดีไม่มีสิ้น
อย่าสงสัยอย่าถามไถ่ให้ได้ยิน
พญายมพรหมอินทร์ก็ยังอวย

ระบบการศึกษาพาเคลิ้มฝัน
ประวัติศาสตร์เกษมสันต์นั้นแสนสวย
เคยฟูเฟื่องรุ่งเรืองแลร่ำรวย
เต็มไปด้วยฉากลิเกย์แลละคอน

เพลิงอำนาจอำนวยผลแด่ชนชั้น
กระพือโหมโรมรันแลเร่าร้อน
ไพร่ก็เหลือข้าวกับเกลือเอื้ออาทร
ฟังคำสอนแลคำสั่งอย่างตั้งใจ

สร้างระบอบอันชอบธรรมตามกำหนัด
ปฏิวัติเพืี่อเปลี่ยนผ่านกาลสมัย
แล้วสีซอ เพลงตอแหล-ธิปไตย
ด้วยมุ่งหมายว่าฝูงควายจะเชื่อฟัง

มอบตอแหลธิปไตยแด่ไพร่ทาส
ป่าวประกาศเกียรติคุณให้หนุนหลัง
ยกพระธรรมเทศนามาปิดบัง
ควายก็คลั่ง คนก็คิด อนิจจา

ประชาชนทนทุกข์รันทดท้อ
ด้วยเสียงซอตอแหลยังเริงร่า
ฟังสำเนียงเสียงกรีดก้องโลกา
อ้างอำนาจอันเหนือกว่าประชาชน

เมื่อได้คิดว่ามีสิทธิ์ต้องส่งเสียง
ไพร่ก็เพียงพูดแสดงแจ้งเหตุผล
เพลิงอำนาจอันหยามเหยียดเกลียดความจน
พลันร้อนรนรุกไล่ไร้ปราณี

แลร้องสั่งสังหารไพร่ ไอ้ อี ห่า
คำสั่งฆ่า ฆ่าให้ตายเป็นพรายผี
อย่าได้คาดอย่าได้คิด สิทธิ์-เสรี
เท่าที่มี...ก็มากไปพวกไพร่เลว ฯลฯ

...........................................................
ระบอบตอแหลธิปไตยอันมีรัฐสภาไร้อำนาจ
พิมพ์ครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555
เดือนใกล้จะคว่ำ ปีมะเร็ง
อุบาทวศักราช 112

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น