ประชาไท | Prachatai3.info |
- ตำรวจจับวัยรุ่นอังกฤษลงภาพเผาดอกป็อบปี้วันรำลึกวีรชนทหาร
- ลาเวียคัมเปซินา: ถอดประสบการณ์ ‘ขบวนการชาวนา’ จาก 4 ภูมิภาคโลก
- เนปาล: จากสมบูรณาญาสิทธิ์สู่สาธารณรัฐ วันนี้กลับไปเริ่มนับหนึ่ง
- ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี ตอนที่ 2 “กระบวนการเข้าสู่การต่อสู้เพื่อ Merdeka”
- ดูบทเรียนเยอรมนี ปรับใช้กำกับดูแลทีวีดิจิตอลไทย
- แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ทางออกจากวิกฤติประเทศไทย
- แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ทางออกจากวิกฤติประเทศไทย
- สัญลักษณ์ต้านรัฐประหารต่อกบฏ เสธ.อ้าย: จะทำอย่างไรกันดี?
- เวทีนักการเมืองชายแดนใต้แนะรัฐให้ความสำคัญข้อเสนอประชาสังคม
- สุรพศ ทวีศักดิ์: ค้านท์ ขงจื้อ พุทธ กับประเด็น ‘จริยศาสตร์ไร้หัวใจ’
- การผูกขาดอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่
- 'สุภิญญา' ผิดหวัง ประชุมบอร์ด กสทช.พรุ่งนี้ ไม่มีวาระทบทวนผลประมูล 3G
- 'สุภิญญา' ผิดหวัง ประชุมบอร์ด กสทช.พรุ่งนี้ ไม่มีวาระทบทวนผลประมูล 3G
- อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล
- รัฐสภารับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรแล้ว
ตำรวจจับวัยรุ่นอังกฤษลงภาพเผาดอกป็อบปี้วันรำลึกวีรชนทหาร Posted: 13 Nov 2012 12:46 PM PST วัยรุ่นจากแคนเทอร์บิวรี่ถูกจับกุมหลังโพสท์ภาพเผาดอกป็อบปี้ในวันรำลึกวีรชนทหารของอังกฤษ อ้างกฏหมายการสื่อสารด้วยเจตนาร้ายปี 1988 กลุ่มเสรีภาพพลเมืองวิจารณ์การจับกุมครั้งนี้ว่าทำเกินกว่าเหตุ แม้การเผาดอกป็อบปี้จะสร้างความขุ่นเคืองใจ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย 13 พ.ย. 2012 - เว็บข่าวเดอะ การ์เดียน ของอังกฤษรายงานว่ามีตำรวจจับกุมเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่โพสท์ภาพเผาดอกป็อบปี้ผ่านเฟซบุ๊คในวันรำลึกวีรชนทหาร (Remembrance Sunday) เนื่องจากดอกป็อบปี้เป็นดอกไม้ไว้อาลัยให้กับทหารที่เสียชีวิตในสงคราม ขณะเดียวกันตำรวจที่ทำการจับกุมในกรณีก็ถูกประณามว่าเคร่งครัดเกินไป วัยรุ่นอายุ 19 ปีจากมุขมณฑลแคนเทอร์บิวรี่ เทศมณฑลเคนต์ ถูกจับหลังโพสท์ภาพดอกป็อบปี้ถูกเผาด้วยไฟแช็ค โดยตำรวจเทศมณฑลเคนต์ยอมรับว่าวัยรุ่นรายดังกล่าวอยู่ในการควบคุมและเป็นผู้ต้องสงสัยตามกฏหมายการสื่อสารด้วยเจตนาร้ายปี 1988 (Malicious Communication Act 1998) โดยกฏหมายฉบับดังกล่าวระบุถึงพฤติกรรมที่เข่าข่ายการกระทำผิดไว้ว่า หมายถึงการส่งข้อมูลใดๆ ก็ตามที่ "ไม่เหมาะสม หรือสร้างความขุ่นเคืองอย่างน่ารังเดียจ (grossly offensive) หรือเป็นไปในทางการข่มขู่ ...เป็นไปโดยมีความตั้งใจที่จะสร้างความทุกข์หรือความกังวลใจต่อผู้รับสาร" โดยการ์เดียนกล่าวว่าปกติแล้วเป็นกฏหมายที่ใช้กับต่อต้านจดหมายกลั่นแกล้งกล่าวร้าย (Poison Pen Letters) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานเรื่องนี้ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (11) ที่ผ่านมา โดยบอกว่าภาพมีคำบรรยายที่เป็นไปในทางสร้างความขุ่นเคือง ทางด้านกลุ่มสนับสนุนเสรีภาพพลเมืองหลายกลุ่มได้วิพากษ์วิจารณ์การจับกุมในครั้งนี้ว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก โดยกลุ่ม Big Brother Watch ได้เรียกร้องให้ตำรวจยกเลิกการไต่สวนคดีนี้ นิค พิคเกิลส์ ผู้อำนวยการของกลุ่มกล่าวว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจของเทศมณฑลเคนต์ควรปล่อยตัวชายผู้นี้โดยทันที และยกเลิกการไต่สวนคดีไร้สาระที่ไม่ได้ทำให้ใครเป็นอันตราย" "มันไม่ใช่เรื่องผิดกฏหมายที่จะสร้างความขุ่นเคืองต่อคนอื่น ไม่ว่าภาพดังกล่าวจะดูโง่เขลาหรือขาดความละเอียดอ่อน มันก็ไม่ถึงขั้นต้องจับกุม คดีนี้ยิ่งตอกย้ำว่าควรมีการปฏิรูปกฏหมายที่เสี่ยงต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น หลังจากที่มีการดำเนินคดีไร้สาระในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา" ผู้อำนวยการของกลุ่ม Big Brother Watch กล่าว ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนพากันประณามการจับกุมในครั้งนี้ โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งเขียนไว้ว่า แม้การเผาดอกป็อบปี้จะดูน่ารังเกียจ แต่มันก็ไม่ใช่การละเมิดกฏหมาย ทางกองทัพอังกฤษปฏิเสธจะให้ความเห็นต่อการไต่สวนคดีที่เกิดขึ้นในเคนต์ ก่อนหน้านี้เคยมีคดีที่คล้ายกันเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. ปี 2011 เมื่อ เอมดาดูร์ ชูดูรี สมาชิกของกลุ่ม Muslims Against Crusades ถูกปรับเป็นเงิน 50 ปอนด์ โทษฐานดูหมิ่นผู้เสียชีวิตโดยมีการวางแผนไตร่ตรองไว้ก่อน หลังจากที่เขาเผาดอกไม้ป็อบปี้เทียม 2 ดอก ในช่วงที่ที่มีการสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงผู้ตายในวันสงบศึก (Armistice Day)* ซึ่งตรงกับวันที่ 11 พ.ย. โดยชูดูรีกล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้เผาดอกป็อบปี้เพื่อก่อกวน สร้างความเสียหาย หรือ ทำให้เกิดความเจ็บปวด แก่ผู้พบเห็น อีกกรณีหนึ่งที่เกิดในบริสตอล ชายคนหนึ่งสวมชุดสีชมพูและหน้ากากมีเขาเล่นสเก็ตบอร์ดไปตามขบวนพาเหรดของทหารในวันรำลึกวีรชนทหาร ชายผู้นี้มีชื่อว่าโฮเซ เปาโล ดา ซิลเวอเรีย อายุ 38 ปี เขาถูกจับกุมในที่เกิดเหตุตามกฏหมายระเบียบสังคมของอังกฤษ และจะต้องขึ้นศาลในวันที่ 4 ธ.ค. นี้
* วันสงบศึก (Armistice Day) เป็นวันที่มีการเซนต์สัญญาสงบศึกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อของวันหยุดนี้ถูกเปลี่ยนเป็น 'วันทหารผ่านศึก' ในสหรัฐฯ และ 'วันรำลึกวีรชนทหาร' ในอังกฤษ แต่ในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมยังคงใช้ชื่อเดิม โดยเซอร์เบียก็เพิ่งประกาศให้วันสงบศึกเป็นวันหยุดราชการในปี 2012 นี้เอง - ประชาไท
Police accused of over-zealous reaction to poppy burning, The Guardian, 13-11-2012 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ลาเวียคัมเปซินา: ถอดประสบการณ์ ‘ขบวนการชาวนา’ จาก 4 ภูมิภาคโลก Posted: 13 Nov 2012 12:03 PM PST อภิปราย 'ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาบนเวทีนานาชาติ: ตัวตนและบทบาท' บอกเล่าประสบการณ์เกษตรใน 4 ภูมิภาค ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา พร้อมประกาศการประชุมนานาชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ และเมล็ดพันธุ์ของชาวนา การขับเคลื่อนครั้งล่าสุด ของลาเวียคัมเปซินา (La Via Campesina) ขบวนการเคลื่อนไหวในระดับโลกของชาวนาชาวไร่กว่า 200 ล้านคน จากสมาชิก 150 องค์กรใน 70 ประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการปฏิเสธตัวแบบการพัฒนาชนบทแบบเสรีนิยมใหม่ ดำรงไว้ซึ่งความเข้มแข็งของชาวนาชาวไร่รายย่อย และสร้างอิสรภาพให้กับระบบอาหาร ในประเทศไทย วันที่ 12 พ.ย.55 ลาเวียคัมเปซินา รวมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) และมูลนิธิชีววิถี จัดอภิปราย 'ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาบนเวทีนานาชาติ: ตัวตนและบทบาท' บอกเล่าประสบการณ์เกษตรใน 4 ภูมิภาค ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา ในเวทีวิชาการเรื่อง 'การเกษตรนิเวศ สิทธิชาวนา อธิปไตยทางอาหาร และขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนา' โดยมีชาวนาจาก 9 ภูมิภาคทั่วโลก กว่า 70 คนเข้าร่วม 'แอฟริกา' กับภัยคุกคามของ 'ทุนนิยม' Mr.Ibrahima Coulibaly จากสาธารณรัฐมาลี (Mali) ในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา กล่าวในการอภิปราย 'ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาบนเวทีนานาชาติ: ตัวตนและบทบาท" ว่า เกษตรในแอฟริกาประสบภัยคุกคามในระดับโลกหลายประการ ทั้งปัญหาเรื่องหนี้สินและการดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรต้องรวมตัวกันขึ้นมาต่อสู้กับทุนนิยมข้ามชาติและนโยบายการนำเข้าอาหารที่ทำลายเกษตรกรผู้ผลิต เพราะเกษตรกรไม่มีทางเลือกมากนักในโลกโลกาภิวัตน์ ในขณะที่รัฐเองไม่สามารถให้บริการและดูแลประชาชนของตนเองได้ "เราไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เพราะที่ดินเป็นเจ้าของเรา" ตัวแทนจากสาธารณรัฐมาลีกล่าวถึงแนวคิดของเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับที่ดิน ปัจจัยการผลิตที่กำลังถูกแย่งชิงโดยการพัฒนาตามกระแสทุนนิยม Mr.Ibrahima กล่าวด้วยว่า ขบวนการชาวนาชาวไร่รวมตัวกันด้วยแนวความคิดที่ว่าทำอย่างไรจึงจะต่อรองในระดับนโยบายได้ โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ และมีการจัดทำข้อเสนอของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเมื่อขบวนการเคลื่อนไหวก้าวขึ้นมาสู่ในระดับโลก เกษตรกรก็ต้องพยายามสะท้อนความต้องการ และพยายามเรียนรู้เรื่องต่างๆ พร้อมๆ กับนำความรู้ที่มีอยู่มาใช้ และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันต่อสู้กับลัทธิทุนนิยมใหม่ เพราะแต่ละกลุ่มไม่สามารถต่อสู้ได้โดยลำพัง 'สหภาพยุโรป' เงินอุดหนุนที่ทำให้เกษตรกรกลายเป็นเพียงผู้รอรับ ขณะที่ Ms.Henny Van Geel จาก Eurovia Europe บอกเล่าประสบการณ์จากสหภาพยุโรปซึ่งมีการผลิตเกษตรนิเวศจำนวนมากว่า ที่ผ่านมานโยบายการอุดหนุนภาคเกษตรทำให้เกิดการแบ่งแยกเกษตรกรในสหภาพยุโรปออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เกษตรกรรายใหญ่ที่ร่ำรวย และเกษตรกรรายย่อยๆ เช่นในยุโรปทางใต้อย่างสเปน โปรตุเกส อิตาลี และออสเตรียซึ่งมีการทำเกษตรอยู่บนภูเขา เงินอุดหนุนทำให้เกิดการกระจุกตัวของสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม อีกทั้งกระทบกับสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อการพัฒนาในชนบท เพราะทำให้เกษตรกรในชนบทกลายเป็นเพียงผู้รอรับการสนับสนุนจากรัฐ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากเป็นเกษตรกร Ms.Henny กล่าวด้วยว่าในปี 2013 มีการพยายามที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แต่ก็ด้วยพลังเบื้องหลังบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าอาจส่งผลให้การปฏิรูปไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก ทั้งนี้ สิ่งที่เกษตรกรในยุโรปต้องการจริงๆ ซึ่งไม่ใช่การกดดันจากองค์กรการค้าโลก นั่นคือ นโยบายสนับสนุนเกษตรที่ยั่งยืน สนับสนุนการรักษาเมล็ดพันธุ์ รักษาพื้นที่เกษตรเพื่อผลิตพืชอาหารไม่ใช่เพื่อผลิตพืชพลังงาน คนในภาคเกษตรถูกให้ความสำคัญ สามารถเข้าถึงที่ดิน สินเชื่อ และปัจจัยการผลิต แรงงานในฟาร์มไม่ถูกแบ่งแยก แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิเท่ากับแรงงานในประเทศ และการเข้าถึงบริการสาธารณะสุขของคนทุกคนในภาคเกษตร ส่วนการเคลื่อนไหนที่จะมีต่อไปคือการกดดันผ่านผู้แทนสหภาพยุโรปในเรื่องนโยบาย เพื่อทำให้เกษตรกรถูกรับรู้และมีตัวตนจริงๆ ในรัฐสภาของสหภาพยุโรป 'คิวบา' ความล้มเหลวของสังคมนิยม และเกษตรนิเวศเพื่อเลี้ยงดูผู้คน สำหรับ Ms.Debora la O Calana จากกลุ่มประเทศและหมู่เกาะในเขตทะเลแคริเบียน (The Caribbean) บอกเล่าถึงประสบการณ์ของประเทศคิวบาซึ่งถือเป็นเกาะใหญ่แห่งหนึ่งในแคริเบียนว่า ปัจจุบันคิวบามีแนวความคิดที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับประชากรโลก จากอดีตนับตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1959 ซึ่งมีการคิดผลิตอาหารเพื่อคนคิวบานับแสนคน ช่วงเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ในราวปี ค.ศ.1989-2000 ประชาชนคิวบาต้องทุกข์ยากเมื่อรัฐบาลสังคมนิยมล้มเหลว เทคโนโลยีจากยุโรปตะวันออกไม่สามารถนำเข้าได้ เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ต่อมาสหรัฐตัดความสัมพันธ์และคว่ำบาตรทางการค้า คิวบาต้องพยายามหาทางเลือกใหม่โดยนำทรัพยากรในที่ดินของเกษตรกรมาใช้ในการผลิตเพื่อเลี้ยงดูผู้คนในประเทศ จึงเกิดการทำเกษตรในพื้นที่เมือง พื้นที่ว่างเปล่าถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก ผู้คนต้องเปลี่ยนวิถีการกินเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นเกษตรนิเวศจึงไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกแต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้เพื่อเลี้ยงดูผู้คน Ms.Debora กล่าวด้วยว่า มีคนตั้งคำถามว่าหากไม่มีการนำเข้าเทคโนโลยีการเกษตรจะอยู่ได้ไหม คำตอบคืออยู่ได้ อยู่แบบที่เป็นอยู่ ก่อนหน้านี้คิวบาทำเกษตรเชิงเดี่ยวแล้วเปลี่ยนมาใช้เกษตรนิเวศในการผลิต โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่น สภาและรัฐบาลมีการออกกฎหมายปรับปรุงดินและกฎหมายฟื้นฟูป่าเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนด้วย ส่วนปัจจุบันมีการส่งเสริมการทำเกษตรนิเวศให้กับกลุ่มเยาวชนเพื่ออนาคตของประเทศ จากปัญหาเยาวชนอยากอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท โดยมีการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาวางหลักสูตรให้เยาวชนได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรในชนบท อีกทั้งมีการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในการเรียนรู้ประสบการณ์ของคิวบาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ 'อเมริกา' สังคมเกษตรของชาวนาสูงอายุ ด้าน Mr.Blain Snipstal จากอเมริกาเหนือ ภูมิภาคที่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์และพืชจีเอ็มโอได้ขยายอิทธิพลทางธุรกิจไปทั่วโลกกล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในชนบทของอเมริกาเหลือเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ เพราะความเข้มแข็งของเกษตรถูกทำลายไปมาก คนที่ยังอยู่และผลิตอาหารเป็นผู้สูงวัย มีอายุเฉลี่ย 65 ปี ดังนั้นขบวนการชาวนาชาวไร่จึงต้องพยายามทำงานกับคนหนุ่มสาวเพื่อให้หันกลับไปทำการเกษตร นอกจากนั้น การที่เกษตรกรลดจำนวนลง การทำเกษตรต้องทำในแปลงใหญ่ขึ้น ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ก็มีแรงงานจากลาตินอเมริกาและแคริเบียนเข้ามาทำงาน ภาคเกษตรของอเมริกาจึงยังเดินหน้าต่อมาได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันอเมริกามีแรงงานในภาคเกษตรที่ขึ้นทะเบียนจำนวนถึง 40,000 คน Mr.Blain กล่าวด้วยว่า ช่วงปี 1920 ที่อเมริกาประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถ่อย ทำให้แรงงานภาคเกษตรจากตอนใต้อพยพไปทำงานเป็นแรงงานทางตอนเหนือ ขณะนั้นรัฐได้มีการออกกฎหมายเรื่องอาหารและการเกษตร เพื่อพยายามสร้างงานและให้การอุดหนุนราคาผลผลิตในภาคเกษตรเชิงเดี่ยว แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การอุดหนุนนี้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในภาคเกษตร ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนอเมริกาถึง 1 ใน 3 ยังอยู่ในภาวะยากจน คนในชนชั้นแรงงานอยู่ในภาวะอดยาก อีกทั้ง ภาวะฝนแล้งที่เกิดขึ้นเป็นปีที่ 3 คือสิ่งที่เกษตรกรจะต้องเผชิญ 'ไทย' ปัญหาจากนโยบายพัฒนา สู่การรวมตัวของ 'สมัชชาคนจน' นายอุทัย สะอาดชอบ เกษตรกรบ้านโคกอีโด่ย จาก จ.สระแก้ว ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าวว่า ขบวนของสมัชชาคนจนคือพื้นที่ร่วมของประชาชนที่ประสบปัญหาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำประมงขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องมือทำลายล้างอย่างอวนรุน-อวนลาก กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศพื้นที่ป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งกลุ่มเกษตรในขบวนที่รัฐส่งเสริมซึ่งประสบปัญหาเรื่องหนี้สิน สุขภาพ และการสูญเสียที่ดิน และกลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหาจากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ นอกจากนั้นล่าสุดยังพบกรณีของเกษตรกรที่ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาทำให้โลกร้อนด้วย ขณะที่นายพฤกษ์ ยิบมันตะสิริ ประธานคณะทำงานการปฏิรูประบบเกษตรกรรม กล่าวในการอภิปราย 'ความท้าทายต่อเกษตรนิเวศ สิทธิชาวนา และอธิปไตยทางอาหารในกระแสโลก' โดยสรุปถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า ขณะนี้นโยบายรัฐบาลเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย และคุณภาพของอาหาร แต่ไม่ได้ขยายไปนอกเหนือจากเรื่องเทคนิค มีการพูดถึงเรื่องการส่งออก-นำเข้า แต่เชื่อมโยงน้อยกับเรื่องทรัพยากรทางการเกษตร ที่ดิน ป่าไม้ อีกทั้งการลงทุนสาธารณะในเรื่องนี้มีน้อยซึ่งส่งผลให้เกษตรกรแต่ละคนต้องช่วยเหลือตัวเอง อย่างไรก็ตามในระดับชุมชนยังมีการสนับสนุนโดยมูลนิธิด้านสุขภาพ ซึ่งมีการเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเกษตรกรรมยั่งยืนไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ เวทีวิชาการสาธารณะดังกล่าว ต่อเนื่องมาจาก 'การประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ และเมล็ดพันธุ์ของชาวนา' ในช่วงวันที่ 6-12 พ.ย.55 ที่มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศ จ.สุรินทร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมีสมัชชาคนจนซึ่งเป็นสมาชิกของลาเวียคัมเปซินาในประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อทบทวนสถานการณ์และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค และร่างแผนปฏิบัติการรวมระดับนานาชาติ จากนั้นปิดท้ายเวทีเสวนาด้วยการอ่านคำประกาศ 'การประชุมนานาชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ และเมล็ดพันธุ์ของชาวนา โดยตัวแทนเกษตรกรจากประเทศไทย รายละเอียดดังนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เนปาล: จากสมบูรณาญาสิทธิ์สู่สาธารณรัฐ วันนี้กลับไปเริ่มนับหนึ่ง Posted: 13 Nov 2012 11:50 AM PST สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาถอดบทเรียนการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยในเนปาล ที่ไม่ราบรื่นและยังคงอยู่บนเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลง ดร.นิสชาล ปานเดย์ ดร.นิสชาล ปานเดย์ (Dr.Nishchal Pandey) ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา จากมหาวิทยาลัยกาฐมัณฑุ เนปาล กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านในเนปาล โดยระบุถึงสาเหตุของปัญหาใหญ่ นั่นคือ สถาบันกษัตริย์ที่ความนิยมตกต่ำลงหลังการสังหารหมู่ –การพยายามเข้ามาแสดงบทบาททางการเมือง, กองทัพที่รับศึกหลายด้าน ทั้งไม่สามารถจัดการความไม่สงบภายในประเทศจากกลุ่มก่อความไม่สงบเหมาอิสม์ และในฐานะเป็นฐานที่มั่นสำคัญให้ระบอบกษัตริย์ก็ไม่สามารถรับมือกับพรรคการเมืองได้ "ครั้งหนึ่ง เนปาลนั้นเคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ของสันติภาพ ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม แม้แต่ในช่วงที่สหราชอาณาจักรล่าอาณานิคมและเข้ามาปกครองอินเดีย แต่ก็ไม่เคยได้ปกครองเนปาล เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจของเนปาล และที่สามารถคงความเป็นอิสระไว้ได้ก็เพราะอัจริยภาพของกษัตริย์ "ในปี 1990 มีการก่อตั้งการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหลายพรรค จนกระทั่งปี 1996 กลุ่มเหมาอิสต์ที่เป็นฝ่ายซ้ายสุดโต่งก็เริ่มก่อเหตุไม่สงบ (Insurgency) จนถึงปี 2006 ก็มีคนตายไปจากเหตุรุนแรง 16,000 คน นั่นคือสถานการณ์ที่นำเนปาลกลับไปสู่สงครามกลางเมือง" ดร. นิสชาลระบุว่า หลังเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเมืองของเนปาลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งสะท้อนจากการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีบ่อยเกือบจะรายปี ภายในระยะเวลา 19 ปี เนปาลมีนายกรัฐมนตรี 19 คน ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็กระทบต่อสิทธิมนุษยชนในเนปาลและลำพังกองกำลังของตำรวจก็ไม่สามารถจัดการได้ กระทั่งในปี 2001 มีการใช้กำลังทหารเพื่อจัดการกับเหตุไม่สงบ แต่เมื่อทหารเริ่มเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ไม่สงบก็เริ่มมีการฆ่าประชาชน และประชาชนก็เริ่มมองกองทัพเป็นศัตรู ขณะที่รัฐบาลก็เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนก็เริ่มมองเห็นว่า กองกำลังเหมาอิสต์เป็นคำตอบและสามารถปลดปล่อยประชาชนได้มากกว่าบรรดาพรรคการเมือง ในปี 2006 สถานการณ์อยู่ในภาวะที่ไม่มีผู้ชนะ เพราะว่ากองกำลังเหมาอิสต์ก็ไม่สามารถยึดกุมชัยชนะได้ ขณะเดียวกันกองทัพก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาเช่นกัน แต่สำหรับสถานการณ์ปะทะระหว่างกองทัพกับกองกำลังเหมาอิสต์แล้ว ดร. นิสชาลระบุว่า กองกำลังเหมาอิสต์นั้นสามารถที่จะสู้โดยไม่สูญเสีย ขณะที่กองทัพสูญเสียโดยไม่สามารถเอาชนะได้ สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องและเมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี ประชาชนก็เริ่มหมดความอดทน กองทัพพ่ายแพ้เพราะว่าแคมเปญ ข่าวลือ และโซเชียลมีเดีย ในด้านกองทัพ เดิมก่อนปี 1996 มีกองกำลังประมาณสามหมื่นห้าถึงสี่หมื่น ก็เพิ่มกองกำลังขึ้นเป็นเก้าหมื่น แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่สงบได้ ดร.นิสชาลระบุว่า สถานการณ์ที่ชายแดนคือ ความรุนแรงนั้นเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างอินเดียกับเนปาล แต่กองทัพของเนปาลนั้นเป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากกองการช่วยเหลือของอินเดีย แต่การจัดการกับปัญหาความไม่สงบนั้นต้องการความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้าเพื่อนบ้านนั้นเล่มเกมสองชั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่สงบภายในประเทศได้ เขาระบุโดยยกตัวอย่างกรณีของปากีสถานนั้นเราจะเห็นว่ากองทัพจำเป็นต้องปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนเพราะว่าชายแดนคือพื้นที่ซ่องสุมกำลัง และเป็นฐานที่มั่นในการปฏิบัติการทั้งการเจรจา ระดมสรรพกำลัง ล็อบบี้ เจรจาหาความร่วมมือ รวมไปถึงส่งอีเมลและแฟกซ์ ในส่วนของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองนั้น ดร.นิสชาลกล่าวว่า แม้ว่าพรรคการเมืองจะได้รับเลือกตั้งจากประชาชนตามกลไกประชาธิปไตย แต่ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาอื้อฉาว รัฐมนตรีต่างมีข้ออื้อฉาวเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น ถูกกล่าวหาว่าต้องการรักษาเก้าอี้ ต้องการรักษาสถานภาพของตัวเองมากกว่าที่จะต้องการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งนี่ก็ยิ่งไปเอื้อประโยชน์ให้กับกองกำลังเหมาอิสม์ เมื่อกษัตริย์เล่นการเมือง อดีตกษัตริย์คยาเนนทราของเนปาล ซึ่งพ้นจากอำนาจหลังรัฐสภาเนปาลลงมติเมื่อปี 2551 ให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ (ที่มา: nepaldemocracy.org /แฟ้มภาพ) ดร. นิสชาลกล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลาแห่งการผันผวนทางการเมืองที่นักการเมืองกำลังทำร้ายประเทศและกองกำลังเหมาอิสต์ก่อความไม่สงบอยู่ในพื้นที่ชนบท ประชาชนก็เริ่มมีคำถามว่ากษัตริย์จะเป็นผู้เฝ้าดูอยู่ได้อย่างไร มีความคาดหวังว่ากษัตริย์ต้องทำอะไรบางอย่างในสถานการณ์เช่นนั้น เพราะกษัตริย์นั้นเป็นความหวังสุดท้ายสำหรับชะตากรรมของประชาชน ปี 2001 และ 2005 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กษัตริย์เข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐมนตรีหลายคนก็ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชั่น ส่งผลคณะรัฐมนตรีก็เลยไปร่วมมือกับกลุ่มกบฏเหมาอิสต์ ผู้พ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่ในเกมนี้จึงกลายเป็นสถาบันกษัตริย์ "สถาบันกษัตริย์นั้นขึ้นอยู่กับกองทัพเพียงอย่างเดียวและกองทัพไม่สามารถต่อสู้ทั้งในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบและในเมืองหลวง กองทัพไม่สามารถต่อสู้ทั้งกับกองกำลัง และไม่สามารถต่อสู้กับพรรคการเมืองในเวลาเดียวกัน "อันที่จริงแล้ว กองทัพนั้นได้รับการฝึกมาอย่างดี มีการฝึกในต่างประเทศ เช่นในอังกฤษ ในฮาวาย ผู้บัญชาการกองทัพก็เป็นผู้ได้รับการศึกษาอย่างดี พวกเขาไม่โง่ แต่พวกเขาก็มีความจงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์ "แต่โชคไม่ดีที่กองทัพต้องต่อสู้ในหลายสมรภูมิพร้อมๆ กัน ต่อสู้กับพรรคการเมืองในกาฐมัณฑุ ต่อสู้กับกองกำลังปลดแอกในหมู่บ้าน กองทัพไม่สามารรถต่อสู้ในสองสมรภูมิ" เมื่อเกิดการปฏิวัติในเดือนเมษายน 2006 กองทัพก็พยายามที่จะเข้ามาควบคุมพื้นที่ด้วยการประกาศเคอร์ฟิวส์ จับกุมผู้นำ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ พรรคการเมืองตัดสินใจเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ยอมรับสถาบันกษัตริย์และระบอบพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ด้วย โดยสรุปแล้ว สถาบันกษัตริย์ก็ถูกยกเลิกไปในปี 2008 และมีการเลือกสมาชิกรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งกันในวันที่ 10 เดือนเมษายน 2008 "เป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนเอง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ นั้นกษัตริย์เป็นผู้มอบให้กับประชาชน และในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา เนปาลก็มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 5 ฉบับ นี่เป็นครั้งแรกที่เติมเต็มสัญญาที่ประชาชนรอคอยมากว่า 57 ปี ว่าพวกเขาจะได้กำหนดชะตากรรมของตัวเอง ประชาชนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ออกมาลงคะแนนเสียง มีสื่อและผู้สังเกตการณ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 80,000 คนเดินทางมายังเนปาล เป็นครั้งแรกที่เกิดความหวังอย่างแท้จริงว่าสถานการณ์ในเนปาลจะลงตัว" ปัญหาความนิยมในรัชทายาท ดร. นิสชาลกล่าวว่า ในด้านตรงกันข้าม มหันตภัยด้านการข่าวและการประชาสัมพันธ์ก็มาจากการการที่มกุฏราชกุมารี (พระชายาของมกุฏราชกุมาร) ซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากราชาสถาน อินเดีย กลับที่เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนเนปาล ด้วยความมีสเน่ห์ พูดจาดี และหลังจากที่ราชวงศ์ล่มลง ก็ทรงทำมูลนิธิให้ความช่วยเหลือชาวเนปาล และมีชื่อเสียงมากขึ้นหลังการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ โดยให้สัมภาษณ์ว่าไม่สนใจว่าเนปาลจะยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิหรือเป็นสาธารณรัฐ ความนิยมชมชอบจากประชาชนนี้ เป็นด้านที่ตรงข้ามกับพระสวามีของพระองค์เอง "เพื่อที่จะทำภาพลักษณ์ของมกุฏราชกุมารให้สะอาด มีการพีอาร์ขนาดใหญ่ ทั้งผ่านคอลัมน์ โบรชัวร์ รวมถึงมีความคิดว่า มกุฏราชกุมารควรเสด็จไปเยี่ยมเยียมประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะประชาชนทุกวันนี้ฉลาดขึ้นมาก" ดร.นิสชาลกล่าว ลองมาทุกทางแล้ว ลองเหมาอิสต์ดูบ้าง "นี่เป็นความเซอร์ไพรซ์อย่างใหญ่หลวงสำหรับทุกคน เพราะว่าการก่อความไม่สงบของกองกำลังเหมาอิสต์ส่งผลให้มีการสังหารคนไปกว่า 16,000 คนในช่วงเวลาที่ผ่านมา แล้วเหตุไฉนพรรคเหมาอิสต์จึงชนะเลือกตั้ง คำตอบก็คือว่ากองกำลังเหมาอิสต์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงสังคมในชนบทไปแล้ว บรรดาประชาชนตามหมู่บ้านในชนบทนั้นสนับสนุนพรรคเหมาอิสต์ ชาวบ้านต้องการความเปลี่ยนแปลง พวกเขาเห็นสถาบันกษัตริย์มานานกว่า 250 ปีแล้ว พวกเขาได้เห็นบทบาทที่ผิดพลาดของพรรคการเมืองต่างๆ มาแล้วกว่า14 ปี พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง และสโลแกนหลักของเหมาอิสม์ก็คือ "คุณได้ลองทางเลือกต่างๆ มาแล้ว ถึงเวลาที่จะลองเลือกพวกเราบ้าง (You have tried everybody. Now try us) และสโลแกนนี้ก็จับใจผู้คน" อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรคเหมาอิสต์จะเป็นพรรคใหญ่ในสภา แต่ก็ไม่ใช่เสียงข้างมาก ดังนั้นก็ต้องการการสนับสนุนจากพรรคการเมืองเล็กๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และก็พบกับปัญหาว่าไม่สามารถที่จะหาขอตกลงกันได้ในประเด็นสหพันธรัฐ
จากภาพจะแสดงให้เห็นว่าผลการเลือกตั้งนั้น สีแดงต่างๆ คือพื้นที่ที่เลือกพรรคเหมาอิสม์
พรรคทารัย ก็เป็นส่วนหนึ่งในประเด็นเหล่านี้ โดยพรรคทารัยชนะการเลือกตั้ง พื้นที่ที่พรรคทารัยได้ชัยก็เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ชายแดนติดกับอินเดีย พื้นที่นี้เกิดเหตุรุนแรง เกิดเหตุระเบิด การฆาตกรรม ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา พื้นที่นี้มีกลุ่มสุดโต่งที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรรมในอินเดีย ก้าวสู่ secular state เผชิญความสุดโต่งอันหลากหลาย สำหรับสถาบันกษัตริย์แล้ว เดิมนั้นเป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้ศาสนาฮินดู แต่ก็มีประชาชนบางกลุ่มที่คิดว่าเนปาลควรเป็นรัฐที่เป็นกลางทางศาสนา เพราะเนปาลนั้นมีประชาชนที่นับถือพุทธ อิสลาม และคริสต์ ขณะที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเป็นฮินดู แต่ก็ไม่ต้องการให้กษัตริย์เป็นตัวแทนศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม ในสายตาของ ดร. นิสชาล ในยุคที่เนปาลเป็นประเทศฮินดู ไม่เคยมีกรณีขัดแย้ง ในทางปฏิบัติแล้วเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางศาสนา แต่เมื่อเนปาลปรับตัวมาสู่การเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางศาสนา กลับมีกลุ่มฮินดูขวาสุดโต่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่ในอินเดียมีกลุ่มฮินดูขวาสุดโต่งอยู่ มีกรณีการระเบิดโบสถ์ในกาฐมัณฑุในปี 2009 โดยกลุ่มฮินดูสุดโต่งนี้เอง เป็นผลให้มีคนตายในโบสถ์ 7 คน กลุ่มมุสลิมสุดโต่งก็เกิดขึ้นเช่นกัน เช่นกัน ศาสนาอื่นๆ เช่นคริสต์ก็พยายามแผ่ขยายแสวงหาผู้ศรัทธาเพิ่ม บทบาทของสหประชาชาติ และสถานการณ์ที่เนปาลกำลังเผชิญ ดร.นิสชาลกล่าวว่าสหประชาชาตินั้นก็ประสบความสำเร็จมากในการจัดการกับความไม่สงบ ตอนนี้กองกำลังเหมาอิสต์กว่า 3,000 นาย เข้ามาประจำการในกองทัพของเนปาล และถือเป็นครั้งแรกที่ในเอเชียใต้ ที่อดีตนักรบของกองกำลังกบฏได้เข้ามาประจำการในกองทัพของรัฐ ซึ่งต้องผ่านการอบรมอีกถึง 2 ปี รวมไปถึงการล้างสมองด้วย กลุ่มลัทธิเหมายังก่อปัญหาเมื่อเข้าไปแทรกแซงในสหภาพแรงงานต่างๆ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ที่ต้องเผชิญกับการสไตรค์ของคนงาน นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องพลังงานไฟฟ้าซึ่งทุกวันนี้คนเนปาลต้องเผชิญกับภาวะไฟดับต่อเนื่อง 18 ชม. ในฤดูหนาว ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่กองกำลังเหมาอิสม์ไปถล่มโรงไฟฟ้าสำคัญๆ ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบ ตอนนี้เนปาลนั้นขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว ซึ่งกลายมาเป็นอุตสหากรรมสำคัญของเศรษฐกิจเนปาล แต่นั่นก็ได้รับผลกระทบจากการสไตรค์ของคนงานเช่นกัน สิ่งที่ดีที่พอจะมีก็คือการส่งคนงานไปยังประเทศในตะวันออกกลางและมาเลเซีย ซึ่งพวกเขาจะส่งเงินกลับมายังครอบครัว สถานการณ์ปัจจุบัน กลับไปนับหนึ่งใหม่ ไม่มีรัฐสภา ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเลือกตั้ง กลุ่มสหภาพและเหมาอิสต์ยังคงมีบทบาทอย่างสูงในการยึดทรัพย์สินจากกลุ่มชนชั้นสูง แต่ก็ยังไม่มีการคืนทรัพย์สมบัติเหล่านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็มาจากพรรคเหมาอิสต์ แต่พวกเขาก็รีดไถจากกลุ่มผู้ประกอบการ หมอ ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดมาให้กับประชาชน "จริงแล้วเรากลับมาที่จุดเริ่มต้น เพราะเราไม่มีทั้งรัฐสภา และไม่มีรัฐธรรมนูญ กองทัพนั้นอยู่ได้เพราะว่าจะว่าไปแล้วโดยพื้นฐาน กองทัพก็คือข้าราชการ พรรคการเมืองที่ฉลาดก็จะไม่แตะต้องกองทัพ เมื่อตอนที่ล้มสถาบันกษัตริย์ลงไป เพราะเขารู้ดีว่ามันอาจจะมีการตอบโต้จากกองทัพได้ เป็นความฉลาดของพรรคการเมืองที่จะกำจัดสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่มีการกำจัดนายพล และตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพ พวกเขาฉลาดพอที่จะรู้ว่า กองทัพที่มีกองกำลังอยู่ถึงเก้าหมื่นนายนั้นอาจจะมีการโต้ตอบอย่างฉับพลัน เมื่อพรรคการเมืองฉลาดพอที่จะไม่แตะต้องกองทัพ กองทัพก็ไม่ต้องทำอะไร นอกจากนั่งรอและดูความเป็นไปในประเทศ" นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากภายในกองกำลังเหมาอิสต์ในด้านแนวคิดในการปกครองรัฐ มีการเยี่ยมเยียนประเทศจีนและเกาหลีเหนือ และมีบางซีกของกลุ่มลัทธิเหมาที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบบสังคมนิยม หรือเผด็จการยิ่งขึ้น ซึ่งไม่มีใครในเนปาลต้องการเช่นนั้น ซึ่ง ดร.นิชาลกล่าวว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรที่เนปาลจะเป็นคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 นี้ เขากล่าวว่าเมื่อมองกลับไป สถาบันกษัตริย์นั้นดีที่สุดถ้ารักษาบทบาทในเชิงพิธีการไว้ แต่เมื่อสถาบันกษัตริย์พยายามแสดงบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศ นั่นก็เปิดทางให้สถาบันตกเป็นเหยื่อ ฐานสนับสนุนของสถาบันกษัตริย์ก็คือประชาชน นั่นคือสิ่งที่เราได้ตระหนัก พรรคการเมืองก็ต้องตระหนักเช่นกันว่า การโค่นสถาบันกษัตริย์ลงในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมาในประเทศต่างๆ นั้นเป็นการเปิดทางให้กับพวกสุดโต่ง ไม่ใช่ประชาธิปไตย รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ผู้นำพรรค หรือนักการเมืองทั้งหลายก็ต้องตระหนักเช่นกันว่า การล้มสถาบันกษัตริย์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาใน 4 ประเทศ คือ อิหร่าน กัมพูชา เอธิโอเปีย และเนปาล จะเห็นได้ว่า ทั้ง 4 ประเทศนี้เมื่อล้มสถาบันกษัตริย์ไปแล้วสิ่งที่มาแทนนั้นไม่ใช่พรรคการเมืองที่นิยมประชาธิปไตย และเป็นพรรคสังคมนิยมสุดโต่ง หรือเผด็จการที่เข้ามาแทนที่ "คุณล้มเลิกระบบหนึ่งไป แล้วเอาอีกระบบเข้ามาแทนที่ แต่ตัวละครยังเหมือนเดิม นักการเมืองยังเป็นกลุ่มเดิม ไม่ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิหรือระบอบสาธารณรัฐก็อยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ขมขื่นเช่นนั้น และผมหวังว่าจะไม่มีประเทศไหนที่ต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกับที่เนปาลเผชิญ" เงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในการเมืองเนปาล: กษัตริย์ กองทัพ และผู้นำรัฐบาล ปัจจัยต่อมา นายกรัฐมนตรีนั้นสำคัญมากสำหรับระบอบกษัตริย์ หากมองกรณีของอังกฤษ พระราชินีอลิซาเบธได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของนายกรัฐมตรีหลายคน แต่ก็ไม่เคยมีปัญหาระหว่างประมุขของรัฐ กับผู้นำรัฐบาล อย่างน้อยที่สุดความขัดแย้งหากจะมีก็ไม่ปรากฏอย่างเปิดเผย แต่ในประเทศเนปาลนั้น ประมุขของรัฐกับผู้นำรัฐบาลขัดแย้งอย่างเปิดเผย มีองคมนตรีคนหนึ่งที่ไปพูดกับนายกรัฐมนตรีถึงความไม่พอพระทัยที่กษัตริย์คยาเนนทรามีต่อตัวนายก ดร. นิสชาลเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับนายกรัฐมนตรีควรดำเนินไปด้วยการหารืออย่างอิสระและจริงใจระหว่างกัน "ปัญหาระหว่างประมุขของรัฐกับผู้นำรัฐบาลก็ยังเป็นปัญหาอยู่แม้ว่าทุกวันนี้จะเป็นประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ในบริบทเช่นนี้เราควรเรียนรู้จากประเทศยุโรป ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับผู้นำรัฐบาลได้รับการสถาปนาและดำเนินไปได้อย่างดี นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ว่าจะเป็นทางออกให้กับความมั่นคงทางการเมือง" ดร.นิสชาลกล่าวในตอนท้ายเพื่อเป็นข้อเสนอสำหรับปัญหาการเมืองระดับบนภายในเนปาล ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี ตอนที่ 2 “กระบวนการเข้าสู่การต่อสู้เพื่อ Merdeka” Posted: 13 Nov 2012 10:54 AM PST บนพื้นฐานบริบททางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ซึ่งเคยเป็นอาณาจักรปาตานีแห่งนี้ ชาวมลายูมุสลิมเรือนพันเรือนหมื่นได้เดินเข้าสู่กระบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของดินแดนที่พวกเขามองว่าถูกสยามยึดครองไป ในตอนนี้ DSJ จะเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวของเด็กหนุ่ม 2 คนที่ถูกชักชวนเข้าสู่ขบวนการและอธิบายถึงขั้นตอนการสร้าง "นักปฏิวัติ" ผ่านการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องและเอกสารที่เขียนโดยคนที่เคยอยู่ในขบวนการ ชารีฟ : จาก "เด็กติดยา" สู่ "RKK" ชารีฟ (นามสมมุติ) เรียนจบสามัญชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่ง แต่ในทางศาสนา เขาเรียนจบชั้น 10 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของการเรียนในสายศาสนาแบบทั่วไป หลังเรียนจบแล้ว เขาทำอาชีพกรีดยางซึ่งเป็นวิถีการหาเลี้ยงชีพหลักของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กหนุ่มผิวเข้มร่างกายกำยำคนนี้ยอมรับว่าเขาเคยติดกัญชาและเที่ยวผู้หญิง ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเข้าร่วมจับอาวุธในช่วงพ.ศ. 2547 ชารีฟถูกชักชวนโดยเพื่อนในหมู่บ้านคนหนึ่งซึ่งบอกกับเขาว่า "เราต้องบริสุทธิ์จริงจึงจะเข้าขบวนการได้ ต้องเลิกสิ่งที่ไม่ดี" ชารีฟเลิกอบายมุขเหล่านั้นและได้ผ่านการ "ซุมเปาะ" หรือ การสาบานตนเข้าร่วมขบวนการต่อหน้าคำภีร์อัล-กุรอ่าน คนที่มาเป็นผู้อบรมชารีฟเป็นคนที่มีความรู้ทางศาสนาซึ่งเขาให้ความเคารพและเชื่อถือ เขาไปฟังการบรรยายที่ปอเนาะทุกๆ สัปดาห์ ในกลุ่มก็จะมีประมาณ 6 – 7 คน ชารีฟเล่าว่าคนที่มาอบรมบอกกับเขาว่าการ "ญิฮาด"กับรัฐสยามนี้เป็น "ฟัรดูอีน" (fardu 'ain- ข้อกำหนดที่คนมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ) ถ้าหากว่าเขาไม่ปฏิบัติก็จะบาป ชารีฟเข้ารับการฝึกในขั้นต้นที่เรียกว่าระดับ "เปอมูดอ" (pemuda - เยาวชน) อยู่ประมาณครึ่งปี ก่อนหน้าที่จะได้เข้าไปฝึกต่อทางด้านการทหาร "ในช่วงแรกๆ เขา [ครูฝึก] ให้ไปขโมยของในร้านของคนไทยพุทธ เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจ" ชารีฟเล่าย้อนความหลัง เขากับเพื่อนไปหยิบสินค้าในร้านขายของชำเพื่อเอามาแสดงให้กับครูฝึกดูเพื่อพิสูจน์ความกล้า บททดสอบเช่นนี้ก็เพื่อทำให้คนที่อยู่ในขบวนการสร้างกำแพงแห่งความรู้สึกระหว่าง "พวกเรา" และ "คนอื่น" ให้แข็งแรงขึ้น ครูฝึกบอกว่าคนไทยพุทธเป็นผู้อพยพมาอยู่ในดินแดนของคนมลายูมุสลิมและพวกเขาเป็น "เครื่องมือของรัฐสยาม" ชารีฟบอกว่าช่วงที่เคลื่อนไหวอยู่นั้น เขาไม่เคยมีเพื่อนเป็นคนพุทธเลย เมื่อฝึกเสร็จ ชารีฟก็เริ่มปฏิบัติการในฝ่ายกองกำลังในระดับ RKK เคลื่อนไหวในพื้นที่ในปัตตานี มะแอ : "แผ่นดินนี้เป็น ดารุลฮัรบี" มะแอ (นามสมมุติ) เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในอ.เมือง จ.ยะลาซึ่งมีนักเรียนหลายพันคน ในช่วงที่เขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีอุสตาซมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้ฟังหลายครั้งว่าดินแดนแถบนี้เดิมเป็นของคนมลายูมุสลิม แต่ว่าถูกรัฐสยามเข้ามายึดครอง "อุสตาซสอนว่าเป็น วาญิบ [wayib – ข้อบังคับ] ที่จะต้องต่อสู้ เพราะแผ่นดินนี้เป็น ดารุลฮัรบี " มะแอกล่าว ตามหลักการของศาสนาอิสลาม คำว่า ดารุลฮัรบี (Dar-ul-Harb) หมายถึง "ดินแดนแห่งสงคราม" (Abode of War) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ปกครองโดยคนมุสลิมและไม่ได้ใช้ชารีอะห์เป็นกฎหมายหลักในการปกครอง คำถามที่ว่าดินแดนปาตานีนี้เป็น ดารุลฮัรบี หรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่ผู้รู้ทางศาสนาในพื้นที่มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน สิ่งที่มะแอได้รับการบอกเล่าคล้ายคลึงกับประสบการณ์ของอีกหลายๆ คนที่เข้าไปสู่ขบวนการ เรื่องเล่านี้เริ่มต้นจากว่าแผ่นดินปาตานีนี้เคยเป็นอาณาจักรอิสลาม หรือเป็นดารุลอิสลาม (Dar-ul-Islam) ต่อมาถูกสยามยึดครองจึงได้กลายเป็น ดารุลฮัรบี ฉะนั้น การญิฮาดเพื่อกอบกู้เอกราชจึงเป็นฟัรดูอีน สำหรับคนมุสลิมทุกคน ว่ากันว่าอูลามา (ผู้รู้ทางศาสนา) ของขบวนการได้ประกาศฟัตวา (fatwa - คำตัดสินในทางหลักการศาสนาอิสลาม) ให้มีการญิฮาดเพื่อเอกราชของปาตานี แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าใครมีบทบาทในการออกฟัตวานี้ คนที่อยู่ในระดับปฏิบัติการรู้แต่เพียงว่าเป็น ออแฆตูวอ (หรือเขียนแบบมาเลย์กลางว่า orang tua) ซึ่งหมายถึงผู้อาวุโสของขบวนการ มะแอเล่าว่าในตอนแรกๆ ก็ยังไม่ทราบว่าขบวนการที่ตนเองตัดสินใจเข้าไปร่วมนี้ชื่ออะไร เขารู้แต่ว่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขาคือ "นักรบฟาตอนี" เมื่อเขาจบการฝึกเปอมูดอแล้วก็ได้รับการบอกว่าขบวนการที่เขาเข้าร่วมนี้คือ BRN – Coordinate เขาเริ่มฝึกความกล้าในการปฏิบัติการด้วยการโปรยตะปูเรือใบ ป้ายสีบนป้ายถนน ก่อนเข้าฝึกเพื่อเป็น RKK โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นที่่บ่มเพาะเยาวชนให้เป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงเรียกว่า "ผู้ก่อเหตุรุนแรง" ภาพการเข้าไปพบปะครูโดยหน่วยทหารจึงเป็นภาพที่คุ้นชินในหลายโรงเรียน หลักสูตร "เปอมูดอ" กระบวนการที่ชารีฟและมะแอได้ผ่านก็คล้ายกับหลายๆ คนเพราะขบวนการวางแผนการฝึกเยาวชนอย่างเป็นระบบ ในหนังสือ "อาร์เคเคเป็นใคร ทำไมต้องเป็น RKK" ซึ่งเขียนโดยผู้ที่เคยมีบทบาทในการฝึกเยาวชนของขบวนการและเผยแพร่โดยกลุ่มนายทหารที่ทำงานในภาคใต้ได้อธิบายว่าขบวนการมีคนที่ทำงาน "ฝ่ายเปอมูดอ" ซึ่งทำหน้าที่ในการหาสมาชิกใหม่โดยเฉพาะ โดยจะทำงานสองส่วนหลักๆ คือ กลุ่มเยาวชนในโรงเรียนและกลุ่มสมาชิกในหมู่บ้าน เมื่อผ่านการซุมเปาะแล้วก็จะเข้ารับการฝึกตามลำดับขั้นที่เรียกเป็นภาษามลายูถิ่นว่า ตือกัซ ตือปอ ตารัฟ ตาแย และ วาฏอน ในชั้น ตือกัซ ซึ่งมีความหมายว่ายืนให้มั่นคง ผู้สอนจะเน้นในเรื่องประวัติศาสตร์ "บาดแผล" โดยการเล่าถึง ความรุ่งเรืองของอาณาจักรปาตานีในอดีตซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นเมืองท่าที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และพูดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายลงหลังจากถูกสยามยึดครองและรัฐสยามได้ดำเนินนโยบายในการ "กลืนวัฒนธรรม" ดังนั้นเองจึงมีความจำเป็นที่คนมลายูมุสลิมจะต้องต่อสู้เพื่อนำอิสรภาพและเอกราชกลับคืนมา มีการนำเอากรอบคิดทางศาสนาเรื่องดารุลฮัรบีมาสนับสนุนการต่อสู้ โดยย้ำว่าเป็นวาญิบที่คนมุสลิมจะต้องญิฮาดกับผู้รุกราน ในบางกรณีมีการใช้คำว่าฟัรดูอีนแทน ในขั้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ในชั้น ตือปอ ซึ่งแปลว่าสร้างเป็นช่วงของการสร้าง "นักปฏิวัติ" ที่มีจิตใจต่อสู้และเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยเชื่อมโยงการกระทำดังกล่าวกับการทำความดีตามหลักของศาสนาอิสลาม โดยจะมีการสอนเรื่องกฎบัญญัติ 10 ประการ คือ 1) ประกอบศาสนกิจ (อีบาดะห์) แด่องค์อัลเลาะห์และละเว้นอบายมุขทั้งปวง 2) ไม่เปิดเผยความลับให้กับข้าศึก ศัตรู ถึงแม้ว่าจะถูกข่มขู่คุกคาม 3) จงรักภักดีต่ออุดมการณ์ปฏิวัติและเชื่อฟังผู้นำของขบวนการ 4) เห็นแก่ประโยชน์ในการต่อสู้ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว 5) ต้องมอบทรัพย์สินและร่างกายให้กับงานต่อสู้ เมื่อต้องการ 6) ปฏิบัติงานตามความสามารถของแต่ละคนด้วยความซื่อสัตย์และบริสุทธิ์ใจ 7) ให้การตักเตือนและน้อมรับการตักเตือนด้วยความยินดีและจริงใจ 8) ต้องเข้ารับการอบรมและพบปะประชุมเมื่อถูกเรียกเชิญ 9) ยึดมั่นในคำพูดและคำสัญญา 10) ไม่สร้างความเสื่อมเสียให้กับขบวนการต่อสู้ จากหลักฐานเอกสารที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงค้นพบ กฎบัญญัติ 10 ประการนี้อาจมีการใช้คำพูดที่แตกต่างหรือเรียงลำดับข้อไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาใจความโดยรวมตรงกัน เอกสารด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารยึดได้จากเหตุการณ์ทหารพรานปะทะกับขบวนการที่ค่ายฝึกบนเทือกเขาตะเว บ้านกูตง ม.3 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2550 การปะทะกันทำให้ฝ่ายขบวนการเสียชีวิต 5 ศพ (เอกสารของกอ.รมน.) ต่อจากนั้น ในชั้น ตือปอ จะมีการฝึกความแข็งแรงของร่างกาย เช่น การวิ่ง วิดพื้น ซิทอัพ กระโดดตบ ปั่นจักรยาน ขี่ม้า ฯลฯ โดยการฝึกมักจะทำในเวลากลางคืน และจะมีการย้ำในเรื่องการญิฮาดเพื่อเอกราช ในขั้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ขั้นต่อไป คือ ตารัฟ ซึ่งแปลว่าขึ้นชั้น จะมีการเน้นในเรื่องอัตลักษณ์มลายู เช่น การแต่งกายด้วยเสื้อบงาลอ (เสื้อคอกลม แขนยาว เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ชาย) ผ้าโสร่งสก๊อตดำ การสอนในเรื่องนี้เพื่อต้องการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นมลายู สำหรับขั้น ตาแย(แหลมคม) จะเป็นการทดสอบความแข็งแรงของร่างกาย โดยจะมีการออกกำลังกายในท่าที่ได้สอนไปแล้ว แต่จะมีระยะเวลาที่นานขึ้น มีการทดสอบความกล้าหาญด้วยการให้ไปพ่นสีที่ป้ายถนน ทำลายหลักกิโลเมตร หรือโปรยใบปลิว สุดท้ายคือขั้น วาฏอน มีความหมายว่าแผ่นดินของเรา จะเป็นการจับคู่ฝึก โดยเน้นให้สมาชิกใหม่เกิดความมุ่งมั่น มีวินัยและความรับผิดชอบ โดยจะมีการฝึกออกกำลังกายเป็นคู่ ฝึกศิลปะการป้องกันตัว การปฐมพยาบาล เช่น การฉีดยา ให้น้ำเกลือ ห้ามเลือด และดูหนังสงครามและการต่อสู้ในประเทศอื่นๆ ขั้นตอนในการฝึกเปอมูดอทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นก็จะมีคณะกรรมการคัดเลือกเปอมูดอ โดยจะให้เลือก 3 สาย คือ ฝ่ายทหาร (MAY) ฝ่ายมวลชน (MASA) และ ฝ่ายเปอมูดอ ซึ่งทำหน้าที่ในการหาและฝึกสมาชิกใหม่ การฝึก RKK หลังจากจบหลักสูตรเปอมูดอแล้ว คนที่เลือกฝ่าย MAY จะต้องเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมอีก 2 ขั้นที่เรียกเป็นรหัสว่า "ตาดีกา" และ "ปอเนาะ" โดยการฝึกจะเน้นเรื่องการรบแบบกองโจรและการใช้อาวุธ หน่วยปฏิบัติการที่สำคัญของ MAY คือ ชุดปฏิบัติการในระดับหมู่บ้านที่เรียกว่า RKK ซึ่งเป็นตัวย่อของคำภาษาอินโดนีเซียว่า Runda Kumpulan Kecil แปลว่า "ชุดลาดตระเวนขนาดเล็ก" RKK หนึ่งชุดประกอบด้วยสมาชิก 6 คน คือ หัวหน้าชุด-รองหัวหน้าชุด-คนนำทาง-ประสานงานและสื่อสาร-รักษาพยาบาล-ยุทธวิธี หนังสือ "อาร์เคเคเป็นใคร ทำไมต้องเป็น RKK" ได้อธิบายว่าการฝึกในขั้น "ตาดีกา" จะเน้นในเรื่องของการวางหน่วยและป้องกันตัว การหลบหนีและการใช้อาวุธในการต่อสู้ ในขั้น "ปอเนาะ" จะสอนเรื่องการรบแบบกองโจร ซึ่งขบวนการซึ่งมีกำลังน้อยกว่ากองทัพของรัฐจำเป็นต้องเลือกใช้ยุทธวิธีการต่อสู้แบบนี้ RKK อาศัยมวลชนเป็นฐานสนับสนุนและเคลื่อนไหวในภูมิประเทศที่ตนเองมีความคุ้นเคย ในการต่อสู้จะแบ่งเป็นหน่วยขนาดเล็กเพื่อให้ง่ายต่อการพรางตัวและปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว การรบจะไม่รบแบบแตกหัก หากคู่ต่อสู้เข้มแข็ง ต้องถอยและเลือกเข้าโจมตีขณะคู่ต่อสู้อ่อนแอ ต้องเก็บความลับให้ดีที่สุด และการรบต้องสร้างความได้เปรียบคู่ต่อสู้ควบคู่ไปด้วย เช่น พรางตัวด้วยการใส่ชุดทหารในการปฏิบัติการ ในการฝึกขั้นตาดีกานั้นจะใช้เวลา 1 ปีซึ่งไม่ได้เป็นการฝึกแบบเข้มข้นทุกวัน แต่ว่าการฝึกในขั้นปอเนาะนั้นจะเป็นหลักสูตรเข้มข้นระยะเวลา 1 เดือน การจบหลักสูตร RKK นั้น จะต้องมีการปฏิบัติการจริง 1 ครั้ง RKK ที่มีฝีมือจะได้รับการคัดเลือกให้ไปฝึกขั้นสูงต่อไป โดยจะแบ่งเป็นสองส่วน หนึ่ง "ฮารีเมา" (harimau) เป็นคำในภาษามลายูแปลว่า "เสือ" ขบวนการใช้ในการเรียก "หน่วยจู่โจม" ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีฝีมือทางการทหารระดับสูงและมีความชำนาญในพื้นที่ป่าเขา และ สอง "ลือตุปัน" (letupan) ซึ่งแปลว่า "ระเบิด" ในภาษามลายู เป็รคำที่ใช้เรียกฝ่ายที่ทำหน้าที่ผลิตระเบิด สมาชิกที่ผ่านการฝึกแล้วก็จะได้ถูกมอบหมายให้เรื่มปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการวางโครงสร้างในสองปีกหลักๆ คือ MAY และ MASA ในตอนต่อไปจะได้เล่าถึงการปฏิบัติการของเหล่านักรบอิสลามที่เรียกตัวเองว่า ญูแว(juwae) เหล่านี้ หมายเหตุ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King's College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง "ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี" ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตามอ่านตอนที่ 3 "โครงสร้างขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี" ได้ในวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ** สถานที่ที่ปรากฎในภาพประกอบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาของรายงานฉบับนี้แต่อย่างใด
ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3690 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ดูบทเรียนเยอรมนี ปรับใช้กำกับดูแลทีวีดิจิตอลไทย Posted: 13 Nov 2012 10:52 AM PST (13 พ.ย.55) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การกำกับดูแลวิทยุโทรทัศน์ในยุคดิจิตอล การคุ้มครองผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ (Broadcasting Regulation in the Digital Era: Consumer Protection and Public Interest) โดย สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า ปีหน้าจะมีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่บุคลากรของ กสทช. โดยจะพูดถึงภาพรวมของการกำกับดูแลสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ดิจิตอลในเยอรมนี เน้นที่การคุ้มครองผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนีมีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นประเทศที่ตระหนักในเสรีภาพของสื่อและเสรีประชาธิปไตย ทั้งยังผ่านบทเรียนที่เจ็บปวดจากสื่อโฆษณาชวนเชื่อและการเมืองที่สร้างความเกลียดชัง จนมีแนวคิดว่าสื่อจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม สุภิญญา กล่าวว่า ประสบการณ์จากการประมูล 3G ที่ผ่านมา จะทำให้การเปิดประมูลช่องดิจิตอลในปีหน้าต้องละเอียดรอบคอบมากขึ้น โดยเน้นว่ารัฐต้องไม่เสียประโยชน์ ขณะที่ผู้ประมูลต้องมีเจตจำนงของสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากการประมูล 3G ที่ได้คลื่นไปคนก็ไปโทรหากันเอง แต่ช่องโทรทัศน์นั้นจะมีเรื่องเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้ วูลฟ์กัง ชูลซ์ ผู้อำนวยการ สถาบันฮานส์ เบรโดว มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลในเยอรมนีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้รับชมทีวีดิจิตอล 77.8% อะนาล็อก 22.2% ด้านการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มีตั้งแต่ระดับสหภาพยุโรป สหพันธ์รัฐ รัฐ และท้องถิ่น โดยในแต่ละรัฐจะมีองค์กรในลักษณะเดียวกับ กสทช.คอยดูแล ประเด็นที่กำกับดูแล อาทิ การโฆษณาในสื่อภาพและเสียง จะต้องชัดเจนว่าเป็นการโฆษณ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอก ห้ามไม่ให้แทรกสินค้าในรายการ ยกเว้นรายการบันเทิง กีฬา หรือภาพยนตร์ ห้ามโฆษณายาประเภทที่ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น บางกรณีอาจทำได้โดยต้องระบุคำเตือนลงไปในโฆษณาด้วย ไม่ให้ใช้ภาพลักษณ์ของพ่อแม่ในการขายสินค้าสำหรับเด็ก-เยาวชน เพราะจะมีอิทธิพลต่อการบริโภคของเด็ก อย่างไรก็ตาม ดร.ชูลซ์ ระบุว่า การกำกับดูแลทั้งหมดต้องคำนึงเสรีภาพในการพูด โดยเฉพาะโฆษณาด้วย เนื่องจากเป็นฐานสำคัญของธุรกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หากเข้มงวดมากเกินไป จะเป็นการคุกคามไม่ให้เกิดความหลากหลาย และกระทบต่อการเงินได้ ทั้งนี้ ดร.ชูลซ์ แสดงความเห็นว่า หากจะการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและองค์กรกำกับดูแลนั้น ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนและมีการร่างระบบให้ดี โดยนำข้อได้เปรียบจากการกำกับโดยแต่ละฝ่ายมาใช้ และจัดการไม่ให้เส้นแบ่งความรับผิดชอบเบลอ ต่อคำถามว่า ประเทศที่มีใบอนุญาตจำนวนมาก เช่นประเทศไทย ที่ดาวเทียมและเคเบิล รวมแล้วอาจจะมีถึง 10,000 ราย ควรจัดการอย่างไร ดร.ชูลซ์ เสนอว่า อาจจัดทำระเบียบเฉพาะของแต่ละส่วนขึ้น และใช้การสุ่มตรวจในจุดเสี่ยง ว่าจะเจอปัญหาโฆษณา กระทบประโยชน์ผู้บริโภคไหม พิรงรอง รามสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกำกับดูแลกันเองนั้น ทุกภาคส่วนต้องเข้มแข็ง ไม่เฉพาะองค์กรกำกับในลักษณะเดียวกับ กสทช. เท่านั้น โดยยกตัวอย่างในเยอรมนี ที่กลุ่มผู้ประกอบการดูแลกันเอง โดยเมื่อพบว่ามีผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎเรื่องการโฆษณา มากกว่า 90% ก็ยอมถอนโฆษณาออกไป ส่วนที่เหลือที่ไม่ทำตาม ก็เผยแพร่ให้สาธารณชนรู้ และภาคผู้บริโภคก็จะดำเนินการคว่ำบาตรเอง โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเข้ามา พิรงรอง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การออกกฎกำกับดูแล จะต้องมีงานวิจัยรองรับ และประเมินผลเป็นระยะ เช่น ข้อกำหนดของ Ofcom องค์กรกำกับดูแลของอังกฤษ เพื่อคุมการโฆษณาสินค้าที่มีไขมัน เกลือและน้ำตาลสูง (high fat, salt and sugar: HFSS) ในช่วงเวลาที่เด็กเปิดรับชมรายการจำนวนมาก เนื่องจากงานวิจัยพบว่า สื่อโฆษณาเป็น 1 ใน 4 ของปัจจัยที่ทำให้เด็กอ้วน หลังบังคับใช้ข้อกำหนดได้ 3 ปี พบว่าเด็กมากกว่า 40% ได้รับโฆษณาแนวนี้น้อยลง อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อแต่ละรอบนั้นมีความโกลาหลชุลมุน เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เสียงโกลาหลที่ว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องใช้เวลา ทั้งนี้ มองว่า ความชุลมุนที่เห็นเพราะมีความโปร่งใส ในอดีต การให้สัมปทานกับช่อง 3 ช่อง 7 ไม่ชุลมุน เพราะไม่มีใครรู้ แต่ปัจจุบัน เราเริ่มรู้จักผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะเข้าสู่ตลาดการแข่งขัน อุบลรัตน์ กล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในสื่อวิทยุโทรทัศน์ว่า ปัจจุบัน มีการควบคุมกันเองของสมาคมธุรกิจโฆษณาได้ระดับหนึ่ง มีภาคีตรวจสอบพอสมควร แต่ที่น่ากังวลคือ โฆษณาแฝง ที่ให้ตรงไปที่สถานีหรือรายการ ซึ่งควรมีหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ทางออกจากวิกฤติประเทศไทย Posted: 13 Nov 2012 08:05 AM PST สถานการณ์ประเทศไทยและวิกฤติในปัจจุบัน นับจากการปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายเรื่อง มีการช่วยเหลือประชาขนที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านาหรือเงินส่วย (ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา) มีการออกพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า โดยผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมากหากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากขึ้นตามลำดับ มีการการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นโดยการจัดตั้ง 'เทศบาล' ทั่วราชอาณาจักรสยามตามพระราชบัญญัติเทศบาล โดยมุ่งหวังให้การปกครองทัองถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้ให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ รวมถึงการสถาปนา 'มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง' (มธก.) ขึ้น เพื่อให้สิทธิและโอกาสของประชาชนตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา นอกจากนี้ ปรีดี พนมยงค์ ยังได้พยายามเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือ 'สมุดปกเหลือง' ต่อรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในราชอาณาจักรสยามตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยเสนอให้ดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน และได้วางหลักการประกันสังคมแก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร แต่ทั้งหมดนั้นได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ต่อมาได้มี พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเพราะมีการจำกัดการถือครองที่ดินให้ไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2503 ให้มีการยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้เอกชนได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรโดยไม่มีมาตรการรองรับ และเดินตามแนวทางการพัฒนาของธนาคารโลกนับแต่นั้นมา จนเกิดปัญหาการสะสมกรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้นอย่างรุนแรงจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ล้วนล้มลุกคลุกคลานไปตามยุคสมัย ทั้งในสมัยเผด็จการทหารและสมัยที่มีประชาธิปไตยครึ่งใบ สลับกับการรัฐประหารของกองทัพเรื่อยมากว่า 12 ครั้งในประวัติศาสตร์และครั้งสุดท้ายในปี 2549 ขณะที่ตลอดเวลา โครงสร้างทางอำนาจยังคงเป็นของชนชั้นนำทางสังคม อันประกอบไปด้วย เครือข่ายเจ้านาย นักการเมือง นายทุน ทหาร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เติบโตในระบบมาโดยตลอด พวกเขาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นชนชั้นปกครอง โดยที่ชนชั้นล่างของสังคมไทย อันประกอบไปด้วย ผู้ด้อยโอกาส กรรมกร เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ คนจนเมือง แทบไม่เคยได้โอกาสเข้าไปสู่อำนาจรัฐเพื่อออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมเลย แม้ชัยชนะของประชาชนจะได้ประกาศชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ก็เป็นการปฏิรูปประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ อันนับได้ว่าโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่กระจุกตัวทางอำนาจดังกล่าวยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะไม่เอื้อให้พรรคการเมืองของประชาชน หรือพรรคการเมืองอุดมการณ์ทางเลือกอื่นๆ ที่หลากหลายได้เข้าสู่ระบบรัฐสภาเหมือนนานาอารยะประเทศ โดยเฉพาะการปิดกั้นโอกาสจากรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง และกลไกการปกครองอื่นๆ ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยชนชั้นปกครองซึ่งประกอบด้วยชนชั้นนำดังกล่าว และพวกเขาได้เป็นผู้จัดการผลประโยชน์สาธารณะแต่ฝ่ายใดมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่เราเห็นว่า ทำไมรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จากการสรรหากึ่งหนึ่ง จากการที่เราเคยปฏิรูปการเมืองและยกเลิกมาแล้ว หรือเหตุใดพรรคการเมืองจึงใช้ชื่อ 'สังคมนิยม' ไม่ได้และถูกห้ามจดทะเบียนโดย กกต. ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมือง ขณะที่ในสังคมประชาธิปไตยในรัฐอื่น มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวและอนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางอุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อแข่งขันนโยบายทางสังคม-เศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เช่นรัฐสังคมประชาธิปไตยในสหภาพยุโรปหรือสแกนดิเนเวีย ซึ่งให้สิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่ และรัฐไม่สามารถรอนสิทธินั้นได้ตราบที่ไม่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของเขา แม้แต่กลุ่มอนาธิปไตยก็ยังมีพื้นที่อยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และประชาชนสามารถเรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายได้เต็มที่และเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้แก่สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจแบบราชอาณาจักร, สาธารณะรัฐหรือสหพันธรัฐ การจัดการเศรษฐกิจแบบผสม, สังคมนิยมหรือว่ากลไกตลาดในระบบเสรีนิยม แต่ประเทศไทยถูกจำกัดการเรียนรู้ด้าน Civic Education เหล่านี้ จึงเข้าถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างจำกัด ท่ามกลางวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมและกฎหมาย แบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม ที่ชนชั้นนำควบคุมอยู่ โครงสร้างทางอำนาจที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ทั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมเสียสมดุล การพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงมักเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำทางสังคมเท่านั้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในปัจจุบัน จนประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่อินเดียและจีนซึ่งมีพลเมืองมากกว่า ห่างกันเพียง 8 เท่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2553 จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกของประเทศมีรายได้เพียง 1.69% ของรายได้รวมเท่านั้น ความขัดแย้งจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ คือความขัดแย้งหลักของสังคมที่รอวันปะทุความรุนแรง รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นำมาสู่ค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันด้วย อันเป็นเหตุผลให้รัฐต้องจัดรัฐสวัสดิการการศึกษาอย่างถ้วนหน้าในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งเป็นวิกฤติของสังคมไทยที่ผ่านมานั้น สาเหตุหลักมาจากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำมาโดยตลอดและทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจของพวกเขาโดยปริยาย จนธุรกิจและการเมืองเหมือนจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว และคณะรัฐบาลของทหารและนายทุนที่ผ่านมาก็ไม่เคยเยียวยาปัญหานี้ทางโครงสร้างเพราะกลัวสูญเสียประโยชน์ ประเทศไทยจึงไม่มีการจัดรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะจากรัฐอย่างเต็มที่เหมือนเจตนารมณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ความเหลื่อมล้ำมหาศาลของประเทศในขณะนี้นั้น สังคมไทยต้องตั้งคำถามต่อทิศทางการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องไม่ได้อีกต่อไปแล้ว รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสานโดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติสาธารณะของสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเองอื่นใด ซึ่งถือว่าควรเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำดังกล่าวโดยไม่เปิดโอกาสให้โครงสร้างอำนาจได้ขยับตัวเปลี่ยนแปลง ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียบรรทัดฐานทางสังคมการเมืองซ้ำซ้อน จากวัฒนธรรมทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถทลายวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยมในสังคมไทยลงได้ จะด้วยการปฏิรูปกฎหมายหรือการบังคับใช้แก่ทุกฐานะทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันก็ตาม กระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังและหลังพิงความยุติธรรมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบจึงยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ต่อทุกความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปมปัญหาเรื่องบทบาทของเครือข่ายเจ้านายและสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย ยังถูกถกเถียงอย่างจำกัดในวงกว้างถึงบทบาทที่ควรจะเป็นตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังคงรุนแรงและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่ วิกฤติสังคมไทยและความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังสะท้อนถึงทิศทางประชาธิปไตยไทยที่กำลังเดินทางมาสู่ทางแพร่ง และปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างแนวทาง 'ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม' หรือประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเก่า (semi democracy) และ 'ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม' (libertarian democracy) ซึ่งแนวทางแรกนำโดยชนชั้นนำกลุ่มทุนเก่าที่ต้องการแช่แข็งนักการเมืองคอร์รัปชั่นและปฏิรูปประเทศครั้งใหม่โดยกองทัพและประชาชน แนวทางที่สองนำโดยชนชั้นนำกลุ่มทุนใหม่ที่ต้องการผลักดันประเทศไปสู่เสรีนิยมเต็มที่เพื่อกำจัดอำนาจจารีตเดิมออกไป โดยแทบไม่มีทางเลือกอื่นใดให้แก่ประชาชนได้ยืนอยู่ในสถานการณ์สงครามการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ และปรากฏการณ์ 'สี' ที่ผลักใสไล่ส่งคนที่ไม่เข้าร่วมหรือเห็นต่างให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ทั้งสองแนวทางดังกล่าว ยังไม่มีคำตอบเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำแต่อย่างใด และภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ แนวทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หรือ ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งสองแบบต่างก็เติบโตได้ดีในสังคมดังกล่าว โดยการแย่งชิงพื้นที่ระบบอุปถัมภ์นิยมเพื่อยึดโยงอำนาจของตนเอง แต่พลังภาคประชาชนไม่สามารถเติบโตได้เนื่องเพราะไม่สามารถเป็นอิสระจากรัฐและทุนได้อย่างแท้จริงภายใต้โครงสร้างและแนวทางเหล่านี้ การเมืองในโครงสร้างนี้จึงไม่มีพื้นที่ของประชาชนชั้นล่าง ไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางชนชั้นหรือพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่หลากหลาย เช่น พรรคสังคมนิยม หรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เกษตรกร คนงาน ประชาชนชั้นล่างของสังคม ถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เราจะร่วมกันปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปทางไหน อย่างไร จะเดินถอยหลังไปสู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ แบบเก่า หรือเราจะเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อไปสู่ เสรีนิยมประชาธิปไตย (Libertarian Democracy) แบบสหรัฐอเมริกา ที่เน้นเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือว่าเราต้องการทิศทางใหม่ไปสู่ 'สังคมนิยมประชาธิปไตย' (Social-Democracy) แบบหลายรัฐในสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.) แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) เมื่อเกิดการแตกตัวในขบวนการฝ่ายซ้ายยุโรป เป็น 'คอมมิวนิสต์' กับ 'สังคมนิยมประชาธิปไตย' คำหลังจึงหมายถึงสังคมนิยมที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ โดยให้ความสำคัญกับเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) และ เศรษฐศาสตร์สังคม' (Social-Economy) เป็นหลัก และสนับสนุนการปกครองที่ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ตรงที่ต้องการประชาธิปไตยทางการเมืองแบบรัฐสภานั่นเอง ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ คงปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าในโครงสร้างการปกครองแบบใด ดังนั้น สังคมนิยมประชาธิปไตย จึงมีรากฐานมาจากอุดมการณ์สังคมนิยม แล้วแตกตัวออกมาเป็น 1.สังคมนิยมปฏิวัติ หรือคอมมิวนิสต์ 2.สังคมนิยมปฏิรูป หรือ Social-Democracy ซึ่งมีแนวทางในการสร้าง 'ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง' หรือความเป็นสังคมทางเศรษฐกิจ ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.) และประชาธิปไตยทางการเมือง ตามสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) นั่นเอง ในประเทศไทยเอง นอกจากมีแนวคิดสังคมนิยมที่เป็นสายธารประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แล้ว ยังมีสายธารการเคลื่อนไหวสังคมนิยมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเรียกรวมๆ ว่าสาย 'พุทธสังคมนิยม' ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปรีดี พนมยงค์, กุหลาย สายประดิษฐ์ หรือ พุทธสังคมนิยมคนสำคัญอย่าง พุทธทาส ภิกขุ ซึ่งเสนอแนวคิดหลักทางการเมืองที่เรียกว่า 'ธรรมิกสังคมนิยม' เชื่อในแนวทางสังคมนิยมว่า ถึงที่สุดแล้วมนุษย์ต้องเสมอภาคกัน และปัญหาไม่ใช่แค่การเสียดุลทางสังคม หากรากของปัญหาคือวิกฤติที่เสียดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย คำว่า 'สังคมนิยมประชาธิปไตย' แม้มีหลายความหมายในประวัติศาสตร์ แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจร่วมกันว่าเป็นแนวทางการเมืองที่พยายามปฏิรูปทุนนิยมภายในโครงสร้างรัฐและเศรษฐกิจ มีการสร้างรัฐสวัสดิการโดยรัฐเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หลายคนเรียกระบบเศรษฐกิจแบบนี้ว่า 'เศรษฐกิจผสม' (Mixed Economy) เพราะมีการผสมภาคเอกชนกับภาครัฐภายในกรอบทุนนิยม โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป แต่ปัจจุบัน หลายประเทศที่ขบวนการประชาชนเข้มแข็ง เริ่มพัฒนาสู่การปฏิรูปนโยบายสังคม(Social-Policy)ใหม่ตามแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยมากขึ้น เช่นในแถบละตินอเมริกา เวเนซุเอลา โบลิเวีย หรือกัวเตมาลา ที่พรรคแนวสังคมนิยมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งความคิดแบบ Socialist, Social-Democracy ในทางสากลจะเน้นการเคลื่อนไหวนโยบายสังคม การเข้าไปปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมของตนเองเข้าไปต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งในปัจจุบัน สังคมนิยมปฏิรูปได้ลงหลักปักฐานในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในรูปของประเทศรัฐสวัสดิการ มีระบบประกันสังคมถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพ โดยการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในระดับสูง แนวทางในอนาคตของสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น ต้องสร้างสถาบันประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะในรูปแบบองค์กร หรือกลุ่มขบวนการใด ทั้งในทางชนชั้น อาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการของชาวนา ชาวไร่ กรรมกร คนงาน พนักงานสาขาอาชีพต่างๆ จะต้องมีขบวนการของตนเองที่เข้มแข็ง เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางชนชั้นหรือกลุ่มทางสังคมของตนเองได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดในรูปของพรรคการเมืองทางชนชั้น สาขาอาชีพ หรือในนามกลุ่มพลังทางการเมืองก็ได้ แนวคิดการใช้พรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์เป็นเครื่องมือในอนาคตนั้น เพราะว่าประชาชนไม่อาจสร้างความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นได้ หากชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นไม่เข้าไปสู่อำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐนั้นจัดวางความเป็นธรรมทางสังคม ตลอดจนผลประโยชน์ทางชนชั้น เนื่องจากระบอบการเมืองนั้นเป็นตัวกำหนดระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในประเทศแถบยุโรปนั้นสามารถสร้าง 'สังคมนิยมประชาธิปไตย' ให้เกิดขึ้นได้ เพราะมีพรรคการเมืองที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์เข้าไปสู่อำนาจรัฐ หรือพรรคตัวแทนทางชนชั้นเข้าไปต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น พรรคสังคมนิยมในประเทศสเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศเยอรมัน ที่เคยเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศหลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไป ทางออกจากวิกฤติของประเทศไทยและข้อเสนอทางการเมือง 1.ขอเรียกร้องให้ชนชั้นนำในสังคมไทย อันประกอบไปด้วยเครือข่ายเจ้านาย เครือข่ายชินวัตร กองทัพ นักการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนายทุน ทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ ร่วมกันก้าวข้ามผลประโยชน์ตนเองไปสู่ผลประโยชน์ร่วมของสังคม โดยไม่ใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการใช้ความตายของประชาชนเป็นเครื่องมือ และสนับสนุนการปฏิรูปสังคมใหม่อย่างสันติผ่านระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย โดยสนับสนุนประชาชนในการเสนอทางเลือกใหม่ไปจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 กระแสในปัจจุบันไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เน้นสังคม หรือ สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) ที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกใหม่ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเป็นทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งในปัจจุบัน 2.ต้องมีการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะปัญหาการครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาลและเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริง รวมถึงแนวทางแก้ไขการเข้าผูกขาดทรัพย์สมบัติสาธารณะของเอกชน หรือการสัมปทานแบบได้เปล่าที่เอื้อผลประโยชน์ต่อรัฐน้อยเกินไป โดยรัฐจะต้องเข้ามาดูแลโภคทรัพย์ส่วนรวมของสังคมและกระจายสู่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนแต่ปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่แบบทันสมัยโดยถือให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนหลัก โดยเฉพาะ การซื้อคืนกิจการ ปตท. การจัดการเรื่องพลังงานของประเทศเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ การขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อทั้งประเทศ และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคมอื่นๆ 3.ต้องมีการสร้างหลักประกันการคุ้มครองทางสังคมอย่างเร่งด่วน และผลักดันให้ประเทศนี้เป็น 'รัฐสวัสดิการ' เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบทุนนิยมที่รัฐปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มหาศาลจากการคุ้มครองดูแลของรัฐเอง โดยมีการนำเอานโยบายใน 'เค้าโครงการเศรษฐกิจ' ของนายปรีดี พนมพยงค์ ขึ้นมาทบทวนและปรับใช้ใหม่ โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และแนวคิดของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง 'จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน' เพื่อให้รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างแท้จริง รวมถึงสร้างพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จะต้องมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การประกันสังคม การประกันการว่างงานและการสนับสนุนระบบสหกรณ์ โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค 4.ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนท้องที่อย่างเต็มที่ มากกว่าการผลิตบัณฑิตตอบสนองกลไกตลาดอย่างเดียว โดยยุติการนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบและแปรรูปไปเป็นของคณะบุคคล การศึกษาต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามหลักด้านเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ใคร่ศึกษาหาความรู้ควรได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเปิดโอกาสอย่างจำกัดทางด้านการศึกษาเท่านั้น โดยอาจผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดละ 1 แห่งเป็นทั่วประเทศเป็นการให้การบริการสาธารณะด้านการศึกษาแก่ทุกคนที่สนใจ และมีการเปิดการเรียนรู้พลเมืองหรือ Civic Education อย่างเปิดกว้างโดยไม่ปิดกั้น มีการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวาง และสนับสนุนการศึกษาทางเลือก 5.เพื่อให้มีงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการดังกล่าว รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง และภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ควรมีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อให้รัฐและท้องถิ่น นำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการทางสังคม เช่น การขนส่งมวลชนสาธารณะ การศึกษาและการสาธารณะสุข เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพปลอดพ้นจากความอดอยากแร้นแค้น โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคม ซึ่งหากภาษีที่รัฐเก็บมา ใช้จ่ายไปในกลุ่มที่เป็นกลุ่มรายได้ระดับล่างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะสามารถลดช่องว่างของคนในสังคมได้มากยิ่งขึ้น 6.ต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบและจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 360 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติประมาณ 25% คงเหลือประมาณ 270 ล้านไร่ให้ใช้ประโยชน์ซึ่งจะเฉลี่ยได้เพียงคนละ 4-5 ไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากของเอกชนจนเกิดการกระจุกตัว โดยไม่มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ดินไม่ควรเอาเข้าสู่ระบบกลไกตลาดด้วยซ้ำ, ประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น โดยมีมาตรการจำกัดการถือครองเพิ่มขึ้นไม่เกิน 100 ไร่ หรือตามความจำเป็น เป็นต้น และสนับสนุนนโยบายการเก็บภาษีที่ดินฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ครอบคลุมมาตรการดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เกษตรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนไร้สัญชาติในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เก็บ นอกจากเป็นมาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน และสามารถพัฒนาโครงสร้างทางการคลังเพื่อนำไปสู่ภาวการณ์กระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้ ยังเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและกระจายการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริงเช่นนี้ นอกจากฐานรายได้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่าในอดีตถึงปัจจุบัน เราจะมีการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ไม่ได้เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ โดยคำนวณจาก 'ค่ารายปี' หรือค่าเช่าที่เจ้าของได้รับในแต่ละปี ถ้ามีการออกกฏหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง 7.ต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้กลไก ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามหลักประชาธิปไตยและเจตจำนงค์ประชาชนอย่างแท้จริงในการมีส่วนออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อแก้ไขข้อครหาที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 และผลพวงของการรัฐประหาร 2549 ซึ่งได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากเจตจำนงค์ของประชาชนลง โดยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตามกติกาสากลระหว่างประเทศ (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี (2539) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2491) จะต้องถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลักการที่ว่า "ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยผ่านผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ และเจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล โดยเจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง" รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศ (ICESR.) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี (2542) ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ต้องยกเลิกการบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคและการกีดกันการเข้าสู่การเมืองด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะระดับการศึกษา รวมถึงการแก้ไขการบัญญัติระบบเศรษฐกิจที่ให้ขึ้นต่อกลไกตลาดด้วย เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการทุนนิยม หากไม่สามารถใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสานได้ ฯลฯ 8.ต้องมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ปิดกั้นการรวมตัวทางการเมืองของประชาชนและเป็นอุปสรรคให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบพรรคการเมืองในประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยภายในพรรค มีลักษณะพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะการรวมตัวเป็นพรรคของประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนทางนโยบายและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง, รวมถึงการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา การกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองของพลเมืองและพรรคการเมืองทางเลือกของประชาชนจากกลุ่มชนชั้นต่างๆ โดยต้องแก้ไขให้มีการเลือกตั้งจากสถานที่ประกอบการหรือในโรงงานที่ทำงานได้ตามการเรียกร้องสิทธิแรงงานในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน 9.ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองได้ เพราะมีความลักลั่นและทับซ้อนกันในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของระบบราชการไทย โดยให้มีการรับรองสิทธิการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชน และการจัดการเศรษฐกิจตามลักษณะพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนในท้องที่อย่างแท้จริง โดยไม่ถูกอำนาจแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุนในการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปทำกิจการในพื้นที่โดยไม่ผ่านการประชามติ และให้มี 'สภาหมู่บ้าน' ที่กฎหมายรับรองอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุลและถอดถอนผู้แทนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในกรณีไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ในชุมชน ฯลฯ 10.ให้มีการทบทวนแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ โดยพิจารณาหลักสิทธิมนุษยชนสากล และลดโทษลงกว่าที่มีอยู่ ตามข้อเสนอของ คอป. ที่ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการฟ้องร้องดังกล่าวตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำให้ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์
[1] อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544, ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) 2545-2550, เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (2550-2552), อดีตอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี 1-5 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา [2] เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) ก่อตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองบนแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) ประกอบไปด้วยคณะบุคคล-ประชาชนทั่วไปที่เห็นว่า ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง คือทางออกของประเทศไทย โดยมีโครงการจัดตั้งสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank) ทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการและ Think Tank ของขบวนการ ดำเนินการจัดเวทีสร้างองค์ความรู้/อภิปรายสาธารณะ รวมถึงการจัดตั้ง/สร้างนักสังคมนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่อุดมการณ์ทางสังคมและสร้างเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้ เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) มีเป้าหมายที่จะทำงานเป็นภาคีความร่วมมือทางการเมืองร่วมกับองค์กรประชาชนต่างๆ ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนงาน เกษตรกร นักศึกษา ปัญญาชนและนักวิชาการ, กลุ่มขบวนการคนจนต่างๆ กลุ่มสหพันธ์/สหภาพแรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานนอกระบบ และกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยสนับสนุนองค์กรเยาวชน (Youth Wing) ของขบวนการให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) สหภาพเยาวชนแรงงาน (YWU) และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อขับเคลื่อนขบวนการคนหนุ่มสาวในประเทศไทย ให้เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อไป รวมถึงเชื่อมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นภาคีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Socialist International(SI), The Party of European Socialists (PES) , International Union of Socialist Youth (IUSY) ซึ่งมีเยาวชนของพรรคสังคมประชาธิปไตย, พรรคสังคมนิยม, พรรคแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลกเป็นสมาชิกกว่า 100 ประเทศ, World Federation of Democratic Youth (WFDY) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั่วโลก และ Young Progressives South East Asia (YPSEA) องค์กรเยาวชนซึ่งมีสมาชิกกว่า 16 องค์กร ในประเทศอาเซียน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ทางออกจากวิกฤติประเทศไทย Posted: 13 Nov 2012 08:05 AM PST
บทความจากการประชุมเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democrat Movement) ครั้งที่ 1/2555 วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2555 ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ สถานการณ์ประเทศไทยและวิกฤติในปัจจุบัน นับจากการปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายเรื่อง มีการช่วยเหลือประชาขนที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านาหรือเงินส่วย (ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา) มีการออกพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า โดยผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมากหากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากขึ้นตามลำดับ มีการการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นโดยการจัดตั้ง 'เทศบาล' ทั่วราชอาณาจักรสยามตามพระราชบัญญัติเทศบาล โดยมุ่งหวังให้การปกครองทัองถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้ให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ รวมถึงการสถาปนา 'มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง' (มธก.) ขึ้น เพื่อให้สิทธิและโอกาสของประชาชนตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา นอกจากนี้ ปรีดี พนมยงค์ ยังได้พยายามเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือ 'สมุดปกเหลือง' ต่อรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในราชอาณาจักรสยามตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยเสนอให้ดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน และได้วางหลักการประกันสังคมแก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร แต่ทั้งหมดนั้นได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ต่อมาได้มี พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเพราะมีการจำกัดการถือครองที่ดินให้ไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2503 ให้มีการยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้เอกชนได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรโดยไม่มีมาตรการรองรับ และเดินตามแนวทางการพัฒนาของธนาคารโลกนับแต่นั้นมา จนเกิดปัญหาการสะสมกรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้นอย่างรุนแรงจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ล้วนล้มลุกคลุกคลานไปตามยุคสมัย ทั้งในสมัยเผด็จการทหารและสมัยที่มีประชาธิปไตยครึ่งใบ สลับกับการรัฐประหารของกองทัพเรื่อยมากว่า 12 ครั้งในประวัติศาสตร์และครั้งสุดท้ายในปี 2549 ขณะที่ตลอดเวลา โครงสร้างทางอำนาจยังคงเป็นของชนชั้นนำทางสังคม อันประกอบไปด้วย เครือข่ายเจ้านาย นักการเมือง นายทุน ทหาร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เติบโตในระบบมาโดยตลอด พวกเขาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นชนชั้นปกครอง โดยที่ชนชั้นล่างของสังคมไทย อันประกอบไปด้วย ผู้ด้อยโอกาส กรรมกร เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ คนจนเมือง แทบไม่เคยได้โอกาสเข้าไปสู่อำนาจรัฐเพื่อออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมเลย แม้ชัยชนะของประชาชนจะได้ประกาศชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ก็เป็นการปฏิรูปประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ อันนับได้ว่าโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่กระจุกตัวทางอำนาจดังกล่าวยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะไม่เอื้อให้พรรคการเมืองของประชาชน หรือพรรคการเมืองอุดมการณ์ทางเลือกอื่นๆ ที่หลากหลายได้เข้าสู่ระบบรัฐสภาเหมือนนานาอารยะประเทศ โดยเฉพาะการปิดกั้นโอกาสจากรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง และกลไกการปกครองอื่นๆ ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยชนชั้นปกครองซึ่งประกอบด้วยชนชั้นนำดังกล่าว และพวกเขาได้เป็นผู้จัดการผลประโยชน์สาธารณะแต่ฝ่ายใดมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่เราเห็นว่า ทำไมรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จากการสรรหากึ่งหนึ่ง จากการที่เราเคยปฏิรูปการเมืองและยกเลิกมาแล้ว หรือเหตุใดพรรคการเมืองจึงใช้ชื่อ 'สังคมนิยม' ไม่ได้และถูกห้ามจดทะเบียนโดย กกต. ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมือง ขณะที่ในสังคมประชาธิปไตยในรัฐอื่น มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวและอนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางอุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อแข่งขันนโยบายทางสังคม-เศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เช่นรัฐสังคมประชาธิปไตยในสหภาพยุโรปหรือสแกนดิเนเวีย ซึ่งให้สิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่ และรัฐไม่สามารถรอนสิทธินั้นได้ตราบที่ไม่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของเขา แม้แต่กลุ่มอนาธิปไตยก็ยังมีพื้นที่อยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และประชาชนสามารถเรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายได้เต็มที่และเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้แก่สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจแบบราชอาณาจักร, สาธารณะรัฐหรือสหพันธรัฐ การจัดการเศรษฐกิจแบบผสม, สังคมนิยมหรือว่ากลไกตลาดในระบบเสรีนิยม แต่ประเทศไทยถูกจำกัดการเรียนรู้ด้าน Civic Education เหล่านี้ จึงเข้าถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างจำกัด ท่ามกลางวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมและกฎหมาย แบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม ที่ชนชั้นนำควบคุมอยู่ โครงสร้างทางอำนาจที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ทั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมเสียสมดุล การพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงมักเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำทางสังคมเท่านั้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในปัจจุบัน จนประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่อินเดียและจีนซึ่งมีพลเมืองมากกว่า ห่างกันเพียง 8 เท่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2553 จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกของประเทศมีรายได้เพียง 1.69% ของรายได้รวมเท่านั้น ความขัดแย้งจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ คือความขัดแย้งหลักของสังคมที่รอวันปะทุความรุนแรง รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นำมาสู่ค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันด้วย อันเป็นเหตุผลให้รัฐต้องจัดรัฐสวัสดิการการศึกษาอย่างถ้วนหน้าในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งเป็นวิกฤติของสังคมไทยที่ผ่านมานั้น สาเหตุหลักมาจากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำมาโดยตลอดและทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจของพวกเขาโดยปริยาย จนธุรกิจและการเมืองเหมือนจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว และคณะรัฐบาลของทหารและนายทุนที่ผ่านมาก็ไม่เคยเยียวยาปัญหานี้ทางโครงสร้างเพราะกลัวสูญเสียประโยชน์ ประเทศไทยจึงไม่มีการจัดรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะจากรัฐอย่างเต็มที่เหมือนเจตนารมณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ความเหลื่อมล้ำมหาศาลของประเทศในขณะนี้นั้น สังคมไทยต้องตั้งคำถามต่อทิศทางการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องไม่ได้อีกต่อไปแล้ว รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสานโดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติสาธารณะของสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเองอื่นใด ซึ่งถือว่าควรเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำดังกล่าวโดยไม่เปิดโอกาสให้โครงสร้างอำนาจได้ขยับตัวเปลี่ยนแปลง ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียบรรทัดฐานทางสังคมการเมืองซ้ำซ้อน จากวัฒนธรรมทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถทลายวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยมในสังคมไทยลงได้ จะด้วยการปฏิรูปกฎหมายหรือการบังคับใช้แก่ทุกฐานะทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันก็ตาม กระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังและหลังพิงความยุติธรรมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบจึงยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ต่อทุกความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปมปัญหาเรื่องบทบาทของเครือข่ายเจ้านายและสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย ยังถูกถกเถียงอย่างจำกัดในวงกว้างถึงบทบาทที่ควรจะเป็นตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังคงรุนแรงและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่ วิกฤติสังคมไทยและความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังสะท้อนถึงทิศทางประชาธิปไตยไทยที่กำลังเดินทางมาสู่ทางแพร่ง และปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างแนวทาง 'ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม' หรือประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเก่า (semi democracy) และ 'ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม' (libertarian democracy) ซึ่งแนวทางแรกนำโดยชนชั้นนำกลุ่มทุนเก่าที่ต้องการแช่แข็งนักการเมืองคอร์รัปชั่นและปฏิรูปประเทศครั้งใหม่โดยกองทัพและประชาชน แนวทางที่สองนำโดยชนชั้นนำกลุ่มทุนใหม่ที่ต้องการผลักดันประเทศไปสู่เสรีนิยมเต็มที่เพื่อกำจัดอำนาจจารีตเดิมออกไป โดยแทบไม่มีทางเลือกอื่นใดให้แก่ประชาชนได้ยืนอยู่ในสถานการณ์สงครามการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ และปรากฏการณ์ 'สี' ที่ผลักใสไล่ส่งคนที่ไม่เข้าร่วมหรือเห็นต่างให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ทั้งสองแนวทางดังกล่าว ยังไม่มีคำตอบเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำแต่อย่างใด และภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ แนวทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หรือ ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งสองแบบต่างก็เติบโตได้ดีในสังคมดังกล่าว โดยการแย่งชิงพื้นที่ระบบอุปถัมภ์นิยมเพื่อยึดโยงอำนาจของตนเอง แต่พลังภาคประชาชนไม่สามารถเติบโตได้เนื่องเพราะไม่สามารถเป็นอิสระจากรัฐและทุนได้อย่างแท้จริงภายใต้โครงสร้างและแนวทางเหล่านี้ การเมืองในโครงสร้างนี้จึงไม่มีพื้นที่ของประชาชนชั้นล่าง ไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางชนชั้นหรือพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่หลากหลาย เช่น พรรคสังคมนิยม หรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เกษตรกร คนงาน ประชาชนชั้นล่างของสังคม ถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เราจะร่วมกันปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปทางไหน อย่างไร จะเดินถอยหลังไปสู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ แบบเก่า หรือเราจะเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อไปสู่ เสรีนิยมประชาธิปไตย (Libertarian Democracy) แบบสหรัฐอเมริกา ที่เน้นเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือว่าเราต้องการทิศทางใหม่ไปสู่ 'สังคมนิยมประชาธิปไตย' (Social-Democracy) แบบหลายรัฐในสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.) แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) เมื่อเกิดการแตกตัวในขบวนการฝ่ายซ้ายยุโรป เป็น 'คอมมิวนิสต์' กับ 'สังคมนิยมประชาธิปไตย' คำหลังจึงหมายถึงสังคมนิยมที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ โดยให้ความสำคัญกับเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) และ เศรษฐศาสตร์สังคม' (Social-Economy) เป็นหลัก และสนับสนุนการปกครองที่ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ตรงที่ต้องการประชาธิปไตยทางการเมืองแบบรัฐสภานั่นเอง ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ คงปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าในโครงสร้างการปกครองแบบใด ดังนั้น สังคมนิยมประชาธิปไตย จึงมีรากฐานมาจากอุดมการณ์สังคมนิยม แล้วแตกตัวออกมาเป็น 1.สังคมนิยมปฏิวัติ หรือคอมมิวนิสต์ 2.สังคมนิยมปฏิรูป หรือ Social-Democracy ซึ่งมีแนวทางในการสร้าง 'ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง' หรือความเป็นสังคมทางเศรษฐกิจ ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.) และประชาธิปไตยทางการเมือง ตามสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) นั่นเอง ในประเทศไทยเอง นอกจากมีแนวคิดสังคมนิยมที่เป็นสายธารประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แล้ว ยังมีสายธารการเคลื่อนไหวสังคมนิยมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเรียกรวมๆ ว่าสาย 'พุทธสังคมนิยม' ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปรีดี พนมยงค์, กุหลาย สายประดิษฐ์ หรือ พุทธสังคมนิยมคนสำคัญอย่าง พุทธทาส ภิกขุ ซึ่งเสนอแนวคิดหลักทางการเมืองที่เรียกว่า 'ธรรมิกสังคมนิยม' เชื่อในแนวทางสังคมนิยมว่า ถึงที่สุดแล้วมนุษย์ต้องเสมอภาคกัน และปัญหาไม่ใช่แค่การเสียดุลทางสังคม หากรากของปัญหาคือวิกฤติที่เสียดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย คำว่า 'สังคมนิยมประชาธิปไตย' แม้มีหลายความหมายในประวัติศาสตร์ แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจร่วมกันว่าเป็นแนวทางการเมืองที่พยายามปฏิรูปทุนนิยมภายในโครงสร้างรัฐและเศรษฐกิจ มีการสร้างรัฐสวัสดิการโดยรัฐเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หลายคนเรียกระบบเศรษฐกิจแบบนี้ว่า 'เศรษฐกิจผสม' (Mixed Economy) เพราะมีการผสมภาคเอกชนกับภาครัฐภายในกรอบทุนนิยม โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป แต่ปัจจุบัน หลายประเทศที่ขบวนการประชาชนเข้มแข็ง เริ่มพัฒนาสู่การปฏิรูปนโยบายสังคม(Social-Policy)ใหม่ตามแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยมากขึ้น เช่นในแถบละตินอเมริกา เวเนซุเอลา โบลิเวีย หรือกัวเตมาลา ที่พรรคแนวสังคมนิยมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งความคิดแบบ Socialist, Social-Democracy ในทางสากลจะเน้นการเคลื่อนไหวนโยบายสังคม การเข้าไปปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมของตนเองเข้าไปต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งในปัจจุบัน สังคมนิยมปฏิรูปได้ลงหลักปักฐานในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในรูปของประเทศรัฐสวัสดิการ มีระบบประกันสังคมถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพ โดยการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในระดับสูง แนวทางในอนาคตของสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น ต้องสร้างสถาบันประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะในรูปแบบองค์กร หรือกลุ่มขบวนการใด ทั้งในทางชนชั้น อาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการของชาวนา ชาวไร่ กรรมกร คนงาน พนักงานสาขาอาชีพต่างๆ จะต้องมีขบวนการของตนเองที่เข้มแข็ง เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางชนชั้นหรือกลุ่มทางสังคมของตนเองได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดในรูปของพรรคการเมืองทางชนชั้น สาขาอาชีพ หรือในนามกลุ่มพลังทางการเมืองก็ได้ แนวคิดการใช้พรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์เป็นเครื่องมือในอนาคตนั้น เพราะว่าประชาชนไม่อาจสร้างความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นได้ หากชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นไม่เข้าไปสู่อำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐนั้นจัดวางความเป็นธรรมทางสังคม ตลอดจนผลประโยชน์ทางชนชั้น เนื่องจากระบอบการเมืองนั้นเป็นตัวกำหนดระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในประเทศแถบยุโรปนั้นสามารถสร้าง 'สังคมนิยมประชาธิปไตย' ให้เกิดขึ้นได้ เพราะมีพรรคการเมืองที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์เข้าไปสู่อำนาจรัฐ หรือพรรคตัวแทนทางชนชั้นเข้าไปต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น พรรคสังคมนิยมในประเทศสเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศเยอรมัน ที่เคยเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศหลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไป ทางออกจากวิกฤติของประเทศไทยและข้อเสนอทางการเมือง 1.ขอเรียกร้องให้ชนชั้นนำในสังคมไทย อันประกอบไปด้วยเครือข่ายเจ้านาย เครือข่ายชินวัตร กองทัพ นักการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนายทุน ทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ ร่วมกันก้าวข้ามผลประโยชน์ตนเองไปสู่ผลประโยชน์ร่วมของสังคม โดยไม่ใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการใช้ความตายของประชาชนเป็นเครื่องมือ และสนับสนุนการปฏิรูปสังคมใหม่อย่างสันติผ่านระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย โดยสนับสนุนประชาชนในการเสนอทางเลือกใหม่ไปจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 กระแสในปัจจุบันไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เน้นสังคม หรือ สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) ที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกใหม่ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเป็นทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งในปัจจุบัน 2.ต้องมีการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะปัญหาการครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาลและเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริง รวมถึงแนวทางแก้ไขการเข้าผูกขาดทรัพย์สมบัติสาธารณะของเอกชน หรือการสัมปทานแบบได้เปล่าที่เอื้อผลประโยชน์ต่อรัฐน้อยเกินไป โดยรัฐจะต้องเข้ามาดูแลโภคทรัพย์ส่วนรวมของสังคมและกระจายสู่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนแต่ปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่แบบทันสมัยโดยถือให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนหลัก โดยเฉพาะ การซื้อคืนกิจการ ปตท. การจัดการเรื่องพลังงานของประเทศเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ การขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อทั้งประเทศ และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคมอื่นๆ 3.ต้องมีการสร้างหลักประกันการคุ้มครองทางสังคมอย่างเร่งด่วน และผลักดันให้ประเทศนี้เป็น 'รัฐสวัสดิการ' เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบทุนนิยมที่รัฐปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มหาศาลจากการคุ้มครองดูแลของรัฐเอง โดยมีการนำเอานโยบายใน 'เค้าโครงการเศรษฐกิจ' ของนายปรีดี พนมพยงค์ ขึ้นมาทบทวนและปรับใช้ใหม่ โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และแนวคิดของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง 'จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน' เพื่อให้รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างแท้จริง รวมถึงสร้างพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จะต้องมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การประกันสังคม การประกันการว่างงานและการสนับสนุนระบบสหกรณ์ โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค 4.ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนท้องที่อย่างเต็มที่ มากกว่าการผลิตบัณฑิตตอบสนองกลไกตลาดอย่างเดียว โดยยุติการนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบและแปรรูปไปเป็นของคณะบุคคล การศึกษาต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามหลักด้านเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ใคร่ศึกษาหาความรู้ควรได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเปิดโอกาสอย่างจำกัดทางด้านการศึกษาเท่านั้น โดยอาจผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดละ 1 แห่งเป็นทั่วประเทศเป็นการให้การบริการสาธารณะด้านการศึกษาแก่ทุกคนที่สนใจ และมีการเปิดการเรียนรู้พลเมืองหรือ Civic Education อย่างเปิดกว้างโดยไม่ปิดกั้น มีการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวาง และสนับสนุนการศึกษาทางเลือก 5.เพื่อให้มีงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการดังกล่าว รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง และภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ควรมีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อให้รัฐและท้องถิ่น นำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการทางสังคม เช่น การขนส่งมวลชนสาธารณะ การศึกษาและการสาธารณะสุข เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพปลอดพ้นจากความอดอยากแร้นแค้น โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคม ซึ่งหากภาษีที่รัฐเก็บมา ใช้จ่ายไปในกลุ่มที่เป็นกลุ่มรายได้ระดับล่างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะสามารถลดช่องว่างของคนในสังคมได้มากยิ่งขึ้น 6.ต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบและจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 360 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติประมาณ 25% คงเหลือประมาณ 270 ล้านไร่ให้ใช้ประโยชน์ซึ่งจะเฉลี่ยได้เพียงคนละ 4-5 ไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากของเอกชนจนเกิดการกระจุกตัว โดยไม่มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ดินไม่ควรเอาเข้าสู่ระบบกลไกตลาดด้วยซ้ำ, ประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น โดยมีมาตรการจำกัดการถือครองเพิ่มขึ้นไม่เกิน 100 ไร่ หรือตามความจำเป็น เป็นต้น และสนับสนุนนโยบายการเก็บภาษีที่ดินฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ครอบคลุมมาตรการดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เกษตรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนไร้สัญชาติในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เก็บ นอกจากเป็นมาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน และสามารถพัฒนาโครงสร้างทางการคลังเพื่อนำไปสู่ภาวการณ์กระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้ ยังเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและกระจายการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริงเช่นนี้ นอกจากฐานรายได้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่าในอดีตถึงปัจจุบัน เราจะมีการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ไม่ได้เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ โดยคำนวณจาก 'ค่ารายปี' หรือค่าเช่าที่เจ้าของได้รับในแต่ละปี ถ้ามีการออกกฏหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง 7.ต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้กลไก ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามหลักประชาธิปไตยและเจตจำนงค์ประชาชนอย่างแท้จริงในการมีส่วนออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อแก้ไขข้อครหาที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 และผลพวงของการรัฐประหาร 2549 ซึ่งได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากเจตจำนงค์ของประชาชนลง โดยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตามกติกาสากลระหว่างประเทศ (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี (2539) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2491) จะต้องถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลักการที่ว่า "ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยผ่านผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ และเจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล โดยเจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง" รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศ (ICESR.) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี (2542) ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ต้องยกเลิกการบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคและการกีดกันการเข้าสู่การเมืองด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะระดับการศึกษา รวมถึงการแก้ไขการบัญญัติระบบเศรษฐกิจที่ให้ขึ้นต่อกลไกตลาดด้วย เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการทุนนิยม หากไม่สามารถใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสานได้ ฯลฯ 8.ต้องมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ปิดกั้นการรวมตัวทางการเมืองของประชาชนและเป็นอุปสรรคให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบพรรคการเมืองในประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยภายในพรรค มีลักษณะพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะการรวมตัวเป็นพรรคของประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนทางนโยบายและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง, รวมถึงการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา การกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองของพลเมืองและพรรคการเมืองทางเลือกของประชาชนจากกลุ่มชนชั้นต่างๆ โดยต้องแก้ไขให้มีการเลือกตั้งจากสถานที่ประกอบการหรือในโรงงานที่ทำงานได้ตามการเรียกร้องสิทธิแรงงานในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน 9.ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองได้ เพราะมีความลักลั่นและทับซ้อนกันในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของระบบราชการไทย โดยให้มีการรับรองสิทธิการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชน และการจัดการเศรษฐกิจตามลักษณะพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนในท้องที่อย่างแท้จริง โดยไม่ถูกอำนาจแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุนในการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปทำกิจการในพื้นที่โดยไม่ผ่านการประชามติ และให้มี 'สภาหมู่บ้าน' ที่กฎหมายรับรองอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุลและถอดถอนผู้แทนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในกรณีไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ในชุมชน ฯลฯ 10.ให้มีการทบทวนแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ โดยพิจารณาหลักสิทธิมนุษยชนสากล และลดโทษลงกว่าที่มีอยู่ ตามข้อเสนอของ คอป. ที่ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการฟ้องร้องดังกล่าวตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำให้ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์
[1] อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544, ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) 2545-2550, เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (2550-2552), อดีตอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี 1-5 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา [2] เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) ก่อตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองบนแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) ประกอบไปด้วยคณะบุคคล-ประชาชนทั่วไปที่เห็นว่า ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง คือทางออกของประเทศไทย โดยมีโครงการจัดตั้งสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank) ทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการและ Think Tank ของขบวนการ ดำเนินการจัดเวทีสร้างองค์ความรู้/อภิปรายสาธารณะ รวมถึงการจัดตั้ง/สร้างนักสังคมนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่อุดมการณ์ทางสังคมและสร้างเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้ เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) มีเป้าหมายที่จะทำงานเป็นภาคีความร่วมมือทางการเมืองร่วมกับองค์กรประชาชนต่างๆ ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนงาน เกษตรกร นักศึกษา ปัญญาชนและนักวิชาการ, กลุ่มขบวนการคนจนต่างๆ กลุ่มสหพันธ์/สหภาพแรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานนอกระบบ และกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยสนับสนุนองค์กรเยาวชน (Youth Wing) ของขบวนการให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) สหภาพเยาวชนแรงงาน (YWU) และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อขับเคลื่อนขบวนการคนหนุ่มสาวในประเทศไทย ให้เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อไป รวมถึงเชื่อมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นภาคีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Socialist International(SI), The Party of European Socialists (PES) , International Union of Socialist Youth (IUSY) ซึ่งมีเยาวชนของพรรคสังคมประชาธิปไตย, พรรคสังคมนิยม, พรรคแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลกเป็นสมาชิกกว่า 100 ประเทศ, World Federation of Democratic Youth (WFDY) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั่วโลก และ Young Progressives South East Asia (YPSEA) องค์กรเยาวชนซึ่งมีสมาชิกกว่า 16 องค์กร ในประเทศอาเซียน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สัญลักษณ์ต้านรัฐประหารต่อกบฏ เสธ.อ้าย: จะทำอย่างไรกันดี? Posted: 13 Nov 2012 07:57 AM PST นักคิดหลายคนบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสัญลักษณ์ อันสะท้อนถึงความคิดความเชื่อความรู้สึก และมนุษย์มีความปรารถนาต้องการแสดงออกถึงตัวตนโดยผ่านสัญลักษณ์ บ้างเป็นสัญลักษณ์ปัจเจกชน บ้างเป็นสัญลักษณ์รวมหมู่ ที่มีลักษณะองค์กรก็มีให้เห็น สัญลักษณ์แสดงออกได้หลากหลายรูปแบบที่สะท้อนถึงเนื้อหานั้นๆ และขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบริบทในสังคมนั้นๆ ด้วย เช่น สัญลักษณ์ความรักชาติ ต้องแสดงออกโดยการยืนตรงร้องเพลงชาติ สัญลักษณ์ชูสองนิ้วหมายถึงชัยชนะ ภาพที่มีการจับมือกลมเกลียวในรูปโลโก้ อาจบ่งบอกถึงสัญลักษณ์แห่งความสามัคคี การใส่ชุดดำอาจหมายความว่าเศร้าในงานศพ สีชมพูอาจสะท้อนช่วงความรักฤดูหนาว รูปปั้นลุงนวมทอง ไพรวัลย์ บ่งบอกถึงสามัญชนต้านรัฐประหาร การไม่ยืนที่เชื่อว่าคนเท่ากัน ฯลฯ สัญลักษณ์อาจผ่านการแสดงท่าทาง เสื้อผ้าที่ใส่ สี โปสเตอร์ แผ่นป้าย บทเพลง กวี ฯลฯ การต่อสู้ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน มีการขับเคลื่อนผ่านสัญลักษณ์เสื้อสี แน่นอนว่า สีแดงหมายถึงฝ่ายศรัทธาประชาธิปไตย สีเหลืองหมายถึงการนิยมอำมาตยอนุรักษย์นิยม อย่างที่รับรู้กันอยู่ มนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่มีสัญลักษณ์ การต่อสู้เชิงสัญลักษรณ์เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งในแนวรบหนึ่ง ปรากฏการณ์ "เสธอ้าย" เสียงดังฟังชัด ว่าต้องการ "รัฐประหาร" "แช่แข็งประเทศไทย" โดยการไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชน ต้องการตั้งรัฐบาลโดยพวกเขาเอง ไม่อยากให้นักการเมืองมีอำนาจ ยังคิดว่าประชาชน "ตาบอด" มิใช่ "ตาสว่าง" พวกเขาคิดว่า ประชาชนยังโง่ถูกหลอกลวงถูกซื้อ ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงในบ้านนี้เมืองนี้ นอกจาก พวกเขาเหล่าอำมาตย์เท่านั้น ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ทั้งเสื้อแดง และนปช. ได้ประกาศแสดงพลังคัดค้านการรัฐประหารทั้งทางตรงและซ่อนรูป โดยการจัดกิจกรรมชุมนุมในหลายพื้นที่ หลายภาค มีการขึ้นป้ายสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์คัดค้านรัฐประหารในหลายแห่งเช่นกัน อันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สะท้อนถึงความคิดความเชื่อของพวกเขา สำหรับผู้รักประชาธิปไตยทั้งในเขตกรุงเทพและต่างจังหวัด ควรมีสัญลักษณ์เช่นใดต่อ การเชิญชวนรัฐประหารของเสธ.อ้ายในครั้งนี้ หากท่านทั้งหลายไม่ต้องการรัฐประหารสังคมไทยอีกแล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม รัฐประหารควรจบเสียที การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษญ์ เป็นได้ทั้งปัจเจกและรวมหมู่ได้ในตัวมันเอง เช่น ชวนกันเปิดไฟรถ ชวนกันแต่งชุดดำ ทำธงดำติดหน้ารถ ชวนการใส่เสื้อหนาว ชวนกันปิดแอร์ ชวนกันติดริบบิ้นขาว และอื่นๆ ที่ชวนการนำเสนอ ผ่าน facebook เครื่องมือการต่อสู้สมัยใหม่ก็ได้ ควรคิดค้นสัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับประชาชนทุกกลุ่มที่พึงกระทำ ร่วมกิจกรรมได้ยิ่งหมาะสม เพราะประชาธิปไตยต้องการส่วนร่วมของคนจำนวนมากๆ และเป็นเอกภาพยิ่งมีพลังรวมหมู่ โปรดลองพิจารณากันดู และควรกระทำกันก่อนวันดีเดย์ของ เสธ.อ้าย 24 พฤศจิกายนนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เวทีนักการเมืองชายแดนใต้แนะรัฐให้ความสำคัญข้อเสนอประชาสังคม Posted: 13 Nov 2012 07:45 AM PST ชี้ถึงเวลาประชาชนตรวจสอบและประเมินผลงานรัฐ รัฐต้องให้ความกระจ่างในการใช้กฎหมายพิเศษ อีกทั้งผลักดันนโยบายเขตปกครองพิเศษเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาไฟใต้ได้ เวทีเสวนานักการเมืองชายแดนใต้ครั้งที่ 9 แนะรัฐต้องให้ความสำคัญข้อเสนอภาคประชาสังคมเท่าๆ ของฝ่ายความมั่นคง ชี้ถึงเวลาประชาชนตรวจสอบและประเมินผลงานรัฐ รัฐต้องให้ความกระจ่างในการใช้กฎหมายพิเศษ อีกทั้งผลักดันนโยบายเขตปกครองพิเศษเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาไฟใต้ได้ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมขวัญจุฑา 1 โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อ.เมือง จ.ปัตตานีสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จัดสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 9 เพื่อเดินหน้าสู่สันติสุขที่มั่นคง มีนักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 15 คน เวลา 13.00 น. นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคมาตุภูมิ นายนิมุคตาร์ วาบาอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทยและ นายดาโต๊ะสุทธิพันธ์ ศรีริกานนท์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนผู้ร่วมเสวนาแถลงข่าวสรุปการสานเสวนา นายเด่น แถลงสรุปผลการแลกเปลี่ยนในประเด็นทั่วไปว่า ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักการเมือง ได้ทำการศึกษาและเสนอแนะทางออกแก่รัฐบาลในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องกฎหมายความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม และด้านการบริหารจัดการหลายประการ ซึ่งที่ประชุมเสวนาเสนอว่าขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญและนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพิจารณาด้วย "อยากให้ทางรัฐบาลนำข้อเสนอแนะต่างๆ ของภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคมไปพิจารณาและให้ความสำคัญกับข้อเสนอเหล่านี้ไม่น้อยไปกว่าข้อเสนอแนะจากฝ่ายความมั่นคง" นายเด่น กล่าว นอกจากนี้ ในเวทีเสวนายังได้มีข้อเสนอถึงแนวทางการใช้กฎหมายพิเศษว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนพึงมีสิทธิและมีโอกาสตรวจสอบและประเมินผลงานของภาครัฐให้มากขึ้น เช่น ประเมินความเหมาะสมของการจัดทำงบประมาณ ประเมินความรัดกุมและประสิทธิผลการใช้งบประมาณ ประเมินนโยบายที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาชน เป็นต้น ในส่วนของการนำเสนอในประเด็นทั่วไป ที่ประชุมมีความกังวลว่า ปัจจุบันมีการลอบทำร้ายซึ่งกันและกันระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ โดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นปัญหาการก่อความไม่สงบโดยตรง เพราะผู้ตกเป็นเหยื่อคือชาวบ้านธรรมดา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงมีข้อสันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา เช่น เป็นการไล่บุคคลต่างชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่ มีกระบวนการติดอาวุธที่มิใช่ฝ่ายขบวนการฯ หรือเป็นการแก้แค้นกันไปมา ที่ประชุมจึงขอเสนอให้รัฐบาลให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ และให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น เพื่อลดบรรยากาศความหวาดระแวงและฟื้นฟูการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในประเด็นการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน กฏอัยการศึก และพรบ.ความมั่นคงภายในในบางพื้นที่ทำให้เกิดผลกระทบแก่คนในพื้นที่อย่างมาก เช่น มีข้อมูลให้เชื่อถือได้ว่าผู้ที่ถูกเชิญตัวไปและมีรายชื่ออยู่ในระบบสารสนเทศ อาจถูกตัดสิทธิ์ในการสมัครเข้ารับราชการ ไม่ได้รับความสะดวกในการขอลงตราหนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจจ์อย่างทันท่วงที และไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น "เพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ฝ่ายรัฐควรทำความกระจ่างในเรื่องนี้ ว่ามิได้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ต้องข้อหาแต่อย่างใด โดยเฉพาะ ให้บุคคลเหล่านั้นได้รับใบรับรองจากฝ่ายความมั่นคง ให้ได้รับสิทธิการเยียวยา ตามกฎเกณฑ์ของ ศอ.บต. ด้วย" นายเด่น กล่าว สำหรับข้อเสนอให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษตามนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยนั้น ที่ประชุมขอให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง แม้ ในขณะที่ยังไม่มีการออกกฎหมายมารองรับ แต่รัฐบาลสามารถดำเนินการโดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ดำเนินการให้เหมือนกันเสมอไปทั้งประเทศ เพราะเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยการโอนอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อำนาจด้านนโยบายและบุคลากรด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านคดีครอบครัวและมรดก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์และภาษา นายเด่น แถลงสรุปว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ฝ่ายรัฐบางฝ่ายมักอ้างว่า ถ้าไม่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับ ใครจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการรับผิดชอบของตนนั้นมีส่วนช่วยลดความรุนแรงได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องมีสิทธิ ในการตรวจสอบและประเมินผลงานของภาครัฐ "ข้อเสนอเวทีของ 8 เวทีผ่านมายังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ดังนั้นที่ประชุมมติว่าในการประชุมครั้งต่อในวันที่ 14 มกราคม 2555 ที่จังหวัดยะลาจะต้องมีการเชิญตัวแทนจาก ศอ.บต.และตัวแทนจากหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาประชุมด้วย เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวรับทราบข้อเสนอและคิดอย่างไรต่อข้อเสนอเหล่านี้" นายเด่น กล่าวในระหว่างแถลง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สุรพศ ทวีศักดิ์: ค้านท์ ขงจื้อ พุทธ กับประเด็น ‘จริยศาสตร์ไร้หัวใจ’ Posted: 13 Nov 2012 07:27 AM PST ขอเริ่มด้วยประเด็นที่ผมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์สมภาร พรมทา ทางอีเมลดังต่อไปนี้ (ตัดบางข้อความออกเพื่อความกระชับ) พอดีอ่านวารสารปัญญาฉบับล่าสุด (ดูเหมือนอาจารย์สมภารจะพูดในเชิงเทียบเคียงกับนิทเช่ และฮิตเลอร์ด้วย โปรดดู http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/Wisdom%20Magazine%20volume%203%20nunber%202rar) เห็นอาจารย์พูดผ่านๆ ว่า "จริยศาสตร์ค้านท์ไร้หัวใจ" อะไรประมาณนี้ จึงอยากลองแย้งอาจารย์ดูดังที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊กให้คนอื่นมาแลกเปลี่ยนกันเล่นๆ ดังนี้ครับ จริยศาสตร์ค้านท์คือ "จริยศาสตร์ที่ไร้หัวใจ" (?) คำถามคือ กรณีทำตามความรักความหวังดีด้วยการบังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่ตนไม่อยากเรียน กับกรณีฝืนเอาชนะความรักความหวังดีนั้นแล้วเคารพการตัดสินใจอย่างอิสระของลูก อย่างไหนที่แสดงความเป็นคนมี "หัวใจ" กันแน่? นี่แสดงว่า "ความมีหัวใจ" มีอยู่แล้วอย่างชัดเจนใน "หลักการทางจริยธรรม" คือหลัก "เคารพความเป็นมนุษย์ที่มีจุดหมายในตัวเอง ไม่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือ" ใช่หรือไม่? ดีครับอาจารย์ที่เอาไปคิดต่อ ไม่ทราบว่าคนอื่นๆ ท่านจะคิดเห็นว่าอย่างไร บางทีเรื่องคานต์อาจขึ้นกับตัวอย่าง เช่น ลูกเป็นตำรวจ เห็นพ่อทำผิดกฎหมาย จะทำอย่างไร คานต์น่าจะบอกว่า ก็ต้องทำตามกฎหมาย คนก็จะมองว่า ลูกที่ทำได้เช่นนี้จะต้องอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกในเรื่องความเป็นพ่อลูก ซึ่งบางคนอาจเห็นว่าลูกทำถูกแล้ว แต่ขงจื๊อคิดอีกอย่าง ขงจื๊อคิดว่าความผูกพันซึ่งแสดงออกเป็นความรู้สึกระหว่างพ่อลูกใหญ่กว่าหน้าที่ ดังนั้นข้อแนะนำของขงจื๊อคือ ลูกต้องไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับพ่อ แต่หากรู้สึกผิดที่ไม่ทำหน้าที่ก็อาจชดเชยด้วยการลาออกจากการเป็นตำรวจ ผมคิดว่าข้อเสนอของสองคนนี้ต่างกัน ขงจื๊อสอนจริยธรรมแบบอิงกับอารมณ์ คำถามผมคือ พุทธศาสนาเราเห็นด้วยกับใครระหว่างสองคนนี้ ฝากไปโพสต์ต่อด้วยนะครับ ผมยังติดใจบางประเด็นอยู่ครับ (อาจารย์จะตอบหรือไม่ก็ได้) ด้วยความยินดีครับ เรื่องนี้น่าคิด แรกที่อ่านขงจื๊อเรื่องนี้ ผมมีปฏิกิริยาไม่ค่อยดี แต่เมื่อค่อยๆศึกษาอย่างพยายามที่จะเข้าใจ ทำให้ผมเห็นว่า ที่สุดแล้ว มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลก็ต้องเลือกที่จะคิดจากมุมใดมุมหนึ่งเสมอเพื่อแก้ปัญหาทางจริยธรรมที่ตนประสบ ขงจื๊อคิดว่าปัญหาจริยธรรมในชีวิตคนจำนวนหนึ่งคล้ายกัน คือคิดโดยไม่ต้องใช้อารมณ์ได้ แต่บางเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหรือสิ่งที่เรารู้จัก ตรงนี้แหละครับจะมีปัญหา ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวนั้นขงจื๊อยกมาเป็นตัวอย่างของปัญหาจริยธรรมแบบนี้ ซึ่งเราต้องเลือกว่าจะเอาสังคมหรือพ่อของเรา ถ้าเลือกสังคม เราก็ต้องปฏิบัติต่อพ่อของเราไม่ต่างจากคนอื่น แต่ถ้าเลือกพ่อ เราก็ต้องไม่ทำอย่างนั้น ผมมีสองประเด็นที่จะพูดต่อ คือ ประเด็นความมีหัวใจของจริยศาสตร์แบบค้านท์ อยู่ที่ "เจตนาดี" หรือ good will และอยู่ที่หลักการทางจริยธรรมที่ค้านท์เสนอ กับประเด็นพุทธศาสนาเห็นด้วยกับค้านท์หรือขงจื้อ ประเด็นแรก เวลาเราพูดถึง "ความมีหัวใจ" หากหมายเพียงว่าเป็นการทำตามอารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความปรารถนาดี ความพึงพอใจ หรือทำตามเงื่อนไขความผูกพันส่วนบุคคล จริยศาตร์ของค้านท์ก็ไร้หัวใจในความหมายนี้ แต่ถ้าความมีหัวใจหมายรวมถึงการมี "สำนึกในความถูกต้อง" สำนึกในการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หรือสำนึกในการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง ผมคิดว่าเจตนาดีหรือ good will ในจริยศาสตร์ของค้านท์คือสำนึกที่ว่านี้ และสำนึกดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เรามี "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" (moral courage) และความกล้าหาญทางจริยธรรมนี่เองที่แสดงถึงความมีหัวใจเสียสละ หรือหัวใจที่ยอมเจ็บปวดเพื่อยืนยันความถูกต้องที่อิงหลักความยุติธรรมบนความเสมอภาค ค้านท์ยอมรับว่า ในโลกของความเป็นจริงหรือโลกปรากฏการณ์ (phenomenon) มนุษย์มีแรงโน้มต่างๆ (inclinations) ที่จะทำตามอารมณ์ความรู้สึก สัญชาตญาณที่เป็นกลไกตามกฎธรรมชาติ ทำตามเงื่อนไขที่จะให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ รวมทั้งทำตามอิทธิพลของรัฐ ศาสนา จารีตประเพณี ฯลฯ ภาพความจริงของโลกตามที่ปรากฏคือโลกที่เป็นไปตามกลไกของกฎความเห็นสาเหตุและผลหรือเงื่อนไขต่างๆ ตามทัศนะแบบเหตุวิสัย (determinism) ค้านท์เห็นว่าเมื่อเราทำตามแรงโน้มต่างๆ ในโลกปรากฏการณ์เราย่อมไม่มีเสรีภาพ และการกระทำตามแรงโน้มต่างๆ ที่เป็นกลไกเช่นนั้นย่อมไม่ใช่การกระทำที่มีค่าเป็นความดีทางศีลธรรม แต่ในโลกของศีลธรรมคือโลกของเสรีภาพและเหตุผล คือเมื่อเราจะตัดสินใจเลือกการกระทำที่ถูกต้องทางศีลธรรม เราต้องมี "เสรีภาพ" จากแรงโน้มต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งหมายถึงมีเจตจำนงอิสระ (free will) ที่มีอำนาจกำหนดตนเอง (autonomy) ให้ทำตามเหตุผลปฏิบัติ (practical reason) ที่สร้างหลักการทางศีลธรรม (maxims) ของตนเองขึ้นมาในความหมายว่าเป็นหลักการสากลที่ใช้กับทุกคนได้อย่างเสมอภาค และเป็นหลักการที่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะมีจุดหมายในตัวเอง ไม่ใช้มนุษย์ (ตนเองและคนอื่น) เป็นเครื่องมือ ฉะนั้น แม้จะเป็นจริงว่าเรามีอารมณ์ความรู้สึก และมีแนวโน้มจะทำตามอารมณ์ความรู้สึกอยู่เสมอ แต่ค้านท์เชื่อว่ามนุษย์เราสามารถฝืนเอาชนะอารมณ์ความรู้สึกได้ คือสามารถมีเสรีภาพที่จะกำหนดตัวเองให้ทำตามเหตุผลได้ และมีแต่การทำตามเหตุผลเท่านั้นการตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรมจึงเที่ยงตรง ผมคิดว่า ความมีหัวใจในจริยศาสตร์ของค้านท์ย่อมอยู่ที่ตัวหลักการทางศีลธรรมที่ (1) ทำให้เป็นกฎสากล (ยุติธรรม/เสมอภาค) ได้ และ (2) หลักการเคารพศักดิ์ศรีของเป็นมนุษย์ (ไม่ใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือ) นี่เอง และอยู่ที่ good will หรือสำนึกในการกระทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือทำตาม "หน้าที่" ตามหลักการทั้งสองนั้นด้วย ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่การทำตาม "หน้าที่" ทุกอย่างจะเป็นความถูกต้องทางศีลธรรมเสมอไป หน้าที่ซึ่งถือเป็นความถูกต้องทางศีลธรรมต้องเป็นไปตามหลักการทางศีลธรรมสองประการนี้เท่านั้น หากเป็นหน้าที่ซึ่งขัดแย้งกับหลักการสองข้อนี้ย่อมไม่ใช่ความถูกต้องทางศีลธรรม (เช่น การกระทำที่ไร้หัวใจแบบฮิตเลอร์ไม่ใช่การทำตาม "หน้าที่" บนหลักการทางศีลธรรมที่ค้านท์เสนอ เป็นต้น) ทำไมค้านท์จึงเสนอว่า เวลาเราตัดสินใจเลือกการกระทำทางศีลธรรมต้องใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ความรู้สึก ก็เพราะค้านท์ต้องการความแน่นอน ความเป็นสากลของการกระทำที่ถูต้องทางศีลธรรมที่อยู่บนความยุติธรรม ความเสมอภาค ความเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งการทำตามเหตุผลเหนืออารมณ์ดังกล่าวเป็นไปได้เมื่อเราทำตามจิตสำนึกในการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง เหมือนผู้พิพากษาผู้ซึ่งมีสำนึกปกป้องความยุติธรรมต้องทำตามเหตุผลเหนืออารมณ์ความรู้สึกหรืออิทธิพลใดๆ ในกรณีเช่นนี้เราไม่อาจมองว่าผู้พิพากษาไร้หัวใจ หรือเป็น "หุ่นยนต์ทางศีลธรรม" การทำตามเหตุผลเหนืออารมณ์ความรู้สึก หรือการทำตามจิตสำนึกในความถูกต้องเพื่อความถูกต้อง จิตสำนึกทำหน้าที่เพื่อหน้าที่บนหลักการสากลที่ยึดความเสมอภาคและการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ย่อมไม่ใช่หุ่นยนต์ทางศีลธรรมเช่นกัน ประเด็นที่สอง ผมคิดว่าสาระสำคัญของหลักจริยศาสตร์พุทธศาสนาน่าจะโน้มเอียงมาทางค้านท์มากกว่าขงจื้อ เช่น แม้ว่าพุทธศาสนาจะสอนเรื่องศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลพ่อ แม่ ลูก ครู ศิษย์ เป็นต้น และในบางกรณีพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นพิเศษ (เช่นตัวอย่างการอนุญาตให้ญาติที่เคยนับถือศาสนาอื่นมาก่อนบวชเป็นกรณีพิเศษที่ อ.สมภารยกมา) แต่โดยทั่วไปพุทธศาสนาถือว่าความถูกต้องสำคัญกว่า ไม่เช่นนั้นเจ้าชายสิทธัตถะคงไม่ละทิ้งครอบครัวและขบถต่อความต้องการของพ่อหากไม่เห็นว่าเป้าหมายที่ถูกต้อง (โพธิญาณ) สำคัญกว่าความรู้สึกผูกพันส่วนบุคคล และในศีลธรรมทางสังคมพุทธศาสนาก็ยืนยัน "ความถูกต้องเป็นใหญ่" (ธรรมาธิปไตย) ซึ่งหมายความว่า ความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเหนือเงื่อนไขอื่นๆ เช่น อารมณ์ความรู้สึก อำนาจ ผลประโยชน์ และ ฯลฯ ที่ต่างจากค้านท์คือพุทธศาสนายอมรับการกระทำตามอารมณ์ความรู้สึกด้านบวกว่าเป็นความดีทางศีลธรรม เช่น ทำด้วยความรัก ความเมตตากรุณา หรือเห็นว่าความเมตตากรุณาควรบ่มเพาะให้งอกงาม แต่ถึงที่สุดแล้ว การใช้คุณธรรมส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกด้านบวกต่างๆ นั้น ก็ต้องใช้บนพื้นฐานของปัญญาที่ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ฉะนั้น ในกรณีที่ต้องเลือกระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับความถูกต้อง เช่น ตำรวจที่เป็นลูกควรจับพ่อที่เป็นอาชญากรหรือไม่ ผมเข้าใจว่าพุทธศาสนาจะเห็นด้วยกับคำแนะนำแบบค้านท์มากกว่าที่จะเห็นด้วยกับคำแนะนำแบบขงจื้อ อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากป้าหมายทางจริยศาสตร์พุทธศาสนามุ่งอิสรภาพด้านใน ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเสนอให้ฝึกกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่ยินดียินร้าย (หรือที่ท่านพุทธทาสบอกว่า "ทำด้วยจิตว่าง" จากความรู้สึกว่ามีตัวกู ของกู น่าจะคล้ายการศึกษาที่ฝึกการใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ตามความคิดของค้านท์ที่ อ.สมภารอ้างถึง) ซึ่งหมายถึงการกระทำด้วยปัญญานั่นเอง และคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของอริยบุคคลคือเป็นผู้รับรู้โลกธรรมด้วยความไม่ยินดียินร้าย และเป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา บางครั้งอาจทำให้มองได้ว่าวิธีฝึกฝนแบบนี้เหมือนการทำตัวเองให้เป็น "หุ่นยนต์ทางศีลธรรม" แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนพุทธศาสนาจะเห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกด้านบวก เช่นความเมตตากรุณาไปด้วยกันได้กับปัญญา คือยิ่งปัญญางอกงาม ความรัก ความเมตตาต่อเพื่อมนุษย์และสรรพสัตว์อย่างปราศจากอคติยิ่งงอกงามตามไปด้วย ทว่าเมื่อใช้เมตตากรุณาก็ต้องใช้บนฐานของปัญญา อย่างที่พุทธะมีกรุณาต่อสรรพสัตว์เสมอกัน แต่เมื่อต้องวินิจฉัยถูกผิดทางศีลธรรมก็ต้องใช้ปัญญานำทางเสมอ อันที่จริงศีลธรรมบนฐานของอารมณ์ความรู้สึกอาจดูมีเหตุผลเมื่อใช้กับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น พ่อ แม่ ลูก เพื่อน หรือเกี่ยวกับการเลือกใช้ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลที่จะตัดสินใจเลือกตามความพึงพอใจและรับผิดชอบตัวเอง แต่เมื่อนำมาใช้ในเรื่องทางสังคมจะมีปัญหามาก (ดังเช่น อ.สมภารยกตัวอย่าง และในที่สุดหากเป็นเรื่องสังคมก็ต้องเลือกค้านท์) ตัวอย่างเช่น ในบ้านเรา "หลักศีลธรรมทางสังคม" ที่อิงอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก "รักในหลวง" ที่ปลูกฝังหลักการทางศีลธรรมแบบเงื่อนไขว่า "ถ้ารักในหลวงก็ต้องจงรักภักดี และทำดีเพื่อในหลวง" หรือหลักศีลธรรมแบบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ถือว่า "การทำดี การเป็นคนดีขึ้นอยู่กับความจงรักภักดี กตัญญูต่อแผ่นดิน ใช้หนี้แผ่นดิน" ในที่สุดหลักการศีลธรรมบนฐานของอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ก็อาจกลายเป็น "หลักศีลธรรมเผด็จการ" ที่ไร้หัวใจที่เคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ยิ่งกว่าหลักศีลธรรมที่อยู่บนฐานของเหตุผล เพราะเป็นหลักศีลธรรมที่ "บล็อก" ไม่ให้มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกด้านตรงข้าม คนที่ถูกบล็อกให้อยู่ภายใต้หลักศีลธรรมดังกล่าวนี้จึงอาจเป็นยิ่งกว่า "หุ่นยนต์ทางศีลธรรม" เสียอีก คือยังเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตเป็นๆ อยู่ แต่เป็นเพียง "มนุษย์เครื่องมือ" สำหรับค้ำยันความมั่นคงสถาพรของชนชั้นผู้มีอำนาจที่ตนมีหน้าที่ต้องจงรักภักดีเท่านั้น ที่สำคัญหลักศีลธรรมที่อยู่บนฐานของอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าว มันก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นปกครองที่จะวางมาตรฐานตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรมของของสังคม ซึ่งแน่นอนว่า หลักการทางศีลธรรมเช่นนี้ไม่มีทางใส่ใจเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์มากไปกว่าการปกป้องสถานะอำนาจของชนชั้นปกครองเอง ฉะนั้น เมื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ได้รับการเคารพ ความจริง ความเป็นธรรมก็ไม่ได้รับการเคารพด้วย เราจึงอยู่กับความหลอกลวง (ดราม่า) มากกว่าความจริง อยู่กับความไร้เหตุผลมากกว่าความมีเหตุผล อยู่อย่างคุ้นชินกับความอยุติธรรมจนรู้สึกเย็นชากับการสังหารหมู่กลางเมือง และอยู่กับการหลอกตัวเองว่ามี "เสรีภาพ" จนไม่เห็นคุณค่าหรือกระทั่งต่อต้านการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ดังผู้ประสงค์ยืนยันความเป็น "ประชาชน" หรือความเป็น "เสรีชน" ของตนเองต้องถูกฆ่าครั้งแล้วครั้งเล่า โดยผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่ายังลอยนวลเสมอมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
การผูกขาดอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ Posted: 13 Nov 2012 06:45 AM PST จากกรณีกระแสการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ จนมีผลทำให้รัฐบาลต้องถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระในการเสนอต่อรัฐสภานั้น กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ออกมาคัดค้านต่างเห็นด้วยตรงกันในประเด็นที่จะมีการปรับปรุงแก้ไข คือเรื่องของวาระในการดำรงตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน จากเดิมที่กำหนดว่าพ้นวาระเมื่อมีอายุครบ 60 ปีตามมาตรา 14 (1) สำหรับผู้ใหญ่บ้าน และมาตรา 31 (5) เป็นมีวาระในการดำรงตำแหน่งเพียง 5 ปีนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือ เพราะเหตุใดกำนันและผู้ใหญ่บ้านจึงออกมาคัดค้านโดยอ้างเหตุผลว่า กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นตำแหน่งที่มีประวัติอันยาวนานสืบเนื่องไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 และประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ การอ้างว่า กำนันและผู้ใหญ่บ้านถือเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด บทความนี้ต้องการจะนำเสนอให้เห็นภาพในมุมกว้างของอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยท้องถิ่น (démocratie locale) หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นนั้น คือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกกิจกรรมของรัฐหรือที่มีการใช้อำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องของคนในพื้นที่ กำนันผู้ใหญ่บ้านก็เช่นกัน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ได้กำหนดถึงที่มาของกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชากรในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งตรงนี้หากมองในแง่ของหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็อาจมองได้ว่า เข้าหลักเกณฑ์ เพราะถือว่าประชาชนในแต่ละพื้นที่นั้นได้ออกมาแสดงหรือใช้สิทธิในการเลือกคนที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว หากแต่เมื่อมองถึงคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งจะพบว่า วาระในการดำรงตำแหน่ง ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ หากแต่กฎหมายกำหนดเพียงแค่หมดวาระเมื่ออายุครบหกสิบปี หมายความว่าประชาชนในพื้นที่เมื่อเลือกกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านแล้ว จะต้องอยู่กับกำนันผู้ใหญ่บ้านคนนั้นไปตลอดจนกว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะเกษียณ มองในแง่นี้จะเห็นว่า การที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ ย่อมจะทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกหรือหากไม่พอใจในการทำงานของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ก็จำทนต้องรับสภาพต่อไปใช่หรือไม่ แน่นอนว่าการเมืองในระดับท้องที่ หากไม่พอใจผู้ดำรงตำแหน่ง คงไม่สามารถี่จะเรียกร้องให้ทางกองทัพออกมากดดันหรือทำรัฐประหารได้เฉกเช่นเดียวกับการเมืองระดับชาติ อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถที่จะถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ตามมาตรา 14 (6) คือ เมื่อราษฎรผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑ ในหมู่บ้านนั้น จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของราษฎรผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑ ทั้งหมดเข้าชื่อกันขอให้ออกจากตำแหน่ง ในกรณีเช่นนั้นให้นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่งสำหรับกรณีของผู้ใหญ่บ้าน สำหรับกำนันนั้น การออกจากตำแหน่งในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ก็ใช้วิธีการเดียวกันกับการเข้าชื่อให้ออกจากผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง ประเด็นต่อมาคือ อำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านไว้ดังต่อไปนี้ มาตรา ๒๗ ผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านของตน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) อำนวยความเป็นธรรมและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน (๒) สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีในท้องที่ (๓) ประสานหรืออำนวยความสะดวกแก่ราษฎรในหมู่บ้านในการติดต่อหรือรับบริการกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๔) รับฟังปัญหาและนำความเดือดร้อน ทุกข์สุขและความต้องการที่จำเป็นของราษฎรในหมู่บ้าน แจ้งต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขหรือช่วยเหลือ (๕) ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๖) ควบคุมดูแลราษฎรในหมู่บ้านให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยกระทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรตามที่ทางราชการได้แนะนำ (๗) อบรมหรือชี้แจงให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในข้อราชการ กฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ ในการนี้ สามารถเรียกราษฎรมาประชุมได้ตามสมควร (๘) แจ้งให้ราษฎรให้ความช่วยเหลือในกิจการสาธารณประโยชน์เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายสาธารณะอันมีมาโดยฉุกเฉิน รวมตลอดทั้งการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย (๙) จัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง (๑๐) ปฏิบัติตามคำสั่งของกำนันหรือทางราชการและรายงานเหตุการณ์ที่ไม่ปกติซึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้านให้กำนันทราบ พร้อมทั้งรายงานต่อนายอำเภอด้วย (๑๑) ปฏิบัติตามภารกิจหรืองานอื่นตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือตามที่กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมอบหมาย มาตรา ๒๘ ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่และอำนาจในการที่เกี่ยวด้วยความอาญาดังต่อไปนี้ คือ ข้อ ๑ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย เกิดขึ้นหรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตน ต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลให้ทราบ ข้อ ๒ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ใกล้เคียง ต้องแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นให้ทราบ ข้อ ๓ เมื่อตรวจพบของกลางที่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายมีอยู่ก็ดี หรือสิ่งของที่สงสัยว่าได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นสิ่งของสำหรับใช้ในการกระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับสิ่งของนั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล ข้อ ๔ เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกำลังกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่า เป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับตัวผู้นั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล ข้อ ๕ ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการ ให้จับผู้ใดในหมู่บ้านนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะจับผู้นั้น และรีบส่งต่อกำนัน หรือกรมการอำเภอตามสมควร ข้อ ๖ เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้น หรือให้ยึด ผู้ใหญ่บ้านต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย และอำนาจของกำนันไว้ดังต่อไปนี้ มาตรา ๓๔ บรรดาการที่จะตรวจตรารักษาความปกติเรียบร้อยในตำบล คือ การที่จะว่ากล่าวราษฎรในตำบลนั้น ให้ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายก็ดี หรือการที่จะป้องกันภยันตรายและรักษาความสุขสำราญของราษฎรในตำบลนั้นก็ดี หรือการที่จะรับกิจสุขทุกข์ของราษฎรในตำบลนั้นขึ้นร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการเมือง กรมการอำเภอ และจะรับข้อราชการมาประกาศแก่ราษฎรในตำบลนั้นก็ดีหรือที่จะจัดการตามพระราชกำหนด กฎหมาย เช่นการตรวจและนำเก็บภาษีอากรในตำบลนั้นก็ดี การทั้งนี้อยู่ในหน้าที่ของกำนันผู้เป็นนายตำบล ผู้ใหญ่บ้านทั้งปวงในตำบลนั้น และแพทย์ประจำตำบลจะต้องช่วยกันเอาเป็นธุระจัดการให้เรียบร้อยได้ตามสมควรแก่หน้าที่ มาตรา ๓๔ ทวิ นอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวโดยเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกำนัน ให้กำนันมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้านด้วย มาตรา ๓๕ กำนันมีหน้าที่และอำนาจในการที่เกี่ยวด้วยความอาญาดังต่อไปนี้ คือ ข้อ ๑ เมื่อทราบข่าวว่า มีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในตำบลของตน ต้องแจ้งความต่อกรมการอำเภอให้ทราบ ข้อ ๒ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในตำบลที่ใกล้เคียงต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลนั้นให้ทราบ ข้อ ๓ เมื่อปรากฏว่า ผู้ใดกำลังกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่าเป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับผู้นั้นไว้ และรีบนำส่งต่อกรมการอำเภอ ข้อ ๔ ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการให้จับผู้ใดในตำบลนั้น เป็นหน้าที่ของกำนันที่จะจับผู้นั้นแล้วรีบส่งต่อกรมการอำเภอตามสมควร ข้อ ๕ เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้นหรือให้ยึด กำนันต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย ข้อ ๖ ถ้ามีผู้มาขออายัดตัวคนหรือสิ่งของก็ดีหรือผู้ต้องโจรกรรม จะทำกฎหมายตราสิน หรือมีผู้จะขอทำชันสูตรบาดแผลก็ดี ทั้งนี้ให้กำนันสืบสวนฟังข้อความแล้วรีบนำตัวผู้ขอและผู้ต้องอายัด และทรัพย์สิ่งของบรรดาที่จะพาไปด้วยนั้นไปยังกรมการอำเภอ ถ้าสิ่งของอย่างใดจะพาไปไม่ได้ ก็ให้กำนันชันสูตรให้รู้เห็น แล้วนำความไปแจ้งต่อกรมการอำเภอในขณะนั้น มาตรา ๓๖ ถ้ากำนันรู้เห็นเหตุทุกข์ร้อนของราษฎร หรือการแปลกประหลาดเกิดขึ้นในตำบลต้องรีบรายงานต่อกรมการอำเภอให้ทราบ มาตรา ๓๗ ถ้าเกิดจลาจลก็ดี ฆ่ากันตายก็ดี ชิงทรัพย์ก็ดี ปล้นทรัพย์ก็ดี ไฟไหม้ก็ดี หรือเหตุร้ายสำคัญอย่างใด ๆ ในตำบลของตน หรือในตำบลที่ใกล้เคียงอันสมควรจะช่วยได้ก็ดี หรือมีผู้ร้ายแต่ที่อื่นมามั่วสุมในตำบลนั้นก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่าลูกบ้านในตำบลนั้น บางคนจะเกี่ยวข้องเป็นโจรผู้ร้ายก็ดี เป็นหน้าที่ของกำนันจะต้องเรียกผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านในตำบลออกช่วยต่อสู้ติดตามจับผู้ร้ายหรือติดตามเอาของกลางคืน หรือดับไฟ หรือช่วยอย่างอื่นตามควรแก่การโดยเต็มกำลัง มาตรา ๓๘ ให้กำนันดูแลคนเดินทาง ซึ่งไม่มีเหตุควรสงสัยว่าจะเป็นผู้ร้าย ให้ได้มีที่พักตามควร มาตรา ๓๙ ถ้าผู้เดินทางด้วยราชการจะต้องการคนนำทาง หรือขาดแคลนพาหนะเสบียงอาหารลงในระหว่างทาง และจะร้องขอต่อกำนันให้ช่วยสงเคราะห์ กำนันต้องช่วยจัดหาให้ตามที่จะทำได้ ถ้าหากว่าการที่จะช่วยเหลือนั้นจะต้องออกราคาค่าจ้างเพียงใด ให้กำนันเรียกเอาแก่ผู้เดินทางนั้น มาตรา ๔๐ กำนันต้องร่วมมือและช่วยเหลือนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในตำบลนั้น มาตรา ๔๑ กำนันต้องรักษาบัญชีสำมะโนครัว และทะเบียนบัญชีของรัฐบาลในตำบลนั้น และคอยแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องกับบัญชีของผู้ใหญ่บ้าน มาตรา ๔๒ กำนันต้องทำบัญชีสิ่งของ ซึ่งต้องภาษีอากรในแขวงนั้นยื่นต่อกรมการอำเภอและนำราษฎรไปเสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติภาษีอากร มาตรา ๔๓ กำนันกระทำการตามหน้าที่จะเรียกผู้ใดมาหารือให้ช่วยก็ได้ จากอำนาจหน้าที่ดังกล่าว จะพบว่า อำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้นมีลักษณะเป็นเพียงคนกลางเพื่อเชื่อมต่อการติดต่อระหว่างประชาชนในพื้นที่กับหน่วยงานของรัฐทางปกครองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในส่วนของอำนาจทางอาญานั้น ก็เป็นเพียงแต่การแจ้งเรื่องต่อไปยังสายการบังคับบัญชาในระดับที่สูงกว่าต่อไป เท่ากับว่าตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้น แทบจะไม่มีอำนาจในการจัดการหรือจัดสรรทรัพยากรใดๆ ในท้องที่ของตนเองเลย แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ เพราะเหตุใดกำนันและผู้ใหญ่บ้านเหล่านี้จึงไม่ต้องการให้มีการใช้วาระการดำรงตำแหน่ง แต่ต้องการให้หมดวาระเมื่ออายุครบหกสิบปี ทั้งๆ ที่ดำแหน่งนั้นไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริงตามกฎหมาย หากมองในแง่สิทธิประโยชน์การได้รับเงินเดือนจากทางราชการนั้น กำนันจะได้รับเดือนละ 10,000 บาท ส่วนผู้ใหญ่บ้านจะได้รับประมาน 8,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ไม่มาก แต่ก็ไม่น้อยเช่นกัน มองในแง่ของการพัฒนาในส่วนท้องที่หรือส่วนท้องถิ่น ภายหลังจากที่มีการกระจายอำนาจและมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพบว่า อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากรมากกว่าตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านเอง ซึ่งในส่วนนี้ ตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นเพียงบุคคลที่เข้ามาเป็นคนแจ้งความต้องการของประชาชนในพื้นที่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ปัญหาคือ ทำไมกำนันผู้ใหญ่บ้านถึงไม่ต้องการกำหนดให้มีวาระในการดำรงตำแหน่ง ข้ออ้างประการหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การเลือกตั้งในแต่ละครั้งนั้นสิ้นเปลืองงบประมานจำนวนมาก หากมีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งจะทำให้มีการเลือกตั้งบ่อยและทำให้สิ้นเปลืองงบประมานมหาศาล แต่หากมองในแง่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมานมหาศาล แต่ก็ต้องยินยอมที่จะเสียเพื่อให้สิทธิหรืออำนาจแก่ประชาชนในการเลือกคนที่ประชาชนมองว่าเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง ข้ออ้างนี้จึงไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน หากลองตั้งสมการว่า ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันคนหนึ่งได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อขณะมีอายุ 35 ปี นั่นหมายความว่า บุคคลนั้นจะมีอายุราชการในการเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านอีก 25 ปี ซึ่งถือว่านานมากหากเทียบกับข้าราชการการเมือง หรือแม้แต่เทียบกับข้าราชการประจำที่ต้องมีการโยกย้ายเสมอ ปัญหาคือ ในระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนั้น ประชาชนในพื้นที่ต้องอยู่กับบุคคลนี้ไป 25 ปีโดยไม่มีหลักประกันใดๆว่า บุคคลนั้นจะทำงานได้เป็นอย่างดี แม้กฎหมายจะกำหนดให้มีการประเมินการทำงานก็ตาม นอกจากนั้นกระบวนการถอดถอน หากมองตามข้อเท็จจริงที่ผ่านมาแล้วจะพบว่า เป็นกระบวนการที่แทบจะไม่สามารถใช้ได้จริง เนื่องจากมีหลักเกณฑ์มากมายในการดำเนินการจนทำให้ประชาชนไม่สนใจกระบวนการดังกล่าว เพราะเสียทั้งเวลาและทรัพยสิน ในความเป็นจริงแล้วนั้น หากตำแหน่งได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรจะกำหนดวาระให้ชัดเจนเพื่อทำให้การปกครองมีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ผู้เขียนยังไม่เคยพบเคยเห็นว่าระบบการปกครองใดที่ผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งและพ้นจากตำแหน่งไปเมื่ออายุถึงเกณฑ์ จะมีก็แต่ผู้นำที่หลงอำนาจ คือได้รับการเลือกตั้งมาและสถาปนาตนเองเป็นเจ้าผู้ปกครองจึงไม่มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งไว้ หากกำนันผู้ใหญ่บ้านต้องการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ควรเปิดโอกาสให้มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งไว้ในกฎหมาย ไม่ใช่หวงกันอำนาจ เพราะนี่คือยุค 2555 แล้ว ไม่ใช่ยุครัชกาลที่ 5 ดังที่เคยเป็นมาในยุคที่มีการตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านในคราแรก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
'สุภิญญา' ผิดหวัง ประชุมบอร์ด กสทช.พรุ่งนี้ ไม่มีวาระทบทวนผลประมูล 3G Posted: 13 Nov 2012 06:27 AM PST ความคืบหน้ากรณีกรรมการ กสทช.บางราย เช่น สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ทำหนังสือต่อประธาน กสทช. ขอให้มีการนำประเด็นการพิจารณาผลการประมูล 3G ซึ่งกำลังเป็นประเด็นสาธารณะขณะนี้ เข้าสู่วาระการประชุมกรรมการ กสทช. อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบปรากฏว่า ไม่มีวาระดังกล่าวในการประชุมใหญ่ วันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.) สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. กล่าวว่า การประชุมพรุ่งนี้เป็นการประชุมบอร์ดใหญ่ครั้งแรกหลังจากเสร็จสิ้นการประมูล 3G ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ควรได้มีการคุยกัน แต่กลับไม่มีวาระดังกล่าว ทั้งที่ตนเองและ นพ.ประวิทย์ได้เสนอวาระไป สุภิญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการบอกไม่ให้คุยข้างนอก หรือออกมาทวีต แต่ก็กลับไม่มีเรื่องนี้ในวาระการประชุม เช่นนี้ จะให้ทำอย่างไร ทั้งนี้ การรับรองผลการประมูล 3G นี้เป็นกรณีแรกที่สะท้อนปัญหาการตีความการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ซึ่งควรมีการหยิบยกมาพูดคุยกัน เพื่อวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้คาใจทุกฝ่าย ไม่ว่ากับสังคมหรือกรรมการทั้ง 11 คน ทั้งนี้ หากจะยืนยันว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม 4 คนสามารถรับรองผลได้ ก็ควรนำเรื่องเข้าบอร์ดใหญ่ เพื่อให้คณะกรรมการ กสทช.ทั้งชุดได้ถกเถียงเพื่อตัดสินใจ ไม่เช่นนั้น สังคมอาจครหาได้ว่า กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
'สุภิญญา' ผิดหวัง ประชุมบอร์ด กสทช.พรุ่งนี้ ไม่มีวาระทบทวนผลประมูล 3G Posted: 13 Nov 2012 06:26 AM PST ความคืบหน้ากรณีกรรมการ กสทช.บางราย เช่น สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ทำหนังสือต่อประธาน กสทช. ขอให้มีการนำประเด็นการพิจารณาผลการประมูล 3G ซึ่งกำลังเป็นประเด็นสาธารณะขณะนี้ เข้าสู่วาระการประชุมกรรมการ กสทช. อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบปรากฏว่า ไม่มีวาระดังกล่าวในการประชุมใหญ่ วันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.) สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. กล่าวว่า การประชุมพรุ่งนี้เป็นการประชุมบอร์ดใหญ่ครั้งแรกหลังจากเสร็จสิ้นการประมูล 3G ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ควรได้มีการคุยกัน แต่กลับไม่มีวาระดังกล่าว ทั้งที่ตนเองและ นพ.ประวิทย์ได้เสนอวาระไป สุภิญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการบอกไม่ให้คุยข้างนอก หรือออกมาทวีต แต่ก็กลับไม่มีเรื่องนี้ในวาระการประชุม เช่นนี้ จะให้ทำอย่างไร ทั้งนี้ การรับรองผลการประมูล 3G นี้เป็นกรณีแรกที่สะท้อนปัญหาการตีความการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ซึ่งควรมีการหยิบยกมาพูดคุยกัน เพื่อวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้คาใจทุกฝ่าย ไม่ว่ากับสังคมหรือกรรมการทั้ง 11 คน ทั้งนี้ หากจะยืนยันว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม 4 คนสามารถรับรองผลได้ ก็ควรนำเรื่องเข้าบอร์ดใหญ่ เพื่อให้คณะกรรมการ กสทช.ทั้งชุดได้ถกเถียงเพื่อตัดสินใจ ไม่เช่นนั้น สังคมอาจครหาได้ว่า กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 13 Nov 2012 02:05 AM PST "hate speech IS free speech "หยาบคาย" เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล/สังคม (subjective) ถ้าอ้างเรื่องความหยาบคายหรือความศรัทธา speech แทบทุกอย่างก็เป็น hate speech ได้หมด มันต้องมีใครสักคนไม่พอใจอะไรสักอย่างเสมอ ข้ออ้างเรื่อง hate speech จึงเป็นอันตราย เป็นศัตรูสำคัญที่สุดของ free speech เพราะมันดู make sense เสียเหลือเกิน แต่ในทางปฏิบัติ มันไม่รู้จักพอ มันขยายอาณาบริเวณของมันอย่างตะกละตะกลาม จนเบียดบังพื้นที่ในการแสดงออกสิ่งต่างๆ" โพสต์ความเห็นบนเฟซบุ๊กตนเอง ต่อข้อความ "HATE SPEECH is NOT FREE SPEECH" | |
รัฐสภารับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรแล้ว Posted: 13 Nov 2012 12:07 AM PST 13 พ.ย. 55 - ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 สมัยสามัญทั่วไป มีการพิจารณาเรื่องด่วนตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอมา คือเรื่องการรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัด ตั้งในลักษณะองค์กร เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 1.การมีส่วนร่วมในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม 2.การฟอกทรัพย์สินที่ได้มาจากกระทำความผิด 3.การกระทำทุจริตคอร์รัปชัน 4.การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และได้ขยายไปยังฐานความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เมื่อความผิดนั้นเป็นลักษณะของการข้ามชาติและเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น