โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘กระบวนการยุติธรรม’ กับคดีความ 'ชาวบ้าน' รุกที่ทำกิน

Posted: 29 Nov 2012 12:58 PM PST

 
นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินจำนวนมาก เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชน เกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งความไม่เป็นธรรมจนนำมาสู่กระบวนการต่อสู้ทางสังคม เพื่อเรียกร้องให้ได้คืนมาซึ่งสิทธิ วิถีชีวิตการดำรงคงอยู่ของชุมชน วิถีการทำมาหากิน และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติดังที่เคยเป็น
 
การเรียกร้องคืนวิถีของชุมชน วิถีแห่งสังคมท้องถิ่นคืนมานั้น กลับกลายเป็นที่มาของข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ระหว่างประชาชน ภาครัฐ และกลุ่มนายทุน บทสรุปสุดท้ายของข้อพิพาท มักถูกนำเข้าบรรจุสู่กระบวนการทางยุติธรรม เสมือนว่ากระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย เป็นสิ่งสุดท้ายที่กำหนดชะตาชีวิตของชุมชนว่าจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในวิถีดั้งเดิม บนผืนดินเดิมต่อไปได้หรือไม่
 
ผู้เขียน ขอยกบางกรณีของปัญหาคดีความที่เกิดจากข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่ ที่ผู้เขียนร่วมทำงานในพื้นที่ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) พบว่า มีชาวบ้านถูกหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 107 ราย จำนวน 29 คดี
 
ดังเช่นข้อพิพาทเรื่องที่ดิน กรณีสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ระหว่างชาวบ้านกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่เกิดขึ้นมาแต่ปี 2521 นั้น กรณีดังกล่าว อ.อ.ป.ได้ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แล้วดำเนินการปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส ตามเงื่อนไขการสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4,401 ไร่ ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกินพร้อมที่อยู่อาศัยจำนวนกว่า 277 ราย
 
กรณีสวนป่าคอนสาร
 
ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งคณะทำงานระดับพื้นที่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 พบว่าสวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของชาวบ้านจริง และมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารให้นำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้น
 
ต่อมาเมื่อ 28 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงมาตรวจสอบพื้นที่ พร้อมรายงานผลการละเมิดสิทธิออกมาว่า การกระทำของกรมป่าไม้ และ อ.อ.ป.ก่อให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในที่ดินทำกิน ทั้งที่ผู้เดือดร้อนได้ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดทั้งในสิทธิที่ดินและทรัพย์สินของผู้เดือดร้อน
 
พร้อมกันนี้ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐนั้น ก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้เดือดร้อน ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา พร้อมมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสารตามมติคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสวนป่าคอนสาร รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนให้แก่ผู้เดือดร้อน โดยสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจัดทำแผนการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดเป็นป่าชุมชน ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ยกเลิกสวนป่าคอนสาร
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระได้มีการพิจารณากรณีปัญหาดังกล่าว และมีมติว่าสวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ทำกินชาวบ้านจริง ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้ราษฎรต่อไป โดยในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ
 
เมื่อข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
 
แม้การตรวจสอบพื้นที่ของหน่วยงานดังกล่าวจะมีความชัดเจน แต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ยังไม่ดำเนินการใดๆ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่ปรากฏการแก้ไขปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด กระทั่งล่วงมาถึงการเกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ได้รวมตัวกันเข้ายึดพื้นที่ทำกินเดิมคืนมา แล้วตั้งชุมชนบ่อแก้ว ขึ้นมาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 เพื่อต่อรองให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา
 
ต่อมา อ.อ.ป.ได้ฟ้องดำเนินคดีชาวบ้านจำนวน 31 ราย พร้อมบริวาร เมื่อ 27 สิงหาคม 2552 ในข้อหาขับไล่ บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ทั้งหมดถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
 
เมื่อความขัดแย้งข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยทาง อ.อ.ป.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในวันดังกล่าวนั้น ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ให้จำเลย ที่ 1 ถึง 31 ออกจากพื้นที่พร้อมมีคำสั่งให้ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ที่จำเลยและบริวารได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท และห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องในพื้นที่สวนป่าคอนสารอีก
 
ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราว กระทั่งล่วงมาถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษา โดยยืนตามศาลชั้นต้น และจำเลยได้ฎีกาในวันที่ 21 มีนาคม 2555
 
 
ปมขัดแย้ง กรณีสวนป่าโคกยาว
 
ส่วนอีกกรณีในพื้นที่สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดินทำกิน นับแต่มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เมื่อปี 2516 และมีโครงการปลูกสวนป่าด้วยการนำไม้ยูคาฯ มาปลูกในพื้นที่เมื่อปี 2528 จนเกิดเป็นกรณีพิพาทที่ชาวบ้านเคยทำกินในพื้นที่มาก่อน
 
ล่วงมาถึงเมื่อเช้ามืดวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ประมาณ 200 นาย โดยการนำของนายอำเภอคอนสาร บุกเข้ามาจับกุมชาวบ้านรวม 10 ราย พร้อมทั้งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน ในข้อหาร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์ โดยแยกเป็น 4 คดี ทั้งหมดถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ล่าสุดศาลชั้นต้นพิพากษาไปทั้ง 4 คดีแล้ว
 
คดีแรก เมื่อ 22 พฤษภาคม 2555 ศาลพิพากษานายคำบาง กองทุย อายุ 65 ปี และนางสำเนียง กองทุย อายุ 61 ปี (สามี-ภรรยา) จำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
 
ส่วนคดีที่ 2 เมื่อ 13 มิถุนายน 2555 ศาลพิพากษานายทอง กุลหงส์ อายุ 72 ปี และนายสมปอง กุลหงส์ อายุ 48 ปี (สองพ่อลูก) จำคุก 4 เดือน โดยคดีนี้ ศาลได้เพิ่มวงเงินประกันจากรายละ 100,000 บาท เป็นรายละ 200,000 บาท เป็นเหตุให้เงินที่เตรียมไว้ต้องถูกรวมมาประกันจำเลยเพียงรายเดียวคือนายสมปอง ด้วยนายทอง ยอมเสียสละนอนอยู่ในคุกตามคำสั่งของศาล เพื่อให้ลูกชายที่มีอาการพิการทางสมอง เป็นโรคประสาท ได้รับการประตัวออกมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2555 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวออกมา
 
คดีที่ 3 วันที่ 9 สิงหาคม 2555 ศาลพิพากษานายสนาม จุลละนันท์ อายุ 59 ปี จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
 
ในคดีที่ 4 วันที่ 28 สิงหาคม 2555 ศาลพิพากษานายเด่น คำแหล้ อายุ 60 ปี (จำเลยที่ 1) และนางสุภาพ คำแหล้ อายุ 57 ปี (จำเลยที่ 4) ตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลย อีก 3 ราย คือนายบุญมี วิยาโรจน์ อายุ 51 จำเลยที่ 2 ,นางหนูพิศ วิยาโรจน์ อายุ 70 ปี (ภรรยานายบุญมี)จำเลยที่ 5 และนางเตี้ย ย่ำสันเทียะ อายุ 54 ปี จำเลยทั้ง 3 รายนี้ ศาลยกฟ้อง
 
 
ทั้งกรณีสวนป่าคอนสาร และสวนป่าโคกยาวที่ผู้เขียนยกขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง มีคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้านที่ถูกนำขึ้นไปแขวนไว้กับกระบวนการยุติธรรมนั้น ถือว่าจะสิ้นสุดได้หรือยัง บางมุมของชีวิตชาวบ้านก็แสนยากลำบากอยู่แล้ว เสมือนชีวิตถูกกระหน่ำซ้ำไปที่จุดเดิมอีกในการที่หน่วยงานภาครัฐประกาศเขตป่าฯ ทับที่ทำกิน พร้อมกับอาศัยกลไกกระบวนการยุติธรรมมาทำลายชาวบ้าน ตั้งข้อกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ โดยนับจำนวนหลายครั้ง คำพิพากษาจะตกอยู่กับชาวบ้านเป็นผู้กระทำผิดโดยเสมอ
 
ถามต่อว่า ถูกต้อง เป็นธรรม กับชาวบ้านคนจนๆ ธรรมดาๆ หรือไม่ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการให้นำไปสู่สิ่งที่ดีในการแก้ไขได้อย่างไร หรือจะให้พวกเขา กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่ทำกิน เป็นคนตกขอบของแผ่นดิน อย่างนั้นหรือไม่
 
ข้อพิพาทในความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ ด้วยเปรียบเสมือนเป็นผู้ตัดสิน กุมชะตากรรมของชาวบ้านที่เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน อันเป็นปัญหาวิกฤตของสังคม จึงเป็นประเด็นเกี่ยวพันอย่างยิ่งในการรวบรวมข้อมูลคดีความ ข้อกฎหมายที่ใช้ฟ้อง และคำพิพากษาคดีความ ที่จะทำให้การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมโดยรวม
 
ถึงกระนั้นก็ตามในกระบวนการยุติธรรมควรสะท้อนให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจปัญหาที่ดินทำกินด้วยว่า กลุ่มผู้ถูกคดีและผู้ต้องหา เป็นเพียงเกษตรกรและคนยากจนในสังคม เป็นชุมชนและชาวบ้านที่มีวิถีและการดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนเหล่านั้นเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และจัดสรรที่ดินให้อย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นด้วยอำนาจทางกฎหมาย ควรชี้ให้เห็นว่าในความขัดแย้งข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกิน ที่เป็นอยู่แท้จริงแล้วมีความชัดเจนเป็นอย่างไร มิใช่เพียงเพื่อพิพากษาให้เสร็จสิ้นไปตามกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.กต. เผยฟื้น กก.สัตยาบันไอซีซี หาความชัดเจน 'ข้อจำกัด'

Posted: 29 Nov 2012 10:14 AM PST

29 พฤศจิกายน 2555 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังการประชุมเพื่อหารือข้อสรุปการพิจารณาจัดทำประกาศรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะลงนามเพื่อยอมรับเขตอำนาจของไอซี  กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2555 หรือไม่ เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า ควรเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศที่คณะรัฐมนตรีเคยแต่งตั้งไว้เมื่อปี 2542 ได้พิจารณาก่อน เพราะยังมีหลายฝ่ายกังวลในข้อกฎหมายตาม 4 ฐานความผิดของไอซีซี ที่อาจจะต้องมีการแก้ไขในอนาคต และการออกกฎหมายให้ครอบคลุม เช่น พ.ร.บ.ความร่วมมือทางอาญา พรบ.โอนตัวนักโทษ พ.ร.บ.เอกสิทธิและความคุ้มกัน เป็นต้น ซึ่งยังค้างคาอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว รวมทั้งให้พิจารณาว่า จะให้ กระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2542 และอีกครั้งเมื่อ 15 ม.ค. 2550 เพื่อพิจารณาการให้สัตยาบันเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการ 18 คน มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ส่วนกรรมการมีองค์ประกอบอาทิ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุดและ 3 เหล่าทัพ ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลยุติธรรม

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจได้รายงานการสอบถามของผู้สื่อข่าว ถึงประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาว่า รวมถึงธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 27 ด้วยหรือไม่ โดยข้อ 27 ซึ่งกำหนดว่า ให้ใช้ธรรมนูญบังคับแก่บุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคกัน และไม่มีใครจะอ้างอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะในฐานะประมุขแห่งรัฐมาคุ้มกันตนให้พ้นจากความรับผิดทางอาญา  ซึ่งขัดแย้งกับความคุ้มกันที่ให้ไว้ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่กำหนดไว้ให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ นายสุรพงษ์ ระบุว่า ประเด็นนี้จัดเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งมีการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา โดยการส่งเรื่องให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะได้นำประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาด้วย เพราะคำว่า "ประมุข" ของรัฐ ในแต่ละระบอบการปกครองอาจไม่เหมือนกัน โดยจะให้ได้ข้อสรุป เพื่อแจ้งกับไอซีซีว่า ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามได้และไม่ได้อย่างไร คาดว่าคงใช้เวลาไม่นาน เพราะต้องการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด หากไทยไม่สามารถให้สัตยาบันได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่ไทยจะลงนามค้างไว้ จะได้จบเสียที เพราะหลายๆ ประเทศในโลกก็เป็นภาคีเต็มตัวกันหมดเเล้ว

ด้าน  พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงข้อห่วงใยกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ จะยอมให้ไอซีซีเข้ามาไต่สวนการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ตนไม่อยากเข้าไปก้าวก่าย โดยเชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะทำอย่างรอบคอบและต้องปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายหลายหน่วยงานก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยตอบคำถามของผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก แสดงความไม่สบายใจต่อกรณีดังกล่าว ถือเป็นความเห็นของ ผบ.ทบ.

 

 

ตอบข้อวิจารณ์ของ ‘สมณะโพธิรักษ์’

Posted: 29 Nov 2012 09:13 AM PST

ตามที่ท่านสมณะโพธิรักษ์นำบทความของผม ชื่อ "สันติอโศก ณ ตำแหน่งพุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ บนเส้นทางศาสนากับ ปชต." (http://www.prachatai.com/journal/2012/11/43884) ไปวิจารณ์ในรายการ "สงครามสังคมธรรมะการเมือง ตอนวิพากษ์สันติอโศก บนเส้นทางศาสนากับ ปชต." ทาง fmtv เมื่อ 27 พ.ย.55 ที่ผ่านมา (http://www.youtube.com/watch?v=xT8oWTdkcJY) นับเป็นเรื่องดีที่ชาวสันติอโศก "แฟร์" กับการนำความเห็นต่างไปเผยแพร่ในชุมชนของตนเองโดยไม่ตัดทอน และวิจารณ์ด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา ผมเห็นว่าข้อวิจารณ์ของท่านสมณะโพธิรักษ์ มี "บางประเด็น" ที่ควรนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปช่วยกันคิดต่อ

1) ปัญหาเรื่อง "ความเสมอภาค" (Equality) ท่านสมณะโพธิรักษ์ ยกข้อความในบทความมาว่า

ในขณะเดียวกันบุคคลทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นผู้ทรงศีลธรรมใดๆ เมื่อออกมายืนอยู่ใน "พื้นที่ทางการเมือง" ทุกคนคือ "คนเหมือนกัน" ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ทางศีลธรรมที่คนอื่นๆ จะต้องเชื่อฟังหรือยำเกรงเป็นพิเศษ พระไม่ใช่เป็นเพียงผู้สอนอยู่ฝ่ายเดียว แต่ต้องยอมรับการถูกเถียง ถูกด่า ถูกประณามได้ด้วย...

แล้วท่านก็วิจารณ์ว่า "เสมอภาคแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะไปคิดว่าทุกคนเท่ากันหมด มีเงินเท่ากัน มีบ้านหลังใหญ่เท่ากัน มีความเป็นอยู่เหมือนกันหมด ต้องบังคับให้อะไรๆ เท่ากันหมด ก้อนกรวดต้องเท่ากัน บังคับให้ต้นไม้ต้องสูงเตี้ยเท่ากัน จะไปบังคับให้เป็นอย่างนั้นคงไม่ได้"

แสดงว่าท่านสมณะโพธิรักษ์ไม่เข้าใจประโยคว่า "ทุกคนคือคนเหมือนกัน" ประโยคนี้ (และข้อความทั้งหมดนั้น) ไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงว่า คนเรานั้นมีสูง ต่ำ ดำ ขาว เพศ ศาสนา ภาษา ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานภาพพ่อ แม่ ลูก ฯลฯ ต่างกัน แต่คือการยืนยันว่า แม้คนจะต่างกันในด้านคุณสมบัติต่างๆ ดังกล่าว แต่ "ทุกคนมีความเป็นคนเหมือนกัน" ฉะนั้น จึงไม่มีใครควรมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นโดยการอ้างสถานะต่างๆ เช่น ความเป็นพระ ความเป็นผู้ทรงศีลธรรม ชาติกำเนิด เป็นต้น

เช่น ตอนนี้ผมเถียงท่านสมณะโพธิรักษ์ ผมเถียงในฐานะ "คนเหมือนกัน" หรือในฐานะเรามีความเป็นคนเท่ากัน แม้สถานะทางสังคมเราจะต่างกัน ผมเจอท่านสมณะโพธิรักษ์ ผมก็ยกมือไหว้ นับถือสถานภาพความเป็นพระของท่าน แต่ผมไม่เอาสถานะความเป็นพระของท่านมาเป็นอุปสรรคที่ผมจะเถียงกับท่านด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมาและอย่างถึงที่สุด และท่านเองก็ไม่มีอภิสิทธิ์อ้างสถานะของพระมาห้ามไม่ให้ผมเถียง หรือต้องเชื่อท่านเป็นต้น นี่คือความหมายของ "ความเสมอภาค" คือความหมายของความเสมอภาคในเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expressions) ซึ่งในกรณีนี้คือการแสดงความคิดเห็น และแน่นอนว่า ในพื้นที่ทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยทุกคนย่อมมีความเสมอภาคในเสรีภาพในการแสดงออก

อธิบายเพิ่มอีก ที่ว่าเราต่างเป็น "คนเหมือนกัน" นั้น หมายความว่า "ความเป็นคน" คือ "คุณสมบัติสากล" ที่เราแต่ละคนมีเหมือนกัน แม้ว่าเราจะมีเพศ ผิว สถานภาพทางสังคม ฯลฯ ต่างกัน ความเป็นคนที่เป็นคุณสมบัติสากลที่เรามีเหมือนกันนี้อาจมองต่างกันไป เช่น นักปรัชญาบางคนมองว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล" หมายความว่า เหตุผลคือคุณสมบัติสากลที่มนุษย์มีร่วมกัน หรือบางคนบอกว่า คุณสมบัติสากลของมนุษย์คือ "เสรีภาพ" บางคนบอกว่า มนุษย์มีศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอกัน เป็นต้น ถ้ามองในแง่พุทธศาสนา ความเป็นคนที่เรามีเสมอกันคือ "โพธิปัญญา" (ปัญญาตรัสรู้ ศักยภาพที่จะรู้สัจธรรม) หรือมหายานเรียกว่า "พุทธภาวะ" สิ่งนี้คือคุณค่าภายใน (intrinsic value) ที่มนุษย์มีร่วมกัน ไม่ว่าเขาจะมีคุณสมบัติภายนอกต่างกันอย่างไร

แต่ไม่ว่าเราจะอ้างอะไรว่าเป็นคุณสมบัติสากลที่ทำให้เรามีความเป็นคนเหมือนกันก็ตาม ความเป็นคนเหมือนกันนั้น คือรากฐานของการกำหนดกติตาทางสังคมการเมืองเพื่อรับรองความเสมอภาคในด้านต่างๆ ของเรา เช่น ความเสมอภาคในเสรีภาพการแสดงออก การนับถือศาสนา การเข้าถึงบริการสาธารณะ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ฯลฯ

ทว่าคำอธิบายของสมณะโพธิรักษ์ที่ว่า "ถ้าเป็นอภิสิทธ์หรืออำนาจที่ใครสร้างขึ้นมาเอง หรือตั้งตนเองให้มีอภิสิทธิ์มีอำนาจขึ้นมาแล้วไปบังคับคนอื่นๆ อย่างนี้ไม่ใช่ความเสมอภาค แต่ถ้าเป็นอภิสิทธิ์หรืออำนาจที่คนอื่นเขายกให้ เพราะคนนั้นทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ มีความชอบธรรม ก็เป็นความเสมอภาค" ทัศนะเช่นนี้มีปัญหา เพราะถ้าในระบบสังคมการเมืองใดๆ ยกให้คนบางคนบางกลุ่มมี "อภิสิทธิ์" เหนือคนอื่นๆ แล้วจะเรียกว่ามีความเสมอภาคได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอภิสิทธิ์ในความหมายใดๆ เช่น อภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบของสถาบันกษัตริย์ แม้จะอ้างว่า ทรงทศพิธราชธรรม หรือราษฎรยกให้ (ตามทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ) ก็ย่อมหมายถึง "ความไม่เสมอภาค" หรือไม่เท่าเทียมนั่นเอง

พูดอีกอย่างว่า ถ้าสังคมใดมีการกำหนดกติกาให้คนๆ หนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ สังคมนั้นจะชื่อว่ามี "ความเสมอภาค" ตามหลักการประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตยย่อมหมายถึง ความเสมอภาคที่เป็นหลักการสากลที่ใช้ (apply) กับ "ทุกคน"

ในแง่พุทธศาสนา พุทธะเองก็ไม่ได้อ้างสถานะผู้ตรัสรู้ หรือสถานะศาสดาผู้ก่อตั้งสังฆะเพื่อให้ท่านเองมีอภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบของสังฆะ ไม่มีวิสัยสงฆ์ข้อไหนห้ามวิจารณ์ตรวจสอบพุทธะ อีกทั้งพุทธะยังขอให้สังฆะและชาวพุทธวิจารณ์ตรวจสอบท่านได้ด้วย ในสมัยพุทธกาลมีคนด่า กระทั่งลอบทำร้ายพุทธะ แต่ท่านกลับใช้เมตตาธรรม ไม่เคยบัญญัติวินัยสงฆ์ หรือให้รัฐออกกฎหมายเพื่อให้ท่านมีอภิสิทธิ์จากการด่า หรือการวิจารณ์ตรวจสอบของคนอื่นๆ

ทศพิธราชธรรมก็ไม่ใช่คุณธรรมสนับสนุนให้กษัตริย์มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ พุทธศาสนาสอนทศพิธราชธรรมเพื่อเป็นมาตรฐานตรวจสอบ "ความชอบธรรม" ของผู้ปกครองไม่ใช่หรือ? ถ้าท่านสมณะโพธิรักษ์ยืนยันหลักการพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมือง ท่านควรยืนยันทศพิธราชธรรมในการวิจารณ์ตรวจสอบความชอบธรรมของผู้ปกครองไม่ใช่หรือ?

2) ปัญหาเรื่อง "เสรีภาพ" (freedom) ท่านสมณะโพธิรักษ์กล่าวว่า "พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม ทำความดีมากมาย ประชาชนเขาก็รู้ก็เห็น เขาก็มีเสรีภาพที่ยกให้สถาบันกษัตริย์มีอภิสิทธิ์" นี่แสดงว่าท่านไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า อภิสิทธิ์ที่เพิ่มมากขึ้นของสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นผลจากการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมกับฝ่ายประชาธิปไตย โดยฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ปรีดี พนมยงค์ถูกใส่ร้ายเรื่องปลงพระชนม์ ร.8 มีแพะที่ถูกประหารชีวิตฟรี 3 คน จนต่อมาถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร จากนั้นการยกย่องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ การประชาสัมพันธ์ด้านเดียวเกี่ยวกับคุณวิเศษของสถาบันกษัตริย์ก็ทำกันอย่างจริงจังมากขึ้น มีการเพิ่มโทษมาตรา 112 จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำคุกสูงสุด 3 ปี ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-7 ปี และหลังรัฐประหาร 6 ตุลา ก็เพิ่มเป็น 3-15 ปี

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาธิปไตยต่างประสบชะตากรรมที่น่าเศร้า เช่น ปรีดีต้องไปตายต่างประเทศ ส.ส.อีสานหลายคนที่สนับสนุนคณะราษฎรถูกยิงเป้า ปัญญาชนหลายคน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ นายผี หรืออัศนีย์ พลจันทร์ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น ไม่ไปตายต่างประเทศก็ถูกฆ่าในป่า ยังนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยุค 14 ตุลา 6 ตุลา นักศึกษาประชาชนยุคพฤษภา 35 จนมาถึงพฤษภา 53 ที่ต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย ล้วนแต่ถูกปราบปรามเข่นฆ่าตายด้วยข้อหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือข้อหา "ขบวนการล้มเจ้า" ทั้งสิ้น

ถามว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ "ประชาชน" หรือครับ หากใช่ก็หมายความว่า คนเหล่านี้คือผู้ที่ไม่ยอมยกให้ใครมีอภิสิทธิ์ พวกเขาจึงต่อสู้ยืนยันหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค หรือความเป็นประชาธิปไตย แต่ทำไมจึงฆ่าพวกเขา?

ความจริงแล้วที่ท่านสมณะโพธิรักษ์ว่า "ประชาชนเขาก็มีเสรีภาพที่ยกให้สถาบันกษัตริย์มีอภิสิทธิ์" พูดอย่างนี้ก็ขัดแย้งในตัวเองอีก เพราะการยกให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบนั้น  เท่ากับไม่มี "เสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย" เพราะเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยหมายถึงเสรีภาพที่ใช้อย่างสากล คือใช้กับ "ทุกคน" เช่น เสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ หมายถึงเสรีภาพที่ใช้วิจารณ์ตรวจสอบทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะ แต่ในสังคมไทยเรามีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะตั้งแต่ระดับรัฐบาลลงมา ไม่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ก็แสดงว่าเราไม่เคยมี "เสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย" อยู่จริง เพราะเสรีภาพที่เรามีไม่สามารถใช้อย่างสากลหรือใช้กับทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะได้จริง

3) บทบาทการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ผิดพลาด เพราะความไม่เข้าใจหลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยดังกล่าว สมณะโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก จึงวางบทบาทของกลุ่มตนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผิดพลาด แทนที่จะต่อสู้เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ตุลาการให้อยู่ภายใต้หลักความเสมอภาค เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศ กลับสนับสนุนการอ้างสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ที่กล่าวหาว่านักการเมืองเลว ทุจริตคอร์รัปชัน ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่านักการเมืองเลว ทุจริตคอร์รัปชัน เพราะระบบกฎหมายเปิดให้เรามีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้ใช่หรือไม่? แล้วรู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มอำนาจในเครือข่ายอำมาตย์ดี ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ในเมื่อไม่เคยตรวจสอบ เพราะทั้งหลักกาลามสูตรและหลักวิทยาศาสตร์ล้วนยืนยันว่า "เราจะรู้ว่าอะไรจริง ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าจริง" ไม่ใช่เพียงเชื่อเอาเองจากการรับข้อมูลผ่านการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว

ยกตัวอย่างเช่น ผมจะรู้ได้ว่าวิถีชีวิตของชาวสันติอโศกเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสอดคล้องกับหลักการพุทธศาสนาหรือไม่ ก็ต่อเมื่อผมมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ ชี้จุดแข็ง จุดอ่อน นำข้อมูลด้านตรงกันข้ามมาเปรียบเทียบประเมินตัดสินได้ แต่ถ้ามีกฎหมายห้ามไม่ให้ผมมีเสรีภาพดังกล่าว ฟังแค่ข้อมูลโฆษณาด้านดีงามเพียงด้านเดียว ผมย่อมไม่สามารถรู้ "ความจริง" ได้ว่า สันติอโศกดีจริงๆ อย่างมากก็แค่ "เชื่อ" เอาเองว่าดีหรือไม่ดีเท่านั้นเอง

ฉะนั้น หากท่านสมณะโพธิรักษ์และสันติอโศกยืนยันว่า ตนเองต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ต้องต่อสู้ยืนยันการใช้หลักความเสมอภาคและหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายอำนาจรอบๆ สถาบันกษัตริย์ใน "มาตรฐานเดียวกัน" กับที่ตรวจสอบนักการเมือง หรือทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะ จึงจะนับได้ว่าซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย

แต่บทบาททางการเมืองของชาวอโศกที่ผ่านมา หาใช่การต่อสู้เพื่อยืนยันเช่นนั้นไม่ ต่อให้วันหนึ่งชาวอโศกทำสำเร็จกระทั่งว่าไม่มีนักการเมืองโกงเลย แต่ยังคงระบบกฎหมายที่ยกเว้นไม่ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์และอำนาจเครือข่าย ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศนี้ได้เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทว่าจะเป็นประเทศที่มี "สองมาตรฐาน" ในการตรวจสอบอยู่ตลอดไป

และ "ระบบสองมาตรฐานในการตรวจสอบ" เช่นนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตในวงการนักการเมืองและทุกวงการให้ลดลงได้จริง นี่คือความไม่เป็นธรรม นี่คือความไม่เป็นประชาธิปไตย แนวทางของสันติอโศกที่เดินตาม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ร่วมกับพันธมิตรและองค์การพิทักษ์สยาม คือ "แนวทางรักษาระบบสองมาตรฐานในการตรวจสอบ" อันเป็นรากฐานของความอยุติธรรม และความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไป

พุทธศาสนาสอนให้เรามีปัญญา กรุณา มีจิตใจบริสุทธิ์และซื่อตรง แต่บทบาททางการเมืองที่เป็นไปเพื่อปกป้อง "ระบบสองมาตรฐานในการตรวจสอบ" ดังกล่าว ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย หาใช่วิถีแห่งปัญญา กรุณา และซื่อตรงไม่!

 

ปล.การอ้างคำพูดท่านสมณะโพธิรักษ์ไม่ใช่การอ้างแบบคำต่อคำ เป็นการ "เก็บความ" แต่ผมมั่นใจว่าไม่ผิดความหมายที่ท่านพูด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอจับโจทย์ใหญ่ “การปฎิรูปการจัดการน้ำของประเทศไทย”

Posted: 29 Nov 2012 08:54 AM PST

คลิกออฟวิจัยน้ำ มุ่งศึกษาประเด็นด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง ผลการศึกษาจะเป็นการสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

29 พ.ย.55 ทีดีอาร์ไอแถลงเปิดตัวโครงการศึกษา การปฏิรูปการจัดการน้ำของประเทศไทย : การวิเคราะห์เชิงสถาบัน และรูปแบบการปรับตัว (Improving Flood Management Planning in Thailand) โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการกิตติคุณ และหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท  สาเหตุสำคัญนอกจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมากเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 70 ปี  ผลจากพายุมรสุม 5 ลูกที่เข้าสู่ประเทศไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังผลให้น้ำในแม่น้ำสายสำคัญเอ่อท้นฝั่งพื้นที่ในหลายจังหวัดแล้ว ความผิดพลาดของแบบแผนการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ลุ่มที่เป็นทางผ่านของน้ำ การบริหารจัดการภาวะน้ำท่วม และการแทรกแซงทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในภาพรวมยังมีส่วนซ้ำเติมให้ปัญหาน้ำท่วมทวีความรุนแรงขึ้น   และทันทีที่น้ำลด รัฐบาลได้เร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดการน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดหางบประมาณจำนวน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย บูรณะซ่อมแซม และมีแผนลงทุนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว จุดเด่นของแผนแม่บทการจัดการน้ำท่วมคือ แผนป้องกันน้ำท่วมแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่างไรก็ตามแม้แผนแม่บทจะบรรจุเรื่องการบริหารจัดการน้ำ แต่งบประมาณส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องลงทุนด้านโครงสร้าง และหน่วยราชการยังเป็นผู้รับผิดชอบด้านแผนบริหารจัดการน้ำ

ในโครงการวิจัยนี้  มุ่งศึกษาประเด็นด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง ผลการศึกษาจะเป็นการสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

การศึกษานี้จะวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของสถาบันการบริหารจัดการน้ำและรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินในปัจจุบัน จากนั้นจะนำเสนอการออกแบบสถาบันที่เติมเต็ม เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำและรูปแบบการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

โดยมีกรอบการศึกษา 3 ด้านหลัก ดังนี้  1) รูปแบบการใช้ที่ดิน การบริหารควบคุมสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ลุ่มที่ใช้รับน้ำนอง การปรับตัวทั้งในส่วนชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม  2) รูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรที่รัฐกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง วิเคราะห์การปรับตัวของเกษ๖รกรและชุมชนในบริเวณดังกล่าวเพื่อรับมือกับผลกระทบทั้งภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง เพราะน้ำคือเส้นทางชีวิตของข้าวและเกษตรกร 3) ออกแบบและให้ข้อเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม  โครงการวิจัยนี้จะเลือกศึกษาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นจุดน้ำท่วมวิกฤติและน้ำแล้ง โดยมีระยะเวลาศึกษา 3 ปี  ได้รับทุนอุดหนุนจาก International Development Research Centre (IDRC)

ผลการศึกษาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเน้นเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการที่จะมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม และงานวิจัยจะส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้และความร่วมมือด้านน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ รัฐ ประชาชน และภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อมวลชน.

ในการแถลงข่าวยังมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปรายให้มุมมองภาพอนาคตระบบจัดการน้ำประเทศไทย  โดย ดร.อาณัติ อาภาภิรม กล่าวถึงการบริหารจัดการหลังจากเกิดน้ำท่วมจะจัดองคาพยพอย่างไร  ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการระบบข้อมูลจัดการน้ำหรือระบบเตือนภัยที่ประชาชนเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดย

ดร.อาณัติ อาภาภิรม กล่าวว่า  การจัดองคาพยพหลังจากเกิดน้ำท่วมนั้นทำได้ยากเนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แต่ก็ต้องพยายามจัดองคาพยพให้ได้  โดยจะต้องมีการจัดการ 3 ขั้นตอน คือ ก่อนเกิดน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วม และหลังจากน้ำท่วม  ซึ่งต้องการการจัดองคาพยพอย่างรอบคอบ ละเอียดและมีความยุติธรรม และถ้าเป็นไปได้ในการจ้ดการน้ำควรลดเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องให้น้อยลงจะทำให้การจัดองคาพยพเกิดประสิทธิภาพดีขึ้น  แต่หากจัดองคาพยพแล้วทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จำเป็นที่คนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องคุยกันเพื่อหาข้อยุติบนเป้าหมายตรงกันบนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม  งานวิจัยนี้จะช่วยเป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมแผนแม่บทของรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การจัดการน้ำที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง

ดร.รอยล จิตรดอน กล่าวว่า การจัดการระบบข้อมูลจัดการน้ำหรือระบบเตือนภัยที่ประชาชนเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ต้องทำ 2 ส่วนคือ การบริหารพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน และมีองค์กร/ระบบกติกาที่ชัดเจน จะทำให้มีข้อมูลที่สามารถไปสู่ข้อสรุปที่นำไปใช้ในการตัดสินใจทางนโยบายได้ และที่สำคัญข้อมูลที่มาจากกระบวนการทางวิชาการจะมีความน่าเชื่อถือช่วยลดความขัดแย้งและสามารถไปสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนซึ่งจะช่วยไปขยายความให้ประชาชนเข้าใจได้ดีกว่าการสื่อสารถึงประชาชนโดยตรงซึ่งในโลกยุคนี้ยังทำได้ยาก ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีสถาบันบริหารจัดการน้ำที่ดีดังที่โครงการวิจัยนี้กำลังทำ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากคำสั่งของศาลปกครองในคดี 3G

Posted: 29 Nov 2012 08:31 AM PST

คาดกันว่า อีกไม่นาน ศาลปกครองน่าจะมีคำสั่งว่าจะให้การคุ้มครองชั่วคราวในคดีการประมูล 3G ตามคำขอของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่  

ผมได้แสดงความเห็นมาโดยตลอดว่า การประมูล 3G ครั้งนี้มีปัญหาร้ายแรงในการออกแบบการประมูล ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้ใบอนุญาต เพราะเป็นการออกใบอนุญาต 3 ใบแก่ผู้ประกอบการ 3 ราย โดยแต่ละใบแทบไม่มีความแตกต่างกัน    ดังนั้น แม้การประมูลครั้งนี้จะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้บริการ 3G แต่ก็สร้างความเสียหายให้แก่รัฐและผู้เสียภาษีไปกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท และหากปล่อยให้ผ่านไป ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในการประมูลคลื่นอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก    ผมจึงมีท่าทีมาโดยตลอดว่า ควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านคำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ผมมีความวิตกกังวลว่า หากศาลปกครองมีคำสั่งตามคำขอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ระงับการออกใบอนุญาต 3G ไปก่อน  ในระหว่างที่ไต่สวนว่า ควรจะยกเลิกประกาศประมูล 3G ของ กสทช. หรือไม่   สิ่งที่จะตามมาก็คือ สภาวะชะงักงันในการให้บริการ 3G ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการไม่มีทางเลือกในการรับบริการ ไปจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ ซึ่งอาจนานเป็นปีขึ้นไป   การให้การคุ้มครองชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวยังจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการแข่งขัน เพราะผู้ประกอบการบางรายได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นจากการให้บริการไปก่อนภายใต้สัญญาที่เต็มไปด้วยข้อสงสัย แต่ศาลปกครองไม่ได้สั่งระงับไว้

ผมจึงเห็นว่า ในกรณีที่ศาลปกครองเห็นว่า การประมูล 3G ของ กสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลควรมีคำสั่งให้ยกเลิกการประมูลที่ผ่านมา และสั่งให้ กสทช. จัดการประมูลใหม่โดยเร็ว  แทนที่จะให้ระงับการออกใบอนุญาตไว้ก่อนตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องขอ   ทั้งนี้ ในการสั่งให้ประมูลใหม่ ศาลควรสั่งให้กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้การประมูลเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง เช่น อนุญาตให้ผู้ประกอบการแต่ละรายถือครองคลื่นได้ไม่เท่ากัน  และกำหนดราคาตั้งต้นประมูลให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้รัฐและผู้เสียภาษีเกิดความเสียหายมาก ในกรณีที่ไม่มีการแข่งขันในการประมูล   

ในการตัดสินคดีการแปรรูปของ ปตท ที่ผ่านมา ผมเห็นว่า ศาลปกครองได้หาทางออกที่ดีให้แก่สังคม กล่าวคือไม่สร้างผลกระทบต่อการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ ปตท. ในขณะที่ก็ยังสามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะจากการมีคำสั่งให้ส่งท่อก๊าซคืนให้แก่รัฐ  ซึ่งแตกต่างจากคำขอของผู้ฟ้องร้องในครั้งนั้น  ผมหวังว่า จะได้เห็นความสมดุลที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันในคดี 3G นี้อีกครั้ง โดยการมีคำสั่งในคดีนี้อย่างเหมาะสม และเร่งพิจารณาคดีสัญญา 3G ที่ค้างอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชนบทหนุนบรรจุพยาบาล ช่วยจัดเวรลาหยุดยาวไม่ให้กระทบผู้ป่วย

Posted: 29 Nov 2012 08:25 AM PST

หมอชนบทหนุนพยาบาลลาหยุด มั่นใจรับไหว จะไม่ได้รับความเดือดร้อนแม้ช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินจำนวนมาก

ตามที่เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวประกาศไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 17,000 อัตรา ที่กระทรวงสาธารณสุขจะเปลี่ยนสถานภาพจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข  และสัญญาว่าภายใน 3 ปีจะบรรจุให้เป็นข้าราชการทุกคน  โดยทางเครือข่ายประกาศหยุดงานตั้งวันที่ 1-3 มกราคม 2556 หาก รมว.สาธารณสุขไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องให้บรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นข้าราชการทั้งหมดได้ทันทีในปีนี้ ข้อเรียกร้องและการประกาศหยุดงานดังกล่าวสร้างความกังวลว่า คนไข้ทั่วประเทศจะได้รับความเดือดร้อนเพราะเป็นช่วงเวลาเทศกาลปีใหม่ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินจำนวนมาก

ต่อเรื่องนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมชมรมแพทย์ชนบท ได้เปิดเผยว่าคณะกรรมการชมรมฯ ได้ประชุมเมื่อ วันที่ 1 พย. ที่ผ่านมา และมีมติให้สนับสนุนข้อเรียกร้องให้บรรจุเป็นข้าราชการของพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวทุกคนทันที  เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจ ป้องกันสมองไหลของพยาบาลไปสู่ รพ.เอกชนแล้ว  ยังเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเงินบำรุงของ รพ. ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะลดลงจนจะเกิดภาวะวิกฤตเงินบำรุงในอีกไม่นานนี้ เพราะนโยบายของรัฐบาลที่ให้เพิ่มค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราววันละ 500 บาท และเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท รวมทั้งนโยบายลดและมีการแช่แข็งงบเหมาจ่ายต่อหัวของ สปสช.  3 ปี ที่เริ่มปี 2556 เป็นปีแรก ประกอบกับ รมว.สาธารณสุขที่ผ่านมาไม่ยอมอนุมัติงบลงทุนซื้อครุภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ในงบเงินกู้ไทยเข้มแข็ง หรืองบ DPL จำนวนกว่า3,000 ล้านบาท และไม่ตั้งงบเงินเพิ่มพิเศษให้บุคลากรสาธารณสุขตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่5 และ 6 ทำให้ รพ.ต่างๆ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้เองปีละกว่า5,000 ล้านบาท

"ข้อเรียกร้องให้บรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการจำนวน 17,000  คน เป็นสิ่งที่รมว.สาธารณสุข ควรจะต้องโชว์ศักยภาพทำให้สำเร็จทันที  เพราะการเอาอัตราว่างของข้าราชการจากการเกษียณราชการปีละ 4,000 อัตรามาบรรจุให้พยาบาลและวิชาชีพสาธารณสุขสาขาอื่นเป็นการดำเนินการตามปกติของทุกปีที่ผ่านมา ส่วนข้อเสนอที่จะปรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเป็นการผลักภาระให้ใช้เงินบำรุงของ รพ. ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต"  นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ   ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวต่อว่า "เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการผู้ป่วยของ รพ. ในช่วงที่เครือข่ายพยาบาล ประกาศจะหยุดยาว ทางชมรมแพทย์ชนบทจะมีหนังสือขอความร่วมมือให้ รพ.ชุมชนทุกแห่งให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการหยุดงานของพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวที่จะเข้าร่วมติดตามข้อเรียกร้องที่กระทรวงสาธารณสุขหรือที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยการจัดตารางเวรปฏิบัติงานใหม่ ให้พยาบาลที่เป็นข้าราชการเข้ารับเวรบริการผู้ป่วยแทนพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวในช่วงเวลาที่มีการหยุดงานดังกล่าว และให้เตรียมพร้อมหากมีการหยุดงานต่อเนื่องมากกว่า3 วัน ตามที่เครือข่ายประกาศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการผู้ป่วย และไม่ให้ผู้ป่วยเดือดร้อน" ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิกเกมรุก!ชวนรณรงค์ออนไลน์ ถอดประเด็นสุขภาพออกจากเอฟทีเอไทย-อียู

Posted: 29 Nov 2012 08:18 AM PST

29 พฤศจิกายน 2555 ภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเจรจาการค้าไทยกับสหภาพยุโรป ส่งอีเมลล์เวียนเชิญชวนรณรงค์ออนไลน์ ด้วยการส่งข้อความตามจดหมายเปิดผนึกและรูปภาพไปที่หน้า fanpage ของสหภาพยุโรปในประเทศไทย ในวาระะต้อนรับการมาเยือนประเทศไทยของรองผู้แทนการค้าสหภาพยุโรป (João Aguiar Machado) เข้าพบกับรองนายกฯกิตติรัตน์ ณ ระนอง เพื่อเร่งการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป

โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเริ่มต้นข้อความ ด้วยการแสดงความยินดีกับการที่สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปีนี้ รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ซึ่งผู้ได้รับควรปฏิบัติให้สมกับที่ได้รับรางวัลมา

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของสหภาพยุโรปในการกดดันประเทศกำลังพัฒนาต่างๆรวมทั้งประเทศไทยผ่านทางการเจรจาเอฟทีเอให้ต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลกที่จะยืดอายุการผูกขาดยาแบรนด์เนมให้แสวงหากำไรได้สูงสุดต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด, ทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญผ่านการคุ้มครองข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) และการยึดจับสินค้า ณ ท่าชายแดน ผ่านมาตรการที่เรียกว่า Border Measure, ทำลายความมั่นคงทางอาหารด้วยสนธิสัญญา UPOV 1991 และสนธิสัญญาบูดาเปส,  จำกัดสิทธิของประเทศในการกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการเพื่อล้มนโยบายเหล่านั้น, และเปิดทางให้สินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มาขายในประเทศกำลังพัฒนาอย่างปลอดจากการควบคุม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นบ่อนทำลายสันติภาพในสังคมของประเทศกำลังพัฒนา

โดยตอนท้ายของจดหมายเปิดผนึกได้เรียกร้องให้รองผู้แทนการค้าสหภาพยุโรปประกาศต่อสาธารณชนว่า สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะรับรองว่า ผู้เจรจาของคณะกรรมาธิการยุโรปจะขจัดประเด็นต่างๆเหล่านี้ ในการเจรจาความตกลงต่างๆในปัจจุบันและอนาคตที่จะมีกับประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเพื่อชีวิตของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา

0 0 0

 

ข้อความรณรงค์
เรียน รองผู้แทนการค้าสหภาพยุโรป (João Aguiar Machado)

                พวกเราภาคประชาสังคมไทยขอแสดงความยินดีกับการที่สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปีนี้ รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ซึ่งผู้ได้รับควรปฏิบัติให้สมกับที่ได้รับรางวัลมา

                อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของสหภาพยุโรปในการกดดันประเทศกำลังพัฒนาต่างๆรวมทั้งประเทศไทยผ่านทางการเจรจาเอฟทีเอให้ต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลกที่จะยืดอายุการผูกขาดยาแบรนด์เนมให้แสวงหากำไรได้สูงสุดต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด, ทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญผ่านการคุ้มครองข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) และการยึดจับสินค้า ณ ท่าชายแดน ผ่านมาตรการที่เรียกว่า Border Measure, ทำลายความมั่นคงทางอาหารด้วยสนธิสัญญา UPOV 1991 และสนธิสัญญาบูดาเปส,  จำกัดสิทธิของประเทศในการกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการเพื่อล้มนโยบายเหล่านั้น, และเปิดทางให้สินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มาขายในประเทศกำลังพัฒนาอย่างปลอดจากการควบคุม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นบ่อนทำลายสันติภาพในสังคมของประเทศกำลังพัฒนา

                ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้ท่านประกาศต่อสาธารณชนว่า สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะรับรองว่า ผู้เจรจาของคณะกรรมาธิการยุโรปจะขจัดประเด็นต่างๆเหล่านี้ ในการเจรจาความตกลงต่างๆในปัจจุบันและอนาคตที่จะมีกับประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเพื่อชีวิตของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา

ภาพที่ใช้รณรงค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

Posted: 29 Nov 2012 06:27 AM PST

24 พ.ย.55 เวลา 13.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมห้องเรียนประชาธิปไตย ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ "สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย" มีวิทยากรร่วมเสวนาคือ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

 

 

ยกที่ 1

 

โจทย์ของนักลงทุนกับนักสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวถึงโจทย์ร่วมกันในสามประเด็นสำหรับทั้งนักลงทุนและนักสิ่งแวดล้อม หนึ่ง คือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งเป็นระบบรากฐานการพัฒนาประเทศ โดยธรรมชาติแล้วต้องใช้ทรัพยากรเป็นตัวขับเคลื่อนกำไรสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรที่ทดแทนไม่ได้ ตัวระบบทุนนิยมและโครงการพัฒนาทั้งหลายจึงน่าจะเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่น่าจะหาจุดประนีประนอมตรงกลางได้ นักลงทุนกับนักสิ่งแวดล้อมคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ประเด็นที่สอง เรื่อง 'สิทธิ' ในความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่จะต้องเสียสละทรัพยากรให้กับโครงการพัฒนาทั้งหลาย ประเด็นเรื่องสิทธิเหนือทรัพยากรควรจะเป็นของใคร นักอนุรักษ์มักจะพูดว่าเราควรสร้างกลไกทางกฎหมายให้เข้มแข็ง เพื่อจะให้รัฐมีอำนาจมากขึ้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ.อนุรักษ์ หรือนายทุนก็พูดถึงแนวคิดเรื่องสิทธิปัจเจก ปล่อยให้ตลาดทำงาน เพื่อให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างเต็มมูลค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่เอ็นจีโอก็พยายามรณรงค์เรื่องสิทธิชุมชน มองว่าทั้งรัฐและเอกชนล้มเหลว ประชาชนควรจะมีสิทธิ์เข้ามาจัดการมากกว่า

และประเด็นที่สาม คือ ระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นดีกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

 

ธนาธร: ความเปลี่ยนแปลงของโลกกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

ธนาธร กล่าวว่าเวลาเราพูดถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย มันไม่ได้มีสีเขียวอย่างเดียว แต่มันก้าวข้ามไปถึงปริมณฑลทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับชาติและระดับโลกด้วย พร้อมชี้ให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกในช่วงรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นที่สำคัญ

แนวโน้มการเติบโตของประชากรโลก ปัจจุบันมีประชากรในโลก 8 พันล้านคน โดยการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะเกิดขึ้นในช่วง 50 ปีให้หลังนี้เอง นัยยะของการเพิ่มขึ้นของประชากรคือความต้องการในการบริโภคสินค้า เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ความต้องการสะดวกสบายต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จะต้องผลิตสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อป้อนการเจริญเติบโตของประชากรโลก จากแนวโน้มนี้เรายังไม่เห็นว่ามันจะไปหยุดเติบโตที่ตรงไหน

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

นอกจากนี้ประชากรทั่วโลกก็มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นด้วย ปริมาณอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ ก็ชี้ให้เห็นว่าปริมาณการบริโภคก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในประเทศจีนมีการเติบโตอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นที่สุดในโลก คนมีรายได้เพิ่มอย่างรวดเร็ว จากที่กินแต่ข้าวกับผัก ก็หันมาบริโภคเนื้อมากขึ้น สิ่งที่เป็นของหรูหราในสมัยที่คนยังมีรายได้ต่ำ สะท้อนความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องการทรัพยากรพื้นฐานที่นำไปป้อนมัน ต้องการที่ดิน ต้องการอาหารสัตว์ ทรัพยากรด้านพลังงาน เพื่อใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์ตามความต้องการ

ปริมาณความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จากแต่ก่อนเมื่อรายได้ต่อหัวต่อคนยังไม่สูงมากนัก ความต้องการใช้ไฟฟ้าของคุณมีอะไรบ้าง คุณอาจจะใช้พัดลม พอมีรายได้มากขึ้นคุณต้องใช้แอร์ แต่ก่อนคุณใช้โทรศัพท์จอขาวดำ แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีใครใช้แล้ว ใช้จอสีกันหมด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ความต้องการใช้พลังงานมันมากขึ้น คุณอาจจะเคยนั่งรถโดยสารขับมอเตอร์ไซต์ พอมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น ก็หันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ปริมาณการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้น รายได้ต่อหัวของประชาชนไทย ตอนนี้ขึ้นไปถึง 4 พันเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ประมาณแสนกว่าบาทต่อคนต่อปี

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

ดังนั้นความต้องการในปัจจัยพื้นฐานของชีวิตมันสูงขึ้นไปด้วย และปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จำเป็นต้องใช้พลังงาน จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเพื่อมาป้อนความต้องการ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงทวีความรุนแรงขึ้น

พวกที่เป็นนักอนุรักษ์นิยมจ๋าๆ ก็จะกีดกันหรือรังเกียจการพัฒนา เพราะการพัฒนาไปทำลายสิ่งแวดล้อม มันมีการเก็บบันทึกไว้ทั้งหมด โลกร้อนปีละกี่องศา พื้นที่ป่าหายไปเท่าไร น้ำแข็งละลายปีละเท่าไร พฤติกรรมสัตว์ป่าเปลี่ยนไป น้ำกลายเป็นสิ่งที่หายากบนโลก ทรัพยากรเรื่องที่ดิน น้ำ ป่า พลังงาน กลายเป็นประเด็นทำสงครามกัน เราเห็นการแย่งชิงทรัพยากร เห็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ และทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน

 

ธนาธร: โอกาสของคนชนบทในสังคมสีเขียว?

ธนาธรเสนอต่อว่า มากไปกว่านั้น นอกจากการแย่งชิงทรัพยากรกันแล้ว ทรัพยากรส่วนใหญ่ที่ถูกนำไปใช้จะถูกใช้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของคนเมือง รับใช้การเจริญเติบโตของเมือง ดังนั้นนอกจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังมีปัญหาการนำทรัพยากรมาใช้อย่างไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองกับชนบท ท้ายที่สุดปัญหาจากการนำทรัพยากรมาใช้มันเกิดขึ้นที่ใคร มันไปเกิดที่คนที่อยู่มาดตะพุด คนที่ปากมูน ที่เขื่อนแม่วงก์ คือผลประโยชน์จากการพัฒนาพวกนี้ถูกนำไปรับใช้เมือง ในขณะที่ความทุกข์ที่เป็นผลต่อเนื่องจากการพัฒนามันไปอยู่กับคนชนบท นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความต้องการพลังงานจึงไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้า วัตถุดิบหลักๆ ประมาณ 80% ของการใช้พลังงานไฟฟ้ามาจากถ่านหิน แล้วถ่านหินคืออุตสาหกรรมที่สกปรกที่สุด ทำให้เกิดมลภาวะมากที่สุดในโลก อันดับสองคือใช้ก๊าซธรรมชาติ อันดับสามคือพลังงานนิวเคลียร์ หรือพลังงานชีวมวล นอกจากนั้นก็มีการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ มีการใช้พลังงานลม พลังงานน้ำก็คือการสร้างเขื่อน แล้วก็มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์

พอเรามาดู การสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน คนก็ประท้วงกันทุกเขื่อนทุกโรงไฟฟ้า ไม่มีคนเอา เรื่องแก๊สธรรมชาติ หรือพอมาถึงนิวเคลียร์ ก็ไม่เอา นิวเคลียร์มันเป็นพลังงานสะอาดจริง แต่กากมันอาจจะไม่สะอาดเมื่อใช้เสร็จ และมันอันตราย มันระเบิดออกมาคนในรัศมี 100 กิโลเมตรก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสี บางคนก็อยากได้ แต่ถ้าถามว่าเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งใกล้บ้านคุณเอาไหม คุณอาจจะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง

ส่วนพลังงานชีวมวลกับพลังงานความร้อนใต้พิภพ ก็น้อยเกินไปที่จะเอามาเป็นทางเลือกในการผลิตพลังงานไฟฟ้าหลักได้จริง หรือพลังงานลมที่จะสร้างกระแสไฟฟ้า พลังงานลมที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจต้องมีความเร็วลมประมาณ 6 เมตรต่อวินาที แต่ลมประเทศไทยแรงที่สุดประมาณ 4 เมตรต่อวินาที

และสุดท้ายคือมีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่มีศักยภาพมากที่สุด แต่ปัญหาคือมันแพง มันจะเกิดได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

พอมาดูลิสต์ทั้งหมดของสิ่งที่สร้างพลังงานได้ มันมีตัวเลือกไม่เยอะจริงๆ จึงเกิดคำถามว่า เรามีทางเลือกอะไรจากพลังงานเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายคน ก็บอกว่าคุณก็เลิกพัฒนาซิ ดูลิสต์แล้วผมไม่เอาสักอย่าง ผมเอาอย่างเดียวคือพลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะมันสะอาด แต่พอพูดแบบนี้เมื่อไร คุณกำลังตัดให้คนจนไม่มีสิทธิ์ใช้เข้าไปใช้ชีวิตสะดวกสบายเหมือนคุณเลย เพราะพลังงานพวกนี้มันใช้ได้จำกัดมาก และมันแพงมาก

วันนี้ค่าไฟยูนิตหนึ่ง ผลิตด้วยถ่านหินในเมืองไทย ขายกันอยู่ 3 บาท ถ้าเราใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ขายกันอยู่หน่วยละ 11 บาท ส่วน 8 บาทที่เหลือต้องเอาเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

"ถ้าเราต้องการสะอาด ไม่ต้องการให้สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบอะไรเลย สิ่งที่เกิดคือค่าไฟคุณจะแพงขึ้น 3 เท่า คุณกำลังตัดโอกาสของชนชั้นกลางระดับล่าง ในการเข้าถึงความสะดวกสบาย ถ้าเราต้องการไปถึงสังคมสีเขียว"

กรณีอุตสาหกรรมรถยนต์ เรามีทางเลือกกี่ทางที่จะทำให้การขับขี่ยานพาหนะของเราสะอาดขึ้น หนึ่งคือทำเครื่องยนต์สันดาปปัจจุบันให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้วิ่งได้ไกลขึ้น โดยใช้น้ำมันเท่าเดิม ทำให้สันดาปมันสมบูรณ์ที่สุด อันที่สอง มีการทำ Bio-fuels (เชื้อเพลิงชีวภาพ) การทำเอธานอลเอามากลั่น ใช้ E85, E90 ที่บราซิลเขาใช้กันไปถึง E80 คือมีอัตราส่วนเอธานอล 80% แล้วเป็นน้ำมันปกติ 20% ของเมืองไทยเป็นเอธานอลประมาณ 15% เป็นเบนซิน 85% และมีตัวเลือกอีกคือรถไฟฟ้า รถที่เป็น hybrid ใช้น้ำมันด้วย ใช้ไฟฟ้าด้วย หรือมีเทคโนโลยีล่าสุดคือใช้ไฮโดรเจนเซลล์

ปัญหาคือต่อให้คุณใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเร่งประสิทธิภาพสูงสุดเท่าไรก็แล้วแต่ มันก็ยังต้องปล่อยมลภาวะออกมา ปล่อยคาร์บอนออกมา ตัวที่สองคือ Bio-fuels มลภาวะอาจจะน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน แต่ปัญหาคือมันมาจากพืช อะไรก็ตามที่เป็น Bio ในประเทศไทยก็คือมาจากอ้อยเป็นหลัก ถ้าประเทศไทยบอกว่าทั้งประเทศเราวิ่งด้วย E50 ดีกว่า หมายความว่าน้ำมันที่ใช้ทั้งหมด 50% ที่ใช้จะต้องมาจากการปลูกอ้อย ปัญหาคือการใช้พื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่ม ผลที่ตามมาคือพื้นที่ปลูกอาหารลดลง ชาวนาชาวสวนที่จะมาปลูกอาหารลดลง ต้องเอาพื้นที่ที่มีจำกัดไปปลูกพลังงาน แทนที่จะปลูกอาหาร ราคาอาหารก็แพงขึ้น

สำหรับตัวเลือกที่สามรถไฟฟ้า ซึ่งมันแพงมาก มันมีที่เขาขายกัน รถ Camry Hybrid ที่มันวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่อย่าลืมว่ารถนี้สนับสนุนจากรัฐบาลไทยคันละแสนหนึ่ง สมมติเราเป็นเขียว กรีนมาก ผมบอกว่าอยากให้รถทุกคันเป็นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ประการแรกคือมันแพงมาก คนธรรมดาที่มีรายได้ขั้นต่ำ หรือชนชั้นกลางทั่วไป เขาจะมีความสามารถในการเข้าถึงการเคลื่อนไหวอย่างอิสระในสังคมได้หรือไม่ แล้วถ้าราคามันต่ำลงมาหน่อย ปัญหาต่อมาคือไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานลำดับสอง คุณต้องเอาอะไรสักอย่างมาผลิตไฟฟ้าอีกที ไม่ได้อยู่ๆ ไฟฟ้าโปรยลงมาจากท้องฟ้า

กลับมาคำถามเดิมคือคุณจะเอาอะไร ในลิสต์เรามีไม่เยอะเลย คุณจะใช้อะไร ถ้าเราเอาเขียวแบบหัวชนฝาก็จะบอกว่าคุณหยุดพัฒนาซิ คือบอกว่าเราผลิตกระแสไฟฟ้าได้เท่านี้ ก็ใช้เท่านี้ เริ่มที่ตัวคุณก่อน คุณกลับไปใช้มือถือขาวดำไหม คุณเลิกถือสมาร์ทโฟนไหม คุณเลิกใช้โน๊ตบุ๊คไหม ถ้าเราไม่ผลิตพลังงานเพิ่ม

เมื่อความต้องการพลังงานมากขึ้น คุณต้องเลือก คุณจะเอาอะไร มีสกปรกบ้าง แพงบ้าง แต่ถ้าคุณบอกว่าไม่เอาพลังงานเลย ผลิตได้เท่าไร ก็เอาเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นคนที่อยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนอย่างคนกรุงเทพฯ จะทำอย่างไร เขาจะเอาไฟที่ไหนใช้ คนกรุงเทพฯ จะใช้ไฟน้อยลงหรือเปล่า

มีอีกอันคือใช้ไฮโดรเจนเซลล์ ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ เป็นเทคโนโลยีล่าสุด แต่เทคโนโลยีนี้ประมาณการคือรถคันละ 6 ล้าน เราพร้อมประกาศใช้นโยบายแบบนี้หรือเปล่า สะอาด ขาว ใส แต่ราคา 6 ล้าน ถ้าเราอยากจะเป็นประเทศผู้นำด้านความเขียวของสิ่งแวดล้อม ประกาศนโยบายนี้ออกมา คนมากกว่า 80% ของประเทศจะเข้าถึงรถยนต์ไม่ได้ ดังนั้นโจทย์ไม่ง่าย

แล้วยังมีกลุ่มความคิดหนึ่งที่บอกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของความโลภ เราทุกคนกำลังตกเป็นทาสของลัทธิบริโภคนิยม ทำไมต้องใช้ไอโฟน ทำไมต้องไปกินสตาร์บัคส์ ลัทธิบริโภคทำให้คุณมีความต้องการมากขึ้น คุณอยากมากขึ้น คุณโลภมากขึ้น หลงใหลในสิ่งที่เป็นมายามากขึ้น ทำให้บริโภคเยอะขึ้น ต้องใช้พลังงานเยอะขึ้น คุณก็ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เรามีคนในสังคมคิดอย่างนี้

ท้ายสุด คนที่เขียวหรือคิดแบบนี้ สิ่งที่เขาทำหันไปหาก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มันเข้าล็อคกันพอดี ในการมองการพัฒนาเป็นเรื่องของความโลภ เป็นเรื่องมายาคติ เป็นเรื่องการค่านิยมจากต่างประเทศ ที่เข้ามารุกล้ำในวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียง วัฒนธรรมชุมชนที่อยู่กันมาเป็นร้อยปี เข้ามารุกเกินความเป็นไทย คนไทยแต่ก่อนไม่มีลัทธิบริโภคนิยม ไม่มีความต้องการเกินตัว ก็มีมายาคติแบบนี้ถูกสร้างขึ้น เพื่อเอามาต่อต้านกับกระแสบริโภคนิยม

อีกประเภทหนึ่งของการต่อต้านการพัฒนา คงเคยได้ยินแคมเปญประเภทนี้คือ วันนี้เราหยุดขับรถมาเถอะ มาขับจักรยานกัน, วันนี้ปิดทีวีกันเถอะ เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคุณจะรู้สึกแบบชั่วครู่ชั่วยามว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้นนะ วันรุ่งขึ้นก็กลับมาดูทีวีเท่าเดิม เปิดใช้ไฟฟ้าพลังงานเท่าเดิม

"ผมยอมรับว่าโจทย์เรื่องพวกนี้ เราไม่มีทางออกที่มันจับต้องได้ ที่ง่าย แต่สิ่งที่สำคัญคือถ้าเรา enforce ในเรื่องความเขียวมากขึ้นเท่าไร ผลกระทบมันจะกลับไปอยู่กับคนที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจน้อยกว่าเท่านั้น คุณต้องเลือก ดังนั้นมองในมุมนี้ พอพูดถึงเรื่องเขียว มันไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว มันมีเรื่องนโยบายรัฐเข้ามาเกี่ยวแล้ว มันเป็นเรื่องการเลือกนโยบายแล้ว ว่าคุณจะเอาเขียวไม่เขียวอย่างไร มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ความสมดุลระหว่างสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำอย่างไร"

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

 

ศศิน: การอนุรักษ์ในฐานะการดึงๆ กันไว้

ศศิน เริ่มด้วยการยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกันในเรื่องพลังงาน คือเรื่องน้ำ จากแผนที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเวลาที่จะสร้างเขื่อน ถ้าไม่นับเรื่องน้ำท่วมปีที่แล้ว เขาจะอ้างเรื่องความต้องการน้ำ แล้วเป็นเรื่องความต้องการน้ำไปอีก 20 ปี ถ้าเกิดในอีก 20 ปีข้างหน้าความต้องการจะเป็นเท่าไร ไม่ต่างกันเลยกับความต้องการพลังงาน หรืออาหาร โดยคำนวณจากประชากรที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น และแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม-เกษตรกรรมที่สูงขึ้น ก็มีการสร้างแผนจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน มีการกำหนดพื้นที่ศักยภาพว่าพื้นที่ไหนน้ำแล้ง พื้นที่ไหนน้ำเยอะ

ศศินเล่าว่าตนเกิดที่อำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา และเห็นว่ามันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาก ทำนามาตลอด ทำมหาศาล จึงตกใจมากเลยที่พบว่าพื้นที่บ้านของตนอยู่ในระดับที่ 3 ของพื้นที่ศักยภาพน้ำ พื้นที่ที่ถูกจัดให้น้ำเยอะอันดับหนึ่งคือแถบบางเลน ลาดหลุมแก้ว แล้วยิ่งไม่แปลกใจ เมื่อขยับมาดูพื้นที่แถวนครสวรรค์ เขื่อนแม่วงก์ ไล่ต่อมาถึงแทบอุทัยธานี สุพรรณบุรี กลายเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ มันขาดแคลนน้ำเพราะมันสัมพัทธ์ (Relativity) กับบางเลน

อันนี้คือตั้งเป็นแผน บ้านตนกลายเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำเกือบจะสูงสุดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน ในสายตาของนักชลประทาน บ้านตนกลายเป็นพื้นที่แล้งไป ภาพนี้ทำให้ผมรู้สึกเลยว่าอย่างนี้มันคืออะไร ทำไมพื้นที่หนึ่งถึงมีน้ำเยอะ เพราะมีการชลประทาน มีการ Support น้ำมาสู่ตรงนี้อย่างสมบูรณ์แบบ ถ้าเกิดอยากให้พื้นที่อื่นพัฒนามาเป็นอีกระดับ ก็เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ หรือระบบการจ่ายน้ำเข้าไป ตรงนี้เวลาที่จะเขียนโครงการขึ้นมาเพื่อจะขอเขื่อนสักเขื่อนหรือขอพื้นที่ มันก็ต้องเอาตรงนี้เป็นคัมภีร์ใหญ่ในการเขียนโครงการและของบประมาณ

มันมีพื้นที่ที่มีศักยภาพตามธรรมชาติไม่เท่ากัน แล้วก็มาตั้งโจทย์เปรียบเทียบต่างๆ กัน เพื่อนำไปสู่บางเรื่องที่บางทีเราก็ไม่ไว้ใจว่าเท่าไรมันก็ไม่พอ มันไม่ได้พัฒนาว่าเมื่อน้ำตรงนี้มันมีแค่นี้ จะสามารถอยู่อย่างไรทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดี อยู่ดีกินดีเท่าพื้นที่อื่นๆ โดยไม่ต้องเบียดเบียนทรัพยากร

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

ศศินพูดถึงความคิดของนักสิ่งแวดล้อม แม้ตนโดยอาชีพเป็นนักพัฒนา เพราะเรียนมาเรื่องเหมืองแร่ ขุดทองขุดปิโตรเลียม และเคยไปสอนหนังสือให้วิศวกรสร้างเขื่อน ระเบิดหิน ตัดถนน อยู่ 10 ปี มันขัดแย้งกับตัวเองมาตลอด เขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่ตนไม่อยากทำ ในที่สุดตนก็ไม่อยากสอนเด็กให้สร้างเขื่อน ตัดถนนแล้ว แล้วก็เลือกที่จะมาอนุรักษ์ป่า เราก็เปลี่ยนตัวเองมาทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วโลกมันก็เดินไป

"ผมว่ามันต้องมีใครสักคนที่รักษาสิ่งที่มันเป็นเรื่องสำคัญ บางเรื่องที่เราเชื่อว่าควรจะรักษาไว้ เช่น ต้นไม้ในที่ที่หนึ่ง ป่าไม้ในที่ที่หนึ่ง มันเป็นการหน่วง ไม่ใช่ปะทะ เป็นการดึงไว้มากกว่า อย่างสมมติเขาจะสร้างเขื่อนให้เต็มพื้นที่ ผมขอไว้สักเขื่อนเถอะ แม่วงก์กับเสือเต้น การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้ไปปะทะ แต่มันคือการดึงไว้ เพราะมันไปไกลแล้ว ผมดึงไว้สักเขื่อนสองเขื่อน เพื่อให้เหลือพื้นที่ให้สัตว์ป่า ให้เสือในพื้นที่ห้วยขาแข้งกระจายแพร่พันธุ์สักจุดหนึ่ง"

ชนชั้นกลางในเมืองก็รับกระแสนี้เยอะ มันพ้นจากยุคว่าคุณไม่สร้างเขื่อน แล้วคุณจะใช้ไฟฟ้าหรือเปล่า มันไกลกว่านั้นแล้ว วันนี้การพัฒนามันมาถึงจุดๆ หนึ่ง ที่มันมีทางเลือกว่าจะเก็บอะไรไว้ตั้งเยอะแยะ ยกตัวอย่างว่าที่เราได้แชมป์ส่งออกข้าว เราได้มาจากเขื่อนนะ ถ้าไม่มีเขื่อนต่างๆ เราไม่ได้แชมป์โลกการส่งออกข้าว แต่ประเด็นของการอนุรักษ์วันนี้ คือว่ามันเยอะขนาดขึ้นแท่นแชมป์โลกแล้ว จะหยุดไหม หยุดคือไม่ได้หยุดจากการเป็นแชมป์ เราหันมาเก็บที่ให้ไว้สิ่งมีชีวิตประเภทอื่นไหม

จากนั้นศศินได้เปิดคลิปภาพสืบ นาคะเสถียร และชี้ให้เห็นว่าหลังจากกระแสความตื่นตัวของชนชั้นกลางในเมืองต่อสิ่งแวดล้อมหลังการตายของสืบ และการคัดค้านการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานและน้ำโจน หลังจากนั้นประเทศไทย ก็ไม่เคยสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าสมบูรณ์อีกเลย ขณะนี้มีการสู้กันอยู่สองเขื่อนคือเขื่อนแม่วงก์กับแก่งเสื้อเต้น โมเดลของเขื่อนเชี่ยวหลานกับน้ำโจนกลายมาเป็นตัวปะทะ ที่ตนจริงจังกับเขื่อนแม่วงก์และแก่งเสือเต้น คือสองเขื่อนนี้จะกลายเป็นโดมิโนตัวแรก ความคิดใหญ่ชุดหนึ่งว่าเราจะไม่เข้าไปแตะกับป่าสมบูรณ์ เรารู้ว่าถ้าแม่วงก์มันเกิดขึ้น เขื่อนอื่นๆ มันก็จะเกิดเต็มไปหมดเลย ฝ่ายอนุรักษ์แพ้เลย

"บางทีมันก็เป็นการต่อสู้เชิงกระแส เชิงสัญลักษณ์ นักอนุรักษ์ก็ทำงานแบบนี้ บางทีมันไม่ได้ว่ามีอะไรผิดถูก แต่มันเป็นการดึงๆ ไว้ มีอะไรก็ดึงไว้ ปะทะไว้ มันไม่ใช่ว่าคุณเล่นกีตาร์ไฟฟ้า มาร้องเพลงต้านเขื่อนทำไม มันไม่ใช่เรื่องว่าคุณจะกลับไปอยู่ในยุคหิน กลับไปไม่พัฒนาหรือแช่แข็ง มันไม่ใช่แล้ว วันนี้มันมาไกลจนถึงขั้นเกินความสุขสะดวกสบายแล้ว คือโลกมันน่าจะสมดุลถ้ามีการดึงๆ กันไว้บ้าง"

 

ยกที่ 2

 

ผศ.ปิ่นแก้วได้ตั้งคำถามถึงเรื่องกำไรในอุตสาหกรรม ว่าจริงๆ แล้วต้นทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา มันสะท้อนต้นทุนจริงมากน้อยแค่ไหน สมมติมันไม่ได้สะท้อนจริง กำไรของภาคอุตสาหกรรมมันมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าลดกำไรลงนิดหนึ่ง มันจะช่วยปฏิรูปในการผลิตหรือเปล่า

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

 

ธนาธร: ข้อเสนอทำประชาธิปไตยให้เล็กลง

ธนาธรเห็นว่า พอพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ต้องกลับมาเรื่องเศรษฐกิจการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งแวดล้อมไม่ได้ตั้งอยู่โดดๆ ในสังคมโดยไม่มีพันธะกับปริมณฑลอื่น คำถามคือถ้าบริษัทพลังงานพวกนี้ลดกำไรลงมาหน่อย จะทำให้พลังงานถูกขึ้นไหม ปัญหาคือการลงทุนด้านพลังงานเป็นการลงทุนที่ใหญ่ มหาศาล ถ้าคุณลดกำไรลง บริษัทที่ได้กำไร 8 บาทกับ 10 บาท ถ้าคิดอย่างมีตรรกะเหตุผล ก็ต้องเลือกลงทุนในบริษัทที่ได้กำไร 10 บาท

ถ้าสมมติปตท.บอกว่าเรามาเอาใจผู้บริโภคกันเถอะ มาลดราคาน้ำมัน ผลคือกำไรปตท.ตกลง นักลงทุนที่ลงทุน ปตท.ก็ไปลงทุนในปิโตรนาสดีกว่า แล้วถ้ารัฐบาลไทยบอกว่าอย่างนี้รัฐสนับสนุนการลงทุนพวกนี้เองดีกว่า ไม่เอาเงินนักลงทุนเลย แล้วทีนี้จะเอาเงินที่ไหนไปทำ 30 บาท ทำสวัสดิการด้านอื่น เพราะงบประมาณของประเทศมีจำกัด คุณจะเอาเงินส่วนไหนไปสร้างสวัสดิการสังคม นี่ยังไม่ได้พูดถึงความโปร่งใสในการบริหารงานระหว่างรัฐบาลกับเอกชนด้วย นี่คือโจทย์ว่าเราไม่เอาเงินจากนักลงทุนเอกชนก็ได้ แต่เอาเงินจากรัฐบาล แล้วเก็บกำไรให้น้อยๆ แต่รัฐบาลก็ต้องยอมสูญเสียเงินในการไปทำสวัสดิการทางสังคมในด้านอื่นๆ

นอกจากนั้นยังมีคำถามจากผู้ฟังในเรื่องสิทธิการตัดสินใจของคนในพื้นที่ ว่าหากคนในพื้นที่ก็อยากได้เขื่อน แต่นักอนุรักษ์กลับไปคิดแทนหรือตอบแทนคนในพื้นที่ ปัญหานี้ควรจะมีกระบวนการตัดสินใจอย่างไร

ธนาธรเห็นว่าประเทศไทยขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ มากเกินไปและนานเกินไป กรุงเทพฯ ขูดรีดทรัพยากรจากต่างจังหวัดมากและนานเกินไป โจทย์ที่ว่าประชาธิปไตยกับสิ่งแวดล้อมมันจะอยู่อย่างไรกัน ความสัมพันธ์ควรเป็นอย่างไร ในความคิดตน ทิศทางการเดินไปของสังคมนั้นยิ่งเล็กยิ่งดี คือให้ประชาธิปไตยมันอยู่ในวงที่เล็กๆ แล้วให้ชาวบ้านตัดสินใจกันเอง คือการจัดสรรทรัพยากรในท้องถิ่นนั้น คนท้องถิ่นนั้นจัดสรรเอง คุณเอาไม่เอาว่ากันเอง ถ้าเอา มีต้นทุนแบบนี้ สูญเสียพื้นที่ป่าไปกี่ไร่ ได้มูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไร คุณวัดและสู้กัน นี่คือทิศทางของประชาธิปไตย แต่กรุงเทพฯ ไม่มีสิทธิ์ไปจัดการและไม่ควรไปจัดการ

ท้ายที่สุด นโยบายการพัฒนาทั้งหมด ว่าจะเอาทรัพยากรที่ไหนไปทำอะไรให้ใคร มันออกจากศูนย์กลางทั้งหมด คุณไปคิดแทนและจัดสรรทรัพยากรแทน แล้วมันตกไม่ถึงมือเขาด้วยซ้ำไป คือต้องทำให้ประชาธิปไตยมันเล็กที่สุด มันต้องแลกอะไรในระดับท้องถิ่น จะเอาอันนี้เพื่อแลกอันนี้ ให้ท้องถิ่นนั้นตกลงกัน แล้วผลประโยชน์ต้องอยู่ที่เขา ถ้าเขาต้องเสียสละ ไม่ใช่เขาเสียสละเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนกรุงเทพฯ

 

ธนาธร: ไม่เอาบริโภคนิยม ต้องไม่เอาทุนนิยม

ต่อคำถามเรื่องลัทธิบริโภคนิยมนั้นทำให้เราต้องบริโภคเพิ่ม ไม่ใช่เกิดจากความต้องการบริโภคขั้นพื้นฐานจริงๆ แต่เป็นการสร้างความต้องการซื้อที่เทียมขึ้นมา ธนาธรเห็นว่าการบริโภคสิ่งต่างๆ เราล้วนได้รับสารมาจากที่ไหนสักแห่ง มีอะไรบางอย่างเข้ามาก่อน เราถึงอยากจะเสพมัน

แต่การจะไม่เอาบริโภคนิยมได้ เงื่อนไขเดียวคือไม่เอาทุนนิยม แรงที่โฆษณาให้คุณต้องไปใช้ไอโฟนใหม่ ไปดูหนังเกาหลี มันถูก Drive จากความต้องการในการสะสมกำไรตั้งแต่แรก ถ้าต้องการสะสมกำไรมากขึ้น ขายไอโฟนอย่างเดียวในอเมริกาอย่างเดียวมันน้อย ถ้าเอามาขายทั่วโลกประชากร 7 พันล้าน ก็ต้องขาย แล้วคุณก็หากระบวนการมาบอกว่าทำไมเราต้องเสพของพวกนี้ ความอยากพวกนี้มันไม่ได้เกิดมาโดยไม่ได้มีแรงกระทำจากภายนอก ปัญหาคือแรงกระทำจากภายนอกมันเป็นแรงกระทำที่เกิดขึ้นโดยความต้องการแสวงหากำไรที่มากขึ้น

พูดแบบสุดโต่ง การรณรงค์ใช้กระดาษรีไซเคิล มากินผักปลอดสาร พวกนี้มันเป็นการทำให้ตัวเองมีความสูงส่งทางศีลธรรมมากกว่าคนอื่นชั่วครั้งชั่วคราว ทำให้รู้สึกดีชั่วคราวแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ตนก็เคยเป็นมาก่อน รู้สึกว่าใช้ชีวิตแบบนี้เราเป็นคนดีขึ้น เท่ แต่ถ้าคุณไม่เข้าไปแก้ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ต่อให้คุณแต่งตัวหรือเสพของพวกนี้เท่าไร มันก็ไม่แก้ปัญหาเรื่องพวกนี้

อันนี้สมมติว่าถ้าคุณไม่เอาผักใช้สารเคมี ไม่เอาเสื้อผ้าที่มาจากโรงงานใหญ่ๆ ไม่เอาไอโฟน เอากรีนทั้งหมดเลย ไม่เอาอะไรที่เป็นส่วนเกินเลย ทุกคนเสพหมด ถามว่าทำให้คนตกงานทั่วโลกกี่คน มองกลับคือ การบริโภคในสังคมทุนนิยมทำให้เกิดการจ้างงาน จะเอาการจ้างงานไหม ในสังคมที่ต้องสะสมทุนระดับปัจเจกเพื่อมีชีวิตรอด เพื่อซื้อข้าวมื้อต่อไป เพื่อผ่อนบ้านผ่อนรถ คุณต้องการงานไหม ดังนั้นปัญหาไม่ได้ง่าย โจทย์มันใหญ่กว่าการพูดว่าจะเอาเขื่อนหรือไม่ เรารู้ว่าระบบนี้มัน Corrupt ทุนนิยม บริโภคนิยมมัน corrupt แต่จะเอาอะไรไปตอบโจทย์นั้น

 

ศศิน: สเกลของประชาธิปไตยในสายตายนักสิ่งแวดล้อม เล็กๆ อาจไม่พอ

ศศิน เห็นว่านักสิ่งแวดล้อมอาจจะทำตัวเป็นผู้ตัดสินอย่างที่ว่า ไปตัดสินบนอีกชุดความรู้หนึ่ง ชุดความรู้ว่าจะเก็บเสือไว้ในระบบโลก เป็นมรดกโลก การคิดแบบสิ่งแวดล้อมจะคิดในระดับโลก โจทย์คือสเกลมันแค่ไหน อะไรมันจะพอดี แล้วสเกลของประชาธิปไตยที่ว่าทำให้เป็นพื้นที่เล็กๆ แค่ไหนมันจึงจะพอดี

กรณีเรื่องแม่วงก์นักอนุรักษ์อาจจะไปคิดแทนจริงๆ แต่ไม่ใช่คิดแทนแบบส่วนรวมของพื้นที่ลาดยาวแล้ว แต่ส่วนรวมของชาติหรือของโลก หรือมองไปถึงการเก็บ Bio-diversity (ความหลากหลายทาวชีวภาพ) ก็เป็นชุดความรู้อีกอัน ที่มีข้อทางวิทยาศาสตร์ที่อ้างได้แบบนั้น มันก็ปะทะกันในชุดความรู้นี้ด้วย และการถึงความสมเหตุสมผล มองกระบวนการพัฒนาทั้งหมดโดยรวม ภาพรวมของประเทศ มันก็ต้องมีคนถ่วงดุลและตรวจสอบ ในระบอบประชาธิปไตยมันก็ต้องมี

 

ศศิน: ที่ทางของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระบบทุนนิยม

ต่อคำถามว่าเราจะสร้างนักอนุรักษ์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไปประท้วงเขื่อนทีละเขื่อน เมื่อจบเขื่อนหนึ่งก็ไปประท้วงอีกเขื่อน ศศินเห็นว่าเมื่อเขื่อนนี้ยังไม่จบ มันก็ยังมีนักอนุรักษ์ที่ประท้วงเขื่อนอยู่อีก แล้วถ้าบังเอิญมันไม่จบ แล้วสองเขื่อนนี้ (แม่วงก์และแก่งเสือเต้น) มันได้ ก็เชื่อว่ามันจะเกิดอีกมหาศาลเลย เขื่อนที่จะเข้าไปทำต่อป่า ก็ยังจะมีนักอนุรักษ์ที่มาทำหน้าที่แบบนี้อยู่ แพ้บ้างชนะบ้างกันต่อไป

ศศิน เห็นว่าในฐานะที่เป็นเลขาธิการมูลนิธิสืบ มีเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงาน เล่นไอแพดไอโฟนกันทุกคน อายุน้อยกว่าสิบกว่าปี ไม่มีใครสักคนเดียวที่บอกว่าเป็นนักอนุรักษ์ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักอนุรักษ์ แต่ผมอยากจะรักษาตรงนี้เอาไว้ นอกจากตัวเองที่ประกาศตัวว่าเป็นนักอนุรักษ์ ก็ไม่มีใครประกาศซักคน

 

ยกที่ 3

 

ธนาธร: ชี้ประเทศไทยไร้กลไกในการหาจุดร่วมเพื่อแก้ปัญหา

ธนาธร กล่าวว่าการต่อสู้ทางสิ่งแวดล้อม มันต้องเป็นเรื่องรายประเด็นไป ไม่สามารถใช้กรอบว่าไม่เอาทุกเขื่อน หรือเอาเขื่อนทุกเขื่อนได้ ต้องเป็นประเด็นรายประเด็น แต่สังคมไทยเราไม่มีกลไกไม่มีเครื่องมือมาหาจุดร่วมกัน เราเห็นการทำประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นมาเพื่อเอาวาระของกูให้จบตามรัฐธรรมนูญ เราเห็น EIA (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการขนาดใหญ่) เพื่อผลักวาระของคนที่จะเอา ส่วนชาวบ้านแถวนั้นก็ไม่เอาๆ บางที่ถึงขนาดว่า "มึงสร้าง กูเผา"

ประเทศเราไม่มีกลไกในการหาจุดร่วมกันว่าอะไรคือดีที่สุด แล้วปัญหาพวกนี้มันแก้ที่ระดับชาติไม่ได้ เชียงใหม่คุณใช้ไฟเท่าไร ก็ต้องคุยว่าจะเอาไฟจากไหน จะรณรงค์ให้ไม่ใช้ไฟก็เรื่องของคุณ หรือจะสร้างโรงไฟฟ้าก็เรื่องของคุณ คุณต้องตัดสินเองว่าจะเอาไฟเอาน้ำจากไหน เพราะเป็นความต้องการของคุณ ปัญหาความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรจะแก้ โดยการให้การตัดสินใจลงไปสู่ในระดับเล็กเท่านั้น

 

ศศิน: แจงงานอนุรักษ์ไม่ได้มีแต่ค้าน แต่ยังสร้างกลไกการมีส่วนร่วม

ศศิน เห็นว่าระบบทุนนิยมถ้าเข้าใจไม่ผิด คือผลประโยชน์สูงสุด ต้นทุนต่ำสุด ในเวลาอันสั้นที่สุด การจะสร้างโรงไฟฟ้า หวยมันก็มาออกที่บ่อนอก-บ้านกรูด เพราะเรือมันมาจ่อที่หาดทราย เอาถ่านหินเข้ามาเลย ไม่ต้องมีการขนส่ง สมมติในฐานะนักยุทธศาสตร์ของโรงไฟฟ้า ถ้าขยับการสร้างโรงไฟฟ้ามาอยู่ที่ตรงชุมชนติดภูเขา ก็มีสิทธิ์ชนะในการไปขายโครงการให้ชุมชน คือขยับออกไปหน่อย แต่บริษัทต้องมีเงื่อนไขว่าคุณไม่ high benefit ได้ไหม ไม่ low cost, short time เกมส์มันจะเปลี่ยนหมดเลย มันไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่อยู่ที่จะเอาตรงไหนเอาอย่างไร แล้วคุณยอมลด high benefit, low cost, short time คุณได้แค่ไหน การอนุรักษ์มันไม่ได้สุดโต่งขนาดว่าเราจะกลับไปสู่ยุคว่าเราเอาหรือไม่เอา

ศศินอธิบายงานอนุรักษ์ว่าไม่ได้มีแต่เรื่องการต่อสู้คัดค้าน แต่ยังมีการสร้างกลไกการมีส่วนร่วม

เช่น การเข้าไปแก้ปัญหาการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนต้นน้ำในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ได้เอาชาวบ้านมาต่อสู้ แต่นักอนุรักษ์ไปทำข้อมูลว่าชาวบ้านใช้พื้นที่แค่ไหน จนสร้างแนวเขตที่ชุมชนยอมรับ ป่าไม้ก็ยอมรับ อยู่ด้วยกันค่อนข้างจะได้ สร้างการยอมรับร่วมกันจากหลายๆ ฝ่าย ก็เป็นงานส่วนอนุรักษ์ได้

ถ้าคิดแทนนักอนุรักษ์ คนที่รณรงค์ไปขี่จักรยานหรือรณรงค์ปิดไฟ เขาก็ไม่ได้ต้องการไปสร้างภาพ แต่มันเป็นการเซลล์ไอเดียร์ เซลล์ข้อมูลบางเรื่อง หาอีเว้นท์มา ไม่ใช่เพื่อที่จะไปสู่การเปลี่ยนกลับไปขี่จักรยานอย่างเดียวหรือไม่ใช้ไฟฟ้าเลย ซึ่งไม่น่าจะได้ แต่เพื่อว่าทำยังไงถึงจะมีพื้นที่ของตรงนี้อยู่ได้

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

 

ธนาธร: ยันนักอนุรักษ์ยังต้องมีในสังคม

ธนาธร เสริมว่าตนเห็นว่าคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต้องมีในสังคม ตนก็อยากจะต้องการให้มันมีป่าสีเขียว มีความหลากหลายทางชีวภาพ แม่น้ำสะอาด ชาวบ้านกับป่าอยู่กันอย่างสมดุล อยากให้มีอย่างนั้น แต่ในเรื่องของจุดคุ้มทุนหรือความสมดุล ไม่มีใครตัดสินแทนใครได้ ป่าหนึ่งไร่มีมูลค่าเท่าไร มันไม่มีใครบอกได้หรอกว่าแม่น้ำสายนี้มีมูลค่าเท่าไร

ปัญหาอีกอันคือการอนุรักษ์ทรัพยากร มันไม่ได้เป็นแค่ปัญหาระดับชาติด้วยซ้ำไป มันเป็นปัญหาระดับภูมิภาค ระดับโลกด้วยซ้ำไป เช่น แม่น้ำโขง ที่จีนไปกั้นเขื่อนบนน้ำโขง หรือการหยุดโลกร้อน การลดคาร์บอน มันทำคนเดียวไม่ได้ คุณอยู่ในเศรษฐกิจโลกที่มันต้องซื้อขายกัน ไม่มีประเทศใดที่สามารถผลิตของทุกอย่างเองได้ คุณเขียวคนเดียวซิ ประเทศคุณตายเลย

ธนาธรเสนอว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นประเด็นสาธารณะที่สำคัญ และการยกระดับจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ควรจะต้องทำระดับชาติ ระดับพรรคการเมืองด้วย เพื่อยกให้ข้อเรียกร้องทางสิ่งแวดล้อมเป็นวาระทางการเมือง (Political Agenda)

 

ศศิน: NGOs ด้านอนุรักษ์ วันนี้มันไม่เหลือ

ศศิน เห็นว่าบทบาทของนักอนุรักษ์มันก็ต้องสู้ทั้งสองบทบาท คือทำอย่างไรให้คนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่มาละเมิดสิทธิคนอื่น ขนาดที่ไม่ให้คนในบ้านเราเผาป่า ขณะที่ตัวเองมีสิทธิทำอะไรเหมือนเดิม (ในบริบทการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดโลก) สองก็คือการดึงกระแสหรือวิถีบริโภคเอาไว้ ซึ่งจะโยงไปหาการเมืองหรือเปล่า ตนคิดว่าวันนี้น้ำยาของนักอนุรักษ์มันยังไปไม่ถึงจุดนั้น คือไม่มีใครทำเลย ในประเทศไทยมองไปก็ไม่มีใครขับเคลื่อนเรื่องงานเชิงสังคม หรือการเมืองเลย คือยังไม่ใช่ทำงานน้อยไป แต่ไม่มีน้ำยาไปถึงขั้นนั้นเลย ทั้งองค์ความรู้ ทั้งศักยภาพ ทั้งทุน ทั้งขบวน

"ที่สำคัญคือขบวน ขบวนการอนุรักษ์หรือสิ่งแวดล้อมมันไม่มี มันเหมือนกับมูลนิธิสืบหรือใครทำ มีข่าวออก แต่จริงๆ คือมันไม่มีอะไรนะ NGOs ด้านอนุรักษ์ วันนี้มันไม่เหลือ ไม่มี ไม่ต้องห่วงว่าจะไปลดทอนการพัฒนา เมื่อก่อนในช่วงที่คุณสืบตายใหม่ๆ มันมีองค์กรเขียวๆ เกิดขึ้นเพียบเลย วันนี้คุ้มครองฯ ก็ตายไป ฟื้นฟูฯ ก็ตายไป สืบอีกสามปีเงินหมด ปัญหาใหญ่คือขบวนอนุรักษ์ ขบวนมันเล็กเหลือเกิน เล็กมาก"

 

ธนาธร: เรื่องสิ่งแวดล้อม ทุนไม่เคยวิวัฒนาการด้วยตัวของมันเอง

ในช่วงท้าย ธนาธรตอบคำถามเรื่องการปรับตัวของทุนเอง บริษัทต่างๆ ก็สามารถปรับตัวเพื่อรับกระแสสิ่งแวดล้อมได้ ธนาธรเห็นว่าทุนไม่เคยวิวัฒนาการด้วยตัวของมันเอง ไม่มีนายทุนคนไหนตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่าจะลงทุนเพิ่มเพื่อให้น้ำในโรงงานสะอาดขึ้น จะมีก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบังคับ มีการเรียกร้องจากชุมชนโดยรอบ บางเรื่องรัฐกับทุนก็ผลักมาที่ประชาสังคม เป็นการชักเย่อกัน สู้กัน เรื่องสิ่งแวดล้อม ก็อาจต้องจับมือกับรัฐ เพื่อกดดันทุน ต่อรองกัน

ไม่มีนายทุนไหนอยู่ๆ มาลงทุนอนุรักษ์ 10 ล้าน หรือจะลดกำไรลงได้ไหม มันลดคนเดียวไม่ได้ ถ้าลดก็ต้องลดทั้งแผง ทั้งแผงก็ต้องผ่าน regulation ก็ต้องมีกฎหมาย แต่กฎหมายจะออกได้ยังไง ก็ต้องมีคนแบบคุณศศิน มีการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และก็ต้อง raise ประเด็นให้ถึงระดับรัฐให้ได้ โจทย์มันจึงไม่ง่ายและไม่มีใครมีคำตอบสำเร็จรูปว่าจะจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ศศิน vs ธนาธร:สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย (ฉบับเต็ม)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นอม ชอมสกี้' และปัญญาชนนานาชาติร่วมลงชื่อร้องคว่ำบาตรทางทหารอิสราเอล

Posted: 29 Nov 2012 02:35 AM PST

ในวันสากลแห่งความสมานฉันท์กับประชาชนปาเลสไตน์ ปัญญาชนนานาชาติกว่า 50 คน รวมถึง 'สโลวอย ชิเชก' ลงชื่อเรียกร้องคว่ำบาตรทางทหารอิสราเอล ในขณะที่สมัชชาใหญ่ยูเอ็นเตรียมโหวตลงมติในประเด็นการรับรองสถานะของปาเลสไตน์วันนี้  

29 พ.ย. 55 - เนื่องในวันสากลเพื่อความสมานฉันท์กับประชาชนในปาเลสไตน์ นักวิชาการ นักเขียน และศิลปินจากนานาประเทศ 52 ราย อาทิ นอม ชอมสกี้ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์และนักวิพากษ์สังคมชาวสหรัฐ, สลาวอย ซิเซ็ก นักวิชาการด้านปรัชญามาร์กซิสต์ และวอลเดน เบลโล วุฒิสมาชิกจากฟิลิปปินส์ ร่วมลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติคว่ำบาตรทางทหารต่ออิสราเอล เนื่องจากความรุนแรงครั้งล่าสุดบริเวณฉนวนกาซาเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในฝั่งปาเลสไตน์แล้ว 160 ราย ในจำนวนนี้รวมเด็กด้วย 34 ราย ในขณะที่อิสราเอลมีผู้เสียชีวิต 6 ราย 

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการงดเว้นการรับโทษที่อิสราเอลได้รับ และการได้รับการร่วมมือจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย บราซิล และเกาหลีใต้ ในฐานะพันธมิตรด้านทหารของอิสราเอล 
 
แถลงการณ์ที่ลงนามโดยไมรีด มาไกวร์ นักเคลื่อนไหวสันติภาพชาวไอร์แลนด์เหนือผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ, โรเจอร์ วอเตอรส์ อดีตนักร้องนำวงพิงค์ ฟลอยด์ ชี้ว่า "ความพยายามของอิสราเอลในการให้ความชอบธรรมการใช้กำลังที่รุนแรงอย่างผิดกฎหมายและเกินกว่าเหตุว่าเป็นการ 'ป้องกันตนเอง' มิได้สมเหตุผลทางด้านกฎหมายหรือศีลธรรมแต่อย่างใด เพราะรัฐย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิป้องกันตนเองตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนเอง" 
 
"ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลที่ใหญ่ที่สุด ด้วยการส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้ทุกๆ ปี แต่บทบาทของสหภาพยุโรปก็เป็นที่ลืมไม่ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนฐานทัพอิสราเอลจำนวนมากผ่านทางโครงการวิจัย เช่นเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างอิสราเอลและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหญ่อย่างบราซิล อินเดีย และเกาหลีใต้ ย่อมสัมพันธ์อย่างแน่นอนกับความไม่สนับสนุนเสรีภาพของปาเลสไตน์"
 
ยูเอ็นเตรียมโหวตลงมติรับรองสถานะปาเลสไตน์
 
โดยในวันนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ จะมีกำหนดการณ์ร่วมลงมติในประเด็นเกี่ยวกับการรับรองสถานะของปาเลสไตน์ โดยปาเลสไตน์ได้ขอเลื่อนสถานะจาก "ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่รัฐ" เป็น "รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก" ซึ่งในทางปฏิบัติคือการให้สหประชาชาติรับรองปาเลสไตน์ให้เป็นรัฐอย่างเป็นทางการนั่นเอง โดยคาดว่าประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ อาทิ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์คออสเตรีย รวมถึงรัสเซีย จะสนับสนุนการรับรองเป็นรัฐของปาเลสไตน์ ส่วนสหรัฐกล่าวว่า ตนและพันธมิตรหลักๆ จะคัดค้านการรับรองดังกล่าว โดยระบุว่า วิธีเดียวที่จะสามารถทำให้ปาเลสไตน์มีสถานะเป็นรัฐได้ ต้องผ่านการเจรจาโดยตรงกับอิสราเอลเท่านั้น 
 
โดยหากปาเลสไตน์ได้รับการรับรองสถานะดังกล่าว ก็จะเป็นการรับรองสิทธิอธิปไตยที่ประเทศอ้างเหนือพื้นที่เวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และเยรูซาเลมตะวันออก รวมถึงทำให้ปาเลสไตน์สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าอาจทำให้รัฐบาลปาเลสไตน์ยื่นฟ้องร้องการเข้าครอบครองเวสต์แบงก์โดยไม่ชอบธรรมของอิสราเอลได้
 
สำหรับการลงมติรับรองครั้งนี้ ปาเลสไตน์ต้องการเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งจากสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติซึ่งมีทั้งหมด 193 ประเทศเท่านั้น โดยที่สหรัฐฯ รวมถึงชาติมหาอำนาจอื่นๆในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่สามารถใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโตได้
 
ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์อ่อนไหวเป็นพิเศษ โดยทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามสนธิสัญญาหยุดยิงชั่วคราว หลังมีการปะทะกันทางทหารอย่างรุนแรงเป็นเวลานานถึง 8 วัน
 
เนื้อหาบางส่วนจาก วอยซ์ทีวี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยรั้งทั้ายอันดับการศึกษาโลกที่ 37 จาก 40

Posted: 29 Nov 2012 12:52 AM PST

ฟินแลนด์และเกาหลีใต้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จากการจัดอันดับโดยบริษัทด้านการศึกษาชื่อดังจากสหรัฐฯ "เพียร์สัน"

การจัดอันดับ ใช้การรวบรวมข้อมูลจากผลการสอบในระดับนานาชาติและข้อมูลเช่นอัตราการศึกษาในระหว่างปี 2006 และ 2010  เซอร์ไมเคิล บาร์เบอร์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านการศึกษาของเพียร์สัน เปิดเผยว่า ประเทศที่ติดในอันดับที่ดีส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับครูผู้สอน รวมถึงการมีวัฒนธรรมด้านการศึกษาที่ดี
 
ตามหลังฟินแลนด์และเกาหลีใต้ ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในอันดับที่ 3-5 นั้น ล้วนมาจากเอเชียทั้งสิ้น ได้แก่ ฮ่องกง (จีน) อันดับ 3, ญี่ปุ่น อันดับ 4 และ สิงคโปร์ ในอันดับ 5 ขณะที่อันดับ 6 ตกเป็นของอังกฤษ ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ ในอันดับที่ 7 และ นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดาในอันดับที่ 8-10 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอื่นๆอย่างสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และเยอรมนี อยู่ในอันดับรองลงไป
 
โดยในการจัดอันดับที่มีจำนวน 40 ประเทศนั้น อินโดนีเซีย บราซิล และเม็กซิโกมีคะแนนต่ำสุด ในอันดับที่ 40, 39 และ 38 ตามลำดับ ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 37 
 
รายงานระบุว่า ความสำเร็จของประเทศในเอเชีย ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากประเทศดังกล่าวให้ความสำคัญกับการศึกษามากเป็นพิเศษ อีกทั้งผู้ปกครองต่างก็พร้อมจะทุ่มเทให้บุตรหลานของตนได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
 
แต่สิ่งที่สำคัญนอกจากการทุ่มเทให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่ดีนั้น สะท้อนให้เห็นค่านิยมที่ให้คุณค่าต่อการศึกษาในระดับสูง รวมถึงการคาดหวังของผู้ปกครอง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญแม้ครอบครัวจะย้ายไปยังประเทศอื่น
 
ขณะที่อันดับหนึ่งและสองอย่างฟินแลนด์และเกาหลีใต้ ค่อนข้างมีความแตกต่างกันหลายประการ แต่มีปัจจัยร่วมกันคือความเชื่อทางสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาและจุดประสงค์ด้านศีลธรรมที่แอบแฝงอยู่ 
 
รายงานดังกล่าวยังเน้นเรื่องคุณภาพของครูผู้สอน และความจำเป็นต่อการจ้างครูที่ดีที่สุด ซึ่งอาจรวมถึงการได้รับความเคารพในทางวิชาชีพและสถานะทางสังคม เช่นเดียวกับรายได้ที่ได้รับ อย่างไรก็ดี การจัดอันดับไม่ได้แสดงจุดเชื่อมโยงที่แน่ชัดระหว่างรายได้สูงและการสอนที่มีคุณภาพ รายงานระบุว่า ระบบการศึกษาที่สูงและต่ำยังมีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พึ่งพาแรงงานที่ใช้ทักษะ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ติ๊กๆ ต๊อกๆ

Posted: 28 Nov 2012 11:09 PM PST

“ระบบยุติธรรมทางแพ่ง” ไทยรั้งอันดับ 80 จาก 97 ประเทศ

Posted: 28 Nov 2012 10:54 PM PST

การสำรวจด้านหลักนิติธรรมของโครงการยุติธรรมโลก ปี 2555 ระบุไทยอยู่อันดับ 80 จาก 97 ประเทศในแง่ความยุติธรรมทางแพ่ง

 

28 พ.ย.55  รายงาน "ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมประจำปี 2555" (Rule of Law Index 2012) ของโครงการยุติธรรมโลก (World Justice Project) ระบุว่า ประเทศไทยจัดอยู่อันดับที่ 80 จาก 97 ประเทศในแง่ระบบยุติธรรมทางทางแพ่งที่มีประสิทธิภาพ รายงานยังกล่าวถึงความเข้มแข็งในการควบคุมอาชญากรรมและระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยด้วย

รายงานนี้เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ที่วอชิงตันดีซี โดยจัดอันดับประเทศต่าง ๆ ใน 8 ด้าน ซึ่งส่งผลต่อหลักนิติธรรม ทั้งด้านการจำกัดอำนาจของรัฐบาล การทุจริต ความมั่นคง สิทธิขั้นพื้นฐาน ระบอบปกครองแบบเปิด การบังคับใช้กฎหมายและระเบียบ ระบบยุติธรรมทางทางแพ่ง และระบบยุติธรรมทางอาญา โดยเป็นผลจากการสัมภาษณ์บุคคลทั่วไป 97,000 คนและผู้เชี่ยวชาญกว่า 2,500 คนใน 97 ประเทศ

"ประเทศไทยได้รับคะแนนสูงมากในแง่การคุ้มครองไม่ให้เกิดอาชญากรรมและความมีประสิทธิภาพของระบบยุติธรรมทางอาญา (อันดับที่ 35 ของโลกและอันดับที่ 7 ในบรรดาประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน) อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างพลเรือนและความรุนแรงทางการเมืองยังเป็นปัญหาสำคัญของไทย รวมทั้งการทุจริตก็เกิดขึ้นทั่วไป ทั้งในวงการนิติบัญญัติและตำรวจ ไทยได้รับคะแนนต่ำสุดในด้านระบบยุติธรรมทางทางแพ่ง (อันดับที่ 80) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความล่าช้าของการดำเนินคดีและอุปสรรคในการบังคับคดี" รายงานระบุ

ขณะที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ เป็นประเทศผู้นำในเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิกในแง่ของหลักนิติธรรมในเกือบทุกด้าน

"การปฏิบัติให้เกิดหลักนิติธรรมยังเป็นปัญหาท้าทายอย่างต่อเนื่องและเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ การจัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของโครงการยุติธรรมโลกไม่ได้มุ่งหมายเพื่อประณามหรือทำให้อับอาย แต่เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีวัฒนธรรมทางกฎหมายและมีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน" วิลเลียม เอช นูคอม โครงการยุติธรรมโลกกล่าว

ทั้งนี้ โครงการยุติธรรมโลก (World Justice Project - WJP) เป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไรและเป็นอิสระ มุ่งส่งเสริมหลักนิติธรรมเพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาชุมชนให้มีโอกาสและความเท่าเทียมทั่วโลก ส่วนการจัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (WJP Rule of Law Index®) นั้นเป็นเครื่องมือการประเมินเชิงปริมาณที่ออกแบบโดยโครงการยุติธรรมโลก เพื่อวัดว่าประเทศต่างๆ ยึดมั่นต่อหลักนิติธรรมมากน้อยเพียงใด โดยคำนึงถึงความรู้สึกจากพลเมืองทั่วไป และการติดตามการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยจัดทำทุกปี รายงานการจัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมประจำปี 2555 เป็นรายงานประจำปีฉบับที่สาม  สามารถดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.worldjusticeproject.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: In Time สวรรค์ของเสรีนิยม

Posted: 28 Nov 2012 04:43 PM PST

 

In Time (2011) เป็นหนังฮอลลีวู้ดแนวไซไฟกำกับและเขียนบทโดย แอนดรูว์ นิคโคล และได้นักแสดงแม่เหล็กอย่างจัสติน ทิมเบอร์เลค และ อมันดา เซย์ฟรีดแสดงนำ พล็อตเรื่องหนังกล่าวถึงในอนาคตที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าสามารถพัฒนายีนที่ทำให้มนุษย์คงสภาพความแก่ให้หยุดนิ่งที่ 25 ปี โดยไม่แก่ตาย แต่เนื่องด้วยความไม่แก่ตายนี้เป็นสาเหตุให้เกิดประชากรล้นโลกได้ หนังจึงสร้างให้เห็นภาพของความชั่วร้ายของทุนนิยม เสรีนิยมและการกระจายทรัพยการอย่างไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยการสร้างให้เวลา เป็นสกุลเงินรูปเดียวในโลกที่สามารถใช้จ่ายซื้อของ และถ่ายโอนกันได้ โดยนาฬิกาเวลาของทุกคนจะเริ่มเดินเมื่ออายุ 25 ปีโดยทุกคนมีทุนติดตัวกันเป็นเวลาคนละหนึ่งปี ซึ่งแต่ละคนไปบริหารจัดการเอง หรือหาเวลาเพิ่มจากการทำงาน ถ้าบริหารจัดการเวลาไม่ดีเวลาในข้อมือหมดเมื่อไรก็ถึงเวลาตายเมื่อนั้น  

สังคมในหนังแบ่งกันอย่างชัดเจนระหว่างคนจนกับคนรวย บรรดาคนรวยจำนวนหยิบมือ สามารถสะสมเวลามีชีวิตหรูหราในเขตเมือง และมีชีวิตยืนยาว ในขณะที่คนจนเป็นจำนวนมากยากจนหาเช้ากินค่ำเพื่อแลกกับ ค่าแรงเวลาแบบชนวันต่อวัน "คนจำนวนมากอยู่อย่างชีวิตสั้นแบบไม่ควรจะเป็น เพื่อให้คนรวยจำนวนน้อยมีชีวิตยืนยาว และนี่เป็นระบบธรรมชาติสังคม" ธีมหนังสำคัญคือประโยคข้างต้น

น่าเสียดายที่หนังเริ่มต้นค่อนข้างน่าสนใจ แต่สุดท้ายก็พัฒนาไม่สุดจนเดาออกได้ว่าหนังเป็นยังไง พระเอกเป็นคนยากจนไปปิ๊งลูกสาวเศรษฐีที่อยู่ในโอวาท พระเอกลักพาตัวมาให้เห็นอีกสังคม สุดท้ายพระเอก นางเอกจึงก่อขบถปล้นธนาคารที่พ่อนางเอกเป็นเจ้าของเพื่อแจกจ่ายเวลาแบบโรบินฮูด

ผู้เขียนบทหนังไม่ใช่คนแรกที่เสนอภาพว่า เวลา หรือความยั่งยืนของชีวิตเป็นทุนอย่างหนึ่ง เมื่อปี 1972 Michael Grossman ได้เขียนงานเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขชื่อ Demand for Health : A theoretical and Empirical Investigation งานของเขาโดยสรุปมีเนื้อหาคือ สุขภาพเป็นทุนอย่างหนึ่งที่มีการเสื่อมค่าและต้องมีการลงทุนเพื่อการชลอการเสื่อมค่าเพื่อให้มีสุขภาพและชีวิต (จำนวนเวลาที่มีชีวิตอยู่)ยาวนาน แต่ละคนมีสต็อกสุขภาพแตกต่างกันกล่าวคือ แต่ละคนมียีนที่กำหนดว่าจะมีชีวิตอยู่กี่ปี แล้วแต่ฟ้ากำหนด และค่าเสื่อมราคาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนค่าเสื่อมราคาไม่มากก็ไม่ต้องลงทุนในการดูแลสุขภาพมากเพื่อให้มีชีวิตยืนยาว ในทางตรงกันข้ามบางคนค่าเสื่อมสูงก็ต้องลงทุนมากหน่อย ในการลงทุนเพื่อสุขภาพสามารถทำได้เช่น ใช้เงินจ่ายค่ารักษา ค่ายาบำรุง หรือ การออกกำลังกายดูแลสุขภาพ ฉีดวัคซีนเป็นต้น

สุขภาพที่ดี(จำนวนวันที่มีสุขภาพดี)  นั้นแต่ละคนเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่เพื่อประโยชน์สูงสุด เช่นเอาเวลาไปเสวยสุข เอาเวลาไปทำงานเพื่อหาเงินแล้วเอาไปลงทุนยืดชีวิตต่อ สุดแล้วแต่ละคนตัดสินใจเพื่อให้ได้อรรถประโยชน์สูงสุด เช่น การเสียสละเวลาไปทำงานเพื่อหาเงิน ก็คือการเสียเวลาไปเสวยสุข และการทำงานก็อาจทำให้เสียสุขภาพ หรือการใช้จ่ายเงินเพื่อสุขภาพก็เป็นการลดงบประมาณที่จะไปใช้จ่ายอื่นๆเช่น กินเที่ยว และเมื่อเงินหมดก็ต้องทำงานเพิ่มเพื่อหาเงินมาต่อชีวิต แต่ละคนต้องชั่งน้ำหนักส่วนได้ส่วนเสียกันเอาเอง อย่างไรก็ตามการลงทุนเองก็มีข้อจำกัดซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วไม่ว่าจะลงทุนมหาศาลเท่าไรก็ไม่สามารถยืดชีวิตได้หรือตายไป  และเมื่อถึงจุดนี้ปัจเจกชนหรือหมออาจจะประเมินว่าเงินที่เสียไปมันไม่คุ้มสู้ปล่อยให้จากไปอย่างสงบดีกว่า

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตัวหนังสร้างขึ้นมาแตกต่างจากโมเดลนี้ และเห็นภาพทุนนิยมสุดโต่งคือ กรณีที่ทุกคนถูกกำหนดสต็อกสุขภาพให้เท่าๆกันหมดคือ 25+1 ปี และไม่มีค่าเสื่อมราคา ซึ่งแตกต่างจากกรอสแมนที่แต่ละคนเกิดมามีสตอกสุขภาพเริ่มต้นนั้นขึ้นอยู่กับโชค บางคนถึงแม้เกิดมายากจนก็สามารถโชคดีมีอายุยืนได้ หรือคนรวยเกิดมาอายุสั้นก็มี นับว่าเป็นการกระจายสวัสดิภาพโดยธรรมชาติโดยแท้ นอกจากนี้การทำให้สต็อกสุขภาพกลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่งซึ่งสามารถแลกเปลี่ยน ถ่ายโอนได้ในตลาดสินค้าทั่วไป คนสามารถนำเวลาไปซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆได้ (ซึ่งของกรอสแมน สุขภาพไม่สามารถแลกเปลี่ยน ขายในตลาดสินค้าทั่วไป เช่น ถ้าเราลงทุนยืดเวลาชีวิตไปแล้ว แต่วันนึงเกิดเงินขาดมือก็ไม่สามารถนำเงินไปแลกเป็นเงินโดยตรงไม่ได้ ต้องทำงานเพื่อแลกกับเงิน ) มิหนำซ้ำแต่ละคนไม่มีจุดคริติคัลพอยน์ทที่ไม่ว่าลงทุนเท่าไรชีวิตก็ไม่ยืดขึ้นไปอีก ทุน(เวลา)ในที่นี้จึงสามารถสะสมได้มากเรื่อยๆ ยิ่งมากเท่าไรยิ่งอายุยืนเท่านั้น และมีชีวิตหรูหรามากขึ้นเท่านั้น และความวิบัติของสังคมก็ตามมา

สังคมที่หนังสร้างขึ้นเลวร้ายกว่าทุนนิยมปัจจุบันมากนัก เมื่อทุนนิยมปัจจุบันถึงแม้จะสะสมทุนมากเท่าไรก็ไม่สามารถหยุดความตายซึ่งเสมือนเป็นความเท่าเทียมสิ่งเดียวที่พระเจ้าสร้างมา หาเงินมากเท่าไรตายไปก็เอาไม่ได้และถ้าไม่มีใครสืบทอดความเป็นเจ้าของต่อ รัฐก็สามารถยึดมาเป็นเจ้าของเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะต่อไป แต่สังคมในหนังยิ่งสะสมทุนมากเท่าไรยิ่งมีชิวตยืนยาวเพื่อเสพสุขกับทุนที่มีอยู่ตลอดไป นอกจากนี้รัฐในหนังก็ทำหน้าที่เสรีนิยมแบบฉบับได้ดีเยี่ยมเมื่อ Time Keeper หรือตำรวจเวลาทำหน้าที่สืบสวนดูแล กำราบเพื่อไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมในการเอาเวลาจากคนอื่นโดยผู้อื่นไม่ยินยอม ซึ่งถูกใจพวกเสรีนิยมสุดขั้วที่ให้รัฐทำหน้าที่ปกป้องกรรมสิทธิและความปลอดภัยของเอกชนเท่านั้น จะว่าไปแล้วหนังไม่ปรากฏด้วยซ้ำว่าองค์กรรัฐบาลมีหน้าตาเป็นอย่างไร และนโยบายสาธารณะที่ออกมาจากรัฐบาลเป็นอย่างไร ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนทั้งหมด สิ่งที่กุมอำนาจในระบบสังคมคือ สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เวลาและสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพ

ในเสรีนิยมนั้น กรรมสิทธิเอกชนสำคํญที่สุด ปัจเจกชนสามารถครอบครองผลผลิตที่เกิดจากแรงงานของตน การกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมไม่ใช่สาระสำคํญ การกระจายจะเกิดขึ้นได้เมื่อปัจเจกชนยินยอมพร้อมใจสละทรัพยากรส่วนตัวโดยไม่มีกำลังบังคับ ดังนั้นการลดความไม่เท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนอย่าง Henry Hamilton ตัวละครตอนต้นเรื่องที่มีอายุร้อยปีในสตอคโอนเวลาให้พระเอกไป หรืออย่างองค์กรการกุศลที่ทำหน้าที่บริจาคเวลาให้คนในTime Zones อย่างไรก็ตาม คนหรือองค์กรดังกล่าวมีไม่มากนักในสังคม พระเอกของเราจึงต้องทำตัวเป็นโรบินฮูดไปปล้นจากคนรวยไปให้คนจน ไม่ต่างอะไรกับองค์กรมาเฟียใน Time Zones ที่ปล้นคนอื่นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าสิ่งที่ต่างกันคือ มาเฟียปล้นแล้วเก็บคนเดียว แต่พระเอกปล้นแล้วไปแจกจ่ายคนอื่น (ถึงแม้ว่าเก็บเงินส่วนหนึ่งที่ปล้นมาไปใช้จ่ายเสวยสุขส่วนตัว หรือ มือเติบปิดปากคนโน้นคนนี้เต็มไปหมด)

ถึงแม้โรบินฮู้ด จะปล้นเงินมาแจกจ่ายคนจน แต่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกว่าการปล้นสามารถเปลี่ยนระเบียบสังคมได้  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น