โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ลาเวียคัมเปซินา: ไทยกับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ‘เกษตรนิเวศ-สิทธิชาวนา-อธิปไตยทางอาหาร’

Posted: 14 Nov 2012 01:01 PM PST

ตัวแทนเกษตรกรเผย 4 พันธะกิจ 'เกษตรนิเวศ' ฟื้นฟูทรัพยากร-เกื้อหนุนเกษตรกรรายย่อย นักวิชาการชี้สมดุล 'เกษตรกร-ผู้บริโภค-สิ่งแวดล้อม' ตัวสร้าง 'อธิปไตยทางอาหาร' แจง 'พ่อค้าคนกลาง' ความสำคัญในห่วงโซ่ที่ไม่ควรมองข้าม ด้านเอ็นจีโอเรียกร้อง 'ผู้บริโภค' ตระหนักถึงอำนาจ สร้างพลังการต่อรอง

 
 
เสวนา 'ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเกษตรนิเวศ สิทธิชาวนา และอธิปไตยทางอาหารสำหรับประเทศไทย' ในเวทีวิชาการเรื่อง 'การเกษตรนิเวศ สิทธิชาวนา อธิปไตยทางอาหาร และขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนา' จัดโดยลาเวียคัมเปซินา (La Via Campesina) รวมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) และมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 12 พ.ย.55
 
สืบเนื่องมาจาก 'การประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ และเมล็ดพันธุ์ของชาวนา' ในช่วงวันที่ 6-12 พ.ย.55 ที่มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศ จ.สุรินทร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมีสมัชชาคนจนซึ่งเป็นสมาชิกของลาเวียคัมเปซินาในประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อทบทวนสถานการณ์และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค และร่างแผนปฏิบัติการรวมระดับนานาชาติ โดยมีชาวนาจาก 9 ภูมิภาคทั่วโลก กว่า 70 คน เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
 
 
'เกษตรนิเวศ' สิทธิในการเลือกที่ถูกผูกมันจากระบอบทุนนิยม
 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยเกิดการปฏิวัติเขียวตั้งแต่เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) สู่การผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว ขณะที่เกษตรยังยืนหรือเกษตรนิเวศเพิ่งก่อตัวเมื่อประมาณปี 2520 โดยเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ อีกทั้งไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับเกษตรสมัยใหม่เสียทีเดียว เพราะเกษตรกรไม่ได้ต้องการย้อนไปสู่อดีต แต่เกิดในบริบทที่เกษตรกรไปไม่รอดในระบบเกษตรสมัยใหม่ จึงพยายามหาการผลิตที่เป็นทางเลือก โดยโยงสู่การค้าที่เป็นธรรม และตลาดสีเขียวในปัจจุบัน
 
ประภาส กล่าวด้วยว่า ชนบทไทย สังคมชาวนาที่ผลิตเพื่อยังชีพและแลกเปลี่ยนนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว และกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมกึ่งเกษตรกึงแรงงานรับจ้าง เพราะรายได้ไม่ได้อยู่บนฐานของภาคเกษตรอีกแล้ว เกษตรกรมีรายจ่ายต่างๆ มากขึ้น ชาวนาปลูกข้าวเพื่อขายแล้วซื้อข้าวถุงกินแทน ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน การออกจากระบบอย่างนี้ไม่ง่ายเพราะเงื่อนไขทั้งหนี้สิน ปัจจัยการผลิต ที่ดิน การผลิตในรูปแบบเกษตรนิเวศถือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่พร้อมจะออกไปก่อน ซึ่งต้องเข้าใจเกษตรรายย่อยในภาพรวมด้วย แล้วเกษตรกรที่ก้าวหน้าจะพัฒนาและขยายวงให้กว้างต่อไปในระยะยาว
 
ประภาส กล่าวว่า ภายใต้โลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ เมื่อพูดถึงสิทธิชาวนา สิทธิเกษตรกรหนีไม่พ้นการพูดถึงมิติประชาธิปไตย ซึ่งเกษตรกรชาวนาชาวไร่ควรได้รับการรับรองสิทธิให้สามารถต่อรองได้ และสามารถรับรู้ข่าวสารรวมทั้งการทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา ที่ผ่านมาจึงมีการเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อต่อรอง อีกทั้งมีการใช้พื้นที่การเมืองที่เป็นทางการตามช่องทางมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ทั้งประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยตัวแทนควรได้รับการผลักดันร่วมกันเพื่อให้ลงรากปักฐานในสังคมต่อไป
 
ด้าน วิรัต พรมสอน ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวถึงสิทธิชาวนาว่า คือ 1.สิทธิในปัจจัยการผลิต เช่นที่ดิน น้ำ และป่าไม้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร นอกเหนือจากเครื่องจักร 2.สิทธิในการเลือกใช้วิถีการผลิต ไม่ถูกบังคับ 3.สิทธิในการขยายเผ่าพันธุ์ ทั้งกรณีของเผ่าพันธุ์ชาวนาและพันธุกรรมพืช และ4.สิทธิในองค์ความรู้ ซึ่งการที่เกษตรกรเลือกที่จะใช้สารเคมีและปลูกพืชจีเอ็มโอนั้นมากจากการถูกช่วงชิงองค์ความรู้ทำให้ตัวเลือกในการเพาะปลูกถูกจำกัด ทั้งที่เกษตรกรควรมีสิทธิ์เลือกทั้งวิถีการผลิตและเมล็ดพันธุ์
 
 
ชี้สมดุล 'เกษตรกร-ผู้บริโภค-สิ่งแวดล้อม' ตัวสร้าง 'อธิปไตยทางอาหาร'
 
วิฑูรย์ ปัญญากุล นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรด้านการตลาดทางเลือก กล่าวว่า อธิปไตยทางอาหารมีพลวัตขึ้นอยู่กับปัจจัย บริบท และสภาพแวดล้อม โดยมีประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำหรับตนเองอธิปไตยทางอาหารจะเกิดขึ้นได้หากจัดความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ส่วนได้อย่างสมดุล ภายใต้บริบทและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ ต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่าการทำลายป่ามีปัจจัยสำคัญคือภาคการเกษตร แม้ว่าคนตัดป่าจะถือว่าเป็นคนทำลายในขั้นที่หนึ่ง ตัวอย่างป่าอเมซอนก็ถูกทำลายเนื่องจากการขยายพื้นที่ผลิตพืชอาหาร ดังนั้นการยอมรับกันได้ ข้อตกลงร่วมจากทั้ง 3 ส่วนจะทำให้ดำรงอยู่กันได้อย่างยังยืนแต่ก็เป็นภายใต้ภาวะจำกัด อย่างไรก็ตามเป้าหมายอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญ ระหว่างทางที่จะไปสู่ตรงนั้นอาจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า
 
 
แจงยุทธศาสตร์ 'พ่อค้าคนกลาง' ความสำคัญในห่วงโซ่ที่ไม่ควรมองข้าม
 
ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน วิฑูรย์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาให้ความสำคัญ โดยในส่วนผู้ผลิตมีคำถามท้าทายคือ 1.เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในอนาคตและอาจส่งผลได้ทั้งดีและเลวต่อการเพาะปลูก 2.การแก่ตัวลงของประชากรในภาคเกษตร ซึ่งประเทศในเอเชียกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก รวมทั้งเรื่องท้าทายจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยการนำเครื่องจักรมาใช้อย่างเป็นระบบมากขึ้น 3.ความต้องการปัจจัยการผลิตเกษตรนิเวศที่มีมากขึ้นทั้งเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีปัญหาปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว
 
สำหรับกรณีพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีกลุ่มแนวความคิดที่ต้องการตัดห่วงโซ่ตรงนี้ออกไป แต่ในระบบการกระจายสินค้าในส่วนนี้มีความสำคัญ ความมีการแบ่งงานกันทำ เกษตรกรไม่ควรต้องทำการผลิตและต้องมาคิดเรื่องการตลาดด้วยตนเอง ตรงนี้ควรเป็นระบบที่พึงพาอาศัยกัน โดยมีผู้ประกอบการมาทำงานในการรวบรวมและกระจายสินค้า ซึ่งการกระจายสินค้าตรงนี้ก็ควรมีหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับผลผลิตและบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้โดยส่วนตัวต้องการเห็นธุรกิจเพื่อสังคมและยอมรับว่าปัจจุบันเรื่องการจัดการหวงโซ่ตรงนี้มีจุดอ่อนหลายจุด
 
วิฑูรย์กล่าวต่อมาถึงประเด็นท้าทายสำหรับผู้บริโภคว่า ข้ออ้างเรื่องความสะดวกสบายอาจเป็นปัญหาหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบไม่ควรบริโภคโดยทำลายสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการบริโภคที่เป็นปัญหา นอกจากนั้นยังมีกรณีความเข้าผิดๆ ในการบริโภคอาหารแบบชาตินิยมซึ่งจะเป็นปัญหามากกว่า ยกตัวอย่าง การสนับสนุนให้บริโภคผักในประเทศของเนเธอร์แลนด์ที่ปลูกในรูปแบบเรือนกระจก (Green house) ที่ใช้พลังงานสูงยิ่งกว่า พลังงานงานที่ใช้ในการเพาะปลูกและขนส่งผักจากแอฟริกาเข้าประเทศ
 
ในส่วนของรัฐบาล ที่ผ่านมามีการสนับสนุนงบประมาณหลายพันล้านแต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงกลับกลายเป็นหน่วยงานที่ขัดขวางการทำเกษตรนิเวศ เพราะมองเห็นว่าเป็นความผิดพลาด และไม่เชื่อถือในรูปแบบการผลิตนี้ แตกต่างกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าเป็นโอกาสในการสร้างผลงาน ดังนั้นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ประกอบการกระจายสินค้าถือเป็นสิ่งสำคัญ หากรัฐจะเข้ามาช่วยก็ให้เข้ามาได้แต่อย่าตั้งความหวัง
 
 
 
เรียกร้อง 'ผู้บริโภค' ตระหนักถึงอำนาจ สร้างพลังการต่อรอง
 
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนกลุ่มกินเปลี่ยนโลก กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องอธิปไตยทางอาหารมักมีการพูดถึงสมดุลสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือสมดุลทางอำนาจ ซึ่งอำนาจทุน อำนาจการเมืองมีอาจมากกว่าเรา แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคและผู้ผลิตเองก็คิดว่าตนเองไม่มีอำนาจที่จะเลือก นี่คือไม่มีความเข้าใจในอำนาจของตัวเอง ดังนั้นการคิดว่าสร้างภาวะอำนาจให้ใกล้เคียงกันได้อย่างไร ตรงนี้ต้องอาศัยความรู้
 
กิ่งกร กล่าวในฐานะตัวแทนผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคต้องการกินอาหารที่ดี ปลอดภัย หากราคาถูกได้ก็จะดี เพราะมีผู้บริโภคบางส่วนสามารถจ่ายได้เพื่อแลกกับสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งสำหรับผู้บริโภคชาวไทยนั้นต้องการการรับรองเพื่อสร้างความมั่นใจ จึงเกิดการสร้างระบบมาตรฐานขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงมาตรฐานดังกล่าวกลับไม่สามารถเชื่อถือได้ ทำให้การเลือกบริโภคต้องมีความรู้ อีกทั้งอาหารที่ดีต่อการบริโภคก็หาซื้อได้ยาก
 
กิ่งกร กล่าวต่อมาว่า สำหรับผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ต้องลงทุนเรื่องการเดินทางเพื่อบริโภค หากต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับการดำเนินชีวิตของคนชั้นกลางที่มีรายได้ไม่สูงนัก ต้องหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือระบบกระจายสินค้าที่มีคุณภาพ ตอบสนองกับวิถีชีวิตคนเมือง ไม่ใช้ระบบที่สินค้าเกษตรถูกส่งมายังแหล่งใหญ่ที่ตลาด 4 มุมเมืองแห่งเดียว ซึ่งไม่ได้รองรับการผลิตที่มีความหลากหลาย หรือเป็นรายย่อยๆ
 
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยผู้บริโภคที่มีความเข้าใจจริงๆ อาจเริ่มต้นจากการที่ผู้บริโภคห่วงใยสุขภาพ สู่การเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเข้าใจว่าการผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพไม่สามารถทำได้ในรายของแปลงใหญ่ ดังนั้นต้องค่อยๆ ยกระดับความเข้าใจของผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันในระบบการตัดสินใจบางอย่างของประเทศด้วย
 
ตัวแทนกลุ่มกินเปลี่ยนโลกกล่าวด้วยว่า หากผู้บริโภคเชื่อว่าสามารถเลือกบริโภคได้ ระบบการผลิตที่ดีจะไม่ถูกทำลายและยังจะขยายต่อไปได้ อีกทั้งผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้นในฐานะคนจ่ายเงิน ส่วนผู้ผลิตตรงนี้ก็เป็นทางเลือกในแง่ยุทธศาสตร์ ถือเป็นโอกาสทองทางการตลาดที่สำคัญเพราะผู้บริโภคต้องการที่จะบริโภคและต้องการการทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
 
 
เผย 4 พันธะกิจ 'เกษตรนิเวศ' ฟื้นฟูทรัพยากร-เกื้อหนุนเกษตรกรรายย่อย
 
บุญส่ง มาตรขาว เครือข่ายเกษตรทางเลือก สมัชชาคนจน กล่าวถึงนิยามของ 'เกษตรนิเวศ' ในฐานะเกษตรกรว่า หมายถึงการทำเกษตรที่มีระบบการผลิตที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เกื้อกูลต่อธรรมชาติ และมีส่วนในการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า ซึ่งขณะนี้ส่วนตัวก็ทำอยู่และมีการส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องเกษตรนิเวศซึ่งก็คือเกษตรยั่งยืน เพราะคิดว่าเป็นทางเลือกทางรอดของเกษตรกร
 
ต่อกรณีการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล บุญส่งแสดงความเห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีเกษตรกรอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งไปกับกระแสของรัฐ ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ขอให้ได้เงินเยอะๆ เป็นพอ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามทวนกระแส แม้นโยบายตรงนี้จะได้ใจ โดนใจจริง แต่การผลิตเพื่อขาย โดยที่คนผลิตไม่กินผลผลิตของตนเอง ตรงนี้จะย้อนกลับมาทำลายวิถีของเกษตรกรเอง
 
บุญส่งกล่าวต่อมาถึงพันธะกิจของกลุ่มเกษตรกรผู้ทำเกษตรนิเวศว่ามี 4 ประเด็น 1.ฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหาร ทั้งป่าและแหล่งน้ำ 2.ฟื้นฟูทรัพยากรมนุษย์ที่ถูกมอบเมาโดยทุนนิยม จนขาดความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของตนเอง ให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อปรับตัวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 3.ฟื้นฟูพันธุกรรมท้องถิ่นที่เริ่มหายไป โดยเริ่มต้นสำรวจ รวบรวม พัฒนาสายพันธุ์ มีงานศึกษาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่ตลาดเป็นศูนย์กลางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 4.การตลาดผลผลิตอินทรีย์ ทั้งตลาดท้องถิ่น ตลาดเมือง ตลาดกลาง ต้องขยายผลให้เพิ่มขึ้น
 
ส่วนรัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมเกษตรนิเวศอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน การที่ผลผลิตปลอดภัยจากครัวไทยสู่ครัวโลกจะเกิดขึ้นได้ต้องควบคุมตั้งแต่การนำเข้าสารเคมี โดยเพิ่มภาษีหรือลดการนำเข้าสารเคมีโดยไม่จำเป็น และเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยผลิตและค้าขายได้ เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กูเกิล' เปิดรายงานครึ่งปีแรก รบ.ทั่วโลกสอดส่องออนไลน์เพิ่มขึ้น

Posted: 14 Nov 2012 11:30 AM PST

กูเกิลเปิดเผยรายงานการขอข้อมูลบัญชีผู้ใช้กูเกิลและการร้องขอให้ลบเนื้อหาจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ในช่วง ม.ค.-มิ.ย.55 ชี้การสอดส่องของรัฐบาลยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนการร้องขอจากปัญหาลิขสิทธิ์พุ่งสูงเกือบ 2 ล้านยูอาร์แอลแล้ว

 

(13 พ.ย.55) กูเกิลเปิดเผยรายงานการขอข้อมูลบัญชีผู้ใช้กูเกิลและการร้องขอให้ลบเนื้อหาออกจากบริการต่างๆ ของกูเกิล จากรัฐบาลประเทศต่างๆ ในช่วง ม.ค.-มิ.ย.2555 โดยระบุว่าการสอดส่องของรัฐบาลยังคงเพิ่มขึ้น มีการขอข้อมูลผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่เริ่มเปิดตัวโครงการ Transparency Report มา โดยช่วงครึ่งปี 2555 มีการร้องขอข้อมูลผู้ใช้จากรัฐบาลทั่วโลก 20,938 ครั้ง ทั้งนี้ เป็นการขอข้อมูลผู้ใช้ 34,614 บัญชี

ส่วนจำนวนการร้องขอให้ลบเนื้อหานั้น เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรกนี้ โดยมีคำขอ 1,791 ครั้งจากรัฐบาลทั่วโลกให้ลบเนื้อหาทั้งสิ้น 17,746 ชิ้น

นอกจากคำขอจากรัฐบาลแล้ว กูเกิลยังเปิดเผยจำนวนคำขอให้ลบเนื้อหาจากองค์กรและเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย โดยสถิติสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จาก  129,062 ยูอาร์แอล ในเดือนกรกฎาคม 2553 ที่เริ่มมีการรายงาน เป็น 1,981,219 ยูอาร์แอล ณ วันที่ 5 พ.ย. 2555 โดยองค์กรที่ส่งคำขอมากที่สุด คือ Degban บริษัทคุ้มครองลิขสิทธิ์มัลติมีเดีย, ไมโครซอฟท์, สมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา และองค์กรตัวแทนอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงอังกฤษ

สำหรับประเทศไทย มีการร้องขอจากกระทรวงไอซีที 2 ครั้ง เพื่อให้ลบวิดีโอคลิปในยูทูบ 14 ชิ้น ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกูเกิลได้ปิดกั้นคลิปวิดีโอดังกล่าว 3 ชิ้น ไม่ให้เข้าถึงได้จากประเทศไทย ขณะที่การร้องขอข้อมูลผู้ใช้จากกูเกิลนั้น จนปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการร้องขอจากรัฐบาลไทย

 

ที่มา: http://googleblog.blogspot.co.uk/2012/11/transparency-report-government-requests.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อจิตรวิจารณ์ศาสนา ศาสนาในทรรศนะวิจารณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ (ทศวรรษ ๒๔๙๐-๒๕๐๐) *

Posted: 14 Nov 2012 06:54 AM PST

ท่ามกลางกระแสความสนใจในการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ในปี พ.ศ.2555 นี้ คลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะท่าทีต่อสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์เชิงจารีตอย่างสถาบันศาสนา ก็กำลังถูกท้าทายอย่างมีนัยสำคัญด้วย นับแต่ข้อวิจารณ์ที่ทั้งแหลมคมและเสียดแทงจาก คำ ผกา เว็บเพจที่เย้ยหยันชวนหัวอย่าง ศาสดา ไปจนกระทั่งกระแส เบื่อ ว. วชิรเมธี ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่ากำแพงสถาบันเชิงจารีตนี้ (รวมถึงสถาบันอื่น)กำลังถูกตั้งคำถามท้าทายและลดทอนความศักดิ์สิทธิ์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และแน่นอนว่าปรากฏการณ์เช่นนี้มิได้เป็นเพียงความคิดของปัจเจก แต่เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงทางความคิดแห่งยุคสมัยที่พึงตระหนักและรับฟัง การเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมงคลด้วยการรับฟังคำวิจารณ์ย่อมจะสามารถจรรโลงให้สถาบันศาสนามั่นคงขึ้นอย่างสอดคล้องกับบริบทแห่งยุคสมัย มากกว่าที่จะกดปราบด้วยกฎหมายอันไม่ชอบธรรม

บทความนี้มุ่งหมายที่จะหวนย้อนกลับไปในราวทศวรรษ 2490-ต้นทศวรรษ 2500 เพื่อค้นหาความคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศาสนาผ่านกรอบความคิดมาร์กซิสต์ที่กำลังรุ่งเรืองในขณะนั้น และเป็นความคิดในช่วงแรกๆของการเผชิญหน้ากันระหว่างพระพุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์ภายใต้บริบทสงครามเย็น อันแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาครั้งสำคัญในสังคมไทย บทความนี้จึงเป็นความพยามยามในเบื้องต้นที่จะอธิบายเกี่ยวกับอีกหนึ่งเสี้ยวความคิดของปัญญาชนผู้นี้ อันเป็นอีกหนึ่งเสี้ยวที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าที่ควรมาก่อน


๑.ความนำ

การสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่สองที่ดำเนินมาในช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ นั้น ได้นำโลกเข้าสู่การต่อสู้และการโฆษณาชวนเชื่อทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่ยุโรปของสหรัฐฯไม่ได้แต่เพียงหนุนเสริมให้แนวคิดเสรีประชาธิปไตยเฟื่องฟูเท่านั้น หากแต่แนวคิดสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์อันมีโซเวียตเป็นผู้นำก็ได้รับการขานรับเช่นเดียวกัน[๓] ลมแห่งกระแสแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่มุ่งทำการปฏิวัติชนชั้น กำจัดการขูดรีดโดยระบอบศักดินา สถาปนาระบอบสังคมแห่งความเสมอภาคโดยมีชนชั้นผู้ถูกกดขี่เป็นผู้นำก็ได้พัดพาเข้าสู่ประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ นี้เองที่วารสาร "อักษรสาส์น"อันเป็นวารสารแนวสังคมนิยมฉบับแรกได้ปรากฏขึ้นในแวดวงภูมิปัญญาไทย ขณะที่ปัญญาชนนักคิดไทยจำนวนไม่น้อยต่างได้รับอิทธิพลแนวคิดดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์เคลื่อนไหวทางปัญญาอย่างคึกคัก

ดังที่เครก เรย์โนลด์ส(Craig J.Reynolds)ได้กล่าวไว้ว่าช่วงเวลาระหว่างหลังสงครามโลกถึงระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๑ นั้นเป็นยุครุ่งเรืองอย่างแท้จริงของกระแสสังคมนิยมไทย[๔]และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่มีผู้พยายามศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดคอมมิวนิสต์และพระพุทธศาสนากันเป็นอย่างมากถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างของทั้งสองแนวคิดดังกล่าว[๕]

ขณะที่การเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาเป็นไปอย่างคึกคัก รัฐบาลไทยในช่วงหลังสงครามโลก ภายใต้การชี้นำของสหรัฐอเมริกาได้โหมสร้างกระแสทำลายภาพลักษณ์ของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง หนึ่งในประเด็นการโจมตี คือ การขยายวลีสะท้านโลกของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ที่ว่า "ศาสนาคือยาเสพติดของปวงชน"[๖] (Religion is the opium of the people) ด้วยการสร้างกระแสว่าไม่เพียงชาติและพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะล่มสลายถ้าคอมมิวนิสต์สามารถเข้ายึดครองประเทศได้ หากแต่ยังรวมถึงสถาบันศาสนาด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการสงครามจิตวิทยาของยูซิส(USIS) อันเป็นหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาดำเนินการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในไทยช่วง ๒๔๙๖-๒๔๙๗ นั้น ยูซิสได้จัดพิมพ์หนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ฉบับกระเป๋า แจกจ่ายให้วัดทั่วประเทศ จำนวน ๑๙,๐๐๐ แห่ง ภายในมีบทความที่เขียนกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูที่อยู่ภายในและภายนอกที่จะมาคุกคามไทย[๗] รวมถึงโปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ข้าราชการไทยวาดขึ้นตามคำแนะนำของยูซิสจำนวน ๔๓,๐๐๐ มีสามแบบ โดยแบบแรกเป็นโปสเตอร์ที่แสดงภาพทุ่งนาที่ชาวนากำลังขนกระสอบข้าว มุ่งตรงไปบนเส้นทางที่ร้อนระอุด้วยไฟ ที่มีปลายทางเป็นพระราชวังเครมลินและเจดีย์แบบจีน ซึ่งมีสัญลักษณ์ค้อนเคียวลอยอยู่ด้านบน ระหว่างทางมีทหารดาวแดงยืนถือปืนควบคุมการขนข้าว มีข้อความใต้ภาพว่า "ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง  คงจะต้องบังคับขับไส" แบบที่สองเป็นโปสเตอร์แสดงภาพมืออสุรกายขนาดใหญ่ที่มีค้อนเคียวอยู่เบื้องบน กำลังมุ่งตรงมาจะตะครุบดินแดน โดยมีไทย เวียดนาม พม่า และแขกถืออาวุธเตรียมต่อสู่กับอสุรกายนั้น มีข้อความว่า "รักจะอยู่ ต้องสู้คอมมิวนิสต์" แบบที่สามเป็นโปสเตอร์ภาพนักรบโบราณไว้หนวดเคราหน้าตาดุดันคล้ายสตาลิน ถือคบไฟและค้อนเข้าเหยียบย่ำทำลายศาสนสถานของพุทธ คริสต์และอิสลาม มีภาพของนักบวชของศาสนาต่างๆวิ่งหนีกันอลหม่าน รวมถึงมีการทำตรายางต่อต้านคอมมิวนิสต์ ๔ แบบ คือ "เอกราชอยู่ได้ด้วยความสามัคคี" "ประเทศไทยเป็นของคนไทย" "ผืนแผ่นดินไทยหาไม่ได้อีกแล้ว" และ "คอมมิวนิสต์มาศาสนาหมด" เพื่อให้รัฐบาลไทยใช้สำหรับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย[๘] บรรยากาศเช่นที่ว่านี้จึงมีทั้งการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาว่าด้วยศาสนาอันคึกคักและการกดปราบที่รุนแรงไปพร้อมๆกัน


๒.พุทธศาสนา จิตนิยมหรือวัตถุนิยม?

ภายใต้บรรยากาศดังกล่าวนี้เอง จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.๒๔๗๓-๒๕๐๙) ปัญญาชน-นักปฏิวัติผู้เป็นแรงบันดาลใจและตำนานเล่าขานไม่รู้จบของสังคมไทย[๙] ได้แสดงทรรศนะในการวิพากษ์ศาสนาด้วยกรอบความคิดของมาร์กซิส์ม (Marxism) ตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ ๒ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖  จิตรซึ่งใช้นามปากกานามปากกาว่า "นาครทาส"ได้เขียนบทความชื่อ 'พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติค แก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเองและแก้ไขด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบของสิทธิธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติคกับปรัชญาของสิทธิราถผิดกันอย่างฉกรรจ์ที่ตรงนี้' หรือรู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่า "ผีตองเหลือง" ในบทความดังกล่าวนี้จิตรวิพากษ์วิจารณ์สภาวการณ์พระพุทธศาสนาในเมืองไทยอย่างรุนแรงว่า

รากฐานความงมงายของชาวบ้านพวกเรามิได้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ในการยังชีพของคนเจ้าเล่ห์พวกที่ว่านั้นเพียงพวกเดียว ความงมงายหลงใหลในศาสนา อย่างโงงัวหัวไม่ขึ้นของเรายังเป็นประโยชน์แก่คนพวกอื่นอีกพวกใหญ่ และใหญ่จริงๆคนจำพวกที่ว่าอย่างหลังนี้มีจำนวนมากมายในสังคมไทย และมีอยู่ทั่วๆไปทั้งในกรุงเทพและชนบท เขาเหล่านี้เดิมทีก็ใช้ชีวิตสามัญอย่างเราๆแต่ความเกียจคร้านพอกพูนมากขึ้นทุกที ในที่สุดก็หาทางออกให้แก่ตัวเองง่ายๆ คือหนีโลกเข้าหาวัด  เขาอ้างว่าผจญโลกมามากแล้ว เกิดความเบื่อหน่าย สู้มาบวชหาความสงบร่มเย็นจากร่มกาสาวพัตร์ไม่ได้ พวกเราไม่ฟังอีร้าค่าอีรม พากันโมทนาสาธุไปกับเขา เราเรียกเขาว่า "พระ"ตามลักษณะเครื่องแต่งกายของเขา แต่ความจริงแล้วเขาน่าจะได้รับฉายาว่า "ผีตองเหลือง" หรือ "โจรผ้าเหลือง" มากกว่า เพราะเขามิได้มีสมบัติแห่งภิกขุในพุทธศาสนาอย่างแท้จริงเลย[๑๐]

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ในทรรศนะของจิตรพระพุทธศาสนาในเมืองไทยจึง "คงเหลืออยู่แต่เฉพาะร่างของพุทธศาสนาที่กลายเป็นยาพิษยาฝิ่นมอมเมาประชาชน"[๑๑] ทรรศนะเช่นนี้ยังปรากฏในบทกวีที่ไม่เคยเผยแพร่ในชั่วชีวิตของจิตร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (ราวพ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๘) คือ

แม่จ๋าแม่ แม่จ๋า แม่จ๋าแม่
อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย 
เขาหลอนหลอก บอกเล่า ไม่เข้าใจ 
เรื่องเมืองไท เมืองผี นี้น่ากลัว 
ต้องใส่พก ดกบาตร ประหลาดนะ 
เลี้ยงพวกพระ ไว้ใย ข้าใคร่หัว 
ล้วนเสื้อเหลือง เครื่องแฝง ออมแรงตัว
ใช้กรรมชั่ว ตลบลิ้น ได้กินฟรี

มันแอบแฝง แรงงาน ชาวบ้านหม่ำ
ขู่ว่าทำ บุญไว้ ให้กูถี
คนก็งั่ง ชั่งเซ่อ บำเรอพี
ล้วนของดี ถวายสิ้น ตัวกินเกลือ

พวกหนุ่ม รุ่นจุ้นจ้าน มักพาลบวช
มีโอ้อวด แหนแห่ จนแซ่เฝือ
เดี๋ยวเทศน์ เทศน์ และเทศน์ทำกันพร่ำเพรื่อ
มันแสนเบื่อ ฟังเทศน์ เรื่องเปรตผี[๑๒]

และบทกวีจำนวนหนึ่งที่จิตรยังแต่งค้างไว้ ดังนี้

                                                                พวกหนุ่มรุ่นจุ้นจ้านมักพาลบวช

                 มีโอ้อวดแหนแห่จนแซ่เฟือ

พระนับแสนแน่นอัด...

เสียแรงงานภารกิจคิดดูเหอะ

วันหนึ่งเยอะแยะเป็นกองตรองดูหวา

มิหนำแย่งแฝงกินปลิ้นประชา

เป็นผีห่าสองต่อเจียวหนอเรา

และ

 

สอนให้กลัวมัวเมาเข้าไว้ซี

จะได้มีที่ขอทานทั้งหวานคาว

ไปเว็จวัดดัดใหม่ว่าไปฐาน

ไปขอทานโปรดสัตว์สัตว์ที่ไหน

พอเย็นเที่ยวเกี้ยวสาวอค้าวใจ

ค่ำก็ไปปลงอบัติสัตว์หรือคน

 

และอีกตอนหนึ่งว่า

 

     บ้างหมดท่าหากินก็ปลิ้นปล้อน

เข้าวัดกล้อนกระบาลผมห่มผ้าเหลือง

กินข้าวเย็นนอนสายสบาย......
เทศน์ให้เฟื่องแล้วคอยตุ๋นพวกคุณนาย

ท่านมหาจ๋าจ๊ะน่าจะถอง

เดี๋ยวก็ป่องมหาสึกพิลึกหลาย

บ้างเก็บเงินเพลินพูนเป็นมูลนาย

ได้ทีขายจีวรแพรสึกแน่ละกู

ทุดไอ้โจรจัญไรได้ผ้าเหลือง

ล้วนแต่เครื่องควรขยายให้อายสู

อาศัยสิทธัตถะท่านพระครู

ได้นอนกู้สูบเขาแล้วเจ้าคุณ

มีพระใยไม่เห็นจำเป็นเหวย

อย่างมเงยโง่เง่าให้เขาตุ๋น

โรงเรียนนำธรรมป้อนสอนดรุณ

ใช่เจ้าคุณท่านที่วัด....ตัว

วัดเดี๋ยวนี้มีประโยชน์หรือโทษเหวย

อย่าพูดเลยป่วยเปล่าพวกเจ้า....[๑๓](สะกดตามต้นฉบับ)

                การตั้งข้อกังขาต่อพฤติกรรมของพระสงฆ์และค่านิยมในการทำบุญเช่นนี้ยังปรากฏขึ้นในครอบครัวของจิตรด้วย จิตรได้บันทึกเรื่องนี้ไว้น่าสนใจมาก ดังนี้

อีกข้อหนึ่งที่ชีวิตระยะนี้สอนให้ก็คือเรื่องทำบุญ แม่ทำบุญมาแต่เล็กไปวัด ตักบาตร รับกัณฑ์เทศน์มหาชาติ ฯลฯ แต่ระยะที่ยากจนและจะหาเงินส่งลูกนี้ สวดมนต์ภาวนาเท่าไหร่ บุญแต่หนหลังก็ไม่ช่วยเลย มีแต่ยิ่งลำบากยากจน ยิ่งอดๆอยากๆ จะกินแต่ละคำก็ต้องคิดหน้าคิดหลังว่าหาพอให้ลูกแล้วหรือยัง ถ้าวันนี้ยังหาไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายของลูก ก็ต้องพยายามกินแต่น้อยเข้าไว้ อะไรที่พอจะอดได้ก็อดเสียเลย แม่เห็นว่าความปารถนาของแม่ที่จะส่งเสียลูกเป็นของดี เป็นของถูกต้อง ทำไมบุญไม่ช่วย? ส่วนคนที่เลวๆเสเพล คดโกง ทำไมรวย? ยิ่งกว่านั้นในระยะนั้นก็มักถูกพระมาบอกบุญเรี่ยไร  แจกฎีกาทอดกฐิน สร้างกุฏิ สร้างศาลา ฯลฯบ่อยๆแม่จึงเริ่มรู้สึกว่าตนเองอยู่ห้องแถว พื้นผุ จะเดินก็ต้องเลือกเหยียบหลังคาก็รั่วพรุน แล้วทำไมพระจึงยังมาเรี่ยไรเอาเงินที่หาแสนยากไปปลูกกุฏิอยู่สบายๆ ฯลฯ ความรู้สึกนี้ค่อยๆสั่งสมมา และตัวข้าพเจ้าเองก็ได้ศึกษาเรื่องของพุทธศาสนาจากหนังสือต่างๆมากขึ้นๆ กว้าวขวางขึ้นได้นอนคุยกันทุกคืน ปรับทุกข์กันทุกคืน ในที่สุดเราก็เลยเลิกทำบุญกันเสียที พอกันทีกับเรื่องทำบุญกับพระภิกษุ และเลิกกันเด็ดขาดมาแต่นั้น (ยกเว้นบางคราวที่เลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาความปรกติในสายตาคนทั่วไป)[๑๔] (ตัวเน้นเป็นของผู้เขียน)

                แม้ว่าจิตรวิจารณ์ความเหลวแหลกของการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายแท้จริงของบทความ เรื่อง ผีตองเหลือง คือ การถกเถียงว่าที่สุดแล้วพระพุทธศาสนาคืออะไร และที่สุดแล้วสิทธารถ(เจ้าชายสิทธัตถะ) คือนักปฏิวัติหรือเป็นเพียงแค่นักปฏิรูปสังคม?? อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาโดยตรงต่อบทความของนิสิตผู้หนึ่งที่จิตรพาดพิงถึง ดังนี้ว่า

เพื่อนนิสิตผู้เขียนบทความมีทัศนะต่อพุทธศาสนาว่าเป็นรูปแบบของสังคมที่ปราศจากชนชั้น ทุกคนเท่าเทียมกันโดยชาติกำเนิด เป็นสังคมที่ประกอบรูปด้วย "ภราดรภาพ" อันเป็นสิ่งที่พวกเราไขว่คว้าและเรียกร้องอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บทความนั้นเขียนเป็นทำนองชีวประวัติของสิทธารถศาสดาของพุทธศาสนา ผู้เขียนได้แถลงไว้ตามความเข้าใจว่า สิทธารถคือนักปฏิวัติสังคม การเล็งพุทธศาสนาไปในแนวทางวัตถุที่เกี่ยวข้องกับสังคมแบบนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราควรยินดี ควรรับฟังและควรรับช่วงมาวิเคราะห์แม้ว่าแนวของการเล็งของเพื่อนนิสิตผู้นั้น จะยังไขว้เขวไม่ตรงตามความที่ควรเป็นจริงนักก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราอุ่นใจได้ว่า มีพวกเราหลายคนกำลังตื่น หลุดพ้น และกำลังหลุดพ้นจากปลักนรก วิมานสวรรค์อันงมงาย และ การก้าวพ้นออกจากปลักและวิมานของพวกเขาเหล่านี้มิใช่สักแต่ว่าก้าวออกมาให้ทันสมัย อย่างที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า ก็ไม่เห็นเขาทำอะไรก้าวหน้า นอกเหนือจาก "ความไม่เชื่อ" ขึ้นไป แต่การก้าวออกมาของเพื่อนนิสิตผู้นี้ เป็นการก้าวออกมาพร้อมด้วยเตรียมตัวที่จะก้าวเข้าสู่ทัศนะใหม่ เป็นการก้าวที่รุดหน้า มิใช่ก้าวให้สมสมัยอย่างไร้จุดหมาย[๑๕]

              จิตรเริ่มด้วยการถกเถียงว่าแท้ที่จริงแล้วสิทธารถเป็นเพียง "นักปฏิรูปสังคม" เพราะสิทธารถเพียงแต่ปฏิเสธโครงสร้างสังคมแบบเก่า แต่มิได้ "...รวมหรือคิดจะรวมประชาชนเข้าด้วยกัน และนำหน้าให้ลุกฮือขึ้นทลายล้างรากเหง้าของสังคมเก่า โดยกำลังเพื่อผลเพื่อผลเด็ดขาดตามวิถีทางของปฏิวัติ แล้ววางรากฐานของสังคมใหม่ขึ้น...พูดง่ายๆก็คือสิทธารถใช้วิธีประนีประนอมอันไม่มีผลเด็ดขาดมิได้ใช้วิธีปฏิวัติอันได้ผลเด็ดขาดและสมบูรณ์[๑๖] ขณะเดียวกันสิทธารถก็หาได้เป็นนักฏิรูปสังคมโดยแท้จริง "เพราะจุดมั่นในการปฏิบัติและหลักการของสิทธารถมิได้มุ่งตรงสังคมทีเดียว" และ "จริงอยู่ สิทธารถยื่นมืออกไป โอบอุ้มประชาชนให้หลุดพ้นออกมาได้เพียงส่วนเดียวกันเท่านั้น คือ สภาพทางจิต ส่วนสภาพทางวัตถุคือ ความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมแบบเก่านั้นสิทธารถมิได้โอบอุ้มขึ้นมาโดยตรงแต่ประการใดเลย"[๑๗] แม้กระนั้นก็ตามจิตรก็เห็นว่า "ทฤษฎีของสิทธารถละม้ายเหมือนและเคียงคู่ไปกับวัตถุนิยมไดอะเล็คติค แต่แนวการปฏิบัติเท่านั้นที่ผิดแผกกับวัตถุนิยมโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรากล่าวได้ว่าแนวปฏิบัติของสิทธารถเป็นไปในแบบจิตนิยม"[๑๘] ด้วยเหตุดังนี้สิทธารถจึงเห็นว่าต้นกำเนิดของความทุกข์ยากในสังคมเกิดจาก "กิเลส"ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาสังคมต้องแก้ด้วยการตัดกิเลสออกจากจิต[๑๙]

จิตเห็นว่า แม้ว่าเป้าหมายของสิทธารถคือการยกระดับสังคมให้ดีขึ้น อันเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับปรัชญาวัตถุนิยมก็ตาม แต่การแก้ไขสภาพสังคมนั้น ปรัชญาวัตถุนิยมมิได้มุ่งแก้ปัญหาที่กิเลส แต่มุ่งแก้ไปยังสิ่งที่สิทธารถก้าวไปไม่ถึง และมองต้นเหตุของความเหลวแหลกในสังคมไปถึงจุดที่มาของกิเลสอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งปัญหานั้นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ มิใช่เกิดจากการนึกคิดโดยจิต หากแต่ คือ"ความขัดแย้งของสภาพสังคม" "ภายใต้การผลิตแบบทุนนิยม" ต่างหากที่เป็นต้นตอของกิเลส[๒๐] ปัญหาอีกประการอันเป็นข้อต่างของแนวคิดทั้งสอง คือ วิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมายในการยกระดับสังคม ขณะที่วัตถุนิยมไดอะเลคติค มุ่งทำการปฏิวัติและแตกหักอย่างเด็ดขาดกับโครงสร้างสังคมเดิม สิทธารถกลับเลือกที่จะใช้วิธีประนีประนอม ซึ่งเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำเดิมกุมสภาพนำของสังคมต่อไป[๒๑]กล่าวคือ

วิธีแก้ปัญหาให้เด็ดขาดและได้ผลสมบูรณ์ตามแบบของวัตถุนิยมไดอะเลคติค ก็คือต้องรวมกำลังคนเล็กที่ปลุกให้ตื่นแล้วให้ลุกฮือโค่นคนใหญ่ ลงเสียให้สิ้นทรากด้วย[๒๒]

               

ด้วยเหตุนี้ สิทธารถในทรรศนะของจิตจึงมิใช่นักปฏิวัติสังคม เพราะถ้าเป็นนักปฏิวัติสังคมจริง

"ก็คงเดินตามแนวปรัชญาฝ่ายวัตถุนิยมไดอะเลคติค(ซึ่งเพิ่งเกิดใหม่)ปฏิวัติระบบและสภาพของสังคมอินเดียสำเร็จเรียบร้อยไปนานแล้ว ด้วยเหตุที่มักเข้าใจผิดกันเสมอในหมู่พวกนิสิตเรานี้ จึงขอให้พึงระวังว่าสิทธารถมิใช่นักปฏิวัติอย่าได้เข้าใจผิดว่าสิทธารถคือปรมาจารย์แห่งวัตถุนิยมไดอะเลคติค ซึ่งยึดถือการปฏิวัติ เป็นทางผ่านที่ตรงที่สุดที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากสภาพความขัดแย้งของสังคมเป็นอันขาด สิทธารถเป็นบุคคลที่มีจิตใจละเอียดอ่อนละมุนละไม เกินกว่าที่จะทำการปฏิวัติสังคม สิทธารถพึงประสงค์ที่จะเดินตามทางผ่านที่ราบรื่น แม้จะเห็นอยู่ว่าใกล้ไกลตีน เมื่อรู้ถึงแก่ความจริงแล้วก็จงอย่าได้จับปรัชญาทั้งสองฝ่ายนี้ปะปนกันให้เกิดความด่างพร้อย เศร้าหมอง พึงนึกว่าศาสนาก็คือศาสนา จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขสภาพของสังคมไม่ได้เลย นอกจากจะขัดเกลากิเลสของสังคม ตามทางสายกลางอย่างประนีประนอมเท่านั้น"[๒๓]

                แม้ว่าสารัตถะหลักในบทความนี้ หาได้อยู่ที่การวิจารณ์พฤติกรรมของพระภิกษุอย่างสาดเสียเทเสียก็ตาม แต่บทความนี้ก็ได้นำจิตไปพบกับโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในชีวิต นั่นคือ "กรณีโยนบก" อันเนื่องมาจากข้อกล่าวหาว่าทรรศนะของเขา "หมิ่นศาสนา"และ "มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์" บทความนี้ซึ่งจิตรตั้งใจจะพิมพ์ในหนังสือ "๒๓ ตุลา" ประจำปี พ.ศ.๒๔๙๖ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขารับหน้าที่สารณียกรอยู่นั้นถูกระงับการเผยแพร่ในระหว่างขั้นตอนการพิมพ์ ส่วนจิตรนอกจากถูกจับโยนบกโดยเพื่อนนิสิตฝ่ายอนุรักษ์นิยมแล้ว เขายังถูกคำสั่งพักการเรียนด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ตำรวจสันติบาลได้ออกหนังสือรับรองความบริสุทธิ์ให้กับจิตร และกลับมาศึกษาต่ออีกครั้ง[๒๔]

 

 ๓.ศาสนา คือ เครื่องมือของศักดินา : สถาบันศาสนาในโฉมหน้าศักดินาไทย

                ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ จิตรสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมกับเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในปีเดียวกันนั้น นอกจากทศวรรษนี้จะช่วงทศวรรษสุดท้ายของเขาแล้ว จิตรยังได้ผลิตงานเขียนจำนวนหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับศาสนาด้วย พ.ศ.๒๕๐๐ จิตรซึ่งใช้นามปากกาว่า "ขวัญนรา" ได้แต่งบทกวีตั้งคำถามถึงค่านิยมในการทำบุญของผู้คนในสังคมไทย ชื่อ การทำบุญ 'เพื่อตัวกู' ดูชอบกล ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิติศาสตร์ ฉบับต้อนรับศตวรรษใหม่ ดังนี้         

ทำบุญ

เชิญคุณคุณช่วยกันคิดสักนิดเหนอ

ทำอย่างไรคือทำบุญนะคุณ...เออ

ผมคนเซ่อต้องถามเรื่อยเปื่อยเปื่อยไป

 

"การฆ่าไก่ไปวัดจัดเป็นบุญ"

จริงเร้อ...คุณ! ผมชักงงออกสงสัย

ศีลปาณาห้ามฆ่าสัตว์ถนัดใจ

ไง๋ฆ่าไก่ตัวเบ้อเร่อ...เฮ้อ...นิจจา!

 

บ้างขนนของมามากมายถวายพระ

เพราะหวังลาภสักการะเจียวสิหวา

เพื่อชาติอื่นได้เกษมเปรมปรีดา

เซ็งลี้บุญเหมือนพ่อค้าค้ากำไร

 

การทำบุญที่แน่แท้ที่สุด

คือทำดีแก่มนุษย์ทั้งน้อยใหญ่

คือช่วยเหลือเกื้อกูลหนุนกันไป

คือปลดให้เขาพ้นทุกข์ที่รุกรน

 

เก็บดอกเบี้ยหูฉี่เงินปรี่ถุง

นอนตีพุงกรอกหัวตัวเป็นขน

เช้าใส่บาตรเย็นตรวจน้ำพร่ำสวดมนต์

นั่นหรือคนทำบุญ...บุญ...นิจจา!

 

สร้างบ่อน้ำทำสะพานการกุศล

สร้างถนนบำรุงด้านการศึกษา

เพื่อมวลชนทั่วไปได้พึ่งพา

จักได้บุญเสียยิ่งกว่าพร่ำสวดมนต์

 

การสร้างพระสร้างเจดีย์ที่โตใหญ่

เห็นจะพอแล้วผองไทยฟังเหตุผล

เรามีวัดมากจนเกินเดินแทบชน

พระภิกษุสุขสมตนแล้วทั่วกัน

 

มาเถิดมา มาทำบุญสุนทรทาน

ช่วยพยุงชีพชาวบ้านให้สุขสันต์

เขายังทุกข์มิใช่น้อยนับร้อยพัน

เป็นภาระที่สำคัญกว่าเจดีย์

 

เมื่อทุกคนได้อยู่ดีมีความสุข

เขาย่อมมีใจสนุกกันเต็มปรี่

ย่อมจักสร้างวัดหลากมากทวี

สมกับที่เป็นแดนพุทธสุดวิมล

 

นี่แหละคือข้อคิดอันนิดน้อย

บุญที่แท้คนยังคอยอยู่ทุกหน

การทำบุญ 'เพื่อตัวกู' ดูชอบกล

เชิญคิดหน่อยเถอะทุกคนที่ทำบุญ[๒๕]

 

                อย่างไรก็ตามหนึ่งในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับศาสนาที่แหลมคมของจิตร ยังปรากฏในงานเขียนระดับตำนานของเขาด้วย นั่นก็คือ โฉมหน้าศักดินาของไทยในปัจจุบัน[๒๖]ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปีเดียวกันกับบทกวีข้างต้น ในเขียนชิ้นนี้จิตรอธิบายศาสนาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเชิงโครงสร้างสังคมทั้งในยุโรปและสังคมไทย แม้ว่าเขาจะมิได้มุ่งหมายวิพากษ์สถาบันศาสนาโดยตรงก็ตาม แต่จิตรก็ได้แสดงทรรศนะวิจารณ์สถาบันศาสนาตามกรอบความคิดของมาร์กซิส์มอย่างแหลมคม ในฐานะที่ศาสนาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในค้ำยันหนุนเสริมสถานะของชนชั้นศักดินา เขาอธิบายว่า แม้ว่าศาสนาจะมีความขัดแย้งกับศักดินาในช่วงยุคต้น เพราะศาสนามุ่งหมายที่จะรักษาอำนาจที่เคยมีมาเหนือฝ่ายศักดินา อย่างไรก็ตามความสามารถในการรวบรวมปัจจัยการผลิตทำให้ศาสนาต้องพ่ายแพ้ และกลายมาเป็นเครื่องมือของศักดินาในท้ายที่สุด ศาสนาต้องยอมรับว่ากษัตริย์เป็น 'สมมติเทพ' 'พระผู้เป็นเจ้าที่อวตารลงมา' 'พระพุทธเจ้ากลับชาติเกิด' และ 'ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา' จิตรอธิบายต่อว่า

 

เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ศาสนาก็มีหน้าที่อบรมสั่งสอนให้ผู้คนเคารพยำเกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครูอาจารย์ที่ให้การศึกษาที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอนแนวทางของการศึกษาย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา (เน้นตามต้นฉบับ)[๒๗]

                และ

โดยทั่วไปแล้วศาสนาก็ยังคงเป็นแหล่งที่รักษาทรากเดนความคิดศักดินาได้นานที่สุด เพราะจริยธรรมต่างๆที่มีอยู่ในศาสนาส่วนมากได้ถูกดัดแปลงจนเหมาะสมที่จะรับใช้ศักดินาแล้วทั้งสิ้น[๒๘]

 

                นอกจากศาสนาจะทำหน้าที่ค้ำยันและครอบงำอุดมการณ์แบบศักดินาแล้ว ศาสนายังเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากในระบอบศักดินานั้นนอกจากวงศ์ญาติและพวกพ้องของกษัตริย์จะได้รับการแบ่งปันที่ดินแล้ว ศาสนาเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมากที่สุดภายใต้ระบอบศักดินา(ซึ่งเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นทั่วโลก)[๒๙] และธรรมเนียมการถวายที่ดินและคนให้กับศาสนาเช่นนี้ก็เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยทาส[๓๐] ในกรณีของระบอบศักดินาไทยนั้น จิตรชี้ว่ากระบวนการถวายที่ดินที่สำคัญ คือ "พิธีกัลปนา"อันมีต้นกำเนิดมาจากเขมรโบราณ[๓๑] และเป็นแหล่งที่มาสำคัญของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของวัดต่างๆในราชอาณาจักร กล่าวคือ ตามโบราณราชประเพณีนั้น พระมหากษัตริย์มักทรงพระราชทานอุทิศที่ดินให้แก่วัด พร้อมด้วยบรรดาผู้คนที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่ทรงอุทิศนั้นให้เป็นผลประโยชน์สิทธิขาดแก่วัด "ผลประโยชน์ทั้งปวงที่ทำได้ตกเป็นของวัดสำหรับบำรุงพระสงฆ์ที่อาศัยและซ่อมแซมวัดนั้นๆพวกคนที่ตกเป็นของวัดนี้เรียกกันว่า 'เลกวัด'...บางทีก็เรียก 'ข้าพระ' หรือไม่ก็ 'โยมสงฆ์' หรือเรียกควบว่า 'ข้าพระโยมสงฆ์' คนพวกนี้ทั้งหมดได้รับการผ่อนปรนไม่ต้องเสียอากรใดๆทั้งสิ้นเพราะผลประโยชน์ที่ได้ใช้บำรุงวัดโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว'[๓๒]

แม้ว่าประเพณีกัลปนาจะได้ถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่จิตรก็ชี้ว่ายังคงมีธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายคลึง กล่าวคือ ยังคงมีการพระราชทานวิสุงคามสีมา* ให้แก่วัดต่างๆซึ่งวัดเหล่านั้นได้ใช้เพื่อสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญ และแบ่งให้ประชาชนเช่าเพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด ส่วนพระสงฆ์ที่มียศศักดิ์และความรู้ในธรรมะ ก็ได้รับเงินเดือนเป็นค่านิตยภัตร(ค่าอาหาร)แทนข้าวปลาอาหารที่เคยได้รับจากพวกเลกวัดในครั้งก่อน[๓๓]

ภายใต้ธรรมเนียมดังกล่าวมานี้ วัดจึงมีโอกาสครอบครองปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือ ที่ดิน และ แรงงาน ดังที่จิตรกล่าวว่า

โดยลักษณะการเช่นนี้ วัดในพระพุทธศาสนาจึงกลายสภาพเป็น 'เจ้าที่ดินใหญ่' ไปโดยมาก[๓๔](เน้นตามต้นฉบับ)

               

๔.ความเรียงว่าด้วยศาสนา : "พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี" และ "ศีลธรรมของชาวคอมมิวนิสต์"

                ผลงานสุดท้ายว่าด้วยศาสนาของจิตรที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ งานแปล เรื่อง ความเรียงว่าด้วยศาสนา[๓๕] ของ ศาสตราจารย์ยอร์จ ทอมสัน แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าจิตรน่าจะแปลงานดังกล่าวในช่วงระหว่างที่ถูกจำคุกระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๐๗[๓๖] แม้ว่างานชิ้นนี้จะเป็นงานแปล ซึ่งมิใช่ผลิตผลโดยตรงของจิตรเองก็ตาม หากแต่ว่างานแปลชิ้นนี้ก็สามารถสะท้อนทรรศนะที่จิตรมีต่อศาสนาได้เป็นอย่างดี

                สาระสำคัญของผลงานแปลเล่มนี้ของจิตร คือ การแสวงหาคำอธิบายถึงท่าทีที่ชาวลัทธิมาร์กซิส์มมีต่อศาสนา วิวัฒนาการของศาสนานับแต่ยุคบุพกาลกระทั่งถึงยุคสังคมนิยม ที่สำคัญคือ อะไรคือศีลธรรมที่ชาวคอมมิวนิสต์ควรยึดถือ ในงานแปลดังกล่าวสะท้อนทรรศนะทางศาสนาที่คล้ายคลึงกับจิตรที่ปรากฏในงานดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้นว่า

ศาสนานั้นได้ถูกพวกชนชั้นปกครอง ใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของตนไว้เสมอมา. ด้านหนึ่ง ก็ถูกใช้ให้เทศนาสาธยายความศักดิ์สิทธิ์ละเมิดมิได้ของระเบียบแบบแผนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว: 'สูเจ้าจงรับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยพร้อมเพรียงกันด้วยการรับใช้พระราชธุระ และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์, ด้วยการเชื่อฟังกฎหมายของแผ่นดินและด้วยการรักใคร่กันและกันเหมือนพี่น้อง.' อีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้สำหรับปลอบโยนผู้ที่ทำงาน และเหนื่อยยากสายตัวแทบขาด ด้วยยื่นโยนความหวังในความผาสุกอันนิรันดรในชาติหน้าให้[๓๗]

                ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ 'ศาสนาเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับกล่อมคนยากจนให้ยอมทนรับความทุกข์ยากลำเค็ญ โดยหลอกลวงว่านั่นเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า'[๓๘]ซึ่ง "ก็เท่ากับว่าเขาถูกควักลูกตาออก" อันเป็น "ความเพ้อฝันจอมปลอมและคือเมฆที่ไร้ฝน"[๓๙] เมื่อถูกนำไปใช้เช่นนี้ ศาสนาจึงมีหน้าที่เป็นเพียงเครื่องบรรเทาความอยุติธรรมของสังคมให้ดูลดน้อยลง จิตรถอดแปลข้อความของมาร์กซ์ที่ทอมสันอ้างถึงว่า

ความทุกข์ในศาสนานั้น. ด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงออกของความทุกข์ที่แท้จริง และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงออกเพื่อคัดค้านความทุกข์ที่เป็นจริง. ศาสนาคือเครื่องปลอบใจของสัตว์โลกผู้ถูกกดขี่ คือหัวใจของโลกที่ปราศจากวิญญาณ ศาสนาคือยาเสพติดของประชาชน[๔๐]

ต่อประเด็นที่ว่าคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูกับศาสนานั้น ทอมสันอธิบายว่า 'พวกนายทุนประณามว่าเราเป็นศัตรูของศาสนา. เราเป็นศัตรูกับศาสนาตราบเท่าที่พวกนายทุนใช้ศาสนามาหลอกลวงประชาชน, และเราเชื่อมั่นว่า พร้อมกับการสูญสลายไปแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น มนุษย์ก็จะหมดสิ้นความต้องการในศาสนา'[๔๑] นอกจากประเด็นว่าด้วยศาสนาดังกล่าวข้างต้นแล้วหัวใจสำคัญของ ความเรียงว่าด้วยศาสนา นี้ คือ มุ่งอธิบายว่าอะไรคือศีลธรรมที่ชาวคอมมิวนิสต์พึงยึดถือ? สิ่งที่ชาวคอมมิวนิสต์พึงยึดถือ เป็นดั่งที่เลนิน ได้กล่าวไว้ว่า "ศีลธรรมของเรานั้นสรุปได้มาจากการต่อสู้ทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพ"[๔๒]และ "ศีลธรรมต้องขึ้นต่อผลประโยชน์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นกรรมาชีพ"[๔๓]ชาวคอมมิวนิสต์ไม่เชื่อในศีลธรรมนิรันดร์ และปฏิเสธความสุขในโลกภูมิหน้า หากแต่การปฏิวัติทางชนชั้นและการรังสรรค์สังคมที่ปราศจากการขูดรีดต่างหาก คือ ความสุขบนโลกนี้ที่แท้จริง

                ในตอนท้ายของหนังสือจิตรยังสามารถถอดบทกวีและใช้ภาษาได้อย่างประณีตงดงามด้วย หนึ่งในข้อความที่ถูกกล่าวถึงมากจากงานแปลชิ้นนี้ คือ

ขอมหา สามัคคี จงมีเถิด

ก่อบังเกิด พลังกล้า อันคลาคล่ำ

ประกาศก้อง กังวานไกล ด้วยใจนำ

"พระเจ้ากำ-เนิดข้า มาเสรี"[๔๔](เน้นโดยผู้เขียน)

 

๕.จิตรกับศาสนา

                จากบรรดาผลงานทั้งหมดเกี่ยวกับศาสนาของจิตรที่กล่าวถึงในบทความนี้ อาจทำให้พอสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า จิตรมิได้ปฏิเสธพระพุทธศาสนา/ศาสนาเสียทีเดียว หากแต่มีท่าทีวิพากษ์ต่อบรรดาวัฒนธรรม ประเพณีพิธีกรรมบางประการที่ไม่พึงปารถนาหรือเป็นเพียงกระพี้ ขณะเดียวกันความสนใจในศาสนาของจิตรมีท่าทีแบบปัญญาชนมากกว่า ดังที่ ศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์[๔๕] อาจารย์และผู้อุปถัมภ์ได้เคยกล่าวถึงท่าทีของจิตรที่มีต่อศาสนาว่า

 

ก็นับถือมาก แต่ไม่ได้ไปวัด นับถือแบบพวกที่มีความรู้ แกชำนาญเรื่องพระปางต่างๆเช่นที่ระเบียงวัดเบญจฯ แกอธิบายได้หมด ที่เขาสนใจเขียนเกี่ยวกับศาสนาก็คงเพราะว่าตอนที่เขามาอยู่ตอนแรก ผมก็เช่าบ้านใหญ่ ต่อมาเจ้าของขายบ้าน เราก็ต้องย้าย ก็ไปเช่าบ้านที่ซอยร่วมฤดี ข้างๆทางรถไฟ ตรงข้ามมีบ้านแปลกอยู่หลังหนึ่ง ผู้ชายในบ้านนั้นทุกๆวันพระก็เอาผ้าเหลืองมาห่มไปขอทาน จิตรเห็นว่าเป็นเรื่องที่สกปรกมาก เขาเคยเป็นลูกศิษย์วัด เขาก็เคยเจอบ้าง พระที่ไม่ดี เขาก็เอาเขียน ก็ไม่แปลกที่จะเขียน พวกที่ใช้ศาสนาไปในทางไม่ดี น่าจะเป็นสิ่งที่เขียนได้[๔๖]

 

                ทำนองเดียวกับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งวิเคราะห์ถึงบทกวี "การทำบุญเพื่อตัวกู ดูชอบกล"ว่า

ร้อยกรองบทนี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า จิตรมิได้โจมตีสถาบันทางศาสนาโดยตรง หากได้ตั้งข้อสังเกตให้ผู้คนหันมามองประเพณีทำบุญในรูปที่เป็นบุญเป็นทานแท้ๆ มิใช่บุญจารีตหรือประเพณีอันเป็นรูปธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จิตรเน้นที่จิตใจ การกระทำให้สอดคล้องกัน และเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ทุกข์ยากอย่างแท้จริง มิใช่จับกระพี้ของการทำบุญอันเป็นรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา และขณะเดียวกัน ก็หวังประโยชน์ส่วนตนในชาติหน้า ลักษณะทำนองนี้จิตรไม่เห็นว่าเป็นการทำบุญที่ถูกต้อง[๔๗]

 

                คำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับทรรศนะที่จิตรมีต่อศาสนา ปรากฏในคำแถลงต่อศาลเมื่อเขาถูกดำเนินคดีว่า

จำเลย จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาเหตุผล ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงแล้วพิจารณาชี้ขาดให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ซึ่งได้ถูกกักขังทรมานมาเป็นเวลา ๖ ปีเศษแล้วให้ได้รับอิสรภาพอันมีเกียรติ ขอศาลได้ชี้ว่า การกระทำโดยสุจริตเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อความดีงามเพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระศาสนาอันเป็นสิ่งที่แม้พระศาสดา พระภิกษุ และชาวพุทธที่แท้ทั้งหลายย่อมกระทำกันนี้ เป็นความผิดและต้องรับโทษหรือ และจำเลยเองในฐานะที่เป็นสาราณียกรซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่า บทความนี้เป็นบทความเพื่อพิทักษ์พุทธศาสนา (หมายถึงบทความผีตองเหลือง-ผู้เขียน)และกำจัดสิ่งโสโครกสิ่งปฏิกูลทั้งหลายบรรดาที่เข้ามาแอบแฝงอาศัยศาสนาหากิน ซึ่งพระศาสดาพระพุทธสาวกที่แท้ทั้งหลายได้ต่อสู้เพื่อทำลายให้หมดไปนี้ พึงต้องได้รับโทษหรือ คำพิพากษาของศาลย่อมจักเป็นประวัติศาสตร์อยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน[๔๘]

๖.การเผยแพร่งานหลังการจากไปของจิตร

                งานวิพากษ์ศาสนาของจิตรก็เช่นเดียวกับงานของปัญญาชนหัวก้าวหน้าอื่นๆที่ร่วมสมัยกับเขา ที่ผลงานจำนวนไม่น้อยไม่มีโอกาสได้เผยแพร่ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือหากได้รับการเผยแพร่ก็ย่อมนำเภทภัยมาสู่ดังที่จิตรได้เคยประสบมาแล้ว ในบรรดางานเขียนเกี่ยวกับการวิพากษ์ศาสนาของจิตรที่นำมากล่าวถึงในที่นี้นั้น มีเพียง โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน และ บทกวี การทำบุญเพื่อตัวกูฯ เท่านั้น ที่เผยแพร่ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกันความตายก่อนวัยอันควร (พ.ศ.๒๕๐๙) ของปัญญาชนนักปฏิวัติผู้มาก่อนกาลคนนี้ ยังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวในยุคคลื่นแห่งการแสวงหาในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ ด้วย และเช่นเดียวกับงานเขียนฝ่ายซ้ายอื่นๆที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในทศวรรษนี้ งานของจิตรก็ได้ถูกนำมาเผยแพร่ ผลิตซ้ำในช่วงเวลานี้เช่นกัน[๔๙]

                ในกรณีของบทความ 'ผีตองเหลือง'และงานแปล   'ความเรียงว่าด้วยศาสนา'นั้น ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งในวารสาร 'อักษรศาสตร์พิจารณ์' (เมษายน-พฤษภาคม) ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ อันเป็นฉบับที่อุทิศให้กับจิตรเป็นการเฉพาะ[๕๐] ผ่านบทความของสุจริต สัจจวิจารณ์ เรื่อง "พุทธปรัชญาในทรรศนะ "นาครทาส""[๕๑] และ บทวิจารณ์หนังสือแปล "ความเรียงว่าด้วยศาสนา" โดย ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์[๕๒]  ซึ่งทั้งสองต่างอ้างว่ามีโอกาสได้ใช้ต้นฉบับลายมือของจิตรด้วย กรณีของสุจริต สัจจวิจารณ์ นั้นเขากล่าวว่า

แม้ต้นฉบับของงานชิ้นนี้จะยังคงมีอยู่กับบางคน แต่ด้วยเงื่อนไขและเพื่อความเหมาะสมดังได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น งานนี้จึงยังต้องรอโอกาสอันสมควรที่จะปรากฏตัวออกมาต่อหน้าสาธารณชน[๕๓]

                ขณะที่ประเสริฐกล่าวถึงต้นฉบับ ความเรียงว่าด้วยศาสนา อย่างน่าสนใจดังนี้

'ความเรียงว่าด้วยศาสนา' เป็นหนังสือแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ อีกเล่มหนึ่งซึ่งขณะที่วิจารณ์นี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ หนังสือนี้เขียนด้วยปากกาหมึกซึมขนาดยาว ๔๙ หน้าด้วยลายมือบรรจงและเชื่อกันว่าเป็นผลงานขณะอยู่ในคุกในระหว่างปี ๒๕๐๑-๒๕๐๗ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากสำหรับใครก็ตามที่จะได้อ่านหนังสือลายมือของจิตร ภูมิศักดิ์ที่ยังไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนโดยเฉพาะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรมซึ่งเป็นเรื่องหลักหรือแก่นของชีวิตที่ถกเถียงกันมาก หนังสือเล่มนี้มีผู้ขอยืมมาจากมารดาของจิตรและคงจะมีผู้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในเร็ววันนี้[๕๔]

                ข้อเท็จจริงอันน่าสนใจอีกประการ ที่ปรากฏในบทความของสุจริต ซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงต้นฉบับลายมือ บทความ ผีตองเหลือง คือ ในต้นฉบับลายมือดังกล่าวได้มีการเขียนถึง ธรรมกถา เรื่อง พระพุทธศาสนาที่แท้ ของท่านปัญญานันทภิกขุ หรือ สีลัพพตปรามาส ของพุทธทาสภิกขุด้วย[๕๕] สอดคล้องกับข้อเท็จจริงช่วงระหว่างที่จิตรถูกดำเนินคดีกรณีบทความ "ผีตองเหลือง"และจิตรได้ต่อสู้หาความยุติธรรมในชั้นศาลนั้น ด้วยเหตุที่น้ำหนักของคดีเน้นไปที่เรื่องทำลายศาสนา จิตรจึงระบุพยานเอกสารเป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาเป็นจำนวนมากต่อศาล เฉพาะหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุก็หลายเล่ม มี เรื่อง ความงมงาย, เกียรติคุณพระพุทธเจ้า, ตอบปัญหาพระผู้เป็นเจ้า กรรม และอนัตตา, ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ นอกจากนั้นก็มีนิตยสาร พุทธสาสนา สำนักธรรมทาน ไชยา ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๙๘-๒๕๐๕, นิตยสารชาวพุทธ ปี พ.ศ.๒๔๙๖-๒๕๐๖,หนังสือ พุทธวิทยา ของ พร รัตนสุวรรณ, เที่ยวอินเดีย ของ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, กำเนิดคน ของเสฐียร โกเศศ ตลอดจน พระสุตันตปิฎก ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๐ [๕๖]

งานเขียนเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ทางความคิดว่าด้วยพระพุทธศาสนาของจิตรกับปัญญาชนร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ ทำนองเดียวกันกับที่เรโนลส์ อ้างว่า งานของสมัคร บุราวาศ(พ.ศ.๒๔๕๙-๒๕๑๘)  มีอิทธิพลทางความคิดต่อการตีความพระพุทธศาสนากับสังคมนิยมของจิตรด้วย[๕๗] ประเด็นว่าด้วยอิทธิพลทางความคิดนี้จึงเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ควรได้รับการค้นคว้าต่อไป

                ควรกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า งานของทั้งสองนี้(ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์และสุจริต สัจจวิจารณ์)ก็มิได้เผยแพร่บทความฉบับเต็มของจิตรในอักษรศาสตร์พิจารณ์ฉบับดังกล่าว แต่ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน(พ.ศ.๒๕๑๙) "ความเรียงว่าด้วยศาสนา"ก็ได้รับการตีพิมพ์โดยชมรมหนังสือแสงตะวัน ส่วนบทความ "ผีตองเหลือง"นั้นได้ถูกตีพิมพ์ฉบับเต็มโดย โลกหนังสือ ในปลายปี พ.ศ.๒๕๒๔[๕๘]หลังจากที่ชิ้นนี้ถูกทำให้หายเงียบไปถึง ๒๘ ปี[๕๙] และในราวปี พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๐ เมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รวบรวมผลงานโครงการสรรพนิพนธ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ นั้นบทกวี "อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย" ซึ่งสันนิษฐานว่าจิตรน่าจะแต่งราว พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๘(คาบเกี่ยวกับผีตองเหลือง) บทกวีนี้บางส่วนยังแต่งไม่เสร็จและบางส่วนไม่อาจจัดเข้าประเภทได้ ที่สำคัญเป็นงานที่ไม่เคยได้รับการเผยแพร่มาก่อนได้ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นครั้งแรกด้วย

การค้นพบงานดังกล่าวจึงช่วยให้เราเห็นภาพศาสนาในทรรศนะวิจารณ์ของปัญญาชนผู้นี้ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการตอกย้ำคำกล่าวของเรโนลส์ที่ว่า จิตรวิจารณ์พระได้แหลมคมพอๆกับที่วิจารณ์ 'เจ้า'[๖๐]

 

               

 

                                                         




* บทความนี้ข้าพเจ้าขอร่วมระลึกถึงการจากไปของ 'สหายปรีชา' (ชื่อจิตรของจิตรเมื่อครั้งเข้าป่าร่วมกับ พคท.) ซึ่งถูกลอบยิง ณ ชายป่าจังหวัดสกลนคร เมื่อ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙

อนึ่งผู้เขียนขอน้อมรับทุกคำวิจารณ์จากชุมชนทางความคิดแห่งนี้ด้วยความยินดียิ่ง หากมีข้อชี้แนะใดโปรดส่ง buangsuang@hotmail.com ,ขอกราบขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน ที่กรุณาให้คำแนะนำในการปรับปรุงบทความ ช่องทางในการเผยแพร่ รวมถึง อ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม สำหรับการแนะนำที่เป็นประโยชน์ แม้กระนั้นความผิดพลาดย่อมเป็นของผู้เขียนเพียงผู้เดียว

[๒] นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[๓] ดูชาญวิทย์ เกษตรศิริ.ประวัติการเมืองไทย ๒๔๗๕-๒๕๐๐.(พิมพ์ครั้งที่ ๔).กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.๒๕๔๙.น.๔๓๗.

[๔] Craig J.Reynolds. The Radical Discourse The Real face of Thai Feudalism Today. Ithaca, N.Y: Southeast Asia Program, Cornell University, 1987. p.15.

[๕] สุวิมล รุ่งเจริญ.บทบาทของนักหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๐-๒๕๐๑ วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๖ น.๙๖.

[๖] ใจ อึ้งภากรณ์อธิบายท่าทีต่อศาสนาของลัทธิมาร์กซ์ว่า แม้ว่าชาวมาร์กซิสต์ไม่มีความประสงค์จะจับพระสงฆ์มาไถนาหรือเผาวัดเผาวา แต่ก็มีทรรศนะต่อต้านศาสนาจริง ทั้งนี้เพราะในทรรศนะของชาวมาร์กซิสต์นั้นศาสนาเป็นปรัชญารูปแบบหนึ่งของมนุษย์เท่านั้น และปรัชญาทางศาสนาไม่ว่าศาสนาใดๆไม่สามารถนำมาแก้ปัญหาของสังคมมนุษย์ในปัจจุบันได้ อีกทั้งศาสนาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองผ่านยุคสมัยต่างๆเมื่อเป็นเช่นนั้นศาสนาก็สามารถหายไปจากสังคมได้เช่นกัน. นอกจากนี้มาร์กซ์ยังเห็นว่าศาสนาเป็นเครื่องสำคัญของผู้ขูดรีดใช้ปลอบประโลมผู้ถูกกดขี่ ให้แสวงหาโลกที่ดีกว่าในภพภูมิหน้า และจำนนต่อความทุกข์ทนในโลกนี้ ทั้งมาร์กซ์และเลนิน มีมุมมองต่อศาสนาว่าเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจคน ไม่ให้ลุกขึ้นสู้เพื่อปลดปล่อยตนเอง ดังนั้นเขาจึงปฏิเสธศาสนาแบบนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในใจ อึ้งภากรณ์.อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม ๒.กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน, ๒๕๔๒.น.๑๓๓-๑๗๔.

[๗] Leo Bogart, Premises for propaganda : the United States Information Agency's operating assumptions in the Cold War (New York: Free Press, 1976),pp. xiii,61-62.  อ้างถึงใน ณัฐพล ใจจริง.การเมืองไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๐๐)วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๕๒.น.๑๕๕.

[๘] ณัฐพล ใจจริง.พระบารมีปกเกล้าฯใต้เงาอินทรี แผนสงครามจิตวิทยาเอมริกัน กับการสร้างสถาบันกษัตริย์ให้เป็น "สัญลักษณ์"แห่งชาติ ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๔ น.๑๐๙.

[๙] จิตร มาจากครอบครัวข้าราชการ บิดารับราชการเป็นเสมียนสรรพสามิต มารดาเป็นแม่บ้าน จิตรเกิดที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งบิดาถูกส่งไปประจำที่นั่น ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ในตัวอำเภอเมืองปราจีนบุรี พ.ศ. ๒๔๗๙ บิดาถูกส่งไปทำงานที่จังหวัดกาญจนบุรี ครอบครัวทั้งหมดได้ย้ายตามไป ที่นี่จิตร  ภูมิศักดิ์  เริ่มเข้าเรียนระดับปฐมศึกษาที่โรงเรียนเดียวกับพี่สาวคือ โรงเรียนสตรีกาญจนานุเคราะห์  หลังจากนั้นจิตร ภูมิศักดิ์ ย้ายตามครอบครัวไปจนเรียนจบชั้นปฐมศึกษาที่สมุทรปราการ  ซึ่งก่อนเขาเรียนจบบิดาถูกส่งไปประจำที่พระตะบอง  ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของไทยในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง จิตร  ภูมิศักดิ์  ได้ย้ายตามครอบครัวไปอยู่พระตะบอง  และเริ่มต้นเรียนชั้นมัธยมที่พระตะบอง  จนทำให้จิตร  ภูมิศักดิ์สามารถเรียนรู้และพูดภาษาเขมรได้อย่างคล่องแคล่ว  เขามีเพื่อนสนิทที่เป็นชาวเขมรคนหนึ่งชื่อโสพัสซึ่งคบหากับจิตร  ภูมิศักดิ์และมีโอกาสไปเยี่ยมจิตร  ภูมิศักดิ์ที่กรุงเทพฯหลายครั้ง  ต่อมาบิดาแยกทางกับมารดา  มารดาพี่สาวและเขาได้กลับไปอยู่กรุงเทพฯ  เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร  และมาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมจนจบชั้นมัธยมตอนปลาย 

หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือได้ว่าจิตร  ภูมิศักดิ์ เป็นปัญญาชนรุ่นทศวรรษ ๒๔๙๐ อย่างแท้จริง  เพราะเขาเริ่มมีบทบาทและเข้าสู่วงการนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ช่วงกลางทศวรรษ ๒๔๙๐ โดยสืบเนื่องตั้งแต่เขาได้เป็นสาราณียากรให้กับหนังสือของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้นำมาสู่เหตุการณ์กรณีที่เขาถูกโยนบกโดยนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์  และนำไปสู่การพิจารณาให้จิตร  ภูมิศักดิ์ พักการเรียน  แต่ช่วงการพักการเรียนช่วงนี้นี่เองที่จิตร  ภูมิศักดิ์ ได้เข้าทำงานกับสุภา ศิริมานนท์  ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ และทำให้จิตร  ภูมิศักดิ์  ได้รู้จักกับทวีป วรดิลก บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ที่ต่อมาได้ชักชวนให้จิตร  ภูมิศักดิ์เขียนลงหนังสืออื่นๆ ตามมา พร้อมกับการเกิดนามปากกาใหม่ๆ เช่น "สมชาย ปรีชาเจริญ" และ "ศิลป์ พิทักษ์ชน" ใช้เขียนวิจารณ์ศิลปวรรณคดีใน พิมพ์ไทย สารเสรี ซึ่งมีเนตร เขมะโยธิน เป็นผู้อำนวยการ และ ปิตุภูมิ

จิตร  ภูมิศักดิ์ ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของนักเขียนรุ่นก่อนหน้านั้น อาทิ งานของอินทรายุทธ (อัศนี พลจันทร)  เสนีย์ เสาวพงศ์  และ สุภา  ศิริมานนท์  ที่บ้าหลายครั้งเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ ซึ่งประวุฒิ ศรีมันตะ เองก็ยอมรับว่านิสิตในรุ่นของเขานั้นได้รับอิทธิพลความคิดจากงานเขียนใน อักษรสาส์น อยู่มาก และมีนิสิต ที่มีแนวคิดก้าวหน้าอยู่หลายกลุ่มในจุฬาฯ จิตร  ภูมิศักดิ์ มีชะตากรรมเช่นเดียวกันกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าอื่นๆ ที่ถูกกวาดล้างและจับกุมในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นมามีอำนาจ แต่จุดจบของจิตร  ภูมิศักดิ์ อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมมากกว่าปัญญาชนคนอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนเกี่ยวกับประวัติชีวิตของเขา เพราะเมื่อภายหลังออกจากคุก จิตร  ภูมิศักดิ์ เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และถูกยิงตายในจังหวัดสกลนครในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ชีวิตของเขาจึงเปรียบเสมือนตำนานที่เล่าขานต่อมาไม่รู้จบในรุ่นหลัง ดูโสภา ชานะมูล. "ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐. น.๖๖-๖๗.

[๑๐] จิตร ภูมิศักดิ์.กรณีโยนบก ๒๓ ตุลาคม.กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย, ๒๕๓๙.น. ๓๐-๓๑.

[๑๑] เรื่องเดียวกัน น.๓๕

[๑๒] จิตร ภูมิศักดิ์.ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง.กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๑. น.๑๓-๑๔.

[๑๓] เรื่องเดียวกัน น.๑๖-๑๗.

[๑๔] เรื่องเดียวกัน น.๑๕.

[๑๕] จิตร ภูมิศักดิ์.กรณีโยนบก ๒๓ ตุลาคม.กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย,๒๕๓๙. น.๓๕.***

[๑๖] เรื่องเดียวกัน น.๓๖.

[๑๗] เรื่องเดียวกัน น.๓๖.

[๑๘] เรื่องเดียวกัน น.๓๖.

[๑๙] เรื่องเดียวกัน น.๓๙.

[๒๐] เรื่องเดียวกัน น.๓๙.

[๒๑] เรื่องเดียวกัน น.๔๐.

[๒๒] เรื่องเดียวกัน น.๔๑.

[๒๓] เรื่องเดียวกัน น.๔๒.

[๒๔] ดูวีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง.จิตร ภูมิศักดิ์ : คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย.กรุงเทพฯ: สารคดี, ๒๕๔๙.น.๗๘-๗๙.

[๒๕] ขวัญนรา.การทำบุญเพื่อตัวกูดูชอบกล ใน จิตร ภูมิศักดิ์. ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง.กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๑. น.๑๓๓-๑๓๖.

[๒๖] สมสมัย ศรีศูทรพรรณ.โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน.กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย, ๒๕๓๙.

[๒๗] เรื่องเดียวกัน น.๓๘๐.

[๒๘] เรื่องเดียวกัน น.๓๘๑.

[๒๙] เรื่องเดียวกัน น.๔๓๗.

[๓๐] เรื่องเดียวกัน น.๔๓๘.

[๓๑] เรื่องเดียวกัน น.๔๓๙.

[๓๒] สมสมัย ศรีศูทรพรรณ.โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน.น.๔๓๙.ธรรมเนียมการถวายที่ดินแก่วัดมิได้จำกัดแต่เฉพาะวัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น หากแต่รวมถึงวัดในคริสต์ศาสนาด้วย ดู น.๔๔๓

* การพระราชทานวิสุงคามสีมา หมายถึง การที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งวัดและอุทิศถวายที่ดินบริเวณนั้นแก่วัดๆนั้นโดยสิทธิขาดเพื่อประกอบศาสนกิจ ในปัจจุบันเมื่อวัดใดก็ตามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามักกำหนดให้มีการเฉลิมฉลองที่เรียกกันว่า "งานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต"

[๓๓] เรื่องเดียวกัน น.๔๔๓.

[๓๔] เรื่องเดียวกัน น.๔๔๒.ดูงานที่ศึกษาประเด็นนี้โดยเฉพาะใน อุทิศ จึงนิพนสกุล.วิวัฒนาการเศรษฐกิจวัด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, ๒๕๒๘.

[๓๕] ทอมสัน,ยอร์จ(เขียน).ความเรียงว่าด้วยศาสนา.จิตร ภูมิศักดิ์(แปล).กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือแสงตะวัน,๒๕๑๙.

[๓๖] ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์.วิจารณ์หนังสือแปล "ความเรียงว่าด้วยศาสนา"ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ฉบับที่ ๑๑-๑๒ ปีที่ ๓ (เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙) น.๑๐๑.

[๓๗] ทอมสัน,ยอร์จ(เขียน)ความเรียงว่าด้วยศาสนา.จิตร ภูมิศักดิ์(แปล) น.๒.

[๓๘] เรื่องเดียวกัน น.๔๘.

[๓๙] เรื่องเดียวกัน น.๔๙.

[๔๐] เรื่องเดียวกัน น.๓.

[๔๑] เรื่องเดียวกัน น.๖๑.

[๔๒] เรื่องเดียวกัน น.๖๕.

[๔๓] เรื่องเดียวกัน น.๗๓.

[๔๔] เรื่องเดียวกัน น.๗๗., ควรกล่าวด้วยว่า เมื่อคราวที่ชมรมหนังสือต้นกล้ารวมเล่มตีพิมพ์บทกวีบางส่วนของจิตร เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ นั้น สำนักพิมพ์ได้นำประโยค "พระเจ้ากำ-เนิดข้า มาเสรี" มาใช้เป็นชื่อหนังสือด้วย ดู จิตร ภูมิศักดิ์.พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี รวมบทกวีคัดสรรแล้ว.กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือต้นกล้า, ๒๕๒๑.

[๔๕] ศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ เป็นชาวอเมริกัน เคยเป็นที่ปรึกษาหอสมุดแห่งชาติ ,อาจารย์ด้านภาษาและวรรณคดี ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ช่วงระหว่างที่เก็ดนีย์อยู่ที่จุฬาฯนั้น เขาได้มีโอกาสพบกับจิตร ขณะนั้นจิตรเป็นน้องใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์เก็ดนีย์ได้อุปการะเอาจิตรมาพำนักอยู่กับตนที่บ้านเช่าหลังหนึ่ง แถวถนนวิทยุ เป็นบ้านหลังใหญ่ มีคนอาศัยอยู่มาก และขณะอยู่ด้วยกันได้ร่วมกันศึกษาโดยเป็นที่ปรึกษาให้แก่กันและกัน และร่วมกันทำงานแปลโดยแบ่งค่าจ้าง ดูเพิ่มเติมใน กันศิริชัย หงส์วิทยากร และ ศรีวรรณ ตั้งใจตรง(สัมภาษณ์). คุยกับศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ 'อาจารย์ฝรั่ง' ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน ถนนหนังสือ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐. น.๑๙. เมื่อคราวที่จิตรโดนโยนบกนั้นเก็ดนีย์เองก็ถูกกดดันให้ออกนอกประเทศ เพราะถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลความคิดหนุนหลังจิตร ขณะเดียวกันภายหลังจิตรถูกโยนบก เก็ดนีย์ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ความตอนหนึ่งว่า

...อาการเช่นนี้ดูจะเปนโรคระบาด คือเกิดไม่พอใจอะไรขึ้นมาสักอย่างก็หาว่าแดงไปเลยซึ่งผมคิดว่า น่าจะเสียใจอยู่หน่อย แต่เรื่อง "หาว่าผมแดง" นั้นผมไม่ตกใจอะไรพวกผู้ใหญ่ในวงการทั้งฝรั่งและไทยก็รู้จักผมดีตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย ๖ ปีกว่า คงไม่มีใครเชื่อว่าผมแดงแน่ ถึงจิตรก็เถอะ ถ้าแดงผมก็ไม่ให้เขาอยู่ด้วยเสียนานแล้ว"(สะกดตามต้นฉบับ)

ดู หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวซึ่งจิตรเป็นผู้ตัดเก็บไว้เอง ใน จิตร ภูมิศักดิ์.กรณีโยนบก ๒๓ ตุลาคม.กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย,๒๕๓๙. น.๑๐๙-๑๑๐.

[๔๖] ศิริชัย หงส์วิทยากร และ ศรีวรรณ ตั้งใจตรง(สัมภาษณ์). คุยกับศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ 'อาจารย์ฝรั่ง' ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน ถนนหนังสือ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐.

[๔๗] ดูจิตร ภูมิศักดิ์. ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง.กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๑. น.๑๓๕-๑๓๖.

[๔๘] วิชัย นภารัศมี.หลายชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์.กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน,๒๕๔๖.น.๑๓๓.

[๔๙] ดูเพิ่มเติมใน Craig J.Reynolds and Hong Lysa.Marxism in Thai Historical Studies. Journal of Asian Studies Vol.XLIII, No.1 November,1983.p.78. ประจักษ์ ก้องกีรติ.ก่อนจะถึง ๑๔ ตุลาฯ: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๑๖) วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๔๕ น.๓๑๒-๓๑๑.

[๕๐] นอกจากบทความเกี่ยวกับศาสนาแล้วยังประกอบด้วยงานอื่นๆทั้งที่เกี่ยวกับความทรงจำและบรรดาผลงานอมตะของจิตรด้วย

[๕๑] สุจริต สัจจวิจารณ์.พุทธปรัชญาในทรรศนะ "นาครทาส" ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์' ฉบับที่ ๑๑-๑๒ ปีที่ ๓ (เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙) น.๔๕-๕๙.

[๕๒] ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์.วิจารณ์หนังสือแปล "ความเรียงว่าด้วยศาสนา"ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ฉบับที่ ๑๑-๑๒ ปีที่ ๓ (เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙) น.๑๐๑-๑๐๕

[๕๓] สุจริต สัจจวิจารณ์.พุทธปรัชญาในทรรศนะ "นาครทาส" ใน เรื่องเดียวกัน น.๔๗.

[๕๔] ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์.วิจารณ์หนังสือแปล "ความเรียงว่าด้วยศาสนา"ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน เรื่องเดียวกัน น.๑๐๑

[๕๕] ดูสุจริต สัจจวิจารณ์.พุทธปรัชญาในทรรศนะ "นาครทาส" ใน เรื่องเดียวกัน น.๕๐.

[๕๖] วิชัย นภารัศมี.หลายชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์.กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๔๖. น. ๑๓๒.

[๕๗] ดู Craig J.Reynolds. The Radical Discourse The Real face of Thai Feudalism Today.p.26.สมัคร บุราวาศ(พ.ศ.๒๔๕๙-๒๕๑๘)  เป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลไทยที่สำเร็จการศึกษาด้านธรณีวิทยาและเหมืองแร่จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกิจการเหมืองแร่ของไทย อย่างไรก็ตามสมัครยังมีความรู้เป็นเลิศด้านปรัชญาด้วย เมื่ออายุได้เพียง ๒๖ ปี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตสาขาอภิปรัชญา มีผลงานด้านพุทธปรัชญาที่ตีความเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์สำคัญๆหลายชิ้น เช่น พุทธปรัชญาอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ (๒๔๘๐), วิทยาศาสตร์ใหม่และพระศรีอาริย์ (๒๔๙๗) ,ปัญญา (๒๔๙๗) ดู สมัคร บุราวาศ. พุทธปรัชญา :มองพุทธศาสนาด้วยทรรศนะทางวิทยาศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่ ๔).กรุงเทพฯ: ศยาม,๒๕๕๒. ผลงานชิ้นสำคัญที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมีอิทธิพลต่อจิตรตามที่เรย์โนลส์อ้างก็คือ พุทธิสม์เผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์ เผยแพร่ครั้งแรกใน อักษรสาส์นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ โดยสมัครใช้นามปากกว่า กัปตันสมุทร อันเป็นงานเขียนแรกๆที่อธิบายความเหมือนและต่างของทั้งสองแนวคิดได้อย่างเป็นระบบ และในปีเดียวกันนั้นเองเขาก็ถูกกวาดจับในข้อหากบฏสันติภาพพร้อมกับนักคิดหัวก้าวหน้าคนอื่นๆดู สมัคร บุราวาศ. พุทธิสม์เผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์(พิมพ์ครั้งที่ ๒).กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์, ๒๕๑๗.

[๕๘] ดู โลกหนังสือ  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๔ น.๔๐-๕๒.

[๕๙] เรื่องเดียวกัน น.๔๒. สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ เมื่อคราวที่ชมรมหนังสือแสงตะวันพิมพ์งานชิ้นนี้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ นั้น ในคำนำได้กล่าวว่า

งานชิ้นนี้เป็นงานที่เราพึงให้ความสำคัญกับมัน มิใช่แต่เพียงเพราะเหตุว่ามันมีความเหมาะสมกับช่วงเวลาปัจจุบันซึ่งการถกเถียงอภิปรายปัญหาอันเกี่ยวกับแนวคิดทางปรัชญาทั้งเก่าและใหม่กำลังเป็นไปอย่างกว้างขวางและหนังสือเล่มนี้ อาจช่วยได้บ้างในบางประการแล้วเท่านั้น หากแต่กล่าวโดยตัวมันเองแล้ว,มันเป็นเอกสารทางปัญญาที่ได้ก่อให้เกิดทรรศนะใหม่ในการมองดูรูปโฉมของสถาบันอันเคยเป็นที่ยอมรับนับถือมานานหลายศตวรรษแล้วว่าเป็นสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์"นั้นว่ามีลักษณาการที่แท้จริงเป็นอย่างไร นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่ง และกล่าวสำหรับคุณประโยชน์ ที่จะมีต่อผู้อ่านชาวไทยแล้วก็นับว่าเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งได้  แม้ว่าเนื้อหาในส่วนทั้งหมดแล้วจะเป็นทรรศนะอันเกิดจากการมองคริสตศาสนา(สะกดตามต้นฉบับ)ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมของท่านผู้เขียนเดิม (ยอร์จ ทอมสัน-ผู้เขียน)ก็ตาม ทว่า เมื่อมองในแง่ที่เป็นสากลแล้วการกำเนิด,ภาวะความเป็นไปที่แนบแน่นกับกระบวนการทางสังคมและจุดมุ่งหมายของศาสนาต่างๆในโลกก็ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก นี้เองที่เราอาจใช้แนวทรรศน์ใหม่ๆเหล่านี้มาพิจารณาดูสังคมไทยเราบ้างว่ามันเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร เช่นไร.

ดู ทอมสัน,ยอร์จ(เขียน).ความเรียงว่าด้วยศาสนา.จิตร ภูมิศักดิ์(แปล).กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือแสงตะวัน,๒๕๑๙.คำนำผู้จัดพิมพ์ไม่ปรากฏเลขหน้า

[๖๐] Craig J.Reynolds. The Radical Discourse The Real face of Thai Feudalism Today. New York.1987. p.31.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมบอร์ด กสทช. ไม่มี "วาระ 3G" ระบุเป็นอำนาจ กทค.

Posted: 14 Nov 2012 06:19 AM PST

ประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. วันนี้ ไม่มีวาระ 3G หลังกรรมการบางรายเสนอให้พิจารณา ระบุเป็นอำนาจ กทค. ไม่เกี่ยว กสท.


(14 พ.ย.55) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด กสทช. ว่า วันนี้ไม่มีวาระที่เกี่ยวข้องกับการประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือไลเซ่นส์ 3G 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ตามที่มีบอร์ดบางท่านยื่นเสนอเข้ามาให้พิจารณา เนื่องจาก พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ให้เหตุผล 3 ประการ คือ 1.เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ บอร์ด กทค. 2.อยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช. และ 3.อยู่ในการดำเนินการของศาลปกครอง

นอกจากนี้มติเสียงข้างมากส่งผลให้บอร์ดใหญ่ไม่มีอำนาจรับรองผลประมูล 3G เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเป็นเพียงการรายงานเพื่อทราบถึงขั้นตอนการประมูลและอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ที่ประชุม กสทช. รับทราบเท่านั้น

เลขาฯ กสทช. กล่าวต่อว่า ประเด็นการรับรองผลประมูลไลเซ่นส์ 3G นั้น บอร์ดมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 2 เสียง ไม่ต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจว่าควรต้องให้ กสทช.รับรองผลประมูลร่วมกัน เนื่องจากการรับรองผลประมูลและกระบวนการออกไลเซ่นส์เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เช่นเดียวกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ หรือ บอร์ด กสท. ดังนั้น บอร์ด กทค.ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปข้องเกี่ยวเช่นกัน

สำหรับคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเคาะราคาประมูล 3G ที่มีนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เป็นประธาน ได้เรียกผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ไม่พบพฤติกรรมที่ผิดปกติ หรือพฤติกรรมในการสมยอมราคา และยังได้เชิญนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เข้าให้ข้อมูลในวันที่ 16 พ.ย.2555

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (15 พ.ย.) ศาลปกครองกลางได้เรียกไต่สวน กสทช. หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าให้ข้อมูลแล้ววันนี้ (14 พ.ย.) กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8 พ.ย. เพื่อให้พิจารณาและวินิจฉัยว่าการประมูล 3G ดำเนินการที่เป็นการแข่งขันโดยเสรีตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. หรือไม่

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด กสทช.เห็นชอบ ห้ามจอดำ "7 มหกรรมกีฬา"

Posted: 14 Nov 2012 06:09 AM PST

ที่ประชุม กสทช.เห็นชอบให้ 7 การแข่งขันกีฬาระดับโลก ต้องถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี หนึ่งใน กสทช.ติง ให้สิทธิฟรีทีวีช่องใหญ่-ผูกขาดตลาดมากไป

(14 พ.ย.55) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือ Must Have โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยการจัดทำร่างประกาศดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาส ได้ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป โดยให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการพื้นฐานบางประการเพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดให้มีบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของบุคคลดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าวเป็นการกำหนดให้รายการโทรทัศน์แบบถ่ายทอดสดที่กำหนดไว้ในประกาศ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปเท่านั้น เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนรวมถึงคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการโทรทัศน์บางรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และทั่วถึง โดยรายการโทรทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ 7 รายการคือ  ได้แก่  1. การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียวใต้ หรือ กีฬาซีเกมส์ (South-East Asian Games, SEA Games) 2. การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการอาเซียนพารา เกมส์ (ASEAN Para Games) 3. การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย หรือ เอเชียนเกมส์ (Asian Games) 4. การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games) 5. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) 6. การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการหลายประเภทจากทั่วโลก หรือ กีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games) และ 7. การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)

ก่อนหน้านี้ (5 พ.ย.) ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. ในฐานะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เคยแสดงความเห็นต่อร่างดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เนื้อหาโดยแท้จริงแล้วเป็นเรื่องการให้สิทธิ์พิเศษแก่ช่องทีวีรายใหญ่

ธวัชชัย มองว่า จริงๆ แล้วต้องเรียกว่าร่างมาตรการ exclusive list หรือการให้สิทธิ์พิเศษแก่ฟรีทีวีเจ้าใหญ่ 6 รายในการถ่ายทอดรายการกีฬาใหญ่ๆ เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าเพื่อผู้ชมฟรีทีวีได้ดูรายการกีฬาที่สำคัญเป็นเรื่องที่ฟังขึ้นยาก เนื่องจากยังมีวิธีการอื่นอีกมากที่ให้ผลอย่างเดียวกัน โดยไม่ต้องแทรกแซงตลาดมากขนาดนี้

เขากล่าวว่า การแก้ปัญหาในต่างประเทศจะเน้นการใช้มาตรการ "non-exclusive list" หรือการกำหนดรายการที่สำคัญที่ไม่ให้มีการผูกขาด ซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเลือกชมรายการกีฬาที่สำคัญได้จากหลายช่องทาง เช่น ทางฟรีทีวี หรือ ทางดาวเทียมที่มีโฆษณาน้อยกว่า และยังช่วยให้ผู้ชมได้ชมรายการกีฬารายการใหญ่ๆ ได้อย่างเต็มที่ผ่านช่องทางอื่น เนื่องจากฟรีทีวีไม่สามารถถ่ายทอดกีฬาใหญ่ๆ เช่น โอลิมปิกได้หมด และที่สำคัญที่สุดคือมาตรการ "exclusive list" หรือการให้สิทธิพิเศษแก่ฟรีทีวีช่องใหญ่เป็นการจำกัดการแข่งขันของอุตสาหกรรมในอนาคตอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ การแก้ปัญหาโดยวิธี "non-exclusive list" ยังเป็นการสอดคล้องกับแนวทางทั่วไปของต่างประเทศซึ่งจะช่วยให้การเจรจาต่อรองในเวทีโลกง่ายขึ้นด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลแพ่งเลื่อนการไกล่เกลี่ย กรณีทหารเกณฑ์ถูกซ้อมตายในค่ายปิเหล็ง

Posted: 14 Nov 2012 05:37 AM PST

ศาลแพ่งนัดไกล่เกลี่ย แก่ญาติพลทหารวิเชียรที่ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายปิเหล็ง เมื่อปี 54 ผลไกล่เกลี่ยจำเลยย่อมเยียวแก่โจทก์ แต่จำเลยต้องทำเรื่องเสนอต่อหน่วยต้นสังกัด ศาลจึงเลื่อนไกล่เกลี่ยเป็นวันที 13 ธันวาคม 2555 นี้       

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อที่ 9 พฤศจิกายน 2555  ศาลแพ่งนัดประชุมการไกล่เกลี่ย คดีฟ้องละเมิด เรียกค่าเสียหายจากเหตุที่พลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกครูฝึกหน่วยฝึกทหารใหม่ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ลงโทษด้วยวิธีการซ้อมทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้พลทหารวิเชียรถึงแก่ความตาย โดยมีนางประเทือง เผือกสม มารดาของพลทหารวิเชียร เผือกสม เป็นโจทก์ จำเลยที่ 1.กระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 2.กองทัพบก จำเลยที่3. สำนักนายกรัฐมนตรี

จากการประชุมไกล่เกลี่ย คดีมีการตกลงกันได้ในการเยียวยาความเสียหายแก่โจทก์ แต่ผู้แทนของจำเลยขออนุญาตนำข้อเสนอการเยียวยาความเสียหายแก่โจทก์ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ ซึ่งต้องใช้เวลา ศาลจึงให้เลื่อนการประชุมไกล่เกลี่ยในวันที่ 13 ธันวาคม 2555

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า พลทหารวิเชียรได้สมัครเข้ารับการเป็นเกณฑ์ทหารและเข้าฝึกที่หน่วยฝึกทหารใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554  ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2554  เจ้าหน้าที่ทหาร 10 นาย ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียร โดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย โดยอ้างว่าพลทหารวิเชียร หลบหนีการฝึก ทำให้พลทหารวิเชียร ได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้เสียชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน 2554 โดยสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง

 ทั้งนี้ก่อนหน้าพลทหารวิเชียร สมัครเข้ารับการเป็นเกณฑ์ทหาร เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุและศึกษาจนจบชั้นปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ผลการเรียนเกียตินิยมอันดับ 1 และสำเร็จระดับปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผลการเรียนดีเยี่ยม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุอีกว่า ในส่วนของคดีอาญาที่นางประเทืองได้แจ้งความดำเนินคดีกับครูฝึกทหารใหม่และทหารที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรจนถึงแก่ความตายต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุแล้ว ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ของกระทรวงยุติธรรม แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุกรรมาธิการฯ กิจการองค์กรตาม รธน. แนะลดงบวิจัย-เพิ่มรูปธรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลจราจรรองรับ AEC

Posted: 14 Nov 2012 05:31 AM PST

14 พ.ย.55 - ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการติดตามสถานการณ์ ของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ นายวัลลภ งามศร หัวหน้าสำนักงานกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องการใช้งบประมาณของกองทุนฯ โดยในการประชุมครั้งนี้ได้เน้นน้ำหนักไปในเรื่องของการเตรียมการรับมือและเตรียมความพร้อมด้านการขนส่งในการเปิดเขตการค้า AEC

คณะอนุกรรมาธิการติดตามสถานการณ์ฯ โดยมี นายพงศ์พันธ์  สุนทรชัย เป็นประธานได้เชิญหัวหน้าสำนักงานกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนเข้าชี้แจงและเสนอแนะแนวทางในการดำเนินกิจการของกองทุน ซึ่งในการประชุมได้มีข้อเสนอ แนะให้กองทุนลดค่าใช้จ่ายในโครงการด้านการวิจัยออกไป แล้วจัดทำเวิร์คช๊อปหรือประชาสัมพันธ์ในจังหวัดชายแดนที่มีการเข้าออกโดยอาศัย พรบ. อำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามชายแดน  เพื่อให้คนในพื้นที่คุ้นเคยและเข้าใจกฎจราจรของเราและประเทศเพื่อนบ้าน รองรับ AEC  โดยจะเริ่มจากทางฝั่งลาวที่มีปริมาณการเดินทางเข้าออกมากกว่าด้านอื่นๆ

นอกจากนี้คณะได้เสนอให้จัดการสัมมนาร่วมกันกับกรมของส่ง ในเรื่องข้อมูลการจราจรของทั้งสองประเทศ ไทย-ลาว โดยกรรมาธิการจะเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ใช้กฎหมายและประชาชน  จะตั้งคณะทำงานร่วมกับกองทุน แต่งตั้งขนส่งจังหวัดหนองคายเข้ามาเป็นคณะทำงานด้วยเพื่อกำหนดกรอบรายละเอียดแล้วค่อยนำเข้าที่ประชุม พิจารณาการจัดงานในครั้งต่อไป

การทางพิเศษรับแนวทางการแก้ไขปัญหา Easy Pass

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน (14 พ.ย.) ยังได้มีการหารือจากปัญหาร้องเรียนเรื่องการใช้ Easy Pass ของการทางพิเศษ เรื่องความล่าช้าในการส่งข้อมูลจำนวนเงินและจำนวนยอดเงินที่แจ้งต่อผู้ใช้บริการไม่ตรงกับยอดตามจริง ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อ คณะอนุกรรมาธิการติดตามสถานการณ์ ในคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน โดยนำเสนอแผนงาน ระยะสั้น –กลาง-ยาว เพื่อแก้ไขปัญญาดังกล่าว

นายธิติพันธ์ พานิชประสานสิน ตัวแทนการทางพิเศษพร้อมคณะ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการติดตามสถานการณ์ฯ และได้รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นการทางพิเศษได้ดำเนินการโอนเงินค่าประกันบัตร Easy Pass คืนให้แก่ลูกค้ารายเก่าไปแล้ว 85% พร้อมกับนำเสนอแผนงานระยะสั้น – กลาง – ยาว ต่อคณะกรรมาธิการ

หลังจากพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาแล้วคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ท้วงติงแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นว่ามีการใช้งบประมาณมากเกินความจำเป็น  และควรจะเร่งเพิ่มศักยภาพของ Database ในการจัดเก็บข้อมูล ระบบการส่งยอดมูลจำนวนเงินที่รวดเร็วมากกว่า ทั้งนี้นอกจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอให้การทางพิเศษจัดหาเทคโนโลยีที่จะใช้ได้ในระยะยาวเพื่อรองรับจำนวนรถยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นและสร้างความมั่นใจในระบบแก้ประชาชนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งการทางพิเศษได้รับข้อแนะนำจากกรรมาธิการพร้อมนำไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไปโดยปรับตัวรับสัญญาณให้สามารถรับข้อมูลได้ก่อนที่รถจะถึงประตูกั้นทางด่วน

โดยทางอนุกรรมาธิการฯ ยังเน้นย้ำอีกว่าปัญหาของ Easy Pass คือระบบการจัดส่งข้อมูลให้แก่ผู้ใช้บริการทราบอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งต้องเร่งแก้ไขก่อนเรื่องความเร็วในการการเคลื่อนตัวของรถที่ใช้บริการ

ที่มา: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขันอันหาที่สิ้นสุดมิได้: ขบวนการนกเพนกวินกลับชาติ

Posted: 14 Nov 2012 05:30 AM PST

คปก.เสนอปรับกฎหมาย 2 ฉบับ ร่างฯ ขนส่งข้ามพรมแดน - ร่างฯศุลกากร

Posted: 14 Nov 2012 05:04 AM PST

14 พฤศจิกายน 2555 - นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 2 เรื่อง ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. ....และร่างพ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนภายในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนบน) เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา  โดย คปก.ได้ศึกษาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับในคราวเดียวกัน ซึ่งเห็นควรให้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ

โดยในร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. ....คปก.ตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็นหลัก คือ กรณีการลงโทษซ้ำ ซึ่งกำหนดไว้ในร่างมาตรา 10(3) คปก.เห็นว่า ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศซึ่งฐานความผิดของแต่ละประเทศกำหนดไว้ต่างกัน หรือผิดตามกฎหมายอื่นโดยกฎหมายของประเทศภาคี หรือกฎหมายของไทยอาจกำหนดแตกต่างกัน รัฐบาลประเทศภาคีอาจร้องขอให้ส่งตัวบุคคลดังกล่าวเพื่อมาดำเนินคดีตามฐานความผิดหรือกฎหมายอื่นของประเทศภาคีได้ ประเด็นถัดมา ในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ เมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาแล้วเห็นว่า การกำหนดมาตรา 8 ของร่างพ.ร.บ. ซึ่งระบุว่า "ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงที่ดำเนินพิธีการในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักรเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา" ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา อีกทั้งการจะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงที่ดำเนินพิธีการในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักรก็ไม่เป็นไปตามเอกสิทธิและความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิพิเศษของบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้

ประเด็นต่อมา หากกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีฯ เป็น "เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา" จะเกี่ยวพันเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด ทั้งนี้หากโทษตามกฎหมายไทยกำหนดไว้สูงกว่าประเทศภาคี มีประเด็นซึ่งต้องพิจารณาเช่นกันว่ารัฐบาลประเทศภาคีจะยอมรับหรือไม่

นอกจากนี้ การนำความตกลงระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้มีการตั้งด่าน ที่ด่านพรมแดนมุกดาหาร (สะพานมิตรภาพ 2) และด่านสากลขัวมิตรภาพแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้เฉพาะระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมากำหนดหลักเกณฑ์ในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ เจตนารมณ์ของผู้ร่างต้องการให้มีผลใช้บังคับกับทุกพื้นที่ ไม่ได้รองรับเฉพาะความตกลง CBTA เท่านั้น แต่รวมถึงความตกลงอื่นที่รัฐบาลไทยอาจไปทำกับรัฐบาลประเทศอื่นในภายหน้า หากกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ก็ไม่มีสิ่งใดมารับรองว่ารัฐบาลประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยจะไปทำความตกลงด้วยจะเห็นชอบกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวและจะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ทำนองเดียวกับที่ประเทศไทยทำความตกลงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

อย่างไรก็ตาม บางกรณีทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดน อาจมีกรณีการลักลอบขนส่งสัตว์ป่า หรือโบราณวัตถุซึ่งมีแหล่งที่มาในประเทศไทยหรือประเทศภาคีอื่น ดังนั้นการที่กฎหมายได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยได้ใช้ดุลพินิจหากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยได้เช่นกัน  ส่วนประเด็นเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในร่างมาตรา 10 และ มาตรา 11นั้น คปก.มีข้อสังเกต2 ประการ ได้แก่ 1.การส่งตัวผู้ต้องหาหรือบุคคลซึ่งกระทำความผิด ควรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และ 2.การพิจารณาเรื่องการส่งผู้ต้องหาหรือบุคคลซึ่งกระทำความผิด ควรคำนึงถึงการให้ความคุ้มครองบุคคลสัญชาติไทยเป็นกรณีพิเศษมากกว่าบุคคลสัญชาติอื่นด้วย

สำหรับร่างพ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนภายในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนบน) เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกโดยเฉพาะจึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน ซึ่ง คปก.เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในร่างมาตรา 37 สัตตรส จากเดิม "ให้กรมศุลกากรมีอำนาจในทางศุลกากรทั้งปวงในพื้นที่ควบคุมร่วมกันเช่นเดียวกับในเขตศุลกากร" เป็น "ให้กรมศุลกากรมีอำนาจในทางศุลกากรทั้งปวงในพื้นที่ควบคุมร่วมกันและพื้นที่ตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนเช่นเดียวกับในเขตศุลกากร" เพราะร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนฯ กำหนดเขตพื้นที่ควบคุมร่วมกันไว้กว้างกว่า ทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในเขตศุลกากรเท่านั้นอาจไม่ครอบคลุมกรณีที่มีความตกลงเพิ่มเติมขยายเขตพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรไปปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่นั้นได้ 

สำหรับเรื่องทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดน และการลงโทษซ้ำ ในร่างมาตรา 37 เอกูนวีสติ (3) คปก.เห็นชอบให้มีการเพิ่มเติมข้อความในวรรคหนึ่ง โดยเพิ่ม "เว้นแต่จะมีความตกลงเป็นอย่างอื่น..." เข้ามา เพื่อรองรับความตกลงซึ่งรัฐบาลไทยอาจทำกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ซึ่งอาจไม่เห็นชอบกับหลักเกณฑ์ในร่างมาตรา 37 เอกูนวีสติ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่พนักงานศุลกากรตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน  ส่วนประเด็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดน คปก.มีความเห็นทำนองเดียวกันกับร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนฯ เนื่องจากได้นำหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ดังกล่าว มากำหนดหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องโดยมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำบางคำให้ใช้เฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับศุลกากร

ดาวน์โหลด:

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชํานาญ จันทร์เรือง: เก็บตกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012

Posted: 14 Nov 2012 04:59 AM PST

ผ่านไปแล้วสําหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012 มีทั้งสมหวังและผิดหวังจากกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย แต่สําหรับชาวต่างประเทศยกเว้นอิสราเอล อิหร่านและตาลิบันแล้วส่วนใหญ่ก็เชียร์โอบามากันเกือบทั้งนั้น รวมถึงพี่ไทยเราด้วย ซึ่งก็ได้มีผู้ให้ความเห็นไว้กันมากแล้วทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ผมในฐานะที่มีโอกาสได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการเลือกตั้งในคราวนี้ที่เมืองใหญ่ๆหลายเมือง อาทิ บอสตัน วอชิงตัน ดี ซี เมดิสัน มิลวอกกี และสุดท้ายที่ชิคาโกจึงจะนําเสนอในมุมที่คิดว่าคงไม่มีใครพูดถึงมากนัก

บรรยากาศการหาเสียงที่ผมได้พบเห็นเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียดแบบเอาเป็นเอาตาย จะเห็นได้จากเวลามีการหาเสียงของพรรคหนึ่ง อีกพรรคหนึ่งก็ยังสามารถถือป้ายเดินผ่านเข้าไปได้ อาจจะมีเสียงโห่บ้างแต่เป็นไปแบบแซวกันมิใช่การโห่ฮาป่าหรือขว้างปาสิ่งของหรือทําร้ายกัน บรรยากาศเหมือนกับการดูฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ซะอย่างนั้น ในหน่วยเลือกตั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ตํารวจหรือทหารคอยรักษาความปลอดภัย บรรยากาศเป็นไปอย่างเป็นมิตร ไม่เครียด

วันเลือกตั้งกําหนดให้เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนทุก 4 ปี ที่กําหนดให้เป็นเดือนพฤศจิกายนเพราะเป็นระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยว ที่กําหนดให้เป็นวันอังคารเพราะแต่ก่อนการเดินทางเป็นไปด้วยความลําบาก ฉะนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ จึงให้ไปโบสถ์วันอาทิตย์ให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงเดินทางในวันจันทร์ ส่วนที่สงสัยกันมากว่าทําไมต้องหลังวันจันทร์แรกด้วย วันอังคารแรกเลยไม่ได้หรือ ที่กําหนดให้เป็นหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนก็เนื่องเพราะวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นวันสําคัญของชาวคาทอลิก จึงต้องเลี่ยงวันที่ 1 พฤศจิกายนออกไปหากวันอังคารแรกเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายนน่ะครับ

ในวันเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วเริ่มเปิดหีบตั้งแต่ 7 โมงเช้าปิดหีบ 2 ทุ่ม และที่สําคัญคือไม่ถือเป็นวันหยุดราชการซะด้วยสิ เพราะเขาถือว่าเขาให้เวลามากพอสมควรแล้ว และมีการเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย วิธีการเลือกตั้งมีหลายวิธีนอกจากการกาบัตร (ระบาย) แล้วยังมีระบบสัมผัสหรือtouch screen (ที่อดีตประธานาธิบดีบุชเผลอไปกดลงคะแนนให้โอบามานั่นแหละครับ) อีกด้วย

นอกเหนือจากให้ลงคะแนนทางไปรษณีย์แล้วที่นิวเจอร์ซีมีการลงคะแนนผ่านทางอีเมล์หรือแฟ็กซ์ได้ด้วย และที่รัฐเท็กซัสก็ได้มีกฎหมายออกมาเมื่อปี 1997 อนุญาตให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งผ่านระบบดิจิตอลกลับมาที่ฐานบินอวกาศฮุสตันได้ ซึ่งในคราวนี้นักบินอวกาศหญิงเชื้อสายอินเดียผู้มีสิทธิ์รายหนึ่งคือ Sunita Williams เลือกที่จะลงคะแนนล่วงหน้าแบบabsentee ballot ก่อนขึ้นสู่อวกาศแทนที่จะเลือกโหวตมาจากอวกาศทั้งที่สามารถทำได้

ส่วนในเรื่องของการนับคะแนนไม่ต้องมีการนับคะแนนด้วยมือแล้ว เพราะมีการประมวลผลผ่านระบบอีเล็กโทรนิก ฉะนั้น จึงจะเห็นได้ว่าเมือปิดหีบเลือกตั้งฝั่งตะวันตกเพียง 12 นาที NBC ก็ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และคนแพ้ก็ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และตามมาด้วยการปราศรัยของผู้ชนะที่ยกย่องผู้แพ้

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งขอให้เพียงแต่มีภูมิลําเนาไม่น้อยกว่า 28 วัน (วิสคอนซิน) และต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ์หากไม่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อน ก็ไปขอลงทะเบียนในวันเลือกตั้งก็ได้ การกาบัตรหากกาผิดให้โอกาสแก้ไขถึง 3 ครั้งเพื่อกาใหม่ ไม่มีโทษสําหรับการฉีกบัตรหรือทําลายบัตร ที่สําคัญก็คือหากเราไม่ชอบคนที่สมัคร เราสามารถเขียนชื่อเพิ่มลงไปในบัตรเลือกตั้งได้อีก ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ในบัตรเลือกตั้งนอกจากจะมีการเลือกประธานาธิบดีแล้วยังมีการเลือกตั้งอื่นอีกแล้วแต่ว่าในเขตนั้นจะมีการเลือกอะไรที่ครบวาระ เช่น ส.ส./ส.ว. หรือในบางรัฐหรือในท้องถิ่นบางแห่ง

ในบัตรเลือกตั้งอาจมีคําถามเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อให้ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้ลงคะแนนว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่ นโยบายที่สภานิติบัญญัติของรัฐหรือคณะกรรมาธิการหรือสภาท้องถิ่นต้องการให้ประชาชนออกเสียงจะเรียกว่าการลงประชามติ (referendum) ส่วนนโยบายที่ประชาชนยื่นคําร้องให้บรรจุไว้ในบัตรเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนจะเรียกว่าการริเริ่มกฎหมาย (initiative) ซึ่งตามปกติแล้วมักจะเป็นเรื่องของการออกพันธบัตรเพื่อขอความเห็นชอบในการกู้เงินมาดําเนินโครงการต่างๆ

ตัวอย่างที่สำคัญในการลงคะแนนในครั้งนี้ก็คือ การรับรองการสมรสในคนเพศเดียวกัน (same-sex marriage) ของรัฐเมนและแมรีแลนด์ การรับรองให้มีและจำหน่ายกัญชาเพื่อความผ่อนคลาย(recreational use)ของรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตัน การยอมให้ผู้ป่วยหนัก (terminally ill patients) จบชีวิตของตนเองของรัฐแมสสาชูเสตต์ตามรอยรัฐโอเรกอนและวอชิงตันซึ่งล่วงหน้าไปก่อนแล้ว เป็นต้น

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เราได้ยินข่าวเฉพาะ Mitt Romney/Paul RyanจากพรรคRepublican และBarack Obama/Joe Biden จากพรรค Democrat แล้วอันที่จริงยังมี Virgil Goode/Jim Clymer จากพรรคConstitution,Gary Johnson/James P.Gray จากพรรคLiberian Party,Gloria La Riva/Filberto Ramirez,Jr.จากพรรคParty for Socialism and Liberation,Jerry White/Phyllis ScherrerจากพรรคSocialist Equality และ Jill Stein/Ben Manski จากพรรคGreen Party ปรากฎอยู่ในบัตรเลือกตั้งให้เลือกด้วย ที่พิเศษสุดก็คือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถเขียนชื่อผู้ที่ตนเองต้องการให้เป็นประธานาธิบดีแลรองประธานาธิบดีเพิ่มได้อีกด้วย หากมีคะแนนมากกว่าคนอื่นก็สามารถได้รับเลือกได้เช่นกันถึงแม้ว่าโอกาสจะเป็นไปได้ยากก็ตาม

การหาเสียงทำได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งวันเลือกตั้ง ขอเพียงอย่าไปหาเสียงในหน่วยเลือกตั้งเท่านั้นเอง ไม่มีการห้ามขายเหล้าขายสุรา ไม่มีการห้ามนํามหรสพมาแสดง ไม่มีการห้ามทําโพล ไม่มีการห้ามขนคนไปเลือกตั้ง ฯลฯ ไม่มี กกต.เพื่อดําเนินการเลือกตั้งให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดําเนินการเลือกตั้งทั้งหมด กกต.กลาง (FEC) มีหน้าที่เพียงดูแลเรืองค่าใช้จ่ายหรือการเงินเท่านั้น ไม่มีการแจกใบแดงใบหลือง หากมีปัญหาให้ศาลตัดสิน

การหาเสียงในครั้งนี้นอกจากการระดมโฆษณาทางโทรทัศน์กันอย่างมโหฬารแล้วยังได้มีการนําอินเตอร์เน็ตมาเป็นเครืองมือในการหาเสียงค่อนข้างมากและได้มีการพิสูจน์แล้วว่าอินเตอร์เน็ตเป็นวิธีการระดมทุนจากผู้สนับสนุน ตลอดจนเป็นวิธีการประชาสัมพันํธ์นโยบายและประสบการณ์ของผู้สมัครที่ได้ผลอย่างดียิ่ง มีการจัดทําเว็บไซต์ส่วนตัวหรือ blog โดยบรรจุคําปราศรัย สุนทรพจน์และกิจกรรมต่างๆของผู้สมัคร ในขณะเดียวกันก็มี blog อิสระมากมายที่เขียนบทความสนับสนุนผู้สมัคร  รับเลือกตั้งที่ตนเองชอบและตอบโต้กับ bloger อื่นๆ ตลอดจนมีการผลิตวิดีทัศน์เพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ต่างๆ เช่น You Tube เป็นต้น

ซึ่งบางครั้งก็ออกไปในแนวขบขัน แต่ในบางครั้งก็อาจมีการเผยแพร่คลิปหลุดของผู้สมัครฝ่ายตรงกันข้ามที่ทําเปิ่นหรือทําไม่ดีอะไรๆเอาไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือคลิปหลุดของรอมนีย์ที่เผลอพูดออกมาเกี่ยวกับการไม่เสียภาษีของประชาชนแต่คอยรับแต่สวัสดิการของรัฐ เป็นต้น

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างแนวเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการของโอบามา กับแนวเศรษฐกิจแบบทุนเต็มรูปแบบของรอมนีย์ที่หนุนหลังโดยนายทุนใหญ่และชาวยิวที่สนับสนุนอิสราเอล และเป็นการแบ่งขั้ว (polarization) อย่างชัดเจนไม่ต่างจากของไทยเรา แต่หลังเลือกตั้งแล้วเขาก็ยอมรับผลการเลือกตั้งแม้ว่าจะไม่พอใจนักก็ตาม แต่ไม่มีการเรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติหรือปิดประเทศแต่อย่างใด รอให้ให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วค่อยว่ากันอีกที


 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุจริตสหกรณ์ฯแม่เปิน ความทุกข์ที่ต้องมีคนรับผิดชอบ

Posted: 14 Nov 2012 04:51 AM PST

"สหกรณ์การเกษตร"นับเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่ใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุด เพราะเป็นทั้งแหล่งเงินทุนและแหล่งเงินฝากที่สมาชิกสหกรณ์ที่จะได้ผลประโยชน์ดีกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรใกล้บ้าน  สหกรณ์ที่ดีก็มีมาก แต่กรณีสหกรณ์การเกษตรแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นตัวอย่างของการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส  มีการทุจริตภายในของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ แต่ผู้เดือดร้อนกลับเป็นสมาชิกสหกรณ์หลายร้อยคนที่บางส่วนขายผลผลิตทางการเกษตรให้สหกรณ์แล้วยังไม่ได้รับเงินหรือได้รับไม่ครบ ขณะที่บางส่วนก็มีเงินฝากอยู่กับสหกรณ์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงไม่แน่ใจว่าจะได้รับเงินของตนเองคืนหรือไม่ เมื่อไหร่ 

กรณีการทุจริตภายในสหกรณ์การเกษตรแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ กลายเป็นข่าวระดับประเทศเมื่อมีเกษตรกรที่เดือดร้อนกว่า 333 คนตัดสินใจพากันเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารงานของสหกรณ์ ที่มีเจ้าหน้าที่สหกรณ์รับซื้อผลผลิตมันของชาวบ้านแต่ผ่านมานานชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับเงินค่าผลผลิต  และมีพฤติกรรม บ่ายเบี่ยง ผัดผ่อน มาตลอดตั้งแต่ปี 2554 จนทนไม่ไหวและเป็นทุกข์มากเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนการเกษตรเมื่อไม่ได้ค่าผลผลิตจึงไม่มีเงินไปชำระหนี้   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้รับเรื่องและมอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงไปตรวจสอบทำความจริงให้ปรากฎ ลงโทษผู้กระทำผิดและช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน ซึ่งมูลค่าความเสียหายเฉพาะค่าพืชผลเกษตรที่ค้างอยู่รวมมากกว่า 44 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาทีมปฎิบัติการจาก ศนธ.ยธ. และ ดีเอสไอ  ได้ลงพื้นที่สอบสวนหาข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบพบว่า สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรแม่เปิน จำนวน 1,209 คน ที่มีเงินฝากอยู่กับสหกรณ์แต่ไม่สามารถที่จะถอนเงินได้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท  สมาชิกอีก 15 ราย นำผลผลิตมันเส้นไปขายให้แก่สหกรณ์ คิดเป็นเงิน ประมาณ 1.041 ล้านบาท สหกรณ์ออกใบรับเงินให้ แต่เมื่อนำใบรับไปขอขึ้นเงินกับสหกรณ์ สหกรณ์ไม่มีเงินจ่ายให้ สมาชิกอีก 291 ราย นำมันเส้นไปขายให้แก่สหกรณ์เป็นเงินประมาณ 4.3 ล้านบาท สหกรณ์นำเงินเข้าบัญชีเป็นเงินฝาก แต่เมื่อสมาชิกไปขอเบิกเงินสหกรณ์ไม่มีเงินจ่ายให้ 

จากการสอบสวนพบด้วยว่า สหกรณ์การเกษตรแม่เปิน มีผลการดำเนินการขาดทุนมาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2554 เป็นเงิน ประมาณ 40 ล้านบาท และเมื่อเดือนพฤษภาคม2554 สมาชิกสหกรณ์ผู้ได้รับความเสียหาย จำนวน 347 ราย ได้แจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรแม่เปิน ขอให้ดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ กับนายคุณยู้ พรมทา ประธานกรรมการสหกรณ์ และนางสาวสุธาสินี แสงศรี ผู้จัดการสหกรณ์ ในฐานะผู้กระทำในนามของสหกรณ์  ค่าเสียหายคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 44,518,947.01 บาท ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณา               ยิ่งไปกว่านั้นการสอบสวนพบด้วยว่า ขณะเป็นผู้จัดการสหกรณ์ นางสาวสุธาสินี  ได้นำมันเส้นที่สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิกไปขาย แล้วโอนเงินที่ขายได้เข้าบัญชี ส่วนตัวของตนใน 2 ธนาคาร เป็นเงินกว่า 59 ล้านบาท              

นายนิธิต ภูริคุปต์ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ด้านปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรม กล่าวว่า ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนเห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการทุจริตภายในสหกรณ์ของเจ้าหน้าที่สหกรณ์เอง ซึ่งการดำเนินการเอาผิดกับผู้ทุจริตทั้งทางแพ่งและทางอาญาเป็นเรื่องที่ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมซึ่งต้องใช้เวลา แต่ปัญหาเฉพาะหน้ายังคงอยู่กับสมาชิกสหกรณ์ผู้เดือดร้อนที่ไม่รู้ว่าจะได้รับเงินคืนเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่และเมื่อไหร่   ในบทบาทของกระทรวงยุติธรรมที่ได้ลงพื้นที่มานั้นไม่ได้มาเพื่อจับผิดใคร แต่มาอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนทั้งทางแพ่งและทางอาญา ในสิ่งที่เขาเดือดร้อนและได้ไปร้องเรียน เราจึงมาประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบรวบรวมหลักฐาน ดำเนินการให้ถูกต้องและเป็นธรรมกับผู้เดือดร้อน เช่น การจัดหาทนายความเพื่อช่วยในการฟ้องร้องต่อสู้คดี โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม

นางบัวผัน เกิดสวัสดิ์ และนางสวรรค์ วงนาค สมาชิกสหกรณ์การเกษตรแม่เปิน  เล่าว่าพวกตนเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯตั้งแต่ปี 2546ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่เริ่มมีปัญหาปี 2552 เมื่อเอามันสำปะหลังไปขายแล้วไม่ได้รับเงินตามกำหนด โดยได้รับแจ้งว่าผลผลิตโดนตีกลับเพราะไม่ได้คุณภาพ ตอนนี้ในกลุ่มของพวกตนซึ่งมีอยู่กว่า 10 คน แต่ละคนมีเงินที่ค้างอยู่กับสหกรณ์รวมทั้งค่าผลผลิต  เงินค่าหุ้น และเงินฝากคนละเกือบ 1 แสนบาท   และตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ก็เริ่มไปขอความช่วยเหลือจากสถานที่ต่างๆ ไปกันมาเป็น10 ๆ ครั้งจนรู้สึกท้อกันหมดแล้ว แต่ที่ยังต้องสู้เพราะอยากได้เงินของเราคืน 

เช่นเดียวกับ นางสมพร แก้วสา บอกว่ามีเงินฝากอยู่ที่สหกรณ์ฯจำนวน 7 แสนกว่าบาทโดยได้ถอนจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มาฝากไว้ที่สหกรณ์เนื่องจากใกล้บ้านและเห็นว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อต้องการถอนเงิน เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่า สหกรณ์ไม่มีเงินจ่ายให้เนื่องจากสหกรณ์ขาดทุน เมื่อไปขอพบผู้จัดการ ก็พลัดผ่อนไปหลายครั้ง บอกว่าเอามันไปขายแล้วยังไม่ได้เงิน เลยไม่มีเงินให้ถอน จนเกิดเรื่องขึ้นก็ไปที่ศาลาว่าการจังหวัดนครสวรรค์เพื่อขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยเพราะพวกตนไม่มีความรู้  รู้สึกเหนื่อยมากๆเลย แต่ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และดีเอสไอลงมาพื้นที่ก็ใจชื้น มีความหวังว่าอยากได้เงินคืนเพราะเป็นเงินที่หามาตลอดชีวิต

นางไพรินทร์ เจริญทวีทรัพย์  หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครสรรค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่สามารถตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์แม่เปินได้ เนื่องจากมีข้อบกพร่องทางการเงินการบัญชี ทำให้ผู้สอบบัญชีไม่สามารถตรวจสอบได้ จนนายทะเบียนสหกรณ์ออกเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการแก้ไข แต่จนถึงตอนนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้

ด้านนายประทวน มายูร ประธานสหกรณ์การเกษตรแม่เปิน จำกัด คนปัจจุบัน เล่าว่า ตั้งแต่ได้รับเลือกให้เป็นประธานสหกรณ์คนใหม่ ก็พบว่า จากการทุจริตที่ผ่านมาทำให้สหกรณ์ไม่มีอะไรเหลือเลย จึงพยายามรวบรวมเงินที่ยังพอมีอยู่ มาทำธุรกิจค้าทำมัน รวมทั้งไปขอให้สมาชิกเอามันสำปะหลังมาขายให้กับสหกรณ์เพื่อหารายได้เข้า เพราะฉะนั้นตอนนี้ สหกรณ์จึงมีธุรกิจ 2 ธุรกิจคือ รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรและธุรกิจค้าน้ำมัน ทำให้มีรายได้เข้ามาบ้าง โดยปีที่แล้วได้กำไรประมาณ 6 แสน 3 หมื่นกว่าบาท ขณะเดียวกันได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาชุมตาบง จัดทำแผนฟื้นฟูการบริหารจัดการสหกรณ์การเกษตรแม่เปินเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ต่อไป ซี่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจาก ผู้บริหาร ธกส.สำนักงานใหญ่

"พยายามทำเต็มที่เพื่อให้พี่น้องมั่นใจว่าถ้าสมาชิกมีมันสำปะหลังมาขายที่สหกรณ์จะได้เงินแน่นอน ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ใช้เงินที่มีอยู่ซื้อมันสำปะหลังเป็นเงินสดเพื่อให้เกษตรกรเชื่อมั่น  เพราะฉะนั้นสหกรณ์ฯจะอยู่ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมาชิกสหกรณ์ฯของเราจะช่วยกันหรือเปล่า เพราะกำไรจากการรับซื้อผลผลิตสหกรณ์ก็จะนำกลับมาบริหารจัดการให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในสหกรณ์ต่อไป และตนขอสัญญาว่าจะมีความซื่อสัตย์ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้สหกรณ์อยู่ต่อไปได้"

นางอุมาพร แพรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนช่วยอำนวยการและประชาสัมพันธ์ ในฐานะคณะทำงานของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าวว่า อยากให้สหกรณ์ฯยังคงอยู่ กับพี่น้องประชาชน และอยากให้เกษตรกรที่เคยเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรแม่เปินติดตามการบริหารจัดการของสหกรณ์ หากเห็นว่าสหกรณ์สามารถดำเนินการได้ตามปกติแล้ว อยากให้เกษตรกรนำผลผลิตมาขายให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อให้สหกรณ์ฯได้มีรายได้มาบริหารจัดการให้สหกรณ์ฯคงอยู่ต่อไปโดยหลักการสหกรณ์แล้วคือการร่วมกันเป็นเจ้าของ มีความเสมอภาค มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน ผลกำไรนำมาแบ่งปันให้กับสมาชิก ดังนั้นขอให้ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ โดยหลังจากนี้ถ้ามีข้อสังเกตที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์สมาชิกสหกรณ์ต้องท้วงติงทันที สมาชิกสหกรณ์ทุกท่านต้องเรียนรู้สิทธิของตนเองในการตรวจสอบ ท่านคือผู้ถือหุ้นของสหกรณ์มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นคนละ 1 เสียงเท่ากัน ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้คณะกรรมการสหกรณ์มีอำนาจตัดสินใจเพียงอย่างเดียวอย่างเช่นสหกรณ์แม่เปิน  ในส่วนของศูนย์ฯ เราจะช่วยอย่างเต็มที่โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งได้คืบหน้าไปมาก ศูนย์ฯได้มีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนี้หน่วยงานราชการไม่ได้ละเลยมีการประสานงานระหว่างกันเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ  แต่อาจต้องใช้เวลาในการรวบรวมและสืบหาข้อเท็จจริง และที่สำคัญคือ ความร่วมมือจากสมาชิกสหกรณ์ฯทุกท่าน"

ทุกฝ่ายย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า สหกรณ์การเกษตรแม่เปิน จำกัด ต้องยังอยู่ต่อไป เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจหารายได้ต่อไป หากสหกรณ์ล้ม คนที่เสียประโยชน์คือชาวบ้านในพื้นที่เพราะสหกรณ์นั้นถือเป็นธุรกิจของคนในชุมชน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียนให้สมาชิกสหกรณ์เข้ามาตรวจสอบและใช้สิทธิที่มีกันอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้สหกรณ์การเกษตรยังคงเป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พยาบาลวิชาชีพ 'ลูกจ้างชั่วคราว'ทวงสัญญาบรรจุเป็น 'ข้าราชการ' - คนทำงาน ตุลาคม 2555

Posted: 14 Nov 2012 01:35 AM PST


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

นักกิจกรรมรากหญ้าจัดกิจกรรมคู่ขนานกับประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พนมเปญ

Posted: 13 Nov 2012 03:46 PM PST

เครือข่ายรากหญ้าและนักกิจกรรมในกัมพูชาและจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้รวมตัวกันที่พนมเปญในสัปดาห์นี้ภายใต้เวทีที่ชื่อ "สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน" เพื่อเสวนาและหารือกันในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เสรีภาพ การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตาม จนท.รัฐได้สั่งตัดไฟบริเวณสถานที่ใช้เปิดงานวันแรก

พนมเปญ - เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักกิจกรรมและสมาชิกเครือข่ายรากหญ้าในกัมพูชาและจากประเทศในอาเซียนนับพันคน ได้รวมตัวกันที่พนมเปญในสัปดาห์นี้ภายใต้เวทีที่ชื่อ "สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน" เพื่อเสวนาและหารือกันในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เสรีภาพในด้านต่างๆ การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน

ทั้งนี้กิจกรรม "สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน" หรือ "(ASEAN Grassroots People's Assembly - AGPA)" จัดโดยเครือข่าย "Cambodia Cross-Sector Network" โดยจะจัดกิจกรรมเป็นเวลา 4 วัน เริ่มตั้งแต่วันอังคารนี้ พร้อมกับที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) หรืออาเซียน และกิจกรรมของสมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวโดยประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามพิธีเปิดของ "สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน" ที่มีผู้เข้าร่วมราวหนึ่งพันคน ซึ่งจัดบริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงพนมเปญวันนี้ ถูกขัดขวางจัดงานโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อไม่ให้สามารถใช้เครื่องเสียงบริเวณสถานที่จัดงานได้ อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมยังคงดำเนินพิธีเปิดงาน อ่านแถลงการณ์ และจัดกิจกรรมภาคการแสดงและวัฒนธรรมต่อไปแบบไม่ใช้เครื่องขยายเสียง โดยพิธีเปิดสิ้นสุดลงในช่วงค่ำและไม่มีการเข้ามาจับกุมหรือสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ไล พิไซ จากกลุ่ม "เคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อความเปลี่ยนแปลง" (Social Action for Change) และคณะกรรมการผู้จัดงานหลักของ AGPA กล่าวกับผู้สื่อข่าวพนมเปญโพสต์ ระหว่างแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า "สิ่งนี้นับเป็นโอกาสและพื้นที่สำหรับพวกเรา ในการส่งเสียงรวมถึงแบ่งปันความสมานฉันท์กับประชาชนจากประเทศในอาเซียนต่างๆ"

ทั้งนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมจะมาแลกเปลี่ยนประเด็นและหาทางออกให้กับปัญหาที่ประเทศในภูมิภาคกำลังเผชิญ โดยพนมเปญโพสต์ ซึ่งรายงานโดยอ้างจากใบการแถลงข่าวของ AGPA ระบุว่า ประเด็นที่กัมพูชาและประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญก็คือ สภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ การได้รับค่าจ้างในอัตราต่ำ ทั้งการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจทางการและไม่เป็นทางการ และการว่างงานของเยาวชน

เชีย โสพฤกษ์ สมาชิกในคณะกรรมการบริหารของเครือข่ายชาวนาและธรรมชาติ กล่าวกับพนมเปญโพสต์ว่า ผู้เข้าร่วมสมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน จะร่วมกันหารือเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีและการลงทุน และหารือว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบในภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารได้อย่างไร

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะมีการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันได้แก่ แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันในช่วงที่พนมเปญจะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และมีการเยือนของประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐอเมริกาในช่วงสัปดาห์นี้นั้น จะมีการจัดสัมมนาโดยองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มประชาสังคมจากกัมพูชาและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหลายเวที รวมทั้งการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/เวทีอาเซียนภาคประชาชน (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples' Forum 2012) ซึ่งจะเริ่มพิธีเปิดในวันนี้ (14 พ.ย.) ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น