โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สหรัฐสั่งห้ามซื้อสินค้าไทย/ส่งออกหายกว่าแสนล้านเหตุใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ

Posted: 02 Nov 2012 10:06 AM PDT

สหรัฐสั่งห้ามหน่วยงานราชการซื้อ กุ้ง เสื้อผ้า น้ำตาล สื่อลามก และปลาจากไทย คาดอาจเกิดจากการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ

โพสต์ ทูเดย์ รายงานว่า นาย ปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศห้ามหน่วยงานราชการทั้งหมด สั่งซื้อสินค้าจากไทย 5 ประเภท คือ กุ้ง เสื้อผ้า น้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย สื่อลามก และปลา เป็นสินค้าประเภทล่าสุดที่มีการประกาศเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐอเมริกากว่า 70,000 ล้านบาท และปลา 30,000 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากเห็นว่าเป็นสินค้าที่อาจเกิดจากการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ

กรม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก โดยจะสำรวจความต้องการของแรงงานต่างด้าวที่ต้องการส่งลูกกลับประเทศต้นทาง ทั้งในกลุ่มที่เข้ามาทำงานในไทยทั้งถูกกฎหมายและแรงงานผิดกฎหมาย หากได้จำนวนที่ชัดเจนและแรงงานต่างด้าวยินยอมจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องและประเทศต้นทางเพื่อส่งลูกของแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ส่วนลูกแรงงานต่างด้าวที่ยังอยู่ในประเทศไทยจะส่งไปอยู่ในศูนย์เลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม เพื่อป้องกันลูกของแรงงานต่างด้าวเข้าไปอยู่ในสถานประกอบการทำให้ถูกมองว่า เป็นการใช้แรงงานเด็ก
         
"ได้สั่งการให้สำนักงานสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานจังหวัด ดูแลเรื่องการใช้แรงงานเด็กและการหักเงินค่าจ้างลูกจ้างที่เป็นแรงงาน ต่างด้าวเพื่อเป็นค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิวที่เข้ามาทำงานในไทย โดยนายจ้างที่กระทำผิดจะมีโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป" นายปกรณ์ กล่าว

 

ที่มา: โพสต์ ทูเดย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

Posted: 02 Nov 2012 09:52 AM PDT

"..เพียงแต่ประชาชนในวันนี้ ได้เปลี่ยนจาก "มุตตา" เป็น "มุนินทร์" เสียแล้ว สิ่งที่ชนชั้นนำจะต้องเผชิญ คือ การไม่ยอมรับและตอบโต้อย่างเต็มที่จากประชาชน และในที่สุดชนชั้นปกครองจารีตก็จะต้องพ่ายแพ้ด้วยกาลเวลา และพ่ายแพ้ด้วยแรงเงาของประชาชนนั่นเอง"

จาก โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่๓๘๔ วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

เมื่อสื่อเก่าปะทะกับสื่อใหม่ในยุคดิจิตอล

Posted: 02 Nov 2012 09:32 AM PDT

สหัสวรรษใหม่มาถึงพร้อมกับยุคของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลก อันเป็นผลพวงของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลนำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ นวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งของอุปกรณ์ดิจิตอลและการครอบงำของสื่อใหม่ที่ขยายตัวขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์กลายเป็นสื่อเก่าหรือที่เรียกว่าสื่ออนาล็อกโดยปริยาย นักวิชาการจำนวนมากถึงกับตั้งข้อสังเกตว่าความสามารถในการตอบสนองต่อวิถีชีวิตยุคใหม่ได้อย่างฉับไวและครบวงจรของสื่อดิจิตอลจะมาแทนที่ความสำคัญและยุติบทบาทของสื่อเก่าที่จะค่อยๆตายจากไปในอนาคตอันใกล้

หากจะวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยอาศัยแนวคิดทฤษฎีเทคโนโลยีสื่อสารเป็นตัวกำหนด (Technological Determinism) อิทธิพลที่ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงของระบบดิจิตอลอาจเป็นเสมือนภัยคุกคามต่อสื่อเก่าที่มาพร้อมกับสื่อใหม่ แต่ถ้ามองให้ลึกถึงบทบาทของสื่อในเชิงประวัติศาสตร์และสังคมแล้ว รูปแบบและการพัฒนาของสื่อใหม่นั้นล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานการทำงานของสื่อเก่าทั้งสิ้น ยิ่งเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการไปไกลเท่าไหร่ ความเชื่อมโยงกับที่มาหรือต้นตอของแนวคิดที่มีมาก่อนก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

สื่อดิจิตอลที่ได้รับความนิยมยุคใหม่ล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบสร้างสรรค์และปรับปรุงจากบทบาทการทำงานของสื่อเก่า ยกตัวอย่างเช่น Kindle หนังสือดิจิตอลที่ถูกพัฒนามาจากหนังสือแบบเล่ม ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้อ่านสามารถเก็บหนังสือหลายร้อยเล่มไว้ในเครื่องมือเดียวโดยไม่มีความจำเป็นต้องวุ่นวายกับการแบกหนังสือทีละหลายๆเล่มอีกต่อไป

วิทยุดิจิตอลที่พัฒนามาจากวิทยุสื่อสารแบบเก่าก็ยังคงทำหน้าที่เดิม ถ้าไม่นับความแตกต่างของขนาดเมื่อเทียบ iPod กับวิทยุบูมบ็อกซ์แบบเด็กแร็พยุค 80 รวมไปถึงอีเมลที่พัฒนามาจากการสื่อสารทางจดหมายที่กลายเป็นเรื่องตกยุคไปแล้วหลังความสะดวกรวดเร็วทันใจของการส่งอีเมลเข้ามาแทนที่

ข้อจำกัดของสื่อเก่าอย่างหนังสือ วิทยุและจดหมายได้ถูกปรับปรุงผ่านการยกระดับประสิทธิภาพทางเทคโนโลยีของสื่อใหม่ โดยอาศัยกลไกการทำงานทางสังคมแบบเดียวกับสื่อเก่า นอกจากการขยายศักยภาพสื่อใหม่บนฐานของสื่อเก่าแล้ว การควบรวมสื่อก็เป็นอีกแนวทางการพัฒนาทางเทคโนโลยีทีี่อาศัยการรวมสื่อมากกว่าสองประเภทไว้ในแพลตฟอร์มเดียว smartphone อย่าง iPhone เป็นการรวมโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต MP3 และกล้องเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับ BlackBerry ที่เป็นการรวมโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตกล้อง และโปรแกรมส่งข้อความแบบเรียลไทม์ไว้ในเครื่องมือเดียวกัน การรวมสื่อหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกันในแพลตฟอร์มเดียวเอื้อให้คนรุ่นใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือมากกว่าที่เคยใช้ในอดีต เพราะเพียงแค่มี BlackBerry หรือ iPhone ก็สามารถพูดคุยกับผู้อื่นด้วยบริการส่งข้อความด่วนออนไลน์โดยไม่ต้องเปลืองค่าโทรศัพท์

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีของสื่อใหม่ที่รุดหน้าไปมากเหล่านี้เป็นการปรับปรุงและพัฒนาที่สืบเนื่องมาจากคุณลักษณะร่วมกับต้นแบบเก่า มากกว่าที่จะเป็นการปฏิวัติเชิงนวัตกรรมอย่างถอนรากถอนโคน การรังสรรค์สื่อใหม่โดยตั้งอยู่บนฐานการใช้งานของสื่อรูปแบบเก่าเป็นการตอกย้ำคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสื่อเก่า เพราะอิทธิพลของสื่อเก่าที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านของสังคมและวัฒนธรรมก็เป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาไปสู่สื่อใหม่ที่ตอบรับความเป็นไปของสังคมยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ สื่อใหม่และสื่อเก่าจึงไม่ได้แตกตัวออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้สื่อรูปแบบเก่าจะถูกมองว่าล้าสมัยหรือลดความสำคัญลงไปเมื่อสื่อใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่โครงสร้างพื้นฐานของมันก็ยังคงความสำคัญในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากสื่อดิจิตอลในปัจจุบันต่างก็ทำหน้าที่สืบเนื่องจากสื่ออนาล็อกที่ถูกคิดค้นมาก่อน เช่นเดียวกับสถานะของสื่ออนาล็อกแต่ละชนิดเหล่านั้นเมื่อถูกนำเสนอสู่สาธารณชนครั้งแรก

ประสิทธิภาพที่ครอบคลุมกว้างไกลกว่าของสื่อใหม่ อันเป็นผลพวงของการปรับปรุงและเติมเต็มขีดความสามารถในการใช้งานของสื่อเก่า ย่อมลดบทบาทความสำคัญเชิงเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมของสื่อเก่าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สื่อใหม่ก็ไม่ได้นำมาซึ่งการสิ้นสุดของคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาของสื่อเก่า สื่ออนาล็อกจะยังคงมีนัยสำคัญต่อวิวัฒนาการและกลไกการทำงานทางสังคมของสื่อดิจิตอล เทียบเท่ากับที่สื่อดิจิตอลในปัจจุบันจะมีต่อความรุดหน้าเชิงเทคโนโลยีของสื่อในอนาคต



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท : ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลง

Posted: 02 Nov 2012 08:44 AM PDT

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นับเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญ เนื่องเพราะในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่มีความเป็นธรรม เหมาะสมกับค่าครองชีพที่นับวันสูงขึ้นได้อย่างแท้จริง 

คณะกรรมการค่าจ้างกลางหรือบอร์ดค่าจ้าง ได้เคยสำรวจ แรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลรายรอบพบว่า   ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่พอต่อรายจ่ายตามอัตภาพ วันละ 6.8-11 บาท และไม่พอต่อรายจ่ายตามคุณภาพชีวิต วันละ 24-25 บาท ขณะที่โดยภาพรวมรายภาคนั้นแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายสูงที่สุด คือมีรายได้ไม่พอต่อรายจ่ายตามอัตภาพ วันละ 32.67 บาท และไม่พอต่อรายจ่ายตามคุณภาพชีวิต วันละ 48.81 บาท

การสำรวจผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศกว่า 23,194 คน ช่วง 1 เม.ย. - 31 พ.ค. 2554 เฉลี่ยค่าใช้จ่ายรายเดือนของแต่ละคนนั้น ค่าอาหารอยู่ที่ 2,015 บาท, ค่าที่พัก 1,400 บาท, ค่าพาหนะ 649 บาท, ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 819 บาท ซึ่งว่ากันเฉพาะค่าใช้จ่ายหลักเหล่านี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด-สันทนาการ รวมแล้วก็เดือนละ 4,883 บาท

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผอ.ศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า..  การสำรวจอัตราค่าครองชีพกับค่าใช้จ่ายของแรงงานในแต่ละครั้ง ผลออกมาก็ 'ไม่เคยพอกิน" ยิ่งถ้ามีหนี้สิน กู้เงินนอกระบบมาใช้ ยิ่งมีปัญหา แรงงานต้องทำโอที-ทำงานล่วงเวลา

"ต้องทำโอทีอย่างน้อยวันละ 2-4 ชั่วโมง เพื่อให้ได้เงินเพิ่ม การไม่พอกินทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัวตามมา คือไม่มีเวลากลับบ้านไปหาพ่อ-แม่ ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ลูกเมีย หรือไม่มีเวลาไปเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะ ศักยภาพ เพื่อให้ได้ขึ้นค่าแรง ก็เลยต้องทำงานแบบย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้ไปไหนไกล"

ดังนั้น กรณี 'ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท" ที่กำลังเป็นประเด็น ถึงขึ้นได้จริง ๆ "ก็ยังคง ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตอยู่ดี ซึ่งแต่ละวันลูกจ้างต้องจ่ายค่ารถไปทำงาน บางคนไป-กลับวันละหลายต่อ ไหนจะค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าสังคมต่าง ๆ บางคนมีลูกมีเมียต้องดูแล ยังไงก็ไม่มีทางพอแน่นอน"

ชีวิตที่เป็นจริงของผู้ใช้แรงงานมักต้องทำงานมากกว่าวันละแปดชั่วโมง ต้องทำโอที ต้องทำฮอลลิเดย์ ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาพักผ่อน จึงไม่ได้นั่งสมาธิ จึงไม่ได้สนทนาธรรมกันที่โรงแรมหรู แต่ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีเงินพอที่ตนเองและครอบครัวมีชีวิตอยู่รอด

อย่างไรก็ตาม  นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นี้เมื่อปีที่แล้ว  รัฐบาลได้มีการนำร่องค่าจ้างขั่นต่ำ 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร  สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม  นนทบุรี สมุทรปราการ และ ภูเก็ต   ก็ได้ถูกคัดค้าน จาก กลุ่มนายทุนสามานต์สายอำมาตย์  ผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา  ไม่ว่าในนามของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย   หรือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

แต่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์  ก็ยังยืนยันจุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง โดย  นายเผดิมชัย   สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน     แถลงยืนยันแน่ชัดว่า  ปี 2556    ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททุกจังหวัดทั่วประเทศตามที่ให้สัญญากับผู้ใช้แรงงานอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรต้องการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้แล้ว  เมื่อวันที่ 31 ต.ค.55ที่ผ่านมา  ได้มีการจัดงาน "วันนิคม จันทรวิทุร" ครั้งที่ 10 มีการปาฐกถานำในหัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน" โดย ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต

ดร.อนุสรณ์  ได้กล่าวถึง นโยบายด้านแรงงาน จะเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะช่วยดูแลให้ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจมีปัญหาน้อยลง อย่างนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่จะให้เกิดขึ้นต้นปีหน้าทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้า แม้จะมีเสียงคัดค้านจากธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยว่า จะทำให้เกิดปัญหาปิดกิจการหรือปัญหาเลิกจ้าง ขอให้ท่านนึกถึงตอนที่เราเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายประกันสังคม หรือประกันการว่างงาน ก็มีคนไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราคิดให้ดีแล้ว มันเป็นสิ่งที่จะต้องทำ

แน่นอนว่านโยบายหรือมาตรการใดๆ ก็ตาม มันย่อมมีผลกระทบทั้งด้านบวกด้านลบ และมีผลกระทบต่อผู้คนในแต่ละส่วนแตกต่างกัน

" กรณีของค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เราอาจจะเห็นว่ามีผลกระทบต่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่อยู่ในจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่เดินหน้านโยบายนี้ ถ้าเราต้องการให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้และความมั่งคั่งมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ รัฐจะต้องมีมาตรการในการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม"

หากเราไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในบางกิจการหรือบางอุตสาหกรรมก็อาจเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานได้ เพราะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างมาก ทั้งด้านการผลิต การบริโภค และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนี้ ก็เกิดประโยชน์ต่อการบริโภคและการผลิต การผลิตก็สามารถสร้างเครือข่ายที่ไร้พรมแดนมากขึ้น การบริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้น สินค้าถูกลง คุณภาพดีขึ้น เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก

ประเด็นทางด้านการผลิต ที่เราสามารถสร้างเครือข่ายแบบไร้พรมแดนมากขึ้น ก็เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับด้านแรงงานหรือการจ้างงาน เพราะผู้ประกอบการ นักธุรกิจอุตสาหกรรมก็อาจจะย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อบริหารต้นทุน

กระนั้นก็ตาม   นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300  บาทในปีหน้า (ปี2556 ) ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวคัดค้านจาก   องค์กรของกลุ่มทุนสามานต์สายอำมาตย์ เช่นเดิมเหมือนเดิม    เนื่องเพราะพวกเขายังคิดหากำไรจากการลงทุน โดยการกำหนดต้นทุนให้ค่าจ้างแรงงานราคาถูกมากที่สุด   มากกว่าการพัฒนาพลังการผลิต ประสิทธิภาพด้านอื่นๆให้ก้าวหน้าแบบทุนนิยมสมัยใหม่  

และพวกเขาหาได้ให้ความสำคัญถึงผู้ใช้แรงงาน ผู้มีส่วนทำให้พวกเขาได้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตในกิจการของพวกเขาแต่อย่างใด  เนื่องเพราะพวกเขาเคยชินกับการเป็นทุนอำมาตย์สามานต์ที่ขูดรีดแรงานอย่างที่เห็นและเป็นอยู่  มองแรงงานเสมือนทาสของพวกเขาเท่านั้นเอง

องค์กรแรงงานไม่ว่าในรูปแบบสหภาพแรงงาน สมาคม  สภาแรงงานต่างๆ  ก็ยังเงียบเฉยไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่แสดงบทบาทพลังเพื่อสนับสนุนนโยบายนี้ทั้งๆเอื้ออประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน อย่างที่ควรจะเป็น ?

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: แรงเงาของประชาชนไทย

Posted: 02 Nov 2012 08:11 AM PDT

ผมเป็นคนชอบงานเขียนของนันทนา วีระชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนันทนาได้รับอิทธิพลจากสตรีนิยมหลัง ๑๔ ตุลามาไม่น้อย ในนวนิยายของนันทนาหลายเรื่องจะเน้นบทบาทความเด่นของตัวละครสตรี ที่มีความกล้าต่อสู้และท้าทายสังคม โดยเฉพาะการตอบโต้กับผู้ชายชั่วที่เอาเปรียบผู้หญิง และในบรรดางานเขียนหลายเรื่องของเธอ แรงเงาถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง

เรื่องย่อของแรงเงา เล่าถึงมุตตา ซึ่งเป็นข้าราชการหญิงที่เรียบร้อยและอ่อนต่อโลก จึงตกเป็นภรรยาลับของเจนภพ ซึ่งเป็นชายเจ้าชู้และผู้บังคับบัญชาในที่ทำงาน ต่อมา มุตตาได้ถูกภรรยาของเจนภพชื่อ นพนภา ตามมาตบตีต่อหน้าคนจำนวนมาก และถูกซ้ำเติมโดยเพื่อนข้าราชการ ทำให้เธอต้องอับอายจนต้องหนีกลับบ้านต่างจังหวัด และพบว่าตนเองท้อง ในที่สุด ก็ฆ่าตัวตายหนีปัญหา แต่มุนินทร์พี่สาวฝาแฝด ที่เป็นคนเข้มแข็งไม่ยอมใคร ไม่สามารถจะยอมรับเรื่องความตายของน้องสาวได้ จึงปลอมตัวเป็นมุตตากลับมาแก้แค้น และในที่สุด ก็สามารถที่จะเอาชนะ ทำให้นพนภาและเจนภพได้รับกรรมตามที่ตนเองก่อไว้ และครอบครัวของนพนภาก็ประประสบความแตกแยก ส่วนมุนินทร์ก็ได้แต่งงานกับวีกิจ หลานของเจนภพ ที่เข้าช่วยเหลือมุตตาตลอดมา

หลังจากเรื่องแรงเงาเผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ.2529 ได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ 4 ครั้ง และขณะนี้ ละครเรื่องนี้ก็ยังออกอากาศอยู่ทางช่อง 3 กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงมาก แม้ว่า ผู้สร้างละครครั้งนี้ จะเน้นฉากตบกันระหว่างผู้หญิงมากไปหน่อย แต่ถ้าดูจากเนื้อหาต้องถือว่า เป็นเรื่องที่ให้บทเรียนแก่สังคมพอสมควร

แต่ที่น่าสนใจคือโครงเรื่องของเรื่องแรงเงา เข้ากันได้กับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ ประชาชนไทยก็ไม่ต่างอะไรกับมุตตา คือไม่เคยมีปากเสียง ยอมจำนนต่อชนชั้นปกครอง และปล่อยชะตากรรมของประเทศไว้ในมือชนชั้นนำจำนวนน้อย ไม่ว่าจะใช้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตยเต็มใบ เผด็จการทหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่เคยบ่น จะรัฐประหารหรือเอาใครมาเป็นรัฐบาลก็ยอมรับโดยดุษณีภาพ แต่ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมานี้ ขบวนการประชาชนไทยกลายร่างเป็นมุนินทร์ ลุกขึ้นตอบโต้กับชนชั้นนำอำมาตย์อย่างไม่หวาดหวั่น ไม่ยอมให้ชนชั้นปกครองกำหนดชะตากรรมของประเทศเช่นเดิมอีก จึงสร้างความยากลำบากอย่างมากแก่ชนชั้นนำอำมาตยาธิปไตย

ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะ 7 ปีที่ผ่านมานี้จึงอยู่ที่ว่า ประชาชนคนส่วนใหญ่ต้องการการเมืองแบบประชาธิปไตย ให้รัฐบาลที่บริหารประเทศมาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากของประชาชน แต่กลุ่มชนชั้นจารีตประเพณี ต้องการสร้างการเมืองที่พวกเขาควบคุมได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย ขอเพียงให้มีคนดีมาบริหารบ้านเมือง และจะมาด้วยวิธีไหนก็ได้ จากการรัฐประหาร การแต่งตั้ง การกำหนดโดยศาล หรือ โดยผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และได้มีการสร้างวาทกรรมตลอดเวลาว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นคนชั่ว จึงกลายเป็นว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกอำนาจของคนชั่ว คนดีต้องขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีพิเศษ แต่ปัญหาเริ่มต้นตั้งแต่การนิยามคำว่า"คนดี"แล้ว เพราะคนดีในสังคมไทยล้วนแต่เป็นพวกที่ตรวจสอบไม่ได้ ต้องใช้ความเชื่อถือไปรับรองความเป็นคนดีทั้งสิ้น

ทัศนะในลักษณะที่ยกย่องคนดี ไม่เอาประชาธิปไตยนี้ เห็นได้ชัดในการชุมนุมทางการเมืองที่สนามม้านางเลิ้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ โดยการชุมนุมจัดโดยองค์กรพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย ที่มี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นายทหารนอกราชการเป็นผู้ประสานงาน โดยให้ชื่อการชุมนุมว่า "หยุดวิกฤตและหายนะของชาติ" พล.อ.บุญเลิศแถลงว่า รัฐบาลชุดนี้สร้างความเสียหายมากกว่ารัฐบาลชุดใด โดยเฉพาะการปล่อยให้มีการจาบจ้วงหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตมหาศาล และเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ที่น่าสังเกตคือ พล.อ.บุญเลิศไม่ได้แสดงหลักฐานความล้มเหลวในการบริหารบ้านเมืองที่มีน้ำหนักแต่อย่างใด ส่วนข้อโจมตีรัฐบาลว่า ปล่อยให้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เป็นเพียงการอิงเจ้าเอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาใส่ร้ายศัตรูทางการเมือง ที่ปราศจากเหตุผล เพราะในระยะที่บริหารประเทศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ถวายพระเกียรติเสมอมา เพียงแต่ยังไม่ไต้ใช้นโยบายล่าแม่มด จับผู้บริสุทธิ์เข้าคุกแบบรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเท่านั้น

ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ ได้มีหลายคนมาเข้าร่วมปราศรัย เช่น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, ดร.ต่อตระกูล ยมนาค นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ ดร.เสรี วงศ์มณฑา และนายประสิทธิ์ ไชยทองพันธ์ เป็นต้น แต่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังสงวนท่าที ไม่ได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้อิงแอบกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือการสนับสนุนคนดีให้เข้ามาทำงานแทนคนไม่ดี จึงอยากเสนอให้ประชาชนรวมตัวกันตั้งกรรมการขึ้นมาช่วยกันคิดและปรึกษาหารือเฟ้นหาคนดีเสนอให้กับกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม และสร้างเครือข่าย เพื่อหาคนดีมาทำงานแทนคนไม่ดี และให้ประชาชนไปทำป้ายไปติดที่หน้าทำเนียบกับรัฐสภาว่าที่นี่เป็นเขตอำนาจของประชาชนนักการเมืองทุรชนห้ามเข้าด้วย ซึ่งการอธิบายของ น.ต.ประสงค์ยังคงซ้ำซากในเรื่องการปกครองโดยคนดี ที่ไม่ต้องมาจากประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง

แนวคิดลักษณะนี้ตอกย้ำโดยคำอธิบายของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ว่า ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมา 15 ล้านเสียงนั้น "ไม่รู้เปลี่ยนหีบมาหรือเปล่า" และถ้าสามารถไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้สำเร็จ ก็จะให้มีการตั้งคณะบุคคลขึ้นมาดูแลการบริหารบ้านเมือง ซึ่งอาจจะให้มีการหยุดเล่นสักพัก แช่แข็งประเทศไทย ตัดบทบาทนักการเมืองอาจถึง 5 ปี แล้วค่อยให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ เพราะถ้าปีเดียวแบบ พ.ศ.2549 เดี๋ยวพวกนักการเมืองก็กลับมาใหม่ แล้วจะไม่ได้ผล พล.อ.บุญเลิศอ้างว่า การดำเนินการเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิวัติของประชาชน คณะบุคคลที่บริหารประเทศในภาวะพิเศษนี้ ต้องทำภารกิจ 4 ประการให้สำเร็จ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มการศึกษา เพิ่มความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาลงโทษตามกฎหมาย

ข้อเสนอของ พล.อ.บุญเลิศเป็นการสะท้อนความฝันกลางวันอันไม่เป็นประชาธิปไตย โดยคิดว่าประชาชนส่วนข้างมากนั้น จะยอมให้มีคนกลางจากฝากฟ้า มาบริหารประเทศชั่วคราวเสีย 5 ปี เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญตามใจชอบของชนชั้นนำ และลงโทษคนไม่มีความผิดเช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เพียงแต่ประชาชนในวันนี้ ได้เปลี่ยนจาก"มุตตา"เป็น"มุนินทร์"เสียแล้ว สิ่งที่ชนชั้นนำจะต้องเผชิญ คือ การไม่ยอมรับและตอบโต้อย่างเต็มที่จากประชาชน และในที่สุดชนชั้นปกครองจารีตก็จะต้องพ่ายแพ้ด้วยกาลเวลา และพ่ายแพ้ด้วยแรงเงาของประชาชนนั่นเอง

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่384 วันที่3 พฤศจิกายน 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวกัมพูชาร้องOECD กรณี บ.มะกัน รับซื้อน้ำตาลจาก บ.ไทย บนการละเมิดสิทธิที่ดิน

Posted: 02 Nov 2012 07:53 AM PDT

บริษัทน้ำตาลไทยร่วมหุ้นทุนไต้หวันละเมิดสิทธิที่ทำกินชาวบ้านกัมพูชากว่า450ครอบครัวไร้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพื่อผลิตน้ำตาลทรายส่งขายสหรัฐ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา กรณีข้อเรียกร้องโดยชาวบ้าน 207 ครอบครัวแห่งอำเภอสเรอัมเบิล จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ถูกละเมิดและไล่ออกจากที่ดินทำกิน เพื่อเปลี่ยนเป็นไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ถูกยื่นต่อตัวแทนองค์การของรัฐบาลอเมริกันเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ*OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) เนื่องจากบริษัทน้ำตาลฟอกขาวอเมริกัน (American Sugar Refining Company) แห่ง รัฐนิวยอร์ค ผูกขาดการรับซื้อน้ำตาลซึ่งผลิตบนที่ดินพิพาทโดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ร่วมกับนักการเมืองมากอิทธิพลของกัมพูชา ก่อให้เกิดปัญหายืดเยื้อ นับตั้งแต่ ปี 2549

เมื่อบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) บริษัทวีวอง สัญชาติไต้หวัน และสมาชิกวุฒิสภากัมพูชา ลี ยง พัด ได้ตั้งสองบริษัทสัญชาติกัมพูชาขึ้นมารับสัมปทานที่ดินเพื่อทำไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล จนทำให้ชาวบ้านในตำบลชุก (Chhouk) ชิกอร์ (Chikhor) และตราเพ็ง กันดาล (Trapeng Kendal) อำเภอสเรอัมเบิล จังหวัดเกาะกง กว่า 450 ครอบครัวกลายเป็นผู้ไร้ที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินโดยทันที โดยปราศจากคำบอกกล่าวและค่าชดเชยที่เหมาะสม และปัจจุบันต้องประสบกับปัญหาความยากจนและขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ทั้งนี้ กรณีการยึดครองที่ดินดังกล่าว ขัดต่อกฎหมายกัมพูชา ทั้งในประเด็นการปรึกษาหารือกับชุมชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงขนาดของที่ดินสัมปทานที่อนุญาตอีกด้วยโดยยังไร้ทางแก้ไข

บริษัทน้ำตาลฟอกขาวอเมริกัน หรือที่รู้จักกันดีในนาม "โดมิโน่" เป็นคู่สัญญาแต่เพียงผู้เดียวในการรับซื้อน้ำตาลที่ผลิตจากจังหวัดเกาะกง บริษัทฟอกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกนี้เป็นเจ้าของโดยตระกูลแฟนจูลส์ ครอบครัวคิวบาอพยพที่เคยถูกยึดที่ดินในช่วงการปฏิวัติคิวบา ที่แม้จะแสดงความเห็นอกเห็นใจเล็กน้อยต่อเกษตรกรชาวกัมพูชาผู้สูญเสียทั้งที่ดินและวิถีชีวิตเพื่อการผลิตน้ำตาลให้ตน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้เคยตอบรับต่อความพยายามหลายต่อหลายครั้งของชาวบ้านในการหาทางออกต่อกรณีดังกล่าว ในฐานะบริษัทผู้มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานน้ำตาลแต่อย่างใด

ข้อร้องเรียนต่อOECDดังกล่าว ถูกยื่นผ่านหน่วยงานที่เป็นตัวแทนประสานงานของโออีซีดี ในรัฐบาลอเมริกันที่ทำหน้าที่รับเรื่องพิพาทเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าว เป็นหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบของบรรษัทข้ามชาติในการประกอบธุรกิจซึ่งสหรัฐอเมริกาให้การรับรองไว้ ฉะนั้น การกระทำผิดของบริษัทอเมริกันในประเทศกัมพูชาย่อมอยู่ภายใต้แนวปฏิบัติดังกล่าวด้วย โดยนับเป็นกรณีแรกที่ถูกยื่น ทั้งนี้ การยื่นร้องดังกล่าว ทำโดยศูนย์ศึกษากฎหมายชุมชน (Community Legal Education Center) และองค์กร EarthRigths International (ERI) เป็นผู้ร่วมยื่นแทนประชาชนในชุมชน สอดคล้องกับจุดประสงค์ของประชาชนผู้ร้องเรียนที่กล่าวไว้ว่า "บรรดาบริษัทที่รับซื้อน้ำตาลที่ผลิตบนที่ดินที่เคยเป็นของพวกเรา จะต้องมีส่วนในความรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนของพวกเรา" และ "พวกเราหวังว่ารัฐบาลอเมริกันจะช่วยทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันแสดงความรับผิดชอบได้"

แมน วุดที ทนายความศูนย์ศึกษากฎหมายชุมชน (CLEC)  กัมพูชา อธิบายว่า "ที่ดินคือทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับชาวบ้าน การสูญเสียที่ดินเท่ากับการสูญเสียแหล่งอาหาร ความอุดมสมบูรณ์ และความปลอดภัย วิกฤตดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไปอีกด้วย เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่พิพาทต้องให้ลูกหลานออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงาน หรือคอยดูแลวัวควายไม่ให้เข้าไปในเขตสัมปทาน เพราะอาจถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทยิงทิ้งหรือกักไว้เพื่อเรียกเอาเงินค่าไถ่ได้"

บริษัทน้ำตาลขอนแก่นและหุ้นส่วน เริ่มต้นจากการทำข้อตกลงกับบริษัทเทท แอนด์ ไลย์ล (Tate & Lyle) สัญชาติอังกฤษ เพื่อส่งออกน้ำตาลทั้งหมดจากกัมพูชาผ่านสิทธิพิเศษทางการค้าที่เรียกว่า "ทุกอย่างยกเว้นอาวุธ" (Everything But Arms) ไปยังตลาดยุโรป ต่อมาในปี 2553 บริษัทน้ำตาลฟอกขาวอเมริกันได้ซื้อกิจการของบริษัทเทท แอนด์ ไลย์ล ชาวบ้านเชื่อว่าบริษัทน้ำตาลฟอกขาวอเมริกันมิได้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของโออีซีดี ในฐานะผู้ซื้อน้ำตาล ที่ต้องพยายามปฏิบัติต่อคู่ค้าทางธุรกิจ ในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้าการยื่นเรื่องต่อโออีซีดีผ่านทางรัฐบาลอเมริกัน ประชาชนกัมพูชาและเครือข่ายผู้สนับสนุนเรียกร้องกับทุกหน่วยงานที่เป็นไปได้ ทั้งต่อบริษัท ศาลจังหวัดเกาะกง องค์กรตรวจสอบของสหภาพยุโรป สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ซึ่งได้มีรายงานฉบับย่อออกมาแล้ว (ดูรายละเอียดรายงานได้ที่ http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/news_detail.php?nid=662&parent_id=1&type=hilight) อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเปิดตัวการรณรงค์ในระดับนานาชาติซึ่งมุ่งเป้าไปที่เรื่องของอุตสาหกรรมน้ำตาลโลกกับการยึดครองที่ดินโดยผิดกฎหมายในประเทศกัมพูชา (รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.boycottbloodsugar.net/)    

 

 ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ: 

บ๊อบบี้ มาเรีย (Bobbie Sta. Maria) องค์กรเอิร์ทไรท์อินเตอร์เนชั่นแนล (EarthRights International [ERI]) ประเทศไทย โทร. +66 080 031 9310 อีเมล์ bobbie@earthrights.org

โจนาธาน คอฟแมน (Jonathan Kaufman) องค์กรเอิร์ทไรท์อินเตอร์เนชั่นแนล (EarthRights International [ERI])
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โทร. (202) 466-5188 ต่อ 113 อีเมล์ jonathan@earthrights.org

แมน วุดที (Man Vuthy) ศูนย์ศึกษากฎหมายชุมชน (Community Legal Education Center [CLEC] ประเทศกัมพูชา โทร. +885 6677 7032 อีเมล์ vuthy@clec.org.kh

ศูนย์ศึกษากฎหมายชุมชน (Community Legal Education Centre [CLEC]) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านกฎหมายของกัมพูชา มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนด้านประโยชน์สาธารณะ แรงงาน และธรรมาภิบาล รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.clec.org.kh/

องค์กรเอิร์ทไรท์อินเตอร์เนชั่นแนล (EarthRights International [ERI]) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีสำนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศเปรู มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจและภาครัฐ รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.earthrights.org

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

BBC : 5 วิธีคัดรูปจริง-รูปหลอก ในอินเตอร์เน็ต

Posted: 02 Nov 2012 07:30 AM PDT

จากกระแสรูปปลอมที่อ้างว่าเป็นรูปของเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคน 'แซนดี้' ระบาดหนักในอินเตอร์เน็ต สำนักข่าว BBC ก็ได้นำเสนอวิธีการ 5 วิธีในการคัดกรองว่ารูปใดควรเชื่อ รูปใดไม่ควรเชื่อ

31 ต.ค. 2012 - ในช่วงที่เฮอร์ริเคน 'แซนดี้' กระหน่ำชายฝ่ายตะวันออกของอเมริกา ภาพหายนะหลายภาพก็เผยแพร่ออกไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันโซเขียลเน็ตเวิร์กก็ถูกถาโถมด้วยเรื่องและภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในนิวยอร์กและที่อื่นๆ 'ท่วม' ไปหมด

ตั้งแต่รูปกราวด์ซีโร่ที่ท่วมด้วยน้ำทะเล, ม้าหมุนลานเด็กเล่นที่ยังมีแสงไฟอยู่ปรากฏขึ้นกลางน้ำ, ภาพอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพถูกกระหน่ำจากคลื่นยักษ์ และกระทั่งรูปปลาฉลามว่ายอยู่ในน้ำท่วมที่รัฐนิวเจอร์ซีย์

ทั้งหมดถูกเมล์ แชร์และรีทวีตต่ออย่างรวดเร็ว แต่เมื่อพายุเฮอร์ริเคนผ่านไปแล้ว คนก็เริ่มรู้ว่าพวกเขาถูกหลอก ขณะที่ภาพของกราวน์ซีโร่และภาพของลานเด็กเล่นเป็นของจริง แต่ภาพของเทพีเสรีภาพและปลาฉลามรวมถึงภาพอื่นๆ เช่น ภาพพายุฟ้าคะนองของเมืองแมนฮัตตัน ไปจนถึงภาพทหารหาญเข้าไปคุ้มกันสุสานทหารนิรนามอาลิงตันท่ามกลางสายฝนต่างก็เป็นภาพปลอม หรืออย่างน้อยก็ถูกใช้ผิดความหมาย

แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าภาพที่คุณกำลังจะส่งให้เพื่อน, ผู้ร่วมงาน หรือ ผู้ติดตามของคุณ เป็นรูปจริงหรือเท็จ ตัวคุณเองอาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบภาพถ่ายหรืออาจบอกไม่ได้ว่าเฮอร์ริเคนกับพายุไต้ฝุ่นฝนฟ้าคะนอง ผู้คนกำลังเคร่งเครียดมาก สภาพการณ์ก็อันตราย และภาพปลอมหลายภาพก็ไม่ได้น่ากลัวเท่าความจริง

ทาง BBC Future จึงได้ขอนำเสนอข้อแนะนำเล็กๆ 5 ข้อเพื่อให้คุณต้องอับอายเวลาเผลอแชร์รูปเฮอร์ริเคนปลอม หรือรูปปลอมอื่นๆ


1.) เชื่อในสัญชาตญาณคุณ

 

ถ้ามันดูหลอกๆ มันก็เป็นไปได้ที่จะปลอม เทเรซ่า คอลลิงตัน ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิตอลของ WTSP.COM กล่าว เธอเป็นคนที่ช่วยฝึกให้นักข่าวจับผิดสิ่งที่เธอเรียกว่า "Fauxtography" หรือ "ภาพเก๊" ลองดูที่รูปแล้วคิดด้วยตัวคุณเองสิ นี่มันดูดีเกินกว่าจะเป็นจริงหรือไม่ มันถ่ายได้สมบูรณ์แบบเกินไปไหม รู้สึกว่ามีอะไรแปลกๆ หรือเปล่า

คอลลิงตันกล่าวว่า ถ้าหากภาพถ่ายมันวิเศษมากจริงๆ เช่นเดียวกับภาพเหล่านี้ แล้วไม่ได้อยู่ในหน้าแรกของแหล่งข่าวชั้นนำ คุณต้องฉุกคิดบ้างแล้ว เว็บไซต์ส่วนมากจะนำภาพที่ถ่ายได้สมบูรณ์แบบมาใช้ทันที หากมันไม่มีอยู่ในหน้าแรก  เป็นไปได้ว่ามันอาจไม่เป็นจริง

คอลลิงตันบอกว่า ภาพภัยธรรมชาติมักจะถูกแพร่กระจายไปเร็วมาก เพราะผู้คนตื่นกลัว และความกลัวก็มักจะทำให้ความช่างสงสัยในตัวเราหายไป และมีรูปจำนวนมากที่ยอดเยี่ยม รูปของรถที่จมอยู่บนถนนอเวนิวซีของแมนฮัตตันเป็นของจริง อุโมงค์และสถานีรถไฟใต้ดินที่ถูกน้ำท่วมก็เป็นภาพจริง "มีสิ่งที่ดูไม่น่าเชื่ออยู่มากมาย ดังนั้นในเวลานี้ความรู้สึกน่าเชื่อและไม่น่าเชื่อของคนเรากว้างขึ้นมาก" คอลลิงตันกล่าว เธอบอกอีกว่า ดังนั้นการใช้ความรู้สึกวัดว่าจริงหรือไม่อาจจะผิดพลาดได้ ควรลองใช้เวลาอีกสักนิดในการตรวจเช็คหาความจริง


2.) ลองดูที่แสง

ฮานี ฟาริด ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพตัดต่อจากวิทยาลัยดาร์ทเมาธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำเท็จยากที่สุดในรูปถ่ายคือแสง, เงา และการสะท้อน ฟาริดเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โฟร์แอนด์ซิกส์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการตรวจสอบสิ่งที่ทำหลอก

อย่างไรก็ตามฟาริดบอกว่า พายุเป็นสิ่งที่ซับซ้อน "รูปของสภาพอากาศอาจหลอกเราได้ เพราะสิ่งที่พวกเราใช้อย่างเช่น แสง, การสะท้อน และ จุดลับสายตา (vanishing points) กับสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในรูป" แต่บางครั้ง แสงก็เป็นเงื่อนงำ

กล่าวถึงภาพอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพที่มีเหมือนมีพายุวันโลกาวินาศทำให้เมืองนิวยอร์กซิตี้จมอยู่ใต้น้ำ หากคุณลองมองดูใกล้ๆ แสงที่อยู่บนเมฆ และดูรูปเรือที่อยู่บนฉากหน้าของภาพ คุณจะเห็นอย่างชัดเจนว่าทั้งสองไม่ได้มาจากภาพเดียวกัน

คอลลิงตันแนะนำว่า      ถ้าหากคุณนำสิ่งที่อยู่ที่ฉากหน้าไปเปรียบเทียบกับแสงของฉากหลัง คุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามฟาริดบอกว่าขั้นตอนข้อ 1 กับ ข้อ 2 อาจผิดพลาดได้ เพราะสัญชาตญาณเราก็ดีแค่บางเรื่องและทำได้แย่ในบางเรื่อง อีกอย่างหนึ่งที่สัญชาตญาณเราแย่คือการแยกแยะว่าแสงของรูปนี้ถูกตัดต่อหรือไม่ "การใช้สัญชาตญาณวัดภาพทั้งหมดโดยรวมก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อใช้สัญชาตญาณเราวัดส่วนประกอบของภาพ คนเราทำให้แย่ในเรื่องนี้" ฟาริดกล่าว


3.) ดูสิ่งที่คนกำลังหรือกำลังสวมใส่ ดูเส้นขอบฟ้าและคุณภาพของรูป

ในช่วงซึนามิปี 2004 ในไทยรูปภาพจำนวนมากปรากฏออกมาซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภาพที่มาจากปี 2002 ที่ถ่ายจากแม่น้ำเฉียนถังของจีน คอลลิงตันสามารถบอกได้เพราะเส้นขอบฟ้าไม่ใช่ของถูเก็ตที่เกิดเหตุ รวมถึงคุณภาพของรูปด้วย

คอลลิงตันบอกว่า ถ้าหากคุณภาพของรูปดูเหมือนมาจากฟิล์ม หรือสแกนจากหนังสือพิมพ์ มันก็ดูน่าสงสัย ให้เตือนตัวเองว่าคนส่วนใหญ่มักจะถ่ายภาพจากกล้องสมาร์ทโฟน เว้นแต่พวกเขาเป็นช่างภาพมืออาชีพ ซึ่งก็เป็นในกรณีที่ภาพดูไม่เหมือนมาจากมืออาชีพด้วยแล้ว มันอาจจะเป็นภาพปลอม

ฟาริดเสริมว่าหากภาพดูเล็กและมีความละเอียดต่อจุดต่ำให้ระวังไว้ "แม้แต่มือถือที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ก็สามารถถ่ายภาพเมก้าพิกเซลได้ สาเหตุที่คนเราจะทำให้ภาพเล็กลงคือการซ่อนการปรับแต่ง"

ขอให้ดูด้วยว่าสิ่งที่คนกระทำหรือสวมใส่ในภาพคืออะไร ถ้าลองดูรูปที่ถูกบอกว่ามาจากซึนามิปี 2004 จะเห็นว่าคนจำนวนมากในภาพกำลังยิ้มหรือหัวเราะ เพราะว่าน้ำที่โถมเข้าใส่พวกเขาเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าคลื่นทะเลหนุน (tidal bore) ซึ่งเป็นคลื่นน้ำปกติที่เป้นแหล่งท่องเที่ยวของจีน ถ้าหากภาพนั้นมาจากซึนามิปี 2001 จริง ผู้คนคงไม่ดูร่าเริงนัก


4.) เคยเห็นรูปแบบนี้มาก่อนไหม

ลองนึกถึงภาพอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพที่ถูกคลื่นถล่ม มันดูคุ้นๆ ไหม นั่นเพราะมันมาจากภาพยนตร์เรื่อง Day After Tomorrow ภาพพายุพวกนี้มักจะถูกนำกลับมาใช้ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศสำคัญๆ ฟาริดกล่าวว่า ภาพดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้หลายครั้งในรอยหลายปีนี้ ทุกครั้งที่มีเหตุภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ถ้าหากมันดูคุ้นๆ มันก็ไม่ใช่รูปของ 'แซนดี้' แน่ๆ

คอลลิงตันเรียกรูปจำพวกนี้ว่า รูปภาพลาซารัส (Lazarus images) "รูปภาพที่ถูกปลุกให้คืนชีพ" ถ้าหากพิจารณารูปสีเขียวของพายุเหนือเมืองแมนฮัตตัน ภาพนี้ถูกตีพิมพ์ในวอลล์สตรีทเจอร์นัลเดือนเม.ย. ปีที่แล้ว (2011) ในช่วงที่มีปรากฏการณ์พายุทอร์นาโด ถามว่ามันเป็นภาพของสภาพอากาศแปรปรวนไหม คำตอบคือใช่ แต่มันก็ไม่ใช่เฮอร์ริเคนแซนดี้


5.) ถ้ามันมีปลาฉลาม มันมีโอกาสจะเป็นรูปหลอก

มีรูปปลาฉลามหลายรูปปรากฏออกมาในช่วงเริ่มมีเฮอร์ริเคนแซนดี้ และแทบทั้งสิ้นก็เป็นรูปหลอก ไม่มีปลาฉลามมาว่ายอยู่บนทางหลวงรัฐนิวเจอร์ซีหรือเฉลียงหน้าบ้านใครที่ถูกน้ำท่วม เช่นเดียวกับที่ไม่มีปลาฉลามในสถานีรถไฟของโตรอนโตย้อนกลับไปในช่วงเดือน มิ.ย.

รูปภาพปลาฉลามยังเข้ากับข้อแนะนำข้อ 4 ได้ด้วย มันถูกนำกลับมาใช้บ่อยครั้งมาก ภาพของปลาฉลามบนทางหลวงในนิวเจอร์ซีเคยปรากฏในช่วงเฮอร์ริเคนไอรีน ถ้าคุณไม่เคยเห็นรูปทั้งหมด คุณก็อาจเคยเห็นภาพฉลามตัวนี้มาแล้วก็ได้ มีเงาฉลามไม่กี่ตัวที่ถูกเอามาตัดต่อใส่ในรูปครั้งแล้วครั้งเล่า

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องเป็นไปได้ที่ปลาฉลามจะเข้ามาในเขตน้ำท่วม แต่ก็มีโอกาสน้อยมากๆ และมีโอกาสน้อยยิ่งกว่าที่จะมีคนถ่ายภาพมันได้ ดังนั้นก่อนที่คุณจะแชร์ภาพ "ฉลามมากับน้ำท่วม" ขอให้ตรวจสอบก่อน แม้แต่กับภาพแมวก็เช่นกัน


ทำไมคนเราถึงถูกหลอก

คอลลิงตันบอกว่า ภาพภูมิอากาศทำปลอมได้ง่ายมาก ด้วยสองสาเหตุคือ หนึ่ง พวกเราอยากจะเชื่อมัน ท่ามกลางพายุโหมหนัก มีความตึงเครียดและความกลัวอย่างมาก ทุกคนก็ตกเป็นเหยื่อของสิง่ที่ดูทรงพลังได้ "ภูมิอากาศทำปลอมได้ง่ายมากเพราะการตอบรับแบบนี้ เมื่อคุณเห็นภาพฟ้าผ่าหรือพายุใหญ่ คุณอยากเชื่อมัน"

สิ่งหนึ่งที่ต่างจากภาพถ่ายหลอกๆ ซึ่งถูกตัดต่อ ภาพของเฮอร์ริเคนแซนดี้ที่ถูกส่งต่อๆ กัน ไม่ได้เป็นรูปปลอมในทางเทคนิค พวกมันเป็นภาพถ่ายจริงหรือเป็นพายุจริง แต่เพียงแค่มันไม่ได้เป็นเฮอร์ริเคนแซนดี้ สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วมันยากที่วพวกเขาจะรู้ได้ และคอลลิงตันยังบอกอีกว่า การที่พายุร้ายแรงกำลังทำให้เรากลัวมันก็ทำให้สัญชาตญาณเราทำงานแย่ลงได้ สิ่งที่เราเคยคิดว่าน่าสงสัยในเวลาปกติก็ดูเป็นไปได้

แต่ถ้าหากว่าภาพใดที่ไม่ผ่านตามข้อแนะนำทั้ง 5 นี้ มันก็ควรต้องตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่จะทำ มีเว็บไซต์หาที่มาของภาพจำนวนมาก (เช่น tineye.com) ที่ทำให้คุณสามารถค้นหาที่มาเบื้องต้นหรือความเห็นของภาพได้ เนื่องจากรูปภาพพายุเฮอร์ริเคนดูจะถูกกลับมาใช้อีกเรื่อยๆ มีอยู่หลายชิ้นที่ปรากฏบนเว็บไซต์ตรวจสอบเรื่องเหลือเชื่ออย่าง Snopes.com

ฟาริดบอกว่าถ้าเกิดคุณถูกหลอก อย่าได้รู้สึกแย่ แม้กระทั่งสำนักข่าวใหญ่ๆ อย่าง AP และ Reuters ก็เคยถูกหลอกด้วยรูปภาพมาแล้ว "พวกเรามีความสามารถพิเศษเรื่องความคุ้นเคยกับภาพถ่าย ผมคิดว่าสัญชาตญาณของพวกเราดีพอในเรื่องนี้"   ฟาริดกล่าว แต่จริงๆ แล้วพวกเราถูกหลอกได้ง่ายมาก

ดังนั้นก่อนที่จะแชร์ภาพถ่ายให้ทุกคนที่คุณรู้จัก และทำให้เพื่อนๆ และญาติๆ ของพวกคุณตื่นกลัว หยุด ลองใช้เวลาฉุกคิด แล้วตรวจสอบดูก่อน

 

 

ที่มา:

Hurricane Sandy: Five ways to spot a fake photograph, Rose Eveleth, BBC Future, 31-10-2012

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประภาส ปิ่นตบแต่ง "การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง : ฐานคิดและวิธีวิทยา"

Posted: 02 Nov 2012 06:48 AM PDT

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้จัดพิมพ์หนังสือ ออกมาวางตลาดสดๆ ร้อนๆ ชื่อ 'การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง : วาทกรรม อำนาจและ พลวัตชนบทไทย' (อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ, บรรณาธิการ) ในหนังสือเล่มนี้รวมบทความแปลของนักวิชาการต่างประเทศที่มีชื่อเสียงด้านไทยศึกษา จำนวน 4 ชิ้น 4 ท่าน คือ วิเลียม เอ. คัลลาฮาน, แอนดรู วอล์คเกอร์, แคเธอรีน อ.เบาร์วี และโยชิโนริ นิชิอิ  หนังสือเล่มนี้ ได้ท้าทายเพดานเดิมของฐานคิดในการศึกษา ที่มีสมมติฐานหรือคำตอบล่วงหน้า ว่าปัญหาประชาธิปไตยไทยคือ การขายเสียงของคนในชนบท  ดังที่อาจารย์ประจักษ์ สรุปว่า การศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนชนบท ล้วนตั้งอยู่ในกรอบโครงของนิทานการเมืองเรื่อง 'โง่ จน เจ็บ' งานวิจัยที่ ผ่านมา จึงล้วนมีคำตอบสำเร็จรูปว่า คนชนบทไม่รู้จักเลือกพรรค พิจารณานโยบาย และผู้สมัครที่มีความรู้ ความสามารถ ฯลฯ

โดยมีประโยคและวรรคทองของงานเหล่านี้คือ  "ผู้เลือกตั้งชาวชนบทขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของการเลือกตั้ง และไม่เข้าใจประชาธิปไตย ทำให้ ไม่รู้จักการใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีความหมาย" นอกจากนี้ ยังนิยมศึกษาเปรียบเทียบกับคนในเมืองว่าเป็นคนที่มีการศึกษาดี รับรู้ข่าวสารการเมืองมากกว่า จึงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ดีกว่าชาวชนบทผู้โง่เขลา

ด้านวิธีวิทยาในการศึกษาการเมืองเรื่องการเลือกตั้งกระแสหลักดังกล่าว มักใช้แนวพฤติกรรมนิยมที่มุ่งศึกษาการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของปัจเจกบุคคล ซึ่งครอบงำวงการรัฐศาสตร์และนักวิชาการผู้ศึกษามายาวนาน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและมีเป้าหมายในการศึกษา คือ การมุ่งหาแบบแผนและปัจจัยที่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของปัจเจกบุคคล

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ได้วิพากษ์ฐานคิดและวิธีวิทยาแนวพฤติกรรมนิยมว่า การแยกพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงออกจากบริบทของสังคม หรือชุมชนทางการเมืองที่ห้อมล้อมผู้คน ทำให้ลดทอนความเข้าใจการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของผู้คน บทความทั้งหมดโดยนักวิชาการต่างประเทศ ทำให้เห็นว่า  การศึกษาแนวมานุษยวิทยาการเมืองจะช่วยทำให้เข้าใจการเลือกตั้งได้ดีกว่าซึ่งก็คือ การศึกษาที่มุ่งเน้นหาความหมายในการแสดงออกทางการเมืองในทัศนะของ 'คนใน' หรือของผู้คนซึ่งอยู่ในบริบททางเศรษฐกิจการเมือง และมีความสัมพันธ์ในชุมชนการเมืองที่สลับซับซ้อนเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้โดยใช้วิธีการศึกษาด้วยการให้นิสิต นักศึกษา ผู้ช่วยวิจัย ฯลฯ ไปแจกแบบสอบถามแบบโฉบๆ เฉี่ยวๆ เมื่อได้แบบสอบถามแล้วก็เอามาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและการหาอิทธิพลของตัวแปร และที่สำคัญก็คือ การหมกมุ่นอยู่กับการยืนยันหาคำตอบว่า  เงินหรือการซื้อเสียงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนชนบท

ในบทความ 2-3 ชิ้นที่ผ่านมาของผู้เขียน ก็ชี้ให้เห็นว่า การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนในสังคมชนบท อยู่บนฐานของความสัมพันธ์ในชุมชนที่เกาะเกี่ยวกับพื้นที่ทางสังคมการเมือง ที่ขยายขึ้นมาผ่านการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย การกระจายอำนาจในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

การทำความเข้าใจการแสดงออกทางการเมืองในลักษณะต่างๆ (การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้สีเสื้อ) ต้องศึกษาผ่าน เครือข่ายความสัมพันธ์ดังกล่าว

การศึกษาเช่นนี้จะทำให้ได้ภาพคำตอบจากชาวบ้านที่อธิบายว่า เขาสัมพันธ์กับพื้นที่การเมือง นักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับการเลือกตั้งอย่างไรในบริบทวิถีชีวิตของพวกเขา ฯลฯ

ไม่ใช่ทัศนะของนักวิจัย หรือนักวิชาการ ซึ่งมีคำตอบล่วงหน้าในโครงของนิทานการเมืองว่าด้วยเรื่องโง่ จน เจ็บ และไม่ใช่การศึกษาที่เป็นทาสอยู่กับกรอบแนวคิดทฤษฎี

งานเขียนของนักวิชาการต่างชาติทั้ง 4 ชิ้น จึงล้วนหันมาศึกษาการเมืองเรื่องการเลือกตั้งในสังคมด้วยแนวทางมานุษยวิทยาการเมือง ซึ่งทำให้ได้แง่มุมในการตอบคำถามที่แตกต่างไปจากสมมติฐานเดิมๆ ที่น่าสนใจหลายประการ

ดังงานเขียนของ นิชิซากิ เรื่อง 'การสร้างความมีอำนาจทางศีลธรรมในชนบทไทย' ศึกษากรณีจังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า 'บรรหารบุรี' ซึ่งเขาพบว่า มีปัจจัยที่มากไปกว่าเงินหรือการซื้อเสียงที่ทำให้เกิดภาพของบรรหารบุรีขึ้น นั่นก็คือ การสร้าง อัตลักษณ์ท้องถิ่นนิยม หรือจังหวัดนิยม จนทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเกิดความภาคภูมิใจในจังหวัดตน

นิชิซากิ ตอบคำถามว่า ทำไมชาวสุพรรณฯ จึงเห็นว่า บุคคลที่ชาวกรุงเทพฯ มองว่าเป็นคนที่โกง น่ารังเกียจ กลับเป็นผู้นำที่ดีของชาวบ้าน โดยศึกษาผ่านการสร้างอำนาจทางศีลธรรมของคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) ในการดำเนินการโครงการต่อต้านยาเสพติดแบบไม่ใช้ความรุนแรง 'เยาวชนคนดีศรีสุพรรณ' เมื่อปี 2540 ซึ่งปัญหายาเสพติด หรือยาบ้า มีความรุนแรงอย่างมาก

ด้านวิธีวิทยาในการศึกษา นิชิซากิ อาศัยแนวคิดเรื่อง 'รัฐนาฏกรรม' ของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ เพื่ออธิบายโครงการ 'เยาวชนคนดีศรีสุพรรณ' ในฐานะของพิธีกรรมทางการเมืองที่มีความทรงพลัง และสำคัญยิ่งในการสื่อสารทางการเมืองและกล่อมเกลาทางสังคม ทำให้ คุณบรรหารสามารถใช้แสดง และเน้นย้ำความเป็นผู้นำ ศีลธรรมต่อหน้าผู้ร่วมพิธีกรรม

บทความของนักวิชาการญี่ปุ่นท่านนี้ จึงชี้ให้เห็นว่า นักเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ ต้องสามารถสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ความภาคภูมิใจกับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการซื้อเสียงหรืออิทธิพลมืดและเรียกกระบวนการสร้างอัตลักษณ์นี้ว่า 'การสร้างความมีอำนาจทางศีลธรรม'

ภาพของบรรหารบุรีในสายตาของนักวิชาการรัฐศาสตร์ไทย จึงแตกต่างไปจากสายตาคนใน คือ ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีผู้ลงคะแนน เพราะนี่คือภาพนักการเมืองในอุดมคติของชาวบ้านที่แตกต่างไปจากภาพคุณบรรหาร ศิลปอาชา ที่ถูกแปะป้ายเอาไว้ว่าเป็นนักการเมืองเก่า คร่ำครึ ผู้มีอิทธิพลและใช้ระบบอุปถัมภ์ ซื้อเสียง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

งานชิ้นนี้ จึงเป็นการหาคำตอบแบบ 'คนใน'  ในการอธิบายความสัมพันธ์ของชาวบ้านสุพรรณฯ  กับคุณบรรหาร ภายใต้สิ่งที่เขารับรู้และสัมผัสผ่านประสบการณ์ปัญหาชีวิตของชุมชน ซึ่ง นิชิซากิ เห็นว่า คนที่ไม่ใช่ชาวสุพรรณฯ ย่อมไม่ตระหนักถึง หรือมองเห็น

งานของ วอล์คเกอร์ เรื่อง 'ธรรมนูญแห่งชนบท  (rural constitution)' ซึ่งเป็นการศึกษาแนวมานุษยวิทยาการเมืองที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง (เช่นเดียวกับอีก 2 ชิ้นที่เหลือ ซึ่งไม่มีพื้นที่พอจะพิจารณาในที่นี้) เสนอในแง่วิธีวิทยาในการศึกษาที่มีลักษณะเดียวกันคือ การทำความเข้าใจการแสดงออกทางการเมืองของคนชนบท จำเป็นต้องเข้าใจ ว่า เขามีรัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนค่านิยม ความเชื่อ ประสบการณ์ หรือสิ่งที่สั่งสมถ่ายทอดมาท่ามกลางพัฒนาการของชุมชน และอาจจะแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญในระดับประเทศ

ธรรมนูญดังกล่าวนี้ ทำหน้าที่เป็นกรอบหรือกฎเกณฑ์ในการดำเนินการทางการเมืองในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนชนบท โดยวางอยู่บนระบบคุณค่าและค่านิยมของชุมชนท้องถิ่น กรณีศึกษาบ้านเทียน (นามสมมติ) หมู่บ้านในภาคเหนือแห่งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับนักเลือกตั้งบนค่านิยม เช่น การนิยมผู้สมัครที่มาจากท้องถิ่นเดียวกัน คาดหวังว่าผู้สมัครจะต้องช่วยเหลือเมื่อได้รับเลือกตั้ง และผู้ที่มีความสามารถในการบริหารที่เข้มแข็งและโปร่งใส

ในงานเขียนชิ้นนี้ ไม่ได้ปฏิเสธภาพของการซื้อสิทธิขายเสียง แต่ต้องการอธิบายให้เห็นถึงการแสดงออกทางการเมืองของชาวบ้าน ภายใต้บริบทของระบบคุณค่าบางอย่างของคนชนบท ชัยชนะของนักเลือกตั้งและพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับคุณค่าดังกล่าวนี้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงสะท้อนให้เห็นคนชนบทในฐานะผู้กระทำการ มากกว่าเป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์และขับเคลื่อนด้วยกลไกการซื้อสิทธิ-ขายเสียง

เหล่านี้คงพอเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า หนังสือเล่มนี้ ได้เปิดประเด็นและพื้นที่ในการศึกษาการเมืองว่าด้วยการ เลือกตั้งด้วยการเปลี่ยนฐานคิดจากแนวการศึกษาแบบเดิมๆ ที่มองคนชนบทเป็นเหยื่อของการซื้อสิทธิ-ขายเสียง เป็นต้นตอของปัญหาประชาธิปไตยไทยภายใต้นิทาน การเมือง 'โง่ จน เจ็บ' และเสน่ห์ของวิธีวิทยาแบบ มานุษยวิทยาการเมืองที่ควรจะเข้ามาแทนที่แนวพฤติกรรมนิยมให้มากกว่าที่ดำรงอยู่

 

 

ที่มา:  เนชั่นสุดสัปดาห์ 2  พ.ย. 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 เสื้อแดงพกอาวุธ-ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ลดจาก 11 เหลือ 9 ปี

Posted: 02 Nov 2012 03:55 AM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำคุก 2 คนเสื้อแดง จาก 11 ปี 8 เดือน เหลือ 9 ปี 4 เดือน เหตุเกิด 17 พ.ค.53 ถูกจับหลังพยายามออกจากพื้นที่ชุมนุม ทหารระบุพบหลังรถมีปืนและวัตถุระเบิด เจ้าตัวยันไม่ใช่ของตัวแต่ไม่เป็นผล

 

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 55   ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีที่นายประสงค์ มณีอินทร์ และนายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ จำเลยในคดีมีแลพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งพิพากษาแก้เป็นว่า "คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 9 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 6,100 บาท คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ฯ" ทั้งนี้ ทนายความจำเลยไม่ได้เข้ารับฟังการอ่านพิพากษาด้วยแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาสั่งจำคุกจำเลยคนละ 11 ปี 8 เดือน โดยระบุรายละเอียดว่า สั่งจำคุกจำเลยคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 100 บาท  ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 6,000 บาท  และฐานฝ่าฝืนประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละคนละ 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 11  ปี ค เดือน และปรับคนละ 6,100 บาท  ริบของกลางที่เหลือโดยริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางไว้ใช้ในกิจกรรมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองอายุ 56 ปี มีอาชีพรับจ้างและไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ถูกจับกุมในวันที่ 17 พ.ค.และคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน ที่เรือนจำหลักสี่

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยระหว่างถูกคุมขัง ระบุว่า จำเลยทั้งสองถูกจับในวันที่  17 พ.ค.53 ที่ ถนนพญาไท ซอยพญานาค ก่อนถูกจับ จำเลยทั้งสองอยู่ที่บริเวณแยกราชประสงค์ บริเวณดังกล่าวมืดไม่มีแสงสว่าง  คงมีเพียงแสงไฟจากเวทีปราศรัยของที่ชุมนุม และในคืนดังกล่าวคาดว่ามีการซุ่มยิงแล้ว  เนื่องจากมองเห็นแสงเลเซอร์ของลำกล้องปืนได้ชัดเจน ในเช้าวันที่ 17 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 7.00-8.00 น. จำเลยเดินทางออกจากบริเวณที่ชุมนุม เพื่อเดินทางกลับบ้าน เพราะเกรงว่าอาจถูกทำร้ายหรือถูกลอบยิงได้ โดยไปเอารถกระบะของนายประสงค์  ซึ่งจอดอยู่ที่บริเวณหน้าวัดปทุมวนาราม

ผู้ที่ทำการจับกุม คือ ทหารซึ่งได้ตั้งด่านตรวจบริเวณซอยพญานาค  และจำเลยก็ให้ตรวจค้นโดยดี  ไม่มีพฤติการณ์ที่จะขัดขืนใด   เพราะไม่ทราบว่ามีของผิดกฎหมายอยู่ในรถกระบะของตนเอง การจับกุมไม่มีการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด หลังจากจับกุมได้แล้ว  ถูกส่งตัวมาที่  สน. พญาไท  เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนพนักงาน เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ซึ่งห้ามบุคคลใดซึ่งมีพฤติการณ์ หรือน่าจะเชื่อว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุม เพื่อกระทำการที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชน เข้ามาในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ,พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และไม่ได้รับอนุญาต,ร่วมกันลักทรัพย์ ก่อนควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน  ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่าไม่ทราบว่าของกลางเป็นของใคร และมาอยู่ในรถยนต์ของตนได้อย่างไร  ซึ่งตนจอดรถยนต์ไว้ในพื้นที่ชุมนุม อาจจะมีคนนำเอามาใส่ไว้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

WTO รับลาวเข้าเป็นสมาชิก

Posted: 01 Nov 2012 11:29 PM PDT

หลังเจรจาต่อรองกว่า 15 ปี องค์การการค้าโลกหรือ WTO ก็ได้เชิญประเทศลาวเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อศุกร์ที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา


 

องค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้เสนอให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยังยากจน และปกครองด้วยพรรคเดียวเข้าเป็นสมาชิกได้ หลังจากดำเนินการเจรจามาอย่างช้า เป็นเวลาหลายปี ซึ่งในระยะดังกล่าวนี้ สปป. ลาว ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางเศรษฐกิจของตน ออกจากเศรษฐกิจรวมศูนย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ไปสู่เศรษฐกิจแบบอิงตลาด

หลังจากเจรจาต่อรองกันมาได้ 15 ปี องค์การการค้าโลกหรือ WTO ก็ได้เชิญประเทศลาวเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของตน เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้

การเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกดังกล่าวย่อมเป็นการรับทราบถึงความพยายามอย่างยิ่งของ สปป. ลาว ในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับกำหนดขององค์การการค้าโลก และการเรียกร้องต้องการเพื่อเข้าหาตลาดกว่า 150 สมาชิกขององค์การ

นอกจากนี้ เนื่องจากว่า สปป. ลาว มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอในอัตราเฉลี่ยสูงกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ตลอดหลายปีมานี้ ซึ่งปีนี้อาจจะเติบโตถึง 8 เปอร์เซ็นต์ได้ อันเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไมเคิล ยูอิง ชาว ประธานศูนย์กลางกฎหมายสากลของ WTO ประจำสิงคโปร์ กล่าวว่า การเข้าเป็นสมาชิกของ สปป. ลาว หมายถึงการได้รับผลประโยชน์ต่างๆ จาก WTO แต่ในชณะเดียวกัน ก็เป็นสัญญาณบอกถึงการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมากกว่า สำหรับ สปป. ลาว

ท่านยูอิง ชาว ยังกล่าวว่า "คุณค่าแท้จริงของลาวก็คือ การกำลังหันเหเศรษฐกิจของตนออกจากการเป็นเศรษบกิจรวมศูนย์และวางแผนโดยศูนย์กลางในอดีต ไปสู่ระบบที่ได้ศึกษาหาวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อสร้างวิสาหกิจในตลาดเสรีของประเทศตน"

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นประเทศเล็กและยากจน ไม่มีทางออกสู่ทะเลนั้น ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวซึ่งได้ยึดอำนาจในปี 1975 เป็นต้นมา

เช่นเดียวกับประเทศคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ เศรษฐกิจของลาวได้ถูกควบคุมโดยศูนย์กลาง ก็คือรัฐบาลที่ได้เข้าร่วมกลุ่มกับบรรดาประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต

แต่จากกลางทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา รับบาล สปป. ลาว ได้ค่อยๆ ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่อาศัยตลาดมากขึ้น จนถึงบัดนี้ สปป. ลาว ที่ครั้งหนึ่งเคยพึ่งพาความช่วยเกลือจากต่างประเทศนั้น ก็กำลังกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญแห่งหนึ่งของการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งในเฉพาะปีนี้ มูลค่าการลงทุนใน สปป. ลาว สูงเกินสองพันล้านดอลลาร์

สปป. ลาว เป็นประเทศสุดท้ายในกลุ่ม 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก

ท่านปีเตอร์ อึ๊งภากรณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของ WTO กล่าวว่า หลังจาก สปป. ลาวได้รับรองข้อตกลงแล้ว สมาคมอาเซียนก็จะสามารถรวมมติได้เป็นเสียงเดียวใน WTO และยังกล่าวอีกว่า การเป็นสมาชิกอาจช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจลาวมากขึ้น ดังที่ได้เกิดขึ้นกับ จีนและเวียตนาม ที่เคยมีระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์เช่นกัน

ปีเตอร์ ยังกล่าวอีกว่า "นอกจากนี้ (การเข้าเป็นสมาชิก WTO) ก็ทำให้ลาวสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น เพราะว่าลาวจะแสดงให้โลกรู้ว่าตนสามารถนำหลักการที่คาดการณ์ล่วงหน้ามาใช้ได้ มีความโปร่งใส และมีกฎเกณฑ์ต่อเศรษฐกิจของตน"

ปัจจุบัน ประเทศที่ลงทุนรายใหญ่ในลาว และเป็นคู่ค้าและประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไทย และ เวียตนาม แต่การลงทุนส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการเกษตร ไฟฟ้าพลังน้ำ และเหมืองแร่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้ส่งออกให้ประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า การได้เข้าเป็นสมาชิกของ WTO นั้น ก็น่าจะช่วยให้การลงทุนต่างประเทศมีความหลากหลายไปยังภาคส่วนอื่นๆ ด้วย โดยนิโคไล อิมโบเดน ผู้อำนวยการศูนย์กลางทางความคิดที่ Idea Center ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มจัดตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องการรวมตัวกันในโลกเศรษฐกิจ ท่านอิมโบเดนได้กล่าวว่า ลาวยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ในฐานะการเป็นฐานการผลิต ซึ่งบริษัทในยุโรปและอเมริกาคงจะเข้าไปลงทุนช้ากว่าประเทศอื่น

"ไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในลาว และในตอนนี้ เวียตนามและสิงคโปร์ก็เริ่มลงทุนมากขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่า เกาหลีใต้ก็จะเข้ามาด้วย ดังที่ท่านๆ รู้กันอยู่แล้วว่า การผลิตต้นทุนต่ำกำลังย้ายฐานออกจากจีนลงมาทางภาคใต้ และข้าพเจ้าคิดว่า ลาวจะได้รับผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้"

โดยที่สมาคมอาเซียน กำลังจะรวมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจในปี 2015 เพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจทั้งหมดเข้าด้วยกัน ส่วนจีนก้กำลังวางแผนการใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการรถไฟความเร็วสูง และถนนเชื่อมต่อต่างๆ ผ่านลาว

 ท่านยูอิง ชาว กล่าวอีกว่า นั่นย่อมทำให้ลาวเป็นสูนยืกลางการค้าแห่งหนึ่งที่สำคัญอันสามารถเชื่อมต่ออาเซียนกับจีนได้

"จีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใหญ่สุดของลาวทางทิศเหนือ และเพื่อนบ้านที่สำคัญทางใต้คือไทย ทั้งสองประเทศนี้กำลังมีบทบาทสำคัญในประเทศลาวมากขึ้น และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อลาวกลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าของเขตลุ่มน้ำโขงแล้ว ก็จะทำให้ลาวสามารถก้าวเข้าสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ต้องการจะเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และการคมนาคมขนส่งที่เชื่อโยงจีนกับสมาคมอาเซียนอีกด้วย"

แต่ถึงแม้ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยังปรากฏว่าประชาชนลาวมากกว่าหนึ่งส่วนสี่ของประชากรทั้งหมดหกล้านห้าแสนคน ยังใช้ชีววิตด้วยความยากจนอยู่

สหประชาชาติจัดให้ลาวอยู่ในลำดับที่ 138 จาก 187 ประเทศในด้านการพัฒนา ส่วน สปป. ลาวเองนั้น หวังว่าการได้เข้าเป็นสมาชิกของ WTO จะช่วยให้ตนพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนาได้

คาดว่าสภาแห่งชาติลาว จะได้ลงสัตยาบันให้ลาวเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

 

แปลจาก http://lao.voanews.com/content/laos-wro-/1534953.html

ที่มาภาพ: รมต.กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ นาม วิยะเกด ในพิธีรับรองการเป็นสมาชิก WTO

 

ภาษาลาววันละคำ วันนี้ เสนอคำว่า ຊຸມປີ - ซุมปี : ทศวรรษ, decade

ตัวอย่างจากข่าว 

ຈາກກາງຊຸມປີ 1980 ເປັນຕົ້ນມາ ລັດຖະບານ ສປປ ລາວ ໄດ້ ຄ່ອຍໆກ້າວໄປສູ່ ລະບົບເສດຖະກິດ ທີ່ອາໄສຕະຫຼາດຫຼາຍຂຶ້ນ

จากกลางทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาล สปป. ลาว ได้ค่อยๆ ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่อาศัยตลาดมากขึ้น

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

Posted: 01 Nov 2012 09:16 PM PDT

"ตั๊กไม่รู้ว่าเฮียบุญชัยเป็นใคร แม่ตั๊กไม่รู้ว่าลูกเขยรวย คนไทยไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในกะลา ทหารไม่รู้ว่ามีรัฐประหารไปแล้วกี่ครั้ง ประเทศไทยไม่รู้ว่าระบบการปกครองของประเทศคือประชาธิปไตย อภิสิทธิ์ไม่รู้ว่าการเกณฑ์ทหารยังไม่ยกเลิก ทักษิณไม่รู้ว่าตัวเองทำพลาดทางการเมืองอย่างไรบ้าง ยิ่งลักษณ์ไม่รู้ว่าทักษิณยังบริหารประเทศอยู่ กองทัพไม่รู้ว่ามีประชาชนตายที่ราชประสงค์ พรรคประชาธิปัตย์ไม่รู้ว่าอนาคตทางการเมืองดับมอดไปนานแล้ว สุขุมพันธ์ไม่รู้ว่าพิธีไล่น้ำแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ กลุ่มคลั่งเจ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ยิ่งทำให้สถาบันตกต่ำ สถาบันกษัตริย์ไม่รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ตัวเองตัองปรับตัว..."

โพสต์สถานะในเฟสบุ๊คตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น