โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

16 พ.ย. 55 สำรวจย้ำ... ราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้น

Posted: 21 Nov 2012 11:36 AM PST

 

จากที่ผู้สำรวจได้สำรวจเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 พบว่าราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้นตามความรู้สึกของนักการเมืองที่พยายามนำเสนอออกมาเป็นข่าวคราวในช่วงที่ผ่านมา ในวันศกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 หรือ 6 เดือนต่อมา ผู้สำรวจได้สำรวจซ้ำในร้านเดิม ๆ ในย่านสีลม ก็ยังยืนยันได้ว่า ราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้นแต่อย่างใด

ผลการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ร้านค้าและศูนย์อาหารต่าง ๆ แทบทั้งหมดยังขายในราคาเดิม โดยพิจารณาได้จากตารางต่อไปนี้:

จะพบว่า ราคาอาหารแทบไม่ได้ปรับขึ้นเลย หรือปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2% ซึ่งยังต่ำกว่าการปรับเพิ่มของอัตราภาวะเงินเฟ้อที่ 3-4% ต่อปี  มีเพียงบางร้านหรือบางศูนย์อาหารเท่านั้นปรับราคาขึ้น แต่ก็ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ผิดกับความรู้สึกของบุคคลบางส่วนที่เชื่อว่าราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ขนาดในพื้นที่สีลม ซึ่งเป็นศูนย์ธุรกิจสำคัญที่สุด หรือ Central Business District ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันการเงิน และบริษัทชั้นนำ ราคาอาหาร ก็ยังไม่ได้ปรับเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในบริเวณอื่นก็คงมีสภาพไม่แตกต่างกัน หรืออาจปรับเพิ่มน้อยกว่านี้อีกก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามอาจมีบางบริเวณ เช่น เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองอุตสาหกรรมที่มีการปรับเพิ่มของราคาขายมากกว่านี้ หรือสำหรับรายการอาหารแบบฟาสต์ฟูด ก็อาจปรับราคาเพิ่มขึ้นตามอำเภอใจโดยไม่ได้มีการควบคุม แต่สำหรับประชาชนกันเอง ย่อมมีความเห็นใจและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันตามสมควร จึงทำให้แทบไม่มีการปรับราคาขาย 

ในกรณีนี้บางท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่า แม้ราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณอาจจะลดน้อยลง แต่จากการสังเกตก็พบว่า ปริมาณก็ยังพอ ๆ กับแต่เดิม ไม่ได้ปรับลงปริมาณลงแต่อย่างไร อย่างไรก็ตามก็ยังอาจมีบางท่านให้ข้อสังเกตว่า แม้ปริมาณจะคงเดิม แต่คุณภาพก็อาจลดลง แต่ข้อนี้ ผู้สำรวจคงไม่สามารถไปตรวจสอบในรายละเอียดในระดับนั้น และคงอยู่ที่วิจารณญาณของทุกท่านที่พิจารณาผลการสำรวจนี้ 

การกล่าวโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงว่าราคาอาหารแพงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นความหวังดีที่ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้กับสังคม แต่อันตรายประการหนึ่งก็คืออาจทำให้ผู้ค้าบางรายฉวยโอกาสขึ้นราคา ซ้ำเติมประชาชนได้ ดังนั้นการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ จึงควรมีความรับผิดชอบ และผู้เสพข้อมูลควรใช้วิจารณญาณ

โปรดดูภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งที่ 1 (5 พฤษภาคม 2555) และครั้งที่ 2 (16 พฤศจิกายน 2555) ดังต่อไปนี้

รูปที่ 1: แผนที่ที่ตั้งของร้านอาหารลำดับตามภาพที่สำรวจ 
ณ ย่านสีลม ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานคร 11:40 – 13:00 เสาร์ 5 พฤษภาคม 2555 
และสำรวจซ้ำอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2555

รูปที่ 2: ราคาต่ำสุดข้าวราดแกงอย่างเดียว 25 บาทเท่านั้น ณ สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี
ท่าทางคงจะตรึงราคามานานอย่างเหนียวแน่น น่าขอบคุณผู้ค้า

 
รูปที่ 2.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 3: บะหมี่เกี๊ยว 30 และ 35 บาท (พิเศษ) ณ ซอยสีลม 5 (ละลายทรัพย์) 
ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่เป็นศูนย์ธุรกิจการเงินสำคัญที่สุดของชาติ 
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่พบ

รูปที่ 4: ป้ายราคาร้านอาหารที่เริ่มต้น 30 บาทในศูนย์อาหาร ณ ซอยสีลม 5 (ละลายทรัพย์)
เจ้าของร้านบอกว่า ถ้าเป็นที่สาขาอื่น เขาเริ่มต้นขายที่ 25 บาท เพราะค่าเช่าถูกกว่าที่นี่

 
รูปที่ 4.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 5: ก๋วยเตี๋ยวแคะก็ราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท ณ ซอยสีลม 3 หากินได้สบาย ๆ 
 
รูปที่ 5.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ราคาเพิ่มเป็น 35 บาท แต่ร้านอื่นยังยืนราคา

รูปที่ 6: ข้าวมันไก่ตอนจานใหญ่ ราคา 40 บาทครับ พร้อมน้ำซุบ ณ ซอยคอนแวนต์ 
สังเกตได้ว่าร้านนี้ปรับราคาขึ้น แต่ดูจากป้ายคงปรับมาเป็นปีตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่พบ

รูปที่ 7: ก๋วยเตี๋ยวทะเลซีฟู้ด และอื่น ๆ ราคา 35-45 บาท ณ ซอยคอนแวนต์ ร้านนี้เพิ่งปรับราคา 
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่พบ

รูปที่ 8: ก๋วยเตี๋ยวน่องไก่ตุ๋นยาจีน ก็เริ่มต้นที่ 30 บาท ณ ซอยคอนแวนต์

รูปที่ 8.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ราคาเพิ่มเป็น 35 บาท

รูปที่ 8.2 ในบริเวณนี้ มีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อร้านใหม่ (16 พฤศจิกายน) ที่เริ่มที่ 30 บาท

รูปที่ 8.3 ในบริเวณนี้ มีร้านก๋วยเตี๋ยวแคะร้านใหม่ (16 พฤศจิกายน) ที่เริ่มที่ 30 บาท

รูปที่ 9: ขนาดร้านในอาคารพาณิชย์ใกล้สีลมคอมเพล็กซ์ ติดถนนสีลม 
ก็ขายเริ่มต้นที่ราคา 35 บาท ทั้งที่ต้นทุนค่าสถานที่น่าจะแพงกว่าแผงธรรมดา

 
รูปที่ 9.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 10: ร้านเจ๊เอ็งชวนเสวย เจ้าเก่าติดถนนสีลมในอาคารพาณิชย์ ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท 
ทั้งที่อยู่ในอาคารพาณิชย์ที่ต้นทุนค่าสถานที่น่าจะแพงกว่าแผงธรรมดา

 
รูปที่ 10.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 11: อีกร้านติดถนนสีลม มุมปากซอยศาลาแดง ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท 
(ป้ายเล็ก ๆ อยู่ด้านในร้าน) และเป็นร้านในตึกแถวที่น่าจะมีต้นทุนค่าเช่าที่แพงกว่า
 
รูปที่ 11.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 12: ในซอยศาลาแดง อาหารทุกอย่างก็เริ่มต้นที่ 30 บาทเป็นส่วนใหญ่
 
รูปที่ 12.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 13: แต่ร้านนี้ในซอยศาลาแดงเช่นกัน เป็นข้าวมันไก่และเกาเหลาอย่างดี โปรดสังเกตปริมาณมาก ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท 
 
รูปที่ 13.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 14: ข้าวขาหมู ก็ขายราคา 30 บาทเป็นหลัก ณ ถนนพระรามที่ 4 ใกล้ ๆ อาคารชาญอิสระ 
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่ได้ขายเพราะกำลังปรับปรุงอาคาร

รูปที่ 15: ร้านนี้รายการอาหารละเอียด ก็ 30-40 บาท ใกล้ ๆ อาคารชาญอิสระทาวเวอร์ ณ ถนนพระรามที่ 4 
ป้ายร้านนี้มีบอกชัดว่า "ปรับราคา" แต่สังเกตได้ว่า ป้ายนี้ฝุ่นจับแล้ว คงปรับราคามาเป็นปีตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่ได้ขายเพราะกำลังปรับปรุงอาคาร

รูปที่ 16: ร้านนี้อยู่เป็นสัดส่วนในอาคาพาณิชย์ ก็ยังขายราคาเดียว 30 บาท ณ ถนนพระรามที่ 4
 
รูปที่ 16.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม 

รูปที่ 17: ข้าวแกงมีให้เลือกนับสิบอย่างข้างตึกชาญอิสระทาวเวอร์ ฝั่งสุรวงศ์ ก็เริ่มต้นที่ 25 บาทเท่านั้น 
สังเกตดูป้ายเก่ามาแล้ว แสดงว่ายืนหยัดราคานี้มานาน น่าขอบคุณเจ้าของร้านที่ค้าขายโดยนึกถึงผู้บริโภค

 
รูปที่ 17.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ทำป้ายใหม่แล้วแต่ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 18: ร้านนี้แพงที่สุด! 40-70 บาท แต่ดูขนาดของเกี๊ยวกุ้งเสียก่อน ในซอยข้างตึกชาญอิสระทาวเวอร์ 
ร้านนี้มีร่องรอยการปรับราคาเช่นกัน แต่เก่าแล้ว และที่สำคัญ ยังมีก๋วยเตี๋ยวราคา 30 บาทให้เลือกอีกด้วย

 
รูปที่ 18.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 เลิกขายก๋วยเตี๋ยวแคะ 30 และ 70 บาท นอกนั้นราคาเดิม

รูปที่ 19: โอ่อ่าเปิดเผย ขายราคาเดียวกันทั้งไทยและเทศ 40 บาทขึ้นไป ณ ถนนสุรวงศ์ ตรงข้ามโรงแรมมณเฑียร
 
รูปที่ 19.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 20: ใจดีจริง ๆ ร้านนี้ให้ดื่มน้ำฟรี แม้ไม่ได้ซื้อข้าวแกงที่เริ่มต้นราคาที่ 30 บาท ณ ถนนสุรวงศ์ ใกล้พัฒน์พงศ์
 
รูปที่ 20.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 21: ราคาเริ่มต้นที่ 25 บาท (ข้าวแกงอย่างเดียว) แต่ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 30 บาท ณ สีลมสแควร์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์
 
รูปที่ 21.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 21.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

รูปที่ 22: อาหารตามสั่งก็เริ่มต้นที่ 30 บาทเช่นกัน ณ สีลมสแควร์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 
(ราคายังคงเดิมในการสำรวจครั้งใหม่ 16 พฤศจิกายน 2555)

รูปที่ 23: เชียงการีลาคิทเช่น (สาขารถไฟฟ้าช่องนนทรี) ยังมีขายโจ๊ก 30 บาท เกาหลาเลือดหมู และข้าวต้มกุ้งราคาเพียง 40 บาท
 
รูปที่ 23.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สกต.ร้องรัฐฯ ดูแลความปลอดภัยพื้นที่นำร้องโฉนดชุมชน หลัง 2 ชาวบ้านหญิงถูกยิงดับ

Posted: 21 Nov 2012 11:25 AM PST

ชี้ปัญหาการปฏิรูปที่ดินให้กับเกษตรกรล่าช้า ทำให้เกิดความสูญเสีย จี้ติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ-เยียวยาการสูญเสียชีวิต พร้อมร้องรัฐส่งตำรวจเข้าประจำชุมชน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน

 
 
วันนี้ (21 พ.ย.55) สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง การสังหารโหดแกนนำผู้หญิง นักต่อสู้เพื่อการปฏิรูปที่ดินทำกิน จากกรณี สมาชิก สกต.ได้แก่ นางมณฑา ชูแก้ว อายุ 50 ปีเศษ และนางปราณี บุญรักษ์ อายุ 52 ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ถูกซุ่มยิงด้วยอาวุธสงครามจากคนร้ายไม่ทราบจำนวนจนเสียชีวิตคาที่ทั้งสองคน โดยในที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืน เอส.เค.และเอ็ม.16 จำนวน 19 ปลอกตกอยู่ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 พ.ย.55
 
ตามการคาดการณ์ของชาวบ้านในพื้นที่ กรณีการเสียชีวิตดังกล่าวเนื่องมาจากปมความขัดแย่งเรื่องที่ดินทำกิน เนื่องจากพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา เดิมเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตั้งแต่ พ.ศ.2537 แต่มีการนำพื้นที่ไปใช้ปลูกปาล์มของบริษัทเอกชนและไม่มีการจัดสรรให้กับเกษตรกรตามเจตนารมณ์ ต่อมาชาวบ้านจึงเข้ามาเรียกร้องให้ทาง ส.ป.ก.ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล และถูกกดดันข่มขู่ คุกคามจากกลุ่มอิทธิพลที่ดูแลจัดการผลประโยชน์ให้บริษัทเอกชน
 
นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีการคุกคามโดยใช้รถแบ็คโฮไถดันบ้าน  เผาบ้าน และลอบสังหารชาวบ้านในชุมชนคลองไทรพัฒนา คือนายสมพร  พัฒภูมิจนถึงแก่ชีวิตมาแล้วเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2553 ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังจับผู้กระทำผิดไม่ได้ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากลุ่มอิทธิพลยัง มีความพยายามข่มขู่คุกคามชาวบ้านหลายครั้งหลายหน
 
ตามแถลงการณ์ ของ สกต.ระบุว่า เหตุที่มาของความขัดแย้งและการสูญเสียชีวิตในครั้งนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการทำงานที่ล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมระบุเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งดำเนินการดังนี้ 1.เร่งรัดการติดตามจับกุมฆาตกรและผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้มาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน และป้องกันมิให้มีการคุกคามชีวิต ทรัพย์สิน ของผู้บริสุทธิ์อีกต่อไป
 
2.ขอให้รัฐบาลจัดส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจภาค 8 ไปอยู่ประจำชุมชน เพื่อดูแลประชาชนในชุมชนให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 3.ให้รัฐบาลดำเนินการเยียวยาการสูญเสียชีวิตของประชาชน ทั้ง 2 คนผู้ซึ่งได้รับความเสียหายถึงชีวิตจากการกระทำความผิดทางอาญาของผู้อื่น ซึ่งมีมวลเหตุมาจากความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร และการปฏิรูปที่ดินให้กับเกษตรกรก็มีความล่าช้า นับตั้งแต่ประชาชนได้เรียกร้องสิทธิให้มีการนำที่ดินแปลงนี้เข้าสู่ขบวนการปฏิรูปให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน จนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด
 
4.ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการในการปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน และส่งมอบที่ดินให้กับชุมชนซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน 5.ให้รัฐบาลเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ตรวจสอบการครอบครองที่ดิน และการซื้อขายที่ดินเขต ส.ป.ก.ในแปลงที่ถูกบุกรุกทำประโยชน์โดยบริษัทจิวกังจุ้ยอย่างผิดกฎหมายโดยเร่งด่วน
 
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวนั้น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 สำนักงานประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ตามขั้นตอนอย่างละเอียดแล้ว และอนุมัติให้พื้นที่คลองไทรพัฒนาจัดทำโฉนดชุมชนตามโครงการโฉนดชุมชนนำร่องในปี พ.ศ.2553 ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ  เวชชาชีวะ เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินของเกษตรกร
 
ส่วนกรณีความคืบหน้าในทางคดีฟ้องขับไล่ระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดิน กับ บริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา  คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกาบริษัทยื่นขอทุเลาบังคับคดีคุ้มครองผลอาสินในขณะเดียวกัน สำนักงานปฏิรูปที่ดินก็ได้ยื่นร้องถึงอัยการ จังหวัดกระบี่ให้ยื่นเรื่องต่อศาลขอยกเลิกการทุเลาบังคับคดี เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของ ส.ป.ก.แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมิได้ดำเนินการใดๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงครั้งล่าสุดนี้ขึ้น
 
ด้านนายสุทธิพงศ์  สุทธิชูเกียรติ รองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินแห่งชาติซึ่งได้เคยลงไปสำรวจพื้นที่ในแปลงสวนปาล์มดังกล่าวด้วยตัวเองมาแล้วกล่าวว่า ต้องเร่งให้อัยการจังหวัดกระบี่ได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของ ส.ป.ก. โดยเร็วเพราะนอกจากบริษัทฯ จะยังสามารถเก็บเกี่ยวผลอาสินแล้ว ยังได้ทำการตัดแบ่งที่ดิน ส.ป.ก.เป็นแปลงย่อยๆ เพื่อขายให้กับกลุ่มผู้มีเงิน เจ้าหน้าที่บางคนของรัฐ โดยมีกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่คอยดูแลจัดการซึ่งเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดกฎหมาย ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าศาล สามารถที่จะยกเลิกการทุเลาบังคับคดีได้ เพื่อให้บริษัทฯ หยุดใช้เงื่อนไขทางกฎหมายมากระทำการรุนแรงกับชาวบ้านดังเช่นที่ผ่านมา
 

 
ภาพ: ที่เกิดเหตุยิงชาวบ้าน ชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของเครือข่าย มีเนื้อหาดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
 
เรื่อง  การสังหารโหดแกนนำผู้หญิง นักต่อสู้เพื่อการปฏิรูปที่ดินทำกิน
 
เนื่องจากเช้าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 เวลา 07.00 น.สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้แก่ นางมณฑา ชูแก้ว อายุ 50 ปีเศษ และนางปราณี บุญรักษ์ อายุ 52 ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ขณะเกิดเหตุ ทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์เดินทางออกจากชุมชนเพื่อไปขายผักที่ตลาดตามกิจวัตรประจำวัน เมื่อออกจากชุมชนได้ประมาณ 800 เมตร ก็ถูกซุ่มยิงด้วยอาวุธสงครามจากคนร้ายไม่ทราบจำนวนจนเสียชีวิตคาที่ทั้งสองคน ในที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืน เอส.เค.และเอ็ม.16 จำนวน 19 ปลอกตกอยู่
 
พื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา เป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตั้งแต่ พ.ศ.2537 แต่มีนายทุนบุกรุกเข้าไปทำสวนปาล์ม และบ้านพักคนงาน จนไม่สามารถนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรตามเจตนารมณ์ ในการกันพื้นที่ จากเขตป่าสงวนได้ ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2551 ได้ มีกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจำนวน 120 ครอบครัว  เข้ามาเรียกร้องให้ทาง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล และถูกกดดันข่มขู่ คุกคามจากกลุ่มอิทธิพลที่ดูแลจัดการผลประโยชน์ให้บริษัทฯ ตลอดมาจนเหลือสมาชิกในชุมชน 70 ครอบครัว  ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 สำนักงานประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ตามขั้นตอนอย่างละเอียดแล้ว และอนุมัติให้พื้นที่คลองไทรพัฒนาจัดทำโฉนดชุมชนตามโครงการโฉนดชุมชนนำร่องในปี พ.ศ.2553 ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ  เวชชาชีวะ เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินของเกษตรกร
 
การปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ ส่งผลกระทบต่อนายทุนที่ครอบครองที่ดินอย่างผิดกฎหมายสูญเสียผลประโยชน์ ที่ผ่านมามีการคุกคามโดยใช้รถแบ็คโฮไถดันบ้าน  เผาบ้าน และลอบสังหารชาวบ้านในชุมชนคลองไทรพัฒนา คือนายสมพร  พัฒภูมิจนถึงแก่ชีวิตมาแล้วเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2553 ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังจับผู้กระทำผิดไม่ได้ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากลุ่มอิทธิพลยัง มีความพยายามข่มขู่คุกคามชาวบ้านหลายครั้งหลายหน
 
อย่างไรก็ตาม เหตุที่มาของความขัดแย้งและการสูญเสียชีวิตของคนจนในครั้งนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการทำงานที่ล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
 
ดังนั้น พวกเราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งดำเนินการดังนี้
 
1.ให้รัฐบาลเร่งรัดการติดตามจับกุมฆาตกรและผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้มาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน และป้องกันมิให้มีการคุกคามชีวิต ทรัพย์สิน ของผู้บริสุทธิ์อีกต่อไป
 
2.ขอให้รัฐบาลจัดส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจภาค 8 ไปอยู่ประจำชุมชน เพื่อดูแลประชาชนในชุมชนให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
 
3.ให้รัฐบาลดำเนินการเยียวยาการสูญเสียชีวิตของประชาชน ทั้ง 2 คนผู้ซึ่งได้รับความเสียหายถึงชีวิตจากการกระทำความผิดทางอาญาของผู้อื่น ซึ่งมีมวลเหตุมาจากความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร และการปฏิรูปที่ดินให้กับเกษตรกรก็มีความล่าช้า นับตั้งแต่ประชาชนได้เรียกร้องสิทธิให้มีการนำที่ดินแปลงนี้เข้าสู่ขบวนการปฏิรูปให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน จนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด
 
4.ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการในการปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน และส่งมอบที่ดินให้กับชุมชนซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน
 
5.ให้รัฐบาลเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ตรวจสอบการครอบครองที่ดิน และการซื้อขายที่ดินเขต ส.ป.ก.ในแปลงที่ถูกบุกรุกทำประโยชน์โดยบริษัทจิวกังจุ้ยอย่างผิดกฎหมายโดยเร่งด่วน
 
แถลง ณ วันที่ 21  พฤศจิกายน  2555
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้  (สกต.)       
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.พรรคสามัญชน จัดคาราวานรณรงค์ ค้านเหมืองแร่ทองคำ

Posted: 21 Nov 2012 06:51 AM PST

 

นักศึกษา ม.ขอนแก่น ในนามพรรคสามัญชน จัดกิจกรรมคาราวานโบกรถรณรงค์คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย หวังร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น พับลิค สโคปปิ้ง รณรงค์คัดค้านการทำเหมืองแร่ จี้เจ้าของโครงการตระหนักถึงผลกระทบต่อชุมชน
 
 
วันที่ 20 พ.ย.55 กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามพรรคสามัญชน จัดกิจกรรมคาราวานโบกรถ เพื่อรณรงค์คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เขตพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ชี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนอย่างร้ายแรง อีกทั้ง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่มีความโปร่งใสและผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
ขบวนนักศึกษาเริ่มออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เวลา 13:00 น. และในระหว่างการเดินทางกลุ่มนักศึกษามีกิจกรรมแจกเอกสารให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ให้กับประชาชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งมีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่สนใจในประเด็นดังกล่าว
 
 
เนื่องด้วยในวันที่ 22 พ.ย.55 นี้ ทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือพับลิค สโคปปิ้ง (Public scoping) ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มต้นของการทำ EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่
 
กลุ่มนักศึกษาระบุว่า ในเวที พับลิค สโคปปิ้ง กลุ่มนักศึกษาจะมีกิจกรรม เพื่อรณรงค์คัดค้านการทำเหมืองแร่และให้ทางบริษัทเจ้าของโครงการได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยนำต้นกล้าของต้นสักทอง และขนมทองหยิบ ทองหยอด ไปมอบให้ตัวแทนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งต้นสักทอง แสดงถึงทองที่กลุ่มนักศึกษามอบให้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วน ทองหยิบ ทองหยอด เพื่อแสดงถึงทองที่นักศึกษามอบให้เป็นทองที่ไม่ทำลายสุขภาพ
 
 
นอกจากนั้น ทางกลุ่มนักศึกษายังได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีที่ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.55 ชาวบ้านในพื้นที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ระบุว่า บ่อกักเก็บแร่ไซยาไนด์ของบริษัททุ่งคำ จำกัด รั่วซึมอย่างหนัก ทำให้สารไซยาไนด์ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย ไหลลงสู่พื้นที่ทำกินของชาวบ้านและแหล่งน้ำในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
 
ทั้งนี้ ทางกลุ่มนักศึกษาได้สัมภาษณ์ข้อมูลจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อยืนยันว่าการจัดการเกี่ยวกับบ่อไซยาไนด์ของทางบริษัททุ่งคำ จำกัด เป็นการกระทำที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะนำความจริงมาเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทวี จิตตาดู

Posted: 21 Nov 2012 06:36 AM PST

"ในฐานะชาวบ้าน เหมือนว่ามีบางอย่างที่อยุติธรรม คือเราไม่สามารถจะแสดงอะไรออกไปตรงๆ ได้ ถ้าแสดงออกตรงๆ ก็จะโดน 112 เหมือนกับที่นักโทษการเมืองโดน ทุกคนอย่าไปอยู่ในกรอบกันหมด ความคิดจะต้องกว้างออกไป คุณจะอยู่ระดับไหน ต้องวิจารณ์ได้ แต่ต้องวิจารณ์ในสิ่งที่ถูกที่ต้องไม่ใช่ด้วยการใส่ร้าย"

1 ปธ.สภา : 39,185 ประชาชน คุยกับรากหญ้าเชียงใหม่ หลังแก้ 112 ถูกปัดตก

สหภาพแรงงานคนขับรถบัสเกาหลีประท้วงกฎหมายใหม่ หวั่นถูกตัดเงินอุดหนุน

Posted: 21 Nov 2012 06:19 AM PST

 

สหภาพแรงงานพนักงานขับรถโดยสารเกาหลีใต้ รวมตัวหยุดงานประท้วงกฎหมายที่ให้รถแท็กซี่เป็นยานพาหนะในการขนส่งมวลชนสาธารณะ ซึ่งจะส่งผลให้รถโดยสารได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐลดลง

 
พนักงานขับรถโดยสารประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ จะเริ่มการหยุดงานประท้วงตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนวันพุธ (ที่มาภาพ: busanhaps.com)
 
21 พ.ย. 55 - สำนักข่าว AFP รายงานว่าชาวเกาหลีใต้ร่วมล้านคน ต้องเผชิญกับสภาพโกลาหล เนื่องจากพนักงานขับรถโดยสาร ได้ทำการเริ่มหยุดงานประท้วงเพื่อต่อต้านกฎหมายใหม่ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ได้อนุมัติให้รถแท็กซี่เป็นยานพาหนะเพื่อการขนส่งภาคสาธารณะ ซึ่งจะส่งผลให้รถโดยสารภาคสาธารณะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐลดลง
 
โฆษกของสหภาพแรงงานพนักงานขับรถโดยสาร ระบุว่าพนักงานขับรถโดยสารประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ จะเริ่มการหยุดงานประท้วงตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนวันพุธ
 
การนัดหยุดงานประท้วงเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภาอนุมัติร่างกฎหมายอนุญาตให้พนักงานขับรถแท็กซี่ได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ และอนุญาตให้รถแท็กซี่สามารถขับรถในช่องทางเดินทางของรถโดยสารได้
 
โฆษกของสหภาพแรงงานพนักงานขับรถโดยสารยังระบุว่า กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้ให้บริการรถโดยสาร เนื่องจากจะทำให้รถโดยสารได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐลดลง ทั้งนี้มีการประมาณการกันว่ารถโดยสารในเมืองต่างๆ ของเกาหลีรับส่งผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อวัน
 
อนึ่งเมื่อเดือน มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานคนขับรถแท็กซี่กว่า 200,000 คน ได้หยุดงานประท้วงเพื่อขอขึ้นราคาและเรียกร้องให้ลดราคาพลังงานลง โดยพวกเขาได้เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าโดยสารเริ่มจากที่ 2,400 วอน (62 บาท) และลดราคากาซแอลพีจีลงด้วยหลังราคาพุ่งขึ้นมากว่าร้อยละ 50 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาให้รัฐบาลต้องผ่านกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของคนขับแท็กซี่ แต่กลับมากระทบกับกลุ่มพนักงานขับรถโดยสาร ในครั้งนี้
 
เรียบเรียงบางส่วนจาก:
South Korean bus drivers set for nationwide strike (channelnewsasia.com, 21-11-2555)
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย พ.ค.53 เสร็จคดีที่ 4 “ณัฐวุฒิ” ร่วมเบิกความ

Posted: 21 Nov 2012 05:53 AM PST

ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนการตายคดี "ลุงบุญมี" เหยื่อกระสุนเดือนพฤษภา 53 วันที่ 16 ม.ค.นี้ พนง.สอบสวน เบิกความ 3 ประเด็น "ชนิดกระสุน" "ทิศทาง" "และปากคำเจ้าหน้าที่" ชี้การตายเกิดจากกระกระทำของทหาร

ภาพนายบุญมี เริ่มสุข ขณะรักษาตัวก่อนเสียชีวิต

20 พ.ย.55 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคําร้อง คดีหมายเลขดํา ที่ ช. 7/2555 ที่พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ยานบอนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53 ขณะถูก ยิงเป็นช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายก รัฐมนตรี

โดยในวันนี้เป็นการนัดไต่สวนวันสุดท้ายของคดี โดยมีพยานเบิกความ 4 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ เจ้าหน้าที่สอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) พ.ต.ท.สาธิต ภักดี เจ้าหน้าที่สอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางรัก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) รวมทั้งทนายญาติผู้ตายคือนายดิศักดิ์ ดีสม ได้เบิกความในฐานะพยานด้วยเป็นปากสุดท้ายของการไต่สวนเพื่อนำคำเบิกความของพยานในคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ส่งศาล

ช่วงเช้า เป็นการเบิกความของ เจ้าหน้าที่สอบสวนของ DSI และ สน.บางรัก ซึ่งทั้งสองปากเบิกความยื่นยันจากผลการสอบสวนเชื่อว่าเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือจากคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่เกิดเหตุยืนยันว่าได้ปฏิบัติการบริเวณนั้นจริง หัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตเป็นกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่เบิกมาใช้ในการปฏิบัติการ ผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่พยานไปร่วมตรวจสอบด้วย พบรอยกระสุนจำนวนมากที่มีวิถีมาจากฝังเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ รวมทั้งรายงานการชุนสูตรพลิกศพที่ระบุว่าเสียชีวิตจากการติดเชื่อในกระแสเลือดรวมทั้งบาดแผลจากกระสุนปืน นอกจากนี้ผู้ตายยังได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับผู้เข้าเยี่ยมซึ่งมีบันทึกเป็นวีดีโอในระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล ระบุว่าถูกทหารยิง และตรงกับประจักษ์พยานที่ได้มาให้ปากคำ

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เบิกความด้วยว่าบริเวณที่ผู้เสียชีวิตถูกยิงมีร่องรอยกระสุนเจาะไปที่ตู้โทรศัพท์ เสา ป้ายต่างๆ สูงจากเข่าถึงหัว จนกระทั้งถึงบนสะพานลอยข้ามถนน ประมาณ เกิน 50 รอย ในช่วงเวลานั้นที่มาการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทราบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนแบบเดียวกับที่ผู้ตายถูกยิงคือ .223 เสียชีวิตประมาณ 15 ศพ ผู้บาดเจ็บประมาณ 100 คน ตั้งแต่สนามมวยมวยลุมพินีไปจนถึงใต้ทางด่วนพระราม 4

สำหรับกระสุนที่ผู้ตายถูกยิงนั้นจากการตรวจสอบ กระสุนมาจากฝั่ง ถนนพระราม 4 ขาเข้า บริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี โดยขณะนั้นมีทหารตั้งแนว อยู่หน้าสนามมวย ทั้ง 2 ฝัง วิถีกระสุนมุ่งหน้าไปทางฝั่งคลองเตย และเป็นทิศทางเดียวกับที่พบรอยกระสุนจำนวนมากบริเวณนั้น

เจ้าหน้าที่สอบสวนจาก DSI ยังเบิกความอีกว่า จากการสอบสวนในภายหลังและตรวจที่เกิดเหตุ และการตรวจคลิปเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ค.53 กระสุนจะยิงจาก 2 ฝั่งเป็นลักษณะสลับฟันปลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารจะตั้งกระสอบทราย หน้าสนามมวยลุมพินี โดยหากอยู่ฝั่งซอยงามดูพลีจะยิงไปฝั่ง ซ.ปลุกจิตหรือปั้ม ปตท. รวมทั้งจากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติการ นอกจากประจำอยู่หน้าสนามมวยแล้วยังมีการเคลื่อนที่ในวันแรก คือวันที่ 14 พ.ค. เลยปั้ม ปตท. สาขาพระรามสี่ และกลับมาตั้งแนวถาวรที่หน้ามสนามมวย

พ.ต.ท. สาธิต เบิกความว่าได้รับเอกสารจาก DSI  เป็นซีดีวีดีโอและการถอดเทปวีดีโอที่มีการสัมภาษณ์ผู้ตายในระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลระบุว่าถูกยิงมาจากฝั่งทหาร

เจ้าหน้าที่สอบสวน สน.บางรัก เบิกความผลการสอบสวนว่าผู้ตาย ถูกยิงเวลา 16.00 น. วันที่ 14 พ.ค. 53 บริเวนถนน พระราม 4 รักษาตัวและเสียชีวิตวันที่ 28 ก.ค. 53 สาเหตุเสียชีวิตจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับบาดแผลที่ถูกยิง

พ.ต.ท. สาธิต เบิกความด้วยว่า จากการสอบสวน พ.อ.เพชรพนม โพธิ์ชัย อดีตผบ.กองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์(ม.พัน 5 รอ.) และเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณเกิดเหตุยอมรับได้เขาไปปฏิบัติการในที่เกิดเหตุ ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้ยิงปืนเอ็ม 16 และลุกซอง แต่ให้การว่าใช้กระสุนซ้อมและยาง

ทั้งนี้ พ.ต.ท. สาธิต เบิกความอีกว่าตนเองได้ซีดีวีดีโอจากช่างภาพช่อง 7 ที่ตามบันทึกภาพวีดีโอขณะเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการและยิงปืน จึงได้ให้ผู้ชำนาญการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดูภาพลักษณะการใช้อาวุธปืน ซึ่งได้พิจารณาว่าหากกรณียิงกระสุนซ้อม จะต้องมีการคัดปลอกกระสุนออก แต่ตามภาพวีดีโอไม่มีการดึงคันรั้งลูกเลื่อนเพื่อคัดปลอกกระสุน อย่างไรก็ตามกรณีที่ไม่มีการดึงคันรั้งเพื่อคัดปลอกกระสุนออก ผู้ชำนาญการอธิบายว่าจะต้องมีอแดปเตอร์สวมไว้ที่ปากลำกล้องปืน เพราะอุปกรณ์นี้ทำให้ปากกระบอกปืนเล็กลงจึงมีแรงดันพอที่จะคัดปลอกกระสุนออกมาเองได้ แต่ตามภาพวีดีโอนั้นไม่พบอุปกรณ์ดังกล่าวติดอยู่ จึงเชื่อได้ว่าลักษณะการยิงดังกล่าวจะเป็นการใช้กระสุนจริง

ส่วนเรื่องชายชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุม พ.ต.ท. สาธิต เบิกความว่าจากการสอบสวน เจ้าหน้าที่ทหารและชาวบ้านบริเวณนั้น ระบุว่าไม่พบ และจากการสอบสวนในบริเวณผู้ตายถูกยิง เจ้าหน้าที่ตั้งด่านแข็งแรง ที่ห้ามคนเข้าออกไปที่สี่แยกราชประสงค์ได้ การตั้งด่านแบบนั้นจากทิศทางกระสุนปืนด้านหลังจึงทหารไม่สามารถมีใครเข้าไปหรือยิงมาได้ และขณะที่ผู้ตายถูกยิงนั้นไม่มีอาวุธ และไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมกับ นปช. แต่อาศัยบริเวณนั้น ซึ่งขณะเกิดเหตุออกมากินข้าว และดูกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้น ทหารไล่ผู้ชุมนุมมา จึงถูกยิง

หลังจากนั้นในช่วงบ่าย นายณัฐวุฒิ ได้เข้าเบิกความยืนยันการชุมนุมของ นปช. เมื่อ มี.ค.-พ.ค.53 มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้นายก คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าการเป็นรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ได้มาด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกรัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้อง โดยมีการชุมนุมตั้ง แต่วันที่ 12 มี.ค. ที่ราชดำเนิน 7 เม.ย.53 รัฐบาลประกาศสถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พรก.ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. ดูแลสถานการณ์โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ขณะนั้น เป็นผู้อำนายการ

นายณัฐวุฒิ เบิกความว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ชุมนุมถึงวันที่ 7 เม.ย.53 ผู้ชุมนุมไปที่ต่างๆ โดยไม่มีความรุนแรง หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลได้ตัดสัญญาณช่องพีเพิลชาแนลที่ถ่ายทอดสื่อสารการเคลื่อนไหวของ นปช.ให้กับประชาชนได้รับทราบ หลังจากนั้น 9 เม.ย. ตนและนปช. จึงเพื่อไปชุมนุมที่สถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ต่อสัญญาณ โดยที่นั่นมีเจ้าหน้าที่ที่มีอาวุธสงครามแต่ก็ไม่มีเหตุร้ายแรงใดๆ และได้รัฐบาลได้ต่อสัญญาณดาวเทียม พวกตนได้กลับไปที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่กลับถูกตัดสัญญาณอีก และนายกแสดงความไม่พอใจทางโทรทัศน์ และประกาศจะไม่ยอมให้เกิดเหตุนี้อีก

จนกระทั้งวันที่ 10 เม.ย.53 ช่วงสายได้รับรายงานว่าจะมีการเคลื่อนที่ สะพานผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมได้เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เข้ามา ในเหตุการณ์นั้นทหารมีอาวุธสงคราม มีปฏิบัติการต่อเนื่องจนถึงค่ำ จนกระทั้งมีประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารถูกยิงเสียชีวิต 25 ราย โดยประชาชนส่วนใหญ่ถูกยิงที่อวัยวะสำคัญและศีรษะ ก่อนที่ทหารจะหยุดปฏิบัติการ

วันที่ 13 พ.ค.ถ- เกิดเหตุลอบยิง เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่ ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศาลาแดง(สีลม) หลังจากนั้นได้รับรายงานว่าทหารได้ปิดกั้นบริเณรอบราชประสงค์ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าร่วมได้ จึงเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับประชาชนตามจุดต่างๆ เช่น ถนนพระรามสี่ ราชปรารภ แดนแดง ซ.รางน้ำ ส่งผลคนเข้าก็ไม่ได้ออกก็ไม่ได้เพราะทหารยิงสกัดอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งรัฐบาลประกาศตัดน้ำ ไฟ สัญญาณโทรศัพท์ บริเวณที่ชุมนุม

นอกจากนี้ แกนนำ นปช. เบิกความว่า ผู้ที่มาชุมนุม มีทั้งบุคคลทุกเพศวัย หลายสาขาอาชีพ สำหรับคำว่า การ "กระชับพื้นที่" ของ ศอฉ. นั้นหมายถึงการสลายการชุมนุม การวางกำลังอาวุธครบมือเพื่อสลายการชุมนุมในเหตุการณ 10 เม.ย. และ 13 ถึง 19 พ.ค.ถ- นั้น เป็นการปฏิบัติการทางการทหาร มีการใช้อาวุธสงคราม เขตกระสุนจริง อาวุธปืนติดลำกล้อง กระสุนจริง เป็นต้น รวมทั้งมีการนำส่งภาพพลซุ่มยิงให้กับศาล เพื่อยืนยันถึงการปฏิบัติการว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล

แกนนำ นปช. เบิกความยืนยันว่าการชุมนุมของ นปช. ไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่ ศอฉ.กล่าวอ้าง เนื่องจากชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ สำหรับคดีนี้ทราบจากข่าวว่าลุงบุญมีหรือผู้ตายถูกยิงที่บริเวณลำตัว วันที่ 14 พ.ค 53 ที่หน้าปั้มน้ำมัน ปตท. ทราบว่าแนวที่ถูกยิงมาจากทิศที่ทหารตั้งกำลังอยู่ โดยผู้ตายไม่มีอาวุธ ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่ทราบว่ามีการยิงลูกพลุตะไลของเล่นที่มีระยะยิงเพียง 10 เมตร ซึ่งไม่ถึงแบะไม่เป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้บางส่วนมีการใช้หนังสติ๊ก

 

วีดีโอคลิปสัมภาษณ์นายบุญมี ขณะเข้ารับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
คลิปจาก กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี

ทั้งนี้คดีไต่สวนการเสียชีวิตลุงบุญมี ถือเป็นคดีที่ 4 ที่ไต่สวนเสร็จสิ้น ในคดีการเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค. 53 โดยศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 16 ม.ค. 56 เวลา 9.00 น. ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา มี 1 คดีที่ ศาลได้มีคำสั่งว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่แล้ว คือคดีของการตายนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ราชปรารภในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา ส่วนอีก 2 คดีที่มีการไต่สวนเสร็จและรอคำสั่งศาล คือคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ โดยศาลอาญา รัชดา จะมีคำสั่งในวันที่ 26 พ.ย. นี้ ส่วนอีกคดีคือคดีของนายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 13 พ.ค.53 ที่บริเวณหน้าบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี โดยศาลนัดฟังคำสั่ง 17 ธ.ค. นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กพีประท้วงเปลี่ยนสภาพการจ้าง

Posted: 21 Nov 2012 05:51 AM PST

 

พนักงานบริษัทเอ็นเอ็กพี เซมิคอนดักเตอร์ ประท้วงการเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน ที่จะเปลี่ยนการจ้างงานเป็นระบบทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน จากระบบเดิมทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน หวั่นรายได้ลด-สภาพความเป็นอยู่เปลี่ยน

วันนี้ (21 พ.ย. 55) คนงานในสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กพี ชุมนุมประท้วงบริษัทเอ็นเอ็กพี เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย) เพื่อค้านการเปลี่ยนระบบการจ้างงานใหม่ จากเดิมระบบ 6:1 ทำงาน 6 วัน หยุดวันอาทิตย์ 1 วัน เป็นระบบ 4:2 ทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน และเพิ่มชั่วโมงการทำงานจาก 8 ชั่วโมงเป็น 12 ชั่วโมงต่อวันรวมโอที

โดย น.ส.จีรพา สุขชื่น กรรมการสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กพีกล่าวว่า ระบบการจ้างงานเดิมใช้มากกว่า 30 ปี ที่ผ่านมาคนงานก็ไม่เคยเรียกร้องสวัสดิการเพิ่ม แต่การเปลี่ยนระบบการจ้างงานใหม่ จะทำให้รายได้ลดลง เนื่องจากพนักงานในโรงงานกว่า 2 พันคน เป็นพนักงานจ้างแบบรายวัน และยังเป็นการบังคับให้ทำโอทีโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ระบบการจ้างงานใหม่จะทำให้สภาพความเป็นอยู่ของพนักงานเปลี่ยนไป เพราะกว่าจะเลิกงานจะทำให้มีเวลาให้ครอบครัวน้อยลง

ทั้งนี้ข้อเสนอนี้ข้อเสนอระบบการจ้างงานใหม่มาตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่ทั้งฝ่ายบริษัทและพนักงงานยังตกลงกันไม่ได้ จนกลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน ทั้งนี้ น.ส.จีรพากล่าวขอความเป็นธรรมด้วย เพราะระบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวิน เจีย เป่า เข้าพบ 'ยิ่งลักษณ์' ประกาศความร่วมมือด้านค้าข้าว-การศึกษา

Posted: 21 Nov 2012 03:32 AM PST

นายกฯ จีนเดินทางเข้าหารือกับนายกฯ ไทยร่วมลงนามข้อตกลง 4 ฉบับอาทิ ความร่วมมือการค้าข้าว การศึกษา-ส่งออกสินค้าการเกษตร ด้านไทยได้เชิญชวนภาคเอกชนจีนลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หวังขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 รองอธิบดีกรมสารนิเทศระบุว่าไม่ได้ถกกันเรื่องความขัดแย้งทะเลจีนใต้

21 พ.ย. 55 - เมื่อเวลา 10.15 น. นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เวิน เจีย เป่า ได้เดินทางมาเข้าพบนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องในวาระการมาเยือนอย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยได้หารือทวิภาคี และลงนามความตกลงและเอกสารความร่วมมือไทย-จีน 4 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา การค้าข้าว การกระชับความสัมพันธ์ และการโอนตัวผู้ต้องโทษผู้พิพากษา ในขณะที่จีนสนใจเรื่องการลงทุนในไทยด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูง เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ก่อนจะมีการแถลงข่าวร่วมระหว่างทั้งสองฝ่าย ยิ่งลักษณ์ได้นำเวิน เจีย เป่า เดินตรวจแถวกองทหารกองเกียรติผสม 3 เหล่าทัพ ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนจะหารือทวิภาคีเรื่องข้อตกลงร่วม และเป็นสักขีพยานการลงนามข้อตกลง 4 ฉบับ ได้แก่ 1. บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือ 2. การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสานสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องโทษผู้พิพากษา 3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทย และ 4. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าวสองฝ่าย 

ในการแถลงข่าวร่วม ยิ่งลักษณ์กล่าวแสดงความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับเวิน เจีย เป่า ในการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และในฐานะที่เป็นการเดินทางมาก่อนที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเวิน เจีย เป่า ก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และยังกล่าวถึงการหารือทวิภาคีว่า ประเทศไทยมีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับจีนอีกในหลายๆ ด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และการลงทุน 

 

เหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน แถลงข่าวร่วมกับ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
 
ทางด้านวัฒนธรรม นายกฯ ไทยกล่าวว่า ในเช้าวันนี้ ได้เดินทางไปร่วมเปิดศูนย์วัฒนธรรมจีนในประเทศไทย และไทยเองก็จะมีเแผนเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน นอกจากนี้ ยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลไทยและจีน นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวของจีนที่เดินทางมาไทย มีจำนวนราว 1.9 ล้านคน จึงได้มีข้อตกลงที่จะขยายความร่วมมือในด้านการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เป็นต้น 

ส่วนด้านการค้าและการลงทุน ยิ่งลักษณ์ระบุว่า ไทยแสดงความสนใจในการร่วมมือด้านการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังจีน อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และผลไม้ และอยากให้รัฐบาลจีนช่วยดูแลเรื่องข้อติดขัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังสนใจเรื่องการส่งออกเอทานอลไปยังจีน ซึ่งจีนได้เสนอเป็นเจ้าภาพในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ครั้งที่ 3 โดยในวานนี้ ภาคเอกชนก็ได้ลงนามในสัญญาการซื้อขายข้าวด้วย และยังกล่าวเชิญชวนให้นักลงทุนจากจีนมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้การลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 จากอุตสาหกรรมอาทิ การแปรรูปยางธรรมชาติ พลาสติก ชีวภาพ และยานยนต์ รวมถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รถไฟฟ้าความเร็วสูง ระบบป้องกันน้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่จีนได้แสดงความสนใจลงทุนอยู่แล้ว 

นายเวิน กล่าวแสดงความยินดีที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการขจัดปัญหา และรับมือกับความท้าทายกับปัญหาภัยพิบัติ และวิกฤติการณ์ทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นายกฯ จีน ยังกล่าวว่า จีนยินดีที่จะได้ร่วมมือกับไทยในระดับทวิภาคีและในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมุ่งหวังว่าจะส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ และเป็นการดำเนินตามแผนการพัฒนา 5 ปี ของจีน โดยมุ่งเน้นการกระชับความร่วมมือด้านสิ่งก่อสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคม ชลประทาน การเกษตร และการลงทุน  

ด้านนายดำรง ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า จีนได้แสดงความสนใจในการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่างมาก โดยสายนำร่องคาดว่าน่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย และขยายต่อเข้าไปในประเทศลาวและจีน ส่วนในประเด็นเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ นายดำรงกล่าวว่า มิได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด

หลังจากการหารือและแถลงข่าวร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ จีน มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ทำเนียบองคมนตรีในเวลา 17.00 น. จากนั้นเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ รพ. ศิริราช และจะเดินทางกลับไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในค่ำวันเดียวกัน 

อนึ่ง การมาเยือนครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการในรูปแบบของทวิภาคีของเวิน เจีย เป่า โดยก่อนหน้าที่จะเดินทางมาไทย นายกฯ จีนได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน (10+1) ครั้งที่ 15, การประชุมกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกจีน เกาหลี ญี่ปุ่น (10+3) สมัยพิเศษ และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย. และได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย. หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐบารัค โอบามา เดินทางเยือนประเทศไทยก่อนหน้านี้ 3 วัน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลูกชายเจ้าของ 'ฮอลลิวูด รีพอร์ตเตอร์' ขอโทษแทนพ่อกรณีบัญชีดำ 'ล่าแม่มด' เมื่อ 65 ปีก่อน

Posted: 21 Nov 2012 03:17 AM PST

วิลลี่ วิลเคอสัน ลูกชายเจ้าของสื่อ 'ฮอลลิวูด รีพอร์ตเตอร์' ออกมาขอโทษแทนพ่อ จากกรณีที่พ่อของเขาเคยเขียนบทความขึ้นบัญชีดำคนทำงานวงการภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ว่าพัวพันคอมมิวนิสต์ ในช่วงยุค 1940s เผยพ่อทำไปเพื่อต้องการแก้แค้นสตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่กีดกันความฝันการตั้งสตูดิโอของตัวเอง

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา วิลลี่ วิลเคอสัน ลูกชาย วิลเลี่ยม อาร์ วิลเคอสันของผู้ก่อตั้งสำนักข่าวฮอลลิวูดรีพอร์ตเตอร์ ออกมากล่าวขอโทษแทนพ่อของตนที่เคยตีพิมพ์บทความตั้งแต่ช่วงยุค 1940s ซึ่งกล่าวหาคนทำงานในแวดวงหลายคนว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับคอมมิวนิสต์

วิลเคอสันผู้พ่อ ตีพิมพ์บัญชีดำของฮอลลิวูดครั้งแรกในวันที่ 25 พ.ย. 1947 ที่มีการขึ้นบัญชีดำคนในวงการทั้งนักแสดง, นักเขียน และผู้กำกับ ว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้มีความเห็นอกเห็นใจต่อคอมมิวนิสต์ ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่และได้ทำลายชื่อเสียงการงานของผู้ถูกกล่าวหา

วิลลี่ วิลเคอสัน ผู้เป็นลูกชายบอกว่าตนถือโอกาสครบรอบ 65 ปีของเหตุการณ์อันมืดมน เขียนบทความขอโทษผู้เคยถูกกล่าวหาลงในฮอลลืวูดรีพอร์ตเตอร์ และสารภาพว่าพ่อของเขาทำไปเพียงเพราะต้องการแก้แค้นสตูดิโอภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่

วิลลี่เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะก่อตั้งฮอลลิวูดรีพอร์ตเตอร์ พ่อของเขาเคยมีบทบาทในวงการภาพยนตร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้เป็นโปรดิวเซอร์ จนกระทั่งในปี 1927 เขาวางแผนก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์ของตนเอง แต่สตูดิโอยักษ์ใหญ่ผู้ยึดกุมทรัพยากรการผลิตภาพยนตร์ไว้ทุกอย่างไม่ยอมช่วยเหลือ ตั้งแต่การให้เขาใช้ตัวนักแสดงที่มีพรสวรรค์รวมถึงช่องทางฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งทำให้พ่อของเขาฝันสลาย และคิดล้างแค้น

"ด้วยความพยายามทำลายเจ้าของสตูดิโอ เขา (พ่อ) พบว่าการตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการทำลายผู้มีพรสวรรค์ที่ทำงานร่วมกับพวกเขา" วิลลี่กล่าวถึงพ่อตัวเอง

"ในยุคที่ผู้คนเริ่มตื่นกลัวลัทธิคอมมิวนิสม์ วิธีการง่ายที่สุดในการทำลายเจ้าของสตูดิโอคือการบอกว่านักแสดง, นักเขียน และผู้กำกับของพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์" วิลลี่กล่าว "แต่โชคร้ายที่มันเกิดผลกระทบข้างเคียงต่อประวัติศาสตร์"

ในบทความ วิลล์เล่าว่า สิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น 'การล้างบางฮอลลิวูด' (Hollywood's Holocaust) ก็ลามไปทั่วประเทศในสมัยโจเซฟ แมคคาธี เป็นวุฒิสมาชิกรัฐวิสคอนซิล สร้างความเสียหายต่อสภาพชีวิตของชาวอเมริกันหลายพันคน

"การเรียกใครก็ตามว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในยุคนี้คงดูเป็นเรื่องขำขัน แต่ในปี 1950 มันคือคำสั่งประหารชีวิตอาชีพการงานของคนผู้นั้น มีประชาชนหลายคนต้องออกจากงานโดยทันที และในหลายๆ กรณีก็ถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงานที่อื่น" วิลลี่กล่าวในบทความ

"บัญชีดำนั้นทำให้คนมีพรสวรรค์ชั้นยอดในสตูดิโอบางแห่งถูกระงับงาน และทำลายคนอื่นๆ ที่แค่ยืนดูอยู่รอบๆ" วิลลี่กล่าว

"ในฐานะตัวแทนของครอบครัว และตัวแทนของพ่อ ผมกล่าวขอขมาจากใจจริง และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหยื่อของเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้" วิลลี่กล่าว

วิลเลี่ยม อาร์ วิลเคอสัน เสียชีวิตในปี 1962 สองปีหลังจากที่บัญชีดำถูกทำให้หมดค่า วิลเคอสันผู้ลูกกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ถ้าหากพ่อของเขายังมีชีวิตอยู่นานพอ เขาก็จะขอโทษเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามวิลลี่ ได้กล่าววิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคนั้นว่า เป็นหนึ่งในตัวการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายได้ แต่ก็ไม่ยอมทำ


เรียบเรียงจาก

'Hollywood Holocaust' apology published by paper, BBC, 20-11-2012

An Apology: The Son of THR Founder Billy Wilkerson on the Publication's Dark Past, Hollywood Reporter, 19-11-2012

http://en.wikipedia.org/wiki/Hollywood_blacklist (เข้าดูเมื่อ 21 พ.ย. 2012)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘แรงเงา’ กับวัฒนธรรมกฎแห่งกาม กฎแห่งกรรม (และธรรมะเข้าแทรก)

Posted: 21 Nov 2012 03:12 AM PST

ว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับละคร "แรงเงา" ตามกระแสที่กำลังมาแรง แต่เห็น อ.วอร์ม (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์) 'อิน' กับเรื่องนี้แบบดุเดือดเลือดพล่านเหลือเกินใน FB ทุกคืนวันจันทร์ อังคารก็เลยลองดูละครเรื่องนี้บ้าง บังเอิญว่าตอนที่ผมดูนั้นเห็นเพื่อนนางเอกพูดนางเอก (ประมาณ) ว่า "เธอเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมไหม ถ้าเชื่อใครมันทำอะไรไม่ดีเอาไว้กรรมจะตามสนองเอง ..." แล้วฉากต่อมาก็เห็นพระเอกกับครอบครัวใส่บาตรทำบุญวันเกิด ผมก็เลยถามเมียที่ดูแรงเงาแบบติดหนึบมาตลอดว่า เรื่องราวมันเป็นยังไง จึงเกิด "ซาโตริ" ว่า อ๋อ นี่มันเป็นเรื่องราวของ "วัฒนธรรมกฎแห่งกาม กฎแห่งกรรม (และธรรมะเข้าแทรก)" ในสังคมบ้านเรานี่หว่า

"วัฒนธรรมกฎแห่งกาม" ในบ้านเรานั้นเป็นวัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้กำหนดกฎและคุมกฎเอง ฉะนั้น "ผู้มีอำนาจทำอะไรไม่ผิด" เพราะเรื่อง "ชู้สาว" ผู้ชายมีแต่ได้ไม่มีเสีย เขามักจะบอกกับเมียหลวงว่า "คุณอย่าคิดอะไรมากน่า เมียน้อยมันก็แค่ของเล่นชั่วคราวของผมเท่านั้นเอง" และบอกกับเมียน้อยว่า "ผมเบื่ออีแก่ที่บ้านเต็มทน" หรือถ้าดีขึ้นมาหน่อยคือ "ผมรับผิดชอบทั้งสองฝ่ายได้น่า ไม่มีปัญหาอะไร ขอให้เชื่อผม" หมายความว่าในวัฒนธรรมกฎแห่งกาม ผู้ชายทำอะไรไม่ผิดและจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเมียหลวง เมียน้อยยอมเดินตามกฎที่เขากำหนดและควบคุมมัน

ผมเคยถามอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ว่า "สมัยโบราณกษัตริย์ก็มีสนมมากไม่ผิดศีลข้อกาเมหรือครับ แล้วทำไมถึงยกย่องกันกษัตริย์ที่มีสนมเยอะๆว่าทรงทศพิธราชธรรม" (ศีลเป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม 10 ข้อ) อาจารย์สุลักษณ์ตอบแค่ว่า "ไม่ได้ค้นดู แต่พระเจ้าพิมพิสาร (ที่เป็นโสดาบัน) ก็มีสนมหลายคนนะ" ผมก็เลยเข้าใจเองว่า เรื่องสนมห้าร้อยนี่อาจอ้างว่า เป็นความยินยอมพร้อมใจกันทุกฝ่ายชาวพุทธจึงเห็นว่าไม่ผิดศีลข้อกาเม แต่ก็นั่นแหละครับ หากมีกษัตริย์เป็นผู้หญิงและมีผัวน้อยห้าร้อยคนบ้าง (โทษทีไม่รู้จะใช้คำอะไรแทน "สนมห้าร้อย") สังคมก็ประณามอยู่ดี เพราะเอาเข้าจริงกฎแห่งกามเป็นเรื่องของผู้ชายเป็นฝ่ายกำหนดมาตรฐานถูก-ผิดทางศีลธรรม เป็นทั้งฝ่ายสร้างกฎและฝ่ายคุมกฎ

ส่วนเมียหลวง เมียน้อยก็จะมี "วัฒนธรรมกฎแห่งกรรม" เข้ามาเกี่ยวข้อง เมียหลวงนั้นอ้างความชอบธรรมทางศีลธรรมเพื่อที่จะ 1) ยืนยันสิทธิความเป็นเจ้าของสามี 2) ประณามเมียน้อยว่าเป็นคนเลวแย่งผัวชาวบ้าน และ 3) สำหรับคนเลวแล้วคือคนที่สมควรถูกขจัดอย่างไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีการที่ถูกหรือผิด เช่น อาจจะจ้างคนไปทำร้ายร่างกาย ข่มขืน หรือฆ่าเมียน้อย เป็นต้น สำหรับเมียน้อยนั้นไม่มีความชอบธรรมทางศีลธรรมรองรับเลย สังคมไม่อยู่ข้างเธอ กฎแห่งกรรมสำหรับเมียน้อยก็เป็นข้ออ้างเพื่อ 1) ยอมรับชะตากรรม เพราะทำกรรมเก่ามาไม่ดีชีวิตถึงได้เป็นแบบนี้ 2) หากถูกเมียหลวงตามทำร้ายด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายก็ไม่ควรตอบโต้ ปล่อยให้กรรมตามสนองเขาเอง และ 3) หรือไม่ก็พลิกตัวเองมาเป็นผู้กำหนดเกมในกฎแห่งกาม

มุตตาในแรงเงาคือเหยื่อของกฎแห่งกามที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ทำอะไรไม่ผิด และมีเมียหลวงที่อ้างศีลธรรมในฐานะเจ้าของสามีที่สามารถใช้วิธีการใดๆก็ได้เพื่อกำจัดเมียน้อยซึ่งเป็น "คนเลว" ส่วนมุนินทร์ที่มาแก้แค้นแทนน้องสาวนั้น คือผู้ที่พยายามเข้าไปเป็นผู้กำหนดเกมในกฎแห่งกาม และพระเอกคือคนดีที่นำธรรมะเข้ามาแทรกอยู่ตรงกลางระหว่าง "ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่"

สำหรับชายผู้นั้น (เจนภพ) ผู้ซึ่งทำอะไรไม่ผิด และไม่ต้องรับผิดชอบในการทำอะไร แม้เป็นทั้งผู้กำหนดกฎและผู้คุมกฎ แต่ในความเป็นจริงเขากลับคุมกฎหรือคุมเกมไม่ได้เลย เขาหลอกตนเองว่ามีอำนาจเหนือกว่าทั้งเมียหลวง เมียน้อย แต่การหลอกตัวเองเช่นนั้นทำให้เขาถูกคนที่แสร้งเชื่อในอำนาจของเขาปั่นหัวตลอดเวลา จนครอบครัวล่มสลาย ลูกติดยา เมียประสาทแดก

ดูๆ ไป แรงเงาออกจะคล้ายๆ เรื่องราวละครการเมืองในประเทศนี้ เพราะวัฒนธรรมกฎแห่งกามไม่ใช่เรื่องเพศเท่านั้น แต่ศัพท์ว่า "กาม" หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ชวนปรารถนา น่าอยากได้ อยากเอา เช่น อำนาจ ผลประโยชน์ ในบ้านเราฝ่ายอำมาตย์เป็นฝ่ายกำหนดกฎแห่งกามเกี่ยวกับเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ และเสื้อแดงคือฝ่ายที่พยายามต่อสู้ ต่อรองเพื่อเข้ามามีอำนาจกำหนดกฎและคุมกฎให้เป็นประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศ

แต่ในสถานการณ์ที่ดุลอำนาจยังสับสน ความขัดแย้งระหว่าง "ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่" ดำเนินมาจนผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และยังดำเนินต่อไปอย่างอาจสุ่มเสี่ยงต่อความสูญเสีย "ธรรมะ" ก็เข้ามาแทรกเป็นระยะๆ ตั้งแต่ธรรมะไล่คนเลว (แบบเมียหลวง) ธรรมะทำตัวเป็นกลาง สมานฉันท์ สงบสันติ สามัคคีประเทศไทย กระทั่งธรรมสุญญตาแห่งอำนาจ ปล่อยให้กฎธรรมชาติลงโทษ ให้เข้าใจ ให้อภัย ลืมๆ มันไปเสีย (แบบพระเอก)

แน่นอน ในละครแรงเงา และละครการเมืองแทบไม่มีการพูดถึง "ระบบอำนาจที่เป็นปัญหา" อย่างตรงไปตรงมาแบบจริงๆ จังๆ ปัญหาแทบทุกอย่างถูกทอนลงเป็นเรื่อง "ดี – เลว" ของ "ตัวบุคคล" และตัวบุคคลกลายเป็นภาระของมวลชน (หรือสังคมทั้งสังคม) ที่ทั้งต้องออกมาพิทักษ์ปกป้อง และ/หรือทั้งต้องออกมาขับไล่!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานอนุ กมธ. โลกมุสลิมฯ วุฒิ เชื่อ 'โอบาม่า' ยังเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาโลกมุสลิม

Posted: 21 Nov 2012 03:03 AM PST

 

'วรวิทย์ บารู' ส.ว. ปัตตานีประธานอนุกมธ. โลกมุสลิมฯ วุฒิ เชื่อ 'โอบาม่า' ยังเป็นความคาดหวังในการแก้ไขปัญหาในโลกมุสลิม ส่วนปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้กับการมาของโอบามาคงไม่กระทบแม้มีการกล่าวหาอเมริกันอยู่เบื้องหลัง ฟันธงเป็นเรื่องท้องถิ่นมาก แนะทางแก้ศึกษาแนวทางฟิลิปินส์ที่เน้นเจรจา ระบุ ถ้าบริหารจัดการให้ดีขึ้นปัญหาจะจบลงเอง

 
 
นายวรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ไทยกับโลกมุสลิม (ที่มาภาพ: http://news.parliament.go.th)
 
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน ได้สัมภาษณ์นายวรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ไทยกับโลกมุสลิม ถึงสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซ่าซึ่งดำเนินติดต่อกันมาเป็นวันที่ 7 นับถึงวันอังคาร (20 พ.ย.) โดยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตนับแต่วันเกิดเหตุแล้ว 136 คน ในขณะที่การเจรจาหยุดยิงในไคโร ประเทศอียิปต์ยังไม่มีข้อสรุป แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นหลังนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีสหรัฐ เข้าไปมีส่วนในการเจรจา
 
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซ่า เราคงเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขสถานการณ์ได้ไม่มากนัก เพราะมีมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายอยู่เบื้องหลัง คือเชื่อมโยงกับประเทศมุสลิมและประเทศมหาอำนาจด้วย คงต้องแก้ไขด้วยการทูต ซึ่งถ้าดูในประเทศอียิปต์ในขณะนี้มีผู้นำมาจากกลุ่มภราดรภาพที่ทำให้กลุ่มอื่นเกรงกลัว แต่ความจริงแล้วอียิปต์พยายามจะช่วยแก้ปัญหา และทั้งๆที่อิสราเอลเองก็มีความเกรงกลัวกลุ่มภราดรภาพนี้จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะใช้ความรุนแรง แต่การที่อิสราเอลเลือกใช้ความรุนแรงอาจจะเพราะมีความพร้อมมากกว่า สุดท้ายก็มีการตายเกิดขึ้น คนที่อยู่ข้างหลังก็ต้องสูญเสีย สิ่งเหล่านี้จะแก้ได้ก็ต้องมาจากการพูดคุยและวิถีทางทางการทูต เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือน โดยทางออกที่ประเทศมหาอำนาจได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการจัดการปัญหาอย่างชัดเจน 
 
"ส่วนประเทศไทยได้ให้จุดยืนรับรองปาเลสไตน์ในองค์การสหประชาชาติแล้ว (UN) ซึ่งทางปาเลสไตน์ได้ส่งตัวแทนมาขอบคุณประเทศไทยในชั้นกรรมาธิการ เราได้รับรองสถานะของรัฐปาเลสไตน์ที่อยู่ที่นั่น พร้อมกันนี้ก็ยังให้การรับรองอิสราเอลด้วย เพราะความขัดแย้งนี้มีเรื่องประวัติศาสตร์มายาวนาน และอิสราเอลเองยังมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก มันจึงไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาดและรุนแรง  ประเทศไทยคงยอมรับไม่ได้ต่อความรุนแรงและการฆ่ากัน" นายวรวิทย์ กล่าว
 
เมื่อผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่นายบารัค โอบามา ได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้งจะส่งผลอย่างไรต่อความขัดแย้งในโลกมุสลิม นายวรวิทย์ ตอบว่า ท่าทีต่อประเทศอิสลามของประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องไม่ดูแค่ บารัค โอบามา แต่ให้ดูที่นโยบายของพรรค ซึ่งพรรคเดโมแครตดีกว่าพรรคริพับลิกัน เพราะจะใช้นโยบายเสรีนิยมซึ่งดูเหมือนว่าใช้กระบวนการพูดจาพูดคุยมากกว่าต่อกรณีปัญหาในประเทศมุสลิม นอกจากนี้ นายโอบามาก็เป็นความคาดหวังในการแก้ไขปัญหาพอสมควรในโลกมุสลิม ซึ่งการยึดการเจรจาพูดคุยแม้ว่าจะยากลำบากกว่าการใช้ความรุนแรงแต่ก็ไม่มีคนตาย
 
"ทางโลกมุสลิมให้ความเชื่อถือเดโมแครตมากกว่า เพราะเคยได้รับความลำบากจากสมัยของริพับลิกัน และนโยบายของเดโมแครตก็ดีกว่า ดังนั้นจะเห็นว่าการรับรองรัฐปาเลสไตน์เกิดในสมัยโอบามา ประเทศไทยก็มองที่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มองเห็นมนุษยธรรมและเห็นว่าการที่โอบามาเป็นประธานาธิบเป็นผลดีต่อประเทศมุสลิมมากกว่า" 
 
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงกรณีที่ นายบารัค โอบามา มาเยือนประเทศไทยว่าจะส่งผลอย่างไรหรือไม่ต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายวรวิทย์ วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า 
 
"จุดอ่อนของเราอย่างหนึ่งคือ ความหลากหลายของสังคมแบบพหุสังคม ซึ่งในประเทศเราได้รับความสนใจน้อย ดังนั้นเวลาเราพิจารณาแต่ละเรื่องมันจะแก้ปัญหาไม่ได้ถ้าเราไม่แยกแยะเรื่องเหล่านี้มาพิจารณาด้วย ในเชิงสากลสามจังหวัดมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งโดยความเป็นจริงในรัฐธรรมนูญก็รับรองอัตลักษณ์เหล่านี้ ความหลากหลายเหล่านี้ไว้แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่การปฏิบัติ ซึ่งการที่โอบามาพูดถึงปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่า มันไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอในการฆ่ากันตรงนี้ส่งผลโดยตรงไปถึงปัญหาโรฮิงญาในพม่า และก็ได้ส่งผลต่อโลกมุสลิมในภาพรวมด้วยว่า การฆ่ากันนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาและไม่ใช่ทางออกที่ดี ส่วนการที่มีคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวหาว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่รัฐไทยพยายามกระทำต่อคนมุสลิมในสามจังหวัดนั้น ก็เหมือนกับการที่ทางการไทยพยายามจะหาว่าใครอยู่เบื้องหลังขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งสุดท้ายรัฐไทยก็หาผู้อยู่เบื้องหลังไม่ได้ เพราะความจริงแล้วมันเป็นเรื่องท้องถิ่นมากๆ เป็นปัญหาเฉพาะท้องถิ่นจริงๆ ไม่เกี่ยวกับภายนอกแต่อย่างใด ดังนั้น เราต้องศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปินส์ว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร สุดท้ายก็คือการเจรจาซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจเลย เป็นแค่การสร้างมโนคติขึ้นมา และเราไม่เคยเจอการสนับสนุนอย่างชัดเจนสักที มันเป็นเรื่องท้องถิ่นและต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น ปัญหามันก็จะจบลงไปเอง" 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอหวั่นยุบกองทุนย่อย สปสช. ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ เหตุยาแพง

Posted: 21 Nov 2012 03:02 AM PST

ศ.พญ.ภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย สปสช. เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากและต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่โชคดีที่ผู้ป่วยในประเทศไทยทุกคนได้รับสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพของของรัฐเหมือนกับผู้ป่วยของประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานะร่ำรวยจากเดิมที่ สปสช. ยังไม่มีการตั้งกองทุนย่อยแยกการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ออกมา มีผู้ป่วยจำนวนเพียงเล็กน้อยที่สามารถเข้าถึงการบริการได้ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานจาการมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่ข้อและ ส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิตก่อนถึง รพ.หรือมีอาการหนักและต้องนอนรักษาภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่มีค่าใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากจนเป็นภาระกับรพ.ที่ให้การรักษา

ประธานมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย กล่าวต่อว่า ในนามของผู้ดูแลผู้ป่วยต้องขอบคุณ บอร์ดสปสช.ที่ปี 2556 นี้ ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 160 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าบริการให้ รพ.ต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ให้ผู้ป่วยและญาติมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การดูแลตัวเองและให้กำลังใจกัน ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเกิดผลดีมากขึ้นอย่างชัดเจน ลดอัตราการป่วยหนักจนต้องนอนรพ.และลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมได้อย่างมากจนเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่าประเทศไทยมีระบบดูแลผู้ป่วยโรคนี้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง

"ขณะนี้แพทย์และผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียกำลังวิตกกับข่าวที่ท่าน รมว.สาธารณสุขประกาศนโยบายจะยุบกองทุนย่อยต่างๆ ของ สปสช. เกรงว่าระบบที่ถูกวางไว้อย่างดีจะถอยหลังกลับสู่ยุคเดิม สร้างความทุกข์ให้กับหมอ พยาบาล และ ผู้ป่วยรวมทั้งจะทำให้ค่าบริการและยามีราคาแพงมากขึ้นจนผู้ป่วยทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้ ถ้านโยบายยุบกองทุนย่อยมีจริง อยากให้ทบทวนเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการบริการ มีโอกาสมีชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข" ศ.พญ.ภัทรพร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความสำเร็จภายใต้กฎหมายความมั่นคง

Posted: 21 Nov 2012 02:52 AM PST

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4  ส่วนหน้า ได้ประกาศผลความสำเร็จในการทำงานเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการอบรมแทนการดำเนินคดี ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยมีผู้จบหลักสูตรการอบรมมาแล้วสองคน คือ นายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ ทั้งสองคนเป็นผู้ต้องหาและได้รับสารภาพในความผิดที่ถูกกล่าวหา โดยยอมรับว่ากระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยินยอมเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 แทนการถูกดำเนินคดี

นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นการสร้างบรรยากาศที่จะเอื้อให้หลายคนที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มของขบวนการก่อความไม่สงบอย่างหลงผิดและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้มีช่องทางหรือหาทางออกให้กับตัวเอง

กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ฉีกแนวกว่ากฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับมาแล้ว ทั้งกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเปิดพื้นที่ให้ผู้กระทำความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงแต่กลับใจได้มีโอกาสเข้ามอบตัว หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วพบว่าผู้ต้องหานั้นๆกระทำไปเพราะหลงผิดและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเห็นว่าการกลับใจของผู้นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง ในกรณีอย่างนี้ หากผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) เห็นชอบ ก็สามารถส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล และหากศาลเห็นสมควร เมื่อสอบถามผู้ต้องหาแล้วสมัครใจเข้าร่วมอบรม ก็อาจสั่งให้ผู้ต้องหานั้นเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดไว้เป็นเวลาไม่เกินหกเดือนแทนการถูกดำเนินคดี

ผลในทางกฎหมายในกรณีนี้ คือ สิทธิในการนำคดีมาฟ้องเกี่ยวกับความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นอันระงับไป ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ต้องหาเอง

เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นต้องการให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือผู้ที่มีหมายจับ ไม่ว่าจะเป็นหมายจับตามพรก.ฉุกเฉินหรือตามป.วิอาญาได้เข้าสู่กระบวนทางกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อที่จะยุติการก่อเหตุรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบ อันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการสร้างบรรยากาศหรือเปิดพื้นที่ให้กับคนที่มีความเห็นต่างได้มีโอกาสเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา จึงเป็นความปรารถนาดีของรัฐที่มีต่อฝ่ายที่หลงผิดและเข้าสู่ขบวนการ ไม่ว่าที่ยังอยู่ในพื้นที่หรือที่กำลังหลบหนีก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ยุติทั้งความคิดและการกระทำ  

เท่ากับว่ารัฐได้เปิดหนทางให้แล้ว และหากพวกเขาเข้าสู่กระบวนการนี้ก็มีโอกาสที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ในกรณีที่ไม่มีอาชีพ ทางการก็อาจหาอาชีพให้โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอให้ยุติการก่อเหตุรุนแรง หยุดสร้างความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง ร่วมกันพัฒนาชาติและสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่อไป

แต่ข้อสรุปนี้จะเป็นความคาดหวังที่ยังห่างไกลความจริงของรัฐหรือไม่ เพราะเมื่อดูทางฝ่ายขบวนการแล้วยังไม่ปรากฏสัญญาณใดที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการตอบรับการหยิบยื่นทางออกเช่นนี้ให้  จะเห็นว่า ทุกครั้งที่ปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรง  ก็มีการคาดเดาเอาว่าเป็นการตอบโต้ของขบวนการ เหตุผลที่มักพูดกันก็คือเพราะฝ่ายขบวนการเห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังทำงานประสบผลสำเร็จ มีประชาชนให้ความร่วมมือมากขึ้น เช่นมีตัวอย่างจากการที่มีแกนนำระดับปฏิบัติการที่เคยอยู่ร่วมขบวนการเข้ามอบตัว (ดังเช่นกรณี 93 คนที่มามอบตัวที่คณะกรรมการอิสลามนราธิวาส) เพราะทนกับแนวทางการทำงานของขบวนการไม่ได้ จึงขอยุติการใช้อาวุธเพื่อจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ความสำเร็จของฝ่ายรัฐดังว่านี้ ว่ากันว่าทำให้กลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงไม่พอใจและออกมาพยายามเรียกคนหรือเรียกคะแนนคืนด้วยการสร้างเหตุรุนแรงต่อเนื่องไม่เลิก

เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อย่างเข้าสู่ปีที่ 10 นี้ ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐที่มีทหารเป็นฝ่ายนำ กับฝ่ายขบวนการที่ไม่มีตัวตนและไม่เปิดเผยตนเอง รัฐได้ทุ่มเททั้งงบประมาณและกำลังพลเข้ามาในพื้นที่สามจังหวัด ในขณะที่ฝ่ายขบวนการแทบจะไม่ได้ลงทุนอะไรมากนัก อาศัยอุดมการณ์การต่อสู้โดยใช้ศาสนาและประวัติศาสตร์ในการปลูกฝังจิตวิญญาณ โดยมีชีวิตของคนในสามจังหวัดเป็นตัวประกัน 

ต่างฝ่ายต่างต่อสู้ทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ช่วงชิงการนำมวลชน และแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่า โดยใช้วิธีการทุกอย่าง ประชาชนในสามจังหวัดจึงอยู่ระหว่างเขาควาย ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็มีสิทธิที่จะถูกทิ่มแทงทั้งสิ้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาฝ่ายรัฐมีอำนาจที่จะกำหนดทั้งทางการทหารและการเมือง ยิ่งมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ยิ่งเป็นแรงเสริมให้การใช้อำนาจมากขึ้น  แต่ดูเหมือนยิ่งใช้อำนาจมากเท่าใดก็ยิ่งเปิดจุดอ่อนที่กลับไปช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายขบวนการมากขึ้นเท่านั้น เพราะข้อสรุปที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ กฎหมายอาจเป็นเครื่องมือในปราบปรามอาชญากรรมและควบคุมสังคมได้ก็จริง แต่สำหรับการต่อสู้กับอุดมการณ์ ความคิดและจิตวิญญาณนั้น การใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างเดียวไม่น่าจะได้ผล

เพราะอีกฝ่ายมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐ แต่สำหรับเขาแล้วทั้งความคิดและการกระทำ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าไม่ยอมรับอำนาจรัฐตั้งแต่แรกแล้ว

การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงกำลังจะกลายเป็นสิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าการใช้กฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับคือทั้งกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นล้มเหลว แม้เจ้าหน้าที่จะประกาศมาโดยตลอดว่าประสบผลสำเร็จ

อันที่จริงแล้วการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในอำนาจรัฐ เป็นเรื่องเดียวกันกับความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย  และเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างบรรยากาศหรือเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความคิดต่างกลับเข้ามาร่วมมือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการในเวลาเดียวกัน

การบังคับใช้กฎหมายที่มุ่งแต่เพียงให้ได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ จึงเป็นการทำลายความชอบธรรมของตัวกฎหมายเอง เพราะการใช้อำนาจของรัฐต้องอาศัยกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อใดที่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง หรือใช้อำนาจตามกฎหมายไปละเมิดสิทธิหรือปฏิบัติจนเกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจที่จะกระทำได้ การกระทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรไปกับการทำลายกฎหมายที่ให้อำนาจมานั่นเอง  

จากการใช้กฎหมายพิเศษที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหามากมาย  แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายจะดี แต่ฝ่ายที่นำกฎหมายไปปฏิบัติต้องเข้าใจเจตนารมณ์ ระวังไม่ให้การใช้กฎหมายกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สร้างปัญหาให้คนในพื้นที่ จริงอยู่ที่ว่า หลักการของกฎหมายให้โอกาสกับผู้ที่กระทำความผิดได้มีช่องทางในการที่จะเข้าสู่กระบวนการอบรม แทนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เรื่องนี้ควรใช้กับผู้ที่กระทำความผิดจริงแต่หลงผิดเพราะถูกชักจูง หรือได้กระทำเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ ที่สำคัญต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ต้องหาเองด้วย เพราะเป็นสิทธิทางกฎหมายที่คุ้มครองตัวเขาเอง

หากผู้ต้องหาไม่ยอมเข้าร่วมก็ควรจะยอมรับในการตัดสินใจของพวกเขา ไม่พึงใช้วิธีการคุกคามจนผู้ต้องหาหรือครอบครัวไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ ไม่ควรปฏิบัติต่อผู้ต้องหาโดยไม่ให้เกียรติและไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  หรือแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ยอมเข้าร่วมกับผู้ที่ไม่ยอมเข้าร่วม เพื่อแสดงตัวอย่างให้บุคคลอื่นได้เห็นอันเป็นลักษณะของการบังคับในทางอ้อม

ที่สำคัญต้องใช้กฎหมายฉบับนี้กับผู้ที่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าได้กระทำความผิดจริง ทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร ไม่ใช่ว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด แต่ถูกบังคับให้รับสารภาพหรือถูกซัดทอดจากบุคคลอื่น หรือว่าถูกออกหมายจับอันมาจากข้อมูลทางการข่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ซึ่งในหลายกรณีเป็นผลสืบเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

และในกรณีที่เขาขอใช้สิทธิในการต่อสู้คดี  ควรที่จะเปิดโอกาสหรือให้ความสะดวกกับผู้ต้องหาได้พิสูจน์ความผิดของตนเอง และใช้สิทธิต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่  ทั้งหมดนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอดีตที่ให้บทเรียนมาแล้ว

หวังว่ากฎหมายความมั่นคงจะไม่สร้างปัญหาเหมือนที่ผ่านมา มิฉะนั้นแล้วก็อาจจะต้องมานั่งออกแบบกฎหมายในสามจังหวัดกันต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ประเด็นจากการสัมมนาเรื่อง « First Digital Democracy Conference Bangkok »

Posted: 21 Nov 2012 02:51 AM PST

 

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่องประชาธิปไตยในระบบดิจิตัลครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุม 310 ตึกมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Noviscape Consulting Group, เครือข่ายพลเมืองเนต และ Siam Intelligence Unit โดยได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วัตถุประสงค์ของการจัดงานนั้นเพื่อระดมความคิดเพื่อการริเริ่มหัวข้อวิจัยใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยในระบบดิจิตัล โดยเฉพาะงานวิจัยแบบสหวิทยาการเพื่อสร้างฐานความรู้ในด้านเทคโนโลยีดิจิตัลและประชาธิปไตยต่อไป  และมีเป้าหมายในการจัดเป็นกิจกรรมวิชาการต่อเนื่องรวมถึงขยายตัวไปสู่เวทีระดับภูมิภาค สร้างกลุ่มความร่วมมือของนักวิจัยใหม่ๆและนักปฏิบัติจากสาขาวิชาต่างๆเพื่อสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมบนไซเบอร์สเปซ การเมืองดิจิตัล สิทธิและจริยธรรม การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคมรวมทั้งประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยในระบบดิจิตัลของประเทศไทย และประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามผ่าน Twitter :@DiDeBKK #DiDeBKK01

ปัญหาช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของการปรับตัวสู่ยุคดิจิตัล

กษมา กองสมัคร ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศในสถานการณ์ประเทศไทย[1] ซึ่งมีแนวโน้มการใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้น (ร้อยละ 66) แต่อัตราการใช้คอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เนตมีแนวโน้มคงที่ (ร้อยละ 32 และ ร้อยละ 27 ตามลำดับ) การกระจายตัวในการใช้อินเตอร์เนตและคอมพิวเตอร์มีความเหลื่อมล้ำโดยจะกระจุกในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองมากกว่า เขตชนบท รวมถึงเทคโนโลยีอินเตอร์เนตที่ทันสมัยกว่า เช่น  ระบบไร้สาย ก็กระจุกตัวในกรุงเทพฯมากกว่าชนบท ในด้านประชากรผู้ใช้ อินเตอร์เนต พบว่าประชากรอายุระหว่าง 15-24 ปีเป็นกลุ่มประชากรที่มีการใช้มากที่สุด และกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปีเป็นกลุ่มประชากรที่ใช้น้อยที่สุด ในด้านการศึกษา ผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป้นกลุ่มประชากรที่มีอินเตอร์เนตใช้มากทีสุด

นอกจากปัญหาการขาดแคลนในการเข้าถึง (lack of access) แล้วสิ่งที่ควรให้ความสำคัญด้วยคือ การขาดแคลนความหลากหลาย (lack of diversity) ของสื่อที่ให้ผู้บริโภค, พฤติกรรมของผู้บริโภค (consumption behaviour) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนการคิดวิเคราะห์ (lack of critical thinking) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการรู้เข้าใจสื่อ (Medoa Literacy) โดยผู้ใช้จะสามารถหาข้อมูลเองได้, รู้ว่าใครเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร, เข้าใจความหมายของสื่อ, รู้ว่าผู้ให้ข้อมูลใช้เทคนิคจูงใจอย่างไร, แยกแยะอคติ หรือเรื่องไม่จริงได้, เข้าใจว่าผู้ให้ข้อมูลอาจไม่ให้ความจริงทั้งหมด และ ประเมินค่าข้อมูลข่าวสารตามประสบการณ์และเหตุผล สามารถสร้าข้อมูลสื่อสารของตนและสื่อสารได้

ในตอนท้ายท่านวิทยากร ได้เสนอประเด็นสำคัญที่ควรสนใจในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศกับประชิปไตยว่า จะช่วยดึงคนกลุ่มน้อย เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายู ฯลฯ ในสังคมเข้าร่วมหรือสสับสนุนอย่างไร (Minority included), การเปิดกว้างของตัวเนื้อหาของสื่อ (Open dialogue), การเข้าร่วมประชาธิปไตย แบบสนใจประเด็นหรือ เทิดทูนตัวบุคคล (Personality vs issue oriented) เช่น ผู้ที่มีความเห็นแตกต่างเรื่องการเหมืองเหลืองแดง ควรจะมองและถกเถียงกันเป็นประเด็นปลีกย่อยมากกว่าการบูชาตัวบุคคล และความจำเป็นของการเซนเซอร์ (Censorship necessary)

ความเป็นกลางทางเนต และอินเตอร์เนตในอนาคต

ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ได้บรรยายถึงความเป็นกลางของผู้ปฏิบัติการ (operator) ในการส่งผ่านสื่อ โดยชี้ให้เห็นว่าแนวคิดหลักดังกล่าวเป็นหลักคิดการสื่อสารตั้งแต่ยุคก่อนสมัยที่มีอินเตอร์เนต ผู้ปฏิบัติการเช่น กรมไปรษณีย์มีหน้าที่ในการส่งจดหมายจากผู้ส่งถึงผู้รับโดยไม่สามารถละเมิดเปิดซองอ่านข้อความที่อยู่ในนั้นได้ รัฐไม่มีอำนาจละเมิดสิทธิของเอกชนเพื่อล่วงรู้ข้อความการสื่อสารดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันด้านการใช้อินเตอร์เนตมีผู้เสนอความคิดว่า ผู้ปฏิบัติการควรมีอำนาจบางประการในการเผ้าระวัง (monitor) ข้อความในสารที่ผู้บริโภคส่งไป โดยกลุ่มที่ให้การสสรับสนุนดังกล่าวยกเหตุผลว่า เพื่อคัดกรองสื่อที่ดีออกจากสื่อที่เลว และเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการเคลื่อนที่อินเตอร์เนตเพื่อสื่อที่ดีสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การจัดการกับเมลขยะ การจัดการเวปไซต์สื่อลามก เพื่อให้สื่อที่ดีที่สำคัญ เช่น รายงานสภาพน้ำท่วม ไปหาผู้บริโภคได้เร็วกว่าเดิม ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีเหตุผลว่า ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันและมีสิทธิที่จะเลือกมีวิจารณญาณตนเองในการเสพสื่อ นอกจากนี้การตัดสินใจว่าสื่อไหนดีสื่อไหนเลวเป็นเรื่องที่ยากและจะให้ใครเป็นผู้ตัดสิน การให้อำนาจกับผู้ปฏิบัติการในการเฝ้าระวังข้อมูลนั้นจะมีใครเป็นผู้ตรวจสอบผู้ปฏิบัติการ และเราสามารถใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการจัดการกับเมลขยะ สแปม

วิทยากรให้ความเห็นว่าถ้าล้มหลักการความเป็นกลางทางเนตลงแล้ว ในอนาคตผู้ปฏิบัติการจะกุมอำนาจในการควบคุมข่าวสารทุกอย่าง ส่วนในด้านอนาคตของอินเตอร์เนตนั้นอินเตอร์เนตจะเข้ามาแทนที่การสื่อสารยุคก่อนเช่นโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ โดยปัจจุบัน เราสามารถใช้อินเตอร์เนตในการเปิดดูรายการในโทรทัศน์ หรือวิทยุ และอินเตอร์เนต และตั้งคำถามว่าในอนาคตอินเตอร์เนตจะขึ้นอยู่กับปัจจัยใด

ความมั่นคงกับโลกดิจิตัล[2]

พ.อ. ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง ชี้ให้เห็นว่าปัญหาความมั่นคงทางโลกดิจิตัลเกิดจากความแตกต่างระหว่างรุ่น โดยคนในรุ่นเบบีบูมเมอร์เป็นกลุ่มคนที่ครอบครองอำนาจในการทำนโยบายสาธารณะในปัจจุบัน ความมั่นคงด้านดิจิตัลสามารถแบ่งได้เป็นสามระดับ คือระดับกายภาพ (Physical) เช่น ความปลอดภัยในด้านการดูแลโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสาร ระดับระบบข้อมูลข่าวสาร (Information system) และระดับการนึกคิด (Cognitive) โดยในระดับนึกคิดมีความสำคัญที่สุดและอิงกับการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองที่ใช้การสื่อสาร เลือกตั้งครั้งล่าสุดมีการใช้ การตลาดมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนความคิดคน เครื่องมือที่สำคัญคือการสื่อสาร  ในปัจจุบันนิยามความมั่นคงอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยความมั่นคงมิใช่ความมั่นคงของชาติที่เป็น traditional security เท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมี non-traditional security เช่นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ตามกลไกที่ใช้ควบคุมความมั่นคงในระยะเปลี่ยนผ่านก็ยังเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการ (authorities) เช่น ทหาร ข้าราชการ โดยหวังว่ารูปแบบในอนาคตที่ฝันไว้จะมีภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นกลไกร่วมด้วยเช่นกันและจะเกิดประเด็นความมั่นคงในโลกไซเบอร์ตามมา ส่วนในด้านช่องทางของสื่อซึ่งบทบาทของสื่อแบบใหม่มีอิทธิพลมากขึ้นและจะครอบคลุมประชากรทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ในด้านเทคนิคในการควบคุมความมั่นคง ในระยะเปลี่ยนผ่านคือการใช้การเซนเซอร์ ซึ่งหวังว่าในอนาคตรูปแบบที่ฝันไว้คือ ภาคประชาชนจะเข้ามาแทนที่การเซนเซอร์โดยการมีการควบคุมกันเอง เช่น การเฝ้าระวังความปลอดภัย (Security awarness) หรือ การตอบโต้ข่าวลือ (Counter narrative)

ความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ : ความตระหนักรู้ของประชาชน

อาจารย์โสภาค พาณิชพาพิบูล ได้ชี้ให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิบุคคลผ่านสื่อในสถานการณ์ประเทศไทยเกิดขึ้นทุกวันโดยที่เราไม่ตระหนักถึง เช่น การแอบถ่ายคลิปเป็นต้น ความเป็นส่วนตัว (privacy) คือ สิทธิที่อยู่โดยลำพัง     มิติของระเบียบสังคมในการที่ทุกคนรวบรวมการเข้าถึงข้อมูลจัดการข้อมูลของตัวเขาเอง  สิทธิของบุคคลในการตัดสินใจว่านำข้อมูลของบุคลลนั้นไปสื่อสารได้    ความสามารถบุคคลในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสาร อัตลักษณ์   สภาวะที่จำกัดการเข้าถึงของตัวบุคคล   จากนิยามข้างต้นสามารถแบ่งระดับความเป็นส่วนตัวได้เป็น 3 ระดับคือ ระดับกายภาพ ระดับการสื่อสาร และ ระดับข้อมูลข่าวสาร โดยระดับข้อมูลข่าวสารเป็นระดับที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว

แนวคิดรากฐานเรื่องความเป็นส่วนตัวมาจากแนวคิดเรื่อง ปัจเจกชนนิยม เสรีนิยม การแยกแยะระหว่างขอบเขตของรัฐกับภาคประชาสังคม สิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของประชาชน  

การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมีความสำคัญเพราะสิทธิทางข้อมูลเป็นต้นกำเนิดของสิทธิอื่นๆตามมาและเป็นการถ่วงดุลอำนาจการเฝ้าระวังจากรัฐ สำหรับประเทสไทยสิทธิความเป็นส่วนตัวเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การเกิดขึ้นของสังคมสารสนเทศและเครือข่ายอินเตอร์เนตทำให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ง่ายขึ้น แต่การคุ้มครองกลับเป็นได้ยากในประเทศไทย นอกจากนี้สถานการณ์ขัดแย้งการเมืองปัจจุบันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะเป็นอาวุธสำคัญในการทำลายฝ่ายตรงข้าม เช่น กรณีการถูกล่าแม่มดของผู้ใช้นามแผง ก้านธูป ข้อมูลการวิจัยพบว่า คนไทยมีระดับการตระหนักรู้ต่อการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวอยู่ในระดับปานกลาง

ตอบโต้ Hate Speech โดยใช้ Wikipedia ?

อาจารย์ ชาญชัย ชัยสุโกศล เกริ่นนำว่าความเกลียดชังเหมือนกับความรัก เราไม่สามารถขจัดมันไปจากโลกนี้ได้ แต่ควรจะจัดการอย่างไรกับการแสดงออกถึงความเกลียดชัง วิทยากรชี้ให้เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันและการใช้เสรีภาพทางการเมืองในการแสดงความเห็นในประเทศไทยมีความเข้มข้นขึ้น จนนำไปสู่ความเกลียดชังทางการเมืองและแสดงออกมาในรูป Hate Speech โดยในต่างประเทศได้มีกลุ่มเชิดชูภาวะคนผิวขาวสร้างเวปไซต์ชื่อ Stormfort เพื่อเป็นเวปฐานทรัพยากรชาตินยมผิวขาว ปัจจุบันมีเวปไซต์ที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังมากกว่า 5000 เวปไซต์ และสร้างวัฒนธรรมการเกลียดชังเหยียดเชื้อชาติ เวปชุมชนเสมือนจริงเชื่อมโยงกับองค์กรเหยียดผิวระหว่าประเทศ

สำหรับสถานการณ์ประเทศไทย มีการใช้ Hate Speech ในประเด็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นกรณีผู้ใช้นามแฝง ก้านธูป โดยผู้แสดงความเกลียดชังผ่านการใช้ Hate Speech ผ่านทางสื่ออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะเฟซบุค ระดับการใช้คำพูดมีความรุนแรงมาก เช่น"อีเด็กเวร" "รุมโทรม" "ยิงทิ้ง" "กระทืบ" "ฆ่ามัน"

สำหรับท่าทีต่อความเกลียดชัง วิทยากรเสนอว่า การแสดงความคิดเห็นแบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ Free speech, Hate speech และ Do Harm Speech ผลที่ตามมาของ Free Speech ที่หวังไว้คือการเกิดความจริงและสติปัญญา ส่วน Hate Speech คืออการเกิความโกรธ เกลียดและกลัว Do Harm Speech ผลคือการเรียกร้องให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพตามมา สำหรับวิทยากรแล้วมาตรฐานต่ำสุดคือ เราอาจไม่จำเป็นต้องปิดกั้นการแสดงความเกลียดชังแต่การแสดงความเห็นแบบที่จำเป็นต้องเซนเซอร์คือ Do Harm Speech ส่วนวิธีการตอบโต้ Hate Speech สามารถทำได้ 4 วิธีคือ การใช้การแสดงความคิดเห็นสวนโต้ (Counter Speech) การทำแรยะขัดขืรทางอิเลคโทรนิคส์ การป่วนทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนความเกลียดชัง

วิทยากรเห็นว่า  Wikipedia เป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่งในการตอบโต้ความเกลียดชัง โดยตัวโครงการแรกเริ่มมีเพื่อให้สมาชิกทุกคนที่มีทิศทางเป้าหมายร่วมกัน คือการสร้างสรรค์ เก็บความรู้สำหรับมนุษยชาติ ถึงแม้การสร้างเนื้อหาในวิกิพีเดียจะมีความขัดแย้งกันประจำเนื่องจากมีการเปิดเสรีให้ใครก็ได้ที่ไม่เป็นสมาชิกสามารถแก้ไขลบทิ้ง เนื้อหา ข้อความ รูปภาพ ของคนอื่นๆที่แปะลงไปในบทความ และเกิดการแก้กันไปกันมาระหว่างคนสองคนนี้อาจเกิดการเขม่นกันขึ้นมาได้ แต่ด้วยเงื่อนไขที่เท่าเทียมกันของโครงสร้างอำนาจในการแก้ไข ทำให้เกิดเงื่อนไข ถ้าอยากจะเขียนข้อความโดยที่คนอื่นไม่เห็นด้วยจะต้องอธิบายให้คนอื่นเข้าใจและยอมรับได้ว่าทำไมจึงสมควรเขียนเนื้อหาข้อความเช่นนี้

แท็ก หรือต้องการอ้างอิง ในบทความวิกีพีเดียก็เป็นตัวเตือนให้ผู้อ่านระมัดระวังก่อนที่จะเชื่อข้อกล่าวหาที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง รวมถึงคำอธิบายกฎกติกามารยาทในการใช้วิกิพีเดีย เพื่อให้ผู้ใช้มีวัฒนธรรมเชื่อว่า ผู้อื่นมีเจตนาดี และให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้แต่ภายใต้สภาวะการขัดแย้ง

การก่อตัวของสถาบันของการเมืองในโลกดิจิตัล : บทบาทของสื่อใหม่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

คุณ สมบัติ บุญงามอนงค์ ชี้ให้เห็นว่าสภาพการณ์ปัจจุบันมีการการก่อตัวของ ไวรัลมาร์เกตติ้ง    ในยุคดิจิตัล โดยใช้สื่อนอกกระแสหลักเช่น ยูทูบ เฟซบุค ทวิตเตอร์ ขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมากกว้างขวางและถึงกลุ่มเป้าหมาย  อย่างไรก็ตามก็สามารถเกิดความวุ่นวายได้เช่ยกัน 

สำหรับทางการเมือง  ความคิดการเมืองคือชุดคิด หรือไวรัสทางความคิด กับแอนติไวรัสความคิด ระบบการเมืองก็คือคอมพิวเตอร์ เราจะแยกอย่างไรว่าสิ่งใดเป็นไวรัส สิ่งใดเป็นแอนตี้ไวรัสคอมพิวเตอร์  โดยต้องดูว่าชุดความคิดนั้นลดประสิทธิภาพของระบอบการเมืองหรือไม่   เราถูกไวรัสการเมืองครอบงำความคิดประชาชนมานาน และจำเป็นต้องหาแอนตี้ไวรัสเพื่อนำไปต่อต้านไวรัสการเมืองที่บ่อนทำลายประชาชน 

สรุป

ระบบดิจิตัลไม่สามารถคงอยู่สถานะเป็นเครื่องมือเพื่อรับใช้ความต้องการของมนุษย์ได้เพียงอย่างเดียวต่อไป แต่ได้ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ต่างๆโดยเฉพาะในเวทีการแสดงความคิดเห็นปฏิสัมพันธ์กันในสังคมและในระบบการเมือง และแน่นอนว่าในระบบสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรมย่อมเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมดิจิตัลและสร้างความไม่มั่นคงในระบบสังคมดังกล่าวทั้งในตัวระบบสังคมเนตและลามไปสู่ระบบสังคมจริง อย่างไรก็ตามกลไกรัฐอาจมิใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหาและจำเป็นต้องใช้ภาคประชาชนเป็นผู้ดูแลตัวเอง

การเติบโตของเทคนโลยีสารสนเทศ และอินเตอร์เนตก่อให้เกิดกลุ่มทางสังคม และพื้นที่ทางสังคมใหม่ ร่วมถึงกลุ่มประชากรชนิดใหม่ หรือ Net Citizen ขึ้นมา และประชาชนกลุ่มนี้จะมีปฏิสัมพันธ์ลักษณะใดบ้างรูปแบบใดบ้าง ประเด็นใดบ้างในอนาคต และจะส่งผลต่อประเด็นการปกครองในรูปแบบใดภายในโลกเสมือนจริงนี้ ดิจิตัลจะกลายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมประชาธิปไตยหรือ จะมีการสร้างประชาธิปไตยในโลกดิจิตัล หรือประชาธิปไตยในโลกจริงกับโลกเสมือนจริงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากนักวิชากร ผู้เชี่ยวชาญในสหวิทยาการต่างๆเพื่อสร้างองค์ความรู้และตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นประชาธิปไตยในระบบดิจิตัลในอนาคต




[1] http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/files/ictHSum54.pdf

[2] http://trendsoutheast.org/2011/all-issues/issue-24/enabling-security-in-cyber-society/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โลกรุมประณามไทย เอาตัวรอดจากโลกร้อนเพียงลำพัง

Posted: 21 Nov 2012 02:45 AM PST

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น