โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘นศ.พรรคสามัญชน’ ร่วมขบวน ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ จี้ผู้ว่าฯ ปิดเหมืองแร่ทองคำเลย

Posted: 22 Nov 2012 11:37 AM PST

นศ.เผยผลจากลงพื้นที่ ยันเหมืองทองคำกระทบชุมชน กรณีบ่อเก็บกากแร่รั่วทำไซยาไนด์ไหลลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม-แหล่งน้ำสาธารณะ ทั้งบริษัท-หน่วยงานรัฐไม่เหลียวแลแก้ปัญหาให้ชุมชน

 
 
วันที่ 22 พ.ย.55 เวลาประมาณ 8.00 น ชาวบ้าน "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" จาก 6 หมู่บ้าน ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ประมาณ 500 คน ร่วมกับนักศึกษาในนามพรรคสามัญ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นชน เดินขบวนรณรงค์ในตัวจังหวัดเลย เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของเหมืองแร่งทองคำที่เกิดขึ้นให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
 
อนึ่ง เดิมในวันดังกล่าวบริษัทฯ มีกำหนดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) หรือพับลิคสโคปปิ้ง (Public scoping) ประกอบการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในการขอประทานบัตรเลขที่ 104/2538 เพื่อขยายการทำเหมืองทองไปยังบริเวณภูเหล็ก แต่ก่อนถึงกำหนดการจัดเวที บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือถึงนายก อบต.เขาหลวงขอเลื่อนการจัดเวทีไปเป็นวันที่ 21 ธ.ค.55 ซึ่งการเลื่อนเวทีพับลิคสโคปปิ้งในครั้งนี้ เป็นการเลื่อนครั้งที่ 5 นับจากเดือน มิ.ย.55
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลาประมาณ 11.00 น ขบวนรณรงค์ได้มาหยุดที่หน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเลย โดยมีข้อเรียกร้องให้เร่งดำเนินการปิดเหมืองทันทีตามคำสั่งของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยเมื่อวันที่ 5 พ.ย.55 เพื่อแก้ปัญหาเหตุบ่อเก็บหางแร่ซึ่งปนเปื้อนไซยาไนด์และโลหะหนักอื่นๆ ที่รั่วไหลอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งให้หยุดการดำเนินการอันไม่ชอบธรรมเพื่อขยายเหมืองทองดังกล่าว
 
ระหว่างรอการเจรจากับผู้ว่าฯ กลุ่มชาวบ้านมีการปราศรัยให้ข้อมูลปัญหาของการทำเหมืองในพื้นที่เป็นระยะ กระทั่งมีการแจ้งว่าผู้ว่าฯ ติดภารกิจที่กรุงเทพฯ โดยปลัดจังหวัด และตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลงมาทำหน้าที่พูดคุยกับชาวบ้านแทน
 
 
ประเด็นที่ชาวบ้านเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.กรณีรายงานไต่สวนประกอบการขอประทานบัตรเป็นเท็จ เรียกร้องให้จังหวัดเข้ามาตรวจสอบและจัดทำรายงานใหม่ให้ถูกต้องก่อนจัดเวที public scoping ยังไม่ได้รับคำตอบจากปลัดอย่างชัดเจนในการดำเนินการ
 
2.เมื่อบริษัทยังไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีแม้แต่ข้อเดียว การประกอบกิจการเหมืองแร่รวมทั้งการต่อประทานบัตรจะต้องหยุดดำเนินการก่อน ซึ่งหากบริษัทยังจะจัดเวทีในวันที่ 21 ธ.ค.อีก ย่อมถือเป็นการจัดทำ EHIA ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ทางจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดทำหนังสือคัดค้านการจัดเวทีอย่างเป็นทางการไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะส่งหนังสือตามไปอีกครั้งหนึ่ง
 
ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ตัวแทนจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด แสดงความเห็นว่า บริษัทมีสิทธิดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ในการจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ โดยมีหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้เพียงเข้าไปสังเกตการณ์ แต่หน่วยงานรัฐจะมีความเห็นในการพิจารณาไม่แตกต่างจาก มติ ครม.
 
ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 กำหนดอย่างชัดเจนให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่หรือการขอประทานบัตรของบริษัทดังกล่าว จนกว่าจะได้ข้อสรุปสาเหตุการปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพหรือ HIA แต่จนถึงขณะนี้บริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด
3. กรณีสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ในพื้นที่โครงการพังทลาย ทางอุตสาหกรรมจังหวัดรับว่าจะเข้าไปในพื้นที่เพื่อกันเขตพื้นที่ปนเปื้อนก่อน ส่วนปริมาณสารพิษในไร่นาและแหล่งน้ำต้องรอผลการตรวจจากกรมควบคุมมลพิษ
 
4. เรื่องใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมซึ่งสิ้นอายุ เมื่อวันที่ 12 ส.ค.55 ชาวบ้านแสดงเจตนาคัดค้านการต่ออายุการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และไม่ให้ต่ออายุประทานบัตรแปลงใหม่ โดยจะทำหนังสืออย่างเป็นทางการต่อไป
 
ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงกับชาวบ้านว่า โรงงานประกอบโลหะกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดไม่มีอำนาจ ซึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ กำหนดให้ขณะยื่นต่ออายุ ยังดำเนินการได้อยู่
 
ทางด้านปลัดจังหวัดตอบเพียงว่าได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งคำคัดค้านของชาวบ้านไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และจะดำเนินตอบข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้เร็วที่สุด
 
ภายหลังการเสร็จสิ้นการเจรจา ตัวแทนชาวบ้านได้มอบหนังสือร้องเรียนต่อปลัดจังหวัดเพื่อให้ภาครัฐดำเนินตามข้อเสนอของชาวบ้าน ส่วนกลุ่มคาราวานนักศึกษาภายใต้ชื่อพรรคสามัญชนก็ได้มอบต้นสักทองและขนมทองม้วนให้แก่ปลัดจังหวัด
 
 
นายสมานฉันท์  พุทธจักร หนึ่งในคาราวานนักศึกษาอธิบายความหมายของการมอบต้นสักทองและขนมของม้วน  ว่า มันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าในเมื่อเหมืองอยากได้ทองมากเราจึงให้ต้นสักทองเพราะมันก็เป็นทองเหมือนกันแถมยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย แต่มันกำลังสื่อถึงสิ่งแวดล้อมที่จะโดนทำลาย ส่วนทองม้วนนั้นมันก็เป็นทองและยังเป็นทองที่กินได้ ไม่เป็นมลพิษเหมือนสารเคมีจากเหมือง
 
นศ.เผยผลจากลงพื้นที่ ยันเหมืองทองคำกระทบชุมชน  
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา คาราวานโบกรถรณรงค์คัดค้านเหมืองแร่ทองคำของนักศึกษาพรรคสามัญชน ได้เดินทางถึงพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำในบ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย และได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน
 
 
จากกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่มีการร้องเรียนว่า เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ในพื้นที่โครงการพังทลาย ทำให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและที่นาของชาวบ้าน และต่อมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยได้มีคำสั่งด่วนเมื่อวันที่ 5 พ.ย.55 ให้บริษัทฯ หยุดการทำเหมืองทันทีและแก้ไขปัญหาจนกว่าจะยุติ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างที่บริษัทฯ อุทธรณ์ต่อคำสั่งดังกล่าว
 
 
กลุ่มนักศึกษาระบุว่า ได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากกระบวนการทำเหมืองที่ไม่มีมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอ  ซึ่งทำให้สภาพสิ่งแวดล้อม พื้นที่ทำกินของชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหายอย่างหนัก ปัญหาดังกล่าวเกิดจากบ่อกักเก็บไซยาไนด์แตก เนื่องจากวิธีการทำบ่อเก็บไม่ได้มาตรฐานโดยใช้เพียงคันดินกั้นบ่อไว้ ทำให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่พื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำสาธารณะของชาวบ้านจนไม่สามารถนำไปอุปโภคบริโภคได้ดั้งเดิม และมีผลต่อเนื่องทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่เปลี่ยนไป
 
ขณะที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองยังไม่ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใดให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าผู้ได้รับความเดือดร้อนจะต่อสู้เพื่อคัดค้านเหมืองหลายครั้งแล้วก็ตาม
 
 
นางมล คุณนา ตัวแทนชาวบ้านซึ่งพานักศึกษาลงพื้นที่สำรวจรอบเหมือง กล่าวว่า พื้นที่รอบเหมืองนั้นเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน บริเวณดังกล่าวจะมีน้ำซับน้ำซึมตามฤดูกาล แต่เมื่อมีเหมืองทำให้บริเวณดังกล่าวแห้งแล้งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นเดิม และต่อมาปรากฏว่ามีน้ำซึมขึ้นมา ชาวบ้านจึงลงสำรวจและพบว่าน้ำที่ไหลออกมานั้นมีสารไซยาไนด์ปนเปื้อน ซึ่งเป็นสารที่รั่วไหลออกมาจากเหมือง  แต่ทางเหมืองก็ไม่ได้มีการออกมาชี้แจงว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
 
ด้านนางสาววศินี บุญทีตัวแทนกลุ่มนักศึกษา กล่าวว่า จากการได้ลงพื้นที่ และพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว และชาวบ้านก็พยายามขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นจากทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองเพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าว หรือจากทางหน่วยงานของรัฐก็ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจ หรือเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ทำให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงโดยไม่มีที่สิ้นสุด
 
 
 
  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ปราบสิ่งยั่วยุความรุนแรง

Posted: 22 Nov 2012 09:37 AM PST

ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามสิ่งของยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรง ให้อำนาจ จนท.ค้นบ้าน-คอมฯ นักวิชาการด้านเทคโนดิจิทัล ชี้ กม.นิยามความผิดกว้างและไม่ชัดเจน

20 พ.ย.55 ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 

โดยไทยรัฐออนไลน์รายงานด้วยว่า นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้เห็นชอบตามที่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เพื่อให้มีกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับวัตถุลามก รวมถึงสื่อที่ส่งเสริมและยั่วยุพฤติกรรมต่างๆ ที่ร้ายแรงไม่น้อยกว่าวัตถุลามก  ขณะที่เรื่องนี้ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และครั้งนี้เป็นการยืนยันร่างเดิมไม่มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปไว้ดังนี้

          1. กำหนดความหมายของสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายและลักษณะการกระทำที่เป็นพฤติกรรมอันตราย ซึ่งรวมถึงการกระทำวิปริตทางเพศ การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก การฆ่าตัวตายของเด็กหรือเป็นหมู่คณะ การใช้ยาเสพติด การกระทำความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อทรัพย์ และขยายความหมายของคำว่า "เด็ก" ให้ครอบคลุมถึงตัวแสดงที่ปรากฏอยู่ในสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายซึ่งมีลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเด็กด้วย

          2. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามกฎหมายอื่นที่มีลักษณะหรือเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย และกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยและการวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการและการประสานงาน

          3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น

          4. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

          5. กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชนผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

          6. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจค้นในสถานที่หรือเคหสถานของบุคคล ค้นบุคคลหรือยานพาหนะ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ยึดหรืออายัดสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมทั้งมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดในพัสดุภัณฑ์จดหมาย ตู้ไปรษณีย์ ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลและต้องรายงานผลการดำเนินการให้ศาลทราบด้วย และให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

          7. กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย

นายอธิป จิตตฤกษ์ นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกับศิลปวัฒนธรรม  มอง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า นิยามความผิดกว้างไป ทั้งขอบเขตของสิ่งยั่วยุความรุนแรง เขียนคลุมสื่อกระตุ้นความรุนแรงเกือบหมด และตัวคำว่า "ยั่วยุ" เอง มันไม่ชัดเจน(Clear)มันถูกละเมิด(Abuse)ได้ง่าย จริงๆ มันควรจะเป็นกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก (Child Porn) แต่กลับใส่อะไรมาเต็มเลย เหมือนแถม จึงคิดว่าควรจะตัดส่วนที่แถมมาออกให้หมด เหลือกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็กพอ

อย่างไรก็ตาม อธิป กล่าวย้ำสำหรับกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็กด้วยว่า แม้จะให้ตัดเหลือแต่ส่วนนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเองจะเห็นด้วยเห็นด้วยหรือไม่กับกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก เพราะตอนนี้มันมีดีเบตในต่างประเทศจำนวนมากเรื่องนี้ ว่าจะคุมยังไงไม่ให้การปราบปรามมันไปละเลย เสรีภาพในการแสดงความเห็น(Free Speech) และสิทธิพลเมืองในแง่อื่นๆ

นักวิชาการอิสระ ยังกล่าวอีกว่าทุกวันนี้กฎหมายสอดส่องอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศมันผ่านก็เพราะอ้างว่าจะปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก หากอ้างเรื่องลิขสิทธิ์แรงต่อต้านมันเยอะแล้ว อย่างเช่นแบบที่ SOPA หรือ ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Stop Online Piracy Act) ตกไปในอเมริกา ACTA ตกไปในสภายุโรป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมงพื้นบ้านท่าศาลา บุก ‘สผ.’ ค้านมติ คชก.เห็นชอบ EHIA ท่าเรือเชฟรอน

Posted: 22 Nov 2012 08:03 AM PST

ชี้ประเด็นความบกพร่องของมติ คชก.อาจนำมาซึ่งการสูญสลายของทะเล แหล่งอาหาร วิถีประมง และชีวิตของประมงชายฝั่งท่าศาลา ด้าน เลขาธิการ สผ.ยืนยัน คชก.พิจารณารายงานรอบคอบแล้วในทุกด้าน

 
วันนี้ (22 พ.ย.55) เวลา 13.00 น.สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางมายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เข้ายื่นหนังสือคัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA) กรณี "โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย" ของ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนและเพิกถอนมติให้ความเห็นชอบ รวมทั้งในระหว่างการดำเนินการ ให้มีหนังสือถึงกรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับไม่ให้มีการนำรายงาน EHIA ดังกล่าว ไปพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาต
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ให้เหตุผลการคัดค้านว่า กระบวนการพิจารณาและการให้ความเห็นชอบโครงการไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายผังเมือง ดังนี้ 1.การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ และผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง 2.การดำเนินโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ที่เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของชุมชนประมง อันจะนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมง 3.การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
 
4.การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ   มีข้อบกพร่องในหลักการความสมบูรณ์ครอบคลุมของการระบุผลกระทบของโครงการ และ 5.การพิจารณาเห็นชอบโครงการ ขาดข้อมูลการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ และขัดต่อเจตนารมณ์ตามร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม กิจกรรมการเก็บ ลำเลียงวัตถุอันตราย
 
 
หลังการเข้ายื่นหนังสือ นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยืนยันว่า คชก. ได้พิจารณารายงานโดยรอบคอบแล้วในทุกด้าน ตามรายงานและข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ณ ขณะที่พิจารณา
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการหลายกลุ่มออกมาให้ความเห็นว่ายังมีข้อมูลและข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ของพื้นที่อีกจำนวนมาก ที่ คชก.ไม่นำมาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA ของโครงการ
 
ด้าน นายสุพร โต๊ะเสน นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา กล่าวถึงความเห็นร่วมของเครือข่ายฯ ต่อการตอบคำถามของเลขาธิการ สผ.ว่า แนวทางการต่อสู้ด้วยการนำเสนอข้อมูลวิชาการของพื้นที่ที่ผ่านมา ไม่เพียงพอที่จะทำให้ สผ. หันมารับฟังได้ และไม่เพียงพอที่จะปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารอ่าวท่าศาลา ดังนั้นแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปของสมาคมและเครือข่ายอื่นๆ จะใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนปกป้องทรัพยากร วิถีชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน รวมพลังเพื่อการยืนยันเจตนารมณ์รักษาอ่าวท่าศาลาไว้เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร
 
ขณะที่ นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวกับ สผ.ว่า ภารกิจในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อปกป้องคนท่าศาลาเท่านั้น แต่เป็นการปกป้องแหล่งอาหารให้กับคนทั้งประเทศ สอดคล้องกับวิกฤติอาหารและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การทำหน้าที่ของคนท่าศาลาจึงเป็นการทำหน้าที่เพื่อคนไทยทุกคน
 
"เราไม่ควรทำลายศักยภาพของเราเอง คือความเป็นผู้มั่งคั่งด้านการผลิตอาหาร ในกรณีนี้ สผ.มีสิทธิที่จะดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ หรือจะสนองเจตนารมณ์ของบริษัทข้ามชาติที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาแล้วทั่วโลกก็ทำได้ แต่ท้ายที่สุดเลขา สผ.ก็ตอบประชาชนว่าเลือกที่จะยืนอยู่ข้างบริษัทเชฟรอน ชุมชนจึงต้องใช้แนวทางอื่นในการต่อสู้ต่อไป" นายประสิทธิชัยกล่าว
 
 
 
 
22 พฤศจิกายน   2555
                                                                                                                       
เรื่อง      คัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
 
เรียน     เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
สำเนาส่ง  คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย  1. หนังสือการจัดทำรายงานผลกระทบสุขภาพระดับชุมชน
2. หนังสือแสดงเจตนารมณ์ปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร "ก่อนแผ่นดินจะกลายเป็นอื่น"
3. แผนที่แสดงระบบนิเวศเฉพาะและความสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลา
4. เอกสารการศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำอ่าวท่าศาลา
 
ตามที่ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือที่ ทส 1009/10181   ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2555  ถึงนายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช  ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา  และประธานกลุ่มรักษ์กลาย   แจ้งว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ  ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ของโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย  ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555  นั้น
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ขอคัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย  ของ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า กระบวนการพิจารณาและการให้ความเห็นชอบโครงการมีความบกพร่องทางวิชาการ  ไม่เป็นไปตามหลักการและแนวทางพิจารณาในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ  ดังนี้
 
1.     การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง
 
ข้อบกพร่องของการพิจารณาตามหลักความพอเพียงของการกำหนดพื้นที่ได้รับผลกระทบ  ซึ่งนอกจากการกำหนดรัศมี 5 กิโลเมตรที่ไม่ครอบคลุมประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่สำคัญแล้ว การพิจารณาขอบเขตของผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตร  ยังมีช่องว่าง เนื่องจากการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาผลกระทบของระบบนิเวศทางทะเล  คุณภาพน้ำทะเล  และขอบเขตพื้นที่ผลกระทบต่อการประมง ได้กำหนดขอบเขตเพียงบริเวณพื้นที่โครงการ,พื้นที่ในระยะ 500  เมตร ออกไปจนถึง3 กิโลเมตรจากแนวชายฝั่ง(บริเวณแนวปะการังเทียม) และเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ทิ้งตะกอนที่อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 10 กิโลเมตร เพียงเท่านั้น  ซึ่งข้อเท็จจริง เมื่อการดำเนินโครงการจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลหรือการประมง ผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ จึงหมายถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่ ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่โครงการเพียงเท่านั้น การพิจารณาเพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบของโครงการต้องครอบคลุมพื้นที่ และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งหมด ดังนั้น การพิจารณาขอบเขตพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบตามรายงานจึงไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมต่อพื้นที่ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมง และอาชีพที่เกี่ยวเนื่องจากการจับสัตว์น้ำ คุณค่าการใช้ประโยชน์และคุณค่าระบบนิเวศ ส่งผลให้การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบนั้น ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง
 
2.     การดำเนินโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ที่เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของชุมชนประมง อันจะนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมง
 
เนื่องจากพื้นที่อ่าวท่าศาลามีระบบนิเวศเฉพาะ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญของอ่าวไทย ผลผลิตจากทรัพยากรทางทะเลก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก(รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) การดำเนินโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทำการประมงในอ่าวท่าศาลาอย่างรุนแรง ซึ่งประเด็นผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ดังกล่าว เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของวิถีชุมชนประมงซึ่งสืบทอดมานานกว่า๑๐๐ ปี อันจะนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมง และอาชีพต่อเนื่องจากการประมง ซึ่งเป็นผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาได้
 
3.     การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
 
โครงการนี้แม้ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาของเอกชน แต่เป็นการพัฒนาโดยใช้พื้นที่ทั้งบนฝั่ง   และมีการใช้พื้นที่ก่อสร้างในทะเล ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน  แต่ในขั้นตอนของการเลือกที่ตั้งโครงการ  ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่   ดังนั้น  การเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณา โดยที่โครงการมีการใช้ประโยชน์พื้นที่อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  และขาดการมีส่วนร่วม  ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มิได้มีการตรวจสอบ วิเคราะห์ประเมินผลเสียของการขาดการมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ จึงเป็นการปฏิบัติงานที่ไม่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการได้รับข้อมูลข่าวสารก่อนการดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ   และไม่เป็นการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
 
4.     การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ   มีข้อบกพร่องในหลักการความสมบูรณ์ครอบคลุมของการระบุผลกระทบของโครงการ 
 
ข้อบกพร่องในหลักการความสมบูรณ์ครอบคลุมของการระบุผลกระทบของโครงการ  ไม่นำไปสู่การพิจารณาการประเมินผลกระทบที่สมบูรณ์และเหมาะสม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ขาดการพิจารณาผลกระทบในด้านคุณค่าการใช้ประโยชน์พื้นที่  ผลกระทบทางสังคม  และสุขภาวะในด้านปัญญา  คือ   ขาดการพิจารณาความเป็นระบบนิเวศเฉพาะที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต  ได้แก่  ระบบพื้นที่ดอนใต้ทะเล ที่เป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลที่หลากหลายตามฤดูกาล และเป็นที่ทำกินของชุมชนประมงชายฝั่ง   การล่มสลายของวิถีประมงชายฝั่ง และผลกระทบต่อเนื่องต่อเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากการประมง การล่มสลายของภูมิปัญญาที่สืบทอดมาด้วยการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และวิถีประมงชายฝั่งที่ถือว่า ทะเล คือชีวิต
 
ทั้งนี้ ชุมชนได้เสนอข้อร้องเรียนต่อผลกระทบดังกล่าวและการมีผลต่อความล่มสลายของชุมชน แต่ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ กระทั่งมีมติให้ความเห็นชอบโครงการ มีเพียงเฉพาะการให้ความเห็นต่อผลกระทบที่จะมีการปนเปื้อนในสัตว์ทะเล และความเสี่ยงในการบริโภค โดยมิได้มีการพิจารณาผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน การสูญเสียรายได้และอาชีพประมงและพื้นที่ต่อเนื่อง การสูญเสียวิถีวัฒนธรรม การสืบทอดภูมิปัญญาของชาวประมง
 
นอกจากนี้ ผลกระทบด้านเสียงและความสั่นสะเทือน ซึ่งชาวประมงผู้ใช้ประโยชน์จากคุณค่าของพื้นที่ในปัจจุบัน และจะได้รับผลกระทบจากโครงการ ได้เสนอว่าเสียงและความสั่นสะเทือนจะส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลอย่างมาก  แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ปรากฏในการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯแต่อย่างใด  ดังนั้น การพิจารณาประเด็นขอบเขตและผลกระทบ ที่เสนอในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จึงขาดความครบถ้วนสมบูรณ์
 
5.     การพิจารณาเห็นชอบโครงการ ขาดข้อมูลการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ และขัดต่อเจตนารมณ์ตามร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม กิจกรรมการเก็บ ลำเลียงวัตถุอันตราย
 
ข้อบกพร่องในหลักการตัดสินใจโครงการ  แม้คณะกรรมการผู้ชำนาญการจะไม่มีอำนาจในการอนุมัติโครงการก็ตาม   แต่การพิจารณาและตัดสินใจเห็นชอบโครงการ  โดยเฉพาะในกรณีที่โครงการนี้ มีการดำเนินกิจกรรมและการใช้พื้นที่ที่มีการจัดเก็บวัตถุอันตรายโดยมีพื้นที่ส่วนที่เป็นถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล)  คลังเก็บน้ำมันหล่อลื่น   คลังเก็บถังบรรจุสารเคมี  โรงเก็บของเสียอันตราย   และโครงการนี้มีการขนส่งลำเลียงสารกัมมันตรังสี (อิริเดียม-92) และสารที่เป็นวัตถุระเบิด   แม้ว่ารายงานฯจะอ้างว่าเป็นไปตามมาตรฐานการจัดการและการขนส่ง   แต่กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่เป็นข้อห้ามในการใช้ประโยชน์ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ท่าเรือของบริษัทฯจัดเป็นท่าเรือที่ใช้งานเพื่ออุตสาหกรรม มิใช่สาธารณูปโภคที่เป็นบริการเพื่อสาธารณะ
 
ขณะที่ข้อเท็จจริงในพื้นที่และในรายงานการศึกษา ปรากฏว่ายังมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนประมงชายฝั่ง  และมีการทำประมงชายฝั่งอันเป็นวิถีชีวิตและเศรษฐกิจหลักของชุมชน  แต่ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพของโครงการ  ได้ระบุไว้ว่า ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา  โดยมิได้ระบุข้อมูลที่ครบถ้วนว่า  ผังเมืองดังกล่าวนี้ มีข้อกำหนดห้ามมิให้มีกิจกรรมอุตสาหกรรม  กิจกรรมการเก็บ ลำเลียงวัตถุอันตราย ในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม  การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯดังกล่าว จึงเป็นการพิจารณาที่บกพร่อง และอาจจะนำมาซึ่งการสูญสลายของทะเล แหล่งอาหาร วิถีประมง และชีวิตของประมงชายฝั่งท่าศาลา
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาเห็นว่า การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย  ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีความบกพร่อง ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายผังเมือง และขาดข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา เพื่อมีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการที่เพียงพอ   อันนำมาสู่การส่งผลกระทบต่อชุมชน  ระบบนิเวศเฉพาะ  แหล่งอาหาร วิถีการประกอบอาชีพประมง และเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องจากการประมงของประชาชนในพื้นที่อย่างร้ายแรง มติให้ความเห็นชอบรายงานฯดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จึงมีความประสงค์ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ทบทวน และเพิกถอนมติการให้ความเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รวมทั้งในระหว่างการดำเนินการ ให้มีหนังสือถึงกรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับมิให้มีการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ไปพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตด้วย
 
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน และโปรดแจ้งความเห็นและผลการดำเนินการตามหนังสือฉบับนี้ เป็นหนังสือมายังสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาด้วย
 
 
ด้วยเจตนารมณ์รักษาทะเลและผืนแผ่นดิน
 
 
ลงชื่อ
 
นายสุพร   โต๊ะเส็น
นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุนนิยาม: ความเสมอภาค ‘ทางเพศ’ ในที่ทำงาน 'ค่าแรงเรา.. ไม่เท่ากัน'

Posted: 22 Nov 2012 07:57 AM PST

ดู 'แรงเงา' แล้วมาย้อนดูเรื่อง 'ค่าแรง' ของคุณ 'ผู้หญิง' ในที่ทำงาน .. ถึงแม้จะมีลักษณะงานและอายุงานที่ไม่ต่างกัน แต่ในสหรัฐอเมริกายังพบสถิติที่ว่าผู้หญิงมักจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย แต่กระนั้นหากจะร้องเรียน กลับเป็นบริษัทนายความที่หยับชิ้นปลามันไปเสีย (และทนายความส่วนใหญ่เป็นผู้ชายด้วยมัง ;-) รวมถึงประเทศพัฒนาอื่นๆ พบว่าช่องว่างค่าแรงหญิงชายยังคงห่างกัน

ค่าแรงที่ไม่เท่ากันในสหรัฐอเมริกา

"ฉันไม่ต่างกับภรรยาที่แอบสะสมความกังวลที่เพิ่มขึ้นทุกวันว่า สามีกำลังแอบนอกใจฉัน"

นี่ไม่ใช่บทพูดในละครหลังข่าวอย่าง "แรงเงา" ที่กำลังฮ๊อตฮิตในบ้านเราอยู่ขณะนี้ แต่เป็นการเปรียบเปรยของ Lilly Ledbetter ในหนังสือที่ชื่อว่า "Grace and Grit: My Fight for Equal Pay and Fairness at Goodyear and Beyond" (สง่างามและทรหด: การต่อสู้เพื่อค่าแรงที่เสมอภาคและเป็นธรรม ณ กู้ดเยียร์)

Ledbetter บันทึกไว้ว่าในช่วงฤดูใยไม้ผลิปี ค.ศ. 1998 ระหว่างเปลี่ยนกะกลางคืน เธอได้รับข้อมูลที่ชัดเจนมาว่าเธอได้รับค่าจ้างน้อยเกินไปในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานผลิตยาง Goodyear สาขาเมือง Gadsden รัฐอลาบามา โดยข้อมูลนี้เธอได้รับจากจดหมายจากบุคคลนิรนามที่ช่วยเทียบเคียงเงินเดือนของเธอกับพนักงานชายอีกสามคนที่เริ่มงานในปีเดียวกันและมีลักษณะงานเหมือนกัน

"หัวใจฉันถูกกระตุก เหมือนกับว่ามีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวฉัน" Ledbetter กล่าว

ถึงแม้กฎหมายว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างอย่างเสมอภาค (The Equal Pay Act) ที่ประธานาธิบดี Kennedy ได้ลงนามไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 ซึ่งได้ห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศในการจ่ายค่าจ้างไว้ แต่ในความเป็นจริงแม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมานานก็พบว่าข้อห้ามนี้มักจะถูกละเลยจากนายจ้างเสมอ

ในช่วงไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2012 พบว่าผู้หญิงอเมริกันยังคงมีรายเป็นสัดส่วนเพียง 82.2% ของรายได้ที่ผู้ชายได้รับจากการทำงาน เมื่อเทียบจากรายได้เฉลี่ยรายสัปดาห์ แต่ถ้าเทียบเป็นรายได้ตลอดทั้งปีนั้น การสำรวจในปี ค.ศ. 2010 พบว่าพนักงานประจำผู้หญิงมีรายได้เป็นสัดส่วนแค่ 77% ของรายได้ที่พนักงานชายได้รับ

สัดส่วนช่องว่างค่าตอบแทน (เป็น%) ของผู้หญิงต่อผู้ชายในปี ค.ศ. 2010 ของอาชีพต่างๆ ในสหรัฐฯ (ที่มาภาพ: businessweek.com)

ช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 40 เซนต์ต่อดอลลาร์ในยุค 1960 และเหลือเพียง 4 เซ็นต์ในยุค 1990 และน้อยกว่า 1 เซ็นต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 และถึงแม้ว่าผู้หญิงรุ่นใหม่จะไล่ทันและแซงหน้าผู้ชายไปในเรื่องการศึกษาแล้วก็ตาม

แต่ก็อาจจะไม่เป็นเสมอไปตามนั้น เมื่อ Catherine Hill หัวหน้านักวิจัยจาก American Association of University Women ระบุว่าความห่างของค่าแรงของชายหญิงในหมู่ปัญญาชนที่จบจากมหาวิทยาลัยจะมี 10 เซ็นต์ต่อดอลลาร์ ในหนึ่งปีหลังจบการศึกษา แต่ถ้าคุณมางานเลี้ยงรุ่นปีที่สิบจะพบว่าช่องว่างนี้ห่างไปถึง 31 เซ็นต์ต่อดอลลาร์

ประเด็นนี้เราไม่ได้พูดถึงงานที่มีลักษณะเดียวกัน ปัจจัยที่ทำให้ความห่างระหว่างเงินเดือนนั้นมักจะเป็นเรื่องอาชีพที่การไต่เต้าทางหน้าที่การงานต่างกัน นอกจากเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงานแล้ว พบว่าผู้ชายมักจะแข่งขันกันสูงในอาชีพที่มีรายได้สูงเช่นวิศวะกร แต่ผู้หญิงมักจะทำงานในสาขาที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่า เช่น นักการศึกษาและนักสังคมสงเคราะห์

ความหลากหลายในการเลือกสายอาชีพของผู้หญิงลดลงเรื่อยๆ หากเทียบกับผู้ชาย เมื่อเธอต้องลาคลอด หรือเลือกเวลาทำงานให้เหมาะกับการที่จะต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อดูแลลูกๆ แต่สำหรับคุณพ่อก็แทบจะดูว่าไม่เป็นปัญหาใดๆ เลย

ถึงแม้จะมีงานวิชาการหลายชิ้นที่ยังไม่สามารถยืนยันว่าเรื่อง 'เพศ' จะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางรายได้ของผู้หญิง เช่น จากรายงานของ Department of Labor, Consad Research of Pittsburgh ในปี ค.ศ. 2009 พบว่านอกจากช่องว่างค่าแรง 5 – 7 เซ็นต์แล้ว ยังสามารถอธิบายด้วยปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ แต่บางชิ้นก็กล้าระบุไปตรงๆ เช่น บทความในปี ค.ศ. 2007 ของวารสารการบริหารจัดการ 'Perspectives' ของฝ่ายเศรษฐศาสตร์แรงงาน มหาวิทยาลัย Cornell โดย Francine Blau และ Lawrence Kahn ระบุว่าแม้จะปรับรายได้ตามวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ หรือเชื้อชาติ ในตลาดการจ้างงานตามอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม ผู้หญิงก็ยังคงมีสัดส่วนรายได้เพียง 91% เมื่อเทียบสัดส่วนกับผู้ชาย

"ถึงแม้มีหลักฐานว่าการเลือกปฏิบัติทางเพศลดน้อยลงในตลาดแรงงาน แต่การเลือกปฏิบัติบางอย่างยังคงดำรงอยู่" Blau และ Kahn ระบุ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของผู้หญิงมีมากกว่าแค่จะถูกจ้างงานเป็นลูกจ้างธรรมดาๆ ในสหรัฐมีผู้หญิงเพียง 3% ที่ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทที่มีการจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune 500 อันดับ ในปี ค.ศ. 2009 ว่ามีบริษัทเพียง 38 แห่ง จาก 400 แห่ง ที่บริหารงานโดยผู้หญิง

 

การเปิดเผยข้อมูลและอุปสรรคในการใช้กลไกกฎหมาย

ย้อนกลับไปที่เรื่องของ Lilly Ledbetter เธอใช้กลไกกฎหมายในการฟ้องร้อง และการที่จะชนะคดีต่างหากที่เป็นปัญหา คณะลูกขุนเพียงแต่ชี้ว่า "แนวโน้มที่เป็นไปได้อย่างมาก" ว่าเธอถูกเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าตอบแทนจากการทำงาน แต่ศาลฎีกาปฎิเสธคำร้องของเธอเพราะเธอไม่ได้ร้องเรียนภายใน 180 วันนับจากวันแรกที่เธอได้รับค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป

ถึงแม้ชื่อของเธอจะได้รับเกียรติให้ใช้เป็นชื่อกฎหมายการฟื้นฟูการตอบแทนค่าแรง 'The Lilly Ledbetter Fair Pay Restoration Act' ซึ่งประธานาธิบดี Obama ได้ลงนามเป็นฉบับแรกเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งในสมัยแรกเมื่อ ค.ศ. 2009 มีการกำหนดวิธีพิจารณาคดีการจ่ายค่าแรงน้อยเกินกว่าที่จะเป็น ให้เป็นการกระทำที่มีโทษเหมือนพึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่มีผู้ร้องทุกข์ในอนาคต

แต่ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ ผู้หญิงคนอื่นๆ อาจจะไม่โชคดีที่มีบุคคลนิรนามส่งโพยเปรียบเทียบเงินเดือนแบบที่ Ledbetter ได้รับ เพราะหากไม่มีข้อมูลแบบนั้น ผู้หญิงก็จะไม่รู้ว่าเงินเดือนของเธอเท่ากับผู้ชายคนอื่นๆ ที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน อายุงานเหมือนๆ กันได้

ซึ่งการขาดข้อมูลที่โปร่งใสในที่ทำงานก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับความเสมอภาคในที่ทำงาน ถึงแม้ 'The Lilly Ledbetter Fair Pay Restoration Act' จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรในปี ค.ศ. 2009 จะเอื้อให้บริษัทแก้ไขเรื่องข้อบกพร่องในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยป้องกันไม่ให้บริษัทคุกคามหรือตอบโต้พนักงานที่สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับความห่างของค่าตอบแทนพนักงานในสถานประกอบการ และยังเรียกร้องให้บริษัทส่งข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างเพื่อการตรวจสอบว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ – แต่ในทางปฎิบัติสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะต้องใช้กลไกในการร้องสิทธิพอสมควร โดยเฉพาะการผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

ในการอภิปรายเพื่อยืดเวลาการลงมติรับร่างกฎหมายเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2009 วุฒิสมาชิก Marco Rubio จากพรรค Republican ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีทางที่จะบรรลุผล

"สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเพียงโครงการสวิสดิการสำหรับทนายความเท่านั้น" Rubio กล่าว

 

สถานการณ์โลก

เมื่อวันสตรีสากลในปี ค.ศ. 2010 Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ได้ออกรายงาน Gender Brief ซึ่งได้ระบุถึงความไม่เท่าเทียมเรื่องรายได้ระหว่างชายกับหญิงไว้อย่างน่าสนใจ

โดยในรายงานระบุว่าแม้กระทั่งในประเทศที่ร่ำรวย ผู้หญิงก็ยังถูกกดค่าแรงให้น้อยกว่าผู้ชาย (โดยเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 1 ใน 5) ในขณะที่ผู้หญิงต้องมีหน้าที่ในการดูแลครอบครัว นอกเหนือจากการการทำงานนอกบ้าน

ทั้งนี้นายจ้างมักเห็นว่าการที่ผู้หญิงต้องหยุดงานประท้วง หรือเอาเวลาที่ควรมาทุ่มเทให้กิจการไปดูแลครอบครัว เป็นอุปสรรคในการเพิ่มค่าแรง หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นๆ จากการปฏิบัติงาน รวมทั้งนายจ้างมักที่จะไม่เปิดโอกาสผู้หญิงในการพัฒนาศักยภาพของตนเองสักเท่าไรนัก

ผู้หญิงในเกือบทุกประเทศในการสำรวจของ OECD พบว่าพวกเธอมักจะมีภาระในการดูแลเด็กๆ และครอบครัวมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า ทำให้ผู้หญิงไม่อาจขยายเวลาทำงานมากกว่าเดิมได้ นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า 25% ของผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน ต้องปฏิเสธโอกาสในการทำงานพิเศษนอกเวลา เพื่อกลับหน้าที่ดูแลครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายมีตัวเลขเพียง 6% เท่านั้น

ในรายงานของ OECD ระบุว่าช่องว่างระหว่างค่าแรงเห็นได้ชัดในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ผู้ชายจะได้ค่าแรงมากกว่าผู้หญิงประมาณ 30% ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ช่องว่างระหว่างค่าแรงชายหญิงห่างกันอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ เยอรมัน แคนาดา และอังกฤษ ซึ่งมีตัวเลขความแตกต่างห่างกัน 20% จากค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ระบุไว้ไม่เกิน 17.6% ในขณะที่เบลเยี่ยมและนิวซีแลนด์ เป็น 2 ประเทศที่มีความต่างระหว่างค่าแรงชาย-หญิง น้อยกว่า 10%

มาดูกรณีศึกษาความพยายามลดช่องว่างนี้ของประเทศนิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลนิวซีแลนด์เองก็ไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดแจ้งเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างของเงินเดือนนั้น ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นในปี ค.ศ. 2002 นายกรัฐมนตรีหญิงเฮเลน คล็าก (Helen Clark) ได้จัดตั้ง Pay and Employment Equity Unit (PEEU) ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงแรงงาน เพื่อดูแลความเท่าเทียมกันในเรื่องของการจ่ายเงินและการจ้างงานในหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด

ทั้งนี้ PEEU สำรวจทั้งหมด 38 หน่วยงานหลักๆ ของภาครัฐ พบว่ามี 21 หน่วยงานด้วยกันที่ผู้หญิงและผู้ชายในระดับคอปกขาวทำงานเหมือนกัน แต่ได้ค่าจ้างต่างกัน ซึ่งความแตกต่างของรายได้นั้นมีตั้งแต่ 3% ไปจนถึง 35% เมื่อเริ่มต้นทำงานผู้หญิงจะได้เงินเดือนน้อยกว่า ผู้ชาย และช่องว่างของเงินเดือนนี้จะยิ่งขยายออกกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดเมื่อทำงานในระดับอาวุโส

จากข้อมูลของ PEEU พบว่าปัญหาความแตกต่างของเงินเดือนยังคงมีมากอยู่ในนิวซีแลนด์ และไม่มีทีท่าว่า PEEU จะทำให้ช่องว่างนี้ลดลงได้ ในปี ค.ศ.2008 สำนักงานสถิติแห่งชาติของนิวซีแลนด์ได้ออกมายืนยันว่า ผู้หญิงจะได้ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยขั้นต่ำต่อหนึ่งอาทิตย์ประมาณ 354 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ขณะที่ผู้ชายจะได้อยู่ที่ประมาณ 562 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ซึ่งรายได้นี้มีความแตกต่างกันอยู่ถึง 37.1% จากการเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) John Key ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 ได้ประกาศยุบหน่วยงาน PEEU เนื่องจากเห็นว่าความต่างของรายได้มีมากขึ้นกว่าตอนที่จะมีการก่อตั้ง PEEU ขึ้นมาเสียอีก

 

ว่าด้วยเรื่องโศกนาฎกรรม 'แรงเงา' ในที่ทำงาน

ในปี ค.ศ. 2010 Reuters/Ipsos โพลล์ได้เผยผลสำรวจคนทำงาน 12,000 คนจาก 24 ประเทศ พบว่าคนทำงาน 1 ใน 10 คน เป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการคุกคามทางเพศสูงที่สุดคือ 26% ตามมาด้วยจีน 18% ซาอุดีอาระเบีย 16% เม็กซิโก 13% แอฟริกาใต้ 10% อิตาลี 9% ส่วนในบราซิล รัสเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐ 8% ตามลำดับ

ส่วนประเทศที่มีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานน้อยที่สุดคือ ประเทศสวีเดนและฝรั่งเศส ซึ่งมีเพียง 3% โดยจากผลการสำรวจยังพบว่าพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศมากที่สุด

สำหรับข่าวครึกโครมของกรณีชู้สาว-คุก คามทางเพศ ในวงการธุรกิจที่ผ่านมาก็คือการลาออกของ CEO ของบริษัท Hewlett-Packard บริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง และ CEO ของบริษัท David Jones บริษัทค้าปลีกชื่อดังของออสเตรเลีย ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยตลาดของ Ipsos กล่าวว่าการที่นายจ้างผู้บังคับบัญชาพยายามจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับ พนักงานแต่ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงยืนยาวนั้น นอกจากจะเป็นการคุกคามทางเพศแล้ว ก็ยังถือเป็นการหาประโยชน์ส่วนตนจากตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบอีกด้วย

เช่นเดียวกับสถานการณ์ทั่วโลก ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงในตำแหน่งแรงงานคอปกขาว นั่งออฟฟิศหรือในแวดวงราชการนั้น ยังมีปัญหาจุกอก คอยกระทบกระเทือนกับความเป็นหญิง นั่นก็คือปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจากเจ้านายชายทั้งหลาย ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น อาการหนักถึงขั้นที่มีการคุกคามทางเพศในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน

จากการเปิดศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวถึงพฤติกรรมคุกคามทางเพศที่น่าวิตกนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 มีผู้ชายระดับหัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนกระทำคุกคามทางเพศกับผู้ใต้บังคับบัญชาผู้หญิงทั้งการพูดจาแทะโลม การลวนลามเนื้อตัวร่างกายทั้งขณะอยู่ในที่ทำงาน และออกไปทำงานนอกสถานที่ โดยคณะกรรมการสอบสวนเรื่องราวการคุกคามทางเพศที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาสอบ สวน มีการเรียกทั้งสองฝ่ายมาสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีการกระทำผิดจริง จึงสั่งลงโทษพักงาน 1 ปี แต่ผู้ชายได้ลาออกไม่ยอมรับโทษ จากการตรวจสอบผู้ชายคนนี้ยังกระทำคุกคามทางเพศกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศที่มาทำงานแลกเปลี่ยนอีกด้วย ซึ่งหัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนรายนี้อายุประมาณ 30 กว่าปี เป็นผู้มีชื่อเสียงระดับชาติ และยังได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานสิทธิมนุษยชนระดับชาติ หากคนทำงานด้านสิทธิแต่กลับไปละเมิดคนอื่นเสียเองแล้วจะไปช่วยผู้ถูกละเมิด สิทธิได้อย่างไร

ทั้งนี้ ตามสถิติการคุกคามทางเพศในที่ทำงานนั้น พบมากที่สุดในหน่วยราชการโดยเฉพาะหน่วย งาน ทหารและตำรวจ ระดับ พล.อ. , พ.อ. ที่คุกคามทางเพศถึงขั้นข่มขืนกระทำชำเราผู้ใต้บังคับบัญชาในที่ทำงาน รองลงมาเป็นหน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยมักใช้วิธีเอางานมาบังหน้า ชักชวนให้ออกไปทำงานนอกสถานที่ แล้วบังคับให้ กินเหล้า โดยผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องยินยอม รวมทั้งการจับมือถือแขนในที่ทำงาน ทั้งนี้พฤติกรรมดังกล่าวคนภายนอกอาจมองว่า เป็นความสนิทสนมคุ้นเคย ทั้งที่ผู้กระทำจงใจคุกคามทางเพศ ดังนั้นหน่วยงานต้องดูความเสี่ยงในการร่วมงานระหว่างหญิงชายด้วย

 

บทส่งท้าย

สำหรับประเทศไทยนั้นถึงแม้ดูเหมือนว่า 'ผู้หญิง' ได้รับโอกาสมากขึ้น ตามวิถีของสังคมทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา โดยจากข้อมูลของธนาคารโลกปี ค.ศ. 2012 พบว่าสัดส่วนผู้หญิงเทียบกับผู้ชายในทุกระดับการศึกษา มีมากกว่าผู้ชายตั้งแต่ 9-24 % ซึ่งนับเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

รวมถึงการไต่เต้าขึ้นไปสู่ระดับผู้บริหารที่หญิงไทยมีสัดส่วนประสบความสำเร็จสูงที่สุดในโลก จากการสำรวจของ Grant Thornton เมื่อปี ค.ศ. 2011 พบว่าผู้หญิงไทยติดอันดับหนึ่งในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก หรือคิดเป็น 45% โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารด้านการเงิน

แต่สำหรับแรงงานระดับกลางลงไป นอกเหนือจากเรื่องล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานแล้ว ก็ยังพบปัญหาเรื่องรายได้ในที่ทำงานที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชายด้วยเหมือนกัน โดยในกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม (ที่มีสัดส่วนแรงงานหญิงสูงถึง 70 %) กลับพบว่าค่าแรงเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชายแม้ในลักษณะงานเดียวกัน

… ถึงเวลาบรรจุเรื่องมันส์ๆ เหล่านี้ไว้ในบทละครรึยังครับ ผู้จัดละครหลังข่าวทั้งหลาย ;p

 

 

ประกอบการเขียน:

Gender Brief (oecd.org, March 2010)

Shortchanged: Why Women Get Paid Less Than Men (businessweek.com, 21-6-2012)

ผลสำรวจหญิงไทยครองแชมป์ ผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก (ไทยโพสต์, 9-3-2011)

เวิล์ดแบงก์แนะเพิ่มค่าแรงหญิงเท่าชาย (ครอบครัวข่าว, 18-6-2012)

หนังสือ "ผู้หญิง การทำงาน การเมือง สังคมและวัฒนธรรม" (โครงการณรงค์เพื่อแรงงานไทย, ธันวาคม 2553)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนวรบข้อมูลโซเชียลมีเดียในฉนวนกาซ่า

Posted: 22 Nov 2012 07:44 AM PST

 

ในช่วงที่การโจมตีฉนวนกาซ่าดำเนินอยู่นั้น ทั้งฝ่ายอิสราเอล ฮามาส และประชาชนผู้ไม่มีฝ่าย ต่างก็อยู่ในสงครามแย่งชิงพื้นที่การนำเสนอข้อมูล เมื่อพื้นที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์สำคัญของการโฆษณาชวนเชื่อและการใช้ข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม

จิลเลียน ซี ยอร์ค ผู้อำนวยการสาขาเสรีภาพในการแสดงความเห็นนานาชาติจากองค์กร Electronic Frontier Foundation ในซานฟรานซิสโก เขียนบทความถึงการที่รัฐบาลอิสราเอลใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ในการสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของประชาชน โดยก่อนหน้านี้อิสราเอลก็เคยใช้วิธีการเดียวกันใน 'ปฏิบัติการคาสท์ลีด' (Operation Cast Lead) เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยอาศัย Twitter และ Youtube

จิลเลียนกล่าวว่า ขณะเดียวกันก็มีปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงการสนับสนุนปาเลสไตน์ เช่นโครงการณ์รณรงค์ด้วยการ 'บริจาค' หนึ่งสเตตัสใน Facebook เพื่อทำให้แฮซแท็ค #Gaza กลายเป็นที่นิยมใน Twitter ซึ่งตั้งแต่ปี 2008 เหล่านักกิจกรรมก็ทำให้ #Gaza กลายเป็นคำฮิตทุกครั้งที่ครบรอบปี และที่สำคัญคือพวกเขาพัฒนาเทคนิคนี้ท่ามกลางการถูกปิดกั้นช่องทางโดยอิสราเอล

แต่หลังจากนั้นสี่ปีก็เกิดความเปลี่ยนแปลง ยูเซฟ มูนเนเยร์ จาก ปาเลสไตน์เซ็นเตอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีร่าเมื่อไม่นานมานี้ว่า ในช่วงที่ฉนวนกาซ่าถูกโจมตีในปี 2008-2009 เป็นเรื่องยากมากที่นำเสนอภาพออกมาได้ แต่ด้วยเครื่องมืออย่าง Twitter, Facebook และ YouTube ผลที่เกิดตามมาคือประชาชนธรรมดาทั่วไปสามารถมีสิทธิมีเสียงในการร่วมถกเถียงประเด็นใหญ่โดยอาศัยเครื่องมือนี้

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่คนทั่วไปใช้สื่อสารเรื่องราวของตนได้ ซึ่งเคยสร้างพลังในเหตุการณ์ลุกฮือในตูนีเซีย, อียิปต์, และในประเทศอื่นๆแถบภูมิภาค ก็ทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องใช้กลยุทธใหม่ จากเดิมที่เป็นการแทรงแซงโดยรัฐบาล ก็กลายเป็นวิธีการ 'โทรล' (Trolling คือการกลั่นแกล้งอย่างหนึ่งทางอินเตอร์เน็ต มีเป้าหมายหลอกล่อเพื่อทำให้อีกฝ่ายโกรธและแสดงการโต้ตอบที่ไม่เหมาะสมออกมา บางครั้งหมายรวมถึงการหลอกล่อด้วยข้อมูลเท็จด้วย)

จิลเลียนบอกว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นในซีเรียแสดงให้เห็นปัญหาท้าทายใหญ่หลวงในการเป็นนักข่าวพลเมือง ซึ่งทำให้เกิดความไม่เชื่อถือในตัวโซเชียลมีเดีย ที่น่ายกตัวอย่างคือการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคน 'นิรนาม' (Anonymous) ที่เป็นเสมือนเงาคุกคามของรัฐบาล สร้างความกังวลในเรื่อง 'สงครามไซเบอร์'

สงครามจิตวิทยาข่มขวัญ

ไม่เพียงแค่ฝ่ายอิสราเอลเท่านั้น มีบทวิเคราะห์อีกฉบับหนึ่งเขียนโดยผู้สื่อข่าว ซาฟา จูเดห์ ก็กล่าวว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสก็ใช้โทรทัศน์ช่อง อัล-กุดส์ ในการแสดงแสนยานุภาพในช่วงที่อิสราเอลประกาศโจมตีฉนวนกาซ่า ทั้งจากการอัพเดทการยิงจรวดขีปนาวุธใส่ฝ่ายอิสราเอลนาทีต่อนาที และการแสดงภาพกลุ่มนักรบคลุมหน้าเดินขบวนหลายร้อยคน รวมถึงมีการนำภาพนักรบฝ่ายตนเองกำลังโจมตีฝ่ายอิสราเอลนำมาฉายซ้ำๆ

บทวิเคราะห์กล่าวอีกว่า 'การประชาสัมพันธ์' ของฮามาส มีเป้าหมายอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือการสื่อกับประชาชนในกาซ่า อีกเป้าหมายหนึ่งคือต้องการแสดงให้ผู้มีอำนาจของอิสราเอลได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกำลังการรบและโครงสร้างองค์กรที่เป็นปึกแผ่น อันเป็นที่ยอมรับและมีอำนาจในหมู่ประชาชนของกาซ่า ขณะที่อิสราเอลเป็นกลุ่มที่ประชาชนจะไม่ยอมรับพวกเขา

วิพากษ์บทบาทของเอกชนผู้ให้พื้นที่โซเชียลมีเดีย

จิลเลียนกล่าวในบทความว่า เธอรู้สึกกังวลในเรื่องที่บริษัทให้บริการสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กเองไม่ได้ปกป้องผู้ใช้จากคำข่มขู่ของฝ่ายรัฐบาล

เช่นกรณีของ Youtube ที่เคยปิดกั้นการเข้าชมวีดิโอล้อเลียนศาสนาอิสลามในอียิปต์และลิเบีย แม้จะไม่มีคำขอจากรัฐบาลหรือคำสั่งศาล แต่ในขณะเดียวกันกลับปฏิเสธที่จะนำวีดิโอการสังหารผู้นำกลุ่มฮามาสที่โพสท์โดยกองทัพอิสราเอลออก แม้ว่าตัววีดิโอเองจะละเมิดกฏการให้บริการในเรื่องการมีภาพความรุนแรง ส่วนกรณีของ Twitter ก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงยังปล่อยให้คำกล่าวเชิงข่มขู่ของ @IDFSpokesperson (ซึ่งแสดงตัวเป็นโฆษกของกองทัพอิสราเอล) ยังคงอยู่ในเว็บได้

ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่าอิสราเอลทำการปิดกั้นโครงข่ายการสื่อสารในกาซ่าแบบเดียวกับที่อดีตปธน.มูบารัคของอียิปต์เคยทำเมื่อช่วงที่มีการประท้วงปี 2011 ขณะที่โครงข่ายของโทรศัพท์มือถือยังคงใช้งานได้ แต่ระบบไฟฟ้าของกาซ่าใช้งานไม่ได้ ทำให้นักกิจกรรม Telecomix เผยแพร่วิธีการส่งข้อมูลด้วยวิธีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตวิธีอื่น เช่น การใช้ Text Message เพื่อเขียนข้อความใน Twitter การใช้ซิมการ์ดของอียิปต์ หรือใช้หมายเลข Dial up ของ Telecomix

เมื่อนักข่าวพลเมืองในพื้นที่สร้างผลสะเทือนมากกว่า

การขาดแคลนรายงานข่าวที่เป็นทางการจากพื้นที่ ทำให้โซเชียลมีเดียมีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลมากยิ่งขึ้น เมื่อปี 2009 มีบทความในวารสาร Arab Media & Society ที่กล่าวว่าการไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้าไปในพื้นที่ช่วงที่มีปฏิบัติการคาสท์ลีด ทำให้คนภายนอกต้องอาศัยสื่อตัวกลางอิสระที่ก้าวข้ามไปมาระหว่างสื่อแบบเดิมกับสื่อโซเชียลมีเดียโดยไม่มีการกลั่นกรอง

และในสงครามปี 2012 แม้จะไม่มีการห้ามนักข่าวแบบเดิม แต่เนื่องจากการอาศัยเครื่องมือโซเชียลมีเดียจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายนักกิจกรรมที่นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้โซเชียลมีเดียยังคงมีบทบาทสำคัญ

ซาฟากล่าวว่ากลุ่มฮามาสมีทักษะในการประชาสัมพันธ์ตนเองมากขึ้น แต่สิ่งที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแนวคิดวาทกรรมความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จริงๆ คือวัยรุ่นหนุ่มสาวนักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์ในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังบูม

ไมค์ กิกโล ผู้สื่อข่าว Newsweek กล่าวว่า "แม้กลุ่มฮามาสจะยังไม่ชำนาญในการพยายามใช้โซเชียลมีเดีย แต่เป็นกลุ่มนักกิจกรรมอิสระที่ควบคุมอำนาจการเล่าเรื่องของฝ่ายปาเลสไตน์ จากการที่คนในกาซ่าเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อถ่ายทำและอัพโหลดรูปกับวีดิโอของการนองเลือด"

จากการที่ภาพบางภาพกลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของอิสราเอล แสดงให้เห็นว่าเนื้อหาจากนักข่าวพลเมืองชาวปาเลสไตน์ส่งผลสะเทือนมากกว่าการรณรงค์ของฝ่ายอิสราเอลที่อาศัยเหล่าอาสาสมัครทั้งจากอิสราเอลและสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์หรือผู้ใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ และคนเหล่านี้ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อเนื้อหาที่มาจากพื้นที่กาซ่าโดยตรง

"พวกเราต้องแยกแยะระหว่างสื่อที่เป็นปากเป็นเสียงให้ทางการซึ่งปนอยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่ามันจะเป็นของรัฐบาลอิสราเอลหรือฝ่ายใดๆ ก็ตามในกาซ่า กับสื่อที่มาจากประชาชน และผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราสามารถกระทำได้แบบที่ไม่เคยทำมาก่อนคือ การเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้โดยทันที ซึ่งเป็นประชาชนที่ไม่มีฝ่าย ไม่ใช่รัฐบาล หรือกลุ่มใดๆ และสามารถรับฟังพวกเขาได้โดยตรงว่าเกิดอะไรขึ้น" ยูเซฟ มูนเนเยร์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีร่า

จิลเลียน ยอร์ค กล่าวว่าเหตุการณ์ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเราเท่าทันกับสื่อออนไลน์มากขึ้น และในขณะที่สงครามข้อมูลในโลกดิจิตอลเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสงครามในพื้นที่ ก็มีการเฝ้าระวังไม่ให้มีเพียงสื่อตัวกลางของรัฐเท่านั้นที่จะมีบทบาทในโซเชียลมีเดีย

เรียบเรียงจาก

Gaza unplugged?, Jillian C. York, Aljazeera, 19-11-2012

Analysis: Media war escalates in Gaza, Safa Joudeh, Aljazeera, 19-11-2012

 

วิธีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในกาซ่า

http://pastebin.com/6dYQruHu

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์การพิทักษ์สยาม 'เพื่อเผด็จการ' แห่งชาติ

Posted: 22 Nov 2012 06:48 AM PST

การเคลื่อนไหวระดมมวลชนเพื่อชุมนุมใหญ่ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "องค์การพิทักษ์สยาม" ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ต้องการโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยกเลิกระบบการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง แทนที่ด้วยระบอบการปกครองแบบแต่งตั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ที่เรียกว่า "แช่แข็งประเทศไทย"

สื่อมวลชนกระแสหลักก็ช่วยกันประโคมโหมข่าว ทำให้การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ดูเหมึอนยิ่งใหญ่ ทรงพลัง และน่าหวาดหวั่น ราวกระทั่งว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงจะเหลือเวลาอยู่รอดได้อีกเพียงไม่กี่วัน แม้แต่แกนนำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ยังแสดงความวิตกอย่างเห็นได้ชัด

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หลังจากผ่านความขัดแย้งยาวนาน ทุกฝ่ายทุกคนต่าง "รู้เช่นเห็นชาติ" กันหมดแล้วว่า ความขัดแย้งอันยืดเยื้อในวันนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างสองพลังหลักในสังคมไทยคือ เผด็จการจารีตนิยมกับพลังประชาธิปไตยเสรีนิยม เป็นการต่อสู้กันระหว่างสองระบอบการเมืองคือ ระบอบจารีตนิยมที่ครอบงำรัฐไทยมาตั้งแต่รัฐประหาร 2500 กับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง สิ่งที่เหลืออยู่ก็เพียงแต่ว่า ใครจะเลือกข้างฝ่ายไหน เท่านั้น

แต่ทว่า เนื้อในของกลุ่มคนที่เข้าร่วม "องค์การพิทักษ์สยาม" นั้นไม่มีอะไรใหม่เลย ก็คือบรรดากลุ่มคนที่อยู่เบี้องหลังรัฐประหาร 2549 และการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลพรรคพลังประชาชนมาแล้วนั่นเอง ตั้งแต่ "กลุ่มสี่เสา" กลุ่มประชาธิปัตย์ นักวิชาการและพวกคนเดือนตุลาที่หันไปรับใช้เผด็จการ กลุ่มผู้นำสหภาพแรงงานขวาจัด กลุ่มลัทธิสันติอโศก ไปจนถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวขององค์กรพิทักษ์สยามก็คือ การรุกใหญ่ครั้งใหม่ล่าสุดของคนพวกนี้ หลังจากที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2555 และหลังจากที่การรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับตีความการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้สะดุดกลางคันไปเสียก่อน

การรุกครั้งนี้ดูเหมือนซ้ำรอยกับการเคลื่อนไหวทุกครั้งในช่วงหกปีมานี้ การโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยปี 2549 และการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนปี 2551 คือการใช้ "สี่ขาหยั่ง" ประสานกันอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มต้นจากการใช้มวลชนจัดตั้งออกมาชุมนุมขับไล่ ให้กลุ่มอันธพาลการเมืองติดอาวุธก่อความรุนแรงบนท้องถนน ให้พรรคประชาธิปัตย์ขัดขวาง ก่อความวุ่นวายไร้ระเบียบในสภา ให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้กฎหมายทำร้ายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ท้ายสุดคือ ใช้ทหารเข้าแทรกแซงทั้งโดยวิธีแฝงเร้นหรือรัฐประหารอย่างเปิดเผย ตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นพียงหุ่นเชิดของพวกจารีตนิยม

คนพวกนี้เติบโต สั่งสมประสบการณ์ และครองอำนาจอยู่ในยุคเทคโนโลยีอนาล็อกที่มีโครงสร้างเครือข่ายลักษณะศูนย์เดี่ยวและเป็นเส้นตรง ทำให้รัฐสามารถรวมศูนย์ทรัพยากร ขุมกำลังการเมือง ทหาร เศรษฐกิจ และข้อมูลข่าวสาร แต่โลกในศตวรรษที่ 21 ได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีลักษณะตรงข้ามคึอเป็นเทคโนโลยีดิจิตอล ที่มีโครงสร้างเครือข่ายแบบหลายศูนย์และเป็นวงกลม พวกจารีตนิยมไม่สามารถรวมศูนย์ผูกขาดข่าวสารข้อมูลได้อีกต่อไป และไม่สามารถควบคุมความคิดของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ความพยายามขององค์การพิทักษ์สยามสะท้อน "ภาวะอับจนและร้อนรน" ของพวกจารีตนิยมอย่างชัดเจน ที่ไม่อาจปล่อยให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอยู่บริหารประเทศต่อไปได้ ด้วยตระหนักว่า ความเข้มแข็งและภาวะผู้นำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนความนิยมทั้งในประเทศและในประชาคมโลก เกิดขึ้นพร้อมกับความเสื่อมในสถานะครอบงำทางการเมืองและอุดมการณ์ของพวกเขา ความอับจนดังกล่าวสะท้อนออกหลายด้าน

ประการแรก รัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรียังคงได้รับความนิยมอย่างสูงมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายต่อต้านไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ในการขับไล่รัฐบาล ทั้งแกนนำและมวลชนจึงมีแต่พวกปฏิกิริยาสุดขั้ว มีสถานะโดดเดี่ยว และไม่ได้รับการสนับสนุนแม้แต่จากคนชั้นกลางในเมืองที่ไม่นิยมพรรคเพื่อไทย

ประการที่สอง แกนนำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเปิดเผย "แก่นแกนที่แท้จริง" ของฝ่ายเผด็จการ คนกลุ่มนี้เคย "ซุ่มซ่อน" อยู่ข้างหลังขบวนการล้มรัฐบาลตลอดมา แต่วันนี้ ถึงคราวต้องแสดงตนในที่แจ้ง คือ นำโดย "กลุ่มสี่เสา" หนุนช่วยด้วยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และตามด้วยมวลชนสามส่วนคือ มวลชนจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มลัทธิสันติอโศก และกลุ่มเสื้อเหลือง โดยมีกองกำลังติดอาวุธนอกระบบของกลุ่มเหล่านี้สนธิกำลังกัน

ประการที่สาม คนพวกนี้ยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ ที่เคยได้ผลเลิศทุกครั้ง ซึ่งก็คือ การสร้างสถานการณ์ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มาวันนี้ วิธีการนี้กลับไร้ซึ่งพลานุภาพใด ๆ อีกแล้ว

ประการที่สี่ เป็นครั้งแรกที่คนพวกนี้ประกาศเป้าหมายทางการเมืองของตนออกมาอย่างเปิดเผย ไม่เป็น "อีแอบ" อีกต่อไปคือ ต้องการยกเลิกระบบรัฐสภาและการเมืองแบบเลือกตั้งทั้งหมด แทนที่ด้วยระบอบ "คุณธรรมแต่งตั้ง" ซึ่งก็คือระบอบเผด็จการที่ปกครองด้วย "คนดี" ที่แต่งตั้งมาจากพวกจารีตนิยมนั่นเอง

ประการที่ห้า พวกเขาปฏิเสธการเมืองแบบเลือกตั้งและมุ่งฟื้นการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูป นี่เป็นการฝืนกระแสโลกาภิวัฒน์และกระแสประชาธิปไตยในสากลโดยสิ้นเชิง ถึงวันนี้ ประชาคมโลกได้เรียนรู้แล้วว่า ต้นตอแห่งปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยคืออะไร ต้นเหตุอยู่ที่ไหน ใครคือผู้บงการที่แท้จริง ในปัจจุบัน คนพวกนี้จึงอยู่ในสถานะ "เปลือยล่อนจ้อน" ต่อหน้าสายตาชาวโลก พวกเขาจึงอยู่ในสถานะโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก

ทั้งหมดนี้ทำให้การพยายามโค่นล้มรัฐบาลในคราวนี้ เป็นการเคลื่อนไหวในเงื่อนไขแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยและไม่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อพวกจารีตนิยม การที่พวกเขาตัดสินใจฝืนกระแสประชาธิปไตยในประเทศและต่างประเทศ ดื้อดึงก่อการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงสะท้อนถึงสถานการณ์อับจนที่แท้จริงของพวกเขา

ขุมพลังของฝ่ายเผด็จการยังคงเข้มแข็ง พวกเขาอาจโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยลงได้สำเร็จ เหมือนสองครั้งที่ผ่านมา แต่ในครั้งนี้  พวกเขาจะเผชิญกับการต่อต้านที่รุนแรงและยืดเยื้อยาวนานยิ่งกว่า ทั้งจากพลังประชาธิปไตยในประเทศและจากประชาคมโลก เขาอาจได้รัฐบาลและอำนาจบริหารกลับคืนไป แต่ก็เพื่อที่จะ "สูญเสียทุกสิ่งที่อย่างที่เขามี" ในที่สุด

นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวไว้ว่า "ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำสอง เหตุการณ์ครั้งแรกเป็นโศกนาฎกรรม แต่ครั้งที่สองเป็นละครน้ำเน่า" ในแง่นี้ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เป็นโศกนาฏกรรมอย่างแท้จริง แต่รัฐประหารครั้งที่สองปี 2555-56 จะเป็นละครน้ำเน่า ที่ผู้ชมเบื่อหน่าย สะอิดสะเอียน ที่จะนำไปสู่จุดจบของผู้สร้างและผู้เขียนเรื่องทั้งหมด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

Posted: 22 Nov 2012 06:44 AM PST

"ที่ 'เสธ.อ้าย' เรียกชุมนุมได้ ก็เพราะมี 'ประชาธิปไตย' เหลืออยู่บ้างนี่แหละครับ ตรงกันข้าม หากเราไม่มี 'ประชาธิปไตย' หลงเหลือเลย ก็อาจมี 'เผด็จการที่แสนดี' จับ 'เสธ.อ้าย' ไปขังไม่ให้ชุมนุมแล้ว"

21 พ.ย. 55, โพสต์สถานะบนเฟซบุ๊กตัวเอง

แม่หละ: การจดทะเบียนเกิด ชายแดนตะวันตก-สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง

Posted: 22 Nov 2012 06:32 AM PST

"รู้มั้ยเมื่อกี้เราไปไหนมา" ข้าพเจ้าลองเอ่ยถามคนขับรถตู้ที่เช่ามาสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ "รัฐอิสระ เป็นแนวกันชนพม่า พวกกัน(เพื่อน)ที่ขับรถทัวร์เขาว่างั้น"  ชายหนุ่มนักขับ กล่าวตอบเสียงดังชัดเจนขณะรถเลี้ยวออกมาจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ  เมื่อมานึกย้อนอีกครั้งภาพของผู้คนที่นั่นจริงๆแล้วก็อาจจะเป็นเหมือนที่เขาตอบ  เพราะที่นั่นคือดินแดนที่คนภายนอกไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปหรือรับรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้นหากไม่ได้บัตรผ่านเข้า-ออก (Camp pass) จากกระทรวงมหาดไทย  เจ้าภาพหลักที่ดูแลอยู่[1]

ข้าพเจ้าหวนนึกถึงบางถ้อยคำเมื่อครั้งไปเยือน "ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ" หรือ พื้นที่พักพิงชั่วคราวแม่หละเมื่อปี 2549 ตลอดแนวถนนในระยะทางหลายกิโลเมตร กระท่อมหลังเล็กหลังน้อยที่เรียงรายอยู่ค่อนข้างหนาแน่น แม้เพียงระยะสายตามอง เรื่องราวภายในชุมชนแห่งนี้ก็ยังคงไม่แจ่มชัดนักสำหรับคนภายนอกทั่วไป

สายของวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางมาเยือนพื้นที่พักพิงฯแม่หละอีกครั้ง หลังจากที่เมื่อวาน ได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลบางส่วนจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ในประเด็น "สถานการณ์การจดทะเบียนการเกิดกรณีเกิดนอกสถานพยาบาล"         

การสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริงของการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงฯ ครั้งที่ 2
นับตั้งแต่สิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ได้คุ้มครองเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย การสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริงของการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ของเรา เริ่มต้นขึ้นที่ "พื้นที่พักพิงฯ นุโพ" หรือ "ค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ" อ.อุ้มผาง จ.ตาก ในเดือนกันยายน 2553 ซึ่งพบว่าก่อนหน้านั้นยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการจดทะเบียนการเกิดเลย และได้รับการยืนยันว่า "จันทร์ที่ 6 กันยายนที่จะถึงนี้ จะได้เห็นสูติบัตรใบแรกของค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ" สูติบัตรใบแรก ก็ออกในวันนั้นจริงๆ  และได้เพิ่มเป็น 215 ราย ในอีก 5 เดือนต่อมา (ข้อมูลเดือน มีนาคม 2554) [2]

ในครั้งนี้จึงเป็นการสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริงของการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่ง บนตะเข็บชายแดนไทย-พม่า

ข้อมูลจากนายสันติ ศิริธีราเจษฏ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานองค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ภาพรวมว่า ปัญหาที่พบโดยรวมในหลายพื้นที่ ได้แก่ ข้อจำกัดในด้านทรัพยากรบุคลากร งบประมาณ เนื่องจากในพื้นที่พักพิงฯมีจำนวนประชากรจำนวนมาก ซึ่งทาง UNHCR ได้เข้ามาสนับสนุนในด้านงบประมาณประจำปี จำนวน 6-7 คน/พื้นที่พักพิง ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติที่มีความแตกต่างกันในแต่พื้นที่พักพิงฯ  

สถานการณ์การจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงฯ ในพื้นที่อ.แม่สอด อ.ท่าสองยางนั้น การจดทะเบียนการเกิดนับตั้งแต่ปลายปี 2554 ที่ผ่านมามีความคืบหน้าและมีความชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังให้เกิดกับพื้นที่พักพิงอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มของผู้หนีภัยที่เป็นผู้ลักลอบอาศัย[3] ในหลายพื้นที่พักพิงเจ้าหน้าที่ยังมีความไม่มั่นใจในการดำเนินการจดทะเบียนการเกิดให้กับบุตรของคนกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางมาชี้แจงทำความเข้าใจต่อแนวทางปฏิบัติแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ในส่วนของ พื้นที่พักพิงฯแม่หละ ปลัดปรีดา ตระกูลชัย ในฐานะหัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ ม.ค.2553-ปัจจุบัน มีเด็กที่ได้รับการแจ้งเกิดแล้ว 1,272 คน

การดำเนินการในปีนี้ ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 มีจำนวนเด็กที่รอการแจ้งเกิดย้อนหลังอยู่ 138 ราย และดำเนินการไปแล้ว ยังเหลืออยู่ 65 ราย

ในส่วนขั้นตอนการจดทะเบียนการเกิดนั้น  เราพบว่าก่อนหน้านี้แม้จะมีแนวปฏิบัติที่ออกมาโดยหนังสือสั่งการหลายฉบับ แต่ในทางปฏิบัติในแต่ละพื้นที่พักพิงฯจะมีแนวทางที่แตกต่างกันและไม่ชัดเจนนัก  จากคำอธิบายของปลัดปรีชา กรณีของพื้นที่พักพิงฯแม่หละมีขั้นตอนการดำเนินการจดทะเบียนการเกิดกรณีเกิดนอกสถานพยาบาล[4]  มีลักษณะคล้ายกันกับพื้นที่พักพิงฯนุโพ[5]

คือ เมื่อมีการคลอดที่สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลในพื้นที่พักพิงฯ จะมีการออกหนังสือรับรองการเกิด(แบบฟอร์มคล้ายคลึง ท.ร.1/1) ให้กับคนที่มาคลอด

จากนั้นจึงนำหนังสือรับรองการเกิดมาการแจ้งการเกิดกับปลัด แต่ในบางกรณีทางปลัดมีการยืดหยุ่นให้ใช้เอกสารใบฉีดวัคซีนของหน่วยวิจัยมาลาเรียโซโกร -Shoklo Malaria Research Unit (SMRU) เป็นหลักฐานแทนหนังสือรับรองการเกิด เนื่องจากพบว่ามีผู้หนีภัยส่วนใหญ่มาทำคลอดที่นี่เพราะมีบริการฉีดวัคซีนให้เด็กฟรีด้วย

แต่เนื่องจากแม่ที่คลอดส่วนใหญ่จะมาแจ้งการเกิดกับทางปลัดค่อนข้างช้า(เกิน 15 วัน) ซึ่งปลัดให้ความเห็นว่าปัญหาเกิดจากทางผู้หนีภัยยังไม่เห็นความสำคัญในการมาจดทะเบียนการเกิด ดังนั้นปลัดจึงออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.100)[6] และมีการสอบ ป.ค. 14 เพื่อป้องกันการสวมตัว โดยทางปลัดจะรวบรวมเอกสารไว้บันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะส่งเอกสารให้แก่ปลัดฝ่ายทะเบียนแต่ละครั้งเพื่อดำเนินการออกสูติบัตร (ท.ร.031) และเพิ่มชื่อใน ท.ร.38 ก

ในกรณีแจ้งเกิดย้อนหลังเกิน 1 ปี จะต้องมีคณะกรรมการหมู่บ้านในพื้นที่พักพิงฯมารับรองด้วย ทั้งนี้แนวปฏิบัติในเรื่องของป.ค.14 นั้น มีการตั้งข้อสังเกตในการสร้างภาระเกินความจำเป็นหรือไม่ แต่ก็ดูเหมือนว่ากลายเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอดเช่นกัน ซึ่งทางนายวิโรจน์ ศรีสุวรรณ ผอ.สำนักบริการการทะเบียน และปลัดปรีดา ชี้แจงว่าขั้นตอนดังกล่าวนั้นเป็นการสร้างความมั่นใจ ป้องกันการสวมตัว และไม่ได้สร้างภาระมากเกินไป สำหรับมุมมองของเจ้าหน้าที่

ในขณะที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. เสนอว่าปลัดอำเภอในฐานะหัวหน้าพื้นที่พักพิง ควรจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ออกใบรับรองการเกิด ท.ร. 1 ตอนหน้าแทน (เช่นเดียวกับกรณีเด็กเกิดนอกสถานพยาบาล แล้วออกโดยผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งเป็นการรับแจ้งการคลอดไม่ใช่ไปรับรองการคลอดในลักษณะที่ดำเนินการอยู่ เนื่องจากปลัดไม่ใช่แพทย์ผู้ทำคลอด

นอกจากนี้รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ยังเสนอว่าการพัฒนาแบบฟอร์มหนังสือรับรองการเกิดเป็นภาษาอื่นสำหรับกรณีพื้นที่พักพิงก็ควรมีการพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งที่ตนเคยเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว

ในระยะเวลาอันจำกัดในการลงพื้นที่จากการรับฟังเรื่องราวผ่านผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ในระยะเวลาช่วง 2 วัน และเข้าไปในพื้นที่พักพิงฯบางส่วนเท่าที่เราได้รับอนุญาติ  ทำให้เห็นว่าแม้ว่าภาพรวมการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงฯ แม่หละ ในปัจจุบันจะมีมีความชัดเจนในทางปฏิบัติและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับกรณีการแจ้งเกิดย้อนหลังให้กับอดีตเด็กที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด  รวมทั้งกลุ่มเด็กที่เป็นลูกของกรณีผู้หนีภัยที่ลักลอบอาศัยก็ยังเป็นโจทย์ที่ต้องมีการดำเนินการต่อไป เพื่อให้สิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ได้คุ้มครองเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยอย่างแท้จริง

รวมทั้งการสร้างความเข้าใจเรื่องการจดทะเบียนการเกิด และการสร้างแนวปฏิบัติที่ชัดเจนร่วมกันก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและดูเหมือนยังไม่มีคำตอบในอีกหลายพื้นที่พักพิงฯ

ข่าวคราวจากอีกฟากฝั่งที่ดูเหมือนสถานการณ์จะคลี่คลายไปเช่นกัน วันนี้เราได้รับคำตอบชัดถ้อยชัดคำจากปลัดปรีชาว่ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนมาถึงที่นี่ว่าจะมีการปิดพื้นที่พักพิงฯใน 3 ปีนี้ ตามที่มีข่าว

ขณะที่การจดทะเบียนการเกิด ณ ชายแดนตะวันตก-สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างไรก็ตามโจทย์ที่ยังค้างคาทำให้เรายังต้องติดตามตอนต่อไป รวมทั้งพื้นที่พักพิงอื่นๆที่ยังรอการไปเยือน

 


[1] ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ,"ที่ทางความยุติธรรมของ "คนพลัดถิ่นข้ามแดน"....ตอน 2" ส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง "กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในพื้นที่พักพิงฯ" สนับสนุนโดย UNHCR, ธันวาคม 2549 , http://www.gotoknow.org/blogs/posts/102962

[2]ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, "(เฉพาะ) เด็กเกิดใหม่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ ได้รับการแจ้งเกิดแล้ว 215 คน" , 20 มีนาคม 2555 http://www.statelesswatch.org/autopagev4/show_page.php?topic_id=554&auto_id=2&TopicPk=

[3] ทั้งนี้มีการแบ่งผู้หนีภัยเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้หนีภัยการสู้รบที่คณะกรรมการของอำเภอและจังหวัดมีมติรับสถานะเป็น ผู้หนีภัยจากการสู้รบ และได้จัดทำทะเบียนร่วมกับ UNHCR  2. กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนคัดกรอง pre screening (กึ่งขึ้นทะเบียน) 3.กลุ่มที่ลักลอบอาศัย

[4]โรงพยาบาลในพื้นที่พักพิงไม่ถือเป็นสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

[5]ดูแผนภาพประกอบ ,อ้างแล้ว ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล 20 มีนาคม 2555, "(เฉพาะ) เด็กเกิดใหม่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ ได้รับการแจ้งเกิดแล้ว 215 คน"

[6]ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ข้อ 57 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ข้อ 58 กรณีแจ้งการเกิดเกินกำหนด( เกิน 15 วัน) กำหนดให้ออกใบรับแจ้งการเกิด( ท.ร.100) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รถไฟความเร็วสูง : ฝันให้ได้ (ต้อง) ไปให้ถึง

Posted: 22 Nov 2012 06:22 AM PST

            นับวันความสามารถทางการแข่งขันด้านต่างๆ ของประเทศไทยจะทยอยหมดลงไปอย่างมาก ทรัพยากรและแร่ธาตุที่เคยเป็นแรงดึงดูดใจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนตั้งแต่ช่วงอาณานิคม จนถึงราวทศวรรษ 1970 ได้ร่อยหรอลง ในทางเดียวกัน ข้อได้เปรียบด้านแรงงานและค่าแรง (ทั้งก่อนและหลังการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท) ดูจะลดลง พร้อมกับการเปิดประเทศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนของหลายประเทศในภูมิภาค

            ปัญหาสำคัญที่ควรตั้งคำถามทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า คือเราจะสามารถอยู่รอดภายใต้สถานการณ์เช่นที่ว่านี้ได้อย่างไร?

            แม้ประเทศไทยจะมีจุดแข็งหลายด้าน อาทิ การมีภาคธุรกิจจำนวนหนึ่งที่แข็งแกร่งและมีประสบการณ์สามารถรับมือกับความไร้เสถียรภาพด้านๆ ต่างในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แต่จุดแข็งที่สำคัญที่สุดของประเทศตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นจนถึงปัจจุบัน และยากที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็คือ "จุดแข็งทางภูมิศาสตร์" ในการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองท่า และศูนย์กลางต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแนวตะวันออก/ตะวันตก และเหนือ/ใต้ โดยที่สภาพและการเชื่อมต่อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปรากฏและดำเนินมาตั้งแต่อดีตเหมือนหลายพันปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

          เราจะเพิ่มศักยภาพของ "จุดแข็ง" ดังกล่าวนี้ได้อย่างไร?

            ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา "โครงการรถไฟความเร็วสูง" (High Speed Train) ได้รับการพูดถึงอย่างหนาหูขึ้นทุกวัน ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนแล้ว โครงการดังกล่าวนี้จะเป็นตัวช่วยอย่างสำคัญในการผลักดันและเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย แปรจุด "จุดแข็ง" ทางภูมิศาสตร์ของไทยให้กลายเป็น "ศักยภาพ" ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงสังคมและวิถีของผู้คน

            การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงจะทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของประเทศไทยดังต่อไปนี้

           ประการแรก ดังที่กล่าวมาแล้ว "จุดแข็ง" ทางภูมิศาสตร์ของไทยจะแปรเปลี่ยนเป็น "ศักยภาพ" สำคัญในการ "เชื่อมโยง" ศูนย์กลางแต่ละภูมิภาคของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยความเร็วในการเดินทางที่สั้นลงอย่างมาก อันจะส่งผลให้เกิดการไหลเวียนที่รวดเร็วของผู้คน สินค้า และทุน รวมถึงกระชับแหล่งวัตถุดิบให้แนบแน่นกับแหล่งผลิต และแหล่งผลิตกับตลาดสินค้าให้แนบแน่นขึ้นด้วย "ต้นทุน" การเชื่อมโยงที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบถนน

            ประการที่สอง "กรุงเทพฯ" จะลดความแออัดและกระจุกตัวของประชากรที่เป็นสาเหตุของปัญหาสังคมและการจราจร พร้อมกับการขยายตัวของ "เมืองหลัก" และ "เมืองบริวาร" ตามเส้นทางรถไฟในระยะเดินทางประมาณ ½ - 2 ชั่วโมงด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนจะมีแนวโน้มทีดีขึ้นและไม่ต้องมีการแย่งชิงทรัพยากรในเมืองศูนย์กลางมากนัก

            ประการที่สาม "เมืองหลัก" และ "เมืองรอง" ตามภูมิภาคที่เดินทางโดยสะดวกจากกรุงเทพฯ และดินแดนตอนในของประเทศจะเกิดการเติบโตอย่างมีสเถียรภาพ เกิดธุรกิจใหม่ๆ อาทิ ธุรกิจในภาคบริการ การขนส่ง อุตสาหกรรม และธุรกิจสร้างสรรค์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากภาคเกษตรกรรมมากขึ้น เนื่องจากทรัพยากร บุคลากร และทุนสามารถไหลเวียนได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น โดยที่ "เมืองหลัก" และ "เมืองรอง" จำนวนหนึ่งจะแปรสภาพตัวเองกลายเป็น "ศูนย์รวม" (Hub) ในการกระจายสินค้าสู่พื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ในทางเดียวกับเป็นที่รวบรวมสินค้าจากพื้นที่เหล่านั้นเพื่อส่งต่อและกระจายในพื้นที่อื่น ในลักษณะเดียวกับที่กรุงเทพมหานครเป็นอยู่ในปัจจุบัน

            ประการสุดท้าย "กรุงเทพฯ" จากปัจจุบันที่เป็นศูนย์กลางในแทบทุกเรื่องจะแปรสภาพตัวเองจากที่อยู่ประจำของคนจำนวนมากเป็น "จุดเชื่อมต่อ" และปฏิสังสรรค์ของผู้คน ทรัพยากร และทุน ที่จะเคลื่อนย้าย (ด้วยความเร็วสูง) จากภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน จนกลายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายของผู้คนและชีวิตทางสังคม (Cosmopolitan city) เฉกเช่นเดียวกับที่ปรากฏในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ฮ่องกง และสิงคโปร์

            จากที่กล่าวมารถไฟความเร็วสูงจึงเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพของประเทศที่ความสามารถและศักยภาพทางการแข่งขันในหลายด้านเริ่มถดถอยลง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนย้ายของภาคเกษตรกรรมสู่ภาคการผลิตและการบริการที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการแปรสภาพของ "ต่างจังหวัด" ให้กลายเป็น "ศูนย์กลาง" ด้านต่างๆ ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลุ่มน้ำโขงอันยากที่จะหนีพ้น

 

...........................
เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“เจ้าอู๊ด เกซี” ที่ปรึกษากฎหมาย SSA เสียชีวิตขณะเดินทางไปเจรจาพม่า

Posted: 22 Nov 2012 06:15 AM PST

"เจ้าอู๊ด เกซี" เชื้อสายเจ้าฟ้าไทใหญ่ "หนองบอน" ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย RCSS / SSA ถึงแก่กรรมกะทันหันด้วยโรคหัวใจ ขณะเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลพม่าที่เมืองตองจี

แฟ้มภาพเจ้าอู๊ด เกซี ที่ปรึกษาสภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน ถ่ายเมื่อปี 2550 ล่าสุดเจ้าอู๊ด เกซี เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (21 พ.ย.) ระหว่างร่วมคณะเจรจาสันติภาพของสภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน ไปเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าระดับสหภาพ ซึ่งมีกำหนดหารือเรื่องการปราบปรามยาเสพย์ติด (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

มีรายงานว่า เมื่อเวลา 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นพม่าวานนี้ (21 พ.ย.) เจ้าอู๊ด เกซี หรือ เจ้าหน่อคำอู๋ อายุ 65 ปี ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสภากอบกู้รัฐฉาน RCSSกองทัพรัฐฉาน SSA ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลวอย่างกะทันหัน ขณะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ซึ่งเขาเสียชีวิตขณะอยู่ระหว่างเดินทางไปกับคณะเจรจาสันติภาพของ RCSS / SSA เพื่อเจรจาด้านสันติภาพกับรัฐบาลพม่าระดับชั้นสหภาพ โดยมีกำหนดหารือกันเกี่ยวกับแผนการปราบปรามยาเสพติดที่เมืองตองจี

ประวัติเจ้าอู๊ด เกซี เกิดเมื่อ 19 ก.ค. 2490 ในวังเจ้าฟ้าเมืองเกซี บิดาชื่อ เจ้าจิ่ง มารดาชื่อ เจ้าจี่ น้องเจ้าฟ้าทุนเหย่น เจ้าฟ้าเมืองหนองบอน มีพี่น้องรวม 11 คน ชาย 7 หญิง 4 เป็นบุตรคนที่ 8 เจ้าอู๊ด สมรสกับนางเมียะจิ่ง อยู่ จ.แม่ฮ่องสอน มีบุตร 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน

เจ้าอู๊ด เกซี จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากพม่า เข้าร่วมขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ในกองทัพเมืองไตย MTA ภายใต้การนำของขุนส่า เมื่อปี 2538 ทำหน้าที่คุมสำนักงานยุติธรรม หลังขุนส่าวางอาวุธให้กับรัฐบาลทหารพม่า ได้เข้าร่วมในกองทัพรัฐฉาน SSA ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก ทำหน้าที่ฝ่ายกิจการต่างประเทศ เมื่อปี 2540 – 2541 เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในยุโรป ต่อมาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานกลุ่มชาติพันธุ์ และก่อนหน้าเสียชีวิตมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับ RCSS / SSA

มีรายงานว่า ศพของเจ้าอู๊ด เกซี ได้รับการประกอบพิธีฌาปนกิจในบ่ายวันนี้ (22 พ.ย.) ที่สุสานตองจี

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'Insects' ร่วม 'Shakespeare' ฟ้องศาลปกครองเร่งรัดคดี หลังพบหนังถูกปล่อยบิท

Posted: 22 Nov 2012 06:01 AM PST

22 พ.ย.55 ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง  'Insects in the Backyard'  ร่วมกับมานิต ศรีวานิชภูมิผู้อำนวยการสร้าง และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง  'เชคสเปียร์ต้องตาย'  เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เหตุถูกเว็บไซต์เถื่อน ขโมยหนังไปจำหน่ายและเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีมติไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ เรื่อง 'เชคสเปียร์ต้องตาย'  โดยให้เหตุผลว่า ภาพยนตร์มีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ  ส่วนภาพยนตร์เรื่อง  'Insects in the Backyard' ให้เหตุผลว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ได้กล่าวถึงการแจ้งความการละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งนี้ ว่า เหมือนถูกกระทำซ้ำสอง หลังจากที่ภาพยนตร์ถูกคำสั่งห้ามเผยแพร่มาครั้งหนึ่งแล้ว

'มันแย่มากๆ  หลังจากหนักโดนแบนไปก็ยังมีคนมาละเมิด  เอาไปขายต่อ  มันแย่มากๆ  มันเหมือนโดนข่มขืนซ้ำสอง' มานิตกล่าว

หลังจากนั้น ทีมผู้สร้าง-ผู้กำกับและทีมทนายความจากหนังทั้งสองเรื่อง ได้เดินทางต่อไปยัง 'ศาลปกครอง' เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเร่งรัดการพิจารณาคดีในกรณีการขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกัน

ความเสียหายและผลกระทบอันจะเกิดขึ้นเพราะเหตุที่มีผู้นำหนังทั้งสองเรื่องไปเผยแพร่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ผลิตหนังได้รับความเสียหายและสูญเสียรายได้ที่อาจจะได้รับจากการจัดฉายหลังศาลมีคำพิพากษา

โดยในกรณีของเรื่อง 'Insects in the Backyard' นั้น ได้ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในคดี เช่นเดียวกับในกรณีของ 'เชคสเปียร์ต้องตาย' ซึ่งได้ฟ้องร้องไปเมื่อ 9 สิงหาคม 2555 ก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน

ด้านธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 'Insects in the Backyard' ได้แสดงความเห็นต่อระบบการพิจารณาคดีว่า เป็นไปด้วยความล่าช้า และไม่ทันการณ์ 'มันน่าจะเร็วกว่านี้  มันก็เป็นสินค้า  มีระยะเวลาของมัน  ไม่ใช่เมื่อไหร่ก็ได้  ถ้าล้าสมัยไปก็เสียหาย'

ทีมภาพยนตร์รอเข้าแจ้งความต่อ "กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี" (ปอท.) [ซ้ายไปขวา] "สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์" ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง  "เชคสเปียร์ต้องตาย", "มานิต ศรีวานิชภูมิ" ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย", "ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์" ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "Insects in the Backyard"

[ซ้ายไปขวา] "พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง"  ตำแหน่ง พงส. (สบ3) กก.3 บก.ปอท.  ผู้รับฟ้อง, "มานิต ศรีวานิชภูมิ", "ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์"

กลุ่มทีมภาพยนตร์ที่ถูกแบน [ซ้ายไปขวา] "วสันต์ พานิช" ทนายความจากทีมภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย", "มานิต ศรีวานิชภูมิ" ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย", "วริทธิ์พล  จิวะสุรัตน์" ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์  "Insect in the Backyard" ,"ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลวิจัยระบุผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทยตรวจข้อมูลเน็ตสูงอันดับต้นของโลก

Posted: 22 Nov 2012 05:14 AM PST

คณะนักวิจัยนานาชาติพบการตรวจข้อมูลในเครือข่ายโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของไทย 3 ราย คือทรู ทีโอที และสามบีบี ตั้งแต่ปี 2552, 2553, 2554 โดยเมื่อถ่วงน้ำหนักทั้งประเทศแล้ว ประเทศไทยมีอัตราการตรวจข้อมูลในระดับสูง หรือ "ทำกันโดยทั่วไป" (pervasive) ติดต่อกันทุกปี และสูงที่สุดในปี 2553 หนึ่งในคณะวิจัยระบุว่าส่วนใหญ่แล้วการตรวจดังกล่าว ทำด้วยเหตุผลทางธุรกิจเพื่อจัดการปริมาณจราจร แต่เทคโนโลยีเดียวกันสามารถใช้เพื่อเฝ้าระวังทางการเมืองได้

ฮาดี อัสการี หนึ่งในคณะนักวิจัยให้สัมภาษณ์กับเครือข่ายพลเมืองเน็ต

ในงานประชุม Global Internet Governance Academic Network (GigaNet) ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการด้านการจัดการอินเทอร์เน็ตซึ่งจัดพร้อมกับที่ประชุมสากลว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล (Internet Governance Forum) ฮาดี อัสการี นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยี นโยบาย และการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำเสนอรายงานวิจัย "Unravelling the Economic and Political Drivers of Deep Packet Inspection" ซึ่งเป็นความร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไซราคูส ในสหรัฐอเมริกา และใช้ข้อมูลจากโครงการ <a href="http://measurementlab.net/">M-Lab</a> ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือในการศึกษาการจัดการช่องส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตโดยนักวิจัยจากทั่วโลก

บทคัดย่อของรายงานวิจัยฉบับดังกล่าวระบุว่า การใช้เทคโนโลยี Deep Packet Inspection (DPI) หรือการตรวจตราชิ้นส่วนข้อมูลอย่างละเอียดนั้น เป็นหัวข้อการศึกษาที่วงการวิชาการให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมันมีผลกระทบต่อประเด็นอ่อนไหวทางนโยบายหลายประการ โดยรายงานฉบับนี้ให้ความสนใจกับการใช้ DPI เพื่อบีบขนาดหรือปิดกั้นช่องส่งข้อมูลสำหรับการรับส่งข้อมูลแบบเพียร์ทูเพียร์ในผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 288 ราย จาก 70-75 ประเทศ ในช่วงเวลาสามปี และหาความสัมพันธ์ของการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับตัวแปรทางเศรษฐกิจและการเมือง

เทคโนโลยี DPI อนุญาตให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เปิด "ซองจดหมาย" เพื่อดูรายละเอียดเนื้อหาในซองข้อมูลแต่ละซอง หรือที่เรียกว่า "แพ็คเก็ต" (packet) การรู้รายละเอียดเนื้อหาในซองนี้ทำให้ผู้ให้บริการสามารถจำกัดการรับส่งข้อมูลบางชนิดจากบางโปรแกรม ให้ความสำคัญข้อมูลชนิดหนึ่งมากกว่าอีกชนิดหนึ่ง หรือปิดกั้นข้อมูลโดยระบุชนิดได้แบบทันที หรือที่เรียกว่า "ตามเวลาจริง" (real-time) ตัวอย่างเช่นการจำกัดความเร็วของการดาวน์โหลดผ่านโปรโตคอลทอร์เรนต์ นอกจากนี้การเปิดซองข้อมูลดังกล่าวยังอนุญาตให้ผู้ให้บริการทำประวัติบุคคลของผู้ใช้ได้ด้วย ซึ่งความสามารถทั้งหมดนี้ ทำให้เทคโนโลยี DPI ส่งผลกระทบต่อประเด็นอ่อนไหวอย่าง ความเป็นกลางของเครือข่าย (network neutrality) การควบคุมเนื้อหาลิขสิทธิ์ ความมั่นคง การปิดกั้นเนื้อหา ความเป็นส่วนตัว และภาระความรับผิดของตัวกลางข้อมูล

ข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ในปี 2554 มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ให้บริการที่ถูกศึกษานั้น ใช้ DPI เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศที่มีการทำ DPI สูง มักขาดแคลนช่องส่งข้อมูล มีการแข่งขันในตลาดต่ำ รัฐมีนโยบายการตรวจตราสูง ขาดกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว และมีการเซ็นเซอร์เนื้อหาสูง

ส่วนสมมติฐานที่ว่าประเทศที่มีอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์เข้มแข็งน่าจะมีการทำ DPI สูงด้วย ถูกข้อมูลปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง คณะผู้วิจัยระบุว่า แม้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรแต่ละตัวกับการใช้ DPI จะอยู่ในระดับอ่อน แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นมีนัยสำคัญและเป็นไปในทิศทางที่คาดหรือไม่

ข้อมูลดิบในการศึกษานี้นำมาจากเครื่องมือทดสอบชื่อ Glasnost ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้เน็ตทั่วโลกทำการทดสอบการจำกัดช่องส่งข้อมูลในหลายรูปแบบ โดยเครื่องมือดังกล่าวจะทดลองรับส่งข้อมูลในหลายรูปแบบ เพื่อหาว่ามีการจำกัดหรือไม่ และเป็นการจำกัดด้วยวิธีอะไร ข้อจำกัดของชุดข้อมูลนี้คือ หากไม่มีผู้ใช้บริการเน็ตจากผู้ให้บริการรายใดมาเปิดโปรแกรมเพื่อทดสอบมากพอก็จะไม่มีข้อมูลของผู้ให้บริการรายนั้น ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของประเทศไทยที่มีข้อมูลของผู้ให้บริการเพียงสามราย

ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีการตรวจตราข้อมูลอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก (ภาพจาก Asghari et al. 2012. "Unravelling the Economic and Political Drivers of Deep Packet Inspection" หน้า 9)

<strong>จากข้อมูลปี 2554 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีคะแนน DPI 44.7% ซึ่งหมายความว่าใน 1000 ครั้งที่รับส่งข้อมูล จะมีอยู่ 447 ครั้ง ที่ซองจดหมายของผู้ใช้บริการถูกเปิดดู โดยสูงเป็นอันดับ 7 จากทั้งหมด 70 ประเทศ รองจาก มาเก๊า (78.6%) เกาหลีใต้ (74.7) จีน (71.3) โมร็อคโค (63.2) ปานามา (47.4) และมาเลเซีย (57.0)</strong>

ส่วนแนวโน้มทั่วโลกนั้น ปี 2553 เป็นปีที่มีการทำ DPI สูงที่สุด สูงขึ้นจากปี 2552 ก่อนที่จะลดลงในปี 2554 ซึ่งคณะผู้วิจัยอธิบายว่า เป็นไปได้ว่าในปี 2553 เทคโนโลยีดังกล่าวมีราคาถูกลง ประกอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือผู้เล่นอื่นๆ มีความตระหนักมากขึ้นถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้ DPI เพื่อประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่ามีแรงต้านกลับในปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นแรงต้านจากตลาดหรือแรงต้านทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น ในปี 2554 บริษัท KPN ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเนเธอร์แลนด์ประกาศจะคิดค่าธรรมเนียมกับข้อความที่ส่งด้วยแอพพลิเคชันอย่าง WhatsApp แต่แผนดังกล่าวต้องเลิกไปหลังจากรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ไม่เห็นด้วย เรื่องดังกล่าวส่งผลให้ในปีนี้เนเธอร์แลนด์ผ่านกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติต่อชนิดของข้อมูลที่รับส่งบนเครือข่าย
โดยเป็นประเทศที่สองของโลกต่อจากประเทศชิลีที่มีกฎหมายนี้

อ่านรายงานวิจัยและดูตารางคะแนน DPI ของประเทศทั้งหมดในการศึกษาได้ที่ เว็บไซต์ GigaNet และทดสอบเพื่อดูว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่คุณใช้กำลังทำ DPI อยู่หรือไม่ ได้ที่เว็บไซต์ Glasnost

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน.ไฟเขียว "เสธ.อ้าย" ชุมนุม ชี้ไม่ได้แช่แข็งประเทศ

Posted: 22 Nov 2012 03:11 AM PST

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องวินิจฉัย กรณีการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามล้มล้างการปกครองฯ ชี้คำร้องไม่ปรากฏมูลเหตุ พล.อ.บุญเลิศ ไม่ได้มีการกล่าวเกี่ยวกับแนวคิดปิดประเทศหรือแช่แข็งประเทศ แต่แช่เพียงนักการเมืองเลว

22 พ.ย. 55 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ผลการพิจารณามีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ และนายสิงห์ทอง บัวชุม ยื่นคำร้อง ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ได้กระทำการโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

ผลการพิจารณาจากการสอบถามผู้แทนพลเอกบุญเลิศ และผู้แทนพลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนีแล้ว ยืนยันว่า ไม่ได้มีการกล่าวเกี่ยวกับการแนวคิดการปิดประเทศหรือแช่แข็งประเทศ แต่หมายความว่า เป็นการแช่แข็งนักการเมืองเลว นักการเมืองชั่ว ไว้สักระยะ 5 ปี เพื่อป้องกันมิให้เข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์ และตามคำชี้แจงได้ความว่าการนัดชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย.55 เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงพลังขับไล่รัฐบาล หากไม่เป็นผลก็จะยุติการชุมนุม และตามคำร้องยังไม่ปรากฏมูลเหตุว่า จะมีการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ  หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง

ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องทั้ง 3 ไว้พิจารณา

"เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม

แนวหน้าออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต สว.สรรหา  นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย และนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความชมรมผู้รักความเป็นธรรม รวม 3 คำร้อง ตามมาตรา 68 กล่าวหาว่า  พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม และพล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี โฆษก อพส.  กระทำการตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างระบอบการปกครอง อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พล.อ.บุญเลิศ และพล.อ.ท.วัชระ ไม่ได้มีการกล่าวเกี่ยวกับแนวคิดปิดประเทศ หรือแช่แข็งประเทศ แต่หมายว่าเป็นการแช่แข็งนักการเมืองเลว นักการเมืองชั่วไว้ระยะเวลา 5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์   อีกทั้งการชุมนุมในวันที่ 24-25 พ.ย.นี้ เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงพลังขับไล่รัฐบาล หากขับไล่แล้วไม่เป็นผลก็จะยุติการชุมนุม และไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิชอบจากการชุมนุมในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ตามคำร้องยังไม่ปรากฏมูลเหตุว่า จะมีการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ ที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

นายพิมล กล่าวอีกว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับทราบเหตุผลของการชุมนุมทางสื่อมวลชนแล้ว อีกทั้ง มีการส่งตัวแทนมาชี้แจงต่อศาลจึงไม่จำเป็นต้องสั่งให้พล.อ.บุญเลิศ เข้าจี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งนี้ หากการชุมนุมที่เกิดขึ้นเข้าข่ายมาตรา 68 ผู้ร้องสามารถยื่นเรื่องได้ตลอดตามขั้นตอน แต่ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ดุลพินิจอย่างไรต่อจากนี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานถึงก่อนการไต่สวน นายประยงศ์ ไชยศรี ทนายความองค์การพิทักษ์สยาม ได้กล่าวว่าในวันนี้จะเป็นการชี้แจงข้อซักถามต่อคณะตุลาการ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะรับคำร้องของผู้ถูกร้องไว้พิจารณาหรือไม่ โดยยืนยันว่าการชุมนุมขององค์กรพิทักษ์สยามเป็นการชุมนุมภายใต้สิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และประชาชนเองมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกเพื่อปกป้องประเทศชาติ ตามที่เห็นพ้องร่วมกันใน 3 ข้อที่เคยประกาศไว้ในเรื่องการปล่อยให้มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ การบริหารราชการไม่มีประสิทธิภาพ เป็นหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ และการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

ทนายความองค์การพิทักษ์สยามยังกล่าวอีกว่า ในการชุมนุมได้มีการประเมินมวลชนไว้ต่อเนื่อง และมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมมวลชนได้ ไม่มีการก่อเหตุรุนแรงจากผู้ชุมนุม ยืนยันว่าจะไม่มีการเคลื่อนมวลชนปิดล้อมรัฐสภา พร้อมมองว่า การที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.ความมั่นคง ควบคุมการชุมนุม จะไม่สามารถยับยั้งเจตนาของประชาชนที่ทนไม่ไหวกับการบริหารราชการของรัฐบาล ซึ่งการมาชี้แจงในวันนี้จะมีผลต่อการชุมนุมหรือไม่นั้น ต้องรอคำสั่งศาลว่าจะออกมาอย่างไร แต่ในเรื่องมือที่ 3 ที่มีกระแสข่าวว่าจะก่อเหตุความรุนแรง ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องดูแล

ขณะเดียวกัน การไต่ส่วนในวันนี้ ฝ่ายผู้ร้อง ทั้งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย และนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความชมรมผู้รักความเป็นธรรม ได้เข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยยืนยันว่าการชุมนุมของกลุ่มองค์การ พิทักษ์สยามเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

อย่างไรก็ตามในการไต่สวนของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลาไต่สวนประมาณ 15 นาทีเท่านั้น โดยมีการซักถามจากนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับแนวทางของ พล.อ.บุญเลิศ ในการแช่แข็งประเทศไทย และมีเจตนาล้มล้างรัฐบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ นอกวิถีทางรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายประยงศ์ ไชยศรี ทนายความองค์การพิทักษ์สยาม ชี้แจงว่า แนวคิดการแช่แข็งประเทศไทย เป็นแนวคิดของ พล.อ.บุญเลิศ ที่ระบุว่า เป็นการแช่แข็งนักการเมืองเลวเป็นเวลา 5 ปี ไม่ได้มีเจตนาที่จะแช่แข็งประเทศ เพื่อหยุดระบบและการบริหารแผ่นดิน พร้อมยืนยันว่าการชุมนุมเป็นไปตามสิทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อขับไล่รัฐบาล โดยไม่มีการข่มขู่ใช้กำลัง และไม่ได้มีความต้องการให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยวิธีนอกรัฐธรรมนูญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลประกาศใช้ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" 22-30 พ.ย.

Posted: 21 Nov 2012 10:16 PM PST

ครม.ประชุมร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในเขตดุสิต พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ระหว่าง 22-30 พ.ย. ช่วงที่องค์การพิทักษ์สยามจัดชุมนุม

นสพ.ข่าวสด รายงานเมื่อเวลา 12.30 น. วันนี้ (22 พ.ย.) ระบุว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม.ย่อยมีมติให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ใน 3 เขตพื้นที่คือ ดุสิต พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ระหว่างวันที่ 22-30 พ.ย. ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผบ.ตร. เสนอ

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุม ครม.กลุ่มย่อย ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 9 คน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ  นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงเข้าร่วม ประกอบด้วย ตัวแทนเหล่าทัพ กอ.รมน.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือใน ได้แก่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผบ.ตร. พล.อ.อุดมเดช ศรีตบุตร เสนาธิการทหารบก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) และพิจารณาการใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อดูแลความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่การชุมนุม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดีแจกใบปลิวหมิ่นฯ ที่ร้อยเอ็ด ศาลจำคุก 3 ปีแต่รอลงอาญา-บำเพ็ญประโยชน์ 18 ชม.

Posted: 21 Nov 2012 09:36 PM PST

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริง แต่ขณะเกิดเหตุปี 52 มีการชุมนุม จำเลยย่อมได้ข้อมูลหลายทาง และจำเลยประพฤติเรียบร้อย-ไม่เคยเป็นปฏิปักษ์การปกครอง จึงให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี 

วันนี้ (22 พ.ย.) ศาล จ.ร้อยเอ็ด มีคำพิพากษาคดีที่นายอุทัย (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่าแจกใบปลิวที่มีข้อความหมิ่นพระราชินีและรัชทายาทให้กับผู้อื่น เหตุเกิดที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด โดยการสืบพยานในคดีทั้งพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยในวันที่ 21, 29 สิงหาคม และ 24 กันยายน 2555 และมีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 พ.ย. ดังกล่าว

โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดนำใบปลิวไปให้ผู้อื่นอ่านจริง ลงโทษจำคุก 3 ปี พิเคราะห์แล้วขณะเกิดเหตุปี 52 มีการชุมนุม มีความขัดแย้งหลายกลุ่มจำเลยย่อมได้รับข้อมูลหลายทาง อีกทั้งความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของตำรวจก็มีความเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประกอบกับจำเลยมีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยมีประวัติเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่พบหลักฐานว่าจำเลยทำใบปลิวขึ้นมา จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี และให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ 18 ชม. ภายใน 1 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น