โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สุนทรพจน์ของบารัค โอบาม่า ในคืนเลือกตั้งสหรัฐฯ 2012

Posted: 08 Nov 2012 12:03 PM PST

สุนทรพจน์ของบารัค โอบามา ที่สามารถรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีไว้เป็นสมัยที่ 2 เรียกร้องความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนและฝ่ายค้านในการก้าวไปข้างหน้า พร้อมย้ำความเชื่อในประชาธิปไตยคือคุณค่ายิ่งใหญ่ที่สหรัฐมีแม้จะดูยุ่งยากซับซ้อน และมีข้อถกเถียงโต้แย้ง แต่การได้โต้เถียงคือเครื่องแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย

0000

คลิปวิดีโอจาก www.barackobama.com

กว่า 200 มาปีแล้ว เราซึ่่งเคยเป็นประเทศอาณานิคมได้ชัยชนะในการมีสิทธิมีเสียงที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง ในค่ำคืนนี้ ภารกิจในการทำให้ประเทศของพวกเราสมบูรณ์แบบก็ได้เคลื่อนต่อไปข้างหน้า(เสียงเชียร์และปรบมือ)

ที่ภารกิจนี้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ก็เพราะพวกคุณ เพราะพวกคุณยึดมั่นในจิตวิญญาณที่มีชัยเหนือสงครามและความถดถอยทางเศรษฐกิจ จิตวิญญาณที่ได้ฉุดให้ประเทศนี้พ้นจากความสิ้นหวังไปสู่ความหวังอันสูงส่ง ความเชื่อที่ว่า ในขณะที่แต่ละคนก็จะตามหาความฝันส่วนตัวของตัวเอง แต่พวกเราก็ยังเป็นครอบครัวคนอเมริกัน และพวกเราก็ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกันในฐานะคนชาติเดียวกันและในฐานะประชาชนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ในค่ำคืนนี้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณ...ประชาชนชาวอเมริกัน เตือนพวกเราว่า แม้ว่าหนทางของพวกเราจะยากลำบาก การเดินทางของเรายาวไกล พวกเราก็ช่วยประคับประคองกันและกัน พวกเราก็ช่วยกันฟันฝ่า และพวกเราก็ตระหนักแก่ใจว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสหรัฐอเมริกาจะต้องเกิดขึ้น

(เสียงเชียร์และปรบมือ) ผมอยากขอบคุณชาวอเมริกันทุกคนที่มีร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ (เสียงเชียร์และปรบมือ) ไม่ว่าคุณจะมาลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก... (เสียงเชียร์) ...หรือต้องเข้าแถวรอเป็นเวลานานมาก... (เสียงเชียร์) ...จริงๆ แล้ว เราควรจะแก้ปัญหาการต่อแถวนี้เหมือนกัน (เสียงเชียร์และปรบมือ) ไม่ว่าคุณจะเดินเตะฝุ่นหรือได้รับโทรศัพท์เรียก...  (เสียงเชียร์และปรบมือ) ...ไม่ว่าคุณจะถือป้ายของโอบาม่า หรือป้ายของรอมนีย์ คุณก็ทำให้เสียงของคุณเป็นที่รับรู้และได้สร้างความแตกต่างขึ้นมาแล้ว (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ผมเพิ่งได้พูดคุยกับผู้ว่าฯ รอมนีย์ และกล่าวแสดงความยินดีกับเขาและพอล ไรอัน ในการต่อสู้หาเสียงอย่างเต็มความสามารถ (เสียงเชียร์และปรบมือ) พวกเราอาจจะต่อสู้กันหนักหน่วง แต่มันก็เป็นเพราะว่าพวกเรารักประเทศนี้อย่างลึกซึ้งและพวกเราก็เป็นห่วงอนาคตของประเทศนี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่จอร์จมาจนถึงเลนอร์ มาจนถึงลูกของเขามิตต์ ตระกูลรอมนีย์ได้ให้สิ่งต่างๆ กลับคืนแก่ประเทศผ่านการทำงานราชการ และนั่นก็เป็นมรดกตกทอดที่พวกเราถือเป็นเกียรติและขอแสดงความชื่นชมในค่ำคืนนี้ (เสียงเชียร์และปรบมือ) ในหลายสัปดาห์ต่อจากนี้ ผมมีตั้งตารอที่จะนั่งลงหารือกับผู้ว่าฯ รอมนีย์ ว่าเราจะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไปอย่างไร (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ผมอยากขอบคุณเพื่อนและผู้ร่วมงานของผมตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เขาผู้นี้เป็นนักสู้อารมณ์ดีของอเมริกา เป็นรองประธานาธิบดีที่ดีที่สุดเท่าที่ทุกคนหวังว่าจะมีได้ โจ บิเดน (เสียงเชียร์และปรบมือ)

และผมก็ไม่อาจเป็นตัวผมในวันนี้ได้หากไม่มีสตรีผู้หนึ่งที่ยินดีแต่งงานกับผมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (เสียงเชียร์และปรบมือ) ขอให้ผมได้กล่าวสิ่งนี้ต่อหน้าสาธารณชนเถิด มิเชลล์ ผมไม่เคยรักคุณมากเท่านี้มาก่อนเลย (เสียงเชียร์และปรบมือ) ผมไม่เคยรู้สึกภาคภูมิใจมากเท่านี้ ที่ได้เห็นชาวอเมริกันตกหลุมรักคุณในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ซาช่า และมาเลีย... (เสียงเชียร์และปรบมือ) ...ในสายตาของพวกเราแล้ว ลูกกำลังโตขึ้นมาเป็นหญิงสาวที่แข็งแกร่ง, ฉลาด และงดงาม เหมือนกับแม่ของลูก (เสียงเชียร์และปรบมือ) และพ่อก็ภูมิใจในตัวลูกๆ มาก แต่ที่พ่อจะบอกลูกๆ ไว้ในตอนนี้คือ มีสุนัขแค่ตัวเดียวก็น่าจะพอแล้ว (เสียงหัวเราะ)

สำหรับทีมงานและอาสาสมัครการหาเสียงที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง (เสียงเชียร์และปรบมือ) ...ดีที่สุด...ที่สุดเท่าที่เคยมีมา... (เสียงเชียร์และปรบมือ) มีบางคนที่ยังใหม่อยู่ และบางคนที่อยู่เคียงข้างผมตั้งแต่เริ่ม (เสียงเชียร์และปรบมือ)

แต่ทุกคนถือเป็นครอบครัว ไม่ว่าคุณจะทำอะไรหรือจะไปที่ไหนหลังจากนี้ คุณจะนำเอาความทรงจำของประวัติศาสตร์ที่เราสร้างมาด้วยกันไปด้วย (เสียงเชียร์และปรบมือ) และพวกคุณก็จะได้รับความปลาบปลื้มไปชั่วชีวิต จากประธานาธิบดีที่สำนึกในบุญคุณของพวกคุณ ขอบคุณที่เชื่อมั่นเสมอมา ... (เสียงเชียร์และปรบมือ) ... ไม่ว่าจะขึ้นเนินหรือฝ่าหุบเขา (เสียงเชียร์และปรบมือ) พวกคุณก็ช่วยผยุงผมมาตลอด และผมจะสำนึกในบุญคุณสำหรับทุกสิ่งที่คุณได้ทำและกับผลงานยอดเยี่ยมที่พวกคุณได้สร้างขึ้น (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ผมรู้ว่าการหาเสียงทางการเมืองบางทีก็ดูเป็นเรื่องเล็กๆ หรือแม้แต่ดูโง่เง่า และนั่นก็ทำให้เหล่าผู้หล่อเลี้ยงแนวคิดแบบขวางโลก (cynics) บอกพวกเราว่าการเมืองก็เป็นเพียงแค่การประชันอีโก้หรือแค่พื้นที่ความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าหากคุณได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่มาร่วมขบวนปราศรัยของพวกเราเป็นทางยาวในโรงเรียนมัธยมฯ หรือในโรงยิม ...หรือไม่ก็ได้เห็นคนทำงานล่วงเวลาในสำนักงานหาเสียงของเขตเล็กๆ ห่างไกลจากบ้าน คุณจะได้ค้นพบสิ่งที่ต่างออกไป

คุณจะได้ยินเสียงของความมุ่งมั่นจากคนจัดงานหนุ่มสาวผู้ที่ทำงานบากบั่นให้ผ่านพ้นการเรียนวิทยาลัยมาได้ และต้องการให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสเดียวกัน (เสียงเชียร์และปรบมือ) คุณจะได้ยินเสียงของความภาคภูมิใจจากอาสาสมัครผู้หนึ่งที่เดินทางบอกตามบ้านหลังต่อหลังเพราะว่าน้องชายของเขาได้งานในโรงงานยานยนต์ที่เพิ่มกะทำงาน (เสียงเชียร์และปรบมือ)

คุณจะได้ยินเสียงความรักชาติอยู่ลึกๆ ในคู่แต่งงานของทหารผู้ที่ทำงานโทรศัพท์ในยามดึกดื่นค่ำคืนเพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่า จะไม่มีใครที่ต้องต่อสู้เพื่อประเทศนี้แล้วต้องกลับมาดิ้นรนหางานหรือหาหลังคาคุ้มหัวเมื่อพวกเขากลับประเทศ (เสียงเชียร์และปรบมือ)

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงต้องทำเช่นนี้ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าการเมือง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการเลือกตั้งถึงมีผล มันไม่ใช่เรื่องเล็ก มันเป็นเรื่องสำคัญประชาธิปไตยในประเทศที่มีประชากร 300 ล้านคน อาจดูน่าหนวกหูและยุ่งยากซับซ้อน  พวกเราต่างก็มีความเห็นของตัวเอง เราทุกคนมีความเชื่ออะไรบางอย่างอยู่ลึกๆ และเมื่อเราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก เมื่อเราต้องตัดสินอะไรใหญ่ๆ ในฐานะของประเทศ มันก็ชวนให้เกิดความโกรธ ชวนให้เกิดการโต้แย้งกัน มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืน และมันก็ไม่ควรเป็นเช่นนั้น การโต้เถียงกันของพวกเราเป็นเครื่องหมายแสดงถึงเสรีภาพที่พวกเรามี และพวกเราก็จะไม่ลืมสิ่งนั้นเมื่อเราได้พูด เราจะไม่ลืมว่ามีประชาชนในประเทศที่ห่างไกลต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ในขณะนี้เพียงเพื่อจะได้มีโอกาสโต้เถียงในประเด็นที่สำคัญ... (เสียงเชียร์และปรบมือ) ... เพื่อได้มีโอกาสได้ลงคะแนนเลือกตั้งเช่นที่พวกเราทำในวันนี้

แต่แม้ว่าพวกเราต่างมีความต่างกัน แต่พวกเราส่วนใหญ่ต่างก็มีความหวังกับอนาคตของอเมริกา

พวกเราต้องการให้ลูกหลานพวกเราโตขึ้นในประเทศที่พวกเขาจะได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด และมีครูที่ดีเยี่ยมที่สุด  (เสียงเชียร์และปรบมือ) ประเทศที่พวกเขาจะได้รับมรดกของผู้นำโลกในทางเทคโนโลยีและการค้นพบนวัตกรรม (เสียงเชียร์และปรบมือแบบประปราย) ...โดยมีงานดีๆ และธุรกิจดีๆ ตามมา

พวกเราต้องการให้ลูกหลานของเราอาศัยอยู่ในอเมริกาที่ไม่ตกอยู่ในภาวะหนี้สิน ไม่ถูกทำให้อ่อนแอจากความไม่เท่าเทียมกัน ไม่ถูกคุกคามโดยภัยทำลายล้างของภาวะโลกร้อน (เสียงเชียร์และปรบมือ)

พวกเราต้องการส่งต่อประเทศที่ปลอดภัย เป็นที่เคารพ และเป็นที่ชื่นชมของทั่วโลก ประเทศที่ได้รับการคุ้มกันจากกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกและมีกองกำลังที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่โลกนี้รู้จัก (เสียงเชียร์และปรบมือ) แต่ก็เป็นประเทศที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าผ่านช่วงเวลาของสงคราม เพื่อสร้างสันติภาพซึ่งก่อขึ้นบนรากฐานของเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม

พวกเราเชื่อในอเมริกาผู้เอื้อเฟื้อ อเมริกาที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และอเมริกาที่มีความอดกลั้น ที่เปิดกว้างให้กับความฝันของลูกสาวผู้อพยพที่เรียนในโรงเรียนของพวกเรา และสาบานภายใต้ธงของพวกเรา (เสียงเชียร์และปรบมือ) ไปจนถึงเด็กหนุ่มทางตอนใต้ของขิคาโกผู้ที่มองเห็นโลกมากกว่ามุมถนน (เสียงเชียร์และปรบมือ) ไปจนถึงเด็กที่ทำงานเฟอร์นิเจอร์ในนอร์ทแคโรไลนาผู้ที่ต้องการเป็นหมอหรือนักวิทยาศาสตร์ เป็นวิศวกรหรือผู้ประกอบการ เป็นนักการทูตหรือแม้กระทั่งประธานาธิบดี

นั่นคือ...  (เสียงเชียร์และปรบมือ) ...อนาคตที่เราหวังจะให้เกิดขึ้น

(เสียงเชียร์และปรบมือ) นั่นคือวิสัยทัศน์ที่พวกเรามีร่วมกัน นั่นคือเป้าหมายที่พวกเราต้องไป ...คือก้าวไปข้างหน้า
(เสียงเชียร์และปรบมือ) นั่นคือเป้าหมายที่พวกเราต้องไป (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ในตอนนี้ พวกเราจะไม่เห็นด้วย บางครั้งก็ไม่เห็นด้วยอย่างมาก เกี่ยวกับการหาหนทางว่าพวกเราจะไปถึงจุดนั้นอย่างไร เมื่อผ่านเวลายาวนานกว่าสองศตวรรษแล้ว ความก้าวหน้าก็จะหลั่งไหลเข้ามา มันไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงเสมอไป มันไม่จำเป็นว่าหนทางจะราบเรียบ ในตัวมันเองแล้ว การที่พวกเรามีความหวังและความฝันร่วมกันก็ยังไม่อาจทำให้อุปสรรคติดขัดหมดลง ยังไม่สามารถแก้ปัญหาของพวกเรา หรือไม่สามารถเอามาใช้แทนการสร้างฉันทามติของผู้คนที่สร้างขึ้นมาอย่างยากลำบากและทำให้เกิดความเห็นพ้องซึ่งเกิดขึ้นได้ยากเพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

แต่พันธะร่วมกันคือสิ่งที่เราควรจะเริ่มต้นจากตรงนั้น เศรษฐกิจของพวกเรากำลังฟื้นตัว สงครามยาวนานนับทศวรรษกำลังจบลง  (เสียงเชียร์และปรบมือ)  โครงการที่ยาวนานของพวกเราสำเร็จแล้ว  (เสียงเชียร์และปรบมือ) และไม่ว่าผมจะได้รับคะแนนเสียงจากพวกคุณหรือไม่ ผมก็รับฟังพวกคุณ ผมได้เรียนรู้จากพวกคุณ และคุณทำให้ผมเป็นประธานาธิบดีที่ดีขึ้น และจากเรื่องราวของพวกคุณจากการต่อสู้ของพวกคุณ ผมก็กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวด้วยความมุ่งมั่นมากขึ้นและมีแรงบันดาลใจมากขึ้นในการทำงานที่นี่และกับอนาคตในภายภาคหน้า  (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ในค่ำคืนนี้ พวกคุณได้ลงคะแนนเสียงเพื่อแสดงออก ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเช่นที่เคยเป็น  (เสียงเชียร์และปรบมือ)  พวกคุณเลือกพวกเราเพื่อให้มุ่งมั่นในงานของพวกคุณ ไม่ใช่ของพวกเรา

และภายในระยะไม่กี่เดือน ไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้ ผมก็คาดหวังที่จะยื่นมือออกไปทำงานร่วมกับผู้นำของทั้งสองพรรค ในการเผชิญหน้าความท้าทายที่พวกเราเท่านั้นที่สามารถช่วยกันแก้ไขมันได้ เช่นการลดการขาดดุล การปฏิรูประบบภาษี แก้ปัญหาระบบการอพยพของพวกเรา ปลดแอกพวกเราจากน้ำมันของต่างชาติ พวกเรามีงานมากมายที่ต้องทำ  (เสียงเชียร์และปรบมือ)

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่างานของพวกคุณเสร็จสิ้นลงแล้ว บทบาทในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของเราไม่ได้จบลงที่การลงคะแนนเลือกตั้ง อเมริกาไม่เคยเป็นประเทศว่าจะทำอะไรให้พวกเราได้บ้าง มันคือการที่วพกเราจะทำอะไรร่วมกันได้บ้าง ผ่านงานที่ยากลำบากแต่ก็จำเป็นในการปกครองตัวเอง  (เสียงเชียร์และปรบมือ) นั่นคือหลักการที่ก่อร่างพวกเรามา

ประเทศนี้มีความมั่งคั่งมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่นั่นก็ไม่ทำให้เรารวย พวกเรามีกองทัพที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่นั่นก็ไม่ทำให้พวกเราแข็งแกร่ง มหาวิทยาลัยของพวกเรา, วัฒนธรรมของพวกเรา เป็นที่น่าอิจฉาสำหรับคนทั่วโลก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้โลกเข้าหาเรา สิ่งที่ทำให้อเมริกามีความพิเศษคือการเป็นผู้เชื่อมร้อยชาติที่มีความหลากหลายในโลกเข้าด้วยกัน เป็นความเชื่อที่ว่าพวกเราประสบชะตากรรมเดียวกัน  (เสียงเชียร์และปรบมือ) ...ว่าประเทศนี้จะดำเนินต่อไปได้เมื่อพวกเรายอมรับในหน้าที่ของกันและกัน ในหน้าที่ต่อคนในรุ่นถัดไป เพื่อที่เสรีภาพซึ่งชาวอเมริกันจำนวนมากต่อสู้และยอมตายเพื่อมันจะมาพร้อมความรับผิดชอบรวมถึงสิทธิ และในหมู่มวลนั้นก็ยังมีความรัก ความเอื้อเฟื้อ หน้าที่ และความรักชาติ นั่นคือสิ่งที่ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่  (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ผมรู้สึกเปี่ยมด้วยความหวังอย่างมากในคืนนี้ เพราะผมได้เห็นจิตวิญญาณเช่นนี้ในอเมริกา ผมได้เห็นมันในธุรกิจของครอบครัวที่ผู้เป็นเจ้าของยอมลดรายจ่ายของตัวเองแทนการเลย์ออฟเพื่อนบ้านของตัวเอง และผมเห็นมันในตัวคนงานผู้ที่ยอมลดเวลาทำงานของตนเองแทนการเห็นเพื่อนต้องสูญเสียงาน ผมเห็นมันในหมู่ทหารที่กลับเข้าประจำการหลังจากสูญเสียชิ้นส่วนของร่างกาย และในตัวของหน่วยซีล (SEALs) ผู้ที่บุกขึ้นบันไดไปสู่ความมืดและอันตรายเพราะพวกรู้ว่ามีสหายคอยคุ้มกันข้างหลังเขาอยู่ (เสียงเชียร์และปรบมือ) ผมได้เห็นมันในชายฝั่งของนิวเจอร์ซีและนิวยอร์ก ที่ผู้นำจากทุกๆ พรรค และทุกระดับของรัฐบาล ร่วมใจกันละทิ้งความแตกต่างเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนจากความเสียหายของพายุที่เลวร้าย (เสียงเชียร์และปรบมือ)

และผมก็ได้เห็นเมื่อวานซืนที่เมนเตอร์ รัฐโอไฮโอ ที่มีคุณพ่อคนหนึ่งเล่าเรื่องลูกสาววัย 8 ปีที่ต้องต่อสู้กับโรคลูคีเมียมายาวนาน เขาคงจะต้องแลกทุกสิ่งทุกอย่างในครอบครัวเขาไปแล้ว หากว่าการปฏิรูประบบประกันสุขภาพผ่านผ่านร่างมาได้ไม่กี่เดือนก่อนที่บริษัทประกันจะเลิกให้การคุ้มครองสุขภาพเธอ (เสียงเชียร์และปรบมือ) ผมมีโอกาสไม่เพียงแค่ได้คุยกับคุณพ่อเท่านั้น แต่ยังได้คุยกับลูกสาวคนเก่งของเขาด้วย และเมื่อเขาได้พูดต่อหน้าฝูงชน ผู้คนที่มาฟังเรื่องราวของเขา ผู้ซึ่งเป็นพ่อเป็นแม่ในห้องนั้นก็ร้องไห้ออกมาเพราะรู้ว่าลูกสาวคนนั้นอาจถือเป็นลูกของพวกเขาเองด้วย

และผมก็รู้ว่าชาวอเมริกันทุกคนต้องการให้อนาคตของเธอสดใส นั่นคือสิ่งที่พวกเราเป็น นั่นคือประเทศที่ผมภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำในฐานะประธานาธิบดีของทุกท่าน (เสียงเชียร์และปรบมือ)

และในค่ำคืนนี้ แม้จะมีอุปสรรคที่เราฝ่าฟันกันมา แม้จะมีความไม่พอใจต่อรัฐบาล แต่ผมก็ไม่เคยรู้สึกเปี่ยมด้วยความหวังเกี่ยวกับอนาคตของพวกเรามากเท่านี้ (เสียงเชียร์และปรบมือ) ผมไม่เคยรู้สึกมีความหวังกับอเมริกามากเท่านี้ ผมอยากให้พวกคุณรักษาความหวังนั้นเอาไว้

ผมไม่ได้พูดถึงการมองโลกในแง่ดีอย่างมืดบอด ซึ่งเป็นความหวังในแบบที่ละทิ้งหน้าที่การงานในอนาคตหรือเมินต่ออุปสรรคที่ขวางกั้นทางเราอยู่ ผมไม่ได้กำลังพูดถึงอุดมคตินิยมโลกสวยที่ให้แค่ให้เรานั่งดูอยู่นอกสนามหรือละทิ้งการต่อสู้ ผมเชื่ออยู่เสมอว่าความหวังเป็นสิ่งที่ดื้อรั้นอยู่ในตัวเราที่คอยยืนยันว่า แม้สิ่งที่เห็นจะขัดกับความหวัง แต่สิ่งที่ดีกว่าก็รอคอยเราอยู่ ตราบใดที่เรายังมีความกล้าในการไขว่คว้า ในการทำงาน ในการต่อสู้ต่อไป (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณมากๆ (เสียงเชียร์และปรบมือยาว)

อเมริกา ผมเชื่อว่าพวกเราสามารถสานต่อความก้าวหน้าที่พวกเราสร้างขึ้นมา และยังคงสู้ต่อไปเพื่ออาชีพใหม่ โอกาสใหม่ๆ และความมั่นคงที่ดีขึ้นสำหรับชนชั้นกลาง ผมเชื่อว่าพวกเราจะสามารถทำตามสัญญาที่พวกเราก่อตั้งกันมาไว้ได้ คือแนวคิดที่ว่า หากคุณพร้อมใจทำงานหนัก ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน หน้าตาอย่างไร ไม่ว่าคุณจะเป็นคนผิวดำ คนผิวขาว ฮิสปานิก เอเชีย หรือชนพื้นเมืองอเมริกัน เป็นเยาวชน เป็นคนแก่ เป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นคนพิการ เกย์ หรือคนรักเพศตรงข้าม (เสียงเชียร์และปรบมือ) คุณสามารถทำมันได้ในอเมริกาถ้าคุณพร้อมใจพยายาม (เสียงเชียร์และปรบมือ)

ผมเชื่อว่าเราสามารถกุมอนาคตนี้ไว้ได้ด้วยกัน เพราะพวกเราไม่ได้แบ่งแยกกันมากเท่าที่แนวคิดการเมืองของพวกเราแสดงให้เห็น พวกเราไม่ได้ขวางโลกมากเท่าที่พวกปัญญาชนเชื่อว่าเราเป็น พวกเราดีเลิศกว่าความทะเยอทะยานส่วนตัวของพวกเราและมีมากกว่าแค่ว่าเป็นรัฐสีแดงและรัฐสีน้ำเงิน พวกเราคือสหรัฐอเมริกา และจะเป็นสหรัฐอเมริกาตลอดไป (เสียงเชียร์และปรบมือ)

และด้วยความกรุณาจากพระผู้เป็นเจ้า พวกเราจะเดินทางต่อไปข้างหน้าและแสดงให้โลกเห็นว่าเพราะอะไรพวกเราถึงอยู่ในประเทศที่ดีที่สุดในโลก (เสียงเชียร์และปรบมือ) ขอบคุณ อเมริกา (เสียงเชียร์และปรบมือ) ขอพระเจ้าประทานพร ขอพระองค์ทรงคุ้มครองสหรัฐอเมริกา (เสียงเชียร์และปรบมือ)


ที่มา
President Obama's Election Night Speech, New York Times, 07-11-2012
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชนบทหนุนปฏิรูปสธ. จับตา 19 พ.ย.เลือกผู้ทรงคุณวุฒิบอร์ด สปสช.

Posted: 08 Nov 2012 09:32 AM PST


 


หลังประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ประดิษฐ์  สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข คนใหม่ เป็นประธานครั้งแรกและผ่านกรอบการตั้งงบประมาณเหมาจ่าย สปสช.ปี2557  นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ  ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ  อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าแพทย์ชนบทสนับสนุนนโยบาย รมว.สาธารณสุขคนใหม่ที่ประกาศจะปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดผลประโยชน์ทับซ้อนภายในกระทรวง แยกส่วนกำหนดนโยบาย ควบคุมระบบ หรือ Regulator ออกจากส่วนดูแล รพ. หรือ Provider ปลดปล่อยให้ รพ.มีความอิสระมากขึ้นเหมือน รพ.บ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) ซึ่งอดีต รมว.น้ำดีหลายคนพยายามทำแต่ไม่สำเร็จเพราะทนแรงต้านจากข้าราชการประจำไม่ไหว ขณะเดียวกันก็จะเข้าพบ รมว.สาธารณสุขคนใหม่เพื่อให้ข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบประมาณงบลงทุนทดแทนค่าเสื่อมที่ผ่านมาของกองทุนหลักประกันสุขภาพในส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลกว่าห้าร้อยล้านบาท และให้เร่งรัดอนุมัติงบเงินกู้ จำนวน 3.4 พันล้านบาทเพื่อซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับรพ. และสถานีอนามัยในชนบท ที่ถูกแช่เย็นในสมัยอดีต รมว.สาธารณสุขที่ผ่านมา  ขณะเดียวกันจะขอให้ รมว.สาธารณสุข รีบแก้ไขปัญหาการบรรจุพยาบาลและลูกจ้างอื่นกว่าสองหมื่นคน เพื่อลดภาระเงินบำรุงขาดทุนของ รพ.ในขณะนี้ ก่อนที่ รพ.ในชนบทจะไม่มีพยาบาลและเงินบำรุงไว้บริการผู้ป่วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในรพ.ขนาดเล็กทั่วประเทศ จากปีนี้ที่ได้งบเหมาจ่ายรายหัวน้อยลง แต่มีค่าใช้จ่ายประจำสูงขึ้นตามนโยบายรัฐบาล และงบลงทุนซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและขาดแคลน ถูกอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขแช่แข็งโดยไม่ทราบสาเหตุ

นพ.เกรียงศักดิ์  และ นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า ชมรมแพทย์ชนบทจะจับตาเรื่องการคัดเลือกแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์แผนไทยคนใหม่ในบอร์ด สปสช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 พย.นี้ ว่า รมว.สาธารณสุข จะตั้งพวกพ้องที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อธุรกิจ รพ.เอกชน เหมือนอดีตรัฐมนตรีที่ผ่านมา หรือตั้งผู้มีความรู้ ความสามารถ เข้าใจและสนับสนุนการพัฒนาระบบบัตรทอง

"การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่ จะเป็นบทพิสูจน์เบื้องต้นว่า รมว.สาธารณสุข คนใหม่ที่ประกาศนโยบายปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข และจะพัฒนาสร้างความเท่าเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นของแท้หรือเป็นเพียงรัฐมนตรีนอร์มินีของธุรกิจเอกชน" ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: แกนนำคนเสื้อแดงกับตำแหน่งรัฐมนตรี

Posted: 08 Nov 2012 09:11 AM PST

ในการปรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สามของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งผ่านไป ผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะได้ตำแหน่งนั้น นอกจากกลุ่มก๊วนการเมืองภายในพรรคที่ดิ้นรนแสวงหาตำแหน่งกันอย่างหนักแล้ว ยังมีแกนนำหลายคนในแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีอีกสถานะหนึ่งเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แต่แล้ว ผลที่ได้ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ยังคงเป็นแกนนำนปช.คนเดียวที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาล เพียงแต่สับเปลี่ยนกระทรวงเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีความคาดหวังอย่างสูงภายในหมู่แกนนำนปช.และกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนว่า แกนนำนปช.จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มอย่างแน่นอนในคราวนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้แกนนำ นปช.บางคนแสดงความผิดหวังอย่างเปิดเผย รวมถึงคนเสื้อแดงบางส่วนที่ยึดมั่นอยู่กับแกนนำ นปช. ก็แสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ความไม่พอใจหลายประการของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีต่อพรรคเพื่อไทยนั้น มีเหตุผลสมควรอย่างยิ่ง เช่น การที่พรรคเพื่อไทยยอมยุติกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งที่ได้ดำเนินมาถึงการพิจารณาวาระสามโดยรัฐสภาแล้ว การแสวงหาความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งยังคงถูกคุมขังเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา คดีพรก.ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว และผู้ต้องหาคดีอาญา ม.112 รวมทั้ง การผลักดันพรบ.ปรองดองแห่งชาติที่มีเนื้อหา "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" ให้กับทุกฝ่ายโดยไม่แยกแยะความถูกผิด เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ในประเด็นเหล่านี้ กลุ่มคนเสื้อแดงได้ตั้งความหวังไว้อย่างสูงกับพรรคเพื่อไทยเมื่อชนะเลือกตั้งเข้ามา

แต่ความไม่พอใจของแกนนำนปช.และคนเสื้อแดงบางกลุ่มต่อการที่แกนนำไม่ได้ตำแหน่งในรัฐบาลนั้น เป็นความเข้าใจผิดต่อบทบาทของแกนนำและจุดมุ่งหมายของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

การที่คนเสื้อแดงบางกลุ่มกล่าวหาว่า พรรคเพื่อไทย "ไม่เห็นหัวคนเสื้อแดง" หรือแกนนำนปช.บางคนตัดพ้อว่า ตนเดินนำหน้าผ่านสมรภูมิอันโชกเลือดมา แต่กลับต้องมารั้งท้ายคนอื่น ๆ ในยามสงบ เหล่านี้ล้วนเป็นการอ้างหลักเหตุผลที่ผิดฝาผิดตัว เพราะคนที่เดินนำหน้าฝ่าห่ากระสุนและดงระเบิดเข้าไปจนบาดเจ็บล้มตายพิการจริงนั้นคือ มวลชนคนเสื้อแดงหลายพันคน แล้วยังมีผู้คนอีกจำนวนมากทั้งในและนอกพรรคเพื่อไทยที่แม้จะ "ไม่ได้ฝ่ากองเลือดและห่ากระสุน" ในสนามรบโดยตรง แต่ก็ได้ร่วมต่อสู้และสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเวทีและช่องทางต่าง ๆ อย่างเต็มที่ตามศักยภาพของตน

หากจะเอาบรรทัดฐาน "เสี่ยงอันตราย ฝ่าคมหอกคมดาบ" เป็นเครื่องวัดว่า ใครควรอยู่แถวหน้าสุดที่จะได้ "รางวัลตอบแทน" แล้ว เกรงว่า จะมีจำนวนคนอื่นอีกมากมายที่สมควร "ได้รับรางวัล" ไม่ใช่แค่ แกนนำ นปช.

คนเสื้อแดงทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคนอันเสมอภาคแก่ตนเองและลูกหลาน ให้พ้นจากแอกกดขี่ของพวกเผด็จการ ไม่ใช่ต่อสู้เพียงเพื่อให้แกนนำบางคนได้ตำแหน่งต่าง ๆ ในรัฐบาล แกนนำนปช.เป็นตัวแทนของคนเสื้อแดงเมื่อพวกเขาดำรงตนอยู่ในนปช.ที่รวบรวมจัดตั้ง สนับสนุนการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงทั่วประเทศ แกนนำนปช.หลายคนเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อรองภายในพรรคเพื่อเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ มวลชนคนเสื้อแดงเห็นด้วยและสนับสนุนให้แกนนำของตนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ให้ได้ใช้กลไกของพรรคเพื่อไทยและเวทีรัฐสภามาเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายของขบวนประชาธิปไตยทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์และสถานะเฉพาะตัวของแกนนำนปช.

หน้าที่ของแกนนำ นปช.ภายในพรรคเพื่อไทยและในรัฐบาลคือ การผลักดัน เรียกร้อง กระทั่งกดดันให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลตอบสนองต่อความเรียกร้องต้องการของขบวนประชาธิปไตย ซึ่งก็คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ แสวงหาความจริงกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ชดเชยเยียวยาต่อประชาชนผู้ถูกกระทำทั้งหมด ช่วยเหลือและอภัยโทษผู้ต้องหาคดีการเมืองทั้งหมดอย่างเท่าเทียม ตลอดจนร่วมกับมวลชนนอกสภารณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากการโค่นล้มโดยพวกเผด็จการแฝงเร้น ส่วนการแสวงหาไขว่คว้าตำแหน่ง "รางวัลตอบแทน" เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับมวลชนคนเสื้อแดง และก็ไม่ได้ทำให้ขบวนประชาธิปไตยเข้าใกล้จุดหมายสุดท้ายได้เร็วขึ้นแต่อย่างใด

การเรียกร้องตำแหน่งในรัฐบาลยังทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีมีไว้เป็น "รางวัลตอบแทน" ทั้งที่ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเป็นตำแหน่งบริหาร มีความรับผิดชอบในการดำเนินนโยบาย บริหารบุคลากรและงบประมาณของแผ่นดิน ตัวรัฐมนตรีต้องเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมทางบริหาร มีความรู้ประสบการณ์และความสามารถในงานที่ทำ ไม่ใช่ตำแหน่งสำหรับ "นักรบ" ที่แม้จะกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เสียสละ และสร้างคุณูปการให้กับประชาธิปไตยอย่างสูงยิ่ง แต่อาจไม่ใช่นักบริหารที่มีความสามารถ

ความจริงก็คือ "คนบางคนเป็นนักรบที่กล้าหาญ เป็นนักพูดที่แหลมคม แต่อาจเป็นนักบริหารที่ล้มเหลว" ซึ่งผลเสียไม่ได้ตกอยู่เพียงแค่บุคคลคนนั้น แต่เป็นผลเสียไปถึงรัฐบาลและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรอีกด้วย

แน่นอนว่า แกนนำนปช. แกนนำเสื้อแดงอื่น ๆ และมวลชนที่ต่อสู้ฝ่าดงเลือดและกระสุนมานั้น ต้องได้รับการสดุดี จดจำ จารึกไว้ในประวัติศาสตรตลอดไป และต้องได้รับการชดเชย เยียวยา และตอบแทนในความกล้าหาญและความเสียสละอย่างสูงของพวกเขา แต่การตอบแทนไม่ได้หมายความว่า พวกเขาต้องมีตำแหน่งใด ๆ ในคณะรัฐบาลเพียงเท่านั้น

แกนนำนปช. และแกนนำคนเสื้อแดงทุกกลุ่มนั้นได้ผ่านการพิสูจน์ทดสอบจากการต่อสู้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมาแล้ว พวกเขาได้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตัว ประสบเคราะห์กรรมทั้งส่วนตัวและครอบครัว แบกภาระคดีความไว้มากมาย ผ่านการจองจำ สูญเสียอิสรภาพ ความกล้าหาญและการเสียสละของพวกเขาจะเป็นที่จดจำในหมู่มวลชนคนเสื้อแดงทั่วประเทศตลอดไป อย่าให้ลาภยศศฤงคารปลีกย่อยมาบดบังความยิ่งใหญ่ในภารกิจประวัติศาสตร์ของพวกเขา การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุด ศึกใหญ่กำลังใกล้จะมาถึงอีกครั้ง นี่จึงไม่ใช่เวลาที่จะแสวงหาตำแหน่งหรือบันเทิงเสพสุข แต่เป็นเวลาของการจัดตั้งสะสมกำลัง เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์สู้รบที่ใกล้เขามาทุกที

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วิโรจน์ เปาอินทร์' วอน 'กสทช.' ชะลอการการจับกุมวิทยุชุมชน

Posted: 08 Nov 2012 08:58 AM PST

พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร วอน กสทช. ชะลอการการจับกุมวิทยุชุมชนออกไป จนกว่าจะเกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย
 
8 พ.ย.55 - เมื่อเวลา 9.30 น. ในการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นประธานกรรมาธิการ ได้มีการประชุมระเบียบวาระที่ 3.1 เรื่อง การร้องเรียนคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ เรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการวิทยุชุมชน
 
โดยนายนิคม บุญวิเศษ นายกสมาคมวิทยุชุมชนแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า กสทช.ไม่มีความชัดเจนในการทำประชาวิจารณ์กรณีกำหนดความสูงของเสากระจายเสียง กับกำลังของเครื่องส่งกระจายเสียง รวมถึงประเด็นการเปิดลงทะเบียนเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุก็เปิดเพียง วิทยุชุมชนประเภทเดียว แต่ไม่เปิดลงทะเบียนวิทยุชุมชนประเภทธุรกิจ กับวิทยุสาธารณะ จนทำให้คลื่นวิทยุหลายๆ แห่งไม่กล้าที่จะมาขึ้นทะเบียน และการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตออกอากาศที่เก็บซ้ำซ้อนหลายขั้นตอน ทำให้มีวิทยุชุมชนหลายแห่งอยู่ในระหว่างทดลองออกอากาศ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเนื่องจากไม่มีใบอนุญาติออกอากาศ หรือใช้ใบอนุญาตออกอากาศผิดประเภท
 
รวมถึงประเด็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบในการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนที่ทำผิดระเบียบของ กสทช. จนเกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติในการเข้าจับกุมเนื่องจากมีเพียงวิทยุชุมชนเพียง บางแห่งที่ถูกจับกุมโดยทาง กสทช.ระบุว่าวิทยุชุมชนที่ถูกจับกุมนั้นมีความผิดตามพระราชบัญัติกิจการ วิทยุโทรคมนาคม พ.ศ.2498 ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างทดลองออกอากาศชั่วคราว ซึ่งยังไม่ได้ใบอนุญาตในการออกอากาศกระจายเสียงวิทยุชุมชน ร่วมไปถึงการเปิดกิจการวิทยุผิดประเภท และใช้เสาส่งคลื่นวิทยุ กับเครื่องส่งเกินกว่าที่ทาง กสทช.กำหนดทำให้เกิดการรบกวนวิทยุการบิน
 
ทั้งนี้ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ได้กล่าวว่าทาง กสทช. ควรชะลอการการจับกุมวิทยุชุมชนออกไป เพื่อป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกว่าจะเกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย และการขัดกันของข้อกฎหมายกิจการวิทยุกระจายเสียง  โดยหลังจากการพิจารณาร่วมเสร็จสิ้นแล้ว ทางตัวแทนของ กสทช. ได้รับปากว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนะ 3G ต้องจัดการราคา 'ดาต้า' ไม่ใช่ 'เสียง'

Posted: 08 Nov 2012 05:19 AM PST

ประธานอนุฯ คุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคม เสนอ กทค. ต้องจัดการราคาดาต้าไม่ใช่บริการเสียง พร้อมย้ำ ที่ผ่านมาได้ให้ความเห็นและเสนอแนะก่อนการประมูล3G แล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา

(8 พ.ย.55) สารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่สังคมแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในกรณีการฟ้องร้องการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อเปิดให้บริการ 3G ว่า เข้าใจได้ว่า คนไทยต้องการใช้บริการนี้มาก และอยากให้บริการนี้เกิดขึ้นในประเทศได้แล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ต้องพูดก็คือ ผลของการประมูลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้ทำความเห็นให้กับ กทค. เพื่อพิจารณาแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยข้อความตอนหนึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การประมูลในรูปแบบนี้จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการฮั้วกันโดยแบ่งคลื่นความถี่กันไปรายละ 15 MHz  ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการนั้นมีความเป็นไปได้สูง และส่งผลให้ราคาประมูลเท่ากับมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุด (reserve price)

"เราติดตาม เราให้ความเห็น เราเตือนแล้ว โดยทำทุกอย่างเพื่อให้ความเห็นไปถึง กทค.  และไม่ใช่ว่า กลุ่มองค์กรต่างๆ หรือนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายต้องการขวางการประมูลครั้งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามบอกและพยายามพูดให้ฟังมาตลอด ตั้งแต่การจัดเวทีประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม และทำความเห็นเสนอให้อีกในเดือนเดียวกัน เราให้ความเห็นทั้งในเวทีและทำเป็นหนังสือจากอนุกรรมการฯ แต่สิ่งที่ถูกพิจารณาในการแก้ไขร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การประมูลนั้น มีเพียงคำร้องขอของผู้ให้บริการเท่านั้น นั่นคือขอให้มีการจัดแบ่งคลื่นในการประมูลเป็น 15 MHz" สารีกล่าว

สารีกล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการในการควบคุมราคานั้น คณะอนุกรรมการฯก็ได้ทำหนังสือไปเพื่อพิจารณาแล้วเช่นกัน เนื่องจาก สำนักงาน กสทช. ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (ประเภท1) รวมถึงผู้ให้บริการข้อมูล (Data Provider) เนื่องจากบริการ 3G เป็นบริการที่เน้นการให้บริการข้อมูลเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลด้วยการไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเป็นผู้ถือใบอนุญาตประเภท 1 และให้บริการข้อมูลเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถกำกับดูแลราคาบริการ 3G ได้ ยกเว้น กสทช.จะยกเลิกข้อยกเว้นในการกำกับดูแลดังกล่าว

"มาตรการกำหนดราคาค่าบริการนั้น ขอให้ กทค. มีความจริงใจมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ผู้บริโภครอคอยคือ ค่าบริการดาต้าที่มีราคาถูกลง ไม่ใช่ค่าบริการเสียง อีกทั้งยังมีประเด็นทางข้อกฎหมายว่า กทค.สามารถกำกับดูแลค่าบริการได้จริงหรือไม่ กรณีที่ผู้ให้บริการตั้งบริษัทลูกขึ้นมารองรับ อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมูลค่าการประมูลในครั้งนี้ที่ต่ำมาก กทค. จึงควรกำหนดตั้งเป้าหมายให้ 3 G ไทยมีราคาค่าบริการถูกที่สุดในอาเซียน" สารีกล่าว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2555 สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz  โดยในการประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มผู้บริโภค  ซึ่งมีการให้ความเห็นและตั้งข้อสังเกตในประเด็นสำคัญ อาทิ ผู้ขอรับอนุญาตแต่ละรายมีสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่ได้สูงสุดไม่เกิน 4 ชุด หรือ 2x20 เมกะเฮิรตซ์, ราคาเริ่มต้นการประมูล, การใช้โครงข่ายร่วมกันและขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมในระดับอำเภอ รวมถึงการวางมาตรการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความชัดเจน

ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้ทำหนังสือเสนอความเห็นไปยัง กทค. โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. คณะอนุกรรมการฯ สนับสนุนให้ กทค. เพิ่มมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุด (reserve price) จากที่กำหนดไว้ชุดละ 4,500 ล้านบาท เนื่องจากราคาประมูลที่ตั้งไว้นี้ หากผู้เข้าร่วมประมูลได้ความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์ซึ่งเพียงพอสำหรับการให้บริการ 3G ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องจ่ายในราคา 13,500 ล้านบาทต่อระยะเวลาใช้งาน 15 ปี หรือคิดเป็นเงินที่ผู้ประมูลต้องจ่ายปีละ 900 ล้านบาท ซึ่งถือว่า ยังน้อยกว่าราคาที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายผู้ครองตลาดในปัจจุบันต้องจ่ายให้แก่รัฐจำนวน 40,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้ว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาเรื่องราคาเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และผู้วิจัยได้เสนอราคาเริ่มต้นไว้ที่ชุดละ 6,440 ล้านบาท แต่ในที่สุด กทค. ได้กำหนดตัวเลขสุดท้ายไว้ที่ราคาชุดละ 4,500 ล้านบาท โดยคณะกรรมการอ้างว่าต้องการส่งเสริมธุรกิจโทรคมนาคม ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นราคาประมูลคือกำไรที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการนำคลื่นความถี่ไปใช้ มิใช่ต้นทุนของผู้ประกอบการ การอ้างเช่นนั้นจึงไม่สมเหตุสมผลและเป็นการกำหนดราคาตามอำเภอใจ นอกจากนี้ โอกาสที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีการฮั้วกันโดยแบ่งคลื่นความถี่กันไปรายละ 15 MHz ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง และจะส่งผลให้ราคาประมูลเท่ากับมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุด (Reserve Price)

ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงขอให้ กทค. ทบทวนราคาเริ่มต้นของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz โดยให้ยึดผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก

2. ด้านมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค ตามข้อ 16.8 ซึ่งประกอบด้วย แผนความรับผิดชอบต่อสังคม แผนการคุ้มครองผู้บริโภค การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมสาธารณะ และบริการอำนวยความสะดวกในการใช้บริการโทรคมนาคมสาธารณะอย่างทั่วถึงแก่ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา ผู้อยู่ห่างไกล และผู้ด้อยโอกาส การมิให้ผู้ใดใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจโดยมิชอบนั้น อนุกรรมการฯ เห็นว่า กทค. ควรมีมาตรการในการลงโทษ เช่น มาตรการเรียกค่าปรับ มาตรการเชิงสังคม เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้รับใบอนุญาตให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง และขอเสนอให้ กทค.  เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากประชาชนทั่วไปและองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค เมื่อมีการกำหนดมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค

3. การจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการ ตามข้อ 16.3 ซึ่งกำหนดขอบเขตการให้บริการครอบคลุมเพียงในระดับจังหวัดนั้น คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ควรกำหนดให้มีการกระจายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมถึงในระดับอำเภอ เพื่อให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ของการบริหารคลื่นความถี่ และการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะอื่น ส่วนประเด็นที่เป็นข้อกังวลอีกประการหนึ่ง คือขีดความสามารถของสำนักงาน กสทช. ในการติดตามการติดตั้งโครงข่ายว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่ เช่น ร้อยละ 50  ของจำนวนประชากรภายใน 2 ปี และร้อยละ 80  ของจำนวนประชากรภายใน 4 ปี คณะอนุกรรมการฯ จึงขอเสนอให้ กทค. กำหนดมาตรการในการติดตามการติดตั้งโครงข่ายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สำนักงาน กสทช. นำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

4. เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (ประเภท 1) รวมถึงผู้ให้บริการข้อมูล (Data Provider) เนื่องจากบริการ 3G เป็นบริการที่เน้นการให้บริการข้อมูลเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลด้วยการไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเป็นผู้ถือใบอนุญาตประเภท 1 และให้บริการข้อมูลเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถกำกับดูแลราคาบริการ 3G ได้ ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า กสทช. ควรยกเลิกข้อยกเว้นในการกำกับดูแลดังกล่าว

5. ขอให้ กทค. มีแนวทางในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเกี่ยวการให้บริการ 3G เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเท่าทัน และสามารถใช้บริการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จัดอันดับขนาดการพัฒนาของเมืองทั่วประเทศ

Posted: 08 Nov 2012 05:05 AM PST

 

 

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนับเป็นเมืองโตเดี่ยว จากการจัดอันดับของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส โดยมีขนาดประมาณ 52.1% พิจารณาจากมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ยังคงเหลืออยู่ในตลาด ณ ปีพ.ศ.2555

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ยังคงเหลืออยู่รอการขายทั้งหมด 342,030 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 52.1% ของมูลค่าคงเหลือทั่วประเทศ 655,866 ล้านบาท โดยนัยนี้จึงถือว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองโตเดี่ยว (Primate City) เพราะกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ

มูลค่าข้างต้นนี้ประกอบด้วยจำนวนหน่วยขายที่เหลืออยู่ประมาณ 129,000 หน่วย ซึ่งถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมด 4.4 ล้านหน่วย หรือเทียบได้ประมาณ 3% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด ในขณะที่ในช่วงปี 2540-2542 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ มีอุปทานที่เหลืออยู่มีถึงประมาณ 5% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด

พัทยานับเป็นนครขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศโดยมีมูลค่าคงเหลือประมาณ 59,160 ล้านบาท หรือประมาณ 9% ของมูลค่าคงเหลือที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ อันดับที่ 3 คือภูเก็ต อันดับที่ 4 คือชะอำ หัวหิน อันดับที่ 5 คือเชียงใหม่ และอันดับที่ 6 คือ สมุย จะสังเกตได้ว่านครเหล่านี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเพียงเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเมืองหลักในจังหวัดภูมิภาค ในจำนวน 6 นครแรกนี้มีมูลค่ารวมกันถึงประมาณ 79% ของมูลค่าคงเหลือที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การผนึกรวมกันของอภิมหานครขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริม

ณฑล ผนึกรวมกับนครต่าง ๆ ในจังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางราชการจะจัดเตรียมสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการขยายตัวของอภิมหานครนี้ โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบเครือข่ายทางด่วน รถไฟ และระบบรถไฟฟ้าในแต่ละนครย่อย

ยิ่งกว่านั้นสนามบินอู่ตะเภาทางภาคตะวันออก ควรจะนำมา "ปัดฝุ่น" ให้เป็นสนามบินพาณิชย์รองรับการเจริญเติบโตของการพัฒนาภาคตะวันออก ซึ่งมีสัดส่วนของจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ถึงหนึ่งในสามของตลาดกรุงเทพมหานคร หรือเป็นเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท  จึงมีความต้องการใช้สนามบินเป็นอย่างมาก  ซึ่งเท่ากับค่าก่อสร้างสนามบินใหม่ถึงหนึ่งสนาม แต่เงินจำนวนหนึ่งแสนล้านบาทนี้ เป็นมูลค่าโครงการขายที่อยู่อาศัยเพียงปีเดียวของภาคตะวันออกเท่านั้น  ยิ่งกว่านั้นสนามบินอู่ตะเภายังมีศักยภาพสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ระดับ Airbus A380 อยู่แล้ว

ในอันที่จริงประเทศไทยมีประชากรเมืองอยู่ประมาณ 34% หรือ 22.78 ล้านคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และโดยที่กำลังซื้อในเขตนี้มีสูงกว่านครอื่น ๆ ทั่วประเทศจึงทำให้สัดส่วนที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสูงถึง 52.1% ดังกล่าว หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีฐานะยากจนกว่าประเทศไทยถึงประมาณครึ่งหนึ่งจะพบว่าประเทศทั้งสองมีจำนวนประชากรในเขตนครมากกว่า คือประมาณ 44% และ 49% ตามลำดับ ทั้งนี้ก็เพราะว่าประเทศทั้งสองมีสภาพเป็นเกาะนับหมื่นเกาะ ประชากรจึงอาศัยอยู่ในเขตเมืองท่าเป็นสำคัญ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นผืนแผ่นดินติดต่อกันประชากรจึงเข้าบุกรุกถากถางป่าเพื่อสร้างหมู่บ้านชนบทในการอยู่อาศัยมากกว่าจะย้ายเข้าเขตเมือง

 

 

อันดับที่

จังหวัด

มูลค่าคงเหลือ

ล้านบาท

%

1

กรุงเทพมหานคร

 342,030

52.1%

2

พัทยา

 59,160

9.0%

3

ภูเก็ต

 58,472

8.9%

4

ชะอำ-หัวหิน

 34,663

5.3%

5

เชียงใหม่

 32,584

5.0%

6

สมุย

 9,923

1.5%

7

ขอนแก่น

 8,415

1.3%

8

หาดใหญ่

 6,638

1.0%

9

ระยอง

 6,334

1.0%

10

นครราชสีมา

 6,150

0.9%

11

ชลบุรี (ศรีราชา)

 5,614

0.9%

12

ชลบุรี (บางแสน-บางพระ)

 5,043

0.8%

13

ระยอง (เมือง)

 4,098

0.6%

14

สุราษฎร์ธานี

 3,718

0.6%

15

นครศรีธรรมราช

 3,202

0.5%

16

ระยอง (แกลง)

 3,060

0.5%

17

ชลบุรี (สัตหีบ)

 3,000

0.5%

18

ชลบุรี (เมือง)

 2,822

0.4%

19

อุดรธานี

 2,652

0.4%

20

พิษณุโลก

 2,579

0.4%

21

ชลบุรี (บ่อวิน)

 2,493

0.4%

22

ระยอง (บ้านฉาง)

 1,801

0.3%

23

ชลบุรี (แหลมฉะบัง)

 1,106

0.2%

24

นครอื่น ๆ ทั่วประเทศ

 50,310

7.7%

รวม

รวมทั่วประเทศ

 655,866

100.0%

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนักงานเครือแพนเอเชียฟุตแวร์ชุมนุมหน้าตลาดหลักทรัพย์ ทวงเงินชดเชยเลิกจ้าง

Posted: 08 Nov 2012 05:00 AM PST

8 พ.ย. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อช่วงก่อนเที่ยงวันนี้ ได้มีพนักงานบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด ประมาณ 300 กว่าคน เดินทางมาชุมนุมประท้วงที่หน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อขอเจรจากับตัวแทนบริษัทให้จ่ายค่าชดเชย และค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย หลังที่บริษัทดังกล่าวซึ่งอยู่ในเครือสหพัฒนพิบูลย์ ประกาศปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา และเลิกจ้างคนงาน ซึ่งการจ่ายเงินชดเชยต่างๆ ยังไม่มีข้อสรุป

โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการนัดเจรจาระหว่างฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา โดยนายจ้างได้ตกลงจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้าง 30% ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 และจะมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ จนกว่าจะครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดในเดือนธันวาคม

ทั้งนี้ เมื่อถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ลูกจ้างมาพร้อมกันเพื่อรับเงินแต่ฝ่ายนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยตามที่ได้ตกลง โดยตัวแทนของฝ่ายนายจ้างมีรายชื่อดังนี้ 1.นายวิชิต ประยูรวิวัฒน์ 2.นายสรรเสริญ ประยูรพงษ์ 3.นายวีระวุฒิ เดชอภิรัตน์กุล 4. นายธวัชชัย จิตต์ธรรมวาณิช ได้อ้างกับลูกจ้างว่ายังขายเครื่องจักรไม่ได้และยังไม่ได้โอนเงินเข้ามาในบัญชีของบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด ถ้ายังไม่ได้ในตอนเย็นนี้ ก็อาจจะได้พรุ่งนี้เช้า แต่ต่อมาเวลา 11.00 น. ตัวแทนลูกจ้างได้เข้าเจรจากับนายจ้างอีกครั้งและยังไม่มีความคืบหน้า

ดังนั้น พนักงานทุกคนจึงได้มีมติยืนยันร่วมกันว่า จะเรียกร้องต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมายกำหนด ประกอบด้วย ค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องได้รับตามสิทธิ และกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 จึงเดินทางมาเรียกร้องที่บริเวณหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการประกาศเลิกประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2555 มีผลให้พนักงานจำนวนกว่า 358 คน มีพนักงานรายเดือนจำนวน 81 คน และพนักงานรายวัน 277 คน พนักงานมีอายุการทำงานตั้งแต่ 10-32 ปี และพนักงานจะมีอายุที่ 25-56 ปี ต้องถูกดเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย

บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด สำนักงานแห่งใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 94 ม.5 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง บริษัทมีผู้ถือหุ้นจำนวน 8 คน 1.นายบุญส่ง ตันดุลยกุล จำนวน 1หุ้น 2.นายครรชิต ทองแหวน จำนวน1หุ้น 3.นายอุดม สาธิตะกร จำนวน1หุ้น 4.พลเอกเชิญชัย พินิจสุทาโภชน์ จำนวน1หุ้น 5.นายประสาน ลิ้มพิพัฒนกุล จำนวน1หุ้น 6.นายประสงค์ สุมะนาจำนวน1หุ้น 7.นายเกษม พรมสุวรรณศิริ จำนวน1หุ้น 8.บริษัท แพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% จำนวน 369 ล้านหุ้น

ขณะที่ กรรมการผู้มีอำนาจ 9 คนประกอบด้วย 1.นายบุญชัย โชควัฒนา 2.พลเรือเอกอนุชิต เภกะนันทน์ 3.นายประสงค์ สุมะนา4.นายวิชิต ประยูรวิวัฒน์ 5.นายวิทยา โล่วานิชย์เจริญ 6.นายปัญญา กลิ่นตลบ 7.นายสมมาต ขุนเศษฐ 8. นายสรรเสริญ ประยูรพงษ์ 9.นายวีระวุฒิ เดชอภิรัตน์กุล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับพิรุธร่องรอย 'ความผิดปกติ' ประมูล 3G ส่อเอื้อ 'ผู้ประกอบการ' เป็นระบบ

Posted: 08 Nov 2012 03:56 AM PST

การประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3G ได้สิ้นสุดลงแล้วในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555 พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติอย่างมหาศาลจากการออกแบบการประมูลที่ล้มเหลว เนื่องจากราคาชนะประมูลสุดท้ายสูงกว่าราคาตั้งต้นการประมูลเพียง 2.78 เปอร์เซ็นต์ หรือขยับขึ้นไปจากราคาตั้งต้นรวมทุกชุดคลื่น 40,500 ล้านบาท เพียง 1,125 ล้านบาท สร้างรายได้ต่ำกว่าตัวเลขประเมินรายรับจากการให้อนุญาตใช้คลื่น 2.1 GHz ที่ทาง กสทช. ว่าจ้างให้ทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คำนวณ ถึง 16,335 ล้านบาท

การไม่แข่งขันด้านราคาประมูลนี้ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่ามีการ "ฮั้ว" ประมูลเกิดขึ้นหรือไม่ หรือกระทั่งมีข้อวิจารณ์ว่า กสทช. เป็นผู้จัดฮั้วประมูลผ่านการออกแบบกฎกติกาที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันประมูลเสียเอง รายงานชิ้นนี้มุ่งตรวจสอบ "ร่องรอย" ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในการประมูลครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้น่าจะถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชนมากกว่าผลประโยชน์ของภาครัฐและสังคม "อย่างเป็นระบบ" หาใช่สิ่งที่ กสทช. คาดเดาไม่ได้

1. ความผิดปกติในการกำหนดราคาตั้งต้น
สำหรับผู้ติดตามกระบวนการกำหนดนโยบายของการประมูลคลื่น 2.1 GHz ครั้งนี้มาตลอด การกำหนดราคาตั้งต้นประมูลที่ 4,500 ล้านบาทนั้นน่าจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะเป็นสิ่งที่ ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมาตลอดว่าราคาตั้งต้นประมูลไม่ควรสูงเกินไปและไม่ควรเกิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่ก่อนที่ทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จะนำเสนอผลการศึกษาให้กับคณะอนุกรรมการฯ และก่อนที่จะมีการถกเถียงเพื่อหามติร่วมในที่ประชุมอนุกรรมการฯ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2555 ด้วยซ้ำ

ในเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งยังไม่ได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฯ เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมประมูล ดร.เศรษฐพงค์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ราคาตั้งต้นการประมูลนั้นไม่ควรสูงเท่ากับการประมูลครั้งก่อนหน้าที่ กทช. เป็นผู้ออกแบบไว้ในปี 2553 คือ 12,800 ล้านบาท (ต่อ 15 MHz) โดยอ้างว่าเทคโนโลยี 3G มีราคาถูกลง และเสนอราคาตั้งต้นที่ 7,000–10,000 ล้านบาทต่อ 15 MHz หรือประมาณ 2,300–3,300 ล้านบาทต่อ 5 MHz เท่านั้น [1] ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนผลการศึกษาหรือหลักฐานใดๆ เลย ซึ่งในภายหลังก็ปรากฏว่าผู้ประกอบการอย่างน้อย 2 ราย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามีความเต็มใจที่จะจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาตั้งต้นการประมูลครั้งก่อนหน้า การนำเสนอตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากในครั้งนั้นอาจสะท้อนให้เห็นทัศนะพื้นฐานหรือ "ความเชื่อ" โดยไม่อยู่บนฐานข้อมูลหลักฐานใดๆ ของประธาน กทค. ที่ส่งผลให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชน

ต่อมาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2555 ดร.เศรษฐพงค์ได้ออกมาให้ข่าวว่า ราคาตั้งต้นควรใกล้เคียงกับการประมูลครั้งก่อนหน้า หรือประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อชุดคลื่น 5 MHz [2] โดยอ้างว่าเป็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ กลับชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาที่ ดร.เศรษฐพงค์ให้สัมภาษณ์ ทางทีมวิจัยซึ่งรับหน้าที่ในการหาราคาตั้งต้นยังไม่ได้เข้ามานำเสนอผลการศึกษาให้กับคณะอนุกรรมการฯ (นำเสนอวันที่ 19 มิถุนายน 2555) และยังไม่ได้มีการหารือเพื่อหามติร่วม (มีการกำหนดราคาตั้งต้นวันที่ 25 มิถุนายน 2555) นอกจากนั้น ในช่วงเช้าของวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ก่อนที่จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อสรุปราคาตั้งต้น ดร.เศรษฐพงค์ได้อ้างว่าทางทีมวิจัยเสนอให้กำหนดราคาตั้งต้นจาก 67% ของราคาประเมิน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ "มีแนวโน้ม" ที่จะเลือกตัวเลขประเมินมูลค่าคลื่นที่ 6,440 ล้านบาท (ในร่างรายงานการศึกษาของทีมวิจัยเสนอไว้ที่ 6,770 ล้านบาท ก่อนจะมีการเปลี่ยนกลับมาที่ 6,440 ล้านบาทในรายงานฉบับสมบูรณ์) ดังนั้นราคาตั้งต้นควรจะอยู่ที่ 4,200-4,300 ล้านบาท [3] ซึ่งเป็นการคาดการณ์ทุกอย่างก่อนการประชุมได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ ด้วยเหตุนี้ การอ้างราคาตั้งต้นดังกล่าวจึงน่าจะแสดงให้เห็นว่าอาจมีการตั้ง "ธง" ตัวเลขของ ดร.เศรษฐพงค์ โดยไม่ได้ผ่านการรับฟังผลการศึกษาและการถกเถียงในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความเห็น

นอกจากการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว รายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 10 ซึ่งถกเถียงกันถึงการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูล มีประเด็นที่ชวนให้เกิดข้อสงสัย คือแม้คณะวิจัยจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยกตัวเลข 0.67 ซึ่งมาจากค่าเฉลี่ยสัดส่วนระหว่างราคาตั้งต้นและราคาชนะการประมูลของ 17 ประเทศ (ในรายงานฉบับสมบูรณ์คำนวณจาก 13 ประเทศ) ทว่าทางคณะวิจัยไม่ได้เสนอให้ใช้ตัวเลขดังกล่าวในการคำนวณราคาตั้งต้นแต่อย่างไร การเสนอให้ใช้ตัวเลขดังกล่าวเป็นของคณะอนุกรรมการฯ ท่านอื่น อาทิ นายจิตรนรา นวรัตน์ ดร.เชิดชัย ขันธ์นะภา พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร และ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ ซึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่าเหตุใดคณะอนุกรรมการเหล่านั้นจึงรวบรัดเสนอตัวเลข 0.67 ที่ไม่ได้เป็นข้อเสนอของทางคณะวิจัยในที่ประชุม และเหตุใดคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านจึงยอมรับตัวเลข 0.67 ซึ่งเป็นการคำนวณจากกรณีการประมูลของต่างประเทศที่มีเงื่อนไขการประมูล พื้นฐานทางเศรษฐกิจ และตลาดโทรคมนาคม ที่แตกต่างจากของไทย
ร่องรอยความผิดปกติดังกล่าวทำให้อดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า การกำหนดราคาตั้งต้นที่ 4,500 ล้านบาท มีการตั้ง "ธง" ล่วงหน้าไว้ก่อนหรือไม่


2. ความผิดปกติในการตัดสินใจลดเพดานถือครองคลื่นจาก 20 MHz เหลือ 15 MHz
ในการออกแบบการประมูลก่อนรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทางคณะอนุกรรมการฯ กำหนดเพดานถือครองคลื่นความถี่ไว้ที่ 20 MHz ด้วยเหตุผลว่า ในการประมูลที่คาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้เข้าประมูล 3 ราย และมีคลื่นทั้งหมด 45 MHz การกำหนดเพดานไว้ที่ 20 MHz อาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายแข่งประมูลเพื่อให้ได้จำนวนคลื่นความถี่มากกว่ารายอื่น ขณะที่การปรับลดเพดานถือครองคลื่นเหลือเพียง 15 MHz จะทำให้เกิดการแบ่งชุดคลื่นลงตัว 3 ราย และไม่มีการแข่งขันประมูลเพราะอุปสงค์เท่ากับอุปทาน เป็นเสมือนการแจกใบอนุญาตในราคาตั้งต้นมากกว่าการประมูล [4] ดังที่ ดร.เศรษฐพงค์เคยกล่าวกับสื่อว่า หากกำหนดไว้ที่ 15 MHz จะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันหากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย [5]

ภายหลังการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายเดิมทั้งสามรายที่ต่างเห็นพ้องว่าคลื่น 15 MHz เพียงพอต่อความต้องการ กทค. จึงได้ตัดสินใจปรับลดเพดานถือครองคืนความถี่เหลือ 15 MHz ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้เกิดกรณีที่มีเจ้าใหญ่สองราย (AIS และ DTAC) ได้คลื่นไปเจ้าละ 20 MHz เพื่อกักตุน และเหลือคลื่นเพียง 5 MHz ให้กับรายเล็ก (True) ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน

การตัดสินใจทางนโยบายดังกล่าว ซึ่งสร้างเงื่อนไขที่ปราศจากการแข่งขันประมูล ส่อพิรุธไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย ดังนี้

  1. ในการปรับเปลี่ยนสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดผลการประมูล เหตุใดทาง กทค. จึงไม่นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับทางคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้งหนึ่ง แต่กลับเลือกรับฟังผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ประโยชน์จากข้อเสนอดังกล่าวโดยตรง ทั้งที่ ดร.เศรษฐพงค์อ้างกับสื่อมาตลอดว่า การตัดสินใจทุกอย่างนั้นได้ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย หรือเห็นว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติในที่ประชุมแล้วว่าการกำหนดเพดานถือครองคลื่นไว้ที่ 15 MHz จะสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันประมูล เพราะอันที่จริง ข้อเสนอและเหตุผลให้กำหนดเพดานประมูลคลื่นไว้ที่ 15 MHz ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็ได้รับฟังจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะจาก True ในการประชุมก่อนหน้าที่จะมีการลงมติแล้ว แต่ก็ยังยืนยันเป็นมติร่วมว่าควรกำหนดเพดานไว้ที่ 20 MHz 
  2. ในการให้สัมภาษณ์ในงาน Thailand 3G Gear Up 2012: Declaring Auction Procedure for 3G on 2.1 GHz วันที่ 5 มิถุนายน 2555 ดร.เศรษฐพงค์แสดงให้เห็นว่าอาจมีการตั้งธงที่ต้องการให้ปรับลดเพดานลงมาเหลือ 15 MHz ตั้งแต่ก่อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยกล่าวในทำนองว่า ส่วนตัวแล้วต้องการให้ปรับลดเพดานเหลือ 15 MHz ทว่าตนทำงานในรูปแบบคณะกรรมการจึงไม่สามารถใช้ความคิดส่วนตัวได้ แต่ถ้าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยืนยันและให้เหตุผล ทางคณะกรรมการก็คงต้องรับฟัง [6]
  3. เหตุผลที่อ้างว่าคลื่นเพียง 5 MHz ไม่เพียงพอต่อการแข่งขันนั้น ขัดแย้งกับเหตุผลที่ กทค. ใช้เพื่อสนับสนุนการออกแบบวิธีประมูลโดยแบ่งคลื่น 45 MHz ออกเป็น 9 ชุด ชุดละ 5 MHz นั่นคือ คลื่น 5 MHz เป็นขนาดคลื่นที่เพียงพอต่อการให้บริการ 3G [7] และเปิดโอกาสให้ทุนขนาดเล็กมีโอกาสเข้ามาประมูลคลื่นเพียง 1 ชุดได้ โดยอาจเน้นให้บริการในเขตเมืองเป็นหลักหรือให้บริการบนเครือข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator หรือ MVNO) เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาด (แม้ว่าทาง นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา จะค้านว่า 5 MHz ไม่เพียงพอต่อการให้บริการก็ตาม) ด้วยเหตุนี้ การปรับลดเพดานด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องผู้ประกอบการรายที่สามไม่เพียงแต่ขัดแย้งกับข้อมูลและเหตุผลที่ให้กับสังคมก่อนหน้า แต่ยังอาจสะท้อนได้ว่า กทค. สนใจผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเจ้าเดิมบางรายมากกว่าเปิดโอกาสให้มีรายใหม่เข้ามาในตลาดอย่างแท้จริง

3. ความผิดปกติเกี่ยวกับจำนวนผู้เข้าประมูล
ข้ออ้างหนึ่งที่ กทค. ใช้อยู่เสมอในการกำหนดราคาตั้งต้นต่ำกว่าราคาประเมินที่เสนอโดยคณะวิจัยคือ กทค. ไม่อาจคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าประมูลเพียงสามราย และไม่ควรออกแบบการประมูลเพื่อให้เข้ากับกรณีนั้นเป็นการเฉพาะ แต่จากการตรวจสอบของคณะทำงานติดตาม กสทช. กลับพบว่า ดร.เศรษฐพงค์เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังการกำหนดเพดานคลื่น 20 MHz และราคาขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาทว่า "สำหรับราคาเริ่มต้นการประมูลนี้ และวิธีการประมูลนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANCE บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE.." [8] นอกจากนั้น การตัดสินใจออกแบบประมูลของ กทค. ที่ผ่านมาล้วนสะท้อนให้เห็นว่ามีฐานคิดจากการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย ดังนี้

  1. กทค. ตัดสินใจยกเลิกสูตรประมูล N-1 และการให้ใบอนุญาตตายตัว 3 ใบ ใบละ 15 MHz ซึ่งเป็นสูตรที่ออกแบบเพื่อใช้การประมูลก่อนหน้าโดย กทช. ด้วยเหตุผลว่า ในกรณีที่มีผู้เข้าประมูล 3 ราย จะมีผู้ประมูลได้ใบอนุญาตไปเพียง 2 ราย (3-1) ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด และเป็นการบริหารคลื่นความถี่อย่างไม่มีประสิทธิภาพในภาวะที่ความต้องการใช้บริการข้อมูลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น หากมีการประมูลใบอนุญาตที่เหลืออีกหนึ่งใบในภายหลัง ผู้ประมูลจะเหลืออยู่เพียงรายเดียวและได้คลื่นไปในราคาที่ถูก เหตุผลดังกล่าว ซึ่งทั้ง ดร.เศรษฐพงค์ และ ดร.สุทธิพล รวมถึง ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบประมูล ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองเดียวกัน [9] น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า กทค. ออกแบบนโยบายบนฐานคิดว่ามีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายมาตลอด
  2. การลดเพดานถือครองคลื่นเพื่อหลีกเลี่ยงผลการประมูล 20-20-5 และป้องกันรายเล็กที่สุดในสามเจ้าหลักได้คลื่นไปไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ก็แสดงให้เห็นว่า กทค. คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 3 รายเช่นกัน

4. ข้อพิรุธจากรายงานฯ ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
กทค. อ้างรายงานการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ที่จัดทำโดยทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5 MHz โดยไม่สนใจข้อโต้แย้งของสังคมที่มีต่อตัวเลขดังกล่าว คณะทำงานฯ พบว่ามีข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับรายงานที่ถูกกล่าวอ้างเพื่อใช้ปกป้อง กทค. มาตลอด ดังนี้

  1. รายงานฉบับนี้ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนได้อ่านและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งก่อนและหลังขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอาจเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
  2. รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้เงื่อนไขการประมูลที่กำหนดเพดานถือครองคลื่นความถี่ไว้ที่ 20 MHz (มีการจัดทำรายงานฯ ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2555 และนำเสนอผลการศึกษาเดือนมิถุนายน 2555) ซึ่งนับเป็นการออกแบบที่สนับสนุนการแข่งขันประมูล แต่ในภายหลังเมื่อมีการปรับลดเพดานลงมาเหลือ 15 MHz (กลางเดือนสิงหาคม 2555) ซึ่งทำให้ไม่เกิดการแข่งขันประมูล เงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อจัดทำข้อเสนอด้วย
  3. การเลือกหยิบบางส่วนของรายงานมาใช้เพื่อสนับสนุนจุดยืนทางนโยบายของ กทค. เอง ในขณะที่ข้อเสนอบางส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อยืนยันว่าราคาค่าประมูลไม่มีผลกระทบกับค่าบริการของผู้บริโภค กลับไม่ได้รับการกล่าวถึง เพราะขัดกับข้อโต้แย้งของ กทค.
  4. วิธีการคำนวณมูลค่าคลื่นความถี่ได้รวมประสบการณ์การประมูลจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ตัวเลข 6,440 ล้านบาท จึงเป็นตัวเลขประเมินการรายรับมากกว่าตัวเลขสูงสุดหากมีการแข่งขันประมูลเต็มที่ เพราะได้รวมประสบการณ์ที่ล้มเหลวไว้แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้กำหนดราคาตั้งต้นมากกว่าตัวเลข 4,500 ล้านบาท
  5. มีการนำเสนอโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นว่า หากมีการประมูลของ 1 ชิ้น ปัจจัยของจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลจะมีส่วนในการกำหนดสัดส่วนระหว่างราคาตั้งต้นและราคาชนะการประมูลเท่าไร ซึ่งในกรณีของไทยนั้น การประมูลมีผู้เข้าร่วมเพียงสามราย และมีของในการประมูลสามชิ้น (เพราะแต่ละรายประมูลได้สูงสุด 3 ชุดคลื่น จาก 9 ชุดคลื่น) จึงถือว่ามีสัดส่วนเท่ากับ 1.0 หรือราคาตั้งต้นในกรณีนี้ควรจะอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ของราคาคลื่นที่คาดว่าควรได้รับ เพราะจะไม่มีการแข่งขันเพื่อขยับราคาไปตามราคาตลาด และต่อให้มีผู้เข้าประมูลมากกว่า 3 ราย (เช่น มีผู้ประมูล 5 รายดังที่ ดร.สุทธิพลคาดหวังไว้) สัดส่วนการตั้งราคาก็ควรอยู่ที่ 0.9 [10] โมเดลดังกล่าวถูกละเลยจากทาง กทค. และกลับไปเลือกตัวเลข 0.67 ซึ่งขาดที่มาที่ไปทางวิชาการที่เข้มแข็งพอ
  6. ทั้งที่ถูกตั้งคำถามมากมาย เหตุใดทางทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงไม่เคยออกมาชี้แจงข้อกังขาของสังคมทั้งก่อนและหลังการประมูล

5. ความผิดปกติจากคำกล่าวอ้างเรื่องสิทธิในการเลือกย่านความถี่จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน
ข้อกล่าวอ้างของ กทค. โดยเฉพาะ ดร.เศรษฐพงค์ ที่ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นหลังการปรับลดเพดานการถือครองคลื่นความถี่เหลือ 15 MHz คือแม้จะมีผู้เข้าประมูลสามราย แต่ทั้งสามรายก็จะแข่งกันเพื่อให้ได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อน โดยย่านความถี่ริมสุดที่ติดกับผู้ประกอบการรายอื่นเพียงด้านเดียวเป็นย่านที่ดีที่สุด ดังที่ ดร.เศรษฐพงค์กล่าวว่า "ถ้าไม่ได้สิทธิเลือกสลอตนี้ก่อน คนอื่นอาจจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท" [11] (คำกล่าวนี้นอกจากจะได้รับการพิสูจน์ว่าไม่จริงในการเลือกย่านคลื่นที่เกิดขึ้นจริง ทว่าหากย่านดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 1,000 ล้านบาทจริง ก็ไม่ควรคาดหวังว่าสิทธิดังกล่าวจะทำให้เกิดการแข่งขันประมูลมากดังที่กล่าวอ้าง)
อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมากลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่ ดร.เศรษฐพงค์ยืนยันตลอดมา กล่าวคือ AIS เลือกช่วงคลื่นที่ติดกับ TOT (1950 MHz - 1965 MHz และ 2140 MHz - 2155 MHz) (โดยผู้บริหารของ AIS ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าเป็นช่วงคลื่นที่มีการรบกวนน้อยที่สุด และติดกับ TOT ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมายาวนาน) [12] ส่วน True ที่มีสิทธิเลือกอันดับสองกลับเลือกคลื่นตรงกลางที่ติดกับรายอื่นทั้งสองด้าน (1935 MHz – 1950 MHz และ 2125 MHz – 2140 MHz) เหลือย่านคลื่นที่อ้างว่าดีที่สุดให้กับ DTAC (1920 MHz – 1935 MHz และ 2110 MHz – 2125 MHz) ได้ไปโดยไม่ต้องแข่งขันอะไร

ผลการเลือกย่านความถี่ที่ออกมาพิสูจน์ว่า ผู้ประกอบการไม่ได้เห็นความแตกต่างระหว่างย่านความถี่ดังที่ ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอ้างมาตลอด รวมถึงยังยืนยันถึงข้อพิรุธที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. การศึกษาของทางสำนักงาน กสทช. ไม่ปรากฏข้อมูลที่ยืนยันว่าสิทธิในการเลือกย่านความถี่จะช่วยให้เกิดการแข่งประมูลดังที่กล่าวอ้าง อีกทั้งรายงานการประชุมของอนุกรรมการฯ ก็ไม่ได้มีการถกเถียงหรือยืนยันความสำคัญของสิทธิเลือกย่านความถี่ต่อการประมูลมากนัก หากเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญถึงขั้นส่งผลต่อการแข่งขันประมูล ทฤษฎีความแตกต่างของย่านคลื่นความถี่จึงเป็นข้อกล่าวอ้างของ ดร.เศรษฐพงค์เป็นหลัก ไม่ได้มีการรับรองใดๆ จากทางสำนักงานของ กสทช. คำถามคือเหตุใดทาง ดร.เศรษฐพงค์จึงต้องวิ่งหางานวิจัยจากภายนอกเพื่อมาสนับสนุนการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ใช้ช่องทางของ กสทช. ไม่ว่าจะผ่านอนุกรรมการฯ หรือการศึกษาของสำนักงาน หากเห็นว่าย่านคลื่นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ
  2. ทาง ดร.เศรษฐพงค์ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังการเลือกย่านคลื่นเสร็จสิ้นว่า ตนมีคำอธิบายอยู่ในใจแล้วว่าทำไมผู้ประกอบการถึงไม่เลือกย่านที่ดีที่สุด แต่ยังพูดไม่ได้ในช่วง silent period [13] คำถามก็คือ หากมีคำตอบที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ดร.เศรษฐพงค์ใช้เหตุผลอะไรมายืนยันตลอดว่าสิทธิในการเลือกย่านคลื่นก่อนจะส่งผลให้เกิดการประมูล จนนำไปสู่การประมูลที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ความผิดปกติที่กล่าวมายังไม่รวมถึงข้อพิรุธจากการเร่งรัดการอนุมัติผลการประมูลโดยบอร์ดของ กทค. เอง โดยหลีกเลี่ยงไม่เข้าบอร์ดใหญ่ของ กสทช. และไม่สนใจบันทึกข้อความของนายณกฤช เศวตนันทน์ ที่ปรึกษาประจำด้านกฎหมายของ ดร.เศรษฐพงค์ ที่เสนอให้ กทค. พิจารณาไม่รับรองผลการประมูล เนื่องจากเสี่ยงต่อการทำผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 การลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมด้วยการเร่งรีบออกมาประกาศว่าจะให้มีการปรับลดอัตราค่าบริการลง 15-20 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่ง นพ.ประวิทย์เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ที่จะมีการประมูลแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการทำอะไรอย่างจริงจังจนกระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์การประมูล) [14] โดยไม่ได้ผ่านการประชุมบอร์ด กทค. ก่อน หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมประมูล 3G โดย 4 ใน 7 คนเป็นคนในสำนักงาน กสทช. หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบประมูล [15]

คณะทำงานติดตาม กสทช. เห็นถึงผลประโยชน์มากมายจากเทคโนโลยี 3G และคนไทยสมควรมีโอกาสได้ใช้ 3G โดยเร็วที่สุด คณะทำงานฯ ไม่ต้องการเห็นการล้มประมูล 3G ซึ่งส่งผลให้การให้บริการ 3G ล่าช้าออกไป เพียงแต่ต้องการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในการประมูล และได้รับข้อมูลที่ชัดเจนในประเด็นที่อาจชี้ให้เห็นความผิดปกติในการออกแบบการประมูลซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศและผู้เสียภาษีมหาศาล   

ครั้งหนึ่ง ดร.เศรษฐพงค์เคยกล่าวว่า "การประมูล 3G ถือเป็นภารกิจเพื่อชาติ ใครมาขัดขวาง ผมถือเป็นศัตรูของชาติ" [16] คำถามที่คณะทำงานฯ มีคือ การออกแบบการประมูลจนก่อให้เกิดข้อสังเกตในเรื่องความผิดปกติมากมาย และอาจสร้างความเสียหายต่อรัฐและผู้เสียภาษีมากกว่า 16,000 ล้านบาท จนนำไปสู่การตรวจสอบและฟ้องร้องมากมายที่อาจทำให้การให้บริการ 3G ล่าช้าลงนั้น จะถือเป็นการกระทำที่เป็น "ศัตรูของชาติ" หรือไม่

 

[1] ผู้จัดการออนไลน์ (13 มีนาคม 2555) http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000032379
[2] ผู้จัดการออนไลน์ (6 มิถุนายน 2555) http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000069101, ไทยรัฐออนไลน์ (12 มิถุนายน 2555) http://www.thairath.co.th/content/tech/267586, โพสต์ทูเดย์ (12 มิถุนายน 2555), และข่าวหุ้น (12 มิถุนายน 2555), ผู้จัดการออนไลน์ (13 มิถุนายน 2555)
[3] บางกอกโพสต์ (25 มิถุนายน 2555) http://www.bangkokpost.com/business/telecom/299536/3g-auction-test-run-scheduled-for-today
[4] จากร่างรายการการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ครั้งที่ 7 ระบุว่า "ที่ประชุมมีความเห็นว่าการกำหนดขนาดคลื่นความถี่สูงสุดที่จะให้อนุญาต (maximum cap) จำนวน 2x15 MHz นั้น จะทำให้การประมูลไม่แตกต่าง จากการประมูลครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการกำหนดให้มีใบอนุญาต 3 ใบ สำหรับผู้ประกอบการ 3 รายโดยปริยาย มีความเห็นว่าการกำหนดขนาดคลื่นความถี่สูงสุดที่จะให้อนุญาต (maximum cap) จำนวน 2x20 MHz นั้นมีความเหมาะสมมากกว่า เนื่องจากกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อที่จะมีคลื่นความถี่มากที่สุด..."
[5] ข่าวสด (20 พฤษภาคม 2555)
[6] ดร.เศรษฐพงค์กล่าวว่า "...ขณะที่อนุกรรมการได้พิจารณาแล้ว ก็มีการกำหนดตัวเลขไว้ในเบื้องต้น เป็น 20 ก็เนื่องจากต้องการรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่ว่าเราไปกำหนด 15 แล้วกำหนดว่า 15 -15-15 ก็จบที่ราคาตั้งต้น เราต้องกลับมาดูกันว่า ตกลงถ้าเรากำหนดเป็นสล็อตแล้ว ก็เกิดการแข่งขันอยู่แล้ว อาจจะไม่ต้องไปกำหนดแคป 20 ให้เกิดการแข่งขันซ้ำซ้อนเข้าไปอีกก็ได้ อันนี้ก็มีเหตุมีผล ต้องให้โอกาสเรา เพราะว่าเราทำงานเป็นคณะกรรมการ ใจผมอาจจะคิด แต่ท่านคงเดาออก ... เราทำแบบรูปแบบคณะกรรมการ ผมไม่สามารถใช้ความคิดเห็นแบบส่วนตัวทั้งหมดได้  แต่ว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเรามีเสียงที่หนักแน่น ที่บอกว่าสิ่งนี้ไม่เห็นด้วย เพราะอะไร คณะกรรมการก็คิดว่าจะต้องฟัง แต่ต้องให้โอกาสคณะกรรมการฟังหน่อย" หรือดูบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ Telecommunication and Innovation Journal ปีที่ 21 ฉบับ 939 http://www.tjinnovation.com/Section.php?cat=14&id=2086
[7] ดร.เศรษฐพงค์ให้ข่าวในประชาชาติธุรกิจ (19 เมษายน 2555) ว่าจะกำหนดเพดานขั้นต่ำการประมูลไว้ที่ 5 MHz เพราะบริการ 3.9G ใช้แค่ 5 MHz ก็สามารถเปิดให้บริการได้แล้ว รวมถึงคำสัมภาษณ์ของ ดร.สุทธิพล ในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 ตุลาคม 2555 "ถามว่า 5 เมกะเฮิรตซ์ เราเอามาจากไหน ในเชิงเทคนิค นี่เป็นปริมาณขั้นต่ำที่จะเพียงพอต่อการให้บริการทำ 3จี การทำให้ใบอนุญาต เล็กลง และมีประโยชน์ นอกจาก 5 เมกะเฮิรตซ์จะให้บริการ 3จีได้ ราคาใบอนุญาตก็ลดลง เราขายใบอนุญาต 9 ใบ แต่ละใบหากมีรายเล็กมาเขาก็ประมูลไปได้"
[8] ข่าวหุ้น (26 มิถุนายน 2555)
[9] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้จัดการออนไลน์ (13 มีนาคม 2555)
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000032379
[10] ดูคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่ http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=XHl3Gh-uqDw#at=774
[11] ประชาชาติธุรกิจ (31 ส.ค.2555)
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1346397594&grpid=03&catid=06&subcatid=0600
[12]  เจาะข่าวเด่นสรยุทธ: ประมูล 3G..."มุมมองผู้ประกอบการมือถือ" http://www.krobkruakao.com/video.php?type=videoDetail&video=6&path=14113&year=2012&month=10 (22 ตุลาคม 2555)
[13] รายการคมชัดลึก (16 ตุลาคม 2555) http://www.youtube.com/watch?v=tAy4GAKzCVk
[14]  ประชาชาติธุรกิจ (31 สิงหาคม 2555)
[15]  มติชนรายวัน (28 ตุลาคม 2555) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1351392549&grpid=&catid=05&subcatid=0504
[16]  ประชาชาติธุรกิจ (19 เม.ย.2555)
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1334805953&grpid=03&catid=06

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: จับพิรุธร่องรอย 'ความผิดปกติ' ในการประมูล 3G ส่อเอื้อประโยชน์ 'ผู้ประกอบการ' อย่างเป็นระบบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่ม นศ.จวก ปตท.สผ.ขุดเจาะสำรวจน้ำมันขอนแก่น ไม่สนกระทบสิทธิชาวบ้าน

Posted: 08 Nov 2012 02:29 AM PST

 

กลุ่มนักศึกษา ลงสำรวจการขุดเจาะน้ำมันใน จ.ขอนแก่น เผยชาวบ้านในพื้นที่ยันไม่ได้รับแจ้งข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น จากบริษัทเจ้าของโครงการ ทั้งทำผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย แจงเตรียมทำข้อมูลและเฝ้าระวังสถานการณ์ เพื่อเผยแพร่สาธารณะ
 
 
วันที่ 7 พ.ย.55 เวลา 10.00 น.กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงสำรวจพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียม บ้านเหล่าเกวียนหัก ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งทางบริษัท บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) ผู้ได้รับสัมปทานจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้เข้าปฏิบัติงานเพื่อปักหมุดและวางอุปกรณ์สำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
 
"การดำเนินการดังกล่าวไม่มีการแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบล่วงหน้า และชาวบ้านไม่ยินยอมโดยติดป้ายห้ามบุกรุก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว อยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เกรงว่าจะได้รับความเสียหาย แต่ทางบริษัทก็ยังเข้าไปดำเนินการต่อ" นางจูม ศรกลชาญ หนึ่งในผู้ได้รับความเสียหายให้ข้อมูลกับนักศึกษา
 
 
ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาระบุว่า หลังจากทราบว่ามีโครงการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม ในเขตจังหวัดขอนแก่น กลุ่มนักศึกษาจึงลงไปศึกษาข้อมูล และพบว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเสียหายจริง โดยเห็นว่า การปฏิบัติงานของปตท.สผ.อ.เป็นการกระทำโดยพละการ ซึ่งบุกรุกพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป ที่ทางบริษัทจะทำการระเบิดใต้ดินนั้น อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความปลอดภัยในชีวิต กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหาย จึงได้ยื่นหนังสือกับตัวแทนบริษัท เพื่อให้มีการชี้แจงข้อมูลแก่ชาวบ้านอย่างทั่วถึง และรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดกับชุมชน
 
ในส่วนของนักศึกษาที่ลงสำรวจจะมีการจัดทำข้อมูล ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ และเกาะติดเฝ้าระวังสถานการณ์การดำเนินงานของ ปตท.สผ.อ.เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้เป็นประเด็นสาธารณะต่อไป
 
 
ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใน แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L21/48 ซึ่งจะทำการสำรวจเป็นระยะทางประมาณ 833 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ ต.โพธิ์ศรีสำราญ ต.บุ่งแก้ว ต.โคกกลาง และต.ทมนางาม อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ต.เขาสวนกวาง ต.ดงเมืองแอม และต.คำม่วง อ.เขาสวนกวาง ต.บัวเงิน ต.พังทุย ต.สะอาด ต.น้ำพอง ต.หนองกุง ต.วังชัย ต.กุดน้ำใส ต.ทรายมูล ต.ม่วงหวาน ต.ท่ากระเสริม ต.บัวใหญ่ และต.บ้านขาม อ.น้ำพอง ต.บ้านค้อ ต.โนนท่อน ต.สาวะถี ต.สำราญ ต.หนองตูม ต.ศิลา ต.แดงใหญ่ ต.โคกสี ต.บ้านทุ่ม ต.พระลับ และต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น
 
 
เมื่อวันที่ 17 พ.ค.55 มีรายงานข่าวการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมหลุมใหม่ในขอนแก่น (คลิกอ่าน) โดยนายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า การสำรวจบนบกที่แปลงสำรวจหมายเลข L21/48 อยู่ในแผนงานดำเนินการในช่วงปลายปี 2555 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนทำการสำรวจด้วยวิธีคลื่นไหวสะเทือนแบบสองมิติ และการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้ทราบถึงรายละเอียดของแผนการดำเนินงาน รวมไปถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างการสำรวจ มาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลักเกณฑ์แนวทางการชดเชยความเสียหาย
 
สำหรับหลุมสำรวจแต่ละหลุมจะลึก 9 เมตร ระยะห่างแต่ละหลุม 100 เมตร ความกว้างของหลุม 10 ซม. วัตถุกำเนิดคลื่นที่จะหย่อนลงไปในท่อนั้นหนัก 1.5 กก. จะมีรถกำเนิดคลื่น 4 คันวิ่งเรียงแถวติดต่อกันสำหรับทำการบันทึกข้อมูล ขณะที่เวลาของการสำรวจครั้งละหลุมจะใช้เวลาห่างกันประมาณหลุมละ 4 นาที แล้วจึงย้ายไปหลุมถัดไป
 
รองผู้ว่าราชการขอนแก่นกล่าวเพิ่มเติมว่า การสำรวจดังกล่าวจะเริ่มทำการสำรวจนาน 5 เดือน คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 55 โดยมั่นใจว่าจะพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ขึ้นอีกภายในจังหวัด ทั้งนี้ การสำรวจแต่ละครั้งจะดำเนินการไม่พร้อมกันแต่จะทำการบันทึกข้อมูลทีละหลุมและเคลื่อนย้ายไปยังหลุมสำรวจต่อไป ดังนั้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เสียงดัง และความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น จึงอยู่ในระดับต่ำและมีผลกระทบอยู่ภายในพื้นที่ใกล้ๆ กับปากหลุมเท่านั้น จะไม่ส่งผลกระทบไปถึงพื้นที่อ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม
 
นายธนวัฒน์ เปิดเผยถึงการดำเนินการตามแผนการสำรวจหาแหล่งพลังงานทดแทนร่วมระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กับปตท.สผ.อ.ด้วยว่า ที่ผ่านมาสามารถขุดเจาะและได้ก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวีแล้ว 2 จุด คือที่หลุมเจาะภูฮ่อม และหลุมเจาะน้ำพอง ส่วนหลุมเจาะรัตนะ 1 ที่ อ.แวงใหญ่ ขณะนี้พบก๊าซแต่ก็อยู่ในขั้นตอนของการวิเคราะห์และประเมินถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนต่อเนื่องเพื่อนำมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้กำกับหนัง 'อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิม' ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี

Posted: 08 Nov 2012 02:09 AM PST

มาร์ค บาสเซลีย์ ยุสเซฟ หรือ แซม เบซิล ผู้กำกับหนังที่ทำให้การลุกฮือในโลกอิสลาม ถูกศาลสหรัฐตัดสินจำคุก 1 ปีในข้อหาละเมิดทัณฑ์บนจากความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร แต่ไม่เกี่ยวกับการผลิตภาพยนตร์ดังกล่าว

วันนี้ ( 8 พ.ย. ) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ศาลสหรัฐมีคำพิพากษาเมื่อวันพุธ ให้จำคุกนายมาร์ค บาสเซลีย์ ยุสเซฟ วัย 55 ปี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ Innocence of Muslims ที่จุดกระแสต่อต้านสหรัฐไปทั่วโลก 1 ปี ในข้อหาละเมิดทัณฑ์บน

ยุสเซฟ ที่รู้จักกันในชื่อ นายนาโคอุลา บาสเซลีย์ นาโคอูลา หรือนายแซม เบซิล ต้องเข้ารับโทษจำคุกในเรือนจำรัฐบาลกลาง หลังให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดจริง 4 จาก 8  ข้อหา ที่เกี่ยวเนื่องกับการปลอมแปลงเอกลักษณ์เพื่อการฉ้อโกง รวมถึงละเมิดทัณฑ์บนเมื่อปี 2553

ยุสเซฟ ชาวสหรัฐเชื้อสายอียิปต์ศาสนาคริสต์นิกายคอปติก เป็นผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์หมิ่นศาสนา ที่ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วง และโจมตีรุนแรงต่อสถานกงสุลสหรัฐ ในเมืองเบงกาซี ของลิเบีย ซึ่งทำให้นายคริส สตีเฟนส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำลิเบียเสียชีวิต

ยุสเซฟ เคยถูกศาลตัดสินจำคุกเมื่อเดือน ก.พ. 2552 ว่ามีความผิดจริงตามฟ้อง ฐานโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และหมายเลขบัตรประกันสังคมของลูกค้าธนาคารเวลส์ ฟาร์โก หลายสาขาในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อลอบถอนเงินสด 860 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 26,660 บาท )

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาคริสตินา เอ. ซไนเดอร์ ซึ่งรับผิดชอบคดีดังกล่าว เปิดเผยว่า แม้ผู้ต้องหาจะรับโทษมาแล้ว 5 สัปดาห์ แต่ต้องจำคุกต่ออีก 12 เดือน ตามด้วยทัณฑ์บนอีก 4 ปี หลังพ้นโทษ ขณะที่นายโรเบิร์ต ดักเดล ผู้ช่วยอัยการ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ยุสเซฟมีเจตนาหลอกลวงนักแสดงที่มาร่วมแสดงในภาพยนตร์อื้อฉาวของเขา ด้วยการปกปิดว่าเขาเป็นอาชญากรที่เพิ่งพ้นโทษ รวมถึงยังพากย์เสียงทับบทสนทนาดั้งเดิมในภาพยนตร์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง.

นักแสดงหญิงในเรื่องดังกล่่าว ซินดี้ ลี การ์เซีย ได้ยื่นฟ้องผู้ให้บริการวีดีโอออนไลน์ยูทูบสองคดี เพื่อเรียกร้องให้ยูทูบถอนวีดีโอคลิปภาพยนตร์ดังกล่าวซึ่งมีความยาว 14 นาทีออกจากเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม สองคดีดังกล่าวถูกยกฟ้องจากผู้พิพากษาท้องถิ่น และจากศาลรัฐบาลกลาง

การ์เซียกล่าวว่า เธอเข้าใจว่าเธอสมัครแสดงภาพยนตร์เรื่อง Desert Warrior ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตเมื่อ 2,000 ปีก่อน และเพิ่งรู้ความจริงว่าบทพูดดั้งเดิมถูกพากษ์เสียงทับเมื่อเกิดการประท้วงในโลกมุสลิมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

เอกสารของศาลระบุว่า ยุสเซฟเขียนบทและผลิตตัวอย่างภาพยนตร์ดังกล่าวและอัพโหลดเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษลงในยูทูบเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ตามมาด้วยเวอร์ชั่นภาษาอารบิคในวันที่ 11 ก.ค. 55 วันครบรอบเหตุการณ์ 9/11 

 
ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก เว็บไซต์เดลินิวส์ และสำนักข่าวเอเอฟพี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: สหรัฐหลังเลือกตั้งและนโยบายต่อเอเชีย-แปซิฟิก

Posted: 08 Nov 2012 01:49 AM PST

หลังการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่างมิตต์ รอมนีย์ และบารัก โอบามาเสร็จสิ้นลง ASEAN Weekly สัปดาห์นี้ติดตามเรื่องนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาภายหลังการเลือกตั้ง โดยไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี ยุทธศาสตร์หลักมุ่งสู่แปซิฟิกเพื่อปรับสมดุลอำนาจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาก็จะยังคงดำเนินในทิศทางเดิม

คลิปรายการ ASEAN Weekly: สหรัฐหลังเลือกตั้งและนโยบายต่อเอเชีย-แปซิฟิก (คลิกที่นี่เพื่อดูแบบ HD)

โดย อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวว่าผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา นอกจากประธานาธิบดีซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจในการกำหนดนโยบายต่างประเทศแล้ว ก็ยังมีกลุ่มอำนาจ กลุ่มอิทธิพล ที่จะแจกแจง หรือเจรจาต่อรองเพื่อคลอดชุดนโยบาย ตัวประธานาธิบดีอาจจะสามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศได้จริง แต่ก็ต้องดูตัวแสดงอื่นด้วยทั้งรองประธานาธิบดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แม่ทัพภาคของสหรัฐอเมริกาที่คุมฐานทัพต่างๆ ทั่วโลก ปีกทางเศรษฐกิจ เทคโนแครต สภาคองเกรส พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ที่จะเข้ามาล็อบบี้ทางนโยบาย

โดยหากเปรียบเทียบ สไตล์พรรครีพับลิกันสมัย จอร์จ ดับเบิลยู บุช นโยบายต่างประเทศพุ่งเป้าไปที่ตะวันออกกลาง อุตสาหกรรมการทหารก็ต้องการขยับงบประมาณด้านแสนยานุภาพผ่านสมรภูมิในตะวันออกกลาง กลุ่มชาวยิว กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ ที่ดำเนินธุรกิจเรื่องน้ำมัน และเครือข่ายพวกพ้องวงศ์วานของบุชก็พร้อมจะเข้าไปเล่นในตะวันออกกลาง บุชก็พร้อมจะเล่นนโยบายนี้ ก็เลยมีการออก "Bush Doctrine" ขึ้นมา

เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดต่อมา ก็ต่อดูบทบาทตัวแสดงที่แวดล้อมด้วย เช่น หากบารัก โอบามา จะมีนโยบายต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ดูแค่ตัวประธานาธิบดี ต้องดูว่าฮิลลารี คลินตันจะกลับมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไหม ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีจะมีการปรับรูปโฉมไหม และกลุ่มอุตสาหกรรมการทหารพร้อมจะเพิ่มบทบาทในเอเชีย-แปซิฟิกมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้กลุ่มบรรษัทข้ามชาติจะเข้ามาลงทุนในลาวหรือพม่าหรือเปล่า ถ้าเขาต้องการก็จะเข้าไปล็อบบี้ผู้กำหนดนโยบาย เพราะฉะนั้นต่อให้เปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากบารัก โอบามา หรือมิตต์ รอมนีย์ แต่กลุ่มต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียแปซิฟิกก็จะเข้ามาดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปบ้าง แต่ก็ยังรักษาความคงเส้นคงว่าของนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าอยู่

ภาพพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (USPACOM) ของสหรัฐอมริกา ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ฮาวาย แต่มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนียคิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของโลก นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังมีการวางกำลังทางทหารที่ดูแลพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกด้วย (ที่มา: ปรับปรุงจากวิกิพีเดีย และ maps.google.com)

แผนที่แสดงภาคการทหารของสหรัฐอเมริกา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

 

ต่อประเด็นเรื่องเรื่องนโยบายมุ่งสู่แปซิฟิก (America's Pacific Century) ที่สหรัฐอเมริกาประกาศออกมาในระยะหลังนั้น ดุลยภาคกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด ผลประโยชน์หรือการธำรงความเป็นเจ้ามีความสำคัญเสมอต่อเสถียรการครองอำนาจของสหรัฐอเมริกา การมองโลกของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีการจัดลำดับความสำคัญต่างออกไป ตามบริบทและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของนโยบายต่างประเทศ สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช อาจให้ความสำคัญกับตะวันออกลาง สมัยโอบามา หรือหลังจากนี้อาจจะเป็น "เอเชีย-แปซิฟิก" ซึ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย นักนโยบายต่างประเทศ นักนโยบายป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา เวลามองการเมืองโลกจะไม่สะบั้นออกเป็นอนุภูมิภาค แต่จะมองทั้งหมดเป็นปีกของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าเอเชีย-แปซิฟิก รัฐที่มีทหารประจำการมาก ทั้งอินเดีย จีน เวียดนาม เกาหลีเหนือก็อยู่ที่นี่ รัฐที่มีนิวเคลียร์ก็อยู่ที่นี่ เขตเวลาของโลก 14 ชั่วโมงก็อยู่ที่นี่ 30% ของพื้นที่ของโลกก็อยู่ที่นี่ และ 60% ของประชากร ก็อยู่ที่นี่ ดังนั้นการพิจารณานโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถแยกอาเซียนออกจากเอเชียแปซิฟิก

ขณะเดียวกันทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเองก็เป็นความร่วมมือและความขัดแย้งระคนปนเปไป ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาก็ทำทุกวิถีทางเพื่อปรับสมดุลอำนาจ หรือถ่วงดุลกับอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับจะใช้วิธีการใดเท่านั้นเอง ข้อได้เปรียบคือวิธีการทหาร ที่สหรัฐอเมริกาสามารถเพิ่มฐานทัพลอยน้ำ หรือปรับกำลัง แต่วิธีที่ยังสู้จีนไม่ได้คือขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ เพราะอยู่ในช่วงขาลง และความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ แม้จะเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ก็ทำให้เหลี่ยมทางเศรษฐกิจระหว่างมหาอำนาจและชาติที่มีปฏิสัมพันธ์คล่องตัวนั้น สหรัฐอเมริกาก็ยังขาดเรื่องนี้อยู่

ดังนั้นสหรัฐอเมริกาก็จะเพิ่มขนาดกิจกรรมทางการทูตกับรัฐในอาเซียน ซึ่งคงมีรูปแบบหลากหลายออกไป โดยสหรัฐอเมริกาคงดูเวที APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) และ ARF (ASEAN Regional Forum) เป็นกรอบในการแผ่อิทธิพล และพยายามผลักดัน ASEAN+8 ให้สัมฤทธิ์ผล เพราะจะทำให้สหรัฐอเมริกากับรัสเซียเข้ามาด้วย ทำให้เข้ามาโลดแล่นสถาปัตยกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาก็มีการพัฒนากรอบความร่วมมือกับอาเซียนหลายทาง เช่น ในสมัยโอบามาเคยมีการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกากับอาเซียน มีการพัฒนาขีดความร่วมมือสหรัฐอเมริกา-อาเซียน เช่น Trans-Pacific Partnership เพื่อเข้ามาทำ FTA กับประเทศในอาเซียนโดยรวม ซึ่งเป็นกรอบที่สหรัฐอเมริกาเตรียมไว้แล้ว นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับชาติในอาเซียน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง การทหาร สหรัฐอเมริกาคงให้ความสำคัญกับไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และพม่า โดยเฉพาะพม่าหลังการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สหรัฐอเมริกาน่าจะมีการขยับชุดนโยบายที่จะเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างน่าสนใจ ทั้งนี้พรรคเดโมแครตของโอบามาที่ค่อนไปในแนวทางเสรีนิยม มีท่าทีพอใจกับการปฏิรูปในพม่า และหากมองสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวแสดงหลักในเวทีระหว่างประเทศที่เข้าไปมีส่วนผลักความปรองดองในพม่า นี่คือบทบาทที่น่าสนใจมาก เพราะสหรัฐอเมริกาไม่เคยมีบทบาทด้านนี้เลย และยังมีเรื่องที่สหรัฐอเมริกาอาจจะดึงพม่าเข้ามาร่วมซ้อมรบในปฏิบัติการคอบบร้า โกลด์ด้วย

 
ที่มาของภาพปก: ดัดแปลงจาก Whitehouse.gov (public domain)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อผู้หญิงอยากครอบครอง...โลก?

Posted: 08 Nov 2012 01:07 AM PST


 

จากปรากฏการณ์มุตตา มุนินทร์ จากละครเรื่อง "แรงเงา" ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจในกระแสอันร้อนแรงของละครไทยหลังจากที่ถึงจุดอิ่มตัวจนซบเซามานาน พร้อมกับคำกล่าวหาที่ว่า "ละครไทยมีแต่เรื่องน้ำเน่า" จนต้องไล่กลับไปนั่งดูว่าในปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ มีละครเรื่องไหนที่ฮิตติดลมบนจนเป็นกระแสขึ้นมาบ้าง ไล่ตั้งแต่ มงกุฎดอกส้ม ดอกส้มสีทอง รักคุณเท่าฟ้า เรื่องทั้งหมดดูจะมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ บทบาทที่เข้มข้นของตัวละครผู้หญิง ไม่เฉพาะแต่นางเอก แต่รวมถึงตัวอิจฉา และตัวประกอบผู้หญิง ที่ขับเคี่ยวห้ำหั่นกันจะเป็นจะตาย สลัดภาพนางร้ายที่เอาแต่กรี๊ดกร๊าดออกไป มีเพียงการครุ่นคิดวางแผน (อย่างแนบเนียนบ้าง ไม่แนบเนียนบ้าง) เพื่อประสบความสำเร็จในการได้เป็นเจ้าของผู้ชายสักคน ในขณะที่บทบาทของพระเอกดูจะเป็นฝ่ายรับ หรือเปรียบประดุจผู้ที่อยู่บนหิ้ง รอวันที่เหล่าผู้หญิงจะแย่งชิงและครอบครองในที่สุด

ออกจากปรากฏการณ์ของเหล่าตัวละครมาสู่ชีวิตจริง ปริมาณคลิปเกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษาที่เป็นข่าวโด่งดังดูจะไม่พ้นข่าวคราว (คาว) การตบตีแย่งชิงผู้ชายของบรรดานักเรียนนักศึกษาหญิง ไล่มาตั้งแต่ตบตีแย่งชิงธรรมดา ไปจนถึงขั้นให้กราบเท้าขอขมากันเลยทีเดียว ภาพเหล่านี้ คงไม่ได้เลียนแบบจากพฤติกรรมในละครอย่างเดียวเป็นแน่ แต่การได้แสดงถึงอำนาจเหนือคู่แข่งเพศเดียวกันดูจะทวีขึ้นมากไม่แพ้การยกพวกตีกันของนักศึกษาอาชีวะหรือเทคนิคที่เป็นชายอย่างแน่นอน มิหนำซ้ำ การถ่ายคลิปเพื่อนำมาอัพโหลดลงอินเทอร์เน็ตและช่องทางต่างๆ ยังสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่พวกเขาทำเป็นเรื่องที่ควรนำออกมาถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ในสังคมได้ร่วมรับรู้ หาใช่เรื่องน่าละอายในการแย่งผู้ชายแต่อย่างใด

ในอดีตที่ผ่านมาของสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน สะท้อนผ่านวรรณคดี วรรณกรรม เรื่องเล่านิทานพื้นบ้าน ผู้ชาย ได้ผูกขาดพื้นที่ของความโดดเด่น รวมถึงบทบาทผู้นำ ตัวเอกที่ดำเนินเรื่อง แม้ว่าเนื้อหาภายในจะเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่ตัวพระตัวนางมีบทบาทมากพอกัน แต่ผู้กำหนดความเป็นไปของเนื้อเรื่องก็ยังเป็นผู้ชาย หรือแม้กระทั่งชื่อเรื่องก็ยังคงตั้งตามชื่อตัวพระ ไม่ว่าจะเป็นพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน พระลอ หากจะมีข้อโต้แย้งที่ว่า ผู้แต่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นผู้ชายทั้งหมด ในยุคที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับการศึกษา กรณีของอุณรุทร้อยเรื่อง และพระมะเหลเถไถ ดูจะเป็นตัวอย่างของผู้แต่งที่เป็นหญิงที่ใช้ตัวเอกเป็นผู้ชายเช่นเดิม ดังนั้นเรื่องราวส่วนใหญ่จึงไม่พ้นการรบราฆ่าฟัน ป้องกันศักดิ์ศรี หรือต่อสู้เพื่อแย่งชิงนางอันเป็นที่รักกลับคืนมา วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า นางในวรรณคดีของสยามแทบทุกคนจึงมีบทบาทจำกัดอยู่เพียงการนั่งรอวันที่ตนเองจะได้พบประสบพักตร์กับภัสดาและมีชีวิตที่เหลืออย่างสุขสันต์ หากจะมีเรื่องราวมากหน่อยก็เห็นจะเป็นนางบุษบาจากเรื่องอิเหนา ที่ต้องออกเดินทางดั้นด้นเพื่อตามหาอิเหนาผู้เป็นสามี แต่ถึงท้ายที่สุดแล้ว ผู้ชายก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของเรื่องอยู่นั่นเอง

พ้นไปจากยุคของวรรณคดี สยามประเทศเปลี่ยนชื่อกลายเป็นไทย แต่งานวรรณกรรมก็ยังคงมีพระเอกเป็นตัวดำเนินเรื่อง แม้จะมีความหาญกล้าที่จะนำเอาผู้หญิงมาเป็นตัวดำเนินเรื่องบ้าง แต่ความสำคัญโดยมากก็ยังคงผูกขาดโดยผู้ชาย ทั้งงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต งานวรรณกรรมที่สะท้อนสังคม หรือในยุคที่นิยายกำลังภายในรุ่งเรือง ผู้ชายก็ยังคงเป็นแกนหลักที่สำคัญ ผู้หญิงไทยในงานวรรณกรรมจึงเป็นผู้หญิงที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยอยู่บนหิ้ง รอวันที่ผู้ชายคนไหนผ่านมาและเลือกเอาไปเป็นภรรยาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

หากจะประเมินความสำเร็จของรัฐไทยสมัยใหม่ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงยุคประชาธิปไตยแต่ในนาม การจัดการตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มคนต่างๆ ผ่านทางการนิยมและให้ความหมายว่าแต่ละคนควรจะมีหน้าที่อย่างไรต่อครอบครัว สังคมและรัฐ ผู้หญิงไทยคงจะเป็นแบบอย่างที่ดีไม่น้อยที่จะยืนยันความสำเร็จดังกล่าว บทบาทความเป็นผู้หญิงที่ดี เป็นเมีย เป็นแม่ ถูกตอกย้ำมาตลอดว่าผู้หญิงไทยจะต้องรักษาพรหมจรรย์เอาไว้จนถึงวันแต่งงาน เพื่อเป็นของขวัญอันล้ำค่าให้กับสามี (ที่อุตส่าห์เลือกเรา) เมื่อแต่งงานไปแล้วก็จะต้องประพฤติตัวอย่างดีให้เป็นที่ถูกอกถูกใจของครอบครัวสามีทุกคนอย่างถ้วนทั่ว จนเมื่อมีลูกก็ยังจะต้องดูแลปกป้องลูก เลี้ยงดูให้ออกมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ หากใครทำไม่ได้ตามนั้นก็จะกลายเป็นผู้หญิงนอกแถว ต้องพบกับคำครหาไม่รู้จบ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตำราเรียน สื่อ โฆษณา นิตยสาร และอื่นๆ อีกมากมายได้ตอกย้ำเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันราวกับเป็นเพลงชาติของผู้หญิงเลยทีเดียว และที่น่าแปลกใจ ผู้หญิงอย่างเราๆ ก็รับสมาทานความคิดดังกล่าวมาได้อย่างหน้าชื่นตาบานและพร้อมจะเทิดทูนความคิดนี้เอาไว้ตราบจนชีวิตจะหาไม่

แต่การก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของไทยในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมาทำให้บทบาทของผู้หญิงไทยเปลี่ยนไปทีละน้อยนิดมหาศาล รู้ตัวอีกครั้ง ผู้หญิงก็ออกจากบ้านมายืนอยู่ในที่สาธารณะอย่างมั่นคง มิหนำซ้ำที่ทางของพวกเธอกลับดูเยอะกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ ในโลกที่สตรีนิยมทั้งแท้และเทียมกำลังมาแรง สิทธิของผู้หญิงจึงถูกเอามาเรียกร้องกันสามเวลาหลังอาหาร รู้ตัวอีกครั้ง ผู้ชายก็ได้หลบลี้หนีหน้าเข้าไปอยู่หลังม่านเสียแล้ว

หากจะอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้โดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัววัด การออกมาทำงานนอกบ้านของผู้หญิงทำให้ความต้องการที่จะต้องพึ่งพาสามีและพ่อแม่มีน้อยลง ยิ่งผู้หญิงใช้ต้นทุนสมองและแรงงานส่วนตัวของตนเองมาใช้ทำงานมากเท่าไหร่ ความก้าวหน้าทางการงานและการเงินก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น เหล่านี้ทำให้ผู้หญิงไม่จำเป็นจะต้องรักษาบทบาทเดิมๆ เอาไว้อย่างเหนียวแน่น แต่สามารถเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นไปได้เท่าที่ค่านิยมอันคับแคบของสังคมจะเอื้ออำนวย

สำหรับกรณีของนักเรียนนักศึกษา เทคโนโลยีอันสะดวกสบายและชีวิตที่กลายเป็นเมืองมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างฉาบฉวยและปราศจากสายตาจับผิดของคนรอบข้าง อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือทำให้การจะเริ่มและจบความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้ชายเป็นไปอย่างง่ายดายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่ง่ายสำหรับผู้หญิงขนาดนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ ชีวิตเสรีภาพที่ผู้หญิงเพิ่งจะได้เอื้อมมือออกมาสัมผัสเป็นครั้งแรก ส่วนหนึ่งก็ยังคงถูกค่านิยมเดิมกดทับเอาไว้ และอีกส่วนอาจเป็นเพราะผู้ชายดีๆ นั้นมีแต่ในนิยาย ที่มีพอจะหาได้ก็ควรจะเก็บรักษาเอาไว้กับตัวอย่างยิ่ง เพราะไม่แน่ว่าชาตินี้จะสามารถหาเอามาไว้ในอ้อมกอดได้อีกหรือไม่ ความลักลั่นดังกล่าวทำให้ผู้หญิงไทยบางส่วนตั้งแต่สาวยันแก่พบว่า การแย่งชิงทรัพยากรผู้ชาย (ที่อาจจะไม่คุ้มค่า) บางครั้งอาจจะยังดีกว่าไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรนี้ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใด ศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงที่ต้องรักษายิ่งชีพ ก็คือการป้องกันไม่ให้แฟนของตนเองไปนอกใจกับผู้หญิงอื่นอีก หนังสือสารพัดวิธีจับผิดผู้ชาย วิธีป้องกันการนอกใจ หรือแม้แต่คำคมออนไลน์ ตัดพ้อต่อว่าด้วยเรื่องของความรักความเชื่อใจกัน จึงผุดขึ้นยิ่งกว่าเห็ดในฤดูฝน

เพราะกลไกเดิมที่เคยทำให้ผู้หญิงและผู้ชายไทยรู้สึกมั่นคงในความรัก ว่าชาตินี้ฉันและเธอจะอยู่ด้วยกันไปตลอดกัลปาวสานได้หมดสิ้นลงพร้อมกับโลกสมัยใหม่ และเพราะกลไกเดิมของครอบครัวใหญ่จะช่วยสลายความขัดแย้งและสร้างความมั่นคงระหว่างสามีภรรยาได้มากมลายหายไป ในปัจจุบัน ผู้หญิงจึงยังคงรู้สึกว่าตนเองควรจะกระทำตนให้เป็นผู้หญิงที่ดีตามที่ครอบครัวและรัฐได้สั่งสอนมา ทั้งหมดได้ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่า หากจะมีใครสักคน ที่แม้จะดีไม่พอ หรือไม่พอดีสำหรับเธอ แต่ก็ควรจะรักษาและเก็บไว้ให้ดีที่สุด การจะสลัดให้หลุดจากความไม่ดีตรงนี้อาจเป็นทางเลือกของบางคน ใช่แน่ - แต่มันคงไม่ใช่ทางเลือกของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่สุดท้ายก็ยอมทนกล้ำกลืนกับอะไรบางอย่างที่อย่างน้อยก็พิสูจน์ได้ว่า เธอได้เดินมาในทางที่ถูกต้อง ถ้าเช่นนั้น ยังจะมีทางออกใดอีกสำหรับผู้หญิง นอกเหนือไปจากการแย่งชิงเอาผู้ชายของคนอื่นมา หรือตบตีเพื่อพิทักษ์รักษาสิ่งที่เป็นของตน?

จึงไม่น่าแปลกใจที่บทบาททั้งในจอและนอกจอของผู้หญิงในลักษณะนี้ จะเป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดาแม่ยก ที่อาจจะอยากทำเช่นนี้ในชีวิตจริง แต่สถานการณ์รอบข้างไม่เอื้ออำนวยก็เป็นได้ ถึงกระนั้นจะพูดว่าผู้หญิงกำลังมีบทบาทและสถานภาพเหนือผู้ชายก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก เพราะการที่ผู้หญิงจะออกมามั่นอกมั่นใจในตัวเอง จนถึงขั้นสร้างโลกเสมือนจริงจากละครให้ตัวเองกลายเป็นตัวเองที่เป็นฝ่ายเลือกผู้ชาย หรือแสดงให้เห็นในชีวิตจริงผ่านทางการตบตีแสดงอำนาจ มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนไปเท่านั้น ในสังคมที่ค่านิยมได้สร้างกรอบให้ผู้หญิงเป็นแค่เมียและแม่ที่ดี มันได้สร้างพันธนาการเอาไว้ให้กับผู้หญิงจนยากที่จะหลุดออกมาได้ง่ายๆ เพียงแต่ในตอนนี้ เราอาจกล้าที่จะแสดงออกมาถึงความต้องการที่จะสร้างชีวิตของตนเองอีกก้าวหนึ่งเท่านั้นเอง และทั้งหมดมันได้สะท้อนผ่านภาพของบทบาทของผู้หญิงในละครโทรทัศน์ รวมถึงชีวิตจริงเช่นกัน

บทความชิ้นกะทัดรัดนี้ไม่ได้ต้องการจะสนับสนุนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการตบตีกันของนักเรียนนักศึกษาเพียงเพื่อต้องการแสดงว่าตนเองครอบครองผู้ชาย หรือการไล่ล่าหาผู้ชายอย่างเอาเป็นเอาตายในละครเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งของบทบาทผู้หญิงที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค 4G แต่ระบบระเบียบที่รัดรึงเรากลับมีอายุที่เก่าแก่ย้อนไปได้เป็นร้อยปีอยู่เช่นนี้ มันช่างขัดกับความรู้สึกเสียนี่กระไร และเพราะความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ที่ทำให้ต่อไปเราอาจจะได้เห็นสภาวะการแย่งชิงอำนาจ อันเป็นพระเอกของการเมืองไทยที่วางอยู่บนหิ้งตลอดมา กับบรรดานางเอก ตัวอิจฉา ที่กำลังสวมบทความเป็น "ผู้หญิง" มากระแหนะกระแหนและทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้ทรัพยากรชิ้นสำคัญนี้มาครอบครองก็เป็นได้ แม้ว่าในความเป็นจริง พวกเขาเหล่านั้นจะแสดงท่าทางรังเกียจจริตของ "ไพร่" แบบนี้ก็ตาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มิติทางสังคมของประชาคมอาเซียน การเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

Posted: 08 Nov 2012 12:20 AM PST


การเปิดเสรีอาเซียนไม่เพียงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมาด้วย การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงไม่ควรจำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมการและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นกัน

งานวิจัย 'Moving Towards ASEAN Single Community: Human Face Nexus of Regional Economic Development' โดย ดร.สมชัย จิตสุชน นำเสนอมิติทางสังคมของประชาคมอาเซียนที่จำเป็นต่อการวางแผนเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายของสังคมอาเซียนในอนาคต งานวิจัยนำเสนอ 4 มิติสำคัญ ดังนี้

1. มิติด้านสถิติประชากร (population demographic)
ประเทศส่วนใหญ่ในแถบอาเซียนกำลังเผชิญกับอัตราขยายตัวของประชากรที่ต่ำลง จากกราฟข้างล่าง มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราขยายตัวของประชากรเกิน 5% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นฐานเป็นหลัก กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่มีอัตราขยายตัวของประชากรต่ำกว่า 2 % เท่านั้น

นอกจากนี้ ประชาคมอาเซียนกำลังเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะกระทบต่อการพัฒนาสังคมและมนุษย์ต่อไปในอนาคต จากงานวิจัย ประเทศที่มีจำนวนอัตราประชากรวัยทำงานสูงเมื่อเทียบกับประชากรสูงวัยคือ บรูไน กัมพูชา ลาวและฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะสามารถพัฒนาสมรรถภาพด้านการผลิตและเศรษฐกิจจากประชากรวัยทำงานได้ในอนาคต


 

2. มิติด้านสุขภาพ การศึกษาและความสามารถในการอ่านเขียน (health, education and literacy)
มิติด้านสุขภาพ – งานวิจัยพิจารณาตัวบ่งชี้สำคัญสองประการ คือ 1) อัตราการเสียชีวิตของทารกซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับสุขภาพโดยรวมของประเทศ ในบริบทของประชาคมอาเซียน ประเทศที่ร่ำรวยกว่า (เช่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์) มีอัตราการเสียชีวิตของทารกน้อยกว่าประเทศที่ยากจนกว่า (เช่น กัมพูชา ลาว พม่า เป็นต้น) และ 2) การจ่ายเงินของครัวเรือนเมื่อไปใช้บริการสุขภาพซึ่งวัดประสิทธิภาพและการครอบคลุมของประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายที่น้อยลงแสดงให้เห็นถึงระบบประกันสุขภาพที่ดีกว่า ซึ่งข้อมูลจากกราฟข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีฐานะปานกลางและสูงมักจะมีระบบประกันสุขภาพที่ดีกว่าประเทศที่ยากจน (กัมพูชา พม่าและเวียดนาม)
 


 

มิติด้านการศึกษา – ประเทศในแถบอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องการศึกษา ประเทศที่มีรายได้สูงกว่า มีการสมัครเข้าเรียนในระดับอนุบาลและอุดมศึกษามากกว่า แต่เมื่อเราเปรียบเทียบดูแล้ว แถบประเทศอาเซียนยังมีนักศึกษาเรียนในระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาอยู่มาก
 


 

3. มิติด้านการจ้างงาน ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ (employment, poverty and inequality)
มิติทางด้านการจ้างงานเป็นมิติที่น่าสนใจมากในประชาคมอาเซียน โดยรวมแล้ว ประเทศในแถบนี้มีอัตราการว่างงานต่ำ (ยกเว้น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) แต่อัตราการจ้างงานในวัยรุ่นมีต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความต้องการแรงงานอยู่สูง แต่วัยรุ่นในอาเซียนไม่สามารถสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานได้

ในขณะเดียวกัน ประชากรที่มีการศึกษาสูงในประเทศที่ยากจน (ลาว กัมพูชา เวียดนาม) จะเดินทางไปทำงานนอกประเทศบ้านเกิดตนเอง แต่สถานการณ์นี้เริ่มดีขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านี้ดีขึ้นมาก และทำให้ประชากรของประเทศเหล่านี้เลือกที่จะอยู่ทำงานในประเทศบ้านเกิดมากขึ้น

ในเรื่องของมิติความยากจนและความเหลื่อมล้ำ งานวิจัยได้วัดความเหลื่อมล้ำจาก อัตรารายได้ครอบครัวของผู้มีฐานะร่ำรวยที่สุด 10% เทียบกับรายได้ของคนที่ยากจนที่สุด 10% สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า อาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก (โดยเฉพาะในประเทศไทยและฟิลิปปินส์) ในขณะที่ความยากจนอาจจะลดระดับลงไปในภูมิภาค ความเหลื่อมล้ำอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้
 


 

4. มิติด้านสังคมอื่น ๆ (สิ่งแวดล้อมและสถาบันทางการเมือง)
มิติด้านสิ่งแวดล้อม – งานวิจัยใช้ตัวบ่งชี้สองประการเพื่อเปรียบเทียบมิติด้านสิ่งแวดล้อมของประชาคมอาเซียน คือ 1) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 2) สัดส่วนพื้นที่ป่าในประเทศ ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยกว่าในอาเซียนมีสถิติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่สู้ดีนัก สิงคโปร์และบรูไนมีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 สูงกว่าประเทศอื่น ๆ และมีพื้นที่สัดส่วนของป่าในประเทศน้อยมาก

มิติด้านสถาบันการเมือง –งานวิจัยวิเคราะห์ตัวบ่งชี้สองประการ คือ 1) สิทธิทางกฎหมาย และ 2) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง – เป็นที่น่าสนใจที่ประเทศเวียดนาม ลาวและสิงคโปร์มีอัตราส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสตรีอยู่ถึงร้อยละ 25 ซึ่งตัวเลขนี้ สูงกว่าประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ แต่ในเรื่องของสิทธิทางกฎหมาย มีเพียงประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่ทำได้ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนยังทำได้ไม่ดีนัก

 


 


ความแตกต่างที่ควรได้รับความสนใจ
เมื่อเราพิจารณาตามมิติต่าง ๆ ทางสังคมของกลุ่มประเทศอาเซียน เราจะเห็นได้ว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบในทางบวกแก่มิติด้านสุขภาพ การศึกษาและความยากจน แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของประชาคมอาเซียน เพราะเมื่อเทียบถึงการจ้างงานในวัยรุ่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี หรือมิติทางสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ได้ก่อให้เกิดผลในทางบวกต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนเสมอไป และปัจจัยหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดความแตกต่างสูงในประชาคมอาเซียนคือ อายุของประชากรในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประชาคมอาเซียนในอนาคตต่อไป

ความแตกต่างของมิติที่หลากหลาย ควรได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมและเปิดโอกาสให้กับทุกคนได้เข้าถึงประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านแจกป่า 2.5 ล้านไร่ จวกใช้คนจนบังหน้าฟอกที่ดินเอื้อนายทุน

Posted: 07 Nov 2012 11:27 PM PST

 

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์ คัดค้านการแจกป่าและฟอกที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุนโดยใช้ราษฎรที่ยากจนบังหน้าของกรมป่าไม้ จี้ทบทวนนโยบาย ขู่ร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้เสีย-นักอนุรักษ์ทั่วประเทศฟ้องร้อง เพิกถอนคำสั่งโดยเร็วที่สุด
 
 
วันนี้ (7 พ.ย.55) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์ คัดค้านการแจกป่าและฟอกที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุนโดยใช้ราษฎรที่ยากจนบังหน้าของกรมป่าไม้ จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ มีนโยบายแจกใบรับรองสิทธิ์ทำกิน (สทก.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศจำนวน 2.5 ล้านไร่ ให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทำกิน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือคนจนให้มีที่ทำกินไม่ให้ไปบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น
 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนในฐานะองค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องพื้นที่ป่าไม้และรักษาทรัพยากรของชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ขอคัดค้านนโยบายและพฤติการณ์ดังกล่าวของกระทรวงทรัพย์ฯ และกรมป่าไม้ โดยแสดงความเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นเพียงเล่ห์ทางการเมืองของนักการเมืองที่รวมหัวกับข้าราชการในการฟอกที่ดินที่ผิดกฎหมาย ให้กลายเป็นที่ดินที่ถูกกฎหมาย ยกเว้นความผิดให้กับผู้ที่บุกรุกป่า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน นักการเมือง และหรือหัวคะแนนของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง โดยเอาความยากจนของชาวบ้านมาเป็นตัวประกันเท่านั้น
 
"นโยบายและพฤติการณ์ดังกล่าว สมาคมฯ ขอประณามและขอต่อต้าน 100% เพราะไม่ใช่ทางออกและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทำกินของเกษตรกรหรือราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินอย่างยั่งยืน" แถลงการณ์ระบุ
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีนโยบายโฉนดชุมชนที่ชุมชนยอมรับโดยให้สิทธิในเอกสารสิทธิที่ทำกินของชาวบ้านในลักษณะของชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ได้แยกเป็นปัจเจกชน ซึ่งไม่สามารถนำไปจำหน่ายจ่ายโอนให้กับนายทุนหรือผู้ใดได้ ยกเว้นการตกทอดแก่ทายาทหรือมรดกเท่านั้น แต่การที่กระทรวงทรัพย์ฯ และกรมป่าไม้นำที่ป่าสงวนที่อ้างว่าเสื่อมโทรมหรือถูกบุกรุกแล้วมาแจกให้กับนายทุนเป็นรายบุคคล โดยใช้ราษฎรที่ยากจนเป็นข้ออ้าง เพื่อที่จะนำไปทำรีสอร์ทหรือธุรกิจการค้าได้ ย่อมผิดต่อหลักการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะนำไปสู่การทำลายป่าปกติให้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อรอนโยบายประชานิยมดังกล่าว และไม่มีหลักประกันอันใดที่จะยืนยันได้ว่าที่ดินดังกล่าวเมื่อมอบให้กับชาวบ้านแล้ว จะไม่ถูกโอนซื้อขายสิทธิไปให้นายทุน หรือนักการเมือง ฯลฯ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 ประกอบมาตรา 85 มาตรา 87  โดยชัดแจ้ง
 
นอกจากนั้น กระทรวงทรัพย์ฯ และกรมป่าไม้ ยังได้กระทำความผิดเช้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกด้วย เพราะปล่อยให้มีการบุกรุกที่ป่าสงวนของชาติ จนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม โดยการออกมายอมรับในข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสาธารณะ เพราะความไร้ประสิทธิภาพของตน ที่สำคัญ จากข้อมูลการแจกที่ดินดังกล่าว ยังเอนเอียงไปแจกแต่เฉพาะในพื้นที่หาเสียงของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ย่อมชี้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 โดยชัดแจ้ง
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า หากกระทรวงทรัพย์ฯ และกรมป่าไม้ ไม่ทบทวนนโยบายหรือการดำเนินการดังกล่าว สมาคมฯ จะร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือนักอนุรักษ์ทั่วประเทศในการฟ้องร้อง เพิกถอนคำสั่งหรือการกระทำดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไอลอว์ชี้ 4 ปี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใช้ผิดเจตนารมณ์ ปิดเว็บ-คดีหมิ่นพุ่ง

Posted: 07 Nov 2012 03:57 PM PST

ไอลอว์เผยผลวิจัย 4 ปี 6 เดือน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชี้ส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์ เปิดสถิติ พบปิดกั้นเว็บหมิ่นประมาทกษัตริย์สูงอันดับหนึ่งกว่า 60,000 ยูอาร์แอล ส่วนคดีความพบใช้กรณีหมิ่นประมาทออนไลน์และหมิ่นสถาบันสูงสุด คณะวิจัยแนะแก้กฎหมายเน้นเฉพาะอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ ให้ตรงตามเจตนารมณ์ ความผิดอื่นใช้กฎหมายอื่น พร้อมเสนอตั้งศาลชำนาญพิเศษ

 

7 พ.ย.55 - ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยแพร่งานวิจัยหัวข้อ "ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐ กับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" ซึ่งมีคณะวิจัยประกอบด้วย นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หัวหน้าคณะวิจัย) พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้กำกับการกลุ่มงานกฎหมาย กองกฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนางสาวอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 1.สถิติการปิดกั้นเว็บ 2.สถิติคดี 3.ปัญหาของเนื้อหากฎหมาย 4.เปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ 5.ข้อเสนอแนะของทีมวิจัย

โดยข้อมูลเชิงสถิติ พบว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2554 หรือในช่วง 4 ปี 6 เดือน ที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีผลใช้บังคับ มีสถิติการระงับการเผยแพร่เนื้อหาหรือการปิดเว็บไซต์โดยอาศัยมาตรา 20 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ผ่านคำสั่งศาลจำนวน 156 ฉบับ จำนวนทั้งสิ้น 81,213 ยูอาร์แอล

เนื้อหาที่ถูกปิดกั้นเป็นอันดับหนึ่ง คือ เนื้อหาและภาพดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของจำนวนยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นทั้งหมด อันดับสอง คือ เนื้อหาและภาพลามกอนาจาร เป็นร้อยละ 24 ของจำนวนยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นทั้งหมด ที่เหลืออีกร้อยละ 1 เป็นเนื้อหาอื่นๆ

ในปี 2552 เป็นปีที่มี "จำนวนคำสั่งศาล" ให้ปิดกั้นเว็บไซต์ตามคำขอของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) สูงที่สุด คือ 64 ฉบับ ยังผลให้ปิดกั้น 28,705 ยูอาร์แอล ในขณะที่ปี 2553 เป็นปีที่มี "จำนวนเว็บไซต์" ถูกปิดกั้นสูงที่สุด คือ 45,357 ยูอาร์แอล โดยคำสั่งศาล 45 ฉบับ

ทีมวิจัยพบว่าปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการปิดกั้นเว็บไซต์ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่ออัตราการแสดงออกในเรื่องการเมืองของประชาชนผ่านสื่อออนไลน์

นอกจากนี้แม้กฎหมายกำหนดให้ศาลเป็นองค์กรผู้กลั่นกรองคำร้องให้ปิดกั้นเว็บไซต์ แต่จากงานวิจัยพบว่าจากคำสั่งศาลทั้งสิ้น 156 ฉบับ มีถึง 142 ฉบับที่ศาลออกคำสั่งในวันเดียวกันกับที่กระทรวงไอทีซียื่นคำร้อง โดยในปี 2552 และ2553 ศาลมีคำสั่งปิดกั้นโดยเฉลี่ยถึง 326 ยูอาร์แอลต่อวัน และ 986 ยูอาร์แอลต่อวัน ตามลำดับ

ด้านสถิติคดีความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พบว่า มีคดีความทั้งสิ้น 325 คดี เมื่อพิจารณาจากคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาล พบว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหาสูงถึงร้อยละ 66.15 ขณะที่คดีที่กระทำต่อตัวระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น

ทั้งนี้ คดีความทั้งหมดสามารถจำแนกประเภทความผิดได้ดังนี้ อันดับหนึ่ง หมิ่นประมาทบุคคลอื่น จำนวน 100 คดี อันดับสอง อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ 47 คดี อันดับสาม ดูหมิ่นกษัตริย์ฯ 40 คดี อันดับสี่ ความผิดฐานฉ้อโกงหรือหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต 31 คดี อันดับห้า เผยแพร่ภาพลามก 31 คดี อันดับหก เผยแพร่โปรแกรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย 12 คดี อันดับเจ็ด เนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง 6 คดี และเนื้อหาอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุได้อีก 58 คดี งานวิจัยพบว่า ในบรรดาคดีทั้งหมด มีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นตัวกลางผู้ให้บริการทั้งสิ้น 26 คดี

สำหรับประเด็นในด้านเนื้อหากฎหมาย ผลการศึกษา พบว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มีปัญหาการนิยามศัพท์ เช่น คำว่า "ผู้ให้บริการ" ที่กำหนดนิยามและแยกประเภทไว้ไม่ชัดเจน ทั้งยังกำหนดให้ผู้ให้บริการทุกประเภทมีหน้าที่ทั้งเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ และมีความรับผิดต่อการเผยแพร่เนื้อหาของผู้อื่นโดยไม่แยกแยะ และยังกำหนดโทษแก่ผู้ให้บริการไว้เท่ากับผู้กระทำความผิดหรือตัวการอีกด้วย ซึ่งไม่สมเหตุสมผล หรือได้สัดส่วนระหว่างความผิดที่เกิดขึ้นกับหน้าที่ความรับผิดชอบ

ปัญหาในการบัญญัติฐานความผิด ซึ่งปรากฏความคลุมเครือของบทบัญญัติทั้งใน มาตรา 14 มาตรา15 และ มาตรา20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 เช่น มาตรา 14 (2) มักถูกใช้ตั้งข้อหาควบคู่กับคดีความมั่นคง มีปัญหาในเรื่องขอบเขตการบังคับใช้ มีถ้อยคำกำกวม ไม่ชัดเจน อย่าง "ความเสียหายต่อความมั่นคง" และ "ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" ซึ่งขัดกับหลักความชอบด้วยกฎหมายที่ว่ากฎหมายต้องบัญญัติให้ชัดเจนแน่นอน และคดีตามมาตรา 14 (2) และ (3) ส่วนใหญ่เป็นการบังคับใช้ร่วมกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่มาตรา 20 ว่าด้วยการระงับการเผยแพร่เนื้อหาหรือการปิดเว็บไซต์ มีถ้อยคำที่คลุมเครือว่าเนื้อหาประเภทใดที่อาจถูกปิดกั้นได้ โดยหลักการแล้วการปิดกั้นเว็บไซต์ต้องบัญญัติเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน และการปิดกั้นเว็บไซต์ควรเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย ใช้อย่างจำกัด

เทียบต่างประเทศ ไทยล้าหลังแต่เอาไปแถลงโชว์ผลงาน
จากการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายในต่างประเทศ คือ ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน พบว่า ทุกประเทศต่างรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่มี "ข้อยกเว้น" หรือ "ข้อจำกัดเสรีภาพ" ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เยอรมณีมีข้อยกเว้นไม่ให้ความคุ้มครองเนื้อหาต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ต่อสันติภาพของประชาชน การดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหยียดหยามเชื้อชาติอื่น รวมทั้งการเผยแพร่ชาตินิยมเยอรมัน (ลัทธินาซี)สหรัฐอเมริกามีข้อยกเว้นกรณีเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน จีนมีข้อยกเว้นในกรณีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและเสถียรภาพของรัฐบาล ส่วนมาเลเซียมีข้อยกเว้นในกรณีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคง ขัดต่อหลักความเชื่อในศาสนาอิสลาม ลามกอนาจารและหยาบคาย และเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดข้างต้นที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหาไว้ในกฎหมายที่ว่าด้วยอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งไม่มีประเทศใดที่กำหนดความผิด และโทษสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือตัวกลางไว้ "เท่ากับ" ผู้เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นความผิดนั้นเอง

ทีมวิจัยมีข้อสังเกตด้วยว่า รัฐไทยมีมุมมองต่อการปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพราะจำนวนเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นในประเทศไทยถือเป็นผลงานการบริหารของกระทรวงไอซีทีและนำไปแถลงผลงานในทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมา

เสนอปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
สำหรับข้อเสนอแนะนั้น ทีมวิจัยระบุว่า 1.ข้อเสนอแนะทางกฎหมาย กฎหมายนี้ควรเป็นกฎหมายอาญาที่กำหนดความผิดและโทษสำหรับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ หรืออาชญากรรมที่กระทำต่อตัวระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยตรงเท่านั้น ไม่รวมถึงเนื้อหา แต่หากรัฐยืนยันว่าจำเป็นต้องมีบทลงโทษเกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหา บทบัญญัติดังกล่าวก็ต้องมีความชัดเจนไม่คลุมเครือ

การกำหนดความรับผิดและโทษแก่ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหา ควรจำแนกระดับของความรับผิดตามลักษณะและประเภทของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยคำนึงถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเนื้อหา เช่น ผู้ให้บริการเนื้อหาควรมีความรับผิดต่อเนื้อหา ในขณะที่ผู้ให้บริการทางเทคนิคโดยแท้ไม่ควรมีความรับผิดต่อเนื้อหาใดๆ เลย เว้นแต่เข้าเงื่อนไขบางประการ เช่น พิสูจน์ได้ว่าเขาเป็นผู้คัดเลือก ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เผยแพร่นั้น

ในส่วนของมาตรการการระงับการเผยแพร่เนื้อหา หรือปิดกั้นเว็บไซต์ ต้องแก้ไขให้มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ และไม่ทำให้ตีความหมายได้หลายอย่าง นอกจากนี้ ควรมีองค์กรผู้มีอำนาจออกคำสั่งที่มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้แทนจากหลายฝ่าย

2.ข้อเสนอแนะทางนโยบาย รัฐควรหามาตรการเพื่อกำกับดูแลเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ได้ดุลยภาพกับการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน แทนการใช้มาตรการปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงเว็บไซต์ เช่น การส่งเสริมกระบวนการหรือกลไกตรวจสอบกันเองระหว่างผู้ใช้และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ต้องเร่งพัฒนาความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่รัฐให้ดีขึ้น รัฐควรต้องส่งเสริมให้มีศาลชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ และจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน

3.ข้อเสนอแนะต่อประชาชน และผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ ประชาชนและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านนี้ควรตื่นตัวตรวจสอบการออกกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งนโยบายของรัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอาจรวมตัวกัน หรือจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอย่างเข้มแข็งเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้รัฐกำหนดภาระหน้าที่อันไม่เป็นธรรม พัฒนาวิธีการ และแนวทางการคัดค้านโต้แย้งกฎหมาย นโยบายที่ไม่ชอบธรรม การออกคำสั่งตามอำเภอใจ เช่น การนำคดีขึ้นสู่ศาลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น