โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักโทษตูนีเซียผู้ต้องสงสัยบุกสถานทูตสหรัฐฯ เสียชีวิต จากการอดอาหารประท้วง

Posted: 17 Nov 2012 11:40 AM PST

คนสำคัญของกลุ่มนิกายซาลาฟีในตูนีเซียเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงมาเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อประท้วงสภาพเรือนจำ หลังถูกจับในเหตุการณ์บุกสถานทูตสหรัฐฯ


17 พ.ย. 2012 - โมฮัมเม็ด บาคติ บุคคลสำคัญของขบวนการซาลาฟีสต์ (กลุ่มนิกายซาลาฟีของอิสลาม) ในตูนีเซียเสียชีวิตแล้วหลังจากประท้วงด้วยการอดอาหารมาเป็นเวลาสองเดือน นับตั้งแต่ถูกจับกุมข้อหาบุกสถานทูตสหรัฐฯ

บาคติ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวันเสาร์ (17) ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้สองวันผู้ต้องสงสัยอีกรายหนึ่งคือนักศึกษา เบชีร์ โกลลี อายุ 26 ปี ก็เสียชีวิตจากการอดอาหารเช่นกัน กลุ่มซาลาฟิสต์ซึ่งเป็นมุสลิมเคร่งครัดหลายสิบคนอดอาหารเพื่อประท้วงสภาพในเรือนจำ

บาคติ และ โกลลี เริ่มอดอาหารประท้วงในช่วงปลายเดือน ก.ย. หลายวันหลังจากถูกจับกุมเหตุบุกสถานทูตสหรัฐฯ ในวันที่ 14 ก.ย. พวกเขายืนยันว่าตนบริสุทธิ์และประท้วงสภาพเรือนจำ และขบวนการซาลาฟีสต์ก็บอกว่าพวกเขาถูกทางการทำให้กลายเป็นเหยื่อ

อัลจาซีร่ารายงานว่าบาคติเป็นคนสำคัญที่มีความใกล้ชิดกับอาบู อิยาด ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนวางแผนจู่โจมสถานทูตสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างหลบหนี เขาเคยถูกจำคุก 12 ปี ช่วงสมัยรัฐบาลซีเน เอล อัลบีดีน เบน อาลี ในปี 2007 จากเหตุการณ์ปะทะนองเลือดระหว่างทหารกับกลุ่มเคร่งศาสนาในเมืองโซไลมาน ใกล้กับกรุงตูนิส แต่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากการปฏิวัติในปี 2011

กรณีบุกจู่โจมสถานทูตสหรัฐฯ ในตูนีเซีย เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา มาจากการที่ผู้ประท้วงหลายร้อยคนไม่พอใจภาพยนตร์ล้อเลียนศาสนาอิสลามที่สร้างขึ้นในสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 100 ราย

อิเมน ทรีกี ประธานกลุ่มสิทธิมนุษยชนฟรีดอมแอนด์แฟร์เนส กล่าวว่า การที่ชาวตูนีเซียเสียชีวิตจากการประท้วงอดอาหารเป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้ รัฐบาลควรทำตามข้อเรียกร้องของผู้อดอาการประท้วงที่เหลือ

ขณะที่รมต.กระทรวงยุติธรรมของตูนีเซีย นูเรดีน เบฮีรี กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า พวกเขาเสียใจกับการเสียชีวิตของชาวตูนีเซีย ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยพยายามโน้มน้าวให้โกลลีและบาคตีเลิกการประท้วงด้วยการอดอาหาร และให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่พวกเขา

ทนายของบาคตีบอกว่า เป็นเรื่องน่าอัปยศที่มีชาวตูนีเซียตายในคุกหลังจากประเทศปฏิวัติแล้ว ก่อนหน้านี้ทนายของบาคตีเคยเตือนว่าบาคตีมีอาการเส้นเลือดในสมองแตกอยู่ในสภาพอันตรายมาหลายวันแล้ว

อัลจาซีร่ารายงานว่ารัฐบาลอิสลามของตูนีเซียกำลังตกอยู่ภายใต้การกดดันของทั้งกลุ่มซาลาฟิสต์ที่เรียกร้องให้ใช้กฏหมายตามหลักศาสนาอิสลาม และจากพรรคการเมืองฝ่ายฝ่ายค้านที่เป็นฆราวาสนิยมที่พยายามห้ามไม่ให้มีการใช้กฏหมายอิสลาม


เรียบเรียงจาก
Tunisian detainee dies after hunger strike, Aljazeera, 17-11-2012

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายญาติ ,นักสิทธิ ยื่นหนังสือถึงโอบามาวอนผลักดันไทยให้ปล่อยนักโทษการเมือง

Posted: 17 Nov 2012 09:29 AM PST

เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา112 อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม. และ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ร่วมกันทำจดหมายยื่นผ่าน สถานทูตสหรัฐอเมริกา ถึง นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีเนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทย โดยในจดหมายได้เรียกร้องให้ นายบารัค โอบามา สนับสนุนให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษจาก กม.อาญา ม.112 เนื่องจากขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ในรายละเอียดส่วนหนึ่งของจดหมายดังกล่าวได้ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้ต้องขังจาก กม.อาญา ม.112 อยู่ทั้งสิ้น 7 คน และมีผู้ต้องขังจากคดีการเมืองอยู่อีกประมาณ 30 คน  โดยข้อเรียกร้องในจดหมายนอกจากที่จะให้มีการล่อยตัวผู้ต้องขังทั้งหมดแล้ว ยังเรียกร้องให้  ให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายหรือคืนสิทธิให้แก่นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา และผู้ที่ถูกตัดสินแล้วและภายหลังได้รับการปลดปล่อย ให้ได้รับสิทธิเสมือนไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนด้วย

นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำคนเสื้อแดงกลุ่ม 24มิถุนาระชาธิปไตย และ บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ผู้ต้องขังคดี 112 ได้กล่าวกับประชาไทว่าทางเครือข่ายได้ติดต่อผ่านสถานทูตสหรัฐขอเข้าพบ นายบารัค โอบามา แต่นายเอกกมล จรัลชวนะเพท ผู้ชำนาญการฝ่ายการเมือง สถานทูตสหรัฐได้แจ้งว่า นายโอบามา มีกำหนดนัดหมายเต็มหมดแล้ว และได้ขอให้ยื่นจดหมาย เมื่อทางคณะได้ยื่นจดหมาย นายเอกกมลได้ตอบกลับมาว่า จะได้นำส่งเจ้าหน้าที่การเมืองเพื่อพิจารณานำเรียนเอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ และคณะผู้มาเยือนโดยเร็ว  

นางสุกัญญาได้กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มยังไม่หมดความพยายามที่จะนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น โดยวันจันทร์ที่จะถึงทางกลุ่มจะทำการติดตามความคืบหน้าจากสถานทูตและขอเข้าพบเอกอัคราชทูตเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง

 

*********************************

เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา ๑๑๒
The Network of Family Members and People Affected by Article 112


 

16  พฤศจิกายน 2555 



เรื่อง                  ขอความสนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษการเมืองในประเทศไทย

กราบเรียน          ฯพณฯ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

ผ่าน นาง Kristie Kenney เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรไทย

 

ในโอกาสที่ ฯพณฯ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งถือเป็นมิตรประเทศที่ดีระหว่างกันมานานกว่าร้อยปี ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนของเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112  องค์กรและประชาชนไทยผู้มีรายชื่อท้ายจดหมายนี้ ขอส่งความปรารถนาดีมายัง ฯพณฯและประชาชนแห่งสหรัฐอเมริกา และขอแสดงความคิดเห็น ตลอดจนขอความสนับสนุนจาก ฯพณฯ ต่อการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปลดปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย ปรากฏรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1.นับแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่ชุมนุมกันตามวิถีทางประชาธิปไตยเมื่อเดือนเมษา-พฤษภาคม 2553 สถานการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยมีความสับสน วุ่นวายมาโดยตลอด เพราะกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและชื่นชอบพรรคไทยรักไทยและพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ต่างไม่พอใจที่เกิดการรัฐประหารขึ้น โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็น ถึงสาเหตุของการรัฐประหาร ด้วยการตั้งกลุ่มรวมตัวกันชุมนุมสาธารณะคัดค้านการรัฐประหาร การจัดเวทีอภิปรายสาธารณะ การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และออกแถลงการณ์หลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์สาเหตุของการรัฐประหาร ดังกล่าวบางครั้งพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อประชาชน ทั้งประชาชนทั่วไป นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงก่อนการรัฐประหาร เช่น ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ดูแลเว็บของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (น.ป.ช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง (ปัจจุบันได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว)นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Voice of Thaksin และเป็นผู้นำกลุ่ม  น.ป.ช. คนหนึ่ง และนาวาอากาศตรีชนินทร์ คล้ายคลึง ทหารช่างสังกัดกรมช่างอากาศ กองทัพอากาศ จนกระทั่ง องค์การระหว่างประเทศ เช่น Article 19 ,International Commission of Jurists, Human Rights Watch etc.ได้ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อการบังคับใช้ มาตรา 112 หรือนายแฟรงค์ ลารู (Frank La Rue) ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกและมาร์กาเร็ต เซแคกยา (Margaret Sekaggya) ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ร่วมกันเขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทยลงวันที่ 10 มิถุนายน 2554[1] แสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ในประเทศไทย โดยระบุถึงบุคคล 4 คนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยกล่าวว่าคดีทั้งสี่คดีนี้มิได้ไม่เกี่ยวเนื่องกัน และมีบุคคลที่ถูกดำเนินดคีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้นในไทย ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความคิด และการที่บุคคลเหล่านี้ถูกข่มขู่และอาจต้องถูกจำคุกนานหากถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดทำให้สังคมไทยทั้งมวลตกอยู่ภายใต้ความสะพึงกลัว และว่ากลไกพิเศษในอาณัติอื่นๆ (Special Procedures mandate holders) ก็ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้ต่อรัฐบาลไทยในโอกาสต่างๆก่อนหน้านี้เช่นกัน

2.ความผิดตาม มาตรา 112 ไม่เข้าเกณฑ์ข้อจำกัดสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามที่บัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เนื่องจากไม่มีคำจำกัดความว่าการกระทำอย่างไรจึงเข้าข่าย "หมิ่นประมาท" หรือ "ดูหมิ่น" ตามมาตรานี้ นอกจากให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการ "ดูหมิ่นเจ้าหน้าที่รัฐ" หรือ  "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดา มาใช้ในการตีความแทน กฎหมายไม่มีความชัดเจนและกำกวมทำให้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกอาจถูกจำกัดได้ตามอำเภอใจหรือโดยไม่มีเหตุอันควร และทำให้บุคคลต้อง ตกอยู่ในความหวาดกลัวหากจะต้องกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางใดทางหนึ่ง และต้องเซ็นเซอร์ตนเอง

นอกจากนี้ กฎหมายอาญามาตรา 112 ยังบัญญัติให้มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปีซึ่งถือว่าไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด  และต้องถือว่าการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้น ให้กระทำได้ภายในขอบเขตค่อนข้างกว้าง บุคคลสาธารณะนี้ รวมถึงประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลชอบที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะประมุขของรัฐก็อยู่ในขอบข่ายนี้

3.การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกด้วยการเสนอให้ยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 จึงสมควรได้รับการสนับสนุน แม้รัฐบาลไทยพยายามชี้แจงต่อประชาคมโลกในเวที UPR หรือ การตอบหนังสือของผู้รายงานพิเศษทั้งสองของสหประชาชาติว่า คดีที่ผู้รายงานพิเศษทั้งสองคนกล่าวถึงในจดหมายนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก แต่หากเป็นการกระทำที่ตั้งใจให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกในทางที่มิชอบเพื่อความมุ่งหมายทางการเมืองและแบ่งแยกสังคมไทย  จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินการตามกฎหมายไทย  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2553 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลที่น่าเศร้าจากการใช้สื่อและสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกในทางที่ผิด ในเรื่องที่อ่อนไหวซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อปลุกปั่นความเกลียดชังและความรุนแรงในหมู่ประชาชน ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมและการเมือง

4.ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังในความผิดตามมาตรา 112 และความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อันเกี่ยวเนื่องมาจาก มาตรา 112 จำนวน 7 คน และ ผู้ที่ถูกคุมขังในความผิดทางการเมืองอันเนื่องมาจากการชุมนุมเมื่อเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 จำนวนประมาณ 30 คน บุคคลดังกล่าวต้องถือว่าเป็นนักโทษการเมือง เพราะเป็นผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ หรือถูกดำเนินคดีในข้อหาเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงมิใช่อาชญากร

ขณะเดียวกันผู้ต้องหาในคดีความผิด 112 มักไม่ได้รับการประกันตัวอันขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักการที่ว่า ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิด โดยศาลที่เป็นอิสระ - Presumption of Innocence beyond a reasonable doubt"

5.ข้าพเจ้าจึงขอความสนับสนุนจาก ฯพณฯในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณา ดำเนินมาตรการอย่างใดๆ  ดังต่อไปนี้

5.1    ให้รัฐบาลไทยปลดปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและหรือความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนเมษา-พฤษภา 2553

5.2    ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาทุกคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

5.3    ให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายหรือคืนสิทธิให้แก่นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา และผู้ที่ถูกตัดสินแล้วและภายหลังได้รับการปลดปล่อย ให้ได้รับสิทธิเสมือนไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน

 

ทั้งนี้  เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างมิตรประเทศที่ใกล้ชิด และเป็น

การยืนยันหลักการแบ่งแยกไม่ได้ของสิทธิมนุษยชน (Indivisibility) พวกข้าพเจ้าขอขอบพระคุณ ฯพณฯ และขอให้ประสบความสำเร็จในการเยือนเอเชียในครั้งนี้


ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

 

นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข

ตัวแทนเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยมาตรา 112



นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


นายศราวุฒิ ประทุมราช

สถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน



ดร.สุดา รังกุพันธุ์

ตัวแทนกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล



 

[1] UA G/SO 214 (67-17) G/SO 214 (107-9)  THA 5/2011

 

 

The Network of Family Members and People Affected by the Article 112

16 November 2012



Subject: Your support to raise our concern to Thai government to release all Thai political prisoners

Dear President Obama,

On behalf of The Network of Family Members and People Affected by the Article 112 (called the 112 Family Network) and other joint organizations, I would like to welcome you to Thailand and would like to hand this letter to you and allow us to express comments as well as to support us to raise our concerns to Thai government. I have hereby attached a letter in Thai to you and  have summarized the key points as follows:

1.There are many Thai citizens charged, arrested and detained in prisons from the coup on 19 Sep 2006. Some were arrested and detained because of gathering in the public, speech, publishing the articles which interpreted as insulting the king or royal families. There were many of them charged under the article 112 (Less Majeste Law) for example: Mr.Somyot Prueksakasemsuk, Dr.Somsak Jiamtherasakul, Mr.Thanthawut Thaweewarodomkul, Lt. commander Chanin Klayklaeng.

2.The article 112 has been widely used to charge Thais because its definition of "insulting' or defaming" is unclear and ambiguous. This has limited the right to express opinion and suppress Thai under fearfulness and have to self-censor.

3.Thai government ignored the UPR and responded that the charges of Thais under this law are nothing related to Thai politics.

4.At the moment, there are 7 persons charged and detained or imprisoned under the article 112 and computer crime act and about 30 persons detained under the emergency decree. All of them should be considered political prisoners. In addition, they have not received the bails despite several application submissions to the court.

5.Therefore, I would like to pass our following recommendations to you to raise to Thai government :

5.1  Release all political prisoners that were charged under the article 112, computer crime act and all charges related to the emergency decree as well as public gathering to express political opinions.

5.2  Grant bail to all prisoners undergoing the trials

5.3  Thai government compensate to the former prisoners who were charges and end trial with acquittance.


Respectfully your,

 

Sukanya Prueksakasemsuk, Representative of the 112 Family Network

Dr.Niran Phitakwatchara, National Human Right Commission

Mr.Sarawut Patoomraj, Human Rights Advocate/Educator Institute for the Rule of Law and Human Rights

Suda Rangkupan, Representative of the Declaration of street justice

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องจริงไม่อิงนิยายของราชสำนักกัมพูชา (3): บัลลังก์นี้ไม่มีรัชทายาท

Posted: 17 Nov 2012 08:53 AM PST

พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่สละราชสมบัติถึง 2 ครั้ง และในฐานะประมุขแห่งรัฐ พระองค์ยังปล่อยให้บัลลังก์กัมพูชาไร้พระนามรัชทายาทนานถึง 33 ปี

เจ้าชายรณฤทธิ์ photo Courtesy Frank Tatu

กษัตริย์สีหนุ และพระราชินีโมนิก

ครอบครัวกษัตริย์: พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ พระชายาโมนิก และพระโอรส

เจ้าชายรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นโอรสองค์โตของกษัตริย์สีหนุ เล่าว่าพระบิดาของท่านไม่เคยสนใจที่จะแต่งตั้งหรือแม้กระทั่งไล่เรียงจัดลำดับโอรสที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท

กษัตริย์สีหนุประกาศสละราชสมบัติให้พระบาทสมเด็จนโรดม สุรมฤตในปี พ.ศ.2498 โดยที่พระองค์เปลี่ยนสถานะไปเป็นนักการเมือง ทรงตั้งพรรคการเมืองและได้รับการเลือกตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ  เมื่อกษัตริย์สุรมฤตสิ้นพระชนม์ในปี 2503 นั้น เจ้าชายรณฤทธิ์มีอายุ 16 ชันษากำลังศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศส แต่เจ้าชายสีหนุในฐานะประมุขแห่งรัฐก็ไม่ยอมแต่งตั้งรัชทายาท แม้เจ้าชายรณฤทธิ์จะบอกว่าตนไม่ได้อยากเป็นรัชทายาท แต่มีสิ่งที่ยังคงค้างคาอยู่ในใจถึงเหตุผลที่พระบิดาไม่ยอมแต่งตั้งรัชทายาท  เพราะเจ้าชายสีหนุทรงเคยบ่นดังๆกับคนรอบข้างว่าเจ้าชายรณฤทธิ์นั้นสนใจแต่เรื่องขับรถแข่ง และยังชอบโวยวายใส่ตำรวจอีกด้วย

"ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่พ่อกล่าวหานั้นไม่ยุติธรรมสำหรับข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าเลิกโวยวายใส่ตำรวจแล้ว คำกล่าวหาของพ่อทำให้ข้าพเจ้าปวดใจมาก ทำไมน่ะหรือ? ก็ดูสิ พ่อเองก็มีผู้หญิงตั้งเยอะแยะ ทั้งยังมีรถแข่งสวยๆตั้งหลายคัน มีหลายอย่างที่ข้าพเจ้าเรียนรู้มาจากพ่อ"

 

ความขมขื่นของเจ้าชายรณฤทธิ์ปรากฏชัดทุกครั้งที่เล่าย้อนอดีตนี้

"พ่อบอกว่าไม่แต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัชทายาทเพราะข้าพเจ้าเป็นเพล์บอย แต่พ่อไม่เคยพูดเลยว่าในบรรดาลูกๆทั้งหมดของพ่อ ข้าพเจ้าเป็นลูกคนเดียวของพ่อที่เรียนจบปริญญาเอก"

เจ้าชายรณฤทธิ์ได้รับปริญญาเอก (เกียรตินิยม) ด้านกฎหมายมหาชนจาก University of Law, Political Science and Economics of Aix-Marseille, France

ด้วยความประสงค์ของเจ้าย่า คือ พระราชินีกุสุมะนารีรัตน์ เจ้าชายรณฤทธิ์ถูกส่งไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 14 ชันษา พร้อมกับเจ้าชายจักรพงษ์ ผู้เป็นน้องชายต่างมารดา เจ้าชายจักรพงษ์มีอายุน้อยกว่าเจ้าชายรณฤทธิ์สองปี เป็นโอรสกษัตริย์สีหนุที่เกิดกับเจ้าหญิงพงสานมุนี เมื่อพระบาทสมเด็จนโรดม สุรมฤต สิ้นพระชนม์ เจ้าชายทั้งสองถูกเรียกตัวกลับมาจากฝรั่งเศสเพื่อเป็นผู้เดินนำขบวนแห่พระศพ

แต่หากไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้น เจ้าชายทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านช่วงปิดภาคเรียนปีละครั้งเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีผลการเรียนที่ดี โชคดีที่ท่านสองทำคะแนนได้ดีตามเกณฑ์

เจ้าชายรณฤทธิ์เล่าว่าท่านไม่ได้มีรถยนต์ของตัวเอง ทุกครั้งที่กลับจากฝรั่งเศสในช่วงปิดเทอมนั้น ท่านใช้รถของพี่สาว คือ เจ้าหญิงบุปผาเทวี และรถของเจ้าหญิงรัศมีโสภาที่เลี้ยงดูท่านมา ข้อกล่าวหาของพระบิดาจึงไม่เป็นธรรมกับท่านมาก

เรื่องความสัมพันธ์อันห่างเหินระหว่างเจ้าชายรณฤทธิ์กับพระบิดา รวมทั้งการที่เจ้าชายสีหนุในฐานะประมุขแห่งรัฐไม่ยอมประกาศชื่อรัชทายาทนั้น เป็นเรื่องซุบซิบนินทาเล็ดรอดออกมาจากราชสำนักกัมพูชาว่าเป็นการเมืองเรื่องครอบครัวด้วย ถึงแม้เจ้าชายสีหนุจะอยากใกล้ชิดโอรสองค์โตมากกว่านี้ก็คงไม่อาจทำได้ เพราะพระองค์ทรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระราชินีโมนิก  บรรดาเชื้อพระวงศ์ทั้งสายราชสกุลนโรดม และราชสกุลสีสุวัตถิ์ มีความเชื่อไปในทางเดียวกันว่าพระราชินีโมนิกทำทุกวิธีทางเพื่อให้โอรสทั้งสองของพระนางคือ เจ้าชายสีหมุนี และเจ้าชายนรินทรพงษ์อยู่ใกล้ชิดกับพระบิดามากกว่าลูกคนอื่นๆ

แต่เจ้าชายรณฤทธิกลับเปิดใจกว้างในเรื่องนี้

"เป็นเรื่องธรรมดามากที่พระราชินีโมนิกจะพยายามสนับสนุนส่งเสริมลูกๆ ของพระนางมากกว่าลูกของคนอื่น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่าจะมีความตั้งใจที่จะแยกพ่อออกไป"

เรื่องกระซิบกันให้แซ่ดจากราชสำนักกัมพูชาอีกเรื่องหนึ่งถึงสาเหตุที่ทำให้กษัตริย์สีหนุทรงห่างเหินกับบรรดาโอรสและธิดา คือพฤติกรรม "เพลย์บอย" ของพระองค์  ก่อนหน้าที่จะพบและเสกสมรสกับพระราชินีโมนิก กษัตริย์สีหนุมักจะทรงใช้เวลากับสาวๆไปพร้อมกับการบริหารราชการแผ่นดินจนไม่มีเวลาเหลือให้ลูกๆ

"นั่นเป็นวิถีชีวิตของพ่อในฐานะที่เป็นกษัตริย์"

เจ้าชายรณฤทธิ์ยังเล่าถึงชายาคนสุดท้ายของพ่อว่า ท่านเคารพพระราชินีโมนิกทั้งในฐานะมารดาเลี้ยงและฐานะที่เป็นพระราชินีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา แม้ว่าจะได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเกี่ยวกับพระราชินีอยู่เสมอ

"แต่พระราชินีโมนิกอยู่เคียงข้างพ่อตลอดเวลา ช่วยเหลือพ่อ ยอมให้พ่อต่อสู้เพื่อประเทศชาติ"

เจ้าชายรณฤทธิ์อายุเพียงแปดขวบตอนที่กษัตริย์สีหนุพบและตัดสินใจอยู่ร่วมกับพระนางโมนิก กษัตริย์สีหนุเสกสมรสอย่างเป็นทางการกับพระราชินีโมนิกในปี 2498 ซึ่งเป็นปีที่กษัตริย์สีหนุทรงสละราชบัลลังก์ให้กับพระเจ้าสุรมฤต ผู้เป็นพระบิดา

พระบาทสมเด็จสุรมฤตสิ้นพระชนม์ปี 2503 ตอนนั้นเจ้าชายรณฤทธิ์อายุ 16 ปี เจ้าชายสีหมุนี 7 ชันษา และเจ้าชายนรินทรพงษ์ 6 ชันษา

ราชบัลลังก์กัมพูชาไร้กษัตริย์และรัชทายาทนับแต่นั้นมา อดีตกษัตริย์สีหนุเลือกที่จะต่อสู้ทางการเมืองแบบไร้บัลลังก์ยาวนานมาถึง 33 ปีโดยไม่ยอมแต่งตั้งรัชทายาท พระองค์ทรงตัดสินใจคืนสู่ตำแหน่งกษัตริย์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2536 และท้ายสุด เลือกที่จะสละตำแหน่งกษัตริย์เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2547 ให้กับเจ้าชายนโรดม สีหมุนี โอรสที่ประสูติกับพระราชินีโมนิก ซึ่งไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมายและเสียงซุบซิบนินทาที่แพร่สะพัดทั่วราชอาณาจักรกัมพูชาก่อนหน้านี้

เรื่องการสืบสันติวงศ์ของราชบัลลังก์กัมพูชานั้นซับซ้อนยิ่งนัก เพราะนอกจากการต่อสู้แย่งชิงกันของสองราชสกุล คือ ราชสกุลนโรดม และราชสกุลสีสุวัตถิ์แล้ว ยังมีอำนาจคุกคามแบบซ่อนเร้นจากภายนอกทั้งจากซีกโลกตะวันตกคือ ฝรั่งเศส และราชสำนักสยาม และเวียดนาม

ฝรั่งเศสสามารถจัดการให้กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาได้โดยราบรื่น ในปี พ.ศ. 2406 จากการเชื้อเชิญอย่างลับๆของกษัตริย์นักองค์ด้วง (King Ang Duong) และเจ้านโรดม พระโอรสองค์โตของนักองค์ด้วง ทั้งสองพระองค์ได้ขอให้ฝรั่งเศสช่วยกัมพูชาให้เป็นอิสระจากอำนาจของสยามและเวียดนาม

ก่อนหน้านี้ องค์ด้วงถูกเชิญตัวมาประทับอยู่ที่ราชสำนักสยามนานถึง 27 ปีตั้งแต่พระองค์อายุ 16 ชันษาและถูกส่งกลับไปปกครองกัมพูชาในนามของสยาม กษัตริย์นักองค์ด้วงทรงส่งราชโอรสสองพระองค์ คือ เจ้าชายนโรดม และเจ้าชายสีสุวัตถิ์ มารับการศึกษาที่สยาม และทรงแต่งตั้งเจ้าชายนโรดมเป็นรัชทายาท เจ้าชายนโรดมเป็นโอรสที่เกิดจากชายาชาวสยามที่กษัตริย์องค์ด้วงพากลับไปที่ราชสำนักกัมพูชาด้วย

กษัตริย์องค์ด้วงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2403 แต่เจ้าชายรัชทายาทต้องรอไปอีกเกือบสี่ปีกว่าที่จะสามารถประกอบพิธีราชาภิเษกได้ เพราะทางสยามยึดเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้

ทั้งนี้ หนังสือ "A History of Cambodia" ที่เขียนโดย David Chandler ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกของเจ้าชายนโรดมไว้ว่า

"...มีข้อมูลของฝรั่งเศสหลายชิ้นที่บันทึกถึงสิ่งที่น่าหัวร่อที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันระหว่างการประกอบพระราชพิธี นั่นคือฝ่ายสยามและฝ่ายฝรั่งเศสทะเลาะกับเกี่ยวกับลำดับ พิธีการ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในขณะที่เจ้านโรดมก็ทรงเพ้อฝันอย่างไม่เดียงสาด้วยการประกาศยอมสวามิภักดิ์ต่อทั้งกษัตริย์สยามและฝรั่งเศส เป็นครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯเป็นผู้คัดเลือกและประกาศพระนามของพระมหากษัตริย์กัมพูชา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารพม่ายิงปืนใหญ่ถล่มใส่หมู่บ้านในรัฐฉาน - ชาวบ้านเจ็บ 1 ราย

Posted: 17 Nov 2012 05:38 AM PST

ทหารพม่ายิงปืนใหญ่ถล่มใส่หมู่บ้านในเขตเมืองจ๊อกแม  รัฐฉานภาคเหนือ ทำบ้านเรือนพังหลายหลังและมีชาวบ้านเจ็บ 1 ราย อ้างเป็นฝีมือไทใหญ่ SSA เหนือ ขณะที่ SSA เหนือ ระบุไม่มีเหตุผลทำร้ายประชาชน เพราะไม่ใช่ศัตรู ยันเป็นการกระทำใส่ร้าย

มีรายงานว่า เมื่อช่วงดึกคืนวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา เกิดเหตุทหารพม่าฐานประจำการเมืองหนองเขียว เขตเมืองจ๊อกแม รัฐฉานภาคเหนือ ใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มเข้าใส่หมู่บ้านบ้านหลวง กิ่ง อ.เมืองง้อ โดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นเหตุให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 5 หลัง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ต้นหา 1 คน ชื่อจายเป่ติ่น อายุ 40 ปี ซึ่งขณะนี้ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองจ๊อกแม ส่วนบ้านหลังที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดเป็นบ้านของนายเต่จ้า นางส่วยเท

แหล่งข่าวชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า ก่อนหน้าวันเกิดเหตุหนึ่งวัน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. มีนายทหารพม่านายหนึ่งยศสิบเอก ไปแจ้งแก่เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในกิ่งอ.เมืองง้อ ว่า กองทัพพม่าจะมีการฝึกยิงปืนใหญ่ขออย่าได้ตื่นตกใจ  กระทั่งเวลาประมาณตี 2 ของคืนวันที่ 14 พ.ย. ทหารพม่าได้ยิงปืนใหญ่ซึ่งฐานที่ยิงอยู่ไม่ไกลจากวัดมากนัก โดยได้ยินเสียงลูกกระสุนปืนออกจากปากลำกล้องและได้เสียงกระสุนตกระเบิดอยู่ แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะตกใส่หมู่บ้าน ซึ่งหลังจากตื่นเช้าจึงรู้ว่ากระสุนปืนใหญ่ตกใส่ในหมู่บ้าน

มีรายงานอีกว่า เมื่อวันที่ 8 และ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุทหารพม่ายิงกระสุนปืน M 79 เข้าใส่บ้านท่าหลวง ในกิ่ง.อ.เมืองง้อ แล้วครั้งหนึ่ง โดยยิงใส่จำนวน 5 นัด กระสุนทำงาน 3 นัด อีกสองนัดไม่ทำงาน มีกระสุนนัดหนึ่งตกใส่บ้านนายทุนเมียด นางเมียะเต็ง ได้รับความเสียหาย ซึ่งหลังเกิดเหตุทางฝ่ายทหารพม่าระบุเป็นฝีมือของกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ"

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ท.จายทู รองเลขาธิการกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" กล่าวว่า ในพื้นที่กิ่งอ.เมืองง้อ มีทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" เคลื่อนไหวอยู่ แต่ไม่มีเหตุผลที่ทาง SSA "เหนือ" จะยิงปืนใส่หมู่บ้านของประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้เป็นศัตรูกับ SSA "เหนือ" ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการใส่ร้ายป้ายสีโยนความผิดให้กันมากกว่า

ทั้งนี้ ในพื้นที่กิ่งอำเภอเมืองง้อ และเมืองจ๊อกแม รัฐฉานภาคเหนือ มีทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" และ "ใต้" รวมถึงกองกำลังปะหล่อง TNLAเคลื่อนไหวอยู่ ที่ผ่านมาได้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ SSA และกองกำลังปะหล่อง TNLA หลายครั้ง โดยหลังเกิดเหตุทหารพม่ายิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้าน ทำให้ราษฎรในพื้นที่ต่างอยู่กันอย่างอกสั่นขวัญผวาไม่กล้าออกไปทำไร่ทำนา และในยามค่ำคืนต้องนอนอย่างหลับๆ ตื่นๆ เนื่องจากกังวลจะถูกทหารพม่ายิงปืนใหญ่ใส่บ้านตัวเอง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จายตานหม่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ จากพรรคไทใหญ่ SNDP (พรรคเสือเผือก) ได้ลงไปสำรวจเก็บข้อมูลความเสียหายจากเหตุทหารพม่ายิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านราษฎร โดยเตรียมยื่นร้องเรียนในสภาให้รัฐมีการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันในพื้นที่เมืองง้อ , ต้อส่าง , เมืองจ๊อกแม และ เมืองมีด มีกำลังทหารพม่าเคลื่อนไหวอยู่หลายกองพัน ประกอบด้วย  กองพันทหารราบเบา 17 , 114 ,504 , 501 , 502 , 503 กองพันทหารราบ 23 และมีกำลังพลกองร้อย 71 จากเมืองอ่องหล่าน และกองร้อย 95 จากเมืองมัณฑะเลย์ ในพม่าเข้ามาเคลื่อนไหวด้วย โดยมีรายงานว่าขณะนี้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารพม่าและทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" อยู่ในหลายพื้นที่

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส. ศิวรักษ์: สถาบันสงฆ์

Posted: 17 Nov 2012 04:54 AM PST

อ่านประกายสำนึก ของ พ.กิ่งโพธิ์  เรื่อง "เงินกับสมณศักดิ์" ความว่า
 

                                                      เจ้าอาวาสวัดพระยาญาติฯ อัมพวา

                                                ท่านเล่าว่าพระครูชั้นโทสัญญาบัตร

                                                ต้องห้าแสนถึงหนึ่งล้านยากทานทัด

                                                เป็นเจ้าคุณต้องจ่ายอัฐสิบล้านขึ้นไป

                                                มีท่านเจ้าคุณชั้นเทพเมืองแม่กลอง

                                                อยากเลื่อนขั้นไว้ฉลองแบบต้องได้

                                                ยี่สิบล้านบาทจ่ายวิ่งเต้นเล่นกับไฟ

                                                เป็นแมลงเม่าเผาไหม้ไกลชั้นธรรม
 

                   จากไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕


ซึ่งลงข่าวด้วยว่า มีการเลื่อนสมณศักดิ์ เนื่องในวันเฉลิมพรรษา โดยมีพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร) เป็นรูปแรก ที่จะได้เป็นพระพรหมบัณฑิต ชั้นหิรัญบัตร โดยที่บุคคลคนนี้ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมาแล้วด้วย

ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านี้ พ.กิ่งโพธิ์ ก็เขียนลง ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๑ ความว่า
 

                                                                ถามมหาจุฬาฯ

                                                เป็นข้าราชการนานแล้วนะ

                                                เหลือความเป็นพระแค่ไหน

                                                อธิการบดีมหาจุฬาฯ ว่ายังไง

                                                นุชนาถ (อ้อ) คือใครบอกที!

                                                เงินบริจาควัดไร่ขิงใครขน

                                                วัดชัยมงคลอ่างทองท่านรู้นี่

                                                ขอเถอะตรวจทานอธิการบดี

                                                เสริมสร้างศักดิ์ศรีมหาจุฬาฯ
 

ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือ นายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าคณะภาค ๑ ตลอดจนเจ้าคณะหนกลาง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีมหาจุฬาฯ ว่าถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ควรฟ้องหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ และผู้เขียน ถ้าเป็นอลัชชีตามข้อกล่าวหา ก็ควรให้ลาสมณเพศไป แต่ไม่ได้รับคำตอบเอาเลย จึงเขียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งตอบมาว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับอธิกรณ์ของสงฆ์

แล้วถ้อยคำของ พ.กิ่งโพธิ์ล่าสุดนี้เล่า ก็เอ่ยชื่อเจ้าอาวาสวัดพระยาญาติ อัมพวา อย่างโจ่งแจ้ง ว่าต้องจ่ายเงินกันเท่าไรต่อเท่าไร จึงจะได้เลื่อนสมณศักดิ์ แต่แล้วกรรมการมหาเถรสมาคมก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกระนั้นหรือ

ยิ่งเมื่อปีกลาย หัวหน้าใหญ่แห่งวัดพระธรรมกายก็ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ทั้งๆ ที่สมเด็จพระญาณสังวร องค์มหาสังฆปรินายกมีลายพระหัตถ์ออกมาชัดเจนว่าเขาคนนี้ต้องอทินนาทานปราชิก หมดความเป็นพระแล้ว และถูกฟ้องร้องจนถึงอัยการเตรียมส่งสำนวนขึ้นศาลแล้ว หากทักษิณ  ชินวัตร สั่งให้ยุติคดีนี้เสีย อย่างถูกหรือผิดกฎหมาย

ถ้าคณะสงฆ์อยู่ใต้อาณัติเงินและอำนาจถึงเพียงนี้ แล้วสถาบันหลักของบ้านเมืองจะดำรงอยู่ได้ละหรือ

อนึ่งการสอบนักธรรม สอบเปรียญ ก็ลอกคำตอบกันซึ่งๆ หน้า แถมมีการส่งตัวแทนไปสอบแทนจนจับได้ แต่ก็ปิดความไว้ ไม่ให้อลัชชีปรากฎเป็นข่าว มิใยต้องเอ่ยถึงสามเณรแต๋วที่ขายตัวตามสถานที่ต่างๆ

เมื่อวานข้าพเจ้ากลับจากต่างประเทศ นั่งรถแทกซี่กลับบ้านจากท่าอากาศยาน คนขับบอกว่าเขาไม่อาจนับถือพระได้อีกแล้ว ทางปทุมธานีที่เขาอาศัยอยู่ สมภารวัดข้างๆ บ้าน เป็นเจ้าคณะตำบล แทงหวยทีละสามหมื่นถึงสามแสน พระลูกวัดตกปลากินกันและกินเบียร์กินเหล้ายามวิกาลอย่างเอิกเกริก เจ้าคณะตำบลก็ขนเงินไปแทงหวยกับเจ้าคณะอำเภอ ซึ่งค้ายาบ้าด้วยกัน

นี่วัดวาอารามมิกลายเป็นซ่องโจรกันไปกลายๆ แล้วหรือ แน่นอนวัดที่ดีก็มี พระที่ดีก็มี แต่ถ้าปล่อยให้อลัชชีมีอิทธิพลกว้างขวางถึงขนาดนี้แล้ว แต่มหาเถรสมาคมกลับไม่สนใจใยดีเอาเลย หากอุดหนุนพวกตัวให้ได้สมณศักดิ์สูงๆ ขึ้นไป โดยเงินที่รีดไถกันมาเป็นช่วงๆ นั้น ถึงกรรมการมหาเถรสมาคมรูปไหนบ้างไหม

ขอพูดถึงอธิการบดีมหาจุฬาฯ ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดประยูรวงศ์อีกนิด เพราะนายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถวายเรือนไทยอันงดงามมากของบิดามารดาให้วัดประยูร เพราะตระกูลนี้เกี่ยวข้องกับวัดนั้นมาโดยตรง แต่แล้วเจ้าอาวาสกลับบอกว่าจะขอรับเอาไปปลูกที่ของมหาจุฬาฯ ทางวังน้อย โดยจ้างผู้รับเหมาที่ปราศจากความรับผิดชอบ มาขนเอาไม้ไปไว้ที่นั่น ไม้แต่ละชิ้นสลักลวดลายอย่างงดงาม ฝีมือคุณตุล บุนนาค และคุณมิตรอรุณ  เมื่อทางวังน้อยถูกอุทกภัย ไม้เหล่านั้นลอยน้ำหายไปมิใช่น้อย โดยมีใครรับผิดชอบบ้างไหม

ผู้ไม่รับผิดชอบเช่นนี้ใช่ไหม ที่ควรแก่การเลื่อนสมณศักดิ์ และเหมาะสมกับการเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ในขณะที่เจ้าอาวาสวัดประยูรวงศ์ ในสมัยราชาธิปไตย ซึ่งทรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ ถูกอธิกรณ์เรื่องปฐมปราชิก สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัด ราชบพิตร ตรัสสั่งให้สึกไปทันทีทันใด

ที่เอ่ยถึงเรื่องเรือนไทยที่นายเตช ถวายเพื่อนำไปปลูกที่มหาจุฬาฯ วังน้อยนั้น โทษกันว่าผู้รับเหมาบกพร่อง แต่อ่านงานของ พ.กิ่งโพธิ์ ฉบับต่อจากเมื่อวาน ได้ความว่า
 

                                                                กระเบื้องเฟื่องฟูลอย

                                                มีข้อมูลพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์

                                                ฉันหัวคิวคำใหญ่นักสนุกสนาน

                                                ขอรถเบนซ์-เงินสด หลายล้าน

                                                สั่งเพิ่มงานไม่เพิ่มเงินมีงอกเงย

                                                ผู้รับเหมายับย่อยนับร้อยล้าน

                                                เลิกกิจการแล้วหนาเจ้าข้าเอ๋ย

                                                มหาจุฬาฯ วังน้อย-ถดถอยเลย

                                                ข่าวผู้นำมักคุ้นเคยเสวยหัวคิว
 

ให้ประเด็นที่ชัดเจนมากขึ้น แต่คณะสงฆ์ก็ไม่ใยไพในความทุจริตเช่นนี้ ทำให้นึกถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ เพียงบัตรสนเท่ห์กล่าวหาพระรูปใดรูปหนึ่งไปในทางอัปมงคล ก็ทรงเรียกมาสอบสวน ให้ความจริงกระจ่างออกมาทันที หากบัดนี้ใช้วิธีอึมครึมกันเช่นนี้แล้ว ความโปร่งใสจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

                นี่แสดงว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปมากแล้วใช่ไหม

           

 

     ส.ศ.ษ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระบบอุปถัมภ์ : ความสัมพันธ์ในสายงานราชการการเมืองของคณะรัฐศาสตร์

Posted: 17 Nov 2012 03:33 AM PST


 

"การเมืองไทยจะยังคงจมปลักต่ำตมไปเรื่อยๆ หากคณะรัฐศาสตร์ตามที่ต่างๆยังคงคำจำพวก สามัคคีประเพณีพี่น้อง
หรือยังต้องเป็นกาฝากพวกคำว่าในอุปถัมภ์แบบพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ดูง่อย ๆ
การผลิตนักศึกษาหรือนิสิตรัฐศาสตร์ไปรับใช้ประเทศชาติก็คงจะง่อยเช่นกัน หากกลุ่มนักศึกษายังเห็นพ้องกับ ห้องเชียร์ ระบบอาวุโส ประเพณี เปิดเพลงสรรเสริญท่านผู้นำ น้ำตาไหลพราก เป็นสิ่งอันพึงรักษา
อย่างว่ามรดกมีทั้งสิ่งที่ดีและเลวควบคู่กัน แต่มนุษย์นั้นเลือกที่จะรักษาได้ สุดแล้วแต่"

จากสถานะเฟซบุ๊ก Aum Neko ที่เป็นชนวนประเด็น


หลังจากที่ได้มีประเด็นปัญหาการวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการ-การเมืองของกลุ่มสิงห์หรือที่รู้จักกันว่าเป็นกลุ่มของบุคคลที่จบการศึกษามาจากคณะรัฐศาสตร์ตามสถาบันต่างๆ ที่คงมีบทบาทต่อปัจจัยทางการเมืองของสังคมมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นได้ถูกนำมาตั้งคำถามจนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ต่อระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวและได้เกิดกลุ่มที่ชี้ให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์นั้นมีปัญหาหรือส่งผลต่อระบบการเมืองไทยที่เป็นปัญหากันอยู่ทุกวันนี้จริงหรือไม่ ?แต่ขณะเดียวกันกลุ่มเด็กรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ออกมาปกป้องศักดิ์ศรีและยืนหยัดในความบริสุทธิ์ของคณะรัฐศาสตร์ของกลุ่มตน หลังจากเกิดวิวาทะดังกล่าวนั้นผู้เขียนจึงย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดที่สังคมไทยยังจำทนต่อระบบเหล่านี้ และหากกล่าวว่าปัญหาของระบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสังคมของกลุ่มสายงานคณะรัฐศาสตร์นั้นจะผิดหรือไม่ ?

ซึ่งจากข้อถกเถียงดังกล่าวได้มีการนำเสนอประเด็นระบบอุปถัมภ์ในมิติความจำเป็นต่อระบบสังคมซึ่งคุณปานบุญได้กล่าวไว้ว่า

"ความคิดเห็นส่วนตัวผม ผมมองว่าเกือบทุกคน ย้ำว่าเกือบทุกคน ต้องการอภิสิทธิ์กันทั้งนั้น (ไม่ใช่เวชชาชีวะ)
ต้องการมีคนคอยช่วยเหลือค้ำจุน หรือได้สิทธิเหนือผู้อื่น ดังนั้นผมจึงมองว่า
มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกๆสังคมมนุษย์บนโลกนี้ ทุกประเทศ ทุกหน่วยของสังคม"

"อย่าโลกสวยมากเกินไปนักเลย ที่ว่าโลกนี้มีความยุติธรรม ไม่มีระบบอุปถัมป์พวกพ้อง ไม่มีสองมาตรฐาน
คนเราเกิดมารักกัน ความเท่าเทียมกันในสังคม โลกเราต้องคงไว้ซึ่งเสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ... ถุย จะอ้วก
แต่ถ้าจะหาคนผิดในกรณีนี้ ผมว่าคงต้องโทษ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์แล้วหละครับ เพราะตามประวัติศาสตร์ พระองค์เป็นผู้ให้กำเนิด "ระบอบพ่อปกครองลูก" ซึ่งเป็นรากแก้วของระบบอุปถัมป์ในสังคมไทยนะ "

จากสถานะบนเฟซบุ๊กของ ปานบุญ พลบุตร
ผู้ช่วยรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์, ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการกฎหมายฯ


แน่นอนว่า "การอุปถัมภ์" เป็นสิ่งที่สังคมสากลมีกันเป็นปรกติในการรับรู้ที่ว่าด้วย การช่วยเหลือ เกื้อกูลกันในสิ่งที่ช่วยเหลือกันได้อย่างสมเหตุสมผล เช่น การช่วยยกของ ให้ยืมปากกา ช่วยทำแผล ฯลฯ แต่ในขณะเดียวในระบบสังคมมีสังคมที่ได้สร้างหรือสถาปนา (establish) "ระบบอุปถัมภ์" (The patron-client system) ที่มาพร้อมกับอำนาจแฝง (latent power) ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบต่างตอบแทนโดยหวังผลประโยชน์ที่ตามมาจากกระบวนการของระบบดังกล่าว สิ่งเหล่านี้นั้นได้สะท้อนถึงการ ดูถูก ดูแคลน ศักดิ์ศรีในตัวของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น ระบบ "เทิดทูน" อาวุโส ระบบจารีตนิยม การโยกย้ายตำแหน่ง วัฒนธรรม รวมถึงอำนาจของภาษา ฯลฯ อันเห็นได้กว่าการสร้างระบบอุปถัมภ์นั้นมีมิติของอำนาจที่มากกว่าการอุปถัมภ์ช่วยเหลือที่เป็นการกระทำที่มาจากความเห็นอกเห็นใจปกติของเพื่อนมนุษย์อันซึ่งอาจไม่ต้องการผลประโยชน์จากการช่วยเหลือในสิ่ง ๆ นั้น

และภายใต้สภาวการณ์ที่เราได้รับรู้กันว่าในระบบบริหารราชการและการเมืองของไทยเรานั้นที่ยังคงโครงสร้างทางอำนาจที่ยังมีระบบอุปถัมภ์คอยค้ำชูอยู่ ซึ่งจะสามารถรับรู้ได้ผ่านวาทกรรมของกลุ่มตระกูล สิงห์ ไม่ว่าจะ สิงห์แดง ดำ ทอง ขาว ฯลฯ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนของระบบการบริหารรัฐหรือประเทศ และคำถามที่เป็นประเด็นหลักของดราม่าว่าทำไมการกล่าวถึงระบบนี้จึงต้องกลับย้อนไปตั้งคำถามของกระบวนการทางสังคมของคณะเหล่านี้

เราจะเห็นได้ว่าระบบราชการ-การเมืองของระบบสิงห์ที่กล่าวถึงของไทยนั้นได้มีบทบาทในการโยกย้ายตำแหน่งหรือหน่วยงานทางราชการตั้งแต่ใหญ่ๆอย่าง ปลัด กระทรวง กรม กอง ฯลฯ ซึ่งมักขึ้นกับปัจจัยของบุคลากรผู้บริหารรัฐ ณ ขณะนั้นๆซึ่งจะต้องโยกย้ายกลุ่มบุคคลให้มีประสิทธิภาพเข้ากับการบริหารงานในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งที่เป็นไปในระบบสังคมอุปถัมภ์ คือ การโยกย้ายโดยยึดการใช้ระบบอุปถัมภ์ตามกลุ่มสี กลุ่มคณะที่กลุ่มตนเองจบมาหรือคุ้นเคยเป็นหลัก มากกว่ายึดปัจจัยการโยกย้ายตัวบุคลากรที่สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง การเจาะกลุ่มของการคัดเลือกให้เป็นหมู่คณะที่ใกล้ชิดกับตนนี้ส่งผลที่ตามมาก็คือผลประโยชน์ที่แบ่งกันรับกันไป ซึ่งนี่คือปัญหาหลักที่ว่าระบบต่างตอบแทนในระบบการเมืองไทยถึงยังคงฝังรากอยู่ในสังคมเช่นนี้อย่างมิอาจแก้ไขได้

ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงสถานที่ที่ผลิตบุคลากรป้อนสู่ระบบราชการสายงานบริหารและปกครองรัฐนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารากฐานส่วนใหญ่มักมาจาก กลุ่มคณะสายรัฐศาสตร์ ซึ่งเน้นสอนให้เข้าใจถึงวิธีการปรัชญาทางการเมือง งานบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ฯลฯ แต่ทว่ากระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ของคณะเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร อย่างในมหาวิทยาลัยอย่างธรรมศาสตร์ที่มีคำขวัญว่า "เสรีภาพทุกตารางนิ้ว" แต่ภายในคณะที่ผลิตบุคลากรไปรับใช้ประเทศในทางบริหารโดยตรงกลับยังคงมี การว้าก ระบบอาวุโส หลงเหลืออยู่ภายใต้คำขวัญที่น่าภูมิใจ "สามัคคี ประเพณี เป็นพี่น้อง" อันสะท้อนรากเหง้าของระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมที่ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาไทย

หลายคนที่เรียนคณะนี้มาโดยตรงอาจเถียงเสียงแข็งว่าไม่จริงคุณไม่เคยสัมผัสเรียนมาจะรู้ได้เช่นไร ? แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในวิวาทะดังกล่าวเด็กในคณะหลายคนที่มีประสบการณ์โดนรุ่นพี่ว้ากก็ยอมรับว่ามีการว้ากในบางโต๊ะของรัฐศาสตร์อยู่จริง แต่ที่หนักถึงขนาดรับน้องนอกสถานที่ต้องมีการรายงานเลขประจำตัวตน 550….และมีการลงโทษเช่นสั่งลุกนั่งก็ยังเกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยที่เชื่อว่าเคารพรักสิทธิ เสรีภาพของทุกคน หากจะกล่าวว่ามันเป็นกิจกรรมทางเลือก (alternative activity) ก็อยากทราบเช่นกันว่า จำเป็นหรือที่เพื่อนนักศึกษาที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆที่ต้องการมาร่วมกิจกรรมในคณะต้องเจอประสบการณ์กับกิจกรรมในบางโต๊ะที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างจำยอม ? หรือโต๊ะที่เพื่อนในคณะไม่มีกิจกรรมแบบนี้คุณกลับทนได้อย่างไรที่เห็นสภาพของสถานที่ที่มีความเป็นมาในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องซึ่งสิทธิ เสรีภาพ กลับกลายเป็นสถานที่ที่ให้รุ่นพี่หรือคนบางกลุ่มในคณะมาสืบทอดมรดกประเพณีที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิม ๆ อย่างใน argument ดังกล่าว

"นี่แหละคะที่สะท้อนถึงการเป็นกลุ่ม ignorance เพิกเฉยต่อปัญหา พวกคุณซึ่งรู้ซึ่งทราบว่ามันมีระบบทางเลือกแบบนี้ แต่ถามหน่อยว่ารุ่นพี่ได้อธิบายหรือไม่ว่าเราจะมีกิจกรรมอะไรที่ลดทอนคุณค่าแบบนี้ ทั้งว้าก เล่นเกมอุบาวท์ สั่งลุกนั่ง มาก่อนหรือไม่ ? (เกิดขึ้นในบางโต๊ะของสิงห์แดง) และเด็กที่อยากร่วมกิจกรรมคณะทุกคนต้องการกระบวนการพวกนี้ทุกคนหรือไม่ ?
และหากยังเชื่อในพวกคำขวัญปลอมๆของธรรมศาสตร์ เช่น เสรีภาพทุกตารางนิ้ว เพื่อนใหม่ ฯลฯ หรือศึกษาการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของวีรชนที่ผ่านมาที่กำจัดระบบนี้ทิ้งไปในอดีตสมัย 14-6 ตุลา แต่นักศึกษาปัจจุบันกลับกลายเป็นกลุ่มที่เห็นปัญหา แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญ เหมือนกับเห็นคนฆ่ากันตาย แล้วบอกว่านี่คือทางเลือกของคุณว่า จะไปม็อปให้โดนยิงตาย หรือจะอยู่บ้านเฉยๆ ถ้าเรายังเป็นแบบนี้เราก็ควรลองมาคิดพิจารณาหลายๆสิ่งพร้อมๆกันใหม่แล้วละคะ" จากคอมเมนท์ของ Aum Neko ระหว่างการถกเถียง

และนักศึกษาที่เรียนศาสตร์เหล่านี้นี้ทั้งหลายที่เห็นด้วยกับการด่า วิพากษ์วิจารณ์ว่า ระบบการเมือง ราชการ นักการเมืองมันเลว คอรัปชั่น ต่าง ๆ นานา กลับไม่ย้อนดูสถานภาพของกลุ่มคณะตนที่ปากบอกว่าต่อสู้เพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ ระบบเลว ระบบเผด็จการ แต่ในขณะเดียวกันตนเองกลับกลายเป็นหนึ่งในส่วนของการผลิตซ้ำระบบความคิดที่ยังเห็น ความรุนแรงทางอำนาจอย่างระบบจำพวก SOTUS เป็นสิ่งที่ปรกติ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เลวร้ายอะไร ทั้งที่พื้นฐานของระบบเหล่านี้คือรากแก้วของการเติบโตไปสู่ระบบอุปถัมภ์ที่มาพร้อมกับการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเอง แต่นักศึกษาเหล่านี้กลับกลายเป็นกลุ่ม "hypocrite" หรือปากว่าตาขยิบ

และไม่เพียงเท่านั้นนักศึกษาที่เรียนรู้ถึงปรัชญาการเมืองนั้นกลับยังคงปล่อยให้ระบบนี้คงอยู่ต่อไปโดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้คือการลดทอนคุณค่าความเป็นปัจเจกชนของเพื่อนมนุษย์ที่การตัดสินใจของตนเองกลับถูกครอบงำโดยกลุ่มชนชั้นรุ่นพี่ รุ่นอาวุโส ทั้งที่มนุษย์มีความสามารถที่จะขึ้นสู่จุดๆหนึ่งได้อย่างเท่าเทียมกัน หากจะกล่าวว่าการเรียกร้องว่า การแสวงหาเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องโลกสวย โลกจินตนาการ ไม่มีอยู่จริง ใช่ มันไม่มีอยู่จริงและโลกที่เป็นปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ใช่โลกที่สวยงามแต่อย่างใด แต่คุณจะปล่อยให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันตกอยู่ภายใต้ชีวิตที่ไม่มีสิทธิตัดสินใจได้เองและยังถูกคิดแทนโดยระบบอาวุโสอำนาจนิยม แล้วเราจะเรียนรู้ซึ่งการสอนให้คนคิดไปทำไม เพราะนี่คือระบบสอนให้เชื่อฟัง ไม่ใช่สอนให้คิดตามด้วยความเป็นปัจเจกของตนเอง

และความสามัคคี จำเป็นหรือไม่ที่สังคมสมัยใหม่จำเป็นต้องมีความสามัคคี ผู้เขียนเชื่อว่าความหลากหลายทางความคิด ความแตกต่าง ขัดแย้ง คือสีสันอย่างหนึ่งของโลกประชาธิปไตย คำว่าสามัคคีจึงไม่ควรมาอยู่ในบริบทของโลกสมัยใหม่ที่ผ่านยุคสงครามหรือกระบวนการสร้างรัฐชาติขึ้นมาแล้ว เพราะเราทุกคนล้วนมีความแตกต่างในวิธีคิดและวิถีชีวิต และประเพณีก็มิใช่สิ่งที่จำเป็นต้องยึดมั่นจนลืมไปว่าอะไรคือคุณค่าที่แท้จริงและประเพณีควรเป็นสิ่งที่ดีงามมากกว่าการให้รุ่นพี่ในคณะที่จบไปมากกว่า 10 ปี มาให้โอวาทสั่งสอนระบบอุปถัมภ์แบบนี้แก่เพื่อนที่เข้ามาใหม่ ซึ่งสะท้อนภาพการเมืองปัจจุบันได้ชัดที่ว่านักการเมืองหรือข้าราชการจะต้องไปปรึกษากลุ่มนายทหารใหญ่ ผู้มีอิทธิพลในสังคมเสียก่อน แต่สิ่งเหล่านี้กลับเกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยเสียเอง

และในมหาวิทยาลัยที่ชูประเด็น เสรีภาพ รับเพื่อนใหม่ก็ยังมีการผลิตซ้ำอำนาจทางภาษาที่ยังครอบงำสังคมไทยการเรียก การทำคำขวัญ  มันสะท้อนวาทกรรมทางอำนาจที่มีภาษาเป็นสื่อกลางในการคงอำนาจของความอาวุโสอันสร้างการรับรู้ในแบบที่ว่า ผู้น้อยควรเดินตามผู้ใหญ่ เด็กดีต้องไม่พูดมาก ว่านอนสอนง่าย ฯลฯ ทำให้เห็นว่าการใช้ภาษาในสังคมยังสะท้อนภาพของการรักษาสถานะทางอำนาจอย่างไม่เท่าเทียมกัน หรือมีเพียงแค่ชาติไทยที่จะต้องเรียกยศเรียกอย่างแทนสรรพนามของคนผู้นั้น เป็น ท่านปลัด ท่านรัฐมนตรี ท่านนายก อาจารย์ คุณหมอ ฯลฯ ทั้งที่เขาก็เป็นบุคคลธรรมดาเฉกเช่นเดียวกับเรา

กระนั้นก็ตามบรรดากลุ่มนิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม ที่ส่วนมากจะมีระบบคล้ายๆกันคือค่อนไปทาง SOTUS (แม้สิงห์แดงจะมีระบบทางเลือกก็ตามแต่ก็ยังหลงเหลือระบบนี้ไว้ในการรับน้องบางโต๊ะ) กลับยังคิดว่าปัญหาหาความล้มเหลวของระบบ ราชการ-การเมือง ของไทยไม่ได้ง่อยเพราะมาจากกระบวนการทางสังคมของกลุ่มคณะตนที่คงระบบเหล่านี้ไว้เพียงคณะเดียว แต่กลับลืมไปว่างานสายบริหารปกครองรัฐนั้นได้ถูกป้อนโดยคณะของตนเป็นจำนวนมากจนสังคมได้รับรองการเข้ามาของกลุ่มสิงห์ทางการเมืองเข้าไปด้วย โดยมีการผสมกับสีเขียวบ้างกากีบ้างตามระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากไว้มานาน ซึ่งหากคณะอื่นมีบทบาทในการบริหารรัฐมากบ้างคงอาจจะมีการอ้างคำพวกนี้ในระบบ เช่น อักษรจามจุรี อักษรสนามจันทร์ สินสาดรังสิต มนุษย์บางเขน แต่คณะเหล่านี้มีบทบาทน้อยมากจึงไม่สามารถมาโยนได้ว่ากลุ่มคณะตนนั้นไม่ใช่หนึ่งในปัจจัยที่เป็นปัญหาของระบบเหล่านี้

แต่นักศึกษากลุ่มรัฐศาสตร์ไม่เข้าใจถึง scope ของประเด็นนี้แต่แรกนั้นอยู่ในเรื่องปัญหาระบบราชการการเมือง แต่นักศึกษาหลายคนกลับไม่ย้อนไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นกลับไปหาพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง ว่าเป็นรากฐานระบบอุปถัมภ์พ่อปกครองลูกเป็นสิ่งที่สืบทอดมาสู่สังคมไทย ซึ่งสะท้อนว่านักศึกษาไทยนั้นขาดความรู้ในมิติทางประวัติศาสตร์อย่างมากเลยทีเดียวว่ารัฐอาณาจักรสมัยก่อน กับความเกี่ยวโยงในเรื่องของการปกครองในรัฐชาติสมัยใหม่มันไม่ได้เหมือนกันเลยทีเดียว และบางกลุ่มยังหนักถึงขั้นขู่ใช้ระบบอุปถัมภ์พาพวกมา"ข่มขู่"ผู้เห็นต่างทั้งที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันคือเรื่องปรกติในสังคมประชาธิปไตย แต่ในสังคมไทย ความรัก ที่กลายเป็นความคลั่ง ได้บังตาไว้

และสุดท้ายหากยังย้ำว่าถ้าไม่ชอบก็เลือกที่จะไม่ทำได้ แต่อยากทราบว่าหากเรายังยืนอยู่สังคมท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจริงในสังคมที่ผู้คนต่างออกมาต่อสู้กันมาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ไม่มีจริงที่พวกคุณบอก ให้เกิดขึ้นให้แก่เขา เหล่าประชาชนคนธรรมดารวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่รวมใจกันต่อสู้จนเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อเป็นธรรม ความไม่มีอะไรที่พวกคุณกล่าวมาเป็นสิ่งไร้สาระ น่าอ้วก แล้วสิ่งที่คุณจำยอมอยู่ในสภาพแบบนี้มันสวยงามมากนักหรือ ? หรือความสวยงามของคุณคือการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีตอนจบค่ายเปิดถ้ำสิงห์ของคณะคุณ ? นี่คือความสวยงามที่มาพร้อมกับภาพแทนของอำนาจ

ความสวยงามที่มากับการที่ปัญญาชนหันมาผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมผ่านระบบอุปถัมภ์ระบบพวกพ้องและเห็นมันเป็นเรื่องปกติทางอำนาจที่ใคร ๆ ก็อยากได้ไม่เสียหาย ก็ไม่ต่างจากการเห็นคนฆ่ากันตายกลางเมืองแล้วบอกว่ามันคือทางเลือกว่าจะไปชุมนุมให้โดนยิงตาย หรือไม่ไป แต่คุณมีความกล้าหาญทางคุณธรรม moral courage แบบที่คุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลกล่าวไว้หรือไม่ การที่คนเห็นความไม่เป็นธรรม การฆ่ากันตาย การจับคนติดคุกโดยไม่เป็นธรรม และการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วยกันในสังคมเป็นเรื่องปรกติ สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าการนั่งเพ้อพรรณาถึงปัญหาไปวันๆ หากตนเองด่าระบบ แต่ไม่ย้อนพินิจตนและ reform ตนเองแต่กลับผลิตซ้ำระบบเดิมวิธีคิดเดิม แล้วนี่หรือจะเรียกได้ว่าปัญญาชนคือพลวัตรในการขับเคลื่อนต่อสังคมอีกต่อไป ?

 

ภาพประกอบจาก : Voice of Siam
                               : วิวาทะ


           
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

The Taste of Money: กังนัมกลลวง รสรักเงินร้อนรุมเร้า แรงงานแรงเงา แผดเผาชนชั้นสังคม

Posted: 16 Nov 2012 08:54 PM PST



******บทความนี้มีการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของภาพยนต์เรื่อง The taste of money :ประชาไท ******

 

"ขอดูบัตรประชาชนด้วยค่ะ"

คือคำขอของพนักงานขายตั๋วหนัง เมื่อผู้เขียนแจ้งความจำนงจะเข้าไปชิม The Taste of Money (ติดเรท +20) หนังเรื่องที่เจ็ดของผู้กำกับ อิม ซัง ซู เจ้าของผลงานหนังวิจารณ์สังคมและการเมืองอันเผ็ดร้อน อย่างเรื่อง The President's Last Bang ที่ฉายเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว อันเป็นเรื่องนายพล ปาร์ก จุง ฮี ประธานาธิบดีคนที่สามของเกาหลีใต้ผู้ปกครองประเทศมายาวนานถึง 18 ปี ถูกลอบสังหารโดย นาย คิม แจ ยู ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ผู้เขียนรู้สึกทึ่งที่ได้รู้โดยบังเอิญว่า ปาร์ก จุง ฮีและประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ นั้นเกิดปีเดียวกัน เดือนเดียวกัน คือกันยายน ปี พ.ศ. 2460 อายุห่างกันแค่ไม่กี่วัน เพราะทั้งคู่เหมือนกันตรงที่ด้านหนึ่งนั้นเป็นที่เคารพบูชาเรื่องการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประมาณช่วงต้นทศวรรษที่ 60 ถึงราวต้นทศวรรษที่ 80 แต่อีกด้านหนึ่งนั้น เป็นจอมเผด็จการที่ละโมบและบ้าอำนาจ และเหมือนกันที่ลูกหลานทายาททางชีวภาพและการเมืองก็ยังคงมีบทบาทหรือพยายามมีบทบาทในแวดวงมายาการเมืองกันโกลาหลจนถึงทุกวันนี้

ผู้เขียนได้ข่าวมาว่าปีแรกที่ฉายหนังเรื่อง The President's Last Bang เมื่อปี 2548 ก็โดน "Bang" และ "Ban" เซนเซอร์ยับจริงๆ เพราะผู้กำกับอันร้อนแรงของเราได้เสนอภาพลบของประธานาธิบดีที่วาทกรรมชาตินิยมสร้างรัศมีทำให้แตะต้องมิได้ แต่เกาหลีใต้ก็น่าชม (แม้เป็นคำชมที่ชมได้ไม่เต็มปากอยู่ดี) ตรงที่ว่าปีถัดมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการตัดทอนตัดฉาก และเสนอให้บริษัทหนังจ่ายเงินทดแทนให้ครอบครัวของประธานาธิบดีที่ "โอปป้าซัง ซู"ไปเปิดกรุ เผาเรื่อง เป็นเงินหนึ่งร้อยล้านวอน หรือ หนึ่งแสนห้าพันดอลล่าร์สหรัฐ เท่านั้นเอง แต่ผู้กำกับก็บ่ยั่น เรื่องใหม่นี้แรงพอกันในเรื่องเนื้อหา ฉากเซ็กซ์และความรุนแรง แรงฤทธิ์ถึงขั้นได้รับเชิญไปฉายงานเทศกาลเมืองคานส์ปีนี้เลยทีเดียว และแม้คะแนนจะตกเป็นที่โหล่ในบรรดาหนังทุกเรื่องที่เข้าชิงรางวัลอภินิหารใบไม้ทองคำ Palme d'Or ผู้กำกับยังมีฤทธิ์แรงพอที่จะบอกว่าที่ไม่ชนะรางวัลน่ะเป็นความล้มแหลวของเขา และเพราะคนที่ไม่ใช่คนเกาหลีไม่เก๊ทหนังที่สื่อถึงความเป็นเกาหลี


โอปป้า "ซังซู" สไตล์ จริงๆ

 

ส่งบัตรประชาชนให้ดู

ส่งเงินจากกระเป๋าตังค์แฟบๆ เพื่อแลกเปลี่ยนรสชาติของ "เงิน" ที่กำลังจะได้ลิ้มลองในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า สายตาเหลือบไปเห็นโปรโมชั่นสุดพิเศษ ใช้บัตรเครดิตใบนั้นใบนี้ได้ลดค่าหนัง อีกใบได้สะสมแต้ม เดินไปรอหน้าโรงหนัง เห็นแถวมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่พกบัตรหลายใบ ทั้งบัตรแทนเงิน เติมเงิน ลดเงิน คู่รักชายหญิงหลายคู่เดินคล้องแขนเตรียมเข้าโรงหนังแต่เป็นโรงข้างเคียงทั้งสิ้น ผีแวมไพร์ทไวไลท์และประเด็นเรื่องคบชู้ของดารานำ ดูจะเรียกแต้มบัตรและดูดสูดเอาเงินของผู้ชมได้มากกว่าเรื่องที่มีชื่อเรื่องและเนื้อหาเกี่ยวกับเงินโดยตรง เพราะพอเดินเข้าไปในโรงหนังหมายเลขที่พิมพ์กำกับบนตั๋ว ก็เห็นว่ามีคนในโรงประมาณห้าคน รวมตัวผู้เขียนแล้วด้วย เป็นการตอกย้ำความจริงของชีวิตอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ในช่วงระยะยี่สิบเก้าปีที่ได้เกิดมาใช้ชีวิตบนโลกนี้  สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราคิด มักจะไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นจริงๆ สักเท่าไหร่นัก
 

และข้อความจริงที่ว่าเปลือกนอกมักไม่แมทช์เปลือกใน

ก็เป็นธีมของหนังเรื่อง The Taste of Money เปิดเรื่องมา ตัวเอกของเรา คือ ยองจัก กำลังหอบเงินใส่กระเป๋าเดินทางตามคำสั่งของเจ้านายคือ ท่านประธานยูน ซึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วได้แต่งงานกับภรรยาที่รวยมากเพียงเพื่อเงินและเพื่ออัพสถานภาพตัวเอง เงินในกระเป๋าเดินทางที่ว่านั้นได้เดินทางไปกับทั้งสองไปยังจุดหมายคืออัยการคนหนึ่ง เหตุผลต้นตอของการขนเงินก็คือเพื่ออุดอัยการ ให้ลูกชายของท่านประธานพ้นผิดเรื่องหลบ หลีก เลี่ยงภาษี อัยการบ่นอุบว่าเงินจะทำให้เขาตกอยู่ในที่นั่งลำบากแต่ก็รับไปอยู่ดี

เมื่อฉากตัดกลับไปบ้านท่านประธานเจ้าสำราญ เราได้เห็นการปอกเปลือกครอบครัวคนรวยไฮโซของเกาหลีใต้ ที่คงไม่ต่างอะไรกับของไทยมากมาย (มั้ง) ผ่านสายตาของยองจักผู้ใสซื่อ ทำงานเพื่อครอบครัวนี้มาตั้งสืบปี ไม่เคยปริปากบ่นหรือ "สอดใส่" ปึกเงินในกระเป๋าเสื้อนอกของตัวเอง เขารู้หน้าที่และเป็นที่ไว้ใจของทุกคนในบ้าน เรื่องทุกอย่างดูจะโอเค เรียกได้ว่า รสรักเงินร้อนรุมเร้า ดีมานด์มาบรรจบกับซัพพลาย (อันเป็นประโยคที่ผู้เขียนได้ยินเพื่อนในกลุ่มวิจารณ์การแต่งงานของดาราหน้าเด็กกับเจ้าสัวที่หน้าไม่เด็ก… แล้วมันติดหูเหมือนทำนองเพลงกังนัมสไตล์)

จนกระทั่ง… วันหนึ่งเขาดันไปเห็นท่านประธานเล่นรักกับเอวา ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของหลานท่านประธานเองและเป็นคนรับใช้คนหนึ่งของบ้าน พี่เลี้ยงคนนี้เป็นชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เหมือนประธานาธิบดีมาร์กอส ที่ไม่เหมือนมาร์กอสคือเธอมีลูกเล็กๆ สองคนที่รออยู่ที่ประเทศบ้านเกิด รอให้เธอส่งเงินที่ได้จากการรับใช้และใช้รุกใช้รับเพื่อซื้อข้าวและเก็บเงินเพื่อชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า อันเป็นเรื่องราวของแรงงานฟิลิปปินส์ทั่วโลก หลายคนอุบด่าว่าเป็นพิษของมาร์กอสและรองเท้าเป็นล้านคู่ของอีเมลด้าผู้เป็นภริยา (ชื่อของเธอไม่ใช่ เมลด้า แต่คือ อีเมลด้า ผู้เขียนมิอาจเอื้อมหยาบคายถึงขั้น.ใช้คำขึ้นต้นพิเศษ "อี" กับคนในชนชั้นนั้น)  ยองจักผู้ซื่อสัตย์เห็นเข้าก็ปิดปากเงียบ เรื่องไปแตกก็เมื่อท่า "น้ำแตก" คือเมื่อภรรยาของท่านประธานไปเห็นการเล่นรักครั้งถัดมาผ่านจอซีซีทีวีที่เธอแอบติดตั้งเข้า โลกแตกทันที

ด้วยความเหงา เศร้า ภรรยาวัยดึกไปมีสัมพันธ์สวาทกับหนุ่มยองจักเสียเลย เรียกได้ว่าเป็นการข่มขืนชนิดที่ ริชาร์ด เมอร์ด็อก มิตต์ รอมนีย์ และผองเพื่อนผู้น่ารักคู่ฟัดสิทธิสตรี หงายหลังไม่รู้จะนิยามคำว่า "ข่มขืน" อย่างไรเลย หากยองจักท้องขึ้นมา คงต้องมองว่าเป็นการสมยอม เพราะค่ายนี้เขาว่าไว้ว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนตั้งท้องไม่ได้บ้าง เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า(จ้าวโลก)บ้าง การข่มขืนเป็นเรื่องที่โอเค ยอมให้ทำแท้งก็ไม่ได้บ้าง เอาล่ะ พอละ เราทนฟังบุชและคนค่ายนี้มานานหลายปี พวกที่คิดว่าจะต้องทนโอบามา ทำไมจะทนเหมือนกันไม่ได้เล่า เอาเป็นว่าสมัยที่สองนี้ยองจักคงทำแท้งได้แม้ว่าคนรวยจะรวยน้อยลง อ้าว ไม่สิ เรื่องเลยเถิดไปใหญ่ เมื่อประธานเกิดประกาศกับที่บ้าน ต่อหน้าภรรยา ลูกชายและลูกสาว ที่แอบปิ๊งยองจัก ว่าตกหลุมรักกับเอวาและวอนให้ครอบครัวปล่อยเขาไปใช้ชีวิตกับเธอ ภรรยาถึงกับเครียดและแค้น ส่งข้อความไปหาอัยการทำทุกทางไม่ให้สามีเดินทางออกนอกประเทศ ริบเงินริบทอง แล้วทำทีว่าเป็นนางเอก เรียกหญิงชั่วชายชู้ให้มานั่งจิบชาคุยกันดีๆ ที่บ้าน

ผล: เอวาจู่ๆ ก็จมน้ำในสระว่ายน้ำตาย

เหมือนในเมืองไทยที่จู่ๆ มีคนถูกยิงตายในผับที่เผอิญมีลูกนักการเมืองนั่งกินกับแกล้มอยู่ ภรรยาว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ผิดอะไรทั้งสิ้น แต่ยองจักและลูกสาวแน่ใจทีเดียวล่ะว่าภรรยานี่แหละตัวดี กำจัดคนเป็นว่าเล่นเหมือนกำจัดแมลงวัน ท่านประธานเสียใจ เสียสติ ฆ่าตัวตายในที่สุด ยองจักเริ่มจิตหลุด เริ่มเอาปึกเงินในห้องเซฟของครอบครัวเจ้านายสอดใส่ให้ครบตามรูกระเป๋าตามตัว รสของเงินนั้นร้อนรุ่มสุมไฟเผา เขารู้สึกผิดบาปที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวต้นเหตุการตายของคนบริสุทธิ์ ก็เลยเอาปึกเงินทั้งหมดสอดใส่เข้าไปในหีบศพของเอวา และเดินทางพร้อมหีบศพไปยังฟิลิปปินส์ ลูกสาวของท่านประธานเมื่อเสียพ่อแล้ว ก็ยังต้องมาเสียใจอีกรอบเมื่อยองจักสารภาพว่าได้นอนกับแม่ของเธอมาแล้ว แต่เพราะความรักที่ร้อนรุ่มสุมไฟเผา เธอได้ตามยองจักมาฟิลิปปินส์ด้วย

ฉากที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือฉากบนเครื่องบิน ลูกสาวหันไปมองยองจักด้วยความเห็นใจ พร้อมบอกว่ารู้นะรู้ว่ามันเป็นการข่มขืน ยองจักไม่ใช่ชายคนแรกที่เป็นเหยื่อแม่เธอ ทำให้ฝ่ายชายฟังแล้วเกิดกำหนัด จูงมือพาเธอเข้าห้องน้ำบนเครื่องบินเพื่อซ่อมแซมและเสริมสร้างวาทกรรมความเป็นจ้าว(เจ้า) โลกรวมทั้งศักดิ์ศรีที่ได้สึกหรอไป ท่ามกลางความตกตะลึงพรึงเพริดของผู้โดยสารและแอร์สายการบินที่มองตาโตเท่าไข่ห่าน ผู้เขียนตาโตเท่าไข่นกกระจอกเทศไปด้วยทีเดียว เพราะเรื่องนี้แม้จะวิจารณ์สังคมบูชาเงินอันโสมม แต่เรื่องนี้กลับไม่ผ่านเรื่องการท้าทายวาทกรรมอำนาจชายเป็นใหญ่อันโสมม จริงอยู่ที่ตัวละครผู้หญิงที่สุดแสนจะแบนราบนาบดิน ไร้มิติและเป็นของเล่นของผู้ชายนั้นอาจจะเป็นตัวสะท้อนสังคมของเรา แต่มันน่าจะมีการตั้งคำถามท้าทายการนำเสนอประเด็นเรื่องผู้หญิงให้มากกว่านี้ หรือว่ามันมีแต่ฝังอยู่ลึกภายใน???

 

"แรงเงา" แรงงานต่างด้าว

มุตา มุนิน มุสา ถอยไปค่ะ เพราะเรื่องนี้แรงกว่าแรงเงาตรงที่ "เมีย ผ.อ." เวอร์ชั่นเกาหลีเนี่ย เล่นรักกับวีกิจเพื่อแก้แค้นสามี แถมยังสั่งฆ่ามุตา/มุนิน/มุสา ได้สำเร็จ ยังไม่พอค่ะ ยังส่งแรงเงาพยาบาททำให้สามีฆ่าตัวตายได้อีก ขอถอนคำพูดค่ะที่ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นเฟมินิสต์ แต่คำว่า "เฟมินิสต์" สมัยนี้ใช้จนเกร่อและเกลื่อนเหลือที่จะทน "วูแมนทัช" ถูกแปลและแปลงความหมายจนไม่รู้แล้วว่ามันแปลว่าอะไรกันแน่ เอาเป็นว่ามุตา มุนิน มุสา กลับถูกแปรสภาพมาเป็นเอวา แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่จมน้ำตายอย่างลึกลับ ตายไปนานแล้ว ถูกชิปกลับบ้านมั้งโลงก็ยังมีฉากลืมตามองเงินรอบตัวที่ยองจักสอดเข้าไปให้เพื่อเป็นการไถ่บาปพร้อมกรีดร้อง แน่นอน ผู้กำกับของเรากำลังจะเล่าเรื่องผีเช่นกัน เล่าเรื่องผีผ้าห่มไม่พอ เขายังเล่าเรื่องผีแรงงานต่างด้าว ผีหัวหน้าใหญ่แห่งทุนนิยมและชนชั้นสังคมชนิดที่ว่าไม่คิดจะเผาผีเลยทีเดียว  


แผดเผาชนชั้นสังคม

หากเราคิดเล่นๆ ท่านประธานก็คือชนชั้นกลางที่ตะเกียกตะกายขึ้นมาเป็นไฮโซโดยการแต่งงานจับคนที่รวยกว่า ภรรยาคือชนชั้นสูงมีเงินใช้เงินอย่างบ้าคลั่งโดยที่ไม่รู้สึกรู้สมอะไร ยองจักซึ่งเป็นคนมีการศึกษาคือตัวแทนชนชั้นกลาง ตัวแทนมนุษย์เงินเดือนที่หลับหูหลับตาทำงานให้คนชนชั้นท่านประธานและภรรยาโดยไม่ตั้งคำถามเท่าไหร่นัก ชนชั้นกลางนี้แหละตัวดี ถูกล้างสมองได้ง่ายมาก ดังที่ Pierre Bourdieu นักคิดชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ว่าเรามักจะตกเป็นเหยื่อของวาทกรรมอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราผ่าน "Rites of Institution" หรือ "Rites of Passage" ซึ่งก็คือพิธีกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อจรรโลงและคงอำนาจของสถาบันต่างๆ

อนึ่ง เมื่อเห็นคำว่า "พิธีกรรม" แล้วก็อย่าไพล่ไปนึกถึงการเต้นรำรอบกองไฟเสียเพียงอย่างเดียว เพราะมันมีความหมายที่กว้างกว่านั้น การผ่านพิธีกรรมอันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันนั้นหมายถึงการผ่านการกระทำอะไรบางอย่างที่จัดวางระเบียบความคิดของเราให้เป็นไปในทางที่คงอำนาจและจรรโลงอำนาจของชนชั้นนำในสังคม ที่ทำให้เราคิดเห็นว่าการไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันทางสังคมนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนเรื่องสิว ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือเรื่องคำนำหน้าจากการศึกษา การเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อจบปริญญาเอกอัพสถานะเป็น ดอกเตอร์ นั้นเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เมื่อผ่านแล้ว ก็จะได้คำนำหน้าที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต เหมือนสิวหัวช้างที่ไม่เป็นธรรมชาติ เพราะสิวที่เป็นธรรมชาติ เฉกเช่นสรรพสิ่งทั้งหลาย มีเกิดก็ต้องมีดับ แม้มือตก งานวิชาการของ"ดอกเตอร์เซมเบ้" กลับกลายเป็นห่วยแตกเพียงใด การลดระดับความสามารถนั้นจะไม่กระทบคำนำหน้าและสถานะของ "ดอกเตอร์เซมเบ้" แม้เพียงสักนิดเพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่ตัดสินกันด้วยคำขึ้นต้น รูปลักษณ์ และทรัพย์สิน

ส่วนคำว่า "สถาบัน" หมายรวมถึงบริษัทธุรกิจและครอบครัวต่างๆ ด้วย (กรุณาอย่าใช้คำนี้ในเชิงของการเมืองร่วมสมัยแต่เพียงนัยยะเดียว) ไม่ว่าจะเป็นสถาบันของตระกูลท่านประธานในหนังเรื่อง The Taste of Money สถาบันการทหาร หรือ สถาบันการศึกษา หากจะยกตัวอย่างสิ่งแทน ก็ขอให้นึกถึงกำใลหยกสีเชียว (ดูแล้วแสบตา) ที่สมาชิกครอบครัวและพนักงานของตระกูลเจ้าในละครเรื่อง "กี่เพ้า" ต้องใส่กันทุกคน และต่างมองว่าเรื่องการได้รับเข้ามาอาศัยอยู่หรือทำงานในบ้านตระกูลเจ้านั้นเป็นตัวบ่งชี้อัตลักษณ์และความหมายของชีวิตทั้งชีวิต เรียกได้ว่าร้องห่มร้องไห้จะเป็นจะตายอเมื่อถูกริบกำไลหยก เช่นเดียวกับที่ทหารถูกถอดยศ หรือ นักเรียนนักศึกษาถูกสั่งเพิกถอนสถานภาพนักเรียนนักศึกษา ที่สามารถทำให้คนเหล่านี้คิดปลิดชีพตัวเองเพราะคิดว่าเมื่อไม่ได้อยู่ในสถาบันแล้วชีวิตไร้ความหมาย เป็นต้น

เอวาคือชนชั้นแรงงานที่ปากกัดตีนถีบ เป็นผลของเศรษฐกิจและการเมืองภายในที่ล้มเหลว ต้องจากบ้านไปเป็นแรงงานต่างด้าวส่งเงินมาเลี้ยงดูลูกและคนในประเทศบ้านเกิด เป็นพวก Subaltern หรือ กลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ไม่มีปากมีเสียงในโครงสร้างสังคม และครั้นจะมีปากมีเสียงขึ้นมา ก็เป็นประเด็นชวนคิดอีกว่าจะเปล่งเสียงเรียกร้องสิทธิอะไรจริงๆ ได้มั้ย ฤาเป็นได้แค่กระบอกเสียงของผู้ทรงอำนาจที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง คำถามที่ว่า Subaltern พูดได้มั้ย Gayatri Chakravorty Spivak นักคิดชาวอินเดีย (ที่โด่งดังในหมู่นักเรียนไทยและนักเรียนเทศในสังกัดของผู้เขียน ในฐานะที่เป็นนักคิดที่เขียนหนังสืออ่านยากมาก และในฐานะคนที่แปล Derrida… ไม่ธรรมดา อ๊ะอ้า ไม่ธรรมดา) ว่าไว้ว่า "ไม่ได้นะคะ" เพราะระบบภาษาและระบบความคิดที่จะใช้เป็นฐานในการเปล่งเสียงร้องนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมอำนาจชนชั้นนำมานานแสนนาน เอวาต้องเล่นไปตามกระแสทุนนิยม แม้จะไม่ได้รักท่านประธานสุดหัวจิตหัวใจ หรือ แม้เกลียดภรรยาท่านประธานเข้ากระดูกดำ เธอก็ทำอะไรไม่ได้ พูดอะไรไม่ได้ เพราะระบบสังคมคือระบบที่ตั้งบนฐานของเงิน บนฐานของความไม่เสมอภาคทั้งทางเพศและทางอำนาจ เธอจึงจำต้องก้มหน้าทำงานเพื่อส่งเงินเลี้ยงดูลูกต่อไปจนตายไปข้างหนึ่ง ในหนังเราจะเห็นว่ายองจักนั้นลุกขึ้นมามีปากมีเสียงกับครอบครัว ท้าทายระบบอำนาจชนชั้น จากภายในของระบบนั้นๆ เช่นเดียวกับที่ประวัติศาสตร์การปฏิวัติทางการเมืองนั้นมักก่อกำเนิดหรือดำเนินการโดยมีชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา หรือแม้กระทั่งชนชั้นนำที่คุ้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้างอำนาจ เป็นแกนนำทั้งสิ้น


"ตกลงเอวาตายหรือเปล่าอะ ทำไมลืมตาและกรีดร้องตอนหลัง"

คือคำถามที่ผู้เขียนได้ยินเมื่อก้าวเดินออกจากโรงหนัง เสียงนั้นเป็นเสียงผู้หญิง ดังมากจากร่างที่เดินคล้องแขนแฟนหนุ่มซึ่งตอบกลับมาว่า


"เป็นผี ฟื้นคืนชีพ ไม่รู้เหมือนกันอะ"

ซึ่งทำให้ผู้เขียนอยากจะถามพวกเขาจริงๆ ว่า ตกลงนี่เราเพิ่งดูผีดูดเลือดทไวไลท์ หรืออะไรกันแน่คะ

นึกถึงเอวาที่ตายไปแล้วก็กลายเป็นผีที่ลืมตาหันมาหลอกคนดูที่ใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรสะสมส่วนลดแลกกับตั๋วหนังในวันนี้

ดูสิดู หรือเอวากำลังถลึงตา ตามหลอกหลอนชนชั้นกลาง—ยอดมนุษย์เงินเดือนที่ยังไม่ "เก๊ท" หรือไม่อยาก "เก๊ท" กังนัมกลลวงของสังคมชนชั้น ทั้งหลาย???

 

 

แหล่งภาพ: https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjzxUOgBhpw5ebZ7NJlBoquT-aLqpcXWpy2Qs5TRFdavlJ2vkHyEe74a4_FiqNdbKnv2gQqK0DseTL-swIBHH8_M2ntKT2kAV6DDYWowIU2rIYB7_QfnrsqD_-nGzK1pQYfZnUm9Zn5Na0K/s1600/The+Taste+of+Money+.jpg

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ชี้ โอบามาควรใช้โอกาสเยือนไทยปรับเปลี่ยนนโยบายสหรัฐต่อไทย

Posted: 16 Nov 2012 03:32 PM PST

ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ระบุ อเมริกาควรใช้โอกาสเยือนไทยทำความรู้จักกลุ่มอำนาจใหม่ๆ ในการเมืองไทย และการเปลี่ยนจุดยืนต่อการเมืองไทยเสียใหม่ผ่านบทความ Obama's Chance to Shift the Thai Stance

ในบทความดังกล่าว ปวิน ระบุว่า การที่บารัค โอบามา ประเดิมการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยการเยือน กัมพูชา พม่าและไทย ในระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย. นี้ ความสนใจของสหรัฐนั้นมุ่งไปที่การแสดงบทบาทในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่จัดขึ้นในพนมเปญ และเยือนพม่าเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐที่เยือนพม่าด้วย

ขณะที่การเยือนกรุงเทพฯ นั้นได้รับความสนใจจากทั้งทางวอชิงตันและสื่อระดับโลกน้อย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไทยและอเมริกามีความสัมพันธ์แนบแน่นมาเป็นเวลานาน ประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรอันยาวนานที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา และได้รับสถานะเป็น "ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้" (major non-NATO ally) เมื่อพ.ศ. 2547 ทั้งสองชาติมีการซ้อมรบร่วมกันในภารกิจ "คอบร้า โกลด์" มาอย่างยาวนาน ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งอย่างยิ่งของทั้งสองชาติอาจจะทำให้ไทยกลายเป็นของตายสำหรับสหรัฐ

ในขณะเดียวกัน สหรัฐก็เลือกที่จะเงียบเมื่อสถานการณ์ภายในประเทศไทยเข้าสู่ภาวะที่เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

"เหตุผลที่สหรัฐล้มเหลวในการส่งเสริมประชาธิปไตยในไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะความรับรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ทางอำนาจในไทยนั้นยังคงติดอยู่ในโครงสร้างที่เก่า ล้าสมัย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐนั้นถูกกำหนดและครอบงำโดยความร่วมมืออันทรงประสิทธิภาพระหว่างกองทัพและสถาบันกษัตริย และผลประโยชน์ของอเมริกาซึ่งดำรงอยู่โดยอาศัยความร่วมมือนี้ และผลก็คือ สหรัฐดูเหมือนจะแสดงออกในลักษณะสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าในการใช้กำลังจัดการกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของขบวนการเสื้อแดงซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ปวินระบุในบทความพร้อมชี้ต่อไปว่า เฉพาะแค่ประเด็นผลประโยชน์ของสหรัฐนั้นก็คงไม่เพียงพอที่จะอธิบายการสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าของไทย แต่จากที่ได้สัมภาษณ์นักการทูตทั้งไทยและสหรัฐจำนวนมาก เขาสรุปได้ว่า "ทัศนคติของสหรัฐนั้นมีพื้นฐานมาจากการที่แผนกการเมืองของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยขาดความเข้าใจและขาดความสนใจต่อพัฒนาการทางการเมืองไทย"

"การสิ้นสุดสงครามเย็นและการค่อยๆ คลายบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยในช่วงทศวรรษ 2530 และในช่วงรัฐบาลทักษิณระหว่างปี 2544-2549 ได้สร้างสุญญากาศด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทย สุญญากาศนี้เป็นตัวขัดขวางสหรัฐอเมริกาในการปรับเปลี่ยนนโยบายต่อประเทศไทย แม้ว่าบริบทการเมืองของไทยในประเทศและระหว่างประเทศจะได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ"

ปวินกล่าวว่า ทางการสหรัฐยังคงดำเนินความสัมพันธ์กับไทยบนพื้นฐานความรับรู้เดิมๆเกี่ยวกับประเทศไทย แม้ว่าในทางหนึ่งก็ไม่เคยหยุดที่จะสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยไทยแบบดีแต่พูด (Lip Service)

นโยบายของอเมริกาในการปกป้องสถานภาพและเป็นประโยชน์กับกลุ่มเศรษฐีและชนชั้นนำที่มีอิทธิพลทางการเมืองทำให้มุมมองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเลือกในการดำเนินนโยบายของของสหรัฐคับแคบมาก และภาพลักษณ์ที่อเมริกามองผู้นำทางการเมืองของไทยทั้ง 2 ขั้วก็แตกต่างกัน คือสหรัฐมองว่ากลุ่มอำนาจเก่าเป็น "มิตรที่เชื่อถือได้" ขณะที่มองกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเชื่อมโยงกับทักษิณ ชินวัตรว่าเป็น "ภัยคุกคาม" ของประชาธิปไตยตามจารีตเดิมของไทย

"ตลอดเทอมแรกของรัฐบาลโอบามานั้นล้มเหลวหลายครั้งในความพยายามที่จะบาลานซ์ระหว่างการสนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำเก่าและการพยายามแสดงความเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง"

ปวินระบุว่า การพยายามเข้ามาแทรกแซงแต่ล้มเหลวของนายเคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่พยายามจะเข้ามาพูดคุยกับผู้นำทั้งในฝั่งเสื้อแดงและตัวแทนของกลุ่มผู้นำไทยในช่วงต้นปี 2553 นั้นกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมระหว่างสองประเทศ นอกจากความพยายามของนายแคมป์เบลล์ที่ล้มเหลวแล้วนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มผู้นำเก่า ให้ส่งนายเกียรติ สิทธีอมร ไปยังวอชิงตันเพื่อต่อว่าการที่อเมริกาพยายามเข้ามาแทรกแซงในสถานการณ์ความขัดแย้ง

ทังนี้ความพยายามที่จะเข้าถึงคนเสื้อแดงก็ดูเหมือนจะทำให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้บรรลุเป้าหมายส่วนตัวมากกว่าการบรรลุเป้าหมายในระดับนโยบายของประเทศ ปวินระบุว่าในความเป็นจริงแล้วแท็กติกในการป้ายสีและสร้างภาพให้กับคนเสื้อแดงที่ท้าทายกลุ่มอำนาจเก่านั้นดำเนินอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของกลุ่มอำนาจเก่าและในส่วนของสหรัฐ และก็ยิ่งแย่หนักลงไปอีกเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์กล่าวหาว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายและเผาห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ

ในแง่นี้ การต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับเครือข่ายทักษิณไม่ได้จำกัดอยู่ในพรมแดนของประเทศไทย สหรัฐได้เข้ามาข้องเกี่ยวโดยตรงในเกมอำนาจ โชคร้ายที่ทักษิณไม่ใช่อองซาน ซูจีผู้ที่สามารถกำหนดนโยบายและมีอิทธิพลต่อสภาคองเกรสได้ด้วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ทักษิณมีปัญหามากเกินไป และเป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างอำนาจเก่า

ในบทความดังกล่าว ปวินเสนอว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มีภารกิจใหญ่คือไม่เพียงแต่เปลี่ยนทัศนคติของสหรัฐที่มีต่อผู้นำเก่าตามจารีตของไทย แต่ต้องปรับเปลี่ยนทักษิณให้เป็นที่ยอมรับแก่รัฐบาลสหรัฐด้วย สำหรับขบวนการคนเสื้อแดงนั้น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอาจจะยังได้รับความสนใจจากอเมริกันไม่มากเมื่อเทียบกับประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ หรือประเด็นในประเทศที่ท้าทายรัฐบาลโอบามาอยู่

นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่อาจถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นการก่อการร้ายโดยคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งและข่าวลือเกี่ยวกับเครือข่าย "ใต้ดิน" และแผนล้มเจ้านั้นเป็นสิ่งที่สหรัฐคลางแคลงใจและทำให้สหรัฐยังคงพึงพอใจต่อกลุ่มอำนาจเก่ามากกว่า และในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายกว่าสำหรับผู้กำหนดนโยบายในวอชิงตันที่จะทำความเข้าใจสถานการณ์ในไทยผ่านทัศนะอันคร่ำครึของตนเองและไม่ต้องไปสนใจกับปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ปวินทิ้งท้ายในบทความของเขาว่า ในระหว่างการเยือนกรุงเทพฯ ประธานาธิบดีโอบามาควรจะใช้โอกาสนี้ในการทำความรู้จักกับกลุ่มพลังทางการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ในไทย และยังไม่สายเกินไปสำหรับสหรัฐในการยอมรับข้อเท็จจริงใหม่ๆ ของไทย ข้อเท็จจริงที่จะทำให้สหรัฐต้องการปรับเปลี่ยนสถานะของตัวเองมาเผชิญหน้าเพื่อนเก่าแก่ในกลุ่มอำนาจเก่าของไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น