ประชาไท | Prachatai3.info |
- รายงานพิเศษ: นักข่าวที่ไม่อยากทำข่าว!
- โจ กอร์ดอน
- "พล.ต.จำลอง" ให้ พธม.เลื่อนสัมมนา 24-25 พ.ย. เพื่อหลีกให้วันชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม
- 'อรรถจักร์' ชี้คิด 'ปฏิรูปประเทศ' ต้องปฏิรูปตนเองให้พ้น 'มายาคติ' ก่อน
- ILO เผย ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ ของ ‘งาน’ ในเอเชียแปซิฟิคลดลง
- นปช. ยันไม่จัดชุมนุมชนองค์การพิทักษ์สยาม
- เสวนาพระปกเกล้า : ‘นครินทร์’ ระบุรัฐสภาไทยมีอำนาจ ‘ปานกลางค่อนข้างน้อย’
- สุรพศ ทวีศักดิ์: ภาวะย้อนแย้งในพุทธศาสนาไทยๆ
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: มาตรา 112 กฎหมายป่าเถื่อน
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 4 - 10 พ.ย. 2555
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 4 - 10 พ.ย. 2555
- จากโคมลอยถึงโคมไฟ
รายงานพิเศษ: นักข่าวที่ไม่อยากทำข่าว! Posted: 11 Nov 2012 08:34 AM PST
แวดวงสื่อมวลชนของมาเลเซียกำลังมีปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น "Talk of the Town" เมื่อนักข่าวสายรัฐสภา 77 คน ร่วมลงชื่อในจดหมายที่เขียนถึงประธานรัฐสภา ร้องเรียนให้ประธานรัฐสภาพิจารณาออกระเบียบห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาใช้สถานที่รัฐสภาแถลงข่าวที่นักข่าวกลุ่มนี้บอกว่า "ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับกิจการรัฐสภา" จดหมายจากนักข่าวฉบับนี้ระบุว่า "การที่บุคคลภายนอก ซึ่งบางครั้งก็มีจำนวนมากด้วยเข้ามาใช้รัฐสภาแถลงข่าวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐสภานั้น เป็นการรบกวนพวกเรา] เนื่องจากที่สภาก็มีการแถลงข่าวเยอะอยู่แล้ว" นักข่าวกลุ่มนี้ยังบอกด้วยว่า "นักข่าวรัฐสภาควรทำแต่ข่าวที่เป็นเรื่องของสภาผู้แทนและการแถลงข่าวของ ส.ส. และรัฐมนตรี" เราจึงขอให้ประธานสภาออกระเบียบอนุญาตให้ สส.เท่านั้นที่สามารถจัดแถลงข่าวที่รัฐสภาได้ บุคคลภายนอกไม่ควรได้รับอนุญาตให้มาแถลงข่าวที่ห้องโถงของรัฐสภาแม้ว่าจะมากับ สส.ก็ตาม" จดหมายฉบับนี้ถูกนำมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์โดยนักเขียนชื่อ Wong Chin Huat โดยเขาเรียกนักข่าวกลุ่มนี้ว่า Journalists who are against (too many) press conferences Wong Chin Huat วิจารณ์ว่านักข่าวกลุ่มนี้ควรได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊กในฐานะที่นักข่าวกลุ่มแรกที่พยายามจะปิดปากแหล่งข่าว "นักข่าวที่อื่นกลัวว่าแหล่งข่าวจะไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล แต่นักข่าวในประเทศมาเลเซียนี่กลับกลัวว่าแหล่งข่าวจะพูดมากเกินไป" Wong Chin Huat เขียนถามนักข่าวกลุ่มนี้ว่า "มีใครเอาปืนไปจี้บังคับให้คุณต้องทำข่าวหรือไง? "ถ้าพวกคุณเห็นว่าการแถลงข่าวของพวกนั้นใช้เวลามากไปและไม่มีประเด็นอะไรเกี่ยวข้อง ทำไมคุณไม่อยู่ห่างๆไว้ล่ะ? พวกคุณมีปัญหาอะไรไหมที่จะบอกบรรณาธิการของพวกคุณว่าคุณไม่ต้องการทำข่าวพวกนั้น ทำไมถึงมาเรียกร้องให้ประธานรัฐสภากับรัฐมนตรีห้ามไม่ให้พวกเขาใช้สถานที่ล่ะ? Wong Chin Huat ประกาศไว้ในเฟซบุ๊คของเขาว่า เขาเชื่อมั่นในเสรีภาพ ความหลายหลาย และประชาธิปไตยในมาเลเซีย ต่อกรณีนี้ เขาตั้งคำถามเตือนว่า นักข่าวทั้ง 77 คนที่เซ็นชื่อในจดหมายนี้กำลังปฏิเสธสิทธิของ สส.ในการที่จะนำพยานมานำเสนอในรัฐสภาหรือไม่? "สส.ควรจะพาพยานไปจัดแถลงข่าวที่ไหนดีล่ะ – นอกเขตรัฐสภางั้นหรือ? ต้องนอกเวลาทำงานด้วยหรือเปล่า? Wong Chin Huat บอกว่าเห็นรายชื่อนักข่าวและสำนักข่าวที่ร่วมลงชื่อแล้ว เขาปวดใจมาก เห็นชื่อคนคุ้นเคยบางคนแล้วอยากร้องไห้เลย ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าในจำนวนรายชื่อเหล่านี้ไม่มีอดีตนักเรียนสื่อที่เขาเคยสอนนักข่าว 77 คนนี้มาจากสื่อหลายแขนงและหลายภาษา ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ Wong Chin Huat ระบุชื่อสำนักข่าวต่างๆที่ร่วมลงชื่อในจดหมายไว้ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อนักข่าวทั้ง 77 คน แต่มีคนเดียวที่ Wong Chin Huat บอกว่าสาธารณชนควรจะรับรู้ไว้ "บุคคลเดียวที่ผมจะเปิดเผยชื่อคือ ผู้ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสหภาพนักข่าวแห่งชาติ (The National Union of Journalist: NUJM) เขาลงชื่อในจดหมายทั้งในฐานะของ Sin Chew Daily และ NUJM ผมคิดว่าสาธารณชนควรจะรับรู้เรื่องนี้" ตอนนี้สาธารณชนมาเลเซียคงรับรู้กันอย่างแพร่หลายตามความประสงค์ของ Wong Chin Huat แล้ว แต่เขาคงไม่สามารถเอาเรื่องนี้ไปลงกินเนสบุ๊คได้แน่ เพราะปรากฏการณ์แบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นที่ประเทศไทยมาแล้ว ก่อนหน้านี้ตั้งสี่ปี หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 รายงานเรื่องนี้ไว้ว่า
http://news.sanook.com/politic/politic_271699.php หมายเหตุ ขอบคุณจีรนุช เปรมชัยพร ที่นำข่าวนี้มาเผยแพร่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 11 Nov 2012 08:05 AM PST | |
"พล.ต.จำลอง" ให้ พธม.เลื่อนสัมมนา 24-25 พ.ย. เพื่อหลีกให้วันชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม Posted: 11 Nov 2012 07:48 AM PST ระบุ "ใครสะดวก ใครพร้อมก็เชิญไปเลย" และเพื่อความแน่นอนให้พันธมิตรฯ ที่จะไปชุมนุมร่วมกับองค์การพิทักษ์สยาม เตรียมตัวเผื่อจนถึง 25 พ.ย. พร้อมชื่นชม "เสธ.อ้าย" เป็นทหารแก่ไม่มีวันตาย พร้อมแนะอย่าไปรับนัดกินเหล้ากินข้าวกับรัฐบาลอีกเพราะจะเสียการเมือง ตามที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยามแถลงว่าจะนัดชุมนุมใหญ่ 3 วันตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่เวลา 9.01 น. โดยจะให้มวลชนที่มาจำนวนมากขยายพื้นที่ชุมนุมไปยังทำเนียบและรัฐสภา โดยประเมินว่าหากมีผู้เข้าร่วม 1 ล้านคน จะเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลต่อไป หากมีผู้ชุมนุมน้อยจะยุติการชุมนุมนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ล่าสุด เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในงานเสวนา "หยุดเผด็จการรัฐสภา รวมพลังปฏิรูปประเทศ" ซึ่งจัดที่ที่โรงแรมลพบุรีอินน์ จ.ลพบุรี โดยตอนหนึ่งได้กล่าวเลื่อนการสัมมนาของพันธมิตรฯ ที่จะจัดที่ จ.กาญจนบุรีในวันที่ 24 พ.ย. และ จ.เพชรบุรีในวันที่ 25 พ.ย. เพื่อไม่ให้ตรงกับวันชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม โดยระบุว่า การจัดเสวนาในวันที่ 24 พ.ย. ที่ จ.กาญจนบุรี และวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย. ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งมีความเห็นว่าน่าจะใช้วันที่ 24 พ.ย.ให้เต็มที่ ซึ่งแกนนำพันธมิตรฯ ทั้งนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และตนได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่าเห็นสมควรที่จะงดไว้ก่อนได้หรือไม่ ซึ่งพันธมิตรฯ เห็นว่าในวันที่ 24 พ.ย.เป็นวันสำคัญที่จะไปเจอกัน ใครสะดวก ใครพร้อมก็เชิญไปเลย และเพื่อความแน่นอน ซึ่งอาจจะอยู่ต่อถึงวันที่ 25 พ.ย.จึงขอพ่วงอีกวันหนึ่ง จึงขอเรียนชาว จ.กาญจนบุรี จ.เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงที่เตรียมการมานานในการจัดเสวนาปราศรัยว่าเราของด ขอเลื่อนไปก่อน ซึ่งคณะของตนได้ติดต่อไปยังคณะกรรมการจัดงานจังหวัดเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว พล.ต.จำลองยังกล่าวถึง พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ว่าตนชื่นชม พล.อ.บุญเลิศว่าเป็นทหารแก่อีกคนหนึ่งที่ทำตามคำที่ว่า ทหารแก่ไม่มีวันตาย เขาไม่ตายไปจากสี่คำนี้ คือ ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ เขาไม่ตายไปจากความเป็นคนรักชาติ ไม่ตายไปจากความเป็นคนมีเกียรติ ไม่ตายไปจากความเป็นคนมีวินัย ไม่ตายไปจากความเป็นคนที่มีความกล้าหาญ เขาเลยออกมานัดประชาชนชุมนุมครั้งแที่แล้วเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ซึ่งถ้าตนรู้จะแนะว่าอย่าไปรับนัดกินเหล้ากินข้าว มันเสียทางการเมือง คราวนี้ต้องมากกว่าเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ซึ่งจะออกมาคัดค้านรัฐบาลทั้งที รองหัวหน้ารัฐบาลนัดกินเหล้ากินข้าว ดันนัดกันได้ แล้วรัฐบาลก็เล่นเล่ห์เพทุบาย เอาสื่อมาถ่ายทำแพร่สะพัดไปทั้งประเทศ คนที่อยากจะมาก็มองว่ามวยล้มต้มคนดู ไม่ไปดีกว่า แต่คนก็ไม่น้อย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
'อรรถจักร์' ชี้คิด 'ปฏิรูปประเทศ' ต้องปฏิรูปตนเองให้พ้น 'มายาคติ' ก่อน Posted: 11 Nov 2012 07:41 AM PST V-Reform สัมภาษณ์ 'อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์' ทวนกระแสปฏิรูป 'อย่างแรกที่ต้องทำ คือกลุ่มปฏิรูปต้องปฏิรูปตนเองให้พ้นมายาคติเสียก่อน'
ปัจจุบัน คือสามปีนับแต่กระแสการปฏิรูปประเทศถูกจุดขึ้นอีกครั้ง ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย (คสป.) ในปัจจุบัน คปร. ได้ยุติบทบาทตัวเองไป โดยทิ้งหนังสือข้อเสนอเล่มหนาหนึ่งเล่มเป็นของดูต่างหน้า ในขณะที่ คสป. ยังคงพยายามสานต่อภารกิจของตนต่อไป อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการปฏิรูปฯ ครั้งนี้ไม่โหมแรงเหมือนช่วงหลังพฤษภาทมิฬ ช่วงต้นอาจเป็นที่จับตา แต่สามปีผ่านมา เงียบเหงาจนยากจะมีใครรู้ว่ามีใครสักคนกำลังปฏิรูปอะไรบางอย่างอยู่ ทีมงานจึงชวน รศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมต่อจิ๊กซอว์ เพื่อให้เห็นภาพความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอรรถจักรชี้ประเด็นตั้งแต่พบหน้ากัน ว่าทิศทางการปฏิรูปกระแสหลักนั้น ขัดแย้งกับสภาพสังคมที่กำลังปฏิรูปตัวเอง เชิญผู้อ่านติดตามภาพรวมประเทศไทย และทำความเข้าใจว่าทำไมบทสรุปสามปีของการปฏิรูป จึงได้ความว่า 'อย่างแรกที่ต้องทำ คือกลุ่มปฏิรูปต้องปฏิรูปตนเองให้พ้นมายาคติเสียก่อน' กระแสปฏิรูปที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์นองเลือด ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มเป็นอย่างไร? ถ้าพูดถึงเรื่องแนวโน้มของกระแสปฏิรูป ผมคิดว่ามีเรื่องที่ใหญ่กว่าการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุด กล่าวคือท่ามกลางความขัดแย้งเหลืองแดง สังคมไทยก็มีการปฏิรูปตัวมันเองด้วย ได้แก่การที่คนตัวเล็กตัวน้อยนิยามตัวเองว่าพวกเขาเป็นพลเมือง แล้วก็เริ่มสร้างเครือข่ายต่อรองกับรัฐ ตรงนี้ไม่ได้มีใครมาวางแผนหรือชี้นำอะไร แต่เห็นได้ชัด อย่างแต่ก่อนผมคุยกับชาวบ้าน เวลาถูกเอาเปรียบเขาจะบอกว่า 'เฮาเป็นคนตุ๊ก เฮาเป็นแค่จาวบ้าน' ตอนนี้ถ้าไปถาม เขาจะบอกว่า 'เฮาบ่ยอมดอก เฮาเท่ากัน' ตัวอย่างมีให้เห็นเรื่อยๆ เช่น ในเชียงใหม่ มีการรวมกลุ่มเครือข่ายตลาดนัด ต่อรองกับตำรวจเรื่องการจัดระเบียบเวลาค้าขาย ทุกวันนี้ก็ค้าขายกันได้ทั้งเดือน ส่วนตัวผมมีข้อสังเกตว่าพวกเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของคนจะมีพลัง อย่างทุกคนในเครือข่ายตลาดนัดนี่เขาต้องค้าขายเลี้ยงชีพ ไม่เช่นนั้นอดตาย ก็ต้องเกาะกุมกันสู้ จึงเกิดความเข้มแข็ง ส่วนการสร้างเครือข่ายผ่านชนชั้นจะทำได้ลำบากกว่า เพราะรวมกันยาก พอหมดสถานการณ์สู้รบก็จะซาไป ส่วนบางเครือข่ายที่น่าจะสำเร็จ มีการวางแผนสร้างเครือข่าย การเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วล้มเหลวไปก็มีนะ เพราะไปสุดทางแค่การรวมกันตั้งกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศหรือไม่? ที่ผมเล่าไปนี่เป็นเรื่องในภาคเหนือ แต่ปรากฏการณ์ในแต่ละที่จะต่างกันไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเหนือกับภาคอีสานจะคล้ายกัน เพราะมีการปรับตัวของคนตัวเล็กตัวน้อยสูง แต่ภาคตะวันออกกับภาคใต้สัดส่วนชนชั้นกลางจะมาก เพราะมั่งคั่งกว่า มีฐานเศรษฐกิจหลากหลาย ทั้งฐานเกษตร เหมืองแร่ ประมง กระแสก็จะมุ่งไปที่การรักษาสถานะเดิมมากกว่าจะปฏิรูปอะไร ส่วนกรุงเทพฯ ผมเห็นว่าครึ่งๆ พวกชนชั้นกลางเก่าก็อยากจะรักษาสถานะเดิม ส่วนพวกที่อพยพเข้าไปใหม่ก็ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง นอกเหนือการปฏิรูปตัวเองของสังคมที่อาจารย์กล่าวไป กระแสปฏิรูปที่เริ่มจากส่วนกลางเป็นอย่างไรบ้าง? ในเรื่องความคึกคัก กระแสปฏิรูปจากส่วนกลางรอบนี้จะเงียบเหงาในกรุงเทพฯ ต่างจากรอบหลังพฤษภาทมิฬ เพราะตอนนั้นเป็นกระแสปฏิรูปของคนชั้นกลาง คนที่กุมทิศทางก็เป็นตัวแทนพวกเขา แต่ทุกวันนี้ชนชั้นกลางต้องการรักษาสถานะดั้งเดิม ก็เลยไม่มีอะไรต้องผลักดัน ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเป้าหมายของเขาก็ไปสนใจเรื่องการชนะการเลือกตั้ง มากกว่า ส่วนเรื่องทิศทาง ผมคิดว่าสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือสายวัฒนธรรมชุมชน พวกนี้เป็นกระแสหลัก เพราะเขามีทรัพยากรสนับสนุนและมีความแข็งขันมาก เป้าหมายเขาคือปฏิรูปโดยเน้นเรื่องความพอเพียง การผลิตยังชีพ การพึ่งพากันในชุมชน ซึ่งสุดท้ายจะไม่สำเร็จในภาพรวม เพราะสภาพจริงมันเปลี่ยนไปจากอุดมคติไกลแล้ว ปลายทางของกลุ่มนี้คงจบที่การปฏิรูปเป็นหย่อมๆ คือไปหาชุมชนที่เขาคิดว่าใช่ แล้วยกเป็นพื้นที่นำร่อง พวกนี้ก็หวังดีนะ แต่โครงการทางการเมือง (Political project) ของเขา ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มันกลายเป็นการปฏิรูปเพื่อคงสถานะเดิม คือจะกลับไปหาชุมชนแบบเก่าที่ไม่มีแล้ว กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่มุ่งเปลี่ยนแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) ให้กลายเป็นผู้ประกอบการ แล้วผลักให้เข้ามาอยู่ในระบบ (Formal Sector) ฐานคิดคล้ายๆ ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือต้องการขยายฐานภาษี เพราะเห็นว่าถ้าคนส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบก็จะเก็บภาษีไม่ได้ รัฐขยับอะไรลำบาก ซึ่งแผนนี้นักการเมืองก็จะเอาด้วย เพราะการช่วยคนให้เลื่อนชนชั้นขึ้นมาจะได้ฐานเสียงที่จงรักภักดี พวกที่มีความคิดแบบนี้ส่วนใหญ่ ก็เลยไปทำงานโดยอาศัยการสนับสนุนของพรรคการเมือง ส่วนกลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่มุ่งสร้างอิสระทางการเมือง โจทย์ของพวกนี้คือทำยังไงให้คนรวมถึงท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น ข้อเสนอก็เช่นยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคเพื่อตัดสายต่อของอำนาจบัญชาการจาก ส่วนกลาง กลุ่มนี้จะสนใจเรื่องเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มอื่น เพราะมองว่าถ้าปฏิรูปโครงสร้างการเมือง จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในทางที่ดีเอง กระแสการปฏิรูปจากส่วนกลางกับแนวโน้มการปฏิรูปตัวเองของสังคม สอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร? มีทั้งส่วนที่สอดคล้องและขัดแย้ง ผมเห็นว่ากระแสที่เน้นเรื่องอิสระทางการเมือง จะสอดคล้องและได้รับการสนับสนุนจากสังคม เช่น เครือข่าย อบต. ทางเหนือ ที่เขารวมตัวกันเพื่อต่อรอง เพราะไม่อยากเสียทรัพยากรไปกับการจัดงานตามคำสั่งจากส่วนกลาง แต่อยากใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ พวกนี้จะสนับสนุนกระแสปฏิรูปนี้ เพราะโจทย์เป็นเรื่องอิสระทางการเมืองเหมือนกัน ที่สำคัญคือแนวทางแบบนี้ทั้งเหลือง-แดงจะไปด้วยกันได้ เช่นเรื่อง เชียงใหม่จัดการตนเอง นี่เหลือง-แดงก็หยุดทะเลาะกันแล้วมาร่วมกันผลักดัน แต่สำหรับกระแสปฏิรูปที่เน้นแนวทางกลับสู่ชุมชนแบบเก่าจะเจอทางตัน เพราะสภาพจริงของชุมชนเปลี่ยนไป ดังนั้นการปฏิรูปชุมชนจึงหมายถึงชุมชนบางแห่งที่เขาเลือกทุ่มทรัพยากรลงไป คนในพื้นที่รอบๆ ก็จะรู้สึกว่า เป็นพลเมืองเหมือนกันแต่ทำไมเราไม่ได้บ้าง แล้วก็จะเริ่มหมั่นไส้กัน งานวิจัยชี้ว่าในบางพื้นที่ ตอนนี้เกลียดกันจริงๆ ไปแล้ว ส่วนกระแสที่ต้องการจะเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการในระบบ สุดท้ายคนคงจะไม่ชอบ เพราะพอเข้ามาในระบบมันต้องรับภาระมากขึ้น อย่างน้อยก็เรื่องการจ่ายภาษี แต่ตอนนี้ไม่มีการคัดค้าน เพราะคนยังรู้สึกพอใจกับรายได้ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ถ้าปมปัญหาของทิศทางปฏิรูปกระแสหลัก อยู่ที่การไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบท แล้วอะไรคือสภาพจริงของชนบทในปัจจุบัน? สิ่งที่กลุ่มการปฏิรูปกระแสหลักทำขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงแบบคนละ เรื่อง เขาคิดถึงสังคมชาวนาแบบอดีต ทั้งที่ตอนนี้ไม่มีชาวนาแล้ว มีแต่คนที่ทำการผลิตภาคเกษตร ซึ่งมีลักษณะเป็นชายขอบของการผลิตในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ กล่าวคือ เขาทำเกษตรกันเป็นเพียงขาหนึ่ง แต่อีกขาหนึ่งอยู่นอกภาคเกษตรซึ่งเขาถือว่าสำคัญกับเขามากกว่า แล้วในภาคเกษตรที่ทำๆ กันก็เป็นแรงงานรับจ้างไปแล้ว 98% ถ้ายังจะให้เรียกว่าชาวนา ก็ต้องบอกว่าตอนนี้เหลือชาวนาแค่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือชาวนารวย มีที่ดินยี่สิบถึงแปดสิบไร่ นี่ตัวเลขของภาคเหนือ อีสานจะมากกว่านี้ พวกนี้จะจ้างแรงงาน ใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตร อีกกลุ่มเป็นชาวนาขนาดเล็กมีที่สี่ถึงหกไร่ ปลูกเพื่อเก็บกิน อยู่อย่างลำบาก อาศัยเครือข่ายญาติที่เป็นรายเล็กด้วยกันมาเอามื้อเอาวัน เป็นแรงงานให้กันไปมา พอการปฏิรูปกระแสหลักในระดับชาติไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ข้อเสนอของเขาก็จะแฝงไว้ด้วยความพยายามที่จะรักษาและทำให้เกิดชาวนาเล็ก ที่อยู่กินพอเพียงและเอื้ออาทรกัน อย่างเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดินที่ออกมาคงไม่พอช่วยเขา เพราะถ้าไม่ช่วยเขาให้รอดในฐานะผู้ผลิต สุดท้ายก็ต้องขายที่ดินทิ้งอยู่ดี ตรงนี้ผมไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดเรื่องการพึ่งพากันในชุมชนนะ คนชนบทน่ารักกว่าคนในเมืองแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่เอะอะจะไปให้เขาเอื้ออาทรกัน แล้วไม่คิดอะไรมากกว่านี้เลย ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเดินต่อไปโดยไม่ทำอะไร จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต? ในภาคเกษตรก็จะมีชาวนารายใหญ่ที่มีอำนาจอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ เราคงได้เห็นเจ้าที่ดินขนาดมหึมา ผู้ผลิตรายย่อยก็จะค่อยๆ ล้มลง สุดท้ายคนจำนวนมหาศาลก็ถอนตัวออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ ไปรับจ้างในภาคเกษตร หรือ เข้าไปทำงานในเมือง โดย อบต. ก็คงไม่ทำอะไร นอกจากสนับสนุนชาวนารายใหญ่ไปเรื่อยๆ มีให้เห็นบ้างแล้ว เช่น บางพื้นที่มีไร่ส้มขนาดมหึมาเกิดขึ้น ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก เจ๊งหมด แข่งไม่ไหว สุดท้ายคนที่ถูกผลักออกไป ก็จะเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร ไม่ก็ไปทำงานในเมือง กลุ่มหลังนี่บางส่วนอาจปรับตัวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานนอกระบบต่อไป แล้วถ้าวันหนึ่งระบบเศรษฐกิจพังขึ้นมาจะหายนะแน่นอน อาจเป็นเหมือนประเทศบราซิลก่อนสมัยประธานาธิบดีคาร์โดโซ คนจนจนฉิบหาย สลัมเกลื่อนประเทศ มีการก่ออาชญากรรมมาก คนรวยก็ต้องสร้างกำแพงบ้านให้สูงๆ หรือเหมือนในฟิลิปปินส์ ที่ทุกวันนี้แรงงานนอกระบบ 72% ของเขา ตอนนี้ต้องไปต่อคิวรอกระดูกไก่ที่ทิ้งจากเคเอฟซี เพื่อเอาไปล้างแล้วชุบแป้งทอดกิน บ้านเราตอนนี้แปลกๆ ไม่สนใจคนตัวเล็กตัวน้อยพวกนี้ เรื่องอาเซียนที่จับตากัน ก็ไปสนใจแต่เรื่องการรวมกลุ่มทำกำไรของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่ได้สนใจว่าคนตัวเล็กตัวน้อยจะอยู่ตรงไหน ทั้งที่คนพวกนี้รวมกันทุกประเทศมีสัดส่วนกว่า 65% ของกำลังแรงงานทั้งหมด เพื่อหลบเลี่ยงหุบเหวเหล่านี้ อะไรคือทิศทางของการปฏิรูปที่ควรจะเป็น? ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยก็ต้องมาตีแผ่ดูกันทีละประเด็น ในกรณีที่ดินที่ผมคิดว่าผิดทาง แต่อย่างข้อเสนอเรื่องการเงินชุมชน ผมคิดว่าจะช่วยระดมทุนสนับสนุนการผลิตของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งสอดคล้องกับสภาพจริงของคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตรายย่อย โจทย์คือ ต้องปฏิรูปให้คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นผู้ผลิตขนาดเล็กที่อยู่รอดได้เองในตลาด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก สิ่งที่ทำได้คือการสร้างแนวทางการผลิตที่เกื้อหนุนกัน ให้ผู้ผลิตรายย่อยในชุมชนซื้อขายกันเอง และ ซื้อขายระหว่างเครือข่ายชุมชนมากขึ้น ส่วนการผลิตก็ต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Backward Linkages) และ การเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Forward Linkages) เหมือน OVOP ในญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้เราไม่มีอะไรแบบนี้เลย ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่งทำผ้าบูติก เขาสั่งวัตถุดิบทุกอย่างจากกรุงเทพฯ ทำเสร็จก็ส่งขายกรุงเทพฯ คนในชุมชนได้ค่าแรงกันนิดหน่อย อย่างนี้ตายเลย นอกจากการสร้างเครือข่ายผู้ผลิต และตลาดขนาดย่อย สินค้าก็จะต้องมีความหลากหลาย รวมถึงแปรรูปได้ง่าย เพราะสินค้าหลายประเภททุกวันนี้สู้ในตลาดลำบาก เช่นผักอายุยืนๆ ยังไงก็สู้ที่ส่งมาจากจีนไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องขายความหลากหลาย เช่นในภาคใต้มีทำสบู่มังคุด ส่งออกได้เดือนละตั้งห้าล้านก้อน มากกว่านั้นรัฐอาจช่วยผู้ผลิตรายย่อยได้ ด้วยการสนับสนุนการระดมและลดตุ้นทุนในระดับชุมชน เช่นผ่อนปรนให้ชุมชนบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นตัวเอง อย่างสหกรณ์ญี่ปุ่นเขาสามารถปลูกไม้สนในเขตป่าเสื่อมโทรมเพื่อขายทำตะเกียบ หรือถ้าชาวบ้านทำนา ก็ให้ อบต. ไปซื้อแทร็กเตอร์มาเป็นของส่วนกลาง ให้เช่าเวียนกันใช้ในราคาถูก สรุปทุกวันนี้ สังคมเราหนีไม่พ้นที่คนตัวเล็กตัวน้อยจะถูกผลักออกมาให้ดิ้นรนเอาตัวรอดใน ตลาด ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็ต้องมุ่งสนับสนุนให้คนชนบทอยู่รอดในฐานะผู้ผลิต และ ผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ใช่ไปคาดหวังให้เขากลับไปเป็นชาวนาแล้วปลูกยังชีพแบบพอเพียง ถ้ามีการสนับสนุนคนตัวเล็กตัวน้อยในการแข่งขันในตลาด แล้ว สุดท้ายเขาไปไม่ไหวขึ้นมาจะทำอย่างไร? ถ้าสนับสนุนแล้วยังไปไม่ไหว เบื้องต้นก็ต้องยอมรับ อย่างไรก็ตามรัฐจะเป็นทางออกที่สำคัญ กล่าวคือต้องมีการสร้างระบบสวัสดิการสังคม เพราะจะให้คนที่ล้มกลับไปหาฟูกที่ชื่อว่าชุมชนก็ไม่ได้แล้ว สำนึกพลเมืองปัจเจกชนแบบ 'เฮาเท่ากัน' พาเขาถอนตัวจากชุมชนกันหมด ต้องมีสวัสดิการมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน ถึงที่สุด เรื่องทั้งหมดคือการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐ ตลาด และ ชุมชน แต่บทบาทรัฐตรงนี้ไม่ใช่เข้าไปอุ้มโดยตรงนะ แบบนั้นจะสร้างผลเสียในระยะยาว อย่างนโยบายรับซื้อข้าวทุกเม็ดจะทำให้ผู้ประกอบการไม่พัฒนาตัวเอง เพราะปลูกข้าวอีลุ่ยฉุยแฉกยังไงเอาไปขายก็ได้เงินจากรัฐบาลหนึ่งหมื่นห้าพัน บาท ในระยาวคุณภาพสินค้าก็ลด ที่ควรคือรัฐสนับสนุนโดยไม่เข้าไปอุ้ม ก็คงมีล้มหายตายจากไปบ้าง แต่ถ้ารัฐเป็นฟูกให้ เขาก็พักฟื้นแล้วไปเริ่มแข่งใหม่ในตลาดอื่น ประเด็นคือต้องให้เขาอยู่รอดได้ด้วยตัวเองจริงๆ ถ้าจะฝืนอุ้มไว้ตลอด ชาวนาก็จะปลูกข้าวโดยไม่กังวลเรื่องความเสี่ยงที่รัฐเข้ามาแบกรับแทน ข้าวก็ออกมายี่สิบล้านตันทุกปี ต่อไปจะส่งออกไม่ได้เหมือนเดิม เพราะตลาดเปราะบาง (Thin market) มีคนแข่งขันกันมาก ก็ต้องดึงภาษีส่วนรวมไปอุ้มเรื่อยๆ แล้วที่แย่คือถ้าดูรายละเอียด เงินตรงนี้มันวนเข้ากระเป๋าชาวนารวยสี่สิบเปอร์เซ็นต์ อะไรคือบทเรียนเกี่ยวกับการปฏิรูปในช่วงสามปีที่ผ่านมา? การปฏิรูปเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อหลีกหนีหายนะ แต่ทุกวันนี้ถ้าจะหวังพึ่งกระแสปฏิรูปที่มาจากส่วนกลาง ก็ต้องวนกลับไปเรื่องเก่า ว่ากลุ่มกระแสหลักยังติดอยู่กับมายาคติชุมชนแบบโรแมนติก ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปกัน อย่างแรกที่ต้องทำ คือกลุ่มปฏิรูปต้องปฏิรูปตนเองให้พ้นมายาคติเสียก่อน
ที่มา: http://v-reform.org/v-report/attachak/ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ILO เผย ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ ของ ‘งาน’ ในเอเชียแปซิฟิคลดลง Posted: 11 Nov 2012 07:15 AM PST การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิคชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพของงานที่มีอยู่ตามรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) เมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ILO ได้เปิดเผยรายงาน October 2012 Asia-Pacific Labour Market Update ซึ่งพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ค.ศ.2011) แต่กระนั้นสถานการณ์ก็อาจแตกต่างกันไปในหลายประเทศตัวอย่างเช่น ในขณะที่ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และไต้หวัน ประสบกับปัญหาการถดถอยในการจ้างงาน แต่สำหรับเกาหลีใต้, สิงคโปร์และไทยกลับมีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนในเรื่องคุณภาพของงาน พบว่างานที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งมักจะหมายถึงงานที่มีค่าจ้างต่ำ และการจำกัดการเข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการและผลประโยชน์ของคนงาน ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหญ่สำหรับภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา "มาตรการเร่งด่วน จำเป็นที่จะต้องสร้างงานให้มากขึ้นและดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน" จอร์จี้ ชิราคสกี (Gyorgy Sziraczki) ผู้อำนวยการ ILO ประจำสาขาเวียดนาม กล่าว "ความคิดริเริ่มใหม่ ควรมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการจ้างงานและการเพิ่มผลผลิตในระยะยาว รวมถึงการสร้างโอกาสการเข้าถึงทางสินเชื่อต่างๆ สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้การขยายความคุ้มครองด้านสิทธิ-สวัสดิการแรงงาน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคแถบเอเชีย" ชิราคสกี เพิ่มเติม จากสถิติพบว่าแรงงานสี่จากห้าคนในประเทศเนปาล, อินเดีย และปากีสถาน เป็นแรงงานนอกระบบ นอกภาคเกษตร ส่วนในประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70% ซึ่งส่วนใหญ่คนงานเหล่านี้เป็นคนงานหญิง ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานในประเทศเอเชียอยู่ที่ 5% และก็ยังไม่มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงในปี ค.ศ. 2013 ที่จะถึงนี้ ด้านแนวโน้มตลาดแรงงานของคนหนุ่มสาว (อายุระหว่าง 15-24 ปี) พบว่ายังคงหางานที่ดีและมีคุณภาพได้ยาก ทั้งนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนั้นมีขนาดประชากรที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก โดยคนหนุ่มสาวหนึ่งในหกคนไม่มีงานทำ ทั้งในไต้หวัน, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์ ส่วนในประเทศอินโดนีเซียสัดส่วนจะอยู่ที่หนึ่งในห้า
ข้อมูลบางส่วนจาก: Asia-Pacific: Quality and quantity of jobs dropping (ilo.org, 22-10-2012) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
นปช. ยันไม่จัดชุมนุมชนองค์การพิทักษ์สยาม Posted: 11 Nov 2012 06:52 AM PST 'ธิดา' ยืนยันไม่จัดมวลชนต่อต้านม็อบองค์การพิทักษ์สยามชุมนุม 24 พ.ย.นี้ ไม่สรุปร่วมให้กำลังใจรัฐช่วงซักฟอกหรือไม่ 11 พ.ย. 55 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า กลุ่ม นปช.จะไม่มีการจัดมวลชนต่อต้านในลักษณะม็อบชนม็อบในวันที่ 24 พ.ย. ที่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยามซึ่งมี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ จะมีการจัดชุมนุมอย่างแน่นอน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เสวนาพระปกเกล้า : ‘นครินทร์’ ระบุรัฐสภาไทยมีอำนาจ ‘ปานกลางค่อนข้างน้อย’ Posted: 11 Nov 2012 06:40 AM PST ประชุมวิชาการพระปกเกล้า 'นครินทร์' ระบุรัฐสภาไทยมีอำนาจ 'ปานกลางค่อนข้างน้อย' ตรวจสอบ "ข้าราชการ-กองทัพ-ภาคประชาชน" ไม่ได้ ด้าน พีรพันธุ์' ชี้ปัจจุบัน ส.ส. เขตทำหน้าที่หลายบทบาท ไม่เอื้อตรวจสอบถ่วงดุลในรัฐสภา
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 55 ที่ผ่านมาที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 14 "การปฏิรูปรัฐสภา: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ" การอภิปรายเรื่อง "บทบาทด้านการตรวจสอบ และถ่วงดุลของรัฐสภา" นำการอภิปรายโดย ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยโสธร เขต 3 พรรคเพื่อไทย, ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 'พีรพันธุ์' ชี้ปัจจุบัน ส.ส. เขตมีหลายบทบาท ไม่เอื้อตรวจสอบถ่วงดุลในรัฐสภา ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยโสธร เขต 3 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเมื่อพูดถึงหน้าที่ของ ส.ส. นั้น มีหน้าที่หลักที่ประกอบไปด้วย การทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติในสภา, การควบคุมถ่วงดุลฝ่ายบริหาร และการดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะ ส.ส. ในระบบแบ่งเขต "เวลาทำหน้าที่จริงๆ ต้องเห็นใจ โดยเฉพาะ ส.ส. เขต การดูแลทุกข์สุขประชาชนต้องมาเป็นอันดับหนึ่งก่อน" ดร.พีรพันธุ์ กล่าว ทั้งนี้พบว่าปัญหาของการทำงานในรัฐสภาของ ส.ส. ในระบบแบ่งเขตนั้น ก็เกิดมาจากเรื่อง 'เวลา' และ 'หน้าที่' ที่ซ้อนทับกันนี้ ทั้งๆ ที่มีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานปกครองต่างๆ ของรัฐ อยู่แล้ว แต่ในท้ายที่สุดเมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ ส.ส. เขตกลับต้องแบกภาระเรื่องการร้องเรียน, ประสานงาน และการกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง ส.ส. จำเป็นจะต้องลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอหากอยากที่จะได้รับเลือกในสมัยต่อไป ดร.พีรพันธุ์ กล่าวว่าปัญหานี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น ในหลายประเทศในโลกที่ใช้ระบบรัฐสภา ตัว ส.ส. เองก็จะมีงานหลักในการดูแลในเขตเลือกตั้งที่ตนเองได้รับเลือกมา และ ส.ส. ในต่างประเทศบางส่วนมักจะให้ผู้ช่วยของตนฝังตัวอยู่ในพื้นที่มากกว่าที่จะนำ มาที่สภาด้วยซ้ำ หากยังหวังผลที่จะได้รับเลือกในครั้งต่อไป "ผมเคยมีเพื่อนที่เป็น ส.ส. เด่น เข้าประชุมครบ ลงมติในสภาครบทุกครั้ง แต่สมัยต่อมากลับไม่ได้รับเลือกเพราะเขาไม่ได้ลงพื้นที่ .. ในความเป็นจริงมันเป็นแบบนั้น" ดร.พีรพันธุ์ กล่าว นอกจากนี้ ดร.พีรพันธุ์ ได้ให้ภาพถึงกลไกเครื่องมือของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบ รัฐสภานั้น ว่าประกอบไปด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในส่วนที่ 9 เรื่อง การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ มาตรา 156 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถาม รัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า เรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของ แผ่นดิน มาตรา 157 การบริหารราชการแผ่นดินเรื่องใดที่เป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในความสนใจ ของประชาชน เป็นเรื่องที่กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชน หรือที่เป็นเรื่องเร่งด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อน เริ่มประชุม ในวันนั้นว่าจะถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการ แผ่นดินเรื่องนั้น โดยไม่ต้องระบุคำถาม และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในวาระการประชุมวันนั้น มาตรา 158 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี มาตรา 159 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในหกของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 'นครินทร์' รัฐสภาไทยมีอำนาจ 'ปานกลางค่อนข้างน้อย' ตรวจสอบ 'ข้าราชการ-กองทัพ-ภาคประชาชน' ไม่ได้ ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่าเมื่อเราพูดถึง "บทบาทด้านการตรวจสอบ และถ่วงดุลของรัฐสภา" นั้นต้องถามว่าตรวจสอบและถ่วงดุลอะไร หรือใคร และครวจสอบไปทำไม โดย ศ.ดร.นครินทร์ กล่าวว่าต้องไล่หลักการตรงนี้ให้ชัดเจน เรื่องแรกนั้นก็คือการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ซถือเป็นงานหลักอยู่แล้ว ซึ่งหากพูดในความจริงแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองก็คือฝ่ายบริหารและถามว่า ส.ส. จะตรวจสอบหัวหน้าพรรคการเมืองของตนนั้นจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน ศ.ดร.นครินทร์ มองว่าเรื่องใหญ่ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงในเรื่องการตรวจสอบนั้นยังมีอีกคือการ ตรวจสอบฝ่ายข้าราชการประจำ รวมทั้งกองทัพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่และตรวจสอบอย่างไร เพราะว่าเวลาเอาเข้าจริงแล้วก็เป็นแค่การตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม แต่จะตรวจสอบผู้บัญชาการกองทัพบกได้หรือไม่ หรือการตรวจสอบรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ จะสามารถตรวจสอบปลัดกระทรวงต่างๆ ได้หรือไม่ หรือจะตรวจสอบฝ่ายตุลาการ และแม้กระทั่งจะตรวจสอบองค์กรอิสระหรือภาคประชาชนได้หรือไม่ ซึ่ง ศ.ดร.นครินทร์ เห็นว่าประเทศไทยมักจะไม่มองเรื่องนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเลย "รัฐสภาจะตรวจสอบฝ่ายศาลและตุลาการรึเปล่า อ่าว ท่านบอกท่านส่ายหน้า ไม่เอาแล้ว ท่านจะเรียกผู้พิพากษามาให้การต่อสภาหรือไม่ จะตรวจสอบภาคประชาชนไหมครับ .. ถ้าหากรัฐสภาสามารถตรวจสอบองค์กรต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างไปได้หมด รัฐสภาก็จะมีอำนาจสูงที่สุด แต่ปัญหาคือสังคมการเมืองไทยใช่หรือเปล่า" ศ.ดร.นครินทร์ กล่าว ศ.ดร.นครินทร์ เห็นว่ารัฐสภาภายใต้โครงสร้างอำนาจของประเทศไทย เป็นองค์กรที่อำนาจในระดับปานกลางและค่อนข้างน้อย ซึ่งเรื่องนี้มีสาเหตุหลายเรื่อง เช่นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมารัฐสภาไม่ได้เป็นผู้สถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ โดยตามประวัติศาสตร์การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเป็นผลงานของ ร.7 ครึ่งหนึ่ง และเป็นผลงานของคณะราษฎรครึ่งหนึ่ง ซึ่งคณะราษฎรเองก็ไม่ได้มาจากระบบรัฐสภา ไม่เหมือนอังกฤษที่มีระบบสภาขุนนางมาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคณะราษฎรมีสถานะแค่เป็นองค์พิเศษในขณะที่ก่อการ ทำให้รัฐสภาปัจจุบันมีอำนาจค่อนข้างน้อยเพราะส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยที่ตัว รัฐสภาเองไม่ได้เป็นผู้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยในเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้เป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจมากและให้ความยุติธรรมสูงสุดให้แก่ประชาชนได้ "ทุกวันนี้ถ้าเป็นคนไทยจะหาความยุติธรรมสูงสุดได้ที่ไหน ที่เรียกได้ว่าเป็น 'supreme' หรือ 'final' justice ได้ ผมคิดว่าเราหาจากที่อื่นไม่ใช่รัฐสภา และเชื่อว่าในใจหลายคนคงคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ศ.ดร.นครินทร์ กล่าว ฉะนั้นเรื่องใหญ่คืออำนาจทางการของเมืองไทย คือมันถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ไม่ว่าจะเป็น อำนาจรัฐ, อำนาจการเมือง, อำนาจบริหาร, อำนาจอธิปไตย, อำนาจประชาชน, อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งก็ให้เกิดคำถามที่ว่ารัฐสภามีอำนาจอะไรบ้าง อาจจะมองได้ว่าสภามีแค่อำนาจทางฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เป็นเพียงแค่อำนาจเสี้ยวเดียวของอำนาจทั้งหมดในองคาพยพของสังคมการเมือง ไทย นอกจากนี้ ศ.ดร.นครินทร์ มองว่ามรดกตกทอดที่สังคมไทยต้องทนกล้ำกลืนมาตลอด ก็คือมรดกตกทอดของระบบอำมาตยาธิปไตยไทย โดยเฉพาะเรื่องที่เรามองข้ามไปที่ทำให้ระบบรัฐสภาไทยมีปัญหา ก็คืออำนาจของฝ่ายบริหารในการตรากฎหมาย ซึ่งในความเป็นจริงมันควรจะให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจมากกว่า 'จุรินทร์' ระบุหลัง รธน.40 การตรวจสอบโดยฝ่ายค้านมีกลไกเอื้อมากขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรูปแบบในการยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าในปัจจุบันสามารถทำได้ 2 รูปแบบก็คือการยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และการยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งในอดีตที่เรามักจะได้ยินเรื่องการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรทั้งคณะ นั้นปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะว่าเรามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีซึ่งก็มีผลเช่นเดียวกันกับ การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรทั้งคณะแบบในอดีต ทั้งนี้นายจุรินทร์ ระบุว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา กลไกในการตรวจสอบฝ่ายบริหารมีประสิทธิผล ในแง่ผลลัพท์ที่ตามออกมามากขึ้น มากกว่าเดิมที่เมื่อมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จ ลงคะแนน ซึ่งส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐบาลก็มักที่จะได้รับเสียงไว้วางใจเสมอ แล้วก็จบกระบวนการตรวจสอบเป็นครั้งๆ ไป แต่หลังจาก รธน.40 เป็นต้นมา กระบวนการตรวจสอบหลังการอภิปรายไม่ไว้วางจะมีกลไกต่อเนื่องคือ หากมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจใน 3 ข้อกล่าวหา คือ 1.ร่ำรวยผิดปกติ 2.ทุจริต และ 3.ทำผิดกฎหมาย ถ้าเข้าข้อใดข้อหนึ่ง หรือสองในสาม หรือทั้งสามข้อ จะยื่นญัติไม่ไว้วางใจไม่ได้ จนกว่าจะไปยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่อประธานวุฒิสภาก่อน เพื่อให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ปปช. เพื่อทำการไต่สวน โดยการไต่สวนโดยคณะกรรมการ ปปช. นั้นถ้าพบว่าไม่มีมูลก็เป็นการยุติเรื่อง แต่ถ้าพบว่ามีมูล ปปช. ก็จะส่งเรื่องข้อกล่าวหา หรือผลการไต่สวนที่มีมูลกลับมาที่วุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือ รัฐมนตรี และหากเป็นความผิดทางอาญา ปปช. ก็ต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาฟ้องร้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดี อาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองต่อไป "ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมานั้น รัฐธรรมนูญได้ออกแบบเอื้อต่อการตรวจสอบถ่วงดุลย์ฝ่ายบริหารมากกว่าในอดีต ที่เมื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จ ยกมือแล้วก็เลิกรากันไป แต่เที่ยวนี้ฝ่ายค้านแพ้เรื่องก็ไม่จบ ถ้าเกี่ยวกับเรื่องทุจริต" นายจุรินทร์ กล่าว แต่ทั้งนี้นายจุรินทร์ชี้ว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ยังพบกับปัญหาและ อุปสรรค และข้อจำกัดอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องเสียงที่ รธน. กำหนดไว้ในการยื่นญัติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ต้องใช้จำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในห้าของ ส.ส. ทั้งหมด ถ้าไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีก็ต้องใช้เสียงหนึ่งในหก เป็นต้น น.ศ. ป.โ ท ศึกษา การตั้งกระทู้ในระบบสภาไทย 2551 – 2554 ประชาธิปัตย์ แชมป์ตั้งกระทู้ ในระหว่างการอภิปราย ผู้ดำเนินรายการได้เชิญให้นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ นายปุรวิชญ์ได้เสนอบทความวิชาการในงานประชุมครั้งนี้ บทความที่นายปุรวิชย์เสนอคือ "การตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 (พ.ศ.2551 - 2554) : ศึกษาบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นพิจารณา และความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี" ซึ่งตัดมาจากรายงานการศึกษาเรื่องการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง ของนายปุรวิชญ์เอง นายปุรวิชญ์ว่าในงานวิชาการด้านรัฐาสตร์ของไทยมีการศึกษาเรื่องการตั้ง กระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร น้อยมาก ตนเองจึงมีความสนใจที่จะศึกษา ทั้งนี้ในงานศึกษาของปุรวิชญ์พบว่ากระทู้ที่สมาชิกรัฐสภาตั้งขึ้นมาถามฝ่าย บริหารนั้นจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือหากเป็นฝ่ายค้านก็จะถามเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็จะถามเรื่องสาธารณูปโภคในเขตเลือกตั้งของตน โดยการตั้งกระทู้ถามทั่วไปและกระทู้ถามสดรวมกันของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ระหว่าง พ.ศ.2551 – 2554 นั้น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้รวม 314 กระทู้ และ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้รวม 175 กระทู้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สุรพศ ทวีศักดิ์: ภาวะย้อนแย้งในพุทธศาสนาไทยๆ Posted: 11 Nov 2012 06:34 AM PST ภาวะย้อนแย้ง (paradox) ในตัวเองของพุทธศาสนาไทยๆ กลุ่มต่างๆ มีความสลับซับซ้อนไม่แพ้ความสลับซับซ้อนภายในกลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ เช่น 1) ภาวะย้อนแย้งในตัวเองของพระสงฆ์ที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดง ในปี 53 ผมทำวิจัยเรื่อง "ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน" พบว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดง แต่พระสงฆ์เหล่านี้คือพระสงฆ์กระแสหลักสังกัดมหาเถรสมาคม ซึ่งมหาเถรสมาคมคือองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ที่มีบทบาทหลักในการปกป้อง "พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ด้วยการสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านคำเทศนา พิธีกรรม และกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือ พระที่เป็นแกนนำหลักในการจัดการชุมนุมของพระสงฆ์ร่วมกับคนเสื้อแดงในปี 53 เป็นพระที่มีบทบาทประสานงานทั้งกับแกนนำ นปช. พระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม แม้กระทั่งสามารถโทรศัพท์สายตรงถึงคุณทักษิณได้ด้วย แน่นอนว่า การชุมนุมปี 53 น่าจะได้รับไฟเขียวจากระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมด้วยเช่นกัน นี่คือความย้อนแย้งประการหนึ่ง เป็นความย้อนแย้งระหว่างสถานะของพระสงฆ์ผู้มีบทบาททางการสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม กับบทบาทของพระสงฆ์ที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้น ยังมีความย้อนแย้งที่ซับซ้อนขึ้นอีก เมื่อวาระการต่อสู้ของพระสงฆ์ที่ชุมนุมสนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงมีการแอนตี้สันติอโศกอยู่ด้วย มีความคาดหวังเรื่องการบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอยู่ด้วย มีความคาดหวังความง่ายขึ้นในการผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อพุทธศาสนาผ่านรัฐบาลพรรคการเมืองที่กลุ่มตนสนับสนุนอยู่ด้วย รวมทั้งความย้อนแย้งระหว่างการสนับสนุนการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย กับการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น กรณีที่พระแกนนำของพระสงฆ์ที่สนับสนุนเสื้อแดงออกมากดดันให้ คำ ผกา กล่าวขอขมาคณะสงฆ์ เพราะไปวิจารณ์การสวดมนต์ข้ามปีในรายการ "คิดเล่น เห็นต่าง" เป็นต้น 2) ความย้อนแย้งในตัวเองของธรรมกาย โดยภาพลักษณ์ที่ปรากฏ ธรรมกายคือกลุ่มชาวพุทธที่มีวัฒนธรรมการจัดการองค์กรแบบสมัยใหม่ ทว่าความย้อนแย้งประการหนึ่งคือ โครงสร้างการบริหารของธรรมกายเป็นประชาธิปไตยภายใต้ "เจ้าอาวาสผู้ทรงคุณวิเศษ" เหนือสามัญมนุษย์ เจ้าอาวาสคือ "พระราชาในวัด" (คำเปรียบเทียบของ อ.มโน เลาหวนิช) ที่ทรงอำนาจบารมีเหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ ความเป็นประชาธิปไตยภายในกลุ่มธรรมกายจึงมีได้ในระดับต่ำกว่าเจ้าอาวาสลงมา ความย้อนแย้งอีกประการคือ ธรรมกายดูเหมือนมีแนวทางการเผยแผ่พุทธศาสนา และการบริหารจัดการที่เป็นอิสระจากมหาเถรสมาคม ทว่าก็ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม อาศัยคอนเนกชั่นกับพระผู้ใหญ่ในสมาเถรสมาคมในการทำโปรเจคต์ใหญ่ๆ ทางพุทธศาสนาระดับชาติ รวมทั้งศักยภาพของธรรมกายน่าจะเป็นศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐที่สามารถบริหารจัดการตนเองในรูปองค์กรเอกชนได้สบายๆ แต่ธรรมกายก็อาศัยความเป็นองค์กรศาสนาที่ขึ้นต่อรัฐเป็นฐานสร้างคอนเนกชั่นกับระบบราชการ นักการเมือง พรรคการเมืองเพื่อสร้างโปรเจคต์ต่างๆ ระดับชาติเกี่ยวกับการจัดคอร์สปฏิบัติธรรม และอื่นๆ ในขณะเดียวกันธรรมกายดูเหมือนสนับสนุนพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง แต่วัฒนธรรมองค์กรของธรรมกายก็ไม่ใช่วัฒนธรรมประชาธิปไตย ความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของธรรมกายไม่ปรากฏต่อสาธารณะเลย 3) สันติอโศกเป็นพุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ เนื่องจากไม่ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐผ่านสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติและกรมการศาสนา ในแง่นี้สันติอโศกจึงดูเป็นพุทธฝ่ายก้าวหน้า ทว่าวาระทางการเมืองระดับชาติกลับล้าหลัง เพราะแทนที่จะสนับสนุนการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย กลับต่อสู้เพื่อปกป้องอุดมการณ์ราชาชาตินิยม สันติอโศกที่แอนตี้มหาเถรสมาคมกลับทำหน้าที่เสมือนมหาเถรสมาคม คือทำหน้าที่สนับสนุนพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ในอดีตสันติอโศกเคยต่อสู้เพื่อเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้มีอิสรภาพจากระบบเผด็จการขุนนางพระที่ขึ้นต่ออาวุโสทาง "สมณศักดิ์" ทว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 6 ปี ที่ผ่านมา สันติอโศกกลับออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจอันเป็นที่มาของระบบอำนาจที่เคยกดขี่ตน ภาวะย้อนแย้งในตัวเองของชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ดังกล่าว ส่งผลให้พุทธศาสนาไทยๆ ไร้พลังทางศีลธรรมที่จะชี้ทางสว่างแก่สังคมใน "สถานการณ์เปลี่ยนผ่าน" อย่างสิ้นเชิง เพราะศีลธรรมที่พุทธไทยๆ แสดงมักเป็นศีลธรรมแห่ง "การเมืองทางศาสนา" ที่มีวาระมุ่งความมั่นคง มุ่งแสวงหาความศรัทธาในแนวทางเฉพาะของตน และผลประโยชน์ของกลุ่มตน มากกว่าที่จะมุ่งยืนยันสัจจะ ความเป็นเป็นธรรม และอิสรภาพจากการถูกครอบงำกดขี่ทุกรูปแบบ ฉะนั้น หากพุทธศาสนาดั้งเดิมเกิดขึ้นเพื่อปลดปล่อยมนุษย์สู่เสรี พุทธศาสนาไทยๆ ก็กำลังทำหน้าที่ตรงข้าม คือทำการปลูกฝังให้ผู้คนบูชาความศักดิ์สิทธิ์ของระบบที่พันธนาการมนุษย์! ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: มาตรา 112 กฎหมายป่าเถื่อน Posted: 11 Nov 2012 06:26 AM PST เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีทิ่นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา ๑๑๒ (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)และความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ"ยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย" คุณสุรภักดิ์จึงได้รับอิสรภาพในวันเย็นนั้นเอง คดีนี้ ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ เจ้าพนักงานชุดจับกุมของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในชุดนอกเครื่องแบบประมาณ ๑๐ คน ได้บุกเข้าจับกุมนายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง วัย ๔๐ ปี โปรแกรมเมอร์อิสระ ชาวจังหวัดบึงกาฬ ที่ห้องพักในซอยมหาดไทย ลาดพร้าว โดยกล่าวหาว่า คุณสุรภักดิ์กระทำความผิด เพราะเป็นเจ้าของเฟซบุคชื่อ "เราจะปกครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร" ซึ่งมีการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางการตำรวจได้ตรวจยึดคอมพิวเตอร์แบบพกพา คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แอร์การ์ด รวมทั้งแผ่นซีดีไปด้วย กรณีนี้ เป็นการจับกุมผู้ต้องหากรณี ๑๑๒ เป็นคดีที่สองในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากคดีนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังการจับกุม ได้มีการอ้างจากกลุ่มล่าแม่มดทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชื่อ "เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์" ;ว่าเป็นผู้ข้อมูลแจ้งความให้เกิดการจับกุม จากนั้น ได้โพสต์ข้อความในสนทนาการเมืองเสรีไทยว่า "วันนี้สิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไม่เคยส่งผลทำร้ายประชาชนคนไทยที่เป็นปกติชนเลย แต่กฎหมายนี้จะบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคล กลุ่มคน ที่มีจิตใจ มีพฤติกรรมในการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่เราเคยได้รับแจ้งมา ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อภาพที่ไม่เหมาะสม การเผยแพร่คลิปเสียงที่ เป็นข้อมูลที่ผิดและบิดเบือนมาเผยแพร่ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กฎหมายมาตรานี้จึงจะมีผลบังคับใช้ ฉะนั้นแล้วก็อย่ามาโอดครวญ จงก้มหน้ายอมรับโทษกับผลกรรมที่ตัวเองได้ทำไว้" แต่วันนี้ เมื่อศาลยกฟ้องกรณีคุณสุรภักดิ์แล้ว ไม่รู้ว่ากลุ่มล่าแม่มดทางอินเตอร์เนตจะมีความสำนึกอะไรหรือไม่ แม้ว่าในวันนี้ศาลจะยกฟ้องและได้รับการปล่อยตัว แต่ปัญหาจากกรณีนี้ยังมีอยู่หลายประการ ตั้งแต่เรื่องการติดคุกฟรี เพราะคุณสุรภักดิ์ถูกคุมขังตั้งแต่หลังการจับกุม เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงเท่ากับว่า คุณสุรภักดิ์ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำโดยปราศจากความผิดมาแล้ว ๑๔ เดือน คุณสุรภักดิ์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่มาตราในรัฐธรรมนูญกลับกับมีค่าไม่เท่ากัน การไม่ได้รับการประกันตัวทำให้เขามีความยากลำบากในการต่อสู้คดีอย่างมาก การถูกคุมขังทำให้สูญเสียทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการงาน ครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเยียวยาได้ ทั้งที่รัฐไทยมีงบประมาณปกป้ององค์กรต่างๆ มากมายแต่กลับไม่มีการปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ปัญหาที่มากกว่านั้นก็คือ ในโลกนานาชาติ คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สมัยใหม่แห่งเสรีภาพทางความคิด ไม่มีประเทศที่ก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยประเทศไหน จะมีการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดทางคอมพิวเตอร์เช่นนี้ นอกจากประเทศอย่าง พม่า จีน และ เกาหลีเหนือ ดังนั้น การใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ร่วมกับกฎหมายมาตรา ๑๑๒ มาควบคุมความคิดของประชาชนจึงเป็นเรื่องล้าหลัง และมาจากรากฐานความคิดแบบด้านเดียว ปัญหาของมาตรา ๑๑๒ โดยรากฐานแล้วเป็นกฎหมายป่าเถื่อน เพราะมีบทลงโทษที่หนักเกินจริง และกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่เป็นกฎหมายผลพวงเผด็จการ เพราะแต่เดิมมา กฎหมายนี้มีบทลงโทษให้จำคุกไม่เกิน ๗ ปี แต่หลังจากการรัฐประหารในกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งเป็นการยึดอำนาจหลังการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน คณะผู้ยึดอำนาจซึ่งใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกคำสั่งฉบับที่ ๔๑ ให้มีการเพิ่มโทษในมาตรา ๑๑๒เป็น"จำคุกตั้งแต่ ๓ ปีถึง ๑๕ ปี" ประเด็นสำคัญคือ กฎหมายนี้ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชนที่คิดแตกต่าง โดยเฉพาะตั้งแต่หลังจากรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นมา ที่มากเป็นกรณีพิเศษคือ ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการกลั่นแกล้ง กล่าวหา และกวาดล้างประชาชนด้วยข้อหาตามมาตรา ๑๑๒ มากที่สุด จนทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกจับกุม และศาลก็ได้ร่วมมือในการใช้กฎหมายเผด็จการนี้ ด้วยการห้ามการประกันตัวสำหรับ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้แทบทั้งหมด จนทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตในคุกมาแล้ว เช่น กรณีอากง หรือ นายอำพน ตั้งนพคุณ และจนถึงขณะนี้ ก็ยังมีผู้บริสุทธิ์ติดคุกภายใต้กฎหมายนี้ เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลป์กุล สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ในระยะต้นปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดยกลุ่มนิติราษฎร์ ได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรา ๑๑๒ เพือรวบรวมรายชื่อประชาชนในเวลา ๑๑๒ วัน เพื่อให้มีการพิจารณาปฏิรูปกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ให้ลดความป่าเถื่อนและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในที่สุด ก็สามารถรวบรวมเสียงประชาชนได้ ๓๙,๑๘๕ รายชื่อ และเสนอต่อประธานรัฐสภาให้พิจารณาในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ จากนั้น เรื่องในรัฐสภาก็เงียบหายไป จนกระทั่งมีรายงานข่าวเมื่อปลายเดือนตุลาคม จากเว็บไซต์รัฐสภาว่า ประธานรัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายนนี้ เนื่องจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ จึงจะไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ ในวาระการประชุมรัฐสภา ปรากฏว่า มีปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของประธานสภา จากนักวิชาการคณะครก.๑๑๒ และ สื่อมวลชนบางส่วน บ้างก็ตั้งคำถามต่อการที่ประธานสภาคนเดียวมีข้อวินิจฉัยมากกว่าเสียงประชาชนที่ลงชื่อหลายหมื่นคน ดังนั้น นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้แถลงเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนนี้ว่า การขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ และอธิบายว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจในเรื่องนี้เพียงตัวคนเดียวไม่ได้ ข้อสรุปที่เกิดขึ้นผ่านการพิจารณาจากฝ่ายข้าราชการประจำ อีกทั้งนายนิคม ไวรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา ก็ได้ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน จึงอยากเรียกร้องให้บุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะชนหยุดการแสดงความคิดเห็นในลักษณะผิดๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและขาดความศรัทธาในระบบรัฐสภาของไทย แต่ปัญหาที่ประธานสภาสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ไม่ได้อธิบายคือ ผลกระทบที่กฎหมายป่าเถื่อนฉบับนี้ กลายเป็นเครื่องมือลงโทษผู้บริสุทธิ์ และยิ่งกว่านั้น ข้อเสนอปฏิรูปกฎหมาย ๑๑๒ ของคณะนิติราษฎร์ นับว่าเป็นข้อเสนอที่อ่อนและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยมากที่สุด สมควรที่จะพิจารณาที่สุด และตราบเท่าที่กฎหมายป่าเถือนเช่นนี้ ไม่ได้ถูกแก้ไขหรือยกเลิก สังคมไทยก็คงจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมแห่งความมืดในด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 4 - 10 พ.ย. 2555 Posted: 11 Nov 2012 06:21 AM PST ปลัดแรงงานส่ง อสส.และกรมบัญชีกลางเคลียร์ปม สปส.ลงทุน ตปท.
ส.อ.ท.เตรียมเข้าพบเลขาฯ ครม.ขอชะลอการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้าง
สายสามัญโอกาสเตะฝุ่นสูง ปริญญาตรีครองตำแหน่งตกงานมากที่สุด
"เผดิมชัย"แจงประกาศค่าจ้าง 300 บาทยังไม่เข้า ครม. เหตุรอกระทรวงอื่น
"ศุภชัย" แนะใช้มาเลเซียโมเดลอุ้มนายจ้าง กกร.ตั้งทีมศึกษาค่าแรงชงยืด 3 ปี
โรงงานแป้งมันโคราชลดกำลังผลิต ลอยแพพนักงานกว่า 100 ชีวิต
"กรมศิลป์"วิกฤติหนักบุคลากรเฉพาะทางขาดอื้อ
รมว. แรงงานยันค่าแรง 300 บาท ดีเดย์ 1 ม.ค.56 ทั่วปท.แน่นอน
เฮ ! ก.แรงงานไฟเขียวขึ้นค่าแรง น.ร.-นศ. เป็น 40 บ./ชม. มีผล 1 ม.ค.56
เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในคูเวตกว่า 100 คนไม่ได้รับค่าจ้าง-กลับไทยไม่ได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 4 - 10 พ.ย. 2555 Posted: 11 Nov 2012 06:20 AM PST ปลัดแรงงานส่ง อสส.และกรมบัญชีกลางเคลียร์ปม สปส.ลงทุน ตปท.
ส.อ.ท.เตรียมเข้าพบเลขาฯ ครม.ขอชะลอการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้าง
สายสามัญโอกาสเตะฝุ่นสูง ปริญญาตรีครองตำแหน่งตกงานมากที่สุด
"เผดิมชัย"แจงประกาศค่าจ้าง 300 บาทยังไม่เข้า ครม. เหตุรอกระทรวงอื่น
"ศุภชัย" แนะใช้มาเลเซียโมเดลอุ้มนายจ้าง กกร.ตั้งทีมศึกษาค่าแรงชงยืด 3 ปี
โรงงานแป้งมันโคราชลดกำลังผลิต ลอยแพพนักงานกว่า 100 ชีวิต
"กรมศิลป์"วิกฤติหนักบุคลากรเฉพาะทางขาดอื้อ
รมว. แรงงานยันค่าแรง 300 บาท ดีเดย์ 1 ม.ค.56 ทั่วปท.แน่นอน
เฮ ! ก.แรงงานไฟเขียวขึ้นค่าแรง น.ร.-นศ. เป็น 40 บ./ชม. มีผล 1 ม.ค.56
เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในคูเวตกว่า 100 คนไม่ได้รับค่าจ้าง-กลับไทยไม่ได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 11 Nov 2012 03:06 AM PST ที่มาของภาพประกอบ: Rachakhomloy (1) ก่อนหน้าจะถึงช่วงยี่เป็งของปีนี้ (บรรยากาศคึกคักกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากมีทั้งคนกรุงเทพฯ และคนจังหวัดอื่นๆ ที่หนีภัยน้ำท่วมขึ้นมาอยู่ที่เชียงใหม่จำนวนมาก) หลายสัปดาห์ สองข้างทางกลับบ้านผมเต็มไปด้วยแผงขายโคมลอย หลายร้านเลือกที่จะเอาโคมลอย ลายหมีแพนด้าบ้าง ลายโดเรมอนบ้าง ลายแองกี้เบิร์ดบ้าง มาแขวนเรียกลูกค้า แน่นอน ตลอดหลายปีมานี้ มีบ่อยครั้งที่ผมเห็นภาพโคมไฟลอยอยู่เต็มท้องฟ้า ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลลอยกระทงเท่านั้น แต่ยังพบได้ในโอกาสสำคัญอื่นๆ อีก เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา คืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามร้านอาหารขันโตก เป็นต้น พอจำได้ว่าตอนเด็กๆ เห็นโคมเมื่อใดเป็นตื่นเต้นกันทั้งห้อง ต้องขออนุญาตครูวิ่งออกมายืนดูที่ระเบียง เท่าที่ยังจำได้ตอนนั้นจะเจอโคมส่วนใหญ่ช่วงกลางวัน และรูปทรงจะแตกต่างจากตอนนี้อยู่มาก ทั้งขนาดและวัสดุที่ใช้ มาลองๆ ทบทวนดูว่า ผมเองเคยเห็นภาพแบบนี้ (โคมลอยเต็มฟ้า) ครั้งแรก และมีประสบการณ์ร่วมเมื่อใด คำตอบข้อแรกคือ เห็นในพิธีปิดกีฬาซีเกมส์ที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่ เมื่อปี 38 หรือประมาณ 15 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นซัก 2 ปี ผมถึงได้ไปปล่อยโคม (น่าจะเป็น) ครั้งแรกในชีวิตที่ธุดงคสถานล้านนา (สาขาของวัดพระธรรมกาย อยู่หลังมหาวิทยาลัยแม่โจ้) เป็นคำตอบข้อหลัง งานนั้นคนเยอะมากๆ และโคมก็ไม่ต้องเตรียมไป แต่หาซื้อในงานได้เลย
(2) เมื่อค่ำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2554 จากวงเสวนา "ยี่เป็งเมื่อตะก่อน" โดย อ.นิคม พรหมมาเทพย์, อ.แสวง มาละแซม และ อ.บุญวรรณี วิริยะ สะท้อนแง่มุมจากคนแต่ละรุ่น ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง จัดที่ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ (ใกล้ๆ โรงเรียนยุพราชฯ) เนื้อหาพอสรุปได้ว่า 1.ประเพณีเดือน "ยี่เป็ง" เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในวันเป็ง (วันพระจันทร์เต็มดวง หรือวันเพ็ญ) เดือนยี่ (เดือนสองของล้านนา หรือเดือนสิบสองของทางภาคกลาง) หลังจากออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน 2.เทศกาลยี่เป็งในอดีตเน้นการฟังเทศน์ใหญ่ (เทศน์มหาชาติ หรือตั้งธรรมหลวง) มักเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก ชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา ซึ่งจะถือเป็นการฟังธรรมครั้งสำคัญประจำปี อาจกินเวลานาน ตั้งแต่ 3-7 วันติดกัน ขึ้นอยู่กับศรัทธาญาติโยมในแต่ละพื้นที่ 3.สัญลักษณ์ต่างๆ นานาที่เห็น ไม่ว่าจะประตูป่า โคมลอย โคมไฟ สะตวง (หรือกระทง) ผางประทีป ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อพุทธบูชา เช่น การตกแต่งประตูป่าก็ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการต้อนรับพระเวสสันดรเดินทางกลับเข้าสู่เมืองใน ชาติสุดท้าย, การจุดผางประทีปที่วัด ตามบ้าน ก็เพื่อบูชาพระรัตนตรัย, การลอยสะตวง (เช่นแบบดั้งเดิมเก้าห้อง) ที่ทำด้วยใบตองและกาบกล้วยแบ่งเป็นช่องๆ สำหรับใส่ของบูชาต่างๆ ลงสู่แม่น้ำ คือการบูชารอยพระบาทพระพุทธเจ้า และลอยเคราะห์หลวง 4.กิจกรรมเน้นการแข่งขันและความบันเทิง เช่น ขบวนแห่กระทงใหญ่ การประกวดนางนพมาศ จุดบอกไฟ เป็นกิจกรรมที่ส่วนกลางริเริ่มให้จัดขึ้น เพื่อใช้ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว น่าจะมีมาตั้งแต่ราวๆ ต้นทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา 5.เมื่อไฮไลท์ของเทศกาลนี้อยู่ที่ตัวเมือง ท้องถิ่นรอบนอกย่อมถูกละเลย หลายชุมชนต้องเลื่อนมาจัดงานยี่เป็งก่อนหน้าวันจริงนานนับสัปดาห์ เพื่อจะไม่ให้ไปชนกับงานใหญ่ในเมือง เป็นต้น
(3) ปรากฎการณ์โคมยี่เป็ง จากที่เห็นวางขายอยู่สองข้างทางกระทั่งไปล่องลอยอยู่เต็มฟากฟ้านั้น สามารถใช้สะท้อนรูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่า การทำวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า (commoditization of culture) ได้เป็นอย่างดี อ.นิคม ผู้อาวุโสสูงสุดในวงเสวนาวันนั้น เล่าว่าจริงๆ แล้ว โคมนั้นแบ่งกว้างๆ ได้ 2 ชนิด คือ โคมลอยกับโคมไฟ โคมลอย (แบบที่ผมเคยเห็นตอนเด็กๆ) ใช้ปล่อยในเวลากลางวัน ทำด้วยกระดาษหลากสีสันมาต่อกัน ทรงคล้ายๆ บอลลูน และใช้วิธีการรมควันให้โคมลอยขึ้นไป ส่วนที่ปล่อยตอนกลางคืนจะเรียกว่า โคมไฟ (แบบเดียวกับที่ขายกันทั่วไปทุกวันนี้) ตัวโคมจะทำด้วยกระดาษสีขาวเพื่อให้เห็นแสงไฟข้างใน เชื่อกันว่าปล่อยโคมเพื่อให้ไปบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในอดีตมักร่วมกันทำโคมและปล่อยในนามกลุ่ม ในนามชุมชน เป็นกิจกรรมรวมหมู่ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่กิจกรรมแบบปัจเจกที่ใครคิดจะปล่อย-จะปล่อยเมื่อใดก็ได้ตามสบายอย่างเช่นปัจจุบัน ทุกวันนี้คนปล่อยโคมส่วนใหญ่นอกจะปล่อยกันด้วยความสนุกสนาน และความไม่รู้ (เช่นไปเรียกโคมไฟว่าเป็นโคมลอย) แล้ว การปล่อยโคมที่มากเกินไป และไร้ระเบียบ ยังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศ มลพิษทางอากาศ อุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงอัคคีภัย ฯลฯ เราคงยากที่จะไปห้ามใครต่อใครไม่ให้ปล่อยโคมกันอีก ในเมื่อการพาณิชย์ได้เข้าครอบงำประเพณีในอดีตเสียขนาดนั้น แต่อย่างน้อย การทำงานร่วมกันเพื่อรื้อฟื้นความรู้เก่าๆ ให้กลับมา ย่อมทำให้คนที่จะปล่อยโคมต่อไปได้รู้ถึงที่มาที่ไป และตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ไม่มากก็น้อย.
เผยแพร่ครั้งแรกในเชียงรายทูเดย์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 28 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2554, หน้า 14 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น