ประชาไท | Prachatai3.info |
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ศึกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
- ‘ปิดประเทศ’ ปิดกั้น เสรีภาพ เหตุผล ศักดิ์ศรีความเป็นคน
- รัฐชาติ(แบบไทยๆ) และขบวนการไอติมกู้ชาติ
- นักวิชาการชี้ ไทยยังขาดกลไกทางกม. รองรับประชาคมศก.อาเซียน
- 'ยูกันดา' เล็งผ่าน กม.ต้านเกย์ เป็น 'ของขวัญคริสต์มาส'
- Ai Wei Wei Never Sorry
- ศาลให้รับแกนนำคนงาน 'ชั้นในจินตนา' กลับเข้าทำงาน พร้อมจ่ายค่าแรงย้อนหลัง
- 'รากหญ้าอาเซียน' ชุมนุมหน้าสภากัมพูชา เรียกร้องขอมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ศึกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ Posted: 16 Nov 2012 10:04 AM PST หลังจากที่ได้บริหารประเทศมา 14 เดือน ในที่สุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เผชิญกับการต่อต้านครั้งสำคัญครั้งแรก จากพลังของกลุ่มฝ่ายขวา โดยองค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่ายได้ประกาศจะจัดการชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาล ในคำขวัญว่า "เผด็จศึกตระกูลชิน" พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ผู้นำการจัดเตรียมการชุมนุม ได้ประกาศว่า การชุมนุมใหญ่จะมีขึ้นในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยใช้เวลา 9.01 น. เป็นเวลาเริ่มต้น ด้วยเหตุผลที่ พล.อ.บุญเลิศย้ำว่า "เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย 901 ท่านทั้งหลายก็คงทราบแล้วว่าเลขนี้หมายถึงอะไร" และว่า นี่จะเป็นการชุมนุมครั้งสุดท้าย จะไม่มีการเคลื่อนขบวนไปยังตามจุดต่างๆเพราะไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อน และการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อจะจบลงภาย 1-2 วัน ข้อที่น่าสังเกตคือ การชุมนุมครั้งนี้ขององค์กรพิทักษ์สยามและเครือข่าย จะประสานและสอดคล้องกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25-26 พฤศจิกายน นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ส่งสัญญานไฟเขียวสำหรับการชุมนุม โดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกของกลุ่มพันธมิตร ได้อธิบายในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ว่า ทางกลุ่มพันธมิตรจะให้กำลังใจกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ และเปิดทางให้ปัจเจกบุคคลของกลุ่มพันธมิตรที่จะใช้วิจารณญาณในการเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า กระแสล้มรัฐบาลของพลังฝ่ายขวาครั้งนี้สามารถสร้างเอกภาพระหว่างกลุ่มที่แตกแยกกันได้พอสมควร ทางฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการประเมินสถานการณ์ และเตรียมรับมือพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้แถลงว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมพร้อมรับมือการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามแล้ว เพื่อความรอบคอบและไม่ประมาท และ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็อธิบายว่า มีความเป็นไปได้ว่า มีกลุ่มทุนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เป็นไปตามกำหนดการเคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และแช่แข็งประเทศไทย ๕ ปี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มของการปิดประเทศที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนัก ในภาวะเช่นนี้ ได้มีเพื่อนพ้องหลายคนตั้งคำถามกันว่า ในฐานะของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เราควรจะทำอย่างไร ควรจะสร้างการชุมนุม หรือม๊อบขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐบาลไหม หรือจัดชุมนุมแสดงกำลังให้เห็นว่า พลังของคนเสื้อแดงนั้นมีมากกว่าพลังของฝ่ายองค์การพิทักษ์สยามจะดีไหม ในกรณีนี้ ผมอยากเสนอว่า ไม่มีความจำเป็นที่คนเสื้อแดงจะต้องทำการเคลื่อนไหวอย่างใด ปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปภายใต้การควบคุมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะดีกว่า สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจประการแรกก็คือ การชุมนุมเคลื่อนไหวมวลชนแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ซึ่งในกรณีนี้ได้พิสูจน์มาแล้วหลายครั้ง เช่น การเคลื่อนไหวมวลชนจำนวนมหาศาลเพื่อขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ ก็ไม่สำเร็จ หากแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณยุติลงเพราะการรัฐประหาร แม้กระทั่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ ที่กลุ่มพลังฝ่ายเสื้อเหลืองยังเข้มแข็งและเป็นเอกภาพมากกว่านี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้จัดการชุมนุมประชาชนอย่างต่อเนื่องถึง ๑๙๓ วัน เพื่อล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดยนายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทั้งที่การชุมนุมครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ในที่สุดการชุมนุมก็ไม่สามารถสร้างแรงบีบให้รัฐบาลพ้นจากหน้าที่ได้ จนต้องอาศัยการดำเนินการของศาล ๒ ครั้ง และให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงช่วยจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร จึงทำให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนสิ้นสุดลง ในครั้งนี้ การชุมนุมของฝ่าย พล.อ.บุญเลิศยังมีพลังน้อยกว่า กลุ่มพันธมิตรเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ การคุกคามต่อเสถียรภาพของรัฐบาลที่เป็นจริงจึงแทบจะไม่มี ประการต่อมา การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ก็แทบจะไม่มีประเด็นสำคัญ เรื่องที่โจมตี เช่น นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล ก็เป็นเพียงความคิดที่แตกต่างในทางนโยบาย ความพยายามอ้างว่า รัฐบาลทำการทุจริตคอรับชั่นอย่างมากมาย ก็ไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือ ยิ่งกว่านั้น ภาพลักษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในขณะนี้ ก็ตกต่ำ เสียหายยิ่งกว่านายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์หลายเท่า คดีความที่แวดล้อมนายอภิสิทธิ์ก็หนักหนาสาหัสจนแทบเอาตัวไม่รอด ขณะที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ยังไม่มีมลทินแปดเปื้อน การโจมตีส่วนตัว แทบจะกลายเป็นเรื่องของความอิจฉาริษยาอันไร้เหตุผลเท่านั้น โอกาสเป็นไปได้ที่จะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเพียงแต่ว่า จะต้องใช้อำนาจนอกระบบ เช่น สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งขณะนี้ ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะกระแสรัฐประหารสร้างไม่ขึ้น กองทัพไม่มีความชอบธรรมที่จะยึดอำนาจ หรือถ้าหากว่าจะให้ศาลเข้ามาแทรกแซงล้มรัฐบาลอย่างที่เคยเป็นมา ก็เป็นไปได้ยากขึ้นมาก เช่น ถ้าใช้การยุบพรรคเพื่อไทย รัฐบาลก็ไม่ล้ม เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นกรรมการพรรค จะหากลุ่มในพรรคเพื่อไทยแปรพักตร์ไปสนับสนุนฝ่ายค้านให้มีเสียงมากพอที่จะล้มรัฐบาลก็ยากมาก อีกประการหนึ่ง ถ้าหากว่า กลุ่มของพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ จะใช้วิธีการเช่นฝ่ายพันธมิตร เช่น ใช้กำลังผู้ชุมนุมไปยึดทำเนียบ ยึดรัฐสภา ปิดถนนสีลม หรือยึดสถานที่สำคัญอื่นจะทำได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ แต่ล้มรัฐบาลไม่ได้ ในทางตรงข้ามกลับยิ่งทำให้การชุมนุมสิ้นความชอบธรรม และรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยิ่งมีความชอบธรรมมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่คนเสื้อแดง หรือฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องไปเคลื่อนไหวปกป้องรัฐบาล หรืออธิบายอีกด้านหนึ่งว่า ในขณะนี้ พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมีกลไกรัฐอยู่ในมือตามสมควร ถ้ายังไม่มีบทเรียน และไม่สามารถปกป้องตนเองจากการชุมนุมมวลชนในระดับนี้ ก็สมควรปล่อยให้รัฐบาลพังไปตามสภาพ ฝ่ายประชาชนไปตามอุ้มตลอดกาลคงไม่ไหว เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลก็เอาแต่ถอยให้ฝ่ายอำมาตย์ ศาล และกองทัพ จนได้ฉายาว่า "พรรคเพื่อถอย"อยู่แล้ว คงต้องหัดให้รัฐบาลต่อสู้เสียบ้าง ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายประชาชนมีภารกิจอื่นที่จะต้องทำ เช่น การเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนส่วนข้างมากตาสว่างมากขึ้น ภารกิจผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เรื่องการต่อสู้ให้ปลดปล่อยนักโทษการเมือง และผลักดันนโยบายสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริง การรณรงค์ให้เลิกมาตรา 112 ที่เป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ และ การต่อสู้กับความอยุติธรรมโดยศาล เป็นต้น งานเหล่านี้เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลเพื่อไทยแทบจะไม่ทำ หรือทำก็ไม่จริงจัง ทำให้ภาระตกมาอยู่ในมือประชาชน ดังนั้น ประชาชนคนเสื้อแดงควรเคลื่อนไหวในระเบียบวาระที่เรากำหนดเอง มากกว่าที่จะไปเคลื่อนไหวไล่จับไล่ตามระเบียบวาระของพวกเสื้อเหลือง หรือฝ่ายประชาธิปัตย์ ส่วนการรับมือกับการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม และ มติไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์ ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำ แล้วประชาชนจะจับตามองและเอาใจช่วย
จาก โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่386 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2555
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘ปิดประเทศ’ ปิดกั้น เสรีภาพ เหตุผล ศักดิ์ศรีความเป็นคน Posted: 16 Nov 2012 09:26 AM PST แด่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เหตุผล และศักดิ์ศรีความเป็นคนของเราทุกคน
อิมมานูเอล คานท์ (ภาพจากวิกิพีเดีย) การประกาศขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศ และประกาศปิดประเทศเป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้ประชาชนเข้ามาวางระบบประเทศกันใหม่ของ "องค์กรพิทักษ์สยาม" นั้น สะท้อน "ลักษณะพิเศษ" ของสังคมการเมืองไทยอย่างชัดเจน ลักษณะพิเศษของสังคมใด คือภาพสะท้อน "ค่านิยมทางศีลธรรม" (moral value) ของสังคมนั้น และค่านิยมทางศีลธรรมของสังคมใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับ "หลักจริยศาสตร์สังคม" ที่สังคมนั้นๆ ปลูกฝังอบรมอย่างเป็นพิเศษ หลักจริยศาสตร์สังคมของบ้านเราก็คือ "หลักจริยศาสตร์อำนาจนิยม" ที่สร้างค่านิยมทางศีลธรรมบนรากฐานของ "อำนาจ + อารมณ์" คือ "ความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อชนชั้นปกครอง" ผู้ปกครองคือผู้มีคุณธรรมสูงส่งเหนือสามัญชน มีความรักผู้ใต้ปกครองเสมือนลูก และอุทิศตนเสียสละทำงานหนักเหนื่อยเพื่อความสุขของผู้ใต้ปกครอง ประดุจดังพ่อแม่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อการมีชีวิตที่ดีของลูกๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตัวใดๆ ในขณะที่ผู้ใต้ปกครองซึ่งเปรียบเสมือนลูกต้องรัก จงรักภักดี กตัญญูรู้บุญคุณของผู้ปกครอง กระทั่งพร้อมยอมพลีชีพเพื่อปกป้องผู้ปกครองได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น สำหรับสังคมที่ปลูกฝังค่านิยมทางศีลธรรมบนฐานของอำนาจ + อารมณ์ การแสดงออกหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อชนชั้นปกครองแม้ขัดต่อหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย ผู้คนก็ยอมรับกันโดยไม่ตั้งคำถามว่ามี "ความชอบธรรม" หรือไม่ ปรากฏการณ์พันธมิตร (พธม.) ที่นำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยา 49 จนมาถึง "ม็อบแช่แข็งประเทศ" จึงมีความชอบธรรม (อย่างน้อยไม่ถูกศาลพิพากษาว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนการแก้รัฐธรรมนูญของสภา) เหตุผลของจริยศาสตร์อารมณ์คืออะไร? การอ้างความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อชนชั้นปกครองเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันใช่ "เหตุผล" หรือไม่? ผมคิดว่าเราจะตอบปัญหานี้ได้ดีขึ้น เมื่อเราตอบได้ว่า "เหตุผลคืออะไร" บางคนบอกว่า "เหตุผลคือทาสของอารมณ์ความรู้สึก" หรือความปรารถนาต่างๆ เราตัดสินเรื่องต่างๆ ไปตามอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ อคติต่างๆ ของตนเอง แล้วจึงหาเหตุผลมาสนับสนุนทีหลัง เราไม่ได้เลือกที่จะเชื่อหรือยอมรับว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้มันจริง มันถูกต้องเพราะเราเห็นด้วยเหตุผลว่ามันเป็นเช่นนั้น แต่เราเชื่อหรือยอมรับตามที่เราชอบหรืออยากจะเชื่อ อยากจะยอมรับ ฉะนั้น คุณหมอประเวศ วะสี จึงเคยพูดบ่อยๆ ว่า ถ้าสู้เอาชนะกันด้วยเหตุผลก็ไม่มีใครยอมใคร เพราะแต่ละคนต่างก็มี "เหตุผลของตัวเอง" มันรังแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก หาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ ทางเดินต่อจากเหตุผลจึงควรมี "เมตตา" หรือใช้หัวใจที่มีเมตตา มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน เหมือนสามีภรรยาทะเลาะกัน ถ้าเอาแต่ใช้เหตุผลก็เถียงกันไม่จบ ต้องใช้ความรักความเข้าใจจึงจะอยู่ร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม มีนักปรัชญาบางคนเช่นค้านท์ (Immanuel Kant) นิยาม "เหตุผล" (reason) ต่างออกไป สำหรับค้านท์เหตุผลไม่ใช่ทาสของอารมณ์ความรู้สึก หรือความต้องการต่างๆ แต่เหตุผลหมายถึงการมีเสรีภาพจากอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการต่างๆ หมายความว่าโดยปกติเรายังมีอารมณ์ความรู้สึกรัก โลภ โกรธ เกลียด สัญชาตญาณต่างๆ แต่เราสามารถใช้เหตุผลตัดสินใจเลือกการกระทำที่ถูกต้องอย่างเป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึก และสัญชาตญาณต่างๆ เหล่านั้นได้ เช่น เราเป็นแพทย์ เมื่อมีการนำคนประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัสมาให้เรารักษา เราพบว่าคนบาดเจ็บนั้นคือศัตรูของเรา เขาเพิ่งแย่งแฟนเราไปเมื่อสามวันก่อน เราโกรธมากเกือบจะเอาปืนยิงหัวเขาแล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ถ้าเราทำตามอารมณ์ความรู้สึกเราก็ควรจะปล่อยให้เขาตาย ดีเสียอีกที่คนที่เราเกลียดมากๆ ต้องตายโดยที่เราไม่ต้องลงมือฆ่า แต่เหตุผลบอกเราว่าเราเป็นแพทย์ เรามีหน้าที่รักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าคนป่วยจะเป็นคนที่เรารักหรือเกลียด เราก็ต้องรักษาให้ดีที่สุด เพราะนี่เป็นหน้าที่ของเรา จะเห็นว่าเหตุผลทำให้เราเป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึก และชี้แนะให้เราทำสิ่งที่ถูกต้องตามหน้าที่ของเราคือหน้าที่แพทย์ที่โยงอยู่กับหน้าที่ปกป้องมนุษยธรรม และปกป้องความยุติธรรมที่คนไข้ทุกคนต้องได้รับการรักษาอย่างเสมอภาค (ไม่ว่าคนป่วยนั้นจะเป็นศัตรู เป็นมิตรของเรา หรือเป็นใครก็ตาม) ฉะนั้น คำว่า "เหตุผล" ตามทัศนะของค้านท์จึงไม่ใช่ว่าใครจะอ้างเหตุผลของตัวเองอย่างไรก็ได้ เช่นถ้าแพทย์อ้างว่า "ไอ้คนบาดเจ็บสาหัสใกล้ตายคนนี้มันเป็นศัตรูของผม มันเพิ่งแย่งแฟนผมไป มันสมควรตาย ผมไม่รักษามันหรอก" ข้ออ้างเช่นนี้ย่อมเป็นข้ออ้างที่รับใช้อารมณ์ความรู้สึก หรือข้ออ้างสนองอารมณ์ความรู้สึก จึงไม่ใช่ "เหตุผล" แต่อย่างใด ข้ออ้างต่างๆ (arguments) ที่ถือว่าเป็น "เหตุผล" ในการการตัดสิน "ความถูกต้อง" หรือยืนยันสิ่งที่เรา "ควรทำ" ตามทัศนะของค้านท์ต้องยึดโยงอยู่กับความยุติธรรมที่เป็นสากลบนความเสมอภาค และการเคารพคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ฉะนั้น ข้ออ้างบนฐานของอารมณ์เพื่อปฏิเสธไม่รักษาคนบาดเจ็บของแพทย์จึงไม่ใช่เหตุผล เพราะขัดต่อความยุติธรรมบนความเสมอภาค และไม่เคารพศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ขณะที่ข้ออ้างเรื่องหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องรักษาทุกคน ถือว่าเป็น "เหตุผล" เพราะเป็นอิสระจากเงื่อนไขด้านอารมณ์ความรู้สึก ยืนยันความยุติธรรมบนความเสมอภาค และเคารพศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ จะเห็นว่า การใช้เหตุผลตามทัศนะของค้านท์สนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย ในขณะที่การอ้างความรัก ความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อชนชั้นปกครอง ไม่ใช่ "เหตุผล" ที่ยึดโยงอยู่กับความยุติธรรมบนความเสมอภาค และการเคารพคุณค่าศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ จึงเป็นข้ออ้างที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการประชาธิปไตย ปิดประเทศด้วยการอ้างอิงค่านิยมทางศีลธรรมบนฐานจริยศาสตร์อำนาจ + อารมณ์ดังกล่าว จึงเท่ากับปิดกั้นเสรีภาพ เหตุผล และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน จะว่าไปแล้ว จริยศาสตร์พุทธก็ยืนยันการใช้ปัญญาหรือเหตุผล ที่พุทธศาสนาสอนว่าเราควรมีเมตตาต่อ "สรรพสัตว์" นั้น ย่อมขัดต่ออารมณ์ความรู้สึกตามปกติของเราที่จะรักหรือเมตตาเฉพาะคนหรือสัตว์ที่เรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ปกติเราแทบจะไม่เคยมีประสบการณ์กับ "ความรู้สึกรัก" สรรพสัตว์ (หรือความรู้สึกรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง) อย่างไม่มีประมาณ แต่ทำไมเราจึง "ควร" รักเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ปัญญาหรือเหตุผลต่างหากที่บอกเราว่าควรเป็นเช่นนั้น และแน่นอน ปัญญาหรือเหตุผลย่อมบอกเราเช่นกันว่า "สังคมที่ควรจะเป็น" ไม่ใช่สังคมที่ถูกแช่แข็งอยู่ภายใต้ระบบศีลธรรมอำนาจนิยมที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกรัก จงรักภักดี กตัญญูต่อชนชั้นปกครอง หากแต่ควรเป็นสังคมที่มีความยุติธรรมบนความเสมอภาค การเคารพเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งความเป็นสังคมเช่นนี้คือ "การเดินทาง" ของเราทุกคนที่ยืนยันวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดมคติที่รออยู่ข้างหน้า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รัฐชาติ(แบบไทยๆ) และขบวนการไอติมกู้ชาติ Posted: 16 Nov 2012 09:04 AM PST "พ่อเอ้ย แม่เอ้ย ประเทศไทยเย็นๆมาแล้วจ้า" ประโยคนี้น่าจะเป็นคำโฆษณาของคนขายไอติมคนหนึ่งที่นำมา "เร่ขาย" ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกือบเดือน ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามีรสชาติอะไรให้เลือกบ้าง แต่คงเดาได้ไม่ยากว่ามีกี่รส มีกี่สี มีกลิ่นอะไร แล้วที่สำคัญ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งรุมซื้อไอติมจากคนขายไอติม เอาไปกินกันด้วยนะครับ กินคนเดียวไม่พอยังป่าวประกาศให้คนอื่นๆไปหาซื้อมากินกันด้วย ประมาณว่า "รสชาติที่คุ้นเคย" ได้หวนกลับมาอีกรอบ มีไอติมที่หวานเย็น รสอร่อย แช่แข็งกันมาแล้ว อย่างที่เราเห็นข่าวกันในระยะนี้ ขบวนการไอติม.. เอ้ย องค์กรพิทักษ์สยาม มีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้ง การเชิญชวนให้ "ชาวไทย"[1] ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ของนักการเมือง พรรคการเมือง นายทุนการเมืองสามานย์ทั้งหลายแหล่) ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดของทักษิณ ขับไล่ตระกูลชินวัตรออกนอกประเทศ ต้องการล้มรัฐบาลที่กำลังคอรัปชั่น ไม่สนใจปากท้องประชาชน เอาแต่หาทางล้างผิดให้ทักษิณ โดยเชิดชูอุดมการณ์อันแสนภาคภูมิใจว่าต้องการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่กำลังถูก "จาบจ้วงล่วงละเมิด อาฆาต มาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นขบวนการ โดยนักการเมือง นักวิชาการ สื่อ และมวลชนแนวร่วมของรัฐบาล"[2] และมีการนำเสนอโมเดลทางออกของประเทศไทยอันแสนก้าวหน้าว่ามาร่วม "แช่แข็งประเทศไทย 5 ปี"[3] กันเถอะพี่น้องเอ้ยยย ผมฟังแล้วก็หนาวจริงๆครับ บรื๋ออออ การขายไอติม..เอ้ย (^^") การเสนอขายโมเดลทางวออกของประเทศไทยและการตอกย้ำอุดมการณ์ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ขององค์กรพิทักษ์สยามนั้นก็ยังวนๆเวียนๆอยู่ในตรรกะเหตุผลเดิมๆ มีรสชาติเดิมๆที่เคยกินกันมาเนิ่นนาน เพียงแต่ครั้งนี้เสธ.อ้ายแกประกาศชัดเจนว่ามันเย็นนะ เพราะแช่แข็งมาแล้วจ้า จินตนาการว่าด้วย "ความเป็นชาติ-ความเป็นรัฐ" (Imagined Nation-State) ก็อย่างที่บอกไปแหละครับ คำว่า "ชาติ รักชาติ กู้ชาติ" หรืออะไรก็แล้วแต่ที่องค์กรพิทักษ์สยามนำมาอธิบายอะไรต่อมิอะไรให้วุ่นวาย เพื่อแสดงออกทางอุดมการณ์ให้คนอื่นเห็นว่า "พวกฉันรักชาตินะ" มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ที่สำคัญ การจินตนาการความเป็น รัฐ-ชาติ ของพวกเขาเหล่านั้นหมายถึง "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" มากกว่าเรื่องอื่นๆ และผมคิดว่าในจินตนาการของเขา อะไรก็ไม่สำคัญเท่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่กำลัง "ถูกจาบจ้วง ล่วงละเมิด" โดยนักการเมืองผู้ชั่วช้าเลวทราม โดยตระกูลนักการเมืองที่ชั่วร้าย โดยการเลือกตั้งที่แสนชั่วร้าย โดยพวกเสื้อแดงที่แสนชั่วร้าย โดยนักวิชาการที่ชั่วร้าย โดยประชาชนที่ชั่วร้าย ก่อนจะไปพูดถึงขบวนการไอติมกู้ชาติ ผมขอกระแดะพูดอะไรที่มันเป็นวิชาการกับเขาบ้างนะครับ (จะได้ดูดีมีชาติตระกูล เป็นชนชั้นกลาง ดูมีการศึกษากับเขาบ้าง เพราะชีวิตจริงของผมแลมันดูโง่ จน เจ็บ หาข้าวกินฟรีตามวงประชุมไปวันๆ คริคริ) หากพูดถึงคำว่า รัฐชาติ (Nation State) ที่พวกเราหลายๆคนต่างร่ำเรียนกันมา ท่องจำกันไปสอบแทบเป็นแทบตาย ว่า รัฐชาติ ประกอบด้วยดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย มีรัฐบาล โน่น นี่ นั่น ฯลฯ มันมีความหมายว่าอะไรกันแน่ในทางอุดมการณ์และวัฒนธรรม ? หากคิดถึงคำว่า รัฐชาติ ในมุมมองของนักมานุษยวิทยาการเมือง ผมคิดว่า concept เรื่องความเป็น รัฐชาติ คงไม่ได้ตีความในมุมมองทางรัฐศาสตร์อย่างเดียวเพียวๆแน่ คำว่า รัฐชาติ ในทางมานุษยวิทยาการเมืองมีอะไรที่น่าสนใจมากครับ คือว่าในวงการมานุษยวิทยา (Political Anthropology) เขามองรัฐว่าคือชุดอุดมการณ์ชุดหนึ่ง คือมายาคติ คือจินตนาการของชุมชนการเมืองหนึ่งที่สร้างความเป็น รัฐชาติ ขึ้นมา เช่นในงานมนุษยวิทยาการเมืองโบร่ำโบราณที่ชื่อว่า "African Political System" ของ Fortes และ Evans-Pritchard[4] ซึ่งมีนักวิชาการรุ่นใหญ่คนหนึ่งที่ชื่อว่า Radcliff-Brown เขียนคำนำให้หนังสือเล่มนี้ เขาบอกว่า รัฐ คือมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นเองโดยจินตนาการของคนในชุมชนการเมือง รัฐ มันถูกสมมุติขึ้นมา มันไม่มีอยู่จริง พูดง่ายๆ รัฐ คืออะไรก็ไม่รู้แต่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเอง (พูดให้แรงอีกนิดหนึ่งก็คือถูกตอแหลขึ้นมา) แล้วก็มีนักวิชาการคนอื่นๆมาร่วมแจมในแนวคิดนี้ด้วย เช่น Philip Abrams ในงานเขียน "Notes on the Difficulty of Studying the State"[5] หรือ Pierre Bourdieu "Rethinking the State : Genesis and Structure of Bureaucratic Field"[6] เขาพูดว่า รัฐ คือมายาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาไว้ปิดบังอำนาจและปฎิบัติการเชิงอำนาจของกลุ่มอำนาจทางการเมือง เราจะไม่มีวันเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหลังของรัฐคืออะไรเพราะถูก รัฐ บังตาเอาซะมิด มองอะไรไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็น คนที่อยู่เบื้องหลังรัฐก็จะสามารถทำอะไรก็ได้ในทางการเมือง (เช่น การบริหารอำนาจ การใช้อำนาจที่ "มองไม่เห็น" ปฎิบัติการทางการเมืองที่ลับ ลวง พราง เป็นต้น) คนที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ'เด็จพ่อ Clifford Geertz และนักวิชาการอีกคนคือ Stuart Hall เริ่มจาก'เด็จพ่อ Geertz ก่อน[7] Geertz มองว่า รัฐ คือกลุ่มก้อนมายาคติชุดหนึ่ง คือ "เวทีการแสดง" อะไรบางอย่าง มีคนมาเล่นละครให้ดู มีการแสดงของรัฐ เป็นบทละครที่มุ่งเน้นให้คนดูเชื่อในสิ่งที่ รัฐ บอก เป็นเวทีที่เน้นย้ำเรื่องอุดมการณ์แห่งรัฐ ตอกย้ำ ผลิตซ้ำวาทกรรมของ รัฐ ไปเรื่อยๆให้คนดู "เชื่อ" ตามจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมและการเมืองไป ดังนั้น สิ่งที่ รัฐ ทำงานก็คือการแสดง การผลิตซ้ำชุดอุดมการณ์ตามที่ต้องการ ผลิตกระแสวัฒนธรรม ความเชื่อ ให้คนใน รัฐ คล้อยตามให้หมด หลังจากนั้น รัฐ ก็จะแสดงบทบาทความเป็นเจ้าของอาณาบริเวณทางการเมืองโดยใช้กลไกกฎหมาย ระเบียบราชการต่างๆมาบังคับคน มาตีกรอบให้คิดตามให้หมด (แบบว่า "ไม่รักก็ติดคุกนะ" ทำนองนี้) ฉะนั้น สิ่งที่ Geerzt บอกพวกเราเอาไว้ก็คือ รัฐ และการสร้าง รัฐชาติ คือกระบวนการที่เป็นการแสดง เป็นมายาคติ เป็นชุดอุดมการณ์ เป็นจินตนาการของใครซักคนที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง รัฐ นั้น ที่ต้องการให้คนใน รัฐ เชื่อตามๆกันหมดอย่างไม่ต้องตั้งคำถามอะไรต่อ รัฐ มาก[8] ส่วน Stuart Hall ใน "Popular culture and the State"[9] บอกว่าเวลาพวกชนชั้นนำจะหาทางปกครองชาวบ้านและชาวเมืองทั้งหลายผ่านกลไกการปกครองต่างๆ (ระบบราชการ) สิ่งที่จะทำให้การปกครองราบรื่นไม่มีปัญหา ชนชั้นนำก็จะต้อง "หล่อหลอมทางวัฒนธรรม" ให้ได้ซะก่อน หมายถึง รัฐ จะต้องสร้างค่านิยมตามที่ตนเองต้องการให้เกิดขึ้นให้ได้ จะต้อง "หลอมรวมวัฒนธรรมของชาติ" ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำยังไงก็ได้อย่าให้ประชาชนตั้งคำถามกับค่านิยมและวัฒนธรรมที่ รัฐ สร้างขึ้นมา และ รัฐ จะต้องทำให้คนส่วนมากนิยมชมชอบ (Popularity) (ถ้าสมมุติว่า รัฐ ลงแข่งขันเดอะว๊อยซ์ รัฐ ก็จะหาทางทำให้คนดูทางบ้านโหวตตัวเองเยอะๆ เพราะจะได้เป็นที่นิยม) ดังนั้น ถ้ามองตามในสิ่งที่ Hall บอกเอาไว้ รัฐ ก็คือ "ภาพตัวแทน" ทางอำนาจของพวกชนชั้นปกครอง ที่คอยจ้องหาทางใส่ยา "กล่อมประสาท" ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายมอง รัฐ เป็นเทวดา เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ มอง รัฐ ว่าเป็นสิ่งที่ปลูกฝังอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่ดีที่สุด และต้องไม่ผิดไปจากที่ รัฐ บอกเอาไว้ อีกคนหนึ่งที่ผมจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ อาจารย์ เบน ของพวกเราครับ (Benedict Anderson) อาจารย์เบนของใครหลายๆคนผลิตงานชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการศึกษา รัฐ พอสมควร คือ "Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism"[10] งานชิ้นนี้ว่าด้วยเรื่องชาตินิยม การสร้างความเป็นชาตินิยม และนำเรื่องชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือในการหลอมรวมทุกคนเข้ามาสู่ "ชุมชนในจินตนาการเดียวกัน" อาจารย์เบนบอกว่าชาตินิยมคืออุดมการณ์ที่สำคัญชนิดหนึ่งที่เอาไว้ใช้ในการสร้าง รัฐชาติ ของประเทศต่างๆ และมันมีลักษณะแพร่กระจายส่งต่อออกไปได้กว้างขวาง แต่ด้านลบของมันก็มีครับ การสร้างชาติด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม ในบางครั้ง มันได้สร้างจินตนาการเรื่องความรักชาติ-ไม่รักชาติขึ้นมาด้วย หมายถึงการสร้างมิตร สร้างศัตรู ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการนิยามความเป็นชาติ หมายถึงถ้าใครคิดแตกต่างไปจากคำนิยามเรื่องชาติภายในชุมชนการเมืองหนึ่งๆ ก็จะถูกมองว่าเป็นศัตรู(ของชาติ) เป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นสิ่งที่สมควรถูกกำจัดออกไปจาก "พื้นที่รัฐชาติ" ที่ "รักชาติ" ทั้งหลายอาศัยอยู่ จินตนาการ "ความเป็นชาติ-ความเป็นรัฐ" ของเหล่าขบวนการไอติมกู้ชาติ ผมได้พูดถึงมุมมองของนักมานุษยวิทยาการเมืองว่าด้วยเรื่อง รัฐชาติ กันไปบ้างแล้วพอหอมปากหอมคอ คราวนี้เมื่อหันมองกลับมาดูขบวนการไอติมกู้ชาติของเราก็พบว่ามีอะไรน่ารักๆเยอะครับ อันดับแรกสุดเลย เรื่องอุดมการณ์ความเป็น "ชาติ" ของเหล่าขบวนการไอติมกู้ชาติชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ซึ่งในความเป็นจริงทางสังคม อุดมการณ์ชุดนี้มันถูกสร้างโดย รัฐ ไทยแน่ๆ[11] ฉะนั้น ถ้าหากเรามองว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการไอติมกู้ชาติจะมีพลังได้ก็จะต้องได้รับการสนับสนุนเชิงอุดมการณ์และวัฒนธรรมจากสังคมไทย ซึ่งปัญหาของมันอยู่ที่ ในขณะนี้สังคมไทยยังรู้สึกรู้สาอะไรกับคำว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหมือนสมัยก่อนอยู่อีกหรือเปล่า ? เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมามันได้ทำลายฐานคติชาตินิยมแบบนี้ไปพอสมควร[12] คำถามอีกประการคือ จากการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ของฝ่ายตรงข้ามขบวนการไอติมกู้ชาติได้สร้างพื้นที่ทางอุดมการณ์และวัฒนธรรมขึ้นมาได้บ้างแล้วหรือไม่อย่างไร ? ผมมองเรื่องนี้จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุด อุดมการณ์เรื่องเสรีประชาธิปไตยก็ได้ถูกนำเสนออย่างเข้มข้นในห้วงเวลาที่ผ่านมาควบคู่ไปกับการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดง ผมเข้าใจว่ามีคนไม่น้อย "ซื้อ" อุดมการณ์นี้พอสมควร จินตนาการต่อมาของเหล่าขบวนการไอติมกู้ชาติ คือจินตนาการเรื่อง "ศัตรูของชาติ" ศัตรูของชาติครั้งนี้ก็คือ "ทักษิณแอนเดอะแก้งค์" ดูจากแถลงการณ์และคำพูดโดยรวมๆบนเวทีที่สนามม้านางเลิ้งก็ได้ครับ ไม่เห็นจะมีอะไรเลยนอกจากทักษิณๆๆๆๆ (รวมไปถึงพวกเครือข่ายทักษิณทั้งหลายทั้งปวง) ศัตรูของชาติคือตระกูลชินวัตร ถ้าอยากให้ประเทศชาติมีความปึกแผ่น มั่นคง มีความรักสามัคคี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงาม มีโลกสวยงาม มีนกน้อยบินไปบินมา คนชนบทจูงวัว จูงควาย คนเมืองมีความพอเพียง จะต้องขับไล่ตระกูลชินวัตรออกจากประเทศไทยเท่านั้น รัฐบาลจะต้องล้ม นักการเมืองจะต้องพินาศ พรรคการเมืองจะต้องหายไป การเลือกตั้งโสโครกต้องกำจัดทิ้ง ประชาธิปไตยคือสิ่งแปลกปลอมจากฝรั่ง เราต้องการชาติไทยกลับคืนมา ไชโย !! โอ้ววว จินตนาการบรรเจิดที่ซู้ดดด นอกจากนี้ จินตนาการความเป็นศัตรูของชาติยังถูกผูกติดกับ "ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์" หากใครมายุ่งวุ่นวาย มาวิพากษ์วิจารณ์ อ้าย..อี ผู้นั้นมันไม่ใช่คนไทย คนเสื้อแดงมันด่าเจ้านาย พรรคเพื่อไทยมันคิดล้มเจ้า พวกทักษิณและคณะมันคิดล้มเจ้า คนที่อ่านข้อมูลเชิงลบทุกคนมันคิดทำลายสถาบัน มันทั้งหลาย "ไม่ใช่คนไทย" เป็นศัตรูของคนไทย ต้องถูกกำจัด เอ้า พี่น้องเอ้ย เอารถถังออกมาเร็วๆหน่อยคร๊าบบบ มาล้างประเทศหน่อยยยย ดังนั้น จินตนาการเรื่องความเป็น รัฐชาติ ของเหล่าพี่น้องผองเพื่อนในขบวนการไอติมกู้ชาติ จึงวนเวียนๆอยู่กับมายาคติเหล่านี้ มายาคติที่ รัฐ สร้างขึ้นเพื่อทำให้คนในสังคมกลายเป็น "องครักษ์พิทักษ์อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" เมื่อใดก็ตามที่เกิดขบวนการชาตินิยม(แบบไทยๆ) คนหลายๆคนในสังคมไทยก็จะพร้อมใจออกมาลุยถั่วอย่างถึงลูกถึงคน และพร้อมที่จะสนับสนุนเงินทองสิ่งของต่างๆ ยอมไปเดินตากแดดเปรี้ยงๆกลางสนามหลวง ในสนามม้า บนถนนราชดำเนิน จะให้ทำอะไรก็ทำ เพราะว่าต้องการกำจัดศัตรูของชาติ จะได้เป็นเกียรติ เป็นศรีแก่วงศ์ตระกูลเพราะได้ชื่อว่ามาขับไล่เสนียดจัญไรออกจากแผ่นดิน (ออกจากแผ่นดินอันแสนจะศักดิ์สิทธิ์) รัฐชาติ ในความหมายของเหล่าผู้เสพไอติมกู้ชาติ จึงเป็นการนิยามคำว่ารัฐชาติแบบไทยๆ ไท้ย...ไทย นิยามวนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มองศัตรูของชาติในมิติแบนราบเพียงแค่นักการเมืองชั่ว นายทุนสามานย์ ไม่ไว้วางใจระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง รังเกียจรัฐสภา ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กเฉพาะคนเสื้อแดง นิยามความเป็น รัฐชาติ ของขบวนการไอติมต้องเป็นคำนิยามที่ถูก "แช่แข็ง" หยุดอยู่กับที่ ต้องไม่เปลี่ยนแปลง เพราะของเดิมก็ดีอยู่แล้วพวกเมิงจะเอาอะไรกันอีก (วะ) ดังนั้น ใครคิดจะมาเปลี่ยนแปลงคำนิยาม รัฐชาติ แบบนี้ก็จะต้องถูก "แช่แข็งประเทศไทย" ซะเลย จบเรื่องจบราว ... หนาวจุงเบยยยย [1] คำว่าชาวไทยน่าจะมีความหมายว่าคนไทยทั่วๆไปที่เห็นด้วยและอยากเข้าร่วม แต่ในเชิงปรากฎการณ์แล้ว กลุ่มคนไทยที่ดูจะ "กระตือรือร้น" เป็นพิเศษที่จะเข้าร่วม (และเข้าร่วมไปแล้ว) อาทิเช่น กองทัพธรรม, คนเสื้อเหลืองในกรุงเทพฯ, กลุ่มเสื้อหลากสี, กลุ่มแฟนๆทีวีช่องบลูสกาย รวมไปถึงกลุ่มคนไทยอย่าง เครือข่ายชาวนาภาคกลาง, กลุ่มเยาวชนพิทักษ์สยาม เป็นต้น (ที่มา : โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ "ผ่ามวลชนพิทักษ์สยาม ต่างที่มาแต่เป้าเดียวกัน" ออนไลน์ครั้งแรกวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555, http://www.posttoday.com) นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สยามยังได้ให้ข้อมูลว่ามีคนไทยกลุ่มอื่นๆที่อยากเข้าร่วมเพิ่มอีก ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายสมัชชาเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทุกสหภาพ, .กลุ่มแนวร่วมกลุ่มปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ, กลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน ซึ่งองค์กรพิทักษ์สยามกล่าวว่ากลุ่มนี้มีการลงทะเบียนชัดเจน มีตัวตนจริงตามบัตรประชาชนจำนวน 500,000 คน , กลุ่มคนจากการติดต่อทางเครือข่ายโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และกลุ่มคนที่เป็นผู้เข้าชุมนุมโดยอิสระที่ไม่เคยชุมนุมที่ไหนมาก่อน (ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ "โฆษกองค์การพิทักษ์สยามฟุ้งม๊อบล้มรัฐบาลปู 24 พย. ถึง 500,000 คนแน่" ออนไลน์ครั้งแรก 15 พฤศจิกายน 2555, http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMU1qazJNelF3T1E9PQ==&subcatid= [2] ดูข้อมูลเพิ่มเติมในคำแถลงการณ์ของ องค์กรพิทักษ์สยาม ฉบับที่ 1/2555 ว่าด้วยการจัดตั้งขบวนการภาคีเครือข่ายพิทักษ์สยามทุกจังหวัด มีเผยแพร่ออนไลน์ใน http://webboard.serithai.net/ [3] วาทกรรมแช่แข็งประเทศไทยมาจากเวปข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2555, รายงานข่าวโดยคุณ ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย และคุณชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์ (ที่มา : โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ "โมเดลเสธอ้าย แช่แข็งประเทศไทย 5 ปี", 28 ตุลาคม 2555 http://www.posttoday.com) จากบางส่วนของคำสัมภาษณ์ว่า "ผู้ถาม: แช่แข็งประเทศไทย ? เสธอ้ายตอบว่า : ถูก...หยุดและให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้" หลังจากการเผยแพร่ของเวปข่าวโพสต์ทูเดย์ไม่กี่วัน วาทกรรมแช่แข็งประเทศไทยก็ถูกนำไป "ล้อเลียน" , "เสียดสี" อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์โดยเฉพาะเฟสบุ๊ก จนภายหลังโฆษกขององค์กรพิทักษ์สยาม (พล.อ.อ.วัชระ ฤทธาคนี) ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ต้องการแช่แข็งประเทศไทย สื่อมวลชนและฝ่ายตรงข้ามตีความกันไปเอง (ดูได้ใน ไทยรัฐออนไลน์ "ยากตรงฝืนธรรมชาติ", 16 พฤศจิกายน 2555, http://www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/306455 [4] Fortes, M.; Evans-Pritchard, E.E. (1940). African Political Systems. (London: Oxford University Press). 1940. [5] Philip Abrams, "Notes on the Difficulty of Studying the State" in Journal of Historical Sociology, 1:1 (March 1988): 58-89. [6] Pierre Bourdieu, "Rethinking the State: Genesis and Structure of Bureaucratic Field" in Sociological Theory, 12:1 (March 1994): 1-18. [7] ถ้าใครยังไม่รู้จัก Geertz ให้ลองไปอ่านงานของ ไชยยันต์ ไชยพร เรื่อง "ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการเมืองกระแสหลักของ คลิฟฟอร์ด เกียทส์" (ไชยยันต์ ไชยพร, ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการเมืองกระแสหลักของ คลิฟฟอร์ด เกียทส์, กรุงเทพฯ:โอเพ่นบุ๊ก, 2551.) เพื่อทำความรู้จักกับเสด็จพ่อ Geertz ในทางมานุษยวิทยาการเมืองได้ครับ [8] Clifford Geerzt, Negara: The Theatre State in 19th Century Bali, (NJ: Princeton University Press). 1980. [9] Stuart Hall, 'Popular Culture and the State' in Mercer et al. (eds.) Popular Culture and Social Relations. (Oxford: Open University Press). 1986. [10] Benedict Anderson, Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism. (London: Verso). 1991. เวอร์ชั่นภาษาไทยก็มีครับ, เบน แอนเดอร์สัน (แปลโดย กษิณ ชืพเป็นสุข และคณะ), ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 2552. โดยเฉพาะบทที่ว่าด้วยลัทธิชาตนิยมทางการ [11] บางคนบอกว่าถูกสร้างมาตั้งแต่ ร.6 บางคนบอกว่าถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือได้ว่าเป็นอุดมการณ์ของรัฐไทยมานานแล้ว และจะเป็นอุดมการณ์ที่เป็นของทางการ(และราชการ)ต่อไปในสังคมไทยหรือไม่ก็ต้องต้องติดตามเอฟพิโสดต่อไป [12] ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน แต่ก็บอบช้ำไม่น้อย ?
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักวิชาการชี้ ไทยยังขาดกลไกทางกม. รองรับประชาคมศก.อาเซียน Posted: 16 Nov 2012 07:40 AM PST เสวนาเรื่องโอกาสของนักกฎหมายในการเปิดเสรีอาเซียน นักวิชาการมองไทยจำเป็นต้องปฎิรูปกฎหมายเพื่อให้ทันสมัยกับการค้าและการลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศอย่างสิงคโปร์เตรียมปรับกฎหมายให้พร้อมตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว 16 พ.ย. 55 - เมื่อเวลา 13.00 น. มีการจัดวงเสวนาทางวิชาการเรื่อง "เปิดเสรีอาเซียน: โอกาสและความท้าทายของวิชาชีพกฎหมาย" ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์มาพูดคุยถึงโอกาสและผลกระทบของวิชาชีพกฎหมาย เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยนักวิชาการที่มาร่วมเสวนาต่างมองว่า ยังจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อวิชาชีพกฎหมายในประเทศไทยมากนัก เนื่องจากวิชาชีพกฎหมายมิได้อยู่ใน 8 วิชาชีพที่ไหลเวียนได้อย่างเสรี (8 อาชีพดังกล่าว ได้แก่ ช่างสำรวจ, แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี) แต่ชี้ว่า ผู้ประกอบอาชีพกฎหมาย ควรเตรียมพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านเช่น จีน หรือบาฮาซาให้ดี เนื่องจากจะมีการลงทุนมายังสิงคโปร์ มาเลเซียและไทยมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ทนายที่มีความสามารถตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์พิเศษสุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล อดีตเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา กล่าวถึงความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจจากแง่มุมทางกฎหมายว่า ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ในขณะที่สิงคโปร์ได้เริ่มตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว คือ มีการแก้ไขกฎหมายแพ่งในปี 2542 ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ประกอบด้วย 28 บท ประกอบด้วยพ.ร.บ. ต่างๆ ตั้งแต่กฎหมายแพ่ง กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายญาโตตุลาการ ไปจนถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่การค้าในประชาคมอาเซียน ในขณะที่กฎหมายของไทยที่จำเป็นกับการเปิดการค้า ยังคงเดิมมาเป็นเวลาหลายสิบปี เขากล่าวว่า จากการพูดคุยกับ บวรศักดิ์ อุวรรณโน (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549) ได้ทราบว่ายังไม่มีการแก้ไขกฎหมายใดๆ ทั้งๆ ที่มีกว่า 200 ฉบับที่จำเป็นต้องแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับ AEC ทำให้น่าเป็นห่วงว่า เมื่อถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ประเทศไทยจะมีความพร้อมจริงหรือไม่ ในขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวถึงมาตรการการส่งเสริม SME ที่เกี่ยวเนื่องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ เออีซี ว่า ผู้ประกอบการยังไม่มีข้อมูลด้านกฎหมายของประเทศในอาเซียนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะด้านการลงทุน จึงเสนอว่ารัฐบาลควรตั้งศูนย์ข้อมูลกฎหมายอาเซียน เพื่อให้นักธุรกิจจากภาคเอกชน นักกฎหมาย นักวิชาการและภาคส่วนต่างๆ เข้าถึงและสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรฐกิจและวิชาการในประเทศและในประชาคมอาเซียน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ยูกันดา' เล็งผ่าน กม.ต้านเกย์ เป็น 'ของขวัญคริสต์มาส' Posted: 16 Nov 2012 07:38 AM PST โฆษกรัฐสภายูกันดา คาดผ่านกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันปลายปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญวันคริสต์มาสให้กับผู้สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว จากกรณีที่มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันเข้าสู่สภายูกันดาตั้งแต่ปี 2552 ที่ผ่านมา ล่าสุด (13 พ.ย.55) รีเบกกา คาดากา โฆษกรัฐสภายูกันดา ออกมาระบุว่า หวังว่าร่างกฎหมายนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการรัฐสภาจะผ่านภายในสิ้นปีนี้ "ชาวยูกันดาอยากได้กฎหมายฉบับนี้เป็นของขวัญคริสต์มาส พวกเขาร้องขอมา และเราจะให้ของขวัญนี้แก่พวกเขา" คาดากากล่าว ทั้งนี้ การเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายในยูกันดา แต่ร่างกฎหมายฉบับก่อนที่จะเข้าสู่สภานั้น กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดไว้สูงมาก ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดย เดวิด บาฮาติ ส.ส.ฝ่ายอนุรักษนิยม โดยกำหนดให้ผู้ใดก็ตามที่ถูกตัดสินว่ามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันจะถูกจำคุกตลอดชีวิต ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำ จัดหา ให้ผู้ใดมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันต้องโทษจำคุก 7 ปี ผู้ที่ให้คนรักเพศเดียวกันเช่าห้องหรือบ้านมีโทษจำคุก 7 ปี นอกจากนี้ ในร่างแรกของกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า คนรักเพศเดียวกันซึ่งมีเชื้อเอชไอวี หรือข่มขืนเพศเดียวกัน ต้องโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม บาฮาติ เคยกล่าวว่าได้เอาส่วนนี้ออกไปแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกประนามอย่างหนักจากผู้นำประเทศตะวันตก ซึ่งรวมถึง บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ว่า "น่ารังเกียจ" เมื่อเดือนที่แล้ว ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliamentary Union: IPU) ที่รัฐควิเบก แคนาดา จอห์น แบร์ด รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา เตือนคาดากาว่า ยูกันดาไม่ควรเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนของประชาชน ขณะที่คาดากาสวนกลับว่า ถ้าการเป็นคนรักเพศเดียวถือเป็นคุณค่าของประชาชนแคนาดา พวกเขาก็ไม่ควรบังคับให้ยูกันดายอมรับมัน เพราะยูกันดาไม่ใช่อาณานิคมหรือดินแดนในปกครองของแคนาดา หลังกลับจากทริปดังกล่าว เธอได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามที่สนามบินจากนักกิจกรรมต่อต้านเกย์หลายร้อยคน รวมถึงผู้นำทางศาสนาด้วย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไซมอน โลโคโด รัฐมนตรีกระทรวงจริยธรรมและคุณธรรม ระบุว่า มีองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) 38 องค์กรที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนการเป็นคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งจะต้องถูกแบน ด้านแคลร์ บยารูกาบา ผู้ประสานงานพันธมิตรภาคประชาสังคมว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญยูกันดา กล่าวว่า ทางกลุ่มจะท้าทายกฎหมายนี้ในศาลรัฐธรรมนูญ และว่า "ประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุนเรา และเราเชื่อในรัฐธรรมนูญของประเทศด้วยว่าจะปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทุกคน" ขณะที่เว็บไซต์ Avaaz ซึ่งเป็นเว็บไซต์รณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่เคยระดมรายชื่อออนไลน์เพื่อต่อต้านกฎหมายดังกล่าวก่อนหน้านี้ ได้เริ่มรณรงค์ให้ผู้คนส่งรายชื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง โดยล่าสุด มีผู้ร่วมลงชื่อเกือบ 1.7 ล้านคนจากทั่วโลก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 16 Nov 2012 05:47 AM PST ปี 2555 เมืองไทยมีโอกาสได้ฉายหนังอันว่าด้วย "การต่อต้านรัฐบาลจีน" ถึงสองเรื่อง ซึ่งนับว่าเป็นความกล้าหาญของผู้จัดไม่น้อยที่เลือกฉายภาพยนตร์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นนี้ เรื่องแรกนั้นฉายในเทศกาลภาพยนตร์สั้นช่วงปลายเดือนสิงหาคม เป็นผลงานของ Ying Liang เรื่อง When Night Falls งานแนวดรามาที่เล่าเรื่องคุณแม่ผู้มีลูกชายถูกตักข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่รัฐจนท้ายที่สุดถูกตัดสินโทษประหารโดยกระบวนการไต่สวนล้วนเป็น Due Process of Law แบบว่ากันเอาเอง
อีกเรื่องเป็นผลงานสารคดีของอลิสัน เคลย์แมน (Alison Klayman) ในชื่อ Ai Wei Wei Never Sorry ซึ่งเล่าถึงผลงานของ อ้ายเหว่ยเหว่ย ศิลปินชาวจีนผู้ทำแคมเปญประเด็นทางการเมืองในจีน ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ตัวอ้ายเหว่ยเหว่ยเองก็เต้นกังนัมสไตล์กลายเป็นประเด็นฮอตไม่น้อยที่แอคทิวิสต์ก็เอากับเขาด้วย เคลย์แมนพาเราไปรู้จักเรื่องราวของอ้ายเหว่ยเหว่ยผ่านผลงานแบบไม่ลำดับเวลา โดยเริ่มแรกเธอได้แนะนำให้เรารู้จักกับอ้ายเวิยเวิ่ยผ่านแคมเปญอันสืบเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินใน ปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้จำนวนมาก แต่จำนวนไม่น้อยคือเด็กนักเรียนที่ติดอยู่ในซากอาคารซึ่งถูกสร้างโดยไม่มีคุณภาพ มีการอุปมากันว่าคุณภาพงานก่อสร้างอาคารโครงเรียนนั้นแย่เกินกว่าที่เรียกว่า "เต้าหู้" เสียอีก ภาพกระเป๋านักเรียนมากมายกองเกลื่อนกราดทั่วพื้น (ซึ่งต่อมาอ้ายเหว่ยเหว่ยนำเอากระเป๋านักเรียนไปสร้างเป็นผลงานศิลปะที่เยอรมันนี) ที่น่าสนใจคือรัฐบาลจีนปฏิบัติประหนึ่งว่าไม่มีเด็กเสียชีวิตในการนี้ พวกเขาปิดข่าว ไม่มีการสำรวจแน่ชัดว่าเสียชีวิตไปเท่าไหร่ อ้ายเหว่ยเหว่ยซึ่งได้เข้าไปเห็นสภาพเหตุการณ์จริงหลังจากนั้นไม่นานจึงเกิดความคิดให้อาสาสมัครไปสืบหาและสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้เสียชีวิต ขอชื่อสกุล อายุ และวันเกิด เบ็ดเสร็จท้ายที่สุดทีมงานของอ้ายเหว่ยเหว่ยค้นพบว่ามีเด็กเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ร่วม 5,500 คน นี่คือปฐมบทของเหตุการณ์อันนำพาไปสู่เรื่องราวใน Ai Wei Wei Never Sorry อ้ายเหว่ยเหว่ยรายล้อมด้วยทีมงานพร้อมกล้องถ่ายภาพ ฟุตเตจจำนวนมากถูกบันทึกจากหลากหลายมุมกล้องและหลายครั้งที่เขาได้ภาพเหตุการณ์ที่ได้พบโดยไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เขาถูกตำรวจทำร้ายในห้องพักกลางดึก หรือการถูกตำรวจคุกคามระหว่างกินข้าวเย็นอยู่ริมถนน ไปจนถึงการมีปากเสียงกับตำรวจระหว่างที่แจ้งความเรื่องที่ตนถูกทำร้าย อีกประเด็นที่สะท้อนอย่างชัดเจนใน Ai Wei Wei Never Sorry คือการใช้โซเชียลมีเดีย (โดยเฉพาะทวิตเตอร์) เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ทางการเมือง อ้ายเหว่ยเหว่ยเริ่มสื่อสารกับผู้ติดตามผ่านบล็อกของเขาและต่อมาด้วยทวิตเตอร์ หลาย ๆ ภาพที่เขาโพสต์คือภาพเบื้องหลังกล้อง ภาพปฏิกิริยาและการปฏิบัติต่อประชาชนของข้าราชการถูกถ่ายทอดออกมาพร้อมแววตาอันไม่ไว้วางใจและโกรธเกรี้ยวของคนในภาพ สำหรับอ้ายเหว่ยเหว่ยแล้ว โซเชียลมีเดียเป็นพลังอันสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ผู้คนสนใจในการเมืองมากขึ้น แม้ในยามที่เขาเพลี่ยงพล้ำ เขาก็ยังทวีตข้อความแก่ผู้ติดตามว่า "Don't Retreat, Retweet" บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้คือในทัศนะของอ้ายเหว่ยเหว่ย ศิลปินต้องทำงานเพื่อบอกกล่าวความคิดตน และทัศนะของเขาก็รักประเทศจีนมากจนยอมไม่ได้ที่จะให้เกิดเหตุบัดซบเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถือเป็นหนังสารคดีที่ดูสนุก ผสมผสานการแสดงวิธีคิดและมุมมองในการอธิบายการเมืองได้อย่างลงตัว ที่สำคัญคงเป็นการ "จุดไฟในสายลม" ให้แก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมแพ่พ้ายต่อรัฐอีกไม่น้อย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลให้รับแกนนำคนงาน 'ชั้นในจินตนา' กลับเข้าทำงาน พร้อมจ่ายค่าแรงย้อนหลัง Posted: 16 Nov 2012 04:01 AM PST ศาลแรงงานตัดสิน บ.จินตนาฯ รับ 9 กรรมการสหภาพแรงงานฯ กลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าแรงย้อนหลัง ด้านคนงานวอนผู้มีอำนาจปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ก่อนคนงานจะถอดใจ 15 พ.ย.55 ศาลแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร ได้พิพากษาว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้บริษัท จินตนาแอพพาเรล และ บริษัท อินเนอแวร์ เซ็นเตอร์ จำกัด รับคนงาน 9 คน ซึ่งกรรมการสหภาพแรงงานจินตนาและในเครือ ในฐานพนักงานรายวันบริษัทจินตนาฯ ที่ถูกเลิกจ้างเมื่อ 27 ก.พ.53 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าเสียหายให้กับคนงานตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวเป็นผลมาจากบริษัทจินตนาฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่ง ครส. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'รากหญ้าอาเซียน' ชุมนุมหน้าสภากัมพูชา เรียกร้องขอมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา Posted: 16 Nov 2012 03:42 AM PST ผู้สื่อข่าวรายงานจากพนมเปญว่า เช้าวันนี้ (16 พ.ย.) สมาชิกเครือข่ายรากหญ้าในกัมพูชาและจากกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในนาม "สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน" (ASEAN Grassroots People's Assembly - AGPA) ได้ชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภากัมพูชา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลกัมพูชา เพื่อส่งต่อไปยังผู้นำประเทศอาเซียนที่จะเข้าร่วมการประชุมอาเซียนช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยเจ้าหน้าที่กัมพูชายอมให้ส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือภายในที่ทำการรัฐสภา และผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุมไปในเวลาราว 10.50 น. โดยข้อเรียกร้องโดยสังเขปของสมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน มีทั้งหมด 5 ด้าน ประกอบด้วย ข้อเรียกร้องด้านสิทธิแรงงาน ข้อเรียกร้องด้านสิทธิที่ดิน ข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงทาง อาหาร ข้อเรียกร้องด้านการค้าและการลงทุน และข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยในข้อเรียกร้องนี้ มีการเรียกร้องให้มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระในกัมพูชา รวมทั้งปฏิเสธปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่จะมีการประกาศใช้ด้วย "พวกเราประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา พวกเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา พวกเราต้องการทำงานร่วมกับคุณเพื่อแก้ปัญหาของพวกเรา" ตอนหนึ่งของข้อเรียกร้องระบุ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น