โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ออง ซาน ซูจีปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าข้างทั้งชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่

Posted: 04 Nov 2012 11:19 AM PST

"ออง ซาน ซูจี" สัมภาษณ์บีบีซีขอให้ทุกฝ่ายอดกลั้น และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่สมควรใช้ "ความเป็นผู้นำ" ของเธอไปไกล่เกลี่ย และยังระบุว่าไม่ได้รับรายงานเรื่องชาวโรฮิงยา 8 แสนคนถูกปฏิเสธสถานะพลเมือง ขณะที่บล็อกเกอร์โรฮิงยาโพสต์รูปบัตรสมาชิก NLD ยุค '90 ที่เคยรับชาว "โรฮิงยา" เข้าเป็นสมาชิก

หลังการเข้าพบประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โฮเซ มานูเอล บาร์โรโซได้เสนองบประมาณให้กับพม่า 78 ล้านยูโร หรือมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับความช่วยเหลือด้านการพัฒนา บีบีซีรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (3 พ.ย.) โดยทั้งสองพบกันที่เมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ และมีการหารือกันเรื่องการค้า หลังจากที่มีการแซงชั่นกันมานับทศวรรษ นอกจากนี้บาร์โรโซยังได้พบกับผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ออง ซาน ซูจีด้วย

อย่างไรก็ตามไม่มีการนำเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยาซึ่งนานาชาติกังวลขึ้นมาหารือกับ ออง ซาน ซูจี 

โดยความขัดแย้งเมื่อเดือนก่อนระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวพุทธในรัฐอาระกัน หรือชาวยะไข่ ได้ทำให้มีผู้ลี้ภัยนับแสนคน มีผู้เสียชีวิต 90 คน ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ทัศนคติต่อชาวโรฮิงยาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

สิทธิพิเศษทางการค้า

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นับเป็นเจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกคณะล่าสุดที่เดินทางไปเยือนพม่า หลังจากที่รัฐบาลพม่าเริ่มต้นการปฏิรูปเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้รัฐบาลพม่าเองยังตีพิมพ์รายละเอียดของกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้นับเป็นเวลาทศวรรษแล้วที่การค้าและความช่วยเหลือระหว่างสหภาพยุโรปและพม่ามีปริมาณเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียอื่นๆ เนื่องจากชาติสมาชิกสหภาพยุโรปมีมาตรการแซงชั่นรัฐบาลพม่าที่ใช้อำนาจอย่างกดขี่

เช่นเดียวกับความช่วยเหลือ เชื่อกันว่าสหภาพยุโรปจะให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับพม่าอย่างที่ประเทศรายได้ต่ำอื่นๆ ได้รับ

นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังให้งบประมาณสำหรับ "ศูนย์สันติภาพ" แห่งใหม่ เพื่อช่วยพม่าในการขจัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางและกลุุ่มชาติพันธุ์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

 

เรียกร้องความอดกลั้น

นอกจากการพบกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งแล้ว บาร์โรโซยังเข้าพบกับออง ซาน ซูจีด้วย โดยโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี รายงานว่า ต่อกรณีของโรฮิงยา ชาติพันธุ์ที่ถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองนั้น ผู้นำฝ่ายค้านพม่าบอกกับบีบีซีภายหลังการพบกันว่า เธอไม่สามารถพูดเรื่องสถานะของโรฮิงยาได้

ทั้งนี้จากการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซี ที่บ้านหลังใหม่ของเธอที่เนปิดอว์ ออง ซาน ซูจีเองก็ไม่ได้มีท่าทีว่าได้กระทำอะไรผิดแต่อย่างใด โดยผู้นำฝ่ายค้านพม่าตอบว่า ประชาชนทั้งสองฝ่ายในรัฐอาระกันได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในชุมชน ซึ่งไม่ใช่สถานที่ ที่เธอจะไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง

"ฉันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น แต่ฉันไม่คิดว่าสมควรที่จะใช้สถานะความเป็นผู้นำของฉันเข้าไกล่เกลี่ย โดยที่ไม่ได้สะสางต้นเหตุของปัญหา"

ซูจีกล่าวด้วยว่า ไม่ได้รับรายงานตัวเลขที่ระบุว่าชาวโรฮิงยา 8 แสนคนถูกปฏิเสธสถานะพลเมือง

ทั้งนี้กฎหมายปี 1982 (พ.ศ. 2525) ฉบับซึ่งถูกวิจารณ์อย่างมาก ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายได้กีดกันพวกเขานั้น ควรจะถูกนำมาพิจารณา ออง ซาน ซูจีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของออง ซาน ซูจี ที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อเรื่องโรฮิงยา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ชาวพม่าระบุว่าต้องขับออกจากประเทศนั้น จะทำให้นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนไม่พอใจ ผู้สื่อข่าวของบีบีซีระบุ

 

บล็อกเกอร์เผยภาพชาวโรฮิงยาเคยถือบัตรสมาชิกพรรค NLD

บัตรสมาชิกพรรค NLD ซึ่งออกในช่วงปี 1990 ที่ผู้ถือบัตรเป็นชาวโรฮิงยา (ที่มา: Free Rohingya)

ในเวลาไล่เลี่ยกัน บล็อก Free Rohingya ยังเผยภาพบัตรสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยเจ้าของบัตรเป็นชาวโรฮิงยาชื่ออู อับดุลลาซีด ทั้งนี้พรรค NLD ที่นางออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำนั้น ในช่วง 1990 ยอมรับให้ชาวโรฮิงยาเป็นสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตามท่าทีของออง ซาน ซูจี ระหว่างไปเยือนยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้กล่าวว่าไม่แน่ใจในประเด็นเรื่องชาวโรฮิงยา

ทั้งนี้เกิดความขัดแย้งขึ้นที่รัฐอาระกันระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้อพยพหลายหมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

EU chief Barroso offers new development aid to Burma, BBC, 3 November 2012 Last updated at 10:51 GMT http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-20189448

Free Rohingya http://freerohingya.blogspot.com/2012/11/nld_3.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟื้นศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ เล็งใช้ อ. องครักษ์ นครนายก

Posted: 04 Nov 2012 09:40 AM PST

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ประกาศฟื้นโครงการวิจัยนิวเคลียร์  ระบุมีความจำเป็นด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมและเกษตร  ด้านกรีนพีซชี้นิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่ไม่คุ้มค่า สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายในวงกว้างประเมินไม่ได้   ได้มีกระแสข่าวว่าขณะนี้มีสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสีถึง 29 แห่ง ในเขตชุมชนจังหวัดสงขลา

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อ  3 พฤศจิกายน 2555 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ว่า โครงการได้หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2532 มีปัญหาในเรื่องกระบวนการขั้นตอนการก่อสร้าง แต่ด้วยปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีความจำเป็นในแง่ของการนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ถือเป็นตัวชี้วัด และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้

"ใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือถึงการเดินหน้าโครงการดังกล่าว ซึ่งจะทำเป็นรูปแบบใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว การจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบเดิมในโครงการเดิมคงไม่ได้ แต่ยังคงใช้พื้นที่องครักษ์ จ.นครนายก อยู่และจำเป็นต้องเพิ่มขนาดการผลิต เนื่องจากโครงการเดิมกำหนดไว้ที่ 10 เมกะวัตต์ แต่โครงการต้องหยุดชะงัก ขณะที่สำนักงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (สทน.) หน่วยงานในสังกัด วท.มีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูใช้งานอยู่เพียงเครื่องเดียว มีขนาด 2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ บางเขน กรุงเทพฯ มีอายุใช้งานหลายสิบปี เดินเครื่องผลิตรังสีเพื่อการแพทย์ ซึ่งไม่เพียงพอ" นายวรวัจน์กล่าว และว่า ด้วยเหตุนี้จะหารือปรับปรุงโครงการใหม่รูปแบบใหม่จะเพิ่มขนาดการผลิตให้เพียงพอกับการพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมและการเกษตร เบื้องต้นของใหม่ต้องมีขนาดผลิตระหว่าง 10-30 เมกะวัตต์ ส่วนงบประมาณต้องขอพิจารณาก่อนว่า จะนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง ต้องหารืออย่างละเอียดก่อน แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องเดินหน้าอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่หากฟื้นโครงการดังกล่าวจะเกิดกระแสต่อต้านจากชุมชนเหมือนอดีต นายวรวัจน์กล่าวว่า ก่อนทำโครงการใดๆจะต้องหารือ สอบถามความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว ตรงนี้ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าโครงการมีความจำเป็น เพราะเทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านต่างๆ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็เช่นกัน และโครงการศูนย์วิจัยก็ไม่ได้อันตรายอะไร เนื่องจากไม่ใช่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่เป็นศูนย์วิจัยเท่านั้น

นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จุดยืนของกรีนพีซยังคงเหมือนเดิม คือไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ ยิ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยิ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่คุ้มค่า สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายในวงกว้างประเมินไม่ได้ แต่ในกรณีที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะผลักดันโครงการวิจัยนิวเคลียร์นั้น ต้องขอศึกษาในรายละเอียดก่อนว่าจะเดินหน้าลักษณะใด หากขัดกับจุดยืนของกรีนพีซที่ต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมก็จะคัดค้านด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์เกิดขึ้นภายใต้วงเงินงบประมาณว่าจ้างบริษัท เจเนรัล อะตอมมิกส์ (จีเอ) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาโครงการให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ดูแลดำเนินการ เริ่มแรกใช้งบประมาณ 2,750 ล้านบาท ต่อมามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 พิจารณาเพิ่มเงินงบประมาณเป็น 3,335 ล้านบาท ปี 2540 เพิ่มเป็น 4,500 ล้านบาท ที่ผ่านมา ปส.ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จีเอแล้วประมาณ 1,800 ล้านบาท และจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาโครงการให้แก่บริษัท อีดับเบิลยูอี ประมาณ 247 ล้านบาท รวมกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าโครงการก็ยังคงทิ้งร้างจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่ จ.สงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงกรณีการจัดเก็บสารกัมมันตรังสีของบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซี เอสเอ จำกัด ในเขตเทศบาลนครสงขลา สร้างความหวาดผวาให้กับชุมชนอย่างมาก และมีกระแสข่าวว่า มีสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสีถึง 29 แห่ง ในจังหวัดและมี 8 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ล้วนแล้วแต่อยู่ในชุมชนว่า ยังไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาแม้บริษัทชลัมเบอร์เจอร์ฯเก็บสารกัมมันตรังสีมานาน 30 ปี แต่ไม่ได้แจ้งให้จังหวัดและส่วนราชการในพื้นที่รวมถึงชุมชนได้ทราบเรื่อง เพราะทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติ แต่เมื่อจังหวัดสืบทราบจึงเชิญตัวแทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้ามาให้ข้อมูลเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา และดำเนินการตรวจสอบ ทั้งนี้ ทางจังหวัดยืนยันไม่ได้เพิกเฉย แต่เป็นหน่วยงานแรกที่ขอให้ตรวจสอบ

"จากการที่มีนักวิชาการหลายหน่วยงานเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะให้จัดเก็บสารกัมมันตรังสีในชุมชน แม้ว่าทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะยืนยันว่า มีการจัดเก็บสารตามหลักวิธีการที่ถูกต้องก็ตาม ทำให้มีการขอให้ย้ายสารกัมมันตรังสีทั้งหมดออกไปภายใน 3 เดือน ระหว่างนี้ทางผู้ประกอบการก็รับที่จะทำติดป้ายเตือนภัยสารกัมมันตรังสี ทั้งบริเวณสถานที่จัดเก็บรวมถึงรถขนย้าย ระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้าง และเตรียมที่จะขนย้ายสารกัมมันตรังสีออกจากชุมชนตามที่รับปากเอาไว้" นายกฤษฎากล่าว
 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เอแบคโพลล์" ครม.ใหม่ 6.67 เต็ม10 - 87.4% จี้ "ปู" แจงศึกซักฟอกด้วยตัวเอง/สวนดุสิตโพล ชี้ ปชช.ชื่นชม "ปู"ตั้งใจทำงาน

Posted: 04 Nov 2012 08:54 AM PST

"สวนดุสิตโพล" ชี้ ปชช.ชื่นชอบ "ปู"ตั้งใจทำงาน ยี้ ฝ่ายค้าน ค้านทุกเรื่อง

4 พ.ย.2555 สวนดุสิตโพล  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจ "จุดแข็งและจุดอ่อนของ รัฐบาล และ ฝ่ายค้าน ในสายตาประชาชน" เพื่อสะท้อนความสอดคล้องของการปฏิบัติงานในความคิดเห็นของประชาชน โดยได้สารวจความคิดเห็นของประชาชนทั่ว ประเทศ จานวน 2,209 คน ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม –3 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งสรุปผลดังนี้

ในหัวข้อประชาชน คิดว่า "รัฐบาล" ที่นำโดยนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ วันนี้ เป็นอย่างไร  พบว่าจุดแข็งของรัฐบาลคือ  อันดับ 1 การเข้าถึงประชาชน มีนโยบายประชานิยมที่เป็นรูปธรรม 41.00% อันดับ 2 การทำงานรวดเร็ว /บุคลากรเก่ง มีความรู้ โดยเฉพาะนายกฯที่ประชาชนชื่นชอบ 33.18% และ อันดับ 3 ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนระดับรากหญ้าและกลุ่มเสื้อแดง 25.82% ขณะที่จุดอ่อนของรัฐบาลคือ อันดับ 1 ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนหรือทาตามสัญญาที่ให้ไว้ได้อย่างครบถ้วน 49.90% อันดับ 2 การทุจริต คอรัปชั่น ต่างๆโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว 31.34% และอันดับ 3 ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ 18.76%

ส่วน หัวข้อ เรื่องใดที่ประชาชนชื่นชอบรัฐบาลมากที่สุดพบว่า  อันดับ 1 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงาน  48.73% อันดับ 2 การปราบปรามยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล 32.99% อันดับ 3 การขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรง 18.28% ส่วนเรื่องที่ประชาชนเบื่อรัฐบาลคือ อันดับ 1 การเล่นพรรคเล่นพวก โดยเฉพาะการแต่งตั้ง เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง 37.82% อันดับ 2 ยังไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้อย่างครบถ้วน /โครงการประชานิยมยังไม่สาเร็จเป็นรูปธรรม 32.18% และอันดับ 3 การแก้ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส การทุจริตของนักการเมืองยังไม่เด็ดขาด 30.00%

ขณะที่หัวข้อเรื่องใดที่ทำให้ประชาชน "ชื่นชอบฝ่ายค้าน" มากที่สุด ผลปรากฎว่า อันดับ 1 ผู้นำฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 44.53% อันดับ 2 ความพยายามในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล 41.70% และอันดับ 3 มีหลักการ จุดยืน แนวคิดและการทำงานที่ชัดเจน 13.77% ส่วนหัวข้อเรื่องใดที่ทำให้ประชาชน "เบื่อฝ่ายค้าน" มากที่สุด พบว่าอันดับ 1 ค้านทุกเรื่อง /การกล่าวหารัฐบาลย่างเลื่อนลอย ไม่มีข้อมูลหลักฐาน 46.87% อันดับ 2 เล่นเกมการเมืองมากไป คอยจุดกระแส สร้างประเด็นทางการเมือง 28.12% อันดับ 3 ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศ 25.01%


"เอแบคโพลล์" เผย ปชช. ให้คะแนน ครม.ใหม่ 6.67 เต็ม 10 - ร้อยละ 87.4 จี้ "ปู" แจงศึกซักฟอกด้วยตัวเอง

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผลของการปรับคณะรัฐมนตรี การชุมนุมทางการเมือง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาของสาธารณชน จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,189 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน  2555 ที่ผ่านมา พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.2 ทราบข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระดับการยอมรับคณะรัฐมนตรีหลังปรับคณะรัฐมนตรีอยู่ที่ 6.67 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.3 ระบุความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 43.7 ระบุว่า ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการปรับตัวของคนไทยหลังการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 ระบุควรทำใจปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ลดอคติ อย่าคิดล่วงหน้าไปเอง ให้โอกาสคน ใช้กฎหมายตัดสินถูกผิด

นอกจากนี้ ในหัวข้อการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ทราบข่าว และเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.2 คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ของฝ่ายค้านจะมีข้อมูลที่น่า สนใจ ในขณะที่ร้อยละ 44.8 ไม่คิดว่ามี อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ไม่คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาย ในรัฐบาล แต่ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.4 ระบุนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ควรออกมาชี้แจงตอบคำถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ด้วยตนเอง และร้อยละ 87.1 ระบุนายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญต่อการใช้ระบบรัฐสภาในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ในเวลานี้

 

 

ที่มา:,มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัญหาชาวนาไทย จำนำข้าว และชาวนาไม่เสียภาษี ?

Posted: 04 Nov 2012 07:56 AM PST


1 ปัญหาชาวนาไทย หรือ เกษตรกร ที่เรียกกันในปัจจุบัน นั้น มีพัฒนาการมาแต่อดีต ถึงปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่   เพียงแต่อาจต้องแยกแยะชาวนา ซึ่งมีทั้งชาวนาไร้ที่ดินต้องเช่า   ชาวนามีที่ดินน้อยไม่พอทำกิน  ชาวนาขนาดเล็ก ขนาดกลาง ชาวนารวย (ไม่ใช่ระดับบริษัทซีพี)  แต่ชาวนาอาจแทบทุกระดับล้วนเป็นหนี้สิน ธกส.ไม่มากก็น้อย เนื่องเพราะชาวนามักเสียเปรียบกลไกตลาด หรือลงทุนไม่คุ้มขาย นั่นเอง

ปัญหาด้านที่ดิน ยุคสมัยเจ้าศักดินา ชาวนาจำนวนมาก เป็นเพียงไพร่ทาสติดที่ดิน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  ต้องทำนาบนที่ดินของผู้อื่น และต้องส่งส่วยให้เจ้าศักดินาทั้งชาวนาศูนย์กลางอำนาจและชาวนาตามหัวเมืองต่างๆที่ปกครองโดยเจ้าเมืองก่อนปฏิรูปการปกครองรวบศูนย์อำนาจสมัยรัชกาลที่ 5

ประเทศไทยก็ยังไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน  ชาวนาจำนวนไม่น้อยต้องเช่าที่ดินอยู่   แม้ว่าสมัยหลังการปฎิวัติ 2475 นายปรีดี พนมยงค์เคยวางนโยบายนี้ไว้ และสมัยจอมพลป พิบูลสงคราม  เคยออกกฎหมายกำจัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่  แต่อำนาจของผู้นำประเทศสมัยนั้นถูกโค่นล้มเสียก่อน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  กระแสประชาธิปไตยและมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน   มีการตั้งสำนักงานสปก. ขึ้น เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดิน  แต่ก็เป็นการปฏิรูปที่ดินของรัฐมากกว่า  จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาการกระจุกการถือครองที่ดินแต่อย่างใด  ขณะที่ "ที่ดินเป็นสินค้า" ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์เก็งกำไรที่ดิน มีการสะสมที่ดินและไม่ทำประโยชน์จำนวนมาก         

2.  การพัฒนาประเทศสู่สังคมทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ช่วงสนธิสัญญาเบาริ่ง หรือสมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติก็ตาม   ชาวนาได้รับการสนับสนุนให้ปลูกพืชผลเพื่อการขาย เพื่อการค้า  สนับสนุนให้หักร้างถางพงเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน  ซึ่งชาวนานับล้านครอบครัวเมื่อถึงเวลากระแสอนุรักษ์ มีกฎหมายอนุรักษ์ประกาศทับที่ทำกิน พวกเขาก็กลายเป็นผู้ผิดกฎหมาย

สภาพทั่วไป การลงทุนทำการผลิตเพื่อขายของชาวนา มักไม่คุ้มต้นทุน มักขาดทุนอยู่สม่ำเสมอจำนวนมากจึงกลายเป็นชาวนาผู้มีหนี้สิน

ขณะเดียวกัน   ชาวนายุคปัจจุบันการดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด  มักมีการจัดการแรงงานของครัวเรือนชาวนาจำนวนมาก ล้วนแต่หาได้ทำมาหากินอยู่กับนา หรือมิเพียงเพื่อทำนาทำสวนทำไร่อย่างเดียว  พวกเขายังเป็นแรงงานนอกระบบจำนวนราว 24 ล้านคน  เช่น  รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่บ้าน   ลูกของพวกเขาอาจทำงานนอกภาคเกษตร เช่น คนงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนราว 10 ล้านคน และภาคบริการอื่นๆจำนวนกว่า 10 ล้านคน

แต่ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นแรงงานพนักงานด้านการผลิตที่ต้องทำงานมากกว่าแปดชั่วโมง เพื่อส่งเงินมาเลี้ยงครอบครัวภาคเกษตร  หรือภาคเกษตรอยู่รอดได้เพราะมีนอกภาคเกษตรหนุนเสริม   พวกเขาจึงหาได้เลื่อนฐานะทาง"ชนชั้น" เป็น "คนชั้นกลาง" แต่อย่างใด

3 กระนั้นก็ตาม  หากกล่าวถึง นโยบายจำนำข้าว มีชาวนาที่ทำนาไม่ว่าขนาดเล็ก ขนาดกลางและได้ประโยชน์จากนโยบาย 20 ล้านคน  ก็นับเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้วมิใช่หรือ ? ที่ชาวนาส่วนนี้จะได้มีเงินจ่ายหนี้ธกส. หนี้ที่สร้างทุกข์ระดมให้ชาวนามาตลอด  ลูกหลานครัวเรือนชาวนาส่วนนี้ก็จะได้ลดภาระการส่งเงินมาให้ครอบครัวโดยที่ตนเองทำงานหนัก

การแทรกแซงราคาข้าวของรัฐ   ภายใต้กลไกตลาดที่บิดเบือน การขจัดอิทธิพลผูกขาดของพ่อค้าข้าวส่งออก เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมใช่ไหม ? เฉกเช่น นโยบายด้านสาธารณสุข ที่รัฐไม่ปล่อยให้เอกชนใช้กลไกตลาดหาประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว  

แน่นอนว่า หากมีปัญหาการทุจริต การสวมสิทธิ์จากโครงการนี้  การะบายข้าว  ก็ควรตรวจสอบแก้ปัญหาเพื่อความโปร่งใสและงบประมาณจะได้ถึงชาวนาอย่างแท้จริง ซึ่งอาจต้องจัดตั้งกลไกที่ชาวนามีส่วนรวมมากขึ้น    แต่มิใช่ยกเลิกนโยบายปล่อยให้กลไกตลาดที่บิดเบือนและชาวนาตกเป็นเบี้ยล่างเช่นเคย

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย  ณรงค์ เพรชประเสริฐ   ขึ้นเวทีองค์กรพิทักษ์สยามได้บอกว่า "มนุษย์เงินเดือนเป็นพนักงาน 17 ล้านคน ต้องเสียภาษี   แต่ชาวนาไม่ต้องจ่ายภาษีดังกล่าว "

ไม่ทราบว่า 17 ล้านคน  เป็นคนงานพนักงานการผลิต  ซึ่งล้วนเป็นลูกลานชาวนาจำนวนมากจำนวนส่วนใหญ่  ที่มิใช่มนุษย์เงินเดือนแบบคนชั้นกลางระดับผู้บริหาร  ระดับหัวหน้างาน หรือเจ้าหน้าที่ราชการ  

ขณะที่ ณรงค์  เพชรประเสริฐ เขายังตั้งใจหลอกลวงว่าชาวนาไม่ต้องจ่ายภาษี ทั้งๆที่ชาวนาและลูกหลานชาวนาล้วนเป็นจำนวนผู้จ่ายภาษีมากที่สุดก็ว่าได้

4.  เนื่องเพราะ ไม่นานมานี้   อาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง การปฏิรูปทางทางการคลังนั้นหมายรวมถึงการปฏิรูปทั้งทางด้านรายได้และรายจ่าย ทางด้านรายได้นั้นจะต้องมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้สามารถรองรับระบบ สวัสดิการได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปฏิรูปงบประมาณทางด้านรายจ่าย เพื่อตัดรายจ่ายประเภทไม่จำเป็นมาใช้จ่ายด้านระบบสวัสดิการมากขึ้น

ใน การปฏิรูประบบภาษีนั้น มีข้อเสนอซึ่งไม่ใช่ใหม่ แต่แม้ผลักดันกันมานานก็ไม่ปรากฏเป็นจริง คือการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก รัฐบาลปัจจุบันได้เสนอว่าควรจะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง

จากข้อมูลการกระจายรายได้ พบว่าความแตกต่างทางด้านรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย (เปรียบเทียบ 20% ของประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกับ 20% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุด) อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า แต่ถ้าเปรียบเทียบในเชิงของการครอบครองทรัพย์สิน มีการประเมินว่าน่าจะสูงกว่านี้มากทีเดียว

 ฐานการจัดเก็บภาษีในประเทศต่างๆ มักจะมาจากฐานทางด้านรายได้ การบริโภค และทรัพย์สิน สำหรับประเทศไทย ฐานการจัดเก็บภาษีหลักมาจากฐานการบริโภค รองลงมาคือฐานทางด้านรายได้ สำหรับฐานทรัพย์สิน มีการจัดเก็บน้อยมากๆ จึงคงถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดเก็บภาษีฐานทางด้านทรัพย์สินขึ้นมาเสียที

เหตุผลในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สำหรับกรณีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเกี่ยวข้องกับหลักของการได้รับ ประโยชน์จากภาครัฐ และหลักความสามารถในการจ่าย ดังนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นการจัดเก็บอยู่บนฐานของมูลค่าที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีราคาที่สูงขึ้น ถ้ามีการพัฒนาความเจริญเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว เช่นยิ่งมีระบบสาธารณูปโภคเข้าไปมากเท่าไร ราคาของสินทรัพย์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของจึงควรมีการจ่ายภาษีกลับคืนมาให้กับรัฐ และเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้จ่ายภาษีในเขตเมืองและชนบท

นอกจากนี้แล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังควรมีการแบ่งแยกประเภทของการใช้ที่ดินด้วย เช่นถ้าเป็นการใช้เพื่อเกษตรกรรม อัตราการจัดเก็บควรจะต่ำกว่า การใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบการอุตสาหกรรม หรือเชิงพาณิชย์อื่นๆ และสำหรับที่ดินที่รกร้าง กล่าวคือเป็นการซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร ซึ่งมีผลให้ปัจจัยการผลิตถูกนำไปครอบครองไว้เฉยๆ ไม่ทำประโยชน์ ควรจะมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงเพื่อเป็นการสร้างต้นทุนในการเก็งกำไร เพื่อผลักดันให้มีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ส่วน ภาษีมรดก เป็นภาษีที่ถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะความไม่สมบูรณ์ของตลาดและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี จึงเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มสามารถสะสมทรัพย์สินหรือโภคทรัพย์จนมากเกินไป การจัดเก็บภาษีมรดกถือเป็นการคืนกำไรหรือผลผลิตส่วนเกินให้กับสังคม ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่การสร้างรายได้เหล่านี้มักจะมาควบคู่กับการการสร้าง ต้นทุนทางสังคม ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมีการจัดเก็บภาษีมรดกทั้งสิ้น

ระบบโครงสร้างการเก็บภาษีปัจจุบัน จึงไม่อาจบิดเบือนได้ว่า คนชั้นกลางเท่านั้นที่จ่าย  แต่ผู้จ่ายจำนวนมากกลับเป็นคนชั้นล่าง

มีการเป็นห่วงว่า นโยบายจำนำข้าวนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก  แต่คำถามก็คือ หากงบประมาณจำนวนมากเพื่อคนจำนวนมาก รัฐควรกระทำหรือไม่ ?  หากงบประมาณจำนวนไม่น้อย เช่น งบกองทัพ  โครงการไม่จำเป็นต่างๆ  องค์กรไม่จำเป็นต่างๆ ที่คนจำนวนน้อยได้ประโยชน์  รัฐควรกระทำหรือไม่ ?  ในทางตรงกันข้าม สมัยวิกฤติฟองสบู่ ปี 40 รัฐบาลได้ช่วยเหลือสถาบันการเงินบางแห่ง  ด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล เป็นการล้มบนฟูก  "อุ้มคนรวย" ซึ่งมีไม่กี่ตระกูลด้วยงบประมาณแผ่นดิน มิใช่หรือ?

การออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนวนข้าว ครั้งนี้ บางคนกระทำด้วยความตั้งใจ เพื่อนำสู่การปรับปรุงแก้ไข  บางคนหลงใหลกับกลไกตลาดเสรีผูกขาด

แต่บางคนกระทำการทำลายความชอบธรรมเป้าหมายขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อแช่แข็งประเทศไทยเท่านั้นเอง ?

5 . อย่างไรก็ตาม  การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของชาวนาในระยะยาวและระดับรากเหง้าของปัญหาชาวนา  อย่างน้อยรัฐ ต้องมีการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดิน   มีการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า  ปลดหนี้สินของเกษตรกร  มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อย   ขจัดการผูกขาดปัจจัยการผลิต  ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มของชาวนา   สนับสนุนให้ประชาชนมีอำนาจควบคุมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพราะ  "ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ" มิใช่หรือ ?

 

 

ที่มาภาพ : วิวาทะ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความล้มเหลวของการจำนำข้าวทุกเม็ด : การสร้าง “ ความต้องการเทียม” ในตลาดเปราะบาง

Posted: 04 Nov 2012 07:18 AM PST

หลักของการค้าขายในตลาดเสรีทั่วไป ได้แก่ การทำให้สินค้าของตนเป็นที่ต้องการของตลาด    ซึ่งทำได้ในหลายรูปแบบ  เช่น ฉีกตลาดออกไปสู่ตลาดบนเพื่อทำให้ความแตกต่างของรสนิยมอันเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญในการบริโภค  แต่สำหรับสินค้าที่มีความแตกต่างน้อย การผลิตก็ไม่สามารถฉีกตลาดไปได้ด้วยคุณลักษณะของสินค้า เช่น สินค้าการเกษตรทั่วไป วิธีการที่ต้องทำกันเพื่อทำให้สินค้าของตนนั้นขายได้และมีราคาดีขึ้น ก็คือ การทำให้สินค้านั้นๆมีน้อยลงในตลาดขณะที่ความต้องการมีเท่าเดิม     ซึ่งก็ส่งผลให้สินค้านั้นมีราคาสูงขึ้นทันที เช่น เมื่อหลายปี (สิบปีกระมัง) บริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรแก้ปัญหาราคาไก่ตกต่ำด้วยการนำลูกไก่ไปทิ้งทะเล  เป็นต้น

การทำให้สินค้าที่มีความแตกต่างน้อยหรือไม่มากนักนี้หายไปจากตลาดเพื่อที่จะทำให้สินค้าที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นนี้  เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการสร้าง "ความต้องการเทียม" (Pseudo Demand)    ซึ่งทำขึ้นเพื่อจะดึงเอาสินค้าที่ผลิตขึ้นมากจนทำให้ราคาตกต่ำนั้นไปอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ตลาด เช่น ทะเล เผาไฟ ยุ้งฉางหรือที่เก็บกักไว้เฉยๆ ฯลฯ อันทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นนั้นมีน้อยลงในตลาดนั้นเอง

การจัดการกับปัญหาราคาข้าวในประเทศไทย รัฐบาลทุกรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ทศวรรษ 2520 ) เป็นต้นมาก็ดำเนินมาในลักษณะเดียวกัน คือ การสร้างความต้องการเทียมขึ้นมาในแต่ละปีนั่นเอง

แต่การจัดการกับปัญหาข้าวในรัฐบาลนี้แตกต่างจากเดิมในเรื่องขนาดของการสร้าง "ความต้องการเทียม "  เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามักจะประเมินว่าผลผลิตจะเกิดความต้องการของตลาดโลกจำนวนสักเท่าไร จากนั้นก็จะจัดสรรงบประมาณมาทำให้เกิดการ " จำนำ" ข้าว (ความต้องการเทียม)ในปริมาณที่คาดไว้ ซึ่งก็จะส่งผลให้ข้าวหายไปจากตลาดจำนวนตามที่คาด อันส่งผลทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นในตลาดซื้อขายทั่วไป

รัฐบาลนี้ได้ขยาย "ความต้องการเทียม" นี้ขึ้นครอบคลุมข้าวทุกเม็ดในตลาดของไทยหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือรัฐบาลสร้าง "ความต้องการเทียม" ในตลาดข้าวร้อยเปอร์เซ็นต์  ดังนั้นในทางทฤษฏีแล้วข้าวจึงหายหมดจากตลาดภายใน  แม้ว่าในทางปฏิบัติผู้ส่งออกและโรงสีเครือข่ายผู้ส่งออกย่อมมีเครือข่ายผู้ปลูกข้าวของตนอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่มากพอที่จะส่งออกได้อย่างเดิม เพราะ "ความต้องการเทียม" ได้แย่งข้าวไปจนเกือบหมดตลาด

การสร้าง " ความต้องการเทียม" ครอบคลุมตลาดทั้งหมดเช่นนี้  เกิดขึ้นเพราะคิดว่าจะสามารถควบคุมราคาตลาดข้าวในโลกได้  เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่   ดังนั้น หากไทยยังไม่ส่งออกข้าว  ข้าวในตลาดโลกก็ลดลงซึ่งย่อมส่งผลต่อราคาที่ไทยจะขายต่อไปในอนาคตว่าจะต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน

แต่การสร้าง "ความต้องการเทียม" ในตลาดการค้าข้าวของโลกวันนี้จะประสบกับปัญหาใหญ่  เพราะตลาดข้าวของโลกวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว  กล่าวคือ หลังจากทศวรรษ 1990 กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ในเอเชียที่ล่มสลายและหันกลับมาเดินทางสายเสรีนิยม  ได้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเริ่มจะสะสมทุนเบื้องต้นจากการผลิตเกษตรเพื่อขาย   โดยเฉพาะข้าว   ได้ทำให้ตลาดข้าวของโลกตกในสภาวะ "ตลาดเปราะบาง" ( Thin Market ) มากขึ้น

"ตลาดเปราะบาง" เห็นได้ชัดเจนจากขนาดของตลาดและผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาด    เท่าที่ผ่านมาตลาดข้าวของโลกมีความต้องการที่ไม่เพิ่มมากนัก  เพราะหากราคาข้าวสูงขึ้นเกินไป ประเทศต่างก็ที่เคยซื้อข้าวก็จะหันไปบริโภคอาหารแป้งจากสินค้าเกษตรตัวอื่นแทน ดังนั้นตลาดจึงจะผันแปรอย่างรวดเร็วในกรณีที่ทีการผลิตข้าวเพื่อส่งออกเพิ่มแม้เพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น  เดิม เวียดนามไม่เคยส่งออกข้าว แต่เมื่อเวียดนามตัดสินใจส่งออกข้าวแม้ว่าปริมาณอาจจะไม่มากนัก เช่น ปีละหนึ่ง-สองล้านตัน ก็จะส่งผลให้ตลาดที่มีขนาดคงที่นั้นกระทบกระเทือนทางด้านราคาทันที

ดังนั้น  ความหวังที่จะสร้าง " ความต้องการเทียม" ในประเทศไทยทั้งหมดจึงประสบปัญหาทันที  เพราะทันทีที่ปริมาณข้าวในตลาดลดลง ราคากำลังจะเพิ่มสูงขึ้น เวียดนามได้ส่งออกเข้าไปสู่ตลาดทันที ส่งผลให้ความต้องการในตลาดโลกนั้นไม่เพิ่มมากขึ้นอย่างที่รัฐบาลนี้คาดหวังเอาไว้

การสร้าง "ความต้องการเทียม"ในตลาด "เปราะบาง" เช่นตลาดข้าวของโลกวันนี้ จึงทำให้รัฐบาลต้องรับภาระอันหนักหน่วงมากขึ้น เพราะรัฐกลายเป็นเจ้าของข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้  และยังไม่รู้ว่าจะทยอยออกไปขายให้แก่ใครและขายที่ไหน สิ่งที่ต้องทำก็คือการหาบริษัทมาประมูลเพื่อนำออกออกจากยุ้งฉาง  ซึ่งก็ต้องปล่อยให้ประมูลในราคาที่ต่ำแน่นอน เพราะบริษัทที่จะมาประมูลย่อมไม่มีทางที่จะสู้ราคาที่สูงได้

รัฐบาลเองก็เห็นปัญหาอย่างชัดเจนนี้  แต่เนื่องจากทางออกทางเศรษฐกิจของการค้าโลกเหลือน้อยลงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้  ทางรอดทางการเมืองทางหนึ่ง ก็คือ  ใช้วิธีการประเมินนโยบายด้วยการเบนประเด็นมาอธิบายถึงการทะลายการผูกขาดการค้าข้าวแทน โดยมักจะกล่าวทำนองว่าเมื่อก่อนเราส่งออกมาก แต่ชาวนาจน แต่วันนี่เราส่งออกน้อย แต่ชาวนากลับมีรายได้มากขึ้นเพราะการจำนำข้าว (ตลาดเทียม)  ซึ่งเป็นความจริงที่ ปฏิเสธไม่ได้  รวมทั้งพยายามที่จะอธิบายว่าการส่งออกข้าวเกรดดียังทำได้เรื่อยๆ ดังนั้นประเทศไทยก็อาจจะลดการส่งข้าวเกรดต่ำราคาถูกหันไปสู่การผลิตข้าวเกรดสูงราคาแพงแทน

แต่ปัญหานี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่รัฐบาลอธิบายไว้

การสร้าง "ความต้องการเทียม" ให้มีขนาดเท่ากับตลาดในประเทศทั้งหมด จะทำให้เกิดการขยายตัวของการปลูกข้างเกรดต่ำที่ไม่ต้องการการดูแลมากนักเพิ่มมากขึ้นทันที เพราะการสร้าง " ความต้องการเทียม" เช่นนี้ คือ การดึงภาระ "ความเสี่ยง" ทางเศรษฐกิจทั้งหมดออกจากบ่าของคนปลูกข้าว  และการทำเช่นนี้จะทำให้คนจำนวนมากกลับมาสู่การผลิตที่ไม่ต้อง "เสี่ยง" อะไรเลยแบบนี้มากขึ้น   ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในชนบทที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ก็จะลงทุนในการเพราะปลูกขนาดใหญ่ ( Plantation ) เพื่อผลิตข้างเกรดดี ราคาสูงเพิ่มมากขึ้น   คนจำนวนมากที่กลับมาสู่การผลิตที่ไม่ต้อง "เสี่ยง" อะไรเลยแบบนี้ก็ไม่ใช่ชาวนาผู้ยากจนอย่างที่รัฐบาลโหมโฆษณาหรอกครับ

ดังที่จะเห็นได้จาก ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่กำลังเกิดจากโยบายการจำนำข้าวทุกเม็ด  ได้แก่ การขยายตัวอย่างมากของการปลูกข้าวในฤดูกาลที่ผ่านมา  และจะขยายตัวมากขึ้นในการปลูกข้าวนาปรังที่กำลังจะมาถึง เหตุผลง่ายๆ ก็คือ  เมื่อไมมีความเสี่ยงด้านราคา  การลงทุน/ลงแรงปลูกข้าวก็ได้กำไรเห็นๆอยู่แล้ว ยกเว้นว่าจะเจอกับภัยธรรมชาติจนไม่ได้ผลผลิตเลย แต่นั้นแหละก็ยังได้โอกาสรับค่าชดเชยความเสียหายนั้นๆ จากรัฐ

ก็ต้องกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นเรื่องธรรมดา ที่การผลิตอะไรไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกหรือค้าขายอะไร หากไม่ต้องเสี่ยงทางด้านราคา  ก็ย่อมเป็นแรงดึงดูดให้มีผู้เข้ามาสู่กิจกรรมนั้นมากขึ้น

ในพื้นที่ "ชนบท" ทั่วไปของสังคมไทย  นอกจากชาวนารวยที่ทำการปลูกข้าวในพื้นที่ที่กว้างขวางแล้ว ชาวนาบางเวลา ( part-time farmer ) ที่เดิมจะใช้เวลาทำงานนอกภาคเกษตรกรรมมากกว่าในภาคเกษตรกรรม ก็ได้หันกลับเข้ามาสู่การลงทุนในการปลูกข้าวมากขึ้น   ชาวนาบางเวลาที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้ผันตัวเองออกไปประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็กในเขตเมืองได้ใช้เงินจากนอกภาคการเกษตรมาสู่การทำ "ธุรกิจปลูกข้าว" มากขึ้นในปีนี้

กล่าวได้ว่า กลุ่มชาวนาบางเวลานี้ได้ใช้ระบบการจ้างแรงงานและเครื่องจักรในทุกขั้นตอนของการปลูกข้าว ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นบริษัทปลูกข้าวขนาดกลางและเล็ก     ส่วนใหญ่ของแรงงานที่ใช้ในการปลุกข้าวในภาคเหนือตอนบนและตอนล่างก็จะเป็นแรงงานต่างชาติ ส่วนเครื่องจักรที่มีราคาไม่แพงนั้น ชาวนาบางเวลาที่กำลังเป็นเจ้าของบริษัทปลูกข้าวขนาดเล็กก็จะลงทุนซื้อเอง  ในขณะที่เครื่องจักรราคาแพงก็จะใช้วิธีการเช่า

แน่นอนว่า รายได้จากภาคเกษตรกรรมของครอบครัวชาวนาบางเวลากลุ่มนี้จะสูงมากขึ้นอย่างแน่นอน  และมีผลทำให้จำนวนครัวเรือนชาวนาที่จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้เพิ่มขึ้นจากประมาณหนึ่งล้านครัวเรือนมาเป็นสองถึงสามล้านครัวเรือนจากสี่ล้านครัวเรือน ซึ่งหมายถึงความชื่นชอบทางการเมืองต่อรัฐบาลจะเพิ่มสูงมากขึ้นทีเดียว

ปริมาณข้าวที่จะถูกผลิตในปีต่อๆไปจะสูงมากขึ้นๆ  จนอย่างไรก็ตามในที่สุด รัฐบาลก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินนโยบาย "ความต้องการเทียม" นี้ได้ต่อไปได้อย่างแน่นอน เพราะข้าวที่มีจำนวนมากขึ้นมหาศาลจะเข้าสู่นโยบายจำนำข้าวทุกเม็ด  และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการเงินการคลังมากขึ้นตามไปด้วย  เพราะจำนวนเงินงบประมาณที่จะต้องเข้าสู่นโยบายจำนำข้าวก็จะมีแต่สูงมากขึ้นๆตามไปด้วย  และการระบายข้าวเก่าที่จำนำไว้ก็ยังไม่เห็นว่าจะทำได้ ข้าวใหม่กำลังจะเข้าสู่ยุ้งฉางของการจำนำ ดังนั้น จากนี้ไป เราจะต้องใช้เงินประมาณหนึ่งในสามของงบประมาณแผ่นดินในการรับจำนำข้าวที่เพิ่มสูงมากขึ้น หากไม่หยุดนโยบายนี้ก็อาจจะเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดิน

หากปล่อยให้เกิดการใช้งบประมาณแผ่นดินในลักษณะดังกล่าว  ผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวมก็จะมีสูงมาก  เพราะงบประมาณการลงทุนด้านอื่นๆที่สัมพันธ์กับชีวิตผู้คนทั้งหมดก็จะหดลงทันที เช่น นโยบายการศึกษา การสาธารณสุข  พลังของการบริโภคภายในประเทศอันจะขยายตัวบ้างจากนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดไม่มีทางที่จะทำให้รัฐมีรายได้เพียงพอกับที่ใช้ไปอย่างแน่นอน

ผลประโยชน์เฉพาะหน้าปีหรือสองปีนี้ตกแก่ชาวนาบางเวลาจำนวนหลายล้านคน  แต่คนทั้งหมดในสังคม รวมทั้งชาวนาบางเวลาทุกคนด้วย กำลังจะเผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเงินการคลังที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต  ผมคิดว่าน่าจะแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 หลายเท่า

แม้ว่าอาจารย์อัมมาร สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่รู้เรื่องข้าวดีที่สุดในประเทศไทยจะท้วงติงและชี้ให้เห็นผลเสียอย่างชัดเจน ( กรุงเทพธุรกิจ 29 ตุลาคม 2555, อัมมาร์ : รัฐบาลพังไม่แคร์ แต่ห่วงประเทศจะพังเพราะจำนำข้าว )  แต่รัฐบาลก็ไม่มีทางที่จะยุตินโยบายนี้  ไม่แม้กระทั่งจะทบทวน  ก็เพราะมองเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าพรรคการเมืองของตนนั้นจะได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากจำนวนชาวนาที่กระโดดเข้ามาสู่การปลูกข้าวที่มากขึ้นนี้

ทางออกเฉพาะหน้าในวันนี้เหลือน้อยลงๆ  อาจจะกล่าวได้ว่าเหลือเพียงสองทาง  ได้แก่ การระดมผู้ส่งออกเดิมทั้งหมดซึ่งเป็นสายตระกูลที่ผูกขาดการค้าข้าวมาหลายชั่วอายุคนมาสู่การเป็น " เอเยนต์" ของรัฐบาลโดยกำหนดค่าตอบแทนตามปริมาณข้าวที่ส่งออกได้   เพื่อที่จะระบายข้าวที่เก็บเอาไว้  โดยทั้งรัฐบาลและผู้ส่งออกรายใหญ่มาตกลงราคาพื้นฐานที่ทำให้รัฐบาลขาดทุนน้อยที่สุด   ทางออกที่สองซึ่งยากมากและต้องใช้เวลานานมาก ได้แก่  การสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวให้หลากหลายมากที่สุด  เพื่อที่จะเป็นการระบายข้าวที่เก็บเอาไว้ไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค้าเพิ่มภายในประเทศ

จากนั้น รัฐบาลจะต้องหันกลับมาทบทวนว่าหากจะสร้าง "ความต้องการเทียม" ในตลาดโลกวันนี้จะต้องวางแผนอะไรเพิ่มขึ้นอีก  รวมทั้งต้องศึกษาวิจัยให้ชัดเจนว่าชาวนาคือใคร ยังมี "ชาวนา" เหลือร้อยละเท่าไร  ผู้ประกอบการการนาหรือผู้จัดการนามีจำนวนเท่าไร    เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เรากำลังวางแผนการตัดการงบประมาณไปบนความเชื่อเก่าๆว่ามีสังคมชาวนาและชาวนายากจนอยู่เต็มประเทศไทย  ซึ่งไม่จริงแล้วในวันนี้

เอาเข้าจริงๆ ในภาคเหนือ ชาวนาที่เป็นชาวนาจริงที่ยากจน  ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้  เพราะพวกเขาปลูกข้าวเหนียวในพื้นทีเล็กน้อยเพื่อการบริโภคตลอดปีเท่านั้น

นโยบายช่วยเหลือคนจน/คนด้อยโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ดี  แต่ก็ต้องมองให้เข้าใจด้วยว่าคนจน/คนด้อยโอกาสอยู่ตรงไหนและพวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไร  มิฉะนั้นนโยบายนี้ก็ไม่ได้ส่งผลดีอะไรตามที่ต้องการเลย

ในขณะที่เราเห็นอยู่แล้วว่ากำลังจะเผชิญอะไรในอนาคตอันใกล้นี้  แต่การทักท้วงของอาจารย์ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้รับการฟังเลย  คำถามก็คือ ใครอีกเล่าจะทำให้เกิดการทบทวนนโยบายการจำนำข้าวทุกเม็ดนี้

หากพิจารณานโยบายการจำนำข้าวให้ชัดเจนนี้ ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องเฉพาะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น หากแต่รวมไปถึงกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านนโยบายการเงินและการคลัง  อย่างน้อยที่สุด สี่หน่วยงานหลักที่จะมีบทบาทในดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ กระทรวงการคลัง  ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่น่าประหลาดใจที่มีเพียงข้าราชการในกระทรวงคลังเท่านั้นที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยมีจดหมายแสดงความวิตกกังวล และเสนอให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวที่เก็บเอาไว้ให้เร็วและมากที่สุด  และคุณวีรพงษ์ รางมางกูรที่เคยกล่าวไว้ทำนองว่ารัฐบาลจะพังเพราะนโยบายจำนำข้าวนี้    ในขณะที่ผมไม่ได้ยินเสียงของหน่วยงานอื่นๆเลยทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้โดยตรง

เมื่อสิบปีก่อน อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ได้ตั้งคำถามไว้ในบทความชื่อว่า Technocrats หายไปไหน โดยชี้ให้เห็นว่าภายหลังจากที่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมามีอำนาจก็ได้ทำให้กลุ่มเทคโนแครตที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทกำกับนโยบายของรัฐหมดอำนาจลงไป

หากคิดต่อจากบทความของอาจารย์รังสรรค์  ในด้านหนึ่ง การหายไปของเทคโนแครตในการกำกับนโยบายของรัฐซึ่ง ก็ถือได้ว่าเป็นกระบวนการเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตยแบบหนึ่ง  แต่หากคิดในอีกด้านหนึ่ง  การหายไปของเทคโนแครตในลักษณะที่กลายเป็นกลไกเชื่องๆของรัฐบาล กลับทำให้สังคมปราศจากพลังทางความรู้ในการต่อรอง/ต่อต้าน/หรือปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะที่จะทำร้ายสังคมไทย

วันนี้เอง จึงอยากจะเรียงร้องให้เทคโนแครตทุกหน่วยงาน และทุกคนในสังคมไทยช่วยกันมองไปข้างหน้าให้ไกลๆ เราจะปล่อยให้สังคมคาดหวังกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าสั้นๆไม่ได้  อย่าลืมนะครับ มีเส้นแบ่งกันอยู่ระหว่างนโยบายประชานิยมแบบก้าวเข้าสู่สังคมสวัสดิการ กับนโยบายประชานิยมแบบผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น  เราต้องทำให้สังคมมีศักยภาพมากที่สุดในการเดินไปข้างหน้าพร้อมกันจินตนาการของสังคมที่ดีกว่า ไม่ใช่สังคมที่มีสายตาสั้นและมองเฉพาะช่วงเวลาอันใกล้เท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรดุลย์ ตุลารักษ์: เลือกตั้งสหรัฐ และด้านกลับของการเมืองระบบสองพรรค

Posted: 04 Nov 2012 06:17 AM PST

สัมภาษณ์ "วรดุลย์ ตุลารักษ์" นักวิจัยด้านเศรษฐกิจและแรงงาน มหาบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนแบรสกา ในโอกาสที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 57 กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. นี้โดยเป็นการแข่งขันของผู้สมัครหลักๆ คือบารัก โอบา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต และมิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน

โดยคุณวรดุลย์ ซึ่งเคยอาศัยในสหรัฐอเมริกาตรงกับช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 สมัย ตอบคำถามที่ว่าการเมืองของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีสีสันอย่างที่สื่อมวลชนนำเสนอหรือไม่ โดยเขากล่าวว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าการเมืองสหรัฐอเมริกามีสีสัน มีการแข่งกันค่อนข้างสูง แต่จากการสังเกตการเมืองสหรัฐจะใช้ประเด็นหาเสียงอยู่ไม่กี่ประเด็น เช่น พรรครีพับลิกันจะชูนโยบายลดภาษีให้บริษัท ลดภาษีให้คนรวย ซึ่งพรรคเดโมแครตจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ส่วนนโยบายด้านสังคม พรรคเดโมแครตดูจะเป็นเสรีมากกว่า เช่น สนับสนุนการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย และการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ซึ่งพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วย ประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอและใช้แข่งขันกันมาหลายสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นแข่งขันของสองพรรคใหญ่ และนโยบายจะอยู่ตรงกลางๆ แม้จะดูหวือหวาในช่วงเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งไปแล้วก็ดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน อย่างนโยบายการทำสงครามในตะวันออกกลาง รัฐบาลทุกพรรคก็เข้าไปทำสงครามในตะวันออกกลาง และเมื่อทหารอเมริกันเสียชีวิตกลับมาทั้งสองพรรคก็ต้องไปแสดงความไว้อาลัยกับทหารอเมริกัน

ทั้งนี้ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาทำให้พรรคเล็กๆ ขึ้นมาเป็นตัวเลือกได้ยาก โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคกรีนคือ พญ.จิล สไตน์ ที่ต่อมาไม่สามารถเข้าร่วมการดีเบตได้ เพราะคณะกรรมการการจัดการโต้วาทีชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (Commission on Presidential Debate หรือ CPD) กำหนดให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้รับคะแนนนิยมจากการสำรวจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ทำให้คะแนนของผู้สมัครจากพรรคอื่นไม่เพียงพอที่จะได้เป็นแคนดิเคตในการดีเบต

นอกจากนี้ยังมีวิธีคิดที่ผู้มีสิทธิลงคะแนน จะลงคะแนนแบบยุทธศาสตร์ (Strategic voting) ให้พรรคที่สามารถแข่งขันกันได้เท่านั้น ทำให้พรรคที่ไม่มีความหวังอยู่เลย แนวโน้มของการเมืองสหรัฐอเมริกาจะเป็นระบบสองพรรคมากขึ้น จะไม่มีพรรคเล็กเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับยุโรปแล้ว ประเทศในยุโรปเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมาเป็นตัวเลือกมากกว่า

วรดุลย์สรุปในตอนท้ายว่า "การเมืองสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มนำไปสู่ระบบสองพรรค และเบียดขับพรรคอื่นๆ ออกไปจากตลาดการเมือง เหลือแต่พรรคใหญ่ๆ ข้อดีก็คือพรรคการเมืองที่เหลืออยู่มีฐานเสียงอยู่แน่นอน ผลักดันนโยบายของพรรคได้แน่นอนเพราะมีฐานเสียงรองรับ และมีเสถียรภาพเพราะเป็นพรรคใหญ่ แต่ข้อเสียคือเมื่อโลกก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ความหลากหลายของผู้คนในประเทศก็ย่อมมากขึ้น ดังนั้นคนเหล่านั้นต้องการนโยบาย พรรคการเมือง หรือความเป็นเจ้าของพรรคการเมืองมารองรับตรงนี้ ถ้าขาดซึ่งความหลากหลายของตัวเลือกที่เป็นพรรคการเมืองไป คนที่ไม่เห็นด้วยกับสองพรรคนี้ ก็ต้องถูกบังคับให้ไปเลือกพรรคที่ชอบน้อยกว่า ซึ่งเรียกว่าผู้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic voting) เลือกพรรคที่สูสีกันเท่านั้น พรรคที่สามก็เลยไม่เกิด สังคมอเมริกันที่บอกว่าเป็นหม้อที่หลอมรวมคนที่หลากหลายเข้ามาด้วยกัน (Melting Pot) แต่วันหนึงระบบการเมืองกลับไม่สะท้อนโครงสร้างและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ก็คงเกิดความขัดแย้งและต้องปรับตัวกันอีกรอบ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

NYtimes: แผนผังเส้นทางสู่ชัยชนะ การเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ 2012

Posted: 03 Nov 2012 07:36 PM PDT

นิวยอร์กไทม์ นำเสนอแผนผังการเลือกตั้งสหรัฐฯ 'เส้นทางสู่ชัยชนะ' ของผู้ลงสมัครทั้งสองคนคือบารัค โอบาม่า กับ มิตต์ รอมนีย์ โดยประเมินจากผลสำรวจโพลล์ ผลการเลือกตั้งคราวก่อน และสภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองของแต่ละรัฐ

(ที่มาของแผนผัง: New York Times)

แผนผังแสดงแนวโน้มการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. นี้ โดยนิวยอร์กไทม์ ประเมินและแบ่งออกเป็น 5 เขต สีน้ำเงินเข้มหมายถึงรัฐที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตอย่างเหนียวแน่น สีฟ้าหมายถึงรัฐที่มีแนวโน้มว่าพรรคเดโมแครตจะชนะ ส่วนสีเหลืองหมายถึงรัฐที่มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองทาง สีชมพูหมายถึงรัฐที่มีแนวโน้มว่าพรรครีพับลิกันจะชนะ และสีแดงเข้มหมายถึงรัฐที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันอย่างเหนียวแน่น

โดยการประเมินของนิวยอร์กไทม์ระบุว่า บารัค โอบามา มีแนวโน้มที่จะได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) แล้ว 243 เสียง ต้องการอีก 27 เสียงเพื่อให้เป็นเสียงข้างมาก ส่วนมิตต์ รอมนีย์ ประเมินว่าน่าจะได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 206 เสียง ต้องการอีก 64เสียงจึงจะได้เสียงข้างมาก ขณะที่ผู้สมัครทั้งสองต้องมาชิงเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอีก 89 เสียงที่เหลือ

นอกจากนี้ทางนิวยอร์กไทม์ก็นำเสนอบทวิเคราะห์รัฐที่มีความเอนเอียงและมีความเป็นไปได้ทั้งสองทางดังนี้

 

รัฐเมน
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

รัฐเมนพ้นจากการเป็นสนามต่อสู้ทางการเมืองระดับต้นๆ จากการที่พรรคเดโมแครตสามารถเอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี 5 ครั้งหลังสุดได้ ปีนี้พวกเขาก็มีโอกาสชนะได้อีกเมื่อเห็นว่าโอบาม่าสามารถเอาชนะได้ร้อยละ 17 ในสมัยปี 2008 แต่กับมิตต์ รอมนีย์ผู้มาจากถิ่นฐานแถบตะวันออกเฉียงเหนือ และการที่รัฐนี้มัสายสัมพันธ์กับกลุ่ม Tea Party ทำให้น่าจับตามอง การหาเสียงของรอมนีย์ดูจะพยายามยึดครองคะแนนเสียงอย่างน้อย 1 เสียง เนื่องจากเมนเป็นหนึ่งในสองรัฐที่มีการแบ่งสัดส่วนคะแนนเสียง

รัฐมิชิแกน
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

มิตต์ รอมนีย์เกิดและโตที่รัฐมิชิแกน ซึ่งพ่อเขาเป็นผู้ว่าการรัฐฯ ผู้มีชื่อเสียง แต่สำหรับรัฐที่เอนเอียงข้างเดโมแครตนี้การต่อสู้กับโอบาม่ามีพื้นฐานอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่การโหยหาอดีต การที่รัฐบาลช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งรอมนีย์ต่อต้านจะกลายเป็นข้อถกเถียงหลักสำหรับการหาเสียงของโอบาม่า รอมนีย์ดูเหมือนจะสู้หนักมากกับรัฐนี้โดยใช้เส้นสายความสัมพันธ์ของครอบครัวเขา แต่มันก็เป็นการต่อสู้ที่หนักหนา

รัฐมินนิโซตา
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

เดโมแครตสามารถเอาชนะในรัฐมินนิโซตาได้ในสมัยการเลือกตั้งปธน. 9 ครั้งที่ผ่านมา โดยมีวอลเตอร์ มอนเดล เป็นคนเดียวที่เกิดในรัฐนี้และสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าได้ในปี 1984 ดังนั้นจึงมีเหตุผลน้อยมากที่โอบาม่าจะต้องลงแรงต่อสู้ในที่นี่ แต่ก็ยังคงมีการหาเสียงที่นี่อยู่ และก็ยังไม่สามารถมั่นใจกับรัฐภาคกลางฝั่งตะวันตกนี้ได้ หากมิตต์ รอมนีย์เริ่มชวนท้าทายขึ้นมาในช่วงท้ายการหาเสียง โอบาม่าอาจต้องเจอกับการเลือกตั้งรอบสองที่มีศัตรูแข็งแกร่ง

รัฐนิวเม็กซิโก
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปธน. โอบาม่า สร้างสถิติมีชัยชนะเหนือวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน ในนิวเม็กซิโก 15 คะแนน เป็นสัดส่วนที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับการต่อสู้อย่างหนักหน่วงระหว่างการเลือกตั้งของปธน. ขณะที่รีพับรีกันเป็นผู้ว่ารัฐในช่วงปี 2004 และมีการเลือกตั้งผู้ว่าใหม่ในปี 2010 นิวเม็กซิโกยังคงถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรกับพรรคเดโมแครตอยู่ มิตต์ รอมนีย์ วางแผนหาเสียงที่นี่ แต่ผู้ให้คำแนะนำของเขาก็เตือนว่ามันอาจไม่ใช่โอกาสที่ดีในการเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงจากที่นี่

รัฐเนวาดา
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

แผนอนาคตทางเศรษฐกิจในเนวาดาต้องตกต่ำลงตั้งแต่ผู้แทนของปธน. โอบาม่า มีชัยชนะเหนือรัฐนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า จากการที่รัฐนี้มีอัตราการว่างงานและการเพิกถอนจำนองมากที่สุด มิตต์ รอมนีย์ ก็ได้ 'สรุปผลการทดลองพร้อมใช้งาน' เอาไปโต้เถียงว่านโยบายของรัฐบาลโอบาม่าไม่สามารถกระทำได้ แต่จากการโอบาม่าหาเสียงซื้อใจชาวละตินได้อย่างมากและการได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากการลงคะแนนล่วงหน้า ทำให้โอบาม่ามีแววในการต่อสู้วันสุดท้ายของการเลือกตั้ง

รัฐเพนซิลวาเนีย
สถานะ : เอียงข้างเดโมแครต

หลายปีมาแล้วที่เพนซิลวาเนียให้ความนิยมพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปธน. แต่ก็ยังไม่ทำให้ริพับริกันหยุดความพยายามต่อสู้ได้ มิตต์ รอมนีย์ เดินทางไปทั่วรัฐนี้และริพับริกันก็โฆษณาหาเสียง แต่เท่าที่เห็นตอนนี้ก็ยังมีความคืบหน้าน้อยมาก กฏหมายใหม่ว่าด้วยการระบุตัวตนผู้ลงคะแนนเสียงอาจทำให้จำนวนคะแนนของเดโมแครตครอปลง แต่โพลล์จากมหาวิทยาลัยควินนิแพ็ก นิวยอร์กไทม์ ซีบีเอสนิวส์ เปิดเผยว่าปธน. มีคะแนนก่อนหน้าร้อยละ 11 ก็ทำให้รัฐนี้ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นรัฐที่มีความเป็นไปได้เท่ากันก็ดูกลับมาเอียงข้างเดโมแครต

รัฐโคโลราโด
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

ชัยชนะของปธน. โอบาม่าเหนือรัฐโคโลราโดเป็นหนึ่งในความสำเร็จสำคัญของเขาในปี 2008 หลังจากที่รัฐนี้ลงคะแนนเอนเอียงไปทางริพับริกัน 8 ใน 9 ครั้งที่แล้ว ความรอบคอบของรัฐบาลใหญ่อาจเป็นบททดสอบสำหรับโอบาม่า แต่มิตต์ รอมนีย์ ก็ต้องเผชิญความท้าทายของตัวเองในการพยายามเรียกคะแนนจากผู้หญิงและกลุ่มผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนสำคัญที่มีผลต่อชัยชนะของวุฒิสมาชิกและผู้ว่ารัฐฯ ฝ่ายเดโมแครตในโคโลราโดปี 2010

รัฐฟลอริด้า
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

ฟลอริด้ากลับมาเลื่องชื่ออีกครั้งในฐานะสมรภูมิเลือกตั้งสำคัญของอเมริกา ปธน. โอบาม่า ชนะไปในปี 2008 แต่การเพิกถอนจำนองบ้านเป็นจำนวนมากและภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองทำให้ทางชนะของเขายากขึ้น กลุ่มคนเกษียณอายุที่เป็นอนุรักษ์นิยมกลายเป็นความหวังของรอมนีย์ แต่ผลลัพธ์อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการที่ว่ารอมนีย์จะสามารถชนะใจกลุ่มชาวฮิสปานิค ได้หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวเชื้อชาติคิวบา-อเมริกัน ในทางตอนใต้ของฟลอริด้า และชาวเปอโตริโกทางตอนกลางของฟลอริด้า

รัฐไอโอวา
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

ปธน. โอบาม่า มีความสัมพันธ์ทางใจกับไอโอว่าในฐานะที่เป็นรัฐแรกที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะในการแข่งขันที่ดูไม่น่าเป็นไปได้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่รัฐนี้มีความท้าทายมากกว่าเดิม มิตต์ รอมนีย์ และพรรคริพับริกันทั้งหลายใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในการกล่าวโจมตีโอบาม่าในที่ประชุมลับของปีนี้ ทำให้ผลสำรวจโพลล์ของโอบาม่าลดลงมากกว่ารัฐอื่นๆ โดยรอบ ในหารเลือกตั้งทั่วไปที่ใกล้เข้ามานี้ คะแนนเสียงผู้แทนฯ 6 คนก็มีความสำคัญต่อทั้งสองฝ่าย

รัฐนิวแฮมป์เชียร์
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

ทำเนียบขาวให้ความสนใจรัฐนิวแฮมป์เชียร์อย่างใกล้ชิดมาก โดยให้รอง ปธน.โจเซฟ อาร์ ไบเดน จูเนียร์ ลงไปในรัฐหลายครั้งเพื่อโต้เถียงกับมิตต์ รอมนีย์ ผู้ที่มีบ้านพักตากอากาศในนิวแฮมป์เชียร์ และถูกมองว่าเป็น 'ลูกพรรคคนโปรด'

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของที่นี่เป็นผู้ไม่ฝักใฝ่พรรคใด แต่โดยรวมแล้วจะมีแนวคิดต่อต้านการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงชีวิตของพวกเขา มันอาจเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของรอมนีย์ที่จะเอาชนะรัฐที่โอบาม่าปกครองอยู่

รัฐโอไฮโอ
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

มีหนทางน้อยมากสำหรับรอมนีย์ที่จะคว้าเก้าอี้ทำเนียบขาวไว้ได้โดยไม่เอาชนะรัฐโอไฮโอ รัฐที่เป็นตัวนำชัยชนะ ซึ่งสามารถทายถูกมาตลอดการเลือกตั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมาว่าใครจะเป็นผู้ชนะ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคงจะช่วยให้ปธน. โอบาม่ากลับมาได้รับชัยชนะในรัฐนี้อีกครั้ง มีส่วนใหญ่ของรัฐที่ยังคงเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ริพับริกันก็กังวลว่าพรรคเดโมแครตอาจได้รับแรงจูงใจจากชัยชนะคราวที่แล้ว ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันโค่นกฏหมายจำกัดสิทธิข้าราชการได้

รัฐเวอร์จิเนีย
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

เป็นสมรภูมิเลือกตั้งล่าสุดของประเทศ เวอร์จิเนียจะเป็นเวทีกลางของโอบาม่าในการเลือกตั้งซ่อม รัฐนี้เป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ลึกๆ แต่การเปลี่ยนแปลงประชากรในทางตอนเหนือของเวอร์จิเนียก็ช่วยเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองของรัฐนี้ แต่ข้อโต้แย้งของมิตต์ รอมนีย์ ต่อการขยายรัฐบาลก็ถูกทำให้ยากขึ้นโดยจำนวนของคนทำงานราชการในเวอร์จิเนีย ปธน. โอบาม่า เคยชนะในรัฐนี้ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 7 ในปี 2008 แต่ทั้งสองฝ่ายก็มองในทางเดียวกันว่าการต่อสู้ขับเคี่ยวจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันทั้งสองฝ่าย

รัฐวิสคอนซิน
สถานะ : มีความเป็นไปได้เท่ากัน

การเพิ่ม ส.ส. พอล ดี ไรอัน แห่งรัฐวิสคอนซินเข้าไปในริพับริกันอาจยังไม่สามารถการันตีชัยชนะเหนือ ปธน. โอบาม่า ได้ แต่มันได้ทำให้รัฐนี้กลายเป็นสมรภูมิของจริงไปแล้ว พรรคเดโมแครตสามารถเอาชนะรัฐนี้ได้ในการเลือกตั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา อย่างฉิวเฉียดเสียส่วนใหญ่ แต่กลุ่มรีพับรีกันต่างก็โฆษณาเพื่อผลักดันให้มีการใช้เงินในการหาเสียงของโอบาม่า อย่างไรก็ดี มิตต์ รอมนีย์ยังถือไพ่เหนือกว่าและต้องแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถทำได้ในรัฐนี้

รัฐแอริโซนา
สถานะ : เอียงข้างริพับริกัน

การเมืองของรัฐแอริโซนาเปลี่ยนแปลงไปตามประชากร ในตอนนี้ริพับริกันเชื่อว่าพรรคของพวกเขาได้เปรียบในการเลือกตั้งปธน. แม้จะยอมรับว่าจำนวนผู้ลงคะแนนชาวฮิสปานิคที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เดโมแครตได้เปรียบ ปธน. โอบาม่า ผู้ที่พ่ายแพ้ร้อยละ 9 ให้กับวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน ในบ้านเกิดของวุฒิสมาชิกเองในการเลือกตั้งปี 2008 ก็ยังคงมีแผนหาโอกาสจากรัฐแอริโซนา และการหาเสียงของเขาก็เป็นการวัดขุมกำลังคนเลือกตั้งและวัดระดับการแข่งขันสำหรับช่วงฤดูใบไม้ร่วง

รัฐนอร์ท แคโรไลนา
สถานะ : เอียงข้างริพับริกัน

นอร์ทแคโรไลนาเป็นสมรภูมิที่ท้าทายสำหรับเดโมแครตเสมอมา แต่ทางพรรคก็ได้คัดเลือกให้ชาร์ล็อตต์เป็นแหล่งประชุมระดับชาติเพื่อสร้างความกระตือรือร้น เพื่อช่วยให้ปธน. โอบาม่า กลับมาชนะอีกครั้งเช่นในปี 2008 ทั้งสองฝ่ายต่างก็โฆษณาอย่างหนักหน่วง แต่พรรคเดโมแครตก้เริ่มลดงบทุนตรงนี้ลงแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณว่ารัฐนี้อาจกันเหไปทางริพับริกัน แต่ฝ่ายริพับริกันเองก็ยังไม่นิ่งนอนใจเพราะผลโหวตเบื้องต้นเคยส่งให้โอบาม่าขึ้นสู่ตำแหน่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

 

ที่มา เรียบเรียงจาก The Electoral Map : Building a Path to Victory, New York Times http://elections.nytimes.com/2012/electoral-map?src=ehdr

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"Clean Clothes Campaign" ชุมนุมหน้าร้าน ESPRIT ที่เชียงใหม่ หลังคนงานตุรกีถูกเลิกจ้าง

Posted: 03 Nov 2012 06:58 PM PDT

นักกิจกรรมแรงงาน จากองค์กรรณรงค์เสื้อผ้าสะอาด รวมตัวหน้าร้าน ESPRIT กลางห้างในเชียงใหม่ เพื่อประท้วงกรณีคนงานที่ประเทศตุรกี 2,000 คนถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชย

(ที่มาของภาพและวิดีโอ: จิตรา คชเดช)

เมื่อวานนี้ (3 พ.ย.) เวลา 20.30 น. ที่หน้าร้าน ESPRIT ภายในห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ต พลาซ่า จ.เชียงใหม่ นักกิจกรรมหญิงด้านแรงงาน 40 คน จาก Clean Clothes Campaign หรือองค์กรรณรงค์เสื้อผ้าสะอาด จากหลายประเทศ มารวมกันประท้วงกรณีคนงานที่ประเทศตุรกี 2,000 คนซึ่งถูกเลิกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฏหมาย

 
ทั้งนี้ นักกิจกรรมจากองค์กรรณรงค์เสื้อผ้าสะอาดได้ทำหนังสือถึงบริษัท เรียกร้องให้จ่ายเงินค่าชดเชยให้ทันที ขณะที่ในปัจจุปันคนงานที่ตุรกียังคงชุมนุมอยู่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น