โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ใบตองแห้ง' ร่วมปฏิญญาหน้าศาล ชี้พ้นฮันนีมูน แดงต้องเรียกร้องจริงจัง ยัน รบ.ล้มยาก

Posted: 01 Nov 2012 08:33 AM PDT

ชี้เสื้อแดงอย่ากังวลประคองรัฐบาล หันมาเรียกร้องจริงจัง นิรโทษกรรมเฉพาะมวลชน เชื่อสังคมยอมรับ ปรับ ครม. เหมือนอยู่ในภาวะปกติ ไม่มีสัญญาณผลักดัน ปชต.

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.55 เวลา 13.00 น. บริเวณบาทวิถีหน้าศาลอาญา รัชดา กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ได้จัดกิจกรรมเสวนาบาทวิถี ภายใต้ชื่อ "นักโทษการเมืองภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเสียสละอิสรภาพของประชาชน" มีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน โดยมี อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ นามปากกา "ใบตองแห้ง" เป็นวิทยากร วิจารณ์บทบาทรัฐบาลกับการช่วยเหลือนักโทษการเมือง การสร้างประชาธิปไตย การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ผ่านมา การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามและบทบาทของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแผ่งชาติ หรือ นปช.ในปัจจุบัน

อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ นามปากกา "ใบตองแห้ง"

ชี้ รบ.ล้มยาก ไม่ว่าคนมามากขนาดไหนที่นางเลิ้ง
อธึกกิต มองว่า การที่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้เต็มที่ ปัจจัยหลักอยู่ที่กระแสสังคมทั่วไป สังคมทั่วไปยังไม่ต้องการแตกหักแบบที่จะให้รัฐบาลไปล้างโครงสร้างของกลไกรัฐธรรมนูญ 50 ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ใช่แดง-เหลือง ยังไม่พร้อม เขายังรู้สึกว่า อยู่ไปอย่างนี้ก่อน ในขณะเดียวกันก็บอกว่า อย่าล้มรัฐบาลด้วย เป็นกระแสที่เป็น 2 มุม เพราะฉะนั้น พวกเคลื่อนไหวที่สนามม้านางเลิ้ง (การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม) ยังไงก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ เพียงแต่ว่า ถ้ารัฐบาลทำอะไรเต็มที่ คนทั่วไปก็ไม่เห็นด้วย เหมือนสภาพที่เหนื่อยมา 6 ปี คนจึงรู้สึกว่า อยู่ไปแบบนี้ก่อน แล้วค่อยว่ากัน แก้กันทีละเรื่อง เป็นนิสัยของสังคมไทยอยู่แล้วไม่ต้องการการแตกหักเด็ดขาด สังคมไทยเป็นสังคมประนีประนอมสูง ดังนั้นการจะไปรื้อโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญมันจึงลำบาก

แต่อีกฝ่ายก็จะล้มรัฐบาลได้ยาก เพราะต่อให้คนมามากขนาดไหนที่สนามม้านางเลิ้ง โพลล์ก็บอกอยู่แล้วว่าคน 97% ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ก็เลือกตั้งชนะไม่ได้อยู่แล้ว พรรคการเมืองที่จะเกิดใหม่ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอย่างไร พรรคเพื่อไทยอยู่ได้ 3 ปี แล้วก็ชนะอยู่แล้ว โดยแนวโน้ม ถ้าไม่เลวร้ายเกินไปก็จะอยู่อย่างนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่สะดวกนัก  

สำหรับการเคลื่อนไหวขององค์การพิทักษ์สยามที่สนามม้านางเลิ้งจะปูทางไปสู่การรัฐประหารนั้น ใบตองแห้ง กล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้ คนมันเข็ดแล้ว เข็ดรัฐประหาร 19 ก.ย. ไม่ใช่ว่าเสื้อแดงต่อต้าน คนวงกว้างก็ไม่เอา มันไม่มีใครเอาแล้ว แต่ถามว่าคนวงกว้างที่พูดนี้ชอบรัฐบาลไหม อาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่ว่าเขาไม่ชอบเขาก็มีบทเรียนแล้วว่า ถึงไม่ชอบ แต่ยิ่งรัฐประหารมันจะยิ่งแย่กว่าเดิม เพราะฉะนั้นการขยายบานปลายไปผมว่ามันยาก มันจะต้องมีมุขใหม่ แต่มันก็หามุขไม่ออก"

ออก พรก.นิรโทษกรรมของนักโทษการเมือง เฉพาะมวลชน สังคมยอมรับ
อธึกกิต กล่าวว่า ถ้าพูดเฉพาะนักโทษการเมืองในเงื่อนไขของรัฐบาลนี้สามารถที่จะออกพระราชกำหนดในการนิรโทษกรรมของนักโทษการเมืองโดยเฉพาะส่วนที่เป็นประชาชนได้ แต่พอออก พรบ.ปรองดอง ไปผูกคุณทักษิณ ชินวัตร ไปด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่แก้ได้ยาก เป็นเงื่อนไขที่คนยังไม่ยอมรับ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนมองว่าคุณทักษิณผิด เพียงแต่ว่า คนกลัวว่าถ้าคุณทักษิณกลับมันจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายอีก พอเป็นในมุมนี่ เรื่องคุณทักษิณจึงยังไม่ผ่านง่ายๆ ในระยะปีสองปีนี้ แต่ถ้าทำเฉพาะมวลชน คิดว่าสังคมยอมรับได้ แต่รัฐบาลไม่ทำ มวลชนเสื้อแดงในกลุ่มก้อนใหญ่ก็ยังไม่ได้กดดันเรื่องนี้เท่าที่ควร เหมือนมีเพียงกลุ่มที่กระจัดกระจายทำ มวลชนเสื้อแดงก็เป็นตัวของตัวเองไม่สามารถเป็นปึกแผ่นได้

รัฐมนตรียุติธรรมเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ แต่ไม่ได้กระตือรือร้นเรื่องนี้เลย บทบาทน้อยมาก ทำงานเป็นข้าราชการประจำคนหนึ่งเท่านั้น รัฐมนตรียุติธรรมสำคัญมากในการช่วยเหลือคนติคุก สำคัญมากในการคืนความยุติธรรมให้มวลชน ถึงแม้จะบอกว่าเกี่ยวข้องกับศาลไม่ได้ แต่อยู่รอบศาลทั้งหมด แต่ไม่กระตือรือร้นที่จะทำ

พ้นช่วงฮันนีมูนแล้ว เสื้อแดงอย่ากังวลประคอง รบ. หันมาเรียกร้องจริงจัง
ใบตองแห้ง กล่าวอีกว่าอย่าไปกลัวเรื่องการประคองรัฐบาล เพราะคิดว่าเรื่องรัฐประหารหรือการยุบพรรคเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากมาก กลายเป็นอะไรที่ล้าหลังเต็มที แม้แต่ตอนที่อาจารย์นิด้าไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องจำนำข้าว ซึ่งไม่ใช่แค่เสื้อแดงที่ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องดังกล่าว คนก็วิจารณ์กันมาก กระแสก็ไม่ขึ้น กระแสของการใช้อำนาจศาลเข้ามาสกัดกั้นรัฐบาลมันจะใช้ได้เป็นเรื่องๆ ในกรณีที่รัฐบาลหรือเพื่อไทยไม่สามารถที่จะสร้างความชอบธรรมให้สังคมเห็นได้ ศาลไม่กล้าเล่นอะไรที่ฝืนกระแสมาก อะไรที่ฝืนกระแสมากๆ ต่อไปนี้พวกกลไกตุลาการภิวัฒน์ก็จะไม่กล้าเล่น ถ้ารัฐบาลกระแสตกต่ำมาก การยุบพรรคมันจะกลับมาได้ แต่ในภาวะที่เป็นอยู่ โอกาสที่จะยุบพรรคไม่ต้องพูดถึง การรัฐประหารก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เป็นไปได้ยาก

เพราะฉะนั้นความคิดเรื่องการประคองรัฐบาลไม่น่ากังวล แต่มวลชนส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับความคิดเรื่องประคองรัฐบาล กลัวรัฐประหาร การจี้รัฐบาลจึงยังทำไม่เต็มที่ อีกส่วนก็เป็นความรู้สึกของผู้ชนะอยู่ รู้สึกพอใจ ยังมีอยู่ การที่จะมาเร่งเร้ารัฐบาลจึงยังมีน้อย จึงต้องปรับความคิดช่วงหนึ่งว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องการประคองรัฐบาลมากเกินไป และหันมาเรียกร้องอะไรที่จริงจังกับรัฐบาลบ้าง ถือว่าพ้นช่วงฮันนีมูนระหว่างมวลชนกับรัฐบาลแล้ว

ในกระแสการเมืองแบบนี้ ที่ชวนให้เฉื่อยที่ชวนให้อยู่ได้แน่ๆ รัฐบาลจึงไม่ขันแข็งพอ ซึ่งปีกการเมืองหนึ่งก็ไม่ได้สนใจประชาธิปไตยอยู่แล้ว ปีกกลางก็จะไม่ค่อยสนใจ จะมีเพียงส่วนหนึ่งที่ยังขันแข็ง ซึ่งก็ไม่เยอะ คิดว่าอีกส่วนหนึ่งของรัฐมนตรีไม่ได้คิดเรื่องเอาทักษิณกลับบ้านด้วยซ้ำ ซึ่งเราก็ต้องมองให้เห็นว่า รัฐบาลถ้าอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพลินไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับไม่ทำอะไรสักอย่าง สุดท้ายก็จะนำไปสู่ทางตันใหม่ ที่ว่ารัฐบาลนี้ก็เบื่อแล้ว แต่ไม่เอาประชาธิปัตย์ ตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลพระราชทาน ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น แล้วจะทำอย่างไร จะนำไปสู่จุดที่ตอบไม่ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการ นำไปสู่ทางตัน อยู่ในจุดที่คนไม่รู้จะไปทางไหนต่อ

ปรับ ครม. เหมือนอยู่ในภาวะปกติ ไม่มีสัญญาณผลักดัน ปชต.
การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด อธึกกิต มองว่าไม่มีสัญญาณที่มีรัฐมนตรีที่จะผลักดันภารกิจเรื่องประชาธิปไตยให้มวลชน เหมือนไม่มีเลย อาจจะมีคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ดูจะดีหน่อย แต่ก็คือรัฐมนตรีศึกษาธิการ สัญญาณที่จะผลักดันประชาธิปไตยมีค่อนข้างน้อย ซึ่งน้อยมาทุกชุด แต่ชุดนี้ยิ่งน้อยลงไปอีก จะมุ่งไปสู่เชิงเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจ และโควต้าต่างตอบแทน คณะรัฐมนตรีชุดนี้เหมือนอยู่ในภาวะปกติ ถ้าบอกว่าเป็นภาวะปกติ แสดงว่ามันดีแล้ว แต่นี่มันไม่ใช่ภาวะปกติ

เป็นไปไม่ได้ที่ นปช.กลาง จะเป็นศูนย์รวมของคนเสื้อแดงแล้ว
นอกจากนี้ "ใบตองแห้ง" ยังได้วิจารณ์การนำของ นปช.ส่วนกลางด้วยว่า ต่อไป นปช.ส่วนกลางเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นศูนย์รวมกับคนเสื้อแดงแล้ว เพราะได้กระจายไปแล้ว ทิศทางจะเป็นว่า มีจุดร่วมอะไรก็จะทำด้วยกันเป็นครั้งๆ แต่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก บางส่วนเข้าไปสู่การเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ถึงมีมวลชนพื้นฐานอยู่ แต่ก็แปรผันมากขึ้นในแต่ละส่วน จึงมีลักษณะกระจาย

ยุคต่อไปองค์กรจัดตั้งใน facebook มากกว่า และเป็นการเชื่อมระหว่างแกนนำกลุ่มต่างๆ เป็นกลุ่มแนวรวมที่มีจุดร่วมกันมากกว่าที่จะเป็นเรื่องการสั่งการหรือใครขึ้นต่อใคร สำหรับการรวมตัว เป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรนำอะไรที่เด็ดขาดเป็นการเชื่อมกันทางความคิด เพราะปัจจุบันการรวมตัวเป็นเรื่องของความคิดมากกว่าการเป็นรูปแบบองค์กรที่มันพ้นยุคแล้ว

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เล่าเรื่อง ‘พีมูฟ’: ความทุกข์เฮามีหลายเหลือ แต่เฮาบ่เบื่อ ต่อสู้กันต่อไป

Posted: 01 Nov 2012 06:58 AM PDT

แน่นอนว่าคำสัญญาจะแน่แค่ไหน คงไม่มั่นคงเท่ากับหัวใจของรัฐบาล ที่จะร่วมแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจต่อประชาชน ที่รัฐบาลหลายสมัยสั่งสมมานาน คงไม่ต้องย้อนไปไกลมาก เอาปัจจุบัน ในวันที่พรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลจนถึงวันนี้ ในเวทีสัญญาประชาคมประชาชนพบพรรคการเมือง เพื่อยื่นข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้พรรคการเมืองนำไปบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล เมื่อ 24 มิ.ย.54 ในมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น พรรคอื่นๆ ต่างดาหน้าออกมาสัญญาเป็นล่ำเป็นสัน ที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ที่มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค เป็นตัวแทนลงมาให้คำมั่นสัญญา หากพรรคฯ ชนะการเลือกตั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาลจะนำข้อเสนอของภาคประชาชนไปบรรจุไว้เป็นนโยบายรัฐบาล ภายหลังผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์ชนิดฝุ่นจางหายไปหลายเดือนก็ยังตามไม่ทัน ทว่ามันก็หายไปพร้อมกับสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

 

พีมูฟ รวมตัวหน้ารัฐสภา ยื่นนโยบายภาคประชาชนให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี หวังให้การแก้ไขปัญหาของแต่ละเครือข่ายเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
8 สิงหาคม 2554  ภาคประชาชน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ จากทั่วประเทศ กว่า 120 องค์กร เคลื่อนตัวสู่ใจกลางเมืองหลวง เพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่หน้ารัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ นำนโยบายประชาชนบรรจุไว้ในวันที่รัฐบาลแฉลงนโยบายต่อรัฐสภา ขณะเดียวกันนายปลอดประสพ สุรัสวดี พร้อมกับนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และขวัญใจพระเอกรูปหล่อของผู้เขียนในสมัยผู้เขียนยังเด็กๆ คือนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ออกหน้ามาตั้งรับข้อเรียกร้องของประชาชน พร้อมกล่าวว่าจะนำข้อเรียกร้องทั้งหมด ทั้งเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรม บรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการแต่งตั้งกลไกร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชน เพื่อสานต่อการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ต่อมา 3 ตุลาคม 2554 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ถือเอาวันที่อยู่อาศัยสากล มาทวงสัญญาและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาล และในวันดังกล่าว นายกรัฐมนตรีมอบหมาย นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)เข้าร่วมประชุมหารือ รับฟังและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการเจรจานั้นสามารถบรรลุเป้าหมาย มีข้อตกลงหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วมระหว่างรัฐบาลกับ ปขส.เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา จากนั้นเป็นต้นมาถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ขณะที่หลายพื้นที่ประชาชนยังคงดำเนินความทุกข์ยาก รวมทั้งมีการถูกจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตามทวงสัญญานโยบายประชาชน ถึงถิ่นสาวงาม แดนล้านนาไทย
ท่ามกลางลมหนาวที่โชยมาเตะต้องกายอย่างเย็นเฉียบ ในคืนก่อนที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) ภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ต่างตั้งแคมป์นอนค้างคืนบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ รออรุณรุ่งสาง ในเช้าวันที่ 15 มกราคม 2555 ต่างพร้อมใจกันขึ้นไปจ่อนายกรัฐมนตรีถึงหน้าตึกที่ประชุม ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เกิดการปะทะกันหลายครั้ง ด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังแน่นหนา ไม่ยอมให้ประชาชนเข้าพบผู้มีอำนาจออกมาร่วมแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดการปะทะกันเรื่อยๆ ที่สุดนายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) เป็นประธาน และรองประธาน ในคณะกรรมการการร่วมกันแก้ไขปัญหา

ถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ที่ชัดเจน นอกจากคำมั่น และหนังสือคำสั่งสำนักนักนายกรัฐมนตรีที่ 15/2555 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของประชาชน พร้อมกับลายเซ็นของนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้มีการแต่งตั้งให้รองนายกรัฐมนตรี มานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานฯร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาแทนนายกรัฐมนตรี

ปรากฏการณ์ ยึดศาลากลางลำพูน จวกพ่อเมือง หริญภุญชัย ไม่รักษาคำมั่น
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.55 ภาคประชาชน ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ร่วมกันปิดล้อมบริเวณทางเข้าอาคารศาลากลางจังหวังลำพูน สืบเนื่องจาก วันที่ 5 มิ.ย.55 ด้วยทาง ขปส.ได้ยื่นหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อให้รัฐบาลเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการกับ ขปส. เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งนายสุรชัย ขันอาสา พ่อเมืองลำพูน ออกมารับหนังสือ พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ที่ดี สื่อสารข้อเรียกร้องการเจรจาปัญหาชาวบ้าน ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี

ภายหลังจากที่มีการยื่นหนังสือ ขปส.ได้ปักหลักพักค้างคืนภายในบริเวณศาลากลางจังหวัดพูน เพื่อรอรับทราบคำตอบจากรัฐบาลผ่านทางผู้ว่าฯ ภายในวันที่ 6 มิ.ย. 55 ก่อนเวลา 12.30 น. แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ดังนั้นในช่วงบ่ายจึงได้เข้ามาทวงคำตอบ พร้อมปิดล้อมหน้าศาลากลางอีกครั้ง จนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ 2-3 ครั้ง บริเวณหน้าประตูทางเข้าอาคาร

ถึงที่สุด ประมาณ 15.30 น. นายสุรชัย ได้ออกมาพบกับผู้ชุมนุมพร้อมนำหนังสือที่ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีส่งแฟกซ์มายังผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องของ ขปส.ตามหนังสือที่ นร.0105/5122 ลงวันที่ 6 มิ.ย.55 ชี้แจงมาชี้แจงด้วย สำหรับหนังสือดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้ ตามที่ ขปส. ชุมนุมที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของ ขปส. และขอแต่งตั้งผู้แทนเข้าพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาในเรื่องเร่งด่วนของ ขปส. อีกครั้งหนึ่งนั้น โดยมีกำหนดให้ผู้แทนของ ขปส.เข้าพบเพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในวันที่ 20 มิ.ย.55 เวลา13.00 น. ณ ห้องรับรองศาลาว่าการทระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร

จากวันประชุม ครม.สัญจร รวมทั้งการปิดล้อมศาลากลางลำพูน ต่อเนื่องเรื่อยมา ภาคประชาชน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ติดตามและร่วมเจรจาการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลเรื่อยมา กระทั่งรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นอีกจำนวน 10  คณะ เพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ถึงบัดนี้ ตามที่ได้ร่วมข้อตกลง ได้ข้อสรุปการเจรจา ได้รับนโยบาย ที่คิดว่าจะเป็นรูปธรรม ด้วยความถูกต้อง ชัดเจน และเท่าเทียม เหล่านั้น กระทั่งปัจจุบันแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ' อีกทั้งปัญหาในหลายเรื่องก็ยังย่ำอยู่กับที่ บางเรื่องก็มีทีท่าว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไข มีทีท่าจะเตะทิ้งลงคลองน้ำเน่า ที่แสนแสบ

ร่วมแฉลงข่าว ความล้มเหลว 1 ปี รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ในการแก้ไขปัญหาภาคประชาชน
26 ก.ย.55 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าวที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว เผยถึงความล้มเหลว 1 ปีในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่ภาคประชาชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดมาแต่ในอดีต โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้สานต่อการแก้ไขปัญหามาแล้วหลายครั้ง โดยที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ได้ตอบสนองข้อเรียกร้อง เพียงแค่บรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 เท่านั้น

อาทินโยบาย ข้อที่ 5.ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการสนับสนุนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมและให้คนกับป่าอยู่ร่วมกัน ในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร ให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เป็นต้น

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมแฉลงข่าว ด้วยสมาชิกในพื้นที่ อ.คอนสาร ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ปืนข่มขู่ ไล่ยิงชาวบ้าน จนหายตัวเข้าไปนอนในป่า
ในวันเดียวกัน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหว ให้มีการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดินกับหน่วยงานของรัฐ ตามแนวทางโฉนดชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) นั้น ได้เข้าร่วมแฉลงข่าว กรณีความเดือดร้อนเร่งด่วนในพื้นที่ และได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐสภา เพื่อให้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติการข่มขู่คุกคามราษฎรในพื้นที่พิพาทที่ดินกับหน่วยงานของรัฐ

เนื่องมาจาก ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ถูกเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใช้กำลังข่มขู่ คุกคาม อาทิ กรณีปัญหาที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ ในวันที่ 24 ก.ย.55 เจ้าหน้าที่สวนป่าคอนสาร พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าไปตรวจพื้นที่และถ่ายรูป เพื่อพยามยามหาหลักฐานมาโยนความผิดให้กับชาวบ้าน เหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้นำระเบิด อาวุธสงคราม ไปซุกซ่อนใต้ถุนบ้านพ่อเฒ่าวรรค โยธาธรรม แล้วดำเนินคดีแจ้งข้อหามีอาวุธสงครามครอบครอง อีกทั้งยังมีการเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านที่อาศัยทำกินในพื้นที่พิพาทอีกด้วย

และวันที่  25 ก.ย.55  กรณีปัญหาพิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยป้องกันและปราบปรามชัยภูมิที่ 4 (ชย.4) นำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 10 นาย พร้อมอาวุธปืนครบมือ ดาหน้าเข้ามาพร้อมกระชากปืนขึ้นหมายจะลั่นไก พร้อมกับวิ่งเข้าไปจับกุมชาวบ้านที่กำลังทำกินอยู่ในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านและลูกหลานตกใจ พากันวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ หายเข้าไปในป่า หลบเจ้าหน้าที่ค้างคืนอยู่ในป่าเป็นเวลาหลายชั่วโมง จากการกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านหวาดผวา รู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต

พีมูฟ" เคลื่อนขบวนถึงกรุงเทพฯ ค้างคืนหน้าทำเนียบ รอนัดพบนายกฯเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา
พีมูฟ เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ตามที่ได้ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 26 ก.ย.55 จากที่กว่า 1 ปีที่ผ่าน ได้พยายามติดตาม และผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ พร้อมนัดหมายรวมตัวกันทวงสิทธิ์ ในวันที่อยู่อาศัยสากล 1 ต.ค.55

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ จากทั่วประเทศ เคลื่อนขบวนถึงกรุงเทพฯ ตามนัดหมายจัดชุมนุมใหญ่เพื่อทวงคืนนโยบายของคนจน ขบวน พีมูฟ หลังจัดขบวนช่วงเช้าบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนตัวมายังหน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ ก่อนขบวนมาถึงเป้าหมายหลักหน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่าย เรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ พร้อมเสนอให้การแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นวาระแห่งชาติ กระทั้งประมาณ 14.00 น. ตัวแทนทางเครือข่ายฯได้เข้าไปร่วมพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลในทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังสิ้นการเจรจา นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเข้าร่วม แต่ผลการเจรจาไม่คืบหน้า เนื่องจากตัวแทนรัฐบาลอ้างว่า ปัญหาต่างๆนั้น นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นผู้ตัดสินใจได้เพียงคนเดียว ดังนั้นจะประสานไปยังนายกฯ และขอร้องให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านไปก่อน อีก 3-4 วัน เมื่อติดต่อนายกฯ ได้แล้ว จะเชิญตัวแทนเข้ามาร่วมเจรจาในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป หลังจากได้รับคำตอบ ผู้ชุมนุมต่างแสดงความไม่พอใจ และได้ให้เวลา 10 นาทีเพื่อประสานนายกฯ แต่จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. ไม่มีสัญญาณตอบกลับจากฝ่ายรัฐบาล ผู้ชุมนุมจึงลุกขึ้นมารวมตัวที่หน้าประตูเพื่อกดดันให้นายกฯ อออกมาเจรจาหรือให้คำตอบที่ชัดเจน ทำให้เกิดการผลักดันกันไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 2-3 ครั้ง ที่บริเวณหน้าประตู  ภายหลังจากที่มีการปะทะกัน ทางรัฐบาลได้ส่งสัญญาณถึงแกนนำกลุ่มผู้ชุมชุม โดยมีข้อเสนอคือ ขอตัวแทนเข้าร่วมเจรจาอีกครั้ง

ผลการเจรจารอบที่สอง ตัวแทนรัฐบาลรับปากจะศึกษารายละเอียด พร้อมทั้งจะประสานให้ผู้ชุมนุมส่งตัวแทนจำนวน 15 คน ได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2 ต.ค. เวลา 09.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมตกลงค้างคืนกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามผลการเจรจาในวันพรุ่งนี้ ซึ่งหากผลเป็นที่พอใจก็จะสลายการชุมนุม แต่หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขก็จะมีการร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการเคลื่อน ไหวต่อไป

"ยิ่งลักษณ์" พบ "พีมูฟ" รับนั่งประธานฯสางปัญหา พร้อมนัดเจรจาอีกครั้ง พ.ย.นี้
2 ต.ค.55  ประมาณ 9.00 น.ที่ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ เข้าหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.ธวัช บุญเฟื้อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ 

ในการที่ พีมูฟ นับพันคนรวมตัวกันและปักหลักชุมนุมปิดถนนพิษณุโลกข้างทำเนียบรัฐบาล ภายหลังปฎิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้สัญญาไว้ ไม่คืบหน้า ดังนั้นจึงมีการแฉลงข่าวเมื่อ 26 ก.ย.55 พร้อมนัดรวมพลเพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง 9 กรณี ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงกลไกแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 2.การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชน 3.การจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) 4.กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน 5.กรณีสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัย (โครงการบ้านมั่นคง) 6.กรณีคนไร้บ้าน 7.กรณีการจัดทำเขตวัฒนธรรมพิเศษ (ชาวเลราไวย์) 8.กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล และ 9.กรณีเครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล นับแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง กระทั่งปักหลักค้างคืน รอนายกฯยิ่งลักษณ์ ออกมาให้สัญญา พร้อมรักษาคำมั่น ให้มีความเชื่อใจได้

ช่วงเช้าวันที่ 2 ต.ค. ราวแปดโมงเช้า ภายหลังการร่วมเจรจาผ่านไปประมาณ 20 นาที โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ได้เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุมด้วยตนเอง และรับปากเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ พีมูฟ แต่ขอเวลาให้คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาชุดต่างๆ เร่งจัดทำข้อมูลเพื่อนำเรื่องเสนอ และจะเริ่มประชุมภายในเดือน พฤศจิกายน นี้ รวมทั้งจะเร่งรัดให้จัดการปัญหาเร่งด่วนคือ เรื่องสิทธิสถานะบุคคล ปัญหาการข่มขู่คุกความกรณีที่ดินทำกินที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่า และกรณีปัญหาของคนไร้บ้าน  พร้อมยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องความเดือดร้อน เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้เชื่อใจกันว่ารัฐบาลจะติดตามเร่งแก้ปัญหาให้อย่างเต็มที่

เหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงหัวใจของรัฐบาลได้หรือไม่ว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆของรัฐบาลเลย ผู้ได้รับผลกระทบต่างชื่นชม ที่ท่านกล่าวว่ารัฐบาลของท่านทำเพื่อประชาชน ประชาชนเป็นคนเลือกเข้ามาเหล่านั้น หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลจะสามารถพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้ถูกต้อง เป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร หากท่านรักประชาชนจริงๆ แน่นอนว่าการกระทำย่อมดีกว่าคำพูด นายกรัฐมนตรี ออกมาให้คำมั่นด้วยตนเองแล้วนะครับว่า ราวกลางเดือนพฤศจิกายน นี้ จะออกมาร่วมนั่งหัวโต๊ะ เป็นประธานฯในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว คำสัญญาปากเปล่า เพียงแค่ลมปากเป่า หวังโดยยิ่งว่า สิ่งที่ท่านลั่นวาจาออกมานั้น จะเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ทุกข์ยาก จะมีความสุขได้บ้างไม่มากก็น้อย ในการที่ท่านรับปากแล้วว่าจะออกมาร่วมกันแก้ไขปัญหา

แน่นอนว่าแม้ความทุกข์พวกเขาจะมีมากมายหลายเล่มเกวียน อย่างไรก็ตามพวกเขายังต้องสู้ต่อไป เพราะปัญหาที่รัฐบาลให้พวกเขาได้รับผลกระทบนั้น พวกเขาจำต้องร่วมต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง เป็นธรรม ด้วยความที่พวกเขาเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีอันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดมานั้น ส่งผลให้พวกเขาต้องต่อสู้ทั้งชีวิต ต่อสู้กับผู้ที่เข้ามากดขี่ ด้วยอุดมการณ์ที่สานฝัน ชี้นำเป็นเปลวทางนำไฟส่องวิถีไปข้างหน้า ให้ลูกหลานได้จดจำ อย่างไม่มีที่สุดสิ้น เก่าจากไปใหม่เกิดมาตราบสิ้น เพื่อผืนดินและเพื่อลูกหลานของพวกเขาได้มีที่ยืนต่อไป อย่าปล่อยให้คำพูดของพวกท่านปล่อยให้ประชาชนเคว้งคว้าง ดังสายลมที่โชยมาเตะต้องกาย แล้วพัดหายไปเหมือนดังที่ประชาชนรอคอยมานานหลายทศวรรษแล้วอีกเลย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้างเตาเผาขยะหนองแขมของ กทม.

Posted: 01 Nov 2012 06:28 AM PDT

          ตามที่กรุงเทพมหานครได้งุบงิบลงนามในสัญญาก่อสร้างระบบเตาเผาขยะมูลฝอยขนาด 300 ตันต่อวัน วงเงิน 2,124.3 ล้านบาท โดยการว่าจ้างเอกชนให้เผาขยะตันละ 970 บาทต่อตัน สัญญาจ้าง 20 ปี ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ถนนเพชรเกษม 104 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขมกับบริษัทซีแอนด์จี เอ็นไวรอนแมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ กรุงเทพ ถนนราชดำริ ความดังทราบแล้วนั้น

          สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่โปร่งใส ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สมบูรณ์ ซึ่งถือได้ว่ากระบวนการกำจัดขยะโดยวิธีการเผา เป็นกระบวนการการบริหารจัดการขยะที่ล้าสมัย และสิ้นเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนไปโดยใช่เหตุ อีกทั้งเป็นการสร้างมลพิษที่เป็นสารพิษที่ต้องห้ามในระดับสากลด้วย ในขณะที่ขยะของ กทม. ควรจะเป็นทรัพยากรที่สร้างรายได้ให้กับ กทม. ด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิธีการกำจัดที่ก้าวหน้า เหมาะสมกับยุคสมัย มิใช่วนอยู่แต่เทคโนโลยีการกำจัดที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษ

          ทั้งนี้เทคโนโลยีการกำจัดขยะด้วยการเผาตามการกล่าวอ้างของกรุงเทพมหานครนั้น จะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของสารไดออกซินและสานฟิวแรนต่อประชาชนในรัศมี 10 กิโลเมตรเป็นอย่างต่ำหรือตามกระแสลม ซึ่ง ณ วันนี้เทคโนโลยีดังกล่าวทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของสารพิษดังกล่าวได้ อีกทั้งสารพิษดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งในวงการแพทย์ยืนยันชัดเจนว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์กรรมพันธุ์ของประชาชนหรือผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวเป็นประจำ ซึ่งทารกแรกเกิดอาจคลอดออกมาพิการ ร่างกายไม่สมประกอบหรือครบถ้วนบริบูรณ์ได้

          ทั้งนี้ขยะในกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนของขยะที่มีความชื้นสูงและมีน้ำเสียปะปนมากซึ่งจะมีค่าคลอไรด์สูงทำให้ยากแก่การควบคุมอุณหภูมิในการเผา โดยเฉพาะช่วงเวลา ที่ป้อนขยะชื้นเข้าเตาอุณหภูมิของห้อง เผาจะลดต่ำกว่า 800 องศาเซลเซียส แม้ระบบจะออกแบบไว้ให้มีการเผาที่อุณหภูมิ 850 องศาก็ตาม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการเผาลดลง แต่จะก่อให้เกิดสารพิษไดออกซินและฟิวแรนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ ณ วันนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดในโลกนี้สามารถควบคุมหรือกำจัดสารพิษดังกล่าวได้

          ขณะเดียวกันในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่สามารถสร้างรายได้หรือมูลค่าเพิ่มให้กับขยะได้มีมากมาย เช่น การนำขยะพลาสติกมาผลิตน้ำมัน การนำขยะเก่าไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ ซึ่ง กทม.ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินจ้างให้เอกชนมารับจ้างเผาเลย ตรงกันข้ามควรเปิดโอกาสให้เอกชนมาประมูลนำขยะของ กทม.ไปสร้างมูลค่าได้ ตามที่กล่าวแล้ว ซึ่งจะทำให้ กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้นมามาก แทนที่ กทม.จะต้องจ่ายเงินให้เอกชนเป็นค่ากำจัดขยะ ไปเปล่า ๆ

          นอกจากนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวของ กทม. เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตรา ทั้งมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 78 มาตรา 85 มาตรา 87 รวมทั้งขัดต่อ พรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งต้องเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกระทรวงการคลังพิจารณาและต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเสียก่อนด้วย

          สมาคมฯ จึงใคร่ขอเรียกร้องให้ กทม.ได้ทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าวเสีย และแสวงหาเทคโนโลยีการกำจัดขยะแนวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ กทม. แทนที่ กทม. ต้องมาเสียเงินกำจัดขยะอีกต่อไป ทั้งนี้ หาก กทม. ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องหรือแถลงการณ์ฉบับนี้ สมาคมฯ จะได้ร่วมกับชาวบ้านและผู้มีส่วนได้เสียในการนำเรื่องดังกล่าวฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนโครงการดังกล่าวต่อไป

ประกาศ ณ วันที่  1  พฤศจิกายน พ.ศ.2555

นายศรีสุวรรณ  จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิตยสาร 'อาซาน' 40 ปีแห่งการจากไปจากสังคมมลายูปาตานี

Posted: 01 Nov 2012 06:23 AM PDT

 

นิตยสารอาซาน ถือเป็นนิตยสารเล่มหนึ่งที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านศาสนาความเคลื่อนไหวในด้านการเมือง เหตุการณ์ปัจจุบัน และความเคลื่อนไหวของโลกมลายู เป็นต้น และยังเป็นสนามให้แก่บรรดานักเขียนในพื้นที่ในการนำเสนอผลงานการประพันธ์ของพวกเขาออกสู่สังคมอีกด้วย

นิตยสารอาซาน ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนเชาวัลล์ ฮ.ศ.1392 ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นผลผลิตของกลุ่มปัญญาชนชาวมลายูในพื้นที่ ด้วยจิตที่มุ่งมั่นเพื่อให้สังคมปาตานีได้มีนิตยสารสักเล่มหนึ่งที่เป็นของคนปาตานีและเพื่อคนปาตานีเอง ถึงแม้ว่าคุณภาพอาจจะไม่เท่าเทียมกับนิตยสารมลายูฉบับอื่น ซึ่งในช่วงสมัยดังกล่าว สังคมปาตานีกำลังตกอยู่ในสภาวะของความกดดันหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวของภาคการเมืองที่ยิ่งนับวันดูจะเข้มข้น และอยู่ในภาวะถูกบีบคั้นผ่านนโยบายของผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง

การกำเนิดขึ้นของนิตยสารดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางด้านสังคมในการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ (เพื่อความอยู่รอดทางวัฒนธรรม) ของชนชาติที่กำลังอยู่ในภาวะระส่ำระส่ายในขณะนั้น

ประชาชนในยุคดังกล่าวถูกบังคับให้ใช้ชีวิตตามความต้องการของผู้นำตามที่ได้ระบุไว้ในร่างนโยบายของชาติ ที่มีลักษณะบีบบังคับเพื่อผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ทุกเรื่องราวแห่งวิถีชีวิตถูกกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐโดยสิ้นเชิง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างรัฐชาติที่เป็นหนึ่งเดียวและหนึ่งวัฒนธรรม ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าต้องปฏิบัติตามที่ผู้นำประเทศได้กำหนดไว้ ส่งผลต่อวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองมลายูปาตานี แม้กระทั่งในเรื่องศาสนาก็ถูกลิดรอนสิทธิอยู่บ่อยครั้ง หรือเกือบจะทุกกรณี

ขณะที่พื้นที่สื่อที่จะคอยเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมมลายูปาตานีในขณะนั้นกลับไม่มีเลย แม้กระทั่งฉบับเดียว ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือแม้แต่รายปี

หน้าตาของนิตยสารอาซานฉบับแรก (ฉบับปฐมฤกษ์) มีภาพปกหน้าเป็นภาพวาดรูปมัสยิด ที่ยอดโดมของหออาซาน กลางรูปมีรัศมีพวยพุ่งออกมาเป็นตัวหนังสือภาษามาลายูว่า "อาซาน" ในรูปลักษณะของอักษรกราฟฟิก พร้อมข้อความโปรยหน้าปกว่า "ต้อนรับอีดฟิตรี ปี 1392-2515" โดยมีหมายเลข 1 อันหมายถึงเป็นฉบับที่หนึ่งอยู่มุมล่างซ้าย

ปกด้านหน้าใน มีคำโปรยใต้ชื่อนิตยสารอาซาน มีความว่า "เผยแพร่ความรู้อิสลาม" นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับตัวนิตยสารว่า เป็นนิตยสารที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม โดยมีอุบัยดีลละห์ มะห์มูด เป็นบรรณาธิการ อิสมาแอ ลุตฟี เป็นรองบรรณาธิการ ฮัจยีอาดัม ยูโซฟ เป็นเลขานุการ และบัสมาน ดีวานี เป็นผู้ช่วยเลขานุการ พร้อมกับมีรายชื่อนักเขียนและเจ้าหน้าที่จำนวน 18 คน โดยมีเด่น โต๊ะมีนา เป็นที่ปรึกษา อีกทั้งในปกหน้าด้านในของฉบับแรกยังได้ตีพิมพ์กิตติกรรมประกาศโดย ฮัจยีอับดุลเราะห์มาน จะปะกียา ประธานสามาคมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม กล่าวขอบคุณคณะผู้จัดทำนิตยสารที่จะออกในวาระวันสำคัญทางศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษาและผู้อ่านทั่วไป

ในหน้าแรกของนิตยสารฉบับแรก คือบทบรรณาธิการ ซึ่งกล่าวว่า ปี ฮ.ศ. 1932 (พ.ศ.2515) นับเป็นจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ทำให้ปาตานีมีสื่อสำหรับผู้อ่านอันเป็นเสียงเพรียกที่ทุกคนเฝ้ารอ คือ การได้ผลิตนิตยสารอาซานที่มีเนื้อหาด้านศาสนา วัฒนธรรม วรรณกรรม และด้านอื่นๆ ทั้งยังได้ประกาศวัตถุประสงค์ 4 ประการของนิตยสารอาซาน คือ

1. เพื่อยกระดับงานด้านการประพันธ์
2. เพื่อเพิ่มสื่อการอ่าน
3. เพื่อส่งเสริมและเพิ่มอรรถรสกับเนื้อหาสำหรับนักอ่าน
4. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ศาสนาอิสลาม

พร้อมกันนี้ได้เชิญชวนบรรดาครู นักเรียน และผู้อ่านทั่วไปให้ส่งงานเขียน บทกวี เรื่องสั้น ตลอดจนข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆ ผ่านนิตยสารฉบับนี้ นอกจากนี้บทบรรณาธิการของฉบับแรกนี้ยังได้กล่าวว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้วสำหรับนักวิชาการของเราที่จะได้เปิดผ้าคลุมที่ปิดผลงานการประพันธ์มาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่วันที่ได้ทำวิจัย (วิทยานิพนธ์) ที่มหาวิทยาลัย พร้อมกับกล่าวปิดท้ายว่า นิตยสารอาซานไม่ใช่นิตยสารรายเดือน แต่เป็นนิตยสารที่ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในโอกาสวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม

การกำหนดเนื้อหาของนิตยสารอาซานนั้น ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลของนิตยสารภาษามลายูที่ วางตลาดขายอยู่ในขณะนั้น คือ นิตยสารภาษามลายูจากประเทศมาเลเซีย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือรูปแบบการกำหนดเนื้อหาในนิตยสารเป็นไปตามลำดับความสำคัญของเนื้อหาและคำสอนในศาสนาอิสลาม กล่าวคือให้ความสำคัญกับบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุร-อ่านเป็นอันดับแรก ดังนั้นในการกำหนดเนื้อหาของนิตยสารอาซาน จึงเริ่มด้วยการอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุร-อ่าน โดยบทความอรรถาธิบายอัลกุร-อ่านในฉบับแรกมีความยาวต่อเนื่องจนถึงฉบับที่สอง

การกำหนดเนื้อหาของนิตยสารอาซาน ในส่วนนี้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมดตั้งแต่ฉบับแรกและฉบับถัดไป สำหรับเนื้อหาของหนังสือทั้งเล่มนั้น นิตยสารอาซานในเล่มปฐมฤกษ์ มีเนื้อหาดังนี้

1. บทบรรณาธิการ โดย อุบัยดีละห์ มะหมูด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการออกนิตยสารอาซานว่า เพื่อเพิ่มสื่อการอ่านภาษามลายู และเป็นสื่อสำหรับปัญญาชนในการเผยแพร่งานเขียน

2. ดูอาแสงสว่างแห่งดวงใจ โดย อาเยาะห์แอ ลูตฟี บราโอ

3. อรรถาธิบายอัลกุร-อ่าน โดย อิบนุลกอรี บูเกะกูเล็ม

5-6,8. หน้าที่ของนักศึกษาอิสลามต่อศาสนา โดย เอช. เอ็ม. อัมรี โรงเรียนรอมานียะห์ บราโอ

7. คอลัมน์ ภาพภาษา

9. คุตบะห์ ฮารีรายอ โดย ฮาซัน ฮูเซน สะกำ

11. เรื่องสั้น "คุณนั่นแหละ คือคนที่ผิด" โดย H. Adip Dusun

14. บทกวี รำลึกถึงน้องชาย ฮาซัน ซะห์ดาน โดย เซก อัลอันซอรี ปาแดญอ

15. บทกวี อีดฟิตรี โดย เอ แอล ดาเมาะ นัดตะบิงตีงี มายอ

16. การอบรมเลี้ยงดู โดย นิอับดุลเราะห์มาน นิอับดุลรอซูล บูดี

18. คอลัมน์เพื่อนอาซาน/รายนามสมาชิกอาซาน

19. ความเข้าใจเศรษฐกิจ โดย A. Wahhab Muhammad

21ใ ประโยชน์ของการอ่าน โดย อาบัง อัดลัม ดุซงญอ

24. ศาสนกิจที่ศอและห์กับการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า โดย อาเยาะห์ เราะห์มันตอเฮ ดูวา มายอ ปัตตานี

26. คอลัมน์ความรู้ทางการแพทย์ฉบับย่อ เรื่อง "การสร้างและหน้าที่ของโลหิต" โดย บะห์เรน ฮาซัน อับดุลเราะมาน

28. ฟอรัมนักศึกษา

ทั้งหมดนี้ก็คือรูปร่างหน้าตาของนิตยสารฉบับหนึ่งที่เคยนำเสนออัตลักษณ์เชิงรากเหง้าแห่งจิตวิญญาณของชนชาวมลายูปาตานีในช่วงเวลาหนึ่ง ในท่ามกลางของความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่กำลังดำเนินโดยรัฐไทยอยู่ในขณะนั้น อย่างเช่น ในด้านการศึกษาที่รัฐพยายามที่จะขจัดภาษาท้องถิ่น (ภาษามลายู) และแทนที่ด้วยภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อต้องการที่จะให้ประชาชนทั่วไปสามารถพูดไทยได้

การที่นิตยสารอาซาน ได้ปรากฏออกสู่สายตาต่อสาธารณชนจึงเป็นการสวนกระแสและท้าทายต่อวัตถุประสงค์ของรัฐที่ได้พยายามปลุกกระแสแห่งความเป็นรัฐไทย สื่อสารด้วยภาษาไทย โดยที่ไม่ได้มีความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐแต่อย่างใด เพียงเพื่อต้องการปกปักษ์เอกลักษณ์ของความเป็นชนชาติที่ควรค่าแก่การทำหน้าที่นี้โดยกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยพลังอันสมบูรณ์พร้อม

บัดนี้ได้ครบรอบ 40 ปีแล้วที่สังคมของชาวมลายูปาตานีได้สูญหายเพชรเม็ดงามที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ซึ่งใครอีกเล่าที่จะทำหน้าที่นี้เพื่อฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง หากว่าไม่ใช่ปัญญาชนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา !

 

อ้างอิง
สะรอนี ดือเระ. เสียงเพรียกใหม่:  นิตยสานอาซานและกลุ่มปัญญาชนใหม่ในปาตานีกลางทศวรรษ 2510. ใน รุไบบยาต: วารสารวิชาการด้านเอเชียศึกษา ปีที่ 2 ฉบับที่ 3, กรกฎาคม – ธันวาคม 2554  สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย: การค้นหาประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมปาตานี.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครก.112 ผิดหวังสภา ยันเกี่ยวข้องสิทธิเสรีภาพ-ควรเรียกชี้แจงก่อนปัดตก

Posted: 01 Nov 2012 06:13 AM PDT

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตัวแทนครก.112 ระบุเสียใจที่สภาไม่รับพิจารณาร่างกฎหมายแก้ไข มาตรา 112 ชี้ควรเรียกผู้เสนอร่างเข้าชี้แจงก่อนจำหน่ายออก  นักวิชาการหลายกลุ่มเตรียมออกแถลงการณ์โต้ - เปิดบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎหมาย

 

1 พ.ย.55  พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการตัวแทนคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112  (ครก.112) ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐสภาจำหน่าย ร่างพ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 ไปตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่า  ไม่มีการแจ้งให้ผู้เสนอกฎหมายทราบก่อนหน้านี้ แต่เมื่อทราบข่าวแล้วเราก็รู้สึกเสียใจที่รัฐสภาตัดสินใจไม่แตะต้องกฎหมายนี้เลย นอกจากนี้ยังเห็นด้วยว่า ก่อนจะจำหน่ายร่างกฎหมายนี้ออกไป ควรเรียกตัวแทนของ ครก.112 หรือตัวแทนกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ไปชี้แจงว่าร่างนี้เข้าหมวดสิทธิเสรีภาพหรือนโยบายแห่งรัฐหรือไม่

พวงทองกล่าวอีกว่า ถ้าสภาไม่กลัวจนเกินไป และมีแนวคิดในการมองปัญหาสิทธิเสรีภาพที่กว้างกว่านี้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า มาตรานี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ครก.112 และนิติราษฎร์เตรียมจะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ ในบันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ..... ระบุว่า

"โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้" 

AttachmentSize
หลักการและเหตุผล.pdf119.77 KB
ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขมาตรา 112.pdf165.22 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

นักวิชาการชายแดนใต้อาสาขยายผลเวทีจัดการตนเอง

Posted: 01 Nov 2012 06:00 AM PDT

หนุนสภาประชาสังคมฯ ขับเคลื่อนเวทีจัดการตนเอง พร้อมอาสาขยายผลแนวคิดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษต่อนักศึกษาและเครือข่าย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 ตุลาคม 2555 ที่ห้องประชุมศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จังหวัดยะลา สภาประชาสังคมชายแดนใต้จัดเวทีนโยบายสาธารณะชายแดนใต้จัดการตนเอง พลังการเมืองภาคประชาชนกำหนดอนาคตชายแดนใต้ โดยกลุ่มเป้าหมายในการจัดเวทีครั้งนี้ คือ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลา

นายธนัติ ทองนุ่น ข้าราชการเกษียณอายุและอาจารย์พิเศษสถาบันราชภัฎยะลา กล่าวว่า การกำหนดรูปแบบการปกครองพิเศษต้องตอบสนองกับวีถีชีวิตของคนในพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้มีศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลายต่างกับพื้นที่อื่น และต้องดึงพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ และคนทุกกลุ่มเป้าหมายมาเป็นแรงขับเคลื่อนด้วย การตั้งชื่อกิจกรรมการขับเคลื่อนจะต้องคิดให้มากเพราะจะส่งผลต่อจิตวิทยาในการตัดสินใจเลือกและรับข้อเสนอของภาคประชาสังคม

นายธนัติ กล่าวต่ออีกว่า การสื่อสารเป็นหัวใจของการพัฒนา ดังนั้นการขับเคลื่อนแนวคิดการจัดการตนเองจึงต้องมีการสื่อสารที่ดี การให้ความรู้หรือให้การศึกษาเรื่องการจัดการตนเองแก่ชนชั้นรากหญ้าในมากขึ้นและกระทำอย่างต่อเนื่อง หลักใหญ่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถจัดการตนเองได้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐไม่ได้ทำให้ประชาชนจัดการตนเองได้เลย

"หลังจากเกษียณผมเป็นอาจารย์พิเศษ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ผมจะนำประเด็นการปกครองรูปแบบพิเศษนี้ไปบอกต่อนักศึกษา ผ่านครูอาสาสมัครและเครือข่าย กศน.ในพื้นที่ รวมถึงจะนำไปบอกต่อในชมรมผู้สูงอายุ จ.ยะลา ชมรมครู กศน.จ.ยะลา ชมรมมิตรบำรุง ชมรมเพื่อสุขภาพ และสภากาแฟ นอกจากนี้จะนำไปบอกต่อสมาคมศิษย์สถาบันรัชภาค ซึ่งมีศิษย์เก่า 7-8 แสนคน" นายธนัติ กล่าว

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาคนหนึ่ง กล่าวว่า รูปแบบการกระจายอำนาจในปัจจุบัน มีอยู่แล้ว ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียกันแน่ การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องส่งผลกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์เดิม เช่น สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือสมาชิกองค์การบริการส่วนท้องถิ่นในส่วนอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมาอีกก็เป็นได้

"ผมมองว่าการแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้มองว่าปัญหาอยู่ที่ไหนให้แก้ที่นั้น เช่น หลายคนบอกว่าปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากความอยุติธรรม ก็ต้องกลับกลับไปเรียกร้องความยุติธรรมกลับคืนมาให้ได้" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลากล่าว

ผู้เข้าร่วมเวทีคนหนึ่งกล่าวว่า การให้ประชาชนมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองด้วยจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด และควรนำบทบัญญัติศาสนาเข้ามาใช้ในการปกครองรูปแบบพิเศษด้วย เช่น การจัดตั้งกองทุนซากาต หรือกองทุนชารีอะฮ์ และหากมีการปกครองรูปแบบพิเศษจริงต้องดูแลให้ครอบคลุมทุกศาสนิกด้วย

นายอาซิ อาแวปูเตะ อาจารย์จากวิทยาลัยชุมนกล่าวในที่ประชุมว่า ปัจจุบันการปกครองท้องถิ่นมีหลายระดับ มีนายกอบจ. นายกอบต. นายกเทศมาตรี ในระดับตำบลมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งยิ่งมีมากยิ่งคอรัปชั่นมาก การตรวจสอบทำได้ยาก หากการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมีนายกคนเดียวและมาจากการเลือกตั้งจะตรวจสอบง่ายกว่า อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลว่าแม้จะมีการปรับโครงสร้างแล้วแต่อาจจะได้คนหน้าเดิมเข้ามาบริหาร

ทั้งนี้ นักวิชาการที่เข้าร่วมประชุมต่างอาสาที่จะนำแนวทางจังหวัดจัดการตนเองในกรอบข้อเสนอของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ไปขยายผลต่อให้กับนักศึกษาและเครือข่ายของตนเอง พร้อมกับเสนอให้มีการศึกษาให้รอบด้านมากขึ้น เช่น มีงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้นเพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นายมันโซร์ สาและ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้และผู้ประสานงานการประชุมครั้งนี้กล่าวกับที่ประชุมว่า การจัดเวทีในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองที่จะมีเวทีระดมความคิดเห็น 200 เวทีในพื้นที่ 3 จังหวัด และการขับเคลื่อนแนวทางจังหวัดจัดการตนเองไม่ได้มีเพียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ขณะนี้มีกว่า 40 จังหวัดที่กำลังขับเคลื่อน โดยแกนนำหลักมี 2 จังหวัด คือเชียงใหม่มหานครและปัตตานีมหานคร

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอระดมสมองวิเคราะห์อนาคตข้าวไทย

Posted: 01 Nov 2012 05:56 AM PDT

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดสัมมนาระดมสมองหัวข้อ "ภาพอนาคตเศรษฐกิจข้าวไทย" ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์ข้าวไทย การวิจัยและพัฒนาข้าวไทย และการมองไปข้างหน้า นำโดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ โดยมัผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตและการค้าข้าวจากหลายฝ่ายเข้าร่วม เช่น ผู้แทนเกษตรกร ผู้ผลิตปัจจัยการผลิต โรงสี หยง ผู้ส่งออก และนักวิชาการ  ร่วมกันระดมสมองวิเคราะห์อนาคตและทิศทาง อุตสาหกรรมข้าวไทย  

ดร. นิพนธ์ ได้นำเสนอ ภาพรวมและแนวโน้มระบบเศรษฐกิจข้าวไทยโดยสรุปสถานการณ์ด้านการบริโภคว่า แนวโน้มการบริโภคข้าวต่อหัวลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะชาวเอเชียซึ่งหันไปบริโภคอาหารอื่นแทนข้าวและได้รับวัฒนธรรมการ บริโภคจากตะวันตกมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่า ในทศวรรษที่ผ่านมาอัตราเพิ่มประชากรสูงกว่าอัตราเพิ่มของผลผลิตต่อไร่ ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ในส่วนของประเทศไทย การบริโภคข้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2554 คนในเมืองบริโภคข้าวเพียง 84 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับ 93 กิโลกรัมต่อคนในปี 2545 (ส่วนคนในชนบทบริโภคข้าวจาก 114 กิโลกรัมต่อคนในปี 2545 ลดลงเหลือ 99 กิโลกรัมต่อคนในปี 2554) นอกจากนี้ งานวิจัยของดร.นิพนธ์แสดงให้เห็นว่า คนไทยที่กินข้าวหอมให้ความสำคัญกับองค์ประกอบสามประการคือ 1) คุณภาพข้าวที่หุง 2) แหล่งที่มาและ 3) ตราสินค้า ในขณะที่ผู้บริโภคข้าวขาวเน้น 1) สีเมล็ดขาว 2) ขนาดบรรจุ และ 3) แหล่งที่มา

ด้านการผลิต ผลวิจัยของทีดีอาร์ไอสรุปข้อมูลสถิติการผลิตข้าวว่า มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 24% ต่อปีสำหรับข้าวนาปีและ 3.58% ต่อปีสำหรับข้าวนาปรัง สาเหตุสำคัญของการเพิ่มผลผลิตตลอดระยะกว่า 50 ปีที่ผ่านมาคือ 1) เพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพื้นที่เพาะปลูก (เพิ่มขึ้นกว่า 43.4%) 2) เพิ่มพื้นที่กว่า 35% 3) เพิ่มรอบการเพาะปลูกกว่า 14.6% และ 4) ผลผลิตต่อไร่เพิ่มจากการเปลี่ยนเวลาเพาะปลูก 6.7% ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่จะมีผลต่ออนาคตการผลิตคือ ราคาข้าวในตลาด

ด้านการส่งออก ในตลาดโลก แนวโน้มการส่งออกข้าวยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ประเทศผู้ส่งออกอย่างเวียดนามและปากีสถานมีแนวโน้มการส่งออกข้าวที่สูง ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (เวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 21% ของปริมาณข้าวส่งออกทั้งหมดและปากีสถานส่งออกข้าวเพิ่มจาก 6% เป็น 12.8% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) ในขณะที่ปริมาณการส่งออกของไทยลดลงจาก 32.2% เป็น 27.3% ของปริมาณข้าวส่งออกในตลาดโลก ไทยส่งออกข้าวขาวเป็นอันดับหนึ่ง (44.3%) รองลงมาคือ ข้าวนึ่ง (31.8%) และข้าวหักหอมมะลิ (7.3%) ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์มีความเห็นว่า การส่งออกข้าวขาวใน 15 ปีข้างหน้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ข้าวหอมและข้าวนึ่งที่มีราคาสูงและคุณภาพดีจะยังคงมีแนวโน้มการส่งออกที่ดีอยู่

อย่างไรก็ตาม ดร.นิพนธ์ โดยสรุปถึงสิ่งท้าทายว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวขาวของไทยอาจประสบภาวะขาดทุนด้วยสาเหตุ 2 ประการคือ 1) ต้นทุนส่งออกต่ำกว่าราคาส่งออกเนื่องจากราคาที่พ่อค้าซื้อข้าวจากชาวนาหลัง จากหักค่าใช้จ่ายทุกประเภทต่ำกว่าต้นทุนของชาวนา 2) ในอนาคตราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเพราะการบริโภคลดลง แต่การผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ทางเลือกของเกษตรกรไทยในอนาคต ดร.นิพนธ์ระบุว่ามี  3 ทางเลือกของเกษตรกรชาวนาและผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับข้าว ได้แก่ 1) เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ควรมีการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพและสามารถช่วย เพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ เช่นข้าวพันธุ์สุพรรณ 1 ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าชัยนาท 1และ 2 ประมาณ 56-76 กิโลกรัมต่อไร่

2) เพิ่มผลผลิตต่อชาวนา (รายได้ต่อหัว) เกษตรกรไทยยังมีแรงงานส่วนเกินเป็นจำนวนมาก  ในหลายประเทศที่มีที่ดินน้อยกลับมีผลผลิตต่อชาวนาและพื้นที่เพาะปลูกสูง (เช่นประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น) ในขณะที่ไทยยังมีผลผลิตต่อเกษตรกรต่ำ นัยยะเชิงนโยบายต่อประเด็นนี้คือ ควรมีการโยกย้ายแรงงานออกจากเกษตรที่ยังมีเกือบ 40% และควรมีการเพิ่มขนาดฟาร์มเหมือนประเทศแถบยุโรป/อเมริกาและเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้เครื่องจักรกรการเกษตรมากขึ้น

3) เพิ่มมูลค่าข้าว/ราคาข้าว ควรปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมที่ได้รับความนิยมในตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณภาพในการ แข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรอาจแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่ากับวัตถุดิบที่มีอยู่ (value-added)

ดร.นิพนธ์ ได้ทิ้งท้ายบทสรุปอนาคตของอุตสาหกรรมข้าวไทยว่า มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในปัจจุบัน ไทยยังมีแรงงานในภาคเกษตรอยู่กว่า 40% และไทยควรสร้างการเจริญเติบโตแบบทั่วถึงและครอบคลุมภาคเกษตรทั้งในเมืองและ ชนบท ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตข้าวไทยคือการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต่อชาวนาและเพิ่มมูลค่าข้าวไทยให้สูงขึ้น ข้อสรุปที่ได้จากงานระดมสมองคือ ตลาดข้าวไทยยังคงต้องพัฒนาข้าวที่มีคุณภาพดีก่อนและเน้นในเรื่องของปริมาณใน ภายหลัง ซึ่งในปัจจุบันคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยสามารถพัฒนาคุณภาพข้าวของตนให้มี คุณภาพสูงขึ้นมาก ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร รัฐบาล โรงสีและผู้วิจัยพันธุ์ข้าวควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาข้าวไทยในเชิง คุณภาพ ตั้งแต่ต้นธารการผลิต การบริหารจัดการด้วยนวัตกรรมบริการในเรื่องข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาเทคโนโลยี/การใช้เครื่องจักรมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างมาตรฐานข้าวไทยและส่งเสริมกลุ่มเกษตรไทยที่ถูกต้อง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พงศ์พิชาญ’ เดินหน้าต่อ ร้องแก้มติคณะรัฐมนตรี เยียวยาเหยื่อสลายชุมนุม

Posted: 01 Nov 2012 04:07 AM PDT

'พงศ์พิชาญ ธนาถรพงษ์' แท็กซี่จอมประท้วง เดินหน้าต่อร้องแก้ไขข้อความในมติคณะรัฐมนตรี จาก "ได้รับบาดเจ็บสาหัส" หมายถึง "เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะเป็นผู้ป่วยในเป็นเวลาเกิน 20 วัน" เผยยังมีผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาอีก 46 ราย

เมื่อวันที่ 31 พ.ย. 55 ที่ผ่านมานายพงศ์พิชาญ ธนาถรพงษ์ ได้มายืนถือป้ายร้องเรียนที่บริเวณหน้ารัฐสภา หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขับรถแท็กซี่ปาดหน้าขบวนรถของนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรักษาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ที่ได้ลงมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555

ทั้งนี้นายพงศ์พิชาญ มีข้อเรียกร้องให้แก้ไขข้อความในมติคณะรัฐมนตรี  มาตรา 297 ระบุกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสว่า "ได้รับบาดเจ็บสาหัส" หมายถึง "เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะเป็นผู้ป่วยในเป็นเวลาเกิน 20 วัน"  ซึ่งก่อนหน้านี้นายพงศ์พิชาญ ได้ไปฟ้องร้องต่อศาลอุธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาแล้วว่าเขาเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสเพราะได้รับการรักษาพยาบาลเกิน 25 วัน แต่ไม่ได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงไม่ได้รับเงินเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

นอกจากนั้นนายพงศ์พิชาญ ยังระบุว่าจะขอเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีเงินเยียวยาต่อไปเพราะยังมีผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาอีก 46 ราย และขอความช่วยเหลือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการจัดหาทนายความเพื่อสู้คดี นายพงศ์พิชาญยังกล่าวอีกว่าขณะนี้ตนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากกรณีขับรถแท็กซี่ตามขบวนของนายกรัฐมนตรีเพราะศาลได้สั่งยึดใบขับขี่สาธารณะของเขาเป็นเวลา 6 เดือน

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ข่าวสดข่าวสดรายงานว่า นายพงศ์พิชาญ ได้ขับรถแท็กซี่สีชมพู หมายเลขทะเบียน ทย 9522 กทม. จากสหกรณ์แท็กซี่ปทุมวัน จำกัด พยายามเร่งเครื่องยนต์เพื่อหวังแซงรถของนายกรัฐมนตรี จนทำให้รถของผู้สื่อข่าวที่ขับตามมาเกิดอุบัติเหตุชนกัน และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปที่ สน.นางเลิ้ง ก่อนที่จะถูกศาลตัดสินจำคุกรอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี คุมประพฤติ เป็นเวลา 1 ปี รายงานตัว 3 เดือนต่อครั้ง ให้บำเพ็ญประโยชน์ 20 ชั่วโมง และพักใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ 6 เดือน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

อนึ่งสำหรับนายพงศ์พิชาญนั้น ได้พยายามเรียกร้องเงินเยียวยาดังกล่าวหลายครั้ง โดยเคยมีประวัติ ขับรถบุกทั้งทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภามาหลายครั้งอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม: อีกหนึ่งอารยะขัดขืน "พงศ์พิชาญ ธนาถิรพงศ์" แท็กซี่จอมเรียกร้อง "สิทธิ")

 

ที่มาข่าวบางส่วนจาก: เว็บไซต์ข่าวสด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาเขี่ยตก เข้าชื่อแก้ 112 ไม่เข้าหมวดสิทธิเสรีภาพ

Posted: 01 Nov 2012 03:51 AM PDT

ที่มา: http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20121026141843.pdf

 

 

เว็บไซต์รัฐสภาเผยแพร่ เอกสารสรุปผลการดำเนินงานของกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.55 ซึ่งตารางสรุปผลดังกล่าวปรากฏการจำหน่ายเรื่องการเข้าชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ของนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ พร้อมด้วยประชาชน 30,383 คน

"ประธานรัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 (เนื่องจากประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.....) มีหลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550"  เอกสารกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ระบุ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 163 กำหนดในเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้โดยให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ น้อยกว่า 10,000 คนร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ และกฎหมายที่จะเสนอต้องเป็นกฎหมายที่มีหลักการตามที่กำหนดไว้ใน หมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ

การยื่นรายชื่อในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค.55 โดยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ พร้อมด้วยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 พร้อมประชาชนนับร้อยคนได้นำรายชื่อ 39,185 ที่รวบรวมจากทั่วประเทศเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ไปยื่นให้กับประธานรัฐสภา โดยสาระสำคัญสอดคล้องกับร่างแก้ไขมาตรา 112 ของนิติราษฎร์ คือ 

1. ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2. เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น แทนพระองค์"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: มายาคติของโทษประหารชีวิต

Posted: 01 Nov 2012 03:15 AM PDT

ในสัปดาห์เพื่อการยุติโทษประหารชีวิต ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประชาไทสัมภาษณ์ "ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์" คอลัมนิสต์และนักวิชาการอิสระต่อประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ข้อมูลจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่าขณะนี้มี 140 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ส่วนประเทศไทย ยังคงมีการใช้โทษประหารชีวิต แม้ว่าในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 (2552-2556​) ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2552 ได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต ขณะเดียวกันการีโทษประหารชีวิตก็ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งไทยเป็นภาคีอนุสัญญามาตั้งแต่ปี 2550

 

โทษประหารและความเข้าใจผิด

ศิโรตม์เริ่มต้นว่า "โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่มีปัญหา เพราะเป็นโทษที่เต็มไปด้วยมายาคติและความเข้าใจผิดของคนในสังคม ซึ่งในที่สุดแล้วพิสูจน์ไม่ได้ อย่างเช่น เชื่อว่าโทษประหารชีวิตจะลดอาชญากรรมหรือลดความรุนแรงในสังคม แต่จริงๆ แล้วทำไม่ได้"

"โทษประหารชีวิตจริงๆ เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกที่ว่าต้องการล้างแค้นคนที่กระทำความผิด แล้วเวลาล้างแค้นกระทำไปในนามของคนที่สูญเสียจากเหตุการณ์ต่างๆ คำถามที่ท้าทายคือ คนที่ทำการประหารชีวิตคนอื่นรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เขาสูญเสียจากเหตุการณ์ต่างๆ ต้องการจะลงโทษหรือล้างแค้นผู้ที่กระทำการนั้นๆ อย่างที่ตัวเองเข้าใจ ที่สำคัญก็คือการประหารชีวิตเป็นเรื่องของการล้างแค้น ขณะที่สังคมสมัยใหม่เรามีความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การแก้ปัญหาของสังคม การแก้ปัญหาความรุนแรง ไม่ใช่ด้วยวิธีการล้างแค้น แต่ทำให้คนผิดเกิดความคิด หรือเกิดการปรับปรุงพฤติกรรม"

"แต่โทษประหารชีวิตไม่ได้ตอบโจทย์นี้ คนที่เป็นเหยื่อเขาไม่มีโอกาสพูดว่าต้องการทำอย่างไรกับคนที่กระทำผิด คนที่ตัดสินใจประหารชีวิตคือคนที่ไม่ได้เป็นเหยื่อ แต่ตัดสินประหารชีวิตในนามของการล้างแค้นให้เหยื่อ และผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่มีปัญหาโดยตัวมันเอง"

"ประการที่สอง มันเป็นโทษซึ่งเมื่อตัดสินไปแล้ว ในกรณีที่ตัดสินผิด จะคืนชีวิตให้คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้วไม่ได้ เป็นโทษที่เมื่อเอาชีวิตไปแล้วไม่สามารถรื้อฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ ขณะที่โทษอื่นๆ เช่น โทษจำคุกเมื่อตัดสินผิดเราสามารถรื้อฟื้นความยุติธรรมกลับมาได้"

"ประการที่สาม ที่สำคัญก็คือ โทษประหารชีวิตทำงานบนความเชื่อว่า คำตัดสินของศาลในคดีความต่างๆ ถูกทุกกรณี ทำให้ศาลอยู่ในอุดมคติซึ่งเกินจากความเป็นจริงไป ในความเป็นจริงคือ การตัดสินของศาลทุกคดีไม่ว่าจะเป็นคดีที่เป็นเรื่องประหารชีวิต หรือไม่ประหารชีวิตก็ตาม มีโอกาสมากที่จะถูกบดบัง หรือถูกตีความ หรือถููกพิจารณาด้วยอคติต่างๆ ของศาลเอง หรือองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่อัยการ ตำรวจ ทนายความ นี่เป็นประเด็นสำคัญ ในกรณีโทษประหารชีวิต เราไม่ค่อยตระหนักถึงอคติแบบนี้ซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ที่อยู่กับองค์กร บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทำให้เราเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้จะตัดสินได้ถูกทุกกรณี ซึ่งไม่เป็นความจริง"

 

ฝากความหวังให้รัฐยกเลิกโทษประหารอย่างเดียวไม่พอ

ต่อคำถามที่ว่า แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 (2552-2556​) ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐสภาไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2552 ได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ผลในทางปฏิบัตินั้นประเทศไทยยังคงใช้โทษประหารชีวิต ศิโรตม์ตอบว่า "ความพยายามยกเลิกโทษประหารชีวิต เป็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นเพราะว่า องค์กรต่างๆ ภายในประเทศไทยโดยเฉพาะองค์กรซึ่งต้องยึดโยงกับเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น รัฐสภา หรือกรรมการสิทธิมนุษยชน รู้ว่าทิศทางของโลกต่อโทษประหารชีวิตเป็นอย่างไร และรู้ว่าทิศทางของโลกก็คือการยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ความล้าช้าที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนว่าในที่สุดแล้วอำนาจรัฐในทางปฏิบัติจริงคือฝั่งกลไกราชการ ไม่ได้เห็นเรื่องนี้ไปในทางเดียวกับรัฐสภาหรือกรรมการสิทธิมนุษยชน"

"ในที่สุดแล้วเรื่องนี้จะไม่เกิดในระยะอันใกล้ ต้องยอมรับว่าโทษประหารชีวิตมีมานานในสังคมไทย หรือสังคมอื่นๆ มีมาเป็น 100 ปี มันเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมทางสังคม เป็นส่วนหนึ่งของความคิดความเชื่อ อคติทางสังคม ที่ทำให้การยกเลิกโทษประหารนี้ไม่ง่าย และจะยกเลิกได้ในเงื่อนไขที่ว่ามีแรงกดดันจากภายนอกมหาศาล หรือมีแรงกดดันหรือความคิดใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเติบโตอย่างมหาศาล ซึ่งในปัจจุบันไม่มีสองเงื่อนไขนี้อยู่ ฉะนั้นโอกาสในการเลิกนั้นไม่ง่าย อาจมีมาตรการหรือแผนแม่บทบางอย่างเพื่อให้ดูดีในสายตาองค์กรระหว่างประเทศ ในทางปฏิบัติจะไม่มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในอนาคตอันใกล้"

ศิโรตม์ยกตัวอย่างแผนแม่บทอื่นๆ เป็นอย่างที่คล้ายกันว่า "เหมือนแผนแม่บทในการคุ้มครองแรงงาน แผนแม่บทในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมของหญิงชาย ซึ่งรัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาต่างๆ และทำแผนแม่บทมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ไม่เคยมีความคืบหน้า"

"เวลาจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในเรื่องเหล่านี้จะมาจากจากสองปัจจัยเหล่านี้ คือองค์กรระหว่างประเทศกดดัน หรือมีขบวนการทางการเมืองหรือกลุ่มทางสังคมภายในประเทศใหม่ๆ กดดันให้รัฐบาลไทยหรือรัฐไทยเปลี่ยนท่าทีต่อเรื่องพวกนี้ ไม่อย่างนั้นเรื่องพวกนี้รัฐไม่เคยเปลี่ยนเอง และอย่าลืมว่าโทษประหารชีวิตมีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งคือ โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่สอดคล้องกับอคติหรือความเชื่อของคนในสังคมไทยจำนวนมากที่นิยมการประชาทัณฑ์ นิยมการตัดสินใครว่าถูกหรือผิดไว้ก่อน และเป็นสังคมแบบพุทธที่เชื่อว่าเมื่อมีใครกระทำผิดต้องถูกล้างแค้นอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นมันเป็นโทษที่ไม่ใช่แค่มาตรการของรัฐ แต่เป็นโทษที่ตรงกับอคติของคนในสังคมด้วย เพราะฉะนั้นการให้ยกเลิกนี้โดยฝากควาหวังไว้ที่รัฐอย่างเดียวไม่มีทางเพียงพอ"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น