โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

6 คนอยากเลือกตั้งหน้า ม.เชียงใหม่ รายงานตัวอัยการ - ทหารบุกไปถึงบ้าน 2 นักศึกษาผู้ต้องหา

Posted: 11 Apr 2018 11:29 AM PDT

6 ผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้ง หน้า มช. รายงานตัวอัยการเพื่อฟังคำสั่งอัยการ หลังจากตำรวจส่งสำนวนคดีให้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อัยการนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย.นี้ ขณะที่ทหารบุกเข้าไปที่บ้านของสองนักศึกษา มช. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีนี้ โดยรายหนึ่ง ทหารและสันติบาลได้เข้าพูดคุยกับพ่อแม่ขออย่าออกมาทำกิจกรรม

 

11 เม.ย.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้  เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 6 ผู้ต้องหากรณีร่วมกิจกรรมการชุมนุม "รวมพลคนอยากเลือกตั้ง" ใน "เทศกาลแห่งความหมดรัก" เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้เข้ารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งของอัยการแขวงตามที่ได้นัดหมาย หลังจากพนักงานสอบสวนสภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ส่งสำนวนคดีให้อัยการเมื่อวันจันทร์ที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีความเห็นสั่งฟ้องคดี

ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนจึงได้เข้ารายงานตัวตามนัดหมาย โดยอัยการแขวงระบุว่ายังไม่มีคำสั่งทางคดีในวันนี้ จึงให้ผู้ต้องหาทั้ง 6 ทำการเซ็นรับทราบนัดหมายและให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย. 61 เวลา 13.30 น.  ทางด้านผู้ต้องหาภายหลังจากได้เซ็นรับทราบนัดของอัยการแล้ว ได้ทำการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ผ่านอธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากการฟ้องคดีต่อผู้ต้องหาทั้ง 6 จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พร้อมกับได้ยื่นหนังสืออีกหนึ่งฉบับเพื่อแจ้งแก่อัยการแขวง ให้ทราบว่าขณะนี้ผู้ต้องหาทั้ง 6 ได้ทำการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมฉบับดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดผ่านอธิบดีอัยการภาค 5แล้ว  โดยบรรยายกาศการรายงานตัววันนี้ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 6 นาย คอยติดตามสังเกตการณ์ถ่ายภาพผู้ต้องหาและทนายความอย่างใกล้ชิดด้วย

ทหารบุกบ้านนักศึกษาสองรายซ้อน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบจำนวน 3 นาย ระบุว่ามาจากหน่วยในพื้นที่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สันติบาลนอกเครื่องแบบ 2 นาย เดินทางเข้าไปยังบ้านที่จังหวัดเชียงรายของ จตุพล คำมี นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ เจ้าหน้าที่ได้สอบถามหาจตุพล ระบุว่าได้รับคำสั่งจาก "นาย"  ให้มาพูดคุยปรับความเข้าใจ โดยสอบถามจากพ่อแม่ของจตุพลว่าเหตุใดจึงออกมาทำกิจกรรมคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้น และมีการพูดคุยขอให้พ่อแม่ของจตุพลตักเตือนอย่าให้จตุพลออกมาทำกิจกรรมอีก

ภายหลังจากการพูดคุยประมาณ 30 นาที ได้มีการขอถ่ายรูปภาพของจตุพลในวัยเด็กไปด้วย พร้อมขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเอาไว้ ด้านพ่อแม่ของจตุพลได้ขอถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่มาในวันนี้เพื่อเก็บไว้ เจ้าหน้าที่ทหารได้ระบุว่า ไม่ต้องถ่ายก็ได้ เพราะพวกตนไม่ได้มาคุกคามอะไร เพียงแต่มาปรับความเข้าใจกันเท่านั้น ก่อนที่จะเดินทางกลับไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิจัยประเมิน “ภาวะสมองเสื่อม” ความหวังใหม่ของผู้ป่วย เพื่อการป้องกัน – รักษาอัลไซเมอร์ที่แม่นยำ

Posted: 11 Apr 2018 11:18 AM PDT

ภาพ ขั้นตอนการทำงานตั้งแต่กระบวนการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์สารเภสัชรังสีโดยมีการนำข้อมูลที่มีการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเครื่องมือและสภาพแวดล้อมในประเทศไทย การตรวจในอาสาสมัคร และการพัฒนาระบบการถ่ายภาพและวิเคราะห์ผลการตรวจทางรังสีชนิดต่างๆ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยเพื่อให้ได้คุณภาพในระดับมาตรฐานสากล

11 เม.ย.2561 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) รายงานว่า ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะถดถอยในด้านความจำและพฤติกรรม เกิดเป็นภาวะพึ่งพาที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด มีค่าใช้จ่ายการรักษาสูง อาจกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และจิตใจของคนในครอบครัวตามมา ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2558 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ประมาณ 6 แสนคน และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.1 ล้านคนในปี 2573 จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ฉะนั้นการเร่งพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรค จึงเป็นงานท้าทายและมีความสำคัญ เพื่อขยายความครอบคลุมการบริการรักษา ตลอดจนป้องกันภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในอนาคตอันใกล้นี้ อาจสามารถตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ได้ในระยะเริ่มแรก รวมถึงใช้ผลในการวางแผนรักษาได้ต่อไป ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัย "ประโยชน์ของการตรวจวินิจฉัยทางรังสี ด้วย F-18 florbetapir (F-18-AV-45) เพื่อประเมินการสะสมของโปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์ในสมองในผู้ป่วยสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์, ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเล็กน้อยของความสามารถของสมองและผู้สูงอายุปกติ ในระยะที่ 1" โดยพบว่า การตรวจวินิจฉัยทางรังสีด้วยสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 ที่มีการสังเคราะห์เองโดยนักวิจัยไทย จากการทดลองกับอาสาสมัครให้ผลการตรวจวินิจฉัยไปในทิศทางที่สัมพันธ์กับผลทดสอบทางจิตประสาท และวิธีการวินิจฉัยอื่นๆ

รศ.พญ.ธัญญลักษณ์ เธียรธัญญกิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นักวิจัยเครือข่าย สวรส. กล่าวว่า ส่วนใหญ่การตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ ในทางคลินิกแพทย์จะใช้วิธีการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การประเมินทางจิตประสาท การประเมินความสามารถในกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น แต่การวินิจฉัยทางคลินิกก็อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ คือ ผู้ป่วยอาจมีโรคประจำตัวอื่น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือเคยเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกับสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางความรู้คิดของสมองที่คล้ายคลึงกับภาวะสมองเสื่อม ดังนั้น การวินิจฉัยทางคลินิกจึงอาจไม่เพียงพอ ทีมวิจัยจึงได้ศึกษาการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ทางรังสี ซึ่งมีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยประมาณ 70-90% ซึ่งสูงกว่าการตรวจวินิจฉัยทางคลินิก

ในการศึกษาทีมวิจัยได้ทำการสังเคราะห์สารเภสัชรังสี F-18-AV-45 ขึ้น สำหรับตรวจหาการสะสมของ "โปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์" ในผู้ป่วย คุณลักษณะการทำงานของสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 คือ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดแล้วสารจะมีคุณสมบัติพิเศษในการไปจับตัวกับโปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์ เมื่อถ่ายภาพสมองผู้ป่วยด้วยเครื่องเพทสแกน ก็จะได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยมีโปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์สะสมในสมองมากน้อยเพียงใด

สำหรับ "โปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์" นั้น เป็นสารชนิดหนึ่งที่พบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยจะไปเกาะและสะสมตามจุดต่างๆในเนื้อสมอง จากนั้นจะส่งผลให้เกิดการอักเสบและเป็นพิษต่อเนื้อสมอง ทำให้เซลล์สมองตาย ส่งผลให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยลงและกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน เช่น มีอาการหลงลืม เฉยเมย นึกคำพูดไม่ออก และเมื่ออาการของโรคดำเนินไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความเป็นตัวเองและสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองลงไปเรื่อยๆ

 
ตัวอย่างภาพการตรวจในอาสาสมัครวิจัย โดยภาพด้านซ้ายจะรวมข้อมูลภาพการตรวจอะมัยลอยด์เพทสแกน ด้วยสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 (แถวบน สีเขียว) การตรวจเพทสแกนเพื่อตรวจการทำงานของสมองโดยอาศัยปริมาณการใช้น้ำตาลกลูโคสในสมอง (F-18 FDG) (แถวที่สอง สีแดง) และการตรวจปริมาตรของเนื้อสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) (แถวล่าง) เพื่อนำข้อมูลทั้งสามชนิดมาพิจารณาร่วมกันในการประเมินความผิดปกติในผู้ป่วย โดยภาพขวาเป็นการรวมผลการตรวจของผู้ป่วยผู้สูงอายุปกติ (ขวาบน) และในผู้ป่วย Alzheimer's disease (ขวาล่าง)

ผลการศึกษารายงานว่า การสังเคราะห์สารเภสัชรังสี F-18-AV-45 ใน 1 ครั้ง สามารถใช้ตรวจผู้ป่วยได้ประมาณ 3-5 ราย และจากการตรวจวินิจฉัยทางรังสีด้วยสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 ในอาสาสมัครเบื้องต้นจำนวน 17 ราย พบว่า การตรวจวินิจฉัยทางรังสีด้วยสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 มีคุณสมบัติการวินิจฉัยโรคที่มีความสัมพันธ์กับการวินิจฉัยวิธีอื่นๆ คือ F-18-AV-45 ให้ผลสอดคล้องกับการวินิจฉัยทางคลินิกและผลทดสอบทางจิตประสาท 16 ราย คิดเป็น 94.12% โดยไม่พบว่ามีอาสาสมัครรายใดที่แสดงอาการข้างเคียงจากการตรวจดังกล่าว

รศ.พญ.ธัญญลักษณ์ กล่าวสรุปว่า การวินิจฉัยการสะสมของโปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์ในสมอง ที่เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ด้วยสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 ถือว่าให้ผลที่แม่นยำเมื่อเทียบกับการวินิจฉัยทางคลินิก จึงเป็นความหวังหนึ่งที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยทางรังสีควบคู่ไปกับการวินิจฉัยทางคลินิกในอนาคต รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อแพทย์และผู้ป่วย คือ ช่วยให้แพทย์พิจารณาการให้ยาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงโอกาสในการพัฒนายาเพื่อกำจัดหรือลดปริมาณโปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์ก่อนที่เนื้อสมองจะถูกทำลาย อีกทั้งเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยในขั้นตอนต่อๆ ไป หรือช่วยให้แพทย์ผู้วินิจฉัย ลดหรืองดการให้ยาในกรณีตรวจไม่พบโปรตีนเบต้าอะมัยลอยด์ในสมอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในระยะที่ 2 ที่กำลังศึกษาให้ครบในผู้ป่วยอาสาสมัครทั้งสิ้น 85 ราย และจะทำการประเมินต้นทุนในระยะต่อไป ทั้งนี้ เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ คาดว่าจะขยายผลการใช้สารเภสัชรังสีนี้ไปยังกลุ่มความร่วมมือวิจัยและโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบกว่าในปัจจุบันซึ่งใช้สารเภสัชรังสี C-11-PiB ที่มีข้อจำกัดว่าใช้ได้เฉพาะในโรงพยาบาล 2 แห่งที่ติดตั้งเครื่องไซโคลตรอนเท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งละประมาณ 40,000 บาท

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า การวิจัยนี้มุ่งเป้าที่จะพัฒนาเครื่องมือในการคัดกรองผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยการตรวจวินิจฉัยทางรังสี ต้นทุนหลักในการตรวจคัดกรองส่วนหนึ่งคือ ค่าสารเภสัชรังสี ซึ่งมีราคาแพงมาก หากประเทศไทยสามารถผลิตสารเภสัชรังสีได้เองและทำให้การตรวจนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นมาตรฐานการตรวจคัดกรอง รวมถึงได้รับการรับรองให้สามารถใช้สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล จะทำให้มีผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจได้มาก และมีโอกาสทำให้ราคาค่าตรวจถูกลง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการคัดกรองภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น ตามหลักการป้องกันดีกว่ารักษา จะช่วยประหยัดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศชาติต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานเวทีเสวนา 'เมาแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิ์คุกคามทางเพศ ความปลอดภัยของรถสาธารณะอยู่ที่ไหน?'

Posted: 11 Apr 2018 10:50 AM PDT

วงถกประสานเสียง โซเชี่ยลป่วย หลังประนาม 'แอล' เหยื่อถูกแท็กซี่พาเข้าโรงแรม ระบุ เป็น วัฒนธรรมโทษเหยื่อ เย้ย สังคม เมาแล้วขับดีกว่าถูกจับข่มขืน จี้กรมการขนส่งทางบก แอคชั่นให้มากกว่านี้ 

11 เม.ย.2561 รายงานข่าวแจ้งวา วันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. เพจ เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities For Women Thailand จัดเวทีเสวนาผ่านเฟสบุ๊คส์ไลฟ์ ในหัวข้อ"เมาแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิ์คุกคามทางเพศ ความปลอดภัยของรถสาธารณะอยู่ที่ไหน?" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย อินทุอร ดีบุกคำ หรือ แอล นักร้องในวงคิงก่อนบ่ายก๊อปปี้วาไรตี้โชว์ ซึ่งเป็นผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์คุกคามทางเพศบนรถแท็กซี่ที่เป็นข่าวในสื่อก่อนหน้านี้ ณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือ คิง ก่อนบ่าย  ดาราตลกชื่อดังที่เป็นผู้เข้าให้ความช่วยเหลือ อินทุอร จากการถูกคุกคาม และ วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

อินทุอร กล่าวว่า หลังปรากฎเป็นข่าวที่ถูกแท็กซี่พาเข้าโรงแรมนั้น ทั้งที่ๆ ที่ตนเป็นผู้เสียหายแต่ถูกโจมตีจากโซเชี่ยลมีเดียทั้งเรื่องการแต่งกายและการเมา ซึ่งบางคอมเมนต์หยาบคายมากว่าสาเหตุของเหตุการณ์มาจากตน โดยส่วนนี้ตนได้กล่าวขอโทษไปแล้ว ทั้งนี้สาเหตุที่เลือกนั่งแท็กซี่ในวันนั้นเพราะคิดว่าเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดเพราะรัฐเองก็ออกมารณรงค์ว่าถ้าเราเมาให้เรากลับแท็กซี่  วันนั้นตนไปสังสรรค์กับเพื่อนและไม่อยากเมาแล้วขับก็เลยเลือกใช้การเดินทางด้วยแท็กซี่ตามที่รัฐเสนอแนะ ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น ทั้งนี้ขณะนี้สภาพจิตใจเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ยังคงหวาดกลัวกับการนั่งแท็กซี่อยู่

"ตอนฟื้นขึ้นมา รู้สึกตกใจมากที่อยู่ในโรงแรม กับใครก็ไม่รู้ เราเลยขู่แท็กซี่คนนั้นว่าจะเรียกพี่ชายมารับ พอแท็กซี่ออกไปจากห้อง เราก็ออกมาตะโกนขอความช่วยเหลือแต่ไม่มีใครเลย แม้แต่พนักงานโรงแรม จนกระทั่งใช้โทรศัพท์ภายในโทรหา โดยบอกเขาว่าเราถูกแท็กซี่พาเข้าโรงแรม แต่พนักงานโรงแรมไม่ยินยอมให้ดูกล้องวงจรปิด ซึ่งหลังจากเจรจาอยู่สักพัก มีพนักงานนำภาพถ่ายทะเบียนรถแท็กซี่คันดังกล่าวมาให้เท่านั้น" อินทุอร กล่าว

ณภัทร กล่าวว่า กรณีที่โซเชี่ยลมาโจมตีผู้เสียหาย แทนที่จะไปโจมตีผู้กระทำความผิด กรณีนี้โซเชี่ยลป่วยหรือไม่ ซึ่งในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก ถามว่าจะมีผู้เสียหารายใดกล้าแจ้งความอีก เพราะนอกจากจะถูกกระทำแล้ว ยังถูกโซเชี่ยลประนามด้วย ทั้งนี้ในส่วนเหตุการณ์ของน.ส.อินทุอร นั้น ตนได้ให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีเพราะน้องเขาเป็นนักร้องนำของวงตนโดยได้พาน้องเขาไปแจ้งความเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด เพราะต้องการปกป้องศักดิ์ศรีของผู้หญิงและต้องการปรามไม่ให้เขาไปก่อเหตุกับใครแบบนี้อีก เราจะมั่นใจได้แค่ไหนเพราะแค่เขาพาน้องเขาไปในโรงแรมที่แทบจะไม่มีใครรู้จักแสดงว่าเขาต้องเคยเขาโรงแรมนั้นบ่อย เขาดูไม่มีความหวาดกลัว เหมือนเป็นเรื่องที่เคยทำจนชิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตามตัวแท็กซี่ผู้ก่อเหตุได้ในที่สุด โดยแท็กซี่ที่ก่อเหตุนั้นเป็นแท็กซี่ในโครงการแท็กซี่โอเค ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งในแท็กซี่มีทั้ง จีพีเอส และกล้องวงจรปิดที่สามารถทำให้เอาผิดเขาได้ เห็นหน้าเขาชัดเจน ซึ่งรถแท็กซี่โอเคแต่คนขับไม่โอเค

"การที่มีการออกมารณรงค์เมาไม่ขับ ให้กลับแท็กซี่ แต่ถามว่าทุกวันนี้แท็กซี่ทำตัวให้ผู้โดยสารไว้วางใจหรือยัง อย่างกรณีของน้องแอล โดนแบบนี้ ยอมขับรถเมาแล้วโดนจับปรับ 2 หมื่น ดีกว่าโดนข่มขื่น ดังนั้นตอนนี้เราต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือปัญหา แท็กซี่หน้าที่ของคุณคือต้องไปส่งผู้โดยสารต่อให้เขาแต่งตัวแบบไหนก็ตามหรือเขาเมาขนาดไหนก็ตามหน้าที่ของคุณก็คือไปส่งเขาให้ถึงเป้าหมาย ถ้าเขาเมามากไม่รู้เรื่องคุณก็ต้องพาเขาไปส่งโรงพักไม่ใช่พาเขาไปส่งโรงแรม คุณไม่มีสิทธิ์ไปคุกคามทางเพศเขา ทุกวันนี้ประชาชนถึงได้ไว้ใจใช้บริการแกร็บแท็กซี่มากกว่าแท็กซี่ที่วิ่งทั่วไป เพราะความปลอดภัยของรถระบบอื่นมันมีมากกว่า มันมีข้อมูลสามารถติดตามตัวของคนขับได้ตรวจสอบได้" ณภัทร กล่าว

ขณะที่ วราภรณ์ กล่าวว่า กรณีแรกที่กระแสสังคมโจมตีมาที่ผู้เสียหาย ทั้งเรื่องเมา หรือการแต่งตัว ซึ่งต้องตั้งคำถามกลับไปว่า สังคมเกิดตรรกะวิบัติอะไรหรือไม่ เพราะถ้านำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบเหตุการณ์ลักษณะอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเพศ เช่น มีคนเมาเดินอยู่ริมถนนและถูกทำร้ายร่างกาย จะถูกประนามไหมว่าเพราะเมา จึงถูกทำร้ายร่างกาย แต่พอสังคมมองเห็นว่าเป็นเรื่องเพศ โดยเฉพาะเกิดกับผู้หญิง สังคมจะกล่าวโทษมาที่ผู้เสียหายเพราะสังคมมองว่าผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ซึ่งเมื่อเหตุร้ายแรงขนาดนี้ สังคมยังมีแก่ใจมาตั้งคำถามกับผู้หญิง เป็นตรรกะที่วิปริต วิธีคิด เป็นวัฒนธรรมที่โทษเหยื่อ เพราะเรื่องอื่นสังคมไม่มาตั้งคำถามแบบนี้ซึ่งวัฒนธรรมของการโทษเหยื่อแบบนี้จะทำให้กระบวนการที่จะต้องหาคนผิดมาลงโทษนั้นช้าออกไปอี

วราภรณ์ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าการถูกคุกคามทางเพศในระบบขนส่งสาธารณะ ที่พบมากเป็นอันแรกคือ รถโดยสารประจำทาง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีผู้ใช้เยอะสุด รองลงมาเป็นมอเตอร์ไซค์ 11.4 เปอร์เซ็นต์ แท็กซี่ 10.9 เปอร์เซ็นต์ รถตู้ 9.8 เปอร์เซ็นต์ บีทีเอส 9.6 เปอร์เซ็นต์ โดยในส่วนของแท็กซี่ถือได้ว่าอยู่ในลำดับต้น ๆ คือลำดับที่ 3 และเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามเพราะเป็นรถแบบปิด ซึ่งพฤติกรรมของการคุกคามทางเพศของแท็กซี่ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สายตา การพูดจาสองแง่สามง่าม และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการพาไปสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อทำการคุกคามเหมือนกรณีที่คุณแอลเจอ อย่างไรก็ตามภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมอบ "คู่มือเผือก" ซึ่งเป็นคู่มือต้นแบบการอบรมพนักงานขนส่งสาธารณะ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอดส่องดูแลความปลอดภัยในระบบสาธารณะ

"ในวันนั้นมีตัวแทนของกรมการขนส่งทางบกมาด้วย เราก็เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ สอดส่องดูแล เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดในระบบขนส่งสาธารณะ และต้องอบรมพนักงานประจำรถ ให้เข้าใจ เช่น กระเป๋ารถเมล์ต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมแบบไหนเข้าข่ายการคุกคามทางเพศ เขาจะเข้าไปแทรกแซงได้หรือไม่ รวมถึงช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน จะต้องมีมาตรการติดตามที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากกรณีของน้องแอลเรายังไม่เห็นว่ากรมการขนส่งทางบก จะออกมาพูดให้สังคมมีความมั่นใจว่าไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากนี้เราจะทำหนังสือทวงถามไปที่กรมการขนส่งทางบกถึงแนวทางในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างชัดเจนอีกครั้ง" ราภรณ์ กล่าว

ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ยังแนะนำวิธีการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศในการเดินทางช่วงเทศกลางสงกรานต์ ว่า แม้ว่าทุกคนจะหวังว่าสังคมจะปลอดภัย แต่ความจริงสังคมยังไม่ปลอดภัย ดังนั้นเราจะต้องระมัดระวังตนเอง และมีสติในการเดินทาง รวมถึงการไม่เลือกนั่งในมุมอับ เพราะจากการคุยกับผู้เสียหายรายอื่นๆพบว่าการนั่งข้างหลัง ถือเป็นมุมที่ผู้กระทำจ้องกระทำ เช่น หากต้องนั่งรถทัวร์อาจจะต้องนั่งขยับมาข้างหน้า หรือ ไม่นั่งติดหน้าต่าง เพราะจะโดนต้อนเขามุมได้ง่าย ทั้งนี้หากเกิดเหตุ ควรพยายามส่งสายตา สะกิด หรือ บอกพนักงานประจำรถ ถ้าไม่สามรถกระทำได้ ให้ ส่งเสียงดังกับผู้กระทำ หรือ ขอให้ผู้โดยสารคนอื่นช่วยเหลือ เช่นเดียวกัน เมื่อเราเห็นผู้อื่นถูกกระทำ สามารถร่วมเป็นทีมเผือก ได้ โดยเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ หรือ จะใช้โทรศัพท์ถ่ายคลิปเพื่อใช้เป็นหลักฐานได้ พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนประชาชนกดไลค์เพจเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง   https://www.facebook.com/SafeCitiesForWomen/  เพื่อมาร่วมกันเป็นทีมเผือก https://www.facebook.com/groups/teampueak/ สอดส่องและป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอกชัย' สีซอหน้าบ้านสี่เสาฯ ชูป้าย 'เรารักลุงเปรม (เช็กกรุงไทย)' - จี้ 'ประวิตร' แจงนาฬิกาหรู

Posted: 11 Apr 2018 09:42 AM PDT

'เอกชัย-โชคชัย' สีซอ หน้าบ้านสี่เสาฯ ชูป้ายกระดาษข้อความ "เรารักลุงเปรม (เช็กกรุงไทย)" พร้อมจี้ 'ประวิตร' แจงนาฬิกาหรู ขณะ ประยุทธ์ นำ ครม.รดน้ำ เปรม แต่ไร้ประวิตร  เหตุไปบายพาสหัวใจ

11 เม.ย.2561 ความการติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบนาฬิกาหรูหลายสิบเรือนที่ตกเป็นภาพข่าว ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดย เอกชัย หงส์กังวาน และ โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ 2 นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นั้น

ล่าสุดวันนี้ (11 เม.ย.61) ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฯ คณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้ารดน้ำและขอรับพรจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านสี่เสา เทเวศร์ เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2561

วอยซ์ทีวี รายงานว่า เอกชัย  และ โชคชัย นำธูปจำนวน 36 ดอก มาปักที่โคนต้นไม้หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ พร้อมนำแผ่นป้ายภาพนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร มาแสดงต่อสื่อมวลชน โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมขอให้พล.อ.ประวิตร ชี้แจงนาฬิกาหรูที่ไม่ปรากฎในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย 

เอกชัย ยังชูป้ายกระดาษข้อความ "เรารักลุงเปรม (เช็กกรุงไทย)" โดยกากบาทคำว่า "ลุงเปรม" มาแสดงต่อสื่อมวลชน และสีซอบทเพลง บุพเพสันนิวาส ที่บ้านหน้าสี่เสาเทเวศร์ ทำให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมและขอให้เดินทางกลับ

เอกชัย ระบุว่า หาก พล.อ.ประวิตร ชี้แจงนาฬิกาหรูให้กระจ่าง ก็จะไม่ติดตามทวงถามอีก แต่ถ้ายังนิ่งเฉยก็จะตามไปเรียกร้องในทุกที่

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเกลี่ยมกล่อมให้ทั้งคู่เดินทางกลับ โดยไม่เกิดเหตรุนแรงใดๆ

ไร้ประวิตร เหตุไปบายพาสหัวใจ

อย่างไรก็ตามรายงานข่าวระบุด้วยว่า วันนี้ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ร่วมคณะ เข้ารดน้ำและขอรับพรจาก พล.อ.เปรม เนชั่น รายงานว่า พล.อ.เปรม ได้ถามหา พล.อ.ประวิตร โดยกล่าวว่า "ป้อมไปไหน" พล.อ.ประยุทธ์ จึงรายงานว่า "ท่านไม่สบายไปตรวจเช็คสุขภาพ เป็นเส้นเลือดหัวใจ ต้องไปบายพาส"

ทั้งนี้ช่วงทีผ่านมา พล.อ.ประวิตรได้ลางาน รวมถึงการไม่ร่วมประชุม ครม. เมื่อวานนี้ ( 10 เม.ย.) ด้วยทั้งนี้ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวว่าครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรได้ไปทำบายพาสรักษาโรคหัวใจจริง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นที สรวารี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนไร้บ้าน-เสียชีวิตแล้ว

Posted: 11 Apr 2018 08:13 AM PDT

นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน เสียชีวิตแล้วรวมอายุ 48 ปี โดยจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมระหว่าง 16-20 เมษายน ที่วัดบางเตย

นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ซึ่งล้มป่วยหนักด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกอาการโคม่า และเข้ารับการผ่าตัดด่วนเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2560 และตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ก็รับการรักษาอาการจากแพทย์มาเรื่อยๆ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบแล้วเมื่อเวลา 18:48 น. วันนี้ (11 เม.ย.) ที่ผ่านมา โดยอัจฉรา สรวารี ภรรยาของนายนที โพสต์เฟลบุ๊กของ "นายนที" และเฟสบุ๊กส่วนตัว เผยถึงอาการล่าสุดของนายนที โดยระบุว่า พี่นที หลับแล้วนะค่ะ 18:48 อายุ 48 ปี จะจัดงานที่วัดบางเตย วันที่ 16-20 เมษายน 2561

โดยในเพจมูลนิธิอิสรชนได้ลงข้อความไว้อาลัยด้วยว่า "RIP ขอไว้อาลัยแด่คุณนที สรวารี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอิสรชน ผู้บุกเบิก พ.ร.บ.คนเร่ร่อนผู้ที่อุทิศตนจนวินาทีสุดท้ายเพื่อคนไร้บ้าน"

ทั้งนี้ในเพจมูลนิธิอิสรชนได้ลงข้อความของนทีด้วยว่า

"ผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือใครจะเรียกเด็กเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่งหรืออะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือต้องให้เขาเข้าถึงบริการอย่างรวดเร็ว เพื่อคลี่คลายปัญหา..การบูรณาการให้สวัสดิการกับคนเหล้านี้ จะต้องทำอย่างครบวงจร เชิงนโยบาย เน้นไปที่การสร้างความเข้มแข็ง ให้กับคนเหล่านี้ ให้มีทางเลือกมากกว่า การออกมาขอทาน ตรงนี้ผมว่าสำคัญที่สุด"

สำหรับนที สรวารี เป็นเลขาธิการมูลนิธิอิสรชน และหนึ่งในคณะทำงานปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวงและส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน กรุงเทพมหานคร มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและทำงานร่วมกับผู้ใช้ชีวิตบนท้องถนนให้ได้รับการเยียวยาและลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งก่อนหน้าการล้มป่วย ได้มีการจัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการสำรวจจำนวนคนเร่ร่อน โดยเขายังเป็นหัวหน้าคณะในการสำรวจและรายงานผลการสำรวจ รวมถึงแสดงความเห็นเป็นระยะต่อการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ส่ง สนช.พิจารณา

Posted: 11 Apr 2018 06:06 AM PDT

คณะรัฐมนตรีมีมติ อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. .... เห็นชอบโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ปี 61  และโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 61

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา รายงนข่าวระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์  กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ครม.ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และ ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2549 (เรื่อง ขั้นตอน การจัดตั้งองค์การมหาชน) และให้กระทรวงกลาโหมเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป ให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. .... นั้น ประกอบด้วย 

1. กำหนดคำนิยาม "เทคโนโลยีป้องกันประเทศ" "การพัฒนา" "อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ" 

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการจำนวน 2 คณะ ดังนี้ 2.1 คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศทำหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและเป้าหมายในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กำหนดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินกิจการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นต้น 2.2 คณะกรรมการสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศทำหน้าที่หลักในการควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสำนักงาน

3. กำหนดให้มี "สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ" หรือ สทป. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

4. กำหนดให้ สทป. ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นวัตถุประสงค์หลัก โดยได้เพิ่มเติมในวัตถุประสงค์ด้านสำคัญ เช่น 4.1 การศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 4.2 การผลิต ประกอบรวม ปรับปรุง ซ่อมสร้าง เปลี่ยนสถานะ แปรสภาพ ขาย แลกเปลี่ยน ให้ ให้ยืม ให้เช่า และให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมถึงการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร 4.3 การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานอื่นของรัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ 4.4 การทดสอบและรับรองผลการทดสอบตามมาตรฐานยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์

5. กำหนดให้ สทป. ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ กฎหมายว่าด้วยโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน กฎหมายว่าด้วยโรงงานอุตสาหกรรม และกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน

เห็นชอบโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ปี 61 

ครม. พิจารณาการขอความเห็นชอบโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ปี 2561 ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ปี 2561 ภายใต้แผนแม่บท การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ดำเนินการโดยกรมประชาสัมพันธ์ ภายในวงเงินงบประมาณ 153.9932 ล้านบาท ตามที่ พม. เสนอ ทั้งนี้ ให้กรมประชาสัมพันธ์รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาและดำเนินการต่อไป

2. ให้กรมประชาสัมพันธ์พิจารณาแนวทางการจัดรัฐสวัสดิการอย่างเหมาะสม โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าพักอาศัยในโครงการให้มีความชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มข้าราชการผู้มีรายได้น้อยเป็นลำดับแรก รวมถึงจัดทำมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น การจัดระเบียบการอยู่อาศัย การเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางสำหรับใช้ในการบำรุงรักษาอาคารและสภาพแวดล้อมทั่วไป และกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาในการอยู่อาศัยของโครงการ เช่น เมื่อข้าราชการมีระดับรายได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดต้องออกจากโครงการและไปใช้สิทธิอื่น ตลอดจนพิจารณารูปแบบการก่อสร้างและขนาดการลงทุนที่เหมาะสมและเป็นไปตามบัญชีราคามาตรฐานสิ่งก่อสร้างของสำนักงบประมาณเพื่อให้การใช้งบประมาณของภาครัฐเกิดประโยชนฺสูงสุด ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3. การดำเนินโครงการทำนองนี้ในโอกาสต่อไป ให้ พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึง ความเหมาะสมและความสะดวกในการเดินทางของข้าราชการจากบ้านไปที่ทำงานเพื่อให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของข้าราชการกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 61

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2560

2. เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล ในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 1,586,826,253.06 บาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริง พร้อมด้วยอัตราเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดาของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (FDR) บวกร้อยละ 1 ต่อปี ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส.

3. มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการขายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเกษตรกรผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกใช้บริการพร้อมเพย์ (Promptpay) ในการรับ-โอนค่าเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมทดแทน พร้อมทั้งให้ ธ.ก.ส. บริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการประกันภัย และร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย (สมาคมฯ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯ รวมทั้งให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่เกษตรกรและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้าง ความตระหนักรู้ในความสำคัญของการประกันภัย

4. มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกาตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ประสานงานกับ ธ.ก.ส. และสมาคมฯ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารทะเบียนเกษตรกรแบบประมวลรวบรวมความเสียหายและ  การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (แบบ กษ 02) และแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกร(แบบ กษ 02 เพื่อการรับประกันภัย) ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อรองรับการเพิ่มพื้นที่เป้าหมายในอนาคต และรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น พร้อมทั้งให้กรมส่งเสริมการเกษตรเก็บข้อมูลพื้นที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2556 โดยแยกประเภทพืชต่าง ๆ

5. มอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ เช่นเดียวกับการดำเนินการของโครงการฯ  ในปีการผลิต 2559 และ 2560 และให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการรับรองความเสียหายของเกษตรกรในกลุ่มข้างต้น และจัดส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. และสมาคมฯ เพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

6. มอบหมายให้สำนักงานการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2561 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2561 ได้ทันทีภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2561 และดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2561 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

7. มอบหมายให้ ธ.ก.ส. เตรียมการเพื่อให้เกษตรกรกลุ่มที่ได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยจากธ.ก.ส. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับภาระโดยจ่ายเบี้ยประกันส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2562 เป็นต้นไป

8. มอบหมายให้สมาคมฯ ประสานงานกับ ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ พัฒนาระบบการประกันภัยและการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯปีการผลิต 2561 เพื่อให้เกษตรกรผู้เอาประกันภัยได้รับประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2561 เห็นควรให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2562 เห็นควรให้กระทรวงการคลังปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการฯ โดยให้เกษตรกรได้เพิ่มการมีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยแทนเงินอุดหนุนจากภาครัฐต่อไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2560 (เรื่อง โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560) ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เข้าร้องยูเอ็น หลัง จนท.ตามเช็คนิสิต จุฬาฯ ชูป้ายใส่ประยุทธ์ - สรรเสริญ ปัดคุกคาม ยันทหารทำงานปกติ

Posted: 11 Apr 2018 03:01 AM PDT

'เพนกวิน-บอล-หนูดี' ร้องข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เหตุถูกเจ้าหน้าที่ตามเช็คข้อมูล หลังชูป้ายเสียสีใส่หน้า พล.อ.ประยุทธ์ ด้าน พล.ท.สรรเสริญ โต้คุกคามนิสิตจุฬา ยันทหารทำงานปกติ-ไม่ได้เอารถถังเข้าไป

นิสิตจุฬาฯ และป้ายข้อความที่ชูให้ พล.อ.ประยุทธ์

3 นักศึกษาให้สัมภาษณ์ Thai Voice ภายหลังการเข้าพบตัวแทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ 

11 เม.ย.2561 รายงานข่าวระบุว่า เมื่อช่วงสายวันนี้ ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และ นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชูป้ายข้อความลักษณะเสียดสีว่า "ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)" ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา คือ บอล ธนวัฒน์ วงศ์ไชย รองประธานสภานิสิตจุฬาฯ และ หนูดี วิรัลพัชร รอดแก้ว นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เดินทางเข้าพบตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ เพื่อร้องเรียน กรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารคุกคามภายหลังจากการชูป้ายดังกล่าว

ธนวัฒน์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว 'Tanawat Wongchai' หลังเข้าพบว่า  ตัวแทนข้าหลวงใหญ่ฯ บอกว่าหากเป็นในต่างประเทศ การคุกคามสิทธิของประชาชนจะเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่มันกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ปกติในประเทศไทย ซึ่งตัวแทนข้าหลวงใหญ่ฯ ได้รับปากว่าจะนำเรื่องนี่ไปพูดคุยและกดดันกับรัฐบาล ถึงแม้ว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนจะถูกละเลยจากรัฐบาลมาโดยตลอดก็ตามที
 
"ตัวแทนข้าหลวงใหญ่ฯ ได้แสดงความกังวลสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และแสดงความเป็นห่วงพวกเราทั้ง 3 คน และบอกกับพวกเราว่า หากถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่อีก ให้แจ้งให้เขารับทราบในทันที เพื่อที่เขาจะได้ช่วยเหลือพวกเราในระดับที่เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป" ธนวัฒน์ โพสต์เปิดเผยหลังเจ้าพบตัวแทนข้าหลวงใหญ่ฯ 
 
ขณะที่ พริษฐ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Parit Chiwarak - เพนกวิน' หลังเข้าพบตัวแทนข้าหลวงใหญ่ฯ ด้วยเช่นกันว่า ทางเจ้าหน้าที่เห็นว่ากิจกรรมที่พวกเราทำอยู่เป็นเสรีภาพทางการแสดงออก และรับปากว่าจะกดดันรัฐบาลให้ถึงที่สุด แม้ว่าหลายครั้งรัฐบาลจะละเลยประเด็นสิทธิมนุษยชนก็ตาม
 
"หลายคนอาจมองว่าเราเป็นเด็กขายชาติ เรื่องในประเทศทำไมต้องเอาไปบอกคนนอก แต่ผมอยากบอกว่าประเทศชาติเป็นของทุกคน และพวกเรากำลังทำทุกวิถีทางให้ทุกคนในประเทศสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสิทธิ ศักดิ์ศรี และเสรีภาพ ดังนั้น เรากำลังแสดงออกถึงความนักชาติ เพราะเรากำลังทำเพื่อสวัสดิภาพของเพื่อนร่วมชาติทุกคน สุดท้าย ถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกท่าน พวกผมไม่มีท่อน้ำเลี้ยงใด ๆ ทั้งสิ้น ค่าเดินทางมา UN ผมก็ออกเงินเอง วันหลังถ้ามาหาที่บ้านพวกเรา ขอให้อุดหนุนกิจกรรมเราด้วย ร้อยสองร้อยก็ยังดีครับ" พริษฐ์ โพสต์
 

สรรเสริญ โต้คุกคามนิสิตจุฬา ยันทหารทำงานปกติ-ไม่ได้เอารถถังเข้าไป

ขณะที่ ไทยโพสต์ รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชูป้ายประท้วงต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการแสดงออกของเยาวชนนักศึกษา จึงไม่ติดใจในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าเมื่อนักศึกษาเติบโตขึ้นมา ก็จะทราบว่าอะไรผิดอะไรถูก ส่วนกรณีที่นักศึกษาอ้างว่าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่นั้น ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการกฎหมาย ถ้านักศึกษาทำผิด ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการเข้าไปติดตามนักศึกษา เพียงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามปกติธรรมดา ไม่ได้นำอาวุธยุทโธปกรณ์หรือรถถังเข้าไป
 
"ถามว่าจะต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปอย่างไร หรือต้องให้นายกฯเข้าไปคนเดียว ดังนั้น อย่าเอาอารมณ์ของสังคมมาตัดสิน เพราะคนในโลกโซเชียลก็ส่วนหนึ่ง แต่มีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในโลกโซเชียล จึงอย่าเหมารวมแล้วตัดสินกัน แล้วจะต้องทำยังไงถึงจะถูกใจ แค่ทหารเข้าไป แล้วมันเป็นยังไง เพราะเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานตามปกติ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ยกฟ้อง 'ครูแขก' แนวร่วม นปช. คดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่นปี 53 เตรียมฟ้องกลับ สตช.

Posted: 11 Apr 2018 01:47 AM PDT

อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 'ครูแขก' แนวร่วม นปช. คดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่นปี 53 เหตุพยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ทนายเตรียมฟ้องกลับ สตช.

 

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อัมพร ใจก้อน หรือครูแขก อายุ 56 ปี ชาวเชียงใหม่ ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานมีวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่อง และกระสุนปืนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้อง

จากกรณีระหว่างต้นเดือนมิถุนายน 2553- 5 ต.ค.2553 จำเลยกับพวกซึ่งเป็นแนวร่วม นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง มีเจตนาร่วมกันมีวัตถุระเบิด ประกอบด้วยวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่อง จำนวน 5 ลูก (ถัง) ที่ประกอบเป็นวัตถุระเบิดแสวงเครื่องโดยใช้วงจรตั้งเวลา 1 สัปดาห์ ประกอบกับวัตถุระเบิดแรงต่ำ (Low Explsive) ชนิดดินเทาและยูเรีย น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดหลักบรรจุไว้ในถังดับเพลิง และถังน้ำยาแอร์ และมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ไว้ในครองครองได้ และมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบด้วย ปืนเล็กกล (AK47) ขนาด 7.62 มม. RUSSIAN เลขประจำปืน 601098 จำนวน 1 กระบอก และเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวอีกจำนวน 129 นัด เหตุเกิดที่สมานเมตตาแมนชั่น ต.โสนลอย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ซึ่งระหว่างการพิจารณาได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยศาลตีราคาประกัน 200,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้แม้ศาลอาญาจะให้ประกันตัว แต่ อัมพร เคยถูกจำคุกระหว่างการพิจารณาคดีครอบครองระเบิดอีกสำนวนหนึ่งที่ศาลจังหวัดมีนบุรี กรณีเมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 มี.ค.2557 เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณลานดินกว้างบริเวณ ซ.ราษฎร์อุทิศ 25-27 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม. ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2560 พิพากษายกฟ้อง อัมพร จึงได้รับการปล่อยตัว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น อัมพร มีสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมเปิดเผยว่าจะไปทำบุญช่วงวันสงกรานต์ต่อไป และก่อนหน้านี้ในช่วงที่ถูกจำคุกนั้น หลังได้รับการปล่อยตัวกลับพบว่าทรัพย์สินในบ้านหลายชิ้นสูญหายไปด้วย 

ขณะที่ เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของอัมพร เปิดเผยด้วยว่า สำหรับคดีที่ศาลจังหวัดมีนบุรีนั้น อัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ เป็นที่สิ้นสุดแล้ว ส่วนคดีวันนี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเหมือนกัน จะเข้าข่ายคดีต้องห้ามฎีกา และเตรียมจะฟ้องกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับพวกทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งด้วย ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และใช้พยานหลักฐานเท็จ และคดีแพ่งชดใช้ค่าเสียหายระหว่างถูกจำคุก

สำหรับคดีนี้ที่ศาลอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2559 พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าฝ่ายโจทก์มีนายตำรวจ 2 ราย เป็นพยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่า เมื่อช่วงปี 2553 ได้เกิดเหตุที่สมานเมตตาแมนชั่นและมีผู้เสียชีวิต โดยโจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายเบิกความถึงการสอบสวน ด้วยการไปสังเกตการณ์ในที่เกิดเหตุ ขณะที่กองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจ แต่โจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นขณะเกิดเหตุ และก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้เห็นจำเลยได้ร่วมนำวัตถุระเบิดไปไว้ในห้องเกิดเหตุ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้จากผู้ดูแลอพาร์ทเมนท์ก็ระบุเพียงว่าได้ดูแลอาคารโกมลอพาร์ทเม้นท์ที่ให้เช่าเท่านั้น แต่ไม่ได้ดูแลอาคารสมานเมตตาแมนชั่น พยานโจทก์ที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามโจทก์ฟ้อง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปีไม่คืบ แม่ไผ่ ดาวดิน ฟ้องสัสดีให้ข่าวไผ่หนีเกณฑ์ทหาร

Posted: 10 Apr 2018 11:46 PM PDT

ผ่านมาหนึ่งปีคดียังไม่คืบหน้า แม่ไผ่ ดาวดินฟ้องสัสดีภูเขียว และสื่อฯ กรณีให้ข่าวไผ่ดาวดินหนีทหารเกณฑ์มาตลอด ไม่เคยขอผ่อนผัน แต่ความจริงแล้วไผ่ เรียน รด. แม่ตั้งข้อสังเกตตอนเป็นจำเลยคดีรวดเร็ว แต่พอเป็นโจทก์คดีกลับเดินช้า อัยการแจงสำนวนจาก ตร. ยังไม่สมบูรณ์

พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 11 เม.ย. 2560

รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2560

ย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งปีก่อนข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตอนหนึ่ง ระบุว่า สัสดีแฉ ไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลบหนีการเกณฑ์ทหารหลายปีแล้ว และไม่เคยขอผ่อนผัน และจากนี้ต้องมีการดำเนินคดีทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังเนื้อหาข่าวใน เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ในเรื่องเดียวกันด้วย โดยมี พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 เป็นผู้ให้ข่าว ขณะเดียวกันเรื่องดังกล่าวยังได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ด้วย

หลังจากที่รายงานข่าวออกไป พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่ ดาวดิน ได้ออกมาให้ข้อมูลกับประชาไทว่า ได้เดินทางไปที่ทำการสัสดีอำเภอภูเขียว เพื่อนำเอกสารไปชี้แจงให้ทางสัสดีได้ทราบว่า ไผ่ไม่ได้หลบหนีการเกณฑ์ทหาร ตามที่ทหารได้มีการให้ข่าวไป โดยได้นำเอกสาร หนังสือสำคัญประจำตัวแสดงวิทยฐานะที่แสดงว่า จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร ชั้นปีที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2552 จากสำนักศึกษา โรงเรียนภูเขียว พร้อมกับเอกสารสำคัญ สด.1 ใบขึ้นบัญชีทหารกองเกิน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน

พริ้มระบุด้วยว่า หลังจากที่นำเอกสารไปยืนยัน สัสดีอำเภอภูเขียวได้บอกแต่เพียงว่า งั้นก็ไม่เป็นไร ทั้งนี้เธอยังได้พยายามถามว่าเพราะอะไรจึงมีการให้ข่าวในทางเสื่อมเสียแบบนี้กับลูกชายของเธอ คำตอบที่เธอได้รับคือ ไม่ทราบ จากนั้นเธอได้ขอให้ทหารรับผิดชอบในการแก้ไขข่าวได้หรือไม่ คำตอบที่เธอได้รับคือ ตอนนี้ไม่สามารถติดต่อนักข่าวได้  และเธอยังไม่ได้รับคำขอโทษแต่อย่างใด

ต่อมาในวันที่ 12 เม.ย. 2560 พริ้มได้เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับสัสดีผู้ให้ข่าว และสื่อมวลชนที่รายงานข่าวโดยไม่มีการเช็คข้มมูลก่อน ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ระยะเวลาผ่านมาหนึ่งปี ประชาไทสอบถามไปยัง สุวิจักรณ์ มงคลเสาวณิต อัยการจังหวัดขอนแก่นได้ข้อมูลลว่า ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนฟ้องมายังอัยการจังหวัดขอนแก่นเรียบร้อยแล้ว แต่อัยการเห็นว่าสำนวนดังกล่าวไม่มีความสมบูรณ์เนื่องจากผู้ที่ถูกฟ้องคือ สัสดี กับพวก โดยพวกในที่นี้หมายถึงสื่อมวลชน แต่ทางพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบปากคำสื่อมวลชนดังกล่าวแล้วใส่มาในสำนวนด้วย จึงได้ยื่นสำนวนดังกล่าวกลับไปยัง พ.ต.ท.สมบัติ กำบุญมา พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำเนาที่สมบูรณ์แล้วให้อัยการภายในวันที่ 30 พ.ค. นี้

ขณะที่ พริ้ม ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีที่ไผ่ ดาวดินตกเป็นจำเลยพบว่ามีการดำเนินการในทางคดีที่รวดเร็วมาก อย่างเช่นกรณีการแจกเอกสารไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งล่าสุดศาลได้ยกฟ้องไปแล้วนั้น ระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนทำสำนวน ผ่านขั้นตอนของอัยการ ไปสู่การส่งฟ้องใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือนเท่านั้น แต่เมื่อไผ่เป็นผู้ฟ้องคดีความกลับมีการดำเนินการที่ล่าช้า

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานด้วยว่า เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ยังคงเผยแพร่รายงานข่าวชิ้นดังกล่าวอยู่ในเว็บไซต์โดยไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหา และช่องยูทูปรายการเรื่องเล่าเช้านี้ก็ยังไม่ได้ถอดคลิปรายงานข่าวชิ้นดังกล่าวเช่นกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนฯ ร้องประเทศในกลุ่มมีมาตรการต่อวิกฤติในพม่า หลังพบเรือโรฮิงญาระลอกใหม่

Posted: 10 Apr 2018 11:39 PM PDT

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่ออสิทธิมนุษยชน แถลงเรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีมาตรการต่อวิกฤติในพม่า หลังพบเรือโรฮิงญาระลอกใหม่ 
 
11 เม.ย.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่ออสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) แถลงวันนี้ว่า เรือโรฮิงญาระลอกใหม่ที่เพิ่งเข้าฝั่งที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเมื่อสัปดห์ก่อน เป็นสัญญาณถึงวิกฤติโรฮิงญาระลอกใหม่ ซึ่งอาจกระทบกับเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ APHR ได้เรียกร้องให้ผู้นำในภูมิภาคเร่งแก้วิกฤติโรฮิงญาซึ่งเริ่มต้นที่รัฐยะไข่ของพม่าที่รากเหง้า หลังจากที่วิกฤตินี้ได้ทำให้ชาวโรฮิงญากว่าหลายแสนชีวิตต้องหนีการกวาดล้างที่สนับสนุนโดยรัฐบาลพม่า
 
"เรือเหล่านี้เป็นนสัญญาณเตือนว่า สภาพของชาวโรฮิงญาในพม่ายังคงย่ำแย่และความจริงที่ว่าชาวโรฮิงญาบางส่วนได้เลือกที่จะหนีออกมหาสมุทรอีกครั้งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลพม่าและประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการกับต้นเหตุของของวิกฤตินี้" ชาร์ลส์ ซานติเอโก้ (Mr Charles Santiago) ประธาน APHR และส.ส.มาเลเซียกล่าว 
 
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เรือซึ่งพาชาวโรฮิงญาเกือบ 60 ชีวิตเดินทางมาถึงมาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้เรือลำนี้หยุดพักที่ไทยเพื่อเติมเสบียงและเชื้อเพลิง และเมื่อวันที่ 6 เมษายน เรือโรฮิงญาอีกลำหนึ่งได้รับการช่วยเหลือโดยชาวประมงอินโดนีเซียบริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ มีรายงานว่า เดิมทีมีชาวโรฮิงญาสิบคนบนเรือลำนั้น แต่มีห้าคนทนความหิวโหยไม่ไหวและเสียชีวิตไปก่อน ตอนนี้ผู้อพยพบนเรือทั้งสองลำอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า อาจมีเรือโรฮิงญาอีกหลายลำกำลังรอความช่วยเหลืออยู่กลางทะเล
 
"หลายปีที่ผ่านมา ภูมิภาคอาเซียนได้รับการท้วงติงอย่างสม่ำเสมอ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากยังนิ่งเฉย เหตุการณ์ที่ค่อยๆ ปรากฎออกมาให้เราเห็นอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของคลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญาระลอกใหญ่ระลอกใหม่ที่ต้องออกเรือเพื่อหนีการกวาดล้างที่สนับสนุนโดยรัฐ อาเซียนจะต้องไม่รอจนปัญหาลุกลามแล้วค่อยมาจัดการที่แก่นของปัญหา" ซานติเอโก้ กล่าวเสริม
 
ประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนตัดสินใจหนีการกวาดล้างที่พม่าทางเรือ แต่เรือของพวกเขาไม่สามารถเข้าฝั่งได้และถูกปล่อยทิ้งกลางทะเล เพราะหลายประเทศในอาเซียนใช้นโยบายผลักดันเรือโรฮิงญาออกนอกประเทศ หลังจากมีการค้นพบหลุมฝังศพหมู่ในไทย ซึ่งฝังศพชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมาก อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปราบการค้ามนุษย์ตามแนวเส้นทางที่ใช้ในการลักลอบ จำนวนเรือที่ออกจากรัฐยะไข่ก็ลดลงเป็นอย่างมาก แต่การมาถึงของเรือโรฮิงญาระลอกล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลง
 
กลุ่ม ส.ส.อาเซียนกล่าวว่า การตัดสินใจที่จะรับผู้ลี้ภัยในตอนนี้ แทนที่จะผลักดันเรือออกไปอย่างที่เคยทำในปี 2558 เป็นก้าวที่สำคัญยิ่ง กลุ่ม ส.ส.อาเซียนยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคเพิ่มมาตรการในการปกป้องผู้ลี้ภัยและดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจหนี ซึ่งคือการการกวาดล้างชาวโรฮิงญาที่รัฐบาลพม่ามีส่วนเกี่ยวข้อง
 
"เราหวังว่า ทางการจะยังคงให้การต้อนรับเรือผู้ลี้ภัยลำอื่นๆ หากมีเรือมาเพิ่ม และควรทำให้มั่นใจว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาได้รับการคุ้มครองอย่างสมควรในประเทศเหล่านี้" ซานติเอโก้ กล่าว และระบุว่าเพื่อป้องกันการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็น รัฐบาลในภูมิภาคควรเริ่มมาตรการค้นหาและช่วยเหลือให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของชาวโรฮิงญาในทะเลทันที ผู้นำต้องเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศของตนเช่นเดียวกับในระดับภูมิภาคโดยรวม
 
แม้นานาชาติจะแสดงความห่วงใย กังวลต่อวิกฤติโรฮิงญามากขึ้น และได้เรียกร้องให้อาเซียนดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโรฮิงญา แต่ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ก็ยังเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องเหล่านั้น นอกจากนี้อาเซียนก็ยังไม่มีกรอบความร่วมมืออย่างรอบด้านในระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาวิกฤติโรฮิงญาในระยะยาว ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสิบประเทศ มีเพียงกัมพูชาและฟิลิปปินส์ที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 และพิธีสาร ค.ศ.1967
 
"เป็นที่ชัดเจนว่า คลื่นผู้ลี้ภัยโรฮิงญาครั้งที่แล้วมีผลกระทบต่อภูมิภาค และหากปราศจากมาตรการที่เป็นรูปธรรมแล้วนั้น วิกฤตินี้ก็จะแย่ลงอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้นำอาเซียนต้องตระหนักว่า การเงียบของพวกเขาจะทำให้วิกฤตินี้ทวีความรุนแรงขึ้น และคุกคามเสถียรภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาค" เท็ดดี้ บากุลัด (Mr Teddy Baguilat) สมาชิก APHR และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ กล่าว
 
"ถ้าอาเซียนมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้แล้วละก็ ผู้นำในอาเซียนต้องหยุดซ่อนตัวภายใต้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศและแก้ไขวิกฤตินี้ที่รากเหง้า" บากุลัด กล่าวเสริม 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ แจงโครงการบ้านพักศาล เกิดก่อนรัฐบาลเข้ามา แต่รื้อทั้งหมดคงลำบาก

Posted: 10 Apr 2018 10:52 PM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ยันมีการเลือกท้องถิ่นแน่นอน ย้ำถึงเวลาอย่าร้องไม่พร้อม ไม่ได้ แจงโครงการบ้านพักศาล เกิดก่อนรัฐบาลเข้ามา แต่รื้อทั้งหมดคงลำบาก ระบุการต่ออายุเกษียณราชการเป็น 63 ปี เป็นเพียงข้อเสนอคณะกรรมการปฏิรูป

10 เม.ย.ที่่ผ่านมา ที่ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีความชัดเจนโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีประชาชนคัดค้าน และจะมีการเคลื่อนไหวกดดันหากไม่มีความชัดเจนว่า จาการสอบถามข้อมูลจากรายละเอียดมีพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติมาก่อนหน้าที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา โดยมีพื้นที่ 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการจัดตั้งสำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนที่สองเป็นการก่อสร้างสถานที่พัก ซึ่งมีปัญหาอยู่เนื่องจากประชาชนไม่เห็นด้วย และพื้นที่ส่วนที่สาม ซึ่งในส่วนนี้ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ถึงจะมีการขออนุญาตมาแล้วก็ตาม ทั้งนี้ โครงการนี้เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลจะเข้ามา แต่รัฐบาลก็ต้องแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่ประชาชนต้องการ ส่วนตัวรู้สึกเสียดายเพราะที่ผ่านมา มีการก่อสร้างเป็นไปตามลำดับ เป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง จะไปรื้อทั้งหมดคงลำบาก ซึ่งรัฐบาลได้ให้ คสช.และกองทัพภาคที่ 3 กระทรวงมหาดไทยไปทำความเข้าใจกับกลุ่มที่คัดค้านว่าจะทำอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมจากการหารือขั้นต้น ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในส่วนปัญหาของที่พัก ก็ต้องมาดูเพราะมีการอนุมัติงบประมาณของรัฐไปแล้ว จนใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีสัญญาระหว่างรัฐและผู้รับเหมา ซึ่งก็มีโอกาสที่จะฟ้องร้องกันตรงนี้ ก็ต้องไปดูว่าจะแก้ไขกันอย่างไร แต่มีหลายคนเสนอให้ทุบทิ้ง แล้วงบประมาณที่ใช้ไปตรงนี้จะทำอย่างไร งบประมาณภาครัฐไม่ใช่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ จะต้องมีคนรับผิดชอบ เรื่องนี้นานแล้วต้องไปดูว่าจะนำไปใช้ในด้านอื่นได้หรือไม่ หรือให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เพราะศาลคงใช่ไม่ได้แล้ว เนื่องจากประชาชนออกมาประท้วง เรื่องนี้ขออย่านำไปเกี่ยวพันกับการรื้อรีสอร์ทของภาคเอกชน ซึ่งเป็นคนละเรื่อง เรื่องนั้นทำผิดกฎหมายโดยชัดเจน ก็ต้องดำเนินคดี ส่วนการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ เป็นงบของราชการที่อนุมัติงบประมาณโดยรัฐบาลที่ผ่านมา เรื่องจะผิดจะถูกไปว่ากันอีกครั้ง ต้องมีกระบวนการสอบสวนกันต่อไป ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง

"ขอให้ใจเย็น อย่ามาเดินขบวนกันอีกเลย คุยกันให้รู้เรื่องว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรดีกว่า ถ้าทุบทิ้งทำง่าย แต่ต้องมีคนรับผิดชอบงบประมาณตรงนี้ รัฐบาลก็ไม่ใช่คู่กรณีกับใคร ถูกผู้รับเหมาเรียกค่าเสียหาย แล้วใครเป็นคนทำสัญญากับเขาก็คือข้าราชการ ซึ่งต้องไปดูและหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด ขอร้องอย่ามาเดินบนวนกันอีกเลย เห็นจากเวทีพูดคุย อีกคนพูดอย่างอีกคนจะให้ทุบอย่างเดียว อย่างอื่นไม่สนใจก็ไม่ได้ รัฐบาลนี่เข้ามาต้องแก้ปัญหา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ยันมีการเลือกท้องถิ่นแน่นอน ย้ำถึงเวลาอย่าร้องไม่พร้อม ไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า จะต้องมีเลือกตั้งท้องถิ่น และอาจจะมีก่อนสักครั้ง หรือสองครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยเชื่อว่าทุกคนมีความพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเลือกวันไหนก็พร้อมหมด สำหรับที่มีการออกมาเรียกร้องอยู่ทุกวันนี้ เมื่อถึงเวลา กำหนดวันเลือกตั้ง จะมาคัดค้านว่าไม่พร้อม เวลาไม่พอ ไม่ได้ และขอความร่วมมือสื่ออย่านำเสนอประเด็นของบุคคลเหล่านี้มากนัก

ระบุการต่ออายุเกษียณราชการเป็น 63 ปี เป็นเพียงข้อเสนอคณะกรรมการปฏิรูป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการต่ออายุเกษียณราชการเป็น 63 ปี ว่า เรื่องดังกล่าวต้องคำนึงถึงคนที่อยู่ในระบบด้วย และต้องดูว่าจะให้ผู้สูงอายุมีงานทำในสาขาที่ขาดแคลนได้อย่างไร เช่น หมอ นักวิชาการ พออายุ 60 ปี ต้องเกษียณ แต่ถ้าบุคลากรเหล่านี้ยังมีประโยชน์ เราจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งไม่ใช่เป็นการต่ออายุราชการ
 
สำหรับความคิดเห็นที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอขึ้นมานั้น รัฐบาลจะต้องพิจารณาคัดกรองอีกที ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอขั้นแรก ถึงแม้จะมีการประกาศไปแล้ว ขั้นต่อไปรัฐบาลจะต้องมีกฎเกณฑ์ ระเบียบให้ชัดเจนต่อไป
 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: 1 ปีรัฐธรรมนูญที่เหมือนไม่มีรัฐธรรมนูญ

Posted: 10 Apr 2018 10:36 PM PDT

1 ปีรัฐธรรมนูญ 2560 ในสภาวะการณ์ที่เหมือนไร้รัฐธรรมนูญ เมื่อมาตรา 44 ยังมีอำนาจ สิทธิของประชาชนยังถูกกระทบ คือภาวะรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ สมชาย ปรีชาศิลปกุล เสนอให้หลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คำสั่งของคณะรัฐประหารต้องสลายทันที ไม่ยอมรับว่าเป็นกฎหมาย

รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 1 ปีผ่านไป หลายมาตรายังเป็นแค่ตัวหนังสือ เกิดสภาวะรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ เมื่อมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ยังมีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนชนิดที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้แต่มองตาปริบๆ

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับ 'ประชาไท' ว่า สังคมไทยเวลานี้อยู่ในภาวะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญในโลกความเป็นจริง

นอกจากนี้ สมชายยังเสนอทางเลือกว่า เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ให้กระทำกับบรรดาคำสั่งต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสมือนหนึ่งว่ามันเคยมีคำสั่งนั้นเกิดขึ้น ทำไมเขาจึงเสนอเช่นนี้ ในบทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ

รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้มา 1 ปีแล้ว คุณมีความเห็นอย่างไร

ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ผ่านไป 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่ถูกบังคับใช้ อย่างน้อยก็ด้วยเหตุผลว่ามีมาตรา 44 ซ้อนอยู่ สิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้แทบจะไม่มีผล อย่างเรื่องการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผย แต่มันมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ผมจึงคิดว่าเราอยู่ในภาวะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญในโลกของความเป็นจริง

มีงานวิชาการของต่างประเทศที่ศึกษารัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยใหม่และพบปรากฏการณ์คล้ายๆ กันที่เรียกว่า Constitution without Constitutionalism หรือภาวะที่มีรัฐธรรมนูญแต่ไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญนิยม คือมีเอกสารที่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญไม่ได้สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย เกาหลีเหนือ พม่าก็มีรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยก็อยู่ในภาวะแบบนี้ มีเอกสารรัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาไม่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย คำถามคือแล้วเราต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดกัน

ในทางหลักการไม่ควรมีสภาวะแบบนี้เกิดขึ้น แต่ในประเทศที่มีการเปลี่ยนหรือฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยมักจะมีสภาวะยกเว้นในรัฐธรรมนูญในช่วงเปลี่ยนผ่าน และรัฐธรรมนูญประเภทนี้ก็มักมีแนวโน้มจำกัดสิทธิเสรีภาพและไม่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่าไม่ควรมีภาวะแบบนี้เกิดขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็ควรเดินไปภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปัญหามันซ้อนมาว่าในแวดวงระบบกฎหมายไทยยอมรับคำสั่งของคณะรัฐประหารมีผลใช้บังคับได้ เมื่อรัฐธรรมนูญบอกให้ใช้บังคับได้ต่อ มันจึงถูกใช้ต่อ คำสั่งของคณะรัฐประหารจึงใช้ได้ต่อไปโดยไม่มีความพยายามจะใช้หลักคุณค่าหรือแนวคิดของระบอบเสรีประชาธิปไตยเข้ามากำกับแต่อย่างใด

ผมคิดว่าต้องทำให้เกิดการโต้แย้ง เวลาที่เราคิดถึงสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่สักแต่เขียนว่าให้ผู้ปกครองมีอำนาจแล้วออกกฎหมายได้ทันที แต่ต้องคำนึงถึงหลักการว่าบทบัญญัติที่เขียนนั้นสอดคล้องกับหลักการหรือคุณค่าของระบอบการปกครองที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลักหรือไม่

ในภาวะที่เกิดรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ สังคมน่าจะสับสนพอสมควรว่าแล้วเราจะใช้บทบัญญัติตัวไหน

ในทางหลักการ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องถือเป็นบทบัญญัติที่มีอำนาจเหนือกว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะยอมรับหรือรับรองให้มาตรา 44 มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมก็ต้องประเมินสิ่งต่างๆ ภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญ

"ในประเทศที่มีการเปลี่ยนหรือฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยมักจะมีสภาวะยกเว้นในรัฐธรรมนูญในช่วงเปลี่ยนผ่าน และรัฐธรรมนูญประเภทนี้ก็มักมีแนวโน้มจำกัดสิทธิเสรีภาพและไม่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ"

ในแง่การบังคับใช้ อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรา 44 มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ซึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หมายความว่าจะอนุญาตให้มาตรา 44 มีได้ ต้องมีได้ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการหรือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการตีความว่าพอเป็นมาตรา 44 แล้วสามารถใช้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย ผมคิดว่าเป็นการตีความที่มีปัญหา เพราะเท่ากับเรากำลังตีความให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีผลบังคับใช้โดยปราศจากขอบเขต มันต้องวางบนหลักการว่ามาตรา 44 ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2557 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งหมายใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคาดหมายว่าจะใช้เป็นกติกาสูงสุดไปอย่างยาวนาน ซึ่งอย่างน้อยก็มีการระดมความเห็นมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2557 ดังนั้น จะตีความอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เช่น คำสั่งที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผมคิดว่าต้องคำนึงถึงว่าคำสั่งนี้กระเทือนถึงสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ ถ้ามันกระทบกระเทือนถึงหลักการสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ผมคิดว่าคำสั่งชนิดนี้ไม่ควรมีผลใช้บังคับได้ เพราะถ้าเราตีความโดยไม่มีกรอบอะไรเลย มันจะทำให้การตีความชนิดนี้เป็นการรับรองอำนาจทางการเมืองในสภาวะที่ไม่ปกติให้กลายเป็นอำนาจที่ดำรงอยู่ได้นิรันดร

แต่เราก็เห็นการสั่งฟ้องประชาชนที่ออกมาชุมนุม ซึ่งชัดว่ามุ่งปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. มากกว่ารัฐธรรมนูญ

ปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมของไทยมีอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นอิสระมากพอที่จะทำให้ผู้ที่ทำงานในองค์กรสามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นไปตามหลักการ พอมีคดีพวกนี้เกิดขึ้น องค์กรแต่ละองค์กรก็จะพยายามทำคดีให้ผ่านมือตัวเองเร็วที่สุด แล้วทุกอย่างก็ไปไว้ที่ศาล

ปัญหาประการที่ 2 เป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ในการตีความกฎหมาย การตีความกฎหมายแบบที่รับใช้อำนาจนิยมไม่ถูกท้าทายอย่างแรงๆ ในสังคมไทย

จุดยืนของผมคือการตีความกฎหมายมีอุดมการณ์ทางการเมืองกำกับด้วย ซึ่งมันควรสอดคล้องกับหลักการเสรีประชาธิปไตย แต่การตีความในบ้านเรา พอศาลฎีกามีคำวินิจฉัยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ว่าใครยึดอำนาจได้ก็มีอำนาจออกกฎหมาย ผมคิดว่าหลังจากช่วงเวลานั้นมา มันแทบจะไม่เคยถูกท้าทายอย่างจริงจังว่า การตีความแบบนี้เป็นการตีความที่ไม่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยและเป็นการตีความที่ทำให้เกิดปัญหามากกว่า

จะท้าทายแรงๆ ต่อการตีความกฎหมายที่รับใช้อำนาจนิยมได้อย่างไร

ต้องเป็นการผลักดันทางความคิด ชี้ให้เห็นว่าการตีความแบบนี้ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างกรณีคุณอุทัย พิมพ์ใจชนและพวกอีก 2 คน บุญเกิด หิรัญคำ อนันต์ ภักดิ์ประไพ เคยฟ้องจอมพลถนอมที่ยึดอำนาจ ทำให้ 3 คนนี้ที่เป็น ส.ส. อยู่ตกงาน คดีนี้ศาลไม่รับฟ้อง เมื่อศาลไม่รับฟ้อง จอมพลถนอมออกคำสั่งจำคุกทั้งสามคน ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอมหนีออกนอกประเทศ แต่ทั้งสามคนนี้ยังติดคุกอยู่ จะเอาทั้งสามคนออกจากคุกอย่างไร ผลปรากฏว่าการจะเอาคุณอุทัยกับพวกออกจากคุก ต้องออกเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับทั้งสามคน

เวลาสั่งให้ติดคุก จอมพลถนอมเซ็นแกร็กเดียว แต่เวลาจะเอาคนออกจากคุกต้องไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา 3 วาระ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา แล้วค่อยปล่อยตัว ผมคิดว่านี่เป็นความไม่สมเหตุสมผลของการที่เรายอมให้ความต้องการของผู้ที่มาจากการยึดอำนาจกลายเป็นกฎหมายได้ง่ายๆ ซึ่งนอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีอีกเยอะมาก

ในทางกฎหมายเราไม่เห็นการโต้แย้งการตีความคำสั่งของ คสช. เกิดขึ้น ทุกฝ่ายยอมรับกันอย่างถ้วนหน้า ผมคิดว่านี่เป็นการต่อสู้หรือการผลักดันในเชิงความคิด วิธีการตีความที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงนักกฎหมายคือ ถ้าคำสั่งของคณะรัฐประหารไปแก้ไขกฎหมายชนิดไหนก็ให้ถือว่าเป็นกฎหมายในลำดับนั้น เช่น ถ้าคำสั่งนั้นไปแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ก็ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นพระราชบัญญัติ เวลาจะแก้ไขก็ต้องเข้าสภา เมื่อคิดแบบนี้มันก็จะเป็นไปได้ยากมาก อาจจะผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่พอถึงวุฒิสภาจบเลย เพราะชุดแรกถูกแต่งตั้งโดย คสช. ระบบการเมืองมันล็อกให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง คสช. เป็นไปได้ค่อนข้างยาก

คำสั่งหลายร้อยคำสั่งของ คสช. จะต้องไล่ออกพระราชบัญญัติทั้งหมด?

คือผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเท่ากับเราต้องนั่งไล่แก้เป็นรายฉบับไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าเราต้องปฏิเสธการบังคับใช้ คำสั่งคณะรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายไปตลอดกาล เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ ผมคิดว่าเรามีทางเลือกได้ เช่น ให้ถือว่ามันสลายไปเลยโดยอัตโนมัติ ในช่วงสถานการณ์รัฐประหารเราคงปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันมีอำนาจที่เป็นจริงในทางการเมืองอยู่ แต่เมื่อพ้นไปจากสถานการณ์รัฐประหารแล้ว เข้าสู่ระบบปกติ คำสั่งเหล่านี้ก็ควรถูกปฏิเสธไปด้วย

ในอดีตเคยมีคำสั่งคณะปฏิวัติบางฉบับ กว่าจะแก้ไขสำเร็จต้องใช้เวลาเป็น 20 ปี ถ้าเราจะแก้สองสามร้อยฉบับ เราไม่ใช่เวลาเป็นพันปีเหรอ เราจึงไม่สามารถยอมรับให้คำสั่งคณะรัฐประหารมีผลประหนึ่งเป็นกฎหมายไปได้ชั่วนิจนิรันดร์ จุดนี้เป็นข้อโต้แย้งที่เราต้องชี้ให้เห็นว่าเป็นปัญหาจริงๆ ทั้งในแง่หลักการ ความชอบธรรม และผลกระทบที่เกิดขึ้น

มันมีทางเลือกหลายแบบ เช่น มีการรวบรวมคำสั่งรัฐประหารนำมาให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าฉบับไหนไม่ผ่านความเห็นชอบก็ถือว่าตกไป ผมคิดว่ามีทางเลือกหลายทางที่สามารถคิดถึงได้ ซึ่งจะมีเหตุผลกว่าการยอมรับให้มันเป็นกฎหมายไปตลอดกาลจนกว่าจะถูกแก้ไข เพราะถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับเรากำลังสถาปนาให้ระบอบรัฐประหารเข้าไปอยู่ในระบบกฎหมายในเวลาปกติ ไม่อย่างนั้นใครรัฐประหารก็จะออกคำสั่งและจะรู้ว่ามันกลายเป็นกฎหมาย การตีความแบบนี้เท่ากับยอมรับให้รัฐประหารอยู่ในระบบกฎหมายไทยได้อย่างง่ายดาย คณะรัฐประหารจึงรู้ว่าเวลาอยากจะออกคำสั่งอะไรก็ออกเลยเพราะรู้ว่ามันจะถูกฝังเข้าไปในกฎหมายไทย

แนวทางของคุณที่ต้องการให้คำสั่งของ คสช. ไม่มีผลไปเลยหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แตกต่างจากที่ไอลอว์และปิยบุตร แสงกนกกุลเสนอ

มันคงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะข้อเสนอของไอลอว์คือผลักดันแก้ไปทีละฉบับที่เห็นว่ากระทบสิทธิเสรีภาพอย่างสำคัญ ขณะที่ของอาจารย์ปิยบุตรสืบเนื่องจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่มีการลบล้างคำสั่งของคณะรัฐประหาร ผมคิดว่า 3 ทิศทางนี้สามารถถกเถียงกันได้ แต่อย่างน้อยโดยรวมๆ เราเริ่มเห็นปัญหาร่วมกันว่าการยอมรับคำสั่งคณะรัฐประหารแบบเชื่องอย่างที่เคยเป็นมา มันเป็นปัญหาใหญ่

"เราต้องปฏิเสธการบังคับใช้ คำสั่งคณะรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายไปตลอดกาล เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ ผมคิดว่าเรามีทางเลือกได้ เช่น ให้ถือว่ามันสลายไปเลยโดยอัตโนมัติ ในช่วงสถานการณ์รัฐประหารเราคงปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันมีอำนาจที่เป็นจริงในทางการเมืองอยู่ แต่เมื่อพ้นไปจากสถานการณ์รัฐประหารแล้ว เข้าสู่ระบบปกติ คำสั่งเหล่านี้ก็ควรถูกปฏิเสธไปด้วย"

แต่มันจะเจอสภาพที่ว่าคำสั่งออกไปแล้ว มีผลไปแล้ว ผลที่เกิดแล้วมันไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะเดิมได้

มันต้องมีการจำแนก บางอย่างเช่นการจัดตั้งหน่วยงานก็คงต้องดำเนินการไป แต่ส่วนที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพต่างๆ ผมคิดว่ามันน่าจะถูกปฏิเสธได้โดยทันที

รัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนยังไม่มีผลบังคับใช้ในเวลานี้จะส่งผลต่อสังคม การเมืองไทยอย่างไรในอนาคต

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เกิดความยุ่งยากกับสังคมไทยอย่างมากแน่นอน ในเฉพาะส่วนที่เป็นการเมืองในระบบ ที่เราจะเห็นต่อไปหลังการเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลที่สนับสนุนคุณประยุทธ์เป็นรัฐบาลกับพรรคที่คัดค้านคุณประยุทธ์เป็นรัฐบาล 2 แนวทางนี้เราจะเห็นอะไร

ถ้าพรรคที่สนับสนุนคุณประยุทธ์เป็นรัฐบาล คุณประยุทธ์จะเจอการต่อรองจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ไม่สามารถชี้นิ้วสั่งได้เหมือนทุกวันนี้ ในทางนี้ต่อให้คุณประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม คุณก็จะเผชิญปัญหาคือต้องยอมให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่ต้องพูดถึงฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยที่ผมคิดว่าจะมีความเข้มแข็ง ผมถามว่าคุณประยุทธ์จะรับมือกับฝ่ายค้านระดับนี้ได้เหรอ ถ้าไม่มีอำนาจเผด็จการในมือ ถ้าต้องไปถกเถียงด้วยเหตุผล คุณประยุทธ์จะมีเหตุผลดีๆ ไปถกเถียงได้หรือกับคนที่เป็นนักการเมืองมาตลอดชีวิต รัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ได้ดีเท่าไหร่

ถ้าพรรคที่ไม่เอาคุณประยุทธ์ได้เป็นรัฐบาล ก็จะเป็นปัญหาอีกชนิดหนึ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะเจอองค์กรเทวดาเข้ามาทำหน้าที่กำกับ ตรวจสอบ ควบคุมอย่างเข้มงวด พอเป็นแบบนี้ปัญหาจะกลับไปอีหรอบเดิมคือรัฐบาลจะผลักดันนโยบายได้ยากมาก เพราะอยู่ใต้การกำกับขององค์กรเทวดาต่างๆ ที่เข้ามาบอกว่านโยบายแบบนี้ แบบนั้นทำไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งแน่ๆ ระหว่างสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกับสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ตรงนี้เป็นปมที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะโดยตัวระบบก็ไม่เปิดช่องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ สมมติว่ามีคนเห็นว่าองค์กรเทวดาเหล่านี้เป็นปัญหา เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ จะทำได้หรือไม่ จะเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญแทบเป็นไปไม่ได้ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าแก้ได้หรือไม่ แล้วถ้าคุณต้องการแก้ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจน้อยลง แล้วคุณจะแก้ได้มั้ย ก็เห็นได้ชัดว่าแทบเป็นไปไม่ได้ เมื่อระบบไม่เปิดให้แก้ไขได้ ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

โครงสร้างที่เป็นอยู่มันไม่ตอบสนองต่อความเป็นจริงทางการเมือง สถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินนโยบายเพื่อตอบสนองประชาชนได้ มันจะเกิดการเผชิญหน้ากับสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในอนาคต

ส่วนการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นคำตอบหนึ่ง แต่ต้องมีแรงผลักดันทางสังคมที่กว้างขวาง ทำให้เกิดการตระหนักว่าถ้าสังคมไทยยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป มันคงยุ่งยากพอสมควรที่จะเกิดการผลักดันนโยบายหรือทำให้สังคมไทยขยับไปข้างหน้าโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น