โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ภัควดี วีระภาสพงษ์: อาวุธของสามัญชนที่ถูกลิดรอน?

Posted: 21 Apr 2018 09:32 AM PDT

บังเอิญวันก่อนอ่านเจอเรื่องนี้ เห็นว่าน่าสนใจดี

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ไหน? ไม่ใช่อยู่ที่คำปราศรัย "I Have A Dream" หรอก นั่นแทบจะเป็นจุดเกือบสุดท้ายต่างหาก

บางคนบอกว่ามันอยู่ที่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 1963 ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละบามา ซึ่งเป็นเมืองที่มีการเหยียดสีผิวรุนแรงที่สุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกาสมัยนั้น ต้นปีนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ คิงกับผู้นำท้องถิ่นพยายามพาคนผิวดำประท้วง แต่ถูกจับ คิงเองก็ต้องติดคุกเหมือนกัน

ศาสนาจารย์ James Bevel ผู้นำคนหนึ่งของขบวนการสิทธิพลเมืองก็เลยคิดและริเริ่มการรณรงค์ที่เรียกกันว่า Birmingham Children's Crusade ขึ้นมา การจัดตั้งในพื้นที่ของขบวนการลงลึกไปถึงเด็กประถมเด็กมัธยมอยู่แล้ว รวมทั้งมีการอบรมการประท้วงตามแนวทางสันติวิธีด้วย พอมีการระดมเด็กนักเรียนออกมาประท้วง นายกเทศมนตรีเมืองเบอร์มิงแฮมตอบโต้ด้วยการส่งตำรวจมาปราบ มีการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงใส่ ส่งหมาไล่กัด แล้วจับเด็กไปหลายคน คนที่อายุน้อยที่สุดคือ 9 ขวบ

แต่ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนสุดท้ายเทศบาลต้องยอมเจรจากับขบวนการ ยอมปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด ฯลฯ

ชัยชนะที่เมืองเบอร์มิงแฮมครั้งนี้ถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการสิทธิพลเมือง แม้ว่าจะเกิดเรื่องน่าเศร้าในปลายปี 1963 เมื่อคนขาวหัวรุนแรงก่อวินาศกรรมต่อต้านขบวนการจนมีเด็กผู้หญิงเสียชีวิตไป 4 คน แต่ถ้าไม่มี Birmingham Children's Crusade มาร์ติน ลูเธอร์ คิงอาจไม่มีโอกาสไปยืนปราศรัยถึงความใฝ่ฝันต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจเพราะเราเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จนขบวนการต้องแท้งไปก่อน คำถามที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสิทธิมนุษยชน สันติวิธี ตกไปอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ กล่าวคือ นักสิทธิมนุษยชนอาชีพ นักสันติวิธีอาชีพ มันกลายเป็นการให้อำนาจเทคโนแครตเหล่านี้ในการนิยามว่าอะไรใช่/ไม่ใช่ ได้/ไม่ได้ ทั้งที่นักวิชาชีพเหล่านี้ไม่เคยลงไปปฏิบัติจริงมากเท่าไร รวมทั้งไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการใดจริงจังด้วย

เราเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ศาสนาจารย์เจมส์ บีเวล ไม่ได้มีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์หรอก แต่จะถูกก่นด่าว่าใช้เด็กเป็นเครื่องมือทางการเมือง ต่อให้เด็กเหล่านี้เต็มใจจะออกมาประท้วง เพราะพวกเขาก็ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ตาม

แม้กระทั่งการนิยามว่าใครคือ "เด็ก" ก็เป็นคำถาม ขบวนการซาปาติสตาให้เด็กอายุ 12 มีิสิทธิในการลงคะแนนเสียงแล้ว

ยิ่งมีนักสิทธิมนุษยชนอาชีพ นักสันติวิธีอาชีพมากเท่าไร อาวุธของสามัญชนก็ถูกลิดรอนมากขึ้นหรือเปล่า? นี่เป็นคำถามที่เราก็ไม่รู้คำตอบ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาญณรงค์ บุญหนุน: พระอาจทำผิดได้ แต่คณะสงฆ์ต้องไม่ผิดพลาด

Posted: 21 Apr 2018 08:56 AM PDT

จากกรณีที่พระเถระผู้ใหญ่ถูกกล่าวหาทุจริตกรณีเงินทอนวัดนั้น สิ่งที่ผมออกจะแปลกใจนิดหน่อยก็ตรงที่เหตุใดคณะสงฆ์จึงไม่มีกระบวนการจัดการปัญหาของบุคลากรสงฆ์ให้เป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสมและสามารถนำไปเปิดเผยต่อสาธารณชนที่มีความคลางแคลงใจในพฤติกรรมของพระสงฆ์ เช่น ถ้าหากไม่ได้มีความผิดตามที่กล่าวหา คณะสงฆ์ก็ควรจะตั้งทีมนักกฎหมายทำหน้าที่ตอบโต้ข้อกล่าวหาตามระบบกฎหมาย เป็นต้น หรือมีกระบวนการที่จะทำให้สาธารณชนเห็นว่าคณะสงฆ์ไม่ได้เมินเฉยต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีข้อกล่าวหาพระเถระผู้ใหญ่ ก็ควรที่จะสื่อสารกับสังคมอย่างเป็นระบบว่าคณะสงฆ์มีวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะให้ประชาชนไว้วางใจว่าทุกอย่างจะถูกต้องดีงาม  

น่าสังเกตว่า เมื่อพระภิกษุซึ่งเป็นบุคลากรสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงด้านพระวินัยและผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง สิ่งที่ชาวพุทธผู้ซึ่งรักและหวงแหนพุทธศาสนามักจะกระทำคือ การตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้กล่าวหาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เป็นปัญหา เช่น กล่าวหาว่ากรณีทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มล้างพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยศาสนิกชนอื่น ๆ พร้อมทั้งพยายามทำให้เชื่อเช่นนั้นด้วยการอ้างกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หรือทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองไป เมื่อพระถูกกล่าวหาว่าเป็นปาราชิกในข้อมีเพศสัมพันธ์ ก็บอกว่ามีขบวนการ "นารีพิฆาต" ที่คอยทำหน้าที่สกัดกั้นทำลายพระสงฆ์ที่น่าเคารพนับถือไม่ได้อยู่ในสมณเพศได้อีกต่อไป เมื่อมีปัญหาเรื่องฉ้อโกงหรือทุจริต ก็โยนให้เป็นเรื่องการจ้องทำลายโดยใครบางคนที่มีอำนาจและมีอิทธิพลต่อรัฐบาล ไม่ว่าความหวาดระแวงดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ ผมคิดว่า การพยายามที่จะโยนปัญหาออกให้พ้นตัวด้วยการเบี่ยงประเด็นเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้คณะสงฆ์ผุดผ่องขึ้นมาในสายตาของฆราวาสที่ไม่ได้เชื่อในคณะสงฆ์แต่ประการใด

นอกจากนี้ มีข้อที่พึงสังเกตว่า กลุ่มชาวพุทธที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องพระเถระหรือพระสงฆ์ผู้ถูกกล่าวหาโดยรัฐนั้น มักไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริง หากเป็นกลุ่มฆราวาสที่สถาปนาตนเองขึ้นมาโดยอ้างการปกป้องพุทธศาสนาจากฝ่ายปริปักษ์ ผมไม่ได้บอกว่ากลุ่มฆราวาสชาวพุทธเหล่านั้นไม่ควรปกป้องพุทธศาสนาหรือคณะสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือ พุทธศาสนิกชนก็ย่อมต้องปกป้องพุทธศาสนา แต่ผมว่าวิธีการปกป้องแบบนี้มีลักษณะการเมือง ไม่ตรงเป้า และไม่เคยได้ผลในเวทีสาธารณะ ยังมีข้อมูลต่าง ๆ ที่ลากมานับแต่อดีตเพื่อพิสูจน์สมมติฐานเรื่องการล้มล้างพุทธศาสนานั้นอีกด้วย แม้จะช่วยปลุกชาวพุทธให้ตื่นตระหนักได้มาก แต่มันไม่เคย Make sense สำหรับคนทั่วไป

ผมคิดว่า กรณีที่มีการเบี่ยงประเด็นเช่นนี้หรือปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มชาวพุทธที่ไม่ได้รับมอบสิทธิในการต่อสู้ต่อข้อกล่าวหาในทางกฎหมายโดยตรงจากคณะสงฆ์ แสดงให้เห็นว่าคณะสงฆ์ไทยไม่เข้าใจโลกสมัยใหม่อย่างถ่องแท้ ดังนั้นจึงไม่สามารถปรับตัวเข้าเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมสมัยใหม่ ที่ต้องต่อสู้กันด้วยกฎหมายภายใต้กรอบของนิติรัฐได้อย่างเหมาะสม ตรงประเด็นและน่าเชื่อถือ ในแง่หนึ่ง เป็นไปได้ว่าคณะสงฆ์เองไม่มีเอกภาพ และไม่ได้มีการวางแผนว่าจะมีระบบที่ช่วยแก้ไขปัญหาเมื่อมีการกล่าวหาพระสงฆ์ทำผิดอย่างไร แต่อีกทางหนึ่ง เป็นไปได้ว่าคณะสงฆ์ติดกับดักความคิดที่สังคมในอดีตวางไว้คือ พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับโลก แต่หารู้ไม่ว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อพระสงฆ์ในช่วงที่ผ่านมาก็ล้วนเป็นเรื่องของโลก ท่านไม่เกี่ยวข้องกับโลกแต่โลกก็จะไม่ปล่อยท่านไว้เหมือนที่เคยเป็นมา หากคณะสงฆ์มัวแต่จะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามแต่บ้านเมืองจะคอยกำกับและกำหนด ไม่คิดจะนำความรู้ทางกฎหมายบ้านเมืองมาผนวกเข้ากับพระธรรมวินัยและใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับกรณีต่าง ๆ ก็มีแต่จะถูกต้อนจนมุมกับปัญหาโลกสมัยใหม่

ในพระวินัยปิฎก มีภิกษุณีกล่าวหาพระเถระรูปหนึ่งว่าข่มขืนตน พระพุทธเจ้าแม้จะทรงทราบว่ากรณีดังกล่าวนี้ไม่เป็นจริง แต่ก็ยังให้สอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างเปิดเผย ทุกฝ่ายมาพร้อมหน้ากันแล้ว ทรงสอบสวนด้วยพระองค์เอง จึงทรงให้การรับรองว่าพระเถระรูปนั้นบริสุทธิ์ ชาวพุทธอาจตีความเหตุการณ์ตอนนี้ได้หลายแง่มุม สิ่งที่ผมตีความก็คือ ลำพังอาศัยความหยั่งรู้ของพระองค์เพียงผู้เดียวไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยแก้ข้อสงสัยของคนทั่วไปที่มีต่อพระสงฆ์สาวกได้ หากต้องทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นสาธารณะ เป็นที่เปิดเผยและชัดแจ้ง ทั้งแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งผู้กล่าวหา รวมทั้งกองเชียร์ของแต่ละฝ่ายด้วย

ในพระวินัยหรือพระไตรปิฎก มีหลายเหตุการณ์ที่อาจนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินการเพื่อเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ได้ แต่คณะสงฆ์เองดูเหมือนจะไม่ค่อยสนใจเรียนรู้หรือถอดบทเรียนมาใช้เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติแต่ประการใด (หรืออาจจะมีแต่ผมไม่ทราบก็เป็นได้) ดูเหมือนการตีความหลักการของพระวินัยเพื่อปรับเข้าหาระบบกฎหมายของรัฐในเรื่องที่จำเป็น เช่น กระบวนการไต่สวนและการวินิจฉัยความผิดของคณะสงฆ์ หรือกรณีที่เผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาเรื่องผิดพระธรรมวินัยร้ายแรง เป็นต้น ยังไม่ได้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของสงฆ์

ในพระไตรปิฎก ไม่ได้มีแต่กรณีการกล่าวหาพระอรหันต์ แต่ที่ผมยกเรื่องพระอรหันต์มาก็เพื่อจะสื่อว่า แม้คณะสงฆ์จะคิดเข้าข้างตัวเอง หรือมีความเห็นว่าบุคลากรของคณะสงฆ์ไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา คณะสงฆ์ก็ไม่ควรจะใช้วิธีการสงบนิ่งเพื่อรอให้ผลการสอบสวนปรากฏออกมาหรือรอให้เรื่องจางหายไปกับกระแสเคลื่อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ผมคิดว่า ในกรณีที่สมาชิกสงฆ์ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ว่ากรณีใด ๆ รวมทั้งกรณีที่เกี่ยวข้องกับพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นอยู่นี้ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมยิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวเนื่องจากคณะสงฆ์ที่อ้างตนว่าเป็นแบบอย่างทางจริยธรรมและความดีงามนั้น จักต้องดำรงความถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยและหลักกฎหมายบ้านเมือง และมีหน้าที่ทำให้ทุกคนได้เห็นว่าคณะสงฆ์ใส่ใจเรื่องนี้

มหาเถรสมาคมในฐานะสถาบันที่รับผิดชอบต่อความเป็นไปของสงฆ์ทั้งปวง ต้องไม่ปล่อยให้พระสงฆ์ที่ถูกกล่าวหาแต่ละรูปดำเนินการกันเองตามมีตามเกิดหรือมั่วแต่สถิตอยู่ในความเงียบงัน เพียงเพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพระสงฆ์เหตุใดต้องมาเกือกกลั้วกับโลก เกลือกกลั้ววิถีชาวบ้าน ขัดวิถีสมณะ หรือรู้สึกเองว่าการต่อสู้ด้วยระบบกฎหมายบ้านเมืองอย่างที่ชาวบ้านทำกันนั้น จะทำให้ตนเองเสียความบริสุทธิ์ผุดผ่อง  เมื่อพระพุทธเจ้าถูกกล่าวหาโดยฝ่ายต่อต้าน พระองค์มักจะใช้ความสงบนิ่งและรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่พระองค์ไม่เคยปล่อยให้สาวกที่ถูกกล่าวหาต้องต่อสู้ชะตากรรมอย่างเดียวดาย หากแต่ทรงดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ผู้คนที่คอยจ้องมองหรือคอยจับผิดคณะสงฆ์ แต่ในกรณีประเทศไทย ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์ผู้ปกครองมักจะปล่อยให้สมาชิกของสงฆ์ในการปกครองของตนเผชิญชะตากรรมกันเอง (หรือไม่แน่ ท่านอาจดำเนินการเบื้องหลังก็ไม่ทราบ) หากโชคดีก็รอด หากโชคร้ายก็ตายกันไป

ที่ผมบอกว่ามหาเถรสมาคมต้องออกมาปกป้องสมาชิกของตนในที่นี้ อาจจะเป็นการใช้คำที่ทำให้เข้าใจผิด คำที่ถูกต้องที่สุดคือ มหาเถรสมาคมต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่สมาชิกของคณะสงฆ์ถูกกล่าวหา ซึ่งผมอยากเสนอว่า ตราบใดที่พุทธศาสนายังเป็นองค์ของรัฐ มหาเถรสมาคมหรือคณะสงฆ์ต้องแสดงให้เห็นว่า ตนเองใส่ใจต่อประเด็นที่สาธารณชนที่มีผลกระทบทั้งต่อพุทธศาสนาและต่อบ้านเมือง ทั้งต่อสมาชิกของศาสนาและพลเมืองของรัฐ โดยการดำเนินการอย่างเป็นทางการเพื่อทำความจริงให้ประจักษ์แจ้ง ไม่มีข้อสงสัย

เมื่อมีการทำผิดโดยพระเถระรูปใดรูปหนึ่งหรือสมาชิกของคณะสงฆ์ ไม่ว่าโดยเจตนาที่แท้จริงหรือเพราะแง่มุมทางกฎหมาย มหาเถรสมาคมจะต้องไม่ปกป้องผู้กระทำผิดดังกล่าว ตราบเท่าที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน เมื่อมีการกล่าวหาในทางกฎหมายก็ต้องต่อสู้ด้วยกฎหมาย แม้นว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมีกระบวนการล้มล้างพุทธศาสนาอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือเรื่องใด ๆ ก็ตามดังที่ชาวพุทธจำนวนมากเชื่อกันอยู่ ณ เวลานี้ ท่านก็จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการทำให้ข้อถูกกล่าวหานั้น ๆ ตกไป หรือไม่ก็ยอมรับความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหา หากว่าได้กระทำจริง ไม่ใช่เบี่ยงประเด็นกลบปัญหาเหมือนที่มักจะทำกันอยู่ทั่วไป (ทั้งชาวฆราวาสผู้ปกครองและคณะสงฆ์)

ชาวคาทอลิกถือหลักว่า "ศาสนจักรต้องไม่มีข้อผิดพลาด" ผมคิดว่าหลักคิดนี้น่าจะนำมาประยุกต์เป็นหลักการสำหรับคณะสงฆ์ไทยได้  "พระภิกษุอาจผิดได้ แต่คณะสงฆ์ต้องไม่ผิดพลาด" เมื่อพระภิกษุซึ่งเป็นสมาชิกสงฆ์ทำผิด คณะสงฆ์ต้องเข้าใจว่านั่นเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล เมื่อเป็นมนุษย์ก็ย่อมมีข้อผิดพลาดได้ เมื่อผิดพลาดก็ต้องถูกลงโทษ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ที่รู้จักรับผิดชอบชั่วดีและมีใจเป็นธรรม แต่คณะสงฆ์ต้องไม่ผิดพลาด หมายถึงต้องทำหน้าที่ดำรงความถูกต้อง คือดำเนินการให้เป็นไปตามหลักวินัยและกฎหมายบ้านเมือง และยอมรับความจริงอย่างเปิดเผย ทำให้คนเห็นว่าคณะสงฆ์เป็นองค์กรที่ดำรงศีลธรรมตามป้ายยี่ห้อที่ติดไว้ ไม่ใช่แค่คุยโม้โอ้อวดว่าล้ำเลิศกว่าชาวบ้านทั่วไป

ในกรณีที่ต้องต่อสู้ภายใต้กฎหมายบ้านเมือง มหาเถรสมาคมต้องอาศัยเครื่องมือแบบเดียวกับที่คนทั่วไปเขาใช้กันเมื่อมีการต่อสู้ทางกฎหมาย ผมหมายความว่าคณะสงฆ์ต้องมีทีมนักกฎหมายเพื่อว่าจะได้มีกระบวนการดำเนินการที่เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบและตามขั้นตอนตามกฎหมาย และอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายของรัฐ คณะสงฆ์ควรจะเข้าใจว่า ณ เวลานี้ คณะสงฆ์ไม่ได้อยู่ในโลกศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั่วไปจะเกรงกลัวหรือยอมให้มีอภิสิทธิ์เหมือนเมื่อก่อน ในโลกสมัยใหม่ที่แนวคิดแบบฆราวาสวิสัยมีอิทธิพลต่อความคิดของคนมากขึ้น ระบบอุปถัมภ์ไม่แน่ว่าจะช่วยค้ำจุนให้คณะสงฆ์ดำรงอยู่อย่างมีความหมายในสังคมอีกต่อไป คณะสงฆ์ต้องปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ให้ได้ (และฆราวาสก็ต้องยอมรับการปรับตัวนี้เช่นกัน)

คณะสงฆ์ควรต้องพึ่งตัวเองให้มากขึ้นในสถานการณ์ที่สังคมไทยเปลี่ยนเข้าสู่สมัยใหม่ มีความเป็นรัฐฆราวาสวิสัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องหาวิธีการเอาตัวให้รอดด้วยการปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ที่พลเมืองทุกคนรวมทั้งคณะสงฆ์ด้วยต้องดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายของรัฐ

ผมคิดว่า เมื่อคนทั่วไปในประเทศนี้ตระหนักว่า พุทธศาสนาและคณะสงฆ์อิงอยู่กับอำนาจรัฐ อาศัยรัฐเพื่อการสถิตมั่นของตน และนี่เป็นภาระที่พวกเขาไม่ได้เลือกไว้แต่แรก หากคณะสงฆ์และชาวพุทธยังต้องการรักษาสถานะเช่นนี้ไว้ต่อไป ก็ต้องพิสูจน์ตนเองว่ามีความชอบธรรมที่จะได้รับประโยชน์ (ภาษี) จากประชาชนทั่วไป สิ่งนี้หลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรม 

กรณีที่พระเถระถูกกล่าวหาว่ามีส่วนทุจริตนั้น ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จก็ตาม สุดท้ายแล้ว ควรต้องเป็นภารกิจที่คณะสงฆ์ต้องรับผิดชอบด้วยวิธีการที่เหมาะสมสอดคล้องกับพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง เมื่อทำผิดแล้วเผชิญหน้ากับความจริงด้วยการรับผิดชอบอย่างเปิดเผยก็คือวิธีหนึ่งของการรักษาธรรมและการพิสูจน์ความชอบธรรม เมื่อไม่ได้ทำผิด ก็รู้วิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับได้โดยทั่วไป เช่น การต่อสู้ด้วยกฎหมายของรัฐจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม การต่อสู้ให้ความบริสุทธิ์ของตนได้รับการรับรองโดยกระบวนการทางกฎหมายที่ทุกคนยอมรับ  ก็คือการดำรงความชอบธรรมอีกวิธีหนึ่งเหมือนกัน เป็นความชอบธรรมตามวิถีของโลก ที่พระสงฆ์เองจะต้องเผชิญหน้าในโลกยุคใหม่

ผมได้แต่หวังว่าคณะสงฆ์และชาวพุทธจะสามารถพัฒนาภูมิปัญญาของตนให้สามารถเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่อย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นที่เคารพ ไม่เป็นภาระของโลก แม้จะเป็นโลกที่ผุๆ พังๆ ก็ตาม

 


ที่มาภาพ: http://www.nationmultimedia.com/news/national/30308631

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Channarong Boonnoon

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ตู่ประวัติศาสตร์

Posted: 21 Apr 2018 08:47 AM PDT


 

"…..คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจ และตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ขจัดฉ้อราษฎร์บังหลวง และใช้หลักคุณธรรม เพื่อนำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง"

ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์? แปลกตรงไหนละครับ เพราะนี่คือหนังสือ "ประวัติศาสตร์ชาติไทย" เขียนโดยกรมศิลปากร ใต้อำนาจรัฐบาล คสช. จะให้เขียนว่ารัฐประหารทำลายประชาธิป ไตย นำประเทศสู่จุดอับ ใกล้ล่มสลาย ฯลฯ อย่างนั้นหรือ

แต่ถามว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ในวันหน้าไหม ปัดโธ่ แค่ 2 ปีผ่านไป คนไทยก็หัวร่อกลิ้ง หนังสือเล่มนี้ที่จริงออกมาตั้งแต่ตุลาคม 2558 ตอนนั้นกรมศิลปากรก็ถูก อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ วิพากษ์ซึ่งหน้า ว่า "ลำเอียง" เพียงแต่ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ยกมาโพสต์อีกครั้งในกระแสคลั่ง "ออเจ้า" ที่ทำให้คนไทยสนใจประวัติศาสตร์

ซึ่งได้ผลชะงัด ทำให้คนตระหนักว่า ประวัติศาสตร์ ที่ร่ำเรียนกันมา ผู้ชนะทั้งนั้นเป็นผู้เขียน จึงควรเรียนประวัติศาสตร์อย่างคิดวิเคราะห์ ค้นหาความจริงรอบด้าน ไม่ใช่ท่องจำแล้วเชื่อตามเทือกเขาอัลไต

2 ปีผ่านไป ข้อความท้ายหนังสือกลายเป็นเรื่อง absurd ประจานตัวเองชัดๆ รัฐประหารจะปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย? ด้วยการ "ตกเขียว" ตกปลาในบ่อเพื่อน ตั้งพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ ภายใต้กติกาเอาเปรียบเนี่ยนะก็เหมือนรัฐประหารประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ โคตร ridiculous แค่ เอกชัย-โชคชัย จะไปสีซอให้พี่ป้อมฟัง โดนตำรวจอุ้มขึ้นรถเอาผ้าคลุมหัวยังกะผู้ก่อการร้าย

แค่ 2 ปี พอยกข้อความนี้มาดูใหม่ จึงย้อนแย้งจนคนรับไม่ได้ ศรีสุวรรณ จรรยา เรียกร้องให้ทำลายทิ้งเสียเพราะ "โกหก บิดเบือน"

แหม่ ไม่ต้องทำลายหรอกครับ ทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ ให้เป็น "ประวัติศาสตร์" ว่าผู้ชนะตู่เอาอย่างไร แล้วไว้ดูกันยาวๆ ว่าอีก 2-3 ปี ผู้คนจะเลี่ยนเพียงไหน อีก 10-20 ปี คนรุ่นต่อไปจะเขียนประวัติศาสตร์ยุคนี้อย่างไร เป็นยุคสว่าง หรือยุคมืด

เข้าใจตรงกันนะ ลุงตู่ ลุงป้อม ปู่มีชัย แม่ทัพนายกองทั้งหลาย อาจบอกว่าพวกท่านสู้เพื่อแผ่นดิน ทำเพื่อชาติ แต่คนที่จะเขียนประวัติศาสตร์คือคนรุ่นใหม่ รุ่นเนเน่ เพนกวิน "หนูดี" ที่มาชูป้าย ซึ่งเขาจะเห็นประจักษ์ ว่าสิ่งที่ท่านทำไว้เป็นผลดีหรือประเทศเสียหาย

ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ยืนยาวเสมอไป ประวัติศาสตร์ไทยเป็นของพลังอนุรักษนิยม แต่ก็มีประวัติ ศาสตร์ประชาชนซึมลึกอยู่คู่ขนานกัน ทำให้บางครั้งผู้แพ้ ในเหตุการณ์ก็กลายเป็นผู้ชนะทางประวัติศาสตร์

อย่าง อ.ปรีดี พนมยงค์ กลับมาเป็นรัฐบุรุษที่ยกย่อง ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เพิ่งมีงาน 100 ปีอย่างยิ่งใหญ่ ผู้ให้ร้ายทั้งสองท่านกลายเป็นคนบาป จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เป็นไอดอลของนักคิดนักเขียนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่

เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แม้ไม่สามารถชำระแจ่มกระจ่าง แต่ก็ไม่มีใครอยู่ข้างผู้เข่นฆ่านิสิตนักศึกษาอีกต่อไป ไม่ต้องดูอื่นไกล หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้า 189 ยังยอมรับว่าขบวนการนักศึกษาถูกกล่าวหา ถูกเกลียดชัง ถูกทหารตำรวจใช้กำลังอาวุธบุกเข้าทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

ถึงวันนี้ ถ้าถามว่าวันนั้นใครเป็นกระทิงแดงลูกเสือชาวบ้านบ้าง ยกมือขึ้น ไม่มีนะครับ ถึงมีชีวิตอยู่ก็ไม่กล้ารับ ถ้ารับ ก็บอกว่าเสียใจ

อีก 10-20 ปีลองถามใหม่ ใครเป่านกหวีดปิดเมืองบ้าง อวดลูกอวดหลานหน่อย ไม่รู้จะยกมือไหม ในขณะที่ตรงข้าม อาจมีลูกคนเหนือคนอีสานยกมืออย่างภูมิใจ ทวดเป็นเสรีไทย เป็นลูกศิษย์ครูบาศรีวิชัย ปู่เป็นทหารป่า พ่อแม่เป็นเสื้อแดง

แต่ช้าแต่ อาจไม่ต้องรอถึง 10-20 ปีก็ได้ สมัยนี้ประวัติศาสตร์ติดจรวด ติดเทอร์โบ เขียนในสมาร์ตโฟน ข้อสำคัญ สงครามยังไม่จบ ยังไม่รู้เลยว่าใครจะได้เขียนประวัติศาสตร์

สมัยสฤษดิ์ ถนอม ใครๆ ก็ซูฮกยกย่องทั้งนั้นละ สฤษดิ์ตายอย่างยิ่งใหญ่ ก่อนหมดลมคงไม่คิดว่าจะถูกยึดทรัพย์เสียบประจาน ถนอม ประภาส ก็คงไม่คิดว่าจะถูกไล่ถูกประณามเป็นทรราช

หรือดูแค่ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ก็ได้ "สุไม่เอาให้เต้" ย่ามใจ เหลิงอำนาจ แล้วเป็นไงละ อะไรๆ ที่ทำกันวันนี้ ขนาด รสช.ยังอาย รสช.ยังไม่โจ๋งครึ่มถึงขั้นใช้อำนาจพิเศษคุมเลือกตั้ง และตั้ง ส.ว.250 คนไว้เลือกตัวเอง

เพียงแต่สังคมไทยวันนี้ คงต้องเขียนประวัติศาสตร์ว่าเป็น "ยุคมืดบอด" คนชั้นกลางในเมืองที่เคยไล่ รสช.กลับเชียร์การสืบทอดอำนาจโดยไม่กระดากลำไส้เลย 

 

ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_987652

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: สองฝ่ายมีหนึ่งทาง!

Posted: 21 Apr 2018 08:35 AM PDT

 

อีกฝ่ายจับมือนายทุนหนุนอำนาจ
อีกฝ่ายเชื่อในอำนาจประชาชน
ฝ่ายหนึ่งเผด็จการกดขี่คน
อีกฝ่ายท่วมท้นประชาธิปไตย

เราประชาชนคนธรรมดาอยู่ตรงกลาง
อยู่ระหว่างทางเก่าใหม่ประเทศไทย
ขณะที่โลกกว้างนั้นก้าวไกล
จะเลือกทางไหนกันเล่าประชาชน

ยุคใหม่ยุคเก่าบนที่เดิม
ที่เพิ่มคือความผิดปกติอับจน
ปกติในความไม่ปกติที่เกินจะทน
สุขบนความทุกข์ยิ้มทั้งน้ำตา

คำถามคือจะเดินหน้าหรือถอยหลัง
ละล้าละลังจะเสียการนะพี่หนา
เลือกสักทางจะถอยหลังหรือเดินหน้า
อย่าบอกว่าแล้วแต่ไม่ใช่เรื่องของกู

ทางที่ใช่ทางเดียวต้องสมดุลย์
อย่าหัวหมุนไปทางทุนหรือหลบในรู
ทางที่ใช่ผมว่าทุกคนก็รู้
คือต้องอยู่อย่างเท่าทันในโลกทุนนิยม.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สงครามข้อมูลข่าวสารกรณี 'อาวุธเคมี' ใน 'ซีเรีย' พบบัญชีปลอมต้องสงสัยเต้าข่าวเข้าข้างรัฐบาล 'อัสซาด'

Posted: 21 Apr 2018 05:22 AM PDT

สื่อบีบีซีตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีข้อกล่าวหาเรื่องอาวุธเคมีครั้งล่าสุดในซีเรีย ว่ามีกลุ่มคนที่สร้างบัญชีออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลอีกแบบหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ ซึ่งต้องสงสัยว่าจะมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและจงใจที่จะเผยแพร่ 'ข่าวปลอม' แบบเดียวกับที่รัสเซียเคยพยายามให้บัญชีผู้ใช้เหล่านี้ใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในซีเรียมาก่อน

 
21 เม.ย. 2561 ในขณะที่ผู้ตรวจการจากองค์กรเพื่อการห้ามอาวุธเคมี (OPCW) กำลังพยายามเข้าถึงพื้นที่เมืองโดมาเพื่อตรวจสอบว่ามีการใช้อาวุธเคมีสังหารผู้คนในพื้นที่จริงหรือไม่ รัฐบาลซีเรียและพันธมิตรของพวกเขาอย่างรัสเซียก็กล่าวหาว่าเรื่องอาวุธเคมีนั้นเป็นการจัดฉากของชาติตะวันตกและไม่ได้เกิดขึ้นจริง
 
ท่ามกลางการต่อสู้กันด้วยข่าวสารและข้ออ้างความชอบธรรมสื่อบีบีซีตั้งข้อสังเกตว่ามีคนที่เรียกตัวเองเป็น "นักกิจกรรมโซเชียลมีเดีย" จำนวนหนึ่งที่ตั้งตนว่าเป็นผู้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 เม.ย. ที่เกิดเหตุอาวุธเคมี แต่คนกลุ่มนี้กลับพูดโดยกล่าวอ้างใช้คำแบบเดียวกับสื่อรัฐบาลรัสเซีย เช่นคำว่า "จัดฉาก" โดยกล่าวหาว่ามีกลุ่มหัวรุนแรงหรือกลุ่มจารชนที่พยายามสร้างเรื่องกล่าวหารัฐบาลบาชาร์ อัลอัสซาด ของซีเรียเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการแทรกแซงจากตะวันตก
 
มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้จะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ "ต่อต้านสงคราม" แต่บีบีซีระบุว่าพวกเขามีท่าที "ต่อต้านการแทรกแซงจากตะวันตก" ไปจนถึง "สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย" มากกว่า คนกลุ่มนี้ยังกล่าวหาองค์กรสื่อนานาชาติไม่ว่าจะมาจากฝ่ายการเมืองใดก็ตามว่าเป็นพวกเดียวกับรัฐบาลตะวันตก รวมถึงกล่าวหากลุ่มสิทธิมนุษยชนในรูปแบบเดียวกัน ว่าเข้าข้างชาติตะวันตก เข้าข้างซาอุดิอาระเบีย หรือเป็นพวกกลุ่มหัวรุนแรงอย่างอัลกออิดะฮ์ที่พยายามวางแผนลับๆ ยึดครองซีเรีย
 
ในหมู่บัญชีผู้ใข้งานที่น่าสงสัยเหล่านี้ บีบีซียกตัวอย่างคือบัญชีผู้ใช้ชื่อ วาเนสซา บีลลีย์ (@VanessaBeeley) และ ซาราห์ อับดัลลาห์ (@sahouraxo) บีลลีย์เป็นคนที่เขียนให้กับสื่อ 21stcenturywire.com ที่ถูกจัดแบ่งไว้ในเว็บตรวจสอบอคติของสื่อว่าเป็นสื่อที่นำเสนอ "ทฤษฎีสมคมคิดและการคาดเดาเอาเอง" รวมถึง "มีอคติเอียงขวาสุดขั้ว" บีลลีย์ ยังวิจารณ์สื่อใหญ่ๆ ของตะวันตกหลายในเรื่อการรายงานข่าวเกี่ยวกับอาวุธเคมีที่เธอเชื่อว่าไม่เป็นความจริงด้วย
 
จากการเข้าไปสังเกตการณ์การโพสต์โซเชียลมีเดียของบัญชีผู้ใช้ 2 รายนี้ในช่วงเดือน เม.ย. 2561 พบว่า พวกเขามักจะโพสต์เกี่ยวกับประเด็นข้อกล่าวหาอาวุธเคมีในซีเรียอย่างเดียวแทบจะไม่มีประเด็นอื่นเลย อาจจะมีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องบ้างเป็นบางครั้ง นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้วก็มีเพียงการพูดถึงรายงานข่าวบีบีซีที่กล่าวหาพวกเขา โดยมีการแชร์ลิงค์ข่าวบีบซีรวมถึงการพยายามตอบโต้-แก้ต่างข้อกล่าวหาว่าเป็นโซเชียลมีเดียที่เอียงข้าง มีหลายครั้งที่อ้างอิงแหล่งที่มาจากสื่อสนับสนุนรัสเซีย มีกลุ่มเพื่อนของบัญชีผู้ใช้บางคนก็พยายามทำลายความชอบธรรมของสื่อใหญ่ตะวันตกทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างตั้งคำถามต่อการขอบริจาคของสื่อเดอะการ์เดียน
 
แต่เมื่อถึงเวลาที่สื่อตะวันตกอย่างบีบีซีขอสัมภาษณ์พวกเขา พวกเขากลับปฏิเสธไม่ยอมให้สัมภาษณ์เสียเอง บีบีซีตั้งข้อสังเกตว่าบัญชีองซาราห์ อับดัลลาห์ แสดงออกในทางสนับสนุนอัสซาดและสนับสนุนรัสเซียอย่างชัดเจน แม้ว่าเธอจะระบุว่าตัวเองเป็น "นักวิจารณ์ภูมิศาสตร์การเมืองอิสระชาวเลบานอน" แต่ก็ไม่เคยมีการปรากฏชื่อในที่ใดมาก่อน และเว็บล็อกที่เธอใช้ก็ไม่ได้มีโพสต์อะไรอยู่เลย
 
อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นบัญชีผู้ใช้ที่น่าสงสัย แต่ก็ทำตัวส่งอิทธิพลต่อการพูดคุยอภิปรายกันในประเด็นซีเรียได้ โดยไม่เพียงแค่พยายามเผยแพร่ข่าวสนับสนุนรัสเซียหรือต่อต้านสื่อตะวันตกเท่านั้น พวกเขายังสร้างเรื่องใส่ร้ายกลุ่มอาสาสมัครทำงานกู้ชีพในซีเรียอย่าง "ไวท์เฮลเมตส์" ด้วย
 
จากการศึกษาวิจัยของบริษัทวิจัยโลกออนไลน์ "กราฟิกา" เมื่อช่วงปี 2560 ระบุว่าคนกลุ่มที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซียกล่าวหาว่ากลุ่มไวท์เอลเมตส์มีส่วนเกี่ยวของกับอัลกออิดะฮ์ โดยข้อเท็จจริงแล้วกลุ่มไวท์เฮลเมตส์นั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือกลุ่มคุ้มครองพลเรือนซีเรียที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านมนุษยธรรม มาจากกลุ่มอาสาสมัครรวม 3,400 คน จากหลายสาขาวิชาชีพซึ่งในอดีตคนเหล่านี้เคยเป็นครู, วิศวกร, คนตัดผ้า หรือนักดับเพลิง พวกเขาเป็นหน่วยกู้ชีพที่ทำงานช่วยเหลือพลเรือนซีเรียนับหมื่นคนได้ในช่วงที่มีสงครามกลางเมือง
 
จอห์น เคลลี ประธานบริหารของกราฟิกากล่าวว่าการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นถึงแบบแผนบางอย่างที่คนกลุ่มนี้ใช้ และมีลักษณะบางอย่างที่ทุกคนทำเหมือนๆ กัน เช่นในกรณีของอับดัลลาห์ที่มีอิทธิพลมากพบว่าผู้ติดตามเธอมักจะมีความสนใจร่วมกันบางอย่าง เช่น เป็นกลุ่มสนับสนุนเป้าหมายของปาเลสไตน์ สนับสนุนรัสเซีย เป็นพวกชาตินิยมคนขาว เป็นพวกกลุ่มขวาจัดหรืออนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ขวาจัดในยุโรปรวมถึงกลุ่มผู้เชื่อเรื่องสมคบคิด 
 
คนกลุ่มนี้ยังเคยผลักดันเรื่องเล่าในแบบของตัวเองเกี่ยวกับซีเรียตั้งแต่การโจมตีด้วยอาวุธเคมีเมื่อปี 2560 ด้วยแฮชแท็ก #SyriaHoax  ที่อ้างว่ากรณีอาวุธเคมีปี 2560 ก็เป็น "เรื่องแต่ง" เช่นกัน ขัดกับหลักฐานที่ได้รับมาจากการตรวจสอบของยูเอ็น
 
สก็อตต์ ลูคัส ศาตราจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมและบรรณาธิการสื่ออีเอเวิร์ลวิวกล่าวว่าถึงแม้จะเป็นเรื่องดีที่มีคนนำเสนอมุมมองด้านข้อมูลข่าวสารที่ต่างออกไปจากมุมมองแบบทางการ แต่กรณีของโซเชียลแพร่ข่าวปลอมเหล่านี้ก็น่าเป็นห่วง กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ทำในสิ่งที่เป็นการรายงานข่าวเลยแต่เป็นการทำตัวเป็นแหล่งข่าวเสียเองและมีการเอียงข้างอย่างมาก เพราะพวกเขาเริ่มต้นด้วย "เรื่องเล่า" แทนที่จะเริ่มต้นด้วย "ข้อเท็จจริง" และสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือการที่เรื่องนี้เล่าเท็จเหล่านี้แพร่สะพัดออกไปกลบทับข้อเท็จจริงหรือมุมมองอื่น
 
นอกจากนี้ยังเคยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการแพร่กระจายข้อมูลเท็จอาจจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย เดวิด แพทริการากอส ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียกล่าวว่า ในยุคก่อนหน้านี้โฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตจะพยายามสร้างภาพให้สหภาพโซเวียตดูเป็นสังคมต้นแบบ แต่ในตอนนี้รัสเซียใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการสร้าง "เรื่องเล่า" หลายแบบออกมาจำนวนมากจนทำให้คนสับสนมองไม่ออกว่าเรื่องไหนเป็นความจริง
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Syria war: The online activists pushing conspiracy theories, BBC, 19-04-2018
 
How Syria's White Helmets became victims of an online propaganda machine, The Guardian, 18-04-2018
 
การสังเกตการณ์ account twitter
 
vanessa beeley
 
Sarah Abdallah
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษา ล่างสู่บน ร่วมเอกชน ใช้เทคโนโลยี

Posted: 21 Apr 2018 05:19 AM PDT

วงเสวนาปฏิรูปการศึกษา นำเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาไทยให้เป็น 4.0 หนุนโรงเรียนแนวใหม่ ร่วมรัฐ เอกชน ประชาสังคม ลดกฎระเบียบ รวมกลุ่มทุกภาคส่วนเป็นภาคีจัดทำนโยบายการศึกษาจากล่างสู่บน ชวนคนช่วยกันคิดเทคโนโลยี นวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนต้องสร้างผลผลิตที่หุ่นยนต์แทนไม่ได้

ซ้ายไปขวา: มีชัย วีระไวทยะ กฤษดา เรืองอารีรัชต์ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เรืองโรจน์ พูนผล

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI ร่วมกับภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ TEP จัดเสวนา "Reform Showcase: การศึกษา 0.4 ทำไงดีให้เป็น 4.0" โดยมี ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ตัวแทนจากเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย มีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt Thailand และกองทุน 500 Tuk Tuks และสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เป็นวิทยากร

มีชัยได้นำเสนอนโยบาย Partnership School หรือชื่อเดิมคือ Public School คือนโยบายใหม่ที่ให้อิสระโรงเรียนในการบริหารจัดการและคัดเลือกบุคลากรได้เอง เป็นการปรับรูปแบบบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัวและเป็นอิสระมากขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมนอกเหนือจากภาครัฐ โดยเฉพาะภาคเอกชน สถานประกอบการ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนเริ่มพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อปลดล็อคกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการการจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคลากรและหลักสูตรวิชาการ และได้กำหนดแนวทางในการคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบ รวมถึงคัดเลือกองค์กรเอกชนหรือองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมสนับสนุนโรงเรียนต้นแบบเหล่านั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา มุ่งสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเกิดส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

มีชัยกล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเปลี่ยนชื่อจาก Public School เพราะว่ากลัวชื่อจะสับสนกับโรงเรียนรัฐบาลที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ยื่นขอร่วมโครงการ Partnerchip School กว่า 60 โรงเรียน มีบริษัทเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมเป็นภาคี โดยมีจากทั้งกลุ่มที่ร่วมมือในนโยบายประชารัฐและบริษัทอื่นๆ บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ถึงสองเท่า โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้

อรรถพล: รีบเร่ง คลุมเครือ ไม่มีส่วนร่วม คือปัญหามติจัดตั้งโรงเรียนกึ่งรัฐ-เอกชน

กฤษดานำเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาด้วยการขับเคลื่อนจากภาคประชาชน เพราะเห็นว่า ที่ผ่านมามีความยายามในการปฏิรูปการศึกษามากว่า 20 ปี แต่ยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เพราะนโยบายที่ดีที่มาจากข้างบนลงล่างที่นโยบายออกมาจากส่วนกลางให้ปฏิบัติตาม มักไม่สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ การปฏิรูปแบบบนลงล่างจึงไม่เกิด ถ้าพ่อแม่และครู และเด็ก โรงเรียน ชุมชนไม่เชื่อถือในแนวทางปฏิบัติ เช่น ครั้งหนึ่งเกิดนโยบายให้เด็กเรียนใกล้บ้าน ใกล้ที่ไหนเรียนที่นั่น ปรากฎว่าคนแห่ย้ายที่อยู่เยอะ กลายเป็นอยากเรียนที่ไหนก็ย้ายไปที่นั่น หรือกรณีที่ครูให้เด็กออกไปทำกิจกรรมข้างนอก พ่อแม่ก็มาด่าว่าสอนแบบนี้เด็กจะเข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างไร

แม้มีความพยายามขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาไทยดังที่คาดหวัง จึงนำมาสู่การก่อตั้งภาคีเพื่อการศึกษาไทย เกิดจากการรวมตัวขององค์กรภาครัฐ เอกชน ภาคสังคม และบุคคลที่มีความเชื่อเดียวกันว่าระบบการศึกษาที่ดีเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เป็นการสร้างเครือข่ายและพื้นที่การทำงานร่วมกันด้วยการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม ให้คนทั่วไปตระหนักรู้ถึงพลังและความสามารถในการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาจากจุดที่ตนอยู่

เรืองโรจน์ นำเสนอความเคลื่อนไหวทางสังคมในโครงการ Education Disruption & EdTech Hackathon ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเทคโนโลยีและนักการศึกษาเพื่อ disrupt การศึกษาไทย โดยเห็นว่า ศตวรรษที่ 21 กำลังถูกถาโถมด้วยสึนามิแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี ตัวอย่างกำลังเกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจนคือการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเกือบทุกด้าน การศึกษาที่ยังสร้างคนเพื่อป้อนเข้าระบบโรงงานจะทำให้สังคมมนุษย์ล้มเล้ว

ในอนาคต ระบบการศึกษาจะต้องดึงความเป็นคนให้กลับมา โดยต้องสร้างทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้เช่น การแก้ปัญหาซับซ้อน การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ ห้องเรียนในอนาคตจะต้องเน้นพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคลและควรถูกกำหนดโดยนักเรียนที่จะเป็นคนอยู่ต่อไปในอนาคต เพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดเช่นนี้ โดยปัจจุบันตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาหรือ EdTech มีความน่าสนใจมากขึ้น มีแหล่งทุนมากขึ้นและมีคนที่เข้ามาทำงานมากขึ้น

สมเกียรตินำเสนอนโยบายเขตการศึกษาพิเศษเพื่อขยายผลโรงเรียนดีและสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการศึกษาในพื้นที่จริง คือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ Education Reform Sandbox โดยระบุว่า สถานการณ์และระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประดับพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่ที่มีการขยายผลของการคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนในโรเรียน มีความต้องการปรับเปลี่ยนนโยบาย กฎระเบียบที่แตกต่างจากระบบการศึกษาเดิม พร้อมทั้งต้องการให้มีการประเมินผลกระทบเพื่อหานโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศ

ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้ โรงเรียนจะมีอิสระด้านการบริหารและได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และต่อยอดนวัตกรรมด้านการสอนต่างๆ ตามบริบทของตน และจะไม่มีภาระการดำเนินโครงการพัฒนาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายผลนวัตกรรม ฝ่ายบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถปรับกฎระเบียบและนโยบายได้อย่างคล่องตัวและสอดคล้องกันทั้งด้านหลักสูตร สื่อการสอน บุคลากร การเงิน การสอบ การประเมินผลและอื่นๆ ซึ่งความสอดคล้องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่ระบบการศึกษาใหม่

ทางผู้จัดงานยังได้เชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมงาน TEP Forum 2018 "ถึงเวลาเปลี่ยนการศึกษาไทย" ในวันที่ 5-6 พ.ค. 2561 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ติดตามข่าวสารและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ Facebook: TEP - Thailand Education Partnership และ Facebook: tdri.thailand

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลขออย่าเพิ่งไปรื้อบ้านพัก 10 ปี มาดูกันว่าจะกลับเป็นป่าได้ไหม ฝ่ายประท้วงจ่อฟ้องศาลปกครอง

Posted: 21 Apr 2018 04:07 AM PDT

 
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จัดปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาศาลยุติธรรมครบรอบ 136 ปี ขออย่าเพิ่งไปรื้อบ้านพัก 10 ปี มาดูกันว่าจะกลับเป็นป่าได้ไหม ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนให้รื้อถอนบ้านพัก  จ่อฟ้องศาลปกครอง

ภาพซ้าย ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 

21 เม.ย.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาศาลยุติธรรมครบรอบ 136 ปี ทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ขึ้นบริเวณด้านหน้า และด้านข้างของอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 หลังใหม่ เป็นแนวยาวไปถึงด้านหน้าของอาคารชุดบางอาคารที่อยู่ใกล้กับด้านหลังของอาคารศาล โดยได้นำต้นราชพฤกษ์ เหลืองอินเดีย ต้นพะยูง กัลปพฤกษ์ จำนวนรวม 300 ต้น มาร่วมกันปลูก โดยมี ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ให้เกียรติมาร่วมปลูกต้นไม้กับทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่นำโดย สวัสดิ์ สุขวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมแรกจากทางฝั่งของทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จัดขึ้นท่ามกลางกระแสการคัดค้าน และเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่ต้องการให้รื้อถอนอาคารบ้านพักของเจ้าหน้าที่ศาลที่สร้างขึ้นในพื้นที่ป่าของดอยสุเทพ

ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 กล่าวว่า ไม่อยากจะโต้เถียง แต่ในมุมมองของเรา เราทำถูกต้องแล้วในแง่ของกฎหมาย และเป็นทรัพย์สินทำลายยาก ไม่ง่ายที่จะทำลายทิ้ง ที่ผ่านมามีติดต่อจะมาเรื่องรังวัดเขต ต้องเป็นส่วนกลางที่กรุงเทพฯ และ บัณรส บัวคลี่ ตัวแทนเครือข่ายทำหนังสือสอบถามมาเรื่องโครงการปลูกป่าว่าใช้งบประมาณส่วนไหน ซึ่งได้โทรแจ้งว่าใช้เงินกองทุนจากผู้บริจาคของผู้พิพากษา แต่ไม่ได้มาขอเจรจาอะไร
 
"ทราบว่าวันที่ 2 เมษายน ไปรวมตัวกันอยู่ที่หน้าค่ายกาวิละ ก็บอกว่ามาคุยกับตนได้ แต่ขอคุยธรรมดา ก็เลยไม่ได้คุยกัน ซึ่งศาลไม่ได้รับการติดต่ออะไรจากฝ่ายทหารในการประชุมครั้แรก จนวันที่ 9 เมษายน ที่มีหนังสือเชิญมาแต่ในส่วนของสำนักงานศาลที่กรุงเทพฯ จะมีการประชุมอยู่แล้ว เลยแจ้งว่าให้รอผลการประชุมดีกว่า เรานิ่งเพราะเราถูกฝึกมาอย่างนี้ ให้พูดน้อย อดทน อย่าเป็นคู่พิพาท ฝึกมาอย่างนี้ หากมาแบบสุภาพบุรุษเชิญเลย" สวัสดิ์ กล่าว
 
ชำนาญ กล่าวว่า ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด และมากที่สุด ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้ขัดข้อง ศาลยุติธรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจประเด็นนี้ เพราะทั้งประธาน และผู้พิพากษาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผู้พิพากษามีหน้าที่หลักคือพิจารณาคดี ส่วนเรื่องอาคารสถานที่เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นฝ่ายจัดอำนวยความสะดวกให้ ประเด็นกฎหมายที่เครือข่ายอ้างถึง ต้องไปดูให้รอบคอบว่าใช้ได้จริงหรือเปล่า เพราะทรัพย์สินของแผ่นดิน ใครจะไปรื้อถอนทำลายมีความผิด ไม่สามารถทำได้ ต้องออกเป็น พ.ร.บ.ต้องเสี่ยงภัยต่อการรับผิดชอบ ซึ่งไม่ง่ายเลย การใช้เงินของแผ่นดินมีระเบียบวินัย ใครจะไปคิดทุบรื้อทำลายไม่ได้ ส่วนจะไปพิจารณากันเป็นอย่างไร สำนักงานศาลยุติธรรมคงไม่ขัดข้อง
 
ชำนาญ กล่าวด้วยว่า อีกไม่นานจะต้องมีคดีเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีการฟ้องกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้วใครจะพิจารณาหากผู้พิพากษาไม่มีที่อยู่ ท่านอาจจะต้องเดินทางไปฟ้องกันที่กรุงเทพฯ ทั้งภาคเลย เป็นเรื่องใหญ่ ท่านไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิพากษา ในขณะที่คดีเลือกตั้งต้องใช้ความรวดเร็ว เพราะท่านต้องเดินทางมาไกลในการจะพิจารณาคดีอย่างไร น่าเป็นห่วง ที่อยากให้รื้อถอนไปแล้วให้ไปหาที่ใหม่ พื้นที่ไกลจากเมืองตั้ง 10 กิโลเมตร จะให้ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่เดินทางอย่างไร
 
"อย่าเพิ่งไปรื้อมัน ให้ศาลอยู่ก่อน แล้วก็ให้ศาลปรับปรุงระบบสิ่งแวดล้อมทั้งปวงจนกระทั่งอีก 10 ปี มาดูกันว่าศาลสามารถปรับปรุงบริเวณที่ทำการของศาลรวมทั้งบ้านพักให้มีสภาพป่าได้ไหม ตอนนั้นแล้วค่อยมาดูกันจะดีกว่าไหมครับ นี่เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง ที่คิดว่าน่าจะดีกว่าจะรื้อถอน บริเวณที่ดินที่ก่อสร้างมีแค่ 89 ไร่เท่านั้น ถือว่าเล็กน้อยมาก และบริเวณบ้านพักก็เหลืออยู่แค่ 40 กว่าไร่ น้อยมาก เราไม่เอาเวลาไปแก้ไขปัญหาอื่นหรือ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การรื้ออย่างเดียว ขอเวลาแค่ 10 ปี แล้วเรามาว่ากันว่าบริเวณนี้ยังเป็นทะเลทรายค่อยมาดูกันอีกที" ชำนาญ กล่าว
 
ชำนาญ ยืนยันว่าจะไม่ฟ้องร้อง พร้อมกล่าวว่า ท่านที่พูดจาพูดเท็จ หรือในเชิงหมิ่นประมาท ท่านรู้อยู่แก่ไจว่าท่านพูดอะไรออกมา ศาลอยากแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ไปใช้กฎหมายกับประชาชน อยู่ร่วมกันได้ บรรดาเครือข่ายทั้งหลายอย่าโกรธแค้นอะไรเลย มาพูดกันดีๆ และเรายินดีพูดคุยกับบรรดาแกนนำทั้งหมด ไม่ใช่เวทีสาธารณะนะ ถ้าท่านไม่เชื่อศาลแล้วท่านจะไปเชื่อใคร
 
ชำนาญ กล่าวต่อว่า ศาลไม่เคยนัดกับใครไปเจรจาในค่ายทหาร ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่เคยนัดไปคุยในค่ายทหาร สิ่งสำคัญคือหน้าที่ของเราคือตัดสินอย่างยุติธรรม เที่ยงธรรม ศรัทธาของประชาชนน่าจะอยู่ที่ตรงนี้ เรื่องบ้านพักเรื่องเล็กน้อยมาก อย่าเอามาเป็นเหตุให้เสื่อมศรัทธาศาลยุติธรรมเลย เพราะผู้พิพากษาไม่ได้เกี่ยวข้องเลย หากเสื่อมศรัทธาต่อผู้พิพากษา จะอันตราย ในฐานะผู้พิพากษา หน้าที่คือทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ อย่าเอาบ้านพักแค่เนื้อที่ 89 ไร่ มาโจมตีว่าทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อศาล มันคนละเรื่องกัน
 

ค้านบ้านพัก ใกล้งานทำบุญปลูกต้นไม้ ' 136 ปี ศาลยุติธรรม'

มีรายงานข่าวด้วยว่า ช่วงที่มีการปลูกต้นไม้ด้านใน บริเวณด้านหน้าได้มีเครือข่ายภาคประชาชนที่เคลื่อนไหว 2 คน นำโดย กฤตย์ เยี่ยมเมธากร นำป้ายไวนิลมาถือเพื่อประท้วงการก่อสร้างบ้านพักศาล
 
กฤตย์ เปิดเผยว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่จะทำต่อเนื่องควบคู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มใหญ่คือเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งในวันนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ หลังจากที่วานนี้ได้ คณะกรรมการร่วมประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ประกอบด้วย ตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่,สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่,สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่,ชลประทานเชียงใหม่,ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่,อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย,ป่าไม้ และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้ ทำรายงานสรุปผลการสำรวจและกำหนดแนวเขตให้กับแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดพิจารณาตัดสินใจกรณีปัญหานี้ในวันที่ 29 เม.ย.61

จ่อฟ้องศาลปกครอง

ขณะที่ ชัชวาล ทองดีเลิศ จากมูลนิธิสืบสานล้านนา เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า กิจกรรมปลูกป่าของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่า คงเป็นกิจกรรมของศาลในการสร้างภาพพจน์ที่ดี แต่ฤดูกาลนี้ปกติเขาจะไม่ปลูกต้นไม้กัน เพราะอากาศร้อน และแล้ง ต้องใช้น้ำมากในการดูแล และโอกาสรอดน้อย เพราะปกติเขาจะปลูกกันในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แต่ก็ไม่อยากมองว่าเป็นการสร้างภาพ ถือว่าเป็นเรื่องดีๆ ก็แล้วกัน แต่สำหรับประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่ถูกเรียกว่าหมู่บ้านป่าแหว่ง เป็นการก่อสร้างที่ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะดำเนินการนั้น เป็นสิ่งที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าขบคิดกันมาตลอด เพราะจริงๆ แล้วควรทำประชาพิจารณ์ และตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราพยายามส่งสัญญานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ศาลออกมาอ้างว่าทำทุกอย่างถูกกฎหมายทุกประการ
 
"เราคงต้องมาดูข้อเท็จจริงกัน เพราะเริ่มมีคณะ และกลุ่ม กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หากหลังวันที่ 29 เมษายน ไม่มีความชัดเจน ชาวเชียงใหม่จะเริ่มเคลื่อนไหวใหญ่ พร้อมเดินหน้ากระบวนการฟ้องศาลปกครองคู่กันไป เพราะปมของการก่อสร้างบ้านพักตุลาการมีหลายประเด็นที่ต้องรวบรวม รวมทั้ง การตัดต้นไม้หวงห้าม โดยเฉพาะไม้สักที่เห็นจากภาพถ่ายหลายมุม หากเรื่องเดินหน้าถึงขั้นฟ้องศาลปกครอง ก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงทุกเรื่อง ซึ่งทีมทนายจะทำหน้าที่นั้นอย่างเข็มแข็ง" ชัชวาล กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์ และเฟสบุ๊ค 'Kowit Boondham'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. เตรียมตั้งกรรมการสอบคลิปเสียงหลุดสรรหา กสทช.

Posted: 20 Apr 2018 11:48 PM PDT

ประธาน สนช. เตรียมตั้งกรรมการสอบ กรณีมีการเผยแพร่คลิปเสียงอ้างถึง 'ประยุทธ์' กรณีสรรหา กสทช.ใหม่ ยืนยันไม่ใช่คลิปเสียงในที่ประชุมวิป สนช. อย่างแน่นอน

 
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปเสียง ซึ่งเนื้อหาบางส่วนมีเสียงพูดที่อ้างถึงนายกรัฐมนตรีว่าไม่พอใจบุคคลที่เข้ารับการสรรหาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 8 คนจาก 14 คน  ทำให้ สนช. มีมติไม่เลือกรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. ว่าไม่ใช่คลิปที่เกิดในที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมของบุคคลที่สมควรได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาฯได้ทำงานเสร็จเรียบร้อยมานานแล้ว ซึ่งขณะนี้ สนช. อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายหลังจากที่มีการแอบอ้างคลิปเสียงดังกล่าว โดยจะดำเนินการอย่างเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความชัดเจน
 
ประธาน สนช. กล่าวว่ากรณี  สนช. มีมติไม่เลือก กสทช. นั้น ขอให้กลับไปติดตามเหตุผลที่ได้มีการเผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ซึ่งได้มีการให้รายละเอียดไว้ชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตามส่วนตัวได้ฟังคลิปดังกล่าวเพียงเล็กน้อย พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่คลิปเสียงในที่ประชุมวิป สนช. อย่างแน่นอน เพราะในการประชุมในวันดังกล่าวมีการประชุม 2 เรื่อง คือเรื่องที่มีการฟ้องร้อง สนช. และเรื่องรายงานการทำงานของคณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ ส่วนตัวจึงไม่ทราบว่าคลิปดังกล่าวเกิดขึ้นที่ใด จึงต้องรอการตรวจสอบ ทั้งนี้หากเป็นข้อมูลเท็จก็ถือว่าเป็นความผิด  
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' ย้ำต้องรื้อถอนบ้านพักตุลาการ

Posted: 20 Apr 2018 11:29 PM PDT

เครือข่าย 'ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' ออกแถลงการณ์เสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมยืนยันต้องรื้อถอนบ้านพักข้าราชการตุลาการ 

 
 
 
21 เม.ย. 2561 เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เผยแพร่แถลงการณ์ เครือข่าย 'ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' โดยระบุว่าเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้กล่าวถึงเหตุผลว่า "เหตุใดจึงต้องรื้อถอนบ้านพักข้าราชการตุลาการ ภาค 5" มาโดยตลอด กล่าวคือ เพื่อลบรอยแผลบนผืนป่าแห่งนี้ออกไปเสีย คืนผืนป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ไม่เพิ่มมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จากเหตุการณ์ก่อสร้างบ้านพักบนพื้นที่ไม่เหมาะสม บนพื้นที่ลาดชัน ทำลายป่าและต้นไม้หวงห้าม เปลี่ยนแปลงทางน้ำ ถมแหล่งน้ำ ทำลายโขดหิน เปิดหน้าดิน สร้างมลพิษทั้งทางน้ำ เสียง ความสั่นสะเทือน แสงไฟสว่างต่อสัตว์ป่า มีความเสี่ยงน้ำท่วม ดินถล่ม ไฟป่า กระทบต่อน้ำดิบในการทำประปาของคนเชียงใหม่ รวมถึงที่แห่งนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติสูง ทั้งเรื่องไฟป่า น้ำป่า และดินสไลด์ เนื่องจากการก่อสร้างขวางลำห้วยถึง 3 สาย เป็นการกระทำที่เป็นการขีดแนวการก่อสร้างล้ำเข้าไปในป่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้หน่วยงานและประชาชนอื่นที่ไม่มีจริยธรรมทางสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเสื่อมในศรัทธาต่อฝ่ายตุลาการจะคงอยู่อย่างน่าเศร้าเสียใจ สร้างความขัดแย้งของประชาชนต่อข้าราชการตุลาการ และที่สำคัญสุด คือ มิให้กระทบต่อความรู้สึกของชาวล้านนาที่มีต่อดอยสุเทพ ดอยอันศักดิ์สิทธิที่พวกเรานับถือมาอย่างยาวนานเกินกว่าพันปี พวกเราจึงไม่มีวันที่จะยอมรับได้ เมื่อเกิดการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี และความเชื่อของเรา ทั้งๆ ที่พวกเราต่างร่วมกันคัดค้านมาตั้งแต่ต้น มันคือความเจ็บปวดเหลือเกิน เมื่อหน่วยงานที่เราศรัทธามาตลอด กลับทำร้ายจิตใจ และก้าวล่วงต่อดอยสุเทพที่เราศรัทธายิ่งได้มากถึงขนาดนี้
 
แนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
 
1) เพื่อความปลอดภัย แก้ปัญหาปัจจุบัน และป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายจึงห้ามมีกิจกรรมของมนุษย์บนบ้านพักตุลาการจากแนวเขตป่าเดิมขึ้นไป (No man's land) โดยออกเป็นมติครม. หรือกฎหมาย
 
2) เสนอให้พื้นที่ป่าบ้านพักตุลาการและที่ราชพัสดุทั้งหมดเชิงดอยสุเทพผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ซึ่งทางอุทยานดอยสุเทพ-ปุยกำลังดำเนินขยายเขตอุทยานอยู่แล้วและเป็นวิสัยทัศน์ของกรมอุทยานฯ อีกด้วย ที่จะเพิ่มพื้นที่อุทยานฯ เป็นร้อยละ 25 ในปี พ.ศ.2569 จึงขอผนวกพื้นที่ป่าราชพัสดุตีนดอยสุเทพทั้งหมดเข้าไปด้วย เพื่อตอบวิสัยทัศน์กรมอุทยานฯ และรับเอาสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่า ให้เป็นสัตว์ป่าตามกฎหมายและร่วมกันฟื้นฟูป่า ระบบนิเวศน์ภูเขา รวมทั้งป้องกันการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานอื่นๆ อีกในรูปแบบใหม่ลักษณะ Co-management ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ
 
3) ระหว่างกระบวนการขยายเขตอุทยานฯ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาดำเนินการขอให้มีการประเมินผลกระทบ ความเสียหาย และให้มีการฟื้นฟูนิเวศน์ป่าดอยสุเทพในพื้นที่ดังกล่าวโดยผู้ชำนาญการและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แล้วทำ MOU ระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ห้ามมีการใช้พื้นที่ ดำเนินการโดยผู้ว่าฯ แม่ทัพภาค 3 มทบ.33 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศน์ภูเขาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
 
4) ให้ตั้งคณะที่เชี่ยวชาญมาวางแผนขั้นตอนการ "รื้อบ้านพักตุลาการ" โดยที่จะไม่ถูกฟ้องร้องภายหลัง นายกสามารถแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
 
5) รัฐบาลควรจะนำเอาโครงการบ้านพักตุลาการบนดอยสุเทพนี้ เป็นกรณีตัวอย่าง ให้กับประชาชนของประเทศ ให้ได้เรียนรู้ โดยทำเป็นสื่อที่รวบรวมข้อมูลให้ประชาชน คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงเพื่อศึกษาเรียนรู้ (ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์) โดยตั้งเป็น "ธรรมนูญป่า" ของประเทศ ที่มีหลักคิด คือ เอาสายใยความเชื่อความผูกพันและสิทธิความเป็นเจ้าของนิเวศวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นและความยั่งยืนเป็นหลัก เพื่อบอกกับประชาชนทุกคนว่า เราจะไม่ทำลายป่า โดยไม่มีเหตุอันควร
 
6) ให้มีการประกาศเป็นทางการต่อสาธารณะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อเป็นสัญญาประชาคมว่าจะไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปใช้พื้นที่ราชพัสดุที่เป็นป่ารอยต่อแนวป้องกันระหว่างพื้นราบกับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย อีกต่อไป โดยจะประกาศเขตอุทยานฯ คลุมลงมาให้เป็นป่าผืนเดียวกันในที่สุด
 
7) ให้มีการประกาศให้พื้นที่ป่าดอยสุเทพเป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามในมาตรา 43-45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพื่อป้องกันหรือยับยั้งการดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินใดๆ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าดอยสุเทพที่มีคุณค่าควรแก่การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านธรรมชาติ และศิลปกรรมให้ดำรงอยู่และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
 
ข้อเสนอสองทางเลือก
 
ขณะนี้ท่านนายกฯ คือ ที่พึ่ง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอันเรื้อรังนี้ได้ โดยท่านมีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทาง คือ รื้อ กับไม่รื้อ
 
ข้อ 1 ถ้ารื้อ
 
1) ปัญหาก็จะจบ ชาวเชียงใหม่จะยุติการเรียกร้อง บ้านเมืองสงบ ปัญหาไม่บานปลาย กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ลุกลามเกิดเป็นเรื่องใหญ่ในภายหน้า และเมื่อรื้อถอนไปจะทำให้มีบรรยากาศที่ดี ก่อนมีการเลือกตั้ง
 
2) เมื่อมีการฟื้นฟูป่า แม้จะใช้เวลา แต่คนพื้นที่พร้อมจะระดมสรรพกำลังกาย กำลังทรัพย์ช่วยกันจะทำให้บาดแผลอันใหญ่และลึก ทั้งบาดแผลที่เป็นป่าแหว่ง และบาดแผลบนจิตใจของชาวเชียงใหม่ และคนไทยทั้งปวงค่อยๆ ลบเลือนไป
 
3) คนรุ่นนี้ คนรุ่นปัจจุบัน ก็จะไม่ถูกประณามจากรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะได้สู้..เพื่อดอยสุเทพ พวกเราได้ลุกขึ้นมาต่อสู้แล้ว สู้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง ไม่มีเหตุผลทางการเมืองทุกระดับเข้ามาเกี่ยว ด้วยสองมือของประชาชนผู้ไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่เราจำเป็นต้องทำ เพราะดอยสุเทพคือมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา
 
4) ชาวเชียงใหม่ คนภาคเหนือ และคนไทยทั้งประเทศ จะเกิดความศรัทธาต่อ นายกฯ ประยุทธ จันทร์โอชา ว่าท่านมีหัวใจเป็นธรรม เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในทุกมิติ ท่านรักษาคำสัตย์ ที่ว่า "จะคืนความสุขให้กับคนไทย" เป็นนายกที่มีหัวใจละเอียดอ่อน รักสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รักษาป่า ตามนโยบายที่เคยประกาศไว้ รวมทั้งเป็นผู้ที่จริงจังน้อมนำต่อพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการรักษาป่า ดูแลป่า
 
5) ทุกคนมีความสุข win - win แม้จะพบกับข้อยุ่งยากด้านกฎหมายบางประการ แต่เพื่อสิ่งที่ดีงามของประเทศโดยองค์รวม ปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้อย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ซึ่งตอนนี้ทางเครือข่าย "ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ" ได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่คัดค้านบ้านพักข้าราชการตุลาการ เพื่อขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จำนวนกว่า 50,000 รายชื่อ แนบนำเสนอ พร้อมกับมติของคณะกรรมการร่วมมาด้วยแล้ว
 
ข้อ 2 หากท่านไม่รื้อ... โดยอ้างว่าเสียดายงบประมาณ จะเก็บไว้ทำศูนย์การเรียนรู้
 
แสดงให้เห็นว่านายกไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น ไม่เข้าใจหัวอกชาวเชียงใหม่ ไม่เข้าใจศรัทธาของคนล้านนาที่มีต่อองค์พระบรมธาตุดอยสุเทพ และครูบาศรีวิชัย การเสนอให้เก็บไว้ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ ไม่ใช่เจตนารมณ์ตั้งแต่ต้นของชาวเชียงใหม่และไม่เชื่อว่าส่วนรวมจะได้ประโยชน์จริง จึงต้อง 'รื้อ' เท่านั้น เอา ตาน้ำ ห้วยชะเยือง ห้วยแม่หยวก ป่า และสิ่งแวดล้อมดีๆ คืนมา ส่วนรวมจึงจะได้ประโยชน์จริงๆ การเอาไปทำอย่างอื่นที่ประชาชนไม่อยากได้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่ความสิ้นเปลือง และปัญหาใหญ่จะตามมาอีกมาก เพราะท่านจะต้องเตรียมรับมือจากพลังประชาชนที่รักป่าทั้งประเทศอันเป็นพลังบริสุทธิ์ที่มีต่อความเชื่อ ความศรัทธา ที่จะไม่ให้มีใครมาตัดไม้ทำลายป่า และมาลบหลู่ดอยศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
 
เรื่องนี้ จะจบไม่สวย...จะบานปลาย กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า บ้านเมืองที่เพิ่งกลับมาสงบร่มเย็น ก็จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย บาดหมาง ไม่รู้จักจบสิ้น ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเสื่อมในศรัทธาต่อฝ่ายตุลาการจะคงอยู่อย่างน่าเศร้าเสียใจ
 
อีกประการหนึ่ง สถานที่แห่งนั้น บัดนี้เป็นเสมือนเมืองต้องคำสาป ย่อมไม่มีใครต้องการเข้าไปใช้บริการ หรือทำงานอย่างแน่นอน เนื่องจากต้องทนต่อสายตา และเสียงก่นด่าของคนเชียงใหม่ อีกทั้งยังต้องวิตกกังวลต่อภัยพิบัตินานาที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ เพราะทำเลตั้งอยู่บนพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ
 
บัดนี้ อยู่ที่ท่านแล้วครับว่า จะเลือกทางไหน
เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกฯจะเข้าใจถึงเหตุผลอันละเอียดอ่อนนี้ และไตร่ตรอง มองเห็นปัญหาอย่างลึกซึ้งในทุกมิติสังคม เพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นผลดีต่อส่วนรวมได้อย่างแท้จริง
 
นอกจากนี้ เครือข่าย "ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ" ที่ได้เปิดแคมเปญผ่านเว็บไซต์ www.change.org ด้วย ดูเพิ่มเติมที่ https://goo.gl/N2cnns
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพื่อไทยระบุ 'ประยุทธ์' ดูด 'นักการเมือง' หวังเป็นนายกต่อ

Posted: 20 Apr 2018 11:11 PM PDT

'อนุสรณ์' ระบุ คสช.โชว์พลังดูดกลุ่มการเมืองเข้าร่วมงานกับรัฐบาลเพราะห่วงแต่ปัญหาให้ตัวเอง 'จาตุรนต์' เชื่อ 'ประยุทธ์' กว้านตัวนักการเมืองหวังเป็นนายกต่อ

 
21 เม.ย. 2561 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาล คสช.โชว์พลังดูดกลุ่มการเมืองเข้าร่วมงานกับรัฐบาล ว่ารัฐบาล คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีเครื่องมือ มีเครือข่าย องคาพยพ มีงบประมาณที่สามารถบริหารจัดการทุกอย่างตามความประสงค์ของตัวเอง จะใช้มาตรา 44 ปลดใครก็ได้ ปลดแล้วอยากตั้งใหม่ให้รับตำแหน่งที่ใหญ่กว่าก็ได้ โชว์พลังดูดยิ่งกว่าพญาแร้งที่เอามาสูบปลาในบ่อคนอื่น จะเททิ้งใคร จะ กกต. กสทช. ก็ง่ายยิ่งกว่ากดรีโมท และไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านใด ๆ หรือไม่ เท่าที่ดูแทบไม่มีอะไรที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ทำไม่ได้ นอกจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้พี่น้องประชาชน การปฏิรูปประเทศ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น 
 
'จาตุรนต์' เชื่อ 'ประยุทธ์' กว้านตัวนักการเมืองหวังเป็นนายกต่อ
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อปรากฎการณ์ที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดึงแกนนำพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมทางการบริหาร ว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. ต่อไปภายหลังจากการเลือกตั้ง โดยใช้ทุกวิธีทาง ทั้งการบีบพรรคการเมือง, ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง, ทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ ซึ่งตนประเมินได้จากสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เป็นความพยายามปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ผ่านการสนับสนุนจากพรรคการเมือง ที่มีสิทธิ์ส่งบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองจะสนับสนุน
          
นายจาตุรนต์ กล่าวโดยเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯ ด้วยวิธีที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกฯ ตามบัญชีของพรรคซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนด เพราะเป็นวิธีที่จะกลับเข้าสู่อำนาจได้ง่ายกว่า เพราะใช้เสียงสนับสุนนจากรัฐสภาเพียงเสียงข้างมาก เกินกึ่งหนึ่ง ของเสียงทั้งสิ้น 750 เสียง เท่ากับใช้เสียง ส.ว. 250 เสียง เสียงจาก ส.ส. เพียง 126 เสียง เท่านั้นซึ่งง่ายกว่าจะใช้ระบบที่มาโดยนายกฯ ที่อยู่นอกบัญชีของพรรคการเมือง ที่ต้องใช้การลงมติ ด้วยเสียงข้างมาก เกิน 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งรัฐสภา คือ 500 เสียงจึงจะยกเว้นการใช้บัญชีนายกฯของพรรคการเมืองและนำไปสู่การโหวตเลือกนายกฯ คนนอก
          
"วิธีนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองดูจะเป็นทางที่ง่ายกว่า ดังนั้นเขาจึงต้องใช้ความพยายามทุกหนทางเพื่อให้พรรคการเมืองร่วมมือ และได้เสียงมากพอที่จะได้กลับมาเป็นนายกฯ และนอกจากจะหาเสียงสนับสนุนให้ได้ 126 เสียงจาก ส.ส.แล้ว เขาต้องหาเสียง ส.ส.ที่เกิน 251 เสียงเพื่อเพียงพอที่จะทำงานในระบบสภาฯ ได้ราบรื่น ซึ่งวิธีที่เขากำลังทำถือเป็นเรื่องน่าละอาย" นายจาตุรนต์ กล่าว
          
นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่าจากปรากฎการณ์ที่ คสช. ดำเนินการตนมีความกังวลว่าจะเป็นการกระทำที่ทำลายระบบนักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนและไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ ตนไม่ขอฝากเตือนหรือชี้แนะใด ๆ เพราะเชื่อว่า คสช. คงไม่ยอมรับฟัง ในขณะเดียวกันการอยู่ในตำแหน่งบริหารและใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการทุกวิถีทาง แม้จะสุ่มเสี่ยงที่จะขัดกับกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ แต่การดำเนินเอาผิด คสช. ถือเป็นเรื่องยาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมพล ครุฑแก้ว: ‘พรรคกลาง’ เพราะ “ทุกคนเป็นนักการเมืองได้”

Posted: 20 Apr 2018 11:08 PM PDT

คุยกับชุมพล ครุฑแก้ว หนึ่งผู้ก่อตั้งพรรคกลาง ยึดแนวทาง Progressive Moderate ก้าวข้ามความขัดแย้ง มุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง กับความตั้งใจก้าวข้ามความกลัวเพราะอยากทำให้สังคมรู้ว่าทุกคนเป็นนักการเมืองได้

ในแวดวงนักวิ่ง ชื่อของชุมพล ครุฑแก้ว ถือว่าโปรไฟล์ของเขาไม่ธรรมดา ขณะที่ชีวิตก่อนหน้านี้ของเขาคือหัวหน้าห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรบานและการทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แต่ทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนไป หลังจากที่ชุมพลยื่นความจำนงขอตั้งพรรคการเมือง โดยใช้ชื่อว่า 'พรรคกลาง'

แน่นอนว่าการทำพรรคการเมืองแตกต่างจากการวิ่ง มันจึงไม่ง่ายสำหรับเขาและสมาชิก บนหนทางที่เขาบอกว่าเขาเป็น Progressive Moderate ที่มุ่งสร้างความก้าวหน้ามากกว่าปะทะขัดแย้ง ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่มีนายทุนพรรค แต่จะใช้วิธีรับบริจาค และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ย่อมต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

'ประชาไท' จับเข่าคุยถึงหนทางสู่การตัดสินใจกระโดดลงมาเล่นการเมือง แนวทางของพรรคที่หลายคนตั้งคำถามว่าคืออะไร กลางที่ว่าคืออะไร ตลอดจนถึงความคิด ความเชื่อ และความฝันต่อการเมืองไทย

คุณเคยบอกว่ากลัวการเมือง ทำไมถึงกลัวการเมือง

ผมใช้คำว่ากลัว มันอาจจะคลุมเครือ ตั้งแต่ตัดสินใจลงมาก็พบว่ามีหลายสาเหตุมาก มันอาจไม่ใช่กลัว มันอาจจะเกลียด อาจจะเบื่อ อาจจะขยะแขยง ไม่อยากเข้ามายุ่ง มองในแง่ลบไปหมด สังคมไทยตอนนี้เป็นอย่างนั้น ณ จุดที่ผมเปลี่ยนความคิดได้ผมกระโจนมาอยู่อีกฝั่งแล้ว เราก็มาเจอสถานการณ์บางอย่าง เช่น ตอนนี้ผมรวบรวมคนได้เยอะมาก มีกลุ่มไลน์ซึ่งใช้คอนเน็กชั่นส่วนตัวทั้งนั้น เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องที่เคยทำงานด้วยกัน เข้ากลุ่มมาได้ 80 กว่าคน ถามว่า 80 กว่าคนนี้พร้อมที่จะออกหน้าเป็นกรรมการบริหารพรรคไม่ถึง 5 คน ทุกคนมีปัญหาแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่คือไม่พร้อมจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เขาสนับสนุนเราเต็มที่ แต่ขออยู่ข้างหลัง ไม่สามารถออกหน้ากับเราได้

ผมเคยอยู่ในสถานะแบบนี้มาก่อน ก็เข้าใจ แต่สิ่งที่ผมใช้คำว่ากลัว มันคือสิ่งที่ทุกคนเป็นอยู่ ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่า บางบริษัทเขียนเลยว่าพนักงานห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีใครต่อต้านเลย เมื่อก่อนผมก็จะคิดว่าเรื่องธรรมดา เพราะก็ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ ณ จุดนี้ พอเราเปลี่ยนมาอยู่อีกฟากหนึ่ง ส่วนตัวผมคิดว่ามันคือต้นตอสำคัญที่ทำให้การเมืองไม่พัฒนาดีขึ้นกว่านี้

ตอนนี้ผมมาอยู่ฝั่งที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะให้คนทั้งหมดเปลี่ยนความคิดนี้ให้ได้ การตั้งกฎแบบนี้ ถ้ามองในแง่ประชาธิปไตย มันคือการกีดกันไม่ให้คนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำไมต้องกีดกัน มีคนบอกผมว่าเหมือนผมเอาน้ำสะอาด 1 ขวดเทลงในคลองแสนแสบ มันไม่สามารถไล่น้ำเสียออกไปได้หรอก เห็นด้วย ผมไม่เถียง ก็สังคมมันเป็นแบบนี้ กฎนั้นก็เหมือนกัน คุณกันคนทั้งประเทศหรือทั้งหมดที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยความคิดอะไรบางอย่าง

ผมพูดกับตัวเองและคนสนิทว่า นี่ต่างหากคือวัตถุประสงค์หลักที่ผมเข้ามาทำงานการเมือง ต้องการแก้ตรงนี้ แว้บแรกคือผมอยากทำพรรคต้นแบบ ถ้าจะแก้ปัญหาการเมืองต้องแก้ที่ตัวพรรคการเมือง คนที่มาเล่นการเมืองก่อน นี่ผมขยายไปอีกว่าไม่ใช่แค่พรรคการเมือง แต่คือคนทั้งสังคมเลย คุณต้องเปลี่ยนตรงนี้ก่อน ผมเชื่อนะ มีคนวิเคราะห์ว่าพรรคใหม่อย่างคุณไม่มีทางเกิดหรอก เราก็เคารพ และถ้าสังคมเป็นอย่างนี้ผมก็เห็นด้วยกับเขา แต่นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงเน้นเรื่องการเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม

ผมกำลังจะทำแคมเปญว่า ทุกคนเป็นนักการเมืองได้ อยากให้คนทั้งประเทศรู้ว่าคุณเป็นนักการเมืองได้ มันเป็นเรื่องที่ยากและดูอุดมคตินะ แต่ผมทำเรื่องนี้แน่นอน ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ในพรรคผมก็จะเน้นเรื่องนี้ ผมใส่อุดมการณ์ลงไปในพรรคด้วย คนที่เข้ามาร่วมทุกคน ผมก็จะให้อ่านข้อมูลก่อนว่าเราเน้นทำการเมืองแบบไหน การชนะการเลือกตั้งเป็นประเด็นรองก็จริง แต่ตอนลงสนามเลือกตั้งเราเต็มที่

อะไรคือจุดที่ทำให้คุณตัดสินใจกระโดดข้ามมาอีกฝั่ง

มันมีหลายเหตุผลประกอบกัน ซึ่งตอนนั้นไม่คิดว่าเกี่ยว ณ จุดที่เราไปเนปาล ผมผ่านอะไรมาเยอะมาก 100 โลครั้งแรกคนก็เซอร์ไพรส์ 100 ไมล์ครั้งแรกที่ฟูจิก็เป็นสตอรี่ยาวเหยียด เรารู้สึกว่าเราข้ามไปอีกระดับหนึ่ง จากนั้นข้ามมา 300 โลที่ฮ่องกง แล้วมา 350 โลที่อิตาลี แต่ละขั้นๆ เราไม่นึกว่าเราจะกระโดดมาทีละขั้นๆ ได้ ที่เนปาลก็เหมือนกัน

ทุกครั้งผมจะตั้งเป้าที่สูงขึ้นๆ แต่หลังจากกลับจากเนปาล รู้สึกว่าไม่อยากทำต่อแล้ว ไม่มีความท้าทายแล้ว มันเป็นการทำเพื่อตัวเรา เราทำเพราะมีความสุข เราเคยเป็นนักเรียนทุน ทำงานเพื่อประเทศชาติ แล้วลาออกจากงานเพื่อทำเรื่องนี้ มีแต่คนเชียร์ให้ทำ เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งมันรู้สึกขัดบางอย่างเพราะเราเคยทำงานให้ประเทศชาติ พอจบจากเนปาลมันมีสตอรี่ที่ทำให้เราคิด เราเจอธรรมชาติ เจอความลำบาก เจอความเสี่ยงตาย เจออะไรเยอะมากในระหว่างทาง

ณ จุดที่กลับมา เราไม่เหมือนทุกครั้งที่จะอยากโม้ แต่จบจากเนปาลเราไม่อยากโม้อะไรเลย ไม่ได้โพสต์เฟสบุ๊คเลยเป็นเดือน ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันคือจุดนี้ เพราะมันผ่านมาเป็นปีแล้ว คือมันรู้สึกแปลกๆ ว่าเราว่าง มันเริ่มมีสตอรี่ที่อ้างอิงก็ได้ว่าจากคุณเอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะหลังกลับจากเนปาล ผมยังไม่ทำงาน เพราะมีโปรแกรมจะไปขั้วโลกใต้ ต้องซ้อมอีกปีหนึ่ง คิดว่าจะเป็นเป้าหมายถัดจากเนปาล แต่พอกลับจากเนปาลแล้ว มันก็ตกไปหน่อย พอมีจุดที่คุณเอกไปลงเลือกตั้ง ผมก็เดาออกเลยว่าเอกเขาไม่ไปขั้วโลกใต้แล้ว เพราะการเมืองมันสำคัญ ผมก็เริ่มคิดว่าถ้าเอกไม่ไป โครงการคงเกิดความไม่แน่นอน หรือเราจะไปช่วยเขา ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา สนิทกันด้วยซ้ำ แต่การทำงานอาจจะเข้ากันลำบาก แม้ว่าเราจะไปเสี่ยงตายที่ญี่ปุ่นด้วยกัน

มันเป็นจุดให้ผมทบทวนว่า ถ้าเราไม่ไปขั้วโลกใต้ แล้วเราจะทำอะไร พอดีที่ดาวหรือสุขทวี (สุวรรณชัยรบ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกลาง) ซึ่งก็อยู่ในโครงการไปขั้วโลกใต้ด้วยกัน เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้เขาคุยเรื่องการเมืองกับผม แล้วบอกว่าผมเป็น Progressive Moderate เขาบอกว่าผมเป็นทางออกของประเทศไทยเลย อ้างงานวิจัยต่างๆ นานา พอรู้ว่าเอกตั้งพรรค ดาวก็บอกว่าผมไม่เหมาะไปทางนั้นหรอก ที่ตัดสินไม่ไปช่วยเขาส่วนหนึ่งเพราะเรากลัวด้วย บวกกับสไตล์การทำงานและแนวทางของพรรคไม่ตรงกับบุคลิกเรา

ทำให้เราเริ่มคิดว่าถ้าเราจะทำการเมือง เราจะทำอย่างไรถึงจะมีความสุข ในเมื่อเอกเขามีความพร้อม มีครอบครัวสมบูรณ์ เขายังกล้าทำ ทำไมเราจะไม่กล้าทำ เอาความกลัวมาอ้าง ผมยกตัวอย่างว่าเรากลัวความสูงยังกล้าไปเนปาล กลัวความหนาวยังกล้าสมัครไปขั้วโลกใต้ ถ้าเรากลัวการเมือง แล้วทำไมเราไม่ทำการเมืองหรือกลัวไม่มีความสุข ถ้าจะทำ ต้องทำยังไง นอนคิดอยู่คืนหนึ่งว่าถูกบังคับให้ทำ เราจะทำยังไงถึงจะมีความสุข มันเริ่มจากตรงนี้

ผมตั้งไว้ว่า ถ้าจะทำแล้วมีความสุขก็คือเราจะไม่เปลี่ยนตัวเอง ถึงเราจะทำงานการเมือง เป็นนักการเมือง แต่เราจะไม่เปลี่ยนตัวเองเลย ให้เราถูกมองว่าเป็นนักการเมืองแบบเก่าเราไม่ทำเลย เราต้องสร้างพรรคที่เป็นตัวของเรา เป็นเหตุผลที่ผมต้องมาตั้งเอง เป็นพรรคต้นแบบ มีความโปร่งใส เอาไอทีเข้ามาช่วย ไม่มีนายทุน คือตามบุคลิกของเรา นี่คือข้อแรก

ข้อสองคือเราไม่ Aggressive มากนัก เราพร้อมก้าวข้ามความขัดแย้ง เราเคารพการตัดสินใจของทุกคน ทุกคนมีความเชื่อ เราไม่มีสิทธิ์บอกว่าคุณต้องเปลี่ยน แต่เราจะทำให้เห็นในพรรคว่าคุณจะเชื่อยังไงก็ตาม คุณอยู่ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา เหลือง แดง ถ้าคุณสามารถละวางความเชื่อแล้วมาทำสิ่งที่เราตั้งใจจะให้ประเทศก้าวหน้า โอเคเลย เราจะก้าวข้ามตรงนั้น นโยบายก็แล้วแต่สถานการณ์ เราปรับได้

ข้อที่สามซึ่งก็เกี่ยวข้องกับข้อแรก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้หวังตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้เข้ามาเพื่อกอบโกย แสวงหาประโยชน์ ทำเพื่อชาติจริงๆ ดังนั้น เราจะเป็นเวทีกลางให้คนเก่งได้ทำงาน รวบรวมคนเก่งให้ได้มากที่สุด หรือถ้าเราได้เป็นรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในพรรคก็ได้ แต่เราจะเน้นคนเก่ง นายกฯ อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่หมายถึงรัฐมนตรี ใครก็ได้ถ้าเราเห็นว่าเก่งจริง เน้นเพื่อชาติเป็นหลัก

ที่บอกว่าแนวทางของคุณกับคุณธนาธรที่ไม่เหมือนกันและไม่เหมาะ มันคืออะไร

ข้อแรกคือเขามีสไตล์ของเขา พร้อมจะเป็นนักการเมือง แต่ข้อนี้อาจจะไม่ใช่เหตุผล เพราะผมก็บอกว่าจะเป็นตัวของตัวเอง เพราะมันก็ปรับได้

ข้อสอง ผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่แตกต่าง เราบอกว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ผมคิดว่าพรรคเราก็อาจจะมีวัตถุประสงค์ท้ายสุดเหมือนกันกับพรรคอนาคตใหม่นั่นแหละ อยากปรับรัฐธรรมนูญ อยากเห็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เราไม่เน้นไปชนก่อน เราเน้นความก้าวหน้าก่อน ลืมไปเถอะ ยังไงเราก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ เราเข้าไปได้ปุ๊บ ค่อยไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่ภาพลักษณ์พรรคอนาคตใหม่ที่ออกมาคือฉันจะต้องเอาประชาธิปไตย ฉันต้องชนกับรัฐบาลก่อน การประกาศตัวแบบนั้นไม่ใช่แนวทางของผม ไม่ใช่บุคลิกของผมแน่นอน สุดท้ายแล้วก็อาจเหมือนกัน ต้องการความก้าวหน้าของประเทศ ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายเหมือนกัน แต่แนวทางการทำไม่เหมือนกัน ส่วนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน สนิทกันด้วยซ้ำ

ตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองปี 2549 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงช่วงปี 2553 ไล่มาจนถึงรัฐประหารปี 2557 ช่วงเวลาเหล่านี้คุณคิดอะไร ทำอะไรอยู่

จริงๆ ผมเป็นคนสนใจการเมืองนะ ตั้งแต่เด็กด้วยซ้ำ เด็กคนอื่นดูการ์ตูนกัน ผมชอบดูข่าวมากกว่าดูการ์ตูน คุยกันเรื่องประธานธิบดีเดโมแครต รีพับรีกันกับพ่อ เพราะคุยกับใครไม่ได้เลย เด็กไม่รู้เรื่องการเมืองเลย อย่างที่บอกว่าการเมืองมันเป็นยังไง ผมก็แค่สนใจ ช่วงที่ผ่านมายอมรับว่าผมไม่ได้ศึกษาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้เข้าใจมากขึ้น แค่ตามข่าวเฉยๆ อยากเห็นความก้าวหน้าของประเทศ ผมชอบดูแผนที่ อยากเห็นทางรถไฟมากขึ้น อยากเห็นถนนเพิ่มขึ้น ทุกปีต้องมาอัพเดทกันว่า ปีนี้ถนนเพิ่มขึ้นนะ เปลี่ยนจากลูกรังเป็นยางมะตอย คือเราอยากให้ประเทศก้าวหน้า แต่ยอมรับว่าเบื่อหน่ายมากๆ กับการออกมาชุมนุม ตั้งแต่ยังไม่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ตั้งแต่มีสุจินดา (คราประยูร) ก็อึดอัดมาตลอด

แต่เรื่องนี้มันมีฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะ พอฝ่ายหนึ่งแพ้ สักวันหนึ่งก็กลับมาแก้แค้นเพื่อให้ตัวเองชนะ คิดแต่ว่าจะทำยังไงให้ชนะ ไม่ได้คิดถึงประเทศเป็นหลัก แล้วก็เบื่อหน่ายแม้กระทั่งคนในสังคมเดียวกัน ในครอบครัวคิดไม่เหมือนกัน ในเพื่อนกลุ่มเดียวกันก็รู้ว่าเรื่องการเมืองคุยกันไม่ได้ อึดอัดมาตลอด แต่ก็ยอมรับว่าไม่รู้จะทำยังไง แต่ก็ไม่เคยคิดว่าเราจะลงมาแก้ปัญหาเอง แค่รอโอกาสว่าสักวันหนึ่งมันจะดีขึ้น

มันก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ของเรานิดหนึ่งตรงที่บอกว่า เราไม่เปลี่ยนคนอื่น แต่สุดท้ายเราไม่ได้หวังว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นนะ การที่เราบอกว่าจะเข้ามาทำระบบที่โปร่งใสของพรรคเป็นตัวอย่าง ถ้ารัฐบาลให้ทำ เราก็จะทำรัฐบาลที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ พอเกิดระบบที่ดี โปร่งใส สถาบันที่เราอยากให้เขาปรับ เขาก็ต้องปรับ ไม่อย่างนั้นเขาอยู่ไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่าที่เราจะไปต่อสู้ สู้ไปแล้วก็รู้ว่าแพ้ทั้งคู่ ก็คงไม่จำเป็นต้องสู้

คุณบอกว่าถ้าจะทำพรรคการเมืองก็ต้องทำแล้วมีความสุขด้วย พรรคการเมืองแบบไหนที่ทำแล้วมีความสุข

นั่นคือเหตุผลที่ผมต้องมาตั้งพรรคเอง ผมยอมรับว่าผมเอาตัวเองเป็นตัวตั้งก่อนเพื่อจะบอกว่า เราทำอย่างไรแล้วมีความสุข ผมยอมรับว่าผมไม่มีต้นทุนอะไรต้องเสีย แนวคิดพื้นฐานของผมคือแค่ทำให้คนเห็นว่าการที่ผมออกมาทำ เขาสนับสนุนผมทำ ผมก็มีความสุขระดับหนึ่งแล้ว เหมือนผมซ้อมวิ่ง เป้าหมายสุดท้ายคือความสุขสูงสุดก็จริง แต่ระหว่างทางเราก็มีความสุขเป็นขั้นๆ ถึงจะยังไม่สุดทาง แต่เรามีความสุขสะสมมาแล้ว แน่นอน เราอยากไปให้ถึงเส้นชัย ตั้งพรรค ได้เสียงข้างมาก ผมเป็นนายกฯ เลย เป้าหมายสูงสุด แต่ระหว่างทางผมก็มีความสุขเป็นขั้นๆ ของผมไป

ทีนี้ ตอบคำถามตรงๆ เลยก็คือว่า ถ้าผมมีความสุข ผมบอกสังคมได้ว่าผมมีความสุข มันก็จะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทำการเมืองอย่างมีความสุขก็ทำได้ ทำดีด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่คนอื่นจะประเมินเรา แต่เพื่อให้ทุกคนอยากลงมาทำการเมือง คือถ้าผมสามารถทำได้อย่างมีความสุข แล้วทำไมคนอื่นไม่มาทำด้วยกันล่ะ ไม่ต้องทำแบบผมก็ได้ ตั้งพรรคการเมืองอื่นก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข แต่ไม่อยากเน้น เดี๋ยวคนจะหาว่าคุณจะมาทำงานการเมือง แล้วจะหาความสุขทำไม ไม่ใช่ ผมแค่อยากบอกไว้ว่ามันเริ่มมาจากอย่างนั้นจริงๆ ผมยังไม่เจอแรงกดดันที่หลายคนเตือนว่า เป็นนักการเมืองเดี๋ยวคุณก็ต้องเจอนั่นเจอนี่ ตอนนี้ผมยังมีความสุขอยู่ทุกวัน คิดนั่นคิดนี่

ผมเพิ่งประกาศไปว่าจะลงพื้นที่ ซึ่งผมไม่อยากใช้คำนี้นะ เพราะดูเป็นนักการเมือง ผมจะไปเดินทุกจังหวัดทั่วประเทศภายใน 1 ปี จะสำเร็จหรือเปล่า ไม่รู้ แต่จะไปทุกจังหวัดเลย ไปเหมือนที่ผมไปเนปาล แบกเป้ไปใบหนึ่ง ไปนอนบ้านชาวบ้าน แค่คิดตรงนี้ ผมก็ไฟลุกโชน ตื่นเต้น และมีความสุขมากที่จะได้ทำ ตอนนี้ยังมีความสุข มีกำลังใจที่จะทำ สำเร็จหรือเปล่าไม่รู้ แต่โดยส่วนตัวแค่ผมได้ประกาศ ผมก็มีความสุขแล้ว

ถ้าการลงมาทำพรรคการเมืองของคุณคือความสุข แต่ความสุขของคนเรามีขึ้น มีลง และเราก็รู้กันดีว่าการเมืองคือการต่อรอง ต่อสู้ ประนีประนอม และบางทีจุดที่ต้องประนีประนอมอาจทำให้ไม่มีความสุขก็ได้ แปลว่าถ้าวันหนึ่งไม่มีความสุขจะหยุดทำ?

ไม่ใช่ ผมถึงบอกว่าไม่อยากให้เน้นกับคำว่ามีความสุข ผมมีเป้าย่อยๆ ระหว่างทาง ผมเริ่มทำที่ความสุขก็จริง แต่ผมยอมรับว่าผมต้องเตรียมรับสถานการณ์อย่างที่ว่า แต่ผมตอบทั่วไปว่าผมเจอแรงกดดันเมื่อไหร่ ผมประเมินว่าผมทำสำเร็จแล้ว หมายความว่าผมสามารถสร้างกระแสให้คนมากดดันผมได้ อย่างน้อยคนนั้นก็ต้องทึ่งในความสำเร็จของผมบางอย่าง แค่นั้นผมก็พึงพอใจแล้วว่าผมทำบางอย่างสำเร็จ และถึงตอนนั้นถ้ามันเกิดความสำเร็จ ผมเชื่อว่าผมจะมีภูมิคุ้มกันจากคนที่สนับสนุนเรา ภูมิคุ้มกันตรงนี้แหละที่จะช่วยผมได้ระดับหนึ่ง

มันเป็นเรื่องอนาคตนะ ผมจะบอกว่ามันไม่ใช่ว่ามีความสุขหรือไม่มีความสุข แต่ถ้าผมคิดว่าผมยังทำประโยชน์ได้ ผมทำต่อแน่นอน ผมไม่สามารถจินตนาการอนาคตได้ว่าถ้าผมเจออำนาจบางอย่างที่แรงมากๆ ก็ต้องมีการประเมิน ผมเชื่อว่านักการเมืองหลายๆ คนอาจจะเจออยู่ด้วยซ้ำไป ตั้งแต่ก่อนผมกลับมาเนปาล ผมคิดว่าทำงานให้ประเทศชาติมาระดับหนึ่งแล้ว ทั้งการใช้ทุน การสร้างแรงบันดาลใจ อายุสี่สิบห้าสิบเราตายได้แล้ว ไม่เสียดาย แต่ถ้าเจอแรงกดดันถึงขั้นเสี่ยงชีวิต ถ้าเกิดผมเสี่ยงแล้วมีประโยชน์จริง ผมพร้อม แต่ต้องรู้ว่ามีทางรอดนะ ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ตายแน่ๆ ไม่ใช่ คือเสี่ยงที่จะสู้ แต่ถ้าผมรู้ว่าเสี่ยงไปผมก็ตายฟรี ผมก็พร้อมจะหลบ มันไม่ได้เสียหายอะไร เพราะผมคิดว่านักการเมืองตอนนี้ก็เจอ เขาถึงมีปัญหาทำอะไรไม่สำเร็จ

กลัวว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปเป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนหรือเปล่า

ผมไม่เคยกลัวเรื่องนั้น เพราะผมเปลี่ยนในทางที่ดีมาตลอดเวลา แต่ผมยังไม่เคยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ ยอมรับว่าเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เปลี่ยนความคิด พอผ่านบางอย่างก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ แต่ผมไม่เคยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงเลย

คำว่าการเมืองสำหรับคุณ สำหรับพรรคกลางคืออะไร นิยามมันว่าอะไร คือการต่อรอง ต่อสู้ ผลประโยชน์ หรืออะไร

ไม่ ผมบอกแล้วว่าถ้าผมคิดอย่างนั้น ผมก็ไม่เข้ามาทำ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนคิดอย่างนั้นอยู่ เพราะคนที่เตือนจะพูดอย่างนี้หมดว่าการเมืองคือเรื่องการต่อรองของอำนาจ ยังไงคุณก็ต้องมีนายทุนมาให้ทำนั่นทำนี่ ซึ่งผมเชื่อ ก็อย่างที่บอก เพราะทุกคนเชื่ออย่างนั้น แล้วผมจะไม่เชื่อได้ยังไงว่าสังคมมันเป็นอย่างนั้น แต่ส่วนตัวผมไม่เชื่ออย่างนั้น

ที่ผ่านมามันเป็นอย่างนั้น แต่เรากำลังจะทำสิ่งที่ไม่ใช่อย่างนั้น มันก็เหมือนเราเป็นสมาชิกของครอบครัว คือเราไปมองว่าทุกคนต้องมาแก่งแย่งผลประโยชน์กัน แต่ถ้าเรามองว่าเป็นครอบครัว เรารักกัน เราก็ต้องอยากให้ครอบครัวเราเจริญก้าวหน้า ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ถ้าทุกคนมีส่วนร่วมได้ มันอาจจะดูอ่อนไปแล้ว ผมถึงอยากใช้คำว่า ทุกคนเป็นนักการเมืองได้ มันเป็นเรื่องของทุกคนที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศ เป็นเจ้าของประเทศ แล้วคำว่านักการเมืองอาจจะไม่มีแล้วก็ได้

มันก็จะมาตรงกับประเด็นที่เราจะชูเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งคนในกลุ่มก็แย้งมาว่าทางตรงจะไม่มี ส.ส. เหรอ มีคนแนะนำว่าควรใช้คำว่า Liquid Democracy แปลเป็นไทยว่าประชาธิปไตยลื่นไหล ถ้าให้ตอบคำถามเมื่อกี้คือการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้เพราะเรามีระบบตัวแทน ต้องตั้งพรรคเพื่อให้คนมาเลือกเป็นตัวแทน เพราะประชาชนเป็นล้าน ทุกคนจะมีสิทธิ์มีเสียงเหมือนครอบครัวไม่ได้ สมัยก่อนประชาธิปไตยเกิดจากนักปราชญ์กรีกไม่กี่คน ทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียง เวลาตัดสินใจอะไรสักทีทุกคนก็ออกความเห็นหมดเลย มันจึงไม่ต้องมีนักการเมือง เพราะทุกคนคือนักการเมือง ทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินใจ จะไม่มีขั้วอำนาจ เพราะมันเกิดพรรค เกิดตัวแทน เกิด ส.ส. ขึ้นมา

"ผมกำลังจะทำแคมเปญว่า ทุกคนเป็นนักการเมืองได้ อยากให้คนทั้งประเทศรู้ว่าคุณเป็นนักการเมืองได้ มันเป็นเรื่องที่ยากและดูอุดมคตินะ แต่ผมทำเรื่องนี้แน่นอน ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง"

ประเด็นคือคำว่า Liquid Democracy จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ระดับหนึ่ง ประเทศที่ประชากรน้อยหรือมีเงินอย่างสวิสเซอร์แลนด์ เขาจะตัดสินใจอะไร ทำประชามติ ไม่ต้องให้ ส.ส. ตัดสินหรอก เขาทำประชามติได้เป็นร้อยเป็นพันครั้งต่อปี เพราะประชากรไม่เยอะและมีเงิน แต่เรามีประชากรเยอะและไม่มีเงิน จึงต้องมีระบบตัวแทน ถ้าเราทำทางตรงได้ ดีเลย ถ้าทางตรงแบบสุดโต่งเลยคือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็ทำได้ เพราะตอนนี้เทคโนโลยีพัฒนาแล้ว ใช้บ่งชี้อัตลักษณ์ได้ โหวตลงมติผ่านออนไลน์ได้ ใช้มือถือบอกได้ว่าคุณเป็นใคร มีการพูดถึงเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนที่ช่วยกระจายความเสี่ยงของการแฮ็กและแก้ไขข้อมูล

แต่คำว่า Liquid Democracy ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นทางตรงแบบนี้ แต่อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ ทางตรงก็ได้คือสามารถโหวตลงประชามติได้ ที่ดีกว่าคือคนเยอะๆ อย่างนี้ สมมติเราถามเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ชาวบ้านบอกว่าฉันไม่มีความรู้ทางวิศวกรรม ก็สามารถมอบโหวตนั้นให้กับผู้รู้ที่เขาไว้วางใจ เช่น ฉันมีเพื่อนเป็นวิศวกรรม ฉันขอมอบโหวตให้คนคนนี้ แล้วไปโหวตแทนฉัน เขาจะมีเสียง 2 เสียง เขาอาจจะมีเสียงหลายเสียงจากคนอื่น และเรามีสิทธิโอนสิทธิเฉพาะเรื่องนั้นให้กับคนใดคนหนึ่ง ถอนคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องการเกษตร ก็ให้อีกคน ลักษณะนี้เรียกว่า Liquid Democracy หรือประชาธิปไตยแบบลื่นไหล ซึ่งมีบางประเทศที่ใช้ เช่น ชิลีมีการพัฒนาโอเพ่นซอร์สไปทดลองทำ เซียราลีโอนที่ใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เราพยายามชูประเด็นนี้เพราะคนในทีมเรามีคนที่รู้เรื่องไอทีเยอะพอสมควร

ทำไมคุณจึงเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้เราก้าวข้ามความแย้งที่เรื้อรังมาทศวรรษกว่าๆ ได้

เทคโนโลยีไม่ได้เป็นตัวหลัก เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้ตามเป้าหมายที่เราอยากจะทำ คือเราต้องการก้าวข้ามตรงนั้น เราต้องทำระบบให้ดี โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ นี่คือคีย์ของปัญหา แต่เทคโนโลยีจะมาช่วย เช่น สมมติว่าคนจะทำผิดก็ต้องวัดว่าจะทำหรือไม่ทำ เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ความเสี่ยงมี 2 แบบคือโอกาสที่จะถูกจับได้กับถูกจับได้แล้วจะถูกลงโทษแรงแค่ไหน เขาจะวัดตรงนี้ก่อน แต่ถ้าเราสามารถสร้างความโปร่งใสได้ มีคนเสนอบล็อกเชน เนชั่น ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะต้องถูกเก็บ ถ้าเก็บในเซิร์ฟเวอร์เดี๋ยวมีคนแฮ็กได้ เก็บในบล็อกเชนเพื่อกระจายความเสี่ยงที่จะถูกแก้ไขและสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะถูกตรวจจับได้มีสูงขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว อะไรที่ทำไม่ดี โฟลว์ต่างๆ ในการอนุมัติเราเก็บแทร็กของการทำงาน เขียนเรื่องนี้เข้ามา ใครอนุมัติ เขียนทีโออาร์มีการแก้ไขกี่ครั้ง ใครแก้ไขตรงไหนบ้าง ถ้าเราเก็บแทร็กไว้ได้หมด คนจะกล้าทำผิดมั้ย เพราะแทร็กตรงนี้สามารถถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา

แนวโน้มมันเปลี่ยนไปแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราเพียงแต่นำเสนอว่ามันมีเครื่องมือที่ช่วยให้ทำได้ ถ้าทำแบบนี้ อย่างที่บอกว่าเราเน้นความก้าวหน้าและความโปร่งใส ถ้าเราทำระบบให้ดีขึ้น ซึ่งสังคมก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่างนั้นด้วยอยู่แล้ว เราเพียงแต่มานำเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรม แล้วทุกส่วนในสังคมน่าจะต้องปรับตัวเองเพื่อให้ไปได้กับระบบที่ดีขึ้น แล้วสิ่งที่เราอยากให้เขาเปลี่ยน เขาก็ต้องปรับตัวให้ดีขึ้น ไม่กล้าทำไม่ดี เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจจับมากขึ้น แน่นอนว่าอาจจะมีกลไกอื่น เช่น ปรับกฎหมายให้แรงขึ้นหรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นก็จะเป็นการทำให้ทุกคนต้องปรับตัว

ทำไมคุณจึงคิดว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวข้ามผ่านของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้

เรื่องนี้ดาวเป็นคนพูดครั้งแรก แต่มันก็มาจากสิ่งที่ผมพยายามอธิบายเรื่อง Liquid Democracy ความไม่เป็นประชาธิปไตยอาจจะดูกว้างมาก แต่กำลังจะบอกว่าถ้าประชาธิปไตยพื้นฐานที่มีจากกรีก มันมาจากเสียงของทุกคน ที่ผมพยายามบอกว่าทุกคนเป็นนักการเมือง ทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียง แต่ประชาธิปไตยที่เราเป็น มันเป็นระบบตัวแทน ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ได้ไปปรับกฎอะไร แต่มันมีข้อเสียของประชาธิปไตยตัวแทนอยู่ เพราะเราเลือกผู้แทนไป 1 คน เขาตัดสินใจแทนเรา 4 ปี และบางครั้งคนนั้นเราไม่ได้เลือกด้วย หรือนายเอเลือกคนที่ชนะก็จริง แต่นายเอก็ไม่มั่นใจว่าคนที่ไปตัดสินใจแทนเขา ตัดสินใจตรงใจเขาทุกครั้งในสภาหรือเปล่า คนที่เลือกไปตัดสินใจตามใครก็ไม่รู้ เคยมาทดสอบกลับมั้ยว่าคนที่เลือกฉันมาสนับสนุนให้เลือกแบบไหนในสภา มันตรวจสอบไม่ได้ เพราะเขาตัดสินใจแทนเรา 4 ปีโดยไม่สนว่าเราคิดอย่างไร

แต่เทคโนโลยีตรวจสอบกลับได้ ขณะเดียวกันเราใช้เทคโนโลยี อย่างก่อนที่เขาจะโหวตในสภา เปิดโพลล์ถามเฉพาะคนที่อยู่ในเขตการเลือกตั้งของเขา เรื่องนี้ช่วยตัดสินหน่อยครับว่าผมในฐานะผู้แทนของเขตนี้ควรโหวตอย่างไร เรานำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การมีส่วนร่วมของเจ้าของประเทศจริงๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น

เทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือ ช่วยให้เกิดความโปร่งใส ประสิทธิภาพ สร้างประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ประเด็นคือแต่ในสังคมมีกลไกกติกาเชิงสถาบันที่กำกับเทคโนโลยีนั้นอีกทีให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ครอบงำสังคม

ผมบอกไปแล้วเทคโนโลยีไม่ใช่ตัวนำ เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร แล้วเทคโนโลยีจะมาช่วยเรื่องประสิทธิภาพหรือช่วยเร่งให้ทำได้เร็วขึ้น อย่างเรื่องปลูกบ้านพักบนดอยสุเทพ ถ้าเป็นสมัยก่อนไม่มีคนรู้ ทำไปก็คงผ่านไปแล้ว แต่ ณ ปัจจุบันข้อมูลไปเร็วมาก โซเชียลมีเดีย พอรู้ปุ๊บ เกิดกระแสสังคม มีพลังบางอย่าง กดดันบางอย่างได้ ผมกำลังยกตัวอย่างให้เห็นว่าพอข้อมูลมันแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แรงกดดันของสังคมจะเป็นตัวบังคับสิ่งที่ทำอยู่ให้ตัดสินไปในทิศทางที่เป็นทำนองคลองธรรมขึ้น

ผมเข้าใจว่าอาจจะมีอำนาจบางอย่าง เหมือนกัน ถามว่าตอนนี้ถ้าเราไปสู้ เราสู้ไม่ได้ มันติดรัฐธรรมนูญอยู่ เราก็ต้องสู้ตามระบบเข้าไป แล้วไปแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกลไกอยู่ แต่ถ้าเราจะไปไฟท์เลย เรายังไม่เห็นด้วยกับตรงนั้น มีคนพูดเหมือนกันว่าถ้ารู้ว่ากฎหมายไม่ถูกต้องหรือประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ เราจะต่อต้านได้มั้ย ก็เป็นประเด็น มันอยู่ที่สังคมด้วย ผมจึงบอกว่าข้อมูลข่าวสารไม่ใช่ตัวสำคัญที่สุดก็จริง แต่มันมีผล และจะมีผลมากขึ้นเรื่อยๆ

ในประเทศไทยช่องว่างทางดิจิตัลลดลงอยู่ในระดับที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตยแล้ว

ประเทศไทยยังมีช่องว่างอยู่เยอะมาก มันแคบลงมาเรื่อยๆ แต่ผมว่ายังไม่เพียงพอ คนใช้มือถืออาจจะใช้ในแง่ความบันเทิงมากกว่า ไม่ได้สนใจเทคโนโลยีอะไรเลย ถ้าไปตามชนบทบางที่สัญญาณก็ยังเข้าไม่ถึง ผมไปวิ่งต่างจังหวัดบ่อยๆ ผมเข้าไปในหมู่บ้านชาวเขา สัญญาณโทรศัพท์ยังไม่ค่อยมี ไฟฟ้าก็มาบ้าง ดับบ้าง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ผมตอบไม่ได้ มีคนถามผมเรื่องนี้เยอะมาก ผมคิดว่าทุกคนประเมินกันได้ว่าช่องว่างนี้กว้างมากแค่ไหน ทุกคนเชื่อว่ายังกว้างอยู่ เพราะเขาถามผมว่าถ้าพรรคผมใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก แล้วจะเข้าถึงคนที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็นไปได้ยังไง

ผมยอมรับและตอบว่าเรายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ผมยอมรับผิดที่เราละเลยคนเหล่านั้นอยู่ ผมจึงประกาศว่าใน 1 ปี ผมจะไปเรียนรู้จากพวกเขาทุกจังหวัด อันนี้คือที่ประกาศไว้คร่าวๆ อาจจะเลือกพื้นที่ที่มีช่องว่างมากที่สุดเพื่อเรียนรู้ ณ วันนั้นผมอาจจะตอบได้ ก็อาจจะใช้เวลา ที่คิดไว้คืออาทิตย์หนึ่งจะอยู่ต่างจังหวัด เดินไปตามบ้าน นั่งโบกรถ ไปนอนโฮมสเตย์ พูดคุย แต่ก็อยากมีเป้าหมายสักนิด กำลังหาทางอยู่ว่าจะไปคุยกับใคร คงไม่ใช่เดินสุ่มสี่สุ่มห้าไปคุย จะหาปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนได้มั้ย ตรงนี้ยังคุยกันอยู่ว่าจะไปคุยได้อย่างไร แต่ที่สำคัญคือเรายอมรับว่าเราผิดพลาดที่เรายังไม่รู้ข้อมูลตรงนั้น แล้วผมก็ยังเชื่อว่าคนที่มาทำงานการเมืองยังละเลยตรงนี้อยู่ จะสนใจก็แค่ช่วงเลือกตั้ง

แต่ในฐานะที่เราเพิ่งเข้ามา ผมคิดว่าข้อมูลตรงนี้สำคัญ ผมจึงตัดสินใจว่าผมจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเพื่อทำตรงนั้น ถ้า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) บอกว่าจะเลื่อนเลือกตั้งไปอีก เราก็จะมีเวลาศึกษาข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้าน คนที่มีโอกาสน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม

แนวทางการทำพรรค การหาเสียง จะเป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่าตอนแรกเราเข้ามาแบบแบล๊งๆ ไม่ได้เตรียมการศึกษากฎหมายอะไร ตอนนี้มีทีมแล้ว ตอนแรกที่คิดกันเอง คิดว่าเอาเฉพาะปาร์ตี้ลิสต์แล้วกัน เราไม่มีตังค์ จะไปหา ส.ส. เขตยาก เราจะเอาอะไรไปให้เขา ก็คิดว่าขอปาร์ตี้ลิสต์สัก 5 เปอร์เซ็นต์ ได้รัฐมนตรี 1 คน ลองไปทำกระทรวงต้นแบบให้ดู ปรากฏว่าเรามารู้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคต้องมี ส.ส. เขตลงเลือกตั้ง กาใบเดียว และเอาคะแนนของ ส.ส. ทุกคนมาเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

ตอนแรกเราก็ตกใจ เพราะเราเป็นพรรคใหม่ที่จะค่อยๆ โต แล้วเราจะทำยังไง ถ้าเรามี ส.ส. คนเดียวในกรุงเทพ ได้คะแนนหมื่นหนึ่ง คนทั้งประเทศเลือกเราไม่ได้เลย มีคนรู้จักเรา แต่เลือกเราไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ผมก็มองเป็นจุดดีนะ ผมมองในแง่บวกเสมอ คสช. ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ผมก็มองแง่บวกว่าพรรคเราจะได้เตรียมพื้นฐานที่มั่นคงก่อน เมื่อรัฐธรรมนูญบอกให้ต้องส่ง ส.ส. เขต ผมก็มองแง่บวกว่ามันสนับสนุนให้พรรคเรายั่งยืน เป็นตัวชี้วัดว่าถ้าพรรคเราจะยั่งยืนจริง เราต้องมีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศให้ได้ มีคนไปศึกษามาว่าเราจะส่ง ส.ส. ในจังหวัดนั้นได้จะต้องมีสมาชิกพรรคอยู่ที่จังหวัดนั้นอย่างน้อย 100 คน ผมก็ต้องมองแล้วว่าจะสมัครสมาชิก อยู่จังหวัดไหนๆ อยากให้มีให้ได้ 100 คนทุกจังหวัด เพื่อเราจะได้ส่ง ส.ส. เขตได้ เราก็จะพยายามทำให้ได้ เป้าเราต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ดี ก็จะทำให้ดีที่สุด จะได้ทุกจังหวัดหรือเปล่ายังไม่รู้ ถ้าทำได้มันจะเป็นพื้นฐานที่ดีของพรรค เพราะผมเน้นความยั่งยืนของพรรคมากกว่าผลการเลือกตั้ง

ผมเขียนไปในอุดมการณ์ของพรรคข้อหนึ่งว่า ชาติมาก่อน แล้วก็เน้นความยั่งยืนของพรรคก่อนการชนะเลือกตั้งแบบครั้งคราว ถ้าพรรคเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน เราจะชนะได้อย่างถาวร การที่พรรคยั่งยืนได้คือมีคนสนับสนุนเราทั่วประเทศจริง ในขั้นแรกเขายังไม่เห็น กลัวว่าเลือกเราไปก็ไม่ได้ แต่เราก็ทำของเราไป เราจึงเน้นผู้สนับสนุนมากกว่าไปเสนอนโยบายเพื่อให้ได้ชนะเลือกตั้งเท่านั้น จะเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมและมีประโยชน์กับประเทศชาติ กับทุกคนจริงๆ ถ้ามันดี เขาก็เลือกเรา

จะสร้างผู้สนับสนุนได้อย่างไร

อย่างหนึ่งคือที่ผมกำลังจะทำ ต้องบอกว่าไม่อยากให้คนคิดอย่างนั้น เพราะมันมาจากที่ผมอยากเรียนรู้จริงๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วย ตอนนี้ผมชวนปากต่อปาก และเราก็ยอมรับด้วยว่าเราโตเร็วไม่เท่าพรรคอื่นที่ได้พื้นที่สื่อเยอะกว่า แต่เราก็ยังรู้สึกว่าคนที่สนใจเรา มาแล้วอยู่กับเรานาน หรือมาเพราะสนใจเราจริงๆ แล้วมันก็ไม่ถึงกับหวือหวา แต่ค่อยๆ โต ผมมีกลุ่มผู้ติดตามที่ค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ทีละนิด แล้วเราก็คาดหวังว่ากลุ่มคนเหล่านี้ที่สนใจเรา ขอให้เขาช่วยเพิ่มเครือข่าย ช่วยแนะนำคนให้กับเรา ช่วยขยายแนวคิดของเราให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ

เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก

ผมไม่สนับสนุนให้มีการถามเรื่องนี้ด้วยซ้ำ คือประเด็นนี้เกิดจากเรื่องส่วนตัว เรื่องบุคคล จริงๆ แล้วนักข่าวหรือสังคมสนใจเพราะต้องการแบ่งว่าพรรคนี้สนับสนุนนายกฯ ทหารหรือเปล่า แล้วพรรคก็จะคิดว่าจะประกาศตัวอย่างไรเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก คือมันไม่ใช่ประเด็น อย่างที่บอกเราไม่สนใจตัวบุคคล ข้ามไปเลย แต่คำตอบสุดท้ายก็ออกมาแบบนั้นว่า เราไม่สนับสนุนคนนอกอยู่แล้ว เพราะว่าเราไม่สนใจตัวบุคคล เราไม่สนใจเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป ถามว่านายกฯ จะมาจากไหน ก็ตามครรลองคลองธรรมของประชาธิปไตย ประชาชนเลือก ส.ส. สนับสนุนแนวทางของพรรค ดังนั้น ตามหลักก็ไม่เห็นต้องถามเลย ผู้นำพรรคที่ได้เสียงข้างมากหรือที่ร่วมก่อตั้งรัฐบาลก็น่าจะได้เป็นนายกฯ เพื่อให้เขาสามารถควบคุมนโยบายตามที่ได้รับเลือกเข้ามา ผมว่ามันเป็นอะไรที่เคลียร์อยู่แล้ว ถ้าเราสนับสนุนประชาธิปไตย คำตอบสุดท้ายจึงออกมาตรงนั้น

แต่ไม่ใช่อยากให้ทุกคนคิดว่า พรรคนี้ตัดสินใจแบบนี้เพราะต้องการให้ชัดว่าฉันต้องการได้เสียงของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเอาคนนอกมา นักข่าวไม่ควรถามเรื่องนี้ เป็นการชี้นำให้ประชาชนไม่สนใจว่านโยบายพรรคเป็นยังไง มาสนใจว่าฉันเชียร์คนนี้ ไม่เชียร์คนนี้ แล้วไปเลือกพรรคที่ประกาศแบบนี้ ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ไม่สร้างสรรค์ แต่ว่าโอเค มันมีจุดที่รัฐธรรมนูญมันเปิดช่อง แต่ไม่จำเป็น เพราะการที่เราบอกว่าจะเอานายกฯ คนในก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เรายึดตามหลักประชาธิปไตยที่ใกล้เคียงกับประชาธิปไตยจริงๆ มากที่สุด

แต่ถ้าถามก่อนและตอบก่อน เราทำตามคำพูดอยู่แล้ว ต้องทำตามสิ่งที่เราตัดสินใจไว้ ถามมาเราก็บอกแล้วว่าเราไม่เห็นด้วยกับนายกฯ คนนอก เราก็ไม่เข้าร่วม มันไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ขัดกับแนวทางที่ดีของประชาธิปไตย

พรรคกลางมีนโยบายที่จะซ้ายหรือขวาต้องดูตามสถานการณ์ ขยายความหน่อยครับ อุดมการณ์ของพรรคคืออะไร

อุดมการณ์ตีความยังไง

อาจหมายถึงอุดมการณ์ทางความคิดที่จะใช้ผลักดันสังคม เช่น ในต่างประเทศก็จะบอกตำแหน่งพรรคชัดเจนว่าเป็นซ้าย ขวา ซ้ายกลาง ขวากลาง เป็นต้น

ตอบตามหลัก 3 ข้อของคำว่ากลางเลย คำว่ากลาง ไม่ใช่ขั้ว ไม่ได้เอียงซ้าย เอียงขวา แต่เราจะมุ่งพัฒนาโดยไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง เพราะเราคิดว่าการสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้คนทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้ เรามุ่งไปตรงกลาง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่กลางของสองขั้ว เพราะเรามีขยายต่อ คือบางคนอนุรักษ์นิยมก็อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง จะลิเบอรัลก็ลิเบอรัลสุดโต่งทุกสถานการณ์ แต่เราจะไม่เอาความซ้ายขวามาเป็นตัวเบี่ยงเบนเราจากความก้าวหน้า นี่คือความหมายกลางของเรา จะมองว่าเป็นความสมดุลก็ได้ พร้อมที่จะใช้นโยบายที่เป็นข้อดีของอนุรักษ์นิยม พร้อมจะใช้นโยบายที่เป็นข้อดีของลิเบอรัล เพื่อจะพัฒนาประเทศ

ข้อที่ 2 อาจจะคล้ายกับที่ผมพูดเรื่องทำแล้วมีความสุข คือมันเป็นเวทีกลางที่สร้างคนที่มีประสบการณ์ คนเก่งให้มาทำงาน ไม่ได้หวังมากอบโกยหรือหวังตำแหน่ง แต่หวังให้คนเก่งเข้ามาร่วมพัฒนาประเทศ เป็นวิธีการที่เปิดรับทุกคน ความเห็นแตกต่างยังไงก็ตามขอให้เข้ามาและสนับสนุนให้ได้ทำงาน

ข้อที่ 3 แนวทางของเราคือเราจะเป็นต้นแบบกลาง หมายถึงถ้าเราอยากทำอะไรสักอย่างที่เป็นผู้นำ เป็นแนวทาง ถ้ามันดีจริงก็อยากเผยแพร่ ใครจะนำไปทำก็ได้ เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้ เราพร้อมจะเปิดเผย โอเพ่นซอร์สให้คุณมาใช้ด้วย เราทำระบบพรรคการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทำเสร็จเราจะเผยแพร่ให้คนอื่นไปใช้ด้วย เรากำลังทำระบบ Paperless เพื่อให้รับสมัครสมาชิกได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมีเอกสารซับซ้อน เราก็พร้อมให้พรรคอื่นไปใช้ต่อ

คำว่า พรรคกลาง ไม่ได้หมายถึงการประนีประนอมระหว่างสองฝ่าย

คงไม่ใช่ เพราะประนีประนอมในแง่นั้นคือเฉยเมยกับปัญหา แต่เรามุ่งพัฒนาประเทศและเราทำระบบให้มันดีขึ้น แล้วมันจะไปทำให้กลุ่มคนที่เราบอกว่าต้องประนีประนอม ต้องแก้ไขปัญหา เขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ดีขึ้นในสังคม

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เวลาพูดถึงคำว่า กลาง มันฟังดูมีความเป็นอนุรักษ์นิยมทางการเมือง

ถ้าถามส่วนตัว ผมซ้าย ผมเป็น Progressive Moderate ถ้าไม่เอาแนวทาง ผมซ้ายมากๆ เลย ตั้งแต่เด็กจนโตที่ผมอึดอัดเพราะผมซ้ายมาก แต่แนวทางผม ผมสามารถรับความคิดเห็น สามารถโยนแนวคิดตัวเอง แล้วฟังของคนอื่นได้ นี่คือข้อดีของผม ผมเป็น Moderate ในการทำงาน มันแยกกันระหว่าแนวคิดกับแนวทาง แนวทางผมทำเพื่อให้ได้ความสำเร็จสูงสุด จะใช้คำว่าอะลุ้มอะล้วยก็ได้ เราต้องการความก้าวหน้า ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่เราจะไม่บังคับให้ใครต้องเปลี่ยนด้วยคำสั่ง สถานการณ์จะเป็นตัวบังคับให้แต่ละคนต้องปรับตัวไปในทางที่ดี คือพูดไปเดี๋ยวฝั่งอนุรักษ์นิยมจะไม่ชอบผม เราก็คาดหวังให้ฝั่งอนุรักษ์นิยมปรับตัว และก็คาดหวังให้กลุ่มซ้ายจัดอ่อนลง มีวิธีการที่อ่อนลง ผมเชียร์เขา แต่ไม่สนับสนุนให้ทำอะไรที่รุนแรง

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแบบถอนรากถอนโคน ปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แนวทางพรรคกลาง

อันนี้ก็ส่วนตัวนะ ถ้าผมทำแล้วไม่เกิดผลเสีย ไม่เกิดแรงต้าน ทำไมผมจะไม่ทำ

เป็นไปได้เหรอที่การทำเรื่องใหญ่ๆ จะไม่เกิดแรงต้าน

ก็ใช่ไง เพราะผมรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ผมจึงเลือกที่จะไม่ทำ นี่ผมยกตัวอย่างเฉยๆ สมมติทุกคนในประเทศเชื่อมั่นในตัวผม ผมเด็ดขาด ผมยิ่งกว่าเผด็จการอีก เพราะทุกคนเชื่อในตัวผม ผมมั่นใจว่าผมทำดี ผมยินดีจะเผด็จการเลย แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แล้วผมก็ยินดีโยนหัวตรงนั้นออกทันทีเลย แต่ในเมื่อเราเปลี่ยนไม่ได้ แล้วจะไปต่อสู้ทำไม ต่อสู้แล้วไม่มีใครชนะเลย นั่นคือแนวทางที่บอกว่าผมเป็น Progressive Moderate พูดออกไปยังกลัวว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะต่อต้านผมด้วยซ้ำไป แต่ผมก็บอกฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ว่าผมเป็น Moderate แน่นอน และจะบอกว่าผมไม่ได้ไปทำอะไรคุณหรอก แต่ผมเชียร์ให้คุณอยู่รอดด้วยการปรับตัว

ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม จะแก้โดยแนวทางกลางๆ ได้หรือไม่ เพราะความไม่เป็นธรรมมีลักษณะผิด-ถูกค่อนข้างชัดเจน

ไม่อยากให้ติดกับคำว่า กลาง เราไม่ได้บอกว่าเราใช้ความเป็นกลางในการแก้ปัญหาทั้งหมด แต่มันคือแนวทางหลักเท่านั้นเองว่า ถ้าเราอยากปรับเปลี่ยนอะไรที่เราบอกว่าไม่ไปปรับเปลี่ยนเขา เพราะเรารู้ว่าทำไม่ได้ แต่ถ้ามีกฎหมายที่ถูกต้องที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เราก็ต้องบังคับใช้ ถ้าเราทำได้ก็ต้องทำ เราเน้นเรื่องความเที่ยงธรรมอยู่แล้ว ความเที่ยงธรรมก็คือเราจะช่วยคนด้อยโอกาสด้วย มากกว่าคนที่มีโอกาสอยู่แล้ว แต่อาจจะตอบไม่ตรงประเด็นนัก ถ้าตอบให้ตรงประเด็นก่อนคือเราไม่ได้ใช้ความเป็นกลางแก้ปัญหาทุกเรื่อง เราใช้คำว่าเป็นกลางในการก้าวข้ามปัญหาที่วนลูป หมายความว่าถ้าเราเน้นอะไรบางอย่าง ก็มีแต่ทะเลาะกันไม่จบสิ้น เราจะก้าวข้ามตรงไหนไป แล้วทำให้กลุ่มนั้นต้องปรับตัวเอง

แต่ว่าปัญหาที่มีแนวทางที่ชัดเจน มีกฎหมายชัดเจน เราต้องบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว สมมติปัญหาภาคใต้มีกลไกอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญเขียนอยู่แล้วว่าแบ่งแยกไม่ได้ ก็ต้องยึดตรงนั้นก่อน แล้วเราค่อยเข้าไปแก้ปัญหา บางเรื่องบังคับใช้กฎหมายแล้วเกิดปัญหา จริงๆ รัฐบาลก็ทำอยู่ ผมเชื่อว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา ใช้คำว่าอะลุ้มอะล่วยด้วยซ้ำไปว่าจะแก้ปัญหากับคนกลุ่มนี้ยังไง ผมบอกตามตรงว่าผมไม่ได้รู้ทั้งหมดตอนนี้ เราต้องใช้เวลาเข้าไปศึกษาก่อนเพื่อให้ได้นโยบายที่ถูกต้องอีกที แต่ตอบสั้นๆ ก่อนว่าไม่อยากให้ติดกับความว่ากลางในทุกๆ เรื่อง

ตั้งใจว่าอยากได้ ส.ส. สักกี่ที่นั่ง

ถ้าสูงสุด เราอยากจะชนะ ส.ส. เขตบ้าง แต่อาจจะยาก แต่ก็พูดไม่ได้นะ ผมอาจจะได้คนที่มีอุดมการณ์ เราไม่มีอะไรให้คุณนะ แต่เราอาจได้คนที่มีอุดมการณ์ เห็นด้วยกับเรา แล้วมาขอลง ส.ส. เขตในนามพรรคเรา เราอาจชนะก็ได้ในบางเขต อันนี้เป็นสิ่งที่เราแอบคาดหวัง

ส่วน ส.ส. เขตทั่วไป เรียกว่าขอร้องเลยครับ ถ้าอยากให้ประชาชนในเขตนั้นได้เลือกพรรคกลาง ช่วยเป็นตัวแทนให้เราหน่อย เราก็ต้องไปขอให้ใครบางคนลง ส.ส. เพื่อให้คนในเขตนั้นมีสิทธิ์กาพรรคกลาง เราเน้นปาร์ตี้ลิสต์ ที่คุยๆ กันอยากได้สักสี่ห้าคน

ถ้าไม่ได้ ส.ส. เลยจะทำยังไงต่อ

ผมเพิ่งเขียนโพสต์คุยกับคนร้อยกว่าคนในกลุ่ม ในกลุ่มมีคนที่ไฟแรง ถ้าผมบอกว่าหวังแค่สร้างกระแส สร้างความยั่งยืนของพรรคอย่างเดียว เขาจะฝ่อเลยเพราะอยากทำมากกว่านั้น ผมก็ต้องตั้งเป้าให้สูง แล้วผมก็บอกเขาว่าตั้งเป้าให้สูงได้ แต่คุณต้องแพ้ให้เป็น คุณต้องมีน้ำใจนักกีฬา คุณแพ้แล้วต้องเข้มแข็งขึ้นในครั้งต่อไป ผมพร้อมจะแพ้ๆๆๆ แต่ผมก็จะไม่ท้อ คนที่ไม่หวังชนะ หวังแค่สร้างกระแสที่ดีก็มี แต่ก็มีคนที่อยากชนะด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ผมพร้อมสนับสนุนและสู้กับเขาทุกครั้ง แต่คุณต้องแพ้ให้เป็น

ตั้งใจจะทำให้พรรคกลางเป็นสถาบันทางการเมือง?

ที่ยั่งยืน วิชั่นของผม ผมมองข้อดีของพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะแข่งกับประชาธิปัตย์ตรงนั้น เราไม่ได้มองความสำเร็จของการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 แต่พรรคนี้ต้องอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืน แล้วเราจะชนะเองในบั้นปลาย

ระดมทุนหรือยัง?

ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าถ้าเราระดมทุนมาไม่พอ เราก็ไม่สามารถทำต่อได้

ถ้าไม่พอจะทำยังไง

ถ้าสุดท้ายไม่พอ เราก็ทำต่อไม่ได้ มันไม่ใช่ว่าเราล้มเลิก แต่เพราะเราถูกบอกว่าไม่สามารถไปต่อ แต่เราจะหาทุกทางให้ไปต่อได้ เราเอาจริง ไม่มีทางล้มเลิก แต่ผมพูดในกรณีเลวร้ายที่สุด ในเมื่อประชาชน 70 ล้านคนไม่ให้เราทำต่อ แล้วเราจะทำต่อได้ยังไง ถ้าคุณอยากให้เราทำต่อ คุณต้องสนับสนุนเรา ถ้าคุณเห็นว่าเราทำดีจริง

เราจะไม่หานายทุน คำว่าการลงทุนย่อมต้องหวังผลตอบแทน แต่เราจะหาผู้บริจาค เราก็ต้องหาให้ได้ ต้องเป็นผู้บริจาคที่บริสุทธิ์จริงๆ แต่เรายังไม่หา อยากให้ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) อนุมัติ ตั้งพรรคได้ อยากให้ทุกคนเชื่อว่าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ อาจจะเป็นสไตล์ส่วนตัวก็ได้ ผมไม่ชอบไปขายตัวเองโดยที่ยังไม่มีอะไร เราอยากให้เขาสนใจเรา เชื่อเราจริงๆ ว่าเรามีสิ่งที่จะขาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมเก็บอากรคนถูกรางวัลสลากกินแบ่งเพิ่ม

Posted: 20 Apr 2018 10:56 PM PDT

สรรพากรเผยเตรียมเพิ่มอัตราอากรที่เก็บจากผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล จาก 0.5% เป็น 2% อัตราเดิมใช้มา 36 ปี อัตราใหม่คนถูกรางวัลที่ 1 ต้องจ่าย 1.2 แสน จากเดิม 3 หมื่น

 
 
21 เม.ย. 2561 MGR Online รายงานว่านายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่ากรมสรรพากรกำลังปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เพื่อปรับเพิ่มอัตราอากรแสตมป์สำหรับการรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยจะมีการเก็บค่าอากรแสตมป์จากผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มขึ้น จากเดิมเก็บที่อัตราร้อยละ 0.5 ของเงินรางวัล เพิ่มเป็นร้อยละ 2 ของเงินรางวัล เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเงินรางวัลที่ปรับเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กฎหมายฉบับเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2525 หรือเมื่อ 35-36 ปีที่แล้ว ซึ่งสมัยนั้นถูกรางวัลที่ 1 ได้เงินรางวัลเพียง 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันรางวัลได้เพิ่มเป็น 6 ล้านบาทแล้ว รวมถึงภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพก็ปรับมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กรมสรรพากรจึงต้องปรับค่าอากรแสตมป์ตามให้เหมาะสม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อผู้ถูกรางวัล เพราะเป็นส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อีกทั้งคนที่ถูกรางวัลก็น่าจะยินดี เพราะเทียบเงินรางวัลที่ได้มีมูลมากกว่าที่เสียไปเยอะมาก เช่น รางวัลเลขท้าย 2 ตัว จากเดิมเสียค่าอากรแสตมป์ 10 บาท จะเพิ่มเป็น 40 บาท ส่วนรางวัลอื่นฯ ก็ปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่กำหนด
 
ทั้งนี้ หากมีการคำนวณการเสียอากรแสตมป์สำหรับผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้ถูกรางวัลที่ 1 เงินรางวัล 6 ล้านบาท ปัจจุบันจะเสียค่าอากรแสตมป์ที่ 30,000 บาท แต่เมื่อกฎหมายใหม่ผ่าน จะเสียค่าอากรแสตมป์เพิ่มเป็น 120,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 90,000 บาท ขณะที่รางวัลเลขท้าย 2 ตัว จะเสียเพิ่มจาก 10 บาท เป็น 40 บาท
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 วัยรุ่น อุทธรณ์โทษหนักคดีเผาซุ้ม ขอศาลรอการลงโทษและลดหย่อนค่าเสียหาย

Posted: 20 Apr 2018 10:30 PM PDT

6 จำเลยวัยรุ่นตัดสินใจอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีเผาซุ้มในจังหวัดขอนแก่น หลังศาลจังหวัดพลพิพากษาใน 2 คดี ให้จำคุกจำเลยทั้ง 6 หก มีกำหนดรวมตั้งแต่ 2 ปี 16 เดือน ถึง 11 ปี 6 เดือน และให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 900,000 บาท

 
21 เม.ย. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าความคืบหน้าคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่น  ซึ่งศาลจังหวัดพลมีคำพิพากษาจำคุก 6 วัยรุ่น เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 61 ใน 2 คดี คือ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1267/2560 (เผาซุ้มในอำเภอบ้านไผ่) ซึ่งมีนายไตรเทพ กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ), 217 (วางเพลิงเผาทรัพย์), 358 (ทำให้เสียทรัพย์), 209 (เป็นอั้งยี่), 210 (เป็นซ่องโจร) ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งหก โดยหลังจากลดมาตราส่วนกระทงละ 1 ใน 3 กรณีที่จำเลยที่ 1,ที่ 3 ถึงที่ 6 อายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี และลดกึ่งหนึ่งเนื่องจากทั้งหมดรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยที่ 1,ที่ 3 ถึงที่ 6 คนละ 2 ปี 16 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี ไม่รอลงอาญา
 
อีกคดีคือ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1268/2560 (เผาซุ้มในอำเภอชนบท) ซึ่งมีนายไตรเทพ และพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย โดยเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยที่ 1 – 4 ของคดีแรก ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 209 , 210 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ โดยหลังจากลดมาตราส่วนกระทงละ 1 ใน 3 กรณีที่จำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 อายุไม่เกิน 20 ปี และลดกึ่งหนึ่งเนื่องจากทั้งหมดรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 คนละ 3 ปี 16 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา อีกทั้งให้นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ ต่อจากโทษจำคุกในคดีแรกทำให้จำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 ต้องโทษจำคุกคนละ 5 ปี 32 เดือน หรือ 7 ปี 8 เดือน และจำเลยที่ 2 ต้องโทษจำคุกมีกำหนดรวม 11 ปี 6 เดือน
 
นอกจากนี้ ในส่วนแพ่งซึ่งผู้เสียหายได้ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ในคดีแรกจำเลยทั้งหก ได้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท แก่ อบต.หินตั้ง แล้ว ส่วนในคดีที่สองศาลได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 958,000 บาท ตามราคาก่อสร้างที่เทศบาลตำบลชนบท ผู้เสียหาย ร้องต่อศาล พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
 
จากโทษจำคุกที่หนัก และค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ในจำนวนที่สูง ทำให้จำเลยทั้งหกตัดสินใจอุทธรณ์ในทั้ง 2 คดี โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 61 ทนายความของทั้งหกได้เข้ายื่นอุทธรณ์ที่ศาลจังหวัดพล คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร หรือให้จำเลยเสียค่าปรับ หรือทำงานบริการสังคม โดยจำเลยทั้งหกยินยอมถือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และในคดีที่สองให้ลดหย่อนค่าเสียหายทางแพ่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อขอโอกาสให้จำเลยทั้งหกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม พร้อมทั้งดูแลครอบครัวต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าการจำคุกจำเลยทั้งหกไว้เป็นเวลานาน
 
ล่าสุด ศาลจังหวัดพลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา รับอุทธรณ์ของจำเลยในทั้ง 2 คดี ส่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาต่อไป
 
อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหก และทั้งสี่ ในสองคดีดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษนั้นเป็นโทษที่หนักเกินไป ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุเพียง 18-20 ปี จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 อาศัยอยู่กับมารดาเพียงลำพัง จึงเป็นแรงงานเพียงคนเดียวในครอบครัว จำเลยที่ 3 และที่ 4 กำลังศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. จำเลยทั้งหกไม่มีประวัติว่าเคยได้รับโทษจำคุก หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญาใด ๆ
 
อุทธรณ์ยังระบุว่า ความผิดที่จำเลยทั้งหมดก่อในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิตของจำเลยต่อไป ที่ผ่านมาจำเลยทั้งหมดได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน และชั้นศาล ให้ความร่วมมือต่อกระบวนการพิจารณาอย่างดี อีกทั้งเมื่อจำเลยทั้งหมดถูกคุมขังจนครบกำหนดฝากขัง และได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระช่วงระยะเวลาหนึ่ง จำเลยทั้งหมดก็ไม่ได้หลบหนี หากแต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และแสดงความสำนึกผิด ทั้งนี้ นับตั้งแต่ถูกจับในคราวแรกจนถึงวันที่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล จำเลยทั้งหมดก็ถูกคุมขังใกล้ครบปีแล้ว นับว่าได้รับการลงโทษที่มากพอให้จำเลยทั้งหมดเข็ดหลาบและจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก การลงโทษจำเลยทั้งหมดต่อไปจึงเป็นการไม่จำเป็น เพราะทำให้ครอบครัวของจำเลยทั้งหมดขาดแรงงาน ขาดกำลังหลักของครอบครัว อย่างน้อยที่สุดก็ขาดแรงงานในการทำนาอันเป็นวิถีชีวิตของชาวอีสาน
 
นอกจากนี้ ในส่วนแพ่งที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวน 958,000 บาท โดยศาลชั้นต้นพิเคราะห์จากวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างว่า เมื่อทรัพย์สินที่เสียหายสร้างขึ้นเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเคารพสักการะ ย่อมไม่อาจนำค่าเสื่อมราคามาพิจารณาได้เยี่ยงพัสดุหรือสิ่งปลูกสร้างทั่วไปนั้น จำเลยทั้งสี่เห็นว่าค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนที่สูงเกินไปและไม่เป็นจริง เนื่องจากสิ่งที่ประชาชนชาวไทยแสดงความเคารพสักการะ คือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่โครงสร้างหรือสิ่งปลูกสร้าง ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสี่ที่ขอให้คิดค่าเสียหายโดยหักค่าเสื่อมราคา โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวรสำหรับหน่วยงานภาครัฐของกรมบัญชีกลาง จึงหมายถึงความเสื่อมสภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย พลาสติก ที่ผ่านแสงแดด ลม ฝน มาเป็นเวลานานปี ย่อมมีความชำรุดทรุดโทรมเป็นธรรมชาติ อีกทั้งหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็มีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้
 
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยมีข้อสังเกตต่อคำพิพากษาในคดีทั้งสองนี้ว่า ศาลมีคำพิพากษาลงโทษในข้อหาหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หนักกว่าที่เคยมีคำพิพากษาในคดีอื่น (คดีแรก 7 ปี คดีที่สอง 10 ปี) และเป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ศาลยุติธรรมพิพากษาจำคุกความผิดฐานนี้ในอัตราโทษสูงไม่ต่างจากศาลทหารซึ่งส่วนใหญ่ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
 
นอกจากคดีของ 6 วัยรุ่นนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60 ศาลจังหวัดพลได้มีคำพิพากษาในคดีตระเตรียมวางเพลิงซุ้มฯ ในเขต อ.เปือยน้อย ลงโทษจำคุกนายหนูพิณ และนายฉัตรชัย คนละ 2 ปี 6 เดือน และมีเด็กอายุ 14 ปี อีก 1 คน แยกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ ขอนแก่น ซึ่งศาลกำหนดมาตรการให้เข้ารายงานตัวเป็นเวลา 6 เดือน หลังถูกควบคุมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่นรวม 90 วัน
 
นอกจากนี้ ตำรวจ ทหาร ยังติดตามจับกุมผู้ร่วมวางแผนก่อเหตุได้อีก 2 คน เมื่อเดือนธันวาคม 2560 นำไปควบคุมตัวใน มทบ.11 รวม 7 วัน โดยไม่ให้ครอบครัวเข้าเยี่ยม ก่อนส่งมาดำเนินคดีที่ สภ.ชนบท และอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา รวม 3 คดี คือ คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติใน อ.บ้านไผ่, คดีเผาซุ้มฯ ใน อ.ชนบท  และคดีตระเตรียมเผาซุ้มฯ ในเขต อ.เปือยน้อย ทั้งสองให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวน และชั้นศาล และถูกขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอพล โดยไม่ได้ยื่นประกันตัวตลอดมา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาทั้ง 3 คดี ดังกล่าวในวันที่ 22 พ.ค. 61 นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประวิตร' ยันไทยพร้อมเป็นเจ้าบ้านให้ 'สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ' เจรจาสันติภาพ แต่เขายังไม่ประสานมา

Posted: 20 Apr 2018 10:16 PM PDT

จากกระแสข่าวที่ระบุว่ากรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 9 สถานที่เจรจาสันติภาพสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยันไทยพร้อมรับเป็นเจ้าบ้าน แต่ยังไม่ได้รับการประสาน

 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
21 เม.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวที่กรุงเทพมหานครจะเป็น 1 ใน 9 สถานที่ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาและนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จะใช้เป็นสถานที่เจรจาสันติภาพ ว่าเบื้องต้นยังไม่ได้รับการประสานจากทั้ง 2 ประเทศ แต่หากผู้นำทั้ง 2 คนจะเดินทางมาจริง ไทยก็พร้อมต้อนรับและดูแลความปลอดภัยเต็มที่เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า ประเทศไทยเป็นกลางและพร้อมสนับสนุนให้โลกมีความสงบสุข
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น