โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ใจ อึ๊งภากรณ์: ธนาธร เสนอนโยบายฝ่ายขวา ในขณะที่ ปิยบุตร พูดถึงพรรคฝ่ายซ้าย? ตกลงจะเอายังไง?

Posted: 08 Apr 2018 09:54 AM PDT

 

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมือง หมายความว่าเราสามารถดูออกและแยกแยะแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา เราสามารถเข้าใจว่า "ฝ่ายซ้าย" เป็นฝ่ายที่อยู่เคียงข้างคนทำงานกับคนจน และ "ฝ่ายขวา" อยู่เคียงข้างคนจำนวนน้อยที่เป็นนายทุนกับคนรวย และมันหมายความว่าเราเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดที่เชิดชูกลไกตลาดเสรีกับแนวคิดที่มองว่ารัฐควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

การที่พลเมืองจำนวนมากในสังคมไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะเขาโง่แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะแนวคิดการเมืองกระแสหลัก ที่มาจากทหาร นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ พยายามปกปิดเรื่องนี้มานาน เพราะเน้นแต่ผลประโยชน์คนข้างบน หรือไม่สนใจเรื่องทฤษฏีการเมือง

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการสหภาพแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะท้าทายการผูกขาดของแนวคิดฝ่ายขวา จนพวกฝ่ายขวาสามารถอ้างว่าแนวคิดของเขาเป็น "ธรรมชาติ" และในโลกจริง "เราไม่มีทางเลือกอื่น" ความอ่อนแอนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทหารฝ่ายขวาเข้ามาปกครองบ้านเมืองและปราบปรามฝ่ายซ้ายในอดีตและปัจจุบัน แม้แต่ในรัฐธรรมนูญมีการระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมกลไกตลาด เหมือนกับว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น และประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกนโยบายอื่น

ในมหาวิทยาลัยไทย ไม่ค่อยมีการสอนเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ค่อยมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสำรวจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับกลไกตลาดและรัฐ [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ] และไม่ค่อยจะมีการชวนให้นักศึกษาเรียนรู้การถกเถียงโต้แย้งในเรื่องต่างๆ เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำกลไกตลาดเข้ามาในระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนขบวนการ เอ็นจีโอ มักจะภูมิใจที่จะไม่ศึกษาทฤษฏีทางการเมืองเลย พวกนี้และนักสหภาพแรงงานบางคน จะพูดว่าเขาเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ต้องสนใจทฤษฏีทางการเมือง

ผมเคยเอ่ยถึงรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส และสื่ออื่นๆ ที่เสนอว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น [ดูhttps://reut.rs/2ugDj39 และ https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

ในรายงานข่าวนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบ ธนาธร กับประธานาธิบดี แมครอน ของฝรั่งเศส(ภาพข้างใต้)

สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP ]

การมองว่า ธนาธร เหมือน แมครอน อาจจริง เพราะทั้งสองคนเป็นนักการเมืองฝ่ายทุน ที่อ้าง  "ความหน้าใหม่" มาเป็นจุดขาย และทั้งสองมีจุดยืนในการปราบสหภาพแรงงาน ภาพข้างใต้เป็นภาพสหภาพแรงงานฝรั่งเศสประท้วงแมครอนเมื่อไม่นานมานี้

ข้อแตกต่างอันหนึ่งระหว่างแมครอนกับธนาธรอาจเป็นเรื่องจุดยืนต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งดูเหมือนธนาธรก้าวหน้ากว่ามาก

เราคงต้องกลับไปทบทวนคำพูดของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่บอกว่าต้องการจะสร้างพรรคการเมืองใหม่ตามแบบพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน พรรคห้าดาวของอิตาลี่ และพรรค "La France Insoumise"(พรรค "ฝรั่งเศสไม่ก้มหน้าให้ใคร" ) ของ Jean-Luc Mélenchon [ดู https://bbc.in/2G38dRO ]

ที่นี้มันดูเหมือนมีปัญหาหนัก เพราะพรรค La France Insoumise ของเมลองชอง (ภาพข้างบน) เป็นพรรคฝ่ายซ้าย ที่ซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส และสนับสนุนสหภาพแรงงาน ในขณะที่ประธานาธิบดี แมครอน เป็นนักการเมืองฝ่ายขวา ที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงาน และพยายามเสนอนโยบายชาตินิยมจัด เพื่อพยายามดึงคะแนนมาจากพรรคฟาสซิสต์ สรุปแล้วทั้งสองอยู่คนละขั้วของการเมืองฝรั่งเศส ไม่มีพรรคไหนที่เป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันได้

ผมนึกภาพไม่ออกว่าเวลา ปิยบุตร คุยกับ ธนาธร ในเรื่องแบบนี้เขาทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย หรือมองว่าเรื่องซ้ายกับขวาไม่ควรจะมีความสำคัญสำหรับพลเมืองไทย ผมไม่อยากคิดว่า ปิยบุตร ขาดความรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมเลยไม่เชือว่าแยกไม่ออกระหว่างซ้ายกับขวา

ผมไม่อยากคิดอีกว่า ปิยบุตร จงใจปกปิดความแตกต่างระหว่างซ้ายกับขวา เพื่อผลิตซ้ำการที่พลเมืองไทยไม่ค่อยมีโอกาสในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่จะให้ผมคิดอย่างไร?

ตกลงในยุคนี้ เมื่อเรามีโอกาสที่จะถกเถียงตรวจสอบพรรคการเมืองใหม่กับเก่า เราจะเอาสมองไปไว้กะลา แล้วไม่สนใจนโยบายของพรรคต่างๆ ว่าเป็นซ้ายหรือขวา แต่จะแค่ตื่นเต้นกับคนหน้าใหม่เท่านั้นหรือ?

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปี รัฐธรรมนูญ 2560 1 ปี รัฐธรรมนูญคู่

Posted: 08 Apr 2018 09:41 AM PDT



รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีอายุครบ 1 ปีในวันนี้ มีใครบ้างที่รู้สึกว่าประเทศไทยปกครองในระบบรัฐธรรมนูญ? เรารู้สึกหรือไม่ว่าประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใช้บังคับอยู่?

ทำไมเมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับได้ 1 ปีแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับยังคงอยู่ในอำนาจ และหัวหน้า คสช. ก็ยังคงมีอำนาจ "เด็ดขาด" ตามมาตรา 44 อยู่ต่อไป? เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้มาแล้ว 1 ปี ทำไมเรายังไม่มีการเลือกตั้ง?

นี่คือปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด ไม่น่าเกิดขึ้นที่ใดในโลก

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ปรากฏการณ์นี้แยกไม่ออกจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่สามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 และมีการเลือกตั้งอีก 2 ครั้ง กลุ่มการเมืองกลุ่มเดิมก็ยังคงกลับมาเป็นรัฐบาลได้เหมือนเดิม และเมื่อเวลาผ่านไป มีแนวโน้มว่า ดุลอำนาจที่รัฐธรรมนูญ 2550 ออกแบบมา อาจจะถูกกลุ่มการเมืองเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงเสีย ผลที่ตามมา ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในปลายปี 2551 จนเกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ครั้งหนึ่ง และกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 อีกครั้งหนึ่ง

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จึงเป็น "รัฐประหารซ่อม" จากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

อย่างไรก็ตาม รัฐประหารทั้งสองครั้งมีความแตกต่างกันอยู่ ในแง่ของจำนวนเวลาที่ครองอำนาจของคณะรัฐประหาร

คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปกครองโดย "ปลอด" รัฐธรรมนูญอยู่ 12 วัน

คณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ปกครองโดย "ปลอด" รัฐธรรมนูญอยู่ 2 เดือน

หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง และคณะรัฐประหารไม่มีอำนาจมากในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว

หัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง พร้อมควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. และคณะรัฐประหารมีอำนาจมากในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผ่านมาตรา 44

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่ 10 เดือน 24 วัน จึงมีรัฐธรรมนูญ 2550

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่ 2 ปี 8 เดือน 15 วัน จึงมีรัฐธรรมนูญ 2560

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว อีก 4 เดือนมีการเลือกตั้ง

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว จนวันนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง และยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมี

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 แล้ว หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่มีอำนาจพิเศษใดๆลงเหลือ

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หัวหน้าคณะรัฐประหารมีอำนาจตามมาตรา 44 และมีต่อเนื่อง จนทุกวันนี้ แม้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้วก็ตาม

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อายุของรัฐบาลหลังจากรัฐประหาร ประมาณ 1 ปี 3 เดือน

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อายุของรัฐบาลหลังจากรัฐประหารใกล้ครบ 4 ปี และคงอยู่ในอำนาจต่อไปเกิน 4 ปี ยาวนานกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง

หากนับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยมีชีวิตอยู่ในระบอบรัฐประหาร 4 ปีเศษๆ และคงผ่านเข้าปีที่ 5 เข้าปีที่ 6 แน่ๆ และมีชีวิตอยู่ในรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจจากผลพวงของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอีกเกือบ 3 ปี

เท่ากับว่า ประเทศไทยมีชีวิตทางการเมืองในระบอบพิเศษ-ไม่ปกติ อยู่เกือบทศวรรษ !!!


ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คนจำนวนมากตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ ต้องการกลับไปสู่การเลือกตั้ง ต้องการให้ คสช.ออกจากอำนาจ และกลับมาสู่การเมืองแบบปกติตามรัฐธรรมนูญ พวกเขาอาจคิดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ต้องวนเวียนกลับไปร่างใหม่ภายใต้การอำนวยการของ คสช. อีก เพื่อยุติกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญไม่รู้จบ และกลับไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ดังนั้น การรับร่างรัฐธรรมนูญ จึงอาจเป็น "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" (necessity evil)

การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผลปรากฏว่า มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนคิดเป็นร้อยละ 59.40 มีผู้ให้ความเห็นชอบ 16,802,402 คน คิดเป็นร้อยละ 61.35 มีผู้ไม่ให้ความเห็นชอบ 10,598,037 คน คิดเป็นร้อยละ 38.65 อย่างไรก็ตาม เราต้องรออีก 8 เดือน จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และเมื่อรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้แล้ว จนถึงวันนี้ผ่านไปหนึ่งปี เรายังไม่มีการเลือกตั้ง และรัฐบาลทหารยังคงปกครองประเทศอยู่

นั่นเท่ากับว่า การตัดสินใจรับรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ช่วยให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่ได้ทำให้ คสช.ออกจากอำนาจ และไม่สามารถทำให้การเมืองไทยกลับไปสู่ระบบปกติได้ในทันที

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 ยังกำหนดให้ คสช.ยังคงดำรงอยู่ต่อไป และหัวหน้า คสช. ยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 44 ต่อไป (แม้รัฐธรรมนูญ 2557 สิ้นผลไปแล้ว) จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เข้ารับตำแหน่ง

ณ วันนี้ ประเทศไทยจึงมี "รัฐธรรมนูญคู่" ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา และ มาตรา 44 เมื่อมีรัฐธรรมนูญคู่ขนานเช่นนี้ ปัญหาที่ตามมา คือ รัฐธรรมนูญ 279 มาตรา กับ มาตรา 44 อะไรใหญ่กว่ากัน?

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 รับรองให้การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ดังนั้น คำสั่งของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 จึงไม่มีทางที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ต่อให้รัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิและเสรีภาพให้แก่บุคคลไว้ แต่เมื่อเผชิญหน้ากับคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ออกมาตามมาตรา 44 สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นก็หยุดลงทันที ในนัยนี้ ก็คือ มาตรา 44 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

หากจะกล่าวให้เห็นภาพ หัวหน้า คสช. อาจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชน ออกคำสั่งที่มีเนื้อหาที่ไม่ยุติธรรม ออกคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ออกคำสั่งเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกพระราชบัญญัติ ออกคำสั่งเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ออกคำสั่งเพื่องดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา ออกคำสั่งเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งออกคำสั่งเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ คำสั่งทั้งหมดนี้ ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

สถานะของหัวหน้า คสช. เช่นนี้ ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและปรัชญาการเมือง เราเรียกว่า "องค์อธิปัตย์" (sovereign) อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ หรือคนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าเมื่อไรคือสถานการณ์ยกเว้น ดังที่ Carl Schmitt ว่าไว้

จริงอยู่ เมื่อไรที่มีการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง คสช.ก็จะพ้นไป และอำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ก็จะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าประกาศ คำสั่ง คสช. จะหายไปด้วย เรายังคงต้องอยู่กับ "มรดกของ คสช." ชั่วกัลปาวสาน เพราะ มาตรา 279 ตามไปรับรองให้ ประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย

หากบุคคลใดต้องการโต้แย้งว่าประกาศ คำสั่ง คสช. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พวกเขาก็ไม่สามารถทำได้ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว องค์กรผู้มีอำนาจก็จะชี้ขาดว่าบรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเหล่านี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย ตามที่มาตรา 279 กำหนด

ต่อให้ประกาศ คำสั่ง คสช. ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีเนื้อหาที่ไม่ยุติธรรม หรือขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ต่อให้ประกาศ คำสั่ง คสช. กำหนดให้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก ตกทางทิศตะวันออก ให้หญิงเป็นชาย ให้ชายเป็นหญิง ประกาศ คำสั่งเหล่านั้น ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

วันหน้า เมื่อ คสช.ออกไป บุคคลที่ดำรงตำแหน่งใน คสช. ล้มหายตายจากไป แต่การใช้อำนาจของพวกเขา ประกาศ คำสั่ง ของพวกเขา ก็ยังคงอยู่กับพวกเราตลอดกาล และไม่มีใครโต้แย้งได้

กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ "ระบบรัฐธรรมนูญคู่" ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต
 


ณ ปัจจุบัน เราอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา + มาตรา 44 โดยมาตรา 44 ใหญ่กว่า

มาตรา 44

รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา

ในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง เราก็ยังคงอยู่ภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญคู่ นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา + ประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง โดยประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องใหญ่กว่า


ประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.
และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง

รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา


เราจะยุติระบบ "รัฐธรรมนูญคู่" ได้อย่างไร?

ระบบรัฐธรรมนูญคู่ (dual constitution) ที่ให้รัฐธรรมนูญพิเศษ (ได้แก่ การใช้อำนาจของ คสช.ทั้งหลาย) อยู่เหนือรัฐธรรมนูญปกติ ทำให้ประเทศไทยไม่อาจกลับเข้าสู่การเมืองในระบบปกติได้ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ หลักการประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่สามารถเกิดขึ้นและมีผลจริงได้

ระบบรัฐธรรมนูญคู่จะสิ้นสุดลงได้อย่างไร? ประเทศไทยต้องอยู่กับ "มรดก คสช." ไปชั่วกัลปาวสาน นิรันดร อย่างนั้นหรือ?

ไม่ เพราะ การเมือง คือ ความเป็นไปได้

ไม่ เพราะ การเมือง คือ แรงปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เรายุติระบบรัฐธรรมนูญคู่ได้ โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้


ขั้นตอนแรก

ต้องยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ได้ฟ้องโต้แย้งไปยังองค์กรผู้มีอำนาจตรวจสอบว่าประกาศ คำสั่งเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


ขั้นตอนที่สอง

ต้องนำประกาศ คำสั่ง คสช และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด กลับมาทบทวนเสียใหม่ โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาแบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ประกาศ คำสั่ง ที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน มีเนื้อหาไม่ยุติธรรม มีวัตถุประสงค์ปราปรามศัตรูทางการเมือง

ประกาศ คำสั่ง ที่ออกมาในชีวิตประจำวัน ราชการประจำวัน มีบุคคลผู้สุจริตที่ได้รับประโยชน์ไปแล้ว

โดยประกาศ คำสั่งในกลุ่มแรก ต้องถูกยกเลิก และต้องสร้างระบบการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย ส่วนประกาศ คำสั่งในกลุ่มสอง ให้ "แปลงรูป" กลายเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง หรือคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี


ขั้นตอนสุดท้าย

ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 256/1 ลงไปในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีประชามติ ให้ประชาชนตัดสินใจว่าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ หรือไม่

ข้อเสนอยกเลิกมาตรา 279 ข้อเสนอทบทวนประกาศ คำสั่ง คสช เสียใหม่ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ข้อเสนอที่ radical หรือรุนแรง ไม่ใช่ข้อเสนอที่ต้องการกวาดล้าง คสช. แต่เป็นข้อเสนอเพื่อให้หลักนิติรัฐ ระบอบรัฐธรรมนูญ หลักการประชาธิปไตย กลับมา

ถึงเวลาแล้วที่ต้องยุติ "รัฐธรรมนูญคู่" มุ่งหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่



เผยแพร่ครั้งแรกใน: thefuturewewant.today/1-year-constitution/
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. กับตรรกะประหลาดเพื่อ “อุ้ม” ผู้ประกอบการ 4G

Posted: 08 Apr 2018 09:15 AM PDT


หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลแถลงว่า นายกรัฐมนตรีให้แนวนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และการขอยืดจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 4G ของเอไอเอสและทรูว่า ให้คำนึงถึงหลักการ 2 ประการ คือ 1. ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจและ 2. ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย

ถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ว่า นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง  อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏข่าวว่า เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามเตรียมเสนอรัฐบาลให้ "อุ้ม" เอไอเอสและทรูในแนวทางที่แตกต่างจากหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยอ้างข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะยืนยันที่จะเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้ายออกไป โดยอ้างว่าจะทำให้

1.รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาทจากดอกเบี้ย 1.5% ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการ 2 รายไปกู้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ได้รายได้ดังกล่าว

2.รัฐบาลน่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4G ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดขึ้น เป็นเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย แต่รัฐอาจไม่ได้รายได้ดังกล่าว หากไม่ยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้าย

ที่ผมกล่าวว่า ข้อเสนอของเลขาธิการ กสทช. แตกต่างจากแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี และอยู่บนข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง ก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


เอกชนต้องสามารถประกอบธุรกิจได้

ผู้ประกอบการทั้งสองรายคือ เอไอเอสและทรู ไม่ได้มีปัญหาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด เอไอเอสยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย และมีผลกำไรมหาศาลถึง 3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 แม้จะลดลงจากก่อนหน้านั้นไปบ้าง

ส่วนทรูนั้น แม้จะมีกำไรน้อยกว่าเอไอเอสมาก แต่ก็ยังมีกำไร 2.3 พันล้านบาทในปี 2560 ที่สำคัญ ทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 18.8% เมื่อไตรมาส 2/2558 เป็น 26% ในไตรมาส 2/2560 และแจ้งต่อนักลงทุนว่า สามารถเพิ่มลูกค้าได้ 2.7 ล้านรายในปี 2560 ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีลูกค้าลดลง

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไป "อุ้ม" ทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินธุรกิจได้ดี 


ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

จากผลประกอบการที่ดีดังกล่าว นักลงทุนจึงยังคงมีความเชื่อมั่นต่อทั้ง 2 บริษัท ซึ่งสะท้อนจากมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายที่ระบุว่า ฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยังแข็งแกร่ง แม้รัฐบาลจะไม่ยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น

ที่สำคัญกว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบางบริษัทคือความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย การที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎกติกาหรือเงื่อนไขที่ออกมาแล้ว อันเป็นผลจากการเรียกร้องของผู้ประกอบการบางรายโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยไม่มีหลักการที่ชัดเจน สามารถต่อรองได้หากมีเส้นสาย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ลังเลที่จะมาลงทุนในประเทศไทย 


เอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจ

ในระบบตลาดเสรี ย่อมไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ผู้ประกอบการจะต้องได้รับกำไรเสมอไป เพราะการประกอบธุรกิจทั้งหลายย่อมมีความเสี่ยงทางธุรกิจตามปรกติ (normal business risk) ซึ่งเอกชนจะต้องแบกรับเอง รัฐไม่ได้มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทุกรายให้ไม่ขาดทุน หากสาเหตุของการขาดทุนนั้นไม่ได้มาจากรัฐหรือกฎระเบียบของรัฐ (regulatory risk)

ในกรณีนี้ เอไอเอสและทรู เสนอราคาในการประมูลโดยสมัครใจและเข้าใจเงื่อนไขการผ่อนชำระค่าประมูลเป็นอย่างดี จึงควรต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตน


ผลประโยชน์ของรัฐต้องไม่เสียหาย

เงื่อนไขการประมูลกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากชำระค่าประมูลล่าช้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ไม่ใช่ 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช. เสนอ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในกรณีนี้คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอของ กสทช. ก็จะเป็นการยกผลประโยชน์มหาศาลให้เอกชนทั้งสอง 

อัตราดอกเบี้ย 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช.ยกมา เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้กันในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลด้วย ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลปล่อยให้ทั้ง 2 รายกู้ในอัตราดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ตามสัญญาแล้ว ยังขาดทุนทางการเงินด้วย การอ้างว่า รัฐจะมีรายได้จากดอกเบี้ยถึง 3,600 ล้านบาทจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง

ผู้ประกอบการทั้งสองรายออกแถลงการณ์ชี้นำให้สังคมเข้าใจว่า การผ่อนชำระค่าประมูลคลื่นดังกล่าว "ไม่ได้เป็นการขอลดค่าประมูลคลื่น" เป็นแต่เพียงการ "ขยายเวลา" เท่านั้น ไม่ได้ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ คำกล่าวอ้างดังกล่าวก็ไม่เป็นความจริงเนื่องจากการขยายเวลาโดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำมาก ก็มีผลเหมือนการขอลดค่าประมูลคลื่น ซึ่งทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย การขอใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเพราะ "ต่างได้ใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นจากกสทช. มาเช่นเดียวกัน" ก็ไม่สมเหตุผล เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการดำเนินการที่บกพร่องของ กสทช. ในขณะที่ เอไอเอสและทรูมีกำไรและไม่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของ กสทช. 

เอไอเอสและทรูยังอ้างว่าสามารถกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ได้ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3-4% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มาก หากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการทั้งสองรายก็สมควรไปกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาชำระค่าประมูล ไม่ใช่ให้รัฐปล่อยกู้ในอัตราขาดทุน โดยผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระแทน  


การเข้าร่วมประมูลคลื่นในอนาคต

เลขาธิการ กสทช. อ้างว่า การขยายเวลาผ่อนชำระค่าประมูล จะช่วยให้รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่น 1800 MHz มากขึ้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย ข้ออ้างดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการ "มโน" หรือคาดเดาฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้ว่า แถลงการณ์ของเอไอเอสและทรูก็ไม่ได้ระบุเลยว่า จะเข้าประมูลรอบใหม่หากได้รับการผ่อนชำระค่าประมูล  

ที่สำคัญ หากเอไอเอสและทรูจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ด้วยเหตุผลจากการเจรจาแบบ "หมูไปไก่มา" ก็ยิ่งจะเป็นผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เพราะแทนที่การประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นตามกลไกตลาด ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมและโปร่งใส กลับเกิดขึ้นจากการต่อรองกันเป็นครั้งๆ หรือการวิ่งเต้น

รัฐบาลและ กสทช. ไม่ควรคาดหวังว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz ในอนาคตจะต้องได้ค่าประมูลสูงเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจาก ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการ 2 รายคือ เอไอเอสและทรู ได้ประมูลคลื่นไปจำนวนหนึ่งแล้ว จึงอาจไม่ต้องการประมูลคลื่นเพิ่มเติมอีกมาก (นอกจากเพื่อกีดกันคู่แข่ง)  รายได้จากการประมูลคลื่นรอบใหม่นี้จะมากหรือน้อยจึงควรเป็นไปตามอุปทานและอุปสงค์ ภายใต้การออกแบบการประมูลที่ดี โดยไม่ต้องพยายามบิดเบือนให้ได้ราคามากหรือน้อย

โดยสรุป แม้นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง แต่เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามชักจูงรัฐบาลให้ "อุ้ม" ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใดๆ รัฐบาลจึงควรตัดสินใจอย่างมั่นคงบนผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้านอาหารไทยในอเมริกา: ประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่าในสายตารัฐไทย

Posted: 08 Apr 2018 08:58 AM PDT

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าว Munchies/Vice ระบุว่า แม้ร้านอาหารเม็กซิกันและจีนอาจมีจำนวนมากกว่าร้านอาหารไทย แต่จำนวนร้านอาหารทั้งสองชาติก็สอดคล้องกับจำนวนประชากรเม็กซิกันในสหรัฐฯ ที่มีประมาณ 36 ล้านคนและมีคนจีนอีกประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งข้อมูลของสถานทูตไทยในสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีชาวไทยอเมริกันอยู่เพียง 300,000 คน หรือไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนชาวเม็กซิกันอเมริกัน แต่ร้านอาหารไทยกลับมีประมาณ 5,350 ร้าน ส่วนร้านอาหารเม็กซิกันมีประมาณ 54,000 ร้าน แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนร้านอาหารไทยต่อประชากรชาวไทยมีมากกว่าถึง 10 เท่า (https://voicetv.co.th/read/HkCR2Dyjf)

คำถามคือ ทำไมร้านอาหารไทยในอเมริกาถึงได้มีจำนวนมากมายขนาดนี้ จากรายงานข่าวแหล่งเดียวกันที่ระบุว่า"ร้านอาหารไทยมีตั้งอยู่แทบทุกหัวถนนในนครนิวยอร์ก และยังมีร้านอาหารตั้งอยู่ทั่วสหรัฐฯ อีกด้วย" สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในอเมริกาแล้วคงต้องยอมรับว่า เป็นความจริง

ปัญหาต่อไปคือ เมื่อเรายอมรับว่าเป็นว่าเป็นความจริงแล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ เผอิญว่า ในรายงานข่าวเดียวกันไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดการดำเนินกิจการร้านอาหารไทยว่าเป็นอย่างไร หากเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนร้านอาหารไทยในอเมริกาที่มีจำนวนมากมายแทบทุกมุมถนน ซึ่งคนที่เคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกามาแล้วคงประจักษ์ด้วยตาตนเองเป็นอย่างดี

ผมอยากจะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของเรื่อง/ประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารไทยในอเมริกา และคิดว่ามีนัยสำคัญสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐไทยและผลประโยชน์ของประเทศไทย ดังนี้ครับ (ความจริงก็เหมือนเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่) ที่น่าเศร้าคือ ไม่เคยมีหน่วยงานของเอกชนหรือของรัฐไทยให้ความสนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลักษณะ บทบาทและคุณค่าของธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกากันอย่างจริงจังเลย

  1. วัตถุดิบ หมายถึง วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือประกอบอาหารในครัวไทย เช่น พืช ผัก เนื้อสัตว์ เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นซึ่งหาได้จากตลาดในสหรัฐอเมริกาเอง ขณะที่วัตถุดิบส่วนหนึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ผักบางประเภท ผลิตภัณฑ์ปรุงรสบางชนิด เป็นต้น ซึ่งนี่ย่อมหมายถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย ดังเมื่อครั้งหนึ่งเราเคยมีโครงการ "ครัวไทย ครัวโลก" เพื่อสนับสนุนการส่งออกวัตถุดิบสำหรับป้อนร้านอาหารไทย ในประเด็นนี้หน่วยงานของรัฐคือ กระทรวงพาณิชย์ที่มีแขนขาอยู่ในสหรัฐอเมริกาย่อมทราบเป็นอย่างดี
     
  2. แรงงาน หมายรวมถึง ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานในร้านอาหาร ซึ่งในปัจจุบันแรงงานในร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แรงงานที่เป็นคนไทยเท่านั้น หากยังเป็นแรงงานหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะแรงงานพื้นฐานมีทักษะน้อยถึงไร้ทักษะอย่างแรงงานเม็กซิกันซึ่งในปัจจุบันมาทำงานในครัวไทยหรืองานบริการหน้าที่อื่นๆ กันมาก ที่สำคัญคือมีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการร้านอาหารไทยนิยมจ้างแรงานเม็กซิกันมากขึ้น เพราะคิดว่ามีความอดทน สู้งานหนักมากกว่าแรงงานไทย

โดยในส่วนของแรงงานไทยนี้ยังแยกออกเป็น 2 ส่วนตามที่ทราบกันดี ก็คือ แรงงานไทยที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายและแรงงานงานเถื่อนเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในอเมริกาแบบไร้เอกสาร หรือที่เรียกกันว่า โรบินฮู๊ด และแน่นอนว่าเมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ก็สุ่มเสี่ยงที่จะมี "ปัญหาหลังร้าน" ได้ตลอดเวลา เช่น การกดขี่แรงงานหรือใช้แรงงานเยี่ยงทาส ปัญหาการเอาเปรียบค่าแรง/ค่าจ้างตรงนี้ผิดกฎหมายอเมริกัน แต่เป็นขยะที่ถูกซุกไว้ใต้ผืนพรม แรงงานที่อยู่อย่างผิดกฎหมายแม้โดนเอาเปรียบก็เหมือนน้ำท่วมปากพูดไม่ออก ทั้งไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาให้ตัวเองยอย่างไร สถานกงสุล สถานทูตไทย ในอเมริกาทราบปัญหาดี แต่ก็ได้แค่ยืนดูตาปริบๆ เพราะคิดว่าไม่มีอำนาจที่จะเอื้อมไปถึง เจ้าทุกข์เองก็ไม่ร้องเรียน หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศเหล่านี้จึงปล่อยให้เหตุการณ์ละเมิดแรงงานเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างซ้ำซาก เป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดพยายามยามแก้ปัญหานี้กันเลย เพราะคิดว่าเป็นปัญหาโลกแตก

  1. ทุน หมายถึง เงินลงทุนในการประกอบการร้านอาหารไทย แบบอย่างของการช่วยเหลือด้านทุนต่อผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่ดี อย่างเช่น การช่วยเหลือทุนแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารชาวมาเลเซียในอเมริกา ที่นับว่าประสบความสำเร็จ เป็นทุนที่จัดสรรโดยรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อหลายปีมาแล้ว เม็ดเงินถูกกระจายไปทุกภาคส่วนแก่ร้านผู้ประกอบการร้านอาหารมาเลเซียนในอเมริกา แต่ในส่วนของร้านอาหารไทย เราเคยมีการหารือถึงเรื่องนี้หลายปีมาแล้ว น่าจะเป็นสมัยรัฐบาลทักษิณ ตามข้ออ้างของMunchies/Vice ที่ว่า "รัฐบาล (ไทย)ก็ยังคงให้เงินสนับสนุนต่อไป ธนาคารไทยอีกหลายแห่งยังได้ให้เงินกู้กับชาวไทยที่ต้องการเปิดร้านอาหารในต่างประเทศด้วย" ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ารัฐบาลไทยยังมีโครงการนี้อยู่หรือเปล่า เพราะหากผู้ประกอบการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ก็ไม่ได้แสดงนัยว่าเป็นการสนับสนุนโดยรัฐบาลแต่อย่างใด หากเป็นการปล่อยกู้ให้ลูกค้าของธนาคารตามปกติเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แท้จริงแล้ว ลูกค้าหรือผู้ประกอบการร้านาอาหารไทย ต้องได้เงินลงทุนที่กู้มาอย่างน้อยก็ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน  ในตอนนี้รัฐบาลไทยน่าจะอยู่เฉยๆ มากกว่าคิดทำโครงการสนับสนุนหรือสร้างผู้ประกอบการร้านอาหารในต่างประเทศเหมือนเพื่อนบ้านของเราเช่นมาเลเซีย
     
  2. องค์ความรู้ หมายถึง ความรู้เรื่องการทำหรือปรุงอาหารไทย ที่แน่นอนว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการและแรงงาน คือพ่อครัวแม่ครัวในร้านอาหาร ส่วนนี้ในปัจจุบันก็หายไปเฉยๆ แทบไม่มีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐใดๆ เลย cooking class ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกล่าวถึงอย่างมากในอเมริกา โดยเฉพาะแคลิฟอร์เนีย หายไปจากสารบบของทางการไทยเฉย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจไม่มีเวลามาคิดเรื่องนี้ แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารไทยควรถูกมองในฐานะสมบัติกลางของโลก กล่าวคือ ไม่ควรมีอยู่ในหัวของคนไทยเท่านั้นหรือคิดว่า คนไทยเท่านั้นที่ทำอาหารไทยได้ หากแต่ควรอยู่ในหัวของคนทั้งโลก คนทั่วไปทั่วโลก สามารถเข้าถึงสูตรการทำอาหารไทยได้ เพราะโดยทางอ้อมแล้วไทยเราได้ประโยชน์จากการขายวัตถุดิบในการประกอบอาหารไทยส่วนหนึ่งอยู่แล้ว
     
  3. การท่องเที่ยว หมายถึง การนำอาหารไทยเชื่อมโยงหรือผูกติดกับการท่องเที่ยวไทย ในเมื่อคนอเมริกันหรือคนยุโรปหรือที่อื่นใดในโลกรู้จักอาหารไทยนั่นหมายความว่าพวกเขาย่อมรู้จักประเทศไทยไปด้วยกลายๆ ก็ทำไมเราไม่เอาร้านอาหารไทยที่มีอยู่ทั่วทุกมุมถนนในอเมริกานั้นเอง เป็นแหล่งโปรโมทหรือหรือขายบริการท่องเที่ยวของไทยล่ะ รัฐบาลไทยปล่อยให้โอกาสแบบนี้สูญเสียไปได้อย่างไร การใช้ร้านอาหารไทยที่มีอยู่จำนวนมากในอเมริกาเป็นจุดขายการท่องเที่ยวนั้นมันเทียบไม่ได้เลยกับการที่รัฐบาลมีสำนักงานสาขาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่แอล.เอ.และนิวยอร์ค ที่นับวันในโลกดิจิตัลสำนักงานเหล่านี้จะไร้ค่าลงไปทุกที มิสู้หันมาใช้ร้านอาหารไทย 5000 กว่าร้านให้เป็นประโยชน์เต็มที่ดีกว่า ยุบไปเลยครับสำนักงานททท.ที่ว่า เพราะไม่คุ้มค่ากับการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ

สรุปแล้วรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ ก็ตาม ยังไม่ควรภูมิใจกับข่าวของ Munchies/Vice ที่ว่านี้ หากควรตระหนักว่าร้านอาหารไทยในต่างแดนเช่นอเมริกายังมีปัญหาให้แก้ไขอยู่มากและรอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่สำคัญคือการหาช่องทางใช้ประโยชน์จากองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารไทยในอเมริกาให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ แรงงาน ร้านอาหารไทยมากกว่าอย่างอื่น รวมถึงผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศด้วย 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: บ้านป่าแหว่ง

Posted: 08 Apr 2018 08:45 AM PDT

ป่ากี่ป่าเคยตราตรึงรัดรึงใจ     บ้านเมืองใดไยล้มเหลวเลวให้เห็น

ภูเขาเอยโทษใครทำให้เป็น     ภูเคยเด่นดันหัวล้านทั่วบ้านไทย

ดงพญาเย็นเป็นไข้ป่าน่าหวาดหวั่น     ชื่อเสียงกันกีดขวางทางพิษไข้

แต่เดี๋ยวนี้ที่เหลือดงแนวพงไพร     พญาไฟไร้แรงสิ้นแสงโชน

ใจร้อนรนคนทวงหนี้ไม่มีให้     ถางทำไร่ไปเรื่อย ๆ เหนื่อยขุดโค่น

หลายสิบปีที่ผ่านทั่วเขาหัวโล้น     ใครเป็นโจรปล้นป่าพาไปดู

สัมปทานป่าไม้ของนายทุน     ยุคของขุนศึกใหญ่ครองไทยอยู่

ป่าเสื่อมโทรมล้มไม้ใหญ่หมดไพรภู     ชาวบ้านผู้ยากจนค้นจับจอง

หลายสิบปีผ่านไปไร่เลื่อนลอย     ความจนถอยทับทวีน้องพี่ผอง

เขาหัวโล้นตะโกนถามฟ้างามครอง     แล้งร้ายร้องระบำตอกย้ำจน

การมาของผองเขื่อนเกลื่อนช่องเขา     ฝนตกเอาขังไว้ในหุบหน

แต่สายน้ำยังหลามไหลปีไหนล้น     เขาหัวโล้น คนหัวล้านฉานแชเชือน

เข้าท่วมไร่ทุ่งนาหาเรือกสวน     เข้าชักชวนให้เปียกตะเกียก ตะกายเกลื่อน

บ้านเมืองพากันกั้น กันน้ำเคลื่อน     เกลียดเจ้าเยือนเรือนเหย้าเข้าท่วมเวียง


ป่าบนภูดูแลน้ำไม่หลามไหล     ป่าหมดไปไร้เส้นผมหัวกลมเกลี้ยง

ฝนตกมาอย่าบ่นฟ้าว่าลำเอียง     แค่พอเพียงเคียงตลิ่งปิงวังยม

ใครตัดไม้ทำลายป่าถ้าเถียงถาม     จะตอบตามความยุติธรรมนำขื่นขม

คนใส่สูทหรือหม้อฮ่อมใครจ่อมจม     ขอสังคมตอบตามความจริงเอย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รหัสลับรอมแพง ประวัติศาสตร์นิพนธ์ในบุพเพสันนิวาส | หมายเหตุประเพทไทย #204

Posted: 08 Apr 2018 07:03 AM PDT

ถอดรหัส "บุพเพสันนิวาส" นวนิยายของ "รอมแพง" ที่เป็นละครดังในขณะนี้ สำหรับนวนิยายดังกล่าวผู้ประพันธ์ค้นคว้าผ่านบันทึกทางประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลายฉบับโดยเฉพาะจาก "จดหมายเหตุลาลูแบร์" หรือบันทึกของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตจากฝรั่งเศสที่เดินทางมายังอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 นอกจากนี้นิยาย "บุพเพสันนิวาส" ยังให้ภาพชีวิตประจำวันของผู้คนในสมัยอยุธยาด้วย โดยไม่ได้เน้นฉากสงครามแบบนิยายอื่นๆ

อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาทำละคร หากยึดตามหลักฐานในเวลานั้นทั้งหมด ละครอาจไม่มีอรรถรสอย่างที่เห็น โดยเฉพาะสภาพสังคมศักดินาในสมัยอยุธยาและการแต่งตัวของผู้คนในกรุงศรีอยุธยาที่ลาลูแบร์ระบุว่าผู้หญิงมักเปลือยอก ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย พบกับชานันท์ ยอดหงษ์ และแขกรับเชิญ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้เขียน "ผจญภัยในแดนเทศ"

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บวชป่าเชิงดอยสุเทพ-ประกาศจุดยืนยกเลิกโครงการบ้านพักศาล

Posted: 08 Apr 2018 05:01 AM PDT

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพทำพิธีบวชป่าเชิงดอยสุเทพติดพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักศาลฯ ประกาศจุดยืนเรียกร้องต้องยกเลิกโครงการ ก่อนเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มณฑลทหารบก 33 ค่ายกาวิละ พรุ่งนี้ (9 เม.ย.)

ที่มาของภาพ: เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

8 เม.ย. 2561 เว็บไซต์เชียงใหม่นิวส์ รายงานว่าเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และประชาชนชาวเชียงใหม่จำนวนมาก ที่ต้องการให้มีการยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รวมตัวกันจัดกิจกรรมบวชป่าขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ โดยมีการนัดรวมตัวกันขี่จักรยานผูกริบบิ้นสีเขียวสัญลักษณ์การเรียกร้อง เริ่มจากบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในตัวเมืองเชียงใหม่ ไปศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ผ่านศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้วต่อไปยังบริเวณห้วยตึงเฒ่า ซึ่งอยู่เชิงดอยสุเทพ และมีพื้นที่ป่าติดกับโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อร่วมกันทำพิธีสืบชะตาและบวชป่าในบริเวณดังกล่าวตามความเชื่อแบบล้านนา ด้วยการจัดเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา พร้อมทั้งประกอบพิธีสงฆ์และทำการบวชป่าด้วยการนำผ้าเหลืองผูกกับต้นไม้ใหญ่ทั่วบริเวณพื้นที่ป่า รวมทั้งต้นไม้บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าวด้วย

โดยเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวยืนยันว่าการเรียกร้องของภาคประชาชนเป็นไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการเรียกร้องให้มีการคืนพื้นที่ป่าเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างบ้านพักยื่นล้ำขึ้นไปทางส่วนบนเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับในส่วนของอาคารสำนักงานและแฟลตที่พัก รวมทั้งโครงการของหน่วยงาน ทั้งนี้เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน เป็นป่าเขตกันชนรอยต่ออุทยานแห่งชาติ และล้ำขึ้นไปจากแนวการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานอื่นๆ อย่างชัดเจน รวมทั้งยังอาจจะเป็นจุดเริ่มของการขยายพื้นที่ใช้ประโยชน์เขตราชพัสดุส่วนที่เป็นป่าดอยสุเทพลุกลามตามมา ทั้งนี้ยืนยันด้วยว่าเห็นควรต้องให้มีการรื้อสิ่งปลูกสร้างออกแล้วฟื้นฟูพื้นที่ป่าตามหลักวิชาการ ส่วนความกังวลในแง่กฎหมายและงบประมาณที่ใช้ดำเนินการไปนั้น เสนอว่าสามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จและส่งมอบงานกันตามสัญญา จากนั้นให้คืนพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมต่อไปได้

นอกจากนี้เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ รายงานด้วยว่า หลังจากเสร็จการประกอบพิธีบวชป่าสืบชะตาป่า เครือข่าย ทสม.เชียงราย ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ ร่วมกันทำฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าบริเวณเชิงดอยสุเทพประมวลภาพพิธีบวชป่าสืบชะตาป่าดอยสุเทพ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์แนะแผนปฏิรูป-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องกระจายอำนาจ

Posted: 08 Apr 2018 04:37 AM PDT

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เสนอข้อเสนอต่อการปฏิรูป 11 ด้านและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนสำคัญในการจัดการการศึกษา ทรัพยากรของชุมชน พัฒนาองค์กรประชาชนให้เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา

 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)
 
8 เม.ย. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านที่เพิ่งประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. พ.ศ. 2561 ว่าแม้นว่าคณะกรรมการปฏิรูปจะมีเป้าหมายและความปรารถนาดีต่อชาติแต่เป็นยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆที่ต้องทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปหลังการเลือกตั้ง ขาดความยืดหยุ่นและขาดการเปิดกว้างให้สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และตามเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้อย่างเหมาะสม ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพเพื่อให้ทหารเป็นทหารอาชีพเพื่อแก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนเรื่องการปฏิรูประบบและกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ รวมทั้งความปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่าง สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังขาดรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันและการเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น 
 
การเปิดกว้างให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน จนเกิด "ฉันทามติ" ในสังคมจะส่งผลให้ยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เพราะจะทำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย ตนได้เคยร่วมคิดในการวางแผนทำยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วก็ทำอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม (Participation) ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบ (Accountability) ความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) ความเป็นธรรมของกฎระเบียบ (Fair Regulatory) ความเป็นนิติรัฐ (Rule of Law) เน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) ทั้งหมดนี้ เรียกว่า หลักธรรมาภิบาลในการกำหนดนโยบาย แผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เนื้อหาในแผนการปฏิรูป 11 ด้านระบุถึงการดำเนินการเรื่องการกระจายอำนาจน้อยเกินไป เป้าหมายหลักของการปฏิรูปต้องมุ่งไปที่การปรับ
 
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงมากขึ้นการยึดถือแนวทางการปฏิรูปเช่นนี้จะนำมาสู่การเกิดดุลยภาพเชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ แผนปฏิรูปของรัฐบาลไม่ได้พูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมมากเพียงพอ ซึ่งปัญหาความอยุติธรรมนี้นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมในทุกด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจและด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 
 
แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติไม่ว่าจะสั้นหรือยาวต่อไปจะต้องตอบโจทย์ปัญหากับดักเชิงโครงสร้างของไทยในอนาคตให้ได้ การเตรียมรับมือกับกับดักปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบสถาบันต่างๆและการเมือง รัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ขณะนี้ยังไม่มีทางออกหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหากับดักเชิงโครงสร้างอย่างไรในระยะยาว เช่น ปัญหาจากโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาจากเสถียรภาพระบบการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน ปัญหาการศึกษาและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ทำให้ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่งปัญหาหลายประการจะทยอยปะทุขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าช่วงหนึ่งและ 10-20 ปีข้างหน้าอีกช่วงหนึ่ง โดยที่ระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ในมิติด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมรวมทั้งภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยนปัจจัยที่กำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนทางด้านนวัตกรรม การลงทุนทางด้านการศึกษาและวิจัย ขณะที่ไทยมียอดการเกินดุลการค้าสูงมาก สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นช้ามาก เอกชนไม่กล้าลงทุน ไม่สั่งนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ ไม่สั่งนำเข้าเครื่องจักร 
 
มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูงติดอันดับโลก แรงงานระดับล่างและเกษตรกรรายย่อยมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มีสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้สูงมาก มิติทางด้านการศึกษา เด็กกว่า 40% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กไทย 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน มีพัฒนาการต่ำกว่าวัย 2 ใน 3 ของครอบครัวไทยไม่สามารถมีเงินส่งลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ มีความไม่เสมอภาคทางการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทสูงมาก ทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอย่อมไม่สามารถแบกรับภาระที่มากขึ้นของโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ดีนัก การปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-11% ของจีดีพี (ตัวเลขจาก Thailand Future Analysis จากผลการศึกษาของ Hanushek and Woessman 2010) กับดักโครงสร้างทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวเสนอแนะว่า ยุทธศาสตร์ 6 ประการของแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี (บรรลุเป้าหมายและสิ้นสุดปี พ.ศ. 2579) ที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ผมเห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วน แต่ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นยุทธศาสตร์พื้นฐาน ไม่มีอะไรแปลกใหม่ อาจไม่สามารถตอบสนองต่อพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ที่พลิกผันระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต ระบบการเงินและระบบการเมืองได้ดีนัก รวมทั้งยังติดกรอบคิดแบบราชการและอนุรักษ์นิยม รวมทั้งอาจไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่แก้ปัญหาในระดับโครงสร้างและฐานรากอย่างแท้จริง 
 
"ผมเห็นว่าควรมีมากกว่า 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ 15 ปี (พ.ศ. 2561-2575) ที่ผมเคยเสนอไว้เมื่อทำหน้าที่กรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2549 หรือ เมื่อเกือบ 12 ปีมาแล้ว มีทั้งหมด 10 ยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้" ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
 
ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอำนาจและส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคง 
 
ยุทธศาสตร์ที่สอง ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเอา "คุณภาพชีวิตของพลเมือง" เป็นศูนย์กลาง (โดยให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยในระยะ 15 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 5-6%) 
 
ยุทธศาสตร์ที่สาม ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและ Greater Thailand/New Siam ยุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคง ตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล คสช แต่ยุทธศาสตร์ที่ผมศึกษาวิจัยและคิดไว้นี้จะรวมแผนยุทธศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมและภาษาด้วย รวมทั้งการสร้างพลังเครือข่ายสยามและเชื้อชาติไทยอีกด้วย
 
ยุทธศาสตร์ที่สี่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเครือข่ายความร่วมมือ ยุทธศาสตร์ลดอำนาจการผูกขาด สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มการแข่งขัน เสรีภาพในการประกอบการ 
 
ยุทธศาสตร์ที่ห้า ยุทธศาสตร์ด้านลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
 
ยุทธศาสตร์ที่หก ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยและการปรับโครงสร้างประชากรให้เหมาะสม
 
ยุทธศาสตร์ที่เจ็ด ยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมือง
 
ยุทธศาสตร์ที่แปด ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และ ภาคการเมือง 
 
ยุทธศาสตร์ที่เก้า ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาหาร การท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ของโลก และ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 
 
ยุทธศาสตร์ที่สิบ ยุทธศาสตร์บูรณาการสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค 
 
ส่วนแผนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านนั้นจะต้องมีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนสำคัญในการจัดการการศึกษา ทรัพยากรของชุมชน ตลอดจนการพัฒนาองค์กรประชาชนให้เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา การกระจายอำนาจตามความหมายนี้ ก็คือ การเพิ่มอำนาจประชาชนและลดอำนาจรัฐนั่นเอง ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณเสียใหม่ให้ลงสู่พื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดเป้าหมายด้านคุณภาพชีวิตเพื่อให้ทุกคนมีหลักประกันในชีวิต เกิดสันติธรรมและความสงบสุข อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานย่านรังสิต ร้อง คสช. ยุติคดี 'คนอยากเลือกตั้ง' ย้ำคนในกลุ่มแค่ปราศรัยสะท้อนปัญหาแรงงาน

Posted: 08 Apr 2018 03:57 AM PDT

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ร้อง คสช. ยุติการดำเนินคดี 'คนอยากเลือกตั้ง' ในทันที และโดยไม่มีเงื่อนไข ชี้พวกเขาใช้เสรีภาพพื้นฐานตามนานาอารยประเทศและ รธน. ระบุ 'ศรีไพร' ที่ถูกฟ้อง ก็เพียงปราศรัยเกี่ยวกับปัญหาของผู้ใช้แรงงานในยุค คสช. 

8 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  ต่อ ศรีไพร นนทรีย์ นักเคลื่อนเคลื่อนไหวสิทธิด้านรงงานที่ได้ขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาของผู้ใช้แรงงานในยุค คสช. จากการชุมนุมและเดินขบวนจากบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนถึงบริเวณหน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา 

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ชี้ว่า การชุมนุมและการเดินขบวนเป็นเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนและผู้ใช้แรงงาน และเป็นเสรีภาพพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ นอกจากนั้นแล้วแม้แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 เอง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นและประกาศใช้ภายใต้รัฐบาล คสช. ก็ยังได้บัญญัติรับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ด้วยเช่นกัน

"ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล คสช. ให้ยุติการดำเนินคดีดังกล่าวในทันที และโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งการดำเนินคดีต่อผู้ที่ขึ้นปราศรัย และรวมถึงการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ได้เข้ารวมการชุมนุมและเดินขบวนในกรณีดังกล่าว และรวมถึงการดำเนินคดีต่อการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนและผู้ใช้แรงงานในกรณีอื่นๆ ด้วย" แถลงการณ์กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ระบุข้อเรียกร้องต่อ คสช.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟสบุ๊ครายสัปดาห์ ตั้งแต่แอดมินเพจใหญ่ต้องยืนยันตัวตน ถึงเริ่มปิดลิงก์ระหว่างแอพ

Posted: 08 Apr 2018 01:37 AM PDT

ประมวลความเคลื่อนไหวของเฟสบุ๊คจาก blognone.com ตั้งแต่ ออกกฎใหม่ แอดมินเพจขนาดใหญ่ต้องยืนยันตัวตนก่อนถึงจะโพสต์ได้ หรือเริ่มปิดวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างแอปพลิเคชันไม่ให้แอพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ 

8 เม.ย.2561 ความเคลื่อนไหวของเฟสบุ๊คในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายประเด็นมา โดย blognone.com ได้รายงานไว้ ตั้งแต่ ออกกฎใหม่ แอดมินเพจขนาดใหญ่ต้องยืนยันตัวตนก่อนถึงจะโพสต์ได้ หรือเริ่มปิดวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างแอปพลิเคชันไม่ให้แอพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ 

โดยมีรายละเอียดในรอบสัปดาห์ ที่ blognone.com รวบรวมไว้ดังนี้

แม้ยังแก้ปัญหาคลิปไลฟ์รุนแรงไม่ได้มาก แต่ Facebook Live ยังเติบโตสูง

7 เม.ย.2561 เฟสบุ๊ค เผย Facebook Live เติบโตก้าวกระโดด ขณะนี้มีคนดูไลฟ์ไปแล้วเกือบ 2 พันล้านราย และคลิปไลฟ์ที่ไลฟ์โดยเพจที่ได้รับการรับรองก็มีจำนวนมากขึ้น 50% ในปี 2017 อย่างไรก็ตาม เฟสบุ๊ค  รับรู้ว่า Facebook Live มีปัญหามาก เช่น ไลฟ์ฆ่าตัวตาย ฆาตกรรม ซึ่งเฟสบุ๊คยังไม่สามารถจัดการป้องกันการเผยแพร่ความรุนแรงได้อย่างทันท่วงที
 
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ blognone.com)

ออกกฎใหม่ แอดมินเพจขนาดใหญ่ต้องยืนยันตัวตนก่อนถึงจะโพสต์ได้

ประกาศนโยบายใหม่ว่า แอดมินของเพจ "ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก" จะต้องยืนยันตัวตนกับ เฟสบุ๊คด้วย มิฉะนั้นจะไม่สามารถโพสต์ข้อมูลลงเพจได้
 
เป้าหมายของ เฟสบุ๊ค คือป้องกันปัญหาข่าวปลอมแพร่ระบาด ที่ก่อนหน้านี้มีกลุ่มผู้ใช้จากรัสเซียเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านการสร้างเพจหรือกรุ๊ป ทำให้ เฟสบุ๊คต้องออกมาตรการตรวจสอบว่าแอดมินของเพจเป็นใคร
 
อย่างไรก็ตามเฟสบุ๊คไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เพจที่เข้าข่ายต้องมีผู้ติดตามเท่าไร (ใช้คำว่า "Pages with large numbers of followers") และยังไม่เปิดเผยว่าจะตรวจสอบตัวตนอย่างไรด้วย
 
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ blognone.com)
 

เคยขอข้อมูลการรักษาของผู้ใช้งานจากโรงพยาบาล เพื่อทำวิจัย แต่หยุดโครงการไปแล้ว

สำนักข่าว CNBC เผยเฟสบุ๊ค ทำโครงการวิจัยโดยใช้ข้อมูลบนเฟสบุ๊ค กับข้อมูลการแพทย์ เป้าหมายคือเพื่อพัฒนาด้านการรักษาและการดูแลผู้ป่วย อย่างไรก็ตามโครงการวิจัยได้หยุดไปเมื่อเดือนที่แล้ว หรือช่วงที่ปัญหาข้อมูลระหว่างเฟสบุ๊คและ Cambridge Analytica ปะทุขึ้น
 
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ blognone.com)

รับมีการสแกนข้อความใน Messenger เหตุผลเรื่องความปลอดภัย

จากที่ Mark Zuckerberg ซีอีโอเฟสบุ๊ค ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายแห่ง ก็มีประเด็นน่าสนใจจากการให้สัมภาษณ์กับ Vox โดยเขายอมรับว่า Facebook Messenger มีการตรวจสอบข้อความในการสนทนาจริง
 
แต่ก่อนจะตกใจกันไป Zuckerberg บอกว่าการตรวจสอบข้อความนั้นทำเพื่อป้องกันไม่ให้มีข้อความที่ไม่เหมาะสมและเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะเนื้อหาที่ผิดกฎการใช้งานของ เฟสบุ๊ค ตัวอย่างเช่น ภาพอนาจารเด็ก หรือลิงก์ที่มีไวรัส และการตรวจสอบข้อความนั้นไม่ได้ทำเพื่อการโฆษณาแต่อย่างใด
 
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ blognone.com)
 

เริ่มปิด API ทำให้คนล็อกอินแอพ Tinder ไม่ได้

จาก เฟสบุ๊คเริ่มปิด API (Application Program Interface หรือ การติดต่อสื่อสารระหว่างแอปพลิเคชัน) ไม่ให้แอพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ ส่งผลให้แอพที่ต้องการข้อมูลมากเป็นพิเศษต้องได้รับอนุญาตจาก Facebook ก่อนเสมอ เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นอื่นแล้ว Tinder ออกมาประกาศว่า จากการปรับ API ของ เฟสบุ๊คทำให้มีผู้ใช้จำนวนมากไม่สามารถล็อกอินเข้าแอพได้
 
ผู้ใช้ Tinder จำนวนมากติดอยู่กับขั้นตอนล็อกอินเข้าแอพ ในขณะที่ผู้ใช้บางคนที่เข้าแอพได้ แต่ข้อมูลแชท ข้อมูล match กับคนที่ถูกใจหายหมด สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ใช้จำนวนมาก
 
การล็อกอินเข้าแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านเฟสบุ๊คเป็นทางเลือกที่สะดวก และจากการปรับนโยบายเพียงนิดเดียวก็ทำให้ไม่สามารถเข้าใช้งานได้เลยทีเดียว โดย Tinder ระบุว่ากำลังเร่งแก้ปัญหา และยังไม่พบว่ามีแอพอื่นที่เจอปัญหาเหมือน Tinder
 
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ blognone.com)
 

ฟีเจอร์สู้ข่าวปลอม กดปุ่มตรวจสอบแหล่งข่าวเปิดใช้งานแล้วในสหรัฐฯ

ปีที่แล้วเฟสบุ๊คทดสอบฟีเจอร์ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวได้จากหน้า News Feed โดยไม่ต้องออกจากหน้าเฟสบุ๊คเป็นฟีเจอร์ที่คาดกันว่าจะเป็นไม้ตายสู้ข่าวปลอมที่เป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ในขณะนี้ ล่าสุด เฟสบุ๊คเปิดให้ใช้ฟีเจอร์นี้ในสหรัฐฯแล้ว
 
ฟีเจอร์ใหม่นี้ผู้ใช้จะเห็นปุ่มตัว i หรือ information หรือ about this article ปรากฏใต้ลิงก์ข่าว เมื่อกดเข้าไปผู้ใช้จะพบรายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ผู้เผยแพร่เนื้อหา ทั้งจากเว็บไซต์เองและวิกิพีเดียด้วยว่าเป็นสำนักข่าวใด ก่อตั้งเมื่อไร รวมทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นๆ จากเว็บไซต์อื่นว่าเขารายงานข่าวไปในทิศทางใดบ้าง เลื่อนลงมาด้านล้างจะเห็นอีกว่าข่าวนี้ได้รับการแชร์ในพื้นที่ใดบนโลก มีเพื่อนคนไหนแชร์บ้าง
 
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ blognone.com)
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลระบุคนจะเลือกนักการเมืองหน้าใหม่-พรรคใหม่ มากกว่าของเก่า

Posted: 08 Apr 2018 12:26 AM PDT

สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นประชาชน "ผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมือง ในทัศนะประชาชน" 22.91% จะเลือก ส.ส. หน้าใหม่  9.69% จะเลือก ส.ส. หน้าเก่า และ 17.44% พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่เพราะเป็นตัวเลือกใหม่ น่าสนใจ เบื่อพรรคการเมืองเดิม 10.28% จะเลือกพรรคการเมืองเดิมพราะเป็นพรรคที่ชื่นชอบ

 
 
8 เม.ย. 2561 สถานการณ์การเมืองไทยยังคงมีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2562 ส่งผลให้ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ต่างออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ผู้สมัคร ส.ส." และ "พรรคการเมือง" ในทัศนะประชาชน  "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,187 คน ระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 2561 สรุปผลได้ ดังนี้
 
เมื่อถามว่าประชาชนคิดอย่างไร? กับ "ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่" ในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีในปีหน้า 41.76% ระบุว่ามีความหลากหลาย มีผู้สมัครที่น่าสนใจมากขึ้น 39.35% เป็นทางเลือกใหม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนและ 31.89% ระบุว่ายังมีเวลา ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ
 
เมื่อถามว่าประชาชนคิดอย่างไร? กับ "ผู้สมัคร ส.ส. ที่ย้ายพรรค" ในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีในปีหน้า 40.17% ระบุว่าสามารถทำได้ เป็นสิทธิของผู้สมัคร 38.50% การเมืองยังไม่นิ่ง ต้องรอติดตามสถานการณ์ต่อไป และ 25.62% ระบุว่าพรรคการเมืองต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนแนวทาง หาผู้สมัครที่เหมาะสม
 
เมื่อถามว่าประชาชนคิดจะเลือก "ผู้สมัคร ส.ส.หน้าเก่า หรือ ส.ส.หน้าใหม่" ยังไม่แน่ใจ 67.40% เพราะยังไม่ใกล้วันเลือกตั้ง ยังไม่เห็นนโยบาย ไม่รู้ว่าจะเลือกใคร ต้องรอดูก่อน ฯลฯ  ระบุว่าจะเลือก ส.ส. หน้าใหม่ 22.91% เพราะอยากลองเลือกคนใหม่ ให้โอกาส ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้บ้านเมืองพัฒนา ก้าวหน้า ฯลฯ และระบุว่าจะเลือก ส.ส. หน้าเก่า 9.69% เพราะเป็นที่รู้จักเป็นคนในพื้นที่ ใกล้ชิด เคยเห็นผลงาน มีประสบการณ์ ชื่นชอบมานาน ฯลฯ
 
และเมื่อถามว่าประชาชนคิดจะเลือก "พรรคการเมืองเดิม หรือ พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่" ระบุว่ายังไม่แน่ใจ 72.28% เพราะอยากดูตัวบุคคลในพรรคก่อน อาจเป็นพรรคใหม่แต่คนเก่า อยากรู้รายละเอียด นโยบายและผู้สมัคร ฯลฯ  พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ 17.44% เพราะเป็นตัวเลือกใหม่ น่าสนใจ เบื่อพรรคการเมืองเดิม หวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ฯลฯ และระบุว่าพรรคการเมืองเดิม 10.28% เพราะเป็นพรรคที่ชื่นชอบ มีชื่อเสียงมานาน เป็นที่รู้จัก ชอบคนในพรรค คนในครอบครัวชอบ ฯลฯ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใกล้คลอด! ร่างยุทธศาสตร์ชาติเผยโฉม ตั้งเป้าหมายสูงพาไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ไม่เห็นวิธีการ

Posted: 07 Apr 2018 11:20 PM PDT

9 เม.ย. นี้ 'ร่างยุทธศาสตร์ชาติของ คสช.' จะถูกเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ไอลอว์ชี้ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วม พรรคการเมือง-ประชาชนควรช่วยกันติดตาม เพื่อเตรียมความพร้อมรับอนาคตที่จะเกิดขึ้น หรือปรับเปลี่ยนและเสนอให้ยกเลิก

 
 
8 เม.ย. 2561 ร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ตามปฏิทินของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วันจันทร์ที่ 9 เม.ย. 2561 ร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้วทั้งหกด้านจะถูกนำเสนอต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน รับไปพิจารณา ซึ่งเท่ากับเลยช่วงเวลาการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใดๆ แล้ว
 
ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวว่า "ร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านจัดทำเสร็จสิ้นตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2561 และถูกนำไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสี่จังหวัดในสี่ภูมิภาค คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา แม้จะมีการเปิดฟังความคิดเห็นจากช่องทางอื่นด้วย เช่น เปิดให้ส่งความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ แต่ประชาชนส่วนใหญ่แทบจะไม่ทราบข่าวสารและช่องทางการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้เลย จึงไม่อาจเข้าร่วมแสดงความเห็นได้ทัน"
 
สำหรับเนื้อหาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำลังจะถูกเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในวันจันทร์ที่ 9 เม.ย. นี้มีจุดร่วมคล้ายกัน คือ การวาดภาพฝันของประเทศไทยในระยะ 20 ปีหลังจากนี้ไป ซึ่งเป้าหมายหลายอย่างอาจจะเป็นเรื่องที่ดี น้อยคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็น่าตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้จริง เช่น เป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นร้อยละ 40 ขณะที่ข้อมูลปัจจุบัน ระบุว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 7.10 หรือเป้าหมายการนำประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ที่ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 7,800 บาทต่อคนต่อปีไปจนถึงปี 2579 หรือการตั้งเป้าให้ประเทศไทยติดหนึ่งในสิบของโลกตามดัชนีชี้วัดความสุขของประชากร ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศแคนาดากับออสเตรเลีย เหล่านี้เป็นเพียงเป้าหมายลอยๆ ที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติเองก็ไม่ได้กำหนดวิธีการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
 
"ความน่ากังวล คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้จะมีหน้าที่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ต้องแถลงนโยบายและเสนองบประมาณให้สอดคล้องกัน โดยมี ส.ว. ที่ คสช. เลือกเอาไว้เป็นคนติดตาม กำกับการทำตามยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเป้าหมายแต่ละด้านตั้งไว้สูง โดยไม่ได้เขียนวิธีการไว้ หากรัฐบาลชุดหน้าทำไม่สำเร็จ ก็อาจจะกลายเป็นประเด็นปัญหาต่อไปได้" 
 
"น่าดีใจที่หลายพรรคการเมืองประกาศว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. อย่างไรก็ตาม หากร่างฉบับนี้ถูกประกาศใช้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับพรรคการเมืองที่จะยกเลิก เพราะต้องผ่านด่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กับ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน เป็นอย่างน้อย ดังนั้นช่วงเวลานี้พรรคการเมืองหรือประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการปฏิรูปด้านต่างๆ จึงควรช่วยกันติดตามร่างยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. เพื่อเตรียมความพร้อมกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น หรือเพื่อปรับเปลี่ยนและเสนอให้ยกเลิก บรรดาสิ่งที่เขียนไว้แล้วแต่เป็นไปไม่ได้" ณรงค์ศักดิ์ กล่าว     
 
เมื่อคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติทุกด้านเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปร่างทุกด้านจะถูกส่งไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติชาติพิจารณา (สนช.) เห็นชอบตามลำดับ ทั้งนี้หาก ครม. ขอแก้ไข ร่างก็จะถูกส่งกลับไปให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีกครั้ง แต่หาก สนช. ไม่เห็นชอบ ก็ต้องเริ่มกระบวนการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติใหม่ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 9 เดือนหลังจากวันที่พิจารณาไม่เห็นชอบ แต่หากทุกขั้นตอนผ่านฉลุย ประมาณกลางเดือน ก.ค. 2561 นายกรัฐมนตรีจะนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ สนช. ให้ความเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ต่อไป
 
 
 
 
 
ดูเพิ่มเติม เรื่องราวเกี่ยวยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. https://ilaw.or.th/node/4775
ดูสรุปร่างยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน โดยไอลอว์ ได้ที่ https://ilaw.or.th/taxonomy/term/2233
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครบ 1 ปี เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 1.5 หมื่นรายเข้าถึงการรักษา

Posted: 07 Apr 2018 10:47 PM PDT

สปสช.เผย "ครบรอบ 1 ปี เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ผลดำเนินงานบรรลุเป้า ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 1.5 หมื่นรายเข้าถึงการรักษา 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ทั้งหลังพ้นวิกฤต 72 ชม. ส่งกลับผู้ป่วยรักษาต่อ รพ.ตามสิทธิได้ร้อยละ 90 ทั้งเคลียร์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามเกณฑ์

 
 
8 เม.ย. 2561 นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ตามที่รัฐบาลได้เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ในช่วงแรกของการดำเนินการยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกผู้ป่วยว่าเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์วินิจฉัยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ แต่หลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงหลังมานี้ปรากฎว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก สามารถดำเนินการเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ในช่วง 72 ชั่วโมงแรก โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพก็ตาม   
 
ขณะที่การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตดำเนินไปได้ด้วยดีเช่นกัน โดย สปสช.ประมวลผลค่ารักษาพยาบาลภายใน 30 วัน ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม สปสช.ส่งข้อมูลเบิกจ่ายไปยังกองทุนตามสิทธิของผู้ป่วย โดยแต่ละกองทุนจะจ่ายค่ารักษากับโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยภายใน 15 วัน ซึ่งที่ผ่านมาการเบิกจ่ายก็ไม่มีปัญหาอะไร
 
ทั้งนี้ภายหลังจากการดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ได้ช่วยให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยในช่วงภาวะฉุกเฉินวิกฤตเข้าถึงการรักษาได้ ซึ่งจากข้อมูลการดำเนินนโยบายนี้ครบรอบ 1 ปี มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับบริการประมาณ 15,000 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,300 ราย โดยในจำนวนนี้ 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยในกรณีที่พ้นสิทธิรักษาฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมงแล้ว หากผู้ป่วยบัตรทองยังไม่พ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยอยู่ในภาวะไม่พร้อมย้าย หรือโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองไว้ไม่มีเตียงหรืออุปกรณ์รองรับ หรือระบบไม่สามารถหาโรงพยาบาลอื่นเพื่อรองรับดูแลแทนได้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะรับดูแลค่ารักษาต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
 
อย่างไรก็ตามกรณีนี้มีไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.สามารถหาโรงพยาบาลรองรับเพื่อนำผู้ป่วยกลับเข้าสู่หน่วยบริการภายใต้ระบบบัตรทองได้เกือบทั้งหมด ประมาณร้อยละ 90 ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยพ้นวิกฤตแล้วแต่ไม่ยอมย้าย ยังคงต้องการรักษาที่โรงพยาบาลเดิม ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาหลังพ้น 72 ชั่วโมงเอง
 
นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฉุกเฉินวิกฤตที่ต้องได้รับการช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน นับเป็นนโยบายที่ช่วยปิดช่องว่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลและความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน และ สปสช. ซึ่งทุกฝ่ายยังคงเดินหน้าและพัฒนานโยบายนี้ เพื่อให้เป็นหลักประกันคุ้มครองการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้กับประชาชนต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เฟสบุ๊ค' หยุดแผนส่งข้อมูลสุขภาพผู้ใช้งานให้โรงพยาบาลใหญ่ในสหรัฐฯ

Posted: 07 Apr 2018 10:30 PM PDT

มีเรื่องอื้อฉาวเรื่องใหม่เกี่ยวกับเฟซบุ๊กเมื่อสื่อซีเอ็นบีซีนำเสนอว่าเฟสบุ๊คเคยส่งตัวคนไปขอข้อมูลคนไข้จากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือข้อมูลใบสั่งยา เพื่อเอาไว้ให้แพทย์ร่วมพิจารณาช่วยเหลือคนไข้ได้ แต่โครงการนี้ต้องหยุดไปเสียก่อนหลังจากที่ถูกเปิดโปงเรื่องส่งข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ให้เคมบริดจ์อนาไลติกา

 
 
 
8 เม.ย. 2561 สื่อซีเอ็นบีซีรายงานว่าหน่วยงานวิจัยลับของเฟสบุ๊คที่ชื่อ "บิวดิง 8" (Building 8) เคยพยายามริเริ่มโครงการส่งข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ใช้ให้กับแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่งของสหรัฐฯ โดยไม่มีการถามความยินยอมจากผู้ใช้บริการก่อน โดยพวกเขาระบุว่าจะไม่มีการเปิดเผยชื่อเจ้าของข้อมูลนั้นๆ ให้อีกฝั่งหนึ่งทราบ โดยจะใช้วิธีตั้ง "แฮ็ซแท็ก" หรือกลุ่มข้อมูลที่เมือคลิกแล้วจะแสดงผลเชื่อมโยงกับชุดข้อมูลอื่นๆ ได้แทน
 
สาเหตุที่ทีมวิจัยของเฟสบุ๊คต้องการนำข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้งานไปให้กับคนอื่นเพราะต้องการนำไปใช้ในงานวิจัยของวงการแพทย์ รวมถึงต้องการนำไปให้กับโรงพยาบาลได้เตรียมหาวิธีรองรับคนไข้ที่มีอาจจะต้องการการดูแลรักษาเป็นพิเศษ เพื่อให้แพทย์หาวิธีช่วยคนไข้ได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีการส่งพยาบาลไปที่บ้านของคนไข้ที่กำลังฟื้นตัวจากการผ่าตัดหัวใจครั้งใหญ่ เพราะคนไข้ทีรับการผ่าตัดนั้นไม่มีเพื่อนหรือคนในครอบครัวคอยช่วยเหลืออยู่แถวนั้น จากการพิจารณาตามโปรไฟล์ของเขา
 
ทีมของเฟสบุ๊คเคยหารือในเรื่องนี้กับองค์กรด้านสุขภาวะหลายองค์กรเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น วิทยาลัยแพทย์สแตนฟอร์ด และวิทยาลัยอายุรแพทย์หัวใจอเมริกัน โดยมีการหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงกันเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพผู้ใช้
 
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจเฟสบุ๊คกรณีการขายข้อมูลส่วนบุคคลให้บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งหลังสุด เฟสบุ๊คก็ประกาศว่าจะยับยั้งโครงการส่งข้อมูลสุขภาพผู้ใช้งานให้กับหมอไปก่อน
 
ถ้อยแถลงของเฟสบุ๊ตต่อเรื่องนี้ระบุชี้แจงว่าเรื่องความต้องการใช้ข้อมูลสุขภาพในแผนการช่วยเหลือดูแลรักษาโดยมีการปรึกษาหารือกับองค์กรการแพทย์ในเรื่องนี้จริง แต่ว่าก็ไม่ได้ดำเนินการเกินไปกว่าขั้นตอนวางแผน และพวกเขาไม่ได้รับข้อมูล แชร์ข้อมูล หรือวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ ของผู้ใช้งานเลย และเมื่อเดือนที่แล้ว (มี.ค.) พวกเขาก็ตัดสินใจยับยั้งโครงการนี้ไว้ก่อนเพื่อเน้นให้ความสนใจกับงานสำคัญอย่างอื่นได้เช่นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลผู้ใช้และมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะเอาข้อมูลไปใช้ในสินค้าและบริการของพวกเขาอย่างไร
 
เรื่องนี้ทำให้เฟสบุ๊คถูกวิจารณ์กรณีที่นำข้อมูลของผู้ใช้ไปให้กับหมอโดยปราศจากความยินยอม ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพบอกว่าแนวคิดริเริ่มเกี่ยวกับสุขภาพผู้ใช้เช่นนี้อาจจะเป็นปัญหาได้ถ้าเฟสบุ๊คไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว
 
อนีช โชปรา อดีตหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของทำเนียบขาวผู้ที่ปัจจุบันเป็นประธานบริษัทซอฟต์แวร์ CareJourney ที่เชี่ยวชาญเรื่องข้อมูลผู้ป่วยกล่าวว่า ผู้ใช้งานเฟสบุ๊คคงนึกไม่ถึงว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกนำมาใช้แบบนี้ ถ้าเฟสบุ๊คยังดำเนินตามแผนต่อไปก็จะถือเป็นการนำข้อมูลส่วนตัวมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว
 
ที่ผ่านมาเฟสบุ๊คไม่ได้ลงลึกในเรื่องสุขภาพมากขนาดนี้ มีปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่บ้างเช่นการส่งเสริมให้มีการบริจาคอวัยวะผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ใช้ทีมงานฝ่ายสุขภาพของเฟสบุ๊คโน้มน้าวให้บริษัทยามาลงทุนโฆษณาโดยมุ่งเป้าหมายไปที่คนที่กดไลก์เพจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหรือมีลักษณะโปรไฟล์ที่เข้าทาง 
 
แต่เมื่อปี 2557 ก็เคยมีกรณีที่เฟสบุ๊คถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องทดลองวิจัยผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการที่เฟสบุ๊คปรับเปลี่ยนหน้าข่าวของผู้ใช้หลายแสนรายเพื่อศึกษาว่ามันทำให้ผู้ใชัรู้สึกมีความสุขมากขึ้นหรือเศร้าลง ซึ่งเฟสบุ๊คขอโทษในเรื่องนี้ในเวลาต่อมา
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Facebook Decides to Back Off Creepy Hospital Data-Sharing Project for Some Reason, Gizmodo, 05-04-2018
 
Facebook sent a doctor on a secret mission to ask hospitals to share patient data, CNBC, 05-04-2018
 
Facebook spoke with hospitals about matching health data to anonymized profiles, The Verge, 05-04-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 เม.ย. 2561

Posted: 07 Apr 2018 10:05 PM PDT

แม่สอดเข้มตรวจแรงงานเมียนมากลับบ้านช่วงสงกรานต์

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2561 พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป "ผกก. MAN"  ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก(ด่านแม่สอด)  กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล  ที่มอบหมายนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในเรื่องการอำนวยความสะดวกกับแรงงานชาวเมียนมาร์ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดเพื่อไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2561  ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก(แม่สอด) จึงให้ข้าราชการตำรวจในสังกัด ทุกนาย เพิ่มความเข้มข้นในการทำงาน โดยบูรณาการกำลัง ในการ อำนวยความสะดวกให้กับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์  รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ  ที่จะเดินทางไปยังจังหวัดเมียวดี สหภาพเมียนมา ในช่วงสงกรานต์เช่นกัน ด้วยขณะนี้มีจำนวนแรงงานชาวเมียนมาเดินทางข้ามแดนจำนวนมาก ด่าน ตม.ตาก จึงจัดกำลังสนับสนุนและเพิ่มปริมาณช่องตรวจ ณ อาคาร Terminal ที่ช่องทางผ่านแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 บ้านริมเมย หมู่ 2 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อรองรับการให้บริการอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้รับบริการสามารถใช้เวลาได้รวดเร็วขึ้นในการผ่านแดน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงนี้ก่อนที่จะเข้าสู่วันสงกรานต์ ได้มีชาวเมียนมา เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อไปเที่ยวสงกรานต์ เยี่ยมญาติผู้ใหญ่ และไปรดน้ำดำหัว  พ่อ-แม่ บุพการี ตามประเพณี ทำให้ปริมาณการเดินทางออกทะลุ 13,000 ต่อวัน และคาดว่าในช่วงอีก 1-2 วันนี้จะมีปริมาณการเดินทางมากขึ้นอีก   ทำให้ ผู้กำกับ.MAN  ผกก.ด่าน ตม.ตาก(แม่สอด) จึงเพิ่มช่องทางออกและช่องตรวจ ที่ อาคาร Terminal  ทั้งนี้  แรงงาน 3 สัญชาติ ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันที่ 5-30 เมษายน 2561 ตาม มติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561   อย่างไรก็ตามในส่วนการการลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายนั้นทาง ด่าน ตม.ตาก ก็มีการเข้มงวดกวาดขัน การข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย ควบคู่กับการระดมกำลังร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ในแผนปฎิบัติกวาด ป้องกัน-ปราบปราม กวาดล้างอาชญากรรมและสิ่งผิดกฎหมาย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่นกัน

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 8/4/2561

สกัดคนไทยลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้มากสุด

กรมการจัดหางานเผยสถิติเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิกว่า 7,000 รายถูกระงับการเดินทางไปเกาหลีใต้มากที่สุดหลังพบพฤติการณ์ลักลอบไปทำงานกว่า 150 ราย เตือนระวังถูกหลอกทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจ

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เดือนมี.ค.ที่ผ่านมาได้ระงับการเดินทางของคนหางานที่มีพฤติการณ์ลักลอบไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 159 คน โดยส่วนใหญ่จะลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้มากที่สุด 116 คน เป็นชาย 58 คน และหญิง 58 คน รองลงมาเป็นบาห์เรน คาซัคสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเช็ก ขณะที่มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวน 7,120 คน โดยไปทำงานไต้หวันมากที่สุด 3,316 คน รองลงมาคืออิสราเอล 735 คน เกาหลีใต้ 606 คน ญี่ปุ่น 370 คน

นายอนุรักษ์กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ถูกระงับการเดินทางคือมีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานและให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวมักจะถูกหลอกหรือชักชวนให้หลงเชื่อจากกลุ่มมิจฉาชีพทางสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ หรือการชักชวนจากเพื่อนในหมู่บ้านเดียวกันที่เคยหลบหนีมาก่อนแล้ว โดยจะหลอกล่อว่ามีรายได้สูง สวัสดิการดี เช่น งานเกษตร งานในโรงงานอุตสาหกรรม งานนวดสปา งานบริการ เป็นต้น ทำให้คนหางานหลงเชื่อ โดยจะใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการเดินทางไปทำงาน และเมื่อไปถึงแล้วกลับไม่มีงานให้ทำหรือไม่เป็นไปตามที่โฆษณาชวนเชื่อเอาไว้ ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ตกระกำลำบาก ไม่กล้าแจ้งทางการเพราะอยู่อย่างผิดกฎหมาย บางรายถูกจับกุม หรือบางรายเจ็บป่วยจนต้องเสียชีวิตตามที่เป็นข่าวก็มี อีกด้วย

นายอนุรักษ์ กล่าวเตือนว่า การไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงาน มีสัญญาจ้างที่ผ่านการรับรองสัญญาจ้างจากหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองประเทศ ซึ่งต้องตรวจสอบสัญญาจ้างงาน รวมทั้งศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เช่น กฎหมาย ระเบียบ ประเพณีของประเทศปลายทางอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ ใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการทำงานไม่ได้ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0-2248-2278 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: NEW18, 7/4/2561

ด่านผ่านแดนแน่น! แรงงานเมียนมากว่า 5,000 คน เดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 ที่บริเวณหน้าด่านพรมแดนไทย – เมียนมา บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด จังหวัดตาก จำนวนนับกว่า 5,000 คน พร้อมด้วยสัมภาระ ได้เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนา ผ่านด่านพรมแดนแม่สอด – เมียวดี สะพามมิตรภาพไทย – เมียนมา บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด

ทั้งนี้เพื่อกลับไปพักผ่อนและเยี่ยมญาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้บริเวณด่านพรมแดนเนืองแน่นไปด้วยแรงงานต่างด้าว เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก และทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบราบที่ 14 อ.แม่สอด ต้องทำงานหนัก และอำนวยความสะดวกให้กับแรงงาน

พันตำรวจเอกแมน รัตนประทีป ผกก.ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก กล่าวว่า แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง บริเวณด่านพรมแดน ในวันนี้ มีจำนวนกว่า 5,000 คน ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ต้องขยายช่องทางการตรวจสอบเอกสารการเดินทาง และเพิ่มเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/4/2561

ช่อง 3 เปิดเออร์ลี่ คุมรายจ่ายลดต้นทุน

แม้ว่าจะได้รับเสียงชื่นชมล้นหลามกับละครดัง "บุพเพสันนิวาส" ได้ทั้งเรตติ้งคนดู และเม็ดเงินโฆษณา แต่ภาพโดยรวมของกลุ่มบีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 ยังตกอยู่ในภาวะต้องพลิกฟื้นสถานการณ์โดยเร่งด่วน หลังจากผลประกอบการมีปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาที่ทำได้ลดลง ขณะที่มีช่องทีวีภายใต้การดูแลถึง 3 ช่อง ทำให้ตัวเลขรายจ่ายสูงมาก ทั้งต้นทุนบุคลากร และต้นทุนการผลิตรายการ

สะท้อนจากผลประกอบการปี 2560 ล่าสุด ที่มีกำไรเพียง 61 ล้านบาท ต้องงดจ่ายเงินปันผล พร้อมกับแผนเสนอขายหุ้นกู้ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสมดุลต้นทุนทางการเงิน

รายงานข่าวจากกลุ่มบีอีซี เวิลด์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แนวทางของกลุ่มช่อง 3 จากนี้ไปจะลดรายจ่ายทุกด้าน ในส่วนต้นทุนพนักงาน ล่าสุดมีแผนเออร์ลี่รีไทร์เริ่มจากฝ่ายข่าว โดยเสนอผลตอบแทนสูงสุดให้ 10 เท่าของเงินเดือนและพนักงานรุ่นเก่าที่เดิมไม่มีกำหนดเวลาเกษียณอายุให้เข้าโครงการนี้ด้วย

"ที่ผ่านมาช่อง 3 เพิ่งมี HR ทีมใหม่เข้ามา ได้มีการกวดขันการทำงานในทุก ๆ ส่วน ทั้งเวลาการเข้างาน ค่าใช้จ่ายการทำงานในต่างจังหวัด"

ในส่วนการผลิตรายการได้ปรับผังใหม่ โดยเฉพาะช่อง 13 ที่มีการปรับผังรายการข่าวออกเกือบทั้งหมด ลดสัดส่วนรายการที่ผลิตเอง และหันใช้คอนเทนต์ที่ซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า และการรีรันคอนเทนต์เดิมเข้ามาทดแทน

ล่าสุดช่อง 3 ทดลองออกอากาศข่าว 3 มิติ จากเดิม 7 วัน เหลือ 6 วัน เพื่อเช็กเรตติ้งโดยส่งรายการใหม่แนวสยองขวัญ เข้ามาเสียบในคืนวันพฤหัสบดี ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาทดลองโมเดลนี้ 1 เดือน แม้ว่าที่ผ่านมาเรตติ้งข่าว 3 มิติ จะดีมากก็ตาม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/4/2561

นายกสมาคมประมงอวนล้อมจับประเทศไทย ยื่นรัฐบาล 5 ข้อแก้ปัญหาผลกระทบจากประกาศใช้กฎหมาย ประกาศหยุดเรือทั่วประเทศ 9 เม.ย.

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.61 บริเวณลานวัฒนธรรมตรงข้ามศาลากลาง จ.ปัตตานี ผู้ประกอบการเรือประมงชาวประมง จ.ปัตตานี 1,000 คน นำโดย นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมง จ.ปัตตานี และนายกสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) รวมตัวชุมนุม ถือป้ายมีข้อความ และปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล กรณีที่ไม่แก้ปัญหาความเดือนร้อนของชาวประมงส่งผลทำให้กิจการทำการประมง จ.ปัตตานี เสียหายนับ 10,000 ล้านบาท ทั้งเรือประมงไม่สามารถออกทำการประมงได้ เพราะเสี่ยงเรื่องผิดกฎหมาย

ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปโรงงานปลากระป๋องห้องเย็น โรงน้ำแข็ง โรงงานปลาป่น ส่วนหนึ่งต้องปิดกิจการ ส่วนเรือประมง หลายสิบลำต้องหยุดทำการประมงและขายเรือ รวมถึงคนทำงานที่สะพานปลา ทั้งอาชีพการเลือกปลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านตกงานเพราะไม่มีปลาทำให้เสียหาย กิจการประมง ซึ่งเป็นรายได้หลักของจังหวัดปัตตานีต่างขาดทุนไปตามๆกัน ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขจนทำให้ชาวประมงทนไม่ไหวจึงออกมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างจริงจัง

จากนั้นสมาคมต่างๆจำนวน 5 สมาคม ที่เกี่ยวข้องการทำประมง จ.ปัตตานี ทยอยยื่นหนังสือผ่านนายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อนำเสนอต่อไปยังรัฐบาลให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง

นายภูเบศ กล่าวว่า กลุ่มชาวประมงมีความเดือดร้อนอย่างหนัก จึงนัดรวมตัวยื่นข้อเสนอทั้งหมด 5 ข้อ ประกอบด้วย1.ให้ทบทวนประกาศที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวประมงที่ต้องสุ่มเสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย 2.ขอให้ชาวประมงมีส่วนร่วมในการทบทวนประกาศที่สร้างเงื่อนไขขัดกับวิถีประมงและบั่นทอนความมั่นคงในกิจการประมงไทยที่สืบทอดมายาวนานจากบรรพบุรุษ 3.ขอให้ตรวจสอบประกาศที่ออกโดยมิชอบ 4.ขอให้หยุดการออกประกาศใหม่ในระหว่างการทบทวนประกาศและ 5.ขอให้ช่วยเหลือเรื่องการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง โดยกลุ่มชาวประมง ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานยืนยันหากยังไม่มีความคืบหน้า เรือประมงจะรวมตัวกันหยุดออกเรือพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่9เม.ย.และหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ กลุ่มชาวประมงทั่วประเทศ จะยื่นถวายฎีกาต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/4/2561

เผย 'อีอีซี' ต้องการแรงงานกว่า 2.3 หมื่นอัตรา ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์

นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท.ในฐานะประธาน กกร.ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งจากภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกของไทยเติบโตแข็งแกร่ง และการท่องเที่ยวก็ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวมาก และการนำเข้าที่ขยายตัวในทุกหมวดทั้งสินค้าทุนและสินค้าเพื่อการบริโภค สะท้อนถึงการผลิตและการใช้จ่ายในที่ดีขึ้น

กกร.จึงปรับเพิ่มประมาณเศรษฐกิจใหม่ โดยปรับจีดีพี ปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.8-4.5% เพิ่มเป็น 4.0-4.5% การส่งออกจากเดิมคาดว่าขยายตัว 3.5-6.0% เพิ่มเป็น 5.0-8.0% และเงินเฟ้อทั่วไป จากเดิมขยายตัว 1.1-1.6% ลดลงเหลือ 0.7-1.2%

"ประมาณการเศรษฐกิจใหม่นี้ คำนวณบนพื้นฐานที่ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะปรับสูงขึ้น เพราะในปีนี้สหรัฐน่าจะปรับดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง และปีหน้าอีก 3 ครั้ง น่าจะผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐสูงขึ้นในช่วงต่อไป"

อย่างไรก็ตาม การที่อัตราเงินเฟ้อลดลงสวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากสินค้าคอมมูนิตี้ต่างๆยังไม่ได้มีราคาที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมัน และราคาสินค้าเกษตรเป็นต้น โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ดีนัก ทำให้สินค้าในกลุ่มอาหารเพิ่มขึ้นต่ำ กดดันให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ

ทั้งนี้ในระยะข้างหน้ายังคงมีประเด็นท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ กับนานาประเทศ รวมทั้งการเปิดเผยรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าของสหรัฐ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐ ในเดือนเม.ย.นี้ ตลอดจนการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรบางรายการ และความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐ ซึ่ง กกร. จะติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด

นายเจน กล่าวว่า ในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น ล่าสุดจีนได้ขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐ 128 รายการนั้น มองว่าเป็นการบีบให้สหรัฐมานั่งโต๊ะเจรจา เพื่อหาข้อยุติสงครามการค้าที่เกิดขึ้น หากเจรจาไม่สำเร็จก็อาจจะเกิดสงครามการค้าที่รุนแรงตามมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความกังวลจะเป็นเรื่องผลกระทบทางอ้อม ซึ่งหากจีนส่งเหล็กและสินค้าต่างๆไปยังตลาดสหรัฐไม่ได้ อาจจะหันไปเร่งการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆรวมทั้งไทย ซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมมาตรการรองรับ และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ให้เกิดการดัมพ์สินค้ามายังประเทศไทย รวมทั้งสินค้าจีนอาจจะเข้ามาเป็นคู่แข่งกับสินค้าไทยในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าที่มีราคาถูก

นอกจากนี้ กกร.เชิญนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน หารือถึงความต้องการแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยได้สำรวจความต้องการของสถานประกอบการในอีอีซีแล้ว 60% พบว่ามีความต้องการแรงงาน 21,323 อัตรา ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ซึ่ง กกร. จะร่วมกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิดในการประเมินความต้องการแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆที่ชัดเจน เพื่อที่จะเร่งการผลิตบุคลากรในด้านต่างๆรองรับการขยายตัวของ อีอีซี ต่อไป

นายจรินทร์ กล่าวว่า แรงงานที่ต้องการแบ่งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่า ม.6 จำนวน 9,506 คน รองลงระดับปริญญาตรี 3,817 คน ม.6 จำนวน 3,616 คน ปวส. 2,587 คน ปวช. 1,585 คน และ ปริญญาโทขึ้นไป 212 คน โดยสถานประกอบการต้องการแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุด รองลงมาเป็นฝ่ายบริการ ขายและการตลาด คลังสินค้าและขนส่ง

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการประเมินของ กกร. ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว1.1-1.6% ลดเหลือ 0.7-1.2% สาเหตุหลักมาจากราคาต้นทุนการผลิตไม่เพิ่ม และกำลังซื้อของประเทศยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งผู้ผลิตยังไม่ได้ใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่ เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยซบเซาหลายปี แต่การที่เศรษฐกิจในช่วงกลางปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นระดับเดิมก่อนที่เศรษฐกิจจะทรุดตัว ทำให้ยังมีกำลังการผลิตเหลือ

"จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ มองว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องเป็นฟื้นตัวเป็นบวกติดต่อกัน 6 ไตรมาส จึงจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าหากเศรษฐกิจโตในระดับนี้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีหน้า จึงจะทำให้กำลังซื้อของประเทศฟื้นตัว"

ที่มา: คมชัดลึก, 4/4/2561

ก.แรงงานสั่ง จนท.ปูพรมตรวจนายจ้างขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เริ่ม 1 เม.ย. 2561

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ที่ผ่านมานั้น กสร. ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบกิจการเพื่อกำกับ ดูแล และตรวจติดตามการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราใหม่ของสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด

พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับนายจ้างให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย กรณีที่พบว่ายังมีการจ่ายค่าแรงไม่เป็นตามอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำใหม่ พนักงานตรวจแรงงานจะออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมายทันที โดยต้องเริ่มจ่าย ในอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

แต่หากออกคำสั่งแล้วนายจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามก็จะแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 90 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามา

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนายจ้างรู้หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ลูกจ้างรู้สิทธิของตนเองมากขึ้น และ ยังไม่ถึงรอบของการจ่ายเงินของนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นรายเดือน และราย 15 วัน ทั้งนี้ ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจติดตามอีกครั้งในช่วงใกล้รอบการจ่ายเงินเดือนของสถานประกอบกิจการ

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า ลูกจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถยื่นคำร้องได้ด้วยตนเองที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ แต่หากไม่สะดวก หรือไม่มีเวลา ยื่นคำร้องออนไลน์ผ่าน www.labour.go.th

ที่มา: ว๊อยซ์ทีวี, 3/4/2561

ผู้ประกอบการ SME โคราช ยันปรับขึ้นค่าแรงไม่กระทบ

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยจังหวัดนครราชสีมา อยู่ในกลุ่มที่ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 320 บาท เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวกันอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มธุรกิจค้าปลีก พบว่าได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานหมดแล้ว โดยเฉพาะร้านหมอยาพลาซ่า ซึ่งเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีร้านค้าปลีกของชาวโคราช ขณะนี้ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับลูกจ้างกันครบทุกคน

นายจักริน เชิดฉาย เจ้าของร้านหมอยาพลาซ่า เปิดเผยว่า สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ถือว่าไม่หนักเหมือนคราวก่อน ซึ่งเคยปรับขึ้นจาก 180 บาท เป็น 300 บาท ครั้งนั้นธุรกิจเอสเอ็มอีล้มตายกันไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีทุนน้อยและต้องแบกรับภาระค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นครั้งเดียวเกือบเท่าตัว แต่ครั้งนี้จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในกลุ่มที่ได้ปรับขึ้นค่าแรงจากเดิม 308 บาท เป็น 320 บาท ซึ่งขึ้นมาเพียง 12 บาท หรือคิดเป็นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการมากนัก โดยเฉพาะร้านหมอยาพลาซ่า ที่ตนบริหารอยู่มีจำนวน 9 สาขา และมีลูกจ้างอยู่ประมาณ 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกินครึ่งมีค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นที่เหลืออีกไม่กี่คนตนก็ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ครบทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกจ้างที่เพิ่งเข้ามาใหม่ จึงไม่ได้รับผลกระทบอะไร และตนเชื่อว่าธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ก็มีการเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีการปลดพนักงานออกแต่อย่างใด ถึงอย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น ตนก็อยากให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมดูแลไม่ให้มีการปรับราคาขึ้นตาม เพราะถ้าปรับขึ้นราคาตามจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไร จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 3/4/2561

สงกรานต์ปี 2561 จะมีแรงงานหยุดกลับบ้านกว่า 4.2 ล้านราย

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน แถลงโครงการส่งพี่น้องแรงงานกลับบ้านเทศกาลสงกรานต์อย่างปลอดภัย ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 12 เม.ย. เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ โดยเป็นวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ รวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 16 เม.ย. และยังมีมติพิจารณาผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทย ประเภทกรรมกร รับใช้ในบ้าน ช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล ผู้ประสานงานด้านภาษา เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์และให้กลับเข้ามาในประเทศไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 5 -30 เม.ย. ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีผู้ใช้แรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าวเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า คาดว่าจะมีคนไทยเดินทางกลับบ้านประมาณสี่ล้านคน และแรงงานต่างด้าวทางเข้า-ออก กว่าสองแสนคน กระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานทุกคน และเพื่อให้เดินทางไปกลับได้อย่างปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ ตลอดจนมีความสะดวกในการเดินทาง จึงได้ขอความร่วมมือนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของลูกจ้างพนักงาน โดยเฉพาะในกิจการขนส่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องชั่วโมงการทำงาน เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางการเดินทาง ตารางเวลารถโดยสาร เส้นทางการจราจร การเตรียมยานพาหนะและวินัยจราจร

ขอให้ลูกจ้าง วางแผนการเดินทางทั้งไปและกลับ เตรียมตัวให้พร้อม ส่วนลูกจ้างต่างด้าวต้องเตรียมเอกสารประจำตัวให้พร้อมเพื่อให้เดินทางผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวก ได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความร่วมมือกันส่งพี่น้องแรงงานกลับบ้านเทศกาลสงกรานต์อย่างปลอดภัย กระทรวงแรงงาน ยังได้เปิดคลินิกช่าง ให้บริการตรวจความพร้อมยานพาหนะที่ใช้เดินทาง เปิดให้บริการนวดผ่อนคลาย จัดรถบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ แจกเวชภัณฑ์ให้กับผู้ใช้แรงงาน ตามสถานีขนส่งหลัก ตลอดจนเปิดบริการสายด่วน 1506 ให้ความช่วยเหลือ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 3/4/2561

"ประกันสังคม" ห่วงผู้ประกันตนไม่มารับเงินกรณีชราภาพกว่า 4 แสนราย "เลขาธิการ สปส." แจง ร่อนหนังสือแจ้งเตือนไปแล้ว!

2 เม.ย. 2561- นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการสำรวจจำนวนผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และมีสิทธิรับประโยชน์กรณีชราภาพที่ยังไม่มารับขอรับเงิน โดยการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทุกๆ 4 เดือน ที่ผ่านมาพบผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้ขอรับเงินจำนวน 4 แสนกว่าราย (ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2560) แม้ว่าสำนักงานประกันสังคมได้มีหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกันตนจำนวนดังกล่าวให้มารับเงินชราภาพแล้วก็ตาม

โดยหนังสือนั้นจะจัดส่งไปตามที่อยู่ตามบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยคือ ที่อยู่ปัจจุบันของผู้ประกันตนไม่ตรงตามบัตรประจำตัวประชาชน หรือที่ให้ไว้กับสำนักงานประกันสังคมทำให้ผู้ประกันตนไม่ทราบสิทธิของตนเอง

สำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับเงินชราภาพไปแล้วจะไม่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวอีก ทั้งนี้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกันตนให้ตรวจสอบที่อยู่และติดต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอรับเงินชราภาพได้ทันที

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ขอแจ้งให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุและมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ให้มาติดต่อขอรับเงินชราภาพโดยนำบัตรประจำตัวประชาชนมาติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งได้ทันที โดยไม่ต้องรอหนังสือแจ้งเตือนจากสำนักงานประกันสังคม

อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิและเงินชราภาพ หรือมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม หมายเลขโทรศัพท์ 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือผ่านทาง www.sso.go.th สำนักงานประกันสังคม

"ขอให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนเชื่อมั่นในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันยังจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ โดยยึดหลักการดำเนินงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ"นพ.สุรเดช กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 2/4/2561

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น