โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รบ.-คสช. ย้ำไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ 'บ้านพักศาล' แต่เพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างในช่วงนี้ ยันจะเร่งแก้ปัญหา

Posted: 06 Apr 2018 09:53 AM PDT

พล.ท.สรรเสริญ เผย พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำว่า เรื่องนี้มีแนวคิดเริ่มต้นมาหลายปีแล้ว และรัฐบาล คสช. ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ แต่เพิ่งมาก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่างในช่วงนี้ ยันรัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาและจะพยายามปรับพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิม ทุกฝ่ายจึงต้องหันหน้าพูดคุยกัน

6 เม.ย.2561 ความคืบหน้าประเด็นการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ ที่มีการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ใน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งบริเวณเชิงดอยสุเทพและใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รวมทั้งคัดค้านการก่อสร้างดังกล่าวนั้น

ล่าสุดวันนี้ (6 เม.ย.61) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า รัฐบาลเห็นใจและเข้าใจถึงความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่  ถือเป็นเรื่องดี ที่คนในชุมชนรู้สึกหวงแหน และมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลังในฐานะที่ดูแลที่ราชพัสดุ กระทรวงทรัพยากรฯ ที่ดูแลป่าไม้  กระทรวงมหาดไทยที่ดูแลจังหวัด  ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โดยรวม และ ฝ่ายกฎหมายของ คสช.ไปพูดคุยหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกับฝ่ายตุลาการ และส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อพิจารณาตัดสินใจต่อไป

"นายกฯ เน้นย้ำว่า เรื่องนี้มีแนวคิดเริ่มต้นมาหลายปีแล้ว และรัฐบาล คสช. ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ แต่เพิ่งมาก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่างในช่วงนี้ โดยรัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาและจะพยายามปรับพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิม ทุกฝ่ายจึงต้องหันหน้าพูดคุยกัน ผู้รับเหมาก็น่าเห็นใจเพราะต้องทำตามสัญญาก่อสร้าง" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับที่ดินที่ใช้ก่อสร้างบ้านพักตุลาการนี้ เดิมเป็นของกรมป่าไม้ แต่เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม กองทัพภาคที่ 3 จึงขอใช้สถานที่เพื่อฝึกกำลังพล ต่อมาในปี 2500 กรมที่ดินได้ออกเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ นสล. 394/2500 จำนวน 23,787 ไร่ เพื่อให้กระทรวงกลาโหมใช้ในราชการ โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้ไปขอขึ้นทะเบียนการใช้ประโยชน์กับกรมธนารักษ์


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปี 2540 สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอแบ่งใช้ประโยชน์พื้นที่บางส่วน และกองทัพบกได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ 143 ไร่ได้ในปี 2547 โดยกองทัพได้ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ตามแปลงที่ดินนั้นให้กรมธนารักษ์ จากนั้นในปี 2549 กรมธนารักษ์ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุดังกล่าว และต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพัก และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติของทางราชการ จากนั้นในปี 2556 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้รับงบประมาณ จึงเริ่มเปิดพื้นที่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้

ที่มา สำนักข่าวไทยและเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

72 ปี ประชาธิปัตย์ 'อภิสิทธิ์' ยันไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยม แต่เป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย

Posted: 06 Apr 2018 09:03 AM PDT

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยม แต่เป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทพอสมควร มุ่งนำเสนอกระจายอำนาจ ไม่มุ่งเน้นประชานิยม คาดหลังเลือกตั้งคงมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 

ที่มาภาพ เฟสบุ๊คแฟนเพจ Democrat Party, Thailand

6 เม.ย.2561 ในงานครบรอบ 72 ปี พรรคประชาธิปัตย์ รายข่าวระบุว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ขณะนี้ พรรคมีความพร้อมในการนำเสนอแนวนโยบายต่างๆ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยม แต่เป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทพอสมควร ผสมผสานกับคนที่ทำงานทางการเมืองมาก่อน  ซึ่งพรรคกำลังเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลง มุ่งไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วม มุ่งนำเสนอกระจายอำนาจ ไม่มุ่งเน้นประชานิยม

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่พวกเราที่เป็นผู้บริหารพรรคฯ ในขณะนี้เราสำนึกอยู่ตลอดเวลาก็คือที่มาของพรรคฯ เรา ตั้งแต่ปีพ.ศ.2489 รวม 72 ปี เป็นที่มาของพรรคการเมืองซึ่งขอยืนยันว่ามาถึงวันนี้ไม่มีพรรคการเมืองอื่นทำได้เหมือนกับพรรคฯ เรา ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อ 72 ปีที่แล้ว ทำงานการเมืองแล้วตัดสินใจว่าความมีอุดมการณ์ร่วมกันนั้น จะต้องมาทำให้เป็นระบบ จึงเกิดพรรคการเมืองที่ชื่อประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการก่อตั้งพรรคเพื่อรองรับการเลือกตั้ง หรือเพื่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นแนวทางที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นหลักสากล ที่พรรคการเมืองต้องเริ่มต้นด้วย อุดมการณ์ และอุดมการณ์ดังกล่าวไม่มีการแบ่งแยกผู้คน ทุกศาสนา ทุกภาค ทุกรุ่น ก็คือประชาธิปัตย์ที่มาหลอมรวมกันโดยอุดมการณ์

"ผมแปลกใจเสมอนะครับที่เมื่อไหร่หยิบอุดมการณ์ที่เคยประกาศไว้เมื่อ พ.ศ.2489 มาอ่าน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเศรษฐกิจที่เราเปิดโอกาสเต็มที่ แต่รัฐต้องเข้าไปแทรกแซงถ้าหากว่าเราจะช่วยเรื่องความเป็นธรรม เรื่องกระจายอำนาจ สิ่งเหล่านี้เขียนขึ้นมาก่อนจะมีรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายสิบปี ความทันสมัยตรงนี้ทำให้ผมมั่นใจว่าเราเดินหน้ามั่นคง" อภิสิทธิ์ กล่าว

"เชื่อว่าหลังเลือกตั้งคงมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ด้วย ดังนั้น นักการเมืองจึงต้องพิสูจน์ตัวเอง เพื่อฟื้นความศรัทธาจากประชาชน และทำให้สังคมเห็นถึงอุปสรรค ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นแรงกดดันให้ ส.ว.สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึง การเปิดให้สมาชิกพรรคเข้ายืนยันการเป็นสมาชิกพรรค วันนี้ (6 เม.ย.) ว่า ยังไม่พอใจกับจำนวนสมาชิกที่มายืนยัน  เพราะยังมีอุปสรรคหลายอย่าง  บางคนยังอยู่ต่างประเทศ หรือ มีปัญหาสุขภาพ แต่ยังไม่มีใครแสดงความจำนงว่า จะไม่ร่วมงานกับพรรค

ทั้งนี้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคฯ ได้ร่วมกล่าวในพิธีอิสลามด้วยว่า ตนเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ หลังจากนั้นได้ไปยืนยันสมาชิกแล้ววานนี้ พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคฯ เราเป็นพรรคประวัติศาสตร์ ประเทศ บ้านเมือง ประชาธิปไตย ต้องมีอดีต มีปัจจุบัน และมีอนาคต แม้ยุคนี้ยุคใหม่ แต่ยุคใหม่ก็มาจากอดีตนั่นแหละ ตนเป็นคนยุคใหม่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ใครที่เป็นวัยรุ่นวันนี้ ก็ต้องเป็นผู้อาวุโสในวันข้างหน้า ดังนั้นเราต้องภูมิใจ ท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้ในยุคนั้นแล้วรอดชีวิตมาอยู่ในยุคนี้แล้วได้เห็นบ้านเมือง ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง เราต้องมองในทางบวก มองว่าบ้านเมืองต้องไปข้างหน้า แต่บังเอิญว่าเราสะดุดด้วยวิกฤติประชาธิปไตยในระบบธุรกิจการเมือง ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่เติบโตแบบธรรมชาติ ที่ควรจะเป็น แต่ประชาธิปัตย์เรานั้น เราสร้างตัวขึ้นมาด้วยการเติมคนดีเข้ามามากขึ้นๆ ตลอดเวลา จนทุกวันนี้ก็พยายามดึงคนรุ่นใหม่เข้ามา เราคือพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และยึดมั่นในระบบรัฐสภา ที่มีสภาผู้แทนราษฎร มีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ และเป็นผู้เลือกตัวแทนเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ซึ่งเชื่อว่าพวกเราทั้งหลายยึดมั่นในแนวทางนี้ และขอให้มีความมั่นคงต่อไป 

"ผมเป็นนักการเมืองที่อยู่ยืนหยัดมากับพรรคฯ และผมตั้งใจเป็น ส.ส. เป็นความใฝ่ฝันเดียวในชีวิต ผมเป็นคนเดียวในรุ่นที่ตัดสินใจมาเป็นนักการเมือง โดยเราเชื่อมั่นว่าวันข้างหน้ามันต้องเป็นประชาธิปไตย เราจะอยู่เฉยๆ รอให้มันเป็น หรือเราจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน ก็เลยสละสิทธิ์ที่จะไปเป็นผู้พิพากษา แล้วตัดสินใจมาเป็นนักการเมือง แล้วก็เป็นหนี้บุญคุณประชาชนมาก เพราะได้เลือกเรามาเป็นผู้แทนฯ ดังนั้นชีวิตการเมืองของผม ถึงไม่ยอมให้ใครมาดูถูก เมื่อท่านประยุทธ์บอก นักการเมืองเลว ไม่ดี ผมก็บอกว่าที่ท่านว่านักการเมืองเลว ไม่ดี มันก็มีจริงครับ แต่นักการเมืองที่ดี ก็มี" ชวน กล่าว

บัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเคยพูดไว้ในบรรยากาศอย่างนี้ว่า ทุกๆ วันที่ 6 เม.ย. ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะอยู่ในลักษณะอย่างไร จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก จะมีรัฐประหาร จะมีเลือกตั้ง หรือไม่มีเลือกตั้ง ทุกคนมาพรรคฯ ด้วยความรัก ด้วยความผูกพัน ด้วยความเชื่อมั่นในระบบพรรคการเมือง แน่นอนว่าถ้าพรรคการเมืองมีความมั่นคง แข็งแรงมากขึ้น ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย 

"มีคำคมของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมท ได้พูดเอาไว้ว่า การปกครองบ้านเมืองมี 3 วิธี 1.ด้วยอำนาจ 2. ด้วยอามิส และ 3. ด้วยอุดมการณ์ ท่านบอกการเมืองที่มาด้วยอำนาจ ในที่สุดก็ย่อมจะถูกโค่นล้มด้วยอำนาจ การเมืองที่ใช้อามิสเป็นหลัก วันหนึ่งอามิสหมด เพราะไม่พอที่จะให้ตามความต้องการ การเมืองที่ยั่งยืนมั่นคงถาวร คือการเมืองที่ทำด้วยอุดมคติ แม้เจ้าของความคิด แม้ว่าตัวนักการเมืองนั้นจะล้มหายตายจากไปแล้วก็ตาม แต่การปฏิบัติตามอุดมคตินั้นจะยังอยู่ ทุกยุค ทุกสมัย ผมมีความมั่นใจว่าวันนี้เรามาที่นี่กันด้วยความมีอุดมคติ ซึ่งนั่นคือหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรายึดมั่นมาทุกยุค ทุกสมัย" บัญญัติ กล่าว

 

ที่มา : เฟสบุ๊คแฟนเพจ Democrat Party, Thailand  และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เด็กในอังกฤษแอบห่ออาหารกลางวันจากโรงเรียนกลับบ้าน-ภาพสะท้อนวิกฤตเหลื่อมล้ำ

Posted: 06 Apr 2018 09:00 AM PDT

ในสหราชอาณาจักรกำลังประสบปัญหาหนักเรื่องฐานะที่ยากลำบากของผู้ปกครองนักเรียน หลังการตัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม ที่ทำให้เด็กบางคนถึงขั้นแอบเก็บอาหารจากโรงเรียนใส่กระเป๋ากลับบ้าน ครูใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าวว่า "ที่อื่นอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นการลักขโมย แต่พวกเขามองว่ามันคือความอยู่รอด"

ขณะที่ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเด็กของอังกฤษกล่าวว่าสมาชิกในห้องเรียนของอังกฤษทุกๆ 30 คน จะมีเด็ก 9 คนที่มีฐานะอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ถึงเวลาแล้วที่ควรจะสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อรองรับครอบครัวที่ดิ้นรนกับสถานะทางการเงิน

ข้อมูลจากกลุ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเด็กของอังกฤษ หรือ Child Poverty Action Group ระบุว่าในสหราชอาณาจักรมีเด็กนักเรียนฐานะยากจนราว 4.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรวัยเด็กทั้งหมด หรือนักเรียน 9 คน ในชั้นเรียนขนาด 30.1 คน (ที่มาของภาพประกอบ: Child Poverty Action Group)

ลินน์ เป็นครูใหญ่จากอดีตเมืองอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของมณฑลคัมเบรีย ทางตอนเหนือของอังกฤษ เธอเป็นหนึ่งในครูใหญ่หลายๆ คนจากอังกฤษและแคว้นเวลส์ที่พูดถึงเรื่องปัญหาความยากจนของเด็กนักเรียน โดยหนึ่งในสาเหตุของเรื่องนี้คือการตัดงบประมาณบริการสังคมที่ทำให้ความยากจนเลวร้ายลงกว่าเดิม

ครูเหล่านี้รวมตัวกันที่การประชุมสหภาพการศึกษาแห่งชาติที่เมืองไบรตันเพื่อปรึกษากันเรื่องเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความยากจนและหารือกันว่าเรื่องนี้กระทบต่อการศึกษาอย่างไร ครูใหญ่รายหนึ่งเปิดเผยว่าเด็กที่ยากจนมักจะมีผิวซีด สุขภาพฟันแย่ สุขภาพเส้นผมไม่ดี และซูบซีดกว่าเด็กคนอื่นๆ ความแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ นี้ยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อมีการจัดแข่งขันกีฬา

หลุยส์ เรแกน ครูใหญ่จากมณฑลนอตทิงแฮมเชอร์กล่าวว่าเด็กบางคนมีผิวซีดเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเช้าตอนวันจันทร์จะเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดเพราะเด็กจากครอบครัวยากจนจะมาที่โรงเรียนด้วยความหิวโหย แค่ถึงเวลา 9 โมงครึ่งในตอนเช้าพวกเขาก็เหนื่อยแล้ว

เรื่องความหิวโหยยังทำให้เด็กนักเรียนมีความสัมพันธ์กับโรงเรียนในฐานะสถานที่ๆ พวกเขาจะได้รับอาหาร มีครูใหญ่จากพอร์ทสมัธชื่อโฮเวิร์ด เพย์น เล่าว่ามีอยู่ช่วงหน่งที่หิมะตกหนักมากจนหมายโรงเรียนประกาศปิดโรงเรียนชั่วคราว แต่เขาก็ยังคงเปิดโรงเรียนไว้ต้อนรับนักเรียนบางส่วน เพราะกลัวว่านักเรียนเหล่านั้นจะไม่มีอาหารอุ่นๆ กินในที่อื่น พวกเขาจะมากินอาหารอุ่นๆ ในยามหนาวเหน็บได้ที่โรงเรียนเท่านั้น มีนักเรียนเดินทางมาทานอาหารที่โรงเรียนในวันนั้นมากถึงร้อยละ 45 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด

ไม่เพียงแค่เรื่องอาหารเท่านั้น แม้แต่เครื่องแต่งกายของเด็กที่ยากจนกว่าก็ไม่สามารถแต่งชุดยูนิฟอร์มได้ดีเท่าคนอื่น ลินน์เล่าว่าเด็กเหล่านี้มักจะสวมชุดที่เลอะเทอะกว่าเด็กที่มีฐานะดีและมักจะต้องสวมชุดเดิมซ้ำๆ ทำให้โรงเรียนต้องมีโครงการธนาคารอาหารและการจัดการเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เสื้อชั้นนอก ให้กับคนที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ รวมถึงจัดให้มีเครื่องซักผ้าสำหรับเด็กเหล่านี้ด้วยโดยลินน์บอกว่าเธอไม่ต้องการให้เด็กเหล่านี้ถูก "ตีตรา" เพราะเสื้อของพวกเขาเลอะเทอะ

ครูใหญ่ทุกคนในประชุมเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ความยากจนของนักเรียนเลวร้ายลงกว่าเดิมเพราะมีการตัดโครงการความช่วยเหลือทางสังคมและทางจิตใจ

จากงานวิจัยของกลุ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเด็กของอังกฤษ (Child Poverty Action Group) ระบุว่าโรงเรียนทำหน้าที่เป็นผู้พยายามลดช่องว่างความยากจนมากขึ้น จากการสำรวจโรงเรียน 900 แห่งพบว่าครึ่งหนึ่งมีบริการแก้ปัญหาความยากจนอย่างธนาคารอาหารหรือแม้กระทั่งการให้ครอบครัวเด็กสามารถกู้ยืมฉุกเฉินได้

มีครู 4 ใน 5 บอกว่าพวกเขาเห็นเด็กหิวโหยในช่วงระหว่างวัน และในจำนวนใกล้ๆ กันบอกว่าเห็นเด็กมีสัญญาณสุขภาพย่ำแย่

แอลิสัน การ์นแฮม ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนเด็กของอังกฤษกล่าวว่าในทุกๆ ชั้นเรียนที่มีเด็ก 30 คน จะมีอยู่ 9 คนที่มีฐานะอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ถึงเวลาแล้วที่ควรจะสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อรองรับครอบครัวที่ดิ้นรนกับสถานะทางการเงิน

ลินน์บอกอีกว่าครอบครัวเด็กเหล่านี้บางคนทำงาน 2-3 งานควบกันและไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการได้ คนเหล่านี้อาจจะมีเงินมากกว่าคนมีงานแบบอื่นๆ ที่ได้รับสวัสดิการแค่เล็กน้อยสัก 1-2 ปอนด์ แต่ก็จนกว่าเพราะขาดสวัสดิการ

เจน เจงกินส์ ครูใหญ่จากคาร์ดิฟฟ์เล่าว่ามีเด็กบางคนที่พกอาหารกลางวันมาโรงเรียนเป็นขนมปังกับเนยเทียมทำให้ครูต้องช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้ได้รับอาหารกลางวัน ขณะที่มีคนถามหา "มาตรฐาน" การศึกษาในเชิงการจัดอันดับ แต่เจงกินส์ก็มองว่าตอนนี้พวกเขาต้องมาใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตของเด็กแทนแล้ว เพราะภาคส่วนสวัสดิการเด็กอื่นๆ ถูกกดดันอย่างหนักมากจนเด็กและพ่อแม่ต้องหันมาพึ่งโรงเรียนแทน

จากที่กระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษกล่าวไว้ว่าพวกเขาต้องการสร้างประเทศที่ทุกคนสามารถใช้ความสามารถตัวเองได้เต็มที่ในการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการออกโครงการที่ชื่อ "พื้นที่แห่งโอกาส" ด้วยงบประมาณหลายล้านปอนด์เพื่อที่จะลดช่องว่างระหว่างนักเรียนที่ขาดโอกาสกับนักเรียนคนอื่นๆ

โดยทางโฆษกของกระทรวงศึกษาธิการระบุว่าจะมีการให้งบประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กที่ขาดโอกาสในโครงการชื่อ "นักเรียนพรีเมียม" และงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์ในการลงทุนจัดตั้งชมรมร่วมทานอาหารเช้าสำหรับ 1,700 โรงเรียนเป็นอย่างน้อย รวมถึงมีแผนการให้งบประมาณวิจัยหาวิธีการสนับสนุนครอบครัวที่ยากจนในช่วงวันหยุดเพื่อแก้ปัญหา "ความหิวโหยในช่วงวันหยุด" ได้

เรียบเรียงจาก

Child poverty: Pale and hungry pupils 'fill pockets with school food', BBC, 02-04-2018

Teachers warn of growing poverty crisis in British schools, The Guardian, 02-04-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: บนเส้นทางเวลา

Posted: 06 Apr 2018 05:28 AM PDT



...บนเส้นทางของกาลเวลา
บ้างทดท้อเหนื่อยล้าจนล่าถอย
บ้างอดทนแข็งข้อและรอคอย
บ้างโจมตีทีละน้อยทีละนัด

...บ้างสะสมกำลังทางความคิด
บ้างจัดแจงชีวิตชีวทรรศน์
บ้างเงียบๆ เลียบเลาะไปทางลัด
แล้วร้องป่าวประกาศกล้าว่าจะรบ

...บนเส้นทางของกาลเวลา
ยาวนานอาจเหนื่อยล้าบ้างต้องหลบ
จึงต่อเติมเพิ่มใจด้วยการพบ
เพื่อต่อไฟในคบให้คุโชน

....บนเส้นทางของกาลเวลา
บทพิสูจน์ผู้กล้ามีทุกหน
จับมือมั่นหมายเอาชัยกับมวลชน
รวมเป็นหนึ่งไม่จำนนเผด็จการ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักงานทรัพย์สินฯ บอกเลิกสัญญาสนามม้านางเลิ้ง ย้ายทรัพย์สินออกภายใน 180 วัน

Posted: 06 Apr 2018 02:53 AM PDT

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บอกเลิกสัญญาเช่ากับสนามม้านางเลิ้งและขอให้ส่งมอบสถานที่เช่า ภายในกำหนด 180 วัน ขณะที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวปรับทิศพัฒนาทางด้านการพาณิชย์มากขึ้นให้หลุดพ้นภาวะขาดทุนสะสม

 

6 เม.ย.2561 โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดย อนันต์ ไววิทยะ หัวหน้าฝ่ายอาวุโส ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการอำนวยการ ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่องการบอกเลิกสัญญาเช่าและขอให้ส่งมอบสถานที่เช่า

ปัจจุบันสัญญาเช่าทั้งสามฉบับ ได้ครบกำหนดอายุสัญญาเช่ามานานแล้ว สำนักงานทรัพย์สินฯมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินและอาคารดังกล่าวข้างต้น จึงไม่สามารถให้ราชตฤณมัยสมาคมฯเป็นผู้เช่าได้อีกต่อไป ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯได้ประสานและได้แจ้งให้ราชตฤณมัยสมาคมฯทราบในเบื้องต้นแล้ว โดยราชตฤณมัยสมาคมฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินฯทุกประการนั้น

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงขอบอกเลิกสัญญาเช่าอาคาร(ชั่วคราว)ฉบับที่2976/2542 , 2977/2542, 2978/2542 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2542 ตามที่อ้างถึง 1 ถึง 3 กับราชตฤณมัยสมาคมฯ โดยขอให้ราชตฤณมัยสมาคมฯทำการขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารและที่ดินทั้ง 6 โฉนดดังกล่าวข้างต้น และขอให้ส่งมอบสถานที่เช่าทั้งหมดคืน พร้อมชำระค่าเช่าหรือค่าภาษีค้างชำระถึงวันส่งมอบคืนสถานที่เช่า (หากมี) แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือจากราชตฤณมัยสมาคมฯในการส่งมอบพื้นที่คืนในครั้งนี้เป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา WorkpointNews รายงานว่า มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของ "สนามม้านางเลิ้ง" หรือ "สนามม้าไทย" ไปในทิศทางพัฒนาทางด้านการพาณิชย์มากขึ้น หลังจากที่เดือน มี.ค.- เม.ย.2561 มีการปรับใหญ่ใน ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ใหม่ โดยแก้ไขปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารงาน ให้หลุดพ้นภาวะขาดทุนสะสมเหมือนในอดีต อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองมาในยุค "ทหารแก่" ฐานที่มั่นของ "เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธ์ ถูกยึดอำนาจจากสายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผ่านทาง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการราชตฤณมัยสมาคมฯ แทน "เสธ.อ้าย" ปีที่แล้ว โดย "เสธ.อ้าย" ไปนั่งในตำแหน่งรองประธานบอร์ดราชตฤณมัยฯ มี พล.อ.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ อดีต รองผบ.ทบ. เป็นประธาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ทหาร(เกณฑ์)มีไว้ทำไม

Posted: 06 Apr 2018 01:58 AM PDT


 

หล่อจัง "ไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ ไปสมัครเป็นทหาร หล่อหลานทำให้นึกถึงหล่อน้า ซึ่งเจอวิบากกรรมข้อครหา ที่เจ้ากรมจเรทหารบกระบุว่า "ไม่เข้ารับการตรวจเลือก" เมื่อปี 2530

แต่เอาเถอะ คุยเรื่องวันนี้ดีกว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รู้ไหมว่า ความคิดเรื่องเกณฑ์ทหารเปลี่ยนไปแล้วนะ คนรุ่นใหม่อย่างเนติวิทย์หันมาถามว่า ทหารเกณฑ์มีไว้ทำไม ให้สมัครใจเสียดีกว่า ถ้าได้เป็นนายพลละก็ไม่ว่า เนติวิทย์ยืมนาฬิกาเพื่อนไปใส่ตั้งหลายเรือน

อ้าว ไม่อยากเป็นทหารผิดตรงไหน เพราะบางคน ก็ไม่ถนัด ไม่มีความเหมาะสมจะเป็นทหาร ไปทำอาชีพอื่น ยังเป็นประโยชน์กับประเทศชาติกว่าตั้งเยอะ อย่างมาร์คอย่างไอติม ก็น่าจะไปเป็นอาจารย์ ทำไมจบออกซ์ฟอร์ดจะต้องไปเข้าแถวซ้ายหันขวาหันตามคำสั่ง ห้ามเถียง ห้ามถามเผลอๆ ก็โดนซ่อม

อ๊ะอ๊ะ พูดอย่างนี้ ทหารเกณฑ์ต้องมีแต่ลูกคนจนไร้การศึกษาเท่านั้นหรือ ไม่ใช่หรอก อันดับแรก ต้องเอาคน ที่เขาสมัครใจ อยากไปเป็นทหารอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ไปตัดหญ้าหรือล้างจาน อันดับถัดมา การฝึกทหารก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฝึกให้เขามีวินัย เคารพคำสั่ง แต่ไม่ใช่ฝึกคนแบบเหยียบย่ำ บังคับให้เชื่อฟังโดยไม่ต้องใช้หัวคิด

หลายประเทศเลิกเกณฑ์ทหารไปแล้ว สร้างระบบที่คนอยากสมัครเป็นทหาร เพราะเงินดี สวัสดิการดี มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี บ้านเราเรอะ มีแต่คนไม่อยากโดนใบแดง แต่แย่งกันเข้านายสิบ หรือทำงานธุรการก็ยังดี อย่างน้อยถ้าอยู่ในค่ายก็ได้บ้านพักน้ำฟรีไฟฟรี

กองทัพอาจแย้งว่าต้องเกณฑ์ทหารเยอะ ปีนี้ 104,734 คน ถามว่าเกณฑ์ไปทำไมมากมาย ก็ต้องดูโครงสร้างกองทัพ ทำไมใหญ่โตจัง ทั้งที่ยุคนี้สมัยนี้ควรมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าจำนวนคน ขณะที่โครงสร้างส่วนบน ก็พูดง่ายๆ นายพลล้นหลาม

กำลังรบของกองทัพ ทหารราบ ปืนใหญ่ รถถัง กองบิน กองเรือ ฯลฯ นับคร่าวๆ ไม่น่าจะเกิน 40 กองพล แต่ทำไม มีนายพลเกินสองพัน ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการ แม้กระทรวงกลาโหมประกาศแผนปฏิรูปอยู่เหมือนกัน ว่าจะลดตำแหน่งเหล่านี้เหลือครึ่งหนึ่งในปี 2572 โน้น ไชโย

ทำไมกองทัพใหญ่โตจัง ทั้งที่ไม่ได้รบกับศัตรูที่ไหน ก็เพราะกองทัพยึดภารกิจรักษาความมั่นคงภายในมาเป็นของตน เสมือนย้อนกลับสู่ยุคสงครามเย็น กอ.รมน.ใหญ่คับจากรัฐประหาร 49 มาถึงหลังรัฐประหาร 2557 ล่าสุดก็มีคำสั่ง คสช.51/2560 ขยายอำนาจ กอ.รมน.ยิ่งขึ้น ไปอีก

ทหารเป็นอาชีพที่ประชาชนยกย่อง เพราะพร้อมสละชีวิตเพื่อชาติ ปกป้องประชาชน ประชาชนผู้เสียภาษี จึงยินดียกให้ทหารมีสิทธิพิเศษบางอย่าง เช่นการที่ทหารมีบ้านพักมีน้ำฟรีไฟฟรี เป็นเรื่องที่ปกติชาวบ้านไม่บ่น แต่ทำไมช่วงหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทหารเยอะจัง

กำปั้นทุบดินเห็นๆ เพราะทหารเข้ามายุ่งกับการเมือง เข้ามายุ่งกับชาวบ้าน ขยายภารกิจมาทำในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ยิ่งยุค คสช. ทหารเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการ ทุกอย่าง

ความรู้สึกของชาวบ้านจึงก่อตัวขึ้นตอบโต้ ไม่ว่าคนรัก ประชาธิปไตยหรือคนธรรมดาสามัญ ก็รู้สึกว่าต้องย้อนไป ตรวจสอบทหารบ้าง โดยเรื่องความโปร่งใส สิทธิพิเศษ การเกณฑ์ทหาร เป็นเรื่องที่โดนใจคนจำนวนมาก

อารมณ์ร่วมนี้จะทวีขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ทหารยังมีอำนาจ มากเช่นปัจจุบัน

 

ที่มา: www.khaosod.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนส. แถลงยอดเงินกองทุนประกันตัวคนอยากเลือก 1.15 ล้านแล้ว เตรียมคดีอื่นต่อ

Posted: 06 Apr 2018 01:51 AM PDT

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เผยยอดล่าสุดของเงินกองทุนประกันตัวคนอยากเลือกตั้งตอนนี้มี 1,153,600 บาท ที่ผ่านมาได้ใช้ในการประกันตัวแกนนำคดี MBK สี่แสนเตรียมสำหรับคดีพัทยาและคดีแกนนำ ARMY 57 ในวันที่ 9 เม.ย.นี้

6 เม.ย.2561 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ แจ้งว่า จากการที่อัยการส่งฟ้องคดีคนอยากเลือกตั้ง กรณีการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน วันที่ 10 ก.พ. 2561 ต่อศาลแขวงดุสิต ทำให้เมื่อวานนี้ตัวแทน คนส. ต้องจัดการเตรียมเงินประกันตัวเผื่อไว้ในกรณีที่ศาลเรียกเงินประกันตัว และก็มีความฉุกละหุกกันเล็กน้อยในการส่งมอบสมุดบัญชีสำหรับการเบิกเงิน เนื่องจากพวกเรามีระบบการแยกเก็บบัญชีธนาคารไว้ต่างหาก คือ คนที่มีสิทธิเบิกจะไม่สามารถถือสมุดบัญชีด้วยตนเอง เพื่อความรัดกุมและโปร่งใส 

คนส. ระบุว่า ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ผู้ต้องหาที่มารอกันที่ศาลแต่เช้าได้ช่วยเหลือพวกเราอย่างกระตือรือร้นในการให้ข้อมูลเส้นทางไปธนาคารสาขาที่ใกล้ที่สุด พอบอกว่าจะนั่งมอร์เตอร์ไซต์รับจ้างหรือแท็กซี่ไปเอง พวกเค้าก็หาคนช่วยขับมอร์เตอร์ไซต์ไปส่งให้ แถมยังบอกคนขับว่าให้ช่วยอารักขาเงินและนายประกันด้วย พอกลับมาถึงศาลแขวงดุสิต พบว่าหลายคนมีสีหน้าที่สบายใจและอุ่นใจมากขึ้น เพราะรู้ว่าเงินประกันมาพร้อมแล้ว พวกเราตัวแทนทีมนายประกันเองก็รู้สึกหายเหนื่อย ที่เห็นสีหน้าและแววตาที่ผ่อนคลายของผู้ต้องหา และดีใจที่พวกเขารู้สึกว่ากองทุนประกันตัวเป็นของทุกๆ คน ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและช่วยกันในการจัดการดูแล

คนส.แถลงด้วยว่า 1) ยอดล่าสุดของเงินกองทุนประกันตัวคนอยากเลือกตั้งตอนนี้มี 1,153,600 บาท 2) ที่ผ่านมาได้ใช้ในการประกันตัวแกนนำคดี MBK 4 คน (รังสิมันต์ โรม  สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์  อานนท์ นำภา และเอกชัย หงส์กังวาน ) จำนวน 400,000 บาท เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

3) เมื่อวานนี้ (5 เม.ย. 61) ทีมงานผู้ดูแลกองทุนประกันตัวได้ เบิกเงินสดเตรียมประกันตัวคดีผู้เข้าร่วม RDN 50 จำนวน 42 ราย จำนวน 500,000 บาท และเงินสดก้อนนี้ยังไม่ถูกใช้เนื่องจากศาลไม่สั่งขัง ดังนั้น เงินก้อนนี้จึงจะถูกเตรียมไว้ใช้สำหรับคดีพัทยาและคดีแกนนำ ARMY 57 ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ต่อไป หากวันดังกล่าว ศาลไม่เรียกเงินประกัน ทางทีมงานก็จะนำเงินก้อนนี้กลับเข้าบัญชีเงินฝากต่อไป

4) คนส.ได้เปิดเพจใหม่สำหรับการระดมทุนเข้ากองทุนประกันตัวคดีคนอยากเลือกตั้ง และรายงานความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีที่เพจ ลงหุ้น ร่วมหนุนคนอยากเลือกตั้ง ขอเชิญติดตามได้จากเพจใหม่นี้ค่ะ และตั้งแต่เปิดเพจใหม่นี้มาตั้งแต่เมื่อ 2 เม.ย. 2561 มีผู้ร่วมบริจาคและประมูลสิ่งของแล้วจำนวน 79,543 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชกิจจาฯ ประกาศแผนปฏิรูปด้านต่างๆ แล้ว

Posted: 06 Apr 2018 12:23 AM PDT

ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกระบวนการยุติธรรม  ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม ด้านพลังงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 

 

6 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศอ้างถึง โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ กําหนดให้ดําเนินการ ปฏิรูปประเทศ และให้ดําเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผลตามที่กําหนด โดยให้เป็นไป ตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องมี วิธีการจัดทําแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดําเนิน การปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดําเนินการ และระยะเวลาดําเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน และต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2560 เป็นต้นมา โดยกําหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านต่าง ๆ เพื่อรับผิดชอบในการจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน เพื่อกําหนดกลไก วิธีการ และขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ต่อไป

เพื่อให้เป็นไปตามที่กําหนดในพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2560 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ประเทศด้านต่าง ๆ จํานวน 11 คณะ อันประกอบด้วย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และคณะกรรมการ ปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อรับผิดชอบใน การดําเนินการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนด ตลอดจนได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ด้วยแล้ว

บัดนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ได้ดําเนินการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศ เป็นที่เรียบร้อย และได้เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2561 เห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ตามที่สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 รับทราบแผนการปฏิรูปประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในการนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่กําหนดในมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแผน และขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 จึงให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

โดยมีรายละเอียดด้านต่างๆ ดังนี้

1) แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน อ่านรายละเอียด
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/024_1/1.PDF

2) แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม อ่านรายละเอียด
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/024_2/1.PDF

3) แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ อ่านรายละเอียด
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/024_3/1.PDF

4) แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ่านรายละเอียด
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/024_4/1.PDF

5) แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม อ่านรายละเอียด
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/024_5/1.PDF

6) แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านรายละเอียด
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/024_6/1.PDF

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ภูเขาบนแท่นบัลลังก์

Posted: 05 Apr 2018 10:23 PM PDT

 


ฉันเย็บซี่โครงตัวเองในหมู่บ้าน
พวกเราซ่อมแซมภูเขาอย่างเงียบๆ
ในริมสุสานของบรรพบุรุษ

พวกเราเป็นคนแคระ
แบกหินศักดิ์สิทธิ์ลงจากเชืงกรานตัวเอง
ยื่นฎีกาในภูมิลำเนาท้ายทอย
คุณยื่นคำพิพากษาบนไหล่เรา

ในไร่เหงื่อโค้งคิ้วของแม่ผายผอม
น้องสาวเราผอมโซกัดกินก้อนน้ำตาตัวเอง
ใบอ้อยหวานบาดนิ้วมือพ่อบดกระดูกตัวเอง
สมานแผลเยียวยาว่านหางจระเข้

ความยุติธรรมอยู่ในจานสังกะสีที่ว่างเปล่า
อุทธรณ์ความอดมื้อกินมื้อ
อยู่ในตอซังข้าวฤดูแลัง

บ้านพักในขวดโหลเก็บกักแสงแดด
พิมพ์เขียวทัศนียภาพปีกเจ้าสาวน้ำค้าง
ในมาตรวัดประชิดดวงอาทิตย์กำพร้า

พวกเรากลายเป็นลูกหาบ
มองดูภูเขาของตัวเอง
โดนจองจำโซ่ตรวนบนแท่นบัลลังก์ของคุณ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวัสดิการสุขภาพที่จะเปลี่ยนประเทศไทย ทำงบฯ เพื่อสุขภาพ-สร้างระบบสวัสดิการเดียว

Posted: 05 Apr 2018 10:03 PM PDT

เปิดตลาดนัดนโยบาย เครือข่ายคนรักหลักประกันเสนอ 3 นโยบายสวัสดิการสุขภาพที่จะเปลี่ยนประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างระบบการเงินการคลังสำหรับการจัดการระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะ ระบบบริการสุขภาพต้องไม่อยู่ในมือขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง และสร้างระบบสวัสดิการสุขภาพระบบเดียว

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่รู้จักในชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทอง เป็นนโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อสังคมไทย คำว่า รัฐสวัสดิการ ที่ถูกรับรู้และแพร่หลายในปัจจุบัน หากกล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คงไม่ผิดจากข้อเท็จจริงนัก

นับตั้งแต่ปี 2545 ที่เริ่ม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการสุขภาพถือว่าเดินมาไกลจากจุดตั้งต้นมาก ถึงกระนั้นก็ยังมีอีกหลายสิ่งอย่างที่ต้องพัฒนาต่อ

หลักประกันสุขภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ เป็นหลักการสำคัญที่เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพย้ำเสมอมา หากพิจารณาระบบสวัสดิการสุขภาพของไทย ณ เวลานี้ ยังมีจุดที่ไม่ใช่ ไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...ไม่เท่าเทียม และในบางจุดอาจเรียกได้ว่าพิกลพิการ เช่น การที่รัฐบาลทุ่มเงินให้กับกระทรวงกลาโหมมากกว่าสุขภาพของคนไทย

แสงศิริ ตรีมรรคา จากเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ นำเสนอนโยบาย 3 ข้อที่เชื่อว่าหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนำไปปฏิบัติจะเป็นการปฏิรูประบบสวัสดิการสุขภาพของไทยครั้งใหญ่ และจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำขนาดมหาสมุทรให้แคบลงอย่างมีนัยสำคัญ

1.สร้างระบบการเงินการคลังสำหรับการจัดการระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะ

"ประเทศไทยควรมีระบบการเงินที่ใช้เพื่อจัดสรรสวัสดิการสุขภาพ มีการจัดเก็บหรือจัดสรรงบประมาณที่ระบุชัดเจนว่า งบประมาณส่วนนี้มีไว้เพื่อจัดบริการสุขภาพสำหรับทุกคนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ต้องมาต่อรองงบประมาณกันปีต่อปี ตัดนั่นตัดนี่ ซึ่งทำให้ไม่มีความมั่นคงพอในเชิงงบประมาณ การจะเกิดขึ้นรัฐต้องปฏิรูประบบการเงินการคลังทั้งประเทศ รวมถึงการเก็บภาษี เช่น เก็บภาษีเฉพาะด้านเพื่อนำมาจัดสรรด้านสวัสดิการ การทำให้คนทุกคนมีความมั่นใจว่าภาษีของเขาถูกนำไปใช้เพื่อตนเองจริงๆ รัฐต้องสร้างความมั่นใจนี้ การมีระบบการเงินลักษณะนี้จะทำให้ปัญหาเรื่องงบประมาณมีความชัดเจนขึ้น"

2.ระบบบริการสุขภาพต้องไม่อยู่ในมือขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง

"เวลานี้ระบบบริการอยู่ในมือของหน่วยงานรัฐที่มองว่าเป็นของตนเอง และเมื่อคิดว่าระบบบริการสุขภาพเป็นของตนเองและต้องจัดการ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาหรือไม่กล้าปฏิรูป เช่น วิธีคิดของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแลโรงพยาบาลทั้งหมดของประเทศ ดูแลบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมดของประเทศ ระบบราชการแบบนี้ไม่มีความคล่องตัว ไม่มีความก้าวหน้าในเชิงการบริหาร โรงพยาบาลควรมีอิสระมากพอในการบริหารตนเอง ควรมีกลไกที่บอกว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ต้องให้บริการประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งโรงพยาบาลได้เงินค่าหัวจากรัฐ ส่วนหนึ่งโรงพยาบาลต้องพัฒนาตนเอง แข่งขันกันในเชิงคุณภาพ เพื่อให้ตนเองสามารถพัฒนาเป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพได้

"ประเทศไทยควรมีระบบการเงินที่ใช้เพื่อจัดสรรสวัสดิการสุขภาพ มีการจัดเก็บหรือจัดสรรงบประมาณที่ระบุชัดเจนว่า งบประมาณส่วนนี้มีไว้เพื่อจัดบริการสุขภาพสำหรับทุกคนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ต้องมาต่อรองงบประมาณกันปีต่อปี"

"การให้บริการอาจมีเงื่อนไขได้ แต่ต้องไม่ใช่เงื่อนไขที่จำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ทุกโรงพยาบาลควรต้องรับผิดชอบประชาชนทุกคนภายใต้ระบบหลักประกัน จะมีเงื่อนไขแบบไหนต้องดูอีกทีในเชิงการบริหาร เช่นที่เกาหลีมีกฎหมายชัดเจนว่า ทุกโรงพยาบาลต้องให้บริการคนในระบบหลักประกันของเกาหลี ไม่ใช่ระบบสมัครใจ ปีนี้ขอเข้า ปีหน้าออก ซึ่งสร้างความไม่มั่นคงให้กับการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประชาชน"

เมื่อถามว่าหมายถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถดูแลโรงพยาบาลในพื้นที่ของตนได้ใช่หรือไม่ แสงศิริ อธิบายว่า ไม่จำเป็นว่าโรงพยาบาลทุกแห่งต้องเป็นของท้องถิ่นทุกแห่ง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดและบริบทแตกต่างกัน รูปแบบการบริหารจัดการควรถูกออกแบบให้เหมาะสม แต่ถ้าท้องถิ่นใดมีศักยภาพดูแลโรงพยาบาลได้ รัฐก็ต้องปล่อยให้เกิดขึ้น

3.สร้างระบบสวัสดิการสุขภาพระบบเดียว

"การมีระบบเดียวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านการบริการ การเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำด้านงบประมาณของรัฐที่ลงมาสนับสนุนระบบสุขภาพ ไม่ใช่ว่ารัฐจ่ายเงินค่าสุขภาพให้กับคนกลุ่มหนึ่งมากกว่า โดยที่หาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมจึงจ่ายได้เยอะกว่า ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งได้น้อยกว่า มีข้อจำกัดมากกว่า"

ส่วนการร่วมจ่ายที่เป็นประเด็นร้อนเสมอเวลาพูดถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรถูกตัดออกจากกฎหมายหรือไม่ แสงศิริ กล่าวว่า

"ถ้าสามารถสร้างระบบการเงินการคลังสำหรับการจัดการระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะได้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการร่วมจ่ายอีกเลย เพราะมันจะทำให้ประชาชนมั่นใจในการบริหารงบประมาณประเทศ เรื่องร่วมจ่ายจะไม่จำเป็น เพราะทุกคนจะเต็มใจจ่ายจ่ายภาษีเพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเองในการเข้าถึงบริการ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น