ประชาไท | Prachatai3.info |
- สิงคโปร์-มาเลเซีย ประกาศตรวจสอบ-ควบคุมกรณี 'แกร็บ' ซื้อกิจการ 'อูเบอร์'
- หมายเหตุประเพทไทย #203 ระบบมูลนายสมัยรัตนโกสินทร์
- แม่ทัพ 4 เตรียมฟ้องกลับโรงแรมดังภูเก็ตปล่อยคลิป
- เช็คกฎหมายเกี่ยวกับคนงาน 6 ฉบับ ที่กำลังมา กับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
- ไทยผลักดันชาวโรฮิงญาไปมาเลเซีย หลังลอยเรือเข้ามาเช้ามืดวันนี้
- เตือนสติ คสช. ควรให้รัฐบาลประชาธิปไตยตัดสินใจเข้าร่วม FTA
- อนุสาวรีย์หลายแห่งถูกใส่หน้ากากกันมลพิษเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา
- 3 ปี สิ่งเสมือนกฎหมาย: คำสั่ง 3/58 ให้อำนาจทหารกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบ
- เรียกร้องช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถดำเนินการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จตามกำหนด
- คุกลับ จับทรมาน: มรดกและหมุดหมายของมิตรภาพไทย-สหรัฐฯ (ซีไอเอ)
- กรมราชทัณฑ์ไฟเขียวนักโทษดู 'บุพเพสันนิวาส'
- 'สุภิญญา' ระบุ 'รัฐประหาร' ต้นตอทีวีดิจิทัลขาดทุน
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 มี.ค.-1 เม.ย. 2561
- เปิด 47 รายชื่อ กลุ่มผู้ชุมนุม 'อยากเลือกตั้ง' ถูกแจ้งความฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.
- สปสช.ถกผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์คัดเลือกข้อเสนอพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง
สิงคโปร์-มาเลเซีย ประกาศตรวจสอบ-ควบคุมกรณี 'แกร็บ' ซื้อกิจการ 'อูเบอร์' Posted: 01 Apr 2018 06:29 AM PDT หลังจาก "แกร็บ" เตรียมควบรวมกิจการ "อูเบอร์" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความกังวลทั้งจากพนักงานว่าจะถูกปลดออกหรือลดเงินเดือน ส่วนผู้บริโภคก็กังวลว่าจะทำลายการแข่งขัน ทำให้ราคาสูงขึ้น และคุณภาพต่ำลง ขณะที่ทางการสิงคโปร์-มาเลเซียประกาศว่าจะตรวจสอบและควบคุมการซื้อกิจการของแกร็บในครั้งนี้เพื่อให้เป็นไปในแนวทางที่จะ "ไม่ทำลายการแข่งขัน" 1 เม.ย. 2561 สเตรทไทม์ของสิงคโปร์รายงานว่าคณะกรรมการด้านขนส่งมวลชนทางบกของมาเลเซีย (SPAD) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (MyCC) วางแผนตรวจสอบการที่บริษัทแกร็บซื้อกิจการของคู่แข่งคือบริษัทอูเบอร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางการสิงคโปร์ก็เคยดำเนินการตรวจสอบเรื่องเดียวกับว่าการควบรวมกิจการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่าจะละเมิดกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ดาตุก เซรี แนนซี ชักกรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียกล่าวว่าแกร็บเคยให้คำมั่นกับเธอในช่วงที่มีการประชุมก่อนหน้านี้ว่า แผนการควบรวมกิจการของพวกเขาจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างค่าโดยสาร แต่หลังจากที่มีการตรวจสอบในกรณีนี้เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ทำให้ทาง SPAD และ MyCC ต้องการตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วยว่ามีการผิดกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ก่อนหน้านี้ในวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมาทางการสิงคโปร์ประกาศว่าพวกเขาต้องการตรวจสอบการควบรวมกิจการของแกร็บว่าละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าหรือไม่โดยเสนอให้มีมาตรการชั่วคราวเพื่อรักษาการแข่งขันไว้ก่อนในช่วงที่มีการสืบสวนในเรื่องนี้ สเตรทไทม์ระบุว่าถือเป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์ออกมาตรการแบบนี้ในช่วงระหว่างสืบสวน มาตรการดังกล่าวจะกำหนดให้ทั้งแกร็บและอูเบอร์จะต้องปล่อยให้มีการกำหนดราคาอย่างอิสระตามแต่ละบริษัทรวมถึงให้คงนโยบายราคากับทางเลือกของสินค้าในแบบเดิมต่อไป อีกทั้งยังมีการห้ามไม่ให้ทั้งสองบริษัทกระทำการใดๆ ที่จะเป็นการควบรวมกิจการในสิงคโปร์ หรือทำในสิ่งที่กระทบต่อความอยู่รอดและยอดขายของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แกร็บเริ่มประกาศตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ทีผ่านมาว่าพวกเขาซื้อกิจการของอูเบอร์ในแถบภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกิจการส่งอาหารอย่างอูเบอร์อีต โดยที่อูเบอร์จะได้รับหุ้นจากแกร็บในราคาร้อยละ 27.5 รวมถึงตำแหน่งบอร์ดกรรมการบริหารสำหรับดารา คอสโรว์ชาฮี ซีอีโอของอูเบอร์ โดยผู้ที่เป็นเจ้าของโดยส่วนใหญ่ของทั้งสองบริษัทนี้คือ ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คอร์ป บริษัทข้ามชาติด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารสัญชาติญี่ปุ่น หลังจากที่มีการตกลงกันระหว่างสองบริษัทนี้ก็มีการแจ้งเตือนพนักงานฝ่ายบริหารของอูเบอร์ให้เคลียร์โต๊ะทำงานของตัวเองภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ต่อมาอูเบอร์ก็ออกมาชี้แจงว่าจะไม่มีการเลย์ออฟพนักงานของตนเองจากสาเหตุเรื่องการควบรวมกิจการ อีกทั้งยังมีเรื่องที่พนักงานอูเบอร์จะกลัวว่าแกร็บจะไม่ยอมบรรจุพวกเขาเข้าร่วมทำงาน และยังกลัวว่าจะได้รับค่าแรงน้อยลงกว่าเดิมด้วย สำหรับผู้ใช้บริการเรียกรถรับส่งของทั้งอูเบอร์และแกร็บต่างก็แสดงความกังวลว่าการซื้อกิจการจะเป็นการทำลายการแข่งขันในตลาดบริการชนิดนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ค่าใช้บริการสูงขึ้นและคุณภาพลดลง ซึ่งก่อนหน้านี้ SPAD และ MyCC ต่างก็ประกาศว่าพวกเขาจะคอยจับตาดูไม่ให้แกร็บใช้อำนาจบริหารที่ได้มาใหม่นี้อย่างเลยเถิดเกินไป เรียบเรียงจาก KL to probe Grab's takeover of Uber, The Straits Times, 01-04-2018 Grab-Uber deal faces interim action to ensure competition, The Straits Times, 31-03-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #203 ระบบมูลนายสมัยรัตนโกสินทร์ Posted: 01 Apr 2018 06:15 AM PDT ทำความเข้าใจระบบมูลนายสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่เป็นระบบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงระหว่างรัฐและคนที่อยู่ภายใต้รัฐ ทั้งนี้กฎหมายตราสามดวงกำหนดไพร่ต้องสังกัดมูลนาย ทั้งที่เป็นขุนนางหรือเจ้านาย และต้องเข้าเวรรับใช้มูลนายตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่เข้าเวรรับใช้มูลนายก็ต้องส่งส่วยให้รัฐ รวมไปถึงข้าพระหรือเลกวัดที่เป็นไพร่ซึ่งถูกอุทิศให้เป็นข้ารับใช้ของวัด นอกจากนี้ยังมีทาสประเภทต่างๆ ด้วย ทั้งนี้มีไพร่หนีจากระบบมูลนายอยู่เนืองๆ รวมถึงการไปบวชเป็นพระ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูประบบราชการและใช้การเกณฑ์ทหาร แทนที่ระบบไพร่ รวมทั้งมีการเลิกทาสด้วยในเวลาต่อมา ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย ตอน ระบบมูลนายสมัยรัตนโกสินทร์ พบกับ คำ ผกา และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แม่ทัพ 4 เตรียมฟ้องกลับโรงแรมดังภูเก็ตปล่อยคลิป Posted: 01 Apr 2018 06:13 AM PDT แม่ทัพภาค 4 เตรียมให้ทหารพระธรรมนูญฟ้องกลับผู้บริหารโรงแรมดังภูเก็ตและผู้เกี่ยวข้อง หลังปล่อยคลิปว่าทหารไปรีดไถ ระบุทหารไปตรวจสอบกรณีอดีตพนักงานโรงแรมร้องศูนย์ดำรงธรรมว่าถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ยืนยันถ่ายคลิปตลอดกว่า 1 ช.ม.ครึ่งไว้เช่นกัน 1 เม.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 กล่าวถึง คลิปทหาร 3 นาย กำลังพูดคุยกับผู้บริหารโรงแรม และถูกแชร์ในโซเชียลว่า ทหารใช้อำนาจไปรีดไถ และปรักปรำผู้บริหารโรงแรมว่าเป็นผู้มีอิทธิพล นั้นว่าการที่ทหารต้องไปพบเจ้าของโรงแรมป่าตองฯ นั้น เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม และได้ส่งเรื่องมายังกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของ พล.ร.5 จึงได้ส่งทหารไป ตรวจสอบและพูดคุยเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง ทั้งนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนจากอดีตพนักงานโรงแรม ที่ขาดงานช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ และถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม จึงไปร้องศูนย์ดำรงธรรม โดยศูนย์ดำรงธรรมได้แจ้งว่าในระเบียบของโรงแรม ต้องให้กรรมการอย่างน้อย 2 คนลงชื่อจึงไล่ออกได้ ดังนั้นจึงสามารถทำงานต่อได้ แต่เมื่อพนักงานคนดังกล่าวเข้าไปทำงาน แต่ถูกผู้บริหารโรงแรม ข่มขู่และใช้อิทธิพล และใช้ตำรวจบีบให้ออกจากงาน พนักงานโรงแรมคนนี้ จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนมายัง บก.ควบคุม พล.ร.5 และ บก.ควบคุม พล.ร.5 ได้สั่งการให้ ชป.รส.ร.25 เข้าดำเนินการตรวจสอบและรายงาน ต่อมาในวันที่ 27 มี.ค. 2561 ทหารชุดปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อย กรมทหารราบที่ 25 (ชป.รส.ร.25) นำโดย ร.ต.วัฒนชัย คล่องประดิษฐ์ หน.ชุดฯ ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้พบกับผู้บริหารโรงแรม คนดังกล่าว และได้แสดงตัวและแจ้งให้ทราบว่าเป็น จนท.มาตรวจสอบตามเรื่องร้องเรียน ซึ่งผู้บริหารโรงแรมคนดังกล่าว ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และรับทราบเรื่องดังกล่าวและได้เชิญ ชป.รส.เข้าไปนั่งในโรงแรม ตามภาพที่ปรากฏในวิดีโอ ต่อมาได้มีหัวหน้า รปภ.เข้ามาพูดคุยด้วย เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้น พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม จึงได้เข้าไปที่โรงแรม และได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการมาตรวจสอบครั้งนี้ และได้แจ้งกับผู้บริหารโรงแรมคนดังกล่าว และ จนท.ตร. 2 นาย ว่า ชป.รส.ร.25 จะขอสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกร้องเรียน จึงให้ทั้ง 3 คนมาให้ข้อมูลด้วย แต่ผู้บริหารโรงแรมคนดังกล่าว ได้แจ้งว่าตนเองไม่ว่าง ขอเข้ามาพบในวันที่ 2 เม.ย. 2561 และจะนำเอกสารต่างๆ มายืนยันว่าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนไม่เป็นความจริง ซึ่งได้นั่งพูดคุยกันอีกประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ได้มีการตัดเอาภาพเฉพาะตอนที่ผู้บริหารโรงแรมคนดังกล่าว พูดแสดงความไม่พอใจ ในช่วงแรกมาเผยแพร่ในโซเชียล พร้อมข้อความที่ทำให้ฝ่ายทหารเสียหาย ทั่งๆ ที่ตลอดการพูดคุย หลังจากนั้นเป็นไปด้วยดี จึงทำให้สงสัยในเจตนาของบุคคลดังกล่าว "ผมจึงให้นายทหารพระธรรมนูญเตรียมการฟ้องร้องทางผู้บริหารโรงแรม และบุคคลที่เผยแพร่คลิปนี้ ทั้งๆ ที่ทหารทำตามระเบียบถูกต้อง แต่งเครื่องแบบและแสดงตัว พร้อมแจ้งข้อหาเรื่องร้องเรียน แต่กลับมากล่าวหาว่าทหารไปรีดไถเรียกรับผลประโยชน์ทำให้ฝ่ายทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่เสียหาย" พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าว ส่วนการที่ทหารต้องพกอาวุธปืนสั้นนั้น แม่ทัพภาค 4 กล่าวว่าเป็นอาวุธปืนพกสั้นที่เป็นอาวุธประจำกาย ไม่ได้พกอาวุธสงคราม อีกทั้งเพราะเป็นการไปทำหน้าที่กับผู้ที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นผู้มีอิทธิพล เพราะบริหารโรงแรมมีตำรวจ 2 คนติดตามดูแลตลอดเวลา และจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น ทหารจึงต้องระวังตัวเอง "ผมกำลังทำเรื่องให้ต้นสังกัดตำรวจ 2 นายนี้ ที่มาติดตามดูแลผู้บริหารโรงแรม พิจารณาโยกย้ายเพราะตำรวจควรไปทำหน้าที่ของตำรวจ ไม่ควรมาเดินตามผู้บริหารโรงแรม" พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าว พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าวว่าจากคลิปวิดีโอที่ปรากฏในโซเชียลรวมทั้งที่ จนท.ทหารถ่ายมาเป็นหลักฐาน ตลอดเวลาการเข้าปฏิบัติหน้าที่ จะเห็นว่าฝ่ายทหารนิ่ง สุขุม ทำตามระเบียบ ในการแต่งเครื่องแบบ แสดงตน ชัดเจนและแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อให้ชี้แจง "เมื่อทำแบบนี้ เราก็คงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินการ" แม่ทัพภาค 4 กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เช็คกฎหมายเกี่ยวกับคนงาน 6 ฉบับ ที่กำลังมา กับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ Posted: 01 Apr 2018 06:05 AM PDT คุยกับนักวิจัยด้านแรงงาน มอง 6 กฎหมายเกี่ยวกับคนงานที่กำจะออกมาบังคับใช้ พร้อมทั้งไฮไลท์ข้อจำกัดของกฎหมายหลายฉบับที่ยังขาดกลไกแก้ไข รวมถึงบทวิจารณ์ปัญหาของขบวนการแรงงาน และข้อเสนอแนะสร้างหน่วยจัดการและสื่อสารความรู้ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงานและผู้ติดตามนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน 1 เดือนก่อนถึง วันกรรมกรสากล (1 พ.ค.61) ที่คนงานทั่วโลกออกมาเฉลิมฉลอง พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลประเทศตนเองในเรื่องที่แรงงานยังเข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ ประกอบกับช่วงนี้ประเทศไทยก็มีความคึกคักโดยเฉพาะรัฐบาลที่กำลังผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานประมง กระทั่งในกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย ที่จะออกมาบังคับใช้ในอนาคต รวม 6 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แรงงานจะได้รับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับเดือนมีนาคม 2561 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ..... ร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ. การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร หากใช้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ก็จะแบ่งได้ 5 ระดับ ในโอกาสนี้ ประชาไท จึงพูดคุยกับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงานและผู้ติดตามนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน เพื่อวิเคราะห์กฎหมายทั้ง 6 ฉบับ รวมทั้งกระบวนการที่แบ่งเป็น 5 ระดับนี้ ตามที่ บุษยรัตน์ ระบุว่า การแบ่งแบบนี้จะช่วยทำให้เห็นว่ากฎหมายอยู่ในขั้นตอนไหน ทำให้ประมาณการณ์ระยะเวลาได้ว่าอีกนานเท่าใดกว่าจะประกาศใช้ หรือหากคนงานจะไปเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะได้รู้ว่าต้องไปตามที่หน่วยงานใด เช่น ที่กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) "ตามถูกฝาถูกตัวถูกที่" บุษยรัตน์ กล่าวสรุปอย่างง่ายไว้ ที่มาภาพ เว็บไซต์ shiptoshorerights.org 000000 บุษยรัตน์ ได้สรุปสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ใน 5 กระบวนการไว้ดังนี้ ระดับ 1 กระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.คือ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับเดือนมีนาคม 2561 กฎหมายนี้ว่าด้วยนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง , ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง, วิธีระงับข้อพิพาท ,การปิดงานและนัดหยุดงาน, คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) , คณะกรรมการลูกจ้าง, สมาคมนายจ้าง, สหภาพแรงงาน, สหพันธ์นายจ้างและสหพันธ์แรงงาน, การกระทำอันไม่เป็นธรรม, บทกำหนดโทษ ซึ่งใช้บังคับกับแรงงานในระบบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 หรือ 40 กว่าปีมาแล้ว ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ให้พี่น้องแรงงาน นายจ้าง และผู้เกี่ยวข้องได้เสนอแนะประเด็นต่างๆ ที่สงขลา พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา และกทม. ที่กระทรวงแรงงานโดยตรง แน่นอนมีการแก้ไขในหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง ในร่างกฎหมายนี้จะขออภิปรายลงรายละเอียดมากกว่ากฎหมายฉบับอื่นๆ เพื่อให้แรงงานได้เข้าใจ เรียนรู้ ติดตามสถานการณ์ทันพร้อมกันไปด้วย ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 อย่างสิ้นเชิง คือ
ระดับ 2 ครม.ได้เห็นชอบแล้วและอยู่ในระหว่างบรรจุวาระพิจารณาใน สนช.คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ..... และ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... โดย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ..... ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อ 15 ส.ค.60 นั้น สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ
แฟ้มภาพ ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อ 8 พ.ย.59 นั้น สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ
ระดับ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.คือ ร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ....ซึ่ง สนช. พิจารณาเห็นชอบรับหลักการวาระที่ 1 แล้วเมื่อ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา และได้มีการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้รวม 15 คน สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ
ระดับ 4 สนช. ได้เห็นชอบแล้วคือ ร่าง พ.ร.บ. การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... เมื่อ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา รอประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ
ระดับ 5 อยู่ในระหว่างการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไปคือกรณีที่คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร โดยสนับสนุนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมอีก 1,000 บาท บังคับใช้ 1 พ.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นต้นไป โดย มีสาระสำคัญ คือ
ข้อจำกัดของกฎหมายหลายฉบับและยังขาดกลไกแก้บุษยรัตน์ กล่าวว่า หากถามว่ากฎหมายที่จะออกมานั้นเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ผู้ใช้แรงงานเข้าถึง-ไม่เข้าถึงเพียงใด ก็ต้องกลับไปหลักการที่ว่า "ชนชั้นใดออกกฎหมายก็ต้องเป็นไปตามชนชั้นนั้น" เช่น ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ในบางมาตราก็ยังขัดกับหลักการอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 หรือในเรื่องความครอบคลุมของกลุ่มเป้าหมายที่กฎหมายใช้บังคับก็ยังมีข้อยกเว้น เป็นต้น ฯลฯ หรือในกรณีของความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่มีแนวโน้มการปรับเพิ่มเงินสมทบผู้ประกันตน จากเดิม 750 บาทต่อเดือนเป็นสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน หรือการขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพจากเดิมเกษียณอายุ 55 ปี เป็นอายุ 60 ปี ที่ทางสำนักงานประกันสังคมได้จัดเวทีประชาพิจารณ์เมื่อปีที่แล้วที่ผ่านมา แต่ถูกคัดค้านจากผู้ใช้แรงงานหลายๆ กลุ่ม สำหรับข้อจำกัดของกฎหมายอีกหลายฉบับที่ยังมีการยกเว้นอยู่ และยังไม่มีกลไกใดๆ แก้ไขปัญหานั้น บุษยรัตน์ ยกตัวอย่างไว้ดังนี้
บุษยรัตน์ กล่าวว่า เหล่านี้คือสถานการณ์ด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องแรงงานทั้งสิ้น ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด กระทั่งอาจต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายต่างๆเหล่านั้น มากกว่าให้เป็นเพียงบทบาทของภาคราชการเท่านั้น "ผู้ใช้แรงงานทำหน้าที่เพียง แสตมป์ความชอบธรรมยามกระทรวงแรงงานเปิดประชาพิจารณ์เท่านั้น" บุษยรัตน์ กล่าว พร้อมระบุว่า อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้เองก็ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่า ผู้ใช้แรงงานเองจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในระบบ ที่เชื่อว่าควรเป็น "ทัพหน้าแรงงาน" กลับ "ถูกทำให้หมกมุ่น" อยู่กับการแก้ไขปัญหาในระดับสถานประกอบการตนเอง ระดับกลุ่มตนเองเท่านั้น โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง การทำลายสหภาพแรงงาน การขึ้นศาลแรงงานแก้ไขข้อขัดแย้ง-ข้อพิพาทแรงงานต่างๆ หรือไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเทศกาลประจำปี วาระแห่งชาติของการเรียกร้องโบนัส สวัสดิการ ก็ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องแบบนี้ทุกปี โอกาสที่จะยกระดับการมองสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องเหนือกว่า "บ้านตนเอง" จึงมีไม่มากนัก วิจารณ์ปัญหาของขบวนการแรงงานสำหรับปัญหาภายในองค์กรหรือขบวนการแรงงานนั้น บุษยรัตน์ ชี้ว่า คนงานที่มีความ "แข็งแรง" ด้านความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งควรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับกรรมการสหภาพแรงงาน กรรมการองค์กรแรงงานต่างๆ ก็ยังไม่เข้มข้นพอ ในการที่จะทำหน้าที่เป็นกลไกในการสื่อสารเรื่องสถานการณ์เหล่านี้ต่อสมาชิกในองค์กรตนเอง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานโดยตรงที่สนับสนุนงานด้านนี้ คนทำงานก็สูงวัยขึ้น คนรุ่นใหม่ก็แทบไม่มี นักวิชาการก็สนุกกับการเล่นกับแนวคิดทฤษฎี พูดภาษายากๆที่คนงานไม่คุ้นชิน หรือที่ทำงานจริงๆก็มีจำนวนน้อยมากไม่เพียงพอต่อปัญหาที่เร่งรัดและซับซ้อน "ที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องของคนงานที่ "ใจสู้" มากกว่า "หัวไว" ในการแก้ไขปัญหาเอง ซึ่งปัญหาของ "ใจสู้" อาจเหมาะกับท้องถนน แต่เมื่อถึงช่วงการเจรจากับรัฐบาล การเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขกฎหมายต่างๆ การนำกฎหมายมาปฏิบัติใช้ในระดับพื้นที่ระดับกลุ่มเป้าหมาย การมีข้อมูล องค์ความรู้ ทักษะที่คมชัด มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งประเด็นนี้ยังขาดในแรงงานหลายๆ กลุ่มที่จำเป็นต้องมีกลไกสนับสนุนที่ชัดเจนมากกว่านี้" บุษยรัตน์ กล่าว บุษยรัตน์ ยกตัวอย่างที่ดีในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ด้วยว่า เช่น ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบพื้นที่ต่างๆ ที่มีความพยายามในการทำงานกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิด ทำงานกับแรงงานจังหวัดต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ด้านแรงงานนอกระบบมีผลเกิดขึ้นจริง หรือในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคประมง กลไกขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ด้านแรงงานข้ามชาติ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลข่าวสารความรู้ตรงนี้ กระทั่งการแปลงแนวปฏิบัติตามกฎหมายฉบับต่างๆที่วางไว้ให้แรงงานเข้าถึงได้ง่าย แนะสร้างหน่วยจัดการและสื่อสารความรู้"ข้อเสนอสำหรับดิฉันในเรื่องนี้ คือ ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีหน่วยจัดการและสื่อสารความรู้ ที่ทำหน้าที่ย่อยความรู้ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แน่นอนวันนี้มีศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติแล้ว แต่หากเข้าไปดูก็จะเห็นว่า มีความยากในการแปรและประมวลผลข้อมูลหากผู้ใช้ไม่มีความเชี่ยวชาญในความรู้นั้นๆ ไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงข้อมูลแต่ละตัวก็มีความซับซ้อนและยาก เฉกเช่นการทำรายงานวิจัย และเราก็พูดกันว่าเป็นงานวิจัยบนหิ้ง และจนในที่สุด สกว. ต้องจัดตั้งหน่วยสื่อสารความรู้เหล่านี้ออกมาเป็นการเฉพาะ" บุษยรัตน์ กล่าว ขณะที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้น บุษยรัตน์ เสนอว่า ต้องมีสถาบันหรือหน่วยแบบนี้ที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อความเป็นอิสระในการดำเนินการ และทำหน้าที่วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่มาเป็นองค์ความรู้ที่พร้อมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในระดับต่าง ๆของผู้ใช้แรงงานต่อไป "วันนี้ฝั่งนายจ้าง สถานประกอบการ กระทั่งภาครัฐเองมีกลไกในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ในหลายหลายรูปแบบ แต่ผู้ใช้แรงงานกลับต้องเป็นฝ่ายเผชิญชะตากรรมหากินเองตามมีตามเกิดตามกำลัง และสุดท้ายก็กลายเป็นแรงงานหัวโตพุงโรก้นปอด ขาดสารอาหารที่มีคุณภาพเข้าสู่ร่างกายจริงๆ ทั้งๆที่มีอาหารจำนวนมาก แต่คนงานกลับเข้าไม่ถึงอาหารเหล่านั้นได้ เพราะข้อจำกัด ช่องว่าง อุปสรรคต่างๆ นานาในการกีดกัน กระทั่งตั้งใจทอดทิ้งคนงานไว้ข้างหลัง และตกขบวนการพัฒนาประเทศไทยในที่สุด" บุษยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไทยผลักดันชาวโรฮิงญาไปมาเลเซีย หลังลอยเรือเข้ามาเช้ามืดวันนี้ Posted: 01 Apr 2018 03:56 AM PDT เช้ามืดวันนี้ (1 เม.ย.) พบชาวโรฮิงญาลอยลำขึ้นฝั่งที่เกาะลันตา จ.กระบี่ ล่าสุด ตม.กระบี่และทหารเรือได้นำชาวโรฮิงญาไปส่งยังบริเวณเกาะห้า ตามคำขอของชาวโรฮิงญาในการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย 1 เม.ย. 2561 เพจสำนักข่าวไวท์ (White news) รายงานว่าเมื่อเวลาเมื่อเวลา 4.00 น.ชาวบ้านได้พบเรือต้องสงสัยคล้ายกับเรือบรรทุกชาวโรฮิงญาบริเวณระหว่างเกาะห้ากับเกาะลันตา จึงได้แจ้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านประสานมายัง นรภ.เกาะลันตาเข้าไปตรวจสอบปรากฎว่าเป็นเรือบรรทุกชาวโรฮิงญา จึงได้ควบคุมเรือและชาวโรฮิงญามาที่บริเวณใต้สะพานสิริลันตา ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยแยกได้ ชาย 19 คน หญิง 18 คน เด็กผู้ชาย 8 คน เด็กผู้หญิง 11 คน รวมทั่งหมด 56 คน ต่อมาเวลา 11.30 น. พ.ต.อ.ม.ล.พัฒนจักร จักรพันธุ์ ผกก.เกาะลันตา, กอ.รมน.จว.ก.บ. และฝ่ายปกครอง ได้ควบคุมชาวโรฮิงญาจำนวน 56 คน เพื่อเดินทางโดยเรือหางยาวออกจากพื้นที่ อ.เกาะลันตา โดยก่อนออกเดินทางมีราษฎรในพื้นที่ได้ร่วมบริจาคสิ่งของช่วยเหลือชาวโรฮิงญา เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย แต่อย่างไรก็ดีทางชาวบ้านในเกาะลันตาที่ได้นำอาหารมาช่วยเหลือ ได้พูดเป็นเสียงเดียวว่าการผลักดันออกไปโดยที่มีทั้งเด็กและสตรีนั้นชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เวลา 16.00 น. สำนักข่าวไวท์และทีมงานมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ ถึงบริเวณสะพานสิริลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยได้พบกับชาวบ้านที่พบและให้การช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาทั้ง 56 คน จากการให้ข้อมูลพบว่าในนั้นมีผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์และเด็กรวมอยู่ด้วย ซึ่งตอนพบครั้งแรกพบว่าทุกคนมีสภาพอิดโรยและท้องเรือนั้นรั่ว ด้วยกับสภาพเรือที่ต้องแบกคนไว้จำนวนเยอะ ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันซ่อมเรือให้แก่ชาวโรฮิงญา จากนั้นทาง ตม.กระบี่และทหารเรือ 3 ได้นำชาวโรฮิงญาไปส่งยังบริเวณเกาะห้า ตามคำขอของชาวโรฮิงญาในการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เตือนสติ คสช. ควรให้รัฐบาลประชาธิปไตยตัดสินใจเข้าร่วม FTA Posted: 01 Apr 2018 03:38 AM PDT เอฟทีเอว็อทช์ เตือนสติ คสช. ให้การตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาเอฟทีเอทุกฉบับเป็นหน้าที่ของรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะมีความสําคัญ-ผลผูกพันถึงลูกหลาน ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิถีทางประชาธิปไตยจะเหมาะสมกว่า 1 เม.ย. 2561 ตามที่รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมการรื้อฟื้นการเจรจาการค้าหลายความตกลงอาทิ อียู-อาเซียน เอฟทีเอ, เจรจารอบใหม่ความตกลง หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่แม้สหรัฐฯ จะถอนตัวไปแล้วแต่ 11 ประเทศที่เหลือกำลังเดินหน้าโดยมีกำหนดจะเข้าร่วมให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) เห็นว่า รัฐบาล คสช.เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ทำให้การเจรจาที่เคยมีกับหลายประเทศหยุดชะงักไป แม้ขณะนี้ บางประเทศจะมีท่าทีที่เป็นบวกมากขึ้น อาทิ สหภาพยุโรป แต่ก็เป็นในส่วนของ คณะกรรมาธิการการค้าซึ่งทำหน้าที่ เหมือนกระทรวงพาณิชย์ แต่ถ้าที่ของสภายุโรปซึ่งจะเป็น กลไกหลักในการตัดสินใจ ก็ยังต้องคำนึงถึงที่มาที่ไปของรัฐบาลและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ยังคงมีอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง "ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาล คสช.ควรทำ ไม่ใช่การตัดสินใจนำประเทศไปเข้าร่วมการเจรจา แต่ต้องนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความตกลงฉบับต่างๆ เท่าที่มีอยู่มาเปิดเผยต่อสาธารณะ และเปิดให้ทีมวิชาการทบทวนวรรณกรรมว่า งานวิจัยต่างๆทันสมัยหรือไม่เพียงใด งานวิจัยเพียงพอหรือไม่ที่จะใช้ในการประเมินผลได้ผลเสียและใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง ตัวอย่างเช่น งานวิจัยที่เกี่ยวกับการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่ประเมินผลเสียจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) เกินจริง ซึ่งจนถึงขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้รับการต่อสิทธิพิเศษดังกล่าวจากสหภาพยุโรปทั้งหมด ผลกระทบก็ไม่ได้เกิดขึ้นมากตามที่มีการประเมินก่อนหน้านี้ หรือ การประเมินผลได้ที่จะเกิดจากการเข้าร่วม TPP แต่งานวิจัยในขณะนั้น ชี้ว่าสิ่งที่ไทยจะได้มากที่สุดเกิดจาก ความตกลงที่จะมีกับสหรัฐฯที่ไทยยังไม่เคยมีเอฟทีเอมาก่อน แต่เมื่อ ขณะนี้ TPP ไม่มีสหรัฐฯแล้วผลประโยชน์ยังจะได้เช่นนั้นหรือไม่ และการละเว้นประเด็นอ่อนไหวเมื่อสหรัฐฯถอนตัวออกไป เป็นเฉพาะเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ในยาชีววัตถุ แต่ยังมีประเด็นการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องล้มนโยบายสาธารณะและเนียกร้องค่าเสียหายจากรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการ (ISDS) ที่คนไทยรู้จักกันในนาม 'ค่าโง่' ตรงนี้มีการประเมินผลได้ผลเสียอย่างไร ไม่ชัด" ทั้งนี้รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ยังได้เน้นย้ำว่าการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีความสําคัญและมีผลผูกพันระยะยาวถึงลูกหลานและการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ จำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมทุกจากทุกฝ่าย ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิถีทางประชาธิปไตยจะเหมาะสมกว่า "เราไม่เห็นด้วยที่จะเจรจาในรัฐบาลนี้ เพราะรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนถูกปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ขณะที่ทุนมีอำนาจครอบงำรัฐบาล หากต้องการเจรจา ให้ช่วงเลือกตั้ง พรรคการเมืองหาเสียงไปเลย พรรคไหนอยากเจรจาด้วยเงื่อนไขอะไรที่ปกป้องประชาชนได้ ให้ประชาชนได้เลือกมาเป็นรัฐบาล และให้รัฐสภามีสิทธิตรวจสอบการเจรจาเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นฝักถั่วเช่นในขณะนี้" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อนุสาวรีย์หลายแห่งถูกใส่หน้ากากกันมลพิษเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา Posted: 01 Apr 2018 03:22 AM PDT จากการรณรงค์เรื่องมลพิษในเชียงใหม่จนสุดท้าย ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดำเนินคดีเอาผิดนักเรียนมัธยมที่เผยแพร่ภาพอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ใส่หน้ากากกันพิษ ภาคภูมิ แสงกนกกุล ถ่ายทอดสภาพปัญหามลภาวะและการรณรงค์ที่ฝรั่งเศส โดยที่ครั้งนี้ ไม่มีผู้ใดต้องถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากกิจกรรมที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา หน้ากากกันมลพิษจำนวนหนึ่งถูกนำมาครอบใส่ปากของอนุสาวรีย์ในที่ต่างๆเพื่อประกาศให้รู้ซึ้งถึงความไร้สามารถของเจ้าหน้าที่ในการกำจัดปัญหามลภาวะอากาศ บรรดานักกิจกรรมดำเนินการเคลื่อนไหวกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้ในสถานที่ต่างๆในปารีส เช่น ลานคองคอร์ด และที่อื่นๆในเมืองต่างๆ เช่นที่สตราสบูรก์ผู้คนนับสิบได้จัดใส่หน้ากากให้กับรูปปั้น เลสแกตออม (Les Quartes Hommes) รวมถึงรูปปั้นตัวอื่นๆที่เรียงรายตามถนน อเวนิววอสก์ (avenue Vosges) "มันเป็นจุดที่สำคัญเสมือนเส้นเลือดใหญ่ มันมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งถึงสภาพปัญหามลพิษอากาศ" มารี แฟบ (Marie Fabre) ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมไม่มีขยะที่สตราสบูรก์ ( Zéro déchet Strasbourg) อธิบาย ในขณะเดียวกันกิจกรรมดังกล่าวเมื่อวานนี้ได้เกิดขึ้นพร้อมกับที่ทางกฤษฎีกาได้เตรียมการทบทวนที่จะยื่นกับกรรมาธิการยุโรปเกี่ยวกับแผนงานของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ส่วนทางกระทรวงการเปลี่ยนผ่านสู่นิเวศน์วิทยาได้รวบรวมแผนงาน 14 ฉบับซึ่งจะส่งให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาและจะประกาศให้สาธารณะชนทราบในอีกหลายสัปดาห์ถัดมา หน่วยงานยุโรปเพื่อสิ่งแวดล้อมได้พิมพ์รายงานประจำปี 2017 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่าปัญหามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนอายุ 65 ปี กว่า 5 แสนคนต่อปีในยุโรป ในเวลาไล่เลี่ยกันทาง Lancet ได้ตีพิมพ์งานวิจัยทางการแพทย์กล่าวถึงในปี 2015 ที่ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นถึง 6.5 ล้านคนทั่วโลกต่อปี ตัวเลขการเสียชีวิตจากมลพิษจะสูงถึง 9 ล้านคนต่อปี ถ้ารวมจำนวนคนที่ตายจากมลพิษทางน้ำและดิน (1.8ล้านคน) และอีก 8 แสนคนจากมลพิษสภาพแวดล้อมที่ทำงาน จำนวนคนตาย 9 ล้านคนเทียบเท่ากับ 1 ใน 6 ของการตายทั่วโลก หรือเพื่อจะฉายภาพให้เห็นความร้ายแรงของปัญหานี้ชัดเจนขึ้น มันเทียบเท่ากับ 3 เท่าของจำนวนการตายจากโรคเอดส์ โรควัณโรค และ โรคมาลาเรียรวมกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
3 ปี สิ่งเสมือนกฎหมาย: คำสั่ง 3/58 ให้อำนาจทหารกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบ Posted: 01 Apr 2018 02:54 AM PDT
เนื่องในวันครบรอบ 3 ปี ของคำสั่งที่ถูกใช้จนเสมือนกฎหมายนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอทบทวนกลไกบางประการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตามคำสั่งดังกล่าว และผลของการใช้คำสั่งนี้ ว่ามีผลอย่างไรต่อการสร้างบรรยากาศ "การรักษาความสงบเรียบร้อย และคืนความสุขให้ประเทศไทย" ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 โดยระบุเหตุผลในการออกประกาศฉบับดังกล่าวว่า เมื่อมีการประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึก สมควรมีมาตรการในการดำเนินการกับการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนั้น หัวหน้า คสช. จึงเห็นว่าเป็นการจำเป็น เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าวให้ลดน้อยหรือหมดสิ้นลงโดยเร็ว ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นฐานในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขึ้นมา ในรายละเอียดของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็น "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิด 4 ประเภท ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั่วราชอาณาจักรไทย และในการปฏิบัติเกี่ยวกับ 4 ประเภทความผิดข้างต้น เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสามารถเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุม ควบคุมตัว ค้น ยึด อายัด หรือกระทำการใด ๆ ก็ตาม "ตามคำสั่ง คสช." รวมถึงสามารถทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีทั้ง 4 ประเภทด้วย กลไกดังกล่าวคล้ายกับโครงสร้างการใช้อำนาจของกองทัพและทหารตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งบังคับใช้อยู่ก่อนการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนกระทั่งยกเลิกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 วันเดียวกับที่ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นี้ โดยกฎอัยการศึกมีเจตนารมณ์ให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในทุกด้าน เพื่อกระทำการในนาม "การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย" รวมถึงการอนุญาตให้ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" ซึ่งเป็นทหารสามารถใช้อำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ คสช. ยังไม่ยกเลิกการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว การให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้มาตรการจำกัดเสรีภาพของบุคคลได้อย่างกว้างขวาง จะนำไปสู่การคุกคามประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ ตัวอย่างเช่น ในข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยที่ในคำสั่งดังกล่าวมิได้นิยามคำว่า "ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง" ไว้ แต่กลับกำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องรับโทษทางอาญา ทั้งจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในสถานการณ์ปัจจุบันจึงพบว่า ฐานความผิดดังกล่าวถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งมักเป็นทหารและในบางกรณีได้รับมอบอำนาจโดยตรงจาก คสช. มักระบุว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อ 12 ของคำสั่งนี้ เป็นการพูด การปราศรัย การชูป้าย การประชุม หรือการชุมนุมที่ "บิดเบือนข้อเท็จจริง" หรือ "ต่อต้านการทำงานของรัฐบาล" ในส่วนท้ายของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังได้กำหนดยกเว้นความรับผิดให้กับทหารซึ่งปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ "โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น" ให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย โดยให้สิทธิผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหาย "จากทางราชการ" ได้ แต่ไม่สามารถเรียกร้องโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้น นอกจากนี้ ในมาตรา 44 ซึ่งเป็นฐานทางกฎหมายให้คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ ยังบัญญัติถ้อยคำในลักษณะเดียวกันไว้ คือ ให้ "ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด" การยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ซ้อนไว้ถึง 2 ครั้ง เป็นผลที่แม้แต่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ยังพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่ง "อ้าง" อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าที่ คสช.ที่ 3/2558 ใช้กำลังจับกุมผู้ที่ชุมนุมโดยสงบในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จนผู้ชุมนุมบางคนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายว่า ไม่สามารถเรียกร้องให้หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ปฏิบัติการดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ชุมนุมได้ |
เรียกร้องช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถดำเนินการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จตามกำหนด Posted: 01 Apr 2018 02:05 AM PDT เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนกรณีแรงงานข้ามชาติไม่สามารถดำเนินการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จได้ตามกำหนด ให้ขยายระยะผ่อนผันให้กลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าดำเนินการการรายงานตัวตามเงื่อนไขมติ ครม. วันที่ 27 มี.ค. 2561 สามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวอีก 3 เดือน คุ้มครองแรงงานข้ามชาติและนายจ้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติ ครม. เพื่อป้องกันแสวงหาประโยชน์ และการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากความไม่ชัดเจนของเอกสาร ภาพเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่กระทรวงแรงงานหลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เมื่อเวลา 24.00 น. วันที่ 31 มี.ค. 2561 (ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์) 1 เม.ย. 2561 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group-MWG) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนกรณีแรงงานข้ามชาติไม่สามารถดำเนินการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จได้ตามกำหนด โดยระบุว่าตามที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทุกคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อถือเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราวมาตั้งแต่ปี 2557 และให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยมีแรงงานที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งกลุ่มที่ต้องขยายระยะเวลาการทำงานและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ประมาณ 1.9 ล้านคน แม้ว่ารัฐบาลจะมีมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ล่าสุดฉบับวันที่ 27 มี.ค. 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานที่เหลืออยู่ โดยให้แรงงานสามารถดำเนินการรายงานตัวที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จได้ทันวันที่ 31 มี.ค. 2561 ซึ่งจากการสังเกตุการณ์กระบวนการดำเนินการที่ศูนย์ฯต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่มีการเปิดดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง พบว่ามีแรงงานเข้าไปดำเนินการไม่น้อยกว่าสามพันคนต่อวัน ซึ่งพื้นที่และบุคคลการของรัฐไม่สามารถรองรับกับจำนวนของแรงงานที่มาเข้ามาดำเนินการ แรงงานส่วนใหญ่ต้องรอการเข้าดำเนินการอย่างน้อยสามวัน โดยไม่มีบริการด้านสุขลักษณะที่เพียงพอ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนมาก ทำให้แรงงานต้องเจ็บป่วยอย่างกระทันหัน มีเด็กแรกคลอดที่ต้องมากับมารดาจำนวนมาก และสภาพปัญหาอื่นๆ ที่ปรากฎตามข่าว เครือข่ายเห็นว่า กระบวนการดำเนินการพัฒนาสถานะทางกฎหมายให้แก่แรงงานข้ามชาติ ของรัฐบาลไทยนั้นล้มเหลว เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า ขาดกระบวนการวางแผนการดำเนินงานขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเห็นได้ว่า โดยคาดการณ์ว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่สามารถเข้ามาดำเนินการที่ศูนย์บริการฯได้อีกนับแสนราย ทั้งนี้เนื่องจากตัวเลขที่แรงงานจะต้องเข้าศูนย์บริการเบ็ดเสร็จที่ออกโดยกระทรวงแรงงานมีความไม่แน่นอน โดยข้อมูลของข่าวที่อ้างจากกระทรวงแรงงาน มีทั้ง 1.9, 1.6 และ 1.3 ล้านคน ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2561 รัฐบาลไทยรายงานว่ามีแรงงานจำนวน 190 คน และนายจ้าง จำนวน 47 ราย ถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2561 (พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560) ดังที่กล่าวมาย่อมเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันถึงผลกระทบโดยตรงจากนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ, ขาดการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ และขาดความรับผิดชอบต่อการบริหารงานราชการและการออกนโยบาย ที่มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายโดยละเลยแง่มุมทางสังคม หากรัฐบาลไทยไม่แสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานที่ล้มเหลวดังกล่าวด้วยการออกมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน แทนการดำเนินคดีกับนายจ้างและลูกจ้าง ด้วยเหตุของการไม่สามารถลงทะเบียนการขึ้น ทะเบียนตามกำหนด ทางเครือข่ายเล็งเห็นว่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและความโกลาหลของทั้ง นายจ้างและแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนไม่ทันจนนำไปสู่การอพยพของแรงงานที่ไม่มีเอกสารจำนวนนับหมื่นคนที่ไปตกค้างอยู่ตามบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2560 เหตุการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการผลักความรับผิดชอบในเชิงมนุษยธรรมต่อแรงงานข้ามชาติซึ่งนับได้ว่าเป็นกลุ่มเปราะบางของการถูกแสวงหาประโยชน์ของนายหน้าและการค้ามนุษย์บริเวณชายแดน เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นความอัปยศของประเทศไทยต่อประชาคมโลก และตอกย้ำถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลไทยที่มีต่อการป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ในภูมิภาค วันที่ 1 เม.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันพ้นระยะเวลาในการแจ้งการดำเนินการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ แรงงานที่เหลืออยู่นับแสนคนนี้จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายในทันที แรงงานและนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ยังมีแรงงานกลุ่มดังกล่าวอยู่ กลายเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ดังนั้นเครือข่ายจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล คือ 1.ขยายระยะผ่อนผันให้กลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าดำเนินการการรายงานตัวตามเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 มี.ค. 2561 สามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวอีกสามเดือน รวมทั้งมีมาตราการที่เข้มงวดต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและนายจ้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อป้องกันแสวงหาประโยชน์ และการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากความไม่ชัดเจนของเอกสาร 2. มาตรการในการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ควรมีการจัดระบบในการบริหารจัดการใหม่ โดยแยกกลุ่มคนที่พิสูจน์สัญชาติผ่านแล้ว แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการขอต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน กับกลุ่มที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการจัดการ 3. กำหนดแผนที่ชัดเจนในการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้ทันเวลาที่รัฐบาลไทยได้กำหนดไว้ หรือมีมาตรการอื่นๆ รองรับกรณีไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติได้ตามกำหนด และ 4. กำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อรองรับการดำเนินการหลังเดือน มิ.ย. 2561 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุกลับ จับทรมาน: มรดกและหมุดหมายของมิตรภาพไทย-สหรัฐฯ (ซีไอเอ) Posted: 01 Apr 2018 01:11 AM PDT เนื่องในวาระ ผอ.ซีไอเอคนใหม่เคยคุมคุกลับในไทย และครบรอบความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ 2 ศตวรรษ ย้อนดูความร่วมมือต้านก่อการร้าย 'คุกลับ' ซีไอเอในไทย และวิธีสืบสวนที่ทารุณจนโดนแบนจากกฎหมายสหรัฐฯ แต่ไทยยังคงใช้อยู่ และยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบ การเถลิงตำแหน่งของกิน่า ฮาสเปล ในฐานะว่าที่ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันผ่านหน้าข่าวและหนังทั้งจอเงิน จอแก้วในนามซีไอเอ เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง สาเหตุเพราะมีรายงานว่าเธอเคยกำกับดูแลคุกลับของซีไอเอในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ถูกคุมขังตกเป็นเหยื่อการทรมานและการอุ้มหาย นอกจากนี้ยังถูกต้องสงสัยว่าเป็นคนสั่งให้ทำลายหลักฐานเกี่ยวกับการทรมานที่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติภายใต้กฏหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ผอ.ซีไอเอคนก่อนหน้า ไมก์ ปอมเปโอ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่นาน ก็มีประวัติสนับสนุนการทรมาน จีน่า ฮาสเปล (ที่มา: wikipedia) ท่าทีของทางการไทยต่อเรื่องคุกลับคือการปฏิเสธการมีอยู่ของคุกลับในแบบปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ เพราะรายงานของกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯ เรื่องปฏิบัติการของซีไอเอที่ออกมาเมื่อปี 2557 ระบุถึงความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้ายผ่านซีไอเอ รวมถึงสื่อต่างประเทศหัวใหญ่หลายเจ้าต่างก็กล่าวเป็นทำนองเดียวกันทั้งนั้นว่าคุกลับในไทยมีอยู่จริง แม้ปัจจุบันสหรัฐฯ จะยกเลิกแนวทางการสอบสวนที่รวมวิธีการทรมานต่างๆ อย่างที่เคยเป็น ไม่ให้ชอบด้วยกฎหมายไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลโอบาม่า แต่แนวทางการทรมานเพื่อการรีดเร้นข้อมูลยังถูกใช้อยู่ในประเทศไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการร้องเรียนจากทั้งผู้ถูกกระทำ และภาคประชาชนถึงมาตรการทรมานเช่นว่า แต่ทางการไทย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่มีบทบาทมากในพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกยังคงตอบโต้ด้วยการปฏิเสธ ในเวลาที่ไทยและสหรัฐฯ เฉลิมฉลองความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกว่า 200 ปี ประชาไทชวนย้อนอ่านรายงาน Senate Select Commitee on Intelligence แสดงความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างไทย-สหรัฐฯ พฤติการณ์การสอบสวนผู้ต้องสงสัยของซีไอเอที่โหดร้ายจนสหรัฐฯ สั่งแบน กระนั้น ผู้กระทำผิดก็ยังไม่ได้รับผิด ซ้ำยังได้ดิบได้ดีในหน้าที่การงาน และแม้ว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกวิธีสอบสวนสุดโหดไปแล้ว แต่ลักษณะการสอบสวนเช่นว่ากลับมาปรากฏในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยชนิดที่เรียกว่าสำเนาถูกต้อง ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ต้านก่อการร้าย กับคุกลับในฐานะความลับที่ไม่ลับความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ กับปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ปรากฏอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ภายหลังเหตุการณ์ 'ไนน์วันวัน (9-11)' (เหตุการณ์ที่มีผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน บังคับให้พุ่งชนตึกเวิลด์ เทรด เซนเตอร์ ประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544) มีปฏิบัติการร่วมกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง การส่งตัวผู้ต้องสงสัยจากไทยให้กับซีไอเอ การร่วมมือในปฏิบัติการก่อการร้ายยังถูกสื่อต่างประเทศพูดถึงในลักษณะการใช้พื้นที่ในไทยจัดตั้งสถานกักเพื่อปฏิบัติการของซีไอเอ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า 'คุกลับ' และมีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยที่จะถูกกักกันมาสอบสวนที่ประเทศไทยด้วย สื่อเดอะการ์เดียนของสหราชอาณาจักร ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยของซีไอเอชื่อ อาบู ซูบัยดะห์ เคยถูกส่งตัวมากักขังและสอบสวนที่ประเทศไทยจนเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า จากเอกสารรายงาน Senate Select Comittee on Intelligence พบว่า มีการจัดตั้งค่ายทหารอเมริกันในพื้นที่ประเทศอื่นที่ให้ความร่วมมือกับการปราบปรามการก่อการร้าย ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นหลังเหตุการณ์ 9-11 (เหตุการณ์จี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์ เทรด เซนเตอร์ ประเทศสหรัฐฯ) ในช่วงปี 2001-2003 ไทยกลายเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลอเมริกันมาแสวงหาความร่วมมือเพราะกลุ่มเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการ อยู่ในประเทศมุสลิมในเอเชียหรือทางอัฟริกาเช่น อัฟกานิสถาน ปากีสถาน หรือแม้แต่ลิเบีย โดยภูมิศาสตร์การเมืองของไทยก็เหมาะที่จะเป็นที่พักในการปฏิบัติการเพื่อติดต่อกับกลุ่มเป้าหมาย ตัวละครสำคัญหรือผู้ต้องสงสัยที่มีความสำคัญในเรื่องการปราบปรามการก่อการร้ายหลายคนถูกควบคุมตัวในไทย โดยตนคิดว่าเป็นหน่วยงานราชการไทย เพราะว่ามีการขึ้น-ลงของเครื่องบินที่ต้องผ่านระบบตรวจสอบ ไม่ใช่อยู่ๆ จะขึ้นลงที่ใดก็ได้ ปฏิบัติการนั้นใหญ่เกินกว่าจะทำกับส่วนที่ไม่ใช่ราชการ ตามหลักฐานที่เห็นมาเชื่อว่าน่าจะเป็นค่ายทหารแห่งใดแห่งหนึ่งในไทย สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรทางการเมืองและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ พยายามตรวจสอบกรณีข้อครหาว่าไทยให้ซีไอเอมาจัดตั้งคุกลับในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ จากรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่ามีการเปิดคุกลับของซีไอเอ มีผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายถูกคุมตัวที่นั่นและข้อกังวลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ข้อคำถามที่มีในตอนนั้นคือ หนึ่ง ที่ตั้งที่แท้จริงในไทยคือที่ไหน เป็นฐานทัพแห่งใดแห่งหนึ่งที่เคยเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ หรือเปล่าหรือว่าเป็นที่อื่น สอง ขั้นตอนการอนุมัติเป็นอย่างไร มีการตรวจสอบไม่ให้มีการกระทำที่ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะไทยมีพันธะตามกฎหมายในประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศไม่ให้มีการปฏิบัติในทางละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ข้อยืนยันว่ามีคุกลับและการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวในไทยเพิ่งได้รับการยืนยันจากรายงานของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ออกมาเป็นรายงานจากคณะกรรมาธิการฯ ในปี 2003 ทางการไทยได้ควบคุมตัวอาบู 'ซูแบร์' อัล ฮาอิลี บุคคลที่ซีไอเอระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอัลเคดา มีความเชื่อมโยงกับ ริดวน อิซามุดดิน หรือที่เรียกกันว่า "ฮัมบาลี" เป้าหมายอันดับหนึ่งของซีไอเอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยซูแบร์ถูกทางการไทยกักตัวและสอบสวน จากนั้นถูกส่งต่อให้กับซีไอเอ และถูกส่งไปยังสถานกักกัน 'โคบอลท์' และถูกสอบสวนด้วย EIT เมื่อ 11 ส.ค. 2003 ฮัมบาลี ผู้เป็นคนกลางสำคัญที่เชื่อมโยงกลุ่มอัลเคดากับกลุ่มก่อเจอาห์ อิสลามียา (เจไอ) ที่ฮัมบาลีเป็นสมาชิกอาวุโส เป็นผู้ต้องสงสัยว่าวางแผนลอบวางระเบิดแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซียเมื่อ 12 ตุลาคม ปี 2002 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ถูกจับกุมตัวที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยรายงานระบุว่า การจับตัวฮัมบาลีเป็นผลสืบเนื่องจากงานข่าวกรอง แหล่งข่าวของซีไอเอ และทีมเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของไทย บันทึกเล่าเทคนิคการสอบสวนด้วยการทรมาน ไม่ได้เรื่องได้ราว แถมยังเจ็บปวดทั้งผู้ทำและผู้ถูกกระทำEnhanced Interrogation Techniques (EIT) หรือเทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับ เป็นชื่อมาตรการการสอบสวนที่ซีไอเอใช้ในการรีดข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยภายใต้การกักกัน เป็นการสร้างความเสียหายทางร่างกายและจิตใจผสมผสานกัน มาตรการเช่นว่ากลายเป็นที่ประณามว่าเป็นการทรมาน เป็นสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ต่อประชาคมโลกเสียหายอย่างหนักและต่อมาถูกยกเลิกไปในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา อาบู ซูบัยดะห์ เป็นผู้ต้องสงสัยของซีไอเอที่ตกเป็นเหยื่อของการสอบสวนหฤโหดเช่นนี้ในไทยจนเสียตาหนึ่งข้าง ไม่เพีียงเท่านั้น เขายังถูกสอบสวนโดยวิธีการดังกล่าวอีกเมื่อครั้งอยู่ที่สถานกักกัน 'กิตโม' หรือที่รู้จักกันในชื่อคุกกวนตานาโม พื้นที่ใช้งานของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ที่คิวบา เขายังเป็นผู้ต้องขังของซีไอเอคนแรกที่ถูกสอบสวนด้วยวิธีดังกล่าว เทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับที่ระบุในรายงาน มีไปตั้งแต่การฟาดผู้ต้องขังใส่กำแพง รบกวนการนอนหลับ ทำให้ผู้ต้องขังอดนอนเป็นเวลา 180 ชั่วโมงด้วยการจัดให้ยืน หรืออยู่ในท่วงท่าที่เจ็บปวด เป็นเวลานานในขณะที่ใส่กุญแจมือเอาไว้ในตำแหน่งเหนือหัว ทำให้ผู้ต้องขังอยู่ในสภาพเปลือย รวมทั้งวิธีที่เรียกว่า Waterboarding (วอเตอร์บอร์ดิง) คือการใช้น้ำหยดใส่ผ้าที่คลุมหน้าอยู่ไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้ถูกสอบสวนอยู่ในภาวะคล้ายจมน้ำ นอกจากนั้นยังมีการข่มขู่เอาชีวิตผู้ต้องขัง ญาติ ครอบครัว รวมไปถึงขู่ว่าจะล่วงละเมิดทางเพศสมาชิกครอบครัวของผู้ต้องขังอีกด้วย มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ซีไอเอขู่ว่าจะเชือดคอแม่ของผู้ต้องขังคนหนึ่ง คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปว่าวิธีการสอบสวนเช่นว่าไม่ได้เกิดประสิทธิผลในทางข่าวกรอง นอกจากไม่ได้ทำให้ผู้ต้องขังให้ความร่วมมือแล้ว ยังไม่ใช่วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ จากบันทึกของซีไอเอ ผู้ต้องขังจำนวน 7 จาก 39 คนถูกใช้วิธีการสอบสวนแบบยกระดับไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเลย หลายคนเลือกที่จะสร้างข้อมูลเท็จขึ้นมา ส่งผลให้ข่าวกรองไม่แม่นยำ โดยเจ้าหน้าที่ซีไอเอเองได้ให้การว่าวิธีที่ดีที่สุดในการรีดข้อมูล คือการเอาข่าวกรองที่มีอยู่แล้วไปสอบถาม ข้ออ้างของซีไอเอที่ระบุว่าเทคนิคการสอบสวนเป็นการรีดข้อมูลที่มีประสิทธิภาพถูกแย้งด้วยสถิติของคณะกรรมาธิการว่า ใน 20 กรณีที่ซีไอเอมักนำมาใช้อ้างอิงนั้น บางกรณี คำให้การของผู้ต้องขังไม่มีความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่ประสบความสำเร็จ หลายกรณีนั้นข้อมูลที่ถูกนำมาอ้างก็เป็นข้อมูลที่หน่วยข่าวกรองทราบอยู่แล้ว รายงานของกรรมาธิการฯ ได้ระบุถึงกระบวนการและผลกระทบของวิธีการสอบสวนที่มีต่อทั้งตัวผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเอง สถานกักกัน ไซต์กรีน : โทรเลขได้อธิบายสภาพของอาบู ซูบัยดะห์ให้ศูนย์บัญชาการของซีไอเอทราบว่า เมื่อพนักงานสอบสวนยักคิ้วโดยไม่ได้ให้คำชี้แจงใดๆ ซูบัยดะห์ จะเดินอย่างช้าๆ ไปยังโต๊ะและนั่งลง เมื่อพนักงานสอบสวนดีดนิ้วสองครั้ง อาบู ซูบัยดะห์จะนอนลงบนโต๊ะ (ที่ใช้ทำวอเตอร์บอร์ด) แม้ว่าผลการประเมินจากเจ้าหน้าที่ที่สถานกักกันจะระบุว่าอาบู ซูบัยดะห์ให้ความร่วมมือ แต่ทางศูนย์บัญชาการซีไอเอก็เชื่อว่าอาบู ซูบัยดะห์ ยังคงเก็บงำข้อมูลอยู่ จึงให้พนักงานสอบสวนของซีไอเอใช้เทคนิคสอบสวนแบบยกระดับต่อไป ในช่วงที่อาบู ซูบัยดะห์ ถูกอธิบายว่ามีลักษณะ "มีอาการทางประสาท" และ "เครียดจนไม่สามารถสื่อสารได้" การทำวอเตอร์บอร์ดิง "ส่งผลให้เกิดภาวะรับของเหลวแบบฉับพลันและการชักเกร็งของแขน ขา และหน้าอก" … มีกรณีที่ทำวอเตอร์บอร์ดิงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ที่อาบู ซูบัยดะห์ "อยู่ในภาวะไม่ตอบสนองใดๆ และมีฟองฟอดจากปากจนเต็มปาก" จากบันทึกของซีไอเอ อาบู ซูบัยดะห์ยังคงไม่ตอบสนองใดๆ จนกระทั่งได้รับการดูแลทางการแพทย์ … เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทำวอเตอร์บอร์ดถูกกล่าวถึงในอีเมล์ แต่ไม่ได้ถูกบันทึกลงในโทรเลขของซีไอเอ เมื่อเจ้าหน้าที่ซีไอเอจากศูนย์บัญชาการสองคนได้ทำการดูบันทึกเทปเพื่อเปรียบเทียบระหว่างวิดีโอบันทึกการสอบสวนของอาบู ซูบัยดะห์ กับบันทึกของซีไอเอก็พบว่าช่วงวอเตอร์บอร์ดิงของอาบู ซูบัยดะห์หายไปจากบันทึกเทป เจ้าหน้าที่ซีไอเอ ณ สถานกักกันไซต์กรีน รายงานว่าไม่สบายใจกับการใช้เทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับต่ออาบู ซูบัยดะห์ บันทึกของซีไอเอได้ระบุถึงปฏิกิริยาและความเห็นของเจ้าหน้าที่ซีไอเอ: 5 ส.ค. 2545 : ต้องการจะเตือน (เจ้าหน้าที่แพทย์) ว่านี่เป็นจุดที่เขาไม่เคยประสบพบเจอมาก่อนตั้งแต่ทำงานด้านการแพทย์มา… เป็นเรื่องที่น่าอึดอัดตั้งแต่เห็นและเป็นที่อึดอัดใจ 8 ส.ค. 2545: การทำ (เทคนิคสอบสวนแบบยกระดับ) ครั้งแรกของวันนี้… มีผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ทุกคน… ความเห็นที่เรามีร่วมกันเหมือนจะตกลงว่าไม่ควรจะดำเนินการต่อ... 8 ส.ค. 2545: หลายคนในทีมเริ่มมีผลกระทบ… บางคนถึงกับน้ำตาไหลและสะอื้น 9 ส.ค. 2545: (เจ้าหน้าที่) จำนวนสองหรืออาจจะสามคนแสดงความประสงค์จะย้ายไปจากสถานกักกันนี้ถ้ามติยังคงตัดสินใจใช้เทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับต่อไป รายงานคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ผู้ถูกคุมขังหลายคนที่ได้เข้ารับการสอบสวนแบบยกระดับแล้วนำไปขังเดี่่ยวต่อจะมีภาวะผิดปรกติทางพฤติกรรมและสภาพจิต มักเห็นภาพหลอน หวาดกลัว นอนไม่หลับ พยายามจะตัดชิ้นส่วนของร่างกายตนเอง ไปจนถึงพยายามฆ่าตัวตาย มีผู้ถูกคุมขังถูกล่ามโซ่ในสภาพเปลือยกายจนหนาวตาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดที่ต้องรับผิดชอบ แต่แม้ว่าปฏิบัติการทั้งหลายจะมีข้อบกพร่อง แต่ซีไอเอเลือกที่จะใช้เทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับเพราะว่ามันทำให้พวกเขาแน่ใจว่าผู้ต้องสงสัยไม่เหลืออะไรที่จะต้องรีดแล้วจริงๆ สำเนาถูกต้อง: ไทย-สหรัฐฯ กับการผลิตซ้ำการลอยนวลพ้นผิดแม้การสอบสวนด้วยเทคนิคการสอบสวนยกระดับจะถูกทำให้ผิดกฎหมายไปแล้วในสหรัฐฯ แต่บุคคลที่มีส่วนร่วมในการซ้อมทรมาน ควบคุมคุกลับ สนับสนุนการซ้อมทรมานกลับไม่ได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ แถมยังได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นถึง ผอ.ซีไอเอ และ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนกรณีคุกลับในไทยก็ยังคงมืดแปดด้าน แถมเทคนิคการสอบสวนที่สหรัฐฯ ยกเลิกไป กลับมาปรากฏในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ไทย โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและสหรัฐฯ คือการที่ตัวรัฐเป็นผู้ทำให้การลอยนวลพ้นผิดเป็นเรื่องปรกติใช่หรือไม่ สุนัยแสดงความกังวลว่า การที่ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงยังไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แถมยังได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ผนวกกับทางการไทยไม่มีความจริงจังในการหาคำตอบเรื่องคุกลับในไทย และการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ไทย อาจเป็นบรรทัดฐานให้เกิดคุกลับในไทยได้ในอนาคต แต่สิ่งที่น่ากังวลและสังคมไทยควรจะส่งเสียงดังๆ คือการยุติการซ้อมทรมานและการคุมขังในลักษณะเดียวกันกับซีไอเอที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ อีกทั้งเมื่อมีผู้ให้เบาะแส ร้องเรียนก็กลับถูกแจ้งความกลับ "ยังเป็นปัญหาว่า เกิดการซ้อมทรมานขึ้น ก็ต้องย้อนกลับมาถามว่า ไทยได้มีการอนุมัติให้มีการจัดตั้งคุกลับได้หรือเปล่า แล้วคุกลับที่ปฏิบัติการอยู่ ขั้นตอนการสอบสวนมีเจ้าหน้าที่ไทยมีส่วนร่วม หรือมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ อย่างไร ได้ไปรับรู้เรื่องการซ้อมทรมานแล้วไม่ทำอะไรหรือไม่ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีคำตอบ" สุนัยกล่าว "เป็นที่น่าผิดหวังมากเพราะหลังจากรัฐบาลทักษิณพ้นจากอำนาจไป ก็ไม่มีความพยายามตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ ถ้าเป็นพรรคฝ่ายเดียวกันจะทำการตรวจสอบก็คงเป็นไปได้ยาก แต่แม้ว่าเป็นพรรคฝ่ายตรงข้าม เป็นขั้วอำนาจอื่น ก็ไม่พยายามทำให้ความจริงเรื่องนี้ปรากฏขึ้นมา" "คำถามที่ตามมาคือ ถ้าปล่อยให้ซีไอเอมาตั้งคุกลับ แล้วในอนาคตจะมีการอนุญาตให้ประเทศอื่นหรือซีไอเอเข้ามาตั้งคุกลับอีกหรือเปล่า ถ้าไม่มีกระบวนการขั้นตอนการกระทำผิด แล้วเอาคนผิดมาลงโทษในการทำให้เกิดคุกลับขึ้น มันก็เกิดบรรทัดฐานว่าต่อไปจะมีการสมคบคิดทำอะไรปิดบัง ทำเป็นเรื่องลึกลับและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้าย" "สำหรับสังคมไทยเกิดบรรทัดฐานว่าการปล่อยให้มีคุกลับซีไอเอเกิดขึ้นแล้วไม่เกิดการเอาผิดใดๆ มีผลสะท้อนกลับมาว่าเมื่อฝ่ายความมั่นคงเข้ามาทำหน้าที่รักษากฎหมายก็มีการใช้คุกลับเช่นกัน แล้วก็ยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อใช้แล้วก็ไม่ถูกตรวจสอบอย่างโปร่งใสและไม่ต้องรับผิดใดๆ เลย" สุนัยกล่าว พรเพ็ญระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ได้จากผู้ต้องหาคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า มีการถูกซ้อมทรมาน บังคับให้สารภาพและถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในลักษณะใกล้เคียงกับที่ซีไอเอทำกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลก เช่นใช้น้ำหยดบนหน้าผากแล้วใช้ผ้าเปียกคลุม ไม่ให้เห็นแสงเป็นเวลาหลายวัน ให้ยืนท่าเดียวกัน ไม่ให้นั่ง ให้ทำท่าประหลาด จับถอดเสื้อผ้า ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดบาดแผล ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งในอดีต สหรัฐฯ เคยรับรองว่ามันเป็นเทคนิคพิเศษที่ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย จนสมัยรัฐบาลโอบามาก็มีการสั่งห้ามแนวปฏิบัติดังกล่าว อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากญาติผู้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวว่า เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการวางระเบิด โดยระหว่างควบคุมตัวมีการถูกทำร้ายที่ใบหน้าจนฟันหัก ถูกเตะและต่อยจนล้มแล้วถูกเหยียบที่ก้น โดนดึงโสร่งให้ท่อนล่างเปลือย มีการเอาผ้าปิดหน้าแล้วเอาน้ำราด ถูกเตะ ต่อยจนสลบ เมื่อสลบไป เจ้าหน้าที่ก็ใช้นิ้วดีดที่อัณฑะให้รู้สึกตัว แต่ผู้ถูกควบคุมตัวลุกไม่ไหว ปัจจุบัน รัฐบาลยังคงประกาศกฎอัยการศึกและภาวะฉุกเฉินในบางพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีหมายจับได้เป็นระยะเวลา 7-30 วัน อัญชนายังระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ปฏิเสธว่ามีการซ้อมทรมานอย่างสิ้นเชิง โดยระบุว่าปฏิบัติการต่างๆ ดำเนินไปภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ตนเคยคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าพื้นที่ที่ใช้ควบคุมตัวและได้ข้อมูลว่า ช่วงเดือน ต.ค. 2560 ถึง ก.พ. 2561 เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวบุคคลเป็นจำนวนประมาณ 600 คน อัญชนาเคยถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งความหมิ่นประมาทและความผิดทางคอมพิวเตอร์ พร้อมกับสมชาย หอมลออและพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ หลังทั้งสามทำรายงานเปิดโปงการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย รายงานดังกล่าวเป็นการบันทึกคำให้การเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ทั้งหมด 54 กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงตำรวจและทหารในพื้นที่ ตีพิมพ์และเผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. 2559 โดยความร่วมมือของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ ซึ่งสำนักงานอัยการ จ.ปัตตานีสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีเมื่อ 24 ต.ค. 2560 พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ การก้าวเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของงานต่างประเทศและงานข่าวกรองของบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับการทรมานและการใช้คุกลับ ภายใต้ประธานาธิบดีที่เคยกล่าวสนับสนุนการซ้อมทรมาน ในยุคสมัยที่ภูมิทัศน์การก่อการร้ายเปลี่ยนไปจากเดิมในแบบที่ใครๆ ก็ก่อวินาศกรรมได้ในนามของการสมาทานแนวคิดผ่านสื่อสักช่องทางหนึ่ง (และแน่นอนว่าจะมีองค์กรออกมาแสดงความรับผิดชอบหลังเกิดเหตุการณ์) ยิ่งทำให้ข้อสงสัยเรื่องการเกิดขึ้นใหม่ของคุกลับ และวิธีสอบสวนหฤโหดที่อาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่อย่างหนักข้อ จนเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศอื่นๆ หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลไทยจะเอาอย่างไร แล้วใครจะรับกรรมซ้ำซ้อน...ถ้าไม่ใช่ประชาชน เนื้อความจากรายงานแปลมาจาก Senate Select Committee on Intelligence: Committee Study ofthe Central Intelligence Agency's Detention and Interrogation Program, Amnestyusa.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กรมราชทัณฑ์ไฟเขียวนักโทษดู 'บุพเพสันนิวาส' Posted: 31 Mar 2018 11:23 PM PDT อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานเรือนจำลาดยาวให้นักโทษดูละครบุพเพสันนิวาส ไม่ขัดข้องหากเรือนจำอื่นเอาอย่าง ชี้เนื้อหาส่งเสริมวัฒนธรรม ปลุกใจให้รักชาติ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีกระแสละครบุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ จนกระทั่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ลาดยาว) อนุญาตให้นำเทปละครย้อนหลังเปิดให้ผู้ต้องขังชมหลังเก็บเข้าเรือนนอน ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพียงแห่งเดียว ที่อนุญาตให้นำเทปละครย้อนหลังเรื่องบุพเพสันนิวาสมาเปิดให้ผู้ต้องขังได้รับชมเพื่อจรรโลงใจ ส่วนตัวไม่มีข้อขัดข้อง เพราะละครเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาในด้านส่งเสริมวัฒนธรรมและปลุกใจให้เกิดความรักชาติ ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายอะไรเป็นพิเศษไปยังเรือนจำต่างๆ ขอให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผบ.เรือนจำแต่ละแห่ง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่าที่ผ่านมาในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ผบ.เรือนจำบางแห่ง เคยเชิญดารานักแสดงเข้าไปจัดกิจกรรมในเรือนจำ ให้ดาราได้สวมกอดผู้ต้องขัง เพียงเท่านี้ก็ทำให้ผู้ต้องขังตื้นตัน ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง นอกจากนี้ยังกำชับให้ผู้บัญชาการเรือนจำให้ความช่วยเหลือกิจกรรรมสาธารณประโยชน์ในจังหวัด โดยให้นำนักโทษออกไปช่วยงานบำเพ็ญประโยชน์ เมื่อถึงเวลาพ้นโทษออกจากเรือนจำ สังคมภายนอกจะได้เห็นคุณค่า ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'สุภิญญา' ระบุ 'รัฐประหาร' ต้นตอทีวีดิจิทัลขาดทุน Posted: 31 Mar 2018 11:02 PM PDT 'สุภิญญา กลางณรงค์' อดีต กสทช. เตือนใช้ ม.44 อุ้มพักหนี้ทีวีดิจิทัล ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยใช้อำนาจรัฐทุจริตเชิงนโยบาย แนะให้ กสทช. กำกับเอง ย้อนทีวีดิจิทัลขาดทุนเพราะรัฐประหาร แทรกแซงลิดรอนสิทธิ จนประชาชนเบื่อหนีไปดูมือถือ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (แฟ้มภาพ) 1 เม.ย. 2561 MGR Online รายงานว่า เมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. เป็นประธาน จะใช้ ม.44 เพื่อพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี ว่า ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยในการใช้อำนาจรัฐทุจริตในเชิงนโยบายได้ สิ่งที่ กสทช. จะทำได้ในขณะนี้ จะต้องให้ กสทช. เข้าไปช่วยเหลือหรือกำกับการบริการของ กสทช. เอง ไม่ใช่กลับไปแก้ไขสัญญาหรือข้อกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบทเรียนที่ทำให้รัฐบาลยุคก่อนๆ อยู่ไม่ได้มาแล้ว อดีต กสทช. กล่าวว่า ในส่วนของทีวีดิจิทัลนั้น สาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาด คือ การรัฐประหารของ คสช. ที่เข้ามาในช่วงแรกนั้นก็สั่งปิดทีวีทุกช่อง อีกทั้งเมื่อ คสช. เข้ามาบริหารประเทศก็ใช้ช่องทางทีวีดิจิทัลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ยังไม่รวมถึงการเบียดเบียนช่วงเวลาในทีวีโดยอ้างในนามของความมั่นคง ซึ่งทั้งหมดก็พอจะเป็นเหตุผลได้ที่ว่าทำไม คสช. จะต้องเข้ามาเยียวยาทีวีดิจิตอล "เมื่อรัฐใช้เหตุผลความมั่นคงในการเข้ามาแทรกแซงผู้ประกอบการ จนส่งผลให้ผลกำไรทางรายได้นั้นลดลง ทาง คสช. ก็จะต้องเข้ามาเยียวยาโดยที่ปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากทาง กสทช. ต้องการจะช่วยเหลือจริงๆ นั้น ทาง กสทช. ก็จะต้องปรับในด้านค่าเช่าโครงข่าย ให้ยึดหลักความจริงตามต้นทุนมากกว่าที่จะหวังแต่ผลกำไร" น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 - 4 ปีที่ คสช. เข้ามานั้น ยังไม่การเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีที่ได้รับผลกระทบจากการที่ คสช. มาใช้ผลประโยชน์ จนทำให้ช่องทีวีหลายๆ ช่องนั้นถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ส่งผลให้ประชาชนเบื่อหน่ายกับการดูทีวีและหันไปเสพข้อมูลผ่านช่องทางมือถือมากขึ้น ถือว่าปัญหาการขาดทุนนั้นมาจาก คสช. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 มี.ค.-1 เม.ย. 2561 Posted: 31 Mar 2018 10:40 PM PDT
กระทรวงแรงงานสรุปผลการทำทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ รวมเกืบ 1.4 ล้านคน กระทรวงแรงงาน สรุปผลการทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว ซึ่งศูนย์ทำทะเบียนประวัติได้ปิดศูนย์ไปเมื่อเวลา 24.00 น. คืนวันที่ 31 มี.ค. โดยศูนย์รายงานตัวออนไลน์ กรมการจัดหางาน แจ้งยอดทำทะเบียนประวัติแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ทั่วประเทศ 1,379,252 คน ตั้งแต่เปิดศูนย์ OSS ระหว่างวันที่ 5 ก.พ.-31 มี.ค. มีออกมาแสดงตัวทำทะเบียนประวัติ 1,303,933 คน เป็นการแจ้งผ่านระบบออนไลน์ทาง www.doe.go.th 190,098 คน และมีแรงงาน 75,319 คน ไม่ออกมาแสดงตัวทำทะเบียนประวัติ กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังปิดศูนย์ OSS ในเวลาเที่ยงคืนตามกำหนด แต่ในกระทรวงแรงงาน ยังมีแรงงานต่างด้าวรอคิวเป็นจำนวนมากจนเลยเที่ยงคืนไปแล้ว เป็นกลุ่มที่ดำเนินการแล้วแต่รอรับเล่ม สำหรับแรงงานจำนวน 75,319 คน ที่ไม่ออกมาแสดงตัว คิดเป็น 5% ของแรงงานทั้งหมด แรงงานกลุ่มนี่จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หากลักลอบทำงานจะต้องถูกดำเนินคดีและส่งกลับประเทศ นายจ้างที่ใช้งานก็มีความผิดด้วย แต่แรงงานส่วนหนึ่งก็อาจไม่มีตัวตนแล้วเพราะเดินทางกลับประเทศ ทั้งนี้ ในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำทะเบียนประวัติแรงงานที่ต้องนั่งรอคิวในศูนย์ OSS ยาวนาน 1-2 วัน เป็นผลจากการบริหารจัดการผิดพลาด เจ้าหน้าที่และเครื่องมือต่างๆ ไม่เพียงพอกับคนจำนวนมาก เอกสารที่ต้องใช้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ระยะเวลาแค่ 56 วัน น้อยเกินไปกับแรงงานเป็นล้านคนและต่างรู้สึกไม่พอใจที่ผู้บริหารกระทรวงให้สัมภาษณ์ถึงความล่าช้าว่าเป็นเพราะนายจ้างไม่รีบดำเนินการตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์วันที่ 5 ก.พ. แต่มาทำในช่วงท้ายคนจึงแออัด โดยนายจ้างแย้งว่า ตลอด 50 วันไม่ได้อยู่เฉย ต้องนำแรงงานวิ่งตรวจโรคจากโรงพยาบาลก่อนมาดำเนินการทำทะเบียนประวัติ ซึ่งกว่าจะได้ตรวจและผลตรวจออกต้องใช้เวลานาน แต่กระทรวงกลับมีการเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ บ่อยจนวุ่นวาย เมื่อการจัดการมีปัญหา กลับพูดโยนให้นายจ้างเป็นคนผิด ทั้งที่ออกกฎเองแต่ทำงานไม่ทัน โดยเห็นว่า ผิดตั้งแต่ตีวีซ่าให้หมดพร้อมกัน วันที่ 31 มี.ค. 2561 ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 1/4/2561 ล้น ก.แรงงาน รอขึ้นทะเบียนประวัติศูนย์ OSS วันสุดท้าย บรรยากาศที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ใต้อาคารกระทรวงเเรงงานในวันสุดท้ายที่เปิดรับทำทะเบียนประวัติเเรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาวเเละเมียนมา ยังมีเเรงงานต่างด้าวจำนวนมากมารอคิวขึ้นทะเบียนอย่างเนืองเเน่น จนล้นออกมาด้านนอกอาคาร ทำให้ภายในกระทรวงเเรงงานเเน่นขนัดไปด้วยเเรงงานต่างด้าว ถึงเเม้ว่าจุดนี้จะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเเล้วก็ตาม จากการสอบถามเเรงงานบางรายใช้เวลารอคิวนานกว่า 30 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเเต่ยังปักหลักรอเพื่อดำเนินการให้เเล้วเสร็จ นายอนุรักษ์ ทศรักษ์ อธิบดีกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกว่า 187,000 ราย สำหรับศูนย์ OSS ทุกศูนย์พร้อมให้บริการและเร่งขึ้นทะเบียนให้กับเเรงงานทุกคน โดยศูนย์ในกระทรวงขณะนี้มีประชาชนมารอเป็นจำนวนมากทุกคนที่รอได้รับคิวเเล้ว แบ่งเป็นคิววันที่ 30 มีเเรงงานรออยู่จำนวน 3 เต็นท์ขณะที่คิววันที่ 31 มีเเรงงานรออยู่ 1 เต็นท์ ซึ่งขอย้ำว่าสำหรับแรงงานที่ยังไม่ได้รับคิวไม่ต้องมาที่ศูนย์เนื่องจากจะลงทะเบียนไม่ทันเวลา 24.00 น. ของวันนี้ โดยกระทรวงเเรงงานได้เปิดให้ไปขึ้นทะเบียนออนไลน์เเทน ผ่านเว็บไซต์กรมจัดหางาน www.doe.go.th ได้จนถึงเวลา 24:00 น.ของวันนี้ ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วกว่ามากโดยหลังจากลงทะเบียนเสร็จจะได้รับ sms แจ้งวันเวลาให้มาจัดทำทะเบียนประวัติในภายหลัง ภายในวันที่ 31 มิถุนายนนี้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลถึงความเสถียรภาพของระบบอินเตอร์เน็ตนั้น ยืนยันว่า ตั้งเเต่เปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ตั้งเเต่วันจันทร์ที่ผ่านมา ยังไม่พบปัญหา โดยมีผู้ลงทะเบียนออนไลน์เเล้วกว่า 1 เเสนคน ทั้งกระทรวงเเรงงานมีศูนย์มอนิเตอร์ เเรงงานหรือนายจ้างจึงไม่ต้องกังวลถึงเรื่องดังกล่าว เเละขอย้ำว่า หากพ้นกำหนดจะไม่มีการขยายเวลาออกไปอีกและจะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนดทั้งจำและปรับ ขณะเดียวกันก็ยังไม่พบปัญหาการเเทรกคิวหรือลัดคิว พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราตลอดเวลา ที่มา: สำนักข่าวไทย, 31/3/2561 สำนักงานประกันสังคม ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ทางเลือก นางอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เปิดเผยถึง พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ความคุ้มครองผู้ประกันตามมาตรา 40 ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 โดยมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ในการเกิดสิทธิ และเพิ่มความคุ้มครองเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานนอกระบบ แบ่งเป็น 2 แนวทาง ดังนี้ 1.เพิ่มสิทธิประโยชน์ ไม่เพิ่มเงินสมทบ 2 ทางเลือก 1.จ่ายในอัตราเดือนละ 70 บาท 2.อัตราเดือนละ 100 บาท 2.เพิ่มความคุ้มครองและเพิ่มเงินสมทบทางเลือกใหม่ โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท นางอรุณี ศรีโต กล่าวอีกว่า ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่อยู่ในระบบประกันสังคมแล้ว ขณะนี้จำนวน 2 ล้านกว่าคน และแรงงานนอกระบบที่สนใจสมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกจำนวนมากได้รับประโยชน์จากการเพิ่มสิทธิประโยชน์และเพิ่มทางเลือก ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 30/3/2561 ไฟไหม้รถบัสขนแรงงานข้ามชาติใน อ.แม่สอด จ.ตาก เสียชีวิต 21 บาดเจ็บ 3 (30 มี.ค.2561) เมื่อเวลาประมาณ 01.40 น.ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุไฟลุกไหม้รถบัสโดยสารที่ขนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาอย่างรุนแรง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 60 ถนนสายเมืองตาก - แม่สอด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก เจ้าหน้าที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมง จึงสามารถดับไฟได้ทั้งหมด และตรวจสอบพบมีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟคลอก 21 คน และมีผู้บาดเจ็บ 3 คน ส่วนอีก 29 คนปลอดภัย เนื่องจากสามารถหนีออกมาจากรถได้ทัน จากการตรวจสอบ เบื้องต้น รถบัสคันดังกล่าวเป็นรถที่กำลังนำแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจากพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปส่งใน จ.ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร โดยออกจาก อ.แม่สอด เวลา 22.00 น. เมื่อคืนนี้ พอไปถึงที่เกิดเหตุ ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นจนแรงงานต้องหนีออกจากรถ แต่ไฟไหม้อย่างรวดเร็ว จึงมีผู้ถูกไฟคลอกเสียชีวิต 21 คน ประกันสังคมจ่ายค่าตรวจ-ฝากครรภ์เพิ่มอีก 1,000 บาท เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง มติคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 2 /2561 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 ว่า มีมติเห็นชอบปรับปรุงสิทธิประโยชน์ กรณีคลอดบุตร เพื่อจูงใจให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสมีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ โดยสนับสนุนค่าฝากครรภ์เพิ่มเติม ในกรณีเข้ารับบริการฝากครรภ์ ณ สถานพยาบาล ซึ่งปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง โดยมติคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้สนับสนุนค่าตรวจ และรับฝากครรภ์เพิ่มเติมอีก 1,000 บาท ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีการเข้ารับบริการฝากครรภ์ในสถานพยาบาลตามเกณฑ์คุณภาพ ที่กำหนด คือ ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 500 บาท ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 300 บาท ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 200 บาท เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการขอรับประโยชน์ทดแทน จะต้องมีหลักฐาน การเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการฝากครรภ์ในแต่ละครั้ง และสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตร ทั้งนี้ การดำเนินการอยู่ระหว่างการ ยกร่างประกาศคณะกรรมการการแพทย์ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2561 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญ "วันแรงงานแห่งชาติ" อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุง สิทธิประโยชน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการทางการแพทย์ รวมถึงต้องปฏิรูประบบการให้บริการ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำเท่าเทียมและมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน เตือนผู้ทำงานกลางแดดและผู้ป่วย 6 กลุ่ม ช่วงหน้าร้อนแดดแรง ระวังโรคลมแดด ทำให้เสียชีวิตได้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนปีนี้ ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัด อาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ซึ่งเป็นอาการที่เกิดเมื่อร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนภายในได้ มีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบประสาท ส่งผลให้เสียชีวิตจากอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวได้ โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ง่าย ได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ สถานการณ์ของโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก พบตั้งแต่ปี 2557–2559 มีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี แนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง อาชีพที่พบผู้ป่วยมากสุด คือ เกษตรกรรม รับจ้าง ทหาร ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 41 ปี ซึ่งเป็นวัยกลางคนและเป็นวัยทำงาน สำหรับอาการของผู้ที่เป็นลมแดด ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เพ้อ ชัก มึนงง หน้ามืด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ กรณีพบผู้มีอาการโรคลมแดด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 27/3/2561 สายไอทีปีนี้มาแรง! "จ๊อบไทย" เผยงานไอทียอดฮิต ตลาดแรงงานต้องการกว่า 4,000 อัตรา จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลงานด้านสายไอทีที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 พบว่ามีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-4,000 อัตราต่อเดือน โดยมี 5 ประเภทงานของสายไอทีที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) งานโปรแกรมเมอร์ (Programmer) จำนวน 1,238 อัตรา คิดเป็น 36.8 เปอร์เซ็นต์ ของงานไอทีที่เปิดรับสมัครทั้งหมด ตามมาด้วย 2) งานดูแลระบบเครือข่าย (IT Administrator) จำนวน464 อัตรา คิดเป็น 13.8 เปอร์เซ็นต์ 3) งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ (Technical Support) จำนวน 451 อัตรา คิดเป็น 13.4 เปอร์เซ็นต์ 4) งานพัฒนาเว็บไซต์ (Web Programmer)จำนวน 243 อัตรา คิดเป็น 7.2 เปอร์เซ็นต์ และ 5) งานการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) จำนวน 208 อัตรา คิดเป็น 6.2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ภาพรวมโลกธุรกิจในปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนไป โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด อาทิ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT - Internet of Things) บิ๊กดาต้า (Big Data) หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนปฎิเสธไม่ได้ว่าหลายองค์กรต่างนำระบบและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต และการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มากขึ้นนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่องค์กรต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ตลาดแรงงานด้านสายงานไอทีและเทคโนโลยีมีความโดดเด่นเป็นที่ต้องการ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ในฐานะผู้นำด้านเว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีผู้ลงทะเบียนฝากประวัติกว่า 1.4 ล้านคน และมีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 90,000 อัตราต่อวัน ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานสายไอทีที่อยู่ในเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 พบว่ามีองค์กรลงประกาศรับสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับสายไอทีทั่วประเทศทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-4,000 อัตราต่อเดือน โดยมี 5 ประเภทงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ดังนี้ - งานโปรแกรมเมอร์ (Programmer) จำนวน 1,238 อัตรา คิดเป็น 36.8 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การเขียนและพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ตามความต้องการขององค์กร เช่น พัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงการดูแลและตรวจสอบระบบฐานข้อมูล - งานดูแลระบบเครือข่าย (IT Administrator) จำนวน 464 อัตรา คิดเป็น 13.8 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การดูแลระบบเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ ประกอบ ติดตั้ง ลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ซ่อมแซม บำรุงรักษาอุปกรณ์ทั้ง ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ - งานดูแลด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ (Technical Support) จำนวน 451 อัตรา คิดเป็น 13.4 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด โดยรายละเอียดงานคือ การให้บริการข้อมูล ให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาการใช้งานต่าง ๆ ด้านสารสนเทศ - งานพัฒนาเว็บไซต์ (Web Programmer) จำนวน 243 อัตรา คิดเป็น 7.2 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด รายละเอียดงานคือ การ ออกแบบและพัฒนาระบบเว็บไซต์ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บไซต์ - งานการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) จำนวน 208 อัตรา คิดเป็น 6.2 เปอร์เซ็นต์ของงานสายไอทีทั้งหมด รายละเอียดงานคือ การทำการตลาดทั้งด้านองค์กร ผลิตภัณฑ์ และบริการ ผ่านสื่อดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ยูทูป เป็นต้น ปัจจุบันงานสายไอทีกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ประเทศไทยกลับยังขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ จึงกลายเป็นปัญหาความไม่สอดคล้องด้านความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีภาคธุรกิจสำคัญเกิดขึ้นมากมาย อย่างที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) และกลุ่มธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าในอนาคตสายงานด้านกลุ่มสะเต็ม (STEM) ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และสถิติ ทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานพื้นฐานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตสอดคล้องไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0(Thailand 4.0) และนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาล ดังนั้นในฐานะคนทำงานในสายไอที จึงควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ มากขึ้น โดยต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแรงผลักให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันแรงงานด้านอื่น ๆ ก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานเช่นเดียวกัน ด้วยการเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง รู้จักเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และประสบการณ์ รวมถึงศึกษาความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม ตลอดจนมองการณ์ไกลถึงสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานไทยมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับแรงงานนานาประเทศได้อย่างแน่นอน นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย ที่มา: เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์, 27/3/2561 แรงงานค้างขึ้นทะเบียนล้านคน พ้นเส้นตาย 31 มี.ค.โทษจับ-ปรับ แรงงานต่างด้าวค้างขึ้นทะเบียนเฉียดล้านคน ก.แรงงาน เปิดให้บริการ 24 ชม. ถึง 31 มี.ค.นี้ บิ๊ก "อดุลย์" ลั่นไม่ยืดเวลา พ้นเส้นตายพบทำผิด กม.เจอจับ-ปรับ สภาหอการค้า-สภาอุตฯ อ้อนขอผ่อนผัน หวั่นกระทบเอสเอ็มอี-รายย่อย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่ได้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service (OSS) ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2561 เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง รวม 1,687,473 คน ถึงวันที่ 22 มี.ค. 2561 ดำเนินแล้วเสร็จ 727,902 คน หรือ 43.13% เหลือที่ต้องดำเนินการอีก 959,571 คน ดังนั้นเพื่อให้ทันวันที่ 31 มี.ค. 2561 ที่จะครบกำหนดการลงทะเบียน กระทรวงแรงงานได้เตรียมแผนการรองรับโดยปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานของศูนย์ OSS โดยแบ่งแรงงานต่างด้าวเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติ 500,000 คน ให้มารายงานตัว และตรวจลงตราวีซ่าอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 31 มี.ค. 2563 และขออนุญาตทำงาน โดยออกใบรับอนุญาตทำงานชั่วคราวถึง 30 มิ.ย. 2561 ให้ไปตรวจสุขภาพ ทำทะเบียนประวัติทำงานให้แล้วเสร็จ เพื่อทำงานได้ถึง 31 มี.ค. 2563 ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ 400,000 คน ให้มาดำเนินการที่ศูนย์ OSS ทุกขั้นตอน ภายใน 31 มี.ค. 2561 โดยให้ศูนย์ OSS เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ตั้งแต่ 23-31 มี.ค. 2561 รวม 4 ศูนย์ ใน จ.เชียงราย, ราชบุรี, ระนอง และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กระทรวงแรงงาน อีก 3 ศูนย์ ได้แก่ เพชรเกษม 65, ไอทีสแควร์ และห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จะให้บริการตั้งแต่ 08.00-22.00 น. นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางโดยการยื่นคำขอรายงานตัวทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน http://www.doe.go.th ตั้งแต่ 08.30 น. วันที่ 26 มี.ค. 2561 ถึง 24.00 น. วันที่ 31 มี.ค. 2561 และจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านสายด่วน 1506 สามารถให้บริการได้วันละ 10,000 คน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่มีการขยายเวลาให้อีก จึงขอให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าว มาลงทะเบียนตามกำหนด เพราะหลังครบกำหนดจะตรวจจับ ปรับ โดยแรงงานต่างด้าวจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน โทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท แล้วจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร นายจ้างผิดข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต โทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อต่างด้าวที่จ้าง 1 คน ทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าว 3 ปี นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การปรับลดขั้นตอนภายในศูนย์ OSS จะดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว 1) กรณีไม่มีโรงพยาบาลมาตรวจในศูนย์ OSS ให้นัดตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่กำหนด หากยังไม่ได้ผลการตรวจสุขภาพ ให้นำใบนัดตรวจสุขภาพ และใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานยื่นศูนย์ OSS กรณีมีโรงพยาบาลมาตรวจให้ตรวจในศูนย์ OSS 2) ยื่นแบบกรอกข้อมูลทะเบียนประวัติ (ท.บ.1) และแบบคำขอจดทะเบียน (ท.ต.1) ที่ศูนย์ OSS 3) ตรวจลงตรา (VISA) ตรวจคนเข้าเมือง ที่ศูนย์ OSS 4) ขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS เพื่ออยู่และทำงานได้ถึง 31 มี.ค. 2563 จากนั้นหลัง 31 มี.ค. 2561 ให้จัดทำทะเบียนประวัติและตรวจสุขภาพให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. 2561 กลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ 4 แสนคน ให้ดำเนินการทุกขั้นตอนภายในศูนย์ OSS ตามปกติ จนได้บัตรชั่วคราว หรือบัตรสีชมพู จากนั้นต้องพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน มิ.ย. 2561 นำไปยื่นสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือกรมการจัดหางาน สามารถทำงานได้ถึงเดือน มี.ค. 2563 สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานเข้ามาพิสูจน์สัญชาติกระจุกตัวช่วงโค้งสุดท้าย เนื่องจากนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวนิ่งนอนใจ ไม่มาดำเนิน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลแรงงานต่างด้าวคงเหลือที่ต้องมาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS รวม 959,571 คนนั้น หลัก ๆ มี กทม. 259,389 คน ชลบุรี 83,476 คน สมุทรปราการ 73,057 คน และสมุทรสาคร 55,405 คน ขณะที่การพิสูจน์สัญญาติแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 645,206 คน แบ่งเป็น เมียนมา 191,291 คน กัมพูชา 267,820 คน และลาว 29,191 คน ดำเนินการแล้วเสร็จ 156,904 คน คงเหลือ 488,302 คน ส่วนการจัดเก็บข้อมูลพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของแรงงานต่างด้าว (Iris Scan) 3 ประเภทกิจการ คือ ประมงทะเล, แปรรูปสัตว์น้ำ และกิจการต่อเนื่องกับประมง ใน 22 จังหวัดชายทะเล มีเป้าหมายดำเนินการทั้งหมด 166,825 คน ดำเนินการแล้วเสร็จ 163,161 คน หรือ 97.80% คงเหลือ 3,664 คน แบ่งเป็น ประมงทะเล 1,642 คน แปรรูปสัตว์น้ำ 2,022 คน จำนวนที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค. 2561 ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าการขึ้นทะเบียนอาจไม่ทันกำหนด เพราะแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมาก จึงขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาขึ้นทะเบียนออกไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีมีแรงงานยังค้างขึ้นทะเบียนจำนวนมาก เอกชนเชื่อว่ารัฐมีวิธีผ่อนปรน คือ 1.เลื่อนเวลาขึ้นทะเบียน 2.เปิดให้แจ้งชื่อและจำนวนแรงงานที่ต้องการขึ้นทะเบียน จากนั้นจึงค่อยยื่นตรวจเอกสาร หรือแจ้งก่อนตรวจทีหลัง นางลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเร่งลงทะเบียนต่อเนื่อง เพราะแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญกับธุรกิจ ได้วางแผนการรับมือระยะสั้น โดยจะดึงกลุ่มพาร์ตไทม์ซึ่งมีมากช่วงซัมเมอร์เข้ามาทดแทนชั่วคราว ความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด นายมนูญ สุขศรีจันทร์ แรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตัวเลขแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่ทำงานใน จ.เชียงใหม่ มีประมาณ 150,000 คน แบ่งเป็น เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย 70,000 คน โดยนำเข้าภายใต้ MOU มีเอกสารครบ อีก 80,000 คนเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจก่อสร้างและภาคเกษตร เช่น สวนส้ม สวนสตรอว์เบอรี่ สวนลิ้นจี่ เกษตรทั่วไป ขณะนี้พบว่ามีแรงงานยังคงค้างขึ้นทะเบียน 30,000-40,000 คน ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/3/2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิด 47 รายชื่อ กลุ่มผู้ชุมนุม 'อยากเลือกตั้ง' ถูกแจ้งความฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. Posted: 31 Mar 2018 10:32 PM PDT 1 เม.ย. 2561 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่ากรณีคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เดินทางเข้าพบ พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อร้องทุกกล่าวโทษ นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ กับพวก รวม 57 คน โดยแบ่งเป็นแกนนำ 10 คน คือ นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายรังสิมันต์ โรม, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, นายอานนท์ นำภา , นายปกรณ์ อารีกุล และนางศรีไพ นนทร ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปลอดรวนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ข้อ 12 ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เหลืออีก 47 คน ประกอบด้วย 1.นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, 2.น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, 3.นายกรกช แสงเย็นพันธุ์, 4.นายศรวัชร์ คมนียวนิช, 5.นายรัฐพล ศุภโสภณ, 6.นางสุวรรณา ตาลเหล็ก, 7.นายหนึ่ง เกตุสกุล, 8.นางมัทนา อัจจิมา, 9.นายสุรศักดิ์ อัศวเสนา, 10.นางนัตยา ภานุทัต ,11.นางภัสสร บุญคีย์, 12.นางยุภา แสงใส , 13.นางประนอม พูลทวี, 14.นายภัทรพล ธนเดชพรเลิศ (ไก่ บิ๊กแมน), 15.นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, 16.นายวิศรุต อนุกูลการย์, 17.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์, 18.นายสมบัติ ทองย้อย, 19.นายกิตติทัศน์ สุมาลย์นพ, 20.นายอ๊อด แอ่งมูล 21.ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 22.ฉัตรมงคล วัลลีย์, 23.น.ส.มัญจา หม่องคำ, 24.นางกลมวรรณ หาสารี, 25.นางสาวนฤมล วรุณรุ่งโรจน์, 26.นายโชคดี ร่มพฤกษ์, 27.นางพรวลัย ทวีธนวาณิชย์, 28.น.ส.วาสนา กองอุ่น, 29.น.ส.วลี ญาณะหงสา, 30.นางยุพา พวงทองดี, 31.นายบริบูรณ์ เกียงวรางกูร, 32.นางพรนิภา งามบสง, 33.นางกองมาศ รัศมิมัต, 34.นายเทวินทร์ พูนทวี, 35.น.ส.สุชาดา แซ่เบ๊, 36.นางกุลวดี ดีจันทร์, 37.น.ส.เสาวรักษ์ หนูขวัญแก้ว, 38.นายมนัส แก้ววิกิจ, 39.นายกลวัชร ดอกลำเจียก, 40.น.ส.กิ่งกนก ธนจิตรภาส, 41.นายโกวิทย์ ซมมิน, 42.นายบุญสม เทพจันทร์, 43.นายสมพิณ ศรีสุข, 44.นางรักษิณี แก้ววัชระรังษี, 45.นายทรงชัย วิมลภัตรานนท์, 46.นายสุเทพ สุริยะมงคล และ 47.นางพยงค์ ศิริงามเพ็ญ โดยทั้ง 47 คน จะถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สปสช.ถกผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์คัดเลือกข้อเสนอพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง Posted: 31 Mar 2018 10:05 PM PDT สปสช.ประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ คัดเลือกข้อเสนอพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมเทคโนโลยีทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 1 เม.ย. 2561 คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้เป็นประธานจัดประชุมเวทีระดมสมองเพื่อจัดลำดับความสำคัญและสรุปข้อเสนอหัวข้อปัญหา/เทคโนโลยีสุขภาพ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2561 ที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มตัวแทนสมาคม/ราชวิทยาลัย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯได้จัดให้มีการเสนอหัวข้อ/ประเด็นสิทธิประโยชน์ จากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย 8 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์, กลุ่มนักวิชาการด้านสาธารณสุข, ภาคประชาสังคม, กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย, ภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์, ประชาชนทั่วไป และคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละกลุ่มจะถูกคัดเลือกประเด็นข้อเสนอกลุ่มละ 3 ประเด็น รวมทั้งหมด 24 ประเด็น แล้วนำไปประเมินความจำเป็นและผลกระทบเบื้องต้น หากหัวข้อใดที่ผ่านการคัดเลือก จะถูกนำไปพัฒนาเป็นโครงร่างงานวิจัยเพื่อศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบและความเป็นไปได้ในการจัดบริการ ก่อนจะมีการตัดสินใจว่าจะประกาศเป็นชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ หรือปรับปรุงการบริหารเพิ่มการเข้าถึงบริการหรือไม่อย่างไร รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหัวข้อเข้าสู่การประเมินมีทั้งหมด 6 ข้อ คือ 1.จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ 2.ความรุนแรงของโรคหรือปัญหาสุขภาพ 3.ประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4.ความแตกต่างในทางปฏิบัติ 5.ผลกระทบทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและ 6.ความเป็นธรรมและประเด็นทางสังคมและจริยธรรม ขณะที่เกณฑ์การคัดออกจะมี 4 ข้อคือ 1.เป็นข้อเสนอเรื่องยา วัคซีน หรืออาหารเสริม เพราะมีช่องทางอื่นให้นำเสนออยู่แล้ว คือ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ 2.เป็นข้อเสนอที่ขาดหลักฐานที่แสดงว่ามีประสิทธิภาพ (efficacy) และความแม่นยำ (accuracy) 3.เป็นหัวข้อที่เคยมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มาแล้วและยังไม่มีข้อมูลที่ควรพิจารณาใหม่ และ 4.โรคหรือปัญหาสุขภาพเร่งด่วน เนื่องจากมีช่องทางกำหนดชุดสิทธิประโยชน์เร่งด่วนไว้อยู่แล้ว ซึ่งการประชุมในวันนี้ ผู้แทนสมาคมทางการแพทย์และราชวิทยาลัยต่างๆ ได้เสนอหัวข้อทั้งหมด 18 หัวข้อ นพ.ภูษิต ประคองสาย รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ดำเนินการประชุม กล่าวว่า การประชุมในภาพรวมค่อนข้างน่าพอใจ เพราะในปีก่อนๆ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ค่อยได้เสนอหัวข้อเข้ามามากนัก แต่ปีนี้มีความกระตือรือร้นในการเสนอเข้ามามาก และแต่ละเรื่องก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก อย่างไรก็ดี เนื่องจากตามกระบวนการแล้ว สปสช.กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มเสนอหัวข้อได้กลุ่มละ 3 หัวข้อ ดังนั้น หัวข้อที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมในเบื้องต้นนี้ คณะทำงานจะได้นำไปจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการประเมินความจำเป็นและผลกระทบเบื้องต้นจากหัวข้อที่ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 8 กลุ่มเสนอเข้ามา 24 หัวข้อ แล้วจะคัดให้เหลือประมาณ 10-11 หัวข้อที่จะนำไปวิจัยศึกษาความคุ้มค่าหากจะพัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีเรื่องใดที่สามารถพัฒนาไปเป็นชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆได้ เพราะต้องศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อนว่าคุ้มค่าที่จะนำเงินของประชาชนมาจ่ายในเรื่องนั้นๆหรือไม่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น