โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กลับบ้านกองผักปิ้ง...ดีจัง: ทวงถามความยุติธรรมให้ชัยภูมิ ป่าแส

Posted: 23 Apr 2018 10:41 AM PDT

จัดงาน "กลับบ้านกองผักปิ้ง...ดีจัง" ทวงถามความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐหลังผ่านไปปีกว่าคดีวิสามัญฆาตกรรม "ชัยภูมิ ป่าแส" ขณะที่ในหมู่บ้านนักปกป้องสิทธิ์ถูก จนท.ดำเนินคดี และกลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่แตกสลาย

ที่มาของภาพ: เพจจากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุมcedaw

ในงาน "กลับบ้านกองผักปิ้ง...ดีจัง" เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ณ หมู่บ้านกองผักปิ้ง อ. เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีการรายงานความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส และคดีที่เกี่ยวข้อง โดย ทีมกฎหมายและทนายความ รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านกองผักปิ้ง และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับคดีวิสามัญฆาตกรรมและการทำให้สูญหาย

ภาพจากกล้องวงจรปิด
หลักฐานสำคัญในคดีที่ยังไม่คืบหน้า

สุมิตรชัย หัตถสาร ตัวแทนจากทีมกฎหมายและทนายความ รายงานความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส ที่รอศาลรับฟังการไต่สวนในเดือนมิถุนายน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีภาพจากกล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐานสำคัญในคดี ที่ควรต้องนำเข้าสู่สำนวนการสอบสวนเพิ่ม แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้มา

"มีสื่อมวลชนสำนักหนึ่งไปร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ขอให้เปิดเผยภาพ คณะกรรมการก็มีคำสั่งให้เปิดเผยได้ แต่พอไปติดต่อทางตำรวจภูธร ภาค 5 หรือกองกำกับการจังหวัดเชียงใหม่ ก็ให้ความร่วมมือ แต่กล้องบันทึกภาพที่ว่าไม่สามารถเปิดได้ เหตุผลคือไม่มีรหัส เปิดเข้าไปไม่ได้ นี่คือทีมนักข่าวบอก แต่ผมก็แนะนำว่า ทำไมไม่ส่งเครื่องนี้ให้นักเทคนิคที่มีความชำนาญดู มันน่าจะต้องมีความพยายามที่จะเปิดให้ได้ แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งล่าสุด แต่สำนวนการสอบสวนวคดีวิสามัญ ก็ต้องดำเนินการเพิ่มเติม หลักฐานชิ้นสำคัญ ยังไงก็ต้องส่งเข้าสู่สำนวนการสอบสวนเพิ่ม ว่าจะวินิจฉัยหรือไม่"

คดีของนาหวะ ผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดี
เพราะลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม
สิ่งที่สังคมควรแสวงหาความจริงร่วมกัน

นอกจากคดีของชัยภูมิที่ยังไม่คืบหน้าแล้ว ยังมีคดีความของ นาหวะ จะอึ ชาวลาหู่ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการถูกวิสามัญฆาตกรรมของชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ในข้อหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

โดย ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนประเทศไทยของ Protection International รายงานว่า ศาลตั้งเงินประกันตัวนาหวะ 2 ล้านบาท ทางครอบครัวใช้เวลา 5 เดือนกว่า จึงได้รับการอนุมัติเงินจากกองทุนยุติธรรมเพื่อไปประกันตัว แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว จนถึงวันนี้ ถูกจองจำมาเป็นเวลา 369 วันแล้ว โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 เมษายน นี้ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่

"อยากเชิญสื่อมวลชน ชาวบ้าน คนที่สนใจไปร่วมฟังคำพิพากษา ถือว่าเป็นการแสวงหาความยุติธรรมให้กับชัยภูมิ ครอบครัว และแสวงหาความจริงกับคดีวิสามัญฆาตกรรม ไม่ว่าจะเป็นคดีของชัยภูมิ คดีของอาเบะ แสวงหาความยุติธรรมจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น คนเหล่านี้เป็นนักปกป้องสิทธิ์ที่รัฐต้องให้การคุ้มครอง ไม่ควรต้องโทษ วันนี้เป็นงานวัฒนธรรม 1 ปีแล้ว สื่อมวลชน เราไม่ควรละเลย เราไม่ควรหันหลังให้กับโศกนาฎกรรมหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อคนตัวเล็กตัวน้อยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่งั้นก็เป็นสังคมที่ไร้ความหมายในการแสวงหาความจริงร่วมกัน"

ยุพิณ ซาจ๊ะ ได้เล่าถึงนาหวะว่า เป็นผู้หญิงที่ทำกิจกรรมดูแลเด็กๆ ในกิจกรรมรักษ์ลาหู่มาโดยตลอด "ตอนนาหวะโดนหมายจับ เขามาบุกที่บ้าน ค้นไม่เจอสิ่งผิดกฎหมาย แต่เอาหมายจับมาจับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ถามว่าทำไมเธอไม่หนี นาหวะก็ตอบว่า ทำไมฉันต้องหนี ฉันไม่ได้ทำผิดอะไร"

ยุพินยังเล่าต่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนาหวะ ภายหลังถูกจับไปอยู่ในเรือนจำ ว่าต้องเผชิญกับความหวาดกลัวในการดำเนินชีวิตอย่างไร "ลูกของเขา อายุเพียง 6 ขวบ อธิษฐานต่อพระเจ้า ขอให้พระเจ้าปล่อยแม่เขามา ช่วยพ่อให้ปลอดภัย ทำมาหากินได้ จะได้เป็นครอบครัวเดียวกันแบบคนอื่นๆ" และมีความหวังจะได้เห็นความยุติธรรมในการพิพากษาของศาลต่อคดีนาหวะในวันที่ 24 เมษายนนี้ "มีความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมบ้าง ไม่อยากให้ใครที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม ความเป็นคน ไม่อยากให้ถูกดำเนินคดีเลย"

10 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของเยาวชน
กลุ่มรักษ์ลาหู่ที่แตกสลายภาย
หลังจากการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส

ทางด้าน ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์ลาหู่ที่มีเยาวชนในหมู่บ้าน 50-60 คนทำกิจกรรมด้วยกัน โดยมีชัยภูมิ ป่าแสเป็นหนึ่งในเยาวชนหลักของกลุ่ม ได้เล่าถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มภายหลังจากการวิสามัญฆาตกรรมว่า ส่งผลให้เยาวชนหวาดกลัว และหนีหายออกไปจากหมู่บ้านอย่างไร

"หลังจากเกิดเรื่องราว กิจกรรมที่เราทำมา 10 กว่าปี แต่วันนี้มันหายไปหมด ไม่เหลือแล้ว ผมไม่ได้กลับมาบ้าน 329 วัน เมื่อคืนกลับมาถึง มันเศร้ามาก มันเหงาไปหมด บ้านที่เคยเฮฮาก็เงียบ เมื่อก่อนเด็กอยู่ที่นี่ตลอด ถามทุกบ้านได้เลย เป็นสถานที่ซึ่งเด็กๆ มาเล่น มากิน มาทำอาหารที่นี่"

ไมตรียังสะท้อนถึงความยุติธรรมที่ตัวบทกฎหมายอาจจะเข้าไม่ถึง "กฎหมายผมไม่รู้ แต่ในเรื่องศีลธรรม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดกับพวกผมมันไม่ถูกต้อง" รวมทั้งข้อจำกัดของกฎหมายและบทลงโทษว่าไม่สามารถการันตีว่าจะเปลี่ยนแปลงคนหรือสร้างชุมชนให้ดีขึ้น ในขณะที่กิจกรรมรักษ์ลาหู่ที่ไมตรีทำกับเยาวชนในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปีนั้น เห็นผลได้จากคนในชุมชนเองว่าเยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ชุมชนดีขึ้น

"คุณจับคนชั่วไป 100 คนไปไว้ในเรือนจำ ออกมาแล้วจะกลายเป็นคนดีไหม กี่คนในร้อยคนจะเป็นคนดี เมื่อเขาอยู่ในเรือนจำ 5 ปี 10 ปี ครอบครัวเขาแตกสลายแล้ว เมียมีผัวใหม่ ลูกไม่ได้เรียน ผมกำลังทำสิ่งเหล่านี้กับชุมชน กับบ้านที่มียาเสพติด ที่มีอำนาจมืด ผมกำลังทำสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทำไม่ได้ ทำไมคุณไม่ช่วยผมให้ชุมชนดีขึ้น แล้วยังมากล่าวหาผม ทำให้ผมอยู่ในบ้านไม่ได้"

เมื่อการวิสามัญฆาตกรรมและสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
กระทบต่อสิทธิในวิถีชีวิตของครอบครัวและชุมชน

ปิดท้ายเวทีโดย อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหรือชุมชน ภายหลังการวิสามัญฆาตกรรมและการทำให้สูญหาย โดยยกตัวอย่างกรณีต่างๆ หรือแม้แต่ความเชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐไทยซึ่งเรียกกลุ่มคนลาหู่ว่ามูเซอดำ และมีความฝังใจว่าคนกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติด

"เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่างในช่วงสงครามยาเสพติดของคนลาหู่ที่ฝาง ชาวบ้านเล่าว่า เวลาใครถูกอุ้มหายไปหนึ่งคน ก็กลัวกันทั้งหมู่บ้าน อย่างที่พี่ไมตรีเล่าให้ฟัง คนที่เสียชีวิตถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนไม่ดี ว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย หรือครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ถูกทำให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ก็ทำให้ไม่มีใครกล้าไปมาหาสู่ด้วย มันจึงส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตผู้คนในวงกว้างมากๆ"

ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ในกรณีอุ้มหายหรือวิสามัญฆาตกรรมที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฎแม้แต่ครั้งเดียว่ามีการนำตัวคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเรียกร้องภาครัฐ ดูแลสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น "รัฐในฐานะมีหน้าที่ดูแลคนทุกคนที่อยู่ในรัฐ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีสัญชาติหรือไม่ จะมีเชื้อชาติใด รัฐต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน"

สื่อมวลชนและคนที่สนใจ สามารถร่วมแสดงตนในการแสวงหาความจริงและเข้าฟังพิพากษาคดีของนาหวะได้ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เช้าวันที่ 24 เมษายน 2561

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: คลิปเสียงล้มกระดาน?

Posted: 23 Apr 2018 09:46 AM PDT


 

สนช.ลงมติ "ล้มกระดาน" ไม่เลือก กสทช.ตามที่คณะกรรมการสรรหาส่งชื่อให้ โดยอ้างว่า 8 จาก 14 คนมีปัญหาคุณสมบัติไม่สามารถเลือกได้ ต้องตีกลับไปสรรหาใหม่

ฟังคำอธิบายเหมือนมีเหตุผลทางกฎหมาย แต่บังเอิญมีคลิปเสียงหล่น "ท่านนายกฯ ไม่แฮปปี้" ต้องการใช้อำนาจที่มี ยกเลิกพวกนี้ทั้งหมด ฯลฯ โดยอ้างว่าเป็นคลิปเสียงในที่ประชุมวิป

จริงไหมไม่ทราบ แต่ชาวบ้านมองว่าสอดรับกัน มีข่าวสะพัดมา 2-3 วันว่าจะล้มกระดาน ถึงแม้ผู้มีอำนาจปัดพัลวัน ไม่รู้เสียงใคร

ประชาชนเชื่อไหมว่าลุงตู่สั่ง สนช. 200 คนไม่ได้ ทั้งที่ตั้งมากับมือ เชื่อสิครับ ก่อนหน้านี้ที่เพิ่มบทเฉพาะกาล กฎหมายเลือกตั้งเลื่อนไป 90 วัน เราก็เชื่อสนิทใจว่า สั่งไม่ได้

ปมแรกของเรื่องนี้ต้องย้อนไปดูสาเหตุที่ สนช.ใช้เป็นข้ออ้างล้มกระดานว่า 8 ใน 14 ผู้ผ่านการสรรหามีคุณสมบัติขัดกฎหมาย คือดันเคยเป็นกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในกิจการวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคม ภายในหนึ่งปีก่อนได้รับเลือก

ซึ่งฟังแล้วแปลกใจ ถ้ามีปัญหาอย่างนั้นจริง กรรมการสรรหาปล่อยมาได้ไง กรรมการ 7 คนมาจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด ศาลยุติธรรม ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการ ธปท.ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระเบียบกฎหมาย พลาดได้อย่างไร

ที่จริงเรื่องนี้ต้องให้ 2 ฝ่ายตั้งโต๊ะดีเบตกัน ไม่งั้นกรรมการสรรหาก็กลายเป็นผู้รับบาป แต่เท่าที่ทราบเบื้องต้น เป็นปัญหาการตีความต่างกัน คือ สนช.ยึดตามหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท หากจดจัดตั้งไว้ว่าประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคมด้วย แม้ไม่ได้ประกอบกิจการจริง ตามวิสัยบริษัททั่วไปที่จดทะเบียนไว้ขายไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ใครถือหุ้นก็ถือว่าขาดคุณสมบัติ ขณะที่กรรมการสรรหายึดตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่า ต้องประกอบกิจการจริงเท่านั้น

อันที่จริง ถ้ามีข้อข้องใจก็สอบถามเหตุผลกับคณะกรรมการสรรหาได้ ไม่ใช่ สนช.ตีขลุมแล้วล้มกระดาน เหมือนมี agenda ตั้งแต่ต้น

คำถามต่อมา 14 คนที่ผ่านสรรหามีความเหมาะสมหรือไม่ ว่าตามเนื้อผ้าก็ไม่น่าพึงพอใจนัก อย่างที่ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน หนึ่งในกรรมการสรรหากล่าวว่า 14 คนที่ส่งชื่อไปถือว่าดีที่สุด เท่าที่มีให้เลือก แต่ถามว่าจะเหมาะไปทำงานใหญ่ใน กสทช.หรือไม่ ในบางด้านเป็นความลำบากใจเหมือนกันที่จะไว้วางใจ

เพียงแต่อีกด้าน ที่มีข้อตำหนิในคลิปเสียง (ถ้าเป็นความจริง) ที่ว่าถ้าได้เข้าไปก็จะตั้งผู้ครบวาระกลับมาเป็นที่ปรึกษา เป็นเหมือนมาเฟียก๊วนเดิม มีผลประโยชน์ทับซ้อน (ซึ่งน่าจะมาจากกรณีที่หลายคนเป็นรองเลขาฯที่ปรึกษา หรือผู้ปฏิบัติงาน กสทช.อยู่แล้ว)

ถามจริงว่า สนช.ก็เป็นผู้แก้ไขกฎหมายไม่ใช่หรือ เหตุใดจึงเปิดช่องให้มีมาเฟียมีผลประโยชน์ได้ เปิดช่องให้มีการตั้งพวก เงินเดือนสูง เบี้ยประชุม งบรับรอง ฯลฯ อย่างที่วิจารณ์กัน หรือต้องได้คนที่ตน "แฮปปี้" เท่านั้นจึงมั่นใจว่าไม่มีผลประโยชน์

การแต่งตั้งองค์กรอิสระ องค์กรอำนาจต่างๆ ที่หวังกันว่าจะได้ "สเปกมหาเทพ" มาค้ำจุนระบอบไม่เป็นประชาธิปไตย แค่เริ่มต้นก็เละไปหมด ไม่ว่า กกต. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ที่ถูกปฏิเสธเหมือนกัน) กลายเป็นระบอบที่ประชาชนเชื่อว่ามีล็อบบี้มีใบสั่ง พวกใครพวกมัน ผู้มีอำนาจอยากทำอะไรก็ทำ จะเอาจะคว่ำ ก็ตามที่สบายใจ

โครงสร้างแบบนี้ จะอยู่ยืดได้อย่างไร

 

ที่มา: www.kaohoon.com/content/227154

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ตกอยู่ในความสงบเงียบ

Posted: 23 Apr 2018 09:32 AM PDT

 


โอบกอดความเศร้าไว้แนบแน่น

ในทรวงอกสีหม่นเหี่ยวเฉา

รอยยิ้มถูกขโมยจากใบหน้า

ดวงตาเว้าแหว่งต่อการมองเห็น

พูดคุยกับความเงียบของตัวเอง

แด่รัตติกาลที่ปกคลุม

การพลัดพรากและความตาย

หยดน้ำสีแดงเจิ่งนองบนถนน

ใต้รอยเท้านับล้านๆคู่ที่ย่ำผ่าน

ใครสักคนส่งเสียงกู่ร้อง

ประกาศกร้าวเป็นฮีโร่

ผู้มาคืนรอยยิ้มให้ทุกคน

ผู้สร้างความสงบให้กับสถานที่

เงียบสงบ ความสงบ

เราตกอยู่ในความเงียบ

ไร้เสียงอึกทึก

กระเพาะอาหารส่งเสียงร้อง

ตลาดตกอยู่ในห้วงวังเวง

พืชผักเน่ารอการโยนทิ้ง

ห้างสรรพสินค้า

กลายเป็นสถานที่รับความเย็น

บรรยากาศอันสงัด

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: 60 ปี ฟ้าบ่กั้น

Posted: 23 Apr 2018 09:26 AM PDT

 

อันรสถ้อยร้อยแก้วแล้วชวนอ่าน     พาแตกฉานซ่านกระเซ็นเป็นฟองฝัน

เปรียบเป็นแก้วกระจ่างดั่งกลางวัน     "ฟ้าบ่กั้น" ดั่งกรรณิการ์กลิ่นกล้าไกล

ร้อยแก้วปลายปากกาคมกล้าแข็ง     เป็นคมแห่งปัญญาท้ายุคสมัย

ป่าวร้องให้น้องพี่ที่นี่ไท     หมดยุคไพร่ทาสแล้วนะแก้วตา

ปลายปากกากล้าคมอมน้ำหมึก     จารผนึกกระดาษปรารถนา

มิได้หมายปลายคมคือชื่อลือชา     เพียงหมายว่าประชาชนบนชื่นบาน

หลายสิบปีที่ผ่านมาฟ้าบ่กั้น     ดั่งไกลวันฝันใฝ่ไร้รสหวาน

ผมดำขลับกลับขาวคล้ายเถ้าถ่าน     เผด็จการครองเมืองเรื่องเดิม ๆ

ถ้อยคำอันคมกล้าฟ้าบ่กั้น     บิ่น ห้ำหั่นกับยุคหินสิ้นฮึกเหิม

หลายสิบปีที่กาลเวลาท้าเหิมเกริม     ร้อยแก้วเพิ่ม"บุพเพสันนิวาส" ชาติสุดท้าย


ดูระบอบไพร่ทาสไม่ขาดเห็น     ชั้นชนเร้นตัดไม่ขาดอนาถหน่าย

ทาสที่ปล่อยไม่ไปทั้งใจกาย     คล้ายโซ่สายคล้องคอต่อ ๆ มา

ฟ้าบ่กั้นตะวันร้อนให้อ่อนน้อม     "ลาวคำหอม" ถนอมพลังหยั่งถึงฟ้า

แต่ไม้หนึ่ง ก กุนที ที่ลับลา     สี่ปีแล้วหนาถูกฆ่าเลือดตากระเด็น

ฟ้าบ่กั้นถึงวันนี้ 60 ปีแล้ว     ปักหมุดแก้วแววกล้า ฤาหาเห็น

บุพเพอาละวาดสาดกระเซ็น     อร่อยเล่นเป็นทาสไพร่ต่อไปเอย


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ปม GM ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่ง ครส. ที่ชี้ว่าเลิกจ้างคนงานไม่เป็นธรรม

Posted: 23 Apr 2018 09:25 AM PDT

โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม 66 คน ศาลแรงงานกลาง เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา บริษัท GM ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีชี้ว่าบริษัทเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม 

23 เม.ย.2561 ศาลแรงงานกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ คดีที่บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กรณีบริษัททั้งสองเลิกจ้างลูกจ้าง (สมาชิกสหภาพแรงงานเจอเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย) เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตาม ม.121 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 นั้น

เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'สมัชชาคนจน' รายงานว่า ผู้รับมอบฉันฑะทนายความของทั้งสองบริษัท ในฐานะโจทก์ ผู้รับมอบฉันฑะทนายความของ ครส. ในฐานะจำเลย และ ชาญชัย ธูปมงคล ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดี และ นฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงานเจนเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย และเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ และบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและกรรมการบริหารสมัชชาคนจน ฝ่ายกฎหมายแรงงาน เดินทางมารอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ณ ห้องพิจารณาคดีหมายเลข 1 (บัลลัง 1) ศาลแรงงานกลาง ถนนพระราม 4 แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ

นฤพนธ์ กล่าวว่า เมื่อเวลา 9.00 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณา และได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะโจทก์ในคดีนี้ ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม จำนวน 66 คน ทำให้ไม่สามารถอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ และได้ส่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์และถ้อยคำสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาใหม่

นฤพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า สาเหตุที่ทั้งสองบริษัท ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม จำนวน 66 คน นั้น เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 21-26/2561 และคำสั่งที่ 27-92/2561 ลงวันที่ วันที่ 8 ก.พ.2561 ให้ทั้งสองบริษัทรับลูกจ้างจำนวน 70 คนกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันรับข้อเรียกร้องจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัท ได้รับลูกจ้างทั้ง 70 คนกลับเข้าทำงาน แต่ได้มีคำสั่งย้ายสถานที่ทำงานให้ไปปฏิบัติงาน ณ คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปรับลดค่าจ้างรวมถึงตัดสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับทั้งหมด ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้จำนวน 66 คน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ จึงได้ยอมรับตามเงื่อนไขที่ทั้งสองบริษัทเสนอ 

นอกจากนี้ ชาญชัย ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของลูกจ้างทั้งหมดที่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ กล่าวว่า ในระหว่างรอรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ตนเองได้ขอตรวจสอบรายชื่อจำเลยที่ทั้งสองบริษัท ยื่นขอถอนอุทธรณ์ พบว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งสองบริษัทได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ลูกจ้างที่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ จำนวน 8 คน โดยอ้างว่า บริษัททั้งสองในฐานะโจทก์กับลูกจ้างทั้ง 8 คนในฐานะจำเลยร่วมในคดีนี้ ตกลงกันได้ ทั้งสองบริษัทไม่ประสงค์ดำเนินคดีนี้เฉพาะกับจำเลยร่วม ทั้ง 8 คน อีกต่อไป จึงขออนุญาตถอนอุทธรณ์จากศาลฎีกา และในเอกสารประกอบการยื่นคำร้องดังกล่าวนี้ ระบุว่า จำเลยร่วมที่ 120 คือ สมคิด จิตราพงษ์ และจำเลยร่วมที่ 203 คือ บุญเลิศ แย้มเกสร แต่ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ระบุว่า จำเลยร่วมที่ 120 คือ ปรีชา ดาวัน และจำเลยร่วมที่ 203 คือ กันต์ฤทัย โฉมคำ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ตามคำร้องของบริษัททั้งสองในฐานะโจทก์ออกจากสารบบความของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560

ชาญชัย กล่าวต่อว่า ตนเองจึงได้ติดต่อไปยังลูกจ้างทั้ง 2 คน จึงทราบว่า จำเลยร่วมทั้งสองคน ไม่เคยตกลงหรือให้ความยินยอมใดกับบริษัททั้งสอง และไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงได้สอบถามผู้รับมอบฉันฑะทนายความของทั้งสองบริษัท ในฐานะโจทก์ แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน

ชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า ในคดีนี้ ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลูกจ้างเป็นฝ่ายชนะคดี จะทำให้ลูกจ้างที่เป็นจำเลยร่วมทั้งสองคนได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของลูกจ้างทั้งสองดังกล่าว เป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อ
หรือมีเจตนาอื่นใดแอบแฝง ตนก็ไม่อาจทราบได้

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและกรรมการบริหารสมัชชาคนจน ฝ่ายกฎหมายแรงงาน กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในวันนี้ทำให้ศาลต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปอีกโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องส่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของทั้งสองบริษัท และถ้อยคำสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทำให้คดีเกิดความล่าช้าในคดีนี้ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีความแรงงาน พ.ศ. 2522 ที่กล่าวว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็ว และยุติธรรม" แต่วันนี้ ผ่านมาเกือบห้าปี คดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายเอดส์ค้านคำขอสิทธิบัตรยาไวรัสตับฯ ซี

Posted: 23 Apr 2018 08:42 AM PDT

เครือข่ายเอดส์ค้านคำขอสิทธิบัตรยาไวรัสตับฯ ซี หวังพึ่งกฎหมายสิทธิบัตรปลดแอกการผูกขาดไม่เป็นธรรม ชี้ บริษัทยายื่นแก้ไขคำขอรับสิทธิบัตรหลังประกาศโฆษณาไม่ชอบธรรม

23 เม.ย.2561 ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์  เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าพบเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยื่นคำคัดค้านคำขอสิทธิบัตรเลขที่ 1401001362 สำหรับยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ตามสิทธิในการยื่นคำคัดค้านภายใน 90 วันหลังจากวันประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2561 ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร

สำหรับเหตุผลที่กลุ่มดังกล่าวยื่นคัดค้านคำขอฯ ฉบับนี้ เนื่องจากว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้สิทธิบัตร ด้วยเหตุผลสามข้อ คือ หนึ่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตรไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา ในกรณีคือการใช้ยานี้เพื่อบำบัดรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี  สอง การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว และสาม ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด "ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย" จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า ทราบข่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายนนี้ว่า ตัวแทนของบริษัทกิลิเอดได้ยื่นแก้ไขเนื้อหาของคำขอรับสิทธิบัตรภายหลังที่ประกาศโฆษณาไปแล้ว

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การที่กรมฯ ยอมให้แก้ไขเนื้อหาในคำขอฯ โดยเฉพาะสาระสำคัญ เป็นความไม่เป็นธรรมต่อสาธารณะและผู้คัดค้าน  ผู้คัดค้านมีระยะเวลาเพียง 90 วัน ที่ต้องศึกษาเอกสารจำนวนมากและเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นคัดค้านให้ทัน การยอมให้แก้ไขคำขอฯ หลังประกาศโฆษณาแล้ว โดยรู้กันเพียงระหว่างผู้ยื่นแก้ไขกับเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ถือว่าเป็นไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เพราะเอกสารคำคัดค้านทำขึ้นตามเนื้อหาที่ประกาศโฆษณาแต่แรกและอาจมีผลทำให้คำคัดค้านตกไป

"กรมฯ ควรหยุดอนุญาตให้มีการแก้ไขสาระสำคัญของคำขอฯ อย่าเอาเรื่องสุขภาพของประชาชนไปแลกกับค่าธรรมเนียมขอแก้ไขเพียงไม่กี่บาทและการทำยอดการให้สิทธิบัตร  สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาในการพิจารณาสิทธิบัตรของกรมฯ และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ากรมฯ ส่อเอื้อประโยชน์กับอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ไม่ได้มองเห็นผลของการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมและผลกระทบด้านสาธารณสุข ที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาและระบบสุขภาพของประเทศต้องแบกรับภาระค่ายาที่แพง เพราะความบกพร่องของระบบสิทธิบัตรของประเทศ" เฉลิมศักดิ์ กล่าว

ยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์มีราคาสูงถึง 94,000 เหรียญสหรัฐฯ (2.8 ล้านบาท) ต่อการักษา 12 สัปดาห์ในอเมริกา ในขณะที่ยาตัวเดียวในอินเดียมีราคาเพียงไม่ถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ (3 พันบาท)  ยานี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพของไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยที่มีราคาไม่เกิน 16,800 บาทต่อการรักษา 12 สัปดาห์ และอยู่ในระหว่างจัดซื้อนำเข้าจากอินเดีย  ทั้งนี้ เป็นผลมาจากแรงกดดันทั่วโลก ที่ต่อต้านการตั้งราคาแพงลิบลิ่วและสิทธิบัตรที่ไม่ชอบธรรม รวมถึงการประกาศใช้มาตรการซีแอลในมาเลเซีย ส่งผลให้บริษัทกิลิเอดยอมขยายสัญญาในมาเลเซีย ยูเครน ไทย และเบลารุส นำเข้าหรือผลิตยาตัวเดียวกันที่เป็นยาชื่อสามัญได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดพิพากษาคดี 112 ราชบุรี ของ ‘ทอม ดันดี’ 24 พ.ค.61

Posted: 23 Apr 2018 08:17 AM PDT

ทอม ดันดี รับสารภาพ แต่ขอให้ศาลส่งตัวกลับเรือนจำกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำพิพากษาเพื่อให้ญาติเยี่ยมสะดวก ศาลไม่อนุญาต แต่ร่นเวลานัดพิพากษาเร็วขึ้น จากเดือนมิ.ย.เป็น 24 พ.ค.

แฟ้มภาพ เพจ Banrasdr Photo

23 เม.ย.2561 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี มีนัดคุ้มครองสิทธิคดีที่ ธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี จำเลยในคดีความผิดตามมาตรา 112  iLaw รายงานว่า ศาลเริ่มนั่งบัลลังก์ในเวลา 11.00 น. และถามจำเลยว่ามีทนายแล้วหรือยัง เมื่อจำเลยตอบว่ามีแล้ว ศาลอ่านบรรยายฟ้องให้ฟังและถามว่าเข้าใจฟ้องโจทก์หรือไม่ จำเลยตอบว่าเข้าใจ หลังจากนั้นศาลแจ้งกับภรรยาและเพื่อนๆ ของจำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีว่า จะดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการลับ ขอให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้อง ศาลพิจารณาจนถึง 12.00 น.จึงสั่งพักการพิจารณาและนัดหมายพิจารณาคดีต่อในช่วงบ่าย

ธำรงค์ หลักแดน ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ซึ่งเป็นทนายจำเลยในคดีนี้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการว่า ศาลนัดพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 24 พ.ค.2561 เวลา 9.00 น.ที่ศาลจังหวัดราชบุรี

ทนายความกล่าวเพิ่มเติมว่า ในครั้งนี้จำเลยได้กลับคำให้การและแถลงต่อศาลขอยอมรับสารภาพโดยอธิบายเหตุผลเช่นเดียวกับคดีที่ศาลอาญาซึ่งยกฟ้องไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่า แม้คำปราศรัยของเขาไม่ได้มีเจตนาหมายถึงสถาบันกษัตริย์ตามฟ้องแต่อย่างใด แต่เนื่องจากเหนื่อยล้าจากการต่อสู้คดี 112 รวมทั้งสิ้นถึง 4 คดีจึงขอรับสารภาพ ในตอนแรกศาลนัดพิพากษาในเดือนมิถุนายนเนื่องจากเป็นคดีสำคัญต้องส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ตรวจก่อนจึงใช้เวลานาน จากนั้นจำเลยร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งส่งตัวจำเลยไปคุมขังที่กรุงเทพฯ ระหว่างนี้เพื่อที่ภรรยาและลูกชายจะได้เดินทางมาเยี่ยมสะดวก ศาลได้ขึ้นไปปรึกษาหารือกันอยู่พักใหญ่ก่อนจะมีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอ แต่เลื่อนการพิจารณาให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 24 พ.ค.ดังกล่าว

ทั้งนี้ ทอม ดันดี อยู่ในเรือนจำมา 3 ปี 9 เดือนเศษ เขาถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2557 และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนคดีตามมาตรา 112 นั้นเขาถูกทยอยฟ้องทั้งสิ้น 4 คดี ทั้งหมดมาจากการปราศรัย คดีแรกและคดีที่สองมาจากคลิปการปราศรัยของเขาที่โพสต์ในยูทูบโดยบุคคลอื่นในปี 2556 ด้วยระยะเวลาห่างกันราว 1 สัปดาห์ คดีแรก ศาลอาญาพิพากษาจำคุกกรรมละ 5 ปี รวม 3 กรรม 15 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงเหลือโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน อีกคดี ศาลทหารลงโทษจำคุก 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญา รวมแล้ว จำคุก 10 ปี 10 เดือน 

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดี 112 จากการปราศรัยของทอม ดันดี ที่จังหวัดลำพูนเมื่อปี 2554 ในงานแรงงานสร้างบ้านแป๋งเมือง แม้ว่าตัวเขาจะตัดสินใจรับสารภาพไปแล้ว และลำดับท้ายสุดที่จะมีการพิพากษาคือ คดีนี้ที่ศาลจังหวัดราชบุรีซึ่งอัยการเพิ่งฟ้องเมื่อเดือนมกราคม 2561 เหตุจากการปราศรัยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2553

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วางดอกไม้รำลึก 4 ปีที่ 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ถูกลอบสังหาร กับคดีที่ไม่คืบ

Posted: 23 Apr 2018 06:27 AM PDT

กลุ่มเพื่อน 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' จัดวางดอกไม้ ณ จุดที่กวีราษฎรถูกลอบสังหาร เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เผยคดียังไม่คืบหน้า 'วรพจน์' ย้ำความตาย จะหนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือสี่ห้าปี มันก็คือความสูญเสีย

23 เม.ย.2561 เนื่องในวันครบรอบ 4 ปี ที่ ลอบสังหาร กมล ดวงผาสุข หรือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎรและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิต ที่หน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ย่านลาดปลาเค้า 

วันนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. กลุ่มเพื่อนของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที จัดวางดอกไม้รำลึก 4 ปีถูกคนร้ายบุกที่จุดเกิดเหตุ หน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว

ผู้สื่อข่าวสอบถาม 'บอย เลี้ยวซ้าย (นามแฝง)' ผู้ร่วมกิจกรรมรำลึกดังกล่าว ระบุว่า นอกจากการวางดอกไม่รำลึกแล้ว ยังมีการจัดทำบุญให้ ไม้หนึ่ง ก.กุนที  ตามสะดวกของแต่ละคนด้วย

ขณะที่ความคืบหน้าคดีของไม้หนึ่ง ก.กุนที นั้น บอย เลี้ยวซ้าย กล่าวว่า แนวร่วมทางการเมืองไม่สามารถทวงถามติดตามได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะญาติ ขณะที่กิจกรรมต่อไปทางกลุ่มเพื่อนคิดว่าจะจัดเลี้ยงคนไร้บ้านที่สนามหลวงในวันเกิดของไม้หนึ่งฯ เนื่องจาก ขณะ ไม้หนึ่ง ก.กุนที  มีชีวิต เขาเคยมีความคิดว่าจะเลี้ยงอาหารคนไร้บ้านร่วมกับมูลนิธิอิสรชน ที่มี นที สรวารี ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปนั้น เป็นเลขาธิการมูลนิธิอยู่ จึงอยากจัดกิจกรรมดังกล่าวร่วมกัน

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนกล่าวถึง 4 ปีการเสียชีวิตของไม้หนึ่งฯ ด้วยว่า เรื่องความตาย จะหนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือสี่ห้าปี มันก็มีความหมายเดียวกัน คือความสูญเสีย คือการจากพราก ยิ่งกับคนใกล้ชิด คนที่มีกันและกันอยู่ในชีวิต มันเหมือนแขนขาหรือปีกอีกข้างหนึ่งของเราขาดหายไป คนหาย ใจหาย โลกรอบตัวมืด เงียบ ไม่ปลอดภัย กระบวนการยุติธรรมแปลว่าอะไร สังคมเรามีสิ่งนี้ด้วยหรือ คุณจะหวังอะไรกับประเทศที่แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ยังเถื่อน คุณจะหวังอะไรกับประเทศที่ใช้ปืนปกครอง ใช้กระบองกำหนดกติกา

"คำว่า ไอ้สัตว์ หยาบคาย พูดไม่ได้ ไม่ควรพูด ไม่ควรใช้ แต่ใช้ปืนจ่อหัวคน ใช้ปืนบริหารประเทศ ทำได้ ไม่ผิด ลอยหน้าลอยตาในทีวี เป็นผู้ปกครอง สังคมไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง ป่าเถื่อน โหดเหี้ยม แต่เพียงไม่มีเลือด พวกเขาก็บอกว่าสงบ" วรพจน์ กว่าว พร้อมว่า
ตรรกะบ้าๆ ตรรกะปัญญาอ่อนแบบนี้ ต้องถูกลบล้าง เปลี่ยนแปลง ไม่มีเลือดไม่ได้แปลว่าสงบ ไม่มีเลือดไม่ได้แปลว่าไม่มีความรุนแรง ความเห็นตน คนไทยตอนนี้เหมือนหญ้าที่ถูกเหยียบอยู่ใต้ท็อปบู๊ต สังคมอารยะคือสังคมที่สนับสนุน ส่งเสริม ให้ต้นไม้งอกงาม เติบโต ไม่ใช่การกด การเหยียบเอาไว้แบบนี้ นี่คือความป่าเถื่อน นี่คือความวิปริตที่ล้วนต้องชำระล้างโดยเร็ว
 
สำหรับ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกมือปืนสองคนลอบสังหารเมื่อ 23 เม.ย. 2557 ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ตำรวจที่รับผิดชอบคดีในขณะนั้นได้ตั้งประเด็นไว้หลายประเด็น รวมทั้งประเด็นทางการเมือง และต่อมาตำรวจได้ขออนุมัติหมายจับบุคคลตามภาพสเกตช์จำนวน 2 คน แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารโดย คสช. คดีกลับไม่มีความคืบหน้าและเงียบหายไปจนถึงปัจจุปัน

เฟสบุ๊ค 'Friends of Mainueng - กลุ่มสหายไม้หนึ่ง' เผยแพร่บทกวีรำลึก 4 ปี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ้านเปร็ดใน ชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน

Posted: 23 Apr 2018 12:35 AM PDT

สกว. เปิด ชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม "บ้านเปร็ดใน หมู่ที่ 2" ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน พร้อมนำองค์ความรู้จัดการปัญหาในชุมชน ลดภาวะโลกร้อน

ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้านบ้านเปร็ดใน

23 เม.ย.2561 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า จากปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอประกอบกับสถานการณ์ราคาค่าไฟที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ชุมชนเล็กๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยสวนผลไม้ ชุมชน "บ้านเปร็ดใน หมู่ที่ 2" ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งเป็นที่ตั้งของพื้นป่าชายเลนที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ทางภาคตะวันออกของไทย เกิดแนวคิดต้องการที่จะมองหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่โดยใช้เศษไม้วัตถุดิบที่หาง่ายในชุมชนมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เพื่อลดต้นทุนค่าไฟในอนาคต

อำพร แพทย์ศาสตร์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนป่าบ้านเปร็ดใน และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วงน้ำขาว กล่าวว่า สาเหตุที่ให้ความสนใจเรื่องของพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกก็เพราะเกิดจากไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ มีเงาะโรงเรียน ลำไย ลองกอง มังคุดและทุเรียน ต้องปั๊มน้ำไปใช้รดสวนผลไม้ในปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนค่าไฟสูง ในฐานะเป็นหมู่บ้านรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดที่จะนำพลังงานชีวมวลหรือพลังงานทดแทนที่เหมาะสมเข้ามาใช้ เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันนี้มาจากภาวะโลกร้อนจึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด

แต่เพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในโครงการการยกระดับความรู้ความเข้าใจชุมชนบ้านเปร็ดในเรื่องพลังงานกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถพึ่งพิงพลังงานหมุนเวียนจากฐานทรัพยากรภายในชุมชน ที่มี ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างทางเดิน โรงเรียนบ้านเปร็ดใน

อำพร ยอมรับว่า การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อชุมชน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทางเลือกของชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่เคยคิดว่าในเมื่อเรามีเศษไม้ในพื้นที่อยู่แล้วก็น่าจะสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานชีวมวลได้ แต่พอทำการศึกษาวิจัยสามารถประเมินได้ว่าชีวมวลที่มีอาจไม่เพียงพอ ประกอบกับต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลค่อนข้างสูง อีกทั้งคนในชุมชนยังไม่มั่นใจเรื่องของฝุ่นละอองและเสียง เพราะกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและจะส่งผลให้เกิดมลภาวะขึ้นในชุมชน

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา นักวิจัยเน้นการใช้กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทางเลือกภายใต้ความต้องการของชุมชนเป็นหลัก โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กับทางนักวิจัยชุมชน ยุวชนชุมชน ผู้นำชุมชนและชุมชนที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เริ่มด้วยการลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมทรัพยากรเพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพด้านพลังงานในชุมชน เก็บข้อมูลพื้นฐาน จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชน ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างแผนพลังงานทางเลือก และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทางเลือกให้กับคนในชุมชน จัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือกของชุมชน ประกอบด้วย การจัดอบรมการทำบัญชีพลังงานครัวเรือน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของแต่ละครัวเรือน การนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเศษไม้และใบไม้ ศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีการจัดการขยะของชุมชน ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ และการจัดทำแผนพลังงานทางเลือกของชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นศึกษาดูงานด้านพลังงานทางเลือกที่ จ.นครราชสีมาและสระบุรี เพื่อสร้างความมั่นใจและความเข้าใจในการทำงานของแต่ละเทคโนโลยี  จัดอบรมสาธิตการผลิตและติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่ชุมชนสนใจเลือกทดลองใช้เป็นการนำร่อง ได้แก่ เทคโนโลยีถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร , เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้แสงสว่างทางเดิน และการผลิตเตาก๊าซชีวมวลจากฟืน รวมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุดโครงการวิจัยการสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกัน ยกระดับขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

"ปัจจุบันจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นเรื่องที่ชุมชนเองให้ความสนใจ เนื่องจากมีผลต่อการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน เมื่อสกว.เข้ามาให้ความรู้ ทำให้ชุมชนเกิดความรู้และเข้าใจถึงสาเหตุที่ผลผลิตทางการเกษตรเคยติดลูกดีกลับประสบปัญหาติดลูกน้อยลงมาจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังสามารถประเมินถึงทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งพวกสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ชุมชนพยายามอนุรักษ์อยู่พบว่าสาเหตุที่มีปริมาณลดลงเกิดจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน แม้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงองศาเดียวก็สามารถสร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนตามแนวชายฝั่งได้ ความรู้เหล่านี้ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อช่วยลดโลกร้อน" อำพร กล่าว

เมื่อชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น เก็บข้อมูลและประเมินศักยภาพได้ ในที่สุดชุมชนจึงตัดสินใจเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีการทดลองติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ขนาดเล็กเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างทางเดินต้นแบบขึ้น ณ โรงเรียนบ้านเปร็ดใน และที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน ต่อมาชุมชนได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน จึงดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้านขึ้นเมื่อปี 2558 ทำให้ปัจจุบันสามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาจากเดิม 5,000 – 7,000 บาทต่อเดือน ลดลงเหลือ 3,000 - 4,000 บาทต่อเดือน โดยหวังเป็นต้นแบบให้คนในชุมชนและชุนชนใกล้เคียงนำไปขยายผลต่อไ

"การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน มีติดตั้งทั้งหมด 30 แผง สามารถรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 9,000 เมกกะวัตต์ ใช้ปั๊มน้ำจากสระขึ้นมาผลิตประปาหมู่บ้านทำงานเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน จากเดิมใช้มอเตอร์ 5 ตัวในการปั๊มน้ำ คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายให้การไฟฟ้าฯถึงเดือนละกว่า 5,000 บาท หลังจากเปลี่ยนมาใช้โซล่าเซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถลดต้นทุนค่าไฟลงได้กว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ถือว่าได้ผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ปัจจุบันทุกครัวเรือนในชุมชนมีน้ำประปาใช้จากในอดีตชุมชนที่นี่ต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อใช้บริโภค แต่เพราะเดี๋ยวนี้การบริโภคน้ำฝนเริ่มไม่ปลอดภัยจึงหันมาใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่ได้มาตรฐานแทน" ณรงค์ชัย  โต้โล้ง  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะนักวิจัยชุมชน กล่าว

"รู้สึกภูมิใจที่หมู่บ้านได้เป็นชุมชนต้นแบบซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันโดยไม่มีการแบ่งแยกของคนในชุมชน ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาของชุมชนมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งบ้านเปร็ดในเป็นชุมชนที่เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาชุมชน ทำให้วันนี้บ้านเปร็ดในเป็นที่รู้จักของคนทั้งในระดับตำบล จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ จากที่เคยเป็นเพียงแค่ชุมชนเล็กๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนไม่เป็นที่รู้จัก ปัจจุบันมีหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุนและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง" มาโนช ผึ้งรั้ง ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านเปร็ดใน กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วัฒนา' ลั่นหากชนะการเลือกตั้ง จะดันปฏิรูปกองทัพ-ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

Posted: 22 Apr 2018 10:49 PM PDT

วัฒนา โพสต์แนวคิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นรับสมัครและการลดขนาดของกองทัพลงเพื่อให้มีกำลังพลเหมาะสมกับภารกิจ ย้ำการปฏิรูปกองทัพผ่านกระบวนการทางรัฐสภามีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสร้างวัฒนธรรมทหารมืออาชีพ

23 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 เม.ย.61) วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทยโพสต์เฟสบุ๊คเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยระบุว่า ปัญหาเรื่องการเกณฑ์ทหารไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล หรือเป็นปัญหาของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของกองทัพ ทั้งนี้เนื่องจากภัยคุกคามประชาชาติได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว การทำสงครามแบบเดิมที่ต้องเกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากเพื่อทำศึกได้เปลี่ยนเป็นภัยคุกคามในรูปการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม และการใช้เทคโนโลยีด้วยการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลที่มีอำนาจการทำลายล้างมหาศาล โลกปัจจุบันจึงเน้นนโยบายการสร้างความร่วมมือเพื่อลดเงื่อนไขการก่อสงคราม

หน้าที่ของกองทัพคือการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอก กระทรวงกลาโหมจึงมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Ministry of Defence" ส่วนการดูแลความมั่นคงภายในเป็นหน้าที่ของตำรวจและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตรงกับชื่อภาษาอังกฤษว่า "Ministry of Interior" แต่กองทัพกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทำรัฐประหาร จากนั้นใช้รักษาอำนาจเผด็จการด้วยการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น อุ้มคนเห็นต่างเข้าค่าย แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพ หรือไปเยี่ยมบ้านของนิสิตนักศึกษาและผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เป็นต้น การมีกำลังพลมากเกินความจำเป็นทั้งยังถูกใช้งานผิดวัตถุประสงค์ กองทัพจึงกลายเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตยเสียเอง

"การปฏิรูปกองทัพผ่านกระบวนการทางรัฐสภาจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสร้างวัฒนธรรมทหารมืออาชีพที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอก การยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นรับสมัครและการลดขนาดของกองทัพลงเพื่อให้มีกำลังพลเหมาะสมกับภารกิจ การย้ายหน่วยงานของกองทัพออกไปอยู่ตามหัวเมือง และการป้องกันไม่ให้กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่เพียงเพื่อรักษาประโยชน์ด้านงบประมาณและความมั่นคง แต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดอีกต่อไป นี่คือภารกิจสำคัญที่พวกเราจะต้องกระทำให้สำเร็จหากชนะการเลือกตั้ง" วัฒนา โพสต์ทิ้งท้าย

สำหรับการตรวจเลือกทหารกองประจำการในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 – 12 เม.ย. 2561 มีผู้เข้ารับการตรวจเลือก 532,277 นาย กองทัพคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติครบ ไว้เป็นทหารกองประจำการ 104,734 นาย โดย มีผู้ร้องขอหรือสมัครเป็นทหารถึง  44,797 นาย คิดเป็นร้อยละ 42.77  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อำลาชุมชนป้อมมหากาฬ: ชุมชนเก่าแก่ดีเกินไปในยุคที่แต่งชุดไทยก็ฟินแล้ว

Posted: 22 Apr 2018 10:26 PM PDT

การรูดม่านลาโรงของชุมชนป้อมมหากาฬ นอกจากจะสะท้อนความเพิกเฉยและรสนิยมชอบของเก่าผิวเผินแบบไทยๆ แต่ยังขีดเส้นใต้ให้เห็นความดักดานของ กทม. ที่ไม่เข้าใจคุณค่าและความหมายของการอนุรักษ์ชุมชนประวัติศาสตร์มาตลอดระยะเวลา 59 ปี

<--break- />ผู้เขียนทำงานข่าวมาได้หนึ่งปี มีโอกาสได้ลงประเด็นชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อกลางปีที่แล้ว เพิ่งเคยได้ไปชุมชนเมื่อเดือน ม.ค. ตอนที่ชุมชนเหลือกันไม่กี่หลังคาเรือน แต่บ้านไม้ที่ยังเหลือกลางกรุงก็ทำให้นักข่าวรู้สึกเหมือนโดนมนต์ในละครชื่อดังไปเกิดใหม่สักช่วงเวลาในอดีต (ทั้งในแง่แฟชั่นและความผุพัง)

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตผู้นำชุมชนกราบขอบคุณสำหรับทุกความช่วยเหลือมาตลอด 26 ปี

ความพยายามตลอด 26 ปีของทั้งคนในชุมชนป้อมฯ คน และองค์กรภายนอกที่มาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งวงพูดคุย สำรวจพื้นที่เพื่อขุดค้น ควานหาชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์มาปะติดปะต่อจนเป็นเนื้อเรื่องที่ย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เอกลักษณ์ของผังเมืองและสถาปัตยกรรมที่สุดท้ายกลายมาอยู่ใต้ธีม 'ชุมชนชานเมืองพระนครแห่งสุดท้าย' ในวันสุดท้ายของชุมชนที่ในอดีตเคยขึ้นชื่อเรื่องธุรกิจพลุไฟและกัญชา กลายเป็นชุมชนที่ค้นพบคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสามัญชน เรื่องการกินการอยู่ เรื่อยมาถึงวิถีชีวิต ไม่ใช่นิทานประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยการสูญเสียดินแดนที่พูดถึงการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 ไว้น้อยนิด แถมยังพยายามทำให้คณะรัฐประหารชุดปัจจุบันดูดีแบบฮีโร่

ในวันนี้แรงกดดันจากภาครัฐแรงเกินกว่าที่กำแพงป้อมและประตูบ้านของชาวชุมชนจะต้านไหว ตลอดเวลาการต่อสู้ชาวชุมชนไม่เคยได้เปรียบขึ้นมาเลยตั้งแต่กระบวนการจากทางภาครัฐทั้งการออกกฤษฎีกาเวนคืนที่เพื่อสร้างสวนสาธารณะ การต่อสู้บนศาลปกครอง รวมถึงความพยายามตั้งโต๊ะเจรจาให้เก็บบ้านเอาไว้ด้วยเหตุผลสองข้อ

หนึ่ง ผลการเจรจาสี่ฝ่ายระหว่างฝ่ายนักวิชาการ ชาวชุมชน กทม. และทหาร (ทหารเกี่ยวอะไร) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีการเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมคุยกันมากที่สุด ผลออกมาคือการเก็บบ้านเอาไว้ แต่คนต้องออก กล่าวคือ ชะตากรรมของชุมชนมีความไม่แน่นอนตั้งแต่ข้อตกลงแรก ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าคงเป็นการยอมรับเพื่อรอผลักดันประเด็นให้ชุมชนอยู่ร่วมกับบ้านได้ต่อไปในอนาคต

สอง ดอกผลแห่งการเจรจาถูกปัดตกภายใต้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธาน ต่อมา บ้านที่อยู่ในเกณฑ์อนุรักษ์ก็ถูกรื้อไปเมื่อเจ้าของบ้านย้ายออก มีการขีดว่าบ้านหลังไหนยังอยู่ได้ บ้านหลังไหนต้องย้ายออกภายในระยะเวลาที่กำหนด แนวทางแบบนี้ทำให้ชุมชนที่ต่อสู้มากว่า 25 ปี แบ่งเป็นสองฝั่งทันที ชุมชนมีรอยร้าวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 

บ้านหมายเลข 99 ที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของชุมชน อยู่ในลิสต์บ้านอนุรักษ์ แต่ก็ถูกทุบทิ้งเป็นซาก

เหตุการณ์ดังเกล่าวเกิดขึ้นบนเวลาเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในของกรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) มาตั้งเตนท์ในชุมชน ด้วยเหตุผลว่าใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. มาปราบปรามการจำหน่ายพลุไฟ ที่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่มีแล้ว และอ้างว่ามาเพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพล หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้นำชุมชน (จากที่ได้พูดคุยกับคนที่ย้ายออก) คนที่ยังอยู่ต่างพูดว่าโดนกดดันเป็นระยะๆ ส่วนคนที่ย้ายออกก็บอกว่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และได้ทางทหารช่วยเหลือจากการถูกกดดันของผู้นำชุมชน โดยเตนท์ กอ.รมน. อยู่ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 - เดือน มี.ค. 2561

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : 'คนอยู่' เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): 'คนย้าย' เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (3): กอ.รมน.มาจากไหน ทำไมถึงไปกางเต็นท์นอนในชุมชน

การเจรจาเพื่อผลักดันประเด็นให้ กทม. รักษาชุมชนไว้ไม่ได้รับการสานต่อ ไอเดียเรื่องพิพิธภัณฑ์มีชีวิตนั้น กทม. ไม่ซื้อ

จากเหตุผลทั้งสองอย่างเห็นได้ว่าเป้าหมายการคงไว้ซึ่งชุมชนจึงไม่ได้รับการยอมรับจากทาง กทม. เลย (เคยมีสมัยอภิรักษ์ที่เหมือนจะมีดำริที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน แต่ก็ไม่ได้รับการสานต่อ)

คำถามคือ แม้ผู้ว่าฯ กทม. จะเป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง แต่ทำไมต้องใช้หน่วยงานกึ่งทหาร-พลเรือนด้วย ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานพลเรือนที่ใช้ปฏิบัติงานมาแต่เดิม อีกประเด็นคือ พอชุมชนตัดสินใจย้ายออกทั้งหมด มีการขีดเส้นตายย้ายออก เตนท์ทหารก็ออกไปประมาณต้นเดือน มี.ค. พฤติการณ์แบบนี้หมายความว่าอะไร สรุปว่าเป้าหมายของการมาตั้งเตนท์คืออะไรกันแน่ ความบาดหมางแบบสมานไม่ได้ในชุมชนมาจากการทำงานของ กอ.รมน.กทม. หรือไม่ อย่างไร นี่คือการกลยุทธแบ่งแยกแล้วยึดครอง (Divide and Conquer) หรือไม่ ต้องเคลียร์ให้ชัด

จากการสอบถาม พูดคุย พบว่าชาวบ้านได้เงินจริง แต่ถามว่าพอไหมกับการซื้อที่อยู่ใหม่ ปัจจุบันชุมชนจำนวน 7-8 ครัวเรือนมีเงินออมแสนหนึ่ง ต้องการซื้อที่เพื่อตั้งชุมชนใหม่ที่มีราคาที่ประมาณสามล้านบาท เท่าที่รู้มาชาวบ้านที่ย้ายออกได้เงินหลักหมื่น ไปจนถึงหนึ่งแสนกว่าบาท จะซื้อที่ได้ก็เฉลี่ยต้องตกครัวเรือนละ 5-6 แสนบาท ไม่พอแน่นอน ไหนจะค่าสร้างบ้าน ปรับพื้นที่ อย่าลืมว่าชาวบ้านไม่ได้อิ่มทิพย์ ทุกต้องกินต้องใช้ทุกวัน ไหนจะค่าใช้จ่ายเมื่อย้ายที่อยู่ ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป ผู้เขียนคุยกับชาวชุมชนคนหนึ่งพบว่า ลูกชายต้องเดินทางต่อรถมากขึ้นเพื่อไปโรงเรียนเดิม ในเมื่อชาวชุมชนยังคงยืนยันจะตั้งชุมชนใหม่ แทนที่จะย้ายไปอยู่ใครอยู่มัน เช่าหอ เช่าบ้านตัวใครตัวมัน ก็ต้องดิ้นไป

ศ.ไมเคิล เฮอรซ์เฟลด์ อาจารย์และนักมานุษยวิทยาจาก ม.ฮาร์วาร์ด ชาวตะวันตกรุ่นแรกๆ ที่ลงพื้นที่วิจัยป้อมมหากาฬเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ประเทศกรีซมีกฎหมายและกระบวนการรักษาชุมชนบ้านอายุ 400 ปี ตั้งแต่ยุคที่เวนิซและจักรวรรดิออตโตมันยังแผ่อิทธิพลอยู่แถวนั้น ปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่ชื่อเรเธมนอส (Rathemnos) ในวันนี้เรเธมนอสกลายเป็นที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เจ้าของบ้านก็มีรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจที่กรีซโดนหนักๆ ชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างหลายที่ที่มีการรักษาชุมชนเดิมเอาไว้ในสไตล์ต่างๆ คนในชุมชนเล่าว่าที่ญี่ปุ่นก็มี ในเมืองจัดธีมวิถีชีวิตย้อนยุค ตัวอย่างพวกนี้ทำให้คำถามย้อนกลับมาที่เมืองไทยว่า แนวคิดการอนุรักษ์เมืองเก่าที่มีวัฒนธรรมของคนธรรมดามันเร็วไปสำหรับสังคมหรือเปล่า

ถ้าพิจารณาคำถามดังกล่าวจากแนวคิดการอนุรักษ์โบราณสถาน (ตัวป้อมและกำแพง) สร้างสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวที่เริ่มต้นเมื่อปี 2502 และการเวนคืนที่ที่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2535 ความคงเส้นคงวาของภาครัฐที่พยายามไล่คนเพื่อสร้างสวนจนถึงปัจจุบัน สะท้อนชัดว่าฐานคิดของรัฐเรื่องการพัฒนาเมืองและอนุรักษ์โบราณสถานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อ 59 ปีที่แล้วเลย 

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างสวนคือ ที่ผ่านมามีการสร้างสวนบริเวณหน้าป้อม (ตอนนี้ถูกลาดยางเป็นลานจอดรถ) และหลังป้อม คนในชุมชนเล่าให้ฟังว่าสวนหน้าป้อมมีคดีปล้น จี้ ประมาณ 2-3 ครั้ง มีคนข้างนอกมาผูกคอตายหนึ่งคน มีผู้หญิงถูกชิงทรัพย์ ที่ตั้งของสวนที่มีกำแพงล้อมด้านหน้า (กำแพงแบบโบราณ สูงๆ หนาๆ ทางเข้าเล็กๆ ประมาณรถยนตร์หนึ่งคัน) และมีคลองโอ่งอ่างติดอยู่ข้างหลังกลายเป็นทำเลที่ดีสำหรับมิจฉาชีพ แนวคิดเรื่องการเก็บชุมชนไว้เพื่อเป็นกำลังในการดูแลสวนก็ถูกล้มไป สวนสาธารณะในอนาคตจึงตั้งอยู่บนประโยคคำถามเรื่องความปลอดภัยและความนิยม แต่อย่าลืมว่า สวนจะถูกสร้างจากการทำให้คนราว 300 คนไม่มีที่อยู่

ท่าทีของรัฐต่อพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬคือสิ่งที่เรียกว่า Gentrification รัฐ หรืออีกนัยหนึ่งคือคนไม่กี่คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ได้กำหนดหน้าที่และคุณค่าของพื้นที่แบบไม่ถามไถ่คนที่ต้องใช้และคนที่จะได้รับผลกระทบ แต่บนเส้นเวลาเดียวกัน คนใน (แน่นอน ไม่ใช่ทุกครัวเรือนที่อยู่มาตั้งแต่เริ่มมีชุมชน) และคนนอกชุมชนส่วนหนึ่งพยายามกำหนดหน้าที่และคุณค่าของพื้นที่ขึ้นมาเอง (Self-Gentrification) จนชุมชนค้าพลุ ค้ายากลายเป็นแลนด์มาร์ค เป็นโมเดลของชุมชนที่เข้าใจคุณค่าของผังเมือง ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และต่างคนต่างรู้จักกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคที่คนกรุงเทพฯ บางคนถามตัวเองว่าถ้าวันนี้กูเจอคนข้างบ้าน คนที่พักอยู่ห้องข้างๆ แล้วกูต้องทำตัวยังไง 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนป้อมมหากาฬ ยิ่งขีดเส้นใต้ความไร้เดียงสาของภาครัฐที่อยากได้สวนมาเป็นเวลา 59 ปี ภาวะขาดความเข้าใจพื้นที่ ชุมชน แนวคิดเรื่องคนอยู่ร่วมกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ นี่คือตัวอย่างที่ควรค่าแก่การบรรจุไว้ในบทเรียนในฐานะการปกครองที่ดักดาน ตามโลกไม่ทัน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเมืองหลวงของประเทศ

การทำลายชุมชนเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับไม่ได้ทั้งในด้านวัตถุ สิ่งปลูกสร้าง และชีวิตของชุมชน แต่เสียงที่เงียบงันของสังคมต่อการปิดตัวของชุมชน (ถ้านึกภาพไม่ออกต้องเปรียบเทียบกับเรื่องเสือดำ) ทำให้เห็นความย้อนแย้งของสังคมเรื่องรสนิยมย้อนยุค ชื่นชอบของเก่า

สัปดาห์ที่แล้วมีการจัดสมโภช 236 ปีกรุงรัตโกสินทร์ที่ศาลหลักเมือง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนป้อมอายุกว่าร้อยปีที่ถูกไล่รื้อไปที่อื่น การปิดชุมชนไม่ใช่หมุดหมายสำคัญของการเมืองไทย การเลือกตั้งยังไม่บังเกิด รัฐบาลทหารก็ยังไม่เคยถูกจับมาไต่สวนเรื่องการยึดอำนาจ แต่ชีวิตของชุมชนที่สูญพันธุ์จะทำให้คนเสียดายเมื่อตระหนักได้ถึงคุณค่า ในวันที่รสนิยมชื่นชอบของเก่า 'ใจกว้าง' เพียงพอที่จะหันมาดูประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา ซึ่งถ้าเกิดอย่างแพร่หลายในเมืองไทย สิ่งเหล่านั้นคงอยู่แบบแห้งๆ ในพิพิธภัณฑ์กระมัง

กลุ่มผู้ชื่นชอบการสเกทช์ภาพจากกลุ่ม Bangkok Sketchers  เข้ามาเก็บความทรงจำสุดท้ายของชุมชนด้วยจิตรกรรม สมาชิกคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเสียดายชุมชนมาก

ชุมชนในทางพื้นที่แตกสลายแล้ว และยังเหลืออีกหลายชุมชนรอบๆ และในกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงและมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโดมิโนตัวต่อไป นั่นหมายถึงกระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเรื่องราวคงจะจบลงที่มีคนไร้บ้านและปัญหาคนจนมากขึ้น แต่จะถูกเอาไปกองกันไว้ในเขตไกลๆ ของ กทม. ห่างจากศูนย์กลางอำนาจ 

ในวันที่การแต่งกายย้อนยุค เดินงาน ถ่ายภาพสวยๆ ทำง่าย และเสียงดังกว่าความพยายามอนุรักษ์ชุมชนโบราณ

ในวันที่ภาครัฐไล่คนออกจากชุมชนเดิมด้วยการกดดัน ฟันป่ายาง ไปจนถึงการเผาบ้าน (กรณีกะเหรี่ยงที่แก่งกระจาน) ง่ายกว่าการไว้ใจผู้อยู่อาศัยที่พิสูจน์แล้วว่าคนก็อยู่กับป่า อยู่กับโบราณสถานได้ 

ก็ได้แต่ถอนหายใจ และหวังว่าค่าเช่าบ้านจะไม่ขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรช่วยแรงงานไทยในอิสราเอลพบ 33.7% ทำงานสัมผัสสารเคมี

Posted: 22 Apr 2018 10:07 PM PDT

คาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล เผยผลสำรวจแรงงาน  386 คน พบ 58.3% ทำงานงานเพาะปลูก เก็บผักผลไม้ สวนดอกไม้ ฯลฯ 33.7% ทำงานที่ต้องสัมผัสสารเคมีทั้งพ่นยาฆ่าแมลง-ยาฆ่าหญ้า

ที่มาภาพประกอบ: GREENCROSS FOUNDATION

เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) ได้ทำการสำรวจสถิติประเภทการทำงานของแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 386 คน ผลสรุปจากแบบสอบถามพบว่า ร้อยละ 56.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามทำงานประเภทเดียว ร้อยละ 32.9  ทำงานมากกว่า 1 ประเภท และร้อยละ 10.9 ทำงานมากกว่า 2 ประเภท

ในจำนวนแรงงานที่ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 58.3 ทำงานงานเพาะปลูกในพื้นที่ราบ (เก็บผักผลไม้ สวนดอกไม้ เป็นต้น) ร้อยละ 33.7 ทำงานที่ต้องสัมผัสสารเคมี (พ่นยาฆ่าแมลง พ่นยาฆ่าหญ้า เป็นต้น) ร้อยละ 19.4 ทำงานในที่สูง (งานที่ต้องใช้บันไดหรือรถยก) ร้อยละ 14.5 ทำงานปศุสัตว์และฟาร์มปลา ร้อยละ 11.1 ทำงานสร้างโรงเรือนเพาะปลูก ร้อยละ 8.8 ทำงานบรรจุผลิตภัณฑ์ในโรงงาน และร้อยละ 1.6 ทำงานประเภทอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ทำความสะอาด เป็นต้น (อนึ่งในแบบสอบถาม ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อ ผลรวมสถิติของประเภทงานข้างต้นนั้นจึงมากกว่าร้อยละ 100)

ก่อนหน้านี้ในรายงาน 'สัญญาเถื่อนการปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานไทยในภาคเกษตรของอิสราเอล' ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอตซ์ (Human Rights Watch) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่าแรงงานในฟาร์มหลายแห่งระบุถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ ปัญหาระบบทางเดินหายใจและอาการแสบตา ซึ่งแรงงานเชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดยาฆ่าแมลงโดยขาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม แรงงานบางส่วนระบุว่ามีญาติในไทยส่งยามาให้พวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่นี่ได้

อนึ่งองค์กรคาฟลาโอเวด เคยให้คำแนะนำแก่แรงงานไทยในอิสราเอลว่าในการพ่นยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆ ต้องสวมหน้ากากและถุงมือ ใส่เสื้อผ้าที่ปิดร่างกายให้มิดชิด เมื่อพ่นสารเคมีเสร็จแล้วควรรีบอาบน้ำชำระล้างร่างกายฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานควรซักให้สะอาดด้วยทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มทำงานในการพ่นสารเคมีตามกฎหมายนายจ้างจะต้องให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ และนายจ้างจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันให้แรงงานในการพ่นสารเคมี และหากมีอาการผิดปกติให้แรงงานรีบแจ้งนายจ้างเพื่อให้พาไปพบแพทย์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ มอบ 'รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก' ให้ 'เคเปอร์นิก' นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล

Posted: 22 Apr 2018 08:31 PM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบรางวัล "รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก" ให้กับ โคลิน เคเปอร์นิก อดีตควอเตอร์แบ็กของ ซาน ฟรานซิสโกฯ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก หลังแสดงจุดยืนต่อต้านการเลือกปฏิบัติจากประเด็นสีผิวด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลงในสนาม

ภาพซ้าย เคเปอร์นิก อดีตควอเตอร์แบ็กของ ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตีไนน์เนอร์ส กลายเป็นบุคคลว่างงานตั้งแต่ปี 2016 หลังแสดงจุดยืนต่อต้านความอยุติธรรมต่อสังคมที่เลือกปฏิบัติจากประเด็นสีผิวด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลงในสนาม โดยถือเป็นตัวตั้งตัวตีสำหรับเรื่องนี้ ก่อนที่ผู้เล่นคนอื่นจะทยอยทำตามกัน แต่เจ้าตัวโดนสังคมลงโทษคนเดียว (ที่มา ผู้จัดการออนไลน์)
 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบรางวัล Ambassador of Conscience award หรือ "รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก" ให้กับ โคลิน เคเปอร์นิก (Colin Kaepernick) นักกีฬาและนักกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก  

โคลิน เคเปอร์นิก กล่าวในการรับรางวัลครั้งนี้ว่า "ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับรางวัลนี้ แต่ความจริงแล้ว ผมควรได้รับรางวัลนี้พร้อมกับคนอีกจำนวนมากทั่วโลก ที่ช่วยกันต่อต้านการละมิดสิทธิมนุษยชนจากน้ำมือของตำรวจ และการใช้กำลังปราบปรามจนเกินกว่าเหตุ ผมอยากอ้างคำพูดของมัลคอม เอ็กซ์ (Malcolm X)  ซึ่งเคยบอกไว้ว่า เขา 'พร้อมจะเข้าร่วมกับทุกคน ไม่ว่าจะมีสีผิวใด ตราบที่คนเหล่านั้นต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เลวร้ายซึ่งดำรงอยู่ในโลก' ผมขอร่วมมือกับทุกท่านในการต่อสู้กับความรุนแรงจากการกระทำของตำรวจ"
 
โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้น ในช่วงก่อนฤดูกาลของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลในลีกระดับชาติ (American National Football League) โคลินคุกเข่าลงระหว่างการเปิดเพลงชาติสหรัฐฯ เป็นการแสดงท่าทีอย่างเคารพเพื่อเรียกร้องให้ประเทศนี้คุ้มครองและปกป้องสิทธิของคนทั้งปวง การกระทำที่กล้าหาญเช่นนี้เป็นการตอบโต้กับการสังหารคนผิวดำจำนวนมากโดยตำรวจ กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวตามจารีตการประท้วงอย่างไม่ใช้ความรุนแรงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
 
"การคุกเข่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางกายภาพ ผมต้องการท้าทายว่ายังมีการกีดกันและละทิ้งคนออกจากแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่มีสำหรับทุกคน การประท้วงเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากการหลอมรวมระหว่างความเชื่อทางศีลธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์ของผม" โคลิน กล่าว
 
รางวัล Ambassador of Conscience awardหรือ"รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก"นับเป็นเกียรติยศสูงสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุดมการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยผ่านการใช้ชีวิตและการดำเนินงานของตน ตลอดจนสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นหันมาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากขึ้น
 
ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า รางวัลนี้เป็นการเฉลิมฉลองจิตสำนึกของการเคลื่อนไหวและความกล้าหาญที่โดดเด่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของโคลิน ในปัจจุบันเขาเป็นนักกีฬาซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากการเคลื่อนไหวของเขา โดยเขาปฏิเสธไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุด้านเชื้อชาติ
 
 
"โคลินเลือกที่จะพูดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น แม้จะมีความเสี่ยงต่ออาชีพและชีวิตส่วนตัว เมื่อคนมีชื่อเสียงเลือกจะยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน ย่อมเป็นกำลังใจให้คนอื่น ๆ จำนวนมากในการต่อสู้กับความอยุติธรรม โคลินแสดงเจตจำนงอย่างแรงกล้าแม้ว่าจะมีผลกระทบจากเสียงวิจารณ์ด้านลบมากมายที่เขาได้รับจากผู้มีอำนาจ"    
 
รางวัลนี้จัดทำขึ้นจากแรงบันดาลใจเนื่องจากบทกวี "From the Republic of Conscience" ซึ่งเชมัส ฮีนนี (Seamus Heaney) กวีชาวไอร์แลนด์ผู้ล่วงลับไปแล้วประพันธ์ให้กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ที่เคยรับรางวัลนี้ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มาลาลา ยูซัฟไซ และเนลสัน แมนเดลา รวมทั้งนักดนตรีและศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง แฮรี เบลาฟอนเต โจน เบเอซ อลิเชีย คีส์ และอ้าย เว่ยเว่ย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น