โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปธ.ศาลอุทธรณ์ ชี้ คดีฤทธิรงค์ ฟ้องตร. กรณีซ้อมทรมาน ไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตฯ

Posted: 05 Apr 2018 12:30 PM PDT

หลังจำเลยร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ล่าสุดประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีฤทธิรงค์  ฟ้องตำรวจกรณีซ้อมทรมาน ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ เหตุมีการฟ้องคดีและค้างพิจารณาอยู่ในสารบบของศาลจังหวัดปราจีนบุรีก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ

 

5 เม.ย.2561 ความคืบหน้า คดีที่ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนซ้อมทรมานตน เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.925/2558  สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2561 จำเลยที่ 3  (ยศพันตำรวจโท) ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มิใช่ศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นเหตุให้ศาลจังหวัดปราจีนบุรีต้องส่งเรื่องดังกล่าวไปยังประธานศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล และได้กำหนดนัดฟังคำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 4 เม.ย. 2561

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปราจีนบุรีออกนั่งพิจารณานัดฟังคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ ปรากฎว่าประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจาก ฤทธิรงค์ โจทก์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558  ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559 ภายหลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้ว แม้ว่าคำสั่งประทับฟ้องจะเกิดขึ้นภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560 ก็ตาม แต่เป็นกรณีที่มีการฟ้องคดีและค้างพิจารณาอยู่ในสารบบของศาลจังหวัดปราจีนบุรีก่อนที่จะมีการจัดตั้งและเปิดทำการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบด้วยเหตุนี้คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลจังหวัดปราจีนบุรีจึงมีอำนาจพิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป

ภายหลังศาลจังหวัดปราจีนบุรีอ่านคำวินิจฉัยให้คู่ความฟังจนแล้วเสร็จ ศาลได้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ จำเลย โดยฝ่ายโจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานจำนวน 10 ปาก  ฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประสงค์จะสืบพยานจำนวน 12 ปาก ศาลจึงกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4 ก.ค. และวันที่ 28-29 ส.ค. 2561 และ นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 29-31 ส.ค. 2561

นอกจากคดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ฤทธิรงค์ และบิดา ยังได้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เป็นพยานเท็จเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมาน ฤทธิรงค์ อีกจำนวน 4 คดี ได้แก่

1. คดีที่ ฤทธิรงค์ กับ บิดา เป็นโจทก์ฟ้องพยานเท็จคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1942/2560 ปรากฎว่าภายหลังไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้มีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูลและไม่ประทับฟ้อง  ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2  และในวันที่ 4 เม.ย. 2561 ศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2  โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น(ศาลจังหวัดปราจีนบุรี) ว่าคดีมีมูลและให้ประทับฟ้อง ศาลจังหวัดปราจีนบุรีจึงได้กำหนดนัดสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 4 มิ.ย. 2561   

2.  อีก 3 คดี คือคดีที่ ฤทธิรงค์กับบิดา ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อเอาผิดกับบุคคลที่เป็นพยานเท็จอีกจำนวน 3 คน โดยร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2560 ณ สถานีตำรวจคนละท้องที่ กล่าวคือ พยานเท็จคนหนึ่งที่ ฤทธิรงค์ ร้องทุกข์ ณ สถานีตำรวจภูธรระเบาะไผ่ ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี  พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง และส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาพนักงานอัยการฯได้ยื่นฟ้องพยานเท็จคนดังกล่าวต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2106/2560 ซึ่งศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 เม.ย. 2561

ส่วนพยานเท็จอีก 2 คน ฤทธิรงค์ กับบิดา ได้แจ้งความร้องทุกข์ พยานเท็จคนหนึ่ง ณ สถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี และอีกคนหนี่ง ณ สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ  ซึ่งทั้งสองคดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปี ‘หมุดคณะราษฎร’ หาย : ย้อนดูชะตากรรมคนตามหาความจริงในรัฐที่ขยันเป็นเรื่องๆ

Posted: 05 Apr 2018 12:10 PM PDT

ย้อนดูเรื่องราวหลัง 'หมุดคณะราษฎร' ถูกแทนที่ด้วย 'หมุดหน้าใส' ประชาชนเรียกร้องแต่รัฐเพิกเฉย กลับไล่จับกุม ห้ามปรามแสดงความเห็น ปรับทัศนคติ ตามติดเวทีเสวนา นักกิจกรรม ทุกวันนี้ประชาชนบางคนยังอยู่ในคุก กับมุมมองความสำคัญของหมุดว่าด้วยการรื้อ-สร้างสัญลักษณ์

6 เม.ย. 2561 ครบรอบหนึ่งปีการหายไปของหมุดคณะราษฎรจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วถูกแทนที่ด้วย 'หมุดหน้าใส' นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ของหายที่อุกอาจ และสร้างแต่ความมึนงงกับสังคมไทยว่าใครทำ ทำเพื่ออะไร หมุดหายไปไหน

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรถูกเลือนลบกลบไปจากไทม์ไลน์หมุดหายคือภาพของประชาชนทั้งตัวบุคคลและกลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในกรณีหมุดหาย และที่ลืมไม่ได้เลยคือการตอบสนองของภาครัฐต่อหมุดที่หาย และความพยายามกลบกระแส ปิดปากการเรียกร้อง เคลื่อนไหวของภาคประชาชนเหมือนกลัวอะไรบางอย่าง

ประชาไทรวบรวมเหตุการณ์คร่าวๆ เรื่องหมุดที่หายไป และชะตากรรมของคนที่ออกมาตั้งคำถาม เคลื่อนไหว แสดงความเห็นต่อการหายไปของหมุด ในวันที่ประชาธิปไตยและหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยขนาดเล็กกว่าฝาท่อหายไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

ภาพหมุดหน้าใสที่มาแทนหมุดคณะราษฏร

ภาพในมุมใกล้เคียงกันก่อนที่จะมีการร้อถอดหมุดคณะราฎรออก

ย้อนรอยหมุดเก่าหาย หมุดใหม่โผล่ รัฐเมินข้อร้องเรียน แถมไล่จับ-ปิดเวทีเสวนา

14 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า หมุดคณะราษฎร ที่เเป็นสถานที่ระลึกถึงจุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน "ประกาศคณะราษฎร" ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่มีข้อความ ว่า "24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" ได้

หมุดคณะราษฎรถูกแทนที่ด้วยหมุดที่มีใจความว่า "ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน" และ "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" ตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เขียนว่า "ติรตเนสกรฏฺเฐจ สมฺพํเสจมมายนํ สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฏฺฐาภิวัฑฺฒนํ"

หมุดใหม่ถูกเรียกด้วยชื่อเล่นอย่างแพร่หลายในชื่อ 'หมุดหน้าใส' ในเวลาต่อมา

หลังหมุดหายไปก็มีการเข้าร้องเรียนกับทั้งทางกรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ท่าทีจากภาครัฐก็ไม่ได้ทำให้ความคลุมเครือต่างๆ ที่รายล้อมการหายไปของหมุดกระจ่างขึ้น

16 เม.ย. 60 พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ หลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ พร้อมนักศึกษาอีกสามคนไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดุสิต ระบุว่า "รู้สึกกังวลใจเนื่องจากหมุดนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ถือเป็นโบราณวัตถุของชาติประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีอายุเก่าเกิน 50 ปี คือมีอายุ 81 ปีแล้ว อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนและติดตามโดยเร็ว"

วันต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) ให้ความเห็นเรื่องมีผู้มาลงบันทึกประจำวันเรื่องหมุดว่า หมุดคณะราษฎรอยู่ในบัญชีทรัพย์สินมรดก ซึ่งตามกฎหมายผู้ร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นเจ้าของทรัพย์มรดก และหากยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์มรดกตัวเองจริงตำรวจก็พร้อมดำเนินการให้  แต่หากไม่ใช่จะดำเนินการอย่างไร และยังฝากไปถึงผู้ที่จะระดมคนมาทำพิธีหรือชุมนุมบริเวณดังกล่าว ว่าส่วนตัวไม่สามารถยินยอมจัดให้มีการชุมนุมได้ เนื่องจากเขตพื้นที่ดังกล่าวคือเขตพระราชฐาน อีกทั้งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ

18 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้หลังจากที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ในประเด็นเกี่ยวกับการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรและการนำหมุดใหม่มาฝังแทนที่ โดยขอให้มีการติดตามนำหมุดเก่ากลับมา พร้อมดำเนินคดีต่อผู้ที่นำหมุดเดิมไป แต่กลับถูกนำตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยควบคุมตัวจากศูนย์บริการประชาชน ไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และต่อมาในเวลา 13.00 น. มีรายงานว่า ศรีสุวรรณถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งถูกใช้ควบคุมผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และได้รับการปล่อยตัวในวันต่อมา

19 เม.ย. 2560 ที่ สน.ดุสิต อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์และณัฏฐา มหัทธนา เข้าแจ้งความเหตุหมุดคณะราษฎรหายไป และเดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เพื่อขอดูกล้องวงจรปิด ยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการของผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า บริเวณรอบลานพระบรมรูปทรงม้าฯ มีกล้องวงจรปิด 11 ตัว แต่สำนักงานจราจรกรุงเทพฯ มีการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรในวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา กล้องจึงถูกถอดออกไปทั้งหมด และยังไม่มีการติดตั้งกลับจนปัจจุบัน ขณะที่อภิสิทธิ์และณัฏฐาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาไม่มีกล้องบริเวณดังกล่าวเลยและได้ขอดูภาพกล้องวงจรปิดในบริเวณที่ไกลออกไป อย่างไรก็ตาม เลขาผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษจำนวนมากอยู่แล้ว โดยหลักเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร

20 เม.ย. 60 วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. เตรียมให้ ปอท.ดำเนินคดีจากกรณีโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นในทางกฎหมาย ระบุว่าหมุดคณะราษฎรที่ถูกมือมืดถอดออกไปนั้นเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลที่เป็นความเท็จและกระทบต่อความมั่นคง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โพสท์ทูเดย์ รายงานว่า ศาลพิจารณาแล้ว จึงให้โจทก์สืบพยาน 11 ปาก ใช้เวลา 3 นัด และสืบพยานจำเลย 11 ปาก ใช้เวลา 4 นัด เริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 9 ต.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

วันเดียวกัน ที่ สน.ดุสิต บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.ชัยชน เรืองเพชร รอง สว.(สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร หลังสอบปากคำเสร็จ ตำรวจและทหารเชิญตัวบุญสินและสันติพงษ์ วินุราช เพื่อนที่เดินทางมาด้วยกันไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11

24 เม.ย.2560 เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองและอดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ามีชาย 8 คนมายืนที่หน้าบ้านของเขา โดย 2 คนแต่งเครื่องแบบตำรวจ ตัวแทนของกลุ่มที่มาแจ้งกับเขาว่ามาจาก สน.ลาดพร้าวและต้องการพูดคุยเรื่องที่เอกชัยจะไปยื่นคำร้องเรื่องหมุดใหม่ โดยขอร้องไม่ให้ไปแต่เอกชัยก็ยืนยันที่จะไป จากนั้นเอกชัยถูกตำรวจจับกุมจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปที่ มทบ.11 หลังเอกชัยพยายามจะเดินทางเข้าไปเพื่อนำหมุดคณะราษฎรจำลองที่เตรียมมาไปติดตั้งกลับคืนที่จุดที่อยู่เดิมของหมุดคณะราษฎร

(ที่มาภาพ : https://prachatai.com/journal/2017/06/72094)

25 เม.ย. 2560 อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า มีทหาร 5 นาย ขับรถมาหาตนที่บ้าน พร้อมกับเชิญตัวไปพบหัวหน้าหน่วยทหาร ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนหน้าที่จะถูกพาตัวไปในเวลาประมาณ 12.30 น.  อนุรักษ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนซื้อเสื้อยืดซึ่งมีลายหมุดคณะราษฎรด้วย อนุรักษ์ถูกปล่อยตัวในวันเดียวกัน

อนุรักษ์ระบุว่า การถูกควบคุมตัวมาในครั้งนี้ ทางทหารต้องการให้เขายุติการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เนื่องจากในก่อนหน้านี้เขาได้โพสต์วิจารณ์การบริหารประเทศของ คสช.ในประเด็นความล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจ และในประเด็นที่ คสช.ได้นำงบประมาณจากภาษีที่เก็บจากประชาชนไปซื้ออาวุธสงคราม

3 พ.ค. 2560 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT แจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่า ยกเลิกการจัดเสวนาในหัวข้อ "ความทรงจำแห่งอภิวัฒน์ 2475 - ปริศนาหมุดคณะราษฎรหาย" (Memories of 1932 - The Mystery of Thailand's Missing Plague) ซึ่งตามกำหนดการจะจัดขึ้นในวันนี้ (3 พ.ค.60) เวลา 19.00 น. โดยระบุว่าได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ขอความร่วมมือให้งดกิจกรรมดังกล่าวหลังทางตำรวจได้รับการประสานจาก "ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง" ซึ่งเห็นว่างานเสวนาที่ว่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ บุคคลผู้ไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย

FCCT ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการประเมินสถานการณ์เช่นนั้น งานของสมาคมมีการดำเนินรายการอย่างเรียบร้อยเสมอมาและเปิดให้มีการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์เยี่ยงอารยชน ประเด็นเสวนานี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เอฟซีซีทีเข้าใจว่าเป็นคำสั่งของคสช. จึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากปฏิบัติตาม

ดอกผลของความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่รัฐได้กระเซ็นไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่พลเรือน เมื่อ 19 เม.ย. 2560 ทหาร ตำรวจ และปลัดอำเภอ ขอให้เลื่อนเสวนา 'วิพากษ์การเช่าที่ดิน 99 ปี ผลประโยชน์ของไทยหรือผลประโยชน์ของใคร?' ที่จัดโดยมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรออกไปก่อน เพราะได้รับข้อมูลที่ส่งต่อผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ที่เขียนแค่ว่า จะจัดเสวนาหมุดทำให้เข้าใจว่าจะจัดเสวนาเรื่องหมุดคณะราษฎร แต่ทางผู้จัดยืนยันว่าจะยังคงจัดต่อไป

3 พ.ค. 2560 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกอนุญาตฝากขังทนายความประเวศ ประภานุกูล, ดนัย (สงวนนามสกุล) และผู้ต้องหาอีก 4 ราย ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยประเวศ และดนัยมีข้อหายุยงปลุกปั่น

พฤติการณ์ตามคำร้องขอฝากขังระบุว่า ผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ประเวศ ประภานุกูล โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่นจำนวน 3 ข้อความ และโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 10 ข้อความ แต่ประเวศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนดนัยถูกฝากขังในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้บรรยายพฤติการณ์ในคำร้องฝากขัง ระบุแต่เพียงว่าตรวจสอบแล้วว่าดนัยเป็นบุคคลเดียวกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ศาลอาญาพิจารณาออกหมายจับ ลงวันที่ 28 เม.ย. 2560 ดนัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ส่วนผู้ต้องอีก 4 ราย ถูกฝากขังในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร โดย 3 ใน 4 รายให้การรับสารภาพ ส่วนอีกรายปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 3 – 14 พ.ค. 2560 ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 รายเนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ปัจจุบัน ประเวศยังถูกคุมขังอยู่ระหว่างการไต่สวน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 เข้าจับกุมตัว ประเวศ ประภานุกูล ตรวจค้นบ้านพักของประเวศ ในกรุงเทพฯ และยึดทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ และ ฮาร์ดไดรฟ์ ทั้งนี้ ไม่มีใครทราบชะตากรรมและที่อยู่ของประเวศจนกระทั่งบ่ายของวันที่ 3 พ.ค. 2560 เมื่อประเวศติดต่อทนายความจำนวนหนึ่งรวมถึงศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าเขาถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีภายในมลฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ

มุมความสำคัญของหมุด ที่กรมศิลปากรไม่ให้ค่าในฐานะโบราณวัตถุ

หลังจากหมุดคณะราษฎรถูกแทนที่ด้วยหมุดหน้าใส หลากกระแสในแง่มุมต่างๆ ทั้งความสำคัญของหมุด สถานะความเป็นโบราณวัตถุ

เมื่อ 19 เม.ย. เฟซบุ๊ก 'กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร' โพสต์ข้อความว่า ประเด็น "หมุดคณะราษฎร์" เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่? ระบุว่า กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้ "โบราณวัตถุ" หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ซึ่งจากนิยามดังกล่าว กรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์มิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎร์เป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หมุดคณะราษฎรจึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น

ปัจจุบัน โพสท์เฟซบุ๊กดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้ในแบบสาธารณะอีกต่อไปแล้ว

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า'หมุดหน้าใส' เกิดเพราะไสยศาสตร์ เชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และความพยายามรื้อถอนความทรงจำ

"ถ้ามันไม่มีความหมายอะไร ต่อใครเลย เขาจะเสียเวลาเอาออกทำไม ยกตัวอย่างง่ายๆ ในประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรช่วงเวลาตั้งแต่หลัง 2490 ถึงก่อนรัฐประหาร 2549 เป็นช่วงที่ถูกเพิกเฉย ทุกฝ่ายทางการเมืองมองว่าคณะราษฎรเป็นผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์ ในทัศนะผมในช่วงนี้ คณะราษฎรไม่ได้มีภาพลักษณ์เชิงบวกอะไร ในช่วงนี้เอง สัญลักษณ์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรก็ถูกเพิกเฉย ในแง่นี้ว่าไม่เชิดชูและไม่ทำร้าย เพราะมันไม่มีค่า จะไปรื้อยังเสียดายงบในการรื้อ"

 "ภาพหรือความหมายที่มีหมุดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่า วัตถุเหล่านี้เริ่มมีอันตรายและต้องรื้อ หมุดคณะราษฎรมีความหมายและพลังทางการเมืองมาก และจะขยายไปมากกว่านี้อย่างก้าวกระโดด เพียงแต่ ณ วันนี้ที่มาตั้งคำถามว่ามันไม่มีความสำคัญก็เป็นเพราะผลของรัฐประหาร 2557 ที่เราทุกคนถูกปิดปาก ปิดหู ปิดตา"

"ถ้าเอาหมุดออกไปเลย มันหาย พื้นถนนผ่านไปเดือนสองเดือนก็อาจจะกลืนกันไป เพราะฉะนั้นการไม่ดำรงอยู่ของวัตถุสัญลักษณ์คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การที่วัตถุนั้นไม่ดำรงอยู่ แล้วมีวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นอุดมการณ์ตรงข้ามมาแทน มันทำให้เรายังคงเห็นวัตถุเก่าอยู่เสมอ เมื่อเรามองหมุดใหม่ เราก็ยังเห็นหมุดเก่า ในแง่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่จึงเป็นความอ่อนหัด มีแต่ความเกลียดและกลัวสัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎร" ชาตรีกล่าว

ศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทหลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือน เม.ย. ว่าหมุดมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทของชาติ ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของพี่น้องประชาชนอย่างชัดแจ้ง หมุดคณะราษฎร จึงเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของการกำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อมีใครมารื้อถอนเปลี่ยนแปลงมันไม่น่าจะถูกต้องหรือเหมาะสม หน่วยงานของรัฐที่เข้ามาดูแลก็น่าจะเอาใจใส่และทำความจริงให้ปรากฏชัดเจนว่าตกลงหน่วยงานใดหรือบุคคลใดที่เคลื่อนย้ายหมุดอันนี้แล้วเอาอันอื่นมาแทนที่ ก็เลยต้องไปยื่นคำร้องถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สั่งการดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน

หนึ่งปีผ่านไป ไม่แน่ใจว่า คนยังคิดถึงการหายไปอย่างไม่รู้ชะตากรรมของหมุดคณะราษฎรอยู่หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือท่าทีของรัฐต่อการแสดงออกและการร้องเรียนตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมในการทวงคืนหมุดยังดูหมางเมิน พร้อมกับการกดปราบ ทำให้เกิดข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าว่าเหตุใดประเด็นหมุดจึงเป็นเรื่องเปราะบางได้ขนาดนี้  แม้ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์และตัวละครต่างๆ ที่รายล้อมการหายไปของหมุดยังคงเป็นปริศนา แต่ความเป็นจริงที่คนยังติดคุก ถูกแจ้งความและนำเข้าค่ายทหารหลังแสดงออกอย่างสันติเป็นภาพที่ตอกย้ำแบบหนักๆ ว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและประชาธิปไตยไทยได้ระเหยหายไปกับหมุดแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงครึ่งปีมี 412 ราย ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน

Posted: 05 Apr 2018 07:21 AM PDT

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงยอกรายงานตัวเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน จำนวน 412 ราย ซึ่งผ่าน 6 ขั้นตอน คือ สร้างความเข้าใจ รับรายงานตัว และอบรมปรับทัศนคติโดยใช้หลักศาสนา ปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย ขับเคลื่อนชมรมพาคนกลับบ้าน ฝึกอาชีพ และการติดตามพัฒนาสัมพันธ์เมื่อกลับภูมิลำเนา 

5 เม.ย.2561 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พ.อ.ปราโมทย์  พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, พ.อ.ธนาวีร์  สุวรรณรัตน์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า  และ พ.อ.พรรษิษฐ์  สุพรรณชนะบุรี ผู้อำนวยการกองพาคนกลับบ้าน ศูนย์สันติวิธีเปิดเผยว่าจากผลการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้านในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสหรือช่องทางให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงกลับมาต่อสู้ด้วยแนวสันติ และเข้าสู่การอบรมปรับความคิดความเชื่อให้มาร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข โดยมียอดรายงานตัวเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน ประจำปี 2561 จำนวน 412 ราย ซึ่งได้ดำเนินการตามกรรมวิธีทั้ง 6 ขั้นตอน คือ 1.การรณรงค์สร้างความเข้าใจ 2.การรับรายงานตัว และอบรมปรับทัศนคติโดยใช้หลักศาสนา 3. การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย 4.การขับเคลื่อนชมรมพาคนกลับบ้าน 5.การฝึกอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิต 6.การติดตามพัฒนาสัมพันธ์เมื่อกลับภูมิลำเนา เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์อย่างสูงสุดให้เป็นไปตามนโยบายแม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า การดำเนินโครงการประจำปี 2561 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 การดำเนินการต่อเป้าหมายประจำปี จำนวน 288 ราย แยกเป็นรายงานตัวปี 2560 จำนวน 127 ราย และปี 2561 จำนวน 161 ราย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการโครงการพาคนกลับบ้านที่สำคัญ ดังนี้ (1) การอบรมปรับทัศนคติโดยใช้หลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง "หลักสูตรประชาร่วมใจทำความดี เพื่อแผ่นดิน" จำนวน 147 ราย (2) การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย  หมาย ป.วิฯอาญา มอบตัวและประกันตัวเรียบร้อย 133 ราย  อยู่ระหว่างการดำเนินการ 155 ราย (3) การอบรมวิชาชีพ/การพัฒนาคุณภาพชีวิตรับมอบปัจจัยการผลิต 147 ราย (4) การติดตามสร้างความสัมพันธ์เมื่อกลับภูมิลำเนาโดยหน่วยในพื้นที่ติดตามพบปะอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่ 2 การดำเนินการต่อบุคคลที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน (จากประเทศเพื่อนบ้าน) จำนวน 124 ราย ตั้งแต่ 3 ก.พ.61 เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกรรมวิธีของโครงการพาคนกลับบ้านตามนโยบาย แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่มุ่งเน้นเชิงคุณภาพเป็นประการสำคัญ โดยได้ดำเนินการดังนี้

(1) การแต่งตั้งคณะทำงานพิสูจน์สัญชาติผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เพื่อให้การดำเนินการ เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างความสันติสุขอย่างยั่งยืน (2) การจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ  เพื่อดำเนินคัดกรอง/ดำเนินกรรมวิธีของบุคคลเป้าหมายเก็บรูปแบบสารพันธุกรรมบุคคลเพื่อพิสูจน์สัญชาติ ก่อนเข้าร่วมโครงการ และพิสูจน์พฤติกรรมการกระทำความผิดพร้อมดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้กับบุคคลที่พิสูจน์ได้ว่ามีสัญชาติไทย

(3) การฝึกอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อบรมอาชีพเพื่อให้มีคุณภาพชีวิต/รายได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ตลอดการเข้าพักอาศัย (บ้านสันติสุข) จำนวน 30 หลัง ณ นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ตลอดระยะ 6 เดือน หลังจากนั้นจะเดินทางกลับไปประกอบอาชีพยังภูมิลำเนาหรือเข้าทำงานในโครงการพระราชดำริต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา มารา ปาตานี (Mara Patani) แถลงเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดสร้างความสับสนและความเข้าใจผิด 4 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการ "พาคนกลับบ้าน" และ พื้นที่ปลอดภัย 14 แห่ง ซึ่งทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศออกมาแล้ว นั้นไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างมารา ปาตานีและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกศาล แจงปมบ้านพักเชิงดอยสุเทพ ย้ำไม่ได้ทำลาย แต่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อม

Posted: 05 Apr 2018 06:14 AM PDT

ศาลยุติธรรม ไม่รื้อบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ยันทำตามกฎหมาย หากจะยกเลิกสัญญาอาจมีคดีฟ้องร้องกันได้ ย้ำไม่ได้บุกรุกทำลายป่า แต่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อม รอคณะกรรมการศาลยุติธรรมประชุมพิจาณา 9 เม.ย.นี้

 
5 เม.ย.2561 ไทยพีบีเอสและคมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมและโฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าวกรณีบ้านพักตุลาการที่ จ.เชียงใหม่ ว่า กรณีดังกล่าวได้ขออนุญาตใช้ที่ดินของกรมธนารักษ์ และได้รับความเห็นชอบจากส่วนราชการทั้งหมดแล้ว พื้นที่ 147 ไร่ แต่ใช้ดำเนินการจริง 89 ไร่ โดยมีเอกชนมาเป็นคู่สัญญา 3 สัญญา วงเงินรวม 950 ล้านบาท แบ่งเป็น สัญญาที่ 1 การก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นเงิน 290 ล้านบาท ซึ่งแล้วเสร็จแล้ว ส่วนสัญญา 2 ก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง อาคารชุดตุลาการ 16 หน่วย อาคารชุดธุรการ 36 หน่วย วงเงิน 320 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 การก่อสร้างบ้านพักผู้บริหารศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำนวน 6 หลัง และคอนโดตุลาการ 64 หน่วย เป็นเงิน 340 ล้านบาท สัญญาจะเสร็จสิ้นเดือน มิ.ย.2561
 
สราวุธ ยืนยันว่า การก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้ตัดต้นไม้ทำลายป่า โดยใช้วิธีการขุดย้ายต้นไม้ขนาดใหญ่ปลูกในพื้นที่ทั้งหมด โดยแผนระยะสั้น คือ ไม่มีการตัดต้นไม้และดูแลพื้นที่ให้สมบูรณ์ แผนระยะกลางคือการปลูกป่าเพิ่มเติม 6,400 ต้น ในวันศาลยุติธรรม 21 เม.ย.นี้ และแผนระยะยาวคือการปลูกป่าในแต่ละปี
 
"ส่วนที่ผ่านมาถ้าถามว่าเราเคยรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนหรือไม่ เราไม่ได้ตอบว่าเราทำถูกกฎหมายอย่างเดียว แต่สิ่งที่พี่น้องประชาชนให้ความห่วงใยเราก็พร้อมที่จะรับฟัง และรับข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งจากแผนที่เราดำเนินการอยู่ก็คิดว่ามันจะดีขึ้น และทุกคนจะอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ได้มีปัญหา เพราะเราไม่ได้เข้าไปทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เราต้องการจะอยู่กับสิ่งแวดล้อมและรักษาสิ่งแวดล้อมไว้" โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว
 
ส่วนในฐานะเลขาธิการศาลยุติธรรม ที่เป็นคู่สัญญากับเอกชน ตัวเองไม่เคยปฏิเสธความรับผิดชอบ ซึ่งการก่อสร้างไม่เกี่ยวกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานศาลยุติธรรม ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 98 ส่วนข้อเสนอของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ ศาลยุติธรรม ทหาร และประชาชน ทางศาลพร้อมรับฟัง อีกทั้งรับฟังข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยวันที่ 9 เม.ย.นี้ เวลา 09.30 น. คณะกรรมการศาลยุติธรรมจะประชุมพิจาณาว่าจะมีมติให้ศาลยุติธรรมดำเนินการอย่างไรต่อไป จากนั้นจะนำเรื่องเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเบื้องต้นทั้งคู่ยังไม่มีหนังสือมาถึงศาล แต่ยืนยันปฏิบัติตามคำสั่ง โดยต้องดูพื้นฐานของเหตุและผล
 
"เราทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ผมไม่อยากให้คนมาด่า โจมตีว่าเราพูดแต่แง่กฎหมาย เพราะไม่ได้บุกรุกป่า ขณะนี้ยังไม่ยุติการก่อสร้าง ไม่ได้รับคำสั่งใดๆ หากจะยกเลิกสัญญาอาจมีคดีฟ้องร้องกันได้ ที่ผ่านมารับฟังความเห็นของประชาชน ไม่ได้ต้องการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่การดำเนินการไม่เป็นที่ถูกใจของทุกคน อยู่ๆ จะไปสั่งทุบทำลายไม่ได้ เพราะเป็นทรัพย์สินทางราชการ" สราวุธ ระบุ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยัญพิธีเชือดแพะ: กดขี่ซ้อนกดขี่ภาพสะท้อนสหรัฐอเมริกายึดครองโลกละติน

Posted: 05 Apr 2018 03:53 AM PDT

เปิดตัวหนังสือ 'ยัญพิธีเชือดแพะ' อ่านวรรณกรรมเผด็จการลาตินอเมริกา เผด็จการในสังคมชายเป็นใหญ่บริหารอำนาจผ่านเรื่องเพศ ผู้หญิงเป็นได้เพียงวัตถุ ขณะที่ 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' นำเสนอบทเรียนเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในละตินอเมริกาส่วนใหญ่ไม่ใช่การลุกฮือของประชาชน แต่ทหารเปลี่ยนเอง

3 เม.ย. ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนามร่วมกับสำนักพิมพ์บทจร จัดงานเสวนา "การเมืองกับนวนิยาย: อ่านวรรณกรรมเผด็จการ จากลาตินอเมริกาถึงไทย" พร้อมเปิดตัวหนังสือ ยัญพิธีเชือดแพะ (La fiesta del Chivo) ของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวเปรู มาริโอ บาร์กัส โยซา ร่วมสนทนาโดย เมธาวี โหละสุต คณะศิลปศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชวนสนทนาโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ: ส่วนหนึ่งของรายงานข่าวเปิดเผยเนื้อหาของหนังสือ "ยัญพิธีเชือดแพะ"

000

 

พัฒนาการวรรณกรรมลาตินอเมริกา จากปัจเจกเผด็จการสู่ประสบการณ์ของคนรุ่นพ่อแม่

เมธาวี โหละสุต

เมธาวี โหละสุต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงพัฒนาการวรรณกรรมในลาตินอเมริกาที่ส่วนใหญ่มักเป็นวรรณกรรมที่กล่าวถึงเผด็จการ (The Dictatorship Novel) โดยวรรณกรรมดังกล่าวแบ่งได้เป็นสองยุค ได้แก่ ยุค Boom Generation ช่วงปี 1960s เนื้อหาของวรรณกรรมมักสะท้อนความเป็นเผด็จการผ่านเนื้อหาที่มีตัวแสดง มีลักษณะที่มีความเป็นชายที่ล้นเกิน มีปมปัญหาทางเพศ มีลักษณะทางปัจเจก ตัวอย่างเช่นงานเขียนของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นต้น

ต่อมาเป็นยุค Present Contemporary Dictatorship Experience ช่วงปี 1990s นักเขียนไม่ได้เล่าถึงเผด็จแบบปัจเจกเช่นยุคก่อนหน้า แต่จะใช้ตัวแสดงในเรื่องราวทำหน้าที่สืบสาวประวัติศาสตร์รุ่นพ่อแม่ หรือประสบการณ์เหยื่อที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการ ตัวอย่างเช่น เรื่อง Ways of going Home ของ Alejandro Zambra ที่เล่าถึงประสบการณ์ของคนรุ่นพ่อแม่ที่ถูกกระทำโดยรัฐบาลเผด็จการของอดีตประธานาธิบดี ออกัสโต้ ปิโนเช่ ในชิลี

เมธาวี กล่าวต่อ ว่าสำหรับวรรณกรรมเรื่องยัญพิธีเชือดแพะ ของมาริโอ บาร์กัส โยซา เป็นเนื้อเรื่องที่นำเสนอลักษณะสถานการณ์ร่วมทั้งจากยุค 1960s ถึง 1990s โดยมีตัวละครอย่างอูราเนีย ลูกที่นั่งไถ่ถามสิ่งที่เกิดขึ้นจากพ่อที่มีสภาพเป็น 'ผัก' ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวพ่อของเขาบ้าง ในยุคสมัยการปกครองของราฟาเอ็ล ตรูฆิโยแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน ทั้งนี้ เมธาวี ได้ทิ้งคำถามสำหรับช่วงแรกนี้ไว้ว่า การกลับไปเผชิญหน้ากับอดีต ถือว่าเป็นการกลับไปเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดซ้ำหรือไม่ ?

เผด็จการในสังคมชายเป็นใหญ่ การกดขี่ซ้อนกดขี่เมื่ออเมริกายึดครองโดมินิกัน ผู้หญิงเป็นได้เพียงวัตถุ

สุธิดา วิมุตติโกศล

สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่านวนิยายเรื่องนี้ เป็นทั้ง Dictator novel หรือ นวนิยายผู้เผด็จการ และ นิยายประวัติศาสตร์ผสมกับเรื่องแต่ง ส่วนที่เป็นเรื่องแต่งผู้เขียนได้สร้างตัวละครผู้หญิงที่เป็นคนเริ่มเรื่องและจบเรื่องคือ อูราเนีย โดยนวนิยายเรื่องนี้มี 3 เรื่องเล่าสลับกันไป คือเรื่องของอูราเนีย ตรูฆิโยซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการของสาธารณรัฐโดมินิกัน และกลุ่มผู้ก่อการผู้ลงทัณฑ์ตรูฆิโย

"ในเรื่องมีทั้งความเป็นนวนิยายประวัติศาสตร์ และเล่นกับความเป็นไปได้ของประวัติศาสตร์ ล้อเล่นระหว่างเส้นแบ่งเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง คนเขียนผลักความเป็นไปได้ของกรอบประวัติศาสตร์ออกไปจนกระทั่งอีกนิดเดียวเราจะรู้แล้วว่าไม่จริง" สุธิดากล่าว

สุธิดาชี้ว่า พลังอำนาจทางการเมืองของเผด็จการไม่เคยแยกขาดจากอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ ในหนังสือเรื่องนี้ก็แสดงชัดเจนมาก เผด็จการในเรื่องคือ ตรูฆิโย ถูกเรียกว่าเป็น 'แพะหื่น' บริหารอำนาจของตัวเองผ่านทางเรื่องเพศด้วย เช่น เอาเมียของลูกน้องมาเป็นของตัวเองเพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดี ขณะเดียวกันชาวบ้านทั้งหลายก็เอาลูกเมียมาบรรณาการเพื่อแสดงความจงรักภักดี

หนังสือเล่มนี้จึงมีความเป็น Machismo หรือ การแสดงความเป็นชายอย่างล้นเกิน และมีส่วนประกอบเช่น ผู้ชายต้องหาเลี้ยงเมีย รวมทั้งแรงปรารถนาทางเพศอย่างมากมายล้นเกิน แสดงออกผ่านทางตรูฆิโย ผู้นำเผด็จการ ซึ่งในที่สุดโดนลอบสังหาร

"สิ่งที่ผู้เขียนทำซึ่งเป็นการแก้แค้นเชิงวรรณศิลป์ คือเอาประเด็นเรื่องเพศที่แสนภูมิใจมาฆ่าตรูฆิโย เอาเรื่องการมีปัญหากับลูกอัณฑะซึ่งเป็นความจริงทางประวัติศาสตร์มาโยงกับสมรรถภาพทางเพศ ฉากสำคัญคือเขาพยายามจะทำอะไรกับอูราเนีย มันมีภาพคู่ขนานระหว่างผู้นำเผด็จการที่อยู่ในช่วงชาลงเต็มที่ ส่วนหนึ่งแกอยู่กับสภาวะ insecure (ไม่ปลอดภัย) ตลอดเวลาจึงคิดจะทดสอบลูกน้องอยู่ตลอด กับสิ่งที่แกอยากระบายออกคืออยากพิสูจน์ความเป็นชายของตัวเอง แต่แกทำไม่ได้เพราะอวัยวะเพศไม่แข็ง แสดงให้เห็นว่า ตรูฆิโยควบคุมคนเป็นล้านๆ คนมาตลอด 30 ปี แต่ก็มาถึงจุดที่แม้แต่ร่างกายตัวเองยังคุมไม่ได้ อูราเนีย เป็นเด็กผู้หญิง ไม่มีอะไรทีต่อสู้ตรูฆิโยได้เลย แต่เมื่อมาอยู่ซึ่งหน้าตรูฆิโยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพราะตัวเขาเอง ตรูฆิโยจึงตายในเชิงสัญลักษณ์ ทั้งเรื่องความเป็นชายและความเป็นผู้นำทำงานกับอำนาจของผู้นำเผด็จการ แสดงให้เห็นโครงสร้างทางสังคมที่วางอยู่บนอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่" สุธิดากล่าว

สุธิดาเห็นว่าในหนังสือมีทั้งมิติภายในบริบทของโดมินิกัน กับอีกมิติคือความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอเมริกา

มิติภายใน มีวัฒนธรรมแบบ Homosociality หมายถึงการรวมกลุ่มและเข้าสังคมของคนเพศสถานะเดียวกัน ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม ความสัมพันธ์ตูคีโยกับลูกน้อง วางอยู่กับการเอาผู้หญิงเป็นเครื่องบรรณาการ ระบบความสัมพันธ์วางอยู่บนความต้องการระหว่างผู้ชายกับผู้ชายด้วยกัน ลูกน้องผู้ชายต้องการได้รับการยอมรับจากเจ้านายผู้ชาย และความสัมพันธ์แบบผู้ชาย-ผู้ชายจะเกิดได้ผ่านการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือ มีการดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ผ่านการแลกเปลี่ยน 'วัตถุ' เหล่านี้ สถานการณ์แบบนี้ผู้หญิงเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก 'วัตถุ'

มิติความสัมพันธ์กับอเมริกา ตามบริบทในประวัติศาสตร์ อเมริกาเข้าไปยึดครองโดมินิกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผู้ชายที่อยู่ในโดมินิกันจึงถูกทำให้ไม่เป็นชาย สภาวะเหล่านี้ผู้ชายจึงมีปัญหา ยิ่งโดยเฉพาะสังคมลาตินอเมริกาที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นชายอย่างมาก ตรูฆิโยพยายามกู้ความเป็นชายผ่านการเข้าโรงเรียนคล้ายๆ โรงเรียนเตรียมทหารของบ้านเรา แต่คนฝึกคือนาวิกโยธินของอเมริกา ดังนั้นด้านหนึ่งตรูฆิโยเป็นผลผลิตจากอเมริกา สถานการณ์ที่ผู้ชายโดนกด ทำให้ผู้ชายไม่รู้จะบริหารอำนาจตัวเองอย่างไรก็ไปลงที่ผู้หญิง และวิธีการที่จะใส่ร้ายป้ายสีคนที่เกลียด ถ้าไม่ทำให้เป็นพวกวิตถาร บ้ากาม ก็ทำให้เป็นตุ๊ดเป็นเกย์ กล่าวหาชายอเมริกันว่าเป็นเกย์

มิติอำนาจทางการเมืองกับอำนาจทางเพศจึงทำงานกลืนเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีส่วนไหนเลยที่แยกกันได้ ประเด็นอเมริกากับโดมินิกันก็ไม่พ้นไปจากประเด็นทางเพศ เราอาจมองวัฒนธรรมแบบ Machismo เป็นผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการกดขี่ผู้หญิง ด้วยวาทกรรมที่ปรากฏให้เห็นในสื่อกระแสหลักซึ่งเป็นผลผลิตของประเพณี วัฒนธรรมแบบนี้ แต่เราอาจลืมพูดถึงพลังภายนอกที่มากดขี่ผู้ชายอีกที ที่ทำให้ผู้ชายเหล่านี้ต้องมากดขี่ผู้หญิง

 

เผด็จการทหารแบบลาตินฯ เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแลกกับการนิรโทษกรรม ใช้เวลานาน แต่คนตายน้อยกว่า

ปิยบุตร แสงกนกกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ

ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ชอบที่สุด เขายังอธิบายบริบทในหนังสือว่า ถ้าดูปีที่ตรูฆิโยขึ้นมา ในช่วงศตวรรษ 60-70 ตรงกับบริบทในยุคสงครามเย็น อเมริกาเริ่มเข้ามาแทรกแซงลาตินอเมริกาเพื่อป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ อเมริกาจึงสนับสนุนเผด็จการในประเทศเหล่านี้ ซึ่งในเวลานั้นเหลืออยู่เพียง 2 ประเทศที่ไม่เป็นเผด็จการ คือ คอสตาริกา และเวเนซุเอลา ในยุคนั้นของไทยเองก็เป็นช่วงเผด็จการเหมือนกัน นิสัยของเผด็จการในแต่ละที่ก็คล้ายกัน เมื่อดูลักษณะการเมืองของลาตินอเมริกากับไทย ลาตินอเมริกาเกิดรัฐประหารบ่อยมาก แต่ก็ยังสู้ไทยไม่ได้ ลาตินอเมริกาเมื่อมีเผด็จการทหารมาก็อยู่ยาวไป 20-30 ปี

"ปัจจัยทางการเมืองอันหนึ่งคือความคิดแบบประชานิยมฝังในสังคมลาติน ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายการเมืองแบบใดก็รับอิทธิพลการเมืองแบบนี้ไป อิทธิพลของศาสนาคริสต์คาทอลิกก็มีส่วนสำคัญ ลาตินอเมริกาแม้จะเป็นคนหัวก้าวหน้าแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ยอมให้ผู้หญิงทำแท้ง แต่ขณะเดียวกันอิทธิพลทางศาสนามักจะเป็นแกนนำสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศในแถบลาตินอเมริกาไปสู่ประชาธิปไตย" ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรชี้ว่า สาเหตุที่เผด็จการในลาตินอเมริกาอยู่ยาวเป็นเพราะ หนึ่งมีอเมริกาหนุนหลัง สองมีความขัดแย้งยาวนาน ทหารจึงโผล่มากำจัดความขัดแย้ง ใช้เหตุผลเหล่านี้อยู่ยาวมาเรื่อยๆ รัฐทหารและรัฐราชการจึงฝังลึกในลาตินอเมริกา

ดูจากสถิติพบว่าประเทศที่เผด็จการโหดที่สุด คืออาร์เจนติน่า ในปี 1976-1983 มีคนเสียชีวิต 30,000 คน ลี้ภัย 500,000 คน ติดคุก 30,000 คน ขณะที่ประชากรมีแค่ 32 ล้านคน

เผด็จการที่โหดน้อยที่สุดคือบราซิล ในปี 1964-1985 มีคนเสียชีวิต 300-400 คน ลี้ภัย 10,000 คน ติดคุก 2,500 คน จากจำนวนประชากร 144,000,000 คน

ส่วนชิลี ในปี 1973-1989 มีคนเสียชีวิต 3,000-5,000 คน ลี้ภัย 40,000 คน ติดคุก 60,000 คน ประชากร 13 ล้าน

ปิยบุตรให้เหตุผลว่า สาเหตุที่บราซิลโหดน้อยสุด เพราะมีศาลเป็นเครื่องมือ ส่วนอาร์เจนติน่าศาลไม่ได้เชียร์ทหารทำให้รัฐเผด็จการต้องลงไปปราบด้วยตัวเอง

เขาชี้ว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย เผด็จการทหารอยู่ยาวมากเวลาจะแกะออกจะแกะยาก เวลาจะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยหลักๆ มีอยู่สองแบบคือ ทหารเปลี่ยนเอง กับถูกโค่นล้ม แต่ในลาตินอเมริกาไม่มีประเทศไหนเลยที่ทหารถูกโค่นล้มได้ แต่เป็นทหารออกได้ด้วยตัวเอง มีหลายแบบ คือ ทหารต้านกระแสต่อต้านไม่ไหวจึงค่อยๆ เปิดพื้นที่ ลงมาเล่นการเมืองเอง แบ่งอำนาจกับพรรคการเมือง ได้แก่ บราซิล อุรกวัย หรือ ทหารมองว่าไปต่อไม่ได้เปิดเจรจากับนักการเมือง ได้แก่ ชิลี เม็กซิโก หรืออีกแบบคือเกิดวิกฤตทางการเมืองจึงยอมออกเอง ได้แก่ อาร์เจนติน่า หรือมีความขัดแย้งกันภายในชาติระหว่างรัฐบาลทหารกับสงครามกองโจรต้องตั้งโต๊ะเจรจา ได้แก่ ประเทศในแถบอเมริกากลาง เช่น กัวเตมาลา นิการากัว เอวกวาดอร์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านของลาตินอเมริกาไปสู่ประชาธิปไตยไม่มีการลุกฮือของประชาชน เพราะโดนยิงหรือติดคุกหมด

ปิยบุตรมองว่าการเปลี่ยนผ่านที่สมบูรณ์คือทหารออกไปจากการเมือง มีเลือกตั้งตามมาตรฐาน มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้มาตรฐานเสรีประชาธิปไตย มีการประกันสิทธิเสรีภาพ มีกระบวนการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านไปดำเนินคดีย้อนหลังเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการเลือกตั้งตามวาระ สลับข้างกันเป็นรัฐบาล แต่ของลาตินอเมริกาทหารไม่เคยแพ้ เวลาเปลี่ยนผ่านจึงใช้เวลานานมาก กว่าจะให้ทหารออกไปจนหมดต้องอดทน ใช้เวลาเป็นสิบยี่สิบกว่าจะได้ครบสมบูรณ์ จึงเปลี่ยนช้า ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้เต็มร้อย แต่ผลดีคือช่วงการเปลี่ยนผ่านอาจมีคนตายน้อยหน่อย

ปิยบุตรยกตัวอย่างประเทศในลาตินอเมริกากับช่วงเปลี่ยนผ่าน 3 แบบ ได้แก่ บราซิล อาร์เจนติน่า ชิลี

บราซิล เป็นประชาธิปไตยมาก่อนแล้วเกิดรัฐประหารในปี 1964 นายพลสลับกันขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี โจเอล ฟิกเกเรโร่ (João Figueiredo) เผด็จการทหารช่วงนี้ประเมินแล้วอยากเปิดพื้นที่ให้การเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่เผด็จการทหารควบคุมได้ เลือกแล้วต้องได้พวกเขากลับมาอีก เพราะฉะนั้นเขาจึงออกแบบกติกาการเลือกตั้งให้พรรคทหารได้เปรียบ มีพรรคการเมืองขึ้นมาสองพรรคทั้งสองพรรคนั้นอยู่ฝั่งทหารทั้งคู่ เป็นพรรคตัวแทนทหาร ฝายค้านก็ค้านพอหอปากหอมคอแต่ไม่ถึงขั้นล้ม ทหารจึงไม่มีวันออกจากการเลือกตั้ง

เมื่อพื้นที่ทางการเมืองเริ่มเปิด มีคนไม่เชียร์ทหารเกิดขึ้น เริ่มประท้วง สหภาพแรงงานตั้งพรรค สุดท้ายได้เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันปัญญาชนในมหาลัย ฝ่ายเสรีนิยม ก็ผนึกกำลัง เข้าไปรณรงค์ หาวิธีการขจัดทหาร เช่น วิธีการให้ประชาชนได้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง สำเร็จในปี 1975 และเริ่มเดินหน้าทำรัฐธรรมนูญจนสำเร็จในปี 1988 จึงกลับมาสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ส่วนเรื่องที่ทหารยอมออกไปได้อย่างไรนั้นต้องแลกเปลี่ยนกัน เผด็จการทหารขอนิรโทษกรรม ไม่งั้นก็ไม่ออก จึงต้องมีการนิรโทษกรรม

อาร์เจนตินา เผด็จการทหาร โหดร้ายมาก ขึ้นมาล้มพรรคประชานิยม ทหารครองอำนาจนานไปแต่พังเพราะสงครามโดยการไปรบกับหมู่เกาะอังกฤษ พอแพ้แล้วไปต่อไม่ได้จึงยอมลงจากอำนาจในปี 1983 และให้มีการเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งมาได้พรรคจากฝ่ายซ้ายขึ้นมาแทน ได้แถลงว่าต้องจัดการกับเผด็จการทหาร แต่ในความเป็นจริงแม้พยายามทำเต็มที่ สุดท้ายนำทหารมาดำเนินคดีได้เพียง 9 คน สาเหตุเพราะต้องเคลียร์กับทหารก่อนเพื่อให้ได้เลือกตั้ง จึงมีการออกกฎหมายฟูลสต็อป นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ออกเริ่มดำเนินคดีภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นยุติ ประชาชนก็ออกมาประท้วง

การเลือกตั้งครั้งต่อไป ต้องเกี้ยเซี๊ยะกับทหาร จึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมทหารทั้งหมด เพราะกลัวจะโดนรัฐประหารอีกรอบ พอรัฐบาลพลเรือนเริ่มปักหลักมั่นคง มีกลุ่มแม่ออกมาประท้วงหนัก เพราะมีลูกโดนทารุณ อุ้มหาย ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นโมฆะ เท่ากับไม่มีการนิรโทษกรรม จึงมีการฟ้องคดีใหม่ ทหารติดคุกใหม่ แต่ก็มีทหารบางส่วนที่ตายไปแล้ว

ชิลี ประธานาธิบดีคนแรกของพรรคสังคมนิยมขึ้นมายิ่งใหญ่ สุดท้ายโดนรัฐประหารซึ่งสนับสนุนโดยอเมริกาในปี 1973 นายพลปิโนเช่ขึ้นมาแทน 7 ปีแรกไม่มีรัฐธรรมนูญ ใช้คำสั่งของปิโนเช่อย่างเดียว จนปิโนเช่ทำรัฐธรรมนูญของตัวเองขึ้นมา สถาปนาองค์กรตัวเองในรัฐธรรมนูญ จัดการนิรโทษกรรมสิ่งที่ตัวเองทำทั้งหมด ปิโนเช่บอกจะอยู่ไปเรื่อยๆ แต่เมื่อครบวาระเขาคิดว่าจะได้อยู่ต่อแน่ๆ จึงไปทำประชามติ แต่ปรากฏว่าแพ้เพราะทุกพรรคการเมืองตัดสินใจรวมพลังเพื่อโหวตโนไม่เอาปิโนเช่ เกิดการต่อรองกับพรรคการเมืองต่างๆ ปิโนเช่ยอมออกแต่เงื่อนไขคือ หนึ่ง ต้องนิรโทษกรรม ห้ามดำเนินคดี สอง อำนาจของคณะความมั่นคงแห่งชาติยังมีบทบาทชี้เป็นชี้ตาย สามต้องตั้งปีโนเช่เป็นสมาชิกวุฒิสภาตลอดชีพ ปิโนเช่ล้มลงเพราะตาย หลังจากนั้นกลไกรัฐจึงค่อยๆ เปลี่ยน

สรุปว่าการเปลี่ยนผ่านของลาตินอเมริกานั้นใช้เวลานาน ทหารอยู่นานมาก ประชาชนรวมพลังลุกฮือต่อต้านเสี่ยงโดนยิงตาย จึงมียอดคนตายจำนวนอยู่ เหลืออีกวิธีคือประชาชนรวมตัวเป็นภาคประชาสังคม (Civil Society) พรรคการเมืองทุกพรรคผนึกกำลัง ต่อต้านทหาร เพราะสาเหตุที่ทหารขึ้นมาได้เพราะแต่ละฝ่ายทะเลาะกัน

ไอเดียการเปลี่ยนผ่านของลาตินอเมริกากลายเป็นโมเดลที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นประชาธิปไตยได้ไม่หมด ต้องแลกกับบางอย่าง ไม่งั้นทหารก็ไม่ยอมลง และจะอยู่ไปเรื่อยๆ และมีกลไกคุมอำนาจของทหารฝังอยู่ มีแค่การรวมพลังค่อยๆขยับ และอดทนอีกอึดใจใหญ่ถึงจะสามารถมาเช็คบิลทีหลังได้ แต่กว่าจะเริ่มต้นได้เผด็จการทหารก็ทยอยตาย

 

ช่วงตอบคำถามแลกเปลี่ยนความเห็น

ในช่วงแลกเปลี่ยนและถามตอบของแสวนา ผู้เข้าร่วมได้ถามปิยบุตร ว่าที่ผ่านมายังไม่เคยการลุกฮือทางสังคมถึงขั้นที่สามารถล้มรัฐบาลทหารได้หรือ ? ทำไมเราถึงคิดว่าการปฏิวัติปี 1979 ที่นิคารากัวเป็นการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่สำเร็จ

ปิยบุตร ได้ตอบคำถามดังกล่าว ตนมองว่าสิ่งที่ได้มามันก็ไม่ได้เต็มร้อยอีก เท่าที่รับทราบ ประเทศในโซนแคริบเบียนมักจะมีปัญหากับสหรัฐโดยส่วนใหญ่เพราะสหรัฐฯจะคอยควบคุม จึงเป็นเงื่อนไขที่ต้องจำยอมบางอย่างจากที่สหรัฐฯวางไว้ หากยืดตามเสียงเรียกร้องของประชาชนจริงคงไม่มีใครยอม เพราะปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศเข้ามากำกับ

"พอคิดถึงระดับทั้งโลก เอาเข้าจริง เวลาเราเชื่อในแนวคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบใด สุดท้ายถ้าจะเอาให้ได้หมดคือต้องปฏิวัติทั้งโลก อย่างในแถบละตินอเมริกามันขึ้นมาพร้อมกันได้แต่สุดท้ายมันก็ล้มลงทุกที" ปิยบุตร กล่าว

ทั้งยังมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่เมธาวีพูดเรื่องเผด็จการในวรรณกรรมว่าเป็นเรื่องที่ผู้ชายเขาคุยกัน โดยผู้เข้าร่วมมองว่าสังคมการเมืองละตินอเมริกาเองมีความคล้ายกับสังคมการเมืองไทยอยู่บ้าง ดังเห็นได้จากการที่มีนักเขียนวรรณกรรมไทยจำนวนหนึ่งอาศัยฉากละตินอเมริกาเพื่อที่จะกล่าวถึงสังคมไทย โดยเรียกว่า ไพรัชนิยาย ซึ่งมีเนื้อหาลวงคนอ่านจำนวนหนึ่งว่าเป็นเรื่องรักในละตินอเมริกา ขณะที่คนอ่านจำนวนหนึ่งเห็นว่าเป็นการกล่าวถึงเมืองไทย เช่นงานวรรณกรรมของ เสนีย์ เสาวพงษ์ ก็เป็นคนเขียนที่เป็นผู้ชาย สำหรับสังคมไทยเองนั้น ในหนังสือพิมพ์เก่าเมื่อ พ.ศ.2490 มีเรื่องราวหลายเรื่องที่ยกฉากในละตินอเมริกันเพื่อวิจารณณืรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม คนเขียนมักใช้นามแฝงจึงไม่แน่ใจว่าผู้เขียนเป็นเพศใด

"สำหรับกรณีตรูฆิโย(ตัวละครที่ปรากฏในยัญพิธีเชือดแพะ) ทำให้นึกถึงนักเขียนหญิงชาวไทยที่เคยเขียนถึงตรูฆิโยด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าจะกล่าวถึงเรื่องรักหรือการวิจารณ์ทางการเมืองเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คืองานเขียนของ เสาวภาค สุวรรณ ชื่อเรื่อง คลื่นใต้น้ำ ถ้านำเรื่องนี้ไปเทียบกับยัญพิธีเชือดแพะอาจทำให้เราได้มุมมองว่านักเขียนผู้หญิงเองนั้น มองเผด็จการในต่างแดนอย่างไร และเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยหรือไม่" ผู้เข้าร่วม กล่าว

ปิยบุตร ยังได้กล่าวถึงความคล้ายระหว่างเรื่องยัญพิธีเชือดแพะกับสังคมการเมืองไทย ถึงกรณีการเมืองไทยที่พบว่าเคยมีการนำลูกสาวไปมอบให้กับผู้นำทางการเมือง ว่าตนเคยฟังสัมภาษณ์ของคุณอมรา อัศวนนท์ ทางโทรทัศน์ ว่าครั้งหนึ่ง หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์) เคยบังคับให้เธอแต่งงานกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัช โดยมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิดาของเธอกับจอมพลสฤษดิ์ เข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมได้ถามปิยบุตร เกี่ยวกับสถาบันทางการเมือง พรรคการเมือง ศาล มีส่วนก่อให้เกิดอำนาจเผด็จการหรือไม่ โดยเฉพาะบทบาทของศาลในประเทศบราซิลที่ถูกมองมีความรุนแรงน้อยที่สุด โดยปิยบุตร ได้ตอบถึงกรณีของบราซิล ว่าเขามีความพยามในการเข้าไปปรับโครงสร้างทางการเมือง ทำให้ศาลคล้อยตามรัฐบาลไปด้วย ในส่วนของชิลี ปิโนเช่ไม่ได้ไปแตะต้องอะไรศาล เพียงแต่ศาลแสดงความเงียบเฉยในฐานะมืออาชีพและแสดงออกความเป็นกลางทางการเมือง ตลอดจนการฮิบายตัวเองของศาลว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ปกครองก็ให้ถือเป็นไปตามนั้น ซึ่งก็มีการกลับลำกันภายหลังเมื่อรัฐบาลปิโนเช่ล่มสลาย

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับนิยายว่ามีการกล่าวถึงสถาบันทหารมีความรู้สึกที่ส่งผลต่อสถาบันทหารในโดมินิกันหรือไม่นั้น เมธาวี กล่าวว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อความนึกคิดทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นเรื่องสถาบัน ขณะที่ สุธิดา มองว่าสิ่งที่ตรูฆิโยทำ แสดงให้เห็นว่าตรูฆิโยสถาปนาตัวเองประหนึ่งดังพระเจ้า โดยผู้คนรอบตัวต้องศรัทธาต่อเขา เป็นผู้มอบทั้งความรักและความกลัวแก่ผู้อยู่ใต้อำนาจ มีการทดสอบความจงรักภักดีของประชาชนด้วยการเผาบ้าน ราวกับว่าตัวของตรูฆิโยมีความเป็นลัทธิทางความเชื่อ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิพลเมืองอเมริกัน เรียกร้องคุ้มครองข้อมูลผู้ใช้งานหลังกรณีเฟซบุ๊ค-เคมบริดจ์อนาไลติกา

Posted: 05 Apr 2018 03:40 AM PDT

หลังจากกรณีที่เฟซบุ๊คถูกเปิดโปงเรื่องส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานให้กับเคมบริดจ์อนาไลติกาก็ทำให้เกิดความกังวลต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว เรื่องนี้ทำให้กลุ่มเสรีภาพพลเมืองและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ เรียกร้องให้บริษัทไอทีเหล่านี้มีความรับผิดชอบมากขึ้นในการนำข้อมูลของประชาชนไปหาผลกำไร และมีข้อเสนอเรื่องการคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้ 5 ข้อ

 

องค์กรด้านสิทธิพลเมืองหลายกลุ่มในสหรัฐฯ เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ใหม่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้บริษัทไอทีทุกบริษัทคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้มากขึ้นไม่ให้ถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง และให้มีการสร้างเว็บในแบบที่สามารถ "ต้านทานการสอดแนมได้"

อีแวน เกรียร์ รองผู้อำนวยการขององค์กรไฟต์ฟอร์เดอะฟิวเจอร์แถลงว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของอินเทอร์เน็ต จากการที่มีผู้คนจำนวนมากเริ่มเข้าใจแล้วว่าข้อมูลของพวกเขา "ถูกนำไปใช้เป็นอาวุธ" และ "ถูกนำมาใช้ทำลายพวกเขาเอง" อย่างไรบ้าง นั่นทำให้ประชาชนเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

เกรียร์กล่าวอีกว่ากรณีเคมบริดจ์อนาไลติกานั้นเป็นแค่ปัญหาระดับ "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" ที่เห็นได้ชัดเจนแต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำ ปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวนี้ไม่ได้เริ่มต้นหรือจบลงแค่ที่เฟซบุ๊ค ถ้าหากพวกบริษัทไอทีใหญ่ๆ ออกมาปฏิบัติตามแนวทางที่จะให้ความปลอดภัยทางข้อมูลแก่ผู้ใช้งานก็จะทำให้อนาคตของมนุษยชาติสว่างไสวขึ้น

กลุ่มองค์กรสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ ที่ออกมาร่วมเรียกร้องในครั้งนี้ประกอบด้วยสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน, องค์กรฟรีเพรส, องค์กรดีมานด์โปรเกรส, คัลเลอร์ออฟเชนจ์ และองค์กรอื่นๆ ที่เรียกร้องให้องค์กรไอทียักษ์ใหญ่ทำตามข้อตกลงที่เรียกว่า "สัตย์ปฏิญาณเรื่องความปลอดภัย" ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้คือ

ประเด็นแรก เรียกร้องให้มี "ความโปร่งใสอย่างจริงจัง" โดยการให้ผู้ใช้งานสามารถ "เข้าถึงและควบคุมข้อมูลของพวกเขาเองได้"

ประเด็นที่สอง คือการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้โดยการเข้ารหัสข้อมูลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (end-to-end encryption) เพื่อป้องกันการสอดแนมจากบรรษัทและรัฐบาล

ประเด็นที่สาม คือการหยุดเก็บและกักตุนข้อมูลที่ "ไม่จำเป็นต่อผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจของพวกคุณ"

ประเด็นที่สี่ คือควรให้มีการคุ้มครองข้อมูลของทุกชุมชนโดยเท่าเทียมกันและหยุดการเก็บข้อมูล "ที่เสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด" เช่น ช้อมูลเกี่ยวสถานะผู้ลี้ภัยและแนวคิดทางการเมือง

ประเด็นที่ห้า คือสนับสนุนให้มี "กฎหมายที่ระบุให้ต้องมีหมายค้นก่อนรัฐบาลถึงจะเรียกขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้งานได้" รวมถึงให้มีการ "ปฏิรูปการสอดแนมประชาชนแบบเหวี่ยงแหตีขลุม"

เดวิด ซีกัล ผู้อำนวยการบริหารของดีมานด์โปรเกรสแถลงว่าการโต้ตอบในระยะยาวของบริษัทไอทีในกรณีเฟซบุ๊ค-เคมบริดจ์อนาไลติกาจะเป็นตัวชี้วัดว่าอินเทอร์เน็ตจะถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ดีขึ้นหรือไม่ หรือจะถูกใช้ล้วงข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวและถูกชักใยเพื่อให้เกิดผลทางบวกต่อบรรษัทยักษ์ใหญ่กับถูกรัฐบาลนำไปใช้ควบคุมทางสังคมต่อไป

ซีกัลบอกว่าต้องคอยดูกันต่อไปว่าผู้ให้บริการพื้นที่ไอทีใหญ่ๆ จะกลายเป็นผู้บุกเบิกดินแดนอุดมคติแห่งโลกอินเทอร์เน็ตหรือจะละเลยผลประโยชน์ของประชาชนแล้วทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่จะให้ประโยชน์กับเอกชน

เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงในหน้าสื่อต่างประเทศจำนวนมากเกี่ยวกับกรณีที่เฟสบุ๊คส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 50 ล้านรายให้บริษัทเคมบริดจ์อนาไลติกาซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2559 

แต่กลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิความเป็นส่วนตัวต่างก็เน้นย้ำว่ากรณีแบบนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เฟซบุ๊คเท่านั้นบริษัทไอทีอื่นๆ ก็นำข้อมูลส่วนตัวของผู้คนไปใช้อาประโยชน์แบบนี้ได้เช่นกัน

นีมา สิงห์ กิวลือานี ที่ปรึกษาด้านนิติบัญญัติของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันกล่าวว่าบริษัทไอทีทั้งหลายควรจะหยุดการแทรกซึมข้อมูลและใช้ข้อมูลของผู้รับบริการอย่างไร้ความรับผิดชอบได้แล้ว และควรจะมีการคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้งานไม่ให้ถูกนำไปใช้ในเชิงกีดกันเลือกปฏิบัติ รวมถึงให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมได้ว่าจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง

 

เรียบเรียงจาก

As Facebook Scrutiny Grows, New Campaign Demands Tech Giants Pledge to Build 'Surveillance-Resistant Web', 02-04-2018

https://www.commondreams.org/news/2018/04/02/facebook-scrutiny-grows-new-campaign-demands-tech-giants-pledge-build-surveillance

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอ เสนอ 'เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน' หนุนระบบไฟฟ้าอนาคตต้องสะอาด-ต้นทุนต่ำ-มีส่วนร่วม

Posted: 05 Apr 2018 03:05 AM PDT

ทีดีอาร์ไอ เผยวิจัย 'เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน' จะเป็นหัวใจสำคัญของระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต เสริมพลังงานหมุนเวียนให้ผลิตไฟฟ้าได้สม่ำเสมอคงที่เทียบเท่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะมีบทบาทลดลง คาดการณ์อนาคตหากใช้ควบคู่กับพลังงานแสงอาทิตย์ จะเกิดความคุ้มค่า ภายในระยะเวลา 5-10 ปีหลังจากนี้ 
 
5 เม.ย.2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รายงานว่า ในงานเสวนา "ทางเลือกพลังงานไฟฟ้าไทย ถ้าไม่พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" จัดโดย ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษา "เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานและระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต" ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติสูงกว่าแหล่งอื่น ภาครัฐจึงมีความพยายามกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า  ตามแผนการผลิตไฟฟ้าในอนาคต (PDP 2015) มุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และถ่านหิน ตั้งแต่ปี 2558 – 2579 แต่การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) กำลังเป็นทางเลือกที่ทั่วโลกลดการพึ่งพาลงเรื่อย ๆ ผนวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งจากผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทย ส่งผลให้การทำตามแผนเป็นไปได้ยาก และต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นแทน
ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ
 
ดร.วิชสิณี ระบุว่า ระบบไฟฟ้าไทย จึงต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตที่มี "ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage – ESS)" เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้ระบบไฟฟ้าที่สะอาด ประชาชนมีส่วนร่วม และต้นทุนต่ำ
 
ประการแรก ระบบกักเก็บพลังงานจะเสริมให้ระบบไฟฟ้ายุคใหม่เป็นระบบไฟฟ้าที่ "สะอาด"  เพราะพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีความผันผวน อาจไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังในช่วงที่มีความต้องการสูง การนำระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาช่วยการผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะลมและแสงอาทิตย์ จะช่วยลดความผันผวนและเพิ่มมูลค่าให้กับพลังงานหมุนเวียนได้ โดยผลวิจัยพบว่า หากนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้คู่กับระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มีอยู่แล้วในระบบ เพื่อให้มีความสม่ำเสมอและคงที่เทียบเท่ากับเชื้อเพลิงฟอสซิล จะสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มเติมได้ โดยผลประหยัดตลอดระยะเวลา 10 ปี จะมีมูลค่าประมาณ 8,574 บาทต่อ 1kWh ของระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเมื่อเทียบกับแนวโน้มต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ลิเทียมแล้ว การใช้งานในลักษณะดังกล่าวจะมีความคุ้มค่าภายในระยะเวลา 2-5 ปีจากนี้
 
ประการที่สอง ระบบกักเก็บพลังงานจะเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคธุรกิจและประชาชนสามารถ "มีส่วนร่วม" ในการบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่ โดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานควบคู่กับเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (เช่น rooftop PV)  และเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ (IoT) จะช่วยให้ชุมชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากเหลือก็อาจขายให้กันหรือสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น สามารถจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารหรือชุมชน (demand-side management) เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากโครงข่ายหลัก ลดการสูญเสียจากการส่งไฟฟ้า และเพิ่มความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าในชุมชนได้
 
ประการสุดท้าย ระบบกักเก็บพลังงานจะเสริมให้ระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตมีประสิทธิภาพสูงและ "ต้นทุนต่ำ" โดยระบบกักเก็บพลังงานจะช่วยเพิ่มความพึ่งพาได้ของพลังงานหมุนเวียน ลดต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. นอกจากนี้ยังสามารถเก็บไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการต่ำ (ต้นทุนต่ำ) ไว้ใช้ในช่วงที่มีความต้องการสูง (ต้นทุนสูง) จึงช่วยลดต้นทุนของ กฟผ. ในการจัดหาไฟฟ้าโดยรวม และสุดท้าย ระบบกักเก็บพลังงานที่ติดตั้งในระบบสายส่งไฟฟ้า ยังช่วยลดความแออัดของสายส่ง จึงช่วยชะลอการลงทุนขยายสายส่งและสายจำหน่ายได้
 
โดยสรุป ระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตซึ่งมีระบบกักเก็บพลังงานเป็นหัวใจสำคัญ จะช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ดูแลระบบไฟฟ้า (การไฟฟ้าทั้งสามแห่ง) เพราะทำให้การจัดหาไฟฟ้า การรักษาเสถียรภาพและการบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้ามีประสิทธิภาพขึ้น อันจะนำไปสู่ค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงจนเกินไปในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้ไฟฟ้า/ชุมชนและธุรกิจ ก็จะได้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงขึ้น ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการในระบบไฟฟ้า
 
จากการประเมินของคณะผู้วิจัย เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานที่มีศักยภาพทางการตลาดสูงคือเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Lithium-ion ซึ่งมีแนวโน้มต้นทุนที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการพัฒนาตลาด consumer electronics เช่น มือถือ กล้องถ่ายรูป แล็ปท็อป และยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ แบตเตอรี่ Lithium-ion ยังมีคุณสมบัติที่หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้งานได้หลายรูปแบบอีกด้วย
 
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากต้นทุนยังสูงเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ โดยประโยชน์ส่วนใหญ่ของระบบกักเก็บพลังงานจะอยู่ในรูปของการลดต้นทุนในการให้บริการต่าง ๆ เนื่องจากกติกาในระบบไฟฟ้าปัจจุบัน ยังไม่รองรับให้ระบบกักเก็บพลังงานมีส่วนร่วมให้บริการเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม
 
อย่างไรก็ดีแนวโน้มการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน ในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย จะเริ่มคุ้มค่าในอีกไม่ช้า ดังนั้นเพื่อให้ "เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน" หนุนระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตได้อย่างแท้จริง ภาครัฐควรพิจารณาบทบาทของเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ ในแผนพลังงานระยะยาวของประเทศ พร้อมปรับกติกาของกิจการไฟฟ้า เปิดโอกาสให้กับเทคโนโลยีพลังงานเหล่านี้ เข้ามามีส่วนร่วมให้บริการ เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ระบบไฟฟ้าของประเทศ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ เผยเวียดนามปราบผู้เห็นต่าง คุมขังนักโทษทางความคิดเกือบ 100 คน

Posted: 05 Apr 2018 02:46 AM PDT

แอมเนสตี้ฯ ออกงานวิจัยเผยเวียดนามคุมขังนักโทษทางความคิดอย่างน้อย 97 คน หลายคนถูกห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก คุมตัวในสภาพที่เลวร้าย และมักถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย ร้องปล่อยตัวทันที

5 เม.ย.2561 รายงานข่าวจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แจ้งว่า แอมเนสตี้ฯ ออกงานวิจัยล่าสุด ระบุเวียดนามคุมขังนักโทษทางความคิดอย่างน้อย 97 คน หลายคนถูกห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ถูกควบคุมตัวในสภาพที่เลวร้าย และมักถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย เรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสงบโดยทันที

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า นักโทษทางความคิดในเวียดนามเผชิญสภาพชีวิตที่เลวร้ายในเรือนจำ โดยมักถูกขังเดี่ยว และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อทนายความและครอบครัว เรือนจำเวียดนามมักเกิดเหตุทรมาน โดยแอมเนสตี้ สามารถเก็บข้อมูลนักโทษที่ถูกทุบตีด้วยไม้ สายยาง ถูกต่อยและถูกเตะ ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า และถูกบังคับให้อยู่ในท่วงท่าที่อึดอัด

งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ก่อนที่ในวันนี้ นักกิจกรรมหกคนจะเข้ารับการพิจารณาคดีที่กรุงฮานอยซิตี้ โดยห้าคนเป็นสมาชิกกลุ่มภราดรภาพเพื่อประชาธิปไตยซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐ ส่วนอีกหนึ่งคนเป็นนักกิจกรรมชื่อเหงียนบักตรูเยน  ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหา "ล้มล้างรัฐบาล" เนื่องจากการจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างสงบ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานระหว่างประเทศรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับเกษตรกรและคนงาน หากศาลตัดสินว่ามีความผิด พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต

เจมส์ โกเมซ (James Gomez) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า  เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นิยมคุมขังนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสงบ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าอับอายและไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

"การปราบปรามผู้เห็นต่างในเวียดนามต้องยุติลงทันที ทางการควรเริ่มต้นด้วยการยกเลิกการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมทั้งหกคน ซึ่งจะเข้ารับการพิจารณาคดีในวันนี้ และให้ปล่อยตัวพวกเขาพร้อมทั้งนักโทษทางความคิดอีก 97 คนอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกกฎหมายใดๆ ที่เอาผิดผู้เห็นต่างอย่างสงบ"

"หากรัฐบาลเวียดนามไม่เปลี่ยนแนวทางและยุติการปฏิบัติมิชอบด้วยกฎหมายที่มุ่งคุมขังและคุกคามฝ่ายค้านอย่างสงบ รายชื่อนักโทษทางความคิดก็จะเพิ่มขึ้นอีกในเวลาไม่นาน เวียดนามต้องปล่อยตัวทุกคนที่ถูกคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสงบโดยทันที และต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนอย่างจริงจัง" เจมส์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับรายชื่อนักโทษทางความคิด 97 คนประกอบด้วย นักกฎหมาย บล็อกเกอร์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และผู้รณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ทั้งหมดล้วนแต่เคลื่อนไหวอย่างสงบทั้งสิ้น หลายคนได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน หลังการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมโดยศาลเวียดนาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดนโยบายในฝันของคนพิการ “บนฐานสิทธิไม่ใช่ฐานสงเคราะห์”

Posted: 05 Apr 2018 02:42 AM PDT

เปิดตลาดนโยบายคนพิการเสนอพรรคการเมือง กลุ่มตัวแทนคนพิการและนักสิทธิคนพิการเสนอนโยบายที่เอื้อต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนพิการ- รัฐต้องจัดหาผู้ช่วยคนพิการ  ชี้ปัญหาหน่วยงานคนพิการ ราชการทั้งกำกับและบริหาร ควรกระจายอำนาจ ให้เอกชนหรือท้องถิ่นดูแล เปิดโมเดลสถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนในฝัน

นโยบายบนฐานสิทธิไม่ใช่ฐานสงเคราะห์ เอื้อต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนพิการ

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ สำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ DPI-AP (Disabled Peoples' International Asia-Pacific Region)

เมื่อถามถึงนโยบาย ความฝันใหญ่ที่เสาวลักษณ์มองว่าอาจอยู่ไกลแต่ถ้าเป็นจริงได้ คือทำให้รัฐมีนโยบายที่คำนึงถึงคนพิการได้อย่างละเอียดอ่อนกว่านี้ อยากให้กระทรวงต่างๆ มีนโยบายจำเพาะที่เกี่ยวกับคนพิการ หรือ Disability Policy อยู่ในนโยบายหลักที่แต่ละกระทรวงดูแลอยู่ เมื่ออยู่ในนโยบายหลัก ระเบียบกระทรวงและกฎอื่นๆ ที่รองลงมาก็จะคำนึงถึงคนพิการ และมีงบประมาณ มีเงินทุน และบุคคลากรสนับสนุน

เสาวลักษณ์เสนอ 3 ประเด็น ที่ควรถูกพูดถึงในนโยบาย โดยทั้งหมดนี้อยู่บนฐานของสิทธิที่ทุกคนพึงมีพึงได้ ไม่ใช่การสงเคราะห์

1. สิทธิการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ของคนพิการ ต้องออกแบบให้คนพิการมีสิทธิการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด ทั้งรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ระบบขนส่งทางอากาศ การสัญจรทางฟุตบาธ และสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพควรต้องคำนึงถึงการเชื่อมต่อในแต่ละระบบด้วย การขนส่งที่แยกส่วนกันอย่างปัจจุบันทำให้การใช้งานเกิดความไม่สะดวก หากเชื่อมต่อกันแล้ว คนพิการก็จะไม่กระอักกระอวนในการเดินทางลำพัง หรือญาติพี่น้องก็ไม่รู้สึกกระอักกระอวนที่จะพาคนพิการออกจากบ้าน เป็นการสนับสนุนให้คนพิการออกจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เรียนหนังสือ ทำงาน สันทนาการ และแน่นอนว่าการใช้ระบบขนส่งสาธารณะนั้นช่วยลดค่าใช้จ่ายได้

2. การเข้าถึงบริการการศึกษาและการจ้างงาน การเข้าถึงการศึกษาหมายถึงตั้งแต่ระดับประถมวัยถึงอุดมศึกษา ต้องออกแบบการศึกษาแบบถ้วนหน้า คือส่งเสริมให้มีการเรียนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีแผนการจัดการเรียนร่วม ให้คนพิการออกมาเรียนในระบบทั่วไปตั้งแต่ประถมวัยถึงอุดมศึกษา ซึ่งนอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพแล้วต้องคำนึงถึงหลักสูตร และบุคคลากรผู้มีความรู้เฉพาะด้านที่จะตอบสนองต่อนักเรียนพิการได้

ในเรื่องการจ้างงานนอกจากระบบโควตาแล้ว การจ้างงานแบบสัดส่วนต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง ส่วนจ้างงานทั่วไป ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ตลาดแรงงาน ถึงทักษะ ความสามารถ และการยอมรับคนพิการ เข้าไปทำงานในตลาดแรงงานทั่วไป

3. หลักประกันทางสังคมแบบถ้วนหน้า ต้องมีมาตรการจำเพาะที่ให้คนพิการเข้าถึงหลักประกันสังคมถ้วนหน้าได้ ประเด็นหลักคือเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็ก เพราะประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเด็กพิการมักถูกละเลย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการไม่ได้พูดถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และไม่มีมิติของเด็กอยู่ใน พ.ร.บ.นี้ ทำให้เงินอุดหนุนเกี่ยวกับเด็กพิการค่อนข้างไปได้ช้า ขณะนี้เรามีเด็กพิการอายุตั้งแต่ 0-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 4.4 จะทำอย่างไรให้นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ามีมาตรการจำเพาะตอบสนองความต้องการของเด็กพิการวัยต่างๆ ได้ เงินอุดหนุนเหล่านี้จะช่วยให้เด็กพิการเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้ปกครองอาจเอาไปใช้รักษาพยาบาล ฟื้นฟู การศึกษาระดับประถมวัย หรือการเตรียมความพร้อม

4. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เสาวลักษณ์ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการถูกล่วงละเมิดของผู้หญิงพิการ และการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ เสาวลักษณ์เสนอให้มีการทำงานในเชิงรุก ตั้งแต่ในขั้นครอบครัว ชุมชนไปจนถึงชั้นศาล

เสาวลักษณ์เสนอว่าต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการถูกล่วงละเมิดว่าไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง ต้องมีมาตรการจำเพาะ ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในมิติต่างๆ การเข้าถึงพื้นที่ ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร ระบบที่จะสนับสนุนระหว่างต่อสู้คดี เช่น การออกไปอยู่สถานที่พึ่งพิง หรือคนที่จะเป็นที่ปรึกษาสนับสนุน หรือศูนย์ปรึกษา และนอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการเยียวยา เงินอุดหนุนในการต่อสู้คดีด้วย

"ผู้หญิงพิการ ถูกกดทับด้วยมิติที่ซ้อนทับสองอย่างทั้งความพิการและความเป็นหญิง คนพิการถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากความพิการ การเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ส่วนความเป็นหญิงก็เสมือนเป็นพลเมืองชั้นรองที่ครอบครัวเป็นเจ้าของ ผู้หญิงพิการเหมือนเป็นสิ่งของ ไม่มีอำนาจ ความสามารถใดๆ ถูกเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงทางอ้อม เช่น ไม่ส่งให้เรียนหนังสือ ให้ทำเพียงงานบ้าน มีแนวโน้มถูกล่วงละเมิด จากประสบการณ์การล่วงละเมิดจากคนใกล้ชิดคือสิ่งแรกที่เกิดกับผู้หญิงพิการ และผู้หญิงพิการเองก็ออกจากวงจรความรุนแรงนี้ไม่ได้เพราะต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง การล่วงละเมิดจากคนใกล้ชิดมีปัจจัยของความสัมพันธ์ เช่น ญาติใกล้ชิดเป็นคนกระทำ ทำให้ผู้หญิงยากที่จะออกมา เมื่อครอบครัวรู้แล้วก็ช่างมันเพราะคนนี้เขามีบุญคุณกับเรา เมื่อจะมาแจ้งความ สิ่งที่พบคือคนรอบข้างไม่เชื่อ คิดว่าโกหก สังคมมักโทษผู้หญิงก่อน ดังนั้นหากทำนโยบายเรื่องนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิงพิการได้ ผู้หญิงทั้งหมดก็จะได้รับประโยชน์ด้วย" เสาวลักษณ์กล่าว

 

หน่วยงานคนพิการ พบปัญหาราชการทั้งกำกับทั้งบริหาร ต้องกระจายอำนาจ ให้เอกชนหรือท้องถิ่นดูแล

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับคนพิการที่อยากให้เกิดขึ้นว่า

การจัดตั้งหน่วยงานคนพิการในท้องถิ่นมีปัญหาหลัก 2 ข้อ หนึ่งคืองบกองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะนำเงินของกองทุนไปจัดบริการให้แก่คนพิการมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าเงินในกองทุนจะมีจำนวนมาก แต่เมื่อปี 2560กระทรวงการคลังกลับเรียกร้องให้นำเงิน 2,000 ล้านบาทจากกองทุนนี้ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยเห็นว่าเป็นเงินส่วนเกิน ขัดแย้งกับนโยบายที่สนับสนุนให้นายจ้างจ้างคนพิการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้นายจ้างที่ไม่จ้างคนพิการและต้องส่งเงินเข้ากองทุนแทนมีจำนวนลดน้อยลง เชื่อได้ว่าเงินไหลเข้ากองทุนจะลดน้อยลงกว่าเงินไหลออก จนกองทุนต้องประสบภาวะขาดสภาพคล่องในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้การบริหารจัดการงบประมาณโดยหน่วยงานของคนพิการก็เป็นปัญหา เพราะหน่วยงานดังกล่าวมีส่วนราชการเป็นทั้งคนกำกับดูแลและบริหารงาน ดังนั้นการกำกับดูแลตรวจสอบจึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง เป็นการรวมอำนาจอยู่ที่ฝ่ายราชการเพียงอย่างเดียว และทำงานแบบเชิงรับ ไม่ส่งเสริมหรือ empower ให้คนพิการตระหนักถึงการเข้ามารับบริการ เช่น การฝึกอบรมอาชีพ การฟื้นฟูสมรรถภาพ การรักษาพยาบาล เป็นต้น

วิริยะเสนอให้มีการกระจายอำนาจโดยให้ส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการ เช่น งานด้านการฝึกอบรมอาชีพ เพราะแนวคิดของเอกชนหรือท้องถิ่นต้องมุ่งบริหารงานเพื่อให้ตอบสนองกับท้องถิ่นนั้นๆ เต็มที่ เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้มาใช้บริการกับเขาต่อไป แล้วเขาถึงจะอยู่ได้ กลับกันหากเป็นแนวคิดราชการเขาจะไม่ได้สนใจว่าต้องบริหารให้ดี ให้ทั่วถึง เข้าถึงประชาชน แต่เขาแค่ทำเพื่อได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไป แต่ทั้งนี้งบประมาณที่เขามาก็เป็นอำนาจที่เขาอยากจะกุมไว้ตลอด ดังนั้นแม้จะมีการเสนอแนวคิดให้ท้องถิ่นหรือเอกชนเข้ามาจัดการ แต่แนวคิดนี้ก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ

 

รัฐต้องจัดหาผู้ช่วยคนพิการ (PA) และสถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนในฝัน

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์

ผู้ช่วยคนพิการ (PA)

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักสิทธิด้านคนพิการ อธิบายถึงผู้ช่วยคนพิการหรือพีเอ (PA: Personal Assistant) ว่าต่างกับผู้ดูแล ซึ่งคือคนในครอบครัวที่ดูแลคนพิการอยู่เป็นประจำ ผู้ช่วยคนพิการหรือพีเอคือ สวัสดิการของรัฐที่รัฐจัดสรรให้ พีเอไม่ใช่คนใช้ของบ้าน แต่เป็นคนทำตามสิ่งที่คนพิการตัดสินใจ ไม่คิดแทน ตอนนี้คนพิการมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,720,000 คน เป็นคนพิการระดับรุนแรงประมาณ 50,000 คน มีพีเอ 700-800 คน และมีแนวโน้มลดลง เพราะไม่มีการลงทะเบียนใหม่เพิ่ม

ในยุโรปอธิบายว่า เมื่อมีคนพิการ สมาชิกในครอบครัวต้องหยุดงานมาดูแล แต่ถ้ามีระบบพีเอ แรงงานราคาสูงจำนวนมากก็กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนแรงงานราคาถูกก็ได้กลับเข้ามาในระบบงาน ทั้งนี้ต้องมีกระบวนการอบรมคนพิการให้รู้ว่า พีเอคืออะไร มีหน้าที่แค่ผู้ช่วย แต่ไม่มีสิทธิตัดสินใจแทน แต่รัฐไม่มีเคยมีการเวิร์คช็อปคนพิการเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีชุมชนบางแห่งนำผู้นำท้องถิ่นมาเป็นพีเอ คนพิการก็นึกว่าแค่มาเยี่ยม ดังนั้นพีเอในไทยจึงยังไม่เป็นไปตามหลักการ ยังไม่สนับสนุนให้คนพิการมีอำนาจตัดสินใจ

มีข้อเสนอว่าเราสามารถให้คนในครอบครัวเป็นพีเอ แต่มีข้อโต้แย้งว่าแล้วถ้าคนในครอบครัวตายคนพิการจะอยู่ยังไง การมีผู้ช่วยเป็นใครสักคนนานๆ จะทำให้ชิน ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นผู้ช่วยคนอื่นได้ มันคือทักษะการรับบริการของคนพิการที่ต้องฝึกด้วย ต่อไปถ้าไม่มีคนสนิทอยู่ใกล้ๆจะมีชีวิตอยู่อย่างไร

ข้อเสนอของชูเวชคือ ทำพีเอให้เป็นไปตามหลักการ เปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวเป็นพีเอได้ แต่รัฐไทยไม่ยอมจ่ายเงินให้คนต่างด้าว ถ้ารัฐไม่มีสามารถทำก็อาจเปิดให้เอกชนทำ รัฐทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียว ควบคุมราคา การบริการ และขณะเดียวกันคนที่เป็นพีเอเก่งภาษาก็สามารถทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงอายุได้อีก สัมพันธ์กับมิติเชิงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

สถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชน

ชูเวชได้แนวคิดมาจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสลัม ที่อยู่อาศัย คนไร้บ้าน โดยเจรจาให้คนไร้บ้านมีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ละหลังไม่เหมือนกันแบบบ้านเอื้ออาทร แต่ออกแบบให้เหมาะกับแต่ละครอบครัวซึ่งมีขนาดไม่เท่ากัน ความจำเป็นในการใช้สอยไม่เหมือนกัน พอช. ออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทำระบบธนาคาร สวัสดิการชุมชน มีโครงสร้างพื้นฐานครบตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ จนถึงตาย ในชุมชน การบริหารงบประมาณ ชุมชนก็เป็นคนจัดการงบประมาณเอง ส่วนงบก้อนใหญ่ พอช. ก็นำไปลงทุนในตลาดหุ้นได้ เป็นค่าจ้างแก่พนักงาน เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการเงิน

ชูเวชเสนอว่าสถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนควรมีระบบจัดการ โดยเสนอกลไก 5 ระดับว่า

1. มีพี่เลี้ยงเข้าไปช่วยดูแลการเขียนโครงการ เพื่อช่วยเหลือคนพิการในการเขียนใบนำเสนอโครงการ (Proposal) แต่ไม่ใช่การเขียนแทน แต่เป็นการสอนให้เขาเรียนรู้เองเพื่อให้เขาทำเป็นในอนาคต

2. เงื่อนไขในการให้ทุนกับองค์กรคนพิการในชุมชนจะต้องมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ลักษณะที่ไม่หากใบนำเสนอโครงการยังไม่ผ่านก็ยังขอทุนรายกิจกรรม ค่าอาหาร ค่ากิจกรรม

3. ถ้าคนพิการมีใจระยะยาว อยากทำต่อ ต้องมีกลไกพัฒนาทักษะ ปัจจุบันมีการให้ความรู้เรื่องสิทธิเรื่องกฎหมาย แต่คนที่ลงชุมชน empower คนพิการให้มีแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง คนกลุ่มนี้เรียกว่า "Peer Counselor" ซึ่งมีทักษะในการให้คำปรึกษา ไม่อยากให้ทักษะนี้ถูกผูกขาดอยู่แค่สถาบันการศึกษาใดสถาบันหนึ่ง สถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนต้องมีหน้าที่ฝึกอบรม รับรอง ให้ค่าตอบแทนที่โอเคกับ Peer Counselor

4. สนับสนุนการจัดการบริการผ่าน Peer Counselor และจ่ายค่าตอบแทนให้กับ Peer Counselor

- Universal Design สนับสนุนให้เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมจากคนในชุมชนเอง โดยให้สถาปนิกลงไปสำรวจชุมชน การออกแบบต้องมาจากผู้ใช้เป็นหลัก มาจากที่ประชุมในชุมชน ใครจำเป็นก่อนหลัง ป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก การสำรวจทำให้คนในชุมชนได้เห็นปัญหาของกันและกัน

- มีบริการพีเอ กระบวนการคัดเลือกจากคนในชุมชนเลือกกัน เพื่อให้ได้คนที่คนในชุมชนไว้ใจ

- บริการด้านข้อมูลข่าวสาร มีหลายรูปแบบ ส่งจดหมายเชิญคนพิการมาประชุม การเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ สำหรับองค์กรคนพิการ พิมพ์เอกสาร กฎหมายตัวใหม่กำลังจะผ่านร่างก็ต้องมีหน่วยบอกข้อมูลในชุมชน Peer Counselor เป็นตัวแทนรัฐในการประชาสัมพันธ์ ชงเรื่อง ยื่นเรื่อง และบริการคนพิการ

5. บริการพิทักษ์สิทธิ เป็นข้อต่อใหญ่ที่ทำให้สถาบันนี้เชื่อมไปสู่กระทรวงอื่นได้ เช่น มีเด็กพิการที่ถูกมหาลัยปฏิเสธไม่ขายใบสมัครเรียนให้ องค์กรคนพิการสามารถเข้าไปให้ความรู้กับมหาลัย เก็บหลักฐานการเลือกปฏิบัติ ส่งกรรมการสิทธิฯ ส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าไปถึงกลไกนี้ สถาบันฯ จะเป็นหูเป็นตาให้รัฐในการสอดส่องหน่วยงานที่ยังมีการปฏิบัติไม่เอื้อแก่คนพิการ และกว่าจะมาถึงกลไกนี้ สถาบันฯ จะรู้ปัญหาของคนพิการ คนพิการเองก็มีสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับข้อมูลข่าวครบถ้วน และเมื่อถูกเลือกปฏิบัติ ก็มีกลไกขจัดการเลือกปฏิบัติด้วย

"รัฐส่วนกลางควรลดบทบาทตัวเองลง เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสนับสนุนคนพิการมากขึ้น มีกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น องค์กรคนพิการในท้องถิ่นที่ไม่เป็นสายสัมพันธ์จากบนลงล่าง แต่เป็นสายสัมพันธ์ใยแมงมุม อยู่ในระดับเดียวกัน เชื่อมโยงหลายหน่วยงานหลายเครือข่ายเข้าด้วยกัน" ชูเวชกล่าว

 

ระบุความพิการทางจิตให้ชัด เพื่อให้มีนโยบายตอบสนอง

นุชจารี สว่างวรรณ

นุชจารี สว่างวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าวว่า อยากให้ระบุความพิการให้ชัดเจนกว่านี้ในกฎหมายเพื่อให้นโยบายตอบสนองกับคนพิการทางจิตด้วย ปัจจุบันส่วนใหญ่คนจะเห็นแค่พิการทางกาย แต่พิการทางจิต เช่น ออทิสติก หน่วยงานมักมองไม่เห็นว่าเขาต้องการอะไร ในกฎหมายควรระบุชัดเจนว่าพิการ 7 ประเภทคืออะไรบ้าง ถ้าเป็นเรื่องทางจิตควรมีการฟื้นฟูบำบัด และกลุ่มของคนพิการทางจิตจะมีคนที่บกพร่องแต่ยังไม่พิการ น่าจะมีการใช้คำระบุว่า "คนมีความต้องการพิเศษ"

"โครงสร้างของนักการเมืองที่บริหารประเทศน่าจะมีคนพิการที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปในนั่งในตำแหน่งบ้าง เพื่อปกป้องสิทธิให้กลุ่มคนพิการ เพราะที่ผ่านมาอาจมีนโยบายเกี่ยวกับคนพิการต่างๆ แต่ปัญหาคือคนพิการเองก็เข้าไม่ถึงสิทธิอยู่ดีเพราะความไม่เข้าใจของคนที่เสนอให้" นุชจารีกล่าว

เธอกล่าวต่อถึงทัศนคติของสังคมไทยซึ่งมองว่าคนพิการต้องให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่คิดที่จะพัฒนาและให้โอกาส สังคมอาจจะให้โอกาสเหมือนกันแต่ยังให้น้อยเกินไป สังคมมองเราเป็นผู้รับ ดังนั้นโอกาสที่เราจะเป็นผู้ให้จึงยังมีน้อย ทัศนคติเชิงลบต่อคนพิการก็ยังมีโดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มองไม่เห็นเชิงประจักษ์ อย่างเมื่อพูดว่าผู้บกพร่องทางจิต คนก็จะเริ่มรู้สึกในเชิงลบ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ ชวนนิสิตเข้าฟังประยุทธ์ปาฐกถา ได้คะแนนกิจกรรมหอพัก

Posted: 05 Apr 2018 02:13 AM PDT

เพจสำนักงานหอพักนิสิต จุฬาฯ ชวนนิสิตหอพักร่วมรับชมผลงานการวิจัย และรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก พล.อ.ประยุทธ์ 9 เม.ย.นี้ เผยบวก "คะแนนกิจกรรมหอพัก" 

5 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 เม.ย.61) เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'RCUchula : สำนักงานหอพักนิสิตจุฬาฯ' ของ สำนักงานหอพักนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความ เชิญชวนนิสิตหอพัก ร่วมรับชมผลงานการวิจัยและนวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะเปลี่ยนผ่าน และร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในหัวข้อ"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันจันทร์ ที่ 9 เมษายน 2561 เวลา 06.30 – 09.30 น. แต่งกายด้วยชุดนิสิตถูกระเบียบ และรับไม่เกิน 1,000 ที่นั่ง

โดยในโพสต์ดังกล่าวมีผู้ตั้งคำถามว่า ได้คะแนนหรือไม่ ซึ่งเพจดังกล่าวตอบว่า "เป็นคะแนนกิจกรรมหอพัก" 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คอร์รัปชันชวนชิม

Posted: 05 Apr 2018 01:39 AM PDT

 

(กาพย์ห่อโคลง)

๏ บินสูงมองเห็นโลก ล้วนสุขโศกคละเคล้าไป
ที่ร้ายนั้นมือใคร คอยกดให้กระทำการ ฯ

๏ บินสูงอยู่ฟากฟ้า แลเห็น
ใครเข่นใครฆ่าเค้น ข่มให้
ใครกดขี่เลือดเย็น ทุกข์ทั่ว
ใครแบ่งท้องฟ้าได้ แถนไท้ห่าใด ฯ

๏ เหยียบหัวสร้างชนชั้น คอยปิดกั้นคั่นโอกาส
นับวันยิ่งผูกขาด ปราศจากความเป็นธรรม ฯ

๏ เหยียบหัวกดขี่ไว้ ชนชั้น
ชีวิตไม่แบ่งปัน ช่วยเกื้อ
มือยาวยิ่งสาวกั้น โอกาส
เทียมเท่าแค่ฝันเรื้อ แต่ไร้เรื่องจริง ฯ

๏ หมาขี้เรื้อนอวดเบ่ง ครัดเคร่งคลุมขนราชสีห์
คำรามแต่ละที มิอาจหนีกระพี้ตน ฯ

๏ หมาแก้ตัวเอ่ยอ้าง ราชสีห์
หอนเห่าว่าตนดี เบ่งโอ้
ขี้เรื้อนบ่ปิดที่ ผิวด่าง
ก็มีแต่พวกโง่ ข่มไว้สนตะพาย ฯ

๏ กลืนกินจนสิ้นหวัง ชาติภินท์พังช่างเลวร้าย
ปกครองจนวอดวาย เจริญได้ก็เพียงฝัน ฯ

๏ สวาปามจมเขี้ยว หมดหวัง
ผู้ปกครองน่าชัง เลวร้าย
อสูรสูบบ่ยั้ง อย่างชั่ว
กี่ชาติก็บ่ใกล้ เจริญได้เพียงฝัน ฯ

๏ ก็ใครกันเล่าหนา เทพหรือประชาที่หักร้าง
บ้านเมืองจึงสล้าง อย่าอ้างใครแต่ฝ่ายเดียว ฯ

๏ ใครเล่าที่ร่วมสร้าง ถากถาง
ใครเหนื่อยยากหักร้าง ไพรกว้าง
ใครลงเรี่ยวแรงบ้าง วานบอก
ประชาฤาเทพสร้าง เบ่งอ้างบารมี ฯ

๏ คอรัปชั่นชวนชิม สนิมร้ายประเทศไทย
ต่างฝ่ายต่างมือไว คอยรีดไถประชาชน ฯ

๏ นักการเมืองโกงสิ้น ชาติไทย
ชนชั้นนำวิไล เลิศฟ้า
ราชการต่างรีดไถ ไปทั่ว
คอรัปชั่นกันสุดหล้า งั่งบ้าชวนชิม ฯ

๏ บ้านเมืองนี้ป่าเถื่อน คอยซ่อนเงื่อนไร้คุณธรรม
อุ้มฆ่าบ้าระห่ำ กระทำได้ไม่อายใคร ฯ

๏ บ้านเมืองนี้เถื่อนไร้ คุณธรรม
ใครมีอำนาจทำ ชั่วได้
อุ้มสั่งฆ่าระห่ำ แหนงหน่าย
ถ่อยเถื่อนแผ่นดินร้าย ล่าแล้งยุติธรรม ฯ

๏ ต่างคนต่างประกาศ ต่างรักชาติแต่ใจกลัว
เอาจริงมือสั่นรัว หดหัวทั่วจำนนยอม ฯ

๏ รักชาติฤาที่แท้ รักตัว
อุปทานไปทั่ว แหล่งหล้า
อธรรมประพฤติชั่ว ดาษดื่น
สงบอยู่บ่มีกล้า เสนอหน้าสอพลอ ฯ

๏ งาช้างกับเขี้ยวหมา ต่างที่มาไม่เหมือนกัน
ดั่งชั่วกับดีนั้น ศีลธรรมกั้นยากบรรจบ ฯ

๏ งาช้างห่อนงอกเงื้อ ปากหมา
คนชั่วยากศรัทธา เชื่อได้
ความถูกบ่ได้มา จากผิด
อำนาจบังคับให้ อย่าได้ไว้ใจ ฯ

๏ อำนาจรวบกระจาย ความมุ่งหมายย่อมแตกต่าง
โปร่งใสมิอาจอ้าง หากปิดทางให้ตรวจสอบ ฯ

๏ เผด็จการยากไร้ โปร่งใส
เลวง่ายระวังไว้ อย่าเชื่อ
อำนาจย่อมเอื้อให้ อำนาจ
เงินอาจง้างเหล็กเงื้อ เกื้อให้นายทุน ฯ

๏ ทุจริตหรืออย่างไรกัน ใยท่านร่ำรวยมหาศาล
ชีวิตเป็นแค่ราชการ ใยบ้านเรือนโอฬารใหญ่โต ฯ

๏ ราชการรวยได้ จากไหน
ทุจริตหรือไม่ ใคร่รู้
ใครที่ปกป้องไทย แท้แน่
ใครแค่ช่วยพวกกู้ เหยียบซ้ำกระหน่ำไทย ฯ

๏ อำนาจรัฐอร่อย คอยสอดไส้เอื้อนายทุน
แอบซ่อนช่วยเกื้อหนุน ร่วมลงหุ้นหั่นชาติไทย ฯ

๏ อำนาจรัฐสอดไส้ นายทุน
แอบซ่อนช่วยเกื้อหนุน ประโยชน์เอื้อ
ต่างคนต่างร่วมหุ้น รวยต่อ
ชาติค่อยโหยโรยเรื้อ หากไร้คุณธรรม ฯ

๏ ทุ่มซื้อแต่อาวุธ ไม่เร่งรุดสร้างปัญญา
คนโง่เต็มพารา ยากผินตามองวัฒนธรรม ฯ

๏ อาวุธหมื่นแสนล้าน ซื้อได้
โบราณสถานเสียหาย ไป่ซ่อม
เด็กขาดสื่อบ่ให้ ศึกษา
รัฐงั่งอำนาจพร้อม ยากไร้ปัญญา ฯ

๏ บ้านเมืองขาดปัญญา ยากพัฒนาไปทั้งผอง
ตัณหาเข้าครอบครอง ก็เนืองนองอวิชชา ฯ

๏ ราชการต่างสิ้นไร้ น้ำยา
กระทรวงบ่วัฒนา ช่วยเอื้อ
ขุนนางต่างมุ่งบ้า อำนาจ
ชาติต่ำลงแล้งเรื้อ ยากไร้ดีงาม ฯ

๏ ความหวังเดียวคือคน ประชาชนทั่วทั้งนั้น
ลุกตื่นหยัดยืนพลัน ขยันเร่งรู้กู้บ้านเมือง ฯ

๏ ความหวังเดียวพึ่งได้ ประชา
ลุกตื่นยืนขึ้นมา ต่อสู้
กอบกู้แผ่นดินกล้า สานต่อ
รวมร่วมกันเร่งรู้ ปกป้องบ้านเมือง ฯ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกเลิก 112 เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ได้รับฟังความเห็นต่างหรือแย้ง

Posted: 05 Apr 2018 01:21 AM PDT

 

ในขณะที่กฎหมายกำหนดโทษหมิ่นประมาทบุคคลไว้ไม่เกิน 1 ปี (และในกรณีโฆษณาไม่เกิน 2 ปี) กฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดโทษสูงสุดไว้สูงกว่า 15 เท่า หรือ 7.5 เท่า ในกรณีโฆษณา

คดีความเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหารของ คสช.

จากสถิติของไอลอว์[1] นับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มีคนถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 94 ราย ในจำนวนเหล่านี้มีเพียง 16% เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัว โทษสูงสุดจากการตัดสิน คือจำคุก 70 ปี และ 92% ของจำเลยรับสารภาพ

ความรุนแรงของ 112 ไม่ใช่เพียงโทษที่สูงกว่าโทษหมิ่นประมาทบุคคลอย่างไม่สมเหตุผล แต่ยังมีโอกาสประกันตัวที่น้อยมาก โอกาสสู้ชนะคดียิ่งน้อยกว่า นอกจากนั้นยังอาจถูกกลุ่มคนที่คลั่งเจ้าล่าแม่มดทั้งตัวเองและคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความกลัวและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับ จำเลย นักโทษ รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหา 112 จึงมักถูกโดดเดี่ยวจากสังคม บางคนถูกไล่ออกจากที่ทำงาน บางคนถูกหมางเมินจากเพื่อนบ้าน เหล่านี้และอื่นๆ อีกที่ไม่ได้เอ่ยถึง ล้วนส่งผลให้ 112 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการลงทัณฑ์ทางสังคมที่จะทำลายคนถูกกล่าวหาไม่ให้สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปรกติ

นอกจากการทำลายผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผลอีกประการหนึ่งของกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็คือการทำลายบรรยากาศของการวิจารณ์ เสนอความเห็นแย้ง หรือแม้แต่สิ่งที่ไม่ได้แย้ง แต่เพียงแค่แตกต่างออกไปในเรื่องสถาบันกษัตริย์ บรรยากาศนี้ยังรวมถึงผู้ใกล้ชิดซึ่งอาจถวายคำแนะนำ เสนอความเห็นในเรื่องต่างๆ ต่อพระมหากษัตริย์

ภายใต้การดำรงอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่มีใครกล้าถวายคำแนะนำต่อกษัตริย์อย่างแท้จริง จะไม่มีใครกล้าแม้แต่ถวายความเห็นที่แตกต่าง จะไม่มีใครกล้าถวายความเห็นอะไรก็ตามที่อาจไม่ต้องพระราชอัธยาศัย

ความหมายในทางกลับก็คือจะมีแต่ความเห็นที่เป็นการยอพระเกียรติ จะมีแต่ความเห็นที่ประจบประแจง ทั้งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์และเป็นไปเพราะความหวาดกลัว

สภาพเช่นนี้คือการบังคับให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในสังคมไทยโดยปราศจากคำวิจารณ์หรือการแนะนำอย่างแท้จริง

พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยบรรยากาศของความหวาดกลัว ด้วยบรรยากาศที่ทำให้ปราศจากคำแนะนำ คำตักเตือน และแม้แต่คำวิจารณ์ ใครก็สามารถทำนายได้ถึงความมืดมัวที่บดบังสายพระเนตร ภายใต้สภาพเช่นนี้พระองค์จะใช้ความสามารถในการครองราชย์อย่างไร?

แม้แต่รัชกาลก่อนก็ไม่ได้เริ่มต้นเป็นกษัตริย์ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ตัวบทของกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2519 เป็นเวลาซึ่งในหลวงภูมิพลครองราชย์มาร่วม 30 ปีแล้ว ยังไม่นับว่า 10 ปีแรกของรัชกาลที่ 9 คาบเกี่ยวอยู่กับสมัยของคณะราษฎรซึ่งนักการเมืองยังกล้าที่จะอภิปรายและวิจารณ์กษัตริย์ในรัฐสภา

ความสามารถของในหลวงภูมิพลที่มีคนมากมายพากันยกย่อง ส่วนหนึ่งย่อมต้องเกิดจากการได้รับฟังคำวิจารณ์ในโอกาสต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการมองเห็นตัวเอง และมีความสามารถที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรในรัชกาลปัจจุบัน ภายใต้การบังคับใช้ 112

มาตรา 112 นอกจากถูกเปลี่ยนแปลงตัวบทด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในปี 2519 แล้ว ยังถูกหล่อหลอมด้วยความขัดแย้งในวิกฤตการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนทำให้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการ "ปิดปาก" ผู้คนในทางการเมือง และ –ตามความเชื่อของคนที่ยังสนับสนุนกฎหมายนี้ เป็นเครื่องมือ "กำจัด" สิ่งที่จะเป็นภัยกับราชบังลังก์

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?

โลกผ่านพ้นสงครามเย็นมาหลายสิบปีแล้ว และการเมืองในประเทศก็เคลื่อนเปลี่ยนไป แตกต่างกับสมัยที่ยังกลัวคอมมิวนิสต์มากเหลือเกินแล้ว

ทั้งที่สามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปในการลงโทษผู้กระทำผิด การกำหนดบทลงโทษคนที่พูดถึงกษัตริย์ในทางไม่ดีอย่างเป็นกรณีพิเศษดังที่เป็นอยู่นี้ สร้างประโยชน์อะไรให้กับใคร ผู้ที่หวังประจบประแจง? ผู้ที่หากินกับงบประมาณในการประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์?

ประเทศนี้และประมุขของประเทศนี้ มีความจำเป็นต้องได้รับคำวิจารณ์ที่ดี คำแนะนำที่มีเหตุผล เพื่อเปลี่ยนแปลงและก้าวไปข้างหน้า หากยังมีกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่อย่างที่เป็นอยู่นี้ เราจะได้แต่คำประจบสอพลอ ที่นอกจากไร้ค่าแล้วยังอาจเป็นยาพิษ

จะต้องยกเลิก 112 เพื่อก้าวไปข้างหน้า

 

เชิงอรรถ
[1] ดู สถิติคดี 112 ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 2557-2560 https://freedom.ilaw.or.th/Thailand-Lese-Majeste-Statistics-Until-2014-2018%20

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง: รัฐ-ศาสนาอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องปฏิรูปและเป็นประชาธิปไตย

Posted: 05 Apr 2018 12:52 AM PDT

เปิดประเด็นถกเถียง Secular State หรือการแยกศาสนาออกจากรัฐคือหนทางเดียวของจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในโลกสมัยใหม่หรือไม่ หรือรัฐกับศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้

คำพูดในอดีตของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่เกี่ยวกับการแยกศาสนาออกจากรัฐ สร้างประเด็นถกเถียงร้อนแรง ช่วง 4-5 ปีนี้แนวคิดการแยกศาสนาออกจากรัฐได้รับการพูดถึงและเผยแพร่มากขึ้น ฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดนี้เห็นว่า พุทธศาสนาในไทยขาดเสรีภาพในการตีความคำสอน ตกต่ำจากการเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ของรัฐ ทั้งยังเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างศาสนาต่างๆ เพราะรัฐไทยให้การสนับสนุนพุทธเถรวาทมากกว่า

แนวคิดการแยกศาสนาออกจากรัฐยังเห็นว่า ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ควรถูกนำเข้ามาในพื้นที่การเมือง และรัฐก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งย่ามกับความเชื่อของใคร

แต่การแยกศาสนาออกจากรัฐเป็นหนทางเดียวหรือไม่ มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่คิดอย่างนั้น เขาเชื่อว่าศาสนากับรัฐสามารถอยู่ร่วมกันได้ แนวคิดแบบ Secular State เป็นเพียงชุดประสบการณ์หนึ่งของคริสเตียน แต่ศาสนิกอื่นไม่ได้มีชุดประสบการณ์เดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีตัวแบบเดียวของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐในโลกสมัยใหม่

สิ่งที่ต้องทำ มูฮัมหมัดอิลยาส เห็นว่า คือการตีความหลักการและศีลธรรมทางศาสนาที่มีความคล้ายคลึงกันให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ซึ่งสังคมต้องร่วมกันถกเถียงและจัดวางที่ทางของศาสนา

ศาสนาอิสลามยอมรับรัฐฆราวาสหรือไม่

คำถามนี้เป็นปัญหาพอสมควร เป็นการมองโลกแบบ 2 ขั้วคือรัฐ Secular กับที่ไม่ใช่รัฐ Secular ซึ่งเป็นการมองโลกที่เป็นสมัยใหม่มากๆ เป็นความต้องการแยกศาสนาออกไป ซึ่งเป็นประสบการณ์ของตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศส แต่ในอดีตก่อนหน้านั้น Secular State ไม่มี เราไม่รู้จัก

ในอิสลามก็เช่นเดียวกัน เวลาเราคิดถึงความคิดสองขั้ว Secular กับไม่ Secular มันจะไปผิดทาง ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของอิสลาม ผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นระบบอะไร สุลต่าน คอลิฟะห์ ไม่สามารถควบคุมศาสนาได้ คล้ายกับว่าศาสนาจะมีอิสระพอสมควร ไม่ได้หมายความว่าศาสนาจะเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ปกครอง มันมีกลุ่มชนชั้นสำคัญในอิสลามที่เป็นผู้รู้ทางศาสนาที่เรียกว่า อุลามะห์ ซึ่งเป็นผู้ที่คอยคานอำนาจของผู้ปกครอง จึงไม่ใช่ว่าผู้ปกครองมีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ ถ้าผู้นำศาสนาไม่เห็นด้วยหรือไม่สร้างฉันทามติจากผู้นำศาสนา

เราอาจกล่าวได้ว่า ในอดีต ผู้นำศาสนาเป็นอำนาจหนึ่งที่คานกับอำนาจของผู้ปกครอง ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวอย่างที่กล่าวว่า อิสลามกับการเมืองเป็นหนึ่งเดียวกัน คำพูดนี้ไม่ถูกต้องนักเพราะประวัติศาสตร์อิสลามไม่ได้เป็นแบบนั้น อาจมีบางช่วงที่เป็น แต่ส่วนใหญ่ไม่ ผู้ปกครองไม่สามารถควบคุมศาสนาหรือนำศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานของตนเอง เพราะศาสนามีอิสระ ศาสนาเป็นชุมชนที่ค่อนข้างมีอิสระในเรื่องทางศาสนา ส่วนการบริหาร ผู้ปกครองก็มีอิสระในการบริหารบ้านเมือง ไม่ได้ทำตามที่ศาสนาเรียกร้อง แต่เมื่อใดที่การตัดสินใจเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา ผู้ปกครองก็จะปรึกษากับผู้รู้ทางศาสนาหรืออย่างน้อยต้องได้รับฉันทามติจากฝั่งทางศาสนา

นี่ชี้ให้เห็นว่าคำพูดที่ว่าศาสนาอิสลามกับการเมืองแยกกันไม่ออกมีปัญหา เพราะความจริงแล้วไม่ใช่ การที่เราแยกการเมืองและศาสนา แล้วใช้คำว่า Secular แล้วบอกว่าในอิสลาม ศาสนากับการเมืองอยู่ด้วยกันจึงไม่ถูก มันไม่มีหมวดหมู่แบบนี้ในอดีต

ในโลกปัจจุบันที่ระบอบประชาธิปไตยเป็นกระแสหลัก หลายแห่งในโลกชีวิตทางศาสนากับชีวิตทางการเมืองและสาธารณะถูกแยกออกจากกัน อิสลามในโลกสมัยใหม่ตีความ Secular State อย่างไร

ปัจจุบันที่ประชาธิปไตยแยกชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะออกจากกัน คำพูดนี้ก็ไม่ถูก ลองพูดกับผมซิ นอกจากฝรั่งเศสแล้ว มีประเทศไหนที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด ในอเมริกา การสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสาบานต่อหน้าคัมภีร์ไบเบิ้ล มีคริสเตียน เดโมแครต ยุโรปก็เช่นเดียวกัน มีบางประเทศเท่านั้นที่แยกจากกันโดยชัดเจน ดังนั้น การที่บอกว่าประชาธิปไตยแยกศาสนากับการเมืองออกจากกันชัดเจน ผมเถียงว่าเป็นบางที่

ผู้ที่สนับสนุน Secular State เห็นว่าความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจก...

นี่เป็นวิธีการมองของเขา ซึ่งผมก็มองแตกต่างกัน ฝ่ายที่สนับสนุน Secular State พยายามทำให้ความคิดของตนที่ว่าศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลให้กลายเป็นมาตรฐานและใครๆ ก็ทำแบบนี้ โดยเฉพาะในตะวันตก ผมเถียงว่าไม่ใช่

เพราะ?

คุณดูในอเมริกาประเทศสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ศาสนาไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว พวกคริสเตียนมีอิทธิพลอย่างมากต่อประธานาธิบดีและเข้าไปเล่นการเมืองมากมาย เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว มันเป็นความเข้าใจของคนบางกลุ่ม แต่ว่ามันก็มีความเข้าใจอื่นๆ อีก

ข้อถกเถียงของฝ่ายสนับสนุน Secular State เมื่อศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว ศาสนาก็ไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับรัฐ เพราะถ้าเข้ามายุ่งเกี่ยวจะทำให้ความเชื่อของแต่ละคนถูกกระทบ แล้วทำไมในอเมริกาไม่ถูกกระทบ ทำไมเสรีภาพไม่ถูกกระทบ หรือทำไมในอินโดนีเซียหรือตูนีเซียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยและเป็นประเทศมุสลิม เสรีภาพจึงไม่ถูกกระทบ ถ้าบอกว่าศาสนาเป็นต้นเหตุให้ไม่เกิดเสรีภาพ แล้วอินโดนีเซียล่ะ ประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีประชาธิปไตย ดังนั้น ข้อถกเถียงที่ว่าจะทำลายเสรีภาพ มันจะทำลายก็ต่อเมื่อคุณอธิบายศาสนาไปในทางเผด็จการ ไม่ใช่เป็นเพราะศาสนาโดยตัวมันเอง

คุณจะทำอย่างไรให้ศาสนาถูกอธิบายในเชิงที่ดีต่อประชาธิปไตย ซึ่งอินโดนีเซียทำ คุณอธิบายศาสนาไปในกรอบของประชาธิปไตย ในกรอบของเสรีภาพ อย่าไปละทิ้งศาสนา เพราะมันเป็นไปไม่ได้ คุณเสนอในสิ่งที่ไร้เดียงสา คุณจะละทิ้งศาสนาให้เป็นเรื่องส่วนตัวได้หรือในประเทศไทย ศาสนาอยู่ลึกลงไปในภาวะจิตใจ เข้าไปฝังเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ถักทอเป็นสถาบันในสังคมไทย ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่เห็นเสรีภาพของคนเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเราจะทิ้งกระบวนการยุติธรรมหรือ ทำไมเราไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยให้ถือเสรีภาพเป็นหลัก เช่นที่อินโดนีเซียทำแบบนั้นกับอิสลาม

คุณกำลังบอกว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเป็น Secular State แต่เราสามารถตีความศาสนาให้ยืนข้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้

ใช่ คุณต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Renaissance ทางศาสนา หมายความว่าคุณต้องรื้อสร้างความคิดทางศาสนาให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ทำให้ความเป็นสมัยใหม่เข้ากับศาสนาด้วย เพราะศาสนาเป็นวิถีชีวิตของผู้คน เช่นที่อินโดนีเซียทำ

คุณคิดว่าอยู่ๆ อินโดนีเซียจะปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีการตีความใดๆ ทางศาสนาเหรอ คุณคิดว่าอิสลามจะยอมเหรอ ไม่ ก่อนจะเกิดประชาธิปไตย มันมีขบวนการทางปัญญาในสังคมมุสลิมในอินโดนีเซีย มีการต่อสู้ทางความคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มสมัยใหม่ เป็นสนามรบของการต่อสู้ทางความคิดและตกตะกอนในรูปการ Renaissance ทางศาสนา การเกิดขึ้นใหม่ของศาสนาที่มีความคิดใหม่ๆ แต่อยู่ในกรอบของศาสนาเดิม ไม่ได้ละทิ้งศาสนา ยึดมั่นกับจิตวิญญาณของทุกศาสนาซึ่งก็คือศีลธรรม ขณะเดียวกันก็เปิดรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางประชาธิปไตย

ในคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า คุณต้องปรึกษาหารือกันในกิจการทางสังคม ในอดีตเป็นการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้นำศาสนา ระหว่างสุลต่านกับผู้นำศาสนา ประชาชนไม่เกี่ยว แต่อินโดนีเซียตีความใหม่ สังคมเปลี่ยน คนมากขึ้น หลากหลายอาชีพขึ้น คุณจะปรึกษาหารือกันแบบเดิมไม่ได้ สถาบันสำคัญที่ทำให้การปรึกษาหารือมีประสิทธิภาพคือบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ในสภาคือที่ที่ปรึกษาหารือกันได้อย่างดีเยี่ยม ทำไมจะไม่เอาระบบสภาล่ะ เพราะมันเข้ากับอิสลาม

การปรับศีลธรรมให้ไปกันได้กับการปกครองสมัยใหม่ จะมีประเด็นว่าในสังคมมีทั้งคนที่ไม่นับถือศาสนาและคนที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน ถ้าเรานำศีลธรรมทางศาสนาเข้ามา ศาสนิกที่มีจำนวนมากที่สุดในสังคมอาจจะครอบงำความเชื่อทางศีลธรรมของศาสนาอื่น

ในศาสนามีศีลธรรมคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน พวกที่ไม่นับถือศาสนาก็มีศีลธรรมเช่นกันอันเกิดจากเหตุผล นักปรัชญาอิสลามถึงขนาดบอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีศาสนาอิสลามเลย การมีคัมภีร์มีไว้สำหรับผู้ที่ใช้เหตุผลไม่ได้ ศาสนามีไว้สำหรับคนกลุ่มนี้ แต่สำหรับนักปรัชญาที่สามารถคิดได้ว่าศีลธรรมอยู่ตรงไหนโดยใช้เหตุผล คุณจะเห็นว่าแม้แต่ในอิสลามก็บอกว่าเหตุผลเท่าเทียมกับศาสนา นั่นหมายความว่าพวกที่ไม่นับถืออศาสนาถ้าบอกว่าคุณเอาศีลธรรมทางศาสนามาใช้ แล้วพวกฉันล่ะ ผมก็ถกเถียงกลับไปว่าท้ายที่สุดแล้ว ศีลธรรมอยู่ระดับเดียวกัน คนที่ไม่มีศาสนาก็มีศีลธรรมได้ดีเช่นกัน

ความคิดว่าถ้าศาสนามา ศาสนาจะครอบงำคนอื่น ถ้า Secular มา ก็ครอบงำศาสนาด้วยหรือไม่ เพราะการครอบงำเป็นเรื่องทางการเมือง ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว คุณครอบงำผม ผมครอบงำคุณ แต่พอเวลาคุณครอบงำผม ทำไมคุณไม่พูดล่ะ ดังนั้น เราอยู่ในสถานะเดียวกัน ความกลัวที่ว่าเวลาศาสนามาจะทำลาย Secular จะทำลายความคิดอื่นๆ เวลา Secular มาก็ทำลายศาสนาเช่นเดียวกัน อย่างในฝรั่งเศส

"คริสเตียนก็มีการตีความคำสอนแต่ออกไปอีกทางหนึ่งคือการแยกการเมืองออกจากศาสนา เพราะเขามีประสบการณ์แบบนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณไปในทิศทางนั้น แล้วจะให้คนอื่นไปในทิศทางนั้นด้วย การที่คุณจะพัฒนา จะมีอารยธรรม มิได้หมายความผมต้องแยกการเมืองออกจากศาสนา การแยกออกจากกันเป็นแค่ทางหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง การที่คุณจะเป็นสมัยใหม่ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ศาสนาอย่างไร"

ความคิดแบบนี้เรียกว่า Anti-Religious เป็นความคิดต่อต้านศาสนา คิดว่าศาสนาเป็นที่มาของการฆ่า ของการเกลียดชัง เป็นที่มาของสงคราม ผมถามว่าสงครามโลกทั้งสองครั้งคนตายเกือบร้อยล้านคน นี่เป็นผลของศาสนาหรือ Secular จักรวรรดินิยมที่ไปครอบงำคนทั้งโลกมาจาก Secular หรือศาสนา คริสต์ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่มันเกิดจากการที่ตะวันตกต้องการไปเอาทรัพยากรมาใช้ สงครามที่สหรัฐฯ บุกอิรักปี 2003 คนตายกว่า 1 ล้านคน นี่เกิดจากศาสนาหรือ Secular เพราะฉะนั้นความคิดว่าศาสนาเป็นที่มาของสงครามมีที่มาจากคริสเตียน ที่เกิดสงคราม 30 ปี แล้วกลายเป็นความคิดของคนตะวันตก

เหมือนกับความคิดของคนสามจังหวัด มุสลิมที่นั่นถูกกดขี่ แต่จะเอาความคิดนี้เป็นมาตรฐานให้มุสลิมที่อื่นไม่ได้ คุณจะบอกว่าอิสลามจะเป็นแบบคุณไม่ได้ สงครามระหว่างสยามกับปัตตานีเกิดขึ้นเมื่อ 300 กว่าปีแล้ว คุณถูกทำแบบนั้นมา 300 กว่าปี ผมเข้าใจคุณ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ผมทำแบบคุณ มุสลิมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

เช่นเดียวกัน ความคิดข้างต้นเป็นความคิดของคนที่อยู่ในสงคราม 30 ปี สงครามครูเสดที่อ้างว่าเป็นสงครามศาสนาก็ไม่ใช่ มันเป็นสงครามที่สันตะปาปาและเจ้าชายต่างๆ ต้องการรวบอำนาจ มันไม่ใช่สงครามศาสนา แต่ในนามของศาสนา นี่คือประสบการณ์ของคริสเตียน ไม่ใช่ของอิสลาม

ในสังคมมีพลวัตร เป็นการช่วงชิง ต่อสู้ การตีความทางศาสนาก็เช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมแล้วจะตีความศีลธรรมเพื่อครอบงำคนอื่น เขาอาจจะครอบงำ แต่ไม่ใช่การครอบงำด้วยความคิดทางศาสนา อาจจะเพราะมีพรรคการเมือง มีกลุ่มอำนาจอื่นๆ เข้ามาด้วย คุณก็มีกลุ่มอำนาจของคุณเช่นเดียวกัน

ผมจะยกตัวอย่างเช่นในฝรั่งเศส คุณก็นำศีลธรรม Secular มาครอบงำคนอื่นไม่ใช่หรือ แต่มุสลิมก็ต่อสู้ ไม่ได้อยู่นิ่ง เขารู้ว่าศีลธรรมแบบ Secular อาจมีปัญหาบางอย่างกับมุสลิม มุสลิมในฝรั่งเศสเกือบ 6 ล้านคนก็ต้องหาวิธีอยู่ร่วมกันให้ได้ในฝรั่งเศสโดยไม่สูญเสียจิตวิญญาณของเขา ขณะเดียวกันก็ไม่ผิดกฎหมายฝรั่งเศส เป็นเรื่องของการต่อรอง เป็นเรื่องการเมือง

การที่บอกว่าคุณอาจจะมาครอบงำผม แต่ในสังคมก็เป็นแบบนั้นไม่ใช่หรือ คุณก็ครอบงำผมในเรื่องนี้ ผมก็ครอบงำคุณในเรื่องนั้น เราก็ต่อรองกัน เพราะเราอยู่ในสนามของการแข่งขัน ในสังคมประชาธิปไตยมีกลไกอยู่แล้ว ผมยกตัวอย่างว่าถ้าอินโดนีเซียต้องการออกกฎหมายเพื่อครอบงำผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม จะทำได้มั้ย กลุ่มคริสเตียนก็มี สมมติว่ารัฐบาลมาเลเซียต้องการให้คนอยู่แบบนั้น แบบนี้ ทำไม่ได้ ทั้งที่มีคนพุทธ คนจีนน้อยมาก แต่แน่นอนว่าบางอย่างคนที่ไม่ใช่มุสลิมเป็นฝ่ายครอบงำ เช่น เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัย ความคิด คนจีนครอบงำ เรื่องทางศาสนา เนื่องจากมีมุสลิมมาก มุสลิมก็ครอบงำ เรื่องของการบริการคนอื่นครอบงำ คือในสังคมมันเป็นแบบนี้ การกลัวว่าจะถูกครอบงำ มันเป็นการแสดงออกถึงความไม่มั่นใจในตัวเองด้วย

คุณต้องตีความพุทธศาสนาให้เป็นมิตรกับเสรีภาพ ประชาธิปไตย ที่ตอบรับความเปลี่ยนแปลง ในอินโดนีเซียก็มีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มเก่า กลุ่มใหม่ กลุ่มมุสลิมลิเบอรัล กลุ่มมุสลิมโซเชียลลิสต์ กลุ่มมุสลิม Renaissance จะเห็นว่ามีการสู้รบทางความคิดในอินโดนีเซีย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้เกิดการรื้อสร้าง การต้อนรับสิ่งใหม่ แต่พุทธศาสนาเมืองไทยไม่มีการถกเถียง ไม่มีการเคลื่อนไหวทางปัญญาในพุทธหลายสาย

แทนที่เราจะละทิ้งศาสนา คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนจะรวมตัวกันต่อสู้เพราะรัฐจะละทิ้งเรา เกิดสงคราม กับการรื้อสร้างคำสอนของศาสนา อย่างไหนจะดีกว่ากัน คริสเตียนก็มีการตีความคำสอนแต่ออกไปอีกทางหนึ่งคือการแยกการเมืองออกจากศาสนา เพราะเขามีประสบการณ์แบบนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณไปในทิศทางนั้น แล้วจะให้คนอื่นไปในทิศทางนั้นด้วย การที่คุณจะพัฒนา จะมีอารยธรรม มิได้หมายความผมต้องแยกการเมืองออกจากศาสนา การแยกออกจากกันเป็นแค่ทางหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง การที่คุณจะเป็นสมัยใหม่ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ศาสนาอย่างไร

เหตุการณ์ในสามจังหวัดเกิดจากศาสนาหรือ มันเกิดจากรัฐไทยเข้าไปเอาพื้นที่บริเวณนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เขียนว่า เราพยายามทำให้พวกเขาเป็นไทย แต่พวกเขาเป็นมลายู รัชกาลที่ 5 ก็บอกว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการปกครองคนต่างชาติมาก่อน สงครามในสามจังหวัดเกิดจากการเมือง ไม่ใช่ศาสนา ศาสนามาภายหลัง คนที่ต้องการรบกับรัฐไทยจึงหันไปหาศาสนา ถ้าไม่มีศาสนาเขาก็ต้องไปหาอะไรสักอย่าง การที่คุณบอกว่านี่เป็นเรื่องศาสนา แสดงว่าคุณไม่ศึกษาเรื่องอะไรเลย

คุณพูดถึงการตีความศาสนาให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ เข้ากับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน อุปสรรคประการหนึ่งของศาสนาพุทธในสังคมไทยคือการถูกครอบงำโดยรัฐและอุดมการณ์ราชาชาตินิยม มีกฎหมาย มีแนวทาง ที่บอกว่าพุทธแบบไทยต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น จึงไม่เปิดช่องให้เกิดการตีความ ถกเถียง พระคือข้าราชการของรัฐ ถ้าจะแก้ที่รากเหง้า ให้เกิดเสรีภาพในการตีความศาสนา ก็ต้องแยกศาสนาออกจากรัฐ

ผมเข้าใจคนที่เสนอข้อเสนอนี้ ไม่ว่าจะอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ หรือวิจักขณ์ พานิช ก่อนมี คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นต้นมา เป็นช่วงที่มีพลังอนุรักษ์นิยมเกิดขึ้น ศาสนาไปจับมือกับพลังอนุรักษ์นิยม เพราะอนุรักษ์นิยมไม่มีความชอบธรรม แต่ประชาธิปไตยมีความชอบธรรมจากประชาชน อนุรักษ์นิยมก็ต้องอ้างความดี อ้างศาสนา ศาสนากับเผด็จการก็คล้ายว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ครอบคนอื่น

ผมเข้าใจ แต่ผมเห็นว่าการแก้ปัญหาด้วยการแยกศาสนาออกไป เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดที่ผิดทาง ผมยกตัวอย่างช่วงที่มีประชาธิปไตยในช่วงทักษิณ ซึ่งก็เป็นประชาธิปไตยที่มีปัญหาพอสมควร แต่ก็มีกลไกอยู่ ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าสถานะของพุทธศาสนาช่วงทักษิณซึ่งเป็นประชาธิปไตยกับปัจจุบันที่เป็นเผด็จการก็ต่างกัน หมายความว่าสภาพสังคมต่างหาก สภาพประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้ศาสนาเป็นอย่างไร ถ้าปัจจุบันเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยที่มีการถกเถียง ศาสนาก็เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น คล้ายๆ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ นักธุรกิจ ที่คุณต้องมาถกเถียงกัน

แม้ว่าพระจะอยู่ในระบบองค์กรปกครองสงฆ์ แต่ถ้ามีประชาธิปไตยก็จะทำให้พระกล้าพูด กล้าถกเถียง ถึงจะไม่มาก แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องสร้างสถาบัน สร้างการเคลื่อนไหว ที่ก่อให้เกิดการรื้อสร้างคำสอนในพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของปัญญาชนทางพุทธศาสนาเหล่านี้ เพื่อสร้างสำนักคิดที่เปิดกว้างกับความเป็นประชาธิปไตย

คุณคิดเห็นอย่างไรกับคำพูดของคุณธนาธรที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

มันเป็นความเข้าใจที่อยู่ภายใต้ข้อสันนิษฐานบางประการ ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานที่ผมตั้งคำถาม ข้อสันนิษฐานประการแรกคือเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ว่าศาสนาเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งผมพูดไปแล้วว่าไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องการเมือง คุณต้องจัดการมันด้วยการเมือง ไม่ใช่ด้วยศาสนา คุณจะกระจายอำนาจอย่างไร จะมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างไร คุณจะทำให้เขามีที่ทางในสังคมอย่างไร คุณจะยอมรับวัฒนธรรมและภาษาของเขาอย่างไร ต่อคำพูดที่ว่าแยกศาสนาออกไปปัญหาจะลดลงจึงผิดที่ผิดทาง

ประการที่ 2 ข้อสันนิษฐานที่ว่าศาสนาจะครอบงำการตัดสินใจ เพราะศาสนาเป็นตัวลดเสรีภาพของคนอื่น แต่อย่างที่ผมบอกตอนต้นว่ามันขึ้นอยู่กับสภาพทางสังคม ช่วงที่เรามีประชาธิปไตย ศาสนาไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องสังคมไทยเป็นเรื่องการเมือง ต้องมีทางออกทางการเมือง แทนที่จะบอกว่าให้ศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งในสังคมไทยศาสนาถูกถักทอ เป็นทั้งคุณค่า เป็นทั้งสถาบันทางสังคม สะท้อนออกมาในรัฐธรรมนูญ คือเป็นทุกอย่าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันศาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่ผูกโยงกัน พระมหากษัตริย์ให้การสนับสนุนศาสนา ศาสนาให้ความชอบธรรมแก่สถาบันกษัตริย์ ยิ่งเสนอให้ศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ผมยังคิดว่ามันหนักไปในแง่สภาพความเป็นจริง ผมไม่ได้บอกว่าสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะนะ ไม่ใช่ หรือเราจะมีแนวคิดอื่น เราต้องแยกการเมืองออกจากศาสนาโดยไม่หาทางเลือกอื่นเลยเหรอ ผมจึงมองหาทางเลือกอื่นว่า เราจำเป็นต้องรื้อสร้างความคิดหรือปฏิรูปศาสนาให้เปิดกว้าง เป็นมิตรกับความเป็นสมัยใหม่ กับการเปลี่ยนแปลง กับเสรีภาพ

ในอดีต ศาสนาไม่ได้อยู่ในสังคมประชาธิปไตย ศาสนาจึงมีความคิดแบบนั้น แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป ศาสนาต้องมีกลไกบางอย่างที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งใหม่เพื่ออยู่รอด คริสเตียนก็ปฏิรูป แต่ปฏิรูปในอีกทิศทางหนึ่ง พุทธศาสนาก็ต้องปฏิรูป อาจจะไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งผมก็ไม่รู้ อิสลามมีการปฏิรูปทางความคิด

ไม่ดีกว่าหรือถ้าทุกศาสนาเท่าเทียมกัน รัฐไม่สนับสนุนศาสนาใดเป็นการเฉพาะ

สังคมไทยเป็นรัฐกึ่ง Secular เนื่องจากมีสถาบันทางสังคม สถาบันอนุรักษ์นิยมที่ดำรงอยู่ ข้อเสนอแยกศาสนาออกจากรัฐฟังดูดี แต่ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ผมจึงให้ข้อเสนอใหม่ว่า แทนที่จะทำแบบนั้น มันมีวิธีอื่นในการทำให้ศาสนาเปิดกว้าง เป็นมิตรกับเสรีภาพและประชาธิปไตย ไม่ดีกว่าเหรอ แทนที่ผมจะไล่คุณออกไป เพราะคุณไม่เหมือนผม คุณมีพรรคพวก คุณก็ต่อสู้กับผม แต่ทำไมไม่สนทนากับคุณ อาจต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน เราได้อยู่ด้วย ท้ายที่สุดคุณเปิดกว้างกับความคิดของผม ผมเปิดกว้างกับความคิดของคุณ ผมไม่ต้องการละทิ้งคุณ แต่ผมต้องการอยู่กับคุณ ทั้งคุณและผมต้องปรับความคิด

แต่ข้อเสนอแบบ Secular เป็นข้อเสนอที่ละทิ้งไปเลย ตัด แยกขาด ซึ่งมันเป็นอัตวิสัยมาก ไม่มีสิ่งใดตัดได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องทางสังคม ศาสนากับวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ต่อกันเป็นเนื้อเดียวกัน วัฒนธรรมเป็นที่มาของสถาบันต่างๆ ในสังคม

ประการต่อมา คุณบอกว่าจะได้ปฏิบัติต่อทุกศาสนาเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงชุมชนชาวพุทธเป็นชนกลุ่มใหญ่ คุณบอกว่าทิ้งศาสนา เขาจะอยู่เฉยๆ เหรอ ผมไม่คิดอย่างนั้น ผมก็คิดว่าคุณก็ไม่คิดแบบนั้น เขามีชีวิตจิตใจ มีผลประโยชน์ เขาย่อมรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ ผมเป็นมุสลิมก็ต้องรวมตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์ รัฐปฏิบัติเท่าเทียมกัน แต่รัฐเป็น Secular อย่าลืมว่าก็เป็นความคิดหนึ่งเหมือนกัน คุณก็มาครอบงำผมนั่นแหละ คุณเป็น Secular คุณก็อยากให้ผมทำแบบคุณ ตีว่า Secular ก็เป็นศาสนา เป็นความคิดหนึ่ง คุณบอกว่าให้ทุกศาสนาเท่าเทียมกัน คุณจะได้อยู่สูงกว่าคนอื่นหรือ ฉันอยู่ข้างบน ใช่หรือไม่

เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าถึงแม้เป็นรัฐ Secular ความเท่าเทียมก็เกิดจากการ Power Play กันในสังคม เกิดจากเศรษฐกิจ การเมือง ไม่ใช่ว่าคุณจะแยกศาสนาแล้วทุกอย่างจะเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ เป็นข้อเสนอที่ยูโทเปียและไม่มีตรรกะรองรับ

รัฐกับศาสนาควรปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรในโลกสมัยใหม่

ผมถึงยกตัวอย่างอินโดนีเซียว่าเขาอยู่กันยังไง แน่นอนในอินโดนีเซียอาจจะมีกลุ่มสุดโต่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคม อเมริกาก็มี ฝรั่งเศสก็มี พวก Secular นี่สุดโต่งเลย เรากลัวว่าพอมีศาสนาแล้วจะมีกลุ่มสุดโต่ง Secular ก็มีทั้งนั้น มันเป็นเฉดสี

คำถามว่าเราจะอยู่กันยังไง อันนี้เป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องถกเถียงกัน ตำแหน่งแห่งที่เราจะอยู่ตรงไหน ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศาสนาจะอยู่อย่างไร ศาสนามีอิทธิพลตรงนี้ การเมืองมีอิทธิพลตรงนี้ มันเป็นเรื่องของคนในสังคมที่ต้องนั่งถกเถียง พูดคุยกัน ซึ่งที่อินโดนีเซียมี โดยใช้กรอบของประชาธิปไตย ซึ่งดีที่สุดในการกำหนดว่าใครจะอยู่ที่ไหนอย่างไร ใครจะมีอำนาจด้วยเงื่อนไขอะไร

ดังนั้น ถ้าคุณมีบรรยากาศของประชาธิปไตย มีกรอบของประชาธิปไตย คุณเป็นพวกสุดโต่ง ท้ายที่สุดก็ต้องถูกกลุ่มอื่นๆ เข้ามาถกเถียง ประเด็นของผมคือศาสนาต้องมีการปฏิรูปทางความคิดให้เปิดรับกรอบเสรีภาพ กรอบของประชาธิปไตยในปัจจุบัน ขณะเดียวกันต้องไม่สูญเสียจิตวิญญาณและศีลธรรมของศาสนา จะทำอย่างไร มันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยาวนาน โลกมุสลิมเต็มไปด้วยกระบวนการเหล่านี้ แต่พุทธผมไม่รู้เพราะผมอาจจะไม่ได้ศึกษามากนัก ศาสนาต้องปฏิรูปทางความคิดและการเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องทำไปพร้อมๆ กัน ไม่มีการทำอะไรก่อนหลัง กระบวนการต้องไปพร้อมๆ กัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกัน หลังอัยการสั่งฟ้อง 'คนอยากเลือกตั้ง' รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

Posted: 05 Apr 2018 12:36 AM PDT

ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว 40 คนอยากเลือกตั้ง โดยไม่ต้องวางหลักประกันและไม่มีเงื่อนไข หลังอัยการสั่งฟ้อง ผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 10 ก.พ.ที่ผ่านมา 

5 เม.ย.2561 Banrasdr Photo รายงานว่า วันนี้  ที่ศาลแขวงดุสิต กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจำนวน 40 คน ที่ถูก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความดำเนินคดีในความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เดินทางมาตามที่อัยการนัดสั่งฟ้อง โดยทั้งหมดถูกคุมตัวไว้ในห้องเวรชี้เพื่อรอศาลสอบคำให้การ ทางด้านทนายความได้เตรียมยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่ต้องวางหลักประกันและหากศาลเห็นว่าต้องให้วางหลักทรัพย์ ทางทนายก็ได้เตรียมหลักทรัพย์ไว้คนละ 10,000 บาท

ล่าสุดศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด โดยไม่ต้องวางหลักประกันและไม่มีเงื่อนไข พร้อมนัดขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ 

สำหรับการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่ม START UP PEOPLE ได้มีการจัดชุมนุม 'หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง' บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน โดยมี โรม รังสิมันต์, จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และทนายอานนท์ นำภา ผลัดขึ้นปราศรัยประเด็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. กรณีโร๊ดแม็ปที่ยืดเยื้อ และการแจ้งข้อหากลุ่ม MBK39 อีกทั้งมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทวงถามการสิทธิการเลือกตั้งจากรัฐบาล

ในการชุมนุมครั้งนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานไว้ว่า ทางผู้จัด ได้แก่ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่ม Start Up People ก็ปฏิบัติตาม  พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ โดยมีการแจ้งจัดการชุมนุมไปยัง สน.สำราญราษฎร์ก่อนถึงวันทำกิจกรรม อย่างไรก็ตามจากการรวมตัวกันครั้งนี้ คสช. มอบอำนาจให้พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เช่นเดิม เดินหน้าแจ้งความดำเนินคดีบุคคลถึง 50 คน ที่สน.นางเลิ้ง แยกเป็นการกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/58 จำนวน 43 คน

ส่วนอีก  7 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำการชุมนุม ถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 เพิ่มอีก 1 ข้อหา ได้แก่ 1. รังสิมันต์ โรม 2. ณัฎฐา มหัทธนา 3. อานนท์ นำภา 4. สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ 5. เอกชัย หงส์กังวาน 6. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ 7. ชลธิชา แจ้งเร็ โดย บุคคลทั้ง 50 คนนี้มีถึง 21 คน ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุที่สกายวอล์คแยกปทุมวันมาแล้วด้วย แต่ในรายชื่อทั้งหมด 50 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: อำนาจบนทางตัน

Posted: 04 Apr 2018 08:10 PM PDT

รัฐบาลโหนกระแส "ออเจ้า" เอาพี่ขุนแม่หญิงมาโปรโมต "ไทยนิยม" ที่ลุงตู่บ่นนิด้าโพล ไปสำรวจยังไง หาว่าคนไม่รู้จักโครงการไทยนิยมยั่งยืน ไม่รู้จะต้องเปลี่ยน ผอ.โพลอีกไหม

แต่ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน ว่าการขนดารามาโปรโมต จะได้ผลดังใจหรือ เพราะแทนที่คนจะสนใจสายตรงไทยนิยม ก็อาจกรี๊ดดาราเสียมากกว่า หรือไม่ก็มัวเฮฮาที่พี่ขุนหยอกลุงตู่ต่อหน้า "ออเจ้าเป็นคนกำเริบ"

ก็รู้กันอยู่นะ รัฐไทยชอบโหนกระแส "ความเป็นไทย" โหยหาอดีต เพื่อปฏิเสธ "ประชาธิปไตยฝรั่ง" พอเห็นละครบุพเพสันนิวาสดัง ก็หวังปลุกความเป็นไทยแบบเคารพเชื่อฟังอำนาจ อย่ามาทวงเลือกตั้ง ไม่งั้นตัดหัว หรือมีคดีติดตัวจนล้อกันว่า "พี่หมื่นคดี" อย่างรังสิมันต์ โรม

แต่ถามจริง คนยุคนี้ที่ไปเที่ยวอยุธยาเช่าชุดไทยถ่ายเซลฟี ยังเป็นคนว่านอนสอนง่ายแบบผู้มีอำนาจว่าอะไรก็ว่าตามอยู่หรือ อย่างมาก ก็เพียงไม่ต่อต้าน เพราะไม่อยากเดือดร้อน (ตามประสาคนไทย) เท่านั้น

ขณะเดียวกัน แม้อารมณ์ดีมีอารมณ์ขันกับดารา ท่านผู้นำก็ออกอาการตึงเครียด ทั้งกับพรรคการเมือง กับคนอยากเลือกตั้ง และปัญหาต่างๆ ที่คาราคาซัง

เช่นการตอบโต้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพูดอะไรให้เกียรติกันบ้าง ระวังจะมีอารมณ์ มีอย่างที่ไหน ดันประกาศลั่นประเทศ ไล่คนสนับสนุนท่านไปอยู่พรรคอื่น

แต่มันจริงไหมล่ะ เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าสิ ไปเชียร์คนอื่นได้ไง พรรคการเมืองที่มาจากเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย ถ้ากลับไปหนุนนายกฯ คนนอก ยังเหลือศักดิ์ศรีอยู่ไหม

ฝ่ายยิ่งลักษณ์ทักษิณ ก็ไปเดินเย้ยกระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ญี่ปุ่น รัฐบาลไทยทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องบอกว่า รัฐบาลไม่อาย ยิ่งลักษณ์ทักษิณสิ ควรจะอาย ปู่ดอนก็สำทับ ประเทศต่างๆ ล้วนหนักใจ ที่ต้องให้วีซ่า 2 พี่น้องอดีตนายกฯ บินว่อนไปทั่วโลก

โชคชะตาอนาคตเริ่มชัดเจน ถ้า 2 พรรคใหญ่ไม่เอานายกฯ คนนอก แล้วจะไปเอา ส.ส.ที่ไหน กปปส. บ้านริมน้ำ ตลาดน้ำ ขำตาย! ทักษิณเกทับจะชนะถล่มทลาย ข่าวสะพัด โพล คสช.ยังบอก 220 เสียงเห็นจะได้ ปชป.ก็ไม่น่าน้อยกว่า 150 ต่อให้ 2 พรรคได้ต่ำกว่านี้ก็เกินครึ่งอยู่ดี แถมยังมีดาวรุ่ง พรรคอนาคตใหม่ ที่ท่านผู้นำพูดปรามไว้ในรายการคืนวันศุกร์

นายกฯ คนนอกจะมาได้ไง หรือต่อให้ได้เป็น จะอยู่อย่างไร ขณะที่คนอื่นก็เป็นไม่ได้ วิกฤติรออยู่ข้างหน้าเห็นๆ

ครั้นจะเลื่อนเลือกตั้งอีกก็ไม่ได้ แค่นี้ก็โดนรุมสกรัม แต่ท่านยังหาว่าคนวิพากษ์วิจารณ์มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งแค่ทวงคำมั่นสัญญา ก็ว่ามีท่อน้ำเลี้ยง โดนแจ้งจับกราวรูด 57 คน คงไม่อยากให้มีคนมาเยอะกว่านี้

"ป๋าเหนาะ" เทียนทอง โผล่มาเสนอ "รัฐบาลแห่งชาติ" ในวันเอพริลฟูลส์ ไม่ยักมีใครเอาด้วย ใช่เลย ทั้งผิดหลักการและเป็นไปไม่ได้ แต่นักเลงโบราณก็ไม่ได้มั่วเสียทีเดียว ที่เสนอให้เลื่อนเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลปรองดอง และเอารัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้

ก็เพราะผู้คร่ำหวอดมองเห็นแล้วไง ไม่ต่างจากนักวิชาการ เห็นชัดว่ารัฐบาลนายกฯ คนนอกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไปไม่รอดหรอก แค่รอวิกฤติครั้งใหม่เท่านั้น

อ้าว ถ้าคิดว่าไปโลด ทำไมไม่รีบเลือกตั้งล่ะ แต่อยู่อย่างนี้ไปอีกปี ก็ระวังจะยิ่งตัน

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/224943

ที่มาภาพ: https://www.posttoday.com/ent/news/546550

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น