ประชาไท | Prachatai3.info |
- นักวิจัยสหรัฐฯ เผยยิ่งเด็กช่างสงสัยยิ่งประสบผลสำเร็จในการเรียน
- 'สภาองค์การลูกจ้าง-สหพันธ์แรงงานสิ่งทอ' ร้อง คสช. คืนอำนาจให้ประชาชน ย้ำเลือกตั้งปีนี้
- เกษียร เตชะพีระ: ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย [คลิป]
- 'สมชัย' ชี้ 'ส.ส.' ไหนถูกดูดไม่น่าไปเลือก เหตุไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่แน่นอน
- ผู้หญิง ชนชั้น และคาร์ล มาร์กซ์
- อิสรภาพวันแรก เรื่องเล่ายกที่หนึ่ง ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข
- ‘รังสิมันต์ โรม’ ยื่นศาล รธน. วินิจฉัยประกาศคณะปฏิวัติปี 49 ขัดรัฐธรรมนูญ
- 'ตร.-ทหาร' เรียกคนงานรังสิตคุย ขอจัดวันกรรมกรสากล อย่าพูดเลือกตั้ง-การเมือง
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: ถ้าไม่กระจายอำนาจ ประเทศไทยจะเคลื่อนที่ช้าลง
- สุรพศ ทวีศักดิ์: การดูดนักการเมืองไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตย
- สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: ปฎิญญาปันมูนจอม
- 'ชัชชาติ' เข้ายืนยันสถานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว อดีต ส.ส.อุบลฯ ชี้สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ
- 'ประวิตร' สั่งทำคู่มือให้ จนท. ยึดหลักสากล ทำงานตามกฎหมาย-ไม่ขัดสิทธิมนุษยชน
- กวีประชาไท: ชื่นใจ!
- กวีประชาไท: กฎหมายอาญามาตรา 113 กับบ้านป่าแหว่ง
นักวิจัยสหรัฐฯ เผยยิ่งเด็กช่างสงสัยยิ่งประสบผลสำเร็จในการเรียน Posted: 30 Apr 2018 12:29 PM PDT กลุ่มนักวิจัยจาก ม.มิชิแกนและโรงพยาบาลเด็กในสหรัฐฯ ศึกษาพบว่าเด็กที่มี 'ความสงสัยใคร่รู้' จะสามารถทำผลการเรียนได้ดีกว่าในด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมาจากครอบครัวที่ฐานะดีหรือไม่ก็ตาม แต่ทว่าคนที่ครอบครัวฐานะดีกว่าก็ยังได้เปรียบในแง่มีทรัพยากรหรือสิ่งกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้มากกว่า ที่มาของภาพประกอบ: GMR Akash/Wikipedia/UNESCO 30 เม.ย. 2561 ก่อนหน้านี้เคยมีการสำรวจปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสามารถในชั้นเรียนของเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ของครอบครัว การเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่วัยเด็กตอนต้น และสภาพแวดล้อมภายในบ้าน แต่จากผลวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน 'วารสารการวิจัยกุมารเวชศาสตร์' (Pediatric Research) ระบุว่าหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้ดีคือ "ความสงสัยใคร่รู้" (curiosity) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน, โรงพยาบาลเด็ก ซี.เอส. มอตต์ และ ศูนย์เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กใน ม.มิชิแกน ศึกษาพบว่าความสงสัยใคร่รู้ในเด็กส่งผลดีต่อการเรียนได้โดยไม่เกี่ยงว่าพวกเขาจะมีพื้นเพครอบครัวแบบใด พวกเขาทำการสำรวจจากข้อมูลของโรงเรียนอนุบาล 6,200 แห่ง โดยวัดผลเรื่อง "ความสงสัยใคร่รู้" จากแบบสอบถามด้านพฤติกรรมที่ผู้ปกครองเด็กเป็นคนทำ รวมถึงวัดผลด้านความสามารถในการอ่านและความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเด็ก ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีผลวิจัยระบุว่าเด็กที่มีฐานะยากจนกว่ามักจะมีโอกาสน้อยกว่าในการประสบความสำเร็จด้านการศึกษา แต่ไม่ใช่กับเด็กยากจนที่มีความสงสัยใคร่รู้ เด็กกลุ่มหลังนี้จะสามารถทำผลลัพธ์ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านได้ดีเทียบเท่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า ผู้นำการวิจัย ปราจี ชาห์ กล่าวว่าผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าความสงสัยใคร่รู้จะส่งผลต่อบวกความสำเร็จด้านการศึกษาในเด็กทุกคนไม่ว่าจะมาจากพื้นเพแบบใดก็ตาม ชาห์เป็นกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมที่มอตต์และเป็นผู้ช่วยนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก ม.มิชิแกน ชาห์กล่าวถึงนิยาม "ความสงสัยใคร่รู้" ว่าหมายถึง "ความรู้สึกยินดีที่ได้ค้นพบสิ่งใหม่ และความปรารถนาที่จะสำรวจตรวจตรา รวมถึงมีลักษณะของการมีแรงผลักดันในการค้นหาคำตอบในสิ่งที่ไม่รู้" การศึกษาวิจัยเหล่านี้จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับครอบครัว, นักการศึกษา และ นักการเมืองเอาไปพิจารณา โดยที่ชาห์บอกว่าการส่งเสริมเรื่องความสงสัยใคร่รู้มีความสำคัญโดยเฉพาะกับเด็กที่ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ ปัจจัยนี้ยังเป็นสิ่งที่มีคนนำมาพิจารณาน้อยเกินไปเวลาจะแก้ไขปัญหาการลดช่องว่างความสำเร็จระหว่างบุคคล อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมภายในบ้านของคนที่รวยกว่าก็ยังได้เปรียบมากกว่าคนจน ชาห์กล่าวว่าเด็กที่โตมาในสภาพทางการเงินที่มั่นคงมากกว่ามักจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เอื้อต่อการอ่านและการศึกษาคณิตศาสตร์ได้มากกว่า ขณะที่ครอบครัวยากจนจะมีสิ่งกระตุ้นเร้าเหล่านี้น้อยกว่า ทำให้แรงจูงใจหลักๆ ของเด็กในการอยากประสบความสำเร็จทางการศึกษาจะกลายเป็นขึ้นอยู่กับการสงสัยใคร่รู้จากในตัวเด็กเองอย่างเดียว ขณะที่หลายคนมองว่าการควบคุมตัวเองให้มีสมาธิกับชั้นเรียนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เด็กอ่านและคำนวนได้ดี แต่ในการวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าเด็กที่มีความสงสัยใคร่รู้ไม่จำเป็นต้องมีสมาธิในชั้นเรียนที่ดีเสมอไปพวกเขาก็สามารถมีทักษะการอ่านและคำนวนได้ดี อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะให้ปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด ชาห์บอกว่างานวิจัยนี้เพียงแค่ให้เน้นว่าควรจะหันมาใส่ใจความสงสัยใคร่รู้ของเด็กมากขึ้น ทั้งนี้มีคำถามต่ออีกว่าเราจะสามารถกระตุ้นเพิ่มความสงสัยใคร่รู้ในตัวเด็กได้หรือไม่ เรื่องนี้ยังต้องอาศัยการวิจัยอื่นๆ หลังจากนี้ต่อไป เรียบเรียงจาก Study explores link between curiosity and school achievement, Phys, 30-04-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||
'สภาองค์การลูกจ้าง-สหพันธ์แรงงานสิ่งทอ' ร้อง คสช. คืนอำนาจให้ประชาชน ย้ำเลือกตั้งปีนี้ Posted: 30 Apr 2018 11:34 AM PDT สภาองค์การลูกจ้างฯ - สหพันธ์แรงงานสิ่งทอฯ ออกแถลงการณ์วันกรรมกรสากลย้ำอำนาจอธิปไตย(ต้อง) เป็นของราษฎร คสช. ต้องคืนอำนาจ "เลือกตั้งปีนี้" ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ แฟ้มภาพ 1 พ.ค.2561 เนื่องในวันกรรมกรสากล หรือ "วันเมย์เดย์" (May Day) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ย้ำอำนาจอธิปไตย(ต้อง) เป็นของราษฎรทั้งหลาย โดยเรียกร้องอำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดย "เลือกตั้งปีนี้" เพื่อสืบสานการต่อสู้ของกรรมกร ให้ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ ณ วันนี้ ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.สว.ในเขตพื้นที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ และยกเลิก การขยายอายุรับบำนาญชราภาพ สำหรับประเด็นอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้ รัฐ ต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า มีค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม กำหนดค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี และต้องมีปฏิรูปการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการและการเลี้ยงดูบุตร และจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม โดยมีรายละเอียดดังนี้ แถลงการณ์วันกรรมกรสากล"วันกรรมกรสากล" หรือ "วันเมย์เดย์" (May Day) กำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของ "การปฏิวัติอุตสาหกรรม" จากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องทนกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด มีการเคลื่อนไหวต่อสู้การกดค่าจ้างและให้ลดชั่วโมงการทำงาน เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1886 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง "ระบบสามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้น อำนาจรัฐนายทุน ได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปด โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 จึงมีแนวคิดจากกรรมกรในหลายประเทศแถบยุโรป ประกาศเป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก ที่ประชุมสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส จึงมีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1890 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงาน และให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น "วันกรรมกรสากล" และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก และการยืนหยัดต่อสู้ของคนงานชิคาโกและคนงานอื่น ๆ ทำให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน 1 พฤษภาคม ของทุกปี คือ "วันกรรมกรสากล" เป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อชนชั้นกรรมกร ซึ่งกรรมกรทั่วโลกจัดให้มีการชุมนุมเดินขบวน สร้างวัฒนธรรมการต่อสู้ เพื่อปลดปล่อยจากการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยม ในประเทศไทย การจัดงานวันกรรมกรสากลในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพร่วมกับสมาคมไตรจักร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ. 2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ "กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน" ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ "สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย" วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกร โดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง แต่แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยรัฐบาลเผด็จการได้สั่งห้ามจัดงานวันกรรมกรสากล ในปี พ.ศ.2499 "กรรมกร 16 หน่วย" จัดตั้งรวมตัว โดยมีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่าง ๆ และให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากล แต่รัฐบาลเผด็จการมีเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อ "วันกรรมกรสากล" เป็น "วันแรงงานแห่งชาติ" จึงใช้มาถึงทุกวันนี้ รัฐบาลเผด็จการ แทรกแซงวันกรรมกรสากลมาโดยตลอด เนื้อหา รูปแบบของการจัดงานจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล การยื่นข้อเรียกร้องในวันที่ 1 พฤษภาคม ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของกรรมกร เป็นเพียงพิธีการเท่านั้น "วันกรรมกรสากล" พี่น้องกรรมกรทุกคนจะต้องร่วมกันรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีต กว่า 200 ปี ที่ปลดปล่อยกรรมกรจากการทำงานเยี่ยงทาส วันนี้การต่อสู้ของกรรมกรยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของชนชั้นกรรมาชีพ ให้เชื่อมั่นในพลังของเรา ต้องล้มล้างผลพวงของ คสช. และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดปล่อยโซ่ตรวนที่พันธนาการสิทธิและเสรีภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่นบรรพบุรุษของเราที่ได้ต่อสู้ เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่ออนาคตของลูกหลานกรรมกรและสังคมใหม่ สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ยืนหยัด ร่วมต่อสู้กับมวลหมู่พี่น้องกรรมกรและประชาชนทุกสาขาอาชีพ ในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย "อำนาจอธิปไตย(ต้อง) เป็นของราษฎรทั้งหลาย" กล่าวคือ อำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง - คสช. ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดย "เลือกตั้งปีนี้" เพื่อสืบสานการต่อสู้ของกรรมกร - ให้ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ ณ วันนี้ - ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.สว.ในเขตพื้นที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ - ยกเลิก การขยายอายุรับบำนาญชราภาพ อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ - รัฐ ต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า - ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม กำหนดค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ อำนาจประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม - รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี และต้องมีปฏิรูปการศึกษา - รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการ / การเลี้ยงดูบุตร - จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ทั้งหมดนี้ เพื่อการสร้างสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกรและราษฎรทั้งหลาย ตามหลักการ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องเท่าเทียมกัน สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย 1 พฤษภาคม 2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||
เกษียร เตชะพีระ: ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย [คลิป] Posted: 30 Apr 2018 09:46 AM PDT 30 เม.ย. 2561 ดิเรกเสวนา และ book talk "ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย" พร้อมเปิดตัวหนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา (Populism: A Very Short Introduction) โดยสำนักพิมพ์ bookscape โดยช่วงแรกเป็นการนำเสนอของ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ ผู้แปล "ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||
'สมชัย' ชี้ 'ส.ส.' ไหนถูกดูดไม่น่าไปเลือก เหตุไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่แน่นอน Posted: 30 Apr 2018 09:28 AM PDT อดีต กกต. สมชัย เฟสบุ๊คไลฟ์ อัดปม 'ดูด ส.ส.' การเมืองไม่สร้างสรรค์ ชี้ใครถูกดูดได้ ไม่น่าไปเลือก เหตุไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่แน่นอน ด้าน ปณิธาน ชี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องทำตามกติกา 30 เม.ย.2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทดลองการเฟสบุ๊คไลฟ์ครั้ังแรกหลังจากพ้นจากตำแหน่ง กกต. ซึ่งจะเป็นการจัดรายการวิเคาระห์การเมืองในประเด็นต่าง ๆ โดยกล่าวว่า วันนี้ (30 เม.ย.) เป็นวันสุดท้ายที่พรรคการเมืองเดิม ที่ กกต.เปิดให้สมาชิกยืนยันความเป็นสมาชิกกับหัวหน้าพรรคการเมือง เข้าใจว่าทุกพรรคจะเร่งดำเนินการ ซึ่งคาดว่าอีก 1-2 วัน จะทราบตัวเลขสมาชิกของแต่ละพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายืนยันการเป็นสมาชิกแล้วแต่จำนวนสมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะมีความชัดเจนต่อเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกทางการเมือง ซึ่งจะสมัครสมาชิกพรรคได้อีกครั้ง สมชัย กล่าวถึงกระแสการเมืองเรื่องพลังดูด ส.ส. ว่า ไม่ทราบว่าใครดูดใคร เข้าใจว่าเป็นการเตรียมการไปสู่การเลือกตั้งของแต่ละฝ่าย ซึ่งรัฐบาลระบุว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ จึงขอใช้ประโยคนี้ว่าใครก็ตามที่ถูกดูดได้ก็ไม่น่าไปเลือกเขา แปลว่าเขาไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่แน่นอน เพราะถ้าหากคุณเป็นนักการเมือง คุณจะต้องมีจุดยืนว่าจะอยู่กับกลุ่มใด พรรคใด เจตนาที่จะอยู่กับพรรคการเมืองคืออุดมการณ์ร่วมกันที่จะทำงานการเมืองให้เกิดความสำเร็จ "ไม่ใช่เรื่องเพียงว่าอยากจะดูว่าตัวเองจะมีโอกาสไปร่วมรัฐบาลได้หรือไม่ ตรงไหนไปได้ก็จะเฮไปทางซีกนั้น ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อการเมืองไทย คนที่ไปดูดคนอื่นเขา หากเรียกว่าเป็นการทาบทามคนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองมาร่วมกันทำงานอาจจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่หากไม่สนใจอะไรว่าเขาเป็นใคร มีประวัติการทำงานอย่างไร มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร เคยมีพฤติกรรมทางการเมืองในอดีตเป็นที่ชื่นชอบ หรือเป็นที่น่ารังเกียจของคนในบ้านเมืองอย่างไร แต่จะเอาคนนั้นมาเพราะเขามีโอกาสได้เป็นส.ส.หรือมีคะแนนเสียงในพื้นที่ มีความเป็นเจ้าของพื้นที่ก็ดึงมาร่วมอันนี้ขอใช้คำว่าน่าเกลียด เท่ากับว่าดูดไม่เลือก ไม่ใช้วิจารณญาณกลั่นกรองคนดีเข้ากลุ่ม ไม่ได้ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์" สมชัย กล่าว สมชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกันในมุมของคนที่ถูกดูดก็คงต้องคิดอีกมุมว่า ถ้าหากคุณถูกดึงไปจะสามารถทำงานการเมืองภายใต้อุดมการณ์ที่สอดคล้องกับที่มีอยู่หรือไม่ ถ้าได้ก็ไป ถ้าคิดว่าไปแล้วได้เป็นรัฐบาลไม่ใช่สิ่งที่ดี ไม่ใช่การเมืองอย่างสร้างสรรค์ อยากให้คนที่ดูดดูด้วยว่าคนที่จะไปดูดเป็นคนดีหรือไม่ คนที่ถูกดูดต้องคิดด้วยว่าพรรคหรือหน่วยงานที่คุณจะไปอุดมการณ์เหมือนคุณหรือไม่ "หลังจากนี้ต้องรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ว่าจะออกมาอย่างไร เข้าใจว่าภายในเดือนพฤษภาคมน่าจะทราบผลว่าประเด็นที่เสนอให้ศาลพิจารณาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัดก็ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับแก้ไขและต้องลงมติใหม่ในสภานิติบะญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำร่างฯ ทูลเกล้าฯ ซึ่งต้องใช้เวลา จะบอกว่าไม่ใช้เวลาก็คงไม่ใช่ ทุกอย่างก็คงจะต้องขยับออกไปตามกรอบของเวลา" สมชัย กล่าว ปณิธาน ชี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องทำตามกติกาข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่าการที่คนในรัฐบาลเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง และมีการดึงคนจากพรรคอื่นไปร่วม จะส่งผลกระทบต่อการสร้างความปรองดองหรือไม่ เพราะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอาจไม่พอใจนั้น ปณิธาน กล่าวว่า เรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองก็ต้องทำตามกติกา และทำให้ทุกฝ่ายรับได้ ซึ่งบางคนเป็นนักการเมืองอยู่แล้วจึงอยากทำงานการเมืองต่อ แต่ก็ต้องทำตามกติกา ขณะเดียวกันเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกรัฐบาลที่อยู่ในช่วงใกล้จะมีการเลือกตั้งเขาก็เดินงานการเมืองต่อ ไม่ถือว่าได้เปรียบและไม่มีผลต่อการเลือกตั้งตนคิดว่าตรงนี้ต้องดูภาพรวมทั้งหมด และถือเป็นธรรมชาติในช่วงที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งก็เคยมีบางรัฐบาลได้กลับมาอีกครั้ง แต่บางรัฐบาลก็ไม่ได้กลับมา แต่สิ่งที่สำคัญคือการรับฟังความกังวลของผู้ที่จะลงแข่งขันทางการเมือง และอาจต้องคิดถึงกลไกเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้นายกรัฐมนตรีก็รับทราบและพยายามตอบคำถามออกมาเป็นระยะๆ เมื่อถามว่า ขณะนี้เกิดการตั้งคำถามว่า คสช. เองกำลังจะเปลี่ยนบทบาทจากกรรมการ มาเป็นผู้เล่นเสียเองแล้วแผนการสร้างความปรองดองจะเกิดขึ้นเพื่ออะไร ปณิธาน กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าคสช.จะเป็นผู้เล่นแบบไหน แต่คสช.ยังต้องทำงานด้านความมั่นคง ต้องดูแลพื้นที่ สร้างความปลอดภัยให้กับทุกคน และทุกพรรคการเมือง โดยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคต้องมีความปลอดภัยและสามารถหาเสียงได้ทุกพื้นที่ ส่วนใครจะสนับสนุน คสช. ในทางการเมืองก็ว่ากันไปตามระบบทางการเมือง ตนคิดว่าการตั้งข้อสังเกตหรือวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้ายิ่งมีความโปร่งใสมากแค่ไหน ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาจะมีความชอบธรรมมากขึ้นเท่านั้น จึงต้องรักษาบรรยากาศการตรวจสอบเอาไว้พร้อมกับรับฟังความคิดเห็น และตนคิดว่าคนไทยเข้าใจธรรมชาติทางการเมือง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||
ผู้หญิง ชนชั้น และคาร์ล มาร์กซ์ Posted: 30 Apr 2018 09:04 AM PDT
"ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น" (Marx and Engels 1978, 473) คาร์ล มาร์กซ์และฟรีดริช เองเกลส์ได้กล่าวเอาไว้ในหน้าแรกของ "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์" (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปีคศ. 1848) อย่างที่ทราบกันดี ชนชั้นที่ว่านี้ คือ ชนชั้นผู้กดขี่และชนชั้นผู้ถูกกดขี่ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างนายทาสและทาส ศักดินาเจ้าที่ดินและไพร่ จวบจนปัจจุบัน ในยุคทุนนิยม มันคือยุคสมัยแห่งความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกระฎุมพีและชนชั้นแรงงานกรรมาชีพ โดยฝ่ายแรกคือ ชนชั้นผู้ครองปัจจัยการผลิต และฝ่ายหลังคือผู้ที่ถูกพรากปัจจัยการผลิตจนไม่มีอะไรจะขายนอกไปเสียจากแรงงานของเขา จากข้อเขียนข้างต้น เราอาจตั้งคำถามง่ายๆได้ว่า ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นของมาร์กซ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การกดขี่ทางชนชั้นและการกดขี่ทางเพศเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และสอดคล้องหรือขัดแย้งซึ่งกันและกัน? บ่อยครั้งเรามักคุ้นเคยกับความตึงเครียดไม่ลงรอยกันระหว่างนักมาร์กซิสต์และนักสตรีนิยม (ดู Hartman 1979) กล่าวแบบหยาบๆ ก็คือ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะเห็นร่วมกันว่าโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ทั้งสองสำนักกลับเห็นต่างกันไปในประเด็นเรื่องต้นตอของปัญหา ในขณะที่ฝ่ายแรกให้ความสำคัญกับการโจมตีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ฝ่ายหลังกลับเน้นการวิพากษ์ระบอบชายเป็นใหญ่ บทความชิ้นนี้ไม่ได้ประสงค์จะวิเคราะห์เจาะลึกสายธารทางความคิดวิพากษ์ของมาร์กซิสม์และเฟมินิสม์ เนื่องในโอกาสครบสองร้อยปีชาตกาลของคาร์ล มาร์กซ์ ผู้เขียนเพียงอยากจะพาผู้อ่านไปสำรวจงานเขียนของมาร์กซ์(และเองเกลส์)โดยนำมาเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องเพศสภาพและผู้หญิง โดยหวังว่าบทความจะช่วยให้เราเห็นมาร์กซ์ในมิติใหม่ๆ และเข้าใจความคิดของเขามากขึ้นไม่มากก็น้อย ใน "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์" มาร์กซ์และเองเกลส์ได้ทำการวิพากษ์ครอบครัวของชนชั้นกระฎุมพีโดยนำไปเชื่อมโยงกับการกดขี่มนุษย์เพศหญิง ดังที่นักคิดทั้งสองได้เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ครอบครัวเดี่ยวแบบกระฎุมพีที่มีพ่อ แม่ ลูกนั้นคือรูปแบบสถาบันทางสังคมที่เอื้อต่อการสะสมทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุนนิยม ในทัศนะของทั้งสอง สตรีในฐานะภรรยานั้นเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการผลิต (Marx and Engels 1978, 488) กล่าวง่ายๆ ก็คือ "มดลูก" ก็ถูกนับว่าเป็น "ปัจจัยการผลิต"อย่างหนึ่งด้วย (ดู แล ดิลกวิทยรัตน์ 2524; เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2560, 117-161) กระนั้น แถลงการณ์ฯก็ไม่ได้อธิบายลงรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการกดขี่ทางชนชั้นและการกดขี่ทางเพศ |
หนังสือว่าด้วยกำเนิดครอบครัว ทรัพย์ส่วนบุคคล และรัฐ เขียนโดย ฟรีดริช เองเกลส์ แม้จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนและมีนักสตรีนิยมหลายคนไม่เห็นด้วย แต่จุดเด่นที่ทุกคนเห็นพ้องกันในงานเขียนชิ้นนี้คือการให้คำอธิบายความเป็นมาเกี่ยวกับครอบครัวจากมุมมองเชิงเศรษฐกิจไม่ใช่คำอธิบายเชิงชีวภาพ |
กล่าวโดยสรุป สำหรับเองเกลส์แล้ว ระบอบทุนนิยมคือระบอบชายเป็นใหญ่ ภายใต้ความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่เรียกว่าสถาบันครอบครัว มนุษย์เพศหญิงมักตกอยู่ในสถานะของผู้ถูกกดขี่ที่ย่ำแย่กว่าสถานะของผู้ขายแรงงาน นอกจากนี้เองเกลส์ยังบอกว่า ตรรกกะทุนว่าด้วยการแข่งขัน การเข้าไปครอบครอง และมือใครยาวสาวได้สาวเอา เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ ความคิดเป็นเจ้าเข้าเจ้าของผู้หญิงของผู้ชาย (Hunt 2010, 11) ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางเพศจึงมีลักษณะที่สอดคล้องกัน เองเกลส์ยังวิพากษ์ความรักแบบกระฎุมพีว่าเป็นความรักที่จอมปลอม ในหมู่ชนชั้นที่มั่งคั่ง การรักใคร่ชอบพอ การแต่งงานมีชีวิตคู่ร่วมกันวางอยู่บนฐานของเงินตรา ยศฐาบรรดาศักดิ์ และการแบ่งงานกันทำอย่างไม่เท่าเทียมระหว่างสองเพศเสียมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ เองเกลส์จึงเสนอว่าการโค่นล้มกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ไม่เพียงแต่จะสลายความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นหากแต่ยังรวมถึงการกดขี่ทางเพศอีกด้วย ภายใต้ระบอบใหม่ เราจะมีรูปแบบครอบครัวและความรักแบบใหม่ ครอบครัวที่ไม่ใช่ "หน่วยเศรษฐกิจของสังคม" (Engels 2010, 107) "งานบ้านงานเรือนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นกิจการสังคม การเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาจะกลายเป็นเรื่องสาธารณะ" เมื่อนั้นเอง ผู้หญิงจึงจะสามารถปลดแอกตัวเองจากข้อจำกัดทั้งทางสังคม ศีลธรรม และเศรษฐกิจ และสามารถโยนตัวเองลงไปในหลุมแห่งความ "รัก" ที่แท้จริงได้เสียที (Engels 2010, 107)
จุดยืนเรื่องเพศสภาพและชนชั้นของมาร์กซ์ในบทที่ 10 ของหนังสือ "ทุน"
ในงานเขียนเลื่องชื่อของมาร์กซ์ที่ชื่อ Capital Volume 1 (ทุน เล่มที่ 1) ( ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1867) บทที่ 10 เรื่อง "วันแห่งการทำงาน (The Working Day)" นับได้ว่าเป็นบทที่มีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก สาเหตุก็เพราะในบทๆ นี้ มาร์กซ์มุ่งอธิบายตรรกะของทุนเรื่องการเพิ่มเวลาในการทำงานเพื่อรีดเค้นแรงงานส่วนเกินจากแรงงานให้ได้มากที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือ มาร์กซ์กำลังอธิบายแนวคิดเรื่องการขูดรีด (exploitation) ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของระบบทุนนิยม มาร์กซ์เริ่มบทที่ 10 ด้วยสูตรที่ดูเข้าใจง่ายของทุนนิยม โดยใช้เส้นตรงสะท้อนเวลาทำงานที่ยาวมากยิ่งขึ้น (Marx 1990, 340)
แม้จะเริ่มด้วยสูตรตัวเลขทื่อๆ บทที่10ของมาร์กซ์กลับมีความโดดเด่นในเชิงโวหารและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชีวิตของคนงาน ในบทนี้เอง มาร์กซ์ได้เปรียบเปรยจิตวิญญาณแห่งทุนไว้ว่าไม่ต่างอะไรกับ "แวมไพร์" ที่ดูดเลือดแรงงานโดยที่ตัวเองไม่ได้ออกแรงหรือทำอะไรเลย (Marx 1990, 342 ) ดังนั้น นายทุนจึงเป็น "แรงงานที่ตายแล้ว (dead labour)" แต่ยังหิวโหยอยากเขมือบขย้ำ "แรงงานที่มีชีวิตอยู่" เยี่ยงมนุษย์หมาป่า (Marx 1990, 353) พวกเขามุ่งแต่จะยืดวันแห่งการทำงานไปให้ยาวนานที่สุดโดยไม่แยแสว่ามันจะไปบั่นทอนสุขภาพและอายุขัยของแรงงานให้สั้นลง (Marx 1990, 375) มาร์กซ์บอกว่านายทุนเอาแต่เทศนาให้ชนชั้นแรงงานรู้จักกินอยู่อย่าง "พอเพียง" "ออมทรัพย์" และ"ยับยั้งชั่งใจ" แต่ตรรกะทุนกลับเป็นตรรกะของความไม่รู้จักพอและไม่รู้จักหยุดพัก บางทีทุนขูดรีดแรงงานภายในวันหนึ่งมากเทียบเท่ากับการที่แรงงานต้องใช้เวลาสามวันในการฟื้นฟูร่างกายของเขา (Marx 1990, 343) ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและแรงงานจึงเป็นปฏิปักษ์กันแบบ zero sum game ผลประโยชน์ของนายทุนแลกมากับการเสียประโยชน์ของแรงงาน มาร์กซ์ย้ำให้เรารู้จักแยกแยะภาพลักษณ์และบุคลิกส่วนตัวของนายทุนกับพฤติกรรมสะสมทุนของเขา นายทุนไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว กักขฬะ และโหดร้าย ในทางตรงข้าม เขาอาจจะเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็น "พลเมืองตัวอย่าง หรือบางทีอาจจะเป็นสมาชิกสมาคมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์" (Marx 1990, 343) แต่เขาก็ยังเป็นนายทุนที่คอยแต่จะรีดเค้นมูลค่าส่วนเกินอยู่ดีหากมองจากมุมความรุนแรงเชิงระบบ
ในบทที่ 10 ของ Capital Volume 1 คาร์ล มาร์กซ์เปรียบเปรยทุนว่าเป็น "แรงงานที่ตายแล้ว ประหนึ่งผีดูดเลือดแวมไพร์ที่มีชีวิตอยู่ผ่านการสูบกินแรงงานที่มีชีวิตอยู่ ยิ่งมันมีชีวิตยืดยาวเท่าใด มันก็ยิ่งดูด[ชีวิต]แรงงานมากเท่านั้น" |
ในบทที่10นี้ มาร์กซ์ยังบรรยายพรรณนาสภาพชีวิตการทำงานของคนงานอังกฤษในยุคสมัยของเขาไว้อย่างละเอียดจนผู้อ่านจินตนาการถึงวันและคืนที่ยาวนานของช่างตีเหล็ก คนทำขนมปัง คนทอผ้าก่อนที่จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรม แหล่งข้อมูลที่ได้มาจากรายงานขององค์กรต่างๆ และหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ยกตัวอย่างเช่น มาร์กซ์เล่าว่า ในโรงงานทำไม้ขีดไฟ ปี 1863 มีแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีถึง 270 คน เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปีถึง 50 คน อายุ 8 ปีจำนวน 10 คน และอายุเพียง 6 ปีจำนวน 5 คน วันแห่งการทำงานของพวกเขายืดเยื้อยาวนานถึง 15 ชั่วโมง (Marx 1990, 356)
และในเรื่องเล่าความทุกข์ยากของคนงานนี้เอง มาร์กซ์ได้เล่าถึงชะตากรรมอันน่าเศร้าของหญิงเย็บหมวกคนหนึ่งนามว่าแมรี่แอน วอลคลี่ หญิงเย็บหมวกอายุ 20 ปีผู้นี้เป็นลูกจ้างบริษัทตัดเย็บเสื้อชนชั้นสูงชื่อดัง มาร์กซ์เล่าต่อไปว่าเจ้านายของหล่อนมี "ชื่อที่แสนไพเราะ" ว่าเอลิส (Marx 1990, 364) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (มิถุนายน 1863) หนังสือพิมพ์ลอนดอนได้พาดหัวข่าวว่าแมรี่แอนได้เสียชีวิตลง ข่าวระบุว่าหล่อน "ตายเพียงเพราะทำงานมากเกินไป" ในยามปกติ แมรี่แอนและเพื่อนคนงานของหล่อนทำงานเป็นเวลา 16 ชั่วโมงกว่าโดยไม่ได้พัก และในช่วงที่มีการสั่งสินค้าเยอะ พวกหล่อนทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 30 ชั่วโมง
โรงเย็บผ้าแห่งนี้มีคนงานหญิง 60 คน แมรี่แอนทำงานในห้องร่วมกับเพื่อนคนงาน 30 คน สภาพของห้องนั้นแออัดไม่ระบายอากาศ ในยามค่ำคืน ผู้หญิงเหล่านี้นอนคู่ติดกันในช่องเล็กๆ โดยมีแค่ไม้กั้น แมรี่แอนรู้สึกไม่สบายในวันศุกร์และตายในวันอาทิตย์ อาจกล่าวได้ว่าความตายของหล่อนแลกมากับหมวกหรูหราที่ถูกสั่งทำจำนวนมากในขณะนั้น มาร์กซ์บรรยายเชิงประชดประชันเอาไว้ว่า "มันเป็นหมวกที่จำเป็น เพราะมันต้องไปเข้าคู่กันกับชุดราตรีแสนงามของหญิงผู้ดีที่ถูกชวนไปงานเลี้ยงกาล่าดินเนอร์ฉลองการมาเยือนของเจ้าหญิงแห่งเวลส์" (Marx 1990, 364)
ไม่ต้องสงสัยว่าบทที่ 10 นี้ไม่ได้เป็นโศกนาฏกรรมของสตรีอย่างเฉพาะเจาะจง มาร์กซ์พูดถึงเด็กทำไม้ขีด ช่างตีเหล็ก และคนงานอาชีพอื่นๆ ด้วย คนเหล่านี้มีบางอย่างที่สำคัญมากกว่าเรื่องเพศ นั่นก็คือ พวกเขาคือแรงงาน คือชนชั้นที่ถูกสูบเลือดกินเนื้อ ที่น่าสนใจก็คือ ในเรื่องเล่าสั้นๆ ของแมรี่แอน มาร์กซ์กล่าวพาดพิงถึงหญิงอีกอย่างน้อยสามคน นั่นคือ เอลิส เจ้าของห้องเสื้อ หญิงผู้ดีที่จะไปงานเลี้ยง และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ประเด็นสำคัญก็คือ แม้จะเป็นหญิงเหมือนกันหมด มาร์กซ์ไม่ได้มองว่า แมรี่แอนมีอะไรที่ยึดโยงกับหญิงที่เหลืออีกสามคน แมรี่แอนคือชนชั้นแรงงาน สหายกรรมาชีพของหล่อนคือช่างตีเหล็ก ช่างทำขนมปัง ช่างทอผ้า ซึ่งอาจจะมีเพศสภาพเป็นชายล้วนด้วยซ้ำไป เอลิสเจ้านายของหล่อนเป็นนายทุน เป็นศัตรูตัวฉกาจที่เค้นแรงงานส่วนเกินของแมรี่แอนจนถึงแก่ความตาย ส่วนหญิงสูงศักดิ์ที่เหลือน่ะหรือ พวกหล่อนอาจจะอยู่ในชนชั้นที่ (ใช้ภาษาแบบซ้ายก็คือ) เป็นซากเดนศักดินา ชนชั้นเจ้าของที่ดินที่กินบุญเก่า สะสมอำนาจและความมั่งคั่งจากข้ออ้างทางสายเลือดหรือบัญชาสวรรค์ เพลิดเพลินสำราญกับความหรูหราไปวันๆ แต่สุดท้ายชนชั้นนี้ก็จะค่อยๆ เสื่อมหายไป
ในงานเขียนของมาร์กซ์ เรื่องราวชีวิตน่าเศร้าของคนงานอันแสนเฉพาะเจาะจงมักจะถูกเล่าควบคู่ไปกับบทวิพากษ์เชิงระบบอยู่เสมอ มาร์กซ์ยืนกรานว่า ทุนจะไม่มีวันแยแสสุขภาพและอายุขัยของคนงาน เว้นแต่มันจะเผชิญแรงกดดันจากสังคม (Marx 1990, 381) อีกทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมทางร่างกายและจิตใจของคนงาน การตายก่อนวัยอันควร และความทุกข์ทรมานจากงานที่หนักเกินไม่สามารถแก้ไขได้โดยนายทุนที่ปรารถนาดีเป็นรายบุคคล "ภายใต้การแข่งขันเสรี นายทุนแต่ละคนเผชิญกับกฎเหล็กว่าด้วยการผลิตแบบทุนในฐานะพลังจากภายนอกที่บังคับตัวเขา" (Marx 1990, 381)
โรซ่า ลุกเซมเบิร์ค: สิทธิสตรีและการต่อสู้ทางชนชั้น
จากเนื้อหาส่วนข้างต้น เราอาจสรุปได้ว่า มาร์กซ์เล็งเห็นความทุกข์ของสตรีผู้ใช้แรงงาน แต่ความทุกข์ยากนี้ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงทางเพศ ตรงกันข้าม มันมีความเป็นสากลเชิงชนชั้น และชนชั้นผู้ถูกดขี่เหล่านี้เองคือพลังแห่งการปฏิวัติโค่นล้มทุนนิยม
ไม่กี่ทศวรรษหลังมาร์กซ์ตาย โรซ่า ลุกเซมเบิร์ค ปัญญาชนหญิงฝ่ายซ้ายชาวโปแลนด์ได้กล่าวคำปราศรัยที่สะท้อนประเด็นข้างต้นของมาร์กซ์ หากจะต้องนิยามตนเอง ลุกเซมเบิร์คคงเรียกตัวเองว่าเป็นมาร์กซิสต์หาใช่เฟมินิสต์อย่างแน่นอน ทว่าในคำปราศรัยสั้นๆ ที่ชื่อว่า "Women's Suffrage and Class Struggle" (สิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงและการต่อสู้ทางชนชั้น) (ปราศรัยในวันที่ 12 พฤษภาคม 1912) ลุกเซมเบิร์คพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นธรรมทางเพศและทางชนชั้น
เช่นเดียวกับสตรียุโรปในสมัยนั้น ลุกเซมเบิร์คไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง แม้ว่าหล่อนจะมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูง เขียนหนังสือจำนวนมาก และกลายมาเป็นนักปราศรัยปลุกระดมคนงาน สำหรับลุกเซมเบิร์คแล้ว ผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับสิทธิในการเลือกตั้งเพราะสิทธิดังกล่าวจะกลายมาเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ทางชนชั้น ที่ผ่านมา รัฐทุนนิยมจำกัดสิทธิการเมืองประชาชนมาโดยตลอด แต่ทำไม่ได้นาน นับวัน รัฐทุนนิยมก็ต้องยอมผ่อนปรน เช่น การให้สิทธิในการตั้งสหภาพ สิทธิในการชุมนุม ทว่าสิทธิการเมืองสุดท้ายที่รัฐทุนนิยมยังไม่ยอมให้มีเสียทีก็คือ สิทธิสตรีในการเลือกตั้ง (Luxemburg 1971, 217)
โรซ่า ลุกเซมเบิร์ค (1871 - 1919) |
ลุกเซมเบิร์ควิพากษ์วิจารณ์เยอรมนียุคต้นศตวรรษที่20ไว้อย่างเผ็ดร้อนว่า สังคมเยอรมันก้าวหน้าเป็นสมัยใหม่มามากแล้ว เราอยู่ในยุคสมัยที่มี "ไฟฟ้าและเครื่องบิน" กระนั้นก็ยังมีซากเดนของอดีตหลงเหลืออยู่สองอย่าง หนึ่งคืออำนาจอันศักดิ์สิทธิ์คร่ำครึของกษัตริย์ สองคือ การที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้งนั่นเอง (Luxemburg 1971, 218) เธอกล่าวต่อไปว่า ทั้งสองซากเดนนี้มีลักษณะร่วมกัน นั่นคือการอ้างบัญชาสวรรค์เป็นเครื่องมือในการปกครอง ระบอบกษัตริย์และระบอบที่ปิดกั้นไม่ให้สตรีสิทธิเลือกตั้งถือได้ว่าเป็นเรื่องน่าขันแห่งยุคสมัย การที่มันยังดำรงอยู่ก็ไม่ใช่เพราะคนลืมโค่นล้มมัน แต่ทั้งสองเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการขูดรีดและทำให้คนเป็นทาส ลุกเซมเบิร์คยังอ้างคำพูดของนักปรัชญาสังคมนิยมฝรั่งเศสในอดีตชื่อว่า ชาร์ล ฟูริเออร์ ที่ว่า "ในสังคมใดก็ตาม ระดับการปลดปล่อยสตรีให้เป็นอิสระคือมาตรวัด[ที่ดี]ของการปลดปล่อยโดยรวม" (Luxemburg 1971, 222) นี่อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะมาร์กซ์เองก็ได้เคยอ้างประโยคดังกล่าวในงานเขียนของเขาที่ชื่อ Economic and Philosophical Manuscripts of 1844 และลุกเซมเบิร์คคงไม่ทราบเรื่องนี้เป็นแน่เพราะงานเขียนดังกล่าวของมาร์กซ์ไม่ได้ตีพิมพ์ในช่วงชีวิตของลุกเซมเบิร์ค
ลุกเซมเบิร์คเขียนบทความชิ้นนี้อย่างมีความหวัง เธอบอกว่า ขณะนี้มวลชนกรรมาชีพหญิงชายมีความตื่นตัวทางการเมืองมาก เรามีสมาชิกพรรคหญิงคอยช่วยแจกแผ่นพับอย่างแข็งขัน แรงงานกรรมชีพหญิงของเราพร้อมแล้วในการจะใช้สิทธิทางการเมืองของเธอเป็นอาวุธ น่าสังเกตว่า ลุกเซมเบิร์คเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า การเรียกร้องสิทธิสตรีในการเลือกตั้งไม่ได้มุ่งเพื่อผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อชนชั้นแรงงานทั้งหญิงและชาย
ลุกเซมเบิร์คแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเมื่อเธอกล่าวพาดพิงถึงสตรีชนชั้นนายทุนรวมไปถึงบรรดาภรรยานายทุนกระฎุมพี ลุกเซมเบิร์ควิพากษ์อย่างเจ็บแสบว่า ในขณะที่บรรดาสตรีนายทุนต่อสู้เรียกร้องสิทธิการเมืองอย่างดุดันประหนึ่ง "สิงโตตัวเมีย" แต่พวกหล่อนจะเชื่องและว่าง่ายเยี่ยงลูกแกะเมื่ออยู่ต่อหน้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลังได้สิทธิในการเลือกตั้งแล้ว (Luxemburg 1971, 219) ในส่วนของบรรดาภรรยาเจ้าสัวนายทุน หญิงมั่งคั่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นนายทุนโดยตรงเพราะหล่อนไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต พวกหล่อนคือ "ผู้บริโภคร่วม (co-consumer)" ของสามีนายทุนที่คอยสูบกินมูลค่าส่วนเกินที่ขูดรีดมาจากกรรมาชีพอีกขั้นหนึ่ง ลุกเซมเบิร์คเรียกสตรีเมียนายทุนเหล่านี้ว่าเป็น "ปรสิตของปรสิต" สังคม (Luxemburg 1971, 220) ไม่ต้องสงสัยว่า หญิงเหล่านี้จะไม่มีทางใช้สิทธิเลือกตั้งเข้าข้างชนชั้นแรงงาน กล่าวโดยสรุปแล้ว เฉกเช่นมาร์กซ์ เส้นแห่งปฏิปักษ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับลุกเซมเบิร์คไม่มีทางเป็นอื่นใดไปได้เลยถ้าไม่ใช่ชนชั้น
สรุป: การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ตัวตนทางเพศ VS การเมืองเรื่องชนชั้นและการปฏิวัติ
ย้อนกลับมาที่ยุคสมัยปัจจุบัน หากมองจากมุมมองมาร์กซิสต์แล้ว เรากำลังอยู่ในยุคที่การเมืองเรื่องเพศถูกพรากนัยยะเชิงชนชั้นไป และถูกลดถอนให้เป็นเพียงแค่การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ตัวตนของปัจเจกบุคคล (ดู สรวิศ ชัยนาม 2555, 40-41; สรวิศ ชัยนาม 2558, 166-170; Jodi Dean 2016) ผู้เขียนขอเรียกการเมืองแบบหลังว่าเป็นการเมืองแบบ "Zootopia" หรือการเมืองแบบ "เลดี้ กาก้า" (ดู กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ 2560) กล่าวคือ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (identity politics) มุ่งปลดปล่อยปัจเจกชนออกจากกรอบค่านิยม(หรือมายาคติ)ที่กำหนดตัวตนอัตลักษณ์ "กระแสหลัก" เช่น ผู้หญิงที่ดีต้องเรียบร้อย รักนวลสงวนตัว แต่งงานเพื่อเป็นเมียและแม่ตามวัยที่เหมาะสม มาตรวัดความสวยวางอยู่บนความขาว ขนาดของเอวและหน้าอก เป็นต้น แน่นอนว่าความคิดความเชื่อเช่นนี้ครอบงำ ตีตรา กดขี่และควบคุมเรา ภายใต้บริบทสังคมดังกล่าว มันมีความจำเป็นเป็นอย่างมากที่นักวิพากษ์ นักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมจะต้องตั้งคำถามและท้าทายความคิดความเชื่อเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม นักมาร์กซิสต์ควรต้องตั้งคำถามต่อไปว่า เราจะพึงพอใจกับแค่การเรียกร้องให้ทุกๆ คนสามารถแสดงออกได้ซึ่งอัตลักษณ์ตัวตนอันเฉพาะเจาะจงของตนอย่างเสรีเท่านั้นหรือ? โลกในอุดมคติของเราคือโลกแบบการ์ตูนดิสนีย์เรื่อง Zootopia ที่กระต่ายตัวน้อยน่ารักแสนเปราะบางผู้เป็นตัวเอกของเรื่อง สามารถประกอบอาชีพตำรวจอันน่าเกรงขามได้และสมาชิกในสังคมก้าวข้ามอคติและเคารพความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์เพียงเท่านั้นหรือ? หรือโลกตามเนื้อเพลงของนักร้องชื่อดัง เลดี้ กาก้าที่ทุกคนประกาศก้องว่า "ฉันเกิดมาเป็นของฉันแบบนี้" จงยอมรับในตัวตนของฉันเสีย เพียงเท่านี้หรือ? โจดี้ ดีน นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ร่วมสมัย ได้วิพากษ์การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เอาไว้อย่างน่าฟังว่า การเมืองเรื่องอัตลักษณ์มักทำให้เราขับเน้นและเลือกลักษณะอันเฉพาะเจาะจงอย่างหนึ่งของเรา แปรเปลี่ยนมันให้เป็นอาวุธ เป็นเกราะป้องกันการถูกโจมตี เป้าหมายคือการอยู่รอดในระบบที่เป็นอยู่ของคนกลุ่มฉันเพียงเท่านั้น "ครั้งนี้ ฉัน จะต้องไม่ใช้ผู้เสียสละ ฉันคือผู้อยู่รอด" (Dean 2016) การเมืองเรื่องอัตลักษณ์จึงหนีไม่พ้นเรื่อง เพศ สีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา และสัญชาติ แต่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปอย่างชัดเจนในการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ก็คือ ชนชั้น
หากมองในทัศนะแบบมาร์กซ์ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ได้แปรเปลี่ยนสภาวะความเป็นปฏิปักษ์มูลฐานให้เป็นเพียงแค่ความแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายที่มีนับไม่ถ้วนและสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ผ่านความอดทนอดกลั้น เคารพซึ่งกันและกัน ทุนนิยมไม่ได้มีปัญหากับอัตลักษณ์ที่หลากหลาย มันอ้าแขนต้อนรับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์อย่างอบอุ่น อัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายกลายเป็นสินค้าที่มูลค่าขึ้นมาได้ มันขายได้ กระตุ้นการบริโภคได้ เหนือสิ่งอื่นใด มันแปรเปลี่ยนความเป็นสากลของมวลชนกรรมาชีพที่มีศักยภาพจะเป็นพลังในการปฏิวัติโค่นล้มชนชั้นให้กลายเป็นความเฉพาะจงของปัจเจกชนที่หมกมุ่นกับการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองอย่างกระจัดกระจาย ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า การเมืองเรื่องเพศหรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ปราศจากนัยยะทางชนชั้นก็เป็นเพียงฝันเปียกของฝ่ายซ้ายซึมเศร้าที่ได้ละทิ้งสนามการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการเมือง และหันไปให้ความสำคัญกับประเด็นเชิงวัฒนธรรม สัญลักษณ์ และภาษาการแต่งกายเพียงเท่านั้น (ดู สรวิศ ชัยนาม 2560)
อ้างอิง
Dean, Jodi. 2016. Not us, Me, http://www.versobooks.com/blogs/2970-not-us-me (November 26).
Engels, Friedrich. 2010. The Origin of Family, Private Property and the State. London: Penguin.
Hartmann, Heidi I. 1979. The Unhappy Marriage of Marxism and Feminism: Towards a more Progressive Union. Capital & Class 3, 2 (July): 1 – 33.
Hunt, Tristram. 2010. Introduction. In The Origin of Family, Private Property and the State. London: Penguin. 3-32.
Luxemburg, Rosa. 1971. Selected political writings of Rosa Luxemburg. New York: Monthly Review Press.
Marx, Karl. 1990. Capital Vol 1. London: Penguin.
Marx, Karl and Friedrich Engels.1978. The Marx-Engels Reader. 2nd ed. Robert C. Tucker. New York: W. W. Norton & Company.
กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์. 2560. Zootopia และ Get Out: มองการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของสหรัฐผ่านแผ่นฟิล์ม. ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2017/04/71042 (15 เมษายน).
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2560. Autonomia: ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการปฏิวัติของส่วนรวม. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.
แล ดิลกวิทยรัตน์. 2524. มดลูกก็ปัจจัยการผลิต. วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 1, 3 (พฤษภาคม – มิถุนายน 2524): 93-100.
สรวิศ ชัยนาม. 2555. จากการปฏิวัติ ถึงโลกาภิวัตน์ ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์. กรุงเทพ: สยามปริทัศน์.
สรวิศ ชัยนาม. 2558. Slavoj Zizek: ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย. กรุงเทพ: สยามปริทัศน์.
สรวิศ ชัยนาม. 2560. ภาวะซึมเศร้าในหมู่ฝ่ายซ้ายสากล, https://waymagazine.org/interview_leftistdepression/ (1 มิถุนายน).
อิสรภาพวันแรก เรื่องเล่ายกที่หนึ่ง ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข
Posted: 30 Apr 2018 08:57 AM PDT
ชายวัย 57 ปี ยิ้มละไมตลอดเวลาระหว่างเล่าเรื่องในเรือนจำ เจ็ดปีที่สูญหาย เจ็ดปีที่เราไม่มีทางล่วงรู้ว่าเขาเผชิญอะไรบ้างภายใน ไม่ใช่เพียงภายในกำแพงสูงแต่เป็นภายในจิตใจของเขาเองด้วย เรื่องขำขื่นเรื่องหนึ่งคือ การคิดฆ่าตัวตายในช่วงปีแรก เขาเล่ามันแหมือนเรื่องขำขันอื่นๆ
สภาพเขาดูอิดโรย แต่ก็ปฏิเสธที่จะแยกไปนอนหรือพักผ่อน
"ไม่เป็นไร พักมา 7 ปีแล้ว" "ตอนอยู่นอกคุกไม่เคยได้นอนเยอะแบบนี้มาก่อน"
เขายังคงพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆ ให้เพื่อนฝูงที่ผลัดเวียนมาหลายระลอกฟังแบบไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ผู้คนนั่งล้อมวงกระจัดกระจายบนเก้าอี้ ขณะที่เจ้าตัวนั่งพิงผนังตรงทางขึ้นบันไดข้างชั้นวางรองเท้า
สมยศได้รับการปล่อยจากเรือนจำตั้งแต่ราว 6 โมงเช้า เมื่อคืนก็นอนไม่หลับจนดึกดื่น ก่อนหน้านั้นเพื่อนฝูงในเรือนจำก็จัดงานเลี้ยงตามประสานักโทษให้เขาตลอดหลายวัน
การปล่อยสมยศเป็นไปอย่างค่อนข้างรีบร้อนก่อนที่ผู้คนจะมารวมตัวกันได้เยอะขึ้นในตอนสาย เอกสารต่างๆ น่าจะถูกเตรียมไว้ล่วงหน้า ดังนั้น แทบจะทันทีที่ลงเรือนนอน เขาก็ถูกปล่อย ยังไม่ทันเปลี่ยนเสื้อตัวใหม่ ยังไม่ทันได้กล่าวลาเพื่อนนักโทษ มีข้อเสนอที่จะนำรถไปส่งถึงบ้านแต่เขาปฏิเสธ เขาออกมาพบกับประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มารอรับตั้งแต่ตีสี่ตีห้า รวมทั้ง "เทียน" และ "ไท" ลูกสาวและลูกชายที่รัก
"เทียน" และ "ไท" ลูกสาวและลูกชาย ขณะเข้ารับตัวสมยศออกจากเรือนจำ
ชายวัย 57 ปี ยิ้มละไมตลอดเวลาระหว่างเล่าเรื่องในเรือนจำ ในช่วงปีหลังๆ สมยศน่าจะไม่ต่างจากศูนย์ดำรงธรรม เพราะเพื่อนนักโทษมักมาร้องเรียนเรื่องต่างๆ เสมอ เป็นไปได้ว่าทุกคนคงเห็นแล้วว่าเขา "ไฝว้" กับกฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผลมาหลายระลอกอย่างไม่ลดลาวาศอก แม้จะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง โดยเฉพาะการร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ เรื่องที่เรือนจำอนุญาตให้นักโทษใช้เพียงผ้าห่มสีเทาบางๆ 3 ผืน (ไม่มีหมอน ที่นอน) และล่าสุด เขาฟ้องศาลปกครองกรณีการเลือกปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้นักโทษได้พักโทษแม้ได้รับโทษมาครบตามเกณฑ์แล้ว
อำนาจการพักโทษนั้น ในอดีตหากเข้าเกณฑ์ที่ราชทัณฑ์กำหนด นักโทษสามารถยื่นคำร้องและทางเรือนจำก็มีสิทธิพิจารณาอนุมัติได้เอง แต่หลังการรัฐประหาร 2557 กฎเกณฑ์ต่างๆ เข้มงวดขึ้น รวมถึงการพิจารณาพักโทษก็ต้องส่งไปถึงระดับกรม นักโทษการเมืองจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการอนุมัติ หรือหากได้ก็ล่าช้าจนแทบจะอยู่ "ชนป้าย" (ครบกำหนดโทษ) สมยศเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้รับการอนุมัติ เขาฟ้องศาลปกครองและไม่ยอมรับเงื่อนไขหลังจากนั้นที่เรือนจำเสนอให้พักโทษออกจากเรือนจำได้ในเดือนมีนาคม หรือก่อนครบกำหนดโทษ 1 เดือน เพราะไม่อยากให้คดีในศาลปกครองสิ้นสุด
"มีหลายคนที่เดือดร้อน ถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องนี้ ถ้าเราสู้แล้วชนะ มันจะดีกับคนหลังๆ ด้วย" สมยศว่า
อีกด้านเขาก็น่าจะเป็นกรมประชาสงเคราะห์กลายๆ ด้วยความที่อยู่แดน 1 ใครเข้าคุกเป็นต้องเจอเขา หลายคนสภาพจิตใจระส่ำก็ได้เขาเป็นเพื่อนพูดคุยแนะนำโลกใบใหม่ หลายคนยากไร้หรือเกิดเหตุกระทันหันญาติเดินทางมาซื้อของใช้จำเป็นให้ไม่ทัน เขาก็ช่วยเหลือ "ชุดยังชีพ" เบื้องต้น อันประกอบด้วย ขันน้ำ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ฯลฯ
"บางทีแกก็สั่งรองเท้าเบอร์ใหญ่มาก ไม่ใช่เท้าแกแล้ว โน่น สั่งให้คนอื่น เราก็ได้แต่บอกว่า เฮ้ยพี่ นี่ไม่ใช่กรมประชาสงเคราะห์นะ"
"บางทีก็สั่งซื้อขันอยู่นั่น แกเล่าว่าตอนอาบน้ำฟอกหน้า หลับตาแป๊บเดียวพอจะเอาขันตักน้ำ หายไปแล้ว (หัวเราะ) ทีนี้เลยต้องปรับใหม่ฟอกหน้าแล้วเอาขันไปหนีบไว้หว่างขา" ลูกตาล หนึ่งในสหายผู้คอยเยี่ยมคอยซื้อของให้สมยศตลอดการคุมขัง 7 ปีเล่าไปหัวเราะไป
สมยศเล่าเกร็ดขำขันต่างๆ ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เจ็ดปีที่สูญหาย เจ็ดปีที่เราไม่มีทางล่วงรู้ว่าเขาเผชิญอะไรบ้างภายใน ไม่ใช่เพียงภายในกำแพงสูงแต่เป็นภายในจิตใจของเขาเองด้วย เรื่องขำขื่นเรื่องหนึ่งคือ การคิดฆ่าตัวตายในช่วงปีแรก เขาเล่ามันแหมือนเรื่องขำขันอื่นๆ
มันไม่ใช่ปฏิบัติการที่เกิดจากความเศร้าสลดทดท้อ แต่เป็นความโกรธแค้นที่ไม่ได้รับการประกันตัวสู้คดี
"เราต่อสู้แค่ให้ได้สิทธิประกันตัวตามรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้ เราคิดว่าเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ และถ้ามันสำคัญก็ต้องแลกด้วยชีวิต ไม่รู้จะเอาอะไรสู้ เลยเอาชีวิตแลกเพื่อให้ได้ไปพบกับเสรีภาพใหม่ คนเสื้อแดงก็พลีชีพเสียชีวิตไม่น้อย ก็ไปด้วยกัน ตอนนั้นคิดอย่างนั้น"
มีการเขียนจดหมายบรรยายเหตุผลไว้เสร็จสรรพ เลือกช่วงเวลาราวตีสองตอนที่ผู้คนนอนหลับใหล ใช้ผ้าขาวม้าผูกกับซี่กรง รู้แต่ว่าผูกได้ปมหนึ่ง คนก็ตื่นมาเห็น เขาถูกตะครุบตัวทันใด
"ผ้าขาวม้าเลยกลายเป็นของต้องห้ามมาจนถึงเดี๋ยวนี้"
หลังจากปฏิบัติการล้มเหลว นักจิตวิทยาเป็นโขยงมาสัมภาษณ์เขา กล้องวงจรปิดถูกติดตั้ง เขาถูกจับตาใกล้ชิดและได้รับยาระงับประสาทเป็นเวลาเกือบสามเดือน
หลังจากปรับตัวได้ เขาพยายามหาอะไรทำเพื่อฆ่าเวลา เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับการติดคุกคือ "เวลา" ซึ่งจับมือมากับ "ความเบื่อหน่าย" เต้นรำอย่างเริงร่าด้วยท่าซ้ำๆ แปดโมงเช้าเคารพธงชาติ สวดมนต์ หกโมงเย็นเคารพธงชาติ สวดมนต์ เคารพเพลงสรรเสริญ แล้วออกลูกออกหลานมาเป็น "ความไร้ค่า" กับ "ความฟุ้งซ่าน" ตั้งแต่แรกๆ เขาได้ทำงานดูแลห้องสมุด มีเวลาอ่านหนังสือพอสมควร และต่อสู้จนได้หนังสือพิมพ์กลับคืนมา (หลังรัฐประหาร มีกฎระเบียบไม่ให้ผู้ต้องขังรับข่าวสาร) แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่ช้าไป 1-2 วันก็ตาม เขาชอบจับกลุ่มคุยในห้องสมุดด้วย จนตอนหลังเจ้าหน้าที่คุมเข้มชนิดเห็นผู้ต้องขัง 112 รายใหม่คุยกับสมยศเป็นต้องถูกจำแนกไปอยู่แดนอื่น
ล่าสุด เขายังคบค้ากับแรงงานกัมพูชาซึ่งพบว่าจำนวนไม่น้อยเข้ามาทำงานในไทย ถูกใช้งานเยี่ยงทาสแล้วนายจ้างก็โกงค่าแรงโดยการแจ้งตำรวจมาจับฐานหลบหนีเข้าเมือง แต่ตอนนี้พวกเขามีสถานะเป็นครูของสมยศ สอนภาษาเขมรกันทุกวันจนลูกศิษย์พูดฟังอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว
"คนในนี้ 95% เป็นคนดี แต่ยากจน ไม่มีกิน ให้ทำยังไง ก็ต้องขายยา" สมยศสรุปภาพรวม
นอกจากนี้เขายังฆ่าเวลาด้วยการลงเรียน มสธ.ในคณะรัฐศาสตร์ 3 ปีจบ ไม่เคยสอบตกสักวิชา สนามสอบบางครั้งก็เปลี่ยนไปยังเรือนจำอื่น ทำให้เขาได้เจอนักโทษการเมืองระดับแกนนำสีอื่นด้วย การสนทนาเกิดขึ้นได้ แม้การสรุปบทเรียนอาจเหมือนหรือต่าง ล่าสุด เขาลงเรียนนิติศาสตร์ต่อ ไปได้ครึ่งทางแล้วและกำลังจะเอาเอกสารใบบริสุทธิ์ไปขอเปลี่ยนสนามสอบ ไม่อย่างนั้นก็คงต้องไปสอบในเรือนจำ
ใช่ ใบบริสุทธิ์อยู่ไหน สมยศรื้อกระเป๋าผ้ายีนส์ข้างตัว เอาเอกสารออกมาดู จากนั้นเขาชี้ให้ดูกระเป๋าใบเก่งฝีมือตัดเย็บของเขาเอง เป็นรอยเย็บแบบไม่ละเอียดนักแต่โดยรวมดูเรียบร้อย เขาเล่าว่ามันคือเศษกางเกงของผู้ต้องขังซึ่งวันแรกมักจะใส่ยีนส์ขายาวกันมาแล้วต้องโดนตัดเป็นขาสั้นตั้งแต่วันนั้นก่อนที่จะได้ซื้อเสื้อผ้าเรือนจำ เศษผ้าเหล่านี้ถูกรวบรวมมาใช้ประโยชน์ ด้านในของกระเป๋าบุด้วยผ้าสีฟ้า สีน้ำตาล ซึ่งล้วนเป็นเสื้อผู้ต้องขัง ภายในถูกแบ่งเป็นช่องต่างๆ มากมาย สมยศสามารถหารายได้เสริมจากการทำกระเป๋านี้ด้วย
กระเป๋าใบเก่งฝีมือตัดเย็บของ สมยศ
หลังเล่าเรื่องราวในเรือนจำ ทั้งคนเล่าคนฟังก็เริ่มเท้าความกันไปถึงเรื่องราวในคดี การตระเวนไปอยู่เรือนจำต่างๆ ที่แสนยากลำบาก แทบจะต้องนั่งหลับเพราะไม่มีที่เหลือ การตัดสินใจสู้แม้มีการเจรจาจากคนของรัฐบาลบางชุดช่วยหาช่องทางให้ได้พ้นโทษเพียง "ยอมแพ้" และเพื่อนผู้ต้องขังที่ใช้เส้นทางนี้ก็พ้นโทษออกไปจริงๆ
"หวั่นไหวไหมตอนนั้น"
"ไม่นะ เพียงแต่ลำบากใจที่โดนต่อว่าที่เราไม่รับ คนอื่นเขากังวลว่าถ้าไม่รับทั้งชุด จะทำให้เขาไม่ได้อภัยด้วยหรือเปล่า"
เขายังเล่าย้อนไปถึงตอนที่ถูกควบคุมตัวในค่ายอดิศร สระบุรี ไม่กี่วันหลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เหตุเพราะเดินทางกับสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับเพื่อเตรียมไปจัดการชุมนุมต่างจังหวัดต่อเนื่อง ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวนานนับเดือน สมยศถูกสอบปากคำและถูกโน้มน้าวอยู่หลายต่อหลายครั้ง เพียงแค่พูดว่า "ทักษิณ" เป็นผู้ให้เงินพิมพ์นิตยสารที่มีบทความเข้าข่ายหมิ่นนี้ เขาก็จะถูกกันเป็นพยาน แต่สมยศปฏิเสธ
"มันเป็นศีลธรรม จะให้พูดได้ยังไงก็มันไม่ใช่ นิตยสารตอนนั้นขายดีมาก มันได้กำไรโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ยอดขายถึงสามหมื่นเล่ม"
หลังถูกปล่อยตัววันนี้ มีนักข่าวถามเขาที่หน้าเรือนจำว่าจะทำนิตยสาร Voice of Taksin ต่อไหมเขาตอบยียวนว่า ทำแต่ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Voice of Yingluck ในความเป็นจริงเขายังคงต้องจูนและอัพเดทสถานการณ์ต่างๆ อีกสักพัก คำถามว่าจะทำอะไรต่อกระหน่ำเข้ามาไม่ขาดสาย เขายังไม่มีคำตอบในตอนนี้ เพราะแม้แต่สุขภาพร่างกายก็ยังไม่มีความพร้อมใด ฟันหน้าของสมยศผิดรูปไปจากที่เคยเห็นเนื่องจากเป็นโรคเหงือกอักเสบ เขาทำเรื่องขอขูดหินปูนไว้ แต่หลายเดือนผ่านไปยังไม่ทันได้ทำก็ได้ออกจากคุกก่อน ตลอด 7 ปีเขาได้เจอหมอฟันเพียงครั้งเดียว และสิ่งที่น่าห่วงมากกว่าสมยศก็คือ ตับของสมยศ เนื่องจากกินยาแก้ปวดข้อและยารักษาเก๊าต์มาต่อเนื่องตลอด 5-6 ปี
สมยศอยู่ในเรือนจำ เฝ้าดูผู้ต้องขังคดีเดียวกันเข้าและออกจากที่นั่นมาหลายครั้งหลายหน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาก้าวออกมาเอง หนังสือสักเล่มน่าจะเป็นขั้นต่ำที่ผู้คนจะได้เห็น
‘รังสิมันต์ โรม’ ยื่นศาล รธน. วินิจฉัยประกาศคณะปฏิวัติปี 49 ขัดรัฐธรรมนูญ
Posted: 30 Apr 2018 08:37 AM PDT
'โรม' ยื่นศาล รธน. วินิจฉัยประกาศคณะปฏิวัติปี 49 ขัดรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องขอฝากขัง คดีชุมนุมหน้า ทบ. ขับไล่ คสช. เหตุ พนง.สอบสวนยื่นหลังเวลาทำการของศาล นัดใหม่พรุ่งนี้ ด้าน คสช.สั่งจับตา มือที่ 3 เข้ามาก่อความวุ่นวาย
การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
30 เม.ย.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงปทุมวันนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปก.) ฉบับที่ 25 เรื่อง การดําเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา จากการไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนในคดีคนอยากเลือกตั้งบริเวณสกายวอล์กห้างเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ หรือคดี MBK39 โดยในนัดนี้ รังสิมันต์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงปทุมวันขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่า ประกาศ คปก. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3, มาตรา 26, มาตรา 28, และมาตรา 29 หรือไม่
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานถึงคำร้องดังกล่าว ระบุว่า ประกาศ คปก. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและใช้บังคับไม่ได้อีก เนื่องจากประกาศของคณะรัฐประหารที่ออกมาในช่วงสภาวการณ์ไร้กฎหมาย จะมีผลบังคับใช้ต่อไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนรับรองไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เขียนรับรองให้ประกาศ คปก. มีผลบังคับใช้ แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ไม่ได้รับรองประกาศ คปก. ให้ชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับใช้อีกต่อไป
และแม้ ประกาศ คปก. ฉบับที่ 25 จะมีสถานะเป็นกฎหมายก็ยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นคณะบุคคลที่ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยการใช้กองกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินหรือทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า "อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ…"
นอกจากนี้ รังสิมันต์ ยังระบุในคำร้องอีกว่า ประกาศ คปก. ฉบับที่ 25 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 26, มาตรา 28, และมาตรา 29 การที่พนักงานสอบสวนจะบังคับให้บุคคลต้องพิมพ์ลายนิ้วมือของตนให้กับพนักงานสอบสวนเพียงเพราะถูกกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งพนักงานอัยการก็ยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี และศาลก็ยังไม่ได้พิพากษาลงโทษ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา และย่อมถือได้ว่าเป็นการบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง เพราะว่าการมอบหลักฐานส่วนตนไม่ว่าจะเป็นคำให้การ พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร อันรวมทั้งลายพิมพ์นิ้วมือของตนให้แก่พนักงานสอบสวนนั้นย่อมถือเป็นการให้การของผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอมให้การหรือมอบพยานหลักฐานดังกล่าวกับพนักงานสอบสวน ย่อมถือเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ถูกกล่าวหา การออกกฎหมายบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมอบลายพิมพ์นิ้วมือของตนให้กับพนักงานสอบสวนตามประกาศดังกล่าวจึงเป็นการบังคับให้บุคคลต้องให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง
อย่างไรตาม ศาลแขวงปทุมมีคำสั่งให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่ว่า ประกาศ คปก. ฉบับที่ 25 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 หรือไม่ แต่ไม่ส่งในประเด็นโต้แย้งที่ว่า ประกาศ คปก. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากศาลแขวงปทุมวันเห็นว่า การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องเป็นกรณีที่ศาลหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงสภาพการบังคับใช้กฎหมายด้วย ทั้งนี้ ทนายความแถลงต่อศาลว่าต้องการคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่ส่งประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของประกาศ คปก. ฉบับที่ 25 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลแขวงปทุมวันให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ก.ค. 2561 เวลา 09.00 น.
ยกคำร้องขอฝากขัง คดีชุมนุมหน้า ทบ. ขับไล่ คสช.
คสช.สั่งจับตา มือที่ 3 เข้ามาก่อความวุ่นวาย
'ตร.-ทหาร' เรียกคนงานรังสิตคุย ขอจัดวันกรรมกรสากล อย่าพูดเลือกตั้ง-การเมือง
Posted: 30 Apr 2018 07:44 AM PDT
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: ถ้าไม่กระจายอำนาจ ประเทศไทยจะเคลื่อนที่ช้าลง
Posted: 30 Apr 2018 07:13 AM PDT
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชวนพิจารณารัฐราชการไทยขนาดใหญ่ จังหวัดไม่มีอำนาจจัดการตนเอง ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรบิดเบี้ยว เน้นพัฒนากรุงเทพฯ จนเหลื่อมล้ำ ชูข้อเสนอกระจายอำนาจ "คน-งาน-ความรับผิดชอบ-งบประมาณ" ลงท้องถิ่น เลิกราชการส่วนภูมิภาค เสนอท้องถิ่นมีอำนาจเก็บภาษีหลัก แล้วแบ่งรายได้กับรัฐบาลกลางครึ่งต่อครึ่ง ไม่เชื่อต่างจังหวัดเหลื่อมล้ำเพราะ 'โง่จนเจ็บ' แต่เป็นเพราะถูกปิดกั้นสิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเอง ชี้ถ้าไม่แก้ไขประเทศไทยจะเคลื่อนที่ช้าลง ตำแหน่งแห่งที่ในเวทีโลกก็จะถดถอยลง
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตอบคำถามเรื่องการกระจายอำนาจ ชูเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เสนอให้ท้องถิ่นเพิ่มสัดส่วนการจัดเก็บภาษีบางประเภทได้เอง ไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลาง ทั้งนี้เป็นการตอบคำถามและอภิปรายระหว่างการพบปะสื่อและภาคเอกชน ระหว่างการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561โดยรายละเอียดของการอภิปรายช่วงดังกล่าวมีดังนี้
ชวนพิจารณารัฐราชการไทยขนาดใหญ่
จังหวัดไม่มีอำนาจจัดการตนเอง ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรบิดเบี้ยว
การกระจายอำนาจที่ผมพูด หรืออาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง พูดไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เป็นข้อเสนอที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีใครกล้าทำ ผมต้องเรียนว่ารัฐราชการไทยเป็นรัฐที่ใหญ่มาก ถ้าเราดูงบประมาณรายจ่ายประจำปีภาครัฐ ปีนี้งบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ประมาณ 80% คือค่าใช้จ่ายข้าราชการประจำ เหลือ 20% ที่เป็นงบลงทุนเพิ่มศักยภาพของประเทศ
ถ้าดูจำนวนข้าราชการต่อจำนวนประชากรทั้งหมด รัฐไทยใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน รัฐวิสาหกิจมีโครงข่ายยึดโยงไปในเศรษฐกิจ ชีวิตประจำวันคนธรรมดาเยอะมาก การมีอำนาจ มีโครงข่ายที่ใหญ่ขนาดนี้ นำมาซึ่งการทุจริตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากเรื่องรัฐราชการแล้ว การที่จังหวัดไม่มีอำนาจจัดการตนเอง ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่บิดเบี้ยว โดยที่ทรัพยากรของประเทศถูกดึงลงไปใช้ในการพัฒนากรุงเทพฯ เป็นหลัก คนที่พูดเรื่องความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม จำเป็นอย่างยิ่งต้องดูตรงนี้
กรุงเทพจ่ายภาษี 26% กรุงเทพได้งบภาษีไป 72% มีประชากร 17% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจ่ายเงินเข้าตรงกลาง 11% ได้เงินจากตรงกลาง 6% มีประชากร 34% ภาคเหนือจ่ายภาษี 9% ได้งบประมาณกลับมา 7% มีประชากร 18% ฯลฯ เราจะเห็นว่าทุกภาคมีแนวโน้มเหมือนกันคือมีทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ และความคาดหวังคน กทม. คือคนเหนือไปรักษาป่า จะได้มีน้ำใช้ จะได้มีสถานที่ท่องเที่ยว แต่ไม่คิดถึงต้นทุนว่าต้องเสียไปเท่าไหร่ ส่วนคนอีสานต้องเสียสละวิถีชีวิตความเป็นอยู่เพื่อตั้งเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า
ทรัพยากรของทั้งประเทศ รวมถึงการเก็บภาษี ถูกถ่ายโอนไปที่กรุงเทพฯ หมดและทำให้เกิดการพัฒนาเมืองที่แตกต่างกันมหาศาลระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ
ระบบปัจจุบันทำงานอย่างไร เรื่องภาษีเราเอาภาษีตัวเล็กให้ท้องถิ่นเก็บ ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน อะไรพวกนี้นะครับ แต่ภาษีโดยส่วนใหญ่เก็บเข้าส่วนกลาง แล้วมี ส.ส. นักการเมืองเข้าไปนั่งคุยในสภาว่าจะเอาภาษีไปแก้ปัญหาประชาชนที่ท้องถิ่นอย่างไร แล้วค่อยจัดสรรปันส่วนกันไปว่าจังหวัดไหนได้เท่าไหร่ แต่เงินจะเก็บเข้าตรงกลางแล้วไปคุยในสภา
ยุค 2540 มีการผลักดันกระจายอำนาจ แต่สะดุดหลังรัฐประหาร 2549
มีคนเสนอกระจายอำนาจ เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุไว้ว่าให้มีการกระจายอำนาจ มีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเริ่มดำเนินการมาดีขึ้นเรื่อยๆ มาสะดุดที่รัฐประหาร 2549 ขั้นตอนการกระจายอำนาจช้าลงตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา แล้วมาหยุดชะงักที่การรัฐประหารรอบที่ผ่านมา
ดังนั้นเราจะพอเห็นความเป็นพันธมิตรกันระดับหนึ่งระหว่างรัฐราชการ ที่ไม่ต้องการคืนอำนาจกับทหารที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐราชการเหมือนกัน
ถ้าเราไปคุยกับนักการเมืองท้องถิ่นอย่าง อบต. อบจ. เราจะเห็นความตึงเครียดอยู่ระหว่างความต้องการกระจายอำนาจ กับความพยายามต้องการเก็บอำนาจไว้อีกฝ่ายหนึ่ง เราจะเห็นว่ามันตึงเครียดอยู่ว่าอำนาจปล่อยไม่สุด ทั้งงบและทั้งอำนาจ
หลักกระจายอำนาจ คน-งาน-ความรับผิดชอบ-งบประมาณ ลงท้องถิ่น
หลักการของการกระจายอำนาจก็คือ คนไป งานไป ความรับผิดชอบไป แล้วงบต้องไปด้วย ผมยกตัวอย่างรูปธรรมก็คือ สมมติใน จ.เชียงใหม่เรามีโรงเรียน โรงเรียนรายงานไปกับกระทรวงศึกษาธิการ เรามีสถานีอนามัย โรงพยาบาล รายงานตรงกระทรวงสาธารณสุข เรามีเกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด พวกนี้รายงานตรงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่พวกนี้ อบต.ที่มาจากการเลือกตั้งไปสั่งไม่ได้นะ พวกนี้ต้องรายงานกลับไปที่กระทรวงของตัวเอง ไม่ได้รายงานข้ามกระทรวงกันด้วย การบูรณาการมันไม่เกิด
ข้อเสนอการกระจายอำนาจของพรรคเราที่จะเสนอก็คือ องค์กรที่อยู่ในท้องถิ่นตรงนี้ ตัดออกจากส่วนกลางให้หมด ไม่ต้องกลับไปรายงานที่ส่วนกลาง ตัดออกให้หมด เอาองค์กรที่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ทั้งหมดกลับมารายงานที่องค์กรที่มาจากการเลือกตั้งที่รับผิดชอบต่อประชาชน ให้องค์กรนี้เบ็ดเสร็จในการจัดการอำนาจที่อยู่ในองค์กรท้องถิ่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินน้ำลมไฟ ถนนหนทางต่างๆ ไอเดียง่ายๆ แค่นี้ถ้ามีอำนาจก็จัดการปัญหานี้ได้
เดือนที่แล้วผมไปที่ จ.ตรัง ชาวบ้านมาบ่นกับผมว่าน้ำจะท่วมในเขตเทศบาล อ.เมือง แล้วถามว่าพรรคอนาคตใหม่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ จ.ตรังอย่างไร ผมเกาหัวเลย ไม่มีทางที่ผมจะรู้ว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.ตรัง ได้อย่างไร
ดังนั้นหลักการก็คือเรามีความรู้พอไหม เรามีทรัพยากรพอไหม มีเงินพอไหมในการจัดการ มันมีพอ แต่การจัดการน้ำท่วมขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน แต่หน่วยงานเหล่านี้รายงานกลับไปที่กรุงเทพฯ ไม่มีงบก็ต้องขอที่กรุงเทพฯ การกระจายอำนาจแล้วทำให้องค์กรต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น องค์กรของภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าจะขึ้นอยู่กับกระทรวง ทบวง กรมไหนก็ตาม ให้กลับไปรายงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน แล้วต้องตอบคำถามประชาชน จะทำให้องค์กรนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ต่อไปคุณรู้แล้วว่าถ้าปัญหาไม่ได้รับแก้ไขจะคุยกับ ไปคุยกับหมอนี่ ก็มีอำนาจจัดการแล้ว และประชาชนก็ต้องตรวจสอบได้
เสนอท้องถิ่นมีอำนาจเก็บภาษีหลัก แบ่งรายได้กับรัฐบาลกลาง
เมื่อโอนหน่วยงานมาที่ท้องถิ่นแล้ว ต้องโอนคน โอนงาน โอนความรับผิดชอบ ตัวที่สำคัญคือการโอนเงิน ต้องโอนงบประมาณด้วย โดยตอนนี้มีภาษีหลักที่ยังไม่ให้ อปท. เก็บเช่น ภาษีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพสามิต เป็นภาษีใหญ่เป็นรายได้หลัก ไอเดียพรรคคือแบ่งส่วนกัน
ยกตัวอย่าง ภาษีนิติบุคคล 20% แล้วแต่ขั้นของรายได้ ผมจ่ายภาษี 37% ต้องมาแบ่งกันว่ารัฐส่วนกลางกี่เปอร์เซ็นต์ ท้องถิ่นกี่เปอร์เซ็นต์ เราอยากให้เกิดตรงนี้ขึ้นเพียงแต่ว่าตัวเลขยังไม่ชัดเจน เราต้องทำการบ้านเยอะมากในเชิงรายรับรายจ่ายของแต่ละพื้นที่ ว่าเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่จะเหมาะสม
กรณีภาษีนิติบุคคล คุณกำไร 100 บาท ต้องคืนรัฐ 20 บาท เสนอว่า 20 บาทที่คืน คืน จ.เชียงใหม่ 10 บาท เข้ารัฐส่วนกลาง 10 บาท ให้ที่นี่มีอำนาจเก็บภาษีใหญ่ๆ อย่างภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล ด้วยตัวเอง ข้ามขั้นตอนการกลับไปขออนุมัติที่กรุงเทพฯ ออกไปเลย ให้ทุกอย่างมาอยู่ที่ท้องถิ่น มีปัญหาจัดการกันที่ท้องถิ่น ท้องถิ่นว่ากันเอง มีคน มีหน่วยงาน มีความรับผิดชอบ อำนาจให้แล้ว นี่คือไอเดียเรื่องต่างจังหวัด
ไม่เชื่อต่างจังหวัดเหลื่อมล้ำเพราะ 'โง่จนเจ็บ' แต่เป็นเพราะถูกปิดกั้นสิทธิ
เราเชื่อว่าที่ต่างจังหวัดเหลื่อมล้ำกับกรุงเทพมหานคร ในเชิงของรายได้ ในเชิงชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ใช่เพราะต่างจังหวัดโง่ หรือไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ผมคุยมาไล่ตั้งแต่อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ตรัง นครศรีธรรรมราช เชียงใหม่ ฯลฯ ผมเจอคนมีไอเดียกันเต็มไปหมด
"ผมปฏิเสธความเชื่อว่า 'คนจนเพราะโง่ โง่เพราะเจ็บ เจ็บเพราะจน ผมปฏิเสธความเชื่อนี้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้แต่ละจังหวัดไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะประชาชนถูกปิดกั้นจากสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตัวเอง ผมเชื่อว่านี่คือปัญหาใหญ่ ผู้คนเข้าไม่ถึงอำนาจในการเลือกการพัฒนาสังคมของตัวเอง การพัฒนาจังหวัดของตัวเอง"
"ถ้าไม่แก้ ประเทศไทยจะเคลื่อนที่ช้าลง การตัดสินใจทุกอย่างต้องวิ่งกลับไปที่กรุงเทพฯ นั้นไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ถ้าเป็นแบบนี้ประเทศไทยจะค่อยๆ ถดถอยลงในการพัฒนาประเทศเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เราจะค่อยๆ ถดถอยลง ตำแหน่งแห่งที่ของไทยในเวทีโลก ในโลกาภิวัฒน์จะถดถอยลง"
เดินสายทั่วประเทศแล้ว 10 จังหวัด เล็งประชุมพรรค 27 พฤษภาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบปะกับบุคคลและองค์กรที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ชุมชน LGBT กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เครือข่ายเกษตรกร กลุ่มนักธุรกิจ นักวิชาการ นอกจากนี้มีการจัดเวทีอภิปรายเรื่องการกระจายอำนาจเมื่อ 28 เม.ย. และเวทีสาธารณะ "ฟังเสียงอนาคต" ครั้งที่ 1 ที่วัดล่ามช้าง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 29 เม.ย. โดยการลงพื้นที่จังหวัดที่ 10 นับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จดแจ้งจัดตั้งพรรค
ด้านชำนาญ จันทร์เรือง ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่เปิดเผยด้วยว่า หลังจาก กกต. ทำหนังสือรับแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วเมื่อ 20 เม.ย. ขั้นตอนต่อไปคือจะขอประชุมพรรควันที่ 27 พฤษภาคมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค โดยจะขอ กกต.ออกหนังสือรับรอง และคาดหวังว่าจะเริ่มรับสมัครสมาชิกพรรคได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
สุรพศ ทวีศักดิ์: การดูดนักการเมืองไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตย
Posted: 30 Apr 2018 06:36 AM PDT
เมื่อพูดถึง "นักการเมือง" ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "Politician" ย่อมมีความหมายกว้างกว่าที่ใช้กันในบ้านเรา เพราะนักการเมืองย่อมหมายถึงบุคคลที่ทำกิจกรรมทางการเมืองที่สังกัดพรรคการเมือง หรือบุคคลที่แสวงหาตำแหน่ง อำนาจทางการเมืองการปกครอง
ในประเทศประชาธิปไตยนักการเมืองคือผู้เข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง แต่ในประเทศไม่ประชาธิปไตย นักการเมืองเข้าสู่อำนาจรัฐโดยการแต่งตั้ง หรือโดยการปฏิวัติรัฐประหาร พูดอย่างกว้าง นักการเมืองหมายรวมถึงบุคคลที่ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองโดยอาศัยกลไกของสถาบันราชการหรืออำมาตยาธิปไตย (bureaucratic institution) ด้วย
ในความหมายอย่างกว้างนี้ การเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีรัฐประหารอย่างที่สมเด็จพระเพทราชากระทำกับสมเด็จพระนารายณ์ในสมัยอยุธยา ก็คือ "การทำการเมือง" แบบหนึ่ง เป็นการเมืองเพื่อเข้าสู่การครองอำนาจรัฐของนักการเมืองยุคเก่าที่ถ้าไม่ผ่านการแต่งตั้งโดยสืบสายเลือดก็ต้องด้วยการทำรัฐประหาร แน่นอนว่าชนชั้นที่ "ทำนาบนหลังคน" ตามที่ระบุในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็ย่อมเป็น "นักการเมือง" ในความหมายอย่างกว้างนี้เช่นกัน
มันจึงไม่จริงอย่างที่พูดกันในบ้านเราปัจจุบันนี้ว่า นักการเมืองคือพวกที่แข่งขันกันเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะในความหมายอย่างกว้าง คสช.ก็ย่อมเป็นนักการเมืองประเภทหนึ่งที่เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีรัฐประหาร ฉีกและเขียนกติกาการปกครองขึ้นมาใหม่แล้วบริหารประเทศบนกติกาที่พวกเขาเขียนขึ้น ฉะนั้นถ้าเราบอกว่านักการเมืองที่แข่งขันเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งคือ "นักการเมืองในระบบ" คสช.ที่เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีรัฐประหารก็คือ "นักการเมืองนอกระบบ" ที่มีฐานอำนาจไม่ใช่ประชาชนแต่เป็นสถาบันราชการหรืออำมาตยาธิปไตยดังกล่าวข้างต้น
จะอย่างไรก็ตาม ถ้าเรายึดมาตรฐานการเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ นักการเมืองย่อมหมายถึงเฉพาะผู้ที่เข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง และใช้อำนาจนั้นในฐานะตัวแทนประชาชน หรือใช้อำนาจในความหมายที่เป็น "อำนาจสาธารณะ" ไม่ใช่อำนาจตามอำเภอใจของตนหรือกลุ่มตน มองในแง่นี้อำนาจ คสช.ก็ไม่ใช่อำนาจสาธารณะ การใช้อำนาจของ คสช.ก็เป็นได้เพียง "absurd politics-การเมืองที่ผิดเพี้ยน" ตามนิยามของ เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) ซึ่งเป็นการเมืองในแบบที่ไม่ใช่อำนาจสาธารณะ จึงทำให้กฎหมายไม่มีความหมาย ความจริงไม่มีความหมาย ความถูกต้องไม่มีความหมาย
ภายใต้การเมืองที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ มันทำให้ความหมายของสิ่งต่างๆ ผิดเพี้ยนไปหมด ล่าสุดคือการบอกว่า "การดูดนักการเมืองคือครรลองประชาธิปไตย" แต่ที่จริงแล้วถ้าการ "ดูด" หมายถึงการหาสมัครพรรคพวกเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง หรือเพื่อชัยชนะในการต่อสู้ทางการเมืองมันก็ไม่ใช่ครรลองของประชาธิปไตยโดยเฉพาะแต่ย่างใด เพราะพระเพทราชาก็หาสมัครพรรคพวกทั้งโดยการดึงพวกขุนนางกลุ่มต่างๆ มาเป็นพวกตัวเอง ดึงพรรคพวกของสมเด็จพระนารายณ์มาเป็นพวกตนเอง รวมทั้งดึงพระสังฆราชและบรรดาพระสงฆ์มาเป็นสมัครพรรคพวกในการโค่นบัลลังก์สมเด็จพระรานารายณ์
ขณะที่ คสช.เองหลังทำรัฐประหาร นอกจากจะดูดบรรดานายทหารด้วยกันมาเป็นพรรคพวกแล้ว ก็ยังดูดนักวิชาการ เทคโนแครต สื่อมวลชน นักธุรกิจ เอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ มาเป็นพวก ส่วนกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่ดูดมาเป็นพวกเดียวกันไม่ได้ก็ใช้อำนาจปืนควบคุมอย่างเข้มงวด ดังนั้น การดูดจึงไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตย
แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันมีการย้ายพรรคของบรรดานักการเมืองอยู่จริง ซึ่งการย้ายพรรคอาจจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย เช่นในประเทศที่ระบบหรือโครงสร้างทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยเข้มแข็งแล้ว การย้ายพรรคของบรรดานักการเมืองย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขทางอุดมการณ์และนโยบายพรรคที่เป็น "เสรีนิยม – อนุรักษ์นิยม" หรือ "ซ้าย-ขวา" เป็นต้นมากกว่าจะเป็นเรื่องของ "ทุนหนา-ทุนบาง" หรือแรงกดดันจากอำนาจการเมืองนอกระบบ
ฉะนั้น ถ้าปรากฏการณ์ของการดูดนักการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางอุดมการณ์และนโยบายพรรค แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเรื่องทุนหนา-ทุนบาง และการกดดันโดยอำนาจนอกระบบ (ซึ่งก็ย่อมมีทุนหนาด้วย) วัฒนธรรมการดูดเช่นนี้ก็ย่อมไม่เกี่ยวกับครรลองประชาธิปไตยและไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย
มันเป็นเพียงวัฒนธรรมการดูดบนความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารเฉลี่ย 4 ปี 8 เดือนต่อครั้ง และกติกาการปกครองประเทศก็ถูกฉีกทิ้งและเขียนขึ้นใหม่ภายใต้อำนาจเผด็จการ มันจึงเป็นวัฒนธรรมการดูดภายใต้ครรลองเผด็จการมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามกับนักการเมืองและพรรคการเมืองมากขึ้นว่า ภายใต้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัฐประหารซ้ำซากที่มีนักศึกษาและประชาชนสละชีวิตและอิสรภาพครั้งแล้วครั้งเล่าในการต่อสู้กับเผด็จการเพื่อคืนสู่การเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองได้เสนออุดมการณ์ แนวคิด นโยบายรูปธรรมอะไรบ้างในการสร้างประชาธิปไตย คุณจะรื้อสิ่งที่อำนาจไม่เป็นประชาธิปไตยสร้างไว้ แล้วมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร จะปฏิรูปโครงสร้างสถาบันต่างๆ กองทัพ ตุลาการ ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมมากขึ้นอย่างไร
เพราะถ้าหากบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองยังคงรักษาวัฒนธรรมการดูด หรือยินดีเล่นไปตามกติกาที่อำนาจไม่ประชาธิปไตยเขียนให้เท่านั้น การต่อสู้เสียสละของประชาชนตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบโครงสร้างได้ หากไม่มีนักการเมือง พรรคการเมืองรับเอาเจตนารมณ์ของประชาชนไปแปรเป็นนโยบายขับเคลื่อนต่อให้กลายเป็นจริง
เมื่อเป็นเช่นนี้ วงจรการเมืองน้ำเน่าและการปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่มีวันสิ้นสุด!
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: ปฎิญญาปันมูนจอม
Posted: 30 Apr 2018 06:24 AM PDT
หมุดหมายที่เขตปลอดทหารปันมูนจอม
สาระสำคัญที่สุดของข้อตกลงระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน และ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูน แจ อิน ดังที่ปราฏในปฏิญญาปันมูนจอมนั้นอยู่ในข้อ 3 ซึ่งมี 4 ข้อย่อยคือ
1 ทั้งสองฝ่ายจะยึดมั่นในสัญญาที่จะไม่รุกรานกัน
2 ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะค่อยๆ ลดอาวุธ
3 ในโอกาสครบรอบ 65 ปีของสนธิสัญญาหยุดยิง ทั้งสองฝ่ายจะพยายามจะจัดให้มีการประชุม 3 ฝ่ายคือ เกาหลีทั้งสองและสหรัฐหรือ 4 ฝ่ายคือ เกาหลีทั้งสอง สหรัฐและจีน เพื่อจะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะประกาศเลิกสงคราม (ดังที่ได้โพสต์ไว้ครั้งก่อน สนธิสัญญาปี 1953 ที่สร้างเขตปลอดทหารและหมู่บ้านปันมูนจอมนั้น เป็นแค่การหยุดยิง แต่สงครามของสองเกาหลีนั้นยังไม่เคยถูกประกาศยกเลิก ในทางเทคนิคถือว่า สองเกาหลีอยู่ในภาวะสงครามมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว)
4 ทั้งสองฝ่ายจะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ และเกาหลีใต้ก็พิจารณาว่ามาตรการที่เกาหลีเหนือประกาศเรื่องการปลอดนิวเคลียร์นั้นเป็นสิ่งที่มีความหมาย (แปลว่ากรุงโซลเชื่อว่าเปียงยางจะทำจริง) และทั้งสองจะแสวงหาความร่วมมือจากชุมชนนานาชาติในการขจัดนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี
ปฏิญญาที่ลงนามกันครั้งนี้ก็ยืนยันว่าไม่ได้มาดราม่าออกสื่อ มีความตั้งใจจริงว่าจะสร้างสันติภาพกันจริงๆ แต่จะผลอะไรออกมาเป็นรูปธรรมหรือไม่ ก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป เรื่องคงยังไม่จบแค่นี้ หากแต่ดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้น
ปฏิญญาปันมูนจอม ฉบับสมบูรณ์
ภาพประกอบ:
1 หมุดหมายที่เขตปลอดทหารปันมูนจอม จารึกว่า ห่างจากหมุดนี้ไป 1000 เมตรเป็นสถานที่ซึ่ง กองกำลังสหประชาชาติ กองทัพประชาชนเกาหลี (เหนือ) และอาสาสมัคร (ทหาร) จีน ลงนามหยุดยิงเพื่อยุติการสู้รบตั้งระเบิดขึ้นตั้งแต่ 25 มิถุนายน 1950 จนถึงวันลงนามในสัญญา 27 กรกฎาคม 1953 สงครามครั้งนั้นทำให้ประชาชนประมาณ 150,000 คนเสียชีวิตและทหารที่ร่วมรบในสงครามนี้บาดเจ็บล้มตายอีก 40,000 คน
2 ปฏิญญาปันมูนจอม ฉบับสมบูรณ์
'ชัชชาติ' เข้ายืนยันสถานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว อดีต ส.ส.อุบลฯ ชี้สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ
Posted: 30 Apr 2018 05:43 AM PDT
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ายืนยันสถานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว ขณะที่ อดีต ส.ส.อุบลฯ ชี้สามารถเป็นได้ถึงแคนดิเดตนายกฯ ด้าน 'ชาติไทยพัฒนา' เผยแกนนำหลักยังอยู่กับพรรค
30 เม.ย.2561 Voice TV รายงานว่าเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ได้เข้ายืนยันสถานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว ก่อนที่จะครบกำหนด 30 วันที่กฎหมายพรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เปิดให้พรรคการเมืองเดิมต้องให้สมาชิกพรรคยืนยันสถานะภายในวันที่ 1 - 30 เม.ย.นี้
ขณะที่ สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับการยืนยันจากเพื่อนอดีต ส.ส.ด้วยกันว่า ชัชชาติ ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว ซึ่งเป็นสิทธิที่ชัชชาติจะมายืนยัน เพราะชัชชาติมีความรู้ความสามารถอยู่ ส่วนชัชชาติจะมีตำแหน่งใดในพรรคเพื่อไทยก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรคจะเลือก แต่ต้องรอให้กฎหมายเปิดให้พรรคการเมืองประชุมพรรคได้ก่อน อีกทั้งความสามารถของชัชชาติสามารถเป็นได้ถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
'ชาติไทยพัฒนา' เผยแกนนำหลักยังอยู่กับพรรค
สำนักข่าวไทย รายงานด้าน พรรคชาติไทยพัฒนา ว่า พิสิษฐ์ พิทยฐากุลเจริญ นายทะเบียน เปิดเผยว่าหลังจากที่พรรคชาติไทยพัฒนาได้ส่งจดหมายไปให้สมาชิกเดิมของพรรคจำนวน 24,710 ฉบับเพื่อให้ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนากลับมา ล่าสุดวันนี้ (30 เม.ย.) ซึ่งครบกำหนดการยืนยันสมาชิกภาพพรรคการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 พบว่า มีการยืนยันสมาชิกกลับมาประมาณ 2,500 คน แต่หลังจากนี้อาจจะมีการยืนยันผ่านทางไปรษณีย์กลับมาอีกจำนวนหนึ่ง
พิสิษฐ์ กล่าวว่า สมาชิกเดิมที่ยืนยันเข้ามามีอาทิ อดีต ส.ส. ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี อ่างทอง และพื้นที่อีสาน เช่น อุบลราชธานี และศรีสะเกษ โดยแกนนำหลักหลักของพรรคทั้งหมดได้มายืนยันความเป็นสมาชิกขาดแต่เพียงกลุ่มของนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ และกลุ่มของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ที่ออกจากพรรคไปแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปิดให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้แล้วพรรคก็จะลุยลงพื้นที่เพื่อไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องเกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกพรรค ที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เป็นค่าบำรุงพรรครายปี ๆ ละ 100 บาท หรือตลอดชีพ 2,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจและมีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพิ่มเติมมากขึ้น
'ประวิตร' สั่งทำคู่มือให้ จนท. ยึดหลักสากล ทำงานตามกฎหมาย-ไม่ขัดสิทธิมนุษยชน
Posted: 30 Apr 2018 04:57 AM PDT
'พล.อ.ประวิตร' สั่งทำคู่มือ จนท.ยึดมาตรฐานสากล ไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมสั่งผู้บังคับบัญชาทุกระดับดูแลฝึกตามระเบียบอย่างเคร่งครัด คำนึงถึงคำแนะนำของแพทย์ ห้ามทำร้ายร่างกายโดยเด็ดขาด ผบ.มทบ.11 ชี้การเกณฑ์ทหารยังจำเป็นสำหรับไทย
แฟ้มภาพ
30 เม.ย.2561 รายงานข่าวระบุว่า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณกองทัพ ที่ร่วมกันทำหน้าที่ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหาร เป็นทหารกองประจำการประจำปี 2561 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และขอให้การฝึกปฏิบัติตามระเบียบ และหลักสูตรการฝึกทหารใหม่ โดยผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องกำกับดูแล ให้การฝึกเป็นตามระเบียบ และหลักสูตรอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันโรคลมร้อน ส่วนการลงโทษก็ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ ห้ามทำร้ายร่างกายทหารโดยเด็ดขาด
"พล.อ.ประวิตร สั่งการให้จัดทำแนวทางปฏิบัติงานตามกฎหมายหรือคู่มือของเจ้าหน้าที่ โดยมอบหมายให้กองทัพบกในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประสานกระทรวงยุติธรรม เร่งจัดทำคู่มือให้เป็นมาตรฐานสากลตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เพื่อให้การปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานมีขั้นตอนและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ โดยมุ่งเน้นวิธีจากเบาไปหาหนัก และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งการปฏิบัติงานต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน" โฆษกกระทรวงกลาโหม
พล.ท.คงชีพ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงกำลังติดตามอยู่และจะปฏิบัติตามกฎหมายในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีเงื่อนไขต่างกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
ขณะที่ พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ที่ 11(มทบ.11) เป็นประธานพิธีอำลาธงชัยเฉลิมพลและส่งทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2559 และทหารกองประจำการที่ใช้สิทธิลดวันรับราชการทหารน้อยกว่า 2 ปีที่มารับราชการครบกำหนดปลดประจำการ ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 จำนวน 435 นาย พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับกำลังพลที่ปลดประจำการ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และเป็นเกียรติที่ที่ได้เข้ามารับใช้ชาติ อาทิ พลทหารชินวุฒิ อินทรคูสิน หรือ ชิน ชินวุฒิ นักร้องนักแสดงชื่อดัง
ผบ.มทบ.11 กล่าวให้โอวาทให้แก่พลทหารที่ปลดประจำการ ว่า การที่กำลังพลทุกนายได้เสียสละ อุทิศเวลา ร่างกาย จิตใจเข้ามารับใช้ชาติในครั้งนี้ ถือเป็นการทำหน้าที่ลูกผู้ชายอย่างสมบูรณ์ตามหฎหมาย ตลอดระยะเวลาที่มาประจำการในกองทัพ ทุกคนปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ได้อย่างเรียบร้อย ตนรู้สึกยินดีที่กำลังพลจะได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว อย่างไรก็ตาม ขอให้สำนึกว่ายังมีภาระหน้าที่ในฐานะของพลเมืองที่ดีที่ต้องปฏิบัติ ต้องประพฤติตนให้เป็นคนมีระเบียบ วินัย ช่วยพัฒนาสังคม ดูแลตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติบ้านเมืองให้เหมาะสมตามได้รับการฝึกอบรมในช่วงที่รับราชการทหาร
พล.ต.ปิยพงศ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีกรณีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร ว่า อาจจะเป็นอีกหนึ่งแนวคิด ขณะนี้กองทัพดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การรับราชการทหาร พ.ศ. 2475 และคงต้องดำเนินต่อไปในลักษณะเช่นนี้ เนื่องจากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย พัฒนาการของกองทัพในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต แต่ปัจจุบันยังมีความจำเป็นในการคัดเลือกชายไทยที่มีคุณสมบัติครบเข้าประจำการเป็นทหาร เพื่อทำงานให้กับกองทัพ ดูแลและรักษาเรื่องความมั่นคงภายใน รวมถึงคอยดูแลอำนวยความสะดวกในการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน
ที่มา สำนักข่าวไทย
Posted: 30 Apr 2018 03:46 AM PDT
ชื่นชมพลังคนเชียงใหม่
ร่วมผลักไสอยุติธรรมบ้านพักศาล
นี่ยังไงสิทธิ์ประชาชนไล่ภัยพาล
รักษาบ้านให้น่าอยู่ขอปรบมือ
ทุกคนทุกพื้นที่ต้องเอาอย่าง
ร่วมกันสร้างพลังเข้มต้องลุกฮือ
ใช้พลังกดดันฝันร่วมลุกฮือ
ให้โลกระบือบ้านเราเราดูแล
ถ้านิ่งเฉยเคยคุ้นธุระไม่ใช่
ก็แน่ใจได้ว่าเราจะแพ้
เปิดช่องว่างให้อธรรมชายตาแล
เอาตีนแหย่เอาเงินทุ่มเข้ายึดครอง
เราต้องพึ่งตัวเราเองนักเลงบ้าน
นโยบายรัฐอย่าให้ผ่านพึงเพ่งมอง
จากบนลงล่างต้องตรึกตรอง
สังคมหมองบ้านเราเน่าถ้าเราเมิน.
กวีประชาไท: กฎหมายอาญามาตรา 113 กับบ้านป่าแหว่ง
Posted: 30 Apr 2018 03:37 AM PDT
อธิบายได้ไหมไยจึงละเมิด เพราะยังเกิดปฏิบัติมาขัดกฎ
ประเทศศรีธนญชัยคลั่งในยศ กฎเกณฑ์งด ถ้าชนะปฏิวัติ
รัฐประหารท่านแพ้แกคือกบฏ ชนะก็ผิดกฎ งดปฏิบัติ
มาตรา 113 ต้องถามให้ชัด มีไว้ฟัดฝ่ายพ่ายแพ้แค่นั้นเอง
เมื่อชนะก็จะมาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มาเป็นรัฐบาลบริหารไม่เก่ง
แต่นั่งในอำนาจมาดนักเลง ดักดานเขลงทุกคณะรัฐประหาร
สะท้อนถึงกฎหมายลายลักษณ์อักษร มีจุดอ่อนผ่อนปรนคนหน้าด้าน
มากถ้อยคำถูกนำมาด่าประจาน น่าสงสารบ้านเมืองวนคนจนมาก
กฎหมายอาญามาตรา 113 ตามสาระ มีไว้ประดับหน้าตาต่างหาก
ตุลาการท่านตามน้ำร่วมความยาก รวมเป็นฉากรับใช้ให้ชอบธรรม
รัฐประหาร ตุลาการประสานมือ ประชาคือคนเง่าเขาขย้ำ
กลืนไม่เข้าคายไม่ออกดอกที่ทำ ประชาช้ำชอกใจไร้เรี่ยวแรง
ยิ่งตอกย้ำญาติดีที่ทำมา ปวงประชาเห็นกรรมธรรมชัดแจ้ง
ตุลาการศาลยุติธรรมต้มยำทำแกง บ้านป่าแหว่งแสงธรรมฉายนำดู
ให้ได้เห็นอยุติธรรมตอกย้ำใหม่ ศรีธนญชัยในบ้านเมืองสุดเฟื่องหรู
รัฐประหารบ้านเมืองระบบจบลงรู ตบบ้องหูผู้รักประชาธิปไตยเท่าไหร่่แล้ว
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น