โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ครม.ไฟเขียว แก้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หวังทันกับสถานการณ์การลงทุน

Posted: 24 Apr 2018 11:10 AM PDT

โอนเงินของผู้ที่เคยเป็นสมาชิกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่น มายัง กบข.ได้ เปิดช่องให้กองทุนจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จำกัด ได้ ตุลาการ อัยการ เกษียณเกินกว่า 60 ปี มีสิทธิขอรับเงินสะสม เงินสมทบ เมื่อสิ้นปีงบฯ ไม่ต้องรอเกษียณ

24 เม.ย.2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ  และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย  แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานด้วยว่า ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ในวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมไม่ทันกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ อาทิ สามารถโอนเงินของผู้ที่เคยเป็นสมาชิกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่น มายัง กบข. ได้ พร้อมเปิดช่องให้กองทุนสามารถจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จำกัด ได้ เพื่อขยายโอกาสในการหาผลประโยชน์ให้กับกองทุน การส่งเงินสะสมเข้ากองทุนจากเดิมร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของเงินเดือน นอกจากนี้ยังให้สมาชิกที่เกษียณอายุราชการเกินกว่า 60 ปี เช่น ตุลาการ อัยการ มีสิทธิขอรับเงินสะสม เงินสมทบ เมื่อสิ้นปีงบประมาณเมื่ออายุ 60 ปี ไม่ต้องรอเกษียณอายุราชการ

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลสรุปไว้ดังนี้

1.กำหนดเพิ่มเติมประเภททรัพย์สินของกองทุนโดยกำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินของสมาชิก ที่โอนย้ายมาทั้งจำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพตามที่คณะกรรมการกำหนด

2. กำหนดเพิ่มเติมให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำกัด

3. กำหนดเพิ่มเติมให้ในกรณีที่บุคคลใดซึ่งเข้ารับราชการได้แสดงเจตนาให้โอนเงินทั้งหมดที่ตน มีสิทธิได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพตามที่คณะกรรมการกำหนดมายังกองทุน ให้กองทุน รับเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิก  เพื่อให้กองทุนนำไปลงทุนหาผลประโยชน์ต่อไป  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

4. กำหนดให้สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุนได้ไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินเดือน 

5. กำหนดให้สมาชิกซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แต่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุด ให้มีสิทธิขอรับเงินสะสม เงินสมทบ  และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวตั้งแต่สิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

6. กำหนดให้ในกรณีที่สมาชิกซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงและมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ยังไม่ขอรับเงินคืนหรือแสดงความประสงค์ขอทยอยรับเงินคืน หรือในกรณีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับเงินยังไม่ได้ยื่นคำขอรับเงินดังกล่าว ให้กองทุนบริหารเงินที่ยังไม่รับเงินคืนต่อไปได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวเว้นแต่ทายาท มีสิทธิเลือกแผนการลงทุนที่กองทุนจัดไว้ได้แต่ถ้าผู้นั้น ขอโอนเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพ ให้กองทุนโอนเงิน ไปยังกองทุนดังกล่าวภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความประสงค์และได้ปรากฏหลักฐานถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

7. กำหนดให้เงินของกองทุนที่อยู่ในบัญชีเงินสำรองและบัญชีเงินกองกลางให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้กองทุนจัดให้มีแผนการลงทุนสำหรับเงินที่อยู่ในบัญชีเงินรายบุคคลเพื่อให้สมาชิกเลือกโดยอย่างน้อยต้องจัดให้มีแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า ร้อยละหกสิบด้วย ในกรณีที่สมาชิกไมได้ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุนให้ถือว่าสมาชิกยินยอมให้กองทุนจัดแผน             การลงทุนที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง ’นาหว่ะ จะอือ' คดีเอี่ยวยาเสพติดเหตุวิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’

Posted: 24 Apr 2018 10:53 AM PDT

ศาลยกฟ้อง 'นาหว่ะ จะอือ' คดีเอี่ยวยาเสพติดเหตุวิสามัญ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ระบุพยานหลักฐานของโจทย์สืบไม่ถึง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ขณะที่คู่คดี 'นาโถ แสขื่อ' รับสารภาพและมีการสืบประกอบคำรับสารภาพพบว่า มีความผิดตามฟ้องจริง ศาลสั่งจำคุก 25 ปี ปรับ 7.5 แสน

 

24 เม.ย.2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 16.00 น.  สุรชัย มงคลสิทธิคุณ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นนั่งบรรลังก์ ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 20 อ่านคำพิพากษาในคดี อ.3631/60 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นางนาแส หรือ นาโถ แสขื่อ จำเลยที่ 1 นางนาหว่ะ จะอือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องสะใภ้นายไมตรี จำเริญสุขสกุล และผู้ดูแลนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกทหารวิสามัญในคดียาเสพติด และ นางนวล คำป้าง จำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนและให้การช่วยเหลือนายชัยภูมิ ในการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันสนับสนุน หรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด และร่วมกันสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และ ประมวลกฎหมายอาญา

โดยศาลอ่านคำพิพากษา จำเลยที่ 1 นางนาแส ซึ่งให้การรับสารภาพและมีการสืบประกอบคำรับสารภาพพบว่า มีความผิดตามฟ้องจริง ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 25 ปี ปรับ 750,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 นางนาหว่ะ ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทย์สืบไม่ถึง จึงยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยที่ 3 นางนวล คำป้าง ที่ไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาได้ เนื่องจากป่วยเส้นเลือดในสมองแตก แพทย์ระบุว่าอยู่ระหว่างทำการรักษา ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.นี้ต่อหน้าจำเลย

สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่ต่อเนื่องจากการเสียชีวิตของนายชัยภูมิ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ใช้อาวุธปืนสงครามวิสามัญจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่านายชัยภูมิขัดขืนการจับกุมและจะใช้ระเบิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ขณะทำการตรวจค้นภายในรถยนต์พบยาบ้า 2,800 เม็ด ที่ซุกซ่อนไว้ในกรองอากาศรถยนต์เก๋งสีดำ ยี่ห้อฮอนด้า แจ๊ส ที่นายชัยภูมิขับไป และต่อมาในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 และ ปปส.ภาค 5 นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นและจับกุม นางนาแส และ นางนาหว่ะ ที่บ้านกองผักปิ้ง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว โดยระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่พบในรถของนายชัยภูมิ และจับกุมนางนวล จำเลยที่ 3 ได้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพนักงานอัยการดำเนินการฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่มาตามลำดับ
 
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า คดีดังกล่าว คำฟ้องระบุพฤติการณ์สำคัญว่า นางนวล จำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อยาบ้าจำนวนหนึ่งจากนางนาแส จำเลยที่ 1 โดยนางนาแสได้จัดหาและติดต่อให้นางนาหว่ะ จำเลยที่ 2 รับหน้าที่ขนย้าย ก่อนที่นางนาหว่ะซึ่งเป็นผู้ดูแลนายชัยภูมิ จะให้นายชัยภูมินำยาบ้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อ แต่ระหว่างลำเลียงยาเสพติดถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต ขณะที่นางนาแส จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่ายาบ้าที่พบภายในรถของนายชัยภูมิเป็นของตนเอง โดยมีนายชัยภูมิเป็นคนซื้อ และไม่รู้จักกับจำเลยที่ 2 ส่วน จำเลยที่ 2 ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่พบ และจำเลยที่ 3 รับว่าเคยซื้อยาบ้าจากจำเลยที่ 1 มาเพื่อเสพแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาบ้าของกลางที่พบ
 
นักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานด้วยว่า นางนาหว่ะ ถูกปล่อยตัว สร้างความดีใจให้กับญาติๆ เพื่อนๆ  และเธอจะกลับบัานกองผักปิ้งเพื่ออยู่พร้อมหน้าครอบครัวอีกครั้ง ในขณะที่หลายคนยังรอผลการพิพากษาของ น.ส.ฉันทนา ป่าแส  รวมถึงความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตรกรรมนายชัยภูมิ ซึ่งจะฟังคำพิพากษาการเสียชีวิตวันที่ 6 มิ.ย.นี้ หลังจากไต่สวนพยานมาหลายฝ่ายนานกว่า 1 ปี
 
เฟสบุ๊คแฟนเพจ ถึงเวลาก้าวออกมา เผยแพร่ภาพขณะที่นาทีที่ นางนาหว่ะถูกปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่และพบหน้าครอบครัว หลังจากที่เธอถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เป็นเวลา 329 วันที่นางนาหว่ะถูกคุมขัง
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปฏิบัติการเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง เพิ่มอุณหภูมิแล้งร้อนให้ประเทศไทย

Posted: 24 Apr 2018 10:29 AM PDT



บรรยากาศทางการเมืองของไทยในเดือนเมษายนนี้ยังคงร้อนระอุไม่ยิ่งหย่อนกับสภาพอากาศ กล่าวคือ ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ประชาชนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดการเลือกตั้งตามที่ได้สัญญาไว้ หรือกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินคดีถึง 106 คนแล้วในเวลานี้ แต่นอกจากวิธีการดังกล่าว คนอยากเลือกตั้งยังต้องประสบการคุกคามถึงบ้านหรือที่สื่อมักเรียกว่า "เยี่ยมบ้าน" ที่ คสช.มักนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ

หากย้อนดูการละเมิดสิทธิด้วยวิธีการไปคุกคามถึงบ้าน  จะเห็นว่าปฏิบัติการนี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา และยังดำรงอยู่จนกลายเป็นวิธีการหลักที่เจ้าหน้าที่ใช้คุกคามประชาชน ซึ่งเป็นกรณีหนึ่งที่ทำให้องค์การระหว่างประเทศและนานาชาติสากลต่างออกมาแสดงความกังวลต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย


(ภาพขณะเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปที่บ้านนักศึกษาในจังหวัดเชียงราย)

ท่าทีของรัฐบาลต่อข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ต่อการแถลงรายงานการปฏิบัติ ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ 200 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2560 โดยเนื้อหารายงานส่วนของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลปี 2559-2560 ระบุว่า

"ประเทศไทยยังมีการจำกัดเสรีภาพพลเมืองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่พบหลายปัญหา เช่น กรณี เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพทางสื่อออนไลน์" ซึ่งพล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า "เป็นเรื่องขององค์กรแต่ละประเทศที่จะคิดอย่างไร ซึ่งเราห้ามไม่ได้ แต่รัฐบาลยืนยันว่าสิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้ ทำตามข้อกฎหมาย" (อ่าน ที่นี่)

ในวันเดียวกัน พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา ที่ได้แถลงตำหนิรัฐบาลคสช. ในประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเชิญตัว "คนคิดต่าง" เข้าค่ายทหารนั้นว่า

"ปกติการเชิญตัวคนคิดต่างนั้น เราแค่เชิญไปพูดคุยทำความเข้าใจ" และพล.อ.ธารไชยยันต์ ยืนยันอีกว่า คสช.ไม่ได้ไปทำร้าย หรือใช้ความรุนแรงอะไรที่สำคัญหากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันจะพบว่าคสช.และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างในการเชิญมาพูดคุยอย่างนุ่มนวล เป็นการทำความเข้าใจเท่านั้น"(อ่าน ที่นี่)


รูปแบบการคุกคามคนอยากเลือกตั้ง   

"…. ตำรวจสันติบาลทั้ง 2 ท่าน (ไม่ขอเอ่ยชื่อนะครับ) มาคุยในลักษณะเป็นมิตร ซึ่งก็ถือว่าผ่อนคลายดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ความรู้สึกของประชาชนเวลามีเจ้าหน้าที่มาบ้านมันจะไม่ใช่แบบนั้น…"

ความรู้สึกจากหนึ่งในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตามไปพบที่บ้าน สะท้อนให้เห็นบรรยากาศการคุกคามคนอยากเลือกตั้งตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับคำแถลงของโฆษกรัฐบาล คนอยากเลือกตั้งคนดังกล่าวได้เล่าว่า เขารู้สึกกังวลต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้บัญญัติไว้ เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาในภาคกลางและภาคเหนือหลายจังหวัดซึ่งต้องถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปพบที่บ้าน อาทิ

วันที่ 12 เมษายน 2561 มีเจ้าหน้าที่สันติบาล จำนวน 2 นาย เดินทางไปที่บ้านของนายชินภัทร วงค์คม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา บอกกับเขาว่ามาพูดคุย "ปรับความเข้าใจ" ในเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมือง เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดการจัดการเลือกตั้งที่ชัดเจน และภายหลังนายชินภัทรยังได้รับทราบจากเพื่อนบ้านอีกว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจประมาณ 10 นาย เดินทางไปที่บ้านในจังหวัดพะเยาด้วย แต่ขณะนั้นไม่มีใครอยู่บ้าน จึงไม่ได้พบเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางมาอีก

ในเวลาต่อมา ตำรวจสันติบาลในจังหวัดพะเยา จำนวน 2 นาย เข้ามาที่บ้านของนายชินภัทรอีก เจ้าหน้าที่ระบุว่าได้รับคำสั่งให้มาเยี่ยมและมาพูดคุย "ปรับความเข้าใจ" โดยได้สอบถามเรื่องการทำกิจกรรมของนายชินภัทร และสอบถามถึงการทำกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ด้วย พร้อมกับบอกว่าสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ยังไม่ปกติ โดยขอให้อย่าให้ออกมาเคลื่อนไหว และได้บอกกับทางครอบครัวนายชินภัทรว่าให้ลูกตั้งใจเรียนก่อนจะดีกว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปของนายชินภัทรเอาไว้ และเดินทางกลับ

ที่เชียงใหม่ นอกจากมีการดำเนินคดีกับคนอยากเลือกตั้ง หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหมจำนวน 6 คน ไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเดินทางไปติดตามกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในหลายพื้นที่ เข้าพูดคุยกับพ่อแม่ของนักศึกษาและขอไม่ให้ลูกของพวกเขาออกมาทำกิจกรรมอีก

ที่นครสวรรค์ นายภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ หนึ่งในนักศึกษาที่ถูกคุกคามจากการไป "เยี่ยมบ้าน" ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เขาตัดสินใจเดินทางไปลงบันทึกประจำวัน ทั้งที่ศูนย์ดำรงธรรม และค่ายจิรประวัติ มณฑลทหารบกที่ 31 (มทบ.31)

ขณะที่ในกรุงเทพฯ พบว่า มีนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 คน ซึ่งทำกิจกรรมชูป้าย "ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)" โดยขีดกากบาทที่คำว่าลุงตู่ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปกล่าวปาฐกถาที่หอประชุมจุฬาฯ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปติดตามตัวทั้งที่บ้านและในมหาวิทยาลัย โดยเจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ และเข้าพูดคุยเรื่องการทำกิจกรรมกับครอบครัวของพวกเขา

ไม่เพียงแค่นักศึกษาเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังได้คุกคามอาจารย์บางคน และดำเนินคดีในบางกรณีโดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย.มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาเยี่ยมที่บ้าน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่าอาจารย์คนดังกล่าวไม่อยู่ จึงเข้าพบภรรยาของอาจารย์แทน

เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในเขต สภ.ลาดหลุมแก้ว ในวันที่ 18 เมษายน เมื่อนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่ของเธอ แจ้งว่าในช่วงสายของวัน มีตำรวจ 2 นาย เดินทางมาที่บ้านของเธอและกล่าวกับแม่ของเธอว่า "ผู้กำกับ สภ.ลาดหลุมแก้ว ให้พวกเรามาเยี่ยมยามถามไถ่ว่าน้องลูกเกดและครอบครัวสบายดีไหม ทำอะไรอยู่ พักที่ไหน"  โดยมีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดนอกเครื่องแบบ 2 นาย จอดรถไว้นอกหมู่บ้าน ก่อนจะเดินเท้าเข้ามาสวัสดีทักทายคนในบ้าน

แต่รูปแบบที่อุกอาจที่สุดที่เกิดขึ้นกับคนอยากเลือกตั้ง เกิดขึ้นในวันที่ 17 เมษายน เมื่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบควบคุมตัวนาย เอกชัย หงส์กังวาน และนาย โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ไปจากป้ายรถประจำทางย่านลาดพร้าวใกล้บ้านพักของนายเอกชัย ขณะที่เจ้าตัวกำลังเดินทางไปทำกิจกรรมรดน้ำดำหัวพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยจากคำบอกเล่าของทั้งสองพบว่า ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบหลายนาย พาตัวพวกเขาทั้ง 2 คน ไปควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจนครบาล 4 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า "นายสั่ง"

ต่อมานายโชคชัยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าเขาถูกบังคับคลุมหัวแล้วให้นั่งขดตัวอยู่ในรถตรงช่องวางระหว่างเบาะ เอาเข่ากดตัวและศีรษะแนบกับเบาะ ภายหลังปล่อยตำรวจปล่อยตัวพวกเขาโดยไม่มีแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าตัวประกาศฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการควบคุมตัวนอกกฎหมาย (อ่าน ที่นี่)

(กลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมที่หน้าร้านแมคโดนัลด์
ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561)

เรียกร้องเลือกตั้งโดยสันติเป็นไปได้แค่ไหน

เมื่อเดือนมีนาคม 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อประเทศไทย ที่แสดงถึงความกังวลในการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และเสนอแนะให้ไทยประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือจำกัดหรือห้ามการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเป็นการชุมนุมโดยสงบนั้น เนื่องจากปฏิบัติการนั้นขัดต่อข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี

ในกรณีนี้ หากเราพิจารณาจาก คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2557 จะเห็นได้ว่า กฎหมายนี้ได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจระบุขอบเขตของการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ได้อย่างกว้างขว้าง โดยปราศจากความรับผิด

ในทางหลักการแล้ว การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยตรงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 133 (3) มิใช่การมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ที่ขัดกับข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่อย่างใด การบังคับใช้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ดี ปฏิบัติการคุกคามถึงบ้านไปจนถึงการควบคุมตัว ทั้งหมดเป็นการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน และตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่สืบเนื่องจากการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง

ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ที่มา: United Nations Photo)

Roadmap ที่ไม่อยากได้ยินเสียงใคร

คำถามประการต่อมาคือ หากการเลือกตั้งเป็นหนึ่งใน Roadmap รัฐบาลแล้ว เหตุใดการคุกคามคนอยากเลือกตั้งจึงยังดำเนินต่อไป  นอกจากคำมั่นสัญญาจากนายกรัฐมนตรีแล้ว การเดินหน้าตามโรดแมฟของรัฐบาลยังปรากฏในกรณีอื่นด้วย เช่น "กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้วางแผน 6 เดือนหลัง เพื่อเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม  โปร่งใส เป็นที่ยอมรับอีกด้วย (อ่าน ที่นี่)

การคุกคามดังกล่าวอาจจะมาจากการให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อที่ 4 และข้อที่ 6 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจ ซึ่งในข้อ 4 ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามข้อ 3

(2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป

(3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ 3 ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(4) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามข้อ 3 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

และข้อ 6 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด ตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได

ดังนั้น การตั้งข้อหากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และปฏิบัติการคุกคามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วยการ "เยี่ยมบ้าน" ทำให้เห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  ซึ่งที่ผ่านมาประจักษ์แล้วว่าเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นฐานในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขึ้นมา จึงขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ตัวอย่างการใช้อำนาจตามข้อที่ 4 และข้อที่ 6 ตามที่แสดงให้เห็น ได้เปิดช่องให้มีการคุกคามประชาชนอย่างกว้างขวาง

ในแง่นี้แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 จะรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้หลายประการ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าหลายมาตรายังไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะมีการอ้างคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นแนวทางปฏิบัติกับประชาชน ทำให้เกิดสภาวะที่ไม่ชัดเจนในระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตามมา

เมื่อมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ยังมีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนชนิดที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประเด็นนี้ต่างหากที่ผู้มีอำนาจจะต้องตอบให้ได้ว่า เหตุใดการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากตัวอย่างของการเยี่ยมบ้านกลุ่มคนเลือกตั้ง จึงยังคงเกิดขึ้น ไม่เพียงแค่นานาชาติสากลเท่านั้นที่อยากรู้ หากแต่ประชาชนคนไทยที่รอคอยการใช้สิทธิเลือกตั้งก็ต้องการคำตอบเช่นเดียวกัน

สิ่งที่พอจะสรุปภาพการละเมิดสิทธิประชาชนที่เด่นชัดเจนที่สุด ต่อกรณีการปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง คงเป็นไปตามที่ประชาชนคนอยากเลือกตั้งคนหนึ่ง เล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาเยี่ยมที่บ้านของเธอ เธอได้สอบถามเจ้าหน้าที่ถึงเหตุที่มาพบเธอที่บ้าน ก่อนจะได้ความว่าเพราะเคยไปร้องเพลงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ทำให้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่มาพูดคุยทำความเข้าใจ และโน้มน้าวเธอ จนเมื่อเธอกลับอีกว่า "แล้วมีคำสั่งให้สันติบาลไปทำความเข้าใจคนเสื้อสีอื่นบ้างไหมคะ " เจ้าหน้าที่สันติบาลรายนั้น ส่ายหน้า ก่อนบอกว่า "ยังไม่มีนะครับ"

 

ที่มา: http://www.tlhr2014.com/th/?p=6958

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

SLAPP: ปฏิบัติการปิดปากคนด้วยกฎหมาย

Posted: 24 Apr 2018 10:01 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "SLAPP LAW : ปฏิบัติการปิดปากคนด้วยกฎหมาย"[1] ขึ้น โดยมีวิทยากรทั้งที่เป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ทนายความที่ทำงานด้านสิทธิชุมชน รวมถึงนักปกป้องสิทธิชุมชนซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาจากการปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชนเข้าร่วมการเสวนา ผู้เขียนเห็นว่าเนื้อหาของการเสวนามีประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวของสังคมไทย จึงขอสรุปสาระสำคัญของการเสวนามาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับฟังกันในที่นี้ด้วย 

"SLAPP" ย่อมาจากคำเต็มว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า "การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก" หรือ "การแกล้งฟ้อง"  คดีประเภทนี้จะแตกต่างจากคดีทั่ว ๆ ไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำ หรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น  โดยถ้อยคำข้างต้นพ้องกับคำว่า slap ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่า "ตบ" ทำให้เห็นได้ว่าการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ก็เหมือนเป็นการตบคนด้วยกฎหมายนั่นเอง

SLAPP มักเกิดขึ้นกับบุคคลหรือชุมชนที่ลุกขึ้นมาแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิหรือเสรีภาพบางอย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือประโยชน์สาธารณะ เพื่อลดทอนความสามารถหรือยับยั้งการเคลื่อนไหวหรือการแสดงความคิดเห็น โดยทั่วไปมักจะเป็นการกระทำของฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าเพื่อปิดปากฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า และข้อหาหลักที่มักจะถูกนำมาใช้ฟ้องคดีคือความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งเมื่อถูกฟ้องแล้วสิ่งที่ตามมาคือความยุ่งยากต่าง ๆ ที่จำเลยจะได้รับ เช่น การที่ต้องเสียเวลามาศาลจนกว่าคดีจะสิ้นสุด การต้องมีหลักประกันตัวในกรณีถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการต่อสู้คดีไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางหรือค่าทนายความ ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ ชื่อเสียงเกียรติยศ รวมถึงความวิตกกังวลที่ต้องตกเป็นจำเลย เป็นต้น

สำหรับการฟ้องคดีที่เป็น SLAPP ในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาเคยเกิดขึ้นหลายคดี ที่โด่งดังคือคดี North Dakota ซึ่งกรีนพีซ (Green Peace) ฟ้องว่าการดำเนินการจัดทำท่อส่งก๊าซของบริษัทเอกชนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายจำนวน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะคดีจริง ๆ จึงมีลักษณะเป็นการฟ้องปิดปากอย่างหนึ่ง  ส่วนในประเทศไทยนั้นก็มีตัวอย่างหลายกรณีเช่นกัน เช่น คดีที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่จังหวัดเลยฟ้องเยาวชนที่รายงานข่าวเกี่ยวกับมลพิษจากเหมืองแร่ผ่านรายการโทรทัศน์ รวมถึงฟ้องสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข่าวดังกล่าวด้วย หรือกรณีที่บริษัทผู้รับสัมปทานทำเหมืองหินที่เขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกลุ่มชาวบ้านที่ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐในข้อหาหมิ่นประมาททางแพ่ง โดยเรียกค่าเสียหายถึง 60 ล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยนั้นการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ไม่ได้จำกัดเฉพาะกรณีที่บริษัทหรือกลุ่มทุนฟ้องประชาชนนักปกป้องสิทธิหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้น แต่มีคดีจำนวนมากที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้แจ้งความและดำเนินคดีเสียเอง โดยใช้ความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทและการหมิ่นประมาททางแพ่ง รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 และกฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นในสถานการณ์พิเศษ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาใช้เพื่อเป็นการปิดปากการแสดงออกของภาคประชาชน ตัวอย่างเช่นการดำเนินคดีแก่กลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา จากกรณีการเดิน "เทใจให้เทพา" เพื่อยื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีขอให้ระงับโครงการดังกล่าว โดยถูกดำเนินคดีในหลายข้อหารวมทั้งตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ หรือการเดินมิตรภาพ We Walk ที่ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นต้น รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองอีกหลายกรณีที่ถูกดำเนินคดีตามกฎเกณฑ์ของ คสช.  ทั้งนี้ ยังไม่นับการนำกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในอีกหลายกรณีอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า การฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP นั้นคือการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของฝ่ายผู้ฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่าย ดังนั้น ในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันมิให้มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อปิดปากคน ด้วยการตรากฎหมายที่เรียกว่า Anti-SLAPP Act เช่นในหลายมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือตัวอย่างประเทศในกลุ่มอาเซียนคือกรณีของฟิลิปปินส์ซึ่งตรากฎหมายขึ้นในปี ค.ศ. 2010 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกิดความชัดเจนว่าคดีลักษณะใดถือเป็น SLAPP กำหนดห้ามให้ฟ้องคดีที่มีลักษณะดังกล่าวและให้อำนาจศาลที่จะไม่รับคำฟ้องเช่นนั้นไว้พิจารณาได้ 

ในส่วนของประเทศไทยนั้นก็มีข้อเสนอจากทางศาลยุติธรรมที่จะให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้ศาลมีอำนาจสั่งไม่รับคำฟ้องได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีที่มีลักษณะเป็นการแกล้งฟ้องหรือฟ้องไม่มีมูล ซึ่งหากเป็นผลสำเร็จก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเฉพาะในคดีอาญาเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้รู้เท่าทัน รวมถึงการทำหน้าที่กลั่นกรองคดีเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยฝ่ายที่ต้องการนำกระบวนการยุติธรรมมาปิดปากฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า.

 

_______________________
[1]เสวนา "SLAPP Law ปฏิบัติการปิดปากคนด้วยกฎหมาย " ประกอบด้วยวิทยากรดังนี้
อาจารย์เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
คุณ ส. รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมาย ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน(CRC)
คุณรุ่งเรือง ระหมันยะ นักปกป้องสิทธิชุมชน จากบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้มีประสบการณ์ในการเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาจากการปกป้องฐานทรัพยากร

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 เม.ย. 2561 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุผู้ใหญ่ไม่ปลื้มวิทยากร น.ศ. ม.พะเยาถูกแบนกิจกรรมเสวนา 'บทบาทนักศึกษากับการพัฒนาประเทศ'

Posted: 24 Apr 2018 09:44 AM PDT

รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ฯ ม.พะเยา เรียกพบกลุ่มนักศึกษาที่เตรียมจัดกิจกรรมรัฐศาสตร์เสวนาในหัวข้อ 'บทบาทของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาไทย ในการจัดการศึกษาสังคมและการพัฒนาประเทศ' ระบุได้รับสายตรงจาก 'ผู้ใหญ่' ไม่อยากให้กิจกรรมเสวนาที่จัดขึ้นมี 3 นักศึกษาในรายชื่อผู้ร่วมเสวนาที่มีการเผยแพร่ เข้าร่วมในกิจกรรม ก่อนสรุปไม่ให้จัดกิจกรรมเสวนาเลย

24 เม.ย.2561 ผู้สื่ข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 เม.ย.61) ยามารุดดิน ทรงศิริ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง หนึ่งในวิทยากรที่จะพูดในเสวนาหัวข้อ "บทบาทของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาไทย ในการจัดการศึกษาสังคมและการพัฒนาประเทศ" โพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า คณะผู้จัดเสวนารัฐศาสตร์วิชาการ ได้โทรหาตนในฐานะหนึ่งในวิทยาการในการเสวนาว่า ทหารได้ทำการติดต่อมายังทางคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และให้ขอให้ทางคณะและผู้จัดโครงการเปลี่ยนตัววิทยากรที่จะมาพูดในวันที่ 27 เม.ย.นี้ ทั้ง 3 คน

สำหรับเสวนาดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า จัดโดยกลุ่มนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยวิทยากรนอกจาก ยามารุดดิน แล้ว ยังมี อภิบาล สมหวัง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน)  นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เผยแพร่เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานผ่าน ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ "องค์การนิสิตรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา"  แต่ภายหลังได้มีการลบภาพที่เผยแพร่นั้นออกไป

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมอีกว่า ชินภัทร หนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้  เปิดเผยว่า เวลาประมาณ 15.00 น.ตนเองและเพื่อนนักศึกษาในสาขารัฐศาสตร์ที่ร่วมจัดกิจกรรมเสวนาดังกล่าว ได้รับการติดต่อจากรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมเสวนาที่จะจัดขึ้น เมื่อนายชินภัทรไปถึงยังห้องประชุมสาขารัฐศาสตร์ ของคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ พบว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นกลุ่มเพื่อนนักศึกษาที่ร่วมจัดกิจกรรมเสวนาประมาณ 10 คน, อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์จำนวน 4 คน, นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา และรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้นัดหมายการประชุมครั้งนี้

โดยในการประชุมมีการชี้แจงว่า รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น ได้รับสายตรงจาก "ผู้ใหญ่" ระบุว่า ไม่อยากให้กิจกรรมเสวนาที่จัดขึ้นเชิญนักศึกษาที่มีรายชื่อในการประชาสัมพันธ์ทั้ง 3 คน มาเข้าร่วมในกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ จึงจัดการประชุมขึ้นเพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ได้ปรึกษาหาทางออกเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจกรรมเสวนา เมื่อได้ปรึกษากันแล้วทางกลุ่มนักศึกษาจึงได้ข้อสรุปว่า จะไม่เชิญนักศึกษาที่มีรายชื่อทั้ง 3 คน มาร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรมเสวนา แต่จะชักชวนมาในฐานะผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาเท่านั้นได้หรือไม่ ด้านรองคณบดีไม่รับข้อเสนอดังกล่าว ระบุ นักศึกษาที่มีรายชื่อทั้ง 3 คน ต้องไม่มีส่วนในกิจกรรมใดๆ ของมหาวิทยาลัยพะเยาเลย

ทางกลุ่มนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมเสวนาจึงได้ใช้เวลาปรึกษากันอีกครั้ง ก่อนจะยื่นข้อเสนอว่าจะยังคงจัดกิจกรรมเสวนาขึ้นและจะใช้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นวิทยากรร่วมเสวนาบนเวที แต่ทางรองคณบดีแจ้งว่าหากนักศึกษาคนใดจะขึ้นเป็นวิทยากรในกิจกรรมเสวนาดังกล่าว ต้องมีการส่งรายชื่อให้กับทางมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ทหารตรวจสอบ เพื่อขออนุญาตก่อน ทางกลุ่มนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมจึงใช้เวลาในการปรึกษากันอีกครั้ง โดยรองคณบดี ระบุว่า "ผู้ใหญ่" ต้องการคำตอบเกี่ยวกับกิจกรรมเสวนาดังกล่าว ภายในเวลา 20.00 น. ของวันนี้ จึงให้นักศึกษาปรึกษากันอย่างเร่งด่วน ซึ่งต่อมาในตอนท้ายของการประชุมรองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ก็ได้ระบุว่า ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมเสวนาเกิดขึ้นเลย ให้กลุ่มนักศึกษาทำการคิดกิจกรรมอื่นๆเข้ามาแทนที่ ก่อนจะทำการปิดประชุมในเวลาประมาณ 18.00 น.

ชินภัทรยังได้ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมเสวนาก็ได้ถูกนายกองค์การนักศึกษา ขอให้เปลี่ยนชื่อกิจกรรมเสวนา จาก "บทบาทนักศึกษากับการเมืองไทย" มาเป็น "บทบาทของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาไทย ในการจัดการศึกษา สังคมและการพัฒนาประเทศ" แล้วครั้งหนึ่งด้วย

สำหรับ ชินภัทร นั้น เขาหนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ เคยถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลบุกเยี่ยมบ้าน ด้วยเหตุว่า ชินภัทร เคยได้ขึ้นเวทีคนอยากเลือกตั้งตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และนักศึกษาอีก 2 ราย ที่มีรายชื่อเป็นผู้เข้าร่วมในกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ เป็นนักศึกษาที่เคยออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมคนอยากเลือกตั้ง  และการวิพากษ์วิจารณ์สังคมจนเป็นที่รู้จักอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องราวการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าเพื่อการยอมรับ LGBTI ในฟิลิปฟินส์

Posted: 24 Apr 2018 08:30 AM PDT

แม้ฟิลิปปินส์ถูกมองเป็นประเทศที่ 'เป็นมิตร' กับผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จริง แต่ก็มีปัญหาการข่มเหงรังแก กีดกัน-เลือกปฏิบัติอยู่ในระดับสังคมทั่วไป แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้างความเข้าใจทั้งกับภาครัฐ และจัดประชุมพูดคุยเรื่องนี้กับ LGBTI ตั้งแต่ระดับรากหญ้า เพื่อสร้าง 'พื้นที่ปลอดภัย' และหาวิธีปรับปรุงสิทธิด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น

<--break- />

กลุ่มนักรณรงค์เพื่อความหลากหลายทงเพศรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์พลังประชาชนที่เมืองเกซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อสนับสนุนการผ่านกฎหมายการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศเมื่อเดือน มี.ค. 2560 (ที่มา: wikipedia)

4 เม.ย. 2561 สื่อวิทยุสาธารณะระหว่างประเทศหรือ 'พีอาร์ไอ' นำเสนอเรื่องของการเรียกร้องเพื่อการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ระดับรากหญ้าโดยเฉพาะในเมืองเกซอนซึ่งในที่นี้รวมถึง I หรือคนเพศกำกวมด้วย

การเคลื่อนไหวของชุมชน LGBTI ในฟิลิปปินส์เริ่มตั้งแต่การให้การศึกษาทำความเข้าใจระดับหมู่บ้าน โดยเล่าถึงนักกิจกรรม กิง คริสโตบัล ผู้จัดกระบวนการให้ความรู้ในห้องประชุมหมู่บ้านที่มีคนอยู่ 50 คน เธอเริ่มถามคนในห้องว่ามีใครที่ตอนเกิดมา "เป็นชาย" แต่นิยามตัวเองว่าเป็นหญิงบ้าง มีหญิงข้ามเพศในห้องยกมือพร้อมกับเสียงปรบมือ

ถึงแม้ว่าความคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศจะไม่ได้เข้าใจง่ายๆ สำหรับผู้เริ่มต้น บางครั้งก็มีการใช้คำใหม่ๆ อย่าง "คนข้ามเพศ" (Transgender) และ "ผู้มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด" (cisgender) แต่คริสโตบัลก็พยายามอธิบายเรื่องต่างๆ ด้วยภาษาตากาล็อกผสมปนเปกับภาษาอังกฤษแบบที่เรียกว่า "ตากลิช" (Taglish) และให้เหตุผลตามความรู้พื้นฐานเป็นส่วนๆ ในการอธิบายทั้งเรื่อง ความรักชอบทางเพศ, อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ

คริสโตบัลทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการของเอาท์ไรท์อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เธอกำลังพยายามทำงานสร้างเครือข่ายที่เป็นมิตรต่อ LGBTI โดยเริ่มจากระดับพื้นฐานที่สุดคือระดับรากหญ้าของหมู่บ้าน เมืองที่ส่งผลลัพธ์มากที่สุดคือเมืองเกซอนที่มีการออกข้อบัญญัติขององค์การส่วนท้องถิ่นว่าด้วยความเป็นธรรมทางเพศ (Gender-Fair Ordinance) ถึงแม้ว่าในอีก 15 เมืองจะมีข้อบัญญัติต่อต้านการกีดกันทางเพศคล้ายๆ กันออกมาแต่ก็ไม่มีที่ใดทำได้อย่างทรงพลังเท่าของเกซอน

คริสโตบัลลงไปทำการประชุมเชิงปฏิบัติการกับ 142 หมู่บ้านในเกซอนรวมถึงให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ระดับหมู่บ้านในเรื่องที่ว่ามีการกีดกัน-เลือกปฏิบัติและความรุนแรงเกิดขึ่นกับกลุ่ม LGBTI อย่างไรบ้าง รวมถึงพยายามเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อช่วยเหลือ LGBTI เช่นการวางฮอตไลน์สายด่วนให้คำปรึกษา

หนึ่งในนักการเมืองที่แสดงการสนับสนุนสิทธิของ LGBTI หลังเข้าร่วมการอบรมคือ จอย เบลมอนต์ รองนายกเทศมนตรีของเกซอน เขาเริ่มติดสติ๊กเกอร์สีรุ้งที่กระจกสถานที่ประชุมหมู่บ้านเพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือพื้นที่ที่เป็นมิตรกับ LGBTI เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมก็เตรียมพร้อมจะช่วยเหลือด้วยความตระหนักรู้และเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เบลมอนต์บอกว่าสำหรับเขาแล้วเขามองสิทธิ LGBTI ในมุมมองของสิทธิมนุษยชนเสมอ เขายังติดสติ๊กเกอร์ธงสีรุ้งตามรถจักรยานยนต์สามล้อซึ่งเป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมในฟิลิปปินส์ด้วย ที่เขาเอาสติ๊กเกอร์นี้ติดรถเพื่อสื่อว่าชาว LGBTI สามารถเข้าไปที่หอประชุมของหมู่บ้านได้เสมอถ้าหากต้องการความช่วยเหลือ

จริงอยู่ว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ถูกมองว่า "เป็นมิตร" กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น มีบาร์เกย์ มีการประกวดความงามผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีพรรคการเมืองที่เน้นชูเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศโดยเฉพาะ และมีหญิงข้ามเพศคนแรกในสภาเมื่อปีที่แล้ว แต่ในแง่สังคมทั่วไปยังมีคนยอมรับ LGBTI อยู่น้อย จากงานวิจัยของกลุ่มเรนโบว์ไรท์ฟิลิปปินส์พบว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศยังรู้สึกว่าถูกเมินทำให้ไม่เห็นตัวตนและถูกลดทอนคุณค่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเหยียดและการตีตราผู้คนในหลายอาณาบริเวณของชีวิตไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว, สถาบันศาสนา และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

ชาร์มิลา ปาร์มานันด์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านเพศสภาพศึกษาชาวฟิลิปปินส์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่าถึงแม้จะมีตัวแทนของ LGBTI อยู่แต่ในระดับสังคมทั่วไปก็ยังคงมีความรุนแรงต่อ LGBTI อยู่ ไม่ว่าจะจากการข่มเหงรังแก การกีดกัน-เลือกปฏิบัติจากเพื่อนและครูในประเทศที่มีโรงเรียนศาสนาจำนวนมาก ถึงแม้ว่าในฟิลิปปินส์จะไม่มีกฎหมายห้ามการรักเพศเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เกิดการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของตัวตน รสนิยม และการแสดงออกทางเพศ ในระดับประเทศ

มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ข่มเหงรังแกคนมีความหลากหลายทางเพศมักจะเป็นสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ชาย เช่น พี่ชายหรือลุง ในสถาบันศาสนาก็ยังคงมีการอ้างว่าสามารถ "รักษา" ให้คนเลิกเป็น LGBTI ได้หรือมีพิธีกรรมที่อ้างว่า "บำบัดรักษา" ในแบบเดียวกัน ส่วนเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายก็จ้องจะลงโทษชาว LGBTI

จากการศึกษาเรื่อง LGBTI ขององค์กรเอาท์ไรท์ในประเทศ ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ปากีสถาน และศรีลังกา พบว่าชาว LGBTI ยังต้องเผชิญกับความรุนแรงและการถูกกีดกันในทุกส่วนของชีวิตประจำวัน เผชิญความรุนแรงระดับสูงจากครอบครัว และมีการกีดกัน-เลือกปฏิบัติจากระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และภาคส่วนแรงงาน ในวงกว้าง การที่จะร้องทุกข์ในเรื่องนี้ก็ยากเพราะคนของภาครัฐขาดความเข้าใจและขาดการยอมรับ LGBTI

แจ็ซ ทามาโย จากองค์กรเรนโบว์ไรท์กล่าวว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้คนขาดความเข้าใจคือเรื่องช่องว่างทางภาษา จากการที่นโยบายหลายอย่างมักจะเขียนโดยใช้ภาษาอังกฤษซึ่งไม่ได้แปลออกมาเป็นภาษาฟิลิปปินส์อย่างครบถ้วน

ในภาษาฟิลิปปินส์นั้นคำเรียกบุคคลที่สามรวมถึงคำเรียกลูกๆ สามีและภรรยาก็เป็นคำเดียวกันโดยไม่แบ่งเพศ ซึ่งถือเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของภาษาฟิลิปปินส์ที่มีความเป็นกลางทางเพศ ทามาโยบอกว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอาจจะคิดจินตนาการถึงสังคมที่ไม่มีการแบ่งเพศอีกต่อไปแล้วก็ได้

แต่ก็มีคนมองต่างในเรื่องนี้คือ ตุตติง เฮอร์นันเดซ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และผู้ก่อตั้งองค์กรบาเบย์ลัน องค์กรเกย์แห่งแรกๆ ของฟิลิปปินส์ เฮอร์นันเดซบอกว่าเรื่องช่องว่างทางภาษาไม่ได้เป็นปัญหามากขนาดนั้น เพราะเอาเข้าจริงแล้วภาษาก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงในสังคม เช่นคำว่า "บากลา" ที่หมายถึง "เกย์" ในภาษาฟิลิปปินส์เคยเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบมาก่อนแต่ในปัจจุบันชาว LGBTI สามารถผลักดันต่อต้านการสร้างภาพเหมารวมแบบเก่าๆ จนสามารถปรับนิยามคำว่า "บากลา" ในแบบใหม่ได้ จนในบางชุมชนกลายเป็นคำทักทายสำหรับคนรู้กัน

อย่างไรก็ตามเฮอร์นันเดซบอกว่าถึงแม้  "บากลา" จะกลายเป็นกระแสหลักก็ควรจะมีการสร้างการยอมรับคำจากภาษาถิ่นอื่นๆ ด้วย เช่น "บายอต" ที่ทั้งหมายถึงเกย์ทั้งหมายถึงผู้ชายที่มีความเป็นหญิง ยังมีอยู่หลายคำที่ยังคงถูกใช้เป็นการเยาะเย้ยหรือเหยียดหยาม

อีกปัญหาหนึ่งที่ทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้เรียกร้องสิทธิด้านเพศสภาพเห็นตรงกันคือประธานาธิบดีรอดริโก ดูเตอร์เต ใช้โวหารที่เป็นพิษเป็นภัยสร้างความเสียหายต่อผู้หญิงและชุมชนชาว LGBTI เช่นใช้คำว่า "บากลา" ในเชิงเหยียดหยามนักวิจารณ์ชายที่วิจารณ์เขา ขณะเดียวกันดูเตอร์เตก็แสดงออกภาพลักษณ์ในแบบพวกผู้ชายมาโชแบบเก่าๆ ที่ทำเหมือนว่าตัวเองควรจะได้มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนไหนก็ได้ รวมถึงเคยพูดถึงการข่มขืนหมู่เหมือนเป็นเรื่องตลก เคยพูดพาดพิงถึงเรือนร่าง (ขา) ของนักการเมืองหญิงเลนี โรเบรโด โดยต่อมาอ้างว่าเป็น "การชม"

นาโอมิ ฟอนทานอส ผู้อำนวยการบริหารของ GANDA องค์กรเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและการยอมรับหญิงข้ามเพศบอกว่าดูเตอร์เตเป็นตัวแทนของ "ความเป็นชายที่เป็นพิษ, ความเกลียดเพศหญิง และการเหยียดเพศ ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวคนเดียวกัน" ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นักวิจัยอย่างปาร์มานันด์กังว่าจะสร้างความเสี่ยงต่อกระบวนการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี

หนึ่งในกรณีความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพคือกรณีของ แอมเบอร์ ควีบัน หญิงข้ามเพศอายุ 22 ปี เธอแต่งตัวและใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงตอนอยู่มหาวิทยาลัยโดยไม่ให้ครอบครัวรู้ แต่เพื่อนร่วมงานของพ่อก็นำรูปของเธอที่แต่งตัวเป็นหญิงให้พ่อเธอดูจนทำให้ครอบครัวเธอรับรู้เรื่องนี้ แม่ของเธอตบเธอและพี่ชายเธอก็ทุบตีเธอเมื่อรู้ว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ ควีบันบอกว่าการที่ครอบครัวไม่ยอมรับเธอทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดมากเพราะครอบครัวควรจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ยอมรับเพศสภาพเธอได้ เมื่อใดก็ตามที่ครอบครัวเธอยอมรับเธอจะให้อภัยพวกเขา

ควีบัน เป็นหนึ่งในคนที่ร่วมเดินขบวนเรียกร้องกฎหมายคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่อยากสร้างประเทศที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนและมีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง

ในแง่ของกฎหมายระดับประเทศ มีการเรียกร้องกฎหมายห้ามการกีดกัน-เลือกปฏิบัติหรือการใช้ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพและเพศวิถี รวมถึงห้ามไม่ให้ภาครัฐจำกัดการเข้าถึงบริการต่างๆ อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังคงเป็นร่างกฎหมายที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแม้ว่าจะมีการเสนอมาเป็นเวลา 17 ปีแล้ว โดยเพิ่งจะมีการนำเข้าที่ประชุมพิจารณาเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

คริสโตบัลบอกว่าในฟิลิปปินส์ยังไม่ถึงขั้นยอมรับตัวตนของขาว LGBTI มีแต่การแค่ "ยอมอดกลั้นให้มีอยู่" กรณีความรุนแรงหรือการเหยียดที่เกิดขึ้นกับชาว LGBTI ก็สุดโต่งแบบไม่มีพื้นที่กึ่งกลาง นั่นทำให้พวกเขาพยายามสร้างพื้นที่กึ่งกลางและเน้นทำให้เกิดการยอมรับในตัวตนของชาว LGBTI มากขึ้น จากเดิมที่มีการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" สำหรับชาว LGBTI ในระดับท้องถิ่นอยู่แล้ว เช่น บางโรงเรียนและสถานราชการบางแห่งมีการสร้างห้องน้ำที่เป็นกลางทางเพศ ในภาคบรรษัทเอกชนข้ามชาติและบริการคอลเซนเตอร์ก็มีการจัดอบรมเรื่องความหลากหลายทางเพศเพื่อเป็นแนวทางนโยบายในที่ทำงาน

ในส่วนราชการของฟิลิปปินส์อาจจะมีความล่าช้าจากระบบแบบราชการไปบ้างแต่ก็เล็งเห็นประเด็นนี้จึงออกนโยบายให้มีการใช้ภาษาแบบไม่เหยียดเพศ ทางกระทรวงศึกษาธิการก็มีการออกนโยบายตวามเป็นธรรมทางเพศเพื่อต่อต้านการข่มเหงรังแกวัยรุ่น LGBTI

เรียบเรียงจาก

Grassroots efforts help forge new paths of LGBTI acceptance in the Philippines, PRI, Apr. 20, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม. ตั้ง 7 กก.ทรงคุณวุฒิใน กก.เตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

Posted: 24 Apr 2018 05:55 AM PDT

ครม.อนุมัติแต่งตั้ง 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 'ปณิธาน' นั่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ 

24 เม.ย.2561  เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จำนวน 7 คน ดังนี้

1. ภูมิ ภูมิรัตน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษา ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ 2. กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยี  สารสนเทศและการสื่อสาร 3. ไพบูลย์  อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านนิติศาสตร์ 4. พ.ต.อ.ญาณพล   ยั่งยืน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการป้องกันและ ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี   สารสนเทศและการสื่อสาร

5. พล.อ.บรรเจิด  เทียนทองดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านโทรคมนาคม หรือดาวเทียม 6. มรกต  กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ 7. รศ.ปณิธาน วัฒนายากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2561 เป็นต้นไป

 

สำหรับ คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ตามมติ ครม. อนุมัติระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ไปเมื่อ 19 ก.ย. 2560 มีรายละเอียด 9 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

1. กำหนดบทนิยามคำว่า "ไซเบอร์" "ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" "หน่วยงานของรัฐ"  "หน่วยงานเอกชน" และ "คณะกรรมการ"

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และรองประธานคนที่สอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้รองปลัดกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

3. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ เช่น จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วย การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติตามแนวทางในหมวด 2 ของร่างระเบียบฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินการประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการระดับชาติหรือคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และเตรียมการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

4. กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการ มีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ และปฏิบัติงานอื่น ตามที่คณะกรรมการหรือประธานกรรมการมอบหมาย

5. กำหนดนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การบูรณาการและการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ การพัฒนาและการสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยการจัดทำแผนแม่บทด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติขึ้น การปกป้องด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructures) ของประเทศ เป็นต้น

6. กำหนดในวาระแรกให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructures) ของประเทศ และวางกรอบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนโดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย หน่วยงานประสานงานกลาง หน่วยงานเผชิญเหตุฉุกเฉิน และกรอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Framework) ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามหลักการบริหารความเสี่ยง

7. กำหนดค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่คณะกรรมการแต่งตั้ง หรือบุคคลใดซึ่งมาช่วยปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างอื่นให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับค่าตอบแทนของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และบุคคลดังกล่าวให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

8. กำหนดให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังสนับสนุนงบประมาณและเงินอื่นใดในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ และสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

9. กำหนดให้ระเบียบนี้เป็นอันยกเลิก เมื่อกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีผลใช้บังคับแล้ว  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มท.1 ยันโยกย้าย 12 ผู้ว่าฯ-ข้าราชการระดับสูง เพื่อปรับให้ลงฝาลงตัว

Posted: 24 Apr 2018 05:25 AM PDT

พล.อ.อนุพงษ์ ระบุโยกย้ายข้าราชการระดับสูง และผู้ว่าราชการจังหวัด กลางปี 12 ตำแหน่ง เป็นการปรับให้ลงฝาลงตัว และเพื่อความเหมาะสมในพื้นที่ ปัดเอี่ยวบ้านพักศาล

24 เม.ย.2561 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง และผู้ว่าราชการจังหวัด กลางปี จำนวน 12 ตำแหน่ง ว่า ได้ย้ำปลัดกระทรวงมหาดไทยปรับให้ลงฝาลงตัว และเพื่อความเหมาะสมในพื้นที่

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ หรือปัญหามลพิษทางอากาศ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าได้รับรายงานข้อมูลกรณีมีผู้ว่าราชการจังหวัด ทำงานดูแลความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่เต็มที่ ซึ่งตนก็แค่รับฟังเท่านั้น ไม่ได้นำมาพิจารณาในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้

สำหรับมติ ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 12 ราย ดังนี้

1. ให้นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูงสำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวง

2. ให้นายปวิณ ชำนิประศาสน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

3. ให้นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดเชียงราย สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดพะเยา สำนักงานปลัดกระทรวง

4. ให้นายประจญ ปรัชญ์สกุล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง)จังหวัดพะเยา สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง)จังหวัดเชียงราย สำนักงานปลัดกระทรวง

5. ให้นายณรงค์ พลละเอียด พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดชุมพร สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

6.ให้นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

7. ให้นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดชุมพร สำนักงานปลัดกระทรวง

8. ให้นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานปลัดกระทรวง

9. ให้นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวง

10. ให้นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง)จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง

11. ให้นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวง

12. ให้นายสิริรัฐ ชุมอุปการ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. มีมติตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายงานสิทธิมนุษยชนประจำปีของรัฐบาลสหรัฐฯ

Posted: 24 Apr 2018 05:02 AM PDT

ที่ประชุม กสม. ตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวังการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย ตรวจสอบกรณีกระทรวงการต่างสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน

24 เม.ย. 2561  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) แจ้งว่า วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุม กสม. ด้านบริหาร ครั้งที่ 14/2561 ในวันนี้ ได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวังการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยมีเลขาธิการ กสม. เป็นประธาน เพื่อดำเนินการตรวจสอบกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. 2017 ว่า มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมอย่างไรหรือไม่

วัส กล่าวว่า การดำเนินการข้างต้นเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 247 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) ประกอบมาตรา 44 บัญญัติว่า เมื่อความปรากฏต่อ กสม. ไม่ว่าโดยทางใดว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม กสม.ต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นโดยไม่ชักช้า ซึ่งเมื่อ กสม. ดำเนินการแล้วเสร็จจะได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปพร้อมทั้งจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศประจำปีเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย

"มาตรา 215 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรององค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นซึ่งรวมถึง กสม. มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยที่การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ ดังนั้นเมื่อต้องปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.กสม. บัญญัติไว้นั้น กสม. ย่อมต้องชี้แจงหรือรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องซึ่งเป็นอยู่หรือเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย มิได้เป็นการปกป้องหน่วยงานหรือองค์กรใด หรือเป็นกระบอกเสียงหรือกลไกประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาล รวมทั้งมิได้ขาดความเป็นอิสระหรือสูญเสียความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด"  ประธาน กสม. กล่าว 

วัส กล่าวด้วยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กสม. ได้มีมติเห็นชอบออกคำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 1/2561 กรณีการรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประกอบด้วย 1.รายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ครั้งที่ 28 ประจำปี ค.ศ. 2018 และ 2.รายงานโซ่ที่ซ่อนไว้ ซึ่ง กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยบางส่วนซึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม รวม 7 ประเด็น (รายละเอียดดูได้ที่ https://bit.ly/2HnDcZL) คำชี้แจงฉบับนี้นับเป็นผลการดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.กสม. บัญญัติไว้เป็นกรณีแรก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิทรรศการการเมือง ธรรมศาสตร์ โชว์แนวคิดรัฐโหยหาอดีต เผยมี จนท.รัฐเข้าตรวจสอบ

Posted: 24 Apr 2018 02:57 AM PDT

กลุ่มนิทรรศการการเมือง ธรรมศาสตร์ เผยแนวคิดนิทรรศการปีนี้ เน้นกระแสการโหยหาอดีตของรัฐ ในวันที่สังคมถามหาอนาคตใหม่ เผยถูกจนท.ตรวจสอบ แต่ยังคงจัดกิจกรรมได้ตามปกติ

24 เม.ย.256 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 23 เม.ย. เวลา 16.30 น. ที่ผ่านมา กลุ่มนิทรรศการการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการการเมือง ประจำปี 2561 ในหัวข้อ 'Back to the Future' ณ โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ โดยมีตัวแทนอาจารย์ฝ่ายกิจการนักศึกษา ร่วมกล่าวเปิดนิทรรศการ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสนใจต่อประเด็นทางการเมืองและสังคมของนักศึกษาผ่านการจัดนิทรรศการดังกล่าว

ธรรมธวัช ธีระศิลป์ นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 หนึ่งในคณะกรรมการจัดนิทรรศการการเมือง กล่าวถึงแนวคิดของนิทรรศการการเมืองในปีนี้ว่า เน้นการอธิบายถึงกระแสการโหยหาอดีตที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในสังคมไทย ผ่านการปลุกกระแสอดีตโดยการจัดมหกรรมหรือโฆษณาทางวัฒนธรรมต่างๆ โดยรัฐบาล ทั้งการรณรงค์แต่งชุดไทย งานฤดูหนาวที่เคยมีการจัดขึ้นในอดีต ละครหรือเพลงกับความเป็นไทย เป็นต้น

ธรรมธวัช ยังกล่าวต่อว่า การนำเสนอประเด็นทางการเมืองผ่านการปลุกกระแสอดีตนี้เองเพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่า ปรากฏการณ์การปลุกกระแสหวนคืนสู่อดีตโดยรัฐเป็นลักษณะของกระแสตีกลับกับความเป็นจริง เนื่องจากสังคมนั้นต้องมีการพัฒนาต่อไปข้างหน้า แต่ในทางกลับกัน การหวนคืนกลับสู่อดีตกลับเป็นสิ่งที่รัฐเล็งเห็นว่าดีกว่า ท่ามกลางกระแสการเมืองที่กล่าวถึงอนาคตใหม่

เกี่ยวกับสถานการณ์การจัดกิจกรรมนี้เอง ธรรมธวัช ยังเปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงได้เข้ามาตรวจสอบและได้ทำการพูดคุยกันเกี่ยวกับรายละเอียดงานไปแล้ว โดยการพูดคุยเจรจาเป็นไปโดยดี ยังคงจัดกิจกรรมต่อไปได้อย่างปกติ

ทั้งนี้ นอกเหนือจากนิทรรศการการเมืองแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาตลอด 3 วันของการจัดกิจกรรม คือวันที่ 23 – 24 เม.ย.นี้ จัด ณ ห้อง 203 อาคาร บร.1 และวันพุธที่ 25 เม.ย.61ณ ห้อง sc1002 อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ผู้ยื่นฎีกาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

Posted: 24 Apr 2018 02:13 AM PDT

 

ในกล้องโพลารอยด์
ชัตเตอร์สวมชุดครุยผ้ากันเปื้อนสีดำ
เด็กหญิงถูกฉีดยาสลบ
แม่ของเธอได้ตัดหัวเธอ
ด้วยเลื่อยไฟฟ้า
ตุ๊กตาใต้เตียงร้องครวญคราง
ด้วยความเจ็บปวด
งาของเธอถูกประดับไว้ในรูปถ่าย
กรอบไม้พะยูงไว้ในฝาผนังบ้าน
เสาโรมัน

ในนิทานแดนเนรมิตสีเทา
เด็กชายปีนป่ายหน้าผา
รอคอยมรสุมลมทะเล
เด็กชายฮุบเหยื่อติดเบ็ดของพ่อ
ถูกชำแหละเครื่องในดับกลิ่นคาว
สกัดเป็นน้ำมันตับปลา

ในคลื่นสมองแคลคูลัส
จินตคณิตไร้รูปทรง
วงเวียนที่ไม่สามารถออกจากวงกลม
ที่เขียนขึ้นเอง
เหตุผลโง่งมโสกราติส
ขโมยนิทานเรื่องหนึ่ง
ก่อนดื่มยาพิษให้ตัวเอง

ในความยุติธรรม
ศาลพระภูมิโดนรุกล้ำ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกโบยตี
นางไม้โดนโซ่ตรวน
รุกขเทวดากลายเป็นคนเร่ร่อน
ผู้พิพากษาปลูกภูเขาบนบัลลังก์
ยื่นฎีกาความถูกต้องให้ตัวเอง
บนโพนจอมปลวก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ฉอเลาะ!

Posted: 24 Apr 2018 02:07 AM PDT


ฟังคำพูดของท่านตัวแทนศาล
เสียงนุ่มหวานทำหน้าฉอเลาะ
กลั้วยิ้มพิมพ์ใจวัยเอ๊าะ
จึงอยากจะหัวเราะให้ขาดใจ

"ขออยู่ไปสักสิบปีได้ไหมจ๊ะ
สัญญาจะฟื้นฟูป่าคืนจนได้
ถ้าไม่คืนไม่เป็นป่าก็จะไป
ถ้าไม่ให้จะเสียใจใครว่าความ..."

"บ้านศาลแต่ละคนอยู่ไกลนะ
แล้วท่านจะมายังไงอยากจะถาม
ทุกท่านต้องทำงานมาว่าความ
วอนถามใจท่านดูจะเข้าใจ..."

อนาถใจเศร้าเหงาและขำกับเรื่องนี้
สถาบันผีหมดศรัทธาประเทศไทย
เราจะหาทางออกกันอย่างไร
หรือจะปล่อยไว้ให้ผ่านไป ช่างหัวมัน.


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อพยานตกเป็นเหยื่อ: ระดมเงินเก้าแสนประกัน"แหวน" พยานคดี 6 ศพ วัดปทุม

Posted: 24 Apr 2018 01:39 AM PDT

คุยกับ วิญญัติ ชาติมนตรี เรื่องของ "แหวน" พยานปากสำคัญคดีสังหารหมู่ 6 ศพ วัดปทุม เมื่อเธอต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรง เธอถูกจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เธอติดคุกนานกว่า 3 ปี โดยคดีแทบไม่คืบหน้า ไม่มีญาติ ไม่มีเงินประกันตัว และดูเหมือนว่าเธอจะถูกลืม

วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.)[1] ทนายความของ"แหวน" ณัฎฐธิดา มีวังปลา เผยว่าได้มีการเตรียมการยื่นขอประกันตัว แหวนอีกครั้ง โดยคาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลทหารหลังสืบ พลโทวิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมาย คสช. พยานโจทก์ปากแรก ซึ่งถือว่าเป็นปากสำคัญแล้วเสร็จ แต่ยังมีปัญหาเรื่องเงินหรือหลักทรัพย์ในการประกันตัว เนื่องจากเงินกองทุนที่เคยได้ากการบริจาครวมถึงหยิบยืมมาได้นำไปใช้ประกันผู้ต้องหาคดีการเมืองรายอื่นหมดแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องขอรับบริจาคในกรณีของแหวน ซึ่งถือเป็นการขอรับบริจาคหรือหยิบยืมในทางสาธารณะกรณีแรกของ สกสส.

"แหวน" ณัฎฐธิดา มีวังปลา อดีตพยาบาลอาสา เป็นพยานปากสำคัญที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชาในคดีสังหาร 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม[2] เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แต่ได้ถูกจับกุมและถูกแจ้งข้อหาร้ายแรงในคดีก่อการร้ายและ 112  แหวนถูกคุมขังมานานกว่าสามปี โดยที่ผ่านมาศาลได้เคยมีคำสั่งให้ประกันตัวแล้วหนึ่งครั้ง ในคดีก่อการร้าย แต่แหวนกลับต้องโดนอายัดตัวต่อในคดี 112

วิญญัติให้รายละเอียดคดีว่า แหวน ถูกเอาผิดจากกระแสข่าวว่าจะมีการรอบวางระเบิดร้อยจุดทั่วกรุงเทพ แหวนถูกจับกุมเนื่องจากเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มไลน์ที่มีการพูดคุยประเด็นการเมือง และจากหลักฐานการโอนเงินจาก สุรพล เอี่ยมสุวรรณ 1 ใน 5 ผู้ต้องหาโอนมาให้ เป็นจำนวน 5,000 บาท แหวนให้การว่าเธอยืมเงินสุรพลมาเพื่อจ่ายค่าเช่าร้านซักรีดที่เป็นกิจการของเธอในขณะนั้น และในส่วนข้อกล่าวหาว่ามีการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์นั้น โจทก์ใช้ข้อความหนึ่งในแอคเคาต์ไลน์ของแหวนที่ใช้สนทนาในกลุ่มไลน์เป็นหลักฐานในการเอาผิด

กระบวนการพิจารณาคดีก่อการร้ายผ่านอย่างล่าช้า อัยการส่งสำนวนฟ้องศาลเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ศาลนัดสอบคำให้การ 20 มกราคม 2559 และนัดสืบนัดแรก 4 เมษายน 2559 เวลาผ่านไปกว่าสองปีจนถึงปัจจุบันสืบพยานโจทก์ได้ประมาณสิบปากเท่านั้น จากพยานโจทก์ทั้งหมดในบัญชีพยานกว่าสามสิบปาก

ความล่าช้าในกระบวนการเกิดจาก พยานโจทก์ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เมื่อถึงวันที่ศาลนัดก็มักจะไม่มา โดยให้เหตุผลว่าติดราชการบ้าง ย้ายที่อยู่ที่ทำงานบ้าง ประกอบกับกระบวนการในการไต่สวนค่อนข้างละเอียด ต้องอ่านเอกสาร ต้องลงรายมื่อชื่อรับรองทำให้เกิดความล่าช้า

เคยมีความพยายามในการหยิบยืมเงินมาประกันตัวแหวนพร้อมกับเพื่อนที่ถูกจับในคดีเดียวกัน  บางคนได้ประกันตัวออกไป แต่แหวนกลับถูกอายัดตัว และถูกฟ้องในข้อหา 112 ต่อ

คดี 112 อัยการพึ่งส่งฟ้องศาลเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ทั้งที่มีการออกหมายจับไว้ ตั้งแต่ 19 มี.ค. 2558 ศาลนัดสอบคำให้การเมื่อวันที่  7 กุมภาพันธ์ 2561และนัดสืบพยานปากแรกในวันที่ 4 พฤษภาที่จะถึงนี้ ทั้งนี้หากนับจากวันที่แหวนถูกควบคุมตัวโดยทหาร รวมเป็นเวลาสามปีเศษแล้ว


ภาพของแหวนขณะทำการปฐมพยาบาล อัฐชัย ชุมจันทร์ หนึ่งในผู้เสียชีวิต
บริเวณวัดปทุมฯ ขณะที่คนขวาสุดสวมชุด ปอเต็กตึ๊ง คือ มงคล เข็มทอง 
และคนที่ยืนด้านหลังของ แหวน คือ อัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล 
ซึ่งต่อมาทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิต รวมอยู่ใน 6 ศพวัดปทุมฯ เช่นกัน 

แหวนยังได้เคยเล่าให้ทนายฟังว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวนายทหารหัวหน้าชุดที่มาสอบสวนได้เคยขู่เธอว่าหากไม่ยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เธอจะถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 ด้วย ซึ่งในที่สุดก็เป็นจริงตามคำที่ทหารนายนั้นขู่

วิญญัติกล่าวว่าแหวนถูกควบคุมตัวโดยทหารตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 อุปกรณ์สื่อสารถูกยึด ถูกบังคับเอารหัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียตั้งแต่วันนั้น แต่ข้อความที่เป็นปัญหาถูกโพสต์ในกลุ่มไลน์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ในการสืบพยานโจทก์ปากแรก ซึ่งเป็นปากสำคัญนั้น อย่างน้อยน่าจะทำให้เหตุผลในการยื่นประกันขอปล่อยตัวชั่วคราว "แหวน" มีน้ำหนักมากขึ้น

แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องที่เธอเป็นคนตัวคนเดียว ญาติพี่น้องก็มีฐานะไม่ดีนัก เงินที่เคยใช้ยื่นประกันตัวเธอเราก็ได้นำไปใช้ประกันตัวนักโทษการเมืองรายอื่นไปแล้ว ทาง สกสส.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการรับบริจาคต่อสาธารณะในกรณีนี้[3] โดยประเมิณว่าทั้งสองคดีต้องใช้วงเงินประกันรวมประมาณ 900,000 บาท คดีแรกจำนวน 400,000 บาท (คดีก่อการร้าย) คดีที่ 2 จำนวน 500,000 บาท (คดี 112)

 

เชิงอรรถ
[1] สมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) เป็นกลุ่มนักกฎหมาย ทนายความที่รวมตัวขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา นักโทษในคดีการเมืองหลังการรัฐประหาร คสช. 2557 โดยที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือมาแล้วไม่ต่ำกว่า 33 คดี จำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ต่ำกว่า 133 คน

[2] นักการเมืองและผู้นำทหารที่มีโอกาสในการถูกเอาผิดจากการสั่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงอาทิเช่น

นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  ศอฉ.เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  รองหัวหน้าและประธานคณะที่ปรึกษาคณะรัฐประหาร คสช.

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในช่วงเหตุการณ์ และรัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาล คสช.ในปัจจุบัน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ.ในช่วงเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.และนายกรัฐมนตรี

[3] ท่านที่มีความประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ "แหวน" ณัฎฐธิดา มีวังปลา สามารถติดต่อได้ที่ สมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) Facebook United Lawyers For Rights & Liberty หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนได้ที่ บัญชีธนาคารกสิกรไทย_สาขาศาลยุติธรรม ประเภทบัญชีออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 039-3-80178-6 ชื่อบัญชี นายกัณต์พัศฐุ์ สิงห์ทอง และนายศุภวัส ทักษิณ


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตหัวหน้าคณะศาลฎีกา ย้อนถาม มหา'ลัยในป่าสงวน 6 พันไร่ ไม่เห็นใครว่ารุกล้ำป่า

Posted: 24 Apr 2018 01:24 AM PDT

ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โพสต์ถาม มหา'ลัยราชภัฏเชียงใหม่ สร้างวิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก เนื้อที่ 6,235 ไร่เศษ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่มีเคยได้ยินข่าวว่าผู้ใดคัดค้านหรืออ้างว่ารุกล้ำ"ป่า"

24 เม.ย.2561 กรณีกระแสคัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค 'Chuchart Srisaeng' แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องโครงการบ้านพักตุลาการดังกล่าว โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่สภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ เรื่องโครงการบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ อ้างว่าพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพรุกล้ำป่าที่สมบูรณ์มาก สภาคณาจารย์ฯ ไม่เห็นด้วยและขอให้คืนป่าโดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปโดยเร็วนั้น

ท่านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงฟังเป็นข้อยุติได้ว่า พื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และก่อสร้างบ้านพักตุลาการมีเนื้อที่ 147 ไร่เศษ อยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นที่ดินที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.) ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 ตรี จึงไม่ได้เป็นป่า ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 4(1)

มีเอกสารของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ยืนยันชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก ซึ่งมีเนื้อที่ 6,235 ไร่เศษ ก่อสร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม ตามหลักฐานที่แนบมาด้วยแล้ว หน่วยงานราชการเหมือนกัน ต้องการพื้นที่ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการเหมือนกัน ต่างกันเพียงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติไม่เหมือนกันเท่านั้น

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ก่อสร้างวิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก ใช้เนื้อที่มากถึง 6,235 ไร่เศษ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นป่าตามกฎหมายได้ ไม่มีเคยได้ยินข่าวว่าผู้ใดคัดค้านหรืออ้างว่ารุกล้ำ"ป่า" มีเพียงข่าวว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ใช้สโลแกนว่า "มหาวิทยาลัยในป่า" เท่านั้น

อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โพสต์ต่อว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักตุลาการ ใช้เนี้อที่เพียง 147 ไร่เศษ หรือประมาณร้อยละ 2.36 ของเนื้อที่ที่ใช้ก่อสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก เท่านั้น ทั้งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและไม่ได้เป็นป่าตามกฎหมาย แต่มีผู้คัดค้านซึ่งรวมทั้งสภาคณาจารย์ฯ โดยอ้างว่ารุกล้ำ"ป่า"

ถ้าสังคมไทยยังมีคนบางกลุ่มไม่ยึดถือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้ตัดสินเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ใช้ความเพียงรู้สึกนึกคิด ความพอใจ ความรักใคร่ ความไม่พอใจ ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา หรือถ้าตนเองได้ประโยชน์ก็เป็นสิ่งที่ถูก แต่ถ้าตนเองไม่มีส่วนได้ประโยชน์ก็เป็นสิ่งที่ผิด สังคมไทยก็ต้องมีเรื่องวุ่นวายเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ตลอดกัลปาวสาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ของมันต้องมี? โฆษก คสช. ชี้ทหารเกณฑ์ไม่ได้มีไว้แค่รบ แต่มีงานที่หลากหลาย

Posted: 24 Apr 2018 01:08 AM PDT

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ โต้กลับกรณีนักการเมืองพูดเชิงหาเสียงเรื่อง ยกเลิกทหารเกณฑ์ และลดขนาดกองทัพ ชี้ปัจจุบันมีกฎหมายบังคับใช้อยู่ และกองทัพต้องทำตามที่กฎหมายระบุ ชี้ทหารเกณฑ์มีความจำเป็นและมีงานที่หลากหลาย พัฒนาประเทศ และบรรเทาสาธารณภัย

แฟ้มภาพ

24 เม.ย. 2561 พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการนำเสนอนโยบายของบุคคลหรือพรรคการเมืองในกรณีเรื่องการยกเลิกทหารเกณฑ์ และลดขนาดกองทัพว่า ในการหาเสียงในปัจจุบัน มีข้อกำหนดเงื่อนไข เพื่อมิให้เป็นไปในเชิงการเสนอนโยบายที่ไม่เป็นรูปธรรมหรือ มุ่งต่อการหาเสียงเพื่อเข้าสภาเท่านั้น รวมถึงการนำเสนอข่าวที่ไม่ครบเนื้อความ อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสาธารณชน

จึงขอชี้แจงในประเด็นที่ถามมาดังนี้ คำว่าเกณฑ์ทหารเป็นภาษาพูดตามเนื้อความพระราชบัญญัติการรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ว่าด้วยการตรวจเลือก ดังนั้นการยกเลิกเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นการรับสมัครก็ต้องไปดูกฏหมายดังกล่าวนี้ว่าเอื้ออำนวยให้สามารถปฏิบัติได้หรือไม่ หรือต้องแก้ไขอย่างไร ในปัจจุบันมียอดผู้สมัครโดยเฉลี่ยในแต่ละปี ประมาณร้อยละ 42 ของความต้องการใช้กำลัง กล่าวโดยสรุป กองทัพยังคงดำเนินการตามที่กฏหมายระบุไว้

พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการลดขนาดกองทัพ ได้มีแผนรองรับทั้งในระดับยุทธศาสตร์จนถึงเหล่าทัพอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองภารกิจ ตามมาตรา 52 ของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งต้องทำความเข้าใจด้วยว่า กองทัพมิได้มีภารกิจเพียงด้านความมั่นคงภายนอกเท่านั้น กองทัพยังมีภารกิจในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนั้นยังมีภารกิจตอบสนอง ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งมี กอ.รมน.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน เป็นรูปแบบของความมั่นคงภายใน การผลิตและการเตรียม จำนวนกำลังพลในกองทัพ จึงมีความสำคัญ เพราะทหารไม่สามารถผลิต ได้ในระยะเวลาอันสั้นและต้องเป็นไป อย่างสอดคล้องกับภัยคุกคาม ที่หน่วยงานความมั่นคงทุกระดับ นับตั้งแต่สภาความมั่นคงลงมา ได้ประเมินไว้

พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวอีกว่า และข้อเสนอย้ายหน่วยงานกองทัพออกไปชานเมืองเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ส่วนใหญ่หน่วยที่ตั้งใน กทม. จะเป็นหน่วยบัญชาการ ส่วนกลาง หรือมีภารกิจเฉพาะโดยตรง การย้ายที่ตั้งต้องใช้งบประมาณ มิใช่แค่ตัวทหาร หรืออาคารสถานที่ แต่หมายความรวมถึงครอบครัว และองค์ประกอบอื่นๆด้วย

"ในภาพรวมขอให้สาธารณชน ได้เข้าใจในภารกิจของกองทัพ ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ขอขอบคุณในความปรารถนาดี ต่อข้อเสนอกองทัพจะนำไปเป็นข้อพิจารณา ในการกำหนดแผนในอนาคต ต่อไป" ผบ.มทบ.11 กล่าว

ที่มาจาก: ข่าวสดออนไลน์ , ประชาชาติออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น