โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘Hockhacker’ ศิลปินฮิปฮอปที่อยากให้การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว

Posted: 26 Apr 2018 09:11 AM PDT

ณัฐพล เมฆโสภณ จับเข่าคุยกับ 'ฮอคกี้ Hockhacker' หรือ เดชาธร บำรุงเมือง ศิลปินเพลงฮิปฮอป ฟังจากปาก ถึงที่มาของเพลงวิจารณ์การเมืองและสังคม ที่ตรงไปตรงมาแต่ก็โคตรแรงของเขา

"จุดมันขึ้นมา แล้วก็เดินหน้าไป ไม่ต้องไปง้อใคร สร้างขึ้นมาด้วยมือเรา
ความรู้ที่ได้มา ประสบการณ์ที่มีมากกว่า บางสิ่งที่เสียไป แปรเปลี่ยนมันเป็นปรัชญา วันนี้ที่ล้มไป ลุกขึ้นมาแล้วเริ่มใหม่ ก้าวตามความฝันไป ด้วยอุดมการณ์ของเรา"


นี่คือท่อนฮุกของเพลง 'อุดมการณ์' เพลงที่แต่งโดย "Hockhacker" ซึ่งเป็นชื่อในวงการเพลงฮิปฮอปของ 'ฮอคกี้' เดชาธร บำรุงเมือง อายุ 28 ปี ทีมงานเบื้องหลัง หรือ crew ของ "Rap is Now" (RIN) แต่นอกเหนือจากงานในฐานะ RIN crew แล้ว ฮอคกี้ยังร้องและแต่งเพลงแร็ปเองอีกด้วย เช่น เพลง อุดมการณ์ และผลงานเพลงอัลบัม Citizen Mixtape ประกอบด้วย ผู้อาศัย (Citizen), Losing My Mind, และ Four Point Old (4.0) ทั้งหมดนี้เป็นเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมที่ฮอคกี้ หรือ Hockhacker มองเห็นและอยากเอามาพูดเป็นเพลง

เวลาที่เราได้เห็นวัยรุ่น และคนต่างๆ มากมาย ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิทางการเมือง สิทธิมนุษยชน แต่งเพลงวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของสังคม ผมจะคิดเสมอว่า คนพวกนี้เป็นคนที่กล้าหาญมากๆ ที่พวกเขากล้าวิจารณ์ แม้ว่าอาจจะต้องถูกจับ ถูกดำเนินคดี หรือถูกตะโกนด่าทอจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขา บางครั้งผมจินตนาการถึงเหตุผลของการต่อสู้ของพวกเขาได้นะ แต่เราก็ยังอยากได้ฟังจากปากพวกเขาอยู่ดีว่า 'ทำไมคุณยังวิ่ง' วันนี้เราเลยมานั่งจับเข่าคุย ประดุจ Fan Meet กับ ฮอคกี้ Hockhacker ถึงเพลงที่เขาเคยทำ และการทำเพลงแร็ปวิจารณ์การเมือง และสังคม

จุดเริ่มต้นของฮอคกี้นั้น เริ่มแรกเขาได้รับอิทธิพลจาก "Linkin Park" วงนูเมทัล เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มหัดแร็ป เริ่มเขียนเนื้อเพลงเอง แต่ที่ทำให้ฮอคกี้ เริ่มอยากแร็ปจริงๆ จังๆ คือ เห็นคนอื่นๆ ไปแข่งกันใน Rap is Now เห็นเขา battle กัน ด่ากันในร้านนั่นเอง

"...จุดเริ่มต้นก็คืออยากเป็นแบบที่เขาเป็น แบบที่เขาแร็ปกันร้านในผับนั่นแหละ แค่นั้นเลย แค่ battle กัน แต่ด้วยความที่เราโตกว่าเด็ก เราอายุ 23-24 แล้ว เราเคยทำสารคดี เราเคยผ่านการทำงานเกี่ยวกับปัญหาสังคม ผมก็เลยลองเอามาทำเป็นเพลงด้วย…"


"อุดมการณ์" เพลงให้กำลังใจ นศ. ที่กำลังถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ

เพลงอุดมการณ์ เป็นเหมือนเพลงสะท้อนตัวตน รวมถึงอุดมการณ์ในฐานะศิลปินของฮอคกี้ ที่อยากมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ Hockhacker เริ่มปล่อยเพลง อุดมการณ์ หลังเหตุการณ์ ตำรวจรวบตัวนักศึกษา และนักกิจกรรม ประมาณ 20 คน หลังทำกิจกรรม 1 ปีรัฐประหาร หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 เพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกควบคุมตัวในวันนั้น

"เรื่องเศร้า ของเรามันต่างกัน ได้แต่ไล่จับ คนคิดต่างระหว่างวัน
ไม่สนใจแก่นแท้ที่แบ่งปัน คิดได้เมื่อไหร่ จงวิ่งตามมาให้ทัน" 

ทว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่สองที่ผลักดันให้ฮอคกี้เขียนเพลงนี้จนสำเร็จ เหตุการณ์ที่ทำให้เริ่มเขียนเพลงนี้มาจากการที่ทหารเข้าแทรกแซงการกิจกรรมฉายภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยบูรพา ฮอคกี้ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพลงนี้ พร้อมกับโชว์ให้ลายบนเสื้อยืดสีแดงเลือดหมูของเขา ซึ่งเสื้อนี้เป็นเสื้อกลุ่มทำภาพยนตร์ของ ม.บูรพา เอกภาพยนตร์ ตอนนั้น ม.บูรพา มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ชื่อว่า "บางแสนรามา" จัดโดยนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นพวกรุ่นน้องของฮอคกี้ ในกิจกรรมมีทั้งการฉายภาพยนตร์ของนิสิตปี 3-4 และก็มีการนำเรื่อง "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเด็นเขาพระวิหาร กำกับโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล มาฉายในงาน แต่ก็เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากมีการติดต่อจากทางทหารขอความร่วมมือให้งดการฉายภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เพราะอาจกระทบความมั่นคง ทำให้ทางอาจารย์และคณะนิสิตผู้จัดงานงดฉายภาพยนตร์ดังกล่าว และเซ็นเซอร์ตัวเองล่วงหน้าด้วยการงดฉายหนังสั้นอื่นๆ บางเรื่อง เพราะเกรงจะเกิดปัญหาระหว่างการจัดฉาย เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการพยายามขัดขวางไม่ให้นิสิตจัดฉายภาพยนตร์ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ในงานดังกล่าวว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ซึ่งภายในเพลงจะมีท่อนที่ร้องว่า "นกบางตัวไม่ได้เกิดมาอยู่ในกรง กล้าหาญยืนหยัดโผปีกบินอย่างทรนง"

"ผมพูดถึงรุ่นน้องหรือรุ่นเดียวกันที่ถูกปิดกั้นจากข้างนอก ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้น ทีนี้เพลงมันยังไม่เสร็จ ผมแต่งตอนทำงานออฟฟิศ เราไม่ได้เก่งมาก ไม่ได้ปรึกษาใคร แต่ว่าเอาจากที่เราประสบ ฟัง Beat วนๆ อยู่ดีๆ มันมีเหตุการณ์ที่หน้าหอศิลป์ ที่นักศึกษาโดนล้อมจับ แล้วก็ผมมารู้จักพี่แมน ปกรณ์ อารีกุล, พี่กันต์ แสงทอง ซึ่งเขาเป็นเด็ก ม.บูรพา เคยมีปฏิสัมพันธ์กัน เคยร่วมกิจกรรมกัน ผมก็ได้ตามข่าวและก็อินไปกับเขา เห็นพี่เราโดนจับ ผมก็เลยทำเพลงเสร็จช่วงนั้นแหละ คือ ผู้ใหญ่ อาจารย์ มองว่าก็เพราะพวกเขาประท้วง สร้างความวุ่นวาย เขาก็ต้องมาจับสิ เพื่อความสงบเรียบร้อย แต่ในทางสัญลักษณ์ นักศึกษามันคือ เสรีภาพ เด็กที่เป็นอนาคตของประเทศ...."

เพลง 'อุดมการณ์'


Citizen Mixtape เพลงวิจารณ์การเมืองแบบประชาชน

หลังจากนั้น Hockhacker ยังทำเพลงวิจารณ์การเมืองอีกครั้ง โดยใช้ชื่ออัลบัม 'Citizen Mixtape' ประกอบด้วยเพลง ผู้อาศัย (Citizen), Four Point Old (4.0), และ Lose My Mind ที่ฮอคกี้เรียกว่า เพลงบ่นการเมืองในแบบประชาชน ระบายความในใจ เช่น เพลง ผู้อาศัย กับ Losing My Mind ทั้งสองเพลงนี้มีจุดร่วมกัน คือ วิจารณ์สังคมที่เราต้องจำยอมอยู่ โดยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ โดยฮอคกี้ เล่าว่า จริงๆ มันเริ่มมาจากการ "บ่น" กับทุกสิ่งทุกอย่าง ผสมกับความอัดอั้นตันใจที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การที่ต้องใช้ชีวิตแบบภาวะจำยอมในสังคม ทั้งๆ ที่เราเองก็เป็นประชาชนที่เสียภาษี ที่นี่ทำให้เราเป็นคนเสียสติ แต่พอมาเป็นเพลง มันพูดออกมา มันเลยกลายเป็นเรื่องของ 'ภาวะจำยอมแบบไม่ยอม' คือ เราพูดว่ายอม แต่จริงๆ เราไม่ยอม

เพลง ผู้อาศัย

 

เพลง Losing My Mind

ขณะที่เพลง 'Four Point Old' ที่วิจารณ์ถึงนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศร่วมกับการดำเนินทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยี "จริงๆ สาระไม่มีอะไรเท่าไหร่นะเพลงนี้..." ฮอคกี้ เริ่มเล่า

"คือเพลง ใจความคือพูดถึงความล้าหลัง…old ผมก็ใช้คำว่า old คือ พูดถึงยุค 4.0 ซึ่งผมเล่นคำระหว่าง 4.0 (อ่านว่า โฟร์ พอยต์ โอ) กับ old... ขอนึกเนื้อเพลงแป๊บหนึ่ง 4.old 4 to slow mo (tion) ก็คือเหมือนผมใช้คำว่าโฟร์ (4) แทน 4.0, 4 to slow mo มันก็คือช้า"

"ตรงๆ เลยก็คือว่า รัฐบาลย้อนแย้ง ผลักดันระบบ 4.0 เข้ามาในระบบ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจคำว่า 4.0 จริงๆ ก็คงเป็นนโยบายของเขานั่นแหละ ที่พยายามฉายภาพออกมา ซึ่งผมเคยไปประชุมกับ กสทช. ผมก็เลยรู้เหมือนกันว่าในระบบราชการหน่วยงานพวกนี้เขาเป็นยังไง เขาทันพวกเราหรือเปล่า เขาทันประชาชนรึเปล่า คนอายุ 50 ที่ไม่ได้เกิดมาในยุคอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เกิดมาในยุคแชต MSN ทันการเล่น 3G หรือ 4G เขาอาจจะรู้เรื่องเทคโนโลยีหรือเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีน้อยกว่าวัยรุ่นด้วยซ้ำ ผมด่ารัฐบาลด้วย ด่าระบบด้วย คือมันไม่ได้เป็นที่รัฐบาลอย่างเดียวหรอก มันเป็นที่ระบบ คนในระบบ ประชาชนที่ยังเฉยๆ กับระบบ"

เพลง Four Point Old (4.0)

ในด้านผลตอบรับนั้น แร็ปเปอร์ฮอคกี้ อธิบายว่า แม้ว่าจะไม่ได้คาดหวังมาก เนื่องจากตัวเองก็ไม่ใช่ศิลปินนักร้องมืออาชีพ แต่เพลง อุดมการณ์ ได้ผลตอบรับดีเกินคาด ได้รับการยอมรับจากทั้งอาจารย์ และเพื่อนฝูงที่รู้จัก

"…ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันดีหรือมันแย่ แต่เราทำแล้วก็อยากให้คนอื่นฟัง เราก็เลยส่งให้เฉพาะคนที่เราอยากให้เขาฟัง แล้วก็มีกลุ่มโน้นกลุ่มนี้แชร์ไปเหมือนกัน มีอาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรี (นักเขียนอาวุโส) แชร์เพลงให้ด้วย... แล้วก็มีอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์ผมอีกทีหนึ่ง เขาก็แชร์ไป อาจารย์ผมก็บอกว่า ถ้าอยากทำ ทำต่อไป เราก็เลยรู้สึกว่าเรามาถูกทาง..."

ขณะที่เพลงอัลบัม Citizen Mixtape ไม่ได้มีผลตอบรับอะไรมาก รวมถึงการวิจารณ์ในแง่ลบแต่อย่างใด บางทีอาจเป็นเพราะยอดฟังไม่ได้มากเหมือนเพลงที่แล้ว หรือมีคนพูดถึงเพลงเท่าใดนัก แต่มันเป็นเหมือนการแสดงจุดยืนตัวเองเรื่องการเมืองว่า 'เราเป็นแบบนี้' แต่ก็มีคนที่ฟังแล้วนึกออกว่าหมายถึงอะไร แล้วแชร์ออกไป อย่างไรก็ตาม ฮอคกี้ก็มีความคิดว่า จริงๆ ก็เขาอาจมีสิทธิ์ได้ไปปรับทัศนคติ หรือทัวร์คุกกับเขาบ้าง เพราะสังคมยังมองว่า การวิพากษ์วิจารณ์คือการสร้างปัญหามากกว่าการช่วยเหลือสังคม เรื่องพวกนี้คือการโจมตีทำลายคนอื่น หรือเราจะเอาเรื่องเสียๆ หายๆ ของประเทศมาพูดทำไมละ หลายคนยังมองว่า 'มันไม่ใช่เรื่องปกติ'

"...ก็คือการเป็นประชาชนมันพูดได้อยู่แล้วแหละ เพราะว่าเราเสียภาษีให้ประเทศ เราต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ที่ประเทศนี้ การวิพากษ์สังคม การเมือง แล้วก็ส่วนรวม มันทำได้อยู่ละ ในสังคมประชาธิปไตยนะ แต่ว่าในยุคปัจจุบันนี้ ก็ทำได้ ก็ยังทำได้อยู่ แต่ว่ามันมีความเสี่ยง คือ ไม่รู้ว่าวันนี้จะมีเพลงที่ผมไปแล้ว ไปเข้าหูตำรวจคนหนึ่ง แล้วก็ทหารที่ดูแลเรื่องนี้แล้วผมอาจจะโดนเรียกก็ได้ หรือเอาแค่ใกล้ๆ ตัวเลย แบบเพื่อนแม่ผม หรือว่าญาติผมที่เป็นเฟซบุ๊กเป็นเฟรนด์กัน แล้วเห็นผมปล่อยเพลงอันนี้ออกไป แล้วเค้าเผลอกดมาฟัง ผมอาจจะถูกครอบครัว หรือว่าถูกญาติมิตร มองไม่ดีก็เป็นไปได้ ก็คือว่า เรื่องที่คนพูดออกไปแล้ว คนยังมองกันว่า บ้าการเมืองเหรอวะ ยังอะไรอย่างนี้อยู่เลย มันยังไม่ใช่เรื่องปกติ มันก็ต้องทำจนกว่ามันจะเป็นเรื่องปกติ..."


เพลงสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ (?)

Hockhacker เชื่อว่า จริงๆ เพลงแร็ปวิพากษ์สังคมการเมือง สามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้ แต่ว่าปัญหาไม่ใช่แค่เราต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะเห็นต่างจากความคิดของเรา หรือไม่เห็นด้วยกับเพลงให้ฟัง แต่ว่ามันยากตั้งแต่ต้นทาง มันอยู่ที่วิธีการแต่งเพลงวิพากษ์สังคม ให้มีผลกระทบด้วยเช่นกัน

"ผมว่าได้ เพราะว่า เอาจริงๆ เพลงวิพากษ์สังคม หรือเพลงวิพากษ์อะไรก็ตาม ถึงแม้เนื้อหาของการวิพากษ์มัน มันคือการเอาแง่ลบมาพูดกัน มันคือการเอาไอ้ที่ต้องปรับปรุงมาพูดกัน คือ มันเป็นเรื่องลบก็จริง แต่ว่ามันคือเรื่องลบที่จะถูกแก้ไขเพื่อนำไปสู่เรื่องบวก เพราะฉะนั้น ผมว่ามันคือการที่คนที่จะวิพากษ์อะไรได้ มันคือคนที่เห็นปลายทางแล้วว่า ถ้าเราเปลี่ยนไอ้สิ่งนั้นได้ ทุกอย่างมันจะดีขึ้น สิ่งที่เขาคิดมันจะดีขึ้น ตัวผมเองก็คิดว่า เราพูดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ แล้วจนคนมันเริ่มเห็นด้วยกับเราเยอะๆ ยังไงคนมันก็ต้องปรับวิธีมองของมันเองด้วย แล้วก็วิธีที่นำเสนอของแต่ละคน การแสดงออกของแต่ละคนอาจจะเปลี่ยนไป ภาพรวมก็อาจจะดีขึ้นเรื่อยๆ"

"เราจะแต่งเพลงให้คนที่เค้าสนับสนุนทหารคนหนึ่ง ฉุกคิดขึ้นมา อย่างน้อยไม่ต้องเปลี่ยนความคิดหรอก ฉุกคิดขึ้นมาว่าแบบว่า เราแบบตรวจสอบรัฐบาลทหารไม่ได้เลย คนที่เขาแต่งตั้งเข้าไป มันไม่มีคนที่ถูกเลือกเลย มีแต่คนที่เขารู้จักทั้งนั้นเลย จะทำยังไงให้คนที่เขาเชียร์รู้สึกว่า อันนี้มันเป็นปัญหา อันนี้มันยากมากเลยนะที่จะต้องถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อเพลง คือ เราสามารถเขียนมันลงไปได้ในงานเขียน ในเว็บไซต์ แต่ว่าการกระจายออกไป ให้คนที่เขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายเราฟัง มันยากกว่า… ไม่ได้ยากที่เป้าหมายนะ มันยากที่ต้นทางแต่ถ้าคนที่ทำต้นทางได้สำเร็จ หรือแบบเกิดจากการตกผลึกทางความคิดออกมาแล้วจนรู้แล้วว่า สื่อเรื่องนี้ควรพูดเพื่อจี้จุดคน ถ้าทำสำเร็จ ผมว่ายังไงมันก็เปลี่ยนได้ มันสามารถเปลี่ยนความคิดคนได้แหละ"

เราเลยถามต่อว่า ในทัศนะของฮอคกี้มีแนวคิดแต่งเพลงวิพากษ์สังคมยังไง  ฮอคกี้ อธิบายว่า การแต่งเพลงวิพากษ์สังคมให้ดี มันก็ควรจะสร้างผลกระทบได้ และการทำเพลงที่สร้าง impact หรือ effect ต่อคนอื่นๆ ได้ อย่างแรก คือ เราต้องเข้าใจปัญหา และอีกอย่างหนึ่ง คือ เราต้องไม่ทนกับปัญหานั้น ไม่ยอมจำนน ต้องมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงมัน

"…จะวิพากษ์อะไรให้มันดีหรือมันไม่ดี หรือว่ามันมีผลกระทบ ก็อยู่ที่คนวิพากษ์ รู้ปัญหานั้นจริงๆ แค่ไหน แล้วก็รู้สึกกับมันแค่ไหนนั่นแหละ …คือผมมองว่ามันไม่ต้องศึกษาก็ได้นะ ถ้าศึกษาในที่นี้หมายถึงต้องไปเรียน หรือต้องไปค้นคว้าอ่านอะไรมาเพิ่มเพื่อต้องเข้าใจ ก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่บางทีมีวิธีของประสบการณ์ มันมีวิธีของการประสบพบเจอ คือ คนที่เดินทางกลับบ้านเองทุกวันด้วยรถเมล์ เขาไม่ต้องไปอ่านงานวิจัยหรืออะไรเลยนะ เค้าจะรู้ว่า ตรงนี้มันติดเพราะอะไร ...เรื่องปัญหาจริงๆ คนที่ประสบอยู่บ่อยๆ มันก็จะรู้ว่าปัญหานี้มันมี แต่ว่าทีนี้คนนั้นจะศึกษาต่อ หรือว่าแค่ทนกับมันแล้วยอมปัญหา หนีไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยน… ถ้าคนที่มันรับเรื่องนี้บ่อยๆ แล้วไม่ยอม ผมว่าคนเราจะเปลี่ยนได้ และถามว่าอะไรที่ทำให้คนไม่ยอม ก็คือการที่ต้องมีตัวกระตุ้นให้เรา รู้สึกว่ามันใกล้ตัว ก็คือเพลงแร็ป หรือสื่อต่างๆ ทุกสื่อเลย อาจจะช่วยให้แบบรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้ละ ต้องทำอะไรสักอย่างให้มันเปลี่ยน"

ก้าวต่อไปในการ 'รันวงการ' ในฐานะศิลปินเพลงแร็ปของ Hockhacker เขาวางแผนว่า จะทำอัลบัมของตัวเอง โดยเจ้าตัวตั้งใจอยากให้เพลงอัลบัมนี้เข้าถึงคนหลากหลายกลุ่ม และทำให้คนรู้สึกว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว และมีความหวังในการเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ พ่อหนุ่มแร็ปเปอร์จะมีโปรเจกต์เล็กๆ ที่จะทำร่วมกับ 'Liberate P' เพื่อสะท้อนเรื่องการเมือง และใช้เพลงเพื่อขับเคลื่อนสังคม ชื่อว่า "Rap Against Dictatorship" ทั้งนี้ Hockhacker แย้มให้ฟังว่า เราอาจจะได้เห็นตัวโปรเจกต์นี้เต็มๆ ตอนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม

 

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายเผย เล็งขอสินไหมชดเชย 'นาหวะ จะอื่อ' หลังถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดี 329 วัน

Posted: 26 Apr 2018 07:55 AM PDT

หลังศาลยกฟ้อง 'นาหวะ จะอื่อ' ผู้ดูแลชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมลาหู่ที่ทหารวิสามัญ ทนายความเผย จะดำเนินการยื่นขอสินไหมทดแทนการถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดี 329 วัน ทั้งนี้ ศาลไม่ให้ประกันตัวแม้ญาติใช้กองทุนยุติธรรมเข้ายื่นประกันก็ตาม

สืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนาแส หรือ นาโถ แสขื่อ จำเลยที่ 1 นาหวะ จะอือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดูแลชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกทหารวิสามัญในคดียาเสพติด และนวล คำป้าง จำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนและให้การช่วยเหลือชัยภูมิ ในการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันสนับสนุน หรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด และร่วมกันสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ โดยศาลได้สั่งยกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยนาหวะได้ถูกควบคุมตัวเป็นเวลารวม 329 วันก่อนถูกปล่อยตัว

จ.อ.อภิสาร ยานุช ทนายความของจำเลยทั้งสามให้ข้อมูลกับประชาไทว่า หลังคำพิพากษาศาล ทางทนายจะดำเนินการยื่นขอค่าสินไหมชดเชยกรณีที่นาหวะถูกควบคุมตัว แต่กระบวนการนี้ต้องรอดำเนินการเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งส่วนตัวมีความเห็นว่าคงมีการอุทธรณ์ต่อ

คำพิพากษาของศาลระบุว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพและมีการสืบประกอบคำรับสารภาพพบว่า มีความผิดตามฟ้องจริง ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 25 ปี ปรับ 750,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทย์สืบไม่ถึง จึงยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาได้ เนื่องจากป่วยเส้นเลือดในสมองแตก แพทย์ระบุว่าอยู่ระหว่างทำการรักษา ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.นี้ต่อหน้าจำเลย

ศาลยกฟ้อง 'นาหว่ะ จะอือ' คดีเอี่ยวยาเสพติดเหตุวิสามัญ 'ชัยภูมิ ป่าแส'

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560 ครบกำหนดการฝากขังทั้ง 7 ผัด (84 วัน) พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการฟ้องร้องดำเนินคดีนาหวะ จะอื่อ และฉันทนา ป่าแส ต่อในข้อหาดังที่กล่าวมาข้างต้นโดยทันที อีกทั้งยังได้มีการคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าทั้งสองจะทำการหลบหนี ทางญาติของนาหวะ ได้ทำการยื่นขอกองทุนยุติธรรมเพื่อที่จะนำมาใช้ในการประกันตัวในชั้นของการพิจารณาคดีในชั้นศาล กองทุนยุติธรรมได้อนุมัติเงินประกันตัวสองล้านบาทในวันที่ 22 ส.ค. 2560 และได้ส่งเงินเพื่อส่งมาที่สำนักยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอประกันตัวในวันที่ 16 พ.ย. 2560 แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ที่ผ่านมา นาหวะเป็นทั้งหนึ่งที่ให้การดูแลและเลี้ยงดูชัยภูมิมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มรักษ์ลาหู่ ที่ทำกิจกรรมกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่หมู่บ้านกองผักปิ้ง ผ่านทางงานศิลปะ ดนตรี และวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่นั้น ห่างไกลจากการใช้สารเสพติด อีกทั้งยังมีการทำการรณรงค์ในเรื่องของการได้มาซึ่งสัญชาติ ของพี่น้องชนเผ่าในพื้นที่สูงนาหวะเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมและเพื่อสิทธิของกลุ่มพี่น้องชนเผ่าหรือชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนในประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัวขอลี้ภัยฝั่งไทย-แต่ถูกเจ้าหน้าที่ผลักดันกลับ

Posted: 26 Apr 2018 07:51 AM PDT

กรณีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงกว่า 2,400 คนอาศัยลี้ภัยอยู่ในป่าเขารัฐกะเหรี่ยงระลอกล่าสุด หลังทหารพม่าเสริมกำลัง-ปะทะหนัก หวังเปิดทางตัดถนนยุทธศาสตร์ ล่าสุดมีผู้อพยพ 3 ครอบครัวตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามเขามาขออาศัยกับญาติที่ค่ายผู้อพยพใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธการลี้ภัย และผลักดันกลับ

ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัว รวม 16 คน ระหว่างรอการส่งกลับที่ชายแดนไทย-พม่า ที่ท่าเรือด่านแม่สามแลบ ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 26 เม.ย. 2561 (ที่มา: KPSN)

ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัว นั่งเรือโดยสารเพื่อรอการส่งกลับทางแม่น้ำสาละวิน ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 26 เม.ย. 2561 (ที่มา: KPSN)

จากการนำเสนอข่าวชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ลูทอ ทางตอนเหนือของเมืองมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง กว่า 2,417 คน จาก 12 หมู่บ้าน ต้องอพยพเข้าไปอยู่ตามป่าเขานับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังกองทัพพม่าเสริมกำลังเข้ามาซ่อมถนนยุทธศาสตร์เชื่อมค่ายทหาร 2 แห่ง และมีเหตุปะทะกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) รวมทั้งเหตุยิงพลเรือนจนชาวบ้านตัดสินใจอพยพออกจากพื้นที่นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่ามีผู้อพยพจากพื้นที่สู้รบดังกล่าว 3 ครอบครัว รวม 16 คน เดินทางมาถึงชายแดนไทย-พม่า และเข้าไปขออาศัยในค่ายผู้อพยพ อย่างไรก็ตามถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยผลักดันกลับ

โดยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) เปิดเผยว่า ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนมีครอบครัวชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัว รวม 16 คน เดินทางมาจากพื้นที่ลูทอที่มีการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง มาถึงค่ายแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบ

โดยผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัวนี้ ตั้งใจมาอาศัยอยู่กับญาติที่อยู่ในค่ายผู้อพยพดังกล่าว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภายในค่ายผู้อพยพขณะนี้ครัวเรือนของผู้อพยพถูกตัดลดการปันส่วนอาหาร เนื่องจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคยให้ความช่วยเหลือตัดลดงบประมาณช่วยเหลือผู้อพยพ และเมื่อมีผู้อพยพที่เข้ามาใหม่ มาขออาศัยอยู่กับญาติภายในค่าย ญาติซึ่งได้รับการปันส่วนอาหารในจำนวนน้อยอยู่แล้ว ก็ไม่มีอาหารพอที่จะแบ่งให้กับผู้อพยพ จึงมีการแจ้งขอความช่วยเหลือกับคณะกรรมการค่ายผู้อพยพ

ต่อมาเมื่อวันจันทร์ (23 เม.ย.) มีการประชุมของคณะกรรมการค่ายผู้อพยพร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และเจ้าหน้าที่ไทย มีการหยิบยกเรื่องผู้อพยพครอบครัวใหม่เข้ามาหารือ เพื่อขอแบ่งปันส่วนอาหารให้กับผู้อพยพเพิ่ม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ที่เป็นปลัดอำเภอกล่าวว่าไม่สามารถรับผู้อพยพเพิ่มได้แล้ว จึงมีการนำผู้อพยพ 3 ครอบครัวดังกล่าวส่งกลับชายแดนไทย-พม่า ที่ท่าเรือแม่น้ำสาละวิน บริเวณจุดผ่อนปรนแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

โดยในขณะนี้ครอบครัวผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง 3 ครอบครัวดังกล่าวอาศัยลี้ภัยอยู่ในชุมชนผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) แห่งหนึ่ง ภายในเขตรัฐกะเหรี่ยง ติดชายแดนไทย-พม่า อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมทางตอนเหนือของเมืองมูตรอ รัฐกะเหรี่ยงได้ เนื่องจากยังมีเหตุปะทะและทหารพม่ายังคงเสริมกำลังอยู่ในพื้นที่

อนึ่งในเพจ Burma Campaign UK ได้เผยแพร่ภาพการผลักดันผู้อพยพกลับด้วยโดยระบุคำบรรยายภาพว่า "วันนี้ครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ผู้ได้พยายามข้ามชายแดนเข้ามายังประเทศไทย ภายหลังหลบหนีการโจมตีของกองทัพพม่าในพื้นที่ด้านตะวันออกของพม่า พวกเขาถูกบังคับผลักดันกลับไปยังชายแดนฝั่งพม่าโดยเจ้าหน้าที่ไทย"

คำบรรยายระบุต่อไปว่า "3 ครอบครัวซึ่งมีด้วยกัน 16 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 9 คน เป็นหนึ่งในจำนวนผู้คนกว่า 2,400 คน จาก 12 หมู่บ้าน ซึ่งหลบหนีปฏิบัติการทางทหารระลอกล่าสุดของกองทัพพม่าที่เมืองมูตรอ โดยส่วนใหญ่ของครอบครัวเหล่านี้กลายเป็นผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) และต่างซ่อนตัวอยู่ในป่า ที่ซึ่งพวกเขาเผชิญกับการขาดแคลนเสบียงอาหาร ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความยากลำบากต่างๆ"

"และด้วยความกลัวถึงแก่ชีวิตและสวัสดิภาพของบุคคล ทำให้ 3 ครอบครัวนี้ตัดสินใจเดินทางไกลเพื่อความปลอดภัย มาที่ในค่ายผู้อพยพฝั่งประเทศไทย แต่ก็ถูกส่งกลับไปโดยเจ้าหน้าที่ไทย" ข้อมูลของ Burma Campaign UK ระบุ

อนึ่งข้อมูลจากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เมื่อ 31 มีนาคม ระบุว่า มีผู้อพยพในค่ายแม่ลามาหลวง ทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ได้ลงทะเบียน 10,621 คน ขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศ มีผู้อพยพอยู่ในค่าย 9 แห่ง ที่ UNHCR และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยดูแลรวม 99,886 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 2 กับข้อกังขามติ คชก.ให้ EIA โรงงานน้ำตาลผ่านรอบ 3

Posted: 26 Apr 2018 07:14 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตั้งข้อกังขา หลังรายงาน EIA โรงงานน้ำตาล มิตรกาฬสินธ์ ผ่านการพิจารณาในรอบที่ 3 ยังหวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำของชุมชน

ถึงแม้มติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภคที่สนับสนุน กรณีโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธ์ จำกัด จะผ่านรายงานการวิเคราะห์ในการพิจารณาในรอบที่ 3 เมื่อ 14 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา แต่ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรและอีกหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ในลำน้ำเซบายยังมีข้อกังขาว่าผ่านได้อย่างไรเมื่อบริษัทไม่สามารถที่จะตอบโจทย์หลายเรื่องด้านการมีส่วนร่วม ด้านคมนาคม และที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

โรงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด มีขนาดโครงการ 716 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา โดยมีกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นน้ำตาลดิบ ปริมาณ 302,520 ตัน/ปี

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และเจ้าหน้าที่ สผ. ได้ลงตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 และเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมครั้งที่ 26/2560 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 มีมติไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ โดยให้โครงการแก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด

ต่อมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับรายงาน ฉบับชี้แจงเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 ในการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 42/2560 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติไม่เห็นชอบรายงานฯ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด และถือว่าจบกระบวนการพิจารณารายงาน

แต่ต่อมาโครงการได้เสนอรายงานฯ ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2561 โดยขอลดขนาดพื้นที่โครงการ เป็น 702 ไร่ 2 งาน 53.77 ตารางวา คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เจ้าที่ สผ. ได้ตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2561 ฝ่ายเลขาได้พิจารณารายงานดังกล่าวแล้วมีความเห็นเบื้องต้นให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นการจัดการน้ำ รายละเอียดของโครงการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม การมีส่วนร่วมของประชาชน พื้นที่สีเขียว และมาตรการฯ กระทั้งมาถึงวันที่ 14 มี.ค. 2561 ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้มีการพิจารณา และมีมติเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทางบริษัทที่ปรึกษากลับไปทำรายงานฉบับสมบูรณ์

การที่มีมติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ให้ความเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานน้ำตาลผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ยังแนะให้บริษัทปฏิบัติตามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด

แต่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมในรัศมี 5 กิโลเมตรและชุมชนที่อาศัยทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย ก็มีข้อกังขาต่อมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็น การมีส่วนร่วมตั้งเริ่มกระบวนการที่จะต้องมีก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ประเด็นการจัดการน้ำในลำน้ำเซบาย ประเด็นความไม่เหมาะสมในพื้นที่ซึ่งจะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในการผู้พิจารณาไม่ควรจะชี้แนะและให้โอกาสโรงงานอุตสาหกรรมในการแก้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมซ้ำแล้วซ้ำอีก

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีมติจากกรรมการผู้ชำนาญการฯ ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด แต่ทางกลุ่มก็ยังมีข้อสงสัยหลายเรื่องโดยเฉพาะประเด็นการจัดการน้ำลำน้ำเซบาย เนื่องจากบ้านเชียงเพ็งเป็นหมู่บ้านรอยต่อระหว่างจังหวัดยโสธรและจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีลำเซบายเป็นตัวกำหนดเขตแดน และเป็นสายเลือดหลักของชุมชนในการหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนด้านการใช้ประโยชน์จากน้ำ ทั้งเป็นแหล่งหาอาหารหลักของชุมชน สามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชน

ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งในด้านการเกษตรโดยชุมชนอาศัยน้ำจากลำเซบายในการทำนาปี นาปัง ปลูกถั่วลิสง ปลูกพืชผัก ใช้เป็นน้ำประปาของหมู่บ้าน และการประมงของชุมชนทั้งสองฝั่งลำเซบาย ทำให้ชุมชนหลายชุมชนมีวิถีชีวิตในการผูกพันธ์กับทรัพยากรภายในชุมชน เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มหรือชาวบ้านเรียกว่าพื้นที่ทามทางทิศตะวันออกของชุมชนมีลำน้ำเซบายไหลผ่าน และยังมีห้วยอีเลิศอยู่ทางทิศใต้ของชุมชน หนองหัวควายอยู่ทางทิศใต้หมู่บ้าน เป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารให้พรานปลาได้หากิน โดยเฉพาะลำเซบายบายเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูน ซึ่งลำน้ำเซบายตอนกลาง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร อีกฝั่ง ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ในส่วนตำบลเชียงเพ็งจะมีชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งในลำน้ำเซบาย และมีวิถีชีวิตในการเข้าใช้ทรัพยากรจากดิน น้ำ ป่า อย่างหวงแหนทรัพยากรและเข้าใจระบบนิเวศลุ่มน้ำ

การที่จะมีบริษัทขนาดใหญ่สร้างใกล้ลำน้ำเซบายซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังระบุว่าจะมีการดึงน้ำจากลำน้ำเซบาย 2 ล้าน ลบ.ม/ปี นั้น เรามองว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่ชุมชนที่ใช้ประโยชน์ตลอดฤดูกาล  ที่ผ่านมาการออกมาปกป้องทรัพยากรของชุมชนเราได้มีกิจกรรมที่สะท้อนให้คนในชุมชนและคนภายนอกชุมชนได้เห็นมาตลอด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรม สืบชะตาลำน้ำเซบายซึ่งครั้งนี้เราจัดเป็นครั้งที่ 2  ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่หลากหลายให้ความสำคัญและมีประชาชนในลุ่มน้ำเซบายเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า มติ คชก.จะเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน แต่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายก็ยังมีแนวทางในการคัดค้านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่เราไม่เห็นด้วย

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การจัดงานสืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 2 นี้ ทางกลุ่มก็มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า

1.เพื่อต่ออายุและความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับลำน้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย การสืบชะตาให้กับลำน้ำจึงเป็นการแสดงความศรัทธา ความเคารพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อลำน้ำ

2.เพื่อเป็นการต่อชีวิตให้กับลำน้ำ และเป็นการขอขมาต่อลำน้ำ สายน้ำที่มีความสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งมวลรวมถึงผู้คนทั้งสองฝั่งลำน้ำและ เป็นการกระตุ้นเตือนให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลำน้ำมีจิตสำนึกช่วยกันรักษา สายน้ำแห่งนี้ให้ยืนยาวอย่างยั่งยืน

3.เพื่อสร้างความตระหนักของชุมชน ความหวงแหน ความเห็นคุณค่าจากการใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบาย

4.เพื่อสร้างความสามัคคีของคนทุกเพศ ทุกวัย ของชุมชน หน่วยงานราชการ และคนภายนอกได้เข้าใจและให้เห็นความสำคัญของลำน้ำเซบายที่เราได้ใช้ประโยชน์อยู่ทุกวัน 5.เพื่ออนุรักษ์ลำน้ำเซบายตลอดจนให้ชุมชน ทุกหน่วยงาน ออกมาช่วยกันปกป้องลำน้ำเซบายให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป

ในขณะที่ มติ คชก. จะเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 สิริศักดิ์ มองว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและครอบคลุมซึ่งทำให้บริษัทที่ปรึกษาไม่สามารถอธิบายได้ ประเด็นที่หนึ่ง ความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ ประเด็นนี้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทางบริษัทที่ปรึกษา จะต้องดำเนินการก่อนที่จะศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) ทั้งในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการวางแผน เพื่อการพิจารณาตัดสินใจในการลงทุนสำหรับโครงการ โดยการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรมจราจร เพื่อคาดการณ์สภาพและปริมาณการจราจรในอนาคตตลอดอายุโครงการ การสำรวจออกแบบเบื้องต้นของงานด้านวิศวกรรมต่างๆ สำหรับการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางในโครงการด้วยรูปแบบที่เหมาะสม การวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจสำหรับการลงทุนในการดำเนินโครงการ ด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างมูลค่าการลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ด้วยการสำรวจสภาพปัจจุบันและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินโครงการ และกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง วิเคราะห์ว่า ความเหมาะสมในการดำเนินโครงการควรที่จะมีก่อนการศึกษาการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรงงานอยู่ใกล้แหล่งน้ำสำคัญที่ชุมชนหลายชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงไม่เหมาะในการที่จะตั้งโรงงานในพื้นที่  

ประเด็นที่ 2 กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน การมีส่วนร่วมของของชุมชนถือว่าเป็นกระบวนการหลักถ้ามีโครงการหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ที่ผ่านมา ระบุถึง "การให้สิทธิแก่ชุมชน" ไว้ว่า "สิทธิ ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม" และปัจจุบันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 มาตรา ตามมาตรา 57 (1) รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม จัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการทำกิจกรรม โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย ตามมาตรา 57 (2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวิตภาพ โดยต้องให้ประชาชน และชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์ด้วย และตามมาตรา 78 รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน
จากสาระสำคัญดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐตื่นตัวในเรื่องการให้สิทธิชุมชนกับกระบวนการสร้าง การมีส่วนร่วม รัฐบาลตื่นตัวในการปรับการทำงาน ทั้งทางด้านนโยบาย และโครงสร้างการทำงาน โดยการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนดำเนินการใดๆ เช่นเดียวกับพื้นที่จะมีโครงการอุสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ที่จะเกิดขึ้นที่ ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดหวัดอำนาจเจริญ และกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็งก็อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ทั้งบริษัทที่ปรึกษาและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ภายใต้กระบวนการ 5 ระดับ ตามระดับการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม คือ

การ มีส่วนร่วมในระดับให้ข้อมูลข่าวสาร ที่ภาครัฐจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล ให้ภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล

การมีส่วนร่วมในระดับหารือ คือ ระดับที่ภาคประชาชนจะเป็นฝ่ายให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ

การมีส่วนร่วมในระดับการเข้ามามีบทบาท ซึ่งจะเป็นระดับที่ภาครัฐ และประชาชน จะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็นระหว่างกัน ในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ

การมีส่วนร่วมในระดับสร้างความร่วมมือ ภายใต้กระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการ หรือที่ปรึกษาร่วมภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อการทำงานและตัดสินใจร่วมกัน

การมีส่วนร่วมในระดับให้อำนาจแก่ประชาชน คือ กระบวนการทำประชามติของภาคประชาชน ที่ภาครัฐจะดำเนินการตามการตัดสินใจของประชาชน

ภายใต้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนข้างต้น ถือได้ว่าภาคบริษัทที่ปรึกษาและหน่วยงานภาครัฐจะต้องทำหน้าที่ให้เข้มข้นเพื่อดูทั้งเนื้อหาที่ภาคประชนนำเสนอข้อมูล และจะต้องฟังข้อมูลของคนในพื้นที่เพื่อนำไปตัดสินใจ แต่ที่ผ่านมากระมาบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้ครอบคลุมประเด็นทั้ง 5 ข้อ เพราะบริษัทละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากภาคประชาชนที่เห็นต่าง และไม่เคยวิเคราะห์ถึงข้อมูลและเหตุผลของกลุ่มคนที่คัดค้านโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะเห็นด้วยกับกลุ่มที่สนับสนุนใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ ฉะนั้นทำให้กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง วิเคราะห์ว่า บริษัทที่ปรึกษาซึ่งทำ EIA ของโรงงงานน้ำตาล ไม่ได้ทำตามขั้นตอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่แท้จริง อย่างเช่น 1.ตามการมีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารของโรงงานน้ำตาล ทั้ง 2 ด้านคือด้านลบและด้านบวก เพื่อให้คนในพื้นที่และระดับนักวิชาการได้ร่วมพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าจะเหมาะสมกับพื้นที่หรือไม่ 3.การมีส่วนร่วมในการระดับหารือ ที่บริษัทจะต้องให้ภาคประชาชนจะต้องเป็นฝ่ายให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงนั้น ที่ผ่านมาแม้แต่กระบวนทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ยังไม่เห็นว่าบริษัทจะทำตามกระบวนการเพื่อหารือ เนื่องจากการหารือจะต้องฟังข้อมูลข้อจริงจากฝ่ายที่เห็นต่างหรือคัดค้านด้วยหรือแม้แต่การประชามติในพื้นที่จะต้องทำสองส่วนทั้งผู้ที่เห็นต่างและผู้สนับสนุน ที่ผ่านมาทางกลุ่มยังไม่พบการทำประชามติที่ประชาชนจะได้มี่สวนร่วมเลย ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมจึงเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีโครงการโรงงานน้ำตาลซึ่งทางบริษัทไม่เคยที่จะยึดถือกระบวนการเหล่านี้ในการดำเนินตามขั้นตอน เป็นต้น

ถึงแม้ว่ากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจะรับรู้แล้วว่า มติ คชก. เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน แต่ชาวบ้านก็ยังมองว่ารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่ปรึกษาทำนั้นไม่เป็นธรรมกับคนในพื้นที่จริง ซึ่งชาวบ้านก็ยังมีแนวทางในการคัดค้านต่อไป เพื่อยับยั้งกระบวนการ EIA ที่ไม่ชอบธรรม และเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ขัดแย้งกับข้อมูลในระดับพื้นที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.สอบข้อเท็จจริงคลิปเสียงอ้าง 'ประยุทธ์' ล้มสรรหา กสทช. รู้ผลสอบภายใน 22 พ.ค.นี้

Posted: 26 Apr 2018 06:12 AM PDT

ประธาน กก.สอบข้อเท็จจริงคลิปเสียงพาดพิง 'ประยุทธ์' กรณีสรรหา กสทช.ระบุ รู้ผลสอบภายใน 22 พ.ค.นี้  ใช้นิติวิทยาศาสตร์หาความเชื่อมโยงเหตุการณ์ 'อภิสิทธิ์' ห่วงปมใช้ ม.44 ระงับสรรหา แนะเร่งสร้างความโปร่งใส 'จาตุรนต์' ชี้ทำลายความเป็นอิสระ ข้องใจอ้างกฎหมายมีปัญหาแล้ว อยู่ตั้ง 4 ปีทำไมไม่แก้

26 เม.ย.2561 ความคืบหน้ากรณีมีการเผยแพร่คลิปเสียงพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าไม่พอใจกับรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ 

วันนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่า การประชุมนัดแรกในวันนี้ (26 เม.ย. 61) จะมุ่งเน้นการตรวจสอบที่มาของคลิปเสียงดังกล่าวว่าเป็นคลิปเสียงจริงหรือมีการตัดต่อหรือไม่ ซึ่งเหตุผลที่ต้องตรวจสอบเนื่องจากการประชุมแต่ละครั้งเป็นความลับ ดังนั้นเมื่อมีคลิปเสียงออกมาจะส่งผลกระทบต่อการประชุม สนช. ในอนาคตได้ ทั้งนี้มีกรอบการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ซึ่งเรื่องนี้จะใช้หลักทางนิติวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบเพื่อหาความเชื่อมโยงเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจะพยายามหาบุคคลที่เป็นผู้นำคลิปเสียงดังกล่าวมาเผยแพร่ แต่จะเอาผิดบุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ต้องดูเจตนา ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อกฎหมายที่จะเอาผิดได้ ตลอดจนผลการหารือของคณะกรรมการฯ ที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่นเดียวกับกรณีของสื่อมวลชนที่นำคลิปมาเผยแพร่ต้องตรวจสอบถึงเจตนาในการเผยแพร่เช่นเดียวกัน

ส่วนกรณีที่ถูกพาดพิงว่าเป็นหนึ่งในเสียงที่ปรากฏในคลิปนั้น พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยืนยันว่า ไม่ใช่เสียงของตนอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้ร่วมเป็นกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ และไม่ได้แสดงความเห็นในที่ประชุม สนช. พร้อมกับปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าจะมีการฟ้องร้องผู้ที่กล่าวหาหรือไม่ โดยเชื่อว่าข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง และปัจจุบันสามารถพิสูจน์เสียงทางวิทยาศาสตร์ได้

'อภิสิทธิ์' ห่วงปมใช้ ม.44 ระงับสรรหา แนะเร่งสร้างความโปร่งใส

ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการใช้มาตรา 44 ระงับการสรรหา กสทช. ว่า ถือเป็นปมที่น่าเป็นห่วง เพราะเรื่องของความเป็นอิสระของ กสทช.จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทีนี้พอก็มาเจอปัญหานี้ ซึ่งเคยเจอกับเรื่อง กกต.มาแล้วครั้งหนึ่งว่า มันเกิดอะไรขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการสรรหา แล้วกำหนดกติกาเกี่ยวกับองค์กรอิสระเหล่านี้ ความจริงรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายลูกก็ดี พวกท่านเขียนขึ้นมาเองกันทั้งนั้น แต่ทำไมกระบวนการสรรหาขณะนี้ล้มเหลว ตอนนี้ กกต.ก็ต้องมาทำอีกรอบ แล้ว กสทช.นี้หนักกว่าอีกก็คือว่า พอสรรหาล้มเหลวเสร็จ ขณะนี้มีการใช้มาตรา 44 มาบอกระงับการสรรหาไว้ก่อน แต่ไม่ระบุให้ชัดว่าที่ระงับไปนี้ แล้วปัญหาที่จะต้องแก้นั้นคืออะไรให้เกิดความโปร่งใส แล้วก็มาจังหวะที่ไม่ค่อยดีอีก เพราะว่าพอตอนที่มันมีการล้มไป ก็เกิดปัญหาเรื่องคลิปเสียง แล้วก็ไปกล่าวหากันว่า เป็นเพราะว่าผู้นำไม่พึงพอใจ ก็เลยต้องสรรหาใหม่ แล้วก็ยังมีข่าวลือเสียอีกว่าบุคคลซึ่งอยู่ในแวดวง กสทช.ขณะนี้จะเตรียมตัว หรือผู้มีอำนาจอยากเตรียมตัวให้เข้ามาต่อไป แล้วตอนนี้ก็กลายเป็นระงับทุกอย่างแล้วก็บอกว่าคนเก่าทำงานไปก่อน มันก็เลยดูไม่ค่อยงาม แล้วก็น่าเป็นห่วงด้วย

'จาตุรนต์' ชี้ทำลายความเป็นอิสระ ข้องใจอ้างกฎหมายมีปัญหาแล้ว อยู่ตั้ง 4 ปีทำไมไม่แก้

ด้าน จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟสบุ๊คถึงกรณีนี้ด้วยว่า การที่ คสช.ออกคำสั่งล้มการสรรหาและกำหนดแนวทางดูแลทีวีดิจิตอล เป็นการรวมศูนย์ กำหนดความเป็นไปและการตัดสินใจของ กสทช.ไว้ในมือของ คสช. โดยเฉพาะหัวหน้า คสช.ตามลำพัง การออกคำสั่งเช่นนี้ เป็นเหมือนบทสรุปที่ คสช.ได้กระทำต่อ กสทช. คือ ยึดเอาอำนาจทุกอย่างไปจาก กสทช.จนไม่เหลือสภาพของการเป็นองค์กรอิสระ ที่ควรจะวางตัวเป็นกลาง และมีหน้าที่ดูแลให้เกิดการกระจายการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติ ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในสังคมให้มากที่สุด</p>
 
"ความจริง คสช.ได้ทำลายความเป็นอิสระของ กสทช.จนเกือบไม่เหลืออะไรมานานแล้ว เช่น ออกคำสั่งกำหนดการใช้จ่ายเงินรายได้จากการประมูลเสียเอง และให้โอนเงินรายได้ที่เหลือเข้าคลัง การแทรกแซง กสทช.ครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการทำให้ กสทช.กลายเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ด้วยการสั่งปิดทีวีหรือวิทยุที่เห็นว่าขัดคำสั่ง คสช.ตามอำเภอใจและเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ กสทช.พึงกระทำเลย" จาตุรนต์ โพสต์
 
จาตุรนต์ โพสต์ด้วยว่าการออกคำสั่งครั้งล่าสุดนี้ นอกจากทำให้ กสทช.จะต้องอยู่ต่อไปอย่างไม่มีอนาคต และไม่มีหน้าที่รับผิดชอบที่เป็นแก่นสารแล้ว ยังมีการดูแลทีวีดิจิตอลที่ทำให้เกิดการได้หรือเสียผลผระโยชน์มหาศาลของบริษัทเอกชน ซึ่งแทนที่จะให้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการรักษาผลผระโยชน์ของประเทศและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การรับผิดชอบทั้งหมดกลับกลายเป็นของ คสช.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่ไม่มีใครตรวจสอบถ่วงดุลได้ หรือแม้แต่จะวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ จึงไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องกันมากน้อยเพียงใด ส่วนที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. ออกมาแก้ต่างให้ คสช.ในเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะกฎหมาย กสทช.มีปัญหานั้น ต้องถามว่าอยู่กันมาจะ 4 ปีแล้ว ไปทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่แก้ไขเสีย และในครั้งนี้ทำไมจึงไม่เลือกวิธีแก้กฎหมายแทนที่จะออกคำสั่งที่เป็นการทำลายระบบเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ของประเทศ และกำลังทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก

 

ที่มา : เว็บไซต์ข่าวรัฐสภา แนวหน้า และไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับทาสแมว เมื่อชุมชนป้อมมหากาฬไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือคน (และแมวเหมียว)

Posted: 26 Apr 2018 05:57 AM PDT

คุยกับอาสาสมัครและชาวชุมชนที่ดำเนินการนำแมวออกจากพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬที่กำลังถูกรื้อ เพจดัง 'ทูนหัวของบ่าว' ชวนอาสาสมัครเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันนำแมวไปฉีดวัคซีนและตรวจโรค ก่อนประกาศหาเจ้าของไปรับเลี้ยงต่อไป (มีประมวลภาพท้ายข่าว)

แมวนอนอยู่ท่ามกลางเศษวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนป้อมมหากาฬ

26 เม.ย. 2561 พื้นที่ภายในกำแพงของชุมชนป้อมมหากาฬเดิมคลาคล่ำไปด้วยชาวชุมชนบางส่วนและเหล่าผู้ใช้แรงงานที่มาขนย้ายสิ่งของและรื้อบ้าน หลังจากชาวชุมชนที่เหลือตัดสินใจย้ายออกเมื่อวานนี้ และได้มีการจัดงานอำลาชุมชนที่ยืนหยัดต่อสู้ถึง 26 ปีเพื่ออยู่ในที่ดินเดิมในฐานะ 'พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต' ด้วยการรักษาวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนไว้

นอกจากเสียงของการรื้อย้าย ยังมีเสียงร้องเหมียวๆ จากเจ้าแมวที่เดิมอาศัยในชุมชนป้อมมหากาฬร่วมกับมนุษย์ มันถูกแปรสภาพเป็นแมวจรไปในชั่วข้ามคืนเมื่อชาวชุมชนที่ย้ายออกไปไม่ได้มันนำไปด้วยอันมาจากเหตุว่า หนึ่ง แมวเหล่านี้ไม่มีเจ้าของเป็นตัวเป็นตน (ตัวที่มีเจ้าของก็ได้นำออกไปแล้ว) สอง ชุมชนกัลยาณมิตร เขตบางซื่อที่ทางชุมชนป้อมฯ ได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายที่นั่นให้ไปอาศัยเป็นชุมชนใหม่ชั่วคราว และบริเวณนั้นเลี้ยงสุนัขกันเป็นส่วนใหญ่

ผลลัพธ์ของการแปรสภาพชุมชนเป็นสวนสาธารณะที่เริ่มจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติในปี พ.ศ. 2502 จึงไม่เพียงแต่ทำให้เกิดภาวะ 'คนไร้บ้าน' แต่ยังมีการทำให้เกิดภาวะ 'แมวไร้บ้าน' หนึ่งในชาวชุมชนระบุว่า มีแมวที่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลังเป็นจำนวนราว 10-20 ตัว เครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนรักแมวทั้งหลายจึงกระจายข่าวเรื่องแมวไร้บ้านจนมีการนัดหมายอาสาสมัครมาทำกิจกรรมช่วยนำแมวออกจากชุมชนเพื่อไปหาเจ้าของใหม่

แมวฝาแฝดถูกอาสาสมัครจับไว้ในกรง

เมื่อ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา เพจ Kingdom Of Tigers: ทูนหัวของบ่าว ได้เชิญชวนอาสาสมัครมานำแมวออกจากชุมชนในเวลา 13.00 น. ของวันนี้ โดยแมวเหล่านี้จะถูกนำไปตรวจเลือด ทำหมันและทำการรักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี เป็นผลให้มีอาสาสมัครมาร่วมด้วยช่วยกันจำนวนหนึ่งในวันนี้ ซึ่งมีจากที่มาตามนัดหมาย และมาช่วยเหลือเนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้เคียงและรู้จักกับคนในชุมชน

อมรินทร์ หนึ่งในอาสาสมัครที่มานำแมวออกจากชุมชน

อมรินทร์ (สงวนนามสกุล) หนึ่งในอาสาสมัครที่มาช่วยจับแมวระบุว่า เห็นข่าวจากเพจทูนหัวของบ่าว และอยากให้แมวทุกตัวได้บ้าน จึงอาสามาร่วมด้วยช่วยกัน โดยแมวที่ถูกจับวันนี้ดูเครียด ซึ่งเป็นปรกติของแมวเวลาถูกจับขังหรือเดินทางก็จะเครียด ไม่ยอมกินอาหาร หนักๆ ก็อาจจะมีผายลม ทั้งยังเชิญคนที่รักแมวให้มาดูเผื่อจะถูกโฉลกกับน้องๆ เพราะแมวที่นี่น่ารักทุกตัว อาจจะเครียดนิดๆ แต่พอเลี้ยงๆ ไป เขาก็จะรักเจ้าของเอง

"เผอิญเลี้ยงแมวอยู่แล้วสองตัว ตอนแรกก็ไม่ได้รักแมว แต่รับแมวจรมาเลี้ยงแล้วผูกผัน ก็เลยรักแมว"

"รู้สึกดี อยากให้แมวได้บ้านทุกตัว มีคนที่บริจาคกรงจากลาดกระบัง ไปเอากรงแล้วก็รีบเอามาทางนี้ ทางทูนหัวของบ่าวจะโพสท์ภาพแมวทุกตัวลงผ่านเพจของเขาเพื่อหาเจ้าของ" อาสาสมัครหนุ่มกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหล่าอาสาสมัครกระจายตัวรอบๆ พื้นที่เพื่อตามหาแมว แมวที่ชุมชนจำนวนหนึ่งเป็นมิตรกับผู้คนที่เข้าหา แต่เมื่อถูกจับเข้ากรงจะมีอาการเครียด สังเกตได้จากอาการขนพอง การส่งเสียงร้องตลอดเวลา และพยายามแหกกรงออกมา อาสาสมัครต้องใช้อาหารเข้าล่อ เมื่อจับเข้ากรงได้ก็ให้อาหารและกิ่งไม้ให้แมวแทะเล่น แต่แมวบางตัวยังคงนิ่งและสุขุมแม้จะถูกจับเข้ากรง

ซ้ายไปขวา: จินห์จุฑา รุจิระกำธรชัย สุภาภรณ์ ราชอุไร

จินห์จุฑา รุจิระกำธรชัย หนึ่งในอาสาสมัครที่มาช่วยกันนำแมวออกจากพื้นที่ระบุว่าแมวที่จับนั้นคุ้นคนและน่ารัก เธอได้รับข่าวสารจากเพจแมวที่เธอเป็นสมาชิกและติดตาม เธอมีประสบการณ์ในการเลี้ยงแมว และถ้าจับแมวจรแถวบ้านได้ก็จะนำไปทำหมัน วันนี้เธอมากับเพื่อนอีกหนึ่งคน

"ปรกติตามกลุ่มเพจแมว เห็นเพจทูนหัวของบ่าวลง แล้วว่างก็เลยมา เพราะมีประสบการณ์ในการดูแลแมว" 

"เพิ่งจับได้ตัวสองตัว คิดว่ายังร้อนอยู่ มันเลยไม่ออกมา แต่ตัวที่จับได้ไม่มีตัวไหนที่ขู่ เขาคุ้นคน จับง่าย น่ารัก" จินห์จุฑากล่าวในช่วงเที่ยงวัน

อาสาสมัครสาวคนเดิมทิ้งท้ายว่าการรับเลี้ยงแมวจรมีส่วนช่วยลดการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ว่าจากการรวมกลุ่มกันเยอะๆ ของแมวจร การกิน การขับถ่าย แม้แต่การถูกรถทับ และแมวจรก็น่ารักไม่ต่างอะไรกับแมวพันธุ์เลย

ระพีพรรณ ดวงราษี

ระพีพรรณ ดวงราษี ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ อายุ 49 ปี อดีตเจ้าของบ้านเลขที่ 119 ที่เพิ่งย้ายออกเมื่อวานนี้ ปัจจุบันเช่าบ้านอยู่บริเวณใกล้เคียง มีอาชีพค้าขายไก่ย่าง ส้มตำระบุว่า ดีใจที่มีคนประสานรับแมวไปเลี้ยง เพราะตอนแรกเป็นห่วง เนื่องจากเธอผูกพันกับแมวเหล่านี้มานาน เอาอาหารเย็นมาให้แมวกินตลอด และวันนี้เป็นอีกวันที่เธอมาให้อาหารแมว สังเกตจากจานข้าวที่เธอลงมือคลุกปลาทูเอง

"คุ้นเคยเพราะเอาข้าวมาให้กินทุกเย็น เป็นความผูกพัน พอจะไปเราก็เป็นห่วง ใจหาย แต่ก็ดีใจที่น้องๆ มารับเอาไป ไม่ห่วงแล้ว"

"บางตัวก็มี (เจ้าของ) บางตัวก็ไม่มี อาศัยกินอยู่กับพวกเรา พอเราค้าขายกลับมามันก็มาเรื่อยๆ ได้กินอยู่อย่างนี้"

รพีพรรณกล่าวพลางน้ำตาไหลว่าอยากให้แมวไปเจอคนรับอุปการะที่ดี "เอาไปเลี้ยง ฝากให้รักเขาเหมือนกับที่ป้ารัก ฝากดูแลเขา อยากให้เขาไปเจอที่ดีๆ ไปเจอคนดีๆ เลี้ยงเขา พูดแล้วก็จะร้องไห้ คิดถึง"

ปัจจุบันชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่เหลือจำนวน 7-8 ครัวเรือน จำนวนราว 30 คน ได้ย้ายที่อยู่ไปยังชุมชนกัลยาณมิตร บริเวณวัดสร้อยทองตั้งแต่เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 61) วันนี้จึงเป็นวันที่สองของการขนย้ายสิ่งของของชาวชุมชน กระบวนการขนย้ายสิ่งของดำเนินไปพร้อมกับการรื้อบ้าน โดยไม้ที่ถูกรื้อไปจะกลายเป็นวัตถุในการสร้างชุมชนป้อมมหากาฬใหม่

พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬระบุว่า ชาวชุมชนที่ย้ายออกไปอยู่กับชุมชนกัลยาณมิตร จะเก็บเงินเพื่อสร้างชุมชนป้อมมหากาฬใหม่บริเวณพุทธมนฑลสาย 2 แต่ก็คงใช้เวลาเพราะที่ดินที่ดูไว้ขนาด 106 ตร.ว. มีราคาราว 3 ล้าน 7 หมื่น 4 พันบาท สาเหตุที่เลือกที่ดังกล่าวเพราะว่ายังไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากและสัญจรสะดวก โดยคิดว่าคงจะเอาเงินที่ชุมชนออมร่วมกันหลักหนึ่งแสนบาทไปหาทุนเพิ่มเติม

ปัจจุบันมีชาวชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาเก่าบริเวณแม้นศรี ชาวชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ย้ายออกไปก่อนแล้ว เมื่อเดือน ม.ค. มีชาวชุมชนไปอาศัยที่การประปาประมาณ 60 คน โดยจะมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อไปกู้เงินกับสภาพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. ซื้อที่ดินและปลูกบ้านบริเวณเกียกกาย ร่วมกับชุมชนทอผ้าที่จะย้ายไปอยู่ที่เดียวกัน

ผู้สนใจช่วยเหลือในด้านต่างๆ ติดต่อได้ที่เพจ Catster by Kingdomoftigers และ Kingdom Of Tigers: ทูนหัวของบ่าว

ประมวลภาพพื้นที่ชุมชนในวันนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ให้คุกกี้ทำนายกัน

Posted: 26 Apr 2018 04:33 AM PDT



๏ในนามของความเป็นกฎหมาย
ก็ดูละม้ายจะต้องพ่ายแพ้เขา
เพราะคู่ต่อสู้ของเรา
ก็คือพวกเขาเหล่าผู้รู้กฎหมาย

๏ กฎหมายคือการใช้ช่องว่าง
ที่มีระหว่างใต้บรรทัดมากมาย
มาตราที่สาธยาย
จะเป็นธรรมได้ก็อยู่ที่ผู้รักษา

๏ กฎหมายเมื่อใช้ฉลาดบท
ก็จึงปรากฎกันอยู่หลายครั้งครา
โจทก์เอย และจำเลยที่ผ่านมา
เรื่องการพิพากษาเป็นธรรมมากแค่ไหน

๏ คำถามต้อยตามการสื่อข่าว
ทุกถ้อยการบอกกล่าวฟังก็น่าเจ็บใจ
หากลึกลงถึงรากข้างใต้
อะไรหนอชอนไชเน่าในมีแต่หนอน

๏ ในนามของตาดำประชาชน
อาภัพสับสนเหมือนหลงวนในละคร
คันฉ่องวางตั้งมองยอกย้อน
ใจหายอกสะท้อนเกินจะนอนหลับฝัน

๏ ชีวิตที่หลงทิศหลงทาง
เหมือนบินบนฟ้ากว้างแล้วพบกระจกคั่น
แท้แล้วในโหลแก้วกว้างนั้น
ล้วนพวกเราอยู่กันตกขลักสิ้นดี

๏ ในนามของความเป็นพลเมือง
ไม่รู้สักกี่เรื่องไม่เคยลงเอยสักที่
อำนาจช่างบาทใหญ่สิ้นดี
สุดท้ายแล้วเรื่องนี้...ให้คุ้กกี้ทำนายกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนใหญ่คนโต' ในอินโดฯ ถูกตัดสินกรณีทุจริตคอร์รัปชันในที่สุดหลังลอยนวลมานาน

Posted: 26 Apr 2018 04:29 AM PDT

อินโดนีเซียมีอดีตโฆษกรัฐสภาที่ลอยนวลจากกรณีการทุจริตต่างๆ มานาน จนถูกมองว่า "แตะต้องไม่ได้" แต่ในที่สุดเขาก็ถูกตัดสินให้มีความผิดในคดีที่เป็นประเด็นอื้อฉาวใหญ่โตอย่างการยักยอกเงินโครงการบัตรประชาชนอิเล็กโทรนิคเป็นเงินมากกว่า 170 ล้านดอลลาร์  

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 ศาลคดีทุจริตคอร์รัปชันประจำรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ตัดสินให้เซตยา โนวานโต อดีตโฆษกรัฐสภาอินโดนีเซียจำคุก 15 ปี โทษฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งถือเป็นคดีใหญ่คดีหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตสูงอย่างอินโดนีเซีย และถือเป็นการปิดฉากของโนวานโตผู้ที่ถูกมองว่าเป็นคนที่ "แตะต้องไม่ได้" มาโดยตลอดก่อนหน้านี้

ข้อหาที่ทำให้โนวานโตถูกตัดสินความผิดในครั้งนี้คือกรณีที่เขาเคยอยู่เบื้องหลังการยักยอกทรัพย์จากโครงการบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กโทรนิคเป็นเงินมากกว่า 170 ล้านดอลลาร์ 

ผู้พิพากษาตัดสินว่า "มีการพิสูจน์แล้วว่าเชตยา นาวานโต กระทำความผิดข้อหาทุจริตคอร์รัปชันร่วมกันกับบุคคลอื่นๆ" โดยที่โนวานโตให้การต่อศาลว่ายังไม่ตัดสินใจในเรื่องที่จะอุทธรณ์หรือไม่ ส่วนอัยการกล่าวว่าเขาอุทธรณ์ขอให้โนวานโตได้รับโทษหนักขึ้น

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าการตัดสินคดีในครั้งนี้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความตกต่ำของคนที่เคยเป็นผู้มีอำนาจสูงมากในอินโดนีเซีย โดยที่โนวานโตมีกรณีอื้อฉาวการทุจริตคอร์รัปชันหลายกรณีในอินโดนีเซียแต่ก็ไม่ได้รับผิดใดๆ มาโดยตลอดจนถูกมองว่าไม่อาจแตะต้องได้

ก่อนหน้าที่โนวานโตจะถูกตัดสินในคดีนี้ เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย ถูกตัดสินในเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับโครงการเดียวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่โนวานโตพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมขึ้นศาลมาโดยตลอดในช่วงที่มีการพิจารณาคดีเมื่อปี 2560 และเมื่อเดือน ก.ย. 2560 ศาลแขวงในจาการ์ตาก็ตัดสินให้โนวานโตพ้นจากการเป็นผู้ต้องสงสัยโดยอ้างว่าหลักบานและคำให้การของผู้ต้องสงสัยรายอื่นไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ แต่ต่อมาพนักงานสืบสวนก็เก็บหลักฐานได้มากขึ้นจนกระทั่งในเดือน พ.ย. 2560 ก็ออกหมายจับโนวานโตได้

นอกจากกรณีโกงเงินโครงการบัตรประชาชนแล้ว ยังมีตัวอย่างการทุจริตของโนวานโตอีกหลายกรณี เช่นในปี 2558 มีเทปบันทึกเรื่องที่เขาพยายามขู่กรรโชกขอหุ้นส่วนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จากบริษัท Freeport-McMoRan บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันที่ตั้งสาขาหน่วยย่อยในอินโดนีเซีย ในช่วงนั้นโนวานโตลาออกจากตำแหน่งโฆษกรัฐสภาท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวแต่ต่อมาเมื่อสำนักงานอัยการยกเลิกสืบสวนเรื่องนี้ก็ทำให้โนวานโตได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้งในปี 2559

นอกจากนี้โนวานโตยังมีประวัติเคยพบเจอกับโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงปี 2558 ที่ยังคงเป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยที่ทรัมป์บอกว่าโนวานโตและนักการเมืองอินโดนีเซียอื่นๆ เป็น "คนที่ดีเยี่ยม"

กรณีการโกงโครงการบัตรประชาชนล่าสุดทำให้ชาวอินโดนีเซียไม่พอใจอย่างมากจนประชาชนจำนวนมากถึงขั้นเรียกร้องให้มีการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตโนวานโตจากการสำรวจโดยองค์กรเอ็นจีโอตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันวอทช์ของอินโดนีเซีย โดยที่แอดนัน โทปาน ผู้ประสานงานของคอร์รัปชันวอทช์กล่าวว่าเรื่องอื้อฉาวในการทุจริตครั้งนี้ส่งผลต่อชีวิตผู้คนโดยทำให้ชาวอินโดนีเซียบางคนได้รับบัตรประจำตัวประชาชนล่าช้าไปด้วย

เรียบเรียงจาก

Top Indonesian Official, Long Seen as Untouchable, Gets Prison for Graft, New York Times, 24-04-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงาน GM จ่อร้องสถานทูตสหรัฐฯ วันกรรมกรสากล กำกับนักลงทุนเคารพสิทธิแรงงาน

Posted: 26 Apr 2018 04:04 AM PDT

วันกรรมกรสากลนี้ สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส เตรียมร้องเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ควบคุมและดูแลนักลงทุนยุติการละเมิดสิทธิและเคารพต่อสิทธิแรงงาน รวมทั้งเคารพสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน

แฟ้มภาพ

26 เม.ย.2561 ความคืบหน้ากรณีปัญหาข้อพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย กับ บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวสอบถาม บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก และกรรมการบริหารสมัชชาคนจนฝ่ายกฎหมายแรงงาน เปิดเผยว่า วันที่ 1 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นวันกรรมกรสากล สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส มีกำหนดว่าจะเข้ายื่นหนังสือต่อเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้สหภาพแรงงานเจอเนอรัลมอเตอร์ส และเรียร้องให้สหรัฐอเมริกาต้องยุติการละเมิดสิทธิแรงงาน 

บุญยืน กล่าวว่าจะเป็นการยื่นข้อเรียกร้องผ่านเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย 2 ฉบับ ฉบับแรกยื่นหนังสือถึงประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาควบคุมและดูแลนักลงทุนจากประเทศของตนให้ยุติการละเมิดสิทธิและเคารพต่อสิทธิแรงงาน รวมทั้งเคารพสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน ในกรณีสหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย และติดตามทวงถามความคืบหน้าถึงหนังสือร้องเรียนการละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมบทลงโทษ ที่เคยได้ร้องเรียนเมื่อเดือนมี.ค. 2556 จากเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย 

อีกฉบับยื่นหนังสือผ่านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ถึงบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์สสหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่ เพื่อให้รับทราบปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากการกระทำของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์สสหรัฐอเมริกา ตลอดจนให้เร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้น แสดงความรับผิดชอบจากการกระทำของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย เพื่อให้ยุติการละเมิดและให้เคารพสิทธิแรงงาน เคารพสิทธิในการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานโดยเร็ว

บุญยืน กล่าวว่า จึงเป็นการตามเรื่องเก่าและแก้ปัญหาเรื่องใหม่ 

 
สำหรับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานของคนงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส เครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย ได้สรุปไว้ว่า กรณีดังกล่าวมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2556 และนายจ้างใช้สิทธิปิดงาน (งดจ่ายจ้าง) เฉพาะพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 300 คน จนเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 สมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 72 คน ทนต่อสภาวะเศรษฐกิจไม่ไหว จึงรับข้อเรียกร้องของนายจ้างทั้งหมดเพื่อขอกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างกลับไม่ให้สมาชิกสหภาพแรงงานเข้าทำงานแต่อย่างใด สมาชิกสหภาพแรงงาน พร้อมกับประธานและเลขาธิการสหภาพแรงงาน รวมทั้งหมด 72 คน จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เรื่อง การกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งต่อมา ครส.มีคำสั่งให้บริษัทฯ รับสมาชิกสหภาพแรงงาน 70 คนกลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าเสียหายนั้น
 
บริษัทฯ จึงเรียกพนักงานทุกคนให้ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานที่สนามกอล์ฟ พัฒนากอล์ฟคลับ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 ทั้งยังยื่นชุดข้อเสนอให้พนักงานพิจารณา และยื่นหนังสือคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยปรับลดค่าจ้างเหลือเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ 9,600 บาท ตัดสวัสดิการทั้งหมด และลดตำแหน่งความรับผิดชอบ โดยมอบหน้าที่ใหม่ให้ไปขูดสีตีเส้นบริเวณพื้นของคลังสินค้าดังกล่าว เป็นแรงงานไร้ฝีมือ โดยสั่งให้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2561 
 
คำสั่งของนายจ้างข้างต้น ทำให้พนักงานหลายคนวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะต้องแยกกันอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดระยองและใกล้เคียง พนักงานส่วนใหญ่จึงตัดสินใจไม่เดินทางไปตามคำสั่งของนายจ้าง และต้องยอมลาออกไปเองเพราะไม่สามารถทนทำงานในสถานที่ทำงานแห่งใหม่และสภาพการจ้างานใหม่ได้ เหลือพนักงานที่สามารถเดินทางไปทำงานที่คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียง 9 คน 
 
เครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ฯ ชี้ว่า ผลกระทบจากคำสั่งของนายจ้างถือเป็นการกลั่นแกล้งพนักงาน ให้ไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน สิทธิมนุษยชน และมีเจตนาทำลายสหภาพแรงงานอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้ง 9 คนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากรายได้ลดลงและไม่สามารถดูแลลูกและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามฉุกเฉิน รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ในจำนวนพนักงาน 9 คนมีพนักงานหญิง 1 คนที่ต้องเดินทางไปทำงานร่วมกับพนักงานชาย 8 คน ต้องเสาะหาที่พักเพียงลำพัง ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิง ทั้งยังเป็นการกดขี่ทางเพศอย่างรุนแรง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บก.ลายจุด เทียบมรดก คสช. เหมือนกองขี้ของโจรที่ปล้นบ้าน ถึงเวลาต้องทำความสะอาด

Posted: 26 Apr 2018 03:06 AM PDT

สมบัติ บุญงามอนงค์  บก.ลายจุด แห่งพรรคเกรียน เลียนแบบฉลาด วรฉัตร เทียบมรดก คสช. (รธน.-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) เหมือนกองขี้ของโจรที่ปล้นบ้าน เมื่อถึงเวลาคนในบ้านต้องล้าง และทำบุญบ้านใหม่ พร้อมเสนอนโยบายไม่สนคำสั่ง คสช. ชูยกร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 ในงานนิทรรศการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่ม Saycular ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ "ให้พรรคใหม่ทำนาย...กัน : บทบาทพรรคใหม่ต่ออนาคตการเมืองไทย" โดยในเวทีดังกล่าวได้มีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหมด 4 พรรค หนึ่งในนั้นือ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน ร่วมเสวนาด้วย

สมบัติ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาถึงเรื่องอนาคตการเมืองไทยภายใต้กติกาของ คสช. ว่า อย่าไปกังวลกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมากนักเพราะเอาเช้าจริงแล้วก็ยังไม่รู้ว่าคนร่างยุทธศาสตร์จะมีอายุยาวไปถึงวันที่ยุทธศาสตร์ชาติบังคับใช้ครบ 20 ปีหรือไม่ พร้อมชี้ให้เห็นว่า กติตาต่างๆ ที่ คสช. กำหนดไว้สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไขได้

"ผมอยากจะเล่าเรื่องหลังเหตุการณ์ปี 2535 ตอนนั้นเราใช้รัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งร่างโดย รสช. มีอยู่วันหนึ่งเรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ออกมาอดข้าวประท้วงที่หน้ารัฐสภาเรียกร้องให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช้แก้ไขนะ แต่เป็นยกร่าง ตอนนั้นรัฐบาลชวน ก็บอกว่ายกร่างไม่ได้ ถ้าตรงไหนมีปัญหาก็แก้ไขเพียงบางมาตรา จะไปแก้ทั้งหมดทำไมมันเสียเวลา อันไหนไม่ดีก็แก้เป็นมาตราๆ ไป คุณฉลาด วรฉัตร อธิบายอย่างนี้... แกอุปมา อุปมัยว่า บ้านหลังหนึ่งมีโจรบุกมาปล้นบ้าน พอโจรเข้ามาปล้นก็ยึดบ้านไว้ แล้วชิงเอาเงินทองไปเรียบร้อย ก่อนโจรจะออกไปได้ขับถ่ายอุจจาระไว้กองหนึ่ง คือ ขี้ นั่นแหละ ถ่ายไว้กลางบ้าน แล้วก็สั่งให้คนที่อยู่ในบ้านทั้งหมด บอกว่าเดี๋ยวตนเองจะออกไปแล้ว แต่สั่งคนที่อยู่ในบ้านห้ามยุ่งอะไรกับกองอุจจาระอันนี้

ทีนี้ปี 2538 รสช. ก็ไปเรียยร้อย แต่คนในบ้านทะเลาะกันว่า ไอ้รัฐธรรมนูญปี 2534 จะเอาไว้ดีไหม เราไปแก้มันได้หรือเปล่า มันเป็นเรื่องน่าตลกมา ตอนนี้มันอาจจะไม่ตลกเพราะมันมี คสช. แต่พอ คสช. ไปมันก็จะเป็นเรื่องที่น่าขบขันมากเลยที่เราจะมาใช้รัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ 2 ปีของ คสช. มันเป็นเรื่องตลกมากที่เราจะมาถียงกันว่า เราจะเก็บไอ้สิ่งนี่ของ คสช. ไว้หรือไม่"

เขายังตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า เพราะอะไรทุวกวันนี้พรรคการเมืองจึงไม่สามารถนำเสนอนโยบายได้ แม้จะเข้าใจว่ามีคำสั่งของ คสช. ห้ามอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลที่จะเข้าใจได้ เพราะธรรมชาติของพรรคการเมืองคือการนำเสนอนโยบายให้กับประชาชน

"ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงพูดนโยบายไม่ได้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคการเมืองที่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ทำไมถึงพูดนโยบายที่จะเสนอต่อสาธารณะในการพัฒนาประเทศไม่ได้ ในระบบตรรกะนะ ผมไม่เข้าใจ นอกจากเราจะอธิบายว่า มันมีคำสั่ง คสช. บอกว่าไม่ได้ เราก็เลยบอกว่า ไม่ได้ แต่มันโคตรไม่มีเหตุผลเลยนะครับ ลองไล่ตามลอจิก(Logic) ดีๆ พรรคการเมืองมันต้องทำหน้าที่เสนอนโยบายสาธารณะให้กับประชาชน แล้วคุณไม่ต้องคิดไม่ต้องเสนอแล้วรอให้เขาเคาะระฆัง เป่านกนกหวีด แล้วก็บอกว่า ได้เวลาแล้วพวกคุณ"

ขณะเดียวกันเขาได้เสนอนโยบาย โดยไม่สนว่า คสช. จะสั่งห้ามไว้ โดยให้ถือเป็นนโยบายของพรรคเกรียน โดยเสนอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

"ผมนึกถึงคำพูดของคุณฉลาด วรฉัตร ผมว่าเรื่องนี้คนในบ้านต้องล้างบ้าน เราจะอยู่ภายใต้มรดกของเผด็จการแบบนี้ไม่ได้ พอ คสช. ไปแล้ว นอกจากทำบุญประเทศให้เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องล้างบ้านให้มันเป็นสิริมงคลกับประเทศ"

เมื่อถามว่า หาก คสช. ยังวันเวียนอยู่ในบ้านจะทำอย่างไร สมบัติ ตอบว่า ก็ต้องเชิญออกไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. แจงไม่ได้ปกป้อง รบ.ไทย ปมตั้งคณะทำงานสอบรายงานสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐฯ

Posted: 26 Apr 2018 02:58 AM PDT

สำนักงาน กสม. แจง การแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายงานสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐฯ  เป็นหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ยืนยันมิได้ปกป้องรัฐบาลไทยหรือขาดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่

 
26 เม.ย.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) แจ้งว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ สนง.กสม. เผยแพร่ข่าวที่ประชุม กสม. ด้านบริหาร มีมติแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวังการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยมีเลขาธิการ กสม. เป็นประธาน เพื่อดำเนินการตรวจสอบกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ (รวมทั้งประเทศไทย) ประจำปี ค.ศ. 2017 และมีการเผยแพร่คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 1/2561 กรณีการรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เป็นกรณีแรก กระทั่งมีเสียงสะท้อนว่า กสม. ไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล แต่กลับดำเนินการตรวจสอบผู้จัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเสียเองนั้น

สนง.กสม. ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้ 1. การแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวังการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ของ กสม. เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) และมาตรา 44 ซึ่งกำหนดให้ กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม  การแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จึงเป็นการทำหน้าที่ของ กสม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิใช่การตรวจหาความผิดของผู้จัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

2. ที่ผ่านมาในระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กสม. มีความห่วงกังวลในประเด็นหน้าที่และอำนาจในการชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมว่าอาจเป็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.   แต่ผู้มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันให้ กสม. ทำหน้าที่นี้ เมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญ 2560 ออกใช้บังคับแล้ว กสม. จึงดำเนินการเสนอให้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ให้ กสม. ดำเนินการตรวจสอบก่อนชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจนเป็นผลสำเร็จ  เมื่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฯ เผยแพร่รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ค.ศ. 2017 ดังกล่าว กสม. ย่อมต้องตรวจสอบก่อนว่ารายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย มีความถูกต้องหรือเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร แล้วจึงชี้แจงหรือรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยมิได้เป็นการปกป้องหน่วยงานใด หรือเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาลไทย รวมทั้งมิได้ขาดความเป็นอิสระหรือสูญเสียความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

3. กสม.ให้ความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและยินดีรับฟังข้อท้วงติงต่าง ๆจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนดและที่สังคมคาดหวัง แต่ขอให้ผู้ท้วงติงได้โปรดอย่าด่วนสรุปและตัดสินว่า กสม. ทำงานเพื่อคนใดหรือกลุ่มใดเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตน

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนอยากเลือกตั้งพัทยา เข้ารับทราบข้อหาเพิ่มอีก 5 คน ตร.นัดส่งอัยการ 10 พ.ค.นี้

Posted: 26 Apr 2018 01:49 AM PDT

'ศูนย์ทนายสิทธิ' เผยคนอยากเลือกตั้งพัทยา เข้ารับทราบข้อหาเพิ่มอีก 5 คน ตร.นัดส่งอัยการ 10 พ.ค.นี้ คดีชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช.

25 เม.ย.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งพัทยาทั้ง 5 คน ได้แก่ ศศวัชร์ คมนียวนิช สุวรรณา ตาลเหล็ก ฉัตรมงคล วัลลีย์ ประนอม พูลทวี วลี ญาณะหงสา เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองพัทยา จากกรณีชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่พัทยาเมื่อวันที่ การเรียกผู้ต้องหาเพิ่มของพนักงานสอบสวนครั้งนี้ทำให้คดีจากการชุมนุมที่พัทยามีผู้ต้องหาเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 7 คน รวมเป็นแล้ว 12 คนในขณะนี้

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ตามบันทึกแจ้งข้อหาของพนักงานสอบสวนระบุว่าทั้ง 5 คน ได้ทำผิดในข้อหาร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และร่วมกันชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 รวม 2 ข้อหา ซึ่งทั้ง 2 ข้อหาเป็นข้อหาเดียวกับผู้ต้องหา 7 คนที่ถูกแจ้งข้อหาไปก่อนหน้านี้

บันทึกยังบรรยายพฤติการณ์ว่าก่อนเกิดเหตุ ผู้ต้องหาได้ร่วมกับผู้ต้องหาที่เป็นแกนนำได้แจ้งทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในที่สาธารณะ ในวันที่ 4 มี.ค.61 เวลา 17.00 น. ที่ลานตรงข้ามห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยาบีช อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ต่อมาเวลา 17.40 น. ผู้ต้องหากับพวกรวม 30 คน ซึ่งผู้ต้องหาเป็นแกนนำปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยจัดให้มีการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตบริเวณที่เกิดเหตุ พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามข้อหาที่กล่าวมาข้างต้น

ทั้ง 5 คนให้การปฏิเสธและจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายหลัง แต่ในส่วนของนางประนอมได้ให้การไว้ด้วยว่าตนมีสาเหตุโกรธเคืองกับพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช.ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เนื่องจากตนถูกพ.อ.บุรินทร์กล่าวหาในคดีอาญามาก่อนแล้วหลายคดี จากการที่นางประนอมใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวทั้ง 5 คน กลับโดยไม่มีการควบคุมตัวระหว่างการสอบสวนและไม่ต้องประกันตัว จากนั้นได้นัดให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน มาพบอีกครั้งเพื่อส่งตัวและสำนวนให้อัยการศาลแขวงพัทยาในวันที่ 10 พ.ค.2561 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันนัดฟังคำสั่งอัยการของผู้ต้องหาอีก 7 คน

คดีนี้ ศูนย์ทนยความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มี.ค.61 เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่ม START UP PEOPLE ได้จัดกิจกรรม START UP PEOPLE ON TOUR: ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่ชายหาดหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัลพัทยาบีช เมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน โดยกิจกรรมดังกล่าวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หยุดเลื่อนการเลือกตั้งและการสืบทอดอำนาจของ คสช. ต่อมาพ.อ.บุรินทร์ ได้เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมต่อพนักงานสอบสวนสภ.เมืองพัทยา เช่นเดียวกับคดีของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งในกรุงเทพ และพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อนหน้านี้แล้ว 2 รอบ รวม 7 คน โดยทั้ง 7 คนอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งอัยการศาลแขวงพัทยาว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในวันที่ 10 พ.ค. 2561

สำหรับ 5 คนล่าสุดนี้ นอกจากถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่พัทยาแล้ว พวกเขายังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่กรุงเทพเรียกร้องการเลือกตั้งด้วย โดย สุวรรณา และประนอม ถูกดำเนินคดีทั้งกรณี MBK39 จากการชุมนุมที่สกายวอล์กปทุมวันในวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา กรณี RDN50 จากการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา และ ARMY57 จากการชุมนุมหน้ากองทัพบกเมื่อวันที่  24 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ ศศวัชร์ วลีและ ฉัตรมงคล ถูกดำเนินคดีร่วมกับ ARMY57

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศเยอรมนี ประเด็นท้าทายใหม่ของท้องถิ่นกับนโยบายผู้อพยพ

Posted: 26 Apr 2018 01:13 AM PDT

 

นโยบายเปิดรับผู้อพยพเป็นประเด็นท้าทายต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยรัฐบาลท้องถิ่นต้องเผชิญปัญหาแบบที่ไม่เคยประสบมาก่อนจากวิกฤตการณ์หลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพ  ภายใต้โครงสร้างการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพของเยอรมนีที่มีลักษณะการสั่งการจากบนลงล่าง (top-down) ซึ่งถูกบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานานและไม่สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  รัฐบาลท้องถิ่นจึงต้องจัดการกับปัญหาผู้อพยพ พร้อมกับการรับมือกับปัญหาความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ที่ถือว่าเป็นหน้าที่หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ปรากฏการณ์การหลั่งไหลของผู้อพยพจำนวนมากในเยอรมนีเป็นประเด็นท้าทายต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศ แม้ว่าเยอรมนีจะเผชิญกับการเข้ามาของผู้อพยพตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็แตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน  ในอดีตเยอรมนีต้องการแรงงานอพยพจำนวนมาก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ[1]  แต่ในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้ เมื่อยุโรปกำลังประสบกับวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับพวกเขา สหภาพยุโรปเองก็ต้องหามาตรการจัดการกับปัญหา  เยอรมนีในฐานะประเทศสมาชิกสนับสนุนการปกป้องผู้อพยพเหล่านั้นผ่าน "นโยบายเปิดรับผู้อพยพ"  ในช่วงปี 2015 ถึง 2016 เยอรมนีได้รับผู้ลี้ภัยมากกว่าหนึ่งล้านคน  ซึ่งผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ลี้ภัยสงครามและความยากจนในตะวันออกกลางและแอฟริกา ดังนั้นพวกเขาจึงมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจจากผู้คนในท้องถิ่น นอกจากการช่วยเหลือในความจำเป็นพื้นฐานแล้ว แต่ในระยะยาวจะทำอย่างไรให้พวกเขาหลอมรวมเข้าเป็นสมาชิกของสังคมที่รับพวกเขา ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบหลักของรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้นปรากฏการณ์คลื่นผู้ลี้ภัยจำนวนมากจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่หลักในการให้บริการสาธารณะกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนท้องถิ่นก็ต้องช่วยเหลือผู้อพยพอย่างมีประสิทธิภาพด้วย  รวมทั้งการจัดการกับกระแสต่อต้านผู้อพยพของคนในพื้นที่และปัญหากับรัฐบาลระดับต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายภายใต้โครงสร้างสหพันธรัฐ  ในงานนี้จึงมุ่งศึกษาผลกระทบการดำเนินงานและการปรับตัวของรัฐบาลท้องถิ่นต่อนโยบายผู้อพยพ ซึ่งมีข้อถกเถียงที่ว่า สำหรับนโยบายผู้อพยพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่สำคัญคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้วยและรักษาความเป็นอิสระของท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  

งานชิ้นนี้เริ่มจากภาระหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นต่อนโยบายการช่วยเหลือผู้อพยพ  ปัญหาจากระบบการดำเนินงานในการถ่ายโอนหน้าที่ถึงท้องถิ่นเป็นเช่นไร ต่อมาจะชี้ให้เห็นผลกระทบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเผชิญตามมาจากการดำเนินนโยบายเพื่อทบทวนความเป็นอิสระของท้องถิ่นหลังการดำเนินนโยบายที่กำหนดมาจากรัฐบาลที่อยู่เหนือกว่า

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า หน้าที่การช่วยเหลือผู้อพยพหลังรับพวกเขาเข้ามาเป็นหน้าที่ของรัฐบาลระดับสหพันธรัฐ และการจัดการขององค์กรเหนือรัฐอย่างสหภาพยุโรป ในความเป็นจริงแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเทศบาลและเมืองต่าง ๆ เป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้มากที่สุด ซึ่งขอบเขตการทำหน้าที่กว้างมาก หลังจากรัฐบาลสหพันธรัฐอนุญาตให้ผู้อพยพตั้งถิ่นฐานภายในประเทศแล้ว ผู้อพยพจะต้องเข้าสู่กระบวนการ "การบูรณาการทางสังคม" (social integration) เพื่อหลอมรวมพวกเขาเข้ากับสังคมใหม่ แม้ว่ากระบวนการนี้ต้องอาศัยการประสานงานระหว่างรัฐบาลระดับต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หน่วยงานหลัก คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[2]  

รัฐบาลท้องถิ่นต้องรับผิดชอบกระบวนการบูรณาการทางสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว   สำหรับการบูรณาการในระยะสั้น ส่วนท้องถิ่นต้องจัดทำลงทะเบียนผู้อพยพ จัดหาแหล่งที่พักอาศัยชั่วคราว และการช่วยเหลือสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานต่าง ๆ  ส่วนในระยะยาว รัฐบาลท้องถิ่นต้องทำให้ผู้อพยพมีสำนึกความเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเพื่อให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้[3]  นอกจากการจัดหาที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีการจัดโครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมเยอรมัน สำหรับผู้อพยพวัยแรงงานก็มีการฝึกทักษะแรงงาน ส่วนผู้อพยพวัยเด็กก็จะได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับพลเมืองเยอรมัน นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นต้องทำให้ผู้อพยพเข้าถึงบริการสาธารณะและจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนท้องถิ่นให้ผู้อพยพได้ทำร่วมกับผู้คนท้องถิ่น เช่น การจัดตั้งชมรมกีฬา โครงการเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้าน  เป็นต้น[4]  หน้าที่เหล่านี้ถือเป็นหน้าที่หลัก ๆ แต่เนื่องจากโครงสร้างระบบสหพันธรัฐของเยอรมนี นโยบายการช่วยเหลือผู้อพยพของเยอรมนีไม่มีความเป็นหนึ่ง ความแตกต่างด้านกฎหมายของแต่ละมลรัฐ จึงทำให้การดำเนินงานแต่ละที่แตกต่างกัน

หากพิจารณาด้านภารกิจและอำนาจหน้าที่ของส่วนท้องถิ่น  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่หลักคือการให้บริการสาธารณะแก่พลเมืองแต่ละเขตพื้นที่ของตน จะพบว่าการบูรณาการทางสังคมผู้อพยพเป็นส่วนขยายจากภารกิจเดิมที่กำหนดจากรัฐบาลกลางและมลรัฐ  แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกว่ากฎหมายพื้นฐานได้รับประกันอำนาจอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (local autonomy) กำหนดให้ "สิทธิและความรับผิดชอบในการจัดการภารกิจหน้าที่ของตนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายบัญญัติ"[5] ส่วนท้องถิ่นมีอิสระพอสมควรในการดำเนินนโยบาย ตัวอย่างเขตเทศบาล Neukölln ในนครรัฐเบอร์ลิน มีนโยบายบูรณาการผู้ลี้ภัยที่มีชื่อว่า "Refugees welcome" เป็นดึงภาคส่วนอื่นนอกจากหน่วยงานของรัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุก ๆ ด้าน เช่น องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยธุรกิจ อาสาสมัคร เป็นต้น มีการจัดตั้งสำนักงานที่ประสานงานภาคส่วนต่าง ๆ การรับอาสาสมัครในการสอนภาษาให้กับผู้อพยพ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจในการรับผู้อพยพทำงาน[6]  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้อพยพสามารถหลอมรวมเข้ากับสังคมได้เร็ว ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามส่วนท้องถิ่นยังต้องเผชิญข้อจำกัดอื่น ๆ     

เยอรมนีมีระบบโควตาผู้อพยพเฉพาะหรือที่เรียกว่า "Königsteiner Schlüssel" ซึ่งเป็นระบบกระจายผู้อพยพไปยัง 16 มลรัฐ เพื่อแบ่งภาระดูแลผู้อพยพอย่างเท่าเทียมกัน โดยพิจารณาศักยภาพของแต่ละมลรัฐ แต่ละมลรัฐจึงรับจำนวนผู้อพยพไม่เท่ากัน โดยใช้เกณฑ์รายได้การเก็บภาษีของมลรัฐ ซึ่งพิจารณาเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนผู้อพยพ และพิจารณาส่วนที่เหลือจากจำนวนประชากร[7] ดังนั้นมลรัฐขนาดใหญ่และเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจึงต้องรับภาระมากเช่นกัน จากข้อมูลทางสถิติของสำนักงานกลางเพื่อการอพยพและผู้ลี้ภัย (Federal Office for Migration and Refugees - BAMF) ในปี 2016 มลรัฐที่ได้รับโควตามากที่สุดได้แก่ มลรัฐ North Rhine-Westphalia 21.14 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมด ส่วนนครรัฐ Bremen เป็นมลรัฐที่ได้รับโควตาผู้ลี้ภัยน้อยที่สุด 0.95 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละมลรัฐก็ใช้หลักการเดียวกันในการกระจายให้กับเมืองและเทศบาลต่าง ๆ ในมลรัฐของตน แม้ว่าเยอรมนีใช้ระบบโควตา Königsteiner เป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว[8] แต่ระบบนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ ๆ  เช่น ทัศนคติของผู้คนในชุมชน ศักยภาพและทรัพยากรของส่วนท้องถิ่น เป็นต้น   โครงสร้างลักษณะการสั่งการจากบนลงล่าง (top-down) ที่ส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำให้เกิดปัญหาภายในท้องถิ่นตามมา

แต่ละท้องถิ่นนั้นเผชิญปัญหาแตกต่างกัน บางท้องถิ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันของประชาชนในพื้นที่ ขณะที่บางท้องถิ่นประสบกับปัญหาขาดแคลนทรัพยากร แต่ปัญหาที่มีร่วมกันส่วนใหญ่ คือ ความสำเร็จในการบูรณาการผู้อพยพในแต่ละพื้นมีอัตราที่ต่ำ มีผู้อพยพจำนวนมากไม่ผ่านเกณฑ์วัดระดับภาษาและทักษะการทำงาน ทำให้ส่วนท้องถิ่นยังต้องดูแลผู้อพยพส่วนนี้จนกว่าจะสามารถบูรณาการได้ ซึ่งทำให้ส่วนท้องถิ่นต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น[9] ส่วนปัญหาภายในท้องถิ่น บางเมืองชุมชนต้อนรับผู้อพยพเป็นอย่างดี เช่นเมืองส่วนใหญ่ในนครรัฐ Hamburg แต่บางเมืองก็ประสบปัญหาการต่อต้านจากประชาชน โดยเฉพาะเมืองที่เกิดปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดระหว่างคนในพื้นที่กับผู้อพยพสูง จึงนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและการปะทะระหว่างผู้ต่อต้านและฝั่งสนับสนุนผู้อพยพ ตัวอย่างกรณีเมือง Cottbus ทางตอนใต้ของมลรัฐ Brandenburg ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากร 100,000 คน และมีผู้ลี้ภัยทั้งหมดจำนวน 3,000 คน ในช่วงต้นปี 2018 เกิดเหตุการณ์ชาวเยอรมันทำร้ายผู้ลี้ภัยในแหล่งที่พัก และต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ผู้ลี้ภัยใช้มีดแทงชาวเยอรมันจนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้รับแรงกดดันจากคนในท้องที่  สภาท้องถิ่นจึงตัดสินใจสั่งห้ามรับผู้อพยพเพิ่มชั่วคราวและขับไล่ครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ก่อเหตุออกไปจากเมือง[10] หรือกรณีด้านการขาดแคลนทรัพยากรในการบูรณาการทำให้สภาท้องถิ่นตัดสินใจยุติรับผู้อพยพใหม่ กรณีเทศบาล Freiberg ของมลรัฐ Saxony  ซึ่งมีผู้อพยพประมาณ 2,000 คน ซึ่งคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด สภาเทศบาลได้มีการปรึกษาหารือเรื่องเทศบาลควรจะหยุดรับผู้อพยพเข้ามาในเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปีหรือไม่ แม้ว่าผู้อพยพเหล่านั้นจะได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลกลางก็ตาม  ซึ่งนายกเทศมนตรีให้เหตุผลไว้ว่า "ปริมาณผู้อพยพในเมืองมีจำนวนเกินศักยภาพที่ท้องถิ่นจะรองรับได้ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่โรงเรียนและบุคลากรไม่เพียงพอ"[11] และยังมีอีกหลายเมืองที่ทยอยยุติการรับผู้อพยพใหม่เพิ่ม โดยอ้างเหตุผลเรื่องจำนวนประชากรมากเกินไปและประสิทธิภาพการบูรณาการผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเมือง ณ ขณะนั้น[12]

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลระดับอื่นและสหภาพยุโรปเข้ามาดูแลเป็นระยะ ๆ   เนื่องจากการบูรณาการทางสังคมและการดูแลผู้อพยพต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณจำนวนมาก  แม้ว่าจะได้รับงบประมาณมาบางส่วนแต่ไม่ครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องนำรายได้ภาษีของตนเองและงบประมาณของตนที่จะใช้ในส่วนการบริการประชาชนมาใช้ จากการสำรวจ Berlin Journal "Refugee Integration: Challenges for German Municipalities" ที่ได้สุ่มตัวอย่างมา 300 เมืองในปี 2016 พบว่า 29 เปอร์เซ็นต์ของเทศบาลกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สิน ซึ่งรวมแล้วมากกว่า 1.1 พันล้านยูโรจากการดำเนินงานผู้อพยพ  นอกจากนี้ในแต่ละมลรัฐการจัดการด้านงบประมาณแตกต่างกัน ซึ่งบางมลรัฐก็ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น งบประมาณต่อผู้อพยพหนึ่งคนประมาณ 670 ยูโร ขณะที่บางมลรัฐ อย่างมลรัฐ Bavaria ให้รัฐบาลท้องถิ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวเอง[13]  และโดยเฉลี่ยแล้วเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลกลางให้กลับส่วนท้องถิ่นครอบคลุมค่าใช้จ่ายการบูรณาการทางสังคม 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น[14] ดังนั้นส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้นำนโยบายหรือกฎหมายของรัฐบาลที่อยู่เหนือกว่าไปบังคับใช้ให้เกิดขึ้นจริง อีกทั้งหน้าที่นี้เป็นส่วนเพิ่มเติมจากภารกิจหน้าที่เดิม กลับไม่ได้รับการสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายเพียงพอที่จะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอิสระ และยังต้องนำรายได้ของตนมาใช้โดยที่ส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ตามนิยามการปกครองท้องถิ่นของ Hedley Marshall ว่า "การจัดการปกครองท้องถิ่นต้องมีความเป็นอิสระในการเก็บภาษีและการกำหนดงบประมาณ"[15] แต่ระบบการดำเนินงานนโยบายผู้อพยพ ณ ขณะนี้กำลังเข้าไปจำกัดความเป็นอิสระของท้องถิ่น เมื่อนำรายได้มาใช้จ่ายส่วนดูแลผู้อพยพก็ทำให้รัฐบาลมีอิสระในการตัดสินใจที่จะนำเงินไปใช้ส่วนอื่นสำหรับท้องถิ่นน้อยลง

ปัญหาการรับมือผู้อพยพที่ท้องถิ่นกำลังเผชิญ หากพิจารณาโครงสร้างความสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ (Intergovernmental Relations) ของสหพันธรัฐเยอรมนี ปัญหามาจากแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ตายตัว  ตามแบบแผนความสัมพันธ์ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมี 2 สถานะ ในฐานะการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอำนาจในการริเริ่มโครงการเองได้และตัดสินใจได้อย่างอิสระ และฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายของมลรัฐและรัฐบาลกลาง[16] แม้ว่าการดำเนินงานนโยบายผู้อพยพต้องอาศัยความร่วมมือทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเพียงผู้บังคับนโยบาย ส่วนรัฐบาลกลางและสหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ต้อนรับผู้อพยพ แต่ก็ไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วยบรรเทาหรือป้องกันปัญหา แม้ว่าคณะกรรมาธิการยุโรป (European Council) มีการจัดแผนระบบโควตาในการรับผู้อพยพตามขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก[17] แต่ไม่มีการสร้างแรงจูงใจในการเปิดรับผู้อพยพและงบประมาณในการสนับสนุนแต่ละประเทศแต่ละท้องถิ่นไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นทั้งรัฐบาลสหพันธรัฐและสหภาพยุโรปเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายนี้มากที่สุด แต่รัฐบาลท้องถิ่นต้องเผชิญปัญหามากที่สุด

นอกจากนี้สหภาพยุโรปมีกฎระเบียบการจัดการผู้อพยพของประเทศสมาชิกหรือที่เรียกว่า "ระเบียบดับลิน" (Dublin Regulation) ซึ่งประเทศแรกที่ผู้อพยพเข้ามาในสหภาพยุโรปต้องรับผิดชอบดำเนินการคำร้องขอลี้ภัย แต่ในช่วงวิกฤตผู้อพยพ 2015 ประเทศที่ผู้อพยพมักเข้ามาอย่างกรีซและอิตาลีก็ไม่มีศักยภาพพอที่จะสามารถให้การคุ้มครองผู้อพยพได้ทั้งหมด เยอรมนีจึงแสดงความช่วยเหลือโดยระงับการบังคับใช้ระเบียบดับลินชั่วคราวและประกาศใช้นโยบายเปิดประตู (Open door Policy)[18]  ซึ่งดึงดูดให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้าสู่เยอรมนีเป็นจำนวนมาก การดำเนินนโยบายเช่นนี้ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องเผชิญปัญหาทั้งความไม่พร้อมในการรับมือกับผู้อพยพจำนวนมากในช่วงแรก และในระยะยาวเองรัฐบาลกลางก็ไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นมากนัก แต่เน้นการแก้ปัญหาในระดับสหภาพยุโรป อย่างเช่นการกลับไปใช้ระเบียบดับลิน  ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเยอรมนีไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับท้องถิ่นได้ ส่วนท้องถิ่นจึงต้องใช้ความเป็นอิสระของท้องถิ่นเองในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสะท้อนจากเหตุการณ์ที่ส่วนท้องถิ่นในเมืองต่าง ๆ มีคำสั่งระงับการรับผู้อพยพ ถึงแม้ว่าในบางเมืองอย่างเมือง Cottbus นายกเทศมนตรีของเมืองนั้นมาจากพรรคคริสเตียนเดโมแครต (Cristian Democratic Union - CDU)[19] ซึ่งเป็นพรรคเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดผู้นำท้องถิ่นก็ต้องคำนึงถึงผู้คนในพื้นที่มากกว่าผลประโยชน์ของพรรค

การช่วยผู้อพยพซึ่งเป็นผู้ที่หนีจากความโหดร้ายภายในประเทศของตนในฐานะเพื่อนมนุษย์ เป็นการส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตย นอกจากนี้ความเป็นพหุสังคมจะช่วยให้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันถือเป็นโรงเรียนสอนประชาธิปไตยให้กับคนท้องถิ่นได้อย่างดี อย่างไรก็ตามปัญหาที่ท้องถิ่นเยอรมนีกำลังเผชิญนั้นก็มาจากการไม่ได้มีส่วนร่วมของท้องถิ่นตั้งแต่การกำหนดนโยบายตั้งแต่แรก ระบบโควตา Königsteiner ที่ไม่ได้ทำให้ส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดจำนวนผู้อพยพที่จะรับและปัญหาทางการเงินที่ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ทั้งสองอย่างมีประสิทธิภาพได้พร้อมกัน  ซึ่งสร้างความรู้สึกให้กับคนท้องถิ่น "รัฐบาลไม่ว่าระดับไหนทำเพื่อผู้อพยพ ไม่ใช่เพื่อพวกเขาเอง"[20]  เห็นได้จากการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่พรรค Alternative for Germany หรือ AfD ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพมีที่นั่งในสภาเพิ่มมากขึ้น  แม้ว่าตลอดระยะเวลารัฐบาลเยอรมนีพยายามจะรับมือกับความรู้สึกของประชาชนภายในประเทศ  โดยพยายามลดการดึงดูดผู้อพยพเข้ามาภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผ่านการสนับสนุนนโยบายระดับสหภาพยุโรป เช่น เรียกร้องให้ประเทศอื่นในกลุ่มสหภาพยุโรปรับผู้อพยพเพิ่ม อย่างไรก็ตามปัญหาที่มีอยู่เดิมกลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง  แม้ว่าในระดับท้องถิ่น รัฐบาลเพิ่มงบประมาณให้กับส่วนท้องถิ่นมีกองทุนฉุกเฉินสำหรับเมืองต่าง  ๆ  แต่มันเป็นการแก้ไขในระยะสั้นเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่เพียงพอ[21]  ในมุมมองของประชาชน  ผลการดำเนินงานของส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ใกล้ชิดกับพวกเขาก็สะท้อนถึงการดำเนินงานของรัฐบาลสหพันธรัฐด้วย  การหันกลับมาดูความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการพูดคุยกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง[22] และปัญหาที่รัฐบาลท้องถิ่นกำลังเผชิญจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

สรุปได้ว่า ประเด็นผู้อพยพเป็นประเด็นท้าทายของเยอรมนี โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นองค์กรที่ตอบสนองกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ซึ่งต้องจัดการปัญหาทั้งในพื้นที่และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ก็เผชิญปัญหาแตกต่างกันออกไปและนำไปสู่รูปแบบในการแก้ปัญหาต่างกันด้วย ประเด็นผู้อพยพจะทำให้ประชาชนท้องถิ่นสามารถเรียนรู้หลักประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี หากให้ส่วนท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายกับรัฐบาลกลางและสหภาพยุโรปด้วย

 


[1] Petra Bendel, Coordinating immigrant integration in Germany: Mainstreaming at the federal and local levels (Brussels: Migration Policy Institute Europe, 2014), https://www.migrationpolicy.org/research/coordinating-immigrant-integration-germany-mainstreaming-federal-and-local-levels.

[2] Bruce Katz, Luise Noring, and Nantke Garrelts, "Cities and Refugees - The German Experience," The Brookings Institution, last modified September, 2016, https://www.brookings.edu/research/cities-and-refugees-the-german-experience/.

[3] Ibid.

[4] Ibid.

[5]  นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ  (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2546), 246.

[6]  "'Refugees welcome'– Refugee integration policies in Berlin Neukölln," Council of Europe, accessed March 24, 2018, https://rm.coe.int/168048e623.

[7]  "Freedom of movement: Germany," Asylum Information Database (AIDA), accessed 24 March, 2018, http://www.asylumineurope.org/reports /country/germany/reception-conditions/access-and-forms-reception-conditions/freedom-movement.

[8]  "Freedom of movement: Germany."

[9]  Stefan Trines, "Lessons From Germany's Refugee Crisis: Integration, Costs, and Benefits," World Education Services, last modified May 2, 2017, https://wenr.wes.org/2017/05/lessons-germanys-refugee-crisis-integration-costs-benefits.

[10]  "Tensions still high: renewed conflicts in Cottbus between locals and foreigners," The local, last modified January 22, 2018, https://www.thelocal.de /20180122/tensions-still-high-in-cottbus-after-renewed-conflicts-between-locals-and-foreigners.

[11] "Town deliberates stopping refugee arrivals, citing lack of school spots," The local, last modified January 26, 2018, https://www.thelocal.de/20180126 /successful-integration-german-town-to-vote-on-ban-of-refugee-immigration.

[12] "North German state prohibits refugees from moving to one of its cities," The local, last modified October 12, 2017, https://www.thelocal.de/ 20171012/lower-saxony-prohibits-refugees-from-moving-to-one-of-its-cities.

[13]  Virginia Hale, "The Migrant Crisis Is Driving German Towns And Cities Into Debt," Breitbart, last modified July 8, 2016, http://www.breitbart.com/London /2016/07/08/migrants-driving-towns-debt/.

[14]  "Who bears the cost of integrating refugees? ,"OECD, last modified January 13, 2017, https://www.oecd.org/els/mig/migration-policy-debates-13.pdf.

[15]  A.H. Marshall, Local government in the Modern World (London: Atlone Press, 1965), quoted in L.J. Sharpe, "Theories and Values of Local Government," Political Studies 18, no. 2 (June 1970): 154.

17 นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ, 264.

[17] "เยอรมนีรับผู้อพยพเยอะสุดในแผนโควต้า EU," VoiceTV, last modified May 28, 2015, https://www.voicetv.co.th/read/211260.

[18] Justin Huggler, "Germany in U-turn on 'open door' refugee policy," News Europe, last modified April 19, 2018, https://www.independent.ie/world-news/europe/germany-in-uturn-on-open-door-refugee-policy-34359740.html.

[19] Tobias Buck, "German police flex muscles to calm Cottbus refugee tensions," Financial Time, last modified February 2, 2018, https://www.ft.com/content/ b97b0fc2-0753-11e8-9650-9c0ad2d7c5b5.

[20] "German local authorities need help getting jobs for refugees," Deutsche Welle, last modified December 27, 2017, http://www.dw.com/en/german-local-authorities-need-help-getting-jobs-for-refugees/a-41937196.

[21] Mary Del Rosario,"German Cities Ban Refugees Amid Struggles to Integrate Them," The Globe Post, last modified January 19, 2018, https://www.theglobepost.com/2018/01/29/german-cities-ban-refugees/.

[22] "Five ways Germany is failing refugees," Handelsblatt, last modified January26, 2018, https://global.handelsblatt.com/politics/five-ways-germany-failing-refugees-880166.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระดมสิ่งของช่วยผู้อพยพภายในรัฐกะเหรี่ยง หลังทหารพม่าเสริมกำลัง-ปะทะรอบล่าสุด

Posted: 26 Apr 2018 12:58 AM PDT

ภาคประชาสังคมหลายฝ่ายระดมความช่วยเหลือและส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ผู้อพยพระลอกล่าสุดภายในรัฐกะเหรี่ยง หลังช่วงต้นเดือนมีนาคม กองทัพพม่าเสริมกำลังเข้าพื้นที่เพื่อตัดถนนยุทธศาสตร์ จนเกิดเหตุปะทะไม่ต่ำกว่า 39 ครั้ง หลายครั้งมุ่งเป้ามายังพลเรือน จนเกิดเหตุยิงผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงเสียชีวิต ขณะที่ล่าสุดมีผู้อพยพ 2,417 คน จาก 12 หมู่บ้าน ปิดโรงเรียน 5 แห่ง เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์หวั่นเกิดขาดแคลนอาหาร หากสถานการณ์ยืดเยื้อถึงฤดูฝน

26 เม.ย. 2561 กรณีสถานการณ์ตึงเครียดในเขตลูทอ ทางตอนเหนือของเมืองมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง หลังจากช่วงต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ที่กองทัพพม่าเสริมกำลังเข้ามาเพื่อซ่อมถนนยุทธศาสตร์เชื่อมค่ายทหาร 2 แห่ง และมีเหตุปะทะกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) รวมทั้งเหตุยิงพลเรือน จนทำให้มีผู้อพยพมากกว่า 2,417 คนจาก 12 หมู่บ้าน เข้าไปหลบซ่อนในพื้นที่ป่าเขาภายในรัฐกะเหรี่ยงนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยองค์กรชุมชนกะเหรี่ยงและกลุ่มประชาสังคมในท้องถิ่นได้จัดตั้งทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ (Mutraw Emergency Assistance Team) ขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม เพื่อช่วยเหลือพลเรือนผู้ได้รับผลกระทบ และล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ของเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยง (KESAN) ว่ามีภาคประชาสังคมชายแดนไทย-พม่าหลายกลุ่มและภาคเอกชนต่างๆ ได้ร่วมกันบริจาคสิ่งของช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับผู้อพยพภายในรัฐกะเหรี่ยง

การส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพภายในรัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 (ที่มาของภาพ: KESAN)

ทั้งนี้มีการขนส่งสิ่งของช่วยเหลือไปถึงชายแดนรัฐกะเหรี่ยงตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา โดยเกือบทั้งหมดเป็นเครื่องนอน ประกอบด้วย ผ้าห่ม 400 ผืน ถุงนอน เปลนอน และเสื่อ อย่างละมากกว่า 300 ผืน นอกจากนี้ยังมีปลาซิวแห้ง เพื่อมอบให้กับครอบครัวผู้อพยพที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนอาหารแล้ว

เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ของ KESAN เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการส่งมอบยาและเวชภัณฑ์ให้กับครอบครัวผู้อพยพกลุ่มดังกล่าวที่เข้าไปหลบภัยอยู่ในป่าเขา ขณะที่ทางชุมชนกะเหรี่ยงและกลุ่มประชาสังคมในรัฐกะเหรี่ยงได้จัดตั้งทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ เพื่อประสานกับชุมชนผู้อพยพในการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งนี้ การจัดหาและบริจาคสิ่งของช่วยเหลือจะเป็นไปตามความต้องการของชุมชนผู้อพยพ ทั้งนี้ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการขาดแคลนเสบียงอาหาร หากสถานการณ์ยืดเยื้อจนถึงช่วงเข้าสู่ฤดูฝน และชาวบ้านยังไม่สามารถกลับไปตั้งถิ่นฐานในชุมชนได้ โดยการช่วยเหลือต่อไปคงต้องมีการบริจาคข้าวสาร และอาหารแห้งให้กับผู้อพยพด้วย

ประณามกองทัพพม่ายิง จนท.ช่วยเหลือมนุษยธรรมชาวกะเหรี่ยง-ละเมิดข้อตกลงหยุดยิง, 10 เมษายน 2561

จนท.ไทยสั่งระงับสัมมนาเปิดรายงานกองทัพพม่าละเมิดสิทธิชาวบ้านกะเหรี่ยง-หนีตายนับพัน, 25 เมษายน 2561

 

ชุมชนผู้อพยพแห่งหนึ่งในพื้นที่ลูทอ ทางตอนเหนือของเมืองมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง ภาพถ่ายวันที่ 17 มีนาคม 2561 โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2561 มีผู้อพยพระลอกล่าสุดแล้ว 2,417 คน จาก 12 หมู่บ้าน (ที่มาของภาพ: KPSN)

 

อนึ่งจากรายงานที่เผยแพร่ล่าสุดของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) ซึ่งเพิ่งถูกเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยห้ามจัดกิจกรรมเปิดตัวรายงานนั้น (อ่านรายงาน) ระบุว่า สถานการณ์ตึงเครียดจนเกิดเหตุผู้อพยพระลอกใหม่ เกิดขึ้นในพื้นที่เขตลูทอ ทางตอนเหนือของเมืองมูตรอ หรือผาปูน รัฐกะเหรี่ยง โดยนับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา กองทัพพม่าเริ่มการตรึงกำลังทหารครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2551 ในเขตมูตรอ หรือผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามชายแดนไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งปัจจุบันมีการเสริมกำลังทหารพม่าเข้ามากว่า1,500 ราย ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)

โดยเหตุเสริมกำลังของทหารพม่าดังกล่าวนับเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงระดับประเทศ (NCA) ที่ลงนามตั้งแต่ปี 2558 เป็นเหตุให้มีการปะทะกับกองพลน้อยที่ 5 KNLA หลายครั้ง นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่าทหารพม่าได้โจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายต่อพลเรือน ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 304 ครัวเรือน รวมจำนวนอย่างน้อย 2,417 คน จาก 12 หมู่บ้าน ต้องหนีภัยสงคราม ทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนมาอาศัยอยู่ในป่า นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีก 72 ครัวเรือน กว่า 483 คน จาก 4 หมู่บ้าน เตรียมอพยพเพิ่มเช่นกัน

ในรายงานของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ ระบุด้วยว่าในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเมื่อปี 2558 ห้ามการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางการทหาร และห้ามการเสริมกำลังทหาร ในพื้นที่หยุดยิง แต่กองทัพพม่าอย่างน้อย 8 กองพัน ได้เคลื่อนกำลังพลเข้าสู่พื้นที่ตอนเหนือของเมืองมูตรอ โดยไม่มีการทำข้อตกลงล่วงหน้า และเริ่มก่อสร้างถนนยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อเชื่อมค่ายทหารพม่าระหว่างพื้นที่เหล่อมูพลอ และเคพู ซึ่งหากถนนนี้สร้างเสร็จ อาจส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่อย่างถาวร

"ชาวบ้านกว่า 2,417 คนรวมทั้งผู้สูงวัย ผู้หญิงและเด็ก ได้หลบหนีจากถิ่นฐานบ้านเรือนพากันไปหลบซ่อนในป่าเขา คาดว่ามีชาวบ้านอีก 483 คนเตรียมจะหลบหนีจากหมู่บ้านของตน ระหว่างที่ทหารพม่าพยายามเสริมกำลังในทางตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่ลูทอ คนเหล่านี้แทบไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า พวกเขาสามารถนำข้าวของติดมือไปได้เพียงเล็กน้อย พวกเขาต้องอยู่ในป่าอย่างเหน็บหนาว โรงเรียน 5 แห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากการสู้รบ" ในรายงานระบุ

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน ซอโอ้มู นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงวัย 42 ปี หนึ่งในทีมงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่น ก็ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับบ้านที่เหล่อมูพลอ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตผู้พิพากษาฯ ขู่ฟ้อง 'เวิร์คพอยท์' หลังนำความเห็นบางส่วนปมบ้านพักศาลไปเผยแพร่

Posted: 25 Apr 2018 11:06 PM PDT

อดีตหัวหน้าคณะศาลฎีกา ขู่ฟ้อง 'เวิร์คพอยท์' เหตุนำข้อความบางส่วนที่ย้อนถาม มหา'ลัยในป่าสงวน 6 พันไร่ ไม่เห็นใครว่ารุกล้ำป่า ไปเผยแพร่ต่อ ชี้สร้างความเข้าใจผิด พร้อมขู่เอาเรื่อง ผู้ที่เข้ามาแสดงคิดเห็นที่ผิดกฎหมาย 

26 เม.ย. 2561 ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค 'Chuchart Srisaeng' เรื่อง การกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาและกระทำละเมิดทางแพ่ง เรียน ผู้อำนวยการหรือผู้มีอำนาจสูงสุดของสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ (work point) ช่อง 23

ชูชาติ อ้างถึง ตามที่สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ ซึ่งมีท่านเป็นผู้บริหารสูงสุดของสถานีได้นำข้อความที่ข้าพเจ้าเขียนลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว เรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารศาลอุทธณ์ ภาต 5 และบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่

โดยมีสาระสำคัญคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเขียงใหม่ ก่อสร้างวิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก ใช้เนื้อที่มากถึง 6,235 ไร่เศษ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นป่าตามกฎหมายได้ ไม่มีเคยได้ยินข่าวว่าผู้ใดคัดค้านหรืออ้างว่ารุกล้ำ"ป่า"  สำนักงานศาลยุติธรรม ก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักตุลาการ ใช้เนี้อที่เพียง 147 ไร่เศษ หรือประมาณร้อยละ 2.36 ของเนื้อที่ที่ใช้ก่อสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏเขียงใหม่ วิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก ทั้งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและไม่ได้เป็นป่าตามกฎหมาย แต่มีผู้คัดค้านซึ่งรวมทั้งสภาคณาจารย์ฯ โดยอ้างว่ารุกล้ำ"ป่า" ทั้งนี้ข้าพเจ้ามีเจตนาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ว่า หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งเข้าไปก่อสร้างอาคารในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นป่าตามกฎหมาย แต่ไม่ผู้คัดค้านว่าเป็นการรุกล้ำ "ป่า" แต่หน่วยงานราชการอีกแห่งหนึ่งเข้าไปก่อสร้างอาคารในพื้นที่ นอกเขตอุทยานแห่งชาติและไม่ได้เป็นป่าตามกฎหมาย กลับมีผู้คัดค้านซึ่งรวมทั้งสภาคณาจารย์ฯ โดยอ้างว่ารุกล้ำ"ป่า"

ชูชาติ ระบุต่อว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์เวิรค์พอยท์ ได้นำภาพถ่ายของตนไปลงและมีข้อความที่เขียนด้วยตัวอักษรโตมากด้านล่างภาพถ่ายว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ใช้เนื้อที่ถึง 6,235 ไร่ บ้านพักตุลาการใช้เพียง 147 ไร่" ถัดลงมามีข้อความว่า Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ และมีข้อความอยู่ด้านล่างอีกว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏเขียงใหม่ ก่อสร้างวิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใช้เนื้อที่มากถึง 6,235 ไร่เศษ ไม่เคยได้ยินข่าวว่าผู้ใดคัดค้านหรืออ้างว่ารุกล้ำป่า สำนักงานศาลยุติธรรม ก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักตุลาการ ใช้เนี้อที่เพียง 147 ไร่เศษ" โดยมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า ตนโพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว

อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ระบุว่า การตัดข้อความที่มีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่ว่า ซึ่งเป็นป่าตามกฎหมายออก ในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักศาลยุติธรรมตัดข้อความที่ว่า ทั้งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและไม่ได้เป็นป่าตามกฎหมาย แต่มีผู้คัดค้านซึ่งรวมทั้งสภาคณาจารย์ฯ โดยอ้างว่ารุกล้ำ "ป่า" ออกนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้กระทำว่าต้องการให้ผู้อ่านข้อความนี้เข้าใจผิดได้ว่า สถานที่ที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏเขียงใหม่ วิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก ไม่ได้เป็นป่าตามกฎหมาย และสถานที่ที่สำนักงานศาลยุติธรรมก่อสร้างอาคารศาลอุทผธรณ์ ภาค 5 กับบ้านพักตุลาการไม่ได้อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นป่าสงวนแห่งชาติและเป็นป่าตามกฎหมายด้วย

"เมื่อมีการตัดทอนข้อความดังกล่าวออก จึงเป็นบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวและเป็นการตัดทอนข้อความในเฟซบุ๊คอันเป็นเอกสารที่แท้จริงออกไปแล้ว แต่ยังมีข้อความยืนยันว่าเป็นข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวของข้าพเจ้า จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และ 268"  อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ พร้มระบุว่า การที่ได้นำข้อความดังกล่าวไปโพสต์ลงในเฟสบุ๊ค Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14

ชูชาติ โพสต์ด้วยว่า การนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยหลอกลวงไปโพสต์ในเฟสบุ๊ค Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ ทำให้ตนและตุลาการศาลยุติธรรมได้รับความเสียหายมาก เพราะมีผู้เข้ามาให้ความเห็นเป็นจำนวนมากด่าตนและตุลาการทั้งหมด ด้วยถ้อยคำที่ดูหมิ่นเหยียดหยามและหยาบคาย ทั้งในเฟซบุ๊ค Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ และในเฟสบุ๊คส่วนตัวของตน

การกระทำดังที่กล่าวแล้วนอกจากมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 กับมาตรา 268 และพระราชบัญญัติว่าการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ 2560 (ฉบับที่ 2) มาตรา 14 (1) ซึ่งทำให้ตนและตุลาการศาลยุติธรรมได้รับความเสียหายมากแล้ว ยังเป็นการทำละเมิดต่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ด้วย

"ขอเรียนให้ผู้ที่เข้าแสดงคิดเห็นในทั้งเฟสบุ๊ค Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ และในเฟสบุ๊คส่วนตัวของข้าพเจ้า ทราบว่า ถ้ามีข้อเขียนที่ผิดกฎหมาย ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องดำเนินตามกฎหมายด้วย จึงเรียนให้ท่านทราบว่า การกระทำดังกล่าวมาข้างต้นผิดกฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ข้าพเจ้าจะไม่ขอให้ท่านดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องของท่านที่ต้องพิจารณาเอาเอง แต่ขอเรียนว่าหากไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขการกระทำที่ทำให้ข้าพเจ้าและตุลาการศาลยุติธรรมได้รับความเสียหายกับชดใช้ความเสียหายที่ข้าพเจ้าได้รับภายในเวลาอันสมควร ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอความเป็นธรรมจากศาลยุติธรรมต่อไป" ชูชาติ โพสต์ทิ้งท้ายไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบเฟสบุ๊คแฟนเพจ Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ ไม่พบโพสต์ที่ ชูชาติ อ้างถึงแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น