โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กกต.รับจดแจ้งแล้ว 15 พรรค - แนะ จะขอ คสช.ประชุมต้องระบุข้อมูลให้ชัด

Posted: 12 Apr 2018 09:47 AM PDT

กกต.เผยรับจดแจ้งตั้งพรรคใหม่แล้ว 15 พรรค หลังสงกรานต์มีเพิ่มอีก แนะจะขอ คสช. ประชุมพรรคต้องระบุข้อมูลให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น วัน เวลา และสถานที่จัดประชุม  

12 เม.ย.2561 รายงานข่าวระบุว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.)ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณารับรองคำขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติของกลุ่มการเมืองที่ยื่นคำขอเข้ามา   เบื้องต้นมีจำนวน 15 พรรคการเมืองที่ได้ลงนามและออกหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง(แบบพ.ก.7/2)  ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย พรรคเครือข่ายประชาชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคทางเลือกใหม่ พรรคกรีน พรรคประชานิยม พรรคพลังสยาม พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน พรรคประชาชาติ พรรคพลังพลเมืองไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภาคีเครือข่ายไทย ทั้งนี้คาดว่า หลังเทศกาลสงกรานต์จะมีอีกหลายพรรคที่จะได้รับหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง (แบบพ.ก.7/2) 

"ที่มีบางกลุ่มการเมืองออกมาเรียกร้องให้เร่งดำเนินการออกใบแบบพ.ก.7/2 นั้น ขอชี้แจงว่า กกต.พยายามเร่งดำเนินการตรวจสอบอยู่ เพียงแต่ว่าข้อมูลบางอย่างจำเป็นต้องรอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว" พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวอีกว่า เรื่องการขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้ กกต.ได้ส่งหนังสือไปให้คสช.พิจารณาแล้ว จำนวน 30 กลุ่ม  และได้รับอนุญาต จำนวน 9 กลุ่ม อยากเน้นย้ำให้กลุ่มการเมืองที่จะยื่นเอกสารขออนุญาต คสช. ระบุข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น วัน เวลา และสถานที่จัดประชุม โดยเฉพาะสถานที่จัดประชุม ซึ่งมีความสำคัญมาก 

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย TNN24 ไทยรัฐออนไลน์ มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายแปลกในสหรัฐฯ วัยรุ่นคนหนึ่งถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมเพื่อน แม้เพื่อนเขาจะถูกตำรวจยิง

Posted: 12 Apr 2018 09:22 AM PDT

ในรัฐแอละแบมา มีกฎหมายแปลกๆ ที่ทำให้วัยรุ่นคนหนึ่งถูกตัดสินความผิดโทษฐานฆาตกรรมถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้สังหารใครด้วยมือตัวเองเลย นั่นคือกรณีของวัยรุ่นที่ออกก่อเหตุชิงทรัพย์กับเพื่อนของเขา พอเพื่อนของเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต ตัวเขาเองกลับต้องมารับโทษข้อหาฆาตกรรมเพื่อนเขาแทน

12 เม.ย. 2561 กรณีที่เกิดขึ้นในแอละแบมาล่าสุดคือคดีของ ลาคีธ สมิทธ์ อายุ 15 ปี เขากับเพื่อนอีก 4 คนออกก่อเหตุชิงทรัพย์จนกระทั่งมีคนในเมืองมิลล์บรูค รัฐแอละแบมา แจ้งความกับตำรวจ ตำรวจเข้าไปในที่เกิดเหตุและเป็นผู้ยิง อะดอนเต วอชิงตัน อายุ 16 ปี หนึ่งในเพื่อนที่ร่วมก่อเหตุเสียชีวิต

ถึงแม้ว่าหลักฐานจากกล้องวิดีโอที่ติดตัวตำรวจอยู่จะบ่งชี้ว่าตำรวจเป็นผู้ยิงวอชิงตันจนเสียชีวิตอย่างชัดเจน แต่ศาลก็ตัดสินว่าการยิงนั้นทำไปโดยชอบธรรม ขณะที่สมิทธ์กลับกลายเป็นผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมแทน และมีการตัดสินเขาให้ต้องจำคุก 65 ปี โดยอ้างกฎหมายความรับผิดในฐานะสมรู้ร่วมคิดตามแบบของแอละแบมา ราวกับว่าสมิทธ์ได้ก่อเหตุยิงเพื่อนเขาด้วยตนเอง

บีบีซีระบุว่ากฎหมายแบบนี้ในแอละแบมาไม่ได้มีอยู่เฉพาะในรัฐนี้เท่านั้นแต่มีอยู่แทบจะทุกรัฐในสหรัฐฯ เว้นอยู่ 7 รัฐที่ไม่มีกฎหมายแบบนี้ กฎหมายเช่นนี้มีชื่อภาษาคนทั่วไปว่ากฎหมายฆาตกรรมที่เกี่ยวกับคดีอาญา (felony-murder) ที่มีการตีความคำว่า "การฆาตกรรม" ในตัวบทข้ามไปถึงการสังหารที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้จงใจในช่วงที่มีการก่อคดีอาญา มีการกวาดรวมเอาผู้สมรู้ร่วมคิดไปด้วยทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ก่อเหตุโดยตรงเพียงแค่อยู่ในกลุ่มที่ก่อคดีอาญาเดียวกันก็ถูกเหมารวมไปด้วยได้

ถึงแม้ว่ากฎหมายพิลึกนี้จะมีรากฐานมาจากกฎหมายอังกฤษ แต่ก็เป็นกฎหมายมีอยู่น้อยมากภายนอกสหรัฐฯ รากฐานที่ว่าหมายถึงกฎหมาย "ร่วมก่อเหตุ" แต่ก็ระบุถึงอาชญากรรมที่มาจากแก็งค์อาชญากรเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งในปี 2559 ศาลสูงสุดของอังกฤษก็ปรับการพิจารณากฎหมายให้แคบลงโดยระบุว่าผู้ที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิดต้องมี "การไตร่ตรองไว้ก่อน" และมี "เจตนา" ที่จะก่อเหตุด้วย

กฎหมายนี้ยังมีความน่าประหลาดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ต้องเกิดการฆาตกรรมใดๆ แต่แค่มีคนตายด้วยสาเหตุอื่น เช่น หัวใจวายตายขณะก่อเหตุก็อาจจะทำให้มีคนถูกลงโทษข้อหาฆาตกรรม

ไมเคิล เฮย์แมน ศาสตราจารย์กิตติคุณจากวิทยาลัยกฎหมายจอห์น มาร์แชลล์ ในชิคาโกกล่าวว่ากฎหมายฆาตกรรมที่เกี่ยวกับคดีอาญาเป็นเสมือน "เรื่องกุขึ้นแบบอเมริกัน" ในแง่ที่ว่าคนที่ถูกลงโทษไม่ได้กระทำอะไรให้คนๆ หนึ่งเสียชีวิตเลยก็ได้

ขณะที่กรณีนี้เกิดขึ้นจำนวนมากในสหรัฐฯ กับกรณีของสมิทธ์นั้นมีความต่างออกไปเล็กน้อยตรงที่เขาต่อสู้คดีแทนที่จะรับสารภาพ สก็อต เลอมิวซ์ อาจารย์จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มองว่าปกติแล้วคดีนี้มักจะมีบทลงโทษจำคุกยาวนานกดดันให้ผู้ต้องหารับสารภาพเพราะอาจจะได้ลดโทษและการต่อสู้คดีมีความเสี่ยงมากเกินไป

ขณะที่แรนดี ฮุสตัน อัยการผู้ฟ้องสมิทธ์จะบอกว่าการำเนินคดีสมิทธ์เป็นไปอย่างเหมาะสมโดยอ้างว่าเป็นการ "นำปืนไปร่วมก่อเหตุอาชญากรรมแล้วก็มีคนตาย" ทนายความของสมิทธ์ เจนนิเฟอร์ ฮอลตัน ก็บอกว่าคดีแบบนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะคนที่สังหารเพื่อนของเขาคือเจ้าหน้าที่ทางการ แม้แต่อังเดร วอชิงตัน พ่อของผู้เสียชีวิตเองก็มองว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่กระทำถือเป็นความผิดอย่างแน่นอนและเขารู้สึกว่าสมิทธ์ไม่สมควรจะได้รับโทษนี้เลย

เรียบเรียงจาก

In the US, you don't have to kill to be a murderer, BBC, 09-04-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.และคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560

Posted: 12 Apr 2018 06:18 AM PDT

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และแนวปฏิบัติพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่  ให้ทำหนังสือแจงภายใน 25 เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยเเพร่เอกสารข่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ผู้ตรวจการเเผ่นดิน เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 231 (1) ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560  เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26 ,27 และมาตรา 45 หรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย

เนื่องจากกรณีเป็นการยื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 50 และหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบ รวมทั้งเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หัวหน้า คสช. พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จัดทำความเห็นเป็นหนังสือ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 25 เม.ย.2561 

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติ รับคำร้องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. จำนวน 27 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรค 1 (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรค 3 และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 92 วรรค 1  มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่ ไว้วินิจฉัยแล้ว 

เนื่องจากกรณีเป็นการยื่นตามมาตรา 148 วรรค 1 (1) ประกอบมาตรา 263 และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 50 และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบ รวมทั้งเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้ ปรีชา วัชราภัย สมาชิก สนช.ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายผู้เสนอความเห็น ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 วรรค 5  และประธาน กกต. จัดทำความเห็นเป็นหนังสือ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 25 เม.ย. 2561 

สำหรับ 2 มาตรา  ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ประธานสนช. ขอให้มีการวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มาตรา 35 ระบุว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์ (4) การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

และมาตรา 92  วรรค ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนนให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง ตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการ หรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการเแทนโดยความยินยอม และเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.เข้าคุยบ้านนักศึกษา ม.พะเยา เหตุเคยขึ้นเวทีคนอยากเลือกตั้ง - เปิดคุกคามถึงบ้าน นศ.ในรอบสัปดาห์

Posted: 12 Apr 2018 04:06 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผย ตร.เข้าคุยบ้านนักศึกษา ม.พะเยา เหตุเคยขึ้นเวทีคนอยากเลือกตั้งตั้งแต่เดือน ก.พ. 'เพนกวิน' เปิดลำดับเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ - ทหารคุกคามนักศึกษา

12 เม.ย.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้เมื่อ เวลาประมาณ 12.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่สันติบาล จำนวน 2 นาย เดินทางไปที่บ้านของ ชินภัทร วงค์คม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ระบุมาพูดคุย "ปรับความเข้าใจ" เรื่องการทำกิจกรรมทางการเมือง หลัง ชินภัทร เคยขึ้นเวทีของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ชินภัทร เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ตนเคยไปร่วมขึ้นเวทีของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.61 ในงาน "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ: 3-2-1 ถึงเวลาเปลี่ยน" ซึ่งเป็นกิจกรรมเรียกร้อง คสช. ให้กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน และหยุดสืบทอดอำนาจ ต่อมาหลังกิจกรรมดังกล่าว ชินภัทรได้รับทราบจากเพื่อนบ้าน ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจประมาณ 10 นาย เดินทางไปที่บ้านในจังหวัดพะเยา แต่ขณะนั้นไม่มีใครอยู่บ้าน จึงไม่ได้พบเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางมาอีก

จนกระทั่งในช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลในจังหวัดพะเยา จำนวน 2 นาย เดินทางเข้ามาที่บ้าน และได้สอบถามถึงตน เจ้าหน้าที่ระบุว่าได้รับคำสั่งให้มาเยี่ยมและมาพูดคุย "ปรับความเข้าใจ" โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบถามเรื่องการทำกิจกรรมของ ชินภัทร และสอบถามถึงการทำกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ด้วย พร้อมกับระบุว่าสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ยังไม่ปกติ ขออย่าให้ออกมาเคลื่อนไหว และได้บอกกับทางครอบครัวของชินภัทรว่าอยากให้ลูกตั้งใจเรียนก่อนจะดีกว่า เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปของชินภัทรเอาไว้ ก่อนจะเดินทางกลับไป

ชินภัทร เปิดเผยว่าไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด เพราะคาดไว้อยู่แล้วว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่มา ตั้งแต่ไปร่วมขึ้นเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่การมาของเจ้าหน้าที่ ก็ทำให้ทางครอบครัวตกใจ เพราะไม่มีการแจ้งมาล่วงหน้า และเข้ามาหาถึงที่บ้านเลย

ทั้งนี้ ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเดินทางไปติดตามกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในหลายพื้นที่ ทั้งกรณีสามนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำกิจกรรมชูป้าย "ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)" โดยขีดกากบาทที่คำว่าลุงตู่ ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปกล่าวปาฐกถาที่หอประชุมจุฬาฯ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.  ก็ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปติดตามตัวทั้งที่บ้านและที่มหาวิทยาลัย โดยมีการพยายามขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ และเข้าพูดคุยเรื่องการทำกิจกรรมกับครอบครัว (ดูรายงานข่าว)

ขณะที่วานนี้ (11 เม.ย.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานไว้แล้วว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปที่บ้านของ จตุพล คำมี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสองนักศึกษาที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีเรื่องการชุมนุมทางการเมือง จากการทำกิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นการติดตามเรื่องการทำกิจกรรมเช่นเดียวกัน 

วานนี้เช่นกัน ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และ นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชูป้ายข้อความลักษณะเสียดสีว่า "ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)" ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา คือ บอล ธนวัฒน์ วงศ์ไชย รองประธานสภานิสิตจุฬาฯ และ หนูดี วิรัลพัชร รอดแก้ว นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เดินทางเข้าพบตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ เพื่อร้องเรียน กรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารคุกคามภายหลังจากการชูป้ายดังกล่าว

ขณะที่ ไทยโพสต์ รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชูป้ายประท้วงต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการแสดงออกของเยาวชนนักศึกษา จึงไม่ติดใจในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าเมื่อนักศึกษาเติบโตขึ้นมา ก็จะทราบว่าอะไรผิดอะไรถูก ส่วนกรณีที่นักศึกษาอ้างว่าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่นั้น ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการกฎหมาย ถ้านักศึกษาทำผิด ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการเข้าไปติดตามนักศึกษา เพียงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามปกติธรรมดา ไม่ได้นำอาวุธยุทโธปกรณ์หรือรถถังเข้าไป

ลำดับเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ - ทหารคุกคามนักศึกษา

พริษฐ์ โพสต์ ลำดับเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ - ทหารคุกคามนักศึกษา ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Parit Chiwarak - เพนกวิน' ดังนี้

วันอังคาร: เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อนนิสิตจุฬา (ธนวัฒน์ วงศ์ไชย) ที่มหาวิทยาลัย ตามไปคุยกับแม่ของเพื่อนนิสิตอีกคนหนึ่ง (วิรัลพัชร รอดแก้ว) ที่บ้าน และไปด้อม ๆ มอง ๆ ที่ร้านค้าของครอบครัวเพื่อนนิสิตอีกคน (วศินี พบูประภาพ)

วันพุธ: ทหารในเครื่องแบบเข้าไปคุยกับพ่อของเพื่อนนักศึกษา มช. (จตุพล คำมีและประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ - 1 ใน 6 คนถูกคดีชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

วันนี้ เมื่อสิบนาทีที่แล้ว: เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาหาเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา (ชินภัทร วงศ์คม เคยขึ้นเวทีคนอยากเลือกตั้ง) ถึงที่บ้าน

ขอประณามการกระทำเหล่านี้ พวกเรานิสิตนักศึกษาไม่มีอาวุธ ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จะเป็นก็เป็นแต่ภัยความมั่นคงของท่าน อย่ามาอ้างประเทศชาติแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ท่านจะทำอะไรก็ขอให้นึกบ้างว่าอีกสิบปีคนจะจดจำท่านอย่างไร

แต่ผมจะจดจำท่าน และเมื่อโอกาสมาถึง ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับการคุกคามนี่จะต้องรับผิดชอบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บันทึก 6 ตุลา' ประกาศตามหาญาติ 'วัชรี เพชรสุ่น' นักศึกษารามฯ หนึ่งในเหยื่อเหตุการณ์

Posted: 12 Apr 2018 02:10 AM PDT

โครงการ "บันทึก 6 ตุลา" ประกาศตามหาญาติหรือเพื่อนของ "วัชรี เพชรสุ่น" นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในเหยื่อ 6 ตุลา 2519

12 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (11 เม.ย.61) เฟสบุ๊คแฟนเพจ บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6 โพสต์ภาพพร้อมประกาศตามหาญาติหรือเพื่อนของ "วัชรี เพชรสุ่น" หนึ่งในเหยื่อ 6 ตุลา 2519

โครงการ "บันทึก 6 ตุลา" กำลังพยายามติดตามหาข้อมูลเกี่ยวกับ วัชรี เพชรสุ่น นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หากท่านใดเคยรู้จัก วัชรี หรือรู้จักครอบครัวของวัชรี ขอความกรุณาติดต่อกลับมาทีี่เรา โดยสามารถส่งข้อความมาทางกล่องข้อความของเฟสบุ๊ค หรืออีเมล์มาที่ 6oct1976@gmail.com 

สำหรับ  โครงการ "บันทึก 6 ตุลา" เป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตรวจพยานหลักฐานคดีส่องโกงราชภักดิ์ เกือบปียังไม่คืบ เตรียมออกหมายจับ ‘การ์ตูน’

Posted: 12 Apr 2018 12:55 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานศาลทหารเลื่อนตรวจพยานหลักฐานคดีส่องโกงราชภักดิ์ 8 คน ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เตรียมออกหมายจับ 'การ์ตูน' ชนกนันท์ หลังขาดนัดเป็นครั้งที่ 2 และนับเป็นครั้งที่ 4 ที่ศาลทหารกรุงเทพสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี

เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันดังกล่าว เมื่อ 10.15 น. สิรวิชญ์ เสรธิวัฒน์, อานนท์ นำภา, กิตติธัช สุมาลย์นพ, วิศรุต อนุกูลการย์, กรกนก คำตา, วิจิตร์ หันหาบุญ, และกรกช แสงเย็นพันธ์ จำเลยที่ 1-7 ที่ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง มาศาลทหารกรุงเทพตามนัดพร้อม โดย 'การ์ตูน' ชนกนันท์ รวมทรัพย์ จำเลยที่ 8 ไม่มาศาล ตุลาการได้ตักเตือนกรกนก คำตา จำเลยที่ 5 ให้มาศาลตามนัดในครั้งต่อไป หลังนัดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 จำเลยจำนัดผิดพลาดจนมาไม่ทันการพิจารณา

ส่วนชนกนันท์ จำเลยที่ 8 ไม่มาศาลตามนัดเป็นครั้งที่ 2 นายประกันและทนายความจำเลยแจ้งต่อศาลว่าไม่สามารถติดต่อได้ ศาลจึงสั่งให้ปรับนายประกันเป็นเงิน 10,000 บาท หากนายประกันไม่ชำระค่าปรับจะยึดหลักทรัพย์ประกัน และให้อัยการทหารเตรียมข้อมูลเพื่อขออกหมายจับ หากไม่สามารถจับตัวจำเลยได้หลังออกหมายจับภายใน 1 เดือน ให้โจทก์รีบแจ้งต่อศาลเพื่อเตรียมจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 8 และให้เลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 11 ก.ค. 2561 เวลา 08.30 น.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ศาลทหารกรุงเทพเลื่อนนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ แรกสุด ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้เมื่อ 19 มิ.ย. 2560 และต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากมีข้อโต้แย้งจากการที่ตุลาการศาลทหารพยายามจะตัดพยานฝั่งจำเลย ต่อมาวันที่ 21 ก.ย. 2560 พ.อ.สมพงษ์ จิณสิทธิ์, พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์, และ พ.อ.สืบพงษ์ นิลกุล องค์คณะตุลาการเริ่มการตรวจพยานหลักฐานด้วยการแจ้งว่าศาลจะไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลยบางรายการ

บัญชีพยานจำเลยที่ศาลทหารกรุงเทพจะไม่รับ ได้แก่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และคลิปการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของ พล.อ.ไพบูลย์และ พล.อ.อุดมเดช รวมถึงพยานซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้ง 2 ชุด

นอกจากนี้ ศาลยังตัดพยานเอกสารซึ่งเป็นสำเนาเอกสารสรุปการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพบก สำเนาเอกสารจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ และสำเนาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 2 ชุด เนื่องจากศาลเห็นว่าคดีนี้อัยการทหารฟ้องจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่ใช่คดีทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

อย่างไรก็ตาม ทนายความจำเลยได้คัดค้านว่ากระบวนการพิจารณาครั้งนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลยโดยไม่ถามถึงประเด็นการนำสืบที่เกี่ยวข้องกับพยานเหล่านั้น อีกทั้งในคำฟ้องยังระบุว่า จำเลยชุมนุมกันโดยกล่าวอ้างว่ามีการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ คสช. จำเลยจึงต้องนำพยานเหล่านี้มาสืบเพื่อแก้ต่างฟ้องของโจทก์ และเป็นประเด็นโดยตรงในคดี

ภาพจากเฟสบุ๊ค Sirawith Seritiwat

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ 'นิว' จำเลยที่ 1 ลุกขึ้นมาขออนุญาตแถลงต่อศาลต่อจากทนายความว่า จำเลยมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาแก้ต่างฟ้องของโจทก์ หากศาลตัดพยานเหล่านั้นของจำเลยอาจจะไม่เกิดความยุติธรรมในกระบวนการพิจารณา ในเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยชุมนุมกันโดยกล่าวอ้างว่ามีการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ คสช. จำเลยจึงมีสิทธิต่อสู้ในประเด็นนั้น

จากนั้น ศาลให้อัยการทหารและทนายความจำเลยแถลงประเด็นที่จะนำสืบ โจทก์แถลงว่า พยานโจทก์ลำดับแรก คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา ลำดับที่ 2-8 เป็นเจ้าหน้าที่การรถไฟที่พบเห็นเหตุการณ์ ลำดับที่ 9-11 เป็นนายทหารผู้จับกุม ลำดับที่ 12 คือ พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ทราบมูลเหตุการกระทำผิด ลำดับที่ 13-22 คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ โดยฝ่ายจำเลยไม่อาจรับพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์ไม่นำคำให้การชั้นสอบสวนของพยานแต่ละคนมาให้จำเลยตรวจในนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยจริงไม่อาจทราบเนื้อหาที่พยานได้ให้การไว้

ด้านทนายความจำเลยแถลงว่า จำเลยที่ 1-5 และ 7-8 อ้างตนเองเป็นพยาน ลำดับถัดมาคือพยานผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพในการชุมนุม, พยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน, ประจักษ์พยานในเหตุการณ์, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ซึ่งกรณีของ พล.อ.ไพบูลย์ และ พล.อ.อุดมเดช หากโจทก์รับว่าบุคคลที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลในคลิปวิดีโอข่าวเป็น พล.อ.ไพบูลย์ และ พล.อ.อุดมเดช จริง จำเลยก็ไม่ติดใจที่จะนำพยานทั้งสองปากมาให้การต่อศาล พยานลำดับที่ 11-12 คือคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

อัยการทหารแถลงไม่รับพยานหลักฐานของจำเลย โดยเฉพาะในกรณี พล.อ.ไพบูลย์ และ พล.อ.อุดมเดช โจทก์ยอมรับว่าในคลิปข่าวที่ให้สัมภาษณ์คือบุคคลทั้งสองจริง แต่ไม่อาจรับเนื้อหาที่ให้สัมภาษณ์ได้ ด้านศาลยังคงยืนยันที่จะไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร, คณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ และรายงานการตรวจสอบการทุจริต

เมื่อทนายความจำเลยถามว่าศาลใช้กฎหมายใดในการไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลย ตุลาการศาลทหารตอบเพียงว่า ศาลใช้อำนาจทั่วไปของศาล

ต่อมา โจทก์อ้างว่าติดภารกิจในช่วงบ่าย ศาลจึงให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 26 ม.ค. 2561 ซึ่งในนัดดังกล่าว ชนกนันท์ รวมทรัพย์ จำเลยที่ 8 ไม่มาศาล จึงเลื่อนมาวันที่ 11 เม.ย. 2561

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้เผย 142 ประเทศไม่ประหารชีวิตแล้ว ปี 60 จีนยังครองแชมป์ ไทยยังใช้โทษนี้อยู่

Posted: 12 Apr 2018 12:20 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2560 พบว่าการประหารชีวิตส่วนใหญ่ในโลกเกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรักและปากีสถาน ตามลำดับ ในอาเซียนมี สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามที่มีการประหารชีวิตประชาชน ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ในขณะที่อีก 142 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว

12 เม.ย.2561 รายงานข่าวจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยแจ้งว่า ในรายงาน "สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2560" (Death Sentences and Executions in 2017) ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ ยืนยันว่าแนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2560 มีประชาชนอย่างน้อย 993 คนที่ถูกประหารชีวิตใน 23 ประเทศ โดยตัวเลขเหล่านี้ไม่ครอบคลุมการประหารชีวิตหลายพันครั้งที่เกิดขึ้นในจีน ซึ่งทางการถือว่าข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ

ในปี 2560 มีการตัดสินโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 2,591 ครั้งใน 53 ประเทศ โดย 50 ประเทศได้พิพากษาประหารชีวิต หรือประหารชีวิตประชาชนในคดียาเสพติด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีการประหารชีวิตในคดียาเสพติดสูงสุด ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดนี้สูงสุด คือ 10 จาก 16 ประเทศ และจนถึงสิ้นปี 2560 ยังคงมีนักโทษประหารอยู่ทั่วโลกอย่างน้อย 21,919 คน

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ปัจจุบันมี 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมาได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

ข้อมูลจากรายงานล่าสุดระบุว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามยังคงประหารชีวิตประชาชนในปี 2560 โดยสิงคโปร์ประหารชีวิตประชาชนแปดคน  ในขณะที่มาเลเซียมีอย่างน้อยสี่คนที่ถูกประหารชีวิต ส่วนเวียดนามมีแนวโน้มการประหารชีวิตที่สูงที่สุดในภูมิภาค แม้ทางการจะไม่ได้มีการเปิดเผยสถิติการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ เนื่องจากตัวเลขการประหารชีวิตถือเป็นความลับทางราชการ จึงไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเปิดเผยว่า ไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ในปี 2560 มีการตัดสินโทษประหารชีวิต 75 ครั้ง ถือว่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ที่มีถึง 216 ครั้ง แม้ว่าประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่มีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่เก้าที่ไม่มีการประหารชีวิตจริง

"ขณะนี้ประเทศไทยใกล้จะกลายเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว หากไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันครบสิบปี องค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะกลายเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย" ปิยนุช  กล่าว

สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่  31 ธ.ค. 2560 ระบุว่ามีนักโทษประหารชีวิตทั้งหมด 502 คน เป็นชาย 414 คน หญิง 82 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน โดยประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ และเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิต รวมทั้งให้ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต" ปิยนุช กล่าวทิ้งท้าย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก รับความผิดพลาด - สัญญาจะปรับปรุงเฟสบุ๊ค ในการไต่สวนของสภาคองเกรส

Posted: 12 Apr 2018 12:05 AM PDT

สื่อต่างประเทศหลายแห่งตั้งข้อสังเกตว่าในการไต่สวนเฟสบุ๊คในสภาคองเกรส เป็นสิ่งที่ทำให้เฟสบุ๊คกลับมามีภาพลักษณ์ดีขึ้น ทั้งวิธีตอบคำถามของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เอง และคำถามที่สะท้อนการขาดความรู้ในเรื่องโซเชียลมีเดียจากฝ่าย ส.ว. เอง จากที่ก่อนหน้านี้เฟสบุ๊คถูกรุมเร้าเรื่องข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปล่อยให้รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งและกรณีขายข้อมูลให้เคมบริดจ์อนาไลติกา
 
11 เม.ย.2561 จากกรณีเรื่องเฟสบุ๊คขายข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ให้บริษัทเคมบริดจ์อนาไลติกา รวมถึงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีคนในรัสเซียใช้เฟสบุ๊กเป็นเครื่องมือ ทำให้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ถูกเรียกตัวตอบข้อซักถามที่สภาคองเกรสในช่วงวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาสหรัฐฯ โดยซักเคอร์เบิร์กแถลงเมื่อก่อนหน้าการเข้าตอบข้อซักถามว่า เขาจะพูดปกป้องเฟสบุ๊คในฐานะ "พลังด้านบวกของโลก" 
 
ในขณะที่การตอบข้อซักถามจากสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐฯ เป็นไปโดยที่วุฒิสมาชิกถามคำถามในทำนองการตรวจสอบและเปรยถึงการกำกับดูแลเฟสบุ๊คอย่างไรก็ตามสื่อ Tech Crunch วิเคราะห์ว่าการตอบข้อซักถามในครั้งนี้เป็นความสำเร็จของเฟสบุ๊คที่ซักเคอร์เบิร์กสามารถเลี่ยงบาลีกับคำถามเชิงการกำกับดูแลและตอบข้อซักถามแบบเรียบๆ จนวุฒิสมาชิกยอมให้เขาได้
 
สื่อ Tech Crunch ระบุ อีกว่าการไต่สวนซักเคอร์เบิร์กจากฝ่ายวุฒิสมาชิกและคณะกรรมการหอการค้าสหรัฐฯ กลับสะท้อนความตื้นเขินและการขาดความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียของนักการเมืองเหล่านี้เสียเอง นอกจากนี้ซักเคอร์เบิร์กยังพูดถึงประเด็นข้อกล่าวหาของเฟสบุ๊คตามถ้อยแถลงที่เขาเตรียมไว้
 
ในถ้อยแถลงก่อนการเข้าตอบข้อซักถามขของ ซักเคอร์เบิร์ก ระบุว่า เฟสบุ๊คเป็นบริษัทที่มีอุดมคติและมองโลกในแง่ดี แต่ก็ยอมรับว่าพวกเขายังทำไม่มากในการจะป้องกันไม่ให้เครื่องมือของพวกเขาถูกนำไปใช้สร้างความเสียหาย พวกเขายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดและระบุว่าตนเองต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น 
 
นอกจากนี้ในถ้อยแถลงก่อนการตอบข้อซักถามยังให้สัญญาว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ให้ดีขึ้น แต่ก็ยังพยายามย้ำถึงข้อดีของเฟสบุ๊คที่ใช้สร้างสรรค์หรือเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหว #MeToo กับ March for Our Lives ที่มีการจัดตั้งส่วนหนึ่งจากเฟสบุ๊ก การระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเฮอร์ริเคนฮาร์วี รวมถึงการเกิดธุรกิจขนาดย่อมจำนวนมากที่ "มีการเติบโตและการสร้างงาน"
 
Tech Crunch ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตอบข้อซักถามของ ซัคเคอร์เบิร์ก อีกว่าเขาพูดชวนให้รู้สึกว่าเฟสบุ๊คกำลังชำระความผิดบาปของตัวเองและแสดงออกว่าจะรับผิดชอบพัฒนาระบบสิทธิความเป็นส่วนตัวให้ดีขึ้น ในเชิงการเงินแล้วการตอบข้อซักถามในครั้งนี้ส่งผลให้ราคาหุ้นของเฟสบุ๊คสูงขึ้นร้อยละ 4.5
 
ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊คตอบข้อซักถามต่างๆ โดยอาศัยข้อเท็จจริง เช่นในกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงจากรัสเซียทางเฟสบุ๊คระบุว่าพวกเขาลบบัญชีผู้ใช้ของหน่วยปฏิบัติการข่าวกรอง GRU ของรัสเซียออกไปตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 2559 แล้ว อีกทั้งก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเฟสบุ๊คเคยประกาศถึงการแก้ไขปัญหานี้ว่าเขามีแผนการจะให้คนที่ทำโฆษณาเชิงการเมืองหรือเฟสบุ๊คเพจดังๆ ต้องระบุตัวตนและสถานที่ รวมถึงจะให้มีความเข้มงวดมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสัญญาว่าจะเพิ่มทีมกำกับดูแลจาก 10,000 คน เป็น 20,000 คน
 
ขณะที่ Vox รายงานว่าคำถามที่คองเกรสสะท้อนว่าการจะกำกับดูแลเฟสบุ๊คนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับคองเกรส เพราะคำถามของสภาคองเกรสก็ดูไม่มีทิศทางชัดเจน หรือดูไม่มีความรู้ความเข้าในเรื่องโซเชียลมีเดียเสียเอง เช่น ส.ว.พรรครีพับลิกัน ออร์รืน แฮตช์ ถามซัคเกอร์เบิร์กว่า "คุณยังคงโมเดลธุรกิจของคุณไว้ได้อย่างไรโดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องจ่ายเงิน"
 
ซักเคอร์เบิร์กตอบสั้นๆ ว่า "เรียนท่าน ส.ว. เราขายโฆษณา"
 
อย่างไรก็ตามมีบางกรณีที่ทาง ส.ว. ถามซักเคอร์เบิร์กแบบเจาะจงถึงเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวจนทำให้ซักเคอร์เบิร์กเสียสูญไปชั่วคราว เช่น ส.ว. ดิก เดอร์บิน จากพรรคเดโมแครตที่ถามว่า "คุณจะรู้สึกสะดวกใจไหมถ้าหากให้บอกชื่อของโรงแรมที่คุณพักอยู่เมื่อคืนนี้" ซักเตอร์เบิร์กหยุดตอบคำถามไปนานและกล่าวออกมาสั้นๆ ว่า "ไม่" ทำให้เกิดเสียงหัวเราะภายในห้องไต่สวน
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Zuckerberg's testimony: CEO will defend Facebook as 'positive force', The Guardian, 09-04-2018
 
Mark Zuckerberg vows to fight election meddling in marathon Senate grilling, The Guardian, 11-04-2018
 
Lawmakers seem confused about what Facebook does — and how to fix it, Vox, 10-04-2018
 
Zuckerberg's boring testimony is a big win for Facebook, Tech Crunch, 10-04-2018
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ชุดไทย

Posted: 11 Apr 2018 08:32 PM PDT


ที่มาภาพ: https://news.thaipbs.or.th/content/270243

กระแสเห่อ "ชุดไทย" ของคนชั้นกลางไทยเวลานี้ บอกอะไรแก่เราบ้าง?

"ชุดไทย" ที่เห่อกันอยู่นี้ มิได้เป็นเครื่องแต่งกายของคนอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ แม้เขานุ่งผ้าผืนเดียว ที่อาจผูกชายไว้ข้างหลัง (ตรงที่เรียกกระเบนเหน็บ) แต่เขาไม่สวมเสื้อเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นหน้าหนาว แม้แต่ในหน้าหนาว ผู้ชายส่วนใหญ่ก็มักใช้ผ้าขะม้าคลุมตัวมากกว่าสวมเสื้อ

เสื้อเป็นสิ่งที่นานๆ ถึงได้ใช้กันทีหนึ่ง ผมสงสัยว่าสามัญชนคงไม่จำเป็นต้องใช้เลยตลอดชีวิต เสื้อจึงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินมักพระราชทานแก่ขุนนางเป็นบำเหน็จความชอบ

แม้เสด็จออกขุนนาง พระเจ้าแผ่นดินก็มิได้ทรงเสื้อฉลองพระองค์ อย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงขุนนางในสมัย ร.3 ที่ต้องคอยดูว่าเมื่อไร พระเจ้าอยู่หัวจึงจะทรงรู้สึกหนาว และหยิบเสื้อขึ้นสวม เพราะขุนนางยังสวมเสื้อไม่ได้ ตราบจนกว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเสื้อเสียก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น เคยคิดไหมครับว่า ชุดเครื่องแต่งกายของคนไทยไม่เคยถูกปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเลยหรือ ในระยะ 500 ปีตั้งแต่ต้นอยุธยามาจนต้นรัตนโกสินทร์ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้หรอกครับ อย่างไรเสียก็ต้องปรับโน่นนิดเปลี่ยนนี่หน่อยเป็นธรรมดา อย่าลืมว่าทั้งกรุงศรีอยุธยาที่อยุธยาและบางกอก ล้วนเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ ซึ่งมีคนต่างชาติพันธุ์แวะเวียนเข้ามาหรือตั้งภูมิลำเนาอยู่เลย ดูแต่ฉลองพระองค์ชุดใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินไทยนับแต่ปลายอยุธยาลงมา ก็จะเห็นว่าเกือบตลอดทั้งองค์ นับแต่พระมาลาลงมาถึงพระบาท ล้วนเป็นสิ่งที่รับมาจากต่างประเทศเสียเกือบทั้งนั้น มีตั้งแต่เปอร์เซียไล่มาจนถึงจีนและญี่ปุ่น

ชุดของสามัญชนก็ต้องปรับต้องเปลี่ยนเหมือนกัน แม้ไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โดยตรง แต่ผมให้สงสัยอย่างมากว่าผ้านุ่งไทยในสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 น่าจะสั้นกว่าสมัยหลังจากนั้น เช่น หากเหน็บชายเรียบร้อยก็น่าจะสูงกว่าหัวเข่าหรือเลยลงมานิดเดียว และอาจไม่ได้ทอจากฝ้ายด้วย (หลักฐานทางพม่าว่าผ้าในยุคนั้นทอจากป่าน, ปอ, กัญชง)

เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะกี่ทอผ้าไทยทอได้แต่ผ้าหน้าแคบ ผ้าหน้ากว้างเป็นสินค้านำเข้าจำนวนมากจากอินเดีย หลังคริสต์ศตวรรษ 15 ลงมา ชนชั้นสูงอาจต้องเอาผ้าต่อกันเพื่อให้หน้ากว้างขึ้น ส่วนสามัญชนคงไม่ได้ต่อเพราะสิ้นเปลืองเกินไป

สรุปทั้งหมดที่ผมพูดมาก็คือ เอาเข้าจริงไม่มี "ชุดไทย" ตามธรรมชาติหรอกครับ "ชุดไทย" หรือชุดประจำชาติไทยเป็นสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นหลัง เพิ่งมีเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ลงมา แต่อย่าเพิ่งเสียใจนะครับ ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า มีชุดประจำชาติของชาติไหนบ้างหว่า ที่ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในรุ่นหลัง แต่มีมาจริงๆ ตามธรรมชาติ ดังนั้น ชุดประจำชาติของทั้งโลกล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์ในรุ่นหลังทั้งนั้นแหละครับ

ก่อนหน้านั้นขึ้นไปในเมืองไทย ชุดซึ่งเราเรียกว่า "ชุดไทย" ในปัจจุบัน เป็นชุดประจำสถานะครับ ไม่ใช่ชุดประจำชาติ

อันที่จริงชุดประจำสถานะก็มีมานานแล้ว คุณภาพของผ้าที่ต่างกัน ตลอดจนความพิถีพิถันในการนุ่งและเครื่องประดับอื่นๆ แยกขุนนางและสมาชิกในครอบครัวออกไปจากสามัญชน แยกระหว่างคนมีอำนาจกับคนไม่มี ระหว่างคนมีทรัพย์กับคนไม่มี ระหว่างคนมีบริวารกับคนไม่มี ฯลฯ เพียงการแต่งกายที่ต่างกันอย่างชัดเจนนั้น ก็เป็นเครื่องแสดง "ระเบียบ" ทางสังคมที่เห็นได้ว่าบ้านเมืองเป็นปรกติสุขดี เพราะกระเบื้องไม่เฟื่องฟูลอย

แต่ชุดที่เราเรียกว่าชุดไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นในช่วงที่ "สถานะ" ซึ่งต้องการแสดงนั้น เป็น "สถานะ" แบบใหม่ซึ่งคนอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ไม่เคยรู้จักเลย นั่นคือสถานะของคนศิวิไลซ์ หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือคนที่รู้จักมาตรฐานฝรั่ง แม้ไม่ได้ทำตามฝรั่งเป๊ะ แต่ก็ปรับเครื่องแต่งกายให้อธิบายด้วยมาตรฐานฝรั่งได้ เช่น มักไม่ค่อยเผยให้เห็นเนื้อหนังมังสา เท้าต้องสวม "เกือก" มีถุงน่องรองรับขึ้นไปปิดถึงใต้เชิงผ้านุ่ง ส่วนท่อนบนก็แน่นอนว่า ต้องสวมชุดที่เรียกว่า "ราชปะแตน" ซึ่งคือชุดที่ดัดแปลงมาจากเครื่องแบบของข้าราชการอาณานิคมฝรั่ง

นี่คือชุดแต่งกายของ "ผู้ดี" กรุงเทพฯ ที่เป็นผู้ชาย รวมถึงข้าราชการสมัยใหม่ที่เพิ่งมีในเมืองไทยด้วย ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ชุดเครื่องแบบแท้ๆ นอกจากบางกรมกองที่เจ้ากระทรวงบังคับให้แต่ง เช่น "กรมท่า" ซึ่งต้องติดต่อกับฝรั่งมังค่ามาก เจ้ากระทรวงคงสั่งให้นุ่งผ้าสีเดียวกัน เพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย (และทำให้เราเรียกสีน้ำเงินเฉดหนึ่งว่าสีกรมท่า)

ทั้ง "ผู้ดี" และข้าราชการสมัยใหม่ซึ่งมีเงินเดือนกินเป็นจำนวนแน่นอน ล้วนเป็นสถานะใหม่ที่ไม่เคยมีในสังคมไทยมาก่อน เพราะต้องได้รับการศึกษา (ก็แผนใหม่อีกนั่นแหละ) ระดับหนึ่ง

"ชุดไทย" ในระยะเริ่มต้นจึงเป็นชุดแสดงสถานะทางสังคม ไม่ใช่แสดงความเป็นไทย

เพิ่งมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นแหละ ผู้ปกครองจึงได้คิดชุดแต่งกายที่อาจเรียกได้ว่า "ประจำชาติ" ขึ้นมา แต่จินตกรรมเกี่ยวกับชาติก็ตาม ความศิวิไลซ์ก็ตามของชนชั้นปกครองที่เป็นสามัญชนเหล่านี้ แตกต่างจากชนชั้นปกครองรุ่นก่อนเสียแล้ว ความเป็นสังคมทันสมัย (ซึ่งใช้สังคมยุโรปตะวันตกเป็นมาตรฐาน) ต่างหากที่แสดงความเป็นไทย (ที่อยากจะเป็น) มากกว่าวัฒนธรรมเดิมของคนไทย

แทนที่จะนุ่งโจง ผู้ชายไทยจึงควรสวมเสื้อและกางเกง สวมหมวก หรือในบางโอกาสก็ควรสวมเสื้อนอกและผูกเน็กไทด้วย ส่วนผู้หญิงก็รับความนิยมในสมัย ร.6 มาสืบต่อ คือควรสวมผ้าซิ่นซึ่งใกล้เคียงกระโปรงฝรั่งมากกว่า หรือนุ่งกระโปรงไปเลย ส่วนเสื้อก็ตัดเย็บเหมือนเสื้อแหม่ม

จินตกรรมเกี่ยวกับชาติไทยที่ศิวิไลซ์แล้วนี้ ยังปรากฏต่อมาจนหลัง 2490 ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษา ภาพประกอบหนังสือเรียนเด็กก็ยังเป็นภาพของหญิง-ชายที่แต่งกาย "ทันสมัย" แบบนี้ แม้แต่ "คุณพ่อ" ซึ่งเป็นชาวนา ยังสวมเสื้อนอก ผูกเน็กไทและสวมหมวก

แต่มันก็เป็นแค่จินตกรรม ไม่ใช่ของจริง คนที่แต่งกายอันศิวิไลซ์ได้ขนาดนี้จึงมักมีฐานะทางเศรษฐกิจ (และสังคม, การเมือง) ระดับสูงกว่าคนทั่วไป ชุดดังกล่าวจึงกลายเป็นชุดที่แสดงสถานะไปด้วย และผมคิดว่านี่คือเหตุผลที่ชุดดังกล่าวแพร่หลายในสังคมอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

ยังไม่พูดถึงในช่วงหนึ่งที่ยาวนานพอสมควร คนที่ไม่ได้แต่งกายแบบนี้ (กางเกงและเสื้อเชิ้ต) จะไม่ได้รับบริการที่อำเภอ เพราะแสดงสถานะที่ยากจนไร้การศึกษาและไร้อำนาจ จึงเข้าถึงรัฐได้ยากกว่าเป็นธรรมดา

จนถึง 2500 หรือหลังการยึดอำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่ามกลางอำนาจทางการเมืองที่แข็งแรงมั่นคงของกลุ่มอนุรักษนิยมแล้วต่างหาก ที่ "ชุดไทย" เปลี่ยนไปจากอุดมคติแบบจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาลอกเลียนชุดแต่งกายของ "ผู้ดี" กรุงเทพฯ สมัย ร.5-6 กันใหม่ จินตกรรมเกี่ยวกับชาติและความเป็นไทยของผู้ถืออำนาจในยุคพัฒนาแตกต่างจากผู้นำสายคณะราษฎร แม้อยากให้เศรษฐกิจพัฒนาเหมือนโลกตะวันตก แต่ก็อยากรักษาความเป็นไทยให้ดำรงอยู่โดยไม่เปลี่ยน ความเป็นไทยถูกนิยามแบบย้อนกลับไปหาอดีต เพื่อรักษาอำนาจนำของรัฐเอาไว้ ทั้งในทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง (อันที่จริงเราเริ่ม "เอเชียวิถี" มาก่อนใคร เพียงแต่ไม่ได้ใช้ชื่อเอเชียเท่านั้น) ความเป็นไทยที่อยู่ในอนาคตแบบของจอมพล ป. ถูกลืมหรือเห็นว่า "ไม่ไทย" ไปเลย

แต่ระบบเผด็จการของสฤษดิ์ก็ดำรงอยู่ได้เพียง 16 ปี หลัง 14 ตุลา สังคมไทยจำเป็นต้องต่อรอง "ความเป็นไทย" กันใหม่ ผลที่สุดคือการประนีประนอมที่น่าสนใจ "ชุดไทย" จะเป็นชุด "ผู้ดี" โบราณก็ได้ แต่เป็นชุดที่ไม่มีที่ใช้ในชีวิตปรกติของผู้คน เฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น สวมถ่ายรูปติดห้องรับแขก หรือสวมไปงานราตรีสโมสรกึ่งแฟนซีที่สมาคมนักเรียนเก่าจัดขึ้น นี่คือเหตุที่หลายคนรู้สึกเป็นปรากฏการณ์ประหลาด (ถึงเป็นข่าวได้) ที่มีคนแต่งชุดไทยไปท่องเที่ยวอยุธยา การท่องเที่ยวถือเป็นกิจวัตรในชีวิตปรกติ ไม่ใช่โอกาสพิเศษ จึงเป็นการแต่งกายผิดพื้นที่, ผิดโอกาส, ผิดข้อตกลง

ยิ่งไปกว่านั้น ชุดไทยที่คิดกันขึ้นหลัง 14 ตุลา ก็เป็นชุดประนีประนอม เช่นปล่อยกางเกงฝรั่งไว้ตามเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากเชิ้ตเป็นเสื้อคอตั้ง และแม้ว่ารัฐสนับสนุนให้ใช้ชุดดังกล่าว ก็ไม่มีบทลงโทษทั้งทางกฎหมายและการปฏิบัติแก่ผู้ที่ยังสวมเชิ้ตเหมือนเดิม

แต่ชุดไทยที่กลับมาเห่อกันใหม่ในตอนนี้ไม่ใช่ชุดประนีประนอมอย่างเคยเสียแล้ว หากหวนกลับไปไกลถึงชุดที่เชื่อกันว่าคนไทยในสถานะต่างๆ แต่งกายกันก่อน 2475 (ยกเว้นกางเกงแพรจีน ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ชายอยู่ช่วงหนึ่ง) นั่นคือเป็นชุดไทยของสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และดังที่กล่าวแล้วว่าขยายการใช้จากโอกาสเฉพาะมารวมชีวิตประจำวันบางส่วนด้วย

ดูเหมือนมีการต่อรอง "ความเป็นไทย" กันใหม่ผ่านเครื่องแต่งกาย คนชั้นกลางที่แต่งชุดไทยกำลังบอกว่า แม้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่มีสถานะเดิมบางอย่างที่ต้องรักษาไว้เป็นอัตลักษณ์ไทยสืบไป

ผมไม่ทราบหรอกว่าสิ่งที่ต้องรักษาไว้ในความคิดของคนชั้นกลางที่แต่งชุดไทยคืออะไรบ้าง แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่าคงมีหลายอย่างและไม่ตรงกันหมดทุกข้อ ส่วนข้อที่ตรงกันคงมีเหมือนกัน และผมอยากรู้ว่าคืออะไร น่าเสียดายที่ยังไม่มีใครศึกษาเจาะลึกจินตกรรมทางการเมือง, สังคม และเศรษฐกิจของคนชั้นกลางกลุ่มนี้

ส่วนหนึ่งของจินตกรรมนั้นคงตรงกับความต้องการของรัฐบาลเผด็จการทหาร เพราะกระทรวงวัฒนธรรมของเผด็จการทหารเพิ่งมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัย (ที่ปรากฏเป็นข่าวคือ มธ. แต่เข้าใจว่าคงส่งหนังสือไปทุกมหาวิทยาลัย) ให้จัดวันแต่งชุดไทยหนึ่งวันทุกสัปดาห์

ในทางตรงกันข้าม ผมเชื่อว่าก็มีคนชั้นกลางอีกไม่น้อยที่ไม่ได้สนใจชุดไทยแบบนี้ และไม่เคยคิดจะนุ่งห่มด้วยชุดไทยในชีวิตปรกติของตนเลย จำนวนไม่น้อยอีกเหมือนกันของคนกลุ่มนี้กลับมองการแต่งชุดไทยของกลุ่มแรกเป็นเรื่องตลกหรือน่าขำ บางคนอาจถึงเยาะเย้ยถากถางในโซเชียลมีเดีย

ชุดไทยจึงกลับมาเป็นประเด็นใหม่ของการโต้แย้งถกเถียงในสังคมอีกครั้ง แต่ลึกลงไปไม่ใช่การถกเถียงเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย แต่เป็นการถกเถียงเกี่ยวกับจินตกรรมที่มีต่อชาติที่ต่างกันมากกว่า ท่ามกลางสำนึกร่วมกันของทั้งสองฝ่ายว่า เรากำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ทั้งพัฒนาการภายใน และกระแสโลกาภิวัตน์จากภายนอก ชาติไทยควรเดินไปอย่างไร ไม่ใช่ควรแต่งกายอย่างไร

 

ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_93943

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: จรรยาศาลกับบ้านพัก

Posted: 11 Apr 2018 08:16 PM PDT

ปัญหาการก่อสร้างบ้านพักศาลบนดอยสุเทพ ที่โลกออนไลน์เรียกตามภาพถ่ายทางอากาศว่า "หมู่บ้านป่าแหว่ง" มองมุมหนึ่งก็น่าเห็นใจฝ่ายศาล เพราะมาเบรกกันตอนใกล้สร้างเสร็จ ถ้าให้ทุบทิ้งก็เสียดายงบประมาณ แถมประธานศาลฎีกา หรือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมคนปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ผู้ริเริ่มโครงการ แต่ต้องมารับหน้าชี้แจงสาธารณชน

กระนั้นว่าที่จริง ชาวเชียงใหม่ก็คัดค้านโครงการนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มแผ้วถาง ยังไม่ทันก่อสร้าง แต่เสียงประชาชนไม่ยักดัง ไม่มีคนสนใจ ไม่มีใครฉุกคิดว่าจะสะเทือนหัวอกชาวบ้านตาดำๆ จึงก่อสร้างมาจนเห็นภาพบ้านเป็นหลังๆ เป็นหมู่ๆ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่น กระทั่งฝ่ายทหาร ผบ.ทบ.สั่งให้ชะลอ เพราะเกรงความรู้สึกลุกลาม

ประเด็นที่ 2 ข้างโต้แย้ง ระหว่างฝ่ายศาลกับภาคประชาชน ก็พูดคนละด้าน ฝ่ายศาลยืนกรานไม่ผิดกฎหมาย ฝ่ายประชาชนพูดถึงความสะเทือนใจ การทำลายระบบนิเวศน์ บรรทัดฐานความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนเสียศรัทธา

ซึ่งก็ใช่เลย ถ้าว่าตามกฎหมาย ท่านขออนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุอย่างถูกต้อง (จนหลายคนพยายามเบนประเด็นไปด่านักการเมืองที่อนุมัติให้ใช้ที่ดินและงบก่อสร้าง) แต่เรื่องสำคัญกว่าคือความเหมาะสม ความรู้สึกประชาชน เพราะนี่คือสถาบันศาลที่ประชาชนให้ความเคารพศรัทธา

พูดง่ายๆ นะ ถ้ากระทรวงมหาดไทยขอที่ราชพัสดุตรงนี้ไปสร้างบ้านพักผู้ว่าฯ มีหวังโดนไล่เปิงตั้งแต่แรก หรือต่อให้ทหารก็เถอะ แต่พอเป็นศาล เหมือนมีความกริ่งเกรง กระทั่งผู้คนเริ่มเห็นบ้านพักระดับประธานศาล ที่บ้างก็เปรียบเปรยว่าราวกับรีสอร์ทชมวิว แล้วมีผู้กล้าริเริ่มล่าชื่อใน Change.org ความอัดอั้นจึงระเบิดออกมา

ทำไมประชาชนมองศาลต่างจากหน่วยงานอื่น ด้านหนึ่ง อาจเพราะกลัวศาล แต่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนก็เปี่ยมความเคารพศรัทธา เชื่อมั่นว่าผู้พิพากษาดำรงตนอยู่ในความสัตย์ซื่อสมถะ

"ข้อ 35 ผู้พิพากษาจักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยู่ในกรอบของศีลธรรม และพึงมีความสันโดษ ครองตนอย่างเรียบง่าย สุภาพ สำรวม กิริยามารยาท มีอัธยาศัย ยึดถือจริยธรรมและประเพณีอันดีงามของตุลาการ ทั้งพึงวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป"

นั่นคือจริยธรรมตุลาการ ซึ่งเคร่งครัดกว่าข้าราชการอื่น จึงมีคำถามว่า อย่าว่าแต่ประชาชนเลย ตัวผู้พิพากษาเองจะสบายใจหรือไม่ เมื่อไปพักอยู่บนบ้านที่สาธารณชนเปรียบเปรยว่า ยังกะคฤหาสน์ชมวิว

เพราะจริยธรรมที่เข้มงวดนี่เอง ผู้พิพากษาจึงได้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่น เพราะมีข้อห้ามประกอบวิชาชีพอื่น ต้องวางตัวให้เหมาะสม ต้องระวังกระทั่งการประกอบอาชีพของลูกเมียญาติสนิท ประธานศาลฎีกาจึงได้เงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท เท่านายกรัฐมนตรี (กำลังจะปรับขึ้นอีก 140%) ตุลาการชั้นสี่ ซึ่งมีจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 170 กว่าท่าน ประธานศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค จนถึงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ได้ตามอาวุโส ได้เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท (จะขึ้นอีก 10%) บวกค่าตอบแทนเหมาจ่ายรถประจำตำแหน่ง 41,000 บาท เทียบเท่าปลัดกระทรวง

ระบบของศาลคือถ้าท่านรับราชการครบกำหนด ก็จะได้เลื่อนชั้นทันที มีเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งแน่นอน เป็นหลักการที่กำหนดไว้ป้องกันการวิ่งเต้นเอาใจ เป็นหลักประกันอิสระในการพิจารณาคดี

นี่คือสิ่งที่สังคมมอบให้ศาล พร้อมกับความเคารพศรัทธา ฉะนั้น ไม่ต้องพูดกันให้มากก็น่าจะรู้ว่า กรณีบ้านพักศาลควรจบอย่างไร

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/225823

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แด่ออเจ้า....

Posted: 11 Apr 2018 08:03 PM PDT

มวลมหากาลเวลานิจจาเอ๋ย     กระไรเลยจะเฉยหยุดไร้หมุดหมาย

ฤดูกาลยังผ่านมาหาเปล่าดาย     บันทึกร้าย,เลว,ดี มีเอวัง

ออเจ้าปักเข็มหมุดไว้ในผืนผ้า     เพื่อหมายว่าจะมาใหม่ในภายหลัง

ปักหมุดสุดแผนที่ ๆ ระวัง     ประหนึ่งตั้งประภาคารการเดินทาง

ปักหมุดสุดขอบหล้าอย่าเลือนหลง     เข้ารกพงจงดีไร้ผีสาง

นักเดินทางรุ่นก่อนหน้ากล้าก้าวย่าง     ปักหมุดง้างโง่งมจมทะเล


ส่องแสงจากประภาคารกาลเวลา     หินโสโครกข้างขวาอย่าหันเห

แสงฟ้าพราวจากดาวเหนือเมื่อโพล้เพล้     หมุดหมายไม่หมิ่นเหม่ให้เร่ร้าง

คนรุ่นก่อนสอนไว้ให้รู้ค่า     กาลเวลาพาปักหมุดสุดสรรค์สร้าง

รุ่นต่อรุ่นสอนลูกหลานการเดินทาง     เวียนวนคว้างกลางทะเลเสียเวลา

สอนให้รู้จักปักหมุดหยุดเลือนหลง     ยามเข้ารกเข้าพงจงแลหา

คนรุ่นก่อนสะท้อนชีวิตพิจารณา     เขามุ่งมาปักหมุดหมายหวังได้อะไร


นักเดินทางรุ่นน้องท่องจักรวาล     ประภาคารแห่งชีวิตในทิศใหม่

ดาวเหนือยังส่องแสงเป็นแรงใจ     หมุดหมายใหม่ไม่มีวันหมด กฎครอบงำ

เส้นทางแห่งอาหารวิญญาณมนุษย์     ไปปักหมุดสุดทางกลางมืดค่ำ

ก่อนจะตายได้ปักหมุดสุดทรงจำ     แม้หลุมดำดึงดูดยอมหลอมเหลวเลย

                                   

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนอยากเลือกตั้งทำไม – ทำไมคนอยากเลือกตั้ง

Posted: 11 Apr 2018 07:54 PM PDT


ภาพ: อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

สิ่งที่เยาวชนคนหนุ่มสาวและคนหลากหลายอายุได้รวมตัวกันขึ้นมาเป็นกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง"แล้วพากันชุมนุมแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และเรียกร้องให้ คสช.ลาออกจากตำแหน่ง คงเหลือเพียงการเป็นรัฐบาลรักษาการ ฯลฯ จนถูกดำเนินคดีกันเป็นจำนวนถึง 143 คน (คดีหน้ามาบุญครอง 39 คน,คดีที่ถนนราชดำเนิน 50 คน,คดีหน้ากองทัพบก 47 คน และคดีที่พัทยา 7 คน) ได้สร้างข้อสงสัยว่าเหตุใดคนเหล่านี้จึงพากันออกมาเรียกร้องทั้งๆที่รู้ว่าในที่สุดจะต้องถูกดำเนินคดี หรือทั้งๆที่รัฐบาลบอกแล้วว่าอย่างไรเสียก็จะต้องมีการเลือกตั้งภายในกุมภาพันธ์ 2562 อยู่แล้ว


1.การเลือกตั้งคืออะไรและสำคัญอย่างไร

การเลือกตั้งเป็นวิธีการคัดสรรคนเพื่อเข้าไปทำกิจกรรมทางการเมือง การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน(representative democracy) เพราะเราไม่สามารถให้ประชาชนทุกคนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยในสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการได้ ฉะนั้น จึงต้องมีกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลเพื่อเข้าไปใช้อำนาจแทนตนเอง ซึ่งวิธีการที่ว่านี้ก็คือ การเลือกตั้ง (election) นั่นเอง และหลักการของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องประกอบไปด้วยหลักของความที่เป็นการทั่วไป (in general), เป็นอิสระ (free voting), มีระยะเวลาที่แน่นอน (periodic election), เป็นการลงคะแนนลับ (secret voting), หนึ่งคน หนึ่งเสียง (one man one vote) และต้องมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม (fair election) เพราะประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีการเลือกตั้งเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้หลัก 6 ประการที่ว่านี้ โดยเป็น "การบังคับเลือก"ว่าจะเอาหรือไม่เอา หรือเลือกตั้งในกติกาที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น


2.ทำไมถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งๆที่รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่แล้ว

เพราะตลอดการมีอำนาจของ คสช. 4 ปี มีการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งมาแล้ว 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1: จากปลายปี 2558 สู่การเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอก ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกันระหว่างนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

ครั้งที่ 2: จากกลางปี 2560 สู่ปลายปี 2560

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวกับ นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2558 ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560 แต่ก็ไม่เกิดขึ้น

ครั้งที่ 3: จากปลายปี 2560 สู่ปลายปี 2561

การเลือกตั้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงปลายปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น กระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือนจึงเพิ่งเริ่มนับหนึ่งได้ ตามโรดแมปนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะผ่านร่างกฎหมายลูกครบ 10 ฉบับภายในเดือนมกราคม 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2561

ครั้งที่ 4: จากพฤศจิกายน 2561 สู่กุมภาพันธ์ 2562 และสู่ความไม่แน่นอน

โรดแมปการเลือกตั้งของ คสช. ที่ชัดเจนที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 หลังจากพลเอก ประยุทธ์ บินไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศกลางทำเนียบรัฐบาลว่าในเดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป

แต่ในที่สุดสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งก็ปรากฏชัดเจนขึ้นจนได้ เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมาก ปรับแก้ในมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน (ซึ่งไม่มีใครไม่เชื่อว่าไม่ได้รับสัญญาณจาก คสช.) จึงตีขลุมเอาว่าต้องยืดระยะเวลาไปอีก 3 เดือน จากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ฉะนั้น จึงไม่มีความแน่นอนใดๆที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทั้งๆที่หากกระทำโดยเร่งรัดแล้วก็ยังสามารถเลือกตั้งได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ดี แม้ว่าจะมีการยืดการบังคับใช้พรป.ส.ส.ออกไปอีก 90วันและส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยก็ตาม เพราะฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศไว้อยู่แล้วว่าไม่กระทบต่อ  โรดแมปเดิมแต่อย่างใด


3.เหตุใดจึงเรียกร้องให้ คสช.ยุติหน้าที่หรือลาออกทั้งๆที่สมัยรัฐบาลปกติก็ยังรักษาการจนมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่ กอปกับรัฐธรรมนูญฯ ปัจจุบันก็บัญญัติให้คสช.ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

เป็นการเรียกร้องให้ยุติการทำหน้าที่ คสช. ไม่ได้เรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญฯมาตรา 265 บัญญัติให้ คสช.ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ แต่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯใดที่บัญญัติห้ามมิให้ คสช.ลาออก ฉะนั้น หากจะอ้างว่าทีรัฐบาลปกติยังรักษาการใด้ แต่นั่นเป็นคณะรัฐบาลซึงไมใช่ คสช.ที่มีอำนาจล้นฟ้าด้วยมาตรา 44 เช่นนี้

ข้อเรียกร้องฯทั้งหมดนี้อาจจะดูเหมือนว่าจะปฏิบัติได้ยาก แต่ก็สามารถปฏิบัติได้ หาก คสช.ตั้งใจที่จะทำในฐานะที่เป็นคนกลาง และหากปฏิบัติได้เช่นนี้บ้านเมืองก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและสันติ

แต่หากยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพและดำเนินคดีต่อผู้ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญฯ ปัจจุบันที่ผ่านประชามติรับรองไว้ อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่เราไปให้สัตยาบันไว้ก็บัญญัติรับรองไว้เช่นกัน การกระทำเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ผลกระทบที่ตามมาย่อมตกแก่ประเทศไทยและคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หมดยุคสมัยที่จะใช้คำว่าข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวแล้วครับ

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 11 เมษายน 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ข้อแขนที่แสนทราม สูเจ้าเหยียดหยามประชาชน

Posted: 11 Apr 2018 05:41 PM PDT



เดินตรง แต่โค้งคด โลกกำหนด ด้วยเวลา
แรงถ่วง ก็หน่วงสา กระแทกตุ้ม ขยุ้มทรามฯ

ตัวแทน ความเที่ยงตรง ให้โลกหลง ว่างดงาม
แห่หน มาล้นหลาม ดิรัจฉาน โกงบ้านเมืองฯ

เสียงตุ้ม นาฬิกาตอก ผ่านปลายหอก คอกกระเดื่อง
มูมมาม ตามฟันเฟือง กระชากกัด อย่างสัตว์ไพรฯ

ยี่สิบห้าเรือน ร้อยเข็มชี้ พันบัดสี แสนจัญไร
นาฬิกา มาจากไหน ก็ส่วยสา ช่างน่าอายฯ

สิ้นเกียรติ เพราะไร้เกียรติ เกินหยามเหยียด ต่ำกว่าควาย
สับปลับ ก็รับลาย ที่พาดร่าง ช่างโสมมฯ

นาฬิกาเพื่อน หรือขอเขา ละโมบเอา น่าขื่นขม
ขอทาน ก็พาลตม ที่ต่ำตื้น กว่าผืนดินฯ

รักชาติ ด้วยโฉดชั่ว ใจเกลือกกลั้ว พวกทุศีล
ไร้เกียรติ เหยียดด้วยตีน ที่เหยียบย่ำ ค้ำหัวคนฯ

เวลาตรึง แต่มึงคด มึงกำหนด กฎเส้นหน
กูในนามหมา-ประชาชน ขย้ำมึง ก็เสียฟันฯ

เสียงสาป แช่งสะสา เสียงเวลา บีฑาหั้น
จงปลุก ทุกคืนวัน จงกรีดก้อง สมองมึง!!!

 

หมายเหตุ: 11 เม.ย. 2561 เอกชัย หงส์กังวาน ได้นำบทกวีของ ก่องแก้ว กวีวรรณ ไปขับเสภาที่บริเวณบ้านพักของ เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีขณะที่มีกิจกรรมนายทหารผู้นำเหล่าทัพเข้ารดน้ำอวยพรวันสงกรานต์ โดยได้แจงว่ามีเจตนาขับให้ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เจ้าของข่าว "นาฬิกาหรู" ได้รับฟัง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น