โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปาเลสไตน์ชุมนุมรำลึกอิสราเอลรุกราน-กลับถูกสลายชุมนุมด้วยกระสุนจริง

Posted: 02 Apr 2018 01:03 PM PDT

กองทัพอิสราเอลยิงใส่ผู้ชุมนุมปาเลสไตน์ที่ฉนวนกาซาอีกครั้งในวันที่ 31 มี.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 30 มี.ค. เจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 17 ราย และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,400 ราย แต่ชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงชุมนุมต่อและแสดงการรำลึก-แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต

ธงชาติปาเลสไตน์ (ที่มา: Wikipedia)

2 เม.ย. 2561 - กระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ที่มีผู้ประท้วงถูกยิงทำให้สถานพยาบาลประสบปัญหาต้องรองรับผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งที่แต่เดิมมีปัญหาขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์รวมถึงเชื้อเพลิงกับพลังงานมาเป็นเวลานานอยู่ก่อนแล้ว

โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลเปิดฉากยิงผู้ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 17 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ผู้ประท้วงก็ยังคงชุมนุมต่อไปและมีคนจำนวนมากเข้าร่วมพิธ๊ศพของผู้เสียชีวิต แต่ก็ยังมีการเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมในวันที่ 31 มี.ค. จนมีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบราย

การชุมนุมที่พรมแดนกาซา-อิสราเอลในครั้งล่าสุดนี้กลุ่มผู้ชุมนุมวางแผนว่าจะเป็นการชุมนุมยาว 6 สัปดาห์ไปจนถึงวันที่พวกเขาเรียกว่า "นัคบา" โดยมีผู้ชุมนุมปาเลสไตน์หลายหมื่นคนรวมตัวกันใน 5 จุดของชายแดนกาซา-อิสราเอล มีป้ายประกาศว่า "พวกเขามาที่นี่ไม่ได้มาเพื่อสู้รบ พวกเขามาที่นี่เพื่อจะได้กลับสู่ดินแดนของพวกเขา"

วันนัคบา หรือ "วันแห่งความหายนะ" สำหรับชาวปาเลสไตน์หมายถึงวันที่ชาวปาเลสไตน์แพ้สงครามและสูญเสียดินแดนให้กับอิสราเอลเมื่อช่วงปี 2491 และมีจำนวนมากต้องถูกขับหรืออพยพออกจากพื้นที่บ้านเกิด โดยพวกเขาตั้งชื่อการชุมนุมในครั้งนี้ว่าเป็น "การเดินขบวนแห่งการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่"

นอกจากนี้วันเริ่มต้นชุมนุมของชาวปาเลสไตน์ยังกำหนดให้ตรงกับวันครบรอบ 42 ปี "วันแห่งแผ่นดิน" (Land Day) ซึ่งเป็นวันที่ชาวปาเลสไตน์ทั่วโลกจะรำลึกถึงผู้เสียชีวิต 6 รายที่ถูกกองทัพอิสราเอลสังหารเพราะประท้วงการไล่ที่เพื่อตั้งถิ่นฐานของอิสราเอล

ถึงแม้ทางการอิสราเอลจะออกมาระบุว่าพวกเขาวางกำลังสไนเปอร์เพื่อโต้ตอบ "การก่อจลาจล" และยิงใส่ "ผู้ที่ยุยงปลุกปั่นหลักๆ" อีกทั้งประกาศว่าจะมีมาตรการถ้าหาก "ความรุนแรงยังดำเนินต่อไป" และอ้างว่าพวกเขาทำปเพื่อสกัดกั้น "องค์กรก่อการร้าย" แต่ก็มีข้อความในทวิตเตอร์ระบุว่าพวกเขายิงใส่ผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ

ไม่ว่าจะมีการก่อจลาจลจริงจากผู้ชุมนุมหรือไม่ก็ตามกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ไม่พอใจที่อิสราเอลโต้ตอบด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุในแบบที่ถูกห้ามจากกฎหมายนานาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนในอิสราเอลที่ชื่อเบ็ตเซเล็ม วิจารณ์ว่ากองกำลังอิสราเอลยิงใส่ผู้ชุมนุมมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ขณะที่ซาราห์ เลียร์ วิตสัน ผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าถึงแม้อิสราเอลจะกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมบางคนใช้ความรุนแรง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าอิสราเอลจะใช้กำลังในระดับทำให้ถึงแก่ชีวิตซึ่งถูกห้ามจากหลักกฎหมายนานาชาติได้

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการสืบสวนเหตุการณ์นี้จากกรรมการอิสระ รองหัวหน้าฝ่ายกิจการการเมืองของยูเอ็นยังแสดงความกังวลว่าสถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงในวันถัดๆ ไป

ทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนเบ็ตเซเล็มแถลงอีกว่า การที่ผู้ประท้วงจะประท้วงกันในเวลาไหนและประท้วงกันอย่างไรที่กาซานั้นไม่ใช่เรื่องที่อิสราเอลจะตัดสินใจ อีกทั้งยังวิจารณ์ว่าอิสราเอลไม่ได้พูดถึงปัญหาที่เกิดข้นในกาซาเลย สภาพของกาซาตอนนี้เปรียบเสมือนคุกขนาดใหญ่ที่ห้ามแม้กระทั่งไม่ให้ "ผู้ต้องขัง" ประท้วงต่อต้านและแสดงความเจ็บปวดจากการสูญเสียชีวิต

เรียบเรียงจาก

Day After Shooting Dead at Least 15, Israeli Forces Open Fire on Gaza Protesters Again, Common Dreams, 31-03-2018

As 'March of Great Return' Begins, Israeli Forces Gun Down Palestinian Protesters Along Gaza Border, Common Dreams, 30-03-2018

Palestinians hold day of mourning after 773 'shot with live ammunition', The Guardian, 31-03-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดีเดย์ 8 เมษาบวชป่ารอบบ้านพักศาลภาค 5 - ชูริบบิ้นเขียวปกป้องป่าดอยสุเทพ

Posted: 02 Apr 2018 11:58 AM PDT

ภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพแสดงความผิดหวังที่ผู้แทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่มาพบเจรจาที่ มทบ.33 ค่ายกาวิละ - พร้อมค้านการเดินหน้าโครงการบ้านพักแล้วปลูกต้นไม้แซม เพราะพืชต่างถิ่นจะทำระบบนิเวศน์ดอยสุเทพเพี้ยน ย้ำจุดยืนเดิมทุบ-รื้อทิ้ง ขณะเดียวกันนัดหมาย 8 เม.ย. เคลื่อนขบวน-บวชป่ารอบโครงการบ้านพักศาล ขณะที่ในโลกออนไลน์ เจ้าของร้านนอร์ทเกทชวนประชาชนผูกริบบิ้นหรือสัญลักษณ์สีเขียว สื่อความหมายปกป้องผืนป่าดอยสุเทพ

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ แถลงข่าวหลังไม่ได้พบกับตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่หน้า มทบ.33 ค่ายกาวิละ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 61 (ที่มา: เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ)

เครือข่ายขอคืนพื้นป่าดอยสุเทพ จัดกิจกรรมแสดงเชิงสัญลักษณ์ บริเวณประตูท่าแพ เมื่อ 2 เม.ย. 61 รณรงค์เชิญชวนภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ ผูกริบบิ้นสีเขียวและติดสติกเกอร์ เรียกร้องให้รื้อโครงการบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 (ที่มา: คำศรีดา แป้นไทย/เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ)

ด้านหน้าของโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ภาพถ่ายเมื่อ 5 มีนาคม 2561 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยเครือข่ายนักข่าวพลเมือง จ.เชียงใหม่)

กรณีภาคประชาชนหลายฝ่ายใน จ.เชียงใหม่ ในนามภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งคัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดเอียงในเขตกันชนไฟป่า และมีการทักท้วงอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2558

โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างรายงานว่า ตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้นัดเจรจากับตัวแทนภาคประชาชนในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย. 2561 เวลา 13.30 น. ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตามปรากฏว่าตัวแทนศาลไม่ได้มาพบกับประชาชน โดยระบุว่าไม่ทราบเรื่องนัดหมาย

ทั้งนี้เมื่อถึงกำหนดนัดหมายภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกว่า 50 คน ประกอบด้วยธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่าย, พิมสุชา สมมิตรวสุ ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมู่บ้าน (ทสม.) คำศรีดา แป้นไทย ชมรมเฮาฮักเจียงใหม่, ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ดร.จอห์นนพดล วศินสุนทร ฝ่ายประสานงานด้านกฎหมายของเครือข่าย ฯลฯ ได้รวมตัวชูป้ายคัดค้านโครงการก่อสร้างที่หน้าค่ายกาวิละ รวมทั้งแถลงข่าวยืนยันเจตนารมณ์ให้มีการคืนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ

ในการแถลงข่าว (ชมคลิปแถลงข่าวที่นี่) ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ รู้สึกเสียใจนึกว่าจะได้พูดคุยกับตัวแทนศาล แต่เมื่อที่ผ่านมามีนายทหารผู้ช่วยของ พล.ต.สาธิต ศรีสุวรรณ ผบ.มทบ.33 โทรศัพท์มาแจ้งว่าทางศาลขอยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล ในเมื่อไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนรับรู้

ขอยืนยันว่าคนเชียงใหม่ค้านโครงการนี้ตั้งแต่วันแรกที่มีการเอารถขุดตักไปถางดอยตั้งแต่ปี 2558 เขาในฐานะชมรมร่มบินเชียงใหม่เห็นตั้งแต่วันแรก มีการทำหนังสือถึงอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย คัดค้านตลอดผ่านสื่อ CM108 สื่อท้องถิ่น เว็บไซต์พันทิพ พอปี 2559 พอกระแสรุนแรง ศาลท่านก็แถลงข่าวว่าท่านถูกกฎหมาย และขู่จะเอาผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็สร้างไปเรื่อยๆ จนเกิดทัศนะอุจาดปรากฏแก่สายตาชาวเชียงใหม่

ด้านคำศรีดา แป้นไทย ชมรมเฮาฮักเจียงใหม่ แถลงว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะสร้างความเสื่อมศรัทธาให้เกิดในหมู่ประชาชน ชาวเชียงใหม่ไม่ยอมแน่นอน ขอเรียกร้องให้คืนพื้นที่ ขณะที่ชัชชาลย์ ทองดีเลิศ กล่าวว่า ดอยสุเทพเป็นพื้นที่ศักดิสิทธิ์เป็นจิตวิญญาณและหัวใจของคนเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นพื้นที่ๆ ไปสร้างไม่เหมาะสม มีที่ราชพัสดุที่อื่นเยอะแยะ ทำไมไม่ไปที่อื่น นอกจากนี้ยังมีการทำลายและตัดต้นไม้ จากสีเขียวกลายเป็นพื้นที่สีน้ำตาล กลายเป็นทัศนะอุจาด นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นป่าต้นน้ำ เป็นแหล่งน้ำของห้วยแม่จอก และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งห้วยแม่หยวกด้วย นอกจากนี้จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมาทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม เกิดผลกระทบกับคนเชียงใหม่ในอนาคต

"คนเชียงใหม่ประสบกับปัญหาหมอกควันมากแล้ว เราต้องรักษาพื้นที่สีเขียว แต่ตอนนี้ สถาบันสูงสุด คือสถาบันตุลาการกลับเป็นตัวอย่างเสียเอง ซึ่งไม่เหมาะสม ไม่สมควร ควรใช้สามัญสำนึกง่ายๆ ทุบโครงการและกลับลงมา"

ส่วน ดร.จอห์นนพดล วศินสุนทร ที่ปรึกษากฎหมาย เครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ-ปุย ที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายฯ เตรียมรวบรวมรายชื่อถวายฎีกา รวมถึงการฟ้องร้องกับศาลปกครองให้มีการยุติการก่อสร้าง อีก

นอกจากนี้ยังเป็นห่วงวิธีปลูกต้นไม้ทดแทน เพราะพืชต่างถิ่นจะสร้างระบบนิเวศน์ที่ผิดเพี้ยน พืชพันธุ์ผิดแปลกจะทำลายทั้งดอยสุเทพ เสนอให้ทุบรื้อทิ้งและฟื้นฟูป่า โดยคนเชียงใหม่จะช่วยกันปลูกป่า

ทั้งนี้เครือข่ายยังได้นัดหมายกันในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 08.00 น.นัดรวมตัวที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ถ.คันคลองชลประทาน จ.เชียงใหม่ ก่อนเคลื่อนขบวนด้วยวิธีเดินเท้า ขับรถจักรยาน และพาหนะอื่นๆ ไปอย่างสงบ เพื่อไปบวชป่ารอบๆ "หมู่บ้านป่าแหว่ง" หรือโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ พร้อมเยี่ยมชมโครงการ ทั้งนี้เครือข่ายได้ตะโกนคำขวัญ "ต้องรื้อ ต้องรื้อ ต้องรื้อ" เป็นระยะในช่วงอ่านแถลงการณ์

โดยหลังการแถลงข่าวเครือข่ายได้เดินทางไปที่หน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อขอพูดคุยกับประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย อย่างไรก็ตามไม่มีการพบกันแต่อย่างใด นอกจากนี้เครือข่ายยังเดินทางไปแสดงสัญลักษณ์ที่ข่วงประตูท่าแพด้วย

อนึ่งในช่วงแถลงข่าวนั้น กฤตย์ เยี่ยมเมธากร อายุ 49 ปี และศรุต ศรีถาวร อายุ 44 แถลงด้วยว่าจะขอเป็นตัวแทนชาวเชียงใหม่เดินเท้าลงกรุงเทพมหานครเพื่อขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อยื่นหนังสือและเรียกร้องขอให้ใช้ มาตรา 44 ยกเลิกโครงการก่อสร้างดังกล่าว โดยจะเริ่มเดินจากจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 4 เม.ย. จากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตั้งเป้าเดินเท้าวันละประมาณ 50 กม. จนกว่าจะถึงที่หมายปลายทาง

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงว่าโครงการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้งบประมาณค่อนข้างมาก โดยใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องเดินหน้าต่อไป

 

โลกโซเชียลชวนผูกริบบิ้นเขียว แสดงพลังปกป้องผืนป่าดอยสุเทพ

อนึ่งในโลกโซเชียล ภราดล พรอำนวย นักดนตรีและเจ้าของร้าน "North Gate" ซึ่งเคยรณรงค์ "มือเย็นเมืองเย็น" ปลูกต้นไม้รอบคูเมืองเชียงใหม่ และลงทุนเป่าแซกโซโฟนในคลองแม่ข่ารณรงค์ฟื้นฟูคลองแม่ข่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. เขาได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนแสดงพลังบริสุทธิ์ ด้วยการใช้ผ้า ริบบิ้น โบว์ เชือก สีเขียว แสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วย

"วันนี้ ภาคประชาชน จ.เชียงใหม่เห็นร่วมกันว่า พวกเราน่าจะแสดงพลังอะไรสักอย่าง เพื่อส่งเสียงของพวกเรา ต่อการถามหาความชอบธรรมและความรับผิดชอบของ 'ศาลอุทธรณ์ภาค 5'

โดยเราจะแสดงพลังผ่านสัญลักษณ์ 'สีเขียว' เพื่อสื่อถึงความผูกพันระหว่างคนเชียงใหม่กับป่าดอยสุเทพ และชาวเชียงใหม่พร้อมที่จะปกป้องป่าผืนนี้

ใครที่รู้สึกเหมือนกันและอยากเข้าร่วม... ลองหาเศษผ้าผืนเล็กๆ หรือผ้าพันคอ, ริบบิ้น, โบว์, เชือกสีเขียว นำมาผูกที่ข้อมือ ที่แฮนด์รถจักรยาน, มอเตอร์ไซค์, รถยนต์, ถ้าเป็นห้างร้านจะแขวนไว้ที่ประตู หรือหน้าร้านก็ได้ครับ

แน่นอนว่าเราจะสื่อสารอย่างสันติ เพราะเราเชื่อว่า นี่คือการแสดงพลังบริสุทธิ์ของภาคประชาชนที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านของเราเอง อันเกิดจากจิตสำนึกของพวกเราเอง ที่ถูกปลุกฝังและส่งต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น" ตอนหนึ่งของสเตตัสระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยันจัดซื้อยา-เวชภัณฑ์บัตรทองปี 61 ไม่สะดุด รพ.ราชวิถี-อภ.-สปสช.เร่งทำงานต่อเนื่อง

Posted: 02 Apr 2018 11:41 AM PDT

บอร์ด สปสช.รับทราบความก้าวหน้า จัดซื้อยา เวชภัณฑ์ฯ ปี 2561 หลัง รพ.ราชวิถี อภ. และ สปสช. เร่งประสานดำเนินงานต่อเนื่อง ในการจัดซื้อสายสวนหัวใจ วัคซีน HPV และออกประกาศหลักเกณฑ์จัดซื้อยาฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขต่อเนื่อง  

2 เม.ย. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้รับทราบ "ความก้าวหน้าการดำเนินการด้านยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561

นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการด้านยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 โดยการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ ซึ่งมี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ใน 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นการจัดหาสายสวนหัวใจ สืบเนื่องจากหลายภาคส่วนมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดหาที่ต้องดำเนินการในระยะเวลาอันสั้น ทั้งระเบียบการจัดซื้อ จัดจ้าง ปี 2560 มีข้อจำกัดในการจัดหาสายสวนหัวใจแต่ละชนิดที่กำหนดได้จัดหาได้เพียงชนิดละ 1 ชื่อการค้าเท่านั้น และบริษัททีจำหน่ายมีข้อกังวลว่าอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ซึ่งอาจส่งผลต่อประสบการณ์และความเชื่อมั่นของแพทย์ผู้ให้การและรักษาและส่งผลต่อผู้ป่วยในที่สุด

ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นควรให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการจัดหาสายสวนหัวใจสำหรับที่ต้องใช้ในช่วงวันที่ 1 เม.ย. - 30 ก.ย.2561 โดยวิธีจัดซื้อแบบเดิมเหมือนในปี 2560 (Repeat order) ขณะที่การดำเนินการในปี 2562ให้เพิ่มการมีส่วนร่วมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำคุณลักษณะสายสวนหัวใจ โดยให้ทีมเลขานุการ ซึ่งประกอบด้วย สปสช. รพ.ราชวิถี และ อภ. แพทย์ที่มีความรู้ในแต่ละหน่วยบริการพิจารณาคุณลักษณะเพื่อให้เสนอแนะ และแจ้งปริมาณสายสวนหัวใจแต่ละชนิดที่ต้องการให้เข้ามา รวมทั้งให้มีการสรุประยะเวลาในการดำเนินงานเบิกจ่ายชดเชยแต่ละขั้นตอนในการปฏิบัติให้ชัดเจน และข้อมูลเปรียบเทียบความถูกต้องในการชดเชยของข้อมูลในฐานองค์การเภสัชกรรมและ สปสช.

ประเด็นการหารือกรมบัญชีกลางเรื่องร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการดำเนินการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปี 2561 เพิ่มเติม เนื่องจากการทำสัญญาระหว่าง รพ.ราชวิถี และ อภ.ยังไม่สามารถทำได้ อยู่ระหว่างรอแก้ไขวิธีปฏิบัติการจัดหาเวชภัณฑ์ในประกาศกรมการแพทย์ ความคืบหน้า ได้มีการร่างประกาศกรมการแพทย์ใหม่แล้ว โดย รพ.ราชวิถี อภ. สปสช. และกรมบัญชีกลาง รอนำประกาศฯ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

ประเด็นการจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) มีรายงานความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเข็มที่ 2 สำหรับปีการศึกษา 2560 ฉีดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 –กุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 480,000 โดส โดยมีการกระจายวัคซีนเพื่อฉีดให้กลุ่มเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ส่วนการจัดหาวัคซีนเข็มที่ 1 สำหรับปีการศึกษา 2561 ซึ่งฉีดในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 – สิงหาคม 2561 จำนวน 780,000 โดส โดย อภ.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิด 4 สายพันธ์ และกระจายจัดส่งตามแผนที่ได้วางไว้

"ในช่วงที่ผ่านมา รพ.ราชวิถี อภ. และ สปสช. ได้ประสานความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินงานเพื่อจัดหา จัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด โดยกรณีที่มีอุปสรรคปัญหาใดๆ เกิดขึ้นได้มีการเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วย" ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานวงสัมมนา Thailand Update 2018 : มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย 4.0? จาก มหา'ลัยโคลัมเบีย

Posted: 02 Apr 2018 10:33 AM PDT

วงถกตั้งแต่ ความสัมพันธ์ไทยกับจีน-สหรัฐ ที่เหมือนนางวันทอง Thailand 4.0 ในฐานะโครงการการสร้างภาพลักษณ์หลังรัฐประหารของรัฐบาลทหาร โรดแมปสู่ประชาธิปไตย จับตาการเลือกตั้ง จนถึงว่าด้วย Not a Deep State : การเมือง-การปกครองในช่วง Late-Reign ของไทย

เมื่อวันอังคารที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทยขึ้นในหัวข้อ "Thailand Update 2018 : มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย 4.0?" ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โดยการสัมมนาเนื้อหาแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ นโยบายต่างประเทศ ทิศทางการเมืองที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ และส่วนสุดท้ายพูดถึงบริบทโดยรอบทางนโยบายและการเมืองไทยในปัจจุบัน หลังจากรัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้นำเสนอนโยบาย Thailand 4.0 ขึ้นในปี 2559 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเปลื่ยนแปลงเศรษฐกิจของชาติด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ โดยแม้รัฐบาลจะพยายามโปรโมทและตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็น 4.0 นี้ให้ได้แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะยังประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งยังไม่เคยได้ยิน หรือเข้าใจว่า Thailand 4.0 นี้หมายถึงอะไรกันแน่ การสัมมนาครั้งนี้จึงมีเนื้อหาหลักมุ่งเน้นและทำความเข้าใจประเทศไทยในบริบทของ "Thailand 4.0"

ส่วนแรกของการสัมมนาเป็นการอภิปรายในส่วนของนโยบายต่างประเทศ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายสองท่านได้แก่ ดร.อภิชัย ชิปเปอร์ ( Apichai Shipper, Foreign Service Institute ) และ เพตรา เดสซาโทวา นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ( Petra Desatova, School of Politics and International Studies, University of Leeds ) โดย อภิชัย เป็นผู้เริ่มการอภิปรายคนแรกในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งแบ่งย่อยออกอีกสามส่วน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับอาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์ไทยกับจีน-สหรัฐ เหมือนนางวันทอง

ความสัมพันธ์ไทยกับอาเซียน : จากก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยมุ่งหวังจะเป็นผู้นำอาเซียน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันของไทยที่ตกต่ำลง ประกอบกับภูมิภาคอาเซียนเองก็กำลังอยู่ในช่วงที่สมาชิกหลายประเทศในยังมีปัญหาภายในจึงทำให้ไทยไม่ได้มีการดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์ใหม่ๆใดร่วมกับชาติอาเซียนมากนัก โดยอภิชัยให้ความคิดเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยพึงพอใจกับภาพลักษณ์ของตนที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างประชาอาเซียนกับสหประชาชาติ โดยยกตัวอย่างกรณี สุรเกียรติ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองของเอเชีย ( APRC ) ที่ได้ทำการเข้าพบ อองซาน ซูจี เพื่อแสดงความคิดเห็นเรื่องกระบวนการเปลื่ยนผ่านสู่การปรองดองในพม่าและเสนอรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติเมื่อปี 2560 ผ่านมา ซึ่งปัญหามุสลิมโรฮิงยาในรัฐยะไข่นี้เป็นปัญหาหลักที่ประชาคมอาเซียนถูกจับตามองจากชาวต่างชาติ

ความสัมพันธ์ไทยกับจีน : ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนในภาพรวมมีความเน้นแฟ้นขึ้นอย่างต่อเนื่องและโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 และหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างไรก็ตามไทยกำลังเผชิญปัญหาจากการถูกเอาเปรียบจากแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขงของจีนที่ต้องทำการระเบิดร่องน้ำเพื่อขยายพื้นที่ให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถเดินทางผ่านได้ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมและชุมชมริมฝั่งแม่น้ำ โดยอภิชัยเห็นว่าโครงการดังกล่าวจีนจะได้ผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากไทยไม่สามารถนำเรือสินค้าล่องสวนเข้าไปในจีนในเส้นทางเดียวกันได้และถึงพื้นที่ดังกล่าวบางส่วนยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ไทยยังมีปัญหาเรื่องเขตแดนกับลาวอยู่อีกด้วย

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกา : หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาลดความสัมพันธ์และกดดันให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลโอบาม่า แต่ความกดดันดังกล่าวค่อยๆผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัดภายหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของทรัมป์เมื่อปี 2560 โดยทรัมป์ได้ทำการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมการประชุมที่ทำเนียบขาวเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้แนวโน้มการผ่อนคลายความกดดันยังเห็นได้จากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เร้กซ์  ไทเรลซัน (Rex Tillerson) ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายสหรัฐฯที่เดินทางมาไทยตั้งแต่หลังการเกิดรัฐประหาร

ท้ายสุด อภิชัย ได้ทำการสรุปเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของไทยระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาไว้ว่าเป็นเหมือนนางวันทองที่ไม่สามารถเลือกใครได้ระหว่างขุนช้างและขุนแผนเนื่องจากทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาล้วนยังมีผลประโยชน์อำนาจ และอิทธิพลที่สำคัญต่อประเทศของไทยในอนาคต

Thailand 4.0 :  โครงการการสร้างภาพลักษณ์หลังรัฐประหารของรัฐบาลทหาร

ส่วนที่สองในหัวข้อนโยบายต่างประเทศเป็นของ เพตรา เดสซาโทวา นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ซึ่งนำเสนอการวิจัยในหัวข้อ Thailand 4.0 โดย เพตรา เริ่มการอภิปรายด้วยการอธิบายที่มาของความต้องการในพยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของรัฐบาลทหารโดยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลทหารครั้งนี้เป็นรัฐบาลทหารที่ยาวนานและการรัฐประหารทำให้สังคมไทยมีความแตกแยกอย่างรุนแรงซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยทั้งภายในและนอกประเทศอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงภัยธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้สภาพคล่องทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นได้ยาก จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐจะต้องนำเสนอนโยบายเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติ

เพตรา ตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในช่วงก่อนและหลังรัฐประหารมีการเปลื่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยช่วงก่อนรัฐประหารเป็นการเน้นความทันสมัยสะดวกสบายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นให้เพิ่มมูลค่าสินค้าจากความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่การสร้างภาพลักษณ์ของชาติหลังรัฐประหารกลับมาเน้นที่ความสงบและมั่งคงของชาติ และทิศทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงเพื่อความยั่งยืน

แม้ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลพยายามอธิบายต่อคนไทยจะหมายถึงนโยบายการมุ่งสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโดยเน้นการพัฒนาทางด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ให้ทันกับยุคสมัยที่เปลื่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แต่รัฐกลับไม่มีการนำเสนอนโยบายหรือโครงใดที่แน่ชัดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ค่อนข้างจะสวนทางกับการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพอุสาหกรรมใหญ่ โดยรัฐได้นำเสนอเพียงว่าการมุ่งไปสู่การเป็น Thailand 4.0 นั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อใช้แนวทาง "สานพลังประชารัฐ" มุ่งเน้นให้ทุกส่วนของสังคมขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันโดยมีเทศโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)เป็นตัวเชื่อมและช่วยในการขับเคลื่อนสังคม โดยผลการทำวิจัยของเพตรามีข้อสรุปความคิดเห็นของประชาชนต่อ Thailand 4.0 ว่าค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก(ในทีนี้คือพูดถึงเพียงแง่นโยบาย Thailand 4.0 ไม่นับไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อตัวรัฐบาลคสช. เอง)เช่น ประชาชนในภาคเหรือและภาคใต้ค่อนข้างมีความเห็นด้วยกับนโนบาย Thailand 4.0 ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสานค่อนข้างกังขาและไม่เชื่อมั่นกับนโยบายนี้

เพตรา ตั้งข้อสังเกตท้ายสุดโดยสรุปว่า Thailand 4.0 นอกจากจะเป็นแนวนโยบายทางเศรษฐกิจแล้วอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ soft power tool (อำนาจละมุน) ของรัฐที่ใช้เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในภาคประชาสังคม มุ่งสร้างความภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือให้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช.และเตรียมให้ประชาชนพร้อมรับกับความเปลื่ยนผ่านที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในประเทศอย่างสงบ โดยมุ่งเปลื่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของคนในชาติเองมากกว่าที่จะเป็นนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

โรดแมปสู่ประชาธิปไตยของไทย : วิกฤตและการเปลื่ยนผ่าน

ส่วนที่สองของการสัมมนาเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับทิศทางการเลือกตั้งนำโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. อัลเลน ฮิคเกนส์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเสตท-ฟูลเลอร์ตัน ( California State University-Fullerton )

พิชญ์ เริ่มการสัมมนาส่วนที่สอง "โรดแมปสู่ประชาธิปไตยของไทย : วิกฤตและการเปลื่ยนผ่าน" โดยพูดถึงภาพรวมของรัฐบาล คสช. ที่กำลังเข้าสู่การปกครองประเทศเป็นปีที่ 4 ซึ่งนับเป็นรัฐบาลทหารที่ยาวนานเป็นอันดับที่สองตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยโดยเป็นรองแค่เพียงรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอมเท่านั้น ซึ่งถึงแม้โรดแมปการเลือกตั้งของไทยจะถูกกล่าวถึงเสมอเมื่อพลเอกประยุทธเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำต่างชาติ แต่โรดแมปดังกล่าวก็ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2558 มาจนถึงปัจจุบันที่คาดว่าน่าจะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

พิชญ์ กล่าวว่าการเลื่อนระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งของคสช. อาจมีความเป็นไปได้จากหลายเหตุผล โดยอาจจะเกิดจากรัฐบาลทหารที่ยังคงการต้องรักษาอำนาจไว้และไม่ได้มุ่งหวังให้การเปลื่ยนผ่านทางการเมืองโดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และในขณะเดียวกันแรงกดดันจากภาคสังคม ทั้งจากพรรคการเมืองและประชาชนที่ต้องการให้เลือกตั้งก็ยังไม่มีความแข็งแรงพอที่จะกดดันรัฐบาลให้กำหนดการเลือกตั้งได้ มิหนำซ้ำประชาชนบางกลุ่มก็ยังคงเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธยังคงบริหารประเทศเสียด้วยซ้ำ ซึ่งอาจารย์พิชญ์กล่าวโดยสรุปสุดท้ายว่าการเลื่อนตั้งของไทยจะยังถูกเลื่อนไปเรื่อยๆแบบไม่มีกำหนดเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลคสช.ไว้เนื่องจากยังไม่มีแรงกดดันใดๆที่มากพอ และทำนายผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเมื่อใดก็ตามไว้ด้วยว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ชินวัตร ก็จะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพียงแต่จะไม่สามารถได้ absolute majority (คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด) เพื่อตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆมีอำนาจเข้ามาต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคของทักษิณหรือคนของคสช. เองมากกว่า

จับตาการเลือกตั้ง : ความเป็นไปได้และโอกาสของแต่ละพรรคการเมือง

การอภิปรายต่อมาเป็นส่วนวิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นโดย ดร. อัลเลน ฮิคเกนส์ โดยดร.อัลเลนเริ่มจากแสดงความคิดเห็นว่าโร้ดแมปเลือกตั้งของไทยอาจจะจะถูกเร่งหรือเลื่อนออกไปได้จากหลายสาเหตุ เช่น การประท้วง การยังไม่สามารถตกลงทางอำนาจกันได้ระหว่าง คสช. กับขั้วอำนาจอื่นๆ และพิธีการที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ทั้งหลาย เช่น การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 หรือแม้แต่กระทั่งพระอาการประชวรของสมเด็จพระราชินี ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ อัลเลน คาดว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยอาจจะมีคะแนนเสียงข้างมากลดน้อยลงด้วยการออกแบบกฎหมายเลือกตั้งโดยยกตัวอย่างกราฟเปรียบเทียบคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ลดลงจากการออกแบบการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยแนวทางการวิเคราะห์ค่อนข้างไปในทางเดียวกันกับการวิเคราะห์ของอาจารย์พิชญ์ คือพรรคเพื่อไทยน่าจะยังได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งแต่จะไม่สามารถได้ absolute majority เพื่อตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ(ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีพรรคของคสช.เข้าสู่การเลือกตั้งด้วยก็ได้?)เป็นตัวร่วมกำหนดอนาคต ของรัฐบาล ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้มีการเลือกนายกคนนอกเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลได้

โดยถึงแม้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาจะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เริ่มเข้ามาจดทะเบียนตั้งพรรคมากและขึ้นทำให้สถานการณ์การเมืองครึกครื้นขึ้นบ้างในประเทศไทย แต่อัลเลนกลับให้ข้อคิดเห็นว่าคงเป็นการยากมากที่พรรคเล็กๆจะสามารถผ่านระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นี้ไปได้จนถึงได้ที่นั่งในสภา และกล่าวโดยสรุปว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึงนี้ก็ยังน่าจะเป็นการจัดการตกลงกันทางอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าเดิมในประเทศไทยนั่นเอง

Thailand 4.0 : รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเดิมด้วยวิธีใหม่หรือไม่ ?

การสัมมนาช่วงที่สามเริ่มขึ้นในช่วงบ่าย นำโดย อาวิภาวี ศรีทองรุ่ง จากมหาวิทยาลัยวิชิทตาสเตท และ นภนต์ พุ่มมา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งสองได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ
 
งานวิจัยของ อาวิภาวี ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของ GDP และ ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทุน แรงงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และ มาตรวัดระดับการคอร์รัปชัน ใน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย โดยในงานวิจัยชิ้นนี้อาวิภาวีได้เลือกใช้วิธี Panel Regression ในการศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าว รวมทั้ง Solow Model (แบบจำลองโซโล)ในแง่ของความสำคัญของทุนต่อการเจริญเติบโตของ GDP ด้วย ซึ่งจากผลการวิจัยนี้อาวิภาวีพบว่าปัจจัยที่สำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีหลายส่วน โดยปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ใช่ทุนในประเทศแต่เป็นการลดลงของการคอร์รัปชัน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการเพิ่มระดับความเท่าเทียมกันทางสังคม ซึ่งอาวิภาวียังพบว่าการลดลงของการคอร์รัปชั่นตามดัชนีวัดระดับคอร์รัปชั่นของมหาวิทยาลัย Sherpps Ghent เพียงหนึ่งหน่วยสามารถเพิ่ม GDP ของชาติได้ถึงราวร้อยละ 2.6 
 
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็สำคัญเช่นเดียวกันต่อการเพิ่มขึ้นของ GDP อาวิภาวี จึงศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง GDP ต่อการใช้จ่ายของภาครัฐต่อการพัฒนาสาธารณสุขและการใช้จ่ายของภาครัฐต่อภาคการศึกษาด้วยและก็ได้พบถึงความสัมพันธ์ในแง่บวกของการเจริญเติบโตของ GDP และการใช้จ่ายทั้งสองด้านด้วยเช่นเดียวกัน อาวิภาวี จึงสรุปว่าปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจหนีไม่พ้นการลดการคอร์รัปชัน การเพิ่มความเท่าเทียมกันของคนในสังคมและการเพื่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการพัฒนาคุณภาพสาธารณสุขและการศึกษาของทั้งประเทศ
 
ความเข้าใจที่หลายหลากต่อ "Thailand 4.0 : ความขัดแย้งที่ยังถูกไม่เปิดเผย
นภนต์ ได้เล่าถึงงานวิจัยของตนที่เกิดจากการสัมภาษณ์บุคลากรของภาครัฐและภาคเอกชนถึงความคิดเห็นส่วนตัวต่อนโยบาย Thailand 4.0 โดยใช้กรอบความคิดจากทฤษฎี Cooperative Game โดยมองว่า หากประชาชนคล้อยตามแนวคิดดังกล่าวไปด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือการร่วมแรงร่วมใจไปในทางเดียวกันจะทำให้ประโยชน์ที่ประชาชนได้มีมากขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลต้องการให้ประชาชนสร้างแนวคิดที่คล้ายๆกันเพื่อการขับเคลื่อนของประเทศภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 
 
จากการสัมภาษณ์ของนภนต์ต่อบุคคลในหลายภาคส่วน ทำให้ นภนต์ เห็นถึงความไม่เป็นรูปธรรมของนโยบายเนื่องจากผู้ถูกสัมภาษณ์หลายคนไม่สามารถกล่าวถึงนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีได้ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้สอดคล้องกับหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบส่วนตัวของนภนต์เองต่อเอกสารที่ทางรัฐบาลได้แจกจ่ายต่อภาครัฐต่างๆ โดยเอกสารเหล่านี้มีลักษณะเป็นเพียงข้อสรุปของหน่วยงานต่างๆที่นำมารวมเล่นกันเท่านั้น แต่เอกสารดังกล่าวขาดเอกภาพในแง่ของการนำเสนอนโยบายที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

นโยบายด้านมีเดียและเทคโนโลยีของรัฐบาลคสช. สู่ Thailand 4.0

การสัมมนาช่วงสุดท้ายเป็นเรื่องโดยรอบเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลคสช. นำโดย เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์สเตท - ฟูลเลอร์ตัน ( California State University-Fullerton ) และ ดันแคน แมคคาโก ( Duncan McCargo ) อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  และผู้ผลักดันให้เกิดการสัมมนาวิชาการ Thailand Update 2018 ขึ้นในครั้งนี้
 
เพ็ญจันทร์ เริ่มการสัมมนาในช่วงสุดท้ายด้วยการนำเสนอชาร์ท Digital Evolution Index (DEI) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 60 ประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่าประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศอื่นๆในด้านสื่อดิจิตอลและต้องการการปรับปรุงเปลื่ยนแปลนด้านดิจิตอลเพื่อเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเป็นอย่างมาก
 
เนื่องด้วย Thailand 4.0 เป็นนโยบายที่ต้องการเน้นการพัฒนาอันเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารและสื่อมวลชนโดยตรง รัฐบาลคสช.จึงมีนโยบายมุ่งปฎิรูปสื่อด้วยการตั้งคณะกรรมการเพื่อออกกฎหมายควบคุมและปฎิรูปสื่อออกมา โดยกฎหมายปฎิรูปสื่อดังกล่าวแทนที่จะมีเนื้อหามุ่งส่งเสริมการทำงานของสื่อมวลชนแต่กลับขัดกับสิทธิเสรีภาพของสื่ออย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การบังคับให้สื่อมวลชนต้องมีใบประกอบวิชาชีพที่ออกโดยองค์กรที่รัฐเป็นผู้จัดตั้ง และทำหน้าที่สื่อตามจริยธรรมและข้อกำหนดที่เข้มงวดของรัฐบาล เป็นต้น
 
นโยบายเกี่ยวกับการควบคุมโซเชี่ยลมีเดียของรัฐก็ยังเป็นไปอย่างเคร่งครัดเช่นกัน โดยรัฐบาลพยายามออกกฎหมายให้ผู้ใช้งานโซเชียลมืเดียต้องผ่านการแสกนลายนิ้วมือและใบหน้า มีการมอนิเตอร์ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียโดยรัฐตลอดเวลา นอกจากนี้ยังออกข้อห้ามไม่ให้ติดตามหรือติดต่อกับผู้ที่มีความเห็นต่อต้านกับรัฐบาลคสช. อีกด้วย โดยในทีนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงกฎหมายมาตรา 116 และ มาตรา 44 ที่รัฐสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสื่อได้อย่างเสรีเลยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งอาจารย์เพ็ญจันทร์กล่าวทิ้งท้ายโดยสรุปจากข้อสังเกตจากนโยบายปฎิรูปสื่อทั้งหลายที่ออกมาใหม่ว่ามีความชัดเจนเป็นอย่างมากที่รัฐบาลคสช.ยังต้องการจะรักษาอำนาจของรัฐต่อไปหลังการเลือกตั้ง

Not a Deep State : การเมือง-การปกครองในช่วง Late-Reign ของไทย

การสัมมนาในช่วงสุดท้ายเป็นการสนทนาถึงแนวความคิดของ ดันแคน ที่ว่าประเทศไทยแท้จริงน่าจะแล้วเป็นการปกครองซึ่งใช้ระบบ Network Monarchy (เครือข่ายราชสำนัก) มากกว่า Deep State (รัฐพันลึก) โดย ดันแคน ได้อธิบายแนวคิดของระบบ Network Monarchy อย่างสั้นๆ ด้วยคำว่า "มันมาเอง" โดยยกตัวอย่างว่าถ้าอาจารย์อยู่ที่บ้านอาจารย์ก็จะต้องซื้อกาแฟมาดื่มเอง แต่ถ้าอาจารย์มาทำงานก็จะมีลูกศิษย์หรือผู้ช่วยสอนซื้อมาให้ ซึ่งกาแฟในที่นี้ก็คือตัวแทนของอำนาจที่อาจารย์จะได้รับมาในบริบทความหมายของคำว่า "มันมาเอง" ของระบบ Network Monarchy นั่นเอง
 
ดันแคน ได้อธิบายเพิ่มเติมต่ออีกว่า Network Monarchy จะมีการทำงานของกลุ่มอำนาจอย่างหลวมๆ ไม่มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนแบบระบบ Deep State โดยยกตัวอย่างกรณีการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งของ สมัคร สุนทรเวช และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นตัวอย่าง
 
แนวความคิดเกี่ยวกับระบบ Network Monarchy นี้เป็นแนวงานชิ้นสำคัญที่ทำให้อาจารย์ดันแคนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในกลุ่มนักวิชาการ South East Asian Studies สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Network Monarchy ได้ที่ http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.732.5946&rep=rep1&type=pdf
 
 
 
หมายเหตุ : ผู้เขียนไม่มีส่วนร่วมใดกับงานวิจัยและวัตถุประสงค์ของการถ่ายทอดเป็นไปเพื่อการเผยแพร่งานวิจัยสู่สาธารณะชนเท่านั้น โดยที่มี พลากร บูรณสัมปทานนท์ ช่วยรายงานในหัวข้อเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทอม ดันดี กับอวสานเพื่อชีวิต

Posted: 02 Apr 2018 09:56 AM PDT

แสงอาทิตย์แผดจ้าตอนบ่ายโมงของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 นำผมจากริมถนนงามวงศ์วานทางเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาสู่ห้องเยี่ยมหมายเลข 9 ผมนั่งรอเพียงแค่อึดใจเดียว ธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ "ทอม ดันดี" นักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังในยุค 1980 ปรากฎกายด้วยรูปร่างสูงใหญ่ในชุดเสื้อยืดสีขาว ผมสั้นเกรียนขาวโพลน บ่งบอกความชราภาพของชายวัย 60 ปีพอดี แม้กระจกหนาและลูกกรงเหล็กจะขวางกั้นเราสองคน แต่ทว่าไม่อาจปิดกั้นเสียงเหน่อห้าวของทอม ดันดี ผ่านโทรศัพท์สีแดงในเวลาเพียง 20 นาทีได้รับรู้เรื่องราวของ "ทอม ดันดี" ศิลปินเพื่อชีวิตขนานแท้ ที่กลายเป็นนักโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

เพลงเพื่อชีวิตมีต้นกำเนิดจากการต่อสู้ที่ดีกว่าของผู้ยากไร้ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีงาม ภายหลังการลุกขึ้นสู้โค่นล้มเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บทเพลงคนกับควาย ข้าวคอยฝน เปิบข้าว แสงดาวแห่งศรัทธา ฯลฯ เป็นบทเพลงของคนหนุ่มสาวที่ขับขานกันในการต่อสู้ทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1980 เพลงเพื่อชีวิตเฟื่องฟูถึงขึดสุดจนกลายเป็นธุรกิจบันเทิง ทำกำไรมหาศาลในระบบทุนนิยม วงดนตรีคาราวาน คาราบาว แฮมเมอร์ ซูซู และศิลปินเพื่อชีวิตอีกมากมาย ทำกำไรจนขยายกิจการออกไปอย่างกว้างขวางในเชิงธุรกิจด้วยต้นทุนต่ำ ทำกำไรสูงสุด สุรชัย จันทิมาธร หรือหงา คาราวาน ยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว ระพินทร์ พุทธชาติ หรือวงซูซู กลายเป็นมหาเศรษฐีของเมืองไทยที่มีชีวิตสุขสบายในบั้นปลายของชีวิต

ความเฟื่องฟูของเพลงเพื่อชีวิตมาถึงจุดต่ำสุด จนศิลปินเพลงเพื่อชีวิตล้มหายตายจากไปจากธุรกิจบันเทิง ไม่เพียงแต่อายุขัยที่ร่างโรงกันไป แต่แนวทางเพลงเพื่อชีวิตได้กลายพันธุ์จากเพลงเพื่อชีวิต เพื่อชนชันผู้ถูกกดขี่ กลายมาเป็นเพลงเพื่อชีวิต เพื่อธุรกจ ผลกำไรจนหมดสิ้น ความหมายของเพลเพื่อชีวิตในที่สุด

ด้วยเวลาเพียง 20 นาที ทอม ดันดี เล่าให้ฟังว่าบิดาของเขาคือนายเยี่ยม ภูมิประเทศ เป็นอดีตสมาชิกเสรีไทยร่วมมือกับปรีดี พนมยงค์ และป๋วย อึ้งภากรณ์ ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ความรักชาติ รักประชาธิปไตยจึงถ่ายทอดอยู่ในสายเลือดของทอม ดันดี

เขาเติบโตในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เขาเป็นศิลปินเพื่อชีวิตที่โลดแล่นอยู่บนเวทีการต่อต้านเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ปี 2524 เขาแต่งงานกับชาวฝรั่งเศส จึงได้เดินทางไปอยู่ฝรั่งเศสถึง 6 ปี และยังใช้ชีวิตศิลปิน ออกตระเวณเล่นดนตรีร้องเพลงอยู่ที่นั่นเช่นกัน ทอม ดันดี ได้มีโอกาสพบปะกับปรีดี พนมยงศ์ และทำให้เขาซึมซับรับรู้ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นอุดมการณ์ซึ่งทำให้ทอม ดันดี ขับเคลื่อนชีวิตศิลปินบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตลอดมา

"เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ" ก้องกังวาลอยู่ในหัวใจของทอม ดันดี เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยร่วมงานดนตรีกับระพินทร์ พุทธิชาติแห่งวงซูซู จากแรงผลักดันของแอ๊ด คาราบาว จนชื่อของทอม ดันดี โด่งดังในระดับแถวหน้าของเพลงเพื่อชีวิต อาทิเช่น เพลงบุญแข่งเรือ สาวมอญ มยุรา ปะการัง ล่อนจ้อน ฯลฯ

ปี 2535 เขาขึ้นเวทีปราศรัยขับไล่เผด็จการทหารพลเอกสุจินดา คราประยูร จนต้องหลบหนีภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ และกลับมาประเทศไทยในปี 2536 ด้วยผลงานเพลงของตนเองถึง 10 อัลบัม อาทิเช่น ชุดตีเข่า นกเขาใจง่าย เป็นต้น ชื่อเสียงของเขาไปไกลถึงต่างแดน และได้มีโอกาศตระเวณแสดงดนเตรีในต่างประเทศหลายแห่งด้วยกัน จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขาจึงเดินทางกลับประเทศไทยมาร่วมกับประชาชนต่อต้านเผด็จการทหารอีกครั้ง

ในขณะที่ศิลปินเพื่อชีวิตอย่างเช่น หงา และแอ๊ด กลับเก็บตัวเงียบ และเพลิดเพลินไปกับความมั่งคั่ง ร่ำรวยเกียรติยศ จนได้ตำแหน่งสูงสุด "ศิลปินแห่งชาติ" ในเวลาต่อมา

ปี 2553 เขาตระเวนขึ้นเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงหลายจังหวัด ด้วยการปราศรัยที่ดุเดือด เข้มข้น เด็ดขาดจนได้รับการขนานนามว่า "ศิลปินเพื่อชีวิตขวานผ่าซาก"

หลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ทหารตามไปจับกุม ทอม ดันดี ที่บ้านพักอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และส่งตัวมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ด้วยข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเป็นเวลากว่า 2 ปี แห่งความทุกข์ทรมาน เขาจึงจำยอมรับสารภาพผิด แทนการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด ศาลทหารและศาลยุติธรรมตัดสินจำคุกรวมทั้งสิ้น 10 ปี 10 เดือน

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดราชบุรี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาใหม่จากการปราศรัยในปี 2553 และถูกย้ายกลับมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอีกครั้งสำหรับข้อกล่าวหาที่เคยปราศรัยที่จังหวัดลำพูน เป็นคดีที่ 4 เขาแถลงต่อศาลว่า "เขาเป็นนักร้อง ไม่ใช่นักรบ ไม่เคยคิดจะกระทำความผิด เขาได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ไม่ประสงค์ที่จะต่อสู้คดีอีกต่อไป เพื่อความสบายใจขอให้ตัดสินลงโทษได้เลย" ศาลจึงเลื่อนการพิจารณาออกไปอีกในวันที่ 29 มีนาคม 2561

เมื่อถามว่ามีเพื่อน ๆ ศิลปินเพื่อชีวิตมาเยี่ยมบ้างไหม ? ทอม ดันดี ตอบด้วยเสียงเหน่อ หนักแน่นว่า "ไม่มี" "เหล่าศิลปินเพื่อชีวิตเหล่านี้ พวกเขายินดีปรีดาไปกับการเมืองแบบเผด็จการ" ความมั่งคั่งร่ำรวย ทำให้พวกเขาลืมรากเหง้าของตนเองไปแล้ว เวลานี้มีแต่เมียของเขา "กันยภัค ยนต์สิงห์" ที่ยังคงมาเยี่ยม มาดูแลทอม ดันดี ในช่วงชีวิตที่ทุกข์ยากแสนสาหัส

สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกคุมขังมาเกือบ 7 ปี เคยเล่าให้ญาติที่มาเยี่ยมฟังว่า "ทอม ดันดี เป็นศิลปินเพื่อชีวิตขนานแท้ เขาตื่นขึ้นมา 6 โมงเช้าจะเป่าขลุ่ยด้วยบทเพลง "เดือนเพ็ญ" ดังกังวานไปทั่วแดนตะราง ระหว่างถูกคุมขังเขาแต่งเพลงกว่า 5,000 เพลงแล้ว

เขาร้องเพลงอยู่ในคุกทั้งกลางวัน และกลางคืน จนกระทั่งวันหนึ่งมีเสียงนักโทษคนหนึ่งตะโกนขัดจังหวะเสียงแพลงของเขาขึ้นมาว่า "ใครอยากฟังมึงร้องเพลงวะ ไอ้สัตว์" แต่ทอม ดันดี ยังคงขับขานบทเพลงเพื่อชีวิตของเขาต่อไปอีกทุกแห่งหน ทุกเวลานาที


หมายเหตุ: คำว่า "ไอ้สัตว์" เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 2 หมายถึง คุณ เธอ ท่าน เอ็ง มึง ฯลฯ เป็นคำที่นักโทษมักใช้เรียกกันเองอยู่เสมอ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ออเจ้าเล่าจำอวด

Posted: 02 Apr 2018 09:36 AM PDT


 

ความนิยมชมชื่นอย่างกว้างใหญ่ไพศาลในสังคมไทยต่อละครทีวีเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" มีความหมายอย่างไรในเชิงสังคม? ผมพยายามจะตอบคำถามนี้บ้าง แต่ก็นึกอะไรไม่ออก มีแต่ประโยคอันลือลั่นของคาร์ล มาร์กซ์ ใน The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte ผุดขึ้นในใจอยู่เสมอ เขากล่าวว่า

"เฮเกลกล่าวไว้ที่ไหนสักแห่งว่า ข้อเท็จจริงและบุคคลใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์มักเกิดขึ้นซ้ำสอง แต่เขาลืมเสริมไว้ด้วยว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในฐานะโศกนาฏกรรม และเกิดอีกครั้งในฐานะจำอวด"

ตามความเข้าใจของผม มาร์กซ์เห็นว่าเมื่อเกิดอีกครั้งกลับเป็นจำอวด ก็เพราะเป็นการลอกเลียนข้อเท็จจริงและบุคคลในอดีตอย่างผิดฝาผิดตัว อย่างคำขวัญ "ไทยนิยม" นั้นตลกดี เพราะไม่รู้จะให้นิยมอะไร ในที่สุดกลายเป็นนิยมเครื่องแต่งกาย, มารยาท, ภาษา ฯลฯ กลายเป็นนาร์ซิสสัส เทพบุตรผู้หลงรูปตนเองในนิยายกรีก ถ้าไม่น่าขำก็น่าสมเพช หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน

คำขวัญไทยนิยมเมื่อเกิดครั้งแรกในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความหมายชัดเจนว่าให้นิยมใช้สินค้าที่คนไทยผลิตขึ้นเองในประเทศ นับเป็นโศกนาฏกรรมเพราะตอนนั้นคนไทยยังแทบไม่ได้ผลิตสินค้าอะไรนอกจากข้าว, ยางพารา, และดีบุก นอกจากนั้นต้องนำเข้าทั้งนั้น

คำขวัญเดิม แต่นำมาใช้ใหม่ในบริบทที่เปลี่ยนไปจนสิ้นเชิงแล้ว จึงเป็นได้แค่จำอวด

อันที่จริงลัทธิชาตินิยมไทยนั้นค่อนข้างคับแคบ นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นจนหลัง 14 ตุลา ชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อกีดกันคนภายในบางกลุ่มมิให้เข้าถึงอำนาจทางการเมือง เช่น จีนและเชื้อสายซึ่งคุมอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างล้นเหลือ (หากไม่นับฝรั่ง) อย่าได้ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตนเปิดประตูการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม ชาตินิยมไทยสร้างศัตรู (หรือคนอื่น) ที่เป็นคนภายในตลอดมา เพราะคนภายนอกมีกำลังเข้มแข็งเกินกว่าเราจะไปต่อกรด้วยได้ เราต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยชูมหาอำนาจอย่างจีนหรือโซเวียตขึ้นมาเป็นเป้า แต่เรารู้ดีว่า เราไม่อยู่ในฐานะจะไปต้านทางสองมหาอำนาจนั้นในทางใดได้ ศัตรูที่แท้จริงคือคนไทยภายในประเทศนี้แหละ เพียงกล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ชนชั้นปกครองก็สามารถทำให้เขาเหลวเละไปได้ (liquidate)

ดังนั้น หากจะใช้อุดมการณ์ชาตินิยมใหม่อีกครั้ง ก็จำเป็นต้องให้ความหมายใหม่ที่มีนัยสำคัญแก่คนไทยในปัจจุบัน อย่าลืมว่าในปัจจุบัน เราไม่มีศัตรูภายนอกเหลืออยู่ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก (คนที่ไม่ชอบเรา, หมั่นไส้เรา, อิจฉาเรา นั้นมีแน่ แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะคุกคามเรา) ในขณะที่เห็นได้ชัดว่าศัตรูภายในคือศัตรูของชนชั้นปกครอง ไม่ใช่ศัตรูของชาติ

ชาตินิยมที่ถูกใช้ใหม่โดยปราศจากความหมายใหม่จึงเป็นจำอวดอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นไทยไม่ตอบปัญหาให้แก่ใครในปัจจุบันเสียแล้ว นอกจากสนุกดีเหมือนจำอวด ในสถานการณ์ปัจจุบัน ชาตินิยมไทยไม่ให้อำนาจแก่ใครเป็นพิเศษ ไม่มีศัตรูภายนอกให้ใครเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ และไม่ว่าจะยกข้อหาศัตรูภายในให้แก่คนกลุ่มใด ก็ยากจะกีดกันเขาจากเวทีการเมืองได้

ไทยนิยมในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ไม่มีความหมายอะไรเลย นอกจากเพ้อเจ้อเหมือนเด็ก จึงตลกดี

คาร์ล มาร์กซ์ อธิบาย (ตามความเข้าใจของผม) ด้วยว่า ในยามที่สังคมกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ไม่มีใครรู้ว่าอะไรอยู่ในอนาคต ผู้คนก็มักจะหวนกลับไปหาอดีต เพื่อทำความเข้าใจอนาคตที่จะมาถึง หรือถึงไม่ทำให้เข้าใจก็ค้นหาเครื่องมือที่เคยใช้กันมาแล้วในอดีต เพื่อทำให้เข้าใจทั้งความสับสนของปัจจุบัน และสิ่งไม่รู้ข้างหน้า แน่นอน ด้วยเหตุดังนั้นจึงย่อมผิดฝาผิดตัวเสมอ เพราะความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไม่ได้ซ้ำรอยเดิม แต่เป็นการผิดฝาผิดตัวที่ทำให้ได้เรียนรู้ เหมือนแปลศัพท์ต่างภาษาเป็นคำในภาษาของตนเอง ซึ่งมักจะผิด เพราะถ้อยคำเกิดในบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่จากคำศัพท์ที่ผิดนี้ในที่สุดความหมายใหม่ก็อาจซึมเข้าไปในภาษาของตน รวมทั้งความคิดใหม่จากสังคมอื่นก็แพร่หลายในสังคมของตนได้ด้วย

ดังนั้น (ตามความเข้าใจของผม) การเกิดขึ้นของอุบัติการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ครั้งที่สอง จึงเป็นได้ทั้งจำอวดสำหรับตลกโปกฮาไปวันๆ หรือเป็นได้ทั้งจำอวดที่อาจให้การเรียนรู้แก่ปัจจุบันและอนาคตด้วย

แต่งชุดไทยไปเที่ยวอยุธยาเพื่อถ่ายรูปตนเองและเพื่อนฝูงให้เหมือนละครทีวี เป็นความสนุกสนานเพลิดเพลินในลักษณะจำอวด เพราะชุดไทยและอยุธยาไม่อาจปลุกความเป็นไทยขึ้นมาได้ใหม่ ในสถานการณ์ที่ความเป็นไทยไม่ตอบปัญหาอะไรแก่ใครได้อีกแล้ว

ยิ่งตลกขึ้นไปอีกที่กระทรวงอะไรสักอันของ คสช.ดำริจะจัดงบประมาณให้จัดสร้างละครเรื่องนี้ในภาคที่สอง เพราะเข้าใจว่าความเป็นไทยได้ถูกปลุกฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้เพราะละครทีวี นุ่งโจงไปประท้วงหน้าที่ทำการกองทัพบก จะจัดการได้ง่ายขึ้นกว่านุ่งกางเกงกระนั้นหรือ ความเป็นไทยที่ได้คืนมานั้น ยังคิดไม่ออกว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรดี

แต่ในขณะเดียวกัน แม้เป็นจำอวด แต่ละครเรื่องนี้ก็หันไปหาอดีตเพื่อหาทางเข้าใจปัจจุบันและอนาคต

ทําไมจึงต้องเป็นอดีตสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผมไม่ทราบและไม่สนใจว่าผู้เขียนคิดอะไร แต่ผมสนใจที่ผู้ชมละครทีวีติดอกติดใจกับรัชสมัยนี้ต่างหาก เพราะนี่คือยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง (ตามที่เล่าในแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่สอนกันมา) ซึ่งเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

สังคมไทย (ซึ่งละครแสดงออกด้วยสังคมของคนชั้นสูง) ต้องเผชิญกับคนต่างวัฒนธรรม ทั้งในเอเชียด้วยกันและจากแดนไกล เช่น ยุโรป (ที่จริงควรมีตัวละครที่เป็นมุสลิมจากตะวันออกกลาง และเจ้านายของเพื่อนบ้านมุสลิมบางแห่งที่ต้องหลบภัยเข้ามาอยู่ในอยุธยาด้วย อย่างไรก็ตาม ถือว่าละครได้แสดงลักษณะนานาชาติหรือ cosmopolitanism ของอยุธยาไว้แล้ว) มีความพยายามของชนชั้นสูงไทยที่จะปรับตัว และฝืนการปรับตัว ปรับแค่ไหน ถึงไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตนเอง หรือที่อ้างว่าเป็นอัตลักษณ์นั้น แท้จริงแล้วแฝงประโยชน์ส่วนตัวไว้มากน้อยแค่ไหน

เรามองย้อนหลังกลับไปยังอดีตของตนเอง เพื่อทำให้เราสามารถจัดหมวดหมู่, เรียงลำดับความสำคัญ, มองเห็นความสัมพันธ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ฯลฯ กับความสับสนผันผวนที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ในที่สุดอาจออกมาในรูปที่เป็นจำอวดขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่แล้วก็ได้ แต่นั่นเป็นหนทางหนึ่งในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว

บางส่วนอาจมีการทดลองตอบไปแล้วด้วยก็ได้ เช่น การชิงไหวชิงพริบแย่งอำนาจและผลประโยชน์กันอย่างหน้ามืดตามัวในท้องเรื่อง ล้วนกระทำโดยขุนนางผู้ถือตำแหน่งบริหารบ้านเมือง และภายใต้พระราชอำนาจอันเป็นล้นพ้นของสมเด็จพระนารายณ์ทั้งสิ้น

คุณผู้หญิง-ผู้ชายที่นุ่งโจงไปเที่ยวอยุธยา แม้ดูตลกดีเหมือนจำอวด แต่ต่างคงมีคำตอบบางอย่างในใจว่า จะเผชิญกับปัจจุบันซึ่งเข้าใจได้ยากได้อย่างไร แม้ไม่ได้คำตอบทั้งหมด แต่ก็เริ่มมองเห็นและเข้าใจปัจจุบันจากภาพของอดีตได้

 

ที่มา: www.matichon.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ยุคไล่จับคนวิจารณ์

Posted: 02 Apr 2018 08:58 AM PDT


ภาพจาก แฟนเพจ แหม่มโพธิ์ดำ

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่แจ้งจับเพจนิตยสาร City Life Chiang Mai ฐานแพร่ภาพ 3 กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ระบุว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ลบหลู่ ไม่เคารพ ส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชนทั้งยังอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจังหวัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และเกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ภาพดังกล่าวเป็นผลงานของเด็กนักเรียน เจ้าของนิตยสารเห็นว่า "มีพลัง" จึงนำมาเผยแพร่ เพราะรู้กันว่าเชียงใหม่มีปัญหามลภาวะ ฝุ่นละอองหนักหนาสาหัส ยากจะแก้ไข

ถามว่าภาพนี้มีเจตนาลบหลู่หรือไม่ การนำภาพ 3 กษัตริย์มารณรงค์ปัญหาคุณภาพชีวิตคนเชียงใหม่ ก็แปลว่าเขาเคารพนับถือ จึงใช้เป็นสัญลักษณ์ยึดเหนี่ยวร่วมกัน แม้บางคนมองว่าไม่เหมาะสม ก็ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย ราชการไม่ควรยุ่งเกี่ยว ต้องให้สาธารณชนตัดสินเช่นถ้าคนเชียงใหม่ด่าทอไม่พอใจ เพจนี้ก็ต้องลบภาพไปเอง

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ท่อนหลัง ที่อ้างว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์จังหวัด กระทบการท่องเที่ยว เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำนองว่าถ้าภาพนี้ฮือฮาในโลกออนไลน์ ประจานปัญหาฝุ่นละออง แล้วจะไม่มีใครอยากมาเที่ยวเชียงใหม่

รวมถึงอาจเดือดเนื้อร้อนใจ เดี๋ยวใครจะหาว่าทางจังหวัดหรือท่านผู้ว่าฯ ไม่มีสติปัญญาแก้ปัญหา

แต่การแก้ปลายเหตุโดยมาแจ้งความเอาผิด ปิดปากรักษาภาพพจน์ ก็เป็นอย่างที่ "หมอหม่อง" แพทย์นักอนุรักษ์ชี้ว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นข้อมูลมลพิษจากหน่วยงานภาครัฐอยู่แล้ว จนต้องลุกขึ้นพึ่งตนเอง สร้างเครือข่ายติดตามสภาวะอากาศ แต่คนมีเจตนาดี ช่วยรณรงค์สร้างความตระหนัก กลับถูกภาครัฐมองเป็นศัตรู

"ผู้บริหารภาครัฐ โดยเฉพาะทางจังหวัด เป็นห่วงแต่ภาพพจน์ของตนเอง มากกว่าสุขภาพประชาชน ประชาชนรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเหมือนมีอำนาจล้นฟ้า ไม่ฟังเสียงประชาชน เอะอะก็บอกจะฟ้องร้อง มองประชาชนเป็นศัตรู"

กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดบ่อยในยุคนี้สมัยนี้ ที่หน่วยงานราชการจ้องฟ้องร้องเอาผิดชาวบ้าน ประชาชนคนเล็กคนน้อย ที่ใช้ช่องทางในโลกออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์ ตีแผ่ ประจาน หรือสะท้อนปัญหาที่ได้รับจากหน่วยราชการ

คือถ้าการตีแผ่ประจานนั้นสามารถจุดพลุ เป็นประเด็น เป็นดราม่าในโลกออนไลน์ ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไข หน่วยงานนั้นจะถูกจี้ให้รับผิดชอบ แต่ถ้าไม่มีคนสนใจ หรือมีจุดอ่อนช่องโหว่ ใช้ถ้อยคำไม่รัดกุม (ซึ่งเป็นธรรมดาที่ชาวบ้านมักโวยวายแสดงอารมณ์) หน่วยงานรัฐก็จะ "เอาคืน" ซะอ่วม ทั้งหมิ่นประมาท ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน แพร่ความเท็จ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ยิ่งถ้าเป็นตำรวจ ยิ่งโดนหนัก ชาวบ้านโพสต์โวยตั้งด่านพร่ำเพรื่อ ถูกตั้งข้อหากลับเป็นหางว่าว ที่หัวหินเคยมีกรณีคลิปรุมทำร้ายนักท่องเที่ยวหลุดออกไป ตำรวจก็จะเอาผิดคนแพร่คลิป

ไม่แปลกใจเลยที่ "แพะคอลเซ็นเตอร์" หลังถูกสอบ 12 ชั่วโมงก็ไม่ติดใจเอาความแม้ถูกขังฟรีแถมนำกระเช้าไปมอบให้ ผบ.ตร.อีกต่างหาก

กล่าวได้ว่านี่เป็น "ประเพณีการปกครองในระบอบ คสช." หรือระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่ ใครวิจารณ์หน่วยงานรัฐ หรือโวยว่าได้รับความเดือดร้อนต้องระวังให้ดี อาจโดนข้อหากลั่นแกล้ง บ่อนทำลายศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของทางราชการ

ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งออกมาทวงคำมั่นสัญญา นอกจากโดนข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ยังโดนกล่าวหาว่าเจตนาไม่บริสุทธิ์ มีท่อน้ำเลี้ยง

ประชาชนมีหน้าที่เชื่อฟัง และรอการแก้ปัญหา รอการตัดสินใจของรัฐราชการไงครับ อย่าทำเกินหน้าที่ ไม่งั้นเห็นเป็นศัตรู



ที่มา: www.kaohoon.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

The Last Stand: ชัยภูมิสุดท้าย

Posted: 02 Apr 2018 08:21 AM PDT



เรื่องมีอยู่ว่า...

"ล่วงตามกาลเวลา
วัฒนาหรืออาดูร
ผู้ใหญ่กลับดับสูญ
เพิ่มพูนล้นแค่คนหัวหงอก"

เราเป็นผู้ใหญ่ได้ตอนไหน? แล้วใครเป็นผู้ใหญ่ในประเทศนี้บ้าง? คำถามนี้กวนใจผมอยู่หลายวัน ตั้งแต่เห็นคนที่อ้างว่าเป็น "ผู้ใหญ่" สองคน ทะเลาะกันประเด็นร่างกฎหมายลูกในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ทั้งคู่รับใช้รัฐบาลทหารเหมือนกัน และเหมือนจะไม่เคยบาดหมางอะไรกันมาก่อน คนหนึ่งเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ อายุ 80 ปี ส่วนอีกคนเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง อายุ 60 ปี ทั้งคู่โต้แย้งกันผ่านสื่อมวลชนอยู่หลายวัน จนท่านประธานร่างรัฐธรรมนูญผู้พี่มีทีท่าว่าจะแพ้ในการโต้แย้งครั้งนี้ จึงตัดพ้อกลับไปว่าจะเอาอะไรมาก "ท่านประธานกรรมการการเลือกตั้งยังเด็ก" พอฟังประโยคนี้แล้วทำให้ผมเกิดคำถามในใจว่า เราเป็นผู้ใหญ่ได้ตอนไหน? แล้วใครเป็นผู้ใหญ่ในประเทศนี้บ้าง?     

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็มีภาพสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่อนโลกออนไลน์ ถือไม้เท้าพร้อมกับมีคนช่วยพยุงสามสี่คนเดินเข้ารัฐสภาเพื่อไปผ่านร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นชินตาไปแล้วหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

ผมนั่งคิดทบทวนตัวเองอยู่พักใหญ่ๆ น้ำตาแทบจะไหลออกมาด้วยความอึดอัด วัยของพวกเราตอนนี้ (ผมตอนนี้แค่ 21 ปี) ควรได้เรียนรู้ ปลดปล่อยความคิดออกมา และน่าจะได้สร้างสรรค์อะไรออกมามากกว่านี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง …ไม่เลย…ไม่ได้เป็นอย่างภาพฝัน

"อยู่ๆไปเถอะ" คือคำตอบที่ได้จากเหล่าผู้ใหญ่ ที่อ้างว่าเคยเป็นเยาวชนอย่างเราๆมาก่อน เข้าใจพวกเราดี แต่ไม่เลย… ไม่อนุญาตให้เราคิด ไม่อนุญาตให้เราฝัน ประมวลความสำเร็จ ความผิดหวัง ความล้มเหลว และความแพ้-ชนะของตัวเอง แล้วมายัดเยียดความเป็นไปให้กับเรา มีบทบัญญัติว่าเราควรเป็นอย่างไรออกมาชัดเจน ตลกดี ตอนมัธยมผมอ่านนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ก็เกิดคำถามว่า มันจะเกิดเรื่องอย่างในนิยายได้อย่างไรกัน? ตอนนี้ได้คำตอบแล้วว่า ก็คงเป็นแบบที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้นี่แหละ?

ผมอยากเขียนจดหมายสักฉบับถึงตัวผมเองในอนาคตว่า…

"มึงไม่ต้องคิดไปถึงขั้นที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อลูกหลานของเรา แต่เราต้องสร้างลูกหลานของเราเพื่อเปลี่ยนแปลงยุคของเขาเอง ให้เขามีที่ยืน และสร้างทางเลือกของเขาเอง มึงเป็นแค่กรณีศึกษาของเขาเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดว่าจะร่างกฎหมายหรือสร้างโลกเพื่อเขา โลกในจิตนาการของเขาสวยงามกว่าของมึงตอนแก่เยอะ"

ฝากถึงผมในอนาคต เพื่อเตือนสติไม่ให้หลงระเริงในอำนาจ หากวันหนึ่งอำนาจมันต้องอยู่ในมือผม จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ภาวนาอย่าให้อำนาจอยู่ในมือผมเลย หากอยู่แล้วผมจะต้องเป็นเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราปัจจุบัน

ไม่มีคำร้องทุกข์
แทนคนที่ถูกยิงถูกฆ่า
ไม่มีใครเขียนฎีการ้องทุกข์แทนเขาเลย
เขาถูกยิงทำไม
เขาถูกฆ่าทำไม
แม้แต่คนที่ถูกจับ
ถูกทำให้เป็นเหยื่อการเมือง
โดยที่เขาไม่ได้กระทำผิด

ผมตัดสินใจทำหนังสือเล่มนี้หลังจากอ่านบทกวีของ ธีร์ อันมัย ในรวมเรื่องสั้นตะวันออกเฉียงเหนือ มันทำให้ผมนึกถึงเพื่อนร่วมยุคสมัยสามคน คือ ชัยภูมิ ป่าแส บิลลี่ พอละจี และ ไผ่ ดาวดิน การแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำระหว่าง "คนรุ่นใหม่" กับ "คนรุ่นเก่า"

ชัยภูมิ คือ แผ่นดินหรือพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยไม่มีใครสามารถนิยามหรือครอบครองความเป็นพื้นที่แต่เพียงผู้เดียวได้ ทว่ารัฐไทยกลับเข้ามาครอบครองทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางความคิดของเราอย่างหน้าตาเฉย เราหวังว่าเรื่องเล่าจากคนข้างล่างเหล่านี้จะเป็นการทวงคืนพื้นที่ความทรงจำ "จากเบื้องล่าง" และสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของเราขึ้นมาใหม่ เพื่อท้าทายต่ออำนาจ และเผยให้เห็นความอึดอัดจากความอยุติธรรมแห่งยุคสมัยซึ่งมอบอำนาจให้รัฐทำอะไรกับเราก็ได้ หนังสือเล่มนี้จึงมุ่งหวังที่จะร่วมบันทึกเรื่องราวของผู้คน เพื่อยืนยันว่าทุกคนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกันบน "ชัยภูมิสุดท้าย" ของเรา

นลธวัช มะชัย
1 มีนาคม 2561 สวนอัญญา
เฮือนครูองุ่น มาลิก เชียงใหม่ 

หมายเหตุ: สามารถสั่งซื้อ หนังสือ The Last Stand : ชัยภูมิสุดท้าย ราคา 250 บาท ได้ที่

ร้าน Book Re:public เชียงใหม่
ร้านเล่า นิมมานฯ เชียงใหม่
ศูนย์หนังสือ ม.เชียงใหม่
ร้าน On The Rose สะพานพระรามแปด กทม..
ร้านฟิลาเดลเฟีย อุบลฯ

หรือสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ กลุ่มลานยิ้ม Lanyim creative group

สำหรับในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สามารถซื้อได้ที่ บู๊ท สนพ.ฟ้าเดียวกัน S39 ,บู๊ท สนพ.สมมติ R52 และบู๊ทโครงการตำราฯ N04

รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้กองทุนช่วยเหลือคดีทางการเมืองทั้งหมด 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศรีสุวรรณ' จ่อนำเครือข่ายรถตู้ต่างจังหวัดฟ้องศาลปกครองพรุ่งนี้

Posted: 02 Apr 2018 06:28 AM PDT

ศรีสุวรรณ เผยเตรียมนำเครือข่ายรถตู้ต่างจังหวัดฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาปกป้องอาชีพการประกอบกิจการรถตู้ต่างจังหวัดพรุ่งนี้

2 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า ในวันอังคารที่ 3 เม.ย.นี้ เวลา 10.30 น. ที่ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม. สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย สมาชิกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด และผู้โดยสาร จำนวน 719 คน จะเดินทางไปยื่นคำฟ้อง ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาปกป้องอาชีพการประกอบกิจการรถตู้ต่างจังหวัด

ศรีสุวรรณ ระบุว่า ตามที่รัฐบาล โดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีนโยบายการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร โดยเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2559 ได้เริ่มแผนจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 ที่วิ่งให้บริการเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ต้องย้ายสถานที่จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่อยู่กระจัดกระจายทั่วไป โดยเฉพาะที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้ย้ายไปใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต), สถานีขนส่งสายใต้ (ปิ่นเกล้า) และสถานีขนส่งเอกมัย ให้เป็นจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร รวม 4,205 คัน นั้น

ตลอดระยะเวลาของการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมารัฐบาล โดยกรมการขนส่งทางบก ไม่ได้ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดระเบียบแต่อย่างใด หากแต่กลับเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น ทำให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้โดยสาร และกระทบต่อการประกอบอาชีพโดยสุจริตของผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัด เช่น การยกเลิกรถ Shuttle bus ที่อ้างว่าจะวิ่งให้บริการรับส่งฟรี ในเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง 3 แห่ง การให้เปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัส ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทรถไมโครบัส การไม่ยอมชำระเงินค่าเช่าที่จอดให้เจ้าของที่ดินบริเวณตรงข้ามฟิวเจอร์พาร์ครังสิตจนเจ้าของที่ดินขึ้นป้ายห้ามใช้ที่ดิน 3 เม.ย. นี้แล้ว การให้เอกชนมาทำหน้าที่ขายตั๋วร่วมหักหัวคิวผู้ประกอบการ 10% การไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรถตู้รับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง  ฯลฯ

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  ระบุว่า กรณีปัญหาต่าง ๆ รัฐบาล โดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง คณะกรรมการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะ และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ต่างละเลยหน้าที่ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับผู้โดยสารและผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัดไม่เป็นไปตามคำโฆษณาชวนเชื่อเมื่อครั้งมีนโยบายย้ายรถตู้มารวมกันอยู่ที่สถานีขนส่งแต่อย่างใด เจตนาที่จะฝ่าฝืนมาตรา 40 มาตรา 43(3)รัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และแก้ไขเพิ่มเติม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวกัมพูชาฟ้องศาลไทย กล่าวหา 'มิตรผล' ไล่รื้อที่ดินทำกิน

Posted: 02 Apr 2018 05:39 AM PDT

ชาวกัมพูชายื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มกรณีผลกระทบจากการประกอบกิจการน้ำตาลของไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศกัมพูชา ด้าน 'มิตรผล' แจงกับบีบีซีไทย ยันดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ กลุ่มสารสนเทศอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม

2 เม.ย.2561 รายงานข่าวจาก มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน Community Resource Centre Foundation (CRC) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา เวลา 9.00.น. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อมตัวแทนทางกฎหมายของชาวบ้าน 2 คน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านประมาณ 600 ครัวเรือน จาก 5 หมู่บ้าน ใน อ.สำโรง จ.โอดอร์ เมียนเจย์ (Oddar Meanchey) ประเทศกัมพูชา เข้ายื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม ต่อบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกของประเทศ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้ชาวบ้านจากกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากการแย่งยึดที่ดิน ขับไล่ชาวบ้านจากที่ดิน เผาทำลายบ้านเรือน ภายใต้โครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจ

กรณีนี้ ชาวบ้านได้ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนในประเทศกัมพูชา และ องค์กร Inclusive Development International (IDI) เพื่อให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายแก่บริษัทที่กระทำละเมิด จึงได้มีการขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดน

โดยคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากตัวแทนจากกลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการก่อตั้งบริษัทขึ้นมา 3 บริษัท เพื่อเข้าดำเนินการขอสัมปทานที่ดินในประเทศกัมพูชา บริเวณ หมู่บ้านบอส (Bos) หมู่บ้านโอบัดมวน (O 'Bat Moan) หมู่บ้านตะมาน (Taman) หมู่บ้านตะเพียนเวง (Trapain Veng) และหมู่บ้านคะตุม (Ktum) ซึ่งต่อมาได้รวมเป็นบริษัทเดียว คือบริษัท อังกอร์ซูการ์ จำกัด (Angkor Sugar Co., Ltd.) แล้วได้ดำเนินการเข้ายึดที่ดินบริษัท 5 หมู่บ้านดังกล่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งการเข้ายึดที่ดินมีผลทำให้ ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ ไม่มีที่ทำกิน เสียบ้านเรือน เผชิญปัญหาความยากจน ต้องอพยพมาขายแรงงานในประเทศไทย แม้ว่า บริษัทที่ละเมิดสิทธิที่ดินทำกินได้ถอนตัวออกไปจากพื้นที่แล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่ได้รับการเยียวยาจากบริษัทแต่อย่างใด

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า กรณีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้รับเรื่องร้องเรียน ตามคำร้องที่ 259/2556 และมีรายงานผลการตรวจสอบออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2558 เสนอให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ชาวบ้านผู้ถูกกระทำละเมิด และต่อมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรีตามการรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 และ 2 พ.ค. 2560 ให้จัดตั้งกลไกหรือกำหนดภารกิจการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย เพื่อให้เกิดการเคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (การปฏิบัติตามกรอบ การคุ้มครอง เคารพ เยียวยา) แต่ยังไม่ปรากฏความคืบหน้า ทางชาวบ้านผู้ถูกกระทำละเมิดจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลในประเทศไทย

ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า การยื่นฟ้องคดีนี้เป็นครั้งแรกที่จะได้ใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรมของไทยในทางแพ่ง เพื่อเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการลงทุนข้ามพรมแดน และเพื่อให้เห็นถึงแนวทางในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดการเคารพและคุ้มครองการลงทุนข้ามพรมแดน เพื่อให้บริษัทไทยเกิดความระมัดระวังในการลงทุน และปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อประชาคมโลกและประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน

สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางสมาคมได้ดำเนินการการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่มครั้งแรกในประเทศไทย และศาลรับฟ้องแล้ว แต่การยื่นฟ้องคดีของชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้าน อ.สำโรง จ.โอดอร์ เมียนเจย์ คดีนี้ จะเป็นครั้งแรกที่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทข้ามชาติไทยที่ลงทุนและสร้างผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ

ปัจจุบัน มีนักลงทุนทั้งภาครัฐเเละเอกชนจากประเทศไทยที่ไปลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก จึงอาจเกิดผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนจากการลงทุนได้

โดยศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องการฟ้องคดีแบบกลุ่มในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ เวลา 9.00 น.

'มิตรผล' แจง ดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ชี้แจงกับบีบีซีไทยผ่านอีเมลระบุว่า ในโครงการนี้ มิตรผลเข้าไปลงทุนด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา และได้รับสัมปทานชั่วคราวจากรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าพื้นที่สัมปทานชั่วคราวนั้นได้มาอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ มิตรผล เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศและอันดับ 5 ของโลก โดยมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และเป็นมหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 22 จากการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2560 อีกทั้งยังเป็นอดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
 
บีบีซีไทย ระบุด้วยว่า ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีนี้ ได้ระบุคำกล่าวอ้างของชาวบ้านว่าบริษัทตัวแทนของมิตรผลได้มีการยึดครองที่ดินของคนในท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมาย โดยการพังทลายบ้านเรือนและฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน มีการลอบวางเพลิงหมู่บ้าน และการทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย
 
คำชี้แจงของมิตรผลต่อ กสม. ระบุว่า โครงการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในกัมพูชา ได้ลงทุนโดยตรง 1 บริษัท และลงทุนรวมกับบริษัทอื่นอีก 2 บริษัท โดยได้รับสัมปทานที่ดินประมาณ 110,000 ไร่ ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลไม่สนับสนุนการบุกรุกพื้นที่ครอบครองของผู้อื่น รวมทั้งการบังคับไล่ที่หรือการทำลายทรัพย์สินของผู้ใด และการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในประเทศกัมพูชาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายของประเทศกัมพูชาทุกขั้นตอน รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยข้อตกลงตามสัญญานั้น รัฐบาลกัมพูชาจะเป็นผู้ทำการสำรวจและจัดสรรที่ดินสัมปทานเพื่อการเกษตรให้แก่กลุ่มมิตรผล และหากจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เจรจาจนได้ข้อยุติ
 
ต่อมา มิตรผลตัดสินใจที่จะยุติโครงการดังกล่าวในปี 2557 และได้คืนพื้นที่สัมปทานให้แก่รัฐบาล และทางมิตรผลได้แนะนำให้นำพื้นที่นั้นคืนให้แก่ชุมชน แต่จากการตรวจสอบของบีบีซีไทยพบว่าปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับที่ดินคืนจากรัฐบาล
 

หมายเหตุ ประชาไท ดำเนินการปรับแก้พาดหัว เมื่อ 22.00 น วันที่ 2 เม.ย.2561

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพภาคที่ 4 แจงปมกล่าวหาทหารเรียกรับผลประโยชน์เจ้าของโรงแรม จ.ภูเก็ต

Posted: 02 Apr 2018 01:16 AM PDT

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 แจงรณีกล่าวหาทหารเรียกรับผลประโยชน์เจ้าของโรงแรม จ.ภูเก็ต ระบุที่เข้าไปเหตุเพราะได้รับการร้องเรียนจากพนักงานของโรงแรมผู้บริหารและพวกข่มขู่และกดดันให้ออกจากงาน

2 เม.ย. 2561 ตามที่ได้ปรากฏข่าวในสื่อออนไลน์ข้อความกล่าวหาเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต ดังที่ได้มีการแชร์เผยแพร่และแสดงความคิดเห็นเชิงลบอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมานั้น

รายงานข่าวจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) แจ้งว่า เวลา 9.00 น. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวว่า กองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4  ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 27 มี.ค. 2561 ณ โรงแรมป่าตอง พารากอน จังหวัดภูเก็ต โดย ร.ต.วัฒนชัย คล่องประดิษฐ์ หัวหน้าชุกรักษาความสงบเรียบร้อยกรมทหารราบที่ 25 ได้รับคำสั่ง ให้เดินทางไปประสานกับผู้บริหารโรงแรมดังกล่าวว่า พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม คณะทำงานชุดเฉพาะกิจกองทัพภาคที่ 4 จะเดินทางมาพบ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากพนักงานของโรงแรมป่าตอง พารากอน ว่าถูก วิศิษฐ์ เอี่ยมวิโรชน์ฤทธิ์ กรรมการบริหารโรงแรมดังกล่าว และพวกข่มขู่และกดดันให้ออกจากการเป็นพนักงานของโรงแรม ทำให้เกิดความหวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือจาก วิศิษฐ์ และพวกแต่อย่างใด ดังปรากฏข้อความและคลิปที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว และต่อมา พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม ได้เดินทางมาชี้แจงรายละเอียดและเหตุผลในการขอตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย วิศิษฐ์ แจ้งว่าขอเวลารวบรวมเอกสารหลักฐาน และจะเดินทางไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ในวันที่ 2 เม.ย. 2561

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ชี้แจ้งอีกว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว ดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมาตรา 44 และคำสั่งที่ 13/2559 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าถูกข่มขู่ และคุกคามจากผู้มีอิทธิพล ทำให้เกิดความหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย ซึ่งถือเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายกระทำความผิดอาญาที่เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องเข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องเรียน โดยปฏิบัติตามระเบียบ และขั้นตอนทุกประการพร้อมกันได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานโดยชอบ ด้วยกฎหมายมิได้มีการทำร้ายร่างกาย ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญเพื่อเรียกรับสินบนหรือผลประโยชน์แต่อย่างใด

สำหรับการเผยแพร่คลิปที่เป็นข่าวนั้น โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ระบุว่า ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการตัดต่อเพียงบางส่วนพร้อมข้อความอันเป็นเท็จ นอกจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้ว ถือเป็นการเจตนาสร้างความเสื่อมเสียให้เจ้าหน้าที่รัฐและทำลายภาพลักษณ์ของกองทัพภาคที่ 4 ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อจัดระเบียบสังคมขจัดอิทธิพล อำนาจมืด ธุรกิจผิดกฎหมาย ความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันแจ้งเบาะแส จนนำสู่ การแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สำหรับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จงใจเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จดังที่ปรากฏ กองทัพภาคที่ 4 / กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายตามความเหมาะสมต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานมีนาคม 2018

Posted: 01 Apr 2018 10:23 PM PDT

ญี่ปุ่นเริ่มฤดูกาลรับสมัครงานบัณฑิตจบใหม่

1 มี.ค. บริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นเริ่มกิจกรรมรับสมัครบรรดานักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเดือน มี.ค. ปีหน้า คาดว่าบัณฑิตจบใหม่จะยังคงเป็นที่ต้องการมากในตลาดแรงงานต่อไปท่ามกลางภาวะขาดแคลนแรงงาน กล่าวกันว่าการแข่งขันในหมู่บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่เป็นไปอย่างดุเดือดขึ้น

บริษัทประมาณ 670 แห่งเข้าร่วมงานนี้ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมมะกุฮะริ เมสเซะในจังหวัดชิบะ ใกล้กรุงโตเกียว มีนักศึกษาจำนวนมากไปเข้าแถวรอสมัครงาน นักศึกษาคนหนึ่งต้องการทราบข้อมูลว่าบริษัทต่าง ๆ มีแผนสวัสดิการที่ดีแก่พนักงานอย่างไรบ้าง เช่น มีระบบที่อนุญาตให้พ่อแม่ลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกหรือไม่ ส่วนนักศึกษาอีกคนหวังว่าจะได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับความสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิต ตลอดจนระบบการจ่ายค่าจ้าง

ที่มา: NHK World, 1/3/2018

สหรัฐฯ เผยจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำสุดรอบเกือบ 50 ปี

กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริการะบุว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 10,000 ราย สู่ระดับ 210,000 ราย เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.พ. 2018  ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 1969

ที่มา: CNBC, 1/3/2018

เกาหลีใต้จะลดชั่วโมงการทำงานเหลือ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

สภานิติบัญญัติแห่งชาติเกาหลีใต้มีมติรับรองกฎหมายแรงงาน ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของแรงงานในประเทศสูงสุดจาก 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ได้กำหนดให้มีชั่วโมงการทำงานที่ 40 ชั่วโมงต่อวัน และจำกัดช่วงโมงการทำงานล่วงเวลาที่ 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้นั้นจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค. 2018 นี้

ที่มา: business-standard.com, 1/3/2018

ผู้นำญี่ปุ่นจะไม่รวมตำแหน่งงานบางประเภทในระเบียบชั่วโมงการทำงาน

นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะแห่งญี่ปุ่นเน้นย้ำเจตนารมณ์ของเขาที่จะคงแผนซึ่งไม่รวมตำแหน่งงานเฉพาะด้านที่ได้รับค่าจ้างสูงบางตำแหน่งไว้ในกฎระเบียบเรื่องชั่วโมงการทำงานในร่างกฎหมายปฏิรูปการทำงาน ผู้นำญี่ปุ่นแถลงตอบกระทู้ซักถามในการประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณของวุฒิสภาในวันพฤหัสบดีที่ 1 มี.ค. หนึ่งวันหลังจากสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2018

นายโคเฮ โอสึกะ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอะเบะยกเลิกแผนดังกล่าวซึ่งไม่รวมตำแหน่งงานเฉพาะด้านที่ได้รับค่าจ้างสูงบางตำแหน่งเอาไว้ในกฎระเบียบว่าด้วยชั่วโมงการทำงาน นายกรัฐมนตรีอะเบะกล่าวว่าแผนการนี้จะทำให้รูปแบบการทำงานมีความยืดหยุ่นและช่วยปรับปรุงผลิตภาพ เขาให้คำมั่นด้วยว่าจะเสริมสร้างมาตรการด้านสุขภาพให้เข้มแข็งขึ้นโดยอนุญาตให้ลูกจ้างลักษณะนี้ลาหยุดงานได้อย่างน้อยปีละ 104 วัน

ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวเสริมว่าแผนการของเขาจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และจำกัดเฉพาะผู้ที่มีรายได้ประจำปีอย่างน้อยปีละ 10,750,000 เยนหรือประมาณ 3,500,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายกรัฐมนตรีอะเบะสั่งการให้รัฐมนตรีสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการเพิกถอนการขยายระบบการทำงานแบบที่ไม่กำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนออกจากร่างกฎหมายการปฏิรูปการทำงานซึ่งเขาจะเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาสมัยปัจจุบัน

ที่มา: NHK World, 1/3/2018

'Ford' เตรียมเลิกจ้างแรงงานชั่วคราว 2,000 ตำแหน่ง

บริษัท Ford ในสหรัฐอเมริการะบุว่าจะทำการเลิกจ้างพนักงานชั่วคราว 2,000 ตำแหน่ง ในส่วนของลูกจ้างรายชั่วโมงที่โรงงานประกอบรถยนต์ในมิชิแกน และที่โรงงานปั๊มโลหะชิ้นส่วนรถยนต์ในเวย์น เนื่องจากโรงงานเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำงานเพื่อเอาไว้สร้างรถกระบะรุ่น Ranger และรถเอสยูวีรุ่น Bronco โดยการเลิกจ้างดังกล่าวจะเริ่มมีผลในช่วงต้นเดือน พ.ค.-ต.ค. 2018 ซึ่ง Ford ระบุว่าพนักงานชั่วคราวอายุงานมากกว่า 1 ปี ที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินร้อยละ 75 ของรายได้

ที่มา: CNBC, 5/3/2018

บริษัทในนิวซีแลนด์จ่ายเงินเพิ่มให้พนักงานขี่จักรยานมาทำงาน

บริษัท Make Collective ในนิวซีแลนด์กระตุ้นให้พนักงานหันมาขี่รถจักรยานแทนการขับรถยนต์มาทำงาน ด้วยการจ่ายเงินให้พนักงานเพิ่มวันละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 155 บาท) พนักงานรายหนึ่งของบริษัทระบุว่า วิธีดังกล่าวทำให้เขาไม่ต้องติดอยู่กับการจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนและยังช่วยให้สุขภาพดีด้วย ส่วนผู้อำนวยการบริษัทฯ ระบุว่าโครงการดังกล่าวทำให้พนักงานสุขภาพแข็งแรงขึ้นไม่ต้องลาป่วยบ่อย ส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานดี ๆ ให้บริษัทฯ และยังเป็นการช่วยลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: employeebenefits.co.uk, 9/3/2018

BBC เผยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของคุณอาจผลิตด้วยวัสดุที่ได้จากหยาดเหงื่อแรงงานของเด็ก

ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีเด็กราว 40,000 คน ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไปที่อยู่ในวัยเดียวกัน เพราะฐานะที่ยากจนทำให้พวกเขาจำใจต้องทำงานในเหมืองโคบอลต์เพื่อหาเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัว โคบอลต์ เป็นแร่ธาตุที่ใช้ทำแบตเตอรี่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ และแล็ปท็อป ครึ่งหนึ่งของโคบอลต์ที่ใช้ในโลกมาจากเหมืองแร่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในจำนวนนี้ 20% มาจากการทำเหมืองด้วยมือ และเหมืองแร่เหล่านี้มีการใช้แรงงานเด็กด้วย

เด็กที่ทำงานในเหมืองโคบอลต์บางคนมีอายุเพียง 4 ขวบเท่านั้น เด็กหลายคนอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้และไม่เคยไปโรงเรียน นอกจากนี้พวกเขายังต้องเสี่ยงกับอันตรายที่เกิดจากการทำงานในเหมืองแร่อีกด้วย แม้ที่ผ่านมา องค์กรการกุศลและบริษัทเหมืองแร่หลายแห่งจะพยายามช่วยให้แรงงานเด็กเหล่านี้ได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไป แต่ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือนี้ ด.ช.ซิกิ สเวซี ไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือเพราะต้องทำงานในเหมืองโคบอลต์เพื่อหาเงินเลี้ยงดูยายที่ชราและสุขภาพไม่ดี ขณะที่บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกระบุว่าจะพยายามไม่ใช้โคบอลต์ที่ได้จากแรงงานเด็กมาผลิตสินค้า ทว่าผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนของสินค้าประเภทโคบอลต์ทำให้การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ที่มา: BBC, 13/3/2018

'สิงคโปร์' ยังครองอันดับ 1 เมืองค่าครองชีพสูงสุดในโลก

รายงานสำรวจค่าครองชีพของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2018 ซึ่งจัดทำโดย Economist Intelligence Unit's (EIU) ระบุว่า สิงคโปร์ คือ เมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน รองลงมาคือ กรุงปารีส, นครซูริคในสวิสเซอร์แลนด์, ฮ่องกง, กรุงออสโลของนอร์เวย์ และนครเจนีวาของสวิสเซอร์แลนด์ ตามลำดับ รายงานชิ้นนี้ใช้วิธีสำรวจราคาสินค้าต่างๆ 150 ประเภท ในเมืองใหญ่ 133 เมืองทั่วโลก เช่น ราคาขนมปัง ไวน์ บุหรี่ และน้ำมัน จุดประสงค์เพื่อช่วยบริษัทต่างๆ ในการคำนวณเงินเดือนที่เหมาะสมสำหรับพนักงานที่จะไปประจำอยู่ตามเมืองต่าง ๆ

ที่มา: VOA, 15/3/2018

Toy 'R' Us ปิดร้านสาขา 700 แห่งทั่วสหรัฐฯ

ห้างขายของเล่นรายใหญ่ของสหรัฐฯ Toy 'R' Us ประกาศเมื่อวานนี้ว่ากำลังปิดร้านค้าทุกแห่งในสหรัฐฯ รวมทั้งหมด 700 แห่ง ไม่กี่สัปดาห์หลังจากเพิ่งประกาศว่าจะปิดร้าน Toy 'R' Us บางสาขา เพราะยอดขายที่ไม่ดีนักในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา Toy 'R' Us ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ เปิดดำเนินการมาแล้ว 70 ปีเต็ม โดยในช่วงหนึ่งเคยมีร้านสาขากว่า 2,000 แห่งทั่วอเมริกา แต่ต้องเผชิญการแข่งขันอย่างหนักจากห้างขายปลีกขนาดใหญ่อย่าง Walmart และร้านค้าออนไลน์ อย่าง Amazon ในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ปัจจุบัน Toy 'R' Us มีหนี้สะสมราว 5,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่งยื่นขอสิทธิปกป้องจากการล้มละลายเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว คาดว่าจะทำให้มีพนักงานกว่า 30,000 คน ต้องตกงานจากการปิดกิจการครั้งนี้

ที่มา: VOA, 16/3/2018

ร้านอาหารหลายแห่งในมาเลเซียต้องปิดตัวลงเพราะขาดแรงงาน

ในมาเลเซียพบว่าร้านค้อฟฟี่ชอปของชาวจีนราว 2,000 แห่ง ร้านอาหารอินเดียและร้านมุสลิม 400 แห่งต้องปิดกิจการในปี 2017 เพราะขาดแคลนลูกจ้างรวมทั้งแรงงานต่างชาติ ทั้งนี้สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึงรัฐบาลเรียกร้องช่วยเหลือโดยเร็ว โดยเตือนว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงอีกเนื่องจากแรงงานต่างชาติอีกหลายพันคนที่เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีนไม่ได้กลับมาทำงานแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจปิดตัวลงมากขึ้นอีก  นอกจากนี้ลูกจ้างยังประสบปัญหาจากเงื่อนไขที่ทางการมาเลเซียตั้งระเบียบไว้อย่างเข้มงวดสำหรับการจ้างแรงงานต่างชาติ

ที่มา: The Straits Times, 17/3/2018

จีนจะคุมจำนวนประชากรในเมืองใหญ่

เนื่องจากนโยบายใหม่จากรัฐบาลจีนเมื่อปลายปี 2017 แล้ว ได้บีบบังคับให้แรงงานอพยพไม่สามารถอยู่ในเมืองหลวงได้ต่อไป โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าภายในปี 2020 จะควบคุมจำนวนประชากรในกรุงปักกิ่งให้ไม่เกิน 23 ล้านคน จากเมื่อปี 2017 พบว่ามีประชากรมากถึง 21.7 ล้านคนแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้มีการสั่งรื้อถอนโครงสร้างที่ก่อสร้างอย่างผิดกฎหมายบนพื้นที่มากถึง 40 ล้านตารางเมตร ซึ่งส่วนมากเป็นร้านอาหารและที่พักอาศัยราคาถูกสำหรับคนจน นอกจากลดจำนวนประชากร รัฐบาลจีนได้ให้เหตุผลถึงการไล่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้วในแหล่งพักอาศัยแห่งหนึ่งซึ่งก่อสร้างอย่างผิดกฎหมาย ทำให้มีคนตายมากถึง 19 คน

ที่มา: The Guardian, 19/3/2018

คนขับ Uber อินเดียประท้วงไม่ได้รายได้ตามที่บริษัทฯ สัญญาไว้

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2018 ที่ผ่านมา พนักงานขับรถให้แก่บริษัท Uber, Ola และบริษัทอื่น ๆ หยุดงานประท้วงทั่วเมืองใหญ่ เช่นที่ มุมไบ นิวเดลี โดยพนักงานขับรถกล่าวว่าพวกเขาไม่มีทางเลือก เนื่องจากต้องการมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต หลายคนไม่สามารถจ่ายค่าเช่ารถได้เลย "พนักงานขับรถเป็นหนี้มหาศาล" นาย Sanjay Naik ประธานสหภาพแรงงานการขนส่งที่จัดให้มีการนัดหยุดงานกล่าว

มันไม่ได้เป็นแบบนี้ตลอด นับตั้งแต่บริษัทให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่น (ส่วน Uber เรียกตัวเองว่า "บริษัทเครือข่ายคมนาคม") หลายแห่งเข้ามาในตลาดอินเดียเมื่อปี 2013 และ Uber เป็นรายแรกที่เข้ามา ได้เสนอค่าตอบแทนที่ดีมาก พนักงานขับรถเคยให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร Time ของอินเดียว่าพวกเขาจะมีรายได้ถึงเดือนละประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (รายได้เฉลี่ยของคนอินเดียอยู่ที่ประมาณ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี จากข้อมูลของธนาคารโลกเมื่อปี 2016) ซึ่งข้อเสนอนี้ดึงดูดพนักงานเงินเดือนให้ลาออกจากงานเพื่อมาขับรถ ชาวนาก็ขายที่ดินและผ่อนซื้อรถแทน

แต่บริษัทกลับไม่ทำตามข้อเสนอ หลังจากที่พนักงานขับรถไหลทะลักเข้าทำงานให้กับบริษัทให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันเพื่อหาพนักงาน ในช่วงแรกพนักงานขับรถเล่าว่า บริษัทเรียกค่าคอมมิชชั่นจากการขับแต่ละเที่ยว 10% แต่เดี๋ยวนี้พวกเขาถูกบังคับให้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 30%

และการที่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะตั้งค่าโดยสารด้วยตัวเองได้ ทำให้รายได้ของพวกเขาลดลง "พวกเราไม่สามารถดำรงชีพจากการทำงานให้ Uber" Tanveer Pashap พนักงานขับรถให้สัมภาษณ์แก่ Quartz  เขาเล่าว่า มีรายได้เพียงวันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเงินเกือบทั้งหมดไปจ่ายหนี้เงินกู้ "ผมไม่สามารถยังชีพได้ด้วยเงินเหลือเพียงวันละ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ  และเลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้ด้วย"

ที่มา: The Washington Post, 19/3/2018

เกาหลีใต้บังคับเจ้าหน้าที่รัฐปิดคอมพิวเตอร์ 20.00 น.ในวันศุกร์

รัฐบาลเกาหลีใต้ เตรียมใช้มาตราใหม่เพื่อบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐเลิกงานตรงเวลา ด้วยการปิดคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องภายในเวลา 20.00 น.ในวันศุกร์ โดยจะเริ่มกับเทศบาลกรุงโซล มีกำหนดจะเริ่มดำเนินการเป็น 3 ระยะในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ โครงการนี้ จะเริ่มในวันที่ 30 มี.ค.นี้ โดยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะปิดสวิตช์ภายในเวลา 20.00 น. ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มในเดือน เม.ย. พนักงานของรัฐต้องปิดคอมพิวเตอร์ภายในเวลา 19.30 น.ในวันศุกร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน เม.ย. จากเดือน พ.ค. เป็นต้นไป โครงการนี้จะกำหนดให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องต้องปิดในเวลา 19.00 น.ทุกวันศุกร์ ซึ่งอาจมีข้อยกเว้นบ้างเป็นบางกรณี

ความพยายามของรัฐบาลเกาหลีนี้เพื่อที่จะหยุดวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลา ทั้งนี้เกาหลีใต้ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีชั่วโมงทำงานนานที่สุดในโลก พนักงานของรัฐทำงานเฉลี่ย 2,739 ชั่วโมงต่อปี หรือมากกว่าพนักงานของรัฐในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ประมาณ 1,000 ชั่วโมง

ที่มา: BBC,22/3/2018

ศาลพิพากษาประหารชีวิตอดีตเจ้าหน้าที่พยาบาลดูแลในข้อหาสังหารผู้สูงอายุ

ในวันพฤหัสบดีที่ 22 มี.ค. ศาลเขตโยโกฮามาพิพากษาว่านายฮะยะโตะ อิมะอิ วัย 25 ปีกระทำความผิดจริงฐานสังหารเหยื่อ 3 รายโดยการผลักให้ตกลงมาจากระเบียงห้องของเหยื่อ อัยการเสนอให้ลงโทษประหารชีวิตในการพิจารณาคดี ผู้อยู่อาศัยทั้ง 3 คนเสียชีวิตเมื่อปี 2014 ซึ่งมีชายวัย 87 ปี หญิง 2 คนวัย 86 ปีและ 96 ปี

ผู้พิพากษาตัดสินในการพิจารณาคดีว่าเหยื่อทั้งสามไม่สามารถปีนข้ามราวระเบียงได้ด้วยตนเองและปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าสาเหตุการเสียชีวิตอาจเป็นการฆ่าตัวตายหรืออุบัติเหตุ การตัดสินนี้ยังปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ เป็นผู้ก่อเหตุฆาตกรรม ผู้พิพากษาเสริมว่าคำสารภาพของนายอิมะอิขณะที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำซึ่งนายอิมะอิยอมรับว่าเขาได้สังหารคนทั้ง 3 คนนั้นมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ทนายความของนายอิมะอิยืนกรานว่าลูกความของตนไม่ได้กระทำความผิดโดยชี้ว่าขาดหลักฐานที่เป็นกลางและโต้แย้งว่าการเสียชีวิตของคนทั้ง 3 คนอาจเป็นการฆ่าตัวตายหรืออุบัติเหตุ นอกจากนี้ ทนายความของนายอิมะอิอ้างด้วยว่าลูกความของตนถูกบังคับให้สารภาพและได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลอุทธรณ์แล้ว

ที่มา: NHK World, 22/3/2018

จีนเตรียมเพิ่มสวัสดิการแก่ผู้มีความสามารถในสาขาวิชาชีพชั้นสูง

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรแรงงานและประกันสังคมจีนกล่าวที่กรุงปักกิ่งว่าจีนจะใช้มาตรการเพิ่มสวัสดิการแก่บุคลากรที่มีความสามารถในสาขาวิชาชีพชั้นสูง โดยเนื้อหาของมาตรการดังกล่าวรวมถึงการให้สิทธิพิเศษด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม แก้ไขปัญหาบ้านพักที่อยู่อาศัย และการได้รับโอกาสการศึกษาของลูกหลาน เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรที่มีความสามารถในสาขาวิชาชีพชั้นสูง เข้าร่วมโครงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงผลสำเร็จด้านนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่ของผู้บุคคลเหล่านี้ด้วย ปัจจุบันแรงงานวิชาชีพคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผู้มีงานทำ ส่วนบุคลากรที่มีความสามารถในสาขาวิชาชีพชั้นสูงคิดเป็น 6% ของผู้มีงานทำ ซึ่งตัวเลขทั้งสองนี้นับเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ

ที่มา: CRI, 27/3/2018

กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่นปรับโครงสร้างองค์กรโดยรวมอำนาจไว้ที่หน่วยงานเดียว

กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่นกำลังปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 64 ปีที่แล้ว กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินตั้งกองบัญชากลางภาคพื้นดินแห่งใหม่ในวันที่ 27 มี.ค. 2018 ทั้งนี้กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินได้รับการกำกับดูแลโดยกองกำลังประจำภูมิภาค 5 แห่ง แต่หน่วยงานใหม่นี้จะมีอำนาจสูงสุดในตัวเองนี่จะเป็นการรวมอำนาจบังคับบัญชากองกำลังทั้งหมดทั่วประเทศภายใต้คำสั่งของรัฐมนตรีกระทรวงการป้องกันประเทศ

จุดประสงค์ของความเคลื่อนไหวนี้คือเพื่อรับมือสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งรวมถึงความจำเป็นในการป้องกันที่แข็งแกร่งขึ้นสำหรับหมู่เกาะนันเซซึ่งเป็นดินแดนห่างไกลทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการเร็วสะเทินน้ำสะเทินบกหน่วยใหม่ก็ได้รับการตั้งขึ้นเพื่อการนี้ หน่วยดังกล่าวก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของกองบัญชาการใหม่ด้วย

นักวิจารณ์อ้างว่ากองบัญชาการแห่งใหม่จะทำให้กระบวนการออกคำสั่งและควบคุมใช้เวลามากขึ้น บางคนกล่าวว่าการมอบอำนาจให้หน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวนั้นเตือนให้ระลึกถึงการรวมอำนาจไว้ที่กองทัพในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ที่มา: NHK World, 27/3/2018

บริษัทเทคฯ อเมริกัน ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าของจีน

ในขณะที่ สหรัฐฯ กับจีน กำลังเจรจาอย่างเคร่งเครียดเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงสงครามการค้า ดูเหมือนภาคเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการมาตรการตอบโต้ทางการค้าของจีน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า เป็นเพราะจีนยังคงต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่จากสหรัฐฯ ผ่านการลงทุนร่วมกับบริษัทจีน

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว จีนประกาศชื่อสินค้าหลายประเภทจากสหรัฐฯ ที่จะถูกเพิ่มภาษีนำเข้า เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาบสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนภาคเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จะไม่ถูกรวมอยู่ในมาตรการตอบโต้ดังกล่าว ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปประกาศว่า กำลังพิจารณากฎหมายที่ห้ามไม่ให้บริษัทจีนซื้อกิจการของบริษัทในยุโรป เพื่อป้องกันการครอบครองข้อมูลด้านเทคโนโลยีของบริษัทยุโรปเหล่านั้น โดยจีนมีความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการแบบเดียวกัน

อเล็กซ์ คาปรี (Alex Capri) นักวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศ จาก National University of Singapore กล่าวว่า ตนเชื่อว่ากำลังมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นในสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้บริษัทจีนควบรวมกิจการของบริษัทอเมริกัน เพื่ออาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีของบริษัทเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีของบริษัท หัวเหว่ย (Huawei) ที่เผชิญอุปสรรคในการซื้อกิจการด้านโทรคมนาคมในสหรัฐฯ ความกังวลดังกล่าว ทำให้ นายก รมต.จีน หลี่ เค่อเฉียง ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จากนี้ไป บริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนกับบริษัทจีนเพื่อให้เข้าถึงตลาดจีนนั้น ไม่มีข้อผูกมัดที่ต้องแบ่งปันเทคโนโลยีกับบริษัทจีนอีกต่อไป ถือเป็นการยกเว้นข้อกำหนดที่เชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแดเนียล อีฟเวส (Daniel Ives) แห่งบริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี GBH Insights ชี้ว่า การปรับเปลี่ยนข้อจำกัดที่ว่านี้ อาจทำให้จีนไม่สามารถต้านทานการเข้ามาลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีออนไลน์รายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ Facebook, Amazon, Netflix และ Google (FANG) และดูเหมือนบริษัทเหล่านี้จะมีเกราะป้องกันมาตรการขึ้นภาษีของจีนด้วย รวมทั้งยังเป็นเรื่องยากที่จะจำกัดการลงทุนของบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่ๆ อย่าง Apple ที่ร่วมทุนกับบริษัท Foxconn ของไต้หวัน ตั้งโรงงานผลิตในหลายเมืองของจีน โดยนักวิเคราะห์บอกว่า ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา จะส่งผลเสียต่อบริษัทจีนเอง รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของจีนด้วย

ที่มา: VOA, 28/3/2018

การรถไฟอินเดียเปิดรับพนักงาน 100,000 ตำแหน่ง มีผู้สมัคร 20 ล้านคน

การรถไฟอินเดียซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเปิดรับสมัครงาน 100,000 ตำแหน่ง โดยเมื่อปลายเดือน มี.ค. 2018 มีผู้ยื่นใบสมัครมากถึง 20 ล้านคน แล้วและคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีก เนื่องจากมีคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากกำลังมองหาอาชีพที่มั่นคงในภาครัฐบาล การรถไฟอินเดียลงประกาศรับสมัครงานทั้งตำแหน่งระดับกลางและระดับล่างเมื่อเดือน ก.พ. 2018 หลังจากปลดพนักงาน 13,000 คนจากทั้งหมด 1.3 ล้านคน ทั้งนี้รถไฟอินเดียเป็นหนึ่งในเครือข่ายรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่เหนือจรดใต้ มีผู้โดยสารวันละ 23 ล้านคน

ที่มา: BBC, 28/3/2018

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุวิจารณ์ คสช. และปมนาฬิกาหรู ‘วันชัย ตัน’ ต้องลาออกจาก PPTV

Posted: 01 Apr 2018 10:06 PM PDT

คสช. 'เรียกคุย' ผอ. PPTV ขอให้ปลด 'วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์' ผอ.ฝ่ายข่าวPPTV เหตุเสนอข่าววิจารณ์คสช. โดยเฉพาะปมนาฬิกาหรู ด้านวันชัยโพสต์เฟสบุ๊ค "อาชีพสื่อมวลชน บางครั้งต้องยอมไต่เส้นลวด"

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานี PPTV ได้ลาออกแล้วจากสถานีโทรทัศน์ PPTV ท่ามกลางความแปลกใจของผู้คนในวงการ เพราะปีที่ผ่านมา ข่าวของ PPTV ได้รับการยอมรับว่ามีผู้ชมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือ และกวาดรางวัลข่าวมามาก สามารถสร้างเรตติ้งได้สูง จนกลายเป็นรายการหลักของช่องรองจาก การถ่ายทอดสดกีฬา

ผู้สื่อข่าวยังได้รับแจ้งว่า เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของสถานีโทรทัศน์ PPTV เข้าไปหารือ เพื่อขอให้ปลด วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เนื่องจากทางหน่วยงานความมั่นคงได้ติดตามการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของวันชัยผ่านเฟสบุ๊คมาตลอดตั้งแต่ที่เขาถูกทหารควบคุมตัวในวันรัฐประหารที่ผ่านมา (22 พ.ค. 57) ซึ่งในขณะนั้นเขาเป็นรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเป็นผู้รับผิดชอบการรายงานข่าววันรัฐประหารทางออนไลน์ของไทยพีบีเอส ผิดคำสั่งของทางคณะรัฐประหาร

นอกจากนี้หลายเดือนก่อนหน้า นายทหารระดับพลโทจากหน่วยงานความมั่นคงและทีมงานได้ขอเข้าพบผอ ฝ่ายข่าว PPTV เพื่อทำความรู้จัก และทางหน่วยงานความมั่นคงพบว่า วันชัยยังวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอด และจากการตรวจสอบการรายงานข่าวของช่อง PPTV มาตลอด พบว่าช่วงหลังข่าวช่องนี้รายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างไม่ลดละ โดยเฉพาะเรื่องปมนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และคิดว่า วันชัย ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายข่าว น่าจะมีอิทธิพลชี้นำการรายงานข่าวของช่องนี้ ดังนั้นเพื่อความมั่นคงทางคสช.จึงยื่นเงื่อนไขให้ปลดบุคคลนี้ออก

เฟสบุ๊คของวันชัยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ได้โพสต์ข้อความว่า "อาชีพสื่อมวลชน บางครั้งต้องยอมไต่เส้นลวด" ข้อความดังกล่าวยังถูกพูดถึง รวมทั้งเป็นของขวัญในวันเลี้ยงส่งให้เขาด้วย และในวันเดียวกันเขายังโพสต์ข้อความ "การเดินทางครั้งใหม่กำลังเริ่มต้น เหลียวไปมองสิ่งที่ทำมาตลอดสองปี ภูมิใจที่มีส่วนในการสร้างทีมเวิร์ค ภูมิใจที่ทำให้ผู้คนมีความสุขในการทำงาน และภูมิใจที่ทำให้ทีมงานมีความภูมิใจในวิชาชีพของตัวเอง"

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีนี้ลงเฟสบุ๊กด้วยว่า "Vanchai Tantivitayapitak ผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานข่าว PPTV ถูกบีบให้ออกหลังชายชุดเขียวเอาแฟ้มการข่าวที่วันชัยเขียนวิพากษ์วิจารณ์ คสช จับเข่าคุยกับหมอประเสริฐนายทุนสถานี รอว่าจะมีสื่อมวลชนคนไหนเขียนเล่าเรื่องนี้ มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาเชิงหลักการเรื่องเสรีภาพของสื่อ แต่ก็ไม่มีใครเสนอข่าวนี้ หมดหวังจริงๆ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น