โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วรวิทย์ เจริญเลิศ: กฎหมายแรงงานภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ปัจจุบันและอนาคต ?

Posted: 07 Apr 2018 08:58 AM PDT

 

ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานข้ามพรมแดนของประเทศเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้เห็นจุดอ่อนของกฎหมายแรงงานในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน อาจเรียกได้ว่า เป็น "วิกฤติของกฎหมายแรงงาน" โดยเฉพาะกรอบคิดพื้นฐานของกฎหมายแรงงานที่มีการตั้งคำถามกันมาก ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้เห็นความไม่สอดคล้องระหว่างกฎหมายแรงงานที่ถูกสร้างขึ้นมาในบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง (การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ) กับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันในยุคโลกาภิวัตน์ ดังนั้น การนำกฎหมายแรงงานมาใช้โดยขาดการปรับปรุงหรือปฏิรูปแทนที่จะเป็นการคุ้มครองแรงงานอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน กลับจะสร้างความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิแรงงานเสียเอง

ในประเทศยุโรป มาร์แชล์ (Marshall) นักวิชาการด้านแรงงานได้วิเคราะห์พัฒนาการของสิทธิต่าง ๆตามลำดับ  นับตั้งแต่สิทธิความเป็นพลเมือง ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในศตวรรษที่ 18 ตามมาด้วยสิทธิทางการเมืองในศตวรรษที่ 19 อันเป็นสิทธิส่วนบุคคล (ปัจเจก) และถูกเขียนบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การแทรกเข้ามาของวิถีการผลิตทุนนิยมในสังคมตะวันตก ก็ได้สร้างความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน ทำให้คนงานลุกขึ้นต่อสู้จัดตั้งสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และผลักดันให้เกิดกฎหมายแรงงาน จนกลายมาเป็นสิทธิทางสังคมในศตวรรษที่ 20 อันเป็นสิทธิของส่วนรวม (collective rights) กล่าวได้ว่า กฎหมายแรงงานถูกสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์และบริบทของประเทศยุโรป เช่น อังกฤษในยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมี "แรงงานรับจ้าง"[1] เป็นต้นแบบ (wage worker model) คือ แรงงานรับจ้างในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความหมายในมิติทางเพศแฝงอยู่ (Tekle, 2010 : 3) ตามกระบวนทัศน์นี้คือ ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้ที่หารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวโดยการทำงานในโรงงาน (bread winner)  ส่วนผู้หญิงและเด็ก ถูกมองว่าเป็นผู้พึ่งพิง (dependent)

แต่ในสังคมชายเป็นใหญ่ มีการแยกบทบาทระหว่างหญิง-ชายคือ "งานการผลิต" (production) หรือ การทำงานโรงงาน (งานนอกบ้าน) ที่มีผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน (ค่าจ้าง) เป็นงานที่ผู้ชายทำ แต่ "งานการผลิตซ้ำแรงงานรุ่นใหม่"  (reproduction) เช่น การทำงานบ้าน การคลอดลูก เลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว หรือ "งานในบ้าน"  ซึ่งบทบาทอันหลังนี้ ผู้หญิงมักจะถูกสังคมคาดหมายให้ทำหน้าที่นี้ แต่กลับเป็นงานที่ไม่ได้ถูกให้คุณค่า หรือ ค่าตอบแทนในการทำงาน เพราะถูกมองว่า เป็นงานที่ไม่ได้สร้างผลผลิตที่เป็นตัวเงินหรือผ่านการซื้อขายในตลาด และงานในบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมันแก้ปัญหาคนว่างงานที่ตกค้างมาจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกปีค.ศ 1930 โดยใช้การจัดสวัสดิการของรัฐที่ส่งผ่านแรงงานชาย เช่น การให้แรงงานชายมีค่าจ้างที่สูงเพียงพอที่จะเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว 3 คน (ภรรยาและลูก) และมีการจัดสวัสดิการเงินช่วยเหลือครอบครัว เพื่อให้ผู้หญิงอยู่กับบ้านไม่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นคู่แข่งแรงงานชาย  ในยุคของรัฐสวัสดิการช่วงหลังสงครามโลก (ปีค.ศ. 1945-1973)  wage worker model คือ แรงงานชายที่ทำงานบนสายพานการผลิตในโรงงานผลิตรถยนต์ของฟอร์ด เป็นคนงานประจำของบริษัทที่มีการจ้างงานที่มีความมั่นคงและความก้าวหน้าในการทำงาน เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เข็มแข็งที่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองในระบบทวิภาคี สามารถเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการตามการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเงินเฟ้อ (fordism) ในปัจจุบัน เรามักเรียกว่า "แรงงานในระบบ" ที่มีการคุ้มครองโดยกฎหมายแรงงานเพราะมีนิติสัมพันธ์กันโดยตรงผ่านการทำสัญญาจ้างงาน เป็นความสัมพันธ์แบบนายจ้างกับลูกจ้าง กฎหมายแรงงานจึงวางอยู่บนกรอบคิดของการจ้างงานในโรงงานเป็นพื้นฐาน (employment)  จึงมักนำมาสู่คำถามเรื่องประสิทธิผลของกฎหมายแรงงานและการบังคับใช้ในภาวะปัจจุบันในโลกของการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และสมควรตั้งคำถามว่า กฎหมายแรงงานในปัจจุบันเป็นอย่างไร และอนาคตควรจะเป็นเช่นใดที่จะทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวคิดเรื่องกฎหมายแรงงานซึ่งถูกพัฒนาในบริบทการเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตก ถูกส่งทอดมายังประเทศกำลังพัฒนาที่เริ่มต้นนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เช่น การยอมรับอนุสัญญาฉบับต่าง ๆซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานแรงงานสากล กล่าวได้ว่า กรอบคิดเรื่องกฎหมายแรงงานที่ว่าอยู่บนความสัมพันธ์ของการจ้างงาน (ในโรงงาน) เป็นแนวคิดที่กระทรวงแรงงาน ฯ ใช้ในการคุ้มครองและจัดสวัสดิการแรงงานมาโดยตลอด  แต่การนำกฎหมายแรงงานเข้ามาโดยขาดการคำนึงถึงบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ หรือการปรับให้ความเหมาะสม แม้จะมีข้อดีคือ ทำให้ผู้ใช้แรงงานบางส่วนได้รับการคุ้มครองเรื่องสิทธิแรงงาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำของการใช้กฎหมายเพราะไม่สามารถครอบคลุมแรงงานได้ทุกกลุ่ม ในประเทศกำลังพัฒนา จะเห็นได้ว่า กำลังแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ เกษตรกรในชนบทซึ่งหลุดจากกรอบของกฎหมายแรงงาน

สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐบาลใช้กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เพื่อเร่งรัดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ มีการหลั่งไหลของแรงงานหญิงจากชนบทเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมส่งออก เช่น อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนแผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นการลงทุนต่างชาติที่ใช้เทคโนโลยีต่ำและแรงงานแบบเข็มข้น ในยุคนี้ การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน สะท้อนความต้องของรัฐในการส่งเสริมการลงทุนต่างชาติและการใช้แรงงานราคาถูก เช่น การไม่ส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ถ้ามีสหภาพแรงงาน ก็ใช้ระบบไตรภาคีเป็นกลไกในการควบคุมแรงงานเพื่อแบ่งแยกแล้วปกครอง ทำให้ขบวนการแรงงานขาดความเป็นเอกภาพ แตกแยกและต่อสู้กันเอง (fragmentation) หรือ ความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายโดยจะมีข้ออ้างเรื่องการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานและงบประมาณ รวมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุน ที่มีกฎหมายเฉพาะที่ไม่ส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือ การรวมกลุ่มใดๆเพราะถูกมองว่าเป็น "ต้นทุน" ของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรงงานหญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การรวมกลุ่มแรงงานหญิง เช่น กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กลุ่มแรงงานสมานฉันท์ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ จึงมีการนำประเด็นเรื่องสิทธิสตรีเข้าสู่สหภาพแรงงานและเคลื่อนไหวเรียกร้องการคุ้มครองแรงงานหญิงในกฎหมายแรงงาน เช่น การห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำงานกะดึก การลาคลอด 90 วันโดยมีการจ่ายค่าจ้าง การเพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในทุกย่านอุตสาหกรรม และการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน ฯลฯ

แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ผ่านนโยบายการเปิดเสรีและการพัฒนาสู่สังคมข้อมูลข่าวสาร (information society) การแข่งขันที่ไร้พรมแดนและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทุนและแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายสูง ในยุคนี้ แรงงานได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงและวิจัยกันมากโดยเฉพาะระบบ "การจ้างงานยืดหยุ่น" ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนงานและสหภาพแรงงาน "ระบบการจ้างงานยืดหยุ่น" เป็นกลยุทธ์ของบริษัทนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนแรงงาน (cut-cost) ส่งผลให้ตลาดแรงงานถูกแบ่งออกเป็น 2 ตลาดคือ ตลาดที่มีการจ้างงานแบบมั่นคง ประกอบด้วยคนงานมีสถานภาพเป็นพนักงานประจำ มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานและการจัดสวัสดิการสังคมให้ผ่านระบบประกันสังคม (ร่วมกันออกเงินสมทบ ได้รับสิทธิประโยชน์) แต่ในปัจจุบัน คนงานประจำเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชายกลับถูกลดจำนวนลงตามนโยบายของบริษัทเพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตแบบลีน (lean production) [2] และมีผลกระทบต่อสหภาพแรงงานในเรื่องของจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานและอำนาจต่อรอง ขณะที่ในอีกตลาดหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นมาอย่างรวดเร็วคือ การจ้างแบบชั่วคราว จ้างทำงานเป็นช่วง ๆ (part-time) และการทำงานตามบ้านในระบบรับช่วง หรือ เหมาช่วงการผลิต แรงงานเหล่านี้ ถูกจ้างแบบหลุดมาตรฐานแรงงาน (atypical) เรียกรวมๆกันแบบกว้างๆว่า "แรงงานนอกระบบ" ซึ่งแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ที่ประสบกับปัญหาทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานยาว ค่าจ้างต่ำ หรือ จ่ายเป็นรายชิ้น ขาดสวัสดิการในการทำงาน ขาดการรวมกลุ่มและความมั่นคงในงาน ดังนั้น การที่กระทรวงอ้างว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงชายในการทำงาน (โรงงาน) แต่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือ หลุดออกจากกฎหมายแรงงาน และเป็นแรงงานที่ขาดการรวมกลุ่มและอำนาจต่อรอง 

ในปัจจุบัน ระบบรับช่วงหรือเหมาช่วงการผลิต ทำให้การจำแนกหรือเส้นแบ่งระหว่างแรงงานในระบบกับผู้ประกอบอาชีพอิสระขาดความชัดเจนลง มีความคลุมเครือ (grey area) ยกตัวอย่างกรณีผู้รับงานมาทำที่บ้านจากโรงงานหรือคนกลางโดยรับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น งานการผลิตที่ทำในบ้านก็เป็นงานการผลิตแบบเดียวกันกับงานที่ทำในโรงงานแต่กลับถูกนิยามว่า เป็น "แรงงานนอกระบบ" จึงไม่ถูกคุ้มครองโดยกฎหมายแรงงาน หรือ กรณีแรงงานในภาคเกษตร เช่น เกษตรพันธะสัญญา ก็ถูกนิยามว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง ไม่เข้ากรอบของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งๆที่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ ไม่ใช่เกษตรกรแบบดั่งเดิมแต่เป็นแรงงานพึ่งพิงและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทุน กล่าวคือ ทำการผลิตภายใต้การทำสัญญาจ้างทำของกับบริษัท เมื่อส่งมอบผลผลิตตามกำหนดเวลาและตรงตามสเป็คก็จะได้รับค่าตอบแทนที่คิดเป็นรายชิ้นซึ่งรวมๆกันแล้วต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ในกิจการของรัฐ เช่น โรงพยาบาลของรัฐที่บางส่วนถูกแปรรูปโดยให้เอกชนเข้ามาเหมางานที่ต้องการความชำนาญเฉพาะอย่างไปทำ เป็นการทำสัญญาจ้างทำของกันแต่กลับเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถทำการลดต้นทุน

โดยใช้วิธีการจ้างลูกจ้าง (พยาบาล) แบบชั่วคราว ไม่ประจำ ไม่เข้าประกันสังคมหรือกองทุนเงินทดแทนทั้ง ๆ ที่ทำงานในสถานที่มีความเสี่ยงอันตรายสูง ในความเป็นจริงแล้ว การประกอบธุรกิจแบบนี้ เป็นวิธีการจ้างงานที่นายทุนนำมาใช้เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงาน  เราสามารถเรียกว่าเป็น "การจ้างงานแบบแอบแฝง" (disguised employment)

ทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุนและแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของรัฐ-ชาติ บรรษัทข้ามชาติสามารถเคลื่อนย้ายการผลิตไปได้ทั่วโลกเพื่อแสวงหาความได้เปรียบจากการแข่งขันและกำไรสูงสุดจากระบบการ "จ้างงานยืดหยุ่น" นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกการทำงานอย่างมาก ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน งานด้าน "การผลิตซ้ำแรงงานรุ่นใหม่" มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างงาน ในอนาคตอันใกล้นี้ ภาคการผลิตจะไม่ได้เป็นแหล่งการจ้างงานเพราะการเข้ามาระบบหุ่นยนต์แต่จะเป็นภาคบริการที่เกี่ยวกับ "การผลิตซ้ำ" ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เป็นผู้หญิงที่ทำงานเหล่านี้ เช่น งานดูแลสุขภาพ การพยาบาล การโภชนาการ เป็นต้น แต่ในสังคมชายเป็นใหญ่ การทำงานของแรงงานหญิงเหล่านี้ ก็ยังไม่มีการให้คุณค่าเท่าที่ควร ผู้หญิงจึงยังต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย ทั้งชั่วโมงการทำงานสูง ค่าจ้างต่ำ ขาดสวัสดิการและความมั่นคงในงาน และอำนาจต่อรอง

ส่วนแรงงานที่เริ่มปรากฎตัวในยุคโลกาภิวัตน์อีกกลุ่มหนึ่งคือ "แรงงานข้ามชาติ" ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีการเคลื่อนย้ายสูง เป็นผู้ที่เคลื่อนย้ายจากประเทศต้นทางเพื่อแสวงหารายได้และโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าเดิม (economic migrants) ในประเทศไทย มีประมาณ 1.3 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานแต่เมื่อแรงงานข้ามชาติเคลื่อนตัวข้ามพรมแดนของประเทศใด ก็มักจะถูกมองว่าเป็น "คนนอก" (outsider) ที่เข้ามาแย่งงานและสวัสดิการจาก "คนใน" (insider) ที่ไม่ได้เคลื่อนย้าย "คนใน" ก็จะพยายามกีดกัน "คนนอก" เพื่อรักษาสิทธิ์ประโยชน์ที่ตนเองได้รับไม่ให้ถูกลดทอนลง (Jordan, 1998 : 65)  แต่ "คนนอก" ก็จะพยายามเข้ามาเป็น "คนใน" โดยรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงาน การคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน การเข้าถึงประกันสังคม กองทุนเงินทดแทนและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน รัฐก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนคือ ต้องการแรงงานข้ามชาติราคาถูกมาทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลนและส่งเสริมการลงทุนแต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานกับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันแก่แรงงานข้ามชาติตามกฎหมายและตามธรรมเนียมการปฏิบัติที่เป็นสากล จึงเป็นบ่อเกิดความตึงเครียดในสังคมในยุคโลกาภิวัตน์

จากภาพรวม จะเห็นได้ว่า แรงงานชั่วคราว แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคบริการส่วนใหญ่ แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานรับใช้ในบ้าน แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง ที่ประสบกับปัญหาการจ้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (standard employment) หลุดออกจากกฎหมายแรงงานและเข้าไม่ได้สิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวได้ว่า "เป็นแรงงานชนชั้นล่าง" (underclass) สะท้อนช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแก้ปัญหาที่มีการนำเสนอกันมาเพื่อเป็นข้อคิดในการก้าวเดินไปข้างหน้า แนวคิดหนึ่ง เห็นว่าควรใช้ "งาน" (work) เป็นกรอบของกฎหมายแรงงานแทน "การจ้างงาน" (employment) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับงานซึ่งมีหลายรูปแบบ ทำในหลายสถานที่ที่ไม่ใช่โรงงานอย่างเดียว ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่ง เห็นว่า ควรขยายมิติทางสังคมของกฎหมายแรงงาน เช่น การจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมแรงงานกลุ่มอื่น ๆ มากกว่าที่จะมาสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาสำหรับเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะทำให้เกิดกฎหมายหลายชุด มีปัญหาเหลื่อมล้ำกันของกฎหมายและบังคับใช้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควรตระหนักไว้คือ กฎหมายแรงงานที่เป็นอยู่ถูกสร้างบนความแตกต่างในมิติทางเพศ (gender) เช่น สาธารณะกับส่วนตัว งานกับครอบครัว และการผลิตกับการผลิตซ้ำ ซึ่งเป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันผู้หญิงออกจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานและการแบ่งปันในสังคม 


เชิงอรรถ

[1] แรงงานรับจ้าง หรือ กรรมาชีพ (wage labour) คือ แรงงานอิสระเสรี ไม่ผูกติดกับที่ดินแต่ก็เป็นแรงงานพึ่งพิงและตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทุน (dependent and subordinated labour) ในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ แรงงานรับจ้างส่วนใหญ่คือ ชาวนาหรือไพร่ที่สูญเสียที่ดินทำกินจากการล้อมรั้วที่ดินเพื่อเลี้ยงแกะ เป็นสาเหตุที่ผลักดันให้เกิดการอพยพออกครั้งใหญ่ของแรงงานสู่เมืองและโรงงาน  "แรงงานเสรี" สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระเสรีแต่ก็ถูกบังคับเชิงเศรษฐกิจให้ต้องขายความสามารถในการทำงาน (พลังแรงงาน) เพื่อแลกกับค่าจ้างในการยังชีพ 

[2] ระบบการผลิตยืดหยุ่น (Flexible Production) :  ระบบนี้เริ่มเข้ามาเมื่อโลกเข้าสู่โลกาภิวัตน์ (1990) ทุนและแรงงานเคลื่อนย้ายอย่างไร้พรมแดน การปฏิวัติอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีของการสื่อสาร การใช้อินเตอร์เนท นโยบายการค้าเสรี ฯลฯ ทำให้ประเทศที่อาศัยการสร้างอัตราการเติบโตผ่านกลยุทธ์การส่งออก (export-led growth) ต่างต้องหันมารื้อโรงงานขนาดใหญ่ เลิกจ้างคนงานและทำการลดขนาดเข้า "ระบบการผลิตแบบลีน" การผลิตสินค้าจะมีลักษณะเป็น "ห่วงโซ่สินค้า" โดยการผลิตหลัก (core activities)จะทำโดยคนงานประจำของบริษัทควบคู่ไปกับการจ้างคนงานเหมาค่าแรง งานในส่วนอื่นจะถูกกระจายให้คนงานรอบนอกทำ (periphery workers) เช่น ผู้รับเหมาช่วง (subcontractors) การผลิตทุกส่วนจะประสานผ่านการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และการขนส่งสินค้าด้วย "ระบบมาทันเวลา" (just in time) "แรงงานรอบข้าง" เหล่านี้ ขาดความมั่นคงในงานเพราะถูกจ้างโดยสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ค่าแรงต่ำและไม่มีสวัสดิการ แรงงานเหล่านี้มีสถานภาพเปราะบางในสังคม(precarious workers) เพราะเข้าไม่ถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 


เอกสารอ้างอิง

Jordan, Bill .1998. The New Politics of Welfare, Social Justice in a Global Context, London : SAGE Publication.

Marshall A. 2007. Explaining Non-compliance with Labour Legislation in Latin America : A Cross-countries Analysis. Geneva : International Labour Office (ILO).

Supiot, A. 2006. The position of security in the system of international labour standard, in Comparative Labor Law and Policy Journal, Vol.27, pp. 113-121.

Tekle, Tzehainesh ed. 2010. Labour Law and Worker Protection in Developing Countries, Geneva : International Labour Office (ILO).

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: 1 ปีแสร้งมี รธน.

Posted: 07 Apr 2018 08:43 AM PDT



6 เมษายน 2561 ครบหนึ่งปีที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เราอยู่ใต้รัฐธรรมนูญหรือยัง ถามจริง มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพประชาชนและอำนาจการปกครอง

ไม่มีซักนิด จนน่าสงสัย มีรัฐธรรมนูญไว้ทำไม แขวนต่องแต่งแต่ไม่ใช้ คงใช้ ม.44 เหมือนที่เป็นมาก่อนหน้านั้น 3 ปี

ถ้าจะมีอะไรเปลี่ยน ก็คือมีการยกร่างกฎหมายลูก แล้ว กรธ.สนช.องค์กรอิสระ ก็ขัดแย้งกัน เดี๋ยวรีเซ็ต เดี๋ยวเซ็ตซีโร่ เดี๋ยวอยู่ต่อ เดี๋ยวต่ออายุ ไม่มีมาตรฐาน กฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้ ก็ออกคำสั่ง คสช.แก้ไข กฎหมายเลือกตั้ง ก็เพิ่มบทเฉพาะกาล ยืดเลือกตั้ง 90 วัน เท่านั้นไม่พอ ยังเถียงกันในเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญ แล้วส่งตีความ

ช่วงเวลาที่จะเลือกตั้ง ที่จะใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะเลิกใช้ ม.44 ก็ยิ่งยืดออกไป

นั่นทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เป็นประชาธิปไตย ให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คนร่วมเลือกนายกฯ โดยเป็นนายกฯ คนนอกได้ มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีกลไกกับดักมากมาย สกัดนักการเมือง ที่ประชาชนเลือกเข้าไป ไม่ให้มีอำนาจได้

แล้วทำไม ถึงไม่รีบไปสู่เลือกตั้ง ไปนั่งเก้าอี้นายกฯ คนนอกเสียให้สาสมใจ หรือกลายเป็นกลัวกับดักจากรัฐธรรมนูญตัวเอง ที่ร่างกันเอง ถามเพิ่มเอง ผลักดันให้ผ่านประชามติ ใครรณรงค์ไม่รับถูกจับกุมดำเนินคดี

ครั้นมีคนอยากให้เลือกตั้งเร็ว ก็จะเอาขุนเรืองไปตัดหัว แค่เรียกร้องให้เลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ก็กลายเป็นพวก มีท่อน้ำเลี้ยง เจตนาไม่บริสุทธิ์ แค่เดินจากธรรมศาสตร์ไป กองทัพบก ก็หาว่าละเมิดสิทธิคนอื่น แถมมีคนไปให้การเป็นพยาน ว่ารบกวนการใช้ทางเท้า อ้าว แล้วตอนม็อบหัวกรวยปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ ขัดขวางเลือกตั้ง ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนกัน

ว่านักศึกษาชอบละเมิดกฎหมายจนเคยตัว ทำคนอื่นเดือดร้อนไปทั่ว แต่ไม่รู้ใครชอบฉีกรัฐธรรมนูญจนเคยตัว 13 ครั้ง ใช้กำลังยึดอำนาจ แต่อ้างฟ้าลิขิต ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกคำสั่งเป็นกฎหมาย แล้วพร่ำสอนให้เด็กเยาวชนเคารพกฎหมาย

รัฐประหารในอดีตยังทำอะไรตรงไปตรงมา แบบใครขัดคำสั่ง สฤษดิ์ ก็จับเข้าคุกเข้าตะราง แต่นี่ คสช.ไปแจ้งตำรวจ ให้จับคนค้านฐานขัดคำสั่ง คสช. บ่อนทำลายความมั่นคง โดยตำรวจก็อยู่ใต้บังคับบัญชา ใต้อำนาจรัฐบาล คสช.

แบบเดียวกัน รัฐบาล คสช.ไม่ได้แทรกแซงสื่อ แต่ กสทช.สั่งปิด หรือเจ้าของสั่งปลด เพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.

พอกฎหมายไม่เป็นที่เชื่อถือ นานาชาติไม่ยอมรับ 2 อดีต นายกฯ เดินสายทั่วโลกไม่มีใครจับส่งให้ ก็บอกว่า 2 คนนั่นสิควรจะอาย ทั้งที่ตัวเองยังไปบางประเทศไม่ได้

ประเทศไม่มีประชาธิปไตย กลับเดินสายสอนชาวบ้าน ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง อเมริกายังมีคนจรจัด ดักปล้น ชิงทรัพย์ รัฐประหารจะลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาได้ 3.9 ล้าน ฉะนั้นประชาชนไม่ต้องเลือกรัฐบาล ไทยนิยมคือประชาธิปไตยสมบูรณ์ รัฐบาลทหารคือธรรมาภิบาล ใครวิพากษ์วิจารณ์คือ รุมสกรัม การสืบทอดอำนาจกลายเป็นความชอบธรรม

ครั้นพรรคการเมืองประกาศว่า สมาชิกต้องสนับสนุนหัวหน้าเป็นนายกฯ ถ้าหนุนคนอื่นไล่ไปพรรคอื่น กลับเป็นฟืนเป็นไฟ พูดจาไม่ให้เกียรติกัน อ้าว นั่นมันหลักการสากล ของพรรค การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่หนุนหัวหน้าพรรค กลับไปหนุนทหาร จะตั้งพรรคการเมืองทำไม

สี่ปีที่ผ่านไป ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จที่อ้างตนเป็นคนดีมีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริต แต่ปิดกั้นห้ามตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ สังคมไทยจมอยู่ภายใต้การหลอกตัวเอง บิดเบือนตรรกะ เหตุผล หลักการ จนกลายเป็นสังคมดัดจริต เสแสร้ง ไม่ซื่อสัตย์ ขนาดชูสิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติได้ ทั้งๆ ที่ปราศจากเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่าง

ในขณะเดียวกันก็เชิดชูความเป็นไทย วัฒนธรรมประเพณี อันดีงาม ทำให้ความเป็นไทยแปดเปื้อนไปหมด เพราะกลายเป็นเครื่องมือข้ออ้างของการใช้อำนาจอย่างไร้เหตุผล

ทั้งที่ความเป็นไทย ก็ไม่น่าจะสอนให้เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ที่กำเริบ หลงตน ข่มคนอื่นไปทั่ว ตั้งตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี บังคับ สั่งสอนไล่จี้ ให้ทุกคนต้องอยู่ในโอวาท

หนึ่งปีผ่านไป ภายใต้ระบอบที่เสมือนมีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ยังใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเหนือรัฐธรรมนูญ เหนืออำนาจ 3 ฝ่าย ปลดองค์กรอิสระก็ยังได้ กฎหมายผ่านสภา (ที่แต่งตั้ง มาเอง) ก็ใช้คำสั่งแก้ได้ แต่ยังอ้างกฎหมาย ยังส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ นี่มันพิกลไหม

สังคมไทยยังต้องอยู่ใต้ระบอบที่เสมือนมีกฎหมายสูงสุด แต่ความเป็นจริงคำสั่งสูงสุด อย่างนี้ไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี หลังจากนั้น ก็เข้าสู่ระบอบล็อกตาย แก้ไม่ได้ ถอยไม่ได้ ชั่วกัลปาวสาน ขณะที่ความมีตรรกะเหตุผลก็น้อยลงทุกที นี่คืออนาคตของเรา

 

ที่มา: www.khaosod.co.th

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: แลกเปลี่ยน ‘เรื่อง(ไม่)แยกศาสนาจากรัฐ’ กับมูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง

Posted: 07 Apr 2018 08:29 AM PDT



ผมรู้สึกยินดีที่ประชาไทเสนอบทสัมภาษณ์มูฮัมหมัด อิลลิยาส หญ้าปรัง เรื่อง "รัฐ-ศาสนาอยู่ร่วมกันได้แต่ต้องปฏิรูปและเป็นประชาธิปไตย" โดยกฤษฎา ศุภวรรธนะกุล เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีของการถกเถียงประเด็นการทำให้ศาสนากับประชาธิปไตยไปด้วยกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องเก่ามากของโลกตะวันตก แต่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ผมขอแลกเปลี่ยนในประเด็นพื้นฐานสำคัญคือ

1. ปัญหาการสร้างมายาคติว่า "แนวคิดแบบ Secular State เป็นเพียงชุดประสบการณ์หนึ่งของคริสเตียน" โดยบทสัมภาษณ์กล่าวว่า "แนวคิดแบบ Secular State เป็นเพียงชุดประสบการณ์หนึ่งของคริสเตียน แต่ศาสนิกอื่นไม่ได้มีชุดประสบการณ์เดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีตัวแบบเดียวของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐในโลกสมัยใหม่" 

การพูดเช่นนี้อาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่า การจะเป็นรัฐโลกวิสัย (Secular State) ขึ้นอยู่กับประสบการณ์หรือประวัติศาสตร์ของศาสนาแต่ละที่ หรือขึ้นอยู่กับ "ความต้องการ" ของศาสนาแต่ละที่ (ซึ่งทำนองเดียวกับการอ้างว่าประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก) ที่จริงแล้วรัฐโลกวิสัยเกิดจากปรัชญามนุษยนิยมและเสรีนิยมตั้งคำถามต่อรัฐศาสนา

จริงอยู่ ถ้าจะพูดถึงประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ยุโรปก็คือว่า รัฐคริสเตียนยุคกลางกดขี่เสรีภาพ เกิดการปฏิรูปศาสนา สงครามศาสนา และระหว่างนิกายศาสนายาวนาน จนเกิดบทเรียนให้ศาสนาต้องปรับตัว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอื่นๆ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดรัฐโลกวิสัย

แต่เราต้องเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาตะวันตกไม่ได้มีศาสนาเป็นศูนย์กลางเพียงหนึ่งเดียว หากเป็นประวัติศาสตร์ทางภูมิปัญญาที่ต่อสู้ ต่อรองระหว่างศาสนา (faith) ปรัชญา (reason) และวิทยาศาสตร์ (science) ตลอดเวลาที่ยาวนาน การเกิดขึ้นของรัฐโลกวิสัยก็คือผลอย่างมีนัยสำคัญของการต่อสู้ต่อรองดังกล่าว

พูดเจาะจงที่ประเด็นศาสนา รัฐโลกวิสัยก็คือการนำเอาเสรีประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลมาปฏิบัติกับ (treat) ความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เพื่อสร้าง "ความเป็นธรรม" (fairness) บนกติกาที่ฟรีและแฟร์ในการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมของความแตกต่างหลากหลายดังกล่าว

โดยรัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาของประชาชนทุกคน ไม่มีบุคคลใดหรือกลุ่มใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเรื่องใดๆ เพราะเหตุแห่งการนับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนา พร้อมกับให้หลักประกันเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการแสดงออก การวิจารณ์ศาสนา การเปลี่ยนศาสนา การไม่นับถือศาสนา กระทั่งการแอนตี้ศาสนา ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพบุคคลอื่น

เพื่อให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ จึงต้อง "แยกศาสนาจากรัฐ" คือแยกความเชื่อ อุดมการณ์ทางศาสนาออกจากการปกครอง แยกองค์กรศาสนาจากโครงสร้างสถาบันของรัฐ ให้องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชน เพื่อเป็นหลักประกันว่า คนที่นับถือศาสนาต่างๆ ความเชื่อ คุณค่าต่างๆ รวมทั้งคนที่ไม่เชื่อหรือไม่นับถือศาสนาจะมีความเสมอภาคทางความเชื่อ มีเสรีภาพทางความเชื่อ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเพราะถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐในเรื่องศาสนา ความเชื่อ ความไม่เชื่อใดๆ อย่างแท้จริง

ดังนั้น การเกิดขึ้นของรัฐโลกวิสัยจึงเป็นเรื่องของการให้กำเนิดเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา ซึ่งแต่เดิมรัฐศาสนาไม่สามารถให้หลักประกันได้ ขณะเดียวกันก็ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคแก่คนที่ปฏิเสธศาสนา แอนตี้ ไม่นับถือศาสนา หรือยึดถือความเชื่อ ปรัชญาอื่นๆ ด้วย พร้อมกับให้หลักประกันเสรีภาพในการพูด การแสดงออก การวิจารณ์ศาสนาด้วย ซึ่งแต่เดิมรัฐศาสนาไม่สามารถให้หลักประกันได้

เราจึงไม่อาจ "ลดทอน" ความหมาย ขอบเขต คุณค่า ผลกระทบของการเกิดรัฐโลกวิสัยให้เป็นเพียงประสบการณ์เฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้ และไม่มีศาสนาใดๆ มีความชอบธรรมที่จะ "ผูกขาด" ความยินยอม หรือไม่ยินยอมให้กับการสถาปนารัฐโลกวิสัยได้

2. ปัญหาของการไม่แยกศาสนาจากรัฐแต่ตีความให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ควรเข้าใจก่อนว่าเรื่องการสร้างความเป็นธรรมโดยให้ทุกศาสนา ทุกความเชื่อ และความไม่เชื่อหรือการไม่นับถือศาสนา คนปฏิเสธศาสนา แอนตี้ศาสนาอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์ตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนดังกล่าวแล้ว เป็น "อุดมคติ" เราไม่อาจบอกได้ว่ามีรัฐโลกวิสัยของประเทศใดบรรลุอุดมคตินี้สมบูรณ์แล้ว (แต่รัฐศาสนาหรือทุกรัฐก็อิงอุดมคติบางอย่างเช่นกัน) จึงยากที่จะบอกว่า ประเทศไหนคือต้นแบบรัฐโลกวิสัยที่ดีสุด ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ในยุโรป

บทสัมภาษณ์อ้างว่า ไม่จำเป็นต้องแยกศาสนากับรัฐ แต่เราตีความศาสนาให้สนับสนุนประชาธิปไตยและเปิดกว้างต่อเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนได้ ปฏิรูปให้องค์กรศาสนาไปด้วยกันกับประชาธิปไตยได้ โดยยกตัวอย่างการตีความศาสนาสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแบบในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

แต่ความเป็นจริงคือ สหรัฐฯ แยกองค์กรศาสนาจากรัฐ องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชน รัฐไม่อุปถัมภ์ศาสนา ไม่บังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน ห้ามสถาปนาศาสนาแห่งรัฐ แม้จะมีสัญลักษณ์บางอย่างในพิธีการของรัฐเช่น พิธีสาบานตนต่อไบเบิลในการรับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายต่างๆ ของรัฐไม่ได้อิงความเชื่อทางศาสนาใดๆ และรัฐก็ไม่ใช่เวทีต่อสู้ต่อรองเพื่อสิทธิประโยชน์ในเรื่องตอบสนองความเชื่อเฉพาะของศาสนาใดๆ

ประวัติศาสตร์การตีความศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน จึงเป็นเรื่องของการ "ยึดหลักการทั่วไป" คือหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนสากลเป็นตัวตั้ง แล้วตีความหลักศาสนาให้สอดคล้องกับหลักการทั่วไปที่คนทุกศาสนาและคนไม่นับถือศาสนายึดถือร่วมกัน แล้วนำมาสู่การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอื่นๆ ให้สอดคล้องกับหลักการนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ดังการต่อสู้ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นต้น

ในแง่นี้การตีความศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย จึงไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อโฆษณาชวนเชื่อคำสอนศาสนา (ว่า "ทันสมัย") และไม่ได้ตีความเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนศาสนาใดๆ กลุ่ม หรือองค์กรศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ เพราะองค์กรศาสนาเป็นเอกชนทั้งหมด การตีความศาสนาสอดคล้องกับประชาธิปไตยจึงมีความหมาย และก่อเกิดนขวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าขึ้นได้

แต่ถ้าไม่แยกศาสนาจากรัฐอย่างไทย การตีความศาสนาสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยย่อม "ขัดแย้งในตัวเอง" เพราะสมมติว่าองค์กรศาสนาต่างๆ ของรัฐต่างตีความว่าหลักการศาสนาของตนสอดคล้องและสนับสนุนเสรีภาพ ความเมสมอภาค ประชาธิปไตย แต่องค์กรศาสนาของรัฐทุกศาสนาต่างมี "อภิสิทธิ์" เอาอำนาจสาธารณะ (กฎหมาย) และภาษีประชาชนมาใช้ปกป้อง สนับสนุนการเผยแผ่ การบังคับเรียนในโรงเรียนซึ่งศาสนาอันเป็น "ความเชื่อเฉพาะ" ของกลุ่มพวกตน การตีความศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาคจึงมีความหมายเพียงโฆษณาชวนเชื่อหลักคำสอนของศาสนาต่างๆ เท่านั้น ไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด เนื่องจากยังดำรงโครงสร้างทางอำนาจศาสนาแบบไม่แยกจากรัฐที่ทำให้องค์กรศาสนาต่างๆ มีอภิสิทธิ์เหนือความเชื่ออื่นๆ ของประชาชนที่ไม่นับถือศาสนา ปฏิเสธ หรือแอนตี้ศาสนา

3. ข้ออ้างที่ว่าศาสนาของรัฐไม่เกี่ยวการเมืองเป็นเพียงมายาคติ บางทีผู้ยืนยันการไม่แยกศาสนาจากรัฐมักอ้างว่า ในอดีตศาสนาก็เป็นอิสระจากการเมือง นักบวชและผู้นำศาสนาไม่ใช่นักปกครอง เพียงทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ปกครอง

คำถามคือ ถ้าคุณอ้างว่าในอดีตที่ศาสนาเคยเป็นอิสระจากการเมือง ตรวจสอบผู้ปกครองเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แล้วทำไมปฏิเสธการแยกศาสนาจากรัฐในโลกสมัยใหม่ ที่จะทำให้ศาสนาเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของชนชั้นปกครองได้จริง และทำให้ศาสนิกมีเสรีภาพในการตรวจสอบและมีส่วนร่วมทางการเมืองเสมอภาคกับคนไม่มีศาสนา คนปฏิเสธ หรือแอนตี้ศาสนา

ความจริงแล้ว ในภาวะที่องค์กรศาสนายังมีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจและงบประมาณสาธารณะเพื่อปกป้องและสนับสนุนการเผยแผ่ความเชื่อของพวกตน องค์กรศาสนาของรัฐไม่ได้เป็นอิสระจากการเมืองเลย เพราะนักบวชและผู้นำศาสนาถูกแต่งตั้งตำแหน่งและได้รับผลตอบแทนต่างๆ จากรัฐ จึงถูกกำหนดให้เป็นกลไกของรัฐไม่ต่างอะไรมากนักจากระบบราชการ ในแง่นี้ศาสนาจึงไม่มีทางเป็นอิสระจากการเมืองในเรื่องสนับสนุนการปลูกฝังอุดมการณ์รัฐ หรืออำนาจของชนชั้นปกครองได้

ในประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญในบ้านเรา จึงแทบจะไม่พบขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยแบบในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ (ถ้ามีก็เป็นเรื่องของตัวบุคคลซึ่งน้อยมาก) บรรดานักบวชหรือผู้นำศาสนาจะลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าไม่เป็นเรื่องสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ก็เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์เฉพาะทางศาสนาของพวกตนเอง เช่นเรียกร้องศาสนาประจำชาติ กระทรวงศาสนา การบัญญัติกฎหมายศาสนา ศาลศาสนา และอื่นๆ

4. ภายใต้สภาวะที่ศาสนาไม่แยกจากรัฐ ศาสนาสนับสนุนศีลธรรมทางสังคมหรือไม่? คำตอบคือไม่ได้สนับสนุน เพราะศีลธรรมทางสังคมต้องสอดคล้องกับคุณค่าสมัยใหม่คือสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือการเคารพสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์ แต่เนื่องจากตัวองค์กรศาสนาของรัฐมีสถานะ อำนาจที่มีอภิสิทธิ์ขัดกับคุณค่าสมัยใหม่ดังกล่าว ต่อให้ตีความศาสนาสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติดังที่กล่าวแล้ว

มันจึงย้อนแย้งมากที่ศาสนามีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจและเงินสาธารณะ แต่สถานะองค์กรศาสนาขัดกับคุณค่าสาธารณะเสียเอง สิ่งที่ศาสนาพอให้ได้คือสอนให้คนเป็น "คนดี" ตามศีลธรรมศาสนานั้นๆ แต่คนดีตามศีลธรรมของศาสนานั้นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพลเมืองที่มีมโนธรรมทางสังคมที่เคารพคุณค่าสมัยใหม่แต่อย่างใด

5. ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่? ข้ออ้างที่ว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องสังคม เป็นเรื่องส่วนรวม และจึงไม่สามารถแยกจากการเมือง เป็นเพียงข้ออ้างที่เกิดจากมุมมองของนักวิชาการ นักคิด หรือบุคคลที่ยึดมั่นศรัทธาในศาสนาโดยทั่วๆ ไป ที่ใช้โลกทัศน์สังคมศาสนายุคโบราณ ยุคกลาง  (และบางรัฐศาสนาในโลกสมัยใหม่) มาเป็น "กรอบ" ตัดสิน ซึ่งไม่ย่อมตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นภววิสัยในสังคมสมัยใหม่

จริงอยู่ในอดีต ศาสนาเป็นเครื่องมือในการรวมชนเผ่า ชาติพันธุ์ หรือรวมผู้คนเข้าด้วยกันในรัฐต่างๆ แต่ในโลกสมัยใหม่ที่ศาสนาไม่ได้เป็นภูมิปัญญาหลัก มีภูมิปัญญาหลากหลาย วัฒนธรรมความเชื่อ ทางเลือกของชีวิตหลากหลาย ศาสนาไม่อาจทำหน้าที่รวมคนในชาติเป็นเนื้อเดียวกันได้อีกแล้ว นอกจากไม่ได้ ศาสนายังกลายเป็นเครื่องมือแบ่งแยกคนในชาติเดียวกันอีกด้วย

เช่น ในพื้นที่บางแห่งที่คนศาสนา ก.มาก คนศาสนา ข.น้อย คนศาสนา ข.กลายเป็นประชากรชั้นสองของพื้นที่นั้นๆ ในประเทศหนึ่งๆ ที่มีคนศาสนา ก.มาก คนศาสนา ข.ก็กลายเป็นประชากรชั้นสองของประเทศนั้นๆ ความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือความขัดแย้งทางสังคมการเมืองใดๆ ถ้าหากมีประเด็นศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาด้วยเหตุผลจะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นนับหลายเท่าทวีคูณ

แน่นอน เงื่อนไขหนึ่งของความขัดแย้งก็คือการไม่แยกศาสนาจากรัฐ ทำให้รัฐกลายเป็นเวทีต่อสู้ ต่อรองอำนาจและสิทธิประโยชน์ขององค์กร หรือกลุ่มศาสนาต่างๆ และเมื่อขัดแย้งเรื่องตีความคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ รัฐก็ต้องเข้าไปดูแลรับผิดชอบแก้ปัญหาเรื่อง "ความเชื่อส่วนบุคคล" ของศาสนานั้นๆ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเลย

แท้จริงแล้ว เมื่อว่าโดย "เนื้อคำสอน" ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบจิตวิญญาณตนเอง เพราะคุณคือคนที่ "เชื่อ" และสนทนากับพระเจ้าที่คุณเชื่อ หรือปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพาน หรือได้บุญกุศลตามความเชื่อของคุณ และเมื่อว่าใน "ทางสังคมวัฒนธรรม" ศาสนาก็เป็นความเชื่อเฉพาะของสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ ซึ่งในรัฐย่อมมีหลากหลายสังคมวัฒนธรรม หลายกลุ่มคน รัฐจึงไม่อาจให้ "อภิสิทธิ์" แก่ความเชื่อหรือศาสนาของสังคมวัฒนธรรมหรือกลุ่มคนไหนๆ ได้ วิธีที่แฟร์ที่สุดคือให้แต่ละกลุ่มศาสนา กลุ่มความเชื่อ หรือแต่ละสังคมวัฒนธรรมศาสนานั้นๆ รับผิดชอบตนเองในรูปขององค์กรเอกชนเหมือนกันหมด

พูดในสาระสำคัญ การแยกศาสนาจากรัฐย่อมไม่ใช่ "การตัดตัดทิ้งศาสนา" ออกไปจากสังคม  แต่คือการ "ยกเลิก" อภิสิทธิ์ของกลุ่มหรือองค์กรทางศาสนาใดๆ ในรัฐ องค์กรศาสนา กลุ่มศาสนาต่างๆ ก็ยังอยู่ หรือพัฒนาปรับเปลี่ยนไปในรูปเอกชน และปัจเจกบุคคลย่อมมีเสรีภาพทางศาสนามากขึ้น

กลุ่มศาสนาต่างๆ ที่เป็นเอกชนสามารถมีส่วนร่วมต่อรองสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ แต่เป็นสิทธิประโยชน์สาธารณะต่างๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ การศึกษา การรักษาพยาบาล การพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม ฯลฯ  แต่ไม่ใช่เรียกร้องเอาอำนาจและเงินสาธารณะไปใช้เพื่อปกป้อง ตอบสนอง ส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนาของตนเอง เรื่องความเชื่อเฉพาะทางศาสนาเป็นเรื่องที่กลุ่มศาสนา สังคมหรือชุมชนศาสนานั้นๆ ต้องรับผิดชอบสร้างกติกา กฎเกณฑ์ การบริหารจัดการและดูแลอุปถัมภ์กันเอง ไม่ใช่เรื่องอของรัฐ

สุดท้าย เราควรพูดกันตรงไปตรงมาว่า แนวคิดรัฐโลกวิสัยไม่ใช่เรื่องของการ "ครอบงำศาสนา" แต่เป็นเรื่องของการยกเลิก "อภิสิทธิ์" ของกลุ่มศาสนา มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ศาสนาหายไปจากชีวิตและสังคม และมันไม่ใช่เรื่องว่าตัวแทนองค์กรศาสนาต่างๆ นักวิชาการหรือกลุ่มศาสนาใดๆ จะมาบอกว่าคนที่เสนอแยกศาสนาจากรัฐต้องการเอา secular state มากดดัน ครอบงำศาสนา บังคับให้แยกศาสนาจากรัฐ โดยไม่ฟังเสียงกลุ่มศาสนาต่างๆ ก่อนว่าอยากแยกหรือไม่ ยินยอมหรือไม่

แท้จริงแล้ว คนเสนอแยกศาสนาจากรัฐในประเทศนี้แทบจะนับเป็น "ศูนย์" ไม่มีอภิสิทธิ์ถืออำนาจและเงินสาธารณะเหมือนกลุ่มหรือองค์กรศาสนาใดๆ เราเพียงกวักมือเรียกกลุ่ม องค์กรศาสนาต่างๆ ให้มาอยู่ร่วมกันกับเราอย่าง "คนเท่ากัน" ภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์บนหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้ได้จริงๆ เท่านั้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันนี้ กับเรื่องที่เหนื่อยไปก็ไม่ได้อะไรในบทสนทนาและนโยบาย

Posted: 07 Apr 2018 07:49 AM PDT

 

ช่วงหลังมานี้การประชุม พูดคุย แลกเปลี่ยน เสวนา แทบจะกลายเป็นชีวิตประจำวันอันร้าวรานของผม ผมปฏิเสธที่จะพูดคุยเรื่องอะไรยากๆ เพื่อความบันเทิงเหมือนแต่ก่อน จากที่เคยมองว่าคนที่คุยเรื่องยากๆ ได้เป็นมิตร ตอนนี้กลับมองเป็นภาระ เมื่อความสนุกไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปในบทสนทนา เราจึงควรคาดหวังว่าในบทสนทนาที่เกิดขึ้นจะให้อะไรบ้างกับตัวงาน โดยเฉพาะงานนโยบาย งานด้านการพัฒนา งานการเมือง ฯลฯ และอาจให้อะไรบ้างกับใครๆ และตัวเอง

ต่อไปนี้คือประเภทของบทสนทนาในที่ประชุมที่ผมเองเลือกที่จะหลีกเลี่ยง และอยากลองเสนอให้ผู้อ่านพิจารณาดู เผื่อผมเองจะได้เหนื่อยน้อยลงด้วยเวลาที่ต้องไปประชุมกับคุณผู้อ่านสักวัน


การแบ่งประเภท

การแบ่งประเภททำให้งานเฉพาะหน้าหลายอย่างสะดวกขึ้น แต่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างรุนแรง ผมได้ฟังเรื่องของบัตรคนจน บัตรคนพิการ เด็ก คนแก่ ผู้ป่วย ฯลฯ ที่ต้องทนทุกข์กับการแบ่งประเภทหยาบที่นำพาพวกเขาไปไม่ตรงกับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของตัวเอง คงไม่ต้องเล่า ใครก็ตามคงเคยถูก "ประเภท" ทำร้ายเข้าสักวันในชีวิต เห็นได้ไม่ยากเมื่อประเภทของเรานำพาสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นไปได้และข้อจำกัดของเรามาสู่เรา ผมเสนอว่า แทนที่จะแบ่งประเภทก่อนทำงาน ให้ระบุอาการหรือ "ลักษณะละเอียด" ก่อน (หรืออยากเรียกมันว่า ontology/ภววิทยา ของสิ่งต่างๆ นั้นก็ได้ ถ้าใครคาดหวังให้ผมเขียนแบบนั้น) แล้วสนทนาเรื่องการจัดระเบียบข้อมูลทีหลัง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นประเภทหยาบ แต่อาการหรือสถานการณ์ต่างๆ ควรถูกจับคู่กันโดยตรงกับวิธีแก้ไข มากกว่าแบ่งประเภทเอาไว้ก่อนค่อยแก้ไข หรือ หากจำเป็นต้องมีการแบ่งประเภทเกิดขึ้น ควรอนุญาตให้ประเภทที่ว่านั้นมีความลื่นไหล และส่งแปลปรับเปลี่ยนระหว่างกันได้ตลอดเวลา ปลายทางของการแบ่งประเภทอย่างเข้มงวดจะจบลงที่ปัญหาเดียวกับที่ระบบราชการพบเจอ นั่นจะกลายเป็นที่ที่เราจะต้องไปเหนื่อยกับมันอีกในอนาคต และจะเหนื่อยแบบหาทางออกไม่ค่อยได้ จะกลายเป็นเหนื่อยไปก็ไม่ได้อะไร

การไม่แบ่งประเภทไว้ตั้งแต่ต้นจะทำให้เรามีอิสระกับการจัดการกับข้อมูลและการคิดค้นสิ่งที่จะตามมา ในขณะเดียวกันจะไม่ทำให้เราตกอยู่ในคำสาปของความไม่กล้ายกเลิกสิ่งที่ทำมาแล้วและไม่สัมฤทธิ์ผลแต่ถูกรัดรึงไว้ด้วยโครงสร้างมหาศาลที่น่าเสียดาย แน่นอนว่าใช้เวลาอย่างมากในช่วงแรกเมื่อไม่มีประเภทหยาบมาเป็นเครื่องมือ แต่ความเป็นมนุษย์และสติปัญญาของเราจะใช้งานได้เต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัดลวงตามาหลอกหลอนเรา และทำให้หลังจากนั้น เหนื่อยกับสิ่งที่ไม่ควรเหนื่อย น้อยลง


การโหวต

ผมว่าการโหวตในที่ประชุมย่อยหรือที่ประชุมเล็กเป็นอะไรที่ toxic หรือเป็นพิษมาก การโหวตเกิดขึ้นเมื่อบทสนทนาที่แท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่เราคิดจะโหวต เราควรจะคิดกันก่อนว่าเราได้สนทนากับฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกับเรามากพอ เพื่อให้ได้ผลที่ออกมายังไงก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ทุกฝ่ายแล้วหรือยัง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกกรณีที่การตกลงจะเกิดขึ้นได้ (เห็นชัดอยู่ในระดับประเทศ) แต่ก็แน่นอนว่าในหลายกรณี การตกลงเกิดขึ้นได้ การด่วนตัดสินใจโหวตให้สิ่งหนึ่งหายไป และอีกสิ่งหนึ่งปกครองได้เต็มที่ อาจกลายเป็นความฉาบฉวยหรือการเอารัดเอาเปรียบกันโดยไม่จำเป็น การโหวตในหลายครั้งกลับกลายเป็นเครื่องมือของคนที่มีความเหนือชั้นกว่าในการสื่อสาร โดยไม่มีการตั้งคำถามเลยว่าคนที่ยังไม่ได้สื่อสาร หรือสื่อสารได้ไม่ดี แท้จริงแล้วยังมีอะไรที่จะแลกเปลี่ยน หรืออะไรที่เป็นประโยชน์ที่สุดอยู่แล้วบ้าง ที่ผ่านมาเราพูดคุยกันเรื่อง handicap รัฐสวัสดิการ หรือการพยายามสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมในมุมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ แต่ทีนี้เราลืมไปว่าการสื่อสารก็ไม่ได้เท่าเทียม แล้วเราได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วหรือไม่ที่จะให้เกิดพื้นที่หรือท่าทีที่โอบอุ้มให้ทุกคนได้สื่อสารกับทุกคนอย่างยุติธรรมที่สุดก่อนจะเกิดการโหวตหรือการตกลงได้มาซึ่งข้อสรุป (ซึ่งหลายทีไม่จำเป็นต้องสรุปให้เหลืออย่างหนึ่งและทิ้งอีกอย่างหนึ่ง) ผมมั่นใจว่าถ้าให้ผมพูดจาขายของ ด้วยทักษะทางการละครที่อยู่ในตัวมาอย่างน้อย 6 ปี และทำงานความคิดในเรื่องนี้ ยังไงผมก็ชนะเครือข่ายคนไร้สัญชาติที่ตัวแทนอาจยังพูดภาษาไทยไม่ได้แข็งแรง (เพราะไม่สามารเข้าถึงการเรียนภาษาไทยได้อย่างคนมีสัญชาติ) ด้วยซ้ำ นี่เป็นภาพจำลองของกรณีที่ชัดเจน แต่ที่ไม่ชัดเจนก็ยังมีอีกมาก เมื่อเราสื่อสารได้ไม่เท่ากัน เราก็ไม่สามารถใช้การสื่อสารแบบเลยตามเลยตามต้นทุนชีวิต เป็นตัวกลางในการจัดการทรัพยาการที่เท่าเทียมได้

ที่สุดแล้วถ้ามองให้ย่อยลงมาในการทำงานในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทำให้ใครสักคนแพ้โหวตได้ และก็ยังต้องอยู่กับเขา การสูญเสียคนกลุ่มใหญ่จากกำลังใจ (หรือาจจะเรียกว่า consent) ในการทำงาน จะกลับมาทำให้เราทำงานเหนื่อยกว่าเดิม เรื่องของมนุษย์ไม่เคยจบลงหลังการโหวต อ่านมาถึงตรงนี้ผมคงถูกสงสัยว่าคิดอะไรคล้ายๆ "สลิ่ม-ชนชั้นกลางในกรุงเทพ" ที่ไม่เชื่อในการโหวต ผมก็ขี้เกียจเถียง เอาเป็นว่าไม่ใช่ ถ้าพูดแบบย้อนกลับไปที่ข้อแรกก็คือ ผมไม่ได้อยู่ใน "ประเภทหยาบ" นั้น เพียงแต่กำลังพยายามชี้ให้เห็นบางกรณีของการโหวตที่ไม่โอบอุ้มความเป็นมนุษย์เท่าการตกลง (ซึ่งก็ไม่ใช่การตกลงโดยมีอำนาจข่ม) และท้ายที่สุดแล้วจะนำพาความเหน็ดเหนื่อยมหาศาลเข้ามาสู่ทุกฝ่าย


การเลือกตัวแทน

เมื่อก่อนระบอบประชาธิปไตยเราเลือกตัวแทนกันเพราะแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละคนไม่สามารถสื่อสารโดยตรงสู่อำนาจรัฐได้ ผมเพียงอยากให้ทบทวนว่า ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม พัฒนาการอะไรต่างๆ ที่เรามีอยู่แล้วในทุกวันนี้ มันยากเกินไปไหมที่จะตัดตอนตัวแทนบางประเภทออก แล้วใช้การจัดการข้อมูลซับซ้อนที่มาจากประชาชน หรือคนแต่ละคนโดยตรงเข้ามาแทนที่เพื่อสื่อสารกับอำนาจรัฐ สิ่งที่เราจะได้ออกมาก็คือสิ่งที่เดิมที่ตัวแทนเคยทำได้ และทำได้ไม่ดีไม่ละเอียดเท่าข้อมูลแท้ที่ออกมาจากผู้คน ตรงกันข้าม ที่ผ่านมาตัวแทนสร้างปัญหาด้วยการมีอำนาจในการควบคุม Direction หรือทิศทางต่างๆ ซึ่งอาจไม่ได้ "แทน" ใครได้เสมอไป อำนาจจากความเป็นตัวแทนเหล่านี้ถูกรวบรวมเข้ามาอยู่ใน subject หรือคนคนเดียวโดยสภาพ ผมเสนอว่า ในหลายกรณี ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทน แต่เราจำเป็นต้องมีข้อมูล และการจัดการข้อมูล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ควรได้สำแดงตนเองและมีทิศทางของตัวเองในการสื่อสารตรง จากประชาชนสู่อำนาจรัฐ ผ่านการจัดการข้อมูล


การเลือก

เราเคยอยู่ในยุคที่ต้องเลือกกันว่าทีวีบางช่องควรมี subtitle หรือไม่ ควรมีช่อง handicap หรือภาษามือและอื่นๆ อยู่หรือไม่ กระทั่งควรมีคำหยาบอยู่หรือไม่ ผมไม่เข้าใจว่ามันยากตรงไหนที่จะมองเห็นว่า เมื่อกลายเป็นดิจิตอลทีวีแล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องเลือก ใส่มันเข้าไปทุกอย่างนั่นแหละ แล้วให้ผู้ชมเลือกเองที่ปลายทาง ที่รีโมทมันมีตั้งหลายปุ่มแล้ว ถ้าไม่ได้ยินก็เลือกแบบที่มีภาษามือ ถ้ามีลูกดูอยู่ด้วยแล้วยังไม่อยากให้ลูกได้ยินคำหยาบ ก็เลือกโหมดที่มีเซ็นเซอร์คำหยาบ หรือถ้าอยากเรียนภาษาอังกฤษก็เลือกที่มี subtitle ถ้าคุณแค่อยากดูทีวีสบายๆ ก็ปลดทุกอย่างออก ทำไมเราต้องเสียเวลาถกกันถึงเรื่องจะเลือกหรือไม่เลือกอะไรด้วย เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของเราทุกวันนี้ มีหลายอย่างมากที่อนุญาตให้เราเลือกได้ทุกอย่าง (ผมไม่ได้มองแง่บวกกับเทคโนโลยีเหล่านี้ แนะนำให้อ่านบทความเมื่อสองปีที่แล้วที่ https://prachatai.com/journal/2016/03/64997 ได้บันทึกเอาไว้ว่าผมคิดอ่านอย่างไรกับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของเรา แน่นอนมีมุมหนึ่งที่ทำให้ความเป็นไปได้ของการเลือกเปลี่ยนไป และในอีกมุมหนึ่งก็ได้ทำให้มันแคบลงด้วย)

ไม่นานมานี้ผมรับเชิญไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิงานวิจัยและพัฒนาชิ้นหนึ่งที่พยายามจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับโทรทัศน์ ผมพบว่าเวลาจำนวนหนึ่งของบทสนทนาเสียไปกับการที่ผู้ทรงคุณวุฒินั่งพิจารณากันว่าเกณฑ์ไหนควรมีเกณฑ์ไหนไม่ควรมี (ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพิจารณากันไป สื่อก็จะยังคงมีทุกอย่างที่เกณฑ์นี้บอกว่าไม่ควรมี และก็จะยังไม่มีอีกทุกอย่างที่เกณฑ์นี้บอกว่าควรมี ในหลายพื้นที่อยู่ดี กรรมการส่วนหนึ่งก็เห็นตรงกันเช่นนี้)  มันเป็นความจริงว่ากฏไม่กี่ข้อแทนคนทุกกลุ่ม และข้อจำกัดทุกข้อจำกัดไม่ได้ แต่การเสนอทางเลือกและอนุญาตให้ปลายทางได้เลือกเอง ทำได้ (มากกว่าในระดับหนึ่ง) และที่สำคัญ ไม่ใช่หน้าที่ของคนไม่กี่คนอีกต่อไปแล้ว (ไม่ใช่มาตั้งนานแล้ว) ที่จะ "อนุญาต" อะไรใคร ถ้าคุณสังเกต ทุกวันนี้โครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีกำลังทำให้นิยามของการ "เลือก" หรือ "เข้าถึงได้/ไม่ได้" เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจากยุค analog และยุ่งวุ่นวายเป็นพิเศษในช่วง "เปลี่ยนผ่าน" ซึ่งจะอยู่กับไทยไปอีกนาน เราจะเปลี่ยนไม่ผ่านและกำลังพัฒนาไปอีกนาน คุณจะสังเกตเห็นได้ว่าทุกวันนี้คุณกำลังทำหลายอย่างที่รัฐบาลนี้ไม่อนุญาต เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีได้เปลี่ยนนิยามของการ "เลือก" หรือการ "กำหนด" ไปแล้วโดยสมบูรณ์ และการคุยงานก็ควรจะเท่าทันความเป็นจริงข้อนี้ ในหลายกรณี เราไม่จำเป็นต้องเลือก


การจับวิบัติ

ให้สั้นที่สุด ผมเสนอให้เปลี่ยนจาก Debunk (การแสดงให้เห็นว่าตรรกะใดตรรกะหนึ่งวิบัติอย่างให้อภัยไม่ได้) เป็น Bridge (หาจุดเชื่อมโยงให้มากที่สุดแล้วสร้างสะพานมาถึงกันให้ได้ แม้มันจะเป็นเรื่องที่ดูไม่เกี่ยวกันมากที่สุด) และให้เอากระบวนทัศน์ "Defend" แบบที่เรามักจะดีเฟนด์วิทยานิพนธ์ออกไป แต่ให้เอากระบวนทัศน์ของการระดมสมองเข้ามา ทุกอย่างไม่เกี่ยวกับตัวเราหรือคนอื่นๆ อีกต่อไปว่าใครจะฉลาดหรือใครจะโง่ หรือใครจะเสียหน้า แต่เกี่ยวกับหัวข้อสนทนาที่ใหญ่กว่าที่พวกเรามาร่วมกันเพื่อมัน เราจะอยากทำให้ใครสักคนเรียนรู้ ผิดพลาด โดดเด่น พ่ายแพ้ หรือมีชัยชนะในที่ประชุมไปเพื่ออะไร นั่นคงไม่ใช่วาระของการประชุม เราคงไม่จำเป็นต้องยุ่งกับคนไม่กี่คนด้วยต้นทุนของการประชุมที่มหาศาลขนาดนี้

การ "Debunk" หรือ "Defend" กระตุ้น "ความรู้สึก" ของการต่อสู้ขึ้นมาในการสื่อสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคุณจะปวดหัวกับผลของมันเมื่อต้องเจอกับความรู้สึกเหล่านี้อบอวลไปในห้องประชุมอยู่ตลอดเวลา ซ้ำร้าย ต่อให้ตัดเรื่องความรู้สึกออกไป คุณจะเห็นว่าทิศทางของบทสนทนาเชิงตรรกะเหล่านี้กำลังพาคุณ "ถอยหลัง" (destructive/deductive) ถ้ามันถูกทิ้งไว้อย่างนั้น จริงอยู่ที่หลายอย่างจำเป็นต้องถูกปฏิเสธเพื่อให้การเดินหน้าต่อเป็นไปได้ แต่เราปฏิเสธมันอย่างไรเป็นเรื่องที่เราต้องถามตัวเอง และลองถามตัวเองในฐานะที่เราเป็นคนที่เราปฏิเสธด้วย การปฏิเสธบางรูปแบบอาจทำให้เราไม่ได้อะไรนอกจากเรื่องเอาไปนินทากันเอง ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องบอกว่าใครตรรกะวิบัติเมื่อคุณเองสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าความคิดที่จะแก้ไขหรือหาประโยชน์จากตรรกะนั้นคืออะไร ไม่มีความจำเป็นต้องคอยบอกคนอื่นอยู่ตลอดเวลาว่าเรื่องที่เขาพูดนั้นกำลังไม่เกี่ยวกับหัวข้อหลัก หากเรามีสติปัญญาพอจะเห็นความเกี่ยวข้องที่อยู่ในนั้นและเป็นแรงขับที่ทำให้เขาพูดมันออกมา

ใช้ได้กับหลายกรณี และใช้ไม่ได้กับหลายกรณี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง ก.ม.ให้ธนาคารส่งข้อมูลคนรับโอนเกิน 3,000 ครั้งให้สรรพากร

Posted: 07 Apr 2018 03:35 AM PDT

กรมสรรพากร เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 'blognone' ชี้ร้านค้าอาหารที่รับเงินผ่าน QR ก็น่าจะเข้าข่ายแทบทั้งหมด

 
7 เม.ย.2561 กรมสรรพากร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) โดยที่ กระทรวงการคลังได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์) โดยได้เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. - 5 ก.ย. 2560 และได้นำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว
 
บัดนี้ คณะกรรมการกฤษฏีกา (คณะที่ 12) ได้ตรวจพิจารณาและทำการปรับปรุง ร่างกฎหมายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแล้ว กรมสรรพากร จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าวตามแบบฟอร์มการให้ความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.- 15 เม.ย. 2561 รายละเอียด ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมแสดงความคิดเห็นที่ http://www.rd.go.th/publish/27838.0.html

blognone.com ระบุว่า ใจความสำคัญคือ สถาบันการเงิน (ธนาคาร) และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องส่งข้อมูลของบุคคลที่มี "ธุรกรรมเป็นลักษณะพิเศษ" โดยมีเงื่อนไขหนึ่งในสอง ได้แก่ 1. ฝากเงินหรือรับโอนรวมกันปีละ 3,000 ครั้ง 2. ฝากเงินหรือรับโอนรวมกันปีละ 200 ครั้ง และยอดรวม 2,000,000 บาทขึ้นไป ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ร้านค้าอาหารที่รับเงินผ่าน QR ก็น่าจะเข้าข่ายแทบทั้งหมด เพราะเฉลี่ยรับโอนวันละ 8.2 ครั้งก็เข้าข่ายแล้ว หรือแม่ค้าออนไลน์ที่ยอดอาจจะสูงสักหน่อย ก็น่าจะเข้าข่ายได้โดยง่าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'จาตุรนต์' ระบุ พท.ไม่ร่วมถก คสช. มิ.ย.นี้ ชี้ไม่มีประโยชน์

Posted: 07 Apr 2018 03:29 AM PDT

'จาตุรนต์' ระบุไม่ใช่หน้าที่ของ คสช.กับ ครม. ที่จะเชิญพรรคเพื่อไทยไปพูดคุย ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อะไรถ้ามีการพูดคุย หวั่น 'สมคิด' ใช้อำนาจรัฐเอื้อพรรคหนุน 'ประยุทธ์'

 
 
จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพประชาไท)
 
7 เม.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยในเดือน มิ.ย.ว่า ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นคนเชิญ เชิญไปเพื่ออะไร และไม่ใช่หน้าที่ของ คสช.กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเชิญไปพูดคุย จึงเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรถ้ามีการพูดคุย 
 
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่ควรสร้างเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองต้องมาคุยแล้วจะมีการเลือกตั้ง เพราะถ้าพรรคการเมืองเสนอให้เลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จะยอมหรือไม่
 
"ถ้าไปก็คงไปบอก พล.อ.ประยุทธ์ ให้หยุดคิดครอบงำ หรือหยุดคิดที่จะปกครองประเทศตามความคิดของตนเองไปอีกเป็นสิบๆ ปีได้แล้ว ผมเห็นว่าพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องไปและไม่ควรไปหารืออะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่มีประโยชน์ พรรคเพื่อไทยก็คุยกันว่าจะไม่ไป" นายจาตุรนต์ กล่าว
 
หวั่น 'สมคิด' ใช้อำนาจรัฐเอื้อพรรคหนุน 'ประยุทธ์'
 
นอกจากนี้ มติชนออนไลน์ ยังรายงานว่า นายจาตุรนต์กล่าวถึงกระแสข่าวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมตั้งพรรคการเมืองว่า เชื่อว่านี่คือว่าพยายามให้ พล.อ.ประยุทธ์  กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง เพราะ คสช.เข้าใจกติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560 มากขึ้น เนื่องจากเกณฑ์การจะได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เป็นไปอย่างที่ คสช.ขอไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เพราะ กรธ.กำหนดว่าจะเลือกนายกฯคนนอกได้ก็ต่อเมื่อเลือกรอบแรกไม่สำเร็จ ซึ่งการเลือกนายกฯคนนอกรอบสองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีเสียงสนับสนุนถึง 500 เสียง ดังนั้น คสช.จึงต้องคิดวิธีการใหม่ โดยพยายามให้ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็น 1 ใน 3 ของบัญชีที่พรรคการเมืองจะเสนอเป็นนายกฯ จึงเป็นที่มาของการตั้งพรรคการเมือง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงานภาคคมนาคมฝรั่งเศสหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่

Posted: 07 Apr 2018 02:47 AM PDT

ฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับการหยุดงานครั้งใหญ่ของคนทำงานในภาคคมนาคม ตั้งแต่สหภาพแรงงานรถไฟที่นำขบวนการแรงงานประท้วงนโยบายปฏิรูปแรงงานของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จนถึงสหภาพแรงงานพนักงานสายการบินแอร์ ฟรานซ์ หยุดงานประท้วงขอขึ้นค่าแรง

 
 
 
7 เม.ย. 2561 ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาฝรั่งเศสกำลังเผชิญหน้ากับการนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ของสหภาพแรงงานในภาคคมนาคม โดยเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2561 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ SNCF ได้นัดสมาชิกให้นัดหยุดงานประท้วงนโยบายปฏิรูปแรงงานของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) หลังรัฐสภาลงมติรับรองร่างกฏหมายนั้นเมื่อเดือน ก.ย. ปีก่อน โดยก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานครู พยาบาล และสหภาพแรงงานกลุ่มอื่น ๆ ได้ร่วมนัดหยุดงานประท้วงกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟมาแล้วเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้นโยบายปฏิรูปแรงงานของมาครงจะกระทบต่อสวัสดิการของพนักงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ SNCF โดยตรง ปัจจุบันสวัสดิการของพนักงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ SNCF มีอาทิเช่น ได้รับการขึ้นเงินเดือนโดยอัตโนมัติ, มีสิทธิเกษียณอายุก่อนกำหนด ได้รับวันหยุด 28 วันใน 1 ปี และได้รับการคุ้มครองจากการถูกปลดออกจากงาน ขณะที่คนในครอบครัวมีสิทธิได้รับตั๋วรถไฟฟรี แม้ว่า SNCF กำลังเผชิญกับภาวะหนี้สินสูงถึง 46.6 พันล้านยูโร (ประมาณ 1.78 ล้านล้านบาท)
 
การหยุดงานประท้วงครั้งนี้มีตารางที่แน่นอน โดยคนขับรถไฟมากกว่าร้อยละ 75 และพนักงานรถไฟเกือบร้อยละ 50 ได้หยุดงานเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา และมีแผนผละงาน 36 วัน ภายในเวลา 3 เดือน โดยจะหยุดงาน 2 วันในทุก 5 วันจนกว่าจะถึงวันที่ 28 มิ.ย. 2561 (ดังแสดงตามตาราง)
 
ตารางแสดงการหยุดงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ SNCF (ที่มา: BBC)
 
ส่วนสายการบินแอร์ ฟรานซ์ (Air France) ได้ออกมาเตือนเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ว่า เที่ยวบินของแอร์ ฟรานซ์ ทั่วประเทศราวร้อยละ 30 จะต้องยกเลิกเนื่องจากนักบิน พนักงานประจำเครื่องบิน และพนักงานภาคพื้นดิน หยุดงานประท้วงเป็นวันที่ 5 แล้ว โดยการยกเลิกเที่ยวบินในวันนี้ (6 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นของฝรั่งเศสนั้น คาดว่าจะเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่มีการหยุดงานประท้วงเป็นต้นมา แอร์ ฟรานซ์ระบุว่าเที่ยวบินระยะไกล 1 ใน 4 ที่เดินทางเข้าและออกจากกรุงปารีสจะถูกยกเลิก ในขณะที่ร้อยละ 35 ของเที่ยวบินระยะกลางจะจอดที่ท่าอากาศยานในกรุงปารีส และร้อยละ 30 ของเที่ยวบินในประเทศจะถูกยกเลิก 
 
สหภาพแรงงานระบุว่าพนักงานควรได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการช่วยบริษัทฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายมาเป็นเวลาหลายปี จนทำให้แอร์ ฟรานซ์ กลับมามีกำไรอีกครั้ง โดยพนักงานไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมาตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้สหภาพแรงงานได้ผละงานประท้วงมาตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องเงินเดือนขึ้นร้อยละ 6 
 
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก
France strike: Rail misery as three-month action tests Macron (BBC, 3/4/2018)
 
Air France warns of cancelled flights ahead of strike (Channel NewsAsia, 7/4/2018)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พรรคประชาชนปฎิรูป' ย้ำหนุน 'ประยุทธ์' นายกคนนอก

Posted: 07 Apr 2018 01:43 AM PDT

พรรคประชาชนปฏิรูปประชุมนัดแรกย้ำจุดยืนสนับสุนน 'ประยุทธ์' เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก มองการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นเพียงวาทกรรม ชี้จำนวน ส.ส. ไม่ใช่เป้าหมายหลักของพรรค เน้นการปฎิรูปเป็นหลัก-อยู่ข้างเดียวกับ ส.ว. ด้านนายทะเบียนพรรคการเมืองออกหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งแล้ว 13 พรรค

 

ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
7 เม.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพรรคประชาชนปฏิรูป นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำพรรคประชาชนปฏิรูป และอดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมจัดตั้งพรรค ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารพลาซ่าเดอะ โคสต์ บางนา หลังพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นกลุ่มการเมืองที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้จัดประชุมเพื่อกําหนดชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง คําประกาศอุดมการณ์ ทางการเมืองของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง และข้อบังคับ พร้อมเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง และคณะกรรมการบริหาร ตามเงื่อนไขที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 10 กำหนดไว้ พรรคประชาชนปฏิรูป เป็นพรรคที่นายไพบูลย์ แสดงเจตนาจะก่อตั้งตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก 5 ปี หลังการเลือกตั้ง
 
นายไพบูลย์ กล่าวถึงการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ขณะนี้จะมีหลายพรรคการเมืองประกาศสนับสนุนด้วยเช่นกันว่า นโยบายหลักของพรรคคือการผลักดันให้มีสภาประชาชนปฏิรูปในแต่ละจังหวัด เพื่อถ่วงดุลและเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ส่วนการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่นโยบายหลักแต่เป็นนโยบายรองของพรรคที่จะสนับสนุนบุคคลที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง ตนมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีคุณสมบัติครบถ้วน มีความสามารถ และซื่อสัตย์สุจริต และขณะนี้ยังไม่พบการทุจริตของ พล.อ.ประยุทธ์ และครอบครัว ดังนั้นจึงเหมาะสมที่สุด
 
เมื่อถามว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ตอบรับและเข้าสังกัดพรรคการเมืองอื่น นายไพบูลย์กล่าวว่าจะต้องปรึกษาคนในสมาชิกพรรคก่อน ตนคิดว่าเรื่องนี้ยังอีกนาน และไม่ได้ผูกมัดว่านายกรัฐมนตรีคนกลางจะต้องเป็นพล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว แต่ขอให้เป็นคนที่มีคุณสมบัติที่กล่าวไว้ในขั้นต้น การตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปขึ้นมาทางพรรคจะไม่ส่งตัวแทนของพรรคเข้าเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว และจะไม่สนับสนุนบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคอื่นด้วยเช่นกัน 
 
ต่อข้อถามว่าหากพรรคการเมืองอื่นสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ นายไพบูลย์กล่าวว่าทางพรรคจะอยู่ข้างเดียวกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และส่วนตัวเชื่อว่าสามารถรวบรวมบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากหลายพรรคได้ไม่น้อยกว่า 125 เสียง และเมื่อรวมกับส.ว.อีก 250 เสียง เพื่อให้ได้เสียงมากกว่า 375 เสียง เพื่อลงชื่อไม่เอานายกรัฐมนตรี ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา ตนมองว่าถ้าได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางจะยังสามารถทำงานได้ ไม่อ่อนแอตามที่หลายฝ่ายกังวล อย่างไรก็ตามจำนวน ส.ส.ไม่ใช่เป้าหมายหลักของพรรค แต่ประเมินว่าพรรคน่าจะได้ ส.ส.จำนวนมาก จนเป็นที่น่าพอใจ
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่าข้อเสนอเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มองว่าเป็นเพียงวาทกรรม เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องใช้เสียงข้างมากในสภาเป็นตัวตัดสิน และตนยังเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปคือเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. 2562 เพราะยังไม่พบสัญญาณการเปลี่ยนแปลง แต่หากไม่เป็นไปตามนั้น จะต้องมีเหตุผลที่เข้าใจได้อย่างแน่นอน
 
นายทะเบียนพรรคการเมืองออกหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งแล้ว 13 พรรค
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต. ในฐานะรักษาการนายทะเบียนพรรคการเมืองเปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณารับรองคำขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มการเมืองต่างๆ จำนวน 98 กลุ่มการเมืองที่ได้เริ่มยื่นขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองว่าสำนักงานได้ตรวจสอบเอกสาร หลักฐาน คุณสมบัติของผู้ยื่นขอจดจัดตั้ง โดยวันที่ 5 เม.ย. 2561 นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ออกหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองเพิ่มอีก 4 พรรคการเมือง คือ พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน ที่นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ เป็นผู้ยื่นคำขอ พรรคประชาชาติ ที่นายสุรพล นาควานิช ยื่นขอจัดตั้ง พรรคพลังพลเมืองไทย ที่นายสัมพันธ์  เลิศนุวัฒน์ ยื่นขอจัดตั้ง และพรรคประชาภิวัตน์ ที่ยื่นขอจัดตั้งโดย พล.ต.ไชยนาจ ญาติฉิมพลี
 
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่าก่อนหน้านี้นายทะเบียนออกหนังสือรับแจ้งการเตรียมการ (แบบ พ.ก. 7/2) แล้ว 9 พรรค คือ พรรคทางเลือกใหม่ พรรคกรีน พรรคประชานิยม พรรคพลังสยาม พรรคพลังชาติไทย พรรคเครือข่ายประชาชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป รวมทั้งหมด  13 พรรค 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ’ ขอคืนพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อนิเวศน์อย่างชัดเจน

Posted: 06 Apr 2018 10:20 PM PDT

'เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' ยื่นจดหมายเปิดผนึก 6 ข้อ ถึงประธานศาลฎีกา ระบุขอคืนพื้นที่โครงการเพียงบางส่วนที่มีผลกระทบต่อนิเวศน์อย่างชัดเจนในพื้นที่ส่วนบนที่สร้างบนพื้นที่ป่าเดิม ซึ่งพื้นที่ขอคืนดังกล่าวไม่รวมกับพื้นที่ของอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และแฟลตที่พักส่วนล่างจำนวนหนึ่ง เสนอแนวทางฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศร่วมกันระหว่าง 'ราษฎร์-รัฐ' ถือเป็นโอกาสอันดีปลุกสำนึกและพลังความร่วมมือของพลังประชารัฐทุกภาคส่วน

 
 
 
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยุติและยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม โดยระบุว่าจดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 6 เม.ย. 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ กราบเรียน ท่านประธานศาลฎีกา และ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ที่เคารพ
 
เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพขอใช้ช่องทางสื่อสารทางสังคมออนไลน์นำเรียนต่อท่าน เพื่อให้ท่านได้รับรู้ถึงฉันทามติของทางเครือข่ายฯ  ก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมในเช้าวันจันทร์ ที่ 9 เมษายน 2561
 
ขอนำเรียนว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนของเครือข่ายฯ ได้เข้าประชุมหารือเตรียมการกับทางคณะผู้บัญชาการ มทบ.33 ซึ่งเป็นหน่วยจัดประชุมแก้ปัญหาการคัดค้านโครงการหมู่บ้านข้าราชการตุลาการ เชิงดอยสุเทพ โดยพวกเราได้รับปากและยืนยันหลักการที่จะเจรจาอย่างสุภาพ ปราศจากวาจาก้าวร้าวหรือส่อเสียด มุ่งหาทางออกอย่างสันติ ซึ่งเป็นแนวทางที่เรายึดถือมาแต่ต้น
 
ตัวแทนเจรจายังได้นำเสนอแนวทางและชุดข้อเสนอ เพื่อหาทางแก้ปัญหาการคัดค้านอย่างสันติ และเป็นไปอย่างถูกต้องกฎหมายกล่าวคือ
 
1.ภาคประชาชนจะขอคืนพื้นที่โครงการบ้านพักและแฟลตราชการเพียงบางส่วนที่มีผลกระทบต่อนิเวศน์อย่างชัดเจนในพื้นที่ส่วนบนที่สร้างบนพื้นที่ป่าเดิม ซึ่งพื้นที่ขอคืนดังกล่าวไม่รวมกับพื้นที่ของอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และแฟลตที่พักส่วนล่างจำนวนหนึ่ง หาได้ต้องการหมดทั้งแปลงแต่อย่างใด
 
2.เหตุผลที่ต้องขอคืนพื้นที่ส่วนบนดังกล่าว ได้จัดเตรียมข้อมูลนำเสนอผ่านโปรแกรมพาวเวอร์พอยท์และแผ่นป้าย เพื่อนำเสนอต่อตัวแทนสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรมที่มาร่วมประชุมหารือได้รับทราบ
 
โดยสังเขปก็คือ พื้นที่ซึ่งเป็นป่าส่วนบนนั้น เป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน เป็นป่าเขตกันชนรอยต่ออุทยานแห่งชาติ โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ ได้ก่อสร้างล้ำขึ้นจากแนวการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานอื่นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาอัคคีภัย อุทกภัยโคลนถล่มตามฤดูกาล และที่สำคัญก็คือ การบุกเบิกใช้พื้นที่บริเวณนั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มของการขยายพื้นที่ใช้ประโยชน์เขตราชพัสดุส่วนที่เป็นป่าดอยสุเทพลุกลามตามมา
 
3.ตัวแทนประชาชนรับทราบความกังวลในแง่ข้อกฎหมาย และการใช้งบประมาณของรัฐที่ดำเนินไปแล้ว ภาคประชาชนรับทราบและเข้าใจเงื่อนไขข้อกฎหมายที่ผูกพัน ดังนั้นจึงเสนอให้ใช้ช่องทางตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยให้มีการก่อสร้างส่งมอบงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จ เพื่อมิให้เกิดการฟ้องร้องค่าเสียหายตามมา
 
ในระหว่างนั้น ศาลยุติธรรมจัดเตรียมรังวัดคืนพื้นที่บางส่วนกลับมาเป็นที่ราชพัสดุ เพราะได้พิจารณาผลกระทบและสภาพปัญหาในมิติต่างๆ การแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งกลับเป็นที่ราชพัสดุจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหา และเป็นทางออกที่สวยงามร่วมกันระหว่างราษฎร์-รัฐ นั่นเพราะศาลยุติธรรมในยุคสมัยใหม่เล็งเห็นว่าสาธารณประโยชน์และคุณค่าด้านจิตวิญญาณของประชาชนมีความสำคัญเหนือกว่าประโยชน์ขององค์กร   จึงได้ส่งมอบคืนพื้นที่นั้น
 
4.ภาคประชาชนเสนอต่อตัวแทนฝ่ายทหาร เสนอแนวทางฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศร่วมกัน ระหว่างราษฎร์-รัฐ นี่จะเป็นโอกาสอันดีที่จะเป็นช่องทางปลุกสำนึกและพลังความร่วมมือของพลังประชารัฐทุกภาคส่วน ทั้งนี้ภาคีความร่วมมือพลังประชารัฐดังกล่าว จะมีสำนักงานศาลยุติธรรมจะเป็นแกนและองค์ประกอบสำคัญ ร่วมกับประชาชนในการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
 
5.แนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งฝ่ายประชาชนต้องการ ไม่ใช่การดำรงสิ่งปลูกสร้างไว้ ให้กับหน่วยงานอื่น หรือวัตถุประสงค์อื่นซึ่งต้องใช้งบประมาณแผ่นดินอีกจำนวนมาก ภาคประชาชนได้เรียนแจ้งต่อผู้แทนหน่วยทหารว่าต้องการจะรื้อสิ่งปลูกสร้างลงมาเพื่อจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสภาพป่าตามหลักวิชาการต่อไป
 
6.ภาคประชาชนตระหนักดีว่าศาลยุติธรรมได้ดำเนินโครงการนี้มาเป็นลำดับ แต่ขอให้ศาลยุติธรรมได้โปรดเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่สามารถมองจากแง่มุมทางกฎหมาย หรือสิ่งแวดล้อมเพียงมิติเดียว หรือสองมิติ การที่หน่วยงานในอดีตได้เลือกใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม ยังมีผลต่อความรู้สึก ความศรัทธา ความกังวล และความไม่เชื่อมั่นต่อสถาบันของรัฐ ทั้งจะเป็นชนวนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นมิตรกับประชาชนชาวพื้นถิ่น สะสมยาวนานต่อไปอีก
 
ภาคประชาชนขอนำเรียนว่าจะยังยืนยัน และไม่ย่อท้อที่จะเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกลับมาเป็นมิ่งขวัญของชาวเชียงใหม่โดยรวมต่อไป จนกว่าการแก้ปัญหาจะแล้วเสร็จ ขอท่านได้โปรดเข้าใจเจตนาอันบริสุทธิ์ของภาคประชาชนด้วย
 
อนึ่ง ข้อมูลสำคัญที่ได้นำเรียนผ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ตัวแทนประชาชนได้นำเสนอต่อผู้บัญชาการ มทบ.33 และตัวแทนของหน่วยทหารในวงประชุมเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เพื่อแสดงเจตนาและจุดยืนของการพยายามหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ ละมุนละม่อม ให้เกียรติกันและกัน เพราะเข้าใจดีว่าปัญหานี้ผูกพันต่อเนื่องยาวนานไม่ได้เป็นความผิดของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบปัจจุบัน
 
จึงเรียนมา เพื่อขอวิงวอนให้ท่านและคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้โปรดพิจารณาเข้าใจเหตุผล และเจตนาของภาคประชาชน และได้โปรดตัดสินใจคืนพื้นที่บางส่วนของโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่แก่กรมธนารักษ์ และจากนั้นศาลยุติธรรมกับภาคประชาชนตลอดถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น จะร่วมกันฟื้นฟูสภาพป่าและระบบนิเวศต่อไป
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
 
เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลระบุคนกรุงเทพฯ ไม่อยากให้มี 'สุนัข-แมวจรจัด'

Posted: 06 Apr 2018 10:00 PM PDT

บ้านสมเด็จโพลสำรวจความเห็นคน กทม. 60% อยากเห็น กทม. เป็นเมืองที่ปลอดจากสุนัข-แมวจรจัด และคิดว่าสุนัข-แมวจรจัดเป็นอันตราย และเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว

 
 
 
7 เม.ย. 2561 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสุนัข-แมวจรจัด โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,210 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มี.ค. 2561  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คน ต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง 
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อปัญหาสุนัข-แมวจรจัด เนื่องจากในปี 2560 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อพิษสุนัขบ้า 11 รายและในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย และสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ พบว่าพื้นที่ที่พบเชื้อพิษสุนัขบ้ามีมากถึง 40 จังหวัด รวมไปถึงกรุงเทพมหานครที่มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจำนวน 6 ตัว ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับสุนัข-แมวจรจัด ซึ่งสาเหตุหลักในการแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์เลี้ยงไปสู่คนมาจาก ปัญหาสุนัข-แมวจรจัดซึ่งมีการคาดการณ์จำนวนสุนัข-แมวจรจัดทั่วประเทศมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านตัว
 
หากมีการแก้ไขปัญหาสุนัข-แมวจรจัดก็จำทำให้ปัญหาเรื่องของเชื้อพิษสุนัขบ้า ลดลงได้ แต่กระบวนการในการแก้ไขปัญหาสุนัข-แมวจรจัดยังไม่สามารถทำให้มีการลดจำนวนสุนัข-แมวจรจัดได้ โดยกรุงเทพมหานครมีศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด เขตประเวศ เพื่อเป็นใช้เป็นสถานที่เลี้ยงดูสุนัขและแมวจรจัด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสุนัขจรจัดพักพิงในพื้นที่รวม ประมาณ 1,000 ตัว และมีแมวจรจัดรวมประมาณ 200 ตัว ซึ่งไม่เพียงพอต่อสุนัขและแมวจรจัดที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในช่วงที่ผ่านมามีการถกเถียงในประเด็นปัญหาสุนัข-แมวจรจัด ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้เลี้ยงจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง การขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว การเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงประเด็นการ เซตซีโร่ (SET ZERO) หรือแนวทางการจำกัดสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของทิ้ง ความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาสุนัข-แมวจรจัด โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
 
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าสุนัข-แมวจรจัดเป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข ร้อยละ 61.8 และเคยพบเห็นสุนัข-แมวจรจัด ในบริเวณที่อยู่อาศัย ร้อยละ 68.9 คิดว่าสุนัข-แมวจรจัด จะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ร้อยละ 52.6 และคิดว่าสุนัข-แมวจรจัด มีโอกาสในการแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้า ร้อยละ 62.0 คิดว่าปัญหาสุนัข-แมวจรจัดเกิดจากความมักง่ายของผู้เลี้ยง ร้อยละ 68.4 และทราบว่าผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยทิ้งหรือไม่รักษาความสะอาด หรือปล่อยให้ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน ผู้เป็นเจ้าของจะถูกปรับ 5,000 บาท กฎหมาย ร้อยละ 48.3 
 
คิดว่าการให้อาหารสุนัข-แมวจรจัดเป็นการทำให้ปัญหาสุนัข-แมวจรจัดเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 51.2 และอยากให้ผู้ที่ให้อาหารสุนัข-แมวจรจัด ที่ไม่ได้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด หยุดพฤติกรรม ร้อยละ 49.7 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ผู้เลี้ยงสุนัข-แมวมีความรับผิดชอบในการดูแลไม่ปล่อยออกนอกบ้านโดยไม่มีผู้ดูแล ร้อยละ 65.8 และอยากให้หน่วยงานภาครัฐมีกระบวนการนำสุนัข-แมวจรจัดไปดูแลในสถานที่ที่เหมาะสม ร้อยละ 68.0
 
อยากให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ปลอดจากสุนัข-แมวจรจัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ร้อยละ 60.1 และอยากให้หน่วยงานภาครัฐเร่งรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาสุนัข-แมวจรจัดให้ไม่มีในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 59.8 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยในการที่หน่วยงานภาครัฐมีการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว โดยผู้เลี้ยงจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง ร้อยละ 69.5
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรม 'นอนไบนารี' อเมริกันเชื้อสายซีเรีย กลายเป็นพรีเซนเตอร์เครื่องสำอางสนับสนุน LGBTQ

Posted: 06 Apr 2018 09:30 PM PDT

ในยุคสมัยที่มีการพูดถึงความหลากหลายทางเพศกว้างขวางขึ้นนอกเหนือจากหญิงและชาย 'จาคอบ โทเบีย' นักกิจกรรม 'นอนไบนารี' ที่มีชื่อเสียงกลายเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ชูความงามหลายรูปแบบ และส่งเสริมผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 
 
 
7 เม.ย. 2561 จาคอบ โทเบีย เป็นนักกิจกรรมผู้มีเพศสภาพนอนไบนารี (non-binary) หรือ "ผู้ไม่อยู่ในระบบสองเพศหญิงชาย"* เขาเป็นชาวอเมริกันผู้มีเชื้อสายซีเรียจากการที่ปู่ย่าของเขาเป็นชาวซีเรียอพยพ เขาเคยดำเนินกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มวัยรุ่นผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะพายุเฮอร์ริเคนทำลายศูนย์พักพิงของพวกเขามาก่อน
 
ขณะที่นอนไบนารี อาจจะมีบทบาทในการเป็นผู้ทำงานเบื้องหลังอุตสาหกรรมความงามทั้งหลายมาเป็นเวลานาน แต่ตัวพวกเขาเองกลับแทบจะไม่ได้รับการเป็นตัวแทนนำเสนอความงามหรือการสร้างคุณค่าความหมายของความงามในแบบของตัวเองเลย นี่คือสิ่งที่โทเบียกล่าวถึงเมื่อเขาได้รับบทบาทให้เป็นตัวแทนโฆษณาเครื่องสำอางที่ชื่อ Fluide ในคอลเลคชั่นที่ชื่ออันคัฟฟ์
 
โทเบียระบุว่าหลายปีมาแล้วที่อุตสาหกรรมความงามมองข้ามผู้มีเพศนอนไบนารี ทำให้การที่เขาได้รับบทบาทในครั้งนี้ถือเป็นหลักไมล์สำคัญในชีวิตและในหน้าที่การงานของเขา นอกจากนี้ยังเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับชาวนอนไบนารีคนอื่นๆ ด้วย เพราะถึงแม้โลกจะยอมรับแฟชั่นที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานทางเพศได้เร็วมาก แต่ก็ยังละทิ้งคนที่แสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคม (gender nonconforming people) อยู่ดี
 
"หลายรุ่นมาแล้ว ที่ผู้แสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคมเป็นคนแผ้วถางแนวทางในโลกแฟชั่นและโลกความงาม แต่การมีส่วนร่วมของพวกเรามักจะถูกมองข้าม ถูกลบเลือน หรือถูกนำไปประดับไว้บนเรือนร่างอื่นแทนเรือนร่างของพวกเราเอง" โทเบียกล่าว
 
โทเบียบอกอีกว่ารูปลักษณ์ของผู้แสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคมมักจะถูกเอาไปสวมและ "แห่แหน" ในร่างกายของชายหญิงโดยเพศกำเนิด (cisgender**) ร่างกายที่มีพลังไม่เหมือนกัน ร่างกายที่ไม่ได้ประสบกับการถูกตีตราจากสังคม ไม่เคยผ่านการถูกโดดเดี่ยว หรือถูกกีดกันให้เป็นชายขอบ แบบที่ชุมชนของกลุ่มนอนไบนารีเคยประสบมา
 
สาเหตุหนึ่งที่โทเบียตัดสินใจร่วมเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ Fluide เพราะว่าบริษัทเครื่องสำอางแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นด้วยแรงบันดาลใจและจุดประสงค์ต้องการส่งเสริมชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นคนข้ามเพศ นอนไบนารี และผู้ที่แสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคม
 
Fluide เป็นบริษัทเครื่องสำอางที่โฆษณาตัวเองว่าเป็น "เมคอัพที่ผลิตโดยปลอดการฆ่าหรือทารุณสัตว์" เป็นเครื่องสำอางที่ใช้ได้ไม่ว่าจะกับการแสดงออกทางเพศสภาพหรือตัวตนทางเพศแบบใด รวมถึงคำนึงถึงความหลากหลายของสีผิวผู้ใช้ กิจการของ Fluide ก่อตั้งขึ้นด้วยความเชื่อว่าการแต่งหน้าคือวิธีการที่คนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนผ่านตัวเองและเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้
 
โทเบียระบุเกี่ยวกับการรับงานว่าสุดว่าเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ส่งเสริมความงามแบบไม่จำกัดเพศ รวมถึงไม่จำกัดลักษณะร่างกาย ไม่จำกัดว่าคุณจะมีสีผิวแบบใด ทรงผมแบบไหน ไม่จำกัดว่าจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอม
 
Fluide ยังโฆษณาตัวเองว่าเป็นสตาร์ทอัพที่ส่งเสริมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศรวมถึงชาวเควียร์หรือผู้ไม่จำกัดกรอบตัวเองทางเพศ โดยมีการตั้งชื่อของยาทาเล็บกับลิปสติกตามชื่อของพื้นที่ชาวเควียร์จากทั่วโลก ที่พวกเขาตั้งชื่อด้วยสถานที่เหล่านี้เพราะต้องการ "เน้นย้ำความสำคัญของ 'พื้นที่ปลอดภัย' ของกลุ่มชุมชนชาว LGBTQ" 
 
นอกจากนี้ยัง Fluide ยังระบุว่าผลกำไรร้อยละ 5 จะนำสมทบทุนกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือทางสุขภาวะและสิทธิตามกฎหมายในหมู่ชาว LGBTQ โดยในตอนนี้มีสององค์กรที่เป็นผู้ได้รับการสมทบทุนคือ ศูนย์สุขภาวะ LGBTQ คัลเลน ลอร์ด และซิลเวียริเวราลอว์โปรเจกต์ที่เป็นองค์กรสนับสนุนให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตเป็นเพศที่พวกเขาอยากจะเป็นได้
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Gender non-binary activist is the new face of beauty campaign, Gay Star News, 03-04-2018
 
Duke University student takes to high heels in support of homeless LGBT teens, Gay Star News, 12-01-2013
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
 
 
*ในรายงาน " 'นอน-ไบนารี่' สำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ชาย-หญิง หรือความเรื่องมากของคนที่ไม่เข้าพวก?" ของ นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ ระบุว่านอนไบนารีคือ "สำนึกทางเพศชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ชายและหญิง ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม เป็นคำกว้างๆ ที่พูดถึงเพศต่างๆ ที่ไม่ใช่ชายและหญิง นอน-ไบนารี่เป็นร่มใหญ่ ที่แตกย่อยออกไปอีกคือสำนึกทางเพศหลายรูปแบบ ไม่ว่าคุณจะเป็นการผสมผสานระหว่างสองเพศ (androgyne) เป็นกลางหรือรู้สึกไม่มีเพศ (agender) หรือมีเพศที่ลื่นไหลไปมา (Gender Fluid) หรืออื่นๆ" (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://prachatai.com/journal/2018/01/74982)
 
** cisgender ความหมายเต็มคือ "ผู้มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด" เช่น ผู้หญิงที่ถูกระบุในเอกสารทางการตอนเกิดว่าเป็นเพศ "หญิง" และนิยามตัวเองว่าเป็นเพศหญิง ตรงกันข้ามกับคนข้ามเพศ (transgender) ที่ถูกระบุตอนเกิดว่าเป็นเพศหนึ่งแต่อยากเปลี่ยนตัวเองเป็นเพศอื่นในภายหลัง ในประโยคของรายงานนี้ขออนุญาตย่นย่อสั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้อ่านที่เพิ่งเรียนรู้เรื่องเพศสภาพ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น