โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผู้นำการปฏิวัติปชต. และอดีตปธน.คนแรกของเช็ก เสียชีวิตแล้ววานนี้

Posted: 18 Dec 2011 10:24 AM PST

‘วาสลาฟ ฮาเวล’ นักคิด-เขียนและผู้นำการปฏิวัติกำมะหยี่ในเชโกสโลวาเกีย เสียชีวิตแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในวัย 75 ปี ทั่วโลกบันทึกชีวิตเขาในฐานะปัญญาชนผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 1980 และผู้นำการเปลี่ยนผ่านประเทศจากคอมมิวนิสต์ไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ

 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 ธ.ค. 54) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ‘วาสลาฟ ฮาเวล’ (Vaclav Havel) ปัญญาชนผู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของเชโกสโลวาเกียภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ และอดีตประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของสาธารณเช็ก เสียชีวิตแล้วอย่างสงบเมื่อเช้าวันอาทิตย์ในวัย 75 ปี ซึ่่งสันนิษฐานว่าเขาน่าจะเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ


'วาสลาฟ ฮาเวล' หนึ่งในบิดาแห่งขบวนการประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออก
ที่มา: User:Martin Kozák [Attribution], via Wikimedia Commons

ฮาเวลเป็นนักคิด-นักเขียน นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง ซึ่งผลิตบทละครและงานเขียนหลายชิ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการของเชโกสโลวาเกียและเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งนี้ เชโกสโลวาเกียปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตในระหว่างปี 1948-1989 และหลังจากมีการปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) ในปี 1989 ได้เปลี่ยนผ่านอย่างสันติเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐซึ่งมีฮาเวลเป็นประธานาธิบดีคนแรก และในปี 1993 ได้แยกเป็นสาธารณรัฐเช็คและสโลวัก โดยเขามีบทบาทในการช่วยให้การแยกประเทศเป็นไปอย่างไม่เสียเลือดเนื้อ

หลังจากมีการปราบปรามการลุกฮือของประชาชนโดยกองทัพโซเวียตในเชโกสโลวาเกีย (Prague Spring) ในปี 1968 ฮาเวลซึ่งในขณะนั้นเป็นนักเขียนบทละคร บทกวี และนวนิยาย ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะหลังจากการจับกุมสมาชิกของวงดนตรี “The Plastic People of the Universe” ในปี 1976 ทำให้เขาได้รวมตัวกับปัญญาชนและศิลปิน ร่างคำประกาศกฎบัตร ‘77 (Charter 77)**  ที่มีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพแก่ประชาชน โดยเฉพาะสิทธิที่จะคิดเห็นต่าง การเป็นอิสระจากความกลัว และสิทธิในแสวงหา รับ เผยแพร่ข้อมูลทุกประเภทโดยเสรี

การเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่เอกสารทางการเมืองดังกล่าวทำให้ฮาเวลเป็นแกนนำของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไปโดยปริยาย และทำให้เขาถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลานานที่สุดราว 4-5 ปี ต่อมา เมื่อมีการลุกฮือของประชาชนในการปฏิวัติกำมะหยี่ในปลายปี 1989 ฮาเวลก็ได้ก่อตั้งกลุ่มทางการเมืองที่ชื่อ ‘Civic Forum’ ซึ่งเป็นแนวร่วมเพื่อต่อต้านระบอบอำนาจนิยมในเชโกสโลวาเกีย และนำการเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่ประชาธิปไตยที่มีหลายพรรคได้สำเร็จโดยไม่เสียเลือดเนื้อ เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเชโกสโลวาเกีย และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเช็คสองสมัย คือในปี 1993 และ 1998

งานเขียนของวาสลาฟ ฮาเวล ได้รับการแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก เขายังได้รับรางวัลด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชนสากลมากมาย เช่น US Presidential Medal of Freedom, the Philadelphia Liberty Medal และ Ambassador of Conscience Award โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮาเวลยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพด้วยหลายครั้ง คติพจน์ประจำตัวของเขาคือ “ความจริงและความรัก จักต้องเอาชนะคำโกหกและความเกลียดชัง” (Truth and love must prevail over lies and hate.)

 

**ผู้สนใจสามารถอ่านคำประกาศกฎบัตร '77 (Charter 77) ได้จาก คำประกาศแห่งกฎบัตร ’77 แปลโดยสุญญาตา เมี้ยนละม้าย และอติเทพ ไชยสิทธิ์, เว็บไซต์นิติราษฎร์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เม้าท์มอย: หนังสือก้าวข้ามความกลัว ไทยถล่มสถานทูตอเมริกา และเรื่องเศร้าของอาจารย์มหาลัย

Posted: 18 Dec 2011 09:46 AM PST

เม้าท์มอยสัปดาห์นี้ หลิ่มหลีและชามดอง พากันมาเม้าท์เรื่องฮอตๆ กับหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว : Thailand’s Fearlessness Free Akong” และงานเปิดตัวที่ธรรมศาสตร์ เมื่อ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา และมาดูไทยถล่มอเมริกาในหน้าเฟซบุค US Embassy เหตุจากการวิจารณ์สิทธิมนุษยชนไทย และบอกให้แก้ไขมาตรา 112 ปิดท้ายด้วยเรื่องเศร้าใจกับเงินเดือนอาจารย์มหา’ลัยที่ช่างน้อยนิดเหลือเกิน

เม้าท์มอย ช่วงที่ 1

เม้าท์มอย ช่วงที่ 2

เม้าท์มอย ช่วงที่ 3

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

MIU: ‘ยุติธรรม’ ภายใต้ประกาศิตสวรรค์

Posted: 18 Dec 2011 09:26 AM PST

หมายเหตุกองบรรณาธิการ:  เพื่อป้องกันความสับสน อันอาจจะมีผลต่อการพิจารณาบทความ ‘กองบรรณาธิการประชาไท’ ขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘ศูนย์วิจัยหมูหลุม’ Mooloom Intelligence Unit (MIU) คือนามแฝงของกลุ่มบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อยั่วล้อและมีนัยของการตั้งคำถามต่อสถาบันทางวิชาการที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน
 
 
 
ราวกับว่าในรอบสองร้อยปีนี้ ความเป็นไปของอารยะได้ถูกกำหนดจากโลกตะวันตกโดยสิ้นเชิง รวมทั้งหลักความเป็น ‘สากล’ ของจักรวาลด้วย เราคงไม่อาจปฏิเสธความก้าวหน้าของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทำให้บรรดาประเทศผู้นำของโลกจากตะวันตกในเวลานี้มีแสนยานุภาพทางการทหารสูง เทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งในนามของ “สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตย” ก็เป็นเสมือนอาวุธแบบหนึ่งในการเข้าไปแทรกแซงเพื่อการครอบครองทรัพยากรในพื้นที่อื่นๆของโลกเช่นกัน
 
ทว่า หลักแห่งความเป็นสากลของโลกจะดำรงอยู่อย่างนี้ไปตลอดจริงหรือ หรือว่าโลกของเรากำลังมีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ต้องจับตากันต่อไปในอีกสองร้อย สามร้อย หรือหนึ่งพันปีข้างหน้า !?
 
ในเมื่อเวลานี้ ประเทศจากโลกตะวันออกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและกลับขึ้นมายืนเทียบบ่าเทียบไหล่ตะวันตกอย่างน่าตระหนก โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีหลักการความคิดที่แตกต่างออกไปโดยคล้ายกับกำลังไม่ใยดีต่อคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อย่างที่ตะวันตกเคยเซ้าซี้อีกแล้ว ที่น่าสนใจคือภายใต้บริบทที่แตกต่าง จีนกลับมีแรงผลักให้เกิดการพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด และเข้าสู่โลกทุนนิยมด้วยรูปแบบของตัวเอง ดังวาทะอมตะของ เติ้ง เสี่ยวผิง ที่ว่า “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี”
 
หรือหากพิจารณาประวัติศาสตร์เสียใหม่โดยไม่ใช้มุมมองที่เข้าข้างตะวันตกเกินไปอย่างที่เราปลูกฝังกันมาในห้องเรียนและผ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของยุคก่อนแล้ว อาจได้ข้อสรุปว่า โลกสมัยใหม่ที่เรามีชีวิตอยู่ในขณะนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาโดยยุโรปและประเทศตะวันตกเท่านั้น จากงานประวัติศาสตร์และตีความแบบใหม่ที่เพิ่มน้ำหนักและความสำคัญที่ชอบธรรมให้แก่ตะวันออกมากขึ้น จะพบว่าโลกสมัยใหม่ที่เริ่มก่อกำเนิดตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมานั้น ความจริงเป็นการสร้างร่วมกันระหว่างตะวันออกและตะวันตก และตะวันตกนั้นอาศัยความรู้ เทคนิค และศิลปวิทยาการจากตะวันออกมากทีเดียว [1]
 
ตะวันออกไม่ได้ล้าหลังหยุดนิ่งโดยไม่เคยพัฒนาแน่ๆ ดังตัวอย่างผ่านการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งทำให้เรารู้ว่า ประเทศจีนสามารถที่จะหล่อโลหะและจัดวางระบบแบบแยกไลน์ผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรมเพื่อทำอาวุธมาเป็นเวลานานนับสองพันปีแล้ว (เพราะเชื่อว่าต้องใช้แจกจ่ายกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น คือราว 500,000 – 1,000,000 คน) รวมทั้งยังมีเทคนิคการผสมโลหะระดับสูง รู้จักการแยกธาตุหรือการชุบโครเมียมเพื่อไม่ให้อาวุธเกิดสนิมและคงทน บางส่วนยังนำมาผลิตเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพเพื่อการเกษตรซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนการบุกเบิกที่ดินเพื่อการเกษตร รวมทั้งให้สิทธิเอกชนในการครอบครองที่ดิน บางยุคยังเบ่งบานด้วยการค้าที่เปิดกว้าง เหล่านี้ล้วนเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจไป และบางอย่างเกิดขึ้นก่อนโลกตะวันตกนานนับพันปี
 
ดังเช่นจีนมีความรู้เรื่องการนำพลังงานจากไอน้ำมาใช้ หรือแม้แต่พัฒนาการด้านการพิมพ์ จีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่นิยมการบันทึกจึงมีวิวัฒนาการตั้งแต่การจานบนซี่ไผ่ การคิดผลิตกระดาษ ไปจนถึงการพิมพ์ที่มีสร้างแท่นพิมพ์ผลิตตำราขงจื๊ออย่างแพร่หลาย และอาจเป็นไปได้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นต้นแบบในประดิษฐกรรมต่างๆที่นำไปพัฒนาโลกตะวันตกเสียด้วยซ้ำ
 
ในด้านการค้า ไม่ว่าจะมีการข้ามทวีปมาของวาสโก ดากามา มาหรือไม่ก็ตาม โลกตะวันออกก็เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยบรรยากาศทางการค้ามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางบกหรือทะเลจึงปรากฏทั้งบันทึกที่เป็นทางการและที่สอดแทรกในเรื่องเล่าต่างๆ ความแปลกใจในเรื่องเล่าถึงดินแดนตะวันออกของมาโคโปโลคงสะท้อนภาพพัฒนาการในอีกซีกโลกหนึ่งได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่การค้าระหว่างอินเดียมาสุวรรณภูมิผ่านชาดกอย่างพระมหาชนกก็เป็นเรื่องราวของการค้าในสมัยโบราณและมีร่อยรอยให้สืบสาว คงยิ่งไม่กล่าวถึงการเดินทางของ ‘เจิ้งเหอ’ ที่แสดงถึงเทคโนโลยีทางทะเล ในโดยเส้นทางที่เดินทางนั้นส่วนมากก็เป็นเส้นทางที่กำหนดไว้แล้ว ทำให้พอเห็นภาพและทราบได้ว่า โลกตะวันออกตั้งแต่อาหรับ แอฟริกาตะวันออก อินเดีย อุษาคเนย์ จีน มีการติดต่อถึงกันมานาน จนปรากฏเป็นชื่อเมืองและเส้นที่ทำให้เจิ้งเหอกำหนดการเดินทางเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและทางการค้าได้อย่างมีเป้าหมาย การเดินทางล่องสมุทรที่ยิ่งใหญ่นี้มีถึง 7 ครั้ง ถือเป็นความสำเร็จของโลกโบราณอย่างไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน  
 
ทั้งนี้ ปัญหาที่ตะวันตกเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตะวันออกล้าหลังกว่าก็คือระบบคิด โดยเฉพาะที่ยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันก็คือ ความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์เข้ากับสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผี พระเจ้า เทพเจ้า หรือสวรรค์ก็ตาม ซึ่งแม้รูปแบบการปกครอง หรือการศึกษา ในภาพใหญ่จะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน แต่สิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในระดับเล็กๆอย่างแพร่กระจายหรือเรียกได้ว่ามันยังอยู่แม้แต่ในบ้านของเราเอง
 
ดังนั้น ในโลกตะวันออกจึงต้องมีการยกบางบุคคลให้กลายเป็น ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ เพื่อสถาปนาสังคมของพวกเขาร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความชอบธรรมในการบริหารจัดการ แนวคิดนี้ได้สลัดหลุดออกไปในโลกตะวันตกโดยคาดว่าน่าจะเมื่อสามารถวางตำแหน่งแห่งที่ของตนในฐานะศูนย์กลางของโลกใหม่ได้แล้ว นั่นคือ การค้นพบดินแดนแห่งใหม่และมีความต่ำต้อยกว่าของชนพื้นเมือง แน่นอนว่าโลกตะวันตกเองก็เติบโตมาจากการทหาร การสูบทรัพยากร และการใช้แรงงานทาสเป็นปัจจัยการผลิตจึงสามารถพัฒนาสังคมของตนเองไปสู่ความเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แต่ส่วนหนึ่งของความต้องการพยุงสถานะนำอันสูงส่งนี้ก็คือการหวนกลับไปหาหลักปรัชญาอันสละสลวยเพื่อนำมาใช้เป็นจารีตบรรทัดฐานที่จัดวางในสังคมใหม่ และบางทีก็หยิบยื่นออกไปให้คนทั้งโลกโดยไม่ถามไถ่
 
กระนั้น โลกสมัยใหม่ที่นำโดยตะวันนั้นก็ใช่จะเป็นสิ่งเลวร้ายไปทั้งหมด บรรทัดฐานบางประการที่ใช้จัดวางระบบระเบียบของโลกใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยี หรืออื่นๆ ไม่ใช่สิ่งที่โลกตะวันออกจะนำมาปรับใช้ร่วมด้วยไม่ได้ เพียงแต่สิ่งที่ต้องตระหนักคิดและเพ่งสมาธิอย่างสูงนั้น คือจะทำอย่างไรจึงหลอมรวมโลกทั้งสองให้เกิดดุลยภาพได้ต่างหาก ทั้งนี้ การเน้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจนำมาซึ่งการแตกหักและความเจ็บปวดได้  จึงต้องเข้าใจถึงสภาพที่ดำรงอยู่จริงด้วย ดังการเปรียบเทียบของหานเฟย ที่ว่า “แคว้นฉินที่เข้มแข็งเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 10 ครั้ง น้อยนักที่จะล้มเหลว  แคว้นเอี้ยนที่อ่อนแอเปลี่ยนกฎหมายแค่ครั้งเดียวก็สำเร็จได้ยาก ทั้งนี้ไม่ใช่คนฉินฉลาด คนเอี้ยนโง่ หากแต่เป็นเพราะเงื่อนไขในชาติทั้งสองไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง”
 
หลักแห่ง ‘บุคคลศักดิ์สิทธิ์’
 
การทำความเข้าใจโลกตะวันออก แม้จะมีความหลากหลาย แต่สิ่งที่ค่อนข้างสอดคล้องกันคือเรื่องการสร้างสถานะศักดิ์สิทธิ์ให้กับบุคคล เพื่อสร้างจักรวาลร่วมกันจึงจะทำให้ตัวบทกฎหมายทำงานได้ ในเรียงความนี้จะกล่าวถึงกรณีของประเทศจีนอันไพศาล  
 
เหลือจะเชื่อว่า‘พญามังกร’ ที่กำลังกางกรงเล็บร่อนทะยานฟ้าในวันนี้ แท้จริงแล้วมีรากฐานมาจากรัฐเล็กๆที่ถูกมองว่าป่าเถื่อน รัฐที่ว่านั้นก็คือ ‘รัฐฉิน’ แต่รัฐฉินสร้างตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดจนสามารถรวมแผ่นดินจีนได้อย่างไรนั้น เราจะมาพิจารณากัน
 
ก่อนเข้าสู่ยุคสงครามกลางเมืองที่เหลือเพียงไม่กี่แคว้นใหญ่นั้น ประเทศจีนได้แตกออกเป็นรัฐย่อยต่างๆมากมาย รู้จักกันว่า ‘ยุคชุนชิว’ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาแห่งสงครามที่ออกดอกผลไปพร้อมๆกับการนักปราชญ์จากสำนักคิดต่างๆ ที่นำเสนอหลักการสำหรับเอาตัวรอดในยุคสมัยแห่งการขัดแย้ง บางส่วนอาจเป็นหลักการปรัชญาแบบเน้นการดำเนินตนเป็นหลัก อย่างแนวทางเต๋าของเหลาจื๊อ ซึ่งบางท่านก็นำมาผนวกกับหลักการปกครองและเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าอู๋เว่ย บางสำนักก็มีลักษณะค่อนไปทางรัฐศาสตร์อย่างแนวจริยะศาสตร์ของขงจื๊อซึ่งมีการจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างสถานะบุคคล หรือบางสำนักก็มีลักษณะที่เป็นกึ่งปรัชญากึ่งศาสนาอย่างม่อจื๊อ เป็นต้น
 
หลังจากยุคของผู้นำธรรมชาติที่ถูกคัดเลือกขึ้นนำเผ่าต่างๆของตนแล้ว เมื่อสังคมขยายตัวและซับซ้อนขึ้น การปกครองในโลกตะวันออกจะหลักการสร้างหลักความชอบธรรมในอำนาจให้แก่ผู้นำ นั่นคือ การจัดความสัมพันธ์ของคนเข้ากับธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติเกิดขึ้น ในกรณีของจีน ผู้นำจะมีสถานะเป็น ‘บุคคลศักดิ์สิทธิ์’ ที่ใช้อำนาจแทนสวรรค์  
 
ม่อจื๊อ เคยอธิบายหลักตรงนี้ว่า เป็นเรื่องของความเสมอภาคภายใต้ความรักของสวรรค์ ดังนั้น แม้จะมีความเสมอภาค แต่ก็ย่อมต้องมีผู้สนอง ‘เจตนารมย์แห่งฟ้า’ ในความรักเสมอภาคของม่อจื๊อจึงไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของโอรสสวรรค์หรือผู้มีอาจสูงสุดในฐานะจักรพรรดิ
 
“การเทิดทูนผู้นำหมายถึงการให้ความเคารพต่อผู้ครองแคว้น ซึ่งเปรียบเสมือนโอรสสวรรค์และสวรรค์กอรปด้วยความดีงาม ฉะนั้นหัวใจทุกดวงพึงหล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อทุกถ้อยคำเปล่งเสียงออกมาเป็นเสียงเดียวกันก็สามารถปกครองได้”
 
ขณะเดียวกัน ม่อจื๊อก็เกรงว่า ‘โอรสสวรรค์’ จะมีอำนาจมากเกินไป หากไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมจะกลายเป็นทรราช จึงบัญญัติกฎ ‘เจตนารมณ์แห่งฟ้า’ เพื่อควบคุมโอรสสวรรค์ด้วย
 
ม่อจื๊อให้คำจำกัดความของฟ้าว่า ฟ้าคือเทพยดาที่กอรปด้วยเจตนารมณ์ ปรารถนาให้ผู้คนรักซึ่งกันและกัน ฟ้าสถิตย์อยู่ทุกเมื่อ สถิตอยู่ทุกแห่งหน และไม่มีสิ่งใดที่ทำไม่ได้ ฟ้าอยู่สูงสุด ทรงไว้ซึ่งศักดิ์ฐานะและสติปัญญา ฟ้าเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด กุมอำนาจมากที่สุด ฟ้ายังเป็นบ่อเกิดแห่งความยุติธรรม เป็นบรรทัดฐานให้มนุษยชาติถือปฏิบัติ สุดท้ายฟ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในสากลโลก สามารถปูนบำเหน็จรางวัลและกำหนดบทลงโทษ
 
หากถามว่าฟ้าชมชอบอะไร รังเกียจอะไร คำตอบ คือ ฟ้าชมชอบความยุติธรรม รังเกียจความอยุติธรรม ทั้งนี้เพราะว่าวัตถุเรื่องราวในโลกจักต้องชอบธรรมและยุติธรรม จึงสามารถคงอยู่ หากไม่ชอบธรรมหรืออยุติธรรมต้องล่มสลาย
 
“ผู้ปกครองปัจจุบันต่างจากโบราณ ยกตัวอย่างผู้ปกครองสมัยโบราณ กำหนดห้าวิธีลงทัณฑ์สำหรับลงโทษผู้กระทำผิด ต่อมาชนเผ่าโหย่วเหมียวก็ตราบทลงทัณฑ์ทั้งห้า กลับเกิดความวุ่นวายทั่วทั้งเผ่า หรือว่าบทลงโทษไม่ดี พึงบอกว่าใช้บทลงโทษไม่เหมาะสม ด้วยชนเผ่าโหยวเหมียวไม่รอรับคำสั่งเบื้องบน ทางการจึงลงโทษพวกเขาอย่างเฉียบขาด จนกลับกลายเป็นห้าสังหาร ฉะนั้นกล่าวได้ว่า ผู้ที่รู้จักใช้บทลงโทษสามารถควบคุมราษฎรทั้งแผ่นดิน หากไม่รู้จักใช้บทลงโทษจะกลายเป็นห้าสังหาร” [2] ม่อจื๊อกล่าว
 
จริยะกับการทำร้ายฟ้า จริยะฟ้าหมายถึงการปกครองโดยธรรม กระทำตามเจตนารมณ์แห่งฟ้า การทำร้ายฟ้าหมายถึงการปกครองด้วยอำนาจ เท่ากับฝืนเจตนารมณ์ของฟ้า
 
หลักแห่งฟ้าที่ม่อจื๊อให้การอธิบายนี้ อาจทำให้พอเห็นภาพของการสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจของผู้นำ
 
เป็นหลักการที่ยึดถือต่อกันมาไม่น้อยกว่าสองพันปี ส่วนปัจจุบันแม้จะไม่มีผู้ใช้อำนาจในนามโอรสสวรรค์อยู่แล้ว แต่การเลือกผู้นำในรูปแบบประชาธิปไตยก็ยังไม่อาจขึ้นมาแทนที่ผู้นำที่รู้จักใช้ความชอบธรรมของอำนาจในการควบคุมราษฎรได้
 
สำนัก ‘นิติธรรม’
 
การปกครองของจีน แม้ว่าจะดูเป็นนามธรรมโดยอิงความชอบธรรมในการใช้อำนาจเข้ากับสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ในด้านรูปธรรมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ความรุ่งเรืองและล่มสลายของจักรพรรดินั้นขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม และการจัดการความสัมพันธ์ในราชสำนักไม่ให้ความขัดแย้งภายในออกสู่ภายนอก ดังนั้น การปฏิรูปครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงประเทศจีนมักมุ่งเป้าไปที่การจัดการกับผลประโยชน์ของบรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางเก่าแก่อย่างเข้มงวด  ข้อที่เป็นความขัดกันอย่างมากคือ ภายหลังรัฐที่ปฏิรูปสำเร็จจะเจริญรุ่งเรืองแล้ว ผู้เริ่มต้นการปฏิรูปมักจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถเสมอ ดังเช่นการปฏิรูปของซางเอียง หรืออู๋ฉี  เป็นต้น  
 
“การแย่งชิงดินแดนและอำนาจระหว่างเจ้านคร (แคว้น) ยุคสงครามกลางเมือง (ยุคจ้านกว๋อ) นั้น ต่อมาเหลือเพียง 7 นคร (แคว้น) ซึ่งเรียกว่า ‘เจ็ดเจ้าใหญ่ยุคสงครามกลางเมือง’ (เจ็ดผู้แกล้วกล้าแห่งยุคจ้านกว๋อ) มีนครชี้ (แคว้นฉี) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก อุดมด้วยทรัพยากรทางทะเล นครฮั้น (หาน) งุ่ย (เว่ย) เตี๋ยว (จ้าว) ตั้งอยู่กลางแผ่นดินใหญ่ อาณาเขตแม้จะเล็กกว่า แต่เป็นที่อุดมสมบูรณ์ นครช้อ (ฉู่) อยู่ทางใต้และนครเอียง(เอี้ยน) อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งต่างก็เข้มแข็งพอตัว ส่วนนครจิ้น (แคว้นฉิน) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกยึดเนื้อที่ของเผ่าฮัน (ฉวนหรง) ได้มา และได้เปรียบทางภูมิประเทศเหมาะที่จะรุกหรือรับ ทั้งมีนโยบายที่ถูกต้อง คืออาศัยระหว่างเวลาที่นคร(แคว้น) ทั้ง 6 ต่างสิ้นเปลืองกำลังทรัพย์ในการสู้รบกันนั้น ปรับปรุงการปกครอง สืบเสาะแสวงหาผู้ที่มีความสามารถในสาขาวิชาการต่างๆมาช่วยในการปกครอง มาในสมัยพระเจ้าเฮ่า (ฉินเสี้ยวกง ) ก็ได้ดำเนินแผนปกครองเซียงเอี่ยง (ซางเอี่ยง) ” [3]
 
ในช่วงต้นของยุคจ้านกว๋อ แคว้นฉี คือ แคว้นที่เข้มแข็งที่สุด ส่วนแคว้นฉินเป็นเพียงแคว้นล้าหลังกว่าแคว้นอื่นในทุกด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จนถูกแคว้นอื่นๆเรียกอย่างหมิ่นแคลนว่า ‘ฮวนซีหรง’ เพราะอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำฮวงเหอและถือเป็นชนชาติป่าเถื่อน ไม่ไปมาหาสู่ด้วย บางครั้งยังถึงกับส่งทัพไปตีกินดินแดนอยู่เนืองๆ
 
ราวสามร้อยปีก่อนคริสตศักราช ฉินเสี้ยวกงขึ้นครองแคว้นฉิน หวังเสริมสร้างแคว้นฉินให้แข็งแกร่งจึงประกาศเปิดรับผู้มีความสามารถไม่ว่าจากที่ใดให้มารับราชการจึงเปิดโอกาสให้ อุ้ยเอียงหรือซางเอียงได้เข้ามามีบทบาทในประวัติศาสตร์หน้านี้
 
โดยหลักการสำคัญแรกๆของอุ้ยเอียง  คือ การเพิ่มอำนาจแก่เจ้าชีวิต ขจัดการสืบทอดอำนาจของเชื้อพระวงศ์ อันเป็นเป้าหมายรุ่วมกันของนักนิติธรรมยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นหลี่ขุยแห่งรัฐวุ่ย [4] อู๋ฉีแห่งรัฐแห่งรัฐฉู่  [5] ซึ่งต่างเห็นว่าหากไม่บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว แว่นแคว้นไม่อาจเจริญก้าวหน้า (ไม่มุ่งที่เจ้าแคว้น แต่เปลี่ยนแปลงที่ตัวมอด)
 
สิ่งที่อุ้ยเอียงเสนอต่อฉินเสี้ยวกงก็คือ  “แคว้นใดก็ดี ถ้าแม้นประสงค์จะสร้างเสริมให้เข้มแข็งและมั่งคั่งขึ้นมาพึงต้องสนใจในการผลิตทางการเกษตร เช่นนี้ ราษฎรจึงจะมีกินมีใช้ กองทัพจึงจะมีเสบียงอาหารอย่างเพียงพอ จะต้องฝึกกองทัพให้ดี ต้องทำให้ทหารเข้มแข็ง ม้าศึกคึกคัก นอกจากนี้ การให้รางวัลและการลงโทษจะต้องแจ่มชัด ชาวนาที่เพาะปลูกได้ผลมาก ทหารซึ่งกล้าหาญชำนาญการรบ จะต้องส่งเสริมให้รางวัล ต่อพวกที่ไม่ทำการผลิตให้ดี ทหารที่กลัวตายในการรบจะต้องลงโทษ”
 
ฉินเสี้ยวกงพอใจในตัวเขาอย่างมากจนถึงกับลืมกินอาหารและสนทนาติดต่อกันหลายวัน จากนั้นจึงตัดสินใจที่จะปฏิรูปครั้งใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือการคัดค้านจากพวกผู้ดีและขุนนางต่างๆเป็นเสียงเดียวกัน
 
กานหลงขุนนางผู้ใหญ่เสนอความเห็นว่า  “ระบอบที่ดำเนินอยู่ในฉินทุกวันนี้ ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ขุนนางทั้งหลายต่างก็มีความเคยชินต่อการปฏิบัติราชการอยู่แล้ว แม้แต่ราษฎรก็คุ้นชินกับกฎระเบียบเหล่านั้นเป็นอันดีจึงมิพึงเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยประการใดทั้งสิ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดความวุ่นวายขึ้นเป็นแน่”
 
ส่วนขุนนางผู้ใหญ่คนอื่นๆก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “กฎระเบียบใหม่เป็นสิ่งเหลวไหลทั้งสิ้น ระเบียบแบบแผนเก่าจะแก้ไขมิได้!”
 
อุ้ยเอียง ตอบด้วยเหตุผลว่า  “ที่พวกท่านว่ากฎระเบียบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไม่ได้นั้น ถ้าพิจารณาจากการกำหนดกฎระเบียบเหล่านั้น ล้วนดำเนินไปโดยบรรพบุรุษในอดีต ซึ่งก็เพื่อปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้ดีขึ้น นับว่าปรับปรุงมาจากของเก่าที่ล้าสมัยแล้วทั้งสิ้นมิใช่หรือ มีสิ่งใดบ้างเล่าที่มิได้กำหนดมาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ไฉนเราทั้งหลายจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างมิได้ ถ้าหากว่ามันสามารถที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น การปรับปรุงนี้ จักก่อให้เกิดความวุ่นวายใดบ้าง ก็แต่แก่พวกเห็นแก่ตัวซึ่งผลประโยชน์ของพวกเขาจะได้รับความกระทบกระเทือนไปเท่านั้น” [6]
 
เมื่อเหล่าขุนนางหัวเก่าไม่อาจโต้แย้งได้ อุ้ยเอียงจึงรับหน้าที่ร่างการปฏิรูป เมื่อออกมา ฉินเสี้ยวกงเห็นด้วยทุกประการ แต่ปัญหาก็คือ ระเบียบแบบแผนใหม่ของเขาหากยังไม่มีผู้ใดเชื่อถือ ยากจะดำเนินการได้ จึงคิดอุบายให้เอาเสาต้นหนึ่งไปวางทางทิศใต้ของเมืองพร้อมติดประกาศ ให้รางวัล 10 ตำลึงทองหากมีคนนำเสานี้ไปยังประตูทิศเหนือ เสาต้นนี้มีคนมุงดูแน่นขนัดในเวลาไม่นาน มีการซุบซิบว่าเสาต้นนี้หนักเพียงร้อยกว่าชั่ง การแบกไปไว้ประตูทิศเหนือไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ทำไมรางวัลจึงสูงนัก จึงเกรงมีกลอุบายซ่อนไม่มีใครกล้าเข้าไปแบกเสาต้นนี้ อุ้ยเอียงจึงเพิ่มรางวัลให้อีกเป็น 50 ตำลึงทองทำให้คนคลางแคลงใจหนักขึ้น ยิ่งเกิดความกลัว แต่ก็มีชายผู้หนึ่งกล้าทำ คนก็แห่ตามไปดูถึงที่ที่กำหนดไว้  [7]
 
อุ้ยเอียงจึงกล่าวแก่ชายผู้นี้ว่า “ดีมาก เจ้าเชื่อและปฏิบัติตามถ้อยคำของเรา นับเป็นราษฎรที่ดี” แล้วก็มอบรางวัลให้ชายผู้นั้นไป ตามที่ประกาศไว้ ข่าวนี้จึงแพร่ไปว่า อุ้ยเอียงพูดแล้วไม่คืนคำ ฉะนั้นคำสั่งของเขาจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระแน่ วันรุ่งขึ้นอุ้ยเอียงจึงประกาศกฎหมายออกมา
 
กฎหมายของอุ้ยเอียงนั้นมีบางส่วนอาจดูร้ายแรงสำหรับสมัยนี้ เช่น หลักการเสริมสร้างความสงบสุขของสังคมด้วยการจัดหมู่บ้านให้รับรองดูแลกัน หากมีครัวใดกระทำผิดครัวอื่นต้องร้องเรียนต่อทางการ มิฉะนั้นจะถูกลงโทษทั้งหมด ในทางกลับกันผู้ร้องเรียนก็จะได้รางวัลเท่ากับการออกไปรบสังหารข้าศึก
 
หลักการนี้ฟังแล้วชวนให้นึกไปถึงในกรณีการฟ้องร้องของ ไอแพด นักเฝ้าระวังเว็บไซต์ประชาไท ตามมาตรา 112 ซึ่งในหนึ่งปี เขาไปฟ้องเจ้าหน้าที่แล้วถึง 15 ราย ลักษณะประการนี้จึงดูเข้ากันกับบรรยากาศในรัฐฉิน คาดว่าหากเขาเกิดในสมัยอาจได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้ากรมใดกรมหนึ่งเป็นแน่
 
แต่ในส่วนที่ทำให้รัฐฉินก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด คือ การให้รางวัลแก่ผู้พัฒนาการผลิต ครัวใดที่ผลิตเสบียงอาหารและผ้าผืนส่งส่วนอากรได้มากจะได้รับการยกเลิกการเกณฑ์แรงงาน ยังมีการวางมาตรฐานการให้รางวัลและยศถาจากการทำศึกซึ่งแม้แต่ข้าทาสก็กำหนดตามความดีความชอบ แต่ผู้มิมีความดีความชอบแม้จะเป็นผู้ดีมีเงินทองก็ใช้ชีวิตฟุมเฟือยไม่ได้ ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับสามัญชน
 
ในช่วงแรกของระเบียบใหม่ พวกผู้ดีที่ไม่ออกไปทำศึกจึงไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นใหญ่เป็นโต จึงมีฐานะเท่าสามัญชน เสียอภิสิทธิ์ต่างๆที่เคยมีมากมายในอดีต กฎใหม่จึงได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง มีคนเดินทางมาร้องเรียนเขานับพันคน แต่อุ้ยเอียงยังคงเดินหน้าต่อ เขาปลดกานหลงขุนนางผู้ใหญ่ที่สนับสนุนรัชยายาทซึ่งคัดค้านนโยบายของเขาออก แต่ตัวรัชทายาทนั้นอุ้ยเอียงลงโทษไม่ได้จึงไปลงโทษบรรดาอาจารย์ของรัชทายาทแทนในฐานยุยงส่งเสริม
 
หลังจากปฏิรูปไม่กี่ปี แคว้นฉินค่อยๆเข้มแข็งขึ้นทุกด้าน สามารถยกทัพไปบุกเว่ย จนเว่ยต้องขอยอมสงบศึก ฉินจึงย้ายเมืองหลวงเข้าสู่เสียนหยางวางรากฐานในจีนกลางและการรวมแผ่นดิน ซางเอียงส่งเสริมการบุกเบิกที่รกร้าง อนุมัติให้ขายที่ดินได้อย่างเสรี ปรับมาตราชั่ง ตวง วัด ให้เป็นเอกภาพ  ในเวลา 10 ปี แคว้นฉินขึ้นมาเป็นแค้วนที่เข้มแข็งที่สุดไปเสียแล้ว
 
การปฏิรูปของซางเอียงมีเป้าหมายที่ทำลายระบบแบบเก่า ให้แต่ละบุคคลแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ปลดปล่อยชาวนาให้หลุดพ้นจากสังคมทาส กระตุ้นผู้คนให้แยกตัวออกจากครอบครัว หักร้างถางพงพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อเพิ่มผลผลิตทางกสิกรรม ก่อให้เกิดกระแสที่ไม่มีผู้ใดกล้าแข็งขืน ทำลายล้างระบบเศรษฐกิจแบบเก่าซึ่งตกอยู่ในมือขุนนางเชื้อพระวงศ์ทั้งยังตัดสิทธิพิเศษออกไป ความสำเร็จในกิจการของเขา ฉินเสี้ยวกงได้มอบที่ดินแถบซางและยีให้ ผู้คนจึงนิยมเรียง ‘ซางเอียง’ นับแต่นั้น
 
หลายปีต่อมา ฉินเสี้ยวกงถึงแก่กรรม รัชทายาทที่เคยคัดค้านซางเอียงได้ขึ้นสู่อำนาจ พวกที่แค้นซางเอียงกลับมาเฟื่องฟูขึ้น  จึงยัดเยียดข้อหากบฎให้ ซางเอียงจึงถูกจับกุมและให้ประหารด้วย ทัณฑ์ 5 ม้าแยกร่าง อันเป็นการลงโทษที่เขาตรามันขึ้นมาเอง จบวาระสุดท้ายของผู้ประกอบความดีแก่บ้านเมือง ... T T
 
อย่างไรก็ดี แม้ซางเอียงจะสิ้นชีวิตไป แต่กฎที่เขานำมาใช้กับฉินได้ฝังรากไปแล้วจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ การปฏิรูปของซางเอียงจึงเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของการรวมแผ่นดินให้เป็นเอกภาพในวันข้างหน้า
 
ในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ หลังแผ่นดินรวมเป็นหนึ่งแล้ว หลักการยึดกฎหมายโดยเคร่งครัดนี้ยิ่งถูกยกระดับด้วยเชื่อว่าการปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขได้มีเพียงการกำหนดบทบัญญํติกฎหมายที่รุนแรงเคร่งครัด จึงเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงสยองขวัญมากมาย ยุคหลังของอาณาจักรฉินจึงเป็นยุคที่อยู่ภายใต้ความรุนแรงหวาดผวาโดยสิ้นเชิง
 
ผลจากกฎอันเข้มงวดกลับส่งผลสะท้อนในด้านตรงข้าม กฎหมายของฉินได้ห้ามการใช้เครื่องมือมีคมโดยให้หลายครัวเรือนใช้ร่วมกัน การให้ครอบครัวอื่นรับผิดหากไม่แจ้งข่าวความผิดของอีกครองครัวกลับกลายเป็นการสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวขึ้นภายใน การเกณฑ์แรงงานรับใช้ราชสำนักที่ไม่มีหวังได้กลับบ้านเกิด  ทั้งยังมีการ ‘เผาตำรา ฝังบัณฑิต’ ด้วยเกรงว่าตำราและบัณฑิตจะมอมเมายุยงให้ชาวบ้านให้กระด้างกระเดื่อง เหล่านี้ทำให้ความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมที่เคยทำให้รัฐรุ่งเรืองกลับกลายเป็นทางเสื่อมอย่างรวดเร็ว  
 
สุดท้าย ราชวงศ์ฉินอันเกรียงไกรจึงหนีไม่พ้นความล่มสลายเพียงสามรุ่น เพราะฝีมือของคนไม่อ่านตำรา 2 คน   จังเจี๋ย กวีปลายสมัยราชวงศ์ถัง ถึงกับแต่งบทกลอนถางถางการกระทำของจิ๋นซีฮอ่องเต้ไว้ดังนี้
 
จักรวรรดิมลายสูญพร้อมหมอกควันจากซี่ไผ่
ป้อมปราการไม่อาจรั้งแผ่นดินแม่
เถ้าถ่านมิทันมอดดับดินแดนซานตง [8]
 
ข้อสังเกตประการนี้ อาจเป็นบทเรียนแก่ปัจจุบัน หลักกฎหมายต่างๆในบ้านเมืองที่ล้วนถูกตราขึ้นนั้น บางครั้งก็ขึ้นกับผู้ใช้ ดังสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นช่วงเวลาของสังคมประชาธิปไตย แต่ก็มีปัญหาในหลักการใช้กฎหมายไม่น้อยโดยเฉพาะในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น การ ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การทำสงครามยาเสพติด การบริหารปัญหาความรุนแรงชายแดนใต้ เหล่านี้อาจมองว่าเป็นไปตามหลักการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อย ดังที่การปราบยาเสพติดด้วยความรุนแรง ผู้คนก็ชมชอบไม่น้อย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีส่วนในการตรึงสถานการณ์ในภาคใต้ แต่เหล่านี้ก็อาจมองได้ว่าเป็นการเติมความรุนแรงลงไปในหลักนิติธรรมสมัยใหม่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังถูกนำกลับมาใช้ในการปราบปรามผู้ชุมนุมสนับสนุนเขา  ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนำมาซึ่งความเสื่อมของรัฐบาลนี้ไม่น้อยด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังดำรงอยู่ได้คือ ความชอบธรรมในการใช้อำนาจที่ยังไม่หมดไปตามหลักกติกาสากลที่วางกันไว้แต่เดิม  ส่วนผลของการละเมิดกติกาสากลก็ได้สะท้อนกลับไปยังฝ่ายตรงข้ามอย่างน่าสังเวช
 
ยุคสมัยของฉินจบลงด้วยการลุกฮือทั่วสาระทิศที่เริ่มต้นจากเหลาไม้ปลายแหลมเป็นอาวุธ ต่อมามีกองกำลังหัวเมืองต่างๆผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแข่งกับการปราบปรามอย่างเข้มงวด  กระทั่งเข้าสู่สมัยฉินที่ 3 เล่าปังจึงนำทัพบุกเข้า เสียนหยาง นอกจากไม่แตะต้องสมบัติและสั่งห้ามปล้นชิงชิงทำความเดือนร้อนให้ชาวเมืองแล้ว สิ่งแรกที่เล่าปังใช้สร้างความชอบธรรมคือ ยกเลิกกฎหมายอันทารุณของฉิน โดยให้ใช้ ‘กฎหมายใหม่’ ของตนที่เรียกว่า ‘บัญญัติ 3 ประการ’ แทน กล่าวคือ "ฆ่าคนต้องชดใช้ชีวิตทำร้ายร่างกายหรือ โจรกรรมทรัพย์สินต้องชดใช้ความเสียหาย”
 
การกระทำของเล่าปังต่างจากเซี่ยงอวี่ที่เข้ามารับช่วงดูแลเมืองเสียนหยางต่อในภายหลัง สิ่งที่เซี่ยงอวี่ทำคือ สนองกลับความคับแค้นด้วยความรุนแรง เขาจึงสั่งประหารทายาทจิ๋นซีฮ่องเต้ ฆ่าล้างเมือง เผาพระราชวังเออฝางกง รวมทั้งทำลายสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้  ต่อมาภายหลังเกิดเป็นมหาสงครามฉู่ - ฮั่น สุดท้าย ฝ่ายเซี่ยงอวี่แม้มีพละกำลังและเชี่ยวชาญทางการทหารมากกว่ากลับพ่ายแพ้ต่อเล่าปัง เพราะไม่อาจทำตัวเป็นภาชนะรองรับประชาชนได้เหมือนการกระทำของเล่าปัง สุดท้าย ต้องเชือดคอตายริมแม่น้ำอูเจียง เล่าปังสถาปนาเป็นพระเจ้าฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น
 
หานเฟยจื่อ...ตำรารากฐานแห่ง ‘นิติธรรม’
 
หากท่านมีโอกาสอ่านซานกั๋วจื้อ (สามก๊ก) บางครั้งอดฉงนสนเท่ห์มิได้ว่า เหล่าวีรชนผู้กล้าหาญต่างๆใช่ทำสงครามตามแนวความคิดของหานเฟย เจ้าของผลงานชื่อหานเฟงจื่อหรือไม่ [9]
 
คนไทยเรารู้วรรณกรรมสามก๊กดีในฐานะของหนังสือแห่งเล่ห์กลโกง จนถึงกับมีคำบอก “อ่านสามก๊กครบสามจบ คบไม่ได้” เพราะจะเต็มไปด้วยเหลี่ยมพราว แต่สำหรับโลกตะวันออกอย่างจีนและญี่ปุ่นมองกันว่าเรื่องราวในสามก๊กนั้นพูดกันถึงเรื่อง ‘คุณธรรม’
 
ทั้งนี้ บรรดาผู้นำต่างๆในสามก๊กต่างศึกษาในหานเฟยจื่อ หนังสือเล่มนี้จึงมีความลึกล้ำและมีบทบาทอย่างมากในการวางรากฐานให้กับแผ่นดินจีน
 
หานเฟย แท้จริงแล้วเป็นคุณชายแห่งรัฐหาน แต่ด้วยพูดติดอ่าง อ้ำๆอึ้งๆ จึงไม่เป็นที่โปรดของบิดา ด้วยเหตุนี้เขาจึงหันมาเขียนตำรา ต่อมาเมื่อฉินอ๋องเจิ้ง (จิ๋นซีฮ่องเต้ในเวลาต่อมา) ได้อ่าน มีความชื่นชมอย่างมากถึงกับยกทัพไปกดดันรัฐหานเพื่อต้องการได้ตัวเขาไว้ใช้ อย่างไรก็ตาม ชะตาของหานเฟยอาภัพนัก ด้วยเขาเคยเป็นศิษย์สำนักเดียวกับหลี่ซือ ที่ปรึกษาคนสำคัญของฉินอ๋องเจิ้ง หลี่ซือมีความอิจฉาในสติปัญญาของหานเฟยจึงเกรงว่าจะได้รับความสำคัญกว่า จึงยุฉินอ๋องว่า หานเฟยเป็นคุณชายรัฐหานย่อมต้องทำประโยชน์ให้หาน ฉินอ๋องเจิ้งระแวงจึงสั่งให้คุมตัวไว้ ต่อมาคิดได้จึงสั่งให้ปล่อยตัว แต่ไม่ทันการเพราะหลี่ซือแอบนำยาพิษปลิดชีวิตไปเสียก่อนแล้ว จึงเหลือแต่เพียงตำราหานเฟยจื่อที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราขององค์ราชัน แนวคิดของเขาจึงเป็นเรื่องที่น่าทำความเข้าใจ
 
แนวทางของหานเฟย คำนึงถึงสภาพเป็นจริง ณ ช่วงเวลานั้นโดยปฏิเสธหลักจริยธรรมของขงจื๊อ ปฏิเสธบทบัญญัติทางศาสนาของม่อจื๊อ  แต่เน้นที่การ ‘ตราตัวบทกฎหมาย’ คือ เสนอรางวัลให้อย่างงาม กำหนดบทลงโทษอย่างเฉียบขาด นอกจากนี้นโยบายการปกครองของจิ๋นซีฮ่องเต้หลังรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งแล้วยังสอดคล้องกับหานเฟยจื่ออย่างมาก จึงอาจกล่าวได้ว่า หานเฟยเป็นนักนิติธรรมที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
 
ทั้งนี้ เสาหลักทางความคิดของหานเฟยประกอบด้วยหลักการใช้ตัวบทฎหมาย การดำเนินกลวิธี และการรักษาอำนาจ  โดยตัวบทกฎหมายนั้น หมายถึง คำสั่ง ข้อห้าม ข้อกำหนด ซึ่ง หานเฟยได้อารัมภบทไว้ว่า
 
“มีคนตั้งคำถามว่า ระหว่างเซินปู้ไฮ่กับซางเอียง แนวทางของทั้งสองสำนักนี้ ฝ่ายใดมีความสำคัญต่อการปกครองแว่นแคว้านกว่ากัน ? ขอตอบว่า นี่ไม่อาจประมาณค่าได้ คนผู้หนึ่งไม่รับประทานอาหาร อดอยากอยู่สิบวันต้องตาย ในฤดูกาลอันหนาวเหน็บ หากปราศจากเสื้อผ้าต้องแข็งตัวตาย หากถามว่าระหว่างอาหารกับเสื้อผ้า สิ่งใดมีความสำคัญกว่า ได้แต่บอกว่าไม่อาจขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใด เซินปู้ไฮ่เสนอให้ใช้กลวิธี ซางเอียงให้ใช้หลักกฎหมาย หากเจ้าชีวิตไร้ซึ่งกลวิธี ผู้คนเบื้องล่างทุจริตคิดมิชอบ หากไม่รักษาตัวบทกฎหมาย แผ่นดินจะเกิดจราจลวุ่นวาย ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนเป็นเครืองมือในการปกครองของเจ้าชีวิตทั้งสิ้น” [10]
 
หานเฟยยังยกตัวอย่าง คนเฝ้าประตูของฉู่จวงกงที่ไม่ยอมเปิดประตูให้รถม้ารัชทายาทเข้าด้วยข้ออ้างฝนตกว่า ทำตามตัวบทกฎหมาย ฉู่จวงกงจึงให้รางวัลและกำชับรัชทายาทไม่ให้ทำผิดอีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการจัดระเบียบแว่นแคว้น ทุกคนล้วนอยู่ใต้กฎหมาย ฉะนั้นรัชทายาททำผิดกฎหมาย คนเฝ้าประตูสามารถลงโทษได้ดุจเดียวกัน เพราะความเด็ดขาดของฉู่จวงอ๋อง จึงทำให้พระองค์เป็นห้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคชุนชิว
 
เรื่องความเท่าเทียมของการใช้กฎหมายนี้ หานเฟยยังเน้นอีกครั้งเมื่อกล่าวถึงวัตรปฏิบัติของ จิ่นเหวินกง ที่ลงโทษประหารเอี๋ยนแส คนสนิท ด้วยน้ำตานองหน้า เนื่องจากมาประชุมสาย ผิดวินัยทหารที่พระองค์เคยประกาศไว้ก่อนหน้า
 
สำหรับในส่วนกลวิธี หานเฟยหมายถึงการแต่งตั้งถอดถอน ติดตามตรวจสอบ ปูนบำเหน็จลงโทษขุนนาง ซึ่งหากดูจากมุมมองปัจจุบัน คือ หลักการจัดการซึ่งประกอบด้วยนโยบาย การจัดตั้งองค์กรและการตรวจสอบบุคคลากร โดยต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์แฝงไหวพริบปัญญา
 
ส่วนเรื่องของการใช้อำนาจนั้น หานเฟยกำหนดไว้สี่ข้อคือ หนึ่งทดสอบสมรรถนะของขุนนางโดยจัดวางบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง สองยึดมั่นในบทปูนบำเหน็จลงโทษ สามพิจารณาถึงผลงาน หมายถึงติดตามตรวจสอบเรื่องราวที่ขุนนางนำเสนอว่าปฏิบัติลุล่วงหรือไม่ และสุดท้ายคือรักษาไว้ซึ่งอำนาจ คือผู้มีอำนาจพึงรักษาอำนาจสิทธิขาดไว้  โดยเข้าย้ำว่า อำนาจเป็นเครื่องมือที่เจ้าชีวิตใช้ปกครองแผ่นดิน ควบคุมขุนนาง ยามใดสูญเสียอำนาจจักสูญสิ้นบ้านเมือง อาจมีภัยถึงแก่ชีวิต ฉะนั้นผู้นำต้องกุมอำนาจไว้ อย่าได้ถ่ายโอนให้ใครอื่นโดยง่ายดาย
 
ในเรื่องนี้ หานเฟยได้ยกตัวอย่างไว้หลายเรื่อง เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของมหาเสนาบดีรัฐเจิ้น
 
“จื่อฉั่นเป็นมหาเสนาบดีรัฐเจิ้น ขณะที่ป่วยหนักใกล้ตาย ได้สั่งเสียต่อขุนนางชื่อ อิ๋วจิว่า เมื่อข้าตายแล้ว ท่านต้องดูแลรัฐเจิ้นสืบแทน พึงใช้อำนาจปกครองราษฎร ด้วยไฟมีลักษณะดุร้ายน่าเกรงขาม ฉะนั้นน้อยคนถูกไฟลวกทำร้าย ขณะที่น้ำอ่อนโยนละมุนละไม ฉะนั้นผู้คนมักจมน้ำตาย ท่านจักต้องสร้างลักษณะตัวเองให้ดุร้ายน่าเกรงขาม อย่าได้ทำตัวอ่อนโยนละมุนละไม เป็นเหตุให้ราษฎรกระทำผิดกฎหมายได้โดยง่าย”
 
“หลังจากที่จื่อฉั่นเสียชีวิต อิ๋วจิไม่ต้องการสร้างภาพลักษณ์อันดุร้ายน่าเกรงขาม ปรากฏว่าชายฉกรรจ์ในรัฐเจิ้นสุมหัวเป็นโจร ซ่องสุมกำลังที่บึงใหญ่เตรียมก่อหวอด อิ่วจิต้องยกกำลังไปปราบปราม สู้รบหนึ่งวันหนึ่งคืนค่อยปราบกบฎโดยราบคาบ อิ๋วจิจึงนึกเสียใจที่ไม่ทำตามคำแนะนำของจื่อฉั่นแต่แรก”
 
หานเฟยเห็นว่า แว่นแคว้นไม่มีแว่นแคว้นที่เข้มแข็งยั่งยืนและอ่อนแอเป็นนิจ ผู้ที่รักษากฎหมายโดยเคร่งครัดจักเข้มแข็ง ผู้ใดปล่อยให้กฎหมายหย่อนยานต้องอ่อนแอ
 
‘เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว’ ภาพสะท้อนการล่มสลายราชวงศ์ชิง
 
 
แท้จริงแล้ว เรียงความนี้เขียนขึ้นเพื่อความบันเทิงประกอบการชมภาพยนต์ ‘เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว’ ในเทศกาลหนังแพะCafé Mes amis เป็นสำคัญ ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์เป็นหนังจีนพูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรียงความจึงเน้นไปที่สังคมการเมือง การปกครอง และกฎหมายของจีน โดยทำแบบย่อๆให้พอจะเห็นสภาพของในการสถาปนาความเป็นจีน รวมทั้งเงื่อนไขบางประการของความสำเร็จรุ่งเรืองหรือการล่มสลายของรัฐ 
 
คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่า สังคมจีนเป็นสังคมที่เคร่งครัดในการใช้กฎหมาย แต่หากจะให้ชัดลงไปอีกคงต้องเป็นคำว่า เคร่งครัดในการวางกฎระเบียบให้ประชาชน ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสวรรค์ ในมุมมองของปัจจุบันอาจจะมองว่าเป็นเรื่องโบราณคร่ำครึ  แต่หากไม่ละเลยความจริงอีกด้านของประวัติศาสตร์ แนวทางนี้บางครั้งก็สามารถนำพายุคสมัยไปสู่ความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองได้
 
ทั้งนี้ การใช้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เมื่อโครงสร้างสังคมเริ่มมีความเปราะบาง วุ่นวาย เรื่องของกฎหมาย ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ และความกล้าหาญ มักจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นอุดมการณ์  เหมือนการสร้างกวนอูให้กลายเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ หรือการปรากฏขึ้นของวรรณกรรมกึ่งประวัติศาสตร์อย่าง ‘เปาบุ้นจิน’ เจ้าเมืองไคเฟิง สมัยซ้อง ที่ได้ชื่อว่ามีความยุติธรรมในการใช้กฎหมายซึ่งที่สภาพสังคมของซ้องในเวลานั้นมีรากฐานไม่มั่นคงนัก
 
สมัยซ้องได้รับคำเสียดสีว่า ‘ตะพาบน้ำ’ เป็นช่วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้ของชาวฮั่น ในขณะที่ต่างชาติอย่างมองโกลกำลังกล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ ราชธานีซ้องเองบางครั้งถึงกับต้องย้ายเพื่อประคองสถานะ  ส่วนบรรดาขุนนางต่างมุ่งแสวงหาประโยชน์ในราชสำนัก เมื่อหลักแกนที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นไม่มี ‘เปาบุ้นจิ้น’ ผู้มีความยุติธรรม จึงกลายเป็นเสมือนเสาหลักทางสังคม นอกจากนี้อาจจะเป็นเรื่องของวีรบุรุษทางการทหารอย่างตระกูลหยางหรือขุนพลงักฮุย
 
ส่วน ‘เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว’ เป็นการอุปโลกตัวละครขึ้นโดยโยกย้ายฉากไปสู่สมัยราชวงศ์ชิงหรือแมนจูอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายและเชื่อมโยงเรื่องราวกันด้วยเรื่องอุดมการณ์ในการรักษาความยุติธรรม สถานะตัวละครและฉาก อาจเป็นเรื่องที่ล้อเล่นหรือแต่งขึ้นใหม่ให้ตลกขำขัน แต่ก็เสียดสีบาดลึกในบางครั้ง โดยเฉพาะเมื่อบุคคลต้องกลายเป็น ‘แพะ’ซึ่งบรรยากาศของราชวงศ์ชิงช่วงปลายก็อาจคลับคล้ายเป็นเช่นนี้อยู่จริงๆ
 
ความจริงแล้วราชวงศ์ชิง แม้ว่าจะมีความวุ่นวายบ้างในช่วงต้นราชวงศ์ แต่ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคังซีไปแล้วกลับมีความมั่นคงรุ่งเรืองพอสมควรเลยทีเดียว จึงไม่น่าจะล่มสลายไปได้ในเวลาไม่นาน
 
สิ่งที่ทำให้ยุคสมัยของจักรพรรดิคังซีรุ่งเรืองขึ้นมาได้นั้นนอกจากวิสัยทัศน์ส่วนพระองค์แล้ว การเลือกใช้คนยังมีความโดดเด่น โดยเฉพาะการเลือกให้หย่งเจิ้งขึ้นมาดูแลจัดการเงินในท้องพระคลัง ว่ากันว่าเขาเป็นคนที่ซื่อตรงมาก ทั้งบริหารและคิดวิธีหาเงินโดยไม่ต้องกระทบกับเสถียรภาพของอาณาจักร โดยงานที่หหนักที่สุดของเขาในช่วงเวลานั้นคือ การทวงเงินจากบรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางทั้งหลายที่ยืมไปจากท้องพระคลังนั่นเอง นอกจากนี้ คังซียังโปรดปรานลูกของหย่งเจิ้งจึงให้การอบรมสั่งสอนด้วยตนเอง หลานคนนี้ก็คือจักรพรรดิฉียนหลงในเวลาต่อมา ส่วนหย่งเจิ้งนั้น ได้ครองบัลลังก์มังกรหลังการสิ้นพระชนม์ของคังซี
 
ความดีความชอบในความรุ่งเรืองทั้งหลายของเฉียนหลงนั้น บางทีอาจต้องยกให้เป็นของหย่งเจิ้งด้วย เพราะเขาคือผู้สั่งให้มีการปรับระบบภาษี เพราะเดิมเงินในท้องพระคลังนั้นมาจากบรรณาการของประเทศราษฎรและประชาชนเท่านั้น แต่ชนชั้นสูงและขุนนางไม่ได้จ่ายภาษีเลย ซึ่งหย่งเจิ้งมองว่าเป็นการเอาเปรียบราษฎรที่ทำงานหนัก เขาจึงจัดระบบภาษีอย่างมีแบบแผนขึ้น โดยใครมีมากให้จ่ายมาก ใครมีน้อยให้จ่ายน้อย
 
แต่เรื่องนี้ทำให้เขากลายเป็นที่ไม่พอใจแก่คนรอบข้างอย่างมาก เรื่องราวในภายหลังของเขาจึงถูกแต่งแต้มให้กลายเป็นคนฆ่าพี่ ฆ่าน้อง ฆ่าพ่อ ปลอมแปลงราชโองการ และชิงบัลลังก์ กลายเป็นเรื่องจริงผสมเรื่องเท็จอย่างไม่มีชิ้นดี  อย่างไรก็ตาม นโยบายของเขาทำให้มีเงินในท้องพระคลังมากมายที่ส่งต่อไปยัง เฉียนหลง ซึ่งบริหารงานอย่างสุขสำราญและเป็นยุคทองในด้านต่างๆจนได้รับการขนานนามเป็นมหาราชองค์ที่สอง ต่อจากจักรพรรดิคังซี
 
แต่ในด้านความมั่นคงของราชวงศ์ จุดเปลี่ยนก็อยู่ในสมัยเฉียนหลงเช่นกัน ทั้งนี้ ความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ละเลยการพัฒนาโดยเฉพาะแสนยานุภาพทางการทหารที่เริ่มกลายเป็นการสืบทอดมรดกตระกูล แต่ไม่เคยผ่านสมรภูมิจริง นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายเงินที่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย รวมทั้งหย่อนยานมากการใช้กฎหมายและตรวจสอบคนใกล้ชิดอย่างจริงจัง
 
ปรากฏการณ์ที่ทำให้รู้ว่าจักรพรรดิเฉียนหลงปล่อยปละละเลยคนใกล้ตัวอย่างมากคือ การหลับหูหลับตาข้างหนึ่งให้เหอเซินคนสนิทมากคอรัปชั่น ดังนั้น หลังจากเฉียนหลงสินพระชมม์ จักรพรรดิเจียชิ่งจึงดำเนินการจับกุมทันที จากการสอบสวนจึงทำให้รู้ว่า เหอเซินผู้นี้ยักยอกเงินหลวงไปมหาศาล หากเทียบแล้วก็เท่ากับเงินประจำศักดิ์รายปีของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงสุดถึง 24 คน และเขาเคยถูกจัดเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในศตวรรษที่ 18 ในปี คศ. 2007 ก็ถูกจัดอันดับจากหนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่าง  Wall Street Journal ให้ติดอันดับของ 50 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในรอบพันปี [11]
 
แต่รัชสมัยของเจี่ยชิ่งเป็นช่วงเวลาของความโชคร้าย มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทำให้เงินในท้องพระคลังเริ่มร่อยหรอ หลังจากที่ลดลงไม่น้อยตั้งแต่ยุคของเฉียนหลง ความไม่เด็ดขาดของเขายังทำให้เริ่มมีกบฎตามที่ต่างๆเกิดขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งเป็นยุคที่ฝิ่นเริ่มแพร่เข้ามาโดยตะวันตกและระบาดมากในสมัยหลังจากนี้ จนจีนต้องประกาศสงคราม แต่ก็พ่ายแพ้ ทำให้สถานะอันยิ่งใหญ่ของโลกตะวันออกเริ่มสั่นคลอน
 
ในสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิงยิ่งปล่อยให้ฝ่ายในเข้ามาก้าวก่ายราชกิจ นั่นก็คือ ‘ซูสีไทเฮา’ ที่จะมีอำนาจมากขึ้นไปอีกหลังจากนี้ แม้ช่วงเวลาของเสียนเฟิงจะพอประคองสถานการณ์ไปได้ แต่พอหมดยุคของเขาก็เข้าสู่ยุคของฮ่องเต้หุ่นเชิดของพระนางซูสีไทเฮา ทั้งนี้ จักรพรรดิองค์ต่อมามีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา ความทรงพระเยาว์ ทำให้ปกติต้องมีการตั้งคณะที่ปรึกษา แต่พระนางซูสีไทเฮาก็วางแผนยึดอำนาจด้วยการจัดส่งข้อหา “การใช้อำนาจไม่ชอบเพื่อข่มขู่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง” จากนั้นอำนาจก็กลับมาตกอยู่ในมือนางทั้งสิ้น 
 
จักรพรรดิ์หุ่นเชิดองค์แรกมีชะตากรรมน่าเศร้า เนื่องด้วยพระองค์ต้องการจะใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เอง แต่ถูกกีดกันและยึดอำนาจคืนทุกวิถีทาง พระองค์ต้องตรอมใจจนต้องออกไปหาความสุขนอกพระราชวัง นั่น ก็คือเที่ยวซ่องโสเภณี การที่พระองค์ทรงประชวรเสียชีวิตกระทันหันทำให้มีข้อสันนิษฐานว่าพระองค์น่าจะสิ้นพระชนม์ด้วยโรคซิฟิลิส และอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เป็นฉากในภาพยนตร์เปาบุ้นจิ้นหน้าขาวที่นำมาฉายครั้งนี้
 
เรื่องราวของราชวงศ์ชิงยังมีแง่มุมอีกหลายด้านให้ศึกษา แม้ว่าเปาบุ้นจิ้นหน้าขาวจะเพียงยืมฉากมาเป็นเนื้อเรื่องเท่านั้น ทว่า ความไร้แก่นยึดของภาพยนตร์ก็ดูเข้ากันอย่างประหลาดกับยุคสมัยที่ไม่มีหลักแกนอะไรให้ยึด ซูสีไทเฮาสนใจเพียงอำนาจของตัวเองที่รายล้อมไปด้วยผลประโยชน์ของขุนนางเก่าแก่หัวโบราณ แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจว่า หากการปฏิวัติของจักรพรรดิกวงสี่สำเร็จ หน้าตาของแผ่นดินจีนในวันนี้จะเป็นอย่างไร เพราะแนวทางที่เตรียมไว้เป็นเรื่องของการปรับตัวให้เท่าทันสังคมตะวันตก แทนที่จะอยู่นิ่งๆรอการกรัดกร่อนผุพังจากภายในแบบซูสีไทเฮา
 
สรุป
 
หากเราเชื่อเรื่องความหลากหลาย เราจะสามารถยอมรับชุดความคิดที่ยอมรับสถานะของ ‘บุคคลพิเศษ’ ได้หรือไม่?  
 
โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ดุลของโลกกำลังกลับมาที่โลกตะวันออก ซึ่งมีความคิดความเชื่อเหล่านี้เป็นพื้นฐาน โดบเรียงความนี้ได้ลองทบทวนเฉพาะหลักคิดของประเทศจีนเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ความคิดเหล่านี้อาจอยู่ในประตูบ้านของคุณเองด้วย  
 
อย่างไรก็ตาม สองร้อยปีมานี้ บรรทัดฐานของโลกใหม่ก็ได้เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับแล้วเช่นกัน โดยกำลังเป็นชนวนที่สร้างความขัดแย้งไม่น้อยในเวลานี้
 
หากเราเอาบรรทัดฐานเหล่านี้มาร่วมคิดไปกับประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์จีนที่เต็มไปด้วยอำนาจนั้นให้ความสำคัญกับ ‘หลักกฎหมาย’ หรือ ‘นิติธรรม’ ไม่น้อย และประวัติศาสตร์ของพวกเขาก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่า แม้จะมีความชอบธรรมจากสวรรค์รองรับการใช้อำนาจสักเท่าใด แต่หากใช้ล้นเกินไป แม้เป็น ‘โอรสสวรรค์’ ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ดังบทเรียนของรัฐฉินอันยิ่งใหญ่
 
ส่วนในราชวงศ์ชิง ข้อหาในลักษณะ “การใช้อำนาจไม่ชอบเพื่อข่มขู่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง” นั้นเองกับยิ่งเป็นตัวกัดกร่อนให้ล่มสลายเร็วขึ้น ซึ่งในทางตรงข้าม หากไทเฮายอมหันกลับมาจัดการกับเหลือบไร แม้จะเป็นเชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางชั้นสูงโดยจัดการให้อยู่ในครรลองของกฎหมายจริงๆ สังคมยุคสมัยนั้นก็อาจเติบโตก้าวหน้า แม้จะเป็นสังคมที่มี ‘บุคคลพิเศษ’ ก็ตาม
 
ปัจจุบัน การใช้อำนาจตามกฎหมายใน มาตรา 112 กำลังเป็นเงื่อนไขที่ความคิดเก่าของโลกและโลกใหม่ในเวลานี้จะต้องหาทางปลชนวนระเบิดเวลาลูกนี้ให้ได้ โดยไม่ควรจะต้องให้ถึงกับมีเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลาคม 2519 อีกครั้ง แต่สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้คือการไม่ยอมเข้าไปทำความเข้าใจในวิธีคิดของแต่ละฝ่ายแถมก่นด่าถ่มถุยในความโง่เง่าของอีกฝ่ายกันพัลวัน
 
เนื่องจากเรียงความนี้เขียนเพื่อความบันเทิงประกอบการชมภาพยนตร์ในเทศกาลหนังแพะ เรื่อง ‘เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว’ จึงขอมีข้อเสนอแบบคอมเมดี้ให้ทุกท่านพิจารณา
 
การใช้อำนาจตามกฎหมายที่เด็ดขาดอาจเป็นทางเสื่อมโดยไม่รู้ตัว แม้กระทั่งบุคคลที่ ‘รัก’ ก็ไม่อาจปกป้องได้ หากยังไม่รู้ซึ้งถึงอิทธิพลของสังคมโลกว่ามีพลังกดดันต่อประเทศเล็กๆนี้ขนาดไหน ในขณะเดียวกัน ผู้ ‘ไม่รัก’ ก็กำลังผลักคนที่จะต้องดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกันนี้ออกไปอย่างหมางเมิน ดังนั้น ในประเด็นมาตรา 112 ควรจะต้องมีทางออกที่ดี
 
การเสนอการเปลี่ยนแปลงด้วยคำว่า ‘แก้ไข’ เป็นคำที่ดูเสมือนการทำลายพระเกียรติยศในความรู้สึกอันบอบบางของผู้ที่รักยิ่ง ดังนั้น ทางที่จะทำให้รู้สึกบรรเทาลงเพื่อไปสู่การใช้หลักกฎหมายในระดับที่รับกันได้จึงอาจไม่ใช่การใช้คำว่า ‘แก้ไข’ และบทความนี้จึงขอเสนอให้ใช้คำว่า ‘อภิวัฒน์ 112 ’ แทน เพื่อแสดงความหมายไปสู่ทางที่ดีขึ้น เป็นการรักษาพระเกียรติยศไว้สำหรับบุคคลอันเป็นที่รักของผู้อื่น ไม่ใช่การมุ่งหักหาญเอาชัย และเป็นการหยิบยื่นเจตนาที่ดี ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบละมุนละม่อม
 
นอกจากนี้ ความขัดแย้งในปัจจุบัน มักยกเอาทฤษฎีประเภทมาร์กซิสมากำกับการอธิบาย ซึ่งแม้จะมีประเด็นที่น่าสนใจให้ศึกษา แต่การยกใช้ทฤษฎีกลับเน้นมองทุกอย่างเป็นชนชั้นไปเสียหมด แม้กระทั่งน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็มองไม่เห็นคนเล็กคนน้อยที่มีชีวิตอยู่ในนั้น จึงตะบี้ตะบันสร้างอารมณ์ความรู้สึกเกลียดชังต่อคนกรุงเทพ ฯ ทั้งที่คนกรุงเทพก็มีคนอีสานหรือคนจนเมืองตาดำๆอยู่เต็มไปหมด
 
การอธิบายเชิงชนชั้นสร้างความสำเร็จในการล่มสลายของสถาบันอันศักดิ์สิทธิของโลกใบเก่าไปหลายแห่ง โดยที่ระบบชนชั้นก็ไม่ได้ล่มสลายไปด้วย หรือโลกที่ไม่มีบุคคลศักดิ์สิทธิ์หลายๆแห่งก็ไม่มีความเท่าเทียมหรือมีการพัฒนาขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอะไร แต่ขณะที่โครงสร้างสังคมเรายังไม่ล่มสลายกลายหรือมีสงครามกลางเมือง ฝ่ายที่คิดว่าความคิดก้าวหน้าก็ควรต้องยกระดับความสามารถในการโอบกอดความแตกต่างเข้ามาให้ได้มากกว่านี้
 
ดังนั้น นอกจากข้อวิจารณ์ก่นด่าในเชิงชนชั้นแล้ว เราควรหันมาศึกษา หรือยกตัวอย่างข้อดี ข้อเสีย จากระบบแบบบุคคลพิเศษบ้าง เช่น การยอมให้มีการวิพากวิจารณ์เจ้าเหนือชีวิตของเว่ยเจิงเป็นเรื่องที่ดีต่อถังไท่จงอย่างไร  ระบบจักรพรรดิที่สนับสนุนเศรษฐศาสตร์แบบอู๋เว่ย (ไม่เข้าไปแทรกแซง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ) ไปกันได้กับการค้าเสรีอย่างไร อย่างนี้ เราอาจจะหาทางออกให้กับอนาคตที่ดุลของโลกกำลังย้ายมาทางตะวันออก โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่าย และชีวิตไปกับการซ่อมโครงสร้างที่ล่มสลายด้วยการถอดรื้อโดยสิ้นเชิงที่มากเกินไปนัก. 
 
 ……………………
[1] เอนก เหล่าธรรมทัศน์,ตะวันออก-ตะวันตก ใครสร้างโลกสมัยใหม่,กรุงเทพฯ:มติชน,2554 หน้า 31
[2] น.นพรัตน์ อ้างแล้วหน้า 115
[3] บุญศักดิ์ แสงระวี,จิ๋นซีฮ่องเต้ มหาราชหรือทรราช, กรุงเทพ:เคล็ดไทย,2530 หน้า 54 ยกมาจากประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน เขียนโดยเลียง เสถียรสุต
[4] ซางเอียงเคยเรียนวิชาปกครองจากหลี่ขุย ซึ่งแต่งหนังสือกฎหมายไว้หกบท ประกอบด้วยบทลักทรัพย์ ขโมย นักโทษ จับกุม เบ็ดเตล็ดและเครื่องมือ
[5] นักนิติธรรมที่โดดเด่นด้านการทหารด้วย พิชัยยุทธอู๋ฉียังได้รับการขนานนามคู่กับพิชัยยุทธซุนวู เขามีบทบาทในรัฐวุ่ยโดยได้ถอดถอนบรรดาขุนนางที่สืบทอดตำแหน่งมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ริดรอนอำนาจเชื้อพระวงศ์สูงศักดิ์ ต่อมาถูกแก้แค้นด้วยการระดมยิงธนูหน้าไม้จนเสียชีวิตในงานพระศพเจ้าแคว้น แต่เขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับซางเอียง
[6] อ้างแล้ว หน้า 56-57
[7] เป็นกลวิธีที่อู๋ฉีเคยใช้มาก่อน
[8] ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ,มหาอาณาจักรฮั่น อ่านประวัติศาสตร์ด้วยสายตานักบริหาร,กรุงเทพ:บุ้คสไมล์,2550 หน้า 37 ซี่ไผ่มีความหมายถึงตำราต่างๆ คนไม่อ่านตำรา 2 คน คือ เซี่ยงอวี่กับเล่าปัง ต่อมาเล่าปังคือปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น
[9] น.นพรัตน์,เกร็ดประวัติบุคคลในยุคเลียดก๊ก ยอดคนยอดปฐพี,กรุงเทพ : สยามอินเตอร์คอมมิคส์,2544 หน้า 136
[10] น. นพรัตน์ อ้างแล้ว หน้า 144
[11] จอมยุทธสวี่,ชิง จุดจบระบบจักรพรรดิ์,กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์,2554 หน้า 142
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักสหภาพคุยเรื่องซับคอนแทรค ชี้หนึ่งทางออกคือ ม.11/1

Posted: 18 Dec 2011 09:15 AM PST

นักสหภาพคุยเรื่องการจ้างงานเหมาช่วง สหภาพแรงงานต้องเรียกร้องสิทธิให้คนงานทุกคนเท่าเทียมกัน อีกหนึ่งทางออกคือ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน  ม.11/1 แต่คนงานซับคอนแทรคต้องกล้าต่อสู้

18 ธ.ค. 54 – ที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “แรงงานซับคอนแทรคในอุตสาหกรรมต่างๆ” โดยมีตัวแทนจากสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์, ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์, ผลิตยางรถยนต์, ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเข้าร่วมการสัมมนา

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกกล่าวถึงภาพรวมการใช้แรงงานผ่านบริษัทจ้างเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค (sub-contract) ในปัจจุบันนั้น พบว่าได้คืบคลานมาเกือบในทุกอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยแล้วแล้ว

บุญยืนกล่าวว่าหลายที่นายจ้างมักจะนำซับคอนแทรคเข้ามาตอนที่มีการเจรจาข้อเรียกร้อง ทั้งๆ ที่กำลังการผลิตของพนักงานประจำก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นแท็คติคของนายจ้าง นายจ้างพร้อมที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อทำลายสหภาพแรงงาน โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่าการจ้างแรงงานผ่านบริษัทซับคอนแทรคนั้น ต้นทุนจะตกอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 9,000 บาทต่อคนงานหนึ่งคนต่อเดือน แต่ถ้าหากบริษัทจ้างพนักงานโดยตรงจะไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงขนาดนี้

และมีกรณีที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกยื่นข้อเรียกร้อง นายจ้างได้ใช้ซับคอนแทรคเข้าคุมเครื่องจักร แล้วกันพนักงานประจำออกโรงงาน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการกระทำแบบนี้

เมื่อกล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานซับคอนแทรคนั้น บุญยืนกล่าวว่าในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 ได้ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว  ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

ซึ่งที่ผ่านมาการต่อสู้ของคนงานซับคอนแทรคที่ทำงานในบริษัทยูลินิเวอร์ได้ไปร้องที่พนักงานตรวจแรงงาน และได้มีคำสั่งให้พนักงานซับคอนแทรคได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานประจำมาแล้ว รวมถึงการการฟ้องร้องบริษัทเหมาค่าแรงในศาลแรงงานกลางก็มีกรณีตัวอย่างที่มีคนงานไปฟ้อง แล้วศาลชั้นต้นตัดสินในแนวเดียวกันกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานกรณีซับคอนแทรคของยูลินีเวอร์ แต่ทั้งนี้คดีนี้ยังอยู่ในขั้นอุทรณ์ของนายจ้างอยู่

 

คนงานซับคอนแทรค บ.ยูนิลีเวอร์ ร้อง ก.แรงงาน ถูกนายจ้างเบี้ยวค่าแรง
 
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา คนงานสังกัด บริษัททองพูล จำเริญ เซอร์วิส จำกัด จำนวนกว่า 230 คน ซึ่งเป็นบริษัทซับคอนแทรค ของบริษัท ยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ผลิต ไอครีม ผงซักฟอก และแชมพูยี่ห้อดัง ถูกนายจ้างโอนย้ายให้ไปทำงานกับบริษัทซับคอนแทรคแห่งใหม่ โดยไม่บอกเลิกสัญญาจ้าง ได้เดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือ
 
นายยอดยิ่ง แวงวรรณ กรรมการสหภาพแรงงานลูกจ้างเหมาค่าแรง กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานไม่พอใจการโอนย้ายครั้งนี้ เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ที่มีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป กลับต้องไปเริ่มต้นฐานค่าแรงและสวัสดิการเหมือนเป็นพนักงานใหม่ โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เมื่อพวกตนไม่ยินยอม นายจ้างจึงไม่ให้เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เชื่อว่าสาเหตุที่นายจ้างทำเช่นนี้เพราะต้องการล้มล้างสหภาพแรงงาน หลังจากคนงานเพิ่งจะรวมตัวกันตั้งสหภาพได้เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 53 ที่ผ่านมา

 

 
โดยบุญยืนทิ้งท้ายไว้ว่า แต่ทั้งนี้ปัญหาที่พบก็คือยังไม่ค่อยมีคนงานซับคอนแทรคใช้ลู่ทางที่กล่าวในการเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น คนงานซับคอนแทรคไม่มีข้อมูลและแนวทางสู้ในเรื่องนี้ รวมถึงความพยายามใช้แทคติคไม่ให้คนงานสู้ถึงศาลฎีกาของนายจ้าง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฆษณาอาหารและยา ถึงเวลาจัดระเบียบหรือยัง

Posted: 18 Dec 2011 09:01 AM PST

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แถลงข่าวการโฆษณาในลักษณะแถมพก เสี่ยงโชค หรือให้ของแถม ผ่านสื่อของเครื่องดื่มชูกำลังผสมคาเฟอีนยี่ห้อต่างๆ จึงออกมาเรียกร้อง ให้ อย.มีคำสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจ และระงับการโฆษณาที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายโดยเด็ดขาด และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาปฏิบัติตามคำสั่งของ อย. อย่างเคร่งครัด ( http://goo.gl/yaA5q)

ความจริง ถ้าดูส่วนผสมของเครื่องดื่มประเภทนี้แล้ว ก็ไม่อาจนับว่ามีอันตรายมากนัก และยังมีเครื่องดื่มอีกหลายชนิด ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเช่นเดียวกันอีกมาก เช่น ชาเขียว, กาแฟ, เครื่องดื่มพวกน้ำดำ (โคล่า), ชาจีน, ชาฝรั่ง, ช็อกโกแลต ฯลฯ แต่เหตุที่เครื่องดื่มชนิดนี้ต้องถูกเข้มงวดด้านการโฆษณาอย่างมาก ก็เพราะความพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่า เป็นเครื่องดื่มที่ทำให้มีกำลังมาก ทำงานไม่เหนื่อย  เลยถูกเพ่งเล็ง  และถูกกำหนดให้มีข้อจำกัดด้านการโฆษณาหลายอย่าง เช่น ต้องมีฉลากห้ามดื่มเกินวันละสองขวด, ห้ามเด็กและสตรีมีครรถ์ดื่ม, ห้ามใช้พรีเซนเตอร์เป็นนักกีฬา , ห้ามส่งเสริมการขายโดยการชิงโชค, ห้ามให้ของแถม ฯลฯ

ความจริง การเข้มงวดการโฆษณาแบบนี้เป็นสิ่งดี และควรจะขยายความเข้มงวดนี้ไปยังผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่มีลักษณะสร้างภาพลักษณ์เกินจริงด้วย เช่น การอ้างว่า เครื่องดื่มของตนมีวิตามิน B12 บำรุงสมองได้, อยากเป็นหมอ ต้องดื่มเครื่องดื่มยี่ห้อนี้, กาแฟลดความอ้วนที่ตอนออกอากาศในฟรีทีวีใช้เสียงค้อนทุบ ตอกซ่อมอ่างแทนบรรยายสรรพคุณ แต่ในวิทยุชุมชนหรือเคเบิลทีวี หรือตอนขายตรงบอกสรรพคุณที่เหลือเชื่อ อย่างโจ่งแจ้ง

น้ำต้มไก่ ซึ่งเมื่อเทียบคุณค่าทางโภชนาการแล้ว มีโปรตีนในซุปไก่ 1 ขวด เท่ากับโปรตีนใน ไข่ไก่ 1/2 ฟอง และโปรตีนในนมสด 1/3 กล่อง ยิ่งไปกว่านี้ เมื่อพิจารณาสารอาหาร อื่นๆ โดยรวมแล้ว ในซุปไก่จะมีน้อยกว่าไข่ไก่ 1/2 ฟอง และนมสด 1/3 กล่องมากทีเดียว (http://goo.gl/SqicJ) ก็ถูกโฆษณาเหมือนของวิเศษ

หรือรังนก ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ทำการวิเคราะห์หาส่วนผสมของรังนกนางแอ่น พบว่า ประกอบด้วยโปรตีนร้อยละ 60.90 แคลเซียม ร้อยละ 0.85 น้ำร้อยละ5.11 โพแทสเซี่ยมร้อยละ 0.05 และฟอสฟอรัส ร้อยละ 0.03 รังนกสำเร็จรูปที่ขายตามท้องตลาดนั้น จะมีรังนก 1% น้ำตาลกรวดประมาณ 12% ซึ่งหากนำพลังงานนี้มาเทียบกับไข่ไก่ หรือนม จะเห็นได้ว่า รังนกสำเร็จรูปมีพลังงานน้อยกว่าไข่ไก่ 1 ฟอง หรือประมาณ 1/3 ของนม 1 กล่อง ถ้าจะเทียบโปรตีน หากร่างกายต้องการโปรตีนที่มีอยู่ในไข่ 1 ฟอง จะต้องกินรังนกสำเร็จรูปถึง 26 ขวด หรือถ้าต้องการได้โปรตีนเท่ากับนม 1 กล่อง ต้องกินรังนก 34 ขวด หรือจะว่าไปแล้ว หากเรากินรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด ก็เท่ากับเราดื่มนมสด ½ ช้อนโต๊ะหรือถั่วลิสง 2 เม็ดเท่านั้น นั่นหมายความว่า รับประทานถั่ว 2 เม็ด แถมนมอีกครึ่งแก้วก็สามารถเป็นยาบำรุงกำลังได้มากกว่ากินรังนกสำเร็จรูป 1 ขวดหรือซด 1 ถ้วยใหญ่ ๆ เสียอีก (http://goo.gl/mQ6i6)

นอกจากนี้ ยังมีอาหารและเครื่องดื่มชนิดแปลกๆ อีกมาก เช่น ผสมคอลลาเจนจากปลาน้ำลึก, ผสมน้ำลูกพรุน, ผสมชาเขียว, ผสมสารต้านอนุมูลอิสระ, ผสมคลอโรฟิลล์, ผสมเลือดจระเข้ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเครื่องดื่ม หรืออาหารเหล่านี้ แม้แต่ผมซึ่งเป็นแพทย์ ก็นึกไม่ค่อยออกว่า มันมีประโยชน์อย่างไร ตรงไหน ดังนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเข้มงวดการโฆษณา อาหารและเครื่องดื่ม เหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม อาหารและเครื่องดื่มที่เขียนถึงด้านบน ยังสำคัญน้อยกว่าอาหารและเครื่องดื่มที่มีอันตรายอย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อาหารและเครื่องดื่มที่ว่าก็ได้แก่ อาหารที่มีน้ำตาล, เกลือโซเดียม, และไขมันมากเกินไปจะเป็นบ่อเกิดของโรคอ้วน, โรคความดันโลหิตสูง,  เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ, หลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง และสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลอย่างมาก

อาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป เช่น น้ำอัดลม, น้ำหวานชนิดต่างๆ รวมทั้งน้ำผลไม้ผสมน้ำตาล,  หรือน้ำตาลผสมกลิ่นผลไม้, ขนมกรุบกรอบ, ขนมหวานจัด, ลูกอม ฯลฯ

อาหารที่มีส่วนประกอบของ ไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และไขมันชนิด Trans fat จำนวนมาก เช่นพวกเบเกอรี่ชนิดต่างๆ อาหารทอด กรุปกรอบต่างๆ

อาหารที่มีเกลือโซเดียมชนิดต่างๆ มากเกินไป ได้แก่ โซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง), โซเดียมไบคาร์บอเนต(ผงฟู), โมโนโซเดียมกลูตาเมต(ผงชูรส) โซเดียมเบนโซเอต(สารกันบูด)

อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีอันตรายชัดเจนเหล่านี้ การโฆษณา น่าจะต้องมีมาตรการพิเศษ ความจริงก็มีความพยายามของคณะกรรมการอาหารและยา ที่แนะนำ ชักชวน ให้บรรดาอาหารต่างๆ แสดง”ฉลากโภชนาการ” ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน ดูเหมือนฉลากที่ว่านี้ จะไม่มีประโยชน์ในการแนะนำ ตักเตือน หรือเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ เพราะ

1. ไม่ใช่มาตรการบังคับให้ต้องมีฉลากที่ว่า

2.  ขนาดอักษรเล็กเกินไป

3.  อ่านเข้าใจยาก แม้แต่ผู้เขียน ซึ่งเป็นแพทย์ ยังต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ในการหา    ความรู้เรื่อง หน่วยบริโภค, จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ, ปริมาณแนะนำต่อวัน ฯลฯ

4. แม้จะอ่านเข้าใจ แต่การนำไปใช้ ยังต้องใช้องค์ความรู้อีกมาก เช่น อาหารชนิดนี้มี 300 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 หน่วยบริโภค, ใน 1 ภาชนะบรรจุ ประกอบด้วย 2 หน่วยบริโภค ถ้ารับประทาน 1 ภาชนะบรรจุ ใน 1 วัน ก็เท่ากับ 600 กิโลแคลอรี่ ผู้บริโภคที่ต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ อาจรู้สึกว่าไม่มาก แต่ในความเป็นจริง ถ้ารับประทานอาหารอีก 3 มื้อ ขนม และผลไม้อย่างอื่นอีก รวมแล้ว พลังงาน อาจเกินไปจำนวนมาก

ในความเห็นของผู้เขียน ฉลากของบรรจุภัณฑ์ ต้องเห็นชัด และเข้าใจง่าย เช่น บังคับให้แจ้งที่บรรจุภัณฑ์ ด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ เช่น “ผลิตภัณฑ์นี้ ประกอบด้วยไขมันชนิด” Trans fat” ในปริมาณสูง ไม่ควรบริโภคในปริมาณมาก หรือติดต่อกันเป็นประจำ” อย่างนี้เป็นต้น

นอกจากมาตรการบังคับฉลากแล้ว ควรต้องมีมาตรการอื่นร่วมด้วย เช่น ภาษีสรรพสามิต สำหรับนำมาใช้รักษาผู้บริโภคที่รับประทานอาหารที่เกิดโทษเหล่านี้, มาตรการห้ามโฆษณา และส่งเสริมการขายชนิดต่างๆ อย่างที่บังคับใช้กับ ”เครื่องดื่มชูกำลัง” เป็นต้น

การโฆษณาอาหารและยา ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งอีกอย่างคือ “การหลอกลวง” หลังจากกรณี “น้ำหมักป้าเช็ง” ผ่านไป เรื่องก็เงียบ ใครที่เคยฟังวิทยุชุมชน,ทีวีดาวเทียม,หรืออ่านเว๊บทางอินเตอร์เนต ก็จะเห็นโฆษณาสมุนไพร อาหารเสริม ยาแผนโบราณ ที่สามารถรักษาโรคได้เกือบทุกชนิด ตั้งแต่ผด ผื่นคัน ริดสีดวง ลดความอ้วน  เพิ่มสมรรถนะทางเพศ ไปจนถึงอัมพฤกษ์, อัมพาต, ไตวาย, ตับแข็ง, มะเร็ง ฯลฯ บางรายถึงกับอ้างว่า มี อย.รับรองคุณภาพ ทั้งๆ ที่การได้เลข อย. มานั้น อย.รับรองเฉพาะส่วนผสม สถานที่ผลิต และระบบการผลิต เท่านั้น ไม่ได้รับรองสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ แต่อย่างใด

อีกไม่นาน เราจะมีระบบ 3G และคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งจะเพิ่มจำนวนวิทยุชุมชน,ทีวีดาวเทียม, และเว็บทางอินเตอร์เน็ต แน่นอนว่า การโฆษณาหลอกลวงเหล่านี้ จะเพิ่มขึ้นมากเป็นเงาตามตัว

การจัดการกับการโฆษณาทั้งหลายดังกล่าวมาข้างต้น ลำพังคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่มีศักยภาพพอ ต้องเริ่มตั้งแต่นโยบายของคณะรัฐมนตรี, กฏหมายจากรัฐสภา, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ.), คณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.), คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ( กบว.), สำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ( สช.),สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฯลฯ รวมถึงองค์กรเอกชน (NGO) ต่างๆ ซึ่งผู้เขียนก็หวังอย่างยิ่งว่า หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นนี้ จะกระตือรือร้น ในการจัดการกับการโฆษณาที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นโดยเร็ว

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวตูนีเซียฉลองครบรอบ 1 ปีการปฏิวัติ

Posted: 18 Dec 2011 08:30 AM PST

ชาวตูนีเซียนับหมื่นมารวมตัวเฉลิมฉลองกันที่จัตุรัสในกลางเมืองซีดี บูวซิด เมื่อที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติตูนีเซียเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงมีการเปิดตัวอนุสาวรีย์ โมฮาเม็ด บูวอาซีซี ผู้จุดไฟเผาตัวเองจนกลายเป็นชนวนของการลุกฮือ

18 ธ.ค. 2011 - ประชาชนชาวตูนีเซียหลายหมื่นคนมารวมตัวกันที่จัตุรัสใจกลางเมืองของเมืองซีดี บูวซิด เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีการปฏิวัติตูนีเซีย ในสถานที่เดียวกับที่เป็นจุดเริ่มต้นของการลุกฮือของประชาชนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับตามมา

โดยเมื่อวันเสาร์ (17) ที่ผ่านมา มีพิธีการเปิดตัวรูปปั้นอนุสาวรีย์ของโมฮาเม็ด บูวอาซีซี ผู้ที่เผาตัวเองจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการปฏิวัติตูนีเซียตามมา ซึ่งในพิธีการนี้มีประธานาธิบดีคนใหม่ของตูนีเซีย มอนเซฟ มาร์ซูวคี เข้าร่วมด้วย

ชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ "ดอกไม้บานในอาหรับ" คือตอนที่บูวอาซีซี นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแต่ไม่มีงานทำจุดไฟเผาตัวเองด้วยความสิ้นหวัง ในขณะที่ตำรวจกำลังยึดรถเข็นขายผักผลไม้ของเขาเนื่องจากไม่ได้รับการจดทะเบียน บูวอาซีซีเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล

ความตายของบูวอาซีซี ช่วยทำให้ความคัยแค้นที่คุกรุ่งอยู่ปะทุขึ้น จากความไม่พอใจเรื่องความยากจน การไม่มีงานทำ ปัญหาทุจริต และการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ กระทั่งเกิดการประท้วงขึ้นทั่วตูนีเซีย ทำให้ประธานาธิบดี ซีเน อัล-อบีดีน เบน อาลี ต้องหนีออกจากประเทศในอีกไม่ถึงเดือนต่อมา

การปฏิวัติในตูนีเซียได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่นๆ ในอาหรับลุกขึ้นต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการที่ฝังรากในประเทศของตน

ในอียิปต์และลิเบียสามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการได้สำเร็จ ขณะที่ผู้นำเยเมนตอนนี้ก็ยอมถอยให้กับกลุ่มปฏิรูปถ่ายโอนอำนาจ ขณะที่ผู้นำซีเรียก็เจอการต่อต้านด้วยกำลังที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การเฉลิมฉลอง
สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานบรรยากาศการเฉลิมฉลองในเมืองซีดี บูวซิด ว่า มีประชาชนหลายหมื่นคนชุมนุมกันอย่างครื้นเครงที่จัตุรัสกลางเมือง พวกเขาเต้นรำไปตามจังหวะเพลงที่ได้รับความนิยมแม้อากาศจะหนาว ตามท้องถนนมีการประดับธงและรูปถ่ายของชาวตูนีเซียที่ถูกสังหารในช่วงที่มีการลุกฮือ

"มันเป็นวันแห่งความรื่นเริง ซีดี บูวซิด ถูกละเลยมานาน และวันนี้มันจะกลายเป็นเมืองหลวงของโลก" ชายหนุ่มที่ชื่ออีหมาดกล่าว "เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ของปีที่แล้ว โลกอาหรับได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ นี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ"

การเฉลิมฉลองจะมีไปจนถึงสุดสัปดาห์นี้โดยมีคนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติหลายคนเตรียมตัวเข้าร่วมด้วย หนึ่งในนั้นมี ทาวากุล คาร์มาน นักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลชาวเยเมนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

อย่างไรก็ตามบรรยากาศสนุกสนานของเมืองซีดี บูวซิด ดูจะยังสนุกได้ไม่เต็มที่ เมื่อพวกเขาต้องเตือนตัวเองว่า การเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยในตูนีเซียยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาการว่างงานได้ในขณะนี้ โดยที่ปัญหาเรื่องเนยและขนมปังก็เคยเป็นชนวนนำไปสู่การประท้วงของชาวตูนีเซียมาก่อน

ทางด้าน มานูวเบีย บูวอาซีซี มารดาของโมฮัมเม็ดผู้จุดไฟเผาตัวเอง ก็กล่าวเน้นย้ำในเรื่องที่หลายคนยังกังวลอยู่ โดยขอให้รัฐบาลตูนีเซียเดินรอยตามแนวทางปฏิวัติ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว

"ลูกของฉันจุดไฟเผาตัวเองเพื่อให้ตูนีเซียและโลกอาหรับมีเสรีภาพ ... ฉันอยากร้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐให้ความสนใจกับพื้นที่ยากจนและสร้างงานให้กับคนหนุ่มสาว" มานูวเบียกล่าว

คืนศักดิ์ศรีให้พวกเรา
มอนเซฟ มาร์ซูวคี ประธานาธิบดีคนใหม่ล่าสุดของตูนีเซีย ได้กล่าวสดุดีชาวตูนีเซียทุกคนที่ปฏิวัติต่อต้าน เบน อาลี รวมถึงคนที่ได้สละชีวิตไปในการนี้ด้วย

"เมืองซีดี บูวซิด ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกละเลยให้เป็นชายขอบ ได้นำเกียรติยศศักดิ์ศรีของชาวตูนีเซียกลับคืนมา" มอนเซฟกล่าว "พวกเราสัญญาว่าจะช่วยฟื้นฟู นำความปิติสุขในชีวิตกลับคืนมาสู่พื้นที่เหล่านี้"

การปฏิวัติตูนีเซียนำประเทศไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1956 แต่ในตอนนี้ยังไม่ทำให้ปัญหาความยากจนและการว่างงานจำนวนมากหมดลง ขณะเดียวกันการปฏิวัติก็ทำให้เศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนหวาดกลัวและนักลงทุนต่างชาติไม่กล้ามาลงทุน

ความไม่พอใจในเรื่องนี้ทำให้เกิดการจลาจลขึ้นในหลายช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงในคราวนี้ได้ขุดไฟเผาอาคารของรัฐและปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความสงบ

"การสดุดีเมืองซีดี บูวซิด เป็นเรื่องดี แต่พวกเราต้องการมีงาน เพียงแค่มีงานทำเท่านั้นถึงจะทำให้ศักดิ์ศรีของพวกเรากลับคืนมาได้ ประชาชนที่นี่ต้องการขนมปัง ไม่ใช่เครื่องดนตรีที่ให้ความบันเทิงกับตัวเอง" นาบิลา อบีดี นักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำกล่าวกับผู้สื่อข่าว

"รัฐบาลใหม่ต้องเข้าใจสิ่งที่พวกเราต้องการจะสื่อและดูแลให้คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นการปฏิวัติก็จะกลับมาอีก" แมนเซอร์ อมามูว ชาวเมืองอีกรายหนึ่งกล่าว

การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในตูนีเซียลดลงร้อยละ 0.2 ในปี 2011 จากร้อยละ 3 ในปี 2010 ช่วงที่เบน อาลี ยังปกครองประเทศ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่คาดการว่าการเติบโตจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในปี 2012

ทางด้านธนาคารกลางระบุว่าจำนวนการว่างงานที่มีอยู่ร้อยละ 13 ในช่วงปลายปี 2010 ในตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.3

 

 

ที่มา
Tunisian town marks anniversary of revolution, Aljazeera, 18-12-2011  
http://www.aljazeera.com/news/africa/2011/12/201112171770581686.html

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันแรงงานข้ามชาติสากล อดีตกก.สิทธิ แนะแรงงานข้ามชาติ-ไทย จับมือยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเอง

Posted: 18 Dec 2011 07:08 AM PST

อดีตกรรมการสิทธิฯ ชี้ท่าทีไทย-อาเซียนยังไม่สนใจแรงงานเท่าที่ควร แนะคนงานข้ามชาติ-ไทยต้องสามัคคี ต่อสู้ยกระดับคุณภาพชีวิตร่วมกัน ด้านเครือข่ายแรงงานข้ามชาติออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐไทยดูแลให้คนงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

(18 ธ.ค.54) เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธ.ค.ของทุกปี เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และโครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในวันแรงงานข้ามชาติ (PHAMIT) จัดกิจกรรมวันแรงงานข้ามชาติสากลขึ้น ภายใต้หัวข้อ "ครอบครัวเดียวกัน สานสัมพันธ์อาเซียน" ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปาฐกถาในหัวข้อ "บทบาทรัฐไทยต่อแรงงานข้ามชาติสู่การเป็นประชาคมอาเซียน" โดยระบุว่า ในวันนี้ขอให้แรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าทั้งแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย หรือแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศ ระลึกถึงคุณค่าของตนเองในการสร้างสรรค์โลก จากการเดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน ต้องรำลึกด้วยว่า แม้จะมีการพูดถึงการให้คุณค่าแรงงาน แต่ชีวิตจริงแรงงานจำนวนมากยังอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่

สุนี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐไทยไม่มีนโยบายหรือกลไกที่จะดูแลแรงงานทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ยังดีที่มีการระบุในรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจนว่าต้องคุ้มครองแรงงาน รวมถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้และจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.55 ถึงปี 59 ก็ระบุว่ารัฐบาลไทยต้องเคารพต่อสิ่งที่อาเซียนตกลงกันเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ดูแลเรื่องการค้ามนุษย์ และกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบ พัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ด้านอาเซียนเอง สุนี กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2550 มีการลงนามในปฏิญญาเซบู ซึ่งระบุถึงประเด็นแรงงานข้ามชาติว่า ต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ จัดการกับการค้ามนุษย์ โดยมีบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้ฟังดูเข้าที แต่ก็ดูเหมือนว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะยังไม่สามารถเข้าใจความหลากหลายได้ บางประเทศยังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เคารพต่อประชาชนจริงจัง รวมถึงยังมีแนวทางเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจะเห็นการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สร้างทางหลวง เขื่อน โรงไฟฟ้า โดยไม่ได้พูดถึงคนเลย ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นเหมือนหนึ่งในปลาใหญ่ ที่เอาเปรียบปลาตัวเล็กกว่าเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เธอเสนอว่า จะต้องไม่หมดหวัง โดยทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติจะต้องมีเป้าหมายในการยกระดับฐานคุณภาพชีวิตของตนเองร่วมกัน ต้องสามัคคีกัน จะหวังพึ่งรัฐไทย พม่า หรือนโยบายอาเซียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคอยต่อรอง ตรวจสอบ และผลักดันอยู่ตลอด พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จในการต่อรองไม่ให้มีการแย่งชิงเอาเปรียบฐานทรัพยากรของประเทศอื่น เช่น การคัดค้านการสร้างเขื่อนฮัตจีในพม่า หรือเขื่อนไซยะบุรีในลาว ซึ่งล่าสุดต้องชะลอออกไป
 

แถลงการณ์วันแรงงานข้ามชาติสากล
ร้องรัฐไทย ช่วยแรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน

นอกจากนี้ คณะทำงานจัดกิจกรรมวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และโครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในวันแรงงานข้ามชาติ (PHAMIT) ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ทำหน้าที่ดูแลและจัดให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ด้วยการ

1.จัดให้การจดทะเบียนและการขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างทั่วถึง เข้าถึงและเป็นธรรม ด้วยการเปิดให้จดทะเบียนผ่อนผันทุกปีและตลอดทั้งปี จัดให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่แรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน ผลทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งหน้าที่จากการนั้น ด้วยภาษาของแรงงานเอง ทั้งก่อนการจดทะเบียน ระหว่างการจดทะเบียนและหลังจดทะเบียน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One-stop service ที่แท้จริง กล่าวคือ จดทะเบียน ตรวจโรค และขอใบอนุญาตทำงานในสถานที่เดียวกัน โดยออกบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงานให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว รวมทั้งกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่าคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน

2.รัฐต้องให้การพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติเป็นการพิสูจน์สัญชาติที่แท้จริง ทั่วถึงและปลอดภัย ด้วยการเจรจาและทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ ในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ โดย
(1) ให้คำนึงถึงความปลอดภัยและเคารพต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(2) รับรองความเป็นพลเมือง (เพิ่มชื่อในระบบทะเบียนราษฎร ออกบัตรประจำตัวประชาชน) และรับรองสิทธิของพลเมืองตามกฎหมาย
(3) กำหนดให้มีการพิสูจน์สัญชาติผู้ติดตามทุกคน

3.รัฐต้องทำให้การจดทะเบียนและการพิสูจน์สัญชาติของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างทั่วถึง เข้าถึง โดยไม่มีข้อจำกัด ด้วยการขยายคำว่า ผู้ติดตาม ไม่ได้จำกัดเพียงแค่บุตร ให้ครอบคลุมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยตามความเป็นจริง อาทิ หลาน หรือบิดามารดา และอนุญาตให้จดทะเบียนผู้ติดตามตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนผู้ติดตามและให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สัญชาติผู้ติดตามทุกคน

4.รัฐต้องแก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานเป็น 18 ปี พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง โดยยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (งานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย) และฉบับที่ 10 (ประมงทะเล) ในส่วนที่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และที่มีการละเมิดสิทธิเด็ก แก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานคือ อายุ 18 ปีบริบูรณ์และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่ใช้แรงงานเด็กและละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

5.รัฐต้องจัดการศึกษาให้แก่ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็กและต้องคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยให้ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็ก ไม่ว่าจะมีบัตรประจำตัวหรือไม่ สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องถูกจับ และปลอดภัยจากการละเมิดโดยบุคคลอื่น หลักสูตรการเรียนการสอนต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็ก และจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม สังคม และเอกลักษณ์ของเด็ก

6.รัฐต้องขจัดขบวนการนำพาและขบวนการนายหน้าแรงงานข้ามชาติ โดยขจัดช่องทางที่ทำให้เกิดกระบวนการนายหน้าในการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ และเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบป้องกันและปราบปราม และลงโทษนายหน้า ผู้ประกอบการ ผู้สนับสนุน และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการค้ามนุษย์

7.รัฐต้องจัดให้แรงงานข้ามชาติเปลี่ยนย้ายงาน ย้ายนายจ้างและเลือกทำงานอย่างเสรี

8.รัฐต้องจัดให้แรงงานข้ามชาติมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน โดยกำหนดเป็นนโยบายหรือคำสั่งรับรองและคุ้มครองสิทธิในเงินทดแทนของแรงงานทุกคน

9.รัฐต้องรับรอง คุ้มครอง และทำให้เป็นจริง ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิในสุขภาพ อนามัยและเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึง โดยดำเนินการเชิงรุกในการตรวจตรา ควบคุมและกำกับดูแลให้ชุมชนที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติปลอดภัยและถูกสุขอนามัย ภายใต้ความคุ้มครองของประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ในส่วนของค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีเอดส์ (ARV) การเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจเลือดด้วยความสมัครใจและเป็นความลับ และดำเนินการเชิงรุกในการตรวจตรา ควบคุมและดูแลให้สถานประกอบการ มีสภาพการทำงานที่ถูกสุขอนามัยและปลอดภัย ซึ่งรวมถึงบังคับใช้บทบัญญัติในหมวด 8 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เรื่องความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง

10.รัฐต้องรับรองคุ้มครอง และทำให้เป็นจริง ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของแรงงานข้ามชาติ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของกลไกคุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้เอื้อต่อการใช้สิทธิทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าแรงงานข้ามชาตินั้นจะมีลักษณะการเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม สิทธิที่จะมีล่ามภาษาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงขั้นตอนร้องทุกข์และอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือถูกละเมิดสิทธิ สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดให้ได้รับค่าชดเชย ค่าเสียหาย หรือการเยียวยาอื่นๆ ตามกฎหมาย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Vaclav Havel

Posted: 18 Dec 2011 06:15 AM PST

Truth and love must prevail over lies and hate.

former Czech president

น้ำท่วมใหญ่ 2554 ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและคนงาน

Posted: 18 Dec 2011 05:30 AM PST


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

ทหารสหรัฐอเมริกากลุ่มสุดท้ายออกจากอิรักแล้ว-หลังบุกเมื่อปี 46

Posted: 18 Dec 2011 01:46 AM PST

ยานยนต์ของทหารสหรัฐอเมริกาขบวนสุดท้ายได้ออกจากอิรักเข้าสู่คูเวตแล้วในวันนี้ นับเป็นการสิ้นสุด 9 ปีการยึดครองอิรักที่เริ่มเมื่อปี 2546 ขณะที่นักวิเคราะห์กังวลว่าอิรักซึ่งไม่มีโครงสร้างทางการเมืองที่เข้มแข็งพอ อาจเกิดการแตกแยกระหว่างผู้นับถือนิกายต่างๆ หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจากอิหร่าน 

บีบีซีรายงานวันนี้ (18 ธ.ค.) ว่า ขบวนยานยนต์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ออกจากอิรักเข้าสู่คูเวตแล้ว นับเป็นเวลากว่า 9 ปีหลังจากที่สหรัฐอเมริกาบุกเข้าอิรักเพื่อโค่นรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน

โดยขบวนยานยนต์ของทหารสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย รถหุ้มเกราะกว่า 100 คัน ทหาร 500 นาย มุ่งหน้าผ่านทะเลทรายของอิรักในช่วงกลางคืน

ทั้งนี้ช่วงที่มีปฏิบัติการทางทหารเข้าสู่จุดสูงสุด เคยมีทหารสหรัฐอเมริกาประจำการในอิรักกว่า 170,000 นาย ในฐานทัพกว่า 500 แห่งในอิรัก

และนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาบุกอิรักในปี 2546 มีทหารสหรัฐอเมริกากว่า 4,500 นาย และมีชาวอิรักหลายหมื่นรายเสียชีวิต

สหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว

กองทัพสหรัฐอเมริกายุติปฏิบัติการสู้รบในอิรักตั้งแต่ปี 2553 และได้ส่งมอบภารกิจด้านรักษาความมั่นคงแล้ว

ส.ต.มาร์ติน แลมป์ ทหารสหรัฐอเมริกากล่าวระหว่าง “ลาดตระเวนไปตามถนน” เพื่อออกจากอิรักว่า “เป็นความรู้สึกที่ดี ที่ทราบว่านี่จะเป็นภารกิจสุดท้ายของที่นี่”

เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ คุณรู้หรือไม่ พวกเราเป็นคนกลุ่มสุดท้าย”

หลังรถหุ้มเกราะข้ามชายแดน ประตูข้ามแดนที่อยู่เบื้องหลังทหารสหรัฐอเมริกาได้ปิดลง ทหารสหรัฐและทหารชาวคูเวตได้ตรงเข้าจับมือกันและโพสต์ท่าถ่ายรูป

ทั้งนี้มีทหารสหรัฐอเมริกาประจำการในอิรัก 157 นาย เพื่อรับผิดชอบการฝึกอยู่ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา และมีนาวิกโยธินจำนวนหนึ่งปฏิบัติภารกิจคุ้มครองนักการทูต

การถอนกองทัพออกจากอิรักของสหรัฐอย่างเงียบๆ ตรงข้ามกับนโยบายโจมตีทิ้งระเบิดเพื่อไล่ล่าซัดดัม ฮุสเซนในปี 2546 อย่างดุเดือด

ในต้นสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบาม่า ได้พบกับนายกรัฐมนตรีอิรักนูรี อัล มาลิกี เหมือนเป็นหมุดหมายในการยุติสงครามอิรัก

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อเดือนตุลาคมนี้ว่า ทหารสหรัฐอเมริกาจะออกจากอิรักในสิ้นปี 2554 ซึ่งเป็นกำหนดการที่ผ่านการเห็นชอบมาก่อนหน้านี้โดยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชในปี 2551

ในสุนทรพจน์ล่าสุดที่ฐานฟอร์ตแบร็กในรัฐนอร์ท คาโรไลนา ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวชื่นชมทหารซึ่งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในอิรัก เขากล่าวว่า สงครามได้ก่อให้เกิดประเด็นโต้แย้ง แต่การถอนทหารกลับสหรัฐได้ทิ้ง “เอกราช เสถียรภาพ และการเชื่อถือตนเอง” ไว้ให้อิรัก

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า มีข้อวิตกกังวลจากวอชิงตันว่าอิรักไม่ได้มีโครงสร้างทางการเมืองที่แข็งแรงพอ หรือไม่มีความสามารถพอที่จะปกป้องชายแดนของตนเอง พวกเขายังกังวลด้วยว่าอิรักอาจจะเกิดการแตกแยกระหว่างสองนิกายในศาสนาอิสลาม หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอิหร่าน

วอชิงตันเคยมีความต้องการคงกำลังขนาดเล็กเพื่อฝึกอบรมและเตรียมต่อต้านการก่อการร้ายในอิรัก แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐไม่สามารถเจรจากับรัฐบาลแบกแดดได้ในเรื่องสถานะทางกฎหมาย รวมทั้งประเด็นการคุ้มครองให้ทหารสหรัฐพ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Last US troops withdraw from Iraq, BBC, 18 December 2011 Last updated at 05:45 GMT 
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-16234723

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิจัยอังกฤษเตือนไทยเร่งจัดการวิกฤตโรคอ้วน

Posted: 18 Dec 2011 12:09 AM PST

ชี้ประเทศไทยเสี่ยงจะมีปัญหาโรคอ้วนถ้วนหน้า ทั้งในเมืองและชนบท หากไม่จัดการอย่างจริงจัง 

นนทบุรี - ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคอ้วนและเบาหวาน โดยความร่วมมือระหว่างประเทศอังกฤษและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่โรงแรม ริชมอนด์ นนทบุรี เมื่อ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา  ศาสตราจารย์  Shah Ebrahim นักวิจัยจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ประเทศอังกฤษ ได้นำเสนอผลการศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของอุบัติการณ์โรคอ้วนและโรคเบาหวานที่พบว่าทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาล้วนแต่มีอุบัติการณ์ในการเกิดโรคอ้วนและเบาหวานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก เช่นในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนคนที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มมากเป็นสองเท่าในเวลาเพียงสามทศวรรษโดยในปัจจุบันประชากรสองในสามของประเทศมีภาวะน้ำหนักเกิน และในขณะเดียวกันปัญหาโรคอ้วนก็ได้ลุกลามไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก หรือถือได้ว่าความอ้วนได้กลายเป็นเรื่องปกติของประชากรโลกเสียแล้ว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมของประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่นในประเทศไทย ซึ่งมีทิศทางที่สนับสนุนให้ประชากรมีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนและโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคอาหารพลังงานสูง เครื่องดื่มรสหวาน และการลดการมีกิจกรรมทางกาย  และมีทิศทางจะเดินตามประเทศตะวันตกเข้าสู่วิกฤติปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และแนะนำว่าการจัดการปัญหาจะต้องอาศัยมาตรการที่มีประสิทธิผลหลาย ๆ มาตรการทั้งในระดับบุคคลและการจัดการกับปัจจัยแวดล้อมโดยการจัดการกับปัจจัยต้นตอของปัญหา เช่น ราคาและการเข้าถึงอาหาร โดยต้องอาศัยความจริงจังความต่อเนื่อง และความร่วมมือจากภาคีทุกส่วนในการดำเนินการ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: 5,765 ชื่อค้านเหมืองโปแตช ‘เอ็นจีโอ’ เผยบริษัทฯ เตรียมปั่นหุ้นขายต่อ

Posted: 17 Dec 2011 10:42 PM PST

โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เดินหน้าต่อเนื่อง กพร.ปิดประกาศเขตพื้นที่คำขอประทานบัตร ของบริษัท เอพีพีซี ด้านชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ล่ารายชื่อค้าน 5,765 ชื่อ ยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 
สถานการณ์การผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ล่าสุด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร.ได้ปิดประกาศเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรดำเนินโครงการฯ ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ซึ่งมีทั้งหมด 4 แปลง กินเนื้อที่กว่า 26,446 ไร่ ในพื้นที่ 5 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ต.หนองขอนกว้าง ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.นาม่วง และต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
 
ทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต้องออกมาทำการล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านการประกาศเขตคำขอประทานบัตรดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ต่อเนื่องมา ปรากฏว่ามี ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ในขอบเขตคำขอประทานบัตร ร่วมลงชื่อจำนวน 1,580 แปลง และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โครงการฯ ร่วมลงชื่อคัดค้านทั้งหมด 5,765 คน
 
 
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.54 กลุ่มอนุรักษ์ฯ ประมาณ 200 คน ได้นำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และส่งไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กพร. อบต.และผู้ว่าราชการ ฯลฯ ทั้งนี้ เป็นการยื่นคัดค้านตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยแร่ ปี พ.ศ.2510 ในมาตรา 49 ที่ระบุให้มีการโต้แย้งได้ตามขั้นตอน เมื่อมีการปิดประกาศเขตเหมืองแร่ เป็นระยะเวลา 20 วัน
 
นางมณี บุญรอด กรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต.ห้วยสามพาด กล่าวถึงการล่ารายชื่อครั้งนี้ว่า กลุ่มชาวบ้านได้เริ่มร่วมกันลงชื่อคัดค้านโครงการเหมืองมาตั้งแต่มีการปิดประกาศมาแล้ว โดยมีชาวบ้านมาร่วมลงรายชื่อคัดค้านกว่า 5,765 คน ซึ่งจำนวนนี้ถือว่ามากสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช และหลังจากนี้ทางกลุ่มจะยังคงติดตามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง ว่าหลังจากยื่นหนังสือและรายชื่อคัดค้านไปแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีท่าทีอย่างไร
 
ด้าน นายวรากร บำรุงชีพโชค อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การทำหนังสือและรวบรวมชื่อคัดค้านของกลุ่มชาวบ้านที่ทำกันนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะได้ระบุไว้ในกฎหมาย สำหรับเรื่องการประกาศเขตคำขอนั้นชาวบ้านก็มีช่องทางในการคัดค้านได้อีกช่องทาง คือ หลังจากการปิดประกาศก็จะเป็นบทบาทขององค์กรส่วนท้องถิ่น คือ อบต. และเทศบาล ที่จะดำเนินการจัดประชาคมในพื้นที่ เพื่อถามความคิดเห็นของชาวบ้านแล้วทำเป็นรายงานการประชาคมในพื้นที่ขึ้นมา ในส่วนบทบาทหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัดนั้น ก็มีหน้าที่ในการรับเรื่อง แล้วส่งต่อไปยังกรมอุตสาหกรรมต่อไป
 
ส่วนนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภาคอีสาน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานีว่า การล่ารายชื่อคัดค้านการประกาศเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรของกลุ่มชาวบ้านในครั้งนี้ เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย เพราะเห็นถึงข้อผิดพลาดในขั้นตอนการดำเนินการของ กพร. และ บริษัทเจ้าของโครงการฯ
 
“การล่ารายชื่อคัดค้านประกาศของชาวบ้านนั้น เป็นสิทธิของชาวบ้านที่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะระบุไว้ในกฎหมายแร่ ปี 2510 มาตรา 49 ซึ่งประเด็นการคัดค้านของชาวบ้านนั้น เพราะว่าบริษัทให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงในรายงานการไต่สวน เพื่อประกอบการขอประทานบัตร” นายสุวิทย์กล่าว
 
ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภาคอีสาน กล่าวยกตัวอย่างข้อมูลในรายงานการไต่สวนว่า ข้อมูลลักษณะของพื้นที่ดำเนินโครงการฯ มีข้อมูลที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง พื้นที่ตั้งโรงงานจำนวน 111 ไร่ ไม่มีความเป็นไปได้สำหรับการทำเหมือง และพื้นที่ที่บริษัทขอประทานบัตรนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน จึงไม่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น” นายสุวิทย์กล่าว
 
“เมื่อดูรายละเอียดของขอบเขตพื้นที่ประทานบัตรแล้ว ปรากฏว่าพื้นที่คำขอได้กินเนื้อที่ของค่ายทหารด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อประเด็นความมั่นคง ถึงการที่จะมีการทำเหมืองใต้ดินในพื้นที่ค่ายทหาร ซึ่งชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้ทำการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ ให้ลงมาตรวจสอบในประเด็นนี้ด้วย และถ้าหากมองให้ลึกมากกว่านั้น ก็เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า การเร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัทในช่วงนี้ เป็นการปั่นหุ้นของบริษัทเพื่อจะขายต่อหรือไม่” นายสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น