กพร.เตรียมรับนโยบายค่าจ้าง 300 บ. เร่งทำแผนพัฒนาฝีมือแรงงานสรุป ส.ค.นี้
นายพานิช จิตร์แจ้ง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานเปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการยกระดับฝีมือแรงงานไทยเพื่อให้มีทักษะฝีมือที่ เหมาะสมกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวันตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่โดยในที่ประชุมได้มีข้อเสนอมาตรการรองรับใน เรื่องนี้ ได้แก่การส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดซื้อเครื่องจักรเครื่องมือที่ทันสมัย มาใช้งานเพื่อให้แรงงานมีทักษะฝีมือสูงขึ้นและผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นการส่ง เสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจโดยการลดหย่อนภาษีตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2554 ที่ปัจจุบันให้สิทธิประโยชน์แก่สถานประกอบการที่ดำเนินการใน 2 เรื่องข้างต้น สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ โดยในที่ประชุมได้มีการเสนอให้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 400-600 เปอร์เซ็นต์ การให้ผู้ประกอบการกู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ปัจจุบัน มีเงินอยู่ 537 ล้านบาท มาใช้ในการพัฒนาฝีมือแรงงานการมีโครงการให้สถานประกอบการจัดอบรม ISO และ 5 ส.เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
นายพานิช กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ จะทำหน้าที่วิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือสอดคล้องกับการได้รับค่าจ้างขั้น ต่ำ 300 บาทต่อวัน และ 2.คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์งานส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆในที่ประชุมไปพิจารณาเพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนา ฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันซึ่งคาดว่าร่างแผนนี้จะแล้วเสร็จ เสนอต่อคณะกรรมการฯได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
(แนวหน้า, 24-7-2554)
เครือซีพี หนุนรัฐ-เอกชนเร่งลงทุน-ขึ้นค่าแรง-นำทุนสำรองตั้ง Soveregin Wealth Fund
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ด้านชลประทาน การเกษตร ลอจิสติกส์ การศึกษา เพื่อผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ
พร้อมทั้งกระตุ้นภาคเอกชนให้เร่ง การลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถการแข่งขันและการผลิต ลดการพึ่งการส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจหากเศรษฐกิจโลก ผันผวน ซึ่งขณะนี้ไทยมีการปรับเปลี่ยนตลาดส่งออกจากเดิมที่เน้นตลาดส่งออกใน สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ลดมาครึ่งหนึ่ง และหันมาเน้นในตลาดอาเซียนและจีน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วิกฤติปี 40-53 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 2.9%ต่อปี เนื่องมาจากมีการลงทุนต่ำ
พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 การปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำยังน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ และน้อยกว่ารายได้ประชาชาติโดยเฉลี่ย แสดงให้เห็นว่าแรงงานยังมีความเสียเปรียบ ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มความต้องการในประ เทศ(Domestic demand)และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรงงานจะทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงแรกหากมีการปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายรัฐบาล คงมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการในช่วงแรก ดังนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาบรรเทาผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงการอำนวยสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ควรปรับปรุงระบบภาษีเพื่อแข่งขันกับภูมิภาคได้ดีขึ้น ได้แก่ การปรับลดภาษีนิติบุคคล ปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลง ทุน(บีโอไอ) เน้นเฉพาะอุตสาหกรรมที่จำเป็นระยะยาว สนับสนุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ รองรับการลงทุนจากต่างประเทศโดยใช้ไทยเป็นสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค
"ภาครัฐต้องทำอะไรหลายๆอย่าง ทั้งค่าแรง รายได้ ภาษีนิติบุคคล การใช้จ่ายภาครัฐ ถ้าเลือกทำบางอย่างจะเสียของ จะสู้ประชาคมในอาเซียนไม่ได้ ถ้าสู้ต้องสู้ให้เต็มตัว และวันนี้เราจะไม่สู้ไม่ได้แล้ว แต่หาทางบรรเทาผลกระทบ อย่าหาทางไม่ทำ"นายศุภรัตน์ กล่าว
ขณะเดียวกันเสนอภาครัฐควรบริหารจัด การรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถืออยู่ให้เกิดประสิทธิภาพดีขึ้น โดยนำรูปแบบโฮลดิ้งคอมปานีมาใช้บริหารจัดการการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ ต่างไ เพื่อความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการลงทุน
นายศุภรัตน์ ยังเสนอให้โอนเงินสำรองระหว่างประเทศบางส่วนมาจัดตั้ง Soveregin Wealth Fund เพื่อแก้ปัญหาผลตอบแทนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) บริหารต่ำเกินไป และมีต้นทุนการบริหารจัดการสูง รวมถึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้น ควรมองว่าเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นสมบัติของประเทศ ควรนำมาหาผลตอบแทนที่ดี เช่นเดียวกับกองทุเทมาเซคของรัฐบาลสิงคโปร์ นอกจากนี้ดูแลให้กองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีการลงทุนที่มีประสิทธิภาพด้วย
นายศุภรัตน์ กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่เข้ามาโครงการลทุนต่างๆ จะทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลและกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น โดยเสนอว่าในช่วง 2 ปีแรกทำงบประมาณขาดดุลปีละประมาณ 4-4.5% (รวมงบประมาณกับรัฐวิสาหกิจ) และในช่วง 2 ปีถัดมาลดลงงบขาดดุลเหลือ 3-3.5% จะมีวงเงินลงทุนเพียงพอประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยหนี้สาธารณะอยู่สูงสุดประมาณ 55%ของ GDP เป็นระดับที่น่าจะรับได้ จากที่เคยมีระดับสูงสุดที่ 58% ของ GDP หลังจากนั้นเตรียมแผนดึงงบกลับมาสมดุลและบริหารหนี้สาธารณะให้ลดลง
"สิ่งที่ห่วงคือเรื่องคอรัปชั่น ที่ผ่านมาการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐเกิดน้อยมาก แต่งบจะโตในงบประมาณประจำ การขาดดุลแบบนี้ถ้าเป็นการขาดดุลเพื่อลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ค้ม ค่า"นายศุภรัตน์ กล่าว
(อินโฟร์เควสท์, 25-7-2554)
สุดยอดนายจ้าง! ขึ้นค่าแรงลูกน้อง 300 แถมค่าเดินทาง 20
เมื่อเวลา 11.30 น. 25 ก.ค. นางนงคราญ นันทา อายุ 65 ปี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวนงลักษณ์ อยู่บ้านเลขที่ 334/3 ซอยสี่แผ่นดิน เขตเทศบาลนครขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับลูกจ้างที่ทำงานในร้านก๋ยวเตี๋ยวนงลักษณ์ทั้ง 3 สาขา จำนวน 10 คน
โดยนางนงคราญ เปิดเผยถึงการขึ้นค่าแรงลูกจ้างว่า เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ และเพื่อเป็นกำลังใจให้กับลูกจ้าง เพราะแต่ละคนทำงานมานานเป็นสิบปี จึงขึ้นค่าแรงให้คนละ 300 บาท และยังเพิ่มค่าเดินทางให้อีกคนละ 20 บาท อีกทั้งตนก็ขายก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จากชามละ 3-5 บาท มาจนถึงปัจจุบันชามละ 40-45 บาท เมื่อก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคา ก็ขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างมาเรื่อยๆ ฉะนั้นการที่รัฐบาลชุดใหม่ประกาศขึ้นค่าแรงลูกจ้างวันละ 300 บาท ถือเป็นนโยบายที่ดี หากห้างร้านใดมีลูกจ้างจำนวนมาก และการค้าขายดี ก็สมควรจะขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้าง นอกจากจะสนองนโยบายรัฐบาลแล้ว ยังเป็นกำลังใจให้กับลูกจ้างอีกด้วย
ด้านนางสมหมาย สุขกาง อายุ 50 ปี ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยวนงลักษณ์ กล่าวว่า ทำงานที่ร้านนี้มาได้ 16 ปีแล้ว รับค่าแรงมาตั้งแต่วันละ 80 บาท ก่อนหน้านี้รับค่าแรงวันละ 280 บาท แต่พอนายจ้างขึ้นค่าแรงตามนโยบายรัฐบาล วันละ 300 บาท แถมยังเพิ่มค่าเดินทางให้อีกวันละ 20 บาท จึงถือว่าโชคดีอย่างมาก.
(ไทยรัฐ, 25-7-2554)
จี้ขึ้นค่าจ้าง 300 บ.- ขู่ฟ้องศาลผิดสัญญา
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “300 บาท ชะตากรรมใคร? รัฐ นายจ้าง หรือลูกจ้าง” โดย ศ.ภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยแล้วมาจากค่าจ้างขั้นต่ำไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 เป็นต้นทุนที่มาจากส่วนอื่นๆ แต่นายจ้างมักคิดว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจนอยู่ไม่ได้ และต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะเกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับประเทศไทย แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับสูงกว่าประเทศไทย และยังสามารถแข่งขันได้ นั่นแสดงว่าประเทศเหล่านี้ได้พัฒนาต้นทุนส่วนที่เป็นร้อยละ 90
ศ.ภิชาน แล กล่าวอีกว่า เดิมทีเดียวการที่ประเทศไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำถูก คิดว่าเป็นการกดค่าจ้างชั่วคราว เพื่อดึงดูดนักลงทุนและแข่งขันเพื่อการส่งออก ไม่ใช่ผลิตเพื่อป้อนคนในประเทศ เพราะหากต้องการป้อนคนในประเทศก็ต้องทำให้คนในประเทศมีรายได้สูง และมีกำลังซื้อ แต่วันหนึ่งพบว่าในต่างประเทศเองก็เกิดวิกฤตต่างๆ ที่ส่งผลต่อการส่งออก และเอาคนงานออกซึ่งเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ดังนั้น หากวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นก็จะทำให้คนมี กำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ประเทศสามารถพึ่งตัวเองได้
“การที่มักพูดกันว่าค่าจ้างขึ้นแล้วจะทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ ผมคิดว่า เป็นการโยนภาระเงินเฟ้อให้แก่คนงานกันโดยตลอดซึ่งไม่เป็นธรรม จริงๆ แล้วรัฐควรดูเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมถึงปล่อยให้ราคาสินค้าขึ้นจนเงิน เฟ้อ ทั้งๆที่การขึ้นเงินเดือนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อเหมือนกัน ราคาสินค้าก็พากันขึ้นราคาทั้งๆที่ไม่เกี่ยวกันเลย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกินไป” ศ.ภิชาน แล กล่าว
ศ.ภิชาน แล กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทย (พท.)จะทำไม่ได้อีกต่อไปมี 2 เรื่องคือ 1.ไม่สามารถปฏิเสธการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในทันที เพราะประกาศไว้ชัดเจน และคนงานเห็นข้อแตกต่างระหว่างเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ หากรัฐบาลจะยืดเวลาออกไปก็ไม่สอดคล้องกับการทำให้เชื่อ 2.ผู้ฟังนโยบายของเพื่อไทยไม่มีใครคิดว่าจะทยอยได้ทีละจังหวัด สำหรับทางออกนั้น อาจให้นายจ้างจ่ายตามข้อเสนอ แต่ไปหักบางส่วนเอาจากกองทุนใดกองทุนหนึ่งที่ตั้งขึ้น และอาจเรียกเก็บภาษีเอาจากนายจ้าง หากเป็นธุรกิจที่เล็กรัฐอาจเก็บน้อยหน่อย
“เชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างสันติวิธี ถ้าไม่ทำในโอกาสนี้ในอนาคตจะไม่มีโอกาสเช่นนี้อีกแล้วและไม่มีใครสามารถ รับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นที่ราชประสงค์ครั้งที่ 2 และ 3 ดังนั้น ผมอยากให้ลูกจ้างได้เท่ากับที่ควรจะได้ การจะไปได้ทีหลังหรือทยอยได้เป็นเรื่องไม่ถูก และจะกลายเป็นต้นทุนความสูญเสียสำหรับพรรคการเมืองที่แพงมาก ” ศ.ภิชาน แล กล่าว
ศ.ภิชาน แล กล่าวด้วยว่า กรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทยที่ออกคัดค้านการ ปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันที่ระบุว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีโดยอ้างตัวเลข ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องปิดกิจการ 2 ล้านแห่งในขณะที่ตัวเลขของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุมีสถานประกอบการ เพียง 2 แสนแห่งเท่านั้น จึงมีคำถามว่า ส่วนต่างนั้นมาจากไหน และสถานประกอบการที่เกินมาไม่ได้เหตุใดไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งธุรกิจใน ส.อ.ท.และสภาหอการค้าฯไม่ใช่ธุรกิจเอสเอ็มอี จึงถือเป็นการตีตั๋วเด็กนำผลกระทบของธุรกิจคนอื่นมาปกป้องธุรกิจตัวเองเพราะ นายจ้างอยู่ไม่ได้ในระบบที่ตัวเองเคยอยู่และเป็นระบบที่เอารัดเอาเปรียบ ลูกจ้าง ทั้งนี้ ลูกจ้างก็ไม่ควรให้นายจ้างอยู่ในระบบเช่นนี้ต่อไป
ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การนำเสนอนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เป็นแทกติกของพรรคการเมืองที่ง่ายดี และหากสำเร็จก็จะกลายเป็นแบรนเนมเหมือนกับเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค และหาเสียงได้อีกนาน แม้เสี่ยงแต่ถือว่าคุ้มค่า แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการลดความเหลื่อมล้ำและมีผลในการกระตุ้นค่าใช้ จ่าย
ดร.ดิเรก กล่าวว่า ในฐานะของรัฐบาลควรทำให้งานนี้เป็นได้กับได้ ซึ่งคิดว่า คงมีการคิดไว้หมดแล้ว เช่น การลดภาษีนิติบุคล หรือการเอาส่วนเพิ่มไปลดหย่อน แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีผลสะเทือนมาก และเห็นว่านโยบายใหม่ๆของพรรคการเมืองควรมีอะไรใหม่ๆ และงานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่ามีผลกระทบน้อย แต่มีปฎิกริยาเกินความเป็นจริงเกิดขึ้น และกลายเป็นเกมต่อรอง
“รัฐบาลควรออกมาตรการลดหย่อนภาษี ผมเห็นว่า นายจ้างหลายคนพร้อมที่จะรวมมือและจ่าย จริงๆแล้วต้นทุนที่เป็นองค์ประกอบในการผลิตไม่ได้สูงมากมาย ที่สำคัญ คือ นายจ้างก็ต้องปรับตัว ไม่ใช่เจอค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นก็อยู่ไม่ได้ มันอ่อนแอเกิดไป และหากต้องการลดความเหลื่อมล้ำ คนรวยต้องยอมเฉียนเนื้อตัวเองบ้าง และผมไม่เห็นด้วยกับการจะเอาเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยให้แก่นายทุน” ดร.ดิเรก กล่าว
ดร.ดิเรก กล่าวด้วยว่า รัฐบาลเองก็ควรมีมาตรการสำรองกรณีที่มีการปลดคนงานจริง เช่น หากนายจ้างตอบโต้ปลดคนงาน 5 แสนคนหรือ 1 ล้านคน ก็ควรตกลงกับเทศบาล อบต.จ่ายให้ครี่งหนึ่งต่อวัน คือ 150 บาท และรัฐบาลจ่ายครี่งหนึ่งซึ่งใช้งบประมาณเพียงกว่า 4 หมื่นล้านบาทในช่วง 6 เดือน
ดร.ดิเรก กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาวิจัยข้อมูลให้ชัดเจนว่าต้นทุนใน การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นเท่าไหร่เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการมารองรับว่า จะส่งผลกระทบในส่วนใดบ้างไม่ใช่ปล่อยให้นายจ้างออกพูดฝ่ายเดียว เพราะต้นทุนที่นายจ้างบอกในตอนนี้อาจสูงกว่าความเป็นจริง ขณะเดียวกันก็ควรมีมาตรการรองรับเอาไว้บ้าง ซึ่งจริงๆ อาจไม่ต้องใช้ ที่สำคัญ คือ รัฐบาลต้องใจแข็ง ทั้งนี้ การจุดพลุเรื่อง 300 บาทเป็นการรุกที่สำคัญและก้าวกระโดด ซึ่งอาจสำเร็จครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าทางฝ่ายแรงงานก็น่าพอใจเพราะดีกว่าขึ้น ทีละ 2-3%
ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเริ่มนับหนึ่งของสังคมชราภาพ โดยกำลังแรงงานลดลงซึ่งคนงาน 1 คน ต้องรับภาระทั้งลูกๆและคนชรา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น การที่นายจ้างอ้างว่าประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำนั้น ตนคิดว่ามีเรื่องที่ควรพิจารณา อย่างกรณีประเทศจีนค่าจ้างวิ่งเร็วกว่าผลิตภาพ เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ขอยืนยันประสิทธิภาพแรงงานไทยไปเร็วกว่าค่าจ้าง ตอนนี้ค่าจ้างต่ำกว่าประสิทธิภาพ หากมีการปรับค่าจ้างให้แรงงานไทย ก็เชื่อว่า จะทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานไทยไปเร็วมากขึ้น
ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยของตน พบว่า ร้อยละ 60 ของลูกจ้างทั้งหมดมีค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 6 พันบาท แต่รายได้ที่ทำให้พออยู่ได้ คือ เดือนละ 7 พันบาท โดยคนงานต้องส่งลูกไปให้พ่อแม่เลี้ยงในต่างจังหวัด และเกิดปัญหาหย่าร้างขึ้นจำนวนมาก แต่หากมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 300 บาทก็จะช่วยเหลือคนงานได้มาก
“ความสามารถที่นายจ้างจ่ายได้นั้น หากปรับเพิ่ม 300 บาทต่อวัน ต้นทุนรวมเพิ่มเพียง 3 บาท เท่านั้น ดังนั้น ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างไม่น่ามีปัญหา แต่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่คาดว่า จะทำให้ต้นทุนสูงนั้นก็ไม่ใช่ ส่วนที่อ้างว่าเอสเอ็มอีจะอยู่ไม่ได้นั้น ก็มีทางออกง่ายๆคือ รัฐบาลชุดใหม่ตั้งกองทุนให้เอสเอ็มอีกู้และคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 หากนายจ้างเอสเอ็มอีไปซื้อตึกแถวให้ลูกจ้างอยู่ติดกับสถานประกอบการก็จะช่วย เรื่องค่าเดินทาง ยิ่งจัดสวัสดิการให้ก็อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างถึง 300 บาทต่อวัน” ดร.ณรงค์ กล่าว
ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า หาก เปรียบเทียบกับประเทศที่เคยพัฒนาพร้อมกับประเทศไทย ทั้งอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ต่างได้รับค่าจ้างสูงกว่าประเทศไทย แต่ข้อควรระวังคือ การมีอำนาจเหนือตลาด เช่น ต้นทุนเพิ่มแค่ร้อยละ 3 แต่ข้าวของกลับเพิ่มร้อยละ 10 ซึ่งเท่ากับเพิ่มค่าจ้างแต่รายได้ลด อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงกว่านั้นคือรัฐบาลไม่เคยบังคับนายทุนได้ หากเพิ่มค่าจ้างแต่นายทุนไปเพิ่มราคาสินค้าสูงรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้
“ที่รัฐบาลควรระวังคือการที่บอกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่บังคับไปถึงแรง งานต่างด้าว เพราะเท่ากับเปิดช่องให้นายจ้างไปจ้างแรงงานต่างด้าว อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า หากปรับค่าจ้าง 300 บาทได้น่าจะเป็นผลบวก มาก ที่สำคัญตอนนี้เราเข้าสู่สังคมการค้าอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อการบริโภคและจีดีพีถึงร้อยละ 1” ดร.ณรงค์ กล่าว
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ควรจะต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ให้เท่ากันทั่วประเทศ เพราะค่าครองชีพของลูกจ้างทั่วประเทศไม่แตกต่างกันโดยเฉพาะในต่างจังหวัดค่า สินค้าอุปโภคบริโภค ค่าขนส่งและค่าเดินทางของแรงงานต่างจังหวัดแพงกว่าในกรุงเทพฯ แต่ ถ้าไปคำนวณเหมารวมเอาอาชีพอื่นที่ไม่ใช่แรงงานเช่น เกษตรกรซึ่งทำงานอยู่กับที่ไม่ได้ไปไหนเข้ามาด้วย ก็จะทำให้อัตราค่าครองชีพโดยเฉลี่ยต่ำกว่าในกรุงเทพฯ
ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงความสมเหตุสมผลพบว่า คนงานมีอำนาจต่อรองน้อยกว่านายจ้างเยอะ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีสภาองค์การลูกจ้าง 13 องค์กรกรมีสมาชิกแค่ 3.5 แสนคนจากที่มีแรงงานที่ลงทะเบียนในระบบประกันสังคมกว่า 9.6 ล้าน ทำให้มีอำนาจต่อรองต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสภาแรงงานของเยอรมันที่สภาเดียวมี สมาชิกถึง 7 ล้านคนจึงอำนาจต่อรองลูก ดังนั้น ความสมเหตุสมผลจึงเป็นเรื่องของการต่อรอง การเรียกร้องที่ควรควบคู่ไปกับค่าจ้าง คือการลดต้นทุนของสถานประกอบการ เช่น ลดเงินเดือนผู้บริหารต่างชาติที่สูงมาก
นอกจากนี้ ยัง มีต้นทุนมืดที่อยู่ใต้โต๊ะซึ่งไม่ค่อยได้ลดเพราะเป็นการสมรู้ร่วมคิดกัน ระหว่างผู้มีอำนาจและนายทุน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของบริษัทก็ควรลดลง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทำให้ต้นทุนเพิ่ม
“สิ่งที่ชี้ขาดว่าคนงานจะได้ 300 บาทต่อวัน หรือไม่ คือ เรื่องของอำนาจการต่อรองเป็นกลไกหลักที่จะทำให้ค่าจ้าง 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทเป็นจริง” ดร.ณรงค์ กล่าว
นายภวิศ ผาสุข ประธานสมาพันธ์เหล็กและโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากถามนายจ้างว่ากดขี่แรงงานมา 30-40 ปียังไม่พออีกหรือ การที่นายจ้างส่วนหนึ่งมาคัดค้าน และในส่วนของรัฐบาลหากไม่ปฎิบัติตามที่ประกาศไว้ สมาชิกของตนกว่า 1 พันคน พร้อมที่จะฟ้องร้องตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งสส. ที่ระบุว่า นโยบายหาเสียงที่สัญญาไว้กับประชาชนและทำไม่ได้มีความผิด ที่สำคัญการพูดแล้วไม่ทำคนงานเรียกว่าตอแหล
นายสมศักดิ์ ทองงาม อนุกรรมการค่าจ้างอ่างทอง กล่าวว่า ได้ประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้าง โดยลูกจ้างบอกว่าที่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะรอ 300 บาท ทำให้ขณะนี้เป็นความหวัง และหาก 300 บาทมาจากนายจ้างเราดีใจ แต่ไม่เห็นด้วยที่เอามาจากภาษีของแรงงานมาจ่ายชดเชยให้แก่นายจ้างที่ขึ้นค่า จ้าง 300 บาทต่อวัน
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชีวิตของนายจ้างเปลี่ยนไปมาก ส่งลูกเรียนไปโรงเรียนดีๆ ส่งไปต่างประเทศ ขณะที่คนงานไม่มีอะไรดีขึ้นเลย พอมาวันหนึ่งจะปรับขึ้นค่าจ้างก็ออกมาคัดค้าน ดังนั้น ควรออกมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกันให้ชัด โดยเฉพาะที่ผลการสำรวจออกมาว่าจะทำให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบถึง 2 ล้านแห่ง ขณะที่ตัวเลขของ สปส.บอกว่าเอสเอ็มอี 2 แสนแห่ง
ทั้งนี้ ภายหลังอภิปรายผู้ใช้แรงงาน นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ระบุว่า นโยบายปรับค่าจ้างเพิ่ม 300 บาท ต้องไม่ใช่แค่นโยบายการหาเสียง แต่ขณะนี้มีความไม่ชัดเจนคลุมเครือจุดยืนของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากส.อ.ท.และสภาหอการค้าฯ ทำให้เกิดความสับสนในสังคมมาก ดังนั้น จึงขอสนับสนุนและเรียกร้องให้พรรค พท.ยืนหยัดนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันตามที่ได้หาเสียงไว้
นโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาประชาคมและเป็นความรับผิดชอบของพรรค เพื่อไทยต้องทำ ให้เป็นจริงตามสัญญา และเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ปรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจจากเดิมปกป้องอุตสาหกรรม ส่งออกที่เน้นใช้แรงงานราคาถูกมาสู่นโยบายการสร้างความเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจโดยใช้ค่าจ้างที่เป็นธรรม
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-7-2554)
แรงงานเหนือแถลง จงมุ่งมั่น 300 บาททั่วประเทศ และมั่นใจว่า ผู้ใช้แรงงานจะเคียงข้าง
24 กรกฎาคม 2554 สหภาพอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ออกแถลงการณ์ร่วม "สนับสนุนนโยบายค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลประชาธิปไตย คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน" เรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ผู้ได้รับเสียงสวรรค์จากประชาชน ต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำนาจนอกระบอบ ประชาธิปไตยทั้งหลาย และขอให้มั่นใจได้ว่า ผู้ใช้แรงงานพร้อมปกป้องความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตย หากบุคคล องค์กรอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย จักทำลายระบอบประชาธิปไตยเหมือนเช่นที่ผ่านมา วอนมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ
โดยแถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้
0 0 0
แถลงการณ์
สนับสนุนนโยบายค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลประชาธิปไตย
คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน
ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ทำให้สิทธิเสียงของประชาชนไม่มีความหมายในทางการเมือง ทำให้สิทธิสียงไม่มีความหมายในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันของผู้ใช้แรงงานและสังคมไทย เนื่องเพราะอำนาจตกอยู่ในมือของฝ่ายนอกระบบประชาธิปไตย
ต่อมาเมื่อมีการเรียกร้องให้ยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชนกลับมีความหมายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ผู้ใช้แรงงานก็เช่นกัน ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองที่จะเลือกพรรคการเมือง นักการเมือง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน
ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้สนับสนุนในการเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่องเพราะนโยบายนี้จักทำให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยนับเป็นเวลาร่วม หลายสิบปีไม่ได้มีนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงานเช่นนี้ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่อย่างอัตคัต มีหนี้สินล้นพ้นตัว จักมีชีวตอยู่รอดได้ต้องทำให้หนักขึ้น ต้องทำโอที ต้องไม่มีวันหยุด เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน
นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ให้กับผู้ใช้แรงงาน และคืน“ความยุติธรรม” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ใช้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตสรรพสิ่งให้กับสังคม ในฐานะผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญ ความมั่งคั่งให้กับประเทศ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมีนายทุน องค์กรนายจ้าง เครือข่าย สื่อมวลชน นักวิชาการ ของฝ่ายอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
เราในฐานะผู้ใช้แรงงานภาคเหนือ มีความคิดเห็นว่า การคัดค้านนโยบายนี้ก็เพียงเพื่อยึดผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัวของนายทุนที่ สนับสนุนอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยมาตลอดเท่านั้นเอง
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ผู้ได้รับเสียงสวรรค์จากประชาชน ต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำนาจนอกระบอบ ประชาธิปไตยทั้งหลาย
จงมั่นใจได้ว่า ผู้ใช้แรงงานพร้อมปกป้องความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตย หากบุคคล องค์กรอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย จักทำลายระบอบประชาธิปไตยเหมือนเช่นที่ผ่านมา
จงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ
จงเชื่อเถิดว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงาน
เพื่อคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน
(ประชาไท, 25-7-2554)
สปส.ผ่อนผันร.ร.เอกชนจดแจ้งทะเบียนประกันสังคมให้แก่บุคลากร
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2554 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งสปส.ได้เปิดให้โรงเรียนเอกชนมายื่นจดทะเบียนประกันสังคมมาตรา 33 ให้แก่ครู บุคลากรและลูกจ้างภายในเวลา 30 วันตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดคือภายในวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาโดยแยกเป็น1.โรงเรียนในระบบที่ไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติต้องยื่น จดทะเบียนประกันสังคมให้แก่บุคลากรส่วนอื่นๆที่ไม่ได้ทำหน้าที่สอนหรือสนับ สนุนการสอนเช่น แม่บ้าน พนักงานขับรถ พนักงานทำความสะอาด คนสวน 2.โรงเรียน นานาชาติให้ยื่นจดทะเบียนเฉพาะผู้ที่เคยอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 และส่งเงินสมทบมาก่อนวันที่ 12 มกราคม 2551 และไม่ใช่บุคลากรที่ทำหน้าที่สอนหรือสนับสนุนการสอน และ3.โรงเรียนนอกระบบเช่น โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนวิชาชีพระยะสั้นให้ยื่นจดทะเบียนครู บุคลากรและลูกจ้างได้ทุกกลุ่ม
“ยอดสรุป ณ วันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมามีโรงเรียนเอกชนยื่นจดทะเบียนประกันสังคมให้แก่ครู บุคลากรและลูกจ้าง 901 แห่ง จำนวนบุคลากร 5,487 คน แม้ตามกฎหมายโรงเรียนเอกชนฉบับใหม่ ขณะนี้พ้นกำหนดที่ให้โรงเรียนเอกชนแจ้งจดทะเบียนประกันสังคมมาตรา 33 ให้แก่บุคลากรไปแล้ว แต่สปส.ผ่อนผันให้โรงเรียนเอกชนมาแจ้งจดทะเบียนได้ตลอด โดยคิดค่าปรับโรงเรียนละ 4 พันบาท อย่างไรก็ตาม อยากให้โรงเรียนเอกชนเร่งดำเนินการยื่นจดทะเบียนเพื่อช่วยรักษาสิทธิของ บุคลากรและลูกจ้าง และหากโรงเรียนเอกชนมีเจตนาหลบเลี่ยง ก็จะเอาผิดตามกฎหมายประกันสังคมโดยมีโทษทางอาญาปรับ 2 หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ” นายพีรพัฒน์กล่าว
รองเลขาธิการสปส. กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของสปส.เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2551 มีครู บุคลากรและลูกจ้างโรงเรียนเอกชนอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 42,488 คน จากโรงเรียนเอกชน 3,262 แห่ง แต่หลังจากพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ซึ่ง เขียนยกเว้นให้ครู และบุคลากรของโรงเรียนเอกชนไม่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ประกันสังคมและพ.ร.บ.เงินทด แทนมีผลบังคับใช้ ก็ได้ทำให้ครู บุคลากรและลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนต้องเปลี่ยนมาเข้าประกันสังคมมาตรา 39 จำนวน 27,156 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนพ.ศ.2554 มีผลบังคับใช้ ก็ทำให้บุคลากรและลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งรวมทั้ง ผู้ที่ย้ายไปอยู่ในมาตรา 39 จำนวน 27,156 คนได้กลับมาอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 โดยโรงเรียนเอกชนต้องยื่นจดทะเบียน
“สปส.จะ ทำหนังสือสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการจดทะเบียนประกันสังคมของบุคลากร โรงเรียนเอกชน ซึ่งประกันสังคมในจังหวัดต่างๆสอบถามมายังสปส.ใน 3 ประเด็นได้แก่ 1.บุคลากรของโรงเรียนนานาชาติซึ่งเคยเป็นผู้ประกันตนและส่งเงินสมทบกองทุน ประกันสังคมก่อนวันที่ 12 ม.ค. 2551 ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายเงินทดแทนหรือไม่ 2.ขอให้ขยายความคำว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารงานทั่วไปตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2554 ครอบคลุมตำแหน่งใดบ้าง 3.บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนยังมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดิมทุกคน หรือไม่ หลังพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2554 มีผลบังคับใช้ หรือ มีการกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขเพิ่มเติมไว้อีกหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ จะส่งหนังสือนี้ถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)สังกัดศธ .ภายในเดือนกรกฎาคมนี้”นายพีรพัฒน์ กล่าว
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-7-2554)
แรงงานทำนาเริ่มต่อรองขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มผู้รับจ้างมีการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองค่าแรงเพิ่ม ให้เท่ากับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จากเดิมจ้างวันละ 200 บาท กับข้าวอีก 1 มื้อ แต่ชาวนาผู้ปลูกข้าวไม่สามารถกำหนดต้นทุน หรือ ราคาสินค้าได้ เหมือนในรูปแบบของโรงงานหรือบริษัท ซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และรายได้ลดน้อยลง ซึ่งอาจจะไม่มีเงินจ้างแรงงานเข้ามาช่วย สุดท้ายก็เก็บเกี่ยวไม่ทัน และมีผลต่อผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ด้าน นายอนุเดช เชี่ยวชาญวลิชกิจ นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเลี้ยงปลานิลและเป็ดเนื้ออย่างครบวงจร กล่าวว่า จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างอัตราค่าจ้างแรงงานเก่ากับแรงงานใหม่ โดยค่าจ้างแรงงานในปัจจุบันอยู่ที่วันละกว่า 200 บาท นอกจากนี้ แรงงานใหม่หากได้เท่ากัน 300 บาท ทุกประเภท ไม่แยกแรงงานฝีมือ กับแรงงานที่ไม่มีประสบการณ์ ก็จะมีผลกระทบมาก เพราะแรงงานใหม่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานกลับได้ค่าแรงงานมากกว่าแรงงาน เก่า
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอย่าให้ต้นทุนค่าแรงของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะแข่งขันไม่ได้โดยเฉพาะสินค้าส่งออก
(ช่อง 7, 26-7-2554)
ธุรกิจรับเหมาไฟฟ้า ค้านขึ้นค่าแรง 300 บ. ชี้ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 12%
นายเชิดศักดิ์ วิทูราภรณ์ นายกสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย เปิดเผยถึงนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และการปรับเงินเดือนพนักงานในระดับปริญญาตรี 15,000 บาท นั้น ในส่วนของสมาชิกของสมาคมซึ่งมีอยู่กว่า 526 กิจการ นั้น จะได้รับผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ถึง 12% และเนื่องจากการดำเนินกิจการของธุรกิจช่างเหมาไฟฟ้า และเครื่องกล จะต่างจากธุรกิจอื่นๆ เพราะจะรับงานและทำสัญญาล่วงหน้า 2 ถึง 3 ปี ดังนั้นจึงไม่สามารถผลักภาระตรงนั้นไปให้กับลูกค้าได้
ทั้งนี้ วอนขอให้ภาครัฐ ก่อนที่จะมีนโยบายดังกล่าวออกมา ควรจะได้มีการพูดคุยกับทุกภาคส่วนก่อน ถ้าไม่เช่นนั้น จะเกิดความเสียหายในวงกล้าว บริษัทที่มีสายป่านด้านการเงินไม่มากพอ อาจจะต้องปิดกิจการจำนวนมาก และควรได้มีแก้กฎหมายแรงงานต่างด้าว ถ้ามีการปรับจริง ควรจะให้เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น เหมือนกับทุกๆ ประเทศทั่วโลกที่แรงงานต่างชาติจะได้ค่าแรงถูกกว่าแรงงานในประเทศ
นอกจากนี้ ยังฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ อยากให้ช่วยพิจารณาเรื่องของภาษี หัก ณที่จ่าย 3% เหลือ 2.3% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ นโยบายเยียวยา ผู้ประกอบการ โดยการลดภาษีให้กับผู้ประกอบการจาก 30% เหลือ 23% ด้วย
นายเชิดศักดิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ถ้าเป็นไปได้ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ เหมือนการปล่อยเกียร์ว่าง ถ้าเป็นเช่นนี้ สัก 2-3 เดือน จะส่งผลต่อการเดินหน้าของผู้ประกอบการ เพราะหากไม่มีนโยบายของภาครัฐออกมาสนับสนุนอย่างชัดเจน หรือไม่ทราบนโยบายที่แน่นอน การตัดสินใจในการลงทุนของภาคเอกชนก็ต้องหยุดชะงัก ส่งผลต่อการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจโดยรวม ซึ่งจะเสียหายมากเช่นกัน สำหรับในส่วนของธุรกิจช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกล ช่วงครึ่งปีแรกมีการเติบโตประมาณ 4-5% ถือว่าดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-7-2554)
นายกอุตสาหกรรมยานยนต์คาดยอดผลิตปีหน้าพุ่ง 2 ล้านคัน ลั่นขึ้นค่าแรงไม่กระทบ
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ในปี 2555 คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ฐานการผลิตในไทยจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคัน เพิ่มจากปี 2554 ที่มั่นใจว่ายอดผลิตจะทำได้จริงถึง 1.8 ล้านคัน แม้เกิดผลกระทบจากสึนามิที่ญี่ปุ่น เนื่องจากการความต้องการตลาดยังคงสูง โดยเฉพาะตลาดในประเทศ และหากรัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไม่ต่างไปจากรัฐบาลปัจจุบันก็จะยิ่ง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนไทย และหลังเกิดภัยสึนามิ ทำให้หลายบริษัทญี่ปุ่นพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกมา และไทยเป็นประเทศฐานการผลิตสำคัญประเทศหนึ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณา ซึ่งล่าสุดบริษัทผลิตเกียร์ CVT ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุน ในประเทศไทยแล้ว และอีกปัจจัยที่จะพิจารณาย้ายฐานคือ ปริมาณความต้องการสินค้านั้นๆ ต้องมีมากเพียงพอด้วย
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น วันละ 300 บาท ทั่วประเทศนั้น ไม่กระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เนื่องจากโดยภาพรวมมีการจ่ายค่าแรงตามทักษะแรงงาน และค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนี้จ่ายค่าแรงสูงกว่าแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว
ส่วนการที่รัฐบาลใหม่มีแนวนโยบายปรับ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้ว หากทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีและเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนอีกปัจจัย หนึ่ง
(มติชนออนไลน์, 26-7-2554)
ขู่เผาศึกษาภัณฑ์ หลังขึ้นค่าแรง 300 บาท
(26 ก.ค.) น.ส.ประกายพิมพ์ ประคุณสุขใจ อายุ 31 ปี ผู้จัดการฝ่ายการเงิน บริษัทศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด รับมอบอำนาจจาก นายประสม ประคุณสุขใจ กรรมการผู้จัดการบริษัทศึกษาภันฑ์ขอนแก่น ผู้เป็นบิดา เข้าแจ้งความกับ สภ.เมืองขอนแก่น ว่า มีจดหมายส่งถึงนายประสม ประคุณสุขใจ ในลักษณะข่มขู่ ให้ร้ายและหมิ่นประมาท
โดยซองจดหมายดังกล่าวผู้ฝากเขียนด้วย ลายมือว่า จากสำนักแรงงาน จ.ขอนแก่น มีใจความว่า ผู้เขียนทราบข่าวจากทางสื่อมวลชนถึงการที่บริษัทศึกษาภัณฑ์โดยนายประสม ประคุณสุขใจ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ให้ลูกจ้าง พนักงาน ของร้านค้าศึกษาภันฑ์ ทั้ง 8 สาขา เป็นการทำตามการหาเสียงของนางยิ่งลักษณ์หรือนายกแดง เป็นการเอาใจปูแดงและเอาใจทักษิณ แต่เป็นการเอาเปรียบประชาชน
นอกจากนี้ในจดหมายยังเขียนอีกว่า จะร้องเรียน DSI ให้ทำการตรวจสอบกิจการศึกษาภันฑ์ และกล่าวหาว่าขายยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย และให้ระวังพระเพลิงจะมาเยือนร้าน ลงท้ายจดหมายว่า จากผู้ประกอบการยากจน
ด้านนายประสม เปิดเผยว่า กรณีที่มีจดหมายขู่เผาศึกษาภัณฑ์นั้นไม่ทราบว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร เพราะการที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับพนักงานบริษัทในเครือกว่า 300 คน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีทำให้พวกเขามีขวัญกำลังใจทำงานเพิ่มขึ้น โดยบริษัทในเครือได้ขึ้นป้ายให้ประชาชนทั่วไปให้รู้ทั่วกันว่า บริษัทในเครือของผมสนองนโยบายรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำทุกตำแหน่งงาน 300 บาท / วัน ซึ่งอยากฝากไปยังผู้ที่ส่งจดหมายว่าคิดให้ดีถึงการกระทำ ไม่ใช่ว่าจะมาข่มขู่กันเช่นนี้ เนื่องจากตัวเองไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวว่า ได้รับแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน หากผู้เสียหายต้องการที่จะขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถทำ เรื่องถึงผู้บังคับบัญชาได้ ส่วนเจ้าของจดหมายที่ส่งมานั้นขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร มีต้นทางมาจากที่ไหน หรืออาจะเป็นผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ขึ้นมา
(ไอเอ็นเอ็น, 26-7-2011)
เจโทรขอไทยเลือนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายเซยะ สุเกกาว่า รองประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยกรณีรัฐบาลใหม่อาจปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน ผู้ประกอบการระบุว่าอยากให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อให้บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้มีเวลาปรับตัว เพราะถ้าขึ้นค่าแรงช่วงนี้ทันที จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนมาก
ทั้งนี้ ส่วนของเจโทรคงไม่แสดงท่าทีต่อนโยบายภาครัฐว่าเป็นอย่างไร หรือค่าแรงขั้นนต่ำของประเทศไทยจะต้องอยู่ในระดับใด แต่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เข้ามาในไทยก็ยังคงต้องการนโยบายที่ชัดเจนของ ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง การผลักดันการค้าและการพาณิชย์ หรือการส่งเสริมการดำเนินงานที่ทำอย่างไรให้บริษัทญี่ปุ่นในไทยมีความคล่อง ตัวและสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล
“จากการสำรวจ บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทย ที่จะมีนโยบายขึ้นค่าแรง ให้ชะลอออกไปก่อน เพราะบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมายังไม่ถึง 1 ปี อาจจะยังไม่สามารถปรับตัวรับผลกระทบที่จะเกิดกับต้นทุนในช่วงนี้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี” นายเซยะ กล่าว
(โพสต์ทูเดย์, 26-7-2554)
CPF หนุนนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท เข้าทฤษฎี 2 สูงผลักดันเศรษฐกิจไทย
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวสนับสนุนนโยบายปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและยกระดับราคาสินค้าเกษตร ตามทฤษฎี 2 สูง เพราะเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ปรับตัว พัฒนาก้าวหน้าครอบคลุมผลประโยชน์ของคนในชาติทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง และเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของคนภายในประเทศอย่างยั่งยืน
การปรับรายได้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท รัฐบาลควรต้องมีมาตรการรองรับอย่างชัดเจนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SME ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยอาจดำเนินการในระยะเริ่มแรกด้วยการสนับสนุนด้านการเงินในรูป แบบต่างๆ ตลอดจนใช้มาตรการทางภาษีมาชดเชยเพื่อให้ธุรกิจ SME ดำรงอยู่ได้
ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่เชื่อว่าจะปรับ ตัวได้ ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและคนงาน ตลอดจนการลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการที่รัฐบาลจะให้การส่งเสริมสนับสนุนภาคธุรกิจ อาทิเช่น มาตรการทางภาษีนิติบุคคล ที่จะลดจากอัตราการจัดเก็บ 30% เหลือ 23% ซึ่งจะส่งผลดีในภาพรวมด้วย เพราะปัจจุบันอัตราการจัดเก็บของประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ
สำหรับ CPF มีแรงงานประมาณ 40,000 คน โดยปกติให้ค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดอยู่แล้ว และพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ในฐานะผู้บริหารก็มีความหนักใจอยู่ไม่น้อยที่จะดำเนินการใน ทันที แต่เมื่อรัฐบาลมีเจตนานี้ ทาง CPF ก็พร้อมและมีความยินดีสนับสนุนเพื่อที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา CPF เรามุ่งเน้นในการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานและคนงาน พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีส่วนช่วยในกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทำให้สามารถแข่งขันได้เป็นปกติ อยู่แล้ว
นายอดิเรก กล่าวว่า ภาวะราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในรอบระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินจากลิตรละไม่เกิน 1.90 บาท เป็นกว่า 40 บาทซึ่งสูงขึ้นกว่า 20 เท่า ราคาทองคำจากบาทละ 400 บาท ปัจจุบัน 22,000 บาท สูงขึ้น 50 กว่าเท่า ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 20 บาท ปัจจุบัน 215 บาท สูงขึ้น 11 เท่า ไข่ไก่จากฟองละ 0.50 บาท ปัจจุบัน 3.50 บาท สูงขึ้น 7 เท่า หมูเป็นจากกิโลละ 7 บาท ปัจจุบัน 75 บาท สูงขึ้น 11 เท่า ไก่เนื้อ จาก 12 บาท เป็น 38 บาท สูงขึ้นเพียง 3 เท่ากว่า
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าไก่เนื้อราคาสูงขึ้นน้อยที่สุดเนื่องจากเป็นสินค้าที่ ไม่ได้ถูกควบคุมราคา ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้น ทำให้มีการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจนทำให้ต้นทุน สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ มีผลทำให้ส่งออกได้และภาวะราคาในประเทศไม่สูงจนเกินไปนัก ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ด้วย
ตรงกันข้ามกับไข่ หมู ซึ่งถูกควบคุมเป็นระยะๆตลอดทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงมีผลให้การพัฒนาการผลิตและประสิทธิภาพทางการผลิตน้อยกว่า อีกทั้งสถาบันการเงินก็ไม่ให้การสนับสนุน ส่งผลให้ภาวะราคามีอัตราปรับตัวเฉลี่ยสูงกว่าไก่เนื้อ
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรให้กลไกของตลาดเป็นตัวกำหนดราคาสินค้าเกษตร โดยไม่ควบคุมราคา ซึ่งถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่เป็นผู้ใช้แรงงานกลุ่มใหญ่ ของประเทศ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของ รัฐบาลอยู่แล้ว พร้อมทั้งควรสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อให้เกิดการขยายและพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นเพื่อผู้บริโภคจะได้สามารถหาซื้อ สินค้าได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก
"สรุป เราทุกคนควรต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวให้ทันต่อการ เปลี่ยนแปลงที่โลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่ หยุดยั้ง มิฉะนั้นภาวะโดยรวมจะอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าหากเราควบคุมราคาน้ำมันของโลกไม่ได้ ก็มีความจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริง" นายอดิเรก กล่าว
(อินโฟเควสท์, 26-7-2554)
อดีตคนงานเคเอฟซี วอนสถานทูตสหรัฐฯ เตือนนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายไทย
กรณี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน เคเอฟซี และ พิซซ่าฮัท ในประเทศไทย เลิกจ้างพนักงาน 3 คน หลังพนักงานเคเอฟซี-พิซซ่าฮัทในกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 200 คน ร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้าง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54
ล่าสุด (26 ก.ค.54) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยอดีตพนักงาน เดินทางยื่นหนังสือต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา โดยเรียกร้องต่อสถานทูตฯ ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย โดยให้ผู้บริหารบริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกา ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และหยุดละเมิดสิทธิแรงงาน เพื่อให้เกิดมาตรฐานแรงงาน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับพนักงาน
ด้านนางอภันตรี เจริญศักดิ์ หนึ่งในสามพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า ยังอยากกลับเข้าทำงานและอยากให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา พวกตนได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กระทรวงแรงงาน เพื่อให้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างพวกตนกับบริษัท ยัมฯ ซึ่ง ครส.ได้เรียกพวกตนเพื่อสอบถามความเป็นมาในวันที่ 28 ก.ค.ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ นางอภันตรีระบุว่า ปัจจุบัน ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อสมาชิกสหภาพฯ ระดับแกนนำ ซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน 5-6 ราย อาทิ ไม่อนุญาตให้เข้าประชุมประจำไตรมาสตามปกติ ติดกล้องวงจรปิดจำนวนมากในสาขาที่พนักงานนั้นๆ ทำงาน เป็นต้น
------------------------------------------------------------
แถลงการณ์
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
“หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน หยุดคุกคามสหภาพแรงงาน”
สืบเนื่องจาก บริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ ผู้บริหารและผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน KFC และ PIZZA HUT ในประเทศไทย ได้ประกาศเลิกจ้างผู้แทนพนักงานจำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายกฤษ สรวงอารนันท์ นางสาวศิวพร สมจิตร และนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ในขณะที่พนักงานบริษัทฯ ในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และปทุมธานี จำนวน 260 คน จากพนักงาน 900 กว่าคน ได้ร่วมกันลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 พร้อมแต่งตั้งผู้แทนเจรจา 7 คน และนายจ้างมีพฤติกรรมที่ขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงานของพนักงาน ด้วยการข่มขู่คุกคาม
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่าการเลิกจ้างพนักงาน KFC ทั้ง 3 คน และการขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน เนื่องจากอยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ระหว่างการจัดตั้งสหภาพแรง งาน และนายจ้างกระทำการละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 64
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่า บริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ในด้านการให้บริการอาหารบริการด่วน KCF และ PIZZA HUT ที่มีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคในระดับสากลได้ เพราะเกิดจากกำลังแรงงาน การทำงานอย่างทุ่มเทของพนักงานเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นต้องปฏิบัติต่อพนักงานด้วยมาตรฐานแรงงานสากลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสิทธิแรงงานภายใต้อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอเรียกร้องต่อสถานทูตอเมริกา ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย โดยให้ผู้บริหารบริษัท ยัมเรสเทอรองส์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกา ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และหยุดละเมิดสิทธิแรงงาน เพื่อให้เกิดมาตรฐานแรงงาน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับพนักงาน
ท้ายนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอสนับสนุนการต่อสู้ของพนักงาน KFC ในการเรียกร้องสิทธิในนามของ “สหภาพแรงงานอาหารและบริการ ประเทศไทย” อย่างถึงที่สุด
ด้วยความสมานฉันท์
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
26 กรกฎาคม 2554
สถานทูตอเมริกา
(ประชาไท, 26-7-2554)
กระทรวงแรงงานสั่งทุกกรมทำแผนรับนโยบายเพื่อไทย
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์นโยบายพรรคเพื่อไทยพบว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน 10 ด้าน และให้หน่วยงานในสังกัดทุกกรมเสนอแผนงานรองรับนโยบายดังกล่าวแล้ว
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่าในส่วนของนโยบายด้านการสร้างตำแหน่งงานและเพิ่มการจ้างงานนั้น เบื้องต้นสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เสนอแผนสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ แต่รายละเอียดต่างๆยังต้องมีการหารือกันอีกครั้ง ขณะเดียวกันกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเร่งจัดทำมาตรฐานค่าจ้างตามฝีมือให้ได้มาก ขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 22 สาขาแล้ว รวมทั้งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้นสำหรับทั้งการส่งออกไปขยายตลาดแรง งานในต่างประเทศ และรองรับการเปิดเสรีอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงระเบียบ เกี่ยวกับการจัดการแรงงานต่างด้าว เช่น นโยบายการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้แรงงานต่างด้าวเดินทางมาทำงานในโรงงาน ตามแนวชายแดนสะดวกขึ้น
ขณะที่นโยบายด้านการจัดระบบสวัสดิการ สังคมนั้น สปส.จะเร่งเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น ปรับปรุงระบบงานให้ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล รวมทั้งแก้ไขกฎหมายรับประกันการว่างงานและจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้ ลูกจ้าง กรณีถูกเลิกจ้าง
“เรื่องรองรับค่าแรง 300 บาท ต้องรอดูมาตรการของพรรคเพื่อไทยให้ชัด แต่หลักการก็คือต้องลดภาระผู้ประกอบการ และเมื่อเขาจ่ายสูงขึ้นก็ต้องการฝีมือแรงงานที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งมาตรการลดภาระนายจ้างทำได้หลายวิธี เช่น การตั้งกองทุนให้ผู้ประกอบการกู้ยืม การลดภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น”นพ.สมเกียรติ กล่าว
(โพสต์ทูเดย์, 27-7-2554)
สหภาพแรงงานย่านรังสิต หนุนค่าแรง 300 พร้อมฝาก รบ.ใหม่ คุมราคาสินค้า
นายเสน่ห์ ชุ่มหฤทัย ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วย สหภาพแรงงาน และองค์กรชุมชน ที่เป็นสมาชิก 32 องค์กร พร้อมด้วยประชาชนผู้ใช้แรงงานกว่า 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผ่านทางนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรค
โดยเนื้อหาในเอกสารระบุว่า ขอให้พรรคเพื่อไทย สนับสนุนนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน รวมทั้งรัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ให้ขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลอันควร
ทั้งนี้ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต คาดหวังว่า พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการ ตามนโยบายที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง และขอเป็นกำลังใจให้พรรคเพื่อไทย สามารถดำเนินนโยบายให้สำเร็จลุล่วงไปได้
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-7-2554)
ศาลสหรัฐจ่อดำเนินคดีฟาร์มลวงแรงงานไทย
28 ก.ค. 54 - อเล็กซ์ และ ไมค์ ซู 2 พี่น้องเจ้าของฟาร์มในรัฐฮาวายของสหรัฐฯ ที่หลอกลวงแรงงานไทย 44 คน ไปบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ถูกทางการสหรัฐฯ ตั้งข้อหาค้ามนุษย์และมีกำหนดต้องถูกนำตัวขึ้นศาลในสัปดาห์นี้ โดยหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง อาจต้องรับโทษจำคุกนานถึง 20 ปี โดยไม่มีทัณฑ์บน โดยในรายงานข่าวระบุว่า อเล็ค และ ไมค์ ซู 2 พี่น้องเจ้าของ Aloun Farms ซึ่งเป็นฟาร์มปลูกผักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะโออาฮู ในมลรัฐฮาวายของสหรัฐฯ มีกำหนดต้องขึ้นศาลในสัปดาห์นี้ หลังหลอกลวงแรงงานจากภาคเหนือของประเทศไทย จำนวน 44 คน ไปทำงานเยี่ยงทาส โดยแทบไม่ได้รับค่าจ้างในฟาร์มของตนอย่างผิดกฎหมาย ทั้งยังกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานชาวไทย ให้อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่สกปรกเป็นเวลานานหลายปี ข้อมูลจากอัยการมลรัฐฮาวาย ระบุว่า ทั้ง 2 พี่น้อง ได้สมคบกับนายหน้าค้าแรงงานชาวไทยหลอกลวงแรงงานกลุ่มนี้มาจากภาคเหนือของ ประเทศไทย อ้างว่าจะจ้างงานด้วยสัญญา 3 ปี และให้ทำงานในฟาร์ม 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อแลกกับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 9.60 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือ ราว 285 บาท
อย่างไรก็ดี แรงงานไทยกลุ่มนี้กลับต้องเสียค่านายหน้าไม่ต่ำกว่าคนละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 594,700 บาท ก่อนจึงจะได้งาน ทั้งนี้ คาดว่าการพิจารณาคดีประวัติศาสตร์ด้านแรงงานคดีนี้ อาจสิ้นสุดลง ในวันที่ 5 ก.ย. ปีนี้ ซึ่งตรงกับวันแรงงานแห่งชาติของสหรัฐพอดี
(ไอเอ็นเอ็น, 28-7-2554)
สปสช.ระบุผู้ประกันตนยังคงใช้สิทธิรักษาฟรีได้
นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำผู้สมัครผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคมยังใช้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองรักษาฟรีเหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และประโยชน์ทดแทนที่ออกมา หลังเกิดความสับสนว่าแรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทองรักษาฟรี
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 นั้น ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองรักษาฟรี อยู่เช่นเดิม ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่ง สมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 ซึ่งผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.ฎ.นี้จะไม่ได้สิทธิรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคมแต่อย่างใด สิทธิที่จะได้รับครอบคลุมเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อรักษาในสถานพยาบาล ประเภทผู้ป่วยใน เงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต ซึ่งไม่เกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม ดังนั้น ผู้สมัครที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งขณะนี้ มีผู้สมัครแล้ว 2.2 แสนคนนั้น ยังเป็นผู้มีสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเหมือนเดิม ทุกประการ.
(เดลินิวส์, 28-7-2554)
สภาองค์กรลูกจ้างฯ หนุนนโยบายเพื่อไทยปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท วอนสภาหอการค้าอย่าค้าน
เมื่อเวลา 14.00 น. กลุ่มตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย นำโดยนายบรรจง บุญรัตน์ ประธาน และนายอินชวน ขันคำ เลขาธิการ พร้อมด้วยกลุ่มผู้ใช้แรงงานกว่า 30 คน ได้เดินทางมาหารือกับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เพื่อสนับสนุนนโยบายพรรคในเรื่องเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ทั้งนี้ ยังสนับสนุนนโยบายในด้านอื่นๆที่พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอช่วงหาเสียง เพราะเชื่อว่าสามารถทำได้จริง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสภาองค์กรลูกจ้างฯ ยังเรียกร้องให้กลุ่มสภาอุตสาหกรรมหรือสภาหอการค้า อย่าออกมาคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท โดยอ้างเหตุผลในเรื่องของต้นทุนที่จะมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้เดิมก่อนหน้า ไม่เพียงพอต่อการครองชีพในปัจจุบัน ดังนั้น ทางกลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงรวมตัวมาสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย และพร้อมชี้แจงตัวเลขอัตราจ้างงานที่เหมาะสม ร่วมกับผู้ประกอบการต่างๆ หากมีการเรียกหารือ
ขณะที่ นายจารุพงศ์ กล่าวยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะนำประเด็นปัญหามาพิจารณา เพื่อให้ได้ผลเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และปฏิบัติได้จริง
(โพสต์ทูเดย์, 28-7-2554)
เจ็ทสตาร์ ปัดใช้แรงงานทาสลูกเรือชาวไทย
ตามแถลงการณ์ โดยสายการบินเจ็ทสตาร์ ระบุ ความเหนื่อยล้าเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างถึงที่สุด และขอปฏิเสธเรื่องการบีบบังคับให้บรรดาลูกเรือทำงานในภาวะที่เหนื่อยล้า ตามที่อดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบัน รวมถึงนักบินของสายการบิน ได้กล่าวกับทีวีออสเตรเลีย ว่า พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแบกภาระที่หนักเกินไป
ด้าน นายบรูซ บิวคานัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจ็ทสตาร์ กรุ๊ป กล่าวว่า จำนวนมากของการเรียกร้องถูกสร้างขึ้นโดยเท็จ และทางเจ็ทสตาร์ ได้ปฏิเสธต่อข้อเรียกร้องเหล่านั้น ส่วนเรื่องเงินเดือนของพนักงานเจ็ทสตาร์ในประเทศไทย มีจำนวนอย่างน้อย 20,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 775,000 บาท) ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ในลำดับต้นๆ ของประเทศ
(ไอเอ็นเอ็น, 28-7-2554)
ทีดีอาร์ไอชี้เงินเดือน ป.ตรี1.5 หมื่นบาท ทำเด็กอาชีวะเห่อเรียนปริญญา-ทำบัณฑิตตกงานพุ่ง
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงนโยบายการปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่เป็น 1.5 หมื่นต่อเดือนของรัฐบาลชุดใหม่ ว่า จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของแผนการพัฒนากำลังคนของประเทศ จะทำให้มีเด็กที่เรียนจบปริญญาตรีตกงานมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานในส่วนของภาคเอกชนมีความต้องการใช้แรงงานที่มี วุฒิปริญญาตรีแค่ 5% ขณะที่จำนวนบัณฑิตที่ตกงานเฉลี่ยอยู่ 1 แสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้ 70% เป็นบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ เชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้โครงการสร้างกำลังคนของประเทศมีความบิดเบือนมาก ยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมาปัญหาค่านิยมเรียนต่อ ปริญญาตรีของเด็กไทยมีมากอยู่แล้ว เมื่อนโยบายเรื่องนี้ออกมา จะยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เด็กม.ปลายและอาชีวะหันไปเรียนต่อปริญญาตรีมากยิ่ง ขึ้นเพราะมองเห็นถึงรายได้ที่มั่นคง ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยในไทยที่มีประมาณ 160 แห่งต่างเปิดสอนคณะและสาขาวิชาซ้ำซ้อนกัน นโยบายนี้จะยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาบัณฑิตปริญญาตรีตกงานมากยิ่งขึ้น บัณฑิตที่ตกงานโดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์นั้นหน่วยงานราชการควรดึงบัณฑิตกลุ่ม นี้ไปเป็นครู อาจารย์สอนในระดับปวช.และปวส.หรือสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษในโรงเรียน ทั้งนี้ นโยบายนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเตรียมการรองรับ” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว
รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า หากจะปรับเงินเดือนแรกเข้าของหน่วยงานราชการเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีผลกระทบทำให้ต้องปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ เนื่องจากปรับแค่เงินเดือนแรกเข้า จะไม่ยุติธรรมกับข้าราชการเดิม ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนจะต้องมีการคัดเลือกคนเข้าทำงานที่เข้มข้นขึ้นเพราะ รับคนได้น้อยลง เนื่องจากต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ทำให้โอกาสที่บัณฑิตปริญญาตรีจะตกงานมีเพิ่มขึ้นซึ่งหมายถึงตลาดแรงงานระดับ ปริญญาตรีจะแคบลง อย่างไรก็ตาม ระยะยาวจะส่งผลเสียทำให้รัฐสูญเปล่าด้านงบประมาณในการผลิตบัณฑิต แต่ก็จะมีผลดีต่อตลาดแรงงานระดับกลางที่มีความต้องการรับผู้จบวุฒิปวช.และ ปวส. เพราะจะทำให้มีตัวเลือกมากขึ้นโดยผู้ที่จบปริญญาตรีที่ตกงานจะยอมลดวุฒิมา ใช้วุฒิปวช.และปวส.สมัครงาน
ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ร่างนโยบายด้านการศึกษาของพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การที่พรรคมีนโยบายเงินเดือนแรกเข้า ป.ตรี 1.5หมื่นบาท เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาผู้ที่เข้าสู่ระบบราชการเงินเดือนน้อย ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ กว่าจะได้เงินเดือนที่สูงก็อายุมากแล้ว อย่างไรก็ตามนโยบายนี้จะดำเนินการในกลุ่มของข้าราชการที่บรรจุใหม่ จะไม่ครอบคลุมไปถึงข้าราชการระดับสูง เพราะได้รับเงินเดือนสูงอยู่แล้ว จะทำให้ช่องว่างเงินเดือนข้าราชการแรกเข้ากับสุดท้ายแคบลง
ทั้งนี้ นโยบายด้านการศึกษาของเพื่อไทยมีแผนที่จะปรับการผลิตอัตรากำลังคนให้สอด คล้องกับความต้องการของประเทศ โดยจะมีการเชิญสถานประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และสถาบันอุดมศึกษา มาหารือร่วมกันในเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กที่จบ ม.3 เรียนต่อม.ปลาย และอาชีวะ อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 60 ต่อ 40 ซึ่งจะต้องขยับสัดส่วนเด็กเรียนอาชีวะให้สูงขึ้น
โดยเฉพาะในส่วนของสายช่างสาขาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กเรียนน้อย ส่วนใหญ่จะเรียนอาชีวะสายสามัญ เช่น บริหารธุรกิจ ขณะที่สถานประกอบการต้องการแรงงานอาชีวะสายช่างมากกว่า รวมถึงปรับสัดส่วนการผลิตบัณฑิตระหว่างสายสังคมศาสตร์ กับสายวิทยาศาสตร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 70 ต่อ 30 มาเป็น ร้อยละ 60 ต่อ 40
“ปัจจุบันเด็กอาชีวะมีค่านิยมเรียน ต่อปริญญาตรีอยู่แล้ว โดยเด็กจบปวช.เข้าสู่ตลาดแรงงานแค่ 50% ที่เหลือไปเรียนต่อปริญญาตรี เชื่อว่านโยบายนี้ จะไม่ไปซ้ำเติมปัญหาปริญญาตรีล้นตลาด เพราะต่อไปอาชีวะจะมีการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา และจะเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี ทำให้เด็กอาชีวะเรียนต่อถึงปริญญาตรีได้ และได้รับค่าจ้างสูงขึ้นและมีความก้าวหน้าในการทำงาน อย่างไรก็ตาม พรรคจะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อให้ปรับเงินเดือนผู้ที่จบ ปวช.และ ปวส.สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคกำลังหารือกัน เพื่อจูงใจให้เด็กเรียนสายอาชีวะและเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น”ศ.พิเศษดร.ภา วิช กล่าว
(แนวหน้า, 28-7-2554)
พนง.รถไฟพื้นที่เสี่ยงภัยผวา ร้องขอจนท.คุ้มครอง
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นางนวลอนงค์ วงษ์จันทร์ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ตามที่คนงานของการรถไฟฯได้เข้าซ่อมทางและได้รับอันตรายจากการเหยียบกับ ระเบิดจนได้รับบาดเจ็บภายหลัง จากที่เข้าซ่อมบำรุงทางรถไฟในจุดที่เกิดเหตุจากคนร้ายลอบวางระเบิดทางรถไฟ ช่วงสถานีมะรือโบกับสถานีตันหยงมัส จนได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2554 ทำให้ผู้บังคับบัญชา และพนักงานรถไฟที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่บ้าน เมืองเพื่อดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัย อาทิ การจัดกำลังทหารรักษาความปลอดภัยให้กับพนักงานรถไฟในการขนอุปกรณ์ในการซ่อม บำรุงทางเข้าพื้นที่, การใช้รถเกรดพื้นที่บริเวณสองข้างทางรถไฟ ณ จุดเกิดเหตุให้โล่งเตียน, จัดรถเก็บกู้วัตถุระเบิดทำการตรวจตราอย่างต่อเนื่องตลอดการซ่อมบำรุงจนกว่า จะแล้วเสร็จเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงานรถไฟในการ ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการซ่อมบำรุงทางรถไฟที่เสียหายน่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 วันนี้
สำหรับสถานการณ์ด้านการเดินขบวนรถไฟ ใน วันนี้ (28 ก.ค.) ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 37/38 และขบวนรถเร็วที่ 171/172 (กรุงเทพ-สุไหงโกลก-กรุงเทพ) สามารถเดินรถได้ถึงสถานียะลาเท่านั้น ส่วนขบวนรถท้องถิ่น ให้เดินขบวนรถรับส่งเพื่อบริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใน บางขบวนจากช่วงหาดใหญ่ถึงสถานีใกล้กับจุดเกิดเหตุ ทั้งนี้ สามารถติดตามสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดเวลาการเดินรถได้ที่ศูนย์บริการ ลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 1690 ได้ตลอด 27 ชั่วโมง.
(ไทยรัฐ, 28-7-2554)
ดักคอราชการ อย่าฉวยช่วงสุญญากาศการเมือง ยกร่าง กม.สถาบันความปลอดภัย
(29 ก.ค.54) นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ระบุว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้แรงงาน อาทิ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานรังสิตและใกล้เคียง ประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณายกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความ ปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
หนังสือดังกล่าว ระบุข้อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน ชะลอการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากในการร่างกฎหมาย มีข้อโต้แย้งที่สำคัญในเรื่องความเป็นอิสระของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ตลอดจนวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และที่มาของคณะกรรมการสถาบันฯ ควรเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงให้ทบทวนโครงสร้างของคณะอนุกรรมการยกร่าง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
"...เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่ข้า ราชการประจำ ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนส่วน ใหญ่ของประเทศ จะอาศัยช่องว่างสุญญากาศแห่งอำนาจ รวบรัดดำเนินการยกร่างกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ข้ออ้างเรื่องระยะเวลาที่จำกัด ก็ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากยังมีระยะเวลาอีกหนึ่งปีก่อนการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว" หนังสือดังกล่าวระบุ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานดำเนินการชะลอการยกร่างกฎหมายฉบับ ดังกล่าวไว้ จนกว่าจะมีการหารือร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป
ด้านนายนคร ศิลปอาชา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือแทนปลัดกระทรวง กล่าวว่า จะพิจารณาสัดส่วนโครงสร้างของคณะกรรมการเสียใหม่ รวมถึงจะชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่ารัฐมนตรีใหม่จะมา ด้วย
////////
ที่พิเศษ ๔ / ๒๕๕๔
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔
เรื่อง ขอคัดค้านการพิจารณายกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน)
สำเนาถึง ๑) ปลัดกระทรวงแรงงาน
๒) อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ตามที่ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ร่วมกับ กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ และเครือข่ายผู้นำแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และต่อมา ฯพณฯ ได้กรุณาเชิญตัวแทนเข้าพบเพื่อหารือ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ในประเด็นเรื่อง การพิจารณายกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยคณะอนุกรรมการยกร่างฯชุดที่กระทรวงแรงงานแต่งตั้ง สาระสำคัญของการหารือสรุปได้ว่า
๑. ให้กระทรวงแรงงาน ชะลอการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากในการร่างกฎหมาย มีข้อโต้แย้งที่สำคัญในเรื่องความเป็นอิสระของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ตลอดจนวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และที่มาของคณะกรรมการสถาบันฯ ควรเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับดังกล่าว
๒. ให้มีการทบทวนโครงสร้างของคณะอนุกรรมการยกร่าง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
๓. ฯพณฯ รมต.กระทรวงแรงงานเห็นว่า ควรได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะมีกระบวนการในการยกร่างกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ได้มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะอนุกรรมการฯ ตามคำสั่งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ ๓๙/๒๕๕๔ เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างกฏหมายจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดย นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านประกันความมั่นคงในการทำงาน ประธานกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ซึ่งต่อมา ได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายฯในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยกะทันหัน การดำเนินการดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ภาคประชาชนไม่เคยรับรู้มาก่อน และไม่เป็นไปตามความเห็นร่วมของที่ประชุมหารือในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔
กฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความ ปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัย ของผู้ใช้แรงงาน ทั้งในระบบและนอกระบบกว่ายี่สิบล้านคน กฎหมายดังกล่าว เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสวัสดิการของรัฐบาล ที่กำลังจะถูกจัดตั้งขึ้นในเร็ววันนี้ สมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งกำลังจะเริ่มเข้ามาบริหารจัดการ จักต้องรับรู้และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่ข้าราชการประจำ ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนส่วน ใหญ่ของประเทศ จะอาศัยช่องว่างสุญญากาศแห่งอำนาจ รวบรัดดำเนินการยกร่างกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ข้ออ้างเรื่องระยะเวลาที่จำกัด ก็ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากยังมีระยะเวลาอีกหนึ่งปีก่อนการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ภาคประชาชนที่ประกอบด้วยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศ ไทย สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ร่วมกับ กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ และเครือข่ายผู้นำแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน
จึงขอคัดค้านการยกร่างกฎหมายจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่กำลังดำเนินการโดยกระทรวงแรงงานในปัจจุบัน และขอให้ ฯพณฯ ดำเนินการชะลอการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไว้ จนกว่าจะมีการหารือร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(ประชาไท, 29-7-2554)
“สาวิทย์”นำทีมสหภาพรถไฟฯเตรียมยื่นอุทธรณ์ หลังศาลสั่งเลิกจ้าง
จากกรณีศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา อนุญาตให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเลิกจ้างนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และกรรมการสหภาพฯรวม 7 คนและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยรวมเป็นเงิน 15 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากทั้ง 7 คนได้รณรงค์เรื่องความปลอดภัยของพนักงานขับรถและช่างเครื่อง จนเป็นเหตุให้พนักงานการรถไฟฯหยุดปฏิบัติหน้าที่นำรถไฟออกไปให้บริการ ประชาชนโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการยุยงชักชวนให้พนักงานขับรถ ช่างเครื่องและพนักงานอื่นของการรถไฟฯหยุดการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการจงใจทำให้ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการละทิ้งการ ปฏิบัติหน้าที่นั้น
วันนี้ (29 ก.ค.) นายสาวิทย์ กล่าวว่า แม้ศาลแรงงานชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าวออกมา แต่ตนและกรรมการสหภาพฯอีก 6 คน ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานชั้นฎีกาได้ภายใน 15 วัน ดังนั้น จะให้ทนายความยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานชั้นฎีกาในสัปดาห์หน้า ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ที่การรถไฟฯนั้นตามหลักกฎหมายแล้ว หากคดียังไม่สิ้นสุด ตนกับกรรมการสหภาพฯอีก 6 คนก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนกว่าคดีนี้จะสิ้นสุด ซึ่งตามปกติกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาของศาลแรงงานชั้นฎีกาจะอยู่ที่ ประมาณ 1-2 ปีคดีจึงจะสิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือคำสั่งใดๆหรือหนังสือเลิกจ้างจากการรถไฟฯ ส่วนการทำงานในตำแหน่งประธานสหภาพฯก็ยังคงเป็นไปตามเดิมเพราะเป็นคนละเรื่อง กัน
“ผมเคารพในคำตัดสินของศาลแรงงาน อย่างไรก็ตาม เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานและการเดินรถไฟนั้น ขอยืนยันว่าคณะกรรมการสหภาพฯทำเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ และอยากให้การรถไฟฯดูแลเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพราะมีผลกระทบต่อการทำงานของ พนักงานการรถไฟฯและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเช่นกรณีรถไฟขบวนที่ 84 จ.ประจวบคีรีขันธ์ประสบอุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คนนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษทางอาญาพนักงานขับรถโทษฐานกระทำการโดยประมาททำ ให้ผู้โดยสารเสียชีวิตโดยสั่งจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา
นอกจากนี้ ยังมีญาติผู้โดยสารที่เสียชีวิตไปฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้ซึ่งศาลมีคำสั่ง ให้พนักงานขับรถชดใช้เป็นค่าทำขวัญเป็นเวลา 10 ปีเดือนละ 5 พันบาทและให้การรถไฟฯจ่ายค่าเสียหาย 1 ล้านบาท จึงอยากให้สังคมและสื่อมวลชนช่วยตรวจสอบในเรื่องนี้ “นายสาวิทย์ กล่าว
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-7-2554)
รฟท.ยันเลิกจ้าง 7 สหภาพไม่จ่ายค่าชดเชย
29 ก.ค. 54 - รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้การรถไฟฯ เลิกจ้างนายภิญโญ เรือนเพชร นายบรรจง บุญเนตร์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายธารา แสวงธรรม นายเหลี่ยม โมกงาน นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี และนายอรุณ ดีรักชาติ เป็นจำเลยที่ 1-7 โดยจำเลยที่ 3 เป็นประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย และกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 1-2 และ 4-7 เป็นกรรมการนั้น ในเรื่องดังกล่าวฝ่ายบริหารการรถไฟฯ จะดำเนินการไปตามคำสั่งศาล เนื่องจากทางการถไฟฯ ได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกจ้างจำเลยดังกล่าวไปแล้วรอเพียงคำสั่ง ศาลออกมาเท่านั้น และจำเลยทั้งหมดจะไม่ได้ค่าตอบแทน ค่าชดเชยใดๆ จากการรถไฟฯ
(ข่าวสด, 29-7-2554)
กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ 3 ทางเลือกขึ้นค่าแรง 300 บาท
(30 ก.ค.) นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการเสนอรัฐบาลชุดใหม่ตั้งคณะศึกษาปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท โดยนำมาประกอบในแผนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมถึงความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมสาขา ต่างๆ ซึ่งต้องเดินหน้าพร้อมกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รายงานข่าวระบุว่า เมื่อพิจารณาฐานข้อมูลอุตสาหกรรมพบว่า นโยบายนี้กระทบธุรกิจ SME ไม่มากนัก แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เพราะต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ ต่างจากกิจการขนาดใหญ่ที่มีกำไรมาก ขณะที่กิจการขนาดเล็กส่วนใหญ่ก็ใช้แรงงานน้อย
กระทรวง จึงจัดทำผลกระทบและข้อเสนอวิธีขึ้นค่าแรงใน 3 แนวทาง ได้แก่ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับการสนับสนุนให้ตั้งโรงงานในภูมิภาคซึ่งเดินหน้ามานานนับสิบปี เพื่อกระจายรายได้ ทางเลือกที่ 2 ให้ขึ้นค่าแรง 300 บาทเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลบ่าสู่จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าแรง และทางเลือกที่ 3 ให้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานฝีมือรายโรงงาน เช่น ต้องได้ผลผลิต 100 ชิ้นต่อวันจึงจะสามารถรับค่าแรงตามอัตราใหม่ เพื่อพัฒนาแรงงานพร้อมๆ กับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ขณะ ที่สัปดาห์หน้า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมสรุปโครงการเร่งด่วน พร้อมกับพิจารณาโครงการและแผนที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับแนวทางรัฐบาลใหม่ เช่น แผนการส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ, การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ, โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์, โครงการลงทุนเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูง, การบริหารจัดการพื้นที่เหมืองแร่ในเชิงรุก และการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ส่วนแผนและยุทธศาสตร์การลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า ยังมุ่งเน้นสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ยุโรป และคาดว่าเม็ดเงินลงทุนปีนี้อยู่ที่ 400,000-500,000 ล้านบาท
(TPBS, 30-7-2554)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
