โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วินาทีร่ำไห้ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ประชุมพรรครวมพลังประชาชาติไทย

Posted: 03 Jun 2018 10:05 AM PDT

ใช้เวลาราว 52 วินาที สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมประชุมก่อตั้ง "พรรครวมพลังประชาชาติไทย" ก็ร้องไห้ หลั่งน้ำตาออกมาเป็นสาย

 

สุเทพ-เอนก เปิดตัวพรรค 'รวมพลังประชาชาติไทย' ชูธรรมาธิปไตย ไม่แก้ รธน.

3 มิ.ย. 2561 สุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวทั้งน้ำตาในการประชุมพรรครวมพลังประชาชาติไทย จัดที่ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อ 3 มิถุนายน 2561 โดยในช่วงที่สุเทพเริ่มพูดนั้น เมื่อเวลาผ่านไปราว 52 วินาที เขาก็ร้องไห้ หลั่งน้ำตาออกมาเป็นสาย

โดยเขาเปิดเผยว่าที่ร้องไห้ก็เพราะคิดถึงคนเจ็บคนตาย คนที่เสียสละตัวเอง เพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน โดยใฝ่ฝันที่จะเห็นประเทศนี้เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประเทศที่คนไทยทุกชาติ ทุกศาสนา จงรักภักดีต่อแผ่นดิน เพราะเมื่อบ้านเมืองมีภัยคนไทยเหล่านั้นก็เสียสละเงิน ความสุข นอนกลางดิน กินกลางถนน ถูกยิงถูกขวางระเบิด เจ็บเป็นพัน ตายหลายสิบ และในวันนี้มีการประกาศอุดมการณ์ที่จะเสียสละเพื่อบุคคลเหล่านั้น ไม่ง่ายเลยที่จะเป็นพรรคการเมือง ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่า เป็นพรรคของ กปปส. เป็นพรรคของลุงกำนัน และมีนักการเมืองหลายคนประมาทว่าพรรคแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ส่วนตัวใช้เวลาคิดและพูดคุยกับประชาชนเป็นเวลา 4 ปี เพื่อฟังความคิด และศึกษาการตัดสินใจทำ ซึ่งดีใจที่เห็นประชาชนทุกภาคทุกอาชีพพูดจาตรงกัน ว่านี่คือโอกาสเดียวที่จะทำการเมืองในประเทศไทยเป็นของประชาชน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

นี่เป็นโอกาสเดียวเท่านั้น ที่จะรวมพลังของประชาชนคนไทย มาทำการเมืองของประชาชน ตัวเองถามผู้คนจนแน่ใจ และไม่คิดว่าบางคนจะเข้ามาสู่การเมือง อย่างหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ที่บอกกับตัวเองชัดเจนว่า ขอเข้ามาร่วมเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค

สุเทพ ระบุว่า ตัวเองได้ประกาศชัดเจนว่าจะไม่กลับไปมีตำแหน่งทางการเมืองอีกแล้ว แต่เมื่อพี่น้องร่วมอุดมการณ์ มาบอกว่าจะต้องตั้งพรรคการเมืองเพื่อประชาชน ตัวเองรู้เลยว่า ต้องเข้าร่วมครั้งนี้ และรู้ว่า ตัวเองจะเป็นจุดด้อย จุดอ่อน ให้ถูกโจมตีว่าตระบัดสัตย์ วันนี้จึงขอประกาศไว้ ณ ที่นี่ว่า ตัวเองไม่ใช่คนที่จะอยู่เบื้องหลังพรรคนี้ แต่จะยืนเคียงข้างกับพี่น้องประชาชนผู้มีอุดมการณ์ และไม่สนใจคำวิจารณ์ใดๆทั้งสิ้น เพราะตัวเองไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ไม่ว่า เขต หรือบัญชีรายชื่อ แค่ขออาสาเป็นขี้ข้าประชาชน จะเอาความรู้ ประสบการณ์ที่เป็นนักการเมือง มาตั้งพรรคการเมืองของประชาชนพรรคเดียวในประเทศไทยให้เกิดขึ้นให้ได้

และทันทีที่พรรคนี้ได้รับอนุญาตจาก คสช. ให้สามารถทำกิจกรรมได้ ตัวเองจะเดินไปหาประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจะใช้รองเท้าคู่เดิมที่เคยเดินช่วงชุมนุม เดินรณรงค์เชิญชวนประชาชนมาเป็นเจ้าของพรรคการเมืองร่วมกัน พรรคนี้ไม่ได้อยู่หรือเกิดขึ้นได้เพราะกำนันสุเทพ แต่สุเทพจะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเหมือนพี่น้องคนไทยทุกคน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกแด่ตัวตนนักเคลื่อนไหวของผม

Posted: 03 Jun 2018 08:33 AM PDT

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และภวัต อัครพิพัฒนา ถอดความคำปาฐกถาของ Wael Ghonim วิศวกรผู้จับพลัดจับผลูกลายเป็นผู้นำการโค่นล้ม ฮูสนี มูบารัค ผู้นำเผด็จการของอียิปต์ ในงาน Oslo Freedom Forum 2018 

 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ในห้องรับรองนักพูด ผมนั่งอยู่ในนั้น ตื่นเต้นที่จะขึ้นพูดปาฐกถาในงาน Oslo Freedom Forum 2018 ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ Wael Ghonim เป็นคนพูดคนต่อๆ ไปหลังจากผม ผมทราบมาว่า เขาเป็นวิศวกรผู้จับพลัดจับผลูกลายเป็นผู้นำการปฏิวัติอียิปต์โค่นล้มฮูสนี มูบารัค ลง และหนังสือของเขา Revolution 2.0: The power of people is stronger than the people in power แปลเป็นไทยแล้วในชื่อ "ปฏิวัติ 2.0" (โดย สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิร์ล)  เมื่อผมพูดเสร็จแล้วก็ออกไปฟังผู้พูดคนอื่นๆ ปรากฏว่า เมื่อได้ฟังปาฐกถาสั้นๆ ของเขานั้นรู้สึกกินใจมาก มันสอนผมและสอนคนอื่นๆ ในห้องได้อย่างดี แม้ว่าเขาจะอ้างว่านั่นเขาเขียนให้ตัวเองก็ตาม หลังจากนั้น ผมพบเขาแล้วก็ขออนุญาตแปลคำปาฐกถาเป็นไทย ซึ่งเขาก็อนุญาตในทันที ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับนักกิจกรรมอย่างตัวผม นักกิจกรรมคนอื่นๆ และคนทุกคน ผมและภวัต อัครพิพัฒนา จึงถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยมีข้อความดังต่อไปนี้ - เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล


 

นี่ก็นับได้สิบปีแล้วที่ผมกลายเป็นนักเคลื่อนไหวโดยบังเอิญ บนเส้นทางของผม ผมได้ทำบางสิ่งที่ถูกต้องและหลงผิดมากคณา ผมได้รับแรงบันดาลใจจากผู้สูงศักดิ์กว่าและผมอ่อนน้อมเมื่ออยู่กับผู้น้อย ผมโอบรับความเจ็บปวดและเฉลิมฉลองกับความเบิกบาน

ผมรู้สึกทราบซึ้งที่มูลนิธิสิทธิมนุษยชนได้ให้โอกาสแก่ผมในการแบ่งปันสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในระหว่างการเดินทางในการเป็นบุคคลที่ดีกว่าตัวผมที่ผมเป็นอยู่ แต่ขอให้ผมได้พูดอะไรสั้นๆ สักนาทีสองนาทีเสียก่อนที่จะแบ่งปันกับพวกคุณว่าทำไมผมถึงมาอยู่ ณ จุดๆ นี้ได้

"ภาวนาให้อียิปต์ กังวลใจมากเหมือนกับว่ารัฐบาลมีแผนการจะก่ออาชญากรรมสงครามพรุ่งนี้แก่ประชาชน เราทั้งหมดพร้อมแล้วที่จะเผชิญมัน" 28 มกราคม 2011 - เวลา 12.08 น.

ไม่นานนักหลังจากที่ผมทวีตข้อความนี้ ผมถูกโจมตีโดยชายติดอาวุธสี่คน พวกเขากระชากลากตัวผมเข้าไปในรถ เอาผ้าปิดตามาปิดตาผม เพื่อให้ผมไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจะถูกพาไปที่ไหน ผมไม่เคยเจออะไรที่น่ากลัวเท่านี้มาก่อนเลยในชีวิต

เป็นเวลาสิบเอ็ดวันสิบเอ็ดที่ผมถูกล่ามโซ่ ปิดตา และถูกรุมตี พวกเขาพรากทุกอย่างไปจากผม - แม้กระทั่งชื่อตัวผมเอง พวกเขาเรียกผมว่า "สี่สิบเอ็ด" ผมถูกปิดตาไว้ตลอดเวลา ความมืดเป็นสิ่งเดียวที่ผมเห็น ผมหมดกำลังที่จะนับวันคืน เสียงร้องจากการทรมานนอกห้องขังผมทำให้ผมตื่นอยู่ตลอดคืน
 

ก่อนหน้านั้นชีวิตผมปกติสุขทั่วไป ผมยุ่งกับงานธรรมดาทั่วๆ ไป ดูแลครอบครัวขณะที่ทำงานในบริษัทกูเกิล

ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อผมเห็นภาพศพของชายหนุ่มชื่อ คารีด ซาอีด ซึ่งถูกทรมานจนตายโดยฝีมือของตำรวจอียิปต์ ผมรู้สึกอัดอั้นไปด้วยความปวดร้าวและความรู้สึกไร้พลังในขณะผมหลั่งน้ำตาเมื่อเห็นใบหน้าที่เละตุ้มเป๊ะของเขา นี่ทำให้ผมสร้างเพจเฟสบุ๊คอันหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า "เราทั้งหมดคือคารีด ซาอิด"  ซึ่งตัวเพจ โดยการช่วยเหลือจากสหายนักเคลื่อนไหวทั้งหลายจุดชนวนการประท้วงที่นำไปสู่การโค่นลงของมูบารัค

ผมถูกจับขังในฐานะนักเคลื่อนไหวนิรนามไร้คนรู้จัก และผมถูกปล่อยตัวออกมาในฐานะคนดังโดยบังเอิญ ผมออกมาในโลกที่แปลกประหลาดสมบูรณ์จากตัวผม คนนับล้านกำลังประท้วงในจัตุรัสตาฮีร์ มีคนตามเฟสบุ๊คเป็นล้านคน ผมถูกรุมล้อมจากความสนใจของสื่อและหน้าของผมก็กลายเป็นที่รู้จักในหมู่คนที่ผมไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

นี่เป็นอะไรที่เกินเลยตัวผมไปมาก ผมรู้สึกถูกเปิดเผยและสับสนจากการที่มีคนยกย่องเป็นไอดอล และจากการถูกเกลียดโดยคนอื่นๆ - ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนที่ผมคิดว่าผมได้ต่อสู้เพื่อพวกเขา

การล้มลงของมูบารัคเป็นห้วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับตัวผม และคนนับล้านในอียิปต์ การต่อสู้กับระบบรวมพวกเราเป็นหนึ่ง ผมคิดในตอนนั้นว่าความฝันของเราที่จะมีอียิปต์ที่เป็นประชาธิปไตยและเสรีคงจะเกิดขึ้นแล้วในไม่ช้า

ทว่า ตรงกันข้าม ความฝันนั้นกลายเป็นฝันร้าย ในช่วงเวลาต่อจากนั้นอีกสองปี การแบ่งขั้วที่ทำลายล้างได้ทำให้ทุกคนแสดงด้านมืดของตนออกมา

จากนั้นการประท้วงเดือนมิถุนายนปี 2013 ได้บังเกิด ตามด้วยการประท้วงขนาดใหญ่อีกอัน ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง โมฮันหมัด มอซี ได้ถูกบีบให้ออกโดยกองทัพอียิปต์ พวกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงกระสุนจริงไปยังผู้ชุมนุมประท้วง พวกหัวรุนแรงทางศาสนาเริ่มการก่อการร้ายโดยมุ่งเป้าไปที่พลเรือนและผู้รักษาความปลอดภัยส่วนบุคคล คนนับพันถูกสังหารและอีกนับหมื่นถูกจองจำ

ผมหมดทางเลือกนอกจากออกจากประเทศเพื่อความปลอดภัยของตัวผมเอง ขณะที่เครื่องบินจะออก น้ำตาก็ไหลลงที่หน้าผม ความรู้สึกละอายและอับอายได้แทรกสู่ตัวผม ผมรู้สึกเหมือนตัวเองละทิ้งอุดมการณ์ของตน ทิ้งเพื่อน ทรยศตัวตนอันยิ่งใหญ่ที่ผู้คนได้มอบหมายให้ผมทั้งที่ผมไม่ต้องการ

ที่หมายของผมหรือครับ นั่นคือแคลิฟอร์เนีย

แต่ผมไม่ได้ลงจอดอย่างรู้สึกสบายใจเอาเลย ผมพบตัวเองตกอยู่ในหลุมยุบแห่งความซึมเศร้าซึ่งไม่เคยประสบมาก่อน ผมพยายามจะกลับไปใช้ชีวิตปกติแต่ก็ทำไม่ได้

ผมพบว่าตัวเองร้องไห้ในที่ทำงานและผมรู้ว่าต้องพอได้แล้ว ผมลาออกจากงานในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และมาที่บอสตัน ทิ้งให้ครอบครัวอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย

ในบอสตัน ผมได้เดินทางเรียนรู้จากความซึมเศร้าของผมเอง ทีแรก ผมไม่ต้องการจะจัดการมันเลย แต่ลึกๆ ข้างใน ผมรู้ว่านี่คือหนทางเดียวเท่านั้น

ผมตระหนักว่ามันไม่ต่างกับคุกของผม การเคลื่อนไหวของผมได้ล่ามโซ่ผม ปิดตาผม ตีผม พรากผมจากทุกสิ่ง แม้กระทั่งอัตลักษณ์ของผมเอง

จนเกือบจะพังพินาศทั้งหมดนั่นแหละผมถึงจะเข้าใจว่าจิตวิญญาณของผมเองได้ถูกทำให้แตกร้าวมากแค่ไหน และมันได้โหยหาช่วงเวลาที่จะกลับมาใคร่ครวญตัวเองแค่ไหน การจองจำในจิตใจของผมทำให้ผมเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง สะท้อนอดีตของผมและผลักดันให้เปลี่ยน นั่นทำไมที่วันนี้ ผมรู้สึกขอบคุณต่อการพังพินาศ


บันทึกถึงตัวเอง

1. การคิดถึงแต่คนอื่นโดยไม่คิดถึงตัวเองเลย แท้จริงแล้วเป็นการหลงอัตตาตนเอง

2. อย่าอยู่ในสภาวะของการเฉิดฉายตนเองว่าแข็งแกร่งโดยปฏิเสธหรือหลบซ่อนความรู้สึกกลัว เจ็บปวด และอ่อนแอ โดยเฉพาะกับคนที่เขาห่วงใยคุณ

3. นรกของคุณเกิดขึ้นเมื่อคุณแหกออกจากคุณค่าทางศีลธรรมที่คุณยึดถือ สวรรค์ของคุณเกิดขึ้นเมื่อคุณปฏิบัติไปตามนั้น

4. จงตั้งคำถามแก่ผู้ถืออำนาจ

ปล. คุณนั่นแหละคือผู้ถืออำนาจ

-------
การเชื่อในตัวเองและความคิดของตนทำให้นักเคลื่อนไหวพร้อมที่จะทำสิ่งที่ท้าทายเกินความสามารถของพวกเขา แต่ความมั่นใจเดียวกันนั้นก็สามารถจะนำเราไปเป็นเหยื่อแห่งอัตตาตนได้

โซเชียลมีเดียให้เราทั้งโอกาสอันมหัศจรรย์ในการแพร่กระจายความคิดของเราและการมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ แต่มันก็เป็นดุจภัยมหันต์ในการสร้างลัทธิการเคลื่อนไหวเพื่อสนองความต้องการตนเองและป้อนเลี้ยงอัตตาแห่งเรา

บันทึกถึงตัวเอง

1. การได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นวิธีการ ไม่ใช่เป้าหมาย

2. จงทำให้อัตตาเป็นลิ่วล้อรับใช้เป้าหมายของคุณ อย่าให้เป้าหมายของคุณมารับใช้อัตตาของคุณ

3. คนที่พูดในฐานะตัวแทนของเป้าหมายนั้นทำอันตรายกับเป้าหมายได้มากที่สุด ปิดปากให้สนิทจนกว่าคุณจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์จึงจะพูด

4. อย่าตกไปในหลุมพรางของการแสวงหาความตื่นเต้นจาก "ยอดไลค์" "ยอดแชร์" และ "การติดตาม"

5. ความสนใจเป็นทรัพยากรที่หายากในโลกยุคใหม่ ความเห็นอกเห็นใจ มีศักดิ์ศรี และความกล้าหาญนั้นหายากยิ่งกว่า

---------------

นักเคลื่อนไหวเป็นศาสดาของเป้าหมายของตนเอง ความสำเร็จของเราอยู่ที่การเอาชนะใจประชาชน ถ้าเราใช้เวลาของเราปฏิสัมพันธ์กับคนที่เป็นเพื่อนนักเคลื่อนไหวที่เห็นด้วยกับเราแล้ว นั่นไม่ใชการทำงานเพื่อเป้าหมาย เราแค่กำลังสร้างลัทธิเพื่อสนองตัวเอง

พลังของนักเคลื่อนไหวอยู่ที่เสียงของพวกเขา เมื่อต้องจัดการกับคนที่อยู่ตรงข้ามเรา เราจำต้องมีระดับของการอดทนอดกลั้นเทียบเท่ากับพนักงานตำรวจที่ถูกอบรมมาอย่างดี

ผมเลิกเชื่อแล้วว่ามีคน "ชั่ว" และ "ดี" มนุษย์เป็นสัตว์สปีชีส์ซับซ้อน ทุกคนมีทั้งดีและไม่ดี

ช่วยแนะนำให้ผมรู้จักคนที่ไม่เคยทำสิ่งที่เขากลับมารู้สึกเสียใจภายหลังเลยหน่อยได้ไหมล่ะ

การเดินทางของผมในฐานะนักเคลื่อนไหวเติบโตขึ้นจนเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะออกแบบระบบที่ทำให้เราได้เป็นคนที่ดีที่สุดในสายตาของเราขณะที่ก็ตรวจสอบตรวจตราการกระทำของพวกเราด้วย

บันทึกถึงตัวเอง

1. หยุดสุดโต่งและแบ่งแยก ไปพร้อมกับรณรงค์ขันติธรรมและความหลากหลาย

2. ตำรวจไม่ได้เป็นคนบัดซบโดยธรรมชาติ นักเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นเทพเทวดาโดยสันดาน จงใช้พลังงานของคุณในการซ่อมแซมระบบ และทำให้ทุกคนผ่านกระบวนการตรวจสอบได้

3. เราจะรู้สึกดีในทางชีววิทยาเมื่อเราลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามเรา พวกเขาก็ชอบทำแบบนี้เหมือนกัน

4. ใช้เวลาไปกับการทำความรู้จักคนไม่เห็นด้วยกับคุณให้มากขึ้น คาดการณ์ในสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วย

5. ถ้าคุณอยากจะทำให้ผู้คนแปลกแยกจากเป้าหมายของคุณ จงด่าทอพวกเขาเสีย

----

ในฐานะนักเคลื่อนไหว ในตัวผมก็ย่อมจะมีส่วนที่ไร้เดียงสาอย่างตั้งใจและมองโลกในแง่ดีโดยไม่ย่อท้อ การมองโลกในแง่ดีอย่างไร้เดียงสานี้เองสร้างสะพานเชื่อมระหว่างความจริงในปัจจุบันและอนาคตอันดีกว่าที่เป็นไปได้ แต่สำหรับผมสิ่งที่ดูเหมือนจะไร้เดียงสาและมองโลกในแง่ดีนั้นอาจจะเป็นกลิ่นอายของความอหังการ เมื่อความสมดุลหายไป ความไร้เดียงสาแบบยะโสโอหังนั้นอาจจะทำลายเป้าหมายของเราลงได้ พลังวิเศษของเหล่านักเคลื่อนไหวคือความสามารถของพวกเขาที่จะสามารถคงเส้นคงวาเสมอต่อคุณค่าทางศีลธรรมที่พวกเขายึดถือ สิ่งหนึ่งที่เป็นคุณค่าสำคัญคือการแสวงหาความจริงอย่างซื่อสัตย์

บันทึกถึงตัวเอง

1. หยุดเชื่อความเท็จซึ่งรองรับอคติของคุณ ขณะที่ประณามคนเห็นต่างกับคุณว่าโกหก

2. 99 เปอร์เซ็นต์ของทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดนั้นมั่ว ใบ้ให้ด้วยว่า คุณจะไม่มีทางเจอ 1 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ในที่ที่คุณคิดว่ามันอยู่

3. ถ้าหากคุณมีอารมณ์เข้ามามากเท่าไหร่ คุณก็จะมีความสามารถในการใช้เหตุผลน้อยลงเท่านั้น

4. อย่าฟังเสียงร้องที่โกรธเกรี้ยว เสียงเหล่านั้นมักจะปราศจากแก่นสาร

--------

มันง่ายที่นักเคลื่อนไหวจะเข้าไปพัวพันกับการค้นพบความผิดพลาดของระบบและประณามมันว่าเป็นความคิดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ระบบมักจะมีปัญหามากมายให้พบเจอ สิ่งที่เราจำต้องตระหนักก็คือเราเป็นส่วนผลิตของระบบ พอๆ กับที่ระบบเป็นผลผลิตของเราด้วย เราต้องใช้เวลามากกว่านี้ในการสร้างวิสัยทัศน์ของส่วนรวมเพื่อสิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่แค่การออกมาประท้วงสิ่งที่เราไม่ต้องการ

บันทึกถึงตัวเอง

1. ยิ่งสิ่งที่จะเปลี่ยนนั้นหยั่งรากลึกมากแค่ไหน ก็ยิ่งใช้เวลามากที่จะทำให้ผู้คนโอบรับมัน

2. อย่ามีส่วนร่วมกับฝูงชนที่โกรธา จงมีส่วนร่วมกับขบวนการที่นำเอาความโกรธของคุณไปสู่การทำสิ่งที่มีประโยชน์

3. อุดมคติเป็นเข็มทิศนำไป แต่การประนีประนอมก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

4. อนุรักษ์นิยมจำเป็นต้องมีลิเบอรัลเพื่อความก้าวหน้าทันสมัย ลิเบอรัลเองก็ต้องมีอนุรักษ์นิยมเพื่อความเสถียรภาพ

5. อย่าแปลกแยกคนที่ทำงานในระบบ ร่วมกับความพยายามของพวกเขาในการรีดเร้นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกจากภายในระบบ

-------

ก่อนจะจบปาฐกถาของผม ผมอยากให้ท่านร่วมเฉลิมฉลองสิบปีเวที Oslo Freedom Forum ร่วมกับ ในโอกาสนี้ ผมต้องการแบ่งปันรูปภาพพิเศษสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอายุสิบขวบ

และในข้อความที่จริงจังมากกว่า ผมอยากจะส่งต่อบันทึกอันสวยงามนี้ไปให้ท่านทุกคน เพื่อนของผมได้เขียนไว้ให้เมื่อวันเกิดของผม


เพื่อนรัก

ฉันปรารถนาให้เธอจะรักษาอิสระของเธอให้เพียงพอที่จะแก้ไขระบบอันบัดซบนี้ แต่ฉันก็ปรารถนาให้เธอยึดติดอยู่ให้เพียงพอที่จะยังรู้สึกถึงความเป็นบ้าน

ฉันปรารถนาให้เธอยังคงมีพลังภายในที่จะทำสิ่งดีๆ เสมอ แต่ฉันก็ปรารถนาให้เธอยอมอ่อนโอนให้กับพลังภายนอกตัวเธอเป็นครั้งครา

ฉันปรารถนาว่าความมั่นใจของเธอจะรักษาเธอให้มั่นคงแกร่งกล้าอยู่เสมอ แต่ฉันก็ปรารถนาให้เธอจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเพียงพอที่จะให้ตนเองรับความรัก

ฉันปรารถนาให้เธอมีปัญญาที่จะรู้ว่าเธอจะไม่มีวันเข้าถึงความจริงได้

ฉันปรารถนาเธอยังคงแสวงหาความจริงนั้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ♥

 

ขอบคุณครับ

 

 

 

หมายเหตุ: พูดที่งาน Oslo Freedom Forum 2018 จัดโดย Human Rights Foundation

ผู้อ่านสามารถฟังต้นฉบับได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Qf37EaGy9yo นาทีที่  2:26:31 ถึง 2:40:20

 


'Notes to My Activist Self' © Wael Ghonim 2018 Translated by Netiwit Chotiphatphaisal and Pawat Akarapipattana

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ช่องทางผู้พิพากษาร่วมแก้คนลุ้นคุก เดินตาม 'ยี่ต๊อก' สร้างปัญหา

Posted: 03 Jun 2018 06:46 AM PDT

ผู้ต้องขังในเรือนจำ 3.5 แสนคนขณะที่เรือนจำรองรับได้ราว 2 แสน หน่วยงานยุติธรรมเร่งรือกัน น่าสนใจยิ่งที่ตัวแทนผู้พิพากษาพูดถึงต้นตอปัญหาหนึ่งคือ "ยี่ต๊อก" คล้ายคู่มือลับคดีไหนควรลงโทษเท่าไร ใช้ง่าย-ปลอดภัยกับผู้ตัดสินแต่สร้างปัญหาคุกล้น เสนอให้เปลี่ยนแนวคิด ทิศทางการลงโทษ ขณะที่บางส่วนเสนอใช้ "มาตรการทางปกครอง" กับคดีเล็ก รวมถึงการยกตัวอย่างมาตรการทางเลือกในต่างประเทศ

2 มิ.ย.2561 เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานไว้โดยละเอียดถึงการสัมมนาเรื่อง มาตรการเลี่ยงโทษจำคุกก่อนมีคำพิพากษา จัดที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เมื่อ 2 มิ.ย.โดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ผู้เข้าร่วมได้แก่
1.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน 
2.นายณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3.นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญา 
4.นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง  อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี

ผู้ต้องขังล้น 3.5 แสน เสนอใช้มาตรการปกครองแทนคุกคดีเล็ก

พล.ต.อ.วันชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง แต่ยังกำหนดให้หน่วยงานยุติธรรมสามารถเปลี่ยนโทษหรือกำหนดโทษเป็นอย่างอื่นได้ ความผิดลหุโทษเป็นความผิดที่ไม่เข้าเกณฑ์ลงโทษจำคุก เพราะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง  โทษจำคุกเป็นโทษทางอาญาที่มีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของไทย รองจากโทษประหารชีวิต

ขณะที่ข้อเท็จจริงปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำ 3.5 แสนคน เป็นผู้กระทำผิดครั้งแรก 1.8 แสนคน กระทำผิดครั้งที่ 2 จำนวน 60,000 คน และกระทำผิดครั้งที่ 3 จำนวน 15,000 คน การแก้ไขที่ผ่านมาคือขยายเรือนจำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะมีอุปสรรคข้อจำกัดต่อการบริหารงานในเรือนจำตามมาตรฐานสากล ทำให้เกิดผลเสียกับผู้ต้องขังและสังคมที่อยู่ภายนอกเรือนจำ ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการคือกำหนดยุทธศาสตร์ที่ใช้มาตรการทางปกครองแทนโทษอาญา  โดยเฉพาะกฎหมายอาญาเดิมกว่า 800 กว่าฉบับควรมีกฎหมายกลางเป็นตัวเชื่อม ซึ่งโทษทางปกครองที่นำมาใช้กับการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรงไม่ควรลงโทษทางอาญา เช่น กรณีขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อคหรือคดีเล็กน้อยอาจจะลงโทษเป็นการเสียค่าปรับ และเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเป็นผู้พิจารณาการลงโทษเองได้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

อีกต้นตอปัญหา ศาลมีตารางลงโทษ "ยี่ต๊อก" ลับในทุกมาตรา

นายดล กล่าวว่า ทางเลือกในการลงโทษที่ไม่ใช่การจำคุกมีหลายอย่าง หลายประเทศกำหนดเป็นมาตรการลงโทษระดับกลาง คืออยู่ตรงกลางระหว่างจำคุกกับปรับแล้วปล่อยกลับบ้าน เช่น จำคุกเป็นช่วง ๆ จำคุกวันหยุด ขังไว้ที่บ้าน ห้ามเข้าสถานที่ใด ห้ามออกจากบ้านหลัง 6 โมงเย็น ห้ามแท็กซี่ป้ายดำเข้ามาในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ  ห้ามเข้าใกล้บ้านผู้เสียหาย  สั่งให้รายงานตัวทุกวัน  ซึ่งทำได้ในชั้นตำรวจเรียกว่าโทษตักเตือน  แต่ในทางปฏิบัติมีเพียงโทษในคดีจราจรเท่านั้นที่ตักเตือนได้ คดีหมิ่นประมาท ทำร้ายร่างกายตักเตือนไม่ได้  ในต่างประเทศการสั่งประจานก็เป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง  เช่นโทษขโมยจดหมายศาลสั่งห้อยป้ายประจาน  คดีขับรถฝ่าไฟแดงศาลสั่งห้อยป้ายประจานแล้วให้ไปยืนที่กลางสี่แยก ตอนเช้า 2 ชม.ช่วงเย็นอีก 2 ชม. ซึ่งไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่เป็นการลงโทษเพื่อป้องปรามการกระทำความผิด

นายดล กล่าวด้วยว่า กฎหมายอาญา มาตรา 56  ซ่อนการลงโทษระดับกลางไว้  เช่น การกำหนดให้จำเลยจ่ายเงินให้มูลนิธิ  เยียวยาเหยื่อ รวมถึงมาตรการลงโทษที่หลากหลาย  เพียงแต่ศาลไม่รู้ว่าในมาตรา 56 เป็นโทษระดับกลาง เพราะศาลมีตารางลงโทษ "ยี่ต๊อก" ลับ มียี่ต๊อกทุกมาตรา เช่น ลักทรัพย์ลงโทษไม่เกิน 3 ปี ถ้าร่วมกันลักทรัพย์ไม่เกิน 2 คน ลง 2 ปี ตัดไม้ไม่เกินกี่ลูกบาศก์เมตร รอได้  คดีจำหน่ายยาบ้า 1 เม็ด โทษไม่เกิน 4 ปี ซึ่งรอการลงอาญาได้ ตนเคยสั่งรอ เพื่อนมองหน้าเพราะเขาไม่ทำกัน และเสี่ยงต่อการถูกตั้งกรรมการสอบสวน  ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ต้องลงโทษไปตามยี่ต๊อก

นายดลกล่าวต่อว่า ศาลก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้นักโทษล้นคุก คดีตัดไม้พะยูงโทษสูง คนติดคุกส่วนใหญ่เป็นมดมอดเพราะนายทุนไม่ไปตัดเอง ควรลงโทษปรับและสั่งให้ปลูกพะยูง 5 ต้น คุมประพฤติให้ดูแลต้นไม้  5 ปี อย่าให้ต้นไม้ตาย ศาลต้องรับแนวคิดการลงโทษใหม่ แค่เพียงให้หยิบ ม.56 มาใช้ รอการลงอาญา แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขหนักๆ  เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ปิดเรือนจำไปหลายแห่ง มีการลงโทษจำคุกเพียงไม่กี่ปี ขณะที่กฎหมายไทยมีบทกำหนดโทษสูงเกินจำเป็น  ในต่างประเทศคุกมีไว้ขังคนที่เป็นอันตรายต่อสังคม ถ้าออกไปแล้วจะทำผิดอีกและทำให้สังคมเสียหายมากๆ  ขณะที่กฎหมายไทยลงโทษหนักกับคนบางคนที่ไม่สมควรได้รับโทษหนัก

"มาตรการเบี่ยงเบนโทษจำคุกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า มาตรการแทนการลงโทษคือการลงโทษที่สามารถปรามการกระทำผิดได้  เยียวยาผู้เสียหายได้ และสังคมต้องสะใจในระดับหนึ่ง ที่สำคัญต้องมีมาตรการตรวจสอบไม่ให้การเบี่ยงเบนโทษจำคุกถูกนำไปใช้ทางที่ผิด เราไม่อยากเห็นคนรวยหรือมีอิทธิพลหลุดรอดไปเพราะมาตรการแทนการลงโทษ จึงต้องมีการตรวจสอบว่าสมควรได้รับมาตรการเบี่ยงเบนโทษจำคุกจริงหรือไม่" นายดลกล่าว

ไม่ควรขังระหว่างพิจารณาคดี ยกมาตรการทางเลือกต่างประเทศ

นายน้ำแท้ กล่าวว่า ปัญหาแท้จริงที่ทำให้คนถูกดำเนินคดีคือสภาพเศรษฐกิจและการเมือง ต้องแก้ทั้งองค์รวม หากจะแก้ไขเฉพาะกรมราชทัณฑ์หรือกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียวจะไม่สำเร็จการพิจารณาว่าจะถูกขังระหว่างพิจารณาหรือไม่ต้องย้อนไปกระบวนการข้างต้นว่าควรจับหรือขังหรือไม่ เพราะถ้าถูกจำคุกสิทธิในการต่อสู้แย่มาก และหากสุดท้ายศาลยกฟ้องก็จะเป็นการถูกขังฟรี หรือผิดจริงก็เป็นโทษเล็กน้อยที่ไม่สมควรถูกขัง เมื่อพิจารณาระดับโทษแล้ว 1 ใน 3 ที่ถูกขังระหว่างพิจาณาเป็นการสูญเสียความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง ในอเมริกาจะพิจารณาโทษขังเป็นลำดับสุดท้ายและจำเป็นจริง โดยต่างประเทศขั้นตอนการฟ้องคดีต้องกระทำอย่างรวดเร็วและเปิดเผย โดยพนักงานอัยการและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องอยู่ในพื้นที่หลังเกิดเหตุพร้อมกันทันที  ทำให้ทุกฝ่ายเห็นหลักฐานตั้งแต่ต้น ไม่สามารถทำลายหรือบิดเบือนหลักฐานได้ และอัยการก็สามารถพิจารณาสั่งฟ้องได้แม้จะมีเวลาเหลือเพียงแค่ 10 วัน หรือ 3 ชั่วโมง ขณะที่การขังจะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์หลบหนี หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ต้องส่งตัวไปให้อัยการพร้อมหลักฐานจับกุมทุกอย่าง  คดีอดีตพุทธะอิสระ ตำรวจมาขอหมายจับและค้านประกันตัว  โดยอ้างว่ามีพยานยังไม่สอบสวนอีก 30 ปาก ซึ่งมีความสงสัยว่าทำไมไม่สอบให้เสร็จก่อนมาขอหมายจับ

น้ำแท้กล่าวอีกว่า ในอเมริกาการจับกุมผู้ต้องหาอัยการต้องแจ้งข้อหาภายใน 72 ชั่วโมง และการออกหมายจับต้องได้รับคำร้องจากอัยการว่าพยานหลักฐานพอให้ควรฟ้องหรือไม่ หลังออกหมายจับแล้วอัยการจะมีเวลา 30 วันในการฟ้อง  ถือว่ามีเวลาพอที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขณะที่ญี่ปุ่นกำหนดฝากขัง 10 วันเพื่อให้อัยการร่างฟ้อง โดยทุกประเทศใช้เวลาในกระบวนการยุติธรรมน้อยกว่าไทย ในส่วนของยุโรปยังมีมาตรการทางเลือกแทนการขัง สิ่งน่าสนใจคือ การจำกัดไม่ให้ไปไหนหรือไม่ให้เจอคนบางคน เพราะเป็นอันตรายต่อคนนั้นคนเดียว

"ส่วนไทยจะแก้ปัญหาแบบไทย ๆ คือ การรับสารภาพทันทีห้ามไม่ให้รับฟัง ถ้าไม่มีหลักฐานอื่น เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ร้องสื่อ ทำให้กระบวนการอัยการบ้านเราขาดหายไป เมื่อทำการปฏิรูปก็ได้ยินว่ากฎหมายไทย ๆ เหมาะกับสังคมไทย  กฎหมายจะต้องเป็นไปตามหลักสากล ต้องแยกให้ระหว่างกฎหมายอาญาหรือวิ อาญา ไม่ใช่กฎหมายแบบไทย" นายน้ำแท้ กล่าว

2 แสนนักโทษยาเสพติด ควรไปบำบัด ไม่ใช่ขังคุก

นายณรงค์ กล่าวว่า เรื่องที่ทำให้ราชทัณฑ์หนักใจ คือการบริหารจัดการบุคลากรที่จำกัดในสถานที่จำกัด จำนวนผู้ต้องขังกว่า 2 แสนกว่าคนในคดีติดยาเสพติด ควรนำไปบำบัดไม่ใช่จำคุก ส่วนผู้ต้องขังอีก 6 หมื่นกว่าคนที่ถูกขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา หากใช้มาตรการปล่อยชั่วคราวหรือกำไลอีเอ็มอาจทำให้จำนวนลดลงไป หรือพิจารณาแก้กฎหมายชะลอฟ้อง แทนที่จะให้คดีสู่ศาลเลย อัยการสามารถใช้มาตรการคุมประพฤติแทนการสั่งคดี เช่น คดียาเสพติด อาจจะช่วยกรองคดีได้ ทั้งนี้ การใช้มาตรการรอการกำหนดโทษกลไกที่ตามมาต้องมีชุมชนที่เข้มแข็งช่วยดูแลผู้กระทำผิด เพื่อไม่เป็นอันตรายในชุมชน โดยต้องร่วมมือกันระหว่างคุมประพฤติกับชุมชน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าการขังยังจำเป็นต้องมีเฉพาะบางคนที่อาจมีพฤติกรรมหลบหนีหรือยุ่งพยานหลักฐาน หากไว้นอกเรือนจำจะมีปัญหา

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของพล.ต.อ.วันชัย การลงโทษความผิดทางอาญาที่ไม่รุนแรงต้องใช้มาตรการลงโทษการปกครองแทน  โดยเราต้องวิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเข้มข้นว่าความผิดอาญาร้ายแรงที่ต้องมีโทษจำคุกคืออะไร และมีโทษเท่าไหร่ ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ ส่วนจำนวนโทษปัจจุบันเรามีทางเลือกแค่จำคุกกับปรับ กรณีขายซีดีขั้นต่ำปรับ 2 แสนบาท ถ้าไม่ปรับรอกักขัง กฎหมายนี้ต้องทบทวนว่าจะใช้มาตรการกำหนดโทษได้หรือไม่  นอกจากนี้ กลไกการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะศาลถูกจำกัดเรื่องตารางบทลงโทษ หรือยี่ต๊อก หากใช้ดุลพินิจลงโทษไม่ตรงตามยี่ต๊อกอาจเสี่ยงถูกตั้งกรรมการสอบสวนว่ารู้จักเป็นการส่วนตัวกับจำเลยหรือไม่ จึงได้ลงโทษต่ำ

ว่าด้วยการจับพระ สึกพระ

ในช่วงท้ายของการสัมมนา มล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ตั้งคำถามถึงกรณีจับกุมดำเนินคดีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ว่า เจ้าหน้าที่กระทำการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  นายน้ำแท้ กล่าวว่า  ล่าสุดมีข้อเท็จจริงว่า พระสงฆ์ไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ  มีการนำเงินเข้าบัญชีจริงเพื่อใช้จ่ายในทางศาสนา ข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่เงินทอนวัด กรณีดังกล่าวจึงต้องรอดูว่าเมื่อข้อเท็จจริงถึงชั้นอัยการคดีจะมีหลักฐานชัดเจนอย่างไร  ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นต่อวงการสงฆ์  จะส่งผลให้ต้องปฏิรูปการจับกุมและการสอบสวน

ด้านนายดล กล่าวว่า พระที่บวชมาตั้งแต่เด็ก แตกต่างกับการบวชหน้าศพ เมื่อต้องสึกสำหรับเราอาจรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าลองไปเป็นพระ การสึกเป็นการทำลายชีวิต พระสงฆ์ที่ไม่ได้เปล่งวาจาสึกในทางธรรมไม่ถือว่าสึก ปัญหาทางธรรมเป็นเรื่องทางจิตใจ เพียงแต่การดำเนินคดีต้องถอดผ้าเหลืองก่อนนำตัวเข้าเรือนจำ ส่วนตัวมองว่าควรจะมีการดำเนินคดีกับสงฆ์ หรือการเข้าค้นควรกำหนดวิธีการให้ชัดเจน  ศาลควรจะมีหลายมาตรฐาน เพราะถ้าให้มีมาตรฐานเดียวใช้คอมพิวเตอร์ตัดสินก็ได้ไม่ต้องใช้ศาล สาเหตุที่ต้องหลายมาตรฐานเพราะคนมีความแตกต่างกัน การบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียมกันไม่ผิด แต่ไม่ถูก ดุลพินิจต้องใช้ให้พอเหมาะพอดี กรณีตำรวจมีหมายจับ เมื่อไปถึงเขายอมให้จับโดยดีอาจไม่ต้องใช้หมายก็ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงจาก อปท.ขอเลือกตั้งท้องถิ่นด่วน ชี้รักษาการยุค คสช.ต้องรอคำสั่งส่วนกลาง

Posted: 03 Jun 2018 05:55 AM PDT

มติชนออนไลน์รายงานความเห็นของนายกฯ อปท.ที่รักษาการยาวในยุค คสช. ชี้ทำได้เพียงรองรับนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง ไม่สามารถที่จะคิดสร้างสรรค์นโยบายท้องถิ่นเองได้ เรียกร้องเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลย ใกล้ครบวาระแล้วทั่วประเทศ รอเลือกตั้งระดับชาติไม่รู้เมื่อไหร่

3 มิ.ย.2561 มติชนออนไลน์รายงานว่า  ร.ท.เกรียงไกร อุทธิยา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุ่งกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา กล่าวว่า การเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่บริหาร อปท.ภายหลังจากครบวาระ คือการทำหน้าที่รักษาการในขณะนี้นั้น แม้ว่าจะมีอำนาจในการบริหารเหมือนเช่นช่วงเวลาปกติ แต่การทำหน้าที่รักษาการไม่สามารถทำงานพัฒนาท้องถิ่นได้เหมือนการอยู่ในห้วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งจริง เนื่องจากต้องรอคำสั่งที่เป็นแนวทางปฏิบัติจากรัฐบาลกลางเป็นหลัก ดังนั้น ความเดือดร้อนหรือสิ่งที่ประชาชนต้องการให้ท้องถิ่นดำเนินการ ไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เพราะต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางเท่านั้น

"ดังนั้น อยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ เนื่องจากระดับชาติยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด แต่สำหรับ อปท.ที่ครบวาระแล้วนั้น คาดว่าทั่วประเทศที่ครบวาระแล้ว มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งถัดไป ประกอบกับประชาชนก็อยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เพราะสามารถขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลท้องถิ่นได้เต็มที่" นายก อบต.ทุ่งกล้วยกล่าว

ด้านนายพิทักษ์ชน แข่งขัน นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา กล่าวว่า การเป็นผู้บริหารท้องถิ่นรักษาการ ทำได้เพียงหน้าที่ที่จะรองรับนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง ทั้งนโยบายปกติและเร่งด่วน ไม่สามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ที่เป็นนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้ ดังนั้น หากเป็นไปได้การเลือกตั้งท้องถิ่นในเร็ววันจะทำให้ประชาชนได้รับโอกาสการพัฒนาจาก อปท. ภายใต้นโยบายที่ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมวางแผน เพราะเป็นความต้องการของคนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ปัจจุบันอำนาจการบริหารงบประมาณบางนโยบายรัฐบาลกลางส่งมอบให้ปกครองอำเภอ อปท.เป็นเพียงผู้ร่วมกระบวนการ ทั้งที่โครงการต่างๆ อยู่ในแผนของ อปท. แต่ อปท.ไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทได้เต็มที่ ดังนั้น จึงอยากให้มีการเลือกตั้งจะได้มีรัฐบาลท้องถิ่นที่มีอำนาจบริหารอย่างเต็มที่ดังเดิม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค้านกลาโหมเตรียมซื้อดาวเทียมจารกรรม 9 หมื่นล้าน ห่วงล้วงประชาชนได้ทุกเม็ด

Posted: 03 Jun 2018 05:10 AM PDT

ศรีสุวรรณ ออกแถลงการณ์คัดค้านการเตรียมซื้อดาวเทียมโจรกรรมของกลาโหม ซึ่งทำให้สหรัฐเปลี่ยนท่าทีมาอี๋อ๋อรัฐบาลไทย ระบุละเมิดความเป็นส่วนตัวประชาชน  ละเมิดรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำหนักด้วย "(ดาวเทียมดังกล่าว) สามารถเก็บภาพทุกสรรพสิ่งบนพื้นผิวโลกและบนพื้นผิวประเทศไทยที่ความละเอียด 0.5 เมตรต่อครั้งต่อวินาทีตลอดเวลา 24 ชั่วโมง (86,400 ภาพทุกๆ 24 ชม.) ดังนั้นไม่ว่าคนไทย 66 ล้านคนจะทำอะไร แม้แต่กดเบอร์โทรศัพท์ ดาวเทียมดังกล่าวก็สามารถตรวจจับและบันทึกได้ว่าโทรเบอร์อะไร โทรหาใคร"

3 มิ.ย.2561 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิก่ารสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการเตรียมจัดซื้อดาวเทียมจารกรรมมูลค่า 9.12 หมื่นล้านบาทของกระทรวงกลาโหม  (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)

ขณะที่สปริงนิวส์ รายงานวันเดียวกันว่า กระทรวงกลาโหมเตรียมจัดทำร่างยุทธศาสตร์โครงการดาวเทียมเพื่อป้องกันประเทศที่มีแผนระยะยาว 10 ปี เพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเร่งทำสัญญาร่วมกับหลายชาติดำเนินการการจัดสร้างดาวเทียมเทเออร์ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561โดยจะใช้งบประมาณที่สูงถึง 2,000,000,000บาทอีกส่วนหนึ่งด้วย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา แนวหน้ารายงานว่า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหม ว่าที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ติดตามพัฒนาการของภัยคุกคามด้านกิจการอวกาศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และให้บูรณาการงานร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปตามแผนงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถของกำลังพลจากระดับผู้ใช้งาน(USER) สู่การเป็นผู้ควบคุมและบริหารสถานีดาวเทียม(OPERATOR) เพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเอง และรองรับระบบงานความมั่นคงด้านอวกาศของประเทศในอนาคต การใช้ดาวเทียมสอดแนม ระบบขีปนาวุธนำวิถีด้วยดาวเทียมนำร่อง และระบบนำร่องอากาศยานไร้คนขับในการทิ้งระเบิดเป้าหมาย

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ไทยเช่าดาวเทียมไทยคมเพื่อการสื่อสารอยู่ ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2564 ในส่วนของความมั่นคงใช้ ธีออส ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ต่อไปเราจะพัฒนาเป็นดาวเทียมของเราที่ใช้ในระบบเองเพื่อความมั่นคงของรัฐ แต่จะเรียกรวมว่า ดาวเทียมทหารเลยคงไม่ใช่เพราะเป็นการใช้รวมกันทั้งหมด

เมื่อถามต่อว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามแผนจะใช้เวลาเท่าไรในการที่ไทยจะมีดาวเทียมใหม่ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า คาดว่าคงภายในปี  2564 เพราะไทยคมจะหมดสัมปทานในปี 2564 เราจึงต้องเตรียมตัวของเราไว้ด้วย โดยงานหลักที่รับผิดชอบหลักคือกระทรวงวิทยาศาสตร์ เราจะดูในส่วนของกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณยังไม่แน่ชัดว่าวงเงินเท่าใด แต่ถ้ามีจะคุ้มค่า ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ งานด้านการทหาร ความมั่นคง การเฝ้าระวังทางอากาศ การสื่อสาร การสำรวจเพื่อการพัฒนา ภาพถ่ายทางอากาศ

0000000

แถลงการณ์
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
เรื่อง   ขอคัดค้านการเตรียมการจัดซื้อดาวเทียมจารกรรมมูลค่า 91,200 ล้านบาท

......................................

ตามที่สภากลาโหมได้พิจารณาแนวความคิดด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหมเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยการผลักดันของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป. : DTi) เพื่อนำไปสู่การจัดซื้อจัดหา "ดาวเทียมไธอา : THEIA 112 ดวง มูลค่า 2,850 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ หรือ 91,200 ล้านบาทไทย (ไม่รวมค่าจัดส่งดาวเทียมขึ้นฟ้า) จากบริษัท THEIA Group โดยมีอดีตนักการเมืองในประเทศไทยเป็นตัวแทนนายหน้า ซึ่งอ้างว่ามีการร่วมทำ Thailand Satellites Data Information Processing Center กับสหรัฐอเมริกา โดยมีประเทศซาอุดิอาระเบีย และคาซัคสถาน ตกหลุมพรางของสหรัฐดำเนินการไปก่อนแล้วนั้น

ดาวเทียมดังกล่าว แท้ที่จริงแล้วอาจเรียกได้ว่าเป็น "ดาวเทียมจารกรรม" ที่มีศักยภาพในการตรวจจับและเก็บภาพทุกสรรพสิ่งบนพื้นผิวโลกและบนพื้นผิวประเทศไทยที่ความละเอียด 0.5 เมตรต่อครั้งต่อวินาทีตลอดเวลา 24 ชั่วโมง (86,400 ภาพทุก ๆ 24 ชม.) ดังนั้น ไม่ว่าคนไทยทั้ง 66 ล้านคนจะทำอะไร แม้แต่กดเบอร์โทรศัพท์ดาวเทียมดังกล่าวก็สามารถตรวจจับและบันทึกได้ว่าโทรเบอร์อะไร โทรหาใคร ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต และความเป็นส่วนตัวของบุคคล อันขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 32 และมาตรา 36 ที่ระบุไว้ชัดเขนว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว" และ "การกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้"

นอกจากนั้น การดำเนินการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมดังกล่าวยังอาจขัดต่อมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 อีกด้วย เนื่องจากประธานกรรมการ สทป.และคณะได้ไปลงนามในหนังสือแสดงการรับรู้ หรือ LOA (Letter of Acknowledge) แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และต่อมาได้มีการลงนามในหนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และล่าสุดได้ลงนามในหนังสือยืนยัน หรือ LOC (Letter of Confirm) เมื่อปลายเมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยการรับรู้ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯและประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เดินทางไปเยือนสหรัฐมาเมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งๆ ที่สหรัฐเคยต่อต้าน คสช. มาโดยตลอด แต่เพื่อผลประโยชน์ของชาติในเรื่องนี้ ทำให้นโยบายของสหรัฐเปลี่ยนไปทันทีเมื่อไทยประสงค์จะซื้อดาวเทียมจารกรรมนี้มาจากสหรัฐอเมริกา

การดำเนินการของรัฐบาล นอกจากจะขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังไม่คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำ ประชาชนยากจน มีหนี้เฉลี่ยท่วมหัวเพิ่มขึ้น 7.1% การจ้างงานลดลง 0.2% ตามที่สภาพัฒน์ฯรายงาน ส่วนหนี้ของรัฐบาลมีมากกว่า 5.1 ล้านล้านบาท ยังพยายามที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นจากการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมจรกรรมดังกล่าวในห้วงสุดท้ายของการมีอำนาจ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทั้ง 3 เหล่าทัพไปแล้วมากมาย โดยเฉพาะเรือดำน้ำมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทยังไม่พออีกหรือ ? ซึ่งกรณีดังกล่าวสมาคมฯจักต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไปในเร็ว ๆ นี้

3 มิถุนายน 2561
นายศรีสุวรรณ  จรรยา
เลขาธิก่ารสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

=====

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมข่าวเวลา 21.21น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #212 ความเป็นไทยแบบจับต้องได้ จากโหมโรง บุพเพ ถึงหม่อมน้อย

Posted: 03 Jun 2018 04:37 AM PDT

แม้ภาพยนตร์ชุด "ศรีอโยธยา ภาคแรก" ผลงานของ "หม่อมน้อย" ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล อาจจะไม่ปังอย่างที่หลายคนคาดหวัง แต่เมื่อต้นปี 2561 กลับเกิดกระแส "บุพเพสันนิวาสฟีเวอร์" ตามมาด้วยปรากฏการณ์ "พี่โป๊ปห้างแตก" ชุดไทยขายดี คนแห่ชมโบราณสถานสำคัญที่อยุธยาและลพบุรี ฯลฯ กระแสนิยมความเป็นไทยยังส่งต่อไปถึงละครเวที "โหมโรง เดอะมิวสิคัล" ที่เปิดทำการแสดงในเดือนพฤษภาคม จนเพิ่งลาโรงในวันที่ 3 มิถุนายนนี้

"หมายเหตุประเพทไทย" สัปดาห์นี้โดย เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และชานันท์ ยอดหงษ์ ชวนทบทวนถอดรหัสความสำเร็จของประเภทสื่อบันเทิงที่โหมนิยมความเป็นไทยในห้วงปีนี้ ซึ่งพบว่ากุญแจสำคัญก็คือการทำให้อดีตไม่เพียงแค่ดำรงอยู่ได้อย่างสวยงามเท่านั้น แต่ต้องเข้าถึงได้ เล่นกับอดีตได้ รวมทั้งรับใช้ปัจจุบัน ขณะที่ "โหมโรง เดอะมิวสิคัล" นำเสนอว่าเครื่องดนตรีไทยไม่ได้เป็นของสูงจนจับต้องไม่ได้ แต่สามารถนำมาประชันขันแข่ง ประยุกต์ให้บรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากล และในละครยังทิ้งท้ายด้วยว่าคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่สามารถอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เปี่ยมพลังได้

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพ-เอนก เปิดตัวพรรค ‘รวมพลังประชาชาติไทย’ ชูธรรมาธิปไตย ไม่แก้ รธน.

Posted: 03 Jun 2018 04:14 AM PDT

ประชุมผู้ก่อตั้งพรรค "รวมพลังประชาชาติไทย" อดีตแกนนำกปปส.-อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ร่วมพรึ่บ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ประกาศเดินหน้าประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย "สุเทพ เทือกสุบรรณ" หลั่งน้ำตาจะนำประสบการณ์มาทำงาน ประกาศ ไม่ลง ส.ส. และไม่สนใจคนด่าตระบัดสัตย์ว่าจะไม่ยุ่งการเมือง สรุปการประชุมยังไม่ตั้งหัวหน้า-เลขาฯ พรรค แต่ตั้งคณะทำงาน 5 ด้าน มีจุดยืนไม่แก้ รธน.60 ปัดตอบดันประยุทธ์เป็นนายกฯ

ที่มา: เพจ ACT PARTY

วันที่ 3 มิ.ย.2561 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้จัดการประชุมผู้ก่อตั้งพรรคและผู้สนับสนุนพรรค โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมปฏิรูปประเทศด้านการเมือง รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา , ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่า อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกปลดออกเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนั้น, นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง, นายธานี เทือกสุบรรณ, นายสำราญ รอดเพชร, นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.),  นายสุริยะใส กตศิลา, นายสาธิต เซกัล ตลอดจนผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนอีกเป็นจำนวนมากเข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมนี้ยังไม่เลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค แต่จะประชุมเพื่อลงมติตั้งคณะทำงาน 5 ด้าน

นายเอนกกล่าวถึงอุดมการณ์และเหตุผลที่มีการจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพรรคการเมืองสามรูปแบบ คือ พรรคการเมืองทหาร พรรคการเมืองนายทุน และพรรคที่นักการเมืองอยากเล่นการเมือง โดยพรรคทั้งสามแบบเป็นแบบสั่งการโดยเจ้าของพรรค การมาทำพรรคการเมืองครั้งนี้เราอยากเห็นพรรคที่ทุกคนมีความหมาย ตัวเองขอยืนยันว่าการมาทำพรรคครั้งนี้ ไม่ได้อยากเป็นหัวหน้าพรรค และไม่ได้อยากเป็นรัฐมนตรี แต่สิ่งที่ตัวเองเข้ามาเพราะได้ไปพบกับผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่เคยต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2516 2519 2535 และ 2548 เห็นตรงกันว่าคนไทยต้องการประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบแสวงหาอำนาจหรือฉ้อฉล เรากำลังทำการเมืองใหม่ รูปแบบใหม่ เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน

"ผมไม่ใช่กปปส.หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยอมรับว่ามีลูกศิษย์กังวลว่าการที่ผมมายุ่งเกี่ยวการเมือง จะทำให้ชื่อเสียงมัวหมอง ไม่เป็นที่รักของคนทุกกลุ่มอีกต่อไป ซึ่งก็ขอยืนยันว่าจะทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ พรรคต้องเป็นของประชาชน และประชาธิปไตยต้องเริ่มจากในพรรค"

"เราจะทำการเมืองแบบรู้รักสามัคคี เพื่อให้แผ่นดินไทย สงบ สันติและก้าวต่อไปข้างหน้า แผ่นดินนี้มีปัญหามากมายและยุ่งเหยิง เราจึงต้องมาร่วมกันแก้ไข ทั้งนี้ภายใน3 เดือนข้างหน้าเราจะเคลื่อนไปทั่วประเทศเตือนประชาชนให้รำลึกคืนวันที่เคยออกมากันเต็มถนน ยอมตาย ยอมติดคุก และกำลังจะติดคุก แต่ครั้งนี้ต้องไม่ติดคุก ดังนั้นอนาคตอยู่กับพวกเรา มาช่วยนำพาผลประเทศ เราไม่ใช่ลูกน้องใครทั้งสิ้น แต่เป็นพลเมืองที่ปกป้องสิ่งที่ดีงาม อย่าให้ใครกวาดทิ้ง ต้องข้ามศพพวกเราไปก่อน" นายเอนกกล่าว

นายเอนก ยังย้ำว่า พรรค รปช. จะเป็นพรรคของประชาชาติไทยจริงๆ จะมีบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จักแต่มีหัวใจเพื่อบ้านเมือง มาอยู่ในตำแหน่งปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆ และจะมีความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง พร้อมย้ำว่าการทำการเมืองครั้งนี้ไม่มีแพ้ เพราะเป็นการทำงานการเมืองเพื่อแผ่นดิน

ที่มา: เพจ ACT PARTY

คลิปการปราศรัยของสุเทพ เทือกสุบรรณ

ในช่วงท้ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ลุกขึ้นกล่าวทั้งน้ำตาว่า "เมื่อบ้านเมืองมีภัยคนไทยก็เสียสละมานอนกลางดินกินกลางถนน ถูกเขายิง ถูกเขาขว้างระเบิด เจ็บเป็นพันตายหลายสิบ ผมอยากให้คนเหล่านั้นได้เห็นภาพวันนี้ วันที่พวกเรารำลึกเขาด้วยความเคารพ และวันที่คนอย่างพวกเรา ลุกขึ้นมาประกาศอุดมการณ์ที่จะสืบสานปณิธานของพี่น้องผู้เสียสละเหล่านั้น ไม่ง่ายเลยที่สร้างพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริงได้ในประเทศนี้ แค่มีข่าวก็มีคนดูถูกว่าจะมีประชาชนเท่าไหร่ วิจารณ์ว่าเป็นพรรคกปปส. พรรคลุงกำนัน ผมรู้ว่าผมอาจจะเป็นจุดด้อย จุดอ่อนของพรรคนี้ให้คนโจมตีว่า ผมตระบัดสัตย์ ไหนว่าไม่ยุ่งกับการเมือง วันนี้ขอประกาศที่นี่ ผมไม่ใช่คนที่จะอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองนี้ แต่ผมจะยืนเคียงข้างกับพี่น้องประชาชนผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน และผมไม่สนใจคำวิจารณ์ ผมไม่สนใจคำด่าใดทั้งสิ้น เพราะผมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเขตเลือกตั้ง หรือบัญชีรายชื่อ ผมขออาสาเป็นขี้ข้าของประชาชน ขอเป็นผู้รับใช้ประชาชน ผมจะเอาความรู้ เอาประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นนักการเมืองมาเกือบ 40 ปี ทุ่มเท ยืนเคียงข้างพี่น้องร่วมอุดมการณ์ทั้งหลาย ตั้งพรรคการเมืองของประชาชน พรรคเดียวในประเทศไทยนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ทันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. อนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ตนจะเดินไปหาประชาชนทุกจังหวัด เพราะยังเก็บรองเท้าคู่เดิมคู่นั้นไว้ เพื่อจะไปเชิญประชาชนเข้าร่วมกับพรรคนี้

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติตั้งคณะทำงาน 5 ด้าน พร้อมทั้งประธานคณะทำงาน ประกอบด้วย 1.คณะทำงานเตรียมการจัดงานประชุมสมัชชาพรรค โดยมีนายจักษ์ พันธ์ชูเพชร เป็นประธาน 2.คณะทำงานยกร่างข้อบังคับพรรค วินัย และมาตรฐานจริยธรรมพรรค โดยมีนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง 3.คณะทำงานยกร่างนโยบายพรรคและโรงเรียนการเมืองพรรค โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ 4.คณะทำงานเตรียมการจัดตั้งสโมสรผู้นำเยาวชนพรรค โดยมีนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน และ5.คณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเป็นเจ้าของพรรค โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน

นายประสาร มฤคพิทักษ์ กล่าวว่า ตามแผนของพรรคจะเดินสายทั่วประเทศ แต่ต้องรอการขออนุญาตจาก คสช.ก่อน เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ยังไม่โปรดเกล้าฯ

ส่วนการเลือกกรรมการบริหารพรรค จะเป็นในรูปแบบวีดิโอคอนเฟอเรสซ์ จะเกิดขึ้น
ต้นกันยายนนี้ เพราะต้องรอให้สมาชิกพรรคครบทุกจังหวัดก่อน และจะเป็นการเลือกหัวหน้าพรรคกับเลขาฯ 2 ชุด เพื่อทำหน้าที่ 2 ปี แต่ยังไม่ถึงขั้นเปิดตัวว่าที่นายกฯ เพราะต้องกลั่นกรองก่อน สำหรับการเก็บค่าสมาชิกรายปีอยู่ที่ 365 บาท ขณะที่ตลอดชีพ 3,650 บาท สามารถสมัครและจ่ายเงินออนไลน์ได้ทันที เบื้องต้นคาดว่าจะได้สมาชิกประมาณ 120,000 คน

จากนั้นเวลา 12.20 น. น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ และนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ทีมโฆษกพรรคเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซักถามกรณีความแตกต่างระหว่างพรรค รปช. กับกปปส. ว่าการดำเนินการของ กปปส.นั้นเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 57 ฉะนั้น พรรคนี้จึงเกิดจากอุดมการณ์ของประชาชนไม่ต้องอิงกับกลุ่มใด

เมื่อถามว่า มีธงในใจหรือไม่ว่าจะจับมือกับพรรคใดหากได้จัดตั้งรัฐบาล น.ส.อนุสรีกล่าวว่า พรรคเราชูธงเรื่องการปฏิรูป ส่วนการจัดรัฐบาลเป็นเรื่องอีกไกล แต่ถ้าถึงวันนั้นเราก็ต้องถามประชาชนด้วย

เมื่อถามว่า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นนายกฯหรือไม่ ร.ต.อ.จอมเดชกล่าวว่า ไม่ขอพูดในประเด็นนี้ นายเอนกก็เคยโพสต์พูดเรื่องนี้ไปแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน ซึ่งขณะนี้ตนไม่สามารถตอบคำถามแทนประชาชนได้จนกว่าจะมีการจัดประชุมสมัชชาพรรคก่อน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ใช่พรรคของคนใดคนหนึ่ง

เมื่อถามถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร.ต.อ.จอมเดชกล่าวว่า พรรคยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องแก้ไขแล้ว เพราะเชื่อว่ารัฐบาล คสช.ได้พยายามปฏิรูปประเทศไปเยอะแล้ว เรามีหน้าที่แค่ไปสานต่อในสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ ทั้งนี้ พรรคเราจะไม่โจมตีใคร ไม่เล่นการเมืองแบบเก่าๆ ที่สาดโคลนใส่กัน



เปิดประวัติผู้ร่วมก่อตั้งพรรค

สุเทพ เทือกสุบรรณ
อดีตรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีหลายสมัย แกนนำ กปปส. ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

เอนก เหล่าธรรมทัศน์
อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ประธานกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ ของ กกต. กรรมการและที่ปรึกษาในคณะเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ของ ป.ย.ป. สมัยรัฐบาล คสช.

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่า
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกปลดออกเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนั้น

ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง
เจ้าของสำนักงานกฎหมาย คนึง แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ทนายคนสนิทสุเทพ เทือกสุบรรณ ช่วยทำคดีสลายการชุมนุมปี 2553

ธานี เทือกสุบรรณ
น้องชายสุเทพ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำราญ รอดเพชร
โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ประสาร มฤคพิทักษ์
อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ดร.สุริยะใส กตะศิลา
รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตเลขาธิการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, อดีตเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่, กลุ่มกรีนการเมือง

สาธิต เซกัล (Satish Sehgal)
นักธุรกิจสิ่งพิมพ์ชาวอินเดีย และอดีตผู้ปราศรัยบนเวที กปปส.

เรียบเรียงข่าวจาก
https://www.khaosod.co.th/politics/news_1165449
https://www.posttoday.com/politic/news/553217

https://www.thairath.co.th/content/1298199
https://www.sanook.com/news/6671010/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรือนจำยันอาการป่วยอดีตพระผู้ใหญ่-พุทธอิสระไม่น่าห่วง

Posted: 03 Jun 2018 02:43 AM PDT

3 มิ.ย.2561 นายกฤช กระแสทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการดูแลอดีตพระผู้ใหญ่ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำและอดีตพระพุทธะอิสระ ว่า อดีตพระวัดสระเกศฯ เรือนจำได้นำตัวไปคุมขังยังแดน 3 ตอนนี้เริ่มปรับตัวได้บ้างแล้ว อาการป่วยไม่มีอาการน่าเป็นห่วง ทุกคนเริ่มใช้ชีวิต ในเรือนจำเหมือนผู้ต้องขังรายอื่นๆ แต่ยังคง ไม่รับประทานอาหารเย็น ระหว่างวันก็นั่งสมาธิ สวดมนต์ ทำกิจกรรม เล็กน้อย

ส่วนอาการป่วยของอดีตพระพุทธะอิสระ หรือนายสุวิทย์ บุญประเสริฐ นายกฤช กล่าวว่า ยังคงต้องให้ทำกายภาพ เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ตอนนี้ก็ไม่ได้ให้เคลื่อนไหว มากนัก ให้นั่งรถเข็นหรือเดินด้วยเครื่องช่วยพยุง สามารถทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ แต่ไม่ค่อยสะดวกเท่านั้น ส่วนความจำเป็นในการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นดุลยพินิจของแพทย์และความเหมาะสม แต่ตอนนี้คงยังไม่มีความจำเป็น เพราะโรคดังกล่าวมีขั้นตอนการรักษา อีกทั้งการคุมตัวผู้ต้องขังออกจากเรือนจำไปเข้ารับการรักษาพยาบาลมีขั้นตอนพอสมควร

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอฟทีเอว็อทช์ชี้กระทรวงพาณิชย์โกหก CPTPP ไม่มีประเด็นอ่อนไหวให้เสียเปรียบแล้ว

Posted: 03 Jun 2018 02:22 AM PDT

เอฟทีเอว็อทช์ชี้กระทรวงพาณิชย์โกหกคำโต เร่งเข้า CPTPP ทั้งที่ประเด็นอ่อนไหวเรื่องยา สิทธิบัตร การคุ้มครองนักลงทุนฯลฯ ยังไม่ได้เอาออก ยืนยันไม่ร่วมปาหี่รับฟังความคิดเห็น ระบุ 12 มิ.ย.เตรียมจับมือนักวิชาการชำแหละและแถลงข่าวแสดงจุดยืน

3 มิ.ย.61 กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์รายงานว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุม 25 หน่วยงานเตรียมความพร้อมเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ระบุว่าการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องทำให้ได้ภายในปีนี้ และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การเข้าเป็นสมาชิกได้ประโยชน์กับไทยมากที่สุดนั้น

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ให้ความเห็นว่า กระทรวงพาณิชย์รับนโยบายมาจากรองนายกฯ เศรษฐกิจโดยที่ไม่ศึกษาข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้และพยายามพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว ตามที่ระบุว่าประเด็นที่อ่อนไหวถูกตัดออกไปหมดแล้วทั้งที่ไม่เป็นความจริง และยังพยายามอ้างว่าไทยจะสามารถทำข้อยกเว้นเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกก่อนหน้าซึ่งเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอย อีกทั้งยังไม่มีความแน่นอนว่าประเด็นอ่อนไหวบางประเด็นที่ถูกตัดออกไป เช่น เรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา การชดเชยความล่าช้าจากการออกสิทธิบัตร จะกลับมาหรือไม่หากสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมเจรจา

"เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 มิ.ย.) ในการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ทางฝ่ายเลขาฯ ซึ่งได้ทำงานวิจัยว่าด้วยผลกระทบต่อสุขภาพจากความตกลง TPP ได้แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ว่า ประเด็นอ่อนไหวไม่ได้มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบางประเด็นที่ถูกละเว้นไว้เมื่อสหรัฐถอนตัวไปเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบังคับนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพันธุกรรม, เครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้ว, การผูกขาดพันธุ์พืช และสมุนไพรไทย โดยบังคับให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) นอกจากนี้ยังมีประเด็นการห้ามเจรจาต่อรองราคายา และที่น่าเป็นห่วงที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญการฟ้องร้องจากการที่รัฐบาล คสช.ออกมาตรา 44 ยุติการทำเหมืองแร่ แต่สาระการคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP มีความเข้มงวดกว่า ทำให้นโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ประชาชนทุกเรื่องสามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐเรียกค่าชดเชยจากงบประมาณแผ่นดินได้ แต่หน่วยราชการยังไม่มีการประเมินถึงผลกระทบเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นดังนั้นตามที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวหายไปหมดแล้วเป็นเรื่องที่เป็นเท็จทั้งสิ้น" กรรณิการณ์ระบุ

รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ชี้ว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ไม่พูดให้ชัดเจนว่าใน 11 ประเทศนั้นประเทศไทยมีเอฟทีเอกับทั้งหมด 9 ประเทศแล้วเหลือเพียงเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ยิ่งไม่มีสหรัฐฯ ผลได้ที่ไทยคาดจะยิ่งน้อยลง ฉะนั้นการเข้าร่วม CPTPP ประเทศไทยอาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากเป็นการเอาใจญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้ความตกลงนี้ตายเท่านั้น

กรรณิการณ์ กล่าวอีกว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์รับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยอย่างไม่เป็นทางการ 2-3 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ พบว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นำข้อมูลที่รับฟังไปพิจารณาอย่างแท้จริง แต่กลับนำมาแถลงข่าวว่าทุกภาคส่วนสนับสนุน ไม่มีเรื่องน่าห่วงใยแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวที่จะมีการจัดรับฟังแบบพิธีกรรมเช่นนั้นอีก ทั้งนี้ วันอังคารที่ 12 มิถุนายนนี้ ทางศูนย์วิจัยและควบคุมการบริโภคยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับเอฟทีเอ ว็อทช์ เชิญนักวิชาการที่ทำงานวิจัยจริงจัดวิเคราะห์ CPTPP หลังสหรัฐฯถอนตัว ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีหรือไม่ และในการนี้จะมีการแถลงข่าวจุดยืนภาคประชาสังคมต่อ CPTPP ที่ต้องเปิดให้การตัดสินใจเป็นเรื่องของประชาชนและรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

"ในรัฐธรรมนูญ 2560 การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ได้ตัดกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ การทำงานวิชาการที่เป็นพื้นฐานข้อมูลในการเจรจา และการมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติออกไปเกือบสิ้นเชิง ฉะนั้น เชื่อว่า จะทำให้การเจรจาไม่มีความรอบคอบ ได้แต่ผลประโยชน์ระยะสั้นจะตกอยู่กับผู้ส่งออกและนายทุนที่อยู่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ขณะที่ประชาชนรวมทั้งลูกหลานของเราจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาว ดังนั้นจุดยืนของเอฟทีเอ ว็อทช์ และภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเราเห็นว่าควรเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และควรทำหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศกลับไปมีมาตรฐานและกระบวนการที่ดีดังเช่นมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550" รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ระบุพร้อมกระตุ้นให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แสดงความกล้าหาญที่จะท้วงติงรัฐบาล คสช.ในเรื่องนี้

"เมื่อ 11 ปีที่แล้ว รัฐบาล คมช.ตัดสินใจเดินหน้าเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการทำหน้าที่ท้วงติงผลกระทบที่เกิดจากการอนุญาตให้มีการนำเข้าสารพิษและขยะอันตรายเข้ามาในประเทศไทย แม้การท้วงติงนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ถือได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้วทุกวันนี้มันก็พิสูจน์ว่า ประเทศไทยหลังการเปิดช่องของ เอฟทีเอ ไทย- ญี่ปุ่น วันนี้ประเทศไทยเป็นที่ทิ้งขยะสารพิษของโลกโดยสมบูรณ์แล้ว เราจึงอยากเห็นกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆที่ได้ทำการศึกษา ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้และท้วงติง กระตุกสำนึกรัฐบาล คสช.ให้ได้คิด ก่อนที่คนรุ่นต่อไปต้องมาตามแก้ปัญหาที่รัฐบาลอำนาจนิยมได้ทำไว้" กรรณิการณ์กล่าว

TPP หรือ TRANS-PACIFIC PARTNERSHIP เดิมมีสมาชิก 12 ประเทศ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น THE COMPREHENSIVE AND PROGRESSIVE AGREEMENT FOR TRANS-PACIFIC PARTNERSHIP ย่อเป็น CPTPP มีสมาชิกเหลือ 11 ประเทศโดยไม่มีประเทศสหรัฐอเมริกา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อตีข่าวอดีตพระพรหมเมธี ถูกคุมตัวที่เยอรมนี หลังหลบหนีจากไทย

Posted: 03 Jun 2018 02:16 AM PDT

จากกรณีพบรถตู้หรูโตโยต้า อัลพาร์ด ของอดีตพระพรหมเมธี (จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด จอดทิ้งอยู่หน้ากุฏิเจ้าอาวาสวัดป่าสุคนธรักษ์ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ตำรวจคาดว่าลูกศิษย์พาหนีไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น ตามที่ข่าวเสนอไปนั้น

วันที่ 3 มิ.ย.2561 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวพระพรหมเมธี หรือพระจำนงค์ เอี่ยมอินทรา อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสัมพันธวงศาราม หนึ่งในผู้ต้องหาคดีทุจริตเงินทอนวัดที่ยังหลบหนีได้แล้ว หลังพบว่าพระพรหมเมธีเดินทางออกจากกรุงเทพฯ และข้ามเรือเข้าไปในสปป.ลาว ก่อนที่จะเดินทางไปยังกัมพูชาแล้วหนีต่อไปที่เวียดนาม ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินไปลงที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ แล้วบินต่อไปลงที่ประเทศเยอรมนี โดยไม่ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง จึงถูกควบคุมตัว โดยมีเป้าหมายของเขาคือ สำนักงานผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในเยอรมัน เพื่อจะขอยื่นเรื่องเป็นผู้ลี้ภัย

ขณะที่ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ทางการเยอรมนีควบคุมตัวพระพรหมเมธีที่อากาศยานแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อ 2 มิ.ย. โดยทางการเยอรมนียังไม่อนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยม ขณะที่กงศุลใหญ่ไทย ณ กรุงแฟรงก์เฟิร์ต กำลังติดตามข้อมูลและประสานกับทางการเยอรมนีอย่างใกล้ชิด

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อเช้าวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา กองปราบฯ บุกจับ 5 พระเถระผู้ใหญ่ 3 วัดใหญ่ คือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดสามพระยา และวัดสัมพันธวงศาราม โดยกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องคดีทุจริตเงินทอนวัด ต่อมาพระธงชัย สุขโข หรือพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และพระสังคม สังฆะพัฒน์ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เข้ามอบตัว ทั้งคู่ให้การปฏิเสธ ถูกคุมตัวฝากขังศาลไม่ให้ประกันตัวถูกจับสึกเพื่อนุ่งขาวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เหลือนายจำนงค์ เอี่ยมอินทรา หรือ อดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม อยู่ระหว่างหลบหนีไป สปป.ลาว หลังพบรถโตโยต้า อัลพาร์ด สีบรอนซ์เงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จอดอยู่ในวัดป่าสุคนธรักษ์ อ.เรณูนคร จ.นครพนม คาดเป็นยานพาหนะที่อดีตพระพรหมเมธีใช้โดยสาร กระทั่งล่าสุด มีรายงานว่า สามารถจับกุมอดีตพระพรหมเมธีได้กระทั่งถูกกักตัวได้ที่เยอรมนี

ไทยรัฐออนไลน์ เปิดเผยประวัติว่า พระพรหมเมธี เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 4 - 5 - 6 - 7 (ธรรมยุต) และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เกิดที่บ้านริมน้ำนครชัยศรี ปากคลองบางระทึก ต.บางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 ปีมะเส็ง โยมบิดา นายจิตร เอี่ยมอินทรา โยมมารดา นางนิล รอดวิมุติ บรรพชาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2495 ที่วัดราษฎร์บำรุง ถนนเพชรเกษม 69 โดยมี พระครูวิศาลปริยัติคุณ (งาม จนฺทเทโว) วัดสามัคคิยาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌายะ อุปสมบทเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2504 ที่วัดสัมพันธวงศ์ โดยมีพระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระเทพปัญญามุนี (เฉย ยโส) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระเนกขัมมมุนี (เส็ง ทินฺนวโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

สมณศักดิ์

วันที่ 21 มิถุนายน 2509 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมที่พระครูสังฆบริหารฐานานุกรมของ พระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสกเถระ) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ 9, พฤศจิกายน 2513 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมที่พระครูปลัดฐานานุกรมของ พระเดชพระคุณ พระเทพปัญญามุนี (เฉย ยสเถระ) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ 10, 5 ธันวาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ที่ พระครูวิบูลศีลวงศ์ (ผจล.ชอ.) ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม (ผจล.ชพ.), 5 ธันวาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระวิบูลธรรมาภรณ์, 12  สิงหาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชธรรมาภรณ์, 10 มิถุนายน 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เนื่องในโอกาสมหามงคลกาญจนาภิเษก เป็นพระราชาคณะ ชั้นเทพ ที่ พระเทพรัชมงคลเวที, 5 ธันวาคม 2544 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมกิตติเมธี, 5 ธันวาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมเมธี สีลาจารวัตรวิมล โสภณปริยัติดิลก สาธกธรรมวิจิตร พิพิธศาสนกิจจาทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

หน้าที่การงานพิเศษ

16 กันยายน 2540 ดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการอนุรักษ์และพัฒนาพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี

2530 - ปัจจุบัน เป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการดำเนินการจัดงานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พุทธมณฑล

2 เมษายน 2541 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา

11 มกราคม 2544 มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิจารณาการปรับโครงสร้างงานพระพุทธศาสนา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

11 มิถุนายน 2544 มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานทำหน้าที่ติดตามและประสานงานตามมติมหาเถรสมาคม

12 ตุลาคม 2544 มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้เป็นกรรมการความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา

15 ธันวาคม 2544 กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

11 มิถุนายน 2545 มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้เป็นกรรมการฝ่ายปกครองของมหาเถรสมาคม กรรมการและเลขานุการ ฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม และ กรรมการฝ่ายการเผยแผ่ ของมหาเถรสมาคม

27 กุมภาพันธ์ 2545 มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ และการจัดประโยชน์ที่ดินวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง

2 ธันวาคม 2545 กระทรวงวัฒนธรรม แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ ฝ่ายคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา

พ.ศ.2546 มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอำนวยการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (มติ มส.ครั้งที่ 18/2546)

พ.ศ.2548 เป็นโฆษกมหาเถรสมาคม และเป็นเลขานุการคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวการจับนายจำนงค์ เอี่ยมอินทรา หรือ อดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ต้องรอ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นผู้แถลงข่าวอีกครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขบวนการซาลาฟีกับการเคลื่อนไหวข้ามชาติรูปลักษณ์ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Posted: 03 Jun 2018 01:03 AM PDT

<--break- />

เอกสารเชิงนโยบายและรายงานข่าวของสื่อมวลชนมักมองว่าลัทธิซาลาฟี (Salafism) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเสมือนกองหน้านำธงของลัทธิศาสนานิยมสุดขั้ว รวมทั้งเป็นม้าโทรจันของ "จักรวรรดินิยม" ซาอุดีอาระเบีย  รายงานเหล่านี้มักทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่า กลุ่มซาลาฟีมีอยู่ในภูมิภาคนี้เพราะได้รับเงินอุดหนุนจากกรุงริยาด  ในบทความนี้ ผู้เขียนประสงค์จะวาดภาพให้เห็นโดยละเอียดว่ากลุ่มซาลาฟีในภูมิภาคนี้มีความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกอย่างไร โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับ  ผู้เขียนจะนำเสนอกรณีศึกษาขบวนการซาลาฟีในสองประเทศคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย  โดยจะชี้ให้เห็นว่าบริบททางสังคมการเมืองมีผลต่อรูปลักษณ์ต่างๆ ในเครือข่ายข้ามชาติของขบวนการนี้อย่างไรบ้าง

ในบทความนี้ คำว่า ขบวนการซาลาฟี (Salafism) หมายถึงขบวนการเผยแผ่ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางศาสนาของมุสลิมสำนักนิกายอื่นๆ  ขบวนการซาลาฟีมุ่งหมายที่จะเจริญรอยตามวัตรปฏิบัติทางศาสนาและศีลธรรมของอิสลามสามรุ่นแรก (al-salaf al-salih—บรรพบุรุษผู้ทรงธรรม)  เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ ขบวนการซาลาฟีจึงตีความพระคัมภีร์แบบตรงตามตัวอักษร  เป้าหมายสูงสุดของขบวนการซาลาฟีคือทำให้มุสลิมสำนักนิกายอื่นๆ ยอมรับว่าอิสลามในแบบของซาลาฟีคือหลักศาสนาดั้งเดิม ในขณะที่การตีความแบบอื่นเป็นการบิดเบือนจากรูปแบบบริสุทธิ์ของศาสนา  ในเชิงความคิดนั้น กลุ่มเหล่านี้แตกต่างจากขบวนการปฏิรูปศาสนาอิสลาม ซึ่งอ้างตัวเป็นขบวนการซาลาฟีเช่นกันและหยั่งรากลึกอยู่ในภูมิภาคนี้


อินโดนีเซีย               

เงินทุนที่ไหลมาจากอ่าวอาหรับและกิจกรรมการกุศลข้ามชาติของศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิดขบวนการซาลาฟีในอินโดนีเซีย  ขบวนการซาลาฟีปักหลักในประเทศนี้ได้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ท่ามกลางการรื้อฟื้นความนิยมในศาสนาอิสลามขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลานั้น 1  กลุ่มซาลาฟีกลุ่มแรกๆ ก่อตัวขึ้นมาจากผู้จบการศึกษามหาวิทยาลัย Islamic University of Madinah (IUM) ซึ่งทุ่มทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ต้องการเรียนวิชาด้านศาสนา

ในช่วงทศวรรษ 1980  มหาวิทยาลัย University of Imam Muhammad bin Sa'ud ของซาอุดีอาระเบียเข้ามาก่อตั้งมหาวิทยาลัยสาขาในกรุงจาการ์ตาในชื่อ Lembaga Ilmu Pengetahuan Islam dan Arab (LIPIA)  มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดซาลาฟีในประเทศ  ผู้นับถือซาลาฟีในอินโดนีเซียจำนวนมากคือนักศึกษาที่ไม่สามารถขอทุนไปเรียนต่อที่ IUM แล้วหันมาเข้าเรียนและจบการศึกษาจาก LIPIA แทน  ภาษาของการเรียนการสอนที่ใช้ในมหาวิทยาลัย LIPIA คือภาษาอาหรับและการสอนวิชาศาสนามีพื้นฐานจากแนวคิดของขบวนการซาลาฟีเป็นหลัก

บัณฑิตจาก IUM จำนวนหนึ่งสะสมทุนทางสังคมและสร้างสายสัมพันธ์กับองค์กรการกุศลและองค์กรให้ทุนหลายองค์กรระหว่างศึกษาอยู่ในซาอุดีอาระเบีย  ดังนั้น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 องค์กรการกุศลจากอ่าวอาหรับจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในอินโดนีเซียและให้เงินอุดหนุนส่วนใหญ่แก่กลุ่มซาลาฟี  องค์กรที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ Jama'iyyat Ihya' al-Turath al-Islami (Society for the Revival of Islamic Heritage – SRIH) ซึ่งเป็นองค์กรจากคูเวต  องค์กรนี้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคขึ้นในกรุงจาการ์ตาและสนับสนุนการสร้างโรงเรียนประจำสอนศาสนาอิสลาม (pesantren—เปอซานเตร็นหรือปอเนาะ) หลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเกาะชวา แต่ก็มีบางแห่งในเกาะสุมาตรา ลอมบอกและกาลีมันตัน  จากโรงเรียนเปอซานเตร็นเหล่านี้ เครือข่ายซาลาฟีขนาดใหญ่ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อเรียกว่า เครือข่าย "ตูราตี" (Turathi) ซึ่งเป็นชื่อที่บอกถึงความเชื่อมโยงกับองค์กรคูเวตที่ให้ทุนสนับสนุน

ลักษณะเด่นประการหนึ่งของเครือข่ายตูราตีคือการเน้นแนวทางปฏิบัตินิยมและเต็มใจร่วมมือกับรัฐฆราวาส  โรงเรียนเปอซานเตร็นไม่ได้สอนแค่วิชาศาสนา แต่สอนตามหลักสูตรของโรงเรียนรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย  เรื่องนี้ทำให้เครือข่ายตูราตีเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน  ชาวอินโดนีเซียที่ไม่ได้นับถือซาลาฟีจำนวนมากส่งลูกหลานเข้าเรียนในเปอซานเตร็น เพราะเชื่อว่าขบวนการซาลาฟีแตกฉานภาษาอาหรับและการศึกษาพระคัมภีร์กุรอานกับคำสอนหะดีษ  ดังนั้น เด็กๆ จะได้รับการศึกษาด้านศาสนาที่ดี ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนตามหลักสูตรของรัฐบาลด้วย ซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย 2

กลุ่มซาลาฟีตูราตีเลือกแนวทางร่วมมือกับรัฐในเรื่องอื่นๆ เช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาให้ความร่วมมือกับเทศบาลอย่างสม่ำเสมอในการจัดอบรมเยาวชนเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย  อีกทั้งช่วยเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจในการสอดส่องหากลุ่มนักรบญิฮาดที่อาจฝังตัวในชุมชน  อุสตาซ อารีฟ เซียรีฟุดดินจากเมืองซิเรบอน ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของเครือข่ายตูราตี อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า ลัทธิซาลาฟีสอนถึงความจำเป็นของการเชื่อฟังและช่วยเหลือผู้ปกครองของรัฐ หากผู้ปกครองคนนั้นเป็นมุสลิม  เนื่องจากประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นมุสลิม  คนมุสลิมจึงมีหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือประธานาธิบดี

การที่เครือข่ายตูราตีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำให้พวกเขาค่อนข้างมีอิสระในการทำกิจกรรมดะวะห์ (da'wa) หรือการเผยแผ่ศาสนาและรักษาเครือข่ายข้ามชาติอันกว้างขวางไว้ได้  ยกตัวอย่างเช่น ทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง ชีคซาลาฟีจากคูเวตและซาอุดีอาระเบียจะมาอินโดนีเซียเพื่อตระเวนทำกิจกรรมดะวะห์และเยี่ยมเยียนโรงเรียนเปอซานเตร็นของเครือข่ายตูราตีตั้งแต่เกาะบาตัมจนถึงเกาะลอมบอก

เครือข่ายซาลาฟีอีกเครือข่ายหนึ่งเกิดขึ้นในเมืองมากัสซาร์บนเกาะซูลาเวซีใต้ในชื่อ Wahdah Islamiyah (เอกภาพอิสลาม – WI)  เครือข่ายนี้แตกออกมาจากองค์กรมูฮัมมาดียะห์ในช่วงปลายทศวรรษ 1980  ในสมัยนั้น ประธานาธิบดีซูฮาร์โตบังคับให้องค์กรอิสลามทั้งหมดยึดหลักปัญจศีลเป็นหลักการพื้นฐาน  องค์กรมูฮัมมาดียะห์จึงปรับตัวตามแนวทางสมัยใหม่  สมาชิกหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งขององค์กรยอมรับแนวทางนี้ไม่ได้  สมาชิกกลุ่มนี้จึงแตกออกมาจากองค์กรและสร้างกลุ่มใหม่ในชื่อ Yayasan Fathul Muin (Fathul Muin Endowment) ซึ่งต่อมากลายเป็นเครือข่าย WI

WI ค่อยๆ หันมารับแนวทางซาลาฟีมากขึ้นๆ เมื่อสมาชิกของเครือข่ายหลายคนเดินทางไปศึกษาต่อในซาอุดีอาระเบีย  ตอนแรกเครือข่ายได้รับเงินสนับสนุนจาก SRIH และต่อมาจากผู้บริจาคในซาอุดีอาระเบียหลายองค์กร รวมทั้งสถาบัน Qatari Shaykh Eid Charity Foundation (SACF) 3  WI แตกต่างจากเครือข่ายตูราตีในหลายแง่มุม  กล่าวคือ WI มีโครงสร้างการจัดองค์กรอย่างเป็นทางการ มีลำดับชั้นการบังคับบัญชาและกลไกการตัดสินใจซับซ้อนหลายขั้นตอนคอยควบคุมโครงการการกุศลและโรงเรียนประจำของ WI ที่ก่อตั้งทั่วประเทศอินโดนีเซีย  นอกจากนี้ WI ยังมีการทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัย ร่วมจัดหลายโครงการและจัดกลุ่มศึกษาสำหรับนักศึกษา  ลักษณะเด่นอีกประการของ WI คือการมีบทบาทในการเมืองระบบรัฐสภา  ถึงแม้ไม่ได้เสนอผู้สมัครรับเลือกตั้งของตนเอง แต่ก็มักทำตัวเป็นหัวคะแนนเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางวัตถุจากนักการเมืองชั้นนำ

ถึงแม้รักษาโครงสร้างสถาบันที่เหนียวแน่นเอาไว้ แต่ WI ก็ยังอาศัยวาทกรรมคำสอนของขบวนการซาลาฟี   WI สร้างความชอบธรรมให้แก่การดำเนินกิจกรรมของตนเองด้วยการอ้าง "อุลามะฮ์" ซาลาฟีจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการก่อตั้งองค์กรไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกจากอิสลาม 4

ถึงแม้การสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อตั้งขบวนการซาลาฟีในอินโดนีเซีย แต่ก็ยากที่จะอ้างว่าเงินจากคาบสมุทรอาหรับคือเส้นหล่อเลี้ยงชีวิตของขบวนการนี้  ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนเปอซานเตร็นของเครือข่ายตูราตีไม่ได้รับเงินสนับสนุนจาก SRIH อย่างสม่ำเสมอ แต่เลี้ยงตัวเองได้จากค่าเล่าเรียนต่างหาก  WI เองก็หาทุนจากในประเทศอินโดนีเซียได้มากกว่าจากต่างประเทศ

ชุมชนซาลาฟีที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสามในอินโดนีเซียไม่ยอมรับเงินบริจาคจากองค์กรการกุศลใดๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ  Din Wahid เรียกเครือข่ายนี้ว่า "ผู้ปฏิเสธ" (rejectionist) เพราะกลุ่มนี้ปฏิเสธการร่วมมือใดๆ กับองค์กรการกุศลและกลุ่มอิสลามอื่นๆ  เครือข่าย "ผู้ปฏิเสธ" มองว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นมุบตาดี (mubtadi) หรือกลุ่มคนที่กระทำอุตริกรรมซึ่งไม่มีแบบอย่างมาก่อนในศาสนาอิสลาม (บิดอะห์)   "ผู้ปฏิเสธ" ไม่ยอมสอนหลักสูตรของรัฐบาลในโรงเรียนของตน พวกเขาก่อตั้งชุมชนสันโดษที่ลดการติดต่อสัมพันธ์กับสมาชิกของสังคมที่ไม่ใช่ซาลาฟีให้น้อยที่สุด

เครือข่าย "ผู้ปฏิเสธ" มีความเชื่อมโยงแนบแน่นกับตะวันออกกลาง  หลายคนเดินทางไปศึกษาในเยเมนภายใต้การสั่งสอนของ Muqbil al-Wadi' นักวิชาการศาสนาคนสำคัญของเยเมนผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเป็นลูกศิษย์ของสาวกคนสำคัญของเขาอีกทีหนึ่ง  กระนั้นก็ตาม "ผู้ปฏิเสธ" ไม่รับทุนการศึกษาจากต่างประเทศ  ชุมชนเป็นผู้รวบรวมเงินที่นักศึกษาต้องใช้จ่ายระหว่างหลายปีที่ศึกษาในเยเมน (ส่วนเยเมนไม่คิดค่าเล่าเรียนและจัดหาที่พักอาศัยให้)  ตัวอย่างอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความเชื่อมโยงข้ามชาติก็คือการใช้สไกป์ถ่ายทอดคำบรรยายของนักวิชาการศาสนาชาวเยเมนในมัสยิดบ่อยครั้ง 5

มาเลเซีย

ในมาเลเซียก็เช่นกัน  สายสัมพันธ์ข้ามชาติมีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของลัทธิซาลาฟี  กระนั้นก็มีลักษณะแตกต่างออกไปเนื่องจากบริบททางสังคมการเมืองที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ  ในมาเลเซีย องค์กรการกุศลและงานบรรเทาทุกข์แทบไม่มีบทบาทในการขยายแนวคิดซาลาฟีเลย

ขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียแตกแขนงมาจากชุมชนอิสลามแนวปฏิรูปหรือขบวนการ Kaum Muda ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในพื้นที่นิคมช่องแคบที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (เช่น ปีนัง มะละกา สิงคโปร์ ฯลฯ) และรัฐปะลิสที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ  ผู้นับถืออิสลามสายปฏิรูปบางคนเริ่มหันมาตีความพระคัมภีร์ตรงตามตัวอักษรมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากได้รับอิทธิพลจากขบวนการซาลาฟีในซาอุดีอาระเบียและจอร์แดน  ผู้บุกเบิกขบวนการซาลาฟีในปัจจุบันจำนวนหนึ่ง ถึงแม้มีภูมิหลังจากขบวนการ Kaum Muda แต่หันมานับถือแนวทางซาลาฟีหลังจากศึกษาในซาอุดีอาระเบียในช่วงทศวรรษ 1980-1990  คนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดมีอาทิ โจฮารี มัท, ฮุสเซน ยี และชาวสิงคโปร์ เช่น ราซูล ดารี เป็นต้น

อีกประเทศที่มีอิทธิพลต่อขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียคือจอร์แดน  ขบวนการซาลาฟีในจอร์แดนต่างจากในซาอุดีอาระเบีย กล่าวคือ ในจอร์แดนไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ  กระนั้นก็ตาม ขบวนการซาลาฟีก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากคุณูปการของชีคนาซีร์ อัล-ดิน อัล-อัลบานี และลูกศิษย์ของเขา เช่น ชีคอาลี อัล-ฮาลาบี  นักศึกษาชาวมาเลเซียที่ไปศึกษาวิชาศาสนาและภาษาอาหรับที่มหาวิทยาลัยในจอร์แดนได้รู้จักขบวนการซาลาฟีหลังจากเข้าร่วมกลุ่มศึกษาที่ก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการตามมัสยิดต่างๆ ในกรุงอัมมานและในเมืองใหญ่อื่นๆ ของจอร์แดน รวมทั้งตามบ้านของผู้เข้าร่วมขบวนการบางคน

สมาชิกขบวนการซาลาฟีมาเลเซียที่โดดเด่นบางคน เช่น ซูไลมาน นอร์ดิน ทำความรู้จักแนวคิดของขบวนการนี้ระหว่างศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักร  ลัทธิซาลาฟีลงหลักปักรากฐานในหมู่ชุมชนมุสลิมตามเมืองใหญ่ๆ ของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1980  นักศึกษาชาวมาเลเซียบางคนได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการหลังจากเข้าร่วมกลุ่มซาลาฟีอังกฤษและเผยแพร่แนวทางนี้ต่อไปหลังจากกลับมามาเลเซียแล้ว

ขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียแทบไม่เคยเป็นตัวแทนขององค์กรการกุศลข้ามชาติเลย รวมทั้งไม่มีการตั้งเครือข่ายโรงเรียนและการกุศลอย่างกว้างขวางแบบในอินโดนีเซีย  เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะทั้งระบบราชการศาสนาของรัฐ (Jabatan Kemajuaan Islam Malaysia – JAKIM) และสุลต่านในรัฐต่างๆ ของมาเลเซียล้วนมีอคติต่อขบวนการซาลาฟี  JAKIM มีแนวโน้มที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้ศาสนาอิสลามในประเทศและพยายามครอบงำสำนักคิดชาฟีอี (Shafi'i madhab) อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ส่วนสุลต่านทั้งหลายมักเป็นสาวกของสำนักคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับขบวนการซาลาฟี  ยกตัวอย่างเช่น สุลต่านของรัฐเประก์มีความคิดโน้มเอียงไปทางสำนัก Naqshbandi-Haqqani Sufi  ด้วยเหตุนี้ หนังสือของขบวนการซาลาฟีจึงมักถูกสั่งห้ามในมาเลเซีย  นอกจากนั้น นักวิชาการของขบวนการซาลาฟีที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ฟาตุล บารี มัต ยะห์ยา ก็ถูกสั่งห้ามสอนศาสนา

เจ้าหน้าที่รัฐยังขัดขวางองค์กรการกุศลจากอ่าวอาหรับมิให้เข้ามาดำเนินการในมาเลเซีย  ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ SRIH มีสำนักงานในมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่ขององค์กรการกุศลแห่งนี้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า พวกเขาประสบอุปสรรคจากรัฐบาลหลายครั้ง  รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังแสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผยเมื่อพวกเขาพยายามขยายบทบาทในประเทศนี้

ดังนั้น ความเชื่อมโยงข้ามชาติของขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียจึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายระหว่างตัวบุคคลที่แนบแน่นแต่ไม่เป็นทางการ  ชีคของขบวนการซาลาฟีจากประเทศตะวันออกกลางและยุโรปมักมาเยือนมาเลเซียในฐานะนักท่องเที่ยว เข้าร่วมในการตระเวนทำกิจกรรมดะวะห์ หรือแสดงปาฐกถาและสอนบทเรียนทางศาสนา  ในรัฐยะโฮร์ มีเครือข่ายที่คล้ายคลึงกับ "ผู้ปฏิเสธ" ในอินโดนีเซียเกิดขึ้นเช่นกัน โดยมีความเชื่อมโยงทางวิชาการกับซาอุดีอาระเบียและคูเวตอย่างแนบแน่น  ชีคมูฮัมหมัด อัล-อันจารี ศาสนาจารย์ชาวคูเวตผู้มีชื่อเสียง เคยเดินทางมาเยือนมาเลเซียหลายครั้งเพื่อแสดงปาฐกถาและสอนบทเรียนทางศาสนา  สมาชิกขบวนการซาลาฟีชาวมาเลเซียที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น ฮุสเซน ยี ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับขบวนการซาลาฟีในตะวันตก  การที่พวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้ดี ทำให้ได้ปรากฏตัวในช่องทางสื่อนานาชาติ เช่น Peace TV หลายครั้ง

จากที่บรรยายมาทั้งหมดข้างต้น เราเห็นแล้วว่าความเชื่อมโยงข้ามชาติกับกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับมีบทบาทสำคัญต่อพลวัตของขบวนการซาลาฟีทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย  แต่การดำรงอยู่ของขบวนการไม่ถือเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียหรือประเทศอื่นๆ ในอ่าวอาหรับ  อันที่จริง  ทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย องค์กรหรือเครือข่ายที่ไม่ใช่ซาลาฟีได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรการกุศลและรัฐบาลกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) มากกว่าเสียอีก  กลุ่มกระแสหลัก เช่น องค์กรมูฮัมมาดียะห์ และองค์กรตามจารีตประเพณีดั้งเดิมอย่างนะห์ดาตุล อูลามะ ได้รับเงินช่วยเหลือจากซาอุดีอาระเบียมากกว่าขบวนการซาลาฟี  ทั้งนี้เพราะองค์กรกระแสหลักเหล่านี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่กว้างขวางกว่า จึงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับซาอุดีอาระเบียและคูเวตที่จะสร้างเสริม "อำนาจอ่อน" (soft power) ของตน อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี  องค์กรการกุศลจากกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับที่สนับสนุนขบวนการซาลาฟีมักบริจาคเงินให้กลุ่มที่ไม่ใช่ซาลาฟีมากกว่าไปพร้อมๆ กัน  ยกตัวอย่างเช่น SACF ทำโครงการการกุศลโดยร่วมมือกับองค์กรมูฮัมมาดียะห์และ PERSIS ซึ่งเป็นองค์กรแนวปฏิรูปอีกองค์กรหนึ่ง  ในมาเลเซียก็ทำนองเดียวกัน  เงินทุนจากองค์กรผู้บริจาค เช่น World Muslim Youth  ของซาอุดีอาระเบียไหลไปสู่ขบวนการอิสลามต่างๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับขบวนการซาลาฟีเลย เช่น องค์กร Angkatan Belia Islam Malaysia (ABIM) เป็นต้น

 

Reference

Hasan, Noorhaidi. Laskar Jihad: Islam, Militancy and the Quest for Identity in Post-New Order Indonesia. Ithaca, NY: Cornell Southeast Asia Program, 2006.
Wahid, Din. Nurturing the Salafi Manhaj: A Study of Salafi Pesantrens in Indonesia. Utrecht, PhD Thesis submitted to Utrecht University, 2014.


ที่มา: kyotoreview.org/thai/modalities-of-salafi-transnationalism-in-southeast-asia-thai 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศัพท์อังกฤษน่ารู้เกี่ยวกับการเมืองไทยในปัจจุบันกาล (4)

Posted: 03 Jun 2018 12:49 AM PDT

"State is a monopoly of fake news and a mother of all lies."

"รัฐคือผู้ผูกขาดข่าวปลอมและผู้ให้กำเนิดของมุสาวาททั้งหลายทั้งปวง"

นิรนาม


1.Foot-dragging - พฤติกรรมที่ตั้งใจจะทำให้แผนหรือกระบวนการช้าลง

ศัพท์คำนี้น่าจะใช้กับรัฐบาลเผด็จการซึ่งลากการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนคำว่าโรดแม็ป อันเป็นความพยายามของคสช.ในการคงไว้ซึ่งอำนาจนานๆ ครั้นต่อมาก็กลายเป็นการถ่วงเวลาเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนตนและใช้นโยบายประชานิยมเพื่อสร้างคะแนนเสียงจากชนรากหญ้าสำหรับปูทางให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความประหลาดใจว่าเหตุใดมวลชนจึงยินยอมอดทน (acquiesce) ต่อพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเวลาหลายปี ดังจะเห็นได้จากการประท้วงของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก กระนั้นคำตอบน่าจะได้แก่ความเสื่อมศรัทธาและความไม่ไว้วางใจของคนจำนวนมากต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง รวมไปถึงความหวาดกลัวต่อความไม่สงบซึ่งเคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แม้ว่าพวกเขาจะเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลทหารแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามเราสามารถกล่าวได้ว่าในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนมักถูกปลูกฝังให้มีความศรัทธาในรัฐที่ถูกผลักดันโดยระบบราชการภายใต้อุดมการณ์         ราชาชาตินิยมเสียมากกว่าบทบาทของนักการเมือง ทำให้การเลือกตั้งถูกลดความสำคัญและตีตราว่าเต็มไปด้วยการซื้อเสียงขายเสียงเท่านั้น

2. Fearmongering - การปลุกปั่นให้เกิดความหวาดกลัว

ความหวาดกลัวของคนจำนวนมากต่อความไม่สงบดังข้อ 1. ส่วนหนึ่งมาจากการปลุกปั่นไม่ว่าจากรัฐบาล กองทัพหรือสื่อมวลชนภายใต้อำนาจของรัฐบาล (อย่างเช่นคอลัมน์หนึ่งของไทยรัฐ) ซึ่งมักจะขู่ว่าอาจเกิดฉากทำนอง Shutdown Bangkok ของกปปส.ขึ้นอีกครั้ง หากเร่งรีบให้มีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลพลเรือน อย่างไรก็ตามถือได้ว่าเป็นธรรมชาติของมวลชนที่คำนึงถึงความมั่นคงมากกว่าเสรีภาพ ซึ่งเกิดขึ้นแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เผชิญกับเหตุการณ์ไม่สงบอย่างเช่นการประท้วงจลาจลหรือ   การก่อการร้าย รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนเสรีภาพของประชาชน หากรัฐบาลไม่จริงใจเพราะต้องการอำนาจก็ยิ่งปั่นเรื่อง (spinning the story) ให้มวลชนหวาดกลัวยิ่งขึ้น อย่างเช่นในเมืองไทย รัฐบาลก็กุข่าวว่ามีกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์จ้องจะใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความวุ่นวายทางการเมืองเพื่อเป็นการลดความน่าเชื่อถือของขบวนการประชาชนที่ประท้วงรัฐบาล อย่างไรก็ตามโซเชียลมีเดียเองจำนวนไม่น้อยก็มีส่วนในการปลุกปั่นเพื่อสร้างความกลัวอันไร้เหตุผลให้มวลชน โดยเฉพาะบรรดาพลเมืองชาวเน็ตที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวกฎหมายจากรัฐที่เข้าข้างพวกเขาอยู่เสมอ

3.Civilized dictatorship – เผด็จการแบบมีอารยะ

นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเองมักเอ่ยถึงคำว่า "กฎหมาย" อยู่บ่อยครั้ง เพื่อสะท้อนว่าพวกเขาปกครองประเทศภายใต้ภาวะนิติรัฐ (Rule of law) อันเป็นการสร้างภาพว่าพวกเขาคือเผด็จการแบบมีอารยะ อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนเหมือนประเทศประชาธิปไตยทั่วไป หากเป็นสิ่งที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเนติบริกรภายใต้อำนาจสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อต่ออำนาจของคสช. เช่นเดียวกับองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายไม่ว่าตำรวจ ศาลหรือองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็อยู่ภายใต้อาณัติของคสช. ดังจะเห็นได้จากปปช.กับคดีนาฬิกาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณซึ่งเกือบหยุดนิ่งราวกับต้องมนต์สะกด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขากระทำตัวอยู่เหนือกฎหมายแบบซ้อนเร้น เข้าทำนอง hypocrite หรือมือถือสากปากถือศีล   

เผด็จการแบบมีอารยะยังพยายามสร้างความเข้าใจผิดว่าประชาชนมีเสรีภาพคือสามารถทำสิ่งใดก็ได้เหมือนกับอยู่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริงแล้วแม้แต่เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จอย่างเกาหลีเหนือยังเปิดเสรีภาพให้ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง รัฐบาลไทยยังเปิดช่องให้สื่อมวลชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่เพียงระดับหนึ่งเพราะการตัดสินใจยังอยู่ข้างบนอยู่ดีและที่สำคัญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองเหมือนประชาธิปไตยได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังเปิดให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (จนไปถึงด่าทอ) ได้โดยกว้างขวาง แต่ก็ใช้กฎหมายข่มขู่อยู่บ่อยครั้ง และก่อนหน้านี้ยังพยายามติดต่อบริษัทเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียอย่างเช่นเฟ็ซบุ๊คและทวิตเตอร์เพื่อปิดบัญชีของผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมไปถึงมอบอำนาจให้กสทช.เฝ้าควบคุมสื่อกระแสหลักไม่ให้มีการโจมตีรัฐบาล ที่สำคัญรัฐบาลยังส่งทหารเข้าไปพบปะพูดคุยกับผู้มีความเห็นต่างกับรัฐบาล อันเป็นการคุกคามแบบละมุนละม่อมเพื่อหลีกการถูกโจมตีว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน วิธีการเช่นนี้เป็นการอำพรางตัวเองว่าไม่ได้เถื่อนดิบคือใช้กำลังในการเล่นงานปรปักษ์ทางการเมืองเหมือนกับประเทศเผด็จการในอดีต

4. Buddha Isara phenomenon - ปรากฎการณ์พุทธอิสระ

ปรากฎการณ์พุทธอิสระถือได้ว่ามีลักษณะเฉพาะตน (one of a kind) ไม่เหมือนกับกรณีอื้อฉาวของพระซึ่งมีมาอยู่เรื่อยๆ ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา อดีตพระพุทธอิสระคือส่วนผสมของการเป็นจอมฉวยโอกาสที่สร้างบารมีผ่านพุทธศาสนา จนกลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่แม้ชนชั้นปกครองเช่นคสช.ให้ความเคารพ เขายังมีลักษณะเป็นมาเฟียผสมนักต้มตุ๋นที่ใช้คราบนักบวชและวาทกรรมเรื่องรักชาติ (อันทำให้เขาแตกต่างจากกรณีธรรมกาย) เพื่อปกปิดอาชญากรรมของตัวเองเมื่อหลายปีก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากสาวกจำนวนไม่น้อยที่เป็นชนชั้นกลางและเป็นอดีตกปปส. เหตุการณ์ผลิกผันที่ทำให้เขากลายมาเป็นนายสุวิทย์ ทองประเสริฐในคุกได้รับการวิเคราะห์ว่าเกิดจากคำสั่งของอำนาจนอกกลุ่มคสช. จนกลายเป็นปรากฎการณ์รัฐซ้อนรัฐอีกรอบ ดังจะเห็นได้ว่าคสช.ออกมาขอโทษที่ทำการจับกุมพุทธอิสระโดยใช้ความรุนแรงเกินเหตุ และก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่เคยแสดงเจตนาในการดำเนินคดีกับพุทธอิสระแม้แต่น้อย

อนึ่งปรากฎการณ์พุทธอิสระยังเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเลื่อนไหลของกระบวนทัศน์ของชาวพุทธที่มีต่อพระสงฆ์ซึ่งเคยได้รับการนับถืออย่างสูงในสังคมไทย จากการที่คนจำนวนมากใช้คำหยาบคายในการด่าทอเขาขณะอยู่ในผ้าเหลืองน่าจะยิ่งกว่าพระรูปใดอย่างไม่กลัวบาปกลัวกรรม

5. Technological utopianism – โลกยูโทเปียทางเทคโนโลยี

ศัพท์คำนี้หมายถึงความเชื่อที่ว่าความเจริญทางเทคโนโลยีจะนำมาสู่โลกดีงามดังในฝัน ความเชื่อเช่นนี้มีมานานและอยู่กับคนทั่วโลก แต่สำหรับสังคมไทย บุคคลซี่งสะท้อนความเชื่อดังกล่าวล่าสุดคือนาย ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค เจ้าของเฟซบุ๊คซึ่งโพสหลายโพสสามารถสร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยได้ไม่น้อย ครั้งหนึ่งเขาแสดงความเห็นว่ารัฐสภานั้นไม่มีความจำเป็นอีกเท่าไรนัก เพราะคนที่จะมาตรวจสอบหรือควบคุมรัฐบาลได้แก่พลเมืองชาวเน็ต (netizen) ทั้งหลายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งแนวคิดของนิติพงษ์เหมือนจะดูดี แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นหลุมพรางเสียมากกว่า เพราะเขาลดความสำคัญของสถาบันแบบประชาธิปไตยไป และเปิดช่องไปสู่การปกครองแบบใดก็ได้ (แน่นอนว่าเขามีแนวโน้มจะสนับสนุนรัฐบาลแบบเผด็จการ) ที่สำคัญนิติพงษ์ยังมองข้ามจุดอ่อนของโซเชียลมีเดียที่ผ่านมาว่าไม่สามารถสร้างความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างแท้จริง ไม่ว่ากรณีนาฬิกาของพลเอกประวิตร การล่าเสือดำของนายเปรมชัย หรือโพลทางอินเทอร์เน็ตที่ไม่ต้องการพลเอกประยุทธ์อีกต่อไป รวมไปถึงความสามารถของรัฐเผด็จการในการควบคุมการแสดงทางการเมืองผ่านอินเทอร์เน็ตดังเช่นจีนซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มจะกลายเป็น Technological Authoritarianism หรือ เผด็จการที่ใช้ประโยชน์จากการควบคุมเทคโนโลยีไว้

6. Reactionary - พวกปฏิกิริยานิยม

ปฏิกิริยานิยมหมายถึงพวกปฏิเสธสิ่งใหม่ๆ อันมักได้แก่ผู้มีความคิดอนุรักษ์นิยมที่ต้องการรักษาสิ่งเก่าๆ อย่างจารีตประเพณีหรือชนชั้นทางการเมืองแบบเดิมไว้ ในกรณีนี้คือพวกตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองเสรีนิยมอย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่ซึ่งมักเสนอแนวคิดนอกกรอบของกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างเช่นล่าสุดคือการวิพากษ์วิจารณ์พิธีกรรมการไหว้ครู พวกปฏิกิริยานิยมมักเป็นพวกกปปส.เก่าและมีพื้นที่ในการแสดงออกตามเฟซบุ๊คของสื่ออย่างเช่นผู้จัดการและไทยโพสต์ โดยพวกเขามองว่าหัวหน้าพรรคอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและเลขาธิการพรรคคือนายปิยบุตร แสงกนกกุลมีความสัมพันธ์หรือความใกล้ชิดกับเครือข่ายทักษิณและมีแนวคิดอันตรายอย่างเช่นคอมมิวนิสต์กับล้มเจ้า ปฏิกิริยานั้นมีความหลากหลายเช่นวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีต่อต้าน จนไปถึงการสาดโคลน (mudslinging) อย่างไร้ที่มาที่ไป อย่างเช่นหม่อมเจ้าผู้หนึ่งได้กล่าวหาผ่านเฟซบุ๊คของตนว่านายธนาธรมีความตั้งใจจะเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ

7.Abolishing the constitution - ฉีกรัฐธรรมนูญ

คำประกาศของนายธนาธรในการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้นำไปสู่การต่อต้านของคู่แข่งทางการเมือง (political rivals) อย่างเช่นพลเอกประวิตรออกมาห้ามปรามว่าผิดกฎหมาย (ที่ตัวเองได้ประโยชน์) นอกจากนี้พรรคการเมืองหนึ่งบอกว่าผิดกฎหมายอาญามาตรา 116 คือปลุกปั่นเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันก่อให้เกิดการย้อนแย้งดังคำถามได้ว่าเหตุใดคสช.จึงฉีกรัฐธรรมนูญเมื่อ 4 ปีก่อนได้โดยไม่ต้องรับความผิดอะไร (เช่นเดียวกับในประวัติศาสตร์ที่กองทัพเพียรฉีกรัฐธรรมนูญหลายสิบฉบับที่ผ่านมาก็ไม่เคยต้องโทษแม้แต่ครั้งเดียว) พวกปฏิกิริยานิยมบางคนโจมตีนายธนาธรว่าไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว อันเป็นการไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการลงประชามติ (referendum) ครั้งที่ผ่านมา เกิดจากการใช้อำนาจและทรัพยากรในทุกด้านของรัฐในการปลุกปั่นหรือหลอกลวงให้ประชาชนลงคะแนนยอมรับรัฐธรรมนูญ (เช่นเดียวกับของฉบับปี 2550) และยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังการลงประชามติ อันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนเหมือนกับในประเทศประชาธิปไตย สาเหตุที่นายธนาธรจะ "ฉีก" รัฐธรรมนูญนั้นเพราะมันเต็มไปด้วยกับดักจนกลายเป็นการสร้างทางตันสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การฉีกหรือการยกเลิกจะต้องขึ้นอยู่กับการเห็นชอบของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อันขึ้นอยู่กับเจตจำนงของประชาชน คือผ่านการลงประชามติที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย

8. Fake new - ข่าวปลอม

ข่าวที่รัฐบาลเล่นงานคนปล่อยข่าวปลอมอย่างนายกรัฐมนตรีไล่ไปเติมน้ำเปล่าแทนน้ำมัน ฯลฯ น่าจะเข้าทำนองมือถือสากปากถือศีลอีกกรณีหนึ่ง เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นรัฐไทยนี่เองที่ผลิตซ้ำหรือสร้างสรรค์โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) นั่นคือการกระจายข้อมูลอันบิดเบือนจากความเป็นจริงโดยการเติมสีหรือวาทกรรมลงไปเพื่อสร้างอำนาจให้กับชนชั้นปกครองอยู่ตลอดเวลาผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักซึ่งเชื่องตามอำนาจของรัฐ กรณีนี้น่าจะมีความร้ายแรงเสียยิ่งกว่าข่าวปลอมที่ประชาชนทั่วไปปล่อยเสียอีก เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า State is a monopoly of fake news and a mother of all lies. (รัฐคือผู้ผูกขาดข่าวปลอมและมารดาของมุสาวาททั้งหลายทั้งปวง)  

เป็นความจริงว่าคนปล่อยข่าวปลอมต้องถูกทำโทษตามกฎหมายเพราะอาจนำไปสู่ความวุ่นวายของสังคม แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้น รัฐจะไม่สามารถผูกขาดโฆษณาชวนเชื่อหรือข่าวปลอมได้เพียงฝ่ายเดียว เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พงศ์เทพ’ ชี้สมาชิกพรรคน้อยกระทบไพรมารีโหวต

Posted: 03 Jun 2018 12:27 AM PDT

'พงศ์เทพ เทพกาญจนา' แกนนำพรรคเพื่อไทย ชี้สมาชิกพรรคน้อยกระทบไพรมารีโหวต เพราะ คสช.กำหนดการยืนยันสมาชิกพรรคมีอย่างเวลาจำกัด พรรคการเมืองไม่สามารถเดินทางไปติดต่อพูดคุยกับสมาชิกเก่าได้อย่างทั่วถึง สมาชิกพรรคลดลงอย่างมากนี้จะมีปัญหามากต่อการทำไพรมารีโหวต เพราะจะไม่สะท้อนเสียงของประชาชนในเขตเลือกตั้ง

 
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมานายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สรุปตัวเลขหลังปิดรับการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองเดิม แล้วพบว่าสมาชิกของพรรคการเมืองต่างๆ ลดลงอย่างมากนั้น เป็นเพราะมีคำสั่งหัวหน้า คสช.กำหนดการยืนยันสมาชิกพรรคมีอย่างเวลาจำกัด พรรคการเมืองไม่สามารถเดินทางไปติดต่อพูดคุยกับสมาชิกเก่าได้อย่างทั่วถึง และยังกำหนดให้สมาชิกต้องจ่ายคำบำรุงพรรค การที่สมาชิกพรรคลดลงอย่างมากนี้ จะมีปัญหามากต่อการทำไพรมารีโหวต เพราะจะไม่สะท้อนเสียงของประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นๆ จริงๆ เนื่องจากแต่ละเขตมีประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบแสนคน แต่สมาชิกพรรคแต่ละเขตกลับมีน้อย ซึ่งพรรคบางอาจหาสมาชิกไม่ได้ที่พอจะทำไพรมารีโหวตด้วยซ้ำ
 
"ระบบไพรมารีโหวต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปดูตัวอย่างจากต่างประเทศ แล้วมาทำในประเทศไทยซึ่งเป็นคนละเรื่อง เพราะอย่างสหรัฐฯ ประชาชนเขาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะมาก และหลายรัฐไม่ใช่สมาชิกพรรคก็ออกเสียงไพรมารีโหวตได้ ของสหรัฐฯ เป็นการสะท้อนเสียงของประชาชนที่มากจริงๆ แต่ในเมืองไทย ซึ่งมีพรรคการเมืองอยู่เกือบ 70-80 พรรค กฎหมายยังกำหนดให้ 1 เขตมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน และต้องมาลงคะแนนครึ่งหนึ่ง ถามว่าคน 50 คน จะไปชี้ขาดให้ใครลงสมัครได้อย่างไร ซึ่งไม่มีเหตุผลที่กรรมการบริหารพรรคจะต้องเห็นชอบตามนั้น" นายพงศ์เทพ กล่าว
 
นายพงศ์เทพ กล่าวว่าการกำหนดเงื่อนไขใหม่สำหรับสมาชิกพรรคการเมือง จนเหลือสมาชิกพรรคน้อย ยังส่งผลพรรคการเมืองที่ควรจะมีฐานกระจายไปยังประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินนโยบายของคนส่วนรวม ก็จะมีข้อกำจัด ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการเป็นพรรคของมหาชน นอกจากนี้การที่ คสช.ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองก็แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการจะคืนอำนาจให้ประชาชน ดังจะเห็นความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุน คสช. ที่สามารถดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้มองว่า 1.คสช.ยังไม่ต้องการคืนอำนาจ 2.ต้องการให้พรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุนตนได้เปรียบ
 
นายพงศ์เทพกล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งที่หลายคนห่วงว่าจะเลื่อนไปถึงเดือน เม.ย. 2562 คิดว่าเมื่อใดก็ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน รวมถึงประกาศผลการเลือกตั้ง ก็อยู่ในกรอบ 150 วัน อย่างไรก็ตาม คสช.ควรปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้เตรียมการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ได้แล้ว เพราะกติกาใหม่มีความยุ่งยากกว่าของเดิมมาก ยกเว้น คสช.จะมีความพยายามยืดเวลา ยังไม่คิดต้องการคืนอำนาจ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร นอกจาก คสช.เอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการ กสทช. แจงไม่ได้อนุญาตให้ใช้คำหยาบคายออกทีวี

Posted: 02 Jun 2018 11:55 PM PDT

กรรมการ กสทช. แจงไม่ได้อนุญาตให้ใช้คำหยาบคายออกทีวี กรณีครเรื่อง 'บางรักซอย 9/1' แต่เรียกเจ้าของช่องไปตักเตือนตามขั้นตอน และรับปากจะแก้ไขฉากที่มีคำพูดไม่เหมาะสมออกแล้ว เชื่อผู้เผยแพร่หนังสือเข้าใจผิด

 
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2561 MGR Online รายงานว่าจากกรณีที่เฟสบุ๊คของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยแพร่หนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งผลการพิจารณา กรณีที่ละครเรื่อง บางรักซอย 9/1 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31 มีการใช้ภาษาและคำพูดที่ไม่เหมาะสม มีคำว่า "เ_ี้ย" "กู" และ "มึง" อยู่หลายครั้ง ไม่สอดคล้องกับการจัดระดับความเหมาะสมของรายการไว้ที่ระดับ "ท" (รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย) แต่สำนักงาน กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพในบางครั้ง ซึ่งไม่ใช่บริบทที่พบบ่อยในการนำเสนอ จึงเห็นว่าเป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกับการจัดระดับความเหมาะสมไว้ที่ระดับ "ท"
 
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ระบุว่า กรณีที่มองว่า กสทช. อนุญาตให้ใช้คำหยาบคายออกอากาศได้นั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะ กสทช. มีกฏหมายที่กำหนดและข้อบังคับ และเนื้อหาละครเรื่อง บางรักซอย 9/1 นั้น มีการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพในบางครั้ง ซึ่งไม่ใช่บริบทที่พบบ่อยในการนำเสนอ จึงได้เชิญบริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการช่อง ONE 31 เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งได้ยอมรับข้อผิดพลาด และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขฉากที่มีการใช้คำพูดไม่เหมาะสมออก
 
ทั้งนี้ละครเรื่อง บางรักซอย 9/1 ตอนที่ออกอากาศครั้งนั้นเป็นการออกอากาศตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งทางช่องก็ได้ปรับปรุงและไม่มีการร้องเรียนถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นอีก โดยขั้นตอนการทำงานของ กสทช. ในฐานะกำกับดูแล เมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามา ก็ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบก็จะเรียกผู้ถูกกล่าวมาตักเตือน ทำความเข้าใจ และรับทราบตกลงร่วมกัน ซึ่งจะใช้อำนาจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนการเผยแพร่หนังสือจากผู้ร้องเรียนนั้น ส่วนตัวยืนยันว่าเป็นการเข้าใจผิด แต่หากเป็นการนำเสนอความคิดเห็น ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลมากกว่า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 พ.ค.-3 มิ.ย. 2561

Posted: 02 Jun 2018 11:35 PM PDT

ไทยจ่อยื่นสัตยาบันสาร ILO ฉบับที่ 29 คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล 

รมว.แรงงาน พร้อมคณะ เตรียมเข้าพบ นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ILO และจดทะเบียนยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อเวทีการประชุมใหญ่ประจำปีของ ILO ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ แสดงเจตนารมย์ในฐานะไทยเป็นประเทศสมาชิกร่วมคุ้มครองสิทธิแรงงานสอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ เข้าพบ นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในโอกาสที่เดินทางไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILC) สมัยที่ 107 ระหว่างวันที่ 1 – 7 มิถุนายน 2561 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) โดยในการประชุมในครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีวาระเข้าพบ Mr. Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ ILO และจดทะเบียนยื่นสัตยาบันพิธีสารเสริมอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ด้วย

สำหรับการเข้าร่วมประชุมใหญ่ ILO สมัยที่ 107 ของ รมว.แรงงาน และคณะในครั้งนี้จะเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อเวทีโลก ในเรื่อง มาตรการในการช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป คนหางาน คนงาน นายจ้าง รวมถึงหน่วยงานผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในประเด็นว่าด้วยแรงงานบังคับ และส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบ และส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน อันนำไปสู่การหลีกเลี่ยงปัญหาและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยต่อไป

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 3/6/2561

นายจ้างจี้แรงงานปลดล็อคให้ต่างด้าวขายของหน้าร้านได้

นายพิภูเอก สกุลหลิม ผู้แทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว (GEFW) ประกอบไปด้วย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ขายของ ร้านทำเล็บ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานพิจารณาปลดล็อคอาชีพสงวนเพิ่มจากเดิมที่มีแล้ว 12 อาชีพ โดยเสนอให้กระทรวงแรงงาน อนุญาตให้ในงานประเภทร้านอาหาร และขายสินค้า ต่างด้าวควรขายของหน้าร้าน รับเงิน และทอนเงินได้ เพื่อนำส่งให้นายจ้าง และในส่วนงานร้านทำเล็บ ทำความสะอาดมือเท้า ตัดเติมเล็บ แคะเล็บ ควรทาสีง่ายๆ ที่ไม่ใช่การเพ้นท์ได้ด้วย เนื่องจากเป็นงานกรรมกร มิใช่ทักษะขั้นสูง แต่ต้องมีเงื่อนไขคือ ต่างด้าวต้องเป็นลูกจ้าง โดยมีนายจ้างเป็นคนไทยเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจได้ เพราะที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานไทย เพราะลักษณะงานดังกล่าวคนไทยไม่นิยมทำ เปิดรับสมัคร 3 เดือนก็ไม่มาและไม่สามารถรับแรงงาน ต่าวด้าวมาทำแทนได้ เพราะตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ไม่อนุญาตให้ต่างด้าว ขายของหน้าร้าน เก็บเงินและทอนเงิน และไม่อนุญาตให้ทาสีเล็บ แต่ให้ตัดหรือแคะเล็บได้ ผู้ประกอบการจึงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก หนำซ้ำยังถูกผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียกผลประโยชน์รายเดือน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ กระทรวงแรงงานควรปลดล็อคอาชีพสงวนตามที่เสนอเพิ่มเติมนี้

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทน รมว.รับหนังสือแทน รมว.แรงงาน กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มนายจ้าง จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่จะมีขึ้นกลางเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้การพิจารณาปลดล็อคอาชีพสงวนเป็นไปอย่างรอบด้าน และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด โดยการพิจารณาจะต้องยึดหลัก ต้องไม่กระทบความมั่นคงของชาติ อาชีพที่ต่างด้าวทำได้ต้องไม่เป็นงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของไทย อยุญาตให้ทำเท่าที่จำเป็น และต้องไม่แย่งงานคนไทย

ขณะที่บ่ายวันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ มีกำหนดเป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับการปลดล็อกอาชีพสงวนแรงงานต่างด้าว ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันนท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ สภาวิชาชีพ 3 สถาบัน (วิศวกร สถาปนิก บัญชี) นักวิชาการด้านแรงงาน เป็นต้น

ที่มา: โลกวันนี้, 1/6/2561

คนไทยหนี้ท่วมหัวไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นเป็น 7.1% ขณะที่การจ้างงานลดลง 0.2%

นางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2561 แนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.1% ในไตรมาส 4 /2560 เป็น 7.1% โดยสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 10.6% ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อเกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.68% ในไตรมาส 4/2560 เป็น 2.78% ในไตรมาสนี้ โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2561 พบว่ามีการจ้างงานลดลง 0.2% โดยเฉพาะจากแรงงานภาคนอกเกษตรลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่วนการจ้างงานในสาขาการผลิตทรงตัว แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งไทยและต่างประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ไม่สะท้อนในภาพรวมของการจ้างงานที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง และบริการส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการประกอบธุรกิจ ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรขยายตัว 6.0% จากไตรมาส 1/2560 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร

ที่มา: ข่าวสด, 31/5/2561

ก.แรงงานเร่งฝึกอาชีพคนจน 6 แสนคน

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเยี่ยมชมการฝึกอาชีพโครงการดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมทางสังคม ที่มุ่งเป้า ฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกว่า 6 แสนราย โดยมอบหมายให้กรมการจัดหางาน ที่สนับสนุนการจัดหางานให้แก่ผู้ที่ที่มีรายได้น้อย และส่งเสริมการรับงานกลับไปทำที่บ้าน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ดูแลให้ความคุ้มครองและส่งเสริมการเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้แก่ผู้มีรายได้น้อยร่วมด้วย ส่วน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ดำเนินการด้านการฝึกอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนฝึกอาชีพในหลักสูตรต่างๆ จำนวน 58 หลักสูตร มีระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชม. 30 ชม. และ 60 ชม. พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยอย่างครอบคลุมทั่วถึง คาดว่าจะมีงานทำอย่างน้อย 65%หลังจากผ่านการฝึกอาชีพ

ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกพร. กล่าวต่อไปว่า กพร. มีเป้าหมายดำเนินการฝึกอาชีพให้ผู้รายได้น้อย 625,120 คน กำลังดำเนินงานแบบประชารัฐโดยให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.ประสานจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรม ซึ่ง รมว.แรงงาน ได้เยี่ยมชมการฝึกอาชีพโครงการเพิ่มศักยภาพแรงงานผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนทบุรี (สนพ.นนทบุรี) ซึ่งมีผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดนนทบุรีที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ จำนวน 4,157 คน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 30/5/2018

ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนฯ ออกแถลงการณ์ยืนยันการคัดค้านระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงาน หรือ ลูกจ้าง ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการต่อต้านนายกฯ-คสช. และไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง

ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องวัตถุประสงค์การแสดงความคิดเห็นของชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชมแห่งประเทศไทย โดยเนื้อหาระบุว่า ตามที่กระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงาน หรือ ลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 มีสาระสำคัญคือต้องทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน อัตราค่าจ้างไม่เกินขั่นต่ำของตำแหน่งและวุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง และระเบียบเงินบำรุงกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 ในข้อ 10 ที่มีสาระสำคัญคือ การจ้างลูกจ้างชั่วคราว หรือ พนักงานกระทรวงสารธารณสุข จากเงินบำรุงต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน

ทั้งนี้ ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย พิจารณาแล้ว เห็นว่าระเบียบกระทรวงการคลังและระเบียบกระทรวงสาธารณสุขจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดทุนบุคลากรในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ยากไร้ในโรงพยาบาลรัฐ อีกทั้งลูกจ้างเงินนอกงบประมาณขาดขวัญกำลังใจ

ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 18 พ.ค.2561 และ แก้ไขระเบียบเงินบำรุง ข้อ 10 ลงวันที่ 29 ม.ค.2561 ให้เป็นอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ โดยการขึ้นป้ายไม่เห็นด้วยกับระเบียบกระทรวงการคลัง และการไปยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังในวันที่ 1 มิ.ย.61 นั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการต่อต้านนายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแต่อย่างใด

ที่มา: Voice TV, 29/5/2561

เตรียมปลดล็อกให้คนต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ระบุว่าผู้ประกอบการและนายจ้างเรียกร้องให้มีการปลดล็อกอาชีพสงวนบางอาชีพ หลังจากห้ามมาตั้งแต่ปี 2522 มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย สมาคมภัตตาคารไทย สภาสถาปนิก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแรงงาน สถานประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพต่างๆ ถึงการปลดล็อกอาชีพสงวนบางอาชีพให้ต่างด้าวทำได้ รวมทั้งรับฟังความเห็นผ่านเว็ปไซต์ของกรมการจัดหางาน โดยได้สรุปผลแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1. ไม่เป็นงานห้ามอีกต่อไปจำนวน 2 งาน ประกอบด้วย งานกรรมกร และงานก่ออิฐ ช่างไม้ ช่างก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งเดิมเป็นงานห้าม แต่ผ่อนผันให้ทำแค่กรรมกรใช้แรงงานไม่ใช่งานฝีมือช่าง แต่เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน คนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ไม่ทำงานหนัก จึงให้ทำได้ แต่ต้องขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง กลุ่มที่ 2. ให้ต่างด้าวทำได้ 10 งาน คือ 1. งานกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญเฉพาะสาขา 2. งานให้บริการวิชาชีพทางบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทางบัญชี แต่ไม่รวมถึงการตรวจสอบภายใน 3. งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 4. งานทำมีด 5. งานทำรองเท้า 6. งานทำหมวก 7. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา 8. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรม ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ 9. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 10. งานปั้นหรือทำเครื่องดินเผา ส่วนใหญ่เป็นงานในอุตสาหกรรมการผลิต คนไทยไม่นิยมทำ แต่จะอนุญาตให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไข ต้องมีผู้จ้างวาน ไม่เป็นเจ้าของกิจการเอง โดยจะไม่อนุญาตให้ทำงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มงานห้ามเด็ดขาดมี 28 งาน อาทิ งานแกะสลักไม้ ขับขี่ยานยนต์ ขายของหน้าร้าน เจียระไนหรือขัดเพชรพลอย งานตัดผม ดัดผม เสริมสวย งานมัคคุเทศก์ นำเที่ยว เร่ขายสินค้า โดยเพิ่มงานนวดไทย เป็นงานห้ามใหม่ 1 อาชีพ

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเน้นย้ำว่า ทุกงานที่ให้คนต่างด้าวทำ เพื่อบรรเทาความขาดแคลนแรงงานเท่านั้น โดยยึดหลัก 3 ประการ ต้องไม่เป็นภัยความมั่นคง ไม่กระทบการมีงานทำของคนไทย และจะอนุญาตเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ งานใดที่มีคนไทยทำเพียงพอแล้ว จะไม่ให้ต่างด้าวทำ โดยเฉพาะขายของหน้าร้าน กับงานตัดผม เสริมสวย ขณะนี้ได้สรุปความเห็นจากจากทุกภาคส่วน เพื่อนำเสนอต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิจารณาในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เพื่อนำเข้าขอความเห็นชอบในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ก่อนออกประกาศเป็นกฎกระทรวง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ภายใน 30 มิถุนายน 2561 เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จะมีผลทำให้คนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด หลังจากชะลอโทษมานานแล้ว

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 28/5/2561

กสร. ช่วยลูกจ้างเมียนมาโรงน้ำแข็งสมุทรปราการ ได้ค่าจ้างแล้ว

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่ลูกจ้างสัญชาติเมียนมา จำนวน 68 คน มาร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ดำเนินการกับนายจ้างบริษัท ชัยกิติวัฒน์ น้ำแข็งหลอดและซอง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำแข็งในอำเภอบางพลี จ. สมุทรปราการ เนื่องจากนายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้อง ว่า ทันทีที่ได้รับการร้องเรียนจากลูกจ้าง พนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงจากลูกจ้างและตัวแทนนายจ้างได้ข้อสรุปว่า ลูกจ้างสัญชาติเมียนมาเข้ามาทำงานโดยมีบัตรประจำตัวถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 27 คน MOU 24 คน และมีบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 17 คน โดยนายจ้างได้นัดจ่ายเงินให้กับลูกจ้างในวันที่ 24 พ.ค. 2561 นอกจากนี้ พบว่ามีลูกจ้าง 17 คน ที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย และใช้บัตรปลอม เนื่องจากบัตรดังกล่าวจะออกให้คนในพื้นที่สูงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ตกสำรวจและยังไม่ได้สัญชาติไทยเท่านั้น แต่ลูกจ้างกลุ่มนี้ถือสัญชาติเมียนมาไม่สามารถถือบัตรนี้ได้จึงได้มีการประสานงานให้มีการควบคุมตัวลูกจ้างไปดำเนินคดีในข้อหาใช้เอกสารราชการปลอม และเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ สภ.สำโรงเหนือ ส่วนลูกจ้างที่เหลือแสดงความประสงค์ไม่กลับเข้าทำงานกับนายจ้าง พนักงานตรวจแรงงานจึงได้จัดหา ที่พักอาศัยให้กับลูกจ้างได้พักชั่วคราว เพื่อสะดวกต่อการมารับเงินค่าจ้างจากนายจ้าง

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา นายจ้างได้นำค่าจ้างและโอทีมาจ่ายให้กับลูกจ้างแล้ว ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการตามที่นัดหมาย แต่ลูกจ้างที่ใช้บัตรปลอมทั้ง 17 คน ยังไม่ได้รับเงินเนื่องจากถูกจับกุมตัวและไม่สามารถเก็บเงินติดตัวไว้ได้ ซึ่งนายจ้างจะจ่ายให้ภายหลัง สำหรับกรณีที่มีการทำบัตรปลอมซึ่งลูกจ้างอ้างว่านายจ้างเป็นผู้จัดทำให้นั้น พนักงานสอบสวนจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลหาผู้กระทำผิดต่อไป

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 28/5/2561

ปลัด สธ.เปิดเจรจาทุกฝ่าย 30 พ.ค. ก่อนบุกคลังค้านระเบียบว่าจ้าง

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขยังมีความเป็นห่วงเรื่องระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างงานลูกจ้างและพนักงานกระทรวง โดยเฉพาะชมรมแพทย์ชนบทจะไปร้องที่กระทรวงการคลังในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ว่า เรื่องนี้ได้มีการเชิญทุกฝ่าย ทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทั้งผู้แทนลูกจ้างและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่าระเบียบที่กระทรวงการคลังออกมานั้นไม่ได้บังคับเรื่องการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขเลย

"ก่อนหน้านี้เราได้ไปทำข้อตกลงกันไว้แล้ว ยืนยันว่าถ้ามีความจำเป็นสามารถจ้างงานได้ตามปกติ ส่วนกรณีที่บอกว่าจะเดินทางไปชุมนุมกดดันกระทรวงการคลังให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าวนั้น ผมคิดว่าหากใครยังมีข้อสงสัยไม่เข้าใจให้มาคุยกันในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้มาได้ทั้งหมด เราพร้อมที่จะชี้แจง และถ้ามีข้อเสนอที่ดีกระทรวงก็พร้อมรับฟัง และนำไปปรับปรุงได้" นพ.เจษฎากล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/5/2561

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น