โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

เวียดนามเลื่อนลงมติร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ-หลังเจอชุมนุมต่อต้านทั่วประเทศ

Posted: 11 Jun 2018 10:03 AM PDT

รัฐสภาเวียดนามเลื่อนการลงมติร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดทางต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี หลังเผชิญการประท้วงทั่วประเทศ ส่วนที่เมืองบิ่ญถ่วนประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ตำรวจปราบจลาจลยอมทิ้งโล่และกระบอง-ปีนกำแพงล่าถอย

หลังปะทะกับผู้ชุมนุมอย่างหนัก ในที่สุดตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยนายที่บิ่ญถ่วน ยอมทิ้งอุปกรณ์ปราบจลาจลแล้วปีนกำแพงหนี ภาพเมื่อ 11 มิถุนายนนี้ (ที่มา: Dan Lam Bao)

การชุมนุมที่จังหวัดบิ่ญถ่วนซึ่งเมื่อคืนวันที่ 10 มิ.ย. ลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจลทำลายอาคารสถานที่ของรัฐบาล (ที่มา: Dam Lam Bao)

กรณีการชุมนุมในเวียดนาม เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เริ่มต้นเมื่อวานนี้นั้น (10 มิ.ย.) ล่าสุดในรายงานของ BBC ภาคภาษาอังกฤษรายงานว่า ผู้ประท้วงในเมืองใหญ่ถูกปราบปรามโดยใช้เวลาไม่นาน ขณะที่เจ้าหน้าที่เวียดนามเผชิญการต่อต้านหนัก จากผู้ประท้วงที่โกรธแค้นที่เมืองบิ่ญถ่วน ซึ่งการประท้วงดำเนินมาเป็นวันที่ 2

เวียดนามฮือประท้วงเขตเช่าต่างชาติ 99 ปี ปะทะตำรวจหนัก-จับอื้อ, ประชาไท 10 มิ.ย. 2561

โดยเมื่อคืนวานนี้ (10 มิ.ย.) มีการขว้างปาก้อนหิน จุดไฟเผารถยนต์ และยึดที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่นที่เมืองบิ่ญถ่วน นอกจากนี้สื่อเวียดนามเองก็ระบุว่ามีตำรวจบาดเจ็บหลายสิบนาย ทั้งนี้มีรายงานว่าเฉพาะที่เมืองแห่งนี้มีประชาชนถูกควบคุมตัวไว้ 102 ราย

ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนามเสนอร่างกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินได้อย่างน้อย 99 ปี โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนเพิ่มขึ้น ลดข้อจำกัดต่างๆ ลง โดยมุ่งสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมาย

อย่างไรก็ตามสภาเวียดนามได้เลื่อนการลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป หลังเผชิญการประท้วงบนท้องถนน โดยประธานรัฐสภาเหวียนธิคิมงัน กล่าวว่าความเห็นของประชาชน "จะต้องได้รับการรับฟังเสมอ"

อนึ่งสถานทูตจีนที่ฮานอยเตือนพลเมืองให้ระมัดระวัง และพูดถึงการประท้วงว่า "เป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมาย" และมีเนื้อหา "ต่อต้านจีน"

อนึ่งมีรายงานว่าในการประท้วงเมื่อวันอาทิตย์นี้ (10 มิ.ย.) ตำรวจควบคุมผู้ชุมนุมนับสิบคนทั้งที่เมืองหลวงฮานอย และเข้าระงับการชุมนุมในเมืองอื่นๆ ขณะที่ผู้ชุมนุมบางรายถือป้ายประท้วงต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเปิดเผย มีข้อความหนึ่งเขียนว่า "อย่ายกแผ่นดินให้เมืองจีนแม้แต่วันเดียว"

ส่วนความคืบหน้าล่าสุด ในวันจันทร์ (11 มิ.ย.) ในรายงานของ BBC ภาคภาษาอังกฤษ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยนายที่ตั้งโล่ปราบจลาจลเป็นแนวป้องกันที่เมืองบิ่ญถ่วน มีเสียงดังเหมือนระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง นอกจากนี้มีรายงานการใช้แก๊สน้ำตาปาเข้าใส่ฝูงชนด้วย โดยหลังการปะทะกันที่สถานีดับเพลิง มีรายงานด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจยอมวางโล่และอุปกรณ์ และล่าถอยออกจากพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการปะทะกับผู้ชุมนุมด้วย

ทั้งนี้โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ที่บิ่ญถ่วน มีกระแสต่อต้านจีนผสมกับความโกรธแค้นในเรื่องมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม และกรณีพิพาทที่ดิน เป็นเหตุให้คนแสดงออกถึงความคับข้องใจได้เป็นอย่างดี

โดยในบล็อกของ Dan Lam Bao ได้เผยให้เห็นภาพตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยนายที่บิ่ญถ่วน ยอมทิ้งอุปกรณ์ปราบจลาจลแล้วปีนกำแพงหนีด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัญญาปากน้ำโพ หัวหน้า คสช.ย้ำอีก ก.พ.62 เลือกตั้งแน่นอน

Posted: 11 Jun 2018 07:44 AM PDT

นายกฯย้ำอีก เลือกตั้ง ก.พ.62 แน่นอน บ่นยุ่งทำไมการเมือง ยุ่งให้เมื่อย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษ จากสถานีรถไฟชุมแสง ต.ชุมแสง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ไปยังสถานีรถไฟนครสวรรค์ ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เมื่อ 11 มิ.ย. 2561 เพื่อตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

11 มิ.ย. 61 การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร และนครสวรรค์) ระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย. โดยภารกิจสุดท้ายของวันแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เยี่ยมชมตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรมเมืองสี่แคว บริเวณตลาดต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

หลังการแสดงต้อนรับ ทั้งการเชิดสิงโต การแสดงมังกรเด็ก พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ทุกอย่างกำลังดีขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือความสงบสุขของบ้านเมือง ถ้าบ้านเมืองไม่สงบสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นไม่ได้ จึงขอให้ทุกคนสัญญาว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบ ส่วนจะเป็นประชาธิปไตยก็เป็นไป แต่ต้องมีธรรมาภิบาลและมีรูปแบบทำงานภายใต้กฎหมาย

"ผมเองก็อยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนทุกคน อย่าคิดว่ามีอำนาจมหาศาล คดีความมากมายรอผมอยู่ แต่ทุกอย่างก็สุดแล้วแต่ เพราะเข้ามาแล้วถอยหลังไม่ได้ ขณะเดียวกันหลายคนบอกรักนายกฯ แต่ก็อยากจะเลือกตั้ง ถึงเวลาเลือกตั้งก็เลือกให้ดี และพร้อมกันแล้วหรือยัง ซึ่งการเลือกตั้งก็เป็นไปตามกำหนดในเดือน ก.พ.62 อย่างแน่นอน ถ้าอยากให้ประเทศมั่นคงแข็งแรงก็ต้องไปเลือกตั้ง ถ้าไม่เลือกใครเลยก็จะได้กลับมาเหมือนเก่า การบอกไม่เลือกตั้งแล้วให้ คสช.อยู่ จะอยู่ได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องไปคิดให้ดี แล้วผมจะไปยุ่งกับการเมืองทำไมให้เมื่อย ผมไม่ยุ่ง แล้วนี่ผมไม่ได้พูดการเมือง แต่ขอเรียกว่า มาเรียนรู้ประชาธิปไตยร่วมกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แบบเรียน ก.ไก่ ในยุคสมบูรณาญากะลาสิทธิเหล่

Posted: 11 Jun 2018 07:27 AM PDT


...............เอ๋ย ก.ไก่
...............กำหนัดกามตามใจใต้แผ่นฟ้า
...............เมื่อ ข.ไข่ ถูกทิ้งไว้ใต้กะลา
...............เจ้า ฃ.ฃวด เป็นขี้ข้าทุนสามานย์

เจ้า ค.ควาย ถูกคุกคามจึงขื่นขม
ถูกสลิ่มเจ้าอารมณ์มาล้างผลาญ
ทั้ง ฅ.ฅน ถูกบังคับให้กราบกราน
ถูกประหัตประหารด้วยปืนไฟ

...............ฆ.ระฆัง ดังสนั่นถึงสามโลก
...............ประกาศทุกข์ประจานโศกใต้ฟ้าใส
...............เห็น ง.งู มันโง่เง่าเอาแต่ใจ
...............สร้างอัตตาธิปไตยให้มวลชน

เห็น จ.จาน จัดตั้งท่านสั่งเสีย
ฝูงงัวควายหมายเลียน้ำลายล้น
ให้ ฉ.ฉิ่ง สมานฉันท์กันทุกคน
อย่าสับสนอย่าสงสัยให้ยินยอม

...............เอา ช.ช้าง โฉดชั่วมาชักลาก
...............ขนเศษกากสัมภเวสีแลผีผอม
...............สั่ง ซ.โซ่ ใส่ความทุกข์จนสุกงอม
...............ไพร่ต้องพร้อมพลีชีวิตทุกคืนวัน

บอก ฌ.เฌอ อย่าเผลไผลใต้เงาเมฆ
ผู้วิเศษท่านปลุกเสกความกระสัน
ให้ ญ.หญิง งามหยดย้อยมายืนยัน
ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้นแสนดี

...............ฎ.ชฎา ฆ่าผู้คนไร้ความผิด
...............ได้เสพติดอำนาจเหนือเพื่อภูตผี
...............ฏ.ปฏัก ปักแนวเขตธรณี
...............เส้นบ่งชี้เป็นชาติไทยใต้ร่มเงา

เมื่อ ฐ.ฐาน ถูกคนถ่อยมาถากถาง
สกปรกรกร้างแลว่างเปล่า
ฑ.มณโฑ ยังแถไถไม่บรรเทา
ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จทุกวันคืน

...............ฒ.ผู้เฒ่าเจ้าเล่ห์ลิเกย์กาก
...............ยังสำรากปากอุบาทว์ไม่อาจฝืน
...............สั่ง ณ.เณร มานอบน้อมยอมกล้ำกลืน
...............ให้ถือปืนยืนยามตามบงการ

สอน ด.เด็ก เดินถอยหลังฝังอดีต
อ้างจารีตประเพณีที่สืบสาน
ตั้ง ต.เต่า เข้าเป็นทาสบริวาร
บริหาร บริห่าข้าแผ่นดิน

...............ใช้ ถ.ถุง ไปถามหาเงินภาษี
...............ตรงไหนมีจงเอามาอย่าเล่นลิ้น
...............ท.ทหาร ผู้หิวโหย จักโกยกิน
...............สร้างทรัพย์สินมหาศาลบานตะไท

ปัก ธ.ธง เพื่อส่งสาส์นเข้าไปเสือก
ผู้มีเกือกกำหนัดกามตามสมัย
ให้ น.หนู จงอยู่ดีมีโชคชัย
อย่าสงสัยในความดีที่สั่งทำ

...............บ.ใบไม้ ใต้ร่มเงาเศร้าสลด
...............สำแดงบทผู้บอดใบ้ใต้เมฆคล้ำ
...............เจ้า ป.ปลา หาแต่เรื่องเลวระยำ
...............จากนรกชั้นต่ำสร้างตัวตน

ฝูง ผ.ผึ้ง ยอมพลีชีพเพื่อคนชั่ว
หลงเมามัวมนต์แห่งมารจึงหมองหม่น
ให้ ฝ.ฝา มาปกปิดความปลอมปน
อ้างว่าชาติประชาชนต่างเชิดชู

...............เมื่อ พ.พาน เป็นเพียงภาชนะ
...............มิอาจจะเก็บสิ่งใดให้คงอยู่
...............สั่ง ฟ.ฟัน ไปฟาดฟัดเหล่าศัตรู
...............ใช้กฎหมากติกูขู่คุกคาม

ภ.สำเภา เผยเล่ห์ล้วนตอแหล
อ้างคำพ่อคำแม่มาคอยห้าม
เมื่อ ม.ม้า ส่งกลิ่นเหม็นด้วยมูมมาม
คอยเดินตาม ม.หมู ผู้ผายลม

...............ด้วย ย.ยักษ์ ยัดเยียดความยุ่งยาก
...............อ้างวิบากกรรมมากุมมาอุ้มสม
...............ให้ ร.เรือ รุกไล่ ใต้โคลนตม
...............วาทกรรมทุกคำคมล้วนงมงาย

ส่ง ล.ลิง ไปหลอกล่อขอพ่อค้า
นาฬิการัดข้อมือไม่ซื้อขาย
อวด ว.แหวน แวววาวจึ่งวุ่นวาย
หมูนรกไม่รู้อายรู้แต่อวย

...............ศ.ศาลา ยังซึมเศร้าด้วยเหงาปาก
...............ยังทุกข์ยากลำบากใจในโลกสวย
...............ษ.ฤๅษี มาสิงสู่คู่คนรวย
...............สังคมป่วย ประสาทแดกเมื่อปรองดอง

เจ้า ส.เสือ สีดำ กรรมของสัตว์
เมื่อเจ้าสัวร่านจัดจับปืนส่อง
สั่ง ห.หีบ ใส่สินทรัพย์นับเนืองนอง
เผยเงินทองกองท่วมหัวไม่กลัวใคร

...............ฬ.จุฬา มาต้อนรับสัตว์นรก
...............เห็นเศษซากสกปรกดูสวยใส
...............เหล่านิสิตนอกกรอบมิเกรงภัย
...............ถูกข่มขู่ขืนใจให้ยินยอม

เจ้า อ.อ่าง แห่งอำมาตย์อันใหญ่ยิ่ง
ใครติติงเจอโทษหนักต้องนอบน้อม
ภาพความดีที่สร้างสรรค์นั้นของปลอม
ฮ. นกฮูก มาห้อมล้อมถ่มน้ำลาย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การจับพระพุทธอิสระ ทำไมต้องเชื่อมกับคนจังหวัดชายแดนใต้

Posted: 11 Jun 2018 07:23 AM PDT

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

จากกรณีที่ กำลังคอมมานโด ทำการเข้าจับกุม "พระพุทธอิสระ" หรือ "นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ" ที่วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา คดีอั้งยี่ซ่องโจร และคดีปลอมพระปรมาภิไธย 2 สำนวน มาฝากขังผัดแรกต่อศาลอาญา เป็นเวลา12วัน ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้นิมนต์พระพุทธะอิสระ ลาสิกขาบท จากการเป็นพระ เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัว โดยพระพุทธะอิสระได้ยอมถอดจีวรและเปลี่ยนมาใส่ชุดขาวแทน จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์คุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

มีการแสดงความคิดเห็นมากมายของหลายฝ่าย เกี่ยวกับการจับกุมพระพุทธอิสระอย่างเร่งด่วนในครั้งนี้ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีการยกเหตุผลมากมายมาประกอบรวมทั้งกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายมีการใช้คำคำหยาบคายผ่านโลกโซเซี่ยล เช่น นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก สื่อมวลชน เป็นผู้ที่รู้จักกันดีในชื่อ "เจ๊ปอง" เป็นผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 และเมื่อปี พ.ศ. 2549 เมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นผู้จัดรายการเล่าข่าวยามเช้าบนเวทีปราศรัย รวมถึงในช่วงปี พ.ศ. 2556–2557 เป็นพิธีกรประจำเวทีการชุมนุมของกปปส. โดยโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ก พร้อมภาพที่แคปข้อความให้กำลังใจ พุทธอิสระ ของ "ชัย ราชวัตร" นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง โดยระบุว่า "อ่านนะคะ. เห็นด้วยคะ. ตำรวจกองปราบทำเกินเลย หยาบคาย. เลวทราม ต่ำช้า สถุล กับพระรูปหนึ่ง นายกรัฐมนตรีต้องมีคำตอบคะ"

"กนก รัตน์วงค์สกุล" ก็อีกคนหนึ่ง ได้โพสต์คลิปช่วงเช้า ที่มีการบุกรวบตัวนายสุวิทย์ ที่วัดอ้อน้อย โดยระบุว่า "ตอนแรก พี่ปองส่งคลิปมาให้ดู นึกว่าตำรวจกองปราบ จู่โจมเข้าจับ มหาโจรวายร้าย ฆาตกรที่ไหน.. ที่แท้มาจับหลวงปู่ โธ่ถัง! ท่านอายุ 62 แล้ว และไม่ว่าจะโดนคดีอะไร ท่านก็ไม่เคยคิดหลบหนี ตลอดทางที่เข้ามา ก็ไม่เห็นตำรวจถูกขัดขวางจากลูกศิษย์วัดคนใด ต้องกระโชกโฮกฮาก ขนาดนี้เลยเหรอ? หรือว่ารู้กำลังถ่ายคลิป ก็เลยเล่นใหญ่ไว้ให้นายดู? ทำไมนายตำรวจที่คุมไป ไม่ประเมินสถานการณ์แวดล้อม แล้วปรับท่าทีชุดจับกุม ให้เหมาะสม .. ไม่เข้าท่าเลย !!!" และอีกหลายคนออกมาโวย จนกระทั่งท้ายสุดนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาขอโทษ กล่าวคือ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ เข้าจับกุมพระพุทธอิสระ ในขณะที่ยังเป็นพระ ที่กุฏิในวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ว่า ขอโทษแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเสียความรู้สึก โดยได้ว่ากล่าวตักเตือนและกำชับไปแล้ว ว่าต้องไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งยังได้ฝากขอโทษ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
(โปรดดู)

1. https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1129617
2. https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1129251
3. https://www.sanook.com/news/6572134/

อย่างไรก็แล้วแต่มีหลายคอมเม้นต์เสนอว่าปฏิบัติการครั้งนี้ น่าจะนำไปใช้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการทวิตเตอร์ออกสื่อ ของดร.สุริยะใส กตะศิลา ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าจะปฏิรูปประเทศ (โปรดดู facebook.com/RSUWisdomTV/videos/2084619688219007/) รวมทั้งเสนอต่อประชาชนในการบริหารประเทศผ่านพรรคประชาชาติไทย (โปรดดู  matichon.co.th/social/news_973191)

ผลของทวิตเตอร์ท่าน มีอีกหลาย คนเห็นดีเห็นงามในสื่อโลกออนไลน์ (โดยเฉพาะเครือข่ายแนวร่วมของท่าน) คำถามสำหรับคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ท่านขัดแย้งการเมืองส่วนกลางทำไมต้องเอาคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังทุกข์เป็นเหยื่อ เป็นตัวประกัน ท่านมองว่าตำรวจไม่ดีทำไมต้องส่งลงไปใต้ และทุกครั้งคนบ้านนี้เมืองนี้ต้องระบาย ขับใล่ไสส่งคนไม่ดีไปใต้ แม้แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับวัดธรรมกายครั้งที่แล้วก็เช่นกัน (ดูบทความผู้เขียน https://www.matichonweekly.com/column/article_28075 หรือที่เฟสบุ๊คของผู้เขียน https://www.facebook.com/shukur.dina)

สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วพวกเขา ได้มีประสบการณ์ด้านมืดมากกว่าพระพุทธอิสระมากด้วยการถูก ปิด ล้อม ตรวจค้น จากหน่วยความมั่นคงทั้งจำนวนคนเป็นร้อยและอาวุธครบมือ รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอด 14 ปีย่อมทราบดี ว่าสิ่งที่รัฐทำกับพระพุทธอิสระสมควรหรือไม่ และทราบดีว่า จะขยายความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในประเทศไทย การทะเลาะและความรุนแรงจะไม่จบ

ถึงแม้เราทราบดีว่า ข้อกล่าวหาต่อพระพุทธอิสระจะหนัก แต่เราก็แยกแยะระหว่างข้อกล่าวหากับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต้องมีอารยะ นิติรัฐ นิติธรรม  การยึดหลักให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาเป็นสิ่งสำคัญ และเจ้าหน้าที่ต้องเรียนรู้ให้ทันกับกฎหมายที่เปลี่ยนแปลง 

เราชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่อยากเห็นโต๊ะครูผู้นำจิตวิญญาณชาวบ้าน ถูก ปิดล้อม ตรวจ ค้นด้วยอาวุธครบมือด้วยเช่นกัน 

ท้ายนี้ หากท่านหรือใครดูถูกคนสามจังหวัด แล้วรู้สึกผิด พร้อม มีจิตสำนึกก็ต้องขอโทษคนสามจังหวัด ด้วยการ เเถลงข่าวออกสื่อเพื่อไม่เป็นเยี่ยงอย่างต่อคนอื่น เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งเเรกที่คนมีชื่อในประเทศนี้ดูถูกคนสามจังหวัด

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) เป็นคณะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ Shukur2003@yahoo.co.uk, http://www.oknation.net/blog/shukur

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ยุทธศาสตร์ คสช.คือการทำให้คนไทยจนลง?

Posted: 11 Jun 2018 07:08 AM PDT

 

ในขณะที่เราเห็นรัฐบาลคล้ายกับขมีขมันในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ แต่เศรษฐกิจของชาติก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้น ยกเว้นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดูขัดกับความเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง แล้วอย่างนี้ เลยทำให้คิดได้ว่า รัฐบาล คสช. กำลังพยายามทำให้ไทยจนลงหรือเปล่า เพราะถ้ายิ่งจน ก็ต้องยิ่งพึ่งพิงรัฐบาล ไม่กล้าออกมาเรียกร้องอะไรมากนัก หรือไม่ก็ไม่มีเวลาเรียกร้องแล้ว ประชาชนมัวแต่ "ปากกัดตีนถีบ" อยู่

เมื่อเร็วๆ นี้นายกรัฐมนตรีออกมาโวว่าตัวเลข GDP ขยายตัวเป็น 4.8%[1] นั้นเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะมาจากการลงทุนของรัฐด้านสาธารณูปโภคเป็นหลัก อีกด้านหนึ่งอัตราการเติบโตของ GDP ไทยต่ำที่สุดในอาเซียน ดีกว่าเฉพาะสิงคโปร์และบรูไนที่เป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวรวยกว่าไทยถึง 5-7 เท่า ตัวเลขของ ตัวเลข 4.8% นั้น "จิ๊บจ๊อย" เมื่อเทียบกับสมัยยิ่งลักษณ์ที่ GDP เติบโตจาก 0.8% ในปี 2554 เป็น 7.2% ในปีถัดมา

ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาประชาชนผิดหวังที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ [2] สิ่งบั่นทอนทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ยาบ้าก็ไม่ได้ปราบ ปล่อยให้หวยใต้ดินครองเมืองโดยไม่ยอมทำหวยบนดิน ให้ประชาชนอีก 4 แสนคนมีงานทำ [3] ที่โฆษณาว่าช่วยชาวบ้านเช่นแจกบัตรคนจน-คนชรา ก็ได้เงินกันเฉลี่ยคนละ 500 บาท ถ้าแจกสัก 12 ล้านคน ก็เป็นเงินแค่ 6,000 ล้านบาท ไม่พอซื้อเรือดำน้ำสักครึ่งลำด้วยซ้ำไป กองทุนหมู่บ้านก็เอาไปสร้างถนน เงินก็จม ไม่เกิดโภคผลต่อการหมุนเวียนต่างจากยุคทักษิณที่ให้เบ็ด ไม่ได้ให้ปลาแบบนี้

ที่ผ่านมาไทยเอาแต่บำรุงเลี้ยงข้าราชการ

1. ราชการส่วนภูมิภาค หรือก็คือแขนขาของราชการส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจำตามท้องถิ่นต่าง ๆ นั้น มีกำลังคนอยู่เป็นจำนวนมากถึง 360,928 คน ตามข้อมูลคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นข้อมูลเผยแพร่ล่าสุด ข้าราชการส่วนภูมิภาคจำนวนนี้มีสัดส่วนถึง 17% ของข้าราชการทั้งหมด

2. แต่ราชการส่วนท้องถิ่น มีกำลังคนเพียง 22% เท่านั้น ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในจังหวัดภูมิภาคหรือในชนบท กลับมีข้าราชการไป "รับใช้ประชาชน" น้อยมาก

3. ที่น่าสังเกตก็คือราชการส่วนกลาง ที่กระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานครมีข้าราชการรวมกันถึง 1,267,609 คนหรือราว 61% ของทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงองคาพยพที่ใหญ่โตมากของระบบราชการที่อาจมีกำลังคนเกินความจำเป็น (นอกจากนั้นข้อมูลข้างต้นยังรวมเฉพาะในส่วนของกำลังคนในฝ่ายพลเรือนเท่านั้น ยังไม่รวมรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนข้าราชการทหารที่มีอีก)

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน (ณ ปี 2558) ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จ บำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล. . .เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรภาครัฐของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย รองจากบาร์เรนและมัลดีฟส์ โดยสัดส่วนงบบุคลากรภาครัฐต่อจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%) [4]

ในอดีตประเทศไทยมีแต่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจดทะเบียนต่างๆ ก็ต้องไปติดต่อที่อำเภอ หรือจังหวัด แต่ในปัจจุบันเรามีราชการส่วนท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าบทบาทของอำเภอหรือจังหวัดมีน้อยลงมาก ยกเว้นอำนาจจากส่วนกลางที่พยายามจะรักษาไว้เพื่อการควบคุมส่วนท้องถิ่น อันที่จริงควรมีการเลือกตั้งนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อการกระจายอำนาจ นี่จึงเป็นการปฏิรูประบบราชการที่แท้ และให้อำนาจตกเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ดูจากแนวโน้มประเทศไทยเราคงเดินไปในแนวทางที่จะให้อำนาจข้าราชการประจำมากขึ้น แทนที่จะส่งเสริมท้องถิ่นให้มีอำนาจจริง

นี่คือสาเหตุที่ไทยเรามีการสร้าง "ศูนย์ราชการ" ใหม่ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากมายแทบทุกจังหวัด ที่ทำการศาลใหม่ๆ แต่สังเกตดูในลอนดอน ปารีส โรม ที่มีความเป็นเมืองมานับพันๆ ปี ไม่เคยต้องไปสร้างศูนย์ราชการใหม่  ทุกอย่างยังอยู่ใจกลางเมือง ทั้งนี้เพราะเขาทำระบบราชการให้มีขนาดเล็ก ไม่อุ้ยอ้ายเช่นกรณีประเทศไทย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีนายพลมากกว่ากองทัพสหรัฐอเมริกาอันเกรียงไกรที่มีจำนวนประชากรมากกว่าเรา 5 เท่าเสียอีก [5] หรือการสร้างบ้านพักศาลก็ใช้เงินถึง 1,000 ล้านบาทสำหรับ 200 คนเท่านั้น [6]

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า "ในช่วงครึ่งปี (2561) หลังอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น . . . การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนยังคงกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ . . . กลุ่มคนเพียง 6 ตระกูลถือครองความมั่งคั่งเท่ากับคนเกือบ 50 ล้านคนและครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งระบบ . . . ผลประโยชน์ที่เติบโตขึ้นจะไปกระจุกตัวอยู่ในมือของเจ้าของทุน คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น คนจนจะไม่ดีขึ้นนัก แต่คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นคนยากจน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมโดยทั่วไป. . ." [7]

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ของรัฐบาล คสช. คือ

1. ให้ลาภแก่ข้าราชการและนายทุนใหญ่ให้รวยและสบายขึ้น

2. ต่อประชาชนทั่วไป ปล่อยให้จนลงไปเรื่อยๆ จะได้ขาดอิสรภาพทางการเงิน และขึ้นต่อเงินช่วยเหลือของรัฐบาล

3. โปรแกรมการช่วยเหลือต่างๆ ที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ ล้วนใช้เงินน้อยนิด ไม่ได้มีโภคผลที่ดีต่อประชาชนนัก เช่น การช่วยคนชรา คนจนที่จ่ายคนละ 300-1,000 บาท แม้จะจ่ายถึง 15 ล้านคน ก็เป็นเงินน้อยนิดเมื่อเทียบกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการกลุ่มต่างๆ หรือการจัดซื้ออาวุธ

4. ภัยร้ายต่อเศรษฐกิจ เช่น ยาบ้า หวยใต้ดิน ล็อตเตอรี่แพง ก็ไม่ได้ปราบ หรือปราบแต่ไม่ได้ผล เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจมีอิทธิพลทางการเมือง

5. โครงการกองทุนระดับหมู่บ้านก็เป็นการ "ให้ปลา" มากกว่า "ให้เบ็ด" ทำให้ไม่อาจต่อยอดได้เท่าที่ควร

ยุทธศาสตร์แบบนี้ต่อไปจะยิ่งมีความเหลื่อมล้ำอย่างไม่ต้องสงสัย ประเทศก็จะขาดความมั่นคง ไม่เป็นปึกแผ่น ยิ่งแบ่งแยก ยิ่งปกครองง่าย

 

เชิงอรรถ

[1] ประชาชาติธุรกิจ: น่ายินดี! "ประยุทธ์" โวศก.ประเทศโต 4.8% แนะประชาชนปรับตัวเรียนรู้ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่

[2] สวนดุสิตโพล สำรวจประชาชน 4 ปี รัฐบาลคสช.ให้คะแนน 5.4

[3] หวย: ทักกี้ช่วย/ตู่ทำร้ายคนจน?

[4] ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย งบเงินเดือนเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ประสิทธิภาพ-ความโปร่งใสแย่ลง

[5] ประชาไท: รู้แล้วว่าเหตุใดจำนวนนายพลไทยจึงมีมากกว่านายพลอเมริกัน

[6] ทางออก "หมู่บ้านป่าแหว่ง"

[7] 'อนุสรณ์'คาดจีดีพีครึ่งปีหลังชะลอตัว-ชี้จีดีพีQ1โตสุดแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาเต็ม! ฉลาดซื้อพบยาอันตรายใน 6 อาหารเสริม จาก 4 ห้างออนไลน์ดัง

Posted: 11 Jun 2018 06:56 AM PDT

'ฉลาดซื้อ' พบ "ไซบูทรามีน-ฟลูออกซิทีน" ยาอันตรายใน 6 อาหารเสริม จากห้างออนไลน์ชื่อดัง 4 แห่ง LAZADA, C mart, 11 street และ Shopee เรียกร้องให้รับผิดชอบต่อสังคม

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มทดสอบซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 16 ตัวอย่าง ผ่านช่องทางห้างออนไลน์ชื่อดัง 8 แห่ง ได้แก่ LAZADA, C mart, 11 street, Shopee, Shop at 24, We mall, Watsons, และ Konvy ในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมที่ผ่านมา จากการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม พบยา "ไซบูทรามีน" และ "ฟลูออกซิทีน" ในอาหารเสริมลดน้ำหนัก 6 ตัวอย่าง ได้แก่ AIKA, MINIMAL by FALONFON, S-Line, LYN, L-Fin by Luk-Sam-Rong และ Kalo จากห้างออนไลน์ชื่อดัง 4 แห่ง ได้แก่ LAZADA, C mart, 11 street, และ Shopee ส่วนอีก 4 แห่ง ได้แก่ Shop at 24, We mall, Watsons, และ Konvy ไม่พบยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่า สามารถใช้บริโภคเพื่อการลดน้ำหนัก จำนวน 16 ตัวอย่าง จากห้างออนไลน์ชื่อดัง 8 แห่ง ผลการตรวจสอบ จำนวน 6 ตัวอย่าง พบยา ไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีน ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ตารางแสดงผลทดสอบ 
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 6 ตัวอย่าง ที่พบยาไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน

ลำดับ

ชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์

ล็อตผลิต

ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย

เว็บที่ซื้อสินค้า

ผลทดสอบ

ไซบูทรามีน

ฟลูออกซิทีน

1

AIKA

21/11/2017

บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัด

LAZADA

พบ

พบ

2

MINIMAL By FALONFON

ม.ค.2018

บริษัทคอสมา แล็บ จำกัด

C mart

พบ

-

3

S-Line

ไม่ระบุ

บริษัทที.ซี. ยูเนี่ยน โกลบอล จำกัด (มหาชน)

LAZADA

พบ

-

4

LYN

10-01-2561

บริษัท ฟู้ด ซายน์ ซัพพลาย เซอร์วิส จำกัด

11 street

พบ

-

5

L-Fin by Luk-Sam-Rong

1/7/60

บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัด

Shopee

พบ

-

6

Kalo

ไม่ระบุ

บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัด

11 street

-

พบ

          ข้อสังเกต ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ AIKA, L-Fin และ Kalow ที่ตรวจพบไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีนนั้น มีผู้ผลิตและผู้รับอนุญาตรายเดียวกัน คือ บริษัท สยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัด

สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออนไลน์ เกิดจากการใช้ข้อความโฆษณาเกินจริง ซึ่งผู้บริโภคไม่มีแหล่งตรวจสอบข้อความโฆษณาว่า คำโฆษณากล่าวอ้างบรรยายสรรพคุณนั้นๆ ได้รับอนุญาต หรือเกินจริงหรือไม่  ซึ่งเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบออนไลน์ อีกด้วย  รวมไปถึงค่านิยมผอม ขาว  การโฆษณากระตุ้นให้อยากขาว สวย ผอม เหมือนเน็ตไอดอล หรือศิลปินดาราที่เป็นคนนำเสนอสินค้า สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง : คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในนามคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) พบว่า ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าออนไลน์เพราะเชื่อถือโฆษณาที่จูงใจและมีผู้แนะนำเป็นบุคคลมีชื่อเสียง คิดว่าน่าจะได้ผลเหมือนโฆษณา ส่วนลำดับ 2 คือการเห็นเครื่องหมาย อย. นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามยังต้องการให้มีแหล่งข้อมูลที่จะสามารถตรวจสอบโฆษณาได้ อย.ควรเปิดให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง 'คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ' โดยเร็ว เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกจากโฆษณา

สถาพร อารักษ์วทนะ รายงานเพิ่มเติมว่า ยังได้สำรวจข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2561 พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบสารประกอบอันตรายไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน ทั้ง 6 ผลิตภัณฑ์ ยังพบการขายในร้านค้าออนไลน์  โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ ลีน (Lyn) ที่ทาง อย. ได้ประกาศว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และยกเลิกเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์แล้ว อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้ยังเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย[1] จึงขอเรียกร้องให้ทาง หน่วยงานกำกับดูแลหลัก (อย.) และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายโดยทันที กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการออนไลน์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์  มาตรา 15 - ผู้ให้บริการ หรือ ผู้ดูแลระบบ หรือแอดมินเพจ ที่เปิดให้มีการนำเข้าข้อมูล เมื่อพบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ถ้าได้รับการแจ้งเตือนแล้วลบออก ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าไม่ยอมลบออก โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า "ไซบูทรามีนนั้นเป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยยาดังกล่าวได้ถูกถอนออกจากตลาดในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และอีกหลายประเทศ ซึ่งยาดังกล่าวมีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง เสี่ยงการที่ทำให้หัวใจขาดเลือดและการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันในประเทศไทย ห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือขายยาดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(5) ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประชาชนที่ขายหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ส่วนฟลูออกซิทีนนั้นเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย แล้วตรวจพบไซบูทรามีนหรือฟลูออกซิทีนในส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายอาหารปลอมถ้าหากมีฉลากเพื่อลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งมีโทษจำคุกทั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า  ข้อแรก ขอเรียกร้องให้ตลาดออนไลน์ทั้ง 4 แห่ง นำสินค้าออกจากตลาดออนไลน์โดยทันที ข้อสอง ให้ตลาดและร้านค้าออนไลน์ ต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนจำหน่ายทุกรายการ ว่า ผิดกฎหมายหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นบัญชีดำของ อย.หรือ กรมวิทยาศาตร์การแพทย์หรือไม่  หรือเมื่อ อย.ประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายต่อสาธารณะ ผู้ให้บริการจะต้องหาวิธีการระงับหรือนำข้อมูลผลิตภัณฑ์ฯ ออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด และข้อสาม บริษัทต้องรับคืนสินค้าที่ผิดกฎหมายทุกรายการที่ผู้บริโภคได้ซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้ทั้งหมด ถ้าตลาดออนไลน์ไม่ปฏิบัติขอให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้บทลงโทษสูงสุด

สารี อ๋องสมหวัง  กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เร่งออกกฎหมายยกระดับไซบูทรามีน ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งหากผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่  5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท - 2 ล้านบาท หากขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่  4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท - 2 ล้านบาท รวมถึงการครอบครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดด้วย




[1] อ้างอิงข้อมูล https://www.thairath.co.th/content/1269661  และ   https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1028256

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดินหน้าประเทศไทย ต้องปรับทัศนคติท่านผู้นำ

Posted: 11 Jun 2018 06:42 AM PDT


สี่ปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า "ปรับทัศนคติ" บ่อยครั้ง และทุกยามเย็น โทรทัศน์ช่องต่างๆ ล้วนออกอากาศรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" จนทั้งสองวลีกลายเป็นถ้อยคำที่คุ้นหูกันดี แต่ในงานสัมมนาประจำปีของทีดีอาร์ไอเมื่อไม่นานมานี้มีหัวข้อใหญ่ของการสัมมนาคือ "ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อม สู่ยุคความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี" และมีประเด็นการนำเสนอหนึ่งซึ่งใช้ชื่อที่น่าสนใจว่า "ปรับทัศนคติภาครัฐ เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต"

เรามักจะคุ้นชินกับข่าวที่รัฐลงมือปรับทัศนคติใครต่อใคร แต่งานนี้กลับมีข้อเสนอให้ปรับทัศนคติภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่ชวนติดตามยิ่ง

ในการประชุมดังกล่าว เริ่มด้วยการเกริ่นถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงอันปั่นป่วนจากเทคโนโลยี เช่น Ride sharing, ICO, Driverless car เป็นต้น และทัศนคติเดิมๆ ของภาครัฐคือการควบคุมอย่างเข้มงวด เน้นการระแวดระวังและคุ้มครองระบบเดิมๆ ซึ่งไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และทำให้เราไม่สามารถใช้หรือสร้างประโยชน์จากบริการบนเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ จนอาจถึงกับตกขบวนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งตรงกับบทสรุปที่ว่า ถ้าไม่รับความเสี่ยงใดเลย ก็จะไม่มีโอกาสอะไรเลยเช่นกัน

ข้อเสนอจากเวทีคือ ต้องปรับทัศนคติผู้กำหนดนโยบายหรือผู้กำกับดูแลภาครัฐให้มองผลระยะยาว มองไปข้างหน้า เลิกทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี โดยต้องดำเนินการแบบมีส่วนร่วม ต้องมีการทดสอบแนวทางกำกับดูแลใหม่ๆ ในสถานการณ์จริง ด้วยแนวคิด Regulatory Sandbox เพื่อให้เข้าใจตัวเทคโนโลยี ตัวประโยชน์ และตัวผลกระทบจากเทคโนโลยี แล้วออกกติกาที่สร้างสมดุลระหว่างผลดี-ผลเสียอย่างเหมาะสม และต้องลดความซ้ำซ้อนของการกำกับดูแลจากหลายหน่วยงานหรือจากกฎหมายหลายฉบับ (ดูสไลด์ประกอบการประชุมได้ที่ https://tdri.or.th/2018/05/publicannualcon_4/)

นอกจากงานสัมมนาประจำปีของ TDRI แล้ว ในการประชุม Mobile World Congress ที่ผ่านมา มี Keynote Speech ในหัวข้อ The Foundation of the Digital Economy ที่ส่งสัญญาณให้เห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแนวคิดการบริหารในยุคดิจิทัล โดยหนึ่งใน Keynote Speaker คือ Jim Whitehurst ผู้บริหารของ บริษัทด้านไอที Red Hat ได้นำเสนอประสบการณ์การเปลี่ยนงานจากการบริหาร Delta Air Lines มาบริหาร Red Hat ทำให้จิมตระหนักว่า ฐานรากของเศรษฐกิจดิจิทัลแตกต่างจากเศรษฐกิจดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

จิมตั้งคำถามแรกว่า ผู้นำจะวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างไร ในยุคดิจิทัลการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา การวางแผนอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่แน่นอน และซับซ้อน ทำให้เราไม่สามารถวาดภาพอนาคตได้อย่างละเอียดและชัดเจน แล้วเราจะรับมือได้อย่างไร

ตอนบริหารสายการบินซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสภาพแวดล้อมค่อนข้าง static แม้จะมีการแข่งขันระหว่างสายการบินต่างๆ ก็ตาม โครงสร้างการบริหารเป็นแบบดั้งเดิมที่มีลำดับชั้นและมุ่งไปที่ "ประสิทธิภาพ" การตัดสินใจและสั่งการตามสายบังคับบัญชายังใช้ได้ผล แต่เมื่อมาบริหารธุรกิจด้านไอทีที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา หัวใจสำคัญของความอยู่รอดจึงไม่ใช่การมีประสิทธิภาพแบบเดิมๆ ที่สามารถวางแผนได้ง่าย (เมื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ชิ้นหนึ่งแล้วสามารถทำกำไรได้นานนับสิบปี แล้วค่อยๆ สร้างสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนไปเรื่อย) แต่หัวใจสำคัญของความอยู่รอดในยุคดิจิทัลคือ "นวัตกรรม" จิมย้ำว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่เกิดต่อเนื่องแบบ Fluid ไม่ใช่เหตุการณ์แบบ Episodic ต่างจากการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ในธุรกิจแบบดั้งเดิมซึ่งเกิดเป็นครั้งเป็นคราว (Innovation is fluid, not episodic)

จิมจึงสรุปว่า วงจรธุรกิจแบบเดิมที่ เมื่อวางแผนคิดค้นผลิตภัณฑ์หนึ่งแล้วทำกำไรได้เป็นสิบปี แล้วก็วางแผนใหม่คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดได้อีกแล้วในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีรากฐานบนนวัตกรรม การคิดวางแผนแบบนั้นใช้งานไม่ได้อีกแล้ว (Planning is dead)

Red Hat เน้นสร้างผลิตภัณฑ์แบบ Opensource จึงต้องทำงานและคิดค้นร่วมกับชุมชนนักพัฒนาตลอดเวลา ไอเดียที่สุดยอดและสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เกิดจากไอเดียดีๆ มากมาย (Great ideas are forged from many good ideas) บรรยากาศการทำงานที่เหมาะสมจึงไม่ใช่บรรยากาศแห่งการสั่งการ แต่เป็นบรรยากาศที่สร้างให้เกิดการเสนอไอเดียดีๆ นั่นก็คือบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ก็ไม่ใช่การมุ่งเยินยอไอเดียต่างๆ และไม่เหมือน brainstorming ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ความคิดต่างๆ สำหรับความอยู่รอดขององค์กรแล้ว ไอเดียต่างๆ ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกท้าทาย และถูกทดสอบได้ จนสามารถหลอมหรือแปรสภาพมาเป็นไอเดียที่ใช้งานได้จริง

วิธีการทำงานจึงไม่ใช่ผู้บริหารตัดสินใจวางแผนหรือกำหนดนโยบาย แล้วถ่ายทอดหรือสั่งการไปยังฝ่ายปฏิบัติ แล้วมีระบบติดตามประเมินผลว่ามีการดำเนินการตามแผนงานหรือนโยบายหรือไม่ ซึ่งเครื่องมือสำคัญในวงจรการทำงานแบบดั้งเดิมคือ "การประสานงาน" แต่วิธีการทำงานในยุคดิจิทัลคือการเสริมศักยภาพให้พนักงานสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ให้อำนาจการตัดสินใจกับพนักงานซึ่งรู้สถานการณ์จริงดีกว่าผู้บริหาร ซึ่งเครื่องมือสำคัญคือ "การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์"

วัฒนธรรมการทำงานในยุคดิจิทัลจึงต้องเปลี่ยน แต่จิมย้ำว่าอย่าเริ่มที่การรณรงค์เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพราะวัฒนธรรมองค์กรเป็นผลผลิต ไม่ใช่ปัจจัยนำเข้า วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลงตามภาวะผู้นำ ระบบโครงสร้างองค์กร และกระบวนการจัดการภายในองค์กร

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเป็นสิ่งแรกจึงเป็นทัศนคติของผู้นำ ให้ยอมรับการปลดปล่อยศักยภาพของผู้ปฏิบัติงาน ต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการไว้วางใจ ต้องยอมให้เกิดการถกเถียงอย่างเปิดเผย ต้องให้การทำงานมีความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ไอเดียหรือเทคโนโลยีดีๆ มากมาย เกิดขึ้นภายนอกองค์กร เราจึงต้องพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้เข้าสู่องค์กร (ชมวิดีโอการนำเสนอของจิมได้ที่ https://www.mobileworldlive.com/on-stage/mwc/red-hat-president-ceo-jim-whitehurst/)

ในโลกยุคดิจิทัลซึ่งต่อไปทุกสิ่งทุกอย่างจะเชื่อมต่อกัน และมีการใส่ปัญญาประดิษฐ์เข้าไปในสิ่งต่างๆ (Masayoshi Son ผู้บริหารของ SoftBank เคยคาดการณ์ว่า เมื่อ Singularity เป็นเรื่องจริง คือวันที่ปัญญาประดิษฐ์มีไอคิวสูงกว่ามนุษย์ แม้แต่รองเท้าที่เราสวมก็จะฉลาดกว่าคนสวมเสียอีก) หากเราต้องจำกัดการประมวลผลต่างๆ ให้เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางเท่านั้น (Core Computing) สภาพคอขวดก็จะเกิดขึ้น ความคับคั่งของข้อมูลจะทำให้ไม่สามารถตอบสนองปัญหาได้ทันสถานการณ์  Edge Computing จึงเป็นทางออก การประมวลผล การตัดสินใจไม่จำเป็นต้องเป็นสภาพรวมศูนย์ รถยนต์ไร้คนขับไม่ได้ถูกควบคุมจากศูนย์กลางโดยเบ็ดเสร็จ แต่ถูกควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ในรถและการประมวลผลข้อมูลที่รถแต่ละคันสื่อสารกันหรือสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมรอบรถในขณะนั้นๆ

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การสร้างนวัตกรรมเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัล การปรับทัศนคติผู้นำจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ และเราไม่ควรลุ่มหลงกับเครื่องมือที่ตายไปแล้วอย่างการวางแผนระยะยาวแบบเก่าๆ แต่ต้องสร้างให้ทุกคนสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ด้วยแผนใดๆ ได้


 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็น กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยังไม่สรุป เหตุสังหารหมู่ 5 ศพ บันนังสตา

Posted: 11 Jun 2018 05:38 AM PDT

เหตุสังหารหมู่คาบ้านพัก บันนังสตา จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย ฝ่ายความมั่นคงชี้เป็นได้ทั้งความขัดแย้งส่วนตัว ยาเสพติด และความมั่นคง
11 มิ.ย. 61  เวลาประมาณ 00.55 น. เกิดเหตุบุกสังหารหมู่ภายในบ้านพัก ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1. นายอิบรอเฮง มูเซะ อายุ 32 ปี  2. นายอรัญชัย ดอเฮะ อายุ 26 ปี 3. นายอุสมาน ยูโซ๊ะ อายุ 39 ปี 4. นายฟุรกอน ราโซ อายุ 25 ปี และ 5.นายอาฮามะ มูเซะ อายุ 33 ปี หลังเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ร่วมกันทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพทำแผนที่เกิดเหตุ ทำแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุ และดำเนินการสอบสวนพยานที่เห็นเหตุการณ์และผู้ที่เกี่ยวข้อง
 
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ลงพื้นที่หาเบาะแสหรือข้อมูลของคนที่ก่อเหตุและตรวจสอบไล่กล้องวงจรปิด ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ และพนักงานสอบสวนพร้อมด้วยแพทย์ ร่วมกันชันสูตรพลิกศพผู้ตายอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลบันนังสตา ซึ่งจากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้น พบปลอกกระสุนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 1 ปลอก และปลอกกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. จำนวน 1 ปลอก ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ และผลจากการชันสูตรพลิกศพ พบว่าศพผู้ตาย ทั้ง 5 ราย ถูกยิงที่ศีรษะและลำตัวเป็นเหตุให้เสียชีวิต 
 
รอง โฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งสำหรับสาเหตุครั้งนี้ สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องจากผู้ตายกับพวกมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด น่าเชื่อว่าเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้งไป พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ก่อเหตุให้ได้โดยเร็ว 
 
ขณะที่ในช่วงบ่าย ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี รายงานการให้สัมภาษณ์ของพันเอกธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่า  ภายหลังรับแจ้งเหตุ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 33 ได้จัดกำลังเข้าไปทำการตรวจสอบ และจากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องในขั้นต้นทราบว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย นั่งอยู่บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นบ้านพักของนายอิบรอเฮง มูเซะ จากนั้นได้มีคนร้ายขี่รถจักรยานยนต์เข้ามายิงทั้ง 5 รายเสียชีวิต โดยสาเหตุน่าจะเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ตัดประเด็นด้านความมั่นคงแต่อย่างใด
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิงคโปร์เปย์ 20 ล้านเหรียญค่าจัดประชุมทรัมป์-คิมจองอึน หวังโชว์เป็นผู้นำสร้างเสถียรภาพ

Posted: 11 Jun 2018 01:19 AM PDT

ขณะที่สื่อหลายแห่งรายงานว่าผู้นำของทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือเดินทางเข้าสู่สิงคโปร์แล้วตั้งแต่วันอาทิตย์ เพื่อเตรียมพร้อมกับการประชุมเจรจาเรื่องวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ สื่อสิงคโปร์ระบุว่าค่าใช้จ่ายการประชุมครั้งนี้อยู่ที่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามผู้นำสิงคโปร์มองว่าจ่ายแล้วคุ้ม โดยเชื่อว่าทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศผู้นำเสถียรภาพของภูมิภาค และพวกเขาอาจจะได้รับการชดเชยจากการใช้จ่ายเช่นนี้ในระยะยาว

ลีเซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ต้อนรับคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. โดยคิมจองอึนเดินทางมาประชุมสุดยอดเกาหลีเหนือ-สหรัฐอเมริกาในวันอังคารนี้ (ที่มา: Facebook/Lee Hsien Loong)

11 มิ.ย. 2561 สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานว่าการประชุมระหว่างสองผู้นำเกาหลีเหนือสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นวันที่ 12 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ คิมจองอึนผู้นำเกาหลีเหนือเดินทางถึงสิงคโปร์แล้วก่อนหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ด้วยเที่ยวบินของสายการบินไชนาแอร์ไลน์ถึงสนามบินชางกีเมื่อเวลา 14.36 น. เดินทางโดยตรงมาจากสนามบินในกรุงเปียงยางเมื่อเวลา 08.30 น.

 

 

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ วิเวียน บาลากฤษนันท์ ยืนยันต่อสื่อในสิงคโปร์ว่าคิมเดือนทางมาถึงสิงคโปร์แล้วอย่างเป็นทางการรวมถึงอัพโหลดรูปของคิมจับมือเขาหลังลงเครื่องบินไม่นานขึ้นบนโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ โดยที่การประชุทในครั้งนี้จะมีขึ้นที่และการประชุมในครั้งนี้จะจัดขึ้นที่โรงแรมคาเปลลาบนเกาะเซนโตซา

ยอนฮับรายงานอีกว่าในการเดินทางของคิมจองอึนมีการปล่อยเครื่องบินขึ้นสามลำจากท่าอากาศยานในกรุงเปียงยางภายในวันเดียวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยคือการใช้เครื่องบินลำอื่นๆ เบี่ยงเบนความสนใจ โดยไม่มีใครรู้ว่าระหว่างเครื่องบิน 3 ลำนี้คิมจองอึนเดินทางมากับเครื่องบินลำไหนกันแน่

ขณะที่ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางถึงสิงคโปร์หลังคิมจองอึนเป็นเวลาหลายชั่วโมง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งเสร็จจากการเข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศ G7 ที่ประกอบด้วยประเทศตะวันตก 7 ประเทศ รวมถึงแคนาดาและเยอรมนี โดยมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการค้า

ทรัมป์กล่าวถึงการประชุมที่จะมีขึ้นกับเกาหลีเหนือว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิด "ผลลัพธ์ที่วิเศษสำหรับเกาหลีเหนือและสำหรับโลก" และคาดเดาว่าคิมจองอึนจะเน้น "ทำในสิ่งที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ...คือการสร้างสันติภาพและความมั่งคั่งอย่างใหญ่หลวงแก่ดินแดนของตัวเอง" โดยที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยยื่นข้อเสนอลดการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือเพื่อแลกกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างไรก็ตามเขาเตือนว่าการประชุมซัมมิทในครั้งนี้ถือเป็น "โอกาสเดียว" ที่ไม่ควรปล่อยให้เสียไป

นักวิเคราะห์การเมือง โรเบิร์ต อี เคลลี ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซานของเกาหลีใต้บอกว่า "ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรทรัมป์ก็จะคุยโวในเรื่องนี้ไม่หยุดหย่อน" เคลลีที่ทำหน้าที่เป็นผู้แสดงความคิดเห็นประกอบการประชุมซัมมิตในการรายงานให้กับสื่อบีบีซีประเมินว่าถึงแม้คิมจองอึนจะยอมผูกพันธะกรณีในเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในทางโวหารวาจา และอาจจะยอมกำจัดขีปนาวุธกับปิดแหล่งผลิตอาวุธบางส่วน แต่ทรัมป์ก็จะนำเสนอเรื่องนี้ในทำนองทำการตลาดให้ตัวเองดูพิเศษในบ้านตัวเอง

อย่างไรก็ตามมีผู้วิเคราะห์มองว่ามีโอกาสน้อยที่คิมจะยอมทำตามข้อเสนอปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์จากรัฐบาลทรัมป์ โอลิเวีน อินอส นักวิเคราะห์นโยบายจากศูนย์เอเชียศึกษาที่มูลนิธิเฮอร์ริเทจกล่าวว่าความสำเร็จของการประชุมหารือในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การแถลงว่าจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยังต้องแสดงให้เห็นในเชิงปฏิบัติว่าเกาหลีเหนือเข้าใจตรงกันกับแนวทางการปลดอาวุธของสหรัฐฯ

ทางด้านลีเซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เปิดเผยว่าการจัดงานประชุมในครั้งนี้ใช้งบประมาณไปถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็บอกว่านี่ถือเป็นสิ่งที่สิงคโปร์ยินดีจะมีส่วนร่วมช่วยเอื้อผลประโยชน์ให้กับนานาชาติ เป็น "ราคาที่พวกเราเต็มใจจ่าย" โดยบอกว่ารายจ่ายด้านความมั่นคงจะใช้แค่ครึ่งหนึ่งของงบประมาณนี้เท่านั้น โดยที่ผู้นำสิงคโปร์มองว่ามันจะทำให้สิงคโปร์กลายเป็นสถานที่สำคัญที่จะนำทางไปสู่เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ทั้งสองชาติเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ต่างก็มองสิงคโปร์ว่าเป็นประเทศที่เหมาะสมทางการเมืองและทางการทูต รวมถึงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ลีเซียนหลงมองว่าในแง่หนึ่งเมื่อทั้งสองประเทศต่างก็เรียกร้องมาเช่นนี้ทำให้สิงคโปร์ปฏิเสธไม่ได้เมื่อคำนึงถึงชื่อเสียงของประเทศและความสัมพันธ์กับประชาคมโลก

นอกจากนี้ลีเซียนหลงยังบอกอีกว่าสิงคโปร์อาจจะสามารถได้รับการชดเชยจากการเป็นประเทศเจ้าภาพจัดงานประชุมในครั้งนี้ได้บ้าง  "ถ้าคุณคำนวนถึงราคาของทุกอย่างบนโลก คุณจะพลาดสิ่งที่สำคัญจริงๆ ไป" ลีเซียนหลงกล่าว "และในกรณีนี้ สิ่งที่สำคัญคือการที่สามารถจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำได้"

เรียบเรียงจาก

Donald Trump, Kim Jong Un arrive in Singapore for nuclear summit, USA Today, 10-06-2018

(2nd LD) N. Korean leader Kim arrives in Singapore ahead of N.K.-U.S. summit: report, Yonhap News, 10-06-2018

Trump-Kim summit will cost about $20m to host - a cost Singapore willing to pay for regional stability: PM Lee, Strait Times, 11-06-2018

 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีปู่คออี้-ชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน 12 มิ.ย.นี้

Posted: 10 Jun 2018 11:38 PM PDT

นัดฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีปู่คออี้และชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้าน รื้อทำลายทรัพย์สิน ปี 54 ขณะที่ แอมเนสตี้ฯ ชวนส่งกำลังใจให้ปู่คออี้

 

 ภาพ สมาชิกกว่า 50 คน ร่วมกันถือหน้ากากปู่คออี้ เพื่อเป็นการแสดงพลังเพื่อให้กำลังใจ (ที่มา amnesty.or.th)

11 มิ.ย.2561 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า พรุ่งนี้ (12 มิ.ย.61) เวลา 10.30 น. ศาลปกครองสูงสุด นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 หมายเลขแดงที่ ส.660/2559  ระหว่าง โคอิ หรือ ปู่คออี้ มีมิ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้านเรือนและรื้อทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก ณ ศาลปกครองกลาง ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 1

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมในคดีดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2555 โคอิ กับพวกรวม 6 คน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะเหตุที่ ชัยวัฒน์ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของ โคอิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบริเวณ ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กว่า 20 ครอบครัว จนได้รับความเสียหายแก่สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน โดยมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉางถูกจุดไฟเผาราว 100 หลัง ตามโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดันหรือจับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทย-พม่า  ที่มีชื่อเรียกว่า "ยุทธการตะนาวศรี" และกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยไม่ได้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎรของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน รวมถึงไม่ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนดั้งเดิมเสียก่อน 

ต่อมา วันที่ 7 ก.ย. 2559  ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

วันที่ 6 ต.ค. 2559 ผู้ฟ้องคดีทั้งหกยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางยังมีความบกพร่องคลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อการวินิจฉัยในประเด็นคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1และผู้อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยโต้แย้งในประเด็นหลัก ๆ ดังต่อไปนี้ 

1. ความมีอยู่จริงของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของผู้ฟ้องคดีทั้งหกและชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในคดีนี้

2. วิถีวัฒนธรรมการผลิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแบบไร่หมุนเวียน มีงานวิชาการรองรับว่าเป็นการทำเกษตรที่ไม่ส่งต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยรักษาป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์  และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ได้ยอมรับวิถีวัฒนธรรม ตลอดจนความมีตัวตนและถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่ต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

3. การจัดการทรัพยากรภายใต้วิถีวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมและสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุกรณีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง "สิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน" ของ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์  ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4. กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการทำลายทรัพย์สิน โดยการเผาทำลายหรือรื้อถอน แต่ให้เป็นดุลยพินิจว่าเป็นการป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานหรือไม่ โดยการใช้ดุลยพินิจสั่งการหรือไม่สั่งการนั้นให้เหมาะสมแก่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในแต่ละกรณี ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เป็นการให้อำนาจแก่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะเลือกสั่งการอย่างใดก็ได้ตามอำเภอใจ

5. การปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความเหมาะสม และเป็นปฏิบัติการทางปกครองที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนของการกระทำ (Principle of Proportionality) ตามหลักกฎหมายมหาชน

6. หลักการรับฟังคู่กรณี ตามมาตรา 30 แห่งวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  ซึ่งต้องตีความด้วยเจตนาของการออกคำสั่งที่ให้คู่กรณีทราบถึงข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและโอกาสในการโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีการรับทราบถึงการแจ้งคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนปฏิบัติการเผาบ้านเรือนและรื้อทำลายทรัพย์สิน

7. ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าไม่มีผลบังคับโดยตรง หากแต่รัฐต้องออกกฎหมายภายในเพื่อการอนุวัติ จึงจะใช้กฎหมายภายในบังคับเจ้าหน้าที่ได้นั้น  ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าสามารถเทียบเคียงได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 "...การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ...จะกระทำมิได้..." ซึ่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รับรู้อย่างชัดแจ้งว่า พื้นที่ในแผนปฏิบัติภารกิจครั้งนั้นเป็นกลุ่มเฉพาะของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ที่ดำรงวิถีอัตลักษณ์ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน แต่กลับใช้ปฏิบัติการที่เป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีและเครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อปี 2554  สภาทนายความฯ จึงได้แต่งตั้งทนายความเป็นคณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือในการฟ้องคดีเป็นคดีนี้ด้วย

แอมเนสตี้ฯ ชวนส่งกำลังใจให้ปู่คออี้

ขณะที่ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาชิกกว่า 50 คน ร่วมกันถือหน้ากากปู่คออี้ เพื่อเป็นการแสดงพลังเพื่อให้กำลังใจปู่คออี้ มิมิ ชาวกะเหรี่ยงวัย 106 ปี และชาวบ้านบางกลอยบน อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี เป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก "ยุทธการตะนาวศรี" หรือ ปฏิบัติการผลักดันและจับกุมชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่าในปี 2554 โดยใช้วิธีเผาไล่ที่ บุกรุกรื้อทำลายบ้านเรือนและยุ้งฉางตามแนวคิดของภาครัฐที่ยืนยันว่าคนไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ และการอาศัยทำกินในป่าคือตัวการสำคัญที่ทำลายทรัพยากรป่าไม้

แอมเนสตี้ ระบุว่า หากศาลรับรองการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ปู่คออี้และชาวบ้านคนอื่นๆ ก็จะสามารถกลับไปอยู่ในบ้านบางกลอยบน หรือ "ใจแผ่นดิน" อีกครั้ง พร้อมจึงขอเชิญชวนสมาชิกและผู้สนับสนุน ร่วมทำกิจกรรมส่งกำลังใจให้ปู่คออี้ได้กลับบ้านโดยการสวมหน้ากากปู่คออี้ และถ่ายรูปพร้อมป้ายสัญลักษณ์แสดงพลังให้คุณปู่ได้กลับบ้าน โดยรีทวีตภาพดังกล่าวระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย. ก่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 12 มิ.ย. 2561 เวลา 10.00 น.
 

ลำดับเหตุการณ์ โดย แอมเนสตี้ฯ

2448 ปู่คออี้เกิด และอยู่อาศัยในพื้นที่แก่งกระจาน

2524 ประกาศพื้นที่แก่งกระจานเป็น "อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน"

2539 เจ้าหน้าที่ให้กะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่บางกลอยบน หรือ "ใจแผ่นดิน" อพยพลงมาจากบ้านที่เขาอ้างว่าอยู่ตั้งแต่เกิด มาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ ไม่ชินกลับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป จึงกลับขึ้นไปอยู่บ้านเกิดของตน ณ บางกลอยบนตามเดิม

2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ดำเนินการไล่รื้อ เผาบ้าน และยุ้งฉางข้าว รวมทั้งยึดเครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์ในการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวมจำนวน 6 ครั้ง และปู่คออี้ยังถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงสู่พื้นที่ด้านล่าง

2555 ปู่คออี้ต่อสู่คดีในชั้นศาล หมายเลขคดีดำที่ ส.58/2555 กับพวกรวม 6 คนเป็นผู้ฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่เป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่ชาวกะเหรี่ยงได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบน มาแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่าร้อยปี

2557 พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 30 ปีแกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หนึ่งในพยานของคดีการรื้อถอนและเผาบ้านกะเหรี่ยง อีกทั้งยังเป็นหลานของปู่คออี้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

2559 ศาลปกครองตัดสินกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นไปเผาบ้านเรือน ยุ้งข้าว และรื้อทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติและมีการล่าสัตว์ ถือว่ากระทำความผิดตามมาตรา 16 (1)(ครอบครองที่ดินและแผ้วถางป่า)16(2)(เก็บหาหรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมสภาพ) และ 16(3) (นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายแก่สัตว์) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ส่วนการรื้อถอนด้วยวิธีเผาทำลายเพิงพักและยุ้งฉาง ศาลตัดสินว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีสภาพการณ์ เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยศาลให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดคนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วัน  
แต่ปู่คออี้ ชาวบ้าน และทนายความเห็นว่าคำตัดสินดังกล่าวยังมีความบกพร่อง คลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว

2561 ศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีครั้งแรก  ฝ่ายปู่คออี้โต้แย้งในประเด็นหลัก คือ ความมีอยู่จริงของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของตนและชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งมติครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เคยรับรองการมีอยู่ของชุมชนดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยง รวมถึงวิถีทางวัฒนธรรมและการผลิตแบบไร่หมุนเวียนว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังโต้แย้งการอ้างอิงแนวปฏิบัติตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ว่าไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเผาบ้านชาวบ้าน และตามขั้นตอนแล้ว ต้องติดประกาศเตือนอย่างชัดเจนก่อน หากชาวบ้านไม่ทำตามจึงใช้อำนาจศาลสั่งให้โยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

#AllForJan บทเรียนเรื่องคุณค่าแห่งชีวิตนักข่าวจากสาธารณรัฐสโลวัก

Posted: 10 Jun 2018 10:06 PM PDT


 

"ผู้นำที่ไม่ชอบผู้สืบค้นก็คือผู้นำที่พร้อมจะเป็นทรราช" คือถ้อยคำของทิโมธี สไนเดอร์ ที่ผู้เขียนบทความนี้คัดจากหนังสือของเขาที่ชื่อ ว่าด้วยทรราชย์: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 ตัวอย่างที่เขาใช้คือโดนัลด์ ทรัมป์:

แหล่งภาพ: https://www.amazon.co.uk/Tyranny-Twenty-Lessons-
Twentieth-Century/dp/18479

ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ประธานาธิบดีของเราได้อ้างถึงสื่อโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียว่า สื่ออเมริกัน "ที่ผ่านมา นั้นทุจริตอย่างไม่น่าเชื่อ" เขาสั่งแบนผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักไม่ให้เข้าไปในงานชุมนุมหาเสียงของเขา และมักจะปลุกปั่นให้สาธารณชนเกลียดชังนักหนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับผู้นำในระบอบอำนาจนิยมคนอื่น ๆ ประธานาธิบดีสัญญาว่าจะระงับเสรีภาพในการพูดด้วยกฎหมายห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเดียวกับกับฮิตเลอร์ ประธานาธิบดีใช้คำว่า "โกหก" ในการหมายถึงข้อความอันเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกใจเขา และยังนำเสนองานของนักหนังสือพิมพ์ว่าเป็นการรณรงค์ต่อต้านตัวเขา[1]

แหล่งภาพ: https://edition.cnn.com/2016/09/30/asia/
duterte-hitler-comparison/index.html

ผู้เขียนบทความนี้เชื่อว่า เมื่อพวกเราผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หวนมองอดีตที่เพิ่งผ่านมาและหันมองดูรอบด้าน เราเห็นผู้นำที่ล้อเลียน เกลียดชัง และดูถูกนักข่าวและอาชีพนักหนังสือพิมพ์อยู่ในหลายประเทศ มิจำกัดเพียงในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เราเห็นผู้นำ (ที่คิดว่าตนตลกแต่จริง ๆ ขำไม่ออก) ปาเปลือกกล้วยใส่นักข่าวบ้าง ให้นักข่าวสัมภาษณ์รูปถ่ายขนาดเท่าตัวจริงของตนบ้าง ส่วนที่ไม่อาจเปิดพื้นที่ให้กับความขำขัน (หรือแม้แต่ความขื่นขัน) เลยแม้แต่น้อย คือข้อความที่ว่า "ฆ่าการทำข่าวให้ตายเสีย ระงับการรายงานข่าวในประเทศนี้ซะ" อันเป็นคำท้าทายนักข่าวของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดรีโก ดูเตร์เต คำท้าอันโด่งดังแห่งปี 2016 นี้ มีประโยคสบประมาทพ่วงท้ายที่ว่า "Pagka hindi, mababa na ang tingin ko sa inyo. Para kayong takot" [ถ้าไม่ยอมทำเช่นนั้น ก็จะแลดูน่าสังเวชสำหรับกูเพราะมัวแต่กลัวจนตัวสั่น[2] เราคงจะส่ายหัวและถอนหายใจ จะเอาอะไรมากกับทรราชที่มองว่านักข่าวนักหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ ฆ่าให้ตายได้ ไม่เป็นปัญหา: "Pero kayong mga low lives, you can die for all I care. Hinihingi 'nyo, pumapasok kayo sa illegal" [เพราะพวกนักข่าวเป็นพวกโลว์ไลฟ์ (สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ) ตายไปก็ไม่เห็นต้องแคร์อะไร ก็หาเรื่องเองนี่ ดันไปทำเรื่องที่ผิดกฎหมายเอง][3] ทรราชที่เมื่อกุมภาพันธ์ของปีนี้ (2018) ยังแบน มาเรีย เรสซา ผู้บริหารสำนักข่าว Rappler และนักข่าวไม่ให้เข้าไปทำข่าวที่ทำเนียบประธานาธิบดี โดยกล่าวหาว่าสำนักข่าวนี้ได้เผยแพร่ข่าวปลอม (fake news)[4] (ซึ่งหมายถึงเผยแพร่ข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ตนและพรรคพวกนั่นเอง)

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปี 2017 สำนักข่าว 888.hu ซึ่งสนับสนุนพรรคฟิแดส (Fidesz) อันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาประชานิยมของวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีของฮังการี ได้ตีพิมพ์รายชื่อของนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ รวมถึงช่างภาพ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกระบอกเสียงของจอร์จ โซรอส ถึง 8 รายด้วยกัน

เนื่องจากจอร์จ โซรอส ถูกออร์บานตราหน้าว่าเป็น ภัยแห่งประเทศชาติ เป็นศัตรูของประเทศฮังการี ด้วยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการอพยพหมู่ของชาวมุสลิมในยุโรป[5] ผู้ที่อยู่ในรายชื่อนั้นถือว่าทรยศชาติและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติไปโดยปริยาย แม้ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่อยู่ในรายชื่อเป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพทั้งสิ้น หนึ่งในนั้นเป็นช่างภาพดีกรีรางวัลพูลิตเซอร์ คลิกดูรายชื่อ ประวัติ และคุณสมบัติผู้ถูกกล่าวหาได้ที่นี่ https://budapestbeacon.com/list-introducing-soros-foreign-propagandists/


แหล่งภาพ: https://budapestbeacon.com/list-introducing-soros-foreign-propagandists/

จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ เราจะเห็นว่าเราอยู่ในสังคมโลกที่การวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำทำให้ผู้ทุ่มเทแรงกายและใจในอาชีพที่ไม่ง่ายนี้ถูกตราหน้าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ ในสังคมโลกที่นักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ที่ตั้งคำถามท้าทายอำนาจถูกขึ้นบัญชีดำและถูกล่าแม่มด คำถามที่เราอาจจะถามเล่น ๆ คือหากสิ่งที่ปาใส่นักข่าวไม่ใช่เปลือกกล้วยแต่เป็นระเบิด หากคำกล่าวที่ว่านักข่าวควรถูกสังหารเป็นคำบัญชาหรือคำอนุญาตจริง ๆ ขึ้นมา หากรายชื่อในบัญชีดำคือรายชื่อของผู้ถูกส่งไปค่ายมรณะ จะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ ผู้เขียนบทความมิได้จะกล่าวว่าการสังหารนักข่าวไม่เกิดขึ้นจริง ด้วยระหว่างปี 2016-2018 มีนักข่าวที่ถูกสังหารกว่า 180 ราย[6] แต่ผู้เขียนบทความกล่าวถึงการปฏิบัติต่อนักข่าวของผู้นำทั้งหลายที่ไร้ความเคารพและความรับผิดชอบ หากคำพูดรุนแรงและการกระทำอันหมายจะระงับปราบปรามนักข่าวนั้น สามารถสังหารนักข่าวได้จริง จะเกิดอะไรขึ้น

ผู้เขียนบทความเสนอว่าเหตุการณ์และกรณีของสาธารณรัฐสโลวักอาจเป็นบทเรียนที่ช่วยสร้างสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม สนับสนุนการสอบค้นความจริงในหมู่ประชาชน และช่วยสอนให้เราเข้าใจคุณค่าแห่งชีวิตนักข่าวในโลกที่ทรราชมุ่งลดทอนคุณค่าและความหมายของการใช้ปัญญาตรวจสอบคานอำนาจ

แหล่งภาพ: https://www.irishtimes.com/polopoly_fs/1.3429842.1521220043!

ประมาณวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2018 นักข่าวหนุ่มที่ชื่อ ยาน กุตซิอัก (เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 1990) อายุ 27 ปี และคู่หมั้นของเขาที่ชื่อ มาร์ตินา กุชนีโรวา (ประกอบอาชีพเป็นนักโบราณคดี)[7] อายุ 27 ปี ถูกสังหารด้วยกระสุนปืนในบ้านตัวเองที่ตั้งอยู่ในเมืองแห่งหนึ่งที่ห่างจากบราติสลาวาราว 65 กิโลเมตร กุตซิอักเป็นนักข่าวของสำนักข่าวออนไลน์ Aktuality.sk ที่มุ่งสืบสวนสอบสวนและเปิดโปงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองระดับสูงของสโลวาเกียกับกรณีการฉ้อฉลทางภาษี ไม่มีใครทราบวันเกิดเหตุที่แน่นอนเพราะตำรวจไปพบศพหลังจากครอบครัวของทั้งคู่โทรศัพท์แจ้งให้ช่วยตรวจสอบเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ด้วยความเป็นห่วงที่โทรศัพท์ติดต่อไม่ได้หลายวัน ปกติมาร์ตินาจะโทรศัพท์คุยกับมารดาเป็นประจำทุกวัน วันสุดท้ายที่ติดต่อมารดาคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ทางการจึงสันนิษฐานว่าวันนั้นหรือวันถัดมาเป็นวันเกิดเหตุ จนถึงทุกวันนั้นยังไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิดแต่อย่างใด

เงื่อนงำที่สำคัญคือข้อที่ว่าก่อนถูกสังหาร ยาน กุตซิอัก ได้เขียนรายงานข่าวเปิดโปงความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงระหว่างบริษัทต่าง ๆ ในประเทศของเขาที่ไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นเจ้าของจริง ๆ และการยักยอกเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ในบทความที่ตีพิมพ์วันที่ 9 กุมภาพันธ์ กุตซิอักเขียนเปิดโปงการฉ้อฉลทางภาษีกระทำการโดยนักธุรกิจคนหนึ่งที่ชื่อ มาเรียน กอชเนร์ ซึ่งโด่งดังจากความพยายาม (อันไม่ประสบความสำเร็จ)ที่จะซื้อกิจการช่องโทรทัศน์เอกชนที่เรียกว่า ช่องโทรทัศน์มาร์กีซา ด้วยความช่วยเหลือของหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลอันมีชื่อย่อว่า หน่วย SIS (Slovenská informačná služba) หรือในภาษาสโลวักเรียกกันทั่วไปว่า หน่วย "ซิสกา"

ส่วนรายงานที่เขายังลงมือเขียนอยู่ช่วงถูกสังหารนั้นเปิดโปงการฉ้อฉลทางภาษีและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างพรรค Smer-SD (Smer – sociálna demokracia; ภาษาอังกฤษ Direction – Social Democracy Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกับพวกมาเฟียจากอิตาลีที่ชื่อ 'Ndrangheta กุตซิอักเปิดโปงว่าทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันฉ้อฉลทางภาษีและยักยอกเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปอันเป็นทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันออกของสโลวาเกีย ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจน แต่เงินไม่เคยไปถึงมือประชาชน ไม่ได้ทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นแต่อย่างใด รายงานข่าวฉบับที่ยังเขียนไม่เสร็จสมบูรณ์ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักข่าว Aktuality.sk กุตซิอักพาดพิงถึง วิเลียม ยาซัญ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และมาริอา ตรอชโกวา อดีตนางแบบนู้ดผู้กลายมาเป็นที่ปรึกษาของรอเบร์ต ฟิตโซ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสโลวัก


แหล่งภาพ: 
aimg.sk/magaziny

เมื่อประชาชนล่วงรู้ข่าวของอาชญากรรมครั้งนี้ และเมื่อข่าวที่ยังเขียนไม่เสร็จของกุตซิอักได้เผยแพร่และแชร์กันทั่วโลกออนไลน์ ปฏิกิริยาที่เราเห็นนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่เราเห็นไม่บ่อยนักในประเทศ เนื่องจากมีประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดแห่งการไม่มีสิทธิมีเสียงเลือกตั้งอย่างเสรีและชอบธรรมมาเป็นเวลานานกว่า 44 ปี ผู้คนเฉยชาทางการเมืองและไม่ไว้วางใจในสถาบันการเมืองของตน นอกจากการจุดเทียนระลึกถึงยานและมาร์ตินาด้านหน้าห้องบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Aktuality.sk และ ณ จัตุรัสหลักในเมืองบราติสลาวาแล้ว ประชาชนในประเทศใกล้เคียงอย่างสาธารณรัฐเช็กยังรวมตัวกันในเมืองปรากและบรือโนโดยทันทีอีกด้วยโซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยให้ผู้คนรวมตัวกันตามเมืองต่าง ๆ เพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาล

แฮชแท็ก "#AllForJan" "#รวมกันเพื่อยาน" กลายเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ประชาชนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้สโลแกน ซา ซลุชเน สโลเวนสโก ซึ่งแปลว่า "เพื่อสโลวาเกียอันชอบธรรม"

ทัศนคติด้านลบที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองของตน ประกอบกับแรงกดดันจากสื่อต่างชาติและสหภาพยุโรปส่งผลให้รอเบร์ต ฟิตโซและพรรคพวกต้องออกมาประกาศว่ารัฐบาลตั้งเงินรางวัลจำนวนหนึ่งล้านยูโรหากผู้ใดมีข้อมูลเกี่ยวกับฆาตกรรม ในการประชุมสื่อครั้งหนึ่ง ฟิตโซและพรรคพวกนำกองธนบัตรมาวางไว้เบื้องหน้าเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะให้เงินรางวัลจริง ผู้เขียนบทความมองว่าการกระทำอันแปลกประหลาดและมีพิรุธเช่นนี้เป็นการกระทำของวัวสันหลังหวะด้วย

แหล่งภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=ztNIRIg9y-A

ข้อมูลในข่าวที่ยาน กุตซิอักเขียน แม้จะยังไม่ได้พาดพิงโดยตรง แต่ก็เป็นเงื่อนงำที่สาธารณชนอาจสาวมาถึงฟิตโซได้ รัฐบาลที่ดีและโปร่งใสควรพึ่งพายึดมั่นในความยุติธรรม และทำทุกทางให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อนำผู้กระทำผิดตั้งแต่ฆาตกร มาเฟีย และบุคคลในรัฐบาล (รวมถึงผู้นำสูงสุดด้วยหากกระทำผิดจริง) ทุกรายมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมาย ไม่ใช่นำฟ่อนเงินมาวางเรียงและเล่นละครล้อลวงประชาชนกันเช่นนี้

ตัวเลขของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของฟิตโซอาจดูไม่มาก แต่สำหรับสโลวาเกียแล้วนับว่ามากเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่การชุมนุมประท้วงในช่วงการปฏิวัติกำมะหยี่ปี 1989 (อันเป็นการชุมนุมประท้วงโดยไม่ใช่ความรุนแรงเพื่อต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์พรรคเดียว) สถิติมีดังนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2018 ประชาชนนับ 25,000 คน รวมตัวกัน ณ กรุงบราติสลาวา จำนวนผู้ชุมนุมประท้วงในบราติสลาวาในวันที่ 9 มีนาคมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60,000 คน ยังไม่นับผู้คนที่รวมตัวกันตามเมืองต่าง ๆ ในสโลวาเกียนับ 48 แห่ง (ประชาชนที่ออกมาร่วมชุมรุมรวมกันทั้งประเทศประมาณ 120,000 คน)[8] และรวมตัวกันในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกนับ 17 แห่งด้วยกัน มหาวิทยาลัยทั่วประเทศยกเลิกการเรียนการสอนในช่วงบ่ายเพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาสามารถไปร่วมชุมนุมอย่างเสรี ผลของการประท้วงเห็นได้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม อันเป็นวันที่รอเบร์ต ฟิตโซ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง แต่ลาออกจากตำแหน่งด้วยหน้าอันเปื้อนรอยยิ้ม ไม่แม้แต่พยายามแสร้งว่าเศร้าโศกเสียใจ เหตุเพราะเป็นที่รู้กันว่าผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากตนและคณะเป็นนอมินีพวกเดียวกัน


แหล่งภาพhttps://www.reddit.com/r/europe/comments/84nr9w/slovakia_robert_fico

ฟิตโซยิ้มแย้มหน้าชื่นหลังยื่นเอกสารลาออก ราวกับไม่เกิดเหตุการณ์สังหารนักข่าวและคู่หมั้น ไม่ยี่หระต่อข้อที่ว่าไม่มีการจับกุมผู้กระทำการสังหาร (มีแต่จับกุม "ปลาตัวเล็ก" หรือผู้ที่เกี่ยวข้องรายย่อยเท่านั้น) โดยเฉพาะบุคคลในรัฐบาลที่ฉ้อโกงและพัวพันกับมาเฟียอิตาลีแต่อย่างใด ด้านหลังเราจะเห็นประธานาธิบดีอันเดรย์ กิสกา ผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งอย่างฉับrลันหรือไม่ก็สับเปลี่ยนปรับปรุงคณะรัฐบาลครั้งใหญ่ ฟิตโซโต้ตอบโดยกล่าวหาว่ากิสกาทรยศต่อรัฐบาล อีกทั้งทรยศต่อชาติโดยกล่าวหาว่าเมื่อปีที่แล้วกิสกาได้เดินทางไปรับเงินสนับสนุนจากจอร์จ โซรอสเพื่อก่อการรัฐประหาร ทั้งที่จริง ๆ แล้วกิสกาเดินทางไปพบโซรอสที่นิวยอร์กเมื่อ 2017 เพื่อหารือเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวโรมากับโซรอสเท่านั้น

 

สองวันหลังการยื่นใบลาออก ท่าทีของฟิตโซได้ทำให้ประชาชนกว่า 65,000 คนออกมาร่วมชุมนุมประท้วงที่บราติสลาวา ยังไม่นับประชาชนอีกมากที่ออกมาร่วมชุมนุมประท้วงในเมืองของตนทั้งในและนอกประเทศ การชุมนุมจัดขึ้นที่เบอร์ลิน บรัสเซลส์ ดับลิน เอดินบะระ กลาสโก เดอะเฮก เฮลซิงกิ โคเปนเฮเกน คราคุฟ ลิสบอน ลอนดอน ลักเซมเบิร์ก มาดริด มาลากา มิวนิก โอโลโมตซ์ นิวยอร์ก ปาโลอัลโต ปารีส ปราก เรคยาวิก ซานเตียโกเดชีเล ซิดนีย์ สต็อกโฮล์ม และวอร์ซอ คราวนี้ประชาชนเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งให้เร็วกว่ากำหนด อีกทั้งให้ยุติบทบาทพรรคการเมืองของรัฐบาลคือพรรค Smer อย่างถาวร

แหล่งภาพ: https://dennikn.sk/1061414/protesty-v-piatok-budu-aj-ked-chce-most-rokovat-o-predcasnych-volbach-zoznam-akcii/

การเรียกร้องครั้งนี้ แม้น่าประทับใจเพียงใดก็ไม่เป็นผล เปเตร์ เปลเลกรีนี ผู้เป็นนอมินีของฟิตโซเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สโลวาเกียมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ไม่ใหม่โดยสิ้นเชิง ด้วยเปลเลกรีนีเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเพียง 5 คนจาก 14 คนในคณะเก่า นโยบายต่าง ๆ ก็ไม่ใหม่ ยังคงยืนยันว่าจะทำตามนโยบายต่อต้านผู้อพยพของฟิตโซอย่างหนักแน่นแข็งขัน หลายคนที่มองโลกในแง่ดีอาจมองว่าอย่างน้อยความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้เกิดขึ้น ทว่าหลายคนก็ตั้งคำถามว่าเหตุใดคดีการสังหารยาน กุตซิอัก และมาร์ตินา กุชนีโรวา ถึงไม่มีความคืบหน้า ความยุติธรรมไม่บังเกิด พรรคการเมืองพรรคเดิมยังคงครองอำนาจ

บทเรียนอันเจ็บปวดนี้ดูจะเป็นบทเรียนของคนที่เจ็บตัวแบบเสียเปล่า ประชาชนดูจะสิ้นหวัง แต่เท่าที่ผู้เขียนบทความได้สัมภาษณ์อดีตเพื่อนร่วมงานและนักเรียน คนรุ่นใหม่ชาวสโลวักส่วนใหญ่ยังไม่ละทิ้งความพยายาม facebook event เต็มไปด้วยงานชุมนุมและงานเสวนาเพื่อความยุติธรรมให้นักข่าวและคู่หมั้นผู้ถูกสังหาร หลายคนให้ความเห็นว่าประชาชนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าเดิม และการนัดแนะจัดกิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดียนั้นง่ายและบ่อยขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว แน่นอนอุปสรรคนั้นมี หากเรามองว่าการ "โหน" ช่างเป็นการกระทำที่สากล เหตุการณ์ในสโลวาเกียล่าสุดคงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันความเชื่อนั้น เนื่องจากคนจากพรรค Smer ของฟิตโซโหนการเคลื่อนไหวครั้งนี้โดยไปจดทะเบียนพรรคการเมืองที่ชื่อ ซา ซลุชเน สโลเวนสโก "เพื่อสโลวาเกียอันชอบธรรม" อันเป็นสโลแกนแห่งการเคลื่อนไหวต่อต้านพรรค Smer (ผู้เขียนมองว่าย้อนแย้งกว่าเรื่องนี้คงไม่มี) นักกิจกรรมผู้คิดและสนับสนุนสโลแกนกลุ่มดั้งเดิมจึงพากันพยายามรณรงค์ไม่ให้ประชาชนสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว ยังให้เกิดความสับสนเนื่องจากสโลแกนที่ถูกโหนนั้นเป็นสโลแกนที่ช่วยรวมกลุ่มประชาชนให้เป็นเอกภาพมาไม่นานมานี้[9] อย่างไรก็ดี ประชาชนยังไม่หยุดคิดจัดกิจกรรมและวางแผนชุมนุมประท้วงเพื่อยานและมาร์ตินาต่อไป ขอเชิญผู้อ่านชาวไทยร่วมติดตามข่าวเรื่องนี้ได้ต่อไป
 

ผู้คนมาจุดเทียนและรำลึกถึงเฮนรี อคอร์ดา ณ จุดเกิดเหตุใจ
กลางกรุงบราติสลาวา ในวันที่เขาเสียชีวิต

แหล่งภาพ: spectator.sme.sk/expat-dies-following-street-attack-in-bratislava-attacker-charged-with-manslaughter

ด่านพิสูจน์ความชอบธรรมของสโลวาเกียและการตื่นตัวทางการเมืองของชาวสโลวักรุ่นใหม่อันแท้จริงด่านต่อไปเห็นได้ในเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ คือเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ชาวสโลวักนามยุราย ฮอสซา ทำร้ายร่างกายเฮนรี อคอร์ดา ชาวฟิลิปปินส์ผู้พำนักในสโลวาเกียและทำงานที่สำนักงาน IBM ที่บราติสลาวา จนถึงแก่ชีวิต สำนักข่าวหลายแห่งรวมทั้งพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันว่าการก่อเหตุนี้เป็นอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ และแม้กระทั่งเหยียดเพศ ข้อเท็จจริงสำคัญที่เราควรคำนึงคือเฮนรีถูกทำร้ายหลังพยายามปกป้องเพื่อนผู้หญิงที่ถูกคุกคามโดยยุราย (สื่อบางสำนักได้สันนิษฐานเรื่องเพศสภาพของเฮนรีและได้นำเหตุการณ์นี้ไปเทียบกับการทำร้ายร่างกายเด็กวัยรุ่น LGBT สองคนที่เกิดขึ้นที่เมืองอื่นในเวลาไล่เลี่ยกันอีกด้วย)[10] 

เฮนรีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ประชาชนชาวสโลวักและชาวต่างประเทศที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐสโลวักวางแผนจัดกิจกรรมและชุมนุมเพื่อรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการเหยียดเพศ อันเป็นวาทกรรมที่พรรค Smer สนับสนุนในระดับของนโยบาย เบื้องต้นทางกลุ่มนักเคลื่อนไหวผู้จัดงานร่วมรำลึกถึงเฮนรีและเรียกร้องความยุติธรรมให้เขานั้นวางแผนจะจัดงานชุมนุมในวันที่ 6 มิถุนายน แต่เนื่องจากฝนตกหนักมาก ผู้จัดจำต้องยกเลิกงาน เลื่อนไปเป็นวันใดยังต้องรอประกาศต่อไป เสียงตอบรับจากประชาชนทั้งออนไลน์และไม่ออนไลน์อาจไม่ท่วมท้นเท่าในกรณีการชุมนุมเพื่อยาน กุตซิอัก และมาร์ตินา กุชนีโรวา แต่ผู้เขียนบทความเชื่อว่าหากไม่เกิดการรวมตัวในกรณีแรก ประชาชนจะไม่ตื่นตัวมากกว่าเดิมเช่นนี้ นับว่ายังมีแสงสว่างรำไรแห่งความหวังอยู่บ้าง และหวังว่าจะไม่มอดไปเพราะถูกพรรคการเมืองโหนเพื่อเรียกคะแนนเสียงอีกครา

บทเรียนราคาแพงที่ยังไม่จบสิ้นเพราะยังไม่ได้รับความยุติธรรมนี้ ประเทศไทยจะนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านบทความเอง ที่แน่ ๆ คือบทความนี้และบทเรียนจากสโลวาเกียอาจชวนให้บางท่านตั้งคำถามว่าประชาชนชาวไทยจะรวมตัวกันชุมนุมในลักษณะนี้หากนักเขียนผู้สอบค้นความจริงคนหนึ่งถูกสังหาร หรือแม้กระทั่งว่าหากเรามีเงื่อนงำในมือเรื่องการฉ้อโกงของทางการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างในกรณีที่ประชาชนชาวสโลวาเกียได้รับจากนักข่าวหรือไม่ เราจะลุกขึ้นสืบค้นข้อมูลและร่วมกันต่อสู้หรือไม่ มหาวิทยาลัยในไทยจะสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาไปร่วมชุมนุมหรือไม่ ที่ผ่านมาเราเห็นนิสิตนักศึกษาผู้ลุกขึ้นประท้วงโดยสันติถูกปราบปรามลงโทษ นักข่าวถูกเย้ยและลดทอนความน่าเชื่อถือ และนักกิจกรรมผู้หมายจะสืบค้นความจริง (ท่านอาจนึกถึงกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" เป็นตัวอย่าง) ถูกขัดขวางกักตัว ไม่มีการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสอบค้นความจริงเพื่อความโปร่งใส 

แหล่งภาพ: https://thestandard.co/tchalla-for-black-panther-killed-by-premchai/

กรณีของเปรมชัย กรรณสูต และกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า กรณีนักท่องเที่ยวหลายรายที่ถูกข่มขืน ทำร้ายร่างกายและสังหารที่เกาะเต่า อีกทั้งถ้อยคำโต้ตอบจากผู้นำเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวและการใส่ชุดบิกีนี [11] เป็นวิกฤตการณ์และตัวอย่างความอยุติธรรมที่เราไม่ควรลืม เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะปลุกให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวและร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำไมถึงไม่เป็นเช่นนั้น #AllAgainstPremchai ไม่บังเกิดในระดับมวลชนทั้งที่เรารู้อยู่ว่าใครเป็นอาชญากรผู้ก่อการ 


แหล่งภาพ: https://www.bbc.com/thai/thailand-39619396

กรณีของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ ที่ถูกสังหารด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา[12] แต่กระบวนการพิจารณาคดีอาญากลับไม่ชี้ว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรม ไม่ออกหมายเรียกหลักฐานกล้องวงจรปิดแม้ร้องขอถึง 2 ครั้ง ทำให้ตั้งคำถามว่าความยุติธรรมอยู่ที่ใด ล่าสุดทนายความและกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้ชัยภูมิ ป่าแส วางแผนจะจัดงานวิชาการใหญ่ในเดือนหน้า [13] ในระดับของประชาชนทั่วไป เรารู้สึกว่าควรลุกขึ้นมาทำอะไรหรือไม่ #AllForChaiyaphum จะบังเกิดหรือไม่ เราต้องคอยติดตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องไม่ลืมว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองนั้นขึ้นอยู่กับพวกเราประชาชนทุกคน

ท้ายบทความนี้ผู้เขียนขอยกข้อคิดที่ทิโมธี สไนเดอร์ฝากเอาไว้มาเตือนใจพวกเรา หลังบทความนี้ขอให้เราเห็นคุณค่าแห่งอาชีพนักเขียนและนักข่าวผู้สืบค้นความจริง (จริงอยู่ที่ประชาชนสามารถทำหน้าที่เป็นพลเมืองนักข่าวได้ทุกคนแต่เราต้องตระหนักว่าผู้ประกอบอาชีพนี้เต็มตัว บรรดานักวิจัย และผู้ลงสนามสืบค้นความจริงเต็มตัวล้วนต้องทุ่มเทเวลา แรงกาย และเสี่ยงชีวิตมากเพียงใด):

การวิจัยและการเขียนเป็นงานยากที่ต้องอาศัยเวลาและเงิน ก่อนที่คุณจะหัวเราะเยาะ "สื่อกระแสหลัก" พึงระลึกว่าสื่อที่ว่านั้นไม่ใช่กระแสหลักอีกต่อไป การหัวเราะเยาะนั้นต่างหากที่กลายเป็นกระแสหลักและทำได้ง่ายดาย และการสืบสวนสอบสวนจริง ๆ นั้นเป็นงานที่เสี่ยงและยากลำบาก เพราะฉะนั้นจงพยายามด้วยตัวคุณเองที่จะเขียนบทความที่แท้จริง เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง ออกเดินทาง สัมภาษณ์ และรักษาความสัมพันธ์กับแหล่งข้อมูล จดวิจัยบันทึกที่เป็นข้อเขียน ตรวจสอบทุกสิ่ง เขียนและแก้ไขร่างของตัวเอง ทำทุกอย่างนี้ในตารางเวลาที่แสนจะแน่นและไร้ความปรานี ถ้าคุณทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองชอบ ขอให้เขียนบล็อกต่อไป ในขณะเดียวกันนี้ ก็ขอให้ยกความดีความชอบให้คนที่ทำงานนี้เป็นวิชาชีพ ผู้สื่อข่าวไม่ได้สมบูรณ์แบบมากไปกว่าคนอื่น ๆ ในวิชาชีพอื่น ๆ ที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่งานของคนที่ยึดหลักจริยธรรมวารสารสิ่งพิมพ์นั้นมีคุณภาพต่างจากงานของคนที่ไม่ได้ยึดมั่นในหลักการใดเลย [14]


เมื่อ "ผู้นำที่ไม่ชอบผู้สืบค้นก็คือผู้นำที่พร้อมจะเป็นทรราช" มาตรการป้องกันและแก้ไขทางเดียวของประชาชนผู้หวังดีต่อประเทศชาติและต้องการอนาคตที่ดีกว่า คือการลงมือสืบค้นและสอบสวนข้อเท็จจริงด้วยตัวเองอย่างยืนหยัดและไม่หวั่นเกรง เมื่อชีวิตและผลงานนักข่าวคนหนึ่งในสโลวาเกียสามารถระดมประชาชนให้รวมตัวกันทั่วประเทศและหลายพื้นที่ทั่วโลกมากเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งช่วยให้ประชาชนที่เคยเฉยชาสิ้นหวังตื่นตัวทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง

ลองคิดดูสิว่าหากประชาชนชาวไทยทุกคนทำหน้าที่เป็นพลเมืองนักข่าว ช่วยกันคานอำนาจตรวจสอบโดยไม่เกรงกลัวที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ หากประชาชนชาวไทยพร้อมจะรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมโดยมองว่าอาชญากรรมต่อผู้อื่นเป็นเรื่องของเราด้วย ต้องรับผิดชอบและต้องหาผู้มารับผิดชอบร่วมกัน สังคมเราจะเป็นเช่นไร วันนี้พรุ่งนี้ไม่มีคำว่าสายเกินไป เรามาเริ่มกันเถิด

#AllForElection
#AllForChaiyaphum
#AllAgainstPremchai
#AllAgainstDictatorship

 

 

เชิงอรรถ

[1]ว่าด้วยทรราชย์: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 เขียนโดย ทิโมธี สไนเดอร์ ฉบับแปลภาษาไทยโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ ชยางกูร ธรรมอัน (บรรณาธิการ: วริตตา ศรีรัตนา) อยู่ในระหว่างการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเผยแพร่ภายในพ.ศ. 2561

[2] http://www.gmanetwork.com/news/news/nation/568593/duterte-dares-media-to-boycott-his-activities/story/ หมายเหตุ: สำนวนแปลภาษาไทยในบทความนี้เป็นของผู้เขียนทั้งสิ้น

[3] https://www.rappler.com/nation/135177-duterte-media-killings-not-my-problem

[4] https://www.aljazeera.com/news/2018/02/duterte-bans-rappler-reporters-presidential-palace-180220130842018.html

[5] https://www.indexoncensorship.org/2017/09/viktor-orban-campaign-against-journalists/

[6] https://cpj.org/data/killed/?status=Killed&motiveConfirmed%5B%5D=Confirmed&motiveUnconfirmed%5B%5D=Unconfirmed&type%5B%5D=Journalist&start_year=2016&end_year=2018&group_by=year

[7] http://www.karch.ff.ukf.sk/index.php/sk/katedra/16-studium/26-uspesni-absolventi-katedry

[8] https://www.aktuality.sk/clanok/571169/online-protesty-po-vrazde-jana-kuciaka-a-martiny-kusnirovej/

[9] https://domov.sme.sk/c/20797026/za-slusne-slovensko-politicka-strana-magda-zelenakova-olej-hardn.html

[10] https://spectator.sme.sk/c/20842697/two-youths-beaten-in-trencin-due-to-sexual-orientation.htm

[11] https://www.theguardian.com/world/2014/sep/18/thai-prime-minister-apologises-bikini-comments-murder

[12] https://www.innnews.co.th/breaking-news/news_104693/

[13] https://prachatai.com/journal/2018/06/77311

[14]ว่าด้วยทรราชย์: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 เขียนโดย ทิโมธี สไนเดอร์ ฉบับแปลภาษาไทยโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ ชยางกูร ธรรมอัน (บรรณาธิการ: วริตตา ศรีรัตนา)

 

**ขอขอบคุณ Veronika Planková ที่ช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารภาษาสโลวักที่เลือกใช้ และขอขอบคุณ Barbora Kráľová บรรณาธิการใหญ่ฝ่ายวรรณกรรมแห่งสำนักพิมพ์ Ikar สาธารณรัฐสโลวัก ที่ช่วยแบ่งปันประสบการณ์การร่วมชุมนุมและส่งข่าวสารล่าสุดจากสื่อสโลวักแทบทุกสำนักมาพิจารณาประกอบการเขียน ขออุทิศบทความนี้แด่นักข่าวและนักกิจกรรมทางการเมืองทุกท่าน แด่ผู้ถูกกดขี่และสังหารโดยทรราชและระบอบเผด็จการทั่วโลก

และแด่มิตรสหายในสโลวาเกีย #AllForJan**

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา (verita.s@chula.ac.th) เป็นประธานหลักสูตร PhD in European Studies (PEUS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น