โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

มูลนิธิบูรณะนิเวศ - ปชช. 7 จว. เปิดปมผลกระทบ 'นำเข้าขยะพิษ' ร้อง รบ.แก้ปัญหา

Posted: 21 Jun 2018 09:44 AM PDT

มูลนิธิบูรณะนิเวศ รวมกับประชาชน 7 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรี และสระบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากนำเข้าขยะพิษ แถลงข่าวแฉปัญหาและผลกระทบ หวังกระตุ้นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย  เรียกร้องรัฐแก้ไข

21 มิ.ย.2561 ห้องประชุม 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา(อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศนำโดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ร่วมกับตัวแทนประชาชนที่เดือดร้อนจาก 7 จังหวัด จัดงานแถลงข่าวเปิดปูมกรณี "นำเข้าขยะพิษ" ร่วมเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องจากชาวบ้านพร้อมทั้งร่วมกันยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาแก่รัฐบาล

เพ็ญโฉม กล่าวว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำเข้าขยะ อีกทั้งยังได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พอสมควร เนื่องจากหน่วยงานหลายหน่วยงานที่กำลังแก้ปัญหาหรือดำเนินการในเรื่องนี้อาจจะเป็นแรงกดดันที่ทำให้ทางมูลนิธิออกมาแถลงข่าว อีกทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเราวันนี้ถือว่ามีความเสียหายสูงมาก และเหตุผลที่จัดแถลงข่าวก็เพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ทั้งยังชวนให้นักวิชาการได้เข้าดำเนินการ ให้ชาวบ้านร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกเมินเฉยและเงียบไป ในงานแถลงข่าวครั้งนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีนำเข้าขยะพิษอยู่ทั้งหมด 5 ประเด็นหลักดังนี้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นโยบาย-กฎหมายที่สนับสนุน

ประเด็นที่ 1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นโยบายและกฎหมายที่สนับสนุน หน่วยงานที่พูดถึงในหัวข้อนี้คือกรมโรงงานอุตสาหกรรมและมีหน้าที่อะไรบ้าง อย่างแรกคือการอนุญาตให้มีการนำเข้าหรือส่งออก คือมีหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตและควบคุมการนำเข้า-ส่งออกของเสียอันตรายตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่อมาคือการอนุญาตให้ตั้งโรงงาน คือการกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการหรือเลิกประกอบกิจการ หน้าที่ประการที่สามคือการกำกับดูแลโรงงาน คือการควบคุม ดูแล การประกอบกิจการรวมถึงการกำกับดูแลการปล่อยของเสีย เพื่อให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หน้าที่อีกอย่างคือการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการจัดการของเสียอุตสาหกรรมตามพ.ร.บ. โรงงาน หรือ พ.ร.บ. วัตถุอันตรายและสุดท้ายคือมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคำขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกหรือนำผ่านแดนของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล (อนุสัญญาบาเซลเป็นสัญญาฉบับเดียวที่มีข้อห้ามนำเข้าหรือส่งออกขยะอันตรายผ่านแดน)

เมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด ด้านหนึ่งคือมีอำนาจหน้าที่บทบาทส่งเสริมการส่งออกหรือนำเข้าวัตถุดิบ อีกด้านคือมีหน้าที่กำกับการจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษโรงงาน ในด้านแรกก็ประกอบไปด้วยการอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งโรงงานคือ ออกใบอนุญาตเร็วขึ้นลดการกลั่นกรองลดเวลาเหลือ 30 วัน ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานที่นำของเสียมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาคืออนุญาตให้ฝังกลบภายในพื้นที่โรงงานคือการฝังกลบสิ่งที่ไม่ได้ใช้ในพื้นที่โรงงานได้ทุกประเภทโดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 อีกบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2545 นัยยะสำคัญคือเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการฝังกลบนั้นเขาทำอย่างถูกต้องหรือไม่เพราะไม่มีการประเมินหรือรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือการปลดล็อคมาตรการควบคุมตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ยกเว้นการใช้พ.ร.บ.วัตถุอันตรายพ.ศ. 2535 และพ.ศ. 2551 คือไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

นอกเหนือจากการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการจัดตั้งโรงงงานแล้วยังเอื้อต่อการนำเข้า-ส่งออกและครอบครองขยะหรือสินค้าอันตรายเหล่านี้ยังคงมีปัจจัยที่หนุนเสริมอีกมากมาย จะเห็นว่าข้อตกลงระดับโลกคือ ข้อตกลงการค้าเสรี ที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามไว้กับหลายประเทศ หรือกลุ่มของอาเซียน ข้อตกลงเหล่านี้ในนิยามที่ว่าด้วยเรื่องสินค้าหรือวัตถุดิบใดๆที่มาสามารถใช้การต่อไปได้ก็นำไปกำจัดทิ้ง ถ้าแปลความจากนิยามเหล่านี้ก็คือขยะ ด้านขององค์กรการค้าโลกนั้นมีนโยบายให้เพิ่มความรวดเร็วในด่านศุลกากรด้วยการลดการตรวจสอบตู้สินค้าลงทั้งขาเข้าและขาออก เพราะฉะนั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะรู้ว่าสินค้าอันตรายนั้นหลั่งไหลเข้ามาเท่าไหร่ส่วนของธนาคารโลกก็กดดันรัฐบาลไทยว่าต้องรีบออกกฎหมายให้อนุญาต จึงจะเห็นปัจจัยหรือแรงสนับสนุนอุตสาหกรรมแปลรูปขยะ จัดการขยะหรือนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์เยอะมาก

อีกประเด็นหนึ่งที่สนับสนุนปัจจัยที่ก่อให้เกิดการจัดโรงงานประเภทนี้ขึ้นมามากคือ คำสั่งของ คสช. 4/2559 คำสั่งนี้ได้มีการยกเว้นผังเมือง เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่เคยได้รับการคุ้มครองผังเมืองก็สามารถให้โรงงานเหล่านี้เข้าไปตั้งได้ และพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการปี 2558 ซึ่งผู้ประกอบการใช้พ.ร.บ.นี้เข้ากดดันราชการให้รีบออกใบอนุญาตให้ และนอกเหนือจากนี้ธนาคารโลกยังกดดันมาที่ไทยทำให้มีคำสั่ง คสช. 21/2560 ว่าด้วยเรื่องการอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ แต่ทั้งหมดนี้อำนาจหรือดุลยพินิจว่าจะให้หรือไม่ให้ จะควบคุมหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมอุตสาหกรรมทั้งหมด

มาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐ

ประเด็นที่ 2 มาตรการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ เมื่อมีการกดดันหรือผลัดดันในเรื่องนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมคือได้พักใช้ใบอนุญาตนำเข้านำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 รายและถ้าตรวจพบกระทำความผิดงดการนำเข้า 1 ปี และมีการส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตู้สอนค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทบทวนข้อบังคับตามอนุสัญญาบาเซล และส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์คืนบริษัทที่ได้อนุญาตนำเข้ากว่า 14,000 ตัน ภายในเวลา 30 วัน ประเด็นคือว่าประกาศที่ว่าให้มีการยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตถ้าประกาศนี้มันผล การผลักดัน การตรวจจับที่กล่าวมานั้นจะเป็นผลจริงหรือ?

ด้านกรมศุลกากรคือมีการยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าหากบริษัทนั้นกระทำความผิดจริง และพิจารณามาตรการอุดช่องโหว่การนำเข้าเพิ่มโทษ อีกทั้งยังติดตามตรวจสอบสินค้าที่โรงงานปลายทางหลังจากผ่านด่านศุลกากรไปแล้ว และยังใช้ระบบเอกซเรย์ตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ แต่ประเด็นคือว่าระบบเอกซเรย์นี้แม้ในตู้ของเยอะๆแล้วมีแอปเปิ้ลลูกหนึ่งระบบก็สามารถตรวจจับได้ แต่ถ้ามีการตรวจสอบจริงจะไม่รู้เกี่ยวกับการนำเข้าขยะอันตรายได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผลจากการลดการตรวจสอบมันจึงทำให้ตู้สินค้าเหล่านี้กระจายไปทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อวานคณะกรรมการการขับเคลื่อนและปฏิรูปราชการซึ่งนำโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดบูรนาการเพื่อพิจารณาห้ามนำเข้าขยะสารพิษและเพิ่มความเข้มงวดการพิจารณาอนุญาตนำเข้า มันจึงไปขัดกับคำสั่ง คสช.ที่ 21/2560 ว่าด้วยเรื่องการอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องในภายหลังได้ มันเปรียบเสมือนว่าคุณได้ออกกฎหมายอนุญาตเขาไปแล้วแต่มามีคำสั่งจะจับเขา มันเป็นเรื่องที่ยากมาก  

ไทยเปิดเสรี ? นำเข้าของเสียทุกประเภท

ประเด็นที่ 3 ไทยเปิดเสรีนำเข้าของเสียทุกประเภท สิ่งที่นำมาพูดถึงในวันนี้โดยส่วนใหญ่คือขยะประเภทอิเลคทรอนิกส์ รองลงมาเป็นพวกพลาสติก แต่ตอนนี้ในประเทศไทยมีการเปิดเสรีการนำเข้าขยะทุกประเภท ไม่ว่าจะอันตรายหรือไม่ กฎหมายเอื้ออำนวยและเปิดช่องให้แล้ว เราต้องย้อนกลับมาถามว่าทุกคนจะรับได้ไหม ที่ประเทศไทยจะเปิดเสรีให้กับการนำเข้าของเสียทุกประเภท อันนี้เป็นข้อตกลงเสรีที่รัฐบาลไทยได้ลงนามเอาไว้กับหลายๆประเทศ ประเทศที่ไทยได้ความตกลงการค้าเสรี/หุ้นส่วนเศรษฐกิจ (FTA/EPA) มีทั้งหมด 14 ประเทศ  

ตัวอย่างสินค้าของเสียเคมีวัตถุ คือ เถ้าโลหะมีค่า พวกทอง เงิน ทองคำขาว พาลาเดียม ที่ได้จากการเผาแผงวงจนอิเล็กทรอนิกส์ ของเสียจากการรักษาพยาบาล ตัวอย่างสินค้าพวกอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว คือเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องถ่ายเอกสาร โดยมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประกอบอยู่ซึ่งสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือทำการดัดแปลง ซ่อมแซม ปรับปรุง คัดแยก เพื่อนำกลับมาใช้งานได้อีกภายหลังผ่านกระบวนการดังกล่าวหรือเพื่อที่จะนำไปทำลาย เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติกที่ไทยนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2557-2560 มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆปี โดยจำนวนมาที่สุดคือนำเข้าจากออสเตรเลียเป็นอันดับ 1 ในปี 2557-2558 อีก 2 ปีต่อมาคือประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนมากที่สุด คือ 152,737.452 ตันต่อปี ส่วนในด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณการนำเข้ามากเป็นอันดับ 1 ตลอด 4 ปีคือประเทศจีนล่าสุดปี 2560 มีจำนวน 2,824.255 ตันแต่ละปีมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อจีนห้ามนำเข้าขยะ ไทยจึงเป็นเป้าหมายแห่งใหม่ ซึ่งหลายสิบปีก่อนจีนเป็นจุดหมายปลายทางหลักของขยะหมุนเวียนหรือ recycle waste จากประเทศต่างๆ แต่จีนมีการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่เพื่อควบคุมปัญหามลภาวะภายในประเทศ เนื่องจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนพบว่าสารอันตรายถูกนำเข้าปะปนกับขยะมูลฝอยและก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง

เปิดเสรีการค้าขยะใครเดือนร้อน ?

ประเด็นที่ 4 ประเทศไทยได้เปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศแต่ปัญหาที่เกิดคือใครเป็นคนที่เดือนร้อนจากการกระทำนี้ กล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็มากระทบกับประชาชนในประเทศโดยตรง คือชาวบ้านคนที่อยู่ในพื้นที่ ในบริเวณต.เขาหินซ้อน ต.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านได้รับปัญหาจากการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการขยายตัวของโรงงานรับกำจัดของเสียจำนวนมาก ทำให้เกิดผลกระทบทั้งกลิ่น น้ำเสียและความเสี่ยงต่อแหล่งน้ำใต้ดิน บริษัทไมด้า วัน จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.บางปะกง ประกอบกิจการรับบำบัดกากอุตสาหกรรม ปล่อยน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็นลงสู่คลองพานทอง จ.ชลบุรี แต่ในปี 2560 บริษัทได้ปิดตัวลงที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการจัดการของเสียในโรงงาน

ด้านจังหวัดอื่นๆ คือ จ.ระยอง ชาวบ้าน ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย ก็ได้ผลกระทบจากบริษัท วินโพรเสส จำกัด ซึ่งมีการลักลอบนำของเสียไปทิ้งไว้ที่นาชาวบ้านบริเวณเหนือโรงงานทำให้ดินเสื่อมโทรม แหล่งน้ำปนเปื้อน ต่อมาใน จ.สมุทรสาคร ชาวบ้าน ต.บางโทรัด อ.เมือง ชาวบ้านได้คัดค้าน บริษัท สมุทรสาคร เนเชอรัลคลีน เอ็นเนอร์จี จำกัด และบริษัท สมุทรสาคร คลีน เอ็นเนอนร์ยี่ จำกัด ที่ได้ขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เมื่อปี 2558 ในการคัดค้านชาวบ้านให้เหตุผลว่าโรงงานตั้งอยู่ใกล้ชุมชนและกังวลเรื่องมลพิษ,กลิ่นเหม็นและสุขอนามัย ปัจจุบันบริษัทได้รับแจ้งใบอนุญาตขนขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบล และนอกเหนือจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากจังหวัดอื่นๆอีกเช่น จ.สระบุรี จ.ราชบุรี หรือ จ.เพชรบุรี เป็นต้น

ข้อเสนอ – แนวทางแก้ปัญหา

ประเด็นสุดท้ายนี้คือข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นข้อเรียกร้องอยากให้รัฐบาลทบทวนและดำเนินการ ในส่วนแรกคือมาตรการเฉพาะหน้า 1.) ต้องการให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท 2.) เร่งออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะมูลฝอยหรือวัสดุใช้แล้ว 4 ประเภท อย่างแรกคือขยะพลาสติก สองคือตะกรันวาเนเลียม สามคือขยะกระดาษ และสุดท้ายคือขยะจำพวกสิ่งทอบางชนิด 3.) สอบสวนความถูกต้อง-เหมาะสมของใบอนุญาตนำเข้าและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105,106 และโรงงานเกี่ยวกับการกำจัดและรีไซเคิลของเสีย

ส่วนที่สองคือมาตรการระยะยาว 1.) ทบทวน แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายบางฉบับ เช่น ประกาศฉบับต่างๆของกรอ. ที่ให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ. วัตถุอันตรายสำหรับโรงงาน 105,106 และแยกประเภทกิจการบางอย่างออกจากกันสิ่งที่สำคัญคือต้องจัดทำรายงาน ETA/EHIA ตามประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ 2.) ยกเลิกร่างพระราชบัญญํติโรงงานพ.ศ. .... ฉบับปัจจุบัน คือแยกอำนาจกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและมลพิษในโรงงานจากกรอ. (+กนอ) และให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯ พร้อมทั้งปรับปรุงและเพิ่มเติมมาตรการเพื่อนำไปสู่การป้องกันการกระทำผิดของโรงงาน รวมถึงเพิ่มโทษทางแพ่งและอาญาตามระดับความรุนแรงของความผิดและความเสียหาย 3.) ทบทวนและดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจบางประเด็น เพื่อห้ามการนำเข้าขยะอันตรายบางรายการ

นโยบายรัฐ อุตสาหกรรมไทย ทำร้ายคนไทย

ภารดร ชนะกร กล่าวว่า จังหวัดระยองมีปัญหาของชาวบ้านที่เดือดร้อนและแก้ไขไม่ได้ทั้งโดยตรงและโดยแฝง เมื่อวานก็มีการประชุมภาคี ชาวบ้านร้องเรียกเดือดร้อน ต่อสู้ 4-5 ปี ร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ศูนย์ดำรงธรรม อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม DSI จนไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถแก้ไขได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ดู ตั้งแต่เดือน มกราคมจนตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิมสาเหตุเกิดจากโรงงานรีไซเคิล ที่เอาน้ำมันเครื่องจากที่ต่างๆและขยะมาคัดแยกโดยนำน้ำมันมาเทลงถัง แล้วใช้สารเคมีมาทำให้เกิดการตกตะกอนและย่อยสลาย เอาน้ำมันดีๆไปขายแต่เอาน้ำมันที่ตกตะกอนไปปล่อยลงคลอง น้ำกลายเป็นสีทอง นักเรียนกว่า 600 ชีวิตต้องปิดจมูกเรียน ทาง DSI สั่งปิดโรงงาน แต่ทางนั้นบอกว่าสั่งปิดไม่ได้เพราะโรงงานยังไม่ได้เปิดใช้งาน เนื่องจากว่าโรงงานไม่มีใบอนุญาติอะไรเลย แต่ทำงาน 3-4 ปี เมื่อทาง สมท.เข้ามาตรวจก็พบว่ามันเป็นสารเคมีรุนแรง โดยเฉพาะที่เป็นสารสังกะสีแคสเมียม 600 กว่าเท่า

สมชาย กุลนิตร ประชาชนจากพื้นที่จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า มีปัญหาที่ตำบลสับวางใบไม้ขาวโพลนในตอนเช้า ชาวบ้านก็มีโรคภัยไข้เจ็บ ไอ จาม มีโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น ปัญหาเกิดจากโรงงานปูนซีเมนต์ตอนประมาน 3-4 ทุ่มจะนำขยะหรือยางรถยนต์มาเป็นเชื้อเพลิง จึงทำให้เกิดมลพิษที่กระจายไปทั่ว สังเกตุได้จากใบไม้ที่ขาวโพลน ชาวบ้านก็หายใจไม่ค่อยออก ฝุ่นละอองมันเกินมาตรฐาน ตลอดทั้งปี แนวทางแก้ไขปัญหามันต้องจบอยู่ในระดับจังหวัด ไม่ใช่ระดับประเทศที่อภิบดีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ควบคุมกำกับดูแลต้องลงพื้นที่ ควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติชองการทำงาน

ด้านประชาชนจาก ต.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า มีการฝังกลบขยะอุตสาหกรรม บ่อกลบขยะจาก กทม. บริษัทรับกำจัดขยะ โรงงานรับรีไซเคิลซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหา เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว ในการต่อสู้หรือการจัดการ ชุมชนเองเลือกที่จะใช้สิทธิ์ในพระราชบัญญัติในการเรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจัดการ ที่ผ่านมาการแก้ไขโดยการเรียกร้องมักไม่ถูกแก้ไข ถูกรับเรื่องแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ดังนั้นควรจะกระจายอำนาจไปตามจังหวัดต่างๆดีกว่ารวมศูนย์ไว้ที่เดียว หรือเพิ่มหน่วยงานให้มาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง

ประชาชนจาก ต.หนองชุมพลเหนือ จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านอาจจะได้รับความเดือดร้อน เพราะพื้นที่ของเรามีการไปขอใบอนุญาตของโรงงานอุตสาหกรรม ทางเราก็ยืนหนังสือคัดค้านทุกที่ของจังหวัด ที่กระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พื้นที่ของเราเป็นต้นน้ำจึงต้องได้รับผลกระทบแน่นอน มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านแค่หน่วยงานเดียว คือมูลนิธิบูรณนิเวศ

พัชรพล สุกสว่าง ต.หนองชมพล จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ทางโรงงานหลอมทองแดงต้องการที่จะเปิดให้ได้ การจะหลอมทองแดงต้องใช้เตาที่มีความร้อนกว่า1000 องศา ซึ่งกระบวนการผลิตก่อให้เกิดมลพิษ กระบวนการจะทำให้แผ่นอิเล็กทรอนิกส์แตกละเอียด ซึ่งทำให้เกิดน้ำที่เป็นมลพิษไหลไปในที่ต่างๆ ในวันหนึ่งจะหลอมทองแดงได้ 4 ตัน 4000 กิโลกรัม กิโลละ 100 บาท วันหนึ่งจะได้เงิน 500,000 บาท ได้กำไร 1 ปีประมาน 140 ล้านบาท ใช้เวลา 4 ปี จึงจะได้กำไรคืนจึงมีความต้องการที่จะตั้งโรงงานให้ได้ ตอนที่หลอมจะมีละอองของแมสเมียมและนิเกิลที่มองไม่เห็นลอยเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดโรคประสาท

สุณิสา โชติถเสถียร ประชาชนจากพื้นที่ ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ที่ตำบลบางโทรัดได้รับความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการ แต่การที่ผู้ประกอบการจะดำเนินงานได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เมื่อรู้ว่าจะมีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านเพราะพื้นที่ไม่เหมาะสม อยู่กลางชุมชน แต่สุดท้ายโรงงานก็ถูกอนุญาตให้ก่อตั้งโดย อบต.บางโทรัดและไม่มีการทำประชาคม มีมารับรองเพียง 126 คน และยังมีการทำรายงานการประชุมปลอมขึ้นมาให้ผู้ประกอบการเอาไปเสนอกับ อบต.ใช้เป็นเอกสารประกอบใบอนุญาตก่อตั้งอาคาร ซึ่งไม่มีความโปร่งใสมาตั้งแต่ต้น ต่อมาได้มีการลักลอบขนขยะสดเข้ามาคัดแยก ชาวบ้านเข้าแจ้งต่อ อบต. และผู้ใหญ่บ้านไปก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ สุดท้ายเปิดโรงงานคัดแยกขยะโดยไม่มีการฟังเสียงประชาชน

ประชาชนจากพื้นที่ ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร กล่าวต่อว่า หลังจากที่โรงงานคัดแยกขยะเปิดมาได้ 1 ปี โรงงานเริ่มส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว เต็มไปด้วยแมลงวัน แมลงหวี่ดำก็กลายเป็นแมลงหวี่แดงที่เกิดจากการหมักหมมของจุลินทรีย์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากบริษัทสมุทรสาคร เนเชอรัล คลีนที่บางโทรัดส่งไปถึงชาวเพชรบุรี การออกใบอนุญาตจากอบต.บางโทรัดไม่มีการตรวจสอบ โรงงานแจ้งว่าขยะที่คัดแยกแล้วจะเอาไปทิ้งอีกบริษัท แต่พอตรวจสอบกลับพบว่าบริษัทนั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้างแต่กลับมีใบอนุญาตออกมาแล้ว จึงตามเรื่องต่อจนรู้ว่าทางโรงงานให้รถบรรทุกสิบล้อขนขยะไปทิ้งที่บ่อฝังกลบที่เพชรบุรี

"การที่หน่วยงานรัฐเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนไม่ใช้ธรรมาภิบาลในการปกครองดูแลประชาชนในพื้นที่ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนอย่างเสมอภาค หลังการเปิดกิจการไม่มีการตรวจสอบ ประชาชนมีเรื่องร้องเรียนก็ไม่มีการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน ณ เวลานี้ คนบางโทรัดต้องช่วยเหลือตัวเองทุกวิถีทาง ประชาชนที่หากินตามวิถีดั้งเดิมจะต้องเดือดร้อนกับนโยบายคำสั่ง 4/2559 ของ คสช.ไปอีกนานแค่ไหน" สุณิสา กล่าวทิ้งท้าย

รายงานข่าวโดย ทัศมา ประทุมวัน และอัจฉริยา บุญไชย เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 1/2561 จากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษียร เตชะพีระ: ไทยและคณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย

Posted: 21 Jun 2018 09:23 AM PDT

เกษียร เตชะพีระ อภิปรายใน Direk Talk "อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน: ข้อวิจัยและสังเคราะห์บางประการ" นำเสนอแนวคิดเรื่อง "ชิเมริกา" และเหตุสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน และ "คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย" พิจารณาการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในจีนหลังจีนร่วม WTO และการปรับตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งผลจากการเปลี่ยนรุ่นของ "อีลีทไทย"

เสวนา Direk Talk : ความขัดแย้งและสันติภาพ นโยบายรัฐ และประชาธิปไตย 21 มิถุนายน 2561 ห้อง ร.103 ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Part 3 สาขาวิชาการเมืองการปกครอง ช่วงนำเสนอของ เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายหัวข้อ "อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน: ข้อวิจัยและสังเคราะห์บางประการ" ผู้ช่วยนำเสนอโดย ชัชฎา กำลังแพทย์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยเนื้อหานำเสนอแบ่งเป็น 1. ที่มาของงาน 2. ภาพรวมของงานครอบคลุมเรื่องไหน

3. ประเด็นที่น่าสนใจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ 3.1 แนวคิดเรื่อง "ชิเมริกา" ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจในทางเศรษฐกิจโลกระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเหตุสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน และ 3.2 แนวคิดเรื่อง "คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย" เป็นข้อเสนอที่มีคนดูการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในจีนหลังจีนร่วม WTO แล้วมีการปรับตัวขนานใหญ่ในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการรวมทีมเสี่ยวเอ้อ ( น้องรอง) ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาโดยมีจีนเป็นตั่วเฮีย (พี่ใหญ่)

4. การเปลี่ยนรุ่นในหมู่อีลีทไทย ที่เกิดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่ได้พิจารณากันเท่าไหร่ว่าการเปลี่ยนรุ่นส่งผลอย่างไร

5. ตัวแบบจีน โฟกัสว่าในเมืองไทยเข้ามาอย่างไรมีอิทธิพลอย่างไร มี Demand-Supply อย่างไร

พร้อมบอกเคล็ดลับว่าทำอย่างไรจึงลดน้ำหนัก 15 กิโลกรัมใน 6 เดือน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ย้อนรอย 5 คดีฟ้องคณะรัฐประหารไทยฐาน ‘กบฏ’ ก่อนรู้ผลคดีพลเมืองโต้กลับ vs.คสช.

Posted: 21 Jun 2018 04:05 AM PDT

ในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1805/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 1760/2558 ที่ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คสช. ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 โดยศาลจะพิพากษาว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกฟ้อง โดยให้เห็นผลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นใหม่มีบทบบัญญัติยกเว้นโทษการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจต่อจากนั้นไว้แล้ว

นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่มีการฟ้องคณะรัฐประหารของไทย ซึ่งเกิดมาเป็นสิบครั้ง นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปิยบุตร แสงกนกกุล เขียนในมติชนสุดสัปดาห์ โดยอ้างงานศึกษาของสมชาย ศิลปกุล และ พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ ที่ศึกษาพบว่าในจำนวนทั้งหมดนั้นมีการฟ้องร้องอยู่ 4 ครั้งและศาลพิพากษายกฟ้องทั้งหมด อันเป็นแหล่งที่มาของ "แนว" คำพิพากษาที่ปรากฏอยู่จนถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุด 2557 สมัยที่ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช.

ประชาไทชวนย้อนอดีตกลับไปอ่านเหตุผลทางกฎหมาย ตั้งแต่ครั้ง 2490, 2514,2549, 2557 ก่อนจะรู้ผลว่า ศาลฎีกาจะรับฟ้องคดีที่กล่าวหาว่า คสช.มีการกระทำอันเป็นกบฏหรือไม่

เรียบเรียงข้อมูลโดย อิศเรศ เทวาหุดี, อัจฉริยา บุญไชย, ทัศมา ประทุมวัน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ 'พลเอกธีรชัย นาควานิช' พ้นจากตําแหน่งองคมนตรี

Posted: 21 Jun 2018 03:31 AM PDT

ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศเรื่อง ให้ 'พลเอกธีรชัย นาควานิช' พ้นจากตําแหน่งองคมนตรี เนื่องจากขอลาออกจากตําแหน่ง

 
 
21 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศเรื่อง ให้องคมนตรีพ้นจากตําแหน่ง มีรายละเอียดระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรี ตามประกาศ ลงวันที่ 6 ธันวาคมพุทธศักราช 2559 แล้วนั้น
 
บัดนี้ พลเอกธีรชัย นาควานิช องคมนตรี ได้ขอลาออกจากตําแหน่ง อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 11 และมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พ้นจากตําแหน่งองคมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 19 มิถุนายน พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มผู้เดือดร้อนยื่นรัฐบาลแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์

Posted: 21 Jun 2018 01:51 AM PDT

กลุ่มผู้เดือดร้อนจาก 7 จังหวัดที่มีสถานที่เก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ แก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง


 
21 มิ.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่านางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ นำตัวแทนประชาชนผู้เดือดร้อนจาก 7 จังหวัดที่มีสถานที่เก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ เดินทางมาศูนย์บริการประชาชน เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แก้ไขปัญหาการนำเข้า การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง โดยขอให้ยกเลิกคำสั่ง หน.คสช.ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวทำให้โรงงานหรือกิจการเกี่ยวกับการกำจัดคัดแยกและการจัดการขยะ ทั้งอันตรายและไม่อันตรายสามารถตั้งได้ในพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ที่ควรรักษาไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม
 
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวอีกว่านอกจากนี้ขอให้เร่งออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะมูลฝอยหรือวัสดุใช้แล้ว ได้แก่ ขยะพลาสติกตะกรันวาเนเลียม ขยะกระดาษที่ไม่จัดประเภทและขยะจำพวกสิ่งทอบางชนิด เนื่องจากพบว่าการนำเข้าขยะเหล่านี้มีการปนเปื้อนสารอันตราย ซึ่งรัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินนโยบายห้ามนำเข้าขยะเหล่านี้ภายในปี 2561 และยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าและใบอนุญาตตั้งโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้ากลุ่มนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยตกเป็นแหล่งรองรับขยะอันตรายจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่เคยส่งออกขยะเหล่านี้ไปจัดการในประเทศจีน และขอให้มีการสอบสวนใบอนุญาตการนำเข้าและใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 สำหรับกิจการคัดแยกและฝังกลบ และโรงงานลำดับที่ 106 สำหรับกิจการแปรรูปของเสียและโรงงานที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลของเสียว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการได้รับผลประโยชน์อันมิชอบ
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลพิพากษาจำคุก 'ชูวิทย์' ฐานยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิด

Posted: 21 Jun 2018 01:38 AM PDT

ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 1 เดือน ไม่รอลงอาญา 'ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์' ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิด

 
 
21 มิ.ย. 2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่าเวลา 11.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในคดีที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ในสมัยเป็น ส.ส. สมัยที่ 2 เมื่อปี 2556
 
โดยศาลฎีกาฯพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ห้ามจำเลยดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2556 ที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 2 และให้จำคุก 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือน จำเลยเคยรับโทษจำคุกเกิน 6 เดือน ไม่ใช่คดีหมิ่นประมาทหรือลหุโทษและพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี จึงไม่อาจรอการลงโทษได้
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประณามการกระทำของตำรวจที่ปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาคดีอาญาโดยมิชอบ

Posted: 21 Jun 2018 01:19 AM PDT

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ Police Watch แถลงการณ์ประณามการกระทำของตำรวจที่ปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาคดีอาญาโดยมิชอบ และขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วยการให้พนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐานให้ความเห็นชอบการออกหมายเรียกและเสนอศาลออกหมายจับ

 
21 มิ.ย. 2561 แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ Police Watch ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประณามการกระทำของตำรวจที่ปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาคดีอาญาโดยมิชอบ และขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วยการให้พนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐานให้ความเห็นชอบการออกหมายเรียกและเสนอศาลออกหมายจับ
 
โดยในแถลงการณ์ระบุว่าเนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์การดำเนินคดีอาญาที่นำไปสู่การเสนอศาลออกหมายจับบุคคลหลายกรณี ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 28 อยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร และครูปรีชา ใคร่ครวญ ในกรณีการสอบสวนคดีหวย 30 ล้าน โดยกล่าวหาว่าแจ้งความเท็จ การจับกุมตัวนายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที พิธีกรช่องนิวส์วัน ข้อหาหมิ่นประมาทและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ โดยอ้างว่าไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีพฤติการณ์หลบหนี
 
การออกหมายจับและใช้กำลังตำรวจล้อมบ้านจับตัว พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ โดยกล่าวหาว่าร่วมกันกรรโชกทรัพย์ การออกหมายจับและจับตัวอดีตพระพุทธะอิสระ โดยตำรวจพังกุฏิเข้าไปจับขณะนอนหลับ รวมทั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปในช่วงที่ผ่านมา และกรณีล่าสุดคือการออกหมายจับ แล้วจับกุมนายสุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความ โดยการใช้กำลังบังคับกดคอลงกับพื้นบนสถานีตำรวจ ขณะพาผู้เสียหายไปใช้สิทธิตามกฎหมายในการแจ้งความร้องทุกข์
 
ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคดีจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงก็เป็นที่ทราบกันดีว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ทุกคนยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ซ้ำส่วนใหญ่ยังพร้อมจะเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้รัฐพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนอีกด้วย แต่ตำรวจกลับไม่ยอมรับรู้ถึงการพร้อมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว และได้เสนอศาลออกหมายจับ โดยอ้างเพียงว่าสามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นคดีที่มีโทษจำคุกเกินสามปีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 66 (1) ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก่อนแต่อย่างใด
 
ในขณะเดียวกันหลายคดีที่มีโทษจำคุกสูงเกินสามปี แต่ตำรวจก็ไม่ได้เสนอศาลออกหมายจับ เช่น คดีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีโทษจำคุกถึงสิบปี คดีอดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ฉ้อโกงประชาชน (ตำรวจ 192 นาย) และอีกหลายคดีที่ตำรวจไม่ได้เสนอศาลออกหมายจับ หรือแม้กระทั่งออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา แต่กลับใช้วิธีแจ้งให้มารับทราบข้อหาและไม่ต้องมีการประกันตัวเหมือนประชาชนทั่วไป
 
บทบัญญัติมาตรา 66 (1) นี้ได้กลายเป็นจุดอ่อนให้ตำรวจสามารถเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม โดยใช้เป็นเหตุในการเสนอศาลออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทุกคนได้ง่าย แม้กระทั่งบางคดีบุคคลนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเลย และไม่มีโอกาสรู้ด้วยซ้ำว่าได้มีใครไปกล่าวหาตนในเรื่องอะไรที่ใด ศาลได้ออกหมายจับตนแต่เมื่อใด
 
เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว ตำรวจก็สามารถนำไปใช้จับผู้ถูกกล่าวหาด้วยวิธีการต่างๆ บางกรณีก็เป็นการแกล้งให้บุคคลเดือดร้อนได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการบุกเข้าไปจับในบ้านพักอาศัยโดยแจ้งให้สื่อไปทำข่าว การจับในสาธารณสถาน หรือสถานศึกษาต่อหน้านักเรียน เช่น กรณี ครูปรีชา ใคร่ครวญ หรือแม้กระทั่งสัญจรอยู่ตามทางสาธารณะยามวิกาล ควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจที่เสนอศาลออกหมาย ซึ่งอาจเป็นต่างจังหวัดที่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง สร้างความเดือดร้อนหวาดกลัวให้เกิดกับประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างยิ่ง 
 
 การกระทำดังกล่าว ไม่ว่าในที่สุดผู้ถูกออกหมายจับจะเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ แต่ไม่ได้เป็นไปตามตัวบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ให้สันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้" 
 
นอกจากนั้น ในการจับ ตำรวจก็มักไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 83 ในเรื่องการแจ้งสิทธิ์แก่ผู้ถูกกล่าวหาในการแจ้งให้ญาติพี่น้องทราบถึงการถูกจับทันทีอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการควบคุมตัวที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสาม และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 86 บัญญัติว่า "ให้กระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนีเท่านั้น" 
 
แต่หลายกรณีกลับมีการใช้กำลังบังคับ และใช้เครื่องพันธนาการ ทั้งที่ผู้ถูกจับไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด ก่อให้เกิดความเสียหาย ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง อีกทั้งยังทำให้นานาชาติมองว่า ไทยเป็นประเทศที่ล้าหลัง เพราะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่มีความเป็นมาตรฐานสากล
 
จึงขอเรียกร้องมายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ 1. สั่งกำชับและควบคุมการปฏิบัติของตำรวจ มิให้เลือกปฏิบัติต่อประชาชนในการออกหมายเรียกผู้ต้องหาและเสนอศาลออกหมายจับโดยไม่มีความจำเป็นและไม่มีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งวิธีการจับในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพและชื่อเสียงของบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และ 2.เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญาของประเทศให้มีมาตรฐานสากล ด้วยการให้พนักงานอัยการตรวจสอบพยานหลักฐานให้ความเห็นชอบการออกหมายเรียกผู้ต้องหา และเสนอศาลออกหมายจับของตำรวจทุกคดี เช่นเดียวกับการปฏิบัติในนานาอารยประเทศทั่วโลกด้วย
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ ‘บริษัท RPS’ คือ ‘การแปรรูปรัฐวิสาหกิจระลอกใหม่’ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ กฟภ. เขตควรถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50%

Posted: 21 Jun 2018 12:55 AM PDT

สหภาพแรงงาน กฟภ. ค้าน 'บริษัท RPS' สุดตัว ด้านผู้คร่ำหวอดวงการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจชี้รัฐฟื้น "การแปรรูป" หากสำเร็จผู้ใช้ไฟกว่า 500,000 คน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องถูกโอนไปอยู่กับบริษัทฯ นี้ มีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินทั้งหมดของ กฟภ. แม้ท้ายสุดอาจจะหนีรูปแบบบริษัทไม่ได้ แต่เสนอให้การไฟฟ้าในเขตนั้นๆ ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50%

 


ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าได้มีการส่งต่อหนังสือสั่งการและข้อความต่างๆ ในไลน์กลุ่มของเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส) โดยหนังสือดังกล่าวลงนามโดยนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หนังสือเลขที่ กฟผ.910000/45142 ลงวันที่ 8 พ.ค. 2561 เรื่อง ขอหารือเรื่องการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีเนื้อหาว่า

สืบเนื่องจากการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงาน และการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อที่ประชุม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบการนำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการใหม่และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนผ่านกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดำเนินการให้เร็ว เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลนี้ให้ได้โดยมีรายละเอียดปรากฏตามที่ส่งมาด้วย ในการนี้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล และเกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม กฟผ. จึงใคร่ขอเรียนหารือในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยจะมอบหมายให้ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน (คุณพัฒนา แสงศรีวิโรจน์) เป็นผู้ประสานในรายละเอียดและกำหนดการนัดหมายจะขอบคุณยิ่ง

ซึ่งภายหลังได้มีการส่งต่อหนังสือฉบับดังกล่าวไปอย่างกว้างขวาง สร้างความไม่สบายใจให้กับเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีแนวโน้มว่าจะถูกแปรรูปเป็นบริษัทในอนาคตอันใกล้นี้ และได้มีการส่งต่อข้อความของสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคภาคใต้ เขต 3 (สร.กฟภ.ต.3)

สหภาพแรงงาน กฟภ. ค้านสุดตัว


ที่มาภาพ: สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟภ.

ทั้งนี้ในเรื่องดังกล่าวทางสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่เตรียมออกมาคัดค้านแล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ส่งหนังสือชี้แจ้งข้อเท็จจริงแนวทางการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยระบุว่า

ตามที่มีการนำเสนอข่าวแนวทางการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) สร้างความไม่สบายใจให้เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ดังกล่าวด้วยเข้าใจว่าจะถูกแปรรูปเป็นบริษัทในอนาคตนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอเรียนชี้แจงว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยินดีสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในการผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) และพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความมั่นคงและทันสมัย (Smart Grid) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ สำหรับการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าและระบบการให้บริการที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว

ต่อมาในวันที่ 4 มิ.ย. 2561 Nation TV รายงานว่าที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.ยะลา บรรดาผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่จำนวน 150 คน ได้แต่งกายชุดสีดำถือป้ายคัดค้านนโยบายการแปรรูป การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น "บริษัท RPS" (Regional Power System Company) โดยมีนายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงาน กฟภ.ภาคใต้ เขต 3 อ่านแถลงการณ์คัดค้าน โดยมีข้อความว่า

ตามที่มีกระแสข่าวเรื่องการจัดตั้งบริษัท RPS หรือ Regional Power System Company เพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า โดยอ้างความต้องการพลังงานไฟฟ้าและความมั่นคงต่อระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยถือหุ้นในอัตรา 24.5% และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถือหุ้นในอัตรา 24% และกลุ่มทุนในนามของวิสาหกิจชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือหุ้นในอัตรา 51% นั้น

เราชาวพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทำการโดยเร่งรีบรวบรัด ไม่โปร่งใส ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หรือให้โอกาสให้พนักงานหรือส่วนเกี่ยวข้องของการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาครวมทั้งภาคประชาชนได้มีโอกาสได้ชี้แจง แสดงเหตุผล หรือรับทราบปัญหา ข้อดีข้อเสีย ของโครงการดังกล่าวแต่อย่างไร

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนให้แก่ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 โดยมิได้แสวงหาผลกำไรหรือประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยัง วัตถุประสงค์ที่จะต้องบริการประชาชน ในด้านสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกให้ประชาชน มีกระแสไฟฟ้าในการดำรงชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นอีกพื้นที่ หนึ่งที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ได้มีผลกำไรจากการประกอบกิจการ แต่ยังคงเต็มใจที่ดำเนิน กิจการต่อไป

เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าสาธารณูปโภคหลัก ที่ต้องบริการให้ ความสะดวกแก่ ประชาชนผู้ใช้ไฟอย่างทั่วถึงและถึงแม้ไม่มีกำไรในพื้นที่นี้ แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ยังคง บริหารจัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟในพื้นที่ได้ตามปกติ หากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกกำหนดให้อยู่ในรูปแบบของบริษัท ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องคำนึงถึงผลกำไรเป็นหลัก เมื่อไม่มีผลกำไร การขึ้นค่ากระแสไฟย่อมเกิดขึ้นได้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลอาจให้ การอุดหนุนในช่วงต้นของการดำเนินการ แต่ภายหน้าเมื่อต้องการผลกำไร การขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าย่อมเกิดขึ้น ความเดือดร้อน จึงไปตกอยู่กับประชาชน

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องสูญเสียหรือเสียหายอย่างไรบ้างกับการกระทำครั้งนี้ คือผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนประมาณ 500,000 ราย ต้องโอนให้กับบริษัท RPS บริษัท RPS ชุบมือเปิบจากรายได้ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ได้ รับผู้ใช้ไฟ และนำรายได้ไปบริหารจัดการอย่างไร จะส่งต่อให้รัฐหรือนำไปบริหารกิจการสร้างกำไรให้ตนเอง ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ของบริษัท RPS เป็นใคร และทำผลประโยชน์เพื่อชุมชนจริงหรือไม่ หรือจะทำกำไรเข้ากระเป๋าตนเองและหากบริหารขาดทุนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ระบบจำหน่าย สายส่ง สถานีไฟฟ้า อาคารสำนักงาน และทรัพย์สินทุกอย่าง จะต้องให้บริษัท RPS ใช้ประโยชน์ ซึ่งเบื้องต้นทราบเพียงว่าจะจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าเช่าในการดำเนินการให้ แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งไม่รู้ว่าจะดำเนินการไปได้แค่ไหน คุ้มทุนที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ลงทุนไปอย่างไร

ประชาชนได้อะไรหรือสูญเสียหรือเสียหายอย่างไร คือ ผลกระทบค่าไฟฟ้าที่อาจต้องขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า หากการบริหารจัดการของหาบริษัท RPS ไม่มีผลกำไร แต่หากยังคงเป็นการบริหารจัดการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องบริการประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ต่อไป หากมีการจัดตั้งบริษัท จะมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่คาดล่วงหน้าได้ว่าวัตถุดิบหลักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ไม้ ยางพารา ซึ่งไม่นานคงจะต้องหมดไป ดังนั้นวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าอาจเป็นอื่นที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ประชาชน มลภาวะ มลพิษที่จะเกิดต่อชุมชนติดตามมา

พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เกิดผลกระทบอย่างไร คือพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว ต้องการขวัญกำลังใจ ความมั่นคงในการปฏิบัติงานจะถูกควบคุม ลิดรอนสิทธิสวัสดิการใดๆ หรือไม่ ณ ปัจจุบันนี้ ยังมีคำตอบจากผู้บริหารหรือจากผู้คิดโครงการนี้ขึ้นมา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงขอคัดค้านโครงการอัปยศ ที่จะสร้างความเดือดร้อน วุ่นวาย ให้กับประชาชนและพนักงาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างสุดความสามารถและจะคัดค้านการจัดตั้งบริษัท RPS อย่างเป็นรูปธรรมและทุกภาคส่วนต่อไป

นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงาน กฟภ.ภาคใต้ เขต 3 ยังระบุกับ Nation TV ไว้ว่าวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อต้องการให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นของประชาชน อยู่ต่อกับประชาชนต่อไปหลังจากมีข่าวจะแปรรูปเป็นบริษัท ในส่วนของพนักงานเองก็มีความรู้สึก เพราะรัฐวิสาหกิจนั้นจะมีนายจ้างคือรัฐบาล และประชาชนคือเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด พวกเราในนามของพนักงานได้ถูกคัดเลือกโดยประชาชนมาบริหาร ดำเนินการทั้งหมด

เพราะฉะนั้นทุกวันนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็เป็นของประชาชนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะโอนไปในรูปของบริษัท ที่ผ่านมาเราจะเห็นการแปรรูปเป็นบริษัทน้ำมัน ซึ่งทุกวันนี้เมื่อไปอยู่ในรูปของบริษัทเอกชน อำนาจการต่อรองก็ยาก ต้องรอรับผลกรรมอย่างเดียว ไฟฟ้าก็เช่นกันต้องอยู่ต่อกับประชาชน เพราะเราไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์กับประชาชน แต่ถ้าเมื่อไหร่ถ้าการไฟฟ้าไปอยู่ในมือของเอกชน ก็ต้องแบกรับภาระกำไรขาดทุน หากมีต้นทุนสูงขึ้นก็จะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นแน่นอน ซึ่งยังไม่ทราบแน่นอนว่าบริษัท RPS ที่จะตั้งขึ้นมาจะรับผิดชอบหรือเปล่า ในฐานะสหภาพแรงงาน และผู้บริหารทั้งหมดเป็นห่วง เพราะจะให้ไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลายด้ามขวานไปอยู่เป็นบริษัท แต่ในอีก 70 กว่าจังหวัดยังอยู่กับการไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

"ผลเสียที่เราจะพบแน่หากมีการแปรรูปเป็นบริษัทคือ ปัจจุบันผลการประกอบการในพื้นที่ขาดทุน ไฟฟ้าจะต้องแบกรับภาระ เอาผลเฉลี่ยจากที่อื่นที่มีกำไรมาช่วย 3 จังหวัดใต้ การขยายเขตไฟฟ้าในพื้นที่ไกลๆ ค่าตัดต้นไม้ก็ไม่คุ้มกับค่าไฟที่ได้รับ หากวันไหนแปรรูปเป็นบริษัท เชื่อได้เลยว่าการลงทุนแบบนี้ไม่มีอย่างแน่นอน เพราะบริษัทต้องลดต้นทุน และต้องขึ้นค่าไฟแน่นอน ส่วนกำไรที่ได้จะนำเข้ารัฐอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามตนเองได้รับทราบว่า ท่านนายกรัฐมนตรีรับทราบเรื่องนี้แล้ว และได้สั่งให้ชะลอ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากวันนี้ไปการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานนั้น ทางสหภาพแรงงาน ก็จะขอดูทิศทางของรัฐบาล จะออกไปในทิศทางใดอีกครั้ง" นายสมชาย กล่าว

สหภาพแรงงาน กฟผ. รอดูท่าที

และเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา MGR Online รายงานว่านายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ภาคใต้ เขต 3 กล่าวว่าทาง สร.กฟภ.ภาคใต้ จะติดตามการหารือและแนวทางจากรัฐโดยเฉพาะประเด็นการโอนย้ายชื่อผู้ใช้ไฟในพื้นที่ทั้งหมด 500,000 ราย ที่ปัจจุบันเป็นลูกค้า กฟภ.ไปสังกัดบริษัท RPS หากดำเนินการจริงจะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าวแน่นอนเพราะผู้ใช้ไฟเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในอนาคต

"เรายังคัดค้านประเด็นนี้โดยพนักงานในพื้นที่จะแต่งชุดดำจนถึงสิ้นเดือนนี้และเตรียมแผนคู่ขนานไว้แล้วด้วยการล่ารายชื่อคนร่วมค้านใน 6 จังหวัดภาคใต้เพื่อเตรียมไว้ระหว่างรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลหากยังเดินหน้าต่อเราจะเคลื่อนไหวใหญ่ ซึ่งปัญหาของพนักงาน กฟภ. 3 จังหวัดใต้ที่มีประมาณกว่า 7 หมื่นคนเราเองมองว่าไม่ใช่ปัญหาแต่เราห่วงว่าผู้ใช้ไฟจะเสี่ยงมากกว่า" นายสมชายกล่าว

ส่วนนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่าทางฝ่ายบริหารได้ชี้แจงเบื้องต้นกับ สร.กฟผ. ถึงนโยบายการจัดตั้งบริษัท RPS มาจากนโยบายรัฐบาลเพื่อสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าแต่รายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ ที่ชัดเจนนั้นยังต้องรอดูการดำเนินงานซึ่งทาง สร.กฟผ.เองก็ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ผู้คร่ำหวอดในวงการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าระบุรัฐบาลรื้อฟื้นการแปรรูปกิจการด้านไฟฟ้าขึ้นมาอีกครั้ง

ด้านไพบูลย์ แก้วเพทาย แห่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง ได้ระบุไว้ในข่าวลูกจ้างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประจำเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยหยุดนิ่งต่อแผนและนโยบาย "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" โดยเฉพาะกิจการด้านไฟฟ้าเพียงจะนำเสนอออกมาในรูปแบบใด เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านคัดค้าน โดยนับตั้งแต่ปี 2546 ที่มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟป้อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชื่อ บริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จํากัด (District Cooling System and Power Plant Co.,Ltd. หรือ DCAP) โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยมีสัดส่วน 35:35:30 ซึ่งบริษัทนี้ทำหน้าที่ในการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงจำหน่ายน้ำเป็นสำหรับระบบปรับ อากาศให้แก่อาคารต่างๆ ในบริเวณการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมารัฐบาลพยายามแปรรูปด้วยวิธีการแบ่งพื้นที่เขตจำหน่ายไฟฟ้าออกเป็นหลายๆ บริษัท ทั้งนี้การไฟฟ้านครหลวงจะแปรรูปจากการไฟฟ้านครหลวงเขตเป็นบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า เซตละหนึ่งบริษัท ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็จะแปรรูปการไฟฟ้าระดับจังหวัดเป็นบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า จังหวัดละหนึ่งบริษัท ทั้ง กฟน. และ กฟภ. ก็จะเหลือเพียงการบริหารเสาสาย หรือ ระบบสายส่งและสายจำหน่าย แต่ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างหนักโครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป

แผนและนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านกิจการไฟฟ้าถูกพับเก็บไประยะหนึ่ง แต่แนวคิดแปรรูปไม่เคยเปลี่ยน ขณะนี้รัฐบาลได้พยายามรื้อฟื้นการแปรรูปหรือแปรสภาพกิจการด้านไฟฟ้าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการแอบอ้างว่าปฏิรูปพลังงานให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ แผนงานและกิจกรรมที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีดังนี้ ข้อ 1. การรวบกิจการด้านไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน ด้วยการให้ กฟน.และ กฟภ. มารวมอยู่ในกระทรวงพลังงาน เช่นเดียวกับ กฟผ. ปตท. และอื่นๆ เพื่อรวมกิจการที่มีภารกิจเดียวกันมาอยู่ในที่เดียวกัน โดยอ้างเหตุว่าอยู่หลายหน่วยงานทำให้ล่าช้า ไม่บูรณาการด้านข้อมูลการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าจากรายเล็ก การรวมกันทําให้มีการประสานกรณีปัญหาไฟฟ้ากับหรือเหตุฉุกเฉินและไม่ซ้ำซ้อนในการลงทุน รวมทั้งอ้างเหตุผลว่า ทุกวันนี้ก็อยู่ภายใต้การกำกับ(regulator) ในเรื่องอัตราค่าบริการและมาตรฐานการบริการอยู่แล้ว การรวบเอา 3 การไฟฟ้ามาอยู่ภายใต้การกำกับเดียวกันในกระทรวงพลังงานนั้น ถือเป็นแผนเบื้องต้นเพื่อการแปรรูปกิจการด้านไฟฟ้าอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน เหตุผลต่างๆ เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะกระบวนการผลิตไฟฟ้ากับการจำหน่าย (ขายไฟฟ้า) ก็เป็นคนละลักษณะงานอยู่แล้ว แต่ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบการผลิตก็คือ ด้านเทคนิคของระบบส่ง (สายส่ง) และระบบจำหน่าย (สายจำหน่าย) เท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นใดๆ ที่ต้องรวบมาอยู่ด้วยกัน เพราะที่ผ่านมากิจการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ก็บริหารได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว กิจการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นกิจการซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน เป็น ภารกิจในการบ้าบัดทุกข์บำรุงสุข การสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจึงสามารถบูรณาการในเชิงพื้นที่และการอำนวยความสะดวกกรณีฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าอยู่กับกระทรวงพลังงานอย่างแน่นอน เพราะภารกิจหลักของกระทรวงพลังงานนั้นไม่มีหน้าที่หลักด้าน "การบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน" ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่มีจิตวิญญาณด้านบริการประชาชน จึงมักไม่ใส่ใจดูแลทุกข์สุขของประชาชน อย่างเช่น ราคาน้ำมันแพงก็ไม่ใส่ใจ เป็นต้น เรียกว่าไม่เคยเห็นหัวประชาชน

อาจจะหนีรูปแบบบริษัทไม่ได้ เสนอให้การไฟฟ้าในเขตนั้นๆ ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50%

ข้อ 2. แผนการก่อตั้งบริษัท RPS นี่คือ "แผน" เบื้องต้นที่สอดคล้องกับการปฏิรูปกิจการพลังงานโดยรวมกิจการ ไฟฟ้าให้มารวมอยู่ในกระทรวงพลังงาน บริษัท RPS (Regional Power System Company) จึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อ บริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส โดยการร่วมทุน 3 ฝ่าย คือ กฟผ., กฟภ. และกระทรวงพลังงาน ตามแนวทางประชารัฐซึ่งเป็นแผน PDP ฉบับใหม่ที่ จัดทําโดย กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ผลจากแผนดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวน 500,000 คน ของ กฟภ.ต้องถูกโอนไปอยู่กับบริษัททันที และมีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินทั้งหมดของ กฟภ.โดยจ่ายค่าบริการ ส่วนพนักงาน กฟภ.ยังไม่มีแผนชัดเจนในการบริหารจัดการบุคลากรซึ่งอาจต้องถูกโอนย้ายไปอยู่บริษัท เรื่องนี้สมาชิกสหภาพแรงงาน กฟภ.ร่วมกับผู้บริหารทุกเขตพื้นที่ร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านและขอให้ชะลอแผนการดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าจะเกิดความชัดเจน

และข้อ 3. แผนก่อตั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (สถานีกลางบางซื่อ) โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการโครงการศูนย์คมนาคมแห่งใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบรางของอาเซียนในอนาคต การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิและพื้นที่สาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแนวทางประชารัฐซึ่งเป็นแผน PDP ฉบับใหม่ที่จัดทำโดย กฟผ. และกระทรวงพลังงาน จากแผนงานและนโยบายของรัฐบาล กระทรวงพลังงานพยายามอย่างยิ่งที่จะแปรรูปและแปรสภาพกิจการไฟฟ้า โดยการวางแผนปฏิรูปพลังงาน และก่อตั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขึ้นมา ด้วยการแตกย่อยพื้นที่ที่ละจุด เพื่อลดบทบาทและลดขนาดของกิจการ (Downsizings) กฟน.และ กฟภ ลง  ซึ่งตามแผนการปฏิรูประบุไว้ชัดเจนว่า "ปัจจุบันนโยบายภาครัฐในหลายประเทศ มุ่งที่จะเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน และส่งเสริมให้มีการแข่งขัน กันมากยิ่งขึ้นในระบบไฟฟ้า โดยในขั้นแรกกำหนดให้มีการเพิ่มบทบาทเอกชนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดภาระการลงทุนของรัฐ และเพิ่มการแข่งขัน และต่อไปในระยะยาว กำหนดให้การไฟฟ้าให้สิทธิ์บุคคลอื่น (Third Party Access) ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าอิสระหรือผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์จากระบบส่งและระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้"

ไพบูลย์ยังระบุไว้ว่าเราคงต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงทุกวันด้วยผลกระทบจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลก หรือ Disruptive Technologies รวมถึงนวัตกรรม (Innovation) ในรูปแบบใหม่ๆ กิจการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งก็คงต้องเปลี่ยน แปลงไปด้วย มิเช่นนั้นก็คงถูกโลกที่เปลี่ยนแปลงนั้นมาท้าลายเราในอนาคตเหมือนกับหลายธุรกิจขณะนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นเราต้องเป็นคนกำหนดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ก่อให้เป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิผลประโยชน์ของ องค์กรและพนักงานรวมถึงคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม การก่อตั้งบริษัทเพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขึ้นในพื้นที่เขตจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ก็คือการแปรรูปกิจการแบบหนึ่ง โดยค่อยๆ ตัดตอนพื้นที่เขตจำหน่ายออกไปเรื่อยๆ เป็นการลดขนาดลดบทบาทต่อไปก็ จะมีบริษัทเกิดขึ้นนับสิบนับร้อยแห่งเหมือนแผนนโยบายในอดีต จนสุดท้ายกิจการก็จะเหลือเพียง "การบริหารจัดการระบบ สายส่งและระบบสายจำหน่ายของการไฟฟ้าทั้งสองแห่ง" ที่มีรายได้จากค่าบริการสายส่ง (Wheeling Charge)

ไพบูลย์สรุปว่าเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เราอาจต้องยอมรับรูปแบบการก่อตั้งบริษัท ซึ่งเป็นการดำเนินการทั้งการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ดังนั้นถ้าบริษัทอยู่ในพื้นที่เขตจำหน่ายของการไฟฟ้าใด ก็ให้การไฟฟ้านั้น ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% และมีกิจการไฟฟ้าอีกสองแห่งเข้าร่วมทุน แต่ต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ดำเนินการแบบยกทั้งสามจังหวัด ซึ่งมีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนการรวมกิจการสามไฟฟ้าไปไว้ในกระทรวงพลังงานทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และทางสหภาพแรงงานทั้งสามแห่งจะต้องทำการคัดค้านอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการบริการประชาชนและสังคมโดยส่วนรวม

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปปง.ยึดทรัพย์คดีแอบอ้างเบื้องสูงตุ๋นเงินกลุ่มเกษตรกรกว่า 4 ล้านบาท

Posted: 20 Jun 2018 11:52 PM PDT

ปปง.แถลงมีมติให้ยึดและอายัดเงินสด 98 ล้านบาท ศุลกากรยึดได้คาด่านหนองคายขณะขนไปลาว อีกคดียึดทรัพย์ผู้ต้องหาอ้างตัวเป็นหลานสาวพระนางเจ้าท่านหนึ่ง ตุ๋นเงินกลุ่มเกษตรกรกว่า 4 ล้านบาท

 
21 มิ.ย. 2561 MGR Online รายงานว่าพล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง.กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2561 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินในคดีที่สำคัญ ดังนี้ 1. ท้าวสุบัน เตียสิริ กับพวก ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 1 รายการ เงินสด รวมมูลค่ากว่า 98,000,000 บาท สืบเนื่องจากด่านศุลกากรหนองคายได้รายงานผลการจับกุมลักลอบนำเงินตราออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต กล่าวคือมีชายชาวลาวลักลอบนำเงินตราไทยจำนวนมากออกนอกราชอาณาจักรโดยใช้ยานพาหนะรถยนต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ศุลกากร ด่านศุลกากรหนองคาย ได้แจ้งว่ารถยนต์เป้าหมายเข้าไปยังด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 1 จึงได้เรียกรถยนต์ทำการตรวจสอบพบตัวผู้ต้องหาและเงินตราธนบัตรไทย จำนวน 98,000,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งให้ทราบว่าเงินของกลางดังกล่าวเป็นของอันพึงต้องริบหรือพิสูจน์ความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (7) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จึงมีมติให้ยึดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 1 รายการ คือ เงินสดมูลค่ากว่า 98,000,000 บาท
 
ก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดทรัพย์สินขบวนการลักลอบขนเงินข้ามแดนมาแล้วจำนวน 3 คดี ได้แก่ นายมาซาโตะ คิคุชิ นายลอบซัง โซดา และราย MR.MSAFIRI JUSTIN รวมมูลค่า 9,500,000 บาท
 
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับรายที่ 2 คดี น.ส.ชลดา หรือสมัญญา วัฒโน กับพวก ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 6 รายการ รวมมูลค่ากว่า 4,433,000 บาท สืบเนื่องจาก ปปง.ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายจรูญ ติรวงศาโรจน์ กับพวกรวม 4 คน กรณีผู้ต้องหากับพวกหลอกลวงจนหลงเชื่อและได้ทรัพย์ไป ประมาณ 68,000,000 บาท กล่าวคือ ระหว่างปลายปี 2551 ถึงประมาณกลางเดือน พ.ค. 2556 ผู้ต้องหากับพวก ร่วมกันหลอกลวงนายภูชิดย์ แซ่ซั้น ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ (ในขณะนั้น) ตั้งอยู่ อ.เบตง จ.ยะลา ญาติของนายจรูญ ทราบว่า น.ส.ชลดาอ้างเป็นหลานสาวพระนางเจ้าท่านหนึ่ง มีทรัพย์มรดกเป็นจำนวนมากซึ่งอยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในและต่างประเทศ ต้องการผู้สนับสนุนทางการเงินเพื่อใช้ในการดำเนินคดี เมื่อคดีเสร็จสิ้นแล้วจะมอบเงินและที่ดินทางภาคเหนือให้เป็นค่าตอบแทนแก่ผู้สนับสนุนทางการเงินเป็นจำนวนหลายเท่าตัว พร้อมมอบที่ดินอีกจำนวนประมาณ 1,000 ไร่ ให้สำหรับทำสวนยางพารา กระทั่งนายภูชิดย์เกิดหลงเชื่อ ระหว่างนั้นนายจรูญกับพวกไปสืบทราบว่า น.ส.ชลดาถูกจับดำเนินคดีอาญา ม.112 และในฐานความผิดฉ้อโกง ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 30 ปี จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อ น.ส.ชลดา กับพวก ในการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 6 รายการ ได้แก่ รถยนต์ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระแล้ว หรือสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย มูลค่ากว่า 4,433,000 บาท นอกจากนี้ยังมีนางถนัตถ์อร แซ่ลก หลงเชื่อได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 557,000 บาท นายอรุณ จงมีลักษมี หลงเชื่อได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 5,245,000 บาท นางวันทนา แซ่ว่อง ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 9,470,000 บาท
 
"เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมและเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง.จะเน้นการสืบสวนสอบสวนขยายผลและบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในมูลฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน และเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เนื่องจากทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนสู่แผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยกฎหมายฟอกเงิน" พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนไทยในอังกฤษประท้วง 'ประยุทธ์' จี้ 'เทรีซา เมย์' ย้ำปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย

Posted: 20 Jun 2018 11:21 PM PDT

'ประยุทธ์' เข้าหารือนายกฯ อังกฤษ ด้านคนไทยมีทั้งชุมนุมหนุน-ค้าน ฝ่ายหนุนระบุมาให้กำลังใจเพราะประยุทธ์ทำงานหนัก ฝ่ายค้านจี้ 'เทรีซา เมย์' ย้ำปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย คัดค้านการขายอาวุธให้รัฐบาลทหาร

20 มิ.ย.2561 เมื่อเวลา 16.15 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงลอนดอน) ที่ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พบหารือกับ เทรีซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสหราชอาณาจักร ครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยมีผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ มาชุมนุมอยู่ที่บริเวณด้านนอก
 
ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ Konthaiuk community
 
ผู้สื่อข่าวสอบถามหนึ่งในผู้ประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า พวกตนไปถึงบริเวณดังกล่าวประมาณ 14.00 น. และยืนชูป้ายประท้วงอยู่จนถึงเวลาประมาณ 17.00 น. เพราะรอจนรถของ พล.อ.ประยุทธ์ เคลื่อนออกไป กลุ่มที่มาประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ มีประมาณ 20 กว่าคน มีทั้งคนไทยที่อยู่สหราชอาณาจักร กลุ่ม Thailand Human Rights Campaign UK กลุ่ม Asienhaus รวมทั้งมีคนหนึ่งเดินทางมาจากเนเธอร์แลนด์และบิดาของคริสติน่า ที่เป็นเหยื่อในคดีฆาตกรรมที่เกาะเต่า เมื่อปี 58 มาร่วมประท้วงด้วย
 
สำหรับประเด็นที่ประท้วงนั้น เป็นการเรียกร้องต่อ เทรีซา เมย์ ว่าหากต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรพูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยภายใต้รัฐบาลทหาร รวมทั้งไม่ควรขายอาวุธให้รัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนประชาธิปไตย หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนด้วย
 
หนึ่งในผู้ประท้วง จาก กลุ่ม Thailand Human Rights Campaign UK ระบุด้วยว่า เราค่อนข้างผิดหวังกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มา เนื่องจากเป็นบุคคลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 53 เราได้ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลสหราชอาณาจักร รวมทั้งล่ารายชื่อในเว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งการล่ารายชื่อนี้จะอยู่ได้ 6 เดือน หากมีรายชื่อถึง 1 หมื่น รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะต้องยกเป็นประเด็นและตอบรับกับแถลงการณ์นั้นด้วย สำหรับคนที่จะลงชื่อจะต้องเป็นคนที่นี่หรือคนที่มีถิ่นพำนักอาศัยที่นี่ เรายังประสานไปกับองค์การต่อต้านการค้าอาวุธเพื่อสร้างความร่วมมือต่อไปด้วย
กลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ (ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ Konthaiuk community)
 
บีบีซีไทย รายงานความเห็นของฝ่ายสนับสนุนด้วยว่า หนึ่งในผู้สนับสนุนกล่าวว่า "เราให้กำลังใจนะคะ เพราะว่ารัฐบาลชุดของนายกฯ ลุงตู่ หรือรัฐบาล คสช. จริง ๆ แล้ว ท่านทำงานหนักนะคะ เหนื่อยนะคะ เพื่อที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ นำความเสมอภาคและความสงบมาสู่ประเทศนะคะ พวกเราเนี่ยออกมาด้วยใจ เราต่างก็เห็นเขาประกาศว่าท่านมา ก็ต่างคนต่างมานะคะ ต่างก็ดีใจ แล้วก็ต่างคนต่างถือป้ายมาเพื่อมาต้อนรับนายกฯ ลุงตู่ นะคะ"
 
เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานด้วยว่า ภายหลังการหารือดังกล่าว พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 
 
พล.อ.ประยุทธ์ ขอบคุณที่รัฐบาลอังกฤษให้การต้อนรับการในเยือนครั้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมนางเทรีซา เมย์ ในการเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในการเจรจาให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปด้วยเงื่อนไขที่ดีที่สุด รวมถึงนโยบาย Global Britain ที่ยึดมั่นในการค้าเสรี และเป็นโอกาสดีที่สหราชอาณาจักรจะเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั้งในและนอกยุโรป พร้อมชื่นชมที่สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงและความสงบระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญเช่นกัน 
 
นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ได้ติดตามพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยอย่างใกล้ชิด และมั่นใจว่าไทยกำลังเดินทางสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคง ยั่งยืน รวมทั้งเล็งเห็นถึงความสำคัญความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร เนื่องด้วยประเทศไทยมีศักยภาพ และมีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน  พร้อมที่จะเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาค และดำเนินความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยจะดำเนินการเจรจาเกี่ยวกับการเปิดการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหราชอาณาจักร ตลอดจนความเชื่อมั่นที่มีต่อนโยบาย Thailand 4.0 และยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนอังกฤษร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 
 
โดยในตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้หยิบยกประเด็นการพัฒนาด้านการศึกษาซึ่งประเทศไทยประสงค์ที่จะร่วมมือกับสหราชอาณาจักร  เพื่อให้การศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะพัฒนาคน เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาประเทศ และเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไป
 

ประยุทธ์ยันเลือกตั้งต้นปีหน้าแน่นอน

บีบีซีไทย รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยืนยันกับ เทเรซา เมย์ ด้วยว่า ต้นปีหน้าจะมีการเลือกตั้งแน่นอน เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งต่าง ๆ หลายฉบับทะยอยประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว และการเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยของไทย จะต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และเหมาะกับบริบทของความเป็นไทยด้วย
 
ขณะที่ปฏิกิริยาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อกรณีที่มีคนไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ออกมาต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์นั้น สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เห็นมีเพียง 3 คน หรือหากมากัน 10 คนก็ยังถือว่าไม่มาก ซึ่งมองว่าเมื่อมีคนพอใจก็ย่อมต้องมีคนไม่พอใจ จะให้พอใจทุกคนไม่ได้ ทั้งนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศในการเข้าเจรจากับกลุ่มต่อต้านนายกรัฐมนตรี
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น อ้างองค์การมีอคติต่ออิสราเอล

Posted: 20 Jun 2018 09:00 PM PDT

ผู้แทนสหรัฐฯ จากรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยอ้างว่าคณะมนตรีฯ มีอคติต่อประเทศอิสราเอลในประเด็นการวางมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่ประเทศพันธมิตรประเทศอื่นๆ ระบุว่าสหรัฐฯ ควรจะอยู่ต่อเพื่อแก้ปัญหาแทนที่จะถอนตัวออกไป

 
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561 นิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ประกาศจะออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยอ้างว่าเป็น "แหล่งเสื่อมโทรมของอคติทางการเมือง" เฮลีย์ยังวิจารณ์อีกว่าคณะมนตรีฯ เป็นองค์การที่ "มือถือสากปากถือศีล" และเป็นเสมือน "สิ่งเย้ยหยันของสิทธิมนุษยชน"
 
ทั้งเฮลีย์และไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่างก็กล่าวหาว่าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเป็นคนที่คอยปกป้องพวกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งบีบีซีระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่องค์การนี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้ แต่ในคราวนี้เฮลีย์แสดงความไม่พอใจโดยพูดถึงกรณีการดำเนินการของยูเอ็นในเรื่องความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เธอกล่าวหาว่ายูเอ็น "มือถือสากปากถือศีล" ในเรื่องที่ "มีความเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสราเอลไม่มีที่สิ้นสุด"
 
อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมบอกว่าการออกจากสมาชิกภาพคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลต่อเรื่องการตรวจสอบและการชี้ให้เห็นปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
 
เลขาธิการยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส โต้ตอบการตัดสินใจออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ว่าพวกเขาจะยินดีมากกว่าถ้าสหรัฐฯ ยังคงเป็นสมาชิกต่อไป ทางด้านเซอิด ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกภาพถือเป็นเรื่องน่าผิดหวัง แต่ทางการอิสราเอลกลับกล่าวชื่นชมการตัดสินใจนี้ของสหรัฐฯ
 
สื่อบีบีซีตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐฯ เคยปฏิเสธจะเป็นสมาขิกคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อนในช่วงที่มีการก่อตั้งปี 2549 แต่ต่อมาถึงเข้าเป็นสมาชิกในสมัยบารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีในปี 2552 ถึงแม้ว่าจะเคยมีการวิจารณ์เรื่องที่ให้ประเทศอย่าง จีน, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอลจีเรีย และเวียดนาม เข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่อิสราเอลประกาศไม่ยอมรับการรายงานของคณะมนตรีฯ ที่ตำหนิอิสราเอล
 
ประเด็นการถอนตัวในคราวนี้ก็ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับอิสราเลออีกครั้ง เมื่อเฮลีย์ กล่าวว่ามันเป็นเรื่องยอมรับได้ยากที่มีการออกมติโต้ตอบกรณีอิสราเอลแต่ไม่มีการออกมติใดๆ กับเวเนซุเอลาที่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปหลายคนในช่วงที่เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองเช่นกัน
 
นาดา ทอว์ฟิก นักข่าวบีบีซีวิเคราะห์ว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ต้องการให้สหรัฐฯ เป็นผู้ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ทอว์ฟิกตั้งข้อสังเกตว่าในสมัยรัฐบาลบุชสหรัฐฯ ก็เคยมีความขัดแย้งกับยูเอ็นเช่นกัน และทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นในสมัยนั้นก็คือจอห์น โบลตัน คนเดียวกับที่กำลังเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับรัฐบาลทรัมป์
 
แต่ก็มีชาติพันธมิตรหลายชาติที่พยายามโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ยังคงอยู่เป็นสมาชิกต่อไปแม้แต่กลุ่มที่เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ของสหรัฐฯแต่ก็แนะนำให้สหรัฐฯ ควรทำงานเพื่อปฏิรูปจากภายใน แทนที่จะถอนตัว
 
 
เรียบเรียงจาก
US quits 'biased' UN human rights council, BBC, 20-06-2018
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อำลานายตำรวจนักเขียนนวนิยาย 'พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร'

Posted: 20 Jun 2018 05:03 PM PDT

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ถึงแก่อนิจกรรมแล้วด้วยวัย 88 ปี โดยในโลกวรรณกรรมเขาเป็นผู้ให้กำเนิด "บราโว่" องค์กรลับกำจัดเหล่าร้าย และตัวละครอย่าง "ธนุส นิราลัย" ใน "สารวัตรเถื่อน" "แม่ลาวเลือด" "หักลิ้นช้าง" ฯลฯ จนถูกนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายฉบับ รวมทั้งละครช่อง 7 "สารวัตรใหญ่" ฉบับรีบตัดจบในปี 2537 โดยบทบาทในช่วงท้ายของชีวิตนอกจากต่อต้าน "ทักษิณ" แล้ว ยังเป็นประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และยังมีส่วนแข็งขันในการคัดค้านนิติราษฎร์ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเนติวิทย์

ที่มาของแหล่งภาพประกอบ: ACT, สำนักพิมพ์มติชน, ชีวิตดารา, ละครแม่ลาวเลือดออกอากาศปี 2533 ทางช่อง 3 และสารวัตรเถื่อนออกอากาศปี 2560 ทางช่อง 7

21 มิ.ย. 2561 ในรายงานของมติชนออไลน์วานนี้ (20 มิ.ย.) พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ที่ปรึกษาบริษัท มติชน(มหาชน) จำกัด อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วเมื่อเวลาของ 22.30 น. ของวันที่ 20 มิ.ย. หลังเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลตำรวจ รวมอายุ 88 ปี

สำหรับ พล.ต.อ.วสิษฐ เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ที่ อ.เมือง จ.อุดรธานี บิดามารดามีอาชีพเป็นครู จบการศึกษาชั้นมัธยมจาก "โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน" เมื่อ พ.ศ. 2487 สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากจากโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร รุ่นลมหวล ศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถือเป็นสิงห์ดำรุ่น 1 และได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ต่อมาได้เข้าศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการตำรวจ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรการสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา จบหลักสูตรวิชาการป้องกันประเทศ จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่นที่ 23)

ชีวิตครอบครัว สมรสกับ คุณหญิงทัศนา (บุนนาค) เดชกุญชร เมื่อ พ.ศ. 2500 (ปัจจุบันมีสถานะหย่า) มีบุตร 2 คน คือ ว่าที่ ร.ต. ดร. สุทรรศน์ เดชกุญชร และ ร.ต.ต.หญิงปรีณาภา เดชกุญชร

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร กล่าวเปิดงาน "ตำรวจไทยมีไว้ทำอะไร" เมื่อ 26 มกราคม 2560 (ที่มา: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย))

สำหรับประวัติการทำงาน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร จากข้อมูลในวิกิพีเดีย พล.ต.อ.วสิษฐรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ต่อมาได้ลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมประมวลราชการแผ่นดิน (ต่อมาคือกรมประมวลข่าวกลาง) แล้วโอนไปรับราชการที่กองตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และย้ายไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี พ.ศ. 2513 เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2532 และในปี พ.ศ. 2539 - 2543 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ถึง 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ตำแหน่งสุดท้ายในกรมตำรวจก่อนลาออกไปเป็นรัฐมนตรีเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ

 

พล.ต.อ.วสิษฐกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

อนึ่งในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในเวลานั้น พล.ต.อ.วสิษฐ ซึ่งมียศพันตำรวจเอก เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ มีบทบาทในการดูแลความสงบบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงบริเวณพระราชวังดุสิตด้วย โดยเป็นผู้ติดต่อและเจรจากับทางฝ่ายผู้ชุมนุมและเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ่านให้แก่ผู้ชุมนุมฟัง ในเวลา 05.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก่อนจะสลายตัวไป อย่างไรก็ตามเกิดเหตุปะทะที่ลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากนายกรัฐมนตรีและเดินทางออกนอกประเทศ

โดยในการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พล.ต.อ.วสิษฐ ได้แสดงปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2560 หัวข้อ "ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลา" ด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นักประพันธ์อาชญนิยาย
ผู้ให้กำเนิด "บราโว่" และ "สารวัตรเถื่อน"

โปสเตอร์ละคร "สารวัตรเถื่อน" สร้างจากบทประพันธ์ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เวอร์ชันออกอากาศปี 2560 ทางช่อง 7

ส่วนหนึ่งของ "อาชญนิยาย" ผลงานของวสิษฐ เดชกุญชร ที่มีผู้นำมาประกาศขายในเว็บขายของออนไลน์แห่งหนึ่ง

นอกจากนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ยังมีชื่อเสียงจากการเขียนนวนิยายจากประสบการณ์ในราชการตำรวจ มีตัวเอกเป็นตำรวจ โดยในงานเขียนเขาใช้ทั้งจริง และนามปากกา "'โก้ บางกอก" นิยายหลายเรื่องมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์หลายครั้ง ที่สำคัญคือนวนิยายชุดแนวอาชญนิยายที่เขาเขียนถึง "บราโว่" องค์กรลับต่อต้านการก่อการร้าย โดยมีตัวละครหลักที่ชื่อ "ธนุส นิราลัย" กับ "ลำเพา สายสัทกุล" เริ่มตั้งแต่สารวัตรเถื่อน ที่ "ธนุส นิราลัย" สวมรอยเป็นสารวัตรใหญ่ เพื่อทำลายเครือข่ายเจ้าพ่อในอำเภอสมมติ "วัฒนานิมิตร" จ.ชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมี แม่ลาวเลือด, หักลิ้นช้าง, อวสานสายลับ, บ่วงบาศ, ประกาศิตอสูร

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ดงเย็น, จันทน์หอม, ลว.สุดท้าย, สารวัตรใหญ่, สันติบาล, เลือดเข้าตา, เบี้ยล่าง, พรมแดน และหนังสือรวมเรื่องสั้น "สัพเพเหระคดี" เล่ม 1 และ 2 นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ และมีงานเขียนสารคดีเฉลิมพระเกียรติ "รอยพระยุคลบาท: บันทึกความทรงจำของพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร" ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปี 2524–2543 ก่อนตีพิมพ์รวมเล่มในปี 2544

 

ตำนานละครถูกหั่น "สารวัตรใหญ่" 2537

เพลงประกอบละคร "สารวัตรใหญ่" ฉบับที่ออกอากาศปี 2537
ที่มา: YouTube/เพลงในความทรงจำ

ตัวอย่างละคร "สารวัตรใหญ่" เตรียมออกอากาศทางช่อง 7 ในปี 2561
ที่มา: YouTube/Ch7HD

 

อนึ่งในปี 2537 มีการออกอากาศละคร "สารวัตรใหญ่" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 กำกับโดย นิรัตติศัย กัลย์จาฤก นำแสดงโดย ลิขิต เอกมงคล รับบท "พ.ต.ต.ใหญ่ เวโรจน์" ออกอากาศทุกคืนวันพุธและพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 11 พฤษภาคม จนถึงวันพุธที่ 6 กรกฎาคม โดยเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในช่วงเวลานั้นเพราะเนื้อหาของละครวิจารณ์การทำงานของวงการตำรวจและผู้มีอำนาจ จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าช่วงท้ายๆ ดูไม่รู้เรื่อง เพราะมีการตัดเนื้อหาละครให้จบเร็วขึ้น โดยออกอากาศเพียง 17 ตอน จากเดิมที่วางเอาไว้ 24 ตอน นอกจากนี้ยังมีการรีเมคละคร "สารวัตรใหญ่" เตรียมออกอากาศทางช่อง 7 อีกครั้งในปี 2561 ด้วย

 

ต่อต้านนิติราษฎร์-พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถึงกรณีเนติวิทย์

ในช่วงท้าย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร แสดงจุดยืนต่อต้านนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ โดยในปี 2555 เขียนบทความ ""ว่าด้วยกลุ่มนิติราษฎร์อีกครั้ง" เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 3 1 มกราคม 2555 คัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้เขายังได้รับเชิญไปออกอากาศรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กำหนดออกอากาศระหว่าง 11-15 มีนาคม 2556 โดย พล.ต.อ.วศิษฐ์ ออกอากาศตอนที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ส่วนแขกรับเชิญตอนอื่นๆ ประกอบด้วย สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญ

อย่างไรก็ตามหลังการออกอากาศตอนที่ 4 ในคืนวันที่ 14 มีนาคม 2556 ที่เป็นการอภิปรายระหว่างสมศักดิ์กับสุลักษณ์ ก็มีกลุ่มบุคคลไปร้องเรียนถึงสถานีโทรทัศน์ และนำไปสู่การระงับการออกอากาศตอนที่ 5 ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ในปลายปี 2556 ช่วงชุมนุมต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นการชุมนุมของ กปปส. นำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุญชร ได้เดินทางไปปราศรัยกับผู้ชุมนุมด้วยทั้งเวทีหลักและเวทีย่อย

ในปี 2560 หลังเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิต ต่อมา พล.ต.อ.วสิษฐ ได้เขียนบทความ "เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังถูกทำลายโดยนิสิต" ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 กล่าวหาว่าเนติวิทย์กราบลงบนพื้นแสดงความเคารพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามเป็นความเข้าใจผิดของ พล.ต.อ.วสิษฐ เพราะหลังมีข่าวลือในโลกออนไลน์ ต่อมาตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม เก่ง การุณ โหสกุล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่าเหตุการณ์และภาพดังกล่าว เป็นตัวเขาที่ไปขอขมาคุณหญิงสุดารัตน์ก่อนลาสิกขาบท ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์เดินทางไปแจ้งความกับตำรวจ ปอท. (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนเนติวิทย์ในเวลานั้นได้โพสต์ชี้แจงด้วย ทั้งยังกล่าวว่าจะไม่ว่าอะไร พล.ต.อ.วสิษฐ ซ้ำยังเห็นใจที่ พล.ต.อ.วสิษฐ ตกเป็นเหยื่อของความเท็จ ของสื่อที่บิดเบือน และชราภาพที่ครอบงำ "คุณลุงก็เป็นนักเขียนที่มีคนอ่านพอสมควร ต่อไปขอให้คุณลุงได้เขียนข่าวอย่างรอบคอบกว่านี้ อย่าได้ทำแบบนี้กับผมอีก และคนอื่นๆ อีกเลย" โพสต์ของเนติวิทย์ระบุตอนหนึ่ง

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น